ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

โอปนยิโก

๑๘ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

โอปนยิโก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้มันเป็นปัญหาโลกแตกเลยนะนี่ มันเป็นข้อ ๒๙๒. เนาะ เอาแต่หัวเรื่อง

ถาม : ๒๙๒. เรื่อง “ทำให้พ่อแม่ทุกข์ใจจนน้ำตาตกนั้นเป็นกรรมหนักกั้นสุขคติภูมิหรือไม่”

ตั้งแต่เด็กจนโตผมได้เห็นแม่ทุกข์ใจกับหลายเรื่องในชีวิต ทั้งเรื่องหนี้สิน และปัญหาที่ในครอบครัวได้ก่อขึ้นทำให้แม่โกรธและเสียใจ ผมเคยเห็นแม่น้ำตาตกเพราะพี่สาวพี่ชายทำให้แม่เสียใจมา เวลามีปัญหาอะไรผมจึงไม่กล้าบอกแม่ ไม่กล้าเล่าให้แม่ฟัง จนโตได้เรียนมหาวิทยาลัยแม่ห่วงผมมาก ไม่อยากให้ผมมีปัญหา แม่อยากให้ผมเรียนจบเพื่องานดี แต่ผมกลับไม่ตั้งใจเรียน สนใจแต่เรื่องอื่นมากเกินไปจนผมเรียนไม่ผ่านหลายวิชา รู้ว่าไม่ได้ออกฝึกงานพร้อมเพื่อนแน่ แต่ไม่กล้าบอกแม่ โกหกแม่ว่าจะได้ฝึกงาน ใกล้วันฝึกงานผมก็ไม่รู้ว่าจะบอกแม่อย่างไร จนพี่สาวสืบทราบแล้วไปบอกแม่ แม่เสียใจมาก แม่บอกว่าในบรรดาลูกทุกคนผมทำให้เจ็บแสบและเสียใจที่สุด ถึงแม้แม่ไม่ร้องไห้ต่อหน้าผม แต่ผมก็รู้ว่าแม่เสียใจที่สุด และผมก็เสียใจมากที่ได้ทำความผิด รู้สึกละอายใจ

อีกด้านหนึ่งผมชอบฟังธรรมะ พยายามสูดลมหายใจเข้าออก เดินจงกรม นั่งสมาธิ ศรัทธาแนวทางปฏิบัติของครูบาอาจารย์สายป่า และสุปฏิปันโนหลายองค์ ผมมีความตั้งใจว่าจะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นปัจจัยให้ไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิด หากต้องเวียนตายเวียนเกิด ก็ขอให้เกิดในสุขคติภูมิ ทุกวันผมจะอุทิศกุศลให้พ่อให้แม่ แต่อีกด้านหนึ่งผมกลับเป็นคนทำให้แม่ทุกข์มาก

(คำถาม) การทำให้พ่อแม่เสียใจจนน้ำตาตกนั้นตัดสุขคติภูมิไปเลยหรือเปล่าครับ หากผมต้องตกนรกอย่างไม่มีเงื่อนไข นอกจากขอขมาโทษต่อพ่อแม่แล้ว สร้างบารมีตามสมควรแล้ว ผมควรทำอย่างใดให้จิตใจไม่เศร้าหมอง ใจจริงแล้วผมไม่อยากตกนรกครับ

หลวงพ่อ : นี่ไง เห็นไหม เวลาพูดนี่พูดทางวิทยาศาสตร์ เราจะบอกว่าเวลาพูดทางวิทยาศาสตร์ ว่าทำให้แม่เสียใจเป็นบาปไหม.. เป็น ! เป็นบาปแน่นอน.. ไม่ต้องทำกับแม่หรอก ทำให้ใครทุกข์ก็แล้วแต่ ทำกับสัตว์เดรัจฉาน ทำกับอะไร นี่ทำชั่วต้องได้ชั่ว ทำชั่วต้องให้ผลเป็นชั่ว เราทำให้เขาเจ็บใจมันเป็นผลชั่วอยู่แล้ว ยิ่งกับพ่อแม่มันยิ่งให้ผลแน่นอน

กับพ่อแม่นี้ให้ผลแน่นอนนะเพราะพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่มีบุญมีคุณมาก แล้วถ้าเราทำให้พ่อแม่เสียใจนี่เป็นบาปไหม.. เป็น ! เป็นแน่นอน.. นี้คำว่าเป็นแน่นอนเราจะบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ไง วิทยาศาสตร์เขาบอกว่า “อย่างนี้ผมต้องตกนรกแน่นอนใช่ไหม” ไอ้ตรงนี้มันทุกข์มากไง ทุกข์ว่าเวลาเราทำผิดไปแล้ว..

“ทุกวันนี้ นี่อีกด้านหนึ่งผมเจริญภาวนา ในการทำให้พ่อแม่เสียใจนั้นจะตัดสุขคติภูมิไปเลย (คือตัดคุณงามความดีไปเลยไง) ตัดสุขคติภูมิไปเลยหรือเปล่าครับ.. หากผมต้องตกนรกอย่างไม่มีเงื่อนไขจริงๆ”

ถ้าผม.. เห็นไหม มันตัดสุขคติภูมิไปเลยแล้วต้องตกนรกโดยไม่มีเงื่อนไขจริงๆ นี่มันเป็นอย่างนี้ไหม.. ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่เพราะเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพราะเราคิดว่าทำชั่วต้องได้ชั่ว.. ใช่ ! ทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่ ! แต่เรายังไม่ตาย เรายังไม่ตายเราทำความดีได้ ถ้าเราทำความดีขึ้นมาแล้ว ความดีไม่ลบล้างความชั่วหรอก แต่ความดีมันจะมาเจือจานไง ถ้าพูดถึงว่าตอนนี้เราทำความชั่วนะ แล้วจิตใจเราเศร้าหมองอย่างนี้นะ เราตายตอนนี้ตกนรกแน่นอนเลย เพราะอะไร เพราะใจมันยึดอารมณ์ไง ยึดความทุกข์ ยึดอารมณ์ยึดเงื่อนไขอันนี้.. นี่มันไปตามเงื่อนไข กรรมคือเงื่อนไข เราทำเงื่อนไขสิ่งใด ผลจะตอบสนองตามเงื่อนไขนั้น

ทีนี้เงื่อนไขอย่างนี้ เห็นไหม นี่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“อริยวินัย.. ผู้ใดทำความผิดแล้วรู้สำนึกผิด แล้วแก้ไข นี่คืออริยวินัย !”

วินัยให้แก้ไข เราทำให้แม่เจ็บช้ำน้ำใจแล้ว เราก็ทำให้แม่ดีใจได้ ถ้าเราทำให้แม่ดีใจขึ้นมา เห็นไหม ทำให้แม่มีความดีใจมีความสุขใจนี่.. ไอ้กรรมอันนั้นก็คือกรรมอันนั้น แต่มันดีกว่าเราระลึกไม่ได้ไง.. อริยวินัยคือเราระลึกได้ เราระลึกได้ว่าเราทำความผิด เราระลึกได้ว่าเราทำสิ่งที่ไม่ดี แล้วเราแก้ไขให้มันถูกต้องขึ้นมา นี่มันแก้ไขได้ !

พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ พระพุทธเจ้าสอนปัจจุบันธรรม สิ่งที่ทำความผิดมา สิ่งที่เราทำให้พ่อแม่เสียใจนี่ผิดไหม.. ผิด ! ผิดแน่นอน.. แต่ความผิดนั้น ไม่ใช่เอาความผิดนั้นมาเป็นกรอบ ครอบงำชีวิตเรา จนชีวิตเรานี้แก้ไขอะไรไม่ได้เลยเหรอ.. นี่เราทำความผิดมาด้วยความเสียใจ เราก็เสียใจแน่นอน ใครก็เสียใจทำความผิดเนี่ย ยิ่งมาระลึกรู้อย่างนี้มันก็เสียใจ มันก็คือความผิดก็เสียใจแล้วใช่ไหม แต่ความเสียใจนี้เราแก้ไข เราเอาเป็นเงื่อนไขพลิกให้เราทำคุณงามความดีสิ

ทำให้แม่เสียใจก็ทำใหม่ทำให้แม่ดีใจสิ ทำให้ประสบความสำเร็จ ให้ขยันเรียนอย่าเก ถ้าเราขยันเรียน.. อันนี้เขาบอกว่าเขาเที่ยวเล่นติดเพื่อน แต่ก็เสียใจ เห็นไหม ระลึกได้แต่เราทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราไม่เข้มแข็ง พอเราเข้มแข็งขึ้นมา แล้วพอมาระลึกสุดท้ายพอทำผิดไปแล้วนี่ก็มาเสียใจ แล้วเอาความผิดนั้นเป็นกรอบชีวิตเลย เอาความผิดนั้นมาบงการชีวิตเราเลย.. ชีวิตเรานี่มีการแก้ไขได้

หลวงตาท่านพูด ! หลวงตาท่านพูด เห็นไหม ว่าคนทำชั่วแล้วมันท้าทายว่าความชั่วไม่มี.. ความชั่วไม่มี นี่ให้ลมหายใจมันขาด.. พอลมหายใจขาดเมื่อไรมันจะให้ผลตามนั้น !

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อลมหายใจขาดคือมันหมดเวลาไง แต่ในเมื่อลมหายใจยังไม่ขาด.. ในเมื่อลมหายใจยังไม่ขาด เรายังมีชีวิตอยู่นี่เราแก้ไขได้ เราทำคุณงามความดีได้ เราเปลี่ยนแปลงได้ ในเมื่อเรารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นความไม่ดี เห็นไหม แล้วมันจะต้องตกนรก..

“ผมจะต้องตกนรกแน่นอนโดยไม่มีเงื่อนไขเลยเหรอ”

กรรมนี่นะ.. เราบอกวิทยาศาสตร์ เวลาเราพูดทางวิทยาศาสตร์พูดทางโลก.. โลก เห็นไหม โลกมองนี่เขาเรียกเถรตรง โลกนี้มองเถรตรงและต้องเป็นอย่างนั้น ทีนี้ถ้าเป็นอย่างนั้นนะ เวลาผิดพลาดมาแล้วแก้ไข เราจะยกตัวอย่างนะ ยกตัวอย่างพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะนี่เคยฆ่าแม่ เคยฆ่าแม่ด้วยความหลงผิด พอฆ่าแม่ด้วยความหลงผิดนี่ตกนรกอเวจีนะ พอตกนรกอเวจีขึ้นมา เป็นขั้นๆ ขึ้นมานะ พอขึ้นมาแล้ว พอขึ้นมานี่มาสร้างวาสนา มาสร้างเพราะปรารถนาเป็นอัครสาวกพร้อมกับพระสารีบุตร

นี่ก็สร้างบุญกุศล พอสุดท้ายแล้วเวลามาเกิดสหชาติ เกิดมาพร้อมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้มีฤทธิ์มีเดชมาก นี่มีฤทธิ์มีเดชมาก เห็นไหม เวลาบรรลุธรรมแล้วจะมาขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “นี่ไง.. อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาเรามาแล้ว” รู้เลยนะว่ามาแล้ว.. พอมาแล้วนะ พอตรัสรู้ขึ้นมาเป็นผู้ที่เผยแผ่ธรรม พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะเป็นมือซ้ายและมือขวา ช่วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากเลย

จนสุดท้าย.. นี้เราบอกว่าทำคุณงามความดี นี่เวลาฆ่าแม่ตกนรกอเวจี ฆ่าแม่ด้วยความหลงผิด นี่ไม่ได้ตั้งใจแต่ด้วยความหลงผิด ! ทีนี้พอตกนรกอเวจีขึ้นมาแล้ว นี่คือกรรมมันให้ผลแล้ว พอให้ผลแล้ว พอขึ้นมานี่ขึ้นมาก็ทำคุณงามความดี ความดีนี้มันแก้ไขๆ จนถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์เลย เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายด้วย แต่เวลาสุดท้ายเศษกรรม เห็นไหม เศษกรรมที่ว่าเวลาเผยแผ่ธรรมไป

เพราะสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีลัทธิต่างๆ ยึดพื้นที่ไว้หมดแล้ว พอเวลาเผยแผ่ธรรมขึ้นไปเขาก็ประชุมปรึกษากัน เขาพยายามจะต้านทานไม่ให้ศาสนาพุทธเป็นที่น่าเชื่อถือ แล้วต้องตัดกำลัง ถ้าตัดกำลังนี่ต้องทำที่ใคร ต้องตัดกำลังที่พระโมคคัลลานะ ก็เลยจ้างนักเลง ก็เหมือนเราจ้างมือปืนไปเก็บนั่นล่ะ ทีนี้พระโมคคัลลานะก็เหาะหนีๆ ตั้ง ๓ รอบ ๔ รอบ สุดท้ายแล้วมันเป็นเพราะอะไร อ๋อ ! เศษกรรม.. เศษกรรมที่ตัวเองฆ่าแม่ไว้

เวลาเขาจะมาฆ่าเหาะหนีได้ใช่ไหม แต่ครั้งสุดท้ายเขาจะมาฆ่านี่นั่งให้เขาฆ่าเลย เพราะเศษกรรมเขาทุบจนแหลกเลย นี่จิตใจพระอรหันต์มันถึงสำคัญตรงนี้ไง พอทุบจนแหลก ไอ้เราโดนทุบจนกระดูกหักหมด ตายนี่นะเราจะเจ็บไหม.. เจ็บ ! แต่ถ้าเจ็บแล้วเราเข้าสมาธิได้ไหม.. ไม่ได้ แล้วพระโมคคัลลานะเข้าสมาธิได้อย่างไร

พระโมคคัลลานะเขาทุบตายแล้วนะ พอเขาไปแล้วนี่รวมไง ด้วยจิตของพระโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์นี่รวมให้กลับมาเป็นปกติเหมือนกับไม่โดนอะไรเลย แล้วเหาะไปลาพระพุทธเจ้า เหาะไปลาพระพุทธเจ้าก่อน แบบว่าหมดอายุขัยแล้วไปลาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอก “สมควรแก่เวลาของเธอเถิด” แล้วพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมก่อน ให้แสดงธรรมสอนพระก่อน เสร็จแล้วพระโมคคัลลานะก็เหาะกลับมาที่เก่า เหาะกลับมาที่ตายนั่นล่ะ แล้วคลายฤทธิ์ออกนะ ไอ้ร่างที่ดีๆ นี่แหลกหมดเลย.. นี่ไงดูจิตสิ

ฉะนั้นถึงบอกว่าสิ่งที่ฆ่าแม่ เห็นไหม ตกนรกอเวจีนี่มันก็เป็นอันหนึ่ง.. แต่ถ้าเราทำคุณงามความดี คุณงามความดีเราทำได้ คุณงามความดีเราพยายามทำสิ่งนั้น เราแก้ไขได้.. เราแก้ไขได้ ไม่ใช่ว่าผมต้องตกนรกโดยไม่มีเงื่อนไขเลย.. แล้วผมไม่ยอมตกนรก ผมไม่อยากตกนรก !

เราศึกษาธรรมะกันแบบนี้ อย่างนี้พอคนทำผิดไปแล้วมันก็จะฝังใจ คนทำผิดไปแล้วมันมีกรรมไหม มันมีผลไหม.. มี ! หลบเลี่ยงไม่ได้ พระโมคคัลลานะเป็นตัวอย่างเลย.. พระพุทธเจ้า เห็นไหม พระพุทธเจ้าเวลาจะไปปรินิพพาน “อานนท์ เราหิวกระหายน้ำเหลือเกิน ตักน้ำให้เราฉันเถิด” พระอานนท์ไปเห็นน้ำขุ่นๆ ก็ไม่อยากตัก แต่นี้ด้วยว่าเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยตัก พอจะตักน้ำนี่น้ำตรงนั้นเฉพาะที่ตักใสหมดเลย

นี่ดูกรรมนะ.. ไปตักมาใสเลยแล้วมาถวายพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าฉันแล้ว พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้า “สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็น” เพราะมันตื่นเต้นไง พระพุทธเจ้าบอกว่า “มันเป็นอย่างนี้เอง” พระพุทธเจ้าไม่ตื่นเต้นเลยเพราะพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์นะ พระอานนท์ตอนนั้นเป็นพระโสดาบันยังไม่สำเร็จนี่ตื่นเต้นมาก พอตื่นเต้นมาก สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็น เพราะน้ำมันขุ่นหมดเลย เวลาจะไปตักทำไมมันใสขึ้นมา

นี่มันเป็นเพราะอำนาจวาสนาบารมีของพระพุทธเจ้า แล้วทำไมน้ำมันขุ่นล่ะ ทำไมบอกว่านิมนต์ให้พระพุทธเจ้าไปฉันข้างหน้าทำไมไม่ไป “อานนท์ ถ้าไปมันก็จะไปเจออย่างนั้นอีก” เพราะอะไร เพราะว่าเราเคยเป็นพ่อค้าวัวต่าง เห็นไหม แล้วดึงโคไว้ นี่เศษกรรมมันมี

ฉะนั้นเวลาว่าเราเชื่อกรรมๆ เราเชื่อกรรม ! นี่ทำกับแม่เจ็บช้ำน้ำใจมีโทษไหม มีผลไหม.. มี ! ถ้าไม่มีตอนนี้เราจะเศร้าใจเหรอ ไม่มีตอนนี้จะทุกข์ใจเหรอ.. มี ! แต่ ! แต่ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้ว เพราะว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว แล้วปัจจุบันนี้เราเข้าใจแล้ว เราเข้าใจแล้วแล้วเราระลึกได้แล้ว เห็นไหม เราถึงทำไง

คำถามเขาถามว่า “การทำให้พ่อแม่เสียใจจนน้ำตาตกนั้นจะตัดสุขคติภูมิไปเลยหรือเปล่าครับ แล้วผมจะต้องตกนรกโดยไม่มีเงื่อนไขจริงๆ เหรอ.. แล้วนอกจากการขอขมาลาโทษพ่อแม่แล้ว สร้างบารมีตามสมควรแล้ว ผมสมควรทำอย่างใดให้จิตใจไม่เศร้าหมอง จิตใจผมจะได้ไม่ตกนรกครับ ใจจริงผมไม่อยากตกนรกครับ”

นรก สวรรค์นี่มันเป็นภพ ! นรก สวรรค์ เห็นไหม หลวงตาบอกว่านรก สวรรค์นี้มันมีของมันอยู่แล้ว มันมีอย่างนี้.. พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ พระพุทธเจ้ามาเห็นวัฏฏะมันเป็นอย่างนี้เอง ฉะนั้นเขาไม่ให้โทษไม่ให้ภัยเราหรอก อย่างคุกตารางนี้มันก็มีของมันอยู่แล้วใช่ไหม เราไม่ทำผิดเราไม่ติดคุกหรอก คุกนี่เขาเอาไว้ขังคนผิด ถ้าเราไม่ทำผิดเราก็ไม่ติดคุก

นี่ก็เหมือนกัน นรกนี่.. ผมต้องตกนรกโดยไม่มีเงื่อนไขเหรอ จะตกนรกอเวจีหรืออะไรนี้เพราะเราทำความผิดพลาดด้วยความไม่มีสติ ด้วยความตั้งใจทำของเรา ฉะนั้นถ้าเรามีสติแล้วเราไม่ทำ มันก็เป็นนรกอยู่อย่างนั้นล่ะ ไม่ต้องไปตกใจกับนรกสวรรค์ มันเป็นมิติ เป็นที่อาศัยของจิต เป็นวัฏวน จิตนี้จะเกิดตายตามวัฏฏะที่มันหมุนเวียนไป

ฉะนั้นเราต้องมาควบคุมที่จิตเรานี่ ! เรามาควบคุมจิตเรานี้ ทำจิตเรา.. ถ้าเรากลัวตกนรก ถ้าทำความทุกข์ความยากแล้ว เราก็ทำคุณงามความดีในปัจจุบันนี้ แต่ถ้าเราภาวนาได้นะ ถ้าเราภาวนาไปเวลาภพชาติมันสั้นขึ้นมา ถ้าพิจารณาไปนะ ถ้าจิตสงบแล้วพิจารณาสักกายทิฏฐิความเห็นผิดของใจ ถ้าใจมันเห็นถูกแล้วนะ พระโสดาบันไม่ตกนรกเด็ดขาด

ถ้าในปัจจุบันนี้ ชีวิตที่เหลือนี้ทำตัวเองให้เป็นโสดาบันนะ รับประกันได้ว่าไม่ตกนรกเด็ดขาด ! มันเด็ดขาดเพราะว่าอะไร เพราะพระโสดาบันไม่ตกนรกเด็ดขาด แล้วชีวิตที่เหลือนี้เราทำให้เป็นพระอริยบุคคลได้ไหม.. ได้ ! ถ้าเราขยันหมั่นเพียรของเรา

ถ้าเราขยันหมั่นเพียรของเรา สิ่งที่เราทำคุณงามความดีมา คุณงามความดีจะส่งมาตลอด ฉะนั้นพอเราทำสิ่งอะไรที่เป็นบาปอกุศลมานี่มันมีนะ อย่างครูบาอาจารย์ เห็นไหม ครูบาอาจารย์เราเวลาปฏิบัติไป นี่พระเราก็มีสมัยพุทธกาลพระนาคิตะ.. พระนาคิตะไปเดินจงกรมอยู่ในป่า ลาพระพุทธเจ้าไปแล้ว ลาไปเดินจงกรมในป่า เขาไปเที่ยวสนุกครึกครื้นกัน เขาร้องรำทำเพลงกันไป จิตมันวิตกขึ้นมาเลย โอ๋ย.. เขามีความสุขเนาะ เรานี้มีแต่ความทุกข์ความยาก อู๋ย.. ชีวิตเรานี้ชีวิตเหลือเดน เศษเดน เป็นคนไม่มีค่า

โอ้โฮ.. เทวดามายับยั้งกลางอากาศเลยนะ ว่าท่านต่างหากเป็นคนดี ท่านต่างหากที่จะพ้นจากวัฏฏะ ไอ้ที่เขาสนุกครึกครื้น เขาร้องเพลงเขามีความสุขนั่นน่ะ ไอ้นั่นเขาเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏฏะนั่นล่ะ นี่ได้สติเลย ได้สตินะ.. นี่ครูบาอาจารย์บอกว่าเทวดานั้นต้องเป็นญาติพี่น้องกัน เทวดานั้นเคยสร้างบุญกุศลกันมา เขาถึงมาเตือน มาเตือนให้ทำคุณงามความดี มาส่งมาเสริมกัน

นี่ก็เหมือนกัน แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่บอกว่าเราจะเป็นโสดาบันไม่ได้ เป็นอะไรไม่ได้.. ถ้าเป็นพระโสดาบันนี่มันตัดนรกเลย มันปิดอบายภูมิ ไม่เกิดต่ำแน่นอน เกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้นแต่ไม่เกิดต่ำ ไม่เกิดต่ำจากมนุษย์.. มันปิดอบายเลย ไม่ตกต่ำ ไม่ลงนรก !

แต่ถ้าพูดถึง จิตใจเราตอนนี้มันทุกข์มันยาก พอจิตใจมันทุกข์มันยาก นี่มันวิตกกังวล เห็นไหม รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี แต่เวลาทำไปมันทำด้วยกิเลสบังตา กิเลสบังตานะเพลิดเพลินกับชีวิตไป คบเพื่อนไป ไปตามประสาเพื่อน แต่ถ้าเรามีสติสักหน่อย เราไม่ทำสิ่งนั้นมาเราก็ไม่เสียใจภายหลัง สิ่งที่เราเสียใจภายหลัง พระพุทธเจ้าบอกแล้ว “ทำสิ่งใดแล้วเสียใจภายหลังสิ่งนั้นไม่ดีเลย”

ฉะนั้นมีสตินี้สำคัญมาก เราตั้งสติของเราไว้ แล้วพยายาม เห็นไหม เพราะอะไร เพราะพ่อแม่ก็ปรารถนาดีกับเรา พ่อแม่ไม่ได้หวังพึ่งเลย หวังให้เราดำรงชีวิตได้ ให้เรามีที่ยืนในสังคม แค่นั้นเอง ! เพียงแต่เราทำผิดไปแล้ว ผิดไปแล้วก็คือแล้วกันไป ไอ้คำว่าแล้วกันไปนี้เราไม่ใช่ปฏิเสธว่าสิ่งที่ทำผิดแล้วไม่ดีหรือพอใจ เพราะว่าสิ่งนั้นมันไม่ดีจริงๆ แล้วมันไม่ควรทำแน่นอน แต่คนทำไปแล้ว.. คนทำไปแล้ว แล้วเราจะแก้ไขขึ้นมาให้คนๆ นั้นเป็นคนดี

คนเคยทำผิดพลาดมาหนหนึ่ง แล้วคนนั้นจะเลวตลอดไปเลยเหรอ.. แต่ถ้าคนๆ นั้นเคยทำผิดพลาดมา แล้วมีสติระลึกตัวเองได้ แล้วจะกลับใจ นี่อริยวินัยเลย พระพุทธเจ้าชื่นชมคนอย่างนี้ คนที่ทำผิดแล้วยอมรับผิด แล้วแก้ไข.. พระพุทธเจ้าชื่นชมมาก เพราะคนไม่เคยทำผิดอะไรเลยไม่มี !

ใครทำสิ่งใดนี่ทางธรรมก็ผิด ไปทำทางโลกก็ผิด ปฏิบัติธรรมก็ผิด แต่ขณะทำนี่ลุ่มๆ ดอนๆ ไปทั้งหมด ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมานี่ลุ่มๆ ดอนๆ มันต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ยิ่งงานไม่เคยทำนี่ผิดมหาศาลเลย แต่ความผิดนั้นผิดเพราะความไม่รู้ มันสุดวิสัยไง คำว่าสุดวิสัยคือว่าเราไม่เคยผ่านไม่เคยทำมา มันต้องมีความผิดมันมีการคาดหมายคาดเดา เพราะเราก็ไม่ให้ผิด ทุกคนก็ไม่อยากให้ผิดแต่มันก็ต้องผิดเป็นธรรมดา ผิดเป็นธรรมดาเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เรารู้ไม่ได้เลย

แต่ด้วยความขยันด้วยความหมั่นเพียร ดูสิทำพุทโธ พุทโธนี้จิตกว่าจะสงบ เห็นไหม พอจิตสงบทำสมาธิขึ้นมา กว่าจะเป็นสมาธิได้ แล้วกว่าจะออกใช้ปัญญาได้ มันเป็นความมหัศจรรย์ พอเป็นความมหัศจรรย์ เราก็สร้างความมหัศจรรย์ขึ้นมาเลยว่า สิ่งที่มหัศจรรย์นั้นคือเป็นธรรมไม่ใช่ !

ความมหัศจรรย์ของคนมันมีหลากหลาย ความมหัศจรรย์ของคนนะ ขิปปาภิญญานี่ พริบเดียวเป็นพระอริยบุคคลไปเลย แต่ถ้าคนลุ่มๆ ดอนๆ มันลุ่มๆ ดอนๆ นี่เวไนยสัตว์มันต้องมีลองถูกลองผิดไป พัฒนาการของจิตมันจะพัฒนาของมันไป แล้วพัฒนาไปถึงจุดนะ พอถึงจุดมันมีคำตอบ.. มันมีคำตอบ แต่ในปัจจุบันนี้ที่บอกเป็นอริยบุคคลกันแต่มันไม่มีคำตอบ มีแต่คำยืนยัน ไม่มีคำตอบของใจไง มันไม่มีปัจจัตตัง

มันไม่ปัจจัตตังไม่สันทิฏฐิโก.. จิตไม่รู้เอง แต่ให้คนอื่นยืนยันๆ คนอื่นยืนยันนี่ใครยืนยันใครได้ อ้าว.. ใครจะประกันได้ว่า พระเราจะเป็นคนดีตลอดไป ใครจะประกันเราได้ ตอนนี้ก็เป็นคนดีนะ ข้างหน้าไปอีกดีไม่ดียังไม่รู้ ใครประกันใคร.. แต่ถ้าในใจมันเป็นเองมันไม่ต้องให้ใครประกันใคร มันเป็นความจริงอันนั้นเลย ความจริงอันนั้นมันเกิดขึ้นมา

ฉะนั้นถ้าความจริงอันนั้นมันเกิดขึ้นมา เห็นไหม อันนั้นมันจะลบสิ่งที่ว่า โอ้โฮ.. ผมต้องตกนรกโดยไม่มีเงื่อนไขเลยเหรอเนี่ย.. ถ้าคิดอย่างนี้ปั๊บนี่เราถึงบอกว่ามันคิดเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นธุรกิจ การแลกเปลี่ยนต้องเป็นอย่างนั้น นี้การแลกเปลี่ยนมันมีค่ามากกว่านั้น มีค่ามันเหมือนกับงานศิลปะ เห็นไหม ราคามันตีค่าไม่ได้ งานศิลปะบางชิ้นนี่นะมันตีเป็นราคาไม่ได้เลย มันมีค่ามาก มีค่าสำหรับคนที่รัก แต่คนที่มันไม่รู้จักนะให้มันยังไม่เอาเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตใจมันไปยึดมั่นอย่างนั้น มันทำให้เราวิตกกังวล แต่พอเราเปลี่ยนแปลงแล้ว เราแก้ไขของเราแล้วมันจะไปอีกเรื่องหนึ่ง.. ไปอีกเรื่องหนึ่ง

นี่เรื่องของธรรมนะ ฉะนั้นธรรมะนี่เหนือโลก เหนือทุกอย่าง เหนือจากการคิดคำนวณของเรา.. นี้เขาว่าให้ทำอย่างไรไง ให้ทำอย่างไรก็กลับไป.. กลับไปเริ่มต้นใหม่ กลับไปเริ่มต้นตั้งแต่ว่าไปเรียนให้จบ ทำให้ดี เพราะว่าถ้าเราเรียนไม่จบหรือเราฝึกงานไม่ได้ นี่มันไปไหนไม่รอดหรอก เรากลับไปเริ่มต้นตรงนั้นมา เพราะชีวิตนี้.. การศึกษานะ การศึกษาเป็นต้นทุนชีวิต ถ้าเราไม่มีการศึกษา เราไม่มีวิชาการเลย เราจะดำรงชีวิตในโลกได้อย่างไร

พ่อแม่เสียใจก็เสียใจตรงนี้ไง เสียใจว่าถ้าศึกษาแล้วจบแล้ว มีงานทำแล้ว พ่อแม่ก็สบายใจ แล้วถ้ายังฝึกงานไม่ได้เรียนไม่ได้ พ่อแม่ก็ต้องขุ่นข้องหมองใจเป็นธรรมดา.. จะแก้ไขก็แก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น ไปเรียนให้จบก่อน พอเรียนจบเสร็จแล้วนะ ไอ้เรื่องการภาวนานี้เราจะทำอย่างไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเรื่องการภาวนานะถ้าชอบทางนี้.. ถ้าไม่ชอบทางนี้เราก็ทำงานทางโลก แล้วก็อาศัยภาวนาไปด้วย

ไอ้สิ่งที่เป็นไปแล้วที่ว่าต้องตกนรกโดยไม่มีเงื่อนไขเลย.. ถ้าทำความดีตอนนี้ ไอ้เงื่อนไขนี่อาศัยความดีเกิดนะ เวลาจะตาย.. นี่ดูเทวดาสิ หมาก็ไปเกิดเป็นเทวดา ท้าวโฆษกะคือสุนัขที่ไปคาบจีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้าไปฉันทุกวันๆ จนพระปัจเจกพุทธเจ้าเวลาจะลา เห็นไหม สุนัขตัวนั้นคิดมาก ระลึกถึงมาก นี่หอนจนขาดใจตายไปเกิดเป็นเทวดา หมาก็ไปเกิดเป็นเทวดา

มนุษย์.. มนุษย์ถ้าทำคุณงามความดี เราทำคุณงามความดี.. ใช่ ! เราเคยทำบาปของเราไว้ แต่ถ้าเราทำคุณงามความดี เวลาเราจะตาย จิตเราผูกพันกับความดีอันนี้ เห็นไหม เวลาคนใกล้ตายเขาให้นึกถึงพระ นึกถึงพระ ให้เกิดสิ่งดี เกิดสิ่งดีนี่พอเกิดเป็นเทวดา ในเทวดา นี่คนที่แบบว่านิสัยใจคอ เขาก็มีบาปอกุศลของเขาอยู่เหมือนกัน แต่เขาทำคุณงามความดี เขาเกิดเป็นคุณงามความดีก่อน เกิดกับดีก่อน ดีพาเกิด เกิดในวัฏฏะ.. สิ่งที่อยู่ในหัวใจนี้ ในทุกดวงใจเคยทำดีและทำไม่ดีมา ทำดีและทำชั่ว ทุกดวงใจมีจริตนิสัยมาอย่างนี้

ฉะนั้นอาศัยความดีนี้เกิดๆ ไป มันก็หนีสิ่งนี้ไปได้.. เกิดกับดีไปเรื่อยๆ เกิดกับดีไปเรื่อยๆ จนดีพาถึงที่สุด เห็นไหม ดูพระอรหันต์สิ พระอรหันต์แต่ละองค์บารมีไม่เหมือนกัน จริตนิสัยไม่เหมือนกัน ก็ตรงนี้ไงตรงที่ว่ามันสร้างสมบุญญาธิการมามากน้อยแค่ไหน สะอาดบริสุทธิ์เป็นพระอรหันต์เหมือนกันแต่บารมีไม่เหมือนกัน ความรู้ความเข้าใจในการขยายธรรมไม่เหมือนกัน อันนี้มันอยู่ที่จริตนิสัย การสร้างสมของจิตแต่ละดวงมาไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นมันไม่มีสูตรสำเร็จไม่มีสิ่งใดตายตัว.. ธรรมะเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา.. สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตา ทีนี้สภาวธรรมนี้มันให้ค่ามากหรือให้ค่าน้อยแค่ไหน อยู่ที่เราจริงใจแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน

“สัพเพ ธัมมา อนัตตาไม่มีสิ่งใดตายตัว.. แต่ให้ผลดีเป็นดี ชั่วเป็นชั่วเด็ดขาด !”

ตรงนี้งงเนาะ.. ไม่ให้ผลตายตัวมันเป็นอนัตตา สภาวะนี้ความดีมันส่งเสริมได้ คือมันเปลี่ยนแปลงมันแก้ไขได้ทั้งนั้นแหละ แต่ดีเป็นดีชั่วเป็นชั่วเด็ดขาด พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ นี่ธรรมะ ในสายตาของธรรมเขามองอย่างนี้ ไม่ได้มองแบบสายตาของโลก มองสายตาของโลกมองเป็นวิทยาศาสตร์ มองเป็นสูตรสำเร็จ มองเป็นสิ่งตายตัว หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่ถ้าเป็นทางธรรมะนะ คนที่เป็นอกุศลนะหนึ่งบวกหนึ่งเป็นศูนย์

แต่ถ้าคนที่จิตใจเป็นธรรมนะ หนึ่งบวกหนึ่งเป็นพัน ! เพราะทำด้วยหัวใจ ทำด้วยเจตนาที่ดี นี่บุญกุศลมันสร้างทับถมมามากมายมหาศาลเลย คนเราทำบุญนะ ดูสิหนึ่งบวกหนึ่ง ทำบุญแต่จิตใจมันอกุศล จิตใจมันทำลายทุกอย่าง ทำไปแล้วเป็นศูนย์ไง เพราะมันเป็นอกุศล

กุศลทำให้อกุศล ! กุศลทำให้อกุศล.. นี่มันคิดในทางที่ผิด

อกุศลทำให้เกิดกุศล ! อกุศลนะ.. ไปแล้วนะว่าพระองค์นี้ไม่ดีเลย พระองค์นี้ใช้ไม่ได้เลย ต้องไปจับผิดพระองค์นี้หน่อยนะ พอเข้าไปแล้วจิตใจไปเห็นสภาวะที่ดี จิตใจมันเอาไปเทียบเคียง อู้ฮู.. พระองค์นี้สุดยอดเลย เห็นไหม เราคิดอกุศลเลย คิดว่าพระองค์นี้ใช้ไม่ได้ พระองค์นี้ไม่ดีเลย พอเราเข้าไปสัมผัส อู๋ย.. พระองค์นี้กลับดี นี่ไงอกุศลทำให้เกิดกุศล.. คิดไม่ดีแต่แรก แต่พอเราเข้าไปพิสูจน์ตรวจสอบแล้วมันเปลี่ยนแปลงไปมันทำให้เกิดกุศล

นี่ไงหนึ่งบวกหนึ่งเป็นพันเป็นล้าน เห็นไหม หนึ่งบวกหนึ่งเป็นศูนย์ หนึ่งบวกหนึ่งเป็นร้อยเป็นพัน นี่ทางวิทยาศาสตร์ไม่มี.. ถ้าพูดอย่างนี้นะ ถ้าไปพูดในห้องเรียนนะ ครูเขาบอกว่าพระองค์นี้บ้า หนึ่งบวกหนึ่งมันเป็นศูนย์ได้อย่างไร หนึ่งบวกหนึ่งมันเป็นพันได้อย่างไร โอ๋ย.. พระองค์นี้ทำให้.. คนพูดอย่างนี้ทำให้การสอนเลขผิดหมดเลย (หัวเราะ)

อันนั้นมันเป็นโลก เห็นไหม นี่บอกว่าโลกมันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าธรรมมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเขาบอกว่าผมต้องตกนรกโดยไม่มีเงื่อนไขนี้ แหม.. ไอ้คำนี้มันสะเทือนไง อย่างนี้ผมต้องตกนรกโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะทำให้แม่เสียใจทีหนึ่งแล้วต้องตกนรก.. แต่ตกจริงๆ นะ ถ้าไม่ทำดีเลยนี่ตกจริงๆ แต่ถ้าเราทำดี แล้วเอาความดีขึ้นมาทอนไง

เราอยู่กับความดี สิ่งที่ผิดไปแล้วก็รู้ว่าผิดแต่เราทำคุณงามความดีเรา เห็นไหม นี่ศาสนาถึงบอกว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่สัพเพ ธัมมา อนัตตา.. สัพเพ ธัมมา อนัตตา ! นี่อนัตตาคือมันเปลี่ยนแปลงมันหมุนเวียนตลอด สิ่งใดไม่มีการคงที่ โลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด อารมณ์ ความรู้สึก ความเป็นไป.. ถึงตกนรก พอหมดอายุขัยมันก็พ้นจากนรกขึ้นมา

ถ้าจิตนี้ทำความชั่วมากแล้วตกนรกอเวจี หมดอายุขัยของนรกมันก็ขึ้นจากนรกขึ้นมา.. มันก็เป็นอนัตตา ความตกนรกก็เป็นอนัตตา มันตกนรกแล้ว พอมันหมดอายุที่การตกนรกมันก็หมดเวรหมดกรรม มันก็เปลี่ยนแปลงมา

สัพเพ ธัมมา อนัตตา.. แต่ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อนัตตา ! เป็นพระโสดาบันแล้วคงที่.. สกิทาคา อนาคา พระอรหันต์ คงที่ไม่ใช่อนัตตา ! มันเหนือ นี่มันเหนือไง

“กุปปธรรม-อกุปปธรรม”

กุปปธรรม.. สัพเพ ธัมมา อนัตตา

อกุปปธรรม ! อฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง คงที่ตายตัว อฐานะ โสดาบัน สกิทาคา อนาคา พระอรหันต์.. นี่เหนืออนัตตา ไม่ใช่อนัตตา !

ฉะนั้นผิดไปแล้วก็คือผิด ผิดไปแล้ว.. ผิดไปแล้วยังดีนะยังนึกได้ เห็นไหม “โอปนยิโก” ให้ดูหัวใจของเรา ย้อนมาดู นี่เวลากรรมมันเกิดมันเกิดอย่างนี้ นี่คนคิดได้คนอย่างนี้.. นี่คิดได้ นี้คิดได้เขียนมาถามเรานะ แต่ไม่กล้าคุยกับพ่อแม่ก็แล้วกัน ไม่กล้าคุยกับใคร เพราะอะไร เพราะความผิดนี้มันไม่กล้าคุยกับใคร แต่เวลาถามพระ พระเป็นที่พึ่งเลยกล้าถามมาใช่ไหม

อันนี้ถึงบอกว่าสิ่งที่ผิดไปแล้วก็ผิดไปแล้ว นี่พูดถึงถามธรรมะนะ.. จบ !

ข้อ ๒๙๓. นะ

ถาม : ๒๙๓. เรื่อง “หนูว่าหนูเพี้ยนไปแล้ว” (คำถามนะ หนูว่าหนูเพี้ยนไปแล้ว)

คือช่วงก่อนหน้านี้หนูบริกรรมพุทโธตลอด ไม่ว่ากิน เดิน นั่ง นอน โดยเฉพาะเดิน จนฝันว่าตัวเองเดินจงกรมแล้วบริกรรมพุทโธอย่างชัดเจนมาก อารมณ์ติดอยู่กับคำนี้ตลอดจนเก็บคำบริกรรมแม้กระทั่งในฝัน จนหนูเกรงว่าตัวเองอาจจะเพี้ยนไปแล้วค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้ามีสตินะไม่มีเพี้ยน ถ้าจิตมันอยู่กับพุทโธจริง ถ้าพุทโธอยู่กับจิตจริง คำว่าพุทโธอยู่กับจิตจริง ถ้าอยู่กับพุทโธ พุทโธจนเก็บเอาไปฝันนี่นะ เก็บไปฝันเพราะมันบริกรรมอยู่ อย่างนี้มันอยู่ที่จริตของคน

บางทีเหมือนเก็บคำบริกรรมไปฝัน แต่บางทีฝันว่าเดินจงกรมฝันว่านั่งสมาธิ นี่มันเหมือนกับใฝ่ธรรมดีไง เราใฝ่ธรรมดีแม้แต่มีชีวิตปกติ แต่เวลาเรานอนแล้วจิตมันก็ยังทำความดีของมันอยู่ เห็นไหม เพราะว่าสังขาร.. เวลาเราคิด เรามีความคิดนี่สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เวลาไปฝัน.. ฝันก็นอนหลับ แล้วขันธ์นี่สังขารมันปรุงแต่ง

สังขารมันทำงานมันก็เหมือนกับฝัน.. แต่เหมือนกับฝันนะ มันเหมือนกับฝัน แล้วถ้าเกิดเรานั่งสมาธิล่ะ เรานั่งสมาธิแล้วถ้าจิตมันสงบ เห็นไหม จิตสงบถ้ามันเกิดนิมิตล่ะ มันรู้เห็นสิ่งต่างๆ ล่ะ.. อันนี้มันเป็นการก้าวพัฒนาของจิตที่มันจะพัฒนาของมันไป

ฉะนั้นขณะที่ว่าช่วงก่อนหน้านี้หนูบริกรรมพุทโธตลอด ไม่ว่ากิน เดิน นั่ง นอน แต่พอมันบริกรรมพุทโธแล้วมันจะให้ผล.. ให้ผลกับจิต ! ให้ผลกับจิตคือจิตมันมีสติ พอจิตมีสติมันก็ไม่คิดฟุ้งซ่าน มันไม่คิดเรื่องใดสิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์กับมัน ถ้ามันอยู่กับพุทโธตลอดไป นี่มันชัดเจน.. ถ้ามันชัดเจนให้มันชัดเจนชัดๆ ถ้าชัดเจนชัดๆ นะ พอมันชัดเจนเข้ามา พอพุทโธกับจิตมันเป็นอันเดียวกัน นี่มันนึกพุทโธไม่ได้เลย

มันนึกพุทโธไม่ได้.. ถ้ามันนึกพุทโธไม่ได้โดยที่จิตมีสตินะ โดยที่จิตมีความรู้สึกมั่นคงอยู่ แต่ถ้าพอพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธหายไป พอพุทโธหายไปพร้อมกับความรู้สึกหายไป ทุกอย่างหายไปนั่นคือตกภวังค์ ฉะนั้นเวลาเราบอกว่าพุทโธจนจิตกับพุทโธเป็นอันเดียวกัน นี่อันเดียวกันโดยผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่นี่เราทำงานอยู่ พองานสำเร็จงานมันเสร็จเราก็ไม่ตกใจ เด็ก.. เด็กถ้ามันทำอะไรอยู่แล้วของสิ่งนั้นมันหายไป มันจะร้องไห้มันจะไม่พอใจ พุทโธ พุทโธนะ พุทโธจนหายไป พุทโธจนหายไปแบบผู้ใหญ่ มันจะรู้เลยว่าหายไปเพราะอะไร หายไปเพราะเราทำงานเสร็จแล้ว หายไปเพราะเราทำทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว แล้วเราอยู่มั่นคงด้วยตัวเราเอง มันจะมีสติสัมปชัญญะ มันจะมีความสุข มันจะมีความร่มเย็นเป็นสุขของมัน.. แต่ถ้าพุทโธ พุทโธจนมันหายไป หายไปแบบเด็กๆ พอเด็กๆ นี่สิ่งใดที่มันทำอยู่แล้วพอสิ่งนั้นหายไป เด็กๆ จะร้องไห้.. จะร้องไห้ จะมีความเสียใจ จะมีความว่าตัวเองผิดพลาด จะมีสิ่งต่างๆ ขึ้นมา

อันนั้น เห็นไหม พุทโธนี่ถ้ามันชัด มันชัดแล้วมันจะดำเนินการต่อไป ถ้ามันชัดแล้วเราอยู่กับชัดนะ.. สิ่งต่างๆ ถ้าเราทำชัดเจน เราพุทโธชัดเจน ผลของมันต้องให้มีความสงบ ! ถ้ามีความสงบปั๊บมันจะรู้ตัวของมันเอง แต่ถ้ามันหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ นี่เขาว่าหนูจะเพี้ยนไปแล้ว..

ถ้าเพี้ยนไปแล้วนี่เพี้ยนไปเพราะอะไร เราจะยืนยันว่าถ้าไม่เพี้ยน.. ว่าไม่เพี้ยน ไม่เพี้ยนมันต้องมีสติพร้อม ถ้ามีสติพร้อมแล้วมันมีผลไง ดูสิเราทำสิ่งใดเสร็จแล้ว งานที่เราเสร็จแล้วเรานั่งสบายใจ เห็นไหม มันต่างกัน บอกว่าเรานั่งอยู่นี่ แล้วของนี้กองอยู่เต็มเลย งานของเรายังทำอะไรไม่เสร็จสักอย่างหนึ่งเลย เรานั่งนี่เรานั่งด้วยความกังวล ถ้าคนไม่รับผิดชอบก็นั่งมองเฉยๆ นั่งมองนี่งานก็กองอยู่ข้างหน้านั้น แต่ถ้าเราทำงานทุกอย่างสำเร็จเรียบร้อยหมด เราจัดเก็บทุกอย่างเรียบร้อยหมดเลย เรานั่งนี่จิตใจเราเป็นอย่างไร จิตใจเราสบายใจใช่ไหม ทุกอย่างมันสำเร็จเรียบร้อยแล้วมันมีความสุข

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพุทโธ พุทโธ.. พุทโธถ้ามันชัดเจน นี่มันชัดเจนแล้วผลของมันเป็นอย่างไรล่ะ..

“นี่อารมณ์ติดอยู่กับคำนี้ตลอดไป” อารมณ์ติดอยู่กับคำนี้ เห็นไหม

“อารมณ์ติดอยู่คำนี้ตลอดไปจนเก็บคำบริกรรมเข้าไปแม้แต่ในฝัน จนหนูเกรงว่าตัวเองจะเพี้ยนไป”

ตั้งใจ ! ตั้งใจใหม่.. ตั้งสติแล้วทำให้มันถูกต้อง.. ถูกต้อง.. มันไม่เพี้ยนเด็ดขาดถ้าทำถูกต้อง แต่ถ้ามันไม่ถูกต้อง เห็นไหม คำว่าพุทโธกับจิตนี่มันไม่เข้ามาเป็นอันเดียวกัน จิตคือพลังงานความรู้สึก แล้วพุทโธ นี่ฝัน ! ฝันคือตัวจิต ตัวจิตมันหลับ.. ตัวฝัน ฝันคือคำบริกรรม คือคำพุทโธ มันก็อารมณ์สองไง

นี่อารมณ์สอง.. แต่ถ้ามันพุทโธจนเป็นอารมณ์หนึ่ง พออารมณ์หนึ่งนี่จิตมันเป็นอันเดียวกัน จิตนี่มันเป็นผู้รู้เลย ไม่ต้องอาศัยคำบริกรรมมันรู้โดยตัวมันเอง แต่ในปัจจุบันนี้ที่เราต้องอาศัยบริกรรมเพราะอะไร เพราะจิตนี่.. ตัวมันเองมันแสดงตัวไม่ได้ พอตัวเองแสดงตัวไม่ได้มันผ่านรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือผ่านความจำ ผ่านความคิด ผ่านความปรุงแต่ง นี่เวลาสังขารความคิดความปรุงมันแต่ง เห็นไหม จำเรื่องสุขเรื่องทุกข์ นี่ผ่านเวทนา ผ่านความทุกข์ความสุข

จิตมันแสดงตัวเองไม่ได้ มันผ่านแสดงตัวในขันธ์ ๕ พอมันแสดงตัวในขันธ์ ๕ นี่มันคือสามัญสำนึกไง ขันธ์ ๕ คือสามัญสำนึกของมนุษย์ สามัญสำนึกนี่เกิดจากพลังงาน แล้วตัวพลังงานคือตัวจิต.. นี้ถ้าเราพุทโธ พุทโธ ถ้าอยู่ที่ขันธ์ ๕ อยู่ที่การแสดงออกของมัน มันแสดงออกโดยธรรมชาติ สามัญสำนึก สัญชาตญาณของคนมันแสดงออกอย่างนี้ พอแสดงออกอย่างนี้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทวนกระแส ทวนกระแสคือใช้สามัญสำนึกให้นึกคำบริกรรมพุทโธ คือพุทธานุสติ.. พุทธานุสติคือว่าสัญชาตญาณนี้ให้อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พุทธานุสติ.. พุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม นี่สามัญสำนึกโดยการทำงาน ผู้บริหารจัดการต่างๆ เขาต้องใช้ความคิด ต้องใช้ความรับผิดชอบ นี่สามัญสำนึกของมนุษย์.. สามัญสำนึกของมนุษย์มันทำงานของมันโดยธรรมชาติของมัน เอาธรรมชาติอันนี้ เอาสามัญสำนึกนี้มาใช้พุทธานุสติ มาเปลี่ยนเป็นคำบริกรรม เปลี่ยนอาหารใหม่ เปลี่ยนความรู้สึกใหม่ ความรู้สึกอันนี้มันตอกย้ำพุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พอพุทโธแล้วพลังงานมันเริ่มมีที่ยึดเหนี่ยว มีที่ยึดเหนี่ยว เห็นไหม พอสามัญสานึก การบริหารจัดการ พอคิดจบแล้วมันก็จบ ทำงานจบก็จบ คิดจบก็จบ โกรธจบก็จบ เสียใจจบก็จบ ทุกอย่างคิดแล้วก็จบ

แต่พุทโธ พุทโธนี่ให้พลังงาน พุทธานุสติ.. พุทธานุสติ ! สติมันมีสติ มันมีความรับรู้ มันมีในตัวของมัน พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันชัดเจนขึ้นมา พอมันชัดเจนขึ้นมามันจะกลับไปสู่ตัวพลังงาน เห็นไหม นี่จิตมันแสดงออกได้แล้ว.. แต่เดิมจิตมันแสดงออกไม่ได้ จิตมันแสดงผ่านสัญชาตญาณ จิตมันแสดงตัวผ่านขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

แล้วคำบริกรรม นี่บริกรรมรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพื่อกลับสู่สถานะเดิมของเขา นี่อานาปานสติ นี่สัมมาสมาธิ.. การปฏิบัติทุกๆ อย่างมันจะกลับมาสู่ตรงนี้ กลับมาสู่สัญชาตญาณเดิมของตัว นี่แต่ถ้ามันไม่มีสติ มันไม่มีสิ่งต่างๆ มันก็หมุนออกไปอยู่อย่างนี้.. นี่คือเรื่องของนามธรรม นี่คือความรู้สึกไง ถ้าเรามีสติปัญญาอย่างนี้ มันจะเพี้ยนไปไหน !

แต่ถ้าว่าหนูจะเพี้ยน.. หนูว่าหนูจะเพี้ยนแล้วค่ะ เพราะหนูบริกรรมพุทโธ ทีนี้พออย่างนี้ปั๊บหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ไง ท่านบอกว่า “เวลาภาวนาอะไรก็แล้วแต่จะไปเอาคะแนนกับธรรมะ” ไปโทษธรรมะ ไปโทษว่าพุทโธนี่ก็ผิด แล้วพอพูดอย่างนี้ก็จะบอกว่าพุทโธมาแล้วนี่ พุทโธจะทำให้หนูเพี้ยน.. ไม่หรอก พุทธานุสติไม่ทำให้ใครเพี้ยนนะ ไม่ทำให้ใครเสียหาย จะทำให้ทุกคนเป็นคนดี จะทำให้ทุกคนมีสติสัมปชัญญะ

ฉะนั้นเราต้องตั้งสติ เราตั้งสติแล้วทำ ถ้าเราตั้งสติแล้วถ้ามันมีความตึงเครียดเราก็เปลี่ยนอุบาย เปลี่ยนวิธีการไปบ้าง ทำอย่างอื่นบ้างเพื่อกลับมาสู่ข้อเท็จจริงของใจ กลับมาสู่หัวใจที่เป็นจริงไง ไม่ใช่ให้กิเลสมันหลอก ไม่ใช่ให้ความเห็นของเราหลอก มันหลอกออกไปนะ

นี่ความรับรู้สึก.. ข้อแรกมันเป็นเพราะว่าตัวเองตอกย้ำ ตอกย้ำถึงว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นอาการของใจ เห็นไหม เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม.. เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูความเสียใจ มาดูความทุกข์ใจ มาดูความสุขใจถ้าปฏิบัติได้

โอปนยิโก.. หนูจะเพี้ยนไปแล้วค่ะ ! เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปแล้วนี่มันมีความรู้สึก มีความนึกคิด

“โอปนยิโก.. เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” ดูในการประพฤติปฏิบัติ ดูในความจริงใจ ดูในความตั้งใจกระทำของเรา มาดูจิตที่มันฟูขึ้น จิตที่มันหวั่นไหว.. นี่เรียกร้องใคร เรียกร้องตัวเอง เรียกร้องสติสัมปชัญญะ เรียกร้องคุณงามความดี เรียกร้องสิ่งที่กระทำที่มันมีจุดยืนของมัน เพื่อประโยชน์กับเราเอง เห็นไหม

นี่การปฏิบัติเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ศาสนานี่มันเป็นศีลธรรม จริยธรรม ตั้งแต่ทาน ศีล แล้วมีการภาวนา การภาวนาเพื่อจะให้เราได้สัมผัส ให้เราได้รับรู้ถึงรสของธรรม.. รสของธรรมนะ “รสของธรรมชนะรสทั้งปวง.. สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม”

โอปนยิโก.. นี่ปฏิบัติขึ้นมา รู้จริงเห็นจริง โอปนยิโกให้ตัวเรารู้ตัวเราเห็น มันจะไม่เพี้ยนเด็ดขาด ! มันจะไม่ส่งออกไปสู่ความบกพร่องของตัว เพราะศาสนา ในการประพฤติปฏิบัติพระพุทธเจ้าสอนพุทโธ.. ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพื่อให้หัวใจนี้มีจุดยืน เพื่อให้พวกเราช่วยตัวเองได้ เพื่อสิ่งนี้สมบูรณ์เต็มขึ้นมา ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อให้เพี้ยน.. ปฏิบัติเพื่อให้มีสติ มีสมาธิด้วยความสมบูรณ์ ด้วยความสุข ด้วยความพอใจของตัว

นี่ธรรมะสอนอย่างนี้ ! “ถ้าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทางไปหรอก เห็นไหม นี่ปฏิบัติธรรมนะ เราปฏิบัติของเรา เรารู้ของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง