ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กิเลสบั่นทอน

๑๔ เม.ย. ๒๕๕๔

 

กิเลสบั่นทอน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเอาปัญหานี้ก่อน นี่ปัญหาในการภาวนาประสบการณ์เดี๋ยวนี้เลย

ถาม : ๑. เมื่อนั่งไปแล้ว มันเกิดอาการเจ็บปวด ผมก็เริ่มพิจารณาเวทนา โดยเริ่มจากการไล่แยก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ลูกตา ปอด หัวใจ เท่าที่จะนึกได้ ไปจนเหลือแต่กระดูกนั่งอยู่ (เห็นภาพทั้งหมดนี้แค่มัวๆ) โดยจับไปกองรวมกันไว้ จากนั้นจะแยกความเจ็บออก แยกใจออก แล้วเริ่มพิจารณาว่า เจ็บก็คือทุกข์ ทุกข์ไม่ได้เกิดที่ร่างกายที่ความเจ็บ แต่เกิดที่ใจเพราะใจไปยึด แต่ก็ไม่สามารถแกะตัวที่ไปยึดได้เสียที

คำถามคือ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไปเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ และผมพิจารณาแยกกาย เวทนา จิต ออกมา จำเป็นต้องแยกกายออกเป็นแต่ละอวัยวะแต่ละส่วนไหมครับ?

หลวงพ่อ : ข้อที่ ๑ เวลาเรานั่งนะ นั่งแล้วพุทโธก็ได้ หรือว่าเราจะแยกอย่างนี้ เวลาพระบางองค์สอน เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้ท่องแบบนี้ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ กับพุทโธๆๆ อะไรก็ได้ นี่เป็นคำบริกรรม

ทีนี้พอแยกออกไป พอจิตมันเริ่มสงบ จิตมันเริ่มมีฐานขึ้นมา มันจะเห็นเป็นส่วนๆ มันจะเห็นเป็นกองเป็นต่างๆ แต่ไม่ชัดเจน ไม่ชัดเจนเพราะอะไร ไม่ชัดเจนเพราะว่า เราใช้การแยกกายนี้เป็นคำบริกรรม การแยกกายแล้วจิตมันสงบเข้ามา พอจิตมันสงบเข้ามามันเริ่มเห็นเริ่มรับรู้ พอเริ่มเห็นเริ่มรับรู้ มันต้องทำไปเรื่อยๆ มันต้องทำไปเรื่อยๆ

มันเหมือนการทำอาหารเห็นไหม ดูสิเวลาเขาทำอาหาร กว่ามันจะสุกกว่ามันจะเป็นอาหารที่เราจะกินได้ เขาต้องหามาใช่ไหม อย่างเช่น จะเป็นอาหารอะไรก็แล้วแต่ จะต้องเป็นส่วนประกอบของมัน วัตถุดิบต้องหาสิ่งนั้นมาให้ครบ ถ้าไม่ครบทำอาหารมาแล้วมันก็ไม่อร่อย มันก็แบบว่ามันขาดตกบกพร่องไป แล้วถ้าขาดตกบกพร่องไปมันก็เหมือนมรรคไม่สามัคคีไง คือความสมดุลมันไม่มี

ฉะนั้นพอมันฝึกบ่อยครั้งๆ เข้า มันขาดเหลือสิ่งใด เราก็ค่อยแก้ไขอย่างนั้นไป มันอาศัยการทำบ่อยๆ คำถามคือ “ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไปเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ” แล้วพิจารณาแยกกาย เวทนา จิต ธรรมออกมา จำเป็นต้องแยกกาย อันนี้มันเป็นอุบายไง

มันเป็นอุบาย เวลาบางคนทำอาหารใช่ไหม ถ้าท้องที่เจริญแล้วเขาใช้แก๊ส แต่ถ้าท้องที่อยู่ในป่าในเขา เขาใช้ถ่านฟืน มันอยู่ที่พื้นที่ที่ไหน เขามีอะไรใช้เขาจะใช้สิ่งนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราพิจารณาไป เราจะบอกว่า ต้องแยกนั้นไหม ต้องแยกนี้ไหม อันนี้มันเป็นสัญญาแล้ว มันเป็นกรอบแล้ว

ถ้าต้องทำอย่างนั้น อย่างเช่นเราศึกษามาใช่ไหม ว่าการทำกระบวนอย่างนี้ จบสิ้นกระบวนการอย่างนี้ แล้วเราก็ทำให้จบกระบวนการอย่างนั้นเลย แล้วเราได้อะไร ก็ได้ทำให้จบกระบานการไง แต่ผลสำเร็จ ผลของการปฏิบัติมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นเวลาทำไป หน้าที่ของเราคือปฏิบัติไป

ผลมันจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน ผลมันจะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง ผลทางข้อเท็จจริงนี่พูดทางวิทยาศาสตร์พูดแบบโลกนะ แต่เวลาปฏิบัติแล้วมันมีกิเลส มีความต้องการ มีการคาดหมาย มีความปรารถนา ไอ้ตัวนี้เป็นตัวเร้าไง ไอ้ตัวเร้าตัวกิเลสเราไม่นิ่ง เราอยากให้เป็นอย่างนั้น เราต้องการให้เป็นอย่างนั้น ก็ตำราว่าไว้อย่างนั้น ก็จะทำให้ครบตำราให้หมดเลย พอทำครบสูตรครบตามตำราแล้ว เราได้อะไร ก็ได้ทำตามตำราไง แล้วใจได้อะไร ใจไม่ได้อะไรเลย จะได้ก็ได้ประสบการณ์ว่าการกระทำช่วงนั้นเท่านั้นเอง

ฉะนั้นเวลาทำ เราต้องทำต่อเนื่องๆ อย่างที่ว่า เวลาเราพิจารณาของเราไปเห็นไหม พอเคยเป็นแล้วก็คาดว่าจะเป็นอย่างนั้น สุดท้ายเราก็เสื่อมหมดเลย เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ สุดท้ายนะตัดสินใจเลย จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน หน้าที่ของเราก็ทำไป

เวลาครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านจะพูดเลย เหมือนคนทำนา คนทำนาจะทำกี่ปีกี่ชาติเขาก็ทำลงที่ดินนั้น เราจะหมั่นจะคราดจะไถนะ เวลาจะทำนา นาดำนะเขาจะต้องคราด คราดจนไม่มีวัชพืชเลย คราดแล้วไถ ไถแล้วคราด คราดแล้วไถ หน้าที่ของเราคือคราดคือไถไป ผลของมันก็คือในนานั้น ในนานั้นถ้าเราคราดเราไถจนไม่มีวัชพืช มันก็คือไม่มี แต่ถ้ามันมีก็คือมันมี

แล้วเราจะบอกว่า คราด ๕ รอบวัชพืชจะไม่มีเลย ทางวิชาการจะเขียนเลยนะ การทำนานะ เวลาไถแล้ว เสร็จแล้วเราจะไถคราด ไถดะ เราต้องไถกี่รอบๆ ให้เป็นตามนั้นเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ว่า พื้นที่นั้นวัชพืชมันมีมากมีน้อย นาลุ่มหรือนาดอน มันแตกต่างไปหมดนะ ฉะนั้นเวลาเราทำขึ้นมา หน้าที่ของเราไม่ใช่ว่าจะให้เสร็จหรือไม่ให้เสร็จ ถ้าให้เสร็จหรือไม่ให้เสร็จนั่นล่ะสัญญา ตัณหาซ้อนตัณหาแล้ว

ตัณหาซ้อนตัณหาหมายถึงว่า ในทางวิทยาศาสตร์เห็นไหม เราบอกว่ากระบวนการทำจบสิ้นแล้ว คือการจบกระบวนการ เราก็จะคิดให้มันจบกระบวนการ อย่างนี้วิทยาศาสตร์มันจบแล้ว แต่กิเลสมันไม่จบนะ กิเลสมันยิ่งฉลาดด้วย เพราะอะไร มันบอก “เออ ทำไป ๕ รอบแล้วจะจบ” แล้วพอทำไป ๕ รอบมันก็หลบนะ กิเลสมันก็ซ่อนไว้นะ โอ๊ย ว่าง โอ๊ย สบายเลยนะ พอเผลอนะ มันขี่คออีกแล้ว กิเลสมันเป็นแบบนั้น

ฉะนั้นกิเลสเป็นแบบนั้นมันไม่มีสูตรสำเร็จไง การปฏิบัติไม่มีสูตรสำเร็จ หน้าที่ของเราคือหมั่นคราดหมั่นไถ หลวงตาหลวงปู่มั่นท่านจะพูดประจำ ให้คราดให้ไถ คราดลงที่นาเดิม หลวงปู่มั่นบอกเลย ทำนากี่ร้อยกี่ปี กี่ร้อยกี่พันชาติก็ทำลงที่ดินนั้น ไม่ไปที่ไหนหรอก ฉะนั้นทำแล้วทำเล่า พอทำแล้วทำเล่านะ เราทำของเราทำจนมีความชำนาญ พอชำนาญแล้ว นั่นล่ะเดี๋ยวผลมันจะตอบสนอง

ฉะนั้นเลยบอกว่า เวลาพิจารณาแยกกายแยกใจออกมาแล้ว มันแยกออกจากใจ แล้วต้องแยกอะไรต่อไป แยกต่อไป พอแยกต่อไปเสร็จแล้วนะ กลับมาแยกของเริ่มต้นก็ได้ เพราะว่าพอเวลามันถึงที่สุดแล้วนะ เวลาคนภาวนาไปแล้ว แยกจนหมดแล้ว ว่างหมดเลย แล้วจะไม่มีอะไรทำเลย

แต่มันไม่มีผลตอบรับใช่ไหม ไม่มีผลตอบรับต้องกลับมาเริ่มต้นอีกนะ กลับมาเริ่มต้นจาก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไล่อีกๆ ทำแล้วทำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ พอซ้ำทำจนจบกระบวนการมันแล้วหมดเลย พอมันไม่ได้ก็เอาผมขึ้นมาตั้งใหม่ เอากายขึ้นมาตั้งใหม่ ตั้งแล้วก็ทำต่อไป พอมันจบแล้วมันไม่ปล่อย ไม่ปล่อยก็เอากายขึ้นมาตั้งใหม่

เพราะมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ไม่ใช่โลกเห็นไหม เราถึงบอกว่า โลกแก้กิเลสไม่ได้ วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ แต่เวลาพูดธรรมะก็ต้องพูดเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะว่าพวกเรามีการศึกษาใช่ไหม พอเชิงวิทยาศาสตร์มันก็เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เป็นที่หมาย เป็นสื่อที่เราสื่อกันได้

แต่เวลาจริงๆ แล้ว ไม่เป็นหรอก เพราะวิทยาศาสตร์มันเป็นสูตรสำเร็จ ทำอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนั้น แบบคำนวณเห็นไหม คำนวณเสร็จแล้ว ผลคำตอบเป็นอย่างนั้นเหมือนกันหมด แต่เวลาคำนวณไปอย่างนั้นแล้ว เวลาไปสร้างในพื้นที่ล่ะ พื้นที่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้นถึงบอกว่า ทำซ้ำไป เวลาศึกษาเราศึกษาทางวิทยาศาสตร์แล้ววางไว้ แล้วเราปฏิบัติไปนะ เป็นธรรม

ถาม : ๒. ขณะนั่งสมาธิเกิดความฟุ้งซ่าน ไปคิดเรื่องต่างๆ พอสติไล่ทันมันก็หยุดเรื่องที่ทำอยู่ และก็เหมือนกับดึงตัวออกมา และพับเก็บเรื่องที่กำลังคิดทำอยู่ได้ไปเรื่อยๆ จนความเจ็บปวดเกิดขึ้นก็เริ่มพิจารณาความเจ็บปวดเหมือนเคย โดยเริ่มพิจารณาว่า เวทนานี้มันเป็นนามธรรม แต่แปลกตรงที่ว่า ครั้งนี้เหมือนเวทนานี้มันจับได้ เหมือนสัมผัสได้

คำถามคือ การพิจารณาเวทนาควรจับให้ได้เหมือนสัมผัสได้ก่อนไหมครับ?

หลวงพ่อ : กรณีนี้นะ มันเหมือนกรณีที่แบบว่า ถ้าใครภาวนาไปนะ คนภาวนาเป็นจะฟังออกและฟังเข้าใจ ฟังเข้าใจว่า ถ้าจิตเราสงบ จิตเรามีพื้นฐานนะ มันจะจับเวทนาได้ มันจะทำไอ้นู่นได้มันจะทำไอ้นี่ได้ ถ้าจิตเราไม่ค่อยมีความสงบเท่าไรนะ มันจะจับพลัดจับผลูแล้วจับไม่ได้

ความสงบสำคัญนะ ความสงบสำคัญต่อเมื่อเราพร้อม ความสงบนะ สมาธินี้เปรียบเหมือนทุน การจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้าไม่มีทุนทำสิ่งใดไม่ได้หรอก ในปัจจุบันนี้เราไม่มีทุนกัน แต่ว่าเราทำกันได้ เราทำกันได้มันเป็นการคาดหมายไง มันเป็นการคาดหมาย แต่พอมันเป็นจริงมันจะเป็นอย่างนี้ เป็นเหมือนกับว่า เวทนาเหมือนสัมผัสได้ เหมือนจับได้ เหมือนแยกแยะได้

คือจับมันกองไว้ไง เหมือนเสือนะ เราไม่เห็นเสือ เราก็นั่งกลัวเสือไปตลอดเวลา แต่เราพอเห็นตัวเสือ เสืออยู่ตรงนั้น เราอยู่ตรงนี้เห็นไหม มันเห็นแล้วว่าเสืออยู่ที่นั่น เพราะเสืออยู่ที่นั่น เราก็รู้ว่าเสืออยู่ตรงนั้น มันไม่ให้อันตรายต่อเรา เราหลบหลีกได้

เวทนาก็เหมือนกัน พอเราจับได้เห็นไหม ว่าเวทนาพอสัมผัสได้ สัมผัสได้เพราะอะไร เพราะจิตมันมีหลักแล้วมันถึงสัมผัสได้ พอสัมผัสได้ จิตสัมผัสได้ เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา สักแต่เวทนา แต่ถ้าเวทนาบวกเป็นเรานะ เจ็บปวดมากเลย แล้วยิ่งอยากให้เวทนาหายนะ บวก ๒ ชั้น ๓ ชั้นเลย เขาเรียกตัณหาซ้อนตัณหา

ในการปฏิบัติในทางอภิธรรมเขาบอกว่า อยาก ปฏิบัติไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงนะ อยากนี้คือสัญชาตญาณ ถ้ามีจิตมีกิเลสมันก็มีอยากอยู่ในใจโดยธรรมชาติเลย แต่ทีนี้โดยธรรมชาติ คือความอยากของเรามันมีอยู่โดยจิตใต้สำนึกอยู่แล้วใช่ไหม แล้วพอเรามาอยาก ผลมันอีกชั้นหนึ่งไง พอเราศึกษาธรรมะนะ คนไม่ใช่ชาวพุทธเขาไม่อยากไปนิพพานนะ ถ้าไม่ใช่ชาวพุทธเขาไม่รู้จักนิพพาน

แต่เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราศึกษาธรรมะใช่ไหม ว่านิพพานคือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ใช่ไหม เราก็อยากได้นิพพาน ไอ้ความอยากได้นิพพานมันเป็นความอยากที่เราศึกษา เรารู้ผลตอบรับ เราถึงมีอยากอีกตัวหนึ่งใช่ไหม นี่คือตัณหาซ้อนตัณหา

เพราะเราศึกษาเรารู้แล้วเราก็อยาก แต่ถ้าเราไม่ศึกษาเราไม่รู้ “เอ๊ะ นิพพานมันคืออะไร นิพพานไม่รู้จัก” ถ้าคนนอกศาสนาไม่รู้จักนิพพาน เขาไม่รู้จักหรอก เขาตีว่าไปอยู่กับพระเจ้า ไปหาพระเจ้าของเขา เขาไม่รู้จักนิพพานหรอก แต่พอเรารู้นิพพานปุ๊บ เราก็อยากไปนิพพาน พอเราอยากไปนิพพานเราก็ปฏิบัติขึ้นไป อยากโดยสัญชาตญาณอันหนึ่ง ถ้าอยากไปนิพพานอีกอันหนึ่ง อย่างนี้มันสร้างภาพแล้ว

เพราะถ้าไม่รู้ว่านิพพานมันก็ไปนิพพานไม่ได้ พออยากไปนิพพานใช่ไหม เอานิพพานเป็นความว่าง โอ๊ย ว่างหมดเลย จะไปนิพพาน นี้คือตัณหาซ้อนตัณหา ไอ้อยากไปนิพพานอันนี้ ถ้าปฏิบัติแล้ว ผิดหมด ผิดเพราะอะไร เพราะมันสร้างภาพไปหมด

เหมือนเรานะ เห็นเศรษฐีอยากเป็นเศรษฐี ก็นึกจินตนาการว่า เรามีเศรษฐี เราเป็นเศรษฐี เรามีเงิน ๕๐๐ ล้าน เรามีเงิน ๑,๐๐๐ ล้าน มีตัวเลขคิดเอาไง แต่ไม่มีหรอก นี่ก็เหมือนกัน อยากไปนิพพานตัณหาตัวนี้ ตัณหาตัวอยากเป็นเศรษฐี แต่ไม่ทำประโยชน์กับมัน แต่เราอยากเป็นเศรษฐีใช่ไหม เราวางไว้ก่อน แล้วเรากลับไปทำงานเห็นไหม อยากโดยจิตใต้สำนึก อยากโดยที่เรามีกิเลสนะ

เรามีกิเลสอยู่นะ ไอ้ความอยากอันนี้แก้ไขไม่ได้หรอก มันแก้ไขไม่ได้หรอก เพราะมันอยู่ในจิตใต้สำนึก ความปรารถนาความอยากพ้นทุกข์ ทุกคนมีอยู่ในใจ แต่พออยากไปนิพพานมันอยากสร้างภาพ อย่างนี้ตัณหาซ้อนตัณหา แต่พอบอกว่าไม่มีความอยากเลยแล้วปฏิบัติ

คนเกิดมามีกิเลสมีอยากหมดนะ ถ้ามีกิเลสอยู่ คนเราเกิดมามีอวิชชาในใจในจิตใต้สำนึก ฉะนั้นอันนี้ เราจะบอกว่า ถ้าคิดว่าไม่มีความอยาก ก็ไม่ต้องปฏิบัติ เพราะคิดกันอย่างนั้น มันเหมือนกับเรานะ เราอยากทำงานแต่ไม่ต้องการผลตอบรับสิ่งใดเลย

ฉะนั้นพอเราบอกว่า เรากลัวว่า ถ้าเรารับ เราทำงานแล้วพอเงินเดือนออกไปรับเงินเดือน เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราเป็นคนโลภมาก ฉะนั้นเราจะบอกว่า เราจะทำงานโดยเงินเดือนไว้ให้กับเจ้าของธุรกิจ เราไม่เอาเพราะเดี๋ยวมันจะเป็นความอยาก เพราะคิดกันอย่างนี้ไง มันกลับหัวกลับหาง

พอบอกว่าอยากอะไร เราทำหน้าที่การงานของเราใช่ไหม พอสิ้นเดือนก็ต้องรับเงินเดือนเป็นข้อเท็จจริง ว่าเราทำงานเท่าไร เงินเดือนได้เท่าไร นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติไปมันก็ปฏิบัติ เพราะว่าไปปฏิเสธ พอปฏิเสธปั๊บมันไม่มีอะไรตกผลึกเลย

แต่เราไม่ปฏิเสธ เราอยากได้ผล แต่ขณะปฏิบัติ ไม่เอา ไม่ต้องการไม่คาดไม่หมายสิ่งใดเลย ให้มันเป็นไปตามข้อเท็จจริง พอตามข้อเท็จจริงไปแล้ว เวลาเป็นจริงมันจะเป็นจริง

นี่พูดถึง พูดถึงว่า เวลาความสัมผัสเวทนาอย่างนี้ คำถามคือการพิจารณาเวทนาควรจับให้ได้เหมือนสัมผัสได้ก่อนไหมครับ? ไม่ต้อง

ถ้ามันสัมผัสได้ มันก็แบบว่า จิตเราดีขึ้น มันถึงสัมผัสได้ แต่ถ้ามันสัมผัสไม่ได้ใช่ไหม พิจารณาเวทนาถ้ามันไม่เกิดเราก็ไม่ต้องไปพิจารณาเวทนา การปฏิบัติเริ่มต้น เราก็พยายามทำความสงบ ถ้าจิตสงบแล้วมันก็มีความสุข แล้วเราก็ออกค้นออกหา ออกหานะ เราพิจารณาเวทนาอยู่ แต่พอจิตมันสงบปั๊บมันเห็นกายเลย เห็นกายเราก็พิจารณากายเลย ถ้าจิตเราสงบแล้ว อะไรที่เป็นปัจจุบันไง อะไรที่ขึ้นมาเฉพาะหน้านะ จับตรงนั้นเลย จับตรงนั้นพิจารณาเลย

นี่ก็บอกว่า เราหน้าที่ของเรา ต้องพิจารณาเวทนา อะไรมาปั๊บมันเป็นข้อเท็จจริง เราปฏิเสธเดี๋ยวมันเสียโอกาส ฉะนั้นถ้าพิจารณาเวทนา เวทนาเริ่มต้น ถ้าจิตมันยังไม่สงบเวทนาเป็นเราไม่เป็นเรา พิจารณาใช้ปัญญาไปเลย แต่พอมันสงบขึ้นมา

ฉะนั้นบอกว่า ถ้าพิจารณาเวทนาต้องจับได้สัมผัสได้ มันเหมือนกับเราไปตั้งโจทย์ไว้ ฉะนั้นคำว่าไม่ต้องของเรา อะไรเป็นปัจจุบัน อะไรที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น เอาเดี๋ยวนั้น แล้วทำไปนะมันจะมีผล มันจะมีผลเพราะเรารู้เราเห็นของเราเอง เห็นเวทนาของเรา เห็นจิตของเรา ความสัมผัสของเรา อันนี้พูดถึงการปฏิบัติโดยตรง จบ

ถาม : ข้อ ๓๘๐. นะ สืบเนื่องจากเรื่องโง่แล้วขยัน

ได้ฟังธรรมของหลวงพ่อที่พูดถึงหนังสือ เขาขอบคุณมานะ ทำให้เห็นได้ว่า คำเทศน์ของหลวงพ่อที่เทศน์ในโง่แล้วขยันนั้นถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนแต่ประการใด เป็นอันลงใจเป็นอย่างยิ่ง ยินดีเหลือเกินที่มีเราได้นำความจริงมาตีแผ่ ให้ความจริงอันปรากฏ เป็นการก่อเกิดปัญญาแก่ผู้สนใจในประวัติของท่าน เกี่ยวพันกันกับพระหลายรูป

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงเขาอ่านโง่แล้วขยัน เขาชมมาว่าทำถูกต้อง เขาเห็นด้วยไง เพราะมันมีคลาดเคลื่อนเยอะมาก ไอ้คลาดเคลื่อนเยอะมากมันคลาดเคลื่อน ไอ้คำว่าโง่แล้วขยันที่เราลงไปในเว็บไซต์ เขาอ่านแล้วเขาชมกลับมา

คนชมมาก็มี คนที่ไม่เห็นด้วยก็มี สิ่งที่ไม่เห็นด้วยมันอยู่ที่วุฒิภาวะ เวลาหลวงตาท่านพูด คนไปสวรรค์นะ เหมือนขนโคกับเขาโค โคทั้งตัวมีเขา ๒ เขาที่จะไปสวรรค์ คนที่ไปนรกอเวจีเหมือนขนโค

นี่เราก็เปรียบเหมือนสังคม สังคมที่คนที่มีปัญญามันเหมือนเขาโค แล้วขนโคมันมีมาก ขนโคมันก็เห็นไปตามนั้น ฉะนั้นเราพูดสิ่งใดไป พอขนโคมันกระเพื่อม เราไปหวั่นไหวกับขนโค เราก็จะไม่ได้พูดอะไรเลย คำพูดของเราถ้ามันพูดอะไรไป ถึงจะมีคนรู้แค่ ๒ คน มีเขาโคแค่ ๒ เขาที่รับรู้ด้วย มันก็เป็นเขาโค มันก็เป็นประโยชน์

ถ้าเราไม่พูดอย่างนั้น ไอ้เขาโค ๒ เขานั้นเห็นแต่ขนโคมันจะกลายเป็นขนโค เพราะขนโคมีมากกว่าใช่ไหม “ไอ้ขนโคเยอะนะ โน่นก็ถูก นี่ก็ถูก ไอ้เราก็ยืนอยู่บนนี้ เลิกดีกว่า ไปขนโคดีกว่า” ตามกระแสไปแล้วมันไม่เหนื่อยไง แต่ถ้าคนขวางกระแสนะ เหนื่อยมาก แล้วพอทำอะไรไปมันก็ขัดแย้งไปทั้งหมด ไอ้ที่อย่างนี้มันบั่นทอนไง เพราะว่าสิ่งข้อเท็จจริงที่เราอยากจะพูด เพราะเราห่วงคนที่ปฏิบัติ

พอปฏิบัติไปนะ อย่างเช่น พอทำสมาธิไป พอจิตเป็นสมาธิแล้วทำอย่างไรต่อไป จะทำอย่างไรต่อไป แล้วพอเป็นสมาธิแล้ว ต่อไปก้าวออกใช้ปัญญา ปัญญามันทำอย่างไร ที่ครูบาอาจารย์ท่านพูดเอาไว้ ถูกต้องหมดแล้ว นี่พอบอกไอ้นี่ไปทำให้มันคลาดเคลื่อนไง อันนั้นเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะกิเลสมันไม่รู้ไง กิเลสมันไปบั่นทอนข้อเท็จจริงไง พอข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นเราก็อยากให้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น

ข้อเท็จจริงส่วนข้อเท็จจริงนะ มันมีเบื้องหลังข้อเท็จจริงอีกชั้นหนึ่ง เบื้องหลังข้อเท็จจริงคือว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ทุกคนยอมรับข้อเท็จจริงได้ใช่ไหม แต่ถ้าเบื้องหลัง เบื้องหลังคือว่า ฉันต้องการข้อเท็จจริงนั้นเพื่อประโยชน์กับเรา คนที่รู้แค่นี้ไง รู้ได้แค่นี้ แต่มันไม่มีอะไรรองรับใช่ไหม ก็เอาข้อเท็จจริงนี้มารองรับ รองรับด้วยวิธีการใด รองรับด้วยเราจับวางไง

หนังสือของเขาเป็นการจัดวางคำเทศน์ของหลวงตา เอาคำเทศน์ของหลวงตามาจัดวางไว้เป็นขั้นเป็นตอน ทีนี้เอาคำเทศน์ของหลวงตามาจัดมาวางไว้เป็นขั้นเป็นตอน เรารู้แค่ไหนเราก็เอาคำเทศน์นั้นมาจัดวางขั้นตอนนั้น แต่ความรู้มันมีเท่านี้กิเลสมันบั่นทอน กิเลสมันมีเท่านี้ พอกิเลสมันมีเท่านี้ มันก็จับคำเทศน์ของหลวงตามาจัดวางให้เข้ากับความเห็นของตัว เห็นไหมแล้วบอกว่า ไอ้ความไม่รู้นั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ

แต่การจัดวางคำเทศน์ของหลวงตาเพื่อประโยชน์กับหมู่คณะเพื่อประโยชน์กับผู้ที่ทำ ไอ้ตรงนี้ที่เราพูดออกมา เราพูดออกมาเพราะมัน โธ่ หยิบหนังสือดูก็รู้แล้ว เพราะว่าข้อเท็จจริงมันก็คือข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงนี้ใครเถียงไม่ได้ คำว่าหลวงตานี้ สาธุ ไม่มีใครเถียง คำว่าหลวงตาคือคำว่าหลวงตา สุดยอดเลย

แต่ผู้จัดวางไง ผู้จัดวางเพราะมันไม่เข้าใจธรรมะอันนั้นใช่ไหม เพราะผู้จัดวางนี้ กึ๋นมันไม่ถึง ไม่มีกึ๋นว่าอย่างนั้นเลย ผู้จัดวางไม่มีกึ๋น พอไม่มีกึ๋นการจัดวางนั้นมันต้องคลาดเคลื่อน มันคลาดเคลื่อนเพราะอะไร เพราะว่ามันมีเล่ห์กลนี่ไง เพราะมันมีเล่ห์กลมันมีเบื้องหลัง พอมีเบื้องหลังเพราะการจัดวางนั้นมันพอเคนกันได้ พอเหมือนกันได้ พอเอามาจัดวางแล้ว คนอื่นมาศึกษาแล้วมันไม่มีสิ่ง.. โต้แย้งได้หมด โต้แย้งไปมันก็กระเทือนหลวงตา

พอกระเทือนหลวงตาขึ้นมันก็มีปัญหา ฉะนั้นไอ้คนที่มีเล่ห์กล ผู้ที่มีลับลมคมในเขาทำกันอย่างนั้น ฉะนั้นเล่มใหม่มันยังไม่ออก เล่มใหม่ออกจะดูสิว่า มันจะไปถึงไหนกัน มันจะวางเล่ห์กลอะไรกันไว้

ฉะนั้นที่พูดนะ พูดให้เห็น เพราะว่าถ้าการจัดวางนี้มันผิดที่ผิดทาง เราบอกว่าจีพีเอสนี้มันผิดที่ แล้วคนขับรถไปตามจีพีเอสนั้นมันจะไปไหนกัน ธรรมะหลวงตา ถูกต้องหมดนะ แต่เราไปเข้าจีพีเอสเราไปเคลื่อนพิกัดของมัน ฉะนั้นเราถึงบอกว่าโง่แล้วขยัน แล้วพูดถึงเวลา ถ้าอยากฉลาดอย่างไม่โง่ทำอย่างไร อยากฉลาดอย่างไม่โง่

อยากฉลาดอย่างไม่โง่ก็คุยกันสิ เปิดกว้างมาแล้วมาคุยกัน พิสูจน์กันด้วยวิทยาศาสตร์พิสูจน์กันด้วยพิกัดเลย เปิดกว้างมาสิ ไม่ พอพูดอะไรไปหลบหลีกอย่างเดียว ไม่ยอมรับรู้อะไรเลย แต่อ้างว่าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

นี่ไงถึงบอกว่า มันบั่นทอนนะ ถ้าเรื่องพูดถึง พูดถึงโดยธรรม โดยธรรมนะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันเป็นสัจธรรมของมัน สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แต่อกุปธรรมล่ะถ้าพูดถึงโดยธรรม พูดถึงโดยธรรมนะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ของใครของมัน จบก็คือจบ โดยธรรมนะ ต่างคนต่างอยู่ ปิดประตูเฉยสบายมาก

นี่โดยสังคม โดยครอบครัวกรรมฐาน โดยวงปฏิบัติ โดยการวางรากฐานมาจากหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น โดยวงปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ท่านสละชีวิตแต่ละชีวิตตกทอดกันมาเป็นชั้นเป็นตอนมา ท่านได้วางรากฐานมาด้วยความมั่นคง แล้วคนที่วางรากฐานมาด้วยความมั่นคง จนสังคมเขายอมรับ สังคมยอมรับนี้เป็นโลกธรรมนะ โลกธรรมคือความยอมรับของสังคม

แต่ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงเห็นไหม พอพูดออกไป ขนโคกับเขาโค เราไม่ตื่นเต้นหรอก ไม่ตื่นเต้นว่าคนจะรู้ได้หรือคนรู้ไม่ได้ แต่พูดถึงพอมันมีปัญหา แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้

“๓๘๐ สืบเนื่องจากโง่แล้วขยัน” เพราะมันมีข้อโต้แย้งเข้ามาใช่ไหม พวกเขาโค พวกเขาโคเขาเห็นของเขา แต่เขาเห็นของเขา เขาจะสื่อกับใครไม่ได้

เขาสื่อกับใครไม่ได้ พอสื่อกับใครไม่ได้ พอปล่อยไปๆ มันก็จะเป็นขนโค เพราะขนโคมันเยอะ ขนโคนี้ไม่ทำอะไรเลย มันราบเรียบไปตามผิวหนังโค มันไปตามกระแส มันไปได้หมด พอมันไปได้หมดมันก็จบอยู่แล้วใช่ไหม

ฉะนั้นมันมีส่วนน้อย ถึงว่ากิเลสมันบั่นทอนนะ มันบั่นทอนเรื่องอย่างนี้ ฉะนั้นเราจะพูดอะไรไป มันอยากเอาข้อเท็จจริงไง เราคุยกันตามข้อเท็จจริง นี่พูดถึงเขาชมมานะ เขาชมมาเขาสาธุ

“ด้วยความเคารพในธรรมอย่างสูงสุดด้วยเศียรเกล้า” เขาพูดเยอะ เราไม่อยากอ่านออกไป มันมีถึงรูปครูบาอาจารย์หลายองค์ แล้วทุกคนก็คิดดีหวังดี แต่การหวังดีเพราะ เรื่องดีนะ ฉะนั้นใครจะเป็นขนโคก็ตามสบาย ใครจะเป็นเขาโคก็แล้วแต่จะเลือกเอา ไอ้ของอย่างนี้มันเกิดจากที่สมอง

๑. ความคิดของตัว

๒. วาสนานะ

หลวงตาท่านพูดคำนี้เราก็ต้องยอมรับ บางทีเราก็ต้องเฉย ท่านบอกว่าท่านออกมาช่วยชาติ มันเป็นสายบุญสายกรรมนะ เพราะถ้ามีสายบุญสายกรรม การร่วมบุญร่วมกรรมมามันจะเชื่อฟังกัน มันจะช่วยเหลือกัน มันจะเจือจานกัน สายบุญสายกรรมของใครไง

ถ้าสายบุญสายกรรมมันก็จะพยายามมุมมองตามนั้น นี่เขาเรียกว่าสายบุญสายกรรม แต่ถ้าในพระไตรปิฎกเขาเรียกว่าเข้ากันโดยธาตุ ธาตุขันธ์มันเหมือนกันไง อย่างเช่นน้ำก็เข้ากับน้ำ น้ำมันก็เข้ากับน้ำมัน น้ำมันเจอน้ำมันมันก็ไปด้วยกันเลย โอ้โฮ เป็นน้ำมันเอาไปใช้ประโยชน์ ไอ้น้ำก็ไปกับน้ำ เพราะน้ำกับน้ำมันมันมาเจอกันนะ โอ๊ย มันก็แยกออกจากกัน มันอยู่ด้วยกันไม่ได้

อันนี้มันโดยธาตุไง ความชอบ ถ้าความชอบนะ ไอ้นี่มันเป็นธาตุแต่ถ้าพูดเราพูดถึงเรามีเป้าหมายจะสิ้นจากทุกข์นะ ไอ้ความชอบของเราเรื่องหนึ่งนะ ไอ้ความเป็นจริงนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้นถ้าเราชอบอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราอยากเอาความจริงนะ ความชอบนั้นวางไว้ก่อน ต้องพิสูจน์กันว่ามันถูกต้องจริงหรือเปล่า ถ้ามันถูกต้องจริงเราก็สาธุใช่ไหม

ธาตุส่วนธาตุสิ เราชอบอย่างนี้ แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น เราจะเอาสิ่งที่เราชอบ หรือเราจะเอาตามความเป็นจริง มันก็ต้องตั้งสติ มันก็ต้องเอาความเข้มแข็งพอสมควรนะ มันถึงจะดึงใจเราออกจากความชอบมาอยู่กับความจริงได้ ฉะนั้นไอ้ความชอบนี้คือสายบุญสายกรรม ไอ้ความชอบมันเห็นสิ่งใดแล้วมันจะลื่นไปในทางนั้น มุมมองจะคล้ายคลึงกันจะไปด้วยกัน อันนั้นอันหนึ่ง ไอ้ความชอบนั้นไม่ว่ากัน

แล้วความชอบนะ เดี๋ยวนี้ทางการตลาด ใครมีความชอบอะไรเห็นไหม เพราะว่าลูกค้านี้เป็นเจ้านาย เขาต้องทำวิจัยการตลาดว่า ตลาดชอบอะไร ฉะนั้นพอความชอบ ในสังคมชอบอะไร ภาคปฏิบัติก็วิจัยตลาดมาแล้วนะ ก็เลยทำธรรมะให้เข้ากับความชอบของโลกไง “โอ๊ยสะดวกสบาย ลัดสั้น นอนหลับไปตื่นขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์ โอ๊ย ชอบใจ” ลูกค้าชอบ พอลูกค้าชอบนะ ผู้ที่เสนอสินค้าก็ ธรรมะลัดสั้น ธรรมะนอนตื่นก็เป็นพระอรหันต์ โอ้โฮ ชอบใจกันใหญ่เลย

มันไม่เป็นความจริงนะ ความจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่เราพูดถึงสังคมไง แต่ถ้าเป็นธรรมะอีกเรื่องหนึ่ง พูดถึงสังคมอีกเรื่องหนึ่ง แล้วเราเป็นชาวพุทธ เราจะไปไหนกัน อยู่ที่เราจะเลือก อยู่ที่บุคคลคนนั้นจะเลือก ใจดวงนั้นเอง ไม่มีใครไปบังคับข่มขี่ได้ ใจใครใจมัน อยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่สติปัญญาของตัว นี่พูดถึงโง่แล้วขยันนะ

แต่ถ้าจะฉลาดก็ได้ ถ้าฉลาดก็คุยกัน เหตุผล หลวงตาท่านสอนอยู่ประจำ เหตุและผลรวมลงสู่ธรรม คุยกันถ้าเหตุผลใครดีกว่าต้องยอมรับ ยอมรับด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่เอาสีข้างเข้าถู แล้วถ้ายอมรับด้วยเหตุด้วยผล เป็นธรรมนะ เราแสวงหาหลวงตาก็แสวงหา ผู้ที่ปฏิบัติแสวงหาตรงนี้มาก แสวงหาเหตุและผลแล้วพิสูจน์กัน! แล้วเหตุผลนั้นพิสูจน์กัน!

เมื่อไหร่ เราอยากพิสูจน์น่าดูเลย คืออยากให้เป็นธรรม ใจอยากให้เป็นธรรม เสียดาย เสียดายว่าหลวงปู่มั่นหลวงปู่เสาร์ท่านทำมาขนาดไหน ขนาดสมัยหลวงปู่ฝั้นมันมีประวัตินะ พูดอย่างนี้อาจคลาดเคลื่อน แต่มันมีพระองค์หนึ่งทางนครพนม เขาปฏิบัติทั้งวัดเลย มันผิด

พอมันผิดปั๊บ ข่าวมันก็มาเรื่อย สุดท้ายแล้ว ตอนนั้นหลวงปู่มั่นท่านเสียไปแล้ว แต่พระพวกเราจะคุยกันตลอด ก็เลยตกลงกันว่าส่งให้หลวงปู่ฝั้น ไปอ่านในประวัติหลวงปู่ฝั้นสิ ให้หลวงปู่ฝั้นไปแก้ไข พอหลวงปู่ฝั้นไปก็ไปอยู่วัดนั้น นครพนม เขาบอกไว้เสร็จในประวัติหลวงปู่ฝั้น ก็เข้าไปอยู่ในนั้นก่อน พออยู่ในนั้นก็แบบว่าวิเวกไป ไปพัก พอไปพักแล้วก็ไปอยู่ที่นั่น ก็ไปดูสภาพ ไปเห็นเลย อ๋อ ความเป็นอยู่อย่างนี้ พระกลุ่มนี้เป็นอย่างนี้ พระที่นั่นเป็นอย่างนี้ แล้วสุดท้ายแล้ว แม่ชีก็เป็นอย่างนั้น

พอหลวงปู่ฝั้นท่านไปวัดนั้น แล้วท่านดูทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาทำวัตรประชุมสงฆ์ทั้งหมดไง หลวงปู่ฝั้นขอโอกาสเลย “ทำไมเจ้าอาวาสให้แม่ชีเป็นคนเทศน์สอน” เอาแม่ชีเป็นใหญ่ เพราะเจ้าอาวาสเชื่อว่าแม่ชีเป็นพระอรหันต์ แล้วแม่ชีเป็นคนเทศน์ หลวงปู่ฝั้นท่านไปจัดการเสร็จเรียบร้อยหมด

เราถึงบอกว่า เวลาการปฏิบัติ เวลาที่ว่ามันคลาดเคลื่อนไปแล้ว ถ้าไม่มีวุฒิภาวะมันเป็นไป แต่สังคมตอนนั้นสังคมกรรมฐานยังเข้มแข็ง เข้มแข็งเพราะว่า ทุกองค์ก็เป็นลูกหลวงปู่มั่น ถ้าเป็นลูกหลวงปู่มั่น เป็นลูกพ่อเดียวกัน แต่ตอนนี้เราแตกกระสานซ่านเซ็นจนเป็นเหลนเป็นโหลน สายเลือดมันก็เลยแตกต่างกันไป

พอสายเลือดมันแตกต่างกันไป มันก็อยู่ที่ว่า มาตามสายเลือด ฉะนั้นพอเราเห็นอย่างนี้ เราก็พูดโดยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยต้องการอยากให้มันสะอาดบริสุทธิ์ ฉะนั้นถ้าอยากฉลาดนะ ไม่โง่แล้วขยัน ให้ฉลาดแล้วขยันนะ คุยกันปรึกษากันมันจะจบได้

ถาม : ข้อ ๓๘๑ เริ่มที่พุทโธนะ

หนูได้เริ่มฝึกสมาธิ โดยเริ่มจากฝึกดูลมหายใจมาตลอด แต่เมื่อ ๓ วันที่แล้ว หนูได้อ่านหนังสือของหลวงปู่เจี๊ยะ แล้วมาเริ่มพุทโธ หนูทำวัตรเย็นแล้ว เสร็จแล้วนั่งสมาธิก็พุทโธเร็วๆ นึกในใจ แล้วนึกถึงภาพองค์พระประธาน หนูพุทโธไปสักพัก หนูก็เห็นภาพเป็นรถไฟพุ่งโดยที่ไม่มีรางรถไฟ ทำให้หนูตกใจ แล้วพุทโธนั้นก็เลยหายไป

พอตกใจเสร็จ แล้วก็กลายเป็นภาพสีดำมืดสนิทเป็นสีเดียวกัน เป็นโล่งๆ ว่างๆ พอเห็นปุ๊บหนูก็เลยตกใจกลัว ก็เลยลืมตา แต่ก็นั่งเท่าที่นั่งท่านั้น มิได้เปลี่ยนจนกว่าจะครบชั่วโมงเจ้าค่ะ หลังจากนั้นหนูก็ไม่กล้านั่งสมาธิอีกเลย

อาการอย่างนี้เป็นอย่างไรคะ แล้วควรทำอย่างไรต่อไป?

หลวงพ่อ : เวลาเราปฏิบัติกันนะ เราก็อยากได้มรรคได้ผล เราปฏิบัติแล้วเราก็อยากมีจิตสงบ เราปฏิบัติแล้วเราอยากได้คุณงามความดี ฉะนั้นเวลาเราไปปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติเราพุทโธๆ เราพุทโธเห็นไหม เขาบอกว่า เขาปฏิบัติมานานแล้ว ดูลมหายใจมาตลอด แต่ไปอ่านหนังสือหลวงปู่เจี๊ยะ พุทโธไวๆ พุทโธๆ

พอพุทโธไปแล้ว เห็นรถไฟพุ่งเข้าตนเอง เวลาเราปฏิบัตินะ ในอภิธรรมเขาบอกว่า กำหนดพุทโธ กำหนดพุทธานุสติกำหนดอะไรต่างๆ ทำสมถะ มันจะเกิดนิมิต มันจะเกิดความเสียหาย แต่ ข้อเท็จจริงเวลาจิตมันสงบขึ้นมา หรือจิตมันมีการเปลี่ยนแปลง

นี่ไง เราอยู่นอกบ้านอย่างหนึ่งนะ คนนะเวลาอยู่นอกบ้าน เวลาฝนตกแดดออก เราต้องเผชิญกับฝนตกแดดออก ถ้าเราอยู่ในบ้าน เราเข้ามาอยู่ในบ้าน เวลาฝนตกแดดออกมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ เพราะเรามีบ้านป้องกันอยู่

จิตของคนนะ โดยธรรมชาติ เหมือนเราอยู่นอกบ้าน เราทำสิ่งใดเราก็อยู่ตามธรรมชาติของเรา พอมันจะเข้าบ้านมันต้องก้าวผ่านประตูบ้านเข้าไปไหม มันต้องก้าวผ่านประตูบ้านใช่ไหม มันถึงจะเข้าไปสู่ในบ้าน

เวลากำหนดพุทโธๆ กำหนดลมหายใจมาตั้งนานไม่มีสิ่งใด พอมาพุทโธก็เปลี่ยนคำบริกรรม พอเปลี่ยนคำบริกรรม พอพุทโธไวๆ ขึ้นมา นั่งไปสักพักหนึ่ง เห็นภาพ “หนูเห็นภาพเหมือนรถไฟพุ่งเข้าใส่” ไอ้รถไฟพุ่งเข้าใส่นี้นะ เวลาจิตของคนเวลามันจะสงบนะ เวลามันจะเข้าบ้าน จิตมันจะเข้าบ้าน มันมีอาการแตกต่างหลากหลายกันไป

เวลามันมีอาการแตกต่างหลากหลายกันไป มันจะเกิดอาการ เวลาเราจะเข้าบ้านเห็นไหม ถ้าเราไม่เปิดประตูบ้าน เราก็เดินชนประตูบ้าน เราจะเข้าบ้านเราเดินไม่ดี เท้าเราก็เกี่ยวธรณีประตูล้ม การจะเข้าสมาธินะ ถ้ามีอุปสรรคมันจะมีอุปสรรคอย่างนี้ มันเหมือนรถไฟพุ่งเข้าใส่ตัว ก็ตกใจมาก พอตกใจมาก พอเราจะเดินเข้าบ้าน พอเท้าเราไปเกี่ยวธรณีประตูเราก็เซ พอเซไปปั๊บเราก็ตั้งใจนั่งใหม่เห็นไหม มันก็เห็นเป็นภาพสีดำมืด มันไม่เห็นรถไฟแล้ว เพราะอะไร เพราะขณะที่จิตเราดี เราจะเห็นเหมือนรถไฟ แต่พอเราตกใจจิตมันกระเพื่อมแล้ว

พอจิตมันกระเพื่อมปั๊บมันก็เห็นเป็นภาพดำๆ เห็นไหม เห็นเป็นภาพดำ สีดำๆ “หนูก็อยู่อย่างนั้น” มันดำๆ โล่งๆ ว่างๆ “แล้วหนูก็คลายออกมา” แต่พูดถึงถ้ามีครูบาอาจารย์ เราให้ตั้งสติแล้วพุทโธใหม่

พอพุทโธใหม่มันจะเปลี่ยนไป มันจะเป็นอาการ เวลาเราบอกว่า เวลาเราปฏิบัติกัน เราอยากได้มรรคได้ผล เราอยากได้คุณงามความดี แต่พอเราจะเปลี่ยนนะ มันมีปฏิกิริยาไง จิตนะบางทีมันจะเข้าสู่สมาธิ มันมีปฏิกิริยาของมัน คำว่ามีปฏิกิริยาของมัน มันอยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่บาปกรรมของคน อยู่ที่บาปกรรมของจิตดวงนั้น บางจิตพอพุทโธๆๆ มันก็นิ่ง สบายๆ อย่างนี้เยอะ ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้

แต่ถ้าพุทโธๆ ไปนะแล้วเห็นอาการที่แปลกๆ มีส่วนน้อย มีอยู่แต่เป็นส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่จะพุทโธๆ พุทโธปีสองปีก็พุทโธอยู่อย่างนั้น ไม่สงบสักที พุทโธจนเบื่อ พุทโธจนเซ็ง ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้

แต่พุทโธๆ แล้วมันมีอาการอย่างนี้ มันเป็นส่วนน้อย แล้วมันไม่ใช่ส่วนน้อยธรรมดานะ เพราะเขาดูลมหายใจมาตลอด เพียงแต่ว่าไปอ่านพบในหนังสือหลวงปู่เจี๊ยะ แล้วพออ่านหนังสือหลวงปู่เจี๊ยะก็มากำหนดพุทโธไวๆ พอพุทโธไวๆ ก็เห็นเหมือนรถไฟพุ่งเข้าใส่ แล้วมันเป็นวิทยาศาสตร์นะ มันตกใจ ตกใจเพราะอะไร เพราะมันไม่มีรางรถไฟ มันพุ่งเข้ามาได้อย่างไร นี่ไปคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพราะรถไฟคือรถไฟ แต่ความจริงมันไม่ใช่

มันเป็นอาการของใจ ใจมันมีอาการของมัน แต่เวลามันเห็นภาพโดยวิทยาศาสตร์เราก็เห็นภาพเป็นรถไฟ ถ้าเป็นบางคนนะเห็นภาพเป็นลำแสง เห็นภาพเป็นอะไรที่พุ่งใส่เรา พอพุ่งใส่เราให้เราตกใจ ให้เราตกใจนะ ถ้าคนฉลาดจะเห็นสิ่งใดนะ สิ่งนั้นนิมิตใช่ไหม ลืมตาก็เห็นภาพ จิตสงบจิตก็เห็นอาการ

อาการจะเป็นอย่างไรนะ เราอยู่ที่พุทโธเฉยๆ อาการนั้นมันจะสงบไปเอง อาการนั้นสิ่งที่เห็นมันจะสงบไปเอง จิตมันจะละเอียดเข้ามา แต่พอเราเห็นสิ่งใดปั๊บ เราไปยึดตรงนั้น พอเห็นรถไฟขึ้นมา เราก็ตกใจกับรถไฟ จิตนี้มันไม่เข้าสู่บ้านไง ไม่เข้าสู่ความสงบไง

พอจิตมันมีอาการปั๊บ มันมีปฏิกิริยา เราไปเห็นปฏิกิริยาอันนั้น นี่พูดถึงเราจะอธิบายเรื่องจิต อธิบายถึงว่า ถ้ามันจะเป็นสมาธิมันจะเกิดอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่สมาธิต้องเป็นอย่างนี้ทุกๆ คนนะ มันเป็นเฉพาะคน แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่เป็น

หลวงตาบอกว่า จิตที่คึกคะนองมีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไอ้จิตที่จะเห็นโน่นเห็นนี่ ไอ้จิตที่แปลกๆ มีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนักปฏิบัติทั้งหมด ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๙๐ เปอร์เซ็นต์นั้น พุทโธแล้วหลับหมด พุทโธแล้วไม่ได้สักทีนะ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ พุทโธทีไรนอนหลับทุกทีเลย พวกนี้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้น ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็พยายามทำของเรา เราจะบอกว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรที่เป็นโทษเลย เพียงแต่เราปฏิบัติไปแล้ว เหมือนรดน้ำพรวนดินต้นไม้ รดน้ำพรวนดินต้นไม้ พอรดน้ำมันก็ชื้น พอชื้นขึ้นมาต้นไม้มันก็เจริญงอกงาม

อันนี้พอจิตพุทโธๆ มันเหมือนรดน้ำพรวนดินหัวใจ แล้วหัวใจจะได้เจริญงอกงาม ดันตกใจ อาการอย่างนี้นะ รดน้ำพรวนดิน มันจะออกดอกออกผล พุทโธๆ ไป จิตมันออกรับรู้ ออกจะเป็นไป แล้วทำโดยตกใจ เราถึงบอกว่า เวลาเราปฏิบัติกัน เราอยากได้มรรคได้ผล เราอยากสงบอยากจะเป็นความดีทั้งนั้น พอมันจะเป็นขึ้นมาตกใจ เพราะอะไร เพราะความเป็นจริงมันเหนือความคาดหมาย แต่พวกเราไปเอาสิ่งทางวิชาการมาเป็นกรอบไว้หมดเลย แล้วทำอย่างไรต้องให้เป็นแบบนี้ๆ แล้วก็นั่งนึกให้เป็นแบบนี้ มันไม่เป็นหรอก เพราะถ้าความจริงมันเป็นอีกแบบอย่างหนึ่ง

ความจริงคือความสงบของใจที่มันจะเป็นข้อเท็จจริง ไอ้เราบอกความว่างก็คือว่างๆ เราจินตนาการเอาเองนะ ว่าสมาธิเป็นอย่างนั้น ปัญญาเป็นอย่างนั้น แล้วก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น ความจริงมันไม่เป็น เหมือนกับต้นไม้พลาสติกใช่ไหม ต้นไม้พลาสติกเป็นอย่างนี้ เราบอกเป็นพลาสติกเลย แต่เวลาปลูกต้นไม้ธรรมดา เวลามันเจริญงอกงามขึ้นมา มันจะแตกต่างจากต้นไม้พลาสติก แต่คล้ายๆกัน ถ้าคนไม่สังเกตนี่ไงต้นไม้พลาสติก ทำอะไรก็ทำได้

นี่พูดถึงว่าเริ่มพุทโธ แล้วก็ตกใจ อันนี้มันเป็นประสบการณ์เฉยๆ ไม่มีอะไรเสียหาย แล้วตั้งสตินะ แล้วกลับไปพุทโธใหม่ ถ้าทำได้นะ แล้วพอจะเห็นตั้งสติไว้

โยมคิดสิ เวลาลมพัดมา โยมเย็น เวลาลมพัดมาตกใจไหม เย็นสบาย ไอ้นี่มันเหมือนเวลารถไฟพุ่งเข้ามามันก็เหมือนลม มันจะพุ่งเข้ามาใส่ตัว ถ้ามีสตินะ มันก็ผ่านไปสบาย แต่ไม่รู้ก็ตกใจ ก็เท่านั้นนะ อาการที่รถไฟพุ่งเข้ามาเหมือนกับลมพัดมาแล้วเย็น ไม่มีอะไรเลย ตั้งสติไว้

แต่ที่มันมีก็กลัวไง ที่มันมีขึ้นมา เพราะตกใจเพราะกลัวเพราะอะไรอย่างนี้ แต่ถ้าไม่ตกใจ มีสตินะไม่มีอะไรเลย เป็นความดีทั้งนั้น เป็นความดีทั้งนั้น

อันนี้สิจุดไต้ตำตอไหม

ถาม : ข้อ ๓๘๒. เมื่อไหร่จะเห็นกายครับ?

หลวงพ่อครับ ผมอยากทราบว่า เวลาที่จิตเรานิ่งแล้ว มันจะอีกนานไหมครับ กว่าจะเห็นกายและพิจารณากายได้ เพราะเมื่อผมจิตนิ่งสักพักหนึ่งแล้ว ผมก็ไม่เห็นกาย หรือว่าผมต้องสร้างภาพขึ้นมาเองครับ แล้วถ้าสร้างเอง ผมต้องสร้างอย่างไร เพราะผมกลัวจะเป็นการเห็นโดยสัญญา ไม่ใช่การเห็นโดยจิตนะครับหลวงพ่อ

ผมพยายามไม่คิดว่าต้องเห็นอะไร แต่มันก็นิ่งเรื่อยๆ หรือว่านั่นดีแล้วครับหลวงพ่อ ขอช่วยชี้แนะด้วย

หลวงพ่อ : ถ้ามันกำหนดนะ มันต้องให้กำหนดชัดๆ กำหนดให้ชัดๆ นิ่งมันมีนิ่งอยู่ ๒ อย่าง ถ้ามันสงบแล้วนิ่ง นิ่งถ้าเป็นสมาธินี่ดีมากเลย แต่ถ้านิ่งแล้วเราไม่มีสติ มันนิ่งเราก็ว่านิ่งแต่เราไม่ได้ควบคุมให้ดี เวลาเราไปเติมน้ำมันเห็นไหม ถ้าน้ำมันที่เขาเติมมา น้ำมันบริสุทธิ์ก็ดี ถ้าน้ำมันที่เขาเติมมามีน้ำผสมมายุ่งเลย

นี่ก็เหมือนกัน นิ่ง นิ่งที่ความสะอาดบริสุทธิ์ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้านิ่งชัดๆ ขึ้นมา มันจะดี ถ้าดีแล้วถ้ามันไม่เห็นกาย ถ้าไม่เห็นกายนะ อย่างที่ว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๕ เปอร์เซ็นต์

๕ เปอร์เซ็นต์ถ้าจิตมีวาสนานะ พอจิตสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นกายนี้มาเลย เหมือนรถไฟที่ว่านะ แต่นี่เป็นภาพมาเลย เป็นกายมาเลย พอเห็นกายอย่างนี้นะ เห็นภาพรถไฟเมื่อกี้เห็นไหมเขาตกใจ เขาหลุดจากสมาธิเลย แต่ถ้าพูดถึงจิตสงบนะ แล้วไปเห็นกายขึ้นมา ถ้าจิตมันเห็น มันก็เห็นเหมือนรถไฟ แต่ถ้ามันมีสตินะ พอจิตมันดีแล้วพอเห็นมาปั๊บ มันจับให้นิ่งได้ จับให้กายนี้นิ่ง แล้วให้กายมันแปรสภาพต่อหน้าเรา

แต่ถ้าไม่เห็น ถ้าไม่เห็น แต่จิตมันนิ่งแล้ว รำพึง ตามธรรมเขาให้รำพึง รำพึงคือคิดในสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิรำพึงขึ้นมา รำพึงกระดูก รำพึงชิ้นใดก็ได้รำพึงขึ้นมา พอเรารำพึงขึ้นมา ดูซิว่าตั้งได้ไหม ถ้าตั้งไม่ได้ทำความสงบให้มากขึ้น พอทำความสงบให้มากขึ้น พอเห็นจิตขึ้นมา

การเห็นกายมันเห็นได้หลากหลายมาก เราจะบอกว่า หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ พวกนี้พิจารณากายหมดเลย แต่พิจารณากายไม่เหมือนกัน การพิจารณากายก็ไม่เหมือนกัน พิจารณากายอยู่ที่วาสนา อยู่ที่ปัญญาของคนจะลึกซึ้งขนาดไหน

ฉะนั้นเวลาพิจารณากายนะ พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย โดยใช้ปัญญา ใช้ปัญญาเทียบเคียงว่าร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันเกิดเติบโตขึ้นมาด้วยอะไร มันอยู่ด้วยอะไร ร่างกายประกอบด้วยสิ่งใด นี่การพิจารณาโดยปัญญา มันก็สลดสังเวชได้

ฉะนั้นการพิจารณากายโดยไม่เห็นกายนี้อันหนึ่ง อันนี้เป็นการพิจารณากายโดยปัญญาวิมุตติ มันใช้ปัญญา แต่มีสมาธินะ ถ้าไม่มีสมาธิคิดไม่ออกคิดไม่ได้ แล้วคิดมันก็ไม่สะเทือนใจ แต่ถ้าพิจารณากาย จิตมันสงบแล้วพิจารณากาย รำพึงกายขึ้นมา ถ้าไม่เห็นพยายามสงบเข้าไปเรื่อยๆ สงบเข้าไปเรื่อยๆ

แล้วถ้าเห็น คำว่าเห็นกายนะ เวลาจิตมันสงบแล้วเห็นไหม แล้วเรากำหนดได้ บางคนเขากำหนดขึ้นมาเลย กำหนดขึ้นมา อวัยวะเป็นอย่างนั้น อวัยวะส่วนนั้นเป็นอย่างนั้น แล้วพิจารณาไป แล้วถ้าจิตพอมันพิจารณาแล้ว จิตมันดีขึ้น ภาพกายนั้นจะใส ใสขึ้นนะ เวลาเห็นกายนะ มันวัด เวลาลูกศิษย์ไปหาครูบาอาจารย์ใช่ไหม “เห็นกายเป็นอย่างนั้นๆ เลย” มันสามารถวัดระดับของสมาธิของลูกศิษย์ได้เลย

ถ้าสมาธิลูกศิษย์ดีๆ นะ กายนะใสเป็นโครงแก้วเลย ใส อย่างนี้สมาธิแรงเกินไป แต่พอจิตมันสงบแล้วนะ พอเห็นกายเป็นเนื้อธรรมดาที่เราเห็นสภาพแบบนี้ แล้วถ้ามันยังคลอนแคลนมันไหว แปลว่าสมาธิมันยังไม่พอ ถ้าสมาธิเราดีนะ มันจะเห็นกายเหมือนที่เราเห็นโดยวิทยาศาสตร์นี่เลย แต่เห็นโดยสมาธิมันสะเทือนหัวใจมาก มันสะเทือนหัวใจเพราะอะไร มันสะเทือนหัวใจเพราะสิ่งนี้มันสะเทือน เพราะจิตมันเป็นผู้เห็น จิตมันเป็นผู้รู้ จิตมันเป็นสมาธิแล้วมันเห็น

พอมันเห็นขึ้นมามันสะเทือนหัวใจ หัวใจมันมีอะไร หัวใจมันมีกิเลสไง พอมีกิเลสในหัวใจ ขนพองสยองเกล้าเลย แล้วพอพิจารณาไปมันเป็นไตรลักษณ์ขึ้นมา มันเป็นไตรลักษณ์ พิจารณาให้มันเป็นสภาวะแบบนั้น โอ้โฮ มันถอนของมันนะ มันปล่อยๆๆๆ ฉะนั้นสิ่งที่ว่า “ทำไมไม่เห็นกาย” อันนี้มันย้อนกลับไปที่ว่า มันย้อนกลับนะ

อำนาจวาสนาของคนมันไม่เหมือนกัน วาสนานะ ถ้าวาสนาดี ทำดีมันก็จะทำได้ง่าย ถ้าวาสนาเราล้มลุกคลุกคลานนะ มันก็ต้องกระเสือกกระสน เห็นไหมบัว ๔ เหล่า คำว่าบัว ๔ เหล่า ดูหลวงตาท่านพูดถึงเห็นไหม ปทปรมะ พวกนี้เห็นไม่ได้เลย เวไนยสัตว์พวกเราพวกถูพวกไถ พวกถูกพวกไถเราก็ต้องพยายามของเราไป

จะเห็นหรือไม่เห็นเห็นไหม เมื่อไหร่จะเห็นกาย ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าเราฝังใจว่าเรื่องเห็นกายนะ เพราะเราก็เคยฝังใจว่าเราจะต้องเห็นกาย แต่เวลาพิจารณาไปแล้ว มันพิจารณาไปแล้วเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอยู่อย่างนั้น จนสุดท้ายมาพิจารณาจิต อ้อ พอพิจารณาจิตมันคล่องตัวมาก

เราจะบอกว่า ถ้าเราไม่เห็นกาย เราก็พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมารมณ์ก็ได้ แต่โดยพื้นฐานทุกคนก็สอนว่าพิจารณากายก่อน ถ้าเราพิจารณากายไม่ได้ พอจิตมันสงบแล้ว เราพิจารณาธรรม ธรรมารมณ์คือธรรมะ ธรรมะคือชีวิต คือผลกระทบของชีวิต

ชีวิตนี้เกิดมาจากไหน ชีวิตนี้พิจารณาของเราไป ถ้ามันสลดสังเวชเห็นไหม จิตมันก็สงบเข้ามา สติปัฏฐาน ๔ พิจารณาอะไรก็ได้ บางสำนักเขาบอกว่าต้องผ่านเวทนา ก็นั่งกันอยู่อย่างนั้น ๑๘ ชั่วโมง ๒๐ ชั่วโมงนะ จะสู้กับเวทนากันอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้นเราบอกว่า เวทนานะ ถ้าเวทนามันเกิด ถ้าพิจารณาได้นะ คนที่พิจารณาโดยชำนาญมันก็จะผ่านได้ คนที่ไม่ชำนาญ เหมือนเรานะ อาหารที่ไม่ถูกปากอาหารที่มันไม่ตรงกับกิเลสไง ไม่ตรงกับกิเลส ฆ่ากิเลสมันก็จับพลัดจับผลูอยู่อย่างนั้นนะ

เพราะฉะนั้นถ้ามันพิจารณากาย พิจารณากายสักกายทิฏฐิ พิจารณาเวทนา เวลาละสักกายทิฏฐิ พิจารณาธรรมพิจารณาจิต เวลาละมันก็ละสักกายทิฏฐิ เพราะละครั้งแรกมันละสักกายทิฏฐิ ทิฐิคือความเห็นผิดในธรรม พอพิจารณาแล้วมันปล่อยหมดนะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พระโสดาบัน

แล้วพระโสดาบันมีความรู้สึกอย่างไร พระโสดาบันมีอารมณ์กระทบอย่างไร พิจารณาอย่างนี้ พิจารณาของเรา อย่างนี้พิจารณา ถ้ามันไม่เห็นกาย มันเห็นเวทนาก็ได้ เห็นจิตก็ได้ เห็นธรรมก็ได้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ สิ่งใดสิ่งหนึ่งปัจจุบันขณะนั้น

แล้วเวลาพิจารณาครั้งต่อไปอาจจะเปลี่ยนแปลงได้อาจจะแก้ไขได้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งในปัจจุบันนั้น เดี๋ยวนั้น เท่านั้น เอวัง.