เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาให้ทาน เห็นไหม เราถวายทาน พอถวายทานเสร็จแล้วนี่บุญกุศลสำเร็จ.. สำเร็จด้วยการเสียสละ สิ่งนี้คือการให้ทาน “ทาน ศีล ภาวนา”

เวลาให้ทานแล้วนี่บุญกุศล แล้วเวลาทำบุญกุศลขึ้นมาแล้วทำไมเรายังหงุดหงิดล่ะ ทำไมเรายังขัดข้องในหัวใจล่ะ สิ่งใดที่ไม่สมความปรารถนา เราคาดเราหมายว่าจะต้องเป็นอย่างที่เราปรารถนา แล้วมันไม่เป็นอย่างที่ปรารถนา.. ทั้งๆ ที่ทำบุญนะ ทั้งๆ ที่เราทำคุณงามความดีนี่แหละ แต่ทำคุณงามความดีเพราะเราคาดเราหมายของเรา

แต่ถ้าทำดีตามเนื้อผ้าล่ะ.. นี่เราฟังธรรม ถ้าฟังธรรม ธรรมนี่มันสะเทือนหัวใจ มันเป็นสิ่งที่สะเทือนใจ มันเป็นการเตือนใจเรา ถ้ามันเตือนใจเรานะ เตือนใจให้เรามีสติ ถ้าเรามีสติขึ้นมา เห็นไหม หลวงตาบอกว่า

“ถ้ามีสตินะ เหมือนฝ่ามือนี่มันสามารถกั้นคลื่นทะเลได้เลย”

เวลาคลื่นทะเล.. ความหงุดหงิด ความขัดข้อง ความต่างๆ นี่เกิดจากหัวใจ เพราะเราขาดสติ เราขาดสติเพราะเหตุใด เราขาดสติเพราะเราส่งออก ส่งไปสู่ที่การกระทำของเรานั้น เราเสียสละขึ้นมานี่เราต้องให้สมความปรารถนาของเรา เราก็ตั้งใจของเราแล้ว

ผู้ที่ทำบุญกุศล เห็นไหม “ทำบุญทิ้งเหว” ทำของเรา นี่ตั้งใจทำ ของเราแสวงหามาด้วยความทุกข์ความยากนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน หลวงตานี่แหละท่านสอน หัวโล้นๆ นี่อยู่ตึกตั้งกี่ชั้น เขาอยู่กระต๊อบห้องหอ คนทุกข์คนยากเขาอยู่กระต๊อบห้องหอ เขาหาได้ ๕ ได้ ๑๐ เขาอุตส่าห์ทำบุญกุศล เขาหาได้ ๕ ได้ ๑๐ เขาเอาแต่สิ่งที่ดีๆ ของเขา เพราะเขาเจตนาของเขา

คนทำบุญของเรานี่ เพราะเราถือว่าบุญกุศลนี้เป็นของเรา เราทำสิ่งใดเราต้องปรารถนาสิ่งนั้น สิ่งที่มีดีที่สุดของเราเพื่อเสียสละ เพื่อจะให้ได้บุญของเราที่ประณีต เห็นไหม ไอ้หัวโล้นๆ นั่นนะ อยู่ตึกอยู่ห้องอยู่หอขนาดไหน แล้วเราไปบิณฑบาตกับเขา.. นี่สิ่งที่เตือนใจไง เตือนใจว่าการกระทำนี้ก็เพื่อประโยชน์กับเขา ถ้าสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา นี่เสียสละเจตนาของเขา สิ่งนี้สำเร็จแล้ว แต่ความที่เป็นหัวใจล่ะ.. สิ่งที่เป็นธรรมล่ะ..

สิ่งที่เป็นธรรม เห็นไหม เวลาเราไปโรงพยาบาลนะ เวลาเราไปตรวจโรค เราไม่อยากฟังหมอวินิจฉัยเลยว่าเราเป็นโรคร้าย นี่ก็เหมือนกัน เวลาฟังธรรมๆ นี่ ธรรมมันสะเทือนหัวใจนะ ธรรมมันเตือนอะไร มันเตือนสติเราไง ถ้าเรามีสติมีสตังขึ้นมา.. มีสติ ! การกระทำของเราจะผิดพลาดน้อยลง แต่เพราะเราขาดสติ การผิดพลาดต้องมากขึ้น คนมีสติ แล้วความผิดพลาดนั้นจะไม่ผิดพลาดเลยเหรอ.. มันก็มี

ความผิดพลาด เห็นไหม คนทำงานมันต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ทีนี้การผิดพลาดเป็นธรรมดา มันจะพัฒนาการของมันไหม ถ้าจิตของเราพัฒนาการของเราขึ้นมา เราจะรู้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก.. ถ้าสิ่งใดถูก เวลาหมอบอกนี่เป็นโรคภัยไข้เจ็บสิ่งต่างๆ สิ่งนั้นมันคืออะไรล่ะ สิ่งนั้นเพราะว่าชราคร่ำคร่า ร่างกายของเราต้องชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดา โรคเวรโรคกรรมมันก็มีของมัน โรคเสื่อมสภาพของร่างกายก็มี แล้วรักษาหายก็ได้ ไม่หายก็ได้

นี่เป็นเรื่องของเวรของกรรมใช่ไหม ถ้าเวลาฟังธรรมล่ะ ฟังธรรมก็เพื่อเตือน นี่โรคกิเลสมันมีอยู่แล้วล่ะ เราเกิดมานี้อวิชชาพาเกิด มันมีอวิชชาพาเกิด อวิชชามันคืออะไร คือความไม่รู้ ถ้าความไม่รู้ แล้วทำไมเรารู้ล่ะ.. เรารู้ เรารู้เป็นวิชาการ แต่ความรู้ในตัวของมันเองมันไม่รู้ของมัน เวลาเราฝึกฝนขึ้นมานี่เพราะขาดความไม่รู้อันนี้ไง เวลาตั้งสติขึ้นมา เวลากำหนดพุทโธ พุทโธขึ้นมา เพราะความไม่รู้ในตัวมันเอง

มันพุทโธอยู่ข้างนอก แต่ตัวมันเองไม่เป็นพุทโธ แต่ถ้าพุทโธชัดๆ คำว่าชัดๆ มันสะเทือนถึงตัวมันไง เพราะพลังงาน ความคิดมาจากจิต ทุกอย่างมาจากจิตทั้งหมด แล้วถ้าสติมันเกิดจากจิต การกระทำของมันเกิดจากจิต ทุกอย่างดับหมดล่ะ แต่นี้มันไม่เกิดจากจิต มันไปเกิดที่ความคิด เพราะเราส่งออกไปแล้ว เห็นไหม เราส่งออกไปแล้ว เราไปคิดข้างนอก

นี่ไงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะมันเกิดที่ความคิดใช่ไหม มันไม่เกิดที่พลังงานใช่ไหม เวลากิเลสปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ.. ปฏิสนธิวิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณ อายตนะ.. วิญญาณทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่วิญญาณกระทบ.. แต่วิญญาณนี้มันมาจากไหนล่ะ ปฏิสนธิวิญญาณมันมาจากไหน แล้ววิญญาณอายตนะมาจากไหน

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ฟังธรรมๆ นี่เตือนตรงนี้ไง.. แต่ของเรา เห็นไหม เวลาเราไปหาหมอนะว่าหมอหายไหม.. หมอต้องรักษาตามที่คนไข้บอกนะ คนไข้ต้องรักษาอย่างนั้นๆ นะ นี่ก็เหมือนกันเวลาปฏิบัติธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนั้น.. อย่างนั้น.. อย่างนั้นนะ.. อย่างที่เราปรารถนาไง มันไม่เป็นความจริง !

เวลาเราไปหาหมอ เราต้องให้หมอรักษาใช่ไหม ไม่ใช่เรารักษาตัวเราเองใช่ไหม ถ้าเรารักษาตัวเราเอง ทำไมเราไม่อยู่ที่บ้านล่ะ อยู่ที่บ้านก็รักษาตัวเองสิ มาโรงพยาบาลก็ให้หมอรักษาสิ นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนี่เอาความคิดของตัวหมดเลย บอกว่านี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ.. นี่พุทธพจน์นะ.. ศึกษามาแล้วนะ.. นี่พุทธพจน์นะ.. พุทธพจน์นี่กิเลสมันพาใช้

เงิน ! ถ้าคนมีคุณธรรมเอามาใช้ประโยชน์จะเป็นประโยชน์มาก.. เงิน ! ถ้าคนที่ใช้ไม่เป็น มันทำลายตัวมันเองหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน พุทธพจน์ ! พุทธพจน์ก็ถูกต้อง สาธุ.. นี่ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา.. เป็นศาสดาของเราแต่ไม่ใช่เรา ! แต่เวลาผู้ที่ปฏิบัติธรรมนะ

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” นี่ธรรมเป็นเรา เราเป็นธรรมอันเดียวกันนะ !

ถ้าใจเราไม่เป็นธรรม.. ใจเราไม่เป็นธรรม ! ใจเราเป็นอวิชชา แต่ธรรมนี้ธรรมจำมาจากข้างนอก.. นี่ฟังธรรมๆ ก็เพราะเหตุนี้ไง ฟังธรรมเพื่อเตือนตัวเราไง เห็นไหม สดๆ ร้อนๆ นะ ธรรมะเป็นของสดๆ ร้อนๆ แต่ฟังทุกวัน ปฏิบัติทุกวันจนชินชาหน้าด้าน ถ้ามันชินชาหน้ามันก็ด้านไปด้วย พอหน้ามันด้านมันก็ไม่มีสติ แต่ถ้ามันไม่หน้าด้านนะ มันมีความละอาย ผิวมันบาง สิ่งใดสะกิดใจมันจะสะเทือนใจ ถ้ามันสะเทือนใจของเรานะ สิ่งนั้นไม่ควรทำ

เวลาเราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการสอนเราด้วย แล้วท่านทำเป็นตัวอย่างให้เราดูด้วย.. ดูสิ ดูการกระทำสิ ถ้าจิตใจมันมีกิเลสของมัน มันมีตัณหาความทะยานอยากของมัน เห็นไหม มันมีผลประโยชน์ทับซ้อน.. เวลาแสดงธรรมนี่แสดงธรรมพระพุทธเจ้านะ พวกนี่ทำบุญๆ นะ แต่ไอ้คนพูดมันไม่เคยทำของมันนะ มันเอาแต่ผลประโยชน์ของมัน เห็นไหม นี่ผลประโยชน์ทับซ้อน

นี่ไงเวลาทางโลกเขาว่า พระเขาสอนให้ทำบุญๆ เพราะพระเป็นคนได้.. จิตใจที่เป็นธรรมนะ สิ่งนั้นมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าปัจจัยอันนี้ เพื่อให้ผู้อื่นเขาได้ประโยชน์ นี่ยินดีเสียสละเพื่อให้ผู้อื่นเขาได้ประโยชน์ เพราะจิตใจที่เป็นสาธารณะ นี่เขามองถึงความเป็นสาธารณะ ความเป็นประโยชน์ของสาธารณะ เขาไม่เห็นประโยชน์ของตน

นี่พูดถึงจิตใจที่เป็นสาธารณะนะ.. แต่เวลาที่ปฏิบัตินี่ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

สติก็เกิดกับเรา สมาธิก็เกิดกับเรา ถ้ามันเกิดปัญญา โลกุตตรปัญญาก็เกิดกับเรา คนที่เกิดโลกุตตรปัญญา ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนา.. แต่ในปัจจุบันนี้ปัญญาเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การจินตนาการมา แล้วก็ว่าสิ่งนั้นเป็นปัญญาของเรา.. เป็นปัญญาของเรา

เราว่าเป็นปัญญาของเราเพราะมีเรา.. เพราะมีเราถึงมีกิเลส เพราะมีเราถึงมีตัวตน เพราะมีเราถึงมีอวิชชา แต่ถ้ามันเป็นสมาธินะเราไม่มี เพราะมันหยุดตัวเราได้มันถึงเป็นสัจธรรม สัจธรรมก็คือจิตมันเป็นจิต แต่ตอนนี้จิตมันเป็นเรา เพราะมันมีเราขึ้นมา เห็นไหม เวลาปัญญาเกิดขึ้นมาก็ปัญญาของเรา มันถึงไม่เป็นความจริง

นี่พูดถึงว่าพุทธพจน์ๆ แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ.. เป็นธรรมมันเกิดขึ้นมาจากตัวโลกุตตรธรรม โลกุตตรปัญญา เห็นไหม นี่โลกียปัญญา โลกียปัญญาคือว่าปัญญาเกิดจากตัวตน ปัญญาเกิดจากเรา ปัญญาเกิดจากภพ.. ความคิดเกิดจากไหน ความรู้สึกเกิดจากไหน ความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นมานี้เกิดจากจิต คนตายไม่มีความรู้สึก คนตายเผาไฟขนาดไหนมันก็ไม่ร้อง เราเดินเฉียดไปที่ความร้อนหน่อยเราก็วิ่งหนีแล้ว

“นี่ความรู้สึกมันเกิดจากไหน.. ความรู้สึกเกิดจากจิต !”

“ความคิดทั้งหมดเกิดจากไหน ความคิดทั้งหมดเกิดจากจิต !”

จิตมันเป็นอะไร ! จิตมันเป็นอวิชชา.. พอเป็นอวิชชา สิ่งที่ศึกษามานี่ศึกษามาของใคร.. นี่ฟังธรรม ฟังธรรมเพราะเตือน นี่ไง เวลาไปหาหมอนี่ไม่ยอมฟังว่าหมอบอกว่าเราเป็นโรคร้าย นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกถึงกิเลสของเรานี่ไม่ยอมฟังว่าไม่ใช่กิเลสของเรา.. มันว่างๆ มันมีความสุข.. ไม่ใช่กิเลสของเรา !

เพราะว่าไม่ใช่กิเลสของเรา นี่กิเลสมันถึงขี่หัวไง แต่ถ้าเราเห็นว่าเป็นกิเลสของเรา เรารื้อค้นของเรา เราพยายามปฏิบัติของเรานะ เวลามันสงบไปเราก็ต้องรู้ เห็นไหม สิ่งที่ว่าจิตมันสงบ มันก็ต้องรู้ว่ามันสงบ เวลามันเกิดปัญญา ปัญญาที่มันแยกแยะ นี่ปัญญาอย่างนี้ปัญญามันเตือนเรานะ ภาวนามยปัญญา นี่ปัญญาที่เกิดให้เราช็อกไปหมด ข้างในนี่มันจะช็อกไปหมดเลย อื้อฮือ ! มันเป็นอย่างนี้เหรอ.. มันเป็นอย่างนี้เหรอ..

แต่ในปัจจุบันนี้ปัญญามันเกิดนี่มันเป็นปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม นี่ศาสดา.. ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ถ้าเห็นตถาคตนะ ถ้าใจเป็นธรรมล่ะ.. เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ เห็นไหม

“ผู้ที่อยู่ถึงภาคตะวันตก เขาปฏิบัติเหมือนเรา เขาทำตามเรา สิ่งนั้นเหมือนอยู่ใกล้เรา..” จับชายจีวรเราไว้เลย กอดพระไตรปิฎกไว้เลย อุ้มไปไหนด้วย แล้วมันซาบซึ้งใจไหม ให้ต้มกินด้วย...

หลวงตาบอกว่าปลวกมันกินหมดนะ นี่ปลวกมันแทะกินเลย มันแทะกินพระไตรปิฎกเข้าไปเลย.. ปลวกมันก็คือปลวกนะ เพราะว่าสิ่งนี้มันเป็นการสื่อความหมาย มันไม่ใช่ความจริง ความจริงเกิดจากการกระทำ

นี่ฟังธรรม.. ถ้ามันสดๆ ร้อนๆ เห็นไหม ธรรมะนี้ “อกาลิโก” ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เขาบอกว่าเวลานั้น เวลานั้นผ่านไปแล้ว ธรรมะจะหมดกาลหมดสมัย.. อันนั้นเป็นเรื่องเขาพูด ถ้าหมดกาลหมดสมัยพวกเราต้องไม่ทุกข์ เพราะว่าธรรมะนี่ “ธรรมะโอสถ เป็นยาแก้ทุกข์”

ทุกคนเกิดมานะทุกข์ทั้งนั้นล่ะ ทุกข์ที่ไหน ทุกข์ที่ “ชาติปิ ทุกขา.. การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ในเมื่อมีการเกิด มีสถานะขึ้นมาแล้ว ชีวิตของเราเวลาเกิดขึ้นมาแล้วนี่ลุ่มๆ ดอนๆ นะ สิ่งที่เราคาดเราหมายต่างๆ มันลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งนั้นล่ะ แต่ถ้าเรามีสตินะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราเกิดมาชีวิตเรานี่ ๑๐๐ ปี ถ้า ๗ ปีนี่เราสามารถของเรา เรามีสติปัญญาของเรา เราฝืนทนเอา

ดูสิ เวลาเราบวชมา พวกพระเราบวชมานี่เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง.. ๗ ปีเราบิณฑบาต ที่ไหนมันก็อยู่ได้ ที่ไหนก็กระทำได้ ถ้าเราหวังผล เราหวังการพ้นจากทุกข์ เราเห็นว่าเราเกิดมาแล้วเราทุกข์เรายาก แต่ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติของเรา เราหวังแต่ความสุขสบาย ความสุขสบายนี่ส่งออก.. ส่งออกเพราะอะไร เพราะวิทยาศาสตร์ไง ในเมื่อคนเกิดมาต้องมีอาหาร ในเมื่อคนเกิดมาต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย นี่มันเป็นการดำรงชีวิต

ใช่ ! มันดำรงชีวิต แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม “โลก เขากินเพื่อกาม เพื่อเกียรติ เพื่อศักดิ์ศรี เพื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเขา.. เราเป็นนักบวช เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เรากินเพื่อดำรงชีวิต ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่บำรุงกาม ไม่บำรุงสิ่งต่างๆ”

ฉะนั้นสิ่งใดนี่ “ปฏิสังขาโย” พระก่อนฉันอาหาร ถ้าไม่ปฏิสังขาโย ไม่พิจารณาก่อนใช้ ไม่พิจารณาก่อนฉัน เป็นอาบัติทุกกฎหมดเลย เห็นไหม เวลาก่อนฉัน ก่อนต่างๆ นี่เราฉันเพื่อดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไว้ทำไม ดำรงชีวิตไว้นะ เพราะถ้าไม่ดำรงชีวิตไว้นะชีวิตมันต้องสิ้นไป สิ้นไปด้วยความโง่ ! แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่มันจะมีปัญญาขึ้นมา ดำรงชีวิตไว้เพื่อจะเอาปัญญาขึ้นมาแยกแยะไง แยกแยะว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก

ปัญญาของโลก.. ปัญญาของโลกมันเป็นวิชาชีพ หาอาหารมาเพื่อดำรงชีวิต หาปัจจัย ๔ โลกหาไม่เกินปัจจัย ๔ ! เงินทองข้าวของมาก็เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยทั้งนั้น ! แต่ถ้าใจมันเป็นธรรม มันเป็นธรรมมาจากไหนล่ะ เห็นไหม เป็นธรรมมันมาจากศีลธรรม จริยธรรม

“ศีลธรรม.. จริยธรรม.. ประเพณีวัฒนธรรม”

เรามาทำบุญกุศลกันนี้ตามประเพณี ตามวัฒนธรรม แต่จากประเพณีวัฒนธรรมนี้ เราจะชำแรกเข้าไปสู่เนื้อหาสาระ.. เนื้อหาสาระคือความรับรู้สึกอันนั้นล่ะ รู้สึกว่าเราเสียสละแล้วเราพอใจไหม เราเสียสละแล้วเราอิ่มใจไหม เราเสียสละแล้วเรามีความภูมิใจไหม ไม่ใช่เสียสละกลับไปแล้วไปบ้านไปนั่งวิตกวิจารว่ามันจะได้หรือไม่ได้ มันจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงตามนั้น ทำบุญมหาศาลเลยทำไมมันทุกข์ขนาดนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรานะ เวลาพระโดนโลกธรรมรุนแรงมาก เวลาไปรำพึงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ภิกษุทั้งหลาย.. ถ้าเธอโดนโลกธรรม ความติฉินนินทา การว่าร้าย มีลาภเสื่อมลาภ เธอจงดูเราเป็นแบบอย่าง เราตถาคต จะเป็นผู้โดนโลกธรรมที่กระทบรุนแรงที่สุด !”

ในโลกธรรม ๘ ไม่มีใครโดนกระทบเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ผู้เผยแผ่ศาสนาพุทธ แล้วในสมัยพุทธกาล มันมีศาสนา มีลัทธิต่างๆ เต็มไปหมด เห็นไหม การเผยแผ่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ก็ต้องโดนแรงกระทบกระเทือนเป็นธรรมดา !

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ถ้าเราโดนโลกธรรมที่เสียดสีรุนแรง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนไว้บอกไว้อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าเราโดนโลกธรรมกระทบกระเทือนรุนแรงขนาดไหน ให้เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ท่านปรารถนา ท่านประพฤติตนเหมือนกับช้างศึก ช้างศึกเวลาลงเข้าไปในสงครามแล้ว จะไม่กลัวคมธนู คมหอก คมดาบของใครทั้งสิ้น.. ช้างมันไม่มีหอกไม่มีธนูนะ คนมันมีหอกมีธนู มันทิ่มมันแทงนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดนมาขนาดนั้น แล้วเราทำไมจะไม่โดน

ฉะนั้นบอกว่าเราทำแล้วมันจะมีความทุกข์.. ไอ้ความทุกข์อย่างนี้ ดูสิ เวลาหิวกระหายมันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง เราจะกินอิ่มหนำสำราญอยู่ตลอดเวลามันเป็นไปไม่ได้หรอก เรากินอาหารวันละ ๓ มื้อ ๔ มื้อ เห็นไหม เวลาหิวเราก็กินอาหารเพื่อประทังความหิวไป ก็แก้ทุกข์ไปวันๆ เท่านั้นล่ะ

ฉะนั้นทุกข์มันมีอยู่โดยดั้งเดิม เพียงแต่ว่าคนให้ค่ามันมากหรือให้ค่ามันน้อยไง ถ้าคนให้ค่าว่าอันนี้ทุกข์มาก ทุกข์มากนะ ทุกข์มันจะเพิ่มเป็น ๓ เท่า ๔ เท่า แต่ถ้าเราบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของธาตุขันธ์ เป็นเรื่องการดำรงชีวิตนะ ทุกข์นั้นเบาบาง ทุกข์นั้นเราจะอยู่กับมันได้ นี่ทุกข์เพราะมีการเกิด ! “ชาติปิ ทุกขา คือทุกข์เพราะการเกิด”

นี่ฟังธรรม เห็นไหม เราทำทานของเราแล้ว ขบวนการของมันสิ้นสุดลงแล้ว ทานนั้นคือบุญกุศลของเรา เป็นอามิส แต่ถ้าเราเกิดปัญญาของเราขึ้นมา นี่เราจะคัดหางเสือ.. หางเสือคือความคิด ความรับรู้สึกของเรา เข้าสู่หัวใจของเรา เข้าสู่สัจธรรมนะ ไม่ใช่เข้าสู่ใครเลย เข้าสู่ปฏิสนธิจิตนี่ล่ะ ลบล้างการไม่รู้ของมันเพื่อไม่ให้มันไปเกิดอีกไง ถ้าไม่รับรู้สิ่งนั้นมันจะมืดบอด แล้วจะเกิดจะตายต่อไปเรื่อยๆ

พุทธศาสนาสอนถึงที่สุดแห่งทุกข์.. ที่สุดแห่งทุกข์มันอยู่ที่ไหน.. อยู่ที่การเกิดและการตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วนะ ดำรงชีวิตอีก ๔๕ ปี เทศนาว่าการมาตลอด เห็นไหม นี่กิเลสตายแล้วนะแต่ยังมีชีวิตอยู่ ครูบาอาจารย์ของเรานะ กิเลสมันตายจากหัวใจไปแล้วนะ แต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เพื่อดำรงชีวิตเป็นแบบอย่างกับเรา

เรามีครูมีอาจารย์นะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เราจะเป็นตาบอดคลำช้าง เราเป็นคนตาบอด แล้วงุ่มง่าม แล้วควานหาทางออกกัน แต่ในปัจจุบันนี้มีครูบาอาจารย์เดินนำหน้าเราอยู่ ถ้าเรามีความมุ่งมั่น มีการกระทำ เราจะมีทางออกได้ ถ้าเราไม่มีความมุ่งมั่น ต่อไปข้างหน้าเราจะเป็นคนตาบอดกัน แล้วหาทางออกกัน แล้วพยายามงุ่มง่ามไป

นี่คือโอกาส นี่คืออำนาจวาสนาของเรา เกิดมาพบครูบาอาจารย์ นี้มีคุณประโยชน์มาก ถ้าไม่มีคุณประโยชน์ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ท่านคอยเตือนเรา ท่านคอยบอกเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ แต่เราเห็นว่าเป็นการดุเป็นการด่า แต่ถ้าเราโตขึ้นมานะ นี่เหมือนลูกเลย พ่อแม่เอ็ดน่ารำคาญมาก แต่พอเป็นพ่อแม่คน มันก็เอ็ดเหมือนกันนั่นล่ะ เพราะด้วยความรัก เพราะด้วยความปรารถนา ให้ลูกของเราเป็นคนดี เอวัง