ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ผลของบุญ

๒ ต.ค. ๒๕๕๓

 

ผลของบุญ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๒๓๒. เรื่อง “ความเข้าใจในการทำบุญ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ หลวงพ่อคะถ้าเราไม่ได้ทำบุญด้วยตัวเอง เช่น งานบุญใหญ่ที่วัดหลวงตา เราจะได้บุญน้อยกว่าตั้งใจไปทำบุญด้วยตัวเองหรือเปล่าคะ นอกจากความเพียรชอบ เดินทางกับไม่เดินทางไปนั้นมีอะไรแตกต่างกัน ถ้าใจเราเต็มใจจะทำบุญเท่ากัน ระยะหลังโยมมักจะโอนเงินผ่านธนาคารไปค่ะ มีคนมาทักแล้วจิตตกเลยค่ะ ขอหลวงพ่อเมตตาตอบให้หายข้องใจด้วย

ทำบุญกับพระเท่านั้น ญาติที่ตายไปถึงจะได้บุญใช่ไหมคะ และเมื่อจะทำทานให้คนทั่วไปล่ะ เราอุทิศบุญจากคุณงามความดีของเราไปด้วยไหม ทำไมการอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและเจ้ากรรมนายเวร จึงต้องนิยมใช้ผ้าขาวให้หลวงตาท่านพิจารณาเจ้าคะ จะต่างกับที่เราใส่บาตรตอนเช้าแล้วอุทิศบุญหรือไม่

คำถามเหล่านี้ อยากให้หลวงพ่อเมตตาพิจารณาตอบ แต่อาจจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนน้อย ก็เอาไว้คิวหลังได้นะคะ

 

หลวงพ่อ : “เกิดประโยชน์กับคนส่วนน้อย” พูดถึงนี่คนคิดอย่างนี้มากเรื่องการทำบุญ ว่าฝากไปทำบุญแล้วจะได้บุญไหม แล้วไปทำบุญด้วยตัวเองแตกต่างกันอย่างไร แต่ถ้าไม่ทำบุญนะ อยู่กับโลก อยู่กับสงสาร อยู่กับชีวิตปกตินี่ไม่เคยถามอะไรเลย เพราะมันไม่มีประเด็น แต่พอจะทำบุญขึ้นมานี่ กลัวจะไม่ได้บุญ กลัวไปหมดเลย

ฉะนั้นเราบอกว่า ไปทำบุญเองกับโอนธนาคารนี่มันแตกต่างกันอย่างใด… ไปทำบุญเองนี่มันก็ได้บรรยากาศ ไปทำบุญเอง เห็นไหม มันเหมือนสมัยพุทธกาลไง นี่สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มันมีในพระไตรปิฎก จำชื่อไม่ได้เป็นลูกกษัตริย์หรือไงนี่แหละ

กษัตริย์นี้เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่ แล้วอังคาสภิกษุด้วยมือ.. อังคาสคือว่าประเคนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกวัน แล้วทีนี้ลูกชายออกศึก ไปทำศึกกลับมา พอเวลาชนะศึกกลับมา พ่อให้พรว่าขออะไรก็ได้อย่างหนึ่ง ลูกชายก็ขออย่างเดียว คือขอให้ได้ถวายทาน ให้ได้ประเคนพระพุทธเจ้า ให้อังคาสพระพุทธเจ้าแค่ ๗ วัน

คือเขาแย่งกันขนาดนั้นนะ อังคาสภิกษุด้วยมือ.. เพราะถวายของกับพระพุทธเจ้านี่มันได้บุญมากไง แล้วโอกาสมันมีน้อยไง ดูสิ ดูในพระไตรปิฎก ทุคตะเข็ญใจไปนิมนต์พระพุทธเจ้าไปฉันที่บ้าน แล้วพอกษัตริย์รู้ก็ไปขอ ไปขอกับทุคตะเข็ญใจนั้นไง บอกว่าที่นิมนต์นี่ขอได้ไหม กษัตริย์อยากจะถวายทานพระพุทธเจ้าเอง ขอให้เงินกี่กหาปณะ ให้เงินกี่แสน โอ้โฮ.. ให้เงินมหาศาลเลยนะ ทุคตะเข็ญใจนั้นไม่ยอม ไม่เอา คนจนนะเงินนี่มีค่ามหาศาลเลยนะ ให้เท่าไหร่ก็ไม่เอา เพราะใจมันมั่นคง เห็นไหม

นี่พูดถึงอังคาสภิกษุด้วยมือของเราเอง มันได้บุญกุศลอย่างนี้ อังคาสภิกษุด้วยมือของเราเองนะ ทีนี้การไปทำบุญ ถ้าเราทำบุญเอง นี่เราไปทำบุญเองเราก็เห็น แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเจริญ เห็นไหม เราโอนไปๆ

นี่เราจะพูดอย่างนี้ ! จะบอกว่าเท่ากันไหม นี่มันเท่ากันไม่ได้หรอก.. เราทำในบรรยากาศ เราไปเห็นในบรรยากาศนั้น เราทำบุญด้วยความสดชื่นแจ่มใส ความซับบรรยากาศนั้นมันก็เป็นเรื่องหนึ่งแล้ว บุญที่พอซับบรรยากาศนั้นน่ะใจนะ ! ใจของเรา

ปฏิคาหก.. ผู้ให้ ให้ด้วยความแช่มชื่น ด้วยความสดชื่นต่างๆ นี่มันเพิ่มตรงนี้ขึ้นมา แต่ทีนี้พอเราโอนไปนี่เราเห็นแต่เครื่องเอทีเอ็มไง เราเห็นแต่เครื่องไปรษณีย์ เราโอนที่นั่นไง มันก็เป็นเรื่องปกติใช่ไหม แต่มันได้บุญไหม..ได้ แต่ว่ามันเหมือนกันไหม.. เราว่าไม่เหมือน.. ไม่เหมือนแต่ ! แต่ถ้าจิตใจเรามั่นคงใช่ไหม เวลาเราคิดถึงองค์หลวงตา คิดถึงครูบาอาจารย์ของเรา เราโอนด้วยความชุ่มชื่นแจ่มใสก็ได้ เราจะบอกว่ามันอยู่ที่เราไง !

ฉะนั้นเราบอกว่า พอคนทักนี่จิตตกหมดเลย... แล้วไอ้คนทักมันใครล่ะ คนทักมันมีความรู้แค่ไหน เวลามันแห่แหนกันไปนะ ตอนเราอยู่บ้านตาด เห็นไหม เวลาคนมาทำบุญมากๆ นี่ทุกคนก็อยากจะใส่บาตรหลวงตา แล้วหลวงตาที่ท่านไม่รับบาตรเพราะท่านบอกว่า ท่านถ่ายบาตรวันหนึ่ง ๓๐๐-๔๐๐ ครั้ง สุดท้ายแล้วพวกเรานะเอากะละมังมาตั้งไว้ แล้วให้คนขึ้นมานี่เอามาใส่กะละมังนั้น.. ใส่กะละมังนั้น แล้วเรายกกะละมังนั้นถวายหลวงตา หลวงตาหยิบจากกะละมังนั้นทีเดียว เห็นไหม

มันต้องมีเทคนิคใช่ไหม เพื่อให้ทุกคนได้มีสิทธิเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิทำบุญเหมือนกัน เห็นไหม เอากะละมังมาตั้งไว้ ทุกคนก็เอามาใส่กะละมังนั้น.. ใส่กะละมังนั้น จนกะละมังนั้นพูนเลย แล้วเรายกกะละมังนั้นถวายหลวงตา หลวงตาก็หยิบจากกะละมังนั้นใส่บาตร เห็นไหมเมื่อก่อนนะ...

ถ้าเราว่าเป็นวิทยาศาสตร์ใช่ไหม ทุกคนต้องมีสิทธิเสมอภาค ทุกคนต้องได้ใส่บาตรหมด แล้วคน ๖๐ ล้านคน เช้าขึ้นมาต้องรับบาตรคน ๖๐ ล้านคนนี่หน้ามืดเลย บางอย่างมันเป็นไปไม่ได้ ! เรื่องวัตถุนี่มันกองไว้ เห็นไหม เราไม่มีโกดัง ต้องสร้างโกดังเก็บวัตถุ ทำโกดังสินค้าต่างๆ เก็บวัตถุ

แต่โกดังเก็บความคิดไม่มี.. โกดังเก็บบุญกุศลคนไม่มี บุญกุศลของคนมหาศาลเป็นนามธรรมมันกว้างขวางใหญ่โตมหาศาลเลย แต่มันอยู่ในหัวใจของสัตว์โลกได้

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราทำบุญของเราแล้ว เราจะคิดเป็นวิทยาศาสตร์ไง ไอ้คนที่บอกว่า “ต้องไปทำเอง.. ต้องทุกอย่างเอง”

ถ้าต้องทุกอย่างเอง อย่างที่อังคาสองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยมือนี่เราก็เห็นด้วย ! เห็นด้วย ถ้า ! ถ้ามันมีโอกาส ถ้ามันเป็นไปได้ทุกคนก็อยากทำ แต่ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ ทุกคนมันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม ระยะทาง แล้วอย่างเช่นคนพิการ คนที่ไม่มีโอกาสออกจากบ้านได้อย่างนี้ เขาจะไม่มีโอกาสได้ทำบุญเลยเหรอ เขาก็มีโอกาสของเขา

เราจะบอกว่า.. มันเป็นบุญเป็นกรรม เป็นวาระ.. เห็นไหม อย่างเช่นตอนนี้ทุกคนมาทำบุญได้หมดเลย อู้ฮู.. ร่างกายนี่แข็งแรง ไปได้หมดเลย พออีกหน่อยมันชราภาพ อีกหน่อยมาไม่ได้ คลานมาไม่ไหว แล้วจะทำอย่างไรล่ะ นี่มันเป็นโอกาสของคนไง ช่วงนี้เราทำได้เราต้องรีบทำ เห็นไหม เขาถึงบอกว่าการปฏิบัตินี้ ถ้ายังหนุ่มยังแน่นอยู่นี่เราต้องรีบปฏิบัติ เวลาแก่เฒ่าเข้าไปแล้วนะ วันหลังจะคลานมาปฏิบัตินะ เวลาคลานมาปฏิบัติมันก็ปฏิบัติไม่ได้

เราจะบอกว่าโดยหลักมันเป็นอย่างนั้น แต่โดยเวรโดยกรรมนี่เราโอนก็ได้ ถ้าเราไม่มีโอกาส เราโอนเงินไปทำบุญดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย เราโอนไปทำบุญนี่เราก็รู้เราก็เห็นใช่ไหม เช่น ปัจจุบันนี้โอนเงินไปทำบุญเลยเวลาเปิดโลกธาตุไง แล้วก็เปิดทีวีดูถ่ายทอดสด เราก็เห็นไง เราดูถ่ายทอดสดก็ได้ มันก็มีถ่ายทอดสดไง

นี่พอเขาทักแล้วจิตตกหมดเลย... เราเจตนาทำของเราก็พอแล้ว เราเจตนาทำของเรา เราทำคุณงามความดีของเรา เราทำได้เท่านี้ แต่ถ้าพูดถึงนี่เขาถามว่า “ไปเองกับไม่ไปนี่แตกต่างกันอย่างไร”

แตกต่าง ! ไปเองต้องเสียค่ารถทัวร์ ไปเองต้องเสียค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ ถ้าโอนไปมันไม่เสียค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ เห็นไหม ก็แตกต่างแล้ว ในเมื่อมีความแตกต่าง นี่ผลมันก็ต้องแตกต่าง

ถามว่าแตกต่างไหม... แตกต่าง ! แตกต่าง แต่ ! แต่ด้วยความจำเป็น คนเรามีภาระรับผิดชอบแตกต่างกัน “เราทำคุณงามความดีของเรา ด้วยคุณงามความดีของเรา” ถึงที่สุดแล้ว ใครจะมาพูดอย่างไรนี่มันเป็นเรื่องของเขาไง เราทำของเราแล้ว เราทำคุณงามความดีของเราแล้ว

เราไม่อยากจะพูดนะ อย่างเช่นเราเห็นไหม เขามาเอาทองมาฝากถวายไว้.. ฝากถวายไว้ เราก็เอาไป แต่เราไม่ถวายเองเหมือนกัน เมื่อก่อนทองคำเอาไป พวกนี้เอาไปทั้งนั้นแหละ เราไม่เคยเอาไปเลย ทองคำที่เขาให้เอาไป ก็พวกนี้เอาไป เอาไปในนามเราแต่คนอื่นเอาไปทั้งนั้นแหละ

แล้วในปัจจุบันนี้เราลัดสั้นเข้าไปใหญ่เลย เดี๋ยวนี้ไม่เอาไปเลย เดี๋ยวนี้เอาไปถวายหลวงปู่ลี เพราะหลวงปู่ลีท่านถวายทุกวัน ถ้าถวายหลวงปู่ลีแล้วมันปลอดภัย เดี๋ยวนี้ทองคำนะเราถวายหลวงปู่ลี.. แล้วหลวงปู่ลีถวายหลวงตา.. เห็นไหม ไม่ต้องอังคาสภิกษุด้วยมือ ไม่ต้องเข้าไปหาหลวงตาเลย เพราะหัวใจเรา ! หัวใจเรามั่นใจ เรามั่นใจว่าเราทำประโยชน์ของเราแล้ว

มันเหมือนเบื้องหน้ากับเบื้องหลัง ดูสิเวลาดูหนังดูละครเราเห็นแต่เบื้องหน้า เห็นแต่ดารา แต่ไอ้คนทำงานเบื้องหลังน่ะ ไอ้ที่ดาราออกมาเป็นพระเอก-นางเอกกันน่ะอู้ฮู.. กว่าจะออกมาได้นะ ไอ้พวกจัดฉาก จัดแสงนี่อู้ฮู.. มันวัดแล้ววัดอีก ไอ้เราทำงานเบื้องหลังนี่เราก็คิดว่าเราก็มีประโยชน์ไง

ฉะนั้นเราทำงานเบื้องหลังของเราก็ได้ ไม่ต้องทำงานเบื้องหน้าก็ได้ แต่ถ้าทำงานเบื้องหน้า เห็นไหม อังคาสภิกษุด้วยมือ พระเอกกับนางเอกต้องเจอกันหน้าจอ เบื้องหลังไม่ได้เลย นี่ถ้าอยู่เบื้องหลังจิตตกหมดเลย เพราะมันไม่ได้อยู่เบื้องหน้า

ฉะนั้นเราทำงานเบื้องหลังก็ได้ ถ้าเราต้องออกเบื้องหน้าเราก็ทำได้ แต่เราทำเบื้องหลัง... คนทำงานเบื้องหลังนี่อาชีพมั่นคงนะ มั่นคงกว่าเบื้องหน้า เบื้องหน้านี่ถ้าวูบวาบนะ เดี๋ยวก็หลุดไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน “เราเอาความจริงของเราดีกว่า”

ฉะนั้นถ้ามันไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร ไม่เท่ากันเห็นไหม ทำงานเบื้องหน้าได้เงินมาก เพราะว่าเวลาค่าแสดงสูงมาก แต่ถ้าทำงานเบื้องหลัง เราเป็นเจ้าของกิจการนั้นเลยนะ เราได้มากกว่าเขาอีก.. เราได้มากกว่า แต่มันอยู่ที่ว่ากิจการนั้นจะขึ้นหรือไม่ขึ้น ดีหรือไม่ดี นี่เจ้าของกิจการผู้อยู่เบื้องหลัง เบื้องหน้าคือผู้แสดงเท่านั้น

ฉะนั้นการกระทำ.. นี่พูดถึงโลกใช่ไหม เพราะปัญหานี้คนถามบ่อย คนถามบ่อยมากเลยว่า “นี่เวลาไปทำบุญที่บ้านตาดกับฝากไปนี่ได้บุญเท่ากันไหม... บุญเท่ากันไหม” ถามเยอะมากเลย... ไม่เท่ากัน ! ไม่เท่ากัน แต่เป็นบุญเหมือนกัน ! เราทำได้เท่านี้ด้วยความจำเป็นของเรา เท่านี้ก็คือเท่านี้ ไม่ต้องไปคิดมาก ถ้าเรามีโอกาสไปก็ไป ไม่มีโอกาสไปก็โอนไป ดีกว่าไม่ทำ ถ้ามีโอกาสไปเราก็ไป

เวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม “ได้เห็นสมณะ” ไปถึงได้เห็นท่าน ได้เห็นสมณะก็เป็นบุญแล้ว เห็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔

“สมณะมี ๔ ประเภท ! โสดาบัน.. สกิทาคา.. อนาคา.. สิ้นสุดจนถึงอรหันต์”

ได้เห็นสมณะก็เป็นบุญอันหนึ่ง ได้ทำบุญกับสมณะนั้นแล้วยิ่งเป็นบุญอันหนึ่ง แต่นี้เราไม่ได้เห็นสมณะนั้น แต่เรามีความผูกพันกับสมณะนั้น แล้วเราโอนปัจจัย โอนเงินของเราไปทำบุญกับสมณะนั้น มันก็ได้ ! มันก็ได้ไม่เสียหายหรอก อย่าไปซีเรียสกับมัน คนเรามีความจำเป็น ไม่ต้องไปซีเรียสกับเรื่องอย่างนี้ !

 

ถาม : ทำบุญกับพระเท่านั้น ญาติที่ตายไปแล้วถึงจะได้บุญหรือเปล่าคะ แล้วเมื่อทำทานกับคนทั่วไปล่ะ จะอุทิศส่วนคุณงามความดีของเราได้ไหมคะ

หลวงพ่อ : ได้ ! ได้หมดเลย คำว่าทานในพระไตรปิฎกนะ แม้แต่เราล้างถ้วยล้างจานนี่เห็นไหม เศษอาหารที่เกิดจากถ้วยจานของเรา เวลาเราสาดออกไป พวกสัตว์พวกหนอนมันได้กินนะ นั่นก็เป็นบุญแล้ว

พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้นะ มีคนไปถามพระพุทธเจ้าว่า “บุญนี่ทำอย่างไร” ท่านบอกว่า “แม้แต่เราล้างถ้วยล้างจาน เศษอาหารของเรานี่สาดไปแล้วสัตว์มันได้กิน นั่นก็เป็นบุญแล้ว” แล้วเขาก็บอกว่า “แล้วถ้าอยากได้บุญกุศลที่มากๆ ล่ะ”

พระพุทธเจ้าบอก “ถ้าอย่างนั้น !” เห็นไหมถ้าอย่างนั้น.. “ถ้าอย่างนั้นก็เข้ามาปฏิคาหกแล้ว เขามาที่เนื้อนาบุญของโลก”

เนื้อนาบุญไง ! เราทำบุญพระเท่านั้นเหรอ ? เราทำบุญที่ไหนก็ได้ แต่นี้เพียงแต่พระพุทธศาสนานี้บอกว่า ทำบุญนะ แม้แต่เราเลี้ยงสัตว์พเนจร เลี้ยงสัตว์ต่างๆ เราให้อาหารมัน นั่นก็บุญทั้งนั้นแหละ แล้วบุญอย่างนี้มันมีความสุขไหม มันก็มีความสุข แล้วคนคิดหยาบๆ ไง ให้สัตว์ให้อะไรกินดีกว่า ดีกว่ามาให้พระ พระทำตัวเลวทราม... คนคิดอย่างนี้ก็มี ! แต่ถ้าพระดีล่ะ... ถ้าพระที่ดีนะ ให้สัตว์ก็สัตว์อย่างหนึ่ง

มีนะ เดี๋ยวนี้สังคมเขาแอนตี้.. แอนตี้พวกที่ทำตัวไม่ดี เขาจะทำบุญ เห็นไหม สร้างโรงพยาบาล สร้างต่างๆ เขาไม่ทำบุญกับพระ เพราะพระเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้ใจ นี่เดี๋ยวนี้สังคมคิดอย่างนั้นกันมาก

ฉะนั้นถ้าพูดถึงการทำบุญเพื่อคนตายจะต้องทำบุญกับพระเท่านั้นเหรอ... ทำบุญที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าเรามีพระที่เชื่อใจได้ เรามีพระที่เราไว้ใจได้ เห็นไหม “เนื้อนาบุญมันจะผลตอบสนอง”

อุทิศคุณงามความดีได้ไหม... ได้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าเวลาเขาไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้มันอยู่ในพระไตรปิฎก บอกว่า..

“ควรทำบุญที่ไหน”

“ควรทำบุญที่เธอพอใจ”

พอใจที่ไหนทำที่นั่น เห็นไหม เราพอใจกับสัตว์ พอใจกับสังคม พอใจกับคนทุกข์คนเข็ญใจ นั่นคือเขาพอใจ พอใจคือว่าอยากทำ

ถ้าเขาไม่พอใจเขาทำไม่ได้หรอก เงินในกระเป๋าเรา ถ้าเราไม่มีความพอใจ ไม่มีความคิดนี่มันจะควักจากกระเป๋าเราออกไปได้ไหม มันต้องควักออกจากกระเป๋าเราไปใช่ไหม ถ้าการจะควักออกจากกระเป๋าไป มันต้องมีความพอใจ ความพอใจคือศรัทธา !

นี่ไง ศรัทธา ! ตรงนี้สำคัญมาก พระพุทธเจ้าบอกว่าศรัทธานี่เป็นอริยทรัพย์ เพราะศรัทธาถึงดึงเราเข้าวัด เพราะศรัทธาถึงดึงเราให้ทำทุกๆ อย่างเลย

ฉะนั้นพอเรามีความศรัทธา ต่อไปเราต้องทำตรงนั้นเลย เพราะกิเลสมันร้ายมาก ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องกิเลส ทีนี้พอมันเคยทำเคยต่างๆ ไป ก็ถามว่า

“ควรทำบุญที่ไหน”

“ควรทำบุญที่เธอพอใจ”

“แล้วผลล่ะ ผลเป็นอย่างไร”

ผล ! ถ้าพูดถึงผลนะอีกระดับหนึ่งแล้ว เห็นไหม เนื้อนาบุญ ! ถ้าเนื้อนาบุญที่ดี.. “นี่ทำบุญตั้งแต่ยอดเยี่ยมที่สุดคือพระพุทธเจ้า... พระปัจเจกพระพุทธเจ้า... อัครสาวก.. พระอรหันต์.. แล้วก็พระอนาคา.. พระสกิทาคา.. พระโสดาบัน.. แล้วก็พระปุถุชน”

นี่ไง ผลมันแตกต่างหมดเลย นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ

ฉะนั้นเวลาเราอุทิศให้ญาติ ใครก็อยากอุทิศให้ญาติด้วยบุญกุศลเยอะๆ ใช่ไหม ก็แสวงหากันว่าเนื้อนาบุญที่ไหน... เขาบอกเลยนะ เวลาทำบุญกับพระนี่พระเป็นไปรษณีย์ เราบอกไม่ใช่หรอก ถ้าทำบุญกับพระนี่นะทำบุญกับอริยสัจ ถ้าอริยสัจความจริงมันจะได้บุญมาก.. ถ้าอริยสัจมันไม่มีความจริงมันมีบุญน้อย.. นี่เราส่งของกับไปรษณีย์ ไปรษณีย์มันยังไม่ส่งต่อ มันคดโกงก็ได้ ไปทำบุญกับพระ พระทุศีล พระเก็บไว้กินคนเดียว พระไม่ให้ใครเลย ก็อดอีกแหละ..

นี้พูดถึงความคิดความเป็นไปนี่มันอยู่ที่เวรที่กรรม... เวรกรรมหมายถึงว่ามันเป็นความเชื่อ เราเชื่อเราพอใจอย่างนั้นไง

 

ถาม : ทำไมการอุทิศบุญกุศลให้ญาติและเจ้ากรรมนายเวร จึงนิยมใช้ผ้าขาวให้หลวงตาพิจารณา

หลวงพ่อ : คำว่าให้หลวงตาพิจารณานี่ไม่ใช่อยู่ที่ผ้าขาว ! ที่เขาให้หลวงตาพิจารณาผ้าขาว นี่เพราะเขาเชื่อใจในหลวงตา ! เพราะเขาเชื่อมั่นในหลวงตาใช่ไหม เขาถึงไปทำบุญกับหลวงตา ทีนี้พอหลวงตาท่านเป็นพระกรรมฐาน.. พระกรรมฐานนี่เขาก็ชักบังสุกุล

คำว่าชักบังสุกุลนี่ไม่ได้อยากทำบุญด้วยผ้าขาว เขาเชื่อมั่นในหลวงตาก่อน ถ้าเขาไม่เชื่อมั่นในหลวงตา เห็นไหม เขาก็ทำกับหลวงตาเท่านั้นแหละ ที่อื่นเขามีใครทำล่ะ เขาไม่เห็นทำเลย เพราะที่อื่นเขาไม่ใช้ไง ยิ่งไปทำบุญกับพระที่เขาตัดเย็บไม่เป็น อย่างนี้เราเอาผ้าขาวไปนี่เขางงนะ เอาผ้าขาวไปวางไว้นี่เขางงเลย แต่ถ้าเอาไตรจีวรที่สำเร็จแล้วไปให้เขานะเขาดีใจ เพราะว่าเขาได้ใช้เลย ถ้าเอาผ้าขาวไปนี่เขางง ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรผ้าขาวนี่ แต่ถ้าเป็นพระกรรมฐาน พระป่า เอาผ้าขาวไปนี่ ผ้าขาวเขาเอาไปตัดเย็บเป็นจีวร เป็นสังฆาฏิ แล้วแต่เนื้อผ้า... นั้นมันเป็นประเพณีที่ว่าชักผ้าสุกุล

ชักผ้าสุกุลนะ หลวงตาท่านก็แอนตี้อยู่นะ ท่านแอนตี้บอกว่า เวลาท่านตายแล้วนี่กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา นี่อย่านิมนต์พระมานะ ท่านบอกว่ามันเป็นประเพณี

มันมีในสมัยพุทธกาลไง สมัยพุทธกาลพระนิมนต์ไปฉันที่บ้าน พอนิมนต์ไปฉันที่บ้าน ไปเจอนางอะไรนะที่ว่าเป็นโสเภณี.. คือรักมากไง เห็นแล้วช็อคเลยนะ กินไม่ได้เลยล่ะ กินไม่ได้ พระสมัยโบราณเขาซื่อสัตย์นะ กลับจากบิณฑบาตมานี่เอาอาหารไว้ ด้วยหัวใจที่มันรักผู้หญิงคนนั้นมาก กินอาหารไม่ได้เลย พอกินอาหารไม่ได้แล้วพระก็ไปดู ไปดูแล้วว่ากินอาหารไม่ได้ก็ไปบอกพระพุทธเจ้า

บังเอิญผู้หญิงคนนั้นเขานิมนต์พระไปฉัน เพราะว่าเขาใกล้จะหมดอายุขัยแล้วเขาก็ตาย พอตายไปแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าอย่าเผานะ ให้เก็บไว้อย่างนั้นแหละ อย่าทำอะไรทั้งสิ้น รอจน ๗ - ๘ วันนะ แล้วก็ถามว่าพระองค์นั้นเป็นอย่างไร โอ้โฮ.. พระองค์นั้นก็ยังกินข้าวไม่ได้ รักจนกินไม่ได้นอนไม่หลับนะ พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นจะไปพิจารณาศพ พอพิจารณาศพแล้วนะก็เอาพระองค์นี้ไปด้วย

พอเอาพระองค์นี้ไปด้วยก็ประกาศเลย เพราะโสเภณีนี้ไปบอกว่าคืนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่เขาก็แบบว่าสวยมาก คืนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ แล้วก็บอกว่านี่โสเภณีคนนี้ตายแล้วนะ ตอนนี้เอาซากศพมาประมูลกัน เอ้า... ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ใครเอาบ้าง ไม่มีใครเอาเลย เพราะศพขึ้นอืดจนจะเน่าอยู่แล้ว เอ้า.. เหลือ ๙,๐๐๐ เหลือ ๘,๐๐๐ เหลือ ๗,๐๐๐ ไม่มีใครเอา ! แม้แต่กหาปณะเดียวก็ไม่มีใครเอา

พอไม่มีใครเอาก็ให้พระองค์นั้นเข้าไปดูไง ให้พระองค์นั้นไปพิจารณาซากศพไง พอพิจารณาซากศพขึ้นมานี่ ด้วยความที่รักมากที่สุด รักจนกินข้าวไม่ได้ รักจนจะเป็นจะตายเลย พอไปเจออีกทีหนึ่งมันขึ้นอืดพองขึ้นมา มันกระตุกหัวใจทันที พอกระตุกหัวใจทันที นี่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทันทีเลย พอเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทันที

นี่เหตุการณ์นี้แหละเอามาเป็นประเพณีชักผ้าบังสุกุล ที่ชักผ้าบังสุกุลนี่ก็เพราะเหตุนี้ไง เหตุที่พระไปพิจารณาศพแล้วได้เป็นพระอรหันต์ ก็เลยกลายเป็นประเพณีมา พอเป็นประเพณีมา นี่หลวงตาท่านเวลาท่านเทศน์ไง ไอ้ที่ว่า กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา ข้าว ต้ม ขนมอยู่ที่ไหนนา.. ท่านบอกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นเหรอ เราทำคุณงามความดีแล้วนี่ หลวงตาท่านแอนตี้เรื่องนี้มาก แอนตี้เรื่องประเพณี ท่านไม่ต้องการให้เราติดในประเพณี ท่านต้องการให้เข้าถึงสัจธรรม หลวงตาท่านต้องการสัจธรรม หลวงตาเป็นพระกรรมฐาน เป็นพระปฏิบัติ

ฉะนั้นทำไมการอุทิศบุญให้ญาติและเจ้ากรรมนายเวรจึงนิยมเอาผ้าขาวไปให้หลวงตาท่านพิจารณาจับ จะต่างประเภทกับเราใส่บาตรไหม... อันนี้มันเป็นเพราะความเชื่อใจ ความมั่นใจ เห็นไหม

แล้วเป็นผ้าบังสุกุลกับการใส่บาตรตอนเช้าอุทิศส่วนกุศลหรือไม่คะ... เหมือนกัน ! อุทิศบุญกุศลนะ เวลาทางทฤษฏีเขาบอกว่าอยากได้วิมานก็ต้องสร้างกุฏิ.. อยากร่ำรวยก็ต้องถวายทาน… อยากอะไรนี่เห็นไหม เราทำบุญกุศลมันก็ได้อาหาร ไอ้พวกอย่างนี้คือบุญมันจำแนกออกไป

แต่โดยหลักแล้วนี่มันอยู่ที่ขั้วหัวใจ! ทำสิ่งใดหัวใจของผู้ที่ทำแล้วนี่มันก็บุญตอบสนองกลับมาที่ใจ แต่เราพยายามจะไปแยกแยะกันไง ไปแยกแยะกันว่าทำอย่างนี้จะได้ผลอย่างนั้น ถ้าพระออกจากฌานสมาบัติ ทำแล้วจะได้บุญมาก ก็รอให้พระเข้าฌานสมาบัติแล้วก็จะรีบไปทำบุญ แล้วก็ไปโดนพระหลอกอู้ฮู.. สบายใจเลย อยากได้บุญเยอะๆ พระก็เข้าฌานสมาบัติกัน ไอ้พวกนี้ก็จะไปทำบุญกับพระที่ออกจากฌานสมาบัติแล้วจะได้บุญเยอะมหาศาล นี่มันก็ติดทฤษฏีนั้นมา

ฉะนั้นเราทำบุญเพื่อบุญ ! ทำบุญให้จิตใจผ่องแผ้ว ทำบุญให้จิตใจโล่งโถง ทำบุญแล้วนี่เราได้ฟังธรรม ทำบุญกุศล นี่มาวัดมาวาได้ถวายทานแล้วได้ฟังธรรม ธรรมอันนี้มันจะเตือนสติเรา แล้วเรามีภาวนาขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับเรา เห็นไหม เพื่อประโยชน์กับเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่มันเริ่มต้นไง เริ่มต้นจากการที่ขอ อย่างที่พระพุทธเจ้าพูดไง

“ควรจะทำบุญที่ไหน”

“ควรทำบุญที่เราพอใจ”

ตอนนี้เราพอใจ ! เราพอใจแล้วนี่สิ่งที่เขาถามมา เห็นไหม เขาบอกว่าเราทำแล้วใช่ไหม เขาก็บอกว่าทำแล้วต้องพัฒนาขึ้น ต้องดีขึ้น พอพัฒนาขึ้นดีขึ้นก็งง ว่าทำอย่างนี้ต้องได้อย่างนั้น.. ทำอย่างนั้นต้องได้อย่างนี้..

เรามีศรัทธา มีเจตนา ตัวเจตนานี้สำคัญ ตัวเจตนาคือการเปิดหัวใจ ถ้าหัวใจเปิดกว้าง สังเกตได้ไหมเวลาเราจะทำบุญ ถ้าเราชื่นใจ เรามีศรัทธาความเชื่อเราทำแล้วเราสบายใจมากเลย แต่ถ้าเราเข้าใจว่าพระองค์นี้ไม่ดี หรือเราเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้องแล้วมีคนชวนเราไป เราทำแล้วนี่เราอึดอัดไหม นี่เห็นไหม ทำบุญเหมือนกันนะ แต่ทำไมทำบุญแล้วบางทีเราอึดอัดล่ะ ทำแล้วไม่อยากทำเลย แต่ทำเพราะรักษาสถานะเพื่อนฝูง สถานะทางสังคมกันไว้ แต่ถ้าเราศรัทธาของเรานะ เราเต็มที่ของเราได้เลย

นี่เวลามันพัฒนาขึ้นมามันพัฒนาอย่างนั้น พัฒนาคือว่าถ้าเราเข้าใจ เราทำไปนี่มันทำของเราได้ สุดท้ายแล้วหลวงตาบอกว่า จะทำบุญมากน้อยขนาดไหน ถ้าไม่ได้ภาวนามันก็ไม่ถึงที่สุด เห็นไหม การทำบุญก็เหมือนเขื่อน เขื่อนมันกักเก็บน้ำไว้ ทำคุณงามความดีนี่มันกักเก็บไว้ในหัวใจ กักเก็บไว้มากน้อยแค่ไหนมันก็ใช้สอยของเขาไป มันเป็นอามิส มันเวียนไปในวัฏฏะ แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรา ถึงที่สุดเราภาวนาของเรา เราจะหลุดพ้นไปได้ด้วยหัวใจของเรา

“สุดท้ายเราต้องลงที่ภาวนา”

การภาวนาทำบุญด้วยอะไร ทำบุญด้วยลมหายใจ หายใจเข้า.. หายใจออก.. นี่ทำบุญ ทำบุญกับร่างกายของเรา ดูสิ เวลาไม่มีออกซิเจนไม่หายใจมันก็ตาย นี่ไง มันยังมีระดับขึ้นไป ถึงที่สุด สูงสุดสู่สามัญนะ... ทำบุญด้วยการนั่งปกตินี่แหละ ! ทำบุญด้วยการตั้งสตินี่แหละ ! ทำบุญด้วยการภาวนานี่แหละ ! ได้บุญสูงสุดเลย !

“ให้ทาน ๑๐๐ หน ๑,๐๐๐ หน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง.. มีศีลบริสุทธิ์ ๑๐๐ หน ๑,๐๐๐ หน ไม่เท่ากับสมาธิหนหนึ่ง... มีสมาธิ ๑๐๐ หน ๑,๐๐๐ หน ไม่เกิดเท่ากับปัญญา มรรคญาณ ปัญญาหนหนึ่งเกิดขึ้นมาชำระกิเลสนะ”

นี่สุดท้ายแล้วนะ บุญที่สูงสุดเลย บุญที่นั่งหลับตาพุทโธ พุทโธนี่บุญที่สูงสุด ! ทาน ศีล ภาวนา.. การภาวนานี่มีบุญสูงสุด !! ไม่ต้องโอนไปโอนมาเลย ตั้งสติอยู่ที่ตัวนี่แหละ บุญสูงสุดอยู่ที่นี่ !

 

ถาม : ๒๓๓. เนาะ... สิ่งที่ฝังใจเกิดจากเวรกรรมหรือเปล่าคะ ลูกมีสิ่งที่ฝังใจปักเสียบหัวใจอยู่ตลอดเวลา บางครั้งคิดใช้เหตุผลจนระงับได้ไม่ตามไปกับมัน ถึงจะรู้จะเข้าใจ จะมีเหตุผลขนาดไหน สุดท้ายลึกๆ แล้ว เหมือนจิตใต้สำนึกไม่ได้รับรู้ สามัญสำนึกระงับได้เพียงครั้งคราวเท่านั้น สุดท้ายจะกลับไปลงสิ่งนี้อีกอยู่เสมอ

สิ่งที่ฝังใจนี้เกิดจากเวรกรรมที่เราทำมาหรือเปล่าคะ.. แล้วลูกควรแก้ไขอย่างไร...

หลวงพ่อ : สิ่งที่ฝังใจ เห็นไหม สิ่งที่ฝังใจก็คือสิ่งที่ฝังใจ... ใช่ ! มันเป็นเวรกรรม ในทางจิตวิทยา เด็กเห็นไหม ถ้าพ่อแม่ทำสิ่งใดที่ทำให้เด็กเจ็บช้ำนี่ เด็กจะฝังอยู่ในหัวใจ สิ่งที่ฝังในหัวใจนี้ เด็ก... ถ้ามีการอบรมดูแลรักษาไม่ดี มันฝังในหัวใจนั้นมา ถ้าหัวใจในหัวใจนั้นมันก็เป็นเวรกรรม พ่อแม่ที่ดี.. ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ดีเราก็ดูแล แต่พ่อแม่ที่ดีขนาดไหน บางทีนะพ่อแม่คิดในแง่บวกกับลูกหมดนะ พ่อแม่คิดแต่สิ่งที่ดีๆ กับลูก แต่ความคิดของเด็ก เด็กไม่เข้าใจของเด็กเอง นี่ก็เลยเป็นความฝังใจ

เราจะบอกว่าความฝังใจในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องอดีตหรอก ไม่ต้องเป็นเวรกรรมหรอก ความฝังใจในชาติปัจจุบันนี้แหละ

เด็ก ! เด็กถ้าพ่อแม่มีปัญหามานี่มันจะฝังใจ และแอนตี้พ่อแม่มาก แต่มันจะแก้ มันจะปลดเปลื้องสิ่งนี้ได้ ต่อเมื่อมันมีประสบการณ์จริง ประสบการณ์จริงหมายถึงว่าเวลาเขาไปเป็นพ่อเป็นแม่ไง ส่วนใหญ่คนที่มีครอบครัวแล้ว บอกว่าพอมีครอบครัวแล้ว มีลูกขึ้นมานี่จะซึ้งในความรักของพ่อแม่มาก เพราะความรักอย่างนี้มันจะเกิดต่อเมื่อมันมีขึ้นมา สังเกตได้ ครอบครัวใดก็แล้วแต่ ถ้ามีลูกคนแรกนี่เห่อมากๆ เลย ครอบครัวไหนที่มีลูกคนแรกนี่จะเห่อไง พอมีคนที่ ๒ ที่ ๓ นี่ไม่เห่อแล้ว หายเห่อ

นี่ไง แม้แต่ครอบครัวเดียวกัน เห็นไหม ความผูกพันของพ่อแม่ระหว่างลูกคนแรก คนที่ ๒ คนที่ ๓ ยังแตกต่างกัน ทีนี้ความแตกต่างกันอย่างนี้ แล้วมันอยู่ที่ความซับใจ เห็นไหม สิ่งที่ฝังใจ ปักเสียบใจ มันอยู่ที่ใจดวงนั้นยอมรับไง แต่ถ้ามีดวงใจนะ ลูกบางคนที่เป็นลูกกตัญญูนี่ พ่อแม่เขาไม่มีปัญญาจะเลี้ยงลูกเขา มันมีความกตัญญูนะ มันไปโรงเรียนแล้วมันก็วิ่งกลับมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ มาเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวนะ มันทุกข์กว่าเราหลายร้อยเท่าเลย ทำไมมันไม่ปักเสียบใจล่ะ เวลาลูกกตัญญูนี่มันไม่เห็นปักเสียบใจเลย

ลูกที่ไม่ดีนะ พ่อแม่พูดอะไรผิดหูคำสองคำนะมันฝังใจไปจนตาย ไอ้นี่พ่อแม่ไม่มีจะกิน พ่อแม่ไม่มีปัญญาเอาตัวรอดได้ ลูกมันต้องวิ่งกลับมาเช็ดขี้เช็ดเยี่ยว ลูกมันต้องกลับมาป้อนข้าวป้อนน้ำ เวรกรรมมันอยู่ที่นี่ไง เพราะเขามีกตัญญูกตเวที เพราะจิตใจเขาก็สร้างของเขามาดี ทั้งๆ ที่เขาเกิดมามืด เห็นไหม เกิดมามืดไปสว่าง เกิดมาสว่างไปมืด เกิดมาสว่างคือเกิดมาดี เกิดมาดี แต่มันก็มืดไปเพราะความปิดหัวใจของมันไป

แต่เกิดมามืด ! เกิดมามืดมาทุกข์มายากไง แต่มันสว่างไป สว่างไปด้วยคุณงามความดี พอคุณงามความดีนั้นมันขจรขจายไปใช่ไหม ลูกกตัญญูนี่โอ้โฮ.. คนเขาไปโอบอุ้ม คนเขาไปดูแลไง จากทุกข์ยากมันก็หายใจของมันได้ เห็นไหม นี่เวรกรรมมันเป็นสภาวะแบบนั้น !

ฉะนั้นสิ่งที่ฝังใจเรานี้ มันเป็นความตอกย้ำ ถ้ามันคิดได้นะ... กำ ! พอมันกำไว้โอ้โฮ.. มันกำไว้หมดเลย พอมันแบออกนี่หมดเลยนะ

จิตใจของคนที่ยึดมั่น ยึดสิ่งที่ฝังใจไว้ นี่มันกำของมันไว้ มันยังไม่มีเหตุผลที่มันจะแบออกได้ ถ้าวันไหนมันแบออกไป เห็นไหม จบเลย ! จบ !

ดูอย่างคู่เวรคู่กรรม เห็นไหม อยู่ด้วยกันก็ทะเลาะเบาะแว้งกันจะเป็นจะตาย พอวันไหนตัดสินใจได้นะ เฮ้อ ! เลิกกันที ต่างคนต่างไป จบแล้ว... ก่อนที่มันจะจบนี่มันจะฟัดกันอยู่อย่างนั้นแหละไม่มีวันจบเลย แต่ถ้าวันไหนเลิกแล้วนะ เฮ้อ ! หมดเวรหมดกรรม พอกันที จบ... มันทำใจได้ไง แต่ถ้ามันทำใจไม่ได้ นี่พูดถึงเหตุผลของวิทยาศาสตร์ ของจิตวิทยา แต่ถ้าพูดถึงโดยธรรมล่ะ...

โดยธรรม เห็นไหม คนเราเกิดมานี่ไม่เป็นญาติ ไม่เคยเป็นพี่เป็นน้องกัน ที่เราเกิดมาทุกๆ คนนี้ ไม่มีใครไม่เคยเกิดชาติใดชาติหนึ่ง ทุกคนต้องเคยเกิดเป็นญาติพี่น้องกันมา เพราะการเกิดมันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเกิดมาซับซ้อนมาก

ฉะนั้นคนเกิดมานี่มันเคยเป็นญาติ เป็นพี่น้องกันมา ญาติกันโดยธรรม ! คนเกิดมานี่เป็นญาติกันโดยธรรม เสมอภาคกันโดยธรรม ด้วยความเป็นมนุษย์ มีปากและท้อง ! มีปากและท้องนะ มันต้องใช้ปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน

นี่มันเสมอกันที่นี่ แต่มันแตกต่างที่ความคิดไง แตกต่างที่จริตนิสัยไง นิสัยของใครที่มีความยึดมั่นถือมั่น ใครยึดมากน้อยแค่ไหน มันก็ทุกข์มากทุกข์น้อยแค่ไหน

อย่างที่เราพูดเมื่อคืนนี่เราพูดถึงเรื่องสัจจะ.. สัจจะคือเรื่องบารมี สัจจะบารมีนี่เห็นไหม อย่างเช่น หลวงตา ท่านบอกว่าท่านพิจารณาตัวท่านเอง ท่านบอกว่าแปลกมาก ท่านพูดคำไหนคำนั้น แล้วถ้าตั้งสัจจะไปแล้วคำนั้นจะไม่คลาดเคลื่อนตั้งแต่เป็นฆราวาส ตั้งแต่ไม่บวช พูดคำไหนคำนั้น บอกว่าตั้งใจจะภาวนา ก็คือตั้งใจภาวนา และตั้งใจจริง คนตั้งใจจริง นี่แหละอำนาจวาสนา ! นี่มันฝังของมันมา

พอมีอำนาจวาสนามามันไม่ใช่ความฝังใจ ความฝังใจคือความฝังใจแล้วเจ็บช้ำน้ำใจ แต่สัจจะมันไม่ใช่ความฝังใจ สัจจะคือความตั้งมั่น สัจจะคือมีสัจจะ

สัจจะ ! เห็นไหม คนมีสัจจะ เป็นผู้มีจุดยืนที่มั่นคง ถ้ามีจุดยืนที่มั่นคง นี่มันเลือกเฟ้นแต่สิ่งดีๆ ไง มันไม่ใช่เลือกเฟ้นแต่สิ่งที่เจ็บช้ำน้ำใจมาหรอก ถ้ามันเลือกเฟ้นแต่สิ่งที่ดีๆ ขึ้นมานี่ มันจะก้าวขึ้นไปสู่สิ่งที่ดีเพราะมันก้าวขึ้นไปได้

แล้วมันก้าวที่ไหน... มันก้าวที่ความรู้สึกไง มันก้าวที่หัวใจไง หัวใจมันพัฒนาขึ้นมา เห็นไหม เราเป็นคนทุกข์คนยาก นี่เป็นพระ.. บวชมาวันแรกก็บิณฑบาตฉัน จนมาวันนี้ก็บิณฑบาตฉัน

นี่ไง มันคงที่ไง ! ความเป็นอยู่ของสังคมนี้มันคงที่ มนุษย์มันคงที่ แต่มันพัฒนาที่หัวใจไง หัวใจมันพัฒนาขึ้นมา จากไม่มีสมาธิมันก็มีสมาธิ จากมีสมาธิขึ้นมามันก็เกิดปัญญา จากปัญญาขึ้นมา นี่มันใช้ปัญญาขึ้นมา คือมันก้าวขึ้นไปที่หัวใจ แต่สภาพแวดล้อม สภาพความจริงมันก็เท่าเก่านี่แหละ แต่หัวใจมันพัฒนา เห็นไหม หัวใจมันโตขึ้นมา หัวใจมันพัฒนาขึ้นมา

นี่มันพัฒนาที่นี่.. แต่เราไม่มองกันที่นี่ เรามองว่า บวชมานะก็บิณฑบาตฉันตั้งแต่วันบวช นี่ ๓๓ จะ ๓๔ พรรษา มันก็ยังบิณฑบาตอยู่เนาะ ไม่เห็นโตซักที ตั้งแต่บวชมาก็บิณฑบาตกันทุกวันเลย วันนี้ก็ยังบิณฑบาตเขาอยู่อย่างนี้ วันนี้ก็ยังใช้ชีวิตปกติอยู่อย่างนี้ แล้วมันโตมาตรงไหน ไม่เห็นมันจะโตมาตรงไหนเลย

เราไปมองกันที่โลกไง แต่ถ้ามันมองไปที่นั่น เราจะบอกว่าถ้ามีสัจจะ มีหลักมีเกณฑ์ของมัน

“ฉะนั้นพูดถึงความฝังใจนี่เวรกรรมไง สิ่งนี้มันละได้ ละได้ด้วยธรรมะ !” เอาธรรมะเข้ามาเจือจานสิ เอาธรรมะเข้ามา เห็นไหม พอมันเป็นธรรมแล้ว เป็นธรรม เห็นไหม เหตุและผลไง ! คิดด้วยเหตุและผล... เหตุและผลนี่มันจะไปลบล้าง ลบล้างความคิดเดิมๆ ความคิดเก่าๆ... ความคิดเดิมๆ ความคิดเก่าๆ นี่แหละ ความคิดที่มันฝังใจนี่แหละ

ความคิดเดิมๆ เก่าๆ ที่มันปักเสียบอยู่ในหัวใจนี้ ถ้ามันมีคำว่าปักเสียบ นี่มันเป็นผลลบ มันปักเสียบแล้วมันยอกใจ แต่ถ้าเป็นสัจจะนะ สัจจะมันไม่ใช่ยอกใจ สัจจะคือตัวเหตุผลตัวมั่นคง ถ้ามั่นคงแล้วมันหาเหตุหาผลได้ชัดเจนด้วย ถ้ามันชัดเจนขึ้นมาแล้ว เห็นไหม ไอ้ตรงนี้มันแบ่ง “กุศล-อกุศล”

กุศล... คำว่ากุศลคือการกระทำที่ดี , อกุศล... อกุศลก็คือการกระทำเหมือนกัน แต่กระทำสิ่งที่ไม่ดี แล้วดีหรือไม่ดีนี่ใครเป็นคนเลือกล่ะ ใครเป็นคนแยกว่าอะไรดีและอะไรไม่ดีล่ะ ตัวเลือกมันอยู่ที่ไหนล่ะ... ตัวเลือกก็คือความพอใจ แล้วความพอใจ เราเชื่อใจเราได้ไหมล่ะ เราเชื่อใจเราไม่ได้ เราถึงต้องเข้ามาที่ศีล เห็นไหม เข้ามาที่ศีล เอาศีลมาเป็นตัวคัดกรอง

ฉะนั้นสิ่งที่ฝังใจเกิดจากเวรกรรมหรือเปล่าเจ้าคะ... แล้วลูกควรแก้ไขอย่างไร...

เขาจะบอกว่า สิ่งฝังใจเกิดจากเวรกรรมใช่ไหม ทางจิตวิทยามันก็มีของมันอยู่ ทางจิตวิทยาเขาต้องแก้ไขของเขา พอจิตวิทยาเขาแก้ไขของเขาปั๊บ เขาถึงรู้ถึงเหตุถึงผล เขาถึงใช้แบบว่าทฤษฏี วิธีการเลี้ยงลูก ว่าลูก ๑ ขวบ ๒ ขวบ ๒ ขวบ เราควรจะดูแลอย่างไร กอดลูกหรือยัง เช้าวันนี้ได้กอดลูกหรือยัง

นี่เพราะเขาศึกษากันมาไง เขาก็สอนกันมา เห็นไหม เราได้ดูแลหัวใจเราหรือยัง แต่สิ่งนี้มันก็เป็นสิ่งที่ว่า มันเกิดมาจาก... ใช่ ! มันเป็นเวรเป็นกรรม แต่เวรกรรมนี่มันแก้ไขได้ แต่อย่าไปเชื่อเรื่องแก้เวรแก้กรรมที่เขาว่ากันไปเรื่อยเฉื่อยนะ

การที่จะแก้ไข นี่แก้ไขที่สติปัญญาของเรานี่แหละ แก้ไขที่สติปัญญาของเรา การแก้ไขเวรกรรม

“การภาวนาพุทโธ พุทโธ นี่คือการแก้ไขเวรและกรรม ทางอื่นไม่มี”

สิ่งที่ว่าไปแก้กรรม.. แก้กรรม นั่นคือไปสร้างกรรม เพราะการแก้คือการกระทำ การกระทำก็เกิดกรรมต่อไปเรื่อยๆ มันไม่จบหรอก แต่ถ้าเราชำระล้าง เราทำความสะอาด นี่มันจะแก้กรรมได้

การแก้กรรมของเรา เห็นไหม เราจะใช้ธรรมะ ! ใช้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ถ้าเป็นโทสจริต ให้หัดแผ่เมตตาไว้ ให้ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนี้ เป็นญาติพี่น้องของเรา ถ้าเป็นญาติกันโดยธรรม สิ่งใดที่กระทำมามันก็แบบว่าญาติพี่น้องกันไง เขาทำมาด้วยความพลั้งเผลอของเขา เขาไม่ได้ตั้งใจหรอก ความโกรธของเราก็จะไม่มี

คนโทสจริต คนโมหะจริต คนเชื่อง่าย คนอะไรง่าย นี่เราก็ตั้งสติของเรา มีเหตุมีผล เราตั้งสติของเรา พุทโธไว้ ตั้งสติไว้ ต้องมีเหตุมีผล อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ เห็นไหม

โลภจริต มันจะโลภของเขานี่จะโลภไปไหน จะโลภไปจนตายเหรอ ของในตัวเองก็ใช้ไม่หมดอยู่แล้ว นี่ถ้ามันมีสติอย่างนี้นะ เวลาสิ่งที่ปักเสียบหัวใจที่มันจะเกิดขึ้นมานี่ มันมีเหตุมีผลเข้าไปคัดง้างไว้ก่อน

หัวใจเราเห็นไหม มีคนมาถามบ่อยมากว่า รู้ว่านู้นก็ผิดนี่ก็ผิด.. รู้ว่าผิดนะแต่ทำไมมันฝืนใจตัวเองไม่ได้ เพราะมันขาดการฝึกฝนไง

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องทำดีละชั่ว ! ละชั่วทำดี !... ทำดีละชั่ว ! ละชั่วทำดี ! เท่านั้นเอง ! คำสอนหลักๆ มีแค่นี้แหละแต่ทำไม่ได้ นี่เพราะว่าเราไม่มีหลักเกณฑ์ของเราไง

ถ้ามีหลักเกณฑ์ของเรานี่ มันเป็นเวรกรรมไหม.. ใช่ ! ใช่มันเป็นเวรเป็นกรรมส่วนหนึ่ง แต่มันก็แก้ไขตรงที่สติปัญญาของเราเท่านั้นแหละ อันนี้เรื่องเวรกรรมมันปักคาหัวใจ ถ้าเรามีธรรมะเราก็ถอนมันได้ ทีนี้ไอ้ตรงนี้จะตอบผ่านๆ ไง

 

ข้อ ๒๓๔ นี่ถามไม่มีวันจบหรอก เขาจะถามให้มันเข้าใจโดยที่ทางเข้าใจของเขาไง

ถาม : ๒๓๔. เรื่อง “ศิษย์ดื้อ”

หลวงพ่อ : เขาว่านะ ศิษย์ดื้อ อาจารย์ยิ่งดื้อใหญ่เลยนะ จบ ! แล้วนี่มันจะจบไปเรื่อยๆ คำถามยาวมาก แล้วเขาจะบอกของเขาเองว่าเขาภาวนาแล้วเขาเข้าใจ... เข้าใจว่าเป็น ได้มรรคได้ผล แล้วก็พยายามจะให้เรารับด้วย เราก็บอกว่าถูก.. แต่ต้องย้ำๆ นี่เขาก็ยังบอกว่าถูก.. แล้วทำไมไม่บอกว่าถูกเลยล่ะ แล้วสุดท้ายแล้วนี่ก็ข้อต่อไป...

ถาม : ๒๓๕. ขอแก้คำถามศิษย์ดื้อครับ ผมได้ฟัง “กึ่งธรรมะ” แล้วซาบซึ้งใจจริงๆ

หลวงพ่อ : กึ่งธรรมะไง ซาบซึ้งใจ เพราะเราบอกว่ากึ่งโลกกึ่งธรรม เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปมันจะมีกึ่งโลกกึ่งธรรม เพราะมันยังเป็นโลกอยู่ เรายังเป็นโลกอยู่ แล้วกึ่งธรรม คือธรรมมันเกิดขึ้นมาไง เขาบอกว่าได้ฟังกึ่งธรรมะแล้วซาบซึ้งใจมาก !

ถาม : ฉะนั้นถ้ากระผมติดขัดสิ่งใด...

หลวงพ่อ : เขาซาบซึ้งใจมาก เพราะฟังแล้วมันเข้าใจไง ถ้าตอบตรงๆ ไม่เข้าใจ

ถาม : ผมไม่สงสัยแล้วครับ คำสอนหลวงพ่อได้ฝึกฝนต่อไปให้จิตได้ ไม่รู้ว่าคำถามที่ส่งมาก่อนนี่มันจะยับยั้งทันไหม ถ้ากระผมติดขัดสิ่งใดๆ หรือหมดที่พึ่ง มีโอกาสถามหลวงพ่อใหม่ กราบขอบคุณมาก

หลวงพ่อ : เพราะถามมานี่มันเหมือนกับพระสารีบุตรไง ถ้าถามซึ่งๆ หน้า ถามตอบปัญหากันเองนี่มันไม่ฟัง แต่ไปตอบผ่านคนอื่นนะมันเก็บของมันเองได้

กึ่งธรรมะ ! ที่เขาถามมาว่าปฏิบัติแล้วถึงไหมๆ เราบอกว่ากึ่งโลกกึ่งธรรม... กึ่งโลกกึ่งธรรมหมายถึงว่า เราเป็นโลกๆ อยู่นี่ เราปฏิบัติไปแล้วจิตมันพัฒนาขึ้นไป มันยังไม่เป็นธรรม แต่มันก็ไม่เป็นโลก แต่ความคิดเรานี่คิดโลกๆ หมดเลย โลกียปัญญา... แต่พอเราทำไป เราปฏิบัติไป มันจะมีสมาธิขึ้นมาบ้าง มันจะใช้ปัญญาขึ้นมา มันจะเห็นของมัน แต่มันยังไม่เป็นสัจธรรม.. กึ่งโลกกึ่งธรรม เพราะมันครึ่งๆ จากเรา

เวลาปฏิบัติคนจะมีการพัฒนาการอย่างนี้ จากโลกๆ นี่แหละ ทำสมาธิไป ใช้ปัญญาไป มันจะกึ่งๆ จากโลก แล้วมันจะไปกึ่งธรรม... กึ่งธรรมนี่มันเห็นแปลกจากโลกมากเลย แต่มันยังไม่ใช่สัจธรรม

พอพิจารณาซ้ำไป นี่หลวงตาท่านตอบประจำ เวลาถามว่าถูกไหม... ถูก แต่ต้องซ้ำนะ ซ้ำไปๆ นี่กึ่งๆ มันเริ่มกึ่งแล้ว มันเริ่มพัฒนาการแล้ว จิตมันจะพัฒนาการของมันไป แล้วพัฒนาการไป ถ้าซ้ำไปๆๆ ถึงที่สุดปั๊บมันจะสมุจเฉทเลย มันจะเป็นความจริงของมัน แต่ถ้าไม่ซ้ำๆ ไปนะ คาๆ อยู่อย่างนี้ ทุกคนไปคาๆ คาๆ มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ไง ไปเห็นแล้วโอ้โฮ.. มันทึ่งไง มันมหัศจรรย์ของมัน มันว่าใช่ของมัน แล้วมันก็นอนใจ เสร็จแล้วมันก็เสื่อมหมดเลย

นี่ ! นี่ไงที่บอกว่าอำนาจวาสนาบารมี ที่ว่ามีสัตย์... มีสัตย์ไง ถ้ามีสัจจะ ถ้ามีอำนาจวาสนาบารมี มันมีสัจจะของมัน มันมีการกระทำของมัน มันเข้มแข็งของมัน แล้วมันทำต่อเนื่องของมัน จนถึงที่สุดได้ ! แต่พวกเรานี่ไม่มีสัจจะ ทำครึ่งๆ กลางๆ ทำไปแล้วนะพอได้กึ่ง พอกึ่งนี่ก็ว่าใช่แล้ว ! ใช่แล้ว ! แล้วอาจารย์ก็ไม่ยอมตอบ

เราจะบอกว่าเราไม่มีสิทธิเลย เพราะมันเป็นสมบัติส่วนตน มันเป็นของเขา เราไม่มีสิทธิที่จะไปทอนความจริงหรือความเท็จของเขา มันเป็นความจริงความเท็จของใจดวงนั้น แต่ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยน้ำหนัก ด้วยคุณค่าของมัน ว่ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงนั้นต่างหากล่ะ

ถ้ามันเป็นความจริงก็คือความจริง แต่ถ้าคุณค่าของมันยังไม่ถึงความจริง แล้วจะให้เราบอกว่ามันเป็นความจริงขึ้นไป นี่ไง มันเป็นอาจารย์ฆ่าลูกศิษย์ไง พอเราบอกว่าเป็นความจริง เพราะตัวเองมันก็เข้าข้างตัวเองมันอยู่แล้ว ตัวเองมันก็เชื่อตัวมันเองอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีใครมารับรองนะ ทันทีเลย แล้วถ้าทันที พอถึงเวลามันเสื่อมนะก็ว่า “อาจารย์นี่ไม่เป็น... อาจารย์รับรองแล้วทำไมมันหมดล่ะ”

เวลาจะให้ค่า นี่จะให้อาจารย์ยอมรับให้ได้เลย พออาจารย์ยอมรับขึ้นมา แล้วพอลูกศิษย์มันเสื่อมขึ้นมานี่โทษอาจารย์อีกแล้ว อาจารย์นี่รับได้อย่างไร รับแล้วมันหายไปหมดเลย “นี่ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริงโดยตัวมันเอง”

ฉะนั้น เวลาบอกว่าถูกไหม... ถูก ! ถูกแล้วต้องซ้ำไป.. ซ้ำต่อเนื่องไป จนถึงที่สุดมันจะเป็นสัจธรรม มันจะเป็นความจริงขึ้นมา ! เอวัง