ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แค่ไหนความจริง

๑๗ ม.ค. ๒๕๕๓

 

แค่ไหนความจริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม ๑ : ครั้งแรกหลวงพ่อพูดถึงว่า เวลาเราภาวนาใช่ไหมครับ ต้องมีคำว่าพุทโธ หลวงพ่อชี้นิ้วมาอย่างนี้ คือภาวนาไปแล้วไอ้คำว่าพุทโธที่มันเข้ามาแนบถึงนี่ มันเริ่มต้นจากตรงนี้ฮะ แต่ทีนี้คำถามมันจะเรียง เรียงตรงไปเรื่อยๆ ว่า สมมุติเราลืมตาเราเห็นของจริงใช่ไหมฮะ ขณะนี้เราลืมตาเราเห็นของจริง ทีนี้พอเวลาภาวนาไป หลับตาไปมันเห็นเหมือนกัน แต่จะพิสูจน์ว่าเวลาเห็นนี้ มันเป็นของจริงคือตรงไหนฮะ

หลวงพ่อ : หลับตานั่นของจริง ลืมตานั่นของปลอม

โยม ๑ : มันมีของจริงไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่ มี มีของจริงๆ ในสมมุติเลยล่ะ จริงมันมีระดับของมัน จริงนี้มันมีระดับเยอะแยะเลย ลืมตานี่ของปลอมหมด ลืมตานี่ของปลอม เพราะสิ่งนี้มันเคลื่อนไหวทั้งนั้น เพราะอะไรรู้ไหม มันออกจากตาเนื้อ ตาเนื้อนี่มันปลอม ตาเนื้อนี่มันเป็นอายตนะ จักขุวิญญาณ ถ้าใจไม่รับรู้ ตาก็มีอยู่ เลนส์ก็มีในตาอยู่นี่ เรามองนี่จะไม่รู้เรื่องอะไรหรอก

ทีนี้พอเรามองอย่างวิทยาศาสตร์ไง เราเห็นด้วยตาเนื้อ เห็นด้วยภาพ ภาพวัตถุที่สัมผัสได้ใช่ไหม รูปภาพนี่เห็นได้ สัมผัสได้ นึกว่าจริง หลับตานี่นึกว่าปลอม ทีนี้หลับตา ตาเนื้อนี่อายตนะเห็นไหม เขาบอกว่านิพพานคืออะไร นิพพานคืออายตนะนิพพาน เขาว่าอายตนะเป็นนิพพานได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นอายตนะนิพพานได้ กูก็งง

ทีนี้พระพุทธเจ้าตอบว่า อายตนะนิพพานเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ทีนี้พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมานี่ จิตมันเป็นพระอรหันต์ พอจิตเป็นพระอรหันต์ จิตนี้มันออกมา มันก็ออกมาผ่านอายตนะนี่แหละ นิพพานมันคืออะไร นิพพานก็อยู่ในอายตนะ คือจิตพระพุทธเจ้าก็คือจิตพระพุทธเจ้านี่แหละ จริงไหม

แต่พระอรหันต์ก็ยังเห็นได้ใช่ไหม พระอรหันต์ก็ยังสื่อจากอายตนะได้จริงไหม ทีนี้ท่านจะบอกว่าจิตของท่านเป็นนิพพานไง ท่านอุปมาอุปไมยให้เห็นภาพชัดไง ไอ้คนก็จับประเด็นผิดไง นิพพานคืออายตนะนิพพาน นิพพานก็เลยคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อันนี้พอมีตา ตานี่อายตนะกระทบรูป จริงไหม ก็เห็นจริงๆ นี่แหละ แต่ปลอม

โยม ๑ : เดี๋ยว อันนี้เราไม่หลับตา เราลืมตานะ แก้วนี่แหละคือเห็นเป็นของจริง ของจริงหรือเปล่าฮะ เราถือว่าของจริง?

หลวงพ่อ : ใช่ๆ เดี๋ยวก่อน ของจริงนี้ จริงในฐานะอะไรล่ะ เอ้าโยมตั้งอยู่นี่ โยมว่ามันคืออะไร

โยม ๑ : ก็เป็นขวดพลาสติกไงฮะ

หลวงพ่อ : จริงเหรอ จริงเหรอ เป็นขวด ถ้าเป็นขวดแล้ว ขวดนี้มาจากไหน ขวดนี้บุบสลายได้ไหม

โยม ๑ : ลองไปคิดต่อได้ไหม

หลวงพ่อ : ไปคิดต่อ นี่เราจึงบอกว่าจริงระดับไหนไง เพราะขั้นจริงนี้มันจริงขั้นโลกหรือขั้นธรรม เขาเรียกขั้นปรมัตถ์ไง ภูตรูป มหาภูตรูปไง นี่พูดถึงธรรมขั้นปรมัตถ์ ทีนี้เวลาคุยกัน มันคุยกันขั้นระดับไหนล่ะ

โยม ๑ : เอาตื้นๆ แล้วค่อยไปลึกฮะ

หลวงพ่อ : เอาตื้นๆ ทีนี้เห็นจริงนี่ ถ้าเห็นจริง เราถึงบอกว่ามันเห็นปลอม มันเห็นไม่จริงหรอก มันเห็นไม่จริงเพราะอะไร เพราะเห็นแล้วมันยึด เห็นแล้วมันรับรู้ แล้วอยู่ตื้นๆ นี่แหละ แต่หลับตานี่จริง

โยม ๑ : เอาตื้นๆ ก่อนฮะ อันนี้คือลืมตาเห็นจริง

หลวงพ่อ : ใช่ เห็นจริง ว่าไป เออ ว่าไป

โยม ๑ : ในสมาธิหลับตานี่ เห็นมันมีจริง มีจริงไหมฮะ

หลวงพ่อ : ไหน

โยม ๑ : เวลาหลับตาไป

หลวงพ่อ : จริง

โยม ๑ : เห็นจริงๆ เหมือนกัน เป็นความจริงว่าเห็น

หลวงพ่อ : จริงกว่าด้วย จริงกว่าเพราะอะไร ฟังนะ จริงกว่าเพราะเวลาพระพุทธเจ้าสอนถึงในอะไร เวลานึกถึงนึกไม่ออก ที่พระพุทธเจ้าสอนให้ไปเที่ยวป่าช้า มันอยู่ในหนังสือนึกชื่อไม่ออกไง ให้ไปเที่ยวป่าช้าไปพิจารณาซากศพ ลืมตาดู ลืมตาดูแล้วหลับตา เห็นภาพไหม ถ้าไม่เห็นให้ลืมตาดูอีก แล้วหลับตา

ถ้าหลับตานี่ ตาเห็นภาพนั้นให้กลับมาที่ตั้ง ให้กลับมาที่อยู่ไง แล้วภาพนั้นขยายส่วนมัน เห็นไหม ภาพที่เห็น ไปเห็นภาพนี่แหละ ให้เห็นภาพเพราะจิตมันสงบแล้วนี่ ไปเที่ยวป่าช้าไป ไปเที่ยวดูซากศพนี่ ให้ดูรูป ให้ดูภาพนั้นคือนิมิตข้างนอก แล้วหลับตา ภาพปรากฏไหม ถ้าภาพปรากฎมันจะเกิอุคคหนิมิต ถ้าภาพปรากฎนั้นคือเห็นกาย เห็นกายโดยใจ ถ้าเห็นกายโดยใจ ให้ขยายส่วน แยกส่วนได้ วิภาคะ

เห็นไหม ลืมตาเห็นนั่นปลอม ลืมตาเห็นปลอมเพราะเราลืมตาดู เพราะเห็นโดยวิทยาศาสตร์ เห็นโดยสามัญสำนึก แต่พอเห็นแล้ว พระพุทธเจ้าสอนนะ ดูแล้วให้หลับตา เห็นไหม เห็นภาพนั้น จำภาพนั้น หลับตาเห็นภาพนั้นไหม เห็นภาพชัดแสดงว่าจิตดี เห็นภาพนั้นไหม เห็น หลับตามืดตึ้ดตื๋อเลย ไม่เห็นอะไรเลย ยังใช้ไม่ได้ จิตไม่มีสมาธิ จิตไม่เห็น นี่พระพุทธเจ้าสอน นึกชื่อหนังสือไม่ออก

โยม ๒ : หมายถึงขันธ์อย่างหยาบ

หลวงพ่อ : ทีละคน ว่าไป

โยม ๑ : ทีนี้สมมุติว่า เราหลับตา เราเห็นตรงนี้นะฮะ ทีนี้เราสรุปว่า มีการเห็นจริง ชัวร์แล้ว เห็นจริง

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : ทีนี้พิสูจน์ต่อว่า เวลาเห็นจริงเข้าไป ตรงไหนที่เป็นของจริงแท้ เราจะพิสูจน์อย่างไรฮะ ของจริงที่แท้เลย

หลวงพ่อ : ของจริงที่แท้ คำว่าของจริงที่แท้นี่นะ ในการศึกษาของประเทศไทย นี่เปรียบเทียบ ถ้าไม่เปรียบเทียบตอบไม่ได้ ปัญหานี้ตอบไม่ได้หรอก ของจริงที่แท้ เดี๋ยวต้องเอานวมมาใส่คนละคู่ เพราะมันต่างคนต่างคิดไง ถ้าบอกเห็นจริงแท้ เอานวมมาคนละคู่เลย เดี๋ยวได้ลงนวมกัน

โยม ๑ : เดี๋ยวฮะๆ ต้องขออนุญาตฮะ

หลวงพ่อ : เปล่าเราจะพูดเหตุผลให้ฟังไง ทีนี้บอกว่าถ้าเห็นอะไรเป็นความจริงแท้ เราถึงยกการศึกษาของเมืองไทย การศึกษาของเมืองไทย มันมีขั้นของอนุบาล เด็กมันต้องมีการศึกษาของเด็กก่อน ต้องขั้นอนุบาลเลย ขั้นประถม ขั้นมัธยม ขั้นอุดมศึกษา แล้วอุดมศึกษาแล้วมันยังมีอีกตั้งหลายระดับ แล้วการศึกษาอย่างนี้ ตรงไหนจริงแท้

โยม ๑ : คือสมมุติว่า เราหลับตาแล้วเห็น เริ่มต้นด้วยการเห็น คือมันเห็นฮะ แต่ว่าที่ถามว่าที่เวลาเห็นนี่ มันต่อเนื่องอย่างไรจนมาเป็นของแท้

หลวงพ่อ : นี่ไง เพราะว่าคำถามคือ อยากจะถามถึงขบวนการการปฎิบัติ เพราะขบวนการปฏิบัตินี่มันก็ต้องพูดเป็นขั้นๆ ขึ้นมา ถ้าขบวนการของการปฎิบัตินี่ ที่เราโต้แย้งสังคมอยู่ตลอดเวลาอยู่นี่ เพราะขบวนการของการปฎิบัติ ถ้าพื้นฐานไม่แน่น พื้นฐานอย่างเด็กๆ เรานี้การศึกษาไม่แน่น ต่อไปการศึกษาข้างบน มันจะต้องมีปัญหาเด็ดขาด

ถ้าการศึกษาพื้นฐานข้างล่างแน่น พอเราจะบอกการศึกษาพื้นฐานนี้ให้มันถูกต้อง โอ้โฮ การศึกษาพื้นฐานนี่ทำไมมันวุ่นวายยุ่งยากขนาดนี้ เอาง่ายๆ ดีกว่า กิเลสมันจะขัดแย้งอย่างนี้ไง เวลาพูดถึงว่าจริงแท้ตรงไหน จริงแท้ ทุกคนจริงแท้ก็อยากนิพพานทั้งนั้น ถ้าอยากนิพพานปั๊บพื้นฐานก็ต้องให้มันมีหลักฐานขึ้นมา ถ้าหลักฐานตรงนี้มันไม่มีนะ ภาวนาขึ้นมานี่เป็นไปไม่ได้เลย ทีนี้จะบอกว่า แล้วจริงแท้แค่ไหนไง

โยม ๑ : สมมุติว่าหลับตาแล้วเห็น เราหลับตาเราเห็น แต่ว่าตรงไหนที่มันเป็นของจริง อาการที่มันเกิดในขณะที่รู้ฮะ แต่ละขั้นแต่ละลำดับที่เป็นของแท้นี้ อาการมันเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ : เห็นไหมเวลาพูดอย่างนี้ปั๊บ ก็ตอบไม่ได้อีก เพราะความจริงมันตอบไม่ได้หรอก อาการที่เห็นอะไรของแท้ พูดถึงถ้าเห็นนะ คนอื่นอย่าเสือก อาการที่เห็นนี่อะไรของแท้ ทีนี้ว่าอาการที่เห็นอะไรเป็นของแท้? ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ มันเป็นจริตนิสัยของคนล่ะ อาการที่เห็นอะไรเป็นของแท้? อย่างสองคนนี้นิสัยไม่เหมือนกัน เวลาซื้อของจะทะเลาะกันทุกวันเลย แล้วของอะไรเป็นของแท้ เราจะย้อนกลับไปที่จริตไง

ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าพูดถึงโยมพูดอย่างนี้ ที่เมื่อก่อนเราปฏิเสธวิทยาศาสตร์ก็ตรงนี้ไง เพราะวิทยาศาสตร์ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ มันตายตัวไง ถ้าตายตัวปั๊บ พูดประสาเราว่าวิทยาศาสตร์นี่หลอกตัวเอง หลอกให้เป็นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ความจริงวิทยาศาสตร์คือวิทยาศาสตร์นะ ทฤษฎีวิทยาศาสตร์เป็นอย่างนั้นใช่ไหม เราจำเป็นต้องใช้ต้องสอยอย่างนั้นทั้งหมดหรือเปล่า ไม่ต้อง เพราะชีวิตของเราไม่ต้องใช้เทคโนโลยีทั้งหมดจริงไหม เทคโนโลยีนี่ เราไม่ต้องใช้ทั้งหมดหรอก เราใช้แค่ความดำรงชีวิตของเราเท่านั้นแหละ

แต่ถ้าพูดเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ต้องเป็นอย่างนั้น ก็มึงต้องให้กูลำบากอย่างนั้น มึงต้องให้กูไปวิ่งเต้นเผ่นกระโดด เพื่อที่จะเอาเทคโนโลยีทั้งหมดมาสุมใส่กูเหรอ มันก็ไม่จำเป็น เมื่อไม่จำเป็น นี่พูดถึงระบบวิทยาศาสตร์ไง ระบบวิทยาศาสตร์มันเป็นกฎตายตัว แต่มันตอบสนองความสุขความทุกข์ของพวกเราไม่ได้ทั้งหมดหรอก นี่ว่าคำว่าอะไรเป็นของแท้ๆ ถ้าพูดอย่างนี้ มันจะเป็นประเด็นขึ้นมาไง ประเด็นขึ้นมาจะให้ธรรมะนี้เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นกฎอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีทาง

โยม ๑ : ไม่ใช่ครับ พระอาจารย์ขออนุญาตครับ

หลวงพ่อ : เออ

โยม ๑ : สมมุติว่าผมเห็นอย่างหนึ่ง น้องเขานั่งเขาก็เห็นเหมือนกัน การเห็นของผมสองคนไม่เหมือนกัน

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : คือต่างคนต่างมา

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : ต่างคนต่างจริงใช่ไหม แต่ว่าที่ว่าสัจจะคือความจริง

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : สองคนนี่มันจบความจริงตรงของแท้ฮะ จุดเริ่มต้นมันจบ มีของจริงที่มันคู่กันไหมฮะ

หลวงพ่อ : เริ่มต้น ทำจิตสงบอย่างเดียว ต้องกลับไปที่ฐานของใครของมัน พระป่าสอนถูกต้องชอบธรรมที่สุดคือกรรมฐาน พระกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ทุกคนต้องมีบ้านมีเรือนมีที่อาศัย ทุกคนต้องมีกายมีใจ ไม่มีกายมีใจก็ไม่ใช่มนุษย์ ฉะนั้นฐานที่ตั้งนี่ที่ว่าของแท้ของใคร ของแท้ทุกคนต้องกลับไปสู่ฐีติจิต ต้องกลับไปสู่ฐานที่ตั้งกรรมฐาน นี่คือแท้

โยม ๑ : ค้นหาจิต

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้าไม่เจอตรงนั้น ไม่มีฐานที่ตั้ง ไม่มีเหตุมีผล เกิดโดยไม่มีเหตุผล เหตุผลยืนอยู่บนอากาศไม่ได้ เหตุผลต้องมีที่ตั้งของมัน ว่าไป

โยม ๑ : ก่อนที่จะเจอของแท้ คือค้นหาจิตตัวนี้

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : คือต่างคนต่างเห็นละ แต่คือเห็นนี่ของใครของมันชัวร์ ใช่ไหมฮะ

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : จุดบรรจบคือจิต

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : อาการของจิต ที่ว่าเป็นต้องของแท้ คือต้องมีแน่

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : คืออาการของแท้

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : จุดรวมของคนสองคนที่มาบรรจบกันคือ อาการของจิตใช่ไหมฮะ

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ จุดของทุกๆ คนต้องกลับไปสู่จิตเดิมแท้ของคนๆ นั้นทุกๆ คน ไม่ใช่เหมือนกัน แล้วไม่ต้องเอามาเทียบว่าต้องเป็นเหมือนกัน การเทียบให้เหมือนกัน ไม่มี งงไหมล่ะ

การเทียบว่าเหมือนกันไม่มีหมายถึงว่า เทียบว่าทำให้มันเหมือนกันนี้ไม่มี แต่คนที่กลับเข้าไปสู่จิตเดิมแท้ของแต่ละคน ทุกคนเข้าไปสู่จิตเดิมแท้ของทุกๆ คน ได้เหมือนกัน แต่วิธีการหรือการกระทำ เพราะโยมเป็นห่วงว่าทำไมสองคนนี้ต้องเหมือนกัน สองคนนี้ต้องเห็นเหมือนกัน ทำไมต้องเห็นเหมือนกันล่ะ

โยม ๑ : เริ่มแรกคือยอมรับว่าไม่เหมือน

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : แต่ว่าจุดบรรจบคือต้องเหมือนกัน

หลวงพ่อ : ต้องเหมือนกัน

โยม ๑ : เวลาเหมือนกันปุ๊บ

หลวงพ่อ : เออ

โยม ๑ : ยังไงดีล่ะ

หลวงพ่อ : ยังถามไม่ถูกเลย แล้วจะมาถามอะไรเล่า

โยม ๑ : ผมพูดได้ แต่ไม่รู้ว่าพูดได้หรือเปล่า

หลวงพ่อ : พูดสิพูดเลย เออ

โยม ๑ : สรุปว่าผมก็ไม่รู้ว่าจิตหรือเปล่า จิตจริงๆ มันคือตรงไหน ผมยังไม่รู้ตรงนี้ คำว่าจิตนี่ ให้หาจิตนี่ เพราะ ก่อนที่จะไปกว่านี้ การเห็นนี้มี ใช่ไหมฮะ การเห็นนี้มี ผมเลยอยากรู้ตัววัดของการเห็นที่มันใช่ของแท้ ความรู้สึกเรากับตัวเห็นนี่ มันจะมีอาการอย่างไรที่รู้ว่าไม่ใช่ของแท้

หลวงพ่อ : โธ่เอ๋ย ถ้าพูดอย่างนี้ ประสาเรานี่ ปัญหานี่จะจบอยู่ตรงนี้แล้ว จะตอบกันไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าโยมถามอย่างนี้แล้ว เรารู้แล้วมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย โยมต้องพูดความจริงออกมาสิ แล้วพูดตรงๆ ด้วย

โยม ๑ : เอาตรงๆ เลยหรือฮะ

หลวงพ่อ : ใช่ เสียเวลาเราตายห่าเลย

โยม ๑ : ครับผม คือถ้าเกิดไม่ใช่ของแท้ มันจะมี เหมือนมีใจร่วม คือยังมีความรู้สึกที่ชัด คือมันเป็นความรู้สึกที่ สมมุติมีกายรู้ใช่ไหมฮะ กายจะเบาส่วนหนึ่ง ความรู้สึกมันมีเป็นส่วนๆ ใช่ไหมฮะ แต่ไปหนักตรงความรู้สึก เป็นความรู้สึก คือมันจะเริ่มละเอียดขึ้นจนความรู้สึกมันพอดี เป็นพอดี เป็นส่วนๆ แล้วเป็นพอดีฮะ

หลวงพ่อ : เวลาพูดธรรมะ มันก็ต้องพูดธรรมะ ถ้าพูดธรรมะมันก็จะได้จบ แล้วเราจบ อย่างนั้นแล้ว ประสาเรามันเป็นสำบัดสำนวน ไม่มีวันจบหรอก สำบัดสำนวนไม่ต้องมาพูด ไร้สาระ เอาความจริงมาพูดเลย ถูกผิดก็พูดกันมาเลย ก็จบก็เท่านั้นแหละ

ถ้ามันจะภาวนาไป มันก็เข้ากลับไปสู่จิตทุกๆ คน เพราะเวลาพูดนี่อะไรเป็นจิตเดิมแท้ อะไรเป็นถูก อะไรผิด อะไรอย่างนี้ ไม่สำคัญ สำคัญว่าถ้าทำแล้วเป็นผล เอาผลนั้นมาพูด ถ้าเอาผลนั้นมาพูดเพราะอะไร เพราะถ้ามันเป็นความจริง มันต้องพูดผลนั้นตามเหตุผลนั้น ถ้าไม่มีเหตุผลนั้น ก็แสดงว่าทำไม่ถูก ก็เท่านั้นล่ะ ถ้ามันตามเหตุผลนั้น ก็ทำตามนั้นไป

ทำตามนั้นไป เพราะพอมันเข้าไปสู่จิต คนที่เข้าสมาธิเขาพูดถูก จิตก็คือสมาธินั้น เข้าสมาธิคือเข้าจิต ทำสมถะคือเข้าสู่จิต ถ้าเข้าสู่จิตคือฐานที่ตั้งแห่งความคิดทุกๆ อย่างเกิดตรงนั้น ถ้าเข้าสู่จิต แล้วอย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ เราพูด เรารู้เราพูดธรรมะพระพุทธเจ้า คนพูดก็พูด แต่คนฟังมันปีนบันไดฟังมั่ง อยู่ใต้บันไดฟังมั่ง อยู่บนสวรรค์ฟังมั่ง แต่ละคนสถานะของจิตมันแตกต่างกัน

เพราะสถานะของจิตมันแตกต่างกัน ฟังคำพูดนี่ มันจะรับรู้แตกต่างกันทั้งนั้น เราพูดอยู่คนเดียว คนที่นั่งฟังบนศาลานี้มีความคิดมุมมองแตกต่างหลากหลายไปหมดเลย อันนี้ช่วยอะไรไม่ได้ ช่วยไม่ได้เพราะพื้นฐานของเขาเป็นอย่างนั้น ทีนี้ไอ้ที่เราเทศน์ แต่เวลาถามปัญหานี้ มันระหว่างจิตกับจิตแล้ว จิตของผู้ถามกับจิตของผู้เทศน์

พอจิตของผู้ถามกับจิตผู้เทศน์นะ ผู้ถามก็ถามตามอาการออกมา ถ้ามันเป็นสมาธิได้มากมันก็พูดได้มาก เป็นสมาธิน้อยก็พูดได้น้อย เป็นสมาธิมาก ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้ามันเข้าเป็นสมาธิได้มาก มันก็พูดได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้ามันเข้าสมาธิได้น้อย มันก็พูดได้เท่าที่ตัวเองรู้ นี่มันก็ตอบแค่นี้ พระกรรมฐานพูดกันคำเดียวจบ ไม่เยิ่นเย้อ

โยม ๑ : ก็มันจะมี ๓ ส่วนฮะ แต่เวลาเห็นมันจะเห็น ๒ ส่วน สมมุติคือส่วนหนึ่งตั้งอยู่ คือมันมีอยู่ฮะ มีอยู่แล้วเราเหมือนเรามอง

หลวงพ่อ : โยมกำหนดอย่างไร

โยม ๑ : อะไรฮะ

หลวงพ่อ : โยมกำหนดอย่างไร

โยม ๑ : กำหนดลมหายใจออก

หลวงพ่อ : ลมหายใจออก แล้วมันเห็น

โยม ๑ : มันเป็นทีละขั้น ที่บอกว่ากำหนดแล้วมันแนบแน่น รวมตรงนี้ไปก่อน

หลวงพ่อ : กำหนดลมหายใจ ลมหายใจมันละเอียดขนาดไหน รู้ตัวตลอดเวลาไหม

โยม ๑ : รู้ไม่ตลอด มันมีจุดหนึ่งที่ต้องหาย

หลวงพ่อ : นี่เห็นไหม ถ้าพูด ถ้าไล่เข้ามามันก็จะจบล่ะ ถ้ามีจุดหนึ่งที่จะต้องหาย นั่นละเห็นหมดละ เพราะตอนหายคือสติขาดแล้ว

โยม ๑ : ไม่ใช่ฮะ คือหาย หายจากกายตรงนี้ สมมุติว่าเรากำหนดลมหายใจ มันมีละเอียดใช่ไหมฮะ มันละเอียดแต่ต่อมาก็ดูเป็นผลใช่ไหมฮะ ทั่วร่างกาย อีกส่วนหนึ่งคือ มันหายใจอยู่ตรงนี้ คือในตรงนี้มันหายใจอยู่ ไม่มีกาย คือทีนี้ที่ในส่วนของตรงนี้ คือมันแยกครับ มันแยกเป็น ๓ ส่วนให้เราเห็น แต่ตรงนี้ไม่รู้ว่าคือจิตหรือเปล่า

หลวงพ่อ : เห็นไหม ถ้าพูดอย่างนี้ หมอนี่ไล่อาการมาก็จบแล้ว กำหนดลมชัดๆ กำหนดลมชัดๆ อย่างเดียว เมื่อกี้เราก็บอกให้พุทโธๆๆ ชัดๆ กำหนดลมชัดๆ ลมจะละเอียดขนาดไหนก็รู้ว่าลมละเอียด ลมจะหยาบก็รู้ว่าลมหยาบ ถ้าลมมันจะขาดหายไปก็รู้ว่าลมมันขาดหาย แล้วมันจะเข้าไปสู่ความจริง อันนี้พอกำหนดลม แล้วลมมันไปอยู่ตรงนั้น ลมไปอยู่ตรงนี้ นี่คือส่งออกหมด แล้วพอส่งออกไปก็เป็นอย่างนี้ ไปอยู่ตรงโน้นกองหนึ่ง ตรงนี้กองหนึ่ง

โยม ๑ : ไม่ใช่ฮะ ไอ้ที่เป็นกองมันไม่ได้อยู่ภายนอกครับ มันคือกองภายใน

หลวงพ่อ : ว่าไป ว่าไปสิ แล้วเป็นไงอีกต่อไป

โยม ๑ : ก็มันย้อนกลับเข้าข้างใน ไม่ได้ส่งนอกครับ

หลวงพ่อ : เวลาคนพูด ก็จะพูดอย่างนี้แหละ จะอยู่ที่ไหนเล่า ลมนี้เป็นอากาศไหม

โยม ๑ : เป็นอากาศ

หลวงพ่อ : แล้วใครรู้มันล่ะ

โยม ๑ : เรารู้มันครับ

หลวงพ่อ : แล้วเรากับลมอันเดียวกันหรือเปล่า

โยม ๑ : คนละส่วนกัน

หลวงพ่อ : แล้วออกหรือยังล่ะ ออกหรือยัง

โยม ๑ : หมายถึงอะไร

หลวงพ่อ : จิตออกรู้ลมหรือยังล่ะ

โยม ๑ : ก็ออกไปรู้

หลวงพ่อ : แล้วส่งออกหรือยังล่ะ

โยม ๑ : ออก ส่งออก

หลวงพ่อ : แล้วไหนว่าไม่ส่งออกไง

โยม ๑ : เดิมมันมีความละเอียด

หลวงพ่อ : แล้วไหนว่าไม่ส่งออกไง

โยม ๑ : ส่งออก แล้วพอส่งออกเป็นความละเอียด

หลวงพ่อ : เอ็งบอกว่าละเอียด แต่สำหรับเรานะ หยาบฉิบหายเลย เห็นไหมต่างกันแล้ว วุฒิภาวะมันแตกต่างกันเยอะมาก พอแตกต่างเยอะมันก็รู้หมด แต่ผู้รู้ รู้อย่างนี้ ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะสงสัยได้ยังไง จะติดได้ยังไง นี่ก็คือติดไงเพราะความไม่รู้ไง เพราะนี่เป็นลูกศิษย์ใช่ไหม อาจารย์ก็ต้องสอนไปตามสถานะไง

พอสถานะนี้ก็บอกว่าส่งออก พอส่งออกบอกไม่ออก ไม่ออกแล้วลมคืออะไร ลมก็คือลม แล้วจิตคืออะไร จิตก็คือจิต แล้วจิตรู้ได้ไง ก็ออกแล้ว แล้วเร็วมาก นี่ว่าเร็วมาก เดี๋ยวจะเร็วกว่านี้อีก ละเอียดกว่านี้อีกหลายร้อยเท่า หลายพันเท่านัก พูดอยู่ทุกวัน เพราะเราเห็นอย่างนี้มาหมดแล้วแหละ แล้วจะบอกว่าเพราะอย่างนี้ เพราะมันรับรู้ลม มันหมายลมโดยกิเลสมันให้รับรู้ การทำอย่างนี้ กิเลสมันให้ทำอย่างนี้ กิเลสมันบังคับ ถ้าทำได้แค่นี้ มันก็อยู่แค่นี้

แล้วถ้าเอาสัจธรรมเอาความจริง ที่ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้วนะ ทิ้งหมดเลย! กำหนดลมเฉยๆ มึงจะหาย กูก็อยากรู้ว่ามึงจะหายตรงไหน มึงจะอยู่กูก็อยู่กับมึง มึงจะไปไหนกูก็จะไปกับมึง มึงจะสิ้นกูอยากจะรู้ว่าจะสิ้นยังไง เดี๋ยวความจริงจะปรากฏ ความจริงจะเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่เชื่อก็ทำอย่างนั้นไปทำไปเรื่อย ทำไปเรื่อยๆ มันจะวนอยู่นั่นแหละ อีก ๕ ชาติก็จะวนอยู่นี่ อ้าวลมอยู่นี่จิตอยู่โน้น ไอ้นั่นก็อยู่นี่ มันจะวนอยู่อย่างนี้ อุ้ย ละเอียดมาก ฮูย ชัดเจนมาก

โยม ๑ : ไม่ใช่อย่างนี้ฮะ

หลวงพ่อ : อ้าวว่าไป ไม่ใช่อย่างไร

โยม ๑ : ไม่ต้องพูดดีกว่า เอาความรู้สึกที่ได้ พูดอย่างนี้ก็งงตายเหมือนกัน

หลวงพ่อ : งงตายเพราะว่าอะไร เพราะว่าประสาเรานี่นะ พื้นฐานของโยมกับเรานี่ มันมาแตกต่างกัน คำว่าแตกต่าง เรานี่มาจากกรรมฐาน มาจากครูบาอาจารย์ประสบการณ์จริง ดังนั้นตำรานี่ เรามาดูพระไตรปิฎกต่อเมื่อเราปฏิบัติแล้ว

แต่ถ้าพวกปัญญาชน พวกอภิธรรมเขาจะเกาะตำรามาก่อน เขาจะดูตามตำรามา พอดูตำรามาแล้วต้องทำตามตำรา นี่วิทยาศาสตร์ไง ต้องทำตามตำราคือตามกรอบ ผิดจากนั้นไม่ได้ พอทำตามตำราตามกรอบแล้ว ทีนี้เวลามันเกิดความจริงขึ้นมา มันไม่เหมือนตำราแล้ว ไม่เหมือนตำราหรอก เพราะตำราเป็นอย่างหนึ่ง ความจริงมันเกิดไปอีกอย่างหนึ่ง ตอนนี้งงล่ะ

แต่ถ้าของเรา ของกรรมฐานเรา ตำราไม่เอา ตำราไม่มี อาจารย์บอกมา เราจะทำตาม มันเหมือนกับใจดวงหนึ่งจูงใจอีกดวงหนึ่ง ทีนี้มันจะมีเห็นขัดแย้ง ขัดแย้งตรงนี้ พอทำอย่างนั้นมาปั๊บ อย่างพวกอภิธรรมมานี่ สอนมาแล้วกอดตำราไว้ กลัวผิดน่าดูเลยละ กลัวผิดตลอดเลย โทษนะ แล้วก็ผิดตลอด

แต่ถ้าเราวางเลยนะ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก มึงจะรู้กันตรงนี้ ซัดกันตรงนี้ เดี๋ยวก็รู้ผิดหรือถูก มันก็ผิดบ้างถูกบ้างนั่นแหละ แต่มันไม่มีตำราอีกอันหนึ่งมาคอยหลอกไว้ นี่เรามาอย่างนี้ ฉะนั้นเวลาโยมพูดอะไรเราถึงทิ้งหมดเลย เอาประสบการณ์ที่เป็นๆ นั้น แล้วคุยกัน แล้วเอากันตรงนี้ ทีนี้ถ้าเขาจะให้โยมพูด โยมไม่ต้องกลัว พูดตามที่โยมเป็น

โยม ๓ : ก็นั่งตามลมธรรมดาใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๓ : แล้วเผอิญมีอยู่วันหนึ่งมีความรู้สึกว่า วันนั้นหนูหงุดหงิดมากเลยไม่รู้เป็นอะไร แบบหงุดหงิด นั่งแล้วหงุดหงิดมาก แล้วมันมีเหมือนข้างในมันแยกเป็น ๒ อันค่ะ เหมือนอารมณ์ที่มันหงุดหงิดมันอยู่ข้างใน แล้วมันก็มีความรู้สึกที่มันมองดูไอ้ตัวหงุดหงิด แล้วมันมีอีกอันหนึ่งซึ่งเป็นตัวเฉยๆ ที่ดูระหว่าง ๒ ตัวนี้ แล้วมันทำให้หนูรู้สึกแปลก แปลก มันบอกไม่ถูกค่ะ คือมันแปลก แปลก แล้วก็ทำให้แบบนั่งครั้งต่อๆ มารู้สึกว่าเรา

หลวงพ่อ : ดีขึ้น

โยม ๓ : ค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าดีขึ้นก็จับอันนี้ไว้ จับลมไว้ คำว่าจับลมไว้ ต้องจับลมไว้ตลอด ไอ้หงุดหงิดส่วนหงุดหงิด อาการมันมีทั้งนั้นล่ะ เวลาอาการใจของเราขุ่นมัว มันมี ทีนี้มันมี ถ้าจิตเราไปอยู่กับการขุ่นมัว มันก็ทุกข์อยู่อย่างนั้น ทีนี้มันอยู่กับลม ถ้าอยู่กับลม แล้วมันเห็นอย่างนี้ มันเห็นอย่างไร มันเห็นได้ ไอ้อย่างนี้มันเห็น เขาเรียกว่าเราใช้คำว่าสภาวะแวดล้อม

คนเรามันจะเข้าสู่จิตมันมีอาการแตกต่าง ร้อยแปดพันเก้า ทีนี้ร้อยแปดพันเก้า ถ้าเราเห็นอย่างไร พอเห็นอย่างนี้ถ้ามันดีขึ้นก็กำหนดลมไว้เฉยๆ เพราะถ้ากำหนดลมนี่ เพราะจิตเป็นผู้รู้ทั้งนั้น อาการหงุดหงิด ธรรมดาเมื่อก่อนนี้ เราหงุดหงิด แล้วพอดูๆ ไปนี่ เราแยกจากหงุดหงิด เห็นไหม เราแยกจากหงุดหงิด เราเป็นเรา หงุดหงิดเป็นหงุดหงิด เห็นไหม

โยม ๓ : มันแยกแบบชัด ชัด เสียจนเรา...

หลวงพ่อ : เอ้า ว่าไป อย่าเพิ่งพูด ให้เขาพูดคนเดียว พูดไปสิ

โยม ๓ : มันแยกชัดเสียจนเรา แบบว่าไอ้ตัวหงุดหงิดมันลอย มันลอย

หลวงพ่อ : เอ้า ว่าไป

โยม ๓ : แต่ความรู้สึกมันจะต่ำกว่านิดหนึ่ง แต่ตัวหงุดหงิดมันจะลอยจากความรู้สึก แล้วมันจะมีอีกตัวหนึ่ง ที่มองระหว่างสองตัวนี้ แล้วมันแบบ มันชัดมาก อืม..

หลวงพ่อ : เป็นหนเดียวแล้วไม่เป็นอีกเลย

โยม ๓ : ครั้งเดียว

หลวงพ่อ : เราจะจับ ประเด็นอย่างนี้ เหมือนที่ตอบเมื่อกี้นี้แหละ ที่ตอบเมื่อกี้นี้เห็นไหม ดูจิตแล้วไม่เคยเห็นจิตมันหยุด แล้วจิตเราเข้าใจว่ามันเป็นสมาธิ สมาธิมันเป็นอย่างนี้แหละ ความจริงมันเป็นแบบนี้หมายความว่า เราโตมานี่ เรากินอาหารมาเท่าไหร่แล้ว เรากินอาหารมาวันละ ๓ มื้อนี้ ลองคิดดู เราอายุเท่าไหร่ เรากินมาเท่าไหร่แล้ว ไอ้นี่คืออาหารที่เรากินมาใช่ไหม

ธรรมชาติของจิตมันมีอย่างนี้ตลอดอยู่แล้ว ทีนี้เพียงแต่ว่าพอจิตมันสงบ พอเรากำหนดพุทโธ พุทโธหรือกำหนดลมหายใจเข้ามา พอมันหดตัวเข้ามา ทีนี้พอหดตัวเข้ามาแล้ว การหดตัวเข้ามาคือมันเป็นเอกเทศแล้ว จิตเป็นเอกเทศแล้ว พอจิตเอกเทศมันอยู่ที่ว่าส่วนใหญ่แล้ว พอเอกเทศแล้วมันไม่เห็นอะไร

คนส่วนใหญ่ที่เวลาจิตมันเป็นเอกเทศแล้ว มันพิจารณาลมหรือมันกำหนดพุทโธ ถ้ามันสงบแล้ว มันสงบเฉยๆ ส่วนใหญ่มันมีอย่างนี้ แต่เวลาสงบแล้วเห็น นี้มันมีส่วนน้อย มีส่วนน้อยนั่นก็ส่วนหนึ่งนะ แล้วพอมีส่วนน้อยนี่มันก็เห็นได้ครั้งเดียว เห็นอย่างนี้ มันเห็นได้ครั้งเดียว นานๆได้ แว้บ ขึ้นมา นานๆ หนหนึ่ง

ทีนี้เห็นอย่างนั้นมันถามว่าอะไร มันถึงบอกว่า มันเป็นสูตรตายตัวไม่ได้ไง คำว่าเห็นแล้วหนหนึ่ง อย่างเช่น โยมเคยไปพักผ่อนที่ไหนก็แล้วแต่ ไปที่ไหนแล้วมันฝังใจเห็นไหม แต่ไปที่อื่นมันไม่ต่างกันเห็นไหม เวลาเราไปพักผ่อนตามที่ตากอากาศเห็นไหม ไปที่นั่นฝังใจ นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบขึ้นมามันเห็นอาการอย่างนี้ เห็นเป็น ๓ มันก็ฝังใจ มันก็เท่านั้นล่ะ

โยม ๑ : ขอพูดได้ไหมฮะ

หลวงพ่อ : ได้

โยม ๑ : ไม่ใช่ครั้งเดียวฮะ หมายถึงว่า เราเห็นก่อนหน้านี้ก่อน แล้วตรงนี้คือเห็นตรงนื้คือมันถือว่าละเอียดที่สุดในความรู้สึก

โยม ๓ : คือเริ่มต้นของหนูเลย ปกติเริ่มต้นหนูนั่งสมาธิไม่ได้เลย หลับตาก็แบบฟุ้งซ่าน

หลวงพ่อ : เอ้า ว่าไป

โยม ๓ : ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด แล้วมีอยู่วันหนึ่งก็ทำสมาธิในรถค่ะ แต่มันอยู่ๆ มันก็เกิดคือหลับตาอยู่ๆ ก็เกิดดอกไม้ชนิดหนึ่งในตัว

หลวงพ่อ : เห็น

โยม ๓ : ก็ใช้คำว่าเห็นแล้วกัน แต่หลับตานะคะ มันก็ค่อยๆ เคลื่อน เคลื่อนคือตามลมของเรานี่แหละ แต่เคลื่อนออกข้างบน

หลวงพ่อ : แล้วพอดอกไม้หนหนึ่ง แล้วต่อไปมีอย่างนี้อีกไหม มีประสบการณ์อย่างนี้ แปลกๆ นี่

โยม ๓ : อันนี้คือครั้งแรก

หลวงพ่อ : เออ ครั้งที่ ๒

โยม ๓ : ครั้งที่ ๒ ก็คือทำให้นั่งสมาธิจากที่เราฟุ้งซ่าน หงุดหงิด มันทำให้เลิกคิด เลิกฟุ้งซ่าน แล้วก็นั่ง นั่งไม่ถึงกับได้ดี แต่ก็รู้ว่าเรานั่งได้แล้ว นิดหนึ่ง แล้วพอเรานั่งไปเรื่อยๆ มันก็มาเจอจุดตรงนี้ค่ะ

หลวงพ่อ : สาม

โยม ๑ : มันเห็นมาก่อนหน้านี้อีก

หลวงพ่อ : พยายามกี่หน

โยม ๑ : หมายถึงอย่างอื่น คือที่เห็นอย่างอื่นที่รู้

หลวงพ่อ : เรื่อยๆ มาเรื่อยๆ ถ้าอย่างนี้ปั๊บ ถ้าเห็นหนเดียวนี่ เราพูดอย่างเมื่อกี้นี้ อย่างคนที่ถามเมื่อกี้นี้ เราจะบอกว่าพอเขาทำแล้ว ถ้ามันมาแว้บหรือมาอย่างนี้ ปัญญามันเกิด ประสาเราว่า เราบริหารมันไม่ได้ เพราะจิตเราไม่มีสมาธิ เราไม่มีความมั่นคง เราบริหารมันไม่ได้ บริหารมรรคญาณ บริหารสัจธรรมนี้ไม่ถูก ถ้าบริหารได้มันจะชำนาญ

ที่หลวงตาบอกว่า เวลาปัญญาหมุนติ้วๆ บริหารเป็นแล้ว บริหารเป็นแล้วมันจะคล่องตัว นี่พูดถึงโดยขบวนการของมรรคโดยขบวนการปฎิบัติไง ทีนี้พอปฏิบัติไปบุคคลมันก็หลากหลาย ทีนี้อย่างที่ว่าพอย้อนกลับมาที่โยม โยมเห็นอย่างนี้แล้วแปลกด้วย ถ้าเห็น มันแตกต่างจากคนอื่น คนอื่นเขาปฏิบัติเกือบเป็นเกือบตายเขาไม่ค่อยได้เห็น ไอ้นี่เห็น บอกพอภาวนานิดหนึ่ง ขนาดเริ่มภาวนา ไอ้นี่มันก็เป็นจริตนิสัยแล้ว

เพราะว่าหลวงตาบอก หลวงปู่มั่นบอกไว้เลย จิตที่คึกคะนองในโลกนี้มีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้า ๕ เปอร์เซ็นต์นะ เวลาสงบปั๊บหรือว่ามันจะเห็นตัวเองหลุดขึ้นไปนั่งอยู่บนก้อนเมฆ เห็นตัวเองเดินอยู่บนอากาศ มันมีส่วนน้อย ที่มีส่วนน้อยมันอยู่ที่ประเภท แล้วอย่างบางที อย่างที่ปฏิบัติไปนี่ เรานี่ปฏิบัติเกือบเป็นเกือบตายเห็นไหม เราไม่มีอะไรเลย

อันนั้นเขาปฏิบัติแบบว่าทำเป็นของเล่นนะ เห็นไหมนั่งในรถนั่งเฉยๆ นั่งเล่นๆ เห็นดอกไม้ เห็นไหม อันนี้มันเป็นส่วนหนึ่ง ถ้าพูดกันโดยข้อเท็จจริงอย่างนี้ เพราะว่าโดยภาพรวม จิตมันหลากหลาย มันมีความแตกต่าง นี้พออย่างโยมพูดนี่แต่ละคน ถ้ามันมีที่มาที่ไปอย่างนี้ มันก็วัดค่าได้ ถ้าเขาเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นแบบที่เขาเรียกว่าจิตเรานี่อยู่ในประเภทของ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่จิตคึกคะนองนั้น จิตคึกคะนองมันจะเห็นอะไรแปลกๆ กว่าเขา คำว่าแปลกๆ คือ แปลกกว่าเขานะ แต่ของเราไม่แปลก ของเราไม่แปลกหรอก มันเป็นกับเรา

อย่างเช่นนกนี่มันก็บินของมัน ปลาก็อยู่ในน้ำ มันเป็นธรรมชาติของมัน แต่มนุษย์นี่ แม่งอยากจะบิน มึงต้องซื้อตั๋วเครื่องบินนะ มันแตกต่างเพราะว่าเราไม่ใช่นก แต่ถ้านกมันเป็นธรรมชาติของมัน จิตที่มันอยู่ในประเภทของ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่คึกคะนองนั้น มันจะมีสภาวะแบบนั้น สภาวะแบบนั้นก็กลับมากำหนดลม ไม่มีอะไรเลย ก็เท่านั้นล่ะ เอ้า ว่าไป

โยม ๑ : อันนี้เสริม

หลวงพ่อ : เสริม

โยม ๑ : เอ้อ สมมุติถ้าเราเริ่มต้นจากการเห็นดอกไม้ตรงนี้ใช่ไหมครับ ทีนี้การเห็นต่อนี่คือเห็นที่ว่า บนเมฆบนอะไร มันเห็นเหมือนกัน แต่ที่รู้ว่าไม่เป็นสาระเพราะว่า มันไม่แม่นเท่ากับครั้งสุดท้าย ครั้งที่ ๓ ทีนี้พอเห็นครั้งสุดท้ายมันแยกเป็น ๓ ส่วน มันจะเห็นชัดกว่าการเป็นเมฆเป็นอะไรข้างบน

หลวงพ่อ : ต้องกำหนดมาตรงนี้ ต้องกลับมากำหนดลมต่อไปเรื่อยๆ แล้วเกาะลมนี้ไว้

โยม ๑ : มันสามารถกลับมากำหนดลมได้อีกหรือ

หลวงพ่อ : นี่ไง ถึงบอกเมื่อกี้ว่าส่งออกไง เดี๋ยวเพราะเรานี่กำหนดลมมาแล้ว เรารู้ว่า ถ้าลมสิ้นสุดขบวนการมันจะไปขาดหายกันอย่างไร เราทำมาแล้ว เราถึงกล้าพูดว่า ถ้าจิตระดับนี้ จะเป็นอย่างนี้ จิตระดับนี้จะเป็นอย่างนี้ เอ้า ว่าไป

โยม ๑ : แต่ว่าตรงสามส่วนนี่ มันไม่สามารถย้อนกลับมากำหนดได้

หลวงพ่อ : ได้ เดี๋ยวก่อน มันประสาเรานี่ ไม่ใช่ประสาเรา ความจริงเลยละ โยมกำหนดลมขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าปกตินี่เราคือเป็นสามัญสำนึก พอกำหนดลมจิตมันละเอียดเข้ามา พอละเอียดเข้ามา เพราะจิตมันอยู่ในประเภทที่มันรู้อยู่แล้วใช่ไหม ถ้าเรากำหนดละเอียดเข้าไปอีก ละเอียดเข้าไปอีก ความรู้นี่มันจะชัดเจนขึ้น พอมันชัดเจนขึ้น หรือเรารู้อะไรก็แล้วแต่ จิตนี้มันจะเป็นผู้บริหารเขา

โยม ๓ : พอหนูได้ตรงนั้นปึ๊บ กลับมานั่งภาวนาไม่ได้ คือต้องนั่งเฉยเลย

หลวงพ่อ : เพราะอะไร

โยม ๓ : ไม่รู้ มันอึดอัด ถ้าเกิดภาวนา

หลวงพ่อ : ทำไมไม่กำหนดลมล่ะ

โยม ๓ : หนูก็กำหนดลมไงคะ

หลวงพ่อ : กำหนดสิ

โยม ๓ : อ้ะ กำหนดลม แล้วภาวนาไม่ได้ ต้องกำหนดลม

หลวงพ่อ : กำหนดลมนี่เขาเรียกว่าภาวนา กำหนดลมนั่นแหละเขาเรียกภาวนา

โยม ๓ : ก็ไม่เป็นน่ะค่ะ คือถ้าแบบว่าให้ท่องพุทโธ สัมมาอะระหัง มันทำไม่ได้เลย

หลวงพ่อ : ไม่ต้อง กำหนดลมคืออานาปานสติ เอาสติกำหนดลมไว้ ลมนี่คือแทนพุทโธ ถ้าพุทโธก็พุทธานุสสติ กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดลมหายใจเรียกว่า อานาปานสติ นี่ไงกำหนดไว้ลมเฉยๆ เขาเรียกว่าภาวนา จำไว้ แล้วกำหนดลมเฉยๆ ชัดๆ ตอนนี้ตั้งสติอยู่กับลม ตั้งสติไว้

แล้วกำหนดอยู่อย่างนี้ อยู่กับลม เกาะลมไว้ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ถ้ามันจะเกิดอะไรนี่อยู่กับลม ถ้ามันจะออก กำหนดไว้ที่ลม พอกำหนดลมนะ ลมจะละเอียดเข้ามาๆ อยู่กับลมเฉยๆ อยู่กับลม อยู่กับลมเฉยๆ อยู่กับลม เกาะลมไว้ ลมจะละเอียดก็เกาะลม ฟังนะ แล้วลมมันจะละเอียดจนมันจะดับไปเลย หายไปเลย ผู้รู้เรายังอยู่ไม่เป็นไร กำหนดอยู่กับผู้รู้นี้

โยม ๓ : แต่หูเรายังได้ยินหมด

หลวงพ่อ : ยังน่ายัง เดี๋ยวนะ ถ้าถึงระดับนี้หูจะดับ ถ้าทุกอย่างยังได้ยินอยู่ จิตยังหยาบอยู่ จำไว้ ถ้ายังกำหนดได้ ให้กำหนดไปเรื่อย ขณะที่หูยังได้ยินนี่ยังหยาบมาก ถ้ากำหนดลมไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะเริ่มหดตัวเข้ามา หดตัวเข้ามา ลมนี้จะหายไป ความรับรู้จากหู เราพูดทุกวันเลย

ความรับรู้จากหูจากผิวหนังนี่ เพราะมันหดเข้ามาจนมันทิ้งหมด เข้ามาเป็นตัวมันได้ มันยังไปได้อีกไกลเลย กำหนดลมไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปกับสิ่งใด อยู่กับลมนี่ แล้วไม่ต้องตกใจด้วย พอเดี๋ยวๆไป อุ้ยจะตายๆ มันจะเป็นจะตายขึ้นมาเชียวแหละ มันหลอก อยู่กับลมไว้เฉยๆ กำหนดลมไว้เฉยๆ สติอยู่กับลมไว้เฉยๆ สติอยู่กับลม ลมจะหาย ลมจะขาด ลมจะใส ลมจะสว่าง อยู่กับลมไว้เฉยๆ ตลอดไป

เพราะอยู่กับลมนี่มันมีอานาปานสติ แต่เวลาเห็นนี่มันตื่นเต้น มันจะพุ่งออก มันจะอะไรออก คำว่าอยู่เฉยๆ นี่ อยู่ไม่ได้หรอก ทำให้อยู่ให้ได้ ถ้าอยู่ได้จะดีขึ้น เราเห็นดอกไม้ก็ตื่นเต้นไปกับมัน เห็นอะไรก็ตื่นเต้นไปกับเขา แต่จะตื่นเต้นอย่างไรก็แล้วแต่ พอมันวางแล้วกลับมาที่ลม จำไว้ ยึดหลักลมไว้ แล้วเรานั่งอยู่นี่

คนเป็นไม่พูด ให้คนไม่เป็นพูด ยิ่งพูดยิ่งงง

โยม ๑ : ไม่ใช่อย่างนั้น ผมก็เห็นแต่ว่าผมไม่เห็นแบบเขา แต่ทีนี้มันมีต่อตรงที่ว่าเรากำหนดลมไปแล้ว หูมันปิดครับ

หลวงพ่อ : ใครหูปิด โยมเหรอ โยมหูปิดเลยเหรอ

โยม ๑ : มันจะคล้ายๆ กันครับ

หลวงพ่อ : เอ้า ว่าไปๆ

โยม ๑ : ทีนี้เวลาที่เรารู้ เรารู้จากข้างในอีกทีหนึ่ง

หลวงพ่อ : ว่าไปสิ

โยม ๑ : ข้างในที่มันกำหนดเป็นความรู้สึก แต่ข้างนอกมันไม่มี ไอ้ตรงความรู้สึกนี่คือมันเป็นความรู้สอง

หลวงพ่อ : ว่าไป ว่าไปสิรู้จากอะไรล่ะ

โยม ๑ : รู้แต่ว่า อย่างภาพที่เคยเห็น ใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : มันก็เป็นนิมิตเฉยๆ

โยม ๑ : แต่ว่าจุดกำหนดเป็นตัวสุดท้าย

หลวงพ่อ : เดี๋ยวก่อน โยมกำหนดลมเหมือนกันใช่ไหม

โยม ๑ : ครับผม

หลวงพ่อ : แล้วเมื่อกี้พูดอะไรว่าหูดับนี่มันดับอย่างไร

โยม ๑ : ก็หูไม่ได้ยินเลยฮะ

หลวงพ่อ : เดี๋ยวสิมันจะไม่ได้ยินนี่ มันจะต้องเริ่มค่อยๆไม่ได้ยินมาอย่างไร

โยม ๑ : ไม่ใส่ใจฮะ มันยังได้ยินอยู่ แต่ไม่ใส่ใจ เดี๋ยวมันดับไปเอง

หลวงพ่อ : อย่างนี้ไม่ดับ นี่มันยังไม่ดับ มันยังไม่ถึงกับดับจริงไง แต่เพราะไม่ใส่ใจมันเอง

โยม ๑ : มันก่อน คือไม่ใส่ใจ มันจะเริ่มไม่ใส่ใจก่อน

หลวงพ่อ : หูที่มันจะดับได้นี่ ฟังนะ หูหรืออายตนะจะดับนี่ กำหนดลมนี่ ลมจะละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา จิตใจเราจะรู้ลมเข้ามา จนลมเข้ามา จนปล่อยเข้ามา จนลมหายใจนี่ดับก่อน ถ้าลมหายใจยังมีอยู่ หูมันจะดับไปได้อย่างไร ในเมื่อเรายังรู้สึกลมหายใจอยู่นี่ เอ้าลองค่อยๆ คิด ค่อยๆ คิด ในเมื่อเรายังรับรู้ถึงลมหายใจสัมผัสจมูกอยู่ได้ แล้วหูนี่มันจะไม่ได้ยินได้ยังไง มันได้ยินเห็นไหม

เพียงแต่ว่าดับไม่ดับนี่ไม่สำคัญหรอก เพียงแต่เราเช็คกับโยมดูเองไง ทั่วไปเห็นไหม เราบอกสมาธิยังไม่รู้นี่จะไปสอนอะไรไม่ได้หรอก สมาธิต้องรู้ขั้นของสมาธิ แล้วสมาธินี่มันก็มี ๔๐ วิธี ความว่างเห็นไหม ความว่างเป็นอจินไตย ฉะนั้นอย่างที่ว่าดับนี่ เราคุยกันนี่ นี่เป็นพระนี่เป็นอาจารย์สอนคน

ทีนี้พอโยมบอกว่าดับ ถ้าเราฟังว่าดับก็คือว่า โอ้โฮ โยมนี่ขนาดว่าโยมพิจารณาจนหูดับเลย โฮ อาจารย์สงบฟังแล้วยอมรับไง มันยังไม่ใช่ คำว่าไม่ใช่นี่ เดี๋ยวก่อน ไม่มีปัญหา นี่เราพูดให้ฟังเฉยๆ ถ้ายังไม่ใช่ ถ้ามันดับหมดนี่ ลมหายใจมันขาดก่อน ถ้าลมหายใจยังไม่ขาดนี้เพราะเรายังรับรู้ลมอยู่

แล้วพอลมหายใจจะขาด มันจะมีเกิดอาการตกอกตกใจ เพราะสิ่งที่เราไม่เคยสัมผัส มันจะทำให้ขั้วหัวใจนี่ตื่นเต้น พอตื่นเต้นนี่มันจะขยับทันที กว่าจะทำให้แบบว่า นี่แหละคืออัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธินี่สักแต่ว่า อายตนะนี้ดับหมด แต่ตัวจิตไม่ดับ สักแต่ว่ารู้อยู่กลางหัวอกเลย แล้วดับหมด ทีนี้พอดับหมด เวลาเขาปฎิบัติเห็นไหม เพราะลมมันยังไม่ดับ แต่คำว่าดับเห็นไหม เราไม่รับรู้มัน

ไอ้อย่างนี้มันเป็นเทคนิค พอคำว่ามันเป็นเทคนิค แต่คนที่เข้าไปชำนาญแล้ว มันจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะพอโยมบอกดับหมดแล้วทุกอย่าง พอดับหมด มันเข้าถึงอัปปนา เราถึงบอกโอ้โยมนี่เก่งมากเลยถ้าเข้าได้ตามจริงไง เราถึงพยายามเช็คดูว่า มันจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่จริงก็ไม่เป็นปัญหาหรอก เพียงแต่เราทำไป เดี๋ยวมันจะถึงที่จริงไง ประสาเรานี่ ระยะทางยังมีที่ก้าวเดินไปอีก

โยม ๑ : ลองให้น้องเขาอธิบาย

หลวงพ่อ : เอ้าอธิบาย

โยม ๔ : กำหนดลมหายใจไปเรื่อยๆ มันไปรู้ มันมีรู้

หลวงพ่อ : เดี๋ยวก่อน เราฟังแค่นี้เรารู้หมดแล้วแหละ โยมนี่จะให้โยมนี่อธิบาย อธิบายก็อย่างที่โยมพูดให้ฟัง เราก็ฟังแล้วนี่ไง ประสาเรานี่เพราะโยมยังไม่ถึง ระยะทางยังมีให้เดินไป โยมเข้ามาได้กึ่งทางหรือค่อนทาง โยมก็ว่าตรงนี้เราอธิบายได้แค่นี้ แต่ไอ้ระยะทางที่ยังเดินไปไม่ถึงหรือยังไม่ได้ก้าวไปนี่ โยมก็ไปอยู่ข้างหน้า ถ้าอยู่ข้างหน้าแล้ว โยมจะเอาอะไรมาอธิบายล่ะ

โยม ๑ : ก็เอาเฉพาะที่เดินไปได้ถึงมาอธิบาย

หลวงพ่อ : ถ้าโยมอธิบาย ก็คืออธิบายที่โยมเดินผ่านมาแล้ว สิ่งข้างหน้ายังเดินไปไม่ได้นี่ โยมอธิบายไม่ได้หรอก

โยม ๑ : มันเห็นตัวสุดท้ายไม่เหมือนกัน เหมือนกันความรู้สึกที่ว่าดีฮะ คือเห็นสามส่วนเหมือนกัน

หลวงพ่อ : จบ ถ้าเห็นอย่างนี้คือจบ เพราะว่า เห็นสามส่วน ก็เห็นสามส่วนก็เท่านั้นล่ะ

โยม ๑ : คือไม่ครับ แต่มันมีคำถามต่อว่า เวลาที่มันเห็นสามส่วนนี่ มันจะมีกระแสเชื่อมฮะ โดยที่ว่าแยกกันชัดเจน มันให้เราดูอีกนิดว่า เอ๊ะมันมีกระแส ตรงมีกระแสกับการที่ไม่มีกระแส มันมี ๒ ส่วนให้เห็นอยู่คือ มีกระแสเห็นกระแสไฟในความรู้สึกนั้น

หลวงพ่อ : เราจะบอกจิตเห็นอาการของจิต ถ้าเราเห็นได้ ถ้าเห็นได้จับได้ เราพิจารณามัน เพราะว่าไอ้ที่ว่าดับหมดไม่ดับหมดนี่มันเป็นขั้นของสมาธิ สมาธิคือสมาธิ เราอธิบายโดยหลักแล้วตอนเช้า สมาธิคือสมาธิ สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ แต่สมาธินี่เป็นฐานให้เกิดปัญญา ทีนี้พอโยมทำจิตให้สงบแล้ว เห็นอาการสามส่วน เห็นจิต แล้วเห็นกระแสเห็นความคิดเห็นอะไรต่างๆ นี่ แล้วไม่มีอะไรผูกมัด ก็พิจารณามัน

คำว่าพิจารณา พอพิจารณาถ้าจิตสงบเข้ามา มันจะเห็นอย่างนี้ได้ ถ้าเห็นอย่างนี้ได้ พอมันพิจารณาได้ เอามาพิจารณาว่าสิ่งใด ไอ้ที่ว่า ๓ ส่วนนี้ ไอ้ที่ว่ากระแสไปจับนี้มันคืออะไร ถ้าการพิจารณานะ อย่างนี้คืออะไร อันนี้คือขวดน้ำ ในขวดมีน้ำหรือเปล่า ในขวดนั้นน้ำนั้นมีมากหรือมีน้อย นี่ก็เหมือนกัน กระแสนั้นคืออะไร ถ้าเราให้ชื่อได้ เราให้ความหมายได้ เราก็จับมาพิจารณาได้ อ้าวว่าไป ถ้ามันสงสัย

โยม ๑ : ในความรู้สึกใช่ไหม ในความรู้สึกที่มันเป็นส่วนนี่ เวลาที่มันเกิด แล้วมันเห็นชัดเวลาเกิดนี่ สมมุติว่ามันร่วม เราเริ่มจะพิจารณาอะไรก็แล้วแต่ มันจะกระเด็นกลับ หมายถึงว่าเราจะกระเด็นออกทันทีเลยครับ

หลวงพ่อ : มันหาย

โยม ๑ : ให้ดูเฉยๆ ให้ดูได้แค่ดูเท่านั้นเองครับ

หลวงพ่อ : เราไม่มีกำลังไง

โยม ๑ : แต่ว่าช่วงเวลาหนึ่งมันจะค่อนข้าง

หลวงพ่อ : เร็ว

โยม ๑ : ไม่ๆ มันไม่น้อยฮะ ให้ดูรู้เรื่องอยู่ ให้รู้เรื่อง

หลวงพ่อ : อย่างที่ว่าเมื่อกี้ถ้าจิตมันสงบ พอจิตสงบนี้มันจะเห็น มันจะจับต้องสิ่งใดๆได้ถ้าจิตมันสงบ ถ้าจิตไม่สงบสิ่งนั้นยังจับไม่ได้ ถ้าเป็นกรรมฐาน ถ้าจิตสงบ เห็นต่างๆ พิจารณาได้ ถ้าพิจารณาไม่ได้ ก็ย้อนกลับมาที่สงบอีกก็เท่านั้น

โยม ๑ : คือเราไปร่วมปุ๊บมันกระเด็นกลับ มันหมายความว่า

หลวงพ่อ : หมายความว่ากำลังเราไม่พอ เราทำอะไรไม่ได้

โยม ๑ : เรามีส่วนไปรู้เห็นกับมันใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ไม่ กำลังเราไม่พอ กำลังเราไม่พอ ถ้ากำลังเราพอเราจับได้ กำลังเราพอเราจับได้ เราจับต้องได้ เรามีเงินเราสามารถซื้อสิ่งของได้ เงินเราไม่พอแต่เราอยากเอาสินค้านั้นไม่ได้ จิตถ้าเราไม่มีกำลังพอ กลับมาที่ลม กลับมาที่ลม ถ้าลมสงบ แล้วเห็นอาการอย่างนี้ค่อยๆออกไปพิจารณา กลับมาที่ลม กลับมาที่ลม จำไว้ เอ้า ว่าไป

โยม ๑ : ถ้าเป็นส่วนๆ นี่ เรียกสักแต่ว่าเห็นได้ไหม

หลวงพ่อ : ไม่ได้

โยม ๑ : ยังไม่ใช่สักแต่ว่า

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ อย่างที่ว่าสักแต่ว่าเห็น ต้องเป็นบิลล์เกตส์ ต้องมีเศรษฐีมหาเศรษฐีใหม่ถึงวางได้ สักแต่ว่าเห็นอย่างนี้ ย้อนมาสักแต่ว่าเห็น เรากลับมา เราก็ยังปกติ เราไม่ได้อะไรขึ้นมาเลยใช่ไหม

โยม ๑ : คือกระเด็นกลับ ไม่ได้อะไร แล้วอีกส่วนที่ว่าปิ๊งละครับ อีกส่วนที่ว่าปิ๊งๆ แว้บๆ แต่จริงๆ มัน ก็เหมือนกับขณะที่ดูฮะ มันไม่ใช่ปิ๊ง ที่เห็นสามส่วนคือมันไม่ใช่ปิ๊ง ปิ๊งเดียว แต่มันคือรู้ช่วงหนึ่ง

หลวงพ่อ : โยมพูด พูดได้ทุกๆ ที ทุกๆ อารมณ์ ทุกๆ อะไร แต่โดยหลักแล้ว เราตอบโดยหลักแล้ว โดยหลักเป็นอย่างนี้ กลับมาที่ลม แล้วตั้งลมให้ได้ ไอ้สิ่งที่ปิ๊ง สิ่งที่มันไปเห็น มันจะมั่นคงแล้วจับต้องได้ด้วยความเต็มไม้เต็มมือ จับได้ด้วยสติด้วยปัญญา ไม่ใช่จับด้วยมือ แล้วเราเข้าไปจับ อย่างนี้เราก็กลับไปทำลมใหม่ แล้วที่ปิ๊งๆ เข้ากระเด็นออกมานี่ ลองตั้งสติให้ดี แล้วกลับไปพิจารณามัน แล้วมาหาเราใหม่ เรานั่งอยู่นี่

แต่เดิมทำโดยที่ว่าไม่มีใครให้ปรึกษา ทำเองด้วยความเป็นด้วยจินตนาการของตัว แต่ตอนนี้เรานั่งอยู่นี่ แล้วพูดรวบรัดเป็นข้อเท็จจริงออกมาเลย ไม่ต้องเปรียบเทียบ อู้ฮูย ชักแม่น้ำทั้ง ๕ รออยู่ครึ่งชั่วโมง พูดออกมาตามข้อเท็จจริงนั้นก็จบ กับกำหนดลมไว้เฉยๆ กำหนดลมไว้เฉยๆ ใครมาเราบอกกำหนดพุทโธๆไว้ นี่กำหนดลมไว้เลย เดี๋ยวรู้กัน กำหนดลมไว้ อยู่กับลมไว้เดี๋ยวรู้กัน สติกำลังพอแล้วเดี๋ยวได้เผชิญหน้ากัน กิเลสกับธรรมได้ซัดกันเท่านั้นแหละ

โยม ๑ : ยังไม่ใช่ตัวจิต

หลวงพ่อ : เออไปทำมา ไปทำมาแล้วจะมาตอบเนาะ เอวังเนาะ

โยม ๑ : ครับผม