ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้จากภายใน

๑o ก.พ. ๒๕๕๓

 

รู้จากภายใน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : เราก็จะเอาตรงนี้ก่อนเลย เอาปัญหาปัจจุบันนี้ก่อน เอ้าว่าไป

โยม : คือแล้วสักพักครับผม คือนั่งก็ผ่านเวทนาไปได้เราก็รู้สึกว่า เอ..เราเผลอไปคิดคือช่วงแรกๆ นั่งก็ตกใจ คือครั้งสองครั้งแรกที่นั่งอยู่ดีๆ เห็นเหมือนมีคนอยู่ ผมก็ตกใจ พี่ชายเคยบอกว่าถ้าเห็นอะไรนี่ก็ให้ลืมตาให้เห็นจะๆ ก็ลืมตา ก็ เอ..ไม่มีอะไร ก็เลยคิดว่าตรงนี้สงสัยเราคิดไปเอง ก็เลยพยายามสู้กับมัน ก็คือปล่อย ตอนหลังก็ไม่สนใจ สนใจแค่ลมหายใจ

พอเราดูลมหายใจเราไปสักพักหนึ่ง ก็เอ๊ะ ทำไมระหว่างที่เราดูนี้ชอบคิดไปฟุ้งนู้น บางทีนั่งอยู่เราได้ยินเสียง เรากลับวิ่งไปอยู่ที่เสียงนู้น บางทีเราคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้เราคิดไปหมด ก็เลยตั้งใจว่าตอนนี้ถ้าเมื่อไหร่คิด ก็จะดึงกลับมาดูลมหายใจ มันก็ได้ผลนะครับ ช่วงแรกก็รู้สึกว่ามันดึงกับมาดูลมหายใจได้ดีขึ้น แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งคือ ตอนหลังมันดึงกลับมาดูลมหายใจ จนเราเห็นว่าเราได้ยินเสียงอยู่ไกลๆ พอเราได้ยินปุ๊บเราก็รู้สึกตัว แล้วกลับมาดูลมหายใจทันที มันไวขึ้นๆ จนขณะที่มันเห็นตรงนั้นแล้วมันได้ยินตรงนู้น แล้วมันก็หยุดตรงโน้น แล้วมันกลับมาดูลมหายใจเอง คือได้ยินอยู่ไกลๆ แล้วก็ดับอยู่ไกลๆ แล้วก็กลับมาดูที่ลมหายใจเลย

สักพักหนึ่งเราเริ่มเห็นลมหายใจ คือเหมือนว่า เอ๊ะ ทำไมเรานั่งอยู่ เหมือนเราไม่มีลมหายใจ เราก็เลยรู้สึกว่า เอ๊ะเราตายแล้วหรือ จิตมันคิดไปเอง คือเราไม่รู้เรื่องเลยนะครับ เฮ้ย เรารู้สึกว่า เอ๊ะ จิตเราตายแล้วหรือ เอ๊ะ เรายังไม่ตายเพราะเรารู้สึกว่าท้องเรามันยังกระดุกกระดิกอยู่ เราก็เลยคิดไปเหมือนเดิมว่า สงสัยเราคิดไปเองอีกแล้ว ก็เลยไม่สนใจ สักพักหนึ่ง มันก็รู้สึกว่าลมหายใจมันก็เริ่มละเอียดขึ้น จนมันรู้สึกว่ามันเหมือนไม่มีตัวเรา เอ๊ะ ตัวเราหายไปแล้วหรือ คือจากที่ไม่มีลมหายใจอยู่ในตัว แต่พอนั่งสักพักหนึ่งกลับรู้สึกว่ามันไม่มีตัว มันหายไปก็เลย หลายรอบ เราคิดไปอีกแล้วก็เลยปล่อยมัน

ก็ดูลมหายใจ ดูไปดูมา จากที่เราเห็นลมหายใจแต่นี่มันไม่เห็น ตอนหลังมันรู้สึกเหมือนว่ามันมีสายลมที่เข้าผ่านจมูก พอตอนผ่านเข้านี่ท้องที่เราเคยบอกว่ายุบหนอนี่ เออ ใช่มันกระดุกกระดิกของมันเองได้ แล้วเราก็เริ่มเห็นสายออกแล้ว พอสักพัก เมื่อกี้เราบอกเห็นเป็นสายนี้ มันกลับเริ่มเป็นเหมือนหยดน้ำฝนที่มันเป็นเม็ดๆๆๆ คือมันเห็นตรงนั้นเยอะขึ้น มันกระทบมาเยอะขึ้น สักพักหนึ่งเราก็ดู เอ้ย สงสัยเรา.. คือเราไม่รู้ มันอธิบายไม่ได้ว่ามันเป็นอะไร แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นเหมือนมันพลิ้วๆ เข้ามา ตอนหลังไอ้ความพลิ้วตรงนี้มันเริ่มเห็นชัดขึ้น ชัดขึ้นคือเห็นตั้งแต่มันเริ่มมีลมหายไป และรอสักพักมันก็จะมีช่วงว่างๆ อยู่ แล้วก็เริ่มมีแล้วก็หายไป

สักพักหนึ่งพอถึงจุดๆ นั้นนี่ อยู่ดีๆ ตรงช่วงระหว่างที่ว่างๆ นี้มันพลิ้วอยู่นี่ก็ เหมือนเราถูกดูดเข้าไปอยู่อีกสถาน คือเหมือนอยู่ดีๆ ก็สว่างโพลงขึ้นมา สว่างแบบ คือก่อนที่เรานั่งก็เห็นสว่าง แต่มันไม่เคยสว่างเหมือนอย่างนี้ นี่มันสว่างมาก พอมันสว่างปั๊บมันก็รู้สึกว่า เอ๊ะเรากังวลเรื่องลมหายใจ เพราะว่าทุกครั้งที่เราเจออะไรเราก็จะกลับมาดู แล้วก็จะงงว่าเรารู้สึกเหมือนกับน้ำตามันจะไหล รู้สึกเหมือนกับขนมันลุกซู่ขึ้นมา นั่งไปสักพักหนึ่งก็รู้สึกว่า ไอ้ที่เรากังวลเรื่องลมหายใจนั้นมันก็ค่อยๆ หายไป ไอ้ที่เหมือนขนลุกซู่มันก็ค่อยๆ หายไป มันรู้สึกว่ามันมีความสุข สักพักหนึ่งรู้สึกว่าไอ้ความสุข ตอนหลังมาก็รู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเลย มันเงียบเฉยๆ

พอมันเงียบเฉยๆ สักพักหนึ่งนี่ ตอนนั้นผมคิดว่านั่งอยู่น่าจะสักชั่วโมงนึงได้ เราก็เลยคิดว่า เออเดี๋ยวเราจะออกแล้ว เราพอแล้วสักชั่วโมง เดี๋ยวเราต้องมีภารกิจ คือตอนนั้นมันนั่งอยู่ประมาณสักบ่ายโมงคิดว่า เดี๋ยวสักบ่าย ๒ บ่าย ๓ มานั่งทำการบ้านอ่านหนังสือซะหน่อย ออกมาผลปรากฏว่าเรานั่งอยู่เกือบประมาณ ๓ ชั่วโมง ทั้งที่เรารู้สึกว่ามันแค่แป๊บเดียว พอเรารู้สึกว่า เออ มันดี คราวนี้เรานั่ง คือทุกครั้งมันนั่งก็รู้สึกดีนะครับ แต่ว่าคราวนี้รู้สึกมันดีกว่าทุกครั้งที่เคยนั่งมา ซึ่งตอนนั้นตัวผมเองก็ไม่รู้มันคืออะไรนะครับ

วันหลังก็กลับมานั่งอย่างนี้ อีกวันรุ่งขึ้นอยากได้อย่างนี้ มันก็ไม่ได้ พออีกวันกลับมานั่ง เอ้ย ช่างมัน เราไม่ต้องอะไร คือนั่งให้มันสบาย แต่คราวนี้มันนั่งแล้วมันก็เข้ามาในลักษณะอย่างนี้อีก และพอหลังๆ นี้เข้ามา ไอ้ความรู้สึกที่เห็นเป็นพลิ้วนี่ เมื่อก่อนนั่งเป็นชั่วโมง แต่ตอนหลังรู้สึกว่านั่งแล้วเราจัดร่างกายประมาณไหน หายใจยังไงนี่มันนั่งสักพักเดียวมันก็เข้ามาจุดนี้ แป๊บเดียวเองนะครับ คือตัวเราเองก็ไม่รู้นะว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็รู้ว่าพอนั่งมาถึงสักแป๊บนึง เกิดตรงนี้ปุ๊บ แล้ววันนั้นก็เข้ามาเหมือนกับที่เคยเข้าทีแรก ก็คือเข้ามาถึงจุดที่อยู่ดีๆ เรารู้สึกมันมีความสุข มันรู้สึกขนลุกขนพอง อยู่ดีๆ ก็มีความเงียบสงบ มันก็สลับกันไปอย่างนี้

ระหว่างที่นั่งๆ อยู่อย่างนี้ คือผมเห็น เอ๊ะทำไมเดี๋ยวมันก็เหมือนกับขนลุก เหมือนกับน้ำตาจะไหล สักพักก็กลับมาเป็นเหมือนมีความสุข สักพักก็รู้สึกเหมือนกับเรานิ่งสงบมาก เอ้ ทำไมมัน อยู่ดีๆ มันก็คิดขึ้นมาเองนะครับ คือก่อนหน้านี่มันไม่เคยคิด แต่วันนั้นมันไม่รู้เป็นอะไรมันกลับไปคิดว่า เอ๊ะ ทำไมมันไม่นิ่งล่ะ ทำไมมันเคลื่อนไปเคลื่อนมา ระหว่างแค่คิดตรงนั้นว่าทำไมมันไม่นิ่ง ทำไมเราก็ดูมันอยู่ดีๆ ทำไมมันเคลื่อนจากอย่างนี้มาเป็นอย่างนี้ พอระหว่างคิดแค่นี้นะ สักพักหนึ่งเราก็เลยดูมันว่ามันเคลื่อนไหม คือเรายังอยากเห็น สักพักหนึ่งก็เห็นมันเคลื่อนมาจากที่มันมีความสุข จากการที่มันนิ่ง เปลี่ยนกลับมาอีกอย่าง

พอมาเริ่มดูนี่มันจะมีช่องว่าง แล้วเหมือนกับเราถูกดูดไปอีกที่หนึ่ง พอเราถูกดูดไปอีกที่ มันเห็นเป็นภาพ เป็นอีกภาพหนึ่งที่เราไม่เคยเจอเลย มันเหมือนเราหลับ เรานั่งอยู่ แล้วมันเหมือนเป็นกลมๆ ดวงๆ วิ่งเข้ามาหาตัวเรา คือวิ่งมาตามความรู้สึก วิ่งเข้ามาเต็มไปหมดเลย วิ่งๆๆๆ เข้ามา วิ่งเข้ามาคล้ายๆ กับพลิ้วลมทีแรก แต่มันไม่เหมือน ไอ้พลิ้วลมมันเหมือนเป็นแค่สัมผัส แต่คราวนี้มันเหมือนเป็นดวงๆ นะครับเข้ามา พอดวงๆ นี้มันเต็มไปหมด ตอนหลังนี่มันเริ่มเห็นชัดขึ้น มันเป็นดวงคือจากที่มันเยอะอยู่ดีๆ มันหายไป มันก็มีวิ่งเข้ามาดวงหนึ่ง คือมันเห็นตั้งแต่อยู่ดีมันโล่งๆ แล้วมันก็มีดวงๆ ขึ้นมา จากเล็กๆ ก็วิ่งเข้ามามันก็แตกตรงหน้าเรา แล้วมันก็วิ่งเข้ามาแล้วมันก็แตก แล้วก็ตกใจเพราะว่าผมก็ไม่เคยเจออย่างนี้

เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เราเจอประสบการณ์อย่างนี้ เราก็พยายามกลับมาอยู่กับลมหายใจ หรือเราพยายามดูมันเฉยๆ นี้ เราก็จะไม่มีอะไรที่น่า.. แต่คราวนี้เรารู้สึกว่าเรากลัว เราไม่เคยเจออย่างนี้นะครับ เรากลัวมากที่มันมีอย่างนี้ แล้วอยู่ดีๆ ก็วิ่งเข้ามาแตกและก็ดับไป แตกและก็ดับไปเราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผมก็เลยบอกผมไม่เอาแล้วผมออกแล้ว จะออกก็ออกไม่ได้อีก มันเริ่มกระสับกระส่าย

สักพักนึงก็เลยบอก เออช่างมัน มันเห็นก็ช่างมันก็ให้มันเห็นไป ก็เลยปล่อยมัน พอปล่อยสักพักนี่มันก็มีความแสงสว่างที่มันโพลงขึ้นมา เหมือนกับคราวที่เราเคยเห็นโพลง มันก็สว่างเหมือนกันและมันก็มีขนลุก มันมีเกิดปีติ แต่ว่าจิตใจมันกระสับกระส่ายไม่เหมือนเก่า คือจิตใจคราวที่แล้วนี่มันมีความสงบเย็นด้วย แต่คราวนี้มันกระสับกระส่าย เราก็เลยว่า เอ๊.. สงสัยเราจะถอยกลับไปตรงนั้น แล้วจิตเราคิดนะครับ สักพักหนึ่งเราก็เลยถอนมา พอถอนออกมาปุ๊บผมก็เลยกราบลาพระ หน้าหิ้งพระนะครับ

คือผมนั่งที่บ้านอยู่ชั้นบน ระหว่างที่เดินลงมานี่ความรู้สึกอยู่ดีๆ มันรู้สึกว่า เอ๊..เราเกิดมาเพื่ออะไรเนี่ย อยู่ดีๆ คิดขึ้นมาเองเลยนะครับ คือผมก็ไม่เคยคิด เอ๊..ชีวิตเราทำอะไรอยู่เนี่ย เรามาทำอะไรกับชีวิตเราเนี่ย ความรู้สึกตอนเด็กๆ เหมือนที่เรามีโอกาสได้ยินเสียงธรรมะ ได้ยินเสียงเพลงของอินเดีย พุทธัง.. ซึ่งผมจะได้ยินเสียงนี้ผมค่อนข้างจะสลดใจบ่อยๆ แต่เราก็ไม่รู้สาเหตุว่ามันคืออะไร เรานึกถึงบทเพลงของอินเดียอันนี้ แล้วเรารู้สึกว่าชีวิตทำไมมันถึงน่าหดหู่ ทำไมมันถึงเราดิ้นรนเพื่อที่เราจะไปทำอะไรเนี่ย เราจะไปทำงานแล้วเราก็หนีความตายไปไม่ได้

แต่อารมณ์ตรงนั้นแว้บนึงเราก็บอก เฮ้ยเราคิดอย่างนี้ไม่ได้ คือเราคิดอย่างนี้แล้วเรากำลังจะเอนทรานซ์ เรากำลังจะมีอนาคต เรากำลังเป็นความหวังของพ่อแม่เรา คิดอย่างนี้เราทำไม่ได้ ระหว่างนั้นผมก็เลยสลัด คือกลัวจะไปเจออย่างนี้ กลัวสิ่งที่เจอก็คือไม่รู้ ทุกครั้งมามันไม่เคยเป็นอย่างนี้ แล้วหลังจากวันนั้นก็ ๒๐ กว่าปีก็ ไม่เคยนั่งปฏิบัติธรรมอีกเลยนะครับ ก็เลยไม่รู้ว่าไอ้ตรงที่ผมไปเจอมานี่ มันคืออะไรครับหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : อันนั้นหนึ่ง อันนั้นเดี๋ยวจะพูดเอาทีหลัง แล้วกลับมาปฏิบัติอีก ๒ ปีนี้

โยม : คือ ๒ ปีนี้ เนื่องจากผมกลับมาก็เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ พอถึงจุดหนึ่งชีวิตเรามีปัญหาเยอะ แล้วเราก็เจออะไรมาเยอะ เรารู้สึกว่าชีวิตมันถึงจุดๆ หนึ่ง

หลวงพ่อ : น่าเบื่อ

โยม : ใช่ครับ เอ้..เราก็ใช้ชีวิตมาถึงจุดหนึ่ง แล้วทั้งเรื่องหน้าที่งาน ทั้งปัญหาความทุกข์ที่มันรุมเร้าเรามากๆ ที่เราไปกินเหล้า เหล้ามันไม่ได้แก้ปัญหาให้เรา เราพยายามไปเที่ยวให้มันสนุก มันก็ไม่แก้อะไรเรา เราไปทำอะไรมันก็ไม่แก้ คือมันไม่แก้ปัญหาให้เราเลย ปัญหามันก็ยังคงอยู่ และเหมือนกับว่าเรากลับทำร้ายตัวเราเองอีก

อยู่ดีๆ มันกลับมีความคิดรู้สึกมาอย่างหนึ่ง มันแว้บเข้ามาในตัวเองว่า ถ้าเรารู้สึกว่าเรามีปัญหา แสดงว่าเรานี่ต้องไปทำกรรมไม่ดีไว้ คือถ้าเราทำกรรมไม่ดี วันนี้เรากินเหล้า เราก็ทำกรรมไม่ดีอีก เพราะว่าเราเคยทำกรรมไม่ดีไว้ วันนี้เราก็เลยต้องมารับผลกรรมไม่ดี ถ้าวันนี้คือเราทำกรรมไม่ดีคือเรากินเหล้าอีก เรามัวแต่เที่ยวสนุกสนานเฮฮา เรายังทำธุรกิจของเราอย่างนี้อย่างปัจจุบันนี่ เนื่องจากว่ามันก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่มันไม่ดีที่แน่ๆ คือเราทั้งมีโทสะ ทั้งผิดศีล ทั้งอะไรมันเยอะ งั้นแสดงว่าอนาคตเราก็จะต้องมาเจอวิบากอย่างนี้ กับผลที่เราทำอย่างนี้น่ะสิ ผมก็เลยคิดว่า อย่างนั้นมันก็ไม่น่าจะใช่วิถีที่เราทำแล้วล่ะ อยู่ดีๆ ก็แว้บนึกถึงตอนที่เรานั่งได้ เอ๊ะ แสดงว่าเราเองเคยมีประสบการณ์อย่างนี้ เราน่าจะเข้ามาศึกษาเรื่องธรรมะให้กระจ่าง

แล้วเมื่อก่อนผมชอบฟังข่าว แล้วก็ถ้ามีเครียดบ้างก็จะฟังเพลง ตอนหลังมาถ้ามันเครียดมากๆ ก็จะมีบทสวดชินบัญชรบ้าง บทสวดมันเย็นแบบที่เราลดความว้าวุ่น ลดความกระวนกระวายเราไปได้ จากตรงนั้นก็เลยเริ่มกลับมา คือเริ่มที่จะกลับมานั่งสมาธินี่ เรากลับไม่สงบ ไม่ได้อะไรเลย มีแต่ฟุ้งซ่านคือคิดมากๆ คือผมตั้งแต่สมัยเด็กๆ ตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนประถมอยู่ ก็มีรู้สึกว่าพอได้ยินเพลงอินเดียเพลงบทสวดแล้วก็ กลับมานั่งคิดว่าทำไมพระอรหันต์นี่ คือมีคนบอกว่าพระอรหันต์นี้ แล้วการที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ต้องนั่งสมาธิหมด เอ๊ะ แล้วพระอรหันต์ท่านก็ไม่ได้นั่งหลับตาทั้งวัน เพราะตอนที่ท่านเดินก็เป็นพระอรหันต์ คือมันคิดอย่างนี้ไปเองนะครับ คือเราไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร แต่เรารู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่การนั่งหลับตา ในความรู้สึกตอนหลังเรารู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่

แล้วก็มีมาฟังธรรมกับพระหลายๆ รูป คือบางท่านก็พูดดี บางท่านก็ให้ข้อคิดเราว่า เออใช่ สิ่งที่เราคิดมันไม่น่าจะผิด ว่ามันไม่ใช่แค่การนั่งหลับตา การปฏิบัติธรรมไม่น่าจะใช่การนั่งสมาธิแค่ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงเหมือนที่เราทำ เราทำ ๒ ชั่วโมงนี้ วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมงเรานั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง และอีก ๒๒ ชั่วโมงนี้เราไม่ได้ปฏิบัติธรรม แล้วเราจะทำยังไงให้เราสามารถปฏิบัติธรรมตลอด ๒๔ ชั่วโมงเราจะทำยังไง วันนั้นคือเรานั่งฟุ้งด้วย แล้วเราก็รู้สึกว่า ถ้าเมื่อไรเราฟุ้งเราก็พยายามนั่ง แต่ว่าระหว่างวันเราก็ต้องปฏิบัติธรรมด้วย คือต้องหาหนทางให้ได้ ผมก็เลยเริ่มฟังธรรม ตอนหลังคือพอเริ่มฟังธรรมแล้วรู้สึกว่า ฟังธรรมแล้วมันมีความสุข มันเหมือนกับมันค่อยๆ คลี่คลายปัญหาเก่าๆ ที่เราไม่เคยกระจ่าง ไม่เคยรู้

คือที่บ้านเป็นคนที่ทำบุญ เป็นคนที่สอนให้ลูกหลานเป็นคนดี แต่เราก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรกันมาก เรารู้อยู่อย่างเดียวว่า เราทำดีเราเป็นคนดีนี่เรื่องอื่นมันเป็นเรื่องเล็กนะครับ เรารู้ว่าตัวเราเป็นคนดี เราตั้งใจที่จะทำดี แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว แล้วก็เริ่มมาฟังธรรม เริ่มฟังธรรมมันทำให้เราเริ่มตอบคำถามในคำถามที่เราค้างคาอยู่ แต่คำถามที่เราปฏิบัติธรรมนี่มันก็เฉลยในบางส่วน และมันก็ไม่มีใครเฉลยในบางส่วน แต่เมื่อก่อนที่ปฏิบัติธรรมกลับมาดู กลับยังอยากรู้เรื่องที่ตัวเองทำไปตอนนั้นนี่มันถูกทางไหม แล้วเราเกิดอะไรขึ้น และถ้าสิ่งที่เราทำในอดีตนี่เราทำถูกทำผิด ๒.ถ้าเราทำถูก สมมุติว่าวันนี้เรากลับไปได้เหมือนเดิมนี่เราจะต่อยอดมันยังไง คือมันจะทำยังไงเราถึงจะแก้ปัญหาที่เราไปติดอยู่นั้น เราไปกลัวแล้วตอนหลังเราเลิก แล้วเรามีอารมณ์ตรงนั้นออกมานี่ มันน่าจะสื่ออะไรบางอย่างให้เราที่จะเดินทางต่อ

หลวงพ่อ : ๒ ปีนี่ยังไม่ได้อารมณ์อย่างนั้นเลย

โยม : ยังครับ มีช่วงหลังพอเราเริ่มรู้สึกว่า คือผมเองนี่ช่วงหลังพยายามนั่ง แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองนี่ยังฟุ้งอยู่

หลวงพ่อ : ๒ ปีนี้ทำยังไง

โยม : ๒ ปีนี้ที่ผมทำคือ ๑.ที่ผมทำเลยคือ ถ้ามีเวลาว่างก็นั่งสมาธิ แล้วตอนนี้ก็ดูลมหายใจ แต่ก็ยังจิตฟุ้งเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ทำเพิ่มมากกว่าในตอนเด็ก คือพยายามมาศึกษาและก็พบว่า ถ้ามีการเดินจงกรม แสดงว่าระหว่างเราเดินนี่ เรามีชีวิตประจำวัน มันก็น่าที่จะปฏิบัติธรรมได้ ตอนหลังก็เลยมาได้คำตอบว่า เออจริง ก็คือการเจริญสติ คือเราเคยแต่นั่งดูลมหายใจ ก็เลยมาศึกษาทั้งฟังซีดีหลวงพ่อพุทธ และก็ฟังซีดีของท่านเจ้าคุณประยุทธ์นะครับ และก็ฟังธรรมของท่านพระอาจารย์ธีรศักดิ์ และก็ฟังธรรมของหลวงปู่พุทธอิสระ และก็ฟังธรรมของหลายๆ สำนักคือ หลวงพ่อเทียน หลวงพ่อคำเขียน

พอฟังมากๆ เราก็รู้สึกว่า เออใช่ท่านหลวงพ่อเทียนท่านบอกว่า กระดุกกระดิกมือได้ ไม่ต้องหลับตา ผมก็เลย เออ ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า ถ้าเรามาจับแค่ความรู้สึกของการเคลื่อนกาย มันก็ไปสอดคล้องกับกายานุปัสสนา คือเป็นอิริยาบถบรรพ เราก็สามารถปรับมาใช้ในชีวิตปัจจุบันได้ ผมขับรถผมก็พยายามมีสติให้รู้ปัญหาที่มันเข้ามา เมื่อก่อนเราคิดเรื่องงาน เรื่องปัญหาที่กระทบเราเยอะๆ นี่ พอคิดปุ๊บมันก็จะคิดปรุงไปเป็นชั่วโมงเลย แต่พอตอนหลังพอคิดปุ๊บพยายามดึงกลับมาดูลมหายใจ ระหว่างขับรถดูลมหายใจบ้าง ดูลมหายใจสักพักหนึ่งก็จะคิดไปอีก คิดไปอีกก็ดึงลมหายใจอีก สักพักหนึ่งถ้ามันไม่อยู่ก็บริกรรมว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุขบ้าง บริกรรมพุทโธบ้าง

คือถ้าดูจนมันไม่หยุดแล้วนะ คือจิตมันยังฟุ้ง มันยังกระสับกระส่ายมากๆ ก็พยายามหาที่อยู่ให้มัน กลับมาทำบริกรรมพุทโธบ้าง กลับมาดูลมหายใจบ้าง ถ้ามันไม่อยู่ กำลังจับพวงมาลัยอยู่ ก็ให้มีความรู้สึกว่ามือเราจับอยู่นะ กำลังหมุน ให้กลับมาอยู่ที่มือ คือพยายามทำในอิริยาบถให้ได้นะครับ แล้วคือช่วงไหนถ้ามีเวลาก็พยายามนั่งสมาธิ แต่ช่วงนั้นนั่งก็ยังสับสน ก็ยังไม่ได้ ก็ยังได้แค่ความรู้สึกสมัยแรกๆ เหมือนที่เคยได้แค่ช่วงเดียวว่า นั่งรู้สึกว่าเหมือนตกจากที่สูง เราก็รู้

หลวงพ่อ : อันตั้งแต่ตอนเด็กนะ มันนั่งโดยแบบว่า คนเราทำงาน มันทำงานตามข้อเท็จจริง อย่างเช่นเรา พ่อแม่มอบงานมาให้ เราไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบ เราก็ทำตามที่พ่อแม่มอบให้ งานนั้นจะประสบความสำเร็จจริงไหม ถ้าพ่อแม่ไม่มอบงานให้ แต่พอเราโตขึ้นมา พ่อแม่มอบงานให้อย่างนี้ เราอยากให้งานนั้นสำเร็จง่ายขึ้น หรืองานให้สั้นขึ้น รวดเร็วขึ้นเห็นไหม เราจะมีมุมมองของเราบวกเข้าไปจริงไหม

ขณะที่เป็นเด็กแล้วเราปฏิบัติ เพราะพี่ชายบอกให้ปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติโดยที่เราไม่มีความลังเลสงสัยสิ่งใดเลย เราปฏิบัติตามข้อเท็จจริงนั้น แล้วสิ่งเกิดขึ้น นั่นน่ะเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงอย่างนั้นนะ ถ้ามีครูบาอาจารย์สอนตอนนั้น มันจะไปได้ดีกว่านั้น เช่น อย่างที่มันเป็นพลิ้วๆ มันเป็นวรรคเป็นตอนนั้นนะจิตมันจะลงไปได้อีกถ้าเกาะลมไว้เฉยๆ จิตมันจะไปได้มากกว่านั้นอีก อย่างเช่นเวลาจิตมาเจอสิ่งใด ที่ว่ามันพลิ้วมา แล้วพอมันหลุดเข้าไปในที่ใดที่หนึ่งนะ

การหลุดเข้าไปเห็นไหม การหลุดเข้าไปแต่ไม่ได้หลุด ไม่ได้หลุดเพราะอะไร ถ้าเราหลุดเข้าไปเลยนี่ ขณะที่หลุดเราไม่มีสติ เราจะเข้าใจอย่างนี้ มันจะปุ๊บหายไปเลย แต่นี่เรามีสติหมดเห็นไหม เหมือนเราหลุดเข้าไปในที่ใดที่หนึ่งแล้วแสงสว่างขึ้น มันเป็นจิตของคนนั่นน่ะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แม้แต่สมาธิของคนก็มีลึกมีตื้นต่างกันเห็นไหม เวลาเข้าไปพอจิตมันสงบสบายๆ เห็นไหม มันมีความสุขอันหนึ่ง หลุดเข้าไป คำว่าหลุดเข้าไปนี้จิตมันละเอียดเข้าไปเห็นไหม ไปเห็นสิ่งที่ละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ตรงนี้เดี๋ยวจะเอามาเป็นประเด็น เดี๋ยวจะเอามาเปรียบเทียบให้ดู

ทีนี้จะเราจะหยิบมาเป็นประเด็นนะ ตรงนี้พอจิตมันหล่นเป็นชั้นๆ เข้าไปนี่เราจะเห็นเลยว่าความสงบของจิต ความสงบเข้ามานี่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธินะ เวลาเรานั่งบางเที่ยวบางคราวเห็นไหม พอจิตสงบมันเข้าไป เห็นแสงพุ่งเข้าหาตัวเรา แล้วมาแตกต่อหน้า การแตกต่อหน้านี่เราเห็นเรารู้ไง นี่ว่าที่ออกไม่ได้เพราะมันไม่มีความชำนาญเห็นไหม บอกเบื่อแล้ว เราไม่เอาแล้ว เราจะลุกก็ลุกไม่ได้เพราะจิตมันที่ว่านั่นน่ะ

ความจริงออกได้ ถ้าจิตเรามีสตินี่เราจะควบคุมได้หมดนะ แต่ตอนนั้นมันไม่เข้าใจ อย่างที่ว่าพ่อแม่ให้ลูกทำงาน ลูกก็ทำงานตามที่คำพ่อแม่สั่ง ไม่มีคำโต้แย้งใดๆ เลย จิตเวลากำหนดลมหายใจเข้าไปนี่ พอจิตมันเป็นสภาวะแบบนั้นเห็นไหม มันไม่ได้โต้แย้งใดๆ เลย มันไม่ใช้ปัญญาไง ไอ้ที่ว่าเมื่อกี้ไม่ใช้ปัญญานี่

ขณะที่จิตมันสงบเข้ามานะ ที่บอกว่า เอ๊ะ ทำมันไม่คงที่ เมื่อกี้เราฟังอยู่ ตรงนี้มันจะเป็นไฮไลท์เลย ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วนี่ทำไมมันไม่คงที่ ทำไมมันเปลี่ยนแปลงเห็นไหม จิตสงบเข้ามา มันเป็นจิตที่มันสงบ จิตที่มันไม่มีตัวตนของเรา ถ้าเราบอกว่าพ่อแม่ให้งานลูก ลูกรับงานจากพ่อแม่มา แต่ลูกก็มีข้อมูลของลูก ลูกมีเทคนิค มีความรับรู้ มีการศึกษาต่างๆ มาว่า แม่ให้งานมาอย่างนี้ ถ้าเราทำตามความเห็นเรานี่อาจจะดีขึ้น อาจจะเร็วขึ้นเห็นไหม นี่คือข้อมูลของเรา

ฉะนั้น พอจิตมันละเอียดเข้าไป ไอ้ตรงนี้มันไม่มีข้อมูลสิ่งที่มาขับเคลื่อน จริงไหม เพราะจิตมันสงบไม่มีอะไรขับเคลื่อน พอไม่มีอะไรขับเคลื่อนนี่จิตมันสงบเข้ามา เราจะยกให้เห็นว่า ถ้าเป็นปัญญาปกติเรานี่ ปัญญาที่เราใช้กันนี่เขาเรียก “โลกียปัญญา” ปัญญาเกิดจากความคิด ปัญญาเกิดจากสมอง ปัญญาเกิดสถิติที่เราเรียนมา อย่างเช่นที่พูดเมื่อกี้นี้ ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์องค์นั้นๆ มา มันก็เป็นหนทางปฏิบัติแบบนั้นๆ เวลาเรามาปฏิบัติปั๊บ เราก็เอาแบบนั้นมาเป็นข้อเปรียบเทียบหาช่องทางจะออก มันก็เป็นสมบัติของครูบาอาจารย์องค์นั้น เหมือนกับคำสั่งของพ่อแม่ ไม่ใช่ของเรา

เพราะฉะนั้นพอจิตมันสงบเข้ามาแล้วก็เห็น ที่ว่าไอ้นี่ไม่เที่ยง ไอ้นี่มันไม่มั่นคง นั้นแหละคืออนิจจัง จิตมันเห็นอนิจจัง ถ้าเห็นอย่างนั้นนะมันเป็นอนิจจัง แล้วมันปล่อยใช่ไหม มันปล่อยลึกเข้าไปอีก ปล่อยไหม?

โยม : ตอนนั้นคือปล่อยลึกเข้าไป ถูกดูดเข้าไปจนเห็นเป็นดวงๆ

หลวงพ่อ : นั่นนะ! ถ้าปล่อยเข้าไปนั่นมันเพราะอะไร เพราะสิ่งที่ไม่เป็นอนิจจัง นี่! เห็นอย่างนี้ต่างหาก ถึงจะเป็นประโยชน์ แล้วพอเห็นเป็นประโยชน์มันปล่อยตรงนั้นปั๊บ เพราะจิตมันปล่อย จิตมันละเอียดเข้าไปเห็นไหม เวลาเราภาวนาไปบ่อยๆ ครั้ง แล้วเวลาลุกขึ้นมาเห็นไหม เราได้ยินเสียงอะไร เราคิดว่า เอ๊ะชีวิตนี้คืออะไร อันนี้สุดยอดเลย สุดยอดเพราะทางธรรมะนะ สามเณร ๗ ขวบบวชเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร

สามเณร ๗ ขวบ เด็กอายุ ๗ ขวบนี่ ไปกับพระสารีบุตร เห็นชาวนาโบราณเขาทำนา เกษตรกรรม เขาชักน้ำเขานา นี่ปัญญามันเกิดอย่างนี้ ชีวิตนี้เกิดมาทำไม แต่ทีนี้เด็ก ๗ ขวบไปถามอาจารย์ว่า น้ำนี่มันมีชีวิตไหม พระสารีบุตรนำหน้าไป

เพราะพระปฏิบัติเราจะรู้เหตุการณ์อย่างนี้ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น เวลาท่านไปบิณฑบาตเลยนี่ท่านจะพูดของท่านไปเรื่อย ท่านจะพูดสอนไง คือเทศน์นั้นล่ะ เพียงแต่เอาเหตุที่เห็นนั้นเป็นบุคลาธิษฐาน เครื่องเปรียบเทียบให้คนฟังได้คิดได้สติ

ทีนี้พระสารีบุตรไปบิณฑบาต พระสามเณรน้อยเดินตามไป เห็นเขาชักน้ำเข้านาสามเณรถามพระสารีบุตรเลยว่า น้ำมีชีวิตไหม? พระสารีบุตรบอกว่า ไม่มี พอไม่มีนี้จิตมันก็อย่างที่ว่า ความคิดเกิดมันต่อเนื่อง ถ้าสิ่งที่ไม่มีชีวิตมันยังใช้ประโยชน์ได้ แต่เราเป็นสามเณรน้อย เรามีชีวิต เรามีความรู้สึกเห็นไหม จิตมันสงบเพราะมันใช้ใคร่ครวญอยู่ไงฉะนั้นถึงว่าขอถวายบาตรคืนพระสารีบุตร เพราะถือบาตรมาด้วยไง จะออกบิณฑบาตตอนเช้า แล้วพอถวายบาตรแก่พระสารีบุตรแล้วตัวเองก็กลับไปพิจารณา ปัญญาจะลงลึกกว่านี้ไปเห็นไหม

ที่บอกว่าพระอรหันต์จะเกิดขึ้นมาได้ยังไง ปัญญาอย่างนี้ เพราะจิตของเรานี่ยังไม่สมดุล มันยังไม่เต็มที่ของมัน ปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้นมามันยังชำระกิเลสไม่ได้ เพียงแต่เปรียบเทียบข้างนอกเห็นไหม น้ำมีชีวิตไหม น้ำไม่มีชีวิตยังเป็นประโยชน์ได้ แล้วชีวิตเราล่ะ เรามีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตมีความรู้สึกมันควรจะควบคุมได้ดีกว่าน้ำ ควรจะควบคุม ควรที่จะเป็นประโยชน์มากกว่าน้ำ ถ้าควรควบคุมได้มากกว่าน้ำ เราควรจะกลับไปใช้ปัญญาญาณของเรา เข้าไปไปชำระจิตของเรา เพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์ นี่พระอรหันต์นะ

ฉะนั้นพอจิตมันพิจารณา นั้นก็ไม่เที่ยง นี่ก็ไม่เที่ยง ตอนนั้นเพียงแต่ว่า เราจะบอกว่าโยมนี่นะมีอำนาจวาสนาพอสมควร เพราะพอปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่โยมได้สัมผัส นี่คือปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เพราะจิตของโยมได้สัมผัสกับธรรมะเองเลย สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม เห็นไหม สภาวธรรม แล้วจิตเราได้สัมผัสอันนี้มันฝังอยู่ที่ใจ พอฝังอยู่ที่ใจปั๊บนี่เวลาเราไปคุยกับใคร เห็นไหม เราจะเอาสิ่งนี้มาเปรียบเทียบ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านไม่เคยเป็นไม่เคยเห็น

คนภาวนานะ นั่นน่ะพื้นฐานนี่ยังภาวนาไม่เป็นนะ มึงอย่ามาคุยเรื่องธรรมะ ถ้าคุยธรรมะก็คุยธรรมะของพระพุทธเจ้า เอาเรื่องธรรมะพระพุทธเจ้ามาพูดให้ฟัง แต่ตัวเองก็ไม่เคยสัมผัส ไม่เคยรู้ ถ้าเคยสัมผัสเคยรู้นี่ก็จะฟังตรงนี้ ฟังปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก จิตที่สัมผัสคือธรรมะของเรา ธรรมะส่วนบุคคล ความสัมผัสของจิตนั่นล่ะ นั่นล่ะคือสัจธรรม สัจธรรมนะ ดูสิ โยมศึกษามาเห็นไหม ศึกษามาเพื่อทางวิชาชีพ โยมออกมาแล้วโยมต้องประกอบอาชีพเพื่ออะไร เพื่อหาสิ่งนั้นไปเป็นปัจจัย หรือเพื่อเลี้ยงชีพ

จิต สภาวธรรมที่มันเกิดนะ สภาวธรรมที่เป็นสมาธิแล้วได้สัมผัส ความสัมผัส นั่นล่ะคือสภาวธรรมที่จิตสัมผัสที่ความเป็นไป ภาคปฏิบัติเขาทำกันอย่างนั้น คือมันจะรู้จริงเห็นจริงตามสภาวะตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเราศึกษาจบไปแล้ว เราต้องประกอบวิชาชีพ ถ้าไม่ประกอบวิชาชีพสิ่งที่ศึกษามานั้นก็ศูนย์เปล่า ธรรมะที่ฟังมาๆ ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติมันก็ศูนย์เปล่า แต่พอมาปฏิบัติขึ้นมา มันได้ขึ้นมาปั๊บนี่โยมถึงมีสภาวะเกิดที่ว่า ชีวิตนี้คืออะไร นั่นล่ะคือธรรมะเตือนนะ ธรรมะเตือนชีวิตของเรา แต่ทีนี้เพราะโยมเกิดมามีอำนาจวาสนาพอสมควรนะ โยมก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้าเห็นไหม

อย่างที่โยมพูดเมื่อกี้นี้ เราเกิดมาเพราะกรรมดี ถ้าเราเคยทำกรรมไม่ดีมามันถึงเกิดทุกข์ให้เราเห็นไหม กรรมดีกรรมชั่วมันให้ผลมาทั้งนั้นล่ะ ที่คนเราลุ่มๆ ดอนๆ การปฏิบัติก็เหมือนกัน ลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งนั้น ทีนี้พอสภาวะนั้นเกิดขึ้นมา นั่นล่ะธรรมะเตือนมาตลอด แต่โยมยังมีกรรมอยู่ก็ต้องใช้ชีวิตมาจนป่านนี้ไง แล้วย้อนกลับมาปฏิบัติ ทีนี้ปฏิบัตินะ สิ่งที่มันจะเตือนโยมตลอด คือ สิ่งที่โยมปฏิบัติมาครั้งที่แล้ว

ฉะนั้นสิ่งที่ปฏิบัติอย่างนี้ มันจะทำยังไงเพื่อจะเข้าไปสู่ตรงนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาถ้าไม่เกิดสัมมาสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาคือ โลกียปัญญา ตอนนี้โยมใช้ปัญญาเห็นไหม ที่ว่าโยมบอก ทำไมเราประกอบอาชีพ แล้วอาชีพมันจะให้ผลกับชีวิตเราจะมีอะไร นั่นเป็นปัญญาเหมือนกัน แต่เป็นปัญญาการเตือนสติเตือนความรับรู้ของเรา ให้เราหาช่องทางที่จะหาทางออก ฉะนั้นปัญญาอย่างนี้ เขาเรียก โลกียปัญญา

ปัญญาอย่างนี้ ถ้าเรียกในทางปฏิบัตินะ คือปัญญาอบรมสมาธิ เพราะอบรมให้จิตมันนิ่งได้ พอจิตนิ่งได้นี่ ต่อไปนี้มันอยู่ที่คุณภาพจิตของโยม ถ้าโยมทำจิตให้นิ่งได้ โยมทำจิตให้เข้ามาถึงฐีติจิต คือต้นขั้วของความคิด คือต้นเหตุของการเกิดและการตาย ต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุของการทำให้ชีวิตนี้ต้องเคลื่อนที่ไป ต้นเหตุของทุกๆ อย่างมันอยู่ที่จิต ถ้าโยมทำความสงบเข้ามาสู่ที่ต้นเหตุ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ แล้วต้นเหตุมันอยู่ที่นี่ การแก้ไขชีวิต การแก้ไขการกระทำมันต้องเข้าไปแก้ตรงนั้น ไปแก้ที่อื่นไม่มี แล้วการจะเข้าไปแก้ที่ตรงนั่น โยมก็ต้องทำความสงบของใจเข้ามา ต้องทำสมาธิ

แต่คำว่าทำสมาธินี่ไม่ต้อง.. โทษนะ จะใช้คำว่าไม่ต้องตะบี้ตะบันทำแต่สมาธิ เพราะสมาธินะเป็นพื้นฐาน เป็นต้นเหตุต้นขั้ว แต่ต้นเหตุต้นขั้ว ถ้าเราไม่มีเหตุปัจจัยอะไร ต้นขั้วก็คือต้นขั้วไม่รู้อะไร ฉะนั้นการใช้ปัญญานี่ใช้ปัญญาได้ บอกว่าต้องทำสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา แต่ขณะที่เราจะใช้ปัญญา ทำสมาธินี่มันก็ต้องอาศัยโลกียปัญญา เพื่อให้เข้ามาสู่สมาธินี้ เราจะบอกว่าทำสมาธินี้ก็ใช้ปัญญาได้ ใช้ความคิดได้ แต่จะใช้ความคิดนี้เราจะรู้เห็นไหม ความคิดอย่างนี้เพื่อเตรียมพร้อมการทำความสงบ แล้วถ้าจิตสงบแล้ว ถ้าโยมเกิดปัญญาขึ้นมา เราจะพูดตรงนี้ไว้เลย จำเอาไว้เลยนะ ไอ้ตรงที่บอกว่ามันไม่เที่ยงมันแปรปรวนน่ะ เดี๋ยวจะเข้าไปสู่จุดนั้น จุดนี้คือระยะเปลี่ยนผ่าน จิตของคนนะมันมีระยะเปลี่ยนผ่านของมัน

ดูมนุษย์สิ เปลี่ยนผ่านจากทารกมาเป็นวัยรุ่น เปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นมาเป็นวัยทำงาน จากวัยทำงานไปถึงวัยชรา เปลี่ยนจากวัยชราไปวัยตาย! จิตก็เหมือนกัน จิตเกิดมาปัจจุบันนี้เราได้สถานะของมนุษย์แล้ว เพราะด้วยผลเวรผลบุญผลกรรมเกิดมาเป็นสถานะของมนุษย์ เพราะความเป็นมนุษย์ ความที่อายุไขของมนุษย์มันรองรับสิ่งที่เราทำดีทำชั่ว เราที่ยังมองไม่เห็นไว้ เพราะมันเป็นวาระของมนุษย์ ถ้าหมดวาระของมนุษย์นะ สิ่งที่เวรกรรมที่ทำไว้มันจะเปิดมาให้เห็นชัดเจนเลย มันจะเสวยกรรมตามนั้นเลย นี่คือผลของวัฏฏะ นี่คือผลของการเวียนการตาย คือผลของผลไม้ที่มันออกแต่ละฤดูกาล เพราะมันเป็นที่พืชพันธุ์ของมัน ผลไม้ชนิดใด ต้นของมันจะต้องออกผลไม้ชนิดนั้น มันได้อาหารได้ปุ๋ยได้น้ำได้ความสมบูรณ์ของมัน มันก็จะสมบูรณ์ของมัน นี่คือการเกิดของมันใช่ไหม

ทีนี้มนุษย์ เราเป็นมนุษย์เห็นไหม จิตมันจะเวียนหนึ่งอายุไข ผลไม้นี่มันออกแต่ละฤดูกาลนะ แต่เราเกิดเป็นมนุษย์นี่เราไม่รู้จักชีวิต แต่ไม่รู้จักชีวิตนี้มันแยกตรงนี้ได้ไง แยกตรงที่ว่า ระหว่างที่ว่าเราอยู่กับโลกหรือจะไปทางธรรม ถ้าอยู่กับโลก เราก็อยู่โลก ตื่นโลกไปเห็นไหม ประกอบสัมมาอาชีวะมีผลตอบแทน เราเป็นคนมีศักยภาพ มีสังคม เรามีหน้ามีตาในสังคม นี่คือติดโลกหมดเลย นี่เกิดมาสว่างไปมืด เกิดมามืดไปสว่าง ไปมืดเพราะไม่ทำความดี

ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ สัมมาอาชีวะเพราะเราต้องมีหน้าที่การงานกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราจะทำคุณงามความดีของเรา คุณงามความดีของเรา สิ่งที่โยมทำไว้นะเป็นของชาติตระกูล เป็นของโลก สมบัตินี้เป็นสมบัติของโลก ใครมีปัญญาก็แสวงหาเอา เพราะมันเกิดขึ้นมาจากโลก ข้าวของเงินทองเกิดขึ้นมาจากโลก แต่สมบัติของเราล่ะ นี่ไงต้นขั้วมันอยู่ที่นี่ไง ต้นขั้วคือฐีติจิต คือต้นเหตุแห่งจิต และถ้าจิตมันสงบเข้ามาที่นี่เห็นไหม มันจะเข้ามาอยู่ต้นขั้วนี้ ถ้าเข้าสู่ตรงนี้มันจะเกิดปัญญา ปัญญาที่จะเกิดมันจะเป็นปัญญาอย่างที่โยมบอกมันจะเป็น ทำไมความคิดมันไม่นิ่ง เพราอะไร เพราะความคิดอย่างนี้มันเกิดในสมาธิ มันไม่ได้เกิดจากสมอง

ถ้าเกิดจากสมองนี่นะ มันเป็นสถิติ มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นสูตรตายตัว เกิดจากสมองนี่เราใช้คำว่าปริยัติ คือว่าโลกียปัญญา คือมันมีข้อเปรียบเทียบ ถ้าคิดเปลี่ยน เช่น สีแดงเราบอกว่าสีเขียวนี่เราเป็นคนบ้าแล้ว เพราะสีมันแดง สังคมเขาว่าสีแดง บอกว่าเป็นสีอื่นไปไม่ได้เลย เราศึกษาทางวิทยาศาสตร์สิ่งนี้เป็นสูตรตายตัว ต้องเป็นอย่างนี้ ทางทฤษฎีต้องอย่างนี้ ผลค่าของมันต้องเป็นอย่างนี้ แล้วกรรมมันเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ ความทุกข์สุขเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ

นี่พอเป็นธรรมขึ้นมา ถ้าจิตมันลงไปถึงสัมมาสมาธิ เราจะบอกว่าแม้แต่ปัญญาที่เกิดขึ้นมาในจิตนี่ มันก็มีหยาบมีละเอียด มันมีแตกต่าง แต่ความแตกต่างของมัน มันจะรู้ของมันได้ แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มีความแตกต่างนะ วิทยาศาสตร์แตกต่างไม่ได้ ถ้าแตกต่างได้ต้องมีคนผิดคนหนึ่ง จริงไหม นี่คือโลก เราจะบอกว่าความคิดจากสมองไง

แม้แต่ทางวิชาการทางธรรมะของพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกนี่ล่ะ ยังมาตีความหลากหลายแล้วก็เถียงกันปากเปียกปากแฉะ พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้เป็นประเด็น ให้เป็นแนวทาง แล้วเราพยายามที่จะขวนขวายหาสมบัติของเราเอง อย่างที่โยมพูดที่ปฏิบัติตอนเด็กน่ะ ถ้าเราเปรียบเทียบขึ้นมา มันจะรู้จริงตามนี้ ของพระพุทธเจ้าสาธุ ของพระพุทธเจ้าถูกต้องหมดแหละ แต่เป็นของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา

แต่ถ้าเป็นของเราขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมาจากเรา ฉะนั้นเราจะบอกโยม ง่ายๆ เลย ตอนที่ทำมาตอนเด็กเนี่ย เราใช้สติใช้ปัญญาอย่างไร คือใช้คำบริกรรมอย่างไร ตรงนั้นน่ะคือผลที่เราทำแล้วได้ มันชัดเจน แต่ตอนนี้ยังสับสนอยู่ ยังไม่ได้

โยม : กราบเรียนหลวงพ่อ คือช่วงหลังนี่ผมเริ่มได้คำตอบ คือเราเริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ จริงๆ ตอนที่เรานั่งคือมันน่าแปลกใจอยู่อย่างครับหลวงพ่อ ตรงที่พอปฏิบัติธรรมทุกครั้งมันจะทำให้อดีตที่เราเคยได้มันชัดขึ้นมาเรื่อยๆ มันแปลกแม้กระทั่งว่า เมื่อสัก ๒ สัปดาห์ที่แล้วผมนั่งอยู่ เอ๊ะ ผมจำได้ว่าตอนนั้นก่อนที่ผมจะหลุดเข้าไปสู่ตรงนั้นนี่ ผมจำได้ว่าผมเนี่ยตัด คือพอเริ่มคิดเมื่อไหร่ก็ตัดกลับมาอยู่ที่ลมหายใจ รู้เมื่อไหร่ก็กลับมาดู แสดงว่าก่อนหน้านี้ ๒ ปีนี่มันคุ้นๆ แต่มันไม่ชัด อยู่ดีๆ สักอาทิตย์ ๒ นี่มันนึกขึ้นมาได้ว่า ตอนนั้นก่อนที่เราจะเห็นพลิ้วลมนี่เราจะตัดความคิดแม้แต่เสียงไกลๆ จากที่ได้ยินไกลๆ มันเห็นตรงนั้นปุ๊บ ตอนเจอแรกๆ มันต้องดึงออกมา ตอนหลังนี่มันเห็นแล้วมันก็ดับตรงนั้น เห็นว่ามันมีเสียงมันดับตรงนั้นเลย แล้วก็กลับมาดูลมหายใจ และก็เลยนึกขึ้นได้ แล้วก็พยายามกลับมาดู

หลวงพ่อ : จิตออกรู้หมด โลกนี้มีเพราะมีจิต ไม่มีจิตโลกมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั่นล่ะ โลกคือธาตุ ธาตุมันไม่ชีวิต ธาตุรู้ตัวมันเองไม่ได้ โลกนี้มีเพราะมีจิต แล้วถ้าจิตออกรับรู้ข้างนอกมันก็ร้อยแปด เรากลับมาอยู่ที่ต้นขั้วของมันแล้วแก้ไขตรงนี้

โยม : ใช่ครับ พอตอนหลังก็เลยดึง พอดึงกลับมาดูลมหายใจสักพักหนึ่ง มันก็เลยทำให้เรา จากที่มีเสียงนกร้อง มีเสียงสายลม อยู่ดีๆ มันไม่ได้ยินอะไรไปหมดเลย มันเหมือนกับคนที่ไม่ได้ยินอะไร รู้อย่างเดียว คือมีแค่รู้ รู้แม้กระทั้งว่า เรารู้สึกว่าลมหายใจมันเข้ามาเองนะ เราไม่ได้หายใจ รู้แม้กระทั้งว่าทำไมท้องกระดึ้บเอง เหมือนเราเป็นคนนั่งดูมัน

หลวงพ่อ : กำหนดลมให้ชัดๆ มันยังไปได้มากกว่านี้อีก แต่เรายังไม่บอก เพราะเดี๋ยวมันจะเป็นสัญญา กำหนดลมไว้ชัดๆ เดี๋ยวลมหายใจจะเริ่มขาด ทุกอย่างจะเป็นสักแต่ว่า อัปปนาสมาธิเราจะรู้จักเลย ที่ว่าอัปปนาสมาธิเป็นยังไง

โยม : แล้วที่ผมเห็นเหมือนเป็นดวงๆ เข้ามานี่ไม่ได้ผิดทางใช่ไหม

หลวงพ่อ : ไม่ผิด

โยม : ตอนหลังพอผมมาฟังธรรม ผมก็เลยเข้าใจว่า สิ่งที่ผมเห็นดวงๆ นี่คือผมกำลังเห็นอาการเกิดและอาการดับใช่ไหม

หลวงพ่อ : ใช่ ฮึ! เราจะเห็นนิมิตอะไรก็แล้วแต่ เห็นเป็นแสงสีเสียงใดๆ เกิดขึ้นก็แล้วแต่ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ มันเหมือนกับเกลือนี่มีรสเค็มเป็นธรรมดา น้ำตาลมีรสหวานเป็นธรรมดา น้ำส้มก็มีรสเปรี้ยวเป็นธรรมดา กฎของมันเป็นอย่างนั้น พอกฎเป็นอย่างนั้นปั๊บนี่ จิตของคนนี่มันแตกต่างหลากหลาย โยมภาวนาเป็นอย่างนี้แล้วโยมบอกให้คนอื่นพิจารณาลม กำหนดลมหายใจเหมือนโยม แล้วให้เป็นแบบโยม เป็นไปไม่ได้ โยมจะบอกว่า ให้น้ำตาลกับเกลือมีรสชาติเดียวกัน เป็นไปไม่ได้

พันธุกรรมทางจิต จิตของแต่ละบุคคล ลายนิ้วมือคนเหมือนกันไหม ลายนิ้วมือคนยังไม่เหมือนกันเลย แล้วพฤติกรรม พันธุกรรมทางจิต จิตที่ได้สร้างสมมามันจะเหมือนกัน มันเป็นไปได้อย่างไร ฉะนั้นการปฏิบัติที่จะให้เหมือนกัน ก๊อบปี้กันมานี่เป็นไปไม่ได้!

ฉะนั้นคนที่ปฏิบัติ ใครจะรู้ใครจะเห็น มันเรื่องของเขา มันเป็นพันธุกรรมของเขา มันเป็นจริตนิสัยของเขา ของเรานะสิ่งใดที่เราทำแล้วมันได้ประโยชน์กับเรา ใครจะพูดว่าถูกหรือไม่ถูกนะ ไอ้เรื่องนี้มันคำพูดของเขาไม่ใช่ความจริง ความจริงคือสิ่งที่เราประสบ สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง ของนี้ของจริง ถ้าของนี้ของจริงสิ่งที่เกิดมานี้ จิตมันรู้มันเห็นก็มันรู้มันเห็นของมัน เราจะบอกว่ามันเป็นจริตนิสัย มันเป็นกรรมของคน มันเกิดสภาวะแบบนี้ มันก็จะเห็นสภาวะแบบนี้ เพียงแต่ว่ามีครูบาอาจารย์คอยแนะนำไหม

คอยแนะนำว่า ๑.ไม่ตกใจไม่ดีใจกับสิ่งที่รู้ที่เห็น แล้วเรากำหนดลมหายใจต่อไป สิ่งนั้นจะดับไปโดยธรรมชาติของมัน เพราะจิตออกรู้ จิตของคนโดยปกติก็รู้ด้วยสามัญสำนึก พอจิตลงในสมาธินี่ มันก็รู้โดยจริตนิสัย จริตของจิตมันแตกต่างหลากหลาย ฉะนั้นมันเจอสภาวะแบบนั้น สภาวะแบบนั้น จริตใช่ไหม จริตคือนิสัยใช่ไหม จริตนิสัยของคนมันชักนำ เพราะจริตนิสัยของคนอย่างไรมันชอบสิ่งใด สิ่งใดที่มันชอบมันก็พอใจจริงไหม สิ่งไหนถ้าขัดใจมัน มันก็โกรธเป็นธรรมดา

ทีนี้พอจริตนิสัยมันเป็นอย่างนั้น พอจิตมันลงอย่างนั้น มันก็แสดงตัว ถ้าแสดงตัวเราก็คล้อยตามไปเห็นไหม ถ้าเราคล้อยตามไปมันจะลงลึกกว่านั้นไม่ได้ไง ฉะนั้นถ้ามันเห็นสิ่งใดที่มันเกิดขึ้น จะเป็นนิมิต จะเห็นต่างๆ กำหนดที่ลมหายใจชัดๆ

โยม : ให้กลับมาดูที่ลมหายใจ

หลวงพ่อ : ใช่! สิ่งนั้นจะดับไปเอง สิ่งนั้นจะดับไปเองเพราะอะไร เพราะจิตนี้มันเกาะลมหายใจโดยชัดเจน มันไม่แบ่งความรู้ของมันออกไปรับรู้สิ่งนั้น

โยม : จริงครับ ใช่ เพราะที่ผ่านมา พอผมมีอะไรเข้ามากระทบให้รู้สึกว่าเขวปุ๊บ ผมจะกลับมาดูลมหายใจแล้วมัน..

หลวงพ่อ : ถ้าจิตมันออกรับรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นมันเป็นอาการของจิต จิตส่งออกไปรู้อาการของมัน ถ้าจิตส่งออกไปรู้อาการของมัน แล้วมันก็แสดงตัวขึ้นมา โทษนะ เสือกตื่นอาการของตัว เสือกโง่ โง่กับตัวเอง! ถ้าจิตมันฉลาดขึ้นมา ก็เงาของกู กูจะไปตื่นมันทำไม กูกลับมาที่กู เงาก็หายไป

โยม : หลวงพ่อกำลังบอกว่า ถ้าผมเจอเหตุการณ์อย่างที่เคยเจอแล้วผมตกใจ ก็กลับมาดูลมหายใจ

หลวงพ่อ : ใช่! แล้วกำหนดมันชัดๆ เข้าไปนะ เดี๋ยวมันจะไปได้ดีกว่านี้อีก มันจะเข้าไปได้มากกว่านี้

โยม : ออ ใช่ เพราะวันนั้นตอนแรกผมก็ตกใจ แล้วผมกลับมาดูมันดูไม่ได้ มันเห็นอีกสักพักหนึ่ง พอผมเริ่มตั้งจิต มันเห็นก็ช่างมัน ก็เลยกลับมาดูลมหายใจอีกสักพัก มันก็เลยวูบสว่างแล้วกลับมาเป็นพลิ้วๆ ลมเหมือนเดิม แล้วผมก็เลยรีบถอนออกมา

หลวงพ่อ : กำหนดไว้ชัดๆ แล้วไม่ต้องกลัวเป็นกลัวตาย เดี๋ยวพอเข้าไปลึกเข้าไปมันจะกลัวตาย ลึกเข้าไปแล้วมันจะเริ่ม ตัวมันเองจะเป็นอิสระไง พอตัวมันเองจะเป็นอิสระปั๊บ มันจะไม่รับรู้เรื่องอายตนะ ไม่รับรู้เรื่องกาย คนตกใจว่า อุ้ย กูจะตายๆ มันจะตกใจกันหมดนะ แม้แต่ตัวมันเองนี่นะมันยังตกใจในตัวมันเองเลย แล้วจะไม่ให้คนอื่นตกใจ จะไม่ให้คนอื่นแปลกใจ แม้แต่ตัวมันเองยังแปลกใจในตัวมันเองเลย

มันยังแปลกใจในตัวมันเองว่ามันเป็นยังไง แต่ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาหมดแล้ว ท่านก็เคยแปลกใจมาก่อน แต่ท่านก็แก้ไขของท่านมาได้ พอแก้ไขมา สอนยังไง บอกยังไง ก็ต้องแปลกใจ จะบอกว่าน้ำตาลรสหวาน ไม่เคยกินนี่หวานเป็นยังไงว้า พอได้ลิ้มรสน้ำตาล มันก็หวานเนอะ แล้วถามอาจารย์ว่ารสหวานอย่างนี้ถูกหรือเปล่า เห็นไหม ไม่ได้ลิ้มรสมันก็งง ลิ้มรสแล้วมันก็งง ฉะนั้นถ้ามันได้สัมผัสบ่อยครั้งเข้า เดี๋ยวมันก็หายงง อ๋อ ของจริงปัจจัตตัง

โยม : ผมเข้าใจ เพราะว่าก่อนที่จะเข้าแต่ละขั้นนี่ มันจะมีคำถาม เฮ้ย เราเกิดอะไรขึ้น มันจะแปลกใจแต่ว่าด้วยความรู้สึกว่า เอ๊ะมันหลอกเราอีกแล้ว เหมือนมีมดมาไต่ เหมือนมีใครมาเห็น เราก็ เออ ไม่สนใจกลับมาดูลมหายใจ แล้วมันก็หายไป

หลวงพ่อ : ตั้งสติไว้ ตั้งสติกำหนดลมหายใจ กำหนดลมกายใจชัดๆ อยู่ที่ลมหายใจ ถ้าเราเคยทำได้แล้วนะ แล้วจะบอกด้วยพระพุทธเจ้านะ ท่านออกไปทดสอบมา ๖ ปีนี่ผิดหมดเลย คืนสุดท้ายท่านคิดถึงตอนท่านเป็นราชกุมาร ที่ไปอยู่โคนต้นหว่านั่นน่ะ ท่านก็คิดถึงลมหายใจของท่านนี่แหละ

เราจะบอกว่านี่แปลก พระพุทธเจ้าก็มีความคิดอย่างนี้นะ ไปลองผิดลองถูกกับเขามา ๖ ปีแน่ะ สุดท้ายแล้วไปไม่รอดล่ะ วิกฤตขนาดไหน เขาอดอาหารขนาดไหนก็สู้กับเขามาหมดล่ะ มันไปไม่ได้แล้ว กลับมานึกถึงโคนต้นหว่า นึกถึงตอนเป็นราชกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะพาไปทำแรกนาขวัญ ทิ้งไว้ให้นั่งอยู่ที่โคนต้นหว้า กำหนดลมหายใจเข้าออกนี่มันละเอียดเข้าไป พระพุทธเจ้าเอาตรงนั้นเป็นบรรทัดฐาน และเอาตรงนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วทำตามนั้นเข้าไป ถ้าคืนนี้ไม่ตรัสรู้จะยอมตายที่นี่

สุดท้ายแล้วก็ปฐมยามเห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ มัชฌิมายาม จุตูปปาตญาณ ยังไม่แก้กิเลส อดีต อนาคต ถึงอาสวักขยญาณ มันยามสุดท้าย สมเด็จพุทธเจ้าเรา นี่เห็นไหมเพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าคิดถึงตรงนั้น นี้ก็เหมือนกันถ้าเราเคยมีประสบการณ์มาเห็นไหม พระพุทธเจ้าก็มีประสบการณ์อย่างนี้เหมือนกัน แล้วท่านก็แก้ไขตัวท่านไป

อันนี้ใครจะพูดดี พูดถูก พูดเลว เรื่องของเขา เราเอาตรงนี้ เอาความจริงอันนี้

โยม : ขอคำแนะนำหลวงพ่อว่า อย่างปัจจุบันนี้ผมเองนั่งแล้วมัน จะทำยังไงให้ผมกลับไปได้สงบเหมือนเมื่อก่อน

หลวงพ่อ : มันสงบไปเรื่อยๆ อย่างที่พูดเมื่อกี้ ตอนเด็กตอนนั้นมีแต่การศึกษา เราไม่รับภาระเท่าไหร่ จิตใจมันสดชื่น แต่ในปัจจุบันนี้เราต้องรับภาระ เราต้องรับภาระทุกๆ อย่าง ฉะนั้นเวลาเราจะภาวนาสิ่งนี้มันจะมากวน สิ่งที่รับภาระนี่ และประสบการณ์ตั้งแต่เรียนมาตอนมหาวิทยาลัยจนจบมาทำงาน จิตมันได้กระทบกับสิ่งต่างๆ มาเยอะแยะไปหมดเลย เห็นไหมพันธุกรรมทางจิต

ตรงนี้มันเป็นประโยชน์นะ? ข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์ไปในทางการทำธุรกิจ เพราะใครรู้ข่าวก่อน ใครได้ข้อมูลก่อน ได้ทุกอย่างก่อนมันเป็นโอกาสของเขาทั้งนั้นล่ะ แต่ข้อมูลข่าวสารเป็นโทษกับการปฏิบัติ เพราะข้อมูลข่าวสารนี่เราไปตื่นเต้นกับมัน จิตฟูหรือยัง เราไปผูกมัดกับมัน ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เรากลัวลืมมัน เราก็พยายามยึดมันเห็นไหม

เราใช้จิตของเรากับพวกนี้ไปมาก แล้วพอจะทำให้สงบนะมันก็เหมือน เราก็บอกว่า เราจะบอกคนแก่ๆ นะที่ปฏิบัติน่ะ จิตใจนี้เป็นเฒ่าทารก เฒ่าทารกที่อ่อนแอ ที่เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะความคิดข้อมูลข่าวสารนี่มันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการปฏิบัติไง มันก็เหมือนโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้ใจนี้ฟูตลอดเวลา

ทีนี้ย้อนกลับมาที่เราสิ ถ้าเราจะปฏิบัติ เราก็พยายามละทอนมัน วางไว้ให้ได้ ถ้าวางได้วางเป็นครั้งคราวจิตก็สงบได้ ถ้าวางไม่ได้มันก็แบกรับมัน แบกรับเรื่องของโลก มานั่งปฏิบัติ กดทับจิตในขณะปฏิบัติ ที่มันลำบากมันลำบากตรงนี้เห็นไหม เวลาพระบวชตั้งแต่อายุน้อยๆ นี่ ผลของสังคม ผลของการออกไปรับรู้ทางโลกนี่ มันก็ต้องน้อยกว่าเป็นธรรมดา

ทีนี้พอพระผู้เฒ่ามาบวช พระพุทธเจ้าบอกเลย พระบวชเมื่อแก่ ว่าง่ายสอนง่าย ไม่มี ไม่มีเพราะอะไร เพราะชีวิตของเขาผ่านมาเยอะไง เขาก็คิดว่าเขารู้เขาเก่งไง พอมาปฏิบัตินะ เอ็งจะเก่งอะไรเอ็งเอาแต่โรคภัยไข้เจ็บในหัวใจเอ็งเข้ามาอวดข้า มีประโยชน์อะไร ประโยชน์ของการปฏิบัติเขาต้องทำให้จิตใจผ่องแผ้วต่างหากล่ะ ไม่ใช่เอาโรคภัยไข้เจ็บในทางโลกที่ว่าเป็นข้อมูลข่าวสาร ที่เอ็งรู้ๆ น่ะเอามาอวด เอ็งก็เอามาอวดเอามาแบกไว้ รับไว้ด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยของใจของเอ็ง เอ็งยังไม่รู้สึกตัวของเอ็งเลย เห็นไหม นี่เป็นโทษของมัน การเป็นโทษอย่างนั้น

ย้อนกับมาที่โยมนี่ไง ว่าโยมจะทำยังไง เราจะยกขึ้นมาให้เห็นว่า ทำไมมันถึงลำบาก แต่ก่อนนั้นเวลาเป็นเด็กทำไมปฏิบัติง่าย ตอนนี้ปฏิบัติขึ้นมาได้ยาก ที่ว่าปฏิบัติได้ยากนี่มันก็เป็นข้อเท็จจริง มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเกิดมาโดยข้อเท็จจริงอย่างนั้นเอง ฉะนั้นพอเรามาเป็นอย่างนี้ปั๊บนี่ เราปฏิเสธตรงนั้นไม่ได้ เราไม่ปฏิเสธด้วย เพราะเราปฏิเสธอดีตของเราไม่ได้ แต่เราพยายามทำความเข้าใจกับมันไง พยายามทำความเข้าใจว่า อะไรเป็นอุปสรรค อะไรเป็นการส่งเสริม อะไรเป็นสิ่งที่จะทำให้การปฏิบัติมันจะเป็นประโยชน์ได้มากขึ้น แล้วเราก็หาช่องทางของเราไป เพื่อชีวิตของเรา เพื่อสมบัติแท้ของเรา

นี้ถึงบอกว่า ถ้าเรากำหนดลมหายใจชัดๆ เดินจงกรมนี่ถ้ามันนั่งไม่ค่อยได้ ก็เดินจงกรม เดินจงกรมนี้ใช้ปัญญาดีนะ เดินจงกรมก็กำหนดลมเฉยๆ ถ้ามันถนัดนะ ของเราเราสอน ๒ ประเด็น ประเด็น ๑.สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าพูดถึงสมาธิอบรมปัญญาก็ลมหายใจ หรือกำหนดพุทโธๆ เพื่อให้จิตสงบ แต่ถ้ามันฟุ้งซ่านนักเราก็ใช้ปัญญาตามไปเลย ใช้สติตามความคิดไปเลย เอ็งคิดทำไม เอ็งคิดเพื่ออะไรอย่างนี้ พอสติมันตามทัน มันก็บอก เออ ก็กูโง่กูคิดมาตั้งนานแล้ว มันก็หยุด ถ้าสติมันทันนะ

การจับผิดตนเองนี่สำคัญที่สุด พระกรรมฐานเราเขาเรียกว่าจับผิดตนเอง เราค้นหาความผิดของเรา ถ้าสติมันทันมันจะรู้ว่า เออ ก็กูโง่มานานแล้ว คือผิดไง พอจับผิดตัวเองเห็นโทษของตัวเอง ตัวเองจะสลดใจ ตัวเองจะปล่อย การจะปล่อยนะนั่นคือสมาธิแป๊บนึง ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจะเดินจงกรมนี่เราก็ใช้ปัญญาก็ได้

โยม : ตอนเดินจงกรมนี่ เราต้องทำยังไงระหว่างเดินครับ

หลวงพ่อ : การเดินจงกรม ถ้ากรรมฐานเรานะ เดินจงกรมนี่เท้าจะย่างไปโดยปกติ ถ้ากำหนดลมหายใจก็ดูลมหายใจเหมือนเดิม

โยม : คือเรารู้ลมหายใจอยู่เหมือนเดิม

หลวงพ่อ : เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากกิริยาท่านั่งมาเป็นท่าเดินเท่านั้นเอง จากท่าเดินเป็นท่ายืน จากท่ายืนเป็นท่านอน ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอิริยาบถเท่านั้น การปฏิบัติเพื่อจิตสงบ พอจิตสงบแล้วใช้ปัญญาอย่างที่โยมเป็นน่ะที่ว่ามันไม่เที่ยงน่ะ อันนั้นปัญญาเกิดในท่านั่ง ถ้าปัญญาเกิดในท่าเดิน พอจิตมันสงบในท่าเดินนี่นะ จิตมันสงบของมัน ท่าเดินนี่เป็นเหมือนกับสัญชาตญาณ มันจะก้าวไปโดยสัญชาตญาณของมัน

ฉะนั้นเวลาจิตสงบในท่าเดินจงกรม เขาว่าเดินจงกรมนี่จิตสงบยาก แต่มันสงบแล้วมันเสื่อมยาก มันมั่นคงของมันเพราะอะไร เพราะกิริยาเคลื่อนไหวอยู่ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า หลวงพ่อเทียนเห็นไหม ที่เคลื่อนไหวทำไมสงบได้ เดินจงกรมอยู่ กิริยายังเคลื่อนไหวอยู่ ยังก้าวเดินอยู่แต่จิตสงบได้ และมันสงบได้นี่มันใช้ปัญญาได้ มันใช้ปัญญาของมัน ถ้าปัญญาเกิดอย่างที่เป็นนี่ ปัญญามันจะเกิดจากจิต ไม่ได้เกิดจากสมอง แล้วปัญญาที่เกิดจากจิตนั่นคือ ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากสมองคือ โลกียปัญญา ปัญญาโลกๆ

โยม : คืออย่าง ๒ ปีที่ผ่านมา ที่ผมเริ่มกลับมาสนใจปฏิบัติธรรม คือความรู้สึกของตอนแรกของตัวเราเองนี่ คือต้องการปฏิบัติธรรมแค่เหมือนให้มีทางออก ซึ่งเราจะได้แก้ปัญหา ทำให้ชีวิตเราที่มีปัญหาจะได้ดีขึ้น แต่มันกลับกลายเป็นตรงข้ามหลวงพ่อ คือผมยิ่งมาปฏิบัติธรรมนี่ มันยิ่งรู้สึกว่ายิ่งอยากบวชแทน คือตอนที่ผมกลับมาปฏิบัติธรรมมาฟังธรรมนี่ เพราะอยากจะเอาธรรมะมาช่วยแก้ปัญหา อยากให้ชีวิตเรามันดีขึ้น อยากให้เรามีอะไรที่ดี ไม่อยากให้มีความทุกข์เหมือนก่อน

หลวงพ่อ : ก็ถูกแล้ว

โยม : แต่กลับกัน พอมาสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรม ตอนแรกเป้าหมายต้องการเพื่อ เช่นให้เรารวยขึ้น ให้เรามีเงินใช้หนี้เขา ให้ปัญหามันหมดไป แต่พอมาฟังธรรมมาปฏิบัติธรรม มันกลับรู้สึกว่าเราไม่อยากทำธุรกิจแล้ว เราอยากจะบวช แต่ว่ามันไม่รู้จะออกยังไง เพราะว่าตอนนี้ภาระเรามันเยอะ เราปล่อยมันก็คือทิ้งภาระให้คนอื่นเขา มันก็เลยทำให้เรา มันเหมือนกับคนที่มันเหยียบเรือสองแคม

หลวงพ่อ : เอาทางใดทางหนึ่ง ปฏิบัติธรรมนี่ปฏิบัติเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข แล้วทำหน้าที่การงานของเราไปในศีลในธรรม แต่โยมพูดน่ะถูก เราปฏิบัติธรรมมาเพื่อเป็นสมบัติจริงของเรา หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ เวลาคนที่ยังบวชไม่ได้นี่ท่านบอกให้ลืม ๒ ตา ตาหนึ่งคือทางโลก ตาหนึ่งคือทางธรรม ทีนี้เราปฏิบัติของเราเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข สังเกตได้ไหม ถ้าวันไหนเราเครียดมากนี่เราจะใช้ปัญญา ใช้สมองของเราบริหารจัดการได้ยาก มันคิดมันจะติดขัด ถ้าวันไหนเรานั่งสมาธิ หรือเราทำความสงบของใจ ปัญหาอย่างนั้นเราจะขบแตกหมดเลย

ฉะนั้นถ้าเราใช้ประโยชน์ตรงนี้ เราใช้ประโยชน์ตรงนี้ไปก่อน แล้วดูจังหวะแล้วรอโอกาส จังหวะและโอกาสของเรา บวชนะไม่ใช่ของง่ายหรอก นึกว่าบวชแล้วจะปฏิบัติให้มันถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ง่ายหรอก มีคนตั้งใจมาบวชในนี้เยอะ แล้วพยายามจะทำให้ได้นี่ เขาพยายามทำของเขาอยู่ แต่มันก็มีอุปสรรคของมันเหมือนกัน ความจริงใจของเรา ความมั่นคงของเราขนาดไหน เพราะว่าเวลาตัวเองหลอกตัวเองนี่สำคัญที่สุดเลย เวลาบอกว่า บวชไปชั่วครั้งชั่วคราว ว่า แหม ให้ขึ้นสุขสบายไปเลย เอ้าบวชตลอดเลย โอ้โฮ มันทุกข์ไปหมดเลย พอบวชมันไม่ทางออกไง กิเลสนี่มันร้ายนัก มันพลิกไปพลิกมาตลอดเวลา

ฉะนั้นถ้าเราอยู่ทางโลก ถ้าเราทำของเราได้ เราก็ทำของเราไปก่อน จนกว่าทางโลกอิ่มตัวหรือว่ามันคงที่ แล้วจะบวชจะเบิด นั่นค่อยอีกเรื่องหนึ่ง

โยม : บางครั้งเราดำเนินชีวิตประจำวัน มันมีทั้งโทสะ มันมีทั้งความฟุ้งซ่าน มีทั้งความเครียด บางครั้งเราก็จัดการกับมันได้ ผมบอกแล้วมันฟุ้ง พอเราพยายามกำหนดมันก็ไม่อยู่ครับหลวงพ่อ ทำยังไงดี

หลวงพ่อ : ผู้บวชนะ ผู้บวชแล้วอย่างนี้เขาเรียกว่าจิตเสื่อม จิตของเรานี่มันมีโอกาสเสื่อม ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ของเรานี่ท่านจะอยู่ในข้อวัตร คำว่าข้อวัตรคือกฎกติกา ถ้าอยู่ในข้อวัตรเห็นไหม อย่างเช่น โยมมาอะไรมานี่เราจะหลีกเลี่ยงของเราเพราะอะไร เพราะเราต้องถนอมสิ่งแวดล้อมของจิตให้มันคงที่ของมัน เวลาปฏิบัติมันจะได้ปฏิบัติได้ง่าย หนึ่ง แล้วพอเวลาปฏิบัติไปแล้วมันจะไม่ค่อยเสื่อม หนึ่ง เพราะอะไร เพราะเหตุที่ทำให้มันเสื่อมเราถนอมรักษาไว้

แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราโดยที่ไม่มีสติปัญญาของเรา แล้วเราปฏิบัติของเราแบบว่า ไม่แคร์กับสิ่งใดๆ เลย มันก็ทำได้อยู่ แต่คิดดูสิ คนไม่ถนอมรักษา อย่างเครื่องไม้เครื่องมือถ้าเราใช้แล้วไม่ดูแล มันก็เจ๊งของมันเป็นธรรมดา จิตของเรานี่ถ้าเราไม่ดูแลรักษามัน เห็นไหม

ฉะนั้นพอโยมอยู่ในโลกนี่ เขาเรียกว่าทางของคฤหัสถ์ ทางของโยมมันคับแคบ ทางของนักบวชกว้างขวาง ในพระไตรปิฎกไง ทางของคฤหัสถ์ ทางของโยมนี่คับแคบ ทางของนักบวชกว้างขวางเพราะอะไร เพราะอยู่ที่ฉลาดหรือโง่ไง ถ้าฉลาดเห็นไหม บิณฑบาตแล้วฉัน นี่ ๒๔ ชั่วโมงเลยนะ คนในวัดเรานี่ปฏิบัติได้ ๒๔ ชั่วโมงเลย แต่ถ้าทางของโลกเห็นไหม เราต้องทำสัมมาอาชีวะ เราจะได้ตอนเย็นตอนเช้า มันคับแคบตรงเวลาของเรา แต่ถ้าว่าเราจะบวชเลย ๒๔ ชั่วโมงตลอดไปเลยนะ แต่เราจะบอกว่ามันจะมีอุปสรรคทั้ง ๒ ทางนั่นล่ะ บวชพระก็มีอุปสรรค อยู่ทางโลกก็มีอุปสรรรค แต่อุปสรรคมันแตกต่างกัน แล้วเพียงแต่ว่าเราจะต่อสู้ยังไง ฟืนทนกับมันยังไงเพื่อจะผ่านอันนี้ไปให้ได้เท่านั้นเอง

ฉะนั้น มันอยู่ทางโลกแล้ว เราอยู่ทางโลกเราก็ปฏิบัติได้ แต่ทีนี้พอปฏิบัติแล้ว ดูอย่างที่เขาว่า การปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี่ โอ้โฮ เขาก็เอาไปคิดเลย เอาชีวิตประจำวันเป็นใหญ่แล้วเอาการปฏิบัติเป็นรอง แต่หลวงปู่มั่นเราไม่พูดอย่างนั้น หลวงปู่มั่นท่านพูดในมุตโตทัยเห็นไหม การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน การเหยียด การดื่ม การคู้ มีสติตลอด นี้ก็เหมือนกันถ้าเรามีสติตลอดเห็นไหม เราไม่พลั้งเผลอ นี่คือการปฏิบัติ

แต่การปฏิบัติ การถนอมรักษาใจไว้ แต่ถ้าจะได้อริยภูมิอะไรต่างๆ นี่ สิ่งต่างๆพอทำไปเดี๋ยวเราจะรู้ของเราเอง พอถึงช่วงนั้นนะ ถ้ามันเข้มข้น มันควรจะเป็นไป เราอาจจะลางานหรือให้ใครดูแลสักชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมาพิสูจน์กันว่าจะได้หรือไม่ได้นี่ เออ พอเห็นด้วย

โยม : แต่ช่วงนี้ผมก็พยายามนะครับหลวงพ่อ คือนั่งก็พยายามรู้อิริยาบถตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าตัวเองคิดออกไปก็พยายามดึงกับมาหาที่อยู่ให้มัน เช่น ดูลมหายใจบ้าง พอตอนก้าวเดิน เมื่อก่อนนี้คือ ฝึกใหม่ๆ อยากจะมีสติให้อยู่กับตัวตลอด ผมแม้แต่บอกกับตัวเองว่า เอ้า เดินเหมือน ร.ด. เลยแล้วกัน คิดเลย ซ้ายขวาซ้าย พอคิดๆ ไปสักพักหนึ่ง มันเริ่มรู้สึกว่า ซ้ายขวาซ้ายมันไม่ทันกับที่เราก้าว ก็เลยไม่เอาแล้วมันหนัก ก็เลยทิ้งไอ้ซ้าย.. ให้แค่รู้สึกว่าเรากำลังก้าวอยู่

พอรู้สึกก้าว ก็เออๆ ใช้ได้ แต่มันก็แปลก สักพักหนึ่งพอเรารู้สึกว่าเรากำลังก้าว มันก็แว้บมาดูลมหายใจแทน สักพักหนึ่งกลับมาดูลมหายใจ เอ้าก็ช่างมัน ไม่เป็นไร ยังอยู่ในกาย มันก็เผลอคิดไปเรื่องงานตอนไหนก็ไม่รู้ พอรู้สึกตัว เอ้า ไม่ได้สิเรามาดูขา ให้กำลังก้าวหรือกำลังขับรถ คือผมพยายามที่จะดึงเข้ามาอยู่ในกายให้ได้

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : ทานข้าวอยู่ บางช่วงนี่ผมไปถือศีล ๘ แล้วก็กำลังกินข้าว เขาก็ให้สวดบทพิจารณาอาหาร

หลวงพ่อ : ปฏิสังขาโย

โยม : ปฏิสังขาโย ก็รู้สึกว่าพออ่านคำนี้ปุ๊บ ตอนทานข้าวเราไม่รู้สึกว่าเราอร่อย คือตอนตักข้าวนี่คนอื่นเขาจะตัก คือเป็นถาด เขาจะแยกกันเป็นหมู่ ผมไม่รู้ผมก็ตักมาอยู่ในอันเดียว คือกินหมด นี่เรามาถือศีล ช่างมันเถอะ พอทานความรู้สึกมัน ไม่รู้ว่า เราไปทำให้มันเสวย มันรู้สึกของมันเองว่า มันก็แค่นี้นะกินไป มันรู้สึกด้วยตัวมันเองว่าแค่นี้จริงๆ

ระหว่างที่เรากำลังพิจารณาตัวเองอยู่ พยายามดูเราเห็นเราเดินไป เมื่อก่อนเดินก็คือเดินไปเลย แต่เดี๋ยวนี้พยายามจะมีสติเลย คือตอนจะเดินก็ทำความรู้สึกว่าเรากำลังก้าวเดิน จะช่างมันจะเป็นบัญญัติ มีความรู้สึกว่าขาซ้ายกำลัง ก้าวขาขวากำลังก้าวก็ช่างมัน ถึงแม้มันจะเป็นบัญญัติ

ความรู้สึกของผมว่าผมเชื่อพระพุทธเจ้าว่า จิตมีแค่หนึ่ง ถ้าจิตที่มีหนึ่ง มันมีแค่ได้กุศลกับอกุศล ถ้าเราไม่อยากให้มีอกุศลมาอยู่ในจิตเรา เราก็เป็นกุศลซะ ถึงแม้กุศลนั้นจะเป็นแค่บัญญัติก็ช่างมัน ดีกว่าอกุศลก็เลย คือฟังธรรมแล้วก็รู้สึกว่า ถ้าเราเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้า เชื่อเรื่องแค่จิตมีหนึ่ง ผมก็เลยบอกช่างมัน ต่อให้เป็นบัญญัติ จะไปติดบัญญัติก็ช่างมัน คือติดไปมันก็ไม่ได้เสียหายหรอก ดีกว่าไป คือบางคนไปบอกแค่รู้รูปนาม ผมบอกบางคนมันท่องแล้วนะเนี่ย เขาไม่ได้รู้จริง ถ้ารู้จริงนี่มันต้องไม่บอกว่า นี่เดินเป็นรูป รู้เป็นนาม มันไม่ต้องท่องนะ มันไวกว่านั้นเยอะ

หลวงพ่อ : ไวกว่ากันเยอะ

โยม : เวลาเรารู้สึกตัวเอง อย่างผมเดินไปที่ๆ หนึ่ง ผมเดินเข้าไปในวัด ผมเห็นคุณพ่อคุณแม่พาลูกมา และพาปู่ย่ามา พอเห็นปั๊บ อยู่ดีๆ ความรู้สึกมันแว้บขึ้นมาว่า โห ชีวิตเราอะไรกันเนี่ย มันแว้บมาเราไม่ทันคิดเลยนะ อยู่ดีๆ มันสลดขึ้นมาเฉยๆ เด็กแล้วเดี๋ยวก็ขึ้นมาเป็นหนุ่มสาว หนุ่มสาวเสร็จแล้วก็เป็นผู้แก่ แก่เสร็จแล้วก็ตาย แล้วชีวิตเรา.. คืออยู่ดีๆ มันแว้บขึ้นมา เราก็ยังไม่ทันคิด กำลังเดินอยู่นะครับ มันรู้สึกทอดถอนใจว่า โห แล้วเราทำอะไรอยู่เนี่ย เมื่อก่อนเราก็เป็นเด็กนะ แล้วเราก็เป็นหนุ่มสาว นี่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่วัยแก่เหมือนกันเลย เราก็ไม่ต่างจากเขา แล้วเรากำลังทำอะไรกับชีวิตเราอยู่เนี่ย

หลวงพ่อ : ของอย่างนี้ตลาดเขาเห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป ในชุมชนทุกคนเขาเดินสวนกันไปสวนกันมา เขาไม่ได้คิดเลย มันแบบว่า คือมันคิดไม่ถึงไง แล้วนี่จะบอกว่า นี่ปัญญาจากสมองปัญญาจากจิต ไอ้ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะว่าเราได้ภาวนา จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตเราสงบมีหลักเกณฑ์ มันจะมีความคิดอย่างนี้ออกมา มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้ออกมา นี่เขาเรียกว่า ธรรมสังเวช

ธรรมมันเกิด ทำไมมันสลดใจมาจากใจ ธรรมสังเวช ธรรมเกิดเกิดยังไง คนปฏิบัติรู้ได้ยังไงว่าธรรมมันเกิด อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้เห็นไหม จะเป็นบัญญัติ ไม่เป็นบัญญัติ ไร้สาระ! มันจะเป็นบัญญัติไม่เป็นบัญญัติ มันก็ไปจากหนึ่งเดียวของจิต อย่างที่โยมพูดนะถูก! มันละเอียดเข้ามานี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ

เขาบอกสมถะ ไม่จำเป็น ไม่จำเป็นนะ ถ้ามึงไม่เข้ามาสู่ต้นขั้วนะ มึงปฏิบัติไม่ได้! เรายืนยัน การปฏิบัติที่ว่าปฏิบัติกันไปนะ ดูนะ นกแก้วนกขุนทองทั้งนั้น ก๊อบปี้เขามา ไปโรเนียวเขามา แล้วก็จำมา ไม่มีประโยชน์หรอก! แต่ถ้าเป็นจริง มันเป็นมาจากข้างใน ไม่ใช่โรเนียวมา ไม่ใช่ไปก๊อบปี้เขามา ก๊อบปี้ธรรมพระพุทธเจ้ามา แต่ตัวเองข้างใจขุ่นมัวหมดเลย

แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติ มันจะโพลงมาจากข้างใน ข้างในมันจะทำลายออกมาจากข้างใน การทำลายออกมาจากข้างใน นี่คือการทำลายกิเลสโดยชัดเจน เป็นสมาธิก็รู้เองว่าเป็นสมาธิ เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เป็นปัญญาก็รู้ว่าเป็นปัญญา แล้วเป็นปัญญาที่รู้ด้วยว่า เป็นปัญญาที่เกลียดไม่ขาด คือ ปัญญาตทังคปหาน มันปล่อยวางเฉยๆ ก็รู้ แต่กิเลสมันครอบงำไว้ โอ๋ ดีแล้วๆ จะขาดแล้วทุกคนอ้างอิงแต่ไม่ใช่!

แต่ถ้าเป็นความจริง เวลาสมุทเฉทปหาน ทำให้สังโยชน์ขาดไป ๓ ตัว เป็นพระโสดาบันมันเป็นยังไง ปัญญาที่แท้จริงมันเกิดจากภายใน ไม่ได้เกิดจากบัญญัติอย่างที่ว่า แต่! แต่ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ โดยการเราศึกษากันมากไง เราถึงบอกว่ามันเป็นสมมุติบัญญัติ เราจะเอาวิมุตติกัน เราจะเอาสัจธรรมกัน เราเลยพยายามจะทิ้งสมมุติบัญญัติว่ามันไม่มี ว่ามันเป็นของไม่ดี แล้วมันทิ้งได้หรือเปล่า

โยม : ไม่ได้..

หลวงพ่อ : นี่ไง กรรมฐานเราถึงทำมาจากสิ่งที่มันมีอยู่

เขาบอกว่ามีกิเลสแล้วปฏิบัติไม่ได้ เอ้า ก็กูมีกิเลส กูรู้อยู่นี่แหละ กูอยากจะพ้นทุกข์ แล้วการปฏิบัติมันเป็นความอยาก เอ้า อยากก็เป็นมรรค อยากทำความดี เอ้า ไม่อยากเป็นคนดีกูก็คนรกโลกน่ะสิ กูก็นอนอยู่นี่ นอนเป็นภาระสังคมนี่สิ กูไม่ทำอะไรเลย เพราะกูมีความอยากกูจะไม่ทำอะไรเล้ย

สังคมดูแลมึงตายห่าเลย

ทุกคนก็ต้องดูแลตัวเอง ทุกคนดูแลตัวเองเป็นความอยากหรอ แล้วมันเป็นความอยาก มันเป็นมรรค มันเป็นความอยากเป็นกิเลสเรอะ ทุกคนรับผิดชอบตัวเอง ทุกคนเอาตัวเองรอด สังคมดีเยี่ยมหมดเลย เป็นกิเลสเรอะ แล้วก็ปล่อยว่างๆ ปล่อยวางแบบขี้ลอยน้ำ ปล่อยวางแบบสิ่งไร้สาระอย่างนี้ มันจะเป็นธรรมตรงไหน ปฏิบัติธรรมๆ โหย เต็มโลกเต็มสงสาร ทำอะไรกัน แหม ชุดขาวห่มขาว โธ่ นกกระยางดีกว่ามึงอีก! นกกระยางมันขาวปลอดเลยนะ มันยืนนิ่งๆ เลยนะ อย่าเผลอนะ เผลอมันมั้บเลย แหม แต่งตัวขาวปลอด โอ๋ย ไม่มีความอยาก

อย่านินทากันน้ะ อย่านินทา

ความจริงมันเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ยอมรับความจริงกัน ถ้าไม่ยอมรับความจริงกัน การปฏิบัติมันก็เป็นการหลอกตัวเอง เอาธรรมะพุทธเจ้ามาตั้งแล้วก็หลอกกัน แต่กรรมฐานเรานี่ทำตามความเป็นจริง ก็กูมีความอยาก ก็กูมีกิเลส ก็กูจะฆ่ามันน่ะ ก็กูจะสู้กับมันน่ะ จะทำไม!

มันต้องมีครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติมาก่อน ท่านทำของท่านมาก่อน แล้วท่านมาสอนเรา เราถึงบอกว่า เราเกิดมาโชคดีมาก เราเกิดมาในยุคของนักปราชญ์ มีครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เรายกเป็นประจำ หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น เป็นผู้บุกเบิกมา แล้วพวกเรานี่ต่อสู้กันมา แล้วใครทำได้เป็นประโยชน์ขึ้นมา เพราะการกระทำอย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้มันเกิดมาจากใจ อย่างว่านี่มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นคุณประโยชน์มาก แล้วโลกเขาจะว่ากันอย่างไร ปฏิบัติโดยโลก โลกเป็นใหญ่ไง ปฏิบัติกันไปแล้วต้องสวยงาม ต้องมีรูปแบบ ไร้สาระ ไร้สาระมาก

แต่ของพวกเรานะ ของครูบาอาจารย์เรานะ หลวงปู่มั่นก็สอน การดื่ม การเหยียดการคู้ นี้ต้องมีสติตลอด คนปฏิบัติคนอยากจะพ้นทุกข์นะ อย่างที่โยมทำเห็นไหม การเคลื่อนไหวจะมีสติตลอด มีสติโดยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ว่าเราทำแล้วเราก็บอกว่าเราต้องมีสติอีกชั้นหนึ่ง อย่างเช่น กินเสร็จแล้วก็กินหนอ ย่างหนอ ก็มึงเดินอยู่แล้ว มึงมีสติก็จบ มึงก็รู้สึกตัวอยู่แล้ว

โยม : พอตอนแรกผมฝึก คือเมื่อ ๒ ปีที่เริ่มกลับมา ก็เลยว่า ฟังท่านเจ้าคุณ...คือเราก็พยายามจะทำให้เรารู้ คือเนื่องจากว่าเราใหม่ แต่พอลองใช้ดูสักพัก มันรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราไม่ต้องไปอะไร เราแค่รู้สึก ผมฟังหลวงพ่อเทียนบอกให้ยกมือแล้วเดี๋ยวก็มี ผมก็ เอ๊ะผมก็กลับมาดู ผมก็ลองมา หลวงพ่อเทียนพูดว่า ความรู้สึกตัว เออลองจับ เออก็ลองจับความรู้สึกดู ก็เลยลองเดินดู อารมณ์เหมือนกันก็เลยกลับมานั่งดูลมหายใจ เออเฮ้ยอารมณ์ของความรู้สึกตรงนี้ คำว่าสตินี่มันเหมือนกัน ต่อให้เปลี่ยนอิริยาบถมาถ้าเรามีสติ คือมันมีเหมือนกันหมด ไม่ต้องไปนั่งคิด ไม่ต้องไปปรุงด้วย แค่รู้แค่นั้นเอง ความรู้สึกของผม ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด

หลวงพ่อ : นั่นนะ นี่เป็นปัจจัตตัง แล้วทำไปเลย ไอ้อันอย่างนั้น ที่ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ที่พูดเมื่อกี้ เห็นไหมโรเนียวมาไง ก๊อบปี้มา พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นๆ แล้วมันไม่เป็นน่ะ เขาบอกว่า ทองคำๆ ก็กูมีขี้อยู่ มันไม่ใช่ทอง กูเหม็นตายห่าเลย ขี้กูเนี่ยเหม็นฉึ่งเลย แล้วบอกว่าทองคำสีเหลืองไง แล้วก็จะเอาขี้กูไปเช็ดกับทองคำ ทองคำของพระพุทธเจ้านะ .......ตัวกูมีแต่ขี้! นี่ก็เหมือนกัน ต้องทำให้เหมือนเลย ต้องให้เหมือนเลย อันนั้นมันทองคำ พระพุทธเจ้าเป็นทองคำ แต่เรายังเป็นขี้อยู่ ใจยังเป็นขี้อยู่ ก็ต้องเอาธรรมะทำความสะอาดมัน โธ่ พูดเรื่องนี้ไม่ได้หรอก เราไม่ยอมรับ

โยม : หลวงพ่อครับ ขอคำปรึกษา คือมีอยู่หลายครั้ง ช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา อยู่ดีๆ ผมเกิดโทสะอยู่ คือผมไปซื้อสินค้าแล้วเกิดโทสะ แล้วเราก็เลยตำหนิพนักงานขายเขา แต่พอตอนเราตำหนิปุ๊บ มันมีความรู้สึก...

หลวงพ่อ : มันเสียใจ?

โยม : มันเหมือนตัวผมเนี่ย อีกคนหลุดมาเห็นตัวผมคนนี้ กำลังตำหนิเขาอยู่ แล้วความรู้สึกโทสะที่มันกำลังจะปี๊ด มันเห็นเรากำลังตำหนิเขา แล้วหูมันก็อื้อๆ แล้วโทสะมันเริ่มลงมา แต่เราก็ยังตำหนิ แต่สักพักโทสะมันเริ่มลงมาจนเราหยุดตำหนิเขา แล้วเราก็หูอื้อๆ แล้วเราก็เห็นตัวเรากำลังตำหนิคนอื่นอยู่

หลวงพ่อ : ใช่ เราเข้าใจ อันนี้เป็นธรรมะเกิดนะ เวลาธรรมเกิดนี่ หลวงตาท่านเล่าอยู่ ว่ามีคนๆ หนึ่งแค้นเพื่อนมาก กำลังจะไปฆ่าเพื่อน วันนี้เพื่อนต้องตายเด็ดขาด พกปืนไปเลยพอไปถึงกลางทาง อยู่ดีๆ รูปหลวงปู่มั่น เห็นไหม เราเห็นคนอื่นมาเตือนเรา แต่นี่เป็นหลวงปู่มั่นเลย เป็นมนุษย์เลย หลวงปู่มั่นมาเตือนนะ นี้จะไปตกนรกขุมไหน ที่จะเอาปืนไปยิงเขานี่จะไปตกนรกขุมไหน

นี่เขามีบุญของเขานะ มันจะเตือนสติไง ถ้าไปยิงเขาตาย ยิงเขาก็ตายอยู่แล้ว เพื่อนกัน คำว่าเพื่อนสนิทนี่นะ เวลาไปยิงเขานี่เพื่อนไม่ได้ระวังตัวหรอก เพื่อนมาหาจริงไหม พอเข้ามาใกล้ๆ ตัว โป้งเดียวก็เสร็จละ ในเมื่อมันผิดใจในเมื่อแค้นมาก ทีนี้พอจะไปฆ่าเขา หลวงปู่มั่นมายืนขวางกลางทางเลย นี้จะไปตกนรกขุมไหน ถ้ายิงเขาตาย ทางโลกมันก็ต้องติดคุกติดตาราง ฆ่าคนตายโดยเจตนามันก็มีโทษอยู่แล้ว แล้วฆ่าเขาตายนี่ ตายไปแล้วมันก็มีบาปมีกรรมอีกเห็นไหม พอหลวงปู่มั่นว่าอย่างนั้นปั๊บ ทรุดลงกราบหลวงปู่มั่น โทสะหายหมดเลย พอลุกขึ้นมาหลวงปู่มั่นไม่มีแล้ว

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเห็นอย่างนี้มันเป็นเซนส์ของเราเอง มันเป็นเซนส์ของเราเอง ไม่มีใครเห็นกับเรา เราเห็นของเราคนเดียว

โยม : เหมือนผมกำลังนั่งอยู่ครับหลวงพ่อ เหมือนมีผมอีกคนกำลังดูอยู่ตรงนี้ แล้วเห็นผม เห็นไอ้ผมคนนี้กำลังตำหนิเขาอยู่ คือความรู้สึกเหมือนหูมันอื้อ แล้วเราก็กำลังเห็นตัวเราเองกำลังมีโทสะ เรากำลังตำหนิเขา แล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย ทำไม..

หลวงพ่อ : นี่บุญของโยมนะ บุญของโยมเพราะโยมมีสภาวะแบบนี้ แสดงว่ามีอะไรแปลกๆ ดี เรายังคิดตั้งแต่ตอนที่โยมเป็นเด็กแล้วล่ะ ตอนที่เป็นเด็กนี่มันเหมือน ประสาเราว่า โยมเวลาปฏิบัติที่ว่าเห็นนู่น เอ๊ะนี่มันอนิจจังๆ เห็นแสงอะไรต่างๆ มันปฏิบัติมาง่าย คำว่าปฏิบัติมาง่าย เราทำเกือบตายนะกว่าจะได้อย่างนี้กัน อันนั้นคือบุญเก่านะ ทีนี้โยมจะบอกว่าโยมทุกข์มาก โยมทุกข์มาก โยมเครียดมากอะไรก็แล้วแต่ อันนี้คือเวรกรรม แต่โยมก็มีของดีๆ อยู่ในตัวแยะ

โยม : แล้วผมจะทำยังไงถึงจะกลับไป

หลวงพ่อ : โยมต้องพยายามทำใจให้ดีขึ้น ทำให้มีหลักเกณฑ์ดีขึ้น แล้วสิ่งที่มันอยู่ในอยู่ในตัว สิ่งที่เรามีรู้มีเห็นมันจะส่งเสริมขึ้น พระพุทธเจ้าสอนว่า สุขโต อยากจะไปสุขโต ปัจจุบันต้องสุขโตไง เดี๋ยวนี้ต้องมีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วความรู้สึกตรงนี้มันจะดีขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ทีนี้โยมทำธุรกิจอย่างนี้ มันก็เป็นธรรมดาเพราะโยมต้องคลุกคลีกับสังคมโลก แล้วทั้งพาลทั้งมารมันอยู่เยอะ โลกมันเป็นอย่างนั้น

โยม : หลวงพ่อครับ ก่อนหน้านี้ สัก ๒-๓ อาทิตย์ที่แล้ว ผมรู้สึกว่าสติผมค่อนข้างจะดีนะครับ คือผมจะโกรธนี่ผมจะรู้สึกว่า มันเริ่มมีโทสะขุ่นๆ บางทีเราก็ดึงกลับมาดูลมหายใจบ้าง เราก็มาทำอะไรบ้าง คือมันก็เบรกได้ แล้วบางทีพอเราเกิดโทสะปุ๊บ เรารู้สึกว่าเราโกรธปุ๊บเราหยุด แต่ในความรู้สึกเราก็พยายามทำอีก สักพักหนึ่งมันเหมือนกับเราอยู่กับคนที่เราทำงานด้วย หรือเราอยู่กับน้องชาย สักพักโทสะมันก็กลับมาอีก มันก็กลับไปตำหนิน้องชาย สักพักหนึ่งมันรู้สึก เอ๊ะเรานี่ยังไง เหมือนวันนี้เราสอบตก

หลวงพ่อ : ใช่ นี่จะบอกว่านะ เวลาโทสะนี่เราจะแก้ด้วยความเมตตา ถ้าความเมตตานะจะคิดว่า สัตว์โลกทั้งหลายมันเป็นญาติเป็นพี่เป็นน้องกันมา คือญาติโดยธรรม แล้วยิ่งเป็นญาติพี่น้องด้วยนะ ในเมื่อเป็นญาติเรา เราไม่ไปตำหนิมากจนเกินไป ไอ้เรื่องการงานถ้าผิดพลาดเราก็บอกเขา อันนี้เขาเรียกว่า โทสะจริต บางทีโทสะจริตนี่ต้องใช้ด้วยเมตตานะ โลภะจริต ความหลงนี่ ความโลภะจริตคิดว่าถูกไปหมดเห็นไหม ไอ้อย่างนี้มันต้องแก้ไข คำว่าแก้ไขของเรามันก็ต้องฝึกหัดนี่ล่ะ เขาบอกว่าทุกคนรู้ธรรมะหมดล่ะ แต่ทำไมแก้ไขตัวไม่ได้ ขาดการฝึกไง นี้พอโยมติน้องหนหนึ่ง กลับไปแล้วไปพิจารณา นี่เราผิดอีกแล้ว อย่างที่โยมพูดเมื่อกี้สอบตกๆ ติแล้วเขาก็เสียใจ แล้วเราก็เสียใจ

โยม : ใช่ครับ เรารู้สึกว่า โอ้โฮ มันก็เลยบอกตัวเองว่า บางทีสติเรามันไม่นิ่งจริงๆ ฮะ บางช่วงเรามีสติรู้แม้กระทั่งว่า โทสะกำลังเกิดแล้ว เราเอามันอยู่

หลวงพ่อ : อนิจจัง จะให้อยู่นี่จิตเสื่อมๆ ลูกศิษย์มารำพันอยู่เนี่ย จิตเสื่อม

โยม : ช่วงนี้ผมโทสะเยอะมากแล้วก็ผมกลายเป็น.. คือเราไม่รู้สึกตัว อย่างที่เรียนหลวงพ่อว่า ปัญหามันเยอะ บางช่วงเราวางได้ เราคิดว่าเรากำลังปรุงมันก็วาง แต่ช่วงนี้มันกลับวางไม่ลง

หลวงพ่อ : วางไม่ลง ไม่ลงก็ต้องฝึกให้มันวาง

โยม : มันหนักหัว

หลวงพ่อ : เพราะว่ามันมีอยู่ทางเดียวที่เราจะยับยั้งของเราเอง เราจะพูดว่าอย่างนี้ไง ดูสิพระอาทิตย์มันต้องตก เศรษฐกิจจะดีแค่ไหนก็ต้องเสื่อม ไม่มีจิตใครคงที่ได้ สมาธิคงที่มันไม่มี สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตาทั้งหมด เว้นไว้แต่โสดาบัน สกิทาคา อนาคา เว้นไว้เพราะเป็นกุปปธรรม อกุปปธรรม ฉะนั้นในเมื่อเรายังอยู่ในสภาวะที่ว่า มันยังอยู่ในวัฏฏะ ยังเวียน ยังเป็นอนัตตา ยังเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อยู่ มันก็มีเจริญแล้วเสื่อมเป็นธรรมดา เวลาดีเราก็ แหม ดีใจมากเลย เวลาเสื่อมเราก็เสียใจมากเลย เราก็มาดูโทษ ดูเหตุ ดูผลตรงนี้ เราก็ต้องแก้ไขของเรา ต้องแก้ไขเอง

โยม : ต้องแก้ไขนะครับ

หลวงพ่อ : ใช่ พอเสียใจขึ้นมานี่ หนึ่งแล้วนะ ลงไว้เลย หนึ่งแล้วนะ อย่าอีกนะ

โยม : แล้วพอปฏิบัติที่ผมจะให้ได้เหมือนเมื่อก่อน ก็ต้องหาช่องทางเรียนรู้เอง กลับไปทำเอ ง

หลวงพ่อ : ใช่ ต้องฟื้นกลับมา ถ้าไม่ฟื้นกลับมา ดูสินักกีฬา นักกีฬาที่เขาเป็นแชมป์โลก เขาต้องฟื้นเขาต้องมีความฟิตของเขาตลอดเวลา ถ้าความฟิตเขาไม่ถึงนี่ เขาจะโดนนักกีฬารุ่นใหม่แซงหน้าทันที

จิตของเรามันไม่มั่นคงไม่คลอนแคลนเห็นไหม เราต้องมาฟิตให้จิตเรากลับมามีพื้นฐานอันนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา พอมีสมาธิขึ้นมา มันจะเกิดโลกุตตรปัญญา ฉะนั้นแม้แต่เกิดสมาธินี่ มันเกิดความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ถ้ามีความเป็นสมาธินี่ ไอ้ที่ว่าความโกรธ โทสะๆ มันจะมีไม่ได้ ถ้ามีโทสะมันจะเกิดสมาธิไม่ได้ ตัวสมาธิเป็นเป้าหมายที่เราจะเข้าไปพักจิตเรา โดยที่เราไม่ไปอยู่กับโทสะ อยู่กับโมหะทั้งสิ้น พอไม่ไปอยู่มันก็มีความสุขโดยพื้นฐานละ แล้วถ้าโดยสมาธิอันนี้ ถ้าเราเกิดศีล สมาธิ ปัญญา เกิดปัญญาขึ้นมาเห็นไหม ปัญญาชนมันจะสำรอกกิเลสให้บางลงๆ พอบางลงปั๊บ ไอ้โทสะโมหะมันก็จะเริ่มเบาลงๆ เห็นไหม มันเป็นสูตรสำเร็จของมันในตัวมันเอง เราก็ต้องค่อยๆ ฝืนของเราไป

โยม : เมื่อ ๒ อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมฟุ้งมาก มาคิดแล้วก็เลย คือผมวิ่งไปกราบหลวงปู่บุญฤทธิ์ แล้วก็เลยไปนั่งสมาธิอยู่กับท่าน วันนั้นนี่ปุ๊บก็คือ ๒ อย่าง คือ ๑.ผมวิ่งไปหาหลวงปู่ กับอีกอย่างคือวิ่งมาหาหลวงพ่อ ๒ อย่างที่คิด วันนั้นนี่คือหลวงตาท่านจะจัดงานบุญประทายข้าวเปลือก ผมก็เลย เอ๊ะหลวงพ่อไปงานหรือเปล่า ผมก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนวิ่งไปหาหลวงปู่บุญฤทธิ์แทน คืออ่านแล้วผมก็ มันฟุ้งมาก คือมันฟุ้งจนเราเอาตัวเองไม่อยู่น่ะครับ ผมก็เลยวิ่ง

ผมไม่รู้ว่าผมคิดไปเองหรือเปล่า แต่ผมรู้สึกมันแปลกอย่างว่า ผมไปนั่งสมาธิอยู่กับหลวงปู่นะครับ ท่านก็ไม่ได้พูดอะไร ท่านก็เปิดซีดีแล้วก็นั่ง แต่ทุกครั้งนี่เรารู้สึกว่า เรากลับมานึกถึงอารมณ์ของเมื่อก่อนนี้ คือเรานึกไม่ถึง แต่วันนั้นเราก็นั่งดูลมหายใจ เรารู้สึกว่าเราสงบกว่าเก่า มันสงบแบบยาวๆ ต่อเนื่อง

หลวงพ่อ : ดีมาก

โยม : ผมก็เลยนั่งคิดว่า เอ๊ะ หลวงปู่คอยช่วยกำกับอารมณ์เราหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจนะครับ แต่ก็รู้สึกว่ามันสว่างอยู่ แต่ว่าเราเคยทะลุไอ้ความสว่างนี้ไป แต่มันก็ไม่พ้น พอสว่างปุ๊บเราเผลอไปส่งจิตไปข้างนอกปุ๊บ เรากำลังส่งจิตแต่เรารู้สึกว่าภายใต้ของการส่งจิตไปข้างนอกนี่ เรารู้สึกเหมือนเรารู้ รู้แบบนุ่มๆ แล้วเราก็ดึงกลับมา แต่มันก็ยังมีสติที่มันไม่ไปไกลมากไปกว่านั้นนะฮะ ก็เลยไม่รู้ เอ้..เรา

หลวงพ่อ : เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เป็นสมบัติส่วนตัวทั้งหมด แต่อันที่ไปอยู่กับหลวงปู่นี่ หลวงปู่ท่านนั่งด้วยนี่มันอุ่นใจ มันอุ่นใจ มันเย็นใจ มันปลอดภัย มันแบบว่าใจไม่กังวล ท่านช่วยตรงนี้ได้

โยม : ใช่ คือตั้งแต่ ๒ ปีที่ผ่านมา

หลวงพ่อ : มันอบอุ่นไง

โยม : วันนั้นที่นั่งรู้สึกว่า มันเป็น ๒-๓ ชั่วโมงที่ถึงแม้มันจะมีฟุ้ง แต่ความฟุ้งมันก็ยังมีความสงบ ฟุ้งมันก็ยังมีความสงบ มันแปลก ผมยังกลับมานั่ง เอ๊ะ ๒ ปีที่ผ่านมามีวันนี้ที่มันมีความฟุ้ง แต่ก็ยังมีความสงบ

หลวงพ่อ : มันมาแล้ว พอมันมาแล้วนี่ เราจะบอกว่ากรรมดีกรรมชั่วมันไม่ไปไหนหรอก อยู่ที่จิต สิ่งที่ทำมาแล้วก็อยู่ที่จิต อย่างที่เราพูดอธิบายตั้งแต่ตอนแรก ถ้าจิตมันได้สัมผัสนี่นะ มันแบบว่า หลวงตาถึงบอกว่า พูดจนชินปาก ฟังจนชินหู แต่ใจมันด้าน พอใจมันด้าน พอมันกระทบอะไรมันด้าน

ทีนี้ว่าพอจะด้านหรือไม่ด้านก็แล้วแต่ ถ้าเราฝึกไปแล้ว เพราะว่ากรรมดีกรรมชั่วอยู่ที่จิตทั้งหมด สิ่งที่ทำมาอยู่ที่จิตทั้งหมด มันฟื้นได้หมดล่ะ ถ้าฟื้นไม่ได้นะ จิตเสื่อมแล้วไม่มีโอกาสได้ฟื้นมันหรอก แล้วพวกเราปฏิบัติน่ะ มีจิตเสื่อมกันมาตลอด เดี๋ยวลงบ่อลงเหว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย มันอย่างนี้มาตลอด มันลุ่มๆ ดอนๆ มาทั้งนั้นล่ะ โยมไม่ต้องไปเสียใจตกใจ

อันนี้เพียงแต่ว่า พอจะทำผิดขึ้นมาก็ไม่อยากได้ อยากได้แต่ของดีๆ แล้วจะเอาที่ไหนล่ะ ถ้าเราไม่ทำ

โยม : พอผมไปนั่งกับหลวงปู่มา รู้สึกจะเป็นวันพุธ แล้วพฤหัสศุกร์มานั่งปุ๊บผมก็เลยทบทวนประสบการณ์แล้วก็รู้สึกว่า เออ มันดี ผมนั่งอ่านหนังสือหลวงปู่ท่อน หลวงปู่ท่อนท่านบอกว่า เออ ถ้ามันฟุ้งมากก็ตำหนิ แต่กำราบจิตมากๆ เดี๋ยวจะไม่นอนนะ ผมก็เลยเอาบ้าง เออ มันก็ดีนะ มันก็ได้ แต่ว่ามันก็ได้มา ๒-๓ วันนะครับหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ต่อรองกับมัน ทรุดเลย เห็นไหมน้ำขึ้นน้ำลง เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ

โยม : มันทรุดเหมือนกับว่า ความรู้สึกมันบอกว่า เฮ้ย เราไม่ได้เจริญสติหรือเนี่ย มันเหมือนคนที่ไม่เคยปฏิบัติธรรม หลวงพ่อมันมีโทสะแบบ เฮ้ย เราไม่ได้ปฏิบัติธรรม คือมันไม่สามารถ.. เมื่อวานนี้หลวงพ่อ ผมนี่นะเครียดมาก ปกติถ้าเครียดนี่อย่างน้อย เออเฮ้ย จิตมันปรุงอีกแล้วนะ ก็วาง กลับมาดูมันก็ยัง แต่วันนี้มันอะไรไม่ได้เลย

หลวงพ่อ : คิดอย่างนั้นไม่ได้ คิดอย่างนั้นปั๊บเอามาเปรียบเทียบเห็นไหม เวลาเจริญมันก็เจริญ เวลาเสื่อมมันก็เสื่อม ถ้าเจริญแล้วเสื่อมอย่างนี้ ถ้าเป็นเรานะ ถ้าคิดอย่างนี้ปั๊บเราเห็นโทษของมันปั๊บนี่ เราจะรักษามันยังไง อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดเห็นไหม กำหนดสติไว้เฉยๆ ดูจิตไว้เฉยๆ อย่างนี้ แล้วเสื่อมไปปีกับ ๖ เดือนนะ แล้วว่าหาทางออกยังไง แล้วพอหาทางออกได้แล้วนะ ต้องอยู่พุทโธกับมัน พุทโธกับมัน ตั้งแต่บัดนี้ไปจะไม่เสื่อมเลย ถ้าอยู่กับพุทโธตลอดเวลา มันจะเป็นยังไงก็ช่างหัวมึง ถ้าเสื่อมคราวนี้ท่านจะพูดว่า ถ้าเสื่อมก็ฆ่าตัวตายเลยล่ะ ท่านอยู่กับพุทโธตลอด อยู่ติดตัวตลอด แล้วท่านหาทางออกจนได้

หลวงตาท่านบอกเสื่อมไปปีกับ ๖ เดือนนะ เพราะขาดการคำบริกรรม เพราะมันไม่มีที่เกาะเห็นไหม จิตต้องมีที่เกาะไว้ นี่เราก็มีที่เกาะไว้ กำหนดลมก็ได้ อะไรก็ได้ ต้องมีที่เกาะไว้เกาะ ๑.จิตอยู่กับมันไว้ อย่าปล่อยอิสระ ถ้าปล่อยอิสระทำไมรู้ไหม กิเลสมันบังเงา พอคราวนี้นะเราทำความสงบได้นะ พอคราวหน้ามานะมันเอามึงเจ็บกว่านี้อีก กิเลสมันร้ายนัก แล้วกิเลสโยมเองไม่ต้องกิเลสใครล่ะ

โยม : เพราะผมรู้สึกว่า พอหลังจากผมไปนั่งกับหลวงปู่บุญฤทธิ์มา แล้วผมอ่านหนังสือของหลวงปู่ดูลย์กับหลวงปู่ท่อน ผมรู้สึกว่าเออใช่มันสะท้อนกลับมา แล้วผมก็กลับมานั่งนึกถึงว่า เมื่อก่อนนี้ที่ผมได้ ผมจำลักษณะอารมณ์และอาการได้ แล้วกลับมานั่งแล้วผมเริ่มดึง ผมบอก ๒ ชั่วโมงนี้ผมจะอยู่กับลมหายใจ แต่ถ้าฟุ้งเมื่อไหร่ปุ๊บ ๒ ชั่วโมงนั้นผมดึงกลับมา คือไม่ได้แนบแน่น แต่ว่าเราจะรู้สึกเลยว่า เผลอคิดแล้วผมดึงกลับมาดูลมหายใจ เผลอคิดแล้วดึงมาดูลมหายใจ คือมันทำได้ แต่หลังจากนั้นมานี่มันเหมือนกิเลสมันเอากลับครับหลวงพ่อ มันเอากับเราแรง คือมันไม่ให้เรามีสติเลยฮะ

หลวงพ่อ : ไม่เป็นไร นี่ไงมันถึง ครูบาอาจารย์พูดบ่อย คนอื่นหลอกเรานี่ยังต้องมีข้อมูลนะ ไอ้เราหลอกเรานี่แม่งไม่มีเรื่องอะไรเลย เวลามันเจริญแล้วเสื่อมนี่ เวลามันหลอกนี่แม่งหัวทิ่มเลย

จบเนอะ ชั่วโมงนึงแล้ว จบ เอวัง