ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมมุติว่าจิต

๑๙ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

สมมุติว่าจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้มันตอบปัญหาเนาะ ข้อ ๒๙๕. “ถามเรื่องสภาวะการปฏิบัติหลายเรื่องค่ะ”

ถาม : ๑. ลูกเคยเข้าคอร์สแห่งหนึ่ง ซึ่งวันสุดท้ายของคอร์สนั้นรู้สึกเจ็บมากๆ จนตัดสินใจยอมตาย แล้วสูดลมหายใจลึกๆ แล้วกวาดทุกขเวทนานั้นออกไปซ้ำๆ เร็วๆ โดยฉับพลัน มันมีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ลูกไม่เคยลืมจนถึงวันนี้ มหัศจรรย์มากๆ มีกระแสหนึ่งที่นุ่มนวล รวดเร็ว วิ่งขึ้นวิ่งลงออกภายในร่างกายลูก พุ่งเร็วมากๆ พุ่งเข้าๆ ออกๆ ภายในร่างกาย กระแสนั้นเบายิ่งกว่าขนนก สุขสบาย.. จิตอุทานขึ้นมาว่า “เข้าใจแล้วทำไมคนทั้งโลกถึงโหยหา” สิ่งนั้นคืออะไรคะ และก็ตั้งหน้าตั้งตาหาสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นอีก มันไม่เกิดอีกแล้วจนกระทั่งบัดนี้

หลวงพ่อ : นี่ไงเวลาเขาบอกว่าไปภาวนา เห็นไหม ภาวนาอยู่หลายวันจนเจ็บมาก จนตัดสินใจสูดลมหายใจลึกๆ ลมหายใจลึกๆ นี่พอสูดลมหายใจลึกๆ เร็วๆ ขึ้น พอสูดลมหายใจถ้ามันยังมีความทุกข์เพราะทุกข์มาก ความเจ็บความเวทนามาก ถ้ายังรับรู้อยู่ นี่มันรับรู้มันก็เป็นสอง แต่ถ้าเรากวาดทิ้ง กวาดทิ้งไปเร็วๆ ขึ้นมานี่เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

สูดลมหายใจชัดๆ หรือพุทโธชัดๆ นี่เกาะสิ่งนี้ไว้ ถ้าจิตมันเป็น พอมันเป็นขึ้นมา เห็นไหม สิ่งที่มันเป็น สิ่งที่เกิดมีกระแส ความนุ่มนวล ความนุ่มลึก สิ่งต่างๆ ที่กระแสรับรู้ความรู้สึกนี่อาการของใจทั้งนั้น คือว่าเกิดปีติ ปีติมีร้อยแปด ปีตินี้มีมหาศาล ปีติลึกๆ สามารถทายใจได้ รู้วาระจิตหมดเลย ถ้าปีติโดยปกติ เห็นไหม ตัวเบาร่างเบา ขนพองสยองเกล้า.. ไอ้นี่มันเป็นปีติ มันเกิดขึ้นได้ ทีนี้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้เพราะอะไรล่ะ

ดูสิแรงลม.. แรงลมเวลามันหอบสิ่งใดไป พอหมดแรงลมสิ่งนั้นก็ตก จิตใจของคนถ้ามันมีเหตุมีผลขึ้นมา นี่มันเกิดอาการไง สิ่งที่เกิดอาการ แล้วของอย่างนี้มันเป็นร้อยแปดพันเก้าแล้วเป็นมาก.. เป็นมากยิ่งคนยิ่งสร้างบุญมาก ยิ่งสร้างสิ่งใดมามากๆ นะ อาการอย่างนี้จะเกิดขึ้นมาก บางคนภาวนาเฉยๆ นะ ถ้ามันจะสงบมันก็สงบเฉยๆ สงบเฉยๆ สงบแบบไม่มีสิ่งใดเลย แต่บางคนมีก็มี แล้วถ้ามีมากเกินไป.. ลมมันหอบสิ่งใดไป นี่ดูสิถ้าหอบนะ สิ่งที่สกปรกมันหอบไปเราก็ดีใจ แต่ถ้าเราตากข้าว ตากพืชเกษตรไว้ เวลาลมมันมาพัดเราก็ไม่ดีใจ

เวลามันหอบ มันเป็นอารมณ์มันหอบไปเฉยๆ ปีติมันเกิดมันเกิดจากใจ นี้เราภาวนานี่เราภาวนาเพื่อความสงบของใจ เราไม่ต้องการภาวนาอย่างนั้นแต่มันเป็นอาการไง อาการวิตกวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์.. วิตกวิจาร พุทโธ พุทโธนี่วิตกขึ้นมา เรานึกพุทโธนี่ เห็นไหม เขาบอกทำไมต้องนึกพุทโธ.. ก็มันวิตกขึ้นมา ถ้าไม่วิตกแล้วพุทโธมันมาจากไหนล่ะ พุทโธมันอยู่ในตำรา จิตก็ส่วนจิต พุทโธก็ส่วนพุทโธ.. เรานึกพุทโธก็วิตกขึ้นมา

เรานึกขึ้นก็คือการวิตก.. วิจาร พุทโธ พุทโธคือวิจาร.. พุทโธ พุทโธคือวิตกวิจาร พอวิตกวิจาร พอถึงระดับจิตมันสมดุลของมันมันก็เกิดปีติ.. มันเป็นปีติ ปีติก็เกิด ปีติร้อยแปดพันเก้า พอปีติแล้ว ปีติก็เกิดสุข สุขก็เอกัคคตารมณ์..

นี่พูดถึงเป็นขั้นตอนของมันไป ฉะนั้นเวลาเกิดอย่างนั้น มันเกิดนี้เราจะบอกว่ามันเป็นอาการลมพัดหนหนึ่ง เพราะเราไปกำหนด ไปเข้าคอร์สที่วัดหนึ่งไปภาวนา แล้วสุดท้ายเราลงทุนลงแรง เห็นไหม เราสร้างเหตุ พอสร้างเหตุสมดุลขึ้นมา ความร้อนนี่อากาศมันสมดุลนะมันลอยตัวขึ้น ความร้อนลอยตัวขึ้นอากาศมันก็พัดเข้ามา ลมก็เกิดขึ้น อาการปีติก็เกิดขึ้น.. แล้วมันก็ผ่านไปแล้ว แล้วมันก็ผ่านไปแล้ว พอผ่านไปแล้วเราก็ทำของเรา พอทำของเรา นี่อาการอย่างนี้เขาถามว่า “นี้คืออาการอะไร”

สงสัยมากไง นี้คืออาการอะไร.. อาการที่เราปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วเกิดอย่างนี้ เราปฏิบัติกันอยู่นี่นะ เราเป็นชาวพุทธ เห็นไหม เราต้องการความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้ว ใจมีหลักมีเกณฑ์แล้ว พระพุทธเจ้าสอนให้ออกใช้ปัญญา

ฉะนั้นเราทำกันอยู่นี้เราทำเพื่อความสงบ.. เพื่อความสงบของใจ ใจมันจะได้ไม่วอกแวกวอแว คำว่าใจมันหิวมันโหย นี่มันดื่มกินอารมณ์ ใจของคน อารมณ์ความรู้สึกนี่เป็นอาหารของมัน อย่างที่ว่าสัญชาตญาณนี่มันเป็นอาหารของจิต จิตนี้ธาตุรู้มันรับรู้ มันเสวยๆ คือมันกินอารมณ์กินทุกๆ อย่างตลอดเวลา นี่มันหิวมันโหยของมัน เราก็พยายามพุทโธ พุทโธให้จิตมันอิ่มเต็มของมัน.. คนอิ่มเต็ม คนอุดมสมบูรณ์ คนสุขสบาย มีอะไรผ่านมาเขาก็เลือกใช่ไหม สิ่งนี้ไม่ดีเราก็ไม่ทำ สิ่งนี้ดีเราก็ทำ ถ้าคนมันหิวโหยนะ ดีหรือไม่ดีขอดำรงชีวิตก่อน

ฉะนั้นที่เราทำ เราทำเพื่อความสงบ ฉะนั้นพอความสงบขึ้นมามันก็เกิดอาการอย่างนี้ อาการอย่างนี้มันเป็นผลข้างเคียง ผลข้างเคียงจะดึงให้เราออกไปไม่เข้าสู่จิต ไม่เข้าสู่ความสงบ ไปรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น.. ปีติ เห็นไหม ปีติมันเกิดสุข เกิดความตั้งมั่น สมาธิอยู่ข้างหน้า แต่พอมารับรู้อย่างนี้ปั๊บ อู้ฮู.. นี่มันมหัศจรรย์ แล้วต้องการความมหัศจรรย์อย่างนั้น ไอ้สมบัติข้างหน้าเลยไม่เอาไง สมบัติข้างหน้ามันจะไปอีกนะ

ที่พูดนี่เขามหัศจรรย์ เห็นไหม ผู้ที่ปฏิบัติใหม่นี่หยาบๆ พอเจออะไรมันก็มหัศจรรย์ แต่ความที่มหัศจรรย์มากกว่านี้ มหัศจรรย์ที่ลึกลับกว่านี้ มหัศจรรย์ที่สุดยอดกว่านี้นะ เราค่อยๆ ทำไป มันพัฒนาการของมันไป

จะภาวนาหรือไม่ภาวนา คนที่มีอำนาจวาสนามันจะเป็นของมัน บางคนบอกนี่ไม่ได้ภาวนามันเป็นเอง เป็นเองมันก็ต้องมีพื้นฐาน ถ้าไม่มีพื้นฐานมันไม่เป็นเองหรอก นี่เป็นเองหมายถึงความคิด ดูสิคนเรานะมีพื้นฐานที่ดี เป็นคนที่ดี จะคิดแต่เรื่องดีๆ มีอะไรมันจะคิดเรื่องดี อันนี้ไม่ดีไม่คิด จะทำแต่สิ่งดี นั่นเพราะอะไรล่ะ เพราะเขาสร้างบุญของเขามา แต่ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนานะ เขาคิดนะ โฮ้.. สังคมก็รังแกเรา คนนู้นก็รังแกเรา.. พอคิดอย่างนี้มันก็เสริม มันเสริม

นี่พื้นฐานไงพื้นฐานไม่แน่น.. พื้นฐานไม่แน่น จิตใจของคนนี่มันมาจากอำนาจวาสนา การสร้างสมมา พันธุกรรมทางจิตนี่คิดแตกต่างคิดหลากหลาย แต่ในทางจิตวิทยาเขาบอกว่า มันเป็นเด็กที่ว่าเขามีบาดแผลมาตั้งแต่ตอนเด็ก.. นี้มันก็มีส่วน ทำไมถึงมีส่วนล่ะ แต่เด็กบางคนนะ ดูเด็กกตัญญูสิ เห็นเด็กกตัญญูไหม พ่อแม่ทุกข์ยากขนาดไหน นี่มันวิ่งไปโรงเรียนนะ แล้วก็วิ่งกลับมาเช็ดพ่อเช็ดแม่

นี่สังคมบีบคั้นมันมากกว่าอีก ทำไมจิตมันไม่เป็นไปล่ะ ทำไมจิตใจมันไม่น้อยใจ ไม่บอกว่าสังคมทำร้ายเขาล่ะ ทำไมเขามีความกตัญญูกับญาติของเขาล่ะ.. เพราะจิตใจของเขาเข้มแข็งไง เพราะเขาได้สร้างสมของเขามา เห็นไหม แต่เราโดนอะไรกระทบหน่อยนะโทษแล้วโทษสังคมแล้ว

นี้จิตวิทยาเขาเอาตรงนั้นเป็นหลัก.. เราก็เห็นด้วย ! เห็นด้วยส่วนหนึ่ง เห็นไหม นี่อดีตกับปัจจุบัน อดีตมันก็มีส่วนหนึ่งทำให้เรามีนิสัยใจคออย่างนี้ ปัจจุบันมันก็ตัวเร่ง นี่จิตวิทยาตัวเร่งให้จิตให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็.. นี่เขาคิดกันได้แค่นี้ไง

นี่พูดถึงว่ามันเป็นมหัศจรรย์ขนาดไหน นี้มันคืออะไร.. สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี่ แล้วมันก็ผ่านไปแล้ว แล้วนี่เพราะจิตเขาเป็นอย่างนี้เขาถึงได้ถามมาเยอะมาก.. นี่อาการครั้งที่ ๑ นะ

ถาม : ๒. ลูกเคยไปปฏิบัติที่วัดป่าบ้านตาด แล้วลูกเห็นนิมิตดวงจันทร์สีเหลืองที่สวยงามมากๆ มีลายอ่อนช้อยงดงามอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน อันนั้นคืออะไรคะ.. หากเห็นอีกลูกควรจะเอาดวงจันทร์นั้นเข้ามาในร่างกายหรือเปล่าคะ หรือควรทำอย่างใด

หลวงพ่อ : หากเห็นอีกแต่มันไม่เห็นน่ะสิ.. หากเห็นอีก เห็นไหม ถ้าเห็นอีก จิตมันลงไปแล้วนะ คือเราจะคาดหมายไม่ได้เลยว่าเราจะเห็นอะไร เราเข้าไปในป่า เราไม่รู้เลยว่าเราจะเจอสิ่งใดบ้าง ถ้าเข้าไปในป่านะเราไปเจอสัตว์ป่า เราไปเจอสิ่งที่เป็นผลไม้ เจออะไรที่เป็นประโยชน์กับชีวิตเราก็ได้ดำรงชีวิต จิตถ้ามันสงบไปแล้วมันจะรู้มันจะเห็น นี่ภาวนาจริงมันเป็นอย่างนี้ ข้อเท็จจริงเราจะคาดหมายไม่ได้ เราจะรู้ล่วงหน้าไม่ได้เลยว่าจะเกิดสิ่งใด

นี่มันเป็นปัจจุบันธรรม ถ้ามันสงบมันก็คือสงบ แต่ถ้ามันสงบแล้วนะเห็นนิมิตเป็นดวงจันทร์สีเหลืองอ่อนช้อยลอยมา นี่ถ้ามีสติตั้งอยู่เราก็พุทโธ สิ่งที่มันเกิดขึ้นนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไรล่ะ แล้วกำหนดลมหายใจหรือกำหนดพุทโธ เพราะเรากำหนดคำนี้ พอกำหนดคำนี้ จิตมันมีสิ่งนี้เกาะ พอเกาะแล้วจิตมันก็นุ่มนวลขึ้น มันก็อิ่มเต็มขึ้น พออิ่มเต็มขึ้นมันเห็นนั้นเกิดขึ้น เห็นไหม ถ้าเรากำหนดพุทโธไว้สิ่งนั้นก็จะดับไป จิตมีกำลังมันก็เกิดพุทโธมากขึ้น พอเกิดพุทโธมากขึ้นจิตใจก็สะสมพลังงานมากขึ้น พอสะสมพลังงานมากขึ้นก็เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ถ้าพุทโธต่อเนื่องกันไปมันก็จะเข้าอัปปนาสมาธิไปข้างหน้า

ขั้นของสมาธิ ขั้นของความลึกซึ้งความกว้างขวางของสมาธิมันก็แตกต่างหลากหลายไป แต่ของเราพอพุทโธ พุทโธ พอมันเป็นขณิกะ พอรับรู้สิ่งใด อู้ฮู.. มหัศจรรย์ มันทิ้งเลยสมาธิมันไม่ได้เข้าอุปจาระ มันออกไปเห็นนิมิต มันออกไปข้างนอก เห็นไหม

ฉะนั้นถ้าเราทำไป เรากำหนดพุทโธไว้เราตั้งสติไว้ สิ่งที่เห็นก็คือเห็นแล้ว สิ่งที่เห็นนี้ปฏิเสธไม่ได้ ปฏิเสธไม่ได้มันเป็นวาสนาของคน วาสนาของเราเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นกับเราแล้วเราก็รับรู้ รับรู้แล้วเราก็วาง วางแล้วทำต่อไปมันก็ละเอียดขึ้นไป แต่ถ้าเรามีวาสนาเรารับรู้สิ่งนี้ เราติดอยู่กับสิ่งนี้ เราไม่เข้าลึกไปกว่านี้..

อย่างนี้มันเป็นพันธุกรรมทางจิตนะ มันเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากได้หรือไม่อยากได้ ให้มันเป็นตามที่อย่างนี้.. ไม่ใช่ ! มันเป็นของมันเอง มันเป็นของมันเองเพราะมันมีบุญมีกรรมอย่างนั้นมาเอง แต่พอเราพุทโธเข้าไปมันจะเจอสภาพแบบนั้น ถ้าเจอสภาพแบบนั้นแก้ตามข้อเท็จจริงนั้น เวลาคนปฏิบัติต้องแก้ตามข้อเท็จจริงนั้น จะไปแก้คาดหมายไปล่วงหน้าหรือว่าบอกไว้ก่อนเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นก็กำหนดพุทโธไว้ ตั้งสติไว้.. ตั้งสติไว้ สิ่งนั้นมันจะพัฒนาให้ดีขึ้นถ้าเรามีสติ ถ้าเรามีสติแล้วเรารับรู้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเวลาเจออะไรแล้วมันวูบวาบ มันขาดสติไง ตกใจวูบไปกับเขาวูบมากับเขา มันตั้งไม่ได้ นี่คนภาวนาถึงเป็นอย่างนี้ แต่พอมันทดสอบตรวจสอบ ทดสอบตรวจสอบบ่อยครั้งเข้า มันเห็นบ่อยครั้งเข้า ค่อยๆ จับทางได้ ค่อยพิจารณาได้ นี่มันจะพัฒนาเข้ามา

ถ้าเรามีสติใช่ไหม สิ่งใดเกิดขึ้นนะวางเลย วาง เพราะว่าเวลาภาวนา.. นี่เราเคยเป็นเวลามันเป็นแสงต่างๆ พุ่งเข้าชนอย่างนี้ นี่ตกใจนะผงะเลย แต่ต่อไปเราพัฒนาของเราขึ้นไปมากขึ้น พอมีแสงสิ่งใดนะเราก็กำหนดพุทโธไว้ ตั้งสติไว้.. ยับยั้งได้ บังคับได้ แล้วสิ่งนั้นให้มันวางได้ เพราะ ! เพราะถ้าเราคิดโดยปัญญานะ เราไม่ต้องหลับตาหรอก เราลืมตาอยู่เราก็เห็นดวงอาทิตย์ เราเห็นดวงดาว เราเห็นดวงจันทร์ เห็นไปหมดแหละ

ลืมตาก็เห็น หลับตาไปเห็นแล้วไปตกใจอะไร พอหลับตาเห็นแหม.. ทำตื่นเต้น ลืมตามันก็ยังเห็นได้เลย ถ้าคิดอย่างนี้ปั๊บนะค่ามันเท่ากัน เห็นไหม เราไม่วูบวาบไง ไม่หลับตามันก็เห็น ดวงอาทิตย์ดวงเบ้อเริ่มเลย ดูแสงดวงแก้วเบ้อเริ่มเลย.. ลืมตาก็ยังเห็น พอหลับตาเห็นไปตื่นเต้นไปตกใจ นี่ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ปั๊บสติมันก็ไม่วูบวาบ สติทุกอย่างไม่วูบวาบ ไม่วูบวาบทุกอย่างมันจะดีขึ้น

มันเป็นเพราะเราวูบวาบเอง เราวูบเราวาบเองสิ่งนั้นก็ไหวไปตาม แต่ถ้าเราไม่วูบวาบนะ สิ่งนั้นมันจะตั้งของมันเอง แล้วเราพัฒนาของเรามากขึ้นไป

ถาม : ๓. ลูกเคยไปปฏิบัติที่วัดแห่งหนึ่ง และผ่อนอาหารแล้วเดินจงกรม ก้าวเท้าไม่ออกเหมือนจิตจะรวมขณะเดิน ก้าวขาแทบไม่ได้เลย ไม่ใช่เพราะหิวแต่ร่างกายมันเบา และจิตเราแนบอยู่จิตเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ควรยืนหรือนั่งหรือทำอย่างไรดีคะ

หลวงพ่อ : ถ้ามันก้าวไม่ออกไม่ออกใช่ไหม ถ้าก้าวไม่ออกให้ยืน ยืนก็ได้นั่งก็ได้ถ้าจิตมันลงจริงนะ ถ้าจิตมันลงจริง.. เวลาอดอาหารผ่อนอาหารแล้วเดินจงกรมนั่งสมาธิมันเป็นไปได้.. นี่พูดถึงจิตมันเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตมันเป็นอย่างนี้ให้เรายืนหรือนั่ง แล้วถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วมันสงบบ้าง นี่เราออกใช้ปัญญา

ออกปัญญาอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เราใช้ปัญญาเทียบเคียงเอา เทียบเคียงเอาว่าโลกเป็นอย่างนี้ ธรรมะเป็นอย่างนี้.. สิ่งที่เราเห็นนี้ ถ้าเราเห็น พูดถึงถ้าเราพูดถึงโดยทางโลก เห็นไหม เราต้องเห็นด้วยหู ตา จมูก ลิ้น กาย เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เป็นสิ่งที่ให้คนอื่นเห็นได้ด้วย พิสูจน์ได้ แต่พอเราปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่เรารู้เราเห็นนี่มันเป็นเรื่องของเราแล้ว มันเป็นเรื่องจากภายใน เราจะพูดเราจะบอกคนข้างนอกอย่างไร

นี่เราเทียบเคียงของเรา เราใช้ปัญญา นี้เราบอกว่าเราให้หัดฝึกปัญญาอย่างนี้ ถ้าหัดฝึกปัญญาแล้ว เรากลับไปทำสมาธิมันจะได้ขึ้น ทำสมาธิพอจิตมันสงบบ้าง มีฐานบ้าง เราหัดฝึกใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาแล้วนี่มันจะย้อนกลับมา เราจะไม่สงสัยเองไง ถ้าเราใช้ปัญญาเทียบเคียงแล้ว สิ่งที่สงสัยมันจะไม่มี ถ้าสิ่งที่สงสัยไม่มีมันเป็นนิวรณธรรม

นิวรณธรรมมันปิดกั้นคุณงามความดีของเรา เพราะเราทำไปด้วยสงสัยไปด้วย สนเท่ห์ไปด้วย มันก็ไม่มั่นใจ เห็นไหม แต่ถ้าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญ นี่โลกเป็นอย่างนี้ ธรรมเป็นอย่างนี้ แล้วพระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ ธรรมะในพระไตรปิฎกอย่างนี้ แล้วเราปฏิบัติแล้วปัจจัตตังเป็นอย่างนี้ ความจำนี่ปริยัติเป็นอย่างนี้ ตอนศึกษาอยู่เป็นอย่างนี้ อารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างนี้ แต่พอเวลาปฏิบัติไปแล้วมันเป็นสันทิฏฐิโก ปฏิบัติแล้วมันเป็นอย่างนี้ อ๋อ.. ปริยัติเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ถ้าทำจริงเป็นอย่างนี้ เราจะรู้ได้เองหมดเลย แล้วพอเวลาไปฟังใครพูดถึงธรรมะนี่ เราจะฟังออกเลยว่ามันอยู่ในเขตอยู่ในอุดมการณ์อย่างไร อยู่ในหลักการอย่างไร นี่เราจะรู้ของเราได้

นี่พูดถึงเวลาจิตมันเดินไม่ออกก้าวไม่ออกนะ เราแก้ไขของเรา

ถาม : ๔. ขณะลูกเดินจงกรม ลูกเห็นโครงกระดูกตัวเองระเบิด และมีครั้งหนึ่งขณะฟังพระอ่านวินัยตอนกลางคืน ลูกได้ยินเสียงระเบิดออกมาจากจิตลูกที่กลางอก เสียงดังมาก มันคืออะไรคะ และควรทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : มันผ่านไปแล้ว ถ้าเสียงดังเสียงต่างๆ แล้วคำว่าระเบิดๆ ถ้าพิจารณาอยู่ พิจารณากายแล้วกายระเบิด เห็นไหม บางทีกายระเบิดออกมา กายระเบิดออกมานี่มันเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วนะส่วนใหญ่ที่เป็นสัจจะ ส่วนใหญ่แล้วมันจะแปรสภาพ มันจะพุพอง มันเหมือนซากศพมันจะพุมันจะพองขึ้นมา เหมือนน้ำเหลืองนี่แล้วมันจะเยิ้มออกไป แล้วมันจะคืนสู่ดินสู่น้ำ อันนั้นมันเป็นอย่างนั้น

นี้พอคำว่าระเบิด.. ระเบิดตู้ม ! นี่ มีอยู่มีพระปฏิบัติแล้วระเบิด ระเบิดหมดเลย เราก็ฟังดูระเบิด.. ระเบิด แต่มันไม่ค่อยมีผล เพราะระเบิดแล้วเขาไม่ได้ถอนความรู้ความเห็นอันนั้นเขาเลย เอ๊ะ.. เราก็แปลกใจอยู่ นี้แต่ถ้าฟังเวลาพระปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติไปแล้วพอจิตมันสงบแล้วมันจะเห็นซากศพ เห็นซากศพนะ เห็นร่างกายของเรานี่แหละแต่มันเปรียบเทียบว่าเห็นเป็นซากศพ แต่จริงๆ คือเราเห็นมันก็เกี่ยวเนื่องกับใจเรานั่นล่ะ เวลาถ้าจิตมีกำลังมันจะเริ่มพุพอง พอกาลเวลามันจะเริ่มเป็นอสุภะ มันจะเริ่มยุบเริ่มพองเริ่มเยิ้มของมัน สิ่งนั้นล่ะมันจะถอดถอนได้มากกว่า

ฉะนั้นไอ้คำว่าระเบิดๆ นี่นะมันมีคนเป็นอยู่ ฉะนั้นระเบิดนี้มันเหมือนกับวิทยาศาสตร์ว่าอย่างนั้นเลย ถ้าคำว่าระเบิดต่างๆ มันเปรียบเหมือนวิทยาศาสตร์ แต่ถ้ามันพุมันพองมันเยิ้มไป เราจะบอกว่ามันเป็นธรรมชาติ มันเปรียบเหมือนเวลาร่างกายมันโดนด้วยพลังงานของจิตมีกำลัง พอจิตมีกำลังนี่มันจะเยิ้ม มันจะเน่ามันจะเปื่อย มันจะคืนสู่สถานะเดิมของเขา แต่คำว่าระเบิดนี่เหมือนกับลัดขั้นตอนไง เหมือนกับว่าต้องการ.. เหมือนกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์ไง

ปุ๋ยอินทรีย์ เห็นไหม มันก็เกิดจากจุลินทรีย์ใช่ไหม แต่นี้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใส่เร็วเติบโตเร็ว นี้พอมันระเบิดตูม ! นี่มันทำลายหมดเลยนะ แต่ฟังดูแล้วนะมันเหมือนกับไม่มีสิ่งใดตอบสนองกับใจเขา นี่เวลาเราคุยกับพระนะ เวลาพระธัมมสากัจฉา จะคุยธรรมะกัน เราฟังเรื่องระเบิดๆ มาแล้วรู้สึกว่า คนที่เวลาระเบิดแล้วนี่รู้สึกว่าไม่ค่อยได้ถอนกิเลสเท่าไร แต่ถ้ามันเป็นเหมือนไตรลักษณ์ มันแปรสภาพมันเป็นไปตามความเป็นจริงนี่ รู้สึกว่ากิริยาท่าทางเขาเหมือนกับว่าเขาถอดถอน คือจิตใจเขานุ่มนวลขึ้น กิเลสเขาเบาลง.. นี้พูดถึงการระเบิดนะ

ฉะนั้นถ้ามันระเบิด ถ้าเดินจงกรมอยู่เห็นโครงกระดูกแล้วมันระเบิดอะไรอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนี้มันเป็นที่วาสนาของคน แต่ถ้าความรู้สึกของเรา เพราะประสบการณ์ของเราเราเคยเจออย่างนี้มา เพราะคำว่าระเบิดนี่ทุกคนนึกได้ ทุกคนเป็นได้ นี้จิตใต้สำนึกเราเวลาเป็นอะไรไปแล้วมันจะเอารวบรัด.. พอรวบรัด คำว่ารวบรัด คือมันไม่ซึมซับเข้าไปถึงรากฐาน แต่ถ้ามันเป็นตามความเป็นจริง ข้อมูลตามความเป็นจริงมันจะซึมเข้าไปถึงหัวใจเลย แล้วมันจะแปรสภาพของมันเป็นไตรลักษณ์ เป็นสิ่งที่การกระทำ

แต่ถ้ามันระเบิดเป็นของเรา ก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่ระเบิดแล้วนี่ ระเบิดตูมกลางหัวอก ระเบิดต่างๆ นี่เสียงดังมาก แล้วก็กลับมาพุทโธใหม่ เพราะมันก็ระเบิดไปแล้ว มันก็เหมือนกับทุกอย่างนี้มันจะเป็นประสบการณ์ของมันไป ประสบของมันไปนะ..

อันนี้สิ อันนี้คำถามนี้แปลก ข้อ ๕. ยังอีกเยอะเลยล่ะ

ถาม : ๕. โสดาบันกับสกิทาคามี มีความแตกต่างอย่างไรในเมื่อละสังโยชน์ ๓ ได้เหมือนกัน อยากทราบว่า ๒ อย่างนี้เวลามันขาดมันขาดอย่างใด

หลวงพ่อ : พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีแตกต่างกันมาก ! แตกต่างกันมาก.. พระโสดาบันพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาด้วยสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธินี่เป็นเรื่องโลกๆ แต่ถ้าเป็นสมาธิปั๊บ สมาธิเกิดจากจิต เวลาพิจารณาไปแล้วสิ่งที่ไม่ได้เป็นโสดาบันเพราะจิตมันมีอวิชชามาครอบงำ ขณะที่พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี่พิจารณาโดยสัมมาสมาธิ.. สัมมาสมาธิคือตัวจิต ตัวจิตพิจารณามันก็ย้อนกลับมาทำลายวิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัย

นี่สักกายทิฏฐิความเห็นผิด เกิดวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส.. นี่สังโยชน์ ๓ ถ้าพิจารณาจนขาด เห็นไหม ถ้าพิจารณากาย ก็กายไม่ใช่เราเราไม่ใช่กาย.. พิจารณาเวทนา ก็เวทนาไม่ใช่เราเราไม่ใช่เวทนา.. พิจารณาจิต จิตกับสัจธรรมมันคนละส่วนกัน พิจารณาจิตเห็นจิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส จิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต.. พิจารณาธรรม สภาวธรรม นี่เวลามันขาดเป็นพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันก็เป็นพระโสดาบัน มันแตกต่างกันตรงนี้ว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคาแตกต่างกันอย่างไร

พระสกิทาคามี เวลาพิจารณาไปแล้วมันเข้าไปพิจารณากาย สติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เวลาพิจารณาถอดถอนอะไร.. ถอดถอนอุปาทานในกายนั้น ถ้าพิจารณาถอดถอนในกายนั้น กามราคะ ปฏิฆะมันอ่อนลง

นี่มันแตกต่างกันเยอะมาก ! แตกต่างกันเยอะมากเพราะอะไร เพราะเวลาเป็นสกิทาคา พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เวลามันถอดมันถอนโลกนี้ราบหมดเลย พอราบหมดเพราะอะไร ราบเพราะว่าสิ่งที่ราบแล้วอุปาทานมันยึดของมันอีกชั้นหนึ่ง มันราบแล้วเพราะว่ากามราคะ ปฏิฆะมันอยู่ที่จิต ฉะนั้นเวลาพระอนาคาไปละ เห็นไหม พระอนาคาก็สังโยชน์ ๕

ถ้าสังโยชน์ ๕ เป็นพระอนาคา.. นี้พระอนาคากับพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่สังโยชน์ ๑๐ ! รูปราคะ อรูปราคะ มานะ กุกกุจจะ อวิชชา.. นี่จะบอกว่ามันแตกต่างกันอย่างไร อยากทราบว่าแล้วมันขาดมันขาดอย่างไร.. ไม่บอก ! ขนาดนี้ก็ยังมหัศจรรย์ขนาดนี้ ถ้าบอกไปแล้วเดี๋ยวมันจะขาดแบบมหัศจรรย์เลยล่ะ

เพิ่งดูทีวีหลวงตาเมื่อวาน หลวงตาท่านเทศน์เมื่อวาน ท่านบอกว่าการสอนเขาเอาธรรมะเก่าๆ มาเปิดตอนกลางวันนะ เขาบอกว่าสอนก็สอนยากนะ เพราะว่าเวลาบอกเวลาเทศน์ไปนี่หลวงปู่มั่นท่านไม่บอก.. ไม่บอกเพราะอะไร เวลาท่านเทศน์ถึงตรงนั้นท่านจะหลบไป เขาจะรู้ขึ้นเอง เราจะเทศน์ถึงเหตุเวลาผลนี่ไม่บอก เพราะว่าผู้ที่ลามกมี ! ผู้ที่ลามกจะเอาสิ่งนี้ไปเป็นประโยชน์ไง

ผู้ปรารถนาลามก.. ปรารถนาลามกมันก็จำไง จำสิ่งที่ว่ามันขาด เอาคำว่าขาดแล้วขาดอย่างไร แล้วจำไปพูด พอจำไปพูด มันก็จำคำพูดของครูบาอาจารย์ไปพูด แต่เขาไม่มีเหตุมีผล พอไม่มีเหตุไม่มีผลปั๊บ นี่ท่านบอกว่ามันยากมันยากตรงนี้ เวลาสอนนี่มันยากตรงนี้ ยากตรงที่ว่าไม่บอกก่อน ถ้าบอกก่อนคนที่ปรารถนาลามก ลามกอนาจาร.. ลามกคือเอาของไม่เป็นความจริงขึ้นมาแล้วเอาไปพูด

ทีนี้คำพูดก็เหมือนกันใช่ไหม พอเหมือนกันแล้วคนฟังนี่ถ้าคนที่ไม่เป็นฟังมันก็ต้องเชื่อ แต่คนถ้าเขาเป็นนี่เขาไม่ฟังอย่างนั้น พอฟังเสร็จแล้วสิ่งที่ได้มา เห็นไหม สิ่งนี้ได้มาได้มาจากอะไร มันขาดมันขาดอย่างไร.. บอกไม่ถูกหรอก ! ปรารถนาลามกก็เอาแต่ผลของเขานี้ไปพูด แต่ถึงที่สุดแล้วตัวจริงมันพูดไม่ได้

ฉะนั้นเขาบอกขาดนี่ขาดอย่างไร โอ้โฮ.. ถ้าไม่บอกก็แสดงว่าไม่รู้น่ะสิ แล้วไม่บอกก็แสดงว่าไม่รู้ใช่ไหม ถ้ารู้ทำไมไม่กล้าพูดล่ะ เออ.. แสดงว่าไม่รู้ถึงไม่กล้าบอกว่ามันขาดอย่างไร ถ้ารู้ต้องบอกสิ

คนเป็นกับคนเป็นเขาฟังทีเดียวก็รู้.. ฉะนั้นสิ่งที่ว่าสกิทาคา อนาคานี่แตกต่างกันอย่างใด แล้วมันขาดมันขาดอย่างไร อ้าว.. ก็มันขาดแบบที่มันขาดก็แล้วกันล่ะ แต่ไม่บอก !

ถาม : ๖. ถ้าจะถือศีล ๘ ที่บ้าน สามารถเต้นแอโรบิคได้ไหมคะ คือออกกำลังกายค่ะ เพราะเวลาไม่ได้เต้นแล้วรู้สึกว่าร่างกายอ่อนแออย่างไรไม่รู้

หลวงพ่อ : ผู้ถือศีล ๘ ศีล ๘ ไม่ใช่ศีล ๕ ! ศีล ๘ คือว่าไม่ฟังเล่น ไม่นอนในที่สูง ไม่ฟังเล่นฟ้อนรำ แต่เต้นแอโรบิคนี่นะ จริงๆ แล้วถ้าบอกว่ามันผิดไหม มันก็ผิดนั่นแหละ แต่ถ้าเต้นแอโรบิคกับทำโยคะนี่เหมือนกันไหม.. ถ้าทำโยคะได้ เต้นแอโรบิคได้ไหม

แต่ถ้าเพื่อการบริหารนะ อย่างครูบาอาจารย์เรา เห็นไหม พระกรรมฐานเรานี่จะมีข้อวัตร ถึงเวลาจะนวดเส้นๆ จับเส้นเพราะว่าเราได้บุญคุณ พ่อแม่ครูจารย์ท่านอบรมท่านสั่งสอนเรามา เวลาเราทำสิ่งใดเพื่อประโยชน์กับท่าน อย่างจับเส้น นวดเส้นนี่ แต่ถ้าพูดถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านไม่มีใครนวดเส้นท่านก็จะบริหารของท่านเอง

เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ เช้าขึ้นมาท่านจะนั่งของท่าน ท่านจะแวกขาแบบยิมนาสติก กางขาอย่างนี้เลย.. ท่านจะทำของท่านทุกวัน แล้วท่านจะสอนเราด้วย “ไอ้หงบ.. ต้องทำอย่างนี้นะ ต้องทำอย่างนี้นะ” ท่านจะทำของท่านนะ เช้าขึ้นมาท่านจะยืดขานั่ง เพราะท่านจะบริหารของท่านเอง แล้วท่านก็จะเหยียบนมสาว เหยียบนมสาวท่านจะบริหารของท่านหลวงปู่เจี๊ยะนี่

นี้พูดถึงว่าถ้าเราถือว่าอย่างนี้ อย่างนี้เราถือว่าการออกกำลังกาย อย่างนี้เพื่อถนอมรักษาร่างกายนี้เพื่อจะได้พิจารณาไป เราว่าได้ ! แต่ถ้าการเต้น.. เต้นแอโรบิค เต้นแบบว่ามันเป็นทางโลกๆ ไป.. นี่ศีล ๘ ศีล ๘ คือผู้ปกติ ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติใจมันไม่ดิ้นรน เราว่าทำสิ่งใดเพื่อประโยชน์ได้ !

เพราะศีล.. คำว่าผิดศีลๆ หมายถึงว่า นี่ปาณาติปาตา องค์ของศีลคือมีผู้เสียและผู้ได้ เห็นไหม โกหกเขานี่เขาเสียหายกันไปหมดเลย ลักทรัพย์.. นี่องค์ของศีลคือเราทำความเดือดร้อน ทำความเดือดร้อนให้กับบุคคลคนอื่นนี่ผิดหมดแหละ แต่นี้ถ้าเราไม่มีการทำความเดือดร้อนให้ใคร.. สิ่งที่ว่าถือศีล ๘ ท่านไม่ให้นอนที่สูงที่ต่ำเพราะอะไร เพราะมันติดสุข อย่างนี้เราเพื่อบริหารร่างกาย การบริหารร่างกายโดยความบริสุทธิ์ใจเราว่าน่าจะ.. จะบอกว่าได้เดี๋ยวจะหาว่ากล่าวตู่พุทธพจน์นะ

ศีล ๘ นี่ ไอ้นี่เป็นพุทธพจน์ ! ภิกษุกล่าวตู่พุทธพจน์ ถ้าภิกษุสวดถึง ๓ หน ไม่ถอนความเห็นนั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสส อันนี้เพียงแต่เราพูดกันเป็นประโยชน์นะ แล้วอย่างนี้เราพูดเด็ดขาดไม่ได้ เพราะเรามีศีลมีธรรม มีสิ่งที่เราต้องมีอะไรควบคุมเราอยู่

ถาม : ๗. ลูกอยู่คอนโดฯ แต่ถ้าเดินจงกรมตามแบบพระป่าที่คอนโดฯ รู้สึกไม่สะดวก เพราะของเยอะห้องแคบ เดินในห้องแป๊บเดียวก็เหนื่อย ไม่เหมือนเดินกลางแจ้งตามทางเดินจงกรมซึ่งไม่เหนื่อยเลย ลูกถึงเดินแบบย่างช้าๆ แล้วสวดมนต์ในใจไปด้วยจะได้ไหมคะ จะทำวิธีนี้แป๊บเดียวก็เดินได้ ๑ ชั่วโมงแล้ว แต่ถ้าไปเดินแบบพระป่า เดิน ๑๐ นาทีก็เหนื่อยมาก ในคอนโดเนื้อที่น้อย

หลวงพ่อ : คำถามนี้มันกลับกัน นี่บอกว่าถ้าเดินอย่างนี้มันดี ไปเดินแบบพระป่าเดิน ๑๐ นาทีก็เหนื่อยแล้ว เดินแบบพระป่ามันเดินแบบจริง เห็นไหม ที่เราไปวัดกันนี่ อยู่บ้านปฏิบัติได้ไหม.. ได้ ทำไมเราต้องไปวัดล่ะ ไปวัดเพื่อวัดใจ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราเป็นหวัดไม่ไปหาหมอได้ไหม.. ได้ เวลาเราเป็นโรคร้ายขึ้นมาล่ะเรารักษาเองได้ไหม.. ไม่ได้ เราต้องไปหาหมอ

ทีนี้ไปวัดนี่นะ เผื่อปฏิบัติแล้ว ฟังธรรมหรือว่ามีครูบาอาจารย์นี่เหมือนมีหมอ ถ้าเราติดขัดอย่างใดครูบาอาจารย์จะแก้ไขให้เราได้ ปฏิบัติอยู่ที่บ้านได้ไหม.. ได้ ! ปฏิบัติอยู่ที่วัดได้ไหม.. ได้ ! แล้วปฏิบัตินี่มันก็ตรวจสอบกัน คนเรามันต้องพัฒนาไง ทำงานอยู่ที่เดียวทุกวันๆ มันก็ชิน มันก็ไม่ไปสะดวก เห็นไหม เราก็เปลี่ยนพื้นที่ พระต้องออกธุดงค์เปลี่ยนสถานที่เปลี่ยนต่างๆ ฉะนั้นสิ่งใดๆ ถ้าเราเป็นธรรมนี่มันแก้ไขได้

เราอยู่ในป่านะฝนตกมันไปไหนไม่ได้ เราเดินที่ชายคานี่เดินไปเดินมาอยู่อย่างนั้นล่ะเราว่าเราเก่งมากเลย ไปอ่านประวัติหลวงปู่หลุยท่านเดินจงกรมในกลด.. ในกลด ! กลดกางไว้แล้วท่านเดินรอบกลด หลวงปู่หลุยน่ะ ไอ้คอนโดฯ นี่มันกว้างกว่ากลดตั้งเยอะ หลวงปู่หลุยท่านเดินจงกรมอยู่ในกลดนะ กลดหลังเดียว กลดที่เรานอนกันเนี่ย หลวงปู่หลุยเดินจงกรมในกลดท่านยังเดินได้

เราจะบอกว่าเวลาคนมุมานะ คนอยากได้ดิบได้ดีนี่สิ่งใดก็ทำได้ แต่ถ้าคนมันกึ่งๆ กลางๆ มันก็อ้างไปหมดล่ะ หนาวนักก็ไม่ทำงาน ร้อนนักก็ไม่ทำงาน ทางเดินแคบเกินไปก็ไม่อยากเดินจงกรม ที่พระป่าดี.. นี่อ้างเล่ห์ไปหมดเลย แต่ถ้าของจริงนะที่ไหนก็ทำได้ ถ้าเราใส่ใจเราอยากทำเราตั้งใจทำ หลวงปู่หลุยในกลดท่านยังเดินจงกรมได้เลย เราเดินได้เราทำได้ เพราะเราเกิดมาเป็นคน เราเกิดมาเป็นคนเรามีหน้าที่การงาน แล้วเราอยู่คอนโดฯ นี่นะ แล้วมันเป็นอย่างไรเราก็ทำของเราไป เรามีสิ่งใดเราทำจากตรงนั้นล่ะ เราจะอ้างไปเปรียบเทียบไม่ได้ ไปเปรียบเทียบแล้วมันก็ร้อยแปด เราทำของเราไปได้

ถาม : ๘. เรารู้ได้อย่างไรว่าอดีตชาติเราเคยเป็นลูกศิษย์ใครมาก่อน เคยฝึกสายไหนมาก่อน เพื่อจะได้ต่อยอดในชาตินี้เลย

หลวงพ่อ : ไอ้นี่นะเราพยายามทำของเราเอง หลวงตาท่านบอกว่า “ถ้ากำหนดพุทโธหรือกำหนดอานาปานสติ กำหนดสิ่งใดก็ได้มันโล่งๆ มันสะดวกนั่นคือทางของเรา” นี่หลวงตาพูด เราปฏิบัติอะไรก็ได้ ถ้าปฏิบัติแล้วนี่เรารู้เองสัมผัสได้เองเลย

ถ้าอยากรู้ว่าอดีตชาติเป็นลูกศิษย์ใคร ถ้าคนรวยนะอาจารย์เป็นอดีตชาติเยอะแยะเลย ถ้าคนจนนะอาจารย์นั้นมันไม่เอาสักคนหนึ่ง ถ้าขอทานนี่มันบอกไม่เคยเป็นญาติกันหรอก แต่ถ้าคนรวยนะมันบอกชาติที่แล้วเป็นญาติทุกคนล่ะ ถ้าเราไปหานี่อาจารย์องค์ไหนก็ได้ ถ้ามึงรวยมานะแหม.. ชาติที่แล้วนี่เป็นญาติกันมา ถ้าขอทานมานะไม่เคยรู้จักกัน ไม่เคยๆ มันไม่บอกเลยว่าเป็นญาติมัน

ถ้าคิดอย่างนี้มันเป็นเหยื่อ.. เราคิดอย่างนี้ จะอดีตชาติทุกคนก็มี อดีตชาติทุกคนนี่ มีทุกคนแหละ แต่หลวงตาท่านสอน หลวงตาท่านเป็นธรรมมากนะท่านบอกเลยว่า

“กำหนดอะไรก็ได้โล่งๆ โปร่งๆ สะดวก นั้นคือทางของเรา”

เขาบอกคนไม่มีวาสนา หลวงตาบอกไม่มีวาสนาจะสนใจศาสนาได้อย่างไร ถ้าไม่มีวาสนาทำไมสนใจเรื่องพุทธศาสนา ถ้าไม่มีวาสนาทำไมอยากนั่งสมาธิ ถ้าไม่มีวาสนามันก็ไอ้คนที่อยู่ข้างนอก เห็นไหม มันเห็นคนมาวัดมันบอกไอ้พวกนี้คนมีปัญหา มันมีแต่ความสุข มันมีแต่โกงกัน มันมีแต่ทำมาหากินมันบอกมันมีวาสนานะ ใครจะมาวัดมันบอกไอ้พวกนี้พวกทุกข์ ! พวกทุกข์ !

นี่ไงคนอย่างนั้นไม่มีวาสนา ไอ้คนที่มาวัดตั้งใจภาวนานี่วาสนามันมาแล้ว ! แล้วแค่อยากมาภาวนา ดูสิจะมาภาวนา ไปขอพ่อขอแม่มานี่กี่วันจะได้ ไม่ให้มาหรอก ไม่มีใครเขาอยากให้มาหรอก เขาเป็นห่วงเป็นใยไปทั้งนั้นล่ะ นี่คนวาสนาดีเขาไม่มาเกาะเกี่ยวกันไว้ แล้วมาวัดมาวามามาปฏิบัตินี่เขาบอก มาวัดไม่มีวาสนา มาวัดแล้วมันทุกข์.. เอ็งมานั่งอยู่นี่วาสนามึงแล้ว ! ถ้าไม่มีวาสนามึงมานั่งอย่างนี้ได้อย่างไร

ฉะนั้นว่าอดีตชาตินี่อย่าไปเชื่อ เห็นมาเยอะ ถ้ารวยๆ มานี่แหม.. เมื่อชาติที่แล้วนะแหม.. ได้เกื้อกูลกันมาเยอะเลย แต่ถ้าขอทานมานี่มันบอกว่าไม่รู้จัก ชาติที่แล้วเราอยู่ห่างกันคนละประเทศเลยไม่รู้จัก ถ้าเป็นขอทานนะ

ถาม : ๙. ลูกสวดมนต์หรือปฏิบัติธรรมเสร็จแล้วลูกจะอธิษฐานขอฤทธิ์พวกตาทิพย์ เป็นการสมควรหรือไม่คะ จะทำอย่างไรหรือฝึกอย่างไรถึงได้พวกนี้คะ ควรไปฝึกที่ไหนกับพระอาจารย์อะไร ลูกอยากพ้นทุกข์ด้วยและอยากมีฤทธิ์ด้วย ให้หลวงพ่อเมตตาด้วย

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) อู้ฮู.. อยากพ้นทุกข์นี่ก็กระเสือกกระสนน่าดูแล้ว อยากพ้นทุกข์ด้วยอยากมีฤทธิ์ด้วย อู้ฮู.. เอาทุกอย่างเลย เขาปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์นะ..

ฤทธิ์นี่เราจะบอกว่า เพราะเราอยากได้ฤทธิ์ อภิญญา ๖ นี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านถามหลวงปู่มั่นเอง หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง ท่านว่า “อภิญญา ๖ แก้กิเลสได้ไหม” เขกหัวป๊อก ! ไม่ได้.. แล้วท่านก็เฉยนะ ก็นวดเส้นต่อ เสร็จแล้วก็พอเวลาได้ก็ถาม “อ้าว.. ถ้าไม่ได้อาจารย์ทำทำไมล่ะ”

หลวงปู่มั่นทำอภิญญา ๖ หลวงปู่มั่นได้ครบ หลวงปู่มั่นทำทำไมล่ะ ท่านบอกเขกหัวอีกป๊อก ! “เอาไว้สอนคนเว้ย” อภิญญา ๖ นี่รู้วาระจิต หูทิพย์ตาทิพย์เอาไว้สอนคน เพราะคนมันมีช่องทางออกเยอะมาก จิตใจของคนมันดิ้นรนมาก ฉะนั้นอภิญญา ๖ ที่หลวงปู่มั่นท่านมี ท่านเอาไว้เป็นเครื่องมือดักใจคน เครื่องมือรู้คนโกหกคนต่างๆ ท่านเอาไว้ปิดล้อมไม่ให้คนมันออกนอกลู่นอกทาง แล้วก็สอนกลับมาอยู่ที่อริยสัจ.. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณการแก้ไขกิเลส เพราะท่านสร้างบุญของท่านมามาก

ฉะนั้นไอ้เรื่องฤทธิ์นี่นะเราจะบอกว่าอย่างพระอนุรุทธะ นี่มันเป็นเอตทัคคะ นั่งอยู่ก็รู้โดยธรรมชาติเลย พระอุบาลีเป็นคนถามพระอนุรุทธะว่านี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่ใช่หรือ พระอุบาลีเป็นพระอรหันต์นะ พระอุบาลีเป็นผู้ทรงวินัยนะ พระอุบาลีเป็นผู้ถามพระอนุรุทธะขึ้นมาเองว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานหรือยัง พระอนุรุทธะบอกว่ายัง พระอนุรุทธะนี่รู้หมดเพราะพระอนุรุทธะรู้วาระจิต เป็นเอตทัคคะทางรู้วาระจิต แต่พระอุบาลีเป็นเอตทัคคะทางทรงธรรมวินัย.. นี่พระอรหันต์เหมือนกันนะ พวกอภิญญา พวกฤทธิ์นี่มันยังไม่มีเลย แต่ทำไมพระอนุรุทธะมีล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอกว่าถ้าโยมมีนะ โยมมีอำนาจวาสนา เวลาปฏิบัตินี่มันเป็นเลย อย่างเช่นจิตที่มันรู้ๆๆ อย่างนี้ นี่มันเป็นร่องรอยของมัน แล้วถ้ามันเป็นจริงปั๊บจิตมันก็เหมือนพลังงาน ดูสิไฟฉายเปิดมันจะเห็นไปหมดเลย ไฟฉายมันส่องสว่างหมดเลย

จิต.. ถ้ามันชำระกิเลสออกมาเลย ถ้ามันเป็นอย่างนั้นปั๊บมันก็เห็นหมดเลย มันรู้หมดเลย แต่ถ้ามันเป็นถ่านในเตา เห็นไหม อยู่ในเตามันไม่เห็นอะไรเลยแต่มันให้ความร้อนได้นะ นี่ถ่านในเตามันออกไปไหนไม่ได้เลยเพราะอยู่ในเตา จิตถ้ามันสะอาดแล้วมันก็เหมือนถ่าน มันพลังงานเหมือนกัน มันไม่มีก็คือไม่มี มันจะเป็นอะไรไป ขออย่างเดียวขอให้มันสิ้นกิเลสนี่พอใจแล้ว แหม.. จะเอาหูทิพย์

เพราะอย่างนี้สิอดีตชาติเขาถึงจะบอกว่าเป็นญาติเขาแน่นอน ไปหาพระองค์ไหนเขาจะบอกเลยเขาจะสอนให้ฤทธิ์นี่ อดีตชาตินี่ แล้วถ้าสอนไปแล้วนะ เดี๋ยวก็ต้องนู้นต้องนี่ แล้วเดี๋ยวจะรู้ว่าฤทธิ์มันจะเป็นอย่างไร ไอ้ตัวฤทธิ์นี่แหละมันจะทำให้ยุ่ง..

แต่อริยสัจมันเป็นของดี เป็นความจริง เป็นความถูกต้อง ฉะนั้นให้พ้นกิเลสเถิด พ้นจากทุกข์อันนั้นสำคัญมาก

 

ถาม : ๒๙๖. เรื่อง “ลูกศิษย์หลวงพ่อ”

(ลูกศิษย์ของหลวงพ่อเลยนะนี่ ลูกศิษย์หลวงพ่อเลยล่ะ) ลูกกราบระลึกถึงพระคุณหลวงพ่อให้ความกระจ่างในใจลูกมาก ขอให้ถนอมสุขภาพด้วยนะ แต่เวลาถามนะ..

๑. หลวงพ่อเล่าว่าพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ได้ถามพระพุทธเจ้าว่า “ฤทธิ์กับปัญญาอย่างไหนเลิศที่สุด” พระองค์ทรงตอบว่า “อาสวักขยญาณเลิศที่สุด” หลวงพ่อได้โปรดอธิบาย บรรยายถึงสภาวะ หรือลักษณะ หรืออาการ หรือบรรยากาศ หรือช่องว่าง รอยต่อก่อนเข้าอาสวักขยญาณด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : หลวงพ่อเล่าว่าพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร.. ไม่ใช่หรอก นี่มีพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอนุรุทธะ คือพระอรหันต์ ๘ องค์.. อยู่ในพระไตรปิฎกเราจำสูตรไม่ได้ อยู่ในสวนมะพร้าว แล้วพระอรหันต์ด้วยกันก็คุยธรรมะกัน พอคุยธรรมะกันก็ต่างคนต่างคุยธรรมะกัน เอตทัคคะหมดทุกคนเก่งหมด แล้วก็บอกว่า

นี่พระโมคคัลลานะก็บอกว่าฤทธิ์อันดับหนึ่ง พระสารีบุตรบอกปัญญาอันดับหนึ่ง พระอุบาลีบอกวินัยอันดับหนึ่ง คือทุกคนก็ว่าที่ตัวเองถนัดดีที่สุด ทีนี้เราไปเถียงกันแต่ความถนัดไง พอเถียงกันแล้วลงกันไม่ได้ พระอรหันต์เถียงกันแล้วลงกันไม่ได้ แต่เถียงแบบพระอรหันต์นะ ไม่ได้เถียงแบบพวกเราต่อยกันมีเรื่องมีราวกันนะ พระอรหันต์ท่านเถียงกันทางวิชาการไง คุยกันเรื่องวิชาการว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์ที่สุด แล้วต่างคนก็ว่าวิชาการของตัวยอดเยี่ยมก็เลยตกลงกันไม่ได้ ก็เลยต้องไปหาพระพุทธเจ้าด้วยกัน

ทั้งหมดก็ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอ่านพระสูตรนี้ทีแรก อู้ฮู.. ทึ่งมากเลย ลุ้นใหญ่เลยว่าพระพุทธเจ้าจะตอบอย่างไร พระพุทธเจ้าตอบว่า “สิ่งที่เถียงกันอยู่นี้มันเป็นนิสัยใจคอ” คือความถนัด.. พระสารีบุตรก็ถนัดเรื่องปัญญา พระโมคคัลลานะก็ถนัดเรื่องฤทธิ์ ถ้าใครว่าถนัด ความถนัดใช่ไหม เราก็ว่าเราถนัดนี้ต้องดีที่สุดเพราะเราถนัด พระพุทธเจ้าบอกว่าความถนัดนี้มันเป็นอำนาจวาสนา อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ว่าจริตนิสัยมันมา

ฉะนั้นถ้าถนัดใช่ไหม แต่ถ้ายังไม่สิ้นกิเลสความถนัดนั้นก็ดิบๆ ความถนัดดิบๆ คือความถนัดนั้น กับกิเลสนั้นมันบวกอยู่ด้วยกัน มันไม่ผ่องใส มันไม่โปร่งใส มันมีกิเลสเรามันมีความต่างๆ ปกคลุมอยู่ มันเป็นเรื่องโลกๆ มันไม่เป็นประโยชน์กับใครหรอก แต่พอมันสิ้นกิเลสแล้วความถนัดนั้นถึงเป็นประโยชน์ไง ฉะนั้นท่านถึงบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคืออาสวักขยญาณต่างหาก.. คือว่าญาณอะไรดีที่สุด ปัญญาใครดีที่สุด พระพุทธเจ้าบอกว่า

“อาสวักขยญาณดีที่สุด เพราะพวกท่าน ๘ องค์นี้ได้ผ่านอาสวักขยญาณมาแล้ว.. อาสวักขยญาณทำให้พระอนาคาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ทำให้ปุถุชน คนที่ปฏิบัติทีเดียว ขิปปาภิญญาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา.. อาสวักขยญาณนี่เลิศที่สุด !”

โอ้โฮ.. ทุกคน ๘ องค์ก็คิด ๘ อย่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องชูธงอันใดอันหนึ่งขึ้นมาว่าเลิศที่สุด ๘ ธงอันนี้โดนหักหมดเลย ธง ๘ ธงโดนหักเกลี้ยงเลย อาสวักขยญาณเลิศที่สุด

โอ้โฮ.. ทึ่งมากนะ ฉะนั้นสิ่งนี้ประเสริฐที่สุด.. นี่ย้อนกลับไปเมื่อกี้นี้ ฤทธิ์กับพ้นทุกข์ พ้นทุกข์เลิศที่สุด อาสวักขยญาณทำให้พ้นทุกข์ ฉะนั้นอาสวักขยญาณเป็นหลักของศาสนา อาสวักขยญาณนี่เลิศที่สุด

ญาณ เห็นไหม เพราะมีอาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณนี่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร.. เทศน์ธรรมจักรคือว่าสิ่งนี้ธรรมจักร เทวดาส่งต่อๆ ขึ้นไป นี่สิ่งนี้ถ้ามันทำได้แล้วปัญญามันจะเกิดขึ้นมาเป็นมหาศาลเลย.. ฉะนั้นหลวงพ่อต้องบอกว่าบรรยายสภาวะ ลักษณะ อาการ บรรยากาศ ช่องว่าง รอยต่อ อาสวักขยญาณ

โอ๋ย.. มันไม่มีต้องเอากระดาษมาสิ แล้วเอาปากกามาด้วยจะเขียนให้ดู.. เราจะบอกว่าความจริงก็คือความจริง แล้วความจริงอย่างนี้มันเป็นความจริงอย่างที่เมื่อกี้ว่าหลวงตาท่านพูด เห็นไหม หลวงปู่มั่น.. หลวงตาเวลาท่านเทศน์มันลำบากนี่ลำบากตรงนี้ ลำบากตรงที่เวลาพูดถึงข้อเท็จจริง พวกลามกจกเปรตมันจะจำ มันจะเอาไปเป็นประโยชน์

เพราะการจำมันจำด้วยความลามก ไม่ได้ศึกษาด้วยความเป็นธรรม ศึกษาด้วยความเป็นธรรมนี่เราศึกษามาเพื่อแก้ไข ศึกษามาเพื่อชำระความเศร้าหมองในใจเรา นี้ศึกษาอย่างนี้ศึกษาเพื่อประโยชน์ แต่พวกลามกมันไม่ศึกษา มันจำแล้วมันเอาไปเป็นประโยชน์ เอาไปว่าเป็นสมบัติของตน มันเป็นความลามกในใจของมัน

ฉะนั้นพออย่างนี้ปั๊บนี่ท่านพูด เพิ่งดูเมื่อวาน ท่านเทศน์อย่างนี้โอ้โฮ.. นั่งฟังอยู่นะ ท่านบอกมันลำบากนะ เวลาเทศน์นี่ไอ้พวกปรารถนาลามกมันก็จะเอาไปเป็นประโยชน์ของมัน แล้วเวลาเทศน์นี่ไม่บอกให้ลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็ไม่รู้ ไอ้บอกก็บอกเพื่อ.. แต่จริงๆ ท่านก็บอกไว้ในเทศน์พระเกือบหมดนั่นแหละ แต่ส่วนใหญ่เราฟังกันไม่ออก ไอ้คนบอก.. ท่านก็พูดนั่นแหละ แต่ไอ้พวกเรานี่วุฒิภาวะไม่ถึงไม่เข้าใจหรอก

นี้ก็เหมือนกัน ไอ้ที่ว่าสภาวะ ลักษณะ อาการ บรรยากาศ ช่องว่าง รอยต่อ.. มันก็เป็น นี่ถ้าพูดออกมานะ ถ้าคนฟังไม่เป็นหมดค่าเลย มันก็เป็นอารมณ์อย่างนี้เหรอ อารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้เหรอ.. วิญญาณาหาร อาหารของเทวดาเขาอย่างนี้เหรอ โอ้โฮ.. อย่างนี้ไม่ต้องคิดอะไรเลยสิ นี้มันคิดกันไปเองไง

ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ ถามมานี่เราก็รู้อยู่เขาก็เจตนาดี แต่ไม่มีคนโง่คนไหนตอบหรอก ถ้าคนโง่ตอบ คนโง่ที่ไหนตอบนี่ ๑. เป็นการอวดตัวอวดตนขนาดนั้นเลยเหรอ ๒.เอ็งรู้จริงหรือเปล่า เดี๋ยวจะเอากุญแจลั่นปากเลยถ้าตอบนะ มันไม่มีคนโง่คนไหนเขาตอบหรอก ไอ้คนจริงเขาบอกว่ามึงทำมาสิปฏิบัติมา หลวงตาบอกว่าไปหาหลวงปู่ลีนะหลวงปู่ลีบอกเลย “นั่งตลอดรุ่งก็รู้เอง”

ครูบาอาจารย์เราท่านจะให้เราปฏิบัติแล้วรู้ขึ้นมาเลย แล้วเรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เราปฏิบัติขึ้นมา ผิดถูกครูบาอาจารย์ท่านคอยชี้แนะ เขาจะชี้แนะเอามาแก้ไขตอนที่มันจำเป็น เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันเจอเหตุการณ์นั้น นี่ถ้าอาจารย์เป็นแก้ได้หมดล่ะ ชักพาได้หมดล่ะ ถ้าไม่เป็นขึ้นมา บอกเท่าไรนะมันก็ไม่เป็นประโยชน์กับใครหรอก ฉะนั้นสิ่งนี้มันเป็นเรื่องที่ว่ามันเป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้นสิ่งที่เราว่า “ฟังหลวงพ่อเล่าไง” เวลาเราพูด.. เวลาพูดเพราะคนเขามาถามปัญหา แล้วปัญหานี่มันควรจะเอา.. เห็นไหม การตอบปัญหานี่มันมีหลายวิธีใช่ไหม ตอบโดยตรงๆ ตอบโดยบุคลาธิษฐาน ตอบโดยตัวอย่าง ตอบโดยอย่างนี้ ทีนี้เราก็ยกตัวอย่างขึ้นมาตอบปัญหาให้เขาเข้าใจแล้วก็เป็นประโยชน์กับคนฟัง คนฟังเขาได้ประโยชน์ไปแล้ว ไอ้นี่ไปฟังมาแล้วจะเอาลักษณะ เอาบรรยากาศ โอ้โฮ..

จบ ! เดี๋ยวมันจะไปใหญ่

ถาม : ๒. การเผากิเลสหมดสิ้นด้วยมรรคญาณ จิตเป็นกระจกใส ผู้รู้ไม่มี ไม่มีผู้รู้ เปรียบเทียบกับขั้นของปริยัติประมาณขั้นใดคะ

หลวงพ่อ : ปริยัตินี่มันเป็นปริยัตินะ อย่าไปให้เปรียบเทียบปริยัติ ปริยัติเราศึกษามาแล้วปฏิบัติ “การเผากิเลสหมดสิ้นด้วยมรรคญาณ จิตเป็นกระจกใส ผู้รู้ไม่มี ไม่มีผู้รู้” นี่อันนี้อันหนึ่ง..

แล้วอย่างเช่นเมื่อวานดูหลวงตานั่นแหละ แล้วท่านพูดตรงนี้เหมือนกัน ท่านบอกเลยนะเวลาบอกนี่ถ้าคนจิตไม่ลามก เวลาปฏิบัติไปแล้วถ้ามันเป็นว่างมันจะว่างที่จิต แต่ถ้าพูดถึงจิตที่เป็นลามก เห็นไหม ผู้รู้ไม่มี ไม่มีผู้รู้.. นี่ถ้าคนเป็นมันทำแล้วมันก็เข้าใจได้ แต่ถ้าจิตมันลามก นี่มันไม่รู้แล้วมันไม่มี

บอกว่าอะไรนะมันไม่ใช่ความว่าง ! ท่านบอกเลยนะถ้าจิตเป็นสมาธินี่จิตมันว่าง เห็นไหม ผู้รู้ มันเป็นที่ผู้รู้แล้วผู้รู้มันว่างมันว่างอย่างไร.. นี่แค่ขั้นของสมาธินะ ยังไม่ขั้นของว่าสิ้นกิเลสเลย ฉะนั้นจิตของผู้ที่ลามกนี่มันไม่เป็น พอมันไม่เป็นท่านบอกว่า มันก็บอกว่าว่าง ! ว่าง ! แต่มันไม่ว่างแต่บอกว่าว่าง..

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้เมื่อวานนี้ ท่านบอกว่าจิตมันไม่ว่างหรอก แต่มันบอกว่าว่าง มันเข้าใจว่าว่างแต่ความจริงมันไม่ว่าง แต่ถ้าเป็นความจริงตัวจิตมันว่าง ! ตัวจิตมันว่างคือตัวสัมมาสมาธิไง พอตัวจิตมันว่าง มันรู้เลยนะว่าจิตมันว่าง มันเข้าใจได้ มันพูดเลยว่าง ! นี่ไงถ้าพูดถึงคนได้สมาธิจริงกับคนไม่ได้สมาธิจริง

นี่แค่สมาธินะ แล้วนี่เขาบอกว่า “นี่เวลาถ้ามันหมดกิเลสไป ผู้รู้ไม่มี ไม่มีผู้รู้” อันนั้นมัน.. นี่เวลาผู้รู้ เห็นไหม “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ถ้าไม่ทำลายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมันก็คลายตรงนั้นไง

อันนั้นอันหนึ่ง อันนี้สิ..

ถาม : ๓. หลวงพ่อสอนว่าพระอรหันต์ไม่มีจิต ก็คือจิตไม่มีก็ได้เหมือนกันใช่หรือไม่เจ้าคะ หรือการดำเนินการเคลื่อนไหวไปในไม่มีเป็นอย่างไร จะเรียกว่าอย่างไร หรือเปรียบประมาณอย่างไรหรือเจ้าคะ หากการดำรงขันธ์อยู่

หลวงพ่อ : ไอ้ที่พูดนี่มันเป็นเหตุผล หลวงพ่อสอนว่า “พระอรหันต์ไม่มีจิต” เพราะเราพูดอย่างนี้เพื่อไม่ให้แบบว่าเรื่องอดีตชาตินั่นแหละ คือไม่ให้คนหลอกไง

“พระอรหันต์ไม่มีจิต ถ้าที่ไหนมีจิตที่นั่นมีภพ”

ที่ไหนมีภพ.. เพียงแต่ว่าถ้าไม่มีภพ แล้วเวลาหลวงตาท่านสอนท่านสอนว่า พระอรหันต์ เห็นไหม ท่านบอกว่า “จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้นๆ” คือคำสอน คือความเมตตาของพ่อแม่ปู่ย่าของเรา เวลาท่านสอนเราท่านจะสอนเราเพราะท่านเมตตาเราใช่ไหม ท่านจะบอกว่าพวกเราทุกข์อย่างนี้.. ทุกข์อย่างนี้ แต่ของท่านจิตเป็นอย่างนี้.. เป็นอย่างนี้ คำว่าจิตเป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าท่านสมมุติว่าจิต ! ท่านสมมุติว่านี้เป็นจิต แต่ไม่มีจิตหรอก แต่ท่านสมมุติว่าเป็นจิต

ฉะนั้นพอท่านสมมุติว่าเป็นจิตขึ้นมา แล้วไอ้คนที่จิตมันเป็นลามกมันก็บอกเลยว่าจิตพระอรหันต์เลย แต่ถ้าคนเขาเป็นนะเขาสมมุติว่าจิต เขาไม่ได้บอกว่าจิต แต่เขาสมมุติว่าจิต ถ้าไม่สมมุติเราจะคุยกันเรื่องอะไร แต่ด้วยความเมตตาของท่านใช่ไหม ท่านก็สมมุติว่านี่จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้นๆ ท่านสมมุติเป็นตุ๊กตา.. เป็นตุ๊กตาเป็นแบบอย่างให้เราได้เอามาใคร่ครวญ

ฉะนั้นพอท่านสมมุติไง ท่านสมมุติว่าจิต ไอ้คนที่จิตมันลามกมันบอกเลยนะ “พระอรหันต์จิตเป็นอย่างนั้นๆ จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้นๆ” มันก็ว่าของมันไป.. เพราะมันมีเหตุผลอย่างนั้นเราถึงบอกว่า “พระอรหันต์ไม่มีจิต” เพราะถ้าที่ไหนมีจิตที่นั่นมีภพ ถ้ามี ! เห็นไหม ถ้ามีที่ไหน ที่นั่นกิเลสมันก็ต้องขี่ได้

ดูสิ “โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิขึ้นมา พอสิ้นสุดแล้วมารจะหาเธอไม่เจอ”

เพราะมันไม่มี ! ไม่มีที่ตั้งไม่มีอะไรเลยมารจะไปหาใครล่ะ มันหาไม่ได้เพราะมันไม่มีถิ่นกำเนิดไม่มีอะไรเลย แต่มี ! อ้าว.. มีอย่างไรล่ะ (หัวเราะ)

นี่ไงพระอรหันต์ถึงไม่มีจิต ที่ไหนมีจิตที่นั่นมีภพ เพราะคำว่าจิตคือภวาสวะคือภพ อาสวะ ๓ ที่ไหนๆ ก็มีอาสวะ ฉะนั้นพระอรหันต์ไม่มีจิต แต่ทำไมหลวงตาถึงบอกว่าจิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้นๆ นั้นท่านสมมุติ.. สมมุติว่าจิต ! ถ้าสมมุติว่าจิต ผู้ปรารถนาลามกมันไปสมมุติตาม มันก็เลยกลายเป็นคนโกหกหลอกลวง

ฉะนั้นถ้ามันไม่มีจิตไม่มีจิตอย่างไร มันไม่มีอย่างไร แล้วการดำรงธาตุขันธ์ดำรงธาตุขันธ์อย่างไร อ้าว.. ก็ถ้าคนเขาปฏิบัติไปเขาก็จะรู้ของเขาว่ามันจะดำรงธาตุขันธ์อย่างไร.. เดี๋ยวจะรู้ !

ข้อ ๔. เดี๋ยวจะรู้ลงตรงนี้แหละ ถามมาเจ็บน่าดูเลย

ถาม : ๔. ลูกอยากทราบจริงๆ ค่ะ ว่าการได้อยู่ใกล้พระอรหันต์จริงๆ แล้วได้บุญมากหรือว่าเสี่ยงกับบาปมากกว่ากันคะ

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) เออ.. “ได้บุญมากหรือได้บาปมากคะ”

ถ้าเราควบคุมจิตใจเราได้ พระอรหันต์นี่นะมันเปรียบเหมือนนิวเคลียร์.. นิวเคลียร์ทางสันติจะให้พลังงานกับสังคมมหาศาลเลย แต่นิวเคลียร์ทำอาวุธนี่มันทำลายชีวิตคนทั้งหมดเลย ถ้าเราเข้าใจใช่ไหม เราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นบุญกุศลของเรา เราเข้าใจว่านิวเคลียร์

ดูสิโรงพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ นี่เขาต้องดูแลความปลอดภัยน่าดูเลยเพื่อประโยชน์กับสังคม ถ้าเราเข้าใจว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นพระที่ดี เราทำดีกับท่านมันเป็นพลังงานทางสันติ มันจะให้บุญกุศลกับเรามหาศาล แต่ถ้าเราก้าวล่วง.. เราก้าวล่วงหมายถึงว่าเขาทำระเบิด สิ่งที่เกิดสงครามได้เพราะมีความขัดแย้งเขาถึงทิ้งระเบิดนั้นเพื่อทำลายชีวิตฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่เราไม่รักษาใจของเราใช่ไหม เราจะเอาแต่ผลประโยชน์ของเรา เราก้าวล่วงนั่นล่ะจะเป็นโทษกับเรา แต่ถ้าเป็นความจริงมันจะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม

นี่สิ่งนี้มันถึงบอกว่าอยู่ใกล้แล้วมันจะได้บุญหรือได้บาป.. จะได้บุญหรือได้บาปเราก็ต้องรักษาตัวเรา แล้วมันอยู่ที่ใจเราไง ถ้าใจเรานี่กิเลสมันอยู่ในใจเราใช่ไหม พอมันบอกว่าสิ่งนั้นไม่ใช่.. สิ่งนี้ไม่สมกับความเป็นพระอรหันต์.. สิ่งนี้เป็นการหลอกลวง นี่มันเกิดทิฐิแล้วเกิดการทิฐิที่จะก้าวล่วง เกิดทิฐิที่ว่าเพราะความไม่เชื่อไง เพราะมันไม่เชื่อแล้วมันสบประมาท พอความสบประมาทนั้นมันมีการกระทำขึ้นมา

นี่เกิดเวรเกิดกรรม.. ที่ว่าเกิดบาปเกิดบาปอย่างนี้ แต่ถ้าเกิดบุญล่ะ เกิดบุญนี่เนื้อนาบุญของเรา ที่ปรารถนาที่ทำบุญของเรา ปรารถนาเพื่อประโยชน์กับเรา เราทำสิ่งที่ปรารถนานั้น.. ทุกคน เห็นไหม ดูสิเราจะฝังทรัพย์ของเรา ฝังสิ่งศรัทธาของเราไว้ในศาสนา สิ่งนี้ทุกคนต้องปรารถนาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งนี้ถ้าเราเจอเนื้อนาอย่างนั้น เราเจอคุณประโยชน์อย่างนั้น เราได้ฝังทรัพย์ ได้ฝังนิสัยใจคอของเรา ได้ฝังอำนาจได้ฝังสิ่งต่างๆ ของเราไว้ในศาสนา ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนี่คืออริยสงฆ์

โสดาบัน สกิทาคา อนาคานี่เป็นอริยสงฆ์ เป็นเนื้อนาบุญของศาสนา แล้วเรานี่เราหาทรัพย์สมบัติของเรา เราหาจริตนิสัยของเรามา แล้วเราฝังเข้าไปในศาสนาของเรา เราฝังไปเพื่อเจริญเพื่อประโยชน์กับชีวิตของเรา นี่มันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษล่ะ.. มันจะเป็นประโยชน์หรือว่าเป็นโทษมันก็อยู่ที่สติปัญญาของเรา ถ้าสติปัญญาของเรามันมีประโยชน์อยู่ มันก็ทำให้เราเป็นประโยชน์ได้

ฉะนั้นมันอยู่ที่เราตั้งสติแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรามากถ้าเราทำประโยชน์นะ.. นี่เขาบอกว่าแล้วมันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษล่ะ มันเป็นได้ทั้งสองอย่าง มันเป็นได้ทั้งสองอย่างมันเป็นได้ที่ไหนล่ะ มันเป็นได้ที่สติปัญญาเรานี่แหละ มันเป็นเพราะเราควบคุมใจเราไม่ได้นี่แหละ มันเป็นโทษเพราะใจเราทำเอง มันเป็นโทษเพราะกิเลสของเราเอง

มันเป็นโทษเพราะกิเลส มันไม่เป็นโทษที่พระอรหันต์นั้น พระอรหันต์ก็คือพระอรหันต์นั่นแหละ ครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำล่ะ สิ่งที่เป็นความจริงมันเป็นความจริงอย่างนั้น พระอาทิตย์คือพระอาทิตย์ พระจันทร์คือพระจันทร์มันเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แต่มันเป็นที่กิเลสของเรา กิเลสของเรานี่อยากให้พระอาทิตย์เป็นพระจันทร์ อยากให้พระจันทร์เป็นพระอาทิตย์ แล้วมันเป็นไปได้ไหมล่ะ

มันผิดตรงนี้ไงผิดเพราะทิฐิมานะของเรา ผิดเพราะกิเลสของเรา ผิดเพราะความเห็นผิดของเรา ถ้าเรามีความเห็นผิดเราต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นให้สมความปรารถนาของเรา เราคิดผิดเอง เราคิดผิดเราเห็นผิดเอง เราทำลายเราเอง ไม่ใช่พระอรหันต์ทำลายเรา กิเลสเราทำลายเรา ความรู้ผิดความเห็นผิดในใจเรานี้ทำลายเราทั้งนั้นเลย แต่ถ้าความเห็นผิดในจิตของเรามันถูกต้องขึ้นมามันจะไม่เป็นโทษ มันจะเป็นคุณประโยชน์ไปทั้งหมดเลย

ฉะนั้นสิ่งที่ว่ามันเป็นบาปหรือเป็นโทษ นี่มันเป็นที่กิเลสของเรา เป็นที่ตัวของเรา ไม่ใช่เป็นที่พระอรหันต์นั้น ! พระอรหันต์ไม่เคยให้โทษใคร พระอรหันต์ให้โทษใครไม่ได้ คำว่าให้โทษใครไม่ได้ ให้โทษใครไม่ได้เพราะอะไร เพราะจิตใจของท่านจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แต่เพราะใจของเราต่างหาก เราทำลายตัวเราเองต่างหาก แล้วบอกว่าพระอรหันต์ทำลายเรา

ไม่ใช่พระอรหันต์ไปทำลายเรา เราทำลายเรา เพราะพอเราทำสิ่งใดในทางที่ผิดพลาดไปแล้วมันเป็นกรรมไหม มันเป็นกรรม.. การกระทำนั้นเป็นกรรมอยู่แล้ว การกระทำนั้น ไม่มีใครจะไปแก้ไขการกระทำนั้นได้ เพราะการกระทำนั้นมันทำไปแล้วมันก็ให้ผลตามการกระทำนั้น พระอรหันต์ไม่ได้ให้ ทุกอย่างไม่ได้ให้ แต่สัจธรรม ข้อเท็จจริงมันให้ ฉะนั้นข้อเท็จจริงมันให้ นี่มันเกิดขึ้นมาเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกับอันนั้น อันนั้นมันเป็นเพราะกิเลสตัณหาของเรานะ มันไม่ได้เป็นเพราะพระอรหันต์มาทำลายเรา

ฉะนั้นพอว่าพระอรหันต์ทำลายเรามันถึงนี่ไง “ลูกอยากทราบว่าการอยู่ใกล้พระอรหันต์ จริงๆ แล้วได้บุญมากหรือว่าเสี่ยงได้บาปมากกว่ากันคะ”

(หัวเราะ) แหม.. แจ๋วเลยนะ ลูกศิษย์หลวงพ่อซะด้วย ไม่รู้ใครเขียนมาเนาะ แต่ก็ตอบแล้วล่ะ สิ่งที่เราทำนี้มันเป็นประโยชน์ก็คือเป็นประโยชน์ ฉะนั้นเวลาพูดเป็นประโยชน์ เห็นไหม แล้วถ้าพูดนี่มันจะเข้าหรือไม่เข้าล่ะ ถ้ามันจะเข้าถึงความเป็นไม่ถูกต้องไม่ควรมันก็ไม่ควร แต่ถ้าถึงมันเป็นความควรมันก็เป็นเรื่องของความควรเนาะ เอวัง