ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

บูรณาการ

๒๕ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

บูรณาการ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันปัญหาข้อ ๒๙๗. อันนี้ปัญหาชีวิตประจำวันนะทุกคนเจอหมด

ถาม : ๒๙๗. เรื่อง “ดูลมหายใจกับการบริกรรมพุทโธ”

หนูเรียนถามหลวงพ่อดังนี้..

๑. เวลาดูลมหายใจจะชอบลืม เผลอนาน และบางครั้งเวลาเผลอไปแล้ว กลับมาระลึกถึงลมหายใจก็จะไม่ค่อยรู้สึกถึงลมหายใจ (มันแผ่ว) ก็ต้องพยายามทำให้ลมหายใจชัดๆ แล้วก็จะรู้สึกฝืนๆ นอกจากนี้บางเวลาจะรู้ลมหายใจไม่ได้ เช่นเวลาดื่มน้ำ หรือการทำอะไรบางอย่างที่ต้องกั้นหายใจ ต่อมาหนูได้ลองเปลี่ยนเป็นบริกรรมพุทโธ ซึ่งทำให้มีสติได้ดี และสามารถบริกรรมได้ตลอดเวลาที่นึกได้ แต่ก็มีข้อติดขัดคือเวลาพิมพ์งาน หรืออ่านหนังสือ หรือฟังคนพูดจะบริกรรมพุทโธไม่ได้ ซึ่งต่างจากดูลมหายใจที่จะสามารถพิมพ์ หรืออ่าน หรือฟังได้ดีกว่า ถ้าไม่มีที่เกาะหนูชอบใจลอย จึงขอความกรุณาหลวงพ่อแนะนำว่า หนูควรจะดูลมหายใจหรือพุทโธดีคะ

หลวงพ่อ : นี่ไงทีแรกว่าดูลมหายใจมาก่อน เห็นไหม พอดูลมหายใจมาก่อนก็บอกว่า เวลาดูลมหายใจแล้ว เวลาดื่มน้ำหรือเวลาอะไรนี่ คือทุกคนอยากจะให้มันต่อเนื่อง ก็เลยเปลี่ยนมาบริกรรมพุทโธ แต่เวลาพุทโธขึ้นมา เวลาฟังคนพูดหรือเวลาทำงาน นี่เวลาทำงานก็พุทโธไม่ได้ เพราะเรานี่เราคาดหมายกันไปเอง เราคาดหมายกันไปเอง อย่างเช่นที่เมื่อวานบอก เห็นไหม บอกว่าเวลาเขาพุทโธหรือลมหายใจนี่แย้งกันไปเอง

เราจะบอกว่าอย่างนี้นะ คนเรานี่มันมีอายตนะ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย เวลาตาฝ้าฟางเราก็ต้องรักษาตาใช่ไหม เวลาหูมันตึงเราก็ต้องรักษาหูใช่ไหม ฉะนั้นเวลาของคน เห็นไหม คนตาฝ้าฟางเขาต้องรักษาตาของเขา เราก็ต้องรักษาตาของเรา คนหูตึงเขาก็ต้องรักษาหูของเขา คนที่บริกรรมพุทโธดีก็มี คนที่บริกรรมใช้ลมหายใจ มันก็เหมือนอายตนะนี่ มันอยู่ที่ความถนัดไง

นี้คำว่าความถนัดนะ แต่เราเทียบให้เห็นชัดเจนว่าถ้าคนเรานี่นะตาฝ้าฟาง เราไปรักษาที่หูมันจะดีขึ้นได้ไหม หรือหูตึงนี่ไปรักษาที่จมูก ไปรักษาที่อื่นมันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าตาฝ้าฟางก็ต้องรักษาไปที่ตา ถ้าหูตึงก็รักษาไปที่หู คนบริกรรมพุทโธแล้วดี แสดงว่าตาเขาดี คนทำลมหายใจแล้วดี หูเขาดี มันดีคนละอย่างไง คือว่าคนเราสิ่งใดบกพร่องต้องรักษาตรงนั้น

ฉะนั้นเวลาภาวนาไปนี่การรักษานะ ทีนี้คนเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่มันฝ้าฟาง สิ่งที่มันชำรุดนี่มันมีทุกขบวนการของมัน ฉะนั้นการภาวนานี่เราเอาอย่างใดอย่างหนึ่งมันก็เฉพาะตาใช่ไหม เฉพาะตาก็ทำหน้าที่การดู หูทำหน้าที่การฟัง.. คำบริกรรมพุทโธ เห็นไหม หน้าที่ของบริกรรมพุทโธ ลมหายใจก็หน้าที่ของลมหายใจ เราสามารถบูรณาการได้ไง

เราสามารถบูรณาการได้ เราสามารถใช้แทนกันได้ เพราะสิ่งนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่สิ่งที่ตามันไม่เห็น เสียงเราก็ได้ยินอยู่ เราก็คำนวณได้ เราก็เทียบเคียงได้ สมมุติถ้าหูไม่ได้ยินแต่ตาเราเห็นใช่ไหม เห็นภาพ เห็นการเคลื่อนไหวเราก็คำนวณได้

ฉะนั้นเวลาที่ว่าเอาสิ่งใดล่ะ เอาสิ่งใด.. เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งนะมันเถรตรง นี่เถรส่องบาตร ! เถรส่องบาตรไม่รู้ว่าเขาส่องบาตรเพื่ออะไร เขาส่องบาตรเพื่อดูว่ามีร้อยร้าวไหม มีรอยรั่วไหม เห็นเขาส่องก็ส่องตามกันไป เห็นเขาพุทโธก็พุทโธกันไป นี่มันเลยสักแต่ว่าทำ เห็นไหม แต่ถ้าเรานึกพุทโธเราจะรู้ของเราเองนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่จิตใจมันเกาะอยู่กับพุทโธ จิตมันมีการเปลี่ยนแปลง

พอจิตมีการเปลี่ยนแปลง เห็นไหม จิตมีการเปลี่ยนแปลงแล้วทุกคนเวลามีการเปลี่ยนแปลงจะตกใจ ทุกคนบอกว่านี่เป็นสมถะ ทุกคนไปบอกว่าเป็นนิมิต.. เราบอกว่าการต้มน้ำ การต้มน้ำนะเราต้องการให้น้ำเดือด การต้มน้ำให้เดือดนี่อุณหภูมิของน้ำมันเปลี่ยนแปลงไปมันต้องมีปฏิกิริยาของมัน

จิต.. จิตที่เวลาเราบริกรรมพุทโธ หรืออัปปนาสมาธิ กำหนดลมหายใจนี่ ถ้าจิตมันสงบมันต้องมีอาการของมัน มันต้องมีพัฒนาการของมัน พอจิตมันพัฒนาการของมัน มันจะมีตัวพอง มีการโยกการคลอน นี่มันพัฒนาการของน้ำจะเดือด เห็นไหม น้ำจะเดือดอุณหภูมิมันต้องเปลี่ยนแปลงใช่ไหม อาการของน้ำดูเวลามันเดือดสิ มันจะมีไอมีฟองของมัน มีความร้อนของมัน

จิต ! ปกติของจิตมันก็ธรรมดานี่ล่ะ นี่จิตสามัญสำนึกของเรานี่ไง เห็นไหม จิตเราสามัญสำนึก แต่เราจะภาวนา เราจะภาวนาเพื่ออะไร เพื่อความสงบของใจไง ถ้าเพื่อความสงบของใจ จิตมันพัฒนาการของมัน มันจะมีวิวัฒนาการ มีพัฒนาการของมัน พอพัฒนาของมันเราก็ไปตื่นเต้นว่าผิด ! ผิด ! ผิด ! ผิด !

เด็กมันจะหัดเขียนหนังสือ นี่เด็กให้มันหัดเขียนหนังสือมันเขียนทีแรกถูกไหม ถ้าเด็กเราไม่ให้มันหัดเขียนหนังสือมันจะเขียนหนังสือเป็นไหม มันก็เขียนหนังสือไม่เป็น.. จิตมันจะเข้าสมาธิ มันจะมีการเปลี่ยนแปลง เราไม่ยอมให้มันเปลี่ยนแปลงเลย เหมือนเด็กนี่ เด็กนะจะให้มันเป็นนักปราชญ์เลยนะ จะให้มันเป็นนักปราชญ์ให้มันเก่งไปหมดเลยนะ แต่มันจะหัดเขียนหนังสือก็ไม่ได้ ไม่เรียบร้อย จะให้ทำอะไรก็ไม่ได้

จิต.. จิตพอมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมานี่ นู้นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ นู้นก็ผิด นี่ก็ผิด แล้วจิตมันจะพัฒนาการอย่างไร เราจะภาวนาอะไรกัน ที่เราภาวนากันเราก็ต้องการให้จิตนี้มันมั่นคงของมัน ถ้ามั่นคงของมันขึ้นมา นี่บริกรรมพุทโธ พุทโธชัดๆ เห็นไหม ชัดๆ แล้วถ้ามันมีสิ่งใด นี่เราจะฟังก็ได้ บางทีนะคนที่ภาวนาเป็นดีๆ นี่นะ เวลาพุทโธนี่ฟังไปด้วยจิตมันก็รักษาของมันไป หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่า “แม้แต่ฉันอาหาร ถ้ากิเลสมานี่ ท่านบอก ผลักบาตรทิ้งเลย ไหน ! จะพุ่งเข้าใส่กิเลสเลย”

นี่ก็เหมือนกัน เพราะมันมีสติขนาดนั้น ถ้าเริ่มต้นเราปฏิบัติเราบูรณาการไม่เป็นไง ถ้าพุทโธก็ต้องพุทโธ.. พุทโธแบบพุทโธอย่างเดียว เวลาลมหายใจก็ลมหายใจอย่างเดียว.. เราจะบอกว่าพุทโธหรือลมหายใจนี่มันก็เป็นอันเดียวกัน คำว่าอันเดียวกันคือจิตเกาะ อานาปานสติคือลม แล้วจิตไปเกาะกับลมเพื่อให้จิตมันมั่นคง จิตมันมีที่เกาะมีเป็นบาทเป็นฐาน ให้จิตมันพัฒนาการมั่นคงได้

พุทโธ พุทโธเป็นคำบริกรรม จิตมันก็เกาะอยู่ที่พุทโธ พุทโธ เห็นไหม มันเหมือนเด็ก เด็กหัดเขียนหนังสือ เด็กหัดเดินมันก็ต้องมีที่เกาะที่อะไรไป จิตมันจะเกาะของมันไป ฉะนั้นเวลาเกาะไปแล้ว เห็นไหม เกาะราวนี้ไปก็เปลี่ยนไปราวนั้น เกาะราวนั้นไปก็เปลี่ยนไปราวนั้นก็ได้.. นี่เราพุทโธก็ได้ กำหนดลมหายใจก็ได้นะ.. นี้ว่าก็ได้นะ ! แต่เวลาภาวนานะ เวลาพุทโธ พุทโธนี่ถ้ามันพุทโธได้จริง จะฟังเสียงจะอะไรนี่มันก็ฟัง ฟังนะแล้วรู้ได้ด้วย แล้วจิตมันก็อยู่ด้วย พอจบแล้วมันก็กลับมาที่พุทโธอีก

เราจะบอกว่า ถ้ามันภาวนาขึ้นไปแล้วเรื่องอย่างนี้ไม่เป็นปัญหาเลย เราจะบอกว่านะ เวลาเราตอบปัญหา คนอื่นฟังนี่นะบอกโอ้โฮ.. หลวงพ่อตอบปัญหาดีนะ แต่ถ้าไปฟังหลวงตานะ ไปฟังหลวงปู่เจี๊ยะนะท่านจะบอกว่าไอ้หงบนี่มันบ้า.. มึงตอบปัญหาที่ไม่เป็นปัญหาไง ปัญหายังไม่ได้เกิด แหม.. มึงตอบใหญ่เลยนะ ถ้าครูบาอาจารย์ที่เขาเป็นนะเขาจะว่าไอ้หงบนี่มันบ้า เรื่องยังไม่เกิด แหม.. ตอบเขาจ้อย จ้อยเลย เพราะนี่มันยังไม่มีเรื่องเลย มันยังไม่เกิดเรื่อง คือภาวนายังไม่ติดขัดอะไรเลย เหมือนเรื่องมันยังไม่เกิด นี้ภาวนานี่ยังไม่ได้ภาวนาเลยนะ

“หนูแค่สงสัยว่าหนูจะพุทโธหรือหนูจะกำหนดอานาปานสติ”

นี้มันมีเรื่องหรือยัง มันภาวนาติดหรือยังเนี่ย.. ไม่มี ! นี่ไง ทีนี้พอเราตอบไปนี่คนที่ฟังโอ้โฮ.. หลวงพ่อตอบปัญหาดีนะ ปัญหาดีเพราะเราไม่รู้ แต่ถ้าหลวงตาจะบอกว่า อื๊อ.. ไอ้หงบมันคงจะว่างเกินไป มันคงไม่มีงานทำเลยตอบหมดเลย อะไรก็ตอบไปหมดเลย เพราะมันยังไม่มีเรื่องเลยไปตอบอะไรเขาเนี่ย แต่ถ้าคนฟังเป็นพื้นฐานว่า เออ.. หลวงพ่อตอบปัญหาดีนะๆ

นี่ดูวุฒิภาวะสิ คนที่ภาวนายังไม่เป็นเลยยังไม่อะไรเลยนี่ก็ เออ.. นี้มันเป็นแนวทาง มันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นแนวทางที่เราจะพัฒนาขึ้นไป แต่คนที่ปฏิบัติ เห็นไหม เราจะบอกว่าคนที่ปฏิบัติ.. จะพูดให้เห็นว่าสิ่งที่ภาวนาไปนี่นะมันต้องเริ่มจากพื้นฐาน พอพื้นฐานนี่หญ้าปากคอก เห็นไหม หญ้าปากคอกนี่มีปัญหามากเพราะพวกสัตว์มันไม่รู้จะกินอะไรดี มันลังเลไปหมดเลย หญ้าปากคอกไง.. แต่ถ้ามันเลี้ยงจนโตขึ้นมาแล้ว มันกินอันนี้ของมันนะ เป็นอาหารประจำของมัน มันจะดำรงชีวิตของมันไป

นี่เราภาวนาไป ลมหายใจหรือพุทโธนี่ถ้าทำไปแล้วนะ ทำไปอย่างนี้ ไอ้สิ่งที่ว่านี่ไม่เป็นปัญหาเลย มันเป็นปัญหาเพราะเราสงสัย มันเป็นปัญหาเพราะเราไม่แน่ใจตัวเราเอง มันเป็นปัญหาเพราะนี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่เป็นเถรตรง วิทยาศาสตร์นี้มันเป็นสูตรสำเร็จ

ทฤษฎี เห็นไหม นี่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์.. มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ วิทยาศาสตร์เป็นอย่างนั้นจริงๆ มันบริสุทธิ์ของมัน มันเป็นทฤษฎีมันต้องเป็นอย่างนี้ แต่มันเป็นโลกมันเป็นกฎตายตัว แล้วพอเราพิจารณาธรรมะ ธรรมะที่เหนือวิทยาศาสตร์ เหนือวิทยาศาสตร์เพราะอะไร เพราะมันมีเหตุมีผล มีกรรมมีเวร มีหนักมีเบา คนติดมากติดน้อย คนจริตหยาบจริตละเอียด นี่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ คนเหมือนคน ! จิตวิทยานี่พอจะเทียบเคียงได้ จิตวิทยาว่าคนๆ นี้มันลึกซึ้งแตกต่างกันอย่างไร ความรู้สึกมันซับมาอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาไปมันมีเหตุผลตรงนี้ไง เหตุผลของใจของแต่ละบุคคล ใจของแต่ละบุคคลมันมาแนวทางใด แล้วพอมีแนวทางที่ชอบใจ แนวทางที่ชอบใจเหมือนกินอาหารเลย อาหารนี้อู้ฮู.. ดีมากเลย อร่อยมากเลย พอกินซ้ำหลายหนเข้าชักเบื่อ.. พุทโธ พุทโธไปนี่มันจะมีปัญหาของมัน พุทโธ พุทโธไป ถ้าพุทโธดี พุทโธแล้วจิตมันสงบ มันจะชื่นใจมาก พุทโธ พุทโธถ้าจิตมันไม่ลง.. พุทโธเหมือนกัน เมื่อก่อนพุทโธชั่วโมงหนึ่งแล้วมันลงสมาธิ เดี๋ยวนี้พุทโธ ๒ ชั่วโมงมันก็ไม่ลง นี่มันเป็นเพราะอะไร วิทยาศาสตร์ก็ว่าพุทโธชั่วโมงหนึ่งแล้วมันลง ทำไมนี่มันไม่ลง

นี่ไงเพราะจิตได้เข้าไปสัมผัส มันได้เข้าไปรู้แล้ว มันเข้าไปรู้แล้วนี่มันรู้ทัน กิเลสเป็นอย่างนี้ นี่ธรรม.. ถ้าวิทยาศาสตร์ เห็นไหม วิทยาศาสตร์นี่อย่างเช่นต้มน้ำไง อุณหภูมิถึงจุดเดือดน้ำมันต้องเดือดแน่นอน นี่ก็เหมือนกันพุทโธ พุทโธไปแล้วทำไมมันไม่ลง ถึงจุดเดือดทำไมมันไม่เห็นเดือดสักที นี่ก็เพราะมันมีกรรมไง มีกิเลสหนากิเลสหยาบมันมาบังไว้ไง

ฉะนั้นคราวนี้ลง คราวหน้าไม่ลง แต่เราก็ภาวนาของเราไป พอมันลงหรือไม่ลงนี่เราหัดใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม คำว่าหัดใช้ปัญญานะ คนที่ภาวนาไปแล้วนี่สังเกตความคิด ทำไมบางทีความคิดมันแล่นดีมากเลย ความคิดอันนี้ทำไมอู้ฮู.. มันพิจารณาแล้วนี่มันจะปล่อยหมดเลย เราจะไม่ติดอะไรเลย ทำไมมันเป็นอย่างนี้ล่ะ ทำไมบางทีคิดแล้วทำไมมันไม่ปล่อยล่ะ มันขาดสมาธิ มันขาดจากจิตที่กิเลสมันเข้ามาบวก

ฉะนั้นทำความสงบของใจก็เพราะเหตุนี้ไง เหตุว่าเวลาถ้ามีสมาธิหรือจิตที่มันไม่ละล้าละลังจนเกินไป ไม่หิวกระหายจนเกินไป พอออกใช้ปัญญานี่มันจะแยกแยะ มันจะเป็นสัจจะ สัจจะเพราะอะไร สัจจะเพราะว่ากิเลสที่มันมาบังไว้ นิวรณธรรม ๕ ปิดกั้นแม้แต่สมาธิ.. นิวรณธรรม ! นิวรณธรรม ๕ นี่ปิดกั้นมรรคผล ปิดหมดเลยเพราะอะไร นิวรณธรรมลังเลสงสัย วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสมันมีของมันไปหมด

นี้เขาถามว่า “แล้วให้หลวงพ่อแนะนำว่าหนูควรทำอย่างใด”

เวลาคนไปถามหลวงตาเยอะมากว่าหนูควรปฏิบัติอย่างไร หนูควรทำอย่างไร หลวงตาท่านตอบเป็นสูตรสำเร็จเลย “ถ้าเรากำหนดสิ่งใดแล้วโล่งๆ ทำสะดวกแล้วสบาย นั้นคือจริตของเรา”

ถ้าเรากำหนดพุทโธ หรืออานาปานสติ แล้วมันสะดวก มันโล่งๆ เห็นไหม มันทำแล้วทำคล่องตัวได้ ทำสะดวกมาก นั้นล่ะคือจริตของเรา แต่ ! แต่พอไปข้างหน้าปั๊บมันก็มีปัญหา การทำงานทุกคนมีปัญหาหมด การทำงาน ขึ้นชื่อว่างาน ขึ้นชื่อว่างานพอทำไปแล้วงานมีหยาบมีละเอียด มีไปเรื่อยๆ แล้วหน้างานมันจะมีปัญหาของมัน หน้างาน.. คำว่าหน้างานมันมีอุบัติเหตุ มันมีความขัดข้องมีอะไร ปฏิบัติไปมันจะมีอย่างนั้น กิเลสมันคอยเสียบเข้ามา คอยเข้ามา เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา

กิเลสเป็นอนุสัยมันเกิดมากับเรา กิเลสนี่นะ ทำดีทำชั่วนี่มันซับลงที่ใจทั้งหมด แล้วมันเกิดมากับเราตลอด แล้วเราทำสิ่งใดขึ้นไปสิ่งนี้มันอยู่กับเรามาตลอด เห็นไหม มันจะปล่อยให้เราอิสระนี่เป็นไปได้ยากมาก แต่เราก็ใช้สติใช้ปัญญาพยายามของเรา แล้วถ้าฝึกฝนไปมันจะเห็นสภาวะแบบนั้นว่าหนูควรทำอย่างใด ! เราจะบอกว่า เพราะว่าเขาบอกว่าเวลาลมหายใจมันก็แบบว่ามันแผ่วมันไม่ได้ เวลามาพุทโธก็ติดเรื่องงาน นี้เราพูดแบบว่ามันยังไม่เป็นปัญหานะ แต่ถ้าเราพูดแบบให้กำลังใจ เห็นไหม นี่คนที่เริ่มภาวนาคือคนๆ นั้นมีโอกาสแล้ว

เราเริ่มทำเริ่มมีความสนใจ คนมีความสนใจ.. โอกาสนี่ทุกคนเรียกร้องหา นี้ถ้าเราสนใจเราอยากปฏิบัติ เราเห็นทุกข์ของโลก นี่เรามีโอกาส เรามีบุญแล้ว แล้วนี่เรามีการกระทำแล้วศรัทธาดึงเข้ามา แล้วถ้าดึงเข้ามาแล้วนี่เราทำของเราไป พิสูจน์ของเราไป.. ไม่เสียเวลาเปล่า งานก็คืองาน การกระทำของเราก็คือการกระทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเองนะ

ถาม : ๒. เวลาที่หนูเริ่มหัดดูลมหายใจหรือบริกรรมพุทโธ แรกๆ จะรู้สึกว่ามีสติดีมาก แต่พอหลังๆ จะไม่ดีเหมือนตอนแรก เหมือนกับเราชินกับลมหายใจหรือพุทโธเสียแล้ว กลายเป็นมีสติบ้างไม่มีสติบ้าง

หลวงพ่อ : อันนี้มันก็เหมือนอุบายไง เวลาเราทำสิ่งใดนี่ทำคุ้นชินกับมัน หลวงตาเวลาท่านเตือนพระ เห็นไหม

“พูดธรรมะนี่พูดจนชินปากฟังจนชินหู แต่หัวใจมันด้าน”

เราพูดกันเราฟังกันทุกวี่ทุกวันนี่หัวใจมันด้าน ฉะนั้นเราถึงต้องตื่นตัวตลอดเวลาเพื่อไม่ให้มันดื้อด้านกับสัจธรรม ทีนี้คำว่าดื้อด้านนี่จิตใจมันเป็น เห็นไหม โดยธรรมชาติของใจเป็นอย่างนั้น ด้วยความรักด้วยความอาลัยของเรา เราจะมีความคุ้นชินเราจะเป็นแบบความคุ้นเคยกัน ความคุ้นเคยนี่นะ ความคุ้นเคยกัน ไปมาหาสู่กันนี่ดีกว่าญาติอีก ญาติเรานะยังไม่มาคุ้นเคยกับเรา ไม่มาดูแลเราขนาดนี้

ความคุ้นเคยทางโลกนี่ดีกว่าญาติ แต่ถ้ามันคุ้นเคยกับกิเลสมันจะทำอย่างนี้มันจะชินชา ทีนี้พอชินชาเราต้องเปลี่ยน นี่อุบายมันก็ยกไปข้อที่ ๑ ทั้งลมหายใจทั้งพุทโธนี่เราเปลี่ยนอุบาย เราเปลี่ยนอุบายเราชิ่งหนีก่อน เราก้าวนำหน้าเขาอยู่ตลอดเวลา แล้วเราทำของเรา แล้วกลับมาดูจิตว่าจิตนี้มันชุ่มชื่นไหม จิตมันเข้าใจสัจธรรมเข้าใจชีวิตไหม

หน้าที่การงานเราก็ทำนะ เราทำหน้าที่การงานของเรา งานนี้มันเป็นงานในวัฏฏะ งานในการดำรงชีวิต แล้วดำรงชีวิตแล้ว สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเราเพราะเราก็อยากมีความสุข เราเห็นคนอื่นเขาพัฒนาการไป เราก็อยากพัฒนาอย่างนั้น ฉะนั้นเราก็สะสมของเรา มันเป็นบุญของคน มันเป็นวาสนาของคน มันจะเทียบเคียงกันไม่ได้ มันจะวัดกันไม่ได้

ฉะนั้นสิ่งนี้เวลามันเป็นขึ้นมาแล้วเราก็ต้องขยันขันแข็งของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เวลางานเราทำของเราก็เพื่อประโยชน์กับเราใช่ไหม นี้พอมันเสร็จแล้วมันไปเป็นประโยชน์กับโลก เพราะประโยชน์นี่ดูสิเราทำทางวิชาการเราวางไว้ เรามีไว้ในโลก โลกเขามาศึกษาเขาก็ได้ประโยชน์ไป เห็นไหม มันเป็นประโยชน์ของโลก แล้วเราล่ะ.. เราได้บุญกุศล สิ่งใดที่เป็นวิชาการที่เป็นของเรา เขาจะได้ประโยชน์กับเราไปด้วย

อันนั้นเป็นบุญเรามีอำนาจมีบารมี แต่ถ้ามันเป็นความเข้าใจล่ะ เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เห็นไหม เราเข้าไปเผชิญกับสมาธิเอง เราเข้าไปเผชิญกับปัญญาเอง เราเข้าไปเผชิญกับทุกๆ อย่างเอง เรารู้ของเราเอง ไม่ต้องมีใครบอกเลยมันวางได้หมดนะ สิ่งใดที่มันจะเป็นความขัดข้องของเรามันจะวางได้.. อันนี้เป็นอริยทรัพย์ อันนี้เป็นประโยชน์กับเรา อันนี้เราต้องแก้ไขของเราเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

 

ถาม : ข้อ ๒๙๘. เรื่อง “ไปรู้เรื่องของคนอื่นก่อนที่เขาจะพูด อึดอัด ภาวนายาก”

ช่วงนี้ผมมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือเวลาไปยังสถานที่ต่างๆ เจอคนที่รู้จักและไม่รู้จัก บางทีนั่งๆ อยู่จะสัมผัสได้ถึงเรื่องของคนอื่น เรื่องในใจของเขา หลังจากนั้นเขาก็จะพูดสิ่งนั้นๆ ออกมา บางครั้งก็เห็นเป็นความรู้สึกว่าเขาทำอะไร บางครั้งผมตอบดักก่อนได้ก็ตรงเป๊ะๆ อย่างเช่นคุยกันที่เกี่ยวกับตัวเลข เช่นถามอายุซึ่งบางทีก็ไปเห็นเรื่องส่วนตัวของคนอื่น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้กำหนดจิตอะไร เหมือนควบคุมไม่ได้

แต่ผมไม่ได้เคยพิสูจน์ว่ามันจะจริงหรือไม่จริงสักกี่ส่วนนะครับ เพราะเพิ่งมาเป็นไม่นาน แต่ที่รู้คือเวลาอยู่ในที่ชุมชนมากๆ แม้ไม่ได้คุยอะไรกับใคร แต่จะรู้สึกหนักๆ ในความรู้สึก และรู้สึกเหนื่อยล้าสมองเมื่อหนัก และก็เหนื่อยอ่อนล้า ไม่อยากภาวนาหรือไม่อยากทำอะไร ลองพยายามเค้นพยายามบริกรรมเรื่อยๆ ก็ยิ่งรู้สึกอึดอัดแน่นขึ้นไปเรื่อยๆ จึงอยากทราบว่าจะมีอุบายวิธีอย่างไรที่จะควบคุมหรือเปิดและปิดได้ เพื่อจะให้ไม่มีสิ่งมารบกวนในการภาวนา

หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้ ถ้ากรณีนี้โดยข้อเท็จจริงนะ โดยข้อเท็จจริงหมายถึงว่าจิตปกติ แต่ถ้าจิตไม่ปกติแล้วมีสิ่งนี้เกิดขึ้นมา นี่สิ่งนี้ควบคุมไม่ได้ พอควบคุมไม่ได้.. มันมีนะมีผู้ที่จิตบกพร่อง แล้วเวลาปฏิบัติไป พอไปรู้สิ่งต่างๆ ก็คิดว่าเป็นการภาวนา มีอยู่บ้างเปอร์เซ็นต์ที่แบบว่า ประสาเราว่าจิตไม่สมบูรณ์ว่าอย่างนั้น เรื่องอย่างนี้มันจะเกิดได้ แล้วแก้ไขไม่ได้ แล้วเวลาคนพูดเขาพูดในความเห็นของเขาเอง แต่นี่เราจะตอบในประเด็นของจิตปกติ

จิตปกติคือจิตที่ไม่ได้บกพร่อง จิตบกพร่องนี่มันเป็นเรื่องที่มันเกิดขึ้นมาโดยที่เป็นอุปาทาน เป็นสิ่งที่ว่าไม่เป็นความจริง แต่ถ้าจิตเป็นปกตินี่มันเกิดจริงๆ มันเกิดจริงๆ เกิดอย่างนี้จริงๆ แล้วนี่เห็นไหม ผู้ที่เป็นบอกว่ามันเพิ่งเป็นเร็วๆ นี้เอง แล้วเมื่อก่อนทำไมมันไม่เป็น..

“มันเพิ่งมาเป็นเมื่อไม่นานนี้”

นี่เมื่อไม่นานนี้ ถ้ามันเป็นเมื่อไม่นานนี้ เห็นไหม ถึงวาระถึงคราว.. มันเพิ่งมาเป็นไม่นานนี้ แล้วถ้าเป็นไปแล้วมันก็จะหายไปไม่นานนี้เหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนมันไม่มีแล้วมันมาจากไหน แล้วเวลามีขึ้นมานี่ มันมีขึ้นมา มีมาทำไม.. ถ้าเรารู้เหตุรู้ผลใช่ไหม อย่างเช่นอาหารนี่เมื่อก่อนถ้าเราไม่รู้ว่าอาหารสิ่งนี้มันเป็นโทษ พวกเราก็ใช้อาหารกินอาหารนี้เป็นธรรมดา แต่พอเขาทำวิจัยแล้วว่าอาหารนี้เป็นโทษกินไม่ได้ พวกเราก็จะหยุดไปเป็นธรรมดา

จิตเวลามันเกิดสภาวะนี่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เห็นไหม สิ่งที่ว่ารู้ความรู้สึกของเขา รู้สิ่งต่างๆ รู้ความรู้สึกของเขาหลวงปู่มั่นเคยสอนพระว่า “ความรู้สึกของเราเรายังรู้สึกไม่ได้ เราจะไปรู้ความรู้สึกคนอื่นมันจะมีประโยชน์อะไร”

แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านรู้ความรู้สึกของคนอื่นนี่ ท่านรู้แล้วท่านก็วางไว้นะ เหมือนผู้ใหญ่ เห็นไหม ครูสอนนักเรียน นักเรียนคิดอะไรนี่ครูรู้หมดแหละ เพราะอะไร เพราะครูผ่านนักเรียนมาเยอะแยะ นักเรียนทำอะไรครูก็รู้ว่านักเรียนพูดอย่างนี้ นักเรียนต้องการอย่างนี้ นักเรียนมันอยากจะให้หมดเวลา มันอยากจะไปวิ่งเล่นครูก็รู้หมดแหละ.. แล้วมันได้อะไรล่ะ ?

ฉะนั้นเราบอกว่าสิ่งอย่างนี้ เรื่องของจิตมันมหัศจรรย์ของมันอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่เราไปรู้ ถ้าเรามีสติปั๊บมันก็เรื่องปกติ.. ความจริงมันรู้อยู่ เมื่อก่อนไม่มีเราก็รู้ของเราอย่างนี้ แล้วมันไม่เห็นมีโทษอะไรกับเราล่ะ

เราจะบอกว่า ถ้าเราเริ่มภาวนานะ พอจิตมันเริ่มพัฒนาการของมันไป ทุกคนจะเริ่มแปลกใจ เวลาแปลกใจนะ แล้วแปลกใจนี่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องหยาบๆ อย่างเช่นที่เขาว่ากำหนดพุทโธ พุทโธแล้วจะเกิดนิมิต สมถะไม่มีประโยชน์อะไร.. เพราะพวกนี้เขาไม่เคยรู้ไง ไม่เคยรู้ว่าโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญาแตกต่างกันอย่างไร

เขาไม่เข้าใจว่าปัญญาภาวนามยปัญญา ปัญญาชำระกิเลสกับปัญญาการศึกษา ปัญญาขี้โกง ปัญญาไปศึกษาวิชาการของเขามา แล้วก็โกงว่าเป็นความรู้ของตัว.. แต่ถ้ามันเกิดเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญามันจะเกิดจากจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นจะแก้จิตดวงนั้น แล้วถ้าจิตดวงนั้นแก้จิตดวงนั้นเสร็จแล้วนะ ถ้าจิตดวงนั้นแก้จิตดวงนั้นมันก็เหมือนกับปริยัติเหมือนกับคำสอนพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าก็รู้อย่างนี้เหมือนกัน

พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ แล้วครูบาอาจารย์เราอย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ เวลาปฏิบัติมาก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์กับพระอรหันต์ก็เท่ากัน พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ทุกๆ องค์ เหมือนกันด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ แตกต่างกันด้วยอำนาจวาสนาบารมี ฉะนั้นความแตกต่างกันด้วยอำนาจวาสนาบารมีอันนั้น เห็นไหม นี่เพราะอะไร เพราะการสร้างสมมาแตกต่างกัน

ฉะนั้นเวลาที่ว่าจิตมันเริ่มเป็น มันพัฒนาการของมัน มันมีอะไรของมัน เราจะบอกว่าถ้าจิตผิดปกติ หมายถึงคนภาวนาหลุด.. จิตผิดปกตินี่มันรู้มันเห็นอะไรไป มันก็จะมีปัญหากับจิตดวงนั้นไปเรื่อยๆ มันจะเป็นอุปาทานจนขาดสติไป เลื่อนลอยไป อันนั้นมันเป็นเวรเป็นกรรม แล้วมันเป็นจิตผิดปกติ แล้ววิธีการแก้ ! วิธีการแก้คือต้องพยายามฟื้นฟู อย่างเช่นเวลาคนผิดปกติเขาไปหาหมอนี่หมอเขาจะให้ยา หมอเขาจะพยายามดึงจิตนั้นให้กลับมาเป็นปกติ

การรักษาของจิตแพทย์ก็คือการรักษาจิตที่ผิดปกติให้กลับมาปกติเท่านั้น แต่การปฏิบัติธรรม การรักษาธรรม เวลาจิตผิดปกติ เห็นไหม เราต้องมีสติ เราใช้พุทโธมีสติ กราบครูบาอาจารย์ให้จิตนั้นมีที่พึ่ง ให้จิตมันกลับมาเป็นปกติ พอจิตมันเป็นปกติแล้วเราพยายามทำ เรายิ่งใช้ความสงบของใจ พอใจสงบเข้าไปนี่ความรู้.. ทางผู้ที่ปฏิบัติเขาถึงบอกว่า พระอรหันต์กับคนบ้านี่ใกล้เคียงกัน

คนบ้าก็คือจิตที่ปกติ มันก็รู้เห็นที่แปลกๆ ของมันไปแต่มันเป็นความปกติ แต่เวลาจิตที่เป็นปกติที่รู้เห็นใช่ไหม พระอรหันต์รู้เห็นนะพระอรหันต์มีสติ พระอรหันต์นี่รู้ไปหมด พระอรหันต์เข้าใจหมด พระอรหันต์ไม่ได้ติด รู้แล้ววางไว้ สิ่งนั้นมันเป็นจริตนิสัย สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องของโลก แต่พระอรหันต์นี่รู้เรื่องใจของเรา พระอรหันต์รู้เรื่องกิเลสของเรา พระอรหันต์ชำระกิเลสของเรา พอชำระกิเลสของเรามาหมดแล้ว เราเข้าใจจิตของเรา มันสิ้นกิเลสหมดแล้ว แล้วจิตดวงอื่นที่เขามีกิเลสอยู่มันก็หมุนเวียนไป มันก็เคลื่อนไหวไปตามสิ่งที่กิเลสขับดันไป

นี่ไงพระอรหันต์รู้ชัดเจนหมดเลย แต่คนบ้า ! คนบ้าเวลามันรู้อะไรมันรู้แบบคนบ้า มันไม่รู้เรื่องอะไรเลยแต่มันรู้ว่าอู้ฮู.. มหัศจรรย์ เวลาพูดมา เราคนปกติฟังคนบ้านี่เรางงนะ อู้ฮู.. คนบ้ามันพูดถึงธรรมะ พูดถึงนิพพานนะ คนบ้ามันพูดนิพพานนะ เราก็อืม.. นิพพานเป็นอย่างนี้นะ เพราะเราไม่มีอะไรเทียบเคียง ฉะนั้นบอกว่าถ้าจิตผิดปกตินี่นะมันมีอยู่จริงในโลกนี้ จิตของคนเวลามันเกิดขึ้นมานี่มันผิดปกติได้ ตามวาระตามกรรมได้

ในวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุฉันเนื้อดิบเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุฉันของดิบไม่ได้ เว้นไว้แต่พระภิกษุเวลาปฏิบัติแล้วผีเข้า ภิกษุปฏิบัติแล้วเรามีวิกลจริตนี่ไม่เป็นอาบัติ แล้วภิกษุเวลาที่วิกลจริตไปนี่มันฟื้นขึ้นมาหายได้ พอหายได้แล้วนะถ้าทำอีกเป็นอาบัติ แต่ขณะที่ฟั่นเฟือนอยู่นั้นไม่เป็นอาบัติ

นี่เวลาปฏิบัติ เวลาจิตมันเป็นไป มันมีเวรมีกรรมของคน มันมี.. ฉะนั้น เพราะจะตอบว่ามันเป็นปกติหมดนี่มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันผิดปกตินั่นเรื่องของเขานะ แต่ถ้าเราเป็นปกติ แล้วสิ่งนี้สิ่งที่มันจะเป็น สิ่งที่มันไปรู้สิ่งต่างๆ เพราะจิตมันมีคุณสมบัติแล้ว พอมีคุณสมบัติปั๊บ ถ้าคนมีอำนาจวาสนามันจะมีแบบว่ารู้นู้นรู้นี่ ออกรู้ไง

ถ้าจิตออกรู้ถ้ามีสติใช่ไหมเราก็พุทโธ พุทโธ แล้วออกรู้นี่ทำไมไม่ออกรู้ในกาย ออกรู้ในเวทนา ออกรู้ในจิต ออกรู้ในธรรมของเราล่ะ เราไปรู้เรื่องว่าอายุเขาเท่านั้น อายุเขาเท่านี้ แล้วถามว่าอายุเราเท่าไรล่ะ แล้วมึงจะตายไหมล่ะ เห็นไหม มันแตกต่างกัน ถ้าเราถามเรื่องอายุเรา ถามว่าการเกิดของเรา.. นี่สิ่งนี้ถ้ามีปัญญา ถ้ามันมีกำลัง กำลังที่มันควรจะทำงานที่เป็นประโยชน์กับเรา มันไปทำประโยชน์เป็นสาธารณะซะ ประโยชน์สาธารณะคือเรื่องของวัฏฏะไง

ประโยชน์สาธารณะคือสังคมโลก ประโยชน์ของจิต ถ้าจิตมันไปทำประโยชน์สาธารณะ ตัวมันเองจะไม่ได้ผลสิ่งใดเลย มันจะได้ผลสาธารณะ คือผลของบุญกุศล ของบาปอกุศล.. บุญกุศลกับบาปอกุศลเป็นผลของวัฏฏะ วัฏฏะคือการมีบุญก็เกิดดีไป

ถ้ามันเป็นบาปก็เกิดทั่วไป เป็นผลของวัฏฏะนี่คือผลสาธารณะ.. แต่ถ้ามันกลับมาดูกาย เวทนา จิต ธรรม มันจะเป็นผลของจิต ถ้าผลของจิตเพราะอะไร เพราะจิต เพราะตัวเองมันหลง ตัวมันเองมันไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย มันคิดว่ามันเป็นธรรมๆ มันเข้าใจไปหมดแหละแต่มันไม่เข้าใจตัวมันเอง พอมันชำระล้าง พอมันมีสติปัญญาขึ้นมานะมันจะมาดูตัวของมัน พอดูตัวของมัน มันมีปัญญาขึ้นมามันจะเริ่มคลายออก

เราจะบอกว่า ถ้าทำจิตที่เป็นของเราเองจนมันสิ้นกิเลสได้ หรือกระบวนการการปฏิบัติ มันจบสิ้น มันกลับเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าสาธารณะ เพราะอะไร เพราะประโยชน์สาธารณะนี้เราสอนได้ในวัฏฏะ สอนได้ในสิ่งที่เขารู้เขาเห็นได้ แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์ที่เหนือสาธารณะ มันเหนือทุกๆ อย่าง นี่พระพุทธเจ้าสอนเทวดา สอนอินทร์ สอนพรหม..

ถ้าจิตที่มันพ้นจากสาธารณะ สาธารณะคือผลของวัฏฏะ คือมันหมุนไปในวัฏฏะ มันรู้จริงของมัน เห็นไหม เพราะอะไร เพราะมันถอดถอนในใจของมัน พอถอดถอนในใจของมัน มันจะสอนเทวดา สอนอินทร์ สอนพรหม มันจะดีกว่าสาธารณะอีกหลายเท่าเลย

เราพูดอย่างนี้เราจะพูดให้เห็นว่า เขาจะบอกว่าพระปฏิบัติเรานี่เห็นแก่ตัว เอาแต่ประโยชน์ของตนเองก่อน ก็เพราะว่าอยากจะช่วยประโยชน์สาธารณะ เพราะตัวเองไม่มีหลักมีเกณฑ์มันถึงได้เหลวแหลกกันไปไง แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราเอาตัวเรารอดได้ก่อน เห็นไหม พอเราเอาตัวเรารอด เรารู้จริงแล้วเราสามารถจะสอนคนอื่น แล้วสามารถจะพาคนอื่นพ้นจากสิ่งที่เป็นสาธารณะ เพราะมันพ้นจากต่างๆ มันจะเป็นประโยชน์กับตัวมันเอง มันจะเป็นประโยชน์มากกว่าไง

นี้คนมองไม่เข้าใจว่าผู้ที่ปฏิบัตินี่เห็นแก่ตัว หลับหูหลับตา ไม่ช่วยสังคม.. แต่ถ้าหลับหูหลับตานะ ถึงเวลาที่ถอนสิ่งที่เป็นอุปาทานในหัวใจแล้วนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ในป่าองค์เดียว เห็นไหม นี่เวลาออกมาสอนเทวดา สอนอินทร์ สอนพรหม สอนต่างๆ วางศาสนาไว้มหาศาลเลย ครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าเวลาท่านปฏิบัติของท่าน ท่านถึงที่สุดของท่านนะ ท่านจะเป็นประโยชน์มาก เป็นประโยชน์กับที่เรามองไม่เห็น เรามองไม่รู้แล้วเรามองไม่ได้

ฉะนั้นสิ่งที่ว่ามันออกรู้นี่.. ถ้ามันเป็นความจริง ตอบโดยที่มันเป็นข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่เป็นปกติ มันรู้ของมันแล้วมันส่งออกเราก็มีสติ เห็นไหม จะไปรู้เรื่องเลขหรือจะไปรู้สิ่งใด แล้วจะให้ผมทำอย่างไร.. นี่การว่าเวลามันเคย น้ำนี่มันไหลลงต่ำ ทุกอย่างมันปรับสภาพของมัน

จิตเรามีกิเลสอยู่ พอมันดีขึ้นแล้วมันก็เสื่อมลง พอมันเสื่อมลงนี่มันก็อ่อนล้า แล้วเราพยายามจะเค้น พยายามบริกรรมเรื่อยๆ แล้วมันรู้สึกอึดอัด มันจะหนักแน่นของมัน.. เหมือนเราทำงาน นักกีฬานี่ขี้เกียจมากเรื่องซ้อม นักกีฬานี่อยากแข่งนะ อยากเอาคะแนน อยากชนะ อยากได้ผลประโยชน์ แต่เวลาซ้อมนี่นักกีฬาขี้เกียจมาก แต่ถ้านักกีฬาคนไหนเขามีวินัย เขาจะหมั่นฝึกซ้อมของเขา นักกีฬาคนนั้นจะประสบความสำเร็จตลอดชีวิต

การภาวนาของเรา เห็นไหม เวลามันอึดอัด มันหนักแน่น มันไม่เอาไหน มันไม่ยอม เวลาเราพุทโธนี่มันไม่เอา แต่เวลาออกรู้นี่มันเอา ออกรู้เรื่องอายุใคร ออกรู้นี่มันออกรู้ไปทำไม..

นี้คืออุบาย ! นี้คืออุบายให้เราควบคุมใจเราไง ให้ควบคุมใจเรา ให้รักษาใจเรา แล้วเราดูแลหัวใจของเรา แล้วมันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะรู้เลยอะไรเป็นการส่งออก ดูสิเราหาเงิน สิ้นเดือนทุกคนได้รับเงินเดือนเท่ากัน คนหนึ่งเก็บเงินไว้ใช้สอยเป็นปกติ แล้วมีเงินเหลือเก็บไว้เพื่อประโยชน์กับตัวเอง อีกคนหนึ่งเวลาเงินเดือนออกนะใช้จ่ายจนหมดเนื้อหมดตัวเลย แล้วไปกู้ยืมคนอื่นมาใช้จ่ายอีก นี่อะไรจะดีกว่ากัน

จิตเวลามันเริ่มรู้ เห็นไหม มันพัฒนาของมัน มันก็เริ่มรู้อะไรแปลกๆ ไอ้รู้อะไรแปลกๆ นี่มันเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ถูกรู้คืออารมณ์ไปรู้เขา แต่ตัวพลังงานนี่เราไม่รักษามัน ถ้าเรากลับมารักษาที่ตัวพลังงาน คือพุทโธบ่อยๆ เข้ามาถึงตัวจิต สิ่งที่ไปรู้นี้มันดับหมดล่ะ มันดับหมด ! เพราะมันไม่ใช่เรื่องอะไรของเรา เรื่องของเราคือเรื่องความทุกข์ความสุขในหัวใจของเรา.. ไอ้เรื่องนี้ โดยธรรมดาภาษาหรือขันธ์ ๕ นี่เรามีไว้สื่อสารกัน คนเราถ้าไม่มีอะไรสื่อสารกัน เราจะอยู่กันได้อย่างไร

จิตมันสื่อสารของมัน มันออกรู้ของมัน แล้วเราเชื่อมันได้อย่างไรล่ะเพราะเรายังมีกิเลสอยู่ ฉะนั้นไอ้พวกเครื่องมือสื่อสารอย่างนี้เราพักไว้ก่อน เห็นไหม แม้แต่มือถือนี่เขาใช้กัน ใช้บ่อยๆ แบตฯ มันหมดนะเขาต้องมาชาร์จแบตฯ พอเวลาแบตฯ นี่หมดจะโทรได้ไหม.. นี่ก็ส่งออกหมดเลยแล้วจิตมันจะได้อะไรขึ้นมาล่ะ ฉะนั้นถ้าเราไม่ออกรู้ แบตฯ เราไม่ได้ใช้เลย เราจะชาร์จไฟจนแบตฯ เราเต็มอยู่ตลอดเวลา แล้วพอเวลาเป็นประโยชน์นะ โทรนิพพานเลยล่ะ ไม่ต้องโทรไปเรื่องอื่น โทรถึงที่สุดมันก็จบเลย

ฉะนั้นสิ่งที่มันเค้น นี่เวลาเขาส่งออกเขาก็สงสัย แล้วพอเขาบอกว่าพอมาปฏิบัติ.. นี่มันต้องบูรณาการ ! บูรณาการลองผิดลองถูกไง เวลาจิตพอพุทโธ พุทโธ พอจิตเริ่มสงบมันก็ไปรู้ข้างนอก เวลาเราจะเอาพุทโธ เราจะให้จิตสงบมันก็มีอาการเค้น อาการหนัก เวลาทำความดีนี่นะมันไม่อยากให้ทำหรอก แต่เวลาทำส่งออกทำให้มันเสื่อมนี่ชอบ นี่มันก็ออกนอกลู่นอกทาง เห็นไหม

นี้คืออะไรล่ะ นี้คือกิเลสมันหลอกเราไง แม้แต่ทำดีกิเลสมันก็หลอกลวง มันก็จะชักนำให้เราเสียหายไปทั้งนั้นล่ะ เราคิดว่าเราปฏิบัติแล้วมันเป็นความดี ทุกอย่างมันต้องดีไปหมด.. ดี ! ปฏิบัตินี่ดี แต่กิเลสมันปฏิบัติกับเราด้วย เหมือน ! เหมือนกับสวะในน้ำ น้ำต่ำสวะมันก็อยู่ต่ำ พอน้ำขึ้นสวะก็อยู่สูงขึ้น

นี่ก็เหมือนกัน เราไม่ปฏิบัติเลยกิเลสมันก็อยู่กับเรา เราปฏิบัติกิเลสมันก็อยู่กับเรา เราปฏิบัติจนเป็นพระอนาคาแล้วกิเลสมันยังอยู่กับเรา กิเลสมันยังหลอกพระอนาคานะ ! กิเลสมันหลอกพระอนาคาว่าเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว.. ตั้งแต่ปุถุชนกิเลสมันก็อยู่กับเรา เป็นเพื่อนเรา ปฏิบัติไปจนถึงพระอนาคา กิเลสมันก็ยังตามไปหลอกอยู่ จนกว่าเราจะทำลายภวาสวะ ทำลายภพ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จนสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้ว นั่นกิเลสมันถึงตายทั้งสิ้นทั้งปวง

แต่เวลาเป็นพระโสดาบันนี่หลานกิเลสมันตาย เพราะฆ่าหลานกิเลส สักกายทิฏฐิ พอเป็นสกิทาคานี่ฆ่าลูกมัน เห็นไหม ฆ่าลูก เวลาเป็นถึงพระอนาคานี่ฆ่าพ่อแม่มัน เวลาถึงพระอรหันต์นี่ฆ่าปู่ย่าตายาย ฆ่าหมดเลย ! ฆ่าทั้งตระกูล กิเลสทั้งตระกูลตายหมดเลย.. จบ !

ฉะนั้นสิ่งต่างๆ เวลาปฏิบัติว่าทำดีแล้วกิเลสมันจะอู้ฮู..เราต้องส่งเสริม.. ทุกคนจะน้อยใจ เห็นไหม ทำแล้วไม่ได้ดีนี่ทุกคนน้อยใจ พระพุทธเจ้านะ นางจิญจมาณวิกาใช่ไหม เมื่อวานพูดนางอะไร ยังจ้างคนมาด่า พระพุทธเจ้านี่นะ ขนาดเป็นพระพุทธเจ้าเขายังจ้างคนมาด่า เทวทัตยังทำลาย แล้วเราทำอะไรกัน จะไม่มีใครมาสะกิดเราเลย โอ้โฮ.. ผิวนี้ห้ามใครสะกิด เป็นคนดี แล้วพออย่างนี้ทุกคนจะน้อยใจหมดนะ ทำดีแล้วไม่ได้ดี

ทำดีต้องได้ดีเรารู้ของเราเอง แต่ทุกคนมีเวรมีกรรม สร้างเวรสร้างกรรมมา คนที่สร้างบุญสร้างกุศลมา ชีวิตเขาจะมีความสุข ประสบความปรารถนาของเขาไปตลอด แต่ถ้าคนเราสร้างเวรสร้างกรรมมาพอสมดุลต่อกัน ชีวิตของเขาก็มีความสุข เดี๋ยวเขาก็เจอวิกฤติ เดี๋ยวเขาก็จะเอาชีวิตเขาพลิกกลับมาเป็นดี เห็นไหม ชีวิตเขาก็ลุ่มๆ ดอนๆ แต่ชีวิตเราถ้าเราสร้างแต่กรรมมานะ ชีวิตของเราจะต้องบีบคั้นมา

แต่อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ อีกเรื่องหนึ่งหมายถึงว่า มันให้ค่าโดยตัวเอง ถ้าจิตใจเราดีนะ สิ่งที่ว่าเป็นวิกฤติ วิกฤติไม่มี.. วิกฤติเราแก้ไขได้หมด ถ้าจิตใจเราดีนะสิ่งที่ว่าเป็นวิกฤติ ไม่มีอะไรเป็นวิกฤติเลย แต่ถ้าจิตเราอ่อนแอนะ แม้แต่อุปสรรคเล็กน้อยก็บอกวิกฤติมาก เห็นไหม

มันมีอยู่ ๒ ประเด็น.. ประเด็นหนึ่งคือเวรกรรมที่มันให้ผล ประเด็นหนึ่งคือจิตใจเราอ่อนแอด้วย ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งนะ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมามันจะฝึกจิตใจนี้ให้เข้มแข็ง ทุกอย่างนะมันเคี้ยวกินได้หมดเลย

หลวงตาท่านชมหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวนี่ท่านมีปัญหาครอบครัวแล้วออกบวช ตอนบวชนั้นก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรเพราะบวชอยู่วัดบ้าน เสร็จแล้วพอบวชมาแล้วนี่เห็นว่าชีวิตบวชมาอยู่เฉยๆ มันไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะออกประพฤติปฏิบัติ ญาติโยมทั้งหมดเลย ญาติของหลวงปู่ขาวทั้งหมดเลยบอกไม่ให้ไป ไม่ให้ไปมันทุกข์มันยาก หลวงปู่ขาวท่านปฏิญาณในหัวใจของท่าน

“ก้าวออกจากวัดนี้ไป ถ้าไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์จะไม่เหลียวหน้ากลับมา”

นี่เพราะหลวงปู่ขาวท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตาถึงชมน้ำใจหลวงปู่ขาวมาก.. ลองได้ก้าวออกจากวัดนี้ไป ถ้าไม่สำเร็จถ้ากิเลสไม่หมดจากใจ จะไม่หันหน้ากลับมา ! แล้วออกไปเลยนะ ออกไปก็ไปตามหาหลวงปู่มั่น ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น จนไปสิ้นกิเลสที่หลวงตาบอกว่าไปสิ้นกิเลสที่เชียงใหม่ ๓ องค์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน นี่ที่ไปสำเร็จที่หลวงตารู้จัก แต่องค์อื่นยังมีอีก

นี่เวลาสำเร็จแล้วค่อยย้อนกลับมา เพราะอะไร เพราะจิตใจเข้มแข็ง เพราะถ้าเราจิตใจอ่อนแอเราก็จะอ่อนแอไปตลอด ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง เข้มแข็งนี้มันอยู่ที่ไหนล่ะ เข้มแข็งนี่มันก็อยู่ที่พละ อยู่ที่อินทรีย์ เห็นไหม อินทรีย์แก่กล้า ถ้าอินทรีย์แก่กล้า ทุกอย่างพร้อม

เหมือนร่างกายเรานี่ ร่างกายแข็งแรงเราทำงานได้ประสบความสำเร็จ ร่างกายเราอ่อนแอ เราพยายามทำงานเราก็พยายามทำของเรานะ เราต้องพยายามขวนขวายของเรา แต่ถ้าร่างกายแข็งแรงนี่งานนั้นก็ต้องง่ายขึ้น.. จิตใจที่เข้มแข็ง มันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน แล้วจะสู้วิกฤติได้ ถ้าจิตใจอ่อนแอ เห็นไหม อะไรก็สู้ไม่ไหว สู้ไม่ไหว

นี้พูดถึงว่ามันพัฒนาการของมันนะ เขาถามว่า “ไปรู้เรื่องของคนอื่นก่อนที่เขาจะพูด อึดอัด ภาวนายาก” ก็ไม่ไปรู้ก็จบ เพราะมันไม่ไปรู้ด้วยสติ ไม่ใช่ว่าไม่ไปรู้แล้วทำอย่างไร เพราะจิตมันจะไป.. จิตมันจะไป มันอยากรู้ เพราะจิตมันพร่อง พอมันอยากรู้แล้วมันไปแล้วทำอย่างไร

สตินี่เราฝึกหัดเราควบคุมได้ พอเราควบคุมได้ เราหัดได้ เราทำได้ วันหลังมันจะรู้ของมัน แล้วเห็นเป็นประโยชน์กับมัน นี้คือประโยชน์กับมันเนาะ เอวัง