ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แก้จิตเสื่อม

๒๘ ม.ค. ๒๕๕๓

 

แก้จิตเสื่อม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

โยม : อย่างเวลาฟังประชุมอย่างนี้ มันก็จะง่วงจะหาว เราก็รู้นะ ก็พยายามเอาน้ำแข็งมากิน หายใจให้เต็มปอด เอ๊ะ ยังสัป(หงก)ลงไปได้ พอมานั่งสมาธิ มันก็คล้ายๆ กันเลย พอตอนกลางคืนก็เหมือนกัน นั่งๆๆ แล้วก็กึ๊ก แต่ก่อนพอกึ๊ก พอสัป(หงก)ปั๊บ ผมลุก ลุกแล้วก็เดินเลย เดินปั๊บก็สักประมาณ ๕ นาทีก็หาว ง่วงอยู่ มันก็หาย แต่เดี๋ยวนี้ลุกแล้วมันก็ไม่หาย

หลวงพ่อ : มันถึงคราวของมันน่ะ พอถึงคราวของมัน เวลาจิตมันตกร่องอย่างไร มันเป็นอย่างไรทีหนึ่ง มันจะเป็นอยู่ช่วงหนึ่ง เวลาพระธุดงค์ เหตุผลของการธุดงค์ ๑ มันคุ้นชินกับสถานที่ เราไปได้บรรยากาศใหม่ๆ เราจะตื่นตัวตลอดเวลา แต่พอคุ้นชินปั๊บ เห็นไหม พอคุ้นชินมันจะเป็นยังนี้ แต่นี้จิตเราปล่อยๆๆ ปล่อยถึงว่า ขณะที่ว่าเราสัป(หงก)มันอย่างนี้ มันประมาณว่า มันซับอารมณ์นี้แล้วไง

มันคุ้นชินกับอารมณ์นี้แล้วนะ แล้วมันอยู่กับอารมณ์อย่างนี้ พออยู่กับอารมณ์อย่างนี้ปั๊บ.. ถ้าเป็นพระปั๊บ.. มันก็มีการเปลี่ยนแปลง ไอ้ที่เหตุผลที่พวกเราธุดงค์กัน ไปอยู่กับเสือ อยู่กับช้าง ไปอยู่กับสิ่งที่กลัวๆ มันจะตื่นตัว

อย่างเช่น ไปอยู่กับผี อยู่เที่ยวในป่าช้านี่ มันจะกลัวผีมาก คนกลัวผี พอกลัวผี เพราะด้วยความกลัวนั่นไง จะตื่นตัว แบบว่าเหมือนกับเราไปเจอเหตุการณ์ เหมือนกับพวกทำผิดกฎหมาย เจอตำรวจ มันจะตื่นตัวมากเลย

การตื่นตัว มันจะฝึกเราไว้ตลอดเวลา พอตื่นตัวตลอดเวลา เราฝึกของเรา เราเห็นประโยชน์ของเรา เราเข้าใจของเรา เราจะไม่เห็นว่าสิ่งที่เราทำ ทางโลกเขาจะบอกว่าอัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเปล่า ทำต่างๆ นี่ แต่ในทางปฏิบัติ มันเป็นการฝึกสติ เป็นการฟื้นฟูให้จิตใจมันรื่นเริงตลอดเวลา

นี้พอปล่อยๆ ไป มันอย่างไร ดูนิสัยคนสิ เด็กมันติดแสงติดเสียง ติดต่างๆ เห็นไหม ติดคอมพิวเตอร์ ติดเกมเพราะอะไร เพราะมันไปเล่น แล้วมันย้ำคิดย้ำทำแล้วมันพอใจกับสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว เขาเห็นสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้ามันเป็นคุณ มันต้องมีโทษ ความเป็นโทษในนั้น มันก็มีคุณของมัน มันเป็นผลประโยชน์บางอย่าง มันมีประโยชน์บ้าง มันมีโทษบ้าง อะไรอย่างนี้ แล้วแต่เราจะเลือกอย่างไร

ย้อนกลับมาที่จิต พอจิตถ้าไม่ภาวนา มันก็จะไม่มีอารมณ์ ไม่มีความรู้สึก มันก็เหมือนปุถุชน แต่พอเราพัฒนาขึ้นมาแล้วระดับนี้ เห็นไหม เหมือนติดหุ้น ไปคาอยู่ แล้วจะทำอย่างไรให้มันผ่านอันนี้ขึ้นไป เล่นหุ้น เห็นไหม พอหุ้นราคาขึ้น เราก็ช้อนซื้อๆ แล้วหุ้นลง เราคาอยู่ติดมือเลย นี่พอจิตเราพัฒนาขึ้นมา พอพัฒนาขึ้นมา เราปฏิบัติจิตมันก็มีการพัฒนาขึ้นมา พอพัฒนาขึ้นมาปั๊บ.. พอดีจิตมันตก จิตต่างๆ เราจะเห็นโทษของมัน เราก็ เอ๊ะ.. ทำไมมันเป็นอย่างนี้ๆ

แต่ถ้าคนไม่ได้ปฏิบัติเลย อาการอย่างนี้ ทางโลกเขาถือว่าไม่เป็นไรเลยใช่ไหม อาการทางโลกเขาไม่ถือว่าอันนี้เป็นความผิดปกตินะ แต่เราปฏิบัติมา เราเห็นคุณประโยชน์ ใช่ไหม เราจะให้มากไปกว่านี้ใช่ไหม เพราะอย่างนี้พอมันติดอยู่อย่างนี้ปั๊บ เราจะพัฒนามันขึ้นไป แต่ความรองรับของมัน มันไม่พอ ถ้าไม่พอปั๊บ เราต้องกลับมาทบทวนไง กลับมาทบทวนว่าเราควรจะทำอย่างไง เราจะตื่นตัวได้มากขนาดไหน

แล้วการตื่นตัว พอตื่นตัวขึ้นมา ตื่นตัวนั้นคือสตินะ พอเตือนสติแล้ว ถ้าทำแล้ว มันจะมีแบบว่ามันจะสงบลง มันจะดีมากน้อยแค่ไหน แล้วถ้ามันแก้ไขได้ มันจะแก้ไข ทุกคนต้องแก้ไข ทุกคนต้องมีอุปสรรคหมด อุปสรรคของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน แล้ว อย่างเช่น ถ้ากรณีอย่างนี้ เวลาเขาติเตียนพวกปฏิบัติ ว่าพวกที่ปฏิบัติ มันควรจะไม่มีเหตุความขัดแย้งกัน

ทุกคนก็ปรารถนาดีไปทั้งหมด แล้วทำไมมีความกระทบกระเทือน ความขัดแย้งกัน เขาไม่คิดถึงว่าผู้ปฏิบัติผิด โดยปกติ จิตของคน พระพุทธเจ้า ดูหลวงตาท่านเปรียบเหมือนกับผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดเท้าเราเช็ดกี่หนๆ มันก็ไม่เห็นความเศร้าหมองของมันหรอก แต่ผ้าสะอาดบริสุทธิ์ พอไปเช็ดคนอื่นมันก็เห็นความสกปรก จิตเราพอพัฒนาขึ้นมาแล้ว จากผ้าเช็ดเท้ามาเป็นผ้าสะอาด พอผ้าสะอาดปั๊บ มันรับรู้กระทบแรงไง

นี่กระทบแรงในหมู่ที่ปฏิบัติ ไอ้คนเข้ามาใหม่ๆ หรือคนที่ปฏิบัติใหม่ ไอ้นั่นก็ไม่เป็นไร ไอ้นี่ก็ไม่เป็นไร มันวิสาสะ แต่ผู้ที่ปฏิบัติที่เป็นผ้าสะอาด ไปกระทบหนเดียว มันก็มีความรู้สึกแล้วไง ไอ้นี่มันเป็นพัฒนาการของจิต อันนี้เวลาเราขึ้นมาอย่างนี้ อย่างขึ้นมาแบบนี้แล้ว เราจะแก้อย่างไร มันก็อยู่ที่เราต้อง เหมือนคนไข้ คนไข้ถ้ามีความร่วมมือกับหมอ เห็นไหม หมอจะรักษาคนไข้นี้ได้ประโยชน์มากเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตของเรา จิตก็เหมือนคนไข้ วิธีการเหมือนหมอ ธรรมะไง ธรรมะ สติปัญญานี้เป็นธรรม หาความสมดุล ร่วมมือกัน เราจะไปมองแยกส่วนใดส่วนหนึ่ง เอ๊.. เอ๊.. ถ้า เอ๊.. ปั๊บ นี่มันเป็นเรื่องของกิเลสหมดละ เหมือนกับมันเป็นเรื่องกิเลสหมด คือว่ามันเห็นแต่โทษไง เห็นแต่ความไม่ดีไปหมดเลย เอ๊ะ! ปฏิบัติแล้วก็ไม่ดี

โอ้.. เขาปฏิบัติที่อื่นกันแล้ว เขาสะดวกสบายของเขา เขามีความร่มเย็นของเขา ไอ้เราปฏิบัติแล้วทำไมมันเครียดมันอะไร มันจะเครียดมันจะไม่เครียด ก็อยู่ที่ความร่วมมือกัน ระหว่างธรรมะกับกิเลสในหัวใจ กับผู้ป่วยเรา ร่วมมือกัน รักษากัน ดูแลกัน

โยม : คือ ๔ เดือนที่แล้ว ผมมาแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว ตอนนั้นดีมากเลย แต่อยู่ที่บ้าน มีเวลาแค่ชั่วโมงหนึ่ง นั่งวันละชั่วโมง แต่มันก็ค่อยๆ ไต่มา ๒-๓ ชั่วโมงก็ทน คือมันก็ไปได้เรื่อยๆ จิตมันก็ดี แต่คราวนี้พอเริ่มปีใหม่มา กลับไปอยู่ที่เดิม เราก็นึกว่า เออ นอนเพิ่มสัก ๑ ชั่วโมงก็น่าจะ stable อยู่ตรงนั้น ใจนี่ตอนนี้กะว่ามันไม่ได้เลย

หลวงพ่อ : ประสาเราเลยนะ ถ้าอย่างนี้แล้ว มันเป็นอย่างนี้แล้ว ในการปฏิบัติเห็นไหม ในการปฏิบัติของเรา ในการทำงานของเรา งานเลี้ยงต้องมีเลิกรา ในคราวนี้ไม่ใช่พูดให้น้อยใจนะ ไม่ใช่พูดให้ท้อใจ งานเลี้ยงต้องมีเลิกรา การแข่งขันกีฬา มันมีเวลาที่จบเกมส์นั้นได้ การปฏิบัติของเรา มันมีเจริญแล้วเสื่อม เวลาเจริญก็ดีใจ เวลาเสื่อมก็เสียใจ

กาลเวลาเห็นไหม การแข่งขัน งานเลี้ยงก็มีเลิกรา เกมกีฬานั้นหมดเวลาแล้ว มันก็หมดการแข่งขัน แต่มันก็ต้องมีเกมใหม่ๆ เรื่อยไป เราก็เริ่มต้นของเราใหม่เรื่อยไป ไอ้ที่ผ่านมาแล้วก็คือผ่านไป พอเราไปฝังใจไง ไปฝังใจ ไปฝังใจกับสิ่งที่มีมาแล้ว มันก็เป็นอดีตไปแล้ว แต่พอกลับมาไปปฏิบัติใหม่ มันเสื่อมไปก็เสื่อมไป ก็กลับมาใหม่

กลับมาก็กลับมาพุทโธใหม่ ตั้งสติใหม่ มันก็อันเดิมนั่นแหละ อันเดิมนั้นแหละคือว่าสิ่งที่มันได้ผ่านมาแล้ว มันก็เป็นประสบการณ์ของใจ มันเป็นเครื่องยืนยันว่าจิตเราเคยพัฒนาระดับนั้นๆ ถ้ามันมาในทางปฏิบัตินี่ ทิ้งเลยไง คือเวลาปฏิบัติแล้ว ปล่อยหมด ผลที่เคยได้ ผลที่เคยเสพ สิ่งที่ดีก็วางไว้ ปัจจุบัน ได้ก็คือปัจจุบัน ไม่ได้ก็คือปัจจุบัน

พอทำแค่นี้ปั๊บ ความกังวลอันนั้นน่ะ ความกดดันมันจะไม่มี ถ้าไม่มีความกดดันแล้ว ปฏิบัติไปมันก็มีจิตใต้สำนึกมันมีเป้าหมายอยู่แล้ว “จิตใต้สำนึกน่ะมีเป้าหมายอยู่แล้ว” ว่าเราอยากพ้นทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาเราอยากให้มันพ้นทุกข์ จิตใต้สำนึกอยากพ้นทุกข์ อันนี้คือสัญชาตญาณ แต่ขณะที่ปฏิบัติ อยากได้มรรคได้ผล อันนี้เป็นกิเลสในปัจจุบัน เห็นไหม

เราจะบอกว่าถ้าปัจจุบันเราไม่ต้องการอะไรเลยล่ะ จะไม่ได้อะไรเลย ไม่ใช่.. เพราะเราพูดอยู่อันหนึ่ง แบบที่ว่าตัดรากถอนโคน คนที่แบบว่า อะไรสักแต่ว่าทำ อะไรสักแต่ว่าทำ มันจะไม่ได้อะไรเลย แต่นี่เราไม่ได้ตัดรากถอนโคน เรามีเป้าหมายของเรา คือจิตใต้สำนึกอยู่แล้ว เพราะเราต้องการไป แต่ในปัจจุบัน กิเลส ปัจจุบันผลงานในปัจจุบัน ผลงานซึ่งหน้า มันทำไม่ได้ มันถึงต้องวางตรงนี้ไง นี่เห็นไหมตัณหาซ้อนตัณหา จิตใต้สำนึกมันมีอยู่แล้ว

แต่ปัจจุบันนี้เราก็ได้เราอยากทำอยากซ้อนขึ้นไปอีก นี่ความอยากปัจจุบัน เราต้องวาง พอวางเสร็จแล้ว จิตใต้สำนึกมันมี ความรู้สึกของเรามันมี กำหนดพุทโธๆ มันจะเข้าถึงอันนั้น เรื่องนี้บางทีก็บอกให้วาง บางทีก็บอกให้ตั้งใจ คนจะงงอยู่ แต่พอมันเพราะว่าถ้าอย่างนี้ปั๊บ พอออกมาแล้วปฏิบัติ มันเห็นผล พอเห็นผลแล้วคิดว่ามันกลับไปต้องเป็นอย่างนี้ กิเลสมันเอาตรงนี้มาหลอกเลย ทำไม่ได้อย่างนั้นปั๊บ เห็นไหม มีความขุ่นใจ

พอความขุ่นใจ เขาเรียกว่าอะไรนะ ไอ้ศูนย์น่ะ ฐานมันเคลื่อนละ พอฐานมันเคลื่อนน่ะ ศูนย์ ฐานมันเคลื่อนหมายถึงว่าไม่ได้ดั่งใจ ต้องควรให้ได้อย่างนั้น พอไม่ได้ดั่งใจปั๊บ ฐานมันเคลื่อน พอฐานมันเคลื่อนน่ะ ระดับทุกอย่างมันเรรวนหมดเลย พอเรรวน ทีนี้จับทิศทางไม่ถูกแล้ว ทิ้งหมดเลย ตั้งสติไว้ รักษาฐานให้ดี รักษาฐานให้ดี แล้วฐานมันเที่ยง ทุกอย่างมั่นคงหมด มึงจะได้ไม่ได้ช่างหัวมึงล่ะ

โยม : ตอนนี้นั่งได้สักแค่ ๒๐ นาทีเอง มันเหมือนไม่เอาละ ถ้านั่ง มันก็จะง่วง ก็จะสัป(หงก) ปกติผมไม่เคยเป็นอย่างนั้นเลย คือพอจะเริ่มทำละ มันก็ง่วง แสนจะง่วง แก้มันก็ไม่หาย

หลวงพ่อ : ไม่หาย เพราะอะไร เพราะไปแก้ที่ปลายเหตุ เพราะมันง่วงจะแก้ให้หายง่วง ใช่ไหม มันง่วง แล้วแก้ให้หายง่วง มันง่วง มันมาละ เห็นไหม มันง่วงมันมาจากไหน ฐานมันมี ความง่วงมันมีพื้นฐานของมันมา ผลของมันไง เหตุ มันมีเหตุมีปัจจัยมา แล้วมาถึงวิบากคือผล คือง่วง แล้วเราก็ไปสู้กันตรงที่ง่วง

แต่นี่ถ้าโดยหลักปฏิบัติ ถ้ามันง่วง เราก็รู้อยู่มันง่วง มันง่วงเพราะเหตุใด มันง่วงเพราะเหตุใดก็ต้องดูสิ ดูว่ามันง่วงเพราะเหตุใด เราต้องไปแก้ที่เหตุที่มันง่วงนั้นด้วย ถ้ามันง่วงปั๊บ อย่างถ้าหลักปัจจุบัน เพราะเป็นผลแล้ว “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” เหตุปัจจัยทำให้เกิดวิบากอันนี้

มันง่วง อ้าวลุกเดินก่อน ช่วงนี้ไม่ค่อยนั่ง เดินไปก่อน ลุกเดินก่อน เดินก่อนแล้วค่อยมานั่ง พอเดินก่อนแล้วมานั่ง พอนั่งมันมีปัญหาอะไร เราค่อยมาดูอย่างที่ว่า

มันต้องอย่างที่เราแก้ของเรามา เรามาแก้ด้วยการผ่อนอาหาร อย่างที่การผ่อนอาหาร อย่างเช่น ถ้าเราจะนั่งตอนเย็น ตอนเลิกงาน กลางวันเรากินแต่น้อยไปก่อนเลยล่ะ แล้วตอนเย็น เราไม่กินก่อนก็ได้ คำว่าไม่กินก่อน เราเพื่อพิสูจน์กันวัน ๒ วัน ถ้ามันเห็นเหตุเห็นผลนะ ถ้าไม่กินข้าวเลย ข้าวเย็นงดเลย แล้วดูสิว่า นั่งแล้วมันจะง่วงอีกไหม

ถ้ายังง่วงอีก แก้ยังไม่จบ ก็ดูไปเรื่อยๆ ต้องหาเหตุหาผลหาวิจัยหาวิธีการแก้มัน ไม่ใช่ไปแก้ที่ง่วง เราไปแก้ที่ง่วง มันง่วงมาแล้ว มันที่ปลายเหตุ นี่พอรู้ว่ามันง่วง เราเคยแก้ของเรา เราพอง่วงปั๊บ ที่ว่าตกภวังค์ๆ ตกภวังค์คือมันหายไปเลย พอหายไปเลย จะฟื้นฟูอย่างไร ตรึกอย่างไร เราหาเหตุหาผลของเรา สุดท้ายแล้วมาผ่อนอาหาร ผ่อนลดน้อยลง ลดน้อยลง พอลดน้อยลง ชีวิตมันอยู่ได้

ชีวิตมันอยู่ได้ รู้สึกว่าหิวไหม หิวอยู่ ความรู้สึกหิวกระหายมีบ้าง แต่! แต่ถ้าจิตมันทำได้ มันมีความภูมิใจ มันมีความรื่นเริง มันเหมือนกับผลที่มันได้รับ มันมากกว่า มันมากกว่ามันสุขใจมากกว่า มันมีผลตอบแทนที่มากกว่า ไอ้ที่ว่าหิวเล็กๆ น้อยๆ มันเลยมองไม่เป็นปัญหาเลย แล้วมันอยู่ได้ด้วยความชุ่มชื่นเลย ตัวเราเองนะ เคยทำอย่างนี้มา

โยม : ปกติ ข้าวเย็นผมก็ไม่ได้กิน

หลวงพ่อ : ไม่กินอยู่แล้วใช่ไหม อ้าวว่าไป

โยม : แต่ไม่รู้มันกิเลสหลอกหรือไง คือช่วงตอนนี้ที่มันง่วง แล้ววันนั้นขับรถกลับบ้าน มันรู้สึกว่าขามันสั่น ไม่มีแรง เราก็เอ๊ะ ทำไมทุกทีมันไม่เคยเป็น อย่างนั้นก็ต้องกิน (เออ.. กินไปไม่เป็นไร ) พอกินแล้วเออมันก็ดีขึ้น มันก็อย่างนี้ มันเหมือนหลอกกันไปหลอกกันมา เราจะหยุด เอ๊ะ มันก็เหมือนจะหมดแรงอีกแล้ว อะไรอย่างนี้ แล้วมันเหมือน พอดีอาจารย์ช่วงนี้ ง่วงก็มา ขาไม่มีแรงก็มา

หลวงพ่อ : ไม่ เราจะบอกว่านะ พอถึงจุดนี้ปั๊บ มันเป็นกิเลสของเรา มันตัดทอน ฟังให้ดีนะ “กิเลสในใจของเรานี่ มันจะอ้างเหตุอ้างผลมา” ฟังนะ

“หลวงตา ท่านผ่อนอาหารมาตลอด ตอนท่านออกปฏิบัติใหม่ๆ นะ แล้วท่านก็คำนวณแล้วไง ว่าเช้า กะจะเดินไปถึงที่บิณฑบาตได้ ไปถึงครึ่งทางเห็นไหม มันไปไม่ไหว เหนื่อย ขาสั่น ไปไม่ไหว ท่านนั่งลงพักเลย กิเลสมันหลอก ไหนว่าจะฆ่ากิเลส ตอนนี้มันจะตายแล้วนะ กิเลสมันจะตายแล้วนะ ไหนว่าฆ่ากิเลส เราจะตายก่อนกิเลสหรือเปล่า ปัญญามันตีกลับเลย อ้าว..ก็กินมาตั้งแต่เกิดจนป่านนี้ ถ้าอดอาหารเพื่อไปเร่งความเพียรน่ะ มันจะตายก็ให้มันตายดูสิ ขาสั่นหมดเลย ขาอ่อนหมดเลยนะ ลุกขึ้นไปได้”

เห็นไหม เวลาเราบอกว่ากิเลสมันเกิดก่อน หรือว่าธรรมมันเกิด กิเลสมันเกิด มันจะเกิดความคิดอย่างนี้เลย พอเกิดความคิดแบบนี้ เราจะฆ่ากิเลส เห็นไหม

“เราจะตายแล้วนะ เราจะตายแล้ว เราจะสู้ไม่ได้ละ ปัญญามันตีกลับ พอตีกลับขึ้นมา มันก็ฮึกเหิมขึ้นมา ฮึกเหิมขึ้นมาก็บิณฑบาตกลับได้ บิณฑบาตได้ กลับมาฉันข้าวได้” พอฉันข้าวไปปั๊บ ท่านบอกเหมือนม้าแข่งเลย มันดีดกลับมาเลย อันนั้นคือใช้ปัญญา

แต่เรา.. เราเวลามันเกิดกรณีอย่างนี้ กิเลสมันเกิด ท่านบอกว่ากิเลสมันเกิด กิเลสมันเกิดหมายถึงว่าขาสั่นเลย ไม่มีแรงเดินน่ะ ไอ้ที่กินน่ะถูก ทำได้หมดล่ะ นี่เพียงแต่เราต้องมีปัญญาคิดไง ปัญญาคิดถ้ามันกินไปแล้วมันก็ไม่มีปัญหา

แต่ถ้ามันผ่อนอย่างนี้แล้ว ถ้าไอ้ง่วงเหงาหาวนอน มันยังไม่หายใช่ไหม ถ้าไม่หาย เราก็ต้องหาเหตุผลอื่น หาเหตุผลด้วยปัญญาของเราด้วย ไอ้ขาสั่นขาไม่สั่นนี่นะ

เพราะโยมถือศีล ๘ คำว่าถือศีล ๘ เราตอนนี้ซื้อพวกน้ำ เห็นไหม เราเก็บไว้เลย ถ้านั้นปั๊บ กลูโคสมันมี เราป้องกันได้หมด ถ้าป้องกันอย่างนี้ นี่เราพูดดักหน้าไว้เลย ถ้าป้องกันอย่างนี้ปั๊บนะ เดี๋ยวมันก็หาอุบายอื่นมาหลอกอีก อ้าว..เพราะไม่ได้กินข้าวเย็นใช่ไหม เพราะเราไม่ได้กินข้าวเย็นใช่ไหม ดูสิ ร่างกายไม่มี ขาดสารอาหารไม่มีแรงเลย เอากลูโคสกูมีกูดื่มเลย เหมือนกับคนเป็นเบาหวาน ต้องมีน้ำตาลตลอดเวลา

ถ้าเรามีปัญญาแก้อย่างนี้ปั๊บนะ มันก็มีเรื่องอื่นมาหลอกอีก เพราะการภาวนาคือการเอาชนะตนเอง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ความคิดทั้งหลายมาแต่ภพ ภพนี้มันมาเกิด ภพนี้คือภวาสวะ ภพนี้คือมาจากอวิชชา อวิชชาคือพญามาร มันอยู่กับจิตเราอยู่แล้ว เรารู้เท่าไร มันรู้ก่อนเราอีก เพราะเราศึกษามา เราศึกษามาเพื่อไปเป็นสัญญา เพื่อเป็นความจำของเรา มันเพราะข้อมูลต้องกลับไปอยู่ที่มัน มันรู้ก่อนเราอีก แล้วมันจะหลอกเราตลอดไป

นี่กรณีอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา ประสาเราเรียกว่า ถ้าให้เราพูดนะ มันเป็นวาระที่ดีนะ ภูมิใจมาก แล้วพอมันเป็นวาระที่มันตก พอเป็นวาระตกปั๊บ กิเลสมันกระทืบซ้ำเลย พอกระทืบซ้ำก็น้อยใจ ถ้าเราใช้สติ อย่าท้อถอย ถ้าท้อถอยนะ มันกระทืบเสร็จแล้วนะ มันจะบอกเลยว่า “ไอ้จิตดวงนี้นะ โง่ฉิบหายเลยนะ อยู่ในอำนาจกู” ไม่ท้อถอย เราสู้เลย พอเราแก้วิกฤตนี้ผ่านไปแล้วนะ

ครูบาอาจารย์ท่านผ่านวิกฤตอย่างนี้เป็นชั้นๆ ขึ้นมา การปฏิบัติ เดี๋ยวธรรมะเจริญ เดี๋ยวกิเลสเจริญ ผลัดกันไปผลัดกันมาอยู่อย่างนี้ หลวงตาพูดประจำเลยในเทศน์หลวงตา บอกว่า “จิตนี้เหมือนเก้าอี้ดนตรี ถ้าธรรมะนั่งเต็มก้นนะ โอ้โฮ.. สุขมากเลย ถ้ากิเลสนั่งเต็มก้นนะ มันเสื่อมหมดเลยนะ ทุกข์ฉิบหายเลย” มันเป็นเหมือนเก้าอี้ดนตรี กิเลสนั่งหรือธรรมนั่ง วันที่ปฏิบัติแล้วดีขึ้นมานี่ ธรรมะนั่งเต็มก้นเลย มีความสุขมาก

แล้วพอมีความสุขมาก รักษาไว้ไม่ได้ พอรักษาไว้ไม่ได้ ตอนนี้พอเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่างนี้ เราก็เหตุนี้เราจะรักษาไว้ แต่ตามธรรมเลย กิเลสมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะเราต้องสร้างขึ้นมา สติปัญญาเราต้องสร้างขึ้นมา เราต้องพยายามหาขึ้นมา เพื่อจะต่อสู้กับมัน แต่ถ้าพอเราอ่อนแอ กิเลสมันจะเบ่งบานขึ้นมาเลย แล้วเวลาเราสู้กับมัน เวลาเราต่อสู้กับมัน กิเลสอยู่ใต้พรม มันก็หดตัวเฉยๆ

“การฆ่ากิเลสนี่ถึงแสนยาก” เพราะธรรมะต้องสร้างใช่ไหม “สติก็ต้องฝึก ปัญญาก็ต้องฝึก ทุกอย่างต้องฝึกหมดเลย” แต่กิเลสไม่ต้องฝึก มันมีอยู่แล้ว แล้วพอเราสร้างขึ้นมา พอเราปฏิบัติขึ้นมา พอธรรมะขึ้นมา ธรรมะขึ้นมาเห็นไหม นั่งเต็มก้นมีความสุขมากเลย กิเลสมันจะอับเฉามากเลย มันเก็บข้อมูลไว้หมดเลย มึงอย่าเสื่อมนะ ถ้าวันไหนธรรมะมึงเสื่อมนะ กูกระทืบตายเลย

มันเป็นอย่างนี้ เวลาปฏิบัติมันถึงคอตกไง เราถึงมีครูบาอาจารย์คอยปลุกเร้า คอยให้กำลังใจ คอยส่งเสริมไง กิเลสไม่ต้องให้ใครมาปลุกเร้ามัน ไม่ต้องเสริม ไปเห็นภาพสิ เห็นสังคมเขาสิ อยากแล้ว ออกไปสังคมใช้ชีวิตประจำวันอย่างเขา ไปแล้ว ไปหมดเลย แต่กว่าจะงดมัน จะละมัน จะเลิกมัน อู้หูย.. ยากเย็นแสนเข็ญ

โยม : คือ ตอนนี้นั่งมันคล้ายๆ กับว่า เหมือนคนเป็นไข้แล้วมันครั่นเนื้อครั่นตัว มันจะรู้สึกว่า แหม.. มันกระสับกระส่าย ตอนนี้มันเหมือนครั่นอยู่ที่จิต มันเหมือนพลิ้วลึกๆ อยู่ข้างใน

หลวงพ่อ : กำหนดดีๆ กำหนดดีๆ ถ้ามันประสาเราถ้าอย่างนี้นะ มันเหมือนกับเราไล่เขาเข้าไปสู่ หลวงตาบอกว่า “เวลาพุทโธๆๆ เราใช้ปัญญาเข้าไป เราจะต้อนกิเลสเข้ามุม ถ้าต้อนกิเลสเข้ามุม มันจะต่อต้าน” เวลาท่านบอก ทุกข์นะ คนเรานี่นะ เวลาทุกข์นะ ต้อนกิเลสเข้ามุม มันจนตรอกจนมุม มันจะเกิดปัญญาขึ้น การที่เรามันพลิ้ว มันอยู่ในใจ

คือ ธรรมดานะเด็กเกิดใหม่หรือเด็กเข้าอนุบาล มันเรียนหนังสือมันก็ว่างานหนักของมันนะ เด็กขนาดประถม มัธยม อุดมศึกษาต่างๆ เขาเรียนของเขา เขาว่าหนักทุกคนน่ะ ทุกคนเวลาเรียนน่ะบอกว่าเรียนหนักทุกคนน่ะ แต่เมื่อหนักของใคร นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไม่ได้เลยน่ะ เราก็ว่าหนักของเรา

แต่ถ้าเราปฏิบัติมาได้เหตุได้ผล มันก็หนักของมีเหตุมีผล อย่างเช่นมันพลิ้ว มันมีอะไรขุ่นข้องหมองใจ มันท่องพุทโธๆ นั่นล่ะ มันต้อนเข้ามุม

แล้วมันจะมีอาการของมัน ถ้ามีอาการของมันน่ะ เราก็ใช้ความสุขุมรอบคอบ พุทโธๆๆ ให้ออก ดูสิว่ามันจะลงได้ไม่ได้ แล้วถ้ามันลงได้หรือไม่ได้ ถ้าจิตมันสงบแล้ว อย่างที่มันสงบๆ มา ได้ใช้ออกปัญญาบ้างไหม เวลาจิตสงบได้ออกใช้ปัญญาบ้างไหม นั่นล่ะ การออกใช้ปัญญาอย่างนั้น มันเป็นการฝึก ปัญญาใช้ได้ทุกขั้นตอน แต่มันเป็นโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญาก็ช่างหัวมัน นี่คือการฝึกฝน

แล้วการใช้ปัญญาถ้ามีฐานของกิเลสรองรับ มันจะรู้เลยว่าพิจารณาแล้วมันปล่อยวาง มันจะมีความสุขแค่ไหน ถ้าฐานของสมาธิรองรับ ถ้าปัญญามันพิจารณาไปแล้ว มันไม่ปล่อยวาง แสดงว่าสมาธิมันอ่อนเกินไป เราก็วางไว้แล้วกลับมาพุทโธ มันก็อยู่ที่ประสบการณ์ที่ทำอยู่นี้ ถ้ามีประสบการณ์ทางนี้ เราจะรู้เลย เหมือนเรารักษาคนไข้นี่แหละ มีประสบการณ์มากขึ้น ทำมากขึ้น มันจะชำนาญมากขึ้น

จิตก็เหมือนกัน ทีนี้พอมันพุทโธๆ มันเหมือนการครั่นเนื้อครั่นตัว ถ้าไม่บอกว่ามันมีการจนมุมในหัวใจนะ เราจะบอกว่าบวกเลย เพราะตอนที่เราอดอาหารประจำ มันเหมือนกับคนฟื้นจากไข้ เราอดอาหารเป็นปีๆ นะ อดอาหารไปต่อเนื่องนะ มันเหมือนคนป่วยหายจากป่วย ความรู้สึกเหมือนคนหายจากป่วยตลอดเวลา คือมันเบา ปกติ เราปกติก็อย่างนี้ใช่ไหม แต่คนหายป่วย มันโล่งๆ โหวงๆ เราอดอาหารอยู่ มันมีอาการอย่างนั้นตลอดเวลา

เวลาหลวงตาท่านบอกว่า “ธาตุขันธ์ทับจิต” มันซึ้งมาก ธาตุไง ธาตุคือธาตุ ๔ พลังงานที่เรากินเข้าไป มันไม่มีกำลังพอที่จะทับจิตเราได้ พอพลังงานนี้มันไม่ทับจิตเราได้ ความรู้สึกของเราเลยแบบว่าเบา เบาเหมือนคนฟื้นไข้ คนฟื้นไข้มา โอ้โฮ.. ต้องบำรุง ต้องบำรุงเยอะๆ แต่เราอดอาหารจนเป็นอย่างนั้น ทีนี้ไอ้ที่บอกว่าโล่งๆ โหวงๆ นี่นะ มันเป็นอาการของกาย ของธาตุเบา แต่ถ้ามันมีอะไรขุ่นข้องหมองใจ มันขุ่นข้องหมองใจ อันนั้นเป็นนามธรรม

โยม : มันไม่ใช่เบาอย่างนั้น ถ้าเบาอย่างนั้นก็สบาย

หลวงพ่อ : ใช่อะสิ

โยม : ยังไงล่ะ อย่างสมมุติ มันคล้ายๆ ว่าเหมือนมีลางสังหรณ์ว่ามันจะไม่ดีอะไรสักอย่าง มันสั่นอยู่ข้างใน วิตกกลัวอะไร เราก็หา มันมีอะไรอยู่ข้างในหรือเปล่า ไปติดอะไรบ้างไหม อะไรอย่างนี้

หลวงพ่อ : ไล่เข้าไปเลย เราอดอาหารบ่อยๆ นะ เราอดอาหารบ่อยๆ พออดอาหารบ่อยๆ ปั๊บ มันตีกลับเลย “มึงต้องตาย มึงตายแน่นอน” เพราะทีแรกเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไม่สน เราก็สู้ตลอดเวลา สุดท้ายมันบอกว่า “มึงต้องตาย” โฮ.. ใจแป้ว..เหมือนกันนะ “มึงตายแล้วล่ะ พอมึงตาย” มันถามเลย “แล้วถ้ามึงตายน่ะ มึงรู้ได้ไงว่าใครจะตายล่ะ”

คนเจ็บไข้ได้ป่วยที่เขาไปหาหมอ ถ้าเขาไปหาหมอ ถ้าเขาบอกอาการป่วยคนละอย่าง หมอเขาไม่มีสมุฏฐาน เขาจะตรวจเอ็งได้ไหม ฉะนั้นคนป่วย เป็นคนรู้ก่อน ต้องบอกหมอ หมอถึงจะรู้ได้ แล้วหมอถึงรักษาไปตามอาการที่คนป่วยนั้นบอก แล้วเราเป็นคนป่วย เราก็รู้อยู่ว่าเรามีกำลังหรือไม่มีกำลัง

แล้วคำว่าตายใกล้ตาย “อะไรมันจะตาย ถ้าไม่มีอะไรตาย ใครจะตาย อะไรจะตาย ขอดูหน้าอะไรจะตายก่อน” ใส่เลย ทีแรกก็ โฮ.. มันถอดใจหมดเลยนะ กลัวมันจะตายจะเป็นน่ะ “อะไรตาย อะไรตายก่อน ใครตายขอดูหน้าความตาย ความตายเป็นยังไง” เท่านั้นน่ะ มันไม่มีอะไรอ้างไง ปั๊บ.. หายหมดเลย แล้วยังอดอาหารได้ต่ออีกหลายวัน

แต่ถ้าวันนั้นมันท้อถอยนะ พอบอก จะตายๆ อู้ฮู.. คำว่าท้อถอยถ้ามันแพ้แล้ว มันจะมีเหตุผลรองรับ เหมือนคดีอาญา ถ้าเราแพ้คดีอาญาปั๊บ มันจะมีคดีแพ่ง คดีอื่นตามมาเป็นกระบวนการเลย ถ้าเรายอมแพ้ว่าเราเลิกละ ไม่ไหวละ เดี๋ยวจะตายต้องไปกินข้าวหน่อยนะ เรายอมรับอันนี้แล้วนะ กิเลสมันกระทืบซ้ำๆๆๆ ไปเลย เห็นไหม แต่พอเราไม่ยอม เราสู้ต่อ แล้วใช้ปัญญาไล่เข้าไป จนมันมีเหตุผลที่เหนือกว่า

พอเหนือกว่าปั๊บ อ้าว.. ไหนว่าจะตาย พอมันไม่ตายแล้ว ทำไมคนจะตายยังอดอาหารต่อได้ตั้งหลายวันล่ะ เราชนะ เหตุการณ์อย่างนี้ เวลาเราเป็นอย่างนี้ เราเป็นในขณะที่เราปฏิบัตินะ ตอนอยู่บ้านตาด อดอาหารๆ ยาวเลย แต่อด ๕ วัน ๖ วัน มาฉัน ๒ วัน ๓ วัน ก็อด ๒ วัน ๓ วัน ฉัน คืออดต่อเนื่อง ๔ วัน ๕ วัน มาฉันหนหนึ่ง

หรือวีคหนึ่ง คือว่าเข้าเวร ๗ วันเข้าเวร พออยู่ในเวร ออกจากเวร ก็อดอาหารต่อไปเลย แล้วคอยดู กำหนดเวลาจะเข้าเวรเมื่อไร มันจะทำต่อเนื่องไปอย่างนี้ คือไม่ให้มีเวลา ไม่มีการเสียเวลาเลย

แล้วเราทำอย่างนี้ต่อเนื่องหลายปี พอทำหลายปีปุ๊บ มันจะมีอย่างที่ว่า ครั่นเนื้อครั่นตัวว่า เห็นไหม มึงจะตายๆ อย่างที่ว่า มีอะไรลึกๆ จริงๆ ก็คือมึงจะตายนั่นน่ะ คือจริงๆ มันก็บอก มีอะไรลึกๆ จะเจ็บไข้ได้ป่วยไหม อะไรไหม ก็คือข้อต่อรองมัน แต่ไม่กล้าพูดตรงๆ ออกมา พอไม่กล้าพูดตรงๆ ออกมา ไอ้เราก็หวั่นไหวไปด้วย

ถ้าใช้ปัญญาขนาดนั้น เออ.. ตาย! อะไรตายก่อน ถ้ามันจะมีอะไรลึกๆ ถ้ามันจะเจ็บไข้ได้ป่วย อะไรคือเจ็บล่ะ คือว่าไม่ให้กิเลสต่อรองได้เลย นี่พอเราไล่เข้ามา เวลาปฏิบัติถ้าเอาเข้มข้นแล้วจะเป็นอย่างนี้

ถ้าการปฏิบัติ อย่างเช่น พระ เราจะบอกว่าโยมนี่นะ นักปฏิบัติสมัครเล่น พระ นักปฏิบัติอาชีพ พอนักปฏิบัติอาชีพ นักกีฬาอาชีพ นักกีฬาสมัครเล่น เรื่องขบวนการฝึกซ้อมมันแตกต่างกันอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าขบวนการของนักกีฬาอาชีพ มันต้องทำด้วยอาชีพ ด้วยอาชีพของตัว มันต้องทำด้วยความจริงจัง นี้เราก็ต่อสู้ไล่เข้าไปตลอดเลย เพราะตลอดถึงที่สุดแล้วมันจะมีปัญหาอย่างนี้ พระปฏิบัติทุกองค์จะมีปัญหาอย่างนี้ ปัญหาของกิเลสที่มันมาโต้แย้ง

แต่คนไม่รู้ คนปฏิบัติทุกคนน่ะ มันจะมีเรื่องของกิเลส กิเลสคือฝ่ายโต้แย้ง โต้แย้งกับธรรมะตลอดไป นั้นธรรมะที่จะเจริญได้ขึ้นมา มันต้องมีเหตุผลที่โต้แย้งฝ่ายกิเลส ให้กิเลส มันมีเหตุมีผลที่เหนือกว่ากิเลส กิเลสต้องยอมรับ ยอมรับเฉยๆ ยังไม่ได้ฆ่านะ แล้วถ้ามีเหตุผลที่ยอมรับมากกว่า กิเลสมันก็ ซุกใต้พรมๆ ที่ว่ากิเลสมันจะหลบตัวซ่อนตัว แล้วหลวงตาบอกต้องขุดคุ้ยต้องหามัน ถ้าสมาธิมันดีนะกิเลสมันจะซุกแอบไม่แสดงตัว

แต่ถ้าวันไหนกำลังเราอ่อนลง มันจะแสดงตัวออกมา ทำให้ขบวนการ การปฏิบัติของเราล้มเหลว ถ้ามันล้มเหลวถ้าไม่มีกำลังด้วย ล้มเหลวแล้วไม่มีอำนาจวาสนาด้วย ไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำด้วย เขาเรียก “กรรมฐานม้วนเสื่อ” คือเลิกปฏิบัติ กูไปเรียนดีกว่า กูไปทำอย่างอื่นดีกว่า กูจะอยู่เป็นพระของกูไปดีกว่า กูจะทำแค่อย่างนี้ ดีกว่าๆ ดีกว่าไม่ได้ปฏิบัติ แต่ถ้าไม่มีอำนาจขนาดนั้น เฮ้อ.. กูสึกดีกว่า กูออกไปเป็นฆราวาสก็ได้ ก็ยังทำบุญได้

ถ้าไม่อย่างนั้น ปฏิบัติไปมันก็พระอรหันต์เต็มประเทศไทยแล้ว โธ่.. ปฏิบัติไป ๕ ปี ๑๐ ปี เขาจะรู้เลยว่า คนปฏิบัติไป กิเลสหยาบๆ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด ละเอียดสุด มันจะมีอีกเยอะแยะ แล้วมันมีความโต้แย้งของมันน่ะ มันมีความโต้แย้งของมันขนาดนี้ ขนาดนี้เราก็แพ้ละ เดี๋ยวสุขภาพจะไม่ดี เดี๋ยวอย่างโน้นจะไม่ดี ถ้าไม่ดีอย่างเรา ตาย! อะไรตายวะ กูขอดูสิอะไรตาย

เราฟังหลวงตาพูดบ่อยนะ ท่านบอกว่า เวลาท่านอดอาหารมา เวลาพูดถึงท่านก็รู้อยู่ว่า “ถ้าอดอาหารไปมากๆ เพราะอาหารต่างๆ ถ้าอดมันต้องเกิดโรคภัยไข้เจ็บ แต่ท่านก็บอกท่านก็พอใจเต็มใจที่จะต่อสู้กับมัน เพราะตอนที่เราต่อสู้ เรายังเป็นพระหนุ่ม เณรน้อย สุขภาพร่างกายเรายังแข็งแรงอยู่ เราต่อสู้เพราะจิตใจเราอาศัยร่างกายนี้เป็นที่ดำรงชีวิตเท่านั้นเอง”

ฉะนั้นถ้าเราต่อสู้ เรามีความจริงจังกับมัน เพื่อต่อสู้กับมัน เพื่อเห็นคุณธรรม เห็นธรรม มันจะเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆ แล้วของอย่างนี้ การปฏิบัติการฆ่ากิเลสน่ะ ถือว่าของเล็กน้อยมาก ถ้าของเล็กน้อยมากปั๊บ จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา มันจะผ่านวิกฤต อะไรต่ออะไรไปได้ การปฏิบัติมาต้องเจอเหตุการณ์อย่างนี้ทั้งนั้น

นี่เราไปคิดกันเอง เราไปคิดกันเอาเองว่าปฏิบัติไปแล้วจะเป็นอย่างที่ว่า “ทำดีแล้วต้องได้ดี” แล้วทำดีได้ดีจริงหรือเปล่าล่ะ คนทำดีโดนด่าทุกวันน่ะ

อันนี้ปฏิบัติแล้วจะว่า โฮ.. สุดยอดๆ กิเลสไม่ยอมหรอก นี่ทำดีแล้วมันต้องดีในตัวมันเอง ตัวเองจะรู้ของตัวเอง นี่เราไปคิดกันเอาเองว่าปฏิบัติแล้วต้องดี คำว่าปฏิบัติ เราทำดีแล้วต้องได้ดี ต้องได้ดีๆ อย่างนั้น ไม่จริง มันได้ดีใช่ไหม ได้ดีในตัวของมันเอง แต่กิเลสที่อยู่กับเรา มันจะโต้แย้ง แล้วจะทำให้เราไขว้เขว ทำให้เราเสียหาย ทำให้เราไม่รู้เท่าขบวนการของมัน ที่ความคิดปรารถนาดีของมัน คือการหลอกลวง

ความปรารถนาดีของมัน ปรารถนาของมันคือมันต้องการให้เราเสียหายในการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นความปรารถนาดีของมัน แต่มันเป็นความเสียหาย เป็นความผิดพลาดของธรรมะ เพราะว่าความปรารถนาดีของมัน ก็ความคิดของมันมีแค่นั้น มันจะต้องการยึดมั่น ยึดชีวิตเราให้อยู่กับมันใช่ไหม

แต่การปฏิบัติธรรม เราเพื่อจะทำลายมันอย่างนี้แล้วมันเอาความเห็นของมัน มาหลอกลวงเรา มาใช้ดุลพินิจหลอกเราอย่างนี้ แล้วมันก็เป็นเรา เพราะกิเลสเป็นเรา เพราะเกิดเป็นเรา ความคิดนี้เป็นเรา เราก็ไขว้เขวไปกับมัน

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์หรือเรามีปัญญาขึ้นมา เราต้องมีเหตุมีผล โต้แย้งกับมัน

“การฆ่าที่ประเสริฐที่สุดคือการฆ่ากิเลส”

แต่กิเลสมันเป็นนามธรรมที่ไม่มีตัวตน เวลามันเกิดขึ้นมา มาจากไหน เวลาพูด เห็นไหม มันไม่ใช่เรามาโต้แย้งเรา แล้วมันอยู่ไหน? มันอยู่ไหน? มันมาโต้แย้งเราอยู่นี่ แล้วมันอยู่ไหน? แล้วเวลาเราปฏิบัติ มันก็คือเราอยู่นี่ แล้วทำไมเราแพ้มัน.. เห็นไหม กิเลสเป็นนามธรรม มันเกิดมันนอนเนื่องมากับใจ แล้วมันเป็นนามธรรมที่เราไม่เห็นตัวมัน

แต่ขณะที่เราทำความดีมากน้อยขนาดไหน มันจะขัดแข้งขัดขาอย่างนี้ไปตลอดเลย ฉะนั้นถ้ามันมีอาการอย่างนี้ในหัวใจ เราก็ต้องกลับมาพิสูจน์กัน มันต้องกลับมาพิสูจน์กัน แล้วปลดประเด็นนี้ออกจากใจให้ได้

ถ้าปลดประเด็นนี้ออกจากใจไม่ได้ มันก็จะติดคาอยู่อย่างนี้ ถ้าปลดประเด็นนี้ ประเด็นที่มันหวิวๆ หรือมันมีอะไรในหัวใจที่ว่ามันจะมีวิกฤติ เราก็ต้องดูว่าวิกฤติอย่างนี้มันเกิดเพราะอะไร แล้ววิกฤติอย่างนี้ ทำอย่างไรด้วยเหตุผลสิ่งใด มันจะผ่านวิกฤตินี้ไป แล้วผ่านไปว่า เฮ้อ!

โยม : คือมันไล่แล้วไม่เจอ ก็พยายามจะนึก ก็นั่งดูมันทั้งวัน เอ๊ะ.. ทำไมมันสั่นอยู่ ดูทั้งวัน มันเป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ บางวันนี่ก็สั่นแรงเหมือนกับ..

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นเรานะ โยมไปหาเพื่อนหมอด้วยกันเลย เช็คร่างกายให้จบเลย ถ้าเช็คร่างกายว่า หัวใจไม่เป็นปัญหา ทุกอย่างไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นปัญหาแล้ว เออ.. จบละ คราวนี้เรื่องกิเลส เรื่องนามธรรมล้วนๆ ละ

โยม : ก็พยายามจะหาไงว่า เอ.. ไอ้เหตุ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรมันเลย อยู่ดีๆ มันก็เกิดขึ้นมา

หลวงพ่อ : นั่นละ นั่นๆ ถ้าประสาเรานะ นั่นน่ะกิเลสมันแสดงตัว ถ้ากิเลสมันแสดงตัวขึ้นมา มันแสดงตัวขึ้นมามีปัญหาแล้ว เราเอาธรรมะเห็นไหม ที่พระพุทธเจ้าไปสอนพระโมคคัลลานะน่ะ ถ้าเธอง่วงเหงาหาวนอน ให้ตรึกในธรรม ให้แหงนหน้าดูฟ้า ให้ดูดวงดาวให้แจ่มแจ้ง ให้เอาน้ำลูบหน้า เห็นไหม นี่เหมือนกันถ้ามันหวิวๆ ขึ้นมา ถ้าเราไม่กังวลเรื่องเป็นเรื่องตาย ซัดกันเลย ปัญญาไล่เข้าไปเลย เกิดที่ไหนดับที่ไหน

แล้วถ้ามันจบสิ้นขบวนการมันแล้วนะ ประเด็นนี้จะผ่านไป แต่ก็จะมีประเด็นใหม่รออยู่ข้างหน้า นี่มันเป็นการฝึกฝน นี่ไง เราถึงบอกว่าวิวัฒนาการของจิต วุฒิภาวะ ถ้าคนมีวุฒิภาวะการภาวนามาแล้ว มันจะรู้อย่างนี้ เพราะกว่าเราจะมีวุฒิภาวะอย่างนี้ เราต้องผ่านพัฒนาการอย่างนั้นขึ้นมา

จิตไม่ลอยมาจากฟ้า ไม่มีอะไรแบบว่า ได้เอง เห็นเอง มีอยู่แล้ว แล้วมันจะไปชุบมือเปิบ ไม่มีหรอก เราไม่เชื่อ สิ่งใดๆ ทุกอย่าง “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” สมาธิมาจากสติ สติมาจากจิต จิตก็เป็นของเราเดิมอยู่แล้ว สติเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต

สมาธิก็เกิดจากมีสติถึงมีสมาธิ สมาธิมีแล้วก็เสื่อม ถึงมีสัมมาสมาธิก็มีปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิเท่านั้น ถึงจะชำระกิเลส ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธินะ ปัญญาที่เกิดจากจิต ปัญญาที่เกิดจากกิเลส ปัญญาที่เกิดจากเราเป็นโลกียปัญญา ปัญญาจากกิเลส มันเป็นเรา มันแก้กิเลสไม่ได้หรอก เพราะของๆ เรา จะไปฆ่าเราเอง มันเป็นไปไม่ได้หรอก

แต่ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเกิดจากตัวตน เกิดจากเราสงบตัวลง มันเป็นสัจธรรม

เพราะมันเป็นสัจธรรม พอมันเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาเกิดโลกุตตรปัญญา คือปัญญาสัจธรรม มันไม่ใช่ปัญญาของเรา ถ้าปัญญาของเรา เราจะคิดฆ่าฟันกิเลสเมื่อไรก็ได้ เรารู้กิเลสเป็นอย่างนี้โว้ย..

พระพุทธเจ้าบอกกิเลสเป็นอย่างนี้ จับมันขังไว้ ฆ่ามันโว้ยๆ อยู่ไหน.. แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมาน่ะ โอ.. มันเห็น มันรู้มันเห็น มันจับมันต้อง มันเห็นอริยสัจของมัน แล้วมันปล่อยวาง โอ้โฮ.. มันโล่ง มันเบา มันโหวง มันรู้ของมัน เห็นไหม

วิวัฒนาการมันมี วุฒิภาวะของจิต พันธุกรรมของจิตน่ะ กูพูดทุกวันเลย แล้วมันจะพัฒนาของมันอย่างนี้ อย่างนี้พอมันพัฒนามาแล้ว มันยิ่งดีนะ พัฒนามาแล้วมันก็เจอเหตุเจอผล มันต้องเจอแบบว่า การรักษาของหมอ หมอรักษาคนไข้ หมอต้องรู้เลยว่า คนไข้เป็นโรคอะไร สมุฏฐานของโรคมันคืออะไร เขาต้องรักษาคนไข้ให้ได้ใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตเราเป็นอย่างนี้ มันมีเหตุมีผลให้เราได้ใคร่ครวญไง เอ็งภาวนาไปๆ เอ็งรักษาๆ แต่ไม่รู้เป็นโรคอะไรจะรักษาได้ไง อ้าว.. คราวนี้ก็รู้อยู่แล้ว โรคเกิดแล้วล่ะ.. ขนาดให้ยามาขนาดนี้แล้ว มันก็ยังต้านขนาดนี้ เตรียมตัวพร้อมแล้ว ทุกอย่างสมาธิมีแล้ว ทุกอย่างปัญญาก็เกิดขึ้นมาแล้ว พอมันดีมันก็ดีขึ้นมา

แล้วพอมันมีปัญหาขึ้นมาจะทำอย่างไร เหมือนเรารักษาคนไข้เลย คนไข้เวลามันหายแล้ว คนไข้มันจะดีขึ้นมาอย่างไร เราจะดูแลกันอย่างไร เราจะเอาอะไรฟื้นฟูอย่างไร จิตใจมันเป็นอย่างนี้แล้ว จะฟื้นฟูอย่างไร

เหมือนกัน! เพียงแต่ว่ามันเป็นนามธรรมด้วย คนไข้เรายังมีวิธีการรักษาใช่ไหม มีระบบของมัน ไอ้นี่ โฮ..ไม่มีเลย มีแต่ความรู้สึกคนไข้นั่นแหละ เพราะอะไร คนไข้รู้สึกอย่างไร มันก็คือโรคนั่นล่ะ แล้วเราก็ต้องดูแล เราต้องแก้ไขของเราไป

มันเป็นอย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัติมาเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น พอเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันถึงว่าเวลาครูบาอาจารย์ เห็นไหม จะมีข้อวัตร พอมีข้อวัตรขึ้นมา ข้อวัตรเป็นเครื่องดำเนิน เวลาจิตมันมีอาการอย่างไร ถ้ามันสู้ไม่ไหว มันก็อยู่กับข้อวัตรไง เกาะข้อวัตรไว้ นี่ก็เหมือนกัน เราก็เกาะศีลเกาะธรรมไว้ ถ้าไม่เกาะศีลเกาะธรรมไว้อย่างนี้ เสื่อมเลยล่ะ เวลาอย่างนี้ ถอยเลยนะ

ประสาเรานะ เวลาปฏิบัติแล้วนะ ทำไมกูต้องทุกข์อย่างนี้วะ ชีวิตกูก็ปกติอยู่แล้ว ก็ไปได้ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเจอเหตุการณ์อย่างนี้ แต่มันไม่ได้คิดหรอกว่าเหตุการณ์อย่างนี้ มันเป็นเหมือนกับสมุฏฐานของโรค ทุกๆ คนที่มีอยู่ แล้วคนทุกๆ คนน่ะ เขาไม่รู้จักว่าเขาเป็นโรคอะไรอยู่ ถ้าเขาไม่รู้จักว่าเขาเป็นโรคอะไรอยู่ เขาถือว่าเขาไม่มี เขาคิดว่าเขาไม่มี พอคิดว่าชีวิตปกติประจำวัน เขาก็มีความสุขอยู่แล้ว

เวลาถ้ากิเลสมันอ้างนะ มันท้อถอยเลยไง อ้าว.. ชีวิตปกติของกูก็ดีอยู่แล้ว กูก็สุขสบายอยู่แล้ว ทำไมกูต้องมาทรมาน ทำไมกูต้องมาต่อสู้อย่างนี้ นี่พอการต่อสู้อย่างนี้คือ สมุฏฐานของโรค คือเราลงลึกของมัน คนปกติของมันก็ไม่แสดงออก มันก็ไม่มี

แต่พอเราภาวนาไปแล้ว มันแสดงออก มันมีเห็นไหม พอมีถ้าเราสู้กับมันไปเห็นไหม เราต่อสู้ เราใช้ธรรมะ ธรรมโอสถเข้าไปต่อสู้กับเขา เราจะเข้าไปชำระโรคไปต่างๆ มันก็ดีกว่าชีวิตปกติตั้งเยอะแยะ เพราะชีวิตปกติมันไม่มีโอกาสแก้ไข

แต่นี่มันมีโอกาสแก้ไข แก้ไขด้วยธรรมะ เห็นไหม ธรรมารส ธรรมารสมันแก้ไขของมัน เราก็ต้องหาเหตุหาผลของเรา แต่มันไม่ใช่ว่าเราทำอย่างนี้แล้ว ชีวิตเราจะผิด โลกเขามองกันอย่างนั้น มองว่าชีวิตก็ปกติอยู่แล้ว ก็สบายอยู่แล้ว ก็ดีอยู่แล้ว แล้วมาปฏิบัติแล้วยังทุกข์อีก พอทุกข์อีก แล้วพอมาเจอปัญหาขึ้นมาอีก ไอ้ปัญหานี้มันคือกิเลส มันคือสมุฏฐานของโรค ประจำสัตว์โลก ประจำทุกๆ คน แต่ทุกๆ คนมองข้ามมันไปเองต่างหาก

แต่เราเป็นคนที่ไม่มองข้าม แล้วเราเป็นคนที่จะต่อสู้กับมัน แล้วต่อสู้นั่นน่ะ ถ้าเอาชีวิตไปเทียบกับเขาน่ะ ทุกข์อยู่แล้วน่ะ ไปเทียบกับเพื่อนสิ เอ๊ะ.. กูก็สบายๆ ทำไมต้องมาทรมานวะ นั่นพอเขาพูดอย่างนี้ ท้อเลยนะ พอพูดอย่างนี้ อ้าว.. จริงว่ะ เอ๊ะ.. เขาก็อยู่กับชีวิตประจำวันของเขา เขาทำงานเสร็จ เขาก็ไปพักผ่อน เขาไปเล่นกีฬา ไอ้เรามันดักดานอยู่นี่ กิเลสอย่างนี้ มันทิ่มอย่างนี้ปั๊บ เราก็ท้อถอยแล้ว นี่มาถึง ถ้าเอาเป็นธรรมะ เห็นไหม

โธ่.. เวลาพระนาคีตะเห็นไหม เดินจงกรมอยู่ในป่าน่ะ แล้วประชาชนเขาไปเชื่อนักขัตฤกษ์ เขาร้องเพลงไปมีความสนุกสนานครื้นเครง พระนาคีตะวิตกขึ้นมาในใจเลย

“โอ้.. เขายังมีความสุขความสบาย เขายังมีความสุข เขาเกิดมาในโลก เราเป็นเศษคน ดูสิ.. เขาไปมีความสุขกัน เราต้องเดินจงกรม มาทุกข์มายากอยู่ เราเป็นคนที่วาสนาน้อย เป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยาก”

โฮ.. เทวดามายับยั้งกลางอากาศเลย

“ไอ้พวกที่ไปสุข ไปสุขกันนั่นน่ะ พวกนั้นมันติดอยู่ในวัฏฏะ มันเป็นแพลงตอน มันเป็นสัตว์เป็นเหยื่อของปลา ท่านต่างหากล่ะ.. ตัวท่านต่างหากล่ะ.. ท่านเป็นยอดคน ท่านต่างหากที่จะพ้นจากทุกข์”

ทั้งๆ ที่คิดวิตกขึ้นมาเห็นไหม เขาไปเที่ยวกันสนุกสนาน ทำไมกูต้องทุกข์ขนาดนี้วะ ต้องทุกข์ขนาดนี้วะ ในพระไตรปิฎก คืนนั้นพอเทวดาเตือนเท่านั้น สติมันฟื้นมาเลยนะ มันมีความฮึกเหิม คืนนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย

โลกเขาเข้าใจกับเราได้ไหมล่ะ นี่เพียงแต่โยมเกิดมาอยู่กับโลกใช่ไหม เราก็ต้องสู้กับมัน อยู่กับมัน พออยู่กับมันแล้ว เพราะสิ่งนั้นเราอยู่กับโลก เราสร้างโลกมาแล้ว เราอยู่รับผิดชอบล่ะ แต่ในการปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ พอเป็นอย่างนี้ เราค่อยๆ หาเหตุหาผลของเรา ไม่ต้องไปน้อยใจ ไม่ต้องไปเสียใจ เป็นอย่างนี้มาทั้งนั้นน่ะ มันมีปัญหา เวลาไล่เข้าไปแล้วมีปัญหา ถ้าเราไม่ไล่เข้าไป เราก็จะไม่เจออะไรเลย

แต่พอเจออะไรขึ้นมา มันก็จะเวลามันดีขึ้นมา ก็อย่างที่ว่าดีแหละ โฮ.. สุดยอดเลย โฮ.. ถ้าดีอย่างนี้นะ กูจะทำอย่างนี้ไปตลอดชีวิตเลยล่ะ โฮ.. เวลามันเสื่อม โธ่.. คอตกเลย มันเป็นเรื่องพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เป็นเรื่องธรรมดาของการปฏิบัติ การปฏิบัติมาส่วนใหญ่จะเจออย่างนี้ เว้นไว้แต่อย่างเดียวเท่านั้นนะ ขิปปาภิญญาที่ตรัสรู้ง่าย เพราะบุญเขาสร้างมาเยอะ แต่ ๙๙ เปอร์เซ็นต์เลยล่ะ ต้องล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้

โยม : หลวงพ่อ แล้วอย่างเวลาเดินจงกรมอย่างนี้ เวลาเดินจงกรมเสร็จแล้ว เราก็แผ่เมตตา พอแผ่เมตตา มันเหมือนกับว่ามันเหมือนเป็นละอองแผ่ออกไป แต่ทำไมเวลานั่งสมาธิแล้วแผ่เมตตา มันไม่เคยมีสภาวะอย่างนี้

หลวงพ่อ : นั่งกับเดินจงกรมน่ะ จิตขณะที่เดินจงกรมนะ ลงสมาธิยาก แต่ถ้าจิตเดินจงกรมลงสมาธิ มันจะเสื่อมยาก การเดินจงกรมแล้วสงบนี่นะ จิตมีกำลังกว่า การนั่งหลับตา เราหลับตาอยู่ แผ่น่ะมันก็แผ่เหมือนกัน ได้เหมือนกัน แต่เราหลับตาอยู่เราไม่เห็นใช่ไหม แล้วกำลังมันต่างกัน

เดินจงกรมนะ อานิสงส์เยอะมากเลย ๑ ร่างกายแข็งแรง แล้วเวลาออกทั่วธุดงค์ ก็ไปได้ไกลกว่าเขา แล้วจิตสงบ ถ้าสงบขณะเดินนะ คิดดูสิ จิตสงบขณะเดินน่ะ มันเสื่อมยาก กำลังของจิตมันดีกว่าไง

แต่ถ้านั่งเห็นไหม นั่งสมาธิ ดูสิ.. คนนั่งหลับตา มันทำสมาธิได้ง่ายกว่าอยู่แล้ว อานิสงส์มันต่างกันนะ ทำสมาธิเหมือนกัน ทำความสงบของใจเหมือนกัน

โยม : ผมเข้าใจว่านั่งมันวัดได้เยอะกว่า เพราะมันนั่งมันปวด ถ้านั่งนานทนนาน มันก็สู้กัน

หลวงพ่อ : นั่งสมาธินะ จิตจะสงบง่ายกว่าเดิน เดินน่ะยากกว่าเยอะเลย เพราะเคลื่อนไหวอยู่แต่สงบ นั่งเฉยๆ สงบ แล้วอานิสงส์อันนี้ ที่เราพูด มาจากพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าพูดไว้นะ เราจำขี้ปากพระพุทธเจ้ามาพูดนะ ไม่ได้พูดเอง นี้เพียงแต่เราก็ปฏิบัติมา เราก็เห็นผลมันด้วยไง แต่เราพูดโดยหลักของพระพุทธเจ้า เห็นไหม โดยที่ว่าเราเทศน์น่ะ เขาเทศน์ธรรมะกัน ก็ธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้น

ที่พูด พูดโดยพระไตรปิฎกเลยล่ะ “การเดินจงกรม สมาธิจะลงยาก แต่ถ้าสมาธิลงขณะเดินจงกรม จะเสื่อมยาก จะเข้มแข็งกว่าสมาธิในการนั่ง” นี่ในพระไตรปิฎกชัดๆ เลย พระพุทธเจ้าพูดไว้ชัดๆ เลย แล้วพอเราปฏิบัติ เราก็เทียบเคียงมาเห็นผลไหม ก็เห็นผลอย่างนั้นจริงๆ นี่ว่านึกเอาสิ.. นึกเอาก็ต้องเปรียบเทียบสิ นึกว่าสมาธิมันจะดีกว่า ง่ายกว่าไง ถ้ามันดีกว่าง่ายกว่า กำลังมันถึงนะ เพราะเอาคนๆ เดียวสิ เอาคนๆ เดียวเห็นไหม ในท่านั่งสมาธิเป็นอย่างไร ในท่าเดินเป็นอย่างไร

เพราะของเรา เวลาเราก็ลองของเรา เพราะอย่างเรา เราถนัดเดินจงกรมมาก ธรรมดา เราเดินจงกรม โอ้โฮ.. วันหนึ่งเดินได้ทั้งวันเลย นั่งน้อยกว่า อย่างเช่น.. เห็นลูกศิษย์มาพูด เวลาเราไปหาหลวงปู่จันทร์เรียน “ท่านบอกว่าเวลาเดินจงกรม ท่านเดินจงกรมได้น้อยกว่าหลวงปู่ชอบมากเลย แต่เวลาท่านนั่งถึง ๗-๘ ชั่วโมง หลวงปู่ชอบน่ะ นั่งที ๒-๓ ชั่วโมงก็พอแล้ว แต่หลวงปู่ชอบน่ะ เดินจงกรมได้ทั้งวันๆ เลย” เห็นไหม ดูความชอบ ความถนัด อาจารย์จันทร์เรียนท่านบอก ท่านถนัดท่านั่ง

โยม : เดินนี่มันไม่ต้องทนเวทนามากด้วย ?

หลวงพ่อ : เอ็งลองเดิน ๗-๘ ชั่วโมงสิ เอ็งลองเดินไปเรื่อยๆ สิ ใครจะไม่เวทนาบ้าง ปวดร้าวไปทั้งตัว

โยม : ในเวลาเท่ากัน นั่งมันเวทนามันเยอะกว่า

หลวงพ่อ : ไม่หรอก.. มันไม่ใช่เหมือนกันหรอก เพราะนั่งเห็นไหม ดูสิ.. อย่างเช่นคนถนัดนั่งนะ มันแบบว่า พอมันนั่งปั๊บ ถ้ามันลงแล้ว มันสุขหมดเลย จะมากจะน้อยจิตมันลงไปแล้ว แต่นี่การเดินน่ะ เราบอกพอสุข จิตมันลงไปแล้ว ร่างกายสักแต่ว่า มันก็เลยไม่เจ็บไม่ปวดไง

ไอ้นี่เราคิดเอาท่านั่งที่จิตเป็นปกติที่ไม่ลงสมาธิกับท่าเดิน เราจะให้เห็นว่าการใช้การเคลื่อนไหว การใช้พลังงานของท่านั่งกับท่าเดิน อันไหนใช้มากกว่ากัน อันนี้เวลาท่าเดินนะ เส้นเอ็นน่ะ มันต้องบังคับตัวเองเดินตลอด ปวดร้าวนะ แต่เดินๆ ไปแล้ว มันต้องบริหารในทางจงกรมเลย เพื่อให้เส้นมันผ่อนคลาย

โยม : แล้วหลวงพ่อเดินอย่างไรให้มันหลายๆ ชั่วโมง ถ้ามันเป็นสมาธิมันก็เดินได้หลายชั่วโมง

หลวงพ่อ : ใช่..หลายชั่วโมง เราเดินจนเซ..ตกทางจงกรมน่ะ มันเดินของมันไป ประสาเรามันก็เหมือนกับมันเป็นเครื่องยนต์เลยล่ะ มันคล่องตัวเหมือนอย่างนั้นเลย แล้วจิตมัน อย่างที่หลวงตาท่านพูดน่ะ จิตมันไม่ค่อยออกรับรู้ จิตมันจะอยู่ข้างใน จิตมันจะพิจารณาธรรมะ พิจารณาธรรมะหมายถึงว่า ใช้วิปัสสนา วิปัสสนาหมายถึงว่า จิตมันจะพิจารณาในสัจธรรม ในกาย ในเวทนา จิต ธรรม จิตมันจะหมุนของมันตลอดเวลา

แล้วพิจารณาเรื่องน่ะ มันก็เหมือน เหมือนกับเราทำงานน่ะ เราทำงานแล้วเราเพลินในงานน่ะ ร่างกายมันก็จะเคลื่อนไหวกันไป โดยธรรมชาติของมันเลย โดยที่มันทำจนชำนาญ แต่ความรู้สึกของเรา มันไม่ได้ออกมารับรู้โลกภายนอก มันจะอยู่ในร่างกาย อยู่ในอริยสัจ มันจะหมุนทั้งวันๆ เลย

อู๋ย.. มันจะพิจารณาของมันไปเรื่อยล่ะ ถ้าพิจารณาธรรมนะ อย่างขั้นของสักกายทิฏฐิ มันจะพิจารณาว่ากายเป็นอย่างไร สรรพสิ่งเป็นอย่างไร แล้วพิจารณาถึงขั้นของมัน พิจารณากามราคะ โอ้โฮ.. เรื่องเยอะ มันคุ้ยหากิเลส กิเลสมันจะมาเป็นเรื่องๆ เลย

มันจะมาตอบโต้มาเป็นเรื่องๆ มันจะยกประเด็นขึ้นมาเลยอย่างนี้ แล้วเราก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปใคร่ครวญจนประเด็นนั้นจบได้ ตอบชัดเจนหมด แล้วมันปล่อยวาง จิตมันปล่อยจากงานที่มันทำ ในสติปัฏฐาน ๔ เข้ามาพักเป็นอิสระ สักพักหนึ่ง สงบได้มากน้อยแค่ไหน ออกอีก รู้อีก เอาอีก ทั้งวันๆ อย่างนั้นน่ะ

แล้วมันอย่างที่ว่า มันมีขั้นของสักกายทิฏฐิ ขั้นของการพิจารณากาย ขั้นของการพิจารณาอุปาทาน ขั้นของกามราคะ แล้วขั้นบน เดินแทบไม่ได้เลย บางทีจะนั่งตลอด ส่วนใหญ่จะนั่งตลอด ขั้นสุดท้าย มันขยับไม่ได้ ขยับเป็นกุกกุจจะ

โยม : แล้วใหม่ๆ หลวงพ่อสอน เอาแบบใหม่ๆ

หลวงพ่อ : ใหม่ๆ ถ้ามีปัญหา เราก็ต้องหาเหตุหาผล

โยม : ถ้าเดินผม มันไม่ลง

หลวงพ่อ : ไม่ลงไม่ต้องไปทำ เดินนะ เราเอามานี่เอง เราเอามาผ่อนคลาย อิริยาบถ ๔ เอาไว้เวลาผ่อนคลาย อย่างเช่น ถ้ามันสัปหงก มันง่วง ก็เอาขึ้นมาเดินก่อน บางทีเราพิจารณานะ เราทดสอบตัวเราเองขนาดนี้ บางทีนั่งนานๆ เลย นั่ง ๒-๓ ชั่วโมง เรานั่งที ๘ ชั่วโมงนะ บางทีเรานั่งที ๘ ชั่วโมงเลย แล้วถ้ายังนี้ โม้ฉิบหายเลย.. เดี๋ยวก็เดินวันละ ๘ ชั่วโมง เดี๋ยวก็นั่งวันละ ๘ ชั่วโมง อย่างนี้แล้วมันจะนั่งได้อย่างไร

เรานั่งทีนะ ๖-๗ ชั่วโมงนะ บางทีกลางคืน เพราะเวลาปฏิบัติแล้วกลางคืนน่ะ ทั้งวันทั้งคืนแทบไม่ได้นอนเลย เพราะมันจะไปพักในสมาธิอยู่แล้ว ขณะที่ปฏิบัตินะ เวลาเรื่องกินเรื่องนอนนี่ ไม่ต้องมาพูดกันเลย แค่อยู่กับหมู่คณะไป เราพยายามหลีกเร้นเพื่ออยู่ของเรา ฉะนั้นยิ่งอยู่คนเดียว อยู่ในกุฏิ หรือเดินจงกรมในที่อยู่ของเรา คือมันจะไม่มีใครยุ่งกับเรา มันสบายมากเลย นี้นั่งทีสบายมาก

นี้พอนั่งหรือเดิน มันอยู่ที่ว่าเราถนัดอย่างนี้ มันเคลื่อนไหวอย่างไร มันดูแลอย่างไร แล้วนี่ถ้าเราไม่ถนัดเดินใช่ไหม เราเดิน เอาไว้แก้ไขเวลามันสัปหงกน่ะ เรามาแก้ไขแล้วเราไปนั่งของเราเอง พอนั่งของเราเอง ถ้าเราพุทโธก็พุทโธ ถ้าเวลาเราพุทโธ พุทโธถึงที่สุดแล้ว พอมันมีกำลัง พอกำลังมันมีใช้ปัญญาได้ เราวางพุทโธ แล้วก็ไล่ๆๆ ใช้ปัญญา จะว่าใช้สมองเดี๋ยวมันจะเป็นโลกๆ เกินไป

ใช้ปัญญาไล่เข้ามาสิ ไล่กลับมา กลับมาที่ความสั่นไหว กลับมาที่ในหัวใจของเรา จิตใต้สำนึกที่มันเก็บสิ่งใดไว้ ขุดมันขึ้นมาเลย พอขุดขึ้นมาเลย มาตีแผ่มาเลยว่า มันเป็นเพราะเหตุใด เรากลัวตายจริงหรือ หรือร่างกายเราขาดสารอาหารที่มันจะต้องขาดใจตาย ถ้าร่างกายมันไม่ขาดอาหาร สิ่งที่ขาดใจตาย ใจของเรา ความรู้สึกเรา ขี้ขลาดอ่อนแอขนาดนี้หรือ ถ้ามันขี้ขลาดอ่อนแออย่างนี้ มันมีเหตุผลอะไร เห็นไหม มันไล่เข้าไปเลย

ขณะไล่นี่นะ ขณะคำว่าไล่ใช้ปัญญา มันต้องขั้นถ้าจิตมันสงบบ้าง มันจะเข้าลึก ที่เราบอกว่าตัดรากถอนโคนจากความรู้สึก จากจิต เอ็งพิจารณาอยู่ข้างนอก ไอ้ตรงนี้มันแก้ไม่ตกหรอก มันจะแก้ตกเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นความคิดจิตใต้สำนึก มันคิดอยู่ลึกๆ ของจิต แล้วถ้าจิตลงสมาธิมันก็อยู่ที่ฐานเดียวกัน ฐีติจิตคือพื้นฐานที่เดียวกัน

แล้วถ้าพอจิตสงบอย่างนี้แล้ว ในสมาธิที่เรานั่งสมาธิแล้ว เอาปัญญาไล่เข้าไป ไล่เข้าไป เอาเหตุเอาผล ขึ้นมาตีแผ่ ตีแผ่ด้วยปัญญาในสมาธิ สมาธิหมายถึงฐีติจิต สมาธิหมายถึงเกิดที่จิต แล้วปัญญา เกิดจากจิต ปัญญาที่เกิดจากจิต เพราะปัญญาที่เกิดจากสมาธิ มันก็เกิดจากฐีติจิต เกิดจากสิ่งที่ว่า มันมีสิ่งสั่นไหวอยู่ที่นั่น แล้วปัญญามันไล่เข้าไปถึงที่นั่นน่ะ เขาเรียกว่าถอนอุปาทาน ปัญญาที่มันเกิดจากสมาธิ เกิดจากฐีติจิต

เพราะสมาธิคือภพ สมาธิคือจิตเดิมแท้ แล้วถ้าเวลาปัญญามันเกิดจากจิตเดิมแท้ ปัญญามันเกิดอย่างนี้ เหมือนกับสลิ้งค์เลย เราฉีดยาเข้าไป เพื่อเข้าร่างกายของมนุษย์ แต่ถ้าเราฐีติจิตมันถึงฐีติจิต ปัญญามันเหมือนสลิ้งค์ มันจะเข้าถึงฐีติจิต มันก็จะเข้าไปถึงต้นขั้วนั้น แล้วมันจะถอนตรงนั้นขึ้นมา เห็นไหม เวลาเรานั่งสมาธิเราจะแก้ไง เรานั่งสมาธิ จะใช้สมาธิ ปัญญาอย่างนี้ ฝึกฝนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

โยม : ตอนนี้คือ..ปัญหาคือ มันยังเข้าสมาธิไม่ได้

หลวงพ่อ : ถ้าสมาธิเข้าไม่ได้ เราก็ใช้ปัญญาอบรม ใช้ปัญญาเห็นไหม ฟังนะ.. เวลาเข้าสมาธิ ถ้าเข้าสมาธิแล้ว มันจะเข้าถึงมัน ทีนี้มันอยู่ว่าถ้าเข้าไม่ถึงสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมด้วยสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบแล้ว เราใช้ปัญญาของเรา ปัญญาไล่เข้ามา ไล่เข้ามาว่า ความผูกพัน ความติดความยึดติด มันเกิดจากอะไร ถ้าความยึดติด พอความยึดติดๆ ความยึดติดคืออารมณ์ไง

ที่เข้าสมาธิไม่ได้คืออารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกมันคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วเสียงอย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้ มันคืออะไร เห็นไหม ไล่เข้ามา นี่ใช้ปัญญาอย่างนี้ได้ พออย่างนี้มันก็ปล่อยความยึดติด พอปล่อยความยึดติดจิตก็ละเอียดเข้ามา หมายถึงเข้าสมาธินั่นแหละ มันมีปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา

โยม : แต่ก่อนก็ทำอย่างนี้

หลวงพ่อ : แต่ก่อนทำอย่างนี้ ก็ต้องกลับมาทำอย่างนี้อีก! ไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้ไปแล้ว มันใช้อย่างนี้แล้วจะไม่ใช้อีก แต่ก่อนพ่อแม่บดข้าวให้กิน เดี๋ยวนี้ก็ยังหุงข้าวกินเองอยู่ ตรงนี้สำคัญมาก ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติบอกว่าเคยทำอย่างนี้แล้ว จะไม่ทำอย่างนี้อีก หลวงตานะ ท่านบอกว่า “ท่านจิตเป็นสมาธิตลอดเวลา หลวงปู่มั่นบอก จิตเป็นสมาธิอย่างนี้ มันเป็นเศษ เป็นความสุขเศษเนื้อติดฟัน”

ท่านก็บอกว่า “ถ้าความสุขเศษเนื้อติดฟันแล้ว สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้ามันจะอ้างอิงที่ไหน”

หลวงปู่มั่นบอกว่า “สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้ามันไม่มีสมุทัย ไม่มีตัณหาทะยานอยาก ไม่มีสมุทัยคือกิเลสมันบวกมาโว้ย.. จิตของท่านน่ะมีกิเลส”

คือว่าจิตใต้สำนึก มันมีกิเลสบวกมาโดยท่านไม่รู้ตัว เห็นไหม อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นสัมมาสมาธิ เพราะมันมีตัณหาความทะยานอยากอยู่น่ะ ท่านก็สะอึกเลย

ท่านถึงใช้ออกค้นคว้านะ พอออกค้นคว้าไปเสร็จแล้ว ปัญญามันเกิดละ พอปัญญาเกิด มันก็ปัญญามันเกิด ใช้ปัญญามาก เพราะเห็นโทษของการติดสมาธิ พอเห็นโทษของการติดสมาธิ ปัญญาก็หมุนไปเต็มที่เลย จนมันใช้สมาธิไปมาก มันก็ฟั่นเฟือนเห็นไหม บอก อู๋.. มันพิจารณาแล้วมันไม่ลง ไปหาหลวงปู่มั่นอีกแล้ว

“บอกให้ใช้ปัญญาๆ ตรงนี้ใช้ปัญญาแล้วนะ ตรงนี้ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยนี่”

“ไปไอ้บ้าสังขาร! ไอ้บ้าสังขาร! ”

“อ้าว.. บ้าสังขารอย่างไร ถ้าบ้าสังขาร ถ้าไม่ได้ใช้ปัญญามันก็ฆ่ากิเลสไม่ได้”

“นั่นล่ะ ไอ้บ้าสังขารน่ะ”

ท่านพูดให้คิด พอได้คิดปั๊บ “เอ๊ะ.. ท่านพูดน่ะถูก”

ท่านก็กลับมาพุทโธๆๆๆ จนจิตสงบเห็นไหม เขาไม่ลืมพุทโธ! เขาไม่ลืมพื้นฐาน เขาไม่ลืมข้าวที่พ่อแม่บดให้กิน ไอ้นี่พอโตขึ้นมาแล้ว ลืมข้าวลืมปลา แล้วบอกว่ามันผ่านมาแล้ว ทำมาแล้ว จะโตมากมายขนาดไหน มันก็ทิ้งสมาธิไม่ได้ ทิ้งพื้นฐานนี้ไม่ได้ ถ้าเพราะทิ้งพื้นฐานมา ทิ้งพื้นฐาน ทิ้งความสงบของใจ มันถึงได้เร่ร่อนอยู่อย่างนี้ไง

โยม : มัน..ก็คือตอนนั่งแรกๆ มันก็ดูลมไปก่อน แล้วมันก็สัป(หงก) พอสัป(หงก)ปั๊บ ตอนหลังผมก็ลืมตาเลย ลืมตานั่งเฉยๆ อย่างนี้ ดูสิว่าปกติน่ะ มันจะเลิกนั่งก็คือแบบมันทนปวดไม่ไหวจริงๆ ถึงจะเลิก แต่นี้ ลืมตาขึ้นมา อ้าว.. ๒๐ นาทีเอง แล้วปวดก็ไม่ปวด แต่ใจมันสั่น มันจะไม่เอาแล้ว แล้วเราก็นึกเอาไงต่อ ก็นั่งพุทโธ ลืมตาพุทโธไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ก็ไปอย่างนี้ แต่มันก็เหมือนกับว่า มันไม่ได้เลยไงหลวงพ่อ ลืมตาพุทโธๆๆ ก็นั่งลืมตา

หลวงพ่อ : มันเหมือนนักมวย เหมือนนักมวยขึ้นไปชก ไปชกกับคู่ต่อสู้ แล้วไม่มีพี่เลี้ยงไง ชกไปเลย แล้วหมดเวลาไปยกๆ หนึ่ง เพราะมันไม่มีโค้ช ไม่มีพี่เลี้ยงคอยบอกเทคนิคไง พอไม่มีพี่เลี้ยงบอกเทคนิค เราแก้เกมไม่ได้ไง ขึ้นไปเลย เจอหมัดสวนเข้าหน้าทุกทีเลย แล้วเราหลบไม่ถูก แล้วก็ปั๋งๆ เราแก้ไม่ถูกของมัน แบบว่า เราสู้โดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์ไง กิเลสมันก็ชกหน้าทุกเที่ยว เดินเข้าไป มันก็สวนเข้าหน้าตลอด แต่เราก็ยังลืมตาสู้อยู่ เพราะเราไม่มีเทคนิคการแก้หลบหมัดนี้ได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรานั่งไปแล้ว เราไม่มีทางแก้ได้ เราก็ยังดี ยังสู้อยู่ แต่นี่มันสู้อยู่ ถ้ามีครูบาอาจารย์ก็กลับไปถามครูบาอาจารย์นี่ไง หลวงตาท่านพูดประจำ “ถ้าขาดครูบาอาจารย์นะ อย่างน้อยก็ทำให้เสียเวลา” กว่าจะแก้ได้นะ ต้องใช้ปัญญาของตัวน่ะ แก้แล้วแก้อีก กว่าจะแก้ปัญหานี้จบ บางทีไม่เชื่อครูบาอาจารย์นะ เราต้องพิสูจน์กันเป็นปีๆ เลย กว่าจะแก้ประเด็นๆ เดียว

๑ ทำให้เสียเวลา

๒ ถ้าพูดถึง ถ้าเราใช้ปัญหาของเรา เราใช้การแก้ไขของเรา ถ้าเรามีความเข้าใจผิดนะ เราจะออกนอกทางไปเลย

นี่ไง ครูบาอาจารย์มีผลตรงนี้ไง

พอเราสู้แล้ว ใช่..มันสู้แล้วขนาดไหน นี้ถ้ามันอย่างที่ว่าเมื่อกี้น่ะ ไอ้อย่างที่เราพูดเมื่อกี้ ไอ้เรื่องข้าวที่พ่อแม่บดให้กิน ก็โยมพูดคำนี้ออกมา คำว่า แต่ก่อนก็ใช้อย่างนี้แล้วได้ประโยชน์ แต่เพราะความจริงน่ะ ความรู้สึกของคนน่ะ คิดว่าสิ่งนี้เราเคยทำมาแล้ว มันเป็นพื้นฐานของพื้นฐาน เราคิดว่ามันไม่มีคุณค่าไง แล้วเราไปคิดว่าอย่างอื่น มันควรจะทำอย่างอื่นต่อเนื่องขึ้นไป ที่มันเป็นที่สูงกว่า แต่คนคิดผิดหมดเลย

ไอ้พื้นฐานนั่นแหละ มันเป็นสติ มันเป็นการยับยั้ง ที่ให้เรามีกำลังขึ้นมา ได้ต่อสู้นี้ มันต้องกลับไปตรงนั้น มันถึงเป็นการกระตุกให้ความรู้สึกของเรามีเทคนิค อย่างเช่น ขึ้นไปกิเลสมันก็สวนเข้าหน้าทุกที ก็มีสายตาเห็นหมัดมา ก็หลบนิดเดียว มันก็ไม่โดนแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีความรู้สึกอย่างนี้ ถ้ามันกลับไปที่ใช้ปัญญาครั้งแรก เห็นไหม ที่บอกว่าเคยทำมาแล้วนั่นน่ะ เพราะเคยทำมาแล้วมันถึงมีพื้นฐานมา ฉะนั้นพอมันมีประเด็นนี้ มันชกเข้าหน้า ก็แค่หลบ ก็ได้พื้นฐานอันนั้นน่ะ ทำไมไม่เอาพื้นฐานอันนั้นมาใช้

โยม : ก็มันไล่แล้วหาไม่เจอ ถ้าหาเจอไม่มาหาหลวงพ่อหรอก ก็ดู เอ๊ะ.. มันสั่นมาจากไหน มันกลัวตายหรือเจออะไรกระทบมาไหม วันนี้มีอะไร อะไรอย่างนี้

หลวงพ่อ : ใช่..นี่เราพูดยกประเด็นให้เห็นไง ว่าบางทีพื้นฐาน เขาเรียกอะไรรู้ไหม เขาเรียกเส้นผมบังภูเขา บางอย่าง มันอยู่กับเรานี่แหละ อย่างเช่น.. หลวงปู่มั่นไปเทศน์ที่วัดเจดีย์หลวง หลวงตาพูดประจำเลยว่า

“เวลาท่านเทศน์น่ะ จนโอ้โฮ จนร่ำลือนะ จนเขาว่าพระทะเลาะกัน เพราะว่าท่านพูดอะไร โอ้โฮ..จนญาติโยมซึ้งใจมาก” แล้วพอเทศน์จบ

สมเด็จมหาวรวงศ์พิม ท่านพูดน่ะ “ว่าหลวงปู่มั่นนะ ท่านไม่เทศน์อะไรไกลหรอก ท่านเทศน์เรื่องชีวิตประจำวันที่เราเห็นๆ อยู่ทุกวัน”

เรื่องพื้นฐานทั้งนั้น แต่เวลาท่านเทศน์ กินใจมากเลย ไอ้ชีวิตประจำวันเราก็ใช้อยู่ แต่เราไม่เห็นคุณค่าของมัน ต้องให้หลวงปู่มั่นมาสอน ไอ้นี่ก็ย้อนกลับมาที่เรา ไอ้ที่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเราเอามาใช้เป็นประโยชน์นะ อื้อฮือ..มันปลดได้เลย นี่คนมันมองข้าม คนมันไม่ใช่มองข้ามหรอก มันคิดไม่ถึง นี่เส้นผมบังภูเขา กิเลสมันหลอก

โยม : ตอนนี้แก้โดยเดินเป็นหลัก

หลวงพ่อ : ใช้ได้ไปก่อน

โยม : ไม่รู้ว่าจะทำไง

หลวงพ่อ : ใช่ ก็ยังดี เดินไปก่อน เดินไปก่อน แล้วก็ ประสาเรานะ เดินไปก่อน แล้วถ้าจิตใจมันดีขึ้นมา ปัญหานี้มันจะต้องหลุด เสื่อมได้ก็เจริญได้ เจริญได้ก็เสื่อมได้ เสื่อมได้ก็ต้องเจริญได้ สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ของอย่างนี้เป็นอนิจจัง เว้นไว้แต่เรื่องกรรม คำว่ากรรม บางคนแก้ได้ง่าย บางคนแก้ได้เร็ว แก้ได้ช้า คำว่ากรรมๆ คนสร้างมาเห็นไหม

คนเชื่อมั่นตนเองสูงเห็นไหม พอความเชื่อมั่นตัวเองสูงเพราะอะไร เพราะเราสร้างของเรามา ด้วยปฏิภาณไหวพริบเรา ทำให้เราเชื่อมั่นเรามาก นี้พอไปเจอสิ่งใดเข้า มันก็เชื่อมั่นมาก มันก็ยึดมาก กว่ามันจะแก้ กว่าจะแก้หมายถึงว่า เราต้องมีเหตุมีผล เพราะคนเชื่อมั่นตัวเองสูง มันก็ต้องมีเหตุมีผลสูงพอสมควร มันถึงจะปล่อยประเด็นนั้นมาได้ มันอยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่ความเชื่อมั่นของคน อยู่ที่เหตุที่ผล

เหมือนในทางนักธุรกิจเลย ทำวิจัยตลาดขึ้นมา ใครเห็นโอกาส ใครทำได้ก่อน คนนั้นจะประสบความสำเร็จ อันนี้ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติของเรา ถ้าเรามีความรู้ความเห็นของเรา โดยแก้ไขของเรา ถ้าเรามีความรู้สึกของเรา เราจะแก้ไขของเราได้ก่อน แต่แก้ไขได้หมด ช้าหรือเร็ว แล้วถ้าไม่ช้าหรือเร็วอย่างเดียวนะ ถึงจะเราไม่แก้ไขนะ อันนี้ก็ต้องหายไป ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราเลิกปฏิบัติแล้ว เราไม่ปฏิบัติ อันนี้มันก็ไม่อยู่กับเราหรอก

ไอ้สิ่งที่กวนใจอยู่นี่ มันก็ไม่อยู่กับเราหรอก เพียงแต่ไม่อยู่กับเรา โดยที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้เห็นด้วยปัญญาของเรา จิตใจเราไม่ได้พัฒนา มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก แต่ถ้าเรามีจิตใจที่เราพิจารณาอยู่นี่ เข้าไปเผชิญหน้ากับมัน แล้วแก้ไขมัน นี่ไง “ธรรมโอสถ” ถ้าธรรมโอสถเราได้ใช้ เราได้เห็นขึ้นมา พัฒนาการของจิต อันนี้จะฝังในจิตไปเลย ถ้าฝังในจิตไปเลย จิตมันจะพัฒนาของมันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ขึ้นไป

วุฒิภาวะมันจะมีเลย ว่าสัมมาสมาธิเป็นอย่างนี้ มิจฉาจะเป็นอย่างนี้ เหตุการณ์เกิดก่อนจะเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าผ่านเหตุการณ์อย่างนี้ไป ต่อไปสอนคนอื่นได้เลย เพราะเราเจอปัญหานี้มาก่อน ครูบาอาจารย์ที่มาสอน ต้องเจอปัญหามาทั้งนั้นน่ะ แล้วท่านแก้ของท่านมาได้อย่างไร ถ้าไม่เคยเจอปัญหา แก้ไม่ถูกหรอก แล้วแก้ไม่ได้ด้วย

พระภาวนาเป็นไม่เป็นน่ะ แหม.. แก้ไม่ได้หรอก เพราะกูไม่รู้ กูไม่เคยเห็น กูให้แก้เลย กูอ่านตำราน่ะ ตำราก็บอกว่าอีกอย่างหนึ่ง ก็กูก็ไม่เคยเห็นน่ะ

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา โธ่..ไปพูด ผลัวะ! เลย เพราะครูบาอาจารย์แต่ละองค์นะ ก็อย่างว่าล่ะ.. หัวชนภูเขามาทั้งนั้นน่ะ แล้วมีของใครเข้ม.. ของใครอ่อนอีก.. ถ้าเข้มขึ้นมานะ มันก็ซัดมึงเต็มๆ ล่ะ ถ้าเข้มหมายถึงว่าเข้มข้น หมายถึงว่าจริตนิสัยมันสร้างมาอย่างนั้น มันก็ต้องต่อสู้กันหัวหกก้นขวิดเลย แต่ถ้ามัน อย่างว่าละเอียดอ่อนบ้าง เบาบางน่ะ มันก็มีปัญหาของมัน

การปฏิบัติไม่มีปัญหาไม่มี เพราะการปฏิบัติ มันก็คือการเข้าไปเผชิญกับปัญหานั่นแหละ เราเองต่างหาก จะเข้าไปเผชิญกับมัน แล้วต่อสู้กับมันอีกต่างหากเลยล่ะ ฉะนั้นมันก็ต้องมีอยู่แล้ว ถ้ามีอยู่แล้วก็ต้องสู้กัน การสู้กัน นี่วิปัสสนา คือการต่อสู้กับกิเลส แล้วเรา ประสาเรานะ เราว่ามีคุณค่าถ้าไม่ได้ทำอย่างนั้น มันก็ประสาเราไม่ใช่ชาวพุทธ เหมือนคนเป็นโรคทั้งหมด แล้วไม่ได้รักษาตัวเอง

นี่เราเป็นโรคทั้งหมด เรารักษาตัวเรา ใครมันจะว่า มันจะดีจะเด่มันจะเป็นคนอย่างไร ก็ช่างหัวมันน่ะ เราก็จะสู้ของเรา ทำไม แล้วนี่มันเห็นเองรู้เอง ใครหลอกใครกัน มันก็เผชิญกับเรา เห็นไหม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกเลย ก็กูเผชิญหน้า ก็ชกกันซึ่งๆ หน้า แต่คนไม่เห็นกับเรา ธรรมกับกิเลสมันซัดกันอยู่ในหัวใจ เราพูดบ่อย ไอ้เด็กเล่นเกมส์ มึงสู้กูไม่ได้หรอก กูมันส์กว่าเยอะเลยล่ะ เวลาซัดกันอยู่ข้างในน่ะ

โยม : อย่างนี้ อยู่ดีๆ มันก็เป็นขึ้นมาเอง

หลวงพ่อ : เป็น.. ไม่ใช่เป็นขึ้นมาเองหรอก

โยม : ท้องฟ้าแจ้งๆ อยู่ดีๆ ก็เหมือนเมฆมันมาปิดไว้เฉยๆ คือบางที สติมันก็อ่อนลงมาเองเฉยๆ

หลวงพ่อ : มันเสื่อมไง มันเกิดอย่างที่พูดเมื่อกี้ เข้มข้นหรืออ่อนแอ แล้วเข้มข้นขึ้นมา มันอย่างนี้ เวลามันอยู่ฟ้าแจ้งๆ เลย พอมันก็มืดไปเฉยๆ อ้าว..มันเป็นของมันไป เพราะว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมนี่เป็นอนัตตา สติก็เป็นอนัตตา สติ เวลาเขาบอกว่าสติก็เป็นอนัตตามันไม่มี มันไม่ใช่

สติปัญญาเป็นอนิจจัง ใช่ไหม พอเป็นอนิจจัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมันเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา พอเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมมันแปรปรวนตลอดเวลา นี่คำว่าแปรปรวนน่ะ มันแปรปรวนลักษณะของสิ่งใด ฉะนั้นสิ่งนี้มันแปรปรวนเห็นไหม เพราะเอ็งเชื่อไหมว่าพระอาทิตย์ขึ้นมามันไม่ตก.. ไม่มีใช่ไหม พระอาทิตย์มันขึ้นแล้วตก ทีนี้ อยู่ดีๆ พระอาทิตย์มันขึ้นมาเพราะเราสร้างมันขึ้นมา พระอาทิตย์ขึ้นและตกมันเป็นธรรมชาติ

แต่ปัญญาสติปัญญา เราสร้างมันขึ้นมา เราสร้างหมายถึงว่าเราตั้งสติขึ้นมา เราฝึกฝนเราขึ้นมา แต่มันจะคงที่อย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก นี้เพราะเรารักษาหรือเราทำมันไม่ได้ มันถึงเสื่อมไป คำว่าเสื่อม มันเสื่อมไปเพราะว่าการรักษาของเรา มันรักษาได้ไม่ดีอย่างหนึ่ง มันเสื่อมไปเพราะเวรเพราะกรรมมันอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเรามันเสื่อมไปแล้วก็แล้วกันไป

หลวงตาบอกเลยนะว่า “จิตเสื่อมนะ เหมือนเศรษฐี มหาเศรษฐีล้มละลาย” การปฏิบัติของจิตเสื่อมนะ มันยากกว่าผู้ปฏิบัติใหม่อีก อย่างเรา เตาะแตะ เก็บเล็กผสมน้อย เราจะสร้างเนื้อสร้างตัวเราไปได้ พอสร้างเนื้อสร้างตัวได้จนมั่นคงแล้ว มันเกิดเหตุการณ์กระทั่งทำให้ทรัพย์สินนี้หมดไปเลย จนกระทั่งรอบใหม่ มันแหยงไหม

นี่หลวงตาเวลาท่านพูดถึงจิตเสื่อมมันเป็นอย่างนี้ แล้วท่านเป็นอย่างนี้มาหลายรอบ ท่านเองเป็นมาหลายรอบ เวลาจิตเสื่อม ท่านบอกว่า

“จนรักษาตอนหลังพอจิตเสื่อมมันก็เลยเข็ด พอเข็ดแล้วท่านก็พุทโธตลอดเลย แล้วท่านบอกเลยจะเสื่อมหรือไม่เสื่อม ไม่เกี่ยว อยู่กับพุทโธตลอดเวลา” คือเราไม่ไปวิตกกังวล ไม่กดดันตัวเองเรื่องเหตุเรื่องผลละ เราจะรักษาตัวเราเองด้วยสติด้วยคำบริกรรมของเรา

แล้วท่านพูดเองนะ พอจิตมันดีขึ้นมานะ ท่านบอกเลยนะ “อยู่กับพุทโธตลอดเวลาเพราะมันเข็ด จะรักษาจิตนี้ไว้ แล้วจะไม่ยอมให้เสื่อม ถ้าเสื่อมวันไหน จะฆ่าตัวตายเลย” หลวงตาน่ะ “ถ้ามันเสื่อมวันไหนนะ เราจะฆ่าตัวตาย เราจะไม่ยอมเลย” นั้นคนไม่ยอมขนาดนั้น มันก็ต้องรักษาอย่างยอดเยี่ยม เห็นไหม

โยม : อย่างนี้ก็คือ ลุยอย่างเดียว (ใช่..) ไม่ต้องไปไล่เหตุมาจากไหนแล้ว

หลวงพ่อ : ใช่.. อันนี้มันอยู่ที่จริตนิสัยไง ของท่าน ท่านเอาอย่างนี้ไง แล้วนี่เราพูดกับโยม เราพูดไว้เสนอเป็น ๒ ทาง ถ้าพุทโธ ก็พุทโธอยู่กับมัน ลุยกับมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วนี่ถ้าลุยอย่างนั้นน่ะ เดี๋ยวโยมกลับไป โยมจะมาหาเราเลย โอ๋ย.. หลวงพ่อ เครียดมากเลย เครียดมากเลย เราถึงเสนอเรื่องปัญญาไว้ไง เพราะมันมีปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา มันอยู่ที่นิสัย กรณีอย่างนี้หลวงตาท่านเจอบ่อย แล้วท่านเทศน์ทุกวันเลย

แล้วเราฟัง เราซึ้งมากเลย รู้ไหมเพราะอะไร เพราะว่ามันเหมือนกับประสบการณ์มันมีด้วยกัน มันฟังแล้ว อย่างเขาไปเห็นเสือมา แล้วโยมมาบอกว่า เฮ้ย.. เขาเห็นเสือ เราเห็นมาตัวนั้น เขาเห็นตัวเดียวกัน เห็นไหม มันชัดเจนไหม นี้ไอ้คนไม่เคยเห็นเสือเลย พอคนอื่นพูดเห็นเสือ มันเลยฟังหลวงตาพูด เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่รู้เรื่องอะไรเลยไง มันไม่ได้เอามากินใจไง

หลวงตาน่ะท่านพูดอารมณ์อย่างนี้ ท่านบอกอยู่ว่าท่านเคยเสื่อม ท่านเคยทุกข์เคยยากมา เห็นไหม แต่เราฟังแล้วก็เหมือนนิทาน เออ..เออ.. ไปอย่างนั้น แต่พอเสื่อมแล้ว ท่านก็พูดอยู่ แล้วตั้งสติก็เอาที่ท่านพูดนะมาเทียบ พอเทียบเสร็จแล้ว เราก็หาหนทาง เห็นไหม เราจำน่ะ เวลาเราฟังเทศน์เมื่อก่อนนะ ตอนปฏิบัติเราจะฟังจะจำตลอดเลยว่าวิกฤตอย่างนี้ แก้ด้วยอะไร เหมือนกับหมอเรียนนักศึกษาแพทย์เลย ว่าโรคนี้ต้องใช้ยาอย่างนี้ โรคอย่างนี้ต้องใช้ยาอย่างนี้

เราฟังหลวงตาเวลาฟังท่านเทศน์น่ะ เมื่อก่อนเราฟังจำแบบนี้นะ แต่พอเราปฏิบัติไป เราแก้ไขของเราไปได้บ้าง อะไรได้บ้าง มันยิ่งฟังมันรู้เลย เหมือนกับหมอ พอใช้ยาอย่างนี้มันก็เหมือนกันเห็นไหม นักศึกษาเหมือนกันเห็นไหม ก็ต้องรู้เหมือนกันเลย เวลาคนไข้มา ต้องใช้ยานี้ ให้ยานี้ๆๆ แต่ไอ้คนไม่เคยเป็น ครูพักลักจำเป็นหมอเถื่อน มันก็ยังจำไม่ดี มันยังไขว้เขวเลย

พอพูดออกมาแล้วเห็นไหม หลวงตาท่านก็เจริญแล้วเสื่อม เราจะบอกผู้ปฏิบัติ เป็นอย่างนี้ทุกคน เพียงแต่เขาไม่มาพูดอธิบายให้เราฟังจนปากเปียกปากแฉะเหมือนเรานี่ไง แล้วไอ้เราไม่ได้ฟัง เราก็ไปน้อยใจอยู่คนเดียวว่าคนอื่นไม่เป็น มันไม่มีหรอก มึงเห็นศพมา มึงหัวหกก้นขวิดมาทุกคนน่ะ ไม่.. เออ.. เราเรียนมาเกือบตาย ไม่มีใครเรียนมา มันบอกมันจบมาด้วยกับเรา มันจะทำงานได้อย่างเราไหม

ปฏิบัติไป มันมีอุปสรรคเยอะมาก เพราะมีอุปสรรค ใครมีอุปสรรคมาก แล้วใครผ่านอุปสรรคนั้นมาน่ะ คนนี้จะมีความชำนาญมาก แล้วต่อไปจะแสดงธรรม จะช่วยเหลือคนได้เยอะมาก เพราะเราได้ผ่านอุปสรรคมามาก แล้วใครมานี่ คนนี้อุปสรรคอย่างหนึ่ง คนนี้อุปสรรคอย่าง คนนี้อย่างหนึ่ง เราก็แก้ของเราไปได้

โยม : อย่างนี้ถ้าไม่บวช ไม่มีสิทธิ์เลยนะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : แหม.. ถ้าบวชนะ แล้วทำด้วยความไม่จริง ไอ้บวชไม่บวชน่ะ มันเป็นกรณีหนึ่ง บวชเราจะบอกว่าคำว่าบวชหรือไม่บวช มันดีอยู่กรณีเดียวคือมีศีลมากกว่า สมบูรณ์กว่า ศีลมากกว่ามันก็เหมือนกับศีล ๒๒๗ กับศีล ๑๐ ศีล ๘ อะไร มันแตกต่างกันตรงนี้นิดหนึ่ง แต่! แต่ศีล ๕ ก็เป็นพระอรหันต์ได้ พระเจ้าสุทโธทนะก็เป็นพระอรหันต์ไง พระภัททิยะ เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้นน่ะ แล้วนี่ถ้าบวชไม่บวช บวชคือว่าศีลมากกว่า อะไรมากกว่า สถานะ เหมือนสถานะที่จะทำงานมีโอกาสมากกว่า เท่านี้เองนะ

นี้พอปฏิบัติ มีสถานะที่จะได้ แต่มึงทำไม่ถึง มันก็ทุกข์อีก เราจะบอกว่า บวชหรือไม่บวช จะเป็นพระอรหันต์ หรือจะปฏิบัติได้ผลไม่ได้ผลน่ะ อีกกรณีหนึ่ง เพียงแต่บวชโอกาสมากกว่า แน่นอน ใช่.. พื้นฐานดีกว่า ใช่.. แต่คนที่พื้นฐานดีกว่า สถานะดีกว่า แล้วปฏิบัติไม่ได้ผล เอ็งเห็นไหม ในสังคมสงฆ์เยอะแยะไป นี่มันก็เป็นความสงสัยนะ พอมันติดขัดนะ เออ.. ต้องบวชดีไหม อะไรอย่างนี้ นี่กิเลสมันปั้นมา ปั้นเรื่องมาให้ได้ขบคิดตลอดเวลา ตั้งสติแล้วสู้มัน เออ.. โอเค จบ