ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมาธิเพื่อปัญญา

๓o ม.ค. ๒๕๕๓

 

สมาธิเพื่อปัญญา

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๓

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้เราสงสาร มันเป็นพื้นฐาน ดีมาก

ถาม :           ดิฉันอยู่ต่างแดน ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อทางเว็บไซต์ตลอดค่ะ ตอนนี้กำลังติดขัดในการภาวนา มีคำถามอยากรบกวนถามหลวงพ่อ

๑. ดิฉันเคยดูจิตแบบเฉยๆ มา ๒ ปี ตอนนี้กำลังกลับลำเรือ หันมาฝึกกรรมฐานให้จิตสงบ  ให้ทำความสงบเป็น ดิฉันใช้พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วทุกครั้งมันจะมีอาการปีติ คือตัวเบาบ้าง เหมือนตัวสูงบ้าง แล้วก็จะเคลิ้มๆ ถ้าออกจากสมาธิจะเหมือนว่า (หลวงพ่อ :  อันนี้สำคัญมาก )  จะเหมือนว่าตะกี้นี้หลับไป แต่ไม่ได้หลับ

หลวงพ่อ :     “เมื่อกี้นี้เหมือนหลับไปแต่ไม่ได้หลับ”  นี่คือเข้าข้างตัวเอง “ถ้าเมื่อกี้หลับไป”  คือมันหลับไปแล้ว

ถาม :              เมื่อกี้นี้หลับไป แต่ไม่ได้หลับเพราะยังนั่งตัวตรง แล้วก็ยังมีสติ จะพยายามดึงเข้าพุทโธทุกครั้งที่เผลอไผลไป  ๑. นะ

๒.วันก่อนได้ฟังคำสอนของหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านสอนให้ดูกาย ตัดกายชิ้นนั้นมาพิจารณา ดิฉันเกิดความสับสนว่า ถึงเวลาที่ดิฉันควรจะเปลี่ยนกรรมฐานมาเป็นการเจริญอสุภะหรือยัง เพราะที่ผ่านมาใช้พุทโธมันก็จะเคลิ้มๆ ติดอยู่ตรงนั้นตลอด แต่อีกใจก็เถียงว่า จะจับอะไรก็ทำให้มันจริงจังไปสักอย่าง จะฝึกพุทโธก็ทำไป

 ๓.ยอมรับว่าความลังเลสงสัยนี้ กลายเป็นนิวรณ์ขวางการทำความสงบได้เหมือนกัน เลยอยากถามหลวงพ่อว่า ดิฉันควรเปลี่ยนไปดูกายอย่างที่หลวงปู่เจี๊ยะสอนบ้างหรือไม่ หรือว่าควรจะสลับกับพุทโธ หรือควรเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน

หลวงพ่อ :     พื้นฐานของการปฏิบัติเลยนี่ พื้นฐานของการปฏิบัติทุกคนจะเจออุปสรรคอย่างนี้ทั้งนั้นเลย เพราะเวลาการปฏิบัตินะพื้นฐานมันเป็นอย่างนี้ พอพื้นฐานมันเป็นอย่างนี้ปั๊บ ที่เราอยู่มีครูมีอาจารย์กันก็เพราะเหตุนี้ เวลาเราทำสิ่งใดไป เกิดความลังเลสงสัย แล้วเราก็ห่วงหน้าพะวงหลัง ทำสิ่งใดไม่เป็นประโยชน์เลย แล้วพอทำไปนะ

เอาข้อที่ ๑. ก่อน ดิฉันดูจิตเฉยๆ มา ๒ ปี ตอนนี้กำลังกลับลำเรือหันมาฝึกกรรมฐาน ให้จิตสงบให้เป็น ดิฉันใช้พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วทุกครั้งมันจะมีอาการ มีปีติคือตัวเบาบ้าง เหมือนตัวสูงบ้าง แล้วก็จะเคลิ้มๆ ถ้าออกจากสมาธิจะเหมือนว่าตะกี้หลับไป แต่ไม่ได้หลับเพราะยังนั่งตัวตรง และยังมีสติที่จะพยายามดึงเข้าพุทโธทุกครั้งที่เผลอไผลไป   อันนี้เอาประเด็นนี้

เวลากำหนดพุทโธๆๆๆ  เวลาพุทโธนะ เหมือนกับเราจะต้อง ต้อง! เราจะทำสิ่งใด เราจะต้องปรับพื้นฐานกับความพร้อมของเรา เวลาเด็กเห็นไหม เด็กมันมีการศึกษา กาลเวลาเราเด็กเราโตขึ้นมา อนุบาลเนี่ยเราต้องวางพื้นการศึกษาให้เขามั่นคงของเขา เวลาเขาโตแล้ว เขาจะได้ศึกษาไปด้วยความตลอดรอดฝั่ง

ฉะนั้นพอจิตของเราเนี่ยเราจะปฏิบัติกัน เราจะปฏิบัติกันเห็นไหม โดยสามัญสำนึกเราบอกก็เรามีสติอยู่แล้ว ทุกอย่างเราพร้อมอยู่แล้ว เราจะปฏิบัติของเราไปเลย เราใช้ปัญญาๆ ไปเลย ถ้าเป็นปัญญาไปเลยเห็นไหม เมื่อวานเขาพูดตรงนี้ เขาบอกว่าสิ่งที่พวกเขาหัวปักหัวปำก็บอกว่า ในเมื่อเป็นปัญญาชน ปัญญาชนมันทำสมาธิไม่ได้ คนเมือง! คนเมืองทำสมาธิไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาไปเลย แล้วปัญญาอย่างนั้น ปัญญาอย่างนั้นเป็นปัญญาความเข้าใจ ที่ว่าดูจิตเฉยๆ มันเป็นปัญญาความเข้าใจ ความเข้าใจว่าเราไม่แส่ส่ายไง เราไม่แส่ส่าย

เขาอ้างสูตรหนึ่งที่ว่า เทวดามาขวางพระพุทธเจ้าไง เขาเข้าใจว่าเขาเป็นพระโสดาบัน แล้วพระพุทธเจ้าบอกว่าเราไม่เพ่งและไม่เอียง ไม่เพ่งและไม่ส่งออกไง อยู่เฉยๆ เนี่ยเขาบรรลุได้ เราอธิบายไว้เหมือนกันเมื่อวาน ธรรมะเนี่ยมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ถ้าพูดอย่างนี้นะ ถ้าพูดถึงเราบอกว่า ถ้าเขาถามอย่างนั้น ไม่เพ่ง ไม่เอียง เนี่ยเราถึงบรรลุได้ เราบอกว่าถ้าอย่างนั้นมา มันต้องมีพื้นฐานมาก่อน พื้นฐานในการปฏิบัติมา

ถ้าไม่เพ่งไม่เอียงอย่างไร เรายกหลวงตา เมื่อวานยกหลวงตานะ ว่าหลวงตา เวลามันมี ๙ ประโยคไปถามหลวงตา หลวงตาเทศน์ออกวิทยุนี้บ่อยมากว่า บอกว่าจิตนี้มันจะเป็นนิพพานอย่างไร  หลวงตาพูดถึงว่าจิตที่เป็นกลางที่เป็นมัธยัสถ์ จิตที่เป็นกลางที่เป็นมัธยัสถ์ ต้องฟังคำนี้ก่อนดีๆ นะ คำว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคามาก่อน แล้วเขาถามว่าจะเป็นพระอรหันต์อย่างไรไง เพราะพระอรหันต์นะมันต้องทำลายจิตไง คือว่าจิตนี้เป็นกลางเห็นไหม

ถ้าจิตนี้เป็นกลาง เวลาเป็นพระอนาคาขึ้นมา เห็นไหมเวลาส่งไป ปัญญามันออก นั่นน่ะมันไปข้างใดข้างหนึ่ง งั้นพอมันเป็นกลาง เราบอกว่า เพราะในสังโยชน์เบื้องบนมีรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ไอ้อุทธัจจะมันเป็นสังโยชน์ตัวหนึ่ง การเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งเนี่ยอุทธัจจะ ฉะนั้นมันเป็นมัธยัสถ์ มัธยัสถ์เป็นกลาง  พอมัธยัสถ์เป็นกลาง ปัญญามันจะเกิด แล้วทำลายตัวมันเองลงอย่างนั้น

ถ้าทำลายอย่างนี้ นี่พูดถึงว่า ถ้าบอกว่าไม่เพ่งและไม่เอียงไป พอเราไปคิดว่าปัญญาอย่างนี้เราเข้าใจของเรา แล้วนึกว่าเป็นปริยัติ มันเป็นพุทธพจน์ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต้องทำให้ถูกหมด แล้วพอทำให้ถูกหมด อันนั้นมันเป็นคำสั่งสอนพระพุทธเจ้านะ แต่ของเราเรายังทำกันไม่เป็นเลย เราเองเห็นไหม ทุกคนพอพูดเรื่องศาสนายังไม่เชื่อเลยนะ ชีวิตนี้มาจากไหน ตายแล้วไปไหนก็งงแล้ว แล้วนรกสวรรค์มีหรือไม่มีนี่ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ ๒ ชั้น ๓ ชั้นเลย ยิ่งพอบอกให้ทำสมาธิ มาพุทโธๆๆๆ โอ้พุทโธ ยิ่งพุทโธ ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ แล้วพุทโธไปพุทโธมาก็เลยสับสนเลย สับสนไปหมดนะ

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ โดยธรรมชาติเราเป็นผู้ใหญ่ เราเคยเป็นเด็กมาก่อน คนที่มานั่งอยู่เป็นทารกมาก่อน เป็นเด็กมาก่อนทั้งนั้น โดยธรรมชาติมันจะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่ท่านที่ปฏิบัติแล้ว ท่านเป็นเด็กมาก่อน คือจิตใจท่านต้องวางพื้นฐานมาก่อน พอวางพื้นฐานมาก่อน ทำอย่างไร พุทโธแล้วมันจะเป็นอย่างไร นี่พอพุทโธขึ้นมาเห็นไหม เราไปติดกันนะ เมื่อวานเราคุยกับเขาอยู่เหมือนกัน จะบอกเมื่อวานๆ เพราะมันเพิ่งพูดมาสดๆ เมื่อวานเราบอกว่าไอ้สมาธิไม่สมาธิ มันไม่เป็นประเด็นเลย ประเด็นมันอยู่ที่ถูกหรือผิด ที่เราพูดอยู่ เราบอกสอนผิด สอนผิด ประเด็นมันอยู่ที่ถูกหรือผิดนะ มันประเด็นไม่ใช่อยู่ที่สมาธิหรือไม่ใช่สมาธิ พวกที่พุทโธๆ พวกชอบสมาธิ พวกที่ใช้ปัญญาไปเลยนั้นไม่ชอบสมาธิ สุกขวิปัสสโก เตวิชโช บอกไม่ใช่!

ถ้าเป็นสมาธิ ทำสมาธิก็ต้องสมาธิถูก ถ้าสมาธิผิดก็เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเป็นปัญญาที่ถูกก็เป็นปัญญาที่ถูก ถ้าเป็นปัญญาที่ผิดก็เป็นมิจฉาปัญญา มันเป็นมิจฉาทั้งหมด  ฉะนั้นประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ทำสมาธิหรือไม่ทำสมาธิ นี้ประเด็นมันอยู่ที่ถูกหรือผิด พอถูกหรือผิดนี่ ย้อนกลับมานี้แล้ว ย้อนกลับมาที่พุทโธ พุทโธๆ พวกนี้เห็นไหม เมื่อไหร่จิตเราจะลงสมาธิ แล้วพอสมาธิแล้วเมื่อไหร่เราจะใช้ปัญญา มันก็เลยมาติดตรงนี้ไง ตรงที่ว่า  เนี่ย “ตอนนี้กลับลำเรือมาเพื่อทำกรรมฐานให้จิตสงบ”

แล้วพอทำจิตสงบมันก็เหมือนเคลิ้มๆไป พอทำเคลิ้มๆไป เพราะเราตั้งใจเพื่อที่จะทำสมาธิไง เราตั้งใจเพื่อทำสมาธิ ต้องเป็นสมาธิอย่างเดียว นี้เป็นสมาธิแล้ว พอเป็นสมาธิเหมือนเรากินอาหาร ใช่ไหม พอเราตักอาหารไปสักคำสองคำเนี่ย เรามีธุระปะปัง แล้วอาหารในท้องเรามันก็ยังไม่อิ่ม แต่เรามีกำลังทำอย่างอื่นได้ไหม ก็ทำได้ แต่ถ้าเรากินอิ่มก็ทำอย่างอื่นก็ยิ่งถนัดเข้าไปใหญ่ นี้คำว่าพุทโธๆ เนี่ย การกินอาหารนี่มันต้องต่อเนื่อง เพื่อจะให้เราอิ่มหนำสำราญ

การทำพุทโธๆ  เมื่อไหร่มันจะสงบล่ะ นี่มันไม่สงบ มันไม่สงบ การกินอาหารอยู่ เราจะทำอย่างอื่นบ้างก็ได้ นี่คำว่าพุทโธๆๆๆ  อย่างที่คำถามที่ว่าเห็นไหม “แล้วพอฟังหลวงปู่เจี๊ยะแล้ว หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่าให้ตัดกายพิจารณา” อย่างนี้มันทำได้ไง เราจะบอกว่าเวลากำหนดพุทโธๆๆๆ ไปเรื่อยๆ พอพุทโธไปเรื่อยๆ พอจิตมันสงบหรือว่ามันมีอุปสรรคอย่างเช่น ถ้ามันเคลิ้มๆ เคลิ้มๆ อย่างนี้ปล่อยไม่ได้ คำว่าเคลิ้มๆ นะ เพราะเคลิ้มๆ มันมีความรู้สึกอยู่ เพราะธรรมดาของกิเลสมันเข้าข้างตัวเองหมด

เพราะว่าเคลิ้มๆ  เรายังรู้สึกตัวอยู่ เคลิ้มๆ  มันเหมือนกึ่ง ถ้าเรามีสติสมบูรณ์ เราจะรู้ชัดสมบูรณ์มากเลย เคลิ้มๆ น่ะสติเราหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง แล้วพอสติเราหายไปครึ่งหนึ่ง มันสามารถ ภาษาว่าเคลิ้มๆ เนี่ยนะ เราว่ามันหลับไปแล้วล่ะ หลับไปแล้ว เพราะคำที่ชัดเจนมากคือว่า “เวลาออกจากสมาธิ เหมือนตะกี้นี้หลับไป” เหมือนหลับไป มันว่าเหมือนหลับไปเนี่ยมันหลับไปแล้ว พอหลับไปแล้ว เพียงแต่ว่ามันเป็นการรู้อารมณ์ที่ล่วงมาแล้ว มันถึงไม่รู้ว่าอาการหลับ เรารู้ถึงอารมณ์ที่ผ่านมาแล้วไง ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น

เหมือนกับหลับไป คำว่าเหมือนเพราะว่ามันยังเข้าข้างตัวเองอยู่นะ แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบันนะ เมื่อกี้นี้นอนหลับเพิ่งตื่น อย่างนี้ถูกต้องชัดเจนเลย แต่เมื่อกี้นี้หลับไป เพิ่งตื่นมาเดี๋ยวนี้ พอตื่นมาอย่างนี้ปั๊บ เราจะบอกว่าค่อยๆ แก้ไปนะ เป็นอย่างนี้เราเอามาพูดบ่อยใช่ไหม เวลาบอกว่าเรานี่นะ ตกภวังค์น่ะหลับไปที ๗-๘ ชั่วโมง ไอ้ที่ว่าหลับไปเนี่ย ไม่ใช่พูดเพื่อเหยียบย่ำ หรือพูดเพื่อเหยียดหยามดูถูกใครนะ เราจะพูดให้มันชัดเจน เวลาให้มันชัดเจนว่า ถ้ามันเป็นอย่างนี้ มันหลับไปก็ยอมรับว่าหลับไป แล้วแก้ไข

 ถ้าเหมือนว่าหลับไป เหมือนขโมยของเขามา แล้วบอกว่าไม่ได้ขโมย ไม่ได้ขโมยคือไม่ผิดไง นี่เหมือนกัน หลับไปแต่บอกว่าเหมือนหลับไป มันก็เหมือนกับไม่ได้ขโมย ก็เหมือนไม่ผิดไง ไม่ผิดก็ไม่ได้แก้ไขนะ แต่ถ้าบอกว่าเมื่อกี้นี้หยิบของเขามาด้วยความเผลอไป ยอมสารภาพ ถ้าเป็นพระมันปลงอาบัติเนาะ ยอมสารภาพ พอยอมสารภาพปั๊บ เราได้แก้ไขเลย ถ้าได้แก้ไขนะ ตรงนี้กลับมาพุทโธให้ชัดๆ หรือพุทโธเร็วขึ้น ทำให้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา

แต่ถ้าพอพุทโธแล้ว มันมีอาการต่างๆ สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนิจจังทั้งหมด เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ร้าย เดี๋ยวก็ควบคุมได้ เดี๋ยวก็ควบคุมไม่ได้ เราก็หาอุบายวิธีการเพื่อหลบหลีก เพื่อแก้ไขอันนี้ไป หลบหลีกแก้ไขอันนี้ไป โดยพื้นฐานนะคนปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ทั้งหมด เพราะจิตเวลาลงสมาธินี้ คิดสิ เรานั่งทำงานนะ เราเขียนหนังสือในหลายๆ ชั่วโมงเรายังล้าเลย เรายังเขียนผิดได้เลย นี่เขียนหนังสือนะ

 แล้วนี่เรากำหนดจิตของเรา พุทโธๆๆๆๆ เป็นนามธรรมด้วย ทำไมมันจะไม่ผิดพลาด ทำไมไม่มีความผิดพลาด มีความเสียหายไป มันผิดพลาดก็เสียหาย หนังสือเวลาเขียนนะ เวลามันเขียนผิดนะเราต้องลบทิ้งนะ ลบทิ้งหรือเปลี่ยนกระดาษใหม่เลย ไอ้นี่จิตของเราเห็นไหม เวลากำหนดผิดพลาดไปต่างๆ น่ะ เราก็กลับใหม่  ไม่เป็นไรหรอก ไม่เป็นไร ตั้งใจทำไป ทีนี้พอจิตมันมีความสงบบ้าง มีความสงบ มีพื้นฐานบ้างออกใช้ปัญญาได้ ออกคิดได้ ออกตรึกได้ ออกตรึกนะ เราจะบอกว่า..

ถาม :            วันก่อนได้ฟังหลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนให้ดูกาย ตัดกายชิ้นนั้นมาพิจารณา ดิฉันมีความสับสนว่า ถึงเวลาที่ดิฉันควรจะเปลี่ยนกรรมฐานมาเป็นเจริญอสุภะหรือยัง เพราะที่ผ่านมาใช้พุทโธนั้นก็จะเคลิ้มๆ ติดอยู่ตรงนี้ตลอด แต่อีกใจหนึ่งก็เถียงว่า

หลวงพ่อ :     เห็นไหม “อีกใจก็เถียงว่า” อีกใจก็เถียงว่า เพราะว่าเรายึดคำสอน ยึดคำสอนนี้ถูกต้องนะ ยึดไว้ก่อน แต่นี้พอว่า อีกใจจะเถียงว่ามันก็ต้องลองไง มันต้องลองต้องทำให้เป็น เหมือนรถนะ รถเนี่ยเราจะออกเกียร์ ๕ หรือออกเกียร์ ๔  แล้วออกเกียร์ ๔ ไม่ได้มันดับหมด รถก็ต้องมีเกียร์ ๑

ถ้ารถเกียร์ ๑ เราติดอยู่เกียร์ ๑ ตลอดเวลา รถจะออกเกียร์ ๑ แล้วจะใช้เกียร์ ๑ ไปตลอดทาง มันก็เป็นไปไม่ได้ นี่ก็เหมือนกันเริ่มต้นของเรา เราก็ตั้งสติกำหนด พุทโธๆ ของเราไปก่อน เหมือนเกียร์ ๑ ออกเกียร์ ๑ ได้แล้วเราก็ใส่เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธๆ จิตมันมีหลักมีเกณฑ์แล้ว ก็ออกมาใช้ปัญญา ไอ้ตัดกายมาพิจารณากายของหลวงปู่เจี๊ยะ มันก็คือคำว่าพุทโธนะ

ถาม :            นี่เพราะ ดิฉันเกิดความสับสนว่า ดิฉันควรจะเปลี่ยนจากกรรมฐานมาเป็นเจริญอสุภะหรือยัง

หลวงพ่อ :     เจริญอสุภะเห็นไหม เพราะคำว่าเจริญอสุภะ ตรงนี้นะเปลี่ยนจากกรรมฐานมาเป็นเจริญอสุภะนี่ เราคิดว่าสิ่งที่กำหนดพุทโธนี่เป็นกรรมฐาน แล้วพอไปพิจารณากาย มันจะเป็นอสุภะ มันจะเป็นวิปัสสนา หลวงปู่เจี๊ยะสอนเอง หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดเองว่า ถ้าเอาจิตเนี่ย จิตนี้นะกำหนดตามข้อกระดูกไป อยู่ในร่างกายนะเป็นชั่วโมงๆ ได้ ท่านบอกนี่คือสมถะ นี่คือทำสมาธิ ถ้าจิตมันอยู่ในร่างกายนี่ตลอดเป็นชั่วโมง ครึ่งชั่วโมง มันไม่แล่บออก เหมือนเราพุทโธแล้วมันจะแล่บออก แล้วมันจะหนีไป

แต่ถ้ามันอยู่ในร่างกายนี่คือสมถะ พอสมถะเสร็จแล้ว พอจิตเราอยู่ในกายนี้ เราบังคับจิตให้อยู่กับข้อกระดูกด้วยสติปัญญาของเรา พอจิตมันสงบขึ้นมา มันเห็นข้อกระดูก เห็นกระดูกนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เราถึงบอกว่าพิจารณากายตัดกาย ว่าเป็นเจริญอสุภะ มันยังไม่เป็นอสุภะ มันจะเป็นอสุภะไม่เป็นอสุภะ อันนี้มันเป็นสมมุตินะ คือเหมือนกับสมมุติ ถ้าเด็กๆ มันเห็นเป็นซากศพมันก็ว่าอสุภะ  แล้วเราบอกว่าไม่ใช่ แล้วเราจะสื่อกันอย่างไร มันก็เป็นสมมุติ สมมุติอันหนึ่ง

แต่มันยังไม่ใช่วิปัสสนา จะเป็นวิปัสสนาไม่เป็นวิปัสสนาไม่สำคัญ อย่างที่พูดเนี่ย เราทำสมาธิเพื่อปัญญา เราไม่ได้ทำสมาธิเพื่อสมาธิ ฉะนั้นถ้าเราทำสมาธิ ว่าต้องเป็นสมาธิขนาดนี้ระดับนี้ๆ แล้วเขาเรียกออกวิปัสสนา แล้วทุกคนก็..ตรงนี้เป็นจุดบอดไง จุดบอดที่ให้เขาเอามาอ้างอิงได้ว่า คนที่ทำพุทโธที่ทำสมถะ แล้วเมื่อไหร่ได้ใช้วิปัสสนา ถ้าใช้ปัญญาไปเลย มันจะวิปัสสนามันก็ไม่ใช่อีกล่ะ 

เพราะใช้ปัญญาไปเลยนะ      ถ้าประสาครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติเป็น มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิไง มันเป็นปัญญาเพื่อให้จิตสงบ เป็นปัญญาเพื่อให้จิตใจเราปล่อยมา ไม่ใช่ปัญญาเพื่อจะถอดถอนกิเลสเห็นไหม แต่พวกเราไม่เข้าใจ เพราะว่าปัญญาทำให้เราปล่อยมา ให้มันปล่อยจิตมาเป็นหนึ่ง พอปล่อยความฟุ้งซ่านให้มันเป็นหนึ่งเดียว แล้วมันสบายๆ พอมันสบายๆ มันสบายของมันนะ เพราะมันปล่อยภาระมาหมดเลย มันปล่อยภาระมาเพราะมีสติปัญญา

ฉะนั้นพอถ้ามันปล่อยเข้ามา มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่เพราะความเข้าใจผิดว่าสมาธินั้นคือมรรคผล คือธรรม ฉะนั้นเราทำสมาธิขึ้นมา ทำสมาธิเพื่อเกิดปัญญา ปัญญาอีกอันหนึ่ง ปัญญาที่มันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่พิจารณากาย พิจารณากายเห็นไหม เราจะบอกว่าใช้ปัญญาได้ ปัญญาที่ออกพิจารณานี่พิจารณาได้ การพิจารณา เพราะไม่ต้องให้ใช้คำตายตัวว่า จิตต้องสงบก่อนแล้วถึงจะออกวิปัสสนา ถึงจะใช้ปัญญา แล้วก็บอกว่าแล้วเมื่อไหร่จะสงบล่ะ แล้วพอจิตไม่สงบเนี่ยชาตินี้ไม่เสียเปล่าเหรอ

ชาตินี้ปฏิบัติมาทั้งชาติเลย แล้วเมื่อไหร่จะได้วิปัสสนาล่ะ ก็ไปห่วงกันว่าปฏิบัติแล้วจะสูญเปล่า ไม่สูญเปล่านะ แม้แต่นั่งสมาธิเนี่ย นั่งสมาธิตอนนี้ได้บุญหมดแล้ว บุญกิริยาวัตถุ เพราะว่าโยมจะนั่งอย่างไรก็ได้ ตามสบายที่ไหนก็ได้ แล้วเราเสียสละมานั่งถวายพระพุทธเจ้า ไอ้นี่บุญกุศลนะ เห็นไหมทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์ครั้งหนึ่ง ศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับสมาธิหนหนึ่ง สมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดปัญญาหนหนึ่ง

แล้วถ้าเรานั่งสงบหรือนั่งอย่างนี้ มันทำทานมากี่หน ดูตอนเช้าสิทำบุญกุศลกันน่ะ อันนี้ได้บุญกุศล แล้วเวลานั่งภาวนา  เห็นไหมเราบอกว่าศาสนาพุทธ เราเป็นคนจน เราไม่มีเงินทอง เราทำบุญกุศลได้ไม่เหมือนเขา คนจนคนรวยนะ นั่งสมาธิมันเอาเงินวัดกันไม่ได้ มันเอาอำนาจวาสนาบารมีที่เราสร้างสมมาอันนั้นต่างหาก บุญกุศลอันนี้มันเกิดที่ใจ ถ้าบุญกุศลอันนี้เกิดที่ใจอันนี้เป็นความจริง อันนี้มันต้องมีเงินมีทองไหมล่ะ มันทำมาจากเรา เนี่ย บุญมันเกิดแล้วไง

ถ้าบุญมันเกิดแล้ว เวลานั่งไปแล้วเราจะไม่ได้ ภาวนาไปแล้วจะไม่ได้ แล้วเมื่อไหร่จะได้ มันมีอันเดียวเท่านั้นน่ะ คือไม่ภาวนานั่นน่ะมันไม่ได้ ไอ้ไม่ทำอะไรเลยน่ะ จะทำโน้นก็กลัว ทำนี้ก็กลัว ไม่ทำอะไรเลยน่ะไม่ได้ แต่ถ้าทำไปแล้วนะผิดถูกมันแก้ไขได้ ฉะนั้นเวลา  “ดิฉันควรเปลี่ยนจากกรรมฐานมาเจริญอสุภะไหม”  เพราะว่าเวลาทำกรรมฐานนะ  มรณานุสสติเห็นไหม  เราคิดถึงความตายมันก็เป็นสมาธิ  เราทำกรรมฐานมันก็เป็นกรรมฐาน

มรณานุสสติเห็นไหม กำหนดอัฐิ อัฐิๆๆ กำหนดกระดูก เห็นไหมเราเพ่งกระดูกๆๆๆๆ  กระดูกก็คือแทนพุทโธนั่นแหละ ฉะนั้นถ้าเปลี่ยนมานะ เปลี่ยนมาเจริญอสุภะนะก็เท่ากับเราเปลี่ยนคำบริกรรม เปลี่ยนคำบริกรรมหรือเปลี่ยนปัญญาใช้ได้ไหม ใช้ได้ ใช้ได้ เป้าหมายมันอยู่ที่ว่าถ้าเราทำถูก เราถูกต้อง เวลามันผิดมันผิดตรงนี้ไง ผิดที่ตรงเจตนา เราตั้งเป้าผิด เราตั้งผิดแล้วเราเข้าใจเห็นไหม เข้าใจเป็นอย่างนั้นๆๆๆ พอใช้ปัญญาไปแล้ว มันปล่อยแล้ว มันเป็นโสดาบันแล้ว เป็นสกิทาแล้ว เห็นไหมเพราะอะไร

เพราะเราให้คะแนนตัวเองมากเกินข้อเท็จจริง แต่ถ้าเราทำของเรานะ ความจริงคะแนนไม่คะแนนนี่ทิ้งมันไว้เลย มันรู้ของมันเอง อย่างเช่นที่ในคำถามนี่เขาบอกอยู่แล้ว มันเคลิ้มๆ  มันก็รู้ สิ่งที่เวลามันเคลิ้มไปเพราะสติมันอ่อน เราพุทโธๆๆๆ แล้วมันเคลิ้มไปเนี่ย เคลิ้มไปอย่างนี้นะมันแน่นอน แน่ชัดอยู่แล้วว่าสติมันอ่อน ถ้าสติมันอ่อนปั๊บ เราชัดๆ ขึ้นมาก็ได้ หรือถ้าเรามันพุทโธให้เร็วขึ้น หรือเราวางไง เราวางลมหรือเราจะให้มันเร็วขึ้น ชัดเจนขึ้น

แล้วถ้าคราวนี้มันแก้ไม่ได้ คราวหน้าที่เราจะนั่งสมาธิ เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมเลย เตรียมตัวร่างกายนี้สมบูรณ์ไหม อาหารต่างๆ ที่เรากินเข้าไปมันมากเกินไปไหม แล้วเรานั่งของเราดู แล้วถึงเวลาแล้วเราควบคุม แต่นี้โยมทำงานทางโลกใช่ไหม มีงานเลี้ยง ไปเจอเพื่อนฝูง ไอ้จะไม่กินหรือก็เกรงใจเขา พอกินเสร็จแล้วกลับมา พอแยกจากเพื่อนฝูงมาก็จะเข้าบ้าน จะไปภาวนา โอ๊ย เต็มท้องเลย จะทำอย่างไรดีเห็นไหม อันนี้เราต้องควบคุมตรงนี้ ถ้าเราควบคุมตรงนี้ได้ ไอ้ความเคลิ้มๆ นี่มันจะเบาลงไง มันต้องเตรียมมาตั้งแต่สภาพแวดล้อมจากข้างนอก พอมันมาภาวนาครั้งนี้เป็นอย่างไร วัดผลว่าภาวนาอย่างนี้

เพราะเวลาเราบอกนะ เมื่อก่อนที่เรานั่งใหม่ๆ นี่มันมีปัญหามาก พอปัญหามาก เราจะคิดถึงว่าตั้งแต่ตื่นนอน ตื่นนอนตี ๓ ตี ๔ ขึ้นมาเนี่ย คิดอะไรบ้าง แล้วออกไปบิณฑบาตพบสิ่งใดบ้าง แล้วเวลาบิณฑบาตกลับมาแล้ว แจกอาหาร อาหารใส่ลงบาตรน่ะมันมีอะไรบ้าง แล้วฉันคำแรก มันอาหารเป็นอะไร คำที่ ๒ คำที่ ๓ คำที่ ๔ จนกว่าเราอิ่มท้องขึ้นมา แล้วอิ่มท้องล้างบาตรเช็ดบาตรแล้ว กลับมากุฏินี่มันมีอะไรกระทบบ้าง พอเราเอาบาตรไปวางเสร็จปั๊บ เราจะเข้าทางจงกรมทันทีเลย แล้วนั่งสมาธิทันที

เราจะย้อนกลับขนาดนี้เลย ถ้าวันนี้ง่วง ถ้าวันนี้สัปหงกมันเป็นเพราะเหตุใด เรื่องอาหารมันเป็นเรื่องหนึ่งนะ เรื่องกระทบนี่ เรื่องเวลาเสียดสี เวลาลมปากมากระทบใจเราเนี่ย ไปบิณฑบาตหรือไปโดนอะไรกระทบรุนแรงอย่างนี้ อันนั้นมันจะมาคิดเลย เวลาบิณฑบาตนะ พระไปธุดงค์ ไปบิณฑบาต ถ้าบ้านไหนมีความสุข โอ้ บ้านนี้มีบุญเนาะ เขามีความสุขของเขา ไปบ้านนี้นะสามีภรรยากำลังทะเลาะกันนะ เด็กกำลังร้องไห้นะ มาคิดเลยนะ บ้านนี้มีทุกข์มากเห็นไหม

เวลาไปบิณฑบาต มันได้ไปฟังเทศน์ตลอด แล้วเรามาดูแล้วว่าสังคมก็เป็นอย่างนี้ โลกเขาเกิดมาแล้วเป็นอย่างนี้ แล้วเราชีวิตของพระนี้เป็นอย่างนี้ มันเอามาพิจารณาได้ตลอดเวลา เนี่ยเราจะย้อนกลับมาที่ว่า ที่ว่ามันเคลิ้มๆ  เราต้องแก้ไข เพราะเคลิ้มๆ  เราถลำตัวไปแล้วครึ่งหนึ่ง ถ้ามากกว่าเคลิ้มก็หลับ หลับคือตกภวังค์ ภวังค์คือขาดสติ พอขาดสติมันหายไปเลย หายไปเลย แล้วเวลามันจะกลับมาเหมือนคนตื่นนอน แต่ถ้าเป็นสมาธินะ ไม่มีสิ่งใดหายไปเลย พุทโธๆ  มันจะลงขนาดไหน จิตมันจะเป็นอย่างไร มันมีสติสัมปชัญญะ

เหมือนว่าว ว่าวที่มันขึ้นไปมีเชือกอยู่ เราไปคุมเชือกอยู่เนี่ย แรงลม แรงอะไร พอตึงมือเราจะรู้ตลอดเวลาเลย แต่ถ้าไม่มีเชือกหรือว่าวมันขาดไป มันจะวูบหายไปเลย หายไปเลย เชือกนี้คือสติไง คือความรับรู้ตลอดเวลาไง พุทโธๆ  ถ้าสมาธิ ว่าวมีเชือกอยู่นะ เราจะจับเชือกอยู่เนี่ยมันมีแรงหน่วงเห็นไหม เราจะรู้ตลอดเวลา สมาธิถ้ามันลงนะมันจะรู้ตลอดเวลา ไม่มีอาการเคลิ้ม ไม่มีอาการอะไร มีแต่ความสงบ แล้วความสงบถ้าลงไปแล้วนะ จะบอกว่ามีแต่ความสุข สุขจนติดสมาธิได้

ฉะนั้น นี้สมาธินะ แล้วพอถอนออกจากสมาธิ สมาธิออกมาแล้วมันก็เป็นอารมณ์ปกตินี่ แล้วเราพิจารณาใช้ปัญญาของเรา ถ้าเข้าสมาธิคือเข้าไปพักเอาหลักเอาเกณฑ์ แล้วพอพักเอาหลักเอาเกณฑ์ มันเข้าไปถึงตัวต้นขั้วคือตัวจิต แล้วตัวจิตมันออกพิจารณา  พิจารณาเพราะอะไร เวลาโลกนี้นะ ความทุกข์นี่นะ ไม่มีใครทุกข์กับเราหรอก สรรพสิ่งในโลกนี้แก้วแหวนเงินทอง ประชาชนญาติโยมต่างๆ เขาไม่ให้ทุกข์กับเราได้เลย

ไอ้จิตดวงนี้มันโง่ ไอ้จิตดวงนี้มันไปยึดเขาเอง เขาพูดกันเรื่องดีๆ ก็เข้าใจผิดว่าเขาด่าเรา เขาชมเราดีจะตายเลย เราก็ว่าเขานินทาเรา ไอ้ตัวนี้มันโง่ พอมันโง่ พอจิตมันเข้าถึงสมาธิ เข้าไปถึงพื้นฐาน พื้นฐานเนี่ยพอมันจะเกิดปัญญาขึ้นมา มันจะถอนความโง่ในตัวมัน ถ้าถอนความโง่ในตัวมัน นี่ถอนสังโยชน์ ถอนอุปาทานของใจ

ถ้ามันไม่มีตัวนี้ขึ้นมานะ คิดไปร้อยแปด มันก็คิดแบบพื้นๆ คิดแบบตื้นๆ มันโลกียปัญญา ปัญญาจากสมองนี้คิดตื้นๆ คิดถึงแต่ความเปรียบเทียบได้ คิดแบบครูบาอาจารย์สั่งสอน คิดแบบตรึกเอา คิดแบบปัญญา มันไม่ถอนอุปาทานหรอก แต่มันสลดสังเวชนะ มันสลดใจ มันสะเทือนใจ เวลาเราคิดด้วยสมอง แต่ถ้าเข้าถึงสมาธิ สมาธิมันออกมา ปัญญาที่มันออกมา  ปัญญาที่เกิดจากจิต ปัญญาที่เกิดจากสิ่งที่มันจะถอดถอนจิต เพราะจิตมันเป็นคนไปติดเอง พอจิตมันไปติด สมาธิมันสำคัญอย่างนี้

สมาธิน่ะญาณทัสสนะ ทัศนะ ญาณ ญาณเนี่ยกิจจญาณ ญาณที่เกิดจากจิต นี้ปัญญาที่เกิดจากสมอง มันเป็นปัญญาสามัญสำนึกเห็นไหม มันถึงต้องคำว่าอาศัยสมาธิ  อาศัยสมาธิพอไปถึงต้นขั้ว ไปถึงรากฐานของความคิด ไปถึงรากฐานของสิ่งที่มันผูกพันอยู่ นี่สมาธินี้ต้องการเพื่อเข้าไปถึงต้นขั้ว เข้าไปถึงต้นเหตุ แต่พอถึงต้นเหตุแล้วนี้ เวลามันจะทำงานแล้ว มันก็ถอนจากต้นเหตุมาใช้สามัญสำนึกเรานี่แหละ เพราะมันเกิดจากสมาธิเห็นไหม

ฉะนั้นเมื่อไหร่มันจะเกิดสมาธิล่ะ แล้วเมื่อไหร่มันจะได้วิปัสสนาล่ะ วิตก วิจารน่ะเดือดร้อนกันไปหมดเลย ก็ใช้พุทโธๆ ไปนี่แหละ แล้วใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาที่ใช้ ปัญญาที่เราใคร่ครวญในชีวิตประจำวันก็ใช้ไป แล้วก็กลับมาพุทโธ แล้วออกมาใช้ปัญญา แล้วก็กลับไปพุทโธ ถูกต้อง เพราะปัญญานี่มันจะกรองไง กรองให้ง่ายขึ้น  ผัก เราไปซื้อมาจากตลาด เรายังไม่กล้าเอามาทำอาหารเลย เอาไปแช่ด่างทับทิมนะ กลัวเชื้อโรคมันจะตามมา แล้วความคิดที่มันคิดโดยสามัญสำนึกนี่ เราเชื่อมันได้ไหม

สมาธิมันจะมาล้าง  มาทำให้ผักนี้สะอาด ทำให้ผักนี้ทำแล้วอาหารจะเป็นประโยชน์ ความคิดที่เกิดจากสมาธิเนี่ย เป็นความคิดที่ล้างแล้วสะอาด ความคิดสกปรก ความคิดสะอาด ดูสิ ผักวางไว้แมลงวันก็มาไข่ สัตว์มันก็มาแทะมากินของมันนะ มันก็สกปรกอีก ความคิดที่สะอาด ถ้ามันไม่มีสมาธิควบคุม เดี๋ยวมันก็สกปรกอีก เพราะเดี๋ยวกิเลสมันก็มาครอบงำอีก กิเลสมันก็ใช้ประโยชน์ของมันอีกเห็นไหม

แล้วบอกใช้ประโยชน์ก็ความคิดนี้แหละ ความคิดนี้แหละ ขันธ์ ๕ มันไม่ใช่กิเลสนะ ความคิดจริงๆ ก็ไม่ใช่กิเลส ถ้าความคิดเป็นกิเลสพระพุทธเจ้าเทศน์อยู่นั่นอะไร ไม่ใช่ความคิดเหรอ พระพุทธเจ้าเทศน์อยู่น่ะ สิ่งนั้นเพราะอะไร เพราะกิเลสมันมาใช้ขันธ์ ๕ นี่พอใช้ขันธ์ ๕  พอเราเข้าไปสู่จิต จิตนั้นไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต แล้วเข้าไปสู่ตัวจิต พอจิตเป็นสมาธิแล้วออกมาใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไปเรื่อยๆ

ถาม :           ยอมรับว่าความลังเลสงสัยนี้กลายเป็นนิวรณ์ ขวางการทำความสงบได้เหมือนกัน เลยอยากถามหลวงพ่อว่าดิฉันควรผลัดเปลี่ยนไปดูกายอย่างที่หลวงปู่เจี๊ยะสอนบ้างหรือไม่ หรือว่าควรสลับกับพุทโธ

หลวงพ่อ :     อันนี้สำคัญ  “หรือว่าควรสลับกับพุทโธ”  ควรสลับกัน  “หรือควรทำอย่างใดอย่างหนึ่ง”  ควรสลับกัน คำว่าสลับกันนี่นะ ไม่ใช่สลับแบบว่าคัทเอ้าท์ยกขึ้นยกลงไง ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำขณะที่ทำพุทโธก็พุทโธต่อเนื่องไป แล้วถ้าจะไปดูกาย พิจารณากายก็ทำอย่างนั้น ดูกายก็เห็นไหม ดูกระดูกเห็นไหม ดูอัฐิ กำหนดกระดูก กำหนดสิ่งต่างๆ มันกำหนดได้ กรรมฐาน ๔๐ ห้องเห็นไหม การใช้คำบริกรรมน่ะ คำใดคำหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียว อย่างเดียวแล้วทำต่อเนื่อง

ถ้าพอถึงทำต่อเนื่องมันเปลี่ยนไปอย่างเช่น พุทโธๆๆๆ พอจิตมันสงบขึ้นมาเห็นไหม พอจิตมันสงบหรือว่ามันจะเคลิ้มไป เราพลิกเลย พอพลิกไปดูอย่างอื่น พลิกไปพิจารณาเห็นไหม พลิกไปใช้ปัญญา การพิจารณากายต่างๆ ก็ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไปตลอดเลย ไปตลอดเลย พอตลอดเลยจนกว่ามันจะสงบได้ ถ้าไม่สงบขึ้นมา เราถึงที่สุดเราจะเปลี่ยนกลับมาก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง สลับกันอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่ขณะทำทำอย่างเดียว

นี้พอไปทำ พอทำกิเลสนี่ สิ่งที่ผิดพลาด เพราะกิเลสมันคอยยุใช่ไหม พุทโธๆ  แหม จิตกำลังดีเลย แหม ลงดีเลย แต่มันเกิดฉุกใจขึ้นมา แหม มันต้องใช้ปัญญา พอใช้ปัญญา พอปัญญามันเริ่มใหม่ๆ มันก็เริ่มพอทำไปได้ พอทำได้ครึ่งๆ เนี่ยมันไม่ดีแล้ว แหม มันน่าจะพุทโธนะเมื่อกี้น่ะ พุทโธมันดีกว่า เนี่ย กิเลสมันจะมายั่วยุตรงนี้ ยั่วยุระหว่างว่าเวลาเปลี่ยนไปแล้วก็ละล้าละลังไง ได้หน้าจะเอาหลัง ได้หลังจะเอาหน้า ก็เลยจะสับสน ถึงบอกว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าให้กิเลสมันมาสับขั้ว กิเลสมันจะคอยมาสับขั้วไง เดี๋ยวจะเอาชนิดนั้น เดี๋ยวจะเอาชนิดนี้ แต่มันก็อยู่ที่การลองผิดลองถูกนะ

นี้ถือว่าได้ตอบคำถามหรือยัง เนี่ยว่าตอบแล้วเนาะ เขาอยู่อเมริกาแน่ะ แล้วเวลาอ่านอย่างนี้แล้ว เราจะบอกว่าปัญหาพื้นฐาน แล้วทุกคนจะเป็นอย่างนี้หมด แล้วเวลาคำถามมาก็ถามคำถามอย่างนี้แหละ เพียงแต่ว่าคนละแง่มุม แล้วจะตอบ  หลักก็คืออย่างนี้ไง หลักมันคือตั้งสติไว้ แล้วกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ คำว่าพุทโธนี่นะ มันเป็นกำปั้นทุบดิน มันเป็นเรื่องที่เขาเรียกว่าตรงตัวที่สุด มันเป็นการตรงตัวและชัดเจนที่สุด วิตก วิจารแล้วนึกพุทโธๆๆๆ  มันครบกระบวนการของมัน คือพุทโธก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง สมมุตินะ เห็นไหมชื่อพุทธะคือสมมุติอันหนึ่ง

แต่ความจริงพุทโธคือความรู้สึก คือความรู้นี้คือพุทธะ ทีนี้พุทธะนี้เห็นไหม พอพุทโธนี่ พุทโธนี่เป็นสมมุติอันหนึ่ง แล้วพุทโธจะเกิดขึ้นมาต่อเมื่อเกิดการวิตก คือเกิดขึ้นมา ความคิดมาจากไหน ความคิดมาจากจิต เวลาเกิดขึ้นมานี่เกิดขึ้นมาจากจิต เห็นไหมเวลามันพุทโธๆ เพราะจิตมันทำงาน คือว่าวที่มีเชือก เชือกสติมันพร้อมมันดึงเข้ามา ถึงที่สุดแล้วนะ ถ้าเราเอาว่าวมา เราเก็บเชือก ว่าวกับเราจะมาเป็นอันเดียวกัน พุทโธๆๆๆไป มันไปสู่ตัวจิตไง มันถึงบอกมันสมบูรณ์ มันตรงตัวที่สุด

แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิต่างๆ นี่ มันเป็นแบบว่าเราต้องมีสติ มันต้องทำงานแบบว่ามันเป็นอันดับที่  ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ขึ้นไป มันไม่ชัดเจนตรงตัว นี่พอชัดเจนตรงตัวขึ้นมา มันก็มีข้อโต้แย้ง ทำไมต้องพุทโธล่ะ พุทโธไม่มีอะไรเลย ไหนก็ต้องพุทโธ พุทโธมันจะเป็นอย่างไรล่ะ พุทโธมันไม่มีปัญญาเห็นไหม การที่มันชัดเจนตรงตัว แต่เราจะเอาเหตุผล เอาเหตุผลมาขยายความ ว่าทำไมถึงต้องพุทโธล่ะ พุทโธมีประโยชน์อะไร พุทโธต้องทำเพื่ออะไร เนี่ยพวกที่มีปัญญาเห็นไหม ก็เอานี่มาโต้แย้ง

กิเลสมันก็เอานี่มาโต้แย้ง พอมาโต้แย้งขึ้นมา เราก็เชื่อกิเลสไป เราก็เลยทิ้งพุทโธไปเลย พุทโธมันเป็นของพื้นฐาน พุทโธมันไม่มีความจำเป็น เราทำอย่างอื่นมันมีความจำเป็นกว่า มันแน่นอนกว่า ฉะนั้นบอกว่าคำว่าพุทโธมันตรงประเด็น มันตรงตัว มันเป็นสิ่งพื้นฐานที่เราทำง่ายที่สุด แล้วมีความผิดพลาดน้อยที่สุด ขนาดว่าผิดพลาดน้อยที่สุดมันยังเคลิ้มหลับไปเลย ความผิดพลาดน้อยที่สุด

ทีนี้การประพฤติปฏิบัติ มันเป็นจิตตภาวนา เห็นไหมมันเป็นตบะธรรม ฉะนั้นเราถึงจะต้องตั้งใจ ฉะนั้นถึงว่าเวลาประพฤติปฏิบัติ มันไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก แต่มันก็ไม่สุดวิสัยพวกเราใช่ไหม นี่ไงเพราะมันไม่สุดวิสัยพวกเรา เพราะพวกเรานี้ตื่นตัว ชาวพุทธตื่นตัวขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ เวลาไปต่างประเทศไปอะไรต่างๆ เขาแสวงหากัน เขาศึกษากัน เขามีปัญญาของเขา เขาว่าเขาศึกษาเนี่ยเขาศึกษาตรงพระไตรปิฎกเลย อย่างพวกเราน่ะศึกษาจากประเพณีวัฒนธรรมก่อน ทำตามๆ กันมา ทำตามๆ กันมา ก็เลยว่าอะไรเป็นศาสนาจริง อะไรเป็นศาสนาปลอม ไม่รู้เลย ศาสนาปลอมนะมันก็อยู่ที่ประเพณีวัฒธรรม ตัวศาสนาจริง ตัวศาสนาจริง ตัวอริยสัจนะ

พูดกับพระ เราบอกเลยนะธาตุรู้เห็นไหม ธาตุรู้ พลังงาน เขาบอกว่าจิตนี้เป็นพลังงานเหรอ จิตนี้เป็นพลังงาน แล้ววิญญาณมีไหม เราบอกเวลาจิตนี้เป็นพลังงาน เวลาพูดถึงอริยสัจ เราพูดถึงอริยสัจ แต่ถ้าพูดถึงวัฏฏะ พูดถึงวัฏฏะ จิตวิญญาณมีไหม ผีมีไหม วิญญาณเกิดตายมีไหม มี แต่ถ้าพูดถึงวิญญาณเกิดตายมีไหม เราก็บอก โอ้โฮ เราก็ต้องไปแก้เอาชาติที่แล้ว ชาติที่แล้วทำผิดมาน่ะ แล้วจะมาแก้ชาตินี้ แล้วไอ้กรรมชาติที่แล้วมันยังตามมา จะไปแก้มันที่ไหน มันก็ไปแก้เอาที่นู่นนะ นี่พูดถึงวัฏฏะ

แต่เวลาพูดถึงอริยสัจ อริยสัจมันปัจจุบันไง ปัจจุบันคือจิตในปัจจุบันนี้ ถ้าจิตในปัจจุบันนี้ถ้าจิตสงบเข้าไปเนี่ย จิตสงบแล้วจับตัวจิตได้  นั่นไงเห็นตัวพลังงาน แล้วตัวพลังงานเห็นไหม พลังงานมันเป็นปัจจุบัน ตัวปัจจุบันแล้วมันจะเคลื่อนไหวอย่างไร การเคลื่อนไหวของมันไป พอการเคลื่อนไหว ดูจิตจนเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิต เห็นไหมจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการเห็นความคิด เห็นอย่างนี้ เนี่ยมันเป็นอริยสัจ มันเป็นอริยสัจ มันเป็นสัจธรรม มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาแก้กิเลส ทีนี่ไอ้นี่มันเป็นอริยสัจใช่ไหม อริยสัจ มันก็เหมือนกับปัจจุบัน

 แต่ในปัจจุบันนี้คนจะเกิดมาอย่างไร คนเราเนี่ยดูตั้งแต่เมื่อวานนี้กับวันนี้เป็นคนๆ เดียวกันหรือเปล่า  เมื่อวานนี้เป็นคนๆ หนึ่ง  วันนี้นี้เป็นอีกคนหนึ่ง คนใหม่มาแล้วเหรอ  เมื่อวานมาวันนี้ วันนี้มาปัจจุบันนี้ก็แก้กันวันนี้  เมื่อวานแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แก้ไขในปัจจุบันนี้  เวลาพูดเป็นอริยสัจ มันก็เป็นเรื่องปัจจุบัน มันเป็นเรื่องอริยสัจ มันเป็นเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่พูดถึงผลของมัน พูดถึงวิบาก พูดถึงกิเลสนะ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ เวลามันมีกิเลสมันถึงมีการกระทำ พอมันเกิดกระทำมันก็เกิดผล พอเกิดผลขึ้นมามันก็เป็นวัฏฏะ มันก็วนไป

แต่ถ้ามันไปพูดเนี่ยมันอยู่ที่ประเด็น ใครตั้งประเด็นขึ้นมา แล้วประเด็นมันเป็นอย่างใด ถ้าประเด็นมันเป็นประเด็น เราเป็นปัญญาชน เราพูดถึงศาสนาในภาคปฏิบัติ  จิตนี้เป็นพลังงาน พลังงานแล้วหาพลังงานเจอไหมล่ะ พอจิตเป็นพลังปั๊บเห็นไหม เนี่ยเวลาพูดเป็นสมมุติ พูดเป็นบุคคลาธิษฐาน คนฟังไง จิตเป็นพลังงานมันก็วิ่งไปหาเลยน่ะ พลังงานกูจะไปรวบพลังงานมา ไอ้นี้ทิ้งไว้ พลังงานของเราเอง พลังงานตัวจิตเนี่ยหาให้เจอ จิตใครจิตมัน พลังงานใครพลังงานมัน

ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ของมารดา เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา เราไม่เห็นตรงนั้น เราเห็นแต่ความรู้สึก เห็นอาการของมัน เห็นสิ่งที่มันล่อให้เราเห็น อาหารชอบกินแต่รสชาติอาหารอร่อย ไม่ได้กินคุณค่าของอาหาร เห็นแต่รสชาติของมัน ความรู้สึกของมนุษย์ ความรู้สึกของสัญญาอารมณ์ กับธรรมชาติของจิต  อันนี้เวลาเรากำหนดพุทโธๆ ก็เพื่อให้ตัวเองรู้จักตัวเอง ให้จิตรู้จักจิต ให้ตัวเองมีศักยภาพของตัวเอง ให้อริยสัจมันเกิดขึ้นมาจากจิตของเรา ถ้าจิตของเราเกิดอริยสัจขึ้นมา แล้วจิตของเรากลับมาทำลายกิเลสในหัวใจของเรา อันนี้มันจะเป็นธรรมะส่วนบุคคล  ธรรมะของเรา          

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เป็นนิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เวลานิพพานก็แต่ละบุคคลนิพพานไป เป็นสมบัติส่วนตนนิพพานไป ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ มันเป็นสัจธรรม เป็นธรรมะสาธารณะ  ถ้าธรรมะของเราเราต้องทำ แต่นี้ถึงบอกว่าการทำสมาธินี้ทำเพื่อเกิดปัญญา ไม่ใช่ทำสมาธิเพื่อสมาธิ  ทำสมาธิเพื่อสมาธิเนี่ย สมาธิคือความสงบของใจ แล้วพอสมาธิคือความสงบของใจ แล้วถึงค่อยเกิดปัญญา แล้วปัญญามันจะกลับมาชำระกิเลส  ที่ทำสมาธินี้ทำสมาธิเพื่อปัญญา  เอวัง