ตื้นเขินในธรรมะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
คำถามเขาก็ถามเรื่องพื้นฐาน ก็จะคล้ายๆ กัน เพราะคนปฏิบัติแล้ว ถ้าปฏิบัติแล้วมันจะเหมือนๆ กัน ฉะนั้นเดี๋ยวเขาถาม ไอ้ที่ว่าเห็นกายเห็นต่างๆ จะรวมพร้อมกันนี่เลยนะ
ถาม : ๒๒๙. ถ้าไม่ใช้คำภาวนาคำว่าพุทโธได้ไหม คือกำหนดรู้กายแล้วติดบริกรรมยุบหนอนะคะ เนื่องจากปกติความฟุ้งซ่านหรืออะไรก็ตาม พอใจรู้ตัวแล้วก็จะกลับไปกำหนดรู้ มีอาการยุบหนอ พองหนอที่ท้องก่อนเป็นอันดับแรก จึงมักบริกรรมยุบหนอ พองหนอตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าบริกรรมอย่างนี้แล้ว ไม่บริกรรมพุทโธผิดหรือไม่
หลวงพ่อ : ผิดหรือไม่นะ คำว่าผิดหรือไม่...
ถ้าคำบริกรรมนะ คำบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราภาวนาพุทโธคือพุทธานุสติ คำบริกรรมนี่เห็นไหม มรณานุสติ สังฆานุสติ สิ่งใดก็ได้ถ้าเป็นคำบริกรรม
ทีนี้คำว่ายุบหนอ พองหนอ ถ้าเป็นคำบริกรรม ! เราเอาจิตเราเกาะสิ่งใดไว้ เพื่อให้มันแสดงตัว ธรรมดาเวลาเราคิด เราคิดออกไปนี่เราไม่รู้สึกตัวนะ เรารู้สึกทางความคิด แต่เราไม่รู้สึกตัว เห็นไหม เวลาเราคิดเราเผลอ เราคิดเรื่องใดขณะที่คิดนี่ชัดเจนมาก แต่ตัวเรานี่ลืมไปแล้ว เพราะอะไร เพราะเราเข้าไปอยู่แต่กับในความคิดนั้น เรากับความคิดนั้นเป็นอันเดียวกัน คิดไปตลอดเรื่อง จนจบเรื่อง แล้วก็หอบ.. เหนื่อย นี่เป็นอย่างนี้
แต่นี้ถ้าคำบริกรรม เห็นไหม คำบริกรรมนี่มันก็เป็นความคิดเหมือนกัน ทีนี้พอคำบริกรรมเป็นความคิด จิตนี่มันรู้สึกตัวของมัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือบริกรรมอะไรก็ได้ ทีนี้คำว่ายุบหนอ พองหนอนี่เป็นคำบริกรรมหรือเปล่า... นี้คำว่ายุบหนอ พองหนอ หรือคำว่ารู้ตัวทั่วพร้อม นี้มันไม่ใช่คำบริกรรม มันเป็นคำที่ทำให้จิตรู้
คำว่าจิตรู้... มันก็เหมือนกับ ! เหมือนกับเราเป็นความคิดไง เพราะเราล่วงกับความรู้นั้นไป เราถึงบอกว่า คำว่าตัดรากถอนโคน คือมันไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักยึด ! ถ้ามันไม่มีหลักยึดใช่ไหม ดูสิอย่างเช่นวัวเวลาที่เขาผูกไว้มันจะมีหลักที่ยึดของมัน มันอยู่กับหลักยึดนั้น เวลามันจะไปไหน เชือกมันจะดึงมันอยู่ แล้วมันจะกลับมาสู่หลักนั้น หลักนั้นคือตัวจิต
ถ้าคำบริกรรม เห็นไหม เราบอกว่า ยุบหนอ พองหนอเป็นคำบริกรรมหรือเปล่า.. เขาบอกว่าเขาติดคำบริกรรมยุบหนอ พองหนอ
ถ้าเราบริกรรม... คำว่าบริกรรมมันอยู่ตรงนั้นไง ! แต่ถ้ามันเคลื่อน เห็นไหม ดูสิรู้ตัวทั่วพร้อมมันเคลื่อน มันเป็นไป แล้วเราจะให้คำว่าคำบริกรรม..
คำบริกรรมหมายถึงว่าจิตมันอยู่กับที่ มันบริกรรมอย่างนั้น เหมือนกับเรานวดแป้ง เรานวดแป้ง เราผสมแป้ง เพราะเราต้องการให้แป้งได้ที่ เรานวดแป้งอยู่ที่นั่น แต่ถ้าเราผสมแป้ง ผสมหัวเชื้อ หรือผสมต่างๆ เพื่อจะนวดมัน แล้วเราไปทำอย่างอื่น แป้งนี้มันจะเป็นแป้งที่พร้อมจะทำงานได้ไหม มันก็ไม่ได้ นี้คำบริกรรมมันใกล้เคียงกันไง ทุกคนจะบอกว่าเหมือน ! แปลกนะ เวลาใครบอกว่าเหมือนกันๆ แล้วมาเจอเรา เราจะบอกว่าไม่เหมือนทุกทีเลย แล้วคนก็แปลกใจว่า มันก็เหมือนกัน เพราะเราแยกตรงนี้ไม่ออกไง
ฉะนั้นเขาบอกว่า เขาใช้คำว่าบริกรรม แต่ความจริงเขาบอกว่าไอ้นี่คือใช้ปัญญา ! เขาบอกว่าเขาใช้ปัญญา ทีนี้พอใช้ปัญญาปั๊บ เราก็มีปัญญาอบรมสมาธิเหมือนกัน เราใช้ปัญญาเหมือนกันแต่ต้องมีสติเหมือนกัน เห็นไหม อย่างที่หลวงตาสอนว่า ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ความคิดแต่เรามีสติตามมันไป... ตามไป เห็นไหม พอตามความคิดไป ตามทุกอย่างไป
คำว่าสติ.... คำว่าสตินี่มันมีหลักยึด ถ้ามีหลักยึด เห็นไหม อย่างที่เขาพูดนะเขาบอกว่า เวลากำหนดแล้ว ถ้ามันรวมลง จะรวมลงที่ไหน ก็รวมลงที่จิต เขาพูดอย่างนี้นะ ถ้าเราทำอะไรก็แล้วแต่ เรากำหนดดูอะไรก็แล้วแต่ เวลาจิตมันรวมลง ต้องรวมลงสู่จิต
นี่เขาพูดอย่างนั้นนะ แต่ความจริงไม่ใช่ ! ความจริงรวมลงอยู่สุญญากาศ รวมลงสู่ความหายไป มันไม่ใช่รวมลงสู่จิต ! เพราะเขาไม่มีหลักไง
เวลาเขาบอกว่ากำหนดอะไรก็แล้วแต่ ถ้าจิตมันจะรวมลง จะรวมลงสู่อะไรล่ะ ก็รวมลงสู่จิต... ถ้ารวมลงสู่จิตมันก็ไม่นั่งหลับหรอก รวมลงแล้วก็สัปหงก อย่างนั้นมันจะรวมลงสู่จิตได้อย่างไร มันรวมลงสู่สุญญากาศไง มันไม่รวมลงสู่จิตเพราะมันไม่มีหลักไง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ายุบหนอ พองหนอ หรือคำที่เขาว่าความรู้ตัวทั่วพร้อม... มันรู้ตัวทั่วพร้อมนี่มันสร้างอารมณ์ สร้างสุญญากาศ มันไม่มีสติปัญญาเข้าถึงตัวจิตไง
ฉะนั้นเราบอกว่า นี่คำบริกรรมเหมือนกัน.. คำบริกรรมเหมือนกันนี่มันจะผิดไหม
ถ้าเป็นคำบริกรรม ไม่ผิด ! ได้เลย ! แต่ความจริงนี่เขาจะบอกว่า เป็นคำบริกรรม หรือว่าเป็นปัญญา นี่เพราะส่วนใหญ่เขาคิดว่าเป็นปัญญา
เวลาเราทำไปนะ คำว่าเวลาทำไป... คือเวลาคนปฏิบัติไปมันจะมีผลกระทบ มันมีข้อเท็จจริงขึ้นมา แล้วพอมีข้อเท็จจริงขึ้นมานี่ อย่างที่เมื่อวานพูด เห็นไหม นักปฏิบัติน่ะ ลูกศิษย์ปฏิบัติมันก็มีแตกต่างหลากหลายแนวทาง มีลูกศิษย์ครูบาอาจารย์เยอะแยะไปหมด เวลาคุยกันก็มีปัญหาขัดแย้งกันไป
ความขัดแย้งมันก็อยู่ที่นี่ ความขัดแย้งมันมีอยู่ ๒ ประเด็น
ประเด็นหนึ่งคือว่าแนวทาง.. กับอีกประเด็นคือจริตนิสัยของคน
นี่มัน ๒ แนวทาง แนวทางหนึ่งเราจะบอกว่า อาจารย์สอนดี สอนถูกต้อง แต่จริตนิสัยของลูกศิษย์ทำไม่ได้ มันก็ไม่ได้ แต่ถ้าลูกศิษย์มันมีอำนาจวาสนาบารมี ไปเจออาจารย์ที่สอนผิด มันก็ไม่ได้เหมือนกัน
ฉะนั้นเวลาสอน เวลาหลวงปู่มั่น หรือครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็น นี่มันแตกต่างหลากหลาย คือว่ามันหลากหลายวิธีการ หลวงปู่มั่นให้กำหนดพุทโธ พุทโธนี่โดยหลัก แต่พอเวลาปฏิบัติไปแล้ว บางองค์ท่านก็ให้กำหนดอย่างอื่นต่อไป กำหนดอย่างอื่นต่อไปเพราะว่าเวลามันพัฒนาขึ้นมา
ฉะนั้นที่ว่าผิดหรือไม่ผิด คำว่า ผิดหรือไม่ผิด เพราะ ! เพราะเราคิดว่าเรายุบหนอ พองหนอ กับพุทโธนี้เป็นคำบริกรรมเหมือนกัน เราคิดว่า... แต่ ! แต่ไปถามผู้สอนโดยต้นเหตุว่า ทำอย่างนั้น ทำเพื่ออะไร.. ทำอย่างไร.. ทำเพื่อผลประโยชน์อะไร
ตรงนี้ต่างหากล่ะ ! ที่ว่าเราบอกว่าผิด.. นี่ผิดจากต้นขั้ว ผิดจากผู้สอน คนสอนเป็นหรือไม่เป็น ! ถ้าคนสอนเป็น.. คนสอนเป็นคนถามเป็นนี่ถูกหมดเลย แต่ถ้าคนที่ไม่เป็น คำสอนที่จำมาที่เขาสอนถูกนั่นแหละ แต่เราสอนผิดหมดเลยเพราะเราไม่เป็น !
มันอยู่ที่คนสอนว่า เป็น หรือ ไม่เป็น ถ้าคนสอนไม่เป็นนะ เขาไม่รู้ว่าคำสอนนี้เพื่ออะไร แต่ในเมื่อกระแสมันเกิดขึ้นมา เราก็อาศัยเกาะกระแสไป โดยไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้วก็บอกว่าเหมือนกัน คำพูดเหมือนกัน.. ทุกอย่างเหมือนกัน
ฉะนั้นที่เราบอกว่าผิดหรือไม่ผิดนี้ มันอยู่ที่ว่า เป็นคำบริกรรมหรือเปล่า ถ้าเป็นคำบริกรรมนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ... แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่ความคิดเวลามันเกิดแล้วตามไปเลย นั่นแหละถูก ! แต่ถ้ามันเป็นอย่างที่บอกว่า อย่างนี้เป็นวิปัสสนา เห็นไหม เริ่มต้นมันก็หลอกตัวเองแล้ว !
วิปัสสนา... ใครวิปัสสนา อย่างเช่นเราเริ่มต้น ตอนนี้เราบอกว่าเงินเรามีเยอะแยะเลย ทุกคนมีเงินอยู่ในตัวนี่คนละหลายๆ ล้านเลย... จริงหรือเปล่า ถึงมีจริงก็ไม่จริงเพราะอะไร เพราะเงินอยู่ในบัญชี เงินอยู่ที่บัญชี เงินอยู่ที่บ้าน ตอนนี้ตัวเปล่าๆ สลึงหนึ่งก็ไม่มีในตัวนั่นน่ะ ตอนนี้ไม่มีสักสลึงหนึ่ง
อันนี้ก็เหมือนกัน บอกว่า วิปัสสนาๆ ตอนนี้วิปัสสนาไปแล้ว กำหนดคำบริกรรมนี่มันเป็นสมถะ ถ้าใครกำหนดพุทโธ กำหนดคำบริกรรมนี่เป็นสมถะ.. สมถะนี่มันไม่เกิดปัญญา.. สมถะนี่น่าเกลียดน่ากลัว.. สมถะจะเกิดนิมิต.. สมถะจะเกิดเห็นนรกสวรรค์.. สมถะจะเห็นผิดไปหมดแหละ.. แต่ถ้าเป็นวิปัสสนานี่มันเป็นการใช้ปัญญา..
นี่ไงเริ่มต้นผิด ! พอเริ่มต้นผิดปั๊บนะ... ฉันนั่งอยู่นี่ ฉันมีเงินอยู่ ๕๐๐ ล้าน ถึงมี พันล้านแต่ตอนนี้ก็ไม่มี พันล้านอยู่ในบัญชี แต่ถ้าเบิกมาไว้กับตัวถึงจะมี
นี่ก็เหมือนกัน... ทีนี้พอบอกว่าผิดหรือไม่ผิดนี่ไง เราพูดอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเราพูดโดยสัตย์ ! คำว่าสัตย์คือคำสัตย์ไง คำสัตย์คือคำจริง ฉะนั้นเราพูดไว้มาตั้งแต่เริ่มต้นมาแล้วว่า ถ้า ! ถ้าคำบริกรรม ถ้ามีสติปัญญา แล้วเข้าใจสิ่งนี้.. คือว่าเหตุอย่างนี้ผลของมันคือสมาธิ เราถึงบอกว่า
การปฏิบัติทุกแนวทาง ผลของมันเป็นสมถะหมด ! วิปัสสนาไม่มี... ไม่มีหรอก ! แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว เริ่มต้นออกวิปัสสนา มันถึงจะเกิดตรงนั้น วิปัสสนาจะเป็นขั้นตอนต่อไป.. ไม่ใช่ขั้นตอนแรก !
ขั้นตอนแรกคือขั้นตอนของความสงบหมด ! แต่สงบโดยสัมมาสมาธิ หรือสงบโดยมิจฉา... สงบโดยมิจฉาคือสงบว่างๆ ว่างบนสุญญากาศไง แล้วก็บอกว่า นี่คือวิปัสสนา นี่คือการปล่อยวาง นี่คือธรรมะ ...นี่คือความเห็นผิด
ความเห็นผิดของสังคมตอนนี้เป็นอย่างนี้ ว่าว่างๆ ว่างๆ คือผลของการปฏิบัติ ว่างๆ ว่างๆ นั้นคือนิพพาน แต่ความจริงว่างที่สุญญากาศไม่ใช่ว่างที่จิต คือว่าเป็นสมบัติของสาธารณะ ไม่ใช่เป็นสมบัติส่วนตน ไม่ใช่สมบัติของจิตดวงนั้น เป็นสมบัติสาธารณะของทั่วๆ ไป ไม่ใช่สมบัติของใครเลย
ถาม : อีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยมีเวลาเดินจงกรม แล้วก็ไม่ค่อยชอบด้วย แต่ชอบนั่งสมาธิมาก เพราะรู้สึกว่านั่งแล้วเกิดสมาธิได้ง่ายกว่าเดินจงกรม คือเดินจงกรมแล้วรู้สึกว่าเกิดสมาธิได้น้อยกว่า ฟุ้งซ่านกว่า ถ้าปฏิบัติโดยนั่งสมาธิมากกว่าเดินจงกรม แล้วพยายามกำหนดการเดินในชีวิตประจำวันแทนจะโอเคไหมคะ
หลวงพ่อ : โอเคหมดล่ะ ! โอเคนะ เพราะว่าเวลาปฏิบัตินะ ไม่ชอบเดินจงกรมแต่ชอบนั่งสมาธิ เพราะเดินจงกรมแล้วรู้สึกว่าสมาธิจะเกิดน้อยและฟุ้งซ่าน..
นี่ความจริงนะ ในข้อเท็จจริงเลย เพราะในข้อเท็จจริงของครูบาอาจารย์เรา คำว่าครูบาอาจารย์ของเรา เพราะท่านปฏิบัติมาแล้วจนแบบว่าธัมมสากัจฉา คือได้คุยกันระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติ นี่ในครอบครัวของกรรมฐาน ในครอบครัวของพระป่าเขาจะธัมมสากัจฉา คือจะคุยธรรมะกัน คือจะตรวจสอบกัน จะคุยกันอยู่ตลอดเวลา
ถ้าคุยกันแล้ว เห็นไหม อย่างเช่นหลวงปู่จันทร์เรียน เราเคยไปคุยกับท่าน ท่านบอกว่า ถ้าหลวงปู่ชอบนี่นั่งสมาธิสู้ท่านไม่ได้ ท่านชอบนั่งสมาธิ ท่านนั่งสมาธิทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง นั่งทีหนึ่งนี่ทั้งคืนๆ หลวงตานี่ท่านนั่งตลอดรุ่ง หลวงปู่จันทร์เรียนเรื่องนั่งตลอดรุ่งนี่เป็นเรื่องปกติเลย เพราะว่าท่านนั่งอย่างน้อย อย่างต่ำๆ ๗-๘ ชั่วโมง เป็นเรื่องแบบว่าพื้นๆ ไง แล้วถ้าเอาจริงเอาจังนะ มัน ๑๐ กว่าชั่วโมงอยู่แล้ว แล้วท่านพูดเองนะท่านบอกว่า ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชอบนะ แต่ท่านบอกว่า ท่านนั่งสมาธิดีกว่าหลวงปู่ชอบ เก่งกว่าหลวงปู่ชอบ แต่ ! แต่เวลาเดินจงกรมนะ หลวงปู่ชอบจะดีกว่า เพราะหลวงปู่ชอบเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนเลย
เห็นไหม เราจะบอกว่าจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน ในวงกรรมฐานเขาจะรู้กันว่าใครถนัดท่าใด นี่ยืน เดิน นั่ง นอน
ฉะนั้นเวลาเดินจงกรม... แต่เดินจงกรมมันอยู่ในวิสุทธิมรรค มันอยู่ในพระไตรปิฎก เดินจงกรมนี่นะสมาธิลงยาก แต่ถ้าสมาธิเกิดแล้วเสื่อมยาก คือมันเกิดแล้วมันมั่นคงแข็งแรงกว่า
แต่ท่านั่งสมาธิ ดูสินั่งสมาธิท่านั่ง เห็นไหม มันไม่เคลื่อนไหวแล้วมันสงบ แต่ท่าเดินนี่มันเคลื่อนไหวแล้วสงบ ทีนี้พอเคลื่อนไหวแล้วสงบ คือเดินอยู่แต่จิตลงสู่สมาธินี่มันมั่นคง
ฉะนั้นไอ้อย่างนี้เราจะบอกว่า ถ้ามั่นคงนี่เราก็อยากเดินจงกรม คนไม่ถนัดเลยก็พยายามจะเดินจงกรม แล้วสมาธิก็ไม่ได้เลย ! ไม่ได้เลย... ถ้ามันถนัดท่านั่งก็คือนั่ง ถนัดยืนก็คือยืน ถนัดเดินก็คือเดิน
หลวงปู่ขาวนี่ท่านทำทางจงกรม ๓ เส้นนะ เช้าขึ้นมานี่ ๒-๓ ชั่วโมงถวายพระพุทธเจ้า... กลางวันถวายพระธรรม... อยู่หัวค่ำๆ นี่ถวายพระสงฆ์... ท่านเดินวันละ ๓ เส้น ! หลวงปู่ขาวนี่ทางจงกรม ๓ เส้น ไอ้เราเส้นเดียวยังขี้เกียจเดินเลย ของหลวงปู่ขาวนี่ ๓ เส้น แล้วต้องเดินทุกเส้นที่ท่านทำไว้ นี่ผู้ที่ถนัดเดิน !
แล้วผู้ที่ถนัดนั่ง เห็นไหม ถนัดนั่งก็นั่ง อยู่ที่ความถนัด ! อยู่ที่ความถนัดแต่เราต้องการผลที่ได้ไง ทำอะไรทุกคนต้องการผล
ถ้าผลที่ได้... ทำสิ่งก็ได้ถ้ามันมีผล สิ่งนั้นถูกต้อง !
ข้อ ๒๓๐. เรื่อง ไตรลักษณ์
ถาม : ๒๓๐. วันก่อนโยมฟังเกี่ยวกับนิวรณ์ ..ที่เคยง่วงไง อันนี้เขาพูดถึงว่า เขาฟังเว็บไซต์แล้วดี... จบ
ส่วนเรื่อง ไตรลักษณ์ ที่อยากจะกราบเรียนหลวงพ่อ ก็เพราะได้ยินอยู่เสมอว่า ปฏิบัติแล้วเห็นไตรลักษณ์ จนโยมรู้สึกว่า การปฏิบัติจนเห็นไตรลักษณ์นั้นมันง่ายขนาดนี้เชียวหรือ เพราะทุกอย่างมันก็เป็นสามัญลักษณะ คือเกิดขึ้น.. ตั้งอยู่.. และดับไป.. เป็นปกติอยู่เช่นนั้นอยู่แล้ว จึงกราบเรียนถามเพื่อขอเป็นความรู้ด้วยเถอะเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ : เห็นไหม ว่าเป็นไตรลักษณ์ ! ไตรลักษณ์ !
คำว่าไตรลักษณ์... พูดถึงว่า มันง่ายขนาดนี้เชียวหรือ.. เพราะทุกอย่างมันเป็นสามัญลักษณะอยู่แล้ว เพราะตรงนี้ไง เราถึงเวลาพูดนี่เราก็มีความเห็นอย่างนี้ ! เขาบอกว่า อยู่กับธรรมชาติ.. ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ.. ทุกอย่างเป็นสามัญลักษณะอยู่แล้ว.. ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว.. ทุกอย่างมันแปรสภาพอยู่แล้ว.. แล้วมันเป็นไตรลักษณ์ตรงไหน...
แต่ด้วยความตื้นเขิน ! ด้วยความตื้นเขินของผู้ที่ศึกษาธรรมะ ด้วยความตื้นเขินของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ! เวลาศึกษาธรรมะนะ ครูบาอาจารย์ เห็นไหม ปริยัติ ! ปริยัติคือโลก ปริยัติคือวิทยาศาสตร์ ปริยัติกับทางวิชาการนี้อันเดียวกัน... เราศึกษาทางวิทยาศาสตร์สิ สูตรทฤษฎีต่างๆ ที่เราศึกษากันนี้ นี่เป็นวิทยาศาสตร์ ! แล้วไปศึกษาธรรมะก็ศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ !
ศึกษาวิทยาศาสตร์.. นี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นโลก ! แล้วสิ่งที่เป็นโลก เห็นไหม สิ่งที่เป็นโลกมันก็แปรสภาพอยู่แล้ว แล้วเวลาเราไปศึกษาธรรมะขึ้นมา เราศึกษาขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับโลกไง... เปรีบเทียบกับโลกนะ ! แต่เราไม่ได้ศึกษาธรรมะเพื่อธรรมะ เพราะธรรมะลึกกว่าใช่ไหม แล้วธรรมะลึกกว่านี้ คำว่าไตรลักษณ์.. ไตรลักษณ์ คือสิ่งที่แปรสภาพนี่ทุกคนก็รู้ ถ้าอย่างนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์มันเป็นพระอรหันต์ได้ !
เครื่องคอมพิวเตอร์มันคำนวณได้ดีกว่าเรา มันรู้ดีกว่าคน คอมพิวเตอร์รู้ดีกว่าคน แต่เวลาเราศึกษาขึ้นมา เราศึกษาไปแล้วเราก็เทียบมากับทางโลกทางวิชาการไง แต่เราไม่เทียบลงสู่ธรรม ถ้าลงสู่ธรรม ถ้าจิตมันเป็นสมาธิแล้ว จิตมันเห็นไตรลักษณ์.. นี่เห็นอย่างไร ยกขึ้นไตรลักษณ์ยังยกขึ้นไม่เป็นเลย...
มันต้องยกขึ้นไตรลักษณ์ก่อน เพราะตัวมันเองเป็นไตรลักษณ์ ! ตัวจิตเองเป็นไตรลักษณ์ ! ตัวจิตเอง ! ตัวจิตเองนี่มันรับรู้อย่างไร ไอ้นี่พอเราศึกษาปั๊บ เราก็เทียบทางวิชาการ ทางธรรมะไง นี่มันเป็นสามัญลักษณะ มันเป็นไตรลักษณ์... มันเป็นไตรลักษณ์ เพราะไตรลักษณ์มันเกิดขึ้น.. ตั้งอยู่.. และดับไป เห็นไหม นั่นเป็นทฤษฎี แล้วเราก็พยายามให้ความเห็นเราเป็นอย่างนั้น ถ้าให้ความเห็นเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นความเห็นโลกๆ นี้มันก็เป็นความเห็นของสุตมยปัญญา คือการศึกษาไง.. เป็นการศึกษามันก็ไม่เป็นความจริงไง.. ไม่เป็นความจริงหมายถึงว่า.. มันไม่มีผล !
นี่เราศึกษากันมา ทุกคนเรียนจบแล้วถ้าไม่ทำงานจะมีตังไหม มีตังไหม.. ไม่มีหรอก เราศึกษามานี่เป็นวิชาชีพใช่ไหม ดูสิทางราชการ เขาจะมีค่าวิชาชีพเลย มีเงินเดือนด้วย เสร็จแล้วมีค่าวิชาชีพอีกต่างหากนะ
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่างๆ ที่เราศึกษามาแล้ว เราศึกษาเทียบมาทางปริยัติ ทางพระไตรปิฎิก นี่ไงเทียบมานี่ธรรมะพระพุทธเจ้า มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ มันเป็นความจริงนะ ! มันเป็นความจริงเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ แต่ความรู้เรานี่ เรียนจบมาแล้วมีความรู้ไหม... มี ทำงานเป็นหรือยัง.. ยัง พอลงไปทำงาน ลงไปศึกษาขึ้นมาแล้วทำงาน แล้วผลที่มันตอบมาล่ะ...
ผลที่มันตอบมา คือจิตมันลงไปทำงาน จิตมันไปจัดการ มันจะเห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง ถ้าเห็นไตรลักษณ์.. มันต้องถอดถอนอุปาทาน เห็นไตรลักษณ์มันต้องถอดถอนกิเลส ถ้าคนเห็นไตรลักษณ์น่ะ แต่ไอ้นี่ปากเปียกปากแฉะเลย ! ปากเปียกปากแฉะเลย ว่าความเห็นของเขาถูก นี่ถ้าความเห็นอย่างนี้แสดงว่า เขาเห็นกับความเป็นไปของโลก เห็นไหม
นี่ท่อนแรกเขาบอกว่า เขาอ่านเว็บไซด์ว่าเราตอบเรื่องนิวรณ์ เขาบอกมาว่าตรงเปี๊ยะ ! เห็นด้วย.. คือได้ยินแล้วไง แล้วเขาเป็นเอง
เขาบอกว่า โยมจึงมีความรู้สึกว่า เราสามารถเอาชนะนิวรณ์ได้ และนิวรณ์ก็คือนิวรณ์ไม่ใช่เรา ส่วนเรื่องไตรลักษณ์... เห็นไหม
แสดงว่า ! ธรรมดาของจิตนี่นะ คนมีบารมี คนมีหลักมีเกณฑ์ มันฟังสิ่งใดแล้วมันเอามาชั่งเอามาไตร่ตรอง ไม่ใช่ฟังแล้วเชื่อ ถ้าฟังแล้วเชื่อไปเลย มันไม่ไตร่ตรองนะ มันก็เป็นประโยชน์กับเขา แต่พอมันไตร่ตรองขึ้นมา แสดงว่าจิตนี้มีความลึกซึ้ง ไม่ตื้นเขินจนเกินไป ถ้าจิตมันตื้นเขินนะ แล้วมันรับรู้แต่เรื่องสามัญสำนึก เรื่องของทางโลก
โลกกับธรรม ทำไมครูบาอาจารย์ หรือในพระไตรปิฎกก็บอกมีโลกกับธรรม โลกกับธรรมตลอด
โลกคือโลก.. ธรรมคือธรรม
โลกคือโลก.. โลกคือวิทยาศาสตร์ โลกคือความรับรู้ โลกคือทางวิชาการที่เราจะสามารถรู้ได้ ถ้ารู้ได้นะ โธ่ ! ๙ ประโยคนะ สังคมเราไทยเรา ครูบาอาจารย์ท่านจบ ๙ ประโยคทั้งนั้นล่ะ ไปถามเรื่องธรรมะสิ ๙ ประโยคนี่ไปถามหลวงปู่ฝั้น นี่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังมา ๙ ประโยคเป็นเลขาฯ ของภาค.. เป็นเลขาฯ ของเจ้าคณะภาคไปกราบหลวงปู่ฝั้น บอกว่า
ผมนี่นะธรรมะพระพุทธเจ้ารู้หมด ทุกอย่างรู้หมดแหละ แม้แต่พระพุทธเจ้าสอนพระสารีบุตรอย่างไร สอนพระโมคคัลลานะอย่างไร สอนแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน ทางวิชาการนี่สอนไม่เหมือนกัน แล้วผมอยากปฏิบัติจะให้ทำอย่างไรล่ะ
นี่ไม่รู้จะเอาแบบใครไง หลวงปู่ฝั้นท่าน ๙ ประโยคที่ไหน ท่านไม่ได้เรียนบาลีเลย ท่านบอกว่า ทุกข์อยู่ไหนล่ะ ! นี่คนเป็น บอกว่า ทุกข์อยู่ไหนล่ะ ! ความรู้สึกเราอยู่ที่ไหนล่ะ ! ตรงนั้นน่ะ ! ตรงนั้น เห็นไหม
ก็เหมือนกับกรรมฐานเรานี่ล่ะ จิตอยู่ที่ไหนล่ะ ! ความรู้สึกอยู่ที่ไหนล่ะ ! นี่ตัวเองไม่รู้จักตัวเองเลย สมาธิก็ไม่รู้ ตัวเราไม่รู้จักตัวเราเลย ทำงานทั้งหมดเลยแล้วยกให้คนอื่น ทำงานมาทั้งหมดเลย บอกว่าเราไม่รับผลตอบแทน
นี่เวลาทำนะ พอจะปฏิบัติก็บอกว่า... ไม่ได้ ! ถ้าใครมีความอยากเป็นกิเลส ต้องปฏิบัติด้วยความไม่อยาก... ถ้าปฏิบัติด้วยความไม่อยากก็ท่อนไม้น่ะสิ
ปฏิบัติด้วยความอยาก แต่อยากโดยข้อเท็จจริง ไม่ได้อยากโดยกิเลส
อยากโดยข้อเท็จจริง คืออยากกระทำ อยากกระทำอยากเป็นคนดี อยากมีสติปัญญา อยากกระทำ นี่อยากโดยข้อเท็จจริง ! แต่ถ้าอยากโดยกิเลสใช่ไหม ถ้าปฏิบัติเดินจงกรม ๒ ทีจะได้เป็นพระโสดาบัน.. เดินจงกรม ๓ รอบจะได้เป็นพระสกิทาคา... เดินจงกรม ๗ รอบจะได้เป็นพระอนาคา.. เดินจงกรมวันหนึ่งจะได้เป็นพระอรหันต์...
นี่ปฏิบัติด้วยความอยาก เห็นไหม สิ่งนี้ผิด ! เพราะเราไปอยากอย่างนี้เป็น ตัณหา ซ้อนตัณหาไง โดยสามัญสำนึกของคนอยากเป็นคนดีหมดเลย ทุกคนอยากเป็นคนดีหมดเลย แล้วต่างคนก็ต่างทำความดี นึกว่าเป็นความดีของสังคม
ความดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความดีลึกตื้นหยาบละเอียดแตกต่างกัน ความดีในชนิดเดียวกันมันก็แตกต่างกัน ดูสิอย่างเช่นอาหาร เห็นไหม ดูข้าวสิ จะกินข้าวอะไรล่ะ ไอ้พวกนี้กินข้าวสวย ในหลวงบอกว่าท่านเป็นคนจน ท่านกินข้าวกล้อง ไอ้คนข้างหน้าเขาบอกว่าเขากินข้าวอะไร... นี่ไงความแตกต่างกันที่คนมันอยากได้
อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ๆ ! ไตรลักษณ์ที่เขาพูดกันนี้ มันพูดแบบประสาโลก ! ประสาโลกแบบตื้นๆ เขินๆ ไง ธรรมะตื้นเขินไง แต่เวลาเข้าสู่ในวงวิชาการ เขาว่าเขามีความรู้มากนะ เขาพูดด้วยความละเอียดอ่อนมาก ไอ้พวกพระปฏิบัตินี่พูดไม่รู้เรื่องเลย...
พูดไม่รู้เรื่องเลย มันเป็นประสา ! ประสาใจ ! ประสาความรู้สึก ! ประสาที่คนไม่รู้ไม่เห็นพูดไม่ได้ ! แต่ไอ้ที่ว่ามีปัญญาๆ มากๆ นี่มันเป็นปัญญาจำมา พอจำมามันก็เหมือนกับนี่ไง...
เพราะว่าเขาพูดมาอย่างนี้นะ เราบอกว่า อืม... เขามีความคิดดี
ส่วนเรื่องไตรลักษณ์ที่อยากจะกราบเรียนหลวงพ่อ ก็เพราะได้ยินอยู่เสมอว่า ปฏิบัติแล้วเห็นไตรลักษณ์ จนโยมรู้สึกว่า การปฏิบัติจนเห็นไตรลักษณ์นั้น มันง่ายขนาดนี้เชียวหรือ
นี่เขาเขียนมานะ ว่า การปฏิบัติจนเห็นไตรลักษณ์นี้ มันง่ายขนาดนี้เชียวหรือ เพราะทุกอย่างก็เป็นสามัญลักษณะ เกิดขึ้น... ตั้งอยู่.. และดับไป.. เป็นปกติอยู่เช่นนั้นอยู่แล้ว จึงกราบเรียนถามว่า เพื่อขอเป็นความรู้ด้วยเถอะเจ้าค่ะ
นี่ความเห็นของเขา เพราะว่าเขาไม่เชื่อ ทีนี้ความเป็นไปมันก็เป็นไปอย่างนั้น นี่เราบอกว่า สังคมตื้นเขิน แล้วเวลาครูบาอาจารย์เรานะ ความจริงเวลาเราปฏิบัติแล้ว เราพยายามจะระลึกถึงความรู้สึกของครูบาอาจารย์เราที่ท่านปฏิบัติมา
เหมือนเราปฏิบัติมา แล้วเราจะพูดออกไป มันเหมือน.. กระแสสังคมเขามีความเชื่อถือ เขามีความยึดมั่นถือมั่นว่า ต้องพุทธพจน์ ต้องมีหลักเกณฑ์ ต้องเป็นอย่างนี้ แล้วพอครูบาอาจารย์เราท่านปฏิบัติไป ก็หลักเกณฑ์อันนี้แหละ แต่พอเราปฏิบัติไปมันไปมีความรู้ความเข้าใจ ไปมีความเห็นที่ลึกซึ้งแล้วแตกต่าง แตกต่าง.. แต่มันก็หลักเกณฑ์อันนี้แหละ แต่มุมมอง เป้าหมาย วิธีการ มันคนละเป้าหมาย
เป้าหมายเพื่อรู้.. แล้วไม่รู้ธรรมดานะ รู้เสร็จแล้วขังตัวเองไว้ด้วยนะ ขยับไม่ได้.. เพราะขยับแล้วมันผิดจากพุทธพจน์ ผิดจากสิ่งที่เราศึกษา มันก็เลย...
นี่ไง ที่หลวงปู่มั่นบอกว่า ถ้าศึกษามาแล้วไม่เอาเข้าลิ้นชักไว้ก่อน มันจะไปเตะจะถีบกัน มันเลยทำให้เราปฏิบัติไปไม่ได้ไง แต่ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วนะ เวลามันตกเหว ตกที่ลึก เวลามันจะเกิดความว่าง เกิดความเวิ้งว้าง เกิดอะไร.. ทุ่มเข้าไปเลย ! ไม่ต้องไปกลัวมัน แล้วเดี๋ยวมันจะรู้เอง มันจะอิ่มเต็มอย่างไร
แต่ไอ้นี่.. พอมันจะตกเหว ตกที่ลึก แหม อู๋ย.. ไม่ได้ มันจะเป็นนิมิต มันจะเป็น...
คนจะทำอาหารนะ มันจะกลมกล่อมนะ ดูสิ เขาต้องปรุงรส เขาต้องชิม เขาต้อง.. อู้ฮูย กว่าผู้ที่จะทำอาหารขายจนมีชื่อเสียงล่ำลือ เขาทำมาจนชำนาญมาก
นี่มันก็มีผิดมีถูกมาทั้งนั้น เขาต้องทำของเขา ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอปฏิบัติ.. มันจะเป็นอย่างนั้นน่ะในภาคปฏิบัตินะ ฉะนั้น ถ้ามันเป็นจริงมันจะเป็นจริงอีกอย่างหนึ่ง
ถาม : ๒๓๑.พอจิตจะมีสมาธิ ก็มีอาการแข็งและหนักที่หน้าอก แทรกขึ้นมาทุกครั้ง ทำให้สมาธิเสียหาย
หลวงพ่อครับ ผมนั่งสมาธิกำหนดคำบริกรรมไปเรื่อยๆ สักครู่ใหญ่ๆ จะมีอาการเหมือนคำบริกรรมนั้นแผ่ว เหมือนกับเสียงคำบริกรรมนั้นอยู่ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ จนเสียงคำบริกรรมหายไปเลยครับ และผมรู้สึกว่าสบายดี โล่งมาก แต่ประเดี๋ยวเดียวก็เกิดอาการทางกาย คือ บริเวณหน้าอกมันหนักและแข็งมาก เหมือนกับใครเอาปูนซีเมนต์มาเทราดที่หน้าอก พร้อมกับเกิดความตกใจขึ้นมามากมาย ว่ามันเกิดอะไรกับตัวเรา แล้วสมาธิที่ตั้งใจทำก็เสียหาย ต้องกลับมาบริกรรมเหมือนตอนเริ่มนับหนึ่งใหม่เลยครับ
๑.ต้องแก้ไขอย่างไรครับ ผมอยากได้สมาธิที่สงบตั้งมั่น แบบที่ผู้ปฏิบัติคนอื่นเขาทำกันได้ครับ
หลวงพ่อ : แก้ตรงนี้ก่อน ผมอยากได้สมาธิที่สงบตั้งมั่น แบบที่ผู้ปฏิบัติคนอื่นๆ เขาทำกันครับ
เขาทำกันนั้นเป็นเรื่องของเขานะ เราทำนั้นเป็นเรื่องของเรานะ
สมบัติของเราจะเป็นของเรา ถ้าสมบัติของเรามันอยู่ที่ความสามารถ อยู่ที่อำนาจวาสนาบารมี เราทำเท่าไรก็เท่านั้น เราอย่าไปเปรียบเทียบ เห็นคนร่ำรวยนะ มีเงินทองมาก แล้วเราก็ประกอบอาชีพอยากจะร่ำรวยมีเงินทอง แล้วกว่าเราจะร่ำรวยมีเงินทองอย่างเขานะ เราทุกข์ตายเลย
เราทุกข์ตายเพราะอะไร เพราะว่ากว่าเราจะทำเงินทองเราขึ้นมานะ เขาเป็นเศรษฐีเขาก็ทำมากขึ้นไป แล้วเราก็จะแข่งกับเขานะ เราตายนะ เศรษฐีเขาจะมั่งมีศรีสุข นั่นเงินของเขา ไอ้เงินของเรามี ๕ บาท ๑๐ บาท ถ้าเราพออยู่พอกิน.. เอาแล้ว.. พอ ถ้าเรามีความพอใจของเรา เรามีความสุข
ฉะนั้นการปฏิบัตินี่มันปฏิบัติที่เรา ถ้ามันตั้งมั่น.. ๕ บาทมันก็ตั้งมั่นได้ ๕ บาทนี่เราก็สามารถที่จะดำรงชีวิตได้ เราสามารถใช้ชีวิตของเราได้ เพราะเรามีเงินต้นทุนเท่านี้ เราบริหารจัดการของเราเท่านี้ เราก็มีความสุขของเราได้เท่านี้ เขาจะมีเงินทองมากมายขนาดไหน ถ้าเขาบริหารถูกต้องดีงาม เขาก็จะมีความสุขของเขา ถ้าเขาบริหารไม่ถูกต้อง ไม่ดีงามของเขา เขาก็จะทุกข์ของเขา
เงินเขามีมากมายมหาศาลเลย แต่เงินเขา พอเขาใช้จ่ายไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ นี่เขาจะทุกข์มากเลยว่า เงินเขาขาดตกบกพร่องไป ทั้งๆ ที่เงินเขามหาศาลเลยนะ แต่พอเงินเขาใช้เล็กๆ น้อยๆ ไปแล้วเขาจะเสียดายเลยนะ เขาจะทุกข์เขาจะร้อนไปหมดเลย เห็นไหม
เขาจะมีมากมายขนาดไหน ไม่ใช่คิดว่าเขามีเงินมากมายแล้วเขาจะมีความสุขนะ เขามีเงินมากมาย.. ถ้าเขาเป็นคนดี เขารักษาของเขา เขาก็มีความสุข ถ้าเขามีเงินมากมายขนาดไหน แต่เขาบริหารไม่เป็นเขาก็มีความทุกข์ เราก็เหมือนกัน
ที่พูดแบบนี้นะ เพราะเวลาบอกว่า เห็นคนนู้นปฏิบัติดี คนนี้ปฏิบัติดี.. เพราะอย่างนี้เราถึงเป็นเหยื่อไง เขาบอกว่า คนอื่นเขาปฏิบัติแล้วดีมากเลย ต้องปฏิบัติแบบนั้น.. นี่กระแสมันเกิด ปั่นกระแสแล้วมันไปหมดเลย นี่กระแสของโลกเป็นอย่างนี้
ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ มันปฏิบัติโดยเรา ปฏิบัติเพื่อเรา ถ้ามันเป็น มันจะเป็นสมบัติของเรา ให้มันเป็นขึ้นมา ถ้ามันไม่เป็นขึ้นมาขนาดไหน เราก็ทำเรา ขนาดเราปฏิบัติเองเราก็ทุกข์อยู่แล้วใช่ไหม แล้วเรายิ่งไปเปรียบเทียบกับเศรษฐีนี่ไม่ไหวหรอก เหนื่อยตายเลย ใครจะเป็นเศรษฐีเป็นไป ! เราก็อยากจะเป็นเศรษฐีเหมือนกัน เราก็สะสมทรัพย์ของเราไป ถ้าจะเป็นเศรษฐีมันก็เป็น ถ้าไม่เป็นเราก็สะสมของเราไป ไม่ต้องไปยึด
ถ้ายึดคติอันนี้แล้วนะ เราจะปฏิบัติสบาย เราปฏิบัติแล้วเราจะไม่ต้องไปละล้าละลังไง อู้ย..คนนู้นไปสมาธิขั้นนั้นแล้วนะ อู้ฮูย..คนนู้นไปปัญญาขั้นนั้นแล้วนะ ความจริงไอ้คนที่มีสมาธิขั้นนั้น ปัญญาขั้นนั้น มันโกหกหมดล่ะ เพราะมันไม่เป็นจริง พอเราไปฟังคำโกหกมานะ แล้วใจเราก็พองเลยนะ อู้ฮู.. เขาภาวนาสมาธิขั้นนั้นแล้วนะ ไอ้สมาธินึกเอาเองน่ะ ไอ้ปัญญาก็ปัญญาขี้โม้น่ะ มันก็โม้กันไปนะ... ไอ้เราปฏิบัติจริงๆ นี่ก็ทุกข์เลยนะ เอ๊.. เราก็ปฏิบัติขนาดนี้นะ ไอ้พวกขี้โม้ทำไมมันได้ปัญญา ไอ้พวกขี้โม้ทำไมมันมีสมาธิไปหมดแล้ว
คำพูดน่ะ จะไปเชื่อใครได้ มันปัจจัตตัง มันรู้เอง ของจริงมันเกิดกับเรา !
ฉะนั้น ไม่ต้องไปเทียบเคียงใคร เอาสติของเรา แล้วเวลาจะยึดมั่น ก็ยึดมั่นครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง ถ้ายึดมั่นครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งนะ...
นั่งสมาธิกำหนดไปเรื่อยๆ สักครู่จะมีอาการเหมือนคำบริกรรมนั้นแผ่ว เหมือนเสียงคำบริกรรมนั้นอยู่ห่างไกลไปเรื่อยๆ จนเสียงบริกรรมนั้นหายไป ...นี่ตกภวังค์
ถ้าบริกรรมแผ่วเห็นไหม พอแผ่วขนาดไหนนะ ถ้าเรานึกพุทโธ ๆ นี่มันก็ชัดเจนใช่ไหม ถ้าจิตมันละเอียดนี่พุทโธมันแผ่วลงอะไรลง แต่มันก็ชัดเจน คำว่าชัดเจนนะ พุทโธชัดๆ จะบอกว่าหยาบ ก็ชัดเจน พุทโธมันละเอียดเป็นปานกลาง คำบริกรรมมันระลึกในใจ มันก็ชัดเจน พุทโธอันละเอียดจนพุทโธไม่ได้เลย คือจิตมันไม่เสวยคำบริกรรมเลยนี่.. เราก็รู้อยู่ มันจะไม่หายไป
ถ้า ห่างไกลเรื่อยๆ จนเสียงคำบริกรรมนั้นหายไป คำถามนี่มันฟ้อง มันฟ้องว่า พุทโธๆๆๆ แล้วก็เลือนหายไปหมดเลย พอหายไปนี่จิตมันนึกอะไรไม่ได้เห็นไหม อย่างที่พูดเริ่มต้นน่ะ บอกว่า ถ้าจิตมันมีหลัก เวลาลง เวลาจิตสงบจะลงสู่จิต ถ้าจิตไม่มีหลัก เวลาเราใช้ความคิด คิดหรือใช้พุทโธๆๆ จนหายไป มันหายไปอยู่ที่สุญญากาศ หายไปที่ไม่ใช่ตัวจิตไง หายไปได้แต่สภาวะแวดล้อม
ฉะนั้น ถ้าพุทโธๆๆๆ แล้วมันหายไปนี่.. พอมันหายหมดนะ จิตมันแสดงออก เพราะมันมีสติแล้วมันมีความคิด ความคิดคือขันธ์ ๕ ถ้าจิตกับขันธ์ ๕ มันสมบูรณ์ จิตเสวยอารมณ์นี่ชัดเจนมาก สามัญสำนึกที่เราคิดกันอยู่นี่ แต่เราพุทโธๆๆๆ นี่ แล้วพอมันจางไป มันหายไปนี่.. สุญญากาศ พอหายไปนี่คือตกภวังค์
ถ้าตกภวังค์อย่างนี้ เขาเรียกว่า พรหมลูกฟัก เวลาตกภวังค์นี่ก็แล้วแต่คนตกภวังค์อย่างตื้น อย่างกลาง อย่างลึก เห็นไหม
เวลามันตกตื้นๆ ก็คือชั่วคราว แต่ถ้ามันตกลึกๆ นะ มันวู๊บ ! หายเลย พอหายไปทีหนึ่ง ครึ่งวันค่อนวันเลย แล้วมันจะมานี่มันสะดุ้งตื่น นี่อย่างนี้มันลงลึกไง พอลงลึกนี่เห็นไหม พอตกภวังค์ไปทีครึ่งวันค่อนวัน คนนี่นะ นั่งหลับครึ่งวันค่อนวันได้ไหม ทุกคนนั่งไม่ได้หรอก เราจะบอกว่านี่คือมิจฉาสมาธิ
ที่เขาบอกว่า เวลาเข้าฌานๆ จะไปเกิดพรหมลูกฟัก... โกหกทั้งนั้น ! พรหมลูกฟักมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่เวลามันลงภวังค์นี่ แล้วมันหายไปเลย แต่นั่งอยู่อย่างนี้แล้วหายไปเลย แล้วเวลามานี่เหมือนสะดุ้งตื่น... ถ้าคนไม่สำนึกตัวเอง จะคิดว่านี่เป็นสมาธิ
บางคน.. ไม่ใช่บางคน เรานี่แหละ เราเคยเป็นอย่างนี้ นั่งทีนี่หายวูบไปหลายๆ ชั่วโมงเลย ใหม่ๆ ก็คิดว่าเป็นสมาธิ แต่พอเรามาจับได้เองว่า นี่ไม่ใช่สมาธิก็แก้ นี่พรหมลูกฟัก
อันนี้อันหนึ่งนะ แต่จะทำอย่างไรต่อไป.. พอเสร็จแล้วมีอาการแข็งขึ้นมา เจ็บหน้าอกอะไรต่างๆ นี่ ไอ้นี่พอมันวูบหายไป..แล้วพอมันมาอย่างนี้ ไอ้อย่างนี้มันเป็นกรรมของจิต คำว่าพฤติกรรมของจิตแต่ละอันมันไม่เหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่เหมือนกัน อันนี้มันเป็นเวรเป็นกรรม มันไม่เกี่ยวกับการที่หายไป การที่ตกภวังค์
ทีนี้พอมันเป็นอย่างนี้ปั๊บนี่ เราก็กลับมาพุทโธใหม่ แล้วแก้ไขใหม่ แต่พอสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรก จิตมันซับ จิตรับรู้ไว้ พอจิตรับรู้ไว้มันจะเกิดซ้ำๆ มันเหมือนกับความลับ ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย เราสบายใจนะ แต่วันไหนเขามาบอกความลับเอาไว้นะ หนักอกมากเลย อื้อฮือ... รู้แล้วมันไม่รู้จะพูดกับใคร
จิต ! พอมันไปรับรู้ความแข็ง รับรู้สิ่งที่มันวูบวาบ แล้วมันจะฝังไว้ที่ใจ มันรู้ความลับแล้ว พอรู้ความลับ เวลามีสิ่งใดเกิดขึ้นไอ้นี่มันจะแสดงออกมาก่อน นี่ไงที่เราบอก แผ่นเสียงตกร่องๆ พออาการอย่างนี้เกิดขึ้นปั๊บ มันจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะเกิดอย่างนี้ซ้ำๆๆๆ
พอจิตมันเกิดอาการอย่างนี้ปั๊บนี่ มันก็ฝังใจ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ไม่ชอบนะ แต่ฝังใจ แล้วพอถึงตรงนั้นมันจะเป็นอย่างนี้เลยๆ แล้วถ้ามันจะเป็นไป ค่อยๆ พุทโธๆๆ ไป ใช้อานาปานสติ หรือกำหนดสิ่งใดก็แล้วแต่ ให้กำหนดไป มันจะค่อยๆ จางไปๆ
จิตนี่... ยางเหนียว ตัณหา มันก็ไปจับอารมณ์ใหม่ๆๆ ตลอดไป แล้วอารมณ์ใหม่อย่างนี้เราก็ค่อยๆ รักษาไปๆ นี่หญ้าปากคอก การภาวนาที่จะเป็นสมาธิยาก เพราะยากตรงนี้ไง ยากเพราะว่าเวรกรรมของคน จิตของคนมันไม่เหมือนกัน
คนที่มันซับอะไรมา ที่มันยึดมั่นถือมั่นของคนไม่เหมือนกัน แล้วค่อยๆ แก้ไปทีละเปราะๆ แล้วพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะลงของมันไปเอง ถ้าลงไปเองเห็นไหม นี่สัมมาสมาธิ ..แล้วเราก็ไม่ไปเปรียบเทียบ
ต้องแก้ไขอย่างไรครับ
พุทโธมันห่างไปเรื่อยๆ... มันจะห่างหรือมันจะใกล้นี่.. เราจะบอกว่ามันเป็นอุปาทานน่ะ จะห่างจะไกลนี่ให้เราชัดไว้ เรากำหนดพุทโธไว้ชัดๆ มันจะละเอียดก็ชัดที่ละเอียด มันจะหยาบก็ชัดที่หยาบ คำว่าชัดคือว่าสติพร้อม ถ้าคำว่าชัดนี่คือสติดี ถ้าไม่ชัดคือสติเริ่มจางลงแล้ว ถ้าสติไม่ดีนี่คำบริกรรมจะเริ่มจางลงๆ แล้วหายไป
คำว่าชัดๆ เขาจะว่ามันหยาบ.. ไม่หยาบ !
ถ้าพุทโธชัดๆ ไว้ แล้วถ้ามันจะละเอียดมันจะละเอียดโดยจิต ไม่ใช่ละเอียดโดยคำบริกรรม จิตมันจะละเอียดเขาไป คำบริกรรมนี่จะชัดๆๆๆ
เหมือนกับเราทำงานด้วยความชัด ด้วยสติชัดเจนอย่างนี้ งานนั้นไม่เสีย แต่ถ้าเราทำงานโดยที่ว่าเผลอ คำบริกรรมก็จางไป ตกภวังค์หมด ฉะนั้นให้พุทโธชัดๆ มันจะละเอียดหรือหยาบให้มันพุทโธตลอดไป อันนี้คำบริกรรมพุทโธนะ
แต่สำหรับที่ว่า เรากำหนดกาย พอเรากำหนดกายแล้วนี่ เราจะรู้เห็นสิ่งใดก็แล้วแต่ คำบริกรรมพุทโธนี่มันเป็นหลัก แต่คนเราปฏิบัตินี่มันมีแตกต่างหลากหลาย ถ้าแตกต่างเห็นไหม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ครูบาอาจารย์บางองค์ก็เอามาใช้เป็นคำบริกรรม
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ คิดถึงเส้นผม เส้นขน หนัง เล็บ เราคิดอย่างนี้เห็นไหม มันก็เป็นคำบริกรรมเหมือนกัน ที่ว่าบริกรรมยุบหนอ พองหนอได้ไหม บริกรรมสิ่งใดได้ไหม แม้แต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง... ขนก็เอามาบริกรรมได้ หนังก็เอามาบริกรรมได้ หนังๆๆๆ หนังคน หนังสัตว์ หนังๆๆๆๆๆ ถ้าจิตมันลงมันจะเห็นนะ มันจะเห็นสภาวะเป็นขน เป็นรูขุมขน ถ้าจิตมันดีนะมันจะขยับ
เห็นไหม นี่เราบริกรรมได้ทั้งนั้นน่ะ ทีนี้คำว่าบริกรรม ถ้าเราตั้งใจว่าเป็นคำบริกรรม ถ้าบริกรรม ผม ขน เล็บ ฟันหนัง มันก็เป็นคำบริกรรม
ถ้าคำบริกรรมแล้วจิตละเอียดเข้ามา มันจะรับรู้สิ่งใด ให้มันรับรู้ ถ้ามันไม่รับรู้ ต้องมีคำบริกรรมไว้ ถ้าบริกรรมไว้มันจะรับรู้สิ่งใด คำว่ารับรู้นะ.. เรานั่งอยู่อย่างนี้นะ เราไม่รู้หรอกว่าในอากาศมีเชื้อโรคอะไรบ้าง แต่ถ้าเขาพิสูจน์แล้วว่าในอากาศมีสารพิษไหม มีสิ่งต่างๆ ไหม เขาจะมีอุณหภูมิ หรือเครื่องวัดกรองอากาศได้
ความรู้สึกของจิต จิตถ้ามันมีคำบริกรรม จิตถ้ามันเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเห็นไหม ความละเอียดของมัน ความรับรู้ของมัน มันจะชัดเจนของมัน ถ้ามันจะรู้จะเห็นในสิ่งใดของมัน มันจะรู้จะเห็นนะ แต่ถ้า ! มันไม่รู้ไม่เห็น.. เราไม่ต้องการรู้เห็นน่ะ เราต้องการกำหนดให้เอากายนี่ ให้จิตให้มันเกาะกาย ให้มันเกาะผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไว้ ถ้ามันเกาะผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไว้นี่ เราไม่ต้องการผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราต้องการความสงบของจิต !
เราต้องการให้จิตนี้สงบ แต่จิตนี้มันสงบไม่ได้ จิตนี้มันไม่มีที่พึ่ง จิตนี้เป็นนามธรรม จิตนี้ไม่มีที่เกาะเกี่ยว มันแผ่ซ่านไปหมดเห็นไหม เราถึงได้บังคับให้มันคิดถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราบังคับให้มันคิดถึงกระดูก คิดถึงสิ่งใดๆ ให้มันคิดอยู่อย่างนั้น ถ้ามันคิดอยู่คือมันเกาะ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันจะรู้มันจะเห็นของมัน แล้วเห็นอะไร เห็นสิ่งใด เห็นโดยปัจจุบันเห็นไหม
ถ้ามันชัดเจนขึ้นมา เพราะว่าจิตมันมีกำลัง ถ้าจิตไม่มีกำลัง เราก็ให้เห็นสิ่งที่เราคิด เราคิดถึง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้ชัดๆ ! ชัดๆ !
คำว่าชัดๆ นะ โดยหลัก เวลาเราบอกว่าพุทโธชัดๆ ! ลมชัดๆ ! ผมขนเล็บฟันหนังชัดๆ ! ชัดๆ คือ สติดี ชัดๆ คือ ความสมบูรณ์
แต่ถ้ามันไม่สมบูรณ์นี่มันจะเบลอ มันจะไม่ชัดเจน นั่นน่ะสติเริ่มอ่อนแล้ว สติเริ่มแปรปรวนแล้ว ถ้าสติเริ่มแปรปรวนแล้วนะ การปฏิบัตินั้น.. สักแต่ว่าทำ
สักแต่ว่าทำ... มันก็หุ่นยนต์ไง หุ่นยนต์มันทำโดยความไม่รู้ มันไม่มีชีวิตไง นี่ทำสักแต่ว่าทำ คิดว่าปฏิบัติทีแรกก็ชัดๆ เริ่มต้นนะแหม ชัดๆ เหมือนกับเขาแข่งกีฬาเลย ผิดลู่วิ่งเขาปรับฟาล์ว วิ่งแข่งนะ ถ้าไปวิ่งเข้าลู่คนอื่นเขาปรับฟาล์ว
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ทีแรกก็ชัดๆ อยู่ในลู่ของตัวเองน่ะ พอวิ่ง พอพุทโธๆๆ ไปน่ะมันแกว่งแล้ว เข้าไปลู่นั้นเข้าไปลู่นี้ ปรับฟาล์วหมด แพ้หมด ไม่เข้าสมาธิ !!
ฉะนั้น ชัดๆ ! พุทโธชัดๆ ! ลมชัดๆ ! เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจชัดๆ ! ถ้ามีสติตามความคิดก็คิดชัดๆ ! คิดไปเลย ความคิดเรานี่เอาสติปัญญาตามไป
โดยหลักเป็นแค่นี้เอง แต่ในการอธิบายนะ เราอธิบายให้พระฟังน่ะ พระมาถามปัญหาเยอะมาก เวลาฉันน้ำร้อนน่ะ พอใครถามมาก็ พุทโธ ชัดๆ ! จนพระมันคงจะบอกว่า หลวงพ่อนี่คงจะบ้าแล้วล่ะ อะไรก็พุทโธชัดๆ ! พุทโธชัดๆ !
เราบอกว่าพุทโธชัดๆ ! น่ะคือโดยสรุป แต่ถ้าจะให้อธิบายนี่ อธิบายทั้งวัน ทำไมต้องพุทโธ ถ้าไม่พุทโธชัดๆ เห็นไหม ความคิดกึ่ง แต่เราต้องการให้ความคิดหนึ่ง พุทโธชัดๆ คือความคิดหนึ่ง ความคิดหนึ่งนี้เกิดจากจิต ถ้าจิตไม่มีพลังงานคิดไม่ได้ คนนอนหลับก็คิดไม่ได้ คนไม่มีสติก็คิดไม่ได้ แล้วคนที่ไม่ตั้งใจคิด มันก็คิดแบบฟุ้งซ่าน คิดแบบไม่ชัดเจน
แต่คำว่าชัดๆ นี่คือมันตัดสิ่งที่ว่า เราวิ่งออกนอกลู่ หรือเราคิดแลบ ถ้าเราไม่ชัดนี่นะมันแลบอยู่แล้ว ถ้าพุทโธไม่ชัด มันจะคิดเรื่องอื่น คิดไปคิดมาเห็นไหม ถ้าจะอธิบายมันอธิบายได้อีกครึ่งวันเลยล่ะ แต่มันขี้เกียจอธิบาย มันเบื่อ... ถ้าอย่างนั้นใครมาถามก็.. ชัดๆ ชัดๆ
ชัดๆ คือ สติพร้อม !
เดี๋ยวนี้ลูกศิษย์มันจะบอก สงสัยต้องจับส่งโรงพยาบาล.. หลวงพ่อเนี่ย.. พุทโธชัดๆ ! ตอบอยู่คำเดียว พุทโธชัดๆ !
ตอบอยู่คำเดียวเพราะอะไรรู้ไหม เพราะคนปฏิบัตินะ เริ่มต้นจากจุดนี้ การเริ่มต้น การสตาร์ทออกจากการปฏิบัติไป เริ่มต้นมันเป็นอย่างนี้หมด เหมือนกับเด็กฝึกหัดงาน เริ่มต้นจากการมีสติปัญญา ก็เท่านั้นน่ะ แล้วพอมันมีอาการเปรียบเทียบ มีอาการที่มันเป็นไปน่ะ มันเป็นไปอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าการเป็นไปนี้มันก็แล้วแต่จริต จริตของคนเป็นอย่างนี้ๆ เราก็แก้ไปทีละบุคคล คนนี้เกิดอย่างไร.. คนนี้เห็นอย่างไร.. คนนี้เป็นอย่างใด.. คนนี้ตกใจอย่างไร.. คนนี้ลงลึกอย่างไร.. แก้ตามอาการนั้น
อาการนี้เกิดขึ้นจากพุทโธชัดๆ ถ้าพุทโธไม่ชัดๆ อาการอย่างนี้ไม่เกิด มันจะเกิดแต่สามัญสำนึก เกิดแต่ความรู้สึก เกิดแต่ความคิดเห็นของเรา ไม่เกิดจากจิต ! อาการอย่างนี้เกิดจากจิต แต่ถ้าอาการสามัญปกตินี่เราจะคิดโดยสมอง คิดโดยสามัญสำนึกของเรา แต่พอจิตมันเริ่มสงบ จิตมันมีอาการเปลี่ยนแปลง นี่เห็นไหม มันรู้จักจิต
พอรู้จักจิตมันจะมีอาการที่ว่าวูบ ที่ว่าตกใจ อาการต่างๆ เราจะตกใจอะไร นั่งอยู่ใครจะตกใจอะไร ไม่ตกใจหรอก ! แต่ถ้าจิตมันไปเห็นของมัน มันจะตกใจ ตกใจเพราะอะไร ตกใจเพราะมีคำบริกรรมมาไง ตกใจเพราะมีการปฏิบัติมาไง มันมีการเปลี่ยนแปลงของใจมาไง
นี่ไง เวลาคำถาม มันเห็นอย่างนู้น เห็นอย่างนี้... มันเห็นเพราะอะไร แต่ถ้ามันเห็นเพราะหนังสือนะ คำถามเยอะมากที่ถามจากหนังสือน่ะ ก็รู้ เขียนหนังสือมาถาม จะเอาหนังสือตอบ ส่งหนังสือไปให้ ให้จบ แต่ถ้ามันภาวนามานี่มันจะบอกอาการ นี่คือเปลี่ยนแปลง แล้วอาการอย่างนี้ โดยกรรมฐานนะ เขาจะบอกว่า หลวงพ่อตอบทำไมเนี่ย มันเรื่องพื้นฐานทั้งนั้นเลยน่ะ หลวงพ่อไม่เหนื่อยตายห่าหรอ
เหนื่อย... เหนื่อยมาก...
แต่เพราะว่าคนถามมานี่ เพราะเขาก็ต้องการที่พึ่ง เขาก็ต้องการความมั่นใจ เราก็ตอบเพื่อความมั่นใจเท่านั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ด้วยกันนะ จะรู้เลย ไอ้นี่มันปัญหาพื้นๆ เหมือนกับคนไม่ได้ป่วย ไม่ได้เป็นอะไรเลย แต่เข้าใจว่าป่วย กลัวตัวเองจะป่วยเท่านั้นเอง แต่มันยังไม่ได้ป่วย
คือตัวเองยังไม่ได้ป่วยเลย แล้วหมอจะไปรักษาอะไร หมอจะรักษาคนไม่ป่วยหรอ นี่ปฏิบัติยังไม่มีอะไรเลย แล้วจะไปตอบอะไรล่ะ ก็ตอบเพื่อความมั่นใจ ให้เขามั่นใจเท่านั้น! เอวัง