ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ตรงประเด็น

๒๒ ม.ค. ๒๕๕๔

 

ตรงประเด็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้เป็นประสบการณ์ปฏิบัติ

ถาม : ๓๑๙. เรื่อง “ความคิดของปัญญาอบรมสมาธิ และคำถามเรื่องกรรม”

๑. ถ้าเราคิดขึ้นมาเอง โดยที่ไม่มีสติไปเรื่อยเปื่อย (คำว่าไปเรื่อยเปื่อยนี่มันผิดแล้วล่ะ) ไม่มีสติไปเรื่อยเปื่อย อันนั้นกิเลสพาคิดใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราตั้งใจคิดในเรื่องโลกๆ หรือเรื่องที่เราพอใจ หรือตั้งใจคิดไปเรื่อยๆ เช่นทบทวนว่าเราทำกิจวัตรประจำวันอะไรมาบ้างแล้ว อันนั้นไม่นับว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่าครับ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือต้องคิดหาเหตุผล หรืออาจเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า หรือไม่ใช่ก็ได้ เพื่อมาทำให้จิตยอมรับ คลายความยึดถือชั่วคราวใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่.. ถ้าเหตุผลหลังนี่ใช่ ! เหตุผลว่าปัญญาอบรมสมาธิเพราะว่าหลวงตาท่านก็สอนนะ แล้วทีนี้ปัญญาอบรมสมาธิเขาใช้คำว่าดูจิตๆ นี่เราไม่เชื่อ แต่ความจริงมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพียงแต่ว่าเวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดให้กระชับว่าดูจิตๆ แต่ถ้ามีสติมีปัญญานี่มันจะเป็นการควบคุมดูแล แต่ถ้าเราดูเฉยๆ นี่เพราะดูเฉยๆ มันมีสติได้ขาดสติได้ เพราะดูเฉยๆ นี่คนเราพอดู เห็นไหม ดูสิเราทำอะไรโดยความคุ้นชิน สติเราหรือความพลั้งเผลอเราจะเกิดขึ้นทันทีเลย

ฉะนั้นการดูเฉยๆ มันไหลตลอด แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ใช่ ! หลวงตาท่านก็สอนปัญญาอบรมสมาธิ.. คำว่าปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นวิธีการของปัญญาชน พุทธจริต ! พุทธจริต นี่พวกนี้พวกมีปัญญา พวกมีปัญญา พุทโธ พุทโธนี่มันไม่ค่อยมีเหตุผล ความรับรู้ของใจมันไม่ค่อยยอมรับ

ความรับรู้ของใจ.. ตัวใจกับความรับรู้ เจตนา เจตสิก หรือความคิดนี่มันเกี่ยวเนื่องกันไปหมดแหละ เห็นไหม อิทัปปัจจยตา สิ่งนี้มีถึงมีสิ่งนี้ นี่มันเกี่ยวพันกันไป เกี่ยวพันกันไป ฉะนั้นเวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธก็เพื่อให้จิตสงบ แต่ ! แต่มันเป็นพวกศรัทธาจริต.. ศรัทธาจริตคือความมั่นคงหรือว่าเราเอาไว้ผ่อนคลาย.. เอาไว้ผ่อนคลาย เวลาใช้ปัญญาแล้วถ้ามันสงบแล้วหรือมันคิดสิ่งใดไม่ได้ก็ยึดพุทโธไว้เพราะปล่อยไม่ได้ เพราะปล่อยแล้วมันจะแถออกทันทีเลย

ฉะนั้นคำว่าปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม เราต้องคิดแบบมีสติไม่ใช่เรื่อยเปื่อย ความคิดนี่คิดต่อเนื่อง คิดเรื่องโลกนี่คิดต่อเนื่อง อย่างเช่นว่าคิดเรื่องชีวิตประจำวันคิดต่างๆ ถ้ามีสตินี่ใช้ได้หมดแหละ ถ้ามีสติเราคิดเรื่องชีวิตประจำวันนะ แล้วคิดเปรียบเทียบนะเราจะเห็นเลยว่าชีวิตนี้มันก็มีเท่านี้.. ชีวิตนี้เพราะว่าเราไปผูกมัด หรือว่าเราไปยึดมั่นมันก็เกิดอารมณ์กระทบ แต่ถ้ามันเป็นธรรมจริง ถ้ามันเป็นความจริงคือเรามีสติตามไป

ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ ถ้าชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ มันอยู่ในชีวิตประจำวัน เห็นไหม นี่เราก็ทำหน้าที่เท่านี้ จิตมันก็จะอยู่กับเรา แล้วถ้ามันละเอียดไง คือว่ามันปล่อยแล้วมันจะละเอียด.. ละเอียด.. ละเอียด.. พอละเอียดเข้าไปมันจะเห็นว่าชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกเฉยๆ มันเป็นอย่างนี้

คนตื่นกับคนหลับแตกต่างกันอย่างไร คนตื่นนี่มันมีความคิดฟุ้งซ่านตลอดเวลา คนหลับล่ะ คนหลับถ้ามันหลับลึกๆ มันก็ไม่ฝัน ถ้าหลับไม่ลึกนะมันก็ฝัน นี่เวลาคนตื่นคนหลับ..

คนตื่น ! คนตื่นมันมีสติปัญญาควบคุม.. คนหลับ ! คนหลับเวลาจิตมันละเอียดจิตมันปล่อย เห็นไหม จิตมันปล่อย จิตมันปล่อยมามันลงสู่.. จะว่าลงสู่ภวังค์ก็ได้มันหลับไป ถ้าหลับไปคือการพักผ่อน.. นี่พักผ่อนร่างกาย จิตใจถ้าหลับลึกก็ได้พักผ่อน ถ้าจิตใจไม่หลับลึกก็ไม่ได้พักผ่อน นี้เห็นไหม พุทโธ พุทโธก็เพื่อเหตุนี้ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมา นี่มันละเอียดเข้ามา เห็นไหม จากคนหลับคนตื่น จิตใจมันจะรู้ของมัน

คนหลับ หมายถึงว่าหลับไม่มีสติ แต่ถ้าจิตมันปล่อยนะ มันเหมือนคนหลับแต่มีสติ มันไม่หลับไง ไม่หลับหมายความว่าคนหลับคือได้พักผ่อนร่างกาย จิตสงบจิตปล่อยธาตุขันธ์ มันเป็นลงสู่สมาธิ มันสดชื่น มันได้พักผ่อนยิ่งดีกว่าคนหลับลึกๆ เยอะมากเลย เวลาคนหลับนี่นะ ตื่นขึ้นมามันจะสดชื่น เห็นไหม แต่ถ้าจิตมันปล่อยหมดนะ มันออกมานี่มันจะมีของมัน มันจะมีความสดชื่นมีกำลังของมัน

ถาม : ฉะนั้นถ้าเราคิดไปเองโดยไม่มีสติ คิดไปเรื่อยเปื่อย

หลวงพ่อ : อันนี้ไม่ใช่ คำว่าเรื่อยเปื่อย เห็นไหม มันไม่มีสติคือเรื่อยเปื่อย

ถาม : อันนั้นกิเลสพาคิดใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่

ถาม : และถ้าตั้งใจคิดเรื่องโลกๆ หรือเรื่องที่เราพอใจ หรือตั้งใจคิดไปเรื่อยๆ เช่นทบทวนว่า

หลวงพ่อ : คำว่าทบทวนนี่สติมาแล้ว

ถาม : ทบทวนว่าเราทำกิจวัตรประจำวันอะไรบ้าง อันนั้นไม่นับว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : นับ ! ถ้าคิดทบทวนมีสติ นับ ! คำว่านับนะ คำว่านับหมายถึงว่าจิตมันเริ่มฝึกแล้ว ถ้าจิตมีการกระทำ เห็นไหม ดูรถสิ เราไม่เข้าเกียร์ เราติดเครื่องไว้ นี่เราติดเครื่องไม่ได้เข้าเกียร์รถมันฟรีอยู่อย่างนั้นแหละ แต่พอเข้าเกียร์ปั๊บ ถ้าเหยียบคันเร่งปั๊บรถจะแล่นออกจากที่ไปเลย

ถ้ามีสติปั๊บ ! มีความทบทวนปั๊บ ! นี่มันเป็นงานขึ้นมาแล้ว ถ้ามันเป็นงานขึ้นมา นี่มันถึงว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ถาม : ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิต้องคิดหาเหตุผล ซึ่งอาจเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่ก็ได้”

หลวงพ่อ : เห็นไหม “ถ้ามันเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่ก็ได้”

ถาม : เพื่อมาให้จิตยอมรับ คลายความยึดถือชั่วคราวใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่ ! เพราะคลายความยึดถือชั่วคราว เพราะคลายความยึดถือนี่จิตเสวยอารมณ์ ดูสิความคิดไม่มี จิตเรามีไหม.. มี เรารู้สึกตัวอยู่นะแต่ความคิดเราไม่คิด นี่มันไม่เสวยอารมณ์ แต่ถ้าเราคิดเขาเรียกมันเสวยอารมณ์ ถ้ามันไม่เสวยปั๊บมันเป็นจิตเพียวๆ เห็นไหม จิตเพียวๆ ถ้ามีสติดีๆ นี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิมันเกิดตรงนี้ไง

นี่เป็นสมาธิคือจิตมันได้พัก.. พอจิตได้พักปั๊บ เวลาเครื่องยนต์ ถ้าเครื่องหลวมเครื่องไม่มีกำลัง ออกตัวนี่ออกตัวไม่ไหว แต่ถ้าเครื่องแน่น เครื่องเราฟิตมาดี เครื่องเราใหม่เอี่ยม เวลาออกตัวกำลังจะมีมหาศาลเลย

จิต ! จิตถ้ามันไม่เสวยอารมณ์นี่มันได้พัก เห็นไหม มันได้พักจิตเรามันจะมีกำลัง พอมีกำลังเราออกไปนี่เรารู้เลยว่ากำลังมันเป็นอย่างไร ความคิดหรือว่าต่างๆ นี่ถ้ามันออกรู้ ถ้าจิตมันเป็นสมาธิแล้ว แล้วออกพิจารณามันจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง

ฉะนั้นปัญญาอบรมสมาธิไงมันเป็นอย่างใด.. นี่ความคิดพอเวลาเราคิดเรื่อยเปื่อยนี้ไม่ใช่ แต่ถ้าคิดเรื่องโลก คิดเรื่องโลกถ้ามีสติมันก็เป็นธรรม คิดเรื่องธรรมมีสติมันก็เป็นธรรม คิดเรื่องธรรมไม่มีสติมันก็เรื่อยเปื่อยเหมือนกัน.. คิดเรื่องโลกหรือเรื่องธรรม สติเห็นไหม หลวงตาบอกถ้ามีสตินั้นคือการภาวนา ถ้าขาดสติทำอย่างไรอยู่ก็ไม่ถือว่าเป็นการภาวนา นี่ไม่เป็นการภาวนา แต่คนเรามันเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติมันมีผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดา

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เรามีสติตามไปแล้วฝึกไป ฝึกไปเดี๋ยวจะรู้ด้วยตัวของเราเอง

ถาม : ๒. ปกติผมชอบคิดไปเรื่อยๆ แต่พอจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิรู้สึกว่ามันยาก พอคิดไปๆ แล้วมันกลายเป็นว่ามันไปคิดอยู่เรื่องเดิมๆ หรือวนไปวนมาในอ่าง หาเหตุหาผลมาให้จิตเริ่มสงบไม่ได้สักที ที่สำคัญบางครั้งรู้สึกว่าเรื่องที่เคยหาเหตุหาผลได้แล้ว พอมันยึดอีก เหตุผลเดิมๆ ที่เคยคิดเอาไว้มันเอามาใช้ใหม่แล้วไม่ได้ผลครับ

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ! ปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันมีสติขึ้นมา เห็นไหม มันจะคิดอยู่เรื่องเดิมๆ ถ้าวนๆ อยู่ในอ่างแสดงว่าสติไม่ดีแล้ว แต่ถ้ามีสตินะมันจะตามไปนะ เวลามันหยุดนี่หาเหตุหาผล เวลาหาเหตุหาผล จิตเริ่มสงบสักที มันวนอยู่อย่างนั้นล่ะเพราะมันขาดสติ ถ้าขาดสตินะ ขาดสติหรือว่ากำลังมันไม่มี เราคิดนี่แสดงว่ากิเลสมันแก่ เรากลับมาพุทโธบ้างก็ได้ ถ้ามันไม่มีทางออก กลับมาพุทโธ แล้วถ้าพุทโธแล้วเรากลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้.. ที่สำคัญ อันนี้จะเป็นเหตุผลนะ

ถาม : ที่สำคัญบางครั้งรู้สึกว่าเรื่องที่เคยหาเหตุผลได้แล้ว พอมันมายึดอีก เหตุผลเดิมๆ ที่เคยมาใช้มันใช้ไม่ได้

หลวงพ่อ : นี่คือสัญญา เห็นไหม เราไปเป็นสูตรสำเร็จไง อย่างเช่นเราบอกว่าน้ำตาลคือหวาน น้ำตาลคือหวาน แต่มาคิดอีกทีหนึ่งน้ำตาลจะหวานจริงหรือเปล่า น้ำตาลมีรสหวาน น้ำตาลมีรสหวาน แล้วมันจะหวานจริงหรือเปล่าล่ะ.. นี่เพราะคำว่าน้ำตาลมีรสหวานมันเป็นความจำไง แต่ถ้าเราได้กินน้ำตาลนั้น น้ำตาลรสหวาน หวานแน่นอนเพราะเรากินแล้ว นี่ถ้ามันเป็นปัจจุบันนะมันจะเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นบอกว่าพอมันคิดเรื่องเดิมๆ แต่ทำไมมันหาเหตุผลเดิมๆ มาใช้ มันใช้ไม่ได้หรอก.. นี่ถึงบอกว่าคำว่าปัจจุบันธรรมๆ มันจะเกิดในปัจจุบันนั้น เวลาเราเหตุผลเดิมๆ เหตุผลที่เราเคยใช้เอามาใช้อีก ถ้ามันใช้ได้ก็ใช้ได้ ถ้าใช้ไม่ได้นี่เราปล่อยเลย เราคิดเป็นปัจจุบันไม่ต้องเอาเหตุผลเดิม เหตุผลเดิมนี่นะมันเป็นแบบว่าเราคิดอะไรไม่ออกแล้ว หรือเราไม่มีทางออกเราเอาเหตุผลเดิมๆ

อย่างเช่นเวลาฟังเทศน์ไปพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ว่าอย่างนั้น นี่คือจำมานะ แต่จำมานี่มันยังไม่เกิดกับเรา แต่ถ้าเราคิดของเรา แล้วเราใช้ปัญญาของเรา ถ้ามันเกิดเหตุผลในปัจจุบันนั้นจิตมันยอม ถ้าจิตมันยอมนี่เพราะเหตุผลมันต้องเหนือกว่า พอเหตุผลเหนือกว่ามันปล่อยได้ๆ ถ้าปล่อยได้อย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าปัจจุบัน

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไปนี่ปัจจุบัน เหตุผลเดิมๆ มันเป็นสัญญา มันเป็นอดีต.. เรามีเงินอยู่ ๑๐๐ บาท เราใช้เงินไปหมดแล้ว เรายังคิดว่าเรามีเงินอยู่ ๑๐๐ บาทอย่างเดิมนั่นล่ะ เห็นไหม เงิน ๑๐๐ บาทก็ยังอยู่ในกระเป๋า.. ไม่ใช่ ! เราใช้จ่ายไปหมดแล้ว ถ้าจะใช้ ๑๐๐ บาทใหม่ต้องหาใหม่ ฉะนั้นพอใช้เงิน ๑๐๐ บาทนี้หมดไปยังภูมิใจอยู่ว่าเรามีเงิน ๑๐๐ บาท มีเงิน ๑๐๐ บาท

เวลาเราใช้เหตุผลเดิมมันจบไปแล้ว แล้วพอเราจะใช้ใหม่เราบอกเรามีเงินอยู่ ๑๐๐ บาท.. ไม่มีหรอก เพราะว่าเหตุผลเดิมๆ คือมันใช้ในคราวนั้นจบไปแล้ว แล้วพอมาในปัจจุบัน ๑๐๐ บาทนี่ต้องหาใหม่นะ ๑๐๐ บาทเหมือนกันแต่ ! แต่ต้องมี ๑๐๐ บาทใหม่ ๑๐๐ บาทที่ใช้ไปแล้วคือจบไปแล้ว.. นี่สัญญา ! คำว่าสัญญานี่ใช้ไม่ได้ สัญญาถ้ามันใช้นี่เราจะละล้าละลังไง เอ๊ะ.. ๑๐๐ บาทเราใช้ไปแล้วนี่ แล้ว ๑๐๐ บาทก็ยังอยู่จะเอาไปซื้อของอีกตำรวจจับนะ เพราะเงินไม่มี

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาบอกเราใช้ไปแล้ว เราจะเอามาใช้ใหม่อีกรอบหนึ่ง.. ใช้ใหม่อีกรอบหนึ่ง ถ้ามันเป็นเงิน ๑๐๐ บาทที่หาใหม่ เห็นไหม สัญญาคือมันไม่ใช่ปัจจุบัน ไม่มีข้อเท็จจริง มันได้ใช้ไปแล้ว แต่ถ้าเราคิดในปัจจุบันนี้ คิดในปัจจุบันนี้เงิน ๑๐๐ บาทที่ใช้ไปแล้ว กับเงิน ๑๐๐ บาทในปัจจุบันมีค่าเท่ากัน แต่เงิน ๑๐๐ บาทที่ใช้ไปแล้วคือจบไปแล้ว เงิน ๑๐๐ บาทที่หาใหม่ก็คือเงิน ๑๐๐ บาท

คำว่าสัญญากับไม่สัญญามันแตกต่างกันตรงไหนไง.. เวลาความคิด นี่ความคิด เห็นไหม มันก็ความคิดอันเดิมนี่แหละ แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบันมันมีกำลัง มีสติ มีสมาธิขึ้นมา มันเป็นเงินสดๆ แต่ถ้ามันเป็นความจำทั้งหมด มันเป็นเงินที่ใช้ไปแล้ว นี่ข้อที่ ๒ มันถึงบอกว่า

“ที่สำคัญบางครั้งรู้สึกว่า เรื่องที่เคยหาเหตุผลได้แล้ว” นี่เงิน ๑๐๐ บาทใช้ไปหมดแล้ว

“พอมันยึดอีก เหตุผลเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกแล้ว” นี่คือสัญญา !

“สัญญากับปัญญาแตกต่างกันอย่างใด” ในข้อที่ ๒ นี้.. นี่ผู้ปฏิบัติข้อนี้มันพิสูจน์เลย แล้วนี่มันเป็นปัจจัตตังของคนที่ปฏิบัติ มันเป็นปัจจัตตังของผู้ถาม ผู้ถามเอาเหตุผลข้อนี้มาเทียบเคียงกันว่าสัญญามันให้ผลอย่างนี้ ปัญญามันให้ผลอย่างนี้ นี่ปัญญากับสัญญามันให้ผลแตกต่างกันอย่างไร แล้วเราฝึกของเราไป มันจะพัฒนาของมันขึ้นมา

ถาม : ๓. เคยฟังกัณฑ์เทศน์อาชีพที่หลวงพ่อพูดถึงนักแสดง ผมอยากถามเพิ่มเติมว่า ถ้าเราไม่ใช่นักแสดงแต่เราชอบร้องเพลงหรือเล่นดนตรีให้คนอื่นฟัง โดยไม่ได้หวังเงินทองตอบแทน อันนี้ก็เรียกว่าเข้าข่ายกรรม ให้คนอื่นมีราคะ โทสะ โมหะมากขึ้น อาจจะส่งผลให้ตกนรกได้ (ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องบุญในด้านอื่นๆ) ใช่ไหมครับ อันนี้รวมไปถึงพวกที่ชอบโพสรูปโป๊เปลือยในอินเตอร์เน็ตด้วยไหมครับ

หลวงพ่อ : เหมือนกันหมดแหละ.. นี่เวลาเราพูดเราจะพูดบ่อยว่าพระพุทธเจ้าเคยสอน เวลาบอกพระ เห็นไหม “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

ความประมาทเลินเล่อนี่แหละทำให้พวกเราขาดตกบกพร่อง ทำให้พวกเรามีอุปสรรคมาก็เพราะความประมาทมาทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเรามีสตินะมันก็มีเรื่องกรรมเหมือนกัน ถ้ามีสตินะมันจะมีความผิดพลาดบ้างไหม.. มี คนมีสติขนาดไหน คนเดินขนาดไหนนี่ ๒ ขาเรายังลื่นล้มได้ เดิน ๒ ขาเรายังลื่นล้มหกล้มหกลุกคลุกคลานมา

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเราก็เล่นดนตรีในหมู่เพื่อนอะไรเนี่ย ถ้าเขายังเป็นทางโลกอยู่ การสังสรรค์กัน การอะไรกันมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาของเขา แต่ถ้าเรามีสติของเรานะ เรามีสติของเราเราจะอยู่กับเขาเป็นชั่วคราวเพื่อรักษามารยาท เหมือนกับคนที่กินมังสวิรัติ เห็นไหม กินมังสวิรัติเวลาเข้าไปอยู่กับเพื่อน เพื่อนเขาไม่กินก็เขี่ยเอาๆ ก็รักษาน้ำใจเพื่อน อย่างเช่นเราถือศีล ๘ เราไม่กินข้าวเย็น แต่เวลาเราไปงานเลี้ยง เขานั่งกินกันเราก็นั่งกับเขาแต่เราก็ดื่มน้ำเอา ดื่มน้ำ

เราใช้มารยาทถ้าเราจะรักษามารยาทสังคมนะ เราไปงานเลี้ยงเราก็ตักไปกับเขานั่นแหละแต่เราก็มีเทคนิคของเรา นี่ถือศีลด้วยความมีปัญญาไง ในงานเลี้ยงเขาก็มีน้ำ มีน้ำมีต่างๆ เราจิบน้ำเอาก็ได้ อาหารเราก็ว่าเรากินแล้ว เรามีอะไรเราก็ว่ากันไป

นี่พูดถึงในสังคมนะ แต่ถ้าเราไม่ได้เข้าสังคม เห็นไหม สิ่งนี้สิ่งที่พอเวลาเราถือศีล ๘ ศีล ๘ การละเล่น การฟ้อนรำนี่มันไม่ได้ ไม่ได้เพราะเหตุใด ไม่ได้เพราะว่ามันเป็นการเพลิดเพลิน เป็นการทำให้ประมาท เป็นการทำให้ต่างๆ ไป ถ้าเราถือศีลมากขึ้นหรือเราปฏิบัติมากขึ้น กรณีอย่างนี้เราจะหาทางออกเอง แต่ ! แต่นี่ผู้ถามถามว่า เพราะว่าเป็นคนชอบไง เราไม่ใช่มีอาชีพ แต่เราชอบเล่นดนตรีให้คนอื่นฟัง

อันนี้มันเป็นนิสัยใจคอ อันนี้มันแบบว่าให้หาเหตุผลเอาเอง ความพอดีของเราไง ความดีของคน นิสัยใจคอคนไม่เหมือนกัน นี่สภาวะแวดล้อมของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ถ้าสภาวะแวดล้อมไม่เหมือนกันนี่เราก็หาเอา หาเอาเพราะว่าคนเราเกิดมามันอยู่ในสังคมแบบใดนี้ มันก็อยู่ที่ว่าเกิดในประเทศอันสมควรไง เกิดในประเทศอันสมควร พ่อแม่เป็นประเทศอันสมควร สังคมนั้นเป็นประเทศอันสมควร แล้วเราหาประเทศอันสมควรของเราเอง คือเราแสวงหาของเราเอง

ถาม : ๔. ถ้าเรารู้ว่าเราจะต้องตายแน่ๆ เช่นกำลังจะถูกฆ่า เราชิงฆ่าตัวตายเสียก่อนเพราะกลัวทรมาน แบบนี้ถือว่าเราทำอัตวินิบาตกรรม ต้องชดใช้กรรมส่วนนี้ด้วยไหมครับ

หลวงพ่อ : อันนี้คงจะไม่ค่อยมีหรอกเนาะ ไอ้ที่ว่าเราจะรู้ว่าโดนคนอื่นฆ่าแล้วเราฆ่าตัวเองก่อน คงจะไม่ค่อยมีหรอก ถ้าเราจะโดนคนอื่นฆ่าเราก็หนีของเราซะก่อน ไอ้นี่มันเป็นเหตุผลสมมุติ สมมุติหาเรื่องมาให้ตอบ

“ถ้าเรากำลังจะถูกเขาฆ่า เราชิงฆ่าตัวเราตายเสียก่อนเพราะกลัวทรมาน แบบนี้ถือว่าอัตวินิบาตกรรมหรือเปล่า”

คำว่าถือนี่นะ แน่นอน ! เพราะเราฆ่าตัวตาย แต่การฆ่าตัวตายเพราะมีเหตุการณ์ เห็นไหม เขากำลังจะถูกฆ่า การฆ่าตัวตายด้วยความวิตกว่ากลัวตัวเองจะทุกข์ ชิงฆ่าตัวตายเสียก่อน แต่ถ้าเขาจะฆ่าเรา ถ้าเรามีปัญญานะเราพูดกับเขาดีๆ เขาก็ไม่ฆ่าเรา หรือเรามีเหตุการณ์ที่เราจะเอาตัวเรารอดได้ เขาก็ไม่ฆ่าเรา.. อันนี้มันเป็นวิตก ตัวเองวิตกวิจารไปเอง แล้วก็ทำร้ายตัวเอง เขาเดินเข้ามานี่เขาจะมาขอบคุณเรา เราก็ไม่รู้ว่าคิดว่าเขาจะมาฆ่าก็ชิงฆ่าตัวตายไปเสียก่อน ทั้งๆ ที่เขาจะมาขอบคุณ เขาจะมาหาเหตุผลให้

อันนี้เป็นเหตุการณ์สมมุติ ฉะนั้นแบบว่ามันอยู่ที่เหตุปัจจัยนะ อยู่ที่การกระทำ ฉะนั้นเหตุการณ์สมมุติอย่างนี้.. สมมุติว่าเหตุการณ์นี้ ก็สมมุติว่าไม่ตอบ ไม่รู้เรื่อง

ถาม : ๕. ถ้าหากบิดามารดาสั่งเสียไว้ว่า ถ้าท่านป่วยจนไม่รู้สึกตัวแล้ว ให้ถอดสายช่วยหายใจ ถ้าเราทำตามที่ท่านสั่ง แบบนี้ถือว่าอนันตริยกรรมหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : อืม.. ถ้าท่านสั่งไว้ว่านะ แล้วตอนนี้มันมีปัญหานี้อยู่เยอะมาก ว่าถ้าท่านป่วยจนไม่รู้สึกตัวแล้ว อันนี้มันอยู่ที่หมอเนาะ ต้องคุยกับหมอ หมอว่าสมควรไหม เป็นไปได้ไหม

อนันตริยกรรม.. อนันตริยกรรมคือฆ่าพ่อฆ่าแม่เนาะ อันนี้ถือว่าเป็นการฆ่าพ่อฆ่าแม่ไหม อันนี้มันอยู่ที่คนฉลาดนะ คนฉลาดว่ามันเป็นได้มากน้อยแค่ไหน นี่พ่อแม่เราก็ต้องรักษานั่นแหละ เพราะพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ถ้าชีวิตเรามีคุณค่าแค่ไหน พ่อแม่ก็มีคุณค่าแค่นั้น เพราะชีวิตนี้เราได้มาจากพ่อแม่ ฉะนั้นชีวิตเราก็มีค่า ชีวิตของพ่อแม่ก็มีค่า.. คำว่ามีค่าคือมีคุณค่านะ

ฉะนั้นไอ้ที่ว่าอย่างนี้ที่ว่าการช่วยถอดหายใจพ่อแม่สั่งไว้ จริงๆ พ่อแม่ก็สั่งไว้เพราะพ่อแม่ก็เป็นห่วงลูกมาก อยากให้ทุกๆ คนมีความสุขก็สั่งไว้ แต่มันก็ดูที่สมควรคือต้องถามหมอนั่นแหละ หมอเขาทำให้ได้หรือไม่ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเราจะไม่มีใครไปทำเองหรอก มีแต่ทุกคนต้องถามหมอก่อน ต้องปรึกษากันถามหมอกัน

ฉะนั้นอนันตริยกรรมมันก็ต้องเบาลงเป็นธรรมดาเพราะเราไม่ได้ตั้งใจ อยู่ที่เจตนา.. ไม่ได้ตั้งใจ กรรมก็คือกรรม ถ้าไม่ได้ตั้งใจแล้วมันก็ต้องประชุม เราก็ต้องดูเหตุผล ไอ้นี่มันคงไม่ได้เกิดบ่อยหรอก มันไม่ใช่ไม่ได้เกิดบ่อย มันจะไม่เกิดกับทุกๆ คน.. กรรมนี่เวลาสิ้นอายุขัยของแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นพอเราไปรู้ นี่พอเราไปรู้ไปเห็นเข้า แล้วเราก็คิดว่าเป็นปัญหาของเราหมดเลย เราจะไปแบกโลก เหตุนั้นยังไม่เกิดกับเรา.. เหตุนั้นยังไม่เกิดกับเรา ทีนี้เหตุในปัจจุบันนี้ก็ดูแลพ่อแม่ให้ดีก่อน

พ่อแม่นี่ดูแลให้ดี น้ำใจมีคุณค่ากับการดูแลนะ ถ้าแสดงความมีน้ำใจออก พ่อแม่มีความสุขอันนี้ มีความสุขจากค่าน้ำใจ ค่าน้ำใจนี้เป็นนามธรรมไม่ได้เป็นวัตถุเลย สิ่งที่เป็นค่าน้ำใจที่แสดงออก สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์มาก

ค่าน้ำใจสำคัญมาก ! เรื่องอื่นมันทีหลังไง แล้วเหตุการณ์อย่างนี้จะไม่เกิดง่ายๆ หรอก เพราะว่าชีวิตการเกิดมันก็เกิดยาก แล้วคิดดูเวลาธรรมของพระพุทธเจ้า เห็นไหม เกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก เหมือนเต่าตาบอดอยู่ในทะเล โผล่ขึ้นมานี่มันมีบ่วงอยู่ ถ้าเข้าบ่วงนั้นก็เกิดเป็นมนุษย์ คือเราได้เกิดแล้ว

ฉะนั้นสิ่งนี้พอเราได้เกิดแล้ว ผู้ถามนี่ก็คิดว่าสิ่งนี้จะเป็นคุณประโยชน์ใช่ไหม แล้วตัวเองจะทำตัวเองเพื่อเป็นประโยชน์ ฉะนั้นก็เลยคิดเอาไว้ก่อนว่าเราจะเจอเหตุการณ์อย่างนั้น เจอเหตุการณ์อย่างนั้น.. ยังไม่เจอ ไม่ต้องวิตกวิจารไป ให้อยู่กับปัจจุบัน แล้วพยายามภาวนาของเราไป จะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ทำให้เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมาก่อน เหตุการณ์ยังไม่เกิด อย่าวิตกวิจารจนมากดดันชีวิตเราเองไง ไม่ต้องเอาสิ่งนั้นมากดดันชีวิตเรา

ยังไม่มีเหตุการณ์นั้น.. ถ้ามีเหตุการณ์นั้น ในปัจจุบันนั้น เราค่อยแก้ไขตามปัจจุบันนั้น เรา จะอยู่กับปัจจุบัน แล้วจะเป็นประโยชน์กับเราด้วย !

อันนี้มันข้อ ๓๒๑. ไง ข้อ ๓๒๑. แล้วนะเรื่องศีลและธรรม.. อันนี้ก็เป็นกังวลอีกแหละ

ถาม : ๓๒๑. เรื่อง “ศีลและธรรม”

ผมติดตามพระอาจารย์ตอบคำถาม แล้วมีความชื่นชอบถูกใจ เหตุเพราะตอบได้ตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม ไม่แทงกั๊กดีครับ วันนี้ผมจึงขออนุญาตส่งคำถามมาร่วมถามกับเขาบ้าง เป็นคำถามคนกิเลสหนาๆ ที่ยังใช่นักภาวนา ขอความกรุณาพระอาจารย์ด้วยครับ เพราะหาคำตอบที่ไหนชอบตอบกั๊กๆ ผมไม่แน่ใจในคำตอบ ขอแบบตรงๆ ครับ (ตรงๆ เลยนะ)

๑. เที่ยวโสเภณีที่เขาถือว่าผิดศีลข้อ ๓ ใช่ไหม ถ้าเราเป็นชายโสด และไม่ได้เป็นนักบวช เพราะเคยฟังมาว่า “เนื่องด้วยเธอประกาศตัวเป็นของกลางแล้ว จึงถือว่าไม่ผิดศีลข้อนี้” ขอคำตอบชี้ชัดด้วยครับ

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นชาวพุทธด้วยกันนะ เที่ยวโสเภณีนี่ผิดศีลข้อ ๓ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ! ร้อยเปอร์เซ็นต์ ! ผิดเด็ดขาด ! ถึงเขาจะประกาศตัวของเขา เขาประกาศตัวของเขาโดยตัวของเขา พ่อแม่ของเขาไม่ได้ประกาศด้วย

การผิดศีลนี่ผิดศีลเพราะอะไร ผิดศีลเพราะว่าถ้าเราเป็นคู่ครองกัน เห็นไหม มีการสู่ขอ เราไปสู่ขอพ่อแม่เขา แล้วพ่อแม่เขาอนุญาตให้ พอพ่อแม่เขาอนุญาตให้เราก็ทำพิธีมงคลสมรสกัน ถ้าทำพิธีมงคลสมรสกัน หรือว่าเราจะผูกข้อมือกัน หรือว่าเป็นการรับรู้กัน เป็นการรับรู้ระหว่างพ่อแม่ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย อันนี้ถือว่าไม่ผิดศีล ไม่ผิดศีลเพราะว่าพ่อแม่เป็นผู้ให้

ลูกทุกคนเกิดจากพ่อจากแม่ เราเป็นคนตัดสินใจของเราเอง แล้วพ่อแม่รู้อะไรกับเราไหม แต่เวลาเราจะมีคู่ครองนี่เราต้องขอจากพ่อจากแม่เขา ถ้าจะขอจากพ่อจากแม่เขา เห็นไหม ดูสิตอนนี้มีคดี นี่ผู้หญิงกับผู้ชายหนีตามกันไป พ่อแม่ฝ่ายหญิงเขาไม่ยอมเขาฟ้องศาล พอเขาฟ้องศาลเขาก็จะเอาลูกเขยมาขึ้นศาล อ้าว.. ก็ ๒ คนยินยอมกันแล้ว แล้วพ่อแม่เขาฟ้อง ถ้าเด็กมันไม่บรรลุนิติภาวะ

มีคดีบนศาลเยอะแยะ นี่มันมีคดีบนศาล ขนาดคดีบนศาลมันยังผิดอยู่แล้ว แล้วนี่เขาก็ประกาศตัวเขาเอง แต่พ่อแม่เขาประกาศด้วยหรือเปล่าล่ะ คำว่าผิดศีลนะ ผิดศีลเพราะอะไร.. ไม่ผิดศีลเพราะว่าการวิวาห์ การขอ การสู่ขอ.. อาวาหมงคล วิวาหมงคล เห็นไหม แต่งเข้าอยู่ฝ่ายหญิง หรือผู้หญิงอยู่ฝ่ายชาย

นี่ไงศาสนาพุทธถ้าศีล ๕ ศีล ๕ เพราะอะไร เพราะถ้าอย่างนั้นนะ ถ้าอย่างนั้นในทางกฎหมายนะ ในเมื่อลูก ๒ คนรับรู้กัน แล้วถ้าอย่างนั้นแล้วพอเขาเป็นคู่สามีภรรยากันโดยที่ไม่มีผลตามกฎหมาย ถ้าไม่มีผลตามกฎหมาย สมบัติในบ้านนั้นมันขัดแย้งหรือยังล่ะ แต่ถ้าเขามีผลทางกฎหมาย ถ้าเขามีผลทางกฎหมายปั๊บ ในสมบัติทางฝ่ายพ่อหรือว่าฝ่ายแม่คือลูกมีสิทธิไง ลูกมีสิทธิตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายมันถูกต้องมาตั้งแต่ต้นใช่ไหม เพราะกฎหมายนี่มีการสู่ขอ มีผลทางกฎหมาย

มีผลทางกฎหมายนะ นี่พ่อแม่ทำผิดหรือลูกทำผิด เห็นไหม พ่อแม่หรือลูกต้องชดใช้ความผิดนั้นตามกฎหมายๆ นี่ไง ฉะนั้นว่าเขาประกาศนี่เขาอ้างไง นี่เวลาคนจะอ้างว่า “เพราะเธอประกาศตัวว่าเป็นของกลาง”

การประกาศตัวนี่นะ ภาษาเรานี่เป็นภาษาโลก แล้วไม่มีกฎหมายรองรับ คำว่ากฎหมายรองรับ บางประเทศเขามีกฎหมายรองรับว่าการเป็นโสเภณีเขามีกฎหมายรองรับ การมีกฎหมายรองรับนั้น ไม่อย่างนั้นมันผิดกฎหมายไง ถ้าเขามีกฎหมายรองรับนี่เขาประกาศว่าเขาเป็นกลาง แล้วถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ..

ถ้ามีกฎหมายรองรับก็รองรับเฉพาะบุคคลคนนั้น นี่พอกฎหมายรองรับทุกคนจะไม่ประกาศตัว ประกาศตัวเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้ถือนี่ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีศักดิ์ศรี ถ้ามนุษย์มีศักดิ์ศรี นี่สิ่งที่เป็นศักดิ์ศรีเพราะเขามีความจำเป็น เขามีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เขามีความจำเป็นทางสิ่งใด สิ่งนี้เราน่าเห็นใจนะ ที่พูดนี้ไม่ได้พูดด้วยความเหยียบย่ำใครทั้งสิ้น เขาบอกว่าเขาต้องการคำตอบตรงๆ คำตอบตรงๆ ก็ต้องตอบตรงๆ

ทุกคนนะ ทุกคนเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเกิดด้วยกรรม ทุกคนมีกรรมมานะ ทีนี้การมีกรรมนี่เราตกอยู่ในสถานะนั้นๆ ถ้าพูดถึงนี่เราเห็นใจเขา เราช่วยเหลือเจือจานเขาด้วยการเสียสละในสังคมชาวพุทธ อันนี้เป็นอย่างหนึ่ง แต่นี้บางคนฉวยโอกาส ฉวยโอกาสว่าสิ่งนี้ในเมื่อเขาขาดแคลนทางเศรษฐกิจ เราก็ว่าเขาประกาศตัวเป็นกลาง เราเอาเงินนี้ไปซื้อเขา เราเอาเงินนี้ไปแล้วเราบอกว่าสิ่งนี้ไม่ผิดศีล

ถ้าพูดโดยธรรมนี่ผิด ! ผิดศีลข้อ ๓ เด็ดขาด ! เด็ดขาดเลย เพียงแต่สังคมไทย สังคมโดยทั่วไปมันก็ผิดใช่ไหม ผิดแล้วก็ยังอย่างว่าแหละ เขาผิดศีลของเขา ฉะนั้นเขาผิดศีล นี่คำว่าศีลด่างพร้อย.. ศีลด่างพร้อย ศีลทะลุ ศีลขาด ถ้าศีลขาดนะ..

ฉะนั้นเที่ยวโสเภณีนี่ผิดศีลข้อ ๓ ไหม.. ผิด ! ผิดเด็ดขาด ! เพียงแต่ อ้าว.. ก็เขาประกาศตัวเป็นกลาง แล้วอย่างว่านี่ยิ่งสมัยปัจจุบันนะวัยรุ่น เห็นไหม ถือว่า ๒ คน ระหว่างเรา ๒ คนสมัครใจนี่ไม่ผิด.. ผิด ! ถ้าไม่ผิดปิดทำไม ไม่ผิดทำไมไม่บอกพ่อแม่ พ่อแม่รู้พ่อแม่เสียใจทันทีเลย

นี่ไงมันผิดตรงนี้ไง ผิดเพราะว่าพ่อแม่ยังไม่อนุญาต แต่ถ้าพ่อแม่อนุญาตแล้วนะ เขาแต่งงานกัน เออ.. อย่างนี้พ้นไป อย่างนี้ถูกต้องหมดเลย พอถูกต้องมันก็ไม่ผิดใช่ไหม แต่อย่างนี้ผิด เพียงแต่ผิดมากหรือผิดน้อย.. คำว่าผิดมากคือมันถลำตัวมากหรือถลำตัวน้อยแค่ไหน แล้วเหตุการณ์มันเป็นอย่างไร แต่ผิดนี่ผิดเด็ดขาด ผิดแน่นอน !

นี่พูดถึงข้อ ๑ นะ

ถาม : เที่ยวโสเภณีที่เขาถือว่าผิดศีลข้อ ๓ ไหมครับ ถ้าเราเป็นชายโสด (ถ้าเราเป็นชายโสดนะ) และไม่ได้เป็นนักบวช เพราะเคยฟังมาว่า “เนื่องด้วยเธอประกาศตัวเป็นของกลาง จึงถือว่าไม่ผิดศีลข้อนี้” ขอคำตอบที่ชัดเจน

หลวงพ่อ : เขาประกาศตัวเป็นกลางหรือไม่เป็นกลางก็แล้วแต่เขามีพ่อมีแม่ พระพุทธเจ้านะ เป็นศาสดานะ ท่านมองถึงปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน.. นี่ศีลมันมาจากนั้นหมด

ฉะนั้นเวลาภิกษุชักให้เขาแต่งงานกัน ภิกษุชักให้เขาได้เสียกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส..

ภิกษุยุแหย่ที่เขารักกันให้แตกกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส..

นี่ไม่ให้พระเข้าไปยุ่งเรื่องอย่างนี้เลย ไม่ยุ่งอยู่แล้วเพราะพระเป็นพรหมจรรย์ นี่พูดถึงว่าถ้าเขาประกาศตัวเป็นกลาง แต่ถ้ามันเป็นโดยโลก มันเป็นอย่างนั้นมันเกี่ยวเนื่องกันไปไง

เราจะบอกว่ามันมีผลสะเทือนทางหัวใจ ! มันมีผลสะเทือนทางหัวใจพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย กับลูกหลาน มีผลสะเทือนนะ แต่ถ้าสู่ขอกัน เห็นไหม สู่ขอกันด้วยความถูกต้องตามกฎหมาย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เห็นดีเห็นงามด้วย.. จบ ! มันเป็นเรื่องสวยงามด้วย

นี่พระพุทธเจ้าถืออย่างนั้น นี่พูดถึงเรื่องศีลนะ ! แต่อยู่ที่สังคมประเพณีพื้นถิ่นมันก็มีความแตกต่างกันไป อันนี้เป็นความเห็นไม่ใช่เกี่ยวกับศีลธรรม

ถาม : ๒. เลี้ยงสุนัข เลี้ยงแมวทำฟาร์มเป็นอาชีพ ผิดศีล ๕ หรือสัมมาอาชีวะไหมครับ

หลวงพ่อ : สัมมาอาชีวะ อาชีพอันสมควร.. สัมมาอาชีวะผิดไหมครับ

เลี้ยงไว้ขายใช่ไหม ทำฟาร์มไว้ขาย.. ผิดแหละ มันก็มีความผิด มันมีความเศร้าหมอง แต่นี้อาชีพ เห็นไหม ถ้าสัมมาอาชีวะนี่ไปดูในนวโกวาท ขายอาวุธ ขายเครื่องมือจับสัตว์ ยังไม่เป็นสัมมาอาชีวะเลย แต่นี้ตัวสัตว์มันมีชีวิตนะ แต่นี่เวลาบอกว่าผิดไหม.. ผิด แต่เราก็เลี้ยง เราก็เลี้ยงสุนัขนะ หมาเรานี่เราขังไว้ในกรงเยอะเลย ทั้งๆ ที่ตามวินัยนะกักขังนี่เป็นอาบัติทุกกฎ

การหน่วงเหนี่ยงกักขัง พระนี่เป็นอาบัติทุกกฎเลย แต่เราก็เลี้ยงของเราไว้ เพราะว่าเขาเอามาให้ แล้วเราเลี้ยงไว้เราก็กักขัง เรากักขังเพราะว่าเขามากวน มาทำให้ทำลายความสงบของคนอื่นเราก็กักขัง แต่ถ้ากักขังนี่มันเป็นอาบัติเลยล่ะ แต่กักขังนี้กักขังเพื่อประโยชน์สาธารณะ กักขังเพื่อประโยชน์ของภิกษุ กักขังเพื่อประโยชน์ของคนที่มาวัด เราก็กักขังเขาเหมือนกัน แต่ถึงเวลาแล้วเราก็ปล่อย

ทีนี้อย่างนี้สัมมาอาชีวะเราก็เศร้าหมองแล้วล่ะ นี่เราเองก็สัมมาอาชีวะเศร้าหมอง อันนี้มันอยู่ที่เลือกนะ เราเองเราก็เลี้ยง แต่เราไม่เลี้ยงไว้ขายนะ เราไม่ได้ทำฟาร์ม เราเลี้ยงด้วยว่าเราติดมันว่าอย่างนั้นเถอะ มันไม่ติดเราเราติดมัน เพราะเราเอามันมาเลี้ยง เราติดสุนัขไม่ใช่สุนัขติดเรา มันพูดนี่มันจะอ้างเข้าข้างตัวเองหมดล่ะ

ฉะนั้นผิดไหม.. ผิดอีกแหละ ฉะนั้นถ้าผิดนะเราเลี้ยง เลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงไม่ทำฟาร์ม เราไม่ได้เลี้ยงไว้ขายนี่มันไม่ผิดไง แต่ถ้าทำฟาร์ม คำว่าทำฟาร์ม.. แต่ถ้าทำฟาร์มนะ เราทำฟาร์มแล้วเราคิดว่าเราไม่ได้ฆ่าเขา นี่ทางโลกเขาบอกว่าเราเอาสัตว์เลี้ยง เพราะเขาไม่มีคนดูแล เราเอามาเลี้ยงเพื่อความสุขสบายของเขาเราควรได้บุญ ถ้าเราได้บุญนะ เราเลี้ยงเขาด้วยหัวใจนี่ได้บุญจริงๆ แต่ถ้านี้พอเราไปซื้อขาย ถ้าเราให้นี่อีกเรื่องหนึ่ง

นี่สัมมาอาชีวะมันเกิดตรงนั้นไง คือความสะอาดบริสุทธิ์มันมีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ถ้าละเอียดมันจะสะอาดบริสุทธิ์โดยที่ไม่มีอะไรผิดเลย นี่เวลาตอบปัญหามันมีอย่างนี้ไง ถ้าตอบปัญหาแบบกลางๆ ก็กั๊กอีกล่ะ นี่กั๊กก็ไม่เอา ห้ามตอบกั๊กด้วย แทงกั๊กไม่เอานะ ให้ตอบตรงๆ ตรงๆ ก็ต้องตอบอย่างนี้แหละ ถ้าลงมามันก็เป็นเรื่องกั๊กแล้ว แบบว่ามันเป็นกลาง เห็นไหม แบบว่าเป็นกั๊กว่าดีก็ได้ ชั่วก็ได้

แล้วก็เป็นสัมมาอาชีวะ เพราะสัมมาอาชีวะนี่ไม่ให้ค้าเครื่องมือจับสัตว์ ไม่ให้ค้าอาวุธไม่ให้ค้า นั่นคือสัมมาอาชีวะเลยนะ นี่พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว แล้วอาชีพในสมัยพุทธกาลอาชีพอะไรที่ประเสริฐที่สุดรู้ไหม.. “ชาวนา” เพราะชาวนานี่มันเป็นพืช ไม่ได้ทำอะไรเลย ชาวนานะพวกพืชเกษตรกรรม นี่พระพุทธเจ้าชมตรงนั้นนะ แต่อันอื่นพระพุทธเจ้าไม่ชมเลย แต่โลกตอนนี้มันไปอีกอย่างหนึ่ง

ถาม : ๓. ผมเคยฟังว่าไม่ผิดศีล ไม่ผิดสัมมาอาชีวะแต่ผิดธรรม ติดใจตรงคำว่าผิดธรรมครับ ถ้าผิดธรรมแล้วผลเป็นอย่างไร แล้วสรุปว่าไม่ผิดศีล ไม่ผิดสัมมาอาชีวะ ฆราวาสจะทำได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : “ไม่ผิดศีล ไม่ผิดสัมมาอาชีวะ ฆราวาสจะทำได้ไหมครับ” มันอยู่ที่ความเห็นของเรา ถ้าเราทำแล้วเราสบายใจ ทำได้หรือไม่ได้นี่เราไม่บอก โอ้โฮ.. ถ้าบอกแล้ว.. (หัวเราะ) จะทำได้ไหม

ไม่ผิดศีล ไม่ผิดสัมมาอาชีวะแต่ผิดธรรม.. ผิดธรรมก็นี่ไง ผิดธรรมก็สัจธรรมมันละเอียดกว่านั้น ถ้าสัจธรรมมันละเอียดกว่านั้น ถ้ามันผิดธรรม เขาว่ามันผิดธรรม.. ผิดธรรม คือธรรมะ คือความเสมอภาค ธรรมะคือเหตุและผลคือความเสมอภาค คือสิทธิส่วนบุคคล สิทธิต่างๆ นี่คือธรรม แล้วถ้ามันผิดก็ผิดธรรมตรงนี้ แต่ถ้าผิดธรรมนี่เราคิดเข้าข้างตัวเองเราว่าถูกธรรม ถูกธรรมเพราะอะไร เพราะว่าถ้าปล่อยไป สัตว์มันเร่ร่อนมันมีความทุกข์ใช่ไหม เราเลี้ยงเขา เราดูแลเขา

ถ้าอย่างนั้นดูสิดูไก่ในกรง เห็นไหม เลี้ยงอย่างดีเลย ๔๕ วัน นี่เลี้ยงอย่างดีเลยไม่ผิดธรรมเพราะเราเลี้ยงมันเราดูแลมัน ถ้าคิดอย่างนั้นมันคิดได้หลายแง่ไง มันอยู่ที่มุมมองอยู่ที่จิต มุมมองว่าเรามองอย่างไร ถ้าเรามองว่าเราทำเพื่อประโยชน์ ถ้าประโยชน์เขา เขาอยู่ของเขาไม่มีความสุข เราทำเพื่อความสุขเขานี่เราคิดของเราไปอย่างนั้น เราคิดว่ามันดีกว่าปล่อยให้เขาเร่ร่อน แต่สัตว์มันก็คิดประสาสัตว์นะ สัตว์มันก็คิดถึงความสะดวกสบายของมัน มันคิดถึงอิสรภาพของมัน ไอ้นี่ความคิดระหว่างความคิดคนกับความคิดสัตว์มันแตกต่างกัน.. นี่คือสัมมาอาชีวะเนาะ

ขออีกข้อหนึ่งเนาะ อันนี้ยาวนิดหนึ่งแต่มันอยากจะให้มันพ้นอันนี้ไป

ถาม : ๓๒๒. เรื่อง “พิจารณากายไปเรื่อยๆ แล้วรู้สึกว่าขันธ์ทั้งหลายมันอยู่ห่างๆ กัน” (นี่คำถามเขาเนาะ)

หลวงพ่อครับ ผมก็ภาวนาเหมือนกัน กล่าวคือทำความสงบเข้ามาในใจ แล้วก็ต่อด้วยการพิจารณากายเข้าไปเลย การพิจารณากายนั้นเข้าไปพิจารณาอวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของร่างกายมากมายหลายส่วน แล้วผลสุดท้ายกลับเหมือนกันคือรู้สึกตัวว่า มันก็ธรรมดาๆ เป็นอะไรที่แดงๆ เป็นเละๆ บ้าง เมือกๆ บ้าง เหม็นๆ บ้าง ขรุขระไม่ลื่นไหลบ้าง ไม่เห็นมีอะไรพิเศษเลย จิตก็ปล่อยสบาย

การที่ผมภาวนาแบบนี้บ่อยๆ ส่งผลให้ผมเจริญสภาวะเท่าทันกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นมาเผาไหม้ในใจของผมให้รุ่มร้อน ให้สงบ ให้เย็นสบายครับ.. จริงๆ นะครับหลวงพ่อ ก่อนที่ผมจะพิจารณาจนจิตปล่อยโล่งเบาสบายในแบบนี้ สถานการณ์ของผมก็คือพอเกิดความคิดปุ๊บ อารมณ์มันมาปั๊บ เรียกว่าความคิดกับอารมณ์เป็นสิ่งเดียวกันเลย วันนี้ผมมองย้อนไปในอดีต มันเป็นเพราะว่าจิตเรายังโง่จึงยึดติดอยู่ในจิตใต้สำนึกว่า “คิดปุ๊บต้องได้ตรงที่ใจต้องการปั๊บ” เหมือนกับว่าเราเข้าใจได้เองว่า เราต้องเป็นผู้วิเศษสักอย่าง สามารถเสกให้เป็นไปตามความต้องการตามความคิดที่เกิดได้ทุกเรื่อง

แต่พอพิจารณากายไปเรื่อยๆ เจอกายในเข้าไปเรื่อยๆ ก็ไม่เห็นว่ามันจะวิเศษตรงไหน กลับแปลกว่าพอใจกระทบความคิดที่เกิดเองในใจ ในอดีตนั้นอารมณ์ต้องเกิดขึ้นทันที แต่ปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้น อารมณ์ไม่เกิด เหมือนความคิดกับอารมณ์ที่ถูกปรุงแต่งมันไม่เกี่ยวกันเลย มันอยู่ห่างกันมากเลย แต่พื้นของอารมณ์ในจิตมีอยู่ คืออารมณ์โปร่ง โล่ง สบาย ขอถามหลวงพ่อว่า

๑. ผมฝึกพิจารณากาย แต่ทำไมมันออกแนวปัญญาวิมุตติ หรือว่าการพิจารณากายเป็นปัญญาวิมุตติ ต้องมาถึงความสุขถึงจุดนี้ด้วยกันเสมอ หรือว่ามันเป็นอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : “นี่เวลาผมฝึกพิจาณากาย ทำไมมันออกแนวปัญญาวิมุตติ หรือว่าการพิจารณากายกับปัญญาวิมุตติต้องมีความสุข และ ณ จุดที่เสมอกัน”

คำว่าปัญญาวิมุตินะ.. การพิจารณากาย นี่การพิจารณากาย ถ้ามันออกแนวปัญญาวิมุตติ เพราะการพิจารณากายคือปัญญา.. ปัญญาพิจารณากาย พิจารณากายนี่ปัญญาวิมุตติกับเจโตวิมุตตินี่ก็พิจารณากายเหมือนกัน แต่การพิจารณากายด้วยปัญญาวิมุตติมันไม่เห็นภาพกาย มันใช้ปัญญาพิจารณา แต่ถ้ามันเห็นภาพกายนี่มันเป็นเจโตวิมุตติ เพราะเจโตวิมุตติมันใช้สมาธิ พอสมาธิมันจะเห็นภาพกาย พอเห็นภาพกาย พอพิจารณากายแล้ว ผลมันก็คือเหมือนกันนั่นแหละ

ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติมันก็เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันจะพิจารณาด้วยปัญญา มันจะใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันจะมีปัญญา คือว่าเราอธิบายได้ชัดเจน แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันเห็นภาพ การเห็นภาพมันแปรสภาพ มันเห็นนี่มันก็ไปละกิเลสเหมือนกัน แต่เวลาเราจะอธิบายโดยเชิงวิชาการนี่เราพูดไม่ค่อยชัดเจน เราพูดออกมาเราจะยกเหตุผลอะไรขึ้นมาเพราะมันไปเห็นด้วยตาของใจ

ฉะนั้นพิจารณากายนี่ พิจารณากายโดยปัญญาวิมุตติหรือเจโตวิมุตติผลมันก็อันเดียวกันนั่นล่ะ ! ผลมันอันเดียวกัน แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันได้กว้างกว่า กว้างกว่าหมายถึงว่าเวลาพิจารณากายโดยที่ไม่เห็นกายมันใช้ปัญญาเทียบเคียงไง

นี่เราคิดถึงปัญญาของกาย เราคิดถึงทุกข์เนี่ย พอเราคิดถึงทุกข์นี่เราเห็นทุกข์ไหม เราเห็นเหตุเห็นผลไหม แต่เรามีปัญญาใคร่ครวญว่าทุกข์มันเกิดเพราะอะไร ทุกข์มันเกิดเพราะความยึด ทุกข์มันเกิดนี่คือปัญญาวิมุตติ.. แต่ถ้าพิจารณาทุกข์นะ พิจารณาทุกข์โดยเจโตวิมุตตินี่มันเพ่งลงไปที่จิต เห็นไหม ว่าจิตนี้มันไปกระทบมันไปรับรู้ต่างๆ ฉะนั้นผลทำไมมันเหมือนกันล่ะ

ผลมันอันเดียวกัน ! เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติเป็นโสดาบันเหมือนกัน เป็นสกิทาคาเหมือนกัน เป็นอนาคาเหมือนกัน เป็นอรหันต์เหมือนกัน แต่ ! แต่มันแตกต่างกันที่ว่าปัญญาวิมุตติ เห็นไหม ปัญญาวิมุตติมันใช้ปัญญามา ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันจะมีฤทธิ์ มีฤทธิ์หมายถึงว่าเพราะมันใช้ปัญญา มันใช้กำลัง พอใช้กำลังมันจะมีกำลังของจิต จิตมันจะรู้วาระต่างๆ แต่ถ้าเป็นปัญญา ปัญญามันจะแตกฉานในธรรม

อย่างเช่นที่หลวงตาท่านพิจารณาจุดและต่อมของจิต เห็นไหม เวลาท่านแสดงธรรมนี่อู้ฮู.. แตกฉานมาก หลวงปู่ชอบ นี่หลวงปู่เจี๊ยะเราก็พิจารณากายด้วยเจโตวิมุตติ เพราะท่านพุทโธ ท่านใช้สมาธิเวลาเทศนาว่าการ แต่หลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะท่านรู้อะไรของท่านโดยใจของท่านมากเลย อันนี้มันเป็นแบบเราเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา นี่มันเป็นโดยเสมอกันด้วยสัจธรรม แต่ไอ้พวกปัญญาพวกสิ่งต่างๆ มันเป็นจริต มันเป็นบารมีไง มันเป็นบารมี

อย่างเช่นอาหารจานหนึ่งรสเข้ม รสอ่อน เห็นไหม อาหารเหมือนกันแต่รสแตกต่างกัน เพราะการปรุงรสมันแตกต่างกัน เวลามันเป็นอาหารนั้นคืออริยภูมิ โสดาบัน สกิทาคา อนาคานี่อาหารนั้นสำเร็จแล้ว คือว่าเราเป็นผล ผลคืออาหารนั้นสำเร็จรูป แต่รสของมัน.. รสของมันที่ว่ามันแตกต่างกัน เข้มข้นมันต่างกัน ก็เนี่ยเหมือนกัน

ฉะนั้นสรุปลงมามันบอกว่าถึงจะเป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มันพิจารณากายเหมือนกัน แต่ปัญญาวิมุตติส่วนใหญ่แล้วมันจะเห็นเป็นภาพ มันจะใช้ปัญญาเทียบเคียง ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันจะเห็นเป็นภาพ เป็นวิภาคะ เป็นการผุพอง เป็นการเน่าเปื่อยที่ว่าเนี่ย ไอ้นี่ที่บอก เห็นไหม มันเป็นเมือกๆ มันมีกลิ่นเหม็น แต่นี่มันเป็นการฝึกปัญญา.. ทำไป ผลของมันจะตอบมา

ถาม : ๒. ปัญหาของผมก็คือการที่ความคิดกับอารมณ์ปรุงแต่งที่แยกออกจากกันนี้มีภาวะไม่เสถียร กล่าวคือ หากง่วงนอนหรือร่างกายเมื่อยล้า หรืออยู่ห่างองค์ภาวนาในกรรมฐาน ๔๐ เช่น เพราะใช้เวลาทำงาน ความคิดกับอารมณ์ก็จะมารวมกันเป็นหนึ่งอีก ผมก็ต้องทำความสงบแล้วก็ไล่พิจารณากายใหม่อีก ตรงนี้จะแก้ไขอย่างไรครับ ขอหลวงพ่อโปรดเมตตาด้วยครับ

หลวงพ่อ : ภาวะไม่เสถียรเพราะว่ามันยังเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา คำว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตาคือสภาวะที่มันเป็นอนิจจังอยู่ สิ่งที่เป็นอนิจจังอยู่เพราะธรรมดาความรู้สึกของเรามันเป็นอนิจจังอยู่แล้ว เดี๋ยวคิดดีเดี๋ยวคิดชั่ว เดี๋ยวคิดร้อยแปดพันเก้า เห็นไหม สภาวะธรรมชาติของจิตมันเกิดดับ แล้วมันเกิดดับมันมีกิเลสอยู่มันเลยไม่เสถียร

เวลากำหนดพุทโธ พุทโธนี่เสถียรโดยสมาธิพักหนึ่ง แต่เวลาเราพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวาง ปล่อยวางถ้ามันยังไม่ขาดนี่มันยังไม่เสถียร มันก็ต้องอาศัยความชำนาญ อาศัยความขยันหมั่นเพียร การทำต่อเนื่อง.. ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข้อเลย ผู้ที่ปฏิบัติไม่ได้ผลเพราะการปฏิบัติไม่เสมอต้นเสมอปลายคือการทำไม่สม่ำเสมอ การไม่ทำความสม่ำเสมออาการเสถียรมันก็ไม่มี แต่ถ้าเรามีการทำความสม่ำเสมอ ๗วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคา

การทำความสม่ำเสมอนี่มันทำให้มีความเสถียร ความเสถียรในธรรมที่มันยังแปรปรวนด้วยในกุปปธรรม พอปฏิบัติบ่อยครั้งเข้า ปล่อยบ่อยครั้งเข้า เวลามันปล่อย พิจารณาแล้วมันปล่อยๆ มันปล่อยคือตทังคปหาน นี่พอตทังคปหานมันปล่อยบ่อยครั้งเข้า พอปล่อยครั้งหนึ่ง ความเสถียรมันอยู่ชั่วคราว ชั่วคราวด้วยกำลังของการปล่อยนั้น ด้วยกำลังของมรรคญาณที่มันเข้าไปพิจารณาด้วยปัญญา ปัญญานี้มีสมาธิรองรับ นี่มันพิจารณาของมัน มันปล่อยนะ

ความเสถียรคือกิเลสมันสงบตัวลง มันปล่อย.. ปล่อย.. แล้วถ้าปล่อยบ่อยครั้งเข้า ความเสถียรมีมากขึ้น ความเสถียรมากขึ้นแต่ความมากขึ้นขนาดไหนมันก็ไม่เสถียรคงที่

ความเสถียรคงที่ต่อเมื่อ.. ความเสถียรคงที่ต่อเมื่อมันสมุจเฉทปหาน กิเลสมันขาด ! พอกิเลสมันขาด ความเสถียรนั้นมันเป็นอกุปปธรรม.. อกุปปธรรมเสถียร ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เสถียรขนาดที่ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลย ความเสถียรที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกเลย มันต้องไปอยู่ที่สมุจเฉทปหาน อยู่ที่กิเลสมันขาดออกไปจากใจ.. เป็นโสดาบันมันเสถียรขั้นโสดาบัน เป็นสกิทาคาเสถียรขั้นสกิทาคา เป็นอนาคาเสถียรขั้นอนาคา เป็นพระอรหันต์เสถียรขั้นพระอรหันต์ เสถียรเต็มที่เลย !

แต่ที่มันไม่เสถียรเพราะว่าการกระทำนี้ เห็นไหม โลกนี้เป็นอนิจจัง

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

การกระทำของเรา จิตของเรามันยังแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา.. มันแปรปรวน เราทำคุณงามความดี ความดีก็แปรปรวน ทำสมาธิสมาธิก็แปรปรวน ทำปัญญาปัญญาก็แปรปรวน เพราะปัญญานี่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ปัญญามันสมุจเฉทขนาดไหน เดี๋ยวกิเลสก็กลับมาอีก เห็นไหม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงที่สุดแล้วมันขาด ความขาดนั้นสมุจเฉทปหานนั่นแหละเสถียร

เสถียรแน่นอน แต่ความเสถียรมันอยู่ที่การกระทำของเรา จนกว่ามันจะถึงที่สุด มันเป็นอกุปปธรรมมันก็เป็นเสถียร แต่มันจะเป็นกุปปธรรมอยู่ สัพเพ ธัมมา อนัตตานี่ไม่เสถียร ความเป็นอนัตตามันแปรสภาพของมันอยู่ตลอดเวลา มันแปรสภาพของตัวมันเองอยู่แล้วด้วย แล้วเราพิจารณามันแปรสภาพโดยความเป็นจริงแล้วด้วย แล้วเวลาเราพิจารณาแล้วมันขาด พอมันขาดนั่นล่ะความเสถียรอยู่ที่ตรงนั้น

ทำไมมันถึงไม่เสถียรนี่อารมณ์มันปรุงแต่ง มันไม่เสถียรเพราะว่ามันก็เหมือนกับอาหารสุกแล้วไม่มีดิบนะ สุกแล้วคือสุกเลย มีแต่ถ้าไม่อุ่นก็เน่าเสียเท่านั้นเอง แต่จิตของเรามันไม่เคยเสียหาย มันไม่เคยตาย แต่มันมีแต่วิบากกรรมนี่ไง ดีและชั่วนี้มันทำให้วิบากกรรม แล้วถ้าเรายังพยายามปฏิบัติอยู่ จนถึงที่สุดถ้ามันขาดแล้วมันเสถียรที่นั่น

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า “ปัญหาของผมก็คือการที่ความคิดกับอารมณ์ปรุงแต่งที่แยกออกจากกันนี้มีภาวะไม่เสถียร”

ไม่เสถียรเพราะว่ามันจะเป็นอย่างนี้ ไม่เสถียร.. ไม่เสถียรเพราะว่ามันยังไม่ถึงที่สุด มันยังไม่เสถียร แต่ถ้าเราพิจารณาของเราไปบ่อยครั้งเข้านี่มันปล่อย ปล่อย.. แล้วนี่ที่มันปล่อย พิจารณากายแล้วมันจะลึกซึ้งกว่านี้อีกนะ มันจะลึกซึ้งกว่านี้ มันจะลึกซึ้งไปเรื่อยๆ เพราะมันจะปล่อย แล้วจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนถึงที่สุด พอถึงที่สุดนี่สีลัพพตปรามาส.. วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

วิจิกิจฉา ทิฐิมานะ ความเห็นผิดของใจมันจะขาด.. สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำในศีลมันจะไม่เกิดเลย สังโยชน์ ๓ ตัวมันจะขาด แล้วต้องขยันทำไป ทำต่อเนื่องไป พูดประสาเรานี่ปากทางเข้าถูกแล้ว ต้นทางเข้าได้แล้ว แต่ทำต่อเนื่องเข้าไป ต่อเนื่องเข้าไป.. นี้คำว่าทำต่อเนื่อง เหมือนกับเราได้ตำแหน่งหน้าที่การงานมา เราต้องรักษาตำแหน่งนั้น เห็นไหม ตีเมือง นี่การตีเมืองก็แสนยาก การรักษาเมืองยากกว่า

นี่ก็เหมือนกันสภาวะความเสถียร ถ้าเรารักษา.. เราตีเมืองได้แล้ว เรายึดได้แล้ว แล้วเราจะบริหารจัดการอย่างไรจนให้มันถึงที่สุด พอถึงที่สุด ผลัวะ ! ทุกอย่างมันเซฟเข้าที่หมด พอเซฟเข้าที่หมดแล้วนี่มันเสถียรหมดเลย อันนั้นจะเป็นการปฏิบัติของเราเนาะ

นี่ว่าเหตุใดมันถึงไม่เสถียร.. มันไม่เสถียรเพราะว่ามันยังเป็นตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว กิเลสมันยังมีอยู่มันยังไม่ถึงกับขาดสิ้นไป มันถึงไม่เสถียร ถ้ามันเสถียรมันจะบอกเอง ถ้าเสถียรนะสันทิฏฐิโก ปัจจัตตังนี่เสถียร ขาดในหัวใจ

นี่เวลายถาภูตัง ญาณทัสสนัง.. ยถาภูตัง ขาด ! เกิดญาณรู้ว่าขาดแล้ว เห็นไหม เวลากิเลสมันขาด กิเลสมันขาดต่อหน้าเลย แล้วยังมีญาณหยั่งรู้ด้วยว่ากิเลสได้สิ้นแล้ว เสถียรแน่นอน แต่ถ้าเสถียรมันจะต้องอยู่ในความสมดุลของใจ ที่ทำเสร็จแล้วขบวนการมันสิ้นสุด อันนั้นคือความเสถียรของใจ ! เอวัง