เทศน์บนศาลา

สักแต่ว่า-เลยไม่รู้

๒๑ พ.ย. ๒๕๕๓

 

สักแต่ว่า-เลยไม่รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เราจะมีธรรมเป็นที่พึ่ง ประเพณีวัฒนธรรมเป็นเรื่องของสังคม เราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ต้องอาศัยคนนะ สัตว์ เห็นไหม ดูสัตว์บางชนิด ลูกมันเกิดมานี่จะเลี้ยงตัวเองได้เลย มนุษย์นี้ไม่ได้ มนุษย์ต้องพ่อแม่เลี้ยงมากว่าจะโตขึ้นมา แต่มนุษย์นี้มีปัญญามากนะ

สัตว์จะมีกำลังขนาดไหน ช้าง เสือ วัว ควาย มนุษย์เอามาฝึกหัดใช้งานได้หมดเลย เพราะอะไร เพราะด้วยความมีปัญญาของมนุษย์ มนุษย์มีปัญญามาก แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์นี้อ่อนแอมาก อ่อนแอนะเวลาเด็กขึ้นมาต้องดูแลอย่างดีเลย แล้วเราจะฝึกของเราเพื่อเป็นคนดี.. นี้เป็นมนุษย์ในสังคม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาพูดไว้ในธรรมว่า “มนุษย์นี้เป็นผู้ที่ฉลาด มีปัญญามาก เอาสัตว์มาใช้งานได้หมด แต่โง่กว่าสัตว์ !”

คำว่าโง่กว่า.. ในธรรมมองว่าสัตว์ยังมีอิสรเสรีภาพ สัตว์มันจะไปโดยธรรมชาติของมัน สัตว์ป่ามันอยู่ของมันโดยธรรมชาติของมันนะ นกกามันบินไปตามธรรมชาติของมัน แต่มนุษย์เห็นไหม จะบินหรือจะไปถึงไหนก็แล้วแต่เราจะต้องกลับมาอยู่ด้วยกัน

เราจะมีกฎกติกาของสังคม กฎกติกาของสังคมนั่นล่ะคือโซ่ตรวนของมนุษย์ มนุษย์ต้องสร้างขึ้นมา เพราะเราเป็นสัตว์สังคม แต่เมื่ออยู่ในสังคมแล้ว นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก รอนสิทธิกัน ทำลายคนอื่น ทำลายเห็นไหม ทำลายด้วยการกระทำ ทำลายด้วยปาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า มนุษย์เกิดมาถือขวานมาคนละเล่ม ขวานนี่เอาไว้ถากกัน ถางกัน มนุษย์มีปาก เราถากกันด้วยคำพูด เราถากถางกันด้วยเสียงของเรา.. นี่มนุษย์ !

สิ่งที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้าพลิกมา.. พลิกมาว่ามนุษย์นี้มีปัญญามาก เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดเป็นมนุษย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาตัวรอดไปได้ ตรัสรู้เองโดยชอบ วางธรรมและวินัยนี้ไว้เป็นศาสดาของเรา ให้เรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เพื่อความเป็นมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณที่พ้นจากมนุสสเปโต มนุสสเดรัจฉาโน เราจะเป็นมนุสสเทโว เราเป็นมนุษย์ที่พ้นจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ฉะนั้นเวลาเกิดมาในสังคม.. สังคมก็คือสังคม สังคมคือโลก เราปฏิเสธโลกไม่ได้หรอก เราเกิดมากับโลก เราอยู่กับโลกนะ ถ้าเราเข้าใจโลก เห็นไหม เราอยู่กับเขาแต่เราไม่ติด.. เราให้ความสนับสนุน เราจุนเจือเขา แต่ถ้าเราขวางโลก เราว่าสิ่งนั้นผิด สิ่งนั้นไม่ถูกต้อง แล้วเราขวางเขาไปหมดเลย เราจะอยู่กับโลกเขาได้อย่างไร

ธรรมะเป็นอย่างนั้นเหรอ ? หลวงตาท่านบอกว่า “ธรรมะนี้ละเอียดลึกซึ้งนัก ! เข้าได้ทุกเม็ดหินเม็ดทราย” ในสังคมก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่เราเตือนสติกัน

ถ้าเราเป็นนักธรรมะเห็นไหม นี่สังคมโลกเขาเป็นอย่างนั้น เราเตือนกัน.. เราเตือนกันเพื่อจะให้เรามีสติปัญญา ให้เรามีสติยับยั้ง ถ้าเรามีสติทุกอย่างเราจะควบคุมจิตใจเราได้ เราจะควบคุมความรู้สึกความนึกคิดของเราได้หมดเลย แต่เพราะเราขาดสติ พอเราขาดสติ เห็นไหม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เห็นสังคมเขามีความสุขความเพลิดเพลินกัน เราก็อยากมีความสุขความเพลิดเพลินไปกับเขา

แต่ความสุขความเพลิดเพลินไปกับเขานะ แม้แต่นักธรรมตรีนี่ ที่ไหนมีการละเล่น มีการฟ้อนรำ ที่ไหนมี เราไปที่นั่น นี่เป็นสิ่งที่ว่าไม่ควรทำ มีมหรสพสมโภช.. สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของโลกๆ ไง แต่เราอยู่กับเขา เรามีวุฒิภาวะ เรามีปัญญาของเรา เราจะเอาตัวรอดของเรา เราหาที่พึ่งของเรา ที่พึ่งของเราอยู่ที่ไหนล่ะ..

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้นะ เวลาเราบวชขึ้นมา นี่ในญัตติจตุตถกรรมขึ้นมาเป็นพระ

“เธอบวชมาแล้ว เธอจงอยู่โคนไม้ เธอจงธุดงค์ไป”

นี่ไง ให้ออกจากหมู่ไป ให้ไปแบบหน่อแรด แรดมีหน่อเดียว เขาสัตว์มันมีคู่ทั้งนั้นแหละ แต่แรดมันมีหน่อเดียว นี่เราไปนะ เราไปแบบหน่อแรด ไปแบบคนเดียว เราแยกออกไป

พอแยกออกไปนี่จิตมันจะมีผลกระทบมากเลย มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ด้วยกัน เจือจานกัน แต่เวลาปฏิบัตินะ หมู่คณะที่อยู่ด้วยกัน นี่หมู่คณะเป็นสัปปายะ แต่ถ้าหมู่คณะเป็นสัปปายะนี่มันทิฐิไม่เสมอกันไง พอทิฐิไม่เสมอกัน มันจะมีความขัดแย้งกัน คนนี้อยากนั่งภาวนา คนนั้นจะทำข้อวัตร คนนั้นมีกิจส่วนตัว.. มันมีเสียงกระทบกระเทือนกันไปหมดแหละ

แต่ถ้าเวลามนุษย์ไปบวชพระแล้วเราออกธุดงค์ไปเป็นแบบหน่อแรด นี่เราตัวคนเดียวนะ เราตัวคนเดียวเราต้องรักษาตัวเราเองแล้ว จะทำสิ่งใดเราก็ทำของเราเอง นี่เกิดความสงบเกิดความสงัด เห็นไหม

แต่เวลาทางกิเลสนะ เวลาอยู่คนเดียว ไปในที่มืด ไปในป่าในเขา เรากลัวสัตว์ร้ายทำลาย เรากลัวความมืด เรากลัวผีกลัวสาง เรากลัวไปหมดแหละ ความกลัวสิ่งนี้ นี่ผลตอบสนองมา.. แต่ถ้าเราอยู่กับหมู่คณะ เราไปกัน ๒ ไป ๓ นี่เราก็อุ่นใจ เรามีพรรคมีพวก มีต่างๆ แต่ภาวนามันได้ผลต่างกันหมดนะ

เราประพฤติปฏิบัติ.. ผลนี้มันต่างกันเพราะอะไร เพราะเราไป ๒ ไป ๓ นี่เราอุ่นใจใช่ไหม ความอุ่นใจนั่นล่ะกิเลสออกช่องนั้นแหละ นี่เราไปเพื่อจะชำระกิเลส เพื่อจะเอาชนะตัวเราเอง ถ้าชนะตัวเราเอง เราไปคนเดียว เราไม่มีที่พึ่ง ไม่มีสิ่งใดเลย เราเองต้องเผชิญกับความจริงทั้งหมดเลย

นี่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา เราจะควบคุมใจของเรา เพราะมันไม่มีที่พึ่ง มันหวาดกลัวไปหมดแหละ ถ้ายิ่งไปอยู่นะที่นี่เสือชุม ที่นี่ต่างๆ ชุม เขาว่าเดี๋ยวนี้ไม่มี.. ยังมีอยู่ ที่มีเสือนี่อย่างมรดกโลกห้วยขาแข้งนี่มีเสือ ถ้าเราเข้าไปนี่มี ! เสือมี แล้วเสือมันจะกินคนไหมล่ะ เสือมันจะกินพระไหมล่ะ มันจะกินพระที่มาธุดงค์นี่ มันจะมากินพระที่มานั่งต่อหน้ามันเนี่ย มันจะกินไหมล่ะ

นี่ความคิด โดยธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณเราก็รู้ว่าสัตว์มันกินเนื้อ แต่นี้มันจะกินคนหรือไม่กินคน นั้นมันเป็นที่เวรที่กรรมอีกทีหนึ่ง แต่การเที่ยวธุดงค์มา ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมานะ มันเข้ามาขู่ เข้ามาปลอบ เข้ามาต่างๆ นี่มาเป็นสหายกัน มาเป็นเพื่อนกัน มีบุญเกิดมาร่วมโลกเดียวกัน มันจะเป็นประโยชน์ต่อกัน

ฉะนั้นสิ่งที่เราแสวงหาธรรม เราแสวงหาในที่สงบสงัด เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน ท่านสอนให้ทำความสงบของใจ ! ถ้าใจมันสงบขึ้นมาแล้วนี่มันจะมีหลักมีเกณฑ์ แล้วใจมันจะสงบได้อย่างไรล่ะ

นี่มันไม่สงบเพราะอะไร เพราะมันมีความฟุ้งซ่าน มันมีความนึกคิดโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ มนุษย์เกิดมานี่มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ มนุษย์มันมีความคิด เห็นไหม มนุษย์ด้วยกัน มันจะเบียดเบียนกันด้วยความคิด เบียดเบียนกันด้วยการถากถางกันต่างๆ มนุษย์มาจากไหนล่ะ

มโนกรรม.. เกิดจากใจมันคิด เกิดจากใจมีเจตนาของมันขึ้นมา แต่มนุษย์มันได้สร้างบุญกุศลมา จริตนิสัยเป็นสาธารณะ เห็นไหม นี่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มันเห็นของมัน มันเป็นมาจากหัวใจ แต่ ! แต่เพราะโลกเป็นอย่างนี้

โลกเห็นไหม โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ของเรามีอยู่จำเป็น ถ้าเราจะเผื่อแผ่ไปทั้งหมดนี่มันไม่พอ ฉะนั้นเขาถึงไม่ค่อยแสดงออกกัน.. แต่ถ้าจิตใจมันเป็นสาธารณะนะ มันคิดสงสาร คิดต่างๆ นี่จิตใจที่ดี ถ้าจิตใจที่ดีเราจะควบคุมใจเราได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าจิตใจมีความพยาบาท มีอาฆาต มีต่างๆ นี่ มันมีแต่เผาหัวใจนะ

ถ้าเผาหัวใจขึ้นมาเห็นไหม เกิดมาก็น้อยเนื้อต่ำใจ โลกนี้เขามีความสุขกันหมดเลย เราคนเดียวเป็นคนทุกข์คนยาก โลกนี้เขามีแต่คุณงามความดี เราคนเดียวนี้เป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา มันมีแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจนี่ มันทำลายหัวใจเราทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ มนุษย์ก็คือมนุษย์ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์นะ เป็นศาสดา เป็นครูของเรา เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติพ้นออกไปจากกิเลส

เราก็เป็นมนุษย์ เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เตือนสติ ให้เรามีสติ เราจะเสียเวลามากกับเรื่องความเป็นอยู่ของเราไปต่อวันหนึ่งๆ แต่ถ้าเรามีสตินะ เราทำของเราเพื่อประกอบสัมมาอาชีวะ เพื่อประกอบตามความเป็นอยู่เท่านั้น เราจะมีเวลาของเราเพื่อประพฤติปฏิบัติ

เรามาบวชพระเพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เพราะว่าทางของโลกเป็นทางคับแคบ เขาทำมาหากินด้วย แล้วเขาก็ต้องพยายามจะหาความสุขใส่ตัวด้วย แล้วถ้าจิตใจของเรามีความทุกข์ขึ้นมานี่ เราก็ต้องพยายามแก้ไขของเราด้วย

เรามาบวชพระ.. เราบวชพระบวชเจ้านี่วัตรปฏิบัติ เราเป็นพระกรรมฐาน พระกรรมฐานนี่ปฏิบัติได้ ๒๕ ชั่วโมงเลยนะ อดนอนผ่อนอาหารนี่ตลอดเวลา ทำได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเราทำได้ของเรา เราจะมีจุดยืนของเรา

ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันไม่สงบขึ้นมานี่มันฟุ้งซ่านไปหมด การกระทำมันจะผิดหูผิดตา มันจะขัดข้องหมองใจไปทั้งนั้น แต่ถ้าวันไหนจิตใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมานี่มันสดชื่น ทำสิ่งใดมันดีไปหมดนะ

ถ้าจิตของคนมันดีขึ้นมา เราทำความสงบของใจนี่ ใช้คำบริกรรมก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามา.. ใจมีหลักมีเกณฑ์ ใจมันสงบเข้ามานี่ ขณิกสมาธิ.. อุปจารสมาธิ.. อัปปนาสมาธิ ถ้าเป็นขณิกสมาธินะมันมีความร่มเย็น มันมีความสุขใจของมัน นี่เราก็พยายามทำของเรา มีสติปัญญาของเรา

ความคิดมันเป็นธรรมชาตินะ ความคิดมันเกิดโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เราพยายามจะให้ความคิดเรานี่อยู่กับพุทโธ ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดที่เกิดขึ้นมานี่เรามีสติปัญญาไปกับความคิดนั้นเลย เรามีสติปัญญาไล่ตามความคิดไป ถ้าสติปัญญามันทันความคิดมันต้องหยุด ความคิดมันหยุดของมัน นะ เดี๋ยวก็คิดต่อ.. คิดต่อ เห็นไหม เพราะเป็นธรรมชาติของมัน

แต่ถ้าเป็นกิเลส.. กิเลสนะ โดยที่เราปล่อยมันตามธรรมชาติ มันจะมีความอยู่สุขสบายของมัน ความคิดสิ่งใดก็แล้วแต่ เหมือนพระเลย พระถ้าออกพรรษาแล้วนี่ แหม.. สบายใจมาก พอออกพรรษาแล้วมันไม่มีกติกาอะไร เราจะไปตอนไหนจะมาตอนไหน มันไม่มีกติกากับหัวใจ แต่ถ้าเข้าพรรษาแล้ว แหม.. ๓ เดือนนี้ไปไหนไม่ได้แล้ว นี่มันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย ๓ เดือนนี่ไปไหนไม่ได้เลย นี่มันคอยระวังไปหมด

ความคิด ! ความคิดถ้าเราปล่อยตามธรรมชาติของมัน มันก็คิดตามธรรมชาติของมัน คิดเรื่องร้อยแปดพันเก้านี่มันสุขสบายของมัน พอมีสติขึ้นมามันเดือดร้อนแล้ว มันมีการต่อต้านแล้ว มันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย

นี่ไง เวลาคนปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติทำไมเราปกติ พอปฏิบัติขึ้นไปแล้วทำไมมันมีแต่อะไรโต้แย้งในใจตลอดมา

มันเป็นธรรมดา เด็ก.. เราปล่อยมันเล่นตามสบาย มันก็อยู่ประสามันนั่นล่ะ

เด็ก.. เรามีกติกากับเด็ก ต้องทำอย่างนั้นๆ นี่เด็กมันไม่สบายใจ

ใจ.. ใจของเรานี่มันเคยคิดโดยธรรมชาติของมัน คือในสภาวะแบบนั้นโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าเรามีสติปัญญานี่ ให้มันคิดอยู่ในกรอบ พอคิดอยู่ในกรอบ มันก็อึดอัดขัดข้องเป็นเรื่องธรรมดา

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ.. พอเริ่มปฏิบัติมันก็มีการโต้แย้ง มันมีการขัดแย้ง แต่ถ้าเรามาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เราเป็นคนมืดบอด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า จิตนี้มันเกิดมาในวัฏฏะ เกิดมาในสามโลกธาตุ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดในนรกอเวจีนี่มันเกิดมาตามกรรมดีกรรมชั่ว

เพราะเราศึกษาธรรมขึ้นมา เห็นไหม ถ้าทำชั่ว ทำสิ่งที่ไม่ดี มันก็ไปตกนรกอเวจี เราก็พยายามไม่ทำ เราไปทำคุณงามความดีของเรา ถ้าทำความดีนี่จะไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เราก็อยากเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม กลัวเราจะเพลิดเพลิน เราก็อยากจะพ้นจากทุกข์

นี่เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราศึกษาแล้วเราเห็นดีเห็นงาม จิตใจนี่ ศึกษาปริยัติ.. “รสของธรรมชนะรสทั้งปวง” ธรรมแบบนี้ ! ธรรมในสุตมยปัญญา ธรรมในการศึกษาเล่าเรียน ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วเพื่อจะให้จิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ จิตใจของเรามันมีที่พึ่งที่อาศัย มีกรอบ เห็นไหม กรอบคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้คือปริยัติ !

ปริยัติคือการศึกษา.. ศึกษามานี่ศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง ถ้าศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง แต่เวลาปฏิบัติล่ะ เวลาเราปฏิบัติขึ้นมานี่มันเป็นความจริงนะ.. ถ้าปฏิบัติกางตำราเลยนะ นี่วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์นี่ ใจมันตั้งมั่น พอใจมันตั้งมั่นแล้วมันก็เกิดวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณเพราะเราศึกษาธรรมมาแล้ว มันมีการคาดหมายของมันไป

ทำอย่างนี้นะ เห็นไหม ธรรมะก็ว่าเป็นสักแต่ว่า.. ทุกอย่างเป็นสักแต่ว่า นี่ทุกอย่างมันเป็นของมันเช่นอย่างนั้น เราปล่อยหมดเลย.. เพราะสักแต่ว่า เลยไม่รู้อะไรเลย เพราะมันสักแต่ว่าไง เลยไม่รู้อะไรเลยนะ มันสร้างภาพก่อน มันคิดของมันไป.. นี่คือปริยัตินะ ! แต่ถ้าปฏิบัติ ปริยัตินี่มันเป็นประโยชน์

ปริยัติคือศึกษาเป็นหนทาง เป็นการชี้นำเข้ามาในหัวใจ อันนั้นเป็นชื่อ เป็นการบอกหมาย เราจะเดินทางนี่เรากางแผนที่เลย เราจะไปจังหวัดไหน เข้าทางจังหวัดนี้ผ่านจังหวัดนั้น ออกจังหวัดนั้น จะต่อด้วยจังหวัดนั้น ถ้าจังหวัดนั้นแล้วเราจะแยกเข้าจังหวัดนั้น เราจะแยกไปที่นั่น ไปถึงเป้าหมายที่นั่น

นี่คือปริยัติ.. กางแผนที่เลย ! กางแผนที่เลย แต่เรายังไม่ได้ไปนะ เรายังไม่ได้ไป เราอ่านแผนที่แล้วเราบอก จากจังหวัดนั้นถึงจังหวัดนั้นจะมีระยะทางเท่าไหร่ ไปถึงจังหวัดนั้นแล้วเราจะต่อไปถึงจังหวัดนั้นเท่าไหร่ เห็นไหม เราศึกษาแล้วนี่รู้หมดแล้ว รู้หมดเลย

นี่สักแต่ว่า.. รู้กำหนดหมดเลยแต่ไปไม่ถึง แต่ถ้าเราปฏิบัตินะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่เราทำของเรา รถออกนี่คือเราเริ่มก้าวเดินไป จะไปจังหวัดนั้น จะทำอย่างนั้น.. ปริยัติคือการศึกษานี่กางแผนที่แล้ว แต่เวลาปฏิบัติลงในพื้นที่ เวลากางแผนที่แล้วเราลงพื้นที่นี่เราไปถึงเป้าหมาย

แต่ในการปฏิบัตินะ พื้นที่คือหัวใจ พื้นที่คือภวาสวะ พื้นที่คือปฏิสนธิจิต จิตที่ปฏิสนธิจิตนี่พื้นที่อยู่ที่นี่ จิตตัวนี้เป็นตัวมาเกิด แล้วการประพฤติปฏิบัติ.. เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ปฏิบัติอะไร ปฏิบัติเพื่ออะไร ปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์ แล้วคนที่เป็นทุกข์มันคือใครทุกข์ เราเป็นคนทุกข์เหรอ

จิตใจเราต่างหากเป็นคนทุกข์ จิตใจเรามันทุกข์นะมันพาร่างกายมาทุกข์ ร่างกายเรานี่ คนตายแล้วจิตออกจากร่างไป ร่างกายก็เป็นขอนไม้ แต่นี้เพราะมันมีจิตวิญญาณอยู่มันถึงได้ทุกข์ !

ถ้ามันทุกข์นี่เพราะมีร่างกาย เวลานั่งก็ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดเอว มันทุกข์ก็ร่างกายมันทุกข์ พอร่างกายมันทุกข์ก็เพราะมันมีมันไง ถ้าร่างกายนี่ เวลาเราเพลิดเพลินกับสิ่งใดอยู่ เรานั่งกี่ชั่วโมงมันก็ไม่ทุกข์หรอก มันทุกข์ที่จิตเนี่ย มันทุกข์เพราะว่าจิตโง่นี่แหละ จิตนี้มันไปยึดมันถึงได้ทุกข์ ! แต่เราก็ไม่รู้ เราก็ว่าจิตใจมันอยู่ที่ไหน มันเป็นสิ่งใด

นี้พอเราเริ่มปฏิบัติ.. ก็ต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธินี่ไล่ของเราไป ขณิกสมาธิ นี่มีความสุข มีความร่มเย็น ถ้าเข้าอุปจาระ โอ้โฮ.. ยิ่งมีความสุขมีความร่มเย็นเข้าไปใหญ่เลย ถ้ามีความสุขความร่มเย็น มันจะเข้าใจของมัน

แล้วเราใช้ปัญญานี่ ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาเราใคร่ครวญ ปัญญามันต้องฝึกหัดมาตั้งแต่เริ่มต้นนี่แหละ แต่ปัญญา.. ดูสิ เวลาคนเขาถือศีล เห็นไหม คนทำทานก็ต้องมีปัญญานะ เวลาคนจะทำบุญกุศลจะให้ทานนี่ก็ต้องมีปัญญา ว่าของเรามีน้อย ทรัพย์สมบัติเรากว่าจะหามานี่มันทุกข์ยากขนาดไหน เราทำแล้วควรได้ผลประโยชน์

ดูสิ คนปลูกต้นไม้เขาต้องปลูกที่ดินดีๆ เวลาเขาปลูกป่ากัน เขาบอกว่าตั้งแถวปลูกป่านี่ ที่ไหนเป็นดินดอน ที่ไหนดินมันแห้งแล้งเราก็ไม่อยากไปยืนที่ดินตรงนั้น เราก็อยากจะเลือกไปยืนที่ดินที่มันชุ่มชื้น ดินที่มันดี มันก็ปรารถนาอย่างนั้นน่ะเพื่ออะไร เพื่อต้นไม้เราปลูกแล้วจะได้เจริญงอกงาม

เราจะทำทานของเรา เราจะทำบุญกุศลของเรา มันก็ต้องมีปัญญา ปัญญาว่าของๆ เราจะทำที่ไหน ทำอย่างใด นี่เราก็เลือกของเรา เลือกของเรา.. นี่มีปัญญา ! แม้แต่ถือศีลก็ต้องมีปัญญา

นี่ปัญญามันคิดมาตั้งแต่ต้น ! แต่มันเป็นปัญญาของปุถุชน มันเป็นสุตมยปัญญา เป็นปัญญาการเตรียมการ เตรียมการให้เป็นคนดี ถ้าเป็นคนดี เห็นไหม เราเกิดเป็นคนเหมือนกัน เกิดมานี่ปล้นชิงวิ่งราวทำร้ายเขาไปหมดเลย.. ก็คนเหมือนกัน แต่ปัญญาของเรานี่มันโง่กว่าตัวเองไง เอารัดเอาเปรียบ เพื่อจะเอาความสะดวกสบาย ชาตินี้ไม่ทำการทำงาน จะปล้นชิงวิ่งราวมาเพื่อดำรงชีวิต มันจะสร้างแต่บาปแต่กรรม นี่แล้วมันจะไปไหนล่ะ

ศึกษาธรรมะ.. เราศึกษากันมาก็เพื่อหักห้ามสิ่งนี้ไง เพราะทำขึ้นมา การกระทำนี่กรรมมันเกิดขึ้นแล้ว เราทำสิ่งชั่วมันก็จะให้ความชั่วกับเรา เราทำแต่สิ่งที่ดีงาม นี่ปัญญาอย่างนี้มันก็เกิด เกิดตั้งแต่สามัญสำนึกมันก็เกิดแล้ว.. ปัญญามันมีอยู่แล้ว แต่เป็นปัญญาแบบโลกๆ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามาให้รื่นเริงอาจหาญ ศึกษาธรรมมาให้รู้จักชีวิตว่า อ๋อ ! นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ เกิดในน้ำคร่ำ เกิดในโอปปาติกะ เกิดมาเป็นคน.. เกิดมาเพราะกรรมดี เราเกิดมาแล้ว เราเกิดมาเป็นคนแล้ว เราก็ภูมิใจแล้ว

นี่มนุษย์สมบัติมีคุณค่ามาก มีคุณค่าที่สุดเลยเพราะมีจิตมีวิญญาณ แล้วมีการศึกษาขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ สิ่งนี้มีค่าที่สุด แล้วเราหาเงินหาทองมา ก็หาแค่มาดำรงชีวิต ทำคุณงามความดีไป แต่ถ้าเราทำอริยทรัพย์ขึ้นมาจากภายในนี่เรามีคุณค่ามากกว่านั้น จิตใจมันก็รื่นเริงอาจหาญ มันก็จะมีการกระทำ เห็นไหม

นี่ปัญญามันก็เกิดมาตั้งแต่นี้แล้ว ปัญญามันเกิดมาตลอดแหละ แต่มันเป็นปัญญาโลกๆ มันเป็นสุตมยปัญญา เป็นปัญญาศึกษา ปัญญาอ่านแผนที่ไง พออ่านแผนที่ขึ้นมาแล้วเรามีความรื่นเริงอาจหาญ มีความชื่นใจ เราก็จะประพฤติปฏิบัติ

นี่ทานก็มีปัญญา ถือศีลก็มีปัญญา ทำสมาธิก็มีปัญญา.. ถ้าเราทำความสงบของใจนี่ใจมันก็สงบอยู่ ว่างๆ ว่างๆ มันเป็นมิจฉา นี่เพราะไม่มีปัญญา ไม่มีการเปรียบเทียบไง มันสักแต่ว่า.. มันเป็นอย่างนั้นเอง.. นี่มันก็รู้หมดแล้ว.. นี่ไง มันเลยไม่ได้อะไรเลย

สักแต่ว่าเลยไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้อะไรเลยเราก็ว่าทำแล้วนะ นี่โดนกิเลสหลอก คนหนาหนาอย่างนี้นะ คนกิเลสหนานี่เหมือนเราสร้างบุญญาธิการมา วุฒิภาวะมันไม่ถึง มันก็เข้าใจว่านั่นเป็นสมาธิ..

นี่มีผู้ที่ปฏิบัติเยอะมาก ตัวเองเข้าใจว่าเป็นสมาธิ แล้วมั่นใจว่าตัวเองเป็นสมาธิ แต่ได้พิสูจน์กันแล้วนะ ขนาดนั่งไปแล้วนี่จนกรนนะ จนกรน.. คนนี่กรนเลยล่ะ ถ้ามันไม่หลับมันจะกรนได้อย่างไร แต่กรนแล้วก็ยังว่าเป็นสมาธิอยู่ มันไม่รู้ขนาดนั้นนะ

แต่บางคนมีวุฒิภาวะ ทำบุญกุศลมา เวลามันหลับไปแล้ว เวลามันสะดุ้งตื่นหรือว่ามันรู้สึกตัวขึ้นมานี่มันจะเปรียบเทียบนะ ว่าเมื่อกี้จะเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าเวลามันปกติทำไมเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตมันสงบลงมันเป็นอย่างใด จิตเวลามันลงภวังค์ไปนี่มันเป็นอย่างใด

แม้แต่บางคนนะ ผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่มีอำนาจวาสนานี่ยังเทียบเคียงได้ ว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด อะไรควรหรือไม่ควร.. นี่คือปัญญานะ ปัญญาจะเอาตัวรอดไง ปัญญาที่เราจะเข้าไปเพื่อจะชำระกิเลสไง

ถ้ามันมีปัญญาเห็นไหม ขณิกสมาธินี่มันมีความร่มเย็นพักหนึ่ง ถ้าอุปจารสมาธินี่มันลึกซึ้งกว่า แล้วมันออกรู้สิ่งต่างๆ ได้ ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติรู้สิ่งต่างๆ ได้ แต่ ! แต่ถ้ามันยังรู้ว่าจะทำประโยชน์ขึ้นมา แต่ยังไม่เป็นประโยชน์อยู่นี่ มันจะกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เข้าไปเรื่อยๆ

พุทโธเข้าไปเรื่อยๆ นะ.. ถ้าจิตมันพุทโธ พุทโธ แล้วละเอียดไปจนสักแต่ว่า นี่ ละเอียดไปจนพุทโธหาย พุทโธขาดไปเลย แต่รู้อยู่... รู้อยู่ เห็นไหม นี่อัปปนาสมาธิ ! ถ้าอัปปนาสมาธินี่รวมใหญ่ ถ้าจิตมันรวมเข้าไป มันสักแต่ว่า สักแต่ว่ารู้.. จะพูดว่ารู้ไม่ได้ จะพูดว่ารู้ก็เหมือนกับเรารู้สึกอยู่นี่ ถ้าเรารู้เราจะรับรู้ได้หมด แต่นั้นมันรู้ด้วยตัวมันเอง สักแต่ว่า !

ชัดเจนมากนะ.. ชัดเจนว่าจิตนี่ชัดเจนมากเลย ตัวของจิตเองนี่สงบเป็นจิตล้วนๆ ไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น มันวางร่างกาย วางธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ วางไว้ตามความเป็นจริง แล้วมันหดตัวเข้ามาเป็นตัวของมันเองด้วยคำบริกรรม ด้วยปัญญาอบรมสมาธิ อัปปนาสมาธินี่ด้วยปัญญาอบรมสมาธิ ด้วยคำบริกรรม เข้ามาพุทโธ พุทโธ จนมันเป็นสักแต่ว่า !

คำว่าสักแต่ว่านะ ใครเป็นคนพูดว่าสักแต่ว่าล่ะ เพราะมันมีพลังงานใช่ไหม มันมีตัวจิตที่หดเข้ามาเป็นตัวมันเองใช่ไหม มันถึงได้ว่าทุกสิ่งเป็นสักแต่ว่า สักแต่ว่าเพราะเหตุใด สักแต่ว่าเพราะยังมีชีวิตอยู่ไง สักแต่ว่า.. เราเป็นมนุษย์ใช่ไหม มนุษย์นี่ความรู้.. พลังงานตัวจิตนี่มันออกรับรู้ต่างๆ โดยธรรมชาติ โดยอายตนะ ความรับรู้นี่เรารู้ได้หมดแหละ

แล้วถ้าคนเหม่อ คนเผลอ เห็นไหม เวลาคนเหม่อ คนเผลอนี่มันเห็นภาพต่างๆ มันก็ไม่รู้ของมัน แต่จิตมันก็เป็นตัวผู้รู้อยู่ปกติ มันรู้ของมัน พอมันไว นี่จิตมันไว พอผ่านตาไป พอมีสติมันจะรู้หมดเลย นี่รู้ ! ผู้รู้ ความรู้โดยปกติ

แต่ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิเข้าไป เป็นสมาธิเข้าไปนี่มันสักแต่ว่ารู้ ไม่ใช่รู้อย่างนี้ มันรู้ของมัน เห็นไหม สักแต่ว่ารู้ ! สักแต่ว่ารู้มันละเอียดเข้ามา นี่สิ่งอย่างนี้อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธินี่ใช้ออกวิปัสสนาไม่ได้

คนสักแต่ว่ารู้เหมือนกับคนโดนวางยาสลบนี่ มันจะทำสิ่งใดได้ แต่พอมันคลายตัวออกมา คำว่าสักแต่ว่ารู้.. สักแต่ว่ารู้มันเป็นสมถะ มันไม่เกิดปัญญาใดๆ ทั้งสิ้น ! เพราะสักแต่ว่ารู้ มันเลยไม่รู้อะไรเลย เพราะถ้ามันสักแต่ว่ารู้แล้ว ถ้าจิตนี้คลายออกมาเป็นอุปจารสมาธิ

นี่พอคลายตัวออกมา.. พอคลายตัวออกมา พอมันระดับของการทำงาน เห็นไหม ระดับการทำงานนี่ถ้ามันน้อมไปวิปัสสนา มันถึงจะเป็นปัญญาในพุทธศาสนา ปัญญาที่เราบอกว่ามีปัญญาๆ กันมา ปัญญาเริ่มต้นมานี่มันเป็นปัญญาสามัญสำนึก เป็นปัญญาของโลก เป็นปัญญาของมนุษย์ แล้วมนุษย์มันก็แตกต่างหลากหลาย

ปฏิภาณไหวพริบของคน คนเราสร้างบุญกรรมมาแตกต่างกัน ความละเอียดลึกซึ้ง เชาว์ปัญญาของคนแตกต่างกัน ความแตกต่างอย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นแหละ มันไม่เข้าสู่อริยสัจ มันไม่เข้าสู่ความจริงเลย

แต่พอมันคลายตัวออกมา เห็นไหม ถ้าเป็นอัปปนาสมาธินะ แต่ไม่ต้องเข้าถึงอัปปนาสมาธิ นี้อัปปนาสมาธิมันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นเรื่องของจิต มนุษย์ที่มันมีอยู่อย่างนี้ แล้วจิตของเรามันทำได้มากทำได้น้อย นี่เป็นอัปปนาสมาธิ ! มันเป็นสัมมาสมาธิของพุทธศาสนา

แต่ถ้าเป็นคำว่าทางโลก เห็นไหม ดูทางโลก ดูฤๅษีชีไพรเขาทำสิ เขาทำฌานสมาบัติกัน นั่นก็เหมือนกัน.. นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ.. โลกๆ คือจิตมันเป็นไปได้ไง.. โลกๆ คือเราเป็นมนุษย์ นี่มนุษย์ทุกคนทำได้ มนุษย์ทำได้ แต่มนุษย์ไม่ได้ทำปัญญา มนุษย์จะไม่เกิดสิ่งใดเลย สักแต่ว่ารู้ ! สักแต่ว่ารู้.. นี่ธรรมะที่ว่าศึกษามา ว่าสักแต่ว่ารู้ เลยไม่รู้อะไรเลย

“สักแต่ว่า.. เลยไม่รู้ !”

เพราะสักแต่ว่า เราไปสักแต่ว่าเราเลยไม่รู้เลย ดูนะ แบงก์นี่สิ่งที่เราใช้ เงินในท้องตลาดนี่มันเป็นกระดาษใช่ไหม สิ่งที่เป็นกระดาษ ก่อนที่จะเขาจะพิมพ์เป็นแบงก์นี่มันก็เป็นกระดาษใช่ไหม แต่มันยังไม่ได้พิมพ์ นี่ถ้ากระดาษที่มีคุณภาพอันเดียวกันแต่ยังไม่ได้พิมพ์เป็นแบงก์ขึ้นมา มันจะใช้จ่ายในท้องตลาดไม่ได้เลย กระดาษไม่เปื้อนหมึก.. แต่ถ้ากระดาษมันพิมพ์เป็นแบงก์ขึ้นมา นี่กระดาษมันมีค่าเท่ากับแบงก์

จิตใจของเราถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ที่พูดถึงเป็นสมาธินี่มันก็คือกระดาษอันนั้นแหละ มันสะอาดนะ กระดาษที่ไม่มีสิ่งใดเลย ไม่ได้พิมพ์สิ่งใดเลย จะไปใช้ในท้องตลาดได้ไหม

จิตเป็นสมาธิก็คือสมาธิไง.. ถ้าเป็นสมาธิ สิ่งที่เป็นสมาธิถ้าไม่ได้ทำสิ่งใดเลย นี่สักแต่ว่ารู้ก็คือกระดาษขาวๆ สักแต่ว่า.. สักแต่ว่ารู้ ! แต่ถ้าพอมันออกมา เห็นไหม พอมันคลายตัวออกมา นั่นไงออกใช้ปัญญานั่นล่ะจะพิมพ์ ถ้าออกใช้ปัญญานะ.. ถ้าออกใช้ปัญญา

การออกใช้ปัญญานี่ ใช้ปัญญาในอะไร.. ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เห็นไหม คำว่าสักแต่ว่ามันสักแต่ว่าที่ไหน เพราะเราใช้คำว่าสักแต่ว่า พอสักแต่ว่านี่มันหลอกตัวเองนะ พอมันหลอกว่านี้ก็เป็นสักแต่ว่า

ถ้าเราสักแต่ว่า เราไม่เข้าไปศึกษา ไม่เข้าไปจับต้อง เราไม่เข้าไปค้นหากิเลส เราไม่เข้าไปพิสูจน์ตรวจสอบกับใจของเรา มันจะไปทำกับกิเลสที่ไหน มันจะมีสิ่งใดเป็นประโยชน์ขึ้นมา ฤๅษีชีไพรเขาทำมาก่อนแล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอัปปนาสมาธิเข้ามา นี่กำหนดอานาปานสติเข้ามาจนจิตสงบ เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณมันเกิดมาจากอะไรล่ะ.. อานาปานสติ.. กำหนดลมหายใจอานาปานสติ เวลาเข้ามานี่จิตละเอียดเข้าไป

นี่คือจิตที่ละเอียดนะ ! เวลาจิตละเอียดเข้าไป เข้าไปถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณนี่เข้าไปอย่างไร แต่เวลาผู้ที่ทำสมาธิถ้ามีสตินะ ถ้าสติของเราหรือวุฒิภาวะของเราไม่ละเอียดพอ เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธินี่มันวัดตรงไหน แล้ววัดได้อย่างไร

ถ้ามันเข้าถึงอัปปนา.. นี่เวลาคนทำสมาธิ คนระลึกอดีตชาติ คนระลึกต่างๆ เวลาเข้าถึงข้อมูลนี่เขารู้ได้ คนที่ระลึกอดีตชาติ คนรู้วาระจิต รู้ต่างๆ ปุถุชนนี่รู้ได้ ฤๅษีชีไพรก็รู้ได้ นี่ผู้วิเศษไง แต่ไม่ใช่อริยสัจ มันไม่เข้าหลักความจริงเลย หลักความจริงมันต้องมีการกระทำ มันต้องเป็นอริยสัจขึ้นมาในหัวใจ

ถ้าอริยสัจในหัวใจ เห็นไหม นี่จิตมันออกทำ จิตต้องรู้ ! ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้ คำว่าสักแต่ว่ารู้นี้คือคุณสมบัติ ! คุณสมบัติของอัปปนาสมาธินี่สักแต่ว่ารู้ แต่ขณะที่เราทำนี่จิตเราต้องรู้ ! พอมันออกมา มันคลายจากอัปปนาสมาธิออกมา มันก็เป็นอุปจาระ อุปจาระคือจิตมันสมบูรณ์แล้ว จิตมันสติมันพอแล้ว

สตินะ ! สติ.. ปัญญา.. แต่ถ้ามันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป เดี๋ยวถ้ามันขึ้นสูงขึ้นไปนี่ มันจะเป็นมหาสติ มหาปัญญา.. แล้วถ้ามันเป็นสติ เป็นปัญญาญาณขึ้นไปนี่ มันเป็นขั้นตอน นี่ไง มันต้องรู้ ! ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้ ถ้าสักแต่ว่ารู้นี่มันเป็นอัปปนาสมาธิ มันใช้ปัญญาไม่ได้ มันต้องรู้ ! สมาธิก็รู้ว่าสมาธิ จิตหยาบก็รู้ว่าหยาบ

จิตเวลาคิดถึงทางโลก คิดถึงปัญญาที่เราเกิดมาทางโลก ตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนาขึ้นมา มันก็มีปัญญาของมันมา แต่ปัญญาโลกๆ ปัญญาตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มันไม่ใช่ปัญญาวิปัสสนาญาณที่จะฆ่ากิเลสเลย

นี่มันเป็นปัญญาโลกๆ ปัญญาที่เราศึกษา ปัญญาที่เราใคร่ครวญ ปัญญาอย่างนี้ตรึก ดูสิ ปัญญาอบรมสมาธินี่ตรึกในธรรม เวลาตรึกในธรรมเห็นไหม เราใช้ชีวิตอย่างไร ชีวิตเราทุกข์ยากอย่างไร ชีวิตนี้เกิดมาทำไม สติมันตามทันหมด มันไล่ๆ เข้าไป ความคิดหยุดหมดแหละ

นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิเพราะมันเกิดจากโลก มันเป็นโลกียปัญญา มันเกิดจากเรา แต่พอเราทำความสงบของใจ มันจะสักแต่ว่ารู้ขนาดไหน นี้เป็นขั้นภูมิของมัน ขั้นภูมิของจิตที่มันเป็นสักแต่ว่ารู้.. ต้องรู้ ! คลายออกมา พอคลายออกมามันก็เป็นอุปจาระ พอเป็นอุปจาระแล้วมันย้อนไปทำงานนะ รู้เหตุ รู้ผล รู้ทุกๆ อย่าง

เราเห็นสินค้าไหม สินค้าในท้องตลาดนี่ เราเดินไปแล้วหยิบฉวยมาโดยความพอใจของเราได้ไหม ถ้าเราเดินไปในตลาดนะ สินค้าที่ไหนก็แล้วแต่เราหยิบฉวย เราเอาของเรามาเลยนี่ตำรวจจับ ผิดกฎหมาย เราจะหยิบฉวยมาไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตมันรู้อะไร นั่นก็สักแต่ว่า.. นี่ก็สักแต่ว่า.. คำว่าสักแต่ว่าคือปฏิเสธ มันปฏิเสธคือมันตรงข้ามกับหยิบฉวย หยิบฉวยมันผิดกฎหมายใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิเสธ.. ปฏิเสธตามความเป็นจริง แต่เราจะหยิบฉวยธรรมะไง ! สักแต่ว่าคือรู้แล้วไง.. ผิด ! คำว่าผิดคือว่ามันจะไม่มีผล มันไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าสินค้าในท้องตลาด เราอยากได้สินค้านั้น เรามีเงินมีทอง เราทำหน้าที่การงานมา เรามีสิ่งแลกเปลี่ยน เห็นไหม เราไปแลกเปลี่ยนสินค้านั้นมา ถูกต้องตามกฎหมายนะ เราได้สินค้านั้นกลับมาเป็นของเรานะ เราต้องการสิ่งใด เราต้องการอาหาร ต้องการเครื่องนุ่งห่ม ต้องการเครื่องมือกลไกสิ่งต่างๆ เรามีเงินมีทอง เราไปแลกเปลี่ยนมาได้หมดแหละ

จิต ! จิตถ้ามันออกวิปัสสนา จิตที่ออกวิปัสสนา เห็นไหม มันมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกิเลสกับธรรม ถ้ากิเลสกับธรรมมันเกิดขึ้นมา นี่มันเกิดขึ้นจากกระทำของเรา ถ้ามันเกิดขึ้นจากการกระทำของเรามันต้องรู้.. รู้ทุกอย่าง แม้แต่จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ แล้วจิตออกวิปัสสนามันก็รู้ของมันชัดเจนมาก ! นี่มันไม่สักแต่ว่ารู้

สักแต่ว่ารู้.. สักแต่ว่ารู้นี้มันเป็นผลของสมาธิ ถ้าสักแต่ว่ารู้นี่เป็นขั้นของสมาธิ เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ตามธรรมชาติของมัน แต่ถ้ามันวิปัสสนาไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ นั่นไม่สักแต่ว่าเพราะอะไร เพราะมันปล่อยของมันจริง เพราะเราได้สินค้านั้นมา

สินค้าเราได้ของเรามาแล้ว สินค้านี้มันเป็นประโยชน์กับเรามากน้อยขนาดไหน เราจะรู้ว่ามันเป็นประโยชน์กับเราจริงหรือไม่เป็นประโยชน์กับเราจริง ถ้าเป็นประโยชน์กับเราจริง เห็นไหม ดูสินี่เราไปตลาดกัน นู้นก็อยากได้ นี่ก็อยากได้ เอาไปกองไว้ที่บ้าน รกทั้งบ้านเลย ใช้ประโยชน์อะไรไม่เป็น

จิต.. เวลามันออกรู้นะ จิตเวลาถ้ามันสงบ เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธินี่ แล้วมันออกรู้ออกศึกษาของมัน มันจับผิดจับถูก เวลาพิจารณากายนี่เห็นกายเห็นอะไรบ้าง เห็นเส้นขน เห็นเส้นผม เห็นผิวหนัง เห็นต่างๆ นี่ความเห็นนะ ถ้าเห็นเกิดขึ้น ถ้าเราเห็นแล้วเราใช้ปัญญาขึ้นมานี่มันจะดูดดื่มมาก คนมันจะดูดดื่ม มันจะเข้าไปถึงหัวใจ มันแทงเข้าไป ชำแรกเข้าไปในใจเลยล่ะถ้ามันเป็นวิปัสสนา

ถ้ามันเป็นวิปัสสนาเพราะอะไร เพราะมันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นโดยความเป็นจริง “เห็นโดยความเป็นจริง ! รู้.. เห็น.. ตามความเป็นจริง !” เห็นไหม ชัดเจนไหม.. ชัดเจนมาก !

ฉะนั้นสิ่งที่บอกว่ามันจะเป็นมา.. เป็นมาเพราะความเป็นไป เพราะความชัดเจน เพราะความรับรู้ขึ้นมา นี่รู้ ! รู้แล้วศึกษา แล้วใคร่ครวญ แล้วมีการกระทำ.. พอมีการกระทำ พอมันเริ่มปล่อยวางเข้ามานี่ มันปล่อยวางเพราะเหตุใด มันปล่อยวางเพราะจิตมันเป็นไง

เกิดนี้เกิดมาจากไหน เพราะมีอวิชชาใช่ไหม เพราะเราหลงในตัวเราเองใช่ไหม เราหลงกับจิตเราเองใช่ไหม นี่อวิชชาความไม่รู้มันปิดบังตาไว้ แล้วชีวิตเราก็เกิดมานี่ทุกข์ ลุ่มๆ ดอนๆ

คนเราเกิดมานี้มีบุญพาเกิดนะ เกิดมาทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ เกิดมาในชาติในตระกูลที่ดี พ่อแม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นพ่อแม่ที่ดี เราก็มีความสุขมีความร่มเย็น ถ้าเราเกิดมานี่เกิดมาโดยทุกข์โดยยาก เกิดมาพ่อแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดูสิ มิจฉาทิฏฐิเราไม่ได้พูดถึงชาวพุทธนะ เราพูดถึงนอกพุทธศาสนา เห็นไหม เขาไม่สนใจหรอก เขาพาไปทางอื่น

เกิดดีเกิดชั่ว ! ความเกิดนี่อะไรมันพาเกิดล่ะ เราไปเกิดในพ่อแม่นี่อะไรพาเกิด.. กรรมพาเกิด ถ้ากรรมพาเกิดนะ การกระทำนี่มันมีอวิชชาในหัวใจของมัน ถ้ามีอวิชชาในหัวใจของมันนี่อะไรพาเกิด.. จิตนี้มันพาเกิด ! ถ้าจิตนี้พาเกิด เห็นไหม เราเกิดกับพ่อกับแม่ เกิดมานี่สายบุญสายกรรม แต่จริงๆ คือตัวมันพาเกิด จริงๆ คืออวิชชามันพาเกิด

นี้มันพาเกิดแล้วมันอยู่ที่ไหน ที่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้เข้ามาที่ไหน ก็ชี้เข้ามาที่ภวาสวะ ชี้มาที่ภพ ชี้มากิเลส กิเลสมันอยู่ที่ไหน.. ความหลงผิดมันอยู่ที่ไหน.. ชี้เข้ามาที่นี่ พอชี้เข้ามาที่นี่ พอเราศึกษาแล้วเป็นปริยัติใช่ไหม พอเราปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตสงบขึ้นมามันก็เจอตัวตนของมัน เวลาเจอตัวตนของมันนะ ถ้าจิตมันสงบแล้วนี่มันออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นล่ะ.. นั่นล่ะความจริง !

นี่รู้จริงทำจริง ! รู้จริงทำจริงนี่ภาคปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม จิตนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ จิตนี้มันเกิดมาจากไหน ทำไมมันมาเกิด เกิดมาแล้วทำไมมันทุกข์มันยาก แล้วทุกข์ยากเพื่อใคร แล้วเราเกิดมานี่คนหลงโลก เขาเกิดมานี่เขาหลงโลก หลงทรัพย์สมบัติ เขาก็หาของเขา เขาก็ตื่นของเขาไป

เราเกิดมาเราก็อยากมีทรัพย์สมบัติเหมือนกันน่ะ เราก็อยากมีความสุข แต่มีความสุขนี้เรามีความสุขเพื่อชีวิตหนึ่ง แต่ ! แต่ถ้ามันตายจากชาตินี้ไป แล้วไปเกิดอีกนี่เราจะทุกข์กว่านี้ไหม แล้วเราเกิดมา สิ่งที่ว่าเขาหาทรัพย์สมบัติมานี่ ว่ามีเท่านั้นจะมีความสุข มีเท่านั้นจะมีความสุข แล้วมีใครมีความสุขจริงบ้างล่ะ นี่อุตส่าห์หามา พยายามแสวงหามา หามาก็มาเป็นภาระของตัว หามาก็เพื่อเป็นบ่วงของตัว โซ่ทองคล้องใจก็คล้องผูกคอ ผูกขา ผูกแขน ผูกหมดเลย ! นี่ถ้าเราคิดโดยธรรม..

แต่คิดโดยโลกเขาก็มีความสุขของเขา นั่นก็เรื่องของเขา แต่ชีวิตเขาจะสูญเปล่า ทำบุญกุศลก็ได้บุญกุศลติดตัวเขาไป แต่เขาไม่ได้แก้ไขในจิตใจของเขา แต่เราทำๆ พอเราทำขึ้นมานี่มีปัญญาเทียบเคียง เห็นไหม ถ้ามีปัญญาเทียบเคียงสิ่งจากข้างนอกข้างในใช่ไหม

ถ้าข้างนอกเขาเป็นทุกข์ยากกัน แล้วข้างในของเราล่ะ เราอยากได้เหมือนเขาไหม เราอยากเป็นเหมือนเขาไหม เราจะมีจุดยืนของเราไหม เราจะสร้างของเราไหม.. เห็นไหมปัญญามันย้อนกลับมา แล้วเราทำของเราได้

ถ้าเราทำของเราได้ เราวิปัสสนาของเรา นี่เวลาปัญญามันเกิดนะ มันสะเทือนหัวใจ.. ไม่มีอะไรเป็นสักแต่ว่าหรอก มันเป็นความจริงนะ ถ้าสักแต่ว่าเริ่มต้น นี่เราจะไม่ได้สิ่งใด ไม่รู้สิ่งใด ไม่มีสิ่งใดติดไม้ติดมือเลย เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพูดแต่ปาก

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปตามความเป็นจริง เรารู้จริงเห็นจริง แล้วเราทำของเราจริงนะ เวลามันปล่อย เห็นไหม พิจารณาไปแล้วมันจะปล่อย ปล่อยเป็นครั้งเป็นคราวนะ ตทังคปหาน ปล่อยแล้วอย่าชะล่าใจ แม้แต่ทำความสงบของใจ

นี่จิตนี้สมาธิเป็นอนิจจัง ทุกอย่างเป็นอนิจจังหมดแหละ นี่สัพเพ ธัมมา อนัตตา ความแปรปรวนของมัน แต่จริงๆ คือมันเป็นอนิจจังของมันทั้งนั้นแหละ ทุกอย่างมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันจะแปรปรวนของมัน เห็นไหม

ทางวิปัสสนาก็เหมือนกัน เวลาวิปัสสนาเราใช้ปัญญาไปนี่ ถ้าเราใช้ปัญญาของเราครบวงรอบของมัน คือถ้าใช้ปัญญาแยกแยะของมัน ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้ามันพิจารณาของมันไป มันปล่อยของมันจริงๆ แต่วงรอบของเขา.. ดูสิ เราหุงข้าวนี่ ถ้าพูดถึงเรามีน้ำ มีข้าว มีฟืน มีไฟ ทุกอย่างมีความสมดุลของมัน ข้าวก็สุกเป็นธรรมดา สุกแล้วเราต้องหุงข้าวต่อไปอีกไหม เราจะกินข้าวกี่มื้อ

นี่ก็เหมือนกัน วงรอบของมัน เห็นไหม ดูสิ เวลาเราพิจารณาของเรา มันก็เหมือนกับเราหุงข้าว ข้าวก็ต้องสุกเป็นธรรมดา.. เราวิปัสสนาด้วยหัวใจ หัวใจมันสงบแล้วนะ มันไม่สักแต่ว่าหรอก มันเป็นความจริง จับต้องได้จริงๆ นี่แหละ วิปัสสนาจริงๆ นี่ทำนี้เหนื่อยยาก

ถ้าเวลาจิตมันออกวิปัสสนา เวลาทำสมาธิ เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ โอ้โฮ.. มันเครียด มันเหนื่อย มันเครียดนะ โอ๋ย.. มันควบคุมของมัน เวลามันใช้ปัญญาไปนี่ โอ้โฮ.. มันเพลิดมันเพลินของมันนะ นี่มันทำของมัน มันมีการกระทำของมัน จิตมันมีการกระทำ จิตมันวิปัสสนาของมัน เห็นไหม นี่วงรอบของปัญญา !

เวลาปัญญามันวงรอบ เหมือนกับหุงข้าวรอบหนึ่ง ข้าวก็สุกทีหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน เวลาปัญญามันใคร่ครวญไป พอถึงรอบหนึ่งมันก็ปล่อยทีหนึ่ง พอมันปล่อยแล้วนะ พอปล่อยแล้วถ้าชะล่าใจนี่มันก็เสื่อม สมาธิธรรมก็เสื่อม “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเหตุสมควรแล้วสมาธิก็จะยั่งยืนอยู่กับเรา

นี่เราทำสมาธิจนมั่นคงของเรา แล้วเราใช้ปัญญาของเรา พอใช้ปัญญาของเราไปแล้ว เห็นไหม หุงข้าว.. หุงข้าวเวลาใส่ฟืนใส่ไฟเข้าไป ฟืนไฟนี้มันต้องเผาไหม้ไหม.. มันต้องเผาไหม้เป็นธรรมดา แล้วฟืนไฟใหม่ที่จะมาใส่ต่อๆ ไปล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน พอใช้ปัญญาของเราเข้าไปแล้ว พอเวลามันปล่อย เห็นไหม พอมันปล่อยรอบหนึ่ง มันก็มีความสุขใจ มีความสบายใจ นี่รอบหนึ่ง !

แล้วฟืนครั้งต่อไป ครั้งต่อไปก็สัมมาสมาธิไง สัมมาสมาธิเป็นพลังงาน สัมมาสมาธินี่เป็นทุน สัมมาสมาธินี่เป็นไฟ สัมมาสมาธิเป็นตบะธรรม ถ้าไม่มีตบะธรรมมันจะไปแผดเผาสิ่งใด ถ้ามีตบะธรรม แต่ตบะธรรมใช้ไม่เป็นมันก็เสื่อมไป

นี่ไง มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ในการปฏิบัติมันมีเหตุมีผลของมันทั้งนั้นแหละ ! แล้วผู้ที่เวลามันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เราก็ต้องมีการกระทำของเรา เราก็ฝึกฝนของเราจนมันมีความชำนาญขึ้นมา เห็นไหม มันสักแต่ว่าตรงไหน นี่อะไรมันเป็นสักแต่ว่า จริงจังทั้งนั้นเลย ! ทำจริงๆ รู้จริงๆ จับต้องจริงๆ แล้วมันพิจารณาของมันจริงๆ แล้วก็ปล่อยวางจริงๆ ถ้าตทังคปหานมันปล่อยวางแล้ว เราก็ขยันหมั่นเพียรของเรา

เวลามันปล่อยวางแล้ว เห็นไหม อู้ฮู.. ถ้าใครปฏิบัตินะ ผู้ที่ปฏิบัติมันต้องผ่านเหตุการณ์อย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เวลาพิจารณาจิตจนจิตสงบ พอเห็นกาย พิจารณากาย พอมันปล่อยวาง โอ้โฮ.. สุขมาก แล้วชะล่าใจนะ คิดว่านี่เป็นผลไง

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” แต่เหตุมันสมดุลแค่นี้ไง เหตุมันสมดุลแค่นี้ ! แต่ถ้าเราทำจนมีความชำนาญ เห็นไหม หลวงปู่มั่นพูดไว้ในมุตโตทัยว่า “หมั่นคราดหมั่นไถ” ในที่นาของเรา นี่ทำนากี่ปี กี่ร้อยปีก็ทำนาในที่นาของเรานี่แหละ หมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นทำให้มันสมดุลของมัน

หัวใจของเรานี่หมั่นคราด หมั่นไถ หมั่นฝึก หมั่นซ้อม หมั่นวิปัสสนา แต่ด้วยความชะล่าของเรา ทำมาเกือบเป็นเกือบตาย ตั้งสติก็ล้มลุกคลุกคลาน ทำสมาธิขึ้นมาได้ก็ แหม.. มีความสุขมาก เวลาปัญญาเกิดขึ้นมานี่ โอ้โฮ.. ยอดเยี่ยม ! ยอดเยี่ยม ! เผลอไง ทำนาหนเดียวนี่คิดว่าจะกินไปตลอดชาติ ไม่พอกิน.. มันไม่พอกินหรอก แต่ถ้าเราทำของเราทุกปี เราทำบ่อยครั้งนะ ปีหนึ่ง ๒ หน ๓ หนนี่ ยุ้งฉางเราจะเต็มไปด้วยข้าวเลย

เราวิปัสสนาของเราไปบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า เราวิปัสสนาของเรา เราใช้ปัญญาของเราไป หน้าที่ของเรา.. ชาวนาเขาหาข้าวนะ เราเป็นชาวนักปฏิบัติธรรม เราทำนี้เราจะหาคุณธรรม เราจะหาอริยทรัพย์ เราจะหาความเป็นจริง แต่ความเป็นจริงธรรมะนี่มันเป็นนามธรรม การแสดงธรรมเป็นบุคลาธิษฐาน เปรียบเทียบให้เห็นว่าชาวนาเขาทำอย่างนั้น เราไม่ใช่ชาวนา เราเป็นนักปฏิบัติ ! เราเป็นพระเป็นเจ้า ! เราจะพ้นจากทุกข์ ! เราจะชำระกิเลส !

เราก็หมั่นเพียรของเรา.. ทำซ้ำทำซาก ทำซ้ำทำซาก นี่ตทังคปหาน มันปล่อยวาง.. ปล่อยวาง เห็นไหม เวลามันปล่อยวางถึงที่สุดของมัน เวลามันขาด ! สังโยชน์มันขาด ! มันขาดออกไปจากใจ..

ใจที่มันมาเกิด นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยากพาเรามาเกิด ไอ้สังโยชน์นี่ สังโยชน์คือความไม่รู้ของมัน สักกายทิฏฐิ ความไม่รู้ว่าทิฐิในใจนี่ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ! จิตมันเห็นผิดเพราะอวิชชามันพาเห็น พอไปเห็นผิดมันก็อยู่กับมัน โอ้.. ของกู ! ของกู ! นี่มันเห็นผิด แต่พอมันปล่อยหมดนะ

“สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมันต้องดับเป็นธรรมดา”

นี่เวลาเราวิปัสสนา เห็นไหม วิปัสสนาก็ปล่อย.. ปล่อย นี่มันก็สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมันต้องดับเป็นธรรมดา แต่มันกิจจญาณ สัจจญาณนี่มันไม่ชัดเจนของมัน.. ไม่ชัดเจน จิตมันตทังคะมันก็ปล่อย ถ้ามันยังไม่ขาดนี่ มันปล่อย.. มันก็เหมือนกับเราเป็นลูกหนี้กับเจ้าหนี้ เออ.. ต่อรองกันไป ต่อรองกันมา จะให้เมื่อนั้น จะให้เมื่อนี้นะ แต่เจ้าหนี้เผลอมันก็หลบเลี่ยงไป

นี่ก็เหมือนกัน พอเวลามันปล่อย ปล่อยขนาดไหนนะ.. นี่กิเลสกับธรรม ! กิเลสมันก็ต่อรอง กิเลสนะ.. แก่นของกิเลส กิเลสนี้ร้ายนัก ไม่ต้องไปโทษที่ไหน ไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจ ทุกๆ ดวงใจมีกิเลสหมด เราถึงมีความเห็นผิดจากธรรมะ แต่ถ้าเราไปรู้ธรรมะจริงขึ้นมาแล้วจะเป็นธรรมขึ้นมาในหัวใจ ไม่ใช่เห็นตรงกับธรรมะหรอก มันเป็นธรรมจริงๆ เลย !

ใจมันเป็นธรรมขึ้นมาเลยมันถึงเป็น นี่ไง เพราะมันชัดเจนของมันอย่างนั้น นี่ไงเพราะมันทำจริงรู้จริง ต้องทำจริงๆ รู้จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่า สักแต่ว่าหรอก.. ถ้าสักแต่ว่านี่มันเริ่มปฏิเสธมาตั้งแต่ต้น มันทำให้เราล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ต้น ทำให้เราเป็นคนอ่อนแอ ทำให้เราเป็นคนจับจด ทำให้คนเรามักง่าย !

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา.. เราทำจริงของเราขึ้นมา แล้วมันรู้จริงๆ ขึ้นมานี่ ใจมันเป็นธรรมขึ้นมาเลย แล้วถ้าหัวใจเป็นธรรม มันเป็นอกุปปธรรม ถ้ามันพิจารณาจนมันปล่อย มันขาดออกไปแล้วนี่ เห็นไหม สักกายทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิ.. ทำไมมันมีทิฐิอันนี้ล่ะ ทำไมมันมีสักกายทิฏฐิ ทิฐิมันเกิดมันเห็นอย่างไร แล้วเวลามันขาดไปนี่อะไรมันขาดไป แล้วที่ถูกมันถูกอย่างไร แล้วทิฐินี่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาความถูกต้องที่ถูกต้อง นี่ความถูกต้องดีงามที่มันเกิดขึ้นมาจากใจนี้ มันทำอะไรมา มันทำอะไรมา.. แล้วทำมาแล้วนี่มีอะไรรองรับมา

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

เหตุมันสมดุลกันอย่างไร ถ้าเหตุมันสมดุล ครูบาอาจารย์ของเราถ้าทำสมาธิได้ชำนาญมาก ก็สอนได้ในขั้นของสมาธิ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าพิจารณาเป็นชั้นหนึ่ง กายนอก กายใน กายในกาย จนถึงที่สุดเลย นี่สอนได้หมดแหละ แต่ถ้าได้ชั้นหนึ่ง ได้แค่ไหนพูดได้แค่นั้นนะ พูดถูกต้องได้แค่นั้น ถ้าสูงกว่านั้นผิด เพราะสูงกว่านั้นคือเดา

แล้วถ้ามันเป็นความจริงอะไรมาเดา คนมันทำมากับมือมันเอาอะไรมาเดา มันจริงนี่มันจริงมาจากใจ เห็นไหม นี่อะไรมันเป็นทิฐิล่ะ ทิฐิความเห็นผิด ผิดอย่างไร แล้วถ้าความเห็นถูก ทำไมถึงเห็นถูกล่ะ เห็นถูกเพราะจิตมัน.. นี่ฐีติจิต เอาตัวจิต เอาตัวสมาธินี้ออกไปใคร่ครวญ ออกไปวิปัสสนา เอาไอ้ตัวโง่ๆ นี่ ไอ้ตัวที่มันเกิดอยู่นี่ ไอ้ตัวที่มันโดนปิดตาแล้วมาเกิดเป็นมึง ที่นั่งพูดอยู่เนี่ย เอามึงนั่นแหละดูเขา !

ดูให้มันตามความเป็นจริง เห็นไหม พอตามความเป็นจริง มันรู้จริง ความรู้จริงนะ เหมือนกับขอนไม้มันทิ่มตา นี่ความเป็นจริงมันทิ่มเข้ามาในหัวใจ หัวใจมันเอาอะไรมืดบอดอีกล่ะ ถ้ามันไม่มืดบอดมันก็ถูกต้อง นี่ความถูกต้องของมัน

ถ้าความถูกต้อง นี่ไง ทำจริงๆ ! ไม่ใช่สักแต่ว่าหรอก ทำจริงๆ รู้จริงๆ เห็นจริงๆ แล้วปล่อยวางจริงๆ พอจริงๆ นี่ พอมันปล่อยวางไปแล้ว เห็นไหม นี่จิตใจเราเริ่มก้าวเดินต่อไป ถ้าก้าวเดินต่อไปคือทำความสงบของใจให้มากขึ้น ถ้าทำความสงบของใจ เพราะทำความสงบของใจนี่มันมีอกุปปธรรม มันมีธรรมะส่วนหนึ่งในหัวใจของเรา

ธรรมะส่วนหนึ่ง เห็นไหม ธรรมะของโสดาบันนี่เป็นส่วน ๑.. ธรรมะของพระสกิทาคามีเป็นส่วนที่ ๒.. ธรรมะของพระอนาคามีเป็นส่วนที่ ๓.. ธรรมะของพระอรหันต์เป็นส่วนที่ ๔.. ๔ ส่วนทั้งหมด ! หัวใจ ๔ ห้อง มันครอบคลุมไปด้วยธรรม ถ้าครอบคลุมไปด้วยธรรมทั้งหมด ธรรมนี้เป็นธรรมทั้งแท่ง ถ้าเป็นธรรมทั้งแท่งขึ้นมานี่มันเป็นสัจธรรม ถ้าเป็นธรรมทั้งแท่งแล้วมันถึงเป็นคุณธรรมโดยสมบูรณ์ แต่ของเรายังไม่สมบูรณ์ขึ้นมา เราต้องก้าวเดินของเราขึ้นไป

ความก้าวเดิน เห็นไหม ดูสิ เรามาเกิดนี่เกิดเพราะอะไร เรามาเกิดเพราะมีอวิชชา เรามาเกิดเพราะความไม่เข้าใจ เพราะเราไม่รู้เราถึงเกิดเป็นมนุษย์ แต่เกิดเป็นมนุษย์ในปัจจุบันนี้ เราเกิดมาในพุทธศาสนานี่เราจะทำคุณงามความดีของเรา ถ้าทำคุณงามความดีของเรา นี่จิตใจที่มีคุณงามความดีเข้ามาในหัวใจแล้วมันก็มีความขยันหมั่นเพียร

พอเวลาไม่เป็นก็ล้มลุกคลุกคลาน เป็นพระโสดาบันนี่ภาวนาไม่เป็นอีกเหรอ เป็นพระโสดาบันมันก็ต้องภาวนาเป็นของมันแล้วใช่ไหม ถ้าภาวนาเป็น.. สิ่งที่คำว่าภาวนาเป็นนี้มันเป็นเครื่องรองรับว่า จิตถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องรองรับเลยนี่มันเป็นปุถุชน

ปุถุชนนี่ทำสมาธิเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ปัญญาก็ไม่มี ไม่มีอะไรเป็นบาทฐานเลย แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราขึ้นมาจนเป็นสัมมาสมาธิ จนเห็นว่าความเห็นผิดนั้นมันได้หลุดออกไปจากใจ สังโยชน์ขาด สังโยชน์ ๓ ตัวนั้นหลุดออกไปจากใจ การทำความสงบของใจมันง่ายขึ้น เพราะมันมีฐาน มีสัจธรรมส่วนหนึ่งในหัวใจของเรา

ธรรมะเป็นอกุปปธรรม ไม่มีวันเสื่อมแน่นอน ! มันรองรับสภาวะของจิตนี้ให้มันทำความสงบได้ดีขึ้น แต่ความสงบอันนี้มันยังไม่เพียงพอ เห็นไหม โสดาปัตติมรรค.. สกิทาคามิมรรค..

“โสดาปัตติมรรค กับสกิทาคามิมรรคแตกต่างกันอย่างไร”

มีด.. อาวุธที่จะให้ทำลายข้าศึกนี่มันมีหลายชนิด สิ่งที่มีคุณภาพที่สูงกว่า สิ่งที่มันสูงกว่ามันต้องได้ประโยชน์ได้มากกว่า โสดาปัตติมรรคมันก็ให้ผลโสดาปัตติผล ความที่เป็นโสดาปัตติมรรคนี่โสดาปัตติผลมันรองรับอยู่ เราจะทำสกิทาคามิมรรค เราจะทำความสงบให้มากขึ้นไปมากกว่านี้ ต้องมีความสงบให้มากขึ้นกว่านี้ เห็นไหม มันถึงต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ หรืออัปปนาสมาธิให้สมาธิมันเข้มข้นขึ้น

พอมันเข้มข้นขึ้นแล้วมันออกใช้ปัญญา เพราะ ! เพราะมันได้ฝึกงานมาแล้ว มันได้ทำตามจริงจังมาแล้ว มันไม่เป็นสักแต่ว่าหรอก นี่คนที่ภาวนามีหลักมีเกณฑ์ มันจะรู้เลยว่าไอ้สักแต่ว่านี่ขี้โม้ !

ไอ้สักแต่ว่านี่ สักแต่ว่ากันไป สักแต่ว่ากันไปมันถึงไม่ได้หลักไม่ได้เกณฑ์ เพราะ เรามีความขยันหมั่นเพียร เราทำด้วยความจริงจังของเรา ใครจะสักแต่ว่านั้นมันเรื่องของเขา เราไม่สักแต่ว่า เราทำจริงๆ.. ทำจริงๆ มันก็เห็นผลจริงๆ ใช่ไหม พอเห็นผลจริงๆ นี่เราจะทำของเราต่อขึ้นไป มันก็จะมีความจริงจังมากขึ้น มีความวิริยะอุตสาหะมากขึ้น พอมีความวิริยะอุตสาหะมากขึ้นนี่สมาธิมันก็เข้มข้นขึ้น

จากโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรคนี่ อะไรเป็นสกิทาคามิมรรค เหตุผลที่รองรับ สิ่งที่รองรับเป็นสกิทาคามิมรรคคือสัมมาสมาธิ สมาธิที่มันละเอียดขึ้นไป เวลาจิตที่เป็นสกิทาคามิมรรค มันจะออกใช้ปัญญา พอออกใช้ปัญญามันก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน มันเป็นกายนอก กายใน กายในกาย แต่ความเห็นของกายนี่เป็นความเห็นของความละเอียดอ่อน มันละเอียดอ่อนอย่างไร

เห็นกายเหมือนกัน แต่กายคนละชั้นตอนของมัน กายที่ละเอียดกว่านี่ พอมันละเอียดกว่า มันพิจารณาของมัน มันแยกแยะของมัน เห็นไหม ถ้าแยกแยะของมัน นี่แยกแยะ ถ้ามีกำลังของมันเพราะอะไร เพราะคนเคยมีประสบการณ์ พอมีประสบการณ์ การกระทำมันจะง่ายขึ้น มันก็ทำจริงจังทั้งนั้นแหละ

มันต้องมีความจริงจังตลอดไป มีความจริงจัง มีการกระทำตลอดไป เห็นไหม ดูสิเวลาเขาไปจ่ายตลาดกัน ของที่มีคุณภาพมากราคาก็ต้องแพง ถ้าของที่แพงขึ้นมา ถ้าเราต้องการนี่เราต้องหาทุนมาก หาจำนวนเงินพอกับสินค้านั้น สิ่งที่เราจะต้องการมรรคผลที่มันสูงขึ้นไปนี่ มันก็ต้องมีกำลัง มีสติปัญญาที่เข้มข้นขึ้น ถ้าเข้มข้นขึ้นนี่เราก็ต้องต่อสู้ แล้วต่อสู้กับใครล่ะ..

ไปตลาดมันจะง่ายกว่านะ ในเมื่อผู้ที่ขายสินค้าเขาก็อยากขายสินค้าเขา เราผู้ซื้อเราก็อยากได้ของเขา เขาก็อยากขายของเขา มันมีความเห็นร่วมกัน ธุรกิจนี่มันขนมาได้เลย แต่ต่อสู้กับกิเลส นี่เราทำด้วยความจริงจัง ต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันพลิกมันแพลงเพราะอะไร เพราะกิเลสมันไม่ยอมเสียที่อยู่ของมันนะ สิ่งที่พ่อค้ากับเรานี่มันได้ผลประโยชน์มาร่วมกัน

แต่กิเลสกับธรรม.. กิเลสคือกิเลสเรา กิเลสของเรา นี่เราเป็นคน เรามีความวิริยะอุตสาหะ เราต้องการพ้นจากกิเลส เราคิดว่าเรามุ่งดี เราทำความดี.. เรามุ่งดีทำความดี กิเลสมันต้องเปิดช่องให้เราสิ ก็เราเป็นคนดี เราอยากได้ของดี เราจะทำคุณงามความดี นี่กิเลสมันก็ต้องให้เราทำได้สะดวก กิเลสมันล่อเข้าไป แล้วมันกระทืบทีเดียวนะ ดีดทีเดียวนี่กลิ้งไปเลย !

กิเลสเรานี่แหละ ! เพราะอะไร เพราะอวิชชาความไม่รู้ พญามารมันอยู่ในใจเรา มันจะยอมเสียพื้นที่ที่ไหน มันก็เหมือนเรา เรายอมให้ข้าศึกศัตรูฆ่าเราไหม ไม่มีใครยอมให้ศัตรูข้าศึกทำลายเราหรอก เราก็ต้องการชีวิตเรา เราต้องการกำไร ต้องการชนะเขาทั้งนั้นแหละ เราไม่ยอมแพ้ใครหรอก

กิเลสนี่นะ อวิชชามารนี่มันอยู่ในหัวใจมันจะยอมใคร มันไม่ยอมใครหรอก ถ้ามันไม่ยอมใครมันก็หลอกมันก็ล่อไง เราไปตลาดนะเขาไม่ล่อเราหรอก ถ้าเขาล่อเขาล่อเพื่อประโยชน์ แต่เราต้องการสินค้าเขา มันเอออวยกันอยู่แล้ว เขาให้อยู่แล้ว แต่กิเลสนี่ถ้ามันเอออวย มันก็เอออวยให้เราหลง นั่นก็เป็นสักแต่ว่า นี่ก็รู้แล้ว นู้นก็เป็นธรรมะ โน้นก็เป็นความว่าง อู้ฮู.. รู้ไปหมดเลย แล้วก็เชื่อ ! เชื่อก็เรียบร้อย เสื่อมหมด

ถ้าเชื่อนะ เพราะเชื่อปั๊บมันจะปล่อยวาง ถ้ามันติดนะ.. คนไม่ภาวนาไม่รู้จักคำว่าติด คำว่าติดคือมันเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นถูกต้อง มันเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำเนี่ยดี พอเชื่อว่าดีนะ ดูสิ คนกำทอง เห็นไหม ทองมันก็ต้องดีแน่นอน.. คนกำขี้ แล้วบอกว่าขี้คือทองมันจะดีไหมล่ะ ขี้กำใหม่ๆ นะ ขี้สดๆ มันก็ยังไม่เหม็นเท่าไหร่นะ แล้วพอกำไปนานๆ เข้า ขี้นี้มันจะเหม็นไปเรื่อยๆ

นี่ไง เวลามันไปกำกิเลสอยู่ กิเลสมันหลอก พอกิเลสมันหลอกก็กำขี้ แล้วก็บอกว่า โอ๋ย.. ว่าง อื้อ.. สักแต่ว่า อู้ฮู.. สุดยอด อู้ฮู.. ว่างหมดเลย กำขี้เดี๋ยวมันจะเหม็น ! แต่ถ้ามันเป็นทองนะ กำทองมันไม่มีเสียหายหรอก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นทอง แต่กิเลสมันเป็นขี้ กิเลสขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงนี่มันเป็นขี้ทั้งนั้นแหละ มันจะหลอกลวงเรา มันจะให้เราอยู่ในอำนาจของมัน แล้วเราจะทำดี เราจะมีสติปัญญาแค่ไหน เราจะมีสติเตือนเราขนาดไหน

ถ้าเราเตือนเราได้นะ เราค้นคว้า งานข้างนอกเขาช่วยเหลือเจือจาน งานของโลก งานของสังคม เขาจะได้ช่วยเหลือเจือจานกัน งานในการพ้นจากกิเลสคืองานของเรา เราต้องทำของเราเอง

นี่ขนาดเราทำของเราเองนะ ดูสิงานบ้าน เราเป็นแม่ครัวเราก็ทำของเราเอง ในบ้านนี่เราก็ทำของเราเอง นี่มันงานนอก ไอ้งานในหัวใจที่มันทำ นี่สติปัญญานะ เราทำงานบ้าน ดูสิแม่ครัว แม่บ้าน เราจะต้องทำความสะอาดทั้งวันทั้งคืน.. ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีวันจบหรอก บ้านเรานี่ทำแล้วทำเล่า ทำแล้วทำเล่า ไม่มีวันจบหรอก แต่มันก็ยังเป็นงานข้างนอก เห็นไหม แต่ก็งานของเราเอง

แต่ถ้างานของจิตนะ สติมันอยู่ที่ไหน สมาธิมันอยู่ที่ไหน มันเป็นนามธรรม นี่งานของเราเอง.. งานของเราเอง เราจะค้นคว้าของเราเอง เวลาพิจารณาขึ้นไป เห็นไหม จิตมันเป็นธรรมๆ ขึ้นมา “โอปนยิโก.. เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” ก็มาดูผลงานไง มาดูสิความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าจิตมันสงบได้ จิตมันพิจารณาแล้วมันปล่อย โอ้โฮ.. มีความร่มเย็นเป็นสุขมาก

แต่เวลาจิตมันเสื่อมนะ เสื่อมคือสมาธิมันไม่มีกำลัง มันวิปัสสนาไปแล้วนะ มันเอาหัวชนภูเขาน่ะ คิดเท่าไหร่ก็ไม่ออก นี่เวลาพิจารณากายนะ กายก็ตกๆ หล่นๆ กายก็ไม่เห็น สมาธิก็เสื่อม สมาธิก็ อู๋ย.. ทุกข์ยากไปหมดเลย เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูความทุกข์ไง ดูสิ มาดูข้านักปฏิบัติ กำลังเดินเอาหัวชนฝาอยู่เนี่ย เดินไปเดินมามันจะเอาหัวเดินต่างเท้าอยู่แล้ว ! มันทุกข์มาก ! เห็นไหม เวลาจิตมันเสื่อมขึ้นมานะ นี่มันก็แก้ไขของมันสิ

เวลาเราปฏิบัตินะ มันจะมีอะไร กิเลสมันจะเอากลีบดอกกุหลาบมาให้เราเดิน มันเป็นไปไม่ได้หรอก.. มันทั้งกีดทั้งขวาง ทั้งมีการกระทำทั้งนั้นแหละ เราต้องมีสติปัญญา เวลามันเสื่อมมันถอยนะ นี่ครูบาอาจารย์เราก็มี ครูบาอาจารย์เราก็ทุกข์มาก่อน เห็นไหม มันเหมือนกับเราไม่ใช่ทุกข์คนเดียวไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบตรวจสอบมา ทุกข์กว่าเราเยอะมาก ถ้ามันคิดได้อย่างนี้นะ ความชุ่มชื่นจะกลับมา ความเข้มแข็งจะกลับมา ทุกอย่างพอกลับมา นี่มีการกระทำขึ้นมามันก็สดชื่น แต่ถ้ามันน้อยเนื้อต่ำใจ นี่กิเลสมันน้อยเนื้อต่ำใจอยู่แล้ว

คนทำงานมันเหนื่อยมากนะ นี่แล้วงานนอก-งานใน นี่งานของเราเอง งานรื้อภพรื้อชาติ เราถึงได้มานะบากบั่น.. เราจะมานะบากบั่น เพื่อให้จิตของเรามันมีอำนาจวาสนาบารมี เราทำสิ่งใดนี้ก็เพื่อความร่มเย็นในหัวใจของเรา เราพยายามเสียสละตัวต่างๆ ก็เพื่อหัวใจของเรานี่แหละ ให้มันมีอำนาจวาสนาบารมี อย่าได้เชื่อสิ่งใด อ่อนไหวไปกับสิ่งใด

กิเลสมันฉลาดมาก มันเสนอสินค้ามานะ นั่นก็ว่าง นั่นก็สักแต่ว่า มันเสนอมาแต่สิ่งดีๆ ทั้งนั้นแหละ สิ่งดีๆ ลอกเลียนมาจากธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราก็รู้อยู่แล้ว เรารู้อยู่นะว่าเป้าหมายของเราก็คือการปล่อยวาง เป้าหมายของเราคือการฆ่ากิเลส พอเวลากิเลสมันเสนอมานะว่า นั่นว่าง.. เราก็เชื่อ เราก็คิดว่ามันเป็นความจริง พอคิดว่าเป็นความจริงขึ้นมานี่เราติดไง เราติด.. สติปัญญาเราก็ปล่อยวาง อ่อนแอลง อ่อนแอลงนะ จิตก็ถดถอย.. ถดถอย รู้ตัวอีกทีหนึ่งนะเสื่อมหมดแล้ว

ถ้าเราตั้งใจของเรา เราปฏิบัติของเรา เราเข้มแข็งของเรา นี่พิสูจน์ตรวจสอบนะ มันอยู่ที่พิสูจน์ตรวจสอบนะ ขิปปาภิญญานี่ ทีเดียวถึงสิ้นกิเลสได้ เราพวกเวไนยสัตว์ เรายังมีโอกาสนะ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีความสนใจพุทธศาสนา แล้วเรามีความสนใจในการปฏิบัติ นี่เรามีโอกาส แล้วมีโอกาสแล้วตอนนี้กำลังทำอยู่ แล้วทำอยู่นี่มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ

อ้าว... เวลามันไม่ได้ทำเลยมันก็คนดิบๆ ไง เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาจนถึงระดับนี้แล้ว มันจะเสื่อมบ้าง มันก็เรื่องธรรมดา ถ้ามันเสื่อมๆ เพราะอะไร เสื่อมเพราะเราเลินเล่อ เสื่อมเพราะเราไม่ดูแลของเราเอง

เราอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านสอนประจำ นี่เวลาปฏิบัติแล้วให้รักษาใจของตัว ให้ดูแลใจของตัวให้ดี อย่าไปคลุกคลี อย่าไปทำ เพราะการคลุกคลี การเป็นกังวล การรับรู้สิ่งต่างๆ นี้ มันทำให้จิตใจมันฟูหมดแหละ นี่มันเป็นทางแห่งทางเสื่อม !ทางเสื่อมของจิตไง แต่ถ้าเวลาทางเสื่อมของโลก นี่ถ้าเราไม่ดูแลกัน เราไม่ปฏิสันถารกันมันจะเป็นความเสื่อม

ไอ้อย่างนี้เราดูแลปฏิสันถารกัน แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาเราต้องดูแลใจของเรา ถ้าดูแลใจของเรามันก็จะสู่ความวิเวก สู่ความสงบของใจ งานของใจจะเกิดขึ้น วิเวกคือภวาสวะ คือภพ คือกรรมฐาน คือฐานการงาน พอจิตมันเข้าสู่ฐานของการงาน ถ้ามันมีสติมีสมาธิขึ้นมานะ เวลาเราจับต้องกาย เวทนา จิต ธรรมได้แล้ว เราจับต้องได้แล้วเหมือนเราจับนักโทษได้แล้ว นี่เราเรียกขึ้นศาลเมื่อไหร่ก็ได้

ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เห็นไหม ถ้าเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เรารำพึงขึ้นมามันจะเกิดขึ้นมาเป็นภาพ เป็นสิ่งที่รู้ เป็นสิ่งที่เห็น แล้วเราใช้ปัญญาวิปัสสนาของเราไปบ่อยครั้งเข้า ! บ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้ง ! ทำบ่อยๆ เห็นไหม หมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นวิปัสสนา หมั่นมีการกระทำ ถึงที่สุดมันปล่อยขนาดไหน ถึงที่สุดมันจะต้องสมุจเฉทปหาน !

มันมีขอบเขตของมัน ! มันมีเป้าหมายของมัน ! มันมีบทสรุปของมัน ! บทสรุปของมันคืออริยสัจ.. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. มรรคญาณ.. นิโรธคือการดับ ดับด้วยมรรคญาณ มรรคญาณนี่มันมีขอบเขตของมัน

คนเรานี่ ดูสิพระอรหันต์แต่ละชนิด แต่ละประเภทต่างๆ มันก็แตกต่างกัน เราเป็นผู้ปฏิบัติ กิเลสของเราก็แตกต่างกัน ความยึดติด ความผูกมัด จริตนิสัยเราชอบสิ่งใดนี่ มันก็แตกต่างกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราใช้มรรคญาณ ที่มันเกิดขึ้นมา เวลาถึงที่สุดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันสมุจเฉทปหาน มันสมุจเฉทปหานด้วยค่าของความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยค่าของคุณธรรมเหมือนกัน ! แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัตินี่ ความหยาบความละเอียดของใจ ความหยาบความละเอียดของกิเลส มันแตกต่างกัน

ฉะนั้นการวิปัสสนาแต่ละครั้งแต่ละรอบของจิตแต่ละดวงมันถึงไม่เหมือนกัน แต่ผลเหมือนกัน ! ผลอันเดียวกัน ! ถ้ามันถึงที่สุดของมันนะ สมุจเฉทปหานใช่ไหม นี่ไง กายมันขาด ถ้าพิจารณากาย เห็นไหม นี่ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ

ถ้าพิจารณาจิต.. นี่อุปาทาน ที่ความยึดมั่นของจิต นี่มันปล่อยสักกายทิฏฐิมา มันปล่อยขันธ์ ๕ มา แต่มันมีอุปาทานยึดของมัน นี่มันมีอุปาทานยึดของมัน ถ้ามันพิจารณาของมัน พอมันขาด.. โลกนี้ราบหมดเลย !

“กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” ราบหมดเลย ! นี่มันปล่อยวางหมดเลย โลกนี้ราบ เห็นไหม ในมุตโตทัยของหลวงปู่มั่นบอกว่า “ราบเหมือนหน้ากลอง” กลอง.. ดูสิเขาตีกลอง บนกลองดูสิขึงแผ่นหนังไว้ เห็นไหม เรียบ ! ไม่มีสิ่งใดๆ บนนั้นเลย

จิตมันปล่อยขนาดนั้น ! พอจิตมันปล่อยขนาดนั้น นี่สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ นี่มันสักแต่ว่าไหม มันเกือบเป็นเกือบตาย ทำจริงๆ รู้จริงๆ จับต้องจริงๆ เห็นจริงๆ มันเป็นประโยชน์ของมันจริงๆ นะ.. นี่แล้วมันก้าวเดิน นี่ไง ถ้ามันเป็นจริงขึ้นไป พิจารณาเป็นจริงขึ้นไป เห็นไหม นี่ตรงนี้มันจะเวิ้งว้างมาก แล้วสิ่งที่จะออกกามราคะ ถ้าจิตมันสงบนะ..

เจ้าหน้าที่ เห็นไหม เจ้าหน้าที่เขาจะจับผู้ร้าย เจ้าหน้าที่เขาปกครองบ้านเมือง ใครทำผิด ใครปล้นสะดม ใครรังแกใคร ใครฉ้อโกงใคร เจ้าหน้าที่เขาต้องไปสืบสวนสอบสวนจับคนนั้น เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของสังคม เพื่อให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข คนที่ทำผิดนี่เขาต้องเอามาไต่สวน ผิดถูกชั่วดีมากน้อยแค่ไหน ลงโทษตามนั้น

จิต.. เวลามันปล่อยวางหมดแล้ว มันปล่อยหมดเลยนี่ แล้วถ้ามันไม่ย้อนเข้าไป มันจะเห็นอสุภะไม่ได้ จิตจะเห็นอสุภะไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะกิเลสมันปิดบังไว้ เห็นไหม มันจะบอกว่า “ไม่มีใครทำผิด.. มีแต่คนดี.. สังคมนี้ โลกนี้ราบหมดแล้ว ไม่มีสิ่งใดเป็นโทษกับใครเลย”

แต่ถ้ามันมีสติปัญญา เราจะมีสติปัญญาแล้วทำความสงบของใจเข้ามา จิตถ้ามันสงบเข้ามาแล้วมันออกรู้นะ ถ้ามันออกรู้นี่มันจะเป็นมหาสติ มหาปัญญา ดูสิมันเป็นมหาสติ มหาปัญญา เพราะมันเร็วขึ้น จิตมันเร็วขึ้น สายการบังคับบัญชาของจิตมันสั้นเข้า พอมันเร็วขึ้นมา เห็นไหม มันจับต้องขึ้นไป พอมันจับต้องได้นะมันสะเทือนเลื่อนลั่นนะ

ถ้าเห็นอสุภะ เห็นกายในนี่นะ มันสะเทือนมาก เพราะมันเป็นปฏิฆะ กามราคะ.. สิ่งที่เป็นปฏิฆะ กามราคะเพราะอะไร เพราะมันเป็นโอฆะ มันจะข้ามพ้นโอฆะ ถ้าข้ามพ้นโอฆะ.. นี่ไง นี่จิตที่พอเกิด ที่เวลาวิปัสสนาไปนี่สักแต่ว่า ทุกอย่างก็ว่าง ทุกอย่างเป็นไปหมดแล้ว ..นั้นเป็นความขี้โม้ของกิเลส ..นั้นเป็นความขี้โม้ของความไม่รู้..

แต่ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา กว่ามันจะเข้าไปเห็นถึงอสุภะได้ กว่าจะเข้าไปเห็นถึงกามราคะได้ มันต้องผ่านการประพฤติปฏิบัติมาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา เพราะไม่ใช่ขิปปาภิญญาที่จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ไปเลย

แต่นี้การปฏิบัติเป็นระดับชั้นของมันขึ้นมา เวลาถ้าจิตเป็นมหาสติ มหาปัญญา แล้วถ้าออกรู้นะพิจารณาจับกายได้ ! จับกายได้มันสั่นไหวนะ พอมันสั่นไหวขึ้นมา.. ดูสิ โดยธรรมชาติของมนุษย์ โดยธรรมชาติของสัตว์โลก เห็นไหม ความสืบพันธุ์ ความสืบพันธุ์เพื่อความดำรงของเผ่าพันธุ์

จิตของมัน มันมีโดยธรรมชาติของมัน ! ถ้ามีโดยธรรมชาติของมันนะ พอเราวิปัสสนาขึ้นไป.. สิ่งนี้มันสั่นไหว มันสั่นไหวเพราะอะไร เพราะธรรมชาติ นี่กามราคะเป็นเรื่องของโลก นี่กามฉันทะ คือจิตมันถึงกามฉันทะ ถึงตัวจิตนะ พอเข้าไปถึงตัวจิต นี่สิ่งที่เป็นโอฆะมันจะเยิ้มออกมาในหัวใจ มันจะสั่นไหวในหัวใจนะ

ผู้ที่ปฏิบัติกันมันทุกข์อย่างนี้ ! มันทุกข์เพราะเราจะฆ่ามัน ! เราจะฆ่ามัน ! เราจะพิจารณาให้กามราคะ เราจะข้ามกามโอฆะ จะทำลายสิ่งที่เป็นกามราคะ.. แต่พอเราเข้าไปเผชิญหน้ามัน ดูสิ เราขุดน้ำมันดิบที่เขาขุดขึ้นมา ตัวน้ำมันดิบมันสกปรกไหม แล้วเราต้องการผลจากมัน เราต้องเอามันขึ้นมา แล้วเราต้องทำความสะอาดมัน

นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำลายกามภพ กามราคะ เราจะต้องเข้าไปเผชิญหน้ากับมันนะ สิ่งที่เป็นกำลังของมัน นี่เราก็ล้มลุกคลุกคลานแล้ว ฉะนั้นมันถึงเป็นมหาสติ มหาปัญญา ถ้าเป็นมหาสติ มหาปัญญา มันจะจับต้องสิ่งนี้ได้ มันจะแยกแยะสิ่งนี้ได้

แล้วความหลอกของแม่ทัพนะ.. นี่ผู้ที่เป็นจิตเดิมแท้ จิตนี้เป็นจอมทัพ สิ่งที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่ อสุภะกับอสุภังมันเป็นแม่ทัพนายกอง นี่เพราะจิตคนมันติดอยู่ที่นี่ การกระทำสิ่งนี้มันถึงจะต้องมีสติมีปัญญา.. มีมหาสติ มหาปัญญา แล้วใคร่ครวญแยกแยะ มันต้องฝึกฝนอย่างมาก !

ครูบาอาจารย์.. ถ้าลูกศิษย์ปฏิบัติมาระดับนี้นะ ดูสิที่ครูบาอาจารย์ท่านบอก “อยู่กับใครไม่ได้เลย ! อยู่กับใครไม่ได้” ขณะที่เราปฏิบัติไปแบบหน่อแรด นี่ไปเพื่อจะค้นคว้าหาตัวเอง.. เพื่อค้นคว้าหาตัวเองเสร็จแล้วมันจะวิปัสสนาขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เห็นไหม สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา.. แล้วก็ต่อขึ้นมาก็ละความเป็นอุปาทาน พอละความเป็นอุปาทาน นี่จิตนี้มันราบเป็นหน้ากลอง

จิตนี้พอมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราทำความสงบของใจเข้ามา จิตมันจะเป็นมหาสติ มหาปัญญา แล้วก็เข้าไปจับได้ พอจับได้ ใคร่ครวญได้ ความหลอกก็ละเอียดขึ้นไป ความที่ต้องการให้จิตดวงนี้..

จิตแต่ละดวงเป็นที่อยู่ของพญามาร นี่ภวาสวะตัวภพ ดูสิ มนุษย์เราอยู่บนโลก อยู่ในประเทศชาติ อยู่ในอำเภอ อยู่ในต่างๆ นี่เป็นถิ่นกำเนิดของเรา.. ตัวจิต เห็นไหม ตัวจิต ตัวภวาสวะ ตัวภพนี่ แล้วพญามารมันครองใจนี้อยู่ มันครองใจ ใจที่มันเวียนเกิดเวียนตาย นี่พญามารมันครองมันอยู่.. แล้วกามราคะ ปฏิฆะนี่เป็นแม่ทัพนายกอง ที่มนุษย์ สัตว์มนุษย์ สัตว์โลกทุกอย่างมีสิ่งนี้ในหัวใจ !

เพราะมีสิ่งนี้ในหัวใจ ทุกอย่างถึงต้องตอบสนองมัน ! ถ้าการตอบสนอง.. นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเข้ามาที่นี่ สอนเข้ามาให้ประพฤติปฏิบัติ สอนเข้ามาให้ถอดให้ถอนมัน สอนเข้ามาให้ทำลายมัน ถ้าสิ่งที่ทำลายมัน เห็นไหม มันมีมหาสติ มหาปัญญาทำลายมัน ทำลายมันต้องมีกำลังมาก ต้องต่อสู้มาก มันไม่ใช่สักแต่ว่า !

การกระทำนะ.. การวิปัสสนา การใช้ปัญญานี่มันทุกข์ยากมาก มันต้องลงทุนลงแรงมาก แล้วพอเวลาถึงที่สุดแล้วเวลาจะชำระ เห็นไหม นี่เวลาฆ่ากิเลสตัวเล็กๆ หลานของกิเลส ลูกของกิเลส พ่อของกิเลส.. ไอ้นี่เราต่อสู้กับพ่อของมัน

หลานของกิเลสคือโสดาบัน นี่ลูกกิเลสมันก็สกิทาคามี ไอ้นี่พ่อกิเลสนะ แล้วเดี๋ยวจะไปเจอปู่มันอีก ! พ่อกิเลสนี่ต่อสู้ด้วยคนที่มีวุฒิภาวะ เขามีสติมีปัญญา เห็นไหม นี่กามราคะที่มันจะต่อสู้กัน มันถึงต้องทำจริงๆ นะ ไม่มีสักแต่ว่า ต้องทำจริง รู้จริง เห็นจริง แล้วใช้มหาสติ มหาปัญญา

สติปัญญานี่โสดาบันมันเป็นอย่างไร สกิทาคามีเป็นอย่างไร อนาคามีนี่เป็นอย่างไร สิ่งที่เป็นมหาสติ มหาปัญญาที่มันจะต่อสู้กับกิเลส แล้วกิเลสมันล่อลวง มันแยบยล แยบยลจน..

เราผ่านงานมานะ ผ่านมางานตั้งแต่ ๒ ขั้นตอน แล้วพอมาผ่านงานนี้ ทำไมสติปัญญาเราไม่ทัน ทำไมจับพลัดจับพลูให้มันหลอกจนหัวปั่น หัวปั่นเลยนะ ! หัวปั่นก็ล้มลุกคลุกคลานไป แล้วก็สู้ใหม่.. สู้ใหม่.. นี่คนปฏิบัติ เห็นไหม

เวลาหลวงตาท่านพูดว่า พระโสณะเดินจนฝ่าเท้าแตก เวลาปฏิบัติขึ้นมา ถ้าหัวใจมันสู้ มันสู้เพราะอะไร เพราะมันจะได้มันจะเสียในหัวใจ นี่ไงทำจริงๆ รู้จริง จะฝ่าเท้าแตกหรือไม่ฝ่าเท้าแตกนั้นมันเป็นเรื่องของผิวหนัง มันเป็นเรื่องของร่างกาย เพราะจิตใจ.. งานของใจ งานจากภายในที่มันสู้กันมหาศาล นี่มันทำได้ !

ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ของเราที่ปฏิบัติเขาถึงปฏิบัติเข้มข้น เข้มข้นเพราะหัวใจมันมีงาน ! เข้มข้นเพราะมีการกระทำในใจนั้น ! เพราะในใจนั้นมันกำลังต่อสู้ กำลังทำลายกันอยู่ กำลังมีการกระทำอยู่ เห็นไหม มันถึงจะเป็นการปฏิบัติจริงๆ รู้จริงๆ ถ้ารู้จริงๆ ถึงที่สุดทำแล้วทำเล่า ทำแล้วทำเล่า นี่มันจะครืนในหัวใจ.. ครืนในหัวใจนะ มันทำลายกัน ! ทำลายกัน อสุภะนี้ขาดออกไปจากใจ

นี่ละเอียดซ้ำๆ ละเอียดเข้าไป ปล่อยวางๆ มันละเอียดซ้ำมันจะเร็วขึ้น ชำนาญขึ้น คล่องตัวขึ้น พอคล่องตัวขึ้นก็ปล่อย.. ปล่อยมากขึ้นๆ ยิ่งปล่อยยิ่งละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปสู่เนื้อเดียวกันกับจิต แล้วมันไปทำลายกันที่นั่น พอทำลายกันแล้วมันครืนในหัวใจ พอครืนในหัวใจแล้วนะ มันยังมีต่อ เห็นไหม มันมีต่อ พิจารณาซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป นี่มันมีเศษส่วนของมัน ! มันมีสิ่งล่อลวงของมัน !

พิจารณาซ้ำๆๆ ซ้ำจนไม่มีสิ่งใดเลย.. โลกนี้ไม่มีสิ่งใดเลย ไม่มี ! ไม่มีสิ่งใดเลย ! มันจะมีได้อย่างไร เพราะตัวจิตมันผ่องใส ตัวความรู้สึกมันเห็นคนอื่นสะอาดหมด มันเห็นความสะอาดหมดเลย เพราะลูกกิเลสก็ฆ่ามาแล้ว หลานกิเลสก็ฆ่ามาแล้ว พ่อมันก็ฆ่าแล้ว ใครเป็นคนฆ่า.. ก็จิตนี้เป็นคนฆ่า เพราะตัวจิตเป็นผู้ทำลาย ผลนี้มันก็คืนมาสู่จิต แล้วจิตมันทำความสะอาดหมดแล้วมันอยู่ไหนล่ะ นี่ไง ! นี่ไง ว่าง... ว่างๆๆ

ขนาดที่ว่ามันสว่างขนาดไหน ว่างขนาดไหน นั่นล่ะคืออวิชชา นั่นล่ะคือตัวภวาสวะ นี่ปฏิสนธิจิต !

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

เพราะจิตผ่องใส เพราะปฏิสนธิจิต มันถึงเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดในวัฏฏะ.. เพราะตัวจิตนี้เป็นตัวเกิด แต่เป็นพระอนาคามีนี่มันไม่เกิดในกามภพแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติมา ไม่รู้ไม่เห็นมา.. ก็นี่ไง ! ไอ้ที่เกิดๆ ก็ไอ้มึงนี่ไง ก็ไอ้สิ่งนี้ไงที่พาเกิด

แต่ในขณะที่เราปฏิบัติของเรามานี่มันมีการกระทำ มันไม่ใช่สักแต่ว่า เพราะสักแต่ว่าไม่รู้อะไรเลย.. แต่นี้เพราะมันมีการกระทำจริงรู้จริง พอรู้จริงขึ้นมา มันเห็นจริงนี่มันถึงซึ้งใจมาก ! ซึ้งใจมากเพราะอะไร เพราะเราทำ

จิตของเราเอง.. ความรู้สึกของเราเอง.. ธรรมะปริยัตินี่มันอยู่ในพระไตรปิฎก ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นทฤษฏีที่ชี้เข้ามาที่ใจ แล้วเราปฏิบัติขึ้นมา นี่เราทำจริงรู้จริงขึ้นมา จนเห็นจริงขึ้นมา จนปฏิบัติจริงขึ้นมา นี่มันซาบซึ้งในใจ

แล้วทำความจริงอย่างนี้.. ความจริงอย่างนี้มันสักแต่ว่าที่ไหน ทำจริงๆ ! ล้มลุกคลุกคลานมา นี่จะเป็นจะตายต่อสู้มาขนาดนี้ แล้วสิ่งใดจะเข้าไปสู่ตัวจิตนี้ ถ้าเข้าไปถึงตัวจิตนี้.. นี่อรหัตตมรรค ! ละเอียดลึกซึ้งมาก !

สิ่งใดก็แล้วแต่.. นี่เจ้าหน้าที่ ผู้ที่มีหน้าที่ทางกฎหมาย ใครทำความผิดเขาต้องจับไปเพื่อความสงบร่มเย็นของสังคมนั้น แล้วตัวเจ้าหน้าที่เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ตัวเจ้าหน้าที่ไม่มีสิ่งใดเลย แต่ตัวเจ้าหน้าที่นั่นล่ะคือจิตเดิมแท้ คือสิ่งที่รักษาสังคม สิ่งที่รักษาจิตนี้ แล้วเจ้าหน้าที่จะตัดสินตัวว่าเราผิดอะไร เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เราจะผิดได้อย่างไร

ผิด ! ผิดเพราะมีเราไง ! ผิดเพราะมีนี่แหละ ถ้าผิดเพราะมี แล้วผิดเพราะมีนี่เราทำอะไรผิด ไม่มีอะไรผิดแล้วมันมีได้อย่างไรล่ะ.. นี่จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ที่มันสะอาดบริสุทธิ์ มันสะอาดบริสุทธิ์เพราะเดิมแท้มันใสสว่าง ใสสว่างมันไม่ผิด มันไม่มีสิ่งใดเลย นั่นล่ะคือความผิดอันละเอียดไง

นี่นโยบาย นี่จอมทัพ.. แม่ทัพคือความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วตัวจอมทัพล่ะ ตัวสิ่งที่เป็นไปล่ะ นี่ถ้ามันมีสติปัญญาของมัน โดยความ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของมัน มันจะย้อนกลับเข้ามาได้.. ย้อนกลับเข้ามาได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตรัสรู้ธรรมโดยชอบ แล้ววางธรรมและวินัยไว้ ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่มันทำได้จริง แต่วิธีทำนี่มันทำอย่างใด.. ถ้าคนจริง รู้จริง เห็นจริง มันจะรู้ รู้เพราะอะไร เพราะมันมีการกระทำมามันถึงรู้

เพราะมีการกระทำมา ไม่ใช่สักแต่ว่า ! ถ้าสักแต่ว่านี่ไม่รู้ แต่ถ้าทำจริงนี่รู้.. รู้ว่าทำอย่างไร ! ย้อนกลับมาอย่างไร ! แล้วจับตัวจิตอย่างไร ! แล้วมันพลิกคว่ำอย่างไร ตัวจิตนี้ทำลายอย่างไร เจ้าหน้าที่ทำลายตัวเอง เจ้าหน้าที่ฆ่าตัวตายมีที่ไหน

ไม่มีใครฆ่าตัวตายหรอก.. มันจะยึดครองประเทศ มันจะไปทำลายตัวเองที่ไหนไม่มีหรอก ! ทางโลกไม่มีทำลายตัวเอง แต่ทางธรรม ทางที่มันต้องทำจริงๆ นี่มันทำลายตัวเอง พอทำลายตัวเองถึงที่สุดจบสิ้นขบวนการของมัน เห็นไหม นี่รู้จริง เห็นจริง ตามความเป็นจริง.. แล้วมันถึงเป็นสักแต่ว่าไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนโมฆราช “โมฆราช.. เธอจงมองดูโลกนี้เป็นความว่าง” เพราะองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ฆ่า ได้ทำลายอวิชชาในหัวใจ ไอ้มารที่มันอาศัยภพนี้อยู่นี่ทำลายหมด ไอ้ตัวภพที่มารอยู่ก็ทำลายแล้ว

“โมฆราช.. เธอจงดูโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ตัวภพ ตัวที่ดูเขา”

นี่ไงไอ้ตัวที่ว่าเนี่ยสักแต่ว่าๆ มันสักแต่ว่าเพราะว่ามันเป็นธรรมธาตุ มันเป็นสัจธรรมแล้ว.. โลกก็คือโลกไง นี่น้ำกลิ้งบนในบัวไง มันเลยเป็นสักแต่ว่าไง

คำว่าสักแต่ว่า.. นี่มันเป็นสักแต่ว่าเพราะมันเป็นอย่างนั้น เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับเขา แต่ถ้าเป็นโลก สักแต่ว่านี่เพราะใจมันไม่มีอยู่แล้ว คำว่าสักแต่ว่าของกิเลสมันไม่มี เพียงแต่ว่ามันเป็นการกดไว้เฉยๆ ไม่มีหรอก มันเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าเป็นธรรมธาตุ ...มี ! มันสักแต่ว่าจริงๆ แต่สักแต่ว่ามันต้องมีการกระทำ รู้จริงเห็นจริง มันถึงเป็นสักแต่ว่า เราเป็นสักแต่ว่าก่อนนะ มันสักแต่ว่าเลยไม่รู้.. แต่ถ้าทำจริงเห็นจริงนะ ทำจริงๆ รู้จริงๆ ถึงที่สุดแล้วใจดวงนี้ประเสริฐ ประเสริฐเพราะมีการประพฤติปฏิบัติ ประเสริฐเพราะเราลงครูบาอาจารย์ ประเสริฐเพราะเราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เราปฏิบัติมาเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ผลงานนั้น ความรู้นั้น การปฏิบัตินั้น จะเป็นผลงานของจิตดวงนั้น ผลงานของเรา ผลงานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

เราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุปัฏฐากหัวใจของเราคืออุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็จะเชื่อฟัง.. ลงในธรรม เห็นไหม ฉะนั้นครูบาอาจารย์ของเราจะกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยหัวใจ

เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาในพุทธศาสนา เราเป็นผู้ที่หวัง มีความมุ่งมั่น มีการประพฤติปฏิบัติ เราเป็นชาวพุทธโดยเนื้อแท้ เราไม่ใช่เป็นชาวพุทธโดยกิริยา ชาวพุทธโดยคำพูด ชาวพุทธโดยปาก ทำงานด้วยปากไม่ได้ทำงานด้วยใจ ไม่ได้ทำงานด้วยมรรคญาณ เขาจะไม่ได้ลิ้มรสของธรรม

เราปฏิบัติกันจริง รู้จริง ทุกข์ยากมาก การปฏิบัตินี่ทุกข์ยากมาก.. งานทางโลกยังทุกข์ยาก แล้วงานในการปฏิบัติเป็นงานนามธรรม จะฆ่ากิเลสที่มันเป็นแก่นกิเลสในหัวใจ มันยิ่งทุกข์ยากมาก แต่ทุกข์ยากเพื่อคุณงามความดีของเรา ทุกข์ยากเพื่อพ้นจากการเกิดและการตาย ทุกข์ยากเพราะให้ใจเราพ้นจากกิเลส เอวัง