ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ควรทำอย่างไร

๑๖ ม.ค. ๒๕๕๓


ควรทำอย่างไร
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม : เสร็จแล้วนะครับ แล้วจิตมันสงบตั้งมั่นแล้วนะครับ แล้วก็ผมไม่แน่ใจว่าที่เป็นสงบของผมนี่เป็นสัมมาสมาธิหรือว่ามิจฉาสมาธิ คือว่าตอนที่นั่งพุทโธไปเรื่อยๆ ครับ แล้วลมหายใจก็ค่อยๆ หายไป ร่างกายหายไป มันเหลือแต่ความรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ แล้วก็เกิดเป็นแสงสว่างขึ้นมาครับ แต่ไม่แน่ใจว่าผมต้องทำอย่างไรต่อไปครับ หลังจากนั้น

หลวงพ่อ : ไอ้เวลาพูดมันพูดได้ทั้งนั้นนะ ถ้าพูดถึงโดยค่า ถ้าโดยค่าทางพวกสสารมันจะมีค่าของมันตามธรรมชาติของมัน อันนี้เราว่าพุทโธ พุทโธหายนี่ แล้วอาการเริ่มต้นก่อนที่กำหนดพุทโธอย่างไร แล้วมันหายอย่างไร

โยม : ครับ คือตอนที่ทำก็คือว่า ลมหายใจเข้าก็บริกรรม พุท นะครับ ลมหายใจออกก็บริกรรม โธ ก็บริกรรมไปเรื่อยๆ สักพักหนึ่งเดี๋ยวเขาก็เริ่ม จิตมันเริ่มแบบมีความชัดเจนขึ้นมา แล้วลมหายใจเริ่มหยาบขึ้นเรื่อยๆ ครับ แล้วก็มีช่วงหนึ่งที่ว่าเขาหายไปแล้วมันเหลือแต่ความรู้สึกคือจิตเหมือนกับว่ามันดิ่งลงไปใน ตกไปในความมืดนะครับ คือมันหมุนติ้วๆลงไปเลย พอสักพักหนึ่งก็เกิดเป็นแสงสว่างขึ้นมา แล้วก็เกิดมีปิติมีความสุขมากแล้วน้ำตาก็ไหล แล้วก็ตอนนั้นผมมีความรู้สึกว่าสงสารตัวเอง แล้วก็สงสาร มันมีความรู้สึกสงสารขึ้นมาโดยไม่รู้ว่ามาจากไหนครับ มันก็ไหลออกมา น้ำตาก็ไหลไม่หยุดเลย แล้วก็รู้สึกมีความสุขมาก เออ แล้วก็เป็นความสว่างไสวอยู่อย่างนั้นครับ แต่ว่าตอนนั้นคือว่าความรู้สึกตัวไม่มี เวทนาไม่มีแล้ว แล้วก็เหลือแต่จิตที่สว่างอยู่เฉยๆ ครับ

หลวงพ่อ : นั่น ที่เป็นนี่กับปัจจุบันห่างกันนานแค่ไหนแล้ว

โยม : ห่างกันนานแล้วครับ คือตอนที่ผมเป็นนี่ ผมบวชอยู่ ๑๕ วันนะครับ

หลวงพ่อ : พ.ศ. ?

โยม : พ.ศ. เออ...ประมาณ ๑๙ ปีได้แล้วครับที่ผ่านมา แล้วก็ไม่กล้าทำต่อเพราะว่าไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เห็นสิ่งที่ทำนี่มันถูกต้องหรือเปล่า แล้วตอนหลังก็มีครูบาอาจารย์บอกว่าไม่ให้บริกรรมพุทโธมั่ง หรือว่าไม่ให้ไปติดสมถะมั่ง ผมก็เลยทิ้งหมดเลย แล้วก็มานั่งแบบว่าไม่บริกรรมไม่อะไร มานั่งอยู่เฉยๆ ซึ่งปรากฏว่ามันไม่เคยเกิดผลอย่างนั้นอีกเลย คือจิตไม่เคยมีความสุข หรือสงบอย่างนั้นอีกเลย ครับ

หลวงพ่อ : ถามดูไง ถามว่าเวลาว่าพุทโธแล้วมันเป็นสมาธิ เพราะโดยปัจจุบันที่ทำๆ กันนี่ หลอก หลอกตัวเองหมดเลย สังคมที่ปฏิบัติกันอยู่ตอนนี้ หลอกตัวเองหมดเลย แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ย้อนกลับมาที่นี่ ข้อเท็จจริงพระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ พระพุทธเจ้าสอนปัจจัตตัง ความรู้เฉพาะตนเลย ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกคือการเผชิญหน้ากับความจริง ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่คือการเผชิญกับความจริง เราไปเจอกับความจริง เช่นความทุกข์ที่เราเจอกันนี่ ทุกคนเผชิญมันมาทั้งนั้นนะ เสียใจ ปวดเจ็บ ปวดร้อนในหัวใจนี่ เราเผชิญความจริงมาทั้งนั้น แต่จะพูดออกมาหรือไม่พูดออกมาก็เท่านั้นเอง

ฉะนั้นเวลาเราเข้าไปปฏิบัติ มันก็ต้องเข้าไปเผชิญกับความจริงอย่างนั้น มันถึงจะเป็นข้อเท็จจริง พระพุทธเจ้าถึงสอนสันทิฏฐิโก ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน แล้วรู้จริงๆ ฉะนั้นเวลาโยมถามว่า ถ้าบอกขณะจิตมันสงบมันสว่างไสวนี่ โดยเท่าที่เราฟัง โดยทั่วไปนะเมื่อก่อนเราก็คิดว่าชาวพุทธนี่มันต้องพูดความจริงกันหมดเลย แต่โดยประสบการณ์ของเรานี่ โทษนะ ชาวพุทธโกหกหมดเลย แต่นี่พอชาวพุทธโกหกหมดเลย แล้วโยมถามว่าจิตมันสงบหรือมันสว่างนี่ เราไม่เชื่อ เราต้องถามก่อนโดยข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงนี่ คนถ้าเป็นจริงมันจะพูดออกมาได้ คนถ้าประสบเองนี่ เช่นเราทุกข์มาเองนี่ ทำไมจะพูดไม่ได้ ทุกข์เกือบตาย นี่พูดไม่ได้ ความทุกข์นี่บ่นได้ทั้งวันเลยเพราะอะไร เพราะกูทุกข์จริงๆ แต่ถ้ามันไม่ประสบจริง มันพูดไม่ได้หรอก

นี่พูดถึงเวลาโดยทั่วๆ ไปนะ สว่างๆ สงบๆ นี่ โกหกตัวเองทั้งนั้นเลย เพราะมันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงคือว่าเราจำทฤษฎีมาเป็นตรรกะมา พูดมาโดยความคาดหมาย ไม่เป็นความจริง ทีนี้ความจริงนี่ ความจริงมันยืนยันตรงนี้ ยืนยันตรงที่ว่าถ้าจิตมันลงจริง แล้วลงจริงอย่างนี้ เพราะเราถามว่าจริงเพราะเหตุใด คนที่ปฏิบัติมาอย่างเช่นพวกโยมทำมาหากินนี่ เราหาเงินมายากไหม กว่าเราจะหาเงินหาทองมา มันเป็นเรื่องแสนยากทั้งนั้นน่ะ

คนปฏิบัติมานี่กว่าจะได้ความจริงขึ้นมา มันลงทุนลงแรงมากน้อยขนาดไหน แต่นี่พอบอก เราถามว่าบวชเราทำอย่างไร บวชกี่วัน ปฏิบัติกี่วัน ถ้า ๑๕ วันอย่างนี้ คำว่า ๑๕ วัน คือว่ามาบวชเวลาปฏิบัติมันแบบว่าช่วงมันสั้น ถ้าช่วงมันสั้นอย่างนี้แสดงว่ามันเป็นบุญญาธิการ มันเป็นบุญไง การปฏิบัตินี่มันเป็น.. อย่างเช่นเราทำ เราทำธุรกิจนี่เห็นไหม บางคนหาเงินโดยข้อเท็จจริงเห็นไหมโดยตลาด โอ้โฮ ลำบากมากเลย แต่บางคนนี่ โอ้โฮ วาสนามันดีนี่ ทำอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมดเลย นั่นวาสนาของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติโดยข้อเท็จจริงนี่ต้องล้มลุกกคลุกคลานมามหาศาลเลย แต่ถ้าคนมันมีวาสนาทำอะไรก็ประสบความสำเร็จไง อย่างนี้เราเรียกว่าส้มหล่น ถ้าส้มหล่นนี่ ถ้าเป็นส้มมันหล่นเข้าไปแล้วนี่ หล่นแล้วมันไปรู้เข้าเห็นไหม พอรู้เข้ามันก็ฝังหัว มันก็เป็นนี่เรียกว่าปัจจัตตัง มันรู้เฉพาะจิต รู้เฉพาะจิตนี่มันไม่มีครูบาอาจารย์ไหนที่จะรู้จริง เราบอกเออนี่มันเป็นความจริง เหมือนกับโลกนี้เขาใช้เงินกัน นี่เงินปลอมทั้งนั้นเลย เงินจริงไม่มีอยู่ในท้องตลาดเลย มันใช้เงินปลอมจนมันเข้าใจว่าเงินปลอมเป็นเงินจริงนะ ไอ้เรามีเงินจริงขึ้นมานะ มันก็บอกว่านี่ปลอม แต่มันใช้กันนี่ มันก็หลอกลวงกันเอง สังคมมันหลอกลวงหมด

ยิ่งพูดว่าเขาให้ทิ้งพุทโธๆ นี่ แล้วเขาบอกว่าพุทโธเป็นสมถะ มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่น่าละอาย ทุกคนไม่กล้าทำนะอายเขาไปหมดเลย แต่เพราะมันเป็นความไม่รู้จริง ถ้าเป็นความรู้จริง อย่างเช่นเรานั่งอยู่นี่นะ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราเป็นเด็กมาก่อน ใครจะปฏิเสธไม่ได้เลย เราเป็นทารกกันมาก่อนทั้งนั้นเลยนั่งอยู่นี่ เราจะโตเป็นผู้ใหญ่เลยนี่ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราเป็นทารกมาก่อน ย้อนกลับมาในการปฏิบัติ ถ้าไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา อย่ามาพูดกัน มันบอกว่าพวกเรามานั่งกันอยู่นี่โดยที่ไม่ผ่านเป็นเด็กมาเลยนี่ ไอ้เขาก็เชื่อนะ สังคมไทยมันเชื่อหมดเลย เอ๊อ กูก็งง เอ๊ มันเชื่อกันได้อย่างไร

ถ้าปฏิเสธสมาธิ ปฏิเสธสติ คือการปฏิเสธพื้นฐานของจิตที่การกระทำที่ปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้เลย แล้วพอเราจะกลับไปตรงที่ทำความสงบของใจนี่ เขาบอกว่าสิ่งนี้เป็นสมถะ มันไม่เป็นวิปัสสนา ไม่เกิดปัญญา อ้าว เด็กมันจะไปหากินได้อย่างไรวะ เด็กก็ต้องพ่อแม่เลี้ยงมันมา เออ ไม่มีเด็กก็ไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีสมาธิไม่มีตัวจริงขึ้นมา ไม่มีหลักเกณฑ์ขึ้นมานี่ มันจะมีปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร ปัญญาจะเกิด เกิดต่อเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เรามีการศึกษา เรามีประสบการณ์ในชีวิตแล้ว เราจะเอาปัญญานี่ไปประกอบธุรกิจ นี่ไง จิตถ้ามันมีสมาธิของมัน มันมีพื้นฐานของมันแล้วมันจะออกไปใช้โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่ฆ่ากิเลส ไม่ใช่ปัญญาที่เขาใช้กันอยู่นี่หรอก ปัญญาที่โลกใช้กันอยู่นี่นะเขาเรียกโลกียปัญญา

พวกศาสตราจารย์ดอกเตอร์ต่างๆ นี่ โทษนะ ลูกศิษย์ดอกเตอร์เยอะ ดอกเตอร์ทั้งนั้นเลย โทษนะ ดอกเตอร์ โทษนะนี่โง่ฉิบหายเลย เพราะดอกเตอร์นี่มึงรู้ไปหมดทุกๆ อย่างเลยนะ แต่มึงไม่รู้จักตัวมึงเอง ความสุขความทุกข์นี่ ดอกเตอร์ทั้งนั้นน่ะร้องไห้ทั้งนั้นนะ ดอกเตอร์แม่งร้องไห้ทุกข์กันทั้งนั้น ดอกเตอร์ทั้งนั้นน่ะ ดอกเตอร์โง่ฉิบหาย พระพุทธเจ้าไม่ต้องการตรงนี้ๆ วิชาชีพนะเราเรียนทันกันได้ แต่ความรู้ทันตัวเองเพื่อจะปลดเปลื้องจิตเรานี่ ไอ้ความทุกข์อันนี้ อันนี้มันวัดค่าเป็นเงินไม่ได้ แต่มันจะให้สุขให้ชีวิตมีคุณค่าขึ้นมาจากตรงนี้

ทีนี้ย้อนกลับมาเพราะอะไร เพราะเราจะฟังไง คนมาหาเยอะแล้วพูดมาเรื่องการภาวนา ส่วนใหญ่แล้วมันทิ้งพระพุทธเจ้า ทิ้งข้อเท็จจริงของพระพุทธเจ้า ไปเอาวิทยาศาสตร์ เอาตรรกะ เอาปรัชญา ตรรกะปรัชญานี่เอาไว้ซู้ดกันนี่ ซู้ด ซู้ด เวลาพูดนี่มันมันส์ไง พูดปรัชญานี่มันซึ้งใจ โอ้โฮ มันแทงหัวใจเลยนะพูดปรัชญานี่ แหมซึ้งใจเลย เอาไว้ซี๊ดซาดปรัชญานี่แก้กิเลสไม่ได้หรอก นี่ถ้าเราทิ้งตรงนั้น ทิ้งพระพุทธเจ้าหมดนะ ไปเอาตรรกะกัน ไปเอาปรัชญา เอาความคิด เอาความซาบซึ้งกัน แล้วซาบซึ้งแล้วพูดกันเข้าใจนะ

แต่ถ้าจะกลับมาหาพระพุทธเจ้า กลับมาพุทโธนี่ กลับมาความสุขของใจนี่ ถ้าความสุขของใจอย่างนี้นะ ความซาบซึ้งมันลึกซึ้งกว่าอีกถ้าคนเป็นจริง แต่มันทำได้ยาก นี้พอเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป ต้องกลับไปตรงนั้น ตรงนั้นคือจุดสตาร์ท คนจะทำธุรกิจนี่ เราตั้งบริษัทจดทะเบียนบริษัทกันแล้ว เราจะทำธุรกิจเราต้องเปิดบัญชีไหม ถ้าเราไม่มีบัญชีนี่รายรับรายจ่ายมันจะเข้าออกได้อย่างไร ถ้าในการประพฤติปฏิบัตินี่ ถ้าเราไม่เปิดจิตของเรา ฐีติจิตขึ้นมานี่เพื่อความรับรู้เพื่อการปลดเปลื้องทุกข์สุขในหัวใจนี่ เอ็งจะเริ่มต้นกันที่ไหน แล้วเอ็งปฏิเสธสมาธิได้ไง สมาธิคือขั้วไง ขั้วคืออะไร คือฐานเดิมของจิตไง

เรานั่งกันอยู่นี่ เราท้าประจำนะ นี่นั่งนี่เกิดมาจากไหน เราเกิดมาจากท้องแม่ แล้วจริงหรือเปล่าวะ เพราะอะไร เพราะท้องแม่บางครอบครัวนะเขาเป็นหมัน เขาก็มีเพศสัมพันธ์เหมือนกัน เขามีไข่เหมือนกัน มีสเปิร์มเหมือนกัน ทำไมมันไม่เกิดเด็กนะ แล้วมึงเกิดจากท้องแม่ มึงเกิดจากกรรมนะมึง เกิดมาจากกรรม เกิดในจิตของเราเอง จิตของเราเองนี่ปฏิสนธิจิตที่เป็นนามธรรมความรู้สึกนี่ มันไปเกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำคร่ำ เกิดในโอปปาติกะ กำเนิด ๔ ของวัฏฏะ จิตดวงนี้จะไปเกิดตลอด แล้วพอจิตดวงนี้มาเกิดเป็นมนุษย์นี่ เพราะมนุษย์สมบัติเรามีสร้างมามนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัติขึ้นมาเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์มีอะไร มนุษย์มีกายกับใจ แล้วความสุขความทุกข์มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจ แล้วถ้าเราไม่กลับไปสู่ที่ใจ เราจะแก้ แก้ที่ไหน

ไฟไหม้บ้าน มึงไปดับนู่น อเมริกานู่นนะ แล้วก็ปล่อยให้แม่งไฟไหม้บ้านมึงนั่นนะ แต่ไปดับไฟที่อเมริกานะ ทุกข์มันเผาบนหัวใจนี่ แต่ไปดูกันที่ความคิดนะ เออความคิดนะ มันเกิดดับนะ ความคิดนะ แสงสว่างมันเกิดดับ พลังงานอยู่ไหน ความคิดมันเกิดจากพลังงาน ความคิดมันเกิดมาจากไหน ความรู้สึกมันเกิดมาจากไหน ไม่มีตัวฐานความคิดเกิดได้ไง ถ้าความคิดมันเป็นทุกข์นะ คอมพิวเตอร์นะ โอ้โฮ ดูสิกูเกิ้ลมันเดือดร้อนไปหมดเลย เพราะกูเกิ้ลก็มี แล้วมันก็เป็นเทคโนโลยี มันเกี่ยวอะไรกับมึง เราจะรับรู้มากหรือน้อย มันทุกข์ที่นี่ไง

นี่ถึงย้อนกลับมาที่นี่ แล้วถ้าทำอย่างนั้นก็กลับไปที่พุทโธนี่แหละ กลับมาพุทโธ กลับมาปัญญาอบรมสมาธิ ต้องกลับมาที่ฐานที่จิต พอฐานที่จิต นี่เริ่มต้นจิตสงบมันก็มีความสุขแล้ว พอมีความสุขเสร็จแล้วเอาความสุขอันนี้ เราจะทำหน้าที่การงานกัน เราต้องมีความแช่มชื่น เราต้องมีโอกาส ฮูย เรานะเป็นโรคเป็นภัยนะ คนบางทีไม่มีกำลังเลยนะบอกให้ไปไถนา ไถนาไม่ไหวหรอก แต่ถ้าเรามีกำลังของเรา เราเข้มแข็งของเรา เราออกได้

จิตตอนนี้มันอ่อนแอ แล้วอาศัยความคิดที่ว่าเป็นปรัชญา ที่ว่าเป็นดอกเตอร์ วิชาชีพนี่มันอาศัยนี่มาอัพมันว่ามันแน่ มันเก่ง แล้วตัวมันเองนะไม่มีกำลังเลย แต่ถ้าเรากลับมาที่ตัวเขานะ พุทโธๆ นี่ ไอ้ความรู้วิชาชีพนี่ วิชาชีพนี่มันหลอกเอ็งมาตั้งกี่ภพกี่ชาติแล้วล่ะ เอ็งไปศึกษาวิชาชีพมาเพื่อหาอยู่หากินนี่ แล้วตัวมึงเองน่ะ มึงสงสารตัวมึงเองไหม ถ้าสงสารตัวเองจะกลับมาที่ตัวมันเห็นไหม วิชาชีพเราก็รับรู้ไว้ มันไม่เสียหายนะ ปัญญานี้เขาไม่ใช่แบกหามนี่ มันเป็นนามธรรม แล้วเรากลับมาที่นี่ พอกลับมาที่นี่แล้ว ให้ที่นี่ ให้มันออกทำงานของมัน คือหาความเป็นอิสรภาพของมันใช่ไหม เพราะเขาเรียกว่าสังโยชน์ความร้อยรัดของจิต เรารักตัวเองไหม ไม่มีใครไม่รักตัวเองเลย

รักตัวเองมันคืออะไรล่ะ รักตัวเราคือสักกายทิฏฐิไง กายกับใจไง เริ่มต้นน่ะทุกคนนะรักตัวเองก่อนนะ เพราะรักตัวเอง เพราะมีเราถึงมีเขานะ ไม่มีเราจะมีเขาไหม พระพุทธเจ้าสอนไว้ถูกต้องนะ ที่ไหนมีความรักที่นั่นมีความทุกข์ ทุกข์ไหม ที่ไหนมีความรักที่นั่นมีความทุกข์ เรามีความรักนะ ขนาดพระพุทธเจ้าพูดขนาดนี้นะ สมัยโบราณเขาไม่เชื่อไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจริงเหรอ ว่าพระพุทธเจ้าเทศน์มีความรักแล้วมีความทุกข์ มีแต่ความสุข โอ้โฮ สุขมากเลยนี่รักเขานี่ มันสุขสิมันยังรักเขาอยู่ มันยังสุขอยู่ประเดี๋ยวเถอะมึงจะทุกข์ ที่ไหนมีความรักที่นั่นมีความทุกข์

นี่ก็เหมือนกันเรารักร่างกายเรา เรารักของเราเพราะเป็นสมบัติของเรา แล้วพอกลับมาที่นี่ ที่ว่าออกใช้ปัญญาๆ นี่ ปัญญามันออกที่นี่ มันเป็นเราจริงหรือ นี่ร่างกายเป็นเราจริงหรือ ทุกอย่างเป็นเราจริงหรือ ถ้าเป็นเราจริงนี่ต้องควบคุมมันได้ เราต้องสั่งมันได้สิ ห้ามเจ็บไข้ได้ป่วย ห้ามทุกข์เลยต้องสบายตลอดเลย เราก็สั่งเขาไม่ได้สักอย่างนะ อันนี้มันเป็นปรัชญาไม่เป็นความจริงหรอก ถ้าเป็นความจริงจิตมันเห็นนะ โธ่ เราพูดบ่อยนะพวกหมอเขาผ่าตัดทุกวันเลย วิชาชีพของเขาน่ะ เอ็งผ่าตัดทุกวันเลยนะ ผ่าตัดทุกวันเลยแต่ไม่เคยเห็นกายเลย ทั้งๆ ที่มันจับเขาอยู่ มันเปลี่ยนอวัยวะเขาอยู่ แต่มันไม่เคยเห็นกายเลย เพราะมันเห็นด้วยตาเนื้อของมัน มันเป็นวิชาชีพของมัน

แต่เวลาจิตนะมันสงบนะ แล้วมันเห็นกายนะ ไม่เห็นอย่างนั้น ที่ว่าเห็นกายๆ ให้ปล่อยวางๆ โทษนะอยากจะบอกว่าตอแหล ไม่จริง ถ้าจริงนี่จิตมันเห็น ถ้าจิตมันเห็นที่พระพุทธเจ้าบอกคำว่าปรัชญาเห็นไหม นี่ก็ไม่ใช่เรา นี่ก็ควบคุมไม่ได้ อันนี้มันเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นสิ่งที่อาจารย์เขาจะเอาหลักข้อเท็จจริงมาพูดให้เราฟัง แต่ที่เราฟังมานี่ มันเป็นความจริงของเราหรือเปล่า มันถึงมีปริยัติปฏิบัติไง

ถ้าเป็นปฏิบัติขึ้นมา การปฏิบัติขึ้นมามันถึงได้แยกแยะขึ้นมา พอแยกแยะขึ้นมามันเห็นความเป็นจริงขึ้นมานะ มันเป็นปัจจุบันธรรม จิตใต้สำนึกมันยึด มันจะยึดกับสามัญสำนึกเรา สามัญสำนึกนี่มันยึดอยู่แล้ว แล้วจิตใต้สำนึก มันมีพลังงานอันนั้นมันยึดมากกว่า เพราะพลังงานจิตใต้สำนึกอันนั้นนะที่ว่าอะไรมาเกิดๆ ชีวิตเกิดมาจากไหนๆ มาจากท้องแม่ๆ มันมาจากกรรม มาจากจิตที่มีกรรม จิตที่มีกรรมมีแรงขับของมัน แล้วจิตที่สะอาด จิตที่สะอาดใช่ไหม เราบอกพระอรหันต์ไม่มีจิตนี่ จิตที่สะอาดไม่มีแรงขับน่ะมันเป็นอย่างไร

จิตที่มันมีแรงขับมันถึงที่สุด มันทำให้พ้นจากแรงขับได้ เพราฉะนั้นพระพุทธเจ้าสอนนี่สุดยอด ธรรมะพระพุทธเจ้านี่สุดยอดอย่างนี้ ทีนี้สุดยอดอย่างนี้มันก็มาจากตรงนี้ไง เพราะเวลาพอโยมเราฟังว่าของโยมนี่เป็นสมาธิจริง มันถึงได้พูดออกมาอย่างนี้นะ ถ้าไม่มีสมาธิจริง มันก็เหมือนกับเวลาฟังเด็กมันเล่นขายของ มันไม่อยากพูดอะไรหรอก แต่ถ้ามันไปเห็นของจริงๆ นี่ มันก็อยากจะพูดนี่ไง

คำพูดนี่เวลาถ้ามันจะออกนี่ หลวงตาบอกถ้ามันจะออกนี่มันต้องมีเหตุ ที่นี้ถ้ามันมีเหตุเป็นอย่างนี้มาก่อนแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ถ้างั้นก็กลับมาพุทโธนี่แหละเห็นไหม เพราะไม่มีครูบาอาจารย์ชี้ไง อย่างเช่นเรานะ เราไปทำเหมืองแร่กัน แล้วมีคนหนึ่งเขาได้เพชรนิลจินดามา ไอ้พวกเราได้แต่กรวดมา เฮ้ย กรวดกูดีโว้ยๆ บอกให้เพชรนี่มึงโยนทิ้งเลยนะ ไอ้คนได้เพชรมาไม่รู้ว่า เออ กรวดดีกว่า กูโยนเพชรทิ้งเลยเอากรวดกันดีกว่า ก็นี่ไงได้สมาธิมาก็ไม่มีใครบอกไง ไม่มีใครบอกว่าอันนี้มันเป็นความจริง อันนี้เป็นของดีนะ แต่ในสังคมมันไม่มี เพราะคนทำจริงๆ มันทำได้ยาก แล้วพอทำได้ยากแล้วความจริงมันไม่มี แล้วทำจริงทำได้แล้ว ที่นี้พอทำได้แล้วนะ มันก็เป็นอดีตไปล่ะ ก็ตั้งสตินี่ กลับมาทำของเรานี่แหละ

แล้วถ้าจิตมันสงบเข้ามา ต้องจิตสงบก่อน ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นมันเป็นโลกียปัญญา กิเลสนะมันมีสาม กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ ภวาสวะคือภพ สถานที่ๆ ความคิดความรู้สึกเราทั้งหมดเกิดบนภพนี่ ความคิดทุกอย่างของเรานี่ความสุขความทุกข์เกิดบนจิตนี่ ภวาสวะ ภพนี่ ภพนี่นะฐานที่ตั้งของความคิดนี่ ฐานที่ตั้งของความรู้สึกนี่ไม่มีใครรู้จักมันนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสๆ นี่ ผ่องใสมันอยู่ที่ไหน นามธรรมอันนี้ที่มันพาเกิด พาตายนี่ จิตวิญญาณที่พาเกิดพาตายนี่หาให้เจอ ถ้าใครหาเจอนี่ สมาธิคือฐานของมัน ฐีติจิต ถ้าพูดถึงสมาธินี่รับรู้ได้ นั่นคือที่ของมัน

แต่ ที่ของมันเป็นเหมือนกับนี่ มือนี่ไปจับของทุกอย่างเลย พอมือมันปล่อยวาง เฮ้ยมือกูคืออะไรวะ มันดันไม่รู้จักตัวมันเองนะ เวลาเป็นสมาธินี่ สุขไหม สุขมากเลย แล้วทำไงต่อวะ เออกูก็ไม่รู้ กูก็งง กูก็งงนะ นี่แหละมีครูบาอาจารย์ถึงได้.. เพราะถ้ามีอย่างนี้ปั๊บเอาตัวนี้แหละ ฝึกมันออกทำงานเห็นไหม ออกทำงานเพราะมันพอเข้าถึงตรงนี้ปั๊บ มันจะสุขมาก สุขมากเพราะอะไร เพราะคนนี่มีภาระทั้งนั้นเลย แล้วมันทิ้งได้หมดเลย สุขมาก สุขอย่างนั้นแล้ว แต่ทำอย่างไรต่อไป ทำไม่ถูก มันถึงว่ามีสมถะ วิปัสสนา ถ้าสมถะอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้แล้วเขาเรียกว่าสมาธิอบรมปัญญา มันเกิดสมาธิก่อนแล้วอบรมปัญญา สมาธิอย่างนี้แล้วเราฝึกมันใช้งาน

แต่ถ้าคนมีบุญวาสนานะ พอสมาธิเกิดขึ้นมาอย่างนี้ปั๊บ มีวาสนานี่ มันจะเห็นกายโดยสัจธรรมเลย แต่ถ้าไม่เห็นกายนี่เราต้องรำพึงขึ้นมา คำว่ารำพึงนี่เป็นศัพท์ธรรมะ รำพึงคือคิดในสมาธิ เพราะในสมาธินี่ ถ้ามันคิดแบบเรานี่ มันคิดออกมาเป็นโลก คิดออกมาแบบหยาบ คิดออกมาเป็นสามัญสำนึก แต่ถ้าเป็นสมาธินี่คิดอย่างไร ถ้าสมาธิคิดไม่ได้ปัญญาเกิดอย่างไร ดังนั้นถึงว่ารำพึงไง ถ้าพูดภาษาระดับของมันก็ กึ่ง กับความคิดเรานี่ ความคิดเรานี่เราคิดออกมาร้อยเปอร์เซ็นต์เลย มันถึงเป็นความคิดจริงไหม

เราคิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ความคิดนี่ออกหมดเลย ถ้าเข้าไปถึงตรงนั้นปั๊บนี่มันเป็นสมาธิแล้ว ถ้ารำพึงนี่มันละเอียดกว่า ละเอียดกว่า คือมันระดับคือว่ามันรำพึง รำพึงคือความคิดนั่นแหละ แต่มันความคิดระดับนั้น ถ้าบอกเป็นความคิดนี่ หลวงพ่อนี่แหมกะล่อนน่าดูเลย เดี๋ยวก็ให้คิด เดี๋ยวก็ไม่ให้คิด แล้วมันจะคิดทำไมวะ มันมีระดับของมัน คนเป็นมันถึงจะรู้ล่ะ คนไม่เป็นก็งงตายห่า

โยม : หลวงพ่อครับคือตอนที่มันเป็น อย่างความเมตตาพวกอะไรต่างๆ นี่ มันมาจากไหน ความเมตตามันเยอะมาก แล้วอีกอย่างหนึ่ง คือว่ารู้สึกสงสารตัวเองที่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

หลวงพ่อ : น้ำตาไหลเลย ใช่ โดยฐานของมันนี่ ธรรมะเห็นไหม นี่ธรรมที่มันเป็นสัจธรรม มันเป็นอย่างนั้นนะ เวลาเราเข้าไปถึงฐานของมัน อย่างเช่นนี่ เราเอาน้ำแข็งมาวางไว้ ใครเอามือไปวางบนน้ำแข็งต้องเย็นใช่ไหม นี่เหมือนกันสัจธรรมนี่ ถ้าจิตเข้าไปถึงน่ะเป็นอย่างนั้นนะ นี่ธรรมะ ถ้าใจเข้าไปแล้วมันจะร่มเย็นอย่างนั้นแหละ เอาน้ำแข็งมาตั้งไว้นี่เลย แล้วใครทุกคนเอามือมาจับน้ำแข็ง เย็นไหม เย็นเหมือนกันหมดแหละ แต่ถ้าใครเข้าถึงสมาธิ ใครเข้าถึงหลักธรรมก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด

แต่คนมันเข้าไปไม่ถึงกันเองไง นี่น้ำแข็งเย็น เออ เย็นหรือวะ เย็น น้ำแข็งมันจะเย็นแต่มันไม่เคยแตะ แต่ถ้ามันไปแตะปั๊บ เออว่ะ มันเย็นอย่างนี้เอง นี่สัจธรรมคือสัจธรรม ถ้ามันจริงด้วยกันนะ พูดนะเหมือนกันหมด มันเป็นแต่ว่าผิดคนหนึ่งถูกคนหนึ่ง ถ้าได้คุยกันนะ ไม่มึงผิดก็กูผิดต้องคนหนึ่ง ถ้าได้ขัดแย้งกันนะ ไม่เอ็งก็ข้า เอ็งไม่เอ็งก็ข้าทันที ไม่มีถูก ๒ คนหรอก

โยม : แต่สมาธิอย่างนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยครับหลวงพ่อ จนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อ : เราถึงบอกโยมว่าส้มหล่นไง ถ้ามันเป็นอย่างนั้นปั๊บนะ ถ้าเป็นเรานะ เราจะไม่ทิ้งเลย ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สมาธินะ สมาธิจะมาได้เพราะกำหนดพุทโธ กำหนดลมหายใจ ทำไมพระพุทธเจ้าเวลาไปทรมานตนมา ๖ ปีแล้วไปไม่รอด ทำไมกลับไปนึกถึงโคนต้นหว้าตอนเป็นเด็กนั่งอยู่โคนต้นหว้าล่ะ ก็เหมือนสมาธิอันนี้แหละ สมาธิเวลาเราสัมผัสมามันก็ฝังใจ

พระพุทธเจ้าก็เคยเป็นอย่างนี้มาหนหนึ่งตอนที่เป็นเด็ก ตอนที่พระเจ้าสุทโธทนะไปแรกนาขวัญ เขาก็ทิ้งให้เด็กนี่นั่งอยู่โคนต้นไม้ เขาก็ไปทำกิจกรรมกัน อันนี้ก็นั่งพุทโธ ด้วยวาสนาของตัวจิตมันลงเห็นไหม จิตมันลงจนเกิดปาฎิหาริย์ เพราะว่าเวลาตะวันมันบ่ายคล้อยไปไง ร่มเงานี่มันไม่คล้อยตาม ไม่คล้อยตามเลย ด้วยบุญของพระพุทธเจ้า แล้วความสุขอันนั้นมันฝังใจไง ไปทรมานกับเขามา ๖ ปีนะ ใครว่าเก่งไปลองกับเขามาหมดเลย แล้วมันไม่มีความจริงไง พอมันจนตรอก คิดถึงโคนต้นหว้านู้นนะ อันนี้ก็เหมือนกัน เราคิดอย่างนี้ปั๊บ เราทำของเราให้ได้

โยม : เพราะผมลองมาหลายวิธีแล้วคือ มันไม่ใช่สงบจริงครับ คือมันแค่สงบแบบว่ามันหยุดคิดไปชั่วครั้งชั่วคราว แต่มันไม่ใช่ความสงบจริงๆ

หลวงพ่อ : ตรงนี้เราจะพูดให้ฟังได้เลย เวลาใครเข้ามานะ เขาบอกว่าไม่ต้องทำพุทโธแล้วมันสบาย มันหยุดคิดได้อะไรได้นี่ มันเป็นเรื่องธรรมดา พระอาทิตย์ขึ้นก็พระอาทิตย์ตก พระอาทิตย์ขึ้นแล้วตกไหม พระอาทิตย์ขึ้นแล้วค้างไปกลางฟ้าเลย ความคิดคนคิดแล้วดับไหม เวลาเอ็งทุกข์เกือบตายเลยนะ เอ็งอยู่เฉยๆเลยเดี๋ยวทุกข์ก็หาย นี่เวลานั้นเรามีทุกข์เกือบตายเลยนะ แล้วคิดกูจะฆ่าตัวตายเลย เพราะกูทุกข์มากเลย จับมันมัดไว้นะ พอเวลาผ่านไปนะ เออ กูไม่ฆ่าแล้ว แล้วมันหายไปไหนละ นี่คือธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น แต่นี่พอเขามาคิดนี่ ความคิดเกิดขึ้นมานะ ดูไปนะเดี๋ยวก็ดับนะ มันก็ดับ มึงไม่ต้องดูมันก็ดับ โธ่ แม่งเชื่อกันได้ว่ะ โง่ฉิบหาย

โยม : แล้วเขาก็มีความคิดว่า ถ้าเกิดอย่างนั้นก็คือ เป็นการปฏิบัติ

หลวงพ่อ : นั่นน่ะสิ แล้วมันได้อะไรขึ้นมาล่ะ

โยม : แต่ผมไม่เห็นว่ามัน.. คือมันไม่ได้เหมือนความสุขจากสมาธิที่ผมเคยเป็นยังนี้ ผมก็เลยเกิดความสงสัยมาโดยตลอดว่า เอ๊ มันทำไมเป็นอย่างนี้

หลวงพ่อ : อย่างนั้นมันเป็นธรรมชาติของจิต นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติ บอกนี่ของเราเห็นไหม ดูสิ ธรรมะเหนือธรรมชาติโว้ย เพราะธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง พวกเรานี่เกิดจากธรรมชาติ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาตินะ เดี๋ยวพวกโยมก็เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว เพราะพวกโยมเกิดจากธรรมชาติ การเกิดของมนุษย์ การตายของมนุษย์เป็นธรรมชาติอันหนึ่งนะ ความสุขความทุกข์ของมนุษย์เป็นธรรมชาติอันหนึ่งนะ

ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ พระอรหันต์นั่งอยู่เต็มเลย พระอรหันต์หมดเลย ก็ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติคือสภาวะที่มันเปลี่ยนแปลง บอกสภาวธรรมๆ เราก็รับไม่ได้ สภาวธรรมคืออารมณ์คน อารมณ์คนก็เปลี่ยนแปลงตลอด สภาวธรรมก็เปลี่ยนแปลงตลอด แล้วธรรมะคืออะไร นี่ไง สมัยครูบาอาจารย์เรานี่ คือครูบาอาจารย์เราเป็นของแท้ทั้งหมด มันก็เลยทำให้ไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน เดี๋ยวนี้ไอ้จานกระเบื้องมันอยากจะเป็นจารย์น่ะ มันก็เลยให้ยุ่งไปหมดเลย จานกระเบื้องด้วยนะ แม่ง จานสังกะสีเลย สนิมขึ้นเต็มเลยแล้วรั่วๆ ผุๆ ด้วย แต่คนมันตาฝ้าตาฟางกันไปเอง ถ้าพูดอย่างนี้แล้วมันสะเทือนใจ สะเทือนใจเพราะเราเห็นอย่างนี้ไง พอเห็นโยมมาปุ๊บโยมมาเยอะ พวกนักบริหารนะเราจะบอกเลยนะ

คนบ้านนอกคอกนาเขามีวัฒนธรรม เขาเคยอยู่กับพระอยู่กับเจ้ามาตั้งแต่เด็กแต่น้อย เขาจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วเวลาเขามาทำงานกับเราน่ะ เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา เรานี่เป็นผู้บังคับบัญชาเขา แล้วเราอวดว่าเข้าพระเข้าเจ้านะ เดี๋ยวนี้นะปฏิบัติธรรมกันนะ อายลูกน้องบ้างเถอะ อย่าทำให้ลูกน้องมันหัวเราะเยาะในใจเลย เราเตือนสังคมนั่นแหละ ให้สังคมน่ะเอ็งอย่าไปปฏิบัติธรรมะ ให้อายลูกน้องเอ็งเถอะ เด็กลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาของเอ็งนี่มันมีวัฒนธรรม เขาอยู่บ้านนอกคอกนา เขาอยู่กับพระกับเจ้ามาเขารู้ดีกว่าเอ็งอีก แหม ไปปฏิบัติธรรม ๒ วันน่ะ แหม ได้มรรคได้ผล ลูกน้องมึงหัวเราะเยาะในหัวใจทั้งนั้นน่ะ

โยม : จะถามวิธีปฏิบัติอะไรของหลวงพ่อไหม คือบางคนก็พอมีประสบการณ์ บางคนก็ไม่เคยนั่งใช่ไหม โยมหญิง : นั่งแต่ไม่ได้ จิตไม่ได้นิ่ง ไปแบบน้อยๆ วัน จิตมันไม่นิ่ง แต่ก็นั่งได้ก็คือแค่นั้น

หลวงพ่อ : นั่งก็ได้ เดินก็ได้ ยืนก็ได้ หลวงปู่มั่นท่านก็สอนอยู่แล้ว หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ เพราะหลวงปู่มั่นองค์ที่สองน่ะ ท่านสอนเอาไว้ ท่านเทศน์เอาไว้ แล้วก็มาพิมพ์หนังสือมุตโตทัย ท่านบอกว่า ชีวิตประจำวันเห็นไหม เดี๋ยวนี้เขาจะพูดคำนี้แล้วทุกคนจะติดหมดว่า ธรรมะในชีวิตประจำวัน ไปทันทีเลย ธรรมะในชีวิตประจำวัน ก็นึกว่าตัวเองจะได้ธรรมไง หลวงปู่มั่นก็สอนอยู่ ธรรมะในชีวิตประจำวัน คือ การเหยียด การคู้ ชีวิตปกติเรานี่แหละ แล้วมีสติสัมปชัญญะอยู่กับอย่างนี้

นี่คือการปฏิบัติธรรม ที่โยมว่าปฏิบัตินี่ ชีวิตประจำวันเรานี่แหละ เราทำงานทำการ เรามีสติปัญญา มีสติอยู่กับปกติเรานี่แหละ มันเป็นอารมณ์หนึ่ง เห็นไหม แต่นี่คนเวลาปฏิบัติไม่เป็นใช่ไหม โอ้ย จะฝึกสตินะ เวลาดื่มน้ำ นี่ดื่ม ดื่มก็ดื่มอย่างมีสติ ดื่มแล้วนะ แต่พอเขาดื่มเสร็จแล้วนะ ดื่มหนอ อ้าว ก็เอ็งดื่มไปแล้วนะ ทำไมต้องดื่มหนออีกวะ อารมณ์ที่สอง เราทำอะไรก็อยู่ตามปกติ อารมณ์หนึ่งเห็นไหม ธรรมดาของมนุษย์นะ ความคิดไม่ใช่เรานะ ความคิดมันเกิดดับ ความรู้สึกคือเรา พุทโธๆๆๆ นี่จากสองนี่ พุทโธๆๆๆ จนรวมเป็นหนึ่งเดียวเห็นไหม หนึ่งเดียวคือความสุขอันนี้คือสมาธิคือหนึ่ง จิตหนึ่งคือจิตที่เป็นอิสรภาพ จิตเราไม่เป็นอิสรภาพเพราะจิตมันมีความคิดครอบคลุมมันอยู่ ความคิดครอบคลุมอยู่ เราถึงพุทโธๆ อยู่เห็นไหม

ทีนี้เราใช้ชีวิตปกติประจำวันเพื่อพยายามทำให้จิตนี้เป็นหนึ่ง ถ้าจิตมันเป็นหนึ่งมันเป็นเอกภาพได้ มันจะมีความสุขมาก หลวงปู่มั่นสอนอย่างนี้ แต่ทางโลกเขาสอนกันนะ มีการเคลื่อนไหวต้องมีความรู้สึก ต้องมีความรู้สึก ก็มึงเคลื่อนไหวมึงก็รู้สึกอยู่แล้ว มึงจะมาสร้างอารมณ์ความรู้สึกอะไรอีกอันหนึ่งวะ

โยม : เหมือนทำไปคิดซ้อนกับความรู้สึกตรงนั้น

หลวงพ่อ : เราถึงได้ว่าตัดรากถอนโคนจิตของเราเลย ตัดรากถอนโคนความรู้สึกให้มันอยู่ที่ความคิด ให้ความคิดนี่ชัดเจนขึ้น แล้วตัดรากถอนโคนความรู้สึกนั้นออกมา เหมือนเราให้ยา ถ้าให้ยานี่ ยานี้มันไม่เข้าไปในกระแสเลือด ไม่เข้าไปในร่างกาย ยานี้จะไม่ให้ประโยชน์กับเรา ถ้าเราใช้ธรรมะ เราปฏิบัติธรรมนี่ แล้วปฏิบัติธรรมะนี้มันไม่เข้าถึงจิต ตัดรากถอนโคนคือฐีติจิต มันถอนจิตมันออกมาให้มันอยู่ที่ความคิด ให้มันอยู่ที่ปรัชญา อยู่ที่สามัญสำนึกนี่ แล้วก็ โอ้โหย แล้วมันสบายๆ อย่างนี้สบายๆ ทั้งนั้นนะ เออสบายๆ เพราะมันออกมาแล้วมันทันนะ พอมันทันมันไม่เข้าถึงนั่นเพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าถ้าเข้าถึงนั่นแล้วมันจะเป็นฐาน นี่กรรมฐานฐานที่ตั้ง

อย่างเช่นพวกโยมทำงานนี่ต้องมีออฟฟิศ ต้องมีที่ทำงาน แล้วพอเขาเข้าตรงนั้นแล้วเขาก็กลัว เขาก็เลยไปทำงานจากสภาพอารมณ์ข้างนอก แล้วผลตอบรับมันอยู่ที่ไหน นี่โลกมันเป็นอย่างนั้น ทีนี้จะย้อนกลับมาที่โยมนี่แหละ บอกว่าเราเคยทำๆ แล้วพูดอย่างนี้แล้วมันจะบอกว่า ถ้าเราปฏิบัติธรรมก็ต้องทิ้งหมดมาพุทโธๆ นี่ แล้วเมื่อไหร่จะได้ธรรม หลวงปู่ฝั้นน่ะพูดไว้เจ็บมาก เรานั่งอยู่กันนี่เรามีลมหายใจไหม ถ้ามีลมหายใจ หายใจเข้าแล้วมีสติ “พุท” หายใจออก “โธ” นี่คือการปฏิบัติธรรมแล้ว มีลมหายใจหรือเปล่า แล้วบอกว่าจะปฏิบัติธรรมนี่ โอ้ย ต้องไปนั่งโคนไม้เลยนะ แล้วลมหายใจมึงหายใจทำไมน่ะ

โยม : หายใจทิ้ง

หลวงพ่อ : ถ้ามีลมหายใจนี่เราอยู่กับลมหายใจ แล้วเรามีสตินี่อันนี้ดีแล้ว เราหาประโยชน์จากข้างนอกนะ เราหาเงินหาทองมาเราหาไว้นี่ ตอนเช้าเราพูดกับลูกศิษย์อยู่ เราบอกเอ็งหาสมบัติไว้เยอะแยะเลยนะ เวลาเอ็งแก่แล้วนี่นะ เอ็งหันกลับไปมองมันสิ แล้วใครจะดูแลมัน ต่างคนต่างจะไปกันแล้ว แล้วความดีเอ็งไม่หาล่ะ สมบัติที่เราได้มานี่ ไม่ใช่ เงินทองอยู่ข้างนอก ได้สมาธิมานี่อีกกี่ร้อยปีก็จำได้

ถ้าเราทำคุณงามความดีมันฝังลงที่นี่หมด ทรัพย์สมบัตินี่นะไฟไหม้ได้ โจรปล้นได้ โจรตกชิงวิ่งราวได้ ความดีความชั่วของเราในใจนี่ใครฉกชิงไม่ได้ อันนี้จะไปกับเรา เราทำตรงนี้ ไอ้หน้าที่การงาน เราก็ไม่ทิ้งหรอก เพราะคนเรามันเกิดมาปัจจัยเครื่องอาศัยมันต้องมี แต่ปัจจัยเครื่องอาศัยเรามีอยู่แล้วนี่ เราก็รับรู้มันใช่ไหม แล้วเราก็พยายามหาคุณงามความดีของเราด้วย คุณงามความดีเขาเรียกอริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายใน ถ้าอันนี้เกิดขึ้นมานะ ที่ไปหาพระ หาพระกันมาไปหาเพื่ออะไรล่ะ หาพระก็ไง เวลาเราอยู่เมืองนอกเห็นไหม เจ็บไข้เราต้องไปหาจิตแพทย์ ทีนี้เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาหาพระนี่ไง

ธรรมะนี่มันเป็นธรรมารส มันเป็นสิ่งที่ชำระล้าง มันเป็นสัจธรรม นี่เพียงแต่ว่าพวกเรามัน.. เราก็เห็นใจพวกโยมนะ เพราะพระทั่วๆ ไปนี่ เรารู้อยู่นะเพราะเราอยู่ในสังคมพระเหมือนกัน พระที่จะพูดอย่างเรานี่มันมีน้อย พอมันมีน้อยนี่ มันไม่อยากจะพูด มันไม่กล้าพูดเพราะมันกลัวผิด ถ้าพูดออกไปแล้วมันผิดขึ้นมา ถ้าโยมรู้มากกว่า โยมสอยกลับมานี่มันอายเขา แต่ถ้ามันรู้จริงมันก็พูดได้ มันรู้ไม่จริง มันก็เลยทำให้มันมีน้อย เห็นใจอยู่ อยากก็อยากไปหาอยู่ แต่มันจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง

กลับมาที่พุทโธนี่แหละ กลับมาที่พุทโธ หรือถ้าไม่พุทโธก็ปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันคิดมากๆ นี่ ใช้สติตามความคิดไปนี่ ไล่ได้ ถามว่าความคิดนี้มาจากไหน หลวงตาสอนบ่อยมากเลย หลวงตาใช้คำนี้เลยว่า ให้ถามตัวเองว่าชีวิตนี้มาจากไหน แล้วจะไปไหน ถามตัวเราเองนี่ เราเกิดมาจากไหน ทุกคนก็เกิดมาจากแม่ แม่อยู่บ้าน เย็นนี้จะกลับไปหาแม่อยู่ เกิดมาจากไหน เกิดมาจากแม่ มึงจะไปไหน ก็อยู่กับแม่นี่แหละ แต่ไม่รู้ว่าชีวิต จิตนี้มาจากไหน

โธ่ เวลาเราจะพูดกับลูกศิษย์ เวลาเขามาบวชนี่เราบอก เวลามาบวชลูกมาบวชเท่ากับพ่อแม่บวช เพราะไข่ของแม่ ลูกเวลาโตขึ้นมานี่ มันกินน้ำนมแม่ มันกินเลือดของแม่ มันเอาเลือดเนื้อเชื้อไขมาค้ำศาสนา เวลาลูกบวชเห็นไหม ถ้าพ่อแม่นี่นะ ถ้าพ่อแม่คิดถึง มนุษย์เป็นวัตถุ พ่อแม่ วัตถุเหมือนรถรานี่ เราถอยมาเป็นของเราใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ลูกเราคลอดออกมาแล้วเป็นของเราสิ เป็นสิทธิยึดได้นะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะเราได้แต่โครงสร้างของร่างกายนี่ ดีเอ็นเอ กรรมพันธุ์ของเราหมด แต่ใจเป็นเรา เพราะการเกิดนี่ใจมันมาปฏิสนธิต่างหากละ

ฉะนั้นเวลาเกิดนี่ ถ้าพูดถึงวิทยาศาสตร์คือเกิดจากพ่อแม่ ธรรมะเกิดจากกรรม เกิดจากการกระทำของมึงเอง เกิดจากการกระทำของเรานี่แหละ การกระทำที่เราซับซ้อนไว้นี่แหละ การกระทำซับซ้อนมันมีบวกกับลบ ไอ้ขั้วบวก ขั้วลบ มันผลักดันให้จิตนี้ไปเกิดได้ แล้วการปฏิบัตินี่ก็เป็นการปฏิบัติในการบวกขั้วบวกของจิต บวกให้มันเป็นคุณงามความดี บวกจนแบบบวกลบนี่มันประสานกันบาล้านซ์กัน จนไม่มีแรงขับบวกกับลบเลย แล้วมันก็เป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์เลย ไม่ไปอีกแล้ว!!! แล้วมันเป็นยังไงละ ถ้าคนไม่มีตรงนี้ มันก็พูดไม่ถูก ถ้าอย่างนี้แล้วนะ เอ้า โทษนะ ความรู้สึกโยมก็มี เราก็มีนะ เออ โยมนั่งดื่มน้ำ เราก็ดื่มน้ำนะ โยมทำอะไรก็ทำด้วย เพราะเราบอกความจริงก่อน เออโยมนอนเราก็นอน โยมกินเราก็กิน เออ โยมต้องกิน แล้วมีอะไรต่างกันละ แล้วจิตอยู่ไหน แล้วความรู้สึกอยู่ไหน

โยม : แต่ภายในไม่เหมือนกันนะครับหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ถ้าเหมือนกัน มันก็..โทษนะ มันเรียกคนตาบอด จิตบอด ถ้าจิตบอดมันก็สะเปะสะปะ อย่างเรานี่ถ้าไม่รู้อะไรเลย เราก็งง แต่ถ้าจิตมันเปิดตาแล้วนะ จิตมันสว่างแล้วนะ จบ! แล้วพอจบแล้วนะ นี่จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง การสอนธรรมะนี่สอนจากใจดวงนั้นนะ เราถึงได้ดูพระปฏิบัติไง ถ้าพระปฏิบัติแล้วนะ ถ้าเป็นพระปฏิบัติจริงนี่ การปฏิบัติมันมีข้อเท็จจริงไง อย่างเช่นโยมมาที่นี่ โยมต้องออกรถมานี่ผ่านอะไรมาบ้าง โยมเห็นหมดเลย แล้วเขานั่งอยู่บ้านนะ เขาบอกว่าเขามาที่นี่ร้อยหนพันหนแล้ว แต่พอบอกให้พาไป พาไปไม่ถูกเลย โยมเชื่อไหม นี่เพราะใจมันบอดไง

ทีนี้ถ้าใจมันเปิดแล้วนะ จะให้พาไปไหนบอกมาสิ ให้กูพาไปไหนเพราะกูไปมาแล้ว ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง กรรมฐานนี่เขาเชื่อกันตรงนี้ เราเชื่อหลวงตาครูบาอาจารย์ เวลาปฏิบัติไปนี่ อย่างเช่นสมาธินี่พอทำไป อาจารย์ก็รู้แล้ว มีปัญญาเกิดขึ้นแค่ไหนก็รู้หมดแล้ว คือเขาได้ผ่านกันมาหมดแล้ว นี่ไง วิปัสสนาธุระ คันถธุระ วิปัสสนาธุระนี่ มันทำตรงนี้จนใช้ได้หมด

โยม : หลวงพ่อครับ ถ้าเกิดประมาณช่วงเดือนมีนาว่าจะลาพักร้อนมาปฏิบัติธรรม ที่นี่จะมีที่พักปฏิบัติธรรม..

หลวงพ่อ : ได้ ถ้าผู้ชายอยู่ฝั่งนี้ ตอนนี้ผู้ชายอยู่หลายคน ผู้ชายอยู่ฝั่งนี้หลายคน ผู้หญิงอยู่ฝั่งโน้น

โยม : ที่เป็นรั้วขาวๆ ใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่ ผู้หญิงอยู่ฝั่งนู้น ถ้าผู้หญิงอยู่ฝั่งนู้นแต่เวลาสอนก็เรานี่แหละ พอเช้าขึ้นมาทานข้าวกันที่นี่ แต่เวลาปฏิบัติก็แยกไปเลยนี่ มันแบบว่าเป็นสัดส่วนดี ผู้หญิงจะอยู่ฝั่งโน้น และถ้าจะมาอย่างไรนี่ อย่างที่เบอร์โทรศัพท์ที่เขาให้ไปนี่ ให้โทรมาเบอร์นี้ก่อน เพราะเวลาถ้ามานะอยู่ฝั่งโน้นนะ ผู้หญิงนะ ตอนนี้กุฏิมีอยู่ ๔๐ หลัง ถ้าใครโทรมาก็จะได้อยู่ก่อน บางทีแต่ถ้าเป็นวันนักขัตฤกษ์มันจะเกิน ขนาดปีใหม่นี่ จองมาแล้ว จองมาแล้ว ก็ยังซ้อนสามซ้อนสี่ ทีแรกเราก็จองคนละหลัง ละหลัง นี่พอมากันแล้วนี่

โยมหญิง : อ๋อ อยู่กันคนละหลังเลยหรือค่ะ

โยม : ใช่

หลวงพ่อ : ต้องคนละหลัง

โยม : กลัว รู้เลยว่ากลัว

หลวงพ่อ : เดี๋ยวๆๆๆ ตกใจเลย หาเพื่อนสิ หาเพื่อนแล้วมากับเพื่อน ทำสัญญากันมาก่อน ว่าเราอยู่ด้วยกันนะ ไม่หรอก นี่คนไม่เคยปฏิบัติ โยมหญิง : เคยแต่นอนคนเดียวไม่ได้

หลวงพ่อ : ถ้าคนปฏิบัติแล้วนะ หนึ่งเดียวนะ เวลาครูบาอาจารย์สอนนี่ไปแบบนอแรด เขาสัตว์ทุกอย่างมีคู่ แรดมีเขาเดียว ถ้าไปอย่างนอแรดนี่ประเสริฐที่สุด เพราะอยู่คนเดียวให้ระวังความคิด ถ้าอยู่มีเพื่อนมีฝูงนี่มันอุ่นใจ แต่ถ้าอยู่คนเดียวนี่หนาวทันทีเลยนะ ผีตัวใหญ่ๆจะหักคอกูเลยละ แล้วผีตัวนี้จะหักคอกูก่อน โทษนะฟังนะ นี่จะพูดให้ฟัง

ถ้าผีมันจะหักคอเรานะ ไอ้ผีตัวเราถ้าผีเรือนอ่อนแอ ผีป่าจะเข้าอาศัย ถ้าผีเรือนเข้มแข็ง ผีป่าจะเข้ามากล้ำกลายไม่ได้เลย ไอ้ผีตัวแรกคือความคิดเรานี่ ทำไมไม่ดู เวลาออกป่านี่นะ เวลาไปนะอยู่คนเดียวให้ระวังความคิด กลัวผีไปหมดเลย แต่ไอ้ผีตัวนี้แม่งไม่กลัวมันนะ ไอ้ผีตัวคิดนี่มันพากูกลัวก่อนนี่ กูไม่เห็นมันว่ะ แต่กูไปกลัวผีตัวอื่นว่ะ แต่ไอ้ผีตัวนี้ กูไม่เคยกลัวมันเลย ทั้งที่มันอยู่กับกูนี่

นี่ถ้าเรามีปัญญาอย่างนี้ปรับ นี้เราจะพูดให้โยมฟังเพราะเราเจอเรื่องอย่างนี้เยอะมาก ลูกสาวนะพาแม่มาปฏิบัติ แล้วแม่ก็อยู่ด้วยกัน พอเผลอนะลูกสาวเขาก็เริ่มหนีออกไป เพื่อให้แม่อยู่คนเดียว ฝึกแม่ แม่ไม่รู้ว่ามีใครอยู่นะ แม่ก็อยู่ได้นะก็นึกว่าลูกสาวอยู่ อยู่ได้ทั้งคืนเลย พอรู้ว่าไม่มีลูกสาวเท่านั้นล่ะ อู้ย ตกใจ แล้วก็ฝึกไปๆ เดี๋ยวนี้แยกอยู่ได้สบายเลย เห็นไหม พอแยกอยู่สบาย เราจะชี้ให้เห็นว่าจิตใจเข้มแข็งขึ้น จิตใจมีวุฒิภาวะขึ้น นี่พูดถึงใจๆๆ นี่ เราวัดเด็กมันโตขึ้นมา เราเห็นว่าเด็กโต เด็กอ่อนแอ เด็กเข้มแข็งได้ แต่เราไม่เห็นใจเลยว่าใจเข้มแข็ง ใจอ่อนแอนี้เป็นอย่างไร แต่เรามาปฏิบัตินี่เราจะรู้เอง

นี่พระพุทธเจ้าสอนกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าพูด ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้นเลย ให้เชื่อประสบการณ์ตรงของเรานี่ อย่างเช่นเราเดินเข้าไป เราบวชใหม่ๆ นะ เราไม่เคยนอนเลย แล้วพระเขาบอก ถ้าเอ็งแน่จริงเอ็งต้องเข้าป่าช้า คนบวชใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนี้เข้าไปบวชใครก็กลัวผี เราก็กลัว เดินเข้าไปในป่าช้านะ ขานี่สั่นพั้บๆๆ เลย แต่เพราะการท้าทายกันนะ มันก็ไปได้นะ แต่กลัวฉิบหายเลย แล้วออกธุดงธ์ไปนี่ สุดท้ายพอดีเขาเผาศพ แล้วต้องไปนอนอยู่กับศพนะ ใหม่ๆ ก็นอนนะ หันหลังให้มันเลย กลัวผี

โยม : หลวงพ่ออยู่องค์เดียวหรือครับ

หลวงพ่อ : ไปองค์เดียว ไปด้วยกันนี่แหละ เราไม่รู้จักโยม โยมเขาก็นิมนต์ไป นิมนต์ไปถวายอาหารใช่ไหม พอนิมนต์ไปถวายอาหารนึกว่าพอฉันข้าวเสร็จก็จะกลับไง เสร็จแล้วเขาก็เผาศพ เขานิมนต์ให้อยู่ก็อยู่กับเขาอย่างนั้นแหละ พออยู่เสร็จพอเผาเสร็จเขาก็กลับหมดเลย เออทิ้งให้อยู่กับศพ โธ่ เวรกรรมเลย กลางคืนกลัวจนหัวตั้ง

เราจะบอกเลย การปฏิบัตินะมันมาอย่างนี้ทุกคนแหละ มันไม่มีใครเข้มแข็งมา ใครเป็นพระอรหันต์มา ไม่มีหรอก มันก็มาจากอย่างนี้แหละ ทีนี้พอใหม่ๆ ปั๊บ พวกเราก็ตกใจกันทั้งนั้นแหละ แต่ทุกคนมันก็เป็นอย่างนี้มาทั้งนั้น ก็บอกจิตทุกดวงมันก็เป็นเด็กมาก่อนทั้งนั้นแหละ

โยมหญิง : แต่ว่าทีนี่แบบว่า เบื้องต้นแบบว่าคนที่เคยปฏิบัติเคยถือเขาเรียกอะไรคะ กรรมฐาน เคยปฏิบัติมาก่อนอะไรอย่างนี้ คือถ้าแบบพวกที่เริ่มมา มาได้ไหมค่ะ

หลวงพ่อ : มี มาได้หมด นี้เพียงแต่ว่าพอมาใหม่ๆ นี่นะ ถ้ามาโดยกฎนี่จะให้กินข้าวมื้อเดียวก่อน พยายามจะหัดให้กินข้าวมื้อเดียว ถ้ากินข้าวมื้อเดียวได้มันเป็นประโยชน์กับเราเองนะ ประโยชน์กับเราเองตรงไหน ตอนที่เรากินข้าวมื้อเดียวหรือเราผ่อนอาหาร พระนี่ไม่เคยมาฉันอาหารครบเลยวัดเรานี่ มันจะมีอดอาหาร ๕ องค์ ๑๐ องค์ทุกวัน เพราะการผ่อนอาหารนี่ทำให้ไม่มีอาหารในกระเพาะนี่นะ หิวไหมหิว แต่ธาตุขันธ์ไม่ทับจิต พอไม่ทับจิตเราภาวนามันง่ายไง แต่เรากินนะพอดีก็นิดเดียวเองนะ นิดเดียวนี่แหละ ไปนั่งนี่สัปหงกๆ งกงัน สัปหงก ไอ้ง่วงเหงา หาวนอนนี่ ไม่มีใครกลับมาดู

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงให้ถือศีล ๘ ศีล ๘ ตอนเย็นไม่ต้องกินข้าว พอไม่ต้องกินข้าวนี่ ในกระเพาะอาหาร ถ้ากินข้าวเข้าไปนี่ ๖ ชั่วโมงที่มันจะย่อย ถ้าเราไม่กินตั้งแต่เที่ยงไป เราไม่กินอาหารไปนี่ พอถึงหัวค่ำ เราปฏิบัติไปนี่มันจะง่ายขึ้นเห็นไหม แล้วเวลาเรากินมื้อเดียวนี่ การกินการอยู่นี่มันจะพัฒนาการในการปฏิบัติ มันจะเอื้อ! สิ่งที่มันจะมาเอื้อในการปฏิบัตินี่ พวกเรานี่ไม่เคยมองเลย พวกเราไม่เคยคิดมองกันว่าอะไรเอื้อในการปฏิบัติ แต่อยากปฏิบัติ อยากได้นิพพาน แต่ไม่มองสิ่งที่เอื้อสิ่งที่เกื้อกูลกันเลย

ศีลนี่ การกระทำนี่ พระพุทธเจ้าสอนมาอย่างนี้เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา มันเอื้อมันเกื้อกูล แต่พวกเราไม่มองนะ เรามองแต่ว่ามันลำบาก มันไม่ได้ดั่งใจ ธรรมดาเขาต้องเอาธรรมะ เอาคุณประโยชน์ไปจับ แต่เราเอาความรู้สึกเอากิเลสเราไปจับ ทีนี้กิเลสกับธรรมะนี่มันก็ต้องค้านกันอยู่แล้วใช่ไหม ไอ้โน้นก็ไม่ไหว ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ไม่ต้องก้าวเลย ขาไม่ต้องก้าวเอาเชือกผูกไว้แล้ว เชือกมันผูกไว้ก้าวไม่ออกหรอก แต่ถ้าเห็นประโยชน์ นี่เราจะบอกว่าคนเราจะมีความคิดอย่างนี้ได้มันต้องมีปัญญา พอมีปัญญามันกระตุ้นความคิดเรานี่ ความคิดเราจะเปลี่ยนแปลงหมด พอความคิดเปลี่ยนแปลงหมดนะ อุดมคติคนเปลี่ยน คนนั้นเป็นคนดี มันเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดีได้เลย ธรรมะสอนอย่างนี้

เวลาเราเปลี่ยนแปลงอุดมคติของคนได้นะ เราบอกเออกูเปลี่ยนโปรแกรมมันได้ นี่มีที่ในครอบครัวมีปัญหากันมากเลยวิ่งมาหาเรานี่ เราพยายามจะพูดด้วยเหตุด้วยผล แล้วจะเปลี่ยนโปรแกรมได้ ถ้าเปลี่ยนโปรแกรมได้นะคนๆนี้นะเปลี่ยนความคิดเลย เปลี่ยนชีวิตเลยจากคนที่ไม่เอาไหนเป็นคนที่ขยันขันแข็ง คำว่าขยันขันแข็งคือคนที่มีความเพียรชอบไง คนเราต้องมีความเพียร มีความวิริยะอุตสาหะ แต่ถ้ากิเลสบอกว่าลำบาก แต่ถ้าเป็นคนจริงขึ้นมานี่ อาบเหงื่อต่างน้ำ คนมักง่ายจะได้ยาก คนมักยากบั้นปลายมันจะมีความสุข

ถ้ามันเปลี่ยนอุดมคติแล้ว มันไม่คิดว่าเราเสียเปรียบเราขาดทุน เราไม่ไหวไง แต่ถ้าเป็นกิเลสนะ เราขยับไม่ออก ขยับไม่ได้เลยอะ ก็ปฏิบัติธรรม นี่ไงมันก็เข้ามาที่ว่าปฏิบัติธรรมแล้วมันง่าย ปฏิบัติแล้วมีความสุข เดี๋ยวนี้ชาวพุทธเลยบอกว่า แล้วเป็นว่างๆ แล้วไง เราก็เป็นคนดีแล้วไง ทำไมต้องไปวัดไง เราดีอย่างมึงดีแบบขี้ลอยน้ำ เพราะมันดีโดยไม่มีอะไรดี แต่พระพุทธเจ้าสอนดี เราทำความดีจนเต็มที่แล้วเราต้องทิ้งความดี รถยนต์เอามานี่ โยมรักรถไหม ถ้ารักรถอย่าออกมาขังตัวไว้ในรถ บอกรถนี่ของกู กูไม่ไปไหนเลยนะ คนบ้าหรือเปล่า รักรถเอาไว้นู้นใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราทำคุณงามความดี ทำทุกอย่างแล้วทิ้งมัน เราข้ามพ้นดีและชั่ว จิตมันถึงจะข้ามพ้นไปได้ไง แต่ถ้าเราไม่มีการกระทำอะไรเลยนะ ว่าง ทุกคนพูดคำนี้หมด เป็นคนดีแล้วทำไมต้องไปวัด ดีอย่างพวกเอ็ง เขาเรียกว่าดีสาธารณะ นี่สาธารณะของนี้เป็นของสาธารณะ ของข้างนอก ใครก็เกื้อกูลกัน เกื้อกูลกันช่วยเหลือเจือจานกันได้ แต่ความดีของส่วนตนมันอยู่ไหน อย่างเช่น ความสุข สมาธิ ความจริงของเรามันอยู่ไหน นี่ถ้ามาปฏิบัติตรงนี้ความดีอย่างนี้นี่ดี อริยภูมิมันอยู่ตรงนี้

อย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ไง สมบัติสร้างเสร็จแล้วใครดูแลต่อ และอริยภูมิของเราใครจะดูแลต่อ ไม่ได้ดูแลต่อด้วยไม่เห็นของกูอีกต่างหากละ มันอยู่ในนี้ แล้วมันจะไปกับเรา นี่ถ้าทำอย่างนั้นปั๊บ การกระทำการปฏิบัติมันก็มีแรงกระตุ้นเห็นไหม แต่ถ้าเราไม่มีไม่มีแรงกระตุ้นอย่างนี้เลยนะ ขาอ่อน ไม่มีความจริงจัง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลยละ เราเอาไม่ไหวหรอก ถ้ามีแรงกระตุ้นอย่างนี้นะ เรามีครูบาอาจารย์ พวกหมู่คณะพระเขามาถามเราบ่อย ว่าเรามันมีแรงกระตุ้นอะไร มันถึงมีความมุมานะได้ขนาดนี้ เราบอกว่า เราอยู่กับครูบาอาจารย์ เราอยู่กับหลวงตาครูบาอาจารย์ อย่างเนี้ยนะเราเปรียบเหมือนเวทีมวย กูมีเชือกพิงนะ เวลากูไม่ไหวกูก็พิงเชือก แล้วกูก็เด้งตัวออกมา แล้วคอยกระตุ้นนะไปอยู่กับท่าน เวลาแบตหมดอย่าง พอขึ้นไปหาโดนด่าไง โหยพิงเชือก

โยม : หลวงพ่อมีบุญวาสนาเยอะ อย่างผมไปบวชนะครับ ผมตั้งใจจะบวชตลอดชีวิตเหมือนกัน แต่บวชบ้านนอกแล้วก็ไม่มีครูบาอาจารย์ พระก็ยังเล่นเตะตะกร้อ เตะฟุตบอลอะไรครับ เวลาผมไปบวชมานึกๆ ดูแล้ว เรา ก็ เอ้อ มาบวชทำไมนะ แล้วมันไม่เกิดปัญญาไม่เกิดอะไรเลยก็เลยต้องสึกออกมา

หลวงพ่อ : เหมือนกันนะ เราบวชพรรษาแรกๆ เราก็ยังไม่มี เราไม่ได้บวชกับครูบาอาจารย์ที่เข้มข้นเลยเพราะอะไร เพราะมันกลัวไม่ไหวเหมือนกัน เราก็มาบวชอย่างนี้ก็ไม่มีครูบาอาจารย์เหมือนกัน พรรษา ๑ พรรษา ๒ เราถึงลุ่มๆ ดอนๆ ไง เราได้หลักตั้งแต่พรรษา ๓ พอพรรษา ๓ ได้หลักแล้ว แต่พรรษา ๑ พรรษา ๒ นี่ลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งๆ ที่ออกปฏิบัติเองนะ เข้าป่าเข้าเขาเองตลอด พรรษา ๑ พอบวชปั๊บ ออกพรรษามันอย่างนี้ มันเห็นสภาพอย่างนี้นะ ไปเลยนะเก็บของ ไปเลย แล้วลุยอย่างเดียว ลุยอย่างเดียว

เหมือนอย่างที่ว่านี่ช้างนะไม่มีควาญขี่มันนะ ช้างมันก็ไปประสามันนะ ใจไม่มีคนคุมมันน่ะ มันก็ไปประสามันน่ะ จนเรามาเจอหลวงปู่จวนนี่แหละ แล้วเมื่อก่อนเราเหมือนกับโยมนี่แหละ เราถึงเข้าใจโยมไง เมื่อก่อนเราออกปฏิบัติใช่ไหม เราว่างๆ อย่างนี้ มันมีความคิดนะ เราอ่านหนังสือมาเยอะ นักวิชาการบอกว่า อวิชชาดับแล้วเป็นพระอรหันต์ พอจิตมันว่างหมดเลย อวิชชามันดับแล้วโว้ย แล้วพระอรหันต์มันอยู่ไหนน่ะ ก็กูจะเป็นพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์มันอยู่ไหนนะ มันก็งงใช่ไหมเพราะทางวิชาการ

นี่เป็นความเห็นเรานะ ความคิดเรานะทิฏฐิของเราเองบอกว่าถ้าอวิชชาดับ อวิชชาไม่มีแล้วเป็นพระอรหันต์ พอจิตสงบแล้ว ในความรู้สึกเรานะ เราคิดว่าอวิชชามันดับ เราก็ติดความว่างอย่างนี้ แล้วก็ไปหาคนไหนไปหาพระ พระตอบกันไม่ได้นะ ไปถามพระองค์ไหนก็ตอบไม่ได้ ถามมาเรื่อยๆๆๆๆ

พอไปอีสานเราธุดงค์ไป เขาบอกว่าถ้าเอ็งมาอีสานนี่ ถ้าไม่ได้ไปภูทอกเอ็งก็ไม่ได้ไปอีสาน เราก็เข้าไปที่ภูทอกไปอยู่กับอาจารย์จวนนะ หลวงปู่จวนพอคืนนั้นวันสองวันท่านก็เทศน์นะ อวิชาอย่างหยาบมึงน่ะสงบตัวลง อวิชาอย่างกลางมึงยังไม่เห็นมันเลย อวิชาอย่างละเอียดในหัวใจมึงยังอีกเยอะแยะเลย เออจริงว่ะ รัดคอป๊อก ขยับไม่ได้เลย มันคิดเลยเออวะ กูถามพระมาเยอะแยะเลย มันตอบกูไม่ได้ พอมันเป็นอย่างนั้นปั๊บนะ ลุยต่อได้ไง คือหยาบๆนะ อวิชาอย่างหยาบๆ คือสามัญสำนึกนะ มันแค่สงบตัวลง แล้วความขยันหมั่นเพียร ความเป็นจริงมีอีกเยอะแยะ ทำไมมึงไม่ทำต่อล่ะ มันเลยทำต่อ ไม่งั้นจะ..เขาเรียกติด

เขาเรียกติดคือมันไม่ขยับไง จิตเหมือนของมันติดอยู่ มันไม่ไปหรอก จิตมันอยู่แค่นี้ ความคิดอย่างนี้มันก็ล็อคให้ความรู้สึกอยู่แค่นี้ มันไปไม่ได้หรอก พอหลวงปู่จวนท่านทะลวงทีเดียวพลั้วเดียวนะ โอ้มันไปได้เลยนะ มันไปต่อ ความเพียรต่อ จิตมันพุ่งเข้าไปอีก พอพุ่งไล่ไปๆ ก็เลยไปจับจิตได้ ไปทำได้ อยู่อย่างนั้นโอ้โฮเร่งเต็มที่เหมือนกัน พอเครื่องบินตกเท่านั้นนะ ก็เหมือนเคยอย่างที่ว่าควาญไม่มีช้างนะ มันทุกข์มาตั้งนานแล้ว พอมาเจอควาญช้างพอควาญช้างร่วงไปก่อน มันเลยบอกตัวเองเลย มึงต้องเข้าบ้านตาด มึงต้องเข้าบ้านตาด เข็ดตรงนี้ไง

ก็เข้าไปเจอหลวงตา หลวงตากระทืบต่อ กระทืบต่อ มันก็ไปได้ มันไปได้ตรงที่ประสาเรานักกีฬามีกรรมการที่ดี ถ้านักกีฬาไม่มีกรรมการที่ดีนะ นักกีฬาเข้าข้างตัวเองหมด กรรมการเข้าข้าง กรรมการให้คะแนนโกงเข้าข้างตัวเองนะ แต่ถ้าเป็นกรรมการที่ดีนะ ปี๊ดๆมึงผิด มึงผิด มึงผิด มันก็ทำให้นักกีฬานั้นเป็นนักกีฬาที่ดี เจอครูบาอาจารย์ที่ดี ท่านสอนสิ่งที่ดีๆ เรา เราทำกับท่าน นี่มันถึงว่าครูบาอาจารย์นี่สำคัญมาก ถ้าได้ครูบาอาจารย์ที่ดีมา

โยม : หลวงพ่อครับ ขอเรียนถามรบกวนหลวงพ่อเป็นคำถามสุดท้ายครับ เออคือปกติพระเวลาบวชจะมีปัญหาเรื่องของเขาเรียกว่าอะไรกามราคะใช่ไหมครับ คอยรบกวนเพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทีนี้หลวงพ่อมีอะไรจะแนะนำว่าถ้าเกิดเราปฏิบัติ หรือว่าไปบวชหรือว่าถือศีลอะไรอย่างนี้ อะไรที่จะไม่ให้อย่างนี้มารบกวนจิตใจเราได้ ต้องพิจารณาอย่างไร

หลวงพ่อ : เราคิดอย่างนี้เลยตอนเราบวชใหม่ๆ นะ มันก็มีปัญหาอย่างนี้เข้ามา แล้วเวลาเราไปอยู่บ้านนอกๆ นี่ เราไปอยู่อีสาน เราไปอยู่บ้านนอกๆ นะ มันก็มีแต่พวกนี้ ธรรมชาติของมนุษย์นะมันก็มีอย่างนี้เข้ามา แต่เราแปลกนะ เราไม่วอแว เรานี่ไม่วอแวตั้งมั่นมาก เพราะเราใช้เราบอก.. เวลาพระมีปัญหามาเราถามอย่างนี้บ่อย บอกว่าจะรักษาตัวอย่างไร เราบอกให้คิดสิ โทษนะ นี่คิดภาษาเราเอง มันคิดขึ้นมาเอง เพศแม่ ถ้าเพศแม่นี่เราถือว่าเป็นเพศของแม่เรา ก็คิดว่าเป็นเพศของแม่เรา มันไม่ให้ออกไปยุ่งนี่อันหนึ่งนะ

แล้วอย่างประสาเรานี่เวลาคิดนี่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดจากอะไร ความโกรธ ราคะนี่นะ โทสะเวลามันเกิดมันเกิดแรงมาก ถ้าโทสะเกิดแรงมาก เราต้องแผ่เมตตาไว้ก่อน ว่านี่คือญาติพี่น้องเรา เขาไม่ใช่ญาติโดยสายเลือดในปัจจุบันนี้ แต่เขาเคยเป็นญาติในชาติใดชาติหนึ่งมาก่อน พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วนี่ คนเกิดคนตายกันมานี่ไม่เคยเป็นญาติกันเลยไม่มี ถ้าคนเป็นญาติกันมีอย่างนี้ เขาเป็นญาติของเรา เขาผิดโดยที่ว่าเขาไม่ตั้งใจเกิด ต้องคิดอย่างนั้น ถ้าคิดอย่างนั้นก่อนนะ เวลามันโพลงขึ้นมามันไม่แรง แล้วอย่างกรณีอย่างนี้นะ อย่างเพศแม่ ไปทำอย่างนั้นปั๊บคือญาติของเรานะ โดยสามัญสำนึกก็ญาติของเรานะ เราไปคิดในสิ่งที่มันผิดปกติมันไม่สมควรจริงไหม

เราจะบอกเลยนะ เวลาพวกเราคิดอยากทำดีทั้งหมดเลยนะ แต่ทำไมเราควบคุมอารมณ์ไม่ได้คือเราไม่ฝึกไว้ก่อนไง แต่ถ้าเราแผ่เมตตาไว้ก่อน โทสะ การแก้โทสะด้วยการแผ่เมตตา คิดว่าเป็นญาติเราก่อน คือคิดดีกับเขาไว้ไปก่อน พอโทสะขึ้นมามันก็ห้ามได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดอย่างนี้ไว้ก่อน เวลามันจะยุ่งออกไป เหมือนหลวงตาว่านี่ ตบมันไว้ก่อน ตบความคิดนี้ไว้ก่อนตบความรู้สึกไว้ก่อนเลยไม่ให้ออกไปยุ่งกับมันอย่างนั้น ถ้ามันจะออกไปยุ่งนี่มันก็ต้องลดลงมา ไม่งั้นมันออกไปแล้วมันยุ่งไง เพราะอะไรรู้ไหมเพราะมันคิดที่ ๑ นะ มันคิดครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ถ้าไม่มีเลยนะ มันจะคิดไม่ให้มันคิด มันก็จะไม่มีสอง สามไปเรื่อยๆ เอาไม่อยู่ๆ พระมาถามอยู่ เวลาพระมาฟังเทศน์นะ แล้วถามว่าแล้วเอาตัวรอดมาได้อย่างไร เอาตัวรอดมาได้อย่างไร เอาเนาะ