ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ความกตัญญู

๒๕ ก.ย. ๒๕๕๓

 

ความกตัญญู
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหามันตกค้างเยอะ แต่ถ้าคนฟังบ่อยๆ มันจะว่าซ้ำๆ แต่มันไม่ซ้ำนะ ส่วนใหญ่แล้วมันจะเป็นพุทโธทั้งหมดไง เพราะเราเน้นตรงนี้ เวลาตอบกลับมาก็เลยกลายเป็นพุทโธหมดเลย นี่ปัญหาการภาวนาเนาะ

 

ถาม : ๒๒๔. บริกรรมพุทโธแล้วมีความรู้สึกว่า “ลมหายใจกำลังจะขาด”

(นี่คำถามนะ) เมื่อได้บริกรรมพุทโธไปจนจิตเริ่มสงบ และมีอาการว่า ความรู้สึกมันค่อยๆ วูบลงไปเรื่อยๆ ตามจังหวะของคำบริกรรมพุทโธ และคำบริกรรมนั้นก็ชัดมาก ในขณะที่กำลังค่อยๆ วูบลง และเริ่มรู้สึกอึดอัดมาก ก็สังเกตเห็นได้ว่า ลมหายใจกำลังจะขาด ก็ยิ่งบริกรรมพุทโธถี่ๆ จนถึงที่สุดทางแห่งความอึดอัดก็เกิดอาการลมหายใจกำลังจะขาด ขณะนั้นเกิดอาการขนลุกซู่ขึ้นมา กายเบาหวิว และเสียงฝนตกที่กำลังได้ยินก็เบาลง และกำลังดับไป แต่มีความรู้สึกอึดอัดมากเพราะขาดอากาศ และกลัวขาดใจตาย ก็เลยรีบหายใจเข้าเต็มที่ จึงหลุดออกมาจากสภาวะเหตุการณ์นั้น อยากทราบว่า...

๑.อาการนี้ เป็นอาการที่จิตจะรวมลง หรือกำลังหน้ามืดและขาดอากาศหายใจ คิดว่าเป็นอย่างหลัง คิดว่าจิตจะรวมลง หรือว่ากำลังจะขาดอากาศหายใจ

หลวงพ่อ : ที่เราเน้นมาตลอด ที่เราตอบปัญหามาตลอด เห็นไหมว่า.. ถ้ามันเป็นความจริง มันจะมีข้อเท็จจริง มีเหตุมีผล ฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน เริ่มสงบก็รู้ว่าสงบ จิตใจจะเป็นอย่างไร มันจะมีอาการของมัน มันจะมีการรับรู้ของมัน ไม่ใช่เราสร้างภาพกัน เราปฏิบัติกันมาแต่เดิมนี่เราสร้างภาพกัน เราสร้างภาพว่าสบายใจ เราสร้างภาพว่าว่างๆ เราสร้างภาพ ! ไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงหรอก !

แต่โดยกระแส.. เห็นไหม ทุกคนบอกเมื่อก่อนนี่ฟุ้งซ่านมาก เมื่อก่อนมีความอึดอัดมาก เดี๋ยวนี้สบาย... สบายเพราะอะไร สบายเพราะเราได้เข้าสังคม สังคมที่เราปฏิบัติ เราได้เข้าสังคมนั้น พอสังคมนั้นมีการปฏิสันถาร มีการพูดให้มันมีความสบายใจ แล้วก็คิดว่าเป็นธรรมะ แล้วเอาใจนี้เทียบเคียงกับธรรมะ ก็เลยว่าเป็นธรรมะ ไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีหรอก !

ทีนี้มันปริยัติ - ปฏิบัติ ปริยัติคือการศึกษา เราศึกษากันมา เห็นไหม ดูสิเวลาศึกษา ในสังคมของเรานี้ เมื่อก่อนพวกเราเป็นชาวไร่ชาวนา เราก็อยู่กับสังคมเกษตรกรรม เดี๋ยวนี้พอเรามีการศึกษา พอเราเป็นปัญญาชน เราทำงานในสถานที่ทำงาน เห็นไหม นี่คุณภาพชีวิต คุณภาพสังคม เราก็เป็นอีกระดับหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน เมื่อก่อนเราปฏิบัติกันโดยประสาบ้านนอกคอกนา เวลาทำบุญตักบาตรกัน เราก็ทำบุญตักบาตรกันมันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่พอเดี๋ยวนี้เราโตขึ้นมาใช่ไหม เราว่าเราจะปฏิบัติกัน มันก็เป็นสังคมๆ หนึ่ง ก็เท่านั้นเอง ! แล้วก็บอกว่างๆ ว่างๆ แล้วมันว่างๆ เพราะอะไรล่ะ ว่างๆ เพราะว่าตำราบอกใช่ไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าธรรมะคือความว่าง ความว่างคือความปล่อยวาง ความว่างคือต่างๆ เราก็คิดกันขึ้นไป แต่การปฏิบัติมันต้องมีอย่างนี้ ถ้าข้อเท็จจริงต้องเป็นอย่างนี้.. เป็นอย่างนี้เพราะอะไร อย่างเช่นเรากินเผ็ด เราก็รู้ว่าเผ็ด อาหารที่ร้อน เรากินเข้าไปในปากเราก็รู้ว่าร้อน ถ้าอาหารมันเย็น เราก็รู้ว่าเย็น

“จิตมันได้สัมผัส มันรู้ นี่ปัจจัตตัง”

หลวงตาบอกเลยว่า “ธรรมะไม่ต้องไปถามใคร มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันเกิดจำเพาะตน เรารู้ได้เอง เราสัมผัสได้เอง ด้วยตามความเป็นจริง”

นี่ไงที่ว่า “อาการที่เกิดขึ้น อาการนี้เป็นอาการที่จิตรวมลง” เห็นไหม เพราะเขาได้สัมผัส สันทิฏฐิโก... ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเวลาไปหาหลวงปู่มั่น ภาวนามาแล้วบอกเลยนะว่า “จะดูซิหลวงปู่มั่นจะรู้วาระจิตเราไหม ไปนี่หลวงปู่มั่นจะรู้เราไหม” หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวนจะไปหาหลวงปู่มั่น แล้วก็คุยกันมา ๒ คนไง ว่าเราเข้าไปหาอาจารย์นี่ ท่านจะรู้วาระจิตเราไหม คิดกันไปไง พอเข้าไปหาหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านใส่เอาเลยนะ

“จิตของตัวเราไม่ดู ความรู้ความเห็นของใจตัวเองไม่รักษา จะให้คนอื่นมารู้ใจเราได้อย่างไร”

ความเห็นความรู้ของเรานะ จริงๆ แล้วความรู้ความเห็นที่เป็นจริงขึ้นมา เราก็ยังไม่รู้เลย ถ้ามันรู้มันไม่เป็นอย่างนี้

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ข้อเท็จจริงดูสิสังเกตได้ไหม เวลาเรานั่งสมาธิไปแล้วเกิดนิมิต เวลาเกิดนิมิตนี่ อื้อ... ไม่รู้เรื่องหรอก แต่ถ้าฝันนะโอ้โฮ.. จำแม่นเลย แหม.. มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นนะ แต่ถ้าเป็นนิมิตนะ เอ๊ะ... ไม่รู้นะแต่รู้ ชัดมาก แต่ถ้าเป็นความฝันนี่เป็นอีกอย่างหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน ที่เขาถามว่า “อาการนี้เป็นอาการที่จิตจะรวมลง หรือกำลังหน้ามืด และขาดอากาศหายใจ (คิดว่าเป็นอย่างหลัง)”

คิดว่าเป็นอย่างหลัง เห็นไหม คิดว่า.. นี่ไงเพราะเราเข้าไปรู้ตามความเป็นจริง มันไม่มีทางวิชาการ มันไม่มีรูปแบบทางโลกที่เอาไว้ให้ดูได้ เพราะมันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึก !

ทางวิชาการนี้ อย่างเช่น เราทำวิจัยต่างๆ เราจะทำวิชาการได้เลยว่าต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ แล้วเวลาเราปฏิบัติกัน เราก็ต้องปฏิบัติตามวิชาการ ต้องให้เป็นอย่างนั้น ว่างๆ ว่างๆ แล้วว่างไม่ว่าง กูก็จะคิดให้มันว่าง จะว่างหรือไม่ว่างก็แล้วแต่ กูจะคิดให้ว่างให้จนได้เลย กูคิดให้มันว่างไง มึงไม่ว่างก็ต้องคิดให้ว่าง แล้วก็มาบอกว่างๆ นี่ว่างเหมือนเราเลย ไอ้นี่ก็ว่าง เหมือนกันไปเหมือนกันมา เออ.. ก็เลยอุปโลกน์ไปว่า เออ... ว่าง !

มันว่างหรือไม่ว่างก็แล้วแต่ กูอุปโลกน์เลยว่า “ว่าง !” มันก็เลยพูดไม่ถูกไง ! มันเลยพูดไม่ถูกว่าจริงหรือไม่จริง แต่ถ้าถูกมันจะเริ่มต้นมาจากตรงนี้ เริ่มต้นที่ว่า จิตมันจะรวมลงหรือว่ามันขาดอากาศหายใจ เพราะเราไปสัมผัสเอง !

จิตมันจะรวมลง... จิตมันจะรวมแต่มันไม่รวมหรอก มันไม่รวมเพราะอะไร ไม่รวมเพราะการฝึกหัด ความชำนาญของเรานี่อ่อนแอ เหมือนกับเราทำงานเลย ถ้ามันจะลงก็ลงแบบฟลุ๊ค เราใช้คำว่า “ส้มหล่น” ถ้าลงนะลงแบบอำนาจวาสนาบารมี เราทำมาดี... เราทำมาดี เห็นไหม ดูสิลูกหลานเรานี่เราฝึกมาดี ลูกหลานเรานิสัยดี ลูกหลานเราจะว่านอนสอนง่าย แต่ถ้าลูกหลานเรา เราไม่ดูแลมัน เราปล่อยมันแล้วแต่ตามอำนาจของมัน เวลาจะบังคับมันแต่ละทีนะ บังคับยากมาก

จิตของเรานี้ถ้าได้ฝึกฝนบ่อยครั้งเข้า สติมันฝึกบ่อยครั้งเข้า มันจะลองผิดลองถูกไปอย่างนี้ เหมือนกับลูกหลานเราที่ฝึกมาดี ถ้าลูกหลานเราฝึกมาดีนะ มันต้องมีการฝึกใช่ไหม จิตพุทโธ พุทโธ พุทโธนี้ มันจะลงบ้างไม่ลงบ้าง อย่างนั้นมันก็คือการฝึก การฝึกมีผิดบ้าง ถูกบ้าง มันจะเป็นอย่างนี้ทุกคน แต่ถ้ามันจะลงโดยสะดวกสบายนั้น แสดงว่าลูกหลานเขาฝึกมาดี ไม่ใช่ฝึกมาแค่ชาตินี้ มันฝึกมาตั้งแต่อดีตชาติ มันได้ฝึกฝนมาตั้งแต่ภพแต่ชาติของเขา

ภพชาติของเขา เขาได้ฝึกของเขามา เขาได้ทำความดีของเขามา เวลาเขาปฏิบัติของเขาขึ้นมา มันก็นี่ไง...

“บุญทำแล้วไม่เสียหลาย” บุญกรรมนี้ทำแล้วมันไม่ไปไหนหรอก ! บุญกรรม ทำแล้วตกอยู่ที่ใจหมด เพราะใจเป็นคนคิดทำ คนที่ปฏิบัติง่าย รู้ง่ายนี้ เพราะเขาทำบุญของเขามาดี แต่พวกเรานี่ถูๆ ไถๆ นะ เพราะมึงครึ่งๆ กลางๆ มาตลอดไง นู้นก็ครึ่งๆ กลางๆ จะทำหรือก็หวง ไอ้จะไปหรือก็ไม่อยากไป ไอ้ไม่อยากไปหรือก็อยากจะปฏิบัติ

ไอ้ครึ่งๆ กลางๆ มันก็ถูๆ ไถๆ ไปอย่างนี้แหละ !

ฉะนั้น เขาถึงว่ามันขาดอากาศหายใจ

เออ.. ก็นั่นแหละอากาศหายใจ ก็เพราะคิดอย่างนี้ไง แต่ ! ที่เราภูมิใจนี้เราภูมิใจตรงไหน เราภูมิใจว่าคนทำแล้ว มันรู้จริงเห็นจริงของมันเองนะ ในพุทธศาสนานี่ปัจจัตตัง แล้วถ้าเขารู้เขาเห็น เขาเข้มแข็งขึ้นมา ศาสนานี้จะเข้มแข็งมาก !

“ศาสนาจะเข้มแข็งต่อเมื่อคนรู้จริง” คนมาหลอกเขาได้ยาก ศาสนา..ถ้าไม่มีคนรู้จริง มีแต่คนรู้จำ คนรู้จำนี่ใครชักนำได้ง่าย เพราะเรารู้จำ พอรู้จำแล้ว ใครจะชักนำไปก็ได้ เพราะเรารู้จำ เราไม่มีความจริงเข้าไปพิสูจน์ แต่คนรู้จริงนี่นะ มันมีความจริงเข้าพิสูจน์ ใครจะบอกอย่างไรก็แล้วแต่ เอาความจริงของเรานี้พิสูจน์กับเขา

ฉะนั้นถ้าเอาความจริงของเราพิสูจน์ แล้วเราเคยสัมผัสอย่างนี้ แล้วเขาบอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ” เอ๊ะ.. เขาว่างของเขาอย่างไร ไอ้เราจะว่างนี่เราเกือบเป็นเกือบตาย เห็นไหม มันจะหน้ามืด มันจะขาดอากาศหายใจ มันจะวูบตายอยู่นี่ แล้วถ้ามันสติดีๆ นะ วูบก็วูบไปเถอะ ขอเชิญตามสบายเลย

วูบคืออาการวิตกกังวล อาการอุปทาน อาการที่เรายึดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น เพราะโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ถ้ามันขาดอากาศหายใจ โดยวิทยาศาสตร์ โดยความรู้ว่าตาย.. แต่เวลาพระเราเข้าสมาบัตินะ นั่ง ๗ วัน ๗ คืนโดยไม่ได้หายใจ ! โดยไม่ได้หายใจ ทำไมมันไม่ตาย เวลาเข้าสมาบัตินี่ลมหายใจขาดหมด ทุกอย่างขาดหมด อยู่เหมือนขอนไม้ นั่งอยู่เฉยๆ แล้วคนนั่งอยู่ ๗ วัน ทำไมไม่ปวดปัสสาวะ ทำไมไม่ปวดอุจจาระ เรานี่ ๗ วัน ๘ วันเราไม่ถ่ายได้ไหม ปัสสาวะนี่วันหนึ่งไม่ถ่ายก็ตายแล้ว

นี่ไงโดยวิทยาศาสตร์คนถามบ่อยว่า แล้วมันจะหายใจได้อย่างไร... มันหายใจ มันหายใจได้ มันหายใจโดยธรรมชาติของมัน แต่ความรับรู้เราไม่มีไง แต่ถ้าเป็นสมาบัติไม่เป็นอย่างนั้นนะ

“สมาบัติ” ทุกอย่างจะหยุดหมด อวัยวะในร่างกายนี้หยุดทำงานหมด หยุดโดยธรรมชาติของมัน แต่มันอยู่ของมันได้ มันมหัศจรรย์.. นี่พูดถึงสมาธินะ !

ฉะนั้นอาการที่มันจะรวมลงนี่ใช่ ! มันจะรวมลง พอบอกจะรวมลงปั๊บ แหม.. เสียดาย อยากจะเป็น.. มันจะรวมลงต่อเมื่อมีสติ มีการฝึกฝน มีการกระทำ มันถึงจะรวมลง แล้วถ้ามันไม่ลงก็ไม่ต้องไปเสียใจ เพราะอาการอย่างนี้ มันให้จิตเราเปลี่ยนแปลง จิตเรารู้ว่าปกติเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตเป็นสมาธิเป็นอย่างนี้

จิตเป็นสมาธิ เห็นไหม เราบอกว่าจิตเป็นสมาธิ พอเวลามันใช้ปัญญาขึ้นไป ปัญญามันจะทะลุปรุโปร่ง ปัญหาสิ่งใดที่มันขวางหน้า มันจะพิจารณาทะลุไปหมดเลย แต่ถ้าไม่มีสมาธิ คิดจนหัวแตกก็คิดไม่ออกนะ ยิ่งคิดยิ่งเครียดเพราะขาดสมาธิ

ฉะนั้นเราไม่ต้องไปห่วงว่าเราจะใช้ปัญญามากหรือปัญญาน้อย เราทำความสงบของใจก่อน ถ้าทำความสงบของใจนี่เหมือนคนปกติ คนปกติถ้าแข็งแรง ของนี่จะยกได้สบายมากเลย แต่ถ้าคนอ่อนแอนะ มันขยับไม่ได้เลย

จิต... ถ้ามีสมาธิมันหมายถึงมีกำลัง พอมีกำลังแล้ว เวลาทำอะไรจะประสบความสำเร็จหมดเลย แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ

“ฉะนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นผล”

ผลมันมาแต่เหตุ... เหตุคือจิตที่มีกำลัง... ฉะนั้นเราต้องกลับมาที่พุทโธ ทำให้จิตสงบก่อน ไม่ต้องไปวิตกกังวล ไม่ต้องกังวลอะไรเลย !ไม่ต้องกังวลอะไรเลย เหมือนกับนี้เราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราร่างกายสมบูรณ์ มีทรัพย์สมบัตินี่อู้ฮู.. มีความสุขมาก แต่คนจะตายนะ ทรัพย์สมบัตินี่ทำให้เป็นทุกข์นะ มันห่วง !

จิตของเราถ้าเข้มแข็งปกตินะ มีทรัพย์สมบัติของเราสบายเลย จิตเราเข้มแข็งนี่ปัญญามันเกิดนะ มันจะพิจารณาอะไรได้สบายมากเลย แต่ไม่ได้คิดที่ร่างกายเข้มแข็ง เราไม่คิดที่ร่างกายเราไง เราไปห่วงสมบัติไง สมบัติของกู.. ของกูนะ แต่ร่างกายนี่มันจะตายอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปพิจารณาพุทโธ พุทโธจนร่างกายนี้แข็งแรงนะ สมบัติมันก็อยู่ที่เก่านั่นล่ะ แล้วมีคุณค่าขึ้นมาทันทีเลย แล้วถ้าร่างกายเราไม่แข็งแรง เราจะเป็นจะตายอยู่แล้ว เราจะตายอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว แล้วสมบัติล่ะห่วงไหม

นี่ไงเหมือนกัน ! “ห่วงว่าจะไม่เกิดปัญญา... ทำสมาธิแล้วปัญญามันจะไม่มี.. ทำสมาธิแล้วจะเป็นสมถะ... ทำสมาธิแล้วมันจะโง่..”

นี่ถากถางกันมาตลอด ไปห่วงแต่สมบัติไง มึงจะตายอยู่แล้ว มึงจะตายอยู่ตรงนี้ แล้วมึงไปห่วงสมบัติมึงอีกเหรอ แต่ถ้ามันแข็งแรงขึ้นมานะ เดี๋ยวเราเอาสมบัติไปใช้ประโยชน์กัน ให้เราแข็งแรงก่อน สมบัติจะเป็นประโยชน์มาก

ฉะนั้นสมาธิมีคุณประโยชน์มาก แต่มันก็เป็นแค่คุณประโยชน์ของสมาธินะ ปัญญาส่วนปัญญา จะต่อไป

 

ถาม : ๒. ถ้าหากเป็นอาการจิตจะรวมจริง ควรยอมตายเลยไหมครับ เพราะเคยได้ยินมาว่า “อย่ากลัวตายเมื่อเห็นลมหายใจจะขาด” (ไม่กล้าเสี่ยงเพราะกลัวตายฟรี จึงขอรอคำตอบจากหลวงพ่อก่อน)

หลวงพ่อ : ฟังนะ เวลาธรรมะของพระพุทธเจ้า หรือธรรมะของครูบาอาจารย์จะบอกว่า “ธรรมะนี้อยู่ฟากตาย” ฟากตายก็ตรงนี้ไง... คำว่าฟากตายนี่มันไม่ใช่ตายจริงๆ หรอก มันไม่ใช่ว่าเราจะเป็นจะตาย ต้องเอาชีวิตเข้าแลก มันถึงได้ธรรมะมาหรอก

ฟากตายหมายถึงว่า กิเลสนี้มันเอาความตายมาหลอกเรา แล้วเราพิจารณาจนข้ามล่วงพ้นความตายไป ฟากตาย ! พอตายก็เป็นผลไง มันเอาตายนี้มาหลอก เอาตายนี้มาขวางไว้ แต่จริงๆ เวลาปฏิบัติไป ไอ้ที่ว่าจะฟากตายๆ ก็จริงอยู่ แต่แค่ส่วนน้อย ส่วนใหญ่แล้วอาการกลัวตาย กับความตายจริงๆ นี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง “ธรรมะนี้มันอยู่ฟากตาย”

ฉะนั้นเวลาถึงที่สุดแล้วนะ มันจะเอาความตายนี้มาหลอก เวลาเรานั่งไปอย่างนี้ เราทำอุกฤษฏ์ไปนี่มันว่า “ตาย มึงตาย... มึงตาย” ถ้าตายนี่เลิกเลย

แต่ถ้าตายนะ จะตายจริงๆ หรือว่าจะตาย นี้มันไม่ตายหรอก เราไปเที่ยวไปใช้ชีวิตสำมะเลเทเมายิ่งกว่านี้ ยังไม่ตายเลย แค่นี้มันจะตายได้อย่างไร ถ้าคิดอย่างนี้ปั๊บนะ มันก็ไม่กล้าเอาคำขู่นี้มาขู่เรา

นี่ไงที่ว่า “ธรรมะอยู่ฟากตาย”

ฉะนั้นถ้าเราตั้งสตินะ ไอ้ความตายอย่างนี้มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความตายจริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี้มันเป็นอุปทานไง เป็นความคิดความหลงไปไง แล้วมันก็อยู่ที่จริตนิสัย

บางคน ! บางคนนะถ้าทำอย่างนี้ คนเราถ้าทำไปแล้ว เขาเรียกว่ากำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม มันก็จะทำง่าย แล้วเวลาจิตเสื่อมนะ เวลาจิตเสื่อมหรือคนหยาบ ทำอย่างไรมันก็ไม่ได้ ทำอย่างไรก็ไม่ได้ อย่างที่พูดว่า “เวรกรรมของคนไม่เหมือนกัน” ถ้าทำอย่างไรก็ไม่ได้ เราก็ต้องอุกฤษฏ์หน่อย เราก็ต้องอดนอนผ่อนอาหาร

ไอ้ที่ว่าเฉียดๆ ตายนี่มี แล้วเฉียดๆ ตายมี แต่อย่างไรมันก็ไม่ตายหรอก ทำความดีนะมันไม่มีตายหรอก แต่ถ้าขาดสตินี่ตาย อันนี้สติมันพร้อมไง สติมันพร้อมมันถึงบริกรรมได้ มันถึงมีจิตได้ ถ้าสติมีอยู่นะไม่มีตาย

หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง เห็นไหม ตอนถ่ายมากๆ เวลาที่ถึงเวลาแล้วนี่ถ่าย ๒๗ หน แล้วอาเจียนอีก ๒ หน มันเพลียมากเลย เวลานั้นมันจะตายจริง พอมันจะตายจริงนะ สติมันก็หดเข้ามา หดเข้ามาหมดเลย... หดเข้ามา เห็นไหม ความรับรู้ในร่างกายนี่หดเข้ามา แต่สติมันพร้อม พอตัวสติพร้อม มันเป็นฐีติจิต คือว่ามันเป็นฐานที่ตั้ง พอเป็นฐานที่ตั้ง แล้วมันควบคุมฐานที่ตั้งให้ดี พอมันหดเข้ามาฐานที่ตั้งแล้วมันก็อยู่นี่แหละ มันไม่ออกหรอก แล้วสักพักหนึ่งพอสติดี พอบอกว่าเราจะตายเหรอ ถ้าจะตายเราก็ เออ.. ตายก็ตาย พอบอกว่าจะตายก็ตาย มันก็กลับไม่ตาย พอกลับไม่ตายแล้วอาการรับรู้นี้มันก็ออกจากฐานที่ตั้ง ซ่านออกมา เห็นไหม

คำว่าถ้ามีสตินะ ไอ้เรื่องตายนี่ไม่มีหรอก ! คนตายส่วนใหญ่แล้วไม่รู้ว่าตายไง แว็บ... คือขาดสติก็ตาย คนไม่มีสตินี่ตาย แต่คนมีสติอยู่นี่ไม่ตาย เว้นไว้แต่คนที่หมดอายุขัย มันจะตายก็ตายพร้อมสติไง สติพร้อม รับรู้อยู่ เหมือนคนเดินออกจากบ้าน เหมือนจิตก้าวออกจากร่างกาย

จิตนี่เวลามันเคลื่อนออกจากร่างกาย เหมือนเราออกจากบ้าน บ้านคือร่างกาย คนคือจิต เวลาตายนี่จิตก้าวออกจากร่าง แต่พวกเราไม่เห็นอย่างนี้หรอก มันชักดิ้นชักงอ มันหวาดหวั่นไปก่อน ไม่เห็นหรอก.. แต่ถ้ามีสตินะ ถึงบอกว่าความตายนี่หลอกกัน หลอกกันเฉยๆ

ฉะนั้นไม่มีตาย ! ไม่มีตาย ! เป็นสมมุติต่างหาก เพียงแต่เราตกใจ

ฉะนั้นที่บอกว่า “ไม่กล้าเสี่ยงกลัวตายฟรี รอคำตอบจากหลวงพ่อก่อน”

ให้ตั้งสติไว้นะ ที่ทำมานี่เราอนุโมทนาด้วย คำว่าอนุโมทนาคือเขามีเหตุมีผลของเขา ฉะนั้นมีเหตุมีผลแล้วเราต้องตั้งสติ แล้วเราไปทำให้มากขึ้น คนเราส่วนใหญ่นะถ้ายังไม่รู้ว่าดีและชั่วนี่มันทำได้ เพราะมันไม่อุปาทาน แต่พอรู้ว่าดีนะ มันพยายามอยากจะได้ อย่างนั้นมันจะไม่ได้ไง

ฉะนั้นถ้ารอหลวงพ่อบอกก่อน แล้วหลวงพ่อบอกว่าดี พอไปภาวนาอีกมันจะไม่ได้แล้ว พอไม่ได้แล้วก็ว่า “หลวงพ่อนี่บอกแล้วเลยไม่ได้เลย ถ้าหลวงพ่อไม่บอกมันจะได้ พอหลวงพ่อบอกนะ เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้เลย” เอ้า... ก็เมื่อก่อนไม่รู้ว่าดีแล้วมันก็ไม่เป็น

นี่กิเลสมันร้ายมาก มันจะรู้ทันเราไปหมดแหละ !

 

ถาม : ๓. อยากทราบว่าคนที่เข้าอัปปนาสมาธิ ขณะจิตที่ไม่รับรู้ร่างกาย แต่ร่างกายเองยังมีอาการหายใจอยู่หรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : มี ! มี ! ไม่ตายหรอก... มี เพราะทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์แล้วนะ ว่าธรรมดาของมนุษย์นี้มันสามารถหายใจทางผิวหนังได้ เราไม่ต้องตกใจหรอก โดยสามัญสำนึกนี่เราบอกหายใจทางโพรงจมูกเท่านั้นเองไง แต่ถ้าคนไม่หายใจทางโพรงจมูก เราหายใจทางปากก็ได้ แล้วถ้าจิตมันสงบนิ่ง มันหายใจทางผิวหนังก็ได้

ต้องพิสูจน์ ! เราพูดไปอย่างนี้เดี๋ยวมันก็จะเป็นประเด็นเนาะ อวดอุตริไง เดี๋ยวมันจะเป็นประเด็นขึ้นมา ต้องพิสูจน์ !

ฉะนั้นที่ถามมา อยากทราบว่าคนที่เข้าอัปปนาสมาธิ เวลาเข้าอัปปนาสมาธิ เวลากำหนดลมหายใจอานาปานสติ ลมหายใจเริ่มเบา ละเอียดขึ้น... ละเอียดขึ้น จนลมหายใจเริ่มจางลง.. จางลง แล้วลมหายใจมันจะตัดกัน มันจะตัดกันระหว่างจิตกับขันธ์

โดยสามัญสำนึกความรู้เรานี่เป็นขันธ์ เป็นสัญญาอารมณ์ โดยสามัญสำนึกเลย ทุกคน ! ทุกคนไม่มียกเว้นเลย แล้วเรากำหนดลม หรือกำหนดพุทโธจนกว่ามันจะละเอียดเข้ามา จนจิตมันปล่อยขันธ์เข้ามา จนตัวมันเองเป็นหนึ่ง เห็นไหม มันตัดขาดจากขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันถึงไม่รับรู้อายตนะทั้งหมด ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น แต่จิตมันเป็นเอกเทศของมัน

“นี่เป็นอัปปนาสมาธิ ถึงบอกว่าใช้ปัญญาไม่ได้.. อัปปนาสสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้” แต่พอมันซ่านออกมา มันสร้างออกมา มันคลายตัวออกมาระหว่างจิตกับขันธ์ เพราะการใช้ปัญญาคือผ่านสังขารขันธ์ สังขารขันธ์เกิดสัมมาสมาธิ สังขารขันธ์นี้เกิดสัมมาสมาธิเป็นโลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรมเกิดปัญญาวิปัสสนา เกิดโลกุตตรปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนา การภาวนาเกิดจากข้อเท็จจริงระหว่างจิตกับขันธ์ ระหว่างความเป็นไปโดยข้อเท็จจริงของจิต ไม่ใช่โดยข้อมูล ไม่ใช่โดยสถิติ ไม่ใช่โดยข้อมูลของการศึกษา ฉะนั้นมันถึงกลายเป็นภาวนามยปัญญาไง !

ที่บอกว่าภาวนาแล้วปัญญาเกิดอย่างไร.. ที่ผ่านมาไม่เคยเกิด.. ภาวนาแล้วปัญญาไม่เคยมี... ถ้าคนมีนี่พูดอีกอย่างหนึ่งเลย

 

ถาม : อยากทราบว่าคนที่เข้าอัปปนาสมาธิ (ขณะจิตที่ไม่รับรู้ร่างกาย แต่ร่างกายเองยังมีลมหายใจอยู่หรือเปล่าครับ)

หลวงพ่อ : มี ! มีของมัน มีโดยสัจจะข้อเท็จจริง แต่ถ้าจะไปพิสูจน์ตรงนั้นนะ อัปปนาสมาธิจะเข้าไม่ได้เลย เพราะมัวไปพิสูจน์ลมหายใจอยู่

ลมหายใจมันไม่ใช่จิต ! ลมหายใจเป็นสิ่งที่เกาะเข้าไป ลมหายใจเป็นบริกรรม ลมหายใจเป็นวิธีการที่เข้าสู่เป้าหมาย เป็นวิธีการที่เราเกาะเข้ามา แล้วเราจะไปพิสูจน์กันตรงนั้น เพราะเราสงสัยกันเองไง เพราะจิตเราไปสงสัย

อย่างเช่นปัจจุบันนี้ เรามีความสงสัยเครื่องใช้ไม้สอย อวดกันที่เฟอร์นิเจอร์ไง อวดกันที่สิ่งที่เป็นเครื่องประดับ ไม่ได้มองคนที่คุณงามความดีไง แต่ไปมองคนที่เครื่องประดับ ไอ้ลมหายใจ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง วิธีการเข้าสู่สมาธินี้เป็นเครื่องประดับ เป็นวิธีการที่เข้าไปสู่จิตเท่านั้นแหละ พอจิตเข้าไปแล้วนี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นี่เขาบอกว่า รู้ลมหายใจไหม อะไรไหม นี่มันเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ที่ห่วงเป็นห่วงตายไง ถ้าเราทำจริงแล้วเดี๋ยวรู้เอง...

 

อันนี้ข้อ ๒๒๕. เขาบอกว่า “โยมได้รับคำตอบจากหลวงพ่อแล้ว กราบขอบพระคุณอย่างสูง เป็นกำลังใจมากในการปฏิบัติ” อันนี้เขาชมมา

ข้อ ๒๒๖. “เรื่องหงส์ปีกหัก” นี่เขาเตือนมา แกะเสียงผิดไปไง แกะแล้วมันแกะผิด ข้อ ๒๒๖. แจงผู้ถอดเสียงไฟล์เรื่อง “หงส์ปีกหัก” นี่เขาได้แก้ไขแล้ว

 

ข้อ ๒๒๗. ไม่มีข้อมูลเนื่องจากมีคนพิมพ์ผิด....

ต่อไปข้อ ๒๒๘. อันนี้แหละ ที่เราว่าจะรออันนี้ เดี๋ยวโยมฟังอันนี้ แล้วจะเป็นคติกับโยมมาก

 

ถาม : ๒๒๘. ควรจะกตัญญูหรือศรัทธาครูบาอาจารย์อย่างไร จึงจะไม่เป็นโทษครับ

ถามว่า หากผู้มีพระคุณหรือครูบาอาจารย์ได้พลาดพลั้ง กระทำสิ่งไม่ดีใดๆ ก็ตาม อาจจะเป็นปัญหาภายในครอบครัว หรือปัญหาระดับวงกว้างในสังคม

กรณีตัวอย่างสมมุติว่า ผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง ไม่ได้รู้มาก่อนว่า อาจารย์ของตนนั้นได้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผิดทั้งวินัยและกฎหมาย แต่พอสุดท้ายมีการสืบสวนสอบสวน มีหลักฐานต่างๆ จากทางตำรวจ จึงทราบในภายหลัง เพราะผมเห็นว่า บางคนศรัทธาและรักในครูบาอาจารย์ที่ตนนับถือ ! มาก บางคนปฏิบัติธรรมมานาน แต่ก็ยังโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เพียงแต่ถูกเปรียบเทียบระหว่างสำนักครูบาอาจารย์เท่านั้น

๑.ความกตัญญูของผู้ศึกษา-ปฏิบัติธรรม ควรมีมาตรฐานอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : “ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นสิ่งที่สุดยอดมาก” หลวงตาท่านจะเน้นย้ำตลอดเวลาว่า “อย่าเถียง อย่าโต้แย้ง อย่าเถียงพ่อเถียงแม่ ถึงพ่อแม่เราจะผิด ! ท่านก็เป็นพ่อแม่ของเรา” ถึงพ่อแม่เราจะผิดนะ เพราะพ่อแม่ของเราก็ผิดได้ แต่ก็เป็นพ่อแม่ของเรา

“คำว่าพ่อแม่ของเรา คือ กตัญญูกตเวที” ความผิดความถูกของพ่อแม่นี้เป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่พ่อแม่เรามีคุณกับเราแน่นอน เห็นไหม หลวงตาถึงบอกว่า “อย่าเถียง ! อย่าถกอย่าเถียง ถึงแม้แต่พ่อแม่เราผิดก็อย่าเถียง” เพียงแต่ว่าเราจะมีวิธีการอย่างไรสื่อให้พ่อแม่เรารู้ได้ว่า ท่านมีความผิดอย่างใด แล้วท่านควรแก้ไขอย่างใด แต่ถ้าเราไปเถียง มันก็มีแต่การโต้แย้งตลอดไปเท่านั้น

ฉะนั้นที่เขาถามว่า “ความกตัญญูของผู้ที่ศึกษา-ปฏิบัติธรรมควรมีมาตรฐานอย่างใด”

มันมีมาตรฐาน ! มาตรฐานหมายถึงว่า ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านสอนด้วยความจริงหรือเปล่า ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเชื่อมั่นในความจริงของท่าน ! ท่านเชื่อมั่นในความจริงของท่านนะ

ครูบาอาจารย์นี่นะ เหมือนกับเราศึกษานั่นแหละ เราศึกษาได้มากได้น้อย เราเข้าได้ลึกได้ตื้นขนาดไหน เราจะมีความรู้แค่นั้น ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเรามีความรู้อย่างนี้ ด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรา ! ด้วยความบริสุทธิ์ใจของเราว่าเราเชื่อมั่นว่าธรรมที่เรารู้นี่ของจริง แล้วเราสอนไปตามที่เรารู้ อย่างนี้เราถือว่าไม่ทุจริต แต่ถ้าเรานี่รู้ก็ไม่รู้ เราก็ไม่รู้... เราก็ไม่มี... แต่เราพยายามจะบอกคนอื่นว่าเรารู้เรามี เห็นไหม อย่างนี้ทุจริต

ทีนี้คำว่า กตัญญูขนาดไหน ถ้าครูบาอาจารย์ของเรา ท่านสอนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ! ท่านสอนด้วยความบริสุทธิ์ใจของท่าน ไอ้นี่เราควรกตัญญู เพราะท่านเมตตา ท่านปรารถนาดีกับเรา แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่รู้ ! แล้วท่านสอน แล้วเวลาเปรียบเทียบไปแล้วมันเป็นความผิด ถ้าอย่างนี้เราไม่นับถือ เพราะว่ามันเหมือนกับท่านทุจริตไง เพราะท่านรู้ว่าท่านผิดใช่ไหม มันเหมือนกับทุจริต แต่ถ้าท่านเข้าใจด้วยความบริสุทธิ์ใจไง

สังเกตได้ไหมเวลานักกฎหมายเขาพูด เชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ! เชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นอย่างนี้ เราไม่ได้ใส่ไคล้ใคร เราไม่ได้สร้างภาพหรือทำร้ายใคร เราเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นอย่างนี้ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของท่าน ท่านสอนมาแล้วท่านชักนำเราให้เป็นคนดี นี่อย่างนี้เราบอกว่าเราต้องกตัญญู แต่ไอ้ความผิดความถูกนั้นมันเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะท่านรู้ของท่านได้แค่นั้น

ฉะนั้นข้อ ๑ ความกตัญญูของผู้ศึกษา-ปฏิบัติธรรม ควรมีมาตรฐานอย่างใด...มาตรฐาน ถ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านทำด้วยความบริสุทธิ์ใจนี่เราเห็นด้วย แต่ถ้าท่านทำด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจ ! ถ้าเรากตัญญู เราก็ต้องไปเป็นส่วนหนึ่ง ไปเป็นสายบุญสายกรรมอย่างนั้นหรือ เราจะต้องเอาตัวเราเองออกจากความผิดพลาดใช่ไหม

“เพราะว่าสัมมาทิฏฐิ คือสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น จะพาเราไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้อง”

ฉะนั้นสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือเขาเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของเขา แต่เรามีข้อมูลที่เรารู้ได้ว่าสิ่งนี้มันไม่เป็นความจริง ถ้าเราพูดได้เราก็พูด แต่ถ้าเราพูดไม่ได้ มันก็จบ

อย่างเช่นกรณีของพระสารีบุตร เห็นไหม เวลาศึกษากับสัญชัย สัญชัยสอนก็ศึกษาจนหมดไส้หมดพุงแล้ว เวลาบอกว่าหมดไส้หมดพุงแต่มันยังไปไม่ได้ เวลาไปเจอพระอัสสชิได้เป็นพระโสดาบัน ก็มาเอาสัญชัย พยายามจะดึงสัญชัยไปด้วยแต่สัญชัยไม่ไป สัญชัยถามพระสารีบุตรว่า

“ในโลกนี้ คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

“คนโง่มาก”

“ฉะนั้นเอ็งไปอยู่กับคนฉลาดไป !”

กูจะอยู่กับคนโง่เพราะคนโง่มันหลอกง่าย กูจะหลอกคนโง่อยู่นี่ เอ็งไปอยู่กับคนฉลาด เพราะคนฉลาดมันหลอกยาก พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะก็ทิ้งสัญชัยมา แล้วมาอยู่กับพระพุทธเจ้า อันนี้มันอยู่ที่มาตรฐานไง มาตรฐานของเราคือความถูกต้อง มาตรฐานของเราคือทุกคนอยากจะพ้นจากทุกข์ ถ้าพ้นจากทุกข์นี่เรารู้ได้ ! เรารู้ได้นะ

ดูสิดูพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรอยู่กับสัญชัยจนหมดไส้หมดพุง เพราะสัญชัยบอกเองว่าหมดแล้ว พระสารีบุตรนี่พอศึกษาจบแล้วก็อยากจะไปอีก ก็อยากจะพ้นทุกข์ เพราะสร้างบุญมามาก สัญชัยบอกว่ามีแค่นี้แหละ มีแค่นี้เอง แล้วสอนลูกศิษย์ได้แบบเราอย่างนี้ มีแค่นี้เองก็คือจบ พอจบแล้วพระสารีบุตรก็คิดในใจเลยว่าจบแล้ว ศึกษาขนาดนี้แล้วไปไม่รอดแล้ว ก็เลยสัญญากับพระโมคคัลลานะไว้ว่า “ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ ใครแนะนำได้ เราสัญญากันว่าเราจะต้องบอกกัน” แล้วพอไปเจอพระอัสสชินั้นอีกอย่างหนึ่ง

นี่พูดถึงมาตรฐานนะ !

 

ถาม : ๒. ความกตัญญูคือการต้องพยายามช่วยเหลือครูบาอาจารย์นั้นๆ เท่าที่ทำได้ ควรจะปกป้อง.. เชื่อมั่น.. และมองแต่สิ่งที่ดีๆ โดยมองข้ามสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น สมัยใหม่เขาเรียกว่ามองเชิงบวก แล้วควรจะวางตัวอย่างไร หากจะช่วยเหลือโดยที่ไม่เป็นโทษครับ

หลวงพ่อ : “โดยที่ไม่เป็นโทษ” เห็นไหม เราจะช่วยเหลืออย่างไร... กรณีนี้นะเราจะพูดกับพระเราบ่อยมาก พระนี่นะเวลาไม่บวชนะมันก็คบเพื่อน มันก็เที่ยวไปประสาสังคม พอพระบวชใหม่ทุกองค์เลย เกือบทุกองค์เลยนะ ! พระที่บวชใหม่ พอบวชเข้ามาศึกษาธรรมะแล้ว เราบวชครั้งแรกนะ เพราะก่อนบวชเราก็ศึกษาธรรมะประสาเรา... ประสาเราคือฟังเทศน์ ไปประสาครูบาอาจารย์นี้แหละ มันก็ได้แบบสามัญสำนึกนี่แหละ

พอเราบวชตูม.. เรามาอ่านวินัยมุข แล้ววินัยมุขนี่นะ บุพพสิกขาเรื่องวินัย นี้มันเป็นวิทยาศาสตร์นะ โอ้โฮ... พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้เหรอวะ มันเป็นวิทยาศาสตร์.. เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเชิงกฎหมายเลย เพราะกฎหมายโลกต่างๆ ก็มาจากวินัยนี้หมดเลย การคว่ำบาตร หรือญัตติจตุตถกรรมนี่มาจากธรรมวินัยนี้หมดเลย พอไปศึกษาแล้ว โอ้โฮ... ขนาดนี้เลยเหรอวะ มันก็ทึ่งไง พอมันทึ่งขึ้นมาแล้ว มันบอกว่าพระพุทธเจ้านี่สอนยิ่งกว่าคณะวิทยาศาสตร์เมืองไทยอีก จุฬาฯ สู้ไม่ได้หรอก คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์รามคำแหง นี่สู้พระพุทธเจ้าไม่ได้หรอก เวลาพระพุทธเจ้าสอนเป็นวิทยาศาสตร์

นี่ความรู้สึกเรานะ แล้วเราก็แหม... อยากให้คนรู้ไปกับเราทั้งนั้นแหละ พอใครไปเห็นอะไร ก็อยากให้คนอื่นรู้เหมือนเราหมดแหละ ทีนี้พอพระบวชใหม่เข้ามา พอบวชเข้ามาแล้ว ทุกคนอยากจะเอาพ่อแม่

พอทุกคนอยากจะเอาพ่อแม่ เราจะเตือนบ่อย เพราะเราก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วคิดนี่ไม่คิดธรรมดานะ เพราะก่อนบวชพ่อแม่ต้องอนุญษติให้เราบวช ถ้าไม่อนุญาตให้บวชนี่บวชไม่ได้ แต่ก็อนุญาตด้วยความแกร็นๆ อนุญาติด้วยความไม่เต็มใจไง มันก็มีแรงต้านใช่ไหม ฉะนั้นจะทำอะไรไปอย่างที่เราหวังมันไม่ได้หรอก แต่เวลาพระบวชใหม่แล้ว ทุกคนจะไปเอาพ่อเอาแม่ เห็นไหม

การที่เราจะช่วยเหลือครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์นะ พระกรรมฐานเขาเรียก “พ่อแม่ครูอาจารย์” ครูบาอาจารย์นี้ก็เหมือนพ่อแม่ พ่อแม่นี่สอนยากที่สุด ใครที่จะไปเอาพ่อเอาแม่นี่ยากที่สุด เพราะไปพูดอะไรก็ว่า “กูเลี้ยงมึงมา.. กูเลี้ยงมึงมา” ยากมากๆ การเอาพ่อเอาแม่นี่ยากมาก มีอย่างเดียวเท่านั้นแหละ คือพาพ่อแม่ไปทำบุญ.. พาพ่อแม่ไปทำบุญแล้วให้พ่อแม่ฟังเองไง ให้พ่อแม่เปิดหูเอง เราเปิดหูพ่อแม่ไม่ไหวหรอก เพราะอะไรก็ว่า “กูเลี้ยงมึงมา.. กูเลี้ยงมึงมา” ไม่มีทางหรอก

ทิฐินะ เรามีบุญคุณกับใคร เราช่วยเหลือใคร คนนั้นจะมาพูดอะไรกับเรานี่ฟังไม่ได้ คนที่จะช่วยเหลือใคร เขาต้องมีอำนาจเหนือคนๆ นั้น

ฉะนั้นการกตัญญูคือการพยายามต้องช่วยเหลือครูบาอาจารย์นั้นจะทำอย่างใด... ครูบาอาจารย์นะ อย่างเช่นเราเป็นเพื่อนกัน เราปฏิบัติธรรมมาด้วยกัน ต่อไปอายุพรรษาเราจะมากขึ้น หรือต่อไปสังคมจะยอมรับเรา แต่เราเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เริ่มต้นใช่ไหม เรายังพอคุยกันได้ เรายังเตือนกันได้นะ แต่พอเราปฏิบัติถูกหรือผิดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าถูกหรือผิด เห็นไหม เราจะเตือนกัน

แต่ถ้าเราปฏิบัติมา.. เราปฏิบัติมาถูกหรือผิดก็แล้วแต่ จนสังคมเขาเชื่อถือ แล้วคนอื่นมาเตือนเรา นี่ทิฐิอันนี้มันไม่ฟังใครหรอก ทิฐิไง !

ฉะนั้นจะเตือนครูบาอาจารย์นี่นะ ในพระไตรปิฎกมีเยอะมาก ที่ว่าเวลาลูกศิษย์ปฏิบัติล้ำหน้าครูบาอาจารย์ไป แล้วพยายามจะกลับมาช่วยเหลือครูบาอาจารย์ไง อย่างนี้มันก็เป็นเวรเป็นกรรมพอสมควร มันเป็นเวรเป็นกรรมอันหนึ่งใช่ไหม

ฉะนั้นความกตัญญูนี่เราเห็นด้วย เวลาเราพูดถึงใคร ถ้าไม่มีความกตัญญูนี่เราไม่คบเลยนะ เราคบคน นี่เราดูเครื่องหมายของคนดี เครื่องหมายของคน คนรู้จักกตัญญู รู้จักบุญจักคุณ คนนั้นเราจะคบเป็นเพื่อน ถ้าคนๆ ไหนไม่นึกถึงคุณของคนนะ เราไม่คบ แต่ขณะที่ว่าเราชอบคนกตัญญู แต่ทำไมปากเราเที่ยวละลานเขาไปทั่วล่ะ

คำว่าปากเราเที่ยวละลานไปทั่ว แต่เราไม่เคยว่าใครโดยที่ความเชื่อนะ… ด้วยความเชื่อ ด้วยความบริสุทธิ์ใจของเราว่าคนๆ นั้นไม่ได้ทำความผิดนะ เราจะไม่ว่าใครเลย แต่ด้วยความเชื่อ ด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรานะ ว่าคนที่เราว่าหรือเราติเตียน เพราะคนๆ นั้นเขาทำด้วยความที่เขารู้อยู่ว่าผิดแล้วเขาทำ

ที่เราพูดนะ ส่วนใหญ่ถ้าเราจะพูดหรือว่าใคร เราจะมั่นใจ เราจะพิสูจน์ก่อนว่า เราเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรา ! เราเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของเราว่า “เขารู้อยู่ว่าถูกและผิด แล้วเขาพยายามทำความผิดของเขาแบบต่อเนื่อง” อย่างนี้เราถึงพูด ถ้าเราพูดถึงใคร ส่วนใหญ่แล้วเราต้องเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของเราก่อนว่า “เขารู้ว่าเขาผิด แล้วเขายังทำอยู่ แล้วทำด้วยเป็นอาจิณ ทำด้วยความต่อเนื่อง” เราถึงจะพูดออกไป

แต่ถ้าคนไหนนะ เราก็เชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรา ในหมู่ครูบาอาจารย์ของเรานี่แหละว่าท่านเป็นพระที่ดี... ท่านเป็นพระที่ดี หรือว่าท่านเป็นพระที่อยู่ในศีลในธรรม แต่เราก็เชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของเราว่า คุณธรรมในหัวใจของท่านไม่มี เราก็ไม่เคยพูดถึงท่านเลย เราจะชื่นชมท่าน ว่าท่านเป็นพระที่ดี ท่านเป็นพระอาวุโส ตามธรรมและวินัยของเรา แต่คุณธรรมในหัวใจของท่าน ! มันต้องเป็นความเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของเราว่าท่านมีหรือไม่มี จากการแสดงออกของท่าน ! การแสดงธรรมของท่าน ! การชี้นำวิธีการของท่าน !

“ถ้าคนรู้จริง จะต้องชี้นำด้วยความถูกต้อง” ถ้าเราเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรานะ

ฉะนั้นเราจะบอกว่า เราชอบคนกตัญญู แต่ในทางกลับกัน “สงบนี่แหม... ด่าเขาทั่วเลย กตัญญูมันเป็นอย่างนี้เหรอวะ” เราถึงบอกว่าเราพูดด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรา ทำไมกตัญญูนี่แหม.. ทิ่มเขาเรื่อยเลย…

เราไม่เคยพูดถึงใครโดยความเสียหายนะ สิ่งที่พูดออกไป เพราะเขาถามปัญหาเท่านั้น การถามปัญหา ก็เหมือนกับหมอรักษาคนไข้ เราจงใจ ตั้งใจรักษาคนนั้นเท่านั้น คนไข้นั้น.. แต่คนไข้นั้นเขาเป็นโรคเฉพาะอย่างนี้ จะต้องแก้ไขกันด้วยยาประเภทนี้ เพราะเขามีความยึดมั่นข้อมูล หรือเขายึดติดในความเห็นผิด คือเขามีของแสลง เขามีพิษอยู่ในร่างกายของเขา เราจะต้องเอาพิษ เอาสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยในร่างกายของเขา ออกจากร่างกายของเขา เราจะต้องเอามุมมอง ความคิด ความเชื่อ สิ่งที่อยู่ในจิตของเขา ออกจากจิตของเขา ฉะนั้นถ้าเอาออกจากจิตของเขา เราจะต้องมีเหตุผลและข้อมูลที่เชื่อถือได้ ด้วยความมีน้ำหนักกว่าสิ่งที่เขาเชื่อถืออยู่

“นี้.. สิ่งที่เราทำนี่เราเข้าใจของเราเองด้วยความบริสุทธิ์ใจ”

วันนี้พูดดีมากนะ... ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ! “เราทำด้วยความเชื่อ ด้วยความสะอาด ด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความรื้อค้น ด้วยความแก้ไขบุคคลคนนั้น เพื่อให้เขาหายจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่เราเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรา”

นี่พูดถึงความกตัญญู ฉะนั้นควรแก้ไขอย่างใด…

 

ข้อ ๓ นี่ยังไม่จบ ยังมีอีกตั้งหลายข้อ

ถาม : ๓. กรณีทำนองนี้ เป็นกิเลสส่วนไหนครับ จะปรับให้ลดเลิกได้อย่างไร จะต้องมีอุบายอย่างไรครับ เพราะในสังคมผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมต้องพบและเจอศิษย์ต่างสำนัก ต่างครูบาอาจารย์กันเสมอ

หลวงพ่อ : ข้อที่ ๓ นี่นะเราได้จากหลวงตา เวลาหลวงตาท่านสอนเรานะ ว่า “ให้ดูใจของตัว ! ให้ดูใจของตัว” สังคมเป็นสังคม.. หมู่คณะเป็นหมู่คณะ.. เวลาเราเข้าหมู่คณะ เราก็อยู่กับหมู่คณะ แล้วเวลาเข้ากับหมู่คณะแล้ว ให้ดูความกระเพื่อมในใจของเรา ถ้าใจของเรากระเพื่อม เห็นไหม นี่อย่างนี้มันเสียที่เรา หมู่คณะหรือสังคมก็มีได้มีเสียในกระแสสังคม

ความได้ความเสียในหัวใจของเรา ถ้าเราเข้าสังคม เราต้องดูใจของเรา เรานี่โดนหลวงตาเขกประจำไอ้เรื่องดูใจๆ นี่แหละ เพราะเวลาปากเราไปงับใครเข้า ท่านก็เขกเอาว่า “ให้ดูใจของตัว ! ให้ดูใจของตัว” ท่านไม่ให้เราไปงับใคร แต่มันก็จะไปงับ มันไม่ยอม เมื่อก่อนจะไปงับเขาบ่อย แล้วท่านก็บอกว่า

“ดูใจของตัว ! ดูใจของตัว ! ใจตัวเราไม่ดู ! ใจตัวเราไม่ดู ! ใจตัวเราไม่ดู”

เราก็คิดในใจว่า “ดูแล้ว ! ดูแล้ว ! ก็มันอัดหลวงตาก่อนน่ะ มันทำก่อน.. มันทำก่อน” แต่ท่านก็อัดเราตลอด เห็นไหม

นี่กรณีนี้เราได้บ่อย หลวงตาจะอัดประจำว่า “ให้ดูใจของตัว ให้ดูใจของตัว” ทีนี้

คำว่า “ดูใจของตัว” นี่นะ เราตีความเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือท่านเป็นอาจารย์ของเรา ท่านก็ไม่อยากให้เราออกไปรับผิดชอบอะไรหรอก เหมือนพ่อแม่นี่แหละ ในเมื่อลูกของเรานะ ลูกของเรามันปีกไม่กล้าขาไม่แข็ง นี่มันออกไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้หรอก แต่พวกผู้ใหญ่เขาทำได้แล้วใช่ไหม แต่ด้วยความกตัญญูของเรา เห็นไหม เราก็อยากจะช่วยเหลือ อยากจะแบ่งเบาภาระไง มันเหมือนกับพ่อแม่เลย พ่อแม่ก็ไม่อยากให้ลูกมาลำบากลำบน ไอ้ลูกก็อยากจะช่วยพ่อแม่ แต่ลูกมันทำไม่ได้ไง ช่วยพ่อแม่ไป ก็ถูก็ไถกันไป นี่เวลาคำสอนของท่านนะ

ในทำนองนี้เป็นส่วนกิเลสไหม… เป็น ! คำว่าส่วนกิเลสนะ... ส่วนกิเลส คือความอยาก ตัณหาความทะยานอยาก แต่ตัณหาที่เป็นมรรค เพราะมีกิเลสมีความอยาก มันถึงมีเหตุการณ์กระทำ มีศรัทธามีความเชื่อ

คำว่าเป็นกิเลส... เป็นส่วนไหนล่ะ ก็ส่วนที่อยากให้มันเป็นผลอย่างที่เราต้องการไง แต่เราจะทำหรือไม่ทำ มันคิดได้ไง นี่เราพูดแล้วตั้งแต่ตอนเช้า เห็นไหม ว่า “วิธีการกับเป้าหมาย” สิ่งนี้เป็นวิธีการทั้งหมด แต่เป้าหมายคือเราต้องการให้สังคมดี ให้มีความกตัญญู ให้มีความรู้คุณกัน ให้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข แต่ ! แต่คนเรามันเป็นสายบุญสายกรรม

คำว่าสายบุญสายกรรม... เราจะปรารถนาให้ทุกคนเป็นเหมือนเรา อย่างนั้นมันเป็นไม่ได้หรอก เวลาเรามองคน อย่าไปมองคนที่มนุษย์สิ เรามองคนที่ความคิด ความคิดของคน อารมณ์ความรู้สึกของคนมันแปรปรวน อารมณ์ความรู้สึกของคนมันควบคุมไม่ได้ เวลาม็อบมันติดขึ้นมา นี่เราจะควบคุมม็อบไม่ได้เลย ม็อบนี่ใครจะคุมม็อบได้ นี่ก็เหมือนกับอารมณ์ความรู้สึก เห็นไหม เวลาอารมณ์โกรธนี่มันเหมือนม็อบเลยนะ มันรุนแรง แล้วเราจะควบคุมได้อย่างไร

มันจะควบคุมได้นั้นตั้งแต่เริ่มมีการฝึก ต้องมีการแผ่เมตตา เราจะแผ่เมตตานะ สรรพสัตว์ในโลกนี้เป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติเราทั้งสิ้น เขาจะด่าเรา เขาจะว่าเรานะ ก็เหมือนพี่น้องเราติเราว่าเราบอกเรา ด้วยความผิดพลาดของเขา อย่างนี้มันจะช่วยทอนอารมณ์ความโกรธนี้ได้

อารมณ์ความโกรธ พอโกรธแล้วค่อยมาควบคุมนี่ยาก แต่ถ้าเราฝึกของเรา เรามีความเมตตาของเราอยู่แล้ว เรามีสัพเพ สัตตา เห็นไหม สรรพสัตว์ทั้งหลาย ถ้ามีอะไรกระทบกระทั่งนะ เราก็ว่า เออ... ก็ญาติเราเอง ก็พี่เราเอง ก็น้องเราเอง ว่าเราเอง พวกเราเอง มันเหมือนกับคนในครอบครัวเดียวกัน พูดติเตียนกัน พูดบอกกัน มันก็ไม่เกิดอารมณ์รุนแรง เห็นไหม นี่พูดถึงอารมณ์โกรธนะ อารมณ์รุนแรงในสังคม

ฉะนั้นถามว่าในทำนองนี้เป็นกิเลสส่วนไหน... “มันจะไม่เป็นกิเลสต่อเมื่อเราปฏิบัติจบแล้วน่ะ”

ทีนี้สิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์ต่างสำนัก... ต่างสำนัก ถ้าธัมมสากัจฉา หลวงตาท่านสอนบ่อยนะ “เป็นมงคลชีวิตนะ ย่อมต้องพบเจอศิษย์ต่างสำนัก ต่างครูบาอาจารย์กันเสมอ การเจอลูกศิษย์ ครูบาอาจารย์ต่างสำนัก ถ้าเราคุยกันด้วยธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง”

ธัมมสากัจฉา คือพูดด้วยเหตุด้วยผล สิ่งใดถ้าพูดด้วยเหตุด้วยผล สิ่งที่ดีเราก็จับไว้ สิ่งที่ไม่ดีเราก็ไม่ต้องฟังก็ได้ มันฟังไม่ขึ้นหรอก ดูเหตุผลของเด็กสิ เหตุผลของเด็กมันเล่นกันสนุกครึกครื้น แต่ผู้ใหญ่รำคาญน่าดูเลย เพราะผู้ใหญ่จะฟังธรรม ไอ้เด็กก็ว่ามันถูกนะ บอกว่าผู้ใหญ่นี่รังแกเด็ก เด็กจะเล่นกันแต่ผู้ใหญ่ก็ชอบติเรื่อยเลย

ในทำนองเดียวกัน คนที่ปฏิบัตินะ มันเพิ่งปฏิบัติเมื่อวานนี้ พอไปเจอครูบาอาจารย์พูดอะไรมันก็เชื่อ พอมันเชื่อก็เหมือนเด็กๆ ไง ถ้าเด็กๆ นี่นะมันเล่นด้วยความสนุกครึกครื้นของมัน เหมือนเราไม่เคยปฏิบัติเลย พอไปเจอเขาบอกว่า “นี่กำหนดเฉยๆ แล้วมันว่างๆ” อู้ฮู.. พอเรากำหนดแล้วก็ว่า “เออ.. มันว่างจริงหว่ะ” เราก็เชื่อ เหมือนเด็กๆ พอเราไปติไปบอกเขา เขาก็ว่าผู้ใหญ่รังแกเด็กนะ... ผู้ใหญ่รังแกเด็กนะ

เราจะบอกว่าทิฐิมานะของคนมันแตกต่าง เห็นไหม แล้วเขาก็สอนนะ “เดี๋ยวนี้สักแต่ว่า... อะไรก็สักแต่ว่า.. ไม่ต้องทำอะไรเลยก็เป็นพระอรหันต์” มันเป็นไปไม่ได้หรอก ! แต่เด็กๆ มันก็เชื่อ แต่ผู้ใหญ่ไม่เชื่อนะ

นี่ศิษย์ต่างสำนักไง ถ้าต่างสำนัก แต่เหตุผลเราเหนือกว่า เหตุผลเราดีกว่า เราก็เก็บของเราไว้ พูดไปเขาไม่เชื่อ เพราะวุฒิภาวะเขาไร้เดียงสา เขาบอกว่านิพพานคือความไร้เดียงสา นิพพานเหมือนเด็กไร้เดียงสา เราจะบอกว่าคนที่พูดอย่างนี้คือคนโง่ !

“นิพพานมีสติพร้อม แล้วมันไร้เดียงสาได้อย่างไรวะ” ไอ้ไร้เดียงสานั่นมันคนไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีเหตุไม่มีผล... แต่เขาบอกว่า “นิพพานมันก็ไร้เดียงสา มันเป็นความสะอาดบริสุทธิ์” โอ้โฮ... ฟังแล้วปวดหัว ! ปวดหัวชิบหายเลย

นี่มันต่างสำนักกันมันเจอกันอย่างนี้ ปล่อยเขาไป มันเป็นเรื่องไร้สาระ ธรรมะไร้สาระ เราเพิ่งเทศน์เมื่อคืน ธรรมะมีสาระ...

 

ข้อ ๔. เพราะคำถามเราดูไว้แล้ว ว่าคำถามอันนี้ดี

ถาม : ๔. แล้วจะมีวิธีเคารพ.. ศรัทธา.. นับถือ.. ครูบาอาจารย์อย่างไรครับถึงจะไม่เป็นการสร้างความเห็น และยึดมั่นผิดให้กับตนเอง

หลวงพ่อ : เราบอกว่าโยมนี่ไม่ใช่ชาวพุทธ พูดอย่างนี้เลยนะ ถ้าโยมเป็นชาวพุทธนะ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว “กาลามสูตรไง” โง่ชิบหายเลย ! กาลามสูตร พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว ถ้าโยมเป็นชาวพุทธ... กาลามสูตร มีมาตั้งแต่สมัย ๒,๐๐๐ กว่าปี

ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ของเรา !

ไม่ให้เชื่อว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังตามๆ กันมา !

ไม่ให้เชื่อว่าสิ่งที่เราคิดเราพิจารณา กับครูบาอาจารย์คิดแล้วมันลงกัน เหมือนกันเลย ไม่ให้เชื่อ ! ไม่ให้เชื่อ !

“กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใครเลย ! ให้เชื่อปัจจัตตัง ให้เชื่อสันทิฏฐิโก”

เหมือนอย่างคำถามพุทโธข้อที่ ๑ ไง ที่ว่าไม่กล้าเสี่ยง เพราะกลัวตายฟรี ต้องรอคำตอบจากหลวงพ่อก่อนไง เห็นไหม ไม่กล้าเสี่ยงเพราะเขาเห็น เขาสัมผัสของเขา นี่มันต้องเป็นอย่างนี้ !

ที่เราภูมิใจ เราดีใจ เพราะเขาไปปฏิบัติ แล้วเขาสัมผัส เขารู้ของเขา นี่ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ! กรรมฐานเป็นอย่างนี้ ! เป็นที่เข้าไปรู้ไปเห็นแล้วสัมผัส !

ไม่ให้เชื่อ ! ไม่ให้เชื่อ ! กาลามสูตรบอกไว้แล้ว เราถึงบอกว่านี่ไม่ใช่ชาวพุทธ... เพราะชาวพุทธนะ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว ว่าไม่ให้เชื่อ ! ไม่ให้เชื่อ แล้วให้ปฏิบัติ

คำว่าไม่ให้เชื่อ... คือไม่ให้เชื่อข้อมูลอย่างนี้ แต่ให้เรามีความตั้งมั่น มีศรัทธาของเราแล้วปฏิบัติไป ถ้ามันตรงกัน เห็นไหม ไม่ใช่ “ไปไหนมา สองวาสามศอก” เราปฏิบัติอย่างหนึ่ง ไปถามอาจารย์บอกว่า “เห้ย... เลิกเถอะ เลิกเถอะอย่างนี้ผิด”

บอกมาสิว่าถูกผิดอย่างไร.. บอกมาว่าอย่างนี้มันผิดอย่างไร.. มันถูกอย่างไร.. แล้วทำอย่างไรมันถึงจะถูก... ที่ทำกันมาผิด ทำไมมันถึงผิด.. ผิดเพราะอะไร

นี่ครูบาอาอาจารย์ของเราท่านตอบอย่างนี้ กรรมฐานตอบอย่างนี้ เราไม่ต้องเข้าไปเลย หลวงปู่มั่นเข้าไปนี่บอกไว้เลย “ไอ้ศพเดินได้ เอ็งเดินมานี่ไม่มีสติ เดินมานี่เถ่อมา”

หลวงตาท่านพูดประจำนะ ท่านเห็นพระเดินแบบไม่มีสตินะ โอ้โฮ.. ท่านรับไม่ได้เลยล่ะ แล้วท่านก็ไม่พูดด้วยนะ เพราะพูดไปแล้ว ไอ้คนโดนพูดมันจะไม่รู้ตัว ท่านจะเก็บเอาไว้ แล้วเวลาเทศน์ตอนเย็นนี่ท่านใส่เลย ! ใส่เลย... ใส่ให้สำนึกนะ

เรานะ สมมุติว่าเรานี่เดินด้วยการไม่มีสติเลย แต่เราก็ไม่รู้ตัว แล้วพอมีใครมาบอกเรา เราก็ว่า “อืม... วันๆ ไม่ทำอะไรเลย คอยแต่จับผิดผมคนเดียว” มันคิดไปนะ กิเลสมันขึ้นทันทีนะ เวลาอาจารย์เตือนเรานะบอกว่า “นี่เดินไม่มีสติเลย” ไอ้กิเลสมันก็ขึ้นไงว่า “วันๆ อาจารย์ไม่เห็นทำอะไรเลย คอยจับผิดลูกศิษย์”

นี่ท่านถึงไม่บอก เห็นไหม ท่านถึงเก็บไว้ก่อน แล้วรวมพระ.. พอรวมพระท่านก็จะพูดแล้ว ว่า “เรารับไม่ได้ เดินเถ่ออย่างนี้แล้วบอกว่าเป็นพระ.. เป็นพระมันต้องมีสติ” เห็นไหม เวลาสอนนะ บอกว่า “เหยียด คู้ ต้องมีสตินะ แหม... รับรู้อารมณ์นะ” แล้วเวลาเดินมานี่ตาลอยเลย อย่างนั้นมันมีอารมณ์ตรงไหน

นี่ไงกิริยาเรามันฟ้อง แต่เราไม่เห็นกิริยาเราเอง แต่ครูบาอาจารย์ท่านเห็น แต่การบอกนี่นะ การบอกโดยตรงๆ มันก็เหมือนกับว่ากิเลสมันก็ฟูขึ้นมา แต่ถ้าบอกนะ ต้องมีอุบายการบอกนะ อุบายการสอน... “นี่การแก้จิตถึงยากไง”

เราพูดประจำ ว่าหลวงปู่มั่นท่านพูดประจำว่า “แก้จิตมันแก้ยากนะ หมู่คณะให้ปฏิบัติมา ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” ผู้เฒ่าคือตัวท่านไง เพราะท่านผ่านประสบการณ์ ผ่านวิธีการ ท่านล้มลุกคลุกคลานมามาก แล้วท่านมีประสบการณ์ของท่านมามาก

“ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” แล้วจะแก้ก็แก้อย่างนี้ เวลาจะแก้นะ เวลาพูดนะ เวลาอยู่ที่หนองผือ เวลาจะแก้พระนะ จะไปบอกพระตรงๆ ก็ไม่ได้ ก็ไปบอกว่าหลวงตาผิดอย่างนู้น... “มหาไปไหนวะ มหาเป็นอย่างนู้น มหาเป็นอย่างนี้” คือตีวัวกระทบคราดไง ถ้าบอกว่ามันผิดนะ มันก็บอกอีกแล้วว่า โอ้โฮ.. รักหลวงตาองค์เดียวแหละ องค์อื่นผิดหมด มันก็ว่าไปนู้นเลย

กิเลสคนจะอื้อฮือ.. มันน่ากลัว ! น่ากลัว ! น่ากลัวจริงๆ แล้วอวดจะมาสอนเขา ทีนี้คำว่าจะสอนเขา มันก็ต้องมีวิธีการว่าจะทำอย่างไร พูดอย่างไรให้เขารู้ได้ พูดอย่างไรให้เขายอมรับได้ ก็ต้องค่อยๆ บอก... ค่อยๆ บอก แล้วถ้ามันบอกไม่ได้นะ พอบอกแล้วถ้ากิเลสมันหยาบเกินไป เวลามีคนมาคอยบอกอะไรนะ มันก็... โอ้โฮ.. อีโก้มันเกิดนะ อู้ฮู.. กูสำคัญเนาะ ใครๆ ก็มาเอาใจกูเนาะ

กิเลสมันก็อ้วนๆ ไง จะไปเลาะกิเลสมันออกนะ ยิ่งไปบอกไปกล่าวนะ กิเลสมันกลับใหญ่โตขึ้นมา มันกลับเหยียบเรานะ.. นี่การแก้กิเลส !

ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนท่านบอกนะ มันไปอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเวลาบอกนี่มันบอกเป็นวิธีการหลากหลายนะ นี่พูดถึงว่าความกตัญญูไง

แล้วนี่ที่ว่า “แล้วจะมีเคารพ.. ศรัทธา... นับถือครูบาอาจารย์อย่างไรครับถึงจะไม่มีการสร้างความเห็นความยึดมั่นผิดๆ ให้กับตนเอง”

ศึกษาขนาดไหน... ครูบาอาจารย์ขนาดไหนเราต้องเอามาเทียบไง.. เทียบ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ สมัยไปอยู่กับหลวงปู่มั่นใหม่ๆ หลวงตานี่ท่านเป็นมหา แล้วหลวงปู่มั่น ประสาเราว่าหลวงปู่มั่นท่านไม่ได้เป็นมหาไง แล้วหลวงปู่มั่นจะถูกหรือผิดล่ะ นี่หลวงตาท่านเล่าเองนะว่า “หลวงปู่มั่นทำอย่างใด.. หลวงปู่มั่นสอนอย่างใด.. ท่านก็รับฟังไว้ แล้วท่านก็ไปเทียบเคียงกับพระไตรปิฎก… ยิ่งเทียบเคียงยิ่งถูก ! ยิ่งเทียบเคียงยิ่งชัดเจน ! ยิ่งเทียบเคียงยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ ! ถึงได้เคารพมากๆ ไง”

เคารพเพราะอะไร... เคารพเพราะคุณธรรมของท่าน ท่านพูดอะไรนี่ไม่ผิดเลย แล้วพูดอะไรเหนือความคาดหมายเราหมดเลย เรายังไม่รู้สิ่งใด เรายังปฏิบัติไม่ถึงสิ่งนั้น ท่านบอกไว้ก่อนแล้ว แล้วพอเราปฏิบัติไปเจอนี่อื้อฮือ ! อื้อฮือ !

นี่พูดถึงความสัมผัสของใจนะ แล้วเวลาท่านประพฤติปฏิบัติอย่างไร เอามาเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกไง อู้ฮู.. มันถูกหมดเลย มันถูกหมดเลย.. เห็นไหม มันเลยเคารพด้วยหัวใจ เคารพเต็มที่ไง... เคารพคุณธรรมของท่าน ! แล้วท่านทำถูกต้องตามธรรมวินัยหมดเลย

คนเหมือนคนนะ คนจะให้คนอื่นมาเหมือนเราหมดเลยนี่ไม่มีหรอก

“ฉะนั้นเราจะเคารพครูบาอาจารย์ นี่เราก็พิสูจน์สิ !”

เราก็เหมือนกัน เรานี่นะเวลาศึกษาแล้วเราก็เอามาเทียบเคียง อะไรที่ครูบาอาจารย์ท่านทำ นี่มันอยู่ในวินัยข้อไหนวะ บางทีงงนะ เอ๊ะ.. อย่างนี้มันอยู่ในวินัยข้อไหน นี่เวลาเราดูนะ เราดูเสร็จแล้วเราทำอย่างนี้แล้วเราไปเปิดในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกมันจะมีแต่โจทย์ แล้วมันขยายอยู่ในอรรถกถา

ปาราชิก ๔ นะ ภิกษุลักของบนอากาศก็เป็นปาราชิก อ้าว... แล้วของในอากาศมันมีที่ไหนล่ะ มันมีแต่เป็นอากาศ ไปดูอยู่ในอรรถกถา ภิกษุลักของอยู่กับพื้นเป็นอาบัติปาราชิก ทีนี้เพราะว่าภิกษุเขาแขวนไว้บนอากาศไง ภิกษุลักของบนอากาศก็เป็นปาราชิก

โอ้โฮ.. เล่ห์ของคนนี่นะมันร้อยแปด ไปดูในอรรถกถานี่เยอะมาก เรื่องปาราชิก ๔ เรื่องสังฆาทิเสส ๑๓ แล้วมันแตกแขนงไปเรื่องนิยามเรื่องที่มาเยอะมากนะ คือมันจะเลี่ยงว่าอย่างนั้นเถอะ จะเลี่ยงบาลีให้ได้ จะหลบวินัยให้ได้ จะเอา.. แล้วให้ถูกกฎหมายด้วย พระพุทธเจ้าก็ต้องบัญญัติกฎหมาย พั่บ ! พั่บ ! พั่บ ! กันไว้หมดเลย

นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ นี่พูดถึงว่าการเคารพศรัทธาครูบาอาจารย์ไง !

การเคารพศรัทธาครูบาอาจารย์ เราก็เคารพอยู่แล้ว เราพูดตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าท่านเชื่อ ท่านพูดด้วยความบริสุทธิ์ใจของท่าน คือท่านมีวุฒิภาวะแค่นั้น เราก็กตัญญู คือว่าท่านสอนเราด้วยน้ำใสใจจริง แต่ถ้าท่านไม่รู้ ท่านทุจริตแล้วท่านสอนเรา เราว่าอย่างนั้นไม่ต้องกตัญญูหรอก คือต่างคนต่างไปดีกว่า แต่ถ้าท่านเป็นคนดี คนจริง อย่างนั้นเราควรจะกตัญญู

“ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายคนดี !” เอวัง