เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๘ พ.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ. โพธาราม จ. ราชบุรี

ตั้งใจฟังธรรม คนแก่คนเฒ่านะ พูดแต่เรื่องอดีต คนแก่คนเฒ่านี่เป็นไม้ใกล้ฝั่ง ไม้ใกล้ฝั่ง เวลาคุยกันคุยแต่เรื่องอดีต เด็กๆ เขาเบื่อหน่าย เวลาเราพูดธรรมะ เห็นไหม ธรรมะของเก่าแก่ ของเก่าแก่พูดถึงเรื่องสิ่งใด พูดถึงเรื่องต้นเหตุ ต้นเหตุใช่ไหม เราบอกไม้ใกล้ฝั่ง ถ้าไม้ใกล้ฝั่งมันก็คือคนที่พร้อมที่จะเดินทาง

แต่เวลาเราเกิดมา วัยรุ่นเขาไม่ชอบ วัยรุ่นเขาแบบว่าเด็กๆ ชีวิตเขายังรุ่งโรจน์ เขาคิดแต่ความดำรงชีวิตของเขา แต่เวลาคนเฒ่าคนแก่ผ่านชีวิตมา เราผ่านชีวิตของเรามา พอผ่านชีวิตของเรา เห็นไหม มีประสบการณ์ของชีวิต เรื่องนี้มันไม่น่าตื่นเต้น มันจืด พอมันจืดขึ้นไปขนาดไหน แต่วัยรุ่นเขายังไม่มีประสบการณ์ของเขา เขาก็ตื่นเต้นของเขา เขาอยากได้ประสบการณ์ของเขา

ชีวิตนี้เวียนตายเวียนเกิด เห็นไหม นี่ธรรมะสอนลงที่นี่ เวลาพูดถึงเราคุยกันธรรมะของเก่าๆ เหมือนคนแก่ที่พูดแต่เรื่องอดีต มันน่าเบื่อหน่าย แต่ความเบื่อหน่ายอันนี้มันเป็นความจริง ความเบื่อหน่ายอันนี้มันเป็นต้นเหตุ ต้นเหตุคือหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ หัวใจของเราเข้าใจเรื่องศาสนา พอเข้าใจเรื่องศาสนานะ มันมีจุดยืนของมัน

ร่มโพธิ์ร่มไทรนะ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร นกกามันจะอาศัย เราก็อาศัยความร่มเย็นของใต้ต้นไม้นั้น เรายังเก็บผลไม้นั้นกินได้เพื่อประทังชีวิตไง การประทังชีวิตนี้เราต้องมีคำข้าวเป็นอาหาร หัวใจเวลามันทุกข์ร้อนขึ้นมา เห็นไหม เวลามันได้ธรรมรสขึ้นมา ได้อาหารเป็นธรรมขึ้นมา มันผ่อนคลายของมัน มันมีความสดชื่นของมัน เวลาครูบาอาจารย์ของเราอดอาหาร ๗ วัน ๑๐ วัน ทำไมท่านอดอาหาร ไม่ต้องกินอาหาร ท่านอยู่ของท่านได้อย่างไร?

ท่านอยู่ของท่านเพราะท่านมีความหวังของท่าน ท่านอยู่ของท่านเพราะท่านมีความสุขของท่าน ท่านอยู่ของท่านเพราะความรื่นเริง เห็นไหม รื่นเริงในธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติอยู่ ท่านอยู่ของท่านด้วยธรรม ด้วยธรรมคือด้วยความสุข ความสบาย ความอิ่มใจ ความอิ่มใจมันก็อยู่ของมันได้ แต่! แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของความเป็นจริง ร่างกายขาดอาหารไม่ได้ มันต้องชราคร่ำคร่า มันต้องดับสูญไปเป็นธรรมดา

นี้เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราต้องการให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เรายังไม่ต้องการการพลัดพราก เราถึงต้องเยียวยาไง การเยียวยาร่างกายนี้เพื่อบรรเทาเวทนา เพื่อบรรเทาความทุกข์ เพื่อบรรเทาความหิวกระหาย บรรเทาขึ้นมาเพื่อดำรงชีวิต เห็นไหม เวลาพระเราฉันเหมือนหยอดล้อเกวียน พอดำรงชีวิตนี้ไป

ถ้าดำรงชีวิตนี้ไปนะ เวลาเรานั่งสมาธิภาวนา เวลาเรากินของเรา เวลาเราทานอาหารของเรา เราก็ต้องการความสุขของเรา ความเพลิดเพลินของเรา แต่เวลานั่งภาวนา เราก็ต้องการความเพลิดเพลินเหมือนกัน แต่เวลาไปนั่งภาวนาทำไมมันโต้แย้งล่ะ ทำไมมันง่วงเหงาหาวนอนล่ะ ทำไมมันไม่มีทางออกล่ะ?

ทางออกอันนั้นเพราะมันขาดสติ เห็นไหม ความขาดสติ เพราะว่าเราไม่มีสติ ไม่มีความพยายามของเรา ถ้ามีความพยายามของเรา เราตั้งสติของเราแล้วเราพยายามของเรา ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จต้องอยู่ที่นั่น

เวลาเราพูดถึงมรรค เห็นไหม ความเพียรชอบๆ ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ ถ้าทำความผิดพลาดมันก็ไม่ชอบของมัน ถ้าทำความชอบของมันนะ ความเป็นจริงของมัน มันก็เป็นจริงของมันขึ้นมาได้ ความเป็นจริง ถ้าความเป็นจริงนี่ความเพียรชอบ มันก็ต้องมีผลตอบรับที่เป็นความชอบ ถ้าความเพียรไม่ชอบ ความตอบรับมันเป็นความไม่ชอบ ทีนี้ความเพียรไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะเหตุใดล่ะ ไม่ชอบเพราะมีตัณหาความทะยานอยาก มีความคาดมีความหมายต่างๆ

อันนั้นเราต้องตั้งสติ พอเราตั้งสติขึ้นมามันมาเป็นปัจจุบัน ถ้าเป็นปัจจุบัน เห็นไหม ความคิด ความแสวงหาของเราขนาดไหน ถ้ามีสติมันกั้นคลื่นสิ่งนั้นได้ กั้นคลื่นความคิดต่างๆ ได้ ให้มันเป็นปกติได้ แต่เวลาเราตั้งสติขึ้นมา ความคิด ความฟุ้งซ่านของเรามันไม่หยุดยั้งเพราะเหตุใดล่ะ เพราะเราตั้งสติของเราสักแต่ว่า

แต่เวลาความจริงๆ หัวใจของเรามันไม่ได้อยู่ที่สติไง มันไปอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกอันนั้นไง มันไปอยู่ที่คลื่นอันนั้น คลื่นอันนั้นมันก็ซัดแรงอยู่ตลอดเวลา เราบอกเราตั้งสติๆ ทำไมมันยับยั้งไม่ได้ล่ะ? มันยับยั้งไม่ได้เพราะสติสักแต่ว่า เราสักแต่ว่าทำ มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา

ถ้าเราทำความเป็นจริงขึ้นมา ความจริงต้องเป็นความจริง สติมันคือสตินั่นแหละ แต่สตินี่มันเป็นสติโดยสัญญา สติโดยความนึกคิด สติต่างๆ แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ความจริงมันเป็นความจริงอันนั้น ถ้าเป็นความจริงอันนั้น เห็นไหม นี่ประสบการณ์ชีวิต ผู้ที่ชราคร่ำคร่า ผู้ที่เป็นไม้ใกล้ฝั่ง ผ่านประสบการณ์ชีวิตนี้มา เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมานะ เวลาพูดถึงธรรม ธรรมกับธรรมเป็นอันเดียวกัน นี่บัณฑิตคบบัณฑิต พาลคบพาล

อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เราไม่คบคนพาล คนพาลคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา บัณฑิต เห็นไหม ดูนี่เวลาปัญญามันเกิดขึ้น เราอยากคบกับบัณฑิต แต่บัณฑิตเวลามันเกิดขึ้นมา นี่ทั้งพาล ทั้งบัณฑิตมันเป็นอนิจจัง มันเกิดดับๆ ในหัวใจของเรา แต่มันเกิดดับในหัวใจเรา เราต้องตั้งสติเรา เราต้องพยายามฝึกฝนของเรา ถ้าธรรมมันก้าวเดินแล้วนะ ถ้าสติปัญญามันก้าวเดินไปแล้วนะ ดูสิ มันเหมือนเวลาเขาดับไฟป่า แม้แต่พนักงานดับไฟป่าเขาถึงกับเสียชีวิตนะ เขาเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อการดับไฟนั้น

เวลาธรรมมันเกิดนะ มันเผาไหม้ มันทำลายนะ เห็นไหม มันจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ มันจะไม่ยอมยุ่งกับใครเลย นี่เวลาธรรมจุดติดแล้วนะ เวลาปัญญามันหมุนขึ้นมา มันมีความเพลิดเพลินขนาดนั้น ถ้าความเพลิดเพลินขนาดนั้น ทำไมเราไม่เกิดล่ะ ทำไมเรากระตุ้นแล้ว กระตุ้นอีก เราพยายามแล้วพยายามอีก ทำไมมันเฉา ทำไมมันเหงาหงอยขนาดนี้ล่ะ

มันเหงาหงอยขนาดนี้ เห็นไหม อันนี้มันก็ย้อนกลับมาที่บุญกุศลเรานี่แล้ว บุญกุศลเราสร้างของเรามา คนเราสร้างบุญกุศลมาแตกต่างกัน เวลาสร้างแล้ว เวลาคนทำบุญแล้วชุ่มชื่น สดชื่น บางคนทำแล้วมัน ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ว่าหัวใจมันจะเปิดกว้างเปิดแคบได้ขนาดไหน ถ้าบุญกุศลได้สร้างขึ้นมา เวลามีการกระทำมันเป็นเอกภาพ จิตใจมันไปหมดเลย

ไอ้นี่มันละล้าละลังไง นี่มันละล้าละลังไปหมดเลย ความละล้าละลังนั้นมันหลอกลวงเรามาขนาดไหนแล้ว ความละล้าละลังในจิตใจเรา มันหลอกลวงเรามากี่ภพกี่ชาติแล้ว แล้วก็ยังจะละล้าละลังกันอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามันพิสูจน์กัน ตรวจสอบกัน ทุ่มด้วยความเป็นจริงเลย ทำอย่างไรทำจริง ถ้าทำจริง มันต้องได้ผลตามความเป็นจริงมา

ธรรมะ สัจธรรมนี้เป็นของจริงนะ สัจจะ-อริยสัจจะ มันจะเข้าไปสัมผัสได้มันต้องมีความจริงเข้าไปสัมผัส ความจอมปลอมมันเข้าไปสัมผัสความจริงไม่ได้หรอก เรามันเหลวไหลกันเอง เรามันเหลวไหล โลเล แล้วจะเอาความโลเลนี้ไปสัมผัสความจริง เราบอกว่าเราก็มีสัจจะ เราก็มีความจริงพอสมควรอยู่แล้ว มันจะโลเลไปที่ไหนล่ะ

เวลามรรคละเอียดขึ้นไปนะ เวลาเราทำความเพียรขึ้นไป สติปัญญาเรามากขึ้นไป เราจะเห็นความโลเลของเราเลย แต่ถ้าจิตเรายังไม่ละเอียดขึ้นไปใช่ไหม เราก็ว่าเราละเอียดรอบคอบทั้งนั้นแหละ ถ้าเราละเอียดรอบคอบ ผลมันทำไมไม่เกิดล่ะ แต่พอเวลาจิตเรามันพัฒนาขึ้นมา มันดีขึ้นมา มันเป็นขึ้นมา มันเห็นนะมันย้อนกลับมา พอย้อนกลับมาว่าอันนั้นโลเล อันนั้นโลเล เห็นไหม เพราะมันโลเลมันถึงผลเป็นอย่างนั้น แต่เพราะความจริงจังของเรา มันถึงผลเป็นอย่างนี้

นี่ไง อันนี้เขาเรียกสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง นี่สัจจะความจริงเป็นอย่างนี้ ทีนี้พอถ้าสัจจะความจริง มันปฏิบัติขึ้นไปมันเห็นผลของมันใช่ไหม แต่เวลาเราศึกษาเราไม่ได้ปฏิบัติใช่ไหม นี่เราก็ว่าเป็นความจริงๆ

คนฟังเทศน์บ่อยมาก ทำไมฟังไปแล้วมาฟังซ้ำ อันนี้ทำไมครั้งที่แล้วไม่ได้ยิน อันนี้ทำไมครั้งที่แล้วเราไม่เข้าใจ เวลาฟังเทศน์ขึ้นมา ถ้าจิตใจมันดีขึ้นมา ฟังแล้วฟังเล่ามันมีเกร็ดของมันตลอด พอมีเกร็ดของมันมันก็เข้ามาขยายหัวใจของเรา นี่มันขยาย มันเข้าใจของเรา มันขยายหัวใจของเรา นี่พูดถึงการฟัง การศึกษา เห็นไหม

แต่เวลาการปฏิบัติมันได้สัมผัสเลย..สัมผัสเลย.. ถ้าไม่ได้สัมผัสเลย “รสของธรรม ชนะซึ่งรสทั้งปวง” รสของธรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ นี่รสของอาหารมันอยู่ที่ลิ้น รสของธรรมมันอยู่ที่ความรู้สึก ความสัมผัสของใจ แล้วใจมันได้สัมผัสไหม ใจมันได้สัมผัสแต่กิเลส เพราะกิเลสไม่ต้องไปแสวงหามัน เพราะกิเลสมันอยู่กับหัวใจของเรา

กิเลสมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่บนหัวใจนะ มันอยู่บนภวาสวะ มันอยู่บนภพ มันอยู่บนภพคือสถานที่ เห็นไหม เวลาคนเกิดมา ชีวิตนี้คืออะไร จิตมันอยู่ที่ไหน นี่แสวงหาไปเถอะ เวลาเราทำพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาสงบเข้ามานี่ฐีติจิต ฐีติจิตคือภพ ฐีติจิตคือที่ตั้งของมัน นี่กรรมฐานเกิดที่นี่ไง กรรมฐานที่เราปฏิบัติกันนี่ เราทำงาน เรามีสถานที่ทำงานชัยภูมิแห่งการทำงาน

เวลาเราปฏิบัติกัน เราปฏิบัติกันที่ไหนล่ะ ถ้าเราหาหัวใจเราไม่เจอ เราเข้าป่าช้าซะ ถ้าเราหาใจเราไม่เจอ เราเข้าป่าซะ เข้าป่าไปมันเกิดความกลัว เข้าป่าไปมันเกิดความวิตกกังวล นี่ถ้าเราควบคุมเข้ามา มันจะปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา..ปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา เข้ามาสู่ตัวมันเอง พอเข้ามาสู่ตัวมันเอง นี่ตัวภพ

สมาธิ เห็นไหม สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ เรามีภพกันอยู่แล้ว แต่เป็นมิจฉาหมดเลย มิจฉาเพราะอะไร? เพราะกิเลสมันขับไส กิเลสมันพาให้เราออกรู้ กิเลสมันพาให้เราแสวงหา แต่พอเรามีสติปัญญาขึ้นมาเราก็เข้าไปสู่ภพนั่นแหละ แต่เข้าไปสู่ด้วยสัมมาทิฏฐิ เข้าไปสู่ความถูกต้องดีงาม พอเข้าไปสู่ความถูกต้องดีงาม นี่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาทุกอย่างเลย

พอเข้าไปสู่ภพ นี่สิ่งที่ว่ากิเลสมันอยู่บนภพ กิเลสมันอยู่บนความรู้สึก บนหัวใจของเรา เวลามันภาวนาไป พอจิตสงบมันออกรู้นะ ออกรู้ ออกพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เวลามันพิจารณาไปนี่ขนลุกขนพองนะ มันสั่นไหวขั้วหัวใจเลย มันสั่นไหวขั้วหัวใจ แล้วขั้วหัวใจนี่มันคายออก มันสำรอกออก มันคายออก นี่ตทังคปหาน

ความรับรู้สึกของการที่คายออก ตทังคปหานมันคายของมันออก..มันคายของมันออก เวลามันสมุจเฉทปหานล่ะ? เวลามันสมุจเฉทปหานมันขาดไป เวลากิเลสมันขาดล่ะ เวลากิเลสมันขาด เห็นไหม มันขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา เพราะกิเลสมันมีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด นี่ดอกบัวมันมีกลีบ เราลอกกลีบดอกบัวแต่ละชั้นๆ เข้าไป ดอกบัวมันจะมีเกสรของมัน

หัวใจของเราก็เหมือนกัน ความยึดติดในเรื่องหยาบๆ เราใช้ปัญญา เราลอกเองไม่ได้ เราทำสิ่งใดก็ไม่ได้ แต่ถ้าเราใช้ปัญญา มรรคญาณ นี่ไม่มีสิ่งใดๆ ทำได้เลย ถ้าไม่มีสิ่งใดทำได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้ามีช่องทางที่สะดวก ช่องทางที่สบาย ท่านบอกหมดแล้วแหละ เพราะท่านปรารถนามาสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์

นี่เวลาครูบาอาจารย์ ศาสดาเป็นองค์เอกของโลก ศาสดาเอกของเราเป็นครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐที่สุด เวลาทำสิ่งใด เอาเป็นคติ เอาเป็นตัวอย่าง เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง นี่เวลาตรัสรู้ธรรม สร้างบุญญาธิการมาเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาตรัสรู้ขึ้นมาแล้วก็อยากจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์แล้วเอาอะไรล่ะ มันต้องมีสิ่ง มีข้อเท็จจริงที่จะไปรื้อสัตว์ขนสัตว์

ทีนี้รื้อสัตว์ขนสัตว์ เพราะใจของสัตว์ ใจของสัตว์ก็ต้องเอาใจของเขาแก้ใจของเขาเอง จะเอาอะไรไปรื้อล่ะ ใจของสัตว์นี่ แล้วเราจะพูดอย่างไรให้คนคิดย้อนกลับล่ะ เวลาคนคิดก็คิดส่งออก คิดเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ คิดเป็นโลก คิดต่างๆ มันไม่มีปัญญาสิ่งใดคิดย้อนกลับหาตัวเองเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกให้ทำความสงบของใจขึ้นมา ให้ย้อนกลับเข้าไปๆ ย้อนกลับเข้าไป นี่รื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วยมรรคญาณ รื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ดูสิ เวลามีอยู่แล้ว แต่คนทำไม่ได้ คนทำไม่มี นี่มันจะเอาอะไรไปรื้อล่ะ.. ของมีอยู่ หัวใจมีอยู่ ความรู้สึกมีอยู่ เราเกิดมามีกายกับใจ ถ้าหัวใจมันมีของมันอยู่แล้ว แล้วของที่มันมีอยู่แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเป็นตัวอักษรก็เป็นชื่อ เราศึกษาชื่อมัน ศึกษาส่วนประกอบของมัน แต่เราไม่เคยทำความเป็นจริงขึ้นมาได้เลย

ถ้ามีสติ สติตัวหนังสือก็คือสติตัวหนังสือ สติความระลึก อึก! นี่คือสติจริงๆ ระลึกขึ้นมา ตั้งสติขึ้นมา นี่สติตัวจริง เวลามันมีสติตัวจริงขึ้นมา มันดับความรู้สึกนึกคิดทั้งหมดเพราะสติมันพร้อม เวลาเป็นสมาธิขึ้นมานี่สมาธิตัวจริง แล้วสมาธิตัวชื่อ เราศึกษาแต่ชื่อมัน ศึกษาส่วนประกอบของมัน เราก็ว่าเรารู้ เราเข้าใจไปหมดเลย สมาธิเป็นอย่างนั้น สมาธิคือความร่มเย็นเป็นสุข แต่มันไม่เคยร่มเย็นเป็นสุขเลย

แต่เวลามันร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา ถ้ามันร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา ความเป็นอยู่นี่มันบอก ความเป็นอยู่เรา ถ้าเราร่มเย็นเป็นสุขนะ เราจะมีความสุขของเรา แต่ถ้ามันเดือดร้อนนะ มันเดือดร้อนในหัวใจ มันก็เดือดร้อนของมัน ถ้ามันมีความร่มเย็นเป็นสุขของมันขึ้นมา มันเป็นปัจจัตตัง นี่ตัวจริง ถ้าตัวจริง นี่ตัวจริงมันเกิดที่ไหน มันเกิดที่ในหัวใจของเรา หัวใจเรามีอยู่แล้วนะ

ฉะนั้นเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีหน้าที่การงาน เราเป็นฆราวาส เห็นไหม ฆราวาสธรรม เราก็ว่าเราทำบุญกุศลแล้ว เราเป็นคนดีแล้ว นั่นเป็นฆราวาสธรรมนะ ฆราวาสต้องหาอยู่หากิน ต้องมีหน้าที่การงานรับผิดชอบ อันนี้เป็นหน้าที่ คนเรานี่จะดีเพราะหน้าที่การงาน คนทำงาน เขาดูว่าคนหยาบ คนละเอียด เขาก็ดูผลงานนั่นแหละ ถ้าผลงานนั้นทำแล้วประสบความสำเร็จ ทำแล้วมันเป็นเรื่องของโลก เราก็วางไว้

เวลาคนเกษียณแล้ว เห็นไหม เกษียณแล้วเขาก็จะต้องหางานหาการทำ ถ้าเกษียณแล้วเราก็เข้าวัดเข้าวา สมัยโบราณเขาเข้าวัดเข้าวาแล้วก็พยายามจะหาจุดยืนของใจ ถ้าเราพร้อมแล้วเราจะเผชิญกับสิ่งใดก็จะเผชิญด้วยความพร้อม เราไม่พร้อม เราไม่ต้องการ แล้วเราเผชิญกับสิ่งนั้น นี่จิตใจมันก็ว้าเหว่

ฉะนั้น ถ้าเราเป็นฆราวาส เราก็ทำหน้าที่การงานของเรา เราก็หาความพร้อม เติมความพร้อม เห็นไหม ทรัพย์สมบัติเขาเก็บไว้ในบ้านในเรือน หัวใจของเรานี่เราเติมปัญญาให้มัน เราเติมความคลายความวิตกกังวล ชีวิตนี้ก็คืออย่างนี้ เกิดมาทุกคนก็รักชีวิตทั้งนั้นแหละ ถ้าชีวิตนี้รักแล้ว เราให้อะไรเป็นคุณงามความดีกับชีวิตของเราล่ะ

คุณงามความดี เราประสบความสำเร็จทางโลกนี่ก็เป็นหน้าที่การงาน แล้วหัวใจของเราล่ะ เวลาจิตนี้ออกจากร่างไปมันไปโดยบุญโดยกรรมของจิต ผลงานของเรานะ นี่ถ้าอย่างนั้นสิ่งใดที่มันเป็นทางโลก ถ้าเราอดทนได้ เขาเรียกว่า “ขันติธรรม”

อดทน! พอเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปนะ เราจะดีใจมากว่าเราผ่านวิกฤติอันนั้นมาได้ด้วยขันติธรรม ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยขันติ เอาหัวใจเราให้มั่นคงกับเรา ความลับไม่มีในโลก ใจของเราทำเอง ใจของเรารู้เอง มันจะดีจะชั่ว เรานี่แหละจะบังคับมัน เราจะทำประโยชน์เพื่อเรา เพื่อคุณงามความดีของเรา เอวัง