ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

โง่แล้วขยัน

๑๒ มี.ค. ๒๕๕๔

 

โง่แล้วขยัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำถามวันนี้มันก็เหมือนเมื่อตอนเช้า ตอนเช้าเราต้องขอโทษผู้ประสบภัยก่อน เพราะมันจะเหมือนกับไปทำอะไรให้เขา อันนี้ก็จะขอโทษหลวงตาก่อน พอพูดไปแล้วมันจะกระเทือนไง เราจะขอโทษ ขอโทษเพราะเราไม่ได้ตั้งใจทำอย่างนั้น แต่เราไม่ได้ทำเพื่อเหตุนั้น

อันนี้มันเป็นที่เราไปเทศน์ไว้วันที่ ๒๓ มันไม่มีหมายเลขนะ อันนี้คำถามสด เราไปเทศน์วันที่ ๒๓ แล้วเขาอ่านประวัติวันนั้น แล้วเขาเอาไปขึ้นในเว็บไซต์แล้วมันก็ขัดแย้งกัน พอขัดแย้งกันมันก็เลยมาเป็นคำถามนี้

อ่านคำถาม : “ขอถามความจริงเรื่องลำดับขั้นตอนการบรรลุธรรมของหลวงตา”

โยมได้อ่านประวัติหลวงตามหาบัวที่ลงไว้ในเว็บไซต์หลวงตาดอทคอม แล้วเอามาเปรียบเทียบกับที่หลวงพ่อสงบเทศน์ไว้ในเรื่อง “กว่าจะเป็นหลวงตา” ในเว็บไซต์สงบดอทคอม”

อ่านแล้วโยมรู้สึกงุนงงมาก จับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะเนื้อหามีความแตกต่างกันในส่วนของลำดับขั้นตอนการบรรลุธรรมของหลวงตามหาบัว

 

ยิ่งถ้าได้อ่านจากแหล่งอื่นอีก ก็ยิ่งแตกต่างกันออกไปอีก โยมจึงไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วความจริงเป็นอย่างไร อันไหนจริงอันไหนคลาดเคลื่อน โยมจึงอยากจะขอคำอธิบายจากหลวงพ่อด้วย

ที่มา ในประวัติหลวงตาในเว็บไซต์หลวงตาดอทคอม ในหัวข้อมหาสติมหาปัญญาลงไว้ว่า… ตอนที่จิตว่างเต็มที่ ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรู้รอบหมดแล้ว มันปล่อยของมันหมดไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความรู้นี้อย่างเดียว มันมีความปฏิพัทธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุม มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียว พออาการใดๆ เกิดขึ้นปั๊บ มันก็ดับพร้อม ถ้าครั้งสมัยพุทธกาลเรียกว่า “มหาสติมหาปัญญา” แต่สมัยทุกวันนี้เรียกว่า “สติปัญญาอัตโนมัติ” ก็เหมาะสมกันแล้ว จิตดวงนี้ถึงได้เด่นและสว่างหมด ท่านนำเรื่องนี้ไปถวายหลวงปู่มั่น ท่านก็พูดขึงขังตึงตังว่า “เอ้อ ถูกต้องแล้ว ได้หลักเกณฑ์แล้ว อย่างนี้ล่ะ ผมเป็นที่ถ้ำสาริกา เป็นอย่างท่านมหานี่แหละ เอาให้ได้การเลย”

หลวงพ่อ: เห็นไหม เขาพูดไว้ตรงนี้ แต่เวลาเราเทศน์ เราเทศน์ว่าที่ถ้ำสาริกา มันอยู่ตรงนั่งตลอดรุ่ง

อ่านคำถาม : คำถาม จากชื่อหัวข้อว่า “มหาสติมหาปัญญา” โดยทั่วไปจะหมายถึงขั้นตอนที่ ๓ พระอนาคามี แต่เขาลงคำตอบรับจากหลวงปู่มั่นว่า “เออ ถูกต้องแล้ว ได้หลักเกณฑ์แล้ว อย่างนี้ล่ะ ผมเป็นที่ถ้ำสาริกา เป็นอย่างท่านมหานี่แหละ เอาให้ได้การเลย”

๑.คือตรงนี้กำลังพูดถึงหลวงตาบรรลุธรรมขั้นอนาคามี แต่คำตอบรับของหลวงปู่มั่น ทำไมถึงตอบรับเป็นขั้นสกิทาคามี?

๒.แล้วมีพระบางรูปบอกว่า “หลวงปู่มั่นบรรลุธรรมที่ถ้ำสาริกา โดยการพิจารณาปฏิจจสมุปบาท” ในขณะที่หลวงพ่อสงบบอกว่า “หลวงปู่มั่นบรรลุธรรมขั้นสกิทาคามีที่ถ้ำสาริกา” ตกลงว่าที่ถ้ำสาริกา หลวงปู่มั่นท่านบรรลุธรรมในขั้นตอนใดกันแน่?

 

นอกจากนี้โยมเห็นว่า มีอีกหลายจุดที่เป็นประเด็นสำคัญ แต่ประวัติหลวงตากลับไม่ได้ลงไว้ ทำให้เนื้อหาขาดการปะติปะต่อ ไม่สมบูรณ์ เช่น

- ขาดเนื้อหาของการพิจารณาในขั้นตอนที่ ๒ พระสกิทาคามี ซึ่งในประวัติจะเห็นได้จากหัวข้อ “โหมเร่งความเพียรเต็มกำลัง นั่งสมาธิตลอดรุ่ง” แล้วข้ามไปเป็นหัวข้อ “ติดสมาธิอยู่ ๕ ปี”

- ขาดเนื้อหาและการแสดงเหตุและผลที่ทำให้หลวงตาต้องติดสมาธิ ๕ ปี

- ขาดรายละเอียดในขั้นตอนที่ ๔ ของพระอรหันต์ ในประวัติหลวงตา กับ “กว่าจะเป็นหลวงตา” ของพระสงบ อ่านดูแล้วรู้สึกเหมือนจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันเลย

ขอความกรุณาให้คำตอบด้วย

หลวงพ่อ : เขาไปอ่านเจอ เขาบอกว่าอ่านประวัติหลวงตาตอนเผา ที่เอาไปเข้าไว้ในเว็บไซต์ แล้วเขาก็อ่าน “กว่าจะเป็นหลวงตา” ของเราที่เอาไปเข้าไว้ในเว็บไซต์ แล้วมันก็จะมาขัดกันตรงนี้ ขัดกันตรงที่ว่า

เขาบอกว่า หลวงตาเวลาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เวลาขั้นพิจารณาปฏิจจสมุปบาท กับพิจารณามหาสติมหาปัญญานี้ แล้วหลวงปู่มั่นบอกว่า “เออ เหมือนเราที่ถ้ำสาริกา”

เราจะบอกนะ เราต้องขอโทษก่อน เราจะขอโทษครูบาอาจารย์ ขณะที่หลวงตายังอยู่เราไม่ค่อยพูดเรื่องนี้เลย เพราะหลวงตายังอยู่ แล้วเวลาเขาพิมพ์หนังสือ เขาก็อ้างกันว่า เอาไปให้หลวงตาได้ตรวจสอบแล้ว.. ตรวจสอบแล้ว..

คำว่า “ได้ตรวจสอบ” แต่การตรวจสอบอย่างนี้มันคือไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเวลาดูของท่านไม่มีหรอก แล้วเมื่อก่อนนะ ในการประพฤติปฏิบัติสมัยก่อนท่านจะเข้มข้นมาก ถ้าผิดเป็นไม่ได้เลย

เราจะขอโทษนะ ขอโทษที่ว่าถ้าพูดไปแล้วมันจะกระเทือนกัน แต่ที่เรากระเทือนกันเพราะหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เวลาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาคุยเรื่องความเป็นอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า “เหมือนพ่อกับลูก” หลวงปู่มั่นจะรักหลวงตามาก เพราะในธรรมชาติของมนุษย์นะ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนหน้านั้นยังไม่มีใครเป็นผู้อุปัฏฐากเป็นกิจลักษณะ พระพุทธเจ้าก็จะมีพระอุปัฏฐากผลัดเวรกันไป เช่น พระนาคิตะเป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถึงเวลาแล้วอยากออกประพฤติปฏิบัติ ก็ขอไปปลีกวิเวก แล้วพระพุทธเจ้าก็บอกว่า “นาคิตะ ไม่มีใครอยู่เลยนะ เธอจะไป แล้วใครจะอุปัฏฐากเราล่ะ”

พระนาคิตะก็เลยวางอัฐบริขารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ แล้วปลีกวิเวกไปปฏิบัติอยู่คนเดียว แต่พอไปปฏิบัติแล้วพระนาคิตะก็ทุกข์ใจขึ้นมาว่า “เราได้สร้างกรรมหนักแล้ว เราอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ แล้วเราหนีมาปฏิบัติเอง” พระนาคิตะทุกข์ใจมาก สุดท้ายต้องกลับไปขอขมา

แล้วก็มีหลายองค์มากที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ จนพระเขาเห็นว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีใครเป็นผู้อุปัฏฐากถาวร ก็เลยลงมติกันเห็นสมควรว่า พระอานนท์ เป็นผู้ที่มีปัญญา จะขอร้องให้พระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากถาวร ก็ไปขอร้องพระอานนท์ก่อน จนพระอานนท์รับปาก พอรับปากแล้ว ก็มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อประชุมสงฆ์ว่า จะให้พระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากถาวร ทีนี้ก่อนพระอานนท์จะเป็นผู้อุปัฏฐากถาวร พระอานนท์ก็ขอพรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๘ ประการ

๑.จะต้องไม่ให้ลาภสักการะหรือมีของมาฝากพระอานนท์

พระพุทธเจ้าก็ถามว่าเพราะเหตุใด เหตุเพราะเขาจะหาว่าพระอานนท์อุปัฏฐากเพราะอยากได้ลาภ

๒.เวลาพระพุทธเจ้าไปเทศน์ที่ใดแล้วกลับมา ถ้าพระอานนท์ไม่ได้ไปด้วยจะต้องกลับมาเทศน์ให้พระอานนท์ฟังด้วย

พระพุทธเจ้าก็ถามว่าเพราะเหตุใด เหตุเพราะว่าเขาจะหาว่า เวลาพระอานนท์อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ แต่ถ้าพระพุทธเจ้าพูดอะไรแล้วพระอานนท์ก็ไม่รู้ แสดงว่าพระอานนท์เลินเล่อ

๓.เวลาที่พระอานนท์ไปรับกิจนิมนต์ของใครมาก็แล้วแต่ เวลามานิมนต์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าต้องรับปาก พระพุทธเจ้าต้องไป

 

ฯลฯ

 

พระอานนท์ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ถ้าจะให้อุปัฏฐากจะต้องให้พร ๘ ข้อนี้แก่พระอานนท์ พระอานนท์ถึงจะยอมอุปัฏฐาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รับปาก พอรับปากแล้วพระอานนท์ก็เป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตลอด

ย้อนกลับมาที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านมีหลวงปู่เจี๊ยะอุปัฏฐากมา หลวงปู่เจี๊ยะขออุปัฏฐากมาตั้งแต่ตอนอยู่ที่เชียงใหม่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเข้าไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค หมอบอกว่า “ตาย.. ตาย.. ตาย..” พอพระไปเยี่ยม พอไปกระซิบถามหมอ หมอก็บอกว่า “ตาย.. ตาย.. หลวงปู่มั่นไม่รอดหรอก” หลวงปู่เจี๊ยะก็อยู่ที่นั่น พระผู้ใหญ่ก็อยู่ที่นั่น พอหมอพูดเสร็จ ท่านเรียกพระผู้ใหญ่เข้ามา “ว่าไง” “เขาบอกว่า ตาย” หลวงปู่มั่นบอกว่า “ไม่ต้องไปฟังเขา กลับ! เรากลับกัน” แล้วไปภาวนาเอง ท่านก็ออกมาจากโรงพยาบาล มาอยู่ที่บ้านหนานแดง

แล้วหลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าท่านเป็นพระเด็กๆ แล้วได้ฟังท่านเจ้าคุณอุบาลีบอกว่า “พระผู้ใหญ่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะ ธาตุไฟมันอ่อน พระเด็กๆ ไม่ต้องไปนวดหรอก แค่เอามือคลำไว้ๆ จับไว้เฉยๆ นี่แหละ แล้วธาตุไฟของเราจะเข้าไปในธาตุไฟของพระผู้ใหญ่”

หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น เอาเงิน ๑ บาทของหนานแดง ไปซื้อนมข้นหวานตรามะลิแล้วมาชงให้หลวงปู่มั่นฉัน หลวงปู่มั่นไม่ยอม หลวงปู่เจี๊ยะก็ออดอ้อน “ครูจารย์.. ครูจารย์.. คนแก่คนป่วย ถ้าไม่ได้ดื่มนมบ้าง ไม่ได้อะไรบ้าง ร่างกายมันจะอ่อนแอ ครูจารย์.. ครูจารย์..” หลวงปู่เจี๊ยะท่านเรียกหลวงปู่มั่นว่าครูจารย์ โอ้ย..ออดอ้อน..ออดอ้อน.. เพื่อให้หลวงปู่มั่นได้ฉันนม

จากนั้นหลวงปู่เจี๊ยะก็มาอุปัฏฐากอยู่ที่หนองผือ ทีนี้หลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นคนภาคกลาง พอจะทำสิ่งใดไป พระที่อยู่ด้วยกันก็ไม่ค่อยให้เกียรติ พอไม่ค่อยให้เกียรติการอุปัฏฐากมันก็มีการติดขัด หลวงตาท่านเล่าให้ฟังและหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็เล่าให้เราฟังเอง

พอหลวงตาท่านเห็นสภาพแบบนั้น หลวงตาก็เข้าไปคุยกับหลวงปู่เจี๊ยะ “เจี๊ยะ เจี๊ยะสอนเรา สอนเรื่องการอุปัฏฐากให้เรา” เสร็จแล้วหลวงตาท่านก็รับต่อจากหลวงปู่เจี๊ยะมา พอรับต่อจากหลวงปู่เจี๊ยะมา ท่านก็ทำได้สมศักดิ์ศรีของผู้อุปัฏฐาก ฉะนั้นหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงตาท่านเป็นผู้อุปัฏฐากเป็นผู้ดูแล

พวกเราพอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราจะต้องการให้ลูกหลานดูแลเรา เพราะเราจะเหงา นี่พูดถึงโลก คนแก่ถ้าไม่มีลูกหลานคอยดูแลก็จะน้อยเนื้อต่ำใจทั้งนั้น เพราะความเศร้าความหงอยความเหงา แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วไม่มี พระอรหันต์ไม่มีหรอก ไม่มีอาลัยอาวรณ์ ไม่มีเศร้าไม่มีเหงาไม่มีหงอย แต่ร่างกายมันอ่อนแอ ร่างกายมันก็ต้องการให้คนช่วยเหมือนกัน ช่วยเอาน้ำล้างหน้า ช่วยเข้าห้องน้ำ ก็ต้องมีคนช่วยเหมือนกัน หลวงตาถึงบอกกับหลวงปู่เจี๊ยะ “เจี๊ยะสอนเรา..เจี๊ยะสอนเรา..” หลวงปู่เจี๊ยะก็สอนหลวงตา พอหลวงตารับไม้แล้ว หลวงปู่เจี๊ยะก็ลาออกมาเที่ยว

ฉะนั้นคนที่อุปัฏฐากคนที่ดูแล ความผูกพันระหว่างหลวงตากับหลวงปู่มั่นถึงเหมือนพ่อกับลูก เป็นพ่อกับลูกเพราะท่านอุปัฏฐากมาหมดทุกอย่างเลย แล้วหลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านก็ภาวนาเป็นด้วย พอภาวนาเป็นขึ้นมาเห็นไหม หลวงตาจะบอกว่า ถ้าเวลาพูดกันเรื่องส่วนตัวนะ เหมือนพ่อกับลูก รักใคร่ เขาผิดหัววัดท้ายวัดก็มาหา อะไรๆ ก็มาหา เพราะว่าท่านคอยช่วยเหลือหมู่คณะ ถ้าใครผิดพลาดขึ้นมา เพราะความตื่นความตกใจ ไม่กล้าต่อปากต่อคำหลวงปู่มั่นหรอก อะไรเกิดขึ้นมาก็ผิด หลวงตาท่านก็เลยหาอุบายขึ้นมาว่า ใครจะทำผิดก็แล้วแต่ ท่านก็มีส่วนร่วม คือผมก็ผิดด้วย ผิดหัววัดท้ายวัดก็มาหา! ใครผิดใครถูกก็มาหา!

ด้วยความผูกพันคือเราจะพูดเรื่องนี้ให้เห็นก่อนว่า เวลาความสัมพันธ์ส่วนตัวนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเรื่องธรรมะมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หลวงตาท่านบอกว่า ท่านรักหลวงปู่มั่นมาก หลวงปู่มั่นก็เมตตาท่านมาก แต่ถ้าพูดเข้าธรรมะทีไรหน้าแตกทุกที ถ้าเข้าธรรมะทีไรกระเด็นทุกที แต่ถ้าพูดกันเรื่องความเป็นไปความเป็นอยู่ส่วนตัวนะ รักเหมือนพ่อกับลูก แต่ถ้าวันไหนหันเข้าหาธรรมะนะ หงายท้องทุกทีเลย คำว่า “หงายท้อง” นี้ก็เพราะหลวงปู่มั่นต้องการให้ลูกหรือให้ผู้สืบทอด ให้ได้ของจริง ให้ได้ความรู้จริง ให้ได้สิ่งที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์จริง เพื่อจะเป็นหลักชัยไปข้างหน้า นี่ความเป็นจริงอันนี้เป็นอีกอันหนึ่ง

 

ฉะนั้นเวลาเราพูด เราถึงขอโทษ เพราะเราจะพูดเรื่องความจริง เราไม่ได้พูดเพื่อกระทบกระเทือนหมู่คณะ เราเป็นห่วงนะ เราเป็นห่วงว่าหลักเกณฑ์ในกรรมฐานของเรา หลักเกณฑ์ในสัจจะของเรามันจะบิดเบือนกันไป ฉะนั้นสิ่งที่เราจะพูดคือเราพูดตรงนี้ เราพูดถึงสัจจะ เราพูดถึงความจริง แต่หมู่คณะเพื่อนฝูงก็ยังเป็นหมู่คณะเพื่อนฝูงเหมือนเดิม แต่ความผิดหรือความเป็นหลักเกณฑ์มันก็ต้องเป็นหลักเกณฑ์ มันไม่ใช่เรื่องลูบหน้าปะจมูก

 

ฉะนั้นสิ่งที่เขาพูดมานี้มันผิดหมด เราจะบอกว่า “โง่แล้วขยัน” ไอ้พวกโง่แล้วขยันนี้จะทำให้ทุกอย่างผิดหมด ทำความผิดอย่างนี้แล้วก็มาบอกว่า “สรรพสิ่งใดก็เอาไปให้หลวงตาอ่านแล้ว สรรพสิ่งใดก็ให้หลวงตาดูแล้ว”

เวลาเขาไซฟ่อนเงินนะ ในบริษัทหลักทรัพย์เขาไซฟ่อนเงินออกมา เขาไซฟ่อนเงินไปทางไหน ไอ้นี่ก็เหมือนกันที่เขาบอกว่า “หลวงตาอ่านแล้ว..หลวงตาอ่านแล้ว..”

มึงจะไซฟ่อนธรรมะไปอยู่กับมึงหรือ? มึงจะเอาความดีไปอยู่กับมึงหรือ?” ไอ้ที่พูดว่า “หลวงตาอ่านแล้ว..หลวงตาอ่านแล้ว..” แล้วก็มีออกมาอย่างนี้มันมีเหตุผลสิ่งใด

อย่างเช่นที่เขาบอกว่า เวลาพิจารณามหาสติมหาปัญญา แล้วหลวงปู่มั่นบอกว่า“เออ ถูกต้องแล้ว ได้หลักเกณฑ์แล้ว”

ได้หลักเกณฑ์อย่างไร…?

อะไรมันคือหลักเกณฑ์…?

มหาสติมหาปัญญามันคือหลักเกณฑ์ตรงไหน…?

หลักเกณฑ์มันจะต้องตั้งแต่เริ่มต้นนะ

เสียดายวันที่ ๔ เราไม่ได้เทศน์ ถ้าวันที่ ๔ ได้เทศน์จะเรียงอย่างนี้มาเลย วันที่ ๔ ไม่ได้เทศน์แต่เดี๋ยวจะไปเทศน์วันพระ วันที่ ๑๙ เรื่อง “เสียงธรรมหลวงตา” แต่ตอนนี้จะเอาอันนี้ก่อน แล้วเอาไว้วันที่ ๑๙ จะเทศน์ เพราะมันมีเหตุการณ์อย่างนี้แล้วเราจะพูด เราไม่อยากพูดหรอกมันเหมือนกับว่าอวดดีอยู่คนเดียวไง

เราจะบอกนะ เวลาท่านปฏิบัติ สาธุ! ตอนที่ปฏิบัติไม่เป็น ใครก็ไม่เป็น เราก็ไม่เป็น ไม่มีใครปฏิบัติเป็นหรอก แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมามันก็มีผิดถูกเป็นธรรมดา แล้วทุกคนเวลาไม่มีทางออก มันก็ทำด้วยความศรัทธา เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติใหม่ เห็นไหม ท่านมีศรัทธา แล้วอุปัชฌาย์บอกให้พุทโธ “๗ ปีเป็นสมาธิอยู่ ๓ หน”

อันนั้นคือพุทโธตลอด ด้วยศรัทธา ศรัทธาคือความเชื่อมั่น จิตเป็นเอกภาพ ทำด้วยความตั้งใจ มันเป็นไปได้ แต่พอมาเรียนเป็นมหา พอเรียนจบมหาขึ้นมา ก็มีปัญญาขึ้นมาใช่ไหม มีความรู้มาก ทางทฤษฎีนี่รู้เยอะมาก ก็เลยมากำหนดจิต ดูจิตเฉยๆ ไม่ได้พุทโธ มันก็ทำได้ ทำได้เพราะอะไร ทำได้เพราะคนนั้นคนจริง คนนั้นมีศักยภาพจริง

ตอนอยู่จำพรรษาที่จักราช ทำสมาธินี้แน่นเหมือนหินเลย แต่พอไปทำกลดหลังหนึ่ง เห็นไหม เสื่อมเลย เริ่มเข้าไม่ได้แล้ว ก็ทิ้งกลดเลยแล้วพยายามจะต่อสู้กับตัวเอง พยายามจะแก้ไขเพราะเคยทำได้ แล้วมันไม่ได้เลย เสื่อมอยู่อย่างนั้น ๑ ปีกับ ๖ เดือน

แล้วพอไปเจอหลวงปู่มั่น ตอนไปหาหลวงปู่มั่นครั้งแรก หลวงปู่มั่นมาต้อนรับ พอบอกว่าเป็นมหาชื่ออะไรแล้ว พอมั่นใจแล้ว “คราวนี้เจอแล้ว แล้วเราจะจริงหรือเปล่า?”

เวลาท่านพูดในหนังสือ คนที่จะเอาไปเขียนก็เรียบเรียงดูซะก่อนสิ..! โง่แล้วขยันอย่างนี้มันทำให้เสียหายหมด ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ซะ ไม่รู้แต่ก็เขียนให้มันมั่วไปหมดเลย หลักเกณฑ์ไง ที่หลวงปู่มั่นบอกกับหลวงตา เห็นไหม ถ้าความเป็นอยู่ก็เหมือนพ่อกับลูก แต่ถ้าความจริงไม่ได้! ความจริงคือความจริง!

ในเมื่อจิตมันยังไม่เป็นไป พอจิตมันไม่เป็นไปมันเสื่อมหมดแล้วจะทำอย่างไร สุดท้ายแล้วพอไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ที่หลวงปู่มั่นบอกว่า “…จิตมันไม่มีอาหารกิน…” ท่านก็สู้นะ ภาวนาไปเรื่อยๆ เพราะเวลาท่านพูดอะไรเราจะจับประเด็นได้ ท่านบอกว่า “ธรรมดาเราก็ไม่ได้ตั้งใจนั่งตลอดรุ่งหรอก แต่พอนั่งไปนั่งไป มันมี….” เหมือนเวลาคนเรานั่ง เห็นไหม เดี๋ยวก็จะปวดท้องเยี่ยว เดี๋ยวก็จะอย่างนู้น คือมันมีกิเลสขึ้นมาไง แต่ทีนี้คนมันเข้มแข็ง “อื้ม.. ถ้าอย่างนี้ต้องสู้กัน! อย่างนี้ต้องตลอดรุ่ง!”

คำว่า “ตลอดรุ่ง” ก็เหมือนกับเราทำงาน ถ้าเราไม่มีเหตุมีผลแล้วเราจะทำงานอะไร เดินจงกรมแค่ ๒ นาทีก็เบื่อแล้ว นั่งสมาธิ ๕ นาทีก็จะเลิกแล้ว แต่พอคนไปนั่งแล้วมันมีเหตุมีผล เวลาไปเดินจงกรมแล้วมันมีงานทำ มันก็ทำให้ตั้งใจ พออย่างนั้นปั๊บ พอนั่งตลอดรุ่ง พอนั่งไปแล้ว จิตนะ มันไม่ใช่ว่านั่งตลอดรุ่ง ๖ โมงเย็น นั่งลงไปแล้วมันจะถอนสมาธิตอน ๖ โมงเช้า ไม่มีหรอก! ไม่มี

เวลารวมใหญ่ รวม ๒ ชั่วโมงหรือ ๓ ชั่วโมงหรือ ๑ ชั่วโมง แล้วแต่ว่าบางครั้งบางคราว มันไม่มีหรอกว่านั่งแล้วจะกำหนดเวลาได้ ทีนี้พอมันนั่งไปแล้วตลอดรุ่ง ๑๒ ชั่วโมง มันก็ต้องมีถอนออกมา พอถอนออกมาก็ต้องสู้กันให้มันหลบเข้าไปอีก มันลงสมาธิอีกก็ถอนเข้ามา สู้กันมาตลอด

ฉะนั้นพอสู้กันมาตลอดจนมันถึงที่สุดแล้ว คนเรานะ คนไม่เคยทำงาน พอใครได้ทำงาน โอ้โฮ พอมันได้ผลงานทุกคนจะดีใจมาก ก็ขึ้นไปรายงานผล อันนี้ล่ะที่หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “เอ้อ ถูกต้องแล้ว จิตมันไม่ตาย ๕ อัตภาพเว้ย” นี่ล่ะโสดาบัน เพราะอะไร เพราะจิตสงบแล้วมันต่อสู้กับเวทนา พอต่อสู้กับเวทนาท่านก็สู้ไปเรื่อย ท่านต่อสู้ของท่านไปเรื่อย ทุกคืนๆ เว้น ๒ คืน ๓ คืนแล้วก็เอาที พอเว้น ๒ คืน ๓ คืนก็เอาที แล้วหลวงปู่มั่นท่านเห็นว่า มันจะเกินไปแล้ว ท่านถึงบอกว่า “ม้านะ ม้าถ้ามันคึกคะนอง เขาก็จะไม่ให้มันกินน้ำกินหญ้า แต่ถ้ามันพอประมาณเขาก็ให้มันกินเล็กน้อย แต่ถ้าม้ามันดีเขาก็จะให้กินตามปกติ”

นั่นท่านเตือนกันแค่นี้เอง เพราะทุกคนมันนักปัญญาด้วยกัน เขาก็จะรู้ว่าอะไรควรไม่ควร

พอนั่งไปก็พิจารณาซ้ำ โสดาบันมีหนเดียวนะ สมุจเฉทปหานนี่มีครั้งเดียว พอพิจารณาซ้ำเข้าไป..ซ้ำเข้าไป..

ฟังให้ดี! ฟังให้ดีนะแล้วไปหาหลักฐานมา คำเทศน์ของท่านนั่นไปเปิดดูให้ชัดๆ แล้วไปเก็บหลักฐานมาโต้แย้งข้อมูลที่นี่!

พอพิจารณาไป..พิจารณาไป.. ครั้งแรกเห็นไหม พอพิจารณาไป “เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา” นี่คือได้โสดาบัน ทีนี้ก็นั่งตลอดรุ่งต่อไป มันสืบต่อไป ท่านบอกท่านก็พิจารณาของท่านไป พิจารณากายไปนะ กายกลับคืนสู่สภาพเดิมของเขา น้ำเป็นน้ำ ดินเป็นดิน ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันปล่อยหมด มันแยกหมด พอมันแยกหมดมันก็ขาด อย่างนี้คือรวมใหญ่ เหมือนของหลวงปู่มั่นที่ถ้ำสาริกา

พอรวมใหญ่ขึ้นไปแล้วมันมีความสุขมาก ถ้าใครมาถึงขั้นตอนนี้มันจะมีความสุขมาก พอมันมีความสุขของมัน มันก็ฝังใจ พอฝังใจก็ขึ้นไปหาท่านอีก ขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น ไปบอกว่า “ทำไมไม่เป็นอย่างนั้นอีก ทำไมไม่รวมอย่างนี้อีก” หลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่งก็เพราะอยากจะให้มันเป็นอย่างนี้อีก

แล้วหลวงปู่มั่นท่านก็บอกว่า “มันก็เป็นหนเดียวเท่านั้นแหละ มันจะบ้าเรอะ เป็นเหมือนเราที่ถ้ำสาริกานี่เป็นอย่างนี้”

เป็นอย่างนี้คือมันอยู่ที่ในขั้นที่นั่งตลอดรุ่ง ไม่เกี่ยวกับมหาสติมหาปัญญา ไม่เกี่ยวกันเลย! ไม่เกี่ยวกัน!! อย่าไซฟ่อนความดี อย่าไซฟ่อนเงินของเขา อย่าไปทำลายหลักการของหลวงตา อย่าไซฟ่อนออกไป! ถ้าไปพูดว่าเป็นสภาวะแบบนั้น มันไม่เป็นความจริง

ฉะนั้นพอท่านบอกว่า “มันก็เป็นหนเดียวเท่านั้นแหละ เป็นเหมือนเราที่ถ้ำสาริกา มันก็เป็นหนเดียวเท่านั้นแหละ” คนเราพอภาวนาไปแล้ว ถ้าเป็นหนเดียวเท่านั้นแหละแล้วมันจะมีข้างหน้าอีกไหม มันจะมีข้างหน้าอีกไหมก็มันเป็นแล้วนี่

จะบอกว่าที่ท่านติด ๕ ปี โดยธรรมชาติของการปฏิบัติมันก็ต้องมีติดบ้าง หลวงปู่มั่นท่านก็ติดของท่านมาตลอดแล้วท่านก็แก้ไขของท่านมา ฉะนั้นหลวงตาเวลาท่านมาติด ๕ ปี เพราะมันมีคำพูดของหลวงปู่มั่นเข้ามารองรับด้วยไง

ธรรมดาของคนเรา ถ้าเราทำอะไรแล้วเรามีผลงานแล้วเราก็มั่นใจใช่ไหม แล้วยังมีคนมาพูดอีกว่า “มันมีหนเดียว” แต่คำว่า “หนเดียว” คือมันหนเดียวเฉพาะตรงนี้แต่ข้างหน้ามันจะต้องไปอีก ทีนี้พอมีความเข้าใจอย่างนั้นแล้วท่านก็อยู่ตรงนี้เลย ติดอยู่ตรงนี้ ๕ ปี จนหลวงปู่มั่นบอกว่า “มหา จิตเป็นอย่างไร? จิตเป็นอย่างไร?”

จนสุดท้าย “จิตเป็นอย่างไร?”

“จิตดีครับ”

แล้วหลวงปู่มั่นก็บอกว่า “สุขอย่างนั้น มันสุขเศษเนื้อติดฟัน”

ด้วยความกระทบ ด้วยความที่ครูบาอาจารย์ท่านชักท่านลากออกมา หลวงตาท่านก็ออกมาพิจารณา

การพิจารณา จะพิจารณาในอะไร? ไม่มีทางพิจารณาได้นะ จิตของคนพอสงบแล้วมันพิจารณาไม่ได้หรอก จิตของคนสงบแล้วถ้าจะมาพิจารณา มันจะต้องเห็น เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม การเห็นนั้นคืออะไร คือการขุดคุ้ยหากิเลส

อย่างเช่นที่เราทำความสงบของใจแล้วเราจะพิจารณากาย นั่นเราพิจารณาอะไรกัน? ที่เราพิจารณากายกันอยู่นี้ มันคือการคิดการพิจารณาโดยสามัญสำนึก ไม่ได้พิจารณาโดยอริยสัจ!

ส่วนการพิจารณาโดยอริยสัจ พอจิตสงบแล้วมันเห็นกาย พอเห็นกายถ้าเห็นกายจริงโดยจิตนะ มันจะขนพองสยองเกล้า ถ้าพิจารณาอย่างนี้ไปมันจะเป็นโสดาบัน พอพิจารณาโสดาบันจบแล้ว จับกายได้ ทำซ้ำไป พิจารณาไปมันจะกลับคืนสู่สถานะเดิมของมัน เห็นไหม เหมือนกับเว่ยหลาง ที่ว่า “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” ถ้าพิจารณาไปจนดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ กลับคืนสู่สภาวะเดิมของเขา จิตมันแยกออกมา โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” ราบหมด ราบหมดแล้วเว่ยหลางก็ติดอยู่ตรงนี้ ครูบาอาจารย์ก็ติดตรงนี้

คนภาวนาเป็นมันจะรู้! มันจะรู้ขั้นตอนของมัน ถ้าคนภาวนาไม่เป็นก็คือไม่เป็น พอไม่เป็นก็จับต้นชนปลายไม่ถูก เห็นไหม

สุดท้ายแล้วพอหลวงตาท่านออกพิจารณา ท่านก็บอกว่าท่านเห็นอสุภะ การเห็นอสุภะนี่ล่ะคือมหาสติมหาปัญญา

ถ้าพูดถึงเรื่องการพิจารณากาย พิจารณากายครั้งแรกเป็นพระโสดาบัน พิจารณากายละสักกายทิฐิ พิจารณากายครั้งที่ ๒ มันจะละอุปาทาน อุปาทานคือความยึดมั่น คือความยึดติดในกายนั้น พอละอันนี้เสร็จปั๊บมันจะปล่อยหมด พอปล่อยหมดจะเข้าอสุภะนี่มันหาได้ยากมาก มันติดหมด ทำไมหลวงปู่คำดีติด ทำไมหลวงปู่ฝั้นติด ทำไมครูบาอาจารย์ติด ติดหมดทุกองค์ติดหมด ติดคือการที่จิตมันไม่เห็นกายตามความเป็นจริง

ฉะนั้นพอออกไปพิจารณาอสุภะ คำว่า “พิจารณาอสุภะ” ก็คือมันจับกายได้ พอจับกายได้มันก็พิจารณาไป ท่านบอกว่ามันจะเร็วมาก ของที่ถูกต้องคือ ท่านได้ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ไปบอกว่า “ที่บอกให้ออกพิจารณาก็ออกพิจารณาแล้วนะ ตอนนี้นอนไม่ได้เลย ตอนนี้ไม่ได้นอนเลย” ความจริงมันคือข้อนี้ ความจริงของขั้นมหาสติมหาปัญญาคือตอนนี้ นอนก็ไม่ได้นอน หลับก็ไม่ได้หลับ ทุกข์มาก.. ทุกข์มาก.. พอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็บอกว่า “ไอ้บ้าสังขาร” ถ้าขั้นมหาสติมหาปัญญา บอกว่า “ไอ้บ้าสังขาร” มันจะถูก แต่ถ้าขั้นมหาสติมหาปัญญา บอกว่า “เออ ถูกแล้ว ได้หลักได้เกณฑ์แล้ว ผมก็เป็นที่ถ้ำสาริกา”

ไอ้ขี้โม้!! ไอ้หลอกลวง!! มึงเอามาจากไหน?!! ไอ้โง่แล้วขยัน มึงเอามาจากไหน! ไม่มีในความเป็นจริง ไม่มีในความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นขั้นมหาสติมหาปัญญา แล้วหลวงปู่มั่นบอกว่า “ไอ้บ้าสังขาร.. ไอ้บ้าสังขาร..” ถ้ามันใช้ปัญญามากต้องกลับมาที่พุทโธ..ต้องกลับมาที่พุทโธ หลวงตาท่านบอกว่า ท่านต้องกลับมาที่พุทโธเหมือนกับเด็กๆ เลย เหมือนกับผู้ฝึกหัดใหม่เลย เพื่อจะได้ให้จิตมันพัก ถ้าจิตมันไม่ได้พัก มันทำงานของมันโดยมรรคญาณไป มันจะทำงานของมันด้วยความเพลิดเพลิน มันจะแรงของมันไป ก็ออกสู่ข้างนอกหมด

ถ้าขั้นของมหาสติมหาปัญญา หลวงปู่มั่นจะบอกว่า “ไอ้บ้าสังขาร” แต่ถ้า “เออ ถูกต้องแล้ว ได้หลักการหลักเกณฑ์ถูกต้องแล้ว” นี่คือขั้นโสดาบัน ขั้นแรก! ไม่เกี่ยวกัน!!

เวลาพิจารณาธรรมของท่านไปจนถึงที่สุด พอถึงที่สุดแล้ว มันจะกลืนเข้ามาที่ใจ แล้วมันทำลายลง พอมันทำลายลงที่ใจแล้ว นี่ล่ะที่ว่าจิตว่าง

พอคำว่า “จิตว่าง” นี่ก็อีกล่ะ ในประวัติที่เขาอ่านตอนเผา บอกว่า “ตอนที่จิตว่างเต็มที่ ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ….”

หลวงตาท่านไม่เคยพูดอย่างนี้เลย ท่านพูดว่า “ขั้นนามธรรม รูปไม่มี ท่านบอกเป็นขันธ์ ๔ คือมี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ” อันนี้เป็นวิทยานิพนธ์ของหลวงตา

แล้วถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ของหลวงปู่คำดีก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ของหลวงปู่ชอบก็อย่างหนึ่ง วิทยานิพนธ์ของหลวงปู่เจี๊ยะก็อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ของหลวงปู่ขาวก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

อันนี้เป็นวิทยานิพนธ์ของท่าน มันเลยไม่ขัดแย้งกัน แต่ในความเป็นจริง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็มีรูป แต่มีรูปในการวิทยานิพนธ์ของผู้อื่น แต่เวลาของท่าน ท่านบอกว่า “ของท่านเป็นขันธ์ ๔ ขันธ์ ๔ มันเป็นนามธรรมล้วนๆ มันมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรู้ของมัน”

แต่อันนี้มันไปเอามา หลวงตาเวลาท่านพูดแต่ละครั้ง คำพูดนั้นมันสอนใคร เหมือนเวลาเราพูดกับคนในบ้านของเรา เราก็พูดอย่างหนึ่ง ถ้าเราพูดกับผู้ที่เราไปติดต่อประสานงานเราก็พูดอย่างหนึ่ง เราพูดกับเจ้านายพูดกับผู้ที่สูงกว่าเราก็พูดอย่างหนึ่ง อันนี้ก็เหมือนกัน ธรรมะเวลาพูดกับผู้ปฏิบัติ แล้วผู้ปฏิบัตินั้นอยู่ในขั้นตอนไหน ถ้าพูดกับผู้ปฏิบัติที่เริ่มขั้นตอนแรก ท่านก็พูดแบบเปรียบเทียบ อย่างเช่นบอกว่า “ธรรมะมีอยู่แน่นอน แต่มันมีจอกแหนมันบังอยู่ ถ้าแหวกจอกแหนก็จะเห็นน้ำแน่นอน” อันนี้มันเป็นธรรมะขั้นยืนยันว่าธรรมะมีจริง

แต่เวลาท่านพูดถึงหลักเกณฑ์ของท่าน เวลาใครภาวนาเป็นขึ้นไปแล้ว ท่านก็จะบอกว่า “จอกแหนนี้เราต้องรวบมันขึ้นมา แล้วเอาจอกแหนขึ้นไปบนบก ตากให้แห้ง แล้วต้องเผามันทิ้ง” เวลาท่านพูดมันเป็นหลักเป็นเกณฑ์เป็นชั้นเป็นตอน ฉะนั้นเวลาคำพูดของท่านนั้นท่านพูดกับใคร แล้วคนนั้นภาวนาเป็นหรือเปล่า

ถ้าท่านพูดกับคนที่ไม่ภาวนา ท่านก็จะพูดเป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง พูดให้มีกำลังใจ แต่ถ้าเวลาจะพูดกับผู้ปฏิบัติขั้นตอนโสดาบัน ท่านก็พูดหยาบๆ นะ สกิทาคามี อนาคามี พอถึงขั้นของอนาคามีกำลังจะขึ้นอรหันต์ ท่านจะพูดแบบละเอียดยิบเลย ผิดนิดหนึ่งก็ไม่ได้เลย

ฉะนั้นถ้าจะอ้างว่า “ก็เป็นคำพูดของท่านจริงๆ”

เวลาพูดกับผู้ปฏิบัติที่ท่านบอกว่าต่อปากต่อคำ ท่านพูดคลาดเคลื่อนไม่ได้เลย แต่เวลาพูดกับพวกปฏิบัติไม่เป็น มันก็ต้องพูดแบบยกตูด เวลาท่านยกตูดนักภาวนาเคยได้ยินไหม เวลาหลวงตาท่านพูดแบบยกตูดไอ้พวกภาวนา เพราะกลัวมันจะน้อยใจ กลัวมันจะไม่ปฏิบัติ ท่านก็บอกว่า “เออ ถูกต้อง ดีงาม” ไอ้พูดอย่างนี้คือพูดแบบยกตูด ท่านพูดแบบรักษาน้ำใจก็มีเยอะไป

คำพูดธรรมะของหลวงตาในช่วงท้ายๆ หลังๆ มานี้ท่านพูดแบบรักษาน้ำใจ ถ้าพูดแบบรักษาน้ำใจกับข้อเท็จจริงที่ท่านจะพูดแบบเข้มข้นมันแตกต่างกันไหม เราจะบอกว่าเดี๋ยวเขาก็จะบอกว่า “สิ่งที่เอามาเขียนนี้ก็เอามาจากหลวงตาทั้งนั้น ก็มีเทปหลวงตาเหมือนกัน ก็เอามาจากหลวงตานี่แหละ”

แต่เอามาจากหลวงตาแล้วหลวงตาท่านพูดกับใคร? หลวงตาพูดกับผู้ปฏิบัติ หรือหลวงตาพูดกับผู้อ่อนหัด หรือพูดกับพวกเด็กๆ ที่เริ่มปฏิบัติ ท่านพูดกับใคร?

ฉะนั้นถ้าจะอ้างว่า “หลวงตาพูด ทำตามความเป็นจริง”

อย่าไซฟ่อนธรรมะของหลวงตา อย่าไซฟ่อนให้ธรรมะนี้อ่อนแอลง แล้วหลักเกณฑ์มันจะไม่เหลือ หลักเกณฑ์มันจะไม่มี

ฉะนั้นในขั้นที่บอกว่ามันว่างหมด เห็นไหม “….มันมีความปฏิพัทธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุม มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียวพออาการใดๆเกิดขึ้นพั๊บ มันก็ดับพร้อม ถ้าครั้งพุทธกาล เรียกว่า มหาสติมหาปัญญา….”

อันนี้คือท่านพูดแบบเปรียบเทียบเป็นบุคคลาธิษฐานให้เห็น อย่างเช่น คนทำงานประสบความสำเร็จ แล้วจะบอกคนที่ทำงานไม่เป็น เขาก็จะยกการทำงานนั้นมาให้เห็นแบบอย่าง แต่การทำงานอย่างนั้นมันจะมีรายละเอียดอีกมหาศาลเลย

 

ท่านก็นำเรื่องนี้ไปเล่าถวายหลวงปู่มั่น ท่านก็พูดอย่างขึงขังตึงตังว่า “เอ้อ! ถูกต้องแล้ว ได้หลักได้เกณฑ์แล้ว อย่างนี้ละ... ผมเป็นที่ถ้ำสาริกา….”

เวลาท่านพูดอย่างนี้ แล้วเราก็เอามาคิดเองเออเองว่าเป็นมหาสติมหาปัญญาเลยหรือ? เป็นเลยหรือ?

เพราะเราเห็นมาเยอะ เห็นมาตลอดนะ ในหนังสือที่พิมพ์ออกมาๆ เมื่อก่อนจะไม่ได้เลย ตอนที่ท่านยังเข้มข้นอยู่ แต่สุดท้ายแล้วท่านเห็นว่า มันเอากันไม่อยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านั้นก่อนที่ท่านจะออกมาช่วยโลก เรื่องธรรมะนี้ท่านจะตรวจเอง แล้วทุกอย่างจะผ่านท่านเอง เพราะว่าเรื่องกรรมฐาน ต้องเป็นคนปฏิบัติมันถึงจะรู้ได้

คนปฏิบัติเหมือนกับนักบินอวกาศ จะออกนอกโลกนะ เวลาความเร็วของจรวดจะออกจากแรงดึงดูดของโลก ถ้าออกไม่ถูกเวลาออกไม่ถูกสถานที่ ก็ออกไม่ได้ ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไป จะคลาดเคลื่อนนิดหนึ่งไม่ได้เลย แล้วถ้าคลาดเคลื่อนนิดหนึ่งไม่ได้ เวลาพูด ผู้ปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติพูดคุยกัน เขาจะฟังออกเลยว่าคนนั้นเป็นหรือไม่เป็น

ฉะนั้นตอนที่ท่านยังเข้มข้นอยู่ เรื่องอย่างนี้ท่านจะตรวจสอบเองหมด แต่พออกมาไทยช่วยไทยแล้ว ออกมาช่วยโลกแล้ว มันมีกรณีอย่างนี้ขึ้นมา คนโน้นก็พิมพ์คนนี้ก็พิมพ์ แล้วพอใครพิมพ์แล้วก็จะไซฟ่อนเอาความดีใส่ตัว ไซฟ่อนเอาธรรมของหลวงตาออกไปหมดเลย

มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราเห็นแล้วเราก็พูดไม่ออก อย่าให้เอ่ยชื่อหนังสือหลายเล่มเลยนะ หนังสือที่พิมพ์มาหลายเล่มมากที่มันเป็นความเห็นของผู้เขียน แต่ถ้าผู้เขียนจะบอกว่าเป็นความเห็นของตัว มันก็ไม่มีใครจะรับแจกใช่ไหม ก็เลยบอกว่าอันนี้หลวงตาเทศน์ ทั้งที่มีหลวงตาเทศน์อยู่แค่ ๒ คำ นอกนั้นมันเขียนเองหมดเลย เราเจออย่างนั้นมาเยอะ ฉะนั้นถ้าจะพูดบอกว่า “ก็หลวงตาเทศน์” ถึงจะหลวงตาเทศน์ก็เทศน์เป็นการรักษาน้ำใจ ไม่ใช่ความจริง

อ่านคำถาม: ขาดเนื้อหาในขั้นตอนที่ ๒, มันเป็นขั้นที่ ๓ นี่อีกเรื่องหนึ่ง, เนื้อหาขาดความเป็นจริง, ติดสมาธิ ๕ ปี

หลวงพ่อ: รายละเอียดมันก็ใช่หมดแล้วล่ะ อันนี้มันเป็นคำถามมาด้วย เพราะว่าเขาเอาไปออกในเว็บไซต์ แล้วพอคนเข้าไปอ่านมันก็ต้องเป็นประเด็น แล้วประเด็นนี้เราก็ดูมาอยู่แล้ว เราถึงบอกว่า “ไอ้พวกนี้โง่แล้วขยัน” ถ้าโง่แล้วขยันมันก็จะสร้างปัญหาขึ้นมา แล้วมันก็จะมีปัญหาไปข้างหน้า

เราจะบอกว่า ถ้ามีปัญหาอะไรก็ให้เขาแสดงออกมา แล้วเดี๋ยวเราจะแก้ไขไป เราก็อยู่ที่นี่ เราไม่ได้ไปไหนหรอก ไม่ต้องห่วงว่าเราพูดแล้วเราจะหนีไปไหน เพียงแต่ว่า เพราะเราไปเทศน์วันที่ ๒๓ เรื่องนี้เราเห็นมานานแล้ว ฉะนั้นมันยังไม่ใช่เวลา แต่พอวันที่ ๒๓ เราได้ไปเทศน์ เราก็ไปเรียงไว้ให้เป็นหลักเกณฑ์ เห็นไหม

ถ้าเขาจะเขียนอย่างนี้มันก็ขัดแย้งกันอยู่แล้ว ถ้ามันจะขัดแย้งกันอยู่แล้วทำไมไม่ถามเราซักคำหนึ่ง ถ้าไม่ถามแสดงว่า ข้อมูลเอ็งถูก ข้อมูลข้าผิด ถ้าข้อมูลเราผิด เราพูดแล้ววันนี้ ถูกหรือผิด? แล้วถ้ายังมีปัญหาก็ให้ดำเนินต่อมา เราถึงบอกว่า อันนี้คือโง่แล้วขยัน

ขอตอบปัญหานี้ซัก ๒-๓ หน้านะ เพราะว่ามันค้างไว้เยอะ แล้วมันใกล้เคียงกันด้วย

 

ถาม : ๓๔๘. ผมภาวนาผิดพลาดตรงไหน และควรแก้ไขอย่างไรครับ?

หลวงพ่อ: อันนี้มันเหมือนกันเลยนะ เห็นไหม ความเห็นคล้ายๆ กัน แล้วมีความเข้าใจผิดเหมือนกัน

ถาม : ผมภาวนาโดยความรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ควบคู่ไปกับการรู้ลมหายใจ และนึกพุทโธเร็วๆ ผมจึงเห็นความรู้สึกของตัวเองว่า

หลวงพ่อ: อย่างนี้แล้วเขาก็คิดว่านี่เป็นธรรมไง ฟังนะ

ถาม: ๑. อารมณ์ต่างๆ เช่น ความพอใจหรือความไม่พอใจ ความสุขและความทุกข์ หรือความอยากในกามราคะ อารมณ์เหล่านี้มีการขยับตัวยิบๆ แย็บๆ แล้วก็ดับไป แต่จิตที่นึกพุทโธๆ นี้ไม่ดับ จิตที่นึกพุทโธๆ นี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

หลวงพ่อ: นี่คือคำพูดของเขานะ นี่คือคำถาม

ถาม: ๒. อารมณ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวมา มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา แต่จิตที่นึกพุทโธๆ เร็วๆ เป็นตัวเรา เป็นของของเรา อารมณ์กับจิตที่นึกพุทโธนี้จึงไม่ใช่ตัวเดียวกัน

๓. เวลามีเรื่องมากระทบจิต จนเกิดความทุกข์ในใจขึ้นมา ความทุกข์จะอยู่ในส่วนของอารมณ์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกิดและดับได้ แต่จิตที่นึกพุทโธๆ นี้ไม่มีความทุกข์ จิตที่นึกพุทโธนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นผมจึงไม่ทุกข์ใจในความทุกข์ที่เกิดขึ้น

๔. เวลาผมพิจารณาอสุภะ ความอยากในกามราคะจะขยับตัวยิบๆ แย็บๆ แล้วดับไป แต่จิตที่นึกพุทโธๆ ไม่ดับ

๕.ตราบใดที่ผมนึกพุทโธๆ เอาไว้เรื่อยๆ จิตที่นึกพุทโธๆ จะไม่ดับ จิตที่นึกพุทโธๆไม่มีการเปลี่ยนแปลง จิตที่นึกพุทโธๆ เป็นตัวเรา เป็นของของเราอยู่ตลอดเวลา

ขอรบกวนเรียนถามหลวงพ่อว่า ผมภาวนาผิดพลาดตรงไหนและควรแก้ไขอย่างไร

กราบขอความกรุณาหลวงพ่อ ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

 

หลวงพ่อ : มันก็เป็นจินตนาการ เป็นวิปัสสนึก เพราะเราศึกษากันมา เห็นไหม พอเราพุทโธๆ ไปแล้วเห็นความเกิดดับ เห็นกามราคะจะเกิดยิบๆ แย็บๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะหลวงตาเทศน์ไว้บ่อย ท่านบอกเลยว่า เวลาท่านพิจารณาอสุภะแล้ว พิจารณาจนหายไปเลย

แล้วสุดท้ายนะ มันหายไปเลย ไม่มีคำตอบ คือไม่มีการสรุป ไม่มีขณะจิต ท่านก็ไม่เอา แล้วท่านก็ไปเอาสุภะ เอาความสวยความงามมาแนบไว้ที่จิต เอาแนบไว้กับความคิดเลย เอาที่สวยงามที่สุด เอาสเป็คที่ดีที่สุดเลย มาแนบไว้ที่มัน ชอบอะไรก็เอามาแนบมันไว้ พอมันพิจารณาแล้ว มันปล่อยแล้วใช่ไหม แล้วกิเลสมันก็หลอกไงว่าไม่มีๆ ก็เลยไปเอามาแนบไว้ๆ พอแนบไว้มันก็ต้องรู้สึกเป็นธรรมดา มันก็ขะยิบขะยับออกมา “นี่ไงไหนว่าไม่มี”

จะมีไม่มีนี่มันต้องพิสูจน์กันอีกเยอะมาก แล้วการภาวนานี้มันจะต้องผ่านโสดาบัน สกิทาคามีก่อนแล้วมันจึงไปถึงอสุภะ แล้วถ้ายังไม่ได้ออกพิจารณา มันจะเป็นอสุภะได้อย่างไร

ฉะนั้นพุทโธให้ชัดๆ พุทโธไปเรื่อยๆ ให้จิตสงบเข้ามา

นี่เขาถามให้เราตอบเขา เราไม่ได้ตอบคนอื่น ถ้าตอบเขานะ ทุกคนจะบอกเลยเห็นไหม บอกว่าโดยธรรมชาติของเพศตรงข้าม มันก็ต้องมีอารมณ์ความรู้สึก ก็พยายามจะระงับมัน.. ระงับมัน.. ด้วยการพิจารณาเป็นอสุภะ การที่พิจารณาอย่างนี้มันคือพิจารณาโดยปัญญา แต่มันไม่ใช่พิจารณาโดยข้อเท็จจริงหรอก

พิจารณาโดยปัญญาเพื่ออะไร เพื่อระงับจิตเราไง ระงับความคิดเราไง ระงับความคิดเราไม่ให้ไปคิดเรื่องอย่างนี้ไง ถ้าเราไม่คิดเรื่องอย่างนี้ เราคิดเรื่องอย่างอื่นก็ได้ อย่างเช่น เราจะสอนพระเป็นประจำ พระเขาถามว่า เวลาเราปฏิบัติเราผ่านประสบการณ์อย่างนี้มาได้อย่างไร เราจะบอกว่า เราก็คิดแผ่เมตตาไว้ก่อนเลย ในเมื่อเป็นเพศแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติ เราจะไม่ไปยุ่งกับเขา ถ้าเราคิดว่าเขาเป็นญาติของเรา แล้วเราจะไปคิดเรื่องเสียหายไหม นี่ก็คือปัญญาเหมือนกัน แต่ปัญญามันคิดเพื่อรักษาใจ ไม่ได้คิดเพื่อแก้กิเลส มันยังแก้กิเลสไม่ได้หรอก เพราะยังไม่ได้พุ่งเข้าไปสู่ตัวจิต แล้วมันจะแก้กิเลสกันที่ไหน ฉะนั้นถึงต้องให้สงบเข้ามาก่อน

 

อย่างเขานี่คือยังไม่ได้พิจารณาสิ่งใดเลย แต่เราไปคิดถึงธรรมะไง เอาความรู้สึกเราไปเปรียบเทียบไง แล้วก็บอกว่า “มันก็ยิบๆ แยบๆ แล้วมันก็ปล่อยเข้ามา”

คนเรานะ เวลาอารมณ์มันดีมันก็ไม่นึกอะไรหรอก อย่างเช่นเราไปเที่ยวไหนกลับมานะ เราก็จะบอกว่า “ไม่ไปไหนอีกแล้ว สุขสบายมาก” แต่เดี๋ยวก็ไปอีกล่ะ กินเหล้าเมาแปล้ แล้วก็บอกว่า “พรุ่งนี้จะไม่กินอีกแล้ว” แต่เดี๋ยวก็กินอีก อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันภาวนาอยู่ จิตมันยังอยู่กับคุณงามความดีก็จะคิดดีอย่างนี้ แต่ถ้าเดี๋ยวมันแฉลบออกนะ ยุ่งเลย

“๒. อารมณ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวมา มันไม่ใช่ตัวเรา พุทโธเฉยๆ เวลานึกพุทโธไปจนมันไม่เป็นเรา อารมณ์กับพุทโธไม่ใช่อันเดียวกัน”

พุทโธๆ นี้มันยังพุทโธได้ ถ้าถึงที่สุดจะพุทโธจนพุทโธไม่ได้ ถ้ามันลงไปจนถึงอัปปนาสมาธิจะพุทโธไม่ได้เลย ถ้ายังพุทโธได้ มันคือวางเฉยๆ ฉะนั้นเราจะบอกว่า มันยังพุทโธได้ มันยังเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าสติเราดีมันก็ปล่อยวางได้

“๓. เวลาจิตกระทบความรู้สึก ความทุกข์ แต่จิตใจเราก็ไม่ทุกข์”

อันนี้มันเป็นอารมณ์หนึ่ง แล้วเดี๋ยวมันจะเกิดอีก ถ้าเราพิจารณาอสุภะมันก็เป็นอสุภะ ส่วนการพิจารณากายเพื่อให้มันเห็นไตรลักษณ์ มันก็แปรสภาพเหมือนกันแต่ไม่ใช่อสุภะ มันเป็นไตรลักษณ์ มันคืนสู่สภาพเดิมของเขา เวลามันเน่า มันคืนสู่สภาพ พิจารณากายเพื่อให้มันคลายสักกายทิฏฐิ แต่ถ้าพิจารณาอสุภะมันจะคลายกามราคะ

“๕. ตราบใดที่ผมยังนึกพุทโธอยู่ได้เรื่อยๆ จิตที่นึกพุทโธไม่ดับ พุทโธไม่เปลี่ยนแปลง….”

อันนี้ถ้ามันจะเป็นปัญญา มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่ถ้ามันเข้าหลักเกณฑ์แล้ว มันจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ขออีกข้อหนึ่งนะ

 

ถาม : ริมฝีปากสั่นหายใจแรงขณะเดินจงกรมครับ

คำถามที่ ๑. กระผมได้ปฏิบัติธรรมที่วัดประมาณ ๙ ปี ขณะที่เดินจงกรมกำหนดลมหายใจ รู้เท้าซ้ายเท้าขวาประมาณ ๒ ชั่วโมง ลมละเอียดเข้า กระผมกำหนดรู้เรื่อยๆ ครับ มีจังหวะหนึ่ง มีความรู้สึกคล้ายๆ ตกจากที่สูง แล้วมีความรู้สึกคล้ายๆ ฟองสบู่แตก หรืออะไรประมาณนั้น บอกไม่ถูก แต่สติชัดเจนมาก ผมรู้สึกเอะใจ รู้สึกทั้งเวิ้งว้าง ทั้งสดชื่น แต่ตัวรู้ชัดมากครับ อิ่มครับ ที่ผิวหนังคล้ายมีพลังพุ่งออกไปเป็นจังหวะตลอดครับ ผมตกใจก็เลยหยุดเดิน จากนั้นก็เดินไปบนโขดหิน ตัวรู้ก็ชัดเจนอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วค่อยคลายเข้าสู่สภาวะปกติ ผมมาศึกษาเพิ่มในช่วงหลัง เข้าใจว่าจิตจะรวม แต่ก็ยังไม่แน่ใจครับ จุดนี้ขอความเมตตาหลวงพ่อ ช่วยชี้แนะด้วย และถ้าเป็นลักษณะนี้ควรทำอย่างไร?

หลวงพ่อ : ถ้ากำหนดนะ จิตของคน ถ้าเหตุมันพอดีมันจะลงของมัน แล้วถ้าเรารู้แล้ว เราจะสร้างอย่างเดิม เหตุก็ไม่พอดีแล้ว เหตุพอดีหมายถึงว่า เราไม่มีสิ่งใดดักหน้าหรือดักหลัง ความสมดุลของมัน มันก็จะลงของมัน แต่พอเรารู้สิ่งใด เหมือนคนไม่เคยทานอาหารสิ่งใดเลย พอไปทานอาหาร ถ้าอร่อยก็คืออร่อย ถ้าไม่อร่อยก็คือไม่อร่อย แต่คนเคยทานอาหารที่อร่อยแล้วพอไปทานเข้าอีกมันก็อร่อย แต่อร่อยจะน้อยลง

อันนี้ก็เหมือนกัน ความสมดุลของมัน เราไม่ต้องไปวิตกกังวล สิ่งที่ปฏิบัติมาแล้ว สิ่งที่รับรู้แล้ว นั่นคืออดีต สิ่งนี้เคยสัมผัสแล้ว แต่ในปัจจุบันเราต้องพยายามทำให้จิตสงบ ถ้ามันเป็น มันก็เป็นเหมือนอันเดิม อันเดิมหมายถึงความสงบนั้น

ความสงบจากอดีตหรือความสงบจากปัจจุบันก็คือความสงบ แต่ความสงบจากอดีต ที่เราเคยเข้าไปสัมผัสมันเป็นสัญญา ส่วนความสงบจากปัจจุบัน เกิดขึ้นเองจากปัจจุบัน นี่คือความสงบอย่างแท้จริง แล้วพอออกจากความสงบนี้แล้ว ความสงบนี้มันก็เป็นอดีตไปแล้ว

ทีนี้ถ้าเรามีความสงบบ่อยครั้งๆ เข้า ตั้งแต่เหตุเลย กำหนดพุทโธตั้งสติเข้า “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเรารักษาเหตุไว้ได้สมควรแล้ว ความสงบจะอยู่กับเราตลอดไปเลย ที่ว่าจิตเสื่อมๆ นี้ จิตเสื่อมเพราะว่าเราไม่รักษาเหตุ

พอเราได้ความสงบแล้ว เราไปติดกับความสงบนั้น ติดในผลนั้น ติดในความอยากได้นั้น แต่ความอยากได้นั้นมันได้มาจากอะไร ก็ได้มาจากเหตุ ได้มาจากการปฏิบัติ ถ้าได้จากเหตุ เราก็รักษาเหตุนั้น มันจะสงบหรือไม่สงบก็เรื่องของมัน เพราะเรารักษาเหตุของเรา หน้าที่ของเราคือเกิดมาต้องทำงาน ทำงานขึ้นมาเพื่อเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย

ดูสิ เวลาคนเขาออกกำลังกายตอนเช้า นั่นคืออะไร นั่นคือการทำงาน ทำงานเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนมันทำงาน เราก็ทำงานมาเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย แต่คนแก่คนเฒ่าเขาทำงานเพื่อให้ร่างกายเขาผ่อนคลาย ถ้าคนแก่คนเฒ่าไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย ร่ายกายมันก็จะเสื่อมสภาพไปเร็วมาก

เราทำงานเพื่อให้จิตเรามั่นคง เหตุที่เราทำงาน คือทำงานเพื่อความสงบ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ อันนี้ต่างหากที่ว่า ข้อที่ ๑.

ถาม : ข้อที่ ๒. ปัจจุบันกระผมปฏิบัติที่บ้านครับ เริ่มปฏิบัติใหม่อีกครั้ง ช่วงกลางวันขณะทำงานก็กำหนดรู้ลมไปด้วย ตอนเย็นเดินจงกรมได้สักพักหนึ่ง ริมฝีปากจะสั่นมากครับ หายใจแรงแต่สติจะจับไว้ที่ปลายจมูกดูลมเข้าลมออก บางครั้งมีความคิดว่า อาการแบบนี้ เหมือนจิตจะรวมเหมือนคราวก่อน ทำให้รู้สึกเหมือนสมาธิจะคลายออกมานิดหนึ่ง แล้วอาการมือสั่น ริมฝีปากสั่น ก็เบาลงครับ จุดนี้ขอความเมตตาหลวงพ่อแนะนำว่าควรปฏิบัติอย่างไร?

หลวงพ่อ : ริมฝีปากจะสั่นหรือจะเจอสิ่งใด ถ้ามันจะเข้าเห็นไหม มันจะสั่นเพราะเราระวัง เราเกร็ง เห็นไหม “…เพราะจิตบอกว่า มันเหมือนกับสมาธิครั้งที่แล้ว…”

มันเหมือนนะ คนเราพอเหมือนใช่ไหม มันก็จะอยากได้อารมณ์อย่างนั้น

เราไม่ต้องไปเหมือนสิ่งใด เพราะถ้าคลายมามันก็หาย พอคลายมาคือมันไม่ตั้งใจ มันก็เป็นปกติ ฉะนั้นกำหนดดูลมหายใจชัดๆ ไว้ อะไรมันจะเกิดขึ้น อะไรมันจะมากระทบ เราก็รักษาลมของเราไว้ ถ้าจิตมันเกาะลมไว้มันจะไม่รู้อารมณ์สอง ริมฝีปากสั่นนี่คืออารมณ์ที่สอง เพราะเรากำหนดลมหายใจไว้ใช่ไหม แล้วเราไปรู้ออกข้างนอกทำไม ก็เพราะจิตมันเคลื่อนออกมา

 

แต่ถ้าเรารู้ลมชัดๆ ไว้ อาการอย่างนั้นมันจะค่อยๆ จางไปๆ แล้วรู้ลมชัดๆ ไป รู้ลมชัดๆ มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร รู้ลมชัดเพราะจิตมันเกาะอยู่ที่ลม เพราะลมมันละเอียดเห็นไหม ลมละเอียด จิตละเอียด ละเอียดจนจิตลงเป็นสมาธิไป

แต่พอจิตเรารับรู้ลมไว้ แล้วเราก็ไปรู้อาการปากสั่นหรือรู้อาการต่างๆ มันก็เป็นอารมณ์ที่สอง ฉะนั้นเรากลับมาที่ลมนั้น เวลาหลวงตาท่านสอนนะ “พุทโธๆ แบบว่าโลกนี้ไม่มี เหมือนมีเรากับพุทโธ สรรพสิ่งนี้ไม่มี” ถ้ามีก็มีแต่ลมอย่างอื่นก็ไม่มี ริมฝีปากก็ไม่มี สั่นก็ไม่มี อยู่แต่กับลม ถ้าเราอยู่กับลม อยู่กับที่ชัดๆ ไว้หนึ่งเดียวนั้น นั้นล่ะมันจะพาเราเข้ามา จิตมันเกาะคำบริกรรมเข้ามา จิตมันเกาะสิ่งนั้นเข้ามา ดึงเข้าไปสู่ความสงบ เกาะลม เกาะพุทโธ เกาะอะไรก็แล้วแต่ มันจะเกาะเข้าไปสู่ความสงบ เอาอันนี้ชัดๆ

แล้วที่เขาบอกว่า “อ้าว พุทโธก็คือการนึกเอา”

ไอ้นี่มันกิเลส มันพาล จะทำความดีก็พาล ถ้าลมหายใจมันดี ไอ้ร้านยางมันเป่าลมทุกวัน มันก็ต้องดีกว่าเราสิ ไอ้นั่นมันลมเฉยๆ มันไม่มีจิตรวม เวลากิเลสมันพาล มันจะโต้แย้งไปหมด “โน่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ผิดหมดเลย” แต่เวลามันจะชั่วมันก็ว่าดี แต่เวลามันจะดีนะมันคัดค้าน

นี่ก็เหมือนกัน อยู่กับลม เกาะลมไว้ เพราะจิตมันไปเกาะ ลมก็คือลม เพราะลมหยาบ ถ้าจิตหยาบลมก็หยาบ จิตละเอียดลมก็ละเอียด ละเอียดขนาดไหนก็เกาะไว้ๆ ละเอียดจนเป็นอันเดียวกัน เดี๋ยวปากสั่น มือสั่น เท้าสั่นจะหายหมด แล้วจะลงสู่ความสงบ แล้วมันจะเป็นความปกติ เอวัง.