ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เปลือกส้ม

๖ ก.พ. ๒๕๕๔

 

เปลือกส้ม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเป็นปัญหาต่อเนื่อง มันเป็นปัญหาข้อ ๓๒๘. นะ ๓๒๘. เรื่อง “จิตกับขันธ์ ๒” จิตกับขันธ์ ๒ เพราะเขาถามมาแล้ว เขาภาวนาไปแล้วเขาสงสัยว่าความคิด ขันธ์กับจิตเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า เราตอบไปแล้ว ฉะนั้นเขาถามซ้ำมา เพราะเขาถามแล้วเขาได้ประโยชน์ไง

ถาม : ได้ฟังที่หลวงพ่อเมตตาตอบเรื่องจิตกับขันธ์ที่ผมถามไปแล้ว (วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔) ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมากครับ เมื่อสติและสมาธิดีแล้ว ความคิดความจำทั้งหลายที่เคยหลอกเรามาเกิดและดับไปทันที สติมีความว่องไวทันเหตุการณ์ ตัดความเกิดของสังขารที่หลอกลวง จนระยะหนึ่งจิตจะดันความหลอกลวงออกมาอีกแต่ขันธ์ไม่รับ แล้วเหมือนจิตเก้อๆ เขินๆ ความดำมืดที่เคยปกคลุมและเป็นเครื่องเชื่อมต่อจิตกับขันธ์ฉีกออกไป เห็นสะเทือนไปทั้งใจ ความผ่องใสที่อยู่หลังความมืดดำแสดงตัวให้เห็น จิตและขันธ์แยกออกจากกันอย่างอิสระผู้รู้เด่นดวงทราบความอิสระนั้น เป็นการดำเนินที่ปราศจากความคาดหมายใดๆ ได้แต่รู้ความเป็นไปของเขา

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าจะอธิบายมันอย่างไร แต่พยายามทบทวนและเขียนไปเล่าให้หลวงพ่อฟัง สิ่งนี้เป็นกำลังใจอย่างมากในการปฏิบัติมาเกือบ ๑๐ ปี เป็นความมหัศจรรย์ใจที่จะทำให้ผมต้องพยายามพากเพียรยิ่งๆ ขึ้น เพื่ออิสระชั่วนิรันดร์ให้ได้ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ให้ความเมตตา ให้ความเข้าใจ ที่ผมเขียนมาถามหลวงพ่อและผมอ่านธรรมะของหลวงพ่อสอนแล้วถึงใจ เป็นธรรมแม้น้ำเสียงจะดุดันแต่แฝงด้วยความเมตตา

หลวงพ่อ : นี่เวลาคนมันได้ประโยชน์ เห็นไหม เวลาคนไม่ได้ประโยชน์ก็ว่าโอ้โฮ.. โหดร้ายน่าดูเลย แต่เวลาคนได้ประโยชน์นะ “แม้จะดุดันแต่ก็แฝงด้วยความเมตตา” เพราะอะไร เพราะเขาสัมผัส

ขันธ์กับจิต ! เพราะธรรมดาความลังเลสงสัยมันก็คิดว่าอารมณ์ก็คือเรา สรรพสิ่งก็คือเราทั้งนั้นแหละ คนภาวนาเริ่มต้นจะคิดอย่างนั้น ทั้งๆ ที่เราเรียนวิชาการมา เราศึกษามาขนาดไหนเราก็เข้าใจได้ เพราะกรณีแบบนี้เราเคยเป็นมาก่อน.. เราเคยเป็นมา ขนาดว่าจิตสงบขึ้นมา มันปล่อยขึ้นมา แล้วมันไปจับตัวจิตได้นี่มันแปลกใจ แปลกใจจนขึ้นไปหาอาจารย์เลยว่า “ไหนว่ามันไม่มีไง ไหนว่าเป็นนามธรรม”

คำว่านามธรรมของพวกเราคือจับต้องไม่ได้ คือนามธรรมที่อธิบายไม่ได้ แต่คำว่านามธรรมในพุทธศาสนาเป็นนามธรรมแต่จับต้องได้ ถ้าจับต้องไม่ได้ สติมันจะไปจับต้องสิ่งใด ฉะนั้นถ้าสติไปจับต้อง สตินี่เกิดที่ไหน.. สตินี่พวกเราว่าตั้งสติๆ เราตั้งสติบนอะไร ทุกคนบอกว่าฝึกสติๆ ฝึกสติอย่างไร

ฝึกสติ เห็นไหม พอฝึกสตินี่สติมันต้องตั้งอยู่บนลมหายใจ สติต้องตั้งอยู่บนพุทโธ สติต้องตั้งอยู่บนมรณานุสติ เราคิดสิ่งใดนึกสิ่งใด สติต้องอยู่ตรงนั้น ถ้าสติอยู่ตรงนั้นสติมันเติบโตได้ ปลูกต้นไม้ ต้นไม้ต้องปลูกบนที่ดิน บอกปลูกต้นไม้บนอากาศ นี่เอารากแขวนไว้ แล้วก็เอายอดมันปักดินไว้แล้วบอกว่าการฝึกสติ การฝึกสติอย่างนี้ฝึกให้มันหายไปไง ฝึกแบบว่านี่มันว่างหมดเลย ว่างหมดเลย แล้วถามว่าว่างคืออะไร ตอบไม่ได้ แต่ถ้าบอกสตินี้อยู่บนลมหายใจ สตินี้อยู่กับพุทโธ ถ้าพุทโธชัดสติก็มี พุทโธไม่ชัดสติก็ไม่มี ถ้าลมหายใจชัดก็แสดงว่ามีสติ ลมหายใจนี้หายไปก็คือว่าไม่มีสติ

สติตั้งอยู่บนอะไร สรรพสิ่งทุกอย่างมีที่เกิด ที่ดับ ที่ตั้ง ที่อยู่ของมันทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นถ้าเราฝึกไป คำว่านามธรรมคือว่าเราคิดอย่างนั้น เราเคยคิดอย่างนั้นเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ศึกษานะ เป็นพระด้วย พรรษาแรกนี่ปฏิบัติแล้วด้วย เวลาจิตสงบขึ้นไปมัน อ้าว.. เฮ้ยมันมีนี่ ขึ้นไปถามอาจารย์ว่า

“ไหนบอกว่าจิตมันไม่มี”

“ใครบอกมึงว่าไม่มีล่ะ”

อืม.. ใช่ไม่มีใครบอก คิดเอาเอง อ่านแล้วก็นึกเอาเองว่ามันไม่มี พอไปจับเข้านี่ คือมันตรงข้ามกับความนึกคิดเราทั้งหมดเลย มันตรงข้ามกับจินตนาการของเรา มันตรงข้ามกับความรู้สึกของเราทั้งหมดเลย ฉะนั้นพอไปเจอเข้าอย่างนั้นปั๊บมันเหลอเลย

ทีนี้พอมากรณีอย่างนี้

ถาม : สติมันว่องไวขึ้น ตัดความเกิดของสังขารที่หลอกลวง จนระยะหนึ่งจิตจะดันความหลอกลวงมาอีกแต่ขันธ์ไม่รับ แล้วเหมือนจิตเก้อๆ เขินๆ

หลวงพ่อ : เห็นไหม เหมือนจิตเก้อๆ เขินๆ

ถาม : ความดำมืดที่ปกคลุม

หลวงพ่อ : คือความไม่เข้าใจไง

ถาม : ความดำมืดที่ปกคลุมอยู่เป็นเครื่องเชื่อมต่อจิตกับขันธ์ ฉีกออกไปจนสะเทือนหัวใจ

หลวงพ่อ : คำว่าฉีกออกไป นี่อยู่ที่คนเวลาปฏิบัติไปมันไปประสบสิ่งใด มันจะพูดแต่สิ่งที่เขารู้เขาเห็น ฉะนั้นคำว่าฉีกออกไป ถ้าให้เราลำดับความนะ คำว่าฉีกออกไปของเขามันก็เหมือนกับ “รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” มันวางรูป รส กลิ่น เสียงของมัน มันไม่ได้ฉีกออกไปหรอก มันยังไม่ได้ฉีกแต่ความเข้าใจ ความเข้าใจคนที่เข้าไปเจอก็คิดว่าอาการอย่างนี้เป็นอาการฉีกทิ้งแล้ว อาการอย่างนี้ไม่มีแล้ว

มี ! เดี๋ยวก็รู้ฉีกหรือไม่ฉีก เพราะมันปล่อยวางชั่วคราวไง พอมันปล่อยวางชั่วคราวนี่มันปล่อยวางแบบไหน เพราะคนเราปฏิบัติไปเหมือนเราทำโจทย์ เราทำเลข เราคำนวณจบแล้วเราตอบแล้ว ตอบอย่างนี้ๆ แต่ถูกหรือไม่ถูกนั้นยังต้องอีกเรื่องหนึ่ง เราคำนวณเสร็จแล้วตอบเลย.. นี่ก็เหมือนกันคำนวณเสร็จแล้วฉีกเลย ฉีกแล้วหมดแล้ว แต่พอไปส่งอาจารย์อาจารย์บอกว่า อืม.. ผิด ผิดต้องทำใหม่ ทำมาอีก

นี่เขาบอกฉีกออกไปเลย ที่เราพูดอย่างนี้เพราะว่าเราจะบอกว่าความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้น ความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้นเพราะว่าเราเพิ่งเข้าไปเห็นเข้าไปรู้นะ ให้ขยันทำซ้ำไป.. ถ้าในทางวิทยาศาสตร์บอกว่างานที่เราทำเสร็จแล้วทำไมต้องทำอีก งานที่เราทำเสร็จแล้วแต่เราต้องทำอีก งานที่เราทำเสร็จแล้วคือความชำนาญ พอเราทำเสร็จแล้วนี่เราทำได้แล้ว ถ้างานที่ทำเสร็จแล้วหมายถึงว่าทำงานเป็นได้รอบหนึ่ง งานที่ทำรอบต่อๆ ไปมันจะสะดวกขึ้น คล่องตัวขึ้น ดีขึ้น

การคล่องตัวขึ้นดีขึ้นมันจะเป็นการฝึกจิต จิตมันจะฝึกเข้าไปเรื่อยๆ มันจะรู้เห็นละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ แล้วการปล่อยวางจะเร็วขึ้น.. เร็วขึ้นชัดเจนขึ้น แล้วกิเลสมันก็ละเอียดขึ้น สติเราก็จะดีขึ้น ปัญญาเราก็จะดีขึ้น

ฉะนั้นถ้ามันฉีกขนาดไหน มันฉีกแล้วมันปล่อยวางแล้ว เห็นไหม มันตอบได้ มันตอบได้ตรงที่ว่ามันมีสิ่งใดขับดันออกมาไง สิ่งที่ขับดันออกมา นี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสแต่อวิชชามันอยู่ที่นั่น มันวางหมดแล้วแต่ตัวมันเองมันวางสิ่งที่มันสืบต่อ วางสิ่งที่สื่อออกไปที่จะไปหาผลประโยชน์ของมัน มันวางได้แต่ตัวมันยังไม่ได้วาง มันวางสิ่งที่มันจะสื่อออกไปนี่มันวางได้หมดเลย แต่ตัวมันยังวางไม่เป็น พอวางไม่เป็นนี่ทำบ่อยครั้งเข้าไป ทำบ่อยครั้งเข้าไปมันจะเป็นของมันเข้าไป

นี่การปฏิบัติ ข้อเท็จจริงของการปฏิบัติที่ว่าถ้ามีข้อเท็จจริง มีเหตุมีผลขึ้นไปมันถึงเป็นความจริง เห็นไหม พอความปกคลุมนะ ความมืดดำมันผ่องใส เวลามันผลักออกมาแล้วมันผ่องใส

ถาม : ความมืดมันไม่แสดงตัว จิตกับขันธ์แยกออกจากกันแต่เป็นอิสระผู้รู้

หลวงพ่อ : การปล่อยวางในสมถะ การปล่อยวางของสมาธิก็อย่างหนึ่ง ถ้าการใช้ปัญญา ถ้าพิจารณาแล้วมันปล่อยวางนี่เป็นความรู้อีกอันหนึ่ง เห็นไหม เพราะมันเป็นระหว่างสมถะกับวิปัสสนา สมถะมันก็มีวิปัสสนาคือใช้ปัญญาเหมือนกัน แต่พอตอบสนองแล้วมันก็ปล่อย มันปล่อย ปล่อยมาเป็นเอกเทศของมัน แต่เอกเทศนั้น.. เอกเทศคือตัวจิต ตัวสมาธิแล้วออกไปพิจารณา เวลามันรู้ขึ้นมา เห็นไหม

“พอมันพิจารณาไปนี่จิตกับขันธ์แยกกันอย่างอิสระ ผู้รู้เด่นดวงทราบความอิสระนั้น เป็นการดำเนินที่ปราศจากความคาดหมาย”

อันนี้ถ้าพูดถึงพิจารณาได้ เห็นไหม เพราะเริ่มต้นคิดว่าจิตกับขันธ์เป็นอันเดียวกันหรือเปล่า เราตอบไปว่าไม่ใช่ ! ไม่ใช่ ! ทีนี้พอบอกว่าไม่ใช่มันก็เหมือนกับน็อตตัวผู้ตัวเมียเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า แต่ถ้าเราไม่เข้าใจนะ น็อตก็คือน็อต น็อตตัวผู้หรือตัวเมีย เวลาขันเสร็จแล้วก็คือน็อต มันเป็นอันเดียวกันที่แยกออกจากกันไม่ได้ แต่ถ้าเราคลายน็อตนะ.. น็อตตัวเมีย มันต้องมีน็อตตัวเมียตัวผู้เขาถึงขัน มันถึงจับสิ่งใดได้

ถ้าเราคลายออก เห็นไหม จิตไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต มันเหมือนน็อตแต่มันมีสิ่งที่ว่าจิตคือน็อตตัวผู้ น็อตตัวเมียมันจะขัน เกลียวมันจะขันเข้าไปจับสิ่งใดให้มันแน่นไว้ ถ้าเราปล่อย เราคลายออก เห็นไหม เราคลายออก

ฉะนั้นย้อนกลับมานิดหนึ่ง นิดหนึ่งที่เขาบอกว่า “จิตส่งออกไม่ได้ จิตส่งออกไม่ได้” สิ่งที่ส่งออกคือสัญญาอารมณ์ นี่เพราะเหตุนี้มันยังเป็นเรื่องหยาบๆ นะ พอถึงที่สุดแล้วพวกนี้มันจะพิจารณาไปเรื่อยๆ มันจะปล่อยหมด ขันธ์นี่ต้องฆ่าเป็นชั้นๆ เข้าไป จนพระอนาคา ขันธ์ ๕ นี่พระโสดาบัน “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

เขาบอกพระโสดาบันนี่ขันธ์ไม่มีแล้ว พระสกิทาคาไม่มีขันธ์แล้ว.. ไม่ใช่ ! มันมีขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ถ้าขันธ์ไม่มีแล้วอนาคามี กามราคะเกิดจากอะไร.. กามราคะ นี่กามราคะเกิดจากปฏิฆะ คือข้อมูลของมัน มันมีข้อมูล ข้อมูลสัญญาความจำ เห็นไหม อย่างเช่นความรักระหว่างเพศตรงข้าม ถ้าเพศตรงข้ามถูกใจเรานี่เราจะรักมากเลย เพศตรงข้ามที่ไม่ถูกใจเราล่ะ เพศตรงข้ามที่น่าขยะแขยง แบบว่าไม่สวยว่าอย่างนั้นเถอะ รักไหม อ้าว.. แล้วทำไมมันไม่รักล่ะ

ถ้ามันรักมันก็มีข้อมูลของมันใช่ไหม ข้อมูลนั่นล่ะคือสัญญา ฉะนั้นถ้ามีสัญญา นี่กามราคะเกิดจากสัญญา.. เกิดจากสัญญา สัญญาที่มันพอใจของมัน มันมีข้อมูลของมันอันนั้นล่ะ ! แล้วเราบอกว่าไปขาดที่โสดาบัน.. ตามตำราว่าไว้อย่างนั้นไง นี่ตำราว่าไว้อย่างหนึ่ง ตามตำราในพระไตรปิฎกว่าอย่างนั้นเลย แต่ขันธ์อย่างละเอียดไปขาดที่อนาคา พอขาดหมดนี่ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕.. ขันธ์นี่ขาดหมดเหลือแต่จิตล้วนๆ เลย สว่างไสว ผ่องใส พลังงานไม่มีความคิดเลยเป็นพลังงานเฉยๆ พลังงานเฉยๆ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส มันจะไปทำลายจิตดวงนั้นอีกทีหนึ่ง ถ้าทำลายจิตดวงนั้น.. นี่ข้อเท็จจริงมันมีของมันอยู่ ฉะนั้นถ้าข้อเท็จจริงมันมีอยู่ คนที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นบอกว่าจิตไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต แต่ถ้าปฏิบัติใหม่นะมันเป็นอันเดียวกันหมดแหละ ปฏิบัติใหม่อารมณ์ก็เป็นเรา ความรู้สึกก็เป็นเราแล้วจะไปแยกกันตรงไหน เราแยกไม่เป็นหรอก อย่างเสื้อผ้า เห็นไหม ดูสินี่ผ้า แล้วสีของผ้า แล้วลายของผ้า แล้วมันมาจากไหนล่ะ มันก็เป็นเสื้อตัวนั้นล่ะ ฉะนั้นเริ่มต้นเสื้อก็คือเสื้อของเรา แต่ถ้าทางวิทยาศาสตร์จะรู้ได้หมดเลยว่าเสื้อนี้เริ่มต้นมาจากฝ้าย เริ่มต้นมาจากฝ้ายที่เขาปั่นขึ้นมามันก็ว่ากันไป แต่ความเป็นจริงล่ะ ถ้ารู้จริงเห็นจริงแล้วมันจะไม่มีอาการหวั่นไหว

นี่พูดถึง อันนี้เขาแทบไม่ได้ถามอะไรมาเลยนะ เขาเพียงแต่ว่ามาขอบคุณ เรื่อง “จิตกับขันธ์ ๒” ผู้ถามนะ “ลูกศิษย์ผู้โง่เง่า” เวลาถามคำถามมานะ แต่เขาได้ประโยชน์มาก เพราะตอนนั้นถ้ามันยังเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกันอยู่ เราเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกันอยู่เราก็จะดูไปอย่างนั้น แต่พอเราเข้าใจ เหมือนกับทางวิชาการ ทางวิชาการผิด ลงไปภาคสนามแล้วนะยุ่งหมดเลย แต่ถ้าทางวิชาการนั้นถูกต้อง ลงภาคสนามนะเพี๊ยะ ! เพี๊ยะ ! เลย.. นี่พูดถึงเรื่อง “ขันธ์กับจิต ๒”

อันนี้ยาวมากเราจะสรุปให้สั้นๆ เอา

ถาม : ๓๒๙. เรื่อง “การพิจารณาสุภะ-อสุภะโดยโลกียปัญญา”

หลวงพ่อ : เราจะเอามาตั้งแต่คำถาม คำถามนี้ถามมาเรื่อย ทีนี้มันเป็นข้อ ๑. เราจะพูดถึงคำว่า ๑. นะ

ถาม : จากที่ผมนั่งสมาธิเป็นเวลายาวนานขึ้น ผมได้สัมผัสประสบการณ์แปลกๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน และได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่าที่ปัญญาของผมจะมีได้ ซึ่งผมจะขอความเมตตาจากหลวงพ่อช่วยชี้แนะข้อบกพร่อง แนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้ผมด้วย

หลวงพ่อ : ๑.เช้ามืดวันหนึ่ง เขาพิจารณาของเขาไป พุทโธ พุทโธจนจิตสงบ เห็นเป็นร่างของเพศตรงข้าม ผู้หญิงนั่นแหละ แล้วเขาก็พิจารณาของเขาไป ยาวมากเป็นหน้าๆ กระดาษเลย ทีนี้พอพิจารณาไปแล้วนี่สรุป เพราะอ่านไม่ไหวหลายใบเหลือเกิน (หัวเราะ) สรุปว่าผมสังเวชใจมาก เขาตั้งขึ้นมาพิจารณานะ

ถาม : ผมสังเวชใจมาก ในจิตที่มันเกิดกำหนัดราคะ ก็เพียงเพราะว่าแค่ผิวหนังที่ห่อหุ้มอยู่ ผมมีความรู้สึกดีใจและมีความสุขมากที่เอาชนะความกำหนัดนี้ในใจได้ และจิตก็สงบตัวลงจนถึงเวลาอันสมควรผมก็ออกจากสมาธิครับ ผมกราบรบกวนหลวงพ่อเมตตาแนะนำวิธีการที่ผมได้ทำนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ ถ้าไม่ถูกต้องควรทำอย่างไร และถ้ามีความถูกต้องครั้งต่อไปผมสามารถใช้วิธีเดิมพิจารณาได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : ได้ ! การพิจารณานี่การพิจารณาแบบอสุภะ พิจารณาให้เป็นสุภะ-อสุภะก็เพื่อกำราบหัวใจ หัวใจของเรานี่นะเวลามันมีแรงขับของมัน ดูสิคนเรานี่นั่งกันสงบเสงี่ยม ดูสิเรียบร้อยหมดเลย แต่หัวใจในใจมันเต้นโครมครามเลย มันเต้นด้วยความรุนแรง สิ่งนี้มันเป็นความทุกข์ของเรานะ แต่ถ้าเราพิจารณาของเราให้จิตใจมันสงบเข้ามาได้ ร่างกายจะเคลื่อนไหว ร่างกายจะสงบขนาดไหน แต่จิตใจเราสงบได้อันนั้นล่ะจะควบคุมตัวเราได้ ถ้าการควบคุมตัวเราได้สิ่งนี้สำคัญ

ถ้ามโนกรรม มโนกรรมนี่มันอยู่ตัวของมัน มันไม่แสดงออกของมันจนเกินกว่าเหตุ แต่มันไม่แสดงออกเลยไม่ได้ จะไม่แสดงออกไม่มี เพราะถ้าคนไม่แสดงออกคือจิตมันต้องไม่มีสิ ทีนี้จิตมันมีของมันอยู่ แล้วจิตมันมีกิเลสของมันอยู่ มันต้องแสดงตัวของมันแน่นอน แต่การแสดงตัวของมันแน่นอนขึ้นมาเราก็มีสติปัญญา เราศึกษาธรรมขึ้นมาก็เพื่อจะดูแลรักษาเขา

ดูแลรักษาใจเราก่อน จนถ้าจิตเราสงบขึ้นมาแล้ว ใจนี่มันเป็นเราโดยเฉพาะเลย แล้วเราพิจารณาต่อไปอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าพิจารณานะถ้ามันตรงกับจริตของตัวเอง ถ้าพิจารณาแล้วมันตรงกับจริตของตัวเองจิตใจเราก็สงบได้ ถ้าไม่ตรงกับตัวเอง จิตใจมันก็แล่บ มันปลิ้นปล้อนของมันไปเรื่อยแหละหัวใจนี่ กิเลสของเราเอง เวลามันดื้อดึงขึ้นมานะพระพุทธเจ้าสอนบอก “ใจของเราเปรียบเหมือนช้างสารที่ตกมัน”

ช้างสารที่ตกมัน เราขวางมันนี่แหลกหมดเลย แล้วเราจะจับช้างตัวนั้นให้มันสงบได้อย่างไรเพราะมันตกมัน แต่ถ้าเราใช้ปัญญาเข้าไป นี่ช้างที่ตกมันกลับเป็นช้างที่ปกติ ความตกมันของมันก็คือมันชุ่มไปด้วยกาม แต่ถ้าเราพิจารณาเข้าไปแล้วมันก็จะปล่อยของมัน ปล่อยของมัน จนจากช้างที่มันตกมันกลายเป็นช้างปกติ

ช้างปกติมันพอพูดกันรู้เรื่องนะ แต่ช้างที่มันตกมันนี่พูดไม่รู้เรื่องหรอก จิตใจที่มันชุ่มไปด้วยความรู้สึกอย่างนั้นมันพูดกันไม่รู้เรื่องหรอก ฉะนั้นเราใช้สติปัญญาใคร่ครวญมันจนถึงที่สุด นี้มันก็เป็นมาอย่างนี้.. นี่ข้อแนะนำ เพราะเขาพิจารณาอสุภะ ทีนี้อสุภะทางวิชาการมีมาก แล้วเราพิจารณาอย่างไรก็ได้

ข้อ ๒. อันนี้สิมันเทียบไม่ได้ อันนี้มันเป็นความจริง

ถาม : ๒. ในขณะที่ผมนั่งสมาธิไปประมาณ ๔๐ นาที ผมก็เกิดอาการเวทนา เจ็บปวดที่หัวเข่าด้านขวาแต่ไม่มากนัก ซึ่งน่าจะเรียกว่าเวทนาจิ๋ว (เขาว่านะ) หรือว่าเทียบกับเวทนาใหญ่ของหลวงตา ผมอ่านประวัติของหลวงตาในปฏิปทาธุดงค์กรรมฐาน หลวงตาใช้ปัญญาต่อสู้ กระดูกเป็นสิ่งเดียวที่เกิดเวทนาหรือ ถ้ากระดูกเป็นสิ่งเดียว.. นี่พูดถึงเวทนา

ถ้าพูดถึงเวทนานี่แบบว่ามันเทียบเคียงเอาไม่ได้ไง เพราะเวทนามันเป็นความจริงใช่ไหม ถ้าเรานั่งไปเราจะมีความเจ็บปวด.. เรื่องที่มันเป็นเวทนา ถ้ามันสงบได้ ถ้ามันสงบได้มันปล่อยวางได้ ถ้ามันสงบได้สงบได้เพราะอะไร สงบได้เพราะเราได้พิจารณาอสุภะมา จิตที่มันพิจารณาอสุภะมา พิจารณาสิ่งใดก็แล้วแต่มา มันปล่อยอะไรเข้ามานี่มันรู้ตัวของมัน คนเรานี่มันปล่อย อย่างเช่นทำงาน เราไม่ทำงานตรงวิชาชีพก็แล้วแต่ แต่เราเคยทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เห็นไหม เราทำได้ประสบความสำเร็จ พอทำวิชาชีพเราก็สามารถพลิกแพลงได้

จิตถ้ามันเคยพลิกแพลงอสุภะมา มันพิจารณาเวทนาก็ได้ มันพิจารณาเวทนา พิจารณาสิ่งใดของมันนี่มันมีของมัน ขออย่างเดียวขอให้จิตมันมีหลัก ถ้าจิตมันมีหลักนะเพราะวิธีการภาวนา อย่างเช่นอาหารกินทุกวัน อาหารจะดีขนาดไหนถ้ากินซ้ำซากมันก็เบื่อ แต่อาหารไม่ดีเลย กินอาหารที่ดีจนซ้ำซาก ไปกินอาหารที่ไม่ดี อาหารไม่ดีกลับอร่อยกว่า นี่ก็เหมือนกัน การพิจารณาของใจ ใจมันพิจารณาของมันไปบ่อยๆ ครั้งเข้า มันพิจารณาของมันไป

ถ้าพูดถึงเวทนา เห็นไหม ถ้าเวทนาจิ๋ว เวทนาใหญ่มันก็เป็นของมัน ถ้ามันปล่อยวางได้มันก็ปล่อยวางได้

ถาม : ผมควรพิจารณาพุทโธไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนใจเวทนาที่เกิดขึ้น เพียงแต่ให้จิตรู้ว่าตอนนี้เวทนาเกิดขึ้นกับร่างกายเท่านั้นก็พอ จนกระทั่งจิตสงบตั้งมั่นแล้วเกิดเวทนาใหญ่ขึ้น แล้วค่อยพิจารณาตามที่หลวงตาท่านว่าถูกต้องหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : อันนี้มันมีพล็อตเรื่องอยู่แล้ว เวลาภาวนาก็ภาวนาไปตามพล็อตเรื่องเลย เวลาเราศึกษาประวัติครูบาอาจารย์นะ เรานี่เราแนะนำประจำเพราะเราได้ประโยชน์จากตรงนี้มา เราได้ประโยชน์มานะ ตอนบวชใหม่ๆ มันมีความตั้งใจว่าอยากจะปฏิบัติ ฉะนั้นตามตำราทางปริยัตินี่ไม่ค่อยได้ศึกษาเลย แต่จะไปอ่านประวัติครูบาอาจารย์เป็นส่วนใหญ่ แล้วเวลาอ่านประวัติครูบาอาจารย์เป็นส่วนใหญ่นี่นะ อ่านประวัติหลวงปู่เทสก์ในอัตโนประวัติ กับประวัติหลวงปู่หลุย แต่จำไม่ได้ชัดเจนว่าองค์หนึ่งติดสมาธิ ๑๑ ปี องค์หนึ่งติดสมาธิ ๑๗ ปี

๑๗ ปี ! ๑๗ ปีนี่ติดสมาธิอยู่ ๑๗ ปี เช่นหลวงปู่เทสก์ ท่านพิจารณาของท่านแล้ว ท่านปล่อยกายแล้ว แล้วตอนนั้นหลวงปู่มั่นอยู่ที่เชียงใหม่ นี่ครูบาอาจารย์เล่าสู่กันฟังมาตลอด ท่านก็ไปปรึกษาหลวงปู่ฝั้น ก็ให้พิจารณากายสิ เราพิจารณาแล้ว.. ไปปรึกษาองค์ไหนก็พิจารณากายสิ เราพิจารณาแล้ว ท่านก็ดื้อของท่าน หลวงปู่เทสก์นี่ท่านก็ดื้อของท่าน ท่านก็ไม่ฟังใครเหมือนกัน

สุดท้ายแล้วเพราะเป็นหมู่คณะกัน พรรษาสูงกว่าเขาด้วย ปรึกษาใครใครก็บอกให้พิจารณากายสิแต่ตัวเองก็คิดว่าพิจารณาแล้ว สุดท้ายแล้วก็ดั้นด้นขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ พอไปเจอหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ ไปถามหลวงปู่มั่นครั้งแรกหลวงปู่มั่นตอบเลย

“พิจารณากาย ! กลับมาพิจารณากาย ! ต้องกลับมาพิจารณากาย”

แต่พอไปเจอหลวงปู่มั่นนี่ลง ฟัง แต่ตอนก่อนหน้านั้นติดตรงนี้อยู่ ๑๗ ปี พอเราไปอ่านประวัติตรงนี้ปั๊บมันเลยมีความรู้สึกกลัวมาก พอกลัวมากทีนี้ก็ตั้งสัจจะปฏิญาณกับตนเองเลยบอกว่า “ถ้าเจอนิมิต เจออะไรก็แล้วแต่ไม่เอา ไม่เอา ไม่เอา ไม่เอาเพราะกลัว ๑๗ ปี ๑๗ ปีนี้กลัวมาก”

คำว่า ๑๗ ปีนี่ทำให้เรา พอจิตไปรู้สิ่งใดมันจะปล่อยวางไว้ ให้กลับมาที่ผู้รู้ให้ชัดๆ แต่ที่พูดนี้เพราะพยายามจะไม่ให้ติดไม่ให้หลงเลยแต่ก็หลง มันไม่หลงอย่างที่เรารู้แล้ว แต่มันหลงตัวมันเอง.. หลง ! ปฏิบัติอย่างไรก็หลง ขนาดป้องกันขนาดไหนไปไม่รอดหรอก ป้องกันอย่างไร โทษนะ เราเอาเพชรนิลจินดามาเก็บไว้บอกไม่ให้โจรลัก ไม่ให้โจรลัก.. หมด ! โจรมันเห็นมันเอาหมดแหละ ไม่มีทางหรอก

ขนาดไหนก็ติด ทีนี้มันก็ติดไปอีกแง่หนึ่งเพราะเรามีกิเลสไง เรารู้ว่าสิ่งนี้ไม่ดีเราจะไม่ทำสิ่งนี้เลย ไม่ทำสิ่งนี้เลย มันก็ให้ไปทำอีกสิ่งหนึ่งเพราะมันมีแรงขับอยู่ มันมีกิเลสอยู่ ไม่ผิดสิ่งที่เรารู้นี้ เราตั้งไว้ชัดๆ เลย ไม่ให้ผิด ! ไม่ให้ผิด ! มันก็ไปผิดโดยตัวมันเองไง มันก็ไปผิดในแง่ปัจจุบันของมันเอง

ฉะนั้นไอ้ผิดอย่างนี้มันเป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะเรามีกิเลส เรามีความไม่รู้จริงในหัวใจ ฉะนั้นปฏิบัติไปนี่มันผิดแน่นอน ฉะนั้นจะผิดจะถูกขอให้มันเป็นข้อเท็จจริง ถ้าเป็นข้อเท็จจริงนะอย่างเช่นเราป้องกันตัวเราไว้แล้ว อย่างเช่นประวัติ ที่เราอ่านอัตโนประวัติของครูบาอาจารย์มันป้องกันตัวเราไว้ ป้องกันตัวเราไว้คือเหมือนกับป้องกันโจร ป้องกันเต็มที่เลยนะโจรมันก็ลักของหมดบ้านเลย หมดเกลี้ยงเลย คือว่ามันก็ติดไง แล้วทำอย่างไรล่ะ

เราไปป้องกันโจร แต่โจรในบ้านมันไม่ได้ดู ไอ้โจรในใจนี่ อยู่กับโจรนะแต่ไปป้องกันโจรข้างนอกหมดเลยนะ แหม.. ป้องกันเลยสิ่งอะไรที่มันจะป้องกันไม่ให้เขามาลักนะ ติดเครือข่ายไว้หมดเลย แต่ไอ้โจรในบ้านคือกิเลสของเราเองมันก็มีปัญหา ฉะนั้นเวลาทำไปไม่ต้องไปห่วง นี่พูดถึงเวลาบอกต้องเหมือนอย่างนั้น เหมือนอย่างนั้น พยายามจะทำตามพล็อตเรื่องเลย ป้องกันเต็มที่เลยนะแต่ไอ้ใจของเรานี่มันมี ฉะนั้นพอมันมีแล้วนี่พุทโธไป พิจารณาของเราไป ถ้ามันถูกต้องดีงามใจเราจะขึ้นมาดีงาม

ฉะนั้นวันหลังเขียนสั้นๆ นะ ยาวเหลือเกินไม่ไหว ๓-๔ ใบ.. ต่อไปข้อ ๓. ยังไม่จบนะ อู้ฮู.. นี่ขนาดลัดๆ เอานะมึง

ถาม : ๓. จากเทศนาของหลวงพ่อ ที่แนะนำอานาปานสติ กำหนดลมชัดๆ นั้น ผมมีข้อสงสัยว่า กำหนดลมให้ชัดๆ นี้คือการบังคับลมหายใจหรือไม่ หากให้เข้าและออกตามความตั้งใจของเรา หรือปล่อยให้ลมหายใจเข้าออกช้า-เร็วตามธรรมชาติของมัน และเรากำหนดเอาสติและความรู้สึกของเราให้รู้ชัดเจนว่าขณะนี้ลมหายใจของเรานั้น เวลาเข้าหรือออกช้าหรือเร็ว เพราะผมเคยใช้วิธีปล่อยให้ลมหายใจเข้าออกช้าเร็วตามธรรมชาติ และกำหนดสติตามความรู้สึก ตามการหายใจของตัวเองไปแล้วผมก็ตกภวังค์หลับไปเลยโดยไม่รู้ตัว เมื่อผ่านไปสักพักไม่เกิน ๑๕ นาที ลมหายใจของผมก็จะช้าลงและแผ่วลงเรื่อยไปจนฟุ้งซ่าน

หลวงพ่อ : เห็นไหม นี่ผู้ที่ปฏิบัติจะปฏิบัติอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เพราะด้วยไอ้ขโมยในบ้านเรา ไอ้ขโมยที่อยู่กับใจเรามันคิดจินตนาการไป คำว่าให้กำหนดลมชัดๆ ของเรา คำว่าลมชัดๆ คือเป้าหมายเลย คือบทสรุปเลย สรุปว่าถ้ามีสติ ลมหายใจเราจะชัด แต่เพราะเรานี่เรรวน เราบอกว่าลมหายใจเราชัดด้วยสัญญาอารมณ์ ชัดด้วยไม่ใช่ความเป็นจริงไง

แต่ถ้าเราปล่อยหมดเลย เวลาจะภาวนานะปล่อยทุกอย่างเลย ปล่อยความคิดปล่อยทุกอย่างเลยแล้วตั้งสติกับลมหายใจเข้าและลมหายใจออก หรือตั้งสติอยู่กับพุทโธ ตั้งสติไว้เท่านั้นแหละ แล้วสิ่งที่จะเป็นไปนี่มันเป็นไปโดยจิต จิตมันจะเป็นของมันเอง เป็นของมันเองโดยไม่ทำอะไรเป็นอะไร เป็นของมันเองเพราะมีสติ ในเมื่อสติ จิตนี่นะมันเป็นนามธรรม เป็นผู้รู้ แล้วนี่มันส่งออกไปเพื่อรับรู้อารมณ์ทั้งหมด

ฉะนั้นมันส่งออกไปรับรู้ทั้งหมด มันทิ้งหมดเลยแล้วเราตั้งสติไว้ มันก็ตั้งสติกับลมไว้ ก็เหมือนกับว่าเราเอาความรับรู้ทั้งหมดไปอยู่ที่ลม ถ้าไปอยู่ที่ลม เห็นไหม ถ้าไปอยู่ที่ลมมันไม่แฉลบไปคิดเรื่องอื่นลมนั้นจะชัดขึ้นมา.. คำว่าลมชัดๆ ทีนี้ลมชัดๆ นี่เร็ว จิตมันเร็วแล้วรับรู้เร็วมาก ทีนี้ลมชัดๆ ทางวิทยาศาสตร์ เราอยากรู้ทางวิทยาศาสตร์ ถ้าลมชัดๆ มันจะชัดๆ ได้อย่างไร ก็เลยไปปล่อยลมช้า ลมเร็ว ลมต่างๆ นี่มันก็เลยมีรูปแบบที่มันมาปิดไว้อีกชั้นหนึ่ง ความจริงถ้ามันรู้ลมชัดๆ โดยแบบไร้เดียงสา แบบไม่รู้สิ่งใดเลย เดี๋ยวมันจะรู้ขึ้นมา

กำหนดลมชัดๆ กำหนดสตินะสติไว้ที่ลมชัดๆ โดยที่ไม่ต้องรับรู้อะไรเลย แต่พอจิตมันตั้งตัวของมันได้มันจะรู้ลมของมันชัดเจน พอรู้ชัดเจนมันก็เหมือนเราเอาจิตทั้งหมดไปไว้ที่ลม ถ้าไว้ที่ลมนี่ลมมันจะชัดขึ้นมา แล้วจิตมันจะไม่แฉลบออก ไม่แล่บออกไปที่อื่นเลย แต่นี้เหมือนสูตรสำเร็จ คือเหมือนกับว่าลมหายใจ.. คือความรู้สึกนี่เหมือนกับวัตถุอันหนึ่ง เราก็จะเอาวัตถุคือเอาความรู้สึกอันนี้ไปวางทับไว้บนลมหายใจอันหนึ่ง มันก็เหมือนวัตถุซ้อนวัตถุใช่ไหม

ลมก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง จิตก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง แล้วไปทับซ้อนกันขึ้นมาเพื่อจะให้รู้ลมชัดๆ มันก็เลยไม่ชัดไง แต่ถ้าเราปล่อยหมดเลยแล้วเราตั้งสติไว้ แล้วกลับไปรู้ที่ลม พอลมมันชัดๆ ขึ้นมานี่สติสมบูรณ์ ถ้าสติไม่สมบูรณ์ลมจะชัดขึ้นมาไม่ได้ เพราะคำว่าลมชัดๆ พุทโธชัดๆ ของเรานี่ เพราะว่าอธิบายมามากแล้ว พออธิบายมามากเขาจะบอกว่าหลวงพ่อตอบวกวน ตอบซ้ำๆ ซากๆ แต่คนถามก็ถามแค่นี้เอง เพราะคนถามแค่นี้เองมันก็เป็นเท่านี้เองใช่ไหม

ฉะนั้นพอถามเท่านี้เองปั๊บเราจะสรุปเลย ถ้าเราไม่สรุปเราก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งขึ้นมาเลย เราสรุปเลยพุทโธชัดๆ ลมหายใจชัดๆ ลมหายใจชัดๆ นี่แต่เหตุผลคำอธิบายว่าทำไมต้องลมชัดๆ ถ้าลมชัดๆ นี่คำว่าลมชัดๆ มันก็เริ่มต้นจากเรากำหนดลมหายใจ อานาปานสติ พอลมมันชัดๆ นั่นล่ะ.. นั่นล่ะคือเป้าหมาย นั่นล่ะคือความสมบูรณ์ของอานาปานสติ อานาปานสติคือลมชัดเจนแล้วจิตไม่วอกแวกไปที่อื่น จิตอยู่กับลมหายใจนี่ชัดๆ

นี่คือเป้าหมายของอานาปานสติ คือจิตสงบแล้วไง ถ้าลมชัดๆ นี่จิตสงบแล้ว แล้วลมละเอียด ละเอียดขนาดไหน ละเอียดไปถึงที่สุดจนลมหายใจ.. จะบอกว่าลมหายใจขาดเลย จนลมหายใจนี้ไม่มีเลย ไม่มีเพราะอะไร เพราะจิตอยู่กับลมหายใจใช่ไหม พอชัดเจนขึ้นมามันไม่ออกไปที่ไหน มันจะทรงตัวของมัน จนถึงที่สุดมันจะตั้งตัวของมันได้ ลมหายใจหมดเลย ไม่มีสิ่งใดเลย.. ไม่มีสิ่งใดเลยแต่มันชัดมากนะ ! มันชัดมาก

อันนี้พูดถึงลมหายใจชัดๆ พุทโธชัดๆ ฉะนั้นบอกว่ามันจะตกภวังค์ตกอะไร ตกภวังค์เพราะมันชัดๆ นี่มันชัดๆ มันเหมือนกับเราจุดเทียน เห็นไหม จุดเทียนพอลมมันเป่ามาแรงเทียนก็ดับ นี่ลมหายใจชัดๆ แต่เวลามันวูบวาบมันออกนี่มันก็ตกภวังค์ไปเลย.. นี้ลมหายใจชัดๆ พูดนี่ง่ายมากแต่ผู้ที่กระทำต้องมีความชำนาญ ต้องมีความชำนาญต้องมีการฝึกฝน ต้องมีประสบการณ์มันถึงจะชัดๆ ได้

ฉะนั้นถ้าลมหายใจชัดๆ ทีนี้ว่าลมหายใจชัดๆ อย่างไร นี่เขาจะชักเราออกนอกทางไง ลมหายใจชัดๆ เขาจะบอกว่าถ้าลมหายใจชัดๆ นี่เหมือนการบังคับ เหมือนเป็นกรอบ เหมือนเป็นรูปแบบ แล้วเราทำไม่ได้ เพราะเขาคิดแบบวิทยาศาสตร์ว่าต้องมีรูปแบบไง ต้องมีแม่แบบ ต้องมีอย่างนั้น เราถึงบอกว่าเหมือนกับเอาวัตถุอันหนึ่งคือตัวจิต แล้วก็ไปทับวัตถุอีกอันหนึ่งคือตัวลมหายใจมันก็เป็นสอง แล้วช่องว่างนั้นจิตมันก็แล่บไปแล่บมา แล่บมาแล่บไป แล้วก็จะมาต่อว่าแล้ว

หลวงพ่อพูดผิดหมดเลย ผมชัดขนาดไหนมันก็ยังตกภวังค์ นี่หลวงพ่อให้ชัดผมก็ชัดสิ แล้วมันชัดของใครล่ะ.. ชัดของหลวงพ่อกับชัดของเอ็งมันคนละชัดเว้ย คำว่าชัดๆ ของเรานี่กำหนดลมหายใจเรื่อยๆ จิตมันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ มันจะมีความชำนาญไปเรื่อยๆ จนจิตมันกำหนดได้ชัดเจนของมัน นี้คือคำว่าชัดๆ ของเรา

ทีนี้ชัดๆ ของผู้ถาม ชัดๆ ก็ต้องเอารูปที่ชัดๆ เลย เอาของชัดๆ เลยมาวางซ้อนกันให้มันชัดๆ ไงมันเลยชัดไม่ได้ เพราะของสองสิ่งมันทับซ้อนกันอยู่ มันจะชัดไม่ได้ ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้.. นี่ความเข้าใจของโลก กับความเข้าใจของการปฏิบัติ มันแตกต่างกันอย่างนี้ไง คำว่าชัดๆ ให้มันพัฒนาของมันขึ้นมาชัดๆ แต่เริ่มต้นไม่ชัด ชัดไม่ได้เพราะคือทำไม่เป็น คนทำไม่เป็นจะชัดได้อย่างไร

ดูแบงก์สิ ขนาดแบงก์เขามีแบงก์ปลอมแบงก์จริง ยังดูไม่ออกเลยอันไหนจริงอันไหนปลอม ดูไม่เป็น ธนาคารชาติเขาจับอันนี้ปลอม อันนี้จริง เขาจับได้หมดเลยเพราะความชำนาญของเขา ชัดๆ ก็อยู่ที่ความชำนาญขึ้นมา ขนาดแบงก์นะเป็นกระดาษ เขาพิมพ์มานี่เรายังดูไม่ออกเลยอันไหนจริงอันไหนปลอม แล้วชัดๆ ของใครมันจะจริงหรือปลอมล่ะ.. สุดท้ายนี้ขอให้หลวงพ่อมีธาตุขันธ์.. จบ ! ยาวน่าดูเลย

อันนี้ยาว แต่อันนี้ดี

ถาม : เรื่อง “ฟังเทศน์หลวงพ่อเรื่องนิสัยของจิต กับประสบการณ์ที่มี และคำถามครับ”

ได้ฟังเรื่องที่พี่ว่าสวดมนต์แล้วตัวหมุนกับเรื่องสติในฝัน ทำให้ผมไปนึกถึงประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาส่วนหนึ่ง

หลวงพ่อ : ไอ้ที่ว่าสวดมนต์แล้วหมุน เขาบอกว่าหมุนแล้วมันจะเป็นสมาธิได้ไหม เราก็บอกว่ามันอยู่ที่จริตมันจะเป็นไปได้ แล้วสติในฝันนี่คือว่าฝันที่มีสติ คือว่าฝันแล้วมันควบคุมได้ เขาฝันแล้วควบคุมได้ กับฝันที่ขาดสติ มันก็เหมือนสมาธิสั้น สมาธิยาวของคนแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นเราบอกว่าถ้ามันหลับไปแล้วมีสติได้อย่างไร.. จิตของคนเวลาลงไป นี่ความมหัศจรรย์ของจิต จิตนี้ไม่มีขอบเขตเลย อันนี้เป็นกรณีหนึ่งนะแต่ไม่ใช่ทั่วไป ถ้าทั่วไปปั๊บมันเหมือนพระไตรปิฎก พุทธพจน์ถ้าพูดคำไหนแล้วเราจะออกนอกลู่นอกทางไม่ได้เลย อันนั้นพุทธพจน์มันเหมือนกรอบ มันเหมือนกรอบเหมือนกฎหมายอันหนึ่ง แต่ผู้ที่เป็นประชาชนจะทำผิดที่กฎหมายยังเขียนไม่ถึงอีกเยอะแยะเลย สิ่งต่างๆ มันยังมีอีกมาก

ฉะนั้นสิ่งที่มีนี้เราพูดว่ามันเป็นกรณีกรณีไป มันไม่ได้เป็นสาธารณะ ไม่ใช่จิตทุกดวงจะเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตทุกดวงเป็นอย่างนี้ เหมือนกับคนเราทำผิด ทำผิดแล้วต้องเหมือนกันหมด ไม่ใช่! บางคนทำผิดโดยมีเจตนา ไม่มีเจตนาต่างๆ แตกต่างกันไป ฉะนั้นเรื่องอย่างนี้เป็นเฉพาะบุคคล ไม่เป็นสาธารณะ

นี้เพียงแต่ว่าตอบปัญหาไป ผู้ฟังฟังแล้วถ้าเอาไปเป็นประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์ ฉะนั้นบอกเอาอย่างนี้เป็นบรรทัดฐาน มันเป็นบรรทัดฐานเฉพาะคนๆ นั้น ไม่ใช่บรรทัดฐานของสาธารณะทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเอาตรงนี้เป็นตัวตั้ง เราฟังไว้เป็นคติเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ทั้งหมด แต่ตอนตอบมันเป็นอย่างนั้นไหม.. เป็น ! เป็นเฉพาะคนๆ นั้น

เหมือนแพทย์รักษาคนไข้ คนไข้คนไหนมาอย่างไรรักษาตามคนไข้นั้น แล้วคนไข้ที่มาจะเหมือนกันหมดเลย ไม่ใช่ ! เพราะคนไข้มันมีที่มาแตกต่างกัน นี่สมมุติฐานของโลกมาแตกต่างกัน เป็นโรคเดียวกันก็แล้วแต่ แต่ความเป็นอยู่ของคน ความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นหมอรักษาเฉพาะ แม้แต่เป็นโรคเดียวกันก็รักษาตามอาการนั้นด้วย

ถาม : เรื่องการหมุนนี่ ผมทราบมาว่ามีพระองค์หนึ่งทางเหนือเขาสอนอยู่ ท่านสอนสมาธิให้หมุน ซึ่งผมเองก็มีประสบการณ์เคยไปปฏิบัติกับท่านด้วยตนเองก็ได้สัมผัสมาบ้าง ครั้งนั้นก็น่าแปลกใจที่จิตก็ไม่ได้สงบอะไรมากมาย คือระหว่างฝึกอยู่นั้นในขณะที่หมุนอยู่ ได้เห็นตัวเชื้อโรคในร่างกายของตนเองด้วย วิธีการปฏิบัติบางส่วนของท่าน..

หลวงพ่อ : แหม.. การเห็นเชื้อโรคการเห็นต่างๆ โรคกิเลสสำคัญที่สุดนะ การรักษาโรคการรักษาต่างๆ ถ้าใครสร้างจริตนิสัยมาอย่างนั้น อย่างเป็นพวกพระโพธิสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์นั่นก็สาธุเรื่องของเขา แต่เวลาเราพูดกันนี่เราพูดถึงสัจจะ อริยสัจจะ.. สัจจะความเป็นจริงนี่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. ทุกข์นี่เป็นโรคก็ทุกข์ไม่เป็นโรคก็ทุกข์ คนที่เป็นโรคก็ทุกข์อยากให้โรคหาย คนที่ไม่เป็นโรค ปกติก็ทุกข์ ทุกข์เหมือนกันแหละ พระพุทธเจ้าสอนที่นี่ สอนที่ว่าแก้ทุกข์นี่ไม่ได้แก้ที่โรคภัยไข้เจ็บนั้น แต่ถ้าจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยอำนาจวาสนาบารมีเขา ก็อีกเรื่องหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งไม่ใช่อริยสัจ อย่างว่าถ้ามันเป็นการเจือจานกัน การช่วยเหลือกันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องศาสนาไม่ใช่

ถาม : วิธีการปฏิบัติของท่าน หลวงพ่อได้อธิบายถึงพันธุกรรมทางจิต (หลวงพ่อคือเราเนาะ) หลวงพ่อได้อธิบายเรื่องพันธุกรรมทางจิตไว้พอสมควร ผมฟังแล้วจึงได้ข้อพิจารณาธรรม สันนิษฐานอะไรเพิ่มเติมได้หลายอย่างจึงอยากทราบดังนี้ครับ

๑. เป็นไปได้ไหมเรื่องการหมุน เวลาที่จิตใกล้สงบของบางท่าน อาจจะเป็นภาวะเดิมของการฝึกสมาธิรูปแบบทำนองนี้ ซึ่งอาจเป็นในชาติก่อนๆ ทั้งๆ ที่คนๆ นั้นก็ไม่ได้รู้จักพระอาจารย์ท่านนี้อย่างที่ผมรู้จัก

หลวงพ่อ : ตอบเป็นข้อๆ ไปเลยล่ะเพราะมันยาวมาก.. ไอ้เรื่องพันธุกรรมทางจิต เราจะบอกว่าพันธุกรรมทางจิตนี่มันเป็นพันธุกรรมของเขา อย่างเช่นไม้ ต้นไม้ต่างๆ นี่พันธุกรรมของเขาคือพันธุกรรมของเขา เวลาเขาไปปลูกที่ไหน เวลาเขาออกดอกออกผลก็ต้องเป็นพืชชนิดนั้น

คำว่าพันธุกรรมของเราคือจิตมันมีเวรมีกรรม ทีนี้คำว่ามีเวรมีกรรมนี่แต่ชาติไหน แต่นี้เวลาปฏิบัติไปแล้วต้องเป็นอาจารย์บางท่านสอนให้ภาวะฝึกแบบชาติก่อน คำว่าชาติก่อนมันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ.. เรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องอดีตชาตินี่มีจริง แต่ใครจะรู้ได้มากได้น้อย ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ชัดเจน แต่ขณะอย่างที่ว่าสอนให้การหมุน การเข้าไปรักษาโรคมันเป็นสูตรสำเร็จไง เราไม่เชื่อตรงนี้ไง

ถ้าพันธุกรรมของแต่ละจิตมันไม่เหมือนกัน คำสอนของอาจารย์ก็ต้องสอนไม่เหมือนกันทุกๆ คน ทำไมเขาสอนหมุนอย่างเดียวล่ะ ฉะนั้นถ้าเขาสอนหมุนอย่างเดียว คนที่ไม่หมุนจะมาหมุนได้ไหม แล้วเราเคยหมุนมา มาหมุนกับเขา หมุนนี่เราเคยเห็นมา พระที่ทำมานี่ มี แต่เป็นเฉพาะองค์แล้วน้อยมาก น้อยมากเพราะอะไร เพราะเหมือนกับว่าเคลื่อนไหวแล้วสงบไง

อย่างเช่นเราเดินจงกรม เดินจงกรมนี่เราเดินเราเคลื่อนไหวอยู่ทำไมจิตสงบได้ล่ะ แล้วลงอานาปานสติได้ด้วย เวลาเคลื่อนไหวเดินจงกรมนี่เพราะมันมีของมันอยู่แล้ว ทีนี้เพียงแต่ว่าเขาบอกว่าถ้าเป็นอาจารย์องค์นี้เขาสอนหมุนอย่างเดียวเลย ก็เหมือนบางคนนี่สอนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นหลวงตา เป็นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาท่านให้คำบริกรรมยังไม่เหมือนกันเลย ให้พุทโธ พุทโธส่วนใหญ่โดยพื้นฐาน แต่บางคนพุทโธแล้วหลับท่านก็ให้ท่องยาวๆ

นี่ถ้าอาจารย์ที่เป็นไม่สอนเป็นสูตรสำเร็จ เพราะสูตรสำเร็จเข้ากับความจริงไม่ได้ ความจริงคือความจริง ความจริงอยู่ที่อากาศ เห็นไหม ดูสิวันหนึ่งเช้า สาย บ่าย เย็น อากาศความร้อน อุณหภูมิก็แตกต่างกันแล้ว นี่เช้า สาย บ่าย เย็นมันก็แตกต่างกันไป นั้นพูดถึงเราไม่สนับสนุน เพราะถ้าเราพูดอย่างนั้นไปแล้วมันจะเป็นแบบว่า เหมือนกับสูตรวิทยาศาสตร์ต้องสำเร็จรูปแล้วเข้ากันได้หมด.. ไม่ใช่ !

ถาม : ๒. คนบางคนอาจจะเหมาะกับการฝึกกรรมฐานด้วยอุบายการหมุน แบบที่พระอาจารย์ท่านที่สอนก็ได้ เป็นไปได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : คนบางคน.. ใช่ ! บางคน เห็นไหม คนบางคนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ทีนี้ถ้าสอนอย่างนี้ เขาสอนอย่างนี้โดยสูตรตายตัว.. เราจะบอกว่านี่คือโลกไง นี่คือพล็อตเรื่องไง มีพล็อตอยู่แล้ว ทุกอย่างอยู่แล้วทุกคนต้องเข้ามาเป็นอย่างนี้หมดเลย เป็นไปไม่ได้ ! เป็นไปไม่ได้ ! แต่ถ้าสอน ถ้าบอกเป็นไปไม่ได้ ถ้าสอนต้องสอนด้วยอาการหมุนทั้งหมดเลย ฉะนั้นมันก็เหมือนกับโลกนี้วิชาการวิชาเดียว วิชาชีพอื่นลบทิ้งหมดเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก

โลกอยู่ไม่ได้ โลกอยู่ได้ต้องมีวิชาชีพแตกต่างกันไป วิชาชีพคนละวิชาชีพ แต่มาอยู่ในสังคมโลกเพื่อโลกนั้น โลกนี้บอกว่ามีวิชาเดียว แล้วโลกนี้จะเจริญ วิชาอื่นไม่ต้องทำ.. ไม่มี ! ไม่มี !

ถาม : ๓. จากการสันนิษฐาน ๒ ข้อแรก ถ้าจิตบางดวงที่มีภาวะเดิมใดๆ ก็ตาม แต่มาเปลี่ยนรูปแบบฝึกกรรมฐานฐานใหม่ชาติปัจจุบัน จะต้องใช้ความพยายามสูงมาก เหมือนเริ่มเรียนอนุบาลใหม่ จะยากกว่าฝึกต่อเนื่องที่ตรงกับรูปแบบเดิมของพันธุกรรมจากจิตหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้มันเป็นความรู้สึกความนึกคิดของเรา ไอ้นี่พูดถึงเมื่อกี้ที่ว่าเอาสติกับอานาปานสติมาซ้อนกัน.. นี่ก็เหมือนกันถ้าคิดอย่างนี้เป็นรูปแบบ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นนะ ครูบาอาจารย์อย่างเช่นหลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์ที่เป็น เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายต้องลงสู่ความสงบหมด

นี้การลงสู่ความสงบ ใครก็แล้วแต่ถ้าอยู่กับความสงบใช่ไหม จะหมุนจะไม่หมุน จะอะไรก็แล้วแต่ถ้าลงสู่ความสงบ ถ้าลงสู่ความสงบมันยังไม่วิปัสสนาเลย ถ้าวิปัสสนาไอ้ที่ว่าถ้าจะลงปฏิบัติ เห็นไหม เรื่องพันธุกรรม..

ถาม : จากการสันนิษฐาน ๒ ข้อแรก ถ้าเรียนพื้นฐานมาในชาติปัจจุบัน รูปแบบเดิมของพันธุกรรมจากจิตหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : มันมีส่วนกัน คำว่ากรรมเก่ากับกรรมใหม่ กรรมเก่าคือจริตนิสัยเดิม แต่จริตนิสัยเดิม ทำอย่างไรก็แล้วแต่ จริตนิสัยเดิมนะ ดูสิดูองคุลิมาลสิ องคุลิมาลจะเป็นพระอรหันต์นะแต่ไปเรียนกับอาจารย์ เห็นไหม อาจารย์บอกว่าจะให้วิชาพิเศษ ต้องให้ไปฆ่าคนเอานิ้ว ๙๙ นิ้ว

เราจะบอกว่าแต่เดิมคือว่าพันธุกรรมของเขาดีมาก ! พันธุกรรมของเขาดีมาก ! แล้วเขาไปศึกษากับอาจารย์ของเขา อาจารย์ของเขานี่คือปัจจุบัน สุดท้ายแล้วนี่พันธุกรรมของเขาดีมากเลยเพราะเขาจะได้เป็นพระอรหันต์ แต่เพราะไปเจออาจารย์สอนผิด พอสอนผิดเขาจะชักนำไปเลยนะ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ไปดึงกลับนะ องคุลิมาลฆ่าแม่แล้วจบเลย ตกนรกอเวจีแล้วไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปดึงกลับมา.. ไปดึงกลับมา เห็นไหม

นี่เวลาองคุลิมาลจะไล่กวด “หยุดก่อนๆ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เราหยุดแล้วเธอไม่หยุด”

“หยุดอะไร”

“หยุดความรู้สึก ความนึกคิดไง” พอหยุดวางมีดวางดาบเลยนะแล้วขอบวช เป็นพระอรหันต์เลย

ฉะนั้นจะบอกว่าถ้าอย่าง ๒ ข้อแรก เห็นไหม นี่พื้นฐานของชาติปัจจุบัน คือว่ามีของเดิมมาว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วจะมาต่อของชาติปัจจุบันนี้เพื่อจะให้ปัจจุบันนี้ได้ง่ายขึ้น มันเป็นวัตถุ มันเป็นโลกมันไม่เป็นธรรมหรอก เพราะถ้ามันเป็นธรรมนะ ชาติที่แล้วจะดีขนาดไหน เลวขนาดไหน ถ้าดึงลงสู่ความสงบได้.. ดึงสู่ความสงบได้ ! มันจะเกิดสติปัฏฐาน ๔ ตัวจริง คือว่าจิตเราสงบ

เพราะจิตเราสงบ จิตเราทุกข์ จิตเรามีกิเลส แล้วจิตเราพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม มันจะถอนกิเลสจากจิตดวงนั้น แต่ในปัจจุบันนั้นอารมณ์ความรู้สึกเป็นสติปัฏฐาน ๔ นึกภาพกาย นึกสติปัฏฐาน ๔ มันก็เป็นวัตถุเป็นโลกนี่ไง มันก็เป็นเรื่องโลกๆ นี่แหละเป็นอารมณ์สร้าง เป็นอารมณ์สร้าง สร้างอารมณ์ขึ้นมาให้เหมือนพระไตรปิฎก อารมณ์สร้างขึ้นมาให้เหมือนตำรา แล้วพอสร้างอารมณ์เสร็จแล้วก็บอกว่าฉันทำได้แล้ว.. นี่ไงเพราะคิดกันแบบโลก คิดกันแบบวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ธรรม !

ถาม : ๔. ถ้าพื้นฐานเริ่มต้นของกรรมฐาน เป้าหมายคือทำให้จิตสงบและมีสติ แสดงว่าวิธีที่ดีที่สุดต้องอาศัยกับพื้นฐานความเข้าถึงเรื่องพันธุกรรมทางจิต ซึ่งแตกต่างกันไปในจิตแต่ละดวง ถ้าเข้าใจแบบนี้ได้ก็ไม่ต้องไปขัดคอกัน เรื่องการตีความสมถะ-วิปัสสนาใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : นั่นแหน่ะ

“ถ้าพื้นฐานเริ่มต้นของกรรมฐาน เป้าหมายคือการทำความสงบของจิตที่มีสติ แสดงว่าวิธีที่ดีที่สุดต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเรื่องพันธุกรรมทางจิต ซึ่งแตกต่างกันในทางจิตแต่ละดวง ถ้าเข้าใจแบบนี้ได้ก็จะไม่ต้องขัดคอกัน เรื่องการตีความสมถะ-วิปัสสนาใช่ไหมครับ”

ใช่ ! ถ้าอย่างนี้ใช่ ! ถ้าพูดถึงเพราะมันต้องลงสู่ความสงบให้ได้ ถ้าไม่ลงสู่ความสงบ สมถะ-วิปัสสนานี่ไม่ต้องพูดถึงมันเลย สมถะ-วิปัสสนานี่มันแค่ชื่อ อ้าว.. ฉันชื่อนายถูก คุณชื่อนายผิด แล้วมาเถียงกัน อ้าว.. ฉันชื่อถูกมาตั้งแต่ต้น เอ็งชื่อผิดมาตั้งแต่ต้น ชาตินี้เอ็งผิดตลอดไป ชาตินี้กูถูกตลอดไปเลย

ถ้าเอ็งชื่อว่าสมถะ ชื่อว่าวิปัสสนาไง ทุกคนเถียงกันตรงนี้ไง ไอ้นี่เป็นสมถะ ไอ้นี่เป็นวิปัสสนา ชาตินี้ฉันชื่อถูกเอ็งชื่อผิด ชาตินี้เอ็งไม่มีวันถูกหรอกเพราะเขาบอกว่าสมถะเป็นสมถะไม่มีปัญญา สมถะนี่เป็นนายผิด ไอ้คนชื่อผิดชาตินี้มันผิดไปทั้งชาติเลย มันจะเป็นคนถูกมาไม่ได้ แต่ถ้าไอ้สมถะนี่มันเติบโตขึ้นมา มันใช้ปัญญาของมันขึ้นมา ตามความเป็นจริงของมันขึ้นมา มันดีกว่าชื่อไอ้ถูกอีก

ไอ้ชื่อวิปัสสนานั่นน่ะแต่จะทำโกหกมดเท็จ ทำไม่เป็นความจริง ไอ้ชื่อถูกมันเป็นโจรก็ได้ แต่ถ้าไอ้ชื่อผิดมันทำดีขึ้นมามันเป็นคนดีก็ได้ นี่มันเป็นแค่ชื่อ ทีนี้โลกเขาพยายามให้ชื่อกัน แล้วแบ่งแยกกันแล้วเถียงกัน แต่กรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์เราไม่เคยไปเถียงกับใครเลย แต่เพียงแต่ว่าท้าทายเลย ปฏิบัติมา ! ปฏิบัติมา ! ถ้ามันถูกมันผิดมันรู้ขึ้นมากับใจนะ มันต้องไม่เถียงกับใคร มันเถียงกับกิเลสในใจมันนั่นล่ะ

มันเถียงกับกิเลสในใจของมัน ถ้ามันเถียงกับกิเลสในใจของมัน มันแพ้ชนะในใจของมันนี่มันจบแล้ว ไอ้ข้างนอกมันเป็นกระแสสังคมที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์กัน นี่เรื่องของโลกเขา

ถาม : ๕. เป็นไปได้ไหมครับที่จิตบางดวงสามารถฝึกกรรมฐานหลายๆ แบบได้ ปรับสภาวะจิตให้เข้ากับพื้นฐานทุกแบบโดยที่ไม่มีความสับสน

หลวงพ่อ : ได้เยอะแยะเลยเช่นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่รู้หมด อนาคตังสญาณรู้เลยว่าใครเป็นอย่างไร ควรฝึกอย่างไร คนที่จะเป็นแบบนี้คือพระพุทธเจ้า ! หลวงปู่มั่น ! เพราะหลวงปู่มั่นท่านสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ หลวงปู่มั่นท่านสร้างบารมีมาจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แล้วท่านละจากพระพุทธเจ้า ท่านกลับมา บารมีท่านถึงได้ใหญ่ ท่านถึงได้สอนลูกศิษย์ไง

หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่พรหม หลวงปู่แหวน หลวงตา ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดนี้นิสัยเหมือนกันเหรอ ทำไมหลวงตาท่านพูดเอง บอกว่าหลวงปู่ฝั้นนี่นะโอ้โฮ.. นิ่มนวลมาก พูดนี่อู๋ย.. ชั่วโมงหนึ่งพูดได้สองคำ หลวงตาชั่วโมงหนึ่งพูดเป็นล้านๆ คำ นี่มันแตกต่างกันอย่างนี้ แล้วคนอย่างนี้คิดเหมือนกันไหม แล้วคนสอนคือใคร คนสอนคือหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น !

“เป็นไปได้ไหมที่จิตบางดวงสามารถฝึกกรรมฐานหลายๆ แบบ แบบปรับสภาพจิตให้เข้ากับพื้นฐานทุกๆ แบบได้”

ได้ ! ได้หมายถึงว่าครูบาอาจารย์เรานี่.. ดูนะเอตทัคคะนะ เอตทัคคะ ๘๐ องค์ที่พระพุทธเจ้าตั้ง พระอุบาลีนี่เป็นพระอรหันต์นะ พระอุบาลีเป็นผู้ทรงวินัยไว้เวลาสังคายนา เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เป็นพระอรหันต์นะ พระพุทธเจ้านี่กำหนดฌานสมาบัติอยู่ใช่ไหม แล้วบอกนิ่งอยู่ พระอุบาลีเป็นพระอรหันต์เป็นผู้ถามขึ้นมาว่า “พระพุทธเจ้านี้ไม่ใช่นิพพานแล้วเหรอ”

พระอนุรุทธะ ! พระอนุรุทธะเป็นผู้ได้เอตทัคคะทางปรมัตถจิต คือรู้วาระจิต พระอนุรุทธะนั่งอยู่ด้วยกัน พระอรหันต์นั่งล้อมรอบเลย พระอรหันต์นั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้าเลย แล้วพระอรหันต์ เป็นพระอุบาลีเป็นพระอรหันต์เป็นคนถามขึ้นมา ถามว่า

“พระพุทธเจ้านิพพานแล้วหรือยัง”

พระอนุรุทธะบอก “ยัง ตอนนี้เข้าสมาบัติอยู่”

ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน จตุตถฌานขึ้นไปแล้วย้อนกลับ ย้อนกลับมาแล้วมาระหว่างกลาง พอระหว่างกลางท่านก็นิพพาน พอนิพพานพระอนุรุทธะบอก

“บัดนี้พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว”

นี่พระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์เหมือนกันทำไมรู้ไม่เท่ากันล่ะ นี่อยู่ที่ว่าปรับสภาพ อยู่ที่นิสัยไง อยู่ที่เอตทัคคะความถนัดไง ความถนัดของพระอนุรุทธะนี่รู้หมดเลย แต่ความถนัดของพระอุบาลีนะ เวลาพระภิกษุสมัยพุทธกาลผิดวินัย จะตั้งพระอุบาลีเป็นกรรมการสอบ พระอุบาลีจะรู้เรื่องวินัยดีมาก จะสอบเลยว่าผิดมาอย่างไร เริ่มต้นมาจากไหน เข้าองค์ประกอบของความผิดไหม

ไปดูในพระไตรปิฎกสิ เวลามีความผิดปั๊บพระพุทธเจ้าตั้งพระอุบาลีเลย พระอุบาลีเป็นคนสอบ แล้วพระอุบาลีก็ตั้งกรรมการเลยนะ อย่างเช่นนางภิกษุณี นางภิกษุณีที่เป็นลูกศิษย์เทวทัต ที่บวชเข้ามาแล้วท้อง พอบวชเข้ามาแล้วท้องเทวทัตบอกสึกเพราะเธอท้อง ไม่มีเพศสัมพันธ์ท้องได้อย่างไรก็ไม่ยอม ไม่ยอม.. เทวทัตบอกให้สึกไม่ยอม ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า บอกว่าข้าพเจ้าไม่ผิด ข้าพเจ้าบวชมานี่บริสุทธิ์ไม่เคยผิด

พระพุทธเจ้ารู้นะ เพราะเป็นภิกษุณีใช่ไหมก็ตั้งนางวิสาขาเป็นกรรมการสอบ พอกรรมการสอบก็เริ่มเลยบวชตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วท้องอย่างไร.. ท้องก่อนบวชไง ตั้งครรภ์ก่อนเข้ามาบวช พอบวชเสร็จแล้วเด็กมันเจริญมา ก็เลยเป็นภิกษุณีที่คลอดลูกไม่ต้องสึก เป็นภิกษุณีที่มีลูกแล้วก็เลี้ยงลูกอยู่ในวัดด้วย.. อยู่ในพระไตรปิฎก

พระอุบาลีท่านชำนาญทางนี้ เห็นไหม นี่พูดถึงชำนาญทางนี้ แต่ทุกๆ ทางพระพุทธเจ้ารู้หมด ถ้าพระพุทธเจ้าไม่รู้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้แต่งตั้งเขาได้อย่างไร คนจะแต่งตั้งว่าผู้นี้ชำนาญการทางนี้ๆ ผู้ที่แต่งตั้งต้องรู้ ถ้าไม่รู้จะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะแต่งตั้งใครเป็นผู้ชำนาญการ

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้มีไหม.. มี ! นี่ปรับสภาพได้เข้ากับทุกๆ สาขา ทุกๆ จริตนิสัยได้ไหม.. มี ! เพราะมีไงถึงได้สั่งสอนมาได้ เพราะมีไง มีหลวงปู่มั่นไงเราถึงมีครูบาอาจารย์ที่เราเคารพบูชากันอยู่นี้ไง แต่ถ้ามีโดยที่ถามมาว่าอาจารย์องค์นั้นอาจารย์องค์นี้เราไม่เชื่อ เพราะเขาแบบวิทยาศาสตร์ เป็นสูตรเดียว เข้าใจอันเดียว จะหมุนก็หมุนกันอยู่อย่างนั้นแหละ หมุนกันเป็นลูกข่างเลย ฉะนั้นเราก็ต้องตั้งเหมือนที่เขาทำโอ่ง เขาจะมีที่หมุน เราไปนั่งกันแล้วก็ดึงไปให้หมุนอยู่อย่างนั้นล่ะ มันจะได้ลงสมาธิไวๆ ไง

ถ้าคิดอย่างนั้นนะ การคิดอย่างนี้มันคิดแบบวิทยาศาสตร์ ไม่มีหรอก ! ฉะนั้นพอเวลาเราฟังธรรมของใครก็แล้วแต่ ถ้าพูดเป็นสูตรสำเร็จ พูดเป็นวิทยาศาสตร์เราไม่ฟัง แต่ถ้าพูดเป็นธรรมนะมันเป็นเฉพาะส่วน เฉพาะส่วนของแต่ละบุคคล

ถาม : อีกประเด็นหนึ่งคือมีเรื่องสติในฝัน มีท่านหนึ่งถามมา ผมขอยืนยันด้วยประสบการณ์ตัวเองว่ามีจริงครับ แต่ไม่ใช่ว่าทำได้ทุกครั้ง ผมเองเคยทำได้อยู่ราว ๕-๖ ครั้งได้ ส่วนใหญ่จะเกิดตอนฝันร้าย ที่จำได้แม่นๆ คือคืนนั้นฝันว่าไปงานศพที่หนึ่ง บรรยากาศขมุกขมัว แล้วก็มีศพตั้งทิ้งไว้ ๒ ศพ พออยู่ในงานได้สักพักหนึ่ง ศพหนึ่งก็ลุกขึ้นมาเป็นผีเดินได้ แล้วค่อยๆ เดินมาหาผม แต่ยังดีที่ผีนั้นเดินช้าๆ เป๋ๆ ผมก็วิ่งเข้าไปในห้องที่เปิดไว้อยู่ แล้วปิดประตูสนิท แล้วก็นึกเอะในใจขึ้นมาได้ว่า “เอ๊ะ.. ตอนนี้เราฝันอยู่นี่ อย่างนั้นก็ตื่นเสียดีกว่า” แล้วก็กำหนดจิตออกมาจากฝันนั้น จากนั้นผมก็ลืมตาขึ้นมากลางดึก

อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑.การดึงตัวเองออกมาจากฝันได้จะเป็นอันตรายกับจิตหรือเปล่าครับ

๒.การฝันจะเป็นประโยชน์อะไรกับการพิจารณาข้อธรรมได้บ้างครับ

หลวงพ่อ : การดึงตัวเองออกมาจากฝันนี่มันเป็นความตกใจ ทีนี้ความตกใจดึงออกมานี่ไม่มีความผิด ไม่มีความผิดอะไรหรอก แต่มีความตกใจมันจะค้างใจอยู่ ฉะนั้นสิ่งที่ดึงหรือไม่ดึง คำว่ามีสติในฝัน สติในฝัน มันเหมือนคนสติสั้น สติยาว.. ถ้าสติในฝัน เหมือนบางทีเราฝันนี่เรารู้ได้ก็เท่านั้นเอง มันเป็นอาการของจิตทั้งหมด

ทีนี้การฝันจะเป็นประโยชน์อะไรกับการพิจารณาธรรมบ้าง.. บางทีการฝันนี่มันฝันแล้ว ขณะฝันนี่คนหลับมันทำอะไรไม่ได้หรอก ฉะนั้นบางทีเราฝันว่าเราพิจารณากายต่างๆ มันก็เป็นแค่ความฝัน แต่ถ้าเราพิจารณาของเรานะ มีสติสัมปชัญญะพร้อม แล้วพิจารณา นี่จิตสงบแล้วพิจารณาเห็นกาย แล้วพิจารณามันจะแปรสภาพของมันไป ไอ้นี่มันรู้เลยนะ มันรู้ในปัจจุบัน หลวงตาใช้คำว่า “ฝันดิบ ฝันสุก”

ฝันดิบคือความคิดดิบๆ เรานี่แหละ ความคิดเรานี่คือความฝัน แต่เวลานอนนี่ฝันสุกเพราะมันนอนฝัน นี่คือฝันเหมือนกัน.. แต่นี้เราไม่ฝันแล้วเราไม่ฝัน เราตั้งสติกำหนดพุทโธ พุทโธหรืออานาปานสติ เห็นไหม พอจิตสงบมันไม่ใช่ฝันแล้ว มันรู้ตัวเอง มันทำงานชัดเจน พอทำงานชัดเจนขึ้นมามันจะเป็นผลการแก้กิเลส

ฉะนั้นคำถามข้อ ๑. การดึงตัวเองจากความฝันจะเป็นอะไรหรือไม่ครับ.. ไม่เป็น

๒. การฝันเป็นประโยชน์ไหมครับในการพิจารณาข้อธรรม.. เป็น มันเหมือนธรรมเกิด ถ้าเราฝันในเรื่องที่ดี เพราะมีคนมาถามบ่อย หลวงพ่อฝันถึงพระพุทธรูป ฝันถึงหลวงตา เราบอกเออ.. มึงฝันดี ฝันดี เราฝันถึงหลวงตามันก็ของดีใช่ไหม การฝันอย่างนี้เป็นของดี นี่ฝันดี ! ฝันดีมันเป็นคติธรรม คติธรรมให้เราชื่นใจ เรายังฝันถึงหลวงตาได้

ประสาเรานะเราฝันถึงพระอรหันต์ เราฝันถึงครูบาอาจารย์เรานี่เรามีพ่อมีแม่ จิตใจเราไม่ว้าเหว่จนเกินไปนัก ไอ้นี่เป็นคติธรรม เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเราได้ การฝันเป็นประโยชน์กับเราได้

การฝัน.. ฝันว่าเรามีทุกข์มียาก ฝันว่าเราควรจะปฏิบัติอย่างไร นี่เราเอามาเตือนตัวเราได้ แต่ถ้าฝันแล้วฝันทางโลก..โทษนะ ทางโลกเขาบอกว่าฝันเห็นทองจะจน ฝันเห็นขี้จะรวย เขาว่าจะได้ลาภ นี่เขาว่าเห็นไหม มันยังกลับกัน ฝันเห็นขี้จะถูกล็อตเตอรี่ จะถูกรางวัล ฝันเห็นทอง ฝันเห็นต่างๆ นี่คติธรรมทางโลกเขา

อันนี้เรามาพูดถึงเรา พูดถึงถ้าเราฝันมันเป็นประโยชน์กับเรา เราเอามาเตือนตัวเราเองได้ ฉะนั้นมันเป็นประโยชน์ได้

ถาม : ขอบพระคุณความเมตตาจากหลวงพ่อที่ได้ตอบคำถามครั้งที่แล้ว ขอบคุณที่ ๕๐ คะแนนด้วยครับ

หลวงพ่อ : ให้คะแนนด้วยหรือเปล่าไม่รู้ จำไม่ได้ แสดงว่าถามมาหลายหน.. ฉะนั้นคำถามนี้ คำถามแรกคือเริ่มต้นมาจากที่ความไม่แน่ใจ ถึงถามด้วยการนั่งสมาธิหมุน เราก็ตอบไปนะ ฉะนั้นพอตอบไปตรงกับความรู้สึกเขา นี่เขาเปิดมาหมดเลยนะ จากประสบการณ์ที่ปฏิบัติมา ๑๐ กว่าปี เปิดมาหมดเลย ฉะนั้นเราก็ตอบไปว่าให้ขยันหมั่นเพียร

คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ การเกิดมาเป็นมนุษย์ การเกิดมาเป็นสัตว์โลกนี้เกิดมาเพราะบุญกรรม เราได้สร้างบุญกุศลเราถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ ถึงเกิดเป็นมนุษย์แล้วยังทุกข์ยากแสนสาหัสขนาดนี้

ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตใจเราสูงส่งขึ้น ถ้าเราปฏิบัติอยู่ในหลักในเกณฑ์นะ ใครทำความสงบของใจได้ ขณะที่เกิดจะเสียชีวิตถ้าจิตมันไปสู่หลักการที่ความสงบของจิตที่เป็นหนึ่งได้ เขาจะเกิดบนพรหม ถ้าใครทำบุญกุศลจะเกิดเป็นเทวดา ถ้าเราจะสร้างบุญกุศลของเรา เราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราจะเกิดเป็นมนุษย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพื่อให้จิตใจมันพัฒนาขึ้นมา

พัฒนาขึ้นมานี่แต่ละชาติหนึ่งๆ สร้างสมบุญญาธิการมาให้จิตใจภพชาติมันสั้นเข้า ถึงที่สุดเราจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ เพราะว่าเราจะเป็นศาสนทายาท เราเกิดในพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์มันเป็นผลของวัฏฏะ เราจะเวียนตายเวียนเกิดไปขนาดนี้ เกิดมาอย่างนี้มันน่ารำคาญ บางคนนะเบื่อหน่ายชีวิตไม่รู้จะไปทางไหน มันก็ไม่รู้จะไปทางไหน แล้วมันก็จะเจอซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนี้แหละ แต่เราก็ว่าเราเบื่อ เบื่อนะ แต่มันก็จะเจออย่างนี้อีก

แต่ถ้าเราศึกษาธรรมแล้วปฏิบัติของเรามันจะไปทำให้จิตใจนี้ผ่องแผ้ว มันไม่เบื่อไม่หน่ายนะ เวลาปฏิบัติไปแล้วมันมีผลกำไร มีผลความสุข มีการต่อสู้กับกิเลส มันมีงานของมันในใจ ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วผ่องแผ้ว จบกัน

นี่พูดถึงการประพฤติปฏิบัติในพุทธศาสนา เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ พุทธศาสนา แล้วเรายังฝักใฝ่ในการปฏิบัติ.. เราเป็นคนที่มีอำนาจ เราเป็นคนมีอำนาจเหนือตัวเราเองนะ ถ้าเราไม่มีอำนาจเหนือตัวเราเอง มันจะออกไปทางโลกหมดไง ทางโลกนี่ใช้ชีวิตให้สิ้นเปลืองไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป แล้วจะไปเกิดชาติหน้าเป็นสิ่งใดก็แล้วแต่เวรแต่กรรม

แต่ในปัจจุบันนี้มีสติ มีปัญญาแล้วเราทำของเรา เรามีสติปัญญาทำของเรา เพื่อประโยชน์กับใจของเราเอง เอวัง