ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กบในกะลา

๑๔ ก.พ. ๒๕๕๓

 

กบในกะลา

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันพูดได้ เวลาเราชาวพุทธเห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา  นะพระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้เห็นไหม เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน แต่เดิมมามารดลใจตลอดเลยให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เพราะพระพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมขึ้นมา มันจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไป มารก็เดือดร้อนมากเลย พระพุทธเจ้าอย่างไรก็ไม่ยอม ไม่ยอม

แต่พระพุทธเจ้าเผยแผ่มาจน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา แล้วเราเป็นเจ้าของศาสนาเราจะพูดเรื่องธรรมะได้ไหม ใครจะพูดไม่ได้ พูดได้ทุกคน ชาวพุทธพูดศาสนาพูดได้ทุกคน เพียงแต่ว่ามันพูดถูกพูดผิดต่างหากล่ะ ไอ้ตรงที่เราพูดนี่ เราพูดถึงพูดถูกหรือพูดผิดใช่ไหม ถ้าพูดถูกมันก็เป็นสัจธรรม เป็นความดีงาม แต่ถ้าพูดผิดล่ะ พูดผิดมันก็พากัน โคนำฝูงมันจะพากันไปไหนล่ะ มันก็พาลงวังน้ำวน มันเป็นปัญหาตรงนั้น มันไม่เป็นปัญหาว่าใครพูดได้ หรือใครพูดไม่ได้ พูดได้ทุกคน  แต่พูดได้นั้นพูดในอะไร

ดูสิ พระที่เขาเทศน์กันเห็นไหม พูดถึงชาดกต่างๆ ก็เห็นไม่เป็นไร ไม่มีใครไปติเตียนอะไร ก็เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาของเขา ถ้าเราเทศน์ในปริยัติใช่ไหม ทางวิชาการ ทางวิชาการเราพิสูจน์ได้ขนาดไหน ทางวิชาการก็ทำได้ทั้งนั้นล่ะ เขาจินตนาการขนาดไหนมันเรื่องของเขา แต่ในภาคปฏิบัติ ในภาคปฏิบัติมันต้อง! ไง มันต้องชัดเจน ถ้ามันไม่ชัดเจน มันจะชี้นำกันได้อย่างไร มันเหมือนกบในกะลานะ

ดูสิกบในกะลา มันไม่เคยออกจากกะลาไป ไม่รู้ว่านอกกะลาจะมีความกว้างขวาง ในโลกนอกกะลาไปมันจะมีสิ่งมหัศจรรย์ มันจะมีสิ่งที่เราไม่เคยพบเห็นมากน้อยขนาดไหน เพราะเราอยู่ในกะลา ทีนี้เราอยู่ในกฎของขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความคิดของเรา  จินตนาการของเรามันอยู่ในส่วนของขันธ์ มันเป็นคำนิยามของหลวงตา หลวงตาบอกว่าความคิดในถังขยะ เห็นไหม ถังขยะนี่ก็เหมือนขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันครอบจิตไว้ เราจินตนาการโดยอยู่ในถังขยะ มันจะจินตนาการขนาดไหน มันก็จินตนาการอยู่ในถังขยะ จินตนาการอยู่ในสิ่งที่เรารับรู้ได้ นอกถังขยะมันคิดไม่ได้นะ เนี่ย กบในกะลามันก็เป็นอย่างนั้น

ถ้ามันเป็นกบในกะลา เราไม่รู้จริงเห็นจริง ในสัจธรรมสิ่งใดๆ เลย พูดสิ่งใดมันผิดหมด ความถูกต้องมันไม่มีหรอก ความถูกต้องไม่มีเพราะมันไม่เห็นจริง มันเป็นความจินตนาการ มันเป็นสิ่งที่ว่าความคิดเราอยู่ในกะลานั้น ถ้าความคิดเราเป็นความจริงนะ มันจะพ้นจากกะลานั้นออกไปได้ มันจะพ้นไปจากกะลานะ เนี่ย เขาฝากมา เขาบอกว่าอยากให้หลวงพ่อสงบเทศน์เรื่องแรกมากกว่า เพราะเขาพูดไว้บ่อยมากในไอ้ขณะ ๑ ขณะ ๒ ขณะ ๓ อะไรของเขาเนี่ย พูดถึงอริยสัจ

 อันนี้ไม่พูดถึงแล้ว เพราะของอย่างนี้นะ มันมีอยู่แล้วในสื่อของเขานี่ เรื่องนี้มันชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่เราชาวพุทธ เราชาวพุทธเองไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์เอง ถ้าเราชาวพุทธมีหลักมีเกณฑ์นะ สิ่งนี้มันฟ้องอยู่แล้ว เพราะอะไร เพราะว่าสัจธรรมมันมีหนึ่งเดียว การเทศนาว่าการหลวงปู่มั่นบอกต้อง ต้อง ต้อง ต้อง ต้องเป็นอย่างนั้นเลย ผิดจากนั้นไปไม่ได้เลย ถ้ามันผิดจากนั้นไป มันก็ไม่เป็นความจริงแล้ว  เนี่ย มันผิดมากๆ มันเป็นถึงว่าความถูกความผิด ไม่ใช่ว่าใครพูดได้ ใครพูดไม่ได้

นี่ไงเทศน์เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ใหม่ๆ สดๆ เลย ให้ดูจิตไปเรื่อยๆ ดูจิตไปเรื่อยๆ จนจิตไม่กระสับกระส่าย และขณะนี้ใจมันกระสับกระส่าย ความกระสับกระส่ายนี้เรียกว่าสังขารขันธ์ สังขารขันธ์มันก็ค่อยแยกออกไป ถ้าสังขารนี้แยกออกไปก็เป็นพระโสดาบัน  เนี่ย มันก็ยัง.. มันพูดไปถึงความคิดในกะลาไง กบในกะลามันก็พูดแต่ในกะลา มันก็ผิดวันยังค่ำ นี่พยายามแล้วนะ เพราะอะไร

ตอนนี้เหตุการณ์มันเป็นอย่างนี้อยู่ พยายามจะให้มันถูกแล้วนะ ความกระสับกระส่าย เวลาจิตกระสับกระส่ายเป็นสังขารขันธ์ มันยังอีกยาวไกลนะ เพราะมันจะเห็นขันธ์นะ พูดถึงสังขารขันธ์ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ ดูสิปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาจนจิตมันสงบเข้ามา แล้วจิตเห็นอาการของจิต จิตเนี่ย เนื้อส้มกระทบเปลือกส้ม ถ้าเนื้อส้มกระทบเปลือกส้ม มันเป็นตามความจริง คนมันจะรู้ว่าเนื้อส้มกระทบเปลือกส้มอย่างไร ความคิดมันเกิดมามันจับความคิดได้ไง

เรานี้จับความคิดเราได้ ถ้าเราจับความคิดได้ ความคิดนั่นน่ะคือขันธ์ แต่นี้เรารู้ทันความคิดเราเฉยๆ เรารู้ทันความคิดนะ เราไม่ได้จับความคิดได้นะ คนที่ปฏิบัติกันอยู่นี้รู้ทันความคิด พอรู้ทันความคิด ความคิดมันก็หายไป ไม่ใช่จับความคิด พอรู้ทันมันปล่อยเห็นไหม พอรู้ทันมันก็แยกเป็นธรรมดา รู้ทันก็แยกเป็นธรรมดา ความรู้ทันอันนี้เนี่ยปัญญาอบรมสมาธิ แล้วบอกว่ามันกระสับกระส่าย นั่นคือสังขารขันธ์ เพราะขันธ์มันแยกออกไป มันก็สักแต่ว่าไม่ใช่เรา นี่ไงกบในกะลา

ถ้ากบในกะลา มันคิดโดยจินตนาการของมันไป ไม่เป็นความจริง ฉะนั้นบอกว่าจะเป็นพระป่าเท่านั้นใช่ไหมถึงจะพูดเรื่องมรรคผลได้ ถ้าเป็นคนอื่นพูดมรรคผลไม่ได้ ถ้านะ แม้แต่นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน พระเจ้าสุทโธทนะนี่นะเป็นพระอรหันต์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์จนเป็นพระอรหันต์ นั่นเขาเป็นอะไรน่ะ เขาเป็นคฤหัสถ์นะ เวลาจะเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นพระ เขายังพูดได้เลย แล้วทำไมต้องมาผูกไว้กับพระป่ากับไม่พระป่าล่ะ พระป่าไม่พระป่าเนี่ย พระป่าพูดผิดๆ ถูกๆ ก็เยอะนะ ไม่ใช่ว่าพระป่าจะพูดถูกไปหมดใช่ไหม

แล้วนี่มันอยู่ที่ถูกที่ผิด เราอย่าเอายี่ห้อ อย่าเอาชื่อ อย่าเอาสิ่งสมมุติขึ้นมาเป็นโล่กำบัง กำบังว่าถึงเราผิด ถ้าเราผิดแล้วเราอยู่ในโล่กำบังอย่างนี้แล้ว เรามีสิทธิพูดได้ไง เราพูดมรรคผลได้ไง ไอ้พูดมรรคผลน่ะใครก็พูดได้ แต่รับผิดชอบไหมว่ามันเป็นมรรคผลจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นมรรคเป็นผลจริงขึ้นมา เราสอนเขาไป เราบอกเขาไป เขาจะไม่เสียเวลาของเขา เขาปฏิบัติแล้วเขาจะได้ผลของเขา

แต่ถ้าเราพูดไปเห็นไหม เขาก็ไม่เข้าใจ แล้วเขาปฏิบัติไป เขาจะไปไหนกันน่ะ ยิ่งปฏิบัติไปมันก็ยิ่งออกนอกทางไปเรื่อยๆ เห็นไหม มันเป็นความผิดความถูก มันไม่ใช่ว่าพระป่าหรือไม่พระป่า พระป่าพูดผิดมันก็ผิด พระป่าพูดถูกมันก็ถูก จะพระอะไรพูดผิดมันก็ผิด ถูกมันก็ถูกทั้งนั้น มันไม่ใช่เอายี่ห้อ เอาสิ่งต่างๆ นี้มาปิดกั้นว่าเราเอาสิ่งนี้มาเป็นกำบังเป็นฉากโล่บังแล้ว เราจะพูดสิ่งใดก็ได้ เราจะทำสิ่งใดก็ได้ ในเมื่อเราบวชเป็นพระแล้วใช่ไหม เราเป็นผู้สั่งสอนธรรมะใช่ไหม เราจะพูดอะไรเขาต้องเชื่อเรา เชื่อเรา มันจะเป็นอย่างนั้นหรือ

พระพุทธเจ้าบอกกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใคร พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ อ้าว จะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าไปตรงไหน พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแม้อาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้ประพฤติปฏิบัติของเราให้ตามความจริงของเรา เนี่ย มันเหมือนกับชาวเขา ชาวเขาเขาอยู่บนเขานะ เขาไม่เคยเห็นทะเลนะ พอไม่เห็นทะเล เขาก็ว่าทะเลนี้เวิ้งว้างมาก ในทะเลมีทรัพยากรมาก ทุกอย่างมีทรัพยากรมาก เวลาเขาไปเจอบ่อน้ำ เขาว่านี่คือทะเลนะ โธ่ เพราะไม่เคยเห็น ยิ่งไปเจอบึงน้ำยิ่งว่าทะเล มันยังไม่เจอแม่น้ำ ยังไม่เจอสิ่งใดเลย

 ประพฤติปฏิบัติมันไม่มีกฎ ไม่มีหลักเกณฑ์ ถ้าประพฤติมีหลักเกณฑ์ เราเป็นชาวเขา จริงๆ อยู่เราก็เป็นชาวเขาเราอยู่บนบกทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเราลงทะเลไป เราหาทรัพยากร ดูสิ ดูพวกธรณีวิทยาเห็นไหม เขาหาทรัพยากรในทะเลของเขา เขาหาของเขาได้ทั้งนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เรามีความจริงของเรา เราจะอยู่บนบกเราก็พูดเรื่องบนบกได้ตามเป็นจริงนะ อยู่บนชาวเขาเราพูดชาวเขาได้ตามเป็นจริง

อย่างเช่น เช่นเราเป็นมนุษย์เห็นไหม เราเป็นปุถุชน  เราคุยอย่างปุถุชน ดูครูบาอาจารย์สิ ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาท่านไปเผยแผ่ธรรม ดูนางช่างหูกน่ะ เขาเป็นคนจน แล้วพระพุทธเจ้าจะเทศน์ เขาต้องไปทำงานก่อน พอเขาทำงานก่อนพระพุทธเจ้าก็เทศน์รอ รอนะ ยังไม่เทศน์นั่งรอไปก่อน เขาก็หาบน้ำ ไปดูพระไตรปิฎกสิ เขาหาบน้ำ เขาหาอาหารให้พ่อให้แม่เสร็จ เขารีบกระหืดกระหอบมาฟังธรรมนะ พอฟังธรรมแล้วพระพุทธเจ้ารอ รอจนเขามาเรียบร้อยแล้ว เขาหายเหนื่อยแล้ว พระพุทธเจ้าเริ่มเทศน์นะ เขาบรรลุโสดาบันเลย

นี่ไง พระพุทธเจ้ารอนะ พระพุทธเจ้ารอ ไม่ใช่ว่า เวลาพูดพระพุทธเจ้าจะดูเหตุดูผล ว่ามันเป็นไปตามความจริงไหม นี่ก็เหมือนกัน คนที่มีหลักมีเกณฑ์ เวลาอยู่บนบกใช่ไหม เราจะพูดกับเด็ก คำว่าเด็ก เราเห็นว่าเด็กคือเด็ก แล้วเป็นผู้ใหญ่คือผู้ใหญ่  แต่คำว่าเด็กของเราคือใจเด็กๆ ใจเด็กๆ หมายถึงว่า คนจะอายุมากน้อยก็แล้วแต่ เริ่มหัดเข้าวัดใหม่ เนี่ยใจเป็นเด็กๆ เพราะเขาไม่รู้กติกาอะไรในวัดเลย เห็นไหมเวลาเขามาทำบุญ พวกเรานี่เห็นไหมเราเคยผ่านกรรมฐานมา มาถึงเราถวายอาหารจังหันเราทำด้วยความคล่องตัว

เวลาไปดูชาวบ้านที่เขาไม่เคยมีวัดป่าสิ เขาถืออาหารเข้ามา เขาไม่กล้าถวายนะ เอ๊ ยังไม่ได้ถวายทานเลย เอ๊ ท่านยังไม่สวดพาหุงนะ โอ้ เขาไม่ถวายหรอก เขาละล้าละลังอยู่นะ เพราะเราไม่เคย นี่ไง เนี่ยเด็กๆ เด็กๆ หมายถึงวุฒิภาวะของใจมันเด็กๆ ถ้าวุฒิภาวะของใจมันเด็กๆ มันจะละล้าละลัง มันจะทำสิ่งอะไรไม่ได้เลย มันห่วงหน้าพะวงหลัง แต่ถ้าพอเราเข้าวัดเข้าวาเห็นไหม จนเราทำของเราจนเคยชินของเราเห็นไหม จิตใจมันจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา

เราตั้งใจมาตั้งแต่บ้านแล้ว เราอยากทำบุญกุศลเราพร้อมแล้วนะ เราอยากทำบุญกุศลเราเตรียมของเรามา ไปถึงเราก็ถวายพระนะ มันเจตนาสะอาดบริสุทธิ์ โอ๋ย มันทำด้วยความแช่มชื่น มันทำด้วยความตั้งใจ ไม่เคอะไม่เขินนะ พอทำเสร็จแล้วเห็นไหม พระท่านก็ตักอาหารใส่ไว้  เนี่ย ภัตตกิจ เราทำหน้าที่การงานก็เป็นงานอันหนึ่ง ดูสิเวลาพระรับประเคนเห็นไหม พระตักนะเหงื่อไหลไคลย้อยน่ะ นั่นก็เป็นงานอันหนึ่ง มันเป็นงานเหมือนกัน ถ้าเขาทำงานถูกต้องมันก็ถูกต้องหมดเห็นไหม

ฉะนั้นเวลาสอนเด็กเห็นไหม เวลาพูดอยู่บนบกเราก็พูดเรื่องบนบกเห็นไหม ลงทะเล เห็นไหม ลงทะเลเราต้องมีเรือใช่ไหม เราต้องมีความชำนาญใช่ไหม ลงทะเลไปแล้ว คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเลนะ เราไม่รู้เลยว่าพายุมันจะเกิดเมื่อไหร่ เราไม่รู้เลยว่าสึนามิมันจะพัดให้เรือเราล่มลงเมื่อไหร่ เวลาจิตเราตั้งสติใช่ไหม เราตั้งสติของเรา เราจะภาวนาของเรา เนี่ยเราลงทะเล จิตของเราเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมเราจะเอาอะไรดูแลมัน เราจะตั้งใจของเราอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับเรา

นี่ไง พอลงไปมันเป็นผู้ใหญ่ขึ้นไปเห็นไหม ถ้าบนบกเราก็พูดเรื่องบนบกได้ ลงทะเลเราก็พูดเรื่องลงทะเลได้ ไม่ใช่กบในกะลา กบในกะลามันอยู่บนบกด้วยนะ อยู่ในกะลาด้วยนะ จากความคิดนี่เป็นขันธ์ เวลาจิตมันแยกจากขันธ์ก็เป็นนิพพาน นิพพานมาร้อยรอบพันรอบ แล้วนิพพานแต่ละรอบก็ไม่เหมือนกันสักอย่างหนึ่ง พูดวันนี้ก็นิพพานอย่างหนึ่ง พูดคราวหน้าก็นิพพานอีกอย่างหนึ่ง ทำไมนิพพานมันมีหลากหลายขนาดนี้ล่ะ เห็นไหมกบในกะลานี่มันจินตนาการของมันไป แล้วมันพูดของมันไป มันไม่รับผิดชอบสิ่งใดๆ เลย

แล้วพอถึงที่สุดเขาบอกว่า ฮึ มรรคผลนี้มันจำเพาะพระป่าเท่านั้นที่จะพูดได้ใช่ไหม ไม่ใช่! ยิ่งสาธุเลยนะ ยิ่งฆราวาสคฤหัสถ์ยิ่งพูดมรรคผลนิพพานถูกต้องนะ แหม มันจะสุดยอดเลย มันสุดยอดเพราะอะไร เพราะพระเรานะ พระป่าเรา พระปฏิบัติเรา เราปฏิบัติอยู่กับสัจธรรมอยู่แล้ว เราปฏิบัติอยู่กับข้อวัตรปฏิบัติอยู่แล้ว เราพยายามแสวงหาของเราอยู่แล้ว มันยังทุกข์ยากขนาดนี้ แล้วเขาเป็นคฤหัสถ์ เขาต้องแบ่งเวลาของเขาไปทำหน้าที่การงานของเขา เขาต้องแสวงหาอาชีพของเขา

แล้วยิ่งเขาปฏิบัติได้อย่างนี้ โอ้โฮ ยิ่งเป็นความมหัศจรรย์ใหญ่ เรายิ่งสาธุเลย โอ๋ คนขนาดนี้มีขนาดนี้ แสดงว่าเขาหน้าที่การงานเขาต้องหลายอย่าง เขายังประสบความสำเร็จของเขา ไอ้เรามีงานหน้าที่อย่างเดียวโดยตรงนะ หน้าที่ของพระนะ หน้าที่ประพฤติปฏิบัติ หน้าที่เอาชนะกิเลสนี่เรายังสมบุกสมบั่นกันขนาดนี้ ถ้าเขาทำได้ขนาดนี้  เราทำไมไม่สาธุไปกับเขา ทำไมเขาทำได้มันยิ่งประเสริฐใหญ่ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ ถ้ามันไม่เป็นความจริง มันก็ต้องตรวจสอบกัน ตรวจสอบกันว่ามันเป็นความจริงหรือเปล่า

ถ้าเป็นความจริง มันอยู่ที่ว่าจริงหรือไม่จริง มันไม่ใช่ว่าอยู่ที่ใครไปพูดได้หรือใครไปพูดไม่ได้หรอก ทุกคนพูดได้หมด แต่พูดแล้วมันต้องพูดจริงสิ เพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าสอนตั้งแต่ศีล ๕  ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ น่ะ มันมุสาไหม พูดออกมาด้วยความรู้สึกความจริงใจของเราหรือเปล่า เรารู้จริงอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ถ้ามันรู้จริง เวลาเขาโต้แย้งขึ้นมาจะบอกฉันไม่ได้พูด ฉันไม่ได้พูดนะ ไม่เคยพูดอย่างนี้นะ แต่เอกสารนี่เป็นตั้งๆ เลย ไม่เคยพูด ไม่เคยรับรองใคร ไม่เคยอะไรทั้งสิ้น แต่เอกสารเป็นตั้งๆ

เอกสารนั่นก็ลูกศิษย์พิมพ์กันเองไม่เกี่ยวนะ แต่มันจะพิมพ์มาจากไหน ถ้าไม่พิมพ์มาจากซีดี ไม่พิมพ์จากสิ่งที่เขาเทศนาว่าการมา เนี่ย สิ่งต่างๆ อย่างนี้มันส่อถึงเจตนานะ ถ้าเจตนาที่ดี มันไม่ใช่กบในกะลา ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ เราจะพูดถึงหลวงตาเพราะอะไร เพราะเขาเรียกว่าสายเลือด สายบุญสายกรรม เราเติบโตขึ้นมาโดยที่เรามีครูบาอาจารย์ เหมือนกับพวกโยมจบมาสำนักไหน เวลาเราคิดถึงสำนักเรียนของเรา เราจะคิดถึงครูอาจารย์ของเราใช่ไหม

ถ้าเรานึกถึงครูบาอาจารย์ของเราปั๊บ ครูบาอาจารย์สอนเรามาใช่ไหม เราได้วิชาความรู้มาจากใคร ก็จากครูบาอาจารย์ของเรา ฉะนั้นเวลาเราพูดถึง เราก็ต้องพูดถึงครูบาอาจารย์ของเราเหมือนกัน นี้เราปฏิบัติมา ครูบาอาจารย์ท่านจะพูดประจำ หลวงตาท่านพูดประจำว่า ถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์มันจะประพฤติปฏิบัติได้อย่างไร ประพฤติปฏิบัติได้อย่างไรเพราะอะไร เพราะเวลาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นเห็นไหม เวลาท่านพูดเองนะ ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นตอนที่ภาวนายังไม่เป็น

เวลาจิตมันเสื่อมนะ ท่านยังบอกเลยว่าให้กำหนดพุทโธๆ ไว้ จิตนี่เหมือนเด็ก เด็กนี่นะมันต้องมีของเล่น มันต้องมีอาหารของมัน ถ้ามันจะเที่ยวไกลขนาดไหน ถ้ามันขาดของเล่น ขาดอาหารมัน มันจะกลับมาหาของเล่น อาหารของมันเอง เราจิตมันจะเสื่อมก็ช่างหัวมัน กำหนดพุทโธๆ ไว้เนี่ย ท่านก็เชื่อหลวงปู่มั่นนะ กำหนดพุทโธๆๆๆ ไว้นะ นี้ตอนที่ทำอยู่เหมือนเด็ก เด็กนี่ทำอะไรมันยังไม่รู้จริง มันก็ทำไปโดยความซื่อความใสสะอาดใช่ไหม นี่ก็พุทโธๆๆๆๆๆ ไปนั่นนะ ท่านพูดเอง

แต่จากเด็กเราโตมาเป็นผู้ใหญ่ เรามีประสบการณ์ขึ้นมา พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันจะย้อนกลับไปตอนเป็นเด็ก หลวงตาท่านมาพูดรำพึงทีหลังไง ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเนี่ยสอนเหมือนเด็กๆ เลยเนาะ เพราะท่านย้อนกลับไปตอนหลวงปู่มั่นสอนเราน่ะ มันสอนเหมือนเด็กๆ แต่ตอนสอนตอนนั้นน่ะ ผู้ใหญ่สอนเด็ก ผู้ใหญ่รู้อยู่ หลวงปู่มั่นเป็นผู้ใหญ่ใช่ไหม แต่สอนเด็ก ท่านก็สอนเด็ก แต่เด็กไม่รู้ตัวว่าเป็นเด็กใช่ไหม แต่ก็ทำมาอย่างนั้นแล้วก็ได้ผลมาอย่างนั้นจริงๆ แต่เด็กพอโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ มันย้อนกลับไปดู มันย้อนกลับไปดูมันถึงเห็นไง

ถึงว่าท่านพูดเองว่า หลวงปู่มั่นสอนเหมือนสอนเด็กๆ เลย ไอ้เราก็เหมือนเด็กน้อยคนนั้น แต่เวลาเขาพัฒนาขึ้นมาเห็นไหม พุทโธๆๆๆ เนี่ย จิตมันเสื่อมนะ จิตมันเสื่อมเหมือนกับเด็ก เด็กมันหลงทางมันไปมันก็เสื่อม นี้เด็กมันหลงทางไป เด็กมันต้องกินอาหาร ไม่กินอาหารมันต้องตาย จิตของเรามันเร่ร่อนของมันไป มันไปตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้ากิเลสมันตัณหาความทะยานอยาก มันหลอกลวงไป ถึงที่สุดแล้ว เพราะกระแส เพราะฐาน เพราะภพ มันอยู่ที่เรา

ความคิดนี่มันเกิดจากจิตมันก็ร่อนเร่มันไป แต่ตัวฐานตัวความจริง เนี่ย กรรมฐาน ฐานที่ตั้งของจิตมันอยู่ที่เรา ถ้าเรากำหนดพุทโธๆๆๆๆ ไว้ มันจะเร่ร่อนขนาดไหน เดี๋ยวกลับก็มาสู่ฐานเดิมของมัน พอกลับมาสู่ฐานเดิมของมันปั๊บ มันก็กลับมาสงบไง กลับมาที่สมาธิไง พอกลับมาที่สมาธิ มันก็ทำพัฒนามาเรื่อยๆ เห็นไหม เวลาสอนๆ เหมือนเด็กๆ เลย แล้วหลวงตาท่านบอกนะ เวลาปฏิบัติท่านไปปฏิบัติของท่าน ติดขัดขึ้นไปก็ขึ้นไปหาท่านตลอดเวลา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะ ทุกคนไม่ขึ้นไปรบกวนเลย

แล้วหลวงปู่มั่นท่านก็แบบว่า ท่านสอนมามากแล้ว เวลาสอนท่านก็สอนนะ ภิกษุทั้งหลาย หมู่คณะฟังนะ ถ้าภาวนาจิตใจขัดข้องสิ่งใด ให้บอกมา ภิกษุเฒ่าจะแก้ว่ะ การแก้จิตแก้ยากนะ คนที่แก้จิต คนที่ไม่รู้จักจิตแก้จิตไม่ได้นะ ให้ภาวนามาผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ แล้วท่านก็แก้มาเต็มที่ เตือนมาเต็มที่แก้มาเต็มที่ ถึงที่สุดจนท่านป่วยไข้จนไม่สบาย ท่านจะเอาตัวท่านละ เพราะว่ามันจะหมดอายุขัยใช่ไหม ก็ดูแลตัวเอง หมายความว่า หลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเวลาท่านจะละขันธ์ของท่าน ท่านละขันธ์ของท่านแบบบุรุษอาชาไนย ไม่แอะ ไม่สิ่งต่างๆ เลย

เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะปรินิพพานเห็นไหม  นอนสีหไสยาสน์  ท่ามกลางภิกษุนั่งล้อมรอบ  ภิกษุนั่งล้อมรอบเลย  จะทำหน้าที่การตายด้วยให้เป็นแบบอย่าง  หลวงปู่มั่นเวลาท่านจะนิพพาน ท่านก็นอนอยู่บนกุฏิ  ท่านเจ้าคุณจูมล้อมเต็มไปหมดเลยนะ  จนไม่รู้ว่าหลวงปู่มั่นท่านละขันธ์ไปตอนไหน  นี่ไงเวลาท่านเจ็บไข้ได้ป่วยท่านเตรียมตัวของท่าน  แต่ทีนี้เวลาเรื่องอื่นท่านก็ให้พระที่ดูแลกัน

แต่เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปกราบเรื่องติดขัด เรื่องภาวนา หลวงปู่มั่นจะลุกขึ้นมาเลย ตอบปัญหาฉั้บๆๆๆๆ เลย แล้วเวลาท่านพูดนี่เราเข้าใจ เราเข้าใจเพราะอะไร เพราะเราก็เคยขึ้นไป บุกขึ้นไปอย่างนี้เหมือนกัน พอขึ้นมาตอบฉั้บๆๆๆ เข้าใจไหม ถ้าเข้าใจก็จะกราบ ๓ ที แล้วลงไปภาวนาต่อเลย ถ้าไม่เข้าใจไม่ทำอะไร เฉย พอเฉยเนี่ยเหมือนกับเราสอนลูกเห็นไหม เวลาเราบอกลูกนะ ไอ้นี้ผิดๆ นะ แล้วมันไม่ฟังมันดื้อ มันดื้อเราบอกลูกนะ ลูกอันนี้ผิดๆ นะ ก็บอกวิธีใหม่ไง

เช่น อันนี้จานยังไม่ล้างนะ พอบอกมันก็เฉย พอบอกมันก็เฉย ลูกนะถ้าจานไม่ล้าง มันจะสกปรกนะ มันจะมีกลิ่นเหม็นนะ มันยังเฉยอีก พอมันเฉยอีกก็ โอ๊ย จานนี้ถ้ามันเลอะอย่างนี่นะมันใช้ประโยชน์ไปข้างหน้าไม่ได้นะ ถ้าล้างแล้วมันจะใช้ประโยชน์ได้นะ เวลาถ้าเราเฉยอยู่ หลวงปู่มั่นท่านจะเทศน์ซ้ำ เทศน์ซ้ำก็บอกวิธีการหลากหลาย พอเราจับประเด็นได้นะ พอหลวงตาท่านจับประเด็นได้ปั๊บท่านกราบ ๓ ที หลวงปู่มั่นก็ล้มตัวลงนอนแผละเลย

นี่ไงถ้าเราไม่มีครูอาจารย์ ใครจะสอนเรามา มีครูมีอาจารย์ถึงสอน ครูบาอาจารย์ของเราต้องเป็นครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จริงๆ ไม่ใช่กบในกะลา กบในกะลามันพูดจ้อยๆๆๆๆ แล้วไม่รับผิดชอบอะไรเลย เนี่ยนิพพานเป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นอย่างนี้ นิพพานร้อยแปดเลย แล้วนิพพานมันหลากหลายอย่างนั้นเหรอ นิพพานมันมีหนึ่งเดียวนะ นิพพานมันมีหนึ่งเดียว ถ้าหนึ่งในนิพพานนั้นมันหนึ่งในนิพพานอย่างไร ทำอย่างไรมันถึงเข้าสู่นิพพานนั้น ถ้ามันไม่มีเหตุมีผล มันก็เป็นกบในกะลาไง

มันเป็นกบในกะลา แล้วเที่ยวเทศน์จะไปสอนคนน่ะ มันจะไปสอนเขาได้อย่างไร มันก็เป็นจินตนาการในกะลาอันนั้นใช่ไหม  มันไม่เป็นความจริงหรอก เนี่ย ถ้ามันครูมีอาจารย์มันตรวจสอบได้ มันทดสอบได้ มันทดสอบได้เพราะมันจะไม่แตกต่างกันหรอก มันจะแตกต่างกันไม่ได้ ขันธ์ก็เป็นขันธ์ จิตก็เป็นจิต ที่พูดกันแจ้วๆ  ในฝ่ายปริยัติ หรือฝ่ายปฏิบัติที่ยังเข้าไม่ถึง ก็จะพูดกันอย่างนั้นน่ะ เนี่ยเราคิดขึ้นมาเองไง

เหมือนแบงก์ ค่าของแบงก์เห็นไหม เราพูดไปเองจุดนี้เป็นแบงก์ จุดนั้นเป็นแบงก์มันไม่เป็นหรอก เพราะมันไม่มีแบงก์ทั้งใบนั้น ถ้าแบงก์บาท แบงก์ร้อย แบงก์พัน มันต้องมีแบงก์ใบนั้นสมบูรณ์ใช่ไหม มันถึงมีค่าตามนั้นใช่ไหม แต่ของเรามันเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของแบงก์ มันคิดเอง ความรู้สึกมันไม่ใช่แบงก์ก็ไม่ใช่ เพราะมันเป็นความคิด แต่มันไม่ใช่แบงก์เต็มใบที่จะใช้ประโยชน์ได้

นี่เหมือนกันในเมื่อเป็นขันธ์น่ะ อะไรเป็นรูป อะไรเป็นเวทนา สังขาร วิญญาณ มันเป็นอย่างใด เขาบอกว่าความคิดอย่างนี่น่ะเป็นสัญญา เอ้าความคิดนี้เป็นขันธ์ เอ้าความคิดนี้เป็นวิญญาณ เราคิดเอง เราจินตนาการเอง มันจินตนาการได้เพราะมีความรู้สึกไง  มันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของแบงก์ ไม่ใช่จะบอกปฏิเสธก็ไม่ใช่แบงก์เลยก็ไม่ใช่ มันจะปฏิเสธเลยว่าไม่ใช่ความคิดก็ไม่ใช่ มันเป็นความคิดจริงๆ นี่แหละ แต่มันไม่เป็นความคิดที่มันสรุปเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขันธ์โดยความเป็นจริงไง

ถ้าเป็นขันธ์ตามความเป็นจริง  มันจะเห็นของมันตามความเป็นจริง มันจะไม่พูดอย่างนี้เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ กระดาษก็คือกระดาษนะ หมึกก็คือหมึกนะ ลายเส้น ลายน้ำก็คือลายน้ำนะ แต่เขาผสมกันขึ้นมาเป็นแบงก์ใช่ไหม ลายน้ำก็คือเส้นลายน้ำ กระดาษก็คือกระดาษ หมึกมันก็คือหมึก นี่ก็เหมือนกันอันนี้เป็นขันธ์ อันนี้คิดเอาเองไง มันเป็นการคิดเอาเอง มันไม่สมบูรณ์ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เนี่ยพูดอย่างนี้ก็ผิดอีก แล้วเวลาแบงก์ทั้งใบ ยังไม่รู้เลยว่าส่วนประกอบมันเป็นด้วยอะไร แล้วแบงก์มันจะมีประโยชน์ในการใช้หนี้ตามกฎหมายได้อย่างไร

แล้วถ้าใช้หนี้ตามกฎหมาย แบงก์นั้นคือกระดาษนะ เราไม่มีสิทธิไปพิมพ์แบงก์ออกมานะ ถ้าเรามีสิทธิไปพิมพ์แบงก์ออกมา มันก็เป็นแบงก์เถื่อน เราทำแบงก์เถื่อน เราสร้างเอกสารเท็จ แล้วเราใช้สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา มันผิดกฎหมาย ๒ ข้อ ๓ ข้อเลย นี่ก็เหมือนกัน มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนะ กว่าจะได้แบงก์นี้มา กว่าจะได้เงินทองมา เราจะต้องมีธุรกิจการค้าของเรา เราจะต้องมีหน้าที่การงานของเรา สิ่งที่แลกงานของเรานี่ มันเป็นการจ้างแรงงาน เป็นการทำธุรกิจมันถึงได้แบงก์นั้นมา

นี่ก็เหมือนกัน การจะรู้เห็นขันธ์ ถ้าจิตไม่สงบขึ้นมา ไม่ได้ตามขั้นตอนของมัน ความสงบของใจเข้ามา แล้วปฏิบัติเข้ามามันจะไปเห็นขันธ์ได้อย่างไร นี่มันจะไปพิมพ์แบงก์มาเองไง เราจะบอกว่า คำว่าขันธ์นี่เป็นสัจธรรมของพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติเข้าไป แล้วเห็นอาการความเป็นไปของจิตนี้ถึงบัญญัติศัพท์ขึ้นมา ถ้าบัญญัติศัพท์ขึ้นมา มันศัพท์อย่างนี้เราจะไปเอาคำบัญญัตินั้นมาเป็นความรู้ของเรา แต่เราไม่รู้ถึงสัจจะความจริงที่มีการกระทำขึ้นมา

สิ่งนี้บัญญัติขึ้นมาพระพุทธเจ้าปฏิบัติขึ้นมาใช่ไหม แล้วบัญญัติศัพท์ทับความรู้สึกอันนั้น ความเป็นจริงคือความรู้สึกในใจ ไม่ใช่ตัวบัญญัตินั้น เป็นข้อเท็จจริง ตัวบัญญัตินั้นเป็นสมมุติบัญญัติ สิ่งที่สื่อความหมายเข้าไปสู่ข้อเท็จจริงในใจนั้น ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ดูสิเวลาบอกว่าหาเงิน หาเงิน  แล้วก็ปล้นแบงก์มาเลยว่าเราได้เงินมา  แต่ถ้าเราหาเงินเห็นไหม เราทำหน้าที่การงานขึ้นมาถูกต้อง  เราทำหน้าที่การงานมาแล้วเราจะได้ค่าตอบแทนนั้นมา ถ้าได้ค่าตอบแทนนั้นมามันก็ถูกต้องตามกฎหมาย  แล้วมันก็ได้แบงก์ขึ้นมาจริงๆ

นี่ก็เหมือนกัน การเห็นขันธ์ การเห็นนิพพาน มันจะวิ่งเข้าไปสู่นิพพาน ไม่มี ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นไปเห็นไหม  ดูสิเขาถามนะว่าจิตนี้จะเข้าไปสู่นิพพานได้อย่างไร บอกจิตเข้าสู่นิพพานไม่ได้ แต่จิตเป็นนิพพานได้ ถ้าจิตเข้าไปสู่นิพพานได้เราก็ไปขวางนิพพานอยู่ ดูอย่างอนาคา เรือนว่างๆ  ใครเป็นคนบอกเรือนว่าง ใครเป็นคนขวางเรือนว่างนั้นอยู่ ก็คนเข้าไปขวางเรือนว่างมันถึงว่าเห็นเรือนว่าง แต่ถ้าจิตบอกว่าเข้าไปนิพพานๆ ไอ้ตัวจิตก็ไปขวางนิพพานอยู่  เนี่ย เหมือนเราเข้าไปอยู่ในบ้าน เพราะบ้านไม่มีคน  เราอยู่ในบ้านนั้นน่ะ เราอยู่ในบ้านแล้วไม่มีคนได้อย่างไร ก็เราอยู่อีกคนหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเข้าไปนิพพาน เข้าไม่ได้ อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ  อาสวะสิ้นไป ทำตัวจิตนี้ให้เป็นนิพพาน ตัวจิตนี้เป็นนิพพานได้ แต่ตัวจิตเข้าไปสู่นิพพานไม่ได้ แต่ตัวมันเองทำให้ตัวมันเป็นนิพพานได้ นี่ไงถ้ามันเป็นความจริงของมัน มันจะมีความจริงของมัน ฉะนั้นพอมันเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว เวลาคนพูดทุกคนมีสิทธิพูดได้ แต่มันไม่จริง ที่เราพูดกันอยู่นี้ ที่เราพยายามหาเหตุหาผลกันอยู่นี้ เราต้องการเห็นไหม ถ้าเป็นทฤษฎีก็สะอาดบริสุทธิ์ ความสะอาดบริสุทธิ์อันนั้น เจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์ ฉะนั้นคำว่าเจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์เห็นไหม แม้แต่เจตนาดีขนาดไหนนะ เจตนาดีนะถ้าเราคิดไม่ถึงเจตนานั้นก็ใช้ไม่ได้นะ

หลวงตาท่านเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่หลวงปู่มั่น ผ้านี่อัตคัดขาดแคลน พอผ้าอัตคัดขาดแคลนนี่ ท่านได้ผ้ามาเนี่ยท่านจะเจือจานลูกศิษย์ลูกหาทั้งนั้นเลย แล้วตัวท่านเองก็นุ่งผ้าปะๆ หลวงตาท่านมีเจตนาดีมาก ท่านเอาผ้านี่นะ ผ้าดิบนี่นะไปย้อมเป็นผ้าอาบ แล้วหลวงตาท่านเป็นคนดูแลอุปัฏฐาก เป็นคนดูแลผ้า เป็นคนเก็บบริขารของหลวงปู่มั่น ถึงเวลาแล้ว ท่านเป็นคนเก็บบริขารท่านก็เปลี่ยนผ้า เอาผ้าอาบผืนใหม่ไปเปลี่ยนผ้าอาบผืนเก่า พอเปลี่ยนผ้าอาบผืนเก่าขึ้นมา หลวงปู่มั่นท่านประท้วง ท่านไม่ยอมใช้ ท่านไม่ยอมใช้

หลวงตานี่ท่านเสียใจมาก ท่านบอกว่าเราเจตนาดีนะ ท่านบอกนะหลวงปู่มั่นคืออาจารย์ของเรา อาจารย์ของเรามีชื่อเสียงคับประเทศไทย อาจารย์ของเรามีชื่อเสียงมาก แต่อาจารย์ของเราใช้ผ้าแบบคุณภาพที่มันไม่ดีเลย เราก็อยากจะเชิดชูอาจารย์ของเรา แต่ท่านไม่ยอมใช้ พอท่านไม่ยอมใช้ต้องไปขอขมา พอขอขมาเสร็จท่านบอกว่า นี่หลวงตาท่านเล่าเองนะ ท่านพูดกับหลวงตา หลวงปู่มั่นพูดกับหลวงตาว่า ถ้าจะให้เราเป็นลิงเราก็จะใช้ผ้านี้ ถ้าจะให้เราเป็นอาจารย์เราใช้ผ้าใหม่นี้ไม่ได้ เพราะผ้าเก่าของเรามันยังใช้ได้อยู่ มันเป็นความประหยัดมัธยัสถ์เห็นไหม

พ่อแม่เรา ครูบาอาจารย์เราเนี่ยท่านทำเป็นตัวอย่างเห็นไหม ผ้านั้นยังใช้ได้อยู่แม้มันจะปะจะชุนมันก็ยังใช้ได้อยู่ ท่านไม่ยอมเปลี่ยน ถ้าจะให้ท่านใช้ต้องไปเอาผ้าผืนเก่ามา ท่านต้องไปเอาผ้าผืนเก่ามาเปลี่ยนเอาผ้าผืนใหม่ออก  แล้วท่านขอขมาหลวงปู่มั่นด้วย แล้วท่านพูดให้เราฟัง เวลาท่านเทศน์ให้พระฟังบนศาลาไง ท่านบอกว่าการกระทำของผมเนี่ยนะ การกระทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์สะอาด สะอาดเต็มที่เลย เพราะผมก็เคารพรักหลวงปู่มั่นมาก เราก็เคารพรักพ่อแม่เราใช่ไหม เราทำด้วยความเจตนาที่สะอาด ที่บริสุทธิ์ ที่จะเชิดชู

แต่ท่านก็ยอมรับว่าท่านคิดไม่ถึง ท่านก็ยอมรับผิดนะ หลวงตาท่านบอกว่าท่านก็ยอมรับว่าท่านคิดถึงตรงนี้ไม่ถึงเห็นไหม แต่นี้เราจะบอกคำว่า เราเจตนาบริสุทธิ์ เราสะอาดๆ  สะอาดมันก็มีผิดมีถูกนะ ความสะอาด ความคิดที่เจตนาสะอาดไม่สะอาด มันมีถูกมีผิดเหมือนกัน ถ้าเหตุผลของเรา เราคิดไม่ถึง เราก็ผิดนะ แต่นี้บอกว่าเวลาพูดน่ะ พูดด้วยเจตนาที่สะอาดไง ก็สั่งสอน ก็เป็นพระ ก็พูดพระไตรปิฎก ก็พูดธรรมะมันจะผิดไปไหน เจตนาสะอาดบริสุทธิ์ทั้งนั้นน่ะ

แต่เจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์ของเรา แต่ทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติเขาเสียโอกาสของเขา เขาเสียเวลาของเขา ถ้าเขาประพฤติปฏิบัติของเขาโดยอำนาจวาสนาของเขา เขาต้องหาช่องทางของเขา เขาพยายามพลิกแพลงของเขาได้ แต่เพราะเราพูดด้วยเจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม เขาก็เชื่อมั่นเราใช่ไหม พอเขาเชื่อมั่นเรา เขาก็พยายามทำตามที่เราบอกมีไปหนทางเดียว พอหนทางเดียวมันก็ไปสู่ทางตัน เห็นไหมคำว่าเจตนาบริสุทธิ์ของเรา มันทำให้คนอื่นเสียโอกาส ทำให้คนอื่นหลงทิศหลงทางไปมหาศาลขนาดไหน

นี่ถ้าเจตนาบริสุทธิ์อย่างนี้เป็นบุญหรือเป็นบาป ถ้าคำว่าเจตนาสะอาดบริสุทธิ์เห็นไหม พูดด้วยเจตนาบริสุทธิ์ใครก็พูดได้ มรรคผลนิพพานจะผูกไว้กับพระป่าเท่านั้นหรือ ในพระป่าเรา ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ครูบาอาจารย์ท่านเห็นไหม เช่น ที่เวลาเจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ท่านยังจับมาให้คุยกัน ให้ตรวจสอบกัน ให้ทดสอบกัน แล้วตรวจสอบกันเห็นไหม มันก็จะทำให้สะอาดบริสุทธิ์เห็นไหม

เนี่ย ธมฺมฺสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ธรรมะมีการสนทนาธรรม การสนทนาธรรมมันตรวจสอบกัน ว่าการตรวจสอบกันยิ่งเป็นมงคล มงคลกับใคร มงคลกับพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาได้ตรวจสอบ พุทธศาสนาได้กลั่นกรอง พุทธศาสนาสะอาดบริสุทธิ์ พุทธศาสนาก็มีแต่ความสะอาด มีแต่ความดีงาม ศาสนานี่ยิ่งดีขึ้นมา นี่ไง ถ้าเรามีสิ่งใด เราก็ต้องธรรมสากัจฉา ต้องเจรจา มันไม่ต้องเจรจาหรอก ตอนนี้เว็บไซต์ก็มีเห็นไหม พอเปิดดู มันก็ถูกผิดมันก็เห็นชัดๆ

เทียบเคียงดูว่าถูกผิด ถ้าอันไหนผิดก็ต้องถอดออก อันไหนผิดเราก็ควรจะเอาออกว่าอันนี้มันเป็นความผิด อย่าประจานเราเลย มันประจานนะ มันจะเป็นความเชิดชูของคนที่ปัญญาไม่ถึง คิดว่าพระพูดแล้วมันก็เป็นธรรมะไง เนี่ยมรรคผลนิพพานจะผูกไว้กับพระป่าหรือ พระองค์ไหนก็พูดได้ทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้าเขาพูดมรรคผลนิพพาน คนที่เขาเด็กอ่อนเด็กที่ยังไม่เข้าใจสิ่งใดเลย พอเจอเข้ามันก็เชื่อของเขาไป แต่ถ้ามีวุฒิภาวะเห็นไหม พันธุกรรมทางจิตเข้มแข็งขึ้นมา เขาตรวจสอบของเขาขึ้นมา สิ่งนี้ตรวจสอบกัน

สิ่งใด ดูสิทางวิชาการ ถ้าประชุมกันเห็นพ้องต้องกันว่าอะไรไม่ถูกต้อง เขายังยอมยกเลิก เขายังยอมแก้ไขเลย สิ่งที่แก้ไข แก้ไขให้ศาสนามันสะอาดบริสุทธิ์ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อสิ่งที่เราเทศนาว่าการไว้ มันเป็นเอกสารนะ มันเป็นหลักฐานนะ เยอะแยะไปหมด ผิดไปนี่เป็นค่อนเลย แล้วยังบอกว่าอย่างนี้เป็นมรรคผลนิพพาน มันมรรคผลของใคร มันมรรคผลนิพพานของกบในกะลา เราเป็นคนนะ เราจะไปเชื่อฟังกบให้กบมันสอนเราเหรอ กบในกะลามันรู้เฉพาะในกะลาของมัน

หลวงตาท่านยังพูดเลย เวลาเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ มันความคิดในถังขยะ ถังขยะคือขันธ์ ๕ คือสิ่งที่มันมีตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำเราอยู่ เห็นไหมความคิดในขันธ์ ๕ ท่านบอกว่ามันเป็นขี้ มันเหม็น อย่าไปเขี่ยมัน อย่าไปคุ้ยมัน เราต้องหลีกห่างจากขี้นั้น เราไปอยู่ที่ความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเราไปดีกว่า นี่พูดถึงบัณฑิตคบบัณฑิตไง อเสวนา จ พาลานํ  ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา อย่าคบคนพาลให้คบบัณฑิต แล้วคนบัณฑิตน่ะ ใครเป็นคนพาลใครเป็นบัณฑิตล่ะ

นี่พูดถึงเจตนาของเรานะ จะไม่พูด เพียงแต่ว่า เวลาเขาพูดอยู่เขายังบอกว่า สิ่งที่ทำนี้เป็นความถูกต้อง ความถูกต้องแล้วก็ตะแบงกันไป สิ่งที่ตะแบงกันไปขนาดไหน มันเป็นไปไม่ได้นะ ยิ่งพูดออกมาเนี่ยมันก็จะผิดไปเรื่อยๆ นี่เพิ่งเทศน์ออกมา เพิ่งแกะออกมา เขาเพิ่งเอามาให้เมื่อวานนี้ เนี่ยถ้าจิตมันกระสับกระส่าย เขาเรียกว่าสังขารขันธ์ พอมันแยกออกไปเห็นไหม เห็นกายเป็นกายเป็นส่วนๆ ทุกข์เป็นทุกข์ สุขเป็นสุข มันก็ได้ผลของมัน ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันไม่มี ตัวเราไม่มีหรอก มันมีเพราะความคิด เพราะเราคิดความคิดตัวเราถึงมี มันก็พูดเป็นธรรมชาติอีก ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะธรรมชาติ

มันเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้นน่ะ มันไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเรา วิธีล้างความเห็นผิดในตัวเรา ให้เรียกว่าวิพัทวิธี คล้ายๆ กับมีรถหนึ่งคัน เอารถยนต์มาแกะอีกแล้ว รถยนต์มาแกะมันก็ไม่มีอะไร เป็นเศษเหล็กไง แล้วว่าตัวจะแกะอย่างนี้ความคิดจะแกะอย่างนี้ได้ไหม มันไม่รู้หรอกความคิด รถยนต์มันแกะแล้ว คนแกะมันแล้วมันประกอบตัวเองไม่ได้นะ เพราะรถยนต์มันเป็นเหล็ก แต่ความคิดเรา เอ็งแกะขนาดไหนนะ พอเอ็งเผลอเดี๋ยวมันก็คิดอีกอย่างเก่าแล้ว มันรวมตัวได้ มันคิดของมันได้ อะไรก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา แล้วก็พูดเป็นอย่างนี้อีก ธรรมะเป็นธรรมชาติอีกแล้ว ธรรมชาติคือมันไม่มี มันต้องมีก่อนนะ ถ้ามันไม่มีเราจะไม่มานั่งกันอยู่นี่

สิ่งที่เรามานั่งกันอยู่นี่ เพราะเรามีจิต เพราะจิตเกิดในไข่ เกิดเป็นคนแล้วก็มานั่งอยู่นี้ แล้วก็ทุกข์ตรอมกันไปชีวิตหนึ่ง แล้วก็หมดชีวิตนี้ไป แล้วก็จะไปเกิดอีก แล้วบอกว่ามันไม่มี เหมือนนรกสวรรค์ไม่มีไง นรกสวรรค์ไม่มีน่ะ เอ็งตายไปเอ็งจะรู้เลยว่ามีหรือไม่มี นี่ก็เหมือนกันมันมีของมัน กิเลสมันมีของมัน แล้วมันจับต้องอย่างไร เนี่ยพระป่าเขามีตรงนี้กัน มันจับต้อง มันวิปัสสนา มันคลายตัวออกมา คลายตัวออกมาแล้วมันไม่ถึงที่สุดเห็นไหม เขาเรียกตทังคปหาน

ครูบาอาจารย์ท่านจะกระตุ้นเลย หลวงปู่มั่นเวลาอยู่กับพระนะ ถ้าพระองค์ไหนภาวนาเป็นนะ จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร ท่านคอยตรวจสอบตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ท่านมีอนาคตังสญาณนะ หลวงตาท่านเล่าให้ฟังเห็นไหม เวลาท่านพิจารณาจิตจนเหนื่อยมากแล้ว แล้วท่านก็ยันไว้เฉยๆ หมายความว่าใช้ขันติยันไว้เฉยๆ มันก็พอสบายๆ น่ะ พอทำข้อวัตรตอนเย็นนะ มหา มหาพิจารณาอย่างไร  พิจารณาอย่างหมากัดกัน ท่านบอกท่านยันไว้เฉยๆ นะ เนี่ยอนาคตังสญาณของหลวงปู่มั่น ท่านตามดูได้หมดนะ

ขนาดตามดูได้หมดอย่างนี้ เวลาเจอพระที่แบบว่า อนาคตังสญาณท่านรู้ของท่านองค์เดียว ไอ้พระที่โดนรู้นี่ไม่รู้ว่าตัวเองโดนล้วงตับแล้วนะ คือท่านไปเห็นคนอื่นหมดล่ะ แต่ท่านไม่พูด ไอ้คนที่เหมือนกับมีแต่เครื่องส่ง เครื่องรับมันไม่มีไง เครื่องส่งนี่ดีมากเลย เครื่องรับของหลวงปู่มั่นจับได้หมดเลย แต่ไอ้เรานี่ไม่มีเครื่องรับ เครื่องส่งๆ มาอย่างไรเราก็ไม่รู้ได้ใช่ไหม ท่านถึงต้องพูดด้วยปากไง จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร เตือนเครื่องรับ ให้เครื่องรับมันเปิดหูฟัง แล้วให้เครื่องรับน่ะมันตอบมา เพราะเครื่องรับนั้นมันจะได้แก้ไขมันเห็นไหม

เวลาท่านบอกเลย มหา มหาพิจารณาจิตอย่างไร พิจารณาอย่างนั้นเหรอ พิจารณาแบบหมากัดกัน แต่หลวงตาท่านบอกท่านก็เฉย ท่านเงียบ เงียบเพราะอะไร เพราะเราเหมือนกับเครื่องรับใช่ไหม เรารู้ตัวเราอยู่ เพราะเราปิดเครื่องไว้ เรายังไม่ได้เปิดเครื่อง แต่ท่านมาพูดให้พวกเราฟังไง ท่านบอกให้พวกพระฟังบนศาลานะ ถ้าหลวงปู่มั่นท่านส่งจิตมา ก่อนหน้านี้สักครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่ง ท่านจะไม่พูดอย่างนี้เลย เพราะ เพราะก่อนหน้านั้นผมใช้ปัญญาต่อสู้กับกิเลสเต็มที่เลย ต่อสู้เป็นชั่วโมงๆ คือใช้ปัญญาใคร่ครวญมาตลอดเลย

แล้วผมนี่เหนื่อยมาก ผมเหนื่อยมากคือมันสู้แล้วมันเพลียไง มันก็ถอยกลับมาที่พุทโธ ถอยกลับมาที่ฐานไง พอถอยกลับมาที่ฐานปั๊บหลวงปู่มั่นส่งจิตมาพอดีไง ท่านบอกว่าถ้าหลวงปู่มั่นส่งจิตมาก่อนหน้านั้น ถ้าส่งจิตมาดูก่อนหน้านั้นประมาณหนึ่งชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมงท่านจะไม่พูดอย่างนี้เลย แต่ท่านพูดอย่างนี้ก็จริง เพราะตอนที่ท่านส่งจิตมาผมทำอย่างนั้นจริงๆ คือว่าท่านสู้ไม่ไหว แล้วท่านก็เอาจิตมายันไว้เฉยๆ เห็นไหม นี่เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์น่ะ ท่านมีจิตส่งมาดูเรา ท่านดูเรา ท่านปกป้องเรา ท่านดูแลเรา

แต่ท่านจะเตือนเรานี่เราก็ไม่รู้ เราไม่รู้หรอก เพราะเราไม่รู้ ท่านถึงต้องพูดด้วยปากไง ว่าจิตเป็นอย่างไร ภาวนาแล้วเป็นอย่างไร คิดอย่างนั้นน่ะมันไม่ถูกนะ ทำอย่างนี้ ดูสิ เนี่ยพวกเราผ่านครูบาอาจารย์กันมา พวกเราถึงได้เคารพบูชานะ ในธรรมบอกว่าห้ามติดบุคคลนะ ติดบุคคลไม่ได้ให้ติดธรรมะเถิด ให้ติดบุคคล บุคคลก็คือปุถุชน แต่ครูบาอาจารย์เราน่ะก็เป็นบุคคล แต่หัวใจท่านไม่ใช่ปุถุชน หัวใจท่านคือธรรมะ ธรรมะที่รวมอยู่ในหัวใจของอาจารย์เรา ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่บุคคล

นั้นคือธรรมะที่มีชีวิต นั้นคือธรรมะ ตู้พระไตรปิฎกที่มีชีวิต ตู้พระไตรปิฎกที่รู้จริง ตู้พระไตรปิฎกแล้วสอนเราด้วย ตู้พระไตรปิฎกในคอมพิวเตอร์ต้องไปคีย์มันออกมานะ ต้องไปกดเลย อยากรู้คำไหนๆ มันถึงจะขึ้นมาให้เราดู พระไตรปิฎกเราก็ต้องไปรื้อค้นมันนะ แล้วเวลาดูขึ้นมา ก็ดูด้วยวินิจฉัยของเรา แต่ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ ตู้พระไตรปิฎกที่มีชีวิต มันจะบอกเราเลย พอผิดมันก็สปาร์คเลย ช็อตด้วยไฟฟ้าเลย พรึ่บๆ เลย สะดุ้งเลย ตู้พระไตรปิฎกนี่ไง เราจะบอกว่าธรรมะบอกไม่ให้ติดตัวบุคคล แต่พวกเราติดครูบาอาจารย์

ฉะนั้นหลวงตาท่านบอกว่าท่านเป็นนักล่าอาจารย์ พระกรรมฐานเรานะนักล่าอาจารย์ อาจารย์องค์ไหนสอนถูกสอนผิด ถ้าสอนผิดเราก็สอนตัวเราเองผิดๆ อยู่แล้ว ไม่ต้องให้ใครมาสอนเราหรอก เราต้องการคนที่รู้จริงแล้วสอนให้เราถูก ถ้าสอนเราถูกเราก็แสวงหา แล้วหลวงตาท่านบอกท่านนักล่าอาจารย์ ท่านถึงเอาความรู้สึกอันนี้มาเทียบกับความรู้สึกของลูกศิษย์ ท่านถึงต้องแบกรับหมู่คณะ ยอมรับ ยอมรับว่าพระจะมาก พระจะมีขนาดไหนท่านก็ยอมรับอันนี้ เพราะท่านเอาหัวใจของท่านเทียบว่า สมัยท่านเป็นพระเด็กๆ ท่านก็แสวงหาอย่างนี้เหมือนกัน

แล้วพวกเราปฏิบัติกัน เราติดครูบาอาจารย์เนี่ย มันยิ่งติดครูบาอาจารย์มันยิ่งดี ดีจนกว่าเราจะปีกกล้าขาแข็ง ถ้าปีกกล้าขาแข็งแล้ว เราก็จะช่วยตัวเราเองได้ แต่ถ้าเราไม่มีติดครูบาอาจารย์เลย ให้มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ให้มีธรรม ให้ติดธรรมะเถิด แล้วติดธรรมก็ทำอย่างนี้ ทำโดยกิเลสอย่างนี้ ทำโดยไอ้กบในกะลาอย่างนี้ มันจะปีกกล้าขาแข็งไปไหน มันก็ยิ่งเป็นเหยื่อให้กบในกะลามันก็กินกันต่อไปสิ ฉะนั้นคำว่าการเคารพครูบาอาจารย์  มันเคารพด้วยความเป็นจริงนะ

แต่สิ่งที่ทำมา สิ่งที่เขาทำของเขา แล้วเขาพยายามจะพูดขึ้นมาเพื่อเป็นฉากกำบังไว้ไง แล้วพวกเราคิดโดยสุภาพบุรุษนะ จิตใจพวกเรานี่เป็นสุภาพบุรุษ เพราะเราต้องการความจริงกัน พอเขาพูดอย่างนั้นก็จริงเนาะ เอ๊ ทำไมพูดมรรคผลนิพพานจะผิดไปหมดเลย ไอ้พระป่านั่นพูดถูก ทำไมเราพูดผิด มันไม่ใช่จะอยู่ที่พระป่าหรือพระไม่ป่า มันอยู่ที่ถูกผิดจริงๆ เขาเอาคำพูดนี่มาบังไว้ เป็นฉากกำบังของเขาไว้ แล้วพวกเราก็ไม่กล้าทะลุฉากนี้เข้าไปเพื่อให้สู่ความจริง เราก็จะหลงกันไปอีก

ฉะนั้นว่า ถ้าเขายอมรับความจริงนะ  แล้วเอาความจริงนั้นตรวจสอบ  แล้วแก้ไขซะ ถ้าไม่แก้ไขนะยิ่งพูดไปอย่างไรก็ผิด มันผิดตั้งแต่ความเห็นผิดในใจแล้ว  ถ้าความเห็นผิดนี่นะ ถ้าความเห็นผิดยังตะแบงกันไปอยู่นี้ มันก็เป็นกบในกะลา เป็นคำสอนของกบในกะลา เอวัง