เทศน์บนศาลา

ภาวนาหลอกๆ

๒๓ ก.ย. ๒๕๕๓

 

ภาวนาหลอกๆ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


 

ตั้งใจฟังธรรมนะ เรามาแสวงหาธรรมะกันนะ เรามาแสวงหาที่พึ่ง เพราะชีวิตเราเกิดมานี้ เรามีบุญวาสนา เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเรามีสติสตังไง เรามีสตินะ ถ้าเราไม่มีสติสตัง เห็นไหม ทางโลกเขาก็มีสติ ถ้าเขาไม่มีสติเขาก็เป็นคนใบ้บ้าไปแล้ว แต่เขาก็มีสติของเขา แต่เขาไม่มีวาสนา

คำว่าไม่มีวาสนา.. เขาเป็นชาวพุทธที่ทะเบียนบ้าน แต่ชีวิตของเขาก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไปตามประสาวัฏฏะ มันเป็นผลของวัฏฏะนะ เราเกิดมานี้เป็นผลของวัฏฏะ ถ้าเราไม่ได้เกิดมาในปัจจุบันนี้ เราจะเวียนตายเวียนเกิดของเราไปอย่างนี้ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ถึงผลของวัฏฏะ

“บุพเพนิวาสานุสติญาณ... จุตูปปาตญาณ... อาสวักขยญาณ”

บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือญาณย้อนอดีตชาติ ความเป็นไป คือ จิตเรานี้มันเวียนตายเวียนเกิดมา แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เห็นไหม อดีตเราไม่มี อดีตของเราก็ในปัจจุบันนี้แหละ แต่อดีตของเราคือภพชาติเก่าๆ แต่อนาคตมันจะเป็นไปข้างหน้า

นั่นพูดถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นเรา ถ้าเกิดมาเป็นเรา เห็นไหม เรามีสติสตังของเรา สติสตังของเรา คือว่า เราเป็นมนุษย์แล้ว เรามีสติความรับรู้อยู่ เราเห็นการดำรงชีวิตของมนุษย์นี้มันเป็นความทุกข์ยาก ความทุกข์ยากนะ โลกนี่มันเกิดมาเป็นความทุกข์ยาก แต่ ! แต่ก็ต้องเกิด เกิดไปตามแบบผลของวัฏฏะ แบบผลของเวรของกรรม แล้วเขาก็อยู่กันทางโลกไป แล้วก็จะเวียนไป เห็นไหม

นี่รอยโคไง.. รอยโคย่ำซ้ำรอยเก่านั้นไป ชีวิตนี้มันก็จะเป็นอย่างนี้ มันจะซ้ำรอยเก่าของมันไป คือมันจะเกิดจะตายเวียนไปในวัฏฏะ ผลของการเวียนในวัฏฏะ คือมันจะหมุนของมันไปตามเวรตามกรรม ถ้ามีสติมีสตัง เขาก็ทำคุณงามความดีของเขา เพราะคนทางโลก คนดีก็มีคนเลวก็มี ตามธรรมชาติของสังคม สังคมมีทั้งดีและเลวปนกัน ถ้าทางโลกนะเขาเป็นชาวพุทธเหมือนกัน แต่เขาใช้ชีวิตของเขา ตามกระแสโลกของเขา เห็นไหม นั่นไงเขาเกิดมา เหมือนรอยโคมันย่ำเท้าของมันไป

ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน เวียนตายเวียนเกิดตามประสานั้นไป นี่โลกเป็นอย่างนั้น แล้วบ่นว่าทุกข์ว่ายาก เราก็อยู่กับโลกมา เราเกิดมากับโลกนะ มนุษย์เกิดมากับโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดจากพ่อจากแม่เหมือนกัน เกิดจากโลกเหมือนกัน ทุกคนเกิดมาจากโลก

“ผลของวัฏฏะ.. กามภพ รูปภพ อรูปภพ” จิตจะเวียนตายเวียนเกิดไปตามแต่เวรแต่กรรม นี่ผลของวัฏฏะเวียนไป แต่ถ้าไม่มีสติปัญญา เห็นไหม ชีวิตนี้ก็หลงไปตามชีวิตนี้ หลงโลก ! หลงโลกเวียนไปตามโลก หลงไปตามโลก ดำรงชีวิตไปตามโลก แล้วก็บ่นว่าทุกข์.. ว่าทุกข์กัน

จะมีความสุขความทุกข์ขนาดไหน ถ้าครอบครัวไหนเขามีความสุข เห็นไหม แล้วเวลาเขาพลัดพรากล่ะ เวลาคิดถึงพ่อแม่ก็ให้ทำบุญกุศล ลูกอยากอุทิศส่วนกุศลให้พ่อให้แม่ไป นี่ไงถ้าเขาหลงในชีวิตของเขา เขาก็หมุนไปตามโลกของเขา นี่โลกสมมุติ ! มันจริงตามสมมุตินะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มองไปในวัฏฏะ ถึงอยากรื้อสัตว์ขนสัตว์ มีความเมตตามีความสงสารมาก ถึงได้วางธรรมและวินัยนี้ไว้ แต่ในสังคม มันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ คนที่จะขวนขวาย คนที่จะออกจากโลก คนที่จะออกจากวัฏสงสารนี้มันมีน้อยนัก แต่คนที่จะอยู่กับสังคม สังสารวัฏนี้มีมหาศาล เวียนตายเวียนเกิดไปไม่มีทางออก แล้วถ้ามีทางออกก็ไม่อยากจะออก ไม่อยากจะออกเพราะมีความอ่อนแอ เพราะไม่มีความเข้มแข็ง... ไม่มีความเข้มแข็งว่าตัวเองจะออกจากวัฏฏะได้ ไม่ยอมรับความจริงว่า เราก็มีโอกาสที่จะพ้นออกจากทุกข์ได้ แล้วพอจะพ้นออกจากทุกข์ เห็นไหม ก็มีความละล้าละลัง ห่วงหน้าห่วงหลัง กลัวแต่ว่าชีวิตเราจะมีแต่ความทุกข์ จะหาแต่ความสุขในโลกนี้

นี่ไงห่วงหน้าห่วงหลัง อาลัยอาวรณ์ ละล้าละลัง ไม่กล้า ไม่มีการกระทำ เห็นไหม สิ่งที่ไม่กล้าเพราะไม่มีการกระทำ นี่มันหลอกเรานะ กิเลสนี่มันหลอกเรา โลกนี้คือสมมุติ จริงตามสมมุติ มันมีจริงตามอย่างนั้น แต่เวลาเราศึกษาธรรมของเราขึ้นมาแล้ว ก็ว่าสิ่งนั้นก็เป็นสมมุติ สิ่งนั้นก็เป็นสักแต่ว่า มันตัดจากเรานะ จากที่ว่ามันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย เราเป็นเรา สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นสักแต่ว่า มันมีของมันตามสภาวะแบบนั้น

นี่พูดถึงว่าเวลาเราศึกษาธรรมไง ! เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เธอจงมองนี้ให้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ” เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระโมฆราช เพราะพระโมฆราชเขาประพฤติปฏิบัติของเขา แต่ในปัจจุบันนี้ เราเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติ แต่เรามีหลักมีเกณฑ์ของเราหรือยัง.. เราไม่มีหลักมีเกณฑ์ของเรา เห็นไหม ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ อย่างนี้คือเราหลอกเราเอง กิเลสมันก็หลอกเราอยู่แล้ว ! กิเลสมันหลอกเรา เพราะมันจะไม่ให้เราเห็นตามความเป็นจริงในสัจธรรม แต่ให้เห็นตามความเป็นจริงของกิเลสนะ กิเลสมันเป็นพญามาร มันครอบคลุมในชีวิตของเรา มันครอบคลุมในหัวใจของเรา มันอาศัยชีวิตของเราเป็นที่อาศัย มันก็จะให้เราอยู่ในอำนาจของมัน เห็นไหม

เวลาเราทุกข์เรายาก เรามีสติสตังขึ้นมา เราก็พยายามจะหาทางออกของเรา มันก็ผ่อนให้นะ.. มันผ่อนให้ว่าเราพอจะมีชีวิตอยู่ได้ แต่เวลาพอเราจะทำสิ่งใดของเรา มันก็ทำให้เราไม่สมความปรารถนา มันทำให้เราลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนั้นตลอดไป เราก็มีทุกข์มียากอยู่ตลอดไป

เวลาเราศึกษาธรรมขึ้นมานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เราทุกข์เพราะกิเลส... เราทุกข์เพราะตัณหาความทะยานอยาก” เราก็พยายามจะควบคุมของเรา...จะควบคุมของเราขนาดไหนนะ มันก็เป็นความฉ้อฉลของกิเลส กิเลสมันหลอกลวงเรา เห็นไหม สิ่งต่างๆ มันมี นี่คือสัจธรรม !

ธรรมนี้เกิดมาจากไหน.. สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันเห็นตามความเป็นจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เวลาเวียนตายเวียนเกิด มันมีแรงขับของมัน มันมีบุญกุศลของมัน มันถึงขับให้จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดตามวัฏสงสาร

แต่เพราะมีบุญมีกรรม แต่เพราะมีการกระทำ แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มีอำนาจวาสนา ถึงได้พยายามรื้อค้น พยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนถึงที่สุดแล้ว ตรัสรู้เองโดยชอบ แล้วสัจธรรมมันมี พอสัจธรรมมันมี นี่ถึงมองโลกด้วยความแจ่มแจ้งไง

แต่ของเรานี่มองโลกด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ฉะนั้นพอมองโลกด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากแล้ว เวลาเรามาศึกษากัน เราเห็นทุกข์เห็นยากเพราะกระแสไง กระแสเราเกิดในสังคมที่เป็นอย่างไร ถ้าสังคมที่กำลังเจริญงอกงาม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีกำลัง แล้วมีผู้ที่ประพฤติตามกระแส เราก็อยากจะออกจากทุกข์ เห็นไหม เราก็อยากประพฤติปฏิบัติขึ้นมา

นี่ไงความที่จะออกจากทุกข์ขึ้นมา นี่เพราะเราอ่อนแอ เรากระทำของเราด้วยความรู้สึกของเรา ความเห็นของเรา เราเห็นว่าโลกทุกข์.. โลกทุกข์ เราถึงพยายามสละมา สละมาประพฤติปฏิบัติ เวลามาประพฤติปฏิบัติแล้ว เรามีความเข้มแข็งพอไหม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วเรามีความเข้มแข็งพอ มีสัจจะตามความเป็นจริงพอ เราจะสามารถต่อสู้กับกิเลสเราได้

แต่ในปัจจุบันนี้ทางโลกก็อ่อนแอ.. อ่อนแอเพราะอะไร อ่อนแอเพราะจิตใจมันอ่อนแอ เห็นไหม “สัจธรรม.. บารมีธรรม มันอ่อนแอ” พออ่อนแอแล้วเวลาศึกษาธรรมขึ้นมา ถ้าการศึกษาธรรมในสมัยก่อนหน้านี้ การศึกษามาก็ศึกษามาเพื่อ ! เพื่อเป็นวิชาการความรู้ แล้วก็มีการเชื่อกันว่า “มรรคผลนิพพานไม่มี” มรรคผลไม่มีหรอก พูดถึงมรรคผลไปนี่เขาจะหัวเราะเยาะเอา

แต่เพราะมีครูมีอาจารย์ของเราที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ครูบาอาจารย์ของเราท่านทดสอบขึ้นมา แล้วครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ตั้งแต่สมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นขึ้นมา การเทศนาว่าการของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ของครูบาอาจารย์เรา ท่านจะไม่เทศนาว่าการแบบโลกๆ เขา

เวลาโลกๆ เขาเทศนาว่าการ เขาจะเอาอกเอาใจกัน เขาบอกว่าสัจธรรมนี้ต้องมีความนุ่มนวลอ่อนหวาน เขาก็จะเอาความนุ่มนวลอ่อนหวานนั้นมาสื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราจะสื่อธรรมะ มันสื่อออกมาจากใจ ! ถ้าสื่อออกมาจากใจ...

คำว่า “สื่อออกมาจากใจ” คือออกมาจากใจของผู้ที่รู้จริง ! ถ้าใจของผู้ที่รู้จริง การที่ว่ากิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันปิดกั้นทางเดินของเราขนาดไหน นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านได้รู้ได้เห็นของท่านขึ้นมา เห็นไหม การแสดงธรรมของครูบาอาจารย์ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถึงจะแสดงธรรมไม่เหมือนกับทางโลกเขา

ทางโลกเขาต้องพูดด้วยกิริยานุ่มนวลอ่อนหวาน คำว่านุ่มนวลอ่อนหวาน แล้วพอแสดงธรรมออกมานี่ธรรมะก็นุ่มนวลอ่อนหวาน เห็นไหม ที่ว่า “สัจธรรม.. สัจธรรม ต้องเป็นสิ่งที่ประเสริฐ” คำว่าประเสริฐนี้ประเสริฐของกิเลสไง ! แต่ถ้าประเสริฐของธรรมล่ะ...

“ถ้าประเสริฐของธรรม นี่มันออกมาจากใจ มันทิ่มแทงในหัวใจของเรา”

เวลาเราฟังธรรมของครูบาอาจารย์ของเรามันจะขนลุกขนพองนะ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ธรรมออกมาจากสัจจะความจริง มันขนลุกขนพองเพราะมันทิ่มเข้ามาในหัวใจของเรา... ทิ่มเข้ามาในหัวใจของเราเลย ! เพราะใจของเรามันคิดสิ่งใด ใจของเราประพฤติปฏิบัติสิ่งใด มันจะเป็นความจริงขึ้นมา แล้วมันจะสะเทือนหัวใจของเรา

พอมันสะเทือนหัวใจของเรา แล้วเราจะเอาแนวทางปฏิบัตินี้ไหม... ถ้าเราไม่เอาแนวทางปฏิบัตินี้นะ เวลามีกระแสขึ้นมา มันมีความมั่นคงขึ้นมา เพราะครูบาอาจารย์เราเขาพิสูจน์มา แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติได้ผลตามความเป็นจริงขึ้นมา

พอได้ผลตามความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว พอเป็นความเชื่อถือของสังคม แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติด้วยความหลอกลวง นี่ภาวนาหลอกๆ กันนะ ! หลอกๆ กันเพราะอะไร เพราะถ้าทำตามความเป็นจริงขึ้นมา มันก็จะต่อสู้กับกิเลสใช่ไหม แล้วกิเลสมันคืออะไร..

“กิเลสคือความเคยชินของเรานี่แหละ... กิเลสคือผลของพญามารที่มันครอบคลุมหัวใจเรานี่แหละ ”

มันพาเราเวียนตายเวียนเกิดนะ โดยที่เราไม่มีอิสรภาพเลย เราฝืนมันไม่ได้เลย.. เราฝืนมันไม่ได้เพราะมันเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเราทั้งหมด เห็นไหม

แล้วเวลาเรามีความเชื่อมั่นในสัจธรรม เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา โดยวางธรรมไว้ให้เป็นแนวทาง พอวางธรรมไว้ให้เป็นแนวทาง แล้วพอเราจะประพฤติปฏิบัติ เราก็จะเอาแต่ความสะดวกสบายของเรา.. เราจะเอาความสะดวกสบาย เห็นไหม เลยภาวนาหลอกๆ นะ !

“ภาวนากันหลอกๆ ทำกันหลอกๆ” ทั้งๆ ที่กิเลสนี่มันหลอกเราอยู่แล้ว แต่เพราะความอ่อนแอของเรา... เพราะความอ่อนแอของเรา การภาวนาถึงจะต้องเอาความสะดวกสบาย

“เอาความสะดวก.. เอาความสบาย... เอาความพอใจของตัว... ทำตามอำนาจของกิเลส”

“นี่ไงภาวนาหลอกๆ… ภาวนาหลอกๆ คือ ทำแบบสักแต่ว่าทำ”

นี่เวลาแสดงธรรมนะ ต้องแสดงธรรมแบบว่านุ่มนวลอ่อนหวาน.. ในการเดินจงกรมก็ต้องนุ่มนวลอ่อนหวาน

คำว่านุ่มนวลอ่อนหวาน... “หวานเป็นลม ขมเป็นยา”

หวานเป็นลม.. ความนุ่มนวลอ่อนหวานนี่กิเลสมันปฏิบัติด้วย กิเลสมันต้องอย่าให้สะเทือนมันนะ

ถ้าจะให้สะเทือนกิเลส... ก็ให้เราตั้งสติ ! เราตั้งสติ เราพยายามเดินจงกรม เราพยายามบังคับให้จิตเราลงสู่ความสงบได้ เห็นไหม นี่สิ่งนี้ถ้ามันจริง... มันจริงคือมันจะฝืนกิเลส ถ้ามันฝืนกิเลสมันจะเข้าสู่สัจจะความจริง แต่นี่เราปฏิบัติหลอกๆ เราปฏิบัติหลอกๆ เพราะใจเราหลอกๆ ทั้งๆ ที่ว่าสังคมนี้ ดูสิโลกนี้ที่ว่าเป็นสมมุติๆ เป็นของหลอกลวง แต่มันจริงตามสมมุติ เวลาครูบาอาจารย์ของเรานี่นะ จริงตามสมมุติ ถ้าจริงตามสมมุติต้องทำตามนั้น

“ธรรมและวินัยนี้เป็นสมมุติบัญญัติ” เวลาครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติ ท่านก็อาศัยสมมุติบัญญัตินี้ไป ถ้าไม่อาศัยสมมุติบัญญัตินี้ก้าวเดินไป เราจะคุยกันรู้เรื่องไหม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นศีล สมาธิ ปัญญา.. ศีล สมาธิ ปัญญามันเกิดมาจากไหน... เกิดมาจากการกระทำ เห็นไหม

“มโนกรรม คือ กรรมที่คิดดีคิดชั่ว สิ่งนั้นมันเป็นมโนกรรม” แต่ถ้ามีการกระทำขึ้นมานี่ผิดศีลแล้ว ถ้ามีการกระทำเป็นอาบัติขึ้นมานี่มันผิดศีล พอผิดศีลขึ้นมา แล้วถ้ามันทุศีล พอมันทุศีล การประพฤติปฏิบัติมันจะลงสู่สัมมาทิฏฐิได้อย่างไร มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันมีความเห็นผิดของมันไป เห็นไหม

สิ่งนี้ถ้ามีการกระทำ พอมันมีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันมีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา แต่เพราะว่าพอเราทำสิ่งใดที่มันเป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นมา มันไปขัดแย้งกับกิเลสของเรา เห็นไหม เราถึงทำกันสักแต่ว่า พอทำแบบสักแต่ว่า อะไรก็ต้องมีความสะดวกสบาย แล้วกระแสสังคมเขามี เขาเสนอความสะดวกความสบาย ความนุ่มนวลอ่อนหวาน พอความนุ่มนวลอ่อนหวาน

“นี่ไงปฏิบัติหลอกๆ ภาวนาหลอกๆ”

ทั้งๆ ที่กิเลสมันหลอกเราอยู่แล้วนะ ! ถ้าเราทำหลอกๆ ผลมันก็ได้หลอกๆ แต่ที่สังคมเขาเชื่อถือกัน เขาเชื่อถือกันที่ไหนล่ะ... เขาเชื่อถือกันนี่ ดูสิเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อนะ

ปัญจวัคคีย์อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติด้วยความวิกฤต อุกฤษฏ์ขนาดไหน ทรมานตนมา ๖ ปี อยู่ด้วยกันมานี่หวังผล หวังให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรมขึ้นมา จะได้เผยแผ่ จะได้เผื่อแผ่เราบ้าง เราก็ปฏิบัติมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรมานตนนะ ๖ ปีนี่พยายามศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ปัญจวัคคีย์ก็ไปด้วย เพราะอุปัฏฐากอยู่ นี่ก็เห็นๆ กันอยู่ไง

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์นี่หมดอาลัยตายอยากเลย ทิ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเลย เห็นไหม พอทิ้งไปเลย พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ด้วยพระองค์เอง ระลึกถึงอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก สิ่งๆ ต่างนี้จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ ! ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ

แต่นี่มันเป็นเรื่องของโลกไง โลกเขาต้องเห็นกันด้วยสิ่งที่ว่าเป็นความรับรู้ของโลกใช่ไหม แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมที่ไหนล่ะ.. “ตรัสรู้ธรรมด้วยธรรม” แล้วธรรมมันคืออะไร.. เห็นไหม

ดูสิ สิ่งที่เป็นศาสนวัตถุ... ศาสนธรรม.. ศาสนพิธี..

ศาสนวัตถุ คือวัดวาอาราม สิ่งที่เราเห็นกันอยู่นี่ สิ่งนี้มันเป็นศาสนวัตถุ มันเป็นวัตถุ... ดูสิวัตถุของเรานี้ เรามีกายกับใจ “กายคือวัตถุ.. จิตใจคือนามธรรม” นี่ก็เหมือนกัน ศาสนวัตถุ.. ศาสนธรรม

ศาสนธรรม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม.. กราบธรรม นี่กราบที่ไหน.. แล้วอะไรเป็นสิ่งที่สัมผัสธรรม อะไรเป็นที่บรรจุธรรม

นี่ไงสิ่งที่เป็นธรรม.. เป็นธรรม ธรรมคือสัจธรรม !

ศีลคือความปกติของใจ ใจมันก็รู้ของมัน เวลามีสมาธิ จิตใจมันก็ต้องรู้ของมัน เวลามีปัญญาขึ้นมา ปัญญาอย่างไรที่ทำให้ชำระกิเลสขึ้นมา

“นี่ไงสัจธรรม”

ถ้าสัจธรรม เห็นไหม ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมมันอยู่ที่ไหน.. ธรรมมันอยู่ที่ไหน แต่เวลาเป็นธรรม สัจจะความจริงอันนั้นล่ะ สัจจะความจริงอันนั้น แล้วเวลาเผยแผ่ธรรมขึ้นมา จนวางเป็นรากเป็นฐานขึ้นมา

เราเกิดในพุทธศาสนา เวลาไปวัด เราก็ต้องทำตามประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีทางโลกเขา ไปแล้วก็ต้องทำตามพิธีกรรมทั้งหมด ถ้าผิดจากพิธีกรรมที่เราเคยชินมา สิ่งนั้นผิดแล้ว เราไม่คุ้นชินกับสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นความผิดหมด นี่ไงนี่มันเป็นเรื่องของโลก เห็นไหม

เรื่องของโลก ความเห็นของเขา ประเพณีวัฒนธรรมของเขา แล้วนี่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ก็เอาประเพณีวัฒนธรรมนี้มาเป็นตัวตั้ง แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมา ก็ปฏิบัติหลอกๆ หลอกตั้งแต่เริ่มต้น.. หลอกตั้งแต่ปัจจุบัน... แล้วก็จะหลอกไปข้างหน้า.. แล้วผลที่ว่าจะว่ากัน นี่มันเป็นผลหลอกๆ ไง หลอกเพราะอะไร หลอกเพราะ เมื่อก่อนเขาไม่เชื่อ ผลที่เกิดนั้นก็ไม่ใช่

ดูสิดูสถาบันการศึกษาที่ไหน ถ้ามีคนเขาเชื่อถือนะ ใบประกาศของสถาบันการศึกษานั้น จะไปทำงานที่ไหนเขาก็รับ แต่ถ้าสถาบันที่ไหนเขาไม่มีการเชื่อถือ ประกาศนียบัตรนั้นไม่มีใครสนใจเลย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อครูบาอาจารย์ของเรา เวลาท่านทำเริ่มต้นขึ้นมาก็ไม่มีใครเชื่อถือ แต่เพราะมันเป็นความจริงไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมมันมาจากไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม.. กราบธรรมที่ไหน... มันเป็นความจริงขึ้นมาใช่ไหม ! มันเป็นความจริง

“การแสดงออกของผู้รู้จริง มันต้องมีลวดลายของธรรมะ ลวดลายก็คือลวดลายตามความเป็นจริง” แล้วถ้าใครที่ปฏิบัติจริงขึ้นไป ก็จะไปสัมผัสความจริงอันนั้น

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่เห็นไหม มันมีลวดลายของมัน มันมีความจริงของในหัวใจนั้น เวลาเทศนาว่าการ เวลาประพฤติปฏิบัติ เอาลูกศิษย์ลูกหา เห็นไหม ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นกำลังของพระกรรมฐานนี้.. เป็นกำลังของกองทัพธรรมนี้มันมาจากไหน มันมาจากหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นผู้ฝึกฝนมา

ครูบาอาจารย์เราท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเป่ากระหม่อมมา หลวงปู่มั่นเป็นผู้เทศนาว่าการ เป็นผู้สั่งสอน เป็นผู้อบรม เป็นผู้พาดำเนินมา.. แล้วดำเนินมาด้วยวิธีการสิ่งใดล่ะ “ดำเนินมาด้วยความเป็นจริง ! ด้วยความเป็นจริง เอาจริงเอาจัง” เอาจริงเอาจังเพื่อให้กิเลสมันอยู่ในอำนาจของเรา เอาจริงเอาจังคือบังคับไง

เวลาทำสมาธิปัญญากัน ไปอยู่ในป่าในเขา แล้วในป่าในเขามันเกิดอะไรล่ะ ในป่าในเขามันเกิดสัตว์เสือสางต่างๆ ที่มันเป็นภัยกับเรา มันเกิดสิ่งที่เรามองไม่เห็น จิตวิญญาณต่างๆ ที่มันจะเป็นภัยกับเรา เราไปอยู่อย่างนั้นมันจะคิดนอกลู่นอกทาง เราจะทำสิ่งใดๆ มันจะนอนใจไหม

คนเรานะถ้าเข้าไปสู่ที่อัตคัดขาดแคลน เข้าไปสู่ที่ไม่ปลอดภัย มันจะระวังตัวของมัน เหมือนเสือ เหมือนแม่เนื้อเขาจะระวังตัวชีวิตของเขา แต่พอทำอย่างนั้น นั่นไงมันต้องบังคับกันอย่างนั้น นี่เพราะอะไรเ พราะมันเป็นความจริง ! ความเห็นแก่ตัว ความมักง่าย ความเข้าข้างตัวเอง มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอเวลาครูบาอาจารย์ท่านทำจริงๆ จังๆ ขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับครูบาอาจารย์ เป็นประโยชน์กับความจริงขึ้นมา ท่านก็เอาแนวทางนั้นมาสั่งมาสอน เอาแนวทางนั้นมาให้เราเอาชนะตัวเราเอง

เวลาท่านสอนขึ้นมานี่ท่านสอนเรานะ ท่านผ่านไปแล้วท่านไม่มาทุกข์ร้อนกับเราหรอก แต่เวลาท่านสอนเรา ก็ต้องสอนให้เราเอาจริง ! เอาจริงเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัตินั้น แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านไม่มีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม

ภาวนาหลอกๆ ! หลอกๆ เพราะอะไรล่ะ หลอกๆ เพราะสังคมเขาเชื่อถือ หลอกๆ เพราะว่ามีครูบาอาจารย์ที่ท่านทำไว้เป็นแนวทาง แล้วเราก็ทำไม่เหมือนไง ทำหลอกๆ ไง แล้วก็ทำนุ่มนวลอ่อนหวาน ทำให้มันพอใจกิเลสไง มันเลยกลายเป็น “ภาวนาหลอกๆ” แต่หลอกกิเลสเราไม่ได้นะ !

กิเลสเรานี้เราจะหลอกได้อย่างไร แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้หลอกเรา ท่านเอง.. ท่านต่อสู้กับกิเลสของท่านเอง ท่านเอง.. ท่านต้องเอาชนะตนเองของท่านได้เอง ถ้าท่านเอาชนะตัวท่าน แล้วท่านทำอย่างไรท่านถึงได้เอาชนะตัวท่าน.. ท่านทำของท่านอย่างไร.. แล้วเวลาท่านวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ให้พวกเราได้ก้าวเดิน เห็นไหม

เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ มันเป็นเรื่องความลึกลับ เป็นความมหัศจรรย์ จนทอดอาลัยนะว่าจะสอนใครไม่ได้หรอก.. ไม่มีใครรู้ได้อย่างเราหรอก.. ไม่มีใครรู้ได้อย่างเรา เห็นไหม สุดท้ายแล้วท่านพิจารณาของท่านว่า ถ้าไม่มีใครรู้ได้อย่างเรา เราดีกว่าเขาได้อย่างไร ก็มนุษย์เหมือนกัน !

ดูสิเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราเห็นภัยในวัฏสงสารใช่ไหม เรามาวัดมาวาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่มีคุณภาพขึ้นมา... คุณภาพของจิตที่มีบารมี ก็เสียสละความเป็นฆราวาส เสียสละชีวิตที่เป็นสังคม มาบวชเป็นพระเป็นเจ้าเพื่อจะมาต่อสู้กับกิเลส

นี่เราเสียสละมา เราตั้งใจของเรามาขนาดนี้อยู่แล้ว เราจะพ้นจากทุกข์ ถ้าเราจะพ้นจากทุกข์ เราจะมีอำนาจวาสนาขนาดไหน เราจะเอาจริงเอาจังขนาดไหนล่ะ

“เรามาทำกันนี้ก็เพื่ออะไร... ก็เพื่อคุณธรรม ! เพื่อสัจจะความจริง !”

ถ้าเพื่อสัจจะความจริง เราเสียสละมาหมดแล้ว แม้แต่ทางโลกนะ เสียสละทางโลกที่เขามีอยู่กันตามสิทธิหน้าที่ เราเสียสละมาแล้ว มาเพื่อให้มีศีลมีธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ เพื่อให้เราพ้นจากทุกข์ เรามีครูมีอาจารย์ เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ “จะสอนได้อย่างไรหนอ... จะสอนได้อย่างไรหนอ”

พอถึงที่สุดมาพิจารณาตัวของท่านเอง ว่ามาด้วยข้อวัตรปฏิบัติ.. มาด้วยกติกาที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนท่านประสบความสำเร็จแล้วเอาธรรมและวินัยวางไว้.. วางไว้เพื่อให้พวกเราก้าวเดิน แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา มันทอดอาลัยเลยนะว่าจะสอนเขาได้อย่างไร แต่ก็จะสอนได้เพราะมีแนวทาง ! แนวทางที่เราทำมา นี่มีแนวทาง เห็นไหม

พอมีแนวทางแล้วท่านถึงออกมาเป็นผู้นำ ออกมาเพื่อชี้นำให้พวกเราได้ประพฤติปฏิบัติต่อไป ทีนี้พอเราปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เราจะเอาจริงขนาดไหนล่ะ เราเอาแบบกระแสโลกไหม ถ้ากระแสโลกก็ภาวนาหลอกๆ ! หลอกตัวเอง ทั้งกระแสก็หลอก แต่เพราะมีครูบาอาจารย์ของเราทำให้สังคมเชื่อถือ เขาก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นข้อเปรียบเทียบว่า “มันมีจริง !” มันมีจริงเพราะว่าท่านทำจริง แต่เรานี่ทำหลอก แล้วมันจะได้ผลหลอกไหมล่ะ เราทำหลอกๆ แล้วผลที่ออกมาก็เป็นผลหลอกๆ

ฉะนั้นผลที่หลอกๆ เวลาแนะนำสั่งสอนถึงได้พูดออกมานุ่มนวลอ่อนหวาน อยู่ในมารยาทสังคม โลกเป็นใหญ่ไง มันไม่ใช่ธรรมเป็นใหญ่ ถ้าธรรมเป็นใหญ่.. “ธรรมคือสัจจะความจริง คือความรู้สึกจริง คือสัจจะ ! คือเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา”

“โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง” เราต่อสู้... โลกนี้จะมาเป็นใหญ่กว่าเราไม่ได้ เพราะเราก็อยู่กับโลกมาแล้ว เห็นไหม เราก็เกิดมากับโลก เราเกิดมานี่เราอยู่กับโลก ถ้าโลกเป็นใหญ่ โลกมีความสุข เราอยู่กับโลกมันก็มีความสุขพอสมควรแล้ว ฉะนั้นพอเราจะเข้ามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะเอาความนุ่มนวลอ่อนหวาน ความสะดวกสบายอย่างนั้นให้เข้ามาได้อย่างไร

ถ้ามันเข้ามา นี่เราก็ปฏิบัติเพื่อโลกกันไง ถ้าปฏิบัติเพื่อโลก แล้วถ้ามันนุ่มนวลอ่อนหวาน ที่มันสะดวกสบาย อย่างนั้นมันก็เข้ากับโลกได้หมด ถ้าเข้ากับโลกได้หมด แล้วปฏิบัติมาได้อะไร.. ปฏิบัติมาเพื่ออะไร..

“ปฏิบัติหลอกๆ หลอกตัวเอง !” แล้วครูบาอาจารย์ก็เป็นครูบาอาจารย์หลอกๆ บอกว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วจะได้ผลๆ แล้วมันได้ผลจริงไหมล่ะ ถ้ามันได้ผล.. มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ดูสิค่าของสิ่งใดก็แล้วแต่ มันด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเหตุผลมันไม่มี.. ไม่มีค่า

ดูสิ “กาลามสูตร” เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อเพราะครูบาอาจารย์สอน.. ไม่ให้เชื่อเพราะว่ามันเข้ากับคำนวณได้.. ไม่ให้เชื่อกับที่เราพิจารณาแล้วมันจะเป็นไปได้.. ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นเลย !

“ให้เชื่อในการประพฤติปฏิบัติ ให้เชื่อในความจริง”

แล้วเวลาปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติหลอกๆ เราจะเชื่อเราได้ไหม ถามตัวเองสิว่าเชื่อเราได้ไหม? เราเชื่อไม่ได้ แล้ววุฒิภาวะอ่อนแอมาก พออ่อนแอแล้วก็ว่า เมื่อก่อนเป็นคนไม่ดี เมื่อก่อนเป็นต่างๆ.. ไม่ดีก็คือไม่ดี ! แล้วเดี๋ยวนี้ดีขึ้นมา แล้วดีขึ้นมาแค่ไหนล่ะ ดีขึ้นมาแล้วได้อะไรล่ะ ดีแบบโลกๆ ไง

นี่ไงหลอกสองชั้นสามชั้นนะ หลอกจนมันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง เราจะเริ่มเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา คือเราต้องพิสูจน์ของเรา

ถ้าพิสูจน์ของเรานะ สิ่งใดที่ศึกษามาแล้วต้องวางให้หมด ! เวลาปริยัติที่เราเรียนมานี้ เรียนมาเป็นความจริง เราเรียนมาเราศึกษามา ปริยัตินี้เรารู้จริงของเรา แล้วพอรู้จริงของเราแล้วมันได้อะไรต่อไปล่ะ มันได้อะไรต่อไป..

“ปริยัติ.. ปฏิบัติ.. ปฏิเวธ..” เวลาปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเรียนปริยัติมาแล้วยึดมั่นกับความรู้ของตัว เวลาปฏิบัติขึ้นมา ก็ปฏิบัติโดยการสร้างภาพ ! ถ้าปฏิบัติโดยการสร้างภาพ มันก็ไปเข้ากระแสโลกไง คือพอมีเป็นพิธี... เป็นพิธีนี่มันเป็นศีลธรรมจริยธรรมนะ เรื่องของพิธีกรรมต่างๆ ประเพณีวัฒนธรรม ตอนนี้เอาไว้หลอกฝรั่ง เอาไว้หลอกหาตังเขา แล้วเราก็เป็นสินค้าอันหนึ่ง ก็เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนั้นเหรอ

ทีนี้พอปฏิบัติก็ปฏิบัติเป็นพิธี เป็นพิธีมันชำระกิเลสไม่ได้หรอก ! แต่ถ้าเอาจริงเอาจังนะ เพราะสัจธรรม ! สัจธรรมนี้เป็นความจริง สิ่งที่จะเข้าไปสู่ความจริงได้ คือมันต้องมีความจริงที่สมกัน มันถึงจะเข้าสู่ความจริงนั้น ถ้าสติก็ต้องเป็นสติ

ดูสิเวลาเราฝึกสติกัน เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว “สติ – มหาสติ” จนสตินี่มันพร้อมกับจิตตลอดเวลาเลย นี่เขาฝึกได้ขนาดนั้น แล้วเราทำได้ขนาดไหน ถ้าเราทำไม่ได้ เราทำของเราไม่ได้ เห็นไหม แล้วมันจะก้าวเดินออกไปได้อย่างไร นี่มันถึงต้องจริงจังไง จะได้หรือไม่ได้ มันอยู่ที่ความจริงจังของเรา

การฝึกหัด เห็นไหม สัตว์เขายังเอามาฝึกหัดไถนา ทำสวนทำไร่ได้นะ ช้างนี่เขาเอามันมาบังคับจนมันใช้งานได้ สัตว์มันยังฝึกได้ ! แล้วเราเป็นมนุษย์ แล้วเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราฝึกใจเราไม่ได้..

เราจะเกิดเป็นมนุษย์นี้มีคุณค่าแค่ไหน คุณค่าของโลกเขา มนุษย์ผู้ที่ทำคุณงามความดี เขาประพฤติปฏิบัติของเขา เขาหาอยู่หากินของเขา เขายังเลี้ยงชีพของเขาได้ แล้วเราจะเลี้ยงใจของเรา เราไม่ดัดแปลงใจของเรา เราไม่ทำด้วยความจริงจังของเรา แล้วเราจะต่อสู้กับกิเลสของเราได้อย่างไร

ต่อสู้กับกิเลสนะ การประพฤติปฏิบัติคือการจริงจัง ! จริงจังโดยสัจธรรม โดยข้อวัตรปฏิบัติ คำว่าข้อวัตรปฏิบัตินี้มันเป็นเครื่องวัด เพราะมันไม่อยากทำหรอก.. ถ้าจิตใจเราไม่เข้มแข็งนะ มันถูลู่ถูกัง มันถูลู่ถูกังออกไปตามอำนาจของใจ ถ้าเรามีข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ขึ้นมา นี้เพื่อบังคับมัน... บังคับให้ใจนี้มันเข้าสู่ระบบ ถ้าใจมันเข้าสู่ระบบแล้ว มันเหมือนกับเครื่องจักรเลย

ถ้าเหมือนเครื่องจักร เห็นไหม ดูสิเราประกอบมาดี เวลาเราติดเครื่องแล้ว เครื่องมันจะทำงานของมันสมบูรณ์

จิตใจของเรา ในเมื่อมันพึ่งตัวเองไม่ได้ มันยืนด้วยตัวเองไม่ได้ เราต้องบังคับให้มันทำ อย่างเช่นเดินจงกรมก็ให้เป็นเวลา ถ้ามันไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไร เครื่องยนต์ถ้ามันติดแล้ว ก็ต้องให้มันติดอยู่อย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตของเรานี้..

“ขบวนการของจิต จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

อริยสัจ.. นี้จิตมันได้กลั่นออกมา ทุกข์ควรกำหนด.. สมุทัยควรละ.. ด้วยมรรคญาณ แล้วเกิดนิโรธ ความรับรู้จริงขึ้นมา เห็นไหม เวลาพิจารณาไปถึงที่สุด เวลาภาวนาไป จิตที่มันสงบแล้วออกวิปัสสนา วิปัสสนา.. กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ รวมลงสู่... นี่ไงกายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์.. แล้วจิตมันรวมลง

นี่ไง เวลามันกลั่นออกจากอริยสัจ...

กาย คืออริยสัจ.. จิตเป็นจิต จิตที่มันเป็นขบวนการของมรรค.. ทุกข์ล่ะ ทุกข์คือสิ่งที่ว่า กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์... แล้วเวลามันรวมลง มันรวมลงอย่างไร นี่การรวมลง ขบวนการของมันมี ขบวนการสัจจะความจริงมี แล้วสัจจะความจริงที่เป็นสิ่งที่มีอยู่นี้ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ ดูสิเราเป็นปุถุชนคนหนา พอศึกษาธรรมะขึ้นมา ก็ศึกษามาเพื่อความรู้ของเรา ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามา ก็ว่าเป็นของเราๆ เวลากิเลสก็เป็นของเราๆ สรรพสิ่งเป็นของเราๆ เป็นของเราแล้วรู้ไปหมดเลย กิเลสก็เป็นเรา ธรรมะก็เป็นเรา เราเองก็มีทิฐิมานะ แล้วอันไหนเป็นธรรมจริงล่ะ

นี่ไง.. นี่ผลของวัฏฏะนะ ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ การภาวนาหลอกๆ อย่างนี้อยู่ จิตมันไม่มีผลของมันหรอก ถ้าจิตไม่มีผลของมันนะ มันจะเวียนตายเวียนเกิด เห็นไหม เวลาเราเกิดขึ้นมานี่จริงตามสมมุติ เป็นมนุษย์ก็มนุษย์จริงๆ แต่เขาบอกว่า “นี่เป็นสมมุติ อย่าไปยึดติดมัน พอไปยึดมันก็เลยทุกข์ ถ้ามันปล่อย...”

ถ้าปล่อยมันก็เป็นมนุษย์อยู่วันยังค่ำ เพราะอะไร เพราะสถานะเราเป็นมนุษย์ไง เรายังไม่ตายจากมนุษย์ ถ้าจิตมันสร้างเวรสร้างกรรมขึ้นมานะ ปัจจุบันนี้ก็เป็นมนุษย์ เวลาตายไปแล้วก็ลงนรกอเวจี นี่มันก็เป็นสัตว์นรก เวลาถ้าเราเป็นมนุษย์ เห็นไหม เราสร้างคุณงามความดีของเรา ดีขนาดไหนก็เป็นมนุษย์ เพราะในเมื่อสถานะเรายังเป็นมนุษย์อยู่ มิตินี้เราเป็นมนุษย์ก็คือมนุษย์

แต่ถ้าเวลามันตายไปล่ะ ถ้าเราทำบุญกุศลก็ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มันก็เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม จิตนี้มันก็ไปเป็น

“นี่ผลของวัฏฏะ มันเป็นอย่างนี้เลย !” มันเป็นอย่างนี้ของมันอยู่ แล้วเราก็จะหมุนไปตามนี้ แล้วเวลาเรามาศึกษา นู่นก็ว่าสมมุติ นี่ก็สมมุติ....

สมมุติ.. สมมุติก็เป็นจริงไง สมมุติว่าเป็นมนุษย์อยู่นี้ สมาธิ ปัญญาก็เป็นสมมุติ ถ้ามีสมาธิถ้ามีสติ สติก็เป็นสมมุติ มันเป็นสมมุติทั้งนั้นแหละ สมมุติเพราะอะไร เพราะเราอยู่ในวงของสมมุติบัญญัติ ในเมื่อเราอยู่ในวงของสมมุติ มันก็เป็นสมมุติอยู่วันยังค่ำ

ถ้าสมมุติเป็นสมมุติบัญญัติ สมมุติเป็นสติ มันจริงหรือเปล่าล่ะ มันจริงตามสมมุติ ชีวิตนี้ก็สมมุติ ทุกอย่างเป็นสมมุติหมด แต่เวลาเราทำขึ้นมาแล้ว สมมุติบัญญัติ... สมมุติบัญญัติมันบัญญัติขึ้นมา มันมีการกระทำขึ้นมา ใจมันจะเป็นตามความเป็นจริงของมันขึ้นมา ถ้ามันเป็นตามความเป็นจริงขึ้นมา นี่มันมีการกระทำ มันรู้จริงได้ ถ้ามันรู้จริงได้...

นี่ไง สิ่งนี้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม... กราบธรรม ธรรมมันเกิดกับเราแล้วนะ คนเราเวลาปฏิบัติ จิตเราไม่เคยสงบ เราก็อยากสงบมาก แล้วเวลาสงบขึ้นมาด้วยมารยาสาไถ ด้วยการปฏิบัติหลอกๆ ก็หลอกกัน ก็สร้างความสงบกันขึ้นมาเองว่า “ว่างๆ เมื่อก่อนมันฟุ้งซ่านมาก.. เมื่อก่อนมีความทุกข์.. เมื่อก่อนยึดมั่นถือมั่น.. เมื่อก่อนเป็นคนขี้โกรธขี้โลภ เดี๋ยวนี้พอมารู้จักกระบวนการของจิต เดี๋ยวนี้ว่างหมดเลย เดี๋ยวนี้เป็นคนดีมากๆ เลย”

โลกเขาเป็นสมมุติกันอยู่แล้วนะ สิ่งต่างๆ นี้ ภาษาต่างๆ ก็สมมุติขึ้นมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีข้อเท็จจริง มีความจริงอยู่ เราก็สมมุติกันขึ้นมา สมมุติว่า “ว่างๆ เมื่อก่อนเป็นคนไม่ดี เมื่อก่อนไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเราเลย พอมาประพฤติปฏิบัติแล้วดีหมดเลย”

มันก็สมมุติกัน สมมุติว่าดีแล้วไง มันก็อยู่ในวงสมมุตินั่นแหละ มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ มันมีสติกำหนดพุทโธ พุทโธ พอเราบังคับ เดี๋ยวดีบ้างชั่วบ้าง เพราะเรามีการกลั่นกรองจิตของเรา มีการกลั่นกรอง การเห็นความเป็นไปของมัน เห็นตัวตนของเรา

เวลาคนขาดสติ มีอะไรมากระทบนี่มันไปหมดเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไปเต็มตัวเลย แต่ถ้าคนมีสติ เวลาความโลภ ความโกรธมันกระทบมา มันก็โกรธอยู่ แต่มันบังคับตัวได้ มันยังเลี้ยงตัวเองได้ มันยังรักษาตัวเองได้ มันไม่ไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

นี้พูดถึงมีสตินะ แล้วเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมา มันก็เป็นขบวนการของมัน ถ้าเป็นขบวนการของมัน เห็นไหม ถ้าขบวนการมันมีสติปัญญาขึ้นมา เรากำหนดพุทโธ กำหนดปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นข้อเท็จจริงของมันขึ้นมา ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงของมันขึ้นมานะ มันจะล้มลุกคลุกคลาน

โดยการประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาใจของเรา ไว้ในอำนาจของเรา มันเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เป็นเรื่องที่ยากมาก แม้แต่สำนึกดีสำนึกชั่วนี้ มันยังสำนึกไม่ได้เลย เพราะอารมณ์เป็นเรา ความคิดเป็นเรา ความทุกข์เป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติหลอกๆ ใช่ไหม ในเมื่อปฏิบัติหลอกๆ เราก็สร้าง...

“ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริงนะ”

สมมุติบัญญัติ สมมุติคือเราสมมุติกัน สมมุติเป็นเรื่องจริงของโลก เรื่องจริงของสถานะมนุษย์นี่แหละ นี่สมมุติจริงๆ ถ้าเป็นบัญญัติ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาก็บัญญัติ บัญญัติว่าศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่สมมุติตามความเป็นจริง เป็นสมมุติบัญญัติ

แต่นี้เราปฏิบัติหลอกๆ ผู้ปฏิบัติที่เป็นหัวหน้าก็หลอก แล้วสังคมมันก็มีกิเลสครอบงำ มันก็บอกว่านี่ว่างๆ

บัญญัติของพระพุทธเจ้านี้เป็นจริง แต่เราสมมุติกัน สมมุติสถานะว่า “นี่อย่างนี้เป็นความว่าง... พิจารณาความว่างแล้วมันจะเข้าถึงธรรม.. ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม มันจะหล่นมาใส่หัว”

นี่ไง เราปฏิบัติหลอกๆ แล้วก็สร้างผลหลอกๆ กันไว้ พอสร้างผลหลอกๆ กันไว้ เราปฏิบัติใช่ไหม เราปฏิบัติของเราไป ปฏิบัติตามหลอกๆ เขา ผลมันก็เป็นอย่างนั้นแหละที่ว่า “เมื่อก่อนเป็นคนเลวมาก เมื่อก่อนเป็นคนไม่ดีเลย เดี๋ยวนี้สุขสบาย”

“สุขสบายเท่าไหร่ มันก็เป็นผลของวัฏฏะนั่นแหละ”

สุขสบายขนาดไหน นี่ล่ะปฏิบัติหลอกๆ ! ผลก็หลอกๆ !

แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง พอประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ต้องจริง ! ถึงเป็นสมมุติก็สมมุติจริงๆ ! ต้องดัดแปลงจริงๆ !

นี่ไงที่ครูบาอาจารย์บอกที่ว่า “เรามาได้อย่างไรหนอ” เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วว่า “จะสอนใครได้.. จะสอนใครได้” มันทอดอาลัยเลยนะ เพราะมันละเอียดลึกซึ้งมาก มันเป็นความที่ละเอียดลึกซึ้งในหัวใจมาก เอ๊ะ.. แล้วพอทบทวน เห็นไหม นั่งเสวยความสุขอยู่ก็ทบทวนว่า

“แล้วเรามาได้อย่างไรล่ะ เรามาได้อย่างไร... เราดีกว่าเขาเหรอ เราดีกว่ามนุษย์ทุกๆ คนเหรอ มนุษย์เขาจะเลวทรามกว่าเราเหรอ… ก็มนุษย์เหมือนกัน เราก็เป็นมนุษย์ เขาก็เป็นมนุษย์ ถ้าเราเป็นมนุษย์แล้วเราทำได้ เขาเป็นมนุษย์เขาก็ทำได้.. แล้วเราทำอย่างไรล่ะ... อ๋อ ! ข้อวัตรปฏิบัติที่เราดัดแปลงตนขึ้นมา แต่เราทำจริง ! พอทำจริง มันมีผลตามความเป็นจริง” เห็นไหม

ครูบาอาจารย์ของเราเวลาสอนถึงสอนจริงๆ ฉะนั้นพอสอนจริงๆ แล้วเวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะต้องมีความจริงใจของเรา แต่ส่วนใหญ่แล้วเราอ่อนแอ ไปที่ไหนถ้าไม่ได้สะดวกสบาย ไม่ได้ตามแรงปรารถนา แล้วกระแสโลกเขาก็ตอบสนองกัน ตอบสนองสิ่งที่สะดวกสบาย สิ่งที่เป็นแค่พิธีกรรม แล้วเราก็ไปทำกันมา พอทำกันมาแล้วก็ว่าได้ปฏิบัติแล้ว เคยปฏิบัติมา ๕ รอบ ๑๐ รอบ ได้ประกาศมาคนละ ๕๐-๖๐ ใบ

“แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ”

“ไม่รู้ ! ไม่รู้”

“เป็นอย่างไรล่ะ”

“ก็นี่สบายๆ สบายๆ”

นี่ผลมันเป็นสมมุติที่หลอกไง ปฏิบัติหลอกๆ สมมุติก็หลอกกันไว้ ถ้าหลอกกันไว้อย่างนี้ โลกเป็นอย่างนี้ มันน่าเห็นใจว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นของจริงนะ แล้วเราก็มีอยู่จริงๆ แล้วเราก็ทุกข์ยากจริงๆ นะ แต่เราปฏิบัติเข้าไม่ถึงข้อเท็จจริง

“ฉะนั้นถ้าเราจะปฏิบัติให้เข้ากับข้อเท็จจริง เราถึงต้องเริ่มปรับเนื้อปรับตัวของเรา”

นักกีฬาทุกประเภท เวลาเขาจะลงแข่งขัน เขาต้องคัดนะว่าใครมีความสามารถแค่ไหน เขาแบ่งน้ำหนัก แบ่งต่างๆ เพื่อให้การแข่งขันมันพอที่จะเป็นกีฬาขึ้นมา

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราจะต่อสู้กับกิเลส เราจะเอาแต่ความสะดวกสบายของเราเข้ามา อย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้หรอก

ถ้ามันเป็นก็เป็นแบบนี้ไง เพราะมีแรงปรารถนาของสังคม พอมีแรงปรารถนาของสังคม เพราะสังคมนี้ การเทศนาว่าการ ครูบาอาจารย์ของเราทำเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ให้สังคมมีความหวัง พอสังคมมีความหวัง คนที่เขาต้องการผลประโยชน์ เขาก็สร้างพิธีกรรม พิธีการภาวนาหลอกๆ แล้วก็ผลหลอกๆ กันไว้ แต่ด้วยวุฒิภาวะที่เราต่ำต้อย สิ่งที่หลอกๆ มันก็เลยเป็นความจริง ก็ว่า “นี่สบาย... เป็นคนดี”

คนดีหรือไม่ดี.. นี่กิเลสมันอยู่ในหัวใจนะ เดี๋ยวถ้ากิเลสมันแสดงตัวออกมานะ ล้มหมดเลย พอล้มหมดนี่มันน่าเสียดายเวลาของเรา

ฉะนั้นถ้าเราจะเอาจริงของเรานะ เราต้องดัดแปลงเรา ดูสินักกีฬาเขายังต้องเตรียมความพร้อมก่อนที่จะแข่งขัน เราเองก่อนจะประพฤติปฏิบัติเราต้องฝึกฝน ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ของเราวางธรรมและวินัย วางข้อวัตรไว้เพื่อให้อยู่ด้วยกัน

“พุทธบริษัท ๔” เห็นไหม อุบาสก-อุบาสิกาได้อุปัฏฐากพระ ได้รู้ธรรมวินัย ! ถ้ารู้ธรรมและวินัย เวลาอุปัฏฐากพระมันจะได้อุปัฏฐากถูกต้อง ถ้าเรารู้ธรรมวินัยแล้ว เราจะดูพระออกเลยว่าพระองค์นี้ทำถูกต้องหรือทำไม่ถูกต้อง เรานี่แหละรู้...

ฉะนั้น นี่ไงการฝึกฝน การดัดแปลงตนเพื่อจะเข้าสู่สัจจะความจริง เราต้องมีการเตรียมความพร้อม ถ้าเรามีการเตรียมความพร้อมบ้าง อย่างเช่นนักกีฬาเขาต้องออกกำลังกายให้ร่างกายเขาเข้มแข็ง เพื่อจะลงแข่งขันได้

จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ดูสิคนร่างกายสมบูรณ์ หรือคนพิการขนาดไหน แต่ถ้าหัวใจของเขาเข้มแข็ง เขาปฏิบัติได้ทั้งนั้นแหละ คนง่อยเปลี้ยเสียขาก็ปฏิบัติได้ เวลาคนทุกข์ยากนอนอยู่บนเตียงก็ปฏิบัติได้ เพราะมันกำหนดพุทโธได้ ถ้าใจมันเข้มแข็งทำได้หมดแหละ แต่ถ้าคนอ่อนแอ ทำสิ่งใดก็ไม่ได้ นี่เพราะความไม่จริงของเรา เห็นไหม

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เราจะเอาความจริงแล้ว คือ เราจะไม่ปฏิบัติกันหลอกๆ ถ้าเราจะไม่ปฏิบัติกันหลอกๆ นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านส่งเสริมอย่างนี้ แล้วไม่ส่งเสริมธรรมดาด้วยนะ แล้วท่านยังคอยดูแลคอยรักษา คอยดูแลคอยรักษาเพราะอะไร เพราะการฝึกคน การฝึกใจให้มันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่ฝึกยากมาก ครูบาอาจารย์ของเราแต่ละองค์ที่จะผ่านมา ท่านทุ่มทั้งชีวิต... ทุ่มทั้งชีวิตนะ เพราะครูบาอาจารย์ในวงกรรมฐานของเราบอก “ธรรมะอยู่ฟากตาย”

มันเอาความเป็นความตายนี้มาหลอกเรา เราจะทรมานตนขนาดไหน มันบอกเดี๋ยวตายแล้วๆ ไปไม่รอดหรอก พรุ่งนี้เดินไม่ได้หรอก ลุกขึ้นมานี่ขาหักแน่นอนเลย แต่ถ้าเราเชื่อมันนะ มันไม่ได้หักเลย เห็นไหม แต่เราเชื่อมันแล้ว เราล้มกลิ้งไปแล้ว แต่ถ้าเราเอาจริงขึ้นมานะ มันเป็นอย่างไรให้เป็นไป... มันจะเป็นอย่างไรให้เป็นไป แล้วเราจะต้องฝืนมันให้ได้ ถ้าเราฝืนได้ เห็นไหม เราชนะ ! ชนะอะไร ชนะอารมณ์ความรู้สึกที่มาหลอกลวงเราไง ชนะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

กิเลสมันคืออะไร กิเลสคือความเคยใจ อาศัยความคิด อาศัยขันธ์ ๕ ของเราออกไปหาเหยื่อ อาศัยความนึกคิดเรานี่แหละ แล้วกระตุ้น แล้วพยายามให้ค่ามากขึ้น คิดสิ่งใดขึ้นมา กิเลสมันโหมไฟ.. มันโหมไฟใส่ความคิดเรานี้เผาตัวเราเอง แต่ถ้าเรามีสัจจะความจริงขึ้นมา เห็นไหม เรามีสติปัญญาขึ้นมา เรามีสติยับยั้งมัน แล้วสิ่งที่เป็นไฟโหมมา เราจะใช้ปัญญาใคร่ครวญไป พอปัญญาเราใคร่ครวญขึ้นไปนี่มันไม่เห็นมีอะไรเลย... เอาเข้าจริงๆ เราก็ชนะ เอาเข้าจริงๆ สติปัญญาเราก็มี

พุทโธ พุทโธนี่ถ้าเราฝืนมัน มันก็เป็นไปได้ เรากำหนดด้วยสติด้วยปัญญาของเรา ด้วยความจริงจังของเรา เราก็ผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ พอผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ มันจะเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธินั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผ่านพ้นวิกฤติหมายถึงว่าเรากำหนดเวลาเท่าไหร่ แล้วเรานั่งให้ครบตามเวลานั้นโดยมีสัจจะ ! เห็นไหม

เรามีสัจจะเราก็ทำของเราได้ พอทำของเราได้ เราก็ผ่านมาได้ พอผ่านมาได้แล้วทำครั้งต่อไป คือทำให้มันดีขึ้น ทำให้มันมีสติปัญญามากขึ้น แล้วปฏิบัติให้มันเป็นความจริงมากขึ้น เป็นความจริงนะ ! ธรรมะเป็นของจริง ถ้าผู้ที่ปฏิบัติไม่เป็นความจริง เข้าสู่ความจริงไม่ได้ !

“ความจริงคือความจริง สิ่งที่เข้าสู่ความจริงได้คือข้อเท็จจริงเท่านั้น”

แต่ถ้ามันปฏิบัติหลอกๆ มันปลอมมาตั้งแต่เริ่มต้น มันหลอกตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น กิเลสมันหลอกเราอยู่แล้ว ชีวิตมนุษย์ก็หลอก สมมุตินี่แหละมันหลอก เกิดมาในชีวิตนี้มันหลอกเรามาตลอดเลย แล้วเราไม่มีสัจจะ ไม่มีปัจจุบันธรรมที่จะยับยั้งชีวิต ยับยั้งถึงความเป็นจริงของเราได้

เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ รู้ไปหมด ! รู้สิ่งนั้นแล้วใจเราได้อะไร รู้แล้วเห็นความจริงไหม เห็นคนอื่นเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี คนอื่นมีตังกันไปหมดเลย เพราะเขาประกอบสัมมาอาชีวะ ทุกคนร่ำรวยกันไปหมดเลย รู้ทุกเรื่องเลย ! แต่เราไปประกอบอาชีพทีไร ขาดทุนสูญดอกทุกทีเลย แล้วเอาตัวไม่รอด ! แล้วพอศึกษาขึ้นมา ก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้นตลอด ยังเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไปได้อย่างไร

ศึกษาธรรมมาแล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า... ดูสิเศรษฐีทั่วไปเขาทำอย่างไร เศรษฐีเขาเริ่มต้นอย่างไร แล้วเขาทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ นี่ถ้าเขาเริ่มต้นอย่างไร เราต้องกลับมาเริ่มต้นที่เรา เอาความจริงที่เรา เห็นไหม

เห็นเศรษฐีก็ว่ามีเศรษฐี เห็นคนอื่นเขาปฏิบัติธรรมก็จะปฏิบัติธรรม แล้วก็ไปจำเขามา ลอกเลียนแบบเขามา ก็นี่หลอกอีกแล้ว... เอาจริง ปฏิบัติในกระแสโลกมันก็หลอกอยู่แล้ว เราก็ไปเอาหลอกๆ มาหลอกตัวเราเองอีกชั้นหนึ่ง ผลมันหลอกหมด !

ฉะนั้นถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ศึกษาปริยัติมาแล้ววางไว้ เศรษฐีที่เขาเป็นเศรษฐีก็เป็นเรื่องของเขานะ เขาทำขึ้นมานี่เขามีโอกาสของเขา เราจะทำของเรา ถ้าเราทำของเรา เห็นไหม เราจะหมั่นเพียรของเรา จะได้เล็กได้น้อย จะได้มากได้น้อย มันก็เป็นโอกาส มันก็เป็นอำนาจวาสนาของเรา เราก็มีความเพียรของเรา เราก็ทำของเราไป ด้วยสัจจะ ด้วยความจริงของเรา เราพยายามหมั่นเพียรของเรา นี่มันเป็นผลของเราแล้ว ! ถ้ามันเป็นผลของเรา เห็นไหม นี่มันจะสู้กับกิเลสเราแล้ว มันจะสู้กิเลสของเรา มันจะเห็นว่ากิเลสของเรานี่มันจะต่อต้านอย่างใด

มันพลิกแพลงมาตลอดนะ มันหลอกเรามาตลอดเลย เพราะเราอ่อนแอ แต่เพราะเราจะตั้งใจ เราจะเอาความจริง เราจะมีสติปัญญา มีสติมีปัญญา มันไม่พ้นจากอำนาจเราไปหรอก มันไม่พ้นจากการกระทำของเราไป ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม มันทนสติปัญญาเราไม่ได้หรอก !

มันทนไม่ได้ เพราะกิเลสมันเกิดจากใจของเรา ในเมื่อใจของเรามันมีความเข้มแข็งขึ้นมา แล้วมันมีสติปัญญาขึ้นมา มันสู้ทน มันอาศัยเรา นี่มันต้องหลบเรา..

ถ้ามันหลบไปเป็นครั้งเป็นคราว เป็นครั้งเป็นคราว นี่คือคนเริ่มจะยืนได้ คนเริ่มจะเป็นความจริงได้ ก็เพราะความจริงจังของเรา ! เพราะความจริงจังของเรานี้กิเลสมันกลัว แต่เดิมมา กิเลสมันสร้างปัญหา เวลามันเสนอสิ่งใดขึ้นมา จิตใจอ่อนแอนี้จะเชื่อมันหมดไง จิตใจอ่อนแอเชื่อมันหมดแล้วคำนับมันด้วยนะ ก่อนจะทำอะไรต้องขออนุญาตมันด้วย คำนับนบนอบมันว่ากิเลสยอมให้ทำไหม... กิเลสจะให้ปฏิบัติไหม.. กิเลสจะให้ไปวัดไปวาหรือเปล่า... ถ้าบอกไป ๓ วัน แต่ไปถึงบอก ๒ วันจะกลับแล้ว นี่มันยังต่อรอง ตกลงแล้วแต่มันยังไม่ยอมให้เราทำตามที่ข้อตกลงนั้นเลย มันยังเอาคืน เห็นไหม

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เรามีความจริงขึ้นมา เราทำตามกำหนดที่เราตั้งใจไว้ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเราแล้ว...

ต้องมีสัจจะ ! ถ้าไม่มีสัจจะ ไม่มีความจริง แล้วเราจะเริ่มต้นที่ไหน พอมีสัจจะขึ้นมา เห็นไหม เราตั้งสติของเรา แล้วเรากำหนดของเรา ทำของเราขึ้นไป

งานทางโลกเขายังต้องขยันหมั่นเพียร... งานทางธรรมนะ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานี้ทำให้ต่อเนื่อง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ได้ผล เพราะการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ เวลามีความมุมานะ มีความตั้งใจนี่ โอ้โฮ... โหม โหมใหญ่เลย ภาวนาต่อเนื่อง สักพักหนึ่งผ่อนแล้ว พอผ่อนแล้วก็พักแล้ว เห็นไหม

ในกรรมฐานนี้ หลวงปู่มั่นท่านสอนไว้ว่า “เวลาธุดงค์ไปนะ ธุดงค์ออกไปอยู่ที่ใด ถ้าเป็นสถานที่ใหม่ มันจะสดชื่น มันยังไม่ติดที่ เวลาภาวนาจิตใจมันจะเบิกบาน แล้วถ้าอยู่เกิน ๑๕ วันหรือเดือนหนึ่ง นี่จิตใจมันเริ่มคุ้นชิน ถ้ามันคุ้นชินให้ย้ายที่ ให้เปลี่ยนที่”

นี่ไงให้ย้ายที่ให้เปลี่ยนที่ แล้วที่ไหนที่ภาวนาดีให้อยู่นานหน่อย.. นี่หมุนเวียนไปอย่างนี้ หมุนเวียนไป เพราะเวลาเราเกิดเราตาย มันหมุนเวียนในวัฏฏะ เราไม่รู้ว่าภพชาติเป็นอย่างไรนะ เกิดมาเป็นเราแล้ว เราถึงรู้ว่าเป็นเรานะ แต่เวลาเราหมุนเวียนไป สถานที่นี่เรารู้นะ เราเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนความรู้สึก เราดัดแปลงเราตลอดไป สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรานะ

สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรานี้ เราขยันหมั่นเพียรไหมล่ะ เราอย่าอ่อนแอ เราต้องเข้มแข็ง ถ้าเราเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าพิจารณาใช้สติปัญญาจนจิตมันสงบได้ พอจิตมันสงบเข้ามา“ความแตกต่างระหว่างจิตสงบและไม่สงบนี่แตกต่างกันมาก”

สิ่งที่ว่าว่างๆ ว่างๆ ด้วยความหลอก ด้วยการสร้างภาพ นี่เพราะสังคมคนอ่อนแอ แล้วการเข้าสู่สัจจะความจริง นี้เข้าได้สู่สัจจะความจริงได้น้อยมาก ฉะนั้นจำนวนของจิตที่ได้ประสบความว่าง ด้วยข้อมูลที่หลอก ด้วยการภาวนาหลอกและผลหลอกอย่างนั้นมีจำนวนมาก พอมีจำนวนมาก แล้วเราสื่อสารกันด้วยของหลอก ความหลอกความไม่จริงนั้น จะกลายเป็นของจริง...

ผู้ที่ทำความสงบของใจ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาตามความเป็นจริง ! ตามความเป็นจริงนะ “สัญญาอารมณ์กับจิตมันเป็นสอง”

สัญญาอารมณ์คือความรับรู้ คือสิ่งรับรู้ว่าว่างหรือไม่ว่างต่างๆ นี่มันเป็นสัญญาอารมณ์ ความคิดความอ่าน คำพูดต่างๆ นี้เป็นสัญญาทั้งนั้น เกิดจากสัญญา...

“สัญญาอารมณ์กับจิตมันเป็นสอง” เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนเข้าไปสู่จิต เห็นไหม พุทโธ พุทโธนี้มันเป็นสัญญา มันเป็นสิ่งที่เรานึกขึ้นมา พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ด้วยความขยัน ด้วยความหมั่นเพียร

แล้วพุทโธมันเกิดมาจากอะไร.. พุทโธมันเกิดมาจากจิต ความคิดเกิดมาจากจิต ถ้าไม่มีตัวจิต ไม่มีพลังงาน ไม่มีสิ่งใด คนตายคิดไม่ได้ จิตออกจากร่างไปมันคิดได้ เทวดา อินทร์ พรหมคิดได้ ตัวจิตนี้สำคัญมาก

ฉะนั้นมันมีสัญญาอารมณ์เพราะเป็นสถานะของมนุษย์ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่เพราะคนเข้าไม่ถึง คนไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสร้างภาพเทียบเคียงออกไปสู่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่สู่ความเป็นจริง ไม่ใช่สู่จิตที่รู้จริง

ถ้าสู่จิตที่รู้จริง เรากำหนดพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ สัญญาอารมณ์มันละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีสตินะ แต่ถ้าไม่มีสติ มันมีการขัดแย้ง มันมีการคับข้องใจ มันมีการต่อต้าน มันจะดีดดิ้นในหัวใจ แล้วเครียด อึดอัด แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม เราตั้งสติพุทโธ พุทโธ ถ้ามันเครียด มันอึดอัด เราจะหาวิธีการของเรา อดนอนผ่อนอาหาร หาอุบายต่างๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมีความชำนาญ มีความชำนาญนะ ! พุทโธจนละเอียดนะ

แต่ด้วยกิเลส ด้วยความจอมปลอม พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วพุทโธแล้วมันก็หายไป เพราะคำว่าหายไป.. หายไปหมายถึงว่าจิตมันละเอียด ตามความเข้าใจของเรา หายไปโดยไม่รู้สิ่งใด.. ไม่รู้สิ่งใด เห็นไหม นี่ผลหลอกๆ !

แต่ถ้าเป็นผลตามความเป็นจริงนะ เราใช้อุบายวิธีการต่างๆ เราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ จนจิตมันละเอียด คำว่าจิตมันละเอียด.. พลังงานจากสัญญาอารมณ์กับตัวจิตมันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป จนมันสมานกัน.. มันจะสมานกัน ! เห็นไหม

ถ้ามันสมานจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว นี่สัญญาอารมณ์ คือ มันเกิดจากจิต แล้วพอสัญญาอารมณ์นี้มันเข้าไปสู่จิต จิตคือตัวพลังงาน จิตคือตัวผู้รู้ ถ้าผู้รู้มันโดดเด่นขึ้นมา นี่ไงสมาธิเกิดตรงนี้ ! ถ้าสมาธิมันเกิดตรงนี้ เห็นไหม

“จิตหนึ่ง... เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น”

ถ้าจิตเป็นจิตหนึ่งแล้ว มันจะพูดโดยสัญญาอารมณ์ว่า ว่างๆ ว่างๆ อย่างที่สังคมเขาพูดกันหลอกๆ ได้ไหม ที่สังคมเขาพูดกันอยู่นี่มันหลอกๆ ที่ว่า “ว่างๆ สมาธิคือความว่าง.. ความว่าง”

แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พูดอย่างนั้นจริงๆ สมาธิคือเป็นความว่าง จิตเวลามีสมาธิเป็นความว่าง แต่มันว่างด้วยเหตุด้วยผล ด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ภาวนาหลอกๆ แล้วสร้างผลหลอกๆ ความว่างหลอกๆ แล้วเราเอาขบวนการความหลอกนั้นว่ามันเป็นผล

แล้วในกระแสสังคม มันก็มีกระแสสังคมที่ปฏิบัติอย่างนี้มาก มันก็เข้าได้แค่นี้ไง เข้าได้สู่ความจอมปลอม คือได้เท่านี้ แต่เข้าสู่ความจริงไม่เป็นกัน ถ้ามันเข้าสู่ความจริงไม่เป็น นี่ความปลอมจะเป็นความจริง ! แล้วความจริงที่ประพฤติปฏิบัติจริงนี้เลยเป็นของปลอม แล้วไม่กล้าพูด แล้วพูดไม่เป็นด้วยนะ

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ... เงินแท้กับเงินปลอม เงินแท้กับเงินที่ไม่ใช่เงินแท้ เห็นไหม นี่เขาใช้ไม่ได้หรอก ถ้าเอาไปใช้ที่ไหนเขาก็ไม่รับเป็นการใช้ชำระหนี้ แต่ถ้าเงินแท้นะ เงินบาทตามความเป็นจริง เงิน ๑ บาทก็ชำระหนี้ได้ ๑ บาท เงินกี่บาทก็ชำระหนี้ได้ตามนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้าสู่ความจริง เห็นไหม มันเป็นเงินจริง ! ความรู้จริง ! ความเห็นจริง ! แล้วถ้าความรู้จริงเห็นจริงเกิดขึ้น ถ้ามีใครรู้จริงเห็นจริงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีหลักนะ ไม่มีหลักเพราะว่าปุถุชน กัลยาณปุถุชน... กัลยาณปุถุชนคือทำจิตให้สงบได้

ทีนี้การทำจิตให้สงบได้ แต่ในเมื่อเรามีส่วนน้อย แล้วส่วนน้อยนี้ เวลาไปพูดกับผู้ที่มีสถานะทางสังคม ก็ไม่กล้าพูดไง กลัวผิด แล้วเขาไม่ทำกันอย่างนี้

แต่ถ้าเราเข้าสู่สังคมที่เป็นจริง สังคมครูบาอาจารย์ของเรา สิ่งนี้.. เรามาทำกันเพื่อสิ่งนี้ ทำกันเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของใจ ถ้าใจมันสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา เห็นไหม แล้วเวลาเราออกรู้ ออกใช้ปัญญาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันจะเป็นความจริงขึ้นมา แล้วความเห็นจะแตกต่าง... ความเห็นแตกต่างกับที่จิตมันไม่สงบ !

ถ้าจิตไม่สงบ เห็นไหม มันเห็นโดยสัญญาอารมณ์ มันเห็นได้ นึกภาพได้ กายใครก็นึกได้ ทุกอย่างรู้หมด เห็นหมด เข้าใจได้หมดแหละ แต่ ! แต่มันคิดได้แค่นั้น มันรู้ได้แค่นั้น รู้ได้แค่นั้นเพราะเหตุใด..

รู้ได้แค่นั้นเพราะเรามีบุญ ! เราเกิดมาเป็นมนุษย์ไง มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ในเมื่อมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕... สัญญาอารมณ์ สัญญาเราจำได้.. สังขารเราปรุงได้... วิญญาณรับรู้ได้.. นี่เพราะเราเป็นมนุษย์ เราเกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานี่เรารู้ได้ เรารู้ได้โดยโลกียะ เรารู้ได้โดยที่เราเป็นปุถุชน เรารู้ได้ด้วยสมอง เรารู้ได้ด้วยความคิดของเรา

“นี้มันรู้ได้แค่นี้ ! นี่คือโลกียะปัญญา.. ปัญญาของโลก ปัญญาของการเกิดเป็นมนุษย์ ปัญญาของที่เรามีสถานะเป็นมนุษย์นี้” เพราะเราเป็นมนุษย์เราถึงมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ พอมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ พอศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าก็ว่ารู้ได้หมดแหละ ! รู้ได้หมดเลย นี่ไงพอรู้ได้หมด ก็รู้ได้ในสถานะของมนุษย์ไง สถานะของมนุษย์ เห็นไหม แต่มนุษย์ที่ปฏิบัติธรรม ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เราพุทโธ พุทโธ จนจิตเป็นหนึ่งขึ้นมา

“นี่มนุษย์ที่ปฏิบัติธรรม ใจควรแก่การงาน”

ถ้าใจไม่ควรแก่การงาน ใจเป็นเรื่องโลกๆ ใจเป็นเรื่องของสมมุติบัญญัติ เป็นเรื่องของสมมุติ สมมุติก็อยู่ในอำนาจของกิเลส คิดสิ่งใดก็คิดโดยกิเลส คิดสิ่งใดก็คิดโดยการทำลายตัวเอง ทำลายโอกาสของตัวเอง

ถ้าตัวเองคิดโดยธรรม เห็นไหม พอจิตสงบแล้ววิปัสสนาไป มันจะเป็นโลกุตตรธรรม มันจะเป็นธรรม มันจะชำระกิเลส มันจะถอดถอนกิเลส มันจะเป็นคุณธรรมไป แต่ถ้ามันคิดแบบโลก คิดแบบหลอก.. หลอกตัวเองไง เพราะกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้มรรคได้ผล กลัวตัวเองจะปฏิบัติไม่ทันคนอื่น กลัวตัวเองจะไม่มีคุณธรรม ก็เลยคิดภาพเอาผลหลอก เอาผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาผลของครูบาอาจารย์ เอาผลของกระแสสังคมที่เขาเชื่อถือ แล้วก็พูดให้เหมือนกัน

พอให้เหมือนกัน เห็นไหม แต่คนพูดมีสถานะทางสังคม ถ้าคนพูดมีสถานะทางสังคม เราไม่กล้าโต้แย้ง เราไม่กล้าเพราะกระแสมันมากกว่า มันก็คล้อยตามกันไป นี่ผลหลอกๆ !

แต่ถ้าผลตามความเป็นจริงล่ะ เราปฏิบัติตามความเป็นจริง เห็นไหม แล้วตามความเป็นจริงของเรา ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงขึ้นมานะ พอจิตมันสงบเข้ามา ผลมันเราก็รู้อยู่แล้ว เพราะพอมันสงบขึ้นมานะ เวลาก่อนที่จิตจะสงบนี่เราใช้สติปัญญา

โดยปกติของปุถุชนคนหนา คนหนานี่คิดสิ่งใดมันต้องใช้สัญญา ต้องใช้ความจำ ต้องใช้ปฏิภาณ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจากความนึกคิด นี่มันนึกคิดขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องจืดๆ มันก็เป็นเรื่องแค่สามัญสำนึกที่รู้ได้แค่นั้นแหละ..

แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราบ่อยครั้งเข้า จนจิตมันมีกำลังนะ ถึงจะไม่เป็นสมาธิ นี่มันก็แตกต่างแล้ว แตกต่างเพราะเมื่อก่อน กิเลสมันจะชักนำเราไปได้ง่าย กิเลสมันจะชักนำเราไป สิ่งใดๆ นี่กิเลสมันจะจูงเราไปได้ตลอดไปเลย แล้วเราก็เชื่อตามมัน ว่ากิเลสเป็นเรา เราเป็นเรา เรารู้ธรรม เรามีความรอบรู้ โอ้โฮ... เก่งไปหมดเลย นี่กิเลสมันชักนำได้ง่าย แต่พอเราพุทโธ หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตมันเริ่มมีกำลัง เห็นไหม นี่มันเป็นอิสระ

“กิเลสก็คือกิเลส.. จิตก็คือจิต.. เราก็คือเรา”

เวลาจิตเรามีกำลังแล้ว พอกิเลสมันบอกว่าคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ คิดเรื่องสัจธรรมเรื่องต่างๆ นี่มันไม่ไปแล้วนะ มันไปบ้างไม่ไปบ้าง เริ่มต้นจะไปบ้างไม่ไปบ้าง นี่ไงความแตกต่างเกิดแล้ว..

พอความแตกต่างเกิดขึ้นมาเราก็แปลกใจแล้ว แล้วถ้าเราไปหาอาจารย์เราที่เป็นอาจารย์หลอกๆ อาจารย์ของเราไม่มีคุณธรรมจริง พอเราไปปรึกษานะ ปรึกษาว่าจิตเริ่มเป็นอย่างนี้ เขาก็จะบอกว่า “นี่ผิดหมดเลยนะ ! นี่มันไม่ว่าง... ทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าทำลืมๆ ไป มันว่างๆ มันเป็นสัญญาอารมณ์ หรือเป็นเรื่องที่เรารู้โดยธรรมะของพระพุทธเจ้านะ อย่างนี้นี่ถูกหมดเลย”

นี่ไง นี่สังคมภาวนาหลอกๆ !

แต่ถ้าเราทำจริงของเรา มีครูบาอาจารย์ที่จริง หรือเราปฏิบัติด้วยอำนาจวาสนาของเรา นี่เราทดสอบได้ ! ทดสอบพอจิตมันเริ่มมีกำลังขึ้นมาแล้ว....

๑.ความคิดความอ่านมันจะดึงเราไปไม่ได้

๒.ขณะที่จิตเราเริ่มใช้ปัญญา มันมีความรู้ที่ลึกซึ้ง มันมีความรู้ที่ดูดดื่ม มันมีความรู้ที่เข้ามาถึงใจของเรา มันมีความรู้ที่แปลกๆ เห็นไหม

ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ให้กำลังใจ แล้วมีครูบาอาจารย์ที่เห็นสภาพ นี่มันเป็นขบวนการของมันไง

ขบวนการของจิต การพัฒนาการของจิต จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ จิตนี้เป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจัง.. เห็นไหม สิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มันเป็นอนิจจัง นี้มันเกิดดับทั้งนั้นแหละ พอมันเกิดดับแล้ว อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ดี อารมณ์เลว อารมณ์ไม่ดีต่างๆ นี้ มันจะเกิดแล้วทำลายหัวใจ

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา... เราไล่ต้อนของเรา เราใคร่ครวญของเราขึ้นมา พอเราใคร่ครวญของเราขึ้นมา พุทโธของเราบ่อยๆ ครั้งเข้า มันจะละเอียดมากขึ้นไปเรื่อยๆ

จิตก่อนที่จะเข้าสมาธินี้ เพราะตัวมันต้องสลัดอารมณ์ความรุงรังของจิต ถ้าความรุงรังของจิตนะ เมื่อก่อนมันคิดไปตามอำนาจของมันใช่ไหม แต่เพราะเรามีสติปัญญา เราพุทโธ พุทโธ พุทโธตอกย้ำใช่ไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราใช่ไหม นี่พอทำบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า จนมีกำลังขึ้นมา ปล่อยอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เห็นไหม

“ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์” ปล่อยขันธ์ ๕ เข้ามา ปล่อยจนมันเป็นอิสรภาพขึ้นมา เห็นไหม ปล่อยชั่วคราว เพราะอะไร เพราะความคิดกับจิตมันมีอยู่แล้ว

ความคิดนี่เป็นขันธ์ ๕ จิตก็คือตัวจิต... เราพุทโธก็คือขันธ์ ๕ นั่นแหละ เพราะสัญญาเรานึกพุทโธ... สังขารปรุงพุทโธ.. นี่ความรับรู้พุทโธ ถ้าพุทโธชัดๆ ก็เวทนา.. นี่วิญญาณรับรู้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. นี่ขันธ์ ๕ กับจิต เวลามันทะลุ มันก็ไปสู่จิต

ถ้าสู่จิต.. จิตนี้เวลามันเป็นจิตแล้ว เวลามันออกวิปัสสนา ถ้ามันน้อมไปสู่กาย เวทนา จิต ธรรม การน้อมไปสู่กาย สู่เวทนา สู่จิต สู่ธรรม การเห็นโดยสมาธิ การเห็นโดยจิตที่มันมีสัมมาสมาธิ ขณะที่มันไม่มีสัมมาสมาธิ หรือมันเริ่มเป็นสมาธิ มันก็เห็นความแตกต่าง แล้วถ้าจิตมันเป็นสมาธิขึ้นมานะ มันน้อมไปสู่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่มันสะเทือนหัวใจมาก !

เวทนา... นี่มันจับเวทนา เวทนาไม่ใช่เราเลยล่ะ เวทนาเป็นเวทนานะ เวทนานี่เพราะจิตมีกำลังใช่ไหม ถ้าจิตไม่มีกำลังจะปวดมาก เวทนาเป็นเรา โอ้โฮ... ปวดมากเลย แต่ถ้าจิตมีสมาธินะ จับเวทนาวางไว้เลย มันเป็นชาๆ มันเป็นสักแต่ว่าเวทนา แต่มันยังชำระกิเลสไม่ได้ เพราะมันไม่พิจารณาจนผ่านเวทนาได้

นี่ไงพอจิตมันมีกำลังมันจับของมันได้ เห็นเวทนามันก็ยังเล่นกับเวทนาได้เลย ถ้าเวลามันเห็นจิต จิตผ่องใส จิตอะไรต่างๆ ถ้ามันเห็นกาย แล้วสภาวะกายเป็นอย่างไร

นี่ถ้าเห็นอย่างนี้ ความเป็นไปอย่างนี้ นี่มันเป็นข้อเท็จจริงไง ! มันเป็นวิปัสสนาที่ครูบาอาจารย์เราท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านผ่านไปแล้ว ท่านปฏิบัติแล้วท่านผ่านเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป ผลของการปฏิบัติมันต้องผ่าน

“อริยสัจมันมีหนึ่งเดียวเท่านั้นแหละ !”

การวิปัสสนา ในกาย เวทนา จิต ธรรม นี่สติปัฏฐาน ๔ โดยมีจิต โดยจิตที่มันสงบจากกิเลส สงบจากความเห็น สงบจากกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันจะชักนำเราไป แต่เพราะด้วยความอ่อนแอของเราเอง ด้วยความอ่อนแอของสังคม เวลาจิตมันยังไม่มีกำลังสิ่งใดๆ เลย แต่เขาบอกว่า “สิ่งนั้นเป็นธรรม.. มันจะปล่อยวางเข้ามา.. มันจะว่างขึ้นมา” มันก็เลยนอนจมอยู่กับกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่ไม่ได้ขยับไปไหนเลย

จิตนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีผลของการปฏิบัติใดๆ เลย แต่ด้วยเป็นการภาวนาหลอกๆ แล้วก็เอาผลหลอกๆ มาเป็นการันตีให้จิตนั้นมันนอนใจ... ให้จิตนั้นนอนใจ ให้จิตนั้นว่าสิ่งนั้นเป็นคุณธรรม เห็นไหม

เราเกิดมาในพุทธศาสนา เราเกิดมาพบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้วางไว้ ถ้าเราทำตามความเป็นจริง ผลมันจะเกิดตามความเป็นจริงกับหัวใจของเรา

แต่เพราะสังคมมันเป็นอย่างนั้น สังคมมันหลอกลวงกัน แล้วก็สร้างสภาวะหลอกๆ แล้วกิเลสเรามันชอบไง คนเรานี่ชอบหลอกๆ เพราะชอบความสะดวกสบาย มันไม่เอาจริงเอาจัง มันไม่เข้าไปเผชิญสู่ความจริง มันต้องเผชิญสู่ความจริง

ดูสิเรากินอาหาร เห็นไหม ถ้าอาหารมันผสมไปด้วยพริก ด้วยสิ่งเผ็ดร้อน มันก็ต้องเผ็ดร้อน เรากินอาหารคาวจบแล้ว แล้วเรากินของหวาน เห็นไหม ของหวานมันนุ่มนวล มันมีความกลมกล่อม นั่นก็เป็นของหวาน ในเมื่อเรากินอาหาร เรากินคาวแล้วก็กินหวาน แล้วเราก็ดื่มน้ำ

ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเราไม่กินข้าวแล้วเราจะกินอะไร กินของหวานก่อนเหรอ ถ้ามันกินของหวานแล้วอิ่มก็ได้ ถ้าปฏิบัติแล้วนี่ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติรู้เร็ว มันก็เป็นอำนาจวาสนาของคน แต่มันก็ต้องกินจริงๆ ไง มันก็ต้องกินของหวาน กินจริงๆ กินน้ำก็กินน้ำจริงๆ ทำทุกอย่างเป็นความจริง

แล้วเวลามันกินขึ้นมา เห็นไหม ดูสิเรากินข้าว เราปฏิบัติโดยเวไนยสัตว์ เราเป็นเวไนยสัตว์ เป็นผู้ที่มีโอกาส เราปฏิบัติของเราขึ้นไป มันก็ต้องผ่านขบวนการ อย่างเช่นเรากินข้าว ถ้ามันเผ็ดเราก็ต้องกินไง เผ็ดก็ต้องเผ็ด หวานก็ต้องหวาน ดื่มน้ำนี่มันรสจืดก็ต้องจืด

ในเมื่อความจริงเป็นอย่างไร เราต้องเผชิญความจริงของเราตลอด ตามความเป็นจริงอย่างนั้น เราจะหลบเลี่ยงไม่ได้ ถ้าหลบเลี่ยงมันก็ไม่ตรงกับจริตสิ หลบเลี่ยงมันก็ไม่ใช่กิเลสสิ อย่างเช่น ! เช่นเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราบอกว่เราหลบเลี่ยงให้รักษาคนอื่นแทน เอาคนอื่นไปรักษาแทนแล้วเราจะหาย อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม

เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ เราก็ต้องรักษาตัวเราเอง จิตของเราเป็นจิตป่วย จิตของเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก จิตของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเกิดมามีโอกาสที่จะได้ประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องเข้าเผชิญสู่ความจริง ถ้าเข้าเผชิญสู่ความจริง เราต้องปฏิบัติจริงตามจริตนิสัยของเรา

เห็นไหม ถ้าปฏิบัติตรงจริตมันจะปฏิบัติได้ง่ายนะ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ตรงจริต เราพิจารณาสิ่งใดก็แล้วแต่ คิดว่ามันจะเป็นการชำระกิเลส เราทำได้อยู่ แต่มันจืดชืด.. มันจืด มันชืด มันไม่ดูดดื่ม แต่ถ้ามันตรงกับจริตนะ ตรงกับกิเลสนะ เหมือนกับแผลเลย ถ้าเราเกิดเผลที่ไหนนะ แล้วเราขูดนะ เลือดจะออกทันที

จิต ! มันมีความฝังใจ มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ในหัวใจ ถ้าตรงจริตนะ มันเหมือนกับเราตรงบาดแผลเลย.. ตรงบาดแผล เช่น เนื้อเน่า เราต้องตัดเน่าเนื้อ ฉีกเนื้อเน่าออก เราต้องขูดเนื้อเน่าออก แล้วเราจะรักษามันอย่างใด ถ้าเรารักษามันขึ้นมานะ เนื้อมันจะงอกเงยขึ้นมา มันจะออกมาเป็นปกติได้

ถ้ามันเป็นเนื้อเน่า เราต้องขูด เนื้อร้ายเราต้องตัดทิ้ง ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันตรงจริต มันเข้าไปสู่เนื้อร้าย มันดูดดื่ม มันทำแล้วมันรสชาติ แต่ถ้ามันไม่ตรงกับจริตนะ อย่างเราพิจารณาจิต แต่เราไปพิจารณากาย มันพิจารณาได้นะ พิจารณาได้อยู่ เข้าใจได้อยู่ แต่เฉยๆ ไง พิจารณาไปแล้วก็เฉยๆ พิจารณาจบแล้วมันก็รับรู้หมด เหมือนปกติ เหมือนวางยาชา เหมือนคนโดนวางยาสลบ

นี่มันไม่ตรงกับจริต ! ถ้าตรงกับจริตนะ เราวางยาชา เราวางยาสลบ แต่มันรู้ตัวนะ โอ้โฮ... เราผ่าไปก็เจ็บ ทำอะไรก็เจ็บ มันมีรสมีชาติ นี่ถ้าตรงจริตมันมีรสมีชาติ เวลาพิจารณาไปแล้วมันปล่อยอย่างไรนี่ มันรู้ตัวของมัน มันถอดมันถอน มันเบาลง

ถ้าเราทำความสงบของใจ เวลาใจสงบขึ้นมาก็ร่มเย็นเป็นสุข มีความร่มเย็น แต่ถ้าร่มเย็นแล้วถ้ามันติด ก็นึกว่านั่นเป็นนิพพาน แต่ถ้าเรามีครูมีอาจารย์ หรือเราเปรียบเทียบใจของเราแล้ว มันไม่ใช่นิพพาน เราออกวิปัสสนา ถ้าเราออกวิปัสสนาใช้ปัญญา เห็นไหม พอเราใช้ปัญญาไปแล้ว มันเลาะ มันถากมันถาง โอ้โฮ...

“นี่ความสุขในสมาธิอย่างหนึ่ง.. ความสุขในการวิปัสสนาแล้วปล่อยวาง นั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง”

เพราะความสุขในสมาธิ ดูสิ อย่างเช่น เราอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย มีความร่มเย็นเป็นสุข เราก็มีความสุขนะ แต่เดี๋ยวมันก็เสื่อม เดี๋ยวก็ต้องอาบน้ำอีก แต่ถ้าเราอาบน้ำ เราชำระร่างกายแล้ว เราทำทุกอย่างพร้อมหมดนะ มันถอดถอนเหงื่อถอดถอนไคล มันจะไม่มีเหงื่อไคลไหลออกมาอีกแล้วนะ

นี่มันมหัศจรรย์อย่างนั้นเลย ถ้ามันวิปัสสนานี่มันถอดมันถอน มันทำให้สิ่งต่างๆ ในหัวใจมันเบาลง มันต้องเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เลยล่ะ ! มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้เลย ถ้าปฏิบัติไปมันจะรู้เหตุรู้ผล มันจะมีสูงมีต่ำ มันจะมีการกระทำ

นี่พื้นฐานนะ ! พื้นฐานการปฏิบัติเริ่มต้น ถ้ามันถูกทางมา เห็นไหม นี่มันถูกทางมา มันปฏิบัติมาโดยสัมมาทิฏฐิ มันปฏิบัติมาโดยมัชฌิมาปฏิปทา โดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ล้มลุกคลุกคลาน... เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีที่ปฏิบัติมานี้ ล้มลุกคลุกคลานมา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นทั้งชีวิตเลย ล้มลุกคลุกคลานมา ทั้งๆ ที่มีวาสนา เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพูดเอง ! ท่านบอกว่าท่านปรารถนาพุทธภูมิ

องค์หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาพุทธภูมิ องค์หลวงปู่เสาร์ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า นี่ท่านปรารถนามาขนาดไหน คนที่ปรารถนาแล้วสร้างบุญกุศลมาขนาดนั้น เห็นไหม เพราะมีแรงปรารถนา คืออำนาจวาสนาบารมี พออำนาจวาสนาบารมี พอมาประพฤติปฏิบัติ ท่านยังเอาจริงเอาจังขนาดนั้น ไอ้พวกเรานี่นะ มันจะปรารถนาอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าอยากจะพ้นทุกข์ อยากจะได้สัมผัสธรรม

เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ ได้พบพุทธศาสนา แล้วเรามีความตั้งใจ.. เรามีความตั้งใจ ที่ออกมาประพฤติปฏิบัติ เรามาวัดมาวากันเพื่อปฏิบัติ เพื่อจะได้คุณธรรม ได้สัมผัส เพราะชีวิตนี้มันทุกข์นัก ! ชีวิตนี้ทุกข์นักนะ ชีวิตนี้มันทุกข์นัก ! เกิดมาเพื่อจะตาย.. แล้วก่อนที่จะตายก็ทำมาหากินนะ มีครอบครัว เราทำอะไรต่างๆ เห็นไหม ผู้ที่มาบวชเป็นพระก็เสียสละ นี่เราถือพรหมจรรย์ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเราไม่อยากจะเกิดอีกแล้ว เราก็รักษาพรหมจรรย์ของเรา เราก็ไม่มีครอบครัว... ชีวิตทั้งชีวิตเราก็สมบุกสมบั่น เราก็ต่อสู้ของเราขึ้นไป

นี่การกระทำของเรานี้ เรามีอำนาจวาสนา เราเห็นภัยในวัฏฏะ เห็นภัยในการเกิดและการตาย เห็นภัยเพราะว่าเรามีสามัญสำนึก เราเกิดมาในพุทธศาสนา เราเกิดมาแล้วได้ศึกษา พอศึกษาแล้วมันย้อนกลับมา ศึกษาแล้วเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ถ้าศึกษาแล้วก็สักแต่ว่าศึกษา มันก็ไม่เป็นประโยชน์กับใคร เราศึกษาแล้วนี่เราทำจริง เราศึกษาแล้วเรามีสามัญสำนึก.. สามัญสำนึก เห็นไหม

“สิ่งที่มีอยู่... ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่ “

“ธรรมและวินัยนี้มันเป็นนามธรรม ! คำว่านามธรรมนะ คือ สัมผัสได้ด้วยหัวใจ”

แต่เวลาเราศึกษาทางโลก.. เรามีความเห็นทางโลก เราก็ว่าสิ่งใดจะเป็นเครื่องค้ำประกันว่าเราทำแล้วจะได้หรือไม่ได้ นี่สิ่งนี้ใครบอกเราที.. ใครบอกเราทีว่าสิ่งใดเป็นทางออก ให้คนชี้นำแล้วเราจะหาทางออกทางนั้น นั่นเราคิดของเรา !

แต่ในเมื่อมีครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ท่านสละชีวิตมาแล้ว หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านสละชีวิตมาแล้ว แล้วท่านประพฤติปฏิบัติตามข้อเท็จจริง แล้วท่านได้ผลตามความเป็นจริง แล้วผู้ที่ปฏิบัติจริงนี้เพราะอะไร เพราะมีครูบาอาจารย์ท่านตรวจสอบกันเอง ครูบาอาจารย์ท่านตรวจสอบกันเองว่าผลมันเป็นตามความเป็นจริง

ฉะนั้นเราปฏิบัตินี้เรามีตัวอย่าง เรามีแบบอย่าง เราจะต้องมีความเข้มแข็ง ! เราเข้มแข็งแล้วเราทำของเรานะ อย่าอ่อนแอ... ถ้าอ่อนแอนะ

เรามองโลก วันนี้เราจะพูดให้เห็นว่าสภาวะของโลกมันน่าสลดสังเวช พวกเรานะมันเหมือนปลา.. “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” น้ำมันร้อน เห็นไหม เหมือนกับสังคมมันร้อน สังคมร้อน สังคมทุกข์ยาก นี่น้ำร้อนปลาเป็น.. เราเป็นคนเป็นๆ เราพยายามว่าย เราพยายามจะหาที่ร่มเย็น น้ำร้อนปลาเป็น.. แล้วโลกเขาเอาความร่มเย็นเป็นสุขมาแล้วบอกกันว่าน้ำเย็น แต่น้ำเย็นปลาตาย... พอน้ำเย็นนี่มันก็นอนใจ น้ำเย็นมีความอบอุ่น แต่เวลาเรามองโลกทางธรรมนะ โลกนี้ร้อนนัก ! โลกนี้เร่าร้อนนัก ต่างคนต่างวิ่งเข้าไปสู่อำนาจ ต่างคนต่างวิ่งเข้าไปเกาะกองไฟ ต่างคนต่างเข้าสู่อำนาจ

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ “อำนาจโดยธรรม ! คือเรามีอำนาจกับชีวิตเรา”

อำนาจโดยธรรมนะ ! ธรรมะคืออะไร... ธรรมะคือหัวใจที่ได้สัมผัสธรรม ถ้าหัวใจเราได้สัมผัสธรรมนะ จากใจดวงหนึ่ง จากความเร่าร้อน แล้วเราได้สัมผัส เราได้มีความร่มเย็นเป็นสุข เราพยายามถอดถอนสิ่งที่เป็นเชื้อฟืนเชื้อไฟออกจากใจของเรา

“นี่อำนาจโดยธรรม… อำนาจโดยธรรม คือ เอาใจของเราไว้ได้ในอำนาจของเรา”

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะชนะศึก จะชนะด้วยกองทัพคูณด้วยร้อย คูณด้วยพัน นั้นมันมีแต่เวรแต่กรรม เห็นไหม นี่เขาวิ่งชิงอำนาจกันทางโลก มันมีแต่เวรแต่กรรม แล้วสร้างผลแต่ความบาดหมาง มีเวรบาดหมางต่อกัน

แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมนี้ เห็นไหม เราจะมีอำนาจโดยธรรม ! อำนาจที่เป็นสัจธรรม ! เรามีอำนาจโดยธรรม อำนาจนี้มันทำให้จิตใจเราร่มเย็นเป็นสุข

โลกเขาจะมองอย่างนั้นนะ โลกเขามองอย่างนั้นจริงๆ เขาจะมองว่า “โลกเขามีความร่มเย็นเป็นสุขกัน เขาอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทำไมพวกเราต้องมาทรมานตน.. ทำไมเราต้องทรมานให้มีความทุกข์ความยาก”

“ก็ความร่มเย็นเป็นสุขนั้น มันให้ผลเร่าร้อนกับใจ” มันให้ผลความเร่าร้อนกับใจ ! ใจมันทุกข์มันยาก เราถึงได้มาดัดแปลงเรานี่ไง

นี่ความเป็นอยู่นี้มันไม่ร่มเย็นเป็นสุขเพราะอะไร เพราะศีลไง ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีลในธุดงควัตร เห็นไหม

ศีล ! เป็นความปกติของใจ...

ศีล ! สีเลนะ สุคติง ยันติ... สีเลนะ โภคะสัมปะทา

ศีล ! เป็นที่อยู่อาศัย... ศีล ! มีความร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม

เพราะเรามีศีล ! เพราะว่าเรามีศีลไง เราถึงไม่ใช้ชีวิตแบบนั้น เพราะเขาขาดศีลขาดธรรม เขามีศีล ๕ เขาก็ใช้ชีวิตของเขา โดยความร่มเย็นเป็นสุขของเขา แต่เพราะเรามีศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่มันกรองเรา เห็นไหม

ศีล ! เพราะมีศีลเป็นปกติ... มีศีลเป็นพื้นฐาน ถ้ามันปฏิบัติขึ้นไป มันก็จะเป็นไปด้วยความขาวสะอาด

มีศีลปกติแล้วถ้าเกิดสมาธิ สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ เกิดความร่มเย็นเป็นสุข แล้วพอเกิดปัญญาขึ้นมา “มันจะเกิดโลกุตตรธรรม” ปัญญาที่จะชำระกิเลส ปัญญาที่มันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ลึกลับมาก..

ครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าท่านผ่านขบวนการในการประพฤติปฏิบัติ ใจที่เป็นธรรมแล้วนี่ท่านฟังออกหมด ท่านฟังคนที่พูดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนาล้วนๆ ปัญญาที่ไม่ใช่ปัญญาวิทยาศาสตร์ ปัญญาที่ไม่ใช่ปัญญาโลก ปัญญาโลกคือปัญญาในวัฏฏะ ปัญญาเราตรึกในพรหม ในเทวดา อินทร์ พรหม นี่อย่างนี้เป็นปัญญาในวัฏฏะ ในผลของวัฏฏะ เราคิดได้ในผลของวัฏฏะ เพราะจิตมันเคยเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนี้

แต่เวลาจิตมันภาวนาขึ้นไปโดยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ภาวนาหลอกๆ นะ เวลาเกิดภาวนามยปัญญา นี่ปัญญาอย่างนี้ปัญญาที่ว่าเอาชนะใจตนเอง ธรรมที่เกิดจากใจ ใจที่มีปัญญาอย่างนี้มันจะเข้าไปชำระ แล้วสะสาง แล้วถอดถอน รื้อค้นทำลายอวิชชา ทำลายความไม่รู้ในหัวใจของเรา ถ้าทำลายความไม่รู้ในหัวใจของเรา จนเป็นความรู้จริง เป็นวิชชา ! เห็นไหม

“วิชชา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา”

“อวิชชา” กับ “วิชชา”

แต่เวลาปฏิบัติไปถึงสัจธรรมแล้ว มันพ้นจากวิชชา พ้นจากมรรคญาณ พ้นจากพาหะ พ้นจากวิธีการ ไปสู่เป้าหมาย

นี่มันเป็นวิธีการนะ วิชชานี้เป็นวิธีการ เป็นการเปลี่ยนแปลง เป็นการกระทำ เป็นกิจญาณ.. กิจญาณในหัวใจของเราเข้าสู่เป้าหมายนั้น เป้าหมายที่ว่าให้พ้นจากทุกข์

ให้ภาวนาตามความเป็นจริง “โลกเขาภาวนากันหลอกๆ เราจะภาวนาจริงๆ” เอวัง