ฟังธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ปัญหาวันนี้แปลก เขาถามวนไปวนมา ๓ รอบ ปัญหาเดียวนี่ถาม ๓ ครั้ง อันนั้นทำไปเลย.. ทำงานไปเลย เพราะฟังทุกวัน บางทีพวกนี้ถ้าไม่บังคับมันไม่ฟังหรอก มันอยากจะกลับบ้าน เพราะมันเบื่อ มันฟังมา ๒๐ ปี เกือบ ๓๐ ปี เวลาฟังบ่อยๆ เขาจะจำได้ ขึ้นต้นอย่างนี้แล้วจะจบลงอย่างไร มันจำสำนวนเราได้หมดเลย ถ้าขึ้นอย่างนี้แล้วมันจะจบลงอย่างไร
เอาเนาะ เอาละ... อันนี้มันยาว แต่มันเป็นทางที่ว่า เราเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่ว่ามันจะกลับตัวไง
ถาม : ๒๓๙. ขอเมตตาช่วยชี้ทางด้วยค่ะ... หนูอยู่ขอนแก่น ช่วงเวลานี้ไม่สามารถไปกราบหลวงพ่อได้ แต่ใจอยากปฏิบัติธรรม ต้องการให้คนช่วยชี้แนะ (ใช่ไหม).. ด้วยวิธีปฏิบัติด้วยค่ะ
๑. หนูสวดมนต์ไหว้พระทุกวัน ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที ในขณะที่ไหว้พระก็จะตั้งใจให้อยู่กับบทสวดมนต์ หากไม่คิดเรื่องอื่น ก็จะอยู่กับบทสวดมนต์ค่ะ
๒. หนูรักษาศีล ๕ เป็นปกติ
๓. ในระหว่างวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ หนูจะอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย บางครั้งก็อยู่กับพุทโธ.. บางครั้งก็อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก.. แล้วแต่วันค่ะ หนูต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเปล่าคะ เวลามีความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้น หนูจะรู้สึกแล้วกลับมาอยู่ที่การเคลื่อนไหวของร่างกายและพุทโธค่ะ
๔. ช่วงก่อนนอน หนูนั่งสมาธิประมาณ ๒๐ นาที หนูขอเรียนถึงความเข้าใจที่เกิดขึ้น หนูขอเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่ะ และขอเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วย
หลวงพ่อ : นี่พูดถึงการปฏิบัติของเขา...
๑. สวดมนต์ทุกวัน
๒. รักษาศีล
๓. การปฏิบัติ.. พุทโธก็ได้ การเคลื่อนไหวก็ได้
เพียงแต่ว่าพอปฏิบัติไปแล้ว มันมีหลายอย่างที่มันเกิดความสงสัย แล้วเขาเขียนมาเยอะมาก
ถาม : จากเหตุการณ์ลำดับก่อนหลัง (เขาขอความเมตตานะ) ช่วงเริ่มดูกาย.. (นี่เขาพูดถึงเรื่องดูกาย) หนูดูกายที่กำลังนั่งฟังคนกลุ่มหนึ่ง (ปรากฏการณ์) หนูนั่งฟังคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังสนทนาธรรมกันอยู่ ช่วงขณะหนึ่งเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น มีเสียงดังตกใจขึ้น ไม่ใช่ในหู ว่า เห็นไหม ! กายไม่ใช่มึง
หลวงพ่อ : นี่เสียงที่มันเกิดขึ้นไง ว่า เห็นไหมกายไม่ใช่มึง เขาเขียนมาในวงเล็บนะว่า...
ถาม : (ขอใช้คำไม่สุภาพ แต่ตอนนั้นเป็นเรื่องจริง) จากนั้นหนูก็รู้สึกอยากร้องไห้ แต่ไม่ร้องไห้ รู้สึกร่างกายสั่น จนขอตัวจากคนอื่นๆ ออกไปเดินข้างนอก ตอนนั้นหนูสงสัยคือว่าอะไรที่เกิดขึ้น (นี่ปรากฏการณ์นะ)
๒. หนูกำลังเดินอยู่ มีความรู้สึกปรุงแต่งเกิดขึ้น หนูจำไม่ได้จริงๆ ค่ะ พอรู้ตามทันมันก็กลับมาอยู่กับการเดิน ต่อจากนั้นอีกประมาณ ๒-๓ นาที ก็จะมีการพิจารณา หนูไม่แน่ใจว่ามีความเข้าใจความคิดปรุงแต่งสภาวะที่เกิดขึ้นเป็นกิริยาไม่มีประธาน
หนูภาวนาไปตามปกติ เล่าสภาวะให้แฟนฟังที่นั่งพิมพ์งานอยู่ พอเล่าจบแล้วแฟนบอกว่า เห็นไหม ! จิตมันอาศัยขันธ์ ๕ มันบอกว่ามีตัวตน พอแฟนพูดจบ หนูก็รู้ว่าใช่.. เป็นความจริง ตัวเราเกิดมาจากอาศัยความรู้สึกกับร่างกาย แต่จากนั้นหนูก็หัวเราะ ไม่มีเหตุผล (นี่ความเข้าใจนะ)
มีเหตุการณ์แบบนี้ หนูกำลังคุยกับผู้ป่วย เป็นญาติผู้ป่วยทำหน้าไม่พอใจ แล้วหนูก็เห็นหน้าของเขา (นี่มันรู้ตามทันตัวเองไง) จากนั้นหนูคิดปรุงแต่งเกิดดับไปเรื่อยๆ แล้วขณะนั้นมีความเข้าใจดังนี้ ซึ่งความเข้าใจนี้อยู่ดีๆ ก็ผุดขึ้นมา เหตุที่พบเป็นแบบใด.. สภาวะที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นแบบเหมือนเดิมทุกครั้ง อย่างกับถูกวางโปรแกรมไว้ จนเจอเหตุการณ์แบบที่ ๑ สภาวะที่ชอบใจเกิดขึ้น.. เหตุการณ์ที่ ๒ สภาวะที่ไม่ชอบใจเกิดขึ้น..
หลวงพ่อ : นี่เขาพูดถึงความปรุงแต่ง เราจะพูดตรงนี้ก่อน เพราะเขาถามมายาวมาก แล้วถามมาหลายๆ ช่วง
ช่วงแรกเราบอกว่า ๑. เขาภาวนาอยู่ เห็นไหม การภาวนาอยู่ แล้วเวลามันเกิดขึ้น สภาวะที่เกิดขึ้น.. จิตใจที่มันเกิดขึ้นนี้ โดยคนที่ภาวนาไม่เป็น โดยที่ครูบาอาจารย์ของเราภาวนาไม่เป็น พอเหตุใดเกิดขึ้น จะบอกว่าเป็นความผิดพลาดหมด
ฉะนั้นบอกว่าจิตต้องสงบ จิตจะเห็นสิ่งต่างๆ อะไรไม่ได้ ถ้าจิตเห็นสิ่งต่างๆ ไป คือกลัวติดนิมิต คือกลัวติดความเสียหาย แต่เวลามันเป็นไป เห็นไหม อย่างเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ที่เขาว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งมีเสียงดังเกิดขึ้นตกใจ.. เห็นไหมกายไม่ใช่มึง
คำว่ากายไม่ใช่มึงนะ เวลามีความเกิดขึ้นจากความรู้สึกจากภายในไง นี่คำว่ากายนี้ไม่ใช่เรา.. กายนี้ไม่ใช่เรา.. เขาเรียกว่า ธรรมเกิด ธรรมเกิดที่เขาบอกว่าสิ่งนี้ที่มันผุดขึ้นมา แล้วผุดขึ้นมานี่เขาเขียนเองว่า เวลาจะเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นต่อเมื่อเราเผลอ ถ้าเรามีสติสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น
คำว่าเราเผลอนะ ถ้าเผลอในทางโลก เผลอคือการผิดพลาดนะ เผลอคือขาดสติ แต่นี้มันไม่ใช่เผลอ นี่เขาไม่รู้ แล้วเขาคิดว่าเขาเผลอไง เพราะว่ามันเกิดโดยที่การควบคุมไม่ได้
เวลาธรรมเกิด คือสภาวะเสียงที่เกิดขึ้น ที่เขาว่า เห็นไหมกายไม่ใช่มึง เรานั่งๆ อยู่ แล้วความคิดอย่างนี้มันผุดขึ้นมาจากข้างในว่า นี่ไม่ใช่เรา.. ไม่ใช่เรา แต่มันไม่มีเหตุผลไง แต่ถ้ามันไม่มีเราในอริยสัจนะ มันจะมีเหตุมีผล... มีเหตุมีผลคือว่าเราทำความสงบของใจใช่ไหม ใจเราสงบแล้ว เราเอาใจของเราออกไปพิจารณาใช่ไหม
มันไม่ใช่เราต่อเมื่อเราเกิดปัญญา เกิดมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แล้วใคร่ครวญตามความเป็นจริง แล้วมันปล่อยวางตามความเป็นจริง อันนั้นถึงว่ากายนี้ไม่ใช่เรา
แต่นี่บอกว่าพอเราภาวนาไปนะ เรากำหนดของเราไป เวลาเสียงมันเกิดขึ้นนะ เห็นไหม กายไม่ใช่มึง มันมีเหตุผลอะไรล่ะ มันมีเหตุอะไรมันถึงเกิดอย่างนี้ ถ้าจิตเราสงบใช่ไหม.. พอจิตไม่สงบนี่มันคิดไม่ออก จิตไม่สงบนี่มันคิดแต่เรื่องไร้สาระ แต่พอจิตมันสงบขึ้นมาแล้วมันจะเข้ามาเพื่อสัจธรรม !
เพื่อสัจธรรม แล้วสัจธรรมคืออะไร สัจธรรมคือความข้องใจของเรา ใจเรามันติดข้องสิ่งใด ถ้ามีสัจธรรมนี่มันจะสอนใจเรา เห็นไหม สิ่งนี้เราเข้าใจผิด.. เราเห็นผิด.. เรามีความรู้ผิดจากสัจธรรม.. เราเห็นทางวิทยาศาสตร์.. เราเห็นทางโลก.. เราเห็นจากความเป็นไปของเรา
ถ้าอย่างนี้อริยสัจ คือมันมีปัญญาของมัน มีการใคร่ครวญของมัน แต่เวลามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ที่ว่า เห็นไหม ! นี้มันขึ้นมาโดยพลังงาน มันขึ้นมาโดยจิตไง
พอมันขึ้นมาโดยจิต ตามที่ว่าอย่างหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ว่าหลวงปู่มั่นท่านลงมาจากเชียงใหม่ แล้วมีพระเถระถามบอกว่า ท่านมั่น.. เราอยู่กับตำรับตำราตลอดเวลาเลย เรายังมีความสงสัยเลย ท่านอยู่ในป่าในเขา ไม่มีตำรับตำราเลย ท่านไปอยู่กับใคร ท่านทำอย่างไร เห็นไหม
หลวงปู่มั่นบอก โอ้โฮ.. ผมฟังเทศน์ทั้งวันเลย ! ผมฟังเทศน์ทั้งวันเลย
นี่ไง เวลานั่งอยู่นี่เขาเทศน์ให้ฟัง... เห็นไหม กายไม่ใช่มึง
คำว่าฟังเทศน์.. คำว่าฟังเทศน์คือมีคนเตือน มีคนสอน เทศน์คือการบอกกล่าว.. อย่างเช่นเราเทศน์ นี่พวกเราฟังแล้วมันเป็นคติเตือนใจของเรา
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตเราอยู่ในป่า มันมีธรรมะมาเตือน ธรรมะมาเทศน์สอน มันไม่ใช่อริยสัจ... อริยสัจไม่ใช่เทศน์ ! อริยสัจเวลามันเกิดขึ้นมา เวลาจิตสงบขึ้นมานี่จิตสงบของเราเอง
ปัญญาที่เกิดขึ้นมา คือปัญญาอริยสัจ คือสัจจะ คือมรรค.. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค... นิโรธคือความดับทุกข์ แล้วเกิดมรรคญาณ.. อันนี้ไม่ใช่เทศน์ อันนี้เป็นอริยสัจ อันนี้เป็นความจริง อันนี้มันเกิดขึ้นที่มันแยกแยะ แต่เวลาธรรมมาเกิด เวลาธรรมเตือน นี่เทศน์ เห็นไหม
นี่กายไม่ใช่มึง เขาบอกว่าใช้คำไม่สุภาพ ถ้าคำที่สุภาพคือกิเลสมันหลอกใช้ เวลามันเกิดขึ้น นี่มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไอ้คำสุภาพนี้ เราพูดบ่อยว่าโลกนี้เป็นโลกของมายา โลกของสังคมนี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม มนุษย์คิดอย่างหนึ่ง.. พูดอย่างหนึ่ง.. ทำอย่างหนึ่ง.. ความคิด จิตใต้สำนึกมันคิดอย่างนี้
ฉะนั้นถ้าคำว่าสุภาพๆ หลวงตาใช้คำบอกว่า เวลาจะเทศนาว่าการต้องขออนุญาตกิเลสก่อน คือต้องพูดคำสุภาพ เวลาความคิดเรามันไม่สุภาพ เวลาความคิดเรามันคิดตามใจมัน แต่เวลาจะพูดกับมัน เราต้องสุภาพกับมัน เห็นไหม ถ้าความคิดเรามันไม่สุภาพใช่ไหม เราก็เอาความไม่สุภาพนี้สู้กับมัน สู้กับมันถึงพริกถึงขิง ! ถ้าถึงพริกถึงขิงแล้วมันจะปล่อยได้ตามความเป็นจริง
นี่มันสะเทือนใจ ! สภาวธรรมอย่างนี้เขาเรียกว่า ธรรมเกิด ! ธรรมเกิด แต่ไม่ใช่อริยสัจนะ ไม่ใช่มรรค.. แต่ธรรมเกิดนี้มันเป็นอำนาจวาสนาของคน แล้วเหตุการณ์อย่างนี้เราเกิดขึ้นมาบ่อยๆ เหตุการณ์อย่างนี้ที่มันเกิดขึ้นมา ที่ว่าธรรมะเทศนาว่าการให้เราฟัง คือธรรมะเตือนสติเราไง ! ธรรมะเตือนสติเรา พอเตือนสติเราแล้ว เราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา
ถ้ามันเป็นความจริง นี่สิ่งนี้เตือนมา แต่เราไม่ต้องไปเกร็งนะ ไม่ต้องไปแบบว่าสิ่งที่เตือนมาแล้ว นี้มันก็เหมือนกับผู้ใหญ่เตือนเด็ก เห็นไหม พ่อแม่เตือนเรา พ่อแม่ก็ดำรงชีวิตประจำวันของพ่อแม่เราตามสะดวกสบาย ไอ้เราพอพ่อแม่เตือนแล้ว เราก็ทำตามหน้าที่เรานะ ไม่ใช่ว่าพ่อแม่เตือนแล้วทำอะไรไม่ถูกเลย จะทำงานก็เกร็งไปหมดเลย
ถ้าไม่รู้ก็คือไม่รู้ เพราะรู้แล้วมันก็จะเกิดอาการสภาวะแบบนั้น อาการเกร็งไง ฉะนั้นสิ่งที่เตือนมานี่คือวาสนาของเรา แล้วมันก็มีเป็นบางครั้งบางคราวนะ ต่อไปข้างหน้าถ้าเรารู้ว่าเป็นประโยชน์ มันจะไม่มาอีกแล้ว แต่ถ้าเวลาเราเผลอๆ นะ เราจำไม่ได้มันมาอีกแล้ว คือมาเตือนเรา
สิ่งที่เตือนคือบุญกุศล ! บุญกุศลคือเราทำคุณงามความดีของเราไว้ ! คุณงามความดีนี้มันจะมาเตือนเรา มันจะมาบอกเราตลอดเวลา บอกให้เราทำคุณงามความดี ถ้าเราทำ แล้วเราทำได้จริงหรือเปล่าล่ะ
คุณงามความดีของโลก คือทำหน้าที่การงานประสบความสำเร็จ นี่เป็นความดีของโลก ! เราเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ มีความกตัญญู นี่คือความดีของโลกนะ !
แต่ถ้าเป็นคุณงามความดีของใจล่ะ.. คุณงามความดีของธรรมล่ะ.. ของธรรมนี่มันจะทำให้จิตใจเราเป็นอิสระ ถ้าเราเป็นอิสระแล้ว เรายิ่งเห็นคุณค่าของพ่อแม่มากขึ้นไปอีกนะ เขาบอกว่าเวลาปกตินี่เรารักพ่อรักแม่ เราก็เห็นคุณค่าของพ่อแม่ เพราะว่าเราเกิดมาจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นผู้ให้อริยทรัพย์เรามา ให้ชีวิตเรามา แต่เวลาเราปฏิบัติไปแล้วนะ โอ้โฮ.. มันยิ่งซาบซึ้งเข้าไปใหญ่
ฉะนั้นเพียงแต่ว่ามันมองลึกๆ เข้าไป เป็นชั้นๆ เข้าไป..
นี่พูดถึงเหตุการณ์.. เหตุการณ์ที่มันเป็นไป แล้วนี่ยังมาอีกนะ ยังปรุงมา
ถาม : เมื่อเดือนสิงหาคม เหตุการณ์คือหนูปวดท้อง เกิดความรู้สึกว่าไม่ชอบทุกข์ เวลาทุกข์เกิดขึ้นแล้ว รู้สึกว่าเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง..
หลวงพ่อ : อันนี้เป็นอารัมภบทไปเรื่อย เหตุการณ์ลำดับปัจจุบัน นี่พูดถึงความปรุง.. ความปรุงว่าจะไปนู้นไปนี่ ความปรุงอย่างนี้.. แล้วนี่เขาบอกว่าเขาจะไปอินเดีย แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากไป อีกใจหนึ่งก็คิดว่าพระพุทธองค์....
อันนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ นะ เราอยู่กับหลวงตา อยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านบอกว่า ใช่ ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดที่อินเดีย ทุกอย่างเกิดที่อินเดีย.. อินเดียนี่เป็นสถานที่เกิด แต่เวลาธรรมมันเกิด มันเกิดที่ใจ
เวลาจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เขาต้องไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แต่ของเรา เราจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ในหัวใจของเรา เรานั่งพุทโธ พุทโธ พุทโธ คือเราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย
ฉะนั้นสิ่งที่เขาไปสังเวชนียสถาน พระพุทธเจ้าพูดไว้เองว่า ใช่ ! ถ้าจะคิดถึงเราให้ไปเคารพ.. คนที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ พอไปแล้วมันจะซาบซึ้งต่างๆ แต่พอเวลาซาบซึ้งแล้วเราจะไปอินเดีย ไปกลับๆ ตลอดไปไม่ไหวหรอก แต่ถ้าเราจะกำหนดพุทโธ พุทโธ นี่เราทำได้ตลอดเวลา
ถ้าเราอยากจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยข้อเท็จจริง เราตั้งสติของเรา.. เราภาวนาถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน.. สุภัททะ พราหมณ์ที่มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง บอกว่า ศาสนาไหนก็ดี.. ศาสนาไหนก็ดี แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าอย่างไร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ คือเป็นวิทยาศาสตร์ไง มันต้องพิสูจน์ได้ ! ฉะนั้นไม่มีรอยเท้าบนอากาศ
ฉะนั้นศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนาไหนไม่มีผล... เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ แล้วให้พระอานนท์บวชให้เลย เห็นไหม แล้วเดินจงกรมเลย ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระสุภัททะก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะไปอินเดีย กับเราปฏิบัติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเฝ้าข้อเท็จจริงเลย
นี่ไงครูบาอาจารย์ของเราท่านถือคติอย่างนี้ ฉะนั้นที่ว่าจะไปอินเดียหรือไม่ไปอินเดีย นี้มันเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของโลกเขา.. จะบอกให้เขาไม่ไป เขาก็บอกว่าไปแล้วเขาก็มีความสุข ไปแล้วเขามีศรัทธามั่นคง อันนั้นก็สาธุ !
แต่ถ้าของเรา เราเอาของเรานี้เลย...
ถาม : หนูขอเมตตาจากหลวงพ่อช่วยชี้แนะค่ะ วิธีที่หนูจะปฏิบัติว่าถูกหรือผิดอย่างไร ควรทำอย่างไร ควรแก้ไขอย่างไร หนูไม่รู้ว่าเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรม ขอให้หลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วย ทุกครั้งตอนหลังที่หนูได้ปรุงแต่ง หนูก็รู้สึกตัวด้วยความเข้าใจแบบ ๑ แบบ ๒..
หลวงพ่อ : อันนี้เห็นไหม นี่เขาบอกว่า มันเป็นทางธรรมหรือทางโลก เราจะบอกว่าเป็นทางธรรม.. ถ้าทางโลกก็เป็นเรื่องของสัญญาอารมณ์ นี่เขาเรียกโลก.. โลกียะ แล้วเราจะปฏิเสธความเป็นโลกไม่ได้
เพราะเวลาเราบอกปรมัตถธรรม เห็นไหม พ่อแม่ก็เป็นสมมุติ ทุกอย่างก็เป็นสมมุติ ก็เลยว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณไปเลยเหรอ..
ถึงปรมัตถ์ใช่ไหม ถ้าเป็นทางธรรม ทางธรรมมันก็มีที่เกิดเหมือนกัน พ่อแม่เป็นสมมุติ มันก็จริงตามสมมุติไง ทีนี้ถ้าจริงตามสมมุติมันก็จะเริ่มจากที่นั่น มันไม่ใช่ว่ามันเริ่มต้นจากสมมุติ คือมันเริ่มจากโลกแล้วมันจะเป็นธรรมไม่ได้ มันก็เริ่มมาจากที่นั่น
ฉะนั้นนี่พูดถึงว่าเวลาความเข้าใจนะ...
ถาม : หลวงพ่อคะ หนูรบกวนถามค่ะ พระพุทธองค์สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท สอนให้เราปฏิบัติจน.. (เขาถามนะ)
๑. เข้าใจ (หมุนอยู่อย่างนี้ตลอดไปในวงจรนี้)
หลวงพ่อ : นี่ความเข้าใจ เห็นไหม
ถาม : ๒. เราปฏิบัติธรรมะ จนสามารถหยุดวงจรนี้ จนไม่สามารถหมุนต่อไปได้ และพระพุทธองค์สอนเราปฏิบัติให้เข้าถึงไตรลักษณ์ หรือสอนให้เราปฏิบัติจนเราอยู่เหนือไตรลักษณ์คะ
หลวงพ่อ : อารัมภบทมาตั้งนาน ! ข้างหน้านี่ยาวเหยียดเลย... สวดมนต์ทุกวัน วันละ ๑๐ นาที... มีศีล ๕ บริสุทธิ์.. ปฏิบัติตลอด.. นั่งสมาธิวันละ ๒๐ นาที.. แล้วก็ว่าธรรมมันเกิดต่างๆ นี่ถามมาตลอดเลย แล้วสุดท้ายที่เขามาถามมาว่า...
๑. พุทธองค์สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ให้เราปฏิบัติธรรมจนเราเข้าใจวงจรนี้.. ความเข้าใจในวงจรนี้
๒. เราจะต้องปฏิบัติธรรมจนสามารถหลุดจากวงจรนี้ไป แล้วพุทธองค์สอนให้เราอยู่ในไตรลักษณ์ หรืออยู่เหนือไตรลักษณ์
ทีนี้ความเข้าใจที่บอกว่าโลกกับธรรม ! โลกกับธรรม.. ความเข้าใจของโลก ความเข้าใจของวิทยาศาสตร์ใช่ไหม..
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเราเรื่องปฏิจจสมุปบาท ให้เข้าใจในวงจร... เข้าใจคือเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ก็เหมือนกับนักเรียนนักศึกษาไง เข้าใจในปฏิจจสมุปบาท
ทีนี้ปฏิจจสมุปบาท.. อิทัปปัจจยตาที่เขาว่ากันนั่นน่ะ มันไม่มีใครรู้ใครเห็นหรอก ทีนี้เวลาภาคปฏิบัตินะ เราจะเปรียบหัวใจเรา เปรียบความรู้สึกเราให้เป็นปฏิจจสมุปบาท เห็นไหม เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น... มีสิ่งนี้ให้ค้นหา ค้นหาเข้าไปสู่ต้นตอ ถ้าเข้าไปสู่ต้นตอนะมันก็แค่ตัวจิต
ปฏิจจสมุปบาท นี่พระอนาคามีเท่านั้นถึงจะเห็นได้ แล้วพระอนาคามีก็ไม่เห็น ถ้าพระอนาคามีเห็นนะ ขณะพระอนาคามีเห็นปฏิจจสมุปบาท พระอนาคามีจะไม่ติดในการเป็นพระอนาคามี
พระอนาคามีนี่ติดในพระอนาคามี อย่างเช่น หลวงปู่คำดี ! หลวงปู่คำดีเวลาปฏิบัติไปแล้ว รู้อยู่ว่าตัวเองไม่จบ แต่ไปไม่ได้ พอไปไม่ได้ก็ไม่เห็นปฏิจจสมุปบาทนี้แหละ พอไม่เห็นปฏิจจสมุปบาท นี่ทำไปแล้วมันว่างๆ ว่างๆ อยู่ แต่มันไปไม่ได้ พอมันไปไม่ได้แล้วนี่จุดธูปอาราธนาเลย ขอให้หลวงตาให้มาสอนด้วย ให้มาบอกกล่าวด้วย
พอมาบอกกล่าว บอกคือชี้นำ นี่เทศนาว่าการคือการบอกกล่าว การชี้นำ พอชี้นำไป พอชี้ทางออกได้แล้ว นี่หลวงปู่คำดีว่า รู้แล้วๆๆๆ รู้เฉยๆ ยังไม่เห็นนะ รู้เฉยๆ ! พอรู้เฉยๆ แล้ว พอหลวงตาเข้าใจแล้วท่านก็กลับของท่าน แล้วเวลาท่านไปเจอกันครั้งต่อไปครั้งหลัง จะเขียนถามปัญหาว่าอย่างนี้เป็นอย่างนี้ไหม.. นี่ตอบปัญหากันมา เขียนเป็นกระดาษน้อยไง
นี่ปฏิจจสมุปบาท... สิ่งที่เป็นการศึกษาของเรานี้ มันเป็นการศึกษาทางวิชาการ ศึกษาทางวิชาการคือการคำนวณ.. อย่างเช่นทฤษฎีสัมพันธ์ หรือทฤษฏีต่างๆ นี่เราศึกษามา แต่เรายังไม่ได้พิสูจน์
อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ บิกแบง (Big Bang) เห็นไหม ที่นักวิทยาศาสตร์ทางยุโรป ทฤษฏีนี่เขารู้หมด ตอนนี้ลงทุนเป็นหมื่นๆ ล้านนะ ขุดท่อไปเพื่อจะดูปรากฏการณ์ของบิกแบง เพื่อจะดูความเริ่มต้นของจักรวาล
นี่มันมีแต่การศึกษา มันมีแต่ความเข้าใจใช่ไหม ปฏิจจสมุปบาทก็เหมือนกัน ที่เราศึกษากันนี่เราศึกษาทฤษฏีแต่ไม่มีใครเคยเห็นเลย
คนที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาท แล้วคนที่ทำลายปฏิจจสมุปบาทคือพระอรหันต์เท่านั้น ! พระอรหันต์เท่านั้น !
ทีนี้มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น แล้วพระอรหันต์เห็นปฏิจจสมุปบาทจะเห็นอย่างไร เราจะเข้าใจวงจร... ไม่ใช่ ! ถ้าเข้าใจวงจรเราก็เป็นส่วนหนึ่งใช่ไหม
ธรรมะเป็นธรรมชาติ.. ธรรมะเป็นธรรมชาติ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ แล้วเราอยู่ในวงจรธรรมะ เราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เราก็อยู่ในวงจรของมัน เราหลุดจากวงจรของมันไปไม่ได้ !
ทีนี้ถ้าเราจะเข้าใจวงจรนั้น.. เราเข้าใจวงจรนั้นไม่ได้ !
เราเข้าใจวงจร เห็นไหม ดูสิ เราไม่มีสิทธิใช่ไหม ถ้าเราไม่ใช่คนไทย ดูสิเวลาคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในเมืองไทย มันเป็นผลประโยชน์ของธุรกิจ ธุรกิจเขาต้องการแรงงาน มันเป็นผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ มันเป็นผลประโยชน์ของทุกๆ คนเลย ทุกคนหาผลประโยชน์จากคนต่างด้าว
จิตของเรา เราเป็นปุถุชน เราไม่เคยเห็นปฏิจจสมุปบาท เราจะไม่มีสิทธิเข้าไปเห็นความจริงของเราได้เลย เราจะเป็นสิ่งที่แสวงหาของกิเลส ตัณหาความทะยานอยากมันจะหาผลประโยชน์จากชีวิตเรา ตัณหาความทะยานอยากมันจะหาผลประโยชน์จากหัวใจของเรา เราจะไม่มีประโยชน์สิ่งใด เราจะไม่รู้สิ่งใดๆ เลย ! เป็นไปไม่ได้เลย !
เพียงแต่ทางวิชาการ นี่อิทัปปัจจยตา.. ปฏิจจสมุปบาท.. เห็นไหม ปัจจยาการนี่โอ้โฮ.. อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง.. สิ่งนี้มันเป็นทางวิชาการทั้งนั้นแหละ หลวงตาเวลาท่านไปนี่ ท่านบอกไม่ดู.. ไม่ดู.. ไม่ดูเพราะอะไร เพราะมันเป็นทางวิชาการ
ฉะนั้นความเข้าใจในวงจรปฏิจจสมุปบาท.. ความเข้าใจก็ง่ายๆ เอาตำรามาท่องมันก็เข้าใจ ! แต่นี้เขาถามว่า พระพุทธองค์สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ให้เราปฏิบัติธรรมจนเข้าใจ
ความเข้าใจก็คือปริยัติ
ปริยัติคือการศึกษา... นี่ศึกษาเป็นทางวิชาการ คือเข้าใจเฉยๆ แต่ ! แต่ความเป็นจริง กว่าจะเข้าไปเห็นตัว เห็นไหม อย่างเช่น เสือมันอยู่ในถ้ำ.. แล้วอวิชชา..กิเลสนี่มันอยู่บนใจ มันก็คูหาของจิตนี่แหละ
เสือมันอยู่ในถ้ำ ถ้าเราจะจับเสือ เราต้องเข้าถ้ำเสือเพื่อจับเสือตัวนั้น แต่เวลาความเข้าใจ เห็นไหม เสือมันเป็นสัตว์ร้าย เสือมันกินคน โอ้โฮ.. ทางวิชาการรู้หมดเลยนะ แต่ไม่เคยเห็นเสือ แล้วไม่รู้จักเสือ แต่ถ้าจะเข้าไปหาเสือ ขาสั่น ! เข้าใจหมดแล้ว เข้าใจเรื่องเสือ นี่เข้าใจหมดเลยว่าเสือนี้มันเป็นเสือบาดเจ็บ เสือบาดเจ็บนี่เสืออันตราย แล้วพอจะเข้าไปจับมันนะ ขาสั่น.. แล้วก็จับมันไม่ได้ คิดถึงเสือเห็นแต่เสือในรูปภาพ พอไปเห็นเสือตัวจริง ไม่รู้จักเสือ..! ไปอยู่กับเสือ ไปนั่งคุยกับเสือ แต่ไม่รู้จักเสือ.. !
นี่ความเข้าใจ ! เป็นไปไม่ได้.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท.. ปฏิจจสมุปบาทนี่เห็นไหม ปัจจยาการของจิต นี่เวลาปฏิบัติ แม้แต่ปฏิจจสมุปบาทเรื่องของจิตนี้ เราเอาใช้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราเห็นว่าขบวนการของจิตคิดอย่างไร มันก็เอามาเปรียบเทียบได้
เอามาเปรียบเทียบได้เพราะอะไร เพราะมันมีเหตุมีผลของมัน แต่เหตุผลอย่างนี้ มันเป็นเหตุผลแบบกำปั้นทุบดินไง เหตุผลแบบว่ามันควบคุมจิตทั้งหมด แล้วเวลาจิตปฏิบัติไปแล้วนี่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี ยังไม่เห็นปฏิจจสมุปบาทเลย แม้แต่พระอนาคามีไปติดก็ติดตรงนี้แหละ
นี่เวลาถ้าไปเจอแล้วเป็นปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าไม่เจอนะมันเป็นตอ.. มันเป็นตอ ค่อมตอไว้ ค่อมอวิชชาในหัวใจไง เหยียบย่ำหัวใจของตัวเอง ค่อมตอของตัวเองอยู่ ไม่รู้จักตัวของตัวเอง มันถึงไม่เห็นมารไง แต่ถ้ามันเห็นมารนะ..
นี่พูดถึงที่เราพูดยาวเพราะอะไร เพราะพูดยาวมาตั้งแต่เริ่มต้น นี่เราอ่านข้ามๆ มาทั้งนั้นแหละ เพราะมันมีอะไรอยู่เหมือนกัน นี้เพียงแต่ว่าพอเริ่มต้นปฏิบัติมาอย่างนั้นใช่ไหม พอปฏิบัติมา เวลาเราบอกเห็นไหม จิตแบบว่า กายไม่ใช่มึง อะไรนี่
เวลาปฏิบัติไป เวลากรรมฐานมันจะมีประสบการณ์ จิตมันจะมีการกระทำของมันขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แต่ถ้าเราปฏิบัติโดยที่ว่าปฏิเสธทุกๆ อย่างเลย ปฏิเสธไม่ให้มีสิ่งใดเลย ให้จิตเรียบๆ ไป มันก็ไม่มีอะไรเลย มันเป็นการปฏิบัติโดยการบังคับจิต มันจะไม่ได้สิ่งใดๆ เลย
ถาม : ๒. การปฏิบัติธรรมจนสามารถหยุดวงจรนี้ จนไม่สามารถหมุนต่อได้ และพระพุทธองค์สอนเราปฏิบัติให้เข้าถึงไตรลักษณ์ หรือสอนให้เราจนอยู่เหนือไตรลักษณ์
หลวงพ่อ : สอนให้เราอยู่เหนือไตรลักษณ์.. ทำลายทั้งหมดไง
ถ้าเข้าใจไตรลักษณ์ แต่ความเข้าใจไตรลักษณ์นี่นะ การสอนไตรลักษณ์ นี่คือสอนให้เราเข้าใจใช่ไหม ไตรลักษณะ..
สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
การที่เป็นอนัตตา.. อนัตตาคือมีการเกิดขึ้น.. ตั้งอยู่.. และดับไป..
สิ่งใดที่เกิดขึ้น อนัตตาเกิดขึ้นที่ไหนล่ะ.. อนัตตาอยู่บนอะไรล่ะ.. เราบอกว่าสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ถ้าเป็นอนิจจังมันก็แปรปรวน เห็นไหม เขาบอกว่า นี่ไงสมาธิมันเป็นไตรลักษณ์ ทุกอย่างมันเป็นไตรลักษณ์ ไม่เป็น ! มันเป็นอนิจจัง !
ไตรลักษณ์คือเราจะเข้าไปรู้มัน ถ้าเราเข้าไปรู้ไตรลักษณ์ แล้วใครเข้าไปรู้ไตรลักษณ์ล่ะ... เพราะเราเข้าไปรู้ไตรลักษณ์ เราเข้าไปเห็นไตรลักษณ์.. ไตรลักษณะ เห็นไหม ว่าจิตนี้กลั่นออกมาจากไตรลักษณ์ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี..
แล้วพอออกมาจากไตรลักษณ์ แล้วตัวจิตนี่ตัวมันเองที่เห็นไตรลักษณ์มา แล้วมันจะทำอย่างไรให้ตัวมันสิ้นไป ถ้าตัวมันสิ้นไป มันก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะมันยังมีอยู่
นี่ไง นี่ที่ว่าเหนือไตรลักษณ์ไง ! ถ้ามันเห็นไตรลักษณ์ใช่ไหม เวลาพิจารณากาย เห็นไหม โสดาบันพิจารณากาย นี่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕... กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์.. นี่แล้วจิตรวมลง !
จิตรวมลง เห็นไหม จิตมันเห็นไตรลักษณ์ แล้วจิตมันกลั่นออกมาจากไตรลักษณ์ ถ้ามันกลั่นออกมาจากไตรลักษณ์.. เริ่มต้นมันเป็นอย่างนี้ก่อน เริ่มต้นขบวนการของมัน มันจะเลาะ มันจะทำลายอวิชชา ทำลายสังโยชน์ ทำลายสิ่งที่ร้อยร้ายของจิต เป็นชั้นๆๆ เข้ามาจนถึงตัวมันเอง แล้วตัวมันเองมันจะเป็นไตรลักษณ์อย่างไร..
นี่ถ้าตัวมันเองเป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม ดูสิที่ว่า พระพุทธเจ้าสอนให้รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
นี่มันไม่เห็น ! มันไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท เพราะมันเห็นไตรลักษณ์อย่างหยาบ เห็นสมมุติอย่างหยาบ เห็นสมมุติอย่างกลาง เห็นสมมุติอย่างละเอียด.. เป็นสมมุติๆๆ แต่สมมุติละเอียดสุด สมมุติคือตัวมันเอง.. สมมุติคือตัวจิตเอง.. สมมุติคือตัวจิตที่มันเป็นไตรลักษณ์เอง แต่เราจะเห็นมันเป็นไตรลักษณ์ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะใครจะไปบอกว่าเราเป็นโจร ถ้าเราเป็นโจร แล้วใครจะไปบอกว่าเราเป็นโจร มันเป็นไปไม่ได้หรอก ! เราว่าเป็นคนดีทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครบอกว่าเราเป็นโจรหรอก
ทีนี้จะทำอย่างไรให้มันว่าตัวมันเป็นตัวมัน แล้วตัวมันเป็นโจรอย่างไร นี่มันถึงต้องเป็นอรหัตตมรรค.. อรหัตตมรรคเข้ามามันถึงจะเห็นตัวมัน
คำว่าอยู่เหนือไตรลักษณ์.. คือทำลายไตรลักษณ์ทิ้งทั้งหมดเลย แต่ถ้าจะทำลายไตรลักษณ์ มันจะทำลายอย่างใด ขบวนการของมันเยอะมากนะ ! นี่ขบวนการอย่างนี้ พูดทางวิชาการ หรือพูดทางอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดแล้วเข้าใจได้ พูดแล้วฟังได้ แต่ไม่มีใครรู้และไม่มีใครเห็น แล้วถ้าไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นนะ มันพูดผิดหมด..
คนไม่รู้พูด อย่างไรก็ผิด ! คนไม่รู้นะ พูดเหมือนพุทธพจน์หมดเลย จำคำพูดมาหมดเลย แต่ขบวนการของมันผิด อย่างเช่น เครื่องมือที่เราใช้งาน มันต้องเป็นขั้นตอนของมันขึ้นมาว่า ควรทำอย่างไรต่อเนื่องกันมา เครื่องมือครั้งแรกยังทำไม่ได้ เราไปเอาเครื่องมือสุดท้ายมาใช้งานแล้ว อย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้หรอก อันนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นของมันไปไม่ได้ !
พูดถึงการเป็นไตรลักษณ์นะ เราจะบอกว่าเวลาพูดจากเบื้องต้น เห็นไหม เขาบอกว่าภาวนาวันละ ๑๐ นาที ก่อนหนูนั่งสมาธิ ๒๐ นาที เขาพูดมาเรื่อย แต่มันดีใจ.. ดีใจตรงที่แบบว่าเวลาทำไปแล้วเห็น กายไม่ใช่มึง อะไรนี่ คือมันเกิดสภาวธรรมขึ้นมา พอเกิดสภาวธรรมขึ้นมาแล้วเราอยากจะสิ้นทุกข์ไง เราถึงมาถามข้อสุดท้าย เห็นไหม
ถาม : พระพุทธองค์สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท สอนให้เราปฏิบัติธรรมจน...
๑. เข้าใจ (หมุนอยู่อย่างนี้ตลอดไป)
หลวงพ่อ : คือเข้าใจแล้วหมุนอยู่.. ไม่ใช่หรอก ! คือเข้าใจวงจรปฏิจจสมุปบาทแค่นี้เอง.. ไม่ใช่ ! ถ้าเข้าใจนะมันก็เหมือนธรรมะเป็นธรรมชาติ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของวงจร ถ้าเป็นส่วนหนึ่งของวงจรนี้ มันก็จะมีการเกิดและการตาย
ถ้าเรายังอยู่ในวัฏฏะ การหมุนไปเห็นไหม แล้วการหมุนไปนี้ แม้แต่พระโสดาบันนะ มันก็เกิดอีกแค่ ๗ ชาติเท่านั้นเอง มันจะไม่หมุนไปตามวัฏฏะ มันจะไม่หมุนไปตามวงจรนั้น
นี่ถ้าเราทำลายวงจรนั้นแล้วนะ เราจะอยู่ในโลกโดยที่ไม่ติดโลก
อันนี้อันหนึ่ง.. ไม่ใช่เข้าใจ แต่เข้าไปสมุจเฉทปหาน.. ขาด ! ทำลายสังโยชน์ขาดออกไปจากใจ เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป.. นี่ข้อที่ ๑
ถาม : ๒. เราจะปฏิบัติธรรมจนสามารถหยุดวงจรนี้ !
หลวงพ่อ : ใครจะไปดึงพระอาทิตย์ไว้ได้ล่ะ.. หยุดวงจรนี้ไม่ได้ ! แต่เราทำลายเชื้อไข ทำลายสิ่งที่เข้ากับวงจรนี้ไง แบบว่าแรงดึงดูด ปฏิบัติธรรมจนตัดความดึงดูด จนตัดอวิชชาออกจากวงจรเป็นชั้นๆ ไป..
ถาม : ..จนสามารถหยุดวงจรนี้ จนไม่สามารถหมุนต่อไป และพระพุทธองค์ให้เราปฏิบัติจนเหนือไตรลักษณ์
หลวงพ่อ : ทำลายวงจรทั้งหมด ! นี่ข้อที่ ๒ ปฏิบัติไปเนาะ..
แล้วนี่ข้อนี้อีกข้อหนึ่ง มันจะเกี่ยวเนื่องกันนิดหนึ่ง
ถาม : ๒๔๐. กราบนมัสการหลวงพ่อเรื่อง พุทธศาสนากับยุคสมัย
หลวงพ่อ : ที่มันถามมานี่มันพูดบ่อย ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเนาะ มันไม่เหมือนอยู่แล้วนี่
ถาม : ขอให้หลวงพ่อเข้าใจด้วยนะครับ บางเรื่องผมเองว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผมครับ แต่บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องของคนอื่นเขา หรือเรื่ององค์กรที่เกี่ยวข้องจัดการกันเอง หลายครั้งที่หลวงพ่อตอบผมบางคำ หลวงพ่อทำให้ผมสะดุ้งเฮือกเลยครับ หลวงพ่อรู้ได้อย่างไรครับ พูดได้ตรงเป๊ะกับชีวิตผม ผมจึงมั่นใจเสมอว่า หลวงพ่อจะให้คำตอบที่มีจุดประกายสิ่งดีกับผมเสมอ โดยเฉพาะที่หลวงพ่อเน้นหนักๆ ผมมักจะกรอฟังย้อนไปย้อนมา เป็นหรือไม่เป็น ที่หลวงพ่อเน้นย้ำกินใจผมมาก ทำให้ผมมองอะไรที่ชัดเจนกว่าเดิมหลายเท่าครับ
หลวงพ่อ : คำถามนี้มันถึงไม่อยากยุ่งไง คำถามนี้มันจะชวนให้ทะเลาะกัน เพียงแต่ว่าเราจะตอบให้เป็นว่าเราได้ทำหน้าที่แล้ว เพราะคำถามมันจะมาเกี่ยวเนื่องกัน
ถาม :
๑. สมัยนี้เป็นยุคสมัยแห่งความแตกต่าง แตกเป็นพวกเป็นเหล่ามากหรือเปล่า หมายถึงว่าเป็นยุคสมัยหนึ่งที่คนขัดแย้งกันมาก ทั้งทางโลก หรือแม้แต่ทางธรรม ผมสังเกตทั้งศาสนาพุทธในไทย ยังรวมถึงศาสนาอื่นๆ ที่ยังมีความขัดแย้งกันมาก รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์จะต้องเผชิญสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติใช่หรือไม่ครับ
๒. ยุคนี้มีความพยายามของอาจารย์หลายท่านที่มักอ้างถึงพุทธพจน์ดังนี้
อาจารย์บางองค์อ้างถึงพุทธพจน์...
อาจารย์บางองค์อ้างถึงพุทธพจน์
อาจารย์บางองค์อ้างถึงพุทธพจน์... (นี่เขาพูดมาหมดนะ)
แล้วชาวพุทธเรา จะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรควรวางใจ เชื่อขนาดไหน มีมาตรฐานดูพระอย่างไร ว่าท่านไหนเป็นหรือไม่เป็นครับหลวงพ่อ
๓. สมมุติเล่นๆ นะครับ ถ้ามีภิกษุรูปหนึ่งบอกว่า ทำวัตรเช้า-เย็น ไม่มีระบุในพุทธพจน์ แต่มาจากประเพณีสมัยรัชกาลที่ ๔ ในรัตนโกสินทร์นี่เอง ก่อนหน้านั้นไม่มี ดังนั้นทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ไม่จำเป็นเสมอไป ถ้าเป็นกรณีทำนองนี้ หลวงพ่อจะมีวิธีอธิบายให้เป็นกลางและไม่ก่อปัญหาเพิ่มครับ
๔. แล้วที่จริงแล้ว ฆราวาสที่ปฏิบัติธรรม มีเกณฑ์ที่จะไปศึกษา หรือเกี่ยวข้องกับวินัยของสงฆ์มากน้อยขนาดไหนครับ
หลวงพ่อ : นี่พูดถึงเริ่มต้นตั้งแต่ยุคสมัยแรกเลย เห็นไหม ศาสนามีความขัดแย้งกันมา.. ขัดแย้งกันมา นี้มันก็อยู่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เกิดในประเทศอันสมควร
ถ้าเกิดในประเทศอันสมควร.. อย่างเช่นเราเกิดมาจากพ่อแม่ แล้วพ่อแม่เป็นสัมมาทิฏฐิ พ่อแม่เป็นชาวพุทธ พ่อแม่เราก็พาเข้าวัดเข้าวา.. แต่ถ้าเราเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอื่น พ่อแม่ก็ต้องพาไปทางอื่นเป็นธรรมดา เห็นไหม
เกิดในประเทศอันสมควร คือเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นชาวพุทธ เกิดจากพ่อแม่ที่ให้โอกาส
เราก็เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นชาวพุทธนะ แต่เราโอกาสน้อยมากเลย เพราะพ่อแม่ไม่พาเข้าวัด เราเข้าวัดของเราเอง พ่อแม่ไม่เอา พ่อนี่ไม่เอาเลย เห็นไหม เกิดกับพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่เอา เราก็ดันของเรามาจนได้
ฉะนั้นนี่เขาบอกว่า แล้วถ้าศาสนาอื่นมันมีความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น อันนั้นเพราะมันเป็น...
เวลาเราพูดนะ คนเขาจะติเตียนว่าพุทธศาสนานี่อะไรก็โทษกรรม โทษกรรม.. มันไม่ใช่โทษกรรมนะ มันมาจากเหตุ มันมาจากกรรม ! มันมาจากกรรมคือมันมีเหตุปัจจัยมาก่อนใช่ไหม มันก็ขับดันให้ใจเรามาตกในสภาวะแบบนี้ๆ ดูสิเหมือนกับอากาศที่มันพัดเศษฝุ่นเศษผงไป นี่มันไปปลิวไปในอากาศแล้วไปตกตามมัน นี่เศษกรรมของเราไง เวลาเราเกิด ทำไมเราไม่เกิดที่ดีที่งามล่ะ
ฉะนั้นนี่มันเป็นเรื่องของกรรมไง ! มันเป็นอันหนึ่ง
ข้อ ๒ สิ่งที่อ้างพุทธพจน์ ! พุทธพจน์ ! อย่างที่ว่ามันก็อ้างลงมาข้อที่ ๓ นี้เห็นไหม
ข้อที่ ๓ บอกว่าก่อนหน้านี้ที่ว่า เป็นหรือไม่เป็น ! เป็นหรือไม่เป็น
อันนี้เป็นกรณีหนึ่ง ฉะนั้นเวลาพูดถึงเรื่องอ้างพุทธพจน์ เราถึงบอกว่า เราไม่เถียงพุทธพจน์ เราเถียงถึงคนที่พูดถึงพุทธพจน์ ถ้าพุทธพจน์นี่ใครพูดอย่างไร หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราไม่เข้าใจพุทธพจน์หรือ?
เวลาเข้าใจพุทธพจน์ เห็นไหม ปริยัตินี่เราศึกษามาขนาดไหนก็แล้วแต่ ก็คือเราศึกษาทางวิชาการ แต่ถ้าเราไปรู้จริง เรารู้ถึงข้อเท็จจริง นิยามกฎหมายมันก็มีนิยามกฎหมายใช่ไหม นิยามว่ากฎหมายนี้บัญญัติมาเพื่ออะไร กฎหมายนี้เขาเขียนขึ้นมาเพื่ออะไร แล้วเขามีเป้าหมายอะไร แล้วทำเพื่ออะไร
พุทธพจน์ก็เหมือนกัน ! พุทธพจน์เวลาเขาพูดนี่พูดเพื่ออะไร พูดทำไม แล้วเวลาพูดที่ละเอียดเข้าไปมันมีมากกว่านั้น ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วเราเข้าใจ.. เราเข้าใจว่า โอ้โฮ ! พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้ หมายความว่าอย่างนี้.. ถ้าพูดอย่างนี้เพื่อคนนี้ ถ้ามันเข้าใจแล้วมันก็ไม่ไปยึดไง
แต่ถ้าเราไม่เข้าใจความหมายอย่างนี้ พอบอกพุทธพจน์ปั๊บนี่ทื่อเลยนะ แข็งทื่อเลย กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้นนะ ทุกคนมาผิดหมด ! จะเทวดาฟ้าดินผิดหมดเลย !
นั่นก็เป็นพุทธพจน์ของเขา แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราไม่เป็นอย่างนั้น..
ฉะนั้นที่เขาบอกว่า ถ้าสมมุติเล่นๆ ถ้ามีภิกษุรูปหนึ่งบอกว่าทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ไม่มีในพุทธพจน์ มาจากประเพณีวัฒนธรรม ในสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนหน้านี้ไม่มี ดังนั้นทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้.. กรณีอย่างนี้หลวงพ่อมีวิธีอธิบายอย่างไร
ก็มีวิธีอธิบายว่า อะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ไง
ถ้าอะไรเป็นประโยชน์.. คือทำแล้วมันเป็นประโยชน์ การทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น เป็นการสรรเสริญพุทธคุณ แต่ถ้ากรรมฐานเรานี้เขาทำส่วนตัว เพราะการทำวัตรร่วมกัน การทำต่างๆ นี้มันกินเวลา
ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ กรรมฐานของเรา อย่างเช่นสายหลวงปู่ฝั้นท่านก็ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็นเหมือนกัน ทำรวมหมู่ แต่สายวัดป่าบ้านตาด สายครูบาอาจารย์ของเรา ท่านบอกว่า จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน
เวลาคนมาทำวัตร เห็นไหม เวลานั่งสมาธิรวม บางคนนั่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง บางคนนั่งไม่ได้นี่มันดีสำหรับดึงคน.. แต่เวลาเรานั่งไป แล้วจิตเรากำลังจะลงอย่างนี้ แล้วบอกเลิก ! แต่ถ้าเราไปนั่งของเราคนเดียว อย่างเช่น หลวงตาท่านนั่งคนเดียวนี่ท่านนั่งตลอดรุ่งเลย ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกนะ พระอาทิตย์ไม่ขึ้นไม่เลิก อย่างนี้เลย แล้วใครจะนั่งได้ด้วยล่ะ มันก็นั่งด้วยไม่ได้ใช่ไหม
ฉะนั้นมันอยู่ที่นิสัยของคน ว่าถ้าคนไปทำโดยส่วนตัว ถ้ามีความเข้มแข็งมันจะเอาตัวมันรอดได้ แล้วมันทำได้มากหรือได้น้อยนี้มันอยู่ที่การตั้งสัจจะ อันนี้มันก็อยู่ที่หัวหน้า อยู่ที่กติกาที่ท่านจะวางไว้
ฉะนั้นสิ่งที่ว่า พุทธพจน์มีหรือไม่มี เห็นไหม มีหรือไม่มี... นี่ถ้าทำนะ ถ้าเราทำแล้วเป็นคุณงามความดีกับเราขึ้นมา ฉะนั้นไอ้อย่างนี้มันเป็นนิสัยไง
ดูสิ เราดูธรรมวินัยได้เลย เวลาเราบิณฑบาต ในกรุงเทพฯ ใครบิณฑบาตแล้วขี่ม้า มันก็เป็นเรื่องที่ดูโลกวัชชะ แต่ทางภาคเหนือ เห็นไหม เวลาเขาขี่ม้าของเขาบนป่าบนเขา ยิ่งอาจารย์จวน เจ้าคุณอุบาลีท่านขึ้นไปเชียงใหม่ แล้วขึ้นไปเชียงตุง ไปเจอพระจีนขี่ม้าควบม้ากัน แล้วเจ้าคุณอุบาลีท่านสะเทือนใจมากนะ ความสะเทือนใจเพราะอะไร ความสะเทือนใจเพราะท่านเป็นพระจากกรุงเทพฯ ท่านเป็นพระที่อยู่ในธรรมวินัย พอไปเจอพระเมือง ไปทางเชียงตุง ไปเห็นพระขี่ม้ากัน โอ้โฮ.. คล้ายๆ กับหนังจีน เพราะมันเป็นวัฒนธรรมจากเมืองจีนมา
ท่านสะเทือนใจมากนะ ! ท่านสะเทือนใจ นี่มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ดูสิอย่างเช่นแถวตลาดน้ำ นี่พระเขาพายเรือบิณฑบาตนะ มันอยู่ที่ภูมิประเทศ อยู่ที่ต่างๆ ที่มันเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ถ้ามันเป็นประโยชน์ แล้วศาสนาเขาอยู่ของเขาได้
ถ้าไม่อย่างนั้นนะ พระไปทางน้ำก็พระว่ายน้ำไปบิณฑบาตสิ มันก็ไม่ได้อีก พระก็ต้องพายเรือไปบิณฑบาต แล้วเราก็บอกว่าเขาผิดๆ ...เขาให้เราออกความเห็น
โยมประท้วงแล้ว.. แล้วข้อที่ ๔
ถาม : ๔. แล้วที่จริงฆราวาสที่ปฏิบัติธรรม มีเกณฑ์ที่จะศึกษา หรือเกี่ยวข้องกับวินัยของสงฆ์ได้มากน้อยขนาดไหน
หลวงพ่อ : ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะท่านสอนเลย ดูสิเวลาพวกโยมมาอยู่วัด เห็นไหม ให้มาเป็นปะขาว ให้เป็นผู้อุปัฏฐากพระสงฆ์ นี่ไงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
อุบาสก อุบาสิกา ต้องอุปัฏฐากพระ ถ้าอุบาสก อุบาสิกา อุปัฏฐากพระ เข้าใจเรื่องธรรมวินัย จะรู้ได้เลยว่าพระองค์นี้เป็นหรือไม่เป็น
เราจำแม่นเลยนะ เราขึ้นไปอีสานครั้งแรกเลย พรรษาที่ ๑ นี้เราก็ฝึกไว้เหมือนกัน ไปงานทำบุญครบรอบวันตายของหลวงปู่ฝั้นนี่แหละ พอเราไปถึงนะพระพรรษาเดียวใช่ไหมก็นั่งท้ายแถวเลย โยมเขามานี่เขาเอาแตงโมมา แตงโมเป็นถาดๆ มาเลย มาถึงก็วางตรงหน้าเลยแล้วก็มองหน้า แล้วก็เอามือทำอย่างเนี่ย...
ถ้าไม่ได้ฝึกมานี่ขายขี้หน้าเลยนะ เขาเอาแตงโมมาวางต่อหน้า แล้วก็ทำมองหน้า เราก็ฝึกมาใช่ไหม กัปปิยังกะโรหิ แหม.. แอ๊คด้วยนะ อวดรู้... กัปปิยังกะโรหิ ! เขาก็ กัปปิยะ ภันเต แล้วเขาก็ถวายพระเลย เห็นไหม
นี่ไง นี่มันไม่เป็นหรอก โยมมามองมันไม่เป็นหรอก ถ้าบอกว่าเวลาเอาผักที่เกิดได้ ตามข้อ.. ผักที่เกิดได้นี่พีชคามและภูตคาม
พีชคาม.. ภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์
ภูตคาม.. คือสิ่งที่มันเกิดได้ เราเอามาใช้ นี่มันมีสิทธิของมัน มันก็เท่ากับพรากของเขียว เป็นอาบัติปาจิตตีย์เหมือนกัน ทีนี้ถ้าเป็นอาบัติปาจิตตีย์เหมือนกัน จะให้พ้นจากอาบัตินี่ทำอย่างไร ทำอย่างไรก็ กัปปิยังกะโรหิ
กัปปิยังกะโรหิ.. ของเป็นกัปปิยภัณฑ์ ! กัปปิยภัณฑ์นี่สมควรแก่สงฆ์
เป็นวินัยกรรม ทำต่อหน้าใช่ไหม เพราะพระรังเกียจใช่ไหม พระที่รู้วินัยไง นี่มันยังเกิดได้เลย ถึงประเคนมาแล้วก็ฉันไม่ได้ ถ้าของไม่ประเคน แล้วภิกษุเอาล่วงเข้าทวารปาก เป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน แต่ถ้าประเคนแล้วนะสิ่งนั้นฉันได้ แต่ถ้าเป็นภูตคาม ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืนเหมือนกัน
ฉะนั้นเวลาประเคนแล้วต้อง กัปปิยังกะโรหิ.. เป็นของกัปปิยภัณฑ์
เราประเคนแล้วถูกต้องธรรมวินัย แต่มันมีสิทธิในตัวของมันเอง มันยังเกิดได้ ก็ต้องกัปปิยังกะโรหิ พอกัปปิยังกะโรหิแล้วนี่กัปปิยะ ภันเต
กัปปิยัง.. ของที่เป็นกัปปิยะ ของสงฆ์
กัปปิยะ ภันเต.. มันสมควรแก่สงฆ์ สงฆ์ก็รับแล้วฉันได้..มันเป็นวินัยกรรม !
พอเป็นวินัยกรรมขึ้นมา แล้วนี่ที่เขาบอกว่า แล้วฆราวาสจะรู้เรื่องสงฆ์ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นี่เขาจะฝึกมาอย่างนี้ เพราะพระพุทธเจ้าฝากธรรมวินัยไว้กับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา.. บริษัท ๔ !
บริษัท ๔ พอเราเข้าไปแล้วเราฝึกฝนธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เราจะรู้เลยว่าพระองค์ไหนเป็นหรือไม่เป็น นี่เรามองได้เลยว่าอาหารนี้สมควรแก่พระไหม เราเอาไปถวายพระนะ แล้วเราก็บอกว่านี่พระฉันแล้วเป็นอาบัติ แต่พระฉันเฉยเลย เอ๊ะ ! เอ๊ะ ! พระที่นี่เป็นอย่างไรแล้ว.. เอ๊ะ ! พระที่นี่กับความรู้สึกเรามันแตกต่าง เห็นไหม
กรณีอย่างนี้ถ้ามันศึกษามา นี่ไงมันส่งเสริมกัน อุบาสก อุบาสิกา นี้ทำให้พุทธศาสนามั่นคง
ฉะนั้น แล้วฆราวาสจะมีเกณฑ์ปฏิบัติอย่างไร มีเกณฑ์ปฏิบัติมันก็อยู่ที่หัวหน้า ! หลวงตาท่านพูดประจำ หลวงตา ! หลวงตานี่ ! หลวงตาท่านบอกเลยนะ
ผู้นำสำคัญที่สุด ! ผู้นำสำคัญที่สุด ! ถ้าผู้นำที่ดี จะพาหมู่คณะไปในทางที่ดี
ผู้นำ... แล้วเกณฑ์นี่มันอยู่ที่ผู้นำ อย่างเช่นเรานี่ผู้นำเลวมากเลย แล้วมีพระมาอยู่ด้วยกัน แล้วพระเขาจะทำความดีนะ ไอ้เราเป็นผู้นำ แล้วผู้นำมันเลวไง มึงจะทำดีเกินหน้านะเอาตายห่าเลย เห็นไหม
ถ้าผู้นำที่เลวนะ มันจะทำให้สังคมนั้นดีขึ้นมาไม่ได้เลย เพราะพระปฏิบัติ พระที่เขามานี่เพราะเขาอยากดี แต่ผู้นำมันเลว เห็นเขาดีแล้วมันทนไม่ไหว มันจะแดกเขาเลย นี่ไงถ้าผู้นำไม่ดี แต่ถ้าเป็นผู้นำที่ดีนะ ผู้นำที่ดีจะทำสิ่งนั้นให้ดี
นี่เขาพูดถึงเกณฑ์ไง เกณฑ์อย่างนี้อันหนึ่งนะ เขาเรียกว่า ศาสนบุคคล เวลาสัปปายะ ๔ เห็นไหม หมู่คณะเป็นสัปปายะ.. ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ นี่สิ่งที่เป็นสัปปายะนี้สำคัญมาก คือเราไปเจอเกณฑ์ที่ดี.. ไปเจอธรรมที่ดี เกณฑ์ที่ดี เราก็จะมีโอกาสที่ดี
นี่ไงเราถึงบอกว่าเกิดในประเทศอันสมควร เกิดในยุคในคราวใดไง ถ้าเกิดในยุคในคราวที่ศาสนาเจริญรุ่งเรือง อย่างเช่น กึ่งพุทธกาลเราไม่ได้เจอหลวงปู่มั่น เราก็เกิดไม่ทันหลวงปู่มั่นหรอก แต่เพราะมีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านวางไว้ เราได้อาศัยบารมีของท่าน ท่านวางข้อวินัยไว้
หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาพระปฏิบัติไปปฏิบัติท่านนะ บอกว่า ภิกษุที่มีพรรษามากอย่าขึ้นมานะ ให้ภิกษุพรรษาเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา ให้มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้มันมีข้อวัตรปฏิบัติติดหัวมันไป
พอติดหัวมันไปมันก็เป็นเกณฑ์ เห็นไหม เป็นเกณฑ์ที่จะสืบต่อกันมา แล้วเราก็ยังมาเห็นร่องรอย มีครูบาอาจารย์ของเราทำเป็นแบบอย่างอยู่
นี่ก็เป็นบุญแล้ว ! นี่มันเป็นบุญเป็นยุคเป็นคราวของเรา ถ้าต่อไปนี่ ถ้าเกิดเกณฑ์อย่างนี้มันหมดไป แล้วตอนนี้เกณฑ์ที่ว่าข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมาเพื่อขัดเกลากิเลส เดี๋ยวนี้ข้อวัตรปฏิบัติเขาเอาไว้แอ๊คกันนะ ดูสิ ดูนี่มีข้อวัตรนะ เห็นไหม นี่พระกรรมฐานนะ ดูสิ ดูปฏิบัตินะ เขาเอาไว้แอ๊คกัน !
แต่หลวงปู่มั่นท่านสอนเอาไว้เพื่อขัดเกลากิเลส ท่านสอนเอาไว้ขัดเกลาเรา ท่านสอนให้ชำระเรา แต่เดี๋ยวนี้ข้อวัตรปฏิบัติมันเริ่ม...
ก็อย่างที่ว่า เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ต่อไปมันจะเอาแต่เยี่ยง เอาเยี่ยงคือเอาเกียรติศัพท์เกียรติคุณของหลวงปู่มั่น แต่มันไม่เอาอย่าง ! มันไม่เอาอย่าง มันไม่ปฏิบัติตาม พอไม่ปฏิบัติตาม นี่เกณฑ์มันจะเป็นอย่างนั้น
นี้พูดถึงว่า เกณฑ์ของฆราวาส... จบ เอวัง