ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตอยู่ที่รู้

๑๗ เม.ย. ๒๕๕๔

 

จิตอยู่ที่รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๓๙๐. เรื่อง “ต้องรู้ผิดก่อนรู้ถูก เราจะเข้าใจพันธุกรรมของจิตได้อย่างไรครับ”

หลวงพ่อ : คำถามนี้มีผู้ถามมาบ่อย แล้วตอบไปเยอะมาก นี่เขาเขียนมา

ถาม : ก่อนอื่นผมต้องขอขมาหลวงพ่อตรงนี้ด้วยครับ ผมขอสารภาพว่าผมเผลอไปตำหนิหลวงพ่อไปครั้งหนึ่งตอนที่หลวงพ่อเทศน์

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) เผลอตำหนิไปครั้งหนึ่ง ด่าก็ได้ไม่เป็นไรหรอก ไม่ว่ากันอยู่แล้ว ใจมันคุมไม่ได้

ถาม : ผมขออนุญาตหลวงพ่อ โปรดเมตตาสอบถามความเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนหรือผิดพลาด บกพร่องอย่างไร ขอบคุณที่ผ่านมาที่หลวงพ่อประเมินผมเป็นคะแนนครับ ทำให้ผมมีโอกาสเข้าใจกมลสันดานในจิตตนเองได้ชัดขึ้น ผมเกิดความเข้าใจขึ้นมาบางอย่าง ความเข้าใจบางอย่างนี้ ขึ้นมาในใจแค่แว็บเดียว แต่ถ้าจะอธิบายออกมาให้จบต้องใช้ความพยายามมากทีเดียว

๑. จิตแต่ละดวง (แต่ละคน) อันเวียนว่ายตายเกิดเป็นสัตว์ทั้งหลาย มีทั้งอธรรมที่เรียกว่าบาป กิเลส อวิชชา และมีทั้งธรรมที่เป็นกุศล บุญ บารมี วิชชา ญาณ ทั้ง ๒ อย่างนี้อยู่กับจิตนี้ อย่างในอภิธรรมเขาแบ่งจิตเป็นขณะๆ ดวงๆ ที่จริงก็จิตเดียวนี่แหละ แต่มีหลายกระแสส่งเข้าส่งออกก็เท่านั้น (นี่คำถามข้อที่ ๑. นะ เราอ่านก่อนเดี๋ยวจะสรุป)

๒. จิตบางดวงอยู่ในขั้นตอนภพชาติที่กำลังเรียนรู้อธรรมหรือเรื่องบาปๆ จนถึงที่สุดก่อน ก่อนจะมีการเรียนรู้เรื่องธรรมๆ เพื่อการฝ่ายกุศล บางท่านต้องใช้ชีวิตทางโลกสุดๆ เสียก่อน จนในที่สุดก็เบื่อจนออกบวช ส่วนจิตบางดวงบารมีที่ใกล้จะเต็มแล้ว ก็เติมเต็มอีกนิดหน่อยจึงมักไม่หลุด เช่น บางท่านที่มีโอกาสบวชตั้งแต่เป็นเณร แล้วก็ปฏิบัติสำเร็จได้อย่างที่มุ่งหวังไว้ไม่นาน ความเข้าใจแบบนี้ครบถ้วนไหมครับ

๓. หากจิตเรียนรู้เรื่องบาปๆ หรือเรื่องทางโลกสุดๆ แล้ว สุดท้ายหากได้สัมผัสด้วยตนเองเรื่องวิบากกรรมได้แล้ว ก็จะซาบซึ้ง เพราะเจอในชีวิตจริง เจ็บจริง อันนั้นจะเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติได้มากกว่าการศึกษาจากตำราหรือฟังเขามา เปรียบได้กับคนที่ผิดหวังในความรัก ก็จะเข้าใจทุกข์ของความผิดหวังว่าเป็นอย่างใด ยิ่งเจ็บมากก็ยิ่งมีโอกาสทำให้เข็ดและสำนึกได้มาก ความเข้าใจแบบนี้สมเหตุสมผลหรือเปล่าครับ

๔. ถ้าจิตดวงใดยังไม่เข็ดเรื่องทุกข์กับสมุทัย หรือไม่เข็ดเรื่องชีวิตกับกิเลส ก็ยากที่จะมีโอกาสไปถึงนิโรธกับมรรค หมายความว่า ถ้ายังไม่เข้าใจ ไม่จบอริยสัจ ๒ ข้อแรก ก็ยากที่จะถึง ๒ ข้อหลัง ความเข้าใจแบบนี้จำเป็นกับจิตทุกดวงหรือเปล่าครับ

๕. กายนี้มีความตายเป็นที่สุด จิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุด ความเข้าใจแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่าครับ

๖. การอธิษฐานต่างๆ ที่เคยทำมา สำคัญขนาดไหนครับ จะเป็นตัวขวางกั้นการปฏิบัติหรือเปล่า สมมุติว่าชาติก่อนๆ ได้เคยอธิษฐานพุทธภูมิ แต่ชาติปัจจุบันอธิษฐานมรรคผล และหากการอธิษฐานอย่างนั้น หรือการอธิษฐานพุทธภูมิเป็นตัวขวางกั้น จะต้องมีขั้นตอนการละหรือถอนอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : นี่คำถามนะ ก่อนจะตอบนี่ เพราะว่าผู้ถามถามมาบ่อย แล้วตอบไปเยอะ

เราจะพูดอย่างนี้ก่อน ปูพื้นฐาน การปูพื้นฐานนี่นะ เวลาหมอเขารักษาคนไข้ เขาจะต้องประเมินคนไข้ เวลาคนไข้เข้ามานี่เจ็บไข้ได้ป่วยขนาดไหน เวลารักษาไปแล้วคนไข้จะดีขนาดไหน ทุเลาขนาดไหน หายขนาดไหน

ในธรรมก็เหมือนกัน คำถามนี่เวลาถามมาเรื่องการปฏิบัติเราก็จะอธิบายของเราไปเรื่อย ฉะนั้นเวลาอธิบายไปแล้ว เวลาคำถามนี่นะ เวลาหลวงตาท่านตอบคำถาม ตอบโยม เรานั่งฟังตลอด ถ้าโยมคนไหนมาปฏิบัตินะ แล้วเวลาท่านตอบไปนะมันจะเจริญก้าวหน้านะ คำถามมันจะเปลี่ยนทันที

คำถามเคยถามเรื่องระดับนี้ คำถามครั้งต่อไปจะถามเรื่องระดับที่สูงขึ้น สูงขึ้น เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แต่คำถามนี่ถ้าถามระดับนี้ เวลาอาจารย์ตอบไปแล้ว เวลากลับมาถามใหม่นะมันถามต่ำกว่านี้ มันแปลกแล้วนะ เอ๊ะ.. ครั้งที่แล้วก็ถามแบบนี้นี่ พิจารณากายเป็นอย่างนั้นๆ พอคำถามต่อไปนะ เอ๊ะ.. จิตสงบมันเป็นอย่างใด

มันแปลกนะ พอพิจารณาไปแล้ว มันขั้นพิจารณาแล้ว ขั้นใช้ปัญญาแล้ว คราวต่อไปมันต้องถามสิว่า ปัญญาพิจารณาแล้ว ผลตอบมานี่มันถูกหรือผิด ปัญญาปฏิบัติไปแล้ว ที่ตอบมา ที่ทำมาถูกหรือผิด นี่มันก็จะก้าวหน้าไป มันเหมือนกับการรักษา เห็นไหม โรคภัยไข้เจ็บหายแล้ว ต่อไปนี้ก็กายภาพบำบัด พอกายภาพบำบัดเสร็จแล้ว อ้าว.. แล้วเดินได้หรือยัง ทำได้หรือยัง เออ.. ถ้ามันเป็นขั้นตอนไปมันก็ถูกต้อง

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาธรรมะนี่ พูดถึงธรรมะนะ เวลาถามธรรมะ คนถามนี่เวลาถามปัญหามันจะรู้เลย ปัญหาว่าถ้าเป็นปัญหาที่เราปฏิบัตินะ ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “ทำจิตสงบ ทำสมาธิ แค่นี้แหละ!” แต่โยมมาปฏิบัติ ๕ ปี ๑๐ ปียังไม่ได้เลย แล้วอย่างนั้นทำไมคำถามมันมาบ่อยนัก ถ้ามันมาบ่อยนักนี่มันมีความสงสัยมาก แล้วเราทำได้ผลจริงหรือ?

นี่พูดถึงตรงนี้ก่อนนะ ตรงที่ว่าเวลาคำถามอย่างนี้ ถ้าพูดถึงคำถามที่เกิดจากความสงสัย มันจะมีสงสัยตลอดไปไม่จบง่ายๆ แต่เวลาความสงสัยนี่มันมีความสงสัยได้แค่ไหน สงสัยแล้วเราต้องทดสอบของเรา ถ้าความสงสัยนะมันก็เหมือนกับที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ถ้าเอาหนังสือมาถาม คืออ่านหนังสือแล้วค้นคว้ามาถามมันก็เป็นทางวิชาการ ถ้าเป็นทางวิชาการนะเราต้องตั้งโต๊ะคุยกันแล้วเพื่อให้มันจบ ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่จบนะ

คนปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมันปฏิบัติไป ปฏิบัติด้วยข้อเท็จจริง เหมือนกับภาคสนาม ภาคสนามก็ลงมือทำ สร้างตึก สร้างโรงงานต่างๆ เสร็จหมดแล้ว แต่ไอ้ทางวิชาการยังไม่จบเลยว่าโรงงานทำอย่างไร ตึกนี้ใช้ประโยชน์อะไร อย่างนี้ก็ยุ่งน่ะสิ

ฉะนั้นเวลาภาคทฤษฎี ภาคปริยัตินี่เราศึกษาได้ แต่เวลาจะถามปัญหาขึ้นมามันเป็นปัญหาว่าเวลาเราลงไปในพื้นที่ หน้างานมันมีอะไรขัดข้องบ้าง เขาบอกเลยว่าให้ลงไปสร้างโรงงาน ไปถึงก็ลงที่มันไม่มี เขายังไม่ได้มอบพื้นที่ให้เลยจะไปสร้างที่ไหนล่ะ สร้างบนหลังคาบ้านเขาใช่ไหม มันก็ทำไม่ได้ใช่ไหม ไปสร้างโรงงาน เขาต้องเวนคืนพื้นที่ให้เรา เขาต้องให้พื้นที่เรา เราถึงจะลงไปสร้างได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ในคำถามนี่ เพราะว่าถามมาบ่อย ถ้าถามมาบ่อยเราจะบอกว่า ถ้ามันเป็นจริงหรือว่าปฏิบัติแล้วนี่นะ ภาคปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ นี่ที่เราบอกว่าอยากหาพระปฏิบัติ เราอยากปฏิบัติธรรมกัน ถ้าเราทำไปแล้วมันจะดีขึ้น มันจะพัฒนาขึ้น พอพัฒนาขึ้น คำถามมันจะเปลี่ยนไปหมดเลย คำถามนี่จะเปลี่ยนเลยนะ เพราะเราถามปัญหาระดับนี้ใช่ไหม ต่อไปคำถามเรามันจะพัฒนาเป็นชั้นขึ้นไป เป็นชั้นขึ้นไป

คำถามเวลาภาคปฏิบัติมาเราตอบไปหลายที แต่คราวนี้กลับมามันกลายเป็นเรื่องบุญ เรื่องกุศลเลย เป็นเรื่องว่าจิตนี้มันเกิดมาอย่างไร กรรมมันมาอย่างไร ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ ปัญหาอย่างนี้มันจะตอบหมดเลย ถ้าจิตเราสงบ พอจิตสงบปั๊บนะมันวางทุกอย่างหมด พอมันวางทุกอย่างหมดแล้วมันจะมีเหลืออะไร มันก็เหลือจิตที่สงบที่วางแล้ว แล้วจะเริ่มใช้ปัญญา พอเริ่มใช้ปัญญาเข้าไปแล้วมันจะออกเป็นวิปัสสนาใช่ไหม

พอออกวิปัสสนา วิปัสสนามันคืออะไร?

เวลาทำความสงบของใจนี่นะมันเป็นมรรคหยาบๆ ใช่ไหม เวลาเราทำมาหากินเป็นมรรคอันหนึ่ง เวลาเราเริ่มปฏิบัติ ทำความสงบของใจเป็นมรรคอันหนึ่ง เป็นมรรคหยาบๆ พอมรรคหยาบๆ พอมันสงบเข้ามาแล้ว เห็นไหม จิตมันเป็นสัมมาสมาธิ พอมันออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม อันนี้มันจะเป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรคมันจะเป็นโลกุตตรปัญญา

อย่างเช่นเราทำความสงบของใจนี่มันเป็นโลกียปัญญา โดยพื้นฐานเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีตัวตน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจิตเรามันสร้างเวรสร้างกรรมมา ทีนี้พอสร้างเวรสร้างกรรมมา ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ต่างกับมนุษย์อื่นสิ เราเป็นมนุษย์ต่างดาวหรือ แต่เราเป็นมนุษย์ในโลกนี้ พอเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ในภพของมนุษย์มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือความคิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น ทีนี้เราเอาความเป็นมนุษย์ เห็นไหม เขาเรียกว่าโลก ความเป็นมนุษย์มาตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเรียกว่าโลกียปัญญา มันเกิดมาจากสามัญสำนึก เกิดมาจากโลกของเรา ฉะนั้นมันคิดสิ่งใดตอบสนองมา ก็ตอบสนองแบบโลกๆ ไง เป็นวิชาชีพ เป็นปัญญาทางโลก

ทีนี้การทำความสงบของใจนี่เป็นมรรคไหม? เป็นมรรค.. โลกเขาเป็นมรรค สัมมาอาชีวะชอบ ประกอบอาชีพชอบ ทำงานชอบ เขามีศีลสมบูรณ์ เวลาเขาเกิดเขาตายไปนี่เพราะบุญกุศลของเขาก็จะพาเขาไปดี นั่นเป็นเรื่องของวัฏฏะ เป็นผลของวัฏฏะ เหมือนคำถามๆ นี้เลย แต่เวลาทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบเข้ามาแล้ว เห็นไหม เวลาจิตมันออกรู้ๆ นี่ออกรู้ในอะไร ออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ทำไมต้องรู้กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ ล่ะ สติปัฏฐาน ๔ เพราะอะไร เพราะว่ากิเลสมันอ้างพวกนี้ใช้งาน! กิเลสมันอ้างกาย เวทนา จิต ธรรมออกหาเหยื่อ ถ้ามันไม่ผ่านกาย ผ่านเวทนา ผ่านจิต ผ่านธรรม มันจะเอาอะไรไปหาเหยื่อล่ะ เพราะกิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันทำความสำเร็จด้วยตัวมันเองไม่ได้ กิเลสมันอาศัยความคิดเรา อาศัยความรู้สึกเราออกไปทำไง

เวลาสร้างกุศล มันก็เอาไปสร้างกุศล เวลาสร้างบาปมันก็เอาไปสร้างบาปอกุศลใช่ไหม นี่สติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจะดูตรงนี้ไง พอดูตรงนี้แล้วมันพิจารณาของมัน นี่โลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรม.. ปัญญามันจะเกิดที่นี่ ถ้าปัญญาเกิดที่นี่ โลกุตตระมันจะพัฒนาของมันขึ้นไป ถ้าพัฒนาขึ้นไปนะ มันจะพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

แต่คำถามอย่างนี้มันเป็นคำถามเรื่องวัฏฏะ เรื่องผล เรื่องความเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เห็นไหม มันเป็นผลของวัฏฏะไง เพราะเราตอบปัญหาไปหลายเที่ยว ที่มันเป็นเรื่องของวิปัสสนา เป็นเรื่องของภาวนา แต่เวลาสรุปกลับมานี่กลายเป็นผลของวัฏฏะ มันเหมือนกับถามไปถามมามันถามต่ำลงไง ถามไปถามมา ถ้ามันถามสูงขึ้นก็ แหม.. คนตอบก็คึกคักเลยนะ โอ้โฮ.. จะปลูกโพธิ์ไง ไอ้นี่ปลูกโพธิ์เลยกลายเป็นต้นหญ้าไปเลย ปลูกโพธิ์ก็ปลูกโพธิ์ แต่โพธิ์กลายเป็นต้นหญ้า อ้าว.. ต้นหญ้าเขาเอาไว้เลี้ยงวัวนะ

ทีนี้จะตอบปัญหาแล้ว นี้พูดให้เห็น พูดให้เข้าใจว่าภาคปฏิบัติมันเป็นแบบใด ภาคปริยัติเป็นแบบใด ทีนี้ภาคปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ คำถามต้องมีคำตอบ คำถามที่มันถามมานี่คำตอบมันมีของมันแล้ว แล้วเราจะตอบอย่างไร เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านตอบปัญหาท่านบอกเลยนะ คำถามมานี่เราตอบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่ได้หรอก เขารับไม่ได้เขาไม่รู้หรอก ตอบ ๕ เปอร์เซ็นต์ ตอบ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ตอบ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นแหละ

ตอบ ๕ เปอร์เซ็นต์หมายถึงว่า ความหมายเป็นอย่างนี้มันจะตอบมา ๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะจิตของคนถ้ามันพื้นๆ นะ ๕ เปอร์เซ็นต์มันก็ไม่รู้แล้ว ถ้ามันตอบศูนย์นะ ตอบศูนย์ก็คือตอบประสาโลกไง ตอบศูนย์ก็ตอบด้วยความคิดไง ตอบแบบวิชาการนี่ อู้ฮู.. ซึ้ง สุดยอดๆ เพราะมันเข้าใจได้อย่างนั้น โลกจะเข้าใจได้อย่างนั้น

พอตอบเป็นธรรมนะ ถ้าจิตเขาพัฒนาขึ้นไปตอบ ๕ เปอร์เซ็นต์ ตอบ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ตอบ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ตอบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ตอบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มี หลวงตาพูดบ่อย ตอบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันงงตายห่าเลย! ตอบซัก ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์มันรับได้ไหม ถ้ารับได้เดี๋ยวมันจะพัฒนาของมัน

นี่ไงภาคปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ ฉะนั้นถ้ามันเป็นทางวิชาการ เป็นวิทยาศาสตร์อย่างที่เราบอกว่าเป็นโลกๆ ต้องตอบให้เข้าใจๆ มันก็นิยายธรรมะไง เพราะใจดวงหนึ่ง มันมีธรรมในหัวใจใช่ไหม มันจะตอบความจริงออกมามันก็ต้องสร้างแบบว่าตัวอย่าง ตุ๊กตา ทำให้อีกคนเข้าใจได้ อีกคนเข้าใจได้มันก็เป็นโลก เห็นไหม มันเป็นสมมุติไง.. บุคลาธิษฐาน สันนิษฐาน เดา

ทีนี้เข้ามาที่นี่ มาที่คำถามเลย

ถาม : ๑. จิตแต่ละดวง (แต่ละคน) อันเวียนว่ายตายเกิดเป็นสัตว์ทั้งหลาย มีทั้งอธรรมที่เรียกว่าบาปอวิชชา ถ้ามีธรรมก็เป็นกุศล ทั้ง ๒ อย่างที่อยู่กับจิตนี้ ในอภิธรรมเขาแบ่งจิตเป็นดวงๆ ใช่ไหม

หลวงพ่อ : จิตดวงเดียวกันนี่แหละ อย่างกระแสที่ส่งออกก็เท่านั้น ก็เท่านั้น ก็ทำดีทำชั่วก็เท่านั้น แต่คำว่าเท่านั้นทุกคนไม่เข้าใจ คนไม่เคยเห็นเลยมันก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าคนเข้าใจ นี่เข้าใจขนาดไหนมันมีความสงสัยละเอียดไง แม้พระอนาคามียังสงสัยในพระอรหันต์เลย พระอนาคามีนี่เวลามันปล่อยโล่ง ว่างหมดเลย แล้วโล่งว่างมันคืออะไรต่อไปวะ เออ.. โล่งว่างก็สุดยอดเลย โล่งว่างก็มหัศจรรย์เลย เห็นไหม

เราพูดบ่อย เวลาหลวงตาท่านอยู่ขั้นนี้นะ แล้วท่านอยู่ที่ดอยธรรมเจดีย์ เดินจงกรมอยู่นี่ โอ้โฮ.. จิตมหัศจรรย์มาก มันมองไปมันว่างหมด ภูเขานี่มองทะลุไปหมดเลย มันโล่งว่างไปหมดเลย แล้วมันโล่งว่างอย่างไรก็ยังงงอยู่นะ พอเวลามันเกิดจุดและต่อมนี่ธรรมมาเตือน พอจุดและต่อมแล้วพิจารณาไปแล้ว พอมันผ่านไปนะ

“โอ้.. ไอ้โล่งว่างนี่ก็คือกองขี้ควาย กองขี้ควายเท่านั้น”

เวลาผ่านไปแล้ว เห็นไหม นี่พระอนาคามีก็ยังไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจเรื่องของพระอรหันต์หรอก เพราะจิตที่ต่ำกว่า จะรู้มากกว่าจิตที่สูงกว่าไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นไป มันเวียนตายเวียนเกิดมันก็เป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นผลของเขา ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจในใจของเรานะ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วมันก็ปล่อย

ถ้าพูดถึงนี่มันก็คือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเข้าใจว่าจิตมันก็เป็นอย่างนี้ มันก็เวียนตายเวียนเกิด.. เวียนตายเวียนเกิดแต่มันทุกข์ เวียนตายเวียนเกิดแต่ละชาติหนึ่ง มันก็สร้างสม เปลี่ยนแปลงเป็นพันธุกรรม เป็นเรื่องให้จิตนี้มีมุมมอง เห็นไหม ถ้ามุมมองมันทุกข์ยากมา มันก็ฝังใจว่ากูทุกข์ กูยาก มันก็แอนตี้สังคม ถ้ามันมีความสุขของมันนะมันก็เจือจานสังคมขึ้นมาเป็นผู้นำที่ดี

นี่พูดถึงผลของมันที่เกิด นี่ล่ะพันธุกรรมของจิตมันจะตัดแต่งของมันมาด้วยเวรด้วยกรรม แล้วเราก็มาเป็นเราอยู่นี่

ถาม : ๒. จิตบางดวงอยู่ในขั้นตอนของภพชาติที่กำลังเรียนรู้อธรรมหรือเรื่องบาปๆ จนถึงที่สุดก่อน ก่อนที่จะเรียนรู้เรื่องธรรมะ เรื่องฝ่ายกุศล

หลวงพ่อ : อันนี้เป็นผลของวัฏฏะทั้งหมดเลย เขาบอกว่าจิตบางดวงมันเต็มที่แล้ว ถึงที่สุดแล้วก็บวชตั้งแต่เณร แล้วถ้ายังไม่ได้บวชล่ะ

อย่างนี้นะ ในพระไตรปิฎก ดูสิพระพุทธเจ้านั่งทศชาติ คือ ๑๐ ชาติที่แล้วไป แล้วก็ชาติต่อๆ ไป พระสารีบุตร เห็นไหม เวลาพระที่ปฏิบัติแล้วมีปัญหาขึ้นมา ไปถามพระพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าบอกว่า “ชาติที่แล้วเขาเคยเป็นอย่างนั้น เคยเป็นอย่างนั้น” ชาติที่แล้วเขาเคยเป็น พระพุทธเจ้าบอกเคย แต่ปัจจุบันก็เป็นพระพุทธเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน ปัจจุบันเป็นเรา ถ้าปัจจุบันเป็นเรา ถ้าจิตเป็นอย่างนี้เราเข้าใจแล้ว ไอ้นี่มันเป็นอาการของจิตทั้งหมด แล้วจิตอย่างนี้มันเป็นเรื่องของโลกไง ถ้าเรื่องของธรรมมันต้องสงบเข้ามา แล้วพิจารณากัน ไอ้เขาจะบวชเณรหรือไม่บวชเณรก็เรื่องของเขา ไอ้เราจะบวชพระหรือไม่บวชพระก็เรื่องของเรา ไอ้เราจะปฏิบัติมันก็เรื่องของเรา นี่มันเป็นคติธรรมเท่านั้น พอมองสิ่งใดแล้ว เห็นไหม ดูหนังดูละคร แล้วย้อนมาดูเราเลย แล้วเราจะเอาอะไร

เราจะทำอย่างไร เขาจะดีหรือเขาจะชั่วมันก็เรื่องของเขา คนทำดีเราก็สาธุ เป็นคติ เป็นตัวอย่างที่ดีกับเราที่เราจะทำตาม ไอ้คนทำชั่ว ทำชั่วอย่างนี้กูไม่เอา กูไม่เอา เป็นคติตัวอย่างที่กูจะไม่ทำตาม กูจะหลบเลี่ยง อันนี้มันเป็นคติของเรา มันเตือนสติเราทั้งนั้นแหละ

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ปัญญาของตนจะรักษาตน ปัญญาของตนจะรักษาสิ่งต่างๆ แล้วย้อนกลับมาดูตน แล้วรักษาตนที่ตนนั้น.. อันนี้เรื่องหนึ่ง เพราะมันไม่เกี่ยวอะไรกับปฏิบัติเลย

ถาม : ๓. หากจิตที่เรียนรู้เรื่องบาปๆ หรือเรื่องโลกสุดๆ แล้ว เรื่องทุกข์แล้ว ได้สัมผัสสิ่งใดที่เป็นวิบากกรรมจะซาบซึ้ง เพราะเจอในชีวิตจริง เจ็บจริง……

หลวงพ่อ : เจ็บจริงมันก็เจ็บจริงนั่นแหละ ดูสิดูเทวทัตเวลาอาฆาตพระพุทธเจ้า เห็นไหม ที่เป็นพ่อค้าแลกเปลี่ยนสินค้า เครื่องเล่น ตุ๊กตาเด็กเล่น ที่ไปแลกถาดทองคำ แล้วเขาหมายใจว่าจะเอา แต่คิดว่าจะเอาโดยเอาเปรียบไง เจอพระพุทธเจ้าเป็นเพื่อนกันมาก็แลกเปลี่ยนไป เทวทัตกำทรายขึ้นมากำหนึ่งนะแล้วว่า “จะจองล้างจองผลาญทุกภพทุกชาติ” ก็เลยตั้งแต่นั้นมา ตั้งอธิษฐานมา

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตมันจะทุกข์ยากๆ ไอ้นั่นเขาจองล้างจองผลาญ เขาอธิษฐานเลยว่าจะตามล้างตามผลาญไปทุกภพทุกชาติ แล้วก็ตามจองล้างจองผลาญมาจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเขาเป็นเทวทัต แล้วเขาตกนรกอเวจี พระพุทธเจ้านิพพานไป เทวทัตลงนรกอเวจีไป แต่สำนึกตัวได้ สำนึกตัวได้ก็จะพลิกกลับมา เห็นไหม

นี่พูดถึงเขาถามว่า จิตมันได้เรียนรู้ไง มันได้เจ็บปวด ได้รับรู้เรื่องต่างๆ มา เจ็บปวดมันก็คือเจ็บปวด เจ็บปวดก็คือจิตเรา จิตเราเจ็บปวด เราก็ทำให้หายเจ็บปวดได้ เลือดออกก็หยุดเลือดได้ มีแผลก็รักษาแผลให้หายได้ มีอะไรก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ จะไปอ้างอิงอะไร ถ้าอ้างอิงอย่างนี้ เวลาเทศน์ธรรมะก็เทศน์ออก อย่างที่โลกเขาเทศน์กันไปนะ เราเป็นอย่างนี้ เขาเป็นอย่างนั้น แล้วก็เราจะไปที่นู่น เดี๋ยวเราจะไปเที่ยวอเมริกากันดีกว่า ตอนนี้เขาจะไปเที่ยวอวกาศกันแล้ว

ถ้าเรายังไปอย่างนั้นอยู่ เราก็จะไปกับเขานะ เราถึงบอกว่าคำถามเมื่อก่อนถามเรื่องภาวนามา ทำไปทำมา ตอนนี้ถามเรื่องวัฏฏะแล้ว (หัวเราะ)

ถาม : ๔. ถ้าจิตดวงใดยังไม่เข็ดเรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย หรือเข็ดเรื่องของชีวิตและกิเลส ก็ยากที่จะมีโอกาสไปถึงนิโรธ

หลวงพ่อ : เรื่องโลกๆ นะ ถ้าเรื่องโลกๆ อย่างนี้นะ ถ้าจิตมันเข็ดก็มันเข็ดข้างนอก มันเป็นเรื่องโลก โลกคือชีวิตนะ.. ชีวิตเราเวลาพวกโลก เห็นไหม ที่เขาบอกว่าเข็ดในชีวิต ถ้าอย่างนี้มาบวชพระ เข็ดตายเลยนะ เพราะพระไปอยู่ในป่าไม่มีจะกินนะ

มันเข็ดอย่างนี้มันเข็ดเรื่องความเป็นอยู่ ความดำรงชีวิตไง เวลาจะเห็นจริงนะมันเห็นจากข้างใน ที่ว่ามันจะเห็นจากข้างใน คนภาวนาเป็นมันจะรู้ตรงนี้ไง พวกเราปฏิบัติมา พอจิตสงบแล้วก็อยากจะภาวนา อยากจะวิปัสสนา แล้วจิตสงบไม่เห็นกาย ไม่เห็นเวทนา ไม่เห็นจิต ไม่เห็นธรรม แล้วมันจะวิปัสสนาตรงไหน

นี่ก็เหมือนกัน เข็ดเรื่องโลกๆ เข็ด เห็นไหม เข็ดเรื่องชีวิต ความเข็ดแล้ว ถ้าไม่เข็ดก็ไม่คิด เข็ดข้างนอกนี่นะ เข็ดจนตาย กินเหล้าเมาแอ๋เลยนะ เออ.. ไม่เอาแล้วแหละ พรุ่งนี้กินอีกแล้ว เข็ดกับผู้หญิงคนนี้ คนนี้เข็ดมากเลย เดี๋ยวไปเจอคนใหม่ ไปรักเขาอีกแล้ว (หัวเราะ) เข็ดข้างนอกนี่มึงอย่ามาโม้! อู๋ย.. ไม่เอาแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่เอา เผลอหน่อยเดี๋ยวไปอีกแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกเข็ด! เข็ด! ถ้าเข็ดเรื่องโลกมันก็คือเรื่องโลก เกิดดับๆๆ แล้วไม่เคยเข็ด ไม่เคยกลัว แต่ถ้ามันจะเข็ดข้างในนะ พอจิตสงบแล้วถ้าเห็นกายมันสั่นไหว.. เราจะพูดอย่างนี้ เวลาเราไปเห็นเลือด เห็นหนอง เห็นเข้าเราก็ว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งน่าขยะแขยง แต่เวลาเราไปเห็นสิ่งสวยงามเราก็ไปติดใช่ไหม แต่ถ้าเห็นกาย เวลาเห็นกายมันเห็นกายโดยสัจจะนะ มันเป็นเรื่องว่า เราเห็นโทษในธรรมดาไง เราเห็นโทษในเรื่องความเป็นปกตินะ แต่เราจะเห็นโทษดีหรือชั่วต่างหาก

อย่างพวกเรา ถ้าดีหรือชั่วนี่เห็นชัดเลย อ๋อ.. อันนี้ชั่ว อันนี้ดี แต่ไปเห็นกาย อ้าว.. เห็นกายมันชั่วมันดีตรงไหนล่ะ

อ้าว.. เห็นเวทนา เวทนามันดีมันชั่วตรงไหนล่ะ?

เห็นจิต จิตมันดีมันชั่วตรงไหน?

เห็นธรรม ธรรมมันดีมันชั่วตรงไหน?

กาย เวทนา จิต ธรรม มันดีมันชั่วตรงไหน?

มันก็เรื่องธรรมดาใช่ไหม แต่พอจิตมันสงบแล้วมันไม่ธรรมดาน่ะสิ

อย่างที่เขาบอกว่า อู๋ย.. มันเป็นธรรมดา ทุกอย่างก็เป็นธรรมชาติ โอ้โฮ.. ทำให้เราเกิดมานั่งอยู่นี่กันไง นี่ธรรมชาติ ธรรมชาตินั่งอยู่นี่เต็มเลย ธรรมชาติมันทำให้เรามานั่งอยู่นี่ แล้วอย่างนี้เป็นพระอรหันต์หมดแล้วสิ โอ๋ย.. นี่เป็นธรรมะนะ เป็นพระอรหันต์หมดเลย เพราะธรรมะเป็นธรรมดาไง ธรรมะเป็นธรรมชาติ โอ๋ย.. กูต้องกราบพระอรหันต์เว้ย! พระอรหันต์นั่งอยู่เต็มเลย

นี่ก็เหมือนกัน กาย เวทนา จิต ธรรม มันเป็นธรรมดาอย่างไร? เราเห็นดีและชั่วนะ ชั่วก็รู้ว่าชั่ว ดีก็รู้ว่าดี แล้วเห็นกายนี่มันสะเทือนใจอย่างไร? ไม่รู้.. แต่ถ้าจิตสงบนะ จิตของเราสงบ จิตของเราเป็นธรรม เพราะจิตเราสงบนี่มันไม่แบ่งดีแบ่งชั่วแล้ว ธรรมดาเราแบ่งดีแบ่งชั่วนะ ดีก็ชอบ ชั่วเราปฏิเสธ แล้วก็อยากได้ดีๆ มันเป็นอย่างนี้ มันเข้าข้างตัวมันเองโดยไม่รู้ตัวมันเอง

แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนมันปล่อยวางทั้งหมด มันเป็นพลังงานที่มีสติเป็นสัมมาสมาธิ พอมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่มันเป็นเรื่องธรรมดาๆ นี่แหละ แต่มันสะเทือนหัวใจจนขนพองสยองเกล้าเลย นี่มันเป็นธรรมดาโดยสัจธรรม สัจธรรมมันเป็นธรรมดานี่แหละ แต่มันมีปัญญาไง มีมรรคญาณไง มีความรู้ในความเห็นผิดไง มันเข้าไปแยกแยะไง

มันไม่ธรรมดาหรอก เพราะอะไร เพราะมันมีพลังงานของมัน พลังงานพอมันพิจารณาไปแล้วมันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณ์ได้อย่างไรล่ะ? อ้าว.. ธรรมดาๆ มันแปรสภาพได้อย่างไร? อ้าว.. ธรรมดาๆ มันย่อยสลายไปอย่างไรล่ะ? อ้าว.. ธรรมดาๆ จิตนี้มันแปรสภาพเป็นไตรลักษณ์ได้อย่างไรล่ะ?

นี่มรรคญาณมันเกิดไง เขาจะบอกว่า “อู๋ย.. ธรรมะเป็นธรรมดา อู๋ย.. ควบคุมไว้แล้วมันก็จะผ่านเป็นโสดาบัน” โอ้โฮ.. กูปวดหัวๆ แต่ถ้าเป็นความจริงจิตมันจะเข็ดไง

คิดแบบนี้ นี่คือที่เราบอกว่า “วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ โลกแก้กิเลสไม่ได้” วิทยาศาสตร์เป็นทฤษฏี เป็นกรอบ เป็นวิชาการ กิเลสมันมีชีวิต กิเลสมันเป็นความปลิ้นปล้อน กิเลสมันจะหลบไปทางวิชาการ วิชาการว่ามันจะมอบใบประกาศให้ ๕๐ ใบ แล้วมันจะมอบเหรียญทองให้ด้วยบอกว่า “รู้แล้ว” อู้ฮู.. มันดีใจ มันดีใจใหญ่เลย ทางวิทยาศาสตร์ดีใจใหญ่เลย โอ้โฮ.. ได้เหรียญทอง ได้ใบประกาศ ได้การยอมรับจากสังคม แต่กิเลสมันหัวเราะเยาะ

แต่ถ้ามันพลิกแพลงนะ พลิกแพลงโดยสัจธรรมของมันขึ้นมา ไอ้กระดาษนั่น ใบประกาศนั่น เขาเอาไว้เผาไฟ ไอ้เหรียญทองนั่นน่ะเขาเอาไว้ขาย ตอนนี้ทองมันกำลังแพง แต่ไอ้ความรู้จริง ไอ้การพิจารณาของมันที่มันรู้จริงเห็นจริงขึ้นมานั่นน่ะ นี่ภาคปฏิบัติเขาเล่นกันตรงนี้ ถ้ามีตรงนี้ขึ้นมานี่มันจะเข้ามา

ฉะนั้นสิ่งที่พูดนี้มันเป็นเรื่องของโลกไง เป็นเรื่องของโลกที่เราจะอธิบายให้โลกเข้าใจได้ว่าอริยสัจเป็นอย่างนั้นๆ เวลาหลวงตาท่านเทศน์ เห็นไหม ท่านก็พยายามจะอธิบายจากความรู้ในหัวใจ เวลาหลวงตาท่านจะออกมาช่วยโลก ท่านบอก “คราวนี้ธรรมจะได้ออกแล้ว”

ธรรมจะได้ออกคือว่าท่านได้เอาความรู้ของท่าน เอาประสบการณ์ของท่านเพื่อมาเจือจานกับพวกเราไง ไอ้พวกเรานี่พวกตาบอด เป็นชาวพุทธที่ทะเบียนบ้าน เป็นชาวพุทธหมดนะ รู้ไปหมดเลย แต่ทุกข์น่าดูเลย ในหัวใจนี่กัดหนองไง ท่านพยายามจะเอานี่มาเจือจานพวกเรา เห็นไหม เวลาธรรมมันจะได้ออก ถ้าธรรมมันได้ออก มันจะเป็นประโยชน์กับมันนะ

นี่พูดถึงความเป็นจริงที่มันปฏิบัติ ทีนี้กรณีอย่างนี้ “นี่อย่างนี้เป็นความเข็ดใช่ไหม?” นี่พูดประสาของเขาไป

ถาม : ๕. กายนี้มีความตายเป็นที่สุด จิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุด เข้าใจถูกต้องไหม

หลวงพ่อ : ถูกต้องในระดับหนึ่งนะ “กายนี้มีความตายเป็นที่สุด”

ใช่ กายนี้มีความตายเป็นที่สุด แต่กายมันเกิดมันตายไม่ได้หรอก จิตต่างหากมันเกิดมันตายกับกายนี้ไง กายจริงๆ กายคือธาตุ ๔ ธาตุ ๔ มันจะขึ้นต้นที่ไหน แล้วดับลงที่ไหนล่ะ แต่เพราะมันมีจิตปฏิสนธิใช่ไหม นี่ภพชาติเกิดขึ้น ภพชาติเกิดขึ้นจนถึงที่สุด เวลาตาย จิตก็ออกจากร่างนี้ไป

ฉะนั้น เขาบอกว่า “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” เราบอกว่า “กายนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” อาจารย์ใหญ่ที่โรงพยาบาลนี่มันสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ไม่รู้ ที่สุดตอนเวลาที่เขาจะไปเผาเนาะ อาจารย์ใหญ่ที่โรงพยาบาลไง ซากศพไง กายมันสิ้นสุดที่ไหนล่ะ? เวลาเขาตายแล้วเขาก็มอบร่างกายนี้โรงพยาบาล โรงพยาบาลเขาเก็บไว้ เขาก็ศึกษาๆ จนหมดโครงการเขา ครบกี่ปีเขาก็เผาซักทีหนึ่ง แล้วมันสิ้นสุดที่ตรงไหนล่ะ?

“กายนี้เป็นที่สิ้นสุด”

ถ้าเราตอบว่าจริงหมดนะ มันก็เหมือนเราตอบผิดครึ่งหนึ่ง ถูกครึ่งหนึ่ง เพราะกายมันไม่มีชีวิตนะ.. มันแปลกนะ กายไม่มีชีวิต แล้วเซลล์มันคืออะไร? เลือดเนื้อมันคืออะไร? มันมีชีวิตได้อย่างไร? มันก็คืนกลับไปสู่ธาตุไง แต่เพราะมันมีชีวิตเริ่มต้น ปฏิสนธิจิตนี่สำคัญ ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ ปฏิสนธิในไข่ แล้วมันก็พัฒนาการขึ้นมาเป็นตัวอ่อนจนเป็นมนุษย์ขึ้นมา นี่ภพชาติมันมหัศจรรย์นะ แต่เวลาเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม มันเกิดโดยโอปปาติกะ คือเกิดมาพร้อมสำเร็จรูปอย่างนั้นเลย

ฉะนั้น “กายนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” อันนี้เรารับครึ่งเดียว แต่อีกครึ่งหนึ่งเราไม่ยอมรับ เพราะว่า “ถ้าจิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุด” อันนี้เราก็รับครึ่งเดียว ถ้าจิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุด มันก็เป็นนิพพานกันไปหมดเลยหรือ แต่มันต้องเป็นด้วยการกระทำไง

“จิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุดด้วยมรรคญาณ ด้วยอริยสัจ ด้วยสัจจะความจริง” ถ้าทำได้จริงมันก็จะมีนิพพานเป็นที่สุด

เพราะตัวจิตนี่สำคัญ ถ้าตัวจิตไม่ปฏิสนธิมันก็ไม่มาเกิด มันก็มีกายมาด้วยไม่ได้ แล้วพอมีกายขึ้นมาแล้ว เห็นไหม เซลล์ในร่างกายเรามันก็มีชีวิตๆ หนึ่ง เชื้อโรคก็มีชีวิตหนึ่ง จิตหนึ่งทั้งนั้นเลย แล้วจิตหนึ่งมันซ้อนจิตหนึ่งได้อย่างไร?

ดูสิดูในสังฆคุณ เห็นไหม บุคคล ๘ จำพวก! พัฒนาการของบุคคล ๘ บุคคลในจิตหนึ่ง จิตหนึ่งมันพัฒนาการของมันไป ไอ้นี่ความเข้าใจของเรา เราศึกษาของเรา ถ้ามันยังไม่รู้จริงมันก็คิดได้อย่างนี้ไง

คือแบบว่ากรรมของพวกเรานี่มันกรรมคลุกเคล้า เราแยกกรรมของเราไม่ได้ พอกรรมคลุกเคล้านะ ทุกข์อันนี้มันก็จะไปเกี่ยวกับอันนั้น อันนั้นก็จะไปเกี่ยวกับคนนั้น อารมณ์นั้นก็จะไปเกี่ยวกับอารมณ์นี้ มันแยกไม่ได้เลย มันคลุกเคล้ากันไปหมดเลย

ฉะนั้นเราถึงจะต้องให้มันชัดเจน แยกแยะให้ชัดเจน พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เห็นจริงตามความเป็นจริง โสดาบันก็รู้ว่าขั้นโสดาบัน สกิทาคาก็รู้ว่าขั้นสกิทาคา อนาคาก็รู้ว่าขั้นอนาคา พระอรหันต์รู้จบหมด ถ้ารู้จบหมดมันก็จะเข้ามาตรงนี้

ทีนี้เวลาจะตอบนะ ถ้าจะตอบให้มันเข้าใจก็บอก

“กายนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุดจริงไหม? จริง”

“จิตนี้มีการนิพพานเป็นที่สุด.. ก็จริง.. แล้วจริงอย่างไรล่ะ?”

พอจริงปั๊บ คนที่ภาวนาเป็นเขาแย้งได้ พอเขาแย้งขึ้นมา เห็นไหม เวลาตอบกับเด็ก ตอบกับผู้ปฏิบัติใหม่ก็อย่างหนึ่ง คือตอบให้เขามีกำลังใจ ตอบให้เขาแบบว่า เออ.. เราก็คิดถูกเว้ย พอคิดถูกมันก็มีกำลังใช่ไหม แต่ถ้าไปบอกว่าอะไรก็ผิด อะไรก็ผิด ก็ก้าวเดินไม่ถูกเลย ก้าวขาซ้ายก็ผิด ก้าวขาขวาก็ผิด นอนแม่งดีกว่า (หัวเราะ)

ถ้าให้กำลังใจ เออ.. เก่งเว้ยเก่ง ขาซ้ายก้าวไปก่อน เออ.. แล้วค่อยก้าวขาขวาตามไป พอเขาบอกหลวงพ่อตอบผิด อ้าว.. ตอนนั้นมันถูกหรือเปล่าล่ะ? ก็ถูก ก็หนูทำมาจนถูก เห็นไหม นี่มันพลิกได้หมด การตอบมันจะพลิกแพลงเพื่อเอากำลังใจ เพื่อจะยุ

หลวงตาท่านบอก ท่านไปหาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นตอบขึ้นมานะ อู้ฮู.. เหมือนหมาเลยนะ มันคึกคัก ท่านพอใจ นี่หลวงปู่มั่นยุเอา หลวงปู่มั่นยุให้มีกำลัง ถ้าตอบยุ ตอบเพื่อส่งเสริม ปลุกเร้า ก็อย่างหนึ่ง ตอบเพื่อแก้ไขให้เข้าสู่ความจริง ก็อย่างหนึ่ง ผลที่มันรู้จริงขึ้นมา มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่จริงเหมือนกัน เห็นไหมความจริงมันมีหลายระดับไง

ฉะนั้น อันนี้รับครึ่งหนึ่ง แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ถ้าถามว่า “จิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุดไหม” อันนี้เห็นด้วย แต่! แต่มันต้องอยู่ที่การทำ ถ้าจิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุดนะ มันมีลัทธิหนึ่ง ลัทธิในสมัยพุทธกาล เขาบอกว่า เสวยสุขตลอด ๕๐๐ ชาติแล้วจะเป็นพระอรหันต์ เขาไม่ทำอะไรกันเลยนะ เขาเป็นนักบวช เขาจะแสวงหาแต่ความสุข เขาจะอยู่กับความสุขอย่างเดียว เขาบอกว่า ปรนเปรอให้มีความสุขอย่างเดียว ครบ ๕๐๐ ชาติจะเป็นพระอรหันต์

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุด เขาคิดกันอย่างนั้น แต่ไม่เป็นหรอก เพราะว่าพระพุทธเจ้าไปโต้แย้งอยู่ พระพุทธเจ้าตอนเช้าจะไปบิณฑบาต ถ้ามีเวลาจะแวะไปหาพวกเดียรถีย์ นิครนถ์ ไปคุยธรรมะกัน ในพระไตรปิฎกมีเยอะ มีอยู่ลัทธิหนึ่ง อยู่กับความสุข ถึงที่สุดแล้วมันจะนิพพานของเขาไปเอง อันนี้ก็ไม่ได้

จิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุด แต่! แต่ต้องอยู่ที่การกระทำ ต้องทำให้ถูกด้วยนะ ถ้าทำให้ถูกด้วย จิตนี้มีนิพพานเป็นที่สุด.. ใช่! ถ้าทำถูกต้องมันก็ถึงที่สุดได้ ถ้าทำไม่ถูกต้อง เดี๋ยวก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปอีก

ถาม : ๖. การอธิษฐานต่างๆ ที่เคยทำมา สำคัญขนาดไหนครับ จะเป็นตัวขวางกั้นการปฏิบัติหรือเปล่า สมมุติว่าชาติก่อนๆ ได้เคยอธิษฐานพุทธภูมิ แต่ชาติปัจจุบันอธิษฐานมรรคผล และหากการอธิษฐานอย่างนั้น หรือการอธิษฐานพุทธภูมิเป็นตัวขวางกั้น จะต้องมีขั้นตอนการละหรือถอนอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : การอธิษฐานนี้สำคัญ ถ้าไม่สำคัญ อธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศ การจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธภูมินี่พอเราตั้งใจอธิษฐานคือเป้าหมาย อธิษฐานคือตั้งเป้า แล้วเราพยายามจะเข้าสู่เป้านั้น อธิษฐานบารมีทำเพื่อเราเข้มแข็ง ถ้าเราไม่มีการอธิษฐานบารมี เราไม่มีสัจจะเลย เราก็จะล้มลุกคลุกคลาน ทำจับจด ทำไม่จริงไม่จัง เราต้องตั้งเป้าเรา ถ้าตั้งเป้าแล้ว เราจะทำให้เข้าเป้าหรือไม่เข้าเป้า นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นอธิษฐานสำคัญหรือไม่สำคัญ แต่พอเราอธิษฐานไปแล้ว พอตั้งเป้าจากชาตินี้ อย่างเช่นพระโพธิสัตว์ เห็นไหม การอธิษฐานเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วสร้างบุญญาธิการมา แล้วชาติปัจจุบันนี้เราอธิษฐานมรรคผลนิพพาน มันจะขัดกันไหม?

ถ้ามันขัด.. อย่างเช่นเราอยากทำความดี แล้วเราก็อยากจะไปเที่ยว นี่มันขัดกันไหม มันก็ขัดกัน อารมณ์ในใจเราก็ขัดกันอยู่ดี พอขัดกันอยู่ดี เราจะควบคุมอารมณ์หนึ่งอย่างไร? อย่างเช่นเรามาปฏิบัติ อีกใจหนึ่งก็บอกว่าอยากจะไปทางอื่น แล้วก็บอกว่าไปทางอื่นแล้วเอ็งได้อะไรมาล่ะ เอ็งปฏิบัติมาแล้วตั้งกี่ร้อยกี่พันชาติ ปฏิบัติก็พึ่งทำอยู่นี่ เห็นไหม

โดยปัญญาของเรา อะไรเป็นเหตุผลที่มันมากกว่า มันก็จะดึงใจมาสู่สิ่งนั้น แต่ถ้ามันทำไม่ไหว ใจมันทนสิ่งเร้าไม่ได้ พระหลายองค์ ในสมัยพุทธกาลก็มี หลวงปู่เจี๊ยะก็เป็น หลวงตาก็เป็น อย่างเช่นนักขัตฤกษ์เขาไปเที่ยวสนุกคึกครื้นกัน แล้วดูสิเขาแห่กันไปนี่ มันน้อยใจทั้งนั้นแหละ ถ้าคนยังปฏิบัติอยู่นะ

หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟังเอง ท่านก็เจออย่างนี้ หลวงตาท่านก็เจอ อยู่ในป่าท่านเดินจงกรมอยู่ไง แล้วเขาร้องรำทำเพลงไป เห็นไหม สงกรานต์นี่ โอ้โฮ.. เขารำกันไป ไอ้เราเดินจงกรมอยู่ก็ว่า “เขามีแต่ความสุข ไอ้เรามีแต่ความทุกข์” คิดทุกคนแหละ แต่พอคิดขึ้นมาแล้วมันมีปัญญาไง หลวงตาท่านมีปัญญานะ หลวงตาท่านเคยเล่าให้ฟัง ก่อนท่านบวชท่านเคยไปเที่ยว แล้วเขาให้ท่านกินน้ำซาวข้าวจนเมา นั่นก็เป็นถือว่าเป็นน้ำข้าวๆ เพราะเป็นประเพณีไง

ทีนี้คนเรามันเคยเที่ยวมา คนเรามันเคยเป็นอย่างนั้นมา พอถึงเวลานี่เขาไปเที่ยวกัน ตัวเองจะน้อยใจไหม น้อยใจทุกคนแหละ พอน้อยใจแล้วท่านก็พลิกเลย “เราไม่เคยทำหรือ? เราไม่เคยเป็นหรือ? เขาต่างหาก เขาหลงทาง ใจเขายังมืดบอด เขายังรื่นเริงของเขาอยู่ เราต่างหากจะเอาตัวรอดได้” มันก็พลิกมา เห็นไหม

นี่พูดถึงเวลาเราจะพลิก พอพลิกขึ้นมาก็มีกำลังใจ แต่นี้มันมีอันเดียวเท่านั้นแหละ อันที่ว่า ถ้าปรารถนาเป็นพุทธภูมิ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งพยากรณ์ไว้แล้ว คือพยากรณ์ไว้แล้ว เป้าหมายเราสูงส่ง เราจะเป็นพระพุทธเจ้าไปข้างหน้านี่ มันพลิกกลับมาไม่ได้ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านเล่าให้หลวงตาฟัง เห็นไหม ว่าท่านก็ปรารถนาพุทธภูมิ แล้วหลวงปู่มั่นปรารถนาพุทธภูมินี่ลึกมากนะ เพราะเวลาท่านพลิกกลับมาแล้ว คู่บารมีมา “สร้างมาด้วยกัน” เวลาจิตสงบแล้ว..

มันจะไม่เจออย่างนี้หรอก จิตมันจะสงบก่อน ในระดับที่ว่าเข้าถึงกันได้ พอเข้าถึงกันได้ จิตนั้นมาเลย “สร้างบารมีมาด้วยกัน แล้วก็มาทิ้งไป” น้อยอกเสียใจ เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านเทศน์เลย “สิ่งที่ทำนี้มันเป็นความไม่ดีหรือ มันก็เป็นความดีทั้งนั้น มันเป็นคุณงามความดีทั้งนั้นใช่ไหม พากันสร้างบุญสร้างกรรมมา สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นแหละ”

พอจิตนั้นหายน้อยใจ นั่นจิตนั้นมันน้อยใจ น้อยใจว่าสร้างบุญญาธิการมาด้วยกัน คู่บารมีหลวงปู่มั่น สร้างมาด้วยกันนะ แล้วหลวงปู่มั่นก็มาละพุทธภูมินะ แล้วก็ปฏิบัติไปจนเป็นพระอรหันต์ไปเลย ไอ้จิตดวงนี้มันก็น้อยใจ พอน้อยใจก็มาต่อว่านะ มาต่อว่าหลวงปู่มั่นว่า

“พาสร้างมาด้วยกัน แล้วก็มาทิ้งกัน มาครึ่งทางแล้วก็เอาตัวรอด ทิ้งไป”

หลวงปู่มั่นก็เทศน์ก่อน เทศน์ให้ได้สติ พอได้สติปั๊บเขาก็ระลึกถึงคุณงามความดีได้ ก็เข้าสู่สถานะของความดีนั้น ก็ไปเกิดเป็นเทวดาทันที เสวยภพ พอเสวยภพ หลวงปู่มั่นบอกว่ามารอบสอง มากราบนะด้วยความสำนึกผิด ไอ้ที่มาคราวนั้นก็น้อยใจใช่ไหมว่าสร้างบารมีมาด้วยกัน เสร็จแล้วก็มาตัดช่องหน่อยแต่พอตัวหนีไปก่อน ก็เลยน้อยใจ ก็เสียใจ มันก็ไม่เสวยภพ แต่พอได้สติปั๊บ ได้ต่างๆ ก็เสวยภพเป็นเทวดามา

พอเป็นเทวดาแล้วมีความสุข เพราะสร้างบุญมามาก พอมีความสุข แล้วความสุขนี้มาจากไหน ความสุขนี้หลวงปู่มั่นพาทำ เราได้คุณงามความดีมาจากหลวงปู่มั่น มาครั้งที่ ๒ มาฟังเทศน์นะ โอ๋ย.. กราบหลวงปู่มั่นด้วยความปลื้มใจ แต่ครั้งแรกมานี่น้อยใจนะ “โอ้.. มาด้วยกัน แล้วตัดช่องน้อยแต่พอตัว ทิ้งไปคนเดียว” มันเสียใจไง แต่พอได้สติขึ้นมา สิ่งที่ทำมามันก็บุญกุศลทั้งนั้น มันก็ประโยชน์ทั้งนั้น ประโยชน์ทั้งนั้นมันก็ได้เสวยภพเสวยชาติได้มีความสุขทั้งนั้น ที่ได้มามันก็ได้ความสุขอันนี้แหละ

ฉะนั้น ความสุขอันนี้มันได้มาแล้วมันจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อประโยชน์กับเรา ก็เลยมากราบขอขมา มากราบขอขมาหลวงปู่มั่นนะ แล้วก็มาขอบคุณไง แต่ขอบคุณมันก็ต้องสร้างให้ถึงที่สุดนะ เพราะหลวงปู่มั่นท่านไปแล้ว

สิ่งที่สร้างมาเป็นโพธิสัตว์ ทีนี้โพธิสัตว์อย่างไรล่ะ? อย่างเช่นกรณีของครูบาศรีวิชัยที่เชียงใหม่ เพราะตอนนั้นหลวงปู่มั่นก็อยู่ที่นั่น นี่หลวงปู่เจี๊ยะเล่า แล้วพอพระโพธิสัตว์ พุทธภูมิจะเป็นอย่างนั้นแหละ พุทธภูมิเวลามันสร้างคุณงามความดี มันจะมีผู้ที่มาเสริมบารมี เห็นไหม โดนทุกอย่าง จนหลวงปู่มั่นสงสาร หลวงปู่มั่นท่านเป็นเพื่อนกันนะ หลวงปู่มั่นกับครูบาศรีวิชัยท่านเป็นเพื่อนกัน ก็พยายามจะดึงครูบาศรีวิชัยให้ละพุทธภูมิมาสิ้นกิเลสซะ จะได้ไม่ต้องให้ใครมาทำอย่างนี้ต่อไป

นี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่า เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นคนอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ครูบาศรีวิชัยท่านพูดกับหลวงปู่มั่นว่า “เราไม่เป็นอิสระกับตัวเองแล้ว” พูดแค่นี้แหละ นักปราชญ์กับนักปราชญ์เขาไม่ต้องพูดกันเยิ่นเย้อ ไม่ต้องพูดกันแบบเป็นคันรถสิบล้อ เอาเหตุผลมาเป็นคันรถสิบล้อมาดั้มพ์เลย

แค่นี้เอง แค่ที่ว่าครูบาศรีวิชัยพูดกับหลวงปู่มั่นนะ ว่า “เราไม่เป็นอิสระกับตัวเองแล้ว” ถ้าไม่เป็นอิสระกับตัวเองแล้วก็คือลาไม่ได้ไง ไม่เป็นอิสระกับตัวเองแล้วหมายถึงว่าได้รับพยากรณ์แล้ว กลับไม่ได้ ฉะนั้นครูบาศรีวิชัยจะต้องดันไปข้างหน้าเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าไป

ทีนี้เวลาเราพูดอย่างนี้ มีในเว็บไซด์ถามกลับมาเยอะมากเลย หาว่าไปดูถูกอาจารย์เขาไง เขาว่าอาจารย์เขาเป็นพระอรหันต์ โอ้โฮ.. หลวงพ่อพูดอย่างนั้นผิด อย่างที่ตอนเช้าว่าหลวงพ่อชอบด่าคน เออ.. นี่มันคือเหตุผลของกู เพราะกูได้ข้อมูลมาอย่างนี้เว้ย เอ็งได้ข้อมูลมาอย่างเอ็ง เอ็งก็เชื่อข้อมูลเอ็งไป ไม่ว่ากัน

แต่ข้อมูลกูเป็นแบบนี้! ข้อมูลกูได้ยินมาจากพระอรหันต์ พระอรหันต์เป็นคนเล่าให้กูฟัง กูฟังพระอรหันต์! กูเชื่อพระอรหันต์! กูไม่เชื่อข้อมูลไอ้รถสิบล้อ ๔ คัน ๕ คัน แบบนั้นกูไม่เชื่อ แต่ใครจะเชื่อก็สาธุ สาธุของเขาไป นี่ไม่ว่ากันนะ แต่โดนบ่อย เวลาพูดอย่างนี้ไปเราโดนบ่อย เพราะอะไร เพราะเราจะเอามาเปรียบเทียบให้เห็น เวลาเราพูดสิ่งใดก็แล้วแต่มันจะเป็นคติธรรม เป็นข้อมูลให้เห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งนี้ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งนี้ เป็นตัวอย่างไง

ฉะนั้นถ้าการปรารถนาพุทธภูมิจะเป็นตัวขวางกั้นไหม? ถ้ามันส่งเสริมกันมันจะไม่ขวางกั้น แต่พอมันจะเข้า เห็นไหม พระโพธิสัตว์ พุทธภูมินี่จะเข้าฌานโลกีย์ จะเข้าฌานสมาบัติ ถ้ายิ่งพุทธภูมิ ยิ่งใกล้จะเป็นพุทธภูมิ ฌานนี่จะแจ่มมาก ฌานนี่จะใสมาก แล้วจะเห็นข้อมูลผิดถูก จะเห็นอะไรชัดเจนมาก แล้วพยากรณ์อะไรไม่ค่อยผิด แต่ถ้ายังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังห่างๆ อยู่ ฌานนี้มันไม่ค่อยแจ่มชัดนัก ทายอะไรไปมีผิดมีถูกอยู่เหมือนกัน ผิดๆ ก็มี ถูกๆ ก็มี เพราะกำลังสร้างบารมีไป แต่ถ้ายิ่งใกล้พุทธภูมิมากเข้านะจะชัดมาก

ฉะนั้นในสังคมพุทธภูมินี่เยอะ! เขาจะวัดกันตรงนี้ วัดกันที่ว่าพุทธภูมิถ้าใกล้โพธิสัตว์ การทำนายทายทักจะชัดเจน จะถูกต้อง จะถูก ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ไป แต่ถ้าเป็นพุทธภูมิใหม่ๆ นะทายถูก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ผิด ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ทายถูก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ผิด ๗๐ เปอร์เซ็นต์ มันมีของมัน แต่มันจะพัฒนาของมัน พุทธภูมิเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นพุทธภูมิที่เข้มข้นนะ ทายถูก ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ผิดซัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าชัดเจน ในสังคมพุทธภูมิเขารู้กัน

ฉะนั้นพุทธภูมิ คนปรารถนาก็คือแรงปรารถนา เว้นไว้แต่ใครเห็นโทษ ใครเห็นโทษการเกิดการตาย แต่ไม่ได้เห็นโทษพุทธภูมินะ ไม่ได้เห็นโทษการเป็นพระอรหันต์นะ แต่เห็นโทษการเกิดและการตาย เพราะเวลาสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าก็คือพระอรหันต์ เป็นสาวก สาวกะก็เป็นพระอรหันต์ มันต่างกันตรงที่อำนาจวาสนาบารมี ไอ้ผลข้างเคียงเท่านั้นเอง

ฉะนั้นพระอรหันต์ก็คือพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็คือพระอรหันต์ สาวก สาวกะก็คือพระอรหันต์ แต่อยากเป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นเกิดตายๆ ไปเยอะๆ หน่อย.. ที่พูดนี้บางทีมันก็สะเทือนใจ พอพูดแล้วมันเหมือนกับเราไปว่าอะไรกัน ไม่ว่าเนาะ

ฉะนั้นพุทธภูมิขอผ่านเนาะ ฉะนั้น ๖ ข้อนี้จบแล้ว วันนี้พูดเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเคยถามมาเยอะมาก แล้วถามเรื่องภาวนา แล้วพอมาเยอะเข้าๆ นี่กลับไปถามเรื่องวัฏฏะ เรื่องผลการเกิดการตาย มันจะเจริญหรือมันจะเสื่อม ฉะนั้นถ้ามาอีกนี่จะต้องค่อยๆ แล้วนะ

ขออีกข้อหนึ่งนะ ตรงนี้เพื่อมันจะได้เปรียบเทียบกัน

ถาม : ๓๙๒. เรื่อง “จิตของเราอยู่ตรงไหนของร่างกายคะ”

๑. โดยธรรมชาติแล้ว จิตของคนเรานี้ไม่ได้ฝึกปฏิบัติอยู่ตรงไหนของร่างกายคะ

๒. ถ้าคนที่ปฏิบัติธรรม จิตจะอยู่ตรงไหนของร่างกายคะ

หลวงพ่อ : “ข้อ ๑ โดยธรรมชาติของจิตคนเราที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมมันจะอยู่ตรงไหนคะ”

มันจะอยู่เต็มร่างกายนี้เลยค่ะ มันอยู่เต็มความรู้สึกเลยนะ เราหยิบที่ปลายนิ้วมือ เราก็รู้ว่าปลายนิ้วมือมีความรู้สึก เราหยิบอยู่ที่ปลายนิ้วเท้า เราก็รู้ว่านิ้วเท้ามีความรู้สึก เราจิกที่บนศีรษะ เราก็รู้ว่าศีรษะเรามีความรู้สึก

ความรู้สึกมันเกิดจากอะไร? เกิดจากความรับรู้ วิญญาณมันรับรู้หมด ฉะนั้นเวลากระทบนี่นะ โดยปกติของคนเลย จิตมันอยู่เต็มร่างกายของมนุษย์นี้เลยเจ้าค่ะ! เพราะถ้ามันไม่รับรู้มันก็ไม่รู้สึกจริงไหม ถ้ามันจับที่นิ้ว ถ้านิ้วไม่รับรู้เราจะมีจิตไหม เรามีจิตเรารับรู้อยู่ จิตมันก็รับรู้ทั้งหมดทั้งร่างกายใช่ไหม ฉะนั้นคนที่ไม่ได้ปฏิบัติเลยเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ฉะนั้นพอปฏิบัติเข้ามา พอคนจะเริ่มปฏิบัติใช่ไหม ก็บอกว่ากายกับจิตนี้มันคนละอันกัน แล้วจิตมันเป็นอย่างไรล่ะ อ้าว.. ยุ่งแล้วนะ ยุ่งแล้ว พอยุ่งแล้วก็พุทโธ พุทโธ พุทโธก็ไม่เห็นจิตซักที จิตตั้งตรงไหนก็ไม่รู้ พอจะหาจิตขึ้นมาก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่พอไม่หานะ ที่ไหนก็เป็นจิตหมดเลย หยิบตรงปลายนิ้ว ปลายเท้า จับตรงไหนก็มีความรู้สึก ความรู้สึกคือจิต ความรู้สึกคือการรับรู้ อ้าว.. จับตรงไหนไปก็รู้หมด

ฉะนั้นจิตมันรับรู้อยู่รอบตัวนี้ แล้วมันไม่ได้รับรู้อยู่รอบตัวนะ มันไปไกลกว่านั้นอีก มันพุ่งออกจากตัวไปเลย คิดถึงบ้านสิ ตอนนี้คิดถึงบ้าน จิตมันไปอยู่ที่บ้านแล้ว อ้าว.. อยู่ฝั่งนู้นยังไม่ได้ปิดประตู คิดกลับไปฝั่งนู้น จิตกลับไปอยู่ฝั่งนู้นแล้ว มันออกนอกไปหมด เห็นไหม เวลามันเป็นธรรมชาติของมัน มันกระจายฟุ้งไป ๓ โลกธาตุ มันออกไปทุกที่แต่เราไม่รู้ เพราะเราคิดว่าเป็นความคิดไง

เราคิดว่าเป็นความคิด ความรู้สึก แต่ความจริงมันมาจากจิตหมดเลย แต่ถ้าพูดถึงว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติจิตอยู่ตรงไหนคะ? ก็อยู่รอบกายนี้ จับไปก็รู้สึกหมดเลย แต่พอบอกว่ากายกับจิตไม่ใช่อันเดียวกันนี่งงแล้ว พอจะปฏิบัติธรรมนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต อ้าว.. เป็นอย่างนั้นเหรอ?

แล้วจิตไปอยู่ที่ไหนล่ะ? หาไม่เจอ หาจิตหาไม่เจอ พอหาไม่เจอ ในอุบายการปฏิบัติถึงบอกว่าสร้างสติไว้ แล้วบริกรรมพุทโธ พุทโธ ให้จิตไปเกาะพุทโธไว้ ให้จิตไปเกาะพุทโธไว้ ถ้าไม่เกาะพุทโธไว้ นามธรรมมันพุ่งออกไปหมดเลย มันคิดถึงบ้าน ใครเอารถมาจอดไว้ โอ้โฮ.. แดดร้อน มันคิดถึงรถแล้ว มันส่งออกจากผิวหนังนี้ไปข้างนอกนู่นแน่ะ ยังไม่รู้ว่าจิตอยู่ไหนเลย นี่เราพูดถึงคนไม่ปฏิบัตินะ

ถาม : ๒. ถ้าคนปฏิบัติธรรม จิตมันอยู่ตรงไหนของร่างกายคะ

หลวงพ่อ : ถ้าคนปฏิบัติธรรม เวลาเราเหยียบเราย่าง.. นี่เขากลับไปแล้ว เมื่อวาน เห็นไหม ยกย่างอะไรนั่นน่ะ ยกย่างไปความรู้สึกมันอยู่ที่นั่นใช่ไหม แล้วพอปลายเท้าไปกระทบ เขาว่าจิตไปอยู่ที่กระทบไง พอปลายเท้าไปกระทบของแข็ง โอ๋ย.. แข็ง! แข็ง! แข็ง! จิตไปอยู่ที่ปลายเท้านั่นหรือ?

แล้วก็ว่าจิตไปอยู่ที่นู่น จิตไปอยู่ที่นี่ ผู้ปฏิบัติธรรมจิตไปอยู่ที่ไหนคะ? เวลาพวกเรานะบอกว่า “กำหนดจิตที่ปลายจมูก” กำหนดลมหายใจเข้าและออกให้รู้พร้อมที่ปลายจมูกนี้ จิตก็มาอยู่ที่ปลายจมูก แต่มันเป็นผลประโยชน์ของการกระทบที่มันชัดเจน ถ้าลมกระทบชัดเจนมันมีไออุ่น พอมีไออุ่นนี่ความรู้สึก เห็นไหม เขาบอกว่าคนที่ปฏิบัติธรรมจิตไปอยู่ที่ไหนคะ?

ทั่วร่างกายไปหมดเลย ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมจิตอยู่ไหนคะ ก็ยังโง่อยู่ ก็ยังไม่รู้นะ ก็ต้องอาศัยปลายจมูกเพราะมันกระทบความอุ่นไง มันกระทบอุณหภูมิ เห็นไหม ชัดเจน (สูดลมหายใจเข้า) พุธ หายใจออก โธ

พุทโธขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้ามันสงบเข้ามามันจะไล่เข้ามา ไล่เข้ามา ถ้าเป็นขณิกะ อุปจาระมันยังไม่ชัดเจนหรอก แต่ถ้ามันชัดเจนนะมันจะเด่นของมันเลย สักแต่ว่ารู้ จิตอยู่กลางหัวอก! จุดศูนย์กลางของกาย! แต่จุดศูนย์กลางของกายก็อยู่บนเหนือสะดือ ๒ ซม. ๒ นิ้ว โอ้โฮ.. ไปนู่นเลยเว้ย อยู่เหนือสะดือ ๒ นิ้ว เขาว่านะ

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาคนจะตายนะ จิตนี้มันจะหดเข้ามา จากปลายเท้า จากรอบกายทั้งหมด จะหดตัวเข้ามาถึงฐีติจิต แล้วจิตนี้จะออกจากร่างไป แล้วคนเขาทำฌานนะเขาบอกว่าจิตมันออกทางท้ายทอย.. คนเรานี่นะ เวลาใครภาวนาก็แล้วแต่ เวลาจิตมันออกจากร่างที่คนมันเป็นไปได้ ใครฟลุ๊คๆ ออกหนหนึ่ง มันก็คิดว่าจิตออกตรงนั้น

ฉะนั้นเวลาคนเทศน์เขาถึงบอกว่า “ให้ดูวุฒิภาวะ ดูภูมิของคนเทศน์”

ถ้าคนเทศน์เกิดทำความสงบของใจ แล้วถ้าจิตออกจากท้ายทอยไป เขาเขียนตำราเลยนะ “จิตออกจากท้ายทอย! ท้ายทอยเป็นประตูที่ออกของจิต” ไปอีกเรื่องหนึ่งเลย

เวลาทิเบตนะ มหายานเวลาเขานั่ง เขาบอกว่าเขานั่งอย่างนี้นะ จิตมันจะถอยออกไปข้างหลัง จิตนี่มันจะถอยจากหลังเราออกมาเลย จิตนี่ถอยออกมาเลย ฉะนั้นเขาจะบอกว่า “จิตนี้มันเคลื่อนออกไปจากข้างหลัง!” ใครมีประสบการณ์อย่างไร เขาก็บอกว่าจิตออกทางนั้น

คำว่า “ประสบการณ์” มันเป็นอำนาจวาสนาบารมี คนนี่มีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นเวลาเทศน์ เวลาแสดงธรรม ใครมีความรู้แค่ไหนพูดได้แค่นั้น แล้วก็ขายขี้ขายเยี่ยวออกไป ขี้กองขนาดไหนมันก็ขายออกไป สมองมีแต่ขี้เลื่อย แล้วก็โม้ออกไป แล้วก็บอกว่ามีคุณธรรม

คุณธรรมมันคืออะไร? คุณธรรมคือแสดงธรรมไง ธรรมที่ออกมาจากใจ กึ๋นมึงมีหรือเปล่า? ถ้ากึ๋นมึงมีมึงจะเข้าใจรอบรู้หมดว่าจิตมันอยู่ที่ไหน จิตมันเป็นอย่างใด แล้วจิตที่เป็นอย่างนี้ จิตเฉยๆ นะ จิตที่มันเวียนตายเวียนเกิดนะ มันยังไม่ได้ชำระล้างมันเลย ถ้าชำระล้างแต่ละชั้นแต่ละตอนขึ้นมานี่ จิตมันเป็นอย่างไร มันชำระอย่างไร มรรคญาณเกิดอย่างไร แล้วทำลายอย่างไร

ฉะนั้น “ข้อ ๑ โดยธรรมชาติแล้ว จิตของคนที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติจะอยู่ตรงไหนของร่างกายคะ”

เราก็บอกว่าอยู่กับความรับรู้นี่แหละ นี่พูดถึงไม่ใช่โดยกำปั้นทุบดินนะ นี่โดยธรรมชาติรับรู้ ถ้าพูดอย่างอื่นไปเราก็จะไม่เข้าใจไง

“คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วจิตอยู่ตรงไหนคะ”

คนที่ปฏิบัติธรรม มันอยู่ที่สำนักปฏิบัติว่าเขาสอนอย่างใด ไอ้ที่กรรมฐานเราให้อยู่ที่ปลายจมูกเพราะว่ามันเป็นที่เด่นชัด เป็นที่ลมกระทบกับปลายจมูกมันชัด พอชัดมันจะทำให้จิตสงบได้ง่าย คือว่ามันเป็นจุดศูนย์รวมที่มันชัดเจนที่เราจะเอาเป็นที่เกาะได้

ฉะนั้นก็ให้อยู่ที่ปลายจมูก แล้วถ้ามันสงบแล้วนะ บางคนนะพอเริ่มที่ปลายจมูกใช่ไหม พอจิตมันเริ่มดีขึ้นมานะ “หลวงพ่อๆ จิตมันขึ้นไปอยู่บนหน้าผาก.. หลวงพ่อๆ จิตมันลงไปอยู่ตรงนั้น” จิตมันจะลงไปตรงนู้นตรงนี้ มันอยู่ที่คน จิตจะอยู่ตรงไหนยังไม่สำคัญ

ฟังนะ! คำว่ายังไม่สำคัญ นี่เพราะว่าความรู้สึกมันจะทำให้จิตเราสงบได้ ความรู้สึกทำให้จิตเราละเอียดเข้ามาไง สิ่งที่ละเอียดเข้ามามันเป็นทางผ่าน มันเป็นพัฒนาการ เป็นการที่จิตมันจะพัฒนาตัวมันเองจะเข้าสู่สมาธิ เราไม่ต้องไปตื่นเต้น เราจะไปตื่นเต้นต่อเมื่อที่ฐีติจิต คือจิตมันเข้าไปสงบกึก! เออ.. อันนั้นแหละ อันนั้นถึงว่าสิ้นสุดกระบวนการของสมาธิมันอยู่ตรงนี้ ถ้าตรงนี้ปั๊บมันก็ต้องมาเถียงกันว่า “จิตอยู่บนหน้าผาก จิตอยู่ตรงกระพุ้งแก้ม จิตอยู่ปลายจมูก จิตอยู่ที่คาง” โอ๋ย.. เวรกรรม

คืออาการของมัน ความเด่นชัดของความรู้สึก ความเด่นชัดของความรู้สึกเราไม่เถียงกัน ความเด่นชัดของความรู้สึกมันอยู่ที่ความรู้สึกของคนแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นอาการความเด่นชัดของความรู้สึก เพราะว่าความรู้สึกนี้มันเหนี่ยวรั้งให้จิตไม่ส่งออกไปแส่ส่ายจากข้างนอก จิตมันอาศัยสิ่งนี้เป็นที่เกาะอยู่ เราอาศัยสิ่งนี้เป็นที่เกาะอยู่ แล้วพุทโธต่อไป ใช้อารมณ์ต่อไปจนกว่ามันจะเข้าถึงที่สุดของสมาธิได้ ถ้าถึงที่สุดของสมาธิได้ กึ๊ก! สักแต่ว่ารู้ จบ.. จบหมดเลย

นี่เป็นขั้นของสมาธิ แต่เวลามันคลายตัวออกมาแล้ว เราจะประพฤติปฏิบัติของเรานั้น ถ้ามีอำนาจวาสนา มันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วค่อยพิจารณาของมันไป พิจารณาไปนะเพื่อถอดเพื่อถอน เพื่อให้เราเป็นชาวพุทธโดยสมบูรณ์ เพื่อหลักเพื่อเกณฑ์ของชีวิตเรา

อริยทรัพย์ เรามาหากันนี่ ทรัพย์ของเราคือทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายนอกนี้เอาไว้เลี้ยงชีพ ดำรงชีวิต ทรัพย์ของเรา ทรัพย์ภายในทำให้อบอุ่น ทำให้มั่นคง ทำให้ไม่หวั่นไหว ทำให้ไม่ตื่นเต้นกับโลก ทำให้ชีวิตนี้จะตายเมื่อไหร่ก็สบายมาก พร้อมแล้ว พร้อมแล้ว เพราะสิ่งที่เหลือคือเศษส่วน เศษของชีวิต ชีวิตนี้ได้บำรุงรักษาจนสิ้นสุดความลังเลสงสัยแล้ว ส่วนที่เหลือคือกำไร กำไรที่ยังมีชีวิตอยู่ไง แต่ถ้าปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วมันตายพร้อมไป ก็ตายไป แต่ถ้าไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ก็เศษส่วนที่เหลือเพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อจะได้ชี้แนวทาง แต่ความจริงมันอยู่ตรงที่มันรับรู้เต็มที่แล้ว

นี่ล่ะอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน เรามาทุกข์มายากกันก็เพื่อหาทรัพย์อันนี้ นี่พุทธศาสนาสอนที่นี่ เห็นไหม สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน หัวใจมีค่าที่สุด มรรค ผล นิพพาน ผลของบุญ ผลของกุศล สร้างสมขึ้นมาเพื่อปฏิบัติ เพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อเห็นสมบัติแท้ ไม่ใช่เห็นสมบัติภายนอกกับเขา ภายนอกเราก็หาอยู่หากิน แล้วถ้าถึงที่สุดแล้วจิตใจมันพ้นจากทุกข์ไป มันจะเข้าถึงสัจธรรม

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เอวัง