ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เมื่อพระพุทธเจ้ารู้

๒๓ ม.ค. ๒๕๕๔

 

เมื่อพระพุทธเจ้ารู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราสงสารพวกโยม เพราะว่าเราเกิดมา เห็นไหม เราเป็นชาวพุทธ แล้วเราอยากจะพ้นจากทุกข์ เพราะเราศึกษาธรรมะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เห็นไหม เทศนาว่าการ เผยแผ่ธรรมมา ผู้ที่กระเสือกกระสนนะ นี่อริยสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะสร้างบุญมาขนาดนั้น ปรารถนามาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา

คำว่าปรารถนามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรารถนามา ความปรารถนานั้นต้องสร้างบุญญาธิการมาถึงชาติสุดท้าย นี่พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะต้องมาลงตรงนี้เด็ดขาด เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ชาติสุดท้ายคือว่าสร้างบุญญาธิการมาสมบูรณ์ มาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะก็ปรารถนามาเหมือนกัน แต่คำว่าปรารถนามา เห็นไหม แต่เวลาเกิดมาเป็นอุปติสสะ เกิดมาเป็นมานพ เกิดมาในบุญกุศล เกิดมาในตระกูลที่เป็นเศรษฐี ที่ไหนมีความสุข ไปดูการละเล่นฟ้อนรำ ไปทุกๆ อย่าง แต่พอถึงที่สุดมานึกได้ ว่านี่ชีวิตนี้มันเปล่าประโยชน์ไง ชีวิตนี้มันเปล่าประโยชน์ เราจะหาทางออกกันอย่างไร

นี่หาทางออกกันอย่างไร.. แล้วเวลาหาทางออก แสวงหาทางออก นี่ไปศึกษากับสัญชัย อันนั้นก็ไม่ใช่ อันนี้ก็ไม่ใช่ ไอ้คำว่าไม่ใช่เดี๋ยวนี้เราเปรียบเหมือนสักแต่ว่านะ ในปัจจุบันนี้สอนแบบสัญชัยหมดเลย นั่นก็สักแต่ว่า นี่ก็สักแต่ว่า.. สักแต่ว่า ทำอะไรมันถึงสักแต่ว่า เราบอกว่าทุกข์สักแต่ว่าสิ ชีวิตนี้เป็นสักแต่ว่าสิ มันสักแต่ว่าไหมล่ะ ทำไมมันทุกข์จริงๆ ล่ะ ทำไมมันแสวงหาจริงๆ ล่ะ

ฉะนั้นนี่สอนแบบสัญชัยเลย พระพุทธเจ้าปฏิเสธมาแล้ว นู้นก็สักแต่ว่า นี่ก็สักแต่ว่า แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนจริงๆ ท่านเหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนจริงๆ ท่านให้ทำจริงๆ เห็นไหม เพราะเราทำจริง เราศึกษาธรรมมา.. นี่คำว่าสงสาร เรามีความรู้สึก เรามีความนึกคิด เรามีแรงปรารถนา เราอยากได้คุณงามความดี เราถึงมาทำคุณงามความดีกันไง

สิ่งที่เรามาทำคุณงามความดีกัน เห็นไหม บ่อน้ำ.. บ่อน้ำตื้นบ่อน้ำลึก ถ้าบ่อน้ำลึกเราต้องขุดลงไปลึกมากถึงจะเจอน้ำ เราถึงได้ประโยชน์จากน้ำนั้น นี่ถ้าบ่อน้ำตื้น เขาขุดตื้นๆ เขาก็ทำของเขาได้ แล้วอย่างพวกเรานี่แล้วใครบ่อน้ำลึกบ่อน้ำตื้นล่ะ ฉะนั้นบ่อน้ำลึกบ่อน้ำตื้นมันอยู่ตรงนี้ไง อยู่ตรงที่เราทำบุญกุศลนี่ไง สิ่งที่เราเสียสละกัน ที่เราทำอยู่นี้เพื่ออะไร เพื่อให้เราขุดน้ำเจอน้ำ เพื่อให้เราเชื่อมั่นกับน้ำ

ในการดำรงชีวิตทางโลกนะ ที่ไหนมีน้ำที่นั่นมีชีวิต ที่ไหนมีน้ำ เห็นไหม น้ำทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต สิ่งที่มีน้ำหล่อเลี้ยงน้ำ ดูสิถ้าเราขาดน้ำจืด เราขาดน้ำดำรงชีวิตเราจะดำรงชีวิตได้อย่างไร เหมือนกันเห็นไหม มีอาหาร มีน้ำ มีต่างๆ ฉะนั้นในหัวใจของเรา นี่เรามีน้ำใจ เรามีคุณค่า เราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราเข้ามาใกล้สู่ธรรมเข้ามาใกล้ศาสนา ทุกคนเข้าสู่ใกล้ แล้วทุกคนปรารถนานะ ถ้าปรารถนานี่เราพยายามของเรา แต่ดูสิเวลาเราปฏิบัติกัน ล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน นี่เวลาปฏิบัตินะ เพราะการปฏิบัติครูบาอาจารย์เราท่านทุกข์ยากมาก่อนเรา

ท่านทุกข์ยากมาก่อนเรา สิ่งที่ว่าทุกข์ยาก เวลาปฏิบัติเข้าไปนี่เพราะเราปฏิบัติ ดูสิเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก เดินจงกรม เห็นไหม พระโสณะสร้างบุญญาธิการมานะ ฝ่าเท้านี่ผิวบางมาก แล้วก็มีแรงปรารถนาอยากจะพ้นจากทุกข์ยาก เพราะเวลาสมัยนั้นผิวเท้าบางมากแล้วมีขน จนกษัตริย์อยากดูนะ ใครเขาอยากดูต้องพาไปให้ดู ไปไหนเขาจะเอาแคร่รับไป เดินไม่ได้ไงเอาแคร่นี่หามไป ไปให้กษัตริย์ดูไปให้ใครดู เอาเท้านี้ให้ดูเพราะมันเป็นสิ่งที่ว่านุ่มนวลมาก

นี้ด้วยบุญญาธิการ เห็นไหม ด้วยสร้างมาชาติสุดท้ายเหมือนกันอยากจะพ้นจากทุกข์.. บวช ! พอบวชแล้วเดินจงกรมไปนี่โอ้โฮ.. เลือดทั้งนั้นเลยนะ จนพระพุทธเจ้าถึงเวลาก็ออกตรวจวัด เดินไปนี่ไปเห็นทาง “ที่นี่ที่เชือดโคใคร”

ฟังสิ ! คำว่า “ที่นี่ที่เชือดโคใคร” แสดงว่าเลือดมันต้องเปรอะไปหมดใช่ไหม เพราะพระพุทธเจ้าเดินจงกรมไปเห็นรอยเลือดว่า “ที่นี่ที่เชือดโคของใคร”

“ไม่ใช่ ! ทางจงกรมของพระโสณะ”

ทีนี้เวลาเดินจงกรม พอเวลาฝ่าเท้าแตกพวกเราจะมีกำลังใจสู้ไหม นี่เวลาฝ่าเท้าแตกไปแล้วนะ หมุนไป กลิ้งไป นี่จะเอาให้ได้ จะเอาให้ได้ ลงทุนลงแรงขนาดนั้น.. คำว่าการทำจริง ! การทำจริง เห็นไหม การทำจริง การมีสติปัญญาแล้วการต่อสู้ แต่พวกเรานี่มันต่อสู้ พอต่อสู้แล้วเวลาเจอวิกฤติเราจะสู้ได้มากน้อยแค่ไหน

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าต่อสู้ได้มากน้อยแค่ไหน บุญญาธิการเกิดตรงนี้ ตรงที่เราทำบุญกุศลกันนี่ล่ะ เราทำสิ่งนี้เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้เป็นสมบัติของใครเลย อาวาส อาราม มันไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นที่ส่วนรวม เป็นที่ที่ทุกคนมาใช้ผลประโยชน์ใช่ไหม เราทำสิ่งนี้เพื่อประโยชน์ใช่ไหม เรามาลงทุนลงแรงเพื่อสิ่งนี้ใช่ไหม เพื่ออะไร.. ก็เพื่อนี่ไง เพื่อว่าให้บ่อน้ำเราตื้นขึ้นมา ให้ขุดแล้วเจอน้ำ ถ้าเราขุดลงไปแล้วเราเจอน้ำขึ้นมา เราจะมีความสุขสงบของเรา

ถ้ามีความสุขสงบของเรา เห็นไหม นี่สิ่งนี้มันเป็นการยืนยันนะ ถ้าจิตเราทำความสงบของใจได้บ้าง ถ้าจิตมันสงบเข้ามาเราออกใช้ปัญญาเราไป เราออกใช้ปัญญาของเรา เราพิจารณาของเราไป เพื่อประโยชน์กับหัวใจของเราเพราะเราจะพ้นจากทุกข์ไง

สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้ เราทำเพื่อเรา ! เราทำเพื่อเรา แต่เวลาประโยชน์เป็นวัตถุ เห็นไหม วัตถุนี้จะตกแก่โลก ดูสิปัจจัยเครื่องอาศัย เวลาเราเสียสละกันนี่เราเสียสละเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัยของโลก โลกได้ใช้สอยประโยชน์นั้น ผู้ที่เสียสละผู้นั้นได้บุญกุศลไป.. สิ่งที่ทำนี่ทำเป็นวัตถุ สิ่งที่ทำนี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่จับต้องได้เป็นเครื่องอาศัย เป็นเครื่องปัจจัยเลี้ยงชีวิต แต่คุณค่าของน้ำใจ คุณค่าที่ว่าบุญๆๆๆ สิ่งที่เป็นบุญ เห็นไหม นี่บุญสิ่งนี้มันสร้างมา ถ้ามันสร้างมา นี่มันทำของเรามาเพื่อประโยชน์กับใคร ก็เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรานะ.. ประโยชน์กับเรา เห็นไหม นี่เราได้ทำ เราได้สัมผัส เราได้เจือจานสิ่งนี้ออกไป

ฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ เห็นไหม ดูพระนาคิตะ พระนาคิตะเป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนนั้นยังไม่ตั้งใครเป็นผู้อุปัฏฐากถาวร ก็มีผลัดกันอุปัฏฐาก พระนาคิตะก็มีใจคิดอยากจะออกวิเวก ออกไปปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่านาคิตะต้องให้อุปัฏฐากก่อนไป นี่พระนาคิตะวางบริขารเลยนะ ของพระพุทธเจ้า ให้พระพุทธเจ้าเอาไป ตัวเองอยากออกปฏิบัติมากก็แยกไป

พอแยกไป ไปภาวนานี่มันภาวนาไม่ลง มันภาวนาไม่ลงเพราะตอนนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีผู้ใดอุปัฏฐากถาวร จนสุดท้ายพอเหตุการณ์ ผู้อุปัฏฐากนี่ปรับเปลี่ยนกันมา จนหมู่สงฆ์ประชุมกันนะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่มีผู้ใดอุปัฏฐากถาวร พระอานนท์ก็สร้างบุญกุศลมาอย่างนี้ คำว่าสร้างบุญกุศลนี่ทุกคนมีเป้าหมายไง ผู้ใดถ้ามีเป้าหมายเป็นอัครสาวกต่างๆ คำว่าเป้าหมายนะ.. สาวก สาวกะ พระอรหันต์ทั่วไป พื้นๆ นี่เป็นอย่างหนึ่ง พระอรหันต์ที่ว่าต้องการตำแหน่งต้องการต่างๆ ต้องสร้างบุญญาธิการแตกต่าง เหมือนพระพุทธเจ้า อัครสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า สิ่งนี้จะสร้างแตกต่างกันมา

พระอานนท์สร้างมาแล้วไง พระอานนท์สร้างตรงนี้มาเหมือนกัน แต่มันยังไม่ถึงเวลาที่ใครจะให้เสนอแง่นี้ เลยประชุมสงฆ์ พอประชุมสงฆ์ ตั้งพระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากถาวร เห็นไหม พระอานนท์ถึงขอ ขอพรพระพุทธเจ้าอยู่ ๘ ข้อ

๑.พระพุทธเจ้าไม่ให้ของใหม่ ไม่ให้จีวรไม่ให้อะไรกับพระอานนท์ พระพุทธเจ้าถามเพราะเหตุใด ถ้าให้ไปเขาจะหาว่าพระอานนท์อุปัฏฐากเพราะต้องการลาภสักการะ

๒.ถ้าเวลาไปรับกิจนิมนต์ใครมา เวลามานิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องไป ต้องไปเพราะอะไร ถ้าบอกว่าทำไมต้องมีเหตุผลอย่างนั้น เหตุผลอย่างนี้เพราะว่าอยู่ใกล้เคียง แล้วเกิดถ้าคนนิมนต์แล้วว่านิมนต์ไม่ได้ มันบอกว่าพระอานนท์นี้ไม่สามารถทำได้จริง

๓.ไปเทศนาว่าการที่ใดมา ถ้าพระอานนท์ไปด้วยจบ ถ้าพระอานนท์ไม่ไปด้วย พระพุทธเจ้าไปพูดกับใครมาต้องบอกพระอานนท์ เหตุผลถ้าเกิดใครมาถามว่าพระพุทธเจ้าพูดที่ไหน พูดเมื่อไร เหมือนกับว่าพระอานนท์ไม่เอาใจใส่ไง

เหตุผลพระอานนท์หลายข้อมาก นี่ขอพรเห็นไหม พระพุทธเจ้าอนุญาตให้หมดเลย พออนุญาตให้หมด นี่ตั้งพระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐาก ฉะนั้นพระนาคิตะเมื่อก่อนก็อุปัฏฐากอย่างนี้ แล้วเวลาออกวิเวกไป ไม่ตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป นี่ทุกข์ร้อนมากนะ ทุกข์ร้อนมาก เวลาทุกข์ร้อนมาก เห็นไหม

นี่เราตั้งใจไปแต่มันมีเวรมีกรรม เราทำสิ่งใดไว้มันจะมากับเรา อย่างเดินจงกรมอยู่ เห็นเขาเล่นเขาไปดูนักขัตฤกษ์ นี่เขามีความสุขกันเรามีความทุกข์มาก เรามีความทุกข์มาก.. เรื่องนี้เวลามันพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ยาก เทวดามายับยั้งกลางอากาศ แล้วเปล่งเสียงลงมาเลย

“สิ่งที่เขาสนุกเพลิดเพลินกัน เขาเป็นคนที่ว่ามีศักยภาพ พวกนั้นพวกวนในวัฏฏะนะ เขาจะตายสูญตายเปล่าอยู่นะ ท่านต่างหาก ! ท่านต่างหาก ! เห็นไหม ท่านต่างหากเป็นผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาอยู่นี้ ท่านต่างหากที่จะพ้นจากทุกข์”

คืนนั้นพระนาคิตะเป็นพระอรหันต์เลย เพราะอะไร เพราะเวลาจิตมันส่งออก จิตมันคิด ตั้งแต่จากพระพุทธเจ้ามามันก็มีความวิตกกังวลอยู่แล้ว เวลามาภาวนา ได้ยินเสียงเขาร้องรำทำเพลงมีความสุขๆ เห็นไหม ว่าเราต่างหากเป็นเศษคน เราเป็นคนทุกข์คนยาก เราต่างหาก

นี่ก็เหมือนกัน เรามาทำของเรา เห็นไหม นี่โลกเขามองของเขาไปอีกอย่างหนึ่ง เขามีความสุขเพลิดเพลินของเขา เรามาทำนี่ทำเพื่ออะไร.. นี่พอสิ่งนี้มันสะเทือนใจ พอสะเทือนใจมันย้อนกลับนะ พอสะเทือนใจนี่ “ท่านเป็นคนประเสริฐ ท่านต่างหากเป็นผู้ที่ประเสริฐ ท่านต่างหากเป็นผู้ที่พ้นจากทุกข์” พอจิตมันมีสติปั๊บมันย้อนกลับเลย

พอย้อนกลับ.. เวลาเราคิดออกไปนี่มันส่งออก เวลามีสติมันดึงกลับ พอดึงกลับขึ้นมานี่ “ท่านต่างหาก ! ท่านต่างหากเป็นผู้วิเศษ ท่านต่างหากที่จะพ้นจากทุกข์ ท่านต่างหาก !” พอท่านต่างหาก นี่ท่านคือใครล่ะ ท่านคือร่างกายเหรอ ท่านคือความรู้สึกเหรอ

ท่านคือจิต เห็นไหม จิตมันย้อนกลับเลย ท่านอยู่ไหน พอหันกลับมาที่ท่านมาพิจารณา คืนนั้นพระนาคิตะสำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำไมเป็นอย่างนั้นๆ เพราะว่าเวลาพระนี่นะ สมัยพุทธกาลพระจะพูดซื่อตรง เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ว่าเป็นเพราะเหตุนั้น เป็นเพราะเหตุนั้น ถึงได้สำเร็จ ถึงได้สำเร็จ พอได้สำเร็จขึ้นมาพระก็ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่า

“นี่เขาเคยสร้างบุญสร้างกรรมกันมา เขามีบุญกุศลกันมา ต้องเป็นญาติ เป็นเครือญาติกันมา เป็นกุศลกันมาถึงมาบอกเรา”

นี้พอย้อนกลับมาที่เรา ทุกคนจะบอกเลยอยากให้คนคอยบอกเรา อยากให้คนช่วยเหลือเรา แล้วใครช่วยเหลือล่ะ ใครช่วยเหลือ.. นี่เพราะเราฟัง เราฟังเราศึกษามาแล้วเราต้องการอย่างนั้น แล้วมันเป็นอย่างนั้นไหม มันจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็นอย่างนั้น เรื่องกรรม เรื่องการกระทำมันจะให้ผลมากนะ ถ้าเราทำของเรา บ่อน้ำนี่นะความลึกความตื้น ตาน้ำนี่ถ้าใครเจอตาน้ำนั้น ถ้าที่ของใคร บ่อน้ำเขาตื้นเขาขุดบ่อ เขาได้ใช้ประโยชน์ของเขา

จิตของเรา ความมุมานะของเรา ความตั้งใจจริงของเรา ถ้าเรามีสติมีปัญญาตั้งใจจริงของเรานะ เราจะขุดลึกขุดตื้นขนาดไหนเรามีความพอใจ เราทำของเราด้วยความชื่นใจ แต่ถ้าบ่อน้ำเราตื้นๆ แต่จิตใจเราอ่อนแอมาก จะขุดอย่างไรเราก็เข้าใจว่าของเราลึกมาก แต่เวลาบ่อน้ำเขาลึกๆ เขาขุดไป ๒๐๐-๓๐๐ เมตรนะ นี่เขาขุดมาจนน้ำของเขามีความร้อนเลย มีอุณหภูมิสูงมาก เพราะอะไร เพราะน้ำเขาน้ำลึกมาก แต่เขาก็ต้องเอาใช้ประโยชน์ของเขาจนได้ เพราะสิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์ ในที่ดินของเขาเป็นอย่างนั้น เขาต้องหาสิ่งนั้นเพื่อให้ความเป็นอยู่ของเขาหมุนเวียนไปได้ เพื่อความเป็นอยู่ของเขาเป็นไปได้

ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ชีวิตของเรานี่เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเราเป็นไปได้ในชาตินี้ ถ้าในชาตินี้เราตั้งสติของเรา เราตั้งใจของเรา เราพยายามทำของเรา หน้าที่การงาน อาชีพของเรานะเป็นเรื่องหนึ่ง หน้าที่การงาน เห็นไหม วันคืนล่วงไปๆ นะ วันคืนล่วงไปๆ หน้าที่การงานถึงที่สุดแล้วเราต้องไปถึงที่สุด.. ที่สุด เห็นไหม ชีวิตนี้มีการพลัดพรากไปเป็นที่สุด ที่สุดที่นั่นต้องถึงแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว

ฉะนั้นสิ่งนี้ถ้าเรามีกำลังใจ เราจะมีจุดยืน เราจะยืนอยู่กับหลักสัจธรรมนี้ได้ แต่ถ้าเราไม่มีจุดยืน เราเองเราพลัดพรากนะ นี่ผลของวัฏฏะ เราพลัดพรากเอง นี่วัฏฏะมันพัดไป มันพัดเศษสวะไป พัดต่างๆ ไป ชีวิตเรานี่เราจะพัดไปอย่างไร.. เรามีสติของเรา เห็นไหม เรามีสติ เรามีสติปัญญาของเรา เราจะทำของเรา ผลประโยชน์ของเราตรงนี้ นี่ทำแล้ว ถ้าเราทำด้วยกำลังกาย กำลังใจ เห็นไหม ทำแล้วนะจบแล้ว สิ่งนี้จบไปแล้ว วันนี้ผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว

นี่สิ่งนี้เป็นอดีตไปแล้ว แล้วเราได้อะไร ความได้ของวันนี้ ความได้ของจิตใจที่สัมผัสนี้มันจะฝังไปกับเรา.. มันจะฝังไปกับเรา ชีวิตของเราไปข้างหน้า มันจะประสบความสำเร็จ มีความชุ่มชื่นขนาดไหน มีความสุขขนาดไหน นั่นคือความสุข แต่ถ้าคิดถึงสิ่งที่เราได้ทำมา อันนี้บุญอันนี้มันจะฝังไปกับใจ

ชีวิตนี้ของเราไปข้างหน้า มีอุปสรรคสิ่งใดก็แล้วแต่ แต่สิ่งนี้เราคิดถึงสิ่งนี้ เราก็เป็นคนๆ หนึ่ง เห็นไหม ศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นชาวพุทธ เราได้ทำสิ่งใดก็แล้วแต่ฝากไว้ในพุทธศาสนา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา จิตใจเราเป็นธรรมขึ้นมา เราได้สัมผัสเลย

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

แต่เราทำนี้ เราทำเป็นสิ่งที่ถาวรวัตถุในพุทธศาสนา วางไว้กับในศาสนา ถ้าในศาสนา เห็นไหม ความร่มเย็นเป็นสุข คนมาใช้มาสอย นี่สิ่งที่ศาลาโรงทาน เวลาพระอินทร์ มีเทวดาไปถามว่าพระอินทร์มีจริงไหม นี่พระอินทร์มีจริงไหม.. เธออย่าถามเลยว่าพระอินทร์มีจริงหรือไม่จริง วิธีทำให้เป็นพระอินทร์ยังทำได้เลย วิธีเป็นพระอินทร์ยังรู้จักเลย

วิธีเป็นพระอินทร์ เห็นไหม นี่บุญ ๔ อย่าง.. ทำศาลาโรงธรรม สร้างถนนหนทาง นี่เพราะอะไร เพราะเขาใช้ประโยชน์จากเราไง ถนนหนทาง ศาลาที่พักอาศัย แหล่งน้ำ นี่ชาวพุทธที่ทำกันทำบุญกันอย่างนี้.. นี่เพราะทำอย่างนี้ พอทำอย่างนี้ คนที่ได้มาอาศัยของเรา คนที่ได้ใช้สิ่งนั้นของเรา เวลาไปเกิด เห็นไหม เราเป็นพระอินทร์เราปกครองเขา ถ้าเป็นเทวดา ทำดีต้องเกิดเป็นเทวดาแน่นอน ทำดีเป็นเทวดาเพราะเวลาหมุนเวียนไป แต่ถ้าเราจะเกิดเป็นมนุษย์ล่ะ

เราไม่อยากเกิดเป็นเทวดา เราอยากเกิดเป็นมนุษย์ เราตั้งใจ เห็นไหม มนุษย์สมบัติ ! มนุษย์สมบัตินี่มีศีล.. ศีล ๕ ศีลสมบูรณ์นี่คือมนุษย์สมบัติ เกิดเป็นมนุษย์แล้วมนุษย์เล่า มนุษย์เพื่อประพฤติปฏิบัติไง ไม่เกิดเป็นเทวดาเพื่อไปเสวยสุขทิพย์สมบัติอยู่อย่างนั้นจนเพลิดเพลิน ลงมาอีกทีหนึ่งเวลาหมดอายุขัย

ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั่นเป็นเรื่องของเขา แต่อายุขัยของคนมันมี วาระของจิตมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราอยู่ในภพไหนก็แล้วแต่ มันต้องมีวาระของมัน มันต้องสิ้นสุดของมัน เห็นไหม นี้การเกิดการตาย เกิดในสถานะของมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม นี่มันมีวาระคือเกิดแล้วตาย แต่จิตไม่เคยตาย จิตไม่เคยตาย พอจิตไม่เคยตาย บุพเพนิวาสานุสติญาณนี่มันย้อนของมันไป มันรู้ของมัน มันเห็นของมัน

นี่สิ่งที่มันย้อนของมัน มันรู้ของมัน ถึงเราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์เพื่ออะไร เพื่อประพฤติปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ไปเสียเวลาอย่างนั้น ไปเสียเวลากับบุญกุศลมันให้ผลมาอย่างนั้น มันทับทวีคูณขึ้นไปเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม.. แต่ในปัจจุบันล่ะเราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเทวดากับมนุษย์แตกต่างกันอย่างไร มนุษย์นี่มันเสวยทิพย์สมบัติ สมบัติที่เราทำบุญกุศล สมบัตินั้นมันให้ผลไป นี้เป็นอามิส แต่ถ้าเป็นปัจจุบันล่ะ

ถ้าเป็นปัจจุบัน ถ้าเป็นมนุษย์ล่ะ.. เป็นมนุษย์ในปัจจุบันมันมีเชาว์ปัญญาไง มันมีสิ่งใดที่สะกิดใจไง เวลาเราสะกิดใจว่าชีวิตนี้เป็นอย่างไร ชีวิตในปัจจุบันเป็นอย่างไร เรานี่ถ้ามีความสะกิดใจ มีความสะเทือนใจนะ มันจะทำให้เรามีหลักมีเกณฑ์ของชีวิต หน้าที่การงานก็คือหน้าที่การงานวันยังค่ำ แล้วถ้ามันมีแนวคิด นี่ดูสิบางคนประชดประชันกับชีวิตของตัวเอง เห็นไหม นี่เขาปล่อยชีวิตของเขาไป ปล่อยชีวิตไปนี่แหละที่ว่าสวะที่มันจะไปตามน้ำ เห็นไหม

ผลของวัฏฏะเหมือนสวะที่ลอยไปตามน้ำ เราจะปล่อยชีวิตเราไปอย่างนั้นไหม ถ้าเราไม่ปล่อยชีวิตอย่างนั้นไป แล้วเทวดา อินทร์ พรหมเขามีความสุขกว่าเรา แล้วเราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์สมบัติที่ว่ามีคุณค่าทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ล่ะ ถ้าทุกข์ขนาดนี้ ทุกข์เพราะว่าเราไม่ใส่ใจ ถ้าเราใส่ใจนะ เราใส่ใจเรามีปัญญาใคร่ครวญนะ นี่ถ้าเรามีปัญญาใคร่ครวญมันจะคลี่คลายได้ไง

ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง วิกฤติขนาดไหนเขามองเป็นของเล็กน้อยไง แต่ถ้าจิตใจเราอ่อนแอนะ วิกฤติเล็กน้อยไม่ใช่วิกฤติก็คิดว่ามันเป็นวิกฤติ ทำไมคนเขาเป็นอย่างนั้น ทำไมเราเป็นอย่างนั้น.. นี่ถ้าคนที่เข้มแข็ง วิกฤตินี้เขาบอกว่ามันเป็นการทดสอบปัญญาเลย แล้วถ้าทดสอบปัญญาของเรา ถ้าปัญญาของเราคลี่คลายเรื่องแบบนี้ไปได้สักหนหนึ่ง หนสองหนสามนี่เขาไม่กลัวแล้ว เพราะว่าวิกฤติอย่างนี้เราเคยผ่านมาแล้ว เราเคยผ่านสิ่งนี้มาตลอด สิ่งนี้เราผ่านมาได้ทำไมเราจะไปกลัวสิ่งนี้

สิ่งนี้ที่มันผ่านมา นี่เป็นวิกฤติข้างนอก แต่เวลาภาวนาล่ะ เห็นไหม ที่ว่าใกล้ศาสนาไม่ใกล้ศาสนา น้ำตื้นน้ำลึกนี่ ถ้าน้ำตื้นน้ำลึก เดินจงกรม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี นี่เดินจงกรม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี แล้วเวลาเดินจงกรมเราบังคับให้ทางจงกรมนะ เราเคยปฏิบัติมาพระถาม

“เอ๊ะ.. เรานั่งภาวนา นั่งสมาธิภาวนานี่เราทำไม่ค่อยได้ต่อเนื่อง แล้วทำเวลานานๆ ไม่ได้ ทำไมท่านทำได้”

เขาถามเรานะ ทำไมท่านทำได้ เห็นเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน พอเราไปคุยกับหลวงตาบ้าง เวลาไปพูดธรรมะเขาแอบไปฟัง เขามาหาเรานะ “อ๋อ.. อย่างนี้เอง ! ถึงเห็นเดินจงกรมน่าดูเลย เพราะเดินจงกรมต้องได้”

มันมีเหตุผลในหัวใจใช่ไหม มันมีงานไง สมมุติว่าเรามีความสงสัยอะไร พอเดินจงกรมนี่ปัญญามันจะหมุนแล้ว มันจะแก้ไขมันเพลินไง แต่ถ้าเราไม่มีตรงนี้เราทำได้ไหม นี่เดินจงกรมชั่วโมงหนึ่งก็เบื่อแล้ว ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีจะเดินอย่างไร.. เขาแปลกใจ เขาถามว่าเอ๊ะ.. เพราะเขาดูเราอยู่ไง เขาดูเรา เอ๊ะ.. ทำไมเห็น ส่วนใหญ่เราจะเดินในทางจงกรมนี่ เราจะทำข้อวัตร ถ้าเสร็จแล้วจะเข้าทางจงกรมเลย เพราะเรามีงานของเราในหัวใจตลอด แล้วเขาก็แปลกใจนะ เขาแปลกใจว่าเอ๊ะ.. ทำไมมันอยู่ในทางจงกรมได้ ทำไมนั่งสมาธิได้

คำว่านั่งสมาธิได้ เดินจงกรมได้นี่มันมีงาน เราทำอะไรก็แล้วแต่ประสบความสำเร็จ เหมือนทำอาหาร มีอาหารนั้นให้ชิม อาหารนี้ให้ชิมมันก็เพลินน่ะสิ ถ้าทำอาหารมีแต่จานไม่มีอาหารเลยนะ เอ๊ะ.. อาหารเป็นอย่างไรมันก็เบื่อ แต่ถ้าคนทำอาหารมีอาหาร เดี๋ยวอาหารจานนั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นี่มันเพลินของมันนะ

ในการภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าในการภาวนานี่งานของมันมี พูดถึงว่ามนุษย์สมบัติไง มนุษย์สมบัติมันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันจะทำของเรา นี่น้ำตื้นน้ำลึก จิตใจตื้นจิตใจลึกเราจะทำของเรา แล้วถ้ามันเป็นมนุษย์ เห็นไหม มีเชาว์ปัญญา พอเชาว์ปัญญานี่มันมีความแนวคิดต่างๆ แนวคิดต่างๆ อำนาจวาสนานะครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อย ถ้าเราเป็นฆราวาส เราเป็นคฤหัสถ์นี่เรามีสติมีปัญญา เรามีความมุมานะเรา ถ้าเราปฏิบัติมันก็จะมีโอกาส.. แต่ถ้าเป็นฆราวาส สิ่งใดก็แล้วแต่เป็นหน้าที่การงานต่างๆ เราเห็นว่ามันเป็นวิกฤติแล้วเราสู้ไม่ไหวต่างๆ เวลาภาวนาก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

นี่จริตนิสัย มันมา มันฟ้องมาตั้งแต่แรก นี้การฟ้องมาอย่างนั้น สิ่งที่ทำมาอย่างนั้น อันนี้.. อันนี้เราเปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนแปลงด้วยอะไร เปลี่ยนแปลงด้วยปัญญาของเราไง ถ้าเราฟังธรรมขึ้นมาแล้วเอาสิ่งนี้แก้ไขเรา ถ้าแก้ไขพลิกแพลงของเรา เห็นไหม นี่เปลี่ยนโปรแกรมได้ เปลี่ยนความคิดเจตนาได้ มันเปลี่ยนความรู้สึกของเรา มันเปลี่ยนทัศนคติไง ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติเราจะใช้ชีวิตอย่างนี้ เราจะใช้ชีวิตอย่างนี้

นี่เราจะใช้ชีวิตอย่างนี้เพราะเราเห็นคุณเห็นโทษของมัน ถ้าเห็นคุณเห็นโทษนี่ชีวิตอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ นี่มันเปลี่ยนแปลงชีวิตเราเลยนะ ถ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตได้เราทำได้ อันนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ

นี่พูดถึงว่าน้ำตื้น น้ำลึก.. บุญกุศลเราทำมาแล้วเพราะเหตุนี้ เหตุทำบุญกุศลมาเพื่อเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าบุญกุศลเพื่อประโยชน์กับเรา เราจะเห็นผลนะ ทำไปข้างหน้านี่จะเห็นผล เวลาปฏิบัติ เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าคนมีบุญ เวลาเกิดสิ่งใด ประสบการณ์สิ่งใด มันจะผ่านวิกฤติ มันจะมีคนช่วยเหลือเจือจาน มันจะผ่านวิกฤตินั้นไปได้ แต่ถ้าเราถึงเวลาแล้วเราเจอวิกฤติ เราผ่านสิ่งนั้นไม่ได้เพราะเราสร้างมาอย่างนั้น

นี่มันจะเห็นของมัน จะรู้ของมัน จะเข้าใจได้ ถ้าอันนี้เป็นเรื่องของบุญกุศล จะทำให้เราเข้าไปสู่สัจธรรมถ้าเราตั้งใจของเรา อันนี้เป็นความจริงอันหนึ่ง.. นี้เป็นการปูพื้นฐานนะ ต่อไปจะเข้าปัญหาเลย

ถาม : อะไรคือความแตกต่างของการปฏิบัติที่ทำให้ได้ฌานกับสมาธิครับ เพื่อที่ผู้ปฏิบัติจะได้ปฏิบัติที่ถูกทางครับ

หลวงพ่อ : เราจะบอกอย่างนี้ก่อนเราจะปูพื้นฐาน.. คำว่าฌานนะ นี่คำว่าฌาน เห็นไหม ฌาน ๘ ฌาน ๖ ฌาน ๔ ฌาน ๖ ฌาน ๘ ที่ว่าพระพุทธเจ้าไปทดสอบ ไปลองกับอาฬารดาบส ตอนนั้นยังไม่มีศาสนา.. ถ้าไม่มีศาสนา การทำสมาธิแบบโลกๆ นี่คือฌาน คือสมาธินี่ พอมีสมาธิขึ้นมาแล้ว เรามีสมาธิขึ้นมา พอทำสมาธิขึ้นมามันเป็นสมาธิส่งออก

ฉะนั้นคำว่าฌาน เห็นไหม นี่กสิณ ! กสิณคือการเพ่ง ถ้าการเพ่ง นี่เวลาเพ่งเห็นเป็นภาพสีขาว กสิณขาว กสิณเขียว กสิณแดง กสิณไฟ เพ่งดวงอาทิตย์ นี่เวลาเพ่งดวงอาทิตย์ขึ้นมาจิตมันมหัศจรรย์.. พอจิตมหัศจรรย์นะ พอจิตมหัศจรรย์เพราะจิตมันสงบได้ ดูสิดวงอาทิตย์นี่เราขยายได้ เราดึงได้เลยล่ะ แต่ดวงอาทิตย์ก็คือดวงอาทิตย์นี่แหละแต่เราดึงได้เลย

เรื่องฌานนี่นะ เรื่องฌานเพราะมันเป็นเรื่องของฌาน เห็นไหม แสง.. เวลาเกิดเป็นภาพ กสิณเขียว สีเขียว ให้สีเขียวขยายให้สีมันแตกต่าง นี้เพราะตอนนั้นยังไม่มีพุทธศาสนา พอไม่มีศาสนา เรื่องฌานนี่เป็นเรื่องพื้นฐาน ฤๅษีชีไพรทำสมาธินี่เขาทำฌาน เพราะถ้าเขาเป็นสมาธิ สมาธิก็คือสมาธิ เขาจะได้ผลอะไร

ฉะนั้นฤๅษีชีไพรสมัยพุทธกาลเขาจะรู้วาระจิตนะ ฤๅษีชีไพรสมัยพุทธกาลจะเหาะเหินเดินฟ้าได้ นี่เพราะอะไร นั่นคือเรื่องของฌาน ฌานคืออภิญญา อภิญญาคือเรื่องของประดับโลก มันไม่ใช่อริยสัจเลย ไม่เกี่ยวกับอริยสัจเลย ฉะนั้นพอไม่เกี่ยวกับอริยสัจเพราะมันเป็นไสยศาสตร์ มันก็จะเป็นไสยศาสตร์ เหมือนไสยศาสตร์เพราะมันเป็นกำลังของจิตไง

ดูสิเวลาคนร่างกายแข็งแรง คนร่างกายอ่อนแอเราเห็นได้ใช่ไหม แต่ถ้าจิตเข้มแข็งจิตอ่อนแอ จิตอ่อนแอคือว่าจิตไม่มีสติ จิตไม่มีกำลัง ทำฌานฌานมันจะเกิดได้อย่างไร ฌานมันก็ไม่มั่นคง แต่จิตของคนที่เข้มแข็ง เขาเพ่งของเขาเขาทำของเขา นี่มันเข้มแข็งของเขา พอเข้มแข็งของเขา พอเข้มแข็งขึ้นมานี่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน.. อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เห็นไหม ความที่เป็นสมาบัติ ๘ เขารู้ได้อย่างไร สมาบัติ ๘ เทียบได้อย่างไร

อ้าว.. ถ้ามันเทียบไม่ได้ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส อาฬารดาบสบอกได้สมาบัติ ๘ เหมือนเรา ถ้าสมาบัติ ๘ เอาอะไรเทียบกันว่าสมาบัติ ๘ สมาบัติ ๘ คือฌาน เห็นไหม นี่รูปฌาน อรูปฌาน ! รูปฌาน อรูปฌาน บอกรูปฌานเป็นอย่างไร รูปฌานนี่ดูสิกำหนด วิตกวิจาร ปีติ สุข.. วิตกวิจารอะไรก็ได้ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์

วิตกวิจารนี่ปฐมฌาน.. ปฐมฌาน จิตมันควบคุมได้แล้ว จิตมันควบคุมนี่ปฐมฌาน ! ทุติยฌาน เวลาเกิดขึ้นเป็นทุติยฌาน วิตก วิจาร ปีติ ! ปีติ เห็นไหม นี่ปฐมฌาน ทุติยฌาน จตุถฌาน

ปฐมฌาน ! ปฐมฌาน ทุติยฌาน จตุถฌาน นี่ฌานที่ ๓ พอฌานที่ ๓ วิตก วิจาร ปีติ สุข นี่มันขึ้นไป แล้วจตุถฌานนี่ฌาน ๔ ฌาน ๔ เป็นอย่างไรเวลาเกิดฌาน ๔ พอเกิดฌาน ๔ เราจะบอกว่าฌาน ๑ ๒ ๓ ๔ นี่มันมีการพัฒนา เห็นไหม มัน ๑ ๒ ๓ ๔ นี่มันไปของมัน

ฉะนั้นฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ พอฌาน ๔ นี่รูปฌาน แล้วเอารูปฌาน พอเป็นฌาน ๔ แล้วเกิดรูปฌานเพื่ออะไร รูปฌานกำหนดอากาศ อากาศมันจะว่างหมดเลย ทุกอย่างว่างหมดเลย นี่พออากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

เราถึงบอกนี่สมาบัติ ๘ แล้วเขาบอกนิโรธสมาบัติ เขาก็สมาบัติอีก ถ้านี่ว่านิโรธสมาบัติพูดถึงพระอนาคาเท่านั้นถึงเข้าได้ พอพระอนาคาเข้าได้ทุกคนก็บอกว่าเข้านิโรธสมาบัติ มันก็บอกกันกลายๆ ไงว่าใครเข้านิโรธสมาบัติไปคนนั้นเป็นพระอนาคา แล้วสมาบัติเอาอะไรยืนยัน เอาฌานอะไรมายืนยันกัน.. พูดกันไปเฉยๆ ! มันไม่มีใครพิสูจน์ไง แต่ถ้ามันพูดจริงนี่ฌานเป็นอย่างไร ฌานเป็นอย่างไร

ฉะนั้นสิ่งที่คำว่าฌาน.. ผู้ที่ทำได้จริงนะ ผู้ที่ทำได้จริงมี ! ครูบาอาจารย์เราทำได้จริงมี เพราะของอย่างนี้มันเป็นเรื่องอย่างเช่นทางวิชาการก็แล้วแต่ ทุกอย่างเราก็อยากพิสูจน์ใช่ไหม ทีนี้ครูบาอาจารย์เรา ถ้าปฏิบัติไปนี่ก็อยากพิสูจน์ว่าอะไรมันเป็นอะไร มันต้องพิสูจน์ ถ้าครูบาอาจารย์พิสูจน์สิ่งนี้แล้ว ได้ทำแล้ว ได้เข้าใจแล้ว ถึงเวลาลูกศิษย์ลูกหา ถึงเวลาปฏิบัติ มันถึงจะได้รู้ว่าอะไรเป็นฌานอะไรไม่เป็นฌาน อะไรเป็นสมาธิอะไรไม่เป็นสมาธิ.. มันมีแต่ในตำรา ในพระไตรปิฎกก็มี แล้วเราจะเป็นอาจารย์คน แล้วคนนี่มันหลากหลายวิธีการที่มันปฏิบัติมา แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นฌานไม่เป็นฌาน

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเป็นฌาน.. คำว่าฌาน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็สอนไปอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม คำว่าฌานนี้เราจะบอกว่าเป็นก่อนพุทธกาล พอมาสมัยพุทธกาลก็ยังมี ก่อนพุทธกาลกับหลังพุทธกาลไม่แตกต่างกัน ไม่แตกต่างกันตรงไหน ไม่แตกต่างกัน ถ้าที่ไหนพุทธศาสนาไม่ได้เผยแผ่เข้าไป ถ้าพุทธศาสนาไม่เผยแผ่เข้าไป ในชุมชนนั้นเขาก็ปฏิบัติของเขา.. ศาสนาแรกของโลกคือศาสนาถือผี ทุกคนกลัวผี ปู่ ย่า ตา ยาย ทุกคนกลัวผีหมด ทีนี้ศาสนาแรกก็คือศาสนาถือผี ดูอย่างในยุโรปก็กลัวผีกันหมด ไม่มีที่ไหนที่ไม่ถือผี เพราะอะไร เพราะถือเรื่องจิตวิญญาณ

ศาสนาที่ไม่มีพุทธศาสนา ไม่มีศาสนาใด ศาสนาแรกของโลกคือศาสนาผี พอศาสนาผีขึ้นมาแล้ว นี่พอถ้าศาสนาพุทธไม่ได้เผยแผ่เข้าไป ศาสนาผี พวกฤๅษีชีไพร คนที่เขาทำของเขา ใครที่มีจิตใจเข้มแข็ง ใครที่มีหลักต่างๆ ได้ เขาก็ทำฌานได้ ทีนี้ทำฌานได้ เราบอกว่าสิ่งที่พุทธศาสนาไม่เข้าไปในชุมชนไหน ชุมชนนั้นเขาก็ทำฌานกัน ทำสมาธิกัน แต่พอมันไม่มีศาสนา แต่เวลามาคุยกัน เวลาสื่อสารกันเขาก็สื่อสารกันว่าพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา.. เราก็เข้าใจไง เราเข้าใจว่าสมาธิก็คือฌาน ฌานก็คือสมาธิไง

ฉะนั้นเวลาปฏิบัตินะ เวลาเราปฏิบัติ คำว่าฌานนี่เขาเพ่ง ! เขาเพ่ง เห็นไหม คำว่าเพ่ง เพ่งกสิณ เขาจะเขียนเป็นสีแล้วก็เอารูปกลมใส่ เพ่งสีเขียว สีขาว สีแดง เขาเพ่งของเขา นี้เขาเพ่งของเขาเขาถึงเป็นฌาน พอเขาเป็นฌานมันมีกำลังนะ แล้วเขามีฌาน แล้วฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ มันแตกต่างกันอย่างไร อ้าว.. มันแตกต่างกันอย่างไร

นี่ไงเราบอกว่ามันพัฒนามันไปของมันอย่างนี้ เห็นไหม ฌานมันถึงส่งออก พอฌานส่งออกแล้วฌานมีกำลังด้วย ฤๅษีชีไพรเขาถึงเหาะเหินเดินฟ้าได้ ดูสิดูเทวทัต เทวทัตได้ฌานสมาบัติ นี่เป็นโลกียฌาน แล้วฌานสมาบัติ.. เพราะเทวทัตตอนที่เป็นพระ เป็นพระก็เป็นมนุษย์ ฤๅษีชีไพรที่เขาปฏิบัติ เขาไม่ได้บวชพระเขาก็เป็นมนุษย์ เขาก็ทำได้เหมือนกัน

เทวทัตนี่แปลงกายได้ เห็นไหม แปลงเป็นงูเป็นต่างๆ ขึ้นไปสู่อชาตศัตรู นั่นล่ะ ! นั่นล่ะฤทธิ์ของฌานทั้งนั้น นั่นล่ะฌานโลกีย์ ! ฌานโลกีย์นี่อภิญญา อภิญญาเพราะคำว่าฌาน ฉะนั้นคำว่าฌานเพราะมันไม่ได้อยู่ในกรอบของพุทธศาสนาไง พระพุทธเจ้าถึงได้วางตรงนี้ไว้

เราจะบอกว่านี้ก่อนพุทธกาล หลังพุทธกาลกับก่อนพุทธกาลมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ อันเดียวกันคือความเชื่อของคน จิตใจที่เชื่อมันอันเดียวกัน แต่พอเรามีพุทธศาสนาปั๊บเรามีกรอบแล้ว เพราะพุทธศาสนาเวลามีกรอบนะ กรอบคือศีล นี่มันต่างกันแล้ว.. ศีล สมาธิ ปัญญา !

ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา เริ่มต้นนี่เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้องของพระพุทธเจ้าไง นี้พอพูดนะเขาบอกว่าพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กำหนดพุทโธ พวกเรากำหนดพุทโธ แล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กำหนดพุทโธ คือว่าไม่ได้ทำตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะกำหนดพุทโธอะไร พุทโธยังไม่มีใครจะกำหนดล่ะ พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้จะเอาพุทโธมาจากไหนล่ะ พระพุทธเจ้าก็กำหนดอานาปานสติไง เพราะตอนนั้นฤๅษีชีไพรเขาทำฌานกันอยู่ เขาทำสมาธิกันอยู่ แต่สมาธิของเขาเพราะเขาไม่มีวาสนา

เขาไม่ได้ทำบุญมาใช่ไหม ไม่ได้ทำบุญก็อย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ ถ้าเรามีอำนาจวาสนาบารมีเราจะเฉลียวใจ นี่เราจะเฉลียวใจน้ำตื้นน้ำลึกมันจะเกิดปัญญา มันจะเปลี่ยนแปลงอุดมคติ เปลี่ยนแปลงถึงชีวิตเลย ฉะนั้นโดยพื้นฐาน โดยพื้นฐานของคนมันไม่มีมุมมองอย่างนี้ ถ้าไม่มีมุมมองอย่างนี้ปั๊บ พอจิตมันสงบ จิตมันทำฌานสมาบัติได้มันเป็นผู้วิเศษนะ ดูสินั่งกันอยู่นี่ คนหนึ่งนั่งธรรมดา อีกคนหนึ่งนั่งมองทะลุไปเลยอย่างนี้ เวลามองไปนี่ฝาไม่มีนะ มองเห็นภูเขาไปเลยอย่างนี้เราแตกต่างจากคนอื่นหรือยัง เราแตกต่างแล้ว พอแตกต่างนี่เราดีกว่าเขาหรือยัง โอ้โฮ.. สุดขอบฟ้าเลย

เราจะดีกว่าเขา เราจะตาทิพย์ เราจะหูทิพย์ เป็นผู้วิเศษแล้ว เป็นผู้วิเศษมันถือตัวแล้ว พอมันถือตัวมันเก่งแล้ว พอถือตัวเก่งปั๊บมันจะทำนู้นทำนี่ให้คนอื่นแล้ว คนอื่นมีปัญหาต้องมาหาเราแล้ว เราจะดูนู้นดูนี่ให้.. นี่ไงมันติดในโลกไง มันติดฌานของตัวเองไง มันติดความเห็นว่าเรามีคุณสมบัติขึ้นมา แล้วเราก็ติดคุณสมบัติของเราเอง เราคิดว่าคุณสมบัติอันนี้มันเป็นประโยชน์ไง แล้วก็ว่าคุณสมบัติอันนี้นี่ผู้วิเศษ ทีนี้ผู้วิเศษ พระพุทธเจ้าก็ไปทำอยู่กับเขาเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าบอกมันไม่ใช่

เราจะวิเศษหรือไม่วิเศษเราก็ทุกข์นะ เราจะวิเศษหรือไม่วิเศษเราก็ต้องตาย นี่พระพุทธเจ้าถึงทิ้งหมด ละหมด วางหมด ทีนี้พอทิ้งหมดละหมดปั๊บ นี่เรื่องฌานโลกีย์มันถึงเป็นไสยศาสตร์ มันถึงเป็นเรื่องโลกใช่ไหม ทีนี้พอเราปฏิบัติปั๊บ สิ่งนี้มันมีมาแล้วทุกคนรู้ได้ เพราะดูสิเดี๋ยวนี้คุณไสยฯ ก็ยังมี ทุกอย่างก็ยังมี ทีนี้พอเรามาพุทโธ พุทโธนี่เขาเข้าใจผิดไง เขาเข้าใจว่าฌานกับสมาธิเป็นอันเดียวกันไง เขาถึงบอกว่าผู้ที่ทำพุทโธ พุทโธมันก็เป็นฌานโลกีย์ มันก็เป็นฌานสมาบัติ

ไม่ใช่ ! ไม่ใช่ ! ฌานคือการเพ่ง พอการเพ่งนี่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌานมันสูงต่ำได้ เห็นไหม สูงต่ำได้ใช่ไหม ปฐมฌาน ทุติยฌาน จตุถฌาน นี่มันพัฒนาขึ้นมา สมาธิมันลึกขึ้นมาเพราะมันเพ่งๆๆๆ พอมีสมาธิขึ้นมาก็มีกำลัง มีกำลังมันก็ส่งออก มีกำลังมันก็เป็นไปแล้ว แต่พอพุทโธ พุทโธมันไม่ได้เพ่งไง มันไม่ได้เพ่ง พุทโธไม่ได้เพ่ง

พุทโธ พุทโธ เห็นไหม นี่ธรรมดาจิตมันส่งออกเข้าเพ่ง เพ่งด้วยความเห็นของเขา นี่จิตมันส่งมาที่ตา ตาเราก็เพ่ง เพ่งให้สงบให้มันมีกำลังของมัน.. แต่นี้พุทโธ พุทโธมันไปสงบที่จิต เราไปสงบที่จิต เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้ เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราพุทโธเพราะว่าเวลามันจะเพ่งแต่เราไม่ได้เพ่ง เราใช้ความคิด พอความคิดขึ้นมามันจะส่งออกไป แล้วเราคิดพุทโธแทน

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธ พุทโธ พอจิตมันไม่ไป ตัวมันเองมันเข้ามาอยู่ที่ตัวมันเอง พอเข้ามาอยู่ที่ตัวมันเอง เห็นไหม เข้ามาอยู่ที่ตัวมันเอง ตัวมันเองก็ทรงตัวได้ พอทรงตัวได้นี่สัมมาสมาธิ นี่ไง.. แต่ถ้าฌาน ฌานมันเพ่งออกไปแล้วมันมีกำลังของมัน.. มีกำลังของมัน ! แล้วเวลาเข้าสมาบัติ ๘ เห็นไหม ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน อากาสานัญจายตนะเข้าออกๆ

นี่เวลาเดินเข้าตั้งแต่ปฐมฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้วถอยกลับ ถอยกลับแล้วเข้า ถอยกลับแล้วเข้ากำลังมันจะเพิ่มขึ้น พอเพิ่มขึ้นนะอยากรู้อะไรล่ะ อยากรู้อะไร มันไปได้หมดแหละ จะไปไหนมันไปได้หมดเลย แต่ตัวเองโง่ฉิบหายเลย ไอ้ตัวที่เข้าฌานนี่โคตรโง่เลย เพราะมันรู้แต่ผลของวัฏฏะไง มันรู้มันเห็นสิ่งที่มีแล้วไง

โยมมหัศจรรย์ไหมโยมจะไปอเมริกา ไปอังกฤษ นี่มหัศจรรย์ไหม ก็ไปดูบ้านเมืองเขาแล้วก็กลับมามหัศจรรย์ตรงไหน นี่ไปเที่ยวรอบโลกเลย วนกี่รอบก็ได้ ตอนนี้จะไปเที่ยวดาวอังคารกันอยู่.. ฌานโลกีย์มันเป็นอย่างนั้น ! มันไปรู้ไปเห็นเรื่องของวัฏฏะไง ไปรู้ไปเห็นต่างๆ แต่มันโง่น่าดู ตัวมันโคตรโง่เลย !

พระพุทธเจ้าถึงไม่เอา พระพุทธเจ้าไม่เอาตรงนี้ พอพระพุทธเจ้าไม่เอา พระพุทธเจ้าถึงพุทโธ พุทโธกลับมา เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่จิตมันสงบตัวมัน มันไม่ไปดูเขา มันไม่ไปเที่ยวรอบโลก เพราะจิตมันสงบ มันอิ่มตัวมัน มันไม่เที่ยวรอบโลก มันจะเข้ามาทำลายตัวมัน.. พอมันไม่ไปเที่ยวรอบโลก จิตออกวิปัสสนา มันจะมาแก้ไขที่ตัวมันไง พวกมีฌานนี่นะ มีฌานนี่มีความเก่งมาก มีความอาจหาญ มีความเป็นผู้วิเศษมาก แต่โง่กับตัวเอง เห็นไหม โง่กับจิตของตัวเอง เพราะมันถือตัวใช่ไหม ถือตัวว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ ถือตัวว่ารู้นะ

ฉะนั้นนี่เขาบอกว่าเข้าฌานสมาบัติแล้วนะ ถ้าออกมาวิปัสสนาทีเดียวมันจะเป็นพระอรหันต์เลย.. เขาสอนกันไว้ ถ้าเข้าฌานสมาบัติโดยความคล่องตัวมาก แล้วจิตนี้มันพิจารณาอริยสัจ ๔ พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ แค่ช่วงเคี้ยวหมากแหลก เป็นพระอรหันต์เลยจริงไหม.. จริง ! แต่มันมาไม่ได้หรอก เพราะมันโง่กับตัวมันเอง คนมันควบคุมตัวเองไม่ได้มันจะมาได้ไหม แต่นี้เวลาพูดนี่เขาพูดได้ คนพูดเพราะอะไร เพราะคนพูดมันไม่เคยเข้า มันไม่เคยเข้าไปสัมผัส

คนที่เข้าไปสัมผัสอย่างนี้สำคัญตนว่าผิด จะสำคัญตนผิดทันทีเลย เพราะว่าจิตมันเป็นฌานสมาบัติ มันสำคัญตนว่ามันรู้แล้ว นี่ไงเขาเรียกว่าติด นี่การภาวนาติด ครูบาอาจารย์ท่านถึงห่วงตรงนี้มากไง เพราะว่านั่งกันอยู่นี่นะ นั่งกันอยู่นี่ถ้าเรามีเงิน คนมีเงินนั่งอยู่แล้วเงินนี่อู้ฮู.. ถมเต็มตัวเลยนะ เราจะแตกต่างจากคนอื่นไหม คนอื่นนั่งปกติเลย เรานั่งนี่เงินถมเราเต็มตัวเลย โอ้โฮ.. กูก็แปลกกว่าเขาเนาะ กูเก่งกว่าเขาเพราะเงินกูเต็มตัวเลย

คนได้ฌานสมาบัติเป็นอย่างนั้น มันจะทิฐิ มันจะว่ามันดีกว่าเขา พอมันดีกว่าเขานี่มันจะไปทำอะไร เราถึงบอกว่ามันได้ฌานสมาบัติแต่มันโคตรโง่เลย ! แต่สัมมาสมาธิแตกต่าง สัมมาสมาธินี่เพราะเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม พอจิตมันเป็น จิตมันเป็นนี่ดูสิเราเป็นเราหยิกตัวเองเจ็บไหม ถามสิลองหยิกตัวเองว่าเจ็บไหม ลองสัมผัสตัวเองสัมผัสได้ไหม เรารู้สึกตัวไหม เรารู้สึกตัว

นี่ไงสัมมาสมาธิเรารู้สึกตัวเรา เราเป็นเรา เรามีความรู้สึกเรา ผิดชอบชั่วดีเรารู้ เรารู้ว่าเราผิดชอบชั่วดีเราเป็นอย่างไร แล้วเราจะแก้ไขเรา ถ้าแก้ไขเรา นี่พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ไง เพราะพระพุทธเจ้าทำตรงนี้มา พระพุทธเจ้าไปเข้าฌานสมาบัติกับอาฬารดาบส อุทกดาบสได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ เพราะอาฬารดาบสว่ามีความรู้เสมอเรา มีทุกอย่าง พระพุทธเจ้าไม่เอา

แล้วตรงนี้ ! ตรงนี้ ! ตรงนี้คนแบ่งไม่ถูก คนแบ่งว่าอะไรเป็นสมาธิอะไรเป็นฌาน แต่ ! แต่พอเวลาเราพูดนะ พอเวลาคนมาถามเรื่องสมาธิ ฌาน เราว่าใช้แทนกัน ฌานก็คือฌาน สมาธิก็คือสมาธิ แต่เวลาเราทำความสงบของใจ เพราะจิตใจ จริตนิสัยของเรานี่มันเป็นอย่างไรไป ถ้ามันเป็นตรงกับจริตนิสัยมันจะทำได้ง่าย ทำไปแล้วทำไปก่อน ถ้าทำไปแล้วนะจิตมันเริ่มตั้ง จิตมันเริ่มมีสติปัญญาเราค่อยแก้ไขกัน นี่ถ้าคนเป็นแล้วมันแก้ไขได้

ฉะนั้นคนไม่เป็นบอกว่าถ้ากำหนดพุทโธ ทำสมถะแล้วเป็นฌานหมด ตัวแข็ง ตัวทื่อ นี่มันไม่ใช่หรอก คำว่าตัวแข็ง ตัวทื่อนะ เวลาเราปฏิบัติไปแล้วมันมีอาการ คนจะสั่นจะไหว จะโยกจะคลอนนี่มีทุกคนแหละ ทุกคนนะกินน้ำหรือกินข้าวก็แล้วแต่ น้ำหรือข้าวผ่านลำคอเข้าไปเรารู้จักรสไหม.. แน่นอน ทุกคนมันต้องมีรส น้ำก็มีรส ฉะนั้นน้ำผ่านลำคอเข้าไปเราต้องรู้รสว่า โอ้โฮ.. น้ำเราเย็นชื่นใจ

จิต ! จิตมันเริ่มจะสงบตัวมา รสของธรรม รสของสมาธิธรรมมันต้องรู้ พอมันรู้นี่มันมีอาการของมัน แล้วมันแปลกตรงไหนล่ะ มันเป็นอะไร มันเสียหายตรงไหน อะไรมันเสียหาย.. เอ็งต่างหากไม่เคยกินข้าวกินน้ำเลย เอ็งไม่เคยได้รับรสเลย แล้วเอ็งก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่เราพุทโธ พุทโธนี่จิตเราจะเริ่มรู้บ้างว่ามันผิดตรงไหน ! มันผิดอะไร !

คนเราไม่กินข้าวกินน้ำมันอยู่ได้ไหม จิตใจถ้าไม่เข้าสู่สมาธิ ไม่เข้าสู่อย่างนี้มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร นี่ไงคนไม่เคยปฏิบัติ คนไม่รู้จักสมาธิก็บอกว่าสมาธิไม่จำเป็น สมถะไม่จำเป็น นี่สติปัฏฐาน ๔ เลย ปัญญาเลย

สติปัฏฐาน ๔ จอมปลอม ! สติปัฏฐาน ๔ ไม่มี อันนั้นเป็นทฤษฏี เป็นทฤษฏี เป็นทางวิชาการ ไม่มีตัวจริง ตัวจริงต้องเกิดที่จิต จิตจะสงบก่อน ดูสิเขียนสมาธิ เขียนมรรคผลอยู่ในพระไตรปิฎกนี่มันมีข้อเท็จจริงไหม มีตัวจริงไหม เป็นตำราหมดเลย.. แต่ถ้ามันเป็นมันเป็นที่จิต สมาธิก็จิตเป็น ! วิปัสสนาก็จิตเป็น ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ แล้วมันออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั้นถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วเวลาเห็นนี่ขนพองสยองเกล้า เวลามันเห็นมันสะเทือนหัวใจ อันนี้ต่างหากเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง ไอ้สติปัฏฐาน ๔ วาดภาพคิดกันไปเอง มันไม่มีหรอก

เราจะบอกว่าเรื่องฌานนะกับเรื่องสมาธิ นี่มันมีความเห็นผิด แล้วเขาก็ไปบวกว่าสมาธิคือฌาน ฌานคือสมาธิไง ถ้าใครเข้าไปทำสมาธิแล้วจะเป็นฌานเป็นอะไร มันก็ว่ากันไป แต่ทีนี้เพียงแต่ว่า นี่พูดถึงตามข้อเท็จจริงเรื่องสมาธิกับฌานเลย.. แต่อันนี้ยกไว้ เรื่องฌานสมาธิอันนี้ยกไว้ เอาพวกเรานี้ พวกเราที่ปฏิบัติเนี่ย

มันจะเป็นสมาธิหรือมันเป็นฌานนี่มันอยู่ที่ความสงบ ถ้าเป็นฌาน จิตมันก็ต้องเพ่งนิ่ง จิตก็ต้องเพ่งนิ่งใช่ไหม ถ้าเราไม่นิ่ง เราไม่เพ่ง นี่จิตมันไม่นิ่งมันจะเป็นฌานได้ไหม ถ้ามันนิ่งมันก็เป็นฌาน.. แต่ถ้าเป็นฌาน ถ้าเรามีสติ เห็นไหม เรามีสติ อย่างที่ว่าหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ หยิกตัวเองให้รู้สึกตัว นี่เราไม่ให้มันออกไปข้างนอก เราตั้งสติของเรา.. เราตั้งสติของเรา พอมันสงบเข้ามามันก็สงบมาสู่เรา คือว่าเราจะแก้ไขได้ไง เราจะทำให้มันเป็นสมาธิได้ว่าอย่างนั้นเถอะ เราจะทำให้เป็นสมาธิ เราจะไม่ตื่นเต้นไปกับมัน

ฉะนั้นสมาธิกับฌานไม่ต้องไปกังวลไง กังวลแต่ว่าในชามข้าวเรามีอาหารหรือเปล่ากังวลตรงนี้ กังวลว่าในชามข้าวเรานี่มีอาหารหรือเปล่า คือเราทำแล้วจิตเราสงบหรือเปล่า เป็นสมาธิหรือเป็นฌาน เดี๋ยวเรารู้ ! เดี๋ยวเรารู้.. ถ้าในชามข้าวเรามีอาหารไง ถ้าเราทำพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ หรือใช้เพ่งอะไรก็ได้ ขอให้ในชามข้าวเรามันมีข้าว ถ้ามันเป็นข้าวฟ่าง ถ้ามันเป็นมันสำปะหลัง มันจะเป็นอาหารอะไรก็แล้วแต่ เราก็มาพลิกแพลงทำเป็นอาหารเราได้

จะเป็นฌานหรือไม่เป็นฌานเราไม่วิตกกังวลตรงนี้นะ เราไม่เห็นตรงนี้ว่ามันจะเป็นความผิดความถูก เราไม่เห็นว่าเป็นฌานหรือเป็นสมาธิมันจะผิดหรือจะถูกอย่างไรหรอก แต่ถ้าทำความสงบของใจมันต้องมีผลอย่างนี้ ทีนี้เพียงแต่ว่าที่มันเป็นปัญหากันขึ้นมาเขาจะบอกว่า พุทโธแล้วมันเป็นฌาน พุทโธแล้ว..

นี่ไงเราถึงได้พูดตรงนี้ออกมาให้เห็นความชัดเจนว่าสมาธิกับฌานมันแตกต่างกันอย่างใด ทีนี้สมาธิกับฌานมันแตกต่าง มันก็เหมือนวัตถุดิบ เราจะทำอาหาร อาหารนี่มันมาจากอะไรล่ะ เรามาจากข้าวจ้าวหรือมาจากข้าวสาลี ข้าวสาลีเขาทำขนมปัง ข้าวสาลีเขาก็ทำอาหารได้ ข้าวจ้าวก็ทำอาหารได้

ฌานนะถ้าเราพลิกแพลงให้มันถูกต้องมีสติปัญญา มันก็เอาเข้ามาสู่การวิปัสสนาได้ ถ้าเรารู้มันนะ มันจะเป็นอะไรที่มาทำเป็นอาหารมันทำได้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าเวลาเขาชี้ชัดไปว่าฌานมันผิด ฌานมันไม่ดี ทุกอย่างไม่ดี แล้วพอพุทโธแล้วก็จะผลักเข้าไปสู่ฌานด้วยนะ จะผลักสมาธิเข้าไปฌาน มึงเป็นฌานไปเถอะ พยายามจะบังคับให้เราเป็นฌาน.. ไม่เป็น เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว แล้ววางกรรมฐานไว้ ๔๐ ห้อง

“พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ”

คำว่านุสติ เห็นไหม นี่มันเป็นสติแล้ว มันเป็นที่เรื่องของใจเราแล้ว นี่ถ้วยชามข้าวเรามีอาหารแล้ว ชามข้าวเรามีอาหารใส่ชามข้าวเราแล้ว มันจะผิดหรือถูกเดี๋ยวเราแก้ไขกันไป แล้วพอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว วางธรรมและวินัยไว้มันก็จะเป็นทฤษฏีอีก ทีนี้มายุคปัจจุบันเรามีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เรามีครูบาอาจารย์ของเราที่ปฏิบัติได้จริงแล้ว.. คนจริง พูดจริง แล้วคนปฏิบัติไปท่านแก้เราจริงๆ นี่มันซึ้งใจมาก เราได้สัมผัสไง เราได้ทฤษฏีมา แล้วเรามีครูบาอาจารย์เราทำเป็นตัวอย่างมา แล้วครูบาอาจารย์นี่แก้ไขเรามา คอยควบคุมเรามา อันนี้ชัวร์

ฉะนั้นจะบอกว่าไม่ต้องไปวิตกว่าเป็นสมาธิหรือเป็นฌาน ไม่ต้องไป โอ้โฮ.. ทำสงบมาแล้วว่าอันนี้เป็นสมาธินะ อ้าว.. อันนี้เป็นฌานนะ เออ.. สงบนี้มันแบ่งเป็นสองเลยเหรอ มันจะแบ่งใจกูไปไหนเป็นฌาน ก็เลยกลายเป็นประเด็นเป็นวิตกกังวลขึ้นมา

เราไม่ได้พูดให้วิตกกังวล เพียงแต่คนเข้าถากถาง คนเขาดูถูกถากถางพุทโธ ว่าทำพุทโธไปแล้วเป็นฌาน ทำพุทโธแล้วมันผิด นี่เราถึงพูดออกมา ถ้าไม่มีคนมาถากถาง ไม่มีคนมาดูถูกในการกระทำของครูบาอาจารย์เรา เราก็คิดว่ามันใกล้เคียงกัน มันแก้ไขได้มันเปลี่ยนแปลงได้ แต่พอเขาบอกว่ามันเป็นฌาน ไม่เลย ฌานเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย.. อันนี้พูดถึงฌานเนาะ !

โอ๋ย.. ถ้าพูดเรื่องฌานเรื่องเดียวเดี๋ยวมันจะพรุ่งนี้เช้าเลยล่ะ (หัวเราะ) อันนี้ก็เหมือนกัน ดีนะ

ถาม : เรียนหลวงพ่อที่เคารพ ขอทราบคำว่ามรรคสามัคคี หรืออริยมรรคสามัคคี หมายความว่าอย่างไร

หลวงพ่อ : นี่พอเวลาเราพูดถึงเรื่องฌาน พูดถึงเรื่องสมาธิ มันจะมาเรื่องมรรคสามัคคี.. มรรคสามัคคีนี่เราศึกษากันมาในชาวพุทธ มรรคสามัคคีคือการรวมตัว การรวมตัวของ ศีล สมาธิ ปัญญา !

ความสมดุล ความสามัคคี เห็นไหม นี่มันมีอยู่ในธรรมจักรด้วย เวลาธรรมจักรนะ เวลาพระพุทธเจ้าสอน ทเวเม ภิกขเว ทางสองส่วนไม่ควรเสพ.. ทางสองส่วนไม่ควรเสพ มัชฌิมาปฏิปทา นี่มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลของมรรคที่รวมตัว ถ้ามรรคที่รวมตัวนะ เวลาเราทำขึ้นมา เห็นไหม นี่ทางสองส่วนไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค ทุกคนรู้ได้ กามสุขัลลิกานุโยค ไอ้ที่ว่าทำสะดวก ทำสบาย ทำง่ายๆ นั่นมันกามสุขัลลิกานุโยคทั้งหมดเลย มันไม่มีหรอก ! มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่มันเป็นความชอบเป็นความพอใจของกิเลส มันเป็นพอใจเราก็เลยรวมเอาว่าอันนั้นเป็นทางสายกลาง

ทางสายกลาง.. นี่มันกามสุขัลลิกานุโยค อันนั้นเป็นการเสวยความสุข อันนั้นเป็นความพอใจ ทีนี้พอมรรคสามัคคี เห็นไหม มรรคสามัคคีนี่มันต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานเลยล่ะ.. มีสมาธิ มีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้วมันออกใช้ปัญญา.. ถ้าออกใช้ปัญญา ถ้าออกใช้ปัญญาในสติปัฏฐาน ๔ วิปัสสนาคือจิตที่สงบแล้ววิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ถ้าวิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ นั่นคือวิปัสสนา

ผลของวิปัสสนาไง ! ผลของวิปัสสนา วิปัสสนานี่ถ้าไม่มีผลของสมถะ ไม่มีผลของสมาธิ วิปัสสนาไม่มี.. ไม่มีเพราะว่าจิตเรามันเป็นปุถุชน จิตเรามันเป็นสัญชาตญาณ จิตเรามันเป็นจิตอวิชชา พอจิตเป็นอวิชชา มันจะคิดธรรมะคิดต่างๆ มันก็คิดโดยกิเลส จิตเราเป็นกิเลส คิดเรื่องอะไรนี่เป็นกิเลสทั้งนั้นแหละ พอคิดเป็นกิเลสขึ้นมา มันก็เป็นโลกๆ มันไม่ลงมัชฌิมาปฏิปทาหรอก แต่พอจิตมันสงบ พอจิตสงบ นี่จิตสงบคือจิตเป็นกลาง จิตสงบคือมันไม่เอียงไปซ้ายและขวา ไม่เอียงเข้าข้างเรา ไม่เอียงเข้าข้างธรรมะ

อย่างพวกเรานี่เวลาปฏิบัติไป พอจิตมันวูบลงนะ โอ้โฮ.. พระอรหันต์ ! พระอรหันต์ ! พระอรหันต์ ! มันจะให้คะแนนตัวเอง ๕๐๐ คะแนน มันจะให้คะแนนตัวเองไว้ก่อนเลย นี่มันเอียงไง พอมันเอียงนี่มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจิตมันสงบมามันเป็นกลาง นี่มันลำเอียงไม่ได้ ถ้ามันลำเอียงมันเป็นกลางไม่ได้ สมาธิไม่ลำเอียงข้างใคร สมาธิเป็นพื้นฐานของจิต

ถ้าจิตมันเป็นพื้นฐานมันเป็นสมาธิแล้ว พอเวลามันใช้ปัญญาออกไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม.. ถ้าในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่พิจารณาบ่อยครั้งเข้า การพิจารณา การฝึกงานบ่อยครั้งเข้า มันจะเป็นตทังคปหาน มันยังไม่สามัคคี

ตทังคปหานคือสมดุล สมดุลของคน เห็นไหม อย่างเช่นเราสงสัยเรื่องนี้อยู่ เราใช้ปัญญาใคร่ครวญสิ่งนี้ พอเข้าใจได้ อืม.. เข้าใจ มันก็หายสงสัย หายสงสัยจริงหรือเปล่า มันจริงหรือเปล่า มันเป็นสิ่งที่เราคิดหรือเปล่า นี้มันยังไม่จริง พอไม่จริงแล้วเรามาทบทวน เฮ้ย.. ยังสงสัยอยู่ สงสัยอยู่ก็ใช้ปัญญาอีกรอบหนึ่ง ทีนี้พออีกรอบเข้าใจ เข้าใจก็ปล่อย ปล่อยก็ยังสงสัยอยู่ เพราะมันสงสัยลึกๆ ไง

ดูสิเราภาวนาไปแล้วเราบอกเราบรรลุธรรมแล้ว ถามตัวเองว่าเราสงสัยไหม.. สงสัยว่ะ สงสัยนี่ไง แต่เวลามันพิจารณาไปแล้วมันปล่อยนะ อู้ฮู.. พอเวลามันปล่อยมันปลื้ม เวลามันปล่อยมันเต็มที่ของมันนะ อู้ฮู.. คราวนี้ใช่แน่นอน คราวนี้ปล่อยหมดเลยนะ อู้ฮู.. ว่างหมดเลยนะ พอกาลเวลามันผ่านไปมันมีความสุขนะ นี่เขาเรียกตทังคปหาน คือการปล่อยวางชั่วคราว

การปล่อยวางเพราะมันปล่อย พอปล่อยแล้ว เวลาปล่อยมีความสุขไหม.. สุข ! สุขของสมาธิก็สุขอยู่แล้ว แต่เวลาสุขของการวิปัสสนานี่มันปล่อย วิปัสสนามันปล่อย แล้วพอมันปล่อยขึ้นมานี่มันมีความสุขมากกว่า เพราะความสุข ถ้ามันเป็นความสงบนี่มันสงบแล้วมีความสุข แต่เวลาใช้ปัญญานี่มันสงบด้วย มันมีความสุขในความสงบด้วย แล้วมีความสุขในการชำระความลังเลสงสัย

เพราะมันสงสัยมันมีข้อมูลของมัน เวลาวิปัสสนาไปมันก็จะเอามาตีแผ่ พอเอามาตีแผ่นี่มันก็ปล่อย พอมันปล่อย สมาธินี่มันปล่อยความลังเลสงสัย ปล่อยข้อมูลเดิมๆ ข้อมูลที่เราเข้าใจผิด มันก็ยิ่งลึกซึ้งกว่า มันก็มีความสุขกว่า พอมันปล่อยขึ้นมา โอ้โฮ.. อันนี้พระอรหันต์แน่นอนเลย พระอรหันต์แน่นอนเลย แต่พอกาลเวลามันผ่านไป เพราะตอนที่มันมีสติ มีสมาธิ มีปัญญานี่มันลึกซึ้ง พอลึกซึ้งมันพิจารณาแล้วมันก็เห็นตามนั้น พอมันหมดวงรอบไปจิตมันก็ออกมาเป็นปกติ พอออกมาเป็นปกติปั๊บมันก็เริ่มคิดแล้ว เริ่มทบทวนแล้ว สงสัยไหม.. สงสัย สงสัย ถ้าจิตมันทบทวนนี่สงสัยตลอด

สงสัย.. นี่ไงตทังคปหานผลเป็นอย่างนี้มันเลยไม่ใช่มรรคสามัคคีไง มันไม่ใช่มรรคสามัคคีเพราะว่ามันยังไม่จบขบวนการของมัน มันยังไม่รวมตัวของมัน ถ้าพอมันรวมตัวของมัน เราพิจารณาอย่างนี้บ่อยครั้งเข้ามันก็ปล่อยอีก ปล่อยอีก มีความสุข ปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ พอมันรวมตัวเป็นมรรคสามัคคี.. มันรวมตัว เห็นไหม มันรวมตัว มรรคญาณมันรวมตัว ฟ๊าบ ! กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์.. ไม่ใช่สงสัย ! ไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่ความรู้.. ไม่ใช่ !

ความรู้เป็นความรู้ อันนี้เป็นความจริง ความจริงเพราะอะไร ความจริงเพราะมรรคญาณมันเข้ามาทำลาย พอทำลายหลวงตาท่านพูดเอง เวลากายกับจิตมันแยกออกจากกันไป มันเหมือนกับ ๓ ทวีปเลย มันจะเข้ามาต่อกันอีกไม่ได้เลย.. นี่ไงที่ว่าความเสถียรของมัน ความเป็นธรรมของมัน ความเป็นธรรมของมันต้องเกิดจากมรรคสามัคคี แล้วมรรคสามัคคีมีได้หนเดียว ! มีได้หนเดียว !

เพราะเวลาหนเดียวนี่มันสมุจเฉท มันขาดไปแล้วมันกลับมาต่อกันอีกไม่ได้ นี่เป็นโสดาบันได้หนหนึ่ง เป็นสกิทาคาได้หนหนึ่ง เป็นอนาคาได้หนหนึ่ง เป็นพระอรหันต์ได้หนหนึ่ง มีหนเดียวเท่านั้น แต่ก่อนหน้านั้นไม่จริง เพราะมันยังไม่หลายหน ตทังคปหานนี่คือมันฝึก มันปล่อยๆ อันนั้นไม่ใช่หนสุดท้ายไง หนสุดท้ายคือมีหนเดียว ถ้าหนเดียวมันขาดปั๊บมันจะไม่มีอะไรอีกแล้ว มันจะกลับมาทำอีกไม่ได้เลย.. นี่มรรคสามัคคี !

นี่เขาถามว่าคำว่า “มรรคสามัคคีมันหมายความว่าอย่างไร หรืออริยมรรคสามัคคี”

อันนี้มันหลอกให้พูด มันหลอกให้อธิบาย.. มรรคสามัคคีมันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างที่อธิบายมา นี้มรรคสามัคคีนะ ทีนี้มันปฏิบัติไป ถ้าเราปฏิบัติไปเราจะรู้ได้ เราจะรู้ของเรานะ แล้วถ้ารู้แล้วเรามีครูบาอาจารย์ เขาถามได้เมื่อก่อนเขาถามเราบ่อยมาก เรามาใหม่ๆ นะ

“หลวงพ่อมั่นใจได้อย่างไรว่าครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อนี่แน่นอน”

เราบอกแน่นอน ! แน่นอนเพราะอะไร เพราะเราอยู่ในหมู่คณะ แล้วเราได้ฟังครูบาอาจารย์ท่านพูดมาบ่อยๆ ตั้งแต่สมัยหลวงปู่จูมธรรมเจดีย์ เห็นไหม ท่านเอาหลวงตากับหลวงปู่ขาวคุยกัน นี่หลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านได้คุยกับหลวงปู่ฝั้น คือพวกเราได้ตรวจสอบกันเองไง พวกเราได้ตรวจสอบกันเอง เราเชื่อมั่นเพราะว่ามันได้มีการตรวจสอบ.. แล้วถ้าการตรวจสอบ ในการปฏิบัติการตรวจสอบ เห็นไหม คนที่มีวุฒิภาวะหรือปัญญาไม่เหมือนกัน หรือแตกต่างกัน มันต้องมีประเด็นให้โต้แย้งกันเด็ดขาด ถ้าวุฒิภาวะเราไม่เท่ากัน

ฉะนั้นถ้าวุฒิภาวะมันเหมือนกัน มันเท่ากันมันก็จบ ดูสิดูหลวงปู่แหวนท่านพูดกับหลวงตาสิ “มหามีอะไรค้านมา ! มหามีอะไรค้านมาเลย มหาค้านมา” ถ้าความจริงต่อความจริงมันมั่นใจมาก

“มีอะไรว่ามาเลย ! มีอะไรว่ามาเลย !”

“ผมไม่ว่าอะไรหรอกครับ ผมหาฟังธรรมะแบบนี้ ผมหาของอย่างนี้ !”

นี่หลวงตาท่านพูด เห็นไหม ฉะนั้นเราถึงบอกว่าเรามั่นใจ เรามั่นใจว่าเราอยู่ในหมู่คณะ อยู่ในสังคมครูบาอาจารย์ ท่านมีอย่างนี้มา ฉะนั้นเราถึงมั่นใจแล้วเราถึงมีกำลังใจ แล้วเราถึงได้มีความมุมานะ เราถึงได้มีการกระทำว่าเราจะไม่โดนหลอก เราจะไม่สูญเปล่า เราถึงมีการกระทำ เราถึงตั้งใจของเรา แล้วพอทำเข้าไปแล้ว พอมรรคสามัคคีนี่..

ตั้งแต่เราบวชใหม่ๆ มีครูบาอาจารย์ท่านพูดอยู่ “เวลากิเลสมันขาดนี่มรรคสามัคคี แล้วมันสามัคคีอย่างไรวะ” แต่มันก็ไม่สงสัยขนาดที่ว่าจะไปรื้อค้นหรอก เพราะมันจะสงสัยแค่ไหนเราไม่เกี่ยว เราจะเอาแต่ใจของเรา ใจของเรา.. แต่พอมันไปเจอเข้านี่

“อ๋อ ! มันเป็นอย่างนี้เอง ! มันเป็นอย่างนี้เอง !”

มันต้องอ๋อ.. ถ้าไม่อ๋อ ก็ยังไม่รู้ พอมันเป็นปั๊บอ๋อเลย ได้ยินแต่ชื่อไง เขาบอกว่าวัวบราห์มันตัวนี้มันสวยมาก อเมริกันบราห์มันมันสวยมาก เอ๊ะ.. เขาว่ามันสวยก็ไม่เคยเห็นไง พอไปชนกับมันนี่อ๋อ ! อ๋อเลย แหม.. มันสวยอย่างนี้เอง ! มันสวยอย่างนี้เอง ! มรรคสามัคคี ต้องรู้ต้องเห็น ถ้ารู้เห็นแล้วนะเพี๊ยะ ! เลย เพี๊ยะ ! เลย

แล้วนี่มันมาจากนั้นนะ

ถาม : การทำบุญร่วมกับหมู่คณะ เมื่อตายไปแล้วจะมาพบเจอกันอีกไหมครับ

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) เจอกันแน่ๆ

“การทำบุญเป็นหมู่คณะ เมื่อตายไปแล้วจะมาเจอกันอีกไหมครับ”

เรื่องของกรรมนี่นะ เรื่องของกรรม.. เวลาโทษนะสามีภรรยาที่รักกันมาก มีสามีหรือภรรยาตายไปก่อน นี่ภรรยาหรือสามีจะตามไปให้ได้ จะไปเจอกันให้ได้ จะทำร้ายตัวเองเพื่อให้ได้ไปเกิดเจอกัน.. มี เราอยู่ที่บ้านตาดตอนนั้นน่ะ แล้วสามีเป็นคนดีมากๆ ออกจากห้องน้ำล้มตายเลย ภรรยานี้รักมาก บอกสามีนี่เป็นคนที่สุดยอด เป็นคนดี โคตรดีไม่เคยมีอีกเลย ฉะนั้นก็ด้วยความรักอันนี้จะทำร้ายตัวเองตามไปเลย

อู้ฮู.. มีลูกอยู่ ๒ คนนะ เขาก็พาดูไป นี่พาไปหาคนไหนก็แก้ไม่ได้ๆ ไปหาหลวงตา นี่ไปหาหลวงตา พอบอกว่าเขาจะฆ่าตัวตาย

หลวงตาบอก “เออ.. ฆ่าเลย ! ฆ่าเลย !”

มันไม่มีใครเคยพูดอย่างนี้ไง หยุดเลยนะ..

“ฆ่าตัวตาย ฆ่าเลย ! แล้วจะฆ่าตัวตายเมื่อไรล่ะ” เขาบอกว่าจะฆ่าตัวตาย

“เดี๋ยวก่อนนะถ้าจะฆ่าตัวตาย ต้องฆ่าลูกก่อน”

“ไม่ได้ ! ฆ่าลูกได้อย่างไร ถ้าฆ่าลูกแล้วใครจะดูแลครอบครัว ใครจะดูแลตระกูลล่ะ”

นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นนะสวนเลย “แล้วถ้าแม่มันตายลูกมันจะอยู่กับใครล่ะ !”

โอ้โฮ.. มันได้สติ ได้สติกลับมาเลย พอได้สติกลับมานะ เสียใจก็เสียใจ แต่พอฟื้นขึ้นมานะก็คิดถึงลูกคิดถึงตระกูลของเรา แล้วพอเสียใจปั๊บ พอได้สติแล้วนี่เริ่มมาติเตียนเพื่อนฝูง นี่เพื่อนไม่เคยเตือนเลย เตือนแล้ว อู้ฮู.. ดึงไว้ขนาดไหนนะ จะวิ่งให้รถชน จะวิ่งให้รถชนตาย จะทำร้ายตัวเอง เพื่อนก็ดึงแล้วดึงอีก แล้วพอยังไม่รู้เรื่องนะ พอหลวงตาท่านกระแทกทีเดียวกลับมานะว่า โอ้โฮ.. เพื่อนนี่ใจร้าย ไม่มีใครช่วยเลย.. เขาดึงเกือบตาย ว่าเพื่อนใจร้าย เพื่อนไม่ดี

พอจบ.. นี่เราจะพูดตรงนี้ไง พอหลวงตาท่านเทศน์ฟังแล้วสะอึกเลยล่ะ

“ถ้าเราฆ่าตัวตายไป เราจะตามไปเจอสามีเราเหรอ เพราะเวลาสามีเขาตายไปเขาก็ตายด้วยกรรมของเขา แล้วเราฆ่าตัวตาย นี่ฆ่าตัวตายมันก็เหมือนกับเราทำร้ายตัวเอง เราจะไปเกิดเจอเขาไหม.. ถ้าเราฆ่าตัวตายเปรียบเหมือนกับเราเอาเข็มเล่มหนึ่ง ไปทิ้งลงในทะเล แล้วเราก็ไปงมหาเข็มเล่มนั้นเจอไหม” โอ้โฮ.. เวลาท่านเทศน์นะ แต่พอจะเทศน์นี่ต้องให้เขาช็อกก่อน ให้เขาสำนึกตัวก่อน

ฉะนั้นถ้าอย่างนั้นยังไม่ได้เจอกัน แล้วทำเป็นหมู่คณะนี่จะไปเจอกันไหม (หัวเราะ) เราจะบอกว่า กรรมของคนมันแตกต่างกันไป แต่เราว่าเจอ คำว่าเจอของเรานี่มันไม่ใช่เจอแบบวิทยาศาสตร์ คำว่าวิทยาศาสตร์เจอเราก็ต้องเกิด.. นี่เราตายไปด้วยกัน ไปเกิดด้วยกันเป็นหมู่คณะกันไป มันไม่ใช่

แต่เวลาคนหมดอายุมันก็ตายไปก่อน คนไหนหมดอายุก็ตายไปก่อน คนอยู่หลังก็ตายทีหลัง มันก็วนเวียนกันอย่างนี้ เห็นไหม แต่เราจะไปเจอกัน เราไปเจอกันเพราะเราสร้างกรรมมาด้วยกัน กรรมนี้มันจะพลัดให้เราไปเจอกันชาติใดชาติหนึ่ง เราจะไปร่วมกันชาติใดชาติหนึ่ง มันจะไปพบไปเห็นกัน

คนเราทำบุญร่วมกัน ทำอะไรร่วมกันมา จะไม่ไปเกิดเจอกัน เป็นไปไม่ได้ ! แต่ถ้าจะเจอกันแบบว่าไปทั้งคณะอย่างนี้.. มาอย่างนี้ไปอย่างนี้ด้วยกัน มันก็ไม่ใช่ ! จะบอกว่ามาด้วยกันอย่างนี้ ก็ไปด้วยกันอย่างนี้ อายุก็ไม่เท่ากัน ความคิดก็ไม่เท่ากัน อะไรก็ไม่เท่ากัน.. ทำด้วยกันแล้วว่าจะตายด้วยกัน แล้วว่าจะไปเกิดร่วมกัน แต่เกิดแน่นอน เจอกันแน่นอน แต่เจอกันแบบกรรมมันพาไปไง แต่เวลาเราคิดขึ้นมาเราก็คิดของเราอย่างนี้ เวลาบอกว่าถ้าเจอกันต้องไปด้วยกัน เราก็จะไปเจอกันอย่างนี้ จะไปด้วยกัน

อันนี้อันหนึ่งนะ นี่ถึงบอกว่าทำบุญร่วมกัน เป็นหมู่คณะกัน เมื่อตายไปจะไปเจอกันหรือไม่.. เจอ ! เจอแบบผลของวัฏฏะ กรรมมันซัดไป กรรมมันหมุนไป แล้วเราทำสิ่งที่ร่วมกันสิ่งใดมา เราจะมาเกื้อกูลกัน เราจะมาสนับสนุนกัน แต่มันจะมีผลของกรรม นี่ๆ กรรมที่เป็นอจินไตยมันเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นแบบวิทยาศาสตร์ไง พอวิทยาศาสตร์เราพูดนี่ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ไอ้นั่นมันเขาสร้างหนัง ถ้าสร้างหนังนะได้เพราะมันไปเกณฑ์คนแสดงมาเลย แล้วจะเป็นอย่างนั้นๆ มันจะเป็นอย่างนั้นไป

ฉะนั้นตายไปแล้วจะเจอกันไหม.. เจอกัน แต่นี้เราเจอกัน เราจะเจอกัน เราจะไปเห็นกัน แต่เราจะเจอกันเห็นกัน พอไปอีกชาติหนึ่งเราก็ไปเจอกันอีกสถานะหนึ่ง เป็นคนหนึ่ง เป็นชื่ออื่น เป็นตำแหน่งอื่น แต่ก็เป็นจิตดวงนี้แหละมันจะไปพบไปเห็นกัน แต่ถ้าจะไปเห็นกันโดยที่เรายังจำ โอ๋ย.. ชาติที่แล้วเรายังเจอกันมาเนาะ โอ้โฮ.. นั่นระลึกอดีตชาติได้ พวกนี้จำอดีตชาติได้ อ๋อ.. เราเคยไปทำบุญที่วัดนั้นด้วยกัน เห็นไหม เรามาเกิดเจอกัน

นี่มันเป็นเพราะความคิดไง เวลาคำถามนี่คิดแบบวิทยาศาสตร์ คำว่าวิทยาศาสตร์นี่ถูกต้องนะ เราต้องคิดเป็นระบบเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ว่าจับต้องได้ พิสูจน์ได้ เราไม่ใช่คนที่ไม่มีปัญญาที่เราจะเชื่ออะไรด้วยความงมงาย.. ทีนี้วิทยาศาสตร์นี่มันเป็นโลก โลกวิทยาศาสตร์ นี่เป็นโลกวิทยาศาสตร์ ธรรมะมันละเอียดอ่อนกว่าไง ธรรมะมันลึกลับซับซ้อนกว่าที่เราคิดได้ไม่ทันไง

ฉะนั้นคำถามส่วนใหญ่ เขาเรียกวิทยาศาสตร์นี่เป็นสูตรสำเร็จ มันเป็นคำถามทื่อๆ แต่ความจริงมันไม่ทื่อๆ มันเป็นของมันไป.. นี่คือธรรม ! ธรรมของพระพุทธเจ้าละเอียดกว่านี้เยอะมาก ฉะนั้นเจอกันแน่นอน ! แต่ไม่เจอกันอย่างที่เราปรารถนา มันเจอกันแบบว่าผลบุญผลกรรมมันซับให้เป็นไปตามนั้น

ถาม : ถ้าเราทำให้คนอื่นต้องเป็นห่วง เราจะเป็นบาปไหม

หลวงพ่อ : ความอาลัยอาวรณ์นะ ความเป็นห่วง ตัดกันไม่ขาดหรอก กิเลสตัวสุดท้ายนะ กามราคะ ปฏิฆะนะ นี่มันเป็นเรื่องหยาบๆ ถึงที่สุดแล้วนะ.. นี่อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง มันเป็นความอาลัยอาวรณ์ มันเป็นกิเลสที่ละเอียด ความเป็นกิเลสที่ละเอียดนี่มันละเอียด มันไม่ใช่ผลของทุกข์นะ

ถ้าความโลภ ความโกรธ ความหลงมันขาดไปแล้ว พระอนาคานี่ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงไปแล้ว มันเหลือแต่ตัวจิตเดิมแท้ ทีนี้ตัวจิตเดิมแท้ เห็นไหม ที่หลวงตาบอกว่ามันเป็นไฟสุมขอน มันเป็นไฟไหม้แกลบ มันไหม้ตัวมันเอง พอไฟไหม้ตัวเอง นี่แหละตัวอาลัยอาวรณ์ ! ตัวอาลัยอาวรณ์.. ตัวอาลัยอาวรณ์ในภพในชาติ

ฉะนั้นตัวนี้นะเราจะบอกว่า คนถามถามว่า “ถ้าเราทำให้คนเป็นห่วง” ความห่วงความใย แล้วคนที่ห่วงนะ ถ้าเรารักมาก เรารักมากเราผูกพันมาก เราก็ห่วงมาก ถ้าเรารักน้อย เราผูกพันน้อย เราก็ห่วงน้อย เออ ! อ้าว.. ถ้าเด็กมันยิ่งเล็กก็ยิ่งห่วงใหญ่เลยนะ เห็นไหม หลวงตาบอกเลย ถ้ามันเป็นเล็กๆ นี่มันเป็นผู้ว่า พอโตขึ้นมาเป็นนายอำเภอ พอเวลาเด็กมันโตขึ้นมามันช่วยเหลือตัวเองได้ ความเป็นห่วงเราก็น้อยลงแล้ว แต่ถ้ายิ่งมันอยู่ของมันได้ความเป็นห่วงเราก็ยิ่งน้อยลงๆ แต่ไม่มีความหมดไป ไม่มี !

ในครอบครัวเรานะ ดีขนาดไหนเราก็ห่วง เลวขนาดไหนเราก็นึกถึง เราจะลบไม่ได้หรอก บางคนนี่ตัดพ่อตัดลูกกันนะ เลวก็ตัดนะ มึงตัดไปเถอะตัดแต่ปาก มันคิดในใจ มันตัดไม่ได้หรอก ไม่มีทาง จะเลวขนาดไหนก็ตัดไม่ได้ มันตัดได้แต่ปาก.. ความคิดมันตัดได้อย่างไร ผลของมันเกิดมามึงตัดได้อย่างไร แต่เพราะความเจ็บช้ำเราก็ว่าเราตัด

นี่เราพูดถึงความห่วงไง เราจะบอกว่าถ้าสิ่งนี้มันเป็นเรื่องของ.. เราจะบอกว่าเป็นธรรมชาติของจิต เป็นธรรมชาติของผลของวัฏฏะ หลวงตาท่านพูด เห็นไหม ที่ท่านออกมาโครงการช่วยชาติบอกว่า เรามีสายบุญสายกรรมต่อกันมา เราถึงเชื่อฟังกัน เราถึงมาเกื้อกูลกัน เราถึงมาช่วยกันเพื่อมายกชาติ.. นี้ท่านพูดเองว่า “เพราะเรามีสายบุญสายกรรมกันมา”

นี้คำว่าสายบุญสายกรรม นี่ที่เราทำเป็นหมู่คณะ เราทำบุญกันมานี่เราทำกันมา เรามีสายบุญสายกรรมกันมา เพราะเรามาเห็นท่าน เรามาเห็นการกระทำของท่าน เราถึงเชื่อฟังท่าน ฉะนั้นความเชื่อฟังอันนั้น

ทีนี้คำว่าเป็นห่วงๆ นี่มันเป็นบาปไหม.. คำว่าเป็นบาปไหม ไม่เป็นบาปนะ เอาอย่างนี้นะเวลาพระพุทธเจ้าจะออกปฏิบัติ เวลาพระพุทธเจ้าออกมา พระเจ้าสุทโธทนะเป็นห่วงไหม พระเจ้าสุทโธทนะทุกข์ยากไหม แล้วไม่ทุกข์ธรรมดานะ เวลาพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว แล้วกลับมานี่กลับมาจะโปรดนะ เวลาสามเณรราหุลบวชอีกนี่เจ็บอีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม

นี่ไง เพราะสิ่งนี้มันมีอยู่ไง จะบอกว่าจะไม่ให้ใครห่วงเราเลย เราก็ต้องไม่มีพ่อไม่มีแม่นั่นแหละก็ไม่ห่วงเลย เราก็มีไง เราก็มีพ่อมีแม่ เราก็มีทุกคนทำไมจะไม่ห่วงเรา เขาก็ห่วงเรา นี้ความห่วงนั้นมันห่วงโดยโลก มันห่วงหมายถึงว่ามันมีเหตุมีผลไหม ไอ้ตรงนี้เรามาคิดกันไง ถ้าบอกว่ามันจะไม่มีห่วงเลยก็แสดงว่าโลกนี้มีพระอรหันต์หมดเลย เป็นพระอรหันต์หมดเลยมันก็ไม่มีกรณีนี้ขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย เราจะต้องมีกรณีนี้

ถ้ามีกรณีนี้เราก็ต้องมองว่า กรณีนี้ถ้าเราไม่มองเป็นธรรมกับเป็นโลกนี่นะ ถ้าไม่มองเป็นธรรมกับเป็นโลกเราจะทำอะไรกันไม่ได้เลยไง เราจะจับต้องสิ่งใด ตอนนี้เขาเป็นห่วงนะ จะจับต้องสิ่งใดเขาก็เป็นห่วงนะ เราก็เลยทำอะไรกันไม่ได้เลย แต่ถ้าจับต้องสิ่งที่เขาเป็นห่วง.. ห่วง ! ห่วงก็คือห่วงแต่ทำดี ทำดีเอาความดีนี้ เห็นไหม ดูพระพุทธเจ้านี่สละออกมาก่อน พอสละออกมาก่อนแล้ว พอพระพุทธเจ้ากลับไป นี่กลับไปเอาพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระอรหันต์ กลับไปเทศน์พระนางพิมพาจนเป็นพระอรหันต์

ออกมานี่ทุกข์ยากหมดนะ พ่อแม่ตรอมนะ กษัตริย์นะจะได้ขึ้นมาปกครอง จะเป็นจักรพรรดินะ พ่อแม่หวังขนาดไหน หนีไปบวชเฉยเลย นี่โอ้โฮ.. ไปอ่านพระไตรปิฎก หลวงตาพูดถึงนางพิมพา เห็นไหม เราเป็นภรรยา แล้วอยู่ดีๆ สามีทิ้งไปเราผิดอะไร เราผิดอะไร เราผิดอะไร.. ฟังข่าวนะ อยู่ในพระไตรปิฎก อ่านพระไตรปิฎกแล้ว โอ้โฮ.. มันสะเทือน ฟังข่าวว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน นอนอย่างใด ทีแรกก็นอน นี่พระพุทธเจ้านอนกับพื้น นอนลงกับพื้นเลย ฟังข่าวพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน จะหันศีรษะไปทางนั้น หันศีรษะไปทางนั้น.. นี่ผูกพันกันมาตลอด เห็นไหม จนสุดท้ายพระพุทธเจ้าก็ไปเอาได้ ไปเทศน์จนเป็นพระอรหันต์ได้

ห่วงไหม.. นี่ห่วง ! ถ้าห่วงเพื่อดี เราต้องทำนะ ฉะนั้นถ้าห่วงแล้ว ห่วงจะเอาไปผูกคอนี่ไม่เอา เวลาห่วง.. มานี่ๆ ขันชะเนาะเลย เออ.. ห่วงอย่างนี้ไม่เอา แต่ถ้าห่วงอย่างนี้มันเรื่องธรรมดา มันเรื่องธรรมดาเรื่องที่ตัดไม่ได้ แต่เราจะทำคุณงามความดีมันต้องมีการลงทุน เราต้องทำของเรา

นี่กรณีอย่างนี้ ถ้าบอกว่า เราทำให้คนอื่นห่วงแล้วเป็นบาปๆ ทีนี้พอเขาจะออกจากบ้านมาเขาเป็นห่วง กลับบ้านเลยนะไม่ต้องออกจากบ้านเลย โอ้โฮ.. คนดีมันก็ไม่ได้ เวลาจะมาวัดเขาเป็นห่วงก็ไม่มา เวลาไปเที่ยวเป็นห่วงก็จะไป ห่วงก็ไม่เกี่ยว จะไป แต่จะมาวัดบอกห่วง ห่วงไม่ไปแล้ว พ่อแม่ห่วงไม่มา แต่เวลาไปเที่ยว พ่อแม่ห่วงขนาดไหนก็เอาไว้ก่อน เก็บไว้ก่อน แล้วค่อยมาคุยกันทีหลัง

เอานะต่อ..

ถาม : มีครอบครัวหนึ่งไปกราบเจ้าอาวาสวัดปฏิบัติวัดหนึ่ง ขณะนั้นเจ้าอาวาสอาพาธ แล้วเจ้าอาวาสท่านลูบผมผู้หญิงแบบผ่านๆ ท่านทำแบบนี้ผิดไหมคะ ถ้าท่านทำผิดท่านจะภาวนาได้จริงหรือเปล่าคะ แล้วทำไมคนถึงได้ศรัทธามากกันคะ

หลวงพ่อ : อันนี้เราพูดเป็นกลางนะ เจ้าอาวาสนั้นถ้าคิดว่าเป็นผู้ชายล่ะ ถ้าเจ้าอาวาสนั้นมองว่าผู้หญิงนี่เป็นผู้ชายล่ะ ท่านอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ อย่างเช่นในปัจจุบันนี้เด็กๆ เข้ามานี่เราไม่ค่อยกล้านะ ผู้หญิงหรือผู้ชายมันดูไม่ออก เวลาแจกขนมนี่หลายทีแล้ว นึกว่าเป็นผู้ชาย แต่เฮ้ย.. ผู้หญิง ไอ้ผู้หญิงคิดว่าเป็นผู้ชาย เราดูผิดนะ เด็กๆ ที่รับขนม บางทีโทษนะไม่ใช่เสแสร้งนะ บางทีต้องถามเลยผู้หญิงหรือผู้ชาย เอ็งผู้หญิงหรือผู้ชาย.. ไม่กล้า เด็กๆ เข้ามานี่ไม่กล้าเลย หญิงหรือชายนี่ดูไม่ออก

ถ้าประสบการณ์อย่างนี้เราเคยมี ฉะนั้นถ้าเขามีลูบผ่านๆ มันลูบอย่างไรก็ไม่รู้เนาะ แต่ถ้ามันเป็นความจริง เพราะว่าแม้แต่ทารกไง ทารกเป็นเพศหญิงภิกษุก็จับไม่ได้แล้ว ถ้าพูดถึงตามวินัยนะ แต่ดูพระเซนสิ เห็นไหม พระเซนไป ๒ องค์ แล้วพอจะข้ามน้ำมีผู้หญิงผ่านมา องค์หนึ่งอุ้มผู้หญิงไปเลย แล้วก็ไป ไอ้พระที่ไปด้วย แหม.. ทุกข์น่าดูเลย จนทนไม่ไหว ตกเย็นไปถามเลย

“ท่าน.. ทำไมท่านทำอย่างนั้นล่ะ อู้ฮู.. ท่านยังแบกมาเหรอ”

“ผมทิ้งไว้ที่นั่นแล้ว ทิ้งไว้ตรงแม่น้ำนั่นล่ะ ผมไม่ได้แบกมา”

“ท่านยังแบกมาจนป่านนี้อีกเหรอ”

คือว่าทำใจได้ ทำใจไม่ได้ไง คนถ้าเขาทำใจได้เขาตัดใจของเขาได้จริง แต่ต้องจริงนะ ถ้าไม่จริงนะ ถ้าเราเป็นอาบัติใช่ไหมเราทำสิ่งใดก็จะเป็นกังวล อันนี้มันเป็นนิวรณ์ไหม แล้วมาพุทโธ พุทโธ พุทโธให้เป็นสมาธินี่มันไม่เป็นหรอก

ฉะนั้นศีล ! ศีลมันเป็นรั้ว กั้นใจของเราไม่ให้มันพยศ ฉะนั้นถ้าอะไรสิ่งใดก็แล้วแต่ที่พอเวลาเราไปทำแล้วมันยิ่งพยศ นี่สิ่งนั้นมันไม่ถูกแล้ว แต่ศีลนี่ป้องกันไม่ให้ใจเราพยศ พอใจเราไม่พยศแล้วเราจะทำใจเราให้สงบได้อีกหรือเปล่า

ศีล สมาธิ ปัญญา ! ศีลป้องกันไม่ให้พยศ แต่ถ้ามันป้องกันไม่ให้พยศ แล้วทำแล้วมันลงสมาธิไหมล่ะ ไม่พยศแล้วดีไหม อย่างที่ว่าศีล ๕ ศีล ๕ นี่ไม่ทำผิดศีล ๕ เลย ถ้าไม่ผิดศีล ๕ ไมโครโฟนก็ไม่ผิดศีล ๕ เลย ไมโครโฟนนี่ไม่ทำผิดเลย.. ไม่ผิดศีล ๕ ก็วัตถุไง ไม่ผิดศีล ๕ ต้องมีธรรม ๕

ไม่ผิดศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ต้องเมตตา ต้องดูแล ต้องรักษา เห็นไหม ไม่ลักทรัพย์ มีอะไรก็เจือจานใคร.. ไม่ลักทรัพย์ ไม่ฆ่าสัตว์ แต่กูไม่ให้ใครเลย ก็วัตถุไง ! ก็วัตถุไง นี่โต๊ะ วัตถุนี่มันมีศีลครบ มันไม่เคยทำผิดใครเลย นี่ศีลมันบริสุทธิ์ วัตถุนี้ศีลบริสุทธิ์หมดเลย

ศีล ๕ ธรรม ๕ ! ถ้าเรามีศีลแล้ว เรามีศีลใช่ไหม แล้วเราจะทำอะไรต่อไป ทุกคนบอกว่ามีศีลๆ แล้วศีลเป็นอย่างไร.. อันนี้พูดถึงถ้าเราทำใจได้ คำว่าทำใจได้นะ

ฉะนั้นกรณีนี้ เพราะว่าท่านเป็นคนมีศรัทธามากอะไรนี่ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ.. แต่ถ้ามันศรัทธาหรือไม่ศรัทธา ผิดหมด ! เพราะวินัยไม่ได้ยกเว้นว่าศรัทธาไม่ผิดวินัย จะมีคนเคารพมากหรือเคารพน้อยก็คือผิดหมด

เว้นไว้.. เว้นไว้ที่หลวงปู่มั่น เวลาที่หลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่ตื้อท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วเวลาแจกอาหารอยู่หลวงปู่ตื้อฉันเลย ธรรมดาหลวงปู่มั่นทุกคนเคารพท่านมาก ทีนี้หลวงปู่ตื้อท่านก็อภิญญา ๖ นะ หลวงปู่ตื้อเป็นพระอรหันต์ที่รับรู้ไปหมด แล้วเวลาเขาแจกอาหารมา พอหลวงปู่ตื้อท่านฉันเลย หลวงปู่มั่นหันไปถาม

“อ้าว.. ท่านตื้อทำไมฉันล่ะ”

“อ้าว.. ก็ผมหิว ! ก็ผมหิว”

นี่พระอรหันต์.. เราจะบอกว่าพระอรหันต์นี่นะ สติวินัย.. สติวินัยมันพ้นจากอาบัติไง มันพ้นจากกฎทุกๆ กฎ แต่มันต้องเป็นความจริงไง ถ้าไม่ใช่หลวงปู่ตื้อนะ หลวงปู่มั่น.. เพราะหลวงปู่มั่นท่านพยายามสร้าง เห็นไหม ดูสิศาสนาของเรามันมา ๒,๐๐๐ กว่าปี พอ ๒,๐๐๐ กว่าปี ผู้ที่ปฏิบัติเป็นหลักเป็นเกณฑ์นี่มันน้อยลงๆ ฉะนั้นหลวงปู่มั่นท่านมาฟื้นฟู มันไปลงกับในพระไตรปิฎกว่า “กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง”

นี่หลวงปู่มั่นท่านก็มาฟื้นฟู ท่านพยายามจะวางข้อวัตร คือวางปฏิปทาไว้ วางปฏิปทาไว้ เหมือนกับสร้างถนนให้พวกเราได้เดิน สร้างปฏิปทาไว้ให้เราก้าวเดิน ฉะนั้นท่านถึงต้องทำสิ่งที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ แล้วหลวงปู่ตื้อไปทำต่อหน้าท่าน มันจะเป็นอย่างไรล่ะ ทีนี้หลวงปู่ตื้อท่านสะอาดบริสุทธิ์จริงๆ ท่านเป็นความจริง หลวงปู่มั่นท่านถึงพูดคำนี้ นี่หลวงตาเล่าประจำ

“ใครอย่าเอาแบบหลวงปู่ตื้อนะ ใครห้ามทำตามหลวงปู่ตื้อนะ”

แต่เวลาหลวงปู่ตื้อท่านก็ปล่อย เห็นไหม นี่เราจะบอกว่า ถ้าถึงที่จริงแล้วนี่มันพ้นจริงๆ มันเป็นสติวินัย มันพ้นจากกฎกติกา จิตนี้มันไม่มีมารยาสาไถย ไม่มีสิ่งต่างๆ ที่มันพ้นไป.. นั้นพูดถึงความจริงอย่างนั้น แต่สิ่งนี้ใครจะเอามาเป็นบรรทัดฐานล่ะ ฉะนั้นกรณีอย่างนี้เราต้องยกไว้ ยกไว้ให้ครูบาอาจารย์ของเราท่านวินิจฉัยกันเอาเอง ครูบาอาจารย์ที่เป็นประโยชน์กับเรา

ถ้าอย่างพวกเรา เราต้องบอกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก.. ผิดก็ผิด ถูกก็ถูกในสายตาพวกเรา ตอบในสายตาพวกเรา ฉะนั้นในครูบาอาจารย์ที่ท่านมั่นคงของท่านแล้ว นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นไอ้เรื่องอย่างนี้มันก็อยู่ที่ความเชื่อของคนว่าใครเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน มันเป็นความเห็นของคนนะ

ฉะนั้นมาถึงการนี้..

ถาม : ๑.การออกโรงทาน การทำบุญกับมูลนิธิต่างๆ การทำทานกับขอทาน บุญแตกต่างกันอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : โอ้โฮ.. ไอ้อย่างนี้มันเป็นเทวดาหรืออะไรที่ถามพระพุทธเจ้าไง ไปถามพระพุทธเจ้าว่าควรทำบุญที่ไหน.. ควรทำบุญที่ไหน พระพุทธเจ้าบอก “ควรทำบุญที่เธอพอใจ” พระพุทธเจ้าตอบสุดยอดเลยนะ นี่เราควรทำบุญที่ไหน พระพุทธเจ้าบอกว่า

“เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ”

จริงๆ นะ สมมุติดูสิ โยมสังเกตได้ไหม โดยทั่วๆ ไปพระบางองค์ก็ศรัทธาองค์นี้ บางคนก็ศรัทธาองค์นี้ ถ้าเขาศรัทธาองค์นี้ใช่ไหม เราชวนมาทำบุญองค์นี้เขาบอกไม่ไป ไม่ทำ เห็นไหม ก็ทำบุญเหมือนกัน ทำไมเขาไม่ทำล่ะ

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าว่า “เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ ถ้าเธอพอใจที่ไหนควรทำที่นั่นเพราะเราได้ทำ” พระพุทธเจ้ามองตรงนี้นะ มองถึงว่าเราจะได้ทำก่อนไง แต่ถ้าเราไม่พอใจนี่เราจะไม่ทำ ทั้งๆ ที่ว่าเราจะทำถูกหรือทำผิดก็ไม่รู้แหละแต่เราพอใจ เราพอใจต้องทำเลย ถ้าไม่ทำเดี๋ยวกิเลสบอกไม่ทำเก็บไว้ดีกว่า แล้วไม่ทำแล้วเลิกเลย จบเลย

“เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ”

นี้เขาก็ถามต่อว่า “แล้วถ้าผลล่ะ ! ถ้าผลล่ะ !”

ถ้าเอาวัดผลกัน ถ้าทำที่พอใจแล้วได้ผลเหมือนกันไหม “ไม่แล้ว ไม่”

ถ้าได้ผล พระพุทธเจ้ายกคติเลย “ถ้าเธอเอาข้าวของเธอหว่านลงไปโดนลานหิน ข้าวเธอจะงอกไหม.. ถ้าเธอจะหว่านข้าวของเธอ เธอหว่านข้าวลงไปที่เนื้อนาบุญ ที่เนื้อนาดีที่ดินดีจะงอกไหม” ก็กลับมาไง

“ทำบุญได้ผลมากที่สุดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื้อนาที่ดีที่สุด ! รองลงมาก็พระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวก แล้วก็พระอรหันต์”

ทำไมไม่เหมือนกันล่ะ ทำไมพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวก พระอรหันต์ นี่ทำไมไม่เหมือนกันเพราะอะไร เพราะพระอรหันต์เหมือนกัน นี่เนื้อนามันแตกต่างกันเพราะบารมีธรรม เห็นไหม พอบารมีธรรม แล้วต่อไปพระอนาคา พระสกิทา พระโสดาบัน แล้วถ้าไม่มีล่ะ อย่างนี่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ไม่มีพระอรหันต์ ไม่มีพระอริยบุคคลเลยแล้วทำอย่างไรล่ะ ให้ทำอย่างไร

“ให้เธอทำสังฆทาน ถ้าเธอทำสังฆทานก็เท่ากับเปรียบว่าเธอได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้า”

เพราะคำว่าสังฆทานนี่มันเป็นสมบัติสาธารณะ อย่างที่เราถวายสังฆทาน คำว่าถวายสังฆทานคือถวายแก่สงฆ์ เราไม่ได้ถวายแก่พระองค์ใดองค์หนึ่ง เพราะคำว่าพระองค์ใดองค์หนึ่งนี่ เห็นไหม ที่ว่ามันไม่มีแล้ว แล้วพระองค์นี้ดีหรือไม่ดีนี่ไม่รู้แล้ว พระองค์นี้มันจะผิดจะถูกอย่างไร ให้ทำบุญถวายสังฆทาน ทีนี้ทำบุญถวายสังฆทานก็เท่ากับถวายแก่สงฆ์ ทีนี้พอถวายแก่สงฆ์ นี่คำถามนะ

ถาม : การออกโรงทาน การทำบุญกับมูลนิธิ การทำบุญกับขอทาน บุญแตกต่างกันอย่างไร”

หลวงพ่อ : เราจะเอาตามข้อเท็จจริงนี้ไหมล่ะ เอาตามข้อเท็จจริงกับที่เป็น หรือจะเอาข้อเท็จจริงในหัวใจเขาล่ะ ในหัวใจเขานะถ้าทำบุญกับโรงทาน โรงทานมันก็เป็นประโยชน์ นี้คำว่าทำกับโรงทานนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสังคมคนจีน คนจีนชอบทำบุญ ชอบสร้างโรงพยาบาล ชอบสร้างโรงเรียน มาทำบุญกับพระเขาบอกไม่เอา พระนี่ขี้เกียจ กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน ไม่เห็นทำประโยชน์อะไรกับใครเลย เช้าขึ้นมาก็กิน กินเสร็จแล้วก็นอน

เขามองด้วยสายตาของเขา เขามองเห็นประโยชน์ด้วยทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม เขาไม่ได้มองว่าเนื้อนาบุญ พระองค์นี้จะเป็นพระจริงหรือเปล่า พระองค์นี้อย่างหลวงปู่มั่นท่านเสียสละชีวิตของท่านทั้งชีวิตมา ท่านเอาชีวิตท่านแลกมา ท่านปฏิบัติของท่าน เห็นหรือเปล่า.. ไม่เห็น พระก็คือพระ คนหัวโล้นห่มผ้าเหลือง เพราะวัฒนธรรมไง ทีนี้พอวัฒนธรรมเป็นอย่างนั้นปั๊บ นี่สังคมส่วนมากชอบทำอย่างนั้น

ทีนี้การออกโรงทานมันก็ได้บุญอันหนึ่ง การได้บุญนะ เห็นไหม

“เราควรทำบุญที่ไหน”

“เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ”

มันอยู่ที่เราเห็นนะ เราสังเกตนะเวลาเศรษฐกิจมันไม่ดี ทุกคนนี่ทุกข์ยากมาก แล้วเราให้อาหารเขาได้ประทังชีวิตนี่เราชื่นใจไหม เราชื่นใจมากนะ คนไหนทุกข์ยาก คนไหนเจ็บช้ำน้ำใจ แล้วเราไปเกื้อกูลเขา เราทำแล้วเราชื่นใจนะ ถ้าเราชื่นใจอย่างนี้ โอกาสอย่างนี้เราก็ควรทำ แต่จะชื่นใจขนาดไหนมันก็ไม่มีผลเท่ากับพระอริยบุคคลหรอก แต่เราชื่นใจได้นะ

ฉะนั้นคนเรานี่ เราเกิดมาจังหวะและโอกาสของเรา มันมีโอกาสที่เราได้ทำคุณงามความดีเยอะแยะไปหมด ฉะนั้นคุณงามความดีอย่างใดควรทำเราก็ทำ เราจะเลือกของเราเฉพาะอย่างนั้น ดูสิคนเราทิฐินะ บางคนเวลาไปฟังพระไตรปิฎก ฟังครูบาอาจารย์ เห็นไหม ถ้าทำบุญได้เยอะที่สุดคือเวลาพระออกจากฌานสมาบัติ

พระนี่นะ เวลาพระอริยบุคคลใช่ไหมแล้วเข้าสมาบัติ เวลาออกมานี่จะได้บุญมาก ทีนี้ก็เอาใหญ่เลย ใครก็จะรอออกจากสมาบัติ มันออกจากฌานสมาบัติหรือว่าออกมาจากตื่นนอนวะ.. เพราะเราไปฟังแล้วเราเชื่อ พอเราเชื่อปั๊บมันก็เป็นกฎของเราขึ้นมาแล้ว

ฉะนั้นในสายตาของเรามันก็เป็นเรื่องอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเวลาเราทำนี่เราทำของเรา สิ่งใดที่เป็นประโยชน์เราทำอยู่แล้ว แล้วโรงทานนี่ โรงทานหรือเราทำเพื่อประโยชน์ใช่ไหม ถ้าโรงทานนะ โรงทานถ้าแบบว่ามันมากเกินไป มันอะไรอย่างนี้ เราเห็นแล้วมันก็ มันไม่ได้รับใช้ประโยชน์ไง มันก็ฟุ่มเฟือย แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์เราเห็นด้วยนะ เราเห็นด้วย เพราะว่าคนทุกข์คนยาก แล้วเขาได้รับความเจือจานจากเรา อันนี้จะฝังหัวใจเขาไปตลอด จะฝังหัวใจเขาไปตลอดเลย เราช่วยเหลือเขา

ฉะนั้นผลของบุญนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง.. ผลของบุญ ถ้ามีโอกาสเราก็ได้ทำกับหลวงตาอยู่แล้ว เราได้ทำกับครูบาอาจารย์ของเรา เพราะเราเชื่อมั่นว่าหลวงตาของเราเป็นความจริง

ฉะนั้นไอ้ผลเท่ากัน.. ไม่เท่า ! แต่ไอ้ความซาบซึ้ง ไอ้ความซาบซึ้ง ไอ้ความเห็นที่เขาได้ประโยชน์จากเรา อันนั้นมันเป็นความซาบซึ้ง ผลของมันคือผลของวัฏฏะ คือผลของกรรม เวลาเราไปประสบแล้วเราถึงจะรู้ แต่ผลที่เราเห็นนี่เราปลื้มใจ เราดีใจ เราก็ปลื้มใจว่ามันเป็นผลอย่างนั้น แต่มันไม่เท่า

การทำบุญกับมูลนิธิต่างๆ เหมือนกัน ! การทำบุญกับขอทาน นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การทำบุญกับขอทานกับโรงทานนี่นะเราให้เหตุผลเหมือนๆ กัน เราให้เหตุผลเหมือนกัน แต่อย่างที่ว่าตอนนี้พูดถึงเราคนไทย เห็นไหม คนไทยหรือพวกเรานี่ชอบเสียสละ ทีนี้พอเสียสละเขาพูดไปทางโลก การเสียสละมันก็เข้าไปส่งเสริมนะ ส่งเสริมที่เขาเอาเด็กมาทำร้าย เอาเด็กมาเพื่อมาเป็นขอทาน อันนี้ก็น่าเห็นใจ มันก็คงจะเป็นคนเคยทำกันมา

แล้วเราเห็น เห็นเวลามันมีที่ว่าเขาไปลักเด็ก เขาไปทำอะไรนะ ความจริงน่าสงสารเนาะ น่าสงสาร ชีวิตทั้งชีวิตเลยนะต้องไปทุกข์ยากอย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่ไปทุกข์ยากขนาดนั้นเราก็น่าจะทำของเราได้ มันก็น่าจะปฏิบัติของเราได้.. อันนี้มันเป็นเรื่องการทำบุญ เราจะได้ผลได้มากน้อยแค่ไหนเนาะ

แตกต่างกัน เราต้องวัดผล วัดผลตามความเป็นจริง เพราะเวลาทำบุญกุศลนี่นะมันมีผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะไปเกิดที่ไหน มันอยู่ในพระไตรปิฎกนะ มันมีครอบครัวหนึ่งขี้เหนียวมาก รวยสุดๆ เลยแต่ขี้เหนียว มีลูกชายคนเดียวด้วย มีลูกชายคนเดียวนะ ทีนี้พอลูกชายป่วยหนัก พอลูกชายป่วยหนักปั๊บจะเอาหมอมาดูลูกชายก็กลัว กลัวเขามาเห็นสมบัติ เขาเข้ามาในบ้านเขาจะเห็นทรัพย์สมบัติ เขาเข้ามาในบ้านเขาจะเห็นทรัพย์สินใช่ไหม เขาจะเรียกแพง ก็เลยเอาลูกชายไปทิ้งไว้หน้าบ้าน

พอไปทิ้งไว้หน้าบ้านนะ ไปนอน คนใกล้ตายไปทิ้งไว้หน้าบ้าน.. รักลูกมากนะ แต่คนขี้เหนียวนี่มันขี้เหนียวจริงๆ แล้วคนรวยด้วยจะเอาหมอมา อยู่ในพระไตรปิฎกอีกแหละ พอจะเอาหมอมาก็กลัวเขาจะมาเห็นสมบัติ เดี๋ยวเขาจะเรียกค่ารักษาแพง ก็เลยเอาลูกไปทิ้งไว้หน้าบ้าน พอเอาลูกไปทิ้งไว้หน้าบ้านนี่มันไปเข้าข่ายฌานของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้านี่พุทธกิจ ๕ เช้าจะออกเล็งฌาน จะออกโปรดสัตว์ ทีนี้พอโปรดสัตว์ก็มองมาเห็นไอ้ลูกชายเศรษฐีมันกำลังจะตาย พอกำลังจะตายนี่เขาเสียใจมากนะ พ่อก็มีตังค์ ทุกอย่างก็มีตังค์ จะเอาหมอมารักษาก็ขี้เหนียว ไปนอนอยู่หน้าบ้าน พระพุทธเจ้าบิณฑบาตมานะ พอพระพุทธเจ้าบิณฑบาตมา คนจะใกล้ตายนะ เปล่งแสงฉัพพรรณรังสีมา คนใกล้ตายมันจะเห็นแสงวาบเห็นแสงอะไร แสงนี่มันก็แปลกใจ พอมันแปลกใจมันก็เหลียวมอง เหลียวมองเห็นพระพุทธเจ้านะ โอ้โฮ.. ปลื้มมากนะ ปลื้มมากว่าพระพุทธเจ้านี้มาโปรด พอปลื้มมากพระพุทธเจ้ามาโปรดปั๊บนี่ตายลง ตายลงไปเกิดเป็นเทวดา

ไปเกิดเป็นเทวดานะ พอไปเกิดเป็นเทวดานี่ก็คิด เราไม่เคยทำอะไรเลย พ่อขี้เหนียว พ่อไม่เคยให้อะไรเลย จะไปทำบุญอะไรกับใครไม่เคยเลย เราไม่เคยทำอะไร ความดีไม่เคยทำ ไม่เคยทำเลย แล้วเป็นเทวดาได้อย่างไร เป็นเทวดาได้อย่างไร.. พอเป็นเทวดาได้อย่างไรก็มาทบทวน เทวดานะ เทวดามีสติ เทวดาก็ทบทวนว่าที่มาเกิดเป็นเทวดานี้เพราะอะไร โอ้โฮ.. เพราะเห็นแสงฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง

นี่บุญ เห็นไหม นี่เวลาบุญมันแตกต่างกันอย่างนี้ พอเห็นแสงฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้ามา ปลื้มมาก สุขมาก ไปเกิดเป็นเทวดา พอไปเกิดเป็นเทวดาก็คิดแล้ว โอ้โฮ.. ถ้าพ่อเรานะได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้านะ พ่อเราจะได้บุญแค่ไหน นี่ขนาดไม่ได้ทำนะ เห็นว่าพระพุทธเจ้าเปล่งแสงมาเฉยๆ พอเห็นปั๊บก็ไปเกิดเป็นเทวดา แล้วไปเกิดเป็นเทวดาแล้ว

นี่อยู่ในพระไตรปิฎก.. ก็มองลงมาเห็นพ่อนะ พ่อนี่รักลูกมาก แต่ขี้เหนียวไม่ยอมเอาเงินรักษาลูก สุดท้ายพอลูกตายก็เอาลูกไปฝังไว้ไง เอาลูกไปฝังไว้ แล้วก็ตกเช้ามานะมาแล้วมานั่งร้องไห้ มานั่งร้องไห้ที่หลุมศพ คิดถึงลูกไง นั่งร้องไห้ นั่งร้องไห้ ไอ้เทวดาก็มองอยู่นะ ไอ้พ่อกูมานั่งร้องไห้ทุกวันเลย จะแก้พ่อไง ถ้าพ่อได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้านะ พ่อนี้จะได้บุญมาก แล้วจะแก้พ่อ

อันนี้ชาดกเหมือนกันแล้วเนาะ พูดชาดก (หัวเราะ) เห็นพ่อไปร้องไห้ทุกวัน ทีนี้จะแก้พ่อไง แปลงเป็นเทพบุตรลงมา พอแปลงเป็นเทพบุตรลงมาปั๊บก็จะเป็นที่หลุมฝังศพก่อนนะ ไปหลุมฝังศพของตัวเองนั่นล่ะ แต่ตัวเองเป็นเทวดาแล้ว ไปนั่งร้องไห้ ร้องไห้ใหญ่เลย ไอ้พ่อจะมาร้องไห้ วันนี้จะมาร้องไห้ เอ๊ะ.. ทำไมเจอใครมาร้องไห้ก่อนวะ ก็ไปถามเขาร้องไห้ใหญ่เลย

“ เฮ้ย.. เอ็งร้องไห้ทำไมล่ะ เอ็งร้องไห้ทำไม เอ็งร้องไห้ทำไมนี่ร้องไห้ทำไม”

“ร้องไห้จะเอาดาวเอาเดือน จะเอาดาวเอาเดือน”

“มึงจะบ้าเหรอ ดาวเดือนเอาได้ที่ไหน”

โอ้โฮ.. มันตอกกลับเลยล่ะ “แล้วก็มึงจะบ้าเหรอมาร้องไห้ให้คนตาย มันฟื้นได้อย่างไร”

นี่ลูกมาแก้พ่อนะ ลูกมาแก้พ่อ “ร้องไห้ทำไม” นี่ร้องไห้ มานั่งร้องไห้ก่อนไง ร้องไห้จะเอาดาวเอาเดือน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เทพบุตรนะมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นพ่อมาร้องไห้กับลูก มันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ลูกตายไปแล้ว พอมาย้อนกลับเลย

“เอ็งจะร้องไห้ทำไม”

“ร้องไห้จะเอาดาวเอาเดือน”

“เอ็งจะบ้าเหรอดาวเดือนมันเป็นไปไม่ได้”

ตัวเองก็รู้ ทีนี้ก็ย้อนกลับ.. นี่การแก้จิต หลวงปู่มั่นก็แก้อย่างนี้ บอกแก้จิตเลย

“แล้วมึงก็จะบ้าเหรอ มาร้องไห้กับคนตายมันจะฟื้นได้อย่างไร เวลาเขามีชีวิตอยู่ก็ไม่รักษาเขา เวลาเขาตายก็มาร้องไห้ถึงเขา”

โอ้โฮ.. เทศน์เลยนะ สอนพ่อให้พ่อรู้จักทำบุญไง ว่าเงินนี่เก็บไว้ไม่มีประโยชน์ เงินนั้นถ้าไม่ขี้เหนียวรักษาลูก ลูกก็หายแล้ว ก็ขี้เหนียว แล้วตอนนี้ลูกตายไปแล้ว แล้วคิดดูสิตัวเองนี่ขนาดเห็นแสงฉัพพรรณรังสียังได้เป็นถึงเทวดา แล้วถ้าพ่อได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้ามันจะได้บุญขนาดไหน

นี่พูดถึงบุญโรงทานไง นี่พูดถึงบุญๆๆ เห็นไหม บุญมันแตกต่างกันอย่างนี้ ถ้าเราทำกับโรงทาน เราทำกับมูลนิธิ เราทำกับขอทาน ได้บุญไหม.. ได้บุญ เราได้บุญนะ เราช่วยเหลือเจือจานเขานี่เราได้บุญ เราได้ความปลื้มใจ เราได้ช่วยเหลือคนทุกข์คนยาก เราได้หมดเลย เราได้ ! แต่ผลเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำบุญกับครูบาอาจารย์ของเรา เป็นไปไม่ได้ ! เป็นไปไม่ได้ เอวัง

เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์

นี้เราพูดนะ ตอนนี้นะประสาเรานี่เราเข้าใจผิดเอง เราเข้าใจผิด.. แล้วทีนี้เราจะพูดกลับ นี่การแก้จิตอีกแหละ เขาบอกว่าจิตไม่อยู่กับตัวเรา มันไหลไปกับโลก ถ้าไหลไปกับโลกก็ตายไปแล้ว ไม่มานั่งอยู่นี่

จิตมันอยู่กับเรา ! เออ.. มันไม่ไหลไปไหนเลย จิตมันก็อยู่กับเรานี่แหละ แต่เพราะมันส่งออก นี้เขาบอกว่าจิตมันไม่อยู่กับเรา จิตมันไหลไปกับโลก จิตต่างๆ นี่ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราคิดอย่างนี้ปั๊บนี่โจทย์มันผิด พอโจทย์มันผิดเราก็แก้ผิด เพราะคิดว่าจิตมันไม่อยู่กับเราแล้ว แล้วทำอย่างไรอยู่กับเรา

มันอยู่อยู่แล้ว จิตมันอยู่กับเรา ภวาสวะนี่จิตมันอยู่กับเรา จิตมันไม่เคยไปไหนเลยจิตอยู่กับเรา แต่เพราะมันส่งออก เพราะมันขาดสติ เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันขับไส !เพราะกิเลส.. กิเลสใช่ไหม ตัวตัณหามันดึงออกไง เราสนใจตรงนั้น เราอยากได้อย่างนั้น นี่มันไปหมดไง

ฉะนั้นเวลาหลวงตาไปอยู่กับหลวงปู่มั่นอีกแล้ว หลวงตาไปอยู่กับหลวงปู่มั่นนี่จิตเสื่อม พอจิตเสื่อมเสียใจมาก เสียใจไปอยู่กับหลวงปู่มั่น นี่หลวงตาท่านบอกว่าพอท่านภาวนามาแล้วนะ มาคิดถึงหลวงปู่มั่นสอนท่านนี่ท่านซึ้งมาก ท่านบอกว่าเราเป็นมหา ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นภาวนาไม่เป็น เวลาท่านสอนเหมือนสอนเด็กๆ เวลาจิตนี่จิตมันส่งออกหมด ช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลยมันเสื่อมหมด ท่านบอกเลยนะ

“มหา.. มหาอย่าไปเสียใจ จิตนี้มันเหมือนเด็กๆ ตอนนี้มันออกไปเที่ยว ฉะนั้นให้กำหนดพุทโธ พุทโธไว้ กำหนดพุทโธ พุทโธไว้ พอเวลาเด็กมันหิวมันไม่มีอาหาร มันต้องกลับมาหาอาหารมัน”

คำว่าพุทโธของเรานี่นะ พุทโธ พุทโธนี่พุทธานุสติ ! พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่มันก็อยู่ที่นี่อยู่แล้ว พอมาพุทโธ พุทโธจนมันสงบมันก็กินพุทโธ มันก็อยู่เนี่ย เห็นไหม ท่านบอกว่าจิตมันเหมือนเด็ก มันออกไปเที่ยว มันออกไปเที่ยว เดี๋ยวมันไม่มีอาหารกิน มันหิวมันก็จะกลับมา.. นี่ท่านพูดนะ ท่านพูดเป็นบุคลาธิษฐาน แต่ความจริงจิตมันส่งออก จิตมันส่งออกแล้วมันเสื่อมหมด มันเสื่อมหมดเลย

ฉะนั้นท่านก็บอกมันไม่มีคำบริกรรม ท่านก็ตั้งใจบริกรรม ๓ วันนี่อกแทบแตกเพราะมันเคยไปหมดเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่อย่างนั้นแหละ จนถึงที่สุดนะพอพุทโธ พุทโธ พอมันกลับมา คือว่าจิตมันเริ่มสงบ สงบคือว่าพุทโธกับจิตมันเป็นอันเดียวกันแล้ว.. เป็นอันเดียวกันจนนึกพุทโธไม่ได้ ! ท่านก็งงนะ อ้าว.. ถ้านึกพุทโธไม่ได้แล้วทำอย่างไรต่อ ถ้านึกพุทโธไม่ได้ก็อยู่กับมันสิ นี่พอมันคลายออกพุทโธยัดเข้าไปอีกเลย.. เด็กคนนี้ไม่ออกไปเที่ยวเร่ร่อนอีกเลย เพราะมีการกระทำ

นี่ก็เหมือนกัน เพราะเราไปกังวล จิตมันไปไหน จิตมันหาย จิตมันออกไป เราไปกังวล เห็นไหม มันเป็นโจทย์ที่สอง โจทย์แรกเพราะมันไม่มีอยู่แล้วใช่ไหม แล้วพอว่าจิตเราไม่อยู่.. ธรรมดามันอยู่ที่นี่อยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็กำหนดพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ แล้วตั้งพุทโธ มันจะได้หรือไม่ได้.. วันนี้พุทโธ พุทโธแล้ว ทำไมมันไม่ลง ก็พุทโธแล้ว ก็ให้พุทโธผมก็พุทโธแล้วไม่เห็นมันได้เรื่องเลย

เพราะเราตั้งใจมาก เพราะเราคิดว่า หลวงพ่อบอกว่าพุทโธนะ หลวงพ่อบอกให้พุทโธปั๊บเราก็กลับไปพุทโธเลย แล้วกูก็ทำตามหลวงพ่อบอกหมดแล้ว แล้วทำไมกูไม่ได้สักที ทำไมกูไม่ได้.. มันก็ต้องกลับมาที่นี่ กลับมาที่ว่าใจของคนมันแตกต่าง เราพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ อย่างน้อย ! อย่างน้อยถ้ามันอยู่กับพุทโธได้ ถ้าพุทโธมันชัดได้ การที่มันออกไปข้างนอกเดี๋ยวมันจะทรงตัวของมัน มันจะทรงตัวของมัน

พุทโธชัดๆ นี่แหละ แต่นี้เพียงแต่พุทโธชัดๆ นี่มันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้เพราะว่า ๑.มันเครียด ๒.มันซ้ำซาก แล้วกิเลสมันก็จะบอกเลยนะ มึงนี่โง่ฉิบหายเลย เช้าก็พุทโธ เย็นก็พุทโธ มึงนี่โคตรโง่เลย.. เวลากิเลสมันสอยนะล้มเลย

โง่หรือฉลาด.. กิเลสนี่มึงหลอกกู พุทโธนี่พุทธานุสติ กูระลึกถึงพระพุทธเจ้าทุกวัน คนคิดถึงพ่อแม่ทุกวันคนนั้นเป็นคนดีหรือคนเลว เราระลึกถึงพุทโธ เห็นไหม หลวงตาบอกว่าพุทโธนี่สะเทือนสามโลกธาตุ เรานึกพุทโธปั๊บเทวดาก็รู้ว่าคนนี้นึกพุทโธ นี่เทวดา อินทร์ พรหมรู้หมด.. พุทโธนี่สะเทือนสามโลกธาตุ ! สามโลกธาตุเพราะอะไร เพราะจิตนี้มันตายมันเกิดในสามโลกธาตุ พอมันสะเทือนหัวใจมันก็กระเทือนสามโลกธาตุ

นี้พุทโธ พุทโธชัดๆ นี้เพียงแต่ทำได้หรือทำไม่ได้ มันต้องใช้สติใช้ปัญญา เวลาเราพุทโธแล้วเราออกมานี่ทำไมพุทโธไม่ได้ มันหาเหตุผลไง ฉะนั้นพอหาเหตุผลปั๊บ นี่หลวงตาหรือครูบาอาจารย์เราถึงได้อดนอนผ่อนอาหาร ธาตุ ๔ ทับขันธ์ ๕ เรากินข้าวนะวันหนึ่ง ๓ มื้อ ศีล ๘ ๒ มื้อ ธุดงควัตรมื้อเดียว ขนาดมื้อเดียวนะยังนั่งหลับเลย เพราะว่าไขมันมันเหลือเฟือ ฉะนั้นถึงเริ่มผ่อน นี่เขาเรียก “ธาตุขันธ์ทับจิต”

กรรมฐานนี่เวลาทดสอบไป มันทดสอบไปมันรู้แล้ว ถ้าธาตุขันธ์ทับจิตนะ ธาตุใช่ไหม พลังงานมันเหลือเฟือใช่ไหม มึงพุทโธขนาดไหน พุทโธนี้จิตพุทโธนะ แต่ธาตุขันธ์สัปหงกอยู่อย่างนั้นแหละ เอ๊ะ.. พุทโธมัน..

เราแนะนำไปหลายคน พวกโยมนี่เขาเริ่มถือศีล ๘ เริ่มข้าวเย็น ธรรมดานี่เราไม่กินข้าวเย็นเราก็วิตกกังวลนะ โอ้โฮ.. ไม่กินข้าวเย็นก็หิวน่ะสิ ใหม่ๆ นะข้าวเย็นก็เปลี่ยนเป็นสลัดซะ คืออาหารหนักให้เป็นอาหารเบา พอเราชำนาญปั๊บนะเราก็จะผ่อนออกไป ถ้าทางการแพทย์นะ กินข้าว ๑ มื้อ กระเพาะอาหารย่อยภายใน ๖ ชั่วโมง ฉะนั้นพอเรากินข้าวเย็นนะ ตอนเย็น นี่ทุ่มหนึ่งกินข้าวเต็มท้องเลย พอ ๒ ทุ่มพุทโธ พุทโธ

นี้ทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์พิสูจน์แล้ว อาหารในกระเพาะนี่ ๖ ชั่วโมงที่มันย่อย แล้วทีนี้พอมันย่อยนี่มันทำงานของมันใช่ไหม ถ้าตรงนี้เราไม่มีแล้ว ถ้าเราไม่กินข้าวเย็นตรงนี้ไม่มี ร่างกายเบาแล้ว แล้วพอยิ่งพระอดอาหารบ่อยๆ นี่นะ พออดอาหารมันจะดึงไขมันส่วนเกินมาใช้ ไขมันส่วนเกินนี่ถ้าอดอาหาร ๗ วัน ๑๐ วัน ไอ้เรื่องสภาพของร่างกายมันจะดึงไขมันในส่วนเกินของเรามาใช้ มันเผาผลาญไขมันไปเรื่อยๆ เห็นไหม นี่ธาตุขันธ์ไม่ทับจิต

เราจะบอกว่าสภาวะแวดล้อม ความเป็นไปที่ในการปฏิบัติเราจะต้องส่งเสริมด้วยไง ไอ้นี่นะไขมันเอย ทุกอย่างเปรมปรีดิ์เลย แล้วก็พุทโธ พุทโธ โอ้โฮ.. หัวทิ่มบ่อ หัวทิ่มบ่อ.. มันต้องกลับมาดูตรงนี้ด้วย ฉะนั้นพระถึงมีข้อวัตรไง พระถึงมีการปฏิบัติไง นี่ข้อวัตรปฏิบัติเป็นทางดำเนิน ข้อวัตรปฏิบัติเป็นเส้นทาง เป็นเส้นทางเข้าสู่

หลวงตาเวลาท่านบรรลุธรรม เห็นไหม อู้ฮู.. มันละเอียดอ่อนมาก มันละเอียดมาก ท่านว่าจะสอนได้อย่างไร สอนได้อย่างไร พอจิตมันว่า “แล้วเอ็งมาได้อย่างไร” มาด้วยอยู่ในเส้นทางไง ในเส้นทางที่หลวงปู่มั่นท่านวางไว้ไง ในเส้นทางของหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นคอยขนาบไง แล้วเราพยายามขวนขวายกัน พยายามขึ้นมาไง

นี่พุทโธ.. พุทโธแล้วมันต้องมีตรงนี้ด้วยไง นี่พอบอกพุทโธ เราก็ทำแบบหลวงพ่อหมดแล้วล่ะ ทำทุกอย่างเลยนะไม่ไหว ไม่ไหว.. มันไปทำที่ปลายเหตุไง ต้นเหตุมันไม่ได้คิดกลับมานี่เลย ต้องกลับมาตรงนี้ด้วย.. แต่นี่อย่างว่านะ ถ้าเราเป็นฆราวาสนะ หลวงพ่อทำไม่ได้ ผมต้องมีงานผมต้องมีอะไรนี่มันแบ่งปันได้ เราวิตกกังวลไปเอง อย่างเช่นว่าพรุ่งนี้ต้องทำงานนะ โอ๋ย.. ไปไม่ไหวแล้วนะ ทั้งๆ ที่ยังไม่เป็นความจริงเลย เวลาไปเที่ยวมากกว่านี้อีก แต่เวลาจะภาวนาว่ามันจะเป็นอย่างนั้นนะ มันจะเป็นอย่างนั้น นี่มันวิตกกังวลไปหมดแล้ว

ทีนี้พอเราวิตกกังวลมันเป็นอีกอย่างหนึ่งเพราะอะไร เพราะพวกนี้พวกสมัครเล่นไง เจอมืออาชีพสิ เพราะมืออาชีพนี่มัน ๒๔ ชั่วโมง แล้วมันจะปฏิบัติตลอดๆ ไป แล้วถ้าปฏิบัติไม่ลงนะหัวทิ่มบ่อเลยล่ะ ฉะนั้นต้องเอาให้ได้ พอเอาให้ได้นะ ไม่กิน ! ไม่กิน ! สาบานไม่นอน นี่เต็มที่เลย ถ้าไม่ได้.. ไม่ได้ให้มันรู้ไป

โยม : ภาวนาไปแล้วนี่ เมื่อมีสติ ภาวนาอยู่ที่ตัวแล้วนี่ แล้วเมื่อคำภาวนาหาย ในขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ เราต้องดึงกลับมาภาวนาใหม่

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้าเดินจงกรมอยู่คำภาวนาหายใช้ไม่ได้ แต่ถ้านั่ง นี่มันมี ๒ ประเด็น ถ้านั่งถ้ามันหาย คำว่าคำภาวนาหาย..

เราจะบอกว่าพุทโธนี่ก็สมมุตินะ เพราะความคิด ความคิดนี่เป็นเรื่องสมมุติ ตัวจิตคือตัวพลังงาน ถ้าความคิดเป็นความจริง เวลาเราไม่คิดจิตมันอยู่ไหน เวลาเราไม่คิด เวลาปล่อยใจเราสบายๆ ความคิดไม่มี เห็นไหม นี้ความคิดก็สมมุติใช่ไหม ทีนี้พอสมมุติ เราไม่ปล่อยให้จิตนี้โดยสัญชาตญาณมันทำงานของมัน เราเลยให้มันนึกพุทโธ

พุทโธนี่ก็สมมุติขึ้นมานะ.. นี้คำว่าสมมุติ พุทโธ พุทโธนี่ถ้ามันชัดขึ้นมา พลังงานที่มันกระจายออกไปมันโดนพุทโธ.. พุทโธนี่มันเริ่มกรองเข้ามา กรองเข้ามา พุทโธ พุทโธ พุทโธ ธรรมดาพลังงานมันจะออกไปเรื่อยๆ แล้วก็หมดไป หมดไปมันก็สืบเนื่องต่อ แล้วมันก็ไปหมดอย่างนี้แหละ นี่เขาเรียกส่งออก

ธรรมชาติของจิตมันส่งออกอยู่แล้ว ทีนี้พอเราพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันเริ่มมีสิ่งที่จะดึงกลับ สิ่งที่เป็นพลังงานดึงกลับ พอดึงกลับพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าพุทโธกับจิตเป็นอันเดียวกันนึกพุทโธไม่ได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาความคิดนี่เขาเรียกว่า “จิตเสวยอารมณ์ เสวยความคิด” นี่ไงที่ว่าจิตกินความคิดเป็นอาหาร จิตแสดงตัวได้ต่อเมื่อมีความคิด ถ้าไม่มีความคิดจะแสดงตัวตนจากอะไร

ฉะนั้นเวลาโดยธรรมชาติจิตทำงานอย่างนี้ นี่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ต้องเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นถ้าเราพุทโธ พุทโธ แล้วพุทโธหาย.. พุทโธหายมี ๒ ประเด็น ถ้าพุทโธหายโดยที่ไม่เป็นสมาธิคือตกภวังค์ แต่ถ้าพุทโธหายโดยข้อเท็จจริง คือพุทโธกับจิตเป็นอันเดียวกัน นี้เป็นสัมมาสมาธิ เพราะจิตหนึ่ง !

ธรรมดาความคิดกับจิตมันเป็นสอง เรามีพลังงานกับความคิด พลังงานคือตัวจิต ความคิดเกิดจากจิต ความคิดเกิดดับ.. ทีนี้พอความคิดเกิดดับ นี่มนุษย์เป็นอย่างนี้ สัญชาตญาณมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้เราพุทโธ พุทโธนี่เราใช้ความคิดที่มันคิดออกไป เราให้มันคิดพุทโธ

พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธถ้ามันเป็นพุทโธจริงมันจะเข้ามาสู่เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นหนึ่ง ! พอเป็นหนึ่งนั่นล่ะสมาธิพุทโธนึกไม่ได้ ถ้านึกไม่ได้มีสตินี้คือสัมมาสมาธิ แล้วพุทโธ พุทโธเข้าไปจนถ้ามันลงเป็นอัปปนาสมาธิเลยนะ จนหายหมดเลย สักแต่ว่ารู้ ไม่มีรู้ ความรู้ยังไม่มีเลยแต่รู้อยู่ ถ้าไม่รู้เลยเดี๋ยวก็ว่าหลวงพ่อพูดผิดอีกแล้ว หลวงพ่อพูดผิดอีกแล้ว.. ความรู้ไม่มีเลย มันสักแต่ว่ารู้ คำว่าสักแต่ว่ารู้นี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ทำไป มีจริง.. ข้อเท็จจริงมีจริง แต่เราเข้าไม่ถึงความจริงเท่านั้น ธรรมะไม่มีผิดเลย เรานี่ผิด คนปฏิบัตินี่ผิดหมดเลย แต่พอเข้าไปถึงความถูกต้อง เพี๊ยะ ! เอ้อเฮ้อ ! เห็นไหม อ๋อ..แล้ว เป็นอย่างนี้เอง ! เป็นอย่างนี้เอง ! ถึงบางอ้อ อ๋อแล้วจบ

ทีนี้มันทำได้จริงๆ เพียงแต่เราทำของเราไปอย่างนี้ ถ้าพุทโธมันหาย นี่มันหายเพราะบางที นี่เพราะโดยสัญญาพวกเราบอกว่าจิตมันเป็นสอง สัญญาอารมณ์คือความคิดมันไม่ใช่จิต พุทโธ พุทโธทำให้มันหายไป มันก็เลยหายไปเลย เห็นไหม อย่างที่ว่าคิดให้ว่าง ดูจนว่างไปหมดเลย.. ไม่ใช่ ! ดูจนแบบว่าเราเป็นคนที่ว่าไม่จับจด เป็นคนที่ไม่มีสิ่งใดเป็นพื้นฐานเลย อันนี้ไม่ใช่สมาธิ อันนี้เป็นมิจฉา แต่ถ้ามันเป็นสมาธิมันจะมีสติของมัน

นี่ไงกรรมฐาน ! ฐานที่ตั้งฐีติจิต มันจะเข้ามาสู่ที่นี่ แล้วที่นี่มันจะว่างขนาดไหน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ.. นี้ว่าสมาธิที่พูดเมื่อกี้ สมาธินี่สมาธิเพราะมีสติ พอมีสติมันจะรู้ตัวของมัน แล้วสมาธิอย่างหยาบๆ ขณิกะ ถ้าสมาธิที่ทำงานได้คืออุปจาระ ถ้ามันลงลึกที่สุดมันก็เป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าอัปปนาสมาธิมันจะเป็นสักแต่ว่าเลย สักแต่ว่าคือมันละเอียดมาก ทำอะไรไม่ได้ นี่ตรงนี้เกิดปัญญาไม่ได้ ใครบอกปัญญาเกิดที่อัปปนาสมาธิ.. มึงมาฆ่ากูซะ มึงมาฆ่ากูทิ้งเลย

เป็นไปไม่ได้ ! ถ้าลงตรงนี้แล้วมันเป็นปัญญาไม่ได้ มันต้องถอนออกมา มันต้องคลายตัวออกมาอยู่ที่อุปจาระ ตรงอุปจาระนี่ เพราะอุปจาระ เพราะคำว่าอุปจาระ เห็นไหม จิตสงบอยู่แต่ได้ยินเสียง ได้ยินเสียงรับรู้ได้ มันมีความรู้สึกอยู่ แต่ถ้าเกิดอัปปนานี่มันไม่ได้ยินอะไรเลย ดับหมด แล้วมันจะมีปัญญาได้อย่างไร แต่ถ้ามันถอนมาที่อุปจาระ ตรงนี้ต่างหากที่ใช้วิปัสสนากัน

ฉะนั้นทำได้ ทำได้ เพียงแต่ว่าตรงนี้เวลามันบอกว่าจิตมันหายไป อะไรหายไป.. คำว่าหายไปนี่ เพราะธรรมดาเราแกล้งลืมมันก็เลยหายไป สมาธิลืมไง คาดเดากันไป นี่เราพูดถึงคนอื่นนะ คำว่าคนอื่นหมายความว่า เราจะพูดอย่างนี้ไง เราจะพูดว่ามันมีคนสอนอย่างนี้เยอะ คือว่าความว่าง มันก็ว่างอยู่แล้ว มันจะทำให้พวกเราจับจด มันจะให้คนภาวนาไม่เข้าไปสู่ความจริง เข้าไปสู่ความจอมปลอมของเขา แล้วก็อยู่กันอย่างนั้น แล้วเขาก็ยกยอปอปั้นกัน แล้วพอยกยอปอปั้น สังคมเขาก็ต้องมากขึ้นเพราะมันเป็นสัพเพเหระ เพราะคนสัพเพเหระมันมีมากฉะนั้นพอเวลาคนสัพเพเหระมันมีมาก มันก็จะดึงคนจริงๆ กลับลงสู่สัพเพเหระ ไม่เป็นความจริงหมดเลย

ฉะนั้นเวลาเราพูดนี่เราพูดให้กลุ่มคนที่ปฏิบัติจริงรู้จริง ให้อยู่กับความจริง อย่าไปเชื่อความจอมปลอม อย่าไปเชื่อสัพเพเหระว่าว่างๆ ว่างๆ นี่ใครว่างล่ะ ว่างๆ นี่ใครว่างกูอยากถาม

“ก็ว่างๆ ไง”

“แล้วอย่างไรล่ะ”

“ก็ว่างๆ ไง”

มึงใกล้บ้าแล้ว เดี๋ยวกูจะจับส่งปากคลองสาน.. เป็นอย่างนี้เกือบทั้งนั้นเลยชาวพุทธ นี้เราพูดไว้ให้มั่นคง แล้วทำไปเพราะอะไรรู้ไหม ถ้าอย่างนี้ทำแล้วไม่ได้ ทุกอย่างไม่ได้ พอไปเจอเขานี่เขาสะดวกสบาย ง่ายๆ ว่างหมดเลย เออ.. ง่ายดีว่ะ แล้วทำก็ว่านี่สบายนะ อู้ฮู.. สบ๊าย สบาย.. สบายๆ เดี๋ยวกูจะจับส่งโรงพยาบาลให้หมดเลย

นี้พูดไว้กันไว้ ถ้าไม่กันไว้นะไหลไปหมด เพราะทุกคนไม่อยากลำบาก ทุกคนไม่อยากทุกข์ ทุกคนอยากสะดวกสบายแล้วชุบมือเปิบเอา แต่ความจริงมันไม่มี มันไม่มี.. สิ่งที่เขาพูดกันอยู่นี้เขาพูดพระไตรปิฎก พูดถึงเอาพระไตรปิฎกมารองรับว่ามันเป็นว่าง มันเป็นอย่างนั้น แต่ความว่างมันเป็นความรู้สึกสร้าง ทุกอย่างสร้าง ไม่มีความจริงเลย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วมันจะเกิดความจริง เป็นสมาธิก็สมาธิจริงๆ แล้วออกวิปัสสนาอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ถ้าวิปัสสนาไปมันจะเป็นของมันไป แล้วไปอ๋อ ! เข้านี่ มึงหลอกกูไม่ได้หรอก อ้าปากมาก็รู้แล้ว ถ้าเราอ๋อแล้วนะ

จบหรือยัง จบแล้ว ปิด