ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อริยสัจมีหนึ่งเดียว

๑๓ เม.ย. ๒๕๕๔

 

อริยสัจมีหนึ่งเดียว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๓๗๖. เรื่อง “หาหนทางเพื่อปิดประตูอบาย”

ขอโอกาสหลวงพ่อครับ ด้วยความเคารพอย่างสูง เพื่อขอกราบเรียนข้อธรรม เพื่อเป็นหลักเตือนสติและปลุกกำลังใจของตนเองที่ท้อแท้และหมดกำลังใจ เนื่องด้วยกระผมครั้งก่อนเป็นคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจปฏิบัติสมาธิจิตอย่างมาก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสักวันหนึ่ง อย่างน้อยในภพชาตินี้ จะต้องปิดประตูอบายภูมิให้ได้

ตั้งสัจจะอธิษฐานต่อทวยเทพ เทวดาฟ้าดิน อ้างอิงถึงบุญกุศล วาสนา บารมี ที่สร้างสมมาแล้วในอดีตชาติก่อนๆ มาเป็นอินทรีย์บารมี เพื่อหนุนหนำเป็นปัจจัยให้ดวงตาเห็นธรรมกาลแล้วกาลเล่า จนมาถึงปัจจุบันนี้ รู้สึกกำลังใจของตนเองถดถอยลงไปมากๆ ต่างจากครั้งแต่ก่อนที่ผ่านมา เพื่อให้บรรลุดังที่ตั้งใจไว้ จึงอยากเรียนถามด้วยความเคารพอย่างสูงว่า

ขอโอกาสหลวงพ่อได้โปรดเมตตากระผมด้วยว่า กระผมจะมีแนวทางใดบ้างที่จะสร้างหลักใจให้เกิดขึ้น และปลูกอจลสัทธา สัทธาที่ไม่หวั่นไหว ให้เกิดขึ้นในดวงจิตดวงใจอย่างแท้จริง จนเกิดดวงตาเห็นธรรม สภาวธรรม ตามความเป็นจริง ไม่เสียชาติเกิดที่ได้เกิดมาและบำเพ็ญบารมีในบวรพุทธศาสนา ขอให้หลวงพ่อโปรดช่วยชี้แนะด้วย

หลวงพ่อ : เวลาอย่างนี้ พูดถึงเวลาพวกเราตั้งใจ อย่างชาวพุทธนี่ ชาวพุทธทุกคนพูดอย่างนี้ ส่วนใหญ่พูดอย่างนี้ เพราะเราศึกษามา แล้วครูบาอาจารย์เทศน์มาบอกว่า “เวลาชาติปัจจุบันนี้เกิดมาเป็นชาวพุทธต้องทำบุญกุศล แล้วตายไปขอให้ไปพบพระศรีอริยเมตไตรย”

นี่เราคิดจินตนาการ เราคาดหวังกันไปไง แต่เราคาดหวังกันไปนี่ เวลาคาดหวังไปเราคิดว่าความคิดเราจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป แต่เวลาเราพูดถึง เวลาเราเปรียบเทียบ เราเปรียบเทียบแบบนี้ แบบว่าถ้าจิตใจเราดีเราก็คิดดี เราก็หวังดี เราก็ปรารถนาดี แต่จิตใจเราจะเป็นอย่างนี้ จะดีอย่างนี้ตลอดไปไหม อย่างเช่นตอนนี้โยมมีวาสนาไปเจอหลวงตา ทำบุญกุศลกับพระอรหันต์มาเยอะมาก เวลาโยมตายไปโยมก็เกิดเป็นเทวดา พอเกิดเป็นเทวดานะเพลิน โอ้โฮ.. มีความสุข ลืมไปเลย

คำว่าลืม ลืมคือทำตามใจไง นี่สมมุติถ้าเราไม่มีสติปัญญานะเราจะไม่บังคับตัวเราเอง แต่เรามีสติปัญญาใช่ไหมว่าอะไรผิดอะไรถูก ถ้าอะไรผิดอะไรถูกเพราะเราถือตามศีล นี่ทาน ศีล ภาวนา ในเมื่อมีศีล พอมันมีศีลขึ้นมานี่เราทำอะไรเราก็มีหลักของศีลปกป้องเราไว้ แต่ถ้าเราไม่มีศีลนะเราก็ทำตามใจเราเอง ทีนี้พอเราไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เห็นไหม เราสร้างบุญกุศล เราสร้างบุญมันก็ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ก็เพลินนะ

ฉะนั้นบอกว่าเวลาเพลินขึ้นมา เราเกิดเป็นเทวดามันเพลินมันติดในสุข นี่พอมันติดในสุขแล้วมันจะรู้ตัวต่อเมื่อใกล้หมดอายุขัย เวลาใกล้หมดอายุขัย ในธรรมบท เห็นไหม เวลาเทวดาเขาจะตาย เพราะเขาอยู่ด้วยทิพย์สมบัติ แสงเขาจะเริ่มจางลงๆ พอจางลงนี่เขามีแต่ความเศร้าหมอง เพราะคนเราจะต้องตาย พอคนต้องหมดอายุขัย เวลาลงมานี่ ลงจากเทวดา ลงจากพรหมมามันจะไปไหนล่ะ อย่างดีที่สุดก็เกิดเป็นมนุษย์ อย่างเลวมันก็ลงต่ำ เพราะเราใช้ในแง่ของความดีไปหมดแล้ว แล้วมันเหลืออะไรตกค้างในใจล่ะ มันก็ไปตามนั้นแหละ

ฉะนั้นบอกว่าจะไปพบพระศรีอริยเมตไตรย เราก็เห็นด้วยนะ เราเห็นด้วย แต่ข้อเท็จจริงที่มันจะต่อเนื่องไปถึงตรงนั้นมันจะเป็นอย่างไร มันมีกาลเวลาที่เราจะต้องไปอีกนะ แล้วมีกาลเวลาที่ไปอีก ถึงเวลาที่สุดแล้ว แรงปรารถนาหรือความตั้งใจของเรามันจะถึงเป้าหมายไหมล่ะ ถ้าไม่ถึงเป้าหมายนะมันก็เป็นอย่างพวกเรานี่แหละเวียนตายเวียนเกิดไง หมุนกลับมา แล้วหมุนกลับไปที่ไหนล่ะ

ฉะนั้นจิตใจของคนมันเป็นแบบนี้ ข้อเท็จจริง ใจของเรามันขึ้นๆ ลงๆ คือใจเราไม่มั่นคง แต่เวลาใจเราดีเราก็ปรารถนาดี พอปรารถนาดีเราก็ตั้งสัจจะแล้ว เห็นไหม “เกิดมาชาตินี้จะปิดอบายภูมิให้ได้” นี่ตอนใจมันดี “เกิดมาชาตินี้ ขออย่างน้อยก็ต้องปิดอบายให้ได้”

การปิดอบายให้ได้นี่นะ ไม่ต้องเสียใจหรอก การปิดอบายภูมินี่นะ แค่เรามีศีล ๕ นี่ปิดอบายภูมิ แต่ต้องมีด้วยสตินะ เพราะคำว่ามีศีล ๕ เราอยู่ในศีล ๕ เราจะผิดศีลไหม ถ้าเราไม่ผิดศีลนี่เราจะตกนรกไหม ไม่ตก.. ถ้าไม่ตกนรก นรกนั่นก็คืออบายภูมิไง ศีล ๕ คุ้มครองเราไม่ให้ไปอบายภูมินะ ถ้าเรามีศีลโดยข้อเท็จจริง ถ้าศีลคุ้มครองเรา อบายภูมินี่ไม่ไปแต่ไม่ปิดตาย ไม่ปิดตายเพราะอะไร ไม่ปิดตายเพราะว่าเราผิดพลาดได้

คนถือศีลมันจะมีความผิดพลาดได้ แต่ถ้ามันจะปิดอบายภูมิโดยอัตโนมัติ โดยเด็ดขาด โดยข้อเท็จจริงนะ พระโสดาบัน ถ้าเข้าถึงโสดาบันปั๊บนี่พาดกระแสเข้าสู่นิพพาน ไม่ไปเด็ดขาด อบายภูมิไม่ไปโดยอัตโนมัติเลย แต่ถ้าพวกเราเป็นปุถุชน เราไม่ได้เป็นพระโสดาบัน เราพยายามจะทำให้ถึงพระโสดาบันแต่ยังไม่ถึง

เราอยู่ในศีลของเรา ศีลนี้มันจะป้องกัน ปิดอบายภูมิ ไม่ไปอบายภูมิเพราะมันไม่มีเหตุให้ต้องไป แต่ถ้าเรามีเหตุใช่ไหม มันมีเหตุต้องไป สิ่งที่เราเกิดตายในวัฏฏะมันก็เป็นผลไง เป็นผลของเวรของกรรม ถ้าเป็นผลของเวรของกรรมนะ ถ้าเราทำกรรมดี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กรรมดีต้องส่งผลของกรรมดี

ฉะนั้นการปิดอบายภูมิ เห็นไหม มีศีล ถ้าเราพูดถึงภาษาเรานะ เราถือศีล ๕ แล้วถ้ามันผิดพลาดเราก็แก้ไขของเราไปเรื่อย นี่พูดถึงโดยปุถุชน แต่ถ้าโดยธรรมนี่เป็นพระโสดาบันแล้วมันจะปิดอบายภูมิโดยอัตโนมัติ เพราะพระโสดาบันอย่างน้อยมีสติสมบูรณ์ จะทำสิ่งใดนี่นะ ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำในศีล จะทำอะไรปั๊บสะกิดใจทันที พอเราจะทำอะไรปั๊บสติมันเตือนเลยนะ ผิด ไม่ทำ ผิด

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราหวังสกิทาคา หวังอนาคา หวังพระอรหันต์ สกิทาคา อนาคา พระอรหันต์นี่มันจะอะไรเป็นพื้นฐานรองขึ้นไปล่ะ ก็มีมรรค มีศีล มีธรรมรองขึ้นไป ฉะนั้นถ้าเราหวังผลที่มากกว่านี้ เหมือนเราหวังจะปลูกต้นไม้ เราหวังทำสวน เราไม่มีที่แล้วเราจะเอาอะไรไปทำสวน เราหวังทำสวนใช่ไหม เราก็ต้องหาพื้นที่ ถ้าพื้นที่ที่ไหนเราก็ต้องทำพื้นที่ให้เราดี เราจะปลูกต้นไม้ที่นั่น เราก็ได้ทำไร่ทำสวนของเรา

ศีล! ศีลเป็นพื้นฐาน เห็นไหม ทีนี้พระโสดาบัน เวลาจะทำอะไรนะสติจะเตือนตลอดเลย มีสติพร้อม ฉะนั้นถึงไม่ใช่ลูบคลำในศีล ฉะนั้นเป็นโดยอัตโนมัติ ถึงบอกว่าปิดอบายภูมิ

ฉะนั้นเราจะพูดตรงนี้ก่อน ตรงที่แบบว่า แต่เดิมมีความมั่นใจ มีความมั่นคงมาก แล้วในปัจจุบันนี้ท้อถอย มีความท้อถอย มีความเศร้าหมอง หลวงตาบอกอย่างนี้นะ หลวงตาท่านบอกว่า “ธรรมะนี่ให้แต่ผลดีต่อทุกๆ คน สิ่งที่เวลาเราปฏิบัติแล้ว หรือเวลาเราทำแล้ว ที่มันขัดข้องหมองใจ คือกิเลสทำร้ายเราต่างหาก” กิเลสมันบั่นทอนเรานะ กิเลสคือความเคยใจของเรา ทีนี้พอทำสิ่งใดแล้วมันไม่ได้ดั่งใจ หรือทำสิ่งใดแล้วมันไม่เข้ากับกิเลส คือไม่เข้ากับความพอใจของตัว

ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติโดยกิเลส เห็นไหม เราก็บอกว่า ปฏิบัติได้ง่าย รู้ง่าย ทางลัด ทางสั้นชอบกันนักเพราะอะไร เพราะมันคิดว่ามันทำแล้วมันรวบรัด แล้วมันจะจบขบวนการ แต่ความจริงมันไม่ใช่ มันไม่ใช่เพราะอะไร เพราะว่าดูสิเวลาอยู่บ้านกัน เราทำความสะอาดบ้าน เราทำอะไรต่างๆ เราต้องทำความสะอาดให้มันสะอาดเรียบร้อยสมบูรณ์ใช่ไหม แต่ถ้าคนเขามักง่ายเขาจะกวาดไปกองไว้ที่หนึ่ง กวาดไปซุกไว้ที่หนึ่ง ส่วนหนึ่งสะอาด แต่อีกส่วนหนึ่งมันไม่สะอาด มันสะอาดไปไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่ได้ทำความสะอาดให้มันเสร็จกระบวนการของมัน แต่ทำครึ่งๆ กลางๆ

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าพอรวบรัดๆ มันจะรวบรัดไปไหนล่ะ พอรวบรัดขึ้นไป เห็นไหม สิ่งที่ว่ากิเลส เราตั้งใจปฏิบัติ ถ้าลัดสั้นมันจะไปสู่สิ้นกิเลส พอลัดสั้นขึ้นมามันก็ทำความสะอาดส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งเพราะเรามีใจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มันหมักหมมไว้ล่ะ มันชั่วคราว แล้วเดี๋ยวมันก็คลายออกมา แล้วมันก็มีความทุกข์ของมัน นี่ไงเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก เห็นไหม บอกว่า สิ่งที่ทำร้ายเราคือกิเลสเรา ทั้งๆ ที่เราตั้งใจทำนี่แหละแต่กิเลสมันทำร้ายเรา

“ธรรมะไม่เคยให้โทษกับใคร” ศีล สมาธิ ปัญญาไม่เคยให้โทษกับใคร แต่มันให้โทษกับกิเลส ให้โทษกับความขัดข้องหมองใจเรา ไอ้ความขัดข้องหมองใจเรานั้น นั่นล่ะมันทำให้เศร้าหมอง กิเลสเรามันเศร้าหมอง กิเลสเรามันบั่นทอนเรา ความที่มันบั่นทอนเราใช่ไหม กิเลสมันบั่นทอนเรา แล้วเราไม่รู้ทันมัน พอไม่รู้ทันมันเราก็เสียใจไป น้อยใจไป

ความเสียใจ ความน้อยใจ ความไม่พอใจ ความขัดข้องใจ มันคือกิเลสทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ เป็นธรรม เห็นไหม เวลาตั้งใจครั้งแรกเรามีสติขึ้นมา เราสดชื่น เบิกบานนะ เวลาคนไปนี่ดูสิพระโพธิสัตว์ โอ้โฮ.. เวลาปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ โอ้โฮ.. อาราธนากันนะ โอ้โฮ.. สดชื่น แจ่มใส แต่พอเกิดมาได้แค่ ๒ ชาติ ๓ ชาติก็บอกว่าไม่เอาแล้ว ขอเลิกดีกว่า ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว.. กิเลสมันบั่นทอน

คำพูดอย่างนี้นะ เวลาพูดอย่างนี้ เวลาผู้ปฏิบัติ เราพูดอย่างนี้เลยนะ ถ้าลูกศิษย์ไปพูดให้หลวงตาหรือหลวงปู่มั่นฟัง ท่านจะแบบว่ามันสะเทือนใจไง คนที่ปฏิบัติมานะ มันจะล้มลุกคลุกคลานมาเยอะมาก เวลาจิตใจมันดี อย่างที่ว่านะ หลวงตาท่านพูดท่านชมหลวงปู่ขาว ว่าหลวงปู่ขาวเวลาท่านออกปฏิบัติ ญาติพี่น้องบอกว่าไม่ต้องไปหรอก บวชแล้วก็อยู่ที่นี่แหละท่านดูแลให้ดี แล้วพอจะไป เขาก็บอกว่า มรรคผลไม่มี มรรคผลไม่มี หลวงปู่ขาวท่านคิดในใจ แล้วท่านมาเล่าให้หลวงตาฟังไง

ท่านบอกเลยนะ “เหมือนหัวใจนี่มันกัดเพชรขาด” ถ้าได้ก้าวออกหมู่บ้านนี้ไป ถ้าไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จะไม่กลับมาเหยียบอีกเลย ลองได้ก้าวออกไปแล้วนะ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ จะไม่หันหน้ากลับมาเลย”

นี่คนจิตใจอย่างนี้ไง จิตใจมันเข้มแข็ง แล้วเข้มแข็งไปตลอด แล้วเวลาปฏิบัติ หลวงปู่ขาวท่านจะสะดวกสบายไหม ท่านก็ล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้น เวลาหลวงปู่ขาวท่านจะไปหาหลวงปู่มั่นใช่ไหม นี่มากับหลวงปู่แหวน

“เอ๊ะ.. ไปหาอาจารย์ อาจารย์จะรู้ใจเราไหม? อาจารย์ท่านจะพูดถึงพวกเราถูกไหม?”

พอเข้าไปหลวงปู่มั่นใส่เลย “ใจตัวเองล่ะไม่ดู จะให้คนอื่นดูให้ ใจตัวเอง ตัวเองไม่รักษา แล้วใครจะรักษาให้”

เวลาเราเข้มแข็งขนาดว่ากัดเพชรขาดนะ ก้าวเดินออกจากหมู่บ้านนี้ไป ถ้าไม่ได้สำเร็จจะไม่ยอมกลับมาเหยียบบ้านอีกเลย แล้วขึ้นไปเชียงใหม่ ไปสำเร็จที่เชียงใหม่ เห็นไหม กลับมาแล้วท่านถึงย้อนกลับไปบ้านท่าน นี่หลวงปู่ขาวนะ

กรณีอย่างนี้ เวลามันท้อใจ มันทุกข์ใจ มันเกิดได้ทั้งนั้น มันเหมือนนักกีฬา เห็นไหม เวลาเขาเป็นแชมเปี้ยนโลก แล้วเวลาเขาป้องกันของเขา เรารักษาของเขา ถ้าเขาหมั่นฝึกซ้อม เขาหมั่นอะไรนี่ เขาก็จะรักษาของเขาได้ แต่การฝึกซ้อม การดำรงชีวิตของเขามันก็ต้องเต็มที่ ต้องมีความขยันหมั่นเพียร ต้องต่อเนื่อง ต้องคงที่

ทีนี้อย่างเราก็เหมือนกัน มันมี...มันมีอาการที่ว่ามันน้อยเนื้อต่ำใจ ทีนี้การน้อยเนื้อต่ำใจนะ ถ้าคบบัณฑิต ถ้าคบในครูบาอาจารย์ เห็นไหม เคยฟังไหมที่ว่าเวลาหลวงตาท่านไปพูดกับอาจารย์กงมา นี่ขนาดพระอนาคามีนะ “บอกว่า ๙ ปีจะสำเร็จ ๙ ปีจะสำเร็จ นี่ก็ ๙ ปีแล้ว ๙ ปีแล้วนะยังไม่สำเร็จเลย” มันไม่มีทางออก

นี่ขนาดพระอนาคานะ ทีนี้ไปคบหมู่ดี เพราะว่าองค์ที่ตอบท่านคือหลวงปู่กงมา

“เฮ้ย! ๙ ปีมันก็ต้องเข้าพรรษาหน้า มันจึงจะถึง ๙ ปีสิ ไอ้นี่มันเพิ่งออกพรรษายังไม่ครบ ๙ ปี”

หลวงตาท่านบอกว่า ทำให้ท่านกลับมาฮึกเหิม กลับมาสดชื่นอีก พอฮึกเหิมอีกท่านก็อยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ พอจิตมันสงบเข้ามา “โอ้โฮ.. จิตนี้ใส ทำไมจิตเรามหัศจรรย์ขนาดนี้ มองไปภูเขานี่ทะลุเป็นชั้นเป็นตอน ทะลุไปหมดเลย เอ๊ะ.. จิตนี้มหัศจรรย์มาก” พอมหัศจรรย์มากธรรมะมาเตือนนะ

“ความผ่องใส ความมหัศจรรย์นี้เกิดจากจุดและต่อม”

นี่ธรรมะมาเตือน พอเตือนเสร็จแล้วท่านก็ยังไม่รู้นะ ท่านยังจับไม่ได้ ท่านบอกว่า นี่ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่นะ พอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นบอกจะต้องรู้ทันทีเลย แต่ทีนี้หลวงปู่มั่นไม่อยู่นะ อะไรเป็นจุด อะไรเป็นต่อม แล้วจุดและต่อมมันอยู่ที่ไหน ยังต้องแสวงหาอีก อะไรเป็นจุด อะไรเป็นต่อม ต่อม.. ต่อมอะไร จุด.. จุดอะไร

อ้าว.. เวลาธรรมะมาเตือนนี่งงนะ แต่ที่ท่านพูดไว้บ่อยๆ อย่างนี้ เพราะว่าท่านผ่านแล้ว เวลาท่านสงสัยท่านก็ต่อสู้กับท่าน เวลาท่านพิจารณาของท่าน ท่านจับของท่านได้ แล้วพิจารณาผ่านไปแล้ว จุดและต่อมก็คือจุดและต่อมของจิต ทีนี้เวลาคนทำสำเร็จแล้วมาอธิบายอะไรก็ง่ายไปหมด เวลาท่านอธิบาย เห็นไหม แสงสว่างนั้นมันคือเกิดจากจุดและต่อม

อ้าว.. เกิดจากจุดและต่อมเพราะมันรู้ตอนสำเร็จแล้วน่ะสิ แล้วตอนยังไม่รู้ล่ะ จุด.. จุดอะไร ต่อม.. ต่อมอะไร แล้วต่อมของใคร แล้วไปพูดให้คนอื่นฟัง จุดและต่อม จุดเหรอ? อ้าว.. พูดไปมันก็ออกนอกเรื่องไปเลย

นี้พูดถึงถ้าไม่รู้นะ มันก็ทำให้เราลังเลสงสัย แล้วมันก็ขึ้นๆ ลงๆ ในการปฏิบัติ ความรู้สึกแบบนี้นะ นักปฏิบัติมานี่มันมี แล้วนี่เขาบอกว่าปฏิบัติมานาน แล้วต่อสู้มานาน แล้วนี่เวลาดีก็ดี แล้วตอนนี้จิตมันท้อแท้ เวลาท้อแท้ เวลาเราอยู่กับหมู่คณะที่ดี หมู่คณะจะชักนำ เวลาพูดธรรมะกัน เขาจะพูดธรรมะกัน เตือนกัน บอกกัน แล้วเวลาใครท้อถอยนี่

สมัยหลวงปู่มั่นนะ เราอ่านประวัติครูบาอาจารย์ สมัยหลวงปู่มั่น สมัยครูบาอาจารย์ ใครมีความผิดพลาดปั๊บ จะมีการส่งพระไปช่วย ส่งพระไปจัดการ ส่งพระไปเคลียร์ เยอะไปหมดนะ หลวงปู่ฝั้นท่านจะไปดูแล เพราะหมู่คณะของเรามันก็เหมือนพระบวชใหม่ พระบวชใหม่ขึ้นมา จะทำอะไรก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็ต้องดูแลกัน เห็นไหม

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติเพื่อจะสู้กับกิเลส เราไม่รู้จักกิเลสของเรา เราไม่รู้ว่าเราชำระกิเลสของเราแล้วเราจะเจออะไร ฉะนั้นเวลาทำอะไรไปมันก็มีขาดตกบกพร่อง ฉะนั้นมันเป็นการปรับพื้นฐานของกองทัพธรรม ของหลวงปู่มั่นครั้งแรก

ฉะนั้นถ้าเราเห็นว่าความทุกข์ ความยากของครูบาอาจารย์ท่านแสวงหามาขนาดนั้นแล้ว เราจะภูมิใจว่าเราเกิดมานี่ เหมือนว่าเขาทำสำรับให้เสร็จแล้วเรากินอย่างเดียว ขนาดให้กินอย่างเดียวมันยังยุ่งขนาดนี้ แล้วถ้าไม่มีอาหารกิน ต้องไปหาอาหารด้วย แล้วมากินแล้วมาตีกันสำรับแตกเลย นี่เวลาครูบาอาจารย์เราท่านหาของท่านมา ท่านสมบุกสมบันมา ท่านทุกข์ท่านยากมา

ฉะนั้นนี่เขาเรียกว่าเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ แล้วเวลามันเสื่อม คือกิเลสมันบั่นทอนให้เสื่อมไม่ใช่ธรรมะ ที่เราทำกันอยู่นี้เราประพฤติปฏิบัติธรรม เห็นไหม ธรรมะคือการเกิด สิ่งที่ชนะธรรมะแท้ๆ คือการไม่เกิดและไม่ตาย แต่เราเกิดและตาย มันตรงข้ามกันไง เราเกิดและตาย แต่ถึงที่สุดแล้วไม่เกิดและไม่ตาย

ฉะนั้นสิ่งที่จะไม่เกิดไม่ตาย มันก็ต้องเกิดจากเกิดและตาย เพราะเราเกิดมาแล้วเราพบพระพุทธศาสนา เราก็ยังจะต่อสู้กัน แต่ถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่เกิดไม่ตาย ไม่เกิดไม่ตายเพราะอะไร ไม่เกิดไม่ตายเพราะกิเลสมันตาย พอกิเลสมันตาย มันเห็นแล้วว่ากิเลสมันตาย พอกิเลสมันตายแล้วอะไรจะเกิดอีก อะไรจะตายอีก มันไม่มี แต่ขณะนี้กิเลสเป็นอย่างไร ก็กิเลสทำให้เราท้อถอยอยู่นี่ไง ก็กิเลสทำให้เราเสียใจอยู่นี่ไง ก็กิเลสทำให้เราหวั่นไหวอยู่นี่ไง ก็กิเลสทำให้เราไม่สู้อยู่นี่ นี่พูดถึงว่าเวลามันท้อถอย

เขาบอกว่าให้เราแนะนำวิธีการเพื่อจะปลูกอจลสัทธา อจลสัทธานี่นะมันจะเกิดตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปจริงๆ นะ อจลสัทธาอย่างที่ว่าพอเป็นไปได้ก็กัลยาณปุถุชน ปุถุชนนี่คือคนหนาด้วยกิเลส รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

อย่างพวกเรานี่เราว่าเสียงก็เป็นเสียง รูปก็เป็นรูป รสก็เป็นรส แต่เราพันพัวไปตลอด แต่พอเราพิจารณาของเราไปนะ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ หรือพุทโธ พุทโธ พอมันปล่อยนี่มันขาดหมด คำว่าขาดนะ รูป รส กลิ่น เสียง มันเก้อๆ เขินๆ อยู่นะ เสียงก็คือเสียงนะ เราก็คือเรานะ นี่คือกัลยาณปุถุชน

รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร.. มันมีของมันอยู่ แต่กับใจเรานี่มันไม่ดูดดื่มต่อกัน แต่ในปัจจุบันนี้มันดูดดื่มต่อกันนะ นี่พอเสียง เสียงอะไร? รูป.. รูปอะไร? มันไปก่อนแล้ว บ่วงของมารมันพยายามจะดึงให้ใจนี้ฟู แต่พอเราพิจารณาของเราไป พอถึงที่สุดแล้วมันขาดเลย พอขาดเลยเขาเรียกกัลยาณปุถุชน นี่ล่ะอจลสัทธาจะเริ่มพอมีบ้าง เพราะมันเห็นโทษของการที่ว่าถ้าเราอยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง แล้วมันจะเป็นไปอย่างนั้น และเวลามันขาดแล้วมันจะเป็นอย่างนี้

ฉะนั้นเวลาพิจารณาต่อไปนะ พอจิตสงบไปเป็นกัลยาณปุถุชนแล้ว พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ามันพิจารณาจนถึงที่สุดมันขาด นั่นล่ะอจลสัทธาเด็ดขาดเลย เด็ดขาดเลยคืออย่างที่ว่ามันไม่สีลัพพตปรามาส พอไม่สีลัพพตปรามาสนะมันก็คงที่ของมัน มันรักษาสงวนมาก สงวนพื้นที่ไว้เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ สงวนพื้นที่ไว้เพื่อสกิทา เพื่ออนาคา เพื่อเป็นพระอรหันต์ มันมีช่องทางแล้วมันจะไปให้ได้

นี่พูดถึงว่าเวลามันเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม อจลสัทธามันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเราไม่น้อยใจ เราตั้งใจ พอตั้งสติปั๊บแล้วบอกว่า สิ่งที่ผิดพลาดนั้นคือกิเลสทั้งหมด กิเลสมันทำให้เราผิดพลาด เราต้องปลุกปลอบใจตัวเองไง

มันเป็นอุบายของแต่ละองค์ ว่าเวลาใจเราท้อถอยเราจะทำอย่างไร เวลาท้อถอยนะ อย่างหลวงตาท่านบอกเลย เวลาท่านไปที่ไหนก็แล้วแต่ พอท้อถอยท่านก็วิ่งกลับไปหาหลวงปู่มั่นเลย หลวงปู่มั่นก็สูบลมใหญ่เลย พอสูบลมแล้วท่านก็เข้มแข็งไปเอาต่อ แล้วเวลาจิตมันตกก็วิ่งกลับไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็สูบลมอีก นี่มันอยู่ที่ใคร

ของเราเมื่อก่อนเราบอกเราจะไปชาร์ตไฟ เวลาไปไหนมาก็กลับไปชาร์ตไฟทีหนึ่ง ไปชาร์ตไฟด้วยการโดนด่าไง เวลาด่าเปรี้ยง! เปรี้ยง! เออ.. ชาร์ตไฟ ไฟติดแล้ว แล้วก็กลับไปปฏิบัติใหม่ พอมันหงอยๆ ก็ไปชาร์ตไฟซักทีหนึ่ง พอชาร์ตไฟเข้าไปแล้ว โดนเข้าไป ๒ ทีนี่แหม.. ไฟติดดีเหลือเกิน แล้วก็ไปปฏิบัติต่อ

นี่ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมันจะเป็นแบบนั้น มันต้องไปชาร์ตไฟบ่อยๆ ถ้าไม่ชาร์ตไฟเดี๋ยวแบตมันหมด พอแบตมันหมด ถ้าไม่มีสตินะไปเลย

 

ถาม : ๓๗๙. เรื่อง “พิจารณาอสุภะจนกามราคะดับไปแล้ว แต่ไม่นานกามราคะก็เกิดขึ้นมาอีก ควรปฏิบัติอย่างไรครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ เวลาผมนั่งสมาธิ ผมจะนึกพุทโธ พุทโธ ควบคู่กับดูลมหายใจ และดูท้องพองยุบ แล้วผมจะเห็นจิตที่เป็นพุทโธ พุทโธ ตั้งมั่น จิตที่นึกพุทโธไม่เคลื่อนไหว ไม่เปลี่ยนแปลง แต่อารมณ์ในใจเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ นานา ถ้าผมนึกภาพอสุภะขึ้นมา ผมจะเห็นภาพผู้หญิงนอนตาย ร่างกายเน่าเปื่อยกลายเป็นดิน แล้วความต้องการกามราคะก็จะขยับยิบยับๆ แล้วก็ดับไป แต่อีกสักครู่หนึ่ง ความต้องการกามราคะก็เกิดขึ้นมาใหม่ หรือบางที ๓ วัน ๗ วัน ความต้องการกามราคะก็เกิดขึ้นมาใหม่ ผมอยากทราบว่า การพิจารณาอสุภะแบบที่หลวงตาเคยเทศน์เอาไว้ ท่านปฏิบัติอย่างไรกามราคะจึงไม่เกิดขึ้นมาอีกครับ

คำถาม

๑. ผมปฏิบัติมา ๒๐ ปี แต่ไม่เคยนั่งสมาธิจนเข้าถึงอัปปนาสมาธิเลยครับ ไม่ทราบว่า การเข้าถึงอัปปนาสมาธิจะต้องทำอย่างไรครับ

๒. ผมอยากทราบว่าผมปฏิบัติผิดตรงไหน และถูกตรงไหน ทำไมกามราคะดับไปแล้ว แต่ก็กลับมาเกิดใหม่อีก อยากให้หลวงพ่ออธิบายให้ชัดเจน ไม่ต้องกลัวเสียน้ำใจคนถามหรือฆราวาส ญาติ โยม เนื่องจากผมต้องการทราบความจริงว่าการปฏิบัติที่แท้จริงเป็นอย่างไร จึงอยากขอความเมตตาจากหลวงพ่อช่วยชี้แจงด้วยครับ

หลวงพ่อ : ไอ้ปฏิบัติอย่างนี้คือเราปฏิบัติตามความเข้าใจ มันไม่เป็นตามความเป็นจริงเลย เห็นไหม เพราะมันไม่เป็นตามความเป็นจริงเลย มันถึงไม่ได้ผลจริง ถ้ามันได้ผลตามความเป็นจริงนะจะไม่ถามเลย จะเหมือนแบบหลวงตาเปี๊ยบเลย แต่นี่มันไม่เหมือนเพราะอะไร ไม่เหมือนเพราะเราไปคาดหมายจะเอาแบบหลวงตา แต่ผลปฏิบัติไม่เหมือนหลวงตา มันถึงไม่เป็นแบบหลวงตา

“ผมอยากทราบว่า การพิจารณาอสุภะแบบที่หลวงตาท่านเทศน์เอาไว้ ท่านปฏิบัติอย่างไรกามราคะถึงไม่เกิดขึ้นมาอีก”

เวลาเทศน์ เวลาพูดกันนี่เราเข้าใจกันไปเอง เวลาการปฏิบัตินี่ เวลาขั้นของโสดาบันมันไม่ใช่พิจารณาอสุภะ มันเป็นพิจารณาสักกายทิฏฐิ พิจารณากาย การพิจารณากายมันก็เปื่อย แล้วมันก็แปรสภาพเหมือนกัน แต่ไม่ใช่อสุภะ แล้วที่มันเน่าเปื่อยกับอสุภะมันแตกต่างกันอย่างไร เวลามันเน่าเปื่อยนี่มันเน่าเปื่อยไปเพราะมันเป็นอนิจจัง มันเป็นอนัตตา มันเน่าเปื่อยของมัน

เวลาร่างกายนี้มันเน่าเปื่อยของมันนะ เวลาพิจารณาสักกายทิฏฐินี่ เพราะเราไปยึดร่างกายว่าเป็นเรา พอพิจารณาไปนี่มันจะเน่ามันจะเปื่อย มันจะพุพอง มันจะกระจายตัวของมันไป พอเราเห็นตามความเป็นจริงแล้วก็ปล่อย ก็ปล่อย.. ปล่อยก็คือปล่อย เห็นไหม แต่มันเกี่ยวอะไรกับกามราคะล่ะ ไม่เกี่ยวกับกามราคะเลย มันเกี่ยวกับทิฐิมานะ ความเห็นผิดต่างหากล่ะ

เพราะมันเกี่ยวกับทิฐิมานะความเห็นผิด แล้วความเห็นผิดเป็นความเห็นผิดของใครล่ะ เห็นผิดของกิเลสนะ ไม่ใช่เห็นผิดแบบที่เราเรียนกันมา ทีนี้เราเรียนกันมาใช่ไหม กายก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่กาย เกิดแล้วก็ต้องตาย ทุกคนรู้หมดแหละ รู้อย่างนี้เขารู้เอาไว้ไปตอบธรรมสนามหลวงไง แล้วมันจะได้นักธรรมโท นักธรรมตรี นักธรรมเอกไง

อ้าว.. ก็กูรู้ กูรู้กูก็ตอบได้ อ้าว.. รู้ใครพารู้ล่ะ รู้ก็กิเลสกูพารู้ กูไม่ได้รู้ของกูเอง กิเลสกูพารู้เพราะกูศึกษา กูเรียนมา กูเรียนมากูก็รู้ พอกูรู้ เวลากูไปสนามหลวงกูก็ตอบได้ อ้าว.. กายมันเป็นอนิจจัง คนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ธรรมะนี่กูแต่งได้หมดเลย แต่กูก็งง รู้แบบนี้เขารู้ไว้ตอบธรรมที่สนามหลวงไง

แต่ถ้ามันพิจารณาของมัน มันพิจารณากาย เห็นไหม ทำยังไงถึงจะพิจารณากายได้ล่ะ พิจารณากายเพราะจิตมันต้องเป็นสมาธิเข้ามาก่อน ถ้าไม่เป็นสมาธิเอาอะไรพิจารณา ก็เอาทิฐิกูมาพิจารณาไง เอาความรู้ที่เรียนมานี่พิจารณา เพราะรู้ด้วย พิจารณาด้วยมันยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่เลย เพราะมีความรู้อยู่แล้ว พอพิจารณาแล้วมันก็เข้าสู่โจทย์ มันก็ตอบหมดเลย ตอบแล้วมันได้อะไรล่ะ ตอบแล้วก็ตอบเอาคะแนนไง

แต่ถ้าเป็นความจริงนะจิตมันสงบ นี่มันเกี่ยวกับอานาปานสติด้วย มันไม่ถึงกับต้องอานาปานสติ แต่จิตมันสงบแล้วมันคนละเรื่องกัน ถ้าจิตไม่สงบ แล้วพิจารณาไป.. เพราะการพิจารณาอย่างนั้น ผลของมันก็คือปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันก็คือการปล่อยวาง เห็นไหม ที่เขาว่าเวลาพิจารณาเป็นผู้หญิง มันมีภาพร่างกายอะไรนี่ มันเป็นจริงอย่างนั้นไหม ถ้ามันเป็นจริงพิจารณาแล้วมันพิจารณาผู้หญิงเพราะอะไร เพราะเหมือนกับเรานี่ตั้งเป้าผิดไง

เราคิดว่าเราจะละกามราคะ ถ้าเราละกามราคะได้จะเป็นพระอนาคา แล้วเราเป็นปุถุชน พอเราพิจารณากายแล้วเราจะเป็นพระอนาคาเลยหรือ เราไม่ได้เป็นพระโสดาบันหรือ เวลาปฏิบัติไปนี่เราจะเป็นพระอนาคา อย่างรับราชการ เวลาเข้ามาก็เป็นผู้อำนวยการเลยหรือ มึงจะเข้ามาเป็นอะไรก่อน ก็ต้องเข้าไปเป็นเสมียนก่อนทั้งนั้นแหละ เวลาเข้ามาราชการก็เป็นเสมียนก่อน พอเป็นเสมียนแล้ว ถ้ามึงทำดีขึ้นมาเดี๋ยวมึงก็เจริญขึ้นมา

พอสมัครปั๊บ แหม.. เป็นรองผู้อำนวยการ เสร็จแล้วพอปีหน้าได้ตั้งเป็นผู้อำนวยการเลย ไม่มีหรอก! ไม่มี นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณานะ โอ้โฮ.. จะเป็นอนาคาเลย อนาคาที่ไหนล่ะ เอาอนาคามาจากไหนล่ะ นี่ไงเพราะความที่เราคิด เราว่ากันไปเอง แต่โดยข้อเท็จจริงนะ อันนี้เขาถามนะ เพราะเราจะอธิบายตรงนี้ เพราะตรงนี้เราคาใจมาพอสมควร พอใครมาก็จะบอกว่าพิจารณาอสุภะๆ

พิจารณากายกับพิจารณาอสุภะนี่แตกต่างกันอย่างใด?

เราเทศน์ไว้บ่อยมาก ในเทศน์เรา เทศน์บนศาลา จะตอบตรงนี้ประจำ เพราะเราจะให้มันเป็นสเต็ปขึ้นมา

การพิจารณากายกับพิจารณาอสุภะมันแตกต่างกัน...!

การพิจารณาเพื่อสักกายทิฏฐิ ทิฐิในกาย ตอนนี้เรามีความทิฐิมานะในร่างกาย ในชีวิตเรากันอยู่ ในชีวิตเรานี้เรามีทิฐิว่าเป็นของเรา ถ้าเราพิจารณากายบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า พอมันแปรสภาพของมันไป จิตมันปล่อยมาๆ

นี่ล่ะกายนี้ก็เป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันคืนสู่สภาวะความเป็นจริง กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย จิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต นี่คือพระโสดาบัน! ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้าพิจารณากายจะเป็นแบบนั้น

เขาบอกว่าแบบที่หลวงตาเคยเทศน์เอาไว้ ก็หลวงตาท่านก็เทศน์ตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคา ขึ้นมา พิจารณากายขึ้นมา แล้วอสุภะมันจะไปอยู่ข้างหน้า

แล้วพิจารณากายซ้ำเข้าไป ถ้าพิจารณากายซ้ำอีกนะมันก็สู่สถานะเดิมของเขา คือดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ถอนอุปาทานทั้งหมดเลย แล้วจิตนี้มันจะว่างหมด ว่างหมด พอว่างหมดแล้วนี่ ว่างหมดเพราะอะไร เพราะโลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส นี่คือสกิทาคามี

แล้วถ้าจิตมันสงบแล้วนะ อย่างที่ว่าหลวงตาท่านไปอยู่ที่ถ้ำสาริกา แล้วพอหลวงปู่มั่นบอกว่าเศษเนื้อถูกฟัน พอท่านออกมาแล้วท่านเจออสุภะ เจออสุภะก็คือเจอกามราคะ

พิจารณากายคือละสักกายทิฏฐิ

แล้วพิจารณากายกับพิจารณาอสุภะแตกต่างกันอย่างไร?

พิจารณาอสุภะใช่ไหม พอมันพิจารณา พอมันเห็นกายเห็นเป็นอสุภะ เห็นอสุภะแล้วเป็นอย่างไร เห็นเป็นอสุภะแล้วมันสะเทือนกามราคะ!

หลวงปู่ชาเวลาท่านพิจารณาอสุภะ เห็นไหม ท่านบอกเลยว่าผ้านี่ท่านนุ่งไม่ได้เลย หลวงปู่จวนเวลาท่านพิจารณาอสุภะ ท่านต้องเอากระดูกช้างมาห้อยคอไว้ แล้วเคี้ยวหมาก แล้วให้น้ำหมากมันไหลลงมาเป็นเลือดเป็นหนอง เวลาพิจารณาอสุภะมันเป็นขั้นที่ ๓ มันเป็นอีกขั้นตอนข้างหน้า

แต่ไอ้นี่มึงก็อสุภะ กูก็อสุภะ ใครมาก็อสุภะ

ไม่รู้อสุภะของใคร...?

นี่เขาถามมานะ เขาถามเองว่า “แบบที่หลวงตาท่านเทศน์ ท่านปฏิบัติอย่างไรในเรื่องของกามราคะ”

ในเรื่องของกามราคะมันก็เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ตั้งแต่สักกายทิฏฐิใช่ไหม แล้วก็ตั้งแต่อุปาทานในกายใช่ไหม แล้วพอมันผ่านอันนี้เข้าไป นั่นล่ะตรงนั้นล่ะมันจะเจออสุภะแล้วถ้าเจออสุภะนะ

พิจารณากาย กายมันก็แปรสภาพ พิจารณาอุปาทาน กายก็แปรสภาพ แปรสภาพแล้วมันระเหยสู่ธรรมชาติ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันเข้าสู่ความจริงของมัน

ภาวนาเป็นหรือไม่เป็นมันคือตรงนี้แหละ..!

ถ้าภาวนาไม่เป็น มันก็กายเหมือนกันไง กายเหมือนกันแต่กายคนละกายนะมึง แต่ถ้าเป็นอสุภะนะ พอพิจารณาอสุภะนะมันสะเทือนกามราคะ กามราคะมันอยู่ที่ไหน กามราคะมันอยู่ที่จิต พอพิจารณาอสุภะปั๊บมันสะเทือนหัวใจทันทีเลย สะเทือนหัวใจทันทีเลย

ฉะนั้นใครๆ ก็จะบอกว่า “พิจารณาอสุภะ”

ภะก็ภะวะ.. ใครมาภะกูก็ภะด้วย.. เพราะอะไร เพราะพูดไปมันไม่มีประโยชน์

แต่วันนี้เขาถาม เขาถามว่าเขาพิจารณาแล้วพิจารณาอสุภะ เพราะการภาวนานี่มันไม่ต้องไปวิตกวิจารว่าจะเป็นอสุภะหรือไม่เป็นอสุภะ ฉะนั้นเวลาเราพิจารณานี่ ด้วยความเห็นผิดของคนพิจารณา คิดว่าเราพิจารณาแล้วจะพิจารณาอสุภะ แล้วละจากกามราคะเลย มันก็เหมือนกับเราจะไปจับผู้ร้าย แล้วเราไปจับผู้ร้ายผิดตัว พอจับผู้ร้ายผิดตัวเอามาไต่สวนมันจะไต่สวนได้ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณากายโดยตรงๆ เข้าไปนะ มันก็จะไปละขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ความจริงเด็กคนนี้ขโมยมา เด็กคนนี้ขโมยของมา แต่เราไปจับพ่อเด็ก บอกพ่อเด็กว่าเด็กขโมยของมา แล้วไปจับพ่อเด็กจะเอาพ่อเด็กมาติดคุก เป็นไปได้ไหม เด็กมันขโมยของมา ก็ต้องไปหาที่เด็กคนนั้น ว่าเด็กคนนั้นเป็นคนขโมยของมา เด็กคนนี้เป็นคนผิด แล้วเอาเด็กคนนี้มาไต่สวน ผิดก็ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง แล้วพ่อของเด็กมันไม่เกี่ยว แต่พ่อของเด็ก ประสามันก็เป็นพ่อของเด็ก มันก็มีต้องมีความรับผิดชอบ แต่เขาไม่เกี่ยว เขาไม่มีโทษทางกฎหมาย

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาอสุภะๆ เวลาจะพิจารณาอสุภะก็ไปเอาพ่อมัน เหมือนเด็กมันขโมยของ แต่เราจะไปเอาที่พ่อมันเลย จะเอาพ่อมันมาติดคุก แต่เด็กขโมยของนี่ปล่อยมันลอยตัว

ถ้าจะพิจารณากาย! เราก็ต้องพิจารณากายโดยข้อเท็จจริง พิจารณากาย ให้กายมันแปรสภาพต่อหน้าเรา

เด็ก! เด็กทำผิดก็สอบสวนเด็ก เด็กทำอะไรผิด เด็กขโมยมา เด็กขโมยจริงหรือไม่ขโมยจริง ก็พิจารณาที่เด็กขโมยจริงหรือไม่ขโมยจริง ถ้าเด็กขโมยจริง โดยหลักฐานขโมยจริง ก็ตัดสินตามความเป็นจริง ผลัวะ! โสดาบัน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์

เด็กขโมยของมา ต้องพิจารณากันที่เด็ก เด็กผิดหรือเด็กไม่ผิด เด็กได้ขโมยจริงหรือไม่ขโมยจริง เด็กขโมยของมา ในมือมีวัตถุสิ่งของที่ขโมยอยู่ที่มือหรือเปล่า หรือเอาสิ่งที่ขโมยนี้ไปซ่อนไว้ที่ไหน แล้วให้เด็กมันรับสารภาพว่าลักของมาแล้วเป็นอย่างไร นี่คือพิจารณากาย พอพิจารณากายเสร็จก็พิจารณาที่เด็ก อ้าว.. เด็กมันมีพี่ พิจารณาพี่เข้าไปก็เป็นสกิทาคา

ฉะนั้นพอพิจารณาเข้าไป ถ้าพ่อมันลัก เห็นไหม พ่อมันลักแล้ว จากที่เด็กมันลักของมา พิจารณาแล้วจบ พี่ชายเด็กลักของมา พิจารณาแล้วเป็นสกิทาคาจบ ทีนี้ก็มาถึงพ่อมันแล้ว ถ้ามาถึงพ่อมัน นั่นล่ะอสุภะไง ที่ว่าอสุภะๆ มันต้องเป็นแบบนี้การพิจารณาน่ะ

ทีนี้พิจารณาแบบหลวงตาใช่ไหม พอพิจารณาอสุภะจบแล้วไปพิจารณาจุดและต่อม มันก็สิ้นขบวนการไปเลย อันนี้พูดถึงการพิจารณาแบบหลวงตานะ แต่ที่โลกเขาพิจารณากันอยู่นี่นะ ก็คือ เวลาเด็กมันขโมยของ แล้วก็จะไปจับพ่อมันกันทั้งนั้นเลย

เราเห็นคนมาถามเรางงนะ ใครมาก็อสุภะ ใครมาก็อสุภะ อันนี้โดยธรรมชาติของผู้ปฏิบัติใช่ไหม กามราคะนี่มันกวนมาก ทุกคนพอถูกกวนมากก็อยากจะละกามราคะ กามราคะมันละไม่ได้หรอก ถ้าเราปฏิบัติไปตามข้อเท็จจริง มันจะละสักกายทิฏฐิ มันก็เป็นโสดาบันไปก่อน พอโสดาบันเสร็จแล้วมันก็เป็นสกิทาคามี พอออกจากสกิทาคามี นั่นล่ะจะเป็นอสุภะ

พิจารณาอะไรก็แล้วแต่ มันเกี่ยวกับอสุภะ มันเกี่ยวกับกามราคะ แล้วมันสะเทือนหัวใจมาก เพราะหลวงตาบอกว่า “กามราคะนี้มันเป็นนักเลงโต” กามราคะนี้มันเหมือนกับกองทัพ มันเป็นแม่ทัพ แต่อวิชชามันเป็นจอมทัพ จอมทัพคือจักรพรรดิ คือกษัตริย์ กษัตริย์ต้องมีแม่ทัพ ไอ้แม่ทัพนี่คือความโลภ ความโกรธ ความหลง คือกามราคะ ไอ้กามราคะคือนักเลงโต มันทำให้หัวใจเราแปรปรวนมาก มันทำให้หัวใจเราปั่นป่วนมาก หัวใจของพวกเรามันปั่นป่วนก็เพราะไอ้ตรงนี้ แต่ไอ้แม่ทัพมันจะไปรบกับใครล่ะถ้ามันไม่มีทหาร มันไม่มีนายพล ไม่มีขุนพล ไม่มีพลทหารมันจะไปรบกับใคร มึงแม่ทัพมาคนเดียวนะ กองทัพเขากระทืบตายห่า แม่ทัพมันก็ต้องมีทหารของมัน ทีนี้เราก็พิจารณาเข้าไป ละเข้าไปๆ ถึงที่สุดแล้วจบได้นะ

นี่คือเวลาหลวงตาท่านยกเป็นอุปมา อุปมัย ท่านบอกว่าอสุภะ กามราคะ นี่มันเป็นนักเลงโต มันทำลายหัวใจพวกเรามาก แต่ถ้าเราฆ่านักเลงโตแล้วนะ เห็นไหม บ้านนี้เป็นเรือนว่าง บ้านร้างแต่มีคนอยู่ ท่านบอกว่างหมดเลย เป็นผู้ดี จิตอสุภะนี้เป็นผู้ดีมากนะ แต่ผู้ดีนี่ขี้โกง ต้องจับผู้ดีมาฆ่า คือจับตัวจิต คือจับภพ มาทำลายทั้งหมดมันก็สิ้นสุดไป แล้วก็มาเป็นจุดและต่อมอันนั้น

ทีนี้เขาถามเองว่าพิจารณาแบบหลวงตาพิจารณาอย่างไร นี่หลวงตาท่านพิจารณาอย่างนี้ แล้วโยมพิจารณาอย่างไรล่ะ ก็โยมพิจารณาอย่างนี้ ลูกมันลักของ แต่จะไปจับพ่อมัน ก็เลยละล้าละลังกันอยู่เนี่ย

ถาม : ๑. ผมปฏิบัติมา ๒๐ ปี แต่ไม่เคยนั่งสมาธิจนเข้าอัปปนาสมาธิเลยครับ ไม่ทราบว่าการเข้าอัปปนาสมาธิจะต้องทำอย่างไร

หลวงพ่อ : การเข้าอัปปนาสมาธิก็คือกำหนดพุทโธ พุทโธ นี่แหละ การกำหนดพุทโธ พุทโธ พอจิตมันจะละเอียดเข้าไปเป็นขณิกสมาธิ พอขณิกสมาธินะจะเข้าไปสู่ความสงบเล็กน้อยชั่วคราว แล้วถ้าคนหยาบ คนที่ไม่มีสติปัญญามันก็เข้าได้แค่นั้น มันก็มีความสุข มันก็ไม่ทำต่อเนื่อง หรือพอมันมีความสุขแล้วมันก็ทำพลั้งเผลอ สติมันก็ขาด มันก็อยู่แค่นั้นใช่ไหม พอเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนเข้าถึงอุปจารสมาธิ ถ้าเรามีสติปัญญาพออยู่ เรามีสติกำหนดพุทโธต่อเนื่องเข้าไป ต่อเนื่องเข้าไป จากความสงบเล็กน้อย มันก็สงบมั่นคงขึ้นมา พอสงบมั่นคงนี่เขาเรียกว่าอุปจาระ

อุปจาระหมายถึงว่าจิตมันมั่นคง พอจิตมั่นคงเขาเรียกอุปจาระ นี่มันออกรู้ได้ มันจะเห็นนิมิตได้ เห็นกายได้ เห็นต่างๆ ได้ เหมือนกับเวลาจิตเราสงบแล้วเราได้ยินเสียงอยู่ เวลาจิตมันสงบแล้วได้ยินเสียง ได้ยินคนพูด นี่ล่ะจิตสงบแต่ได้ยินอยู่ ทีนี้พุทโธต่อไป ถ้าคนมีสติปัญญาต่อไปก็กำหนดพุทโธ พุทโธต่อไป จากที่มันสงบแล้วนะ สงบใจสบาย ทุกอย่างสบาย แต่เสียงยังได้ยินอยู่ ลมพัดสิ่งต่างๆ ก็ได้ยังได้ยินอยู่ พุทโธต่อเนื่องๆ ต่อเนื่องเข้าไป มันละเอียดไปเรื่อยๆ ละเอียดจนพุทโธไม่ได้เลย

พอพุทโธไม่ได้ ทำไมถึงไม่ได้ล่ะ มันระลึกพุทโธไม่ได้เพราะมันเป็นจิตหนึ่ง แต่จิตที่ระลึกพุทโธ คือ จิตมันกระทบไง จิตมันนึกพุทโธ เห็นไหม มันวิตก วิจาร จิตมันมีความรับรู้ มันถึงรับรู้เสียงได้ พอจิตมันพุทโธ พุทโธ จนเป็นตัวมันเอง มันจะนึกพุทโธก็นึกไม่ได้ มันทำอะไรก็ทำไม่ได้ แต่มันรู้อยู่นะ ไม่ใช่แกล้งไม่รู้นะพอจิตมันนึกสิ่งใดไม่ได้เลย มันสักแต่ว่ารู้ เสียงก็ไม่ได้ยิน ความสัมผัสทางผิวหนัง ทางอายตนะไม่มี เพราะจิตมันไม่ออกรับรู้ จิตนิ่งอยู่ “สักแต่ว่า” ถ้ารู้นั้นคือมันมีผลกระทบแล้ว นี่มันไม่มีอะไรรู้เลย มันอยู่โดยตัวของมันเอง นี้คืออัปปนาสมาธิ ฉะนั้นอัปปนาสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ พอเกิดปัญญาไม่ได้อันนี้คือการเข้าไปพักจิต

เวลาเราสอนนะ

๑. การเข้าไปพักจิตเพื่อเอากำลัง เหมือนเรานี่อู้ฮู.. เราสะสมกำลังมาแข็งแรงมากเลย เราออกมาทำงาน ถ้าเราเป็นงานแล้วเราจะทำอะไรก็ได้

๒. การเข้าสู่อัปปนาสมาธิ เพราะคนปฏิบัติส่วนใหญ่ พอเป็นอุปจาระหรือจิตสงบแล้ว พิจารณาอะไรก็ไม่ได้ พิจารณากายก็ไม่รู้ พิจารณาเวทนาก็ไม่มี พิจารณาจิตก็ยิ่งไม่รู้เรื่องใหญ่เลย พิจารณาธรรมยิ่งหลงทางไปใหญ่เลย

มีคนพูดมากว่าจิตสงบแล้ววิปัสสนาไม่เป็น วิปัสสนาไม่ได้ ทำไมถึงวิปัสสนาไม่ได้ล่ะ วิปัสสนาไม่ได้ แล้วเราก็บอกว่า ถ้าทำสิ่งใดไม่ได้เลยนี่พยายามพุทโธให้มากเข้าๆ จนเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ การเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิคือเข้าไปสู่ข้อมูลเดิม เข้าไปสู่ฐานเดิมของจิต เข้าไปสู่ฐีติจิต เข้าไปสู่อำนาจวาสนา คือเข้าไปสู่คลังความดีความชั่วของเราทั้งหมด เข้าไปดูว่าเราจะมีพื้นเพ เราควรจะมีสิ่งใดที่จะเป็นหนทางที่เราจะก้าวเดินออกไป

ถ้ามันพิจารณาไม่ได้เข้าไปสู่อัปปนาสมาธิเลย เข้าไปเลย เข้าไปสู่ฐีติจิตเลย เข้าไปสู่จิตเดิมแท้ของเราเลย ดูซิว่าจิตดวงนี้มันเคยทำอะไรมาบ้าง แล้วสิ่งที่จะเป็นประโยชน์มันมีประโยชน์สิ่งใดบ้าง นี่คือเทคนิคของเรา เวลาใครมาบอกว่าพิจารณาอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ อ้าว.. อย่างนั้นเราเข้าไปเช็คกันดีกว่า เข้าไปเช็คกันที่ฐีติจิตเลย เข้าไปเช็คกันเลยว่าจิตเดิมแท้ของคนๆ นั้นมันมีพื้นฐาน มันมีข้อมูล มันมีสิ่งใดที่จะเป็นสมบัติของจิตดวงนั้น แล้วเราไปพิจารณาจากตรงนั้น

นี่คืออุบายที่เราบอกว่าให้เข้าอัปปนาสมาธิ เข้าไปเพื่อไปดู ก็ดูตรงนี้ แต่ไอ้คนที่ไปดูไม่รู้เรื่องหรอก แต่เราเองเป็นคนรู้ เราเองเป็นคนให้เข้าไปทำเพื่อจะเข้าไปดู

ฉะนั้นคำว่า “จนเข้าถึงอัปปนาสมาธิ” อัปปนาสมาธิมันปัญญาเกิดไม่ได้ แต่เป็นการเข้าไปพัก ฉะนั้นเพียงแต่ว่า ที่ว่าเราบอกต้องทำสมาธิกัน ทำสมาธิกัน ถ้าจิตไม่สงบเวลาคิดสิ่งใดนี่มันแบบโลกๆ คิดแบบเห็นแก่ตัว แต่ถ้าจิตสงบแล้ว เห็นไหม ความคิดมันไม่เห็นแก่ตัว มันจะคิดไปโดยสัจธรรม

คิดโดยสัจธรรม สมาธินี่สำคัญ แล้วที่ว่าเทศน์แบบหลวงตา หลวงตาเข้าถึงอสุภะอย่างไร เพราะท่านมีสมาธิของท่านพร้อม พอมีสมาธิพร้อม เวลามีสมาธิเป็นที่พร้อมนี่นะ เวลาเกิดปัญญาขึ้นมามันจะลงสู่มัชฌิมาปฏิปทา มันจะลงสู่มรรคสามัคคี มัคคะรวมตัว แล้วธรรมจักรมันจะหมุน

แต่เราปฏิบัติกันนี่เราปฏิบัติด้วยการเห็นแก่ตัว เราปฏิบัติแล้วก็ว่าต้องเป็นอสุภะ ต้องเป็นพระอนาคา ต้องละกามราคะ ไอ้ความอยากนี้มันถ่วง พอมันถ่วงนี่ความสมดุลมันเกิดไม่ได้หรอก มันเอียงข้างไง ความเอียงของมัน แล้วจะให้มันเกิดเป็นมัชฏิมาปฏิปทาเข้าไปสู่ความสมดุล มันก็เกิดไม่ได้หรอก แต่เพราะเราถือปฏิบัติกันโดยทิฐิ โดยความเอียงของเรา ความเห็นของเราว่าเราจะเป็นกามราคะ มันจะเข้าไปฆ่าอสุภะ แล้วมันจะทำให้เราไม่มีกามราคะ

นี่คือความเห็นของตน พอความเห็นของตนแล้วมันก็ถ่วง ถ่วงจิตของเราไม่ให้มันเป็นกลาง มันเอียงเข้าไป แต่ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมานะมันจะถ่วงไม่ได้ มันพิจารณาอะไร เด็กลักของก็พิจารณากันที่เด็ก พี่มันลักของก็พิจารณากันที่พี่มัน ถ้าพ่อมันลักของก็พิจารณาที่พ่อมัน ถ้าพ่อมันเอาไปซ่อนไว้ในบ้านก็ไปพิจารณาในบ้านมัน เวลาสมาธิมันพร้อมแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างนี้ การภาวนาของคนจะเริ่มต้นจากจิตของเรา จากความเห็นของเรา

ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เป็นอัปปนาสมาธิ

อัปปนาสมาธิก็กำหนดลมหายใจ อานาปานสติกำหนดลมรู้ชัดๆ แล้วเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่เข้าถึงอัปปนาสมาธิได้ แต่คนทำเป็นหรือไม่เป็น เข้าเป็นหรือไม่เป็นนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

อัปปนาสมาธิคือเป้าหมาย วิธีการเข้าสู่อัปปนาสมาธิแล้วแต่ความถนัด แล้วแต่ความสะดวก แล้วแต่คนกระทำได้หรือไม่ได้ นี่คืออัปปนาสมาธิ

ฉะนั้นว่าพอพูดถึงสมาธิแล้วก็ต้องทำอัปปนาสมาธิให้ได้เลย ทำได้น้อยมาก จิตรวมใหญ่นี้แม้แต่คนถนัดๆ ในชีวิตหนึ่งจะได้ซักกี่หน อัปปนาสมาธินี่

มันไม่ใช่ขณิกะ ไม่ใช่อุปจาระ ที่เข้าได้เป็นพื้นฐาน ขณิกะ อุปจาระนี่คือพื้นฐานเลย เพราะตรงนี้เป็นที่ทำงาน อุปจาระนี่เป็นพื้นที่ทำงานเลย จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ ทำงานตรงนี้พอดีเลย แล้วออกมาพิจารณา ตรงนี้คือตรงที่ทำงานเลย อัปปนาสมาธิเป็นที่พักผ่อน เข้าไปสู่อัปปนาสมาธิแล้วไปพักตรงนั้นแล้วมันคลายตัวออกมา นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นอัปปนาสมาธินี้มันไม่จำเป็นจะต้องให้เป็นถึงอัปปนาสมาธิ

ไม่น่าจะพูดได้ว่าพระอรหันต์ไม่เคยเข้าอัปปนาสมาธินี่มีบ้างหรือเปล่า ที่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่เข้าอัปปนาสมาธิเลย เข้าไม่ได้เลย สุกขวิปัสสโกจะเป็นอย่างนั้นไหม แต่อัปปนาสมาธินี้ถ้าเข้าไปแล้วจะรู้ว่าอัปปนาสมาธิเป็นอย่างไร

อันนี้พูดถึงว่าผมปฏิบัติมา ๒๐ ปี แต่ไม่เคยเข้าสมาธิจนถึงอัปปนาเลยครับ ไม่ทราบว่าการเข้าอัปปนาจะต้องทำอย่างไรครับ

กำหนดลมหายใจนี่แหละ อานาปานสตินี่เข้าถึงได้ พุทธานุสติ สังฆานุสติเข้าถึงได้หมด เข้าถึงได้หมด ปัญญาอบรมสมาธิถ้ามีสติปัญญาก็เข้าถึงได้หมด เพราะอัปปนาสมาธิคือเป้าหมาย คือสมาธิ คือสิ่งที่เข้าไปสู่จิตเดิมเท่านั้นเอง

ถาม : ๒. อยากทราบว่าผมปฏิบัติผิดตรงไหน ถูกตรงไหน กามราคะดับไปแล้วก็กลับมาเกิดอีก อยากให้หลวงพ่อตอบให้ชัดเจน

หลวงพ่อ : กลับมาเกิดอีก! กลับมาเกิดอีกเพราะว่าความเห็นของเรานี่ เราจะพิจารณาอย่างไรก็แล้วแต่ เราปล่อยวางขนาดไหนก็แล้วแต่ การปล่อยวาง ตทังคปหาน การปล่อยวางเหมือนอย่างเช่นเราหยิบของมา เราหยิบสิ่งใดในมือเราปล่อยวางได้ไหม ปล่อยวางได้ เราหยิบมาแล้วเราคลายมันก็ปล่อยวางได้ แต่เรารู้ไหมว่าเราหยิบอะไรมาแล้วเราปล่อยวางอะไร ไม่รู้หรอก เราปล่อยวางโดยสัญชาตญาณ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณาอสุภะ พิจารณาไปโดยสัญชาตญาณ แล้วเหตุผลมันเพียงพอไหมล่ะ แต่ถ้าพูดถึงเราเป็นคนไปเอามาเอง หยิบสิ่งใดมานี่เราพิจารณาของเราเอง แล้วพิจารณาโดยที่สติปัญญาเราพร้อมเอง เพราะเราวางเองมันก็ขาด

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยข้อเท็จจริง โดยข้อเท็จจริงนะ อย่างเวทนานี่เวลาจิตมันสงบแล้วเราจับเวทนา ถ้าจับเวทนานะถ้าจิตมันสงบนะ เวทนามาจากไหน เวทนารูปร่างมันเป็นอย่างไร เวทนานี่มันเกิดที่ไหน เวทนานี่มันชื่ออะไร พิจารณาไปเถอะไม่มี ไม่มีเลย แล้วถ้าไม่มีมันเป็นเพราะอะไร อ๋อ.. เพราะเราไปให้ค่ามันเอง เราไปยึดมันเอง แล้วเราคือใคร เราก็คือไอ้โง่นี่ไง แล้วมันก็ปล่อยพั่บ! พอมันปล่อยหมด จิตเป็นจิต เวทนาเป็นเวทนา แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ พอเวทนามันเกิดนะเวทนามันคืออะไร เวทนามันก็คือปวด ปวดมันคืออะไร ปวดมันคือปวดสองเท่า ปวดสองเท่ามันคืออะไร คือจะนั่งไม่ไหวแล้ว นั่งไม่ไหวเลย เลิกเถอะ

นี่พิจารณาเวทนาเหมือนกัน แต่ไม่มีสมาธิกับมีสมาธิมันแตกต่างกันอย่างนี้ไง เราถึงบอกว่าต้องมีสมาธิไง สมาธินี่มันทำให้เวลาเราพิจารณาเวทนาก็เป็นพิจารณาเวทนาโดยการพิจารณา แต่ถ้าเราไม่พิจารณาโดยสมาธิ พิจารณาโดยเราใช่ไหม เวทนามันคืออะไร เวทนามันก็จะบอกให้เลิกๆๆๆ เวทนามันจะบอกให้ลุกไปแล้ว

แต่ถ้ามันมีสมาธินะ พอมีสมาธินะเวทนาเป็นอย่างไร อ้าว.. เวทนามันไม่มี เพราะเวทนามันตั้งอยู่บนอะไร มันตั้งอยู่บนเนื้อ บนเอ็น บนกระดูก บนความรู้สึก บนอะไร ถ้าเราหลงมันก็จริงๆ นี่ปวดฉิบหายเลย แต่พอเราไล่ไป

เนื้อเป็นเวทนาไหม.. ไม่

เอ็น.. ไม่

กระดูก.. ไม่

ความรู้สึก.. พอเราฉลาดแล้ว.. ไม่

แล้วมึงอยู่ไหนล่ะ ฟั่บ! หายเลย จิตนี้โล่งหมดเลย มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธินะ ถ้ากำลังไม่พอ เห็นไหม พอเวทนานี่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ พอสมาธิไม่พอนะอยากจะแอ๊ค อยากจะเก่ง พอจับเวทนามับ! จาก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ก็เป็น ๕๐ ชักเจ็บแล้วเว้ย พิจารณาเข้าไปเป็น ๗๕ ไม่ไหวแล้ว พิจารณาสู้มัน โอ้โฮ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันกระทืบตายเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสมาธิไม่พอ ถ้าสมาธิไม่พอปั๊บต้องรีบทิ้งเวทนาเลย กลับมาที่พุทโธ พุทโธ ให้จิตสงบทันทีเลย

ถ้าจิตสงบมีหลักขึ้นมาแล้วนะเข้าไปจับมันใหม่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์อยู่ไหน ๕๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ไหน ๗๕ อยู่ไหน กูอยากดูหน้ามึงนัก กูอยากดูหน้ามึงนึก

ถ้าจิตมันดีนะ ถ้าสมาธิดีๆ นะ โอ้โฮ.. มันข่มขี่นะ เวทนานี่วิ่งหนีเลย กูอยากดูหน้ามึงนัก วิ่งตาม วิ่งหาเขาใหญ่เลย ไม่เจอนะ แต่ถ้าสมาธิไม่มีนะ วิ่งไปนี่มันดักข้างหน้า มันกระทืบหัวทิ่มดินเลย

ถึงบอกว่าสมาธิมีความจำเป็นอย่างไร แต่เพราะเราปฏิบัติกัน เพราะเราไม่มีสมาธิ มันก็เป็นอย่างนี้ เห็นไหม “ผมนึกอสุภะ มันก็เลยเห็นรูปผู้หญิงตายร่างกายเน่าเปื่อย เป็นดินเลย แล้วกามราคะของผมขยิบขยับแล้วมันก็หายไป”

นี่มันนิยายไง ต้องส่งโลกทิพย์ เขาจะเอาไปลงโลกทิพย์กันนะไอ้อย่างนี้ แล้วคนไปอ่านโลกทิพย์ก็อู้ฮู.. พระอนาคาจะกราบกันใหญ่เลยนะ มันคากิเลสไง มันคาหัวใจมันอยู่..

นี่พูดถึงเขาบอกว่าให้ตอบโดยไม่ต้องกลัวน้ำใจเลยล่ะ ไอ้ที่ตอบๆ มานี่นะ เพราะว่าโลกนี้มันหลากหลายจริตนิสัย คนเรามีจริตนิสัยแตกต่างกันมา เราทำบุญแตกต่างกันมา เราถึงมีจริตนิสัย ความรู้สึกนึกคิดแตกต่างกันมา ทีนี้ความรู้สึกนึกคิดนี้ ใครคิดใครทำอย่างใด มันก็ทำจากข้อเท็จจริง คือจากหัวใจของตัว ฉะนั้นเวลาพูดนี่เราก็บอกถึงตรงนั้นแหละ แล้วเราค่อยแก้ไขกันไป ปฏิบัติกันไปให้เข้าสู่สัจธรรมกัน

ฉะนั้นเวลารักษาน้ำใจ.. รักษาน้ำใจหมายถึงว่า ความรู้สึกนึกคิดนี่เราจะไปหักหาญ แล้วคนนั้นก็ต้องเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดมาปฏิบัติให้ตรงตามทฤษฏีของกรรมฐานเรา บางทีมันเหมือนกับว่าจะหักด้ามพร้าด้วยเข่า แล้วมันจะไม่ได้ประโยชน์ไง ฉะนั้นเวลาใครมาพูดว่า ใช้ได้ไหม เราก็จะบอกว่า เออ.. ได้ คือว่าให้ได้ก่อน ได้คือได้จากความรู้สึกนึกคิดของเขา คือต้นขั้วของเขา แล้วค่อยให้เขาทำของเขาไป

พอทำของเขาไป ถ้าเขาดีขึ้นมา คนเราใฝ่ดี คนเราอยากดี ถ้ามันดีขึ้นมา ถ้าผิด สิ่งใดที่ผิดพลาดเราแก้ไขเขาถึงจะฟัง แต่ถ้ายังไม่เห็นผิดเห็นถูกแล้วเราบอกไปนี่ใครจะฟัง แต่ถ้าเขาปฏิบัติของเขาไป พอเขาต้องการคุณงามความดีมากไปกว่านี้ เขาทำสิ่งใดไปแล้วอะไรที่ขัดแย้งเขา แล้วเราค่อยคอยบอกว่า เห็นไหม มันผิดเห็นไหม เห็นไหม ถ้าเขาเห็นด้วยเขาก็จะแก้ไข เขาก็จะเปลี่ยนแปลงของเขา เขาก็พยายามจะปรับปรุงตัวของเขาเข้าสู่สัจธรรม พอเข้าสู่สัจธรรมปั๊บมันก็จะบอกว่า แล้วแบบที่หลวงตาเทศน์ไว้มันเป็นอย่างใด

ผู้ที่ปฏิบัติไป ถ้าเป็นสัจธรรมแล้ว มันก็จะเข้าไปสู่จุดนั้น จุดนั้นเพราะอะไร จุดนั้นเพราะอริยสัจมีหนึ่งเดียว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณ มรรคสัจจ์ มีอันเดียว! พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้อย่างนี้ หลวงปู่มั่นก็บรรลุธรรมอย่างนี้ หลวงตาท่านก็บรรลุธรรมอย่างนี้ ผู้ใดปฏิบัติ ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็บรรลุธรรมอย่างนี้ มันมีอันเดียวมันไม่มีสองมีสามหรอก พระศรีอริยเมตไตรยก็จะมาบรรลุอันนี้

ฉะนั้นถ้าใครปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันจะเข้าสู่สัจธรรมแล้ว มันก็จะมารู้อันเดียวกัน แต่เริ่มต้นจากจริตนิสัย จากความเห็น จากการสร้างบุญสร้างกรรมมา มันแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลายนี้เราก็เลยแบบว่าไม่หักหาญน้ำใจใคร ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าของใคร แล้วใครประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หลวงพ่อได้ไหม.. ได้ หลวงพ่อดีไหม.. ดี แล้วปฏิบัติมาก่อน

เราต้องให้คน ให้ผู้ปฎิบัติปฏิบัติขึ้นมา แล้วเขามีความรู้ความเห็นของเขาอย่างใด เราต้องแก้ไขไปตามนั้น เข้าไปสู่อริยสัจที่มีหนึ่งเดียว อันเดียวกัน อริยสัจมีหนึ่งเดียว ฉะนั้นถ้าพูดถึงอริยสัจมันต้องเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเขาปฏิบัติของเขาไปว่านั่นเป็นอริยสัจหรือไม่อริยสัจนั้น ผลมันก็บอกเอง นี่พอกามราคะมันขาดไป มันขยิบขยับ มันหายดับไปหมดเลย เดี๋ยวมันก็มาอีก เดี๋ยวมันก็มาใหม่ บางทีก็ ๗ วัน บางทีก็ ๓ วัน เป็นอย่างนี้ตลอดไป มันชั่วคราวไง ไม่มีทางหรอก ไม่มีทาง

ถ้าเราจะเข้าสู่ท้องตลาดได้ เราจะต้องมีเงินสด เงินที่ใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย แล้วเราจะไปใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย เรานั่งคิดกันเอง เราจะปั๊มเงินกันเอง สร้างสังคมๆ หนึ่ง ปั๊มเงินขึ้นมา แล้วเราจะเอาเงินนี้ไปใช้ในท้องตลาดได้ไหม ไม่มีทาง.. คำว่าท้องตลาดคือสัจธรรม คืออริยสัจ คือข้อเท็จจริง มันเป็นอันเดียวกัน

ฉะนั้นเราจะเข้าสู่ท้องตลาด เราจะเข้าไปจับจ่ายใช้สอยในตลาด เราจะต้องเอาเงินที่ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมายไปใช้ในท้องตลาด ในการประพฤติปฏิบัติมันจะต้องเอาอริยสัจ มันต้องเอามรรค ๘ เอาความเพียรชอบ งานชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรมทั้งหมด พอเข้าไปในสังคมแล้วไม่ผิดกฎหมาย ถูกต้องชอบธรรม เห็นไหม เวลาชำระกิเลส ก็ต้องชำระกิเลสด้วยความถูกต้องชอบธรรม

แต่พวกที่ชำระกิเลสด้วยความเห็นแก่ตัว มันชำระกิเลสของตัวเองไม่ชอบธรรม พอไม่ชอบธรรมเดี๋ยวก็ขยุบขยับๆ เกิดมาอีกแล้ว ก็ชำระกันเอง แล้วมันเป็นจริงไหมล่ะ ทีนี้พอมันไม่เป็นจริงใช่ไหม

“ผมอยากทราบว่า การพิจารณาอสุภะแบบที่หลวงตาเคยเทศน์เอาไว้ ท่านปฏิบัติอย่างไรกามราคะถึงไม่เกิดขึ้นมาอีกเลยครับ”

เพราะเราไม่ถูกต้องชอบธรรม เราไม่ได้เข้าไปสู่ท้องตลาด ไม่ได้ไปสู่สังคม แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นอย่างไร แต่ถ้าคนมีเงินมีทองเข้าไปใช้ในตลาด อู๋ย.. ใช้จ่ายมาจนหนุ่มจนแก่ มันเป็นอันเดียวกัน เห็นไหม จะไม่สงสัยหลวงตาเทศน์อย่างไรเลย หลวงตาเทศน์อย่างไรฉันก็รู้หมดแล้ว มันก็เป็นสังคมเดียวกัน เป็นตลาดเดียวกัน เป็นความเห็นเดียวกัน เป็นอริยสัจหนึ่งเดียวกัน! เอวัง