ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รักษาโดยธรรม

๓๑ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

รักษาโดยธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๓๐๒. เนาะ

ถาม : ๓๐๒. เรื่อง “ระหว่างการฟังธรรมะและการภาวนา”

กราบนมัสการหลวงพ่อว่าสำหรับคนป่วยที่กำลังใกล้จะตาย (หมอบอกว่าหมดหนทางรักษาแล้ว) หากผู้ป่วยคนนี้เป็นผู้ที่ชอบทำบุญ สวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็นสม่ำเสมอ ประกอบกับนั่งสมาธิ ภาวนาบ้าง แต่ยังไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไร กราบเรียนหลวงพ่อว่าเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยนี้ควรจะ..

๑. ฟังเทปธรรมะครูบาอาจารย์ไปทุกๆ วันจนวาระสุดท้าย หรือ

๒. ภาวนาไปทุกวันจนวาระสุดท้าย.. อย่างไหนดีกว่าครับ

หรือหลวงพ่อเห็นว่าควรทำอย่างไร นมัสการด้วยความเคารพอย่างสูง

หลวงพ่อ : นี่เวลาเรารักษาคนป่วย.. เรารักษาคนป่วยมันอยู่ที่ว่าคนป่วย เห็นไหม เวลาคนป่วยนี่ร่างกายแข็งแรง คนป่วยร่างกายไม่ทรุดหนักนี่หมอรักษาง่ายหน่อย แต่ถ้าคนป่วยมีโรคแทรกซ้อนมีโรคต่างๆ หมอรักษามันก็ต้องไปอีกกระบวนการหนึ่ง

ทีนี้บอกว่าคนป่วยทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น นั่งภาวนาบ้าง.. นี้คำว่านั่งภาวนาบ้าง นี่สิ่งนี้เขาก็สู่หลักธรรมเหมือนกัน ฉะนั้นการฟังเทศน์ครูบาอาจารย์นี่นะ มันเป็นเวรเป็นกรรมนะ ถ้าเป็นเวรเป็นกรรม เวลาฟังแล้วนี่มันเข้าใจ แต่ถ้าไม่เป็นเวรเป็นกรรม.. ไม่เป็นเวรเป็นกรรม ทำสิ่งใดมันจะพัฒนาไง มันเหมือนมันยอมรับสัจจะความจริง เหมือนหลวงตาท่านบอกว่า

“เราจะปลูกบ้านบนถนนหลวงไม่ได้”

บนถนนนี่เขาไม่ให้ไปปลูกสิ่งกีดขวางหรอก สัจธรรมเหมือนถนนหลวง วัฏฏะมันหมุนไปอย่างนั้น เราจะไปกีดขวางความเป็นจริงเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่ไม่ได้หรอก ทีนี้การที่เราไม่ไปขวางการเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่มันเป็นสัจธรรม นี้สัจธรรมนี่เราจะทำอย่างไร.. เราจะทำอย่างไร เราจะบริหารอย่างไร

นี้การบริหารอย่างไรมันก็อยู่ที่ว่าคนว่ามีพัฒนาการขนาดไหน ถ้าคนที่มีพัฒนาการ เห็นไหม ถ้ามีพัฒนา นี่สิ่งที่ว่าบนถนนหลวงมันเป็นที่สัญจร ที่สัญจรของยวดยานเขา นี่จิตเวียนตายเวียนเกิดมันเป็นการสัญจรในวัฏฏะ มันหมุนของมัน เป็นธรรมชาติของมัน แต่ธรรมชาตินี้ รถของใครมีคุณภาพแค่ไหน.. รถของใครนะ นี่คุณสมบัติของรถ ถ้าคุณสมบัติเขาดีจะเกิดอุบัติเหตุ จะเกิดการชำรุดเสียหายอย่างไรบ้างมันก็พอไปได้ แต่ถ้ารถของคนนี่มันอ่อนแอใช่ไหม รถของคนมันไม่สมบูรณ์ ไปเจออุบัติเหตุหรือไปเจออะไรนี่มันไปไม่ได้เลย

จิตใจของคนที่เข้มแข็งและจิตใจของคนที่อ่อนแอ.. ถ้าจิตใจของคนที่เข้มแข็ง สภาวะแบบนี้มันมองเป็นของเล็กน้อย แต่จิตใจของคนที่อ่อนแอ นี่จิตใจคนอ่อนแอนะ พออ่อนแอขึ้นมา นี่ทำไมเป็นอย่างนั้น.. ทำไมเป็นอย่างนั้น

พอทำไมเป็นอย่างนั้นปั๊บ.. นี่ถนนหลวง วัฏฏะ ! ผลของมัน การเกิด แก่ เจ็บ ตายมันเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น.. ทำไมเป็นอย่างนั้น เราเองเราน้อยใจ เห็นไหม แต่ถ้าเรามีความเข้มแข็งใช่ไหม ถนนหลวงก็คือถนนหลวง ผลของวัฏฏะก็คือผลของวัฏฏะ เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นอย่างนี้ แต่พอเป็นอย่างนี้ปั๊บเราก็ย้อนกลับมาดูใจเรา นี่จิตใจเรามันเข้มแข็ง พอจิตใจมันเข้มแข็งการรักษาก็ง่าย การดูแลรักษา การต่างๆ มันก็จะสะดวกขึ้นมา

ฉะนั้นการฟังเทศน์ครูบาอาจารย์นี่มันอยู่ที่จิตใจของเขาด้วย อยู่ที่เราดูแลรักษาด้วย.. อยู่ที่เราดูแลรักษา คำว่าดูแลรักษานะ นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึง เห็นไหม

“ถ้าอยากอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้อุปัฏฐากพระป่วยเถิด”

พระป่วยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปอุปัฏฐากนี่ เขาป่วยมากนะ พอเขาป่วยมากนี่เขานอนแช่มูตร แช่คูถ คือว่าเยี่ยวขี้ไม่มีใครดูแลไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปเอง พอเสด็จไปเองพระก็ตามไป พอพระตามไปนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำความสะอาดให้ สรงน้ำให้ ทำความสะอาดให้ ดูแลทั้งหมดเลย แล้วก็บอกกับพระ เห็นไหม “ถ้าใครอยากจะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อุปัฏฐากพระป่วยเถิด”

คำว่าพระป่วย ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปอุปัฏฐากพระองค์นี้ล่ะ พระองค์นี้เขาเจ็บไข้ได้ป่วย เหมือนจิตใจนี่ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำสิ่งใดนี่จะเล็งญาณก่อน เล็งญาณว่าจิตใจเป็นอย่างไร ความเป็นไปอย่างไร เล็งญาณจะไปแก้ไขคนนั้นก่อน แต่ถ้าจิตใจอ่อนแอ เราไปดูแลขนาดไหนนะมันยิ่งทรุดไง

กรณีนี้มี นี่หลวงตาท่านเล่าถึงหลวงปู่มั่นไง หลวงปู่มั่นนะเวลาคนไหนเข้มแข็ง พอเจ็บไข้ได้ป่วยท่านจะไปเทศน์เลย นี่ไข้มันมาจากไหน ป่วยมาจากไหน สิ่งต่างๆ ที่มันมา มันเกิดตายๆ นี่มันทุกข์ยากขนาดไหน.. นี่จิตใจบางคนจะเข้มแข็งมาก แต่บางองค์พอไปบอกว่าป่วยมาจากไหน นี่จิตใจอ่อนแอร้องไห้เลย พอร้องไห้แล้วท่านจะกลับมาเลย โอ้โฮ.. นี่จะให้มันเข้มแข็ง คือจากที่การสอนด้วยธรรมะ ก็การสอนแบบโลก.. การสอนแบบโลกคือการห่วงหาอาลัยอาวรณ์ต่อกัน

การดูแลรักษาแบบโลก ! การดูแลรักษาแบบโลก เห็นไหม นี่มีแต่ความคิดถึง ความผูกพัน ความเอาอกเอาใจกัน.. การดูแลแบบธรรม ! ดูแลแบบธรรมนะ นี่สัจธรรมมันเป็นอย่างนี้ ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ จิตใจเรา ถ้าเรารู้จริงเป็นอย่างนี้ จิตใจเราพัฒนาขึ้นมา

นี่พูดถึงคุณสมบัติของผู้ป่วย ถ้าคุณสมบัติของผู้ป่วยปั๊บ มันก็คุณสมบัติของคนที่ดูแล คุณสมบัติของคนที่ดูแล เห็นไหม ถ้าเรา.. โทษนะ ถ้าเราโง่กว่าผู้ป่วย ผู้ป่วย นี่ครูบาอาจารย์ท่านป่วยนะท่านยังเทศน์สอนเราอีกนะ เราจะไปดูแลคนป่วย คนป่วยต้องมาดูแลคนไปรักษาคนป่วยนะ

นี่มันอยู่ที่วุฒิภาวะ.. ที่ถามว่าหลวงพ่อควรแนะนำอย่างใด นี่คำว่าแนะนำของเรานะ เราก็แนะนำให้ดูแล เราจะดูแลของเรานะ ถ้าธรรมโอสถ ! ดูแลรักษากันโดยธรรม.. เวลาไปโรงพยาบาล ถ้าเป็นไปโรงพยาบาลไปรักษาโดยธรรม.. รักษาโดยธรรม เห็นไหม ในเมื่อโรงพยาบาลมีอยู่ หมอมีอยู่ ยามีอยู่ทำไมเราจะรักษาไม่ได้ แต่ถ้าไม่เป็นโดยธรรมใช่ไหม นี่โรงพยาบาลก็หมอมีอยู่ ยามีอยู่ ทุกอย่างมีพร้อม เราเข้าไปนี่ว่ามันจะหายอย่างไร จะหายอย่างไร

เพราะมันเป็นโลกไง เป็นโลกแล้วเราว่ามันต้องเป็นอย่างที่เราคิดไง แต่โดยเป็นธรรมใช่ไหม เป็นธรรมก็หน้าที่ของหมอใช่ไหม หน้าที่ของผู้ที่รักษาใช่ไหม โรคภัยไข้เจ็บนี่มันก็เป็นกับเราใช่ไหม แล้วหัวใจเราล่ะ เห็นไหม เราเข้าไปนี่อย่างนี้เป็นธรรม.. ไม่ใช่ว่าเป็นธรรมแล้วจะปฏิเสธหมดเลย อะไรก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้.. ไม่ใช่นะ เป็นธรรมคือความเหมาะสม !

นี่จังหวะและโอกาส.. กาลเทศะ ! ความเหมาะสม ความสมดุลของมัน ควรและไม่ควรแค่ไหน ถ้าควรและไม่ควรแค่ไหน นี่ตรงนี้ ตรงนี้เป็นธรรม ! ถ้าเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว เห็นไหม เวลาไปรักษาก็รักษาโดยธรรม.. ไปรักษาโดยธรรมนะคนไข้ก็สบาย เพราะว่ารู้อยู่ เพราะว่าสิ่งนี้มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง เป็นผลของวัฏฏะ เป็นผลของถนนหลวง เราก็รักษาเราก็ดูแลกันไป

นี่รักษา ถ้าหมอรักษาถ้าไม่มีเวรมีกรรมมาตัดรอนมันก็หาย เวลาหมอไปรักษาหมอก็สบายใจนะ โอ๋ย.. คนไข้คนนี้รักษาง่าย ให้ความร่วมมืออย่างดีเลย คนไข้คนนี้เป็นคนดี โอ้โฮ.. ถ้าหมอไปรักษา คนไข้จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้นะ นี่รักษาแบบโลก

ฉะนั้นให้แนะนำอย่างไร.. ถูกแล้ว

๑. ให้ฟังเทศน์ ฟังเทปธรรมะครูบาอาจารย์ ถ้ามีโอกาสนะเขาก็ฟังของเขา เพราะการฟังนี่ ยิ่งวิกฤติขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาป่วย เห็นไหม ให้พระสวดสัมโพชฌงค์ให้ฟัง เพราะในสัมโพชฌงค์นี่วิจัยในธรรมะ อินทรีย์แก่กล้า.. นี่คอยเตือนแล้วจิตใจมันฟังตามๆ พอฟังตามแล้วมันจะได้เกร็ด

คำว่าได้เกร็ดนะ.. สิ่งนี้ได้ยินอยู่ทุกวัน แต่ขณะที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย ขณะที่เราเผชิญอยู่นี้ พอสิ่งนี้มันสะเทือนใจปั๊บมันจะเกาะ มันมีเกร็ดของมัน.. ถ้ามีเกร็ดของมัน นี่ถ้าฟังเทศน์ทุกวันมันมีประโยชน์ตรงนี้ มีประโยชน์ตรงที่ว่าเราเองเข้าสู่วิกฤติแล้ว เราเองจะต้องเดินทางไกลถ้าต้องตาย ถ้าเราไม่ตายเราก็อยู่ของเรา.. นี่ถ้าวิกฤติตาย ! ตายแล้วเราจะมีสมบัติอะไรติดตัวเราไปถ้าไม่ตาย ! ถ้าไม่ตายเราอยู่นี่เราจะอยู่เพื่ออะไร เห็นไหม

นี่ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ เห็นด้วย.. แล้วให้ภาวนาจนวาระสุดท้าย อันนี้มันเป็นเรื่องปกติของเราเลยนะ เรื่องการภาวนานี่ถ้าเรามีสติ ที่ไหนมีสติหลวงตาบอกว่า “ที่ไหนมีสติ มีการกำหนดรู้ ที่นั่นเป็นการภาวนา ! ที่ไหนเดินจงกรม นั่งสมาธิอยู่ไม่มีสติ ที่นั่นไม่ใช่ภาวนา !” ขนาดเดินจงกรมอยู่นะ เดินจงกรมอยู่นี่มันคิดไป จินตนาการไปทั่วโลกเลย อันนั้นไม่ใช่การภาวนา

ฉะนั้นถ้าภาวนาจนวาระสุดท้าย.. เราจะทำสิ่งใดอยู่ก็แล้วแต่ ถ้าเรามีสติ ! เรามีสติ เรามีการระลึกรู้อยู่ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ! ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ! ด้วยความไม่ประมาท !”

ฉะนั้นถ้าเรามีสติ เห็นไหม เรามีสติกำหนดอยู่นั่นคือการภาวนา ฉะนั้นการภาวนา ถ้าเรามีสตินี่มันจะเป็นประโยชน์กับเรา.. ทีนี้เขาว่าเวลาให้ภาวนาตลอดจนวาระสุดท้ายใช่ไหม.. ใช่ ! ถ้ามีสติอยู่นี่เราจะเก็บสมบัติเราไปตลอดเลย ดูสิทางโลกเขานะ เขามีเงินมีทองนี่เขามานับแบงก์กันนะว่าเขามีเงินเท่าไร เรามีสติระลึกพุทโธ พุทโธนี่เรานับตังค์ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่เรานับคุณงามความดีของเรา เรามีสติ ! เรามีกำหนดรู้อยู่ เราจะนับคุณสมบัติ นับคุณงามความดีของเรา เราจะนับของเราเลย

ทางโลกเขานับเงินนะ มี ๑ บาท ๒ บาท ๓ บาท ๔ บาทเขานับไป เราก็พุทโธ พุทโธ พุทโธของเราไป.. นี่เขานับเงิน เรานับคุณงามความดีของเรา เรามีสติระลึกรู้ถึงความดีของเรา อันนี้คือความดีของเรา ฉะนั้นสิ่งนี้ถึงบอกว่ารักษาโดยธรรม.. รักษาโดยธรรมคือรักษาโดยความปกติสมดุลของมัน นี้คือการรักษาโดยธรรม !

ให้แนะนำ แนะนำอย่างนี้ เพราะคนป่วยมันมีป่วยหลายระดับ ป่วยหลายชั้นนะ คนป่วยที่จิตใจเข้มแข็ง เราเจออยู่หลวงพ่อสุพิศ หลวงพ่อสุพิศเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่เขาภูลาง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีใครดูแลนะ ทำโลงเอาไว้เองเลยนะ แล้วไปนอนบนโลงนะ กะเวลาตายนี่ให้พลิกตกโลงไปเลย ขนาดนั้นนะ นี่ไม่กวนใครเลย เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทำโลงไว้ แล้วก็นอนอยู่นั่นล่ะ แล้วก็พยายามจะทำนะ ทำว่าถ้า ! ถ้าเวลาขาดใจก็ให้พลิกตกโลงไปเลย อู้ฮู.. คิดขนาดนั้น เห็นไหม

นี่จิตใจคนที่เข้มแข็ง เพราะเห็นเรื่องการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายนี้เป็นเรื่องปกติ เรื่องธรรมดา ฉะนั้นเราจะเกิด จะแก่ จะเจ็บ จะตายนี่มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ ! แต่ว่าเราจะได้มากได้น้อยแค่ไหน เราจะทำคุณงามความดีของเราแค่ไหน เราจะย้อนกลับมาว่าเราจะสร้างวุฒิภาวะของใจเราได้มากน้อยแค่ไหน

อันนี้เราเป็นชาวพุทธนะ เราไม่ใช่ว่าจะมีเงินมีทอง มีสมบัติมากอันนั้นจะเป็นความสุขไม่ใช่เลย ไม่ใช่ ! เขานับตังค์ เรานับพุทโธ เขาได้ตังค์ เราได้อริยทรัพย์ เขาได้ตังค์ เราได้คุณสมบัติที่ดี.. เอาตรงนี้ ! ถ้าเอาตรงนี้ได้นะ เราจะรักษาผู้ป่วยนี้เราจะดูแลผู้ป่วยนี้ด้วยความสมบูรณ์มาก คือรักษาโดยธรรม เราจะรักษาโดยธรรม

รักษา ต้องรักษาดูแล เพราะเวลาได้ชีวิตนี้มานี่แสนยาก แล้วได้ชีวิตนี้มา ในพระไตรปิฎกเปรียบเหมือนได้เรือมาคนละลำ แล้วต่างคนต่างพายเข้าฝั่ง ต่างคนต่างเข้าสู่กระแสไง ถ้าใครเอาเรือเกยขึ้นฝั่งได้ โสดาบัน คือเข้ากระแส ตอนนี้เรือพวกเรามันเคว้งอยู่กลางทะเล มันยังหาฝั่งไม่เจอ

ฉะนั้นเราได้เกิดมาหนึ่งชีวิต ร่างกายนี้เหมือนเรือ ๑ ลำ แล้วอยู่ในโอฆะ การเกิดและการตายในวัฏฏะ เราพยายามจะพายกัน เราพยายามจะคัดหางเสือกันให้เรือเราเข้าสู่ฝั่ง ถ้าเรือเราเข้าสู่ฝั่งได้ เข้าสู่ธรรมะได้เราสบายแล้ว เรามีที่พึ่งแล้ว เพราะพาดกระแสแล้วนะมันต้องไปวิมุตติ ต้องไปถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยเด็ดขาด

แต่ถ้ายังไม่เข้ากระแส เรือนี่ยังไม่เคยเข้าเกยอยู่ฝั่ง มันจะหมุนอยู่ในกลางทะเล ลมพัดลมแรง หรือว่าพายุมากน้อยแค่ไหน มันก็จะเป็นเฉพาะเรือนั้นต้องเผชิญเอง ถ้าเรายังเป็นปุถุชนอยู่มันต้องเผชิญอย่างนี้ แต่ถ้าเราได้สามารถเอาเรือเราเข้าสู่ฝั่งสู่กระแสได้ ตีนเหยียบพื้นได้ นั้นคือโสดาบัน แล้วอนาคต ๗ ชาติ อย่างมาก ๗ ชาติ อย่างน้อยแบบพระอานนท์ สำเร็จชาตินั้นเลย

ฉะนั้นสิ่งนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ ในการดูแลรักษา เราดูแลรักษาโดยธรรม ! รักษาโดยธรรมเนาะ

 

ถาม : ๓๐๓. เรื่อง “กราบขอบพระคุณหลวงพ่อ”

หนูได้ฟังหลวงพ่อตอบเรื่องขออนุญาตพิมพ์หนังสือแล้ว กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่หลวงพ่อเมตตาให้ธรรมะนอกเหนือจากคำตอบ หลังจากฟังคำตอบของหลวงพ่อ หนูปีติอยู่ ๒ วันเลยค่ะ

หลวงพ่อ : สาธุ.. จบ ! เขาขอพิมพ์หนังสือไง เราบอกว่าพิมพ์ไปแล้วมันไอ้นั่น.. ให้เอาที่เราดีกว่า

ข้อต่อไปอันนี้จะยาว แล้วอันนี้จะเป็นเรื่องที่ว่าเราฟังไว้เป็นความรู้เนาะ เพราะเขาถามมาอย่างนี้จริงๆ หลายเรื่องมาก แล้วเป็นเรื่องที่ว่า ถ้าเรื่องวินัยนี่มันพูดกันยาก เพราะมันอยู่ที่ว่า อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่ามีบุญมากขนาดไหน มีบุญหมายถึงเกิดมาแล้วพบครูบาอาจารย์ที่ดี แล้วพบสังคมที่ดี มันจะทำให้พวกเรานี่ เหมือนเรามีการศึกษาสถาบันไหน สถาบันนั้นให้การศึกษาเราดี เราจะมีวุฒิภาวะ ถ้าสถาบันไหนให้การศึกษาเราโดยความอ่อนด้อย เราไปศึกษาแล้วมันก็จะได้ความรู้มาแบบไม่ชัดเจน

ถาม : เรื่อง “ขอความรู้เกี่ยวกับยาปรมัตถ์ที่พระฉันในเวลาวิกาล”

๑. ขอความรู้เกี่ยวกับปรมัตถ์ เรื่องยาที่อนุญาตให้พระฉันหลังเวลาวิกาลนั้น ในพระวินัยเท่าที่ฟังจากครูบาอาจารย์ว่า สิ่งต่อไปนี้คือ สมอ มะขามป้อม ใบส้มลม น้ำอ้อยคั้น น้ำรากบัวคั้น น้ำหมากเม่า อนุญาตให้พระฉันได้.. ปัจจุบันเริ่มมีสิ่งแปลกๆ นอกเหนือจากที่กล่าวแล้วว่าพระฉันในเวลาวิกาลได้ เช่นสาหร่ายโนริ เนยกวน วาซาบิ (ผงสีเขียวรสเผ็ดที่รับประทานกับปลาดิบของญี่ปุ่น) ลูกพรุน เมล็ดทานตะวัน ลูกหยีกวน ลูกท้อจีน สมอจีนดอง ชา กาแฟทรีอินวัน (เขาว่านะ) เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ถ้าเช่นนั้นใครเป็นผู้กำหนดว่าสิ่งเหล่านี้พระฉันได้หรือไม่ได้ แล้วเราจะรู้ได้ชัดอย่างไรว่าถูกต้องเพราะมันนอกเหนือจากพระธรรมวินัย

อนึ่ง ปัจจุบันนี้หลายวัดในเมืองสั่งน้ำข้าวโพด น้ำเต้าหู้ไปถวายพระในตอนเย็น ก็มีให้เห็นเป็นประจำจึงงงเข้าไปใหญ่ อย่างนี้คนถวายจะบาปหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : เฮ้อ.. มันจะต้องทะเลาะกับพระอีกแล้วแหละ ถ้าเราศึกษาในพระไตรปิฎก สิ่งที่ในพระไตรปิฎกนี่ ในพระไตรปิฎกเริ่มต้นนะ ถ้าคนที่เจตนาดี.. เราพูดอย่างนี้บอกว่าเวลาวินัยยังไม่บัญญัติ เห็นไหม พระที่สมัยพุทธกาล เริ่มต้นนี่ ๖๑ องค์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ไปเทศน์เอาปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ ไปเทศน์พระยสะนี่ ๕๕ ทั้งพระยสะเป็น ๕๕ ปัญจวัคคีย์.. ปัญจวัคคีย์แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๖๑ เป็นพระอรหันต์หมดเลย ยังไม่ได้กำหนดธรรมวินัยอะไรเลย

“ภิกษุทั้งหลาย เธอกับเราพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ จงไปอย่าซ้อนทางกัน.. โลกนี้เขาเร่าร้อนนัก !”

ตอนนั้นไม่มีวินัยเลย ยังไม่มี.. สมัยนั้นยังไม่มีวินัยเลย แล้วพอไม่มีวินัยใช่ไหม พอพระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยขึ้นมา บัญญัติวินัยเพราะพระจุนทะเห็นเวลาคนศาสนาอื่น เวลาศาสดาเขาตายแล้วนี่มันแตกกระสานซ่านเซ็น ก็มาปรารภกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่านี่เห็นสิ่งนั้นๆๆ มา มันไม่ดีเลย มีเหตุการณ์จะป้องกันอย่างไร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก จะป้องกันได้ด้วย “ธรรมวินัย” ด้วยการบัญญัติวินัยคือข้อบังคับ ถ้าอยู่ในข้อบังคับนั้น ข้อบังคับคือกฎหมาย ถ้ามีกฎหมายนี่ทุกอย่างต้องเข้าระบบของกฎหมาย ถ้าคนทำผิดจากกฎหมายก็คือผิด

ฉะนั้นพระจุนทะบอกให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกบัญญัติไม่ได้ บัญญัติไม่ได้เพราะอะไร เพราะบัญญัติกฎหมายขึ้นมาโดยที่ไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่มีสิ่งใดนี่บัญญัติไม่ได้ รอจนกว่ามีพระทำผิด พอมีพระทำผิด วินัยทุกข้อที่เราถือกันอยู่นี้มีพระต้นบัญญัติ ต้นบัญญัติคือคนนั้นทำขึ้นมาก่อน พอทำขึ้นมาเสร็จแล้วเขาไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าบัญญัติวินัย ถ้าทำอย่างนี้ถือว่าผิด แต่ผู้ที่ต้นบัญญัติไม่ผิดแต่มีกรรม

ต้นบัญญัติคือทำครั้งแรกที่ยังไม่มีกฎหมายนี่ไม่ผิด แต่พอมีปั๊บ มีเหตุการณ์ขึ้นมาปั๊บพระพุทธเจ้าก็บัญญัติๆ ไว้ ทีนี้พอมีบัญญัติปั๊บ คนทำผิดซ้ำเขาเรียกอนุบัญญัติ เห็นไหม อย่างเช่นว่า อย่างนี้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าทำอย่างนี้ทำอีกเป็นอาบัติปาจิตตีย์.. มีบัญญัติ มีอนุบัญญัติ คือบัญญัติซ้ำ บัญญัติให้ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป บัญญัติมาเรื่อยๆ

ฉะนั้นพอบัญญัติขึ้นมา เห็นไหม นี่คือวินัย แต่เวลาธรรมนี่ละเอียดมากกว่านั้น เพราะธรรมไม่มีอาบัติไง คำว่าธรรมไม่มีอาบัติคืออะไร คือความคิดไง.. ความคิดเวลาปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติจิตเราสงบแล้วเราใช้ปัญญา เห็นไหม โทษนะ ความคิดนี่ทุกคนปิดกั้นไม่ได้ใช่ไหม นี่เราคิดเรื่องอะไรร้อยแปดเลย เราคิดอะไรแบบที่ว่า ถ้าเป็นการปฏิบัติโดยกิริยาโดยพระนี่ผิดหมด แต่เวลาความคิดนี่มันคิดเหมือนเราฝันเลย เราฝันในเรื่องที่ลึกลับมหัศจรรย์ต่างๆ นี่เป็นอาบัติไหม.. ไม่เป็น นี้คือธรรม

ฉะนั้นบอกว่าในพระไตรปิฎกบัญญัติว่าสมอ มะขามป้อม ใบส้มลม น้ำอ้อยคั้น น้ำรากบัว นี้ให้พระฉันได้.. แล้วสาหร่ายโนริ เนยกวนนี่มันไม่มี แล้วลูกพรุน เมล็ดทานตะวันอย่างนี้มันไม่มี ไม่มีแล้วพระฉันได้อย่างไร

ทีนี้คำว่าพระฉันได้หรือฉันไม่ได้นี่มันอยู่ที่มหาปเทส ๔ ! มหาปเทส ๔ นะ สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ บัญญัติแล้วนะ แล้วสิ่งใดที่ไม่ได้บัญญัติ แต่ถือให้เข้ากับบัญญัติได้ สิ่งนั้นถือให้เป็นบัญญัติ.. สิ่งใดที่ไม่ได้บัญญัติ แล้วมันเข้ากับบัญญัติไม่ได้ ถือไม่ให้บัญญัติ

อย่างที่ว่าพวกเมล็ดทานตะวัน พวกต่างๆ นี่เขาบอกว่า.. อันนี้พูดเข้าไปมันก็เหมือนกับ แหม.. ก็หลวงพ่อก็ฉันอยู่ หลวงพ่อก็ต้องบอกว่าถูกสิ ก็หลวงพ่อก็ฉันเมล็ดทานตะวันเหมือนกันใช่ไหม ถ้าเราบอกว่าเมล็ดทานตะวันฉันไม่ได้หลวงพ่อก็ต้องผิดน่ะสิ.. ทีนี้หลวงพ่อเวลาพูดนี่ เราจะบอกก่อนว่าเราพูดไปนี่เขาจะหาว่าเข้าข้างกันไง

เมล็ดทานตะวัน หรือว่าไอ้ลูกหยีนี่นะเราว่าไม่ได้ ลูกท้อ สมอจีน เห็นไหม สมอก็คือสมอ เพราะคำว่าสมอนี่มันอยู่ ๗ ประเภท สมอไทย สมอจีน สมอพิเภก สมอนี่มีอยู่ ๗ สมอ.. แม้แต่สมอนี่เรายังไม่รู้จักสมอเลย แล้วบอกสมอฉันได้หรือฉันไม่ได้ แล้วสมอนี่สมอดอง เห็นไหม มันก็เหมือนมะขามป้อมดิบ มะขามป้อมดอง ทีนี้มะขามป้อมกวนล่ะ มะขามป้อมเชื่อมล่ะ อ้าว.. ฉันได้ไหม เดี๋ยวนี้มีมะขามป้อมเชื่อมแล้ว มะขามป้อมใส่สี อ้าว.. กินได้ไหม

มันอยู่ที่เจตนา นี่เวลามีปัญหาอย่างนี้นะเขาไปถามหลวงตา หลวงตาท่านฉลาดมาก หลวงตาบอกว่าถ้าฉันได้หรือไม่ได้ หลวงตาบอกว่าฉันไม่ได้ ถ้าฉันนี่บอกว่าฉันไม่ได้นะ ฉันไม่ได้เพราะอะไร ฉันไม่ได้เพราะว่าไปบำรุงปอบ คือว่าปอบคือกิเลส ท่านบอกฉันไม่ได้เพราะมันบำรุงกิเลส อะไรที่มันฉันแล้วหรือทำแล้วโดยที่เราไม่สบายใจ เราคิดว่านะ.. เพราะลังเลสงสัยนี้เป็นอาบัติ ถ้าเราถือว่าสิ่งนี้มันเป็นการลังเลและไม่ควร เราไม่ควรฉันแล้ว

นี่ไงมันจะบำรุงปอบไง แต่ถ้าปอบเรามันตัวใหญ่ใช่ไหม นู้นก็ฉันได้ นี่ก็ฉันได้ ฉันไปบำรุงปอบ บำรุงความอยากไง บำรุงความอยาก.. ทีนี้ว่าวินัยมันผิดไหม ! วินัยมันผิดไหม วินัยผิดปั๊บคือนักกฎหมาย เพราะวินัยเป็นกฎหมาย กฎหมายต้องบัญญัติตามกฎหมายเลย ผิดคือผิด ถูกคือถูก

ผิดก็ต้องผิด ! ฉะนั้นเวลามันผิดก็ต้องผิดแล้ว สิ่งอย่างอื่น เห็นไหม เพราะในวินัยนี่นะคือผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์เราไง เราถึงบอกว่า ถ้าใครอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เรามีวุฒิภาวะ ครูบาอาจารย์เราเป็นพระที่ดีนี่นะ ไม่บำรุงปอบนี่นะ ท่านจะมีความชำนาญ เพราะเป็นครูบาอาจารย์เราขอนิสัยใช่ไหม เพราะท่านจะมีประสบการณ์มากกว่าเรา แล้วท่านจะมีครูบาอาจารย์ผ่านเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

อย่างเช่นเขาบอก อย่างเช่นว่าเนยกวนนี่เนยกวนฉันได้เหรอ.. เขาเขียนมาว่าเนยกวนฉันได้เหรอ เนยกวนนี่มันไปเข้ากับน้ำผึ้ง น้ำอ้อย.. น้ำผึ้ง น้ำอ้อยอยู่ในนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แต่เดิมพระพุทธเจ้าบัญญัติน้ำอ้อยนี่ไม่มีอายุนะ น้ำอ้อยคือน้ำตาลนี่ฉันได้ตลอดชีวิตเลย แต่เดิมน้ำอ้อยนี่ฉันได้ตลอดชีวิต ทีนี้มีพระองค์หนึ่งไปแบบว่าชาวบ้านเขาเจ็บไข้ได้ป่วย โทษนะ ผีเข้านี่แหละ พอผีเข้าแล้วนะใครก็เอาไม่อยู่ พอพระองค์นี้ไปก็ไปช่วยไง ไปช่วยแล้วเขาก็ศรัทธามาก พอศรัทธามากเขาก็ตามมาที่วัดนะ

แล้วสมัยโบราณใช่ไหม น้ำผึ้ง น้ำอ้อยสมัยโบราณนี่เป็นอาหารที่เลิศที่สุดนะ โดยธรรมชาติ เทคโนโลยีไม่มี การถนอมอาหารยังไม่มี การทำอาหารที่ว่าเป็นประโยชน์ขึ้นมายังไม่มี แต่ไอ้พวกเนยสมัยโบราณเขาทำกันได้แล้วไง เขาก็เอาน้ำตาลมาถวาย แล้วทีนี้เขาถวายเยอะใช่ไหมก็แขวนไว้ๆ แล้วมดมันขึ้น พระพุทธเจ้าเดินผ่านไป ผ่านกุฏินั้นไป

“นี่กุฏิใคร ! นี่กุฏิใคร.. แล้วทำไมเอามาแขวนไว้ขนาดนี้”

มดมันมาขึ้น นี่เห็นไหมมันเหมือนกับบำรุงปอบ เลยบัญญัติว่าน้ำอ้อยได้ ๗ วัน คือรับไว้ให้ฉันภายใน ๗ วัน จะเก็บแขวนไว้อย่างนี้ไม่ได้มันเยอะเกินไป นี่ในวินัยนะ.. พูดถึงเราศึกษาวินัยก็ศึกษาวินัยนะ วินัยนี่มันอยู่ในธรรมก็มี ในธรรมหมายถึงว่าสมควรหรือไม่สมควรไง อย่างเช่นอย่างที่ไปแขวนไว้นั่นมันจะมีอะไรนะ มีมด มีพวกสัตว์เข้ามากิน ฉะนั้นพระถึงเก็บอาหารไว้ที่กุฏิไม่ได้ มันเป็นอะไรนะ..

หลวงตาพูดบ่อย บาลีเราไม่ค่อยได้ แต่ห้ามเก็บอาหารไว้ที่กุฏิ ห้ามทำอาหารที่กุฏิ ไม่ได้หมด ! ต้องไปทำเป็นที่ส่วนกลาง เหมือนโรงครัว โรงของกลางนี่แล้วเอาไปเก็บไว้ที่นั่น ห้ามเก็บไว้ที่กุฏิ.. แล้วทีนี้ไอ้พวกน้ำผึ้ง น้ำอ้อยก็เหมือนกัน แต่เดิมไม่มีอายุ แต่เพราะพระได้มาแล้วบริหารไม่เป็น พระพุทธเจ้ามาตรวจเจอ พระพุทธเจ้าเลยบัญญัติไว้ให้เหลือ ๗ วัน

แล้วทีนี้น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส.. เนยข้น เนยใสมันมี เนยข้น เนยใสนี่ก็เก็บได้ ๗ วัน ทีนี้เนยข้น เนยใส นี่น้ำมัน.. เพราะสมัยโบราณนะเขาใช้น้ำมัน เดี๋ยวนี้เขาใช้น้ำหอมขวดละเป็นล้านๆ แต่สมัยก่อนเขากวนน้ำมันกันเองไง แล้วพระจะใช้น้ำมัน มันมีโรงไฟมีอะไรต่างๆ ความอยู่เป็นปกติที่เราใช้เทคโนโลยีกันอยู่นี้ สมัยโบราณมันไม่มี สมัยโบราณมันไม่มีนี่บัญญัติในสมัยนั้น สมัยนั้นจะมีโรงไฟ จะมีน้ำมัน เพราะดูสิความเป็นอยู่ของคนอินเดียสมัยนี้มันก็ยังใช้อย่างนั้น

ฉะนั้นคำว่าเนยกวนได้ไหม อะไรได้ไหม.. นี่เพราะโยมไปดูเฉพาะตัวอักษรไง ตัวอักษรมันเขียนไว้อย่างนี้ไง แต่เนยใส เนยข้นมันมีอยู่ในนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ มันอยู่ในนิสสัคคีย์คือความเก็บวัตถุไง วัตถุที่เก็บได้กี่วัน เก็บได้อย่างไร.. วัตถุนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ผู้เก็บผู้ทำนั้นเป็นปาจิตตีย์

ฉะนั้นสิ่งนี้มันมีอยู่ แต่นี้คนถาม เวลาคนถามนี่อู้ฮู.. พระเขาทำนั้นก็ผิด พระเขาทำนี่ก็ผิด แต่คนถามมันก็ไม่รู้ว่าในตำรามีว่าอะไร.. ทีนี้ประเพณี เห็นไหม อย่างเช่นน้ำข้าวโพด น้ำเต้าหู้อะไรนี่ ไอ้อย่างนี้เพราะในตำราว่าอย่างนี้

“สิ่งใดเลี้ยงทารกได้ สิ่งนั้นเป็นอาหาร”

คำว่าอาหารนะอาหารแรมคืนไง อาหารที่ฉันใช่ไหม แต่ถ้าเป็นปรมัตถ์ ยาปรมัตถ์.. ยาปรมัตถ์นี่มันฉันได้ภายใน ๗ วัน อย่างเช่นยา ยานี่นะยาธาตุ ยาธาตุมีส่วนผสมของน้ำตาลไหม ยาธาตุมีส่วนผสมของน้ำตาล มีส่วนผสมของแป้ง แป้งเป็นอาหารไหม กินยาตลอดชีวิตนี่ อย่างพาราฯ นี่เก็บได้ตลอดชีวิต พาราฯ นี่ผสมด้วยแป้งหรือเปล่า.. ผสม แล้วถ้าผสมนี่เขาถือว่าเป็นอาหารไหม ถ้าเป็นอาหารก็กินพาราฯ แทนข้าว มันก็ไม่ได้ เห็นไหม นี่ถ้ามันเถรตรงเกินไป การตัดสินวินัยโดยเถรตรง ไม่ได้

คำว่ายา ! คำว่ายานะ อย่างเช่นยาลูกกลอนนี่ ถ้าพระเราทำยาผสมด้วยน้ำผึ้ง พระเป็นคนทำ พระเป็นคนประกอบขึ้นมา คนประกอบขึ้นมา เวลาเราเอามาแต่ละส่วนแล้วเราเอาประกอบกันเป็นยาขึ้นมา ให้นับสิ่งที่อายุสั้นที่สุดก็คือน้ำผึ้ง ๗ วัน แต่ถ้าสมมุติโยมซื้อยาลูกกลอนมาถวายเรา เราถือว่าอย่างนี้ตลอดชีวิตเพราะถือว่ายา เราตีว่ายานะ แต่ถ้าภิกษุประกอบขึ้นมาเอง เพราะเราเป็นคนทำ มันเป็นส่วนผสมที่เขาเอามา เห็นไหม อย่างเช่นอาหารนี่ อาหารตอนเช้าขึ้นมา

นี่เขาบอกนะอย่างเช่นหลวงปู่มั่นท่านบิณฑบาตมามีน้ำผึ้ง น้ำผึ้งนี่นะเขาใส่ถุงมา หลวงปู่มั่นบอกว่าอาหารตอนเช้านี่เป็นอาหารได้แค่ชั่วกาล.. ชั่วยาม ยาวชีวิก.. สัตตาหกาลิก ยาวชีวิกคือตลอดชีวิตไง แต่ไอ้สิ่งที่บรรจุมามันอยู่ในถุงนี่ มันไม่ระคน.. มันไม่ระคนอย่างเช่นน้ำตาลนี่ฉันได้ ๗ วัน หลวงปู่เปลื้องท่านอยู่ด้วยไง ท่านก็บอกว่า อู้ฮู.. มหาครูบาอาจารย์นี่นะ ก็นึกว่ามหาครูบาอาจารย์ที่ฉลาด ทำไมครูบาอาจารย์มันไม่ฉลาดล่ะ เพราะว่าสิ่งนี้บิณฑบาตมาแล้วก็ถือว่าเป็นอาหาร

เถรตรงไง บิณฑบาตมาแล้วตอนเช้านี่เป็นอาหารใช่ไหม แล้วมาแยกไปฉันเป็นสัตตาหกาลิกได้อย่างไร หลวงปู่มั่นท่านก็ภาวนาของท่าน ท่านเห็นของท่านนะ เช้าขึ้นมานี่วัดแตกเลย “ใครมันมีปัญญาวะ ! ไอ้ผู้เฒ่ามันโง่นัก ไอ้พวกนี้มันไม่มีปัญญา หาว่าผู้เฒ่าไม่ฉลาดไง ใครเป็นคนคิดอย่างนั้น ! ใครเป็นคนคิดอย่างนั้น !”

สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมรับสารภาพ ท่านก็เทศน์ไงว่าสิ่งที่เราได้มา ตอนเช้าบิณฑบาตมานี่ใช่! มันเป็นช่วงยามของอาหาร แต่มันไม่ระคน มันคนละสัดส่วนกัน เจตนาเราให้ ๗ วันก็ได้ ถ้าเจตนาของเรา เพราะกาลิกมันไม่ระคน.. แต่ถ้ากาลิกระคนก็เหมือนกับที่เราผสมยาเอง ถ้ากาลิก ระคน.. กาลิกระคนกันต้องนับสิ่งที่อายุสั้น นี่พูดถึงกาลิกแล้วนะ !

แต่คำถามนี้ จะตอบ.. เขาเรียกธรรมและวินัย ถ้าจะตอบเรื่องวินัยมันก็ต้องชัดเจนตามกฎหมาย ทีนี้คำว่าวินัยนี่นะ เดี๋ยวนี้นะเราจะคุยกับพระบ่อย บอกแต่เดิมพวกเราตัดสินวินัยได้ง่าย เพราะจะรู้ได้ว่าของสิ่งนั้นมันเป็นเช่นใด เพราะมันเป็นของเนื้อๆ แต่ในปัจจุบันนี้การถนอมอาหาร แล้วการทำอาหารนี่นะ ดูสิเดี๋ยวนี้อาหารนะเขาผสมกัน เห็นไหม อย่างเช่นเวลาโยมซื้อน้ำผลไม้มา ถ้าเป็นน้ำส้มน้ำอะไรเราก็ฉัน แต่เดี๋ยวนี้มันมีน้ำผลไม้รวม มันมีแครอท มันมีอะไรนี่ แล้วจะฉันได้หรือไม่ได้ล่ะ แต่ความจริงแล้วนะมันก็เหมือนน้ำผลไม้นั่นแหละ น้ำผลไม้เพราะมันพาสเจอไรซ์มาแล้ว

คือว่าสิ่งที่เป็นน้ำปานะนี่ต้องฉันชั่วยามเพราะว่ามันจะเป็นเมรัย สมัยก่อนเทคโนโลยีมันยังไม่มีใช่ไหม น้ำผลไม้คั้นเก็บไว้ชั่ววันหนึ่งนี่มันจะหมักแล้วเป็นเมรัย ภิกษุฉันเมรัย ฉันสุราเมระยะ มัชชะ ปะมาทัฏฐานา.. เข้าบาลีเราเสร็จทุกที (หัวเราะ)

นี่มันเข้าสุรา เข้าเมรัย แต่พูดถึงพาสเจอไรซ์แล้วมันเป็นเมรัยไหม แต่เราก็ยังถือแบบเถรตรงนิดหน่อยว่าสิ่งนี้เป็นน้ำผลไม้คั้น เราน้ำผลไม้รวมเราก็แยกไว้ แต่ถ้าเป็นน้ำส้ม น้ำส้มที่ไม่มีเนื้อนี่เราก็แยกกันไป เห็นไหม

เราบอกว่าการตัดสินวินัยนี่ เพราะเทคโนโลยีมันเจริญขึ้นมา วิทยาศาสตร์มันเจริญขึ้นมา ทีนี้สิ่งใดมาเราก็ต้องตั้งใจของเราไว้ว่าอย่าบำรุงปอบ อย่าเข้าข้างตัวเอง อะไรสมควรและไม่สมควร.. ถ้าสมควร แม้แต่กฎหมายข้อเดียว นักกฎหมายก็ยังตีความกฎหมายกันจนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วสิ่งนี้มันก็เป็นธรรมและวินัย แล้วอยู่ที่มุมมอง อยู่ที่ความเห็นของตัวว่าอันนี้มันถูกหรือมันผิด

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าสิ่งใดใช้เป็นอาหารเลี้ยงทารกได้ สิ่งนั้นคืออาหาร.. สิ่งใดใช้เลี้ยงทารกไม่ได้ เลี้ยงทารกไม่ได้ เห็นไหม แล้วมันต้องเข้ากับธรรมวินัยนี้ด้วย ฉะนั้นเวลาตัดสินเรื่องวินัยแล้ว เรื่องวินัยนี่เราจะตัดสินกันไม่ได้.. ตัดสินได้ ! แต่ทุกคนจะเข้าข้างตัวเอง เราจะต้องไปดูในสุตตันตปิฎก ในสุตตันตปิฎกมันจะไปสรุปเอาที่ว่าการกระทำ

อย่างเช่นว่าพระถือผ้า ๓ ผืน ถือผ้า ๓ ผืนนะ ผ้าบังสุกุลหมายถึงป่าน ฝ้าย ไหม ขนสัตว์ เปลือกไม้ระคนกัน นี้ถือเป็นผ้าบังสุกุล ถ้าเกินจากนั้นไม่ถือเป็นผ้าบังสุกุล แล้วถือผ้า ๓ ผืนมันก็มีอยู่ในสุตตันตปิฎก ภิกษุไปไหนมันก็มีผ้าครองใช่ไหม แล้วก็มีผ้าอีกชุดหนึ่งเทินไว้บนหัว ไปดูในพระไตรปิฎกสิ พระพุทธเจ้าบอกว่าทำไมเขามักมากไง แต่พระพุทธเจ้าอนุญาตไหม อนุญาตให้ถือผ้าเกิน ๓ ผืนไหม.. อนุญาต แต่อนุญาตให้อธิษฐานว่า “บริขารโจล”

นี่บริขารโจล ! โจรคือโจรไง โจละโจลัง.. อุตตะราสังคัง อะธิฏฐามิ อันตะระวาสะกัง อะธิฏฐามิ.. ปะริกขาระโจลานิ อะธิฏฐามิ ภิกษุไม่ได้พินทุ อธิษฐาน ห่มเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุสะสมผ้าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ผ้าที่ได้มาตั้งแต่ ๔ นิ้วถึง ๘ นิ้วขึ้นไปต้องทำวิกัปเป็นของเจ้าของ เพื่อไม่ให้มันเกิดจินตนาการไง ถ้าเราได้ผ้ามานะ เราจะตัดถุงบาตร เราจะตัดถุงซบ มันคิดทั้งวันเลย ! แต่พอมันคิดกลับไป ไม่ใช่ของมึงนะ คนอื่นมีส่วนร่วมด้วย จะทำอะไรต้องขอเขา

ฉะนั้นภิกษุจะเก็บผ้าไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน แต่ถ้าเขามาถวายเป็นกองกลางสงฆ์ สงฆ์เก็บไว้เป็นส่วนกลางไม่นับเวลา เหมือนอาหารที่มาถวายนี่ ถ้าถวายปั๊บถึงเพลหมดอายุ แต่ถ้ามาวางปั๊บ หรือเอาเก็บไว้ในคลังปั๊บยังไม่ได้ถวาย มันยังไม่เข้าสู่การบริหาร ยังไม่นับเวลา นี่ก็เหมือนกัน เพราะการนับเวลา.. นี้พูดถึงสุตตันตปิฎกและวินัยกับธรรมนะ

โฮ้ ! เหนื่อยเลย (หัวเราะ) เพราะว่าถ้ามันตัดสินนี่มันตัดสินโดย.. มันก็เหมือนถ้าเป็นทางกฎหมายเขาจะบอกว่า ผู้ที่จบกฎหมายใหม่ก็อ่านตีความกฎหมายเป็นกฎหมายเนาะ แต่ถ้าผู้ที่มีประสบการณ์ กฎหมายนี่มันจะมีที่มาที่ไป แล้วจะชักเข้าสู่กฎหมายข้อใด แล้วจะไปขัดแย้งกับกฎหมายข้อใด ผู้ที่มีประสบการณ์กฎหมาย ผู้ชำนาญการเขาจะรู้ว่ากระบวนการจะจบสิ้นกันที่ไหน

ธรรมและวินัย เห็นไหม นี่วินัย.. แต่ธรรมะ ธรรมในสุตตันตปิฎก ที่อย่างเราพูดถึงเรื่องผ้าเรื่องอะไร นี่ไปอ่านในพระไตรปิฎกอ่านเรื่องวินัยมันก็ตัดสินอย่างนั้นๆ แต่ทำอย่างไร พอไปดูในสุตตันตปิฎกไง เพราะพระไปไหนพระพุทธเจ้าจะเทศน์ไง อันนี้ผิดอันนั้นถูก อันนี้ผิดอันนั้นถูก เราก็ชักที่สุตตันตปิฎกมาเข้ากับวินัยปิฎก เทียบเคียงกัน

นี่เวลาเรารื้อค้นของเรานะ เราดูพระไตรปิฎกมาแล้ว ทีนี้เวลาเราดูในพระไตรปิฎก วินัยว่าอย่างนั้น บางทียังงงอยู่ พอมาอ่านสุตตันตปิฎกปั๊บ พอไปเจอข้อไหนที่มันเข้ากันได้ มันเข้ากันได้มันจะชี้แจงเลยว่าอย่างนี้ควร อย่างนี้ไม่ควร อย่างนี้ทำได้ อย่างนี้ทำไม่ได้ แต่มันอยู่ในสุตตันตปิฎก

ฉะนั้นอย่างที่ว่า สิ่งที่ว่ามะขามป้อม สมอนี่ชัดเจน ! แต่พอมาเป็นลูกพรุน เมล็ดทานตะวัน ลูกหยีกวน ลูกท้อจีนดอง สมอจีนดอง อันนี้มันเป็นยาหรือเปล่าล่ะ แล้วสิ่งใดพิสูจน์กันนะคำว่าเป็นยาหรือไม่เป็นยา แล้วอยู่ที่ครูบาอาจารย์ท่านจะวินิจฉัย.. ฉะนั้นหนูก็เลยงงเลยค่ะ คนที่ถวายจะบาปหรือเปล่าคะ

เราก็ถวาย พระก็ต้องรู้ธรรมวินัยด้วย อย่างเช่นของถวาย บางที่นะเขาห้ามถวายของกลางคืนเขาว่าเป็นบาปนะ ต้องถวายกลางวัน เห็นไหม มันเป็นความเชื่อ.. ฉะนั้นโยมจะถวายนี่พระก็ต้องบอก หรืออย่างเช่นที่มานี่ ถ้าลูกศิษย์กรรมฐานมา ส่วนใหญ่แล้วเขาจะวางบนโต๊ะเลย ที่มาหาเรานี่นะ ถือว่าถวายด้วยน้ำใจแล้ว แล้วพระจะบริหารเอง ถ้าอยากใช้ก็ให้มาประเคนทีหลัง

แต่ถ้าเป็นเถรตรงมานี่ไม่ได้ ไม่ได้ถวายพระเขายังไม่ได้ทำบุญ จะยัดใส่พระให้ได้ พอยัดใส่พระปั๊บมันก็ไม่ได้กินเลยล่ะเพราะมายัดใส่ตอนบ่าย อาหารมาประเคนตอนบ่ายก็ถือเอาไว้แจกญาติโยมก็แล้วกัน ด้วยความทิฐิ ด้วยความอยากได้บุญของเขา แต่เขาไม่รู้หรอกว่าเขาทำให้ของๆ เขานั้นเสียหาย แต่ถ้าเขาศึกษา เขามาวางไว้โดยที่ว่าเหมือนกับไม่ได้ถวาย เขาจะได้ประโยชน์เต็มร้อยเลย เพราะพระจะบริหารให้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ขึ้นมา แต่ถ้าเขาบอกว่าต้องถวายเลย แล้วให้พระเลยเดี๋ยวมันจะได้บุญมาก ไม่ถวายไม่ได้ ยัดใส่พระเลย พอพระไม่รับก็ อู้ฮู.. โกรธมาก พระอะไรบวชมาแล้วของแค่นี้ก็ติด ของแค่นี้ก็ยังอยากได้

โอ๋ย.. เวรกรรม นี่วุฒิภาวะของคน เห็นไหม ถ้าไม่ศึกษานะมันเป็นอย่างนี้ นี่เราถึงบอกว่าจะเป็นบาปหรือเป็นบุญ.. อันนี้เป็นบาปหรือเป็นบุญเราศึกษาก่อนสิ เห็นพระทำแล้วเรามาพิจารณาดูว่าถูกหรือผิด อย่าเพิ่งคิดว่าสิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนั้นผิด ให้เราไปรื้อค้นค้นหาว่าที่พระนั้นทำนั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงทำอย่างนี้ ใครเป็นคนสอนมา เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์เราถึงบอกว่าหลวงปู่มั่นสอนมา

เรามีครูมีอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านรื้อค้นท่านศึกษา แล้วท่านสั่งสอนมา แล้วเราถือธรรมวินัยของท่าน เราถือนิสัย เราได้ฝึกได้ฝนมาจากครูจากอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านบอกแล้วเราก็มารื้อค้นในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างไร เรารื้อค้นในพระไตรปิฎกเราก็ว่าเราถูกๆ นี่เรามองเถรตรงเกินไป เรามองเฉพาะส่วน แต่ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาทั้งชีวิต ท่านได้ศึกษาธรรมและวินัยมา แล้วท่านได้ปฏิบัติมา แล้วท่านมีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะมา มันตรวจสอบกัน มันตรวจสอบกัน ทำกัน จนกว่าที่ท่านทำ

ฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสัมมาทิฏฐิที่ถูกต้องนะ แต่ที่ผิด ที่ทำผิดที่ทำแล้วไม่เอาไหน คือทำเห็นแก่ปากแก่ท้อง คือเพื่อบำรุงปอบ อันนั้นเราไม่พูดถึงนะ ไอ้พวกที่บำรุงปอบ บำรุงปอบนี่เรื่องของเขา

ข้อ ๒ นี่ยุ่งเลยล่ะ..

ถาม : ๒. มีพระชื่อดังรูปหนึ่งมักจะแสดงธรรมเทศนาเกี่ยวกับพุทธพจน์และการสวดปาติโมกข์ ว่าตามพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลของพระไว้ ๑๕๐ ข้อ ไม่ใช่ ๒๒๗ และกำหนดให้พระสวดปาติโมกข์เพียง ๑๕๐ ข้อ จึงอยากขอให้ท่านอาจารย์โปรดกรุณาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ จะเกิดประโยชน์แก่มหาชนชาวพุทธเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ยินแล้วทำให้สับสนและเกิดความไม่แน่ใจ

หลวงพ่อ : เฮ้อ ! อันนี้เราไม่พูดมากนะ เราจะบอกว่าทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้ามันทำกันนี่เขาเรียกว่าอะไรนะ ทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าถือวินัยต่างกันมันเป็นนานาสังวาส” ถ้าถือวินัยต่างกัน.. ฉะนั้นคำว่าถือวินัยต่างกัน ถือมากถือน้อย

อย่างเช่นธรรมยุติ-มหานิกายที่ว่ากันอยู่นี่.. ธรรมยุติ-มหานิกาย สิ่งที่ว่านี่มันเกิดมาจากไหน ถือวินัยต่างกันไหม เราว่าไม่ถือต่างนะ เพราะมหานิกายก็ถือธรรมวินัยนี้มาตลอด ถือวินัยในพระไตรปิฎก ๒๒๗ ข้อนี่มาเหมือนกัน แต่ ! แต่ก็ถือมาแล้วเขาก็เว้นหรือทำตามอนุโลมกันไป แต่พระจอมเกล้าฯ ท่านก็ถือ ๒๒๗ ข้อนี้เหมือนกัน แต่ท่านทำให้มันชัดเจนมั่นคงขึ้น

ชัดเจน ! เท่านั้นเองไม่ได้ถือต่าง ที่ถือ ถือกันมานี้แล้วปล่อย ปล่อยคือว่าปล่อยวาง คือปล่อยตามความพอใจของตัว แล้วพระจอมเกล้าฯ ท่านมารื้อค้น ท่านพยายามทำให้ดีขึ้นมา ฉะนั้นพอทำให้ดีขึ้นมาแล้วมันก็มีมหานิกายที่ถือ ๒๒๗ เปี๊ยะเลย อย่างเช่นสายหลวงปู่ชา เห็นไหม นี่ถ้ามันถือเข้ามาเหมือนกันก็คือจบ

แล้วหลวงปู่มั่นบอกว่าธรรมยุติ-มหานิกายมันไม่มีหรอก ไก่มันยังมีชื่อ ธรรมยุติ-มหานิกายนี่เขาสมมุติขึ้นมา ถ้าถือศีล ๒๒๗ ก็ถือ ๒๒๗ เหมือนกัน เพียงแต่ว่าพอถือแล้วปล่อย คือแบบว่าหละหลวมมา แล้วพระจอมเกล้าฯ นี่มาถือให้มันชัดเจนขึ้นมา เท่านั้นเอง ! ไม่ได้ถือแตกต่างนะ ถืออันเก่านั่นแหละ แต่ทำให้มันชัดเจนกับปล่อยให้มันหละหลวมก็เท่านั้นเอง

ฉะนั้นพอมา ๑๕๐ อันนี้เราจะบอกว่ามันเป็นหน้าที่ของพระสังฆาธิการ มันเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง เราไม่มีหน้าที่ เรามีหน้าที่ปกครองวัดเรา เรามีหน้าที่ดูแลในวัดนี้ ฉะนั้นอันนี้ถ้าเขาทำนี่มันอยู่ที่ฝ่ายปกครองที่อนุญาตให้ทำหรือไม่อนุญาตให้ทำ เหมือน ! เหมือนกับเรา เราทำความผิดนี่ตำรวจจะจับหรือไม่จับ พวกเราทำความผิดกันนี่ตำรวจจะจับหรือไม่จับ เป็นหน้าที่ตำรวจใช่ไหม อย่างเราทำความผิดนี่โยมจะมาจับเรา พระทำผิดๆ มาจับ ไม่ใช่ไม่มีสิทธิเอาตำรวจมาจับ

อันนี้ก็เหมือนกัน ศีล ๒๒๗ กับศีล ๑๕๐ นี่มันเป็นหน้าที่ของพระสังฆาธิการจะพิจารณา จะจัดการ เราไม่มีหน้าที่นะ.. อันนี้จะหาทางออก เพราะถ้าพูดไปแล้วมันอย่างที่ว่านี่ หาว่าพูดข้างเดียวไง คือว่าเราไม่ได้พูดกับเขา ถ้าพูดกับเขาตัวต่อตัวมันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อันนี้เราพูดข้างเดียว เราก็โอ้โฮ.. พูดเก่ง ถ้าพูดลับหลังนี่เก่งมากเลย ถ้าเจอหน้ากันพูดตรงๆ มันจะไม่เก่ง

ถาม : ๓. เห็นเพื่อนไปปฏิบัติธรรมที่วัดและมักกล่าวหลีกเลี่ยงศีลบ่อยๆ เวลาทำผิดศีล เช่นในขณะที่ถือครองศีล ๘ อยู่ เวลานั่งในไปรถที่มีที่นั่งที่จำกัด จำต้องนั่งใกล้กับเพศตรงข้าม จะกล่าวอ้างว่าศีลอยู่ที่ใจไม่ใช่อยู่ที่กาย หรือเวลากินและขบเคี้ยวที่ไม่ถูกต้องในเวลาวิกาล ก็แก้ตัวว่าลืมอ่านส่วนประกอบ (แน่ะ ! นี่ส่วนประกอบโยมยังรู้เลย) หรือกล่าวแก้ว่าหลับหูหลับตากินไป เพราะกำลังป่วยเป็นโรคกระเพาะ เช่นนี้เข้าข่ายถือศีลแบบลูบๆ คลำๆ หรือสีลัพพตปรามาสหรือไม่ และหากปฏิบัติจนถึงอริยะขั้นต้นแล้วจริง จะล่วงละเมิดศีลแบบเอาง่ายเข้าว่าเช่นนี้ได้หรือไม่ กราบขอคำอธิบายจากท่านเพื่อความรู้ค่ะ

หลวงพ่อ : ไม่หรอก ถ้าอธิบายไปเดี๋ยวเพื่อนทะเลาะกัน เพื่อนที่เห็นด้วยกับเพื่อนที่ไม่เห็นด้วยทะเลาะกันแน่นอน มันก็แน่นอนอยู่แล้วลูบคลำศีลนี่ ถ้าไม่ลูบคลำศีลนะ เวลาครูบาอาจารย์เราอยู่ในป่า เห็นไหม เมื่อก่อนไปไหนด้วยเท้า รถมีไม่มีไม่เกี่ยว เก็บของแล้วไป ไอ้นี่ไปนั่งบนรถเราก็อาศัยความสะดวกสบายอยู่แล้ว.. ถ้าเราถือศีล ถือศีลดั่งชีวิตนี่มันไม่ทำความผิดอย่างนี้หรอก ความผิดอย่างนี้มันเป็นความผิดที่ว่าเราหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเรารักศีลของเราจริง ถ้าเรามีสีลัพพตปรามาสนะสบายมาก

ดูอย่างเราสิ อย่างครูบาอาจารย์ของเราบางองค์ เห็นไหม จะไปไหนนี่.. พวกเราไม่มีตังค์นะบางทีนี่ ไม่ถือตังค์ใช่ไหม พอไปจะขึ้นรถนี่เราไม่มีตังค์ บางทีมีพระบางองค์มานะ มีเงินอยู่ สมมุตินะมีอยู่ ๕ บาท เป็นใบตั๋วไปรษณีย์มา เราขึ้นรถแล้วเขาบอกให้แค่นี้ ๕ บาท มีอยู่เท่านี้เอง กรณีนี้เป็นหลวงตาเองด้วย ที่หลวงตาบอกท่านไปไหนไม่รู้ แล้วท่านมีเงินอยู่เท่านี้ ท่านขึ้นรถแล้วบอกเลยนะ นี่มีเงินอยู่เท่านี้ ท่านจะขึ้นรถไปนครพนมหรือว่าขึ้นรถไปที่ตาก ท่านบอกว่าท่านมีเงินอยู่เท่านี้ แล้วแต่โชเฟอร์จะเมตตา จะให้ถึงไหนก็ถึง จะให้ลงที่ไหนก็ลง ก็มีเท่านี้ ถ้าจะให้ลงก็ลงนะ โชเฟอร์บอกถ้ามีเท่านี้ให้หมดแล้วนะผมก็ถึงไหนถึงกัน ผมก็ส่งถึงที่เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาถ้าเราไม่มีก็คือไม่มี ถ้าไม่มีก็บอกเขาว่าไม่มี จะให้ลงที่ไหนก็ลง ถ้ามันให้ลงก็เดินเอา คือเราไม่ลูบๆ คลำๆ คือว่าไม่หลับหูหลับตาทำไปไง เพราะหลับหูหลับตาทำไปนี่ เราบอกเลยความผิดอันนั้นมันไม่เท่าไรนะ มันอยู่ที่เจตนาเราว่าเราเจตนาหรือเปล่า

เมื่อวานไปสวนแสงธรรม มีโยมอยู่คู่หนึ่งเขาเอาเงินมาจะถวาย เขาบอกว่ามันเป็นเงินกฐิน เขาไปทอดกฐินแล้วนี่มันตกค้าง เขาเจอเราเขาถวายเรา เราบอกว่าเดี๋ยวๆ โยมเรารับไม่ได้นะ เรารับไม่ได้ แต่ถ้าโยมบอกมันเป็นเงินที่จะทำบุญแล้วถวายคนอื่น แล้วมันตกค้างจะมาถวายเรานี่เรารับได้ แต่นี้พอโยมบอกเป็นกฐินนี่เรารับไม่ได้แล้ว เพราะมันเป็นกฐินใช่ไหม โยมบอกว่าจองกฐินวัดนั้นแล้วทอดวัดนั้น แล้วจะมาถวายเรานี่มันเจตนาไง

มันไม่ผิดหรอก แต่เจตนามันมีใช่ไหม เพราะเขาเจาะจงว่าทำกฐิน แล้วมาถวายเรานี่เราบอกเราไม่รับหรอก คือว่ามันไม่ผิดหรอกแต่เราไม่สบายใจ เราบอกว่าโยมไปนะแล้ว โยมนี่แลกตั๋วไปรษณีย์แล้วเขียนถึงวัดที่โยมทอด บอกว่านี่มันตกค้างไป.. จบ ง่ายๆ มันอยู่ที่เจตนาไง ถ้าเจตนาเรานี่รู้ว่าถูกหรือผิด ถ้าผิดเราไม่ทำแล้ว นี่ถือศีล !

ศีลของเราถ้าเราบอกอย่างนี้มันผิด เราบอกเราไม่รับ เราไม่รับ.. มันผิดศีลข้อไหน ไม่มี แต่มันรู้เจตนา เจตนานี่มันรู้ รู้ว่าเจาะจงว่าเป็นกฐินวัดนั้นๆ แล้วโอนมาให้เราอย่างนี้เราไม่รับ เราแนะนำเขาเลย เขาบอกโอ๋ย.. หลวงพ่อพูดอย่างนี้แหม.. เขาสบายใจ เขาดีใจด้วย เพราะหนูคิดว่าอะไรก็ได้ไง ขี้หมูราขี้หมาแห้งมั่วกันเละได้ไม่เป็นไร เขาคิดอย่างนั้น เราบอกว่าไม่ได้ เรารู้อยู่ ! เรารู้อยู่ เรารับไม่ได้เราให้โอนไป

ฉะนั้น นี่พูดถึง พอดีมาพูดถึงว่าสีลัพพตปรามาสไหม แล้วบอกนี่เป็นอริยะขั้นต้นอะไรนี่.. เออ ! ยกไว้เถอะ แค่นี้มันก็บอกหมดแล้วแหละ เรามันต้องมีปัญญา มองอะไรอย่าให้ใครพูดตามที่เขาจะว่ากันไป เราไม่ต้องพูดอย่างนั้น เราไม่เอากับเขาก็จบ.. แล้วถ้าเขาเป็นอริยะขั้นต้น มันก็เรื่องอริยะของเขา ไม่ใช่อริยะของเรา ไม่ต้องไปสนใจ ถ้าอริยะของเขาเป็นอย่างนี้ก็ สาธุ ! หมู หมา กา ไก่ที่วัดกูนี่อริยะยิ่งกว่านี้อีก เพราะมันไม่ถืออะไรเลย หมากูนี่นะปล่อยตามสบายมันก็เป็นอริยะ อันนี้เป็นเรื่องของมัน

ถ้ามันอริยะของหมู หมา กา ไก่ ช่างมัน ถ้ามันไม่เป็นอริยะของเรา ถ้าเป็นอริยะของเราเราต้องตรวจสอบ เราต้องพิจารณาของเรา เราอยากได้สิ่งที่เป็นจริงเป็นจัง เราอยากได้สิ่งที่ดี เราจะต้องพิสูจน์ว่าสิ่งนั้นดีจริงหรือดีไม่จริง

เราเป็นคนที่มีค่านะ หัวใจเรามีค่า แล้วเราจะทำอะไรโดยที่ให้กิเลสมันมาลูบๆ คลำๆ แล้วบอกอย่างนั้นเป็นธรรมๆ มันทำลายโอกาส ทำลายชีวิต ! ทำลายชีวิตของผู้ปฏิบัติทั้งชีวิตเลย เพียงแต่ว่าให้มันได้อริยะมาสวมหัวไว้เท่านั้นเอง แล้วกิเลสมันก็อยู่ในใจนั้น แล้วเราจะเอาอย่างนั้นไหม.. ถ้าเราไม่เอาอย่างนั้น เราอย่าเพิ่งไปเชื่ออะไรง่ายๆ เห็นไหม

กาลามสูตร ไม่ให้เชื่ออะไรเลย ! เขาจะเป็นอริยะ.. สาธุ ! ตามสบายไปเลย ใครจะอริยะขั้นไหนเรื่องของเขา หนี้ของเขา บาปของเขา กรรมของเขาเราไม่เกี่ยว ! เราจะเกี่ยวเฉพาะหนี้ของเรา กรรมของเรา ชีวิตของเรา ฉะนั้นใครจะอริยะขั้นใด ของใครช่างเขา แต่ถ้าจะเป็นความจริงของเรา เราต้องพิสูจน์ตามความเป็นจริง

ต้องพิสูจน์ตามความเป็นจริง เพราะชีวิตเรามีค่า หัวใจของเรามีค่า การเกิดการตายของเรา เกิดมาด้วยบุญกุศล มาเจอพุทธศาสนา เราจะมาทำลูบๆ คลำๆ ทำเล่นขายของอย่างนี้กันอยู่ไม่ได้ ! ใครจะมาเล่นขายของ เล่นหมากเก็บ เล่นเด็กขายของมันเรื่องของเขา เราเกิดมาเป็นคน เราเกิดมามีพุทธศาสนา เราเกิดมามีครูบาอาจารย์ เราจะทำเล่นๆ อย่างนั้น มันเรื่องของ..

เราทำอย่างนั้นไม่ได้ ! ไม่ได้ ครูบาอาจารย์เรานะเกิดมามีชีวิตเหมือนกัน ชีวิตของทุกคนมีค่าทั้งนั้น แล้วเขาปฏิบัติมาขนาดนั้น แล้วมาทำอะไรกันเล่นๆ แล้วจะมาอ้างกันเล่นๆ โฮ้ !

ถาม : ๔. ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีพระแต่งกายนุ่งห่มสีเหลือง คาดเอวด้วยผ้าแถบสองสี มีสีส้มและสีเหลือง เวลาเดินผ่านจะมีกลิ่นหอมละมุน เหมือนหนุ่มเจ้าสำอาง หรือหนุ่มวัยรุ่นทั่วไป เห็นแล้วให้ความรู้สึกว่า ศาสนากำลังเสื่อมถอยไปทุกวันๆ แล้วไม่ทราบว่าท่านเคยพบเคยเห็นพระกลุ่มนี้บ้างไหม เห็นเพื่อนบอกว่าเป็นนิกายวรรณยุกต์ อย่างนี้ใครที่ห่างไกลวัดคงหลงเข้าใจผิด และเอาอย่างจนห่างไกลจากพุทธบัญญัติไปเรื่อยๆ

หลวงพ่อ : เฮ้อ ! นี่มันก็เป็น.. นี่ที่พุทธศาสนามันจะเสื่อมๆ ที่เราชาวพุทธพูดกันว่าศาสนาไม่เสื่อม ธรรมะไม่เคยเสื่อมอะไรนี่มันก็จริงอยู่ แต่สิ่งนี้มันเป็นสิ่งห่อหุ้ม สิ่งประกอบใช่ไหม.. นี่ภิกษุ พระนี่เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย เป็นผู้ที่ชาวพุทธ เป็นนักรบ เป็นผู้ที่ใกล้ชิดศาสนา เป็นเหมือนกับมดแดงเฝ้ามะม่วง มะม่วงคือธรรมไง แล้วมดแดงเฝ้าอยู่ เห็นไหม ใกล้ชิดที่สุดแต่ก็มดแดงเฝ้ามะม่วง แต่ถ้าเข้าถึงความจริงแล้วมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเขาอยู่ห่างวัดเขาจะเข้าใจผิด นั้นก็เป็นเรื่องของเขา เพราะสิ่งนี้มันเป็น อย่างที่ว่านี้ต้องย้อนกลับไปที่ว่าอยู่ที่ฝ่ายปกครองเขาจะดูแลกัน.. เราเอง ทุกคนก็รักพุทธศาสนา ทุกคนก็รักแต่รักด้วยความเห็นของตัว ใครเห็นตรงก็ว่าตัวเองถูก ใครเห็นไม่ตรงก็ว่าสิ่งนั้นผิด นี่อยู่ที่ความเห็นของคน วุฒิภาวะของคนมันแตกต่างหลากหลาย อารมณ์ความรู้สึกของคน ความรู้สึกของคนมันมีหลายระดับชั้น

ฉะนั้นสิ่งที่เข้ามา คนเข้ามาในพุทธศาสนาเพื่อจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ต้องการปฏิบัติให้พ้นทุกข์เขาก็หมั่นเพียรตั้งใจ คนที่เข้ามาเพื่อศาสนา เพื่อผลประโยชน์ เขามาศาสนาเพราะหนีทุกข์จากโลกเข้ามา เข้ามาศาสนานี่มันมีแตกต่างหลากหลาย

นี่พูดถึงการเข้ามานะ.. แต่ถ้าพูดถึงความจริง ความจริงหมายถึงว่า มีจริตมีนิสัย คือความพร้อมไง ความพร้อมจริตนิสัยเขาเข้มแข็งแค่ไหน ถ้าความเข้มแข็ง ดูสิดูครูบาศรีวิชัย ครูบาศรีวิชัยอยู่เชียงใหม่ อยู่ทางเหนือนี่โดนฝ่ายปกครองเขาทำลายแล้วทำลายอีก ท่านยังมั่นคงของท่านเลย ครูบาศรีวิชัยนี่..

หลวงปู่มั่น ! หลวงปู่มั่นปฏิบัติกับท่านตั้งแต่แรก นี่ฝ่ายปกครองเขาจับบอกว่าให้หลวงปู่มั่นเป็นเจ้าคณะจังหวัดที่อุบลฯ ท่านไม่ยอม ท่านหนีมา.. ฝ่ายปกครองเขาตามจับ อู้ฮู.. หนีแล้วหนีอีก หนีข้ามจังหวัด หนีข้ามจังหวัดมาบอกว่าไม่ให้คนใส่บาตร ให้หนีไปเรื่อยๆ ท่านหนีเข้าป่า ไปอยู่ป่า อยู่กับป่า !

นี่เพราะว่าอะไร เพราะว่าท่านต้องการพ้นจากทุกข์ไง บวชมาเพื่ออะไร ถ้าบวชมาเพื่อพ้นจากทุกข์ ความบีบคั้นของโลกเขาบีบคั้นขนาดไหน ตัวเองก็เอาตัวรอด ตัวเองก็หนี หนีเข้าป่าไปอยู่โคนป่าโคนเขา ไปอยู่ที่กฎหมายมันเข้าไปไม่ถึง เพื่อจะได้พ้นจากอำนาจฝ่ายปกครอง.. นี่มันมีมาทั้งนั้นแหละ

นี่พูดถึงเราจะบอกว่า คนที่มีวุฒิภาวะนี่โดนบีบคั้นขนาดนั้นยังไม่ล่อกแล่ก ยังไม่ออกนอกลู่นอกทาง ยังพยายามเอาตัวรอดมา ไอ้นี่เข้ามาอยู่นี่ตำราก็พร้อม ครูบาอาจารย์ก็พร้อม ป่าเขาก็มี การปฏิบัติก็กำลังเฟื่องฟู ทำตัวกันอย่างนี้มันก็วุฒิภาวะของเขา ใจของเขา เขาเห็นของเขา มันก็เรื่องของเขา ! แล้วเรื่องของเขาด้วย แล้วเรื่องของฝ่ายปกครองด้วย ไม่ใช่เรื่องของเรา.. ถามมาเราก็พูดแค่นี้แหละ !

ถาม : สุดท้ายขออนุญาต.. สุดท้ายนะฟังนะ ! สุดท้ายขออนุญาตถวายคำแนะนำสักเล็กน้อย สังเกตจากเสียงเทศน์ของท่าน เห็นว่ามีอาการเจ็บคอ และมีเสมหะมาก ขอแนะนำให้โยมอุปัฏฐาก ! ช่วยหาน้ำส้มแอ๊บเปิ้ลไซเดอร์มาชงผสมกับน้ำผึ้งแท้และน้ำอุ่น ส่วนสัดตามต้องการ ถวายให้ท่านฉันทุกๆ เช้า ตอนตื่นนอนใหม่ๆ และก่อนจำวัด จะช่วยได้มาก

และอีกอย่างหากที่วัดของท่านมีใบย่านาง แป๊ะตำปึง ดอกอัญชัน ส่วนสัด ๑ , ๑ , ๑ ต่อน้ำ ๒ แก้ว แล้วนำมาคั้นด้วยมือ กรองเอาแต่น้ำฉันสดๆ ก่อนอาหารเช้าและก่อนจำวัด จะช่วยให้สุขภาพของท่านแข็งแรง ไม่เป็นภูมิแพ้ ล้างไขมัน ล้างสารพิษ โคเลสเตอรอลจะเบาบางลง หลังจากฉันอย่างนี้ติดต่อกันไป ๑๕ วัน แล้วไปตรวจเลือดจะพบว่า อัตราเสี่ยงของผลเลือดทั้งหลายจะลดลงสู่เกณฑ์ปกติ ขอบพระคุณอย่างสูง.. เขาว่านะ

หลวงพ่อ : สุดท้ายนี้เราจะย้อนกลับมา.. สุดท้ายนี้เราจะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาน้ำผึ้ง ! ย้อนกลับมาสมอ มะขามป้อม ใบส้มลม น้ำอ้อยคั้น น้ำรากบัว น้ำหมากเม่า เห็นไหม นี่เห็นว่าถูก.. แล้วเนยกวน วาซาบิ นี่เวลาโยมเห็นอย่างนี้โยมก็รับไม่ได้ แล้วสุดท้ายโยมก็มาบอกว่าให้เอาน้ำส้ม ให้เอาน้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์มาผสมกับน้ำผึ้งแท้ !

นี่ไง เวลาคนอื่นทำก็อย่างหนึ่ง เวลาเราจะทำนี่ถูกหมดนะ.. ถ้าเราจะทำนี่ถูก ถ้าคนอื่นทำนี่มันจะผิด นี่ไงความเห็นของคน เห็นไหม ถ้าเราทำมันก็เป็นว่า ขี้บนหัวตัวเองนี่มองไม่เห็น ถ้าขี้บนหัวคนอื่นนี่เห็นชัดเลย นั่นขี้อยู่บนหัวคนอื่น แต่พอขี้บนหัวตัวเองนี่มองไม่เห็นเลยนะ

โอ้โฮ.. ฟังนะผู้อุปัฏฐาก แนะนำอย่างเต็มที่เลย เราจะชี้ให้เห็นว่าเจตนานี่เจตนาดี แต่มองให้รอบคอบ มองให้เป็น มองให้เข้าใจสังคม มองให้เห็นโลก.. โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน เราอยู่กับหลวงตา หลวงตาพูดนี่จำแม่นเลย เวลามีปัญหาอะไรขึ้นมานี่เราจะเสียงดังมาก หลวงตาบอกว่า “หงบเอ้ย.. ของจริงกับของปลอมมันอยู่ด้วยกัน” ของจริงกับของปลอมมันอยู่ด้วยกัน ! เอาแต่หาของจริงอย่างเดียวในโลกนี้ เหมือนกับเราจะหาแต่สิ่งที่ถูกใจเรา มันไม่มีหรอก

อันนี้ก็เหมือนกัน โลกกับธรรมมันอยู่ด้วยกัน ถ้าทำถูกต้องมันก็เป็นธรรม ถ้าทำไม่ถูกต้องมันก็เป็นโลก แล้วหาแต่เรื่องโลกๆ มาทับถมใจ.. สิ่งใดเป็นประโยชน์เราและไม่เป็นประโยชน์เรา เอาตรงนี้เป็นประโยชน์กว่าเนาะ เอวัง