ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นิมิตเป็นทางเดิน

๒๓ เม.ย. ๒๕๕๔

 

นิมิตเป็นทางเดิน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาปัญหาสดก่อนไง อันนี้มันเป็นปัญหาแห้ง

ถาม : ทำไมพ่อแม่ทำกรรมไม่ดี จึงมีผลไปถึงลูก

หลวงพ่อ : อย่างนี้มันเป็นผลบุญผลกรรมเนาะ พ่อแม่ทำกรรมไม่ดี ทำไมมีผลไปถึงลูก มันคนละคน พ่อแม่ก็คือพ่อแม่ ลูกก็คือลูกใช่ไหม แต่พ่อแม่ถ้าทำกรรมไม่ดี.. เพราะว่าไอ้นี่มันเป็นเรื่องระหว่างพ่อแม่ ระหว่างกรรมเก่า กรรมใหม่ก่อน อย่างเช่นถ้ากรรมเก่า เห็นไหม กรรมเก่า เราเกิดมาเป็นพ่อเป็นแม่กัน เป็นพ่อแม่ลูก มันต้องมีเวรมีกรรมมาต่อกัน ถ้ามีเวรมีกรรมต่อกัน ทำไมเรามองพ่อแม่เราแตกต่างกันล่ะ

ลูกแต่ละคนมองพ่อแม่แตกต่างกัน ลูกทุกคนบอกว่าพ่อแม่รักคนอื่นมากกว่าตัวเอง แต่สำหรับพ่อแม่จะรักลูกเสมอกัน ทีนี้พ่อแม่รักลูกเสมอกัน แต่ลูกบางคนก็มีเชาว์ปัญญาที่แตกต่างกัน ถ้าแตกต่างกันนี่ความหวังไง เห็นไหม ความหวังของพ่อแม่ กรณีอย่างนี้มันทำให้ตอกลิ่ม ตอกลิ่มให้หัวใจมันคลางแคลงใจกัน

ฉะนั้น “พ่อแม่ทำไม่ดีทำไมมีผลต่อลูก?” พ่อแม่ทำไม่ดีก็แล้วแต่ มันก็เหมือนสายเลือด เห็นไหม เวลาไปโรงพยาบาลนี่เขาถ่ายเลือด เขาให้เลือดกัน ถ้าเลือดในตระกูลมันจะเข้ากันได้หมดเลย แต่มันก็มีผิดเพี้ยนไปบ้างเหมือนกัน

ฉะนั้นสิ่งนี้เขาเรียกว่า “สายบุญสายกรรม” ถ้าพ่อแม่ทำกรรมไม่ดีนี่ผลมันตกกับลูกไง ตกกับลูกมันก็มีส่วน มันมีส่วนนะ แต่ถ้าลูกมีบารมีมากกว่า ถ้าลูกมีบารมีที่แก่กล้ามาก พ่อแม่ทำกรรมขนาดไหนก็เป็นกรรมของพ่อแม่ มันก็หยุดอยู่แค่นั้นแหละ มันมีผลบ้าง แต่มันไม่ถึงกับว่าจะทำให้มีผลมาก มีผลมากมีผลน้อย มันอยู่ที่เวลาเราเกิดมาใช้เวรใช้กรรม นี่ใช้เวรใช้กรรมสิ่งนี้มันจะมีผล แต่ถ้าเราเกิดมาแล้วเรามีสิ่งที่จะมาส่งเสริม สิ่งนี้มันจะมาถึงไม่รุนแรง

ทีนี้พ่อแม่ทำกรรมไม่ดี ทำไมส่งผลต่อลูก.. ความจริงกรรมมันก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลทั้งนั้นแหละ แต่ส่วนบุคคลนี่ ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำคนนั้นต้องเป็นคนได้ แต่นี้ว่าเป็นคนได้ ดูอย่างชื่อเสียงในตระกูล ทุกคนก็อยากจะให้ตระกูลของตัวเองดีใช่ไหม ใครทำผิดคนหนึ่งมันเสียชื่อเสียงตระกูล มันมีผล กรรมมันเป็นกรรม เป็นโลกธรรมไง แรงเสียดสีมันต้องมี ฉะนั้นมันเกี่ยวพันกัน

ทีนี้เรื่องกรรม เราจะพูดให้มันชัดเจน มันก็อยู่ที่วาสนานะ อภิชาตบุตร บุตรที่ดีกว่าพ่อกว่าแม่ บุตรคนนี้จะไปไกลกว่าพ่อแม่มากเลย นี่เขาเรียกว่าอภิชาตบุตร ถ้าบุตรอย่างนี้มา เห็นไหม ลูกนี่ส่งเสริมพ่อแม่ด้วย ลูกนี่เอาพ่อแม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย แต่ถ้าพูดถึงเวลาบุตรของเรา บุตรที่เวลาเกิดมาแล้วมันก็ทำให้มีปัญหา ไอ้อย่างนี้มันเป็นกรรมเก่า ทีนี้ถ้ากรรมใหม่นี่เพราะมันมีตรงนั้นมา มันมีเบื้องหลังมามันถึงมีความขัดแย้ง ถ้าเบื้องหลังมาเป็นสิ่งที่ดีนะ..

ฉะนั้นพ่อแม่เวลามีปัญหาในชาติปัจจุบันนี้ เราก็คิดอย่างที่กิเลสมันคิดใช่ไหม คิดบอกว่าเราได้เปรียบ เราเอาเปรียบตลอดเวลา เวลาตายไปแล้วเขาบอกว่านี่ต้องไปใช้เวรใช้กรรมนะ ไม่เชื่อ ทีนี้พอไปเกิดอีกภพชาติหนึ่ง มันก็มาเกิดเป็นกรณีอย่างนี้ เป็นลูกเป็นหลานกัน ทีนี้พอเป็นลูกเป็นหลานกัน พอลูกอ้อนหน่อยเดียวมันควักหมดเลย บอกว่าจะไม่ให้ จะไม่ให้ มีหรือจะไม่ให้ พอมันดิ้นเข้าหน่อย จะเอาอะไรให้มันหมดเลย.. กรณีอย่างนี้มันเป็น ในพระไตรปิฎกมีมาก

ฉะนั้น “พ่อแม่ทำไม่ดี ทำไมถึงมีผลตกถึงกับลูก?”

ทีนี้พ่อแม่ทำไม่ดีมันก็ส่วนทำไม่ดี นี้มันก็อยู่ที่ว่า ถ้าลูกดีนะ กรณีนี้กรรมเป็นอจินไตย คำว่าอจินไตยมันไม่มีสูตรตายตัวไง มันอยู่ที่ระหว่างเครื่องรับเครื่องส่ง ถ้าเครื่องรับดี เครื่องส่งดี ก็ไปดีใช่ไหม, เครื่องส่งดี เครื่องรับไม่ดี, เครื่องส่งไม่ดี เครื่องรับดี มันแตกต่างกัน คือกรรมระหว่างพ่อแม่ลูกมันแตกต่างกัน

ดูอย่างพระพุทธเจ้า เห็นไหม เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาออกบวช โอ้โฮ.. พ่อเสียใจมาก นี่พูดถึงกรรมดีหรือกรรมไม่ดีล่ะ แต่ความเห็นของพ่อแม่ พ่อแม่ก็เห็นว่าอยากให้ลูกเป็นจักรพรรดิ แต่เวลาลูกไปเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังกลับมาเอาพ่อเป็นพระอรหันต์ได้ ขึ้นไปเทศน์เอาแม่เป็นพระอรหันต์ได้ เอาราหุลเป็นพระอรหันต์หมดเลย เอาทั้งครอบครัวเป็นพระอรหันต์หมดเลย

นี่ไงพ่อแม่ลูก แต่ลูกที่ดีกว่าไง ถ้าลูกดีกว่ากรรมอันนี้มันก็จะมีผลน้อยหรือจะไม่มีเลย ไม่มีเลยเพราะลูกทำให้ดีกว่า นี่กรรมถึงเป็นอจินไตย อจินไตยคือไม่มีสูตรตายตัว อยู่ที่ว่าบุญของใครมากกว่ากัน บารมีไง อำนาจวาสนาบารมีใครมากกว่ากัน มันก็จะช่วยอีกฝ่ายหนึ่งได้

อันนี้พูดถึงว่า “ทำไมพ่อแม่ทำกรรมไม่ดี จึงมีผลไปถึงลูก” มีบ้าง แต่ถ้าเป็นความจริงแล้วมันเป็นเรื่องส่วนบุคคลเลย ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราทำเองเราได้เอง เราปฏิบัติเอง ถ้าพ่อแม่ปฏิบัติเป็นพระอรหันต์หมดเลย แล้วจะให้ลูกเป็นพระอรหันต์ด้วยคงไม่ได้ พ่อก็เป็นพระอรหันต์ แม่ก็เป็นพระอรหันต์นะ บอกให้ลูกเป็นพระอรหันต์ด้วย ลูกก็ต้องปฏิบัติเอง เห็นไหม ถึงที่สุดแล้ว ถึงที่สุดถ้าเราเข้มข้นเอาตามความเป็นจริงแล้ว ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่เพราะเรามีสายบุญสายกรรมกัน เราถึงมาเกิดเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกัน เวลาเกิดเป็นพ่อแม่ลูกกันแล้วมันเป็นเครื่องแสดงของคุณงามความดี ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ฉะนั้นพ่อแม่ของเรานี่ เราต้องมีความกตัญญูกตเวทีกับพ่อแม่ของเรา เพราะพ่อแม่ของเรามีบุญคุณมหาศาลเพราะให้ชีวิตเรามา พ่อแม่คลอดเรามา พ่อแม่เลี้ยงดูเรามา พ่อแม่ส่งเสริมจุนเจือเรามาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย อันนี้มันเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ว่าเราต้องกตัญญูกตเวทีกับพ่อแม่ของเรา

ทีนี้ถ้าพ่อแม่ทำผิดแล้วทำไมส่งผลถึงลูกล่ะ แล้วพ่อแม่มีความเห็นผิด มีความที่ไม่ลงรอยเราจะทำอย่างไร เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านยังบอกว่า ถ้าพ่อแม่ของเราถึงจะผิด เราก็ไม่ควรจะโต้เถียง แต่เราต้องใช้อุบาย พยายามจะชักนำพ่อแม่ของเรามาให้เห็นตามข้อเท็จจริง เห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว แต่ต้องใช้อุบายค่อยๆ ไม่ใช่เราบอกว่าสิ่งนี้เป็นความดี แล้วก็จะบังคับให้พ่อแม่เห็นไปกับเรานะ เลยกลายไปขัดแย้งไปซะฉิบ

สิ่งที่เราจะทำให้พ่อแม่เราดีนี่แหละ แต่เพราะเราติดดีของเราใช่ไหมว่าเป็นความดีแน่นอน พ่อแม่เป็นความคิดที่ไม่ดี แต่พ่อแม่เป็นความคิดที่ไม่ดี นั่นคือความคิดของพ่อแม่ ทีนี้พ่อแม่มีกตัญญูคือให้ชีวิตเรามา ชีวิตที่เราได้มานี่คือกำไรมหาศาลแล้ว แต่ทิฐิความเห็นนี่เขาเห็นผิด แล้วเราทำอย่างไรให้เขาเห็นถูกล่ะ

ถ้าเห็นถูกมันต้องใช้อุบาย อุบายคืออะไร อุบายคือตัวเราไง อุบายคือว่าเราเป็นลูก เราทำความดีอยู่ในร่องในรอย เห็นไหม แล้วบอกว่านี่ดีขึ้นมาเพราะอะไร ดีขึ้นมาเพราะทำดีไง ดีขึ้นมาเพราะเชื่อในศาสนาไง ให้พ่อแม่เห็นผลไง แล้วพ่อแม่ เออ.. ลูกมันยังดีได้ ทำไมเราจะดีไม่ได้ นี่ใช้อุบายอย่างนี้ พ่อแม่ก็จะคล้อยตามมา คล้อยตามมาเพราะว่าเราทำความดีให้เห็น มันต้องใช้อุบายไง

แต่บอกว่านี่คือความดี เอาทฤษฏีมาคุยกัน นี่เป็นความดี นู่นก็ว่าความดี อ้าว.. ความดีก็ทะเลาะกัน ทะเลาะกันเพราะความดีไง อยากให้ได้ดีก็เลยทะเลาะกันใหญ่เลย ทะเลาะกันเพื่อจะไปดี ก่อนที่จะไปดีนะมันแตกร้าวหมดแล้ว แต่ถ้ามันเตือนกันมันบอกกันก็เพื่อประโยชน์นะ อันนั้นพูดถึงกรรม

 

ถาม : ๓๙๓. เรื่อง “รูป-นามขันธ์ ๕”

อยากพิจารณาขันธ์ ๕ ชัดๆ จากอาจารย์ค่ะ อยากพิจารณาชัดๆ นะ คือนั่งสมาธิโดยพิจารณาดูการเกิดดับของเวทนาตลอดการนั่ง ๑-๓ ชั่วโมง ช่วงที่มีทุกขเวทนา สติก็อยู่กับเวทนา แต่พอเวทนาดับไป ก็จะมีสมาธิอยู่กับกาย บางทีก็แว็บไปคิดเรื่องอื่น ช่วงแรกก็แว็บนานกว่าจะมีสติรู้ ตอนนี้แว็บบ้างแต่สั้น และมีสติรู้เร็วขึ้น

ตอนนี้เห็นจิตกับเวทนา กาย แยกกันอยู่ (เห็นโดยการนั่งสมาธิ) ยิ่งทำสมาธิยิ่งเห็นชัดขึ้น และมีตัวรู้ที่ชัดมาก ขณะที่ออกจากสมาธิแล้วจะมีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ค่อยคิดไปเรื่องอดีต อนาคต ทำงานอะไรก็ทำงานแค่อย่างเดียว ไม่สามารถทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันได้ ขอคำแนะนำจากอาจารย์นะคะ ยังไม่เคยกราบอาจารย์เลยค่ะ

หลวงพ่อ : เออ (หัวเราะ) การพิจารณาขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ก็พิจารณาของเราไปนี่แหละ จิตเราพิจารณานะ ถ้าเราจับอะไรไม่ได้เลย เราก็จับความคิดไปก่อน ความจริงเราจะไม่รู้จักศัพท์ นี่ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคืออะไรบางคนก็ไม่เข้าใจ

ถ้าพูดถึงการศึกษามา แล้วปฏิบัติใหม่ๆ รูปคืออะไร ถ้าไปศึกษาในธรรมใช่ไหม เราก็บอกว่ารูปคือความรู้สึก เวทนาก็คือความสุข สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง วิญญาณคือวิญญาณรับรู้ นี่เราก็ได้แต่ทฤษฏี

เราจะบอกว่า ถ้าเวลาเราพิจารณาไปมันก็จะเป็นทฤษฏีไปก่อน เป็นทฤษฏีไปก่อนนะ เป็นสุตมยปัญญา เป็นจินตมยปัญญา แล้วภาวนามยปัญญา ฉะนั้นพอเราพิจารณาเวทนาไป แล้วถ้าเวทนามันหยุด หรือเวทนามันดับ มันจะเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิขึ้นมา เรานั่งสมาธิ ๑-๓ ชั่วโมง เวลาจิตมันสงบไปแล้ว จิตมันจะดีขึ้น เห็นไหม มันปล่อยเวทนา เห็นกายกับจิต เห็นกายกับเวทนาแยกอะไรเนี่ย มันเป็นการฝึกหัดทั้งนั้นแหละ

เราจะบอกว่าการฝึกหัด เริ่มต้นก่อนที่เราจะมาพูดแรงๆ นี่ก็บอกว่าจะต้องเป็นสมถวิปัสสนา วิปัสสนาจะต้องมีสมาธิ แล้วก็บอกว่าสมาธิเมื่อไหร่จะได้วิปัสสนา ทีนี้คำว่าวิปัสสนา เห็นไหม ในวิปัสสนาจะมีสมถะ ในสมถะจะมีวิปัสสนา ถ้าเราจะก้าวเดินไป คือในสมถะมันจะมีปัญญาของมัน ถ้าไม่มีปัญญา การทำสมถะจะเป็นมิจฉาไป คือแล้วแต่กำลังของจิตมันจะดันของมันไป แต่ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมา เราพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาสิ่งต่างๆ ก็แล้วแต่มันพิจารณาโดยทางโลก

คำว่า “โลก” โลกคือความคิดสามัญสำนึกเรานี่ล่ะ โลกคือความคิดดิบๆ เรานี่ล่ะ โลกคือการเกิดของมนุษย์นี่ล่ะ มนุษย์เกิดมาก็มีความคิดมีความเห็นนี่ล่ะ นี่คือโลก โลกเพราะอะไร โลกเพราะมันเกิดจากจิต เกิดจากสามัญสำนึก เกิดจากสัญชาตญาณของมนุษย์ เกิดจากความคิดของมนุษย์โดยธรรมชาติของมัน ทีนี้พอเราใช้ปัญญาพิจารณาของเราไป พิจารณาไปแล้วมันจะปล่อยความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดมันจะปล่อย มันจะปล่อย มันจะปล่อยเข้ามาสู่อะไร ปล่อยเข้ามาสู่สมถะ

ฉะนั้นปล่อยเข้ามาสู่สมถะ ผลของมันคือสมถะ คือมันปล่อยวางจากความนึกคิด พอปล่อยวางความนึกคิดนี่มันคือสมถะ ทีนี้เป็นสมถะมันต้องทำอย่างนี้บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งจนจิตมันตั้งมั่น จิตมันตั้งมั่นคือสมาธินี่แหละ พอเป็นสมาธิแล้วมันก็เห็นเวทนากับกายแยกออกจากกันต่างๆ ความเห็นอย่างนี้มันเป็นความเห็นได้ทั้งนั้นแหละ แต่มันจะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน ผู้ปฏิบัติจะรู้เอง

นี่เพราะคำถามเขาถามว่า “อยากจะรู้จัก รูป-นาม ขันธ์ ๕ ชัดๆ”

คำว่าชัดๆ นี่มันจะชัดจากผู้ที่ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไป พอมันพิจารณามันปล่อยมาเป็นสมถะขนาดไหนก็แล้วแต่ จิตมันจะมีหลักของมัน ฉะนั้นถ้ามันพิจารณาซ้ำไปๆๆ พอซ้ำไปจิตมันก็ปล่อยมากขึ้นๆ จนสมาธิมันมั่นคงขึ้น พอมั่นคงขึ้นนี่พ้นจากโลก

คำว่าพ้นจากโลกคืออะไร โลกคือโลกทัศน์ โลกคือความรู้สึกนึกคิด โลกคือความคิดจากจิต ทีนี้พอมันสงบเข้ามา มันสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้ามันก็ปล่อยโลกเข้ามาเรื่อยๆ จนจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิแล้วเราออกรู้ ออกรู้ก็ออกพิจารณารูปนามและขันธ์ ๕ นี่แหละ พิจารณารูปนามและขันธ์ ๕ พอมันรู้ขึ้นมาคำถามมันจะฟ้องเอง

คำถามฟ้องเองเพราะถ้าจิตสงบแล้ว พอมันจับขันธ์ ๕ ได้ ความรู้สึกมันแตกต่างไง ความแตกต่างมันมี ผลของมันมี ถ้าผลของมันมี ถ้ามันมีสมาธิใช่ไหม จิตมันตั้งมั่น แล้วมันไปจับรูปนาม ขันธ์ ๕ ได้ พอจับรูปนาม ขันธ์ ๕ ได้นี่มันเป็นข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงอยู่ตรงไหน

ข้อเท็จจริง เห็นไหม โลก ใครศึกษาธรรมะหรือไม่ศึกษาธรรมะก็มีความคิดเหมือนกัน ความคิดที่เกิดจากเรา คนจะศึกษาธรรมะ หรือคนจะเป็นศาสนาอื่น ลัทธิอื่นเขาก็มีความคิดเหมือนกัน ความคิดอย่างนี้มันมีอยู่แล้วใช่ไหม แล้วเราใช้ความคิดอย่างนี้คิดเรื่องธรรมะไง นี่คือโลกไง

โลกคือว่าธรรมดาของมนุษย์มีความคิด ความคิดของมนุษย์มันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้วมันก็เป็นเรื่องของโลก แต่เรื่องของโลกนี่เราเอามาใช้ศึกษา เอามาประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอจิตมันปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันเป็นสมถะทั้งนั้นเลย ถ้าสมถะมีปัญญาด้วย ปัญญาในขั้นของสมถะคือขั้นปล่อยวางๆๆ เข้ามา พอจิตมันสงบจนมันเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของมัน

ถ้ามันเห็นเวทนา เห็นรูป เห็นรูปนาม ขันธ์ ๕ โดยข้อเท็จจริงโดยจิตสงบแล้วมันสะเทือนขั้วหัวใจ ถ้ามันสะเทือนขั้วหัวใจ ความรู้สึกนึกคิดมันจะเป็นอย่างนี้ไง คำว่าชัดๆ ของเรา เห็นไหม อยากรู้การพิจารณาขันธ์ ๕ ให้ชัดๆ

คำว่าชัดๆ แล้วควรทำอย่างไร? ทำแบบนี้แหละ ทำต่อไปเรื่อยๆ ทีนี้ทำต่อไปเรื่อยๆ เห็นไหม เวลาปฏิบัติขึ้นไปเราต้องมีหน้าที่การงาน พอเราทำงานขึ้นไปเราก็ปฏิบัติไปด้วย ถ้ามันพัฒนามันก็พัฒนาขึ้นไป แต่! แต่เพราะคนทำงาน ๒ หน้าที่ หน้าที่หนึ่งคือเราต้องทำอาชีพของเราด้วย ทีนี้พอทำอาชีพของเราด้วยเราก็ไปอยู่กับเรื่องโลก พอเรื่องโลกแต่เวลาเราปฏิบัติอย่างนี้แล้วสติปัญญามันดี ทำงานของโลกมันก็จะชัดเจน ความผิดพลาดจะไม่มี การคำนวณต่างๆ การคิดต่างๆ มันจะชัดดีขึ้นมาก

ดีขึ้นมากเพราะอะไร เพราะเราใช้ฐานความคิดที่มันเป็นธรรมมาเสริมไง ฉะนั้นพอเราเสร็จจากงานอาชีพแล้ว เรามาปฏิบัติ เราก็ทำอย่างนี้เข้าไปบ่อยครั้งเข้า มันอยู่ที่การปฏิบัติ ภาคของการปฏิบัติมันต้องประสบการณ์ของจิต จิตมันจะพัฒนาของมันขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปๆ ถ้ามันปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา เห็นไหม ปล่อยวางมา พอจิตมันจับได้ตามความเป็นจริงที่มันชัดๆ

ชัดๆ เพราะมันเป็นข้อเท็จจริง แต่ชัดๆ มันจะอยู่โดยคงที่ไม่มี ไม่มีเพราะอะไร เพราะพอเราใช้สมาธิ ใช้ปัญญาพิจารณาในธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แล้วนี่กำลังไง เหมือนเราทำงาน คนทำงานต้องเหนื่อยไหม? เหนื่อย คนใช้จิตทำงานเหนื่อยไหม? เหนื่อย ความเหนื่อยของจิตที่มันทำอยู่นี้ นั่นล่ะสมาธิมันเริ่มคลายออกมา พอคลายออกมามันก็จะเป็นสัญญา มันก็เป็นเรื่องโลกไง

เรื่องโลกก็คือมันคิด ความคิดมันมีอยู่แล้ว เวลาเราใช้ปัญญาก็เป็นความคิดอันหนึ่ง แต่ความคิดอันนี้มันมีสัมมาสมาธิรองรับ พอสัมมาสมาธิรองรับขึ้นมา พอมันเสื่อมลงหรือคุณภาพมันต่ำลง พอต่ำลงมันก็ออกมาเป็นเรื่องโลกๆ คือความคิดของคนมันมีอยู่แล้วไง ความคิดมันไม่หายไปไหน ความคิดมันมีอยู่แล้ว แต่! แต่เพราะมันไม่มีสมาธิรองรับ

ถ้าสมาธิที่รองรับเป็นสมาธิที่ดี มันก็จะเป็นโลกุตตรธรรม คือมันไม่มีกิเลสเราบวก มันไม่มีความเห็นของเราบวก แต่พอมันเสื่อมขึ้นมามันก็มีเราบวกเข้าไป บวกเข้าไป พอบวกเข้าไปนี่ ถ้าเราทำไว้แล้ว ถ้ามันพิจารณาไม่ชัดเจนเราก็กลับมาที่ความสงบ เห็นไหม กลับมาทำความสงบ พอมันสงบแล้ว ความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว เราก็เข้าไปแยกใหม่ จับใหม่ให้เห็นกาย เห็นจิตโดยมันแยกกันอยู่

นี่เขาพูดถึงเวลาทำเข้าไปแล้วนะ “เห็นโดยการนั่งสมาธิ”

ใช่! เห็นโดยการนั่งสมาธิ เพราะการนั่งสมาธินี่เห็นนิมิต เห็นนิมิตเป็นกาย เห็นเป็นต่างๆ เห็นได้หมดแหละ ทีนี้การเห็นได้หมด มันเป็นเรื่องเริ่มต้นของการปฏิบัติ คือเริ่มต้นจากการพัฒนาขึ้นไปจากโลก มันต้องพัฒนาขึ้นไปจากโลกทั้งหมดนะ

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมาเป็นคน มีความรู้สึกนึกคิด เราเกิดมามีกิเลส มันปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้หรอก ทีนี้มันปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ แต่เวลาทำไปนี่มันก้าวเดินพัฒนาไป เราปฏิเสธโลกไม่ได้ เพราะเราเกิดมาเป็นโลก เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมาเป็นคน เราเกิดมามีความรู้สึก ก็พัฒนาจากความรู้สึกนี้เข้าไป ฉะนั้นพัฒนาเข้าไปแล้วให้มันเป็นความจริงเข้าไป

ฉะนั้นถ้ามันจะเห็น “ขอคำแนะนำในการปฏิบัติด้วยค่ะ”

ขอคำแนะนำ ก็ตั้งสติ ถ้าเรากำหนดเวทนา กำหนดนามรูปก็กำหนดให้ชัดเจนขึ้นไป ให้มันพัก พักเสร็จแล้วเราก็ออกไปพิจารณาอีก แล้วก็กลับมาพัก แล้วก็กลับไปพิจารณาอีก มันจะเห็นไปมากกว่านี้มาก มันจะเห็นไปมากกว่านี้นะ เห็นไปมากกว่านี้แล้วมันจะเป็นความจริงของมัน.. เป็นความจริง ที่ว่ามันเป็นความจริงจากวิปัสสนา วิปัสสนาคือถ้าจิตมันเป็นความจริงของมัน มันจะถอดมันจะถอนของมัน แล้วมันจะรู้ของมันตามความเป็นจริง แล้วเป็นปัจจัตตัง จะซึ้งใจมาก

อันนี้ขอคำแนะนำไง ขอคำแนะนำก็ปฏิบัติอย่างเก่า คือปฏิบัติแบบเดิมแต่ทำต่อเนื่องขึ้นไป ทำต่อเนื่องขึ้นไป ฉะนั้นบอกว่าอยากจะทำให้มันสำเร็จเป็นมรรค ผล ขึ้นไปเลย สำเร็จเป็นมรรค ผล ต่อเมื่อความอิ่มเต็มของจิต น้ำใส่แก้ว ถ้าเต็มแก้วสมบูรณ์ มันก็สมบูรณ์ตามของมัน นี่วิปัสสนาของเราไปบ่อยครั้งเข้าจนกว่ามันจะสมบูรณ์ของมัน ตามแต่อำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน นั่นคือการปฏิบัติต่อไป

 

ถาม : ๓๙๔. เรื่อง “การเพ่งกำหนดใส่พระ บาปไหมครับ”

กราบนมัสการสวัสดี..

หลวงพ่อ : เขาว่าช่วงเขาดูทีวี เห็นพระทางทีวี แล้วเขาชอบกำหนดเพ่ง

ถาม : ๑. เพราะบางท่านกำหนดเพ่งไปที่ท่านได้

๒. เพราะอะไรบางท่านจึงกำหนดเพ่งไปที่ท่านไม่ได้ และเพราะเราเคารพรักท่าน

๓. การเพ่งแบบนี้เป็นบาปไหมครับ

๔. รู้สึกเบื่อหน่ายความกำหนด

๕. เหมือนไม่มีอะไรให้กำหนดแล้ว

๖. กำหนดเสียงเป็นเสียง

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงคำถาม เราดูแล้วมันสับสน คำถามนี้มันสับสน เพราะว่าการเพ่งใส่พระบาปไหมครับ แล้วเวลาไปเพ่งใส่พระนี่เพ่งไปทำไม? เพ่งเพราะเหตุใด?

พระนะ เวลาบวชพระขึ้นมาแล้ว พระท่านก็คือพระ เราเป็นฆราวาสใช่ไหม ฉะนั้นเวลาเป็นฆราวาส บางคนบางฆราวาส ลูกศิษย์หลวงตา ฆราวาสหลายคนที่เป็นอริยบุคคล ลูกศิษย์หลวงตานี่เป็นฆราวาส แต่เขามีมรรค ผล ในใจ เขาดีกว่าพระอีก

ฉะนั้นบอกว่าทำไมต้องไปเพ่งใส่พระ ว่าพระนี้สูงส่งนัก.. พระนี้เป็นบริษัท ๔ เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เพราะพระบวชขึ้นมาแล้ว ถ้ามีจิตใจที่มั่นคง ก็เพื่อปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์ ถ้ามีความมั่นคงนะ ฉะนั้นพระที่บวชมานี่ บวชมาก็เพื่อเห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านก็ปฏิบัติของท่าน ท่านปฏิบัติตัวของท่านดี ท่านก็เป็นพระที่ดีที่ทำให้เรากราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของเรา ถ้าเราได้ทำบุญกุศล แล้วถ้าท่านปฏิบัติของท่านจนท่านมีจิตใจที่เป็นธรรม ท่านจะเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านจะเป็นที่สั่งสอนเรา

“จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง” ใจดวงที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ หรือปฏิบัติมีคุณธรรมแล้วจะแนะนำเราได้ จะแนะนำ จะพร่ำสอนเราให้เราก้าวเดินไปโดยไม่ผิดทาง มีครูบาอาจารย์ชี้นำมันเป็นประโยชน์มาก

ฉะนั้นพระก็คือพระ การเพ่งใส่พระนี่ทำไมทำได้.. มันทำได้ทั้งนั้นแหละ มันทำได้ มันเป็นจิตของคน จิตของคนจะทำอะไรก็ได้ จิตของคนฝักใฝ่ทำคุณงามความดีก็ได้ จิตของคนฝักใฝ่ทำความชั่วก็ได้ จิตของคนฝักใฝ่ทั้งดีและชั่วก็ได้ จิตใจของคนมันเป็นได้ทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นมันอยู่ที่อำนาจของจิต จิตบางคนคึกคะนอง ทำอะไรมันก็จะมีผลตอบสนอง จิตบางคนนี่จิตราบเรียบ จิตสม่ำเสมอ ทำสิ่งใดไปมันก็จะเป็นประโยชน์ที่สม่ำเสมอไป

๑. มันอยู่ที่จิตของเราที่มันมีจริตนิสัยอย่างไร มีอำนาจวาสนา มีคุณสมบัติอย่างใด

๒. เรามีสติปัญญากับประโยชน์ไหม เรารู้อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษไหม อะไรเป็นคุณคือเป็นคุณ อะไรเป็นโทษคือเป็นโทษ.. การเพ่งใส่พระ ไม่ต้องเพ่งใส่พระ มนุษย์กับมนุษย์เขายังให้อภัยกันเลย มนุษย์กับมนุษย์ไม่ควรจะบาดหมางต่อกัน เห็นไหม

“เวร! ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

เราไปเพ่งใส่เพื่ออะไร? เราไปเพ่งใส่เพื่อประโยชน์อะไร พระองค์นั้นจะทำความผิด ทำไม่ดีขนาดไหนก็เป็นบาปของเขา เขาทำของเขา เขาต้องได้บาปของเขาแน่นอน พระองค์ไหนทำคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์กับพระ พระองค์นั้นจะได้คุณงามความดีก่อน แล้วพระองค์นั้นได้คุณงามความดีแล้วถึงจะมีคุณธรรมมาเผื่อแผ่เรา มาสั่งสอนเราไง

ฉะนั้น “การเพ่งใส่พระบาปไหม” นี่เราไม่เห็นด้วย!

ถาม : ๒. เพราะอะไรพระบางองค์ถึงเพ่งไม่ได้

หลวงพ่อ : เพ่งได้หรือเพ่งไม่ได้ กรณีอย่างนี้นะ เวลาคนมีความเห็นผิด.. มีคนเคยคุยกับเรา บอกว่าเขานี่มีคุณธรรมมาก แล้วไปหาพระองค์หนึ่งที่มีคุณธรรมที่สังคมเขายอมรับ แล้วก็ไปเพ่งใส่ท่าน พอเพ่งใส่ท่านนี่ อู๋ย.. เพ่งไม่ได้เลยท่านตั้งกำแพงรับ นี่คือคนไปเพ่งมันคิดไปเอง รู้ไปเอง แล้วหาว่าที่จะไปเพ่งนั้นท่านตั้งกำแพงไว้ ท่านเพ่งไม่ได้

วิปัสสนึก ก็นึกของตัวเองไปเรื่อยแหละ แล้วคำถามนี้ บางทีถ้าจิตใจของคนไม่ปกติ ความรู้ความเห็นนี่มัน.. เพราะว่าพระอรหันต์กับคนบ้านี่ใกล้เคียงกัน พระอรหันต์คือสิ่งที่ปล่อยวางหมดมีสติ คนบ้าคือปล่อยวางหมดเลยแต่ไม่มีสติ คนบ้าคือไร้หลักการ คนบ้าคือหลุดเลย นี่คนบ้า ขาดสติ ทำอะไรแล้วแต่ว่าความคิดความเห็นมันจะบัญชาการไป พระอรหันต์ไม่มีสิ่งใดในหัวใจเลย เหมือนคนบ้าเลยแต่ไม่บ้า สติสมบูรณ์ สติเป็นอัตโนมัติเลย

นี่ไง ฉะนั้นจิตของคนเวลาทำไปนี่ เห็นไหม ถ้ามันเป็นคนบ้ามันก็บ้าไปเลย ถ้าเป็นพระอรหันต์มันก็สติสมบูรณ์ไปเลย ทีนี้พอบอกว่าไปเพ่งอย่างนู้น ไปเพ่งอย่างนี้

“อภิญญา ๖ แก้กิเลสไม่ได้ ความรู้ความเห็นมันเป็นฌานโลกีย์”

ถ้าความรู้ความเห็นเป็นมรรคล่ะ ความรู้ความเห็นในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วมันแก้ไขเข้ามา เพราะว่ากิเลสมันอาศัยกาย เวทนา จิต ธรรมของสัตว์โลกออกหาเหยื่อ ถ้าพิจารณาอย่างนั้นมันจะกลับมารู้ใจของตัวเอง ฉะนั้นไปเพ่งคนนู้น เพ่งคนนี้ มันเป็นเรื่องไร้สาระเลย แล้วยิ่งครูบาอาจารย์ นี่มันเจอของไม่จริงทั้งนั้นแหละ

โธ่.. เจอของจริงนี่นะ หลวงปู่ขาวไปหาหลวงปู่มั่น ไปกับหลวงปู่แหวนนี่เหนื่อยมาก บอกว่า “มีใครจะรู้ใจเราไหม” พอไปถึงหลวงปู่มั่นท่านใส่เลย

“ใจของตัวเราไม่ดู อยากให้คนอื่นดูให้ ใจของตัวเราไม่รู้จัก”

ครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้จริงนี่ท่านรู้ของท่าน แล้วท่านเก็บของท่านไว้ เพราะมีของจริง มันก็จะมีของปลอม เพราะมีของจริง ของปลอมมันเลยเลียนแบบแล้วเอาไปหากินกัน แต่มีของจริง ของจริงท่านไว้ใช้ประโยชน์เวลาแก้ไขลูกศิษย์ ไอ้ของปลอมมันเที่ยวโฆษณาชวนเชื่อ แล้วโฆษณาชวนเชื่อมันเป็นการจัดฉาก มันเป็นการไร้สาระ ความจริงมี เรื่องรู้วาระต่างๆ นี่ความจริงมี แต่ความปลอมก็เยอะ

ฉะนั้น “ข้อ ๓. การเพ่งแบบนี้เป็นบาปไหมครับ” ก็เรื่องของผู้เพ่ง

ถาม : ๔. รู้สึกเบื่อความกำหนด

หลวงพ่อ : อืม.. ว่ากำหนดแล้วระลึก นี่พูดถึงกำหนด กำหนดเรื่องอะไรล่ะ? แต่ถ้ากำหนดพุทโธ กำหนดสิ่งใดนี่ มันจะเบื่อขนาดไหนนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

ถาม : มันเหมือนไม่มีอะไรกำหนดแล้ว แต่จิตเหมือนกับแอบอยู่ บางทีผมเคยรู้ตัวว่าโกรธ แล้วพออาจารย์ก็บอกว่ารู้สึกว่าโกรธ

หลวงพ่อ : มันเหมือนกับไม่มีอะไรกำหนดแล้ว นี่เวลาเข้าข้างตัวเองก็เป็นอย่างนี้แหละ เวลาเพ่งใส่พระ แหม.. เพ่งได้ เวลาเหมือนไม่มีอะไรกำหนด มันมีอยู่ในใจทำไมไม่กำหนดได้ล่ะ นี่ไงเวลาเพ่งใส่พระนะ อู๋ย.. เห็นว่าเพ่งใส่พระได้ แต่เพ่งใส่จิตตัวเองที่มันกำหนด เห็นไหม เหมือนไม่มีแต่มันมี ทำไมไม่กำหนดล่ะ?

เวลาตัวเองไม่รู้จักตัวเอง ความผิดในการปฏิบัติของตัวเองไม่ดู จะไปเพ่งใส่พระ เพ่งใส่พระ เพ่งใส่พระแล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ ก็ได้เวรได้กรรมไง แต่เวลาเพ่งใส่ความกำหนดในใจของตัว ทำไมไม่กำหนดล่ะ? ถ้ากำหนดก็รู้ทัน พอรู้ทันขึ้นมาแล้ว กำหนดไปนี่กำหนดอะไร ถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธมันจะเข้าสู่สัมมาสมาธิ

ไอ้นี่กำหนดว่าโกรธหายโกรธ หายโกรธแล้วเหลืออะไร? หายโกรธก็เหลืออวิชชาไง หายโกรธก็เหลือภพไง จะว่าหายโกรธแล้วเหลือขี้เท่อไง.. มันอยู่ที่คนสอนหรอก สอนอะไรกัน

ถาม : ๖. กำหนดเสียงเป็นเสียง ตัวความหมายไม่ลงถึงที่กำหนด สักแต่ว่าเสียง ไม่รู้ความหมาย ไม่รู้เป็นใครพูด อย่างนั้นดีไหมครับ.. ตั้งคำถามเพื่ออยากฟังเทศน์หลวงพ่อหรอก

หลวงพ่อ : ตั้งคำถามเพื่ออยากฟังเทศน์จากหลวงพ่อ เขาเห็นเราไปเทศน์ที่บ้านตาด ดูทีวี เห็นแล้วเขาว่า ไอ้อย่างนี้มันเป็น.. ตั้งคำถามก็ตั้งคำถาม แต่ตั้งคำถามนี่

“กำหนดเสียงเป็นเสียง ไม่ถึงตัวกำหนด ไม่มีความหมาย ไม่รู้ว่าใคร”

ปฏิบัติต้องรู้ชัดเจนสิ ปฏิบัติแล้วไม่รู้อะไรเลย ปฏิบัติอะไร กรณีอย่างนี้มันเหมือนกับชาวพุทธ เห็นไหม ถือศีล ๕ ฉันถือศีล ๕ เคร่งครัด ฉันถือศีล ๕ เคร่งครัด แล้วเคร่งครัดแล้วได้อะไรล่ะ เคร่งครัดแล้วก็คือขอนไม้ไง ขอนไม้มันถือศีล ๕ ดีกว่าทุกคนอีก ขอนไม้มันไม่ทำอะไรเลย ขอนไม้เป็นประโยชน์ด้วย มันให้ปลวกให้แมลงมันได้อยู่อาศัยด้วย

นี่ก็เหมือนกัน “กำหนดเสียงไม่ได้ยินเสียง” ถ้าไม่ได้ยินแล้วเหลืออะไรล่ะ เราถือศีล ๕ เคร่งครัด เราต้องมีธรรม ๕ ธรรม ๕ คือเราต้องมีความเมตตา เราต้องทำประโยชน์ขึ้นมา ถ้าไม่ทำประโยชน์ขึ้นมาแล้วเราจะได้อะไร เราจะไม่ได้อะไรเลย เราจะได้แต่ความเห็นของเราเท่านั้นแหละ

ไอ้นี่พูดถึงตั้งคำถามมาเพื่ออยากฟังเทศน์ โอ้โฮ.. คำถามเราเหลือเยอะเลยล่ะ

 

ถาม : ข้อ ๓๙๕. เรื่อง “ขอบพระคุณ”

(นี่ขอบคุณเฉยๆ นะ) ดิฉันได้ปริ้นมาอ่านซ้ำไปหลายรอบ เข้าใจมากขึ้นค่ะ ดีใจที่สิ่งที่ได้ปฏิบัติมา ก็มาถูกทางบ้าง ดิฉันเป็นคนรังเกียจตัวเองอย่างที่ท่านบอกจริงๆ ค่ะ คิดว่าตัวเองต่ำต้อย ทำกรรมมาเยอะ แต่บางทีก็มีทิฐิมานะมากเกินไป เป็นนิสัยเสียตั้งแต่แรก ฉะนั้นการปฏิบัติก็จะไม่ค่อยมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติ บางทีก็จะถูกกิเลสหลอกว่า “เออ.. ตัวเองเก่ง ไม่มีใครสอนก็ทำได้” ถ้าไม่ใช่สติและปัญญาก็จะถูกหลอกเป็นประจำ

บางทีก็เห็นความคิดตัวเองชั่วร้าย ทำไมปฏิบัติไปน่าจะคิดดี แค่คนขับรถปาดหน้านะ.. เข้าใจ ตั้งสติ ยังมีความสงสัยจากการปฏิบัติค่ะ แต่จะคล้ายๆ ท่านอื่นบ้าง เลยเอาที่อาจารย์ตอบไปปรับใช้ค่ะ ที่อาจารย์ตอบไว้ว่า “ถ้าไม่ได้ถนัดดูกาย ก็ดูอย่างอื่นไปแทนก็ได้” ดิฉันเชื่อว่าตัวเองไม่ถนัดดูกายค่ะ เพราะไม่เคยเห็นกายในนิมิตเลย

หลวงพ่อ : เห็นกายในนิมิต หรือไม่เห็นกายในนิมิตนี่นะ ถ้าเราพิจารณากายโดยใช้ปัญญาไง การพิจารณากาย นิมิตนี่มันเป็นเจโตวิมุตติ คือจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นกายโดยนิมิตเลยนะ พอเป็นนิมิตขึ้นมา นิมิตมันก็มีหลอก เห็นไหม คำว่านิมิตจริง นิมิตปลอม

คำว่านิมิตปลอม ก็นิมิตที่ไม่ชัดเจนนัก นิมิตที่ไม่มีคุณภาพนัก ทีนี้นิมิตไม่มีคุณภาพเพราะอะไร เพราะจิตมันไม่มั่นคง จิตสมาธิมันไม่ดี ฉะนั้นไม่ดีเราก็กลับมาที่สมาธิ เราเห็นนิมิต การเห็นนิมิตนี่ ถ้าครูบาอาจารย์เห็น พิจารณากายโดยเจโตวิมุตตินี่นะ เห็นนิมิตปั๊บท่านให้กำหนดถามนิมิตเลยว่าเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง หรือกำหนดถาม กำหนดดูนิมิตนั้น ถ้ากำหนดถามดูนิมิตนั้นมันจะสะเทือนหัวใจ

เหมือนเราทำงาน ทำงานสิ่งใดก็แล้วแต่ เราตั้งใจทำงานแล้ว ทำงานอะไรก็จะเป็นประโยชน์ขึ้นมา เราทำงาน นี่เราทำงานสักแต่ว่าทำ ทำงานสักแต่ว่าให้มันพอเสร็จเป็นพิธีไป ทำงานโดยที่ไม่ใส่ใจมัน ผลงานมันจะเป็นอย่างไรล่ะ ผลงานมันก็ไม่ชัดเจนนั่นล่ะ ฉะนั้นถ้าจิตเป็นสมาธิขึ้นมา มันเห็นกายขึ้นมา เห็นนิมิตขึ้นมา นั่นเราเห็น เราเห็นแล้วเราพิจารณาของเรา ถ้าไม่เห็น เห็นไหม เราก็พิจารณากาย เราไม่ทิ้งกายนะ

คำว่าพิจารณากายนี่เราพิจารณากายด้วยปัญญา เห็นไหม ดูสินั่งแล้วเจ็บไหม หัวเข่าเจ็บไหม ร่างกายนี้เป็นอย่างไร ร่างกายอยู่อย่างไร เราศึกษา เราวิจัยร่างกายเรา ความเป็นอยู่ เลือดเนื้อเชื้อไข เซลล์ต่างๆ ระบบร่างกายทำงานอย่าง ไร เราใช้ปัญญาเราใคร่ครวญนะ เราใช้ปัญญาเราใคร่ครวญ อันนี้จะเป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาพิจารณากายโดยใช้ปัญญา

แล้วพอพิจารณากายไป หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดอย่างนี้ ให้กำหนดจิตอยู่ในกายนี้ กำหนดจิตอยู่ในกายนี้ ถ้าอยู่เป็นชั่วโมงๆ ได้ ท่านบอกนี่เป็นสมถะ เป็นสมถะเพราะอะไร เพราะเรากำหนดจิตเราเคลื่อนไปในร่างกายเรานี้ไง ตั้งแต่ขาขึ้นมา เห็นไหม ขึ้นไปถึงศีรษะแล้วก็วนลงไป ถ้าจิตของเรามีสติ เห็นไหม จิตของเรามันจะอยู่ในร่างกายนี้ ถ้าจิตของเราขาดสตินะ ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไป พอถึงหัวเข่านะมันแว็บไปคิดเรื่องอื่นแล้ว แล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่

นี่มันไม่อยู่กับเราเป็นชั่วโมงๆ ไง แล้วถ้าอยู่กับเราเป็นชั่วโมงๆ ขึ้นไป พอจิตมันดีขึ้นมามันจะเห็นกาย พอเห็นกายขึ้นมานี่ จิตอยู่ในกายทำไมไม่เห็นกาย จิตอยู่ในกายด้วยสติบังคับ ให้มันอยู่ในกายนี้ ให้มันเคลื่อนอยู่ในกายนี้ ถ้ามันเคลื่อนอยู่ในกายนี้ คือความรู้สึกเราหมุนอยู่ในร่างกายนี้ มันไม่ออกไปคิดข้างนอก นี่มันก็เริ่มมีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา

ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันเห็นกาย เห็นไหม จิตกำหนดที่ข้อเท้า จะเห็นเป็นรูปข้อเท้า จิตกำหนดที่หัวเข่า จะเป็นเห็นภาพหัวเข่า จิตกำหนดที่ข้อศอก จิตกำหนดที่ต้นคอ จิตกำหนดบนศีรษะ มันเห็นของมันไปตามข้อเท็จจริงของมัน พอเห็นของมัน เรากำหนดจิตถ้าอยู่บนข้อเท้า ให้ข้อเท้าขยายตัว ให้ข้อเท้าต่างๆ นี่พูดถึงนิมิตนะ

คำว่านิมิตนี่นะ ถ้าพูดถึงในอภิธรรมจะบอกว่า “นิมิตมันเป็นนิมิต ติดนิมิตกันหมดไปเลย แล้วมันไม่ได้อะไรเลย” คำว่านิมิตมันเหมือนเรานี่ เด็กมีเงินบาทหนึ่ง ผู้ใหญ่มีเงินบาทหนึ่ง เศรษฐีมีเงินบาทหนึ่ง ก็บาทหนึ่งเหมือนกัน แต่เงินบาทของเด็กมันซื้อลูกอมมันก็หมดไปแล้ว เงินบาทหนึ่งของผู้ใหญ่ เห็นไหม เขาใช้เงินบาทนี้ไปซื้อเมล็ดพันธุ์พืช แล้วเอามาปลูก แล้วเมล็ดพันธุ์พืชนี้ พอมันเกิดมาเป็นพืชเขาก็เอาไปขาย จากบาทหนึ่งเขาจะหาเงินขึ้นมาเป็นร้อยๆ บาท เป็นพันๆ บาทได้เลย บาทหนึ่งของเศรษฐี เห็นไหม เศรษฐีนี่บาทหนึ่งเขาเอาไปใช้ประโยชน์ของเขา มันก็มากกว่าคนที่เอาไปซื้อเมล็ดพันธุ์พืชมาปลูกอีก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้วเห็นนิมิต.. คำว่านิมิตไง นิมิตของเด็ก นิมิตของผู้ใหญ่ นิมิตของเศรษฐี นิมิตมันก็เป็นนิมิตจริงๆ นี่แหละ แต่คุณภาพของจิต คำว่านิมิตมันจะภาพชัดเจนแตกต่างกันอย่างใด

นี่พูดถึงว่า ถ้านิมิตปั๊บเขาจะเห็นว่านิมิตนี้ผิดไปหมดเลย นิมิตจะผิดเริ่มต้น เริ่มต้นนี่นะ อย่างผู้ที่ปฏิบัติเหมือนกับเด็กๆ เด็กๆ จะเป็นผู้ใหญ่ หรือจะเศรษฐีนี่มันมาแต่เด็ก ถ้าเด็กๆ มันยังเข้าใจไม่ได้ คนที่เริ่มปฏิบัติใหม่เหมือนทารก ไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยรู้สิ่งใดเลย จะไม่รู้อะไรเลย การปฏิบัติไปแล้วเหมือนทารก เพราะทารกมันจะทรงตัวมันได้ไหม?

จิตคนที่หัดปฏิบัติใหม่ทุกคนเลย จะทรงตัวเองไม่ได้ ถ้าไม่เคยทำความสงบของใจมา ทรงตัวเองไม่ได้ ถ้าทรงตัวไม่ได้ขึ้นมา พอมันทำอะไรขึ้นไปนี่มันเริ่มเตาะแตะได้ มันจะเห็นนิมิตของมันอะไรต่างๆ นี่ตกใจ ดีใจ เสียใจไป มันจะพัฒนาของมันไปไม่ได้ นี่ไง นิมิตของเด็กๆ ก็คืออย่างหนึ่ง แต่ถ้าเด็กๆ เด็กๆ บางคนมันมีวาสนาของมัน พอมันนั่งไปแล้วมันเจอนิมิตของมัน มันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานี่ มันเป็นความจริง จริงตามนิมิตนั้น มันจะรู้ มันจะเห็นของมันตามข้อเท็จจริงเลย

ถ้าข้อเท็จจริงนะ แต่เด็กเขายังทำอะไรไม่เป็น เพราะจิตมันยังอ่อนแออยู่ แต่พอพิจารณาของมันไป พอดูของมันไปเรื่อยๆ นิมิตมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันมีประสบการณ์ว่า เดี๋ยวดูถูก เดี๋ยวดูผิด ผลมันให้เป็นความจริง ผลมันให้ค่าในทางที่ผิดพลาด มันก็จะรู้ของมันเองว่า เออ.. อันนี้จริง อันนี้ไม่จริง มันจะพัฒนาจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา

พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา บาทหนึ่งนิมิตอันนั้นจะไปซื้อเมล็ดพันธุ์พืช เขาจะซื้อต่างๆ เพื่อประโยชน์ของเขา เห็นไหม เกิดนิมิตขึ้นมานี่เขาพิจารณาของเขาเป็น เขาแยกแยะของเขาเป็น เขาทำของเขาเป็นขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์ของเขา ประโยชน์ของเขามันก็ได้ผลตอบแทนมากขึ้นๆ จิตใจมันจะพัฒนามากขึ้นไป.. นี่พูดถึงการพิจารณากายนะ

นิมิตนี่ นิมิตคำเดียวแต่มันขยายความไปได้มหาศาลไง มหาศาลว่านิมิตของใคร นิมิตของทารกมันก็เป็นอย่างหนึ่ง นิมิตของผู้ใหญ่ก็เป็นอย่างหนึ่ง นิมิตของครูบาอาจารย์ที่ท่านสิ้นกิเลสไปแล้วยิ่ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย เพราะอะไร เพราะไม่มีอวิชชาในหัวใจของท่าน ท่านรู้เห็นตามความเป็นจริงหมดเลย

นี่พูดถึง “ไม่เคยเห็นกายในนิมิต” อันนี้พูดถึงนิมิต แต่ถ้าไม่เคยเห็นกายในนิมิต เราก็พิจารณากายโดยใช้ปัญญา เราจะบอกว่า การพิจารณา การฝึกของเรา เราจะไม่ทิ้งเวลาเสียเปล่าไง ถ้าเราบอกว่าเราพิจารณากายไม่ได้ เราไม่ต้องพิจารณากาย เราพิจารณาอย่างอื่น ถ้าอย่างนั้นเวทนามีไหมล่ะ? จิตมีหรือเปล่า? ธรรมมีหรือเปล่า?

เพราะพิจารณาจิตกับธรรมขึ้นไปแล้ว มันเป็นนามธรรมแล้ว พิจารณากายก็เป็นนามธรรม แต่นามธรรมที่มันเป็นต้นทุน นามธรรมที่มันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นแบบนั้น เป็นแบบนั้นเพราะกายนี่มันเป็นรูปธรรมที่เราจับต้องได้ มันมีหลักมีเกณฑ์ เป็นรูปธรรมที่เรายึดถือได้

ฉะนั้นพิจารณากายนี่จิตใจอย่างไรก็แล้วแต่ มันทำงานโดยถูกต้อง ไม่ทำงานให้มีความผิดพลาด ไขว้เขว ออกนอกลู่นอกทางไป นี่พิจารณากาย ฉะนั้นกายเราไม่ทิ้ง พิจารณากายโดยปัญญา โดยความคิด โดยการเปรียบเทียบ เราพิจารณากายโดยนิมิต พิจารณาเวทนา เวทนากาย เวทนาจิต

เวทนากาย เห็นไหม นั่งแล้วเจ็บปวด เจ็บแข้ง เจ็บขา แต่เวลาพิจารณาจิตนะ อยู่เฉยๆ ก็เศร้า นี่เวทนาจิต เวทนากายนะมันต้องมีผลกระทบของมัน มันถึงจะเกิดเวทนาของมัน เวทนาจิตนี่อยู่เฉยๆ มันก็เศร้าหมอง มันก็มีความเศร้า มีความทุกข์ของมัน.. นี่เวทนาจิต ถ้าพิจารณาจิต จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส พิจารณาธรรม นี่ธรรมารมณ์ พิจารณาของมันไป

สิ่งนี้เป็นนามธรรม พอนามธรรมนี่ทุกคนจะเข้าข้างตัวเองว่าเราพิจารณาถูกต้อง เราพิจารณาดีงาม เราพิจารณาดีไปหมดเลย ทารก เห็นไหม มันจะว่ามันถูกหมดแหละ ใครตบมือให้ก็ว่าตัวเองดีหมดเลย จะทำอะไรก็แค่ต้องการให้ผู้ใหญ่ตบมือ ให้ผู้ใหญ่เห็นด้วย.. เด็กทารก ถ้าผู้ใหญ่ตบมือ ผู้ใหญ่เอาใจ จะชอบใจมากเลย

จิต ถ้ามันภาวนาไม่เป็น เริ่มต้นมันก็จะเข้าข้างตัวเองเหมือนทารกเลย พอทารกขึ้นมา มันพิจารณาไปมันก็เสียหายของมันไป ถ้าเสียหายไปมันก็จะนอกลู่นอกทางไป แต่ถ้าเรายึดกายไว้ ยึดกายไว้หมายถึงว่าพิจารณาอะไรก็เปรียบเทียบมาที่กาย เปรียบเทียบมาที่กาย ฉะนั้นสิ่งที่ว่าพิจารณากายนี่ก็เพื่อประโยชน์กับตัวเองนะ

ฉะนั้นบอกว่า บางทีที่เราหวังผลในการปฏิบัติ การพิจารณาของเรา ถ้ามันพิจารณาเป็นประโยชน์กับเรา มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าพิจารณาไม่เป็นประโยชน์กับเรา มันก็จะไม่เป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้นสิ่งที่ทำมา เห็นไหม สิ่งที่ทำมามันจะเป็นประโยชน์กับเราได้มากน้อยขนาดไหน

ถาม : จากประสบการณ์! จากประสบการณ์! สมมุติเวลานั่งสมาธิแล้วมีอาการปวด เวทนาเป็นทุกข์ ดิฉันก็จะไปดูที่จิต ดิฉันก็จะไปดูจิตที่กลางอกว่าเป็นอย่างไร ทุกข์เป็นอย่างไร ส่วนมากจะเห็นว่าจิตที่กลางอกไม่ทุกข์ไม่ร้อน บางทีก็เฉย บางทีก็สุข ส่วนเวทนาที่ปวด บางทีก็ดูตามไปเรื่อยๆ ว่ามันคงที่ไหม หรือบางทีมันก็คิดไปอย่างอื่น กลับมาอีกที อ้าว.. ความปวดหายไปแล้ว มีอยู่ครั้งหนึ่งเจ็บคอมาก ทีนี้ไปหาหมอ เจ็บคอมากแล้วมีความทุกข์

ในสมาธิคิดว่า “ความคิดคืออะไร ปรุงอะไร” จะไม่ค่อยตามความคิดที่เป็นอกุศลเท่าไหร่ จะใช้สติตาม แต่ถ้าเป็นกุศล เผลอตามไปก็ปล่อยไป ถ้าตรึกเป็นธรรมก็จะคิดซ้ำๆ ซากๆ จนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยอยากคิด พอคิดปุ๊บก็จะไม่สงบ สว่างเหมือนเดิม หาหัวข้อธรรมมาคิด

หลวงพ่อ : อันนี้มันต้องปฏิบัติต่อเนื่อง คำว่าต่อเนื่องแล้วมันจะได้ผล ถ้าไม่ปฏิบัติต่อเนื่อง ทีนี้คำว่าต่อเนื่อง.. นี่เวลาทำงาน มันมีหน้าที่การงานของเขาด้วย ฉะนั้นว่าปฏิบัติเวทนา ถ้าเวทนาจับเวทนาไปเรื่อยๆ เวทนานี่ไม่ต้องทิ้ง เวทนานี่ พอเราพิจารณาไป เวทนาปล่อยแล้ว เดี๋ยวเวทนาก็เกิดอีก

ดูความดีใจ เสียใจของเรานี่ จนตายก็ไม่จบ เพราะมันมีความดีใจ เสียใจตลอดไป ฉะนั้นเราต้องยึดความดีใจ เสียใจ แล้วจับพิจารณาไปเรื่อยๆ เพราะเรายังมีความดีใจ เสียใจอยู่ แสดงว่าเรามีงานทำ ฉะนั้นจับตัวนี้ไป พิจารณาเวทนาไปตลอด พิจารณาไปอย่างนี้ แล้วพอมันพัฒนาขึ้นไปมันจะรู้ของมันนะ มันจะปล่อยของมัน แล้วถ้าปล่อยบ่อยครั้งๆ เข้า มันจะมีความจริงนะ ถ้าเป็นความจริงเกิดขึ้นมา เราจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ

นี่พูดถึงว่า พอพิจารณาเวทนา นี้เวทนาไม่เคยเห็นกาย ไม่เคยเห็นนิมิต เราก็อยากจะให้ทำ ถ้ามันทำของมันไป มันจะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเราจะเป็นประโยชน์เนาะ เอาเท่านี้แหละเนาะ เอวัง