ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ดีหนึ่ง

๒๒ พ.ค. ๒๕๕๔

 

ดีหนึ่ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมเนาะ เพราะว่าวันนี้เรามาทำบุญกุศลกัน เรามาทำบุญกุศล เห็นไหม เพราะเราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ มีครูบาอาจารย์ท่านแบบว่า เห็นบอกว่า “พระนี่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย พระนี่ไม่เข้ากัน” จอมพลผินนั่นแหละ เขาก็เลยไปหาหลวงฝั้น บอกว่า “อยากให้พระนี่รักกัน อยากให้พระนี้เข้ากัน อยากให้พระเป็นแบบว่าสามัคคีเดียวกัน”

หลวงปู่ฝั้นบอกว่า “มันเป็นสามัคคีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นอยู่นี่เป็นอยู่ข้างนอก”

ท่านถามว่า “เจ้าคุณ! เจ้าคุณเวลาคัดเลือกทหาร เจ้าคุณต้องทำอย่างใด”

“เขาต้องตรวจเช็คร่างกายใช่ไหม เช็คความประพฤติทั้งหมดใช่ไหม เขาต้องเอาดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ถ้าไม่ดีประเภทหนึ่งเขาไม่เอา เขาไม่ต้องการ”

หลวงปู่ฝั้นก็บอกว่า “พระก็เหมือนกัน เวลาพระจะบวชขึ้นมา เห็นไหม มนุสโสสิ เป็นมนุษย์หรือเปล่า ร่างกายสมบูรณ์หรือเปล่า เป็นอะไรหรือเปล่า”

ฉะนั้น เวลาเราบวชขึ้นมา นี่เราบวชมันเป็นดีหนึ่ง ประเภทหนึ่งอยู่แล้ว ฉะนั้นเพียงแต่เป็นดีหนึ่ง ประเภทหนึ่งเข้ามาแล้ว เวลาบวชเข้ามาแล้วเราต้องการสิ่งใด ถ้าเราต้องการสิ่งใดนะ มันอยู่ที่ความปรารถนา อยู่ที่เป้าหมาย ถ้าเป้าหมายที่ดีนะ คนที่บวชมีเป้าหมายที่ดี เป้าหมายนั้นเขาก็ต้องแสวงหาตามเป้าหมายของเขา แต่การบวชนะ การบวชโดยที่ว่าเขาไม่มีเป้าหมายของเขา เขาบวชเข้ามาแล้ว ยังไม่รู้ว่าเขาจะเดินหน้าไปอย่างใด เขาจะทำสิ่งใดเพื่อเป็นประโยชน์กับเขา เขายังไม่รู้ตัวเขาเลย

แต่ถ้าเรามีเป้าหมายของเรา เห็นไหม นี่ดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง! ถ้าดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง เรามีเป้าหมายว่าอยากจะพ้นจากทุกข์ ถ้าอยากพ้นจากทุกข์นะ พระที่อยากจะพ้นจากทุกข์ ดูตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นลงมาสิ ท่านอยู่ที่ไหน ท่านแสวงหาอย่างใด

นี่การคลุกคลี การต่างๆ ไป มันเป็นทางออก เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ เวลาท่านพูด นี้วงการพระนะ เขาบอกว่า “เวลาหมามันหยอกกัน เห็นไหม หมามันหยอกกัน มันเล่นกันนะ เล่นกันไปเล่นกันมา เดี๋ยวมันก็กัดกัน” เหมือนกัน! นี่เราก็ว่าเราปฏิสันถาร เรามีความสนิทคุ้นเคยกัน เราคุยเล่นกัน เราคุยหัวกัน ผลที่สุดมามันก็คือความหมางใจ แต่ถ้าเราหลบหลีกของเรา เห็นไหม นี่ถ้าเรามีเป้าหมาย

ฉะนั้น เวลาเราบวชกัน เราประพฤติปฏิบัติกัน เราก็ห่วง เราปฏิบัติมา เราบวชพระมานะ กลัวแก่เฒ่ามาก็จะไม่มีคนดูแล เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยใครเขาจะดู แต่ถ้าเราอยู่ในสังคมของสงฆ์นะ สงฆ์นั่นแหละจะดู แล้วถ้าไม่ดูนะธรรมโอสถ สิ่งใดที่เวลามันเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา นี่มันเตือนเราแล้วนะ มันเตือนเราแล้วว่านี่เราเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ร่างกายเรามีไข้แล้ว ถ้ามีไข้ เวลามันไม่ป่วยมันเป็นแบบใด เวลาป่วยมันมาจากไหน เราจะรื้อค้นของเราเลย เราจะหันกลับเข้ามาเลย หันกลับเข้ามาดูใจเรา หันกลับมาดูอาการป่วยนั้น

ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ธรรมโอสถมันจะรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น นี่ความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกายนะ แต่เวลาความเจ็บไข้ได้ป่วยของจิตล่ะ จิตเรานี่เจ็บไข้ได้ป่วย จิตเรามีอวิชชา เราถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์กัน เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา ศาสนานี้เป็นศาสนาที่สุดแห่งทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุขก่อนองค์สมเด็จถึงเทศธรรมจักรขึ้นมา พอพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีใจมาก

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

เพราะอะไร? เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการอยู่นี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้อยู่องค์เดียว มีพระพุทธกับพระธรรมเท่านั้น มีรัตนะสอง เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ขึ้นมาเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก นี่มีรัตนตรัยสมบูรณ์ขึ้นมา เห็นไหม

มันเป็นพยานไง ถ้าเราพูดอยู่คนเดียว ไม่มีใครรู้กับเรา เราจะพูดอย่างไรก็ได้จริงไหม แต่ถ้ามีพยาน มีผู้รู้เท่าถึงเหมือนกัน มันจะโกหกกันไปไหนล่ะ มันโกหกไปไม่ได้หรอก เพราะมีผู้รู้กับผู้รู้ตรวจสอบกัน นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาพระอัญญาโกณฑัญญะตรัสรู้ขึ้นมา มีดวงตาเห็นธรรม นี่ดีใจมาก ดีใจมาก

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

นี่พูดถึงว่า เวลาสัจธรรมมันถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราบวชมา บวชมาเพื่อเหตุใด บวชมาเพื่อพ้นจากทุกข์ มันจะพยายามของเราไง ธรรมและวินัย เห็นไหม ดูสิ เวลาธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ธรรมวินัยเป็นเครื่องขัดเกลา แต่ถ้าเรามีการศึกษา เราบอกธรรมวินัยนั้นคือธรรมวินัย ธรรมวินัยเป็นธรรมวินัย

ถ้าเราศึกษาธรรมวินัยคือเรารู้ธรรมวินัย รู้มานี่มันรู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราเองไม่ได้แก้ไขเราเลย แต่ถ้าเราแก้ไขเรา เห็นไหม ตรงนี้ ถ้าเรามีเป้าหมายเราจะเริ่มต้นว่า เราจะไม่คลุกคลี เราจะหาเวลาของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเราตามความเป็นจริงของเรา ตามข้อเท็จจริงของเรา ถ้าตามข้อเท็จจริงของเรานี่เรามีเป้าหมาย

นี่ดีหนึ่ง ประเภท ๑ แล้วประเภท ๒ ประเภท ๓ ประเภท ๔ ไปล่ะ บวชมานี่บวชมามีเป้าหมายอะไร ถ้าบวชมามีเป้าหมายเพื่อจะพ้นจากทุกข์ สิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ การดำรงชีพมันเป็นเรื่องของเล็กน้อยเลย ครูบาอาจารย์ท่านบอก เห็นไหม

“ใครติดปากติดท้อง ออกธุดงค์ไม่ได้! ออกธุดงค์ไม่ได้!”

การออกธุดงค์ไป มันจะไม่ได้สมความปรารถนา เราไปนี่เราไม่รู้ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นกับเราได้เลย ความที่ไม่รู้ว่าสิ่งใดเกิดขึ้น นั่นล่ะเป็นความวิตกกังวล ความวิตกกังวลมันเกิดกับหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรามันมีความวิตกกังวลต่างๆ นั่นคืออะไรล่ะ นั่นคือสิ่งที่กิเลสมันจะแสดงออกมา สิ่งที่กิเลสแสดงออกมา ถ้าเรามีสติปัญญา นี่ของเล็กน้อยแค่นี้เราก็ตื่นเต้นแล้วหรือ

ถ้าเราต้องการคุณธรรม.. ของแค่นี้! ถ้าของแค่นี้เรายังสั่นไหวไปกับมัน แล้วเราจะเอาความจริงแค่ไหน เราจะเอาอะไรไปสู้กับใจของเรา ถ้าของแค่นี้ยังทำให้เราสั่นไหวได้เลย แล้วถ้าเราไปเจอความจริงล่ะ?

นี่เพราะมีปัญญาขึ้นมานะ ของมันก็จะเบาลง เบาลง เราจะไปที่ไหน เราจะแก้ไขอย่างใด เพราะเราจะไปหาความจริงของเรา ถ้าเราไปหาความจริงของเรา เห็นไหม นี่ความจริงมันอยู่ที่ไหน เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ

“เราเข้าป่าเข้าเขา ขึ้นเขาลงห้วยขนาดไหน เราไปหาอะไร?”

“เราก็ไปหาความรู้สึกของเรานี่ไง เราก็ไปหาตัวเรานี่แหละ”

เวลาโยมมาทำบุญนี่ทำบุญเพื่อใคร เวลาเราทำบุญกุศลแล้ว เราอุทิศส่วนกุศลนั้น ถ้าเราไม่ได้ทำบุญกุศล เราจะเอาอะไรไปอุทิศ สิ่งที่แสวงหาหัวใจนี่เราไปเพื่ออะไร ก็เพื่อแสวงหาหัวใจของเรา ถ้ามันได้หัวใจของเราขึ้นมา มันพบหัวใจของเราขึ้นมา หัวใจของเรา เห็นไหม นี่ไงที่เราธุดงค์กัน ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันจะย้อนกลับมาที่ใจเรา ถ้ากลับมาที่ใจเรา เราเห็นใจเราได้ โลกนี้มีเพราะมีเรา

“รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

สังคม สภาวะแวดล้อมมันไม่ใช่กิเลส แต่หัวใจของเราสิเป็นกิเลส หัวใจของเรานี่ไปติดข้องเขาเอง หัวใจของเราไปพอใจและไม่พอใจสภาวะนั้นเอง นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่ไง ให้เราค้นหาที่นี่ให้เจอก่อน ถ้าเราหาหัวใจของเราเจอนะ เราดูแลหัวใจของเรานะ สิ่งนั้น รูป รส กลิ่น เสียง สิ่งที่เป็นสภาวะกับสังคมนี่ มันก็เก้อๆ เขินๆ อยู่ของมันอย่างนั้นแหละ

เขาทำดี ก็ได้ดีของเขา เขาทำชั่ว ก็ได้ความชั่วของเขา เรานี่ไปทุกข์ร้อนกับเขา เราไม่พอใจสิ่งนั้น เราต้องการให้สมความปรารถนาเรา แล้วมันสมความปรารถนาไหมล่ะ สิ่งข้างนอกมันก็ไม่สมความปรารถนา สิ่งภายในมันก็ไม่สมความปรารถนา สิ่งที่ไม่สมความปรารถนา ไม่สมความปรารถนา มันก็ส่งเสริมกันให้เราลุกร้อนเป็นไฟ

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา สิ่งข้างนอกนี่ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเรารักษาใจของเรา เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันไม่ใช่มาร มารคือในหัวใจของเรา ถ้ามันมีสติปัญญา มันจะย้อนกลับมาสู่หัวใจของเรา ถ้าสู่หัวใจของเรานะ ควบคุมดูแลหัวใจของเรา

นี่เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือสมาธิอบรมปัญญา เราพิจารณาของเรา มีคำบริกรรมขึ้นไป เวลามันปล่อยนะ ขันธ์ ๕ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง มันสักแต่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง มันขาดที่หัวใจ พอมันขาดที่หัวใจ นี่มันเป็นกัลยาณปุถุชน จิตใจนี้มันจะรักษาหัวใจได้ง่ายขึ้น แต่เดิมมันกระวนกระวายมาก มันมีความวิตกกังวลไปหมดเลย แต่พอเราควบคุมได้นะ มันไม่มีอะไรเป็นความทุกข์ความร้อนเลย มันเก้อๆ เขินๆ ของมันนะ มันอยู่ของมันตามธรรมชาติของมัน เรามีความสุข มีความสบาย

ถ้าเราทำความสงบของเราได้มากขึ้นๆ แล้วออกใช้ปัญญา ถ้าออกใช้ปัญญามันจะเข้าพุทธศาสนาแล้ว.. พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธเป็นอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัจจะความจริง สัจจะที่เหนือความจริง สัจจะอันนี้มันเป็นศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลามันเป็นสัญญา เราจำมา เราจำของเรามา มันเป็นสัจจะของใครล่ะ? มันเป็นสัจจะของสมมุติไง

สัจจะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นมรรคญาณ ชำระกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเป็นจริง แล้วเราไปดูสมบัติของเขา เราไปจำของเขามา แล้วเราก็คิดให้เหมือน แล้วพอคิดเหมือนขึ้นมาก็คิดว่าเรารู้ พอคิดว่าเรารู้ขึ้นมา กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา มันก็ตีแปลงเลย

เพราะอะไร เพราะว่าเราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าไง แล้วเรารู้อะไรล่ะ เรารู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความรู้คือสัญญา ความรู้คือความรู้ แต่ตัวจริงของมันล่ะ ตัวใจล่ะ.. ปฏิสนธิจิต!

นี่มนุษย์เกิดมาจากไหน? มนุษย์เกิดมาจากกรรม เพราะมันมีอวิชชาในหัวใจ มันถึงมาให้เราเกิด พอเราเกิดเกิดที่ไหน เกิดในครรภ์ของมารดา เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ เกิดในน้ำคร่ำ นี่กำเนิด ๔ พอจิตมันกำเนิดขึ้นมา มันมีกรรมของมันขึ้นมา แล้วพอมีกรรมขึ้นมานี่มันได้สถานะใดมา? ได้สถานะของมนุษย์ มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เอาขันธ์ ๕ เอาสัญญาไปจำธรรมะของพระพุทธเจ้า ไอ้จิตมันยิ้มเลย

นี่ไง เป้าหมายมันผิดไง เจ้าของสิทธิ์คือตัวจิต จิตนี้เป็นเจ้าของสิทธิ์นะ ไอ้พวกนี้คือผี ความคิดเกิดดับมันเป็นผี เพราะมันเกิดมันดับ นี่ไง ผีมันใช้สิทธิ์ ผีมันไปรู้ธรรมะ รู้ธรรมะด้วยขันธ์ ด้วยความรู้สึกนึกคิด แต่มันไม่เกิดเป็นความจริง ถ้าเกิดเป็นความจริง เห็นไหม เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน ถ้าจิตมันสงบเข้ามาเป็นอจลศรัทธา ศรัทธาตามความเป็นจริง นี่เป็นศรัทธาตามความเป็นจริงขึ้นมา มันพิจารณาของมัน

ที่เขาบอกว่า “จิตสงบแล้วพิจารณากาย”

..โดยสูตร ใครก็บอกว่าจิตสงบแล้วพิจารณากาย จิตสงบแล้วพิจารณากาย แต่พิจารณาอย่างไรล่ะ? แล้วเห็นกายอย่างไรล่ะ?

เห็นกายโดยสามัญสำนึกใช่ไหม ดูสิ เราเห็นกาย เรานั่งมองนี่เราเห็นกายทุกคนแหละ เห็นแล้วเป็นอย่างไรล่ะ เห็นแล้วมันก็เป็นเพศตรงข้ามไง แต่ถ้าจิตของเราเห็นกายของเรานะ มันเห็นโดยที่ไม่ใช่เพศตรงข้าม เพราะเพศนี้ หญิงและชาย เวลาจิตสงบมามันมีหญิงและชายไหม เวลาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามีหญิงและชายไหม หญิงและชาย เห็นไหม ดูสิ อย่างเช่นพระอานนท์ พระอานนท์เป็นผู้หญิงมาก่อน แต่ด้วยความปรารถนาเป็นผู้ชาย นี่พระอานนท์ ๕๐๐ ชาติ พระอานนท์เปลี่ยนจากผู้หญิงมาเป็นผู้ชาย

จิตหนึ่ง! จิตหนึ่ง! มันไม่มีหญิง ไม่มีชายหรอก แต่มันมีหญิงมีชายเพราะอะไร เพราะว่าด้วยบุญกุศล ด้วยแรงปรารถนา เพราะเราเป็นอย่างนี้มา เราก็เป็นอย่างนี้ตลอดไป แต่ถ้ามันจะเปลี่ยนนะ มันเปลี่ยนมันก็เปลี่ยนของมันไป ฉะนั้น เวลาจิตมันสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นกายโดยตามความเป็นจริงของจิตที่เห็น ไม่ใช่เพศเห็น จิตมันเห็น

นี่ถ้าเป็นจิตของหญิง สงบแล้วสมาธิของหญิงมันไม่มี สมาธิของชายมันไม่มี สมาธิก็คือสมาธิ สมาธิคือจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นคือจิตสากล จิตสากลมันออกพิจารณาของมัน มันพิจารณาเพื่ออะไร เอาอะไรพิจารณา เพราะจิตมันสงบ ตัวจิตมันพิจารณา พอพิจารณาแล้วมันก็สั่นไหวในหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นสั่นไหว สั่นไหวคือมันสะเทือนไง

นี่เวลาธรรมสังเวช มันเป็นธรรม แล้วมันสังเวช สังเวชในชีวิตเรา สังเวชในความเป็นอยู่ สังเวชที่จิตมันเกิด จิตเรานี่มันสังเวชตัวมันเอง สังเวชเพราะอะไร สังเวชเพราะมันมีคุณธรรม สังเวชเพราะจิตมันตั้งมั่นของมัน แล้วมันพิจารณาของมันเข้ามา แล้วมันสะเทือนปฏิสนธิจิต

ปฏิสนธิจิตคือตัวจิตที่มาเกิดมาตายอยู่นี่ ความรู้สึกใต้สำนึก จิตใต้สำนึกเรานี่ ปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิฐีติจิต ความรู้สึกนึกคิดเกิดจากภพ เกิดจากจิตดวงนี้ จิตดวงนี้มันเป็นเอกเทศของมัน พลังงานเป็นเอกเทศของมัน ความคิดที่เกิดจากพลังงานไง ถ้าไม่มีพลังงานก็ไม่มีความคิดใช่ไหม แต่พลังงานมันคืออะไร พลังงานมันคือปฏิสนธิจิต มันเป็นตัวพลังงาน แต่ความรู้สึกนึกคิดเกิดจากพลังงานนั้น แล้วพลังงานนั้นมันก็ออกแสวงหา ออกรู้ธรรมๆ กันอยู่นี่

พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ พระพุทธเจ้าบอกให้ทำความสงบของใจเข้ามา.. ศีล สมาธิ ปัญญา พอมันทำความสงบก็ทุกข์ยาก โยมมาทำบุญนี่ทุกข์ไหม กว่าจะออกจากรถมาต้องนัดกัน ต้องอะไรนี่มันทุกข์ไหม การทำความดีต้องอาศัยความดี ขนาดเราทำความดีเรายังต้องนัดกัน ต้องมีความพร้อมกัน บัณฑิตคบบัณฑิต บัณฑิตชวนกันไปทำคุณงามความดี ขนาดระดับของทานมันยังยุ่งยากขนาดนี้ แล้วระดับของศีลล่ะ? ระดับของภาวนาล่ะ?

ระดับของศีลนะ ศีลไม่ต้องทำอะไรเลย ศีลมันมีอยู่แล้ว อันนั้นมันตัวหนังสือนะ ข้อห้าม ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มันเป็นข้อห้าม เหมือนกฎหมายสังคมไทย กฎหมายมันก็อยู่ที่กฎหมายใช่ไหม เราไม่ได้ทำความผิด กฎหมายก็บังคับเราไม่ได้ใช่ไหม ศีล ๕ มันเป็นข้อห้าม ๕ อย่าง ข้อห้าม ๘ อย่าง แต่ศีลล่ะ ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติ มีเจตนาที่ดี เห็นไหม ศีลมันเกิดที่นี่ ศีลคือความปกติของใจ

ทาน ศีล ทีนี้ศีลมันไม่ปกติสิ ศีลไม่ปกติ อยากได้นั่น อยากได้นี่นะ มโนกรรม นี่เวลาพระผิดศีลนะเพราะอะไร เพราะพระมีการกระทำถึงผิดศีล แต่ความคิดมันผิดศีลไหมล่ะ มโนกรรม เห็นไหม นี่เราคิดแต่เราไม่ได้ทำ อ้าว.. คิดแล้วไม่ได้ทำ มันจะผิดศีลตรงไหนล่ะ มันไม่ผิดเลย พออย่างนั้นแล้วศีลอยู่ไหนล่ะ ศีลก็อยู่ในข้อ ๕ นั่นไง ข้อ ๘ นั่นไง ศีลมันก็ไปอยู่ในตัวอักษรไง มันไม่ได้อยู่ที่เราเลย

อ้าว.. ถ้าศีลอยู่ที่เราล่ะ? ศีลอยู่ที่เรา เวลามันคิด มโนกรรมนะ คิดอย่างนี้เป็นอกุศลนะ ผิด ถ้าคิดอย่างนี้เป็นอกุศลนะ เห็นไหม ถ้ามีศีลคือความปกติ พอปกติต่อเนื่อง เรามีคำบริกรรมอย่างต่อเนื่อง นี่ศีล สมาธิ.. พอเข้าสมาธิ สมาธิคืออะไร สมาธิคือพลังงานที่มันไม่ได้คิด นี่น้ำนิ่งแต่ไหลอยู่! น้ำนิ่งแต่ไหลอยู่ จิตนิ่งแต่มีพลังงานอยู่

ไอ้นี่บอก “ว่างๆ ว่างๆ”

..ว่างๆ ก็อวกาศไง เวลาบอกศีล ศีลก็อยู่ในตำราไง นี่บอกสมาธิหรือ สมาธิก็อยู่ในความว่างไง สมาธิก็อยู่ในโอ่งในไหไง ในโอ่งในไหมันไม่มีอะไรบรรจุเลยมันก็ว่างไง ในโอ่งมันก็ว่างๆ ในโอ่งมันไม่มีอะไรอยู่เลย แต่โอ่งมันไม่เป็นสมาธินะ โอ่งมันไม่เป็นสมาธิ จิตใจเราก็ไม่เป็นสมาธิ พอบอกไม่เป็นสมาธิ เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา

ในเมื่อไม่มีสมาธิ ไม่มีกำลังงาน ไม่มีพลังงาน ไม่มีต่างๆ แล้วปัญญามันเป็นปัญญาของใคร ปัญญาคือสามัญสำนึก ปัญญาที่เกิดโดยธรรมชาติ เกิดโดยสัญชาตญาณ อันนี้เกิดโดยกิเลส เกิดโดยกิเลสเพราะอะไร เพราะจิตนี้เป็นอวิชชา จิตนี้มันมีอวิชชานอนเนื่องมากับจิต ปฏิสนธิจิต พลังงานนี้มันเป็นพลังงานที่เราควบคุมไม่ได้ มันถึงมีอวิชชา แล้วพอพลังงานสามัญสำนึกเกิดจากอะไร ก็เกิดจากอวิชชา เกิดจากพลังงาน

พอพลังงานเกิดขึ้นมา นี่ไงมันเกิดจากกิเลสไง เกิดจากความไม่รู้ อวิชชาคือความไม่รู้ นี่พลังงานนี้ไม่รู้ตัวมันเลย ใครรู้จักจิตบ้าง ใครเห็นสมาธิตัวเองบ้าง ใครรู้จักตัวเองบ้าง อ๋อ.. กระผมก็นาย ก.ไง นาย ก. ก็อยู่ที่กรมทะเบียน อยู่ที่กระทรวงมหาดไทยไง แล้วเวลานาย ก. ตายนะ ก็ต้องไปจำหน่ายจากกระทรวงมหาดไทยนะ เออ.. มันสมมุติมาได้ทั้งนั้น แล้วตัวมันอยู่ไหนล่ะ?

แต่ถ้าจิตสงบเข้ามา นาย ก. ที่อยู่ที่กรมการปกครองนะ ไอ้นั่นมันทะเบียนบ้าน ไอ้จิตเรา เอ๊อะ! เอ๊อะ! มันเป็นสมาธิ มันมีกำลังของมัน ถ้ามีกำลังของมัน นี่เวลาปัญญามันเกิด มันไม่ใช่ปัญญาเกิดโดยสัญชาตญาณ ปัญญาเกิดโดยอวิชชา สิ่งที่เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าๆ นี่มันเกิดจากอวิชชา เกิดจากความไม่รู้ไง

ไม่รู้ แล้วไปศึกษาธรรมะนะ ศึกษาธรรมวินัย ศึกษาแล้วรู้ แต่รู้ของพระพุทธเจ้า ตัวเองยังโง่อยู่ แต่พอจิตมันเป็นสมาธิ จิตมันเป็นความจริงของมัน เวลาปัญญามันเกิด มันเกิดจากไหนล่ะ มันเกิดจากพลังงาน มันเกิดจากสัมมาสมาธิ มันเกิดจากฐีติจิต แล้วถ้าฐีติจิตมันออกไป นี่ออกไปด้วยอะไร ออกไปด้วยภาวนามยปัญญาไง ปัญญาเกิดจากการภาวนา เห็นไหม ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา ภาวนาเป็นโลกุตตรธรรม

นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราเคารพศึกษากัน นั้นเรื่องหนึ่ง แต่ธรรมที่เกิดจากเราล่ะ! ธรรมที่เกิดจากเราล่ะ! ธรรมที่เกิดจากเรา มันสะเทือนหัวใจของเราไง ฉะนั้น เวลาคนที่เขาบรรลุธรรมๆ เขาบรรลุธรรมกันที่นี่ เขาบรรลุธรรมในหัวใจของเขา ในหัวใจของเขามันจะเป็นความจริงขึ้นมา

มันเป็นความจริงขึ้นมาเพราะการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นความจริง เป็นข้อเท็จจริง มันเป็นความจริงขึ้นมาจากอริยสัจ สัจจะความจริง มันไม่ใช่เป็นความจริงจากความจำ มันเป็นความจริงจากอันนั้นขึ้นมา นี่พูดถึง “ดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง”

ถ้าเรามีเป้าหมาย คนที่มีเป้าหมายนะ หลวงตาท่านบอกว่า “ในสังคมพระเราเชื่อว่าหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์” แล้วหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ท่านยังเก็บเล็กผสมน้อย ท่านเป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่างที่ดี ท่านเป็นพระอรหันต์นะ ท่านยังไม่ทำสิ่งใดก้าวล่วงธรรมวินัยเลย อยู่ในหลักในเกณฑ์ เก็บเล็กผสมน้อย ไม่ก้าวล่วง เพื่อเป็นแบบอย่าง

นี่พูดถึงว่า ถ้าผู้ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริง เพราะเราเดินมาอย่างใด เราผ่านมาด้วยวิธีการอย่างใด เราประพฤติปฏิบัติมาด้วยเหตุและผลอย่างใด ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ท่านจะสงวนสิ่งนี้ไว้ให้พวกเราก้าวเดินตาม แล้วก้าวเดินตาม เดินตามที่ไหนล่ะ ก็เดินตามแบบข้อวัตรปฏิบัติที่เราทำกันอยู่นี่ มันขัดแย้งกับความรู้สึกทั้งนั้นแหละ

ทุกดวงใจต้องการความสะดวก ต้องการความสบาย อะไรมันขัดแย้งในใจไปหมดแหละ แต่ถ้าเรามีเป้าหมายนะ มันจะขัดแย้งขนาดไหนเราก็ต้องตั้งใจของเรา เพราะเรามีเจตนาอยากจะพ้นจากทุกข์ เรามีเจตนานะ

เราเกิดเป็นชาวพุทธ นี่มนุษย์สมบัติมันมีค่ามาก มนุษย์สมบัตินะ เพราะอะไร เพราะมีจิต ถ้าจิตมันเคลื่อนออกจากร่างกายนี้ไปนะ ซากศพนี่นะไม่มีความหมายอะไรเลย ซากศพของสัตว์มันยังเป็นสินค้า ซากศพของมนุษย์มีแต่คนไม่ต้องการ ถ้ายังมีดวงใจอยู่ ยังมีความรู้สึกอยู่ มันมีโอกาสของเรา เห็นไหม นี่พูดถึงมนุษย์สมบัติ แล้วมนุษย์สมบัตินี่นะ ถ้ามันประพฤติปฏิบัติของมันตามความเป็นจริง เห็นไหม โลก วิชาชีพ อาชีพของเขา เขาใช้วิชาชีพของเขา เขาหาปัจจัยเครื่องอาศัยในโลกนี้

จิต! จิตเวลามันรื้อค้นธรรมะของมันในหัวใจขึ้นมา ถ้าพูดถึงมันเป็นธรรมขึ้นมา อย่างน้อยถ้าเป็นโสดาบัน มันจะเกิดในวัฏฏะนี้อีก ๗ ชาติเท่านั้น คือว่าจิตดวงนี้ที่มันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันจะหมุนไปตามแรงขับ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้ามันทำชั่วของมัน มันมีอกุศลของมัน มันจะมีน้ำหนักของมัน เวลามันตายมันจะกดถ่วงให้จิตนี้มีน้ำหนักไป

ความดี! ความดีมันเกิดเป็นฟองอากาศ มันจะเกิดจากความเบา มันเหมือนกับปุยนุ่น ถ้าทำคุณงามความดีขึ้นมา เวลามันตายไป ความดีนี้มันจะทำให้จิตใจนี้สูงขึ้น ความสูงกับความต่ำ ความสูงความต่ำนี้เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นโลก แต่ในความเป็นจริงมันเป็นความรู้สึกนี่แหละ ถ้ามันหนักหน่วงในใจมันก็ทุกข์ ถ้ามันปลอดโปร่งมันก็โล่ง

ความโล่ง ความปลอดโปร่งของใจ นี่บุญกุศลและบาปอกุศล มันทำขึ้นมาแล้ว มันให้ผลของตัวมันเอง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นความรู้เฉพาะตนนั้นน่ะ ความลับไม่มีในโลก คนทำชั่ว จิตใจที่มันทำนี่มันปิดคนอื่นได้ แต่มันปิดใจของมันไม่ได้ ใจที่มันทำมันต้องรู้หมด เพียงแต่ว่ามันทำแล้วมันคิดว่ามันปิดสังคม ปิดไม่ให้ใครรู้ แต่กรรมของมันต้องให้ผลแน่นอน แล้วถ้ามันเป็นความจริงล่ะ?

ถ้ามันเป็นความจริงนะ จิตเป็นสมาธิ มันต้องรู้จักสมาธิ เวลาจิตเป็นสมาธิ เห็นไหม ดูสิเวลาคนทำสมาธิได้ เขาก็พูดขั้นของสมาธิได้ อู้ฮู.. มันเป็นความว่าง มันเป็นนิพพาน เพราะผู้ทำสมาธิแล้วส่วนใหญ่จะติดในสมาธิ เพียงแต่ว่าในปัจจุบันนี้สังคมของเรา สังคมชาวพุทธนี่ ครูบาอาจารย์ของเราท่านผ่านมา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่สมาธิเป็นอย่างนี้ๆ เหมือนสังคมเขารับรู้กันไง มันเป็นเรื่องสาธารณะที่เราเข้าใจได้

ฉะนั้น ความติดอยู่ ถ้าเรามีครูมีอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเรานี่ เห็นไหม พ่อแม่ครูอาจารย์ พ่อแม่เลี้ยงลูกเลี้ยงได้แต่ร่างกาย เลี้ยงจิตใจไม่ได้ นี่อาจารย์เราก็เลี้ยงเหมือนพ่อแม่นี่แหละ แต่ท่านเป็นครูจารย์

“พ่อแม่ครูจารย์” เลี้ยงทั้งร่างกายและเลี้ยงทั้งจิตใจ จิตใจเวลาเห็นผิด จิตใจเวลามันยึดมั่นถือมั่นของมัน จิตใจเวลามีทิฐิมานะ ครูบาอาจารย์ท่านจะใช้อุบายนะ ถ้าบอกเรารู้เราเห็นของเรา พออาจารย์บอกว่าผิดนะ มันจะเกิดทิฐิมานะในการยึดว่าอาจารย์ไม่รักเรา เราภาวนาเก่งขนาดนี้ทำไมอาจารย์ท่านยังติเรา มันเกิดความทิฐิ มันยึดมั่น

เวลาภาวนาไปแล้วครูบาอาจารย์ท่านจะใช้อุบาย ถ้าของเราเป็นความจริง ท่านจะเสนออุบายว่าควรทำอย่างนี้เปรียบเทียบ ควรทำอย่างนี้เปรียบเทียบ ถ้าเราเปรียบเทียบแล้วเราจะเห็นเลย เราจะรู้เลยว่าสิ่งที่เรารู้อยู่ กับสิ่งที่เราปฏิบัติใหม่ ความรู้สึกนึกคิด นี่ผลตอบสนองมันแตกต่างหรือเหมือนอย่างใด

สิ่งใดที่มันดีกว่า มันต้องทิ้งสิ่งที่เลวกว่าแน่นอน! ถ้ามันดีกว่า สิ่งที่ดีกว่าใครจะไปเอาสิ่งที่เลวกว่า ถ้าเรารู้ของเราจริงนะ แต่เพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ เราถึงได้ยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนี้เป็นความดีๆ ถ้าเรายึดของเรา อันนี้ถ้ามีครูบาอาจารย์มันจะแก้ไขตรงนี้ได้ นี่ครูบาอาจารย์ถึงสำคัญ

ครูบาอาจารย์ในการฝ่ายประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติ หรือครูบาอาจารย์ไม่เคยประสบ เวลาลูกศิษย์ถามนะ อ้าปากหวอเลยล่ะ ไม่รู้หรอก แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ ลูกศิษย์ไม่ต้องถามหรอก รู้แล้ว เพราะในการประพฤติปฏิบัติ ในระยะทางเดิน มันต้องเดินมาอย่างนี้แหละ

“ดอกบัวเกิดจากโคลนตม”

เราเกิดมาจากอวิชชา เราไม่มีความสงสัยในใจเลยหรือ มันเป็นไปไม่ได้ เวลาคนเกิดมาในจักรวาลนี้ เกิดมาในวัฏฏะนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ไม่มีสัตว์ใดในโลก เกิดมาแล้วว่ามีสมความปรารถนา มีความสุข ไม่มี! ไม่มี! ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง เพียงแต่ถ้าคนปฏิบัติเป็น ยืนยันได้! ยืนยันได้ มันต้องเป็นความจริงของมันอย่างนั้น

ฉะนั้น ถ้าเป็นความจริงแบบนั้น เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์ท่านถึงจะค่อยแก้ให้ไง ทุกข์นี้ควรกำหนด ไม่ใช่ไปละที่ทุกข์นั้น ทุกข์นี้เป็นวิบาก เป็นผล อย่างเช่นชีวิตมนุษย์ นี่เขาบอกโลกนี้มีเพราะมีเรา ไอ้คนเข้าใจผิดมันก็ทำร้ายตัวเองเลย ฆ่าตัวซะ มันจะได้ไม่มีเราจะได้ไม่มีทุกข์ แล้วมันจริงไหมล่ะ? มันเป็นไปไม่ได้หรอก!

โลกนี้มีเพราะมีเรา แล้วเรามันอยู่ที่ไหน ทิฐิ มานะทิฐิก็คือเรา จิตนี้ก็คือเรา แล้วเราเข้าไปสู่จิต สู่ความสงบแล้วเอาจิตนี้มาตีแผ่ ตีแผ่ เห็นไหม เราฆ่ากิเลสแต่ไม่ใช่ฆ่าเรา เวลาเราฆ่ากิเลส สังโยชน์ ๓ ตัว สังโยชน์ ๕ สังโยชน์เบื้องต่ำ สังโยชน์เบื้องสูง สังโยชน์คือความผูกมัด

นี่สักกายทิฏฐิความเห็นผิด ทุกคนเห็นผิด เห็นไหม อะไรก็เป็นเรา อะไรก็เป็นเรา แล้วเป็นเราไหม.. เป็น! เป็นเราจริงๆ แต่เป็นโดยสมมุติไง เป็นโดยวาระหนึ่ง วาระชีวิตนี้ นี่มันเป็นจริงตามสมมุติ มันมีสมมุติบัญญัติ

วิมุตติ บอกว่าวิมุตติๆ นู่นก็ไม่ใช่เรา นี่ก็ไม่ใช่เรา อะไรก็ไม่ใช่เรา ..ไม่ใช่เราก็อย่าทุกข์สิ ถ้าไม่ใช่เราก็อย่าทุกข์ ทุกข์ก็ต้องไม่ใช่เราสิ เวลาทุกข์มาบอกไม่ใช่เรา นอนกระดิกเท้าเลย ทุกข์ไม่ใช่เรา..ทุกข์ไม่ใช่เรา.. มันเป็นไปได้ไหมล่ะ? ทุกข์เป็นความจริง! ทุกข์นี้เป็นวิบาก เป็นผล จับทุกข์ไว้ ทุกข์นี้ควรกำหนด พระพุทธเจ้าให้กำหนดทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร? ทุกข์เพราะอะไรล่ะ.. ทุกข์เพราะการเกิด

“ชาติปิ ทุกขา การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง”

เพราะการเกิดมีสถานะรับทุกข์ทุกอย่าง จะเข้าสู่หัวใจนี้ ถ้าเราไม่ได้เกิดมา จิตนี้มันก็วนในวัฏฏะ มันก็อีกสถานะหนึ่ง แต่เมื่อเราเกิดแล้ว เราหนีไม่ได้ เราหนีสภาวะความเป็นมนุษย์ไม่ได้ ถ้าหนีไม่ได้เราจะแก้ไขอย่างใด เห็นไหม มันต้องยอมรับไง พอยอมรับ นี่ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ควรละคือความเห็นผิดของเรานี่ไง

สมุทัย ตัณหา วิภวตัณหา มันจะละอย่างไรล่ะ มันก็ต้องกำหนดที่ทุกข์นี่แหละ ที่ตัวจริง เกิดมาทุกข์ไหม? ทุกข์เพราะเหตุใด อ้าว.. ทุกข์เพราะยึด ยึดสมบัติ ยึดครอบครัว ยึดทุกอย่าง นี่ยึดนะ แต่ยึดเราไม่ได้บอก ยึดเราไม่เห็น ไม่เห็นเพราะไม่มีสมาธิ ไม่เห็นเพราะจิตไม่ตั้งมั่น แต่เวลายึดสมบัติ ยึดครอบครัวนี่เห็นได้ รู้ได้ เพราะมันเป็นสมมุติด้วยกัน สมมุติกับสมมุติมันเข้ากัน เวลามันบัญญัติล่ะ บัญญัติคือธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ไปศึกษาธรรมวินัยนี้ไง

นี่ไง นั่นไม่ใช่เรา นี่ไม่ใช่เรา ไม่มีอะไรเป็นเราซักอย่างเลย แต่ทุกข์น่าดู แต่พอจิตมันสงบเข้าไปนะ จิตมันสงบเข้าไป เห็นไหม นี่สิ่งที่เกิดจากจิตมันเสวย มันเป็นข้อเท็จจริง ถ้ามันไม่เสวย มันก็ไม่อมทุกข์ แล้วเสวยทำไมล่ะ มันต้องเสวยอยู่แล้ว เพราะมันเป็นพลังงาน มันเป็นความจริง เพราะเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น แต่พอจิตสงบแล้วมันรู้ มันเห็น พอรู้เห็นก็ยังไม่ทัน ไม่ทันเพราะมันจะลากเราไป เพราะสัญชาตญาณมันเคย

แต่พอมีสติตั้งมั่น มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม.. การเห็นโดยจิตเห็น กับสัญญาเห็น กับสามัญสำนึกเห็น ไม่เหมือนกันนะ สัญญาเห็นก็เห็นกันไปนี่แหละ

แต่ถ้าเป็นจิตเห็นนะมันสั่นไหว มันสะเทือนกิเลส พอมันสะเทือนกิเลสนะ มันใช้วิปัสสนาใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้านะ มันจะเป็นตทังคะคือมันปล่อย..มันปล่อย.. มันสักแต่ว่าปล่อย สักแต่ว่าปล่อย ไม่มีเหตุ ไม่มีผล เหตุผลยังไม่เพียงพอ

นี่ขยันหมั่นเพียรเข้า พิจารณาบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า จนมันขาด! พอมันขาด กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย อ้าว.. ที่จริงตามสมมุติ นี่ความรู้สึกนึกคิด นี่เป็นเราๆ เวลามันขาดแล้วทำไมไม่ใช่เราล่ะ อ้าว.. ไม่ใช่เราก็ถีบมันทิ้งสิ

ไม่ใช่.. ไม่ใช่เราก็อยู่ด้วยกันนี่แหละ เหมือนเดิมนี่แหละ แต่มันปล่อยความยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น จิตใต้สำนึกนี่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสมันจะขาด พอมันขาดไปนะ มันเป็นอกุปปธรรม..

เขาบอกว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมะเป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตา”

..อันนี้มันเป็นสภาวะที่มันเปลี่ยนแปลง นี้เป็นอนัตตา แต่ความจริงไม่ใช่อนัตตา!

ความจริงเป็นความจริง กุปปธรรม อกุปปธรรม.. อกุปปธรรมไม่ใช่อนัตตา มันเป็นธรรมแท้ๆ มันเป็นธรรมในหัวใจ เพราะ! เพราะถ้ามันเป็นอนัตตา มันก็เวียนตายเวียนเกิดไง มันก็เป็นธรรมชาติของมันไง แต่นี้มันเหนือธรรมชาติ ธรรมชาติไม่มีอำนาจเหนือมัน มันมีอำนาจเหนือธรรมชาติ มันมีอำนาจเหนือการเวียนตายเวียนเกิด มันมีอำนาจการฉุดกระชากลากไป มันมีอำนาจเหนือการหมุนเวียน มันเหนือ!

มันเหนือเพราะอะไร? เหนือเพราะมันเกิดมรรคญาณที่มันทำลายแล้ว มันถึงไม่ใช่อนัตตา.. สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะที่เป็นอนัตตา ธรรมะที่ครูบาอาจารย์สอนที่เป็นวิชาการ ที่เป็นการประพฤติปฏิบัติ แต่พอเป็นความจริงแล้วมันเป็นความจริงนะ ไม่ใช่อนัตตา! นี้สภาวธรรมที่แท้ สภาวธรรมที่จริง ถ้ามันทำของมันได้

นี่พูดถึงว่า “ดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง” เราต้องการประพฤติปฏิบัตินี้ในพุทธศาสนา แล้วมันก็เป็นประเพณีวัฒนธรรม มันก็เป็นสิ่งที่บุญกุศลสร้างกันไป อันนี้เพราะว่ามันเป็นวิบากกรรม มันเป็นความเห็นไง มันเป็นความเห็นนะ ฉะนั้น ถ้าเทศน์ไปมันก็จะไปเรื่อยเนาะ จะเข้านี่เลยล่ะ เพราะมันถึงบารมี

นี่คำถามนะ ถ้ามีคำถามให้ส่งคำถามมาเลย

 

ถาม : บารมีสำคัญอย่างไรในการภาวนา แล้วเราจะสร้างสมบารมีได้อย่างไร ที่จะช่วยในการภาวนานี้ ถ้าบารมีไม่พอ ถึงเราจะพยายามภาวนาแล้วแต่ไม่ได้จะทำอย่างไร

หลวงพ่อ : ก็ทำแบบที่เราภาวนานี่แหละ เพราะทาน ศีล ภาวนา มันไม่มีบุญกุศลสิ่งใดที่เหนือกว่าการภาวนา เพราะการภาวนามันจะเกิดสร้างเชาว์ สร้างปัญญา เวลาทำบุญกุศล เห็นไหม เกิดอามิส เกิดผลบุญกุศล เกิดวัตถุ

อย่างที่ว่ามีอำนาจวาสนา มีวิมาน มีต่างๆ ที่เวลาเราเกิดในวัฏฏะ แต่เกิดในภพใด ชาติใด ทุกข์ทั้งนั้น! เกิดเป็นพรหมก็ทุกข์ เกิดเป็นเทวดาก็ทุกข์ เกิดเป็นสิ่งใดก็ทุกข์ เพราะการเกิดและการตาย ใครเกิดในสถานะไหนต้องตายจากสถานะนั้น ทุกข์ทั้งนั้น! เพราะธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มันรักชีวิตมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “บารมีสำคัญอย่างไร”

บารมีนี่ บารมีในการกระทำ ขิปปาภิญญาที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติยากรู้ยาก เห็นไหม พาหิยะที่ว่าไปฟังพระพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์ ก่อนจากชาติที่พาหิยะจะมาเกิดเรือล่มนั่นน่ะ นี่ไปภาวนาอยู่บนหน้าผาตัด สละตายมาแล้วชาตินั้น นี่ภาวนาตายๆ มากี่ภพที่ชาติ แต่พอมาฟังพระพุทธเจ้าถึงจะไป

ไอ้เราทำอะไรมาล่ะ ไอ้เราเพิ่งกินข้าวออกมาจากบ้าน เพิ่งลุกจากที่นอนมา บอกว่าจะมาฟังเทศน์ทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย มันไม่มีหรอก ฉะนั้น เราก็ต้องสร้างของเราขึ้นมา อยู่ที่การภาวนานี่แหละ

“บารมีสำคัญอย่างใด”

แล้วถ้าบารมีนี้เราไม่มี เราพยายาม ก็พยายามภาวนาอย่างนี้แหละ หนักเอาเบาสู้! พยายามของเรา พยายามของเรา เห็นไหม มันก็มีประสบการณ์ของใจ นี่วันนี้ภาวนาล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลานเพราะเหตุใด กลับมาทบทวนเลย ทบทวนเสร็จแล้วนะเราพยายามของเราขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าจิตมันดีขึ้นนะ ดีขึ้นเพราะอะไร เพราะเราทบทวนแล้ว เราดัดแปลงตนมันก็ดีขึ้น

ดีขึ้น มันต้องมีเหตุมีผล มันเป็นวิทยาศาสตร์หมดเลย นี่การภาวนานี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบได้เลย ทำไมเราทำไม่ได้ เหมือนกับเราต้มน้ำ เราต้มแล้วเราควบคุมไฟ ทำไมน้ำมันเดือด ถ้าเราไม่ดูแลไฟ เอาน้ำไปตั้งไว้แล้วไม่เคยดูแลไฟ ไม่จุดไฟด้วย เอาน้ำตั้งไว้แล้วนึกว่าจุดไฟแล้ว ๕ ปี น้ำก็ไม่เดือด

นี่ก็เหมือนกัน เราภาวนาของเรา เราตั้งสมาธิภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันไม่ลงให้มันรู้ไป ถ้ามันไม่ลงเพราะเหตุใด พอมันไม่ลงปั๊บนะเราก็เริ่มผ่อนอาหาร ไม่ลงเพราะการอยู่การกินนี่แหละ มันทำให้ไปทับจิต จิตเรานี่โดนธาตุโดนขันธ์ทับ กินอิ่มนอนอุ่น ใครกินดีๆ แล้วไปนั่งภาวนานะ สัปหงกนะหัวทิ่มบ่อเลย แล้วถ้าเริ่มผ่อนๆ มานี่ จิตใจมันจะดีขึ้น แต่มันหิว

ธรรมชาตินะ ร่างกายเคยกินอาหารจนเคยชิน พอเวลาเราเริ่มระงับ เริ่มงดไป มันก็ต้องอยากเป็นธรรมดา ถ้ามันอยากเป็นธรรมดา ใจเรามีเหตุมีผลว่าเราต้องการสิ่งใด มันก็จะเข้มแข็ง พอมันเข้มแข็งขึ้นมานี่มันทำได้ แต่ถ้าจิตใจอ่อนแอ เห็นไหม อ้าว.. เอาวิทยาศาสตร์มารองรับเลย ก็ธรรมดาคนเกิดมาแล้วก็ต้องกินอาหารเพื่อดำรงชีวิต นี่เวลากิเลสมันอ้างเล่ห์นะ มันอ้างหมดแหละ

แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เราใช้ปัญญาไล่กลับนะ สิ่งนี้มันจะเบาลง มันเบาลงเพราะภาวนามีเหตุมีผล มันจะติดใจกับผลของภาวนา พอมันติดใจปั๊บ ไอ้เรื่องที่ว่าเราจะอดนอนผ่อนอาหารนี่ทำได้แล้ว เพราะมันเห็นผล คนเราถ้าเห็นผลแล้วนะ เหตุที่ทำแล้วได้ผลอย่างนั้น เราจะดูแลรักษาที่เหตุ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ธรรมนี้ไม่ได้มาจากฟ้า ถ้าจิตสงบก็ต้องทำให้สงบ ถ้าจิตมันสงบเอง อันนั้นมันส้มหล่น ไอ้ฟลุคนี่มีไม่มากหรอก แต่ถ้ามันมีของมัน มันทำของมันได้บ้าง แต่ถ้ามันควบคุมไม่ได้ เห็นไหม การปฏิบัติที่เราปฏิบัติกันแล้วไม่ได้ผล เพราะการปฏิบัติที่ไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวสุข มันไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย แต่ถ้าเราควบคุมของเรา พอเราควบคุมของเราเหมือนขับรถ ขับรถนี่เราควบคุมทุกอย่างได้ สิ่งนั้นมันจะเป็นประโยชน์กับมัน เพราะเราควบคุมได้

ทีนี้พอเรากลับมาดูเรื่องอาหาร เรื่องความเป็นอยู่ของเรา เห็นไหม ศีลนี่สำคัญ ศีล ๘ ไม่กินข้าวเย็น แล้วถือธุดงควัตร ฉันมื้อเดียว ฉันมื้อเดียวแล้วยังผ่อนอีก ยังอดนอนอีก เพราะอะไร เพราะเขาต้องการตรงนั้น ถ้าต้องการตรงนั้นนะ คนเวลาง่วงนอน แล้วนอนให้หายง่วงนอน ยากมาก ถ้าง่วงนอนนะ ง่วงนอนแล้วเราฝืนมันบ้าง ฝืนบ้าง ความง่วงนอนนั้นเราจะแก้ได้

นี่อดนอนผ่อนอาหาร มันก็จะกลับมาที่ว่า จะสร้างในการภาวนาไง “ภาวนาแล้วทำไม่ได้ ทำอย่างใด” นี่มันต้องแก้ไขของมันนะ

 

ถาม : ทำสมาธิแล้วพยายามน้อมไปที่กาย แต่เหมือนหลุดออกจากสภาวะปกติ จะทำสมาธิเข้าไปใหม่ เหมือนจะทำเข้าไปไม่ได้ ลำบากขึ้น ควรทำอย่างใด

หลวงพ่อ : ทำสมาธิ เราทำสมาธิเพื่อความสงบของใจ พอใจมันสงบแล้ว หลวงตาท่านจะสอนว่า “ให้หัดฝึกใช้ปัญญา” ทำสมาธิแล้ว ศีล สมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเอง มีสมาธิแล้ว เดี๋ยวมรรค ผล นิพพาน มันจะสวมพวงมาลัยให้เลย นี่อีก ๑๐๐ ชาติ ให้ทำอีก ๕,๐๐๐ ชาติ ก็ไม่มีสิทธิ์

มันจะต้องพอจิตมันสงบแล้วเราต้องหัดฝึกใช้ปัญญา แล้วจิตสงบมาก สงบน้อย เราหัดใช้บ่อยๆ เข้า พอจิตเริ่มสงบนะ พอจิตสงบปั๊บเราจะมองภาพ มองสภาวะต่างๆ เข้าใจ ถ้าจิตไม่สงบนะ มองสิ่งใดก็มองไม่ออก แล้วเป็นเรา เหมือนเรา แต่ถ้าจิตเริ่มสงบขึ้นมา มันจะมองสภาวะนี้เข้าใจ แล้วพอจิตสงบมากขึ้นนะ สภาวะนี้แจ่มแจ้งเลย เอ๊ะ.. นั่นก็ผิด นั่นก็ไม่ดี นี่มันรู้ไหม แต่ถ้าวันไหนจิตมันสงบนะ เออ.. อะไรก็ดีไปหมดเลย

นี่มันเกิดจากสมาธิ พอสมาธิมันมีฐาน ฝึกใช้ปัญญาได้แล้ว ฝึกใช้ปัญญาแบบเริ่มต้นที่บอกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าเรามีสมาธิแล้วเราใช้ปัญญานะ มันจะซาบซึ้ง มันจะทิ่มหัวใจ แต่ถ้าวันไหนมันจิตใจไม่ดีนะ คิดธรรมะนะ ฮึ.. ธรรมะเขาเอาไว้ให้พระ เราเป็นฆราวาสไม่เกี่ยวกับธรรมะ

มันปฏิเสธเลย ถ้าวันไหนจิตไม่ดีนะ ธรรมะก็ของพระ ไอ้เราก็ทำมาหากิน มันไม่เกี่ยวกันเลย แต่ถ้าวันไหนจิตมันสงบ มันดีนะ พอธรรมะสะเทือนหัวใจ ซาบซึ้งมาก มันสะเทือนหัวใจมาก โอ้โฮ.. เรามีค่าเนาะ เราเกิดมายังพบพระพุทธเจ้าเนาะ เราเกิดมาเรายังได้ศึกษาเพราะเกิดธรรมะแล้ว พอเกิดธรรมะแล้ว หัวใจที่มันอมทุกข์อยู่นี้มันปล่อยวางชั่วคราว

นี่เราก็รับรู้รสได้ถ้าจิตมันสงบ พอจิตสงบเราฝึกของเราบ่อยๆ เข้า นี้คือการฝึกใช้ปัญญา พอฝึกใช้ปัญญาปั๊บ พอจิตไม่สงบ ทำไมจิตสงบแล้วเมื่อก่อนเราคิดดี ทำไมเดี๋ยวนี้เราคิดไม่ดี.. คิดดีเพราะมีพื้นฐาน คิดไม่ดีเพราะพื้นฐานมันไม่มี ฉะนั้น พอเราใช้ปัญญาบ่อยๆ ครั้งเข้า มันจะเจอสภาวะนี้ โอ๋ย.. เมื่อวานทำไมคิดได้ ทำไมวันนี้คิดไม่ได้ ทำไมมันเป็นแบบนี้ นี่มันขาดสมาธิ พอเราใช้ปัญญาแล้วเราก็ต้องกลับไปที่สมาธิ

ไม่ใช่ว่าพอเป็นสมาธิ.. ส่วนใหญ่แล้วเขาคิดกันอย่างนี้ คิดว่าสมาธินี่เหมือนกับวัตถุ ถ้าสมาธิมี ก็เหมือนมีตลอดไปไง เหมือนที่ว่าเรามีเงิน ๑๐๐ บาท เงิน ๑๐๐ บาทก็อยู่ตลอดไป ไม่ใช่! เงิน ๑๐๐ บาทนี้มันเป็นกระดาษ กระดาษ ๑๐๐ บาท จะอยู่กับเราตลอดไป แต่ถ้าเป็นสมาธินะ เรามีสมาธิ เดี๋ยวเดียวสมาธิมันก็ลดแล้ว จาก ๑๐๐ ก็เหลือ ๘๐ จาก ๘๐ เหลือ ๕๐ พอ ๕๐ เราก็ต้องกลับไปทำพุทโธ

สมาธิมันมาจากเหตุ สมาธิมันมาจากคำบริกรรม สมาธิมันมาจากอานาปานสติ สมาธิมันเกิดจากปัญญาอบรมสมาธิ พอสมาธิ เราไปใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จาก ๘๐ มันก็เพิ่มขึ้นมา ๑๐๐ จาก ๕๐ ก็เพิ่มมา ๘๐ เห็นไหม ถ้าสมาธินี่เหมือนอุณหภูมิในน้ำ ถ้าไฟเราดีนะ อุณหภูมิน้ำนั้นจะเดือดตลอดเวลา แต่ถ้าไฟมันเริ่มเย็นลงนะ อุณหภูมินั้นมันเย็นลง น้ำมันก็เย็นลง

นี่พูดถึงสมาธิ แล้วพอมีสมาธิแล้ว ถ้ามันฝึกใช้ปัญญา ถ้าเราน้อมไป ถ้ามันน้อมไปได้ น้อมไปแล้วเห็นกาย อันนั้นเกิดจากบารมี บารมีของคนนะ ถ้าคนจิตมันสร้างอำนาจวาสนามา เวลาน้อมไปนี่จะเห็นกาย แต่ส่วนใหญ่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ไม่เห็น จิตเป็นสมาธิก็ไม่เห็น นี่คำว่าไม่เห็นเพราะอะไร คำว่าไม่เห็นเพราะบุญกุศลของคนมันแตกต่างกัน

บุญกุศลของคน คนที่สร้างบุญมาก ถ้าสร้างบุญมามันมีบุญกุศลนะ พอจิตสงบนี่เห็นเป็นกระดูก เห็นเป็นโครงมาต่างๆ เลย แต่ถ้าไม่ได้สร้างมา จิตสงบก็รู้ว่าสงบ แล้วให้เห็นมันก็ไม่เห็น ส่วนใหญ่แล้วคนเป็นแบบนี้ จิตของคนมันต่างกัน ถ้าอย่างนี้ไม่เห็นต้องรำพึง รำพึงขึ้นมาให้เห็นกายไง รำพึงคือคิดในสมาธิ รำพึงเลยรำพึงเรื่องกายขึ้นมา รำพึงขึ้นมา รำพึงขึ้นมา พอมันจับได้ พอมันเห็นกายขึ้นมามันก็หลุด มันไม่คงที่ ให้กลับมาที่ทำสมาธิ

นี่มันต้องฝึกไง เริ่มต้นต้องฝึกของมันไป มันถึงจะก้าวเดินออกเป็นวิปัสสนา ออกเป็นสติปัฏฐาน ๔ ที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เนี่ย สติปัฏฐาน ๔ ด้วยความรู้สึกนึกคิด สติปัฏฐาน ๔ ผี คือจากความคิด ถ้าสติปัฏฐาน ๔ มันต้องเกิดจากจิต เกิดจากจิตเห็นแล้วมันสะเทือนหัวใจ แล้วทีนี้จิตมันสงบแล้วมันไม่เห็นจะทำอย่างไรล่ะ แล้วให้ไปคิดมันก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ ผีน่ะสิ

ผีคือความรู้สึกนึกคิดเกิดจากจิต จิตคือตัวพลังงาน ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นพลังงานนี่ เห็นไหม ดูสิ ปัญญาในขันธ์ ๕ ปัญญาเป็นกองสังขาร ถ้ามีสัมมาสมาธิ สังขารนี้ก็เป็นปัญญา แต่ถ้าขาดสมาธิ สังขารมันเป็นสังขารธมาร มันเป็นสังขารของกิเลส มันเป็นความคิดของสามัญสำนึก

ตัวสมาธินี่มันเป็นตัวคัดกรองให้เป็นบวกและเป็นลบ ถ้าไม่มีสมาธิมันจะเป็นลบ มันจะเป็นการทำลาย ถ้ามีสมาธิมันจะเป็นบวก ตัวสมาธิเป็นตัวกลาง ถ้าไม่มีตัวสมาธินะมันจะเป็นสามัญสำนึก เป็นการเข้าข้างตัวเอง เป็นการสร้างภาพ เป็นเรื่องของกิเลสหมดเลย ฉะนั้นพอมีสมาธิขึ้นมามันก็พลิก พลิกจากที่มันเป็นผีให้มันเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับมันขึ้นมา มันฝึกหัดของมันได้

ถาม : ถ้าเป็นสมาธิแล้วน้อมไปที่กาย แต่เหมือนหลุดจากสภาวธรรม

หลวงพ่อ : มันต้องหลุดอยู่แล้วแหละ มันหลุดเพราะอะไร หลุดเพราะสมาธิมันอ่อนลง หลุดเพราะเราใช้งานบ่อย หลวงตาท่านพูดไว้นี่มันสะเทือนใจ

“พูดจนชินปาก ฟังจนชินหู แต่ใจมันด้าน”

คนมันคุ้นชิน คุ้นเคย มันเป็นช่องทางให้กิเลสมันออกหากิน ฉะนั้น กรรมฐานเรานี่จะไม่คลุกคลี จะไม่ทำความคุ้นชินกัน ความคุ้นชินนี่แหละ ความสนิทชิดเชื้อนี่แหละ กิเลสจะออกตรงนี้

ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติกัน เห็นไหม เขาบอกไปวัดกรรมฐานนี่ โอ้โฮ.. พระทะเลาะกัน พระไม่พูดกัน เพราะเขาคิดว่าพระรักกันต้องกอดคอกัน ต้องคุยกันตลอด แต่พวกเราปฏิบัตินี่ พอเราคุ้นชินแล้วกิเลสมันจะออกช่องนี้ เราพยายามจะรักษาข้อวัตรปฏิบัติ พยายามจะรักษาใจของเรา ถ้ารักษาใจของเรา เราจะดูแลใจตลอดทุกวินาทีนะ

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นสมาธิแล้วน้อมไปที่กายมันเหมือนหลุด นี่มันเป็นบางครั้ง มันเหมือนหลุดหรือมันหลุดไปแล้ว.. มันต้องหลุด ถ้าไม่หลุดเราจะไม่รู้ว่าหลุดและไม่หลุดเป็นอย่างใด เวลาพิจารณาไปแล้วเห็นกาย เดี๋ยวมันก็แว็บหายเลย แว็บหาย เพราะกำลังไม่พอ เราก็ทำสมาธิเป็นพื้นฐาน แล้วพิจารณาไปมันจะเห็นกายขึ้นมาอีก พอเห็นกายถ้ามันแยกนะ พอเห็นกายนี่เขาเรียกอุคคหนิมิต

ถ้ามันวิภาคะ คือสติกำลังมันพอนะ ให้มันวิภาคะคือให้มันกระจายตัวออก พอกระจายออกมา มันวิภาคะคือมันขยายส่วน ขยายส่วนนี่เขาเรียกว่าไตรลักษณ์ไง มันเป็นไตรลักษณ์ให้เราดู ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์ นี่มันเป็นสภาวธรรมที่ให้จิตมันรู้ พอมันเป็นไตรลักษณ์นะ ไอ้จิตที่มันเห็นนี่ผงะนะ มันแปรสภาพๆ นี่แหละไตรลักษณะ นี่แหละเวลาที่ว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันเป็นอนัตตา มันแปรสภาพของมัน ถ้าจิตมันภาวนาของมัน เป็นขั้นเป็นตอนของมัน ถ้าเป็นผล กระบวนการมันจะเป็นอย่างนี้แหละ

แต่คนที่ปฏิบัติแล้วก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไป เพราะมันเป็นงานรื้อภพรื้อชาติ มันเป็นงานของสัตว์อาชาไนย มันไม่เป็นงานของสัตว์ทั่วไป สัตว์ทั่วไปมันกินหญ้า กินน้ำตามธรรมชาติของมัน สัตว์อาชาไนยจะกินหญ้าอ่อนๆ จะกินน้ำที่สะอาด นี่สัตว์อาชาไนย ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติจะพ้นจากทุกข์ต้องเป็นสัตว์อาชาไนย ฉะนั้นจะต้องเข้มแข็ง จะต้องมีหลักมีเกณฑ์ของตัว

ถาม : โยมปฏิบัติภาวนามาประมาณ ๑ ปี โดยเริ่มแรกภาวนาดูเหมือนจะไปได้ดี หลังภาวนาจิตดี ต่อมาการปฏิบัติน่าจะดีขึ้น แต่มาพักหลัง ทุกครั้งโยมภาวนาจับสติให้อยู่กับพุทโธ แต่มักจะหายเข้าไปในภวังค์ทุกครั้ง เข้าใจว่าเป็นภวังค์ เพราะไม่มีความรู้สึกใดๆ แต่ไม่มีสติด้วย พอรู้สึกตัวอีกที ก็จะพยายามเอาสติจับอีก แต่สักพักก็จะมีอาการแบบเดิมอีก จนรู้สึกติดกับอารมณ์ดังกล่าว และไม่อาจจะข้ามภาวะดังกล่าวไปได้ แต่สรุปแล้วภายหลังได้เริ่มปฏิบัติภาวนา สภาพอารมณ์และจิตใจดีขึ้นมาเรื่อยๆ โยมควรแก้ไขอย่างใดคะ

หลวงพ่อ : ในการปฏิบัติของทุกคนจะต้องมีอุปสรรค ในการปฏิบัติของทุกคน ดูสิ เราทำหน้าที่การงาน การงานของใครก็แล้วแต่ เราทำหน้าที่การงานจะมีอุปสรรค การทำงานเป็นและการทำงานไม่เป็น ถ้าทำงานเป็นเจออุปสรรคเราก็แก้ไขของเรา

การภาวนาทุกคนส่วนใหญ่แล้วจะต้องผ่านประสบการณ์ เห็นไหม เวลาเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ คนที่ภาวนาไม่เป็นเลย เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ เขาบอก “ไม่ต้องทำอะไรเลยปล่อยมันว่าง ใครกำหนดมันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ”

..นั้นคือการสุกเอาเผากิน คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปได้เราต้องเริ่มต้นจากเก็บหอมรอมริบ กระเหม็ดกระแหม่ ประหยัดมัธยัสถ์ ถึงจะเป็นคนดีขึ้นมาได้

คนที่เริ่มหัดปฏิบัติใหม่ คนที่เขายังจับต้องสิ่งใดไม่ได้ เวลาพูดถึงนามธรรมๆ นี่มันจับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย บอกนามธรรมปั๊บ มันก็คิดเลยนะ นามธรรมเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นรูปธรรมในความคิดมันก็นั่นแหละ พอบอกว่าเป็นนามธรรมต้องจริงตามนามธรรม พอบอกนามธรรมปั๊บไปบอกว่าต้องหากายกับจิต ต้องหาจิตให้เจอ

คนเรามีกายกับจิต พอมีกายกับจิต ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ก็บอกว่า “ให้ชัดๆ ให้เป็นรูปธรรม” เพราะคำว่าเป็นรูปธรรม เพราะให้เขาหัดภาวนา ให้เขาหัดเริ่มต้นได้

ก็บอกว่า พื้นฐานของภาวนานะ “ให้ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ” เพราะอะไร เพราะลมหายใจเข้ามันก็ชัดเจน ลมหายใจออกก็ชัดเจน แล้วพุทโธกำกับเข้าไปให้เป็นรูปธรรมชัดเจน

พอรูปธรรมชัดเจน คนที่ไม่เคยทำสิ่งใด พอมันเริ่มทำอย่างนั้นปั๊บ มันก็เริ่มมีอาการที่มันดีขึ้น อาการที่มันมีความสงบระงับ มันมีความพอใจต่างๆ พอมีความพอใจต่างๆ เห็นไหม เพราะว่าพอจิตเริ่มละเอียดขึ้น พอจิตเริ่มละเอียดขึ้น สติปัญญามันไม่ทันแล้ว พอไม่ทัน เห็นไหม ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ นี่มันจับปลา ๒ มือ มันก็เริ่มจางไป หายไปจนตกภวังค์

การตกภวังค์นะ ให้ทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้ทิ้งพุทโธก็ได้ ให้ทิ้งลมหายใจก็ได้ เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ชัดเจน คำว่าชัดเจนเพราะสติมันพร้อม ถ้าสติไม่พร้อมมันชัดเจนไม่ได้

นี่คำว่า “พุทโธชัดๆ ลมหายใจชัดๆ ทุกอย่างให้ชัดๆ” ..ชัดๆ เพราะสติมันพร้อม มันก็ชัดเจนของมัน พอชัดเจนของมันขึ้นมา เห็นไหม ความชัดเจน สติมันชัดเจน สตินี่มันปลุกเร้าทุกอย่างได้หมดเลย

การทำสมาธิ ถ้าขาดสตินะมันสักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าทำ แต่เราเอาชื่อมันมาคุยกันไง เวลานักปฏิบัติคุยกันเลยนะ โอ้โฮ.. ธรรมะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นนะ โอ้โฮ.. น้ำลายแตกฟองเลย แต่ความจริงไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีเนื้อหาสาระสิ่งใดเลย

แต่ถ้าเราทำตามความเป็นจริงของเรานะ ถ้ามันชัดเจนขึ้นมา เห็นไหม สติมันชัดเจนขึ้นมา มันรับรู้เราไง พอรับรู้เราขึ้นมา พอมันตกภวังค์มันจะหาย ถ้าพุทโธพร้อมลมหายใจ พอไปถึงจุดหนึ่งมันจะแว็บหายเลย หายไปเลยนะ

แล้วถ้าคนไม่รู้ เวลาตกภวังค์ไปแล้วนะ คิดว่าภวังค์เป็นสมาธินะ ยิ่งพอใจกับมันนะ มันจะลึกซึ้งไปเรื่อยๆ ภวังค์นี่บางคนตกทีหนึ่งครึ่งวันค่อนวันก็มีนะ บางคนนั่งตลอดรุ่งนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วหายแว็บไปเลย รู้สึกตัวอีกทีพระอาทิตย์ขึ้นเลย อย่างนี้ก็มี อย่างนี้เรียกว่าตกภวังค์ พอตกภวังค์แล้วต้องแก้ไข แก้ไขถ้าเป็นพระนะ พระนี่โดยหลักเลยอดนอนผ่อนอาหาร ให้มันหิวจนตายเลย ดูซิมึงจะตกไหม เวลามันหิวนี่แก้ได้ทุกอย่างนะ หลวงปู่ฝั้นขนาดว่า..

มันแก้ได้ แก้ได้ถ้าเราเริ่มผ่อนอาหาร พอผ่อนอาหารขึ้นมา พอมันหิวขึ้นมา เราพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ หิวไหม? หิว อดอาหารนะ หลวงตาท่านบอกว่าเวลาท่านผ่อนอาหารขึ้นมา ภาวนาดีมาก นั่งนี่ไม่มีวูบวาบเลย นิ่งตลอดเวลา แต่เวลาจะออกฉันมันเถียงกัน นี่นั่งดีแต่ร่างกายมันต้องการอาหาร อดต่อไปมันก็จะตาย แล้วถ้าไปฉัน ฉันกลับมาแล้วก็เป็นเรือเกลือ นั่งก็ลำบากลำบน

นี่มันละล้าละลัง เห็นไหม ระหว่างความรู้สึกกับร่างกาย ร่างกายมันต้องการอาหารเพื่อยังชีวิตของมัน แต่จิตใจมันต้องการความปลอดโปร่ง ความสบาย ความเบาของมัน แต่เรามีร่างกาย จิตใจที่อยู่ด้วยกัน เราต้องแบ่งครึ่ง เราแบ่งครึ่งเราก็ต้องออกไปฉัน ออกไปกินพอประมาณ เห็นไหม แล้วเราแบ่งครึ่งหนึ่งให้กับหัวใจของเรา ให้หัวใจของเรา อย่าให้ร่างกายหรือให้ธาตุขันธ์นี้ทับจนเกินไป แล้วตั้งสติให้ดี

แล้วภวังค์นะ ภวังค์นี่ถ้าปล่อยบ่อยๆ ไป.. เพราะเราเคยเป็น บวชใหม่ๆ เราโง่อยู่ พอมันเป็นภวังค์นี่ ยังชมตัวเองว่าตัวเองเก่งนะ นั่งทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง พอรู้สึกตัวขึ้นมา “เออ.. เอ็งยอด เอ็งนั่งได้” ...ตกภวังค์ไม่รู้ตัวหรอก แต่ด้วยบุญ วันหนึ่งนั่งอยู่นะ พอมันออกจากสมาธิมามันแปลกใจ เพราะนั่งอยู่ในร่ม เอ๊ะ.. นี่มันเปียกอะไร จีวรมันเปียก เอาจีวรขึ้นมาดม อ๋อ.. น้ำลายมึง เอ็งนั่งหลับ เอ็งนั่งหลับนะ มันเริ่มเศร้าใจไง พอเริ่มเศร้าใจนะหาทางออก

เราหาทางออก เราอยู่ในป่าก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร ก็คิดทบทวนในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบันนะ พระโมคคัลลานะฟังธรรมมาจากพระสารีบุตร พระอัสสชิเทศน์สอน

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระพุทธเจ้าสอนให้แก้ที่เหตุนั้น”

พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบัน ไปพูดให้พระโมคคัลลานะฟัง พระโมคคัลลานะก็เป็นพระโสดาบัน สุดท้ายแล้ว ๒ องค์นี้มาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระโสดาบันนะนั่งหลับ พระโสดาบันนั่งหลับ! พระโมคคัลลานะนั่งสัปหงกโงกง่วง ไปอยู่กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามาเลยนะ

๑.ให้แหงนหน้าดูดาว

๒.ให้เอาน้ำลูบหน้า

๓.ให้ตั้งสติให้ดี

๔.ให้ตรึกในธรรม

อันที่ ๕. ถ้าง่วงนักก็นอนซะ นอนก่อนแล้วค่อยมาภาวนาใหม่

พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้จริงๆ เราก็เอาตามพระพุทธเจ้า ดูในพระไตรปิฎก เราอยู่ในป่า ตอนนั้นยังอยู่ในป่า ยังไม่ได้เข้าบ้านตาด ก็แก้ของตัวเองมาตอนปฏิบัติใหม่ๆ

ตรึกในธรรม คิดแต่ธรรมะ ตรึกในธรรม ตรึกๆๆ ไป แว็บหายอีกแล้ว หลับ.. ก็มานั่งคิด เอ๊ะ.. พระพุทธเจ้าบอกให้ตรึกในธรรม ทำไมเราตรึกแล้วยังหลับล่ะ? ก็เปรียบเทียบจิตตัวเองเหมือนนกเขา นกเขามันอยู่ในกรงนะ เวลาแมวมามันจะตื่น พอตื่นนี่มันบินๆ มา แมวก็ไปกิน

ไอ้เราตรึกในธรรม นี่ตรึกในธรรมมันตรึกมากเกินไป ตรึกจนนกเอาไปกิน หลับอีก อู๋ย.. สุดท้ายนะผ่อนอาหาร ผ่อนอาหาร ผ่อนเรื่อยๆ ถ้ายังหลับไม่กิน ยังหลับไม่กิน ยังหลับไม่กิน กินข้าววันละคำ ตอนนั้นกินข้าววันละคำ ในพรรษานั้นกินข้าววันละคำ แล้วอยู่อีสาน เอาข้าวเหนียวปั้นแค่หนึ่งคำใส่ไว้ในบาตร แล้วพอผ่านมานะเราก็เอาน้ำแกงหยดไว้ในคำข้าวนั้น กินข้าววันละหนึ่งคำ ๓ เดือน เดินไปบิณฑบาตนี่โอ้โฮ.. เดินแทบไม่ไหวเลยมันเซ แต่มันแก้ได้ ไอ้ง่วงๆ หายเกลี้ยงเลย ไอ้ภวังค์ๆ หายหมดนะ

เราดีใจกับตัวเอง ถ้าเราไม่ได้แก้ แล้วเราหลงผิดไปนะเราจะติดอย่างนั้นไป เพราะมันติดมามากแล้ว มันติดจนมันเข้าใจผิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี แล้วมันจะยึดของมันตลอดไป แต่ด้วยน้ำลายเราเองนี่แหละมันสอนเรา มันสอนว่าเอ็งนั่งหลับไม่ใช่สมาธิ พอออกจากนั้นมานะ ทีนี้ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาเป็นปัญญาอบรมสมาธิไล่มาเรื่อยๆ จนผ่านมาได้

ฉะนั้น ไอ้เรื่องภวังค์ๆ เราจะบอกว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ปฏิบัติมาตกภวังค์หมดแหละ มีมากหรือน้อย ตกมาก ตกน้อย ตกแล้วรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เป็นหมด! มันเหมือนกับเราทำงาน คนทำงานมามันต้องผ่านอุปสรรคมาทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นตกก็รู้ว่าตก ไม่ตกมันก็รู้ว่าไม่ตก มันต้องอยู่ในข้อเท็จจริง แล้วทำความเป็นจริงเรานี่แหละมันถึงจะเป็นจริงได้

ฉะนั้น ต้องแก้! มันต้องแก้ไป เพราะว่า โธ่ นักเรียนเวลามันไม่ผ่านยังต้องซ่อมเลย เขาซ่อมกันมาประจำ ไอ้เราไม่ซ่อมเลยจะแหม.. สอบผ่านๆ นี่เขาติดตัวไหนเขาก็ซ่อมตัวนั้น เดี๋ยวมันก็ผ่านได้ มันต้องผ่านได้ ไม่มีสิ่งใดหรอกที่ว่ามันจะเป็นอุปสรรคตลอดไป แล้วก็ไม่มีสิ่งใดที่ราบรื่น

ดูสิเอตทัคคะนะ ดูพระสีวลี ที่ว่ามีบุญกุศลมาก นี่มันก็มีองค์เดียวๆ เท่านั้นแหละ แล้วเวลาอัตคัดขาดแคลนก็เยอะแยะไป แต่อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่มีค่ามากคือเราเป็นชาวพุทธ แล้วหูตาสว่าง ไม่มืดบอดแบบโลกเขา โลกเขามืดบอด เขาใช้ชีวิตประจำวันของเขา เวลาตายไปแล้วมันจบแค่นี้ใช่ไหม แต่ของเรานี่เราไม่มืดบอด เพราะปัจจุบันนี้เราก็หูตาสว่าง

ทำมาหากินลำบากไหม? ลำบาก.. ความเป็นอยู่ลำบากไหม? ลำบาก แต่มันยังไปข้างหน้าอีก ชีวิตเรามันยังไปข้างหน้า ในปัจจุบันนี้เราก็ดำรงชีวิตของเรา โดยที่ไม่หลับตา ไม่มืดบอดไปกับเขา เราดำรงชีวิตของเรา แล้วเรายังมาแสวงหา เรายังมาประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา นี่เราถึงว่าเป็นคนที่ไม่มืดบอด

ฉะนั้น มันมีอุปสรรค ก็ต้องมีอุปสรรคเป็นธรรมดา คนเขามืดบอดนะ เขาไม่ปฏิบัติเลย เขาไม่รู้จักอุปสรรคเลย เรานี่เราหูตาสว่าง แล้วมาปฏิบัติแล้วมันเห็นอุปสรรค แล้วมันจะข้ามพ้น มันจะแก้ไข ถ้ามันแก้ไขมันจะข้ามพ้นอุปสรรคนี้ไป ทีนี้เราต้องทำของเรา เพื่อประโยชน์ของเรา

สมบัติที่หานี้เป็นสมบัติของโลก เวลาตายไปนี่เป็นสมบัติของลูกหลานหมดเลย ไม่ได้เอาอะไรไปเลย เอาแต่ความดี ความชั่วไป เอาแต่สัจจะในหัวใจไป ทีนี้เรามาทำคุณงามความดีของเรา เห็นไหม มันจะไปในใจของเรา

เราเกิดมานะ คนเราเกิดมามีพ่อมีแม่ เกิดมามีชาติตระกูล เราก็ดูแลของเรา ตามหน้าที่ของเรา ด้วยสติปัญญาของเรา แล้วเราต้องหาประโยชน์ของเราด้วย ประโยชน์ของเรานะ ไม่ต้องให้ลูกมาดู ไม่ต้องให้ใครมาช่วย หลับตาพุทโธ พุทโธ หลับตาปัญญาอบรมสมาธิ หลับตาภาวนานี่แหละสมบัติของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ นี้เราทำตรงนี้ได้ จะเป็นประโยชน์กับเรา

จะจบแล้ว จะลงแล้วนะ ไม่มีอะไรเนาะ ถ้าไม่มีอะไร เอวัง