ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ลิขสิทธิ์

๔ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

ลิขสิทธิ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ชาวพุทธควรมีทัศนคติอย่างไรต่อการบริโภคเนื้อสัตว์ การพิจารณาในการบริโภคเนื้อสัตว์นั้น ในบุคคลต่างๆ สถานภาพ พิจารณาเหมือนกันหรือไม่

หลวงพ่อ : เอาพระเป็นตัวอย่าง เอาพระเป็นแบบอย่างเลย เพราะมีพระวิตกวิจารเรื่องนี้มาก เรื่องบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะทุกคนมองในทางโลก คำว่าเนื้อสัตว์ เห็นไหม เราไปบริโภค เราไปอะไรนี่มันเป็นชีวิตเขา แล้วแม้แต่ลัทธิอื่น เขาบอกเลยว่าฆ่าสัตว์เพื่อบริโภคนี้ไม่เป็นบาป เขาพูดอย่างนั้นเลย ตัดปัญหาไปเลย แต่พระพุทธเจ้าบอกไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าถือว่าทุกคนรักชีวิตทั้งนั้น จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล นี่รักชีวิตทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครไม่รักชีวิตตัวเอง

ทีนี้การรักชีวิตนี่อันหนึ่งนะ แต่การบริโภคเนื้อสัตว์นี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะการบริโภคเนื้อสัตว์นี่พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่า เวลาพระนี่นะเนื้อที่ฉันได้

๑. ไม่ได้ยิน

๒. ไม่ได้เห็น

๓. ไม่ได้สั่งฆ่า

ไม่ได้ยินเพราะเราไม่รู้ เราไม่รู้ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น นี่หลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่หนองผือ เวลาท่านจะนิพพานท่านบอกเราตายที่นี่ไม่ได้ ถ้าเราตายที่นี่สัตว์จะตายมหาศาลเลย เพราะคนมางานนี่.. เพราะมันไม่มีตลาด ฉะนั้นต้องเอาเราออกไปวัดป่าสุทธาวาส วัดป่าสุทธาวาสมันอยู่ที่จังหวัดสกลนคร มันมีตลาด

คำว่ามีตลาด สัตว์ที่เขาเอามาขายในตลาดเขาก็โดนฆ่าเหมือนกัน แต่เขาโดนฆ่าเพราะอะไร เพราะมันมีบุคคลฆ่า มันมีผู้ที่เป็นอาชีพของเขา เขาฆ่าสัตว์ของเขาเพื่ออาชีพของเขา แต่ถ้าเวลาเราฆ่าสัตว์ที่หนองผือ เห็นไหม มันมีจำเป็นไง เพราะคนมางานหลวงปู่มั่น เราต้องมีอาหารให้เขา มันมีความจำเป็นบังคับให้เราต้องไปทำ แต่ที่ในตลาดนั้นน่ะมันเป็นวิชาชีพของเขา เขารักวิชาชีพของเขา เขาต้องการของเขา มันคนละเรื่องกันนะ

ทีนี้การบริโภคเนื้อสัตว์นี่

๑. ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง

๒. ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้

อย่างเราอยู่ที่นี่ แล้วเราเดินไปกรุงเทพฯ เราไปทานอาหารที่กรุงเทพฯ แล้วเรารู้ไหมว่าที่กรุงเทพฯ เขาได้ฆ่าสัตว์ดักไว้ หรือไม่ฆ่าสัตว์ดักไว้ เราไม่รู้หรอก แต่ขณะที่เราเดินทางไปนะ.. เราจะบอกว่าตัดสินง่ายๆ เลย ตัดสินว่าเราไม่รับรู้ เราไม่รู้ไม่เห็น

นี้เพียงแต่ว่าคนเรามันวิตกกังวลไง นี่เขาพูดกัน เห็นไหม “บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน” พยายามจะลากคนกินเข้าไปยุ่งด้วยไง คนกินนี่นะมันก็อยู่ที่เจตนาใช่ไหม เราเลือกได้ไง นี่เราเลือกได้ ไม่ใช่ว่าเราไปชี้เอา เราจะต้องการเอา

เวลาเขานิมนต์พระไปฉันนะ

“พรุ่งนี้ผมนิมนต์ไปฉันข้าวที่บ้านผมนะ ผมจะแกงไก่ให้หลวงพ่อฉัน”

พระฉันเป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำเลย เพราะอะไร เพราะเขาเจาะจงแกงไก่ให้หลวงพ่อ แล้วหลวงพ่อไปฉันแกงไก่นะ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน

ฉะนั้น “ผมนิมนต์หลวงพ่อไปฉันที่บ้านผมพรุ่งนี้นะ” นิมนต์ไปฉัน นั่นเรื่องของเขา แต่ถ้าเขาเจาะจงกับพระองค์นั้นแล้วพระองค์นั้นรับ ต้องเป็นอาบัติ ฉะนั้นเวลาโบราณเขานิมนต์พระเขาจะไม่เอ่ยชื่ออาหาร เพราะเอ่ยชื่ออาหารมันเป็นการเจาะจง

ทีนี้การเจาะจงเรื่องเนื้อสัตว์ เราจะบริโภคเนื้อสัตว์นี่ ฉะนั้นเพียงแต่ในปัจจุบันนี้การบริโภคเนื้อสัตว์ พอบริโภคเนื้อสัตว์แล้วมันเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องต่างๆ อันนี้มันเป็นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บนะ เรื่องชีวจิต เรื่องการบริโภคพวกพืชผัก มันทำให้ร่างกายเบา ทำให้ต่างๆ อันนี้มันเป็นอีกกรณีหนึ่งนะ เพราะการบริโภคนี่มันไม่ได้ทำให้คนชำระกิเลสไปได้หรอก

การกิน การอยู่ การนอนนี้ ไม่ได้ชำระกิเลส แต่! แต่เป็นการบรรเทา เป็นการเปิด อย่างเช่นเราผ่อนอาหาร เราต่างๆ เป็นการผ่อนให้การปฏิบัติได้ง่าย การปฏิบัตินี่นะมันอยู่ที่มรรค อยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญา แต่นี้เรื่องการบริโภค เรื่องความเป็นอยู่นี่ฆ่ากิเลสไม่ได้หรอก แต่! แต่มันเป็นการบรรเทา มันเป็นเครื่องเสริมให้เราจริงจังขึ้นมา

ฉะนั้นการบริโภคนี่มันไม่ได้ฆ่ากิเลสหรอก แล้วอย่างการบริโภคนี่ เราบอกว่าการบริโภคสิ่งที่มันเป็นเนื้อสัตว์แล้วมันจะเป็นอาหารเบา ดูสิ ดูช้าง ดูวัว ดูควาย มันก็กินแต่พืช กินแต่หญ้า นี่มันเองมันก็อยากเป็นคนนะ นี้พูดถึงว่าถ้าเรามองอย่างนั้น แล้วไปดูเสือสิ เสือมันกินแต่เนื้อสัตว์ มันกินเนื้อ มันก็ต้องหาเนื้อ มันทุกข์นะกว่ามันจะหาอาหารแต่ละมื้อของมัน แล้วทำไมมันต้องกินอย่างนั้นล่ะ? อันนั้นมันเป็นสัตว์ประเภทนั้น แต่เราเป็นคน เรากินได้ทั้งเนื้อสัตว์ และเรากินได้ทั้งพืชผัก

ฉะนั้น มันอยู่ที่จิตใจของเรา จิตใจของเรานี่ถ้าเรามีความเมตตา เราบอกว่าไม่ควร.. ทีนี้ทัศนคติ พระพุทธเจ้า นี่เพราะเทวทัตเป็นคนขอเอง ขอไม่ให้ฉันเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าใครเต็มใจทำ ใครเห็นว่าเป็นประโยชน์ เราก็เห็นด้วย” แต่จะให้บัญญัติเป็นกฎว่าไม่ให้พระฉันเนื้อสัตว์เลยนี่ท่านไม่ยอม ท่านไม่เห็นด้วย

เพราะเวลาภาวนาไป คนเรามันมีเวรมีกรรมนะ ในพระไตรปิฎกมี สัตว์มันตายแล้วมันมาเข้านิมิตไง มันบอก “เกิดเป็นสัตว์นี่ทุกข์มาก เห็นคนทำบุญกุศลกันแล้วอิจฉามากเลย เพราะเขาทำบุญกุศล เป็นสัตว์นะเป็นทุกข์เป็นยาก นี่เวลาไปไถนาก็ต้องเอาใจเขา เขาผ่อนเชือกก็ได้กินน้ำ เขาไม่ผ่อนเชือกก็ไม่ได้กิน โอ๋ย.. ทุกข์ลำบากมาก” อยากทำความดีของเขาก็ทำไม่ได้ เพราะมันชีวิตสัตว์

มีความรู้สึกนึกคิดได้ แต่ทำไม่ได้ เพราะสภาพของภพไง สภาพของสัตว์มันเป็นสถานะของเดรัจฉาน นี่มองเห็นคนแล้วอิจฉามาก ฉะนั้นเวลาตายไปแล้วนี่เขาฆ่านะ “ทำดีกับเขาขนาดนี้นะ เสร็จแล้วเขาก็ยังฆ่า ฉะนั้น ถ้าพรุ่งนี้เช้าเขาเอาอาหารนั้นมาถวาย ขอให้พระคุณเจ้าฉันให้หน่อยหนึ่ง ฉันเนื้อของกระผม ให้กระผมได้บุญ.. ชาตินี้ให้กระผมได้บุญ ชาตินี้ให้กระผมได้บุญ ผมจะได้เกิดเป็นคนบ้าง ผมจะได้ไม่ทุกข์ไม่ยาก”

มันมาเข้านิมิตนะ ในพระไตรปิฎกก็มี ในครูบาอาจารย์เราก็มี แล้วเวลาสัตว์มันตายก็มีแต่เนื้อมันที่เป็นประโยชน์ มันก็ขอให้กินเนื้อมันหน่อยหนึ่งเพื่อมันจะได้ประโยชน์ นี่มันขอให้กินเลยนะ แต่เราก็ไปคิดแทนมันหมดเลย

ฉะนั้นเพียงแต่ว่าในสถานภาพของเรานี่นะ เราก็คิดของเราสิ บางคน เห็นไหม เราอยู่ในสังคมนี่เราไม่อยากกิน เพราะว่ายิ่งคนเป็นโรคร้ายเขาไม่ให้กินเนื้อสัตว์นะ เพราะเนื้อสัตว์มันจะไปเพิ่มเซลล์ให้กับโรค ถ้าเรื่องสุขภาพนี่เราเห็นด้วย ถ้าเราบอกว่าเรากินเพื่อสุขภาพ เราอย่าเอาการอยู่การกินนี้มาทะเลาะเบาะแว้งกัน เอ็งกินอย่างนี้เอ็งเป็นคนไม่ดี ข้ากินอย่างนี้ข้าเป็นคนดี แล้วมันดีที่การกินนี้หรือ?

มันดีอยู่ที่นิสัยใจคอเรานะ มันอยู่ที่พฤติกรรม อยู่ที่นิสัยใจคอของเรา เราจะกินอะไรนี่ มีความจำเป็นบังคับให้บางอย่างมันไม่มีจะกินหรือมันกินไม่ได้ มันต้องเป็นอย่างนั้นนะ ฉะนั้นเราหลีกเลี่ยงเอา บางคนนี่บางทีเราไปเห็นอุบัติเหตุ พอเราไปเห็นเนื้อสัตว์เราอาเจียนเลยนะ เรากินไม่ได้เลย เวลาเป็นอย่างนั้นก็มี เวลาถ้าเราพิจารณาอสุภะเข้าไป มันจะเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป

ถ้าพูดถึงว่ามันกินได้หรือมันกินไม่ได้ มันเป็นกฎตายตัว มันทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ หรือความเป็นอยู่ของสังคมมันไม่ราบรื่น ว่าอย่างนั้นเลย ฉะนั้นเราอยู่ในสถานที่ ดูสิในสังคมทางเกาหลีเขาบริโภคเนื้อสุนัขกัน แล้วทางฝรั่งเศสเขาบอกว่าพวกเกาหลีนี่เป็นคนที่ทรมานสัตว์ ชาวเกาหลีก็บอกว่าชาวฝรั่งเศส พวกเอ็งกินหอยทาก เอ็งก็ทรมานสัตว์

วัฒนธรรมของฝรั่งเศสเขากินพวกหอยทาก เขากินนะ แล้วพวกที่เขากินหอยทากนี่เขาไม่ได้มองว่าเขาทรมานสัตว์ เขาไปบอกว่าพวกเกาหลีนี่ทรมานสัตว์เพราะว่ากินสุนัข ไอ้พวกกินสุนัขก็บอกว่ามึงกินหอยทากนี่ทรมานสัตว์

มันอยู่ที่วัฒนธรรม วัฒนธรรมของคนมันไม่เหมือนกัน ทีนี้เราไม่ใช่เห็นด้วยกับว่าได้หรือไม่ได้ เพียงแต่เห็นว่า “อยู่ที่หัวใจของเรา” ถ้าเราเห็นว่าจิตใจเรามันรับไม่ได้ หรือเห็นแล้วมันไม่ดี เราก็หลีกเลี่ยงเอาเพื่อให้หัวใจเราดีขึ้น อันนี้มันจะใครดีกว่าใคร มันไม่มี มันมีที่ว่าปัญญาของเราที่เราจะเอาตัวรอดนี้ต่างหากถึงจะสำคัญกว่า

ถาม : พ่อแม่ครูจารย์ เรียนถามสภาพการเกิดปฏิสนธิจิต เกิดขณะใด และดวงจิตนั้นจะรู้หรือไม่ในขณะเกิดการปฏิสนธิ และจะให้มรรคใดพิจารณาการเกิดปฏิสนธิเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ปฏิสนธิจิตนี่มันเกิด เขาเรียกปฏิสนธิ มันเกิดขณะเกิดภพไง เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ภพชาตินี่เสวยภพอุบัติขึ้น นั่นล่ะปฏิสนธิจิต ทีนี้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างเช่นพวกเรานี่เวลาเกิดในไข่ เห็นไหม ปฏิสนธิจิต พอเป็นไข่มันเป็นแค่น้ำมันใส น้ำมันข้น นี่ปฏิสนธิมันเกิดแล้ว จิตมันมีแล้ว มันมีเจ้าของ พอมีเจ้าของมันก็พัฒนาขึ้นมาจนเป็นตัวอ่อน เป็นทารกอยู่ในครรภ์ จนคลอดมาเป็นเรา

ปฏิสนธิขณะที่มันลงสู่ไข่ ปฏิสนธิคือที่เกิดเป็นชีวิต แล้วมันมานี่ มันมาจนกว่ามันจะตาย พอตายแล้วจิตนี้เคลื่อนออกจากร่างกายนี้ไป มันไปเกิดอะไร มันปฏิสนธิตรงนั้น ปฏิสนธิแล้วนี่คือการเกิด

ฉะนั้นปฏิสนธิจิตที่ว่าปฏิสนธิจิตๆ นี่ปฏิสนธิวิญญาณ เราจะบอกว่าวิญญาณมันมีอยู่แล้วไง แล้วนี้วิญญาณที่อาศัยมา เห็นไหม โสตวิญญาณ โสตะ.. ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ วิญญาณกระทบ วิญญาณนี่มันมีตัวประธาน ตัวประธานคือตัวจิต พอมีประธานเป็นตัวจิต ตัวรับรู้อารมณ์นี่มันก็เกิดกรณีเป็นวิญญาณที่รองมาๆ

ฉะนั้นบอกว่า “ปฏิสนธิจิตมันเกิดที่ไหน?”

ปฏิสนธิจิตนี่ฐีติจิต! เวลาจิตสงบเข้าไปสู่ฐานเดิมของมัน เห็นไหม เราไปสู่ตัวจิต ทีนี้ตัวจิตปฏิสนธินี่มันเกิดได้หนเดียว มันเกิดได้ เวลาเกิดในสถานะของมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม แต่เวลามันมีอยู่แล้วนี่มันมีของมัน แต่มันเป็นสันตติที่ว่าเกิดดับๆๆ เกิดดับคือพลังงานมันเกิดดับ เกิดดับแล้วก็ดวงหนึ่งๆ

ไม่ใช่! ดวงหนึ่งๆ มันอิทัปปัจจยตา นี่ปฏิจจสมุปบาท ที่ว่าอวิชชาปัจจยา สังขารา นี่มันเกี่ยวเนื่องกันไป.. ดวงหนึ่งๆ อันนี้มันเป็นพุทธวิสัย มันเป็นการเห็นของพระพุทธเจ้า อภิธรรมนี่พระพุทธเจ้าเป็นคนบัญญัติไว้ ไอ้เราก็จะไปสร้างกัน ก็คิดว่าอารมณ์ไง อารมณ์นี่ก็ดวงหนึ่ง นี่ก็ดวงหนึ่ง มันก็ดวงไฟไง

ฉะนั้นเวลามันปฏิสนธิจิต เวลามันเข้าไปสู่ตัวจิตแท้ๆ จิตเดิมแท้นี่ นั่นล่ะคือจิตปฏิสนธิ แต่มันยังไม่เสวยอารมณ์ พอเสวยอารมณ์นี่มันเกิดความคิดขึ้น ความคิดที่มันเกิดดับๆ ความคิดที่มันเกิดขึ้นมาแต่จิตมันไม่รับรู้ ความคิดมันก็ว่างเปล่า แต่เวลาถ้ามันมีความรู้สึก พอมันเกิดความคิดขึ้นความคิดมันก็มี

นี่ไง อันนี้มันก็เป็นอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง เขาเรียกเสวย ถ้าเสวยนี่ ทีนี้มันไม่ทันไง คำว่ามันไม่ทันเพราะเรายังไม่เห็นจริง พอไม่เห็นจริง เพราะพอจิตเป็นเรา ความคิดเป็นเรา อย่างที่ว่าผู้ที่เคยจิตมันเข้าไปอยู่จิตเดิมแท้ เห็นไหม เขาจะรู้ว่านั่นล่ะตัวจิตแท้ ตัวจิตแท้นี่ปฏิสนธิจิต แต่เวลามันเสวยอารมณ์มา มันเป็นความรู้สึกนึกคิดออกมา เราไม่ทันไง เราไปจับที่ความรู้สึกนึกคิดไง เราก็ว่านี่คือปฏิสนธิจิต นี่คือตัวมัน นี่คือตัวมันไง

อยู่ที่ความหยาบละเอียด ทีนี้ความหยาบละเอียด เราก็กำหนดพุทโธของเรา ทำความสงบของใจเข้าไป พอมันจับสิ่งใดได้ จับความรู้สึกสิ่งใดได้ เราใช้ปัญญาพิจารณา พอมันปล่อย มันปล่อยๆ แล้วจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ พอละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเราจะเห็นเข้าไปเรื่อยๆ

มันก็เหมือนกับความรู้สึกนึกคิดเริ่มต้น หรือผู้ที่ฝึกงานใช่ไหม ทีนี้ผู้ที่ฝึกงานนี่ ในพระไตรปิฎก ในตำราก็สอนถึงผู้ที่ฝึกงาน ผู้ที่ชำนาญการ ผู้ที่ทำงานสำเร็จแล้ว นี่มันเป็นขั้นตอนของมัน แต่เราไปศึกษาปั๊บ เราก็ว่าจะรู้ให้หมด จะรู้ให้หมด มันก็ต้องพยายามฝึกของมันขึ้นไป แล้วมันจะรู้ของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

ฉะนั้นบอกว่า “ขณะใด และดวงจิตนั้นจะรู้หรือไม่ในขณะเกิดการปฏิสนธิ”

ถ้าเกิดปฏิสนธิ ถ้ารู้นะ ถ้ารู้นี่มันก็จิตเห็นอาการของจิตนั่นแหละ ถ้าคนรู้ปั๊บนะ คนจับได้นะ มันจะเห็นเลยว่าจิตนี่มันจับอาการเป็นอย่างไร จับความรู้สึกอย่างไร พอจับความรู้สึกได้ปั๊บมันจะแยกของมันนะ แยกนี่มรรคเกิดตรงนั้นแหละ วิปัสสนาเกิดตรงนั้นแหละ

แต่ตอนนี้เราจับกันไม่ได้ เราจับกันไม่ได้ เราเห็นทุกอย่างมันเป็นสิ่งเดียวกันไปหมดไง ทุกข์ก็เป็นเรา ทุกอย่างก็เป็นเรา สรรพสิ่งก็เป็นเรา พอเป็นเราหมดแล้ว ธรรมะก็เป็นเรา นิพพานก็เป็นเรา เราก็มีทั้งนิพพานด้วย เราก็ต้องมีทั้งทุกข์ด้วย เราก็มีทุกอย่างเลย แล้วเราก็สัพเพเหระ จับต้นชนปลายไม่ถูก

ฉะนั้น เวลากรรมฐาน ครูบาอาจารย์เราสอน เห็นไหม ถึงบอกให้ตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ทำใจให้สงบก่อน พอใจเริ่มสงบเข้ามา ใจมันเริ่มมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมานะ เดี๋ยวมันจะแยกแยะ จะรู้จะเห็นของมัน แล้วมันจะรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูกไง อันนี้เป็นอารมณ์ อันนี้เป็นพยับแดด อารมณ์นี่เหมือนพยับแดดนะ ขับรถไปสิเห็นไหม เห็นบนถนนนี่ โอ้โฮ.. เห็นเป็นพยับแดด เห็นเป็นตัวเป็นตนไปหมดเลย เข้าไปใกล้ๆ ไม่มีอะไรหรอก

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่พยับแดดเรายังเห็นมันเลย ถ้าจิตมันสงบปั๊บมันเห็นของมัน มันจับของมันนะ แล้วมันพิจารณาของมัน พอเข้าไปใกล้ๆ ก็ไม่เห็นมีอะไร มันก็เป็นอนิจจังหมด.. นี่มันจะรู้มันจะเห็นของมัน แต่เราต้องขยันหมั่นเพียร

ฉะนั้นจะบอกว่า จิตดวงใดเป็นอย่างไร ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บนะ มันก็เหมือนกับว่าเวลาหลวงตาท่านแก้ปัญหา หรือครูบาอาจารย์ท่านแก้ปัญหานะ แก้ปัญหาเฉพาะบุคคล จริตคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นพอแก้ปัญหาเฉพาะบุคคลปั๊บ อีกคนที่ฟังอยู่ข้างเคียงนะก็นึกว่าเหมือนกัน ก็เอาสิ่งนั้นจำสิ่งนั้นไปปฏิบัติ พอจำสิ่งนั้นไปปฏิบัติปั๊บยิ่งปฏิบัติไปยิ่งเสื่อม ยิ่งปฏิบัติไปยิ่งเหลวไหล พอเหลวไหลแล้วกลับมาว่าทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ?

เขาคิดว่าธรรมะนี่ทุกคนจะเป็นเหมือนกันไง แต่ความจริงไม่ใช่ มันอยู่ที่ความถนัด อยู่ที่คนถนัด หรือคนที่ว่ามันมีจริตนิสัยอย่างนั้น มันจะแก้ไปตามนั้น ไอ้ของเรานี่นะถ้าพูดถึงว่าเรายังรู้ไม่ได้ ยังเห็นไม่ได้ เราต้องกลับมาสู่ตัวมันให้ได้ กลับมาสู่ตัวจิตให้ได้ คือจิตรู้ไง เราลืมตาจะเห็นภาพหมด หลับตาจะไม่เห็นภาพสิ่งใดเลย

จิตถ้าสงบแล้ว จิตมีหลักแล้วมันจะรู้ของมัน รู้ถูก รู้ผิด แต่จิตนี้มันยังไม่สงบของมันไง ตัวเองก็ยังละล้าละลัง ตัวเองก็ยังรับรู้สิ่งใดไม่ได้ แต่ตัวเองจะรู้สิ่งข้างนอก ตัวเองจะไปรู้สิ่งใดต่างๆ มันยิ่งไม่รู้อะไรเลย ฉะนั้นพอไม่รู้อะไรเลยปั๊บ พอบอก ยิ่งขณะคิดยังไม่รู้เลย แล้วถ้าไม่คิด ปล่อยไว้มันจะรู้ได้อย่างไร?

ปล่อยนั้นแหละจะรู้ เหมือนเด็กๆ เห็นไหม เด็กๆ เวลาใกล้สอบนี่โอ้โฮ.. ดูหนังสือกันหัวปักหัวปำเลย นี่แล้วยิ่งดูยิ่งเครียด แต่บอกให้วางหนังสือก่อนนะ ทำความสงบของใจก่อนแล้วค่อยมาดู บอกว่ามันจะรู้ได้อย่างไร ขนาดดูนี่ยังไม่ทันเพื่อนเลย แต่พอเขาวางนะ แล้วเขาทำใจให้สงบๆ แล้วมาอ่านใหม่นะเข้าใจๆ พอเข้าใจแล้ว เออ!

เวลาเราเครียด เราต้องการรู้ เราอยากรู้ นี่ไม่รู้อะไรเลย พอเราปล่อยนะ แล้วทำความสงบของใจ ทำใจให้สบายๆ กลับมาอ่านมันจะเข้าใจ.. จิตก็เหมือนกัน

ฉะนั้นปฏิสนธิจิตมันอยู่ที่ไหน? ปฏิสนธิจิตมันตั้งแต่ปฏิสนธิในไข่ กำเนิด ๔ ในไข่ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ ในครรภ์ เห็นไหม กำเนิด ๔ พอกำเนิดสิ่งใดก็ได้สถานะนั้น แล้วก็จะอยู่อย่างนั้นแหละ จิตมันมีอยู่ เวลาเรานอนฝัน ฝันไปเรื่องไกล๊ไกลเลย มันยังกลับมา มันยังปกติได้ คือจะฝันอย่างไร จิตมันอยู่กับเราไง แต่ถ้าจิตออกจากร่างไปแล้วจบ

อันนี้พูดถึงปัญหานี้เนาะ ทีนี้จะเข้านี่แล้ว ปัญหานี้เยอะมาก อันนี้มันเป็นปัญหาเรื่องโลก แต่เขาถามมาเนาะ

ถาม : เรื่อง “แจ้งจับบ่อนการพนัน”

หลวงพ่อเจ้าคะ สิ่งที่ลูกทำนั้นมันผิดบาปอะไรไหมคะ ถ้าจะแจ้งจับบ่อนนี้จากผู้มีอำนาจบางคน แล้วหลวงพ่อว่าผลดี ผลเสียจะตามมามีอะไรบ้างไหมคะ ดิฉันด้อยปัญญา หลวงพ่อโปรดชี้แนะด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : โฮ้.. ขอชี้แนะนี่ขอชี้แนะเรื่องธรรมะ เรื่องการปฏิบัติ นี่มันชี้แนะเรื่องแง่กฎหมายเลย มันเรื่องโลกๆ เลยเนาะ ฉะนั้นจะบอกว่ากรณีอย่างนี้นะมันก็เหมือนกับว่า อเสวนา จ พาลานํ เห็นไหม มงคลชีวิต เกิดในประเทศอันสมควร เกิดในหมู่คณะที่ดี เกิดในสภาวะแวดล้อมที่ดี

ฉะนั้นการเกิดไง บัณฑิตกับคนพาล พอเราไปเจอคนพาลในสังคม เราก็มีความเดือดร้อนไปทั้งนั้นแหละ นี่เขาถึงบอกว่าบัณฑิตไม่กลัวใคร แต่คนกลัวคนพาลนะ คนพาลไม่มีเหตุไม่มีผล ถ้าเราอยู่กับบัณฑิตด้วยกัน เราก็รู้ใช่ไหม ว่าในบ้านพักอาศัยเราก็ต้องการความสงบ ความร่มเย็นใช่ไหม แล้วเขามาทำอยู่ในบ้านพักเรา มาทำให้เดือดร้อนกันไปหมด นี่เขาพาลไง พอเขาพาลขึ้นมานี่อเสวนา เราไม่อยากคบคนพาลเลย แต่ทำไมมันเจอคนพาลล่ะ?

นี่อยู่ที่บุญกุศล เกิดในประเทศอันสมควร เกิดในสังคมที่ดี เกิดในสังคมที่เป็นพาล เกิดต่างๆ เห็นไหม แล้วพอเกิดขึ้นมาแล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ? เขาบอกเขาไปแจ้งจับได้ไหม อะไรได้ไหม มันก็เป็นสิทธินะ เป็นสิทธิของเรา เราก็ต้องทำแหละ ถ้าเราทำของเราแล้วมันจะเป็นบาปไหมคะ?

โอ่..เราทำเพื่อรักษาสิทธิ์ เรารักษาสิทธิ์ของเราเนาะ แต่พูดถึงว่าคนพาลนี้มันไม่ไว้ใครนะ ฉะนั้นถ้ามันพาล เราหาทางหลบหลีกเอาเองนะ นี่เราเกิดมาแล้ว เราอยู่ในสังคมอย่างนี้มันก็เป็นสังคม นี้เรื่องโลกๆ เนาะ เราต้องแก้ไขของเราไปเอง ถ้าพูดถึงโยมเจอ พระก็เจอ เวลาพระไปบิณฑบาตต่างถิ่น เขาไม่ให้บิณฑบาตก็มี ให้บิณฑบาตก็มี นี่สังคมมันมีนะ มันมีของมันไป พระก็มาจากมนุษย์ พระก็มาจากโลกนั่นแหละ แล้วพระส่วนใหญ่มันก็มีปัญหาเหมือนกัน อันนี้อันหนึ่ง

ฉะนั้นเพียงแต่ว่าให้แก้ไขไป มันเป็นเรื่องโลกๆ นี่เขาแจ้งตำรวจนะ ตำรวจเขายังมีอำนาจดีกว่าเราเลย มาบอกพระนี่พระทำอะไรไม่ได้ ไปบอกพระ พระจะช่วยอะไรได้ ถ้าไปบอกเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานเขาจะช่วยได้นะ ฉะนั้นมันเป็นเรื่องของผู้รักษากฎหมายเนาะ

อันนี้มันข้อ ๔๔๔. เนาะ ต่อไปมันข้อ ๔๔๕. นี่มันมาแล้วล่ะ

ถาม : ๔๔๕. เรื่อง “ปาราชิก”

กระผมอยากถามว่า พระซื้อเทปผี ซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องอาบัติปาราชิกไหมครับ

หลวงพ่อ : ตอบเรื่องปาราชิกไปแล้วมันยุ่งเลย ตอบเรื่องปาราชิกไปนั้น เราจะไม่ตอบก็จะหาว่าเวลาพูด พูดแต่เรื่องสังคมอื่น เวลาพูดถึงสังคมพระแล้วไม่กล้าพูด แต่พูดไปนี่พระก็มีทั้งส่วนที่ดี แล้วพระที่แอบแฝงเข้ามาในสังคมก็เยอะ

ฉะนั้น เวลาคำถามนี่ถามว่า “พระซื้อเทปผี ซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องอาบัติปาราชิกไหม?”

เราจะบอกว่าพระไม่มีซื้อหรอก พระที่ไหนไปซื้อ เพราะพระไม่มีตังค์ พระกรรมฐานนี่ไม่ถือเงินถือทองไปซื้ออะไร โดยเริ่มต้น ถ้าให้มันถูกต้องชอบธรรม พระไปซื้อเทปผี ซีดีเถื่อน พระที่ไหนไปซื้อ พระไม่มีตังค์พระไปซื้อได้อย่างไร? พระไม่ไปซื้อหรอก.. นี่พูดถึงโดยหลักก่อน ถ้าบอกว่าพระไปซื้อๆ เริ่มต้นที่เราบอกว่าพระไปซื้อ นี่มันผิดตั้งแต่ต้นเลย

ภิกษุหยิบเงินเองก็ดี หยิบทองเองก็ดี เป็นนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ พระกรรมฐานไม่หยิบเงินไม่หยิบทอง พระปฏิบัติไม่หยิบ ไม่มีเงินไม่มีทองจะเอาอะไรไปซื้อ แล้วถ้าไม่ซื้อแล้วอยู่กับโลกได้อย่างไร อ้าว.. ไม่ซื้ออยู่กับโลก นี่การกสงฆ์ ผู้ทำการแทนสงฆ์มีใช่ไหม วัดนี้ต้องการใช้อะไรก็บอก พวกโยมก็จะหามาให้ พระไปจะซื้อได้อย่างไร พระไม่มีตังค์ พระเดินทางจะเอาอะไรเดินทาง

“พระซื้อเทปผี ซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องปาราชิกหรือไม่”

ไม่มีพระไปซื้อ ก็พระไม่มีตังค์เอาอะไรไปซื้อ พระซื้อไม่มี แต่สิ่งที่เขาไปทำกันนั้น เพราะว่าเขาเริ่มผ่อนกันมาไง โดยปกติ โดยพระไตรปิฎกนะ

โย ปน ภิกขุ ชาตรูปรชตํ อุคฺคณฺเหยฺย วา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย, นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ เห็นไหม ภิกษุห้ามหยิบเงินเองก็ดี หยิบทองเองก็ดี ถ้าภิกษุหยิบเงินเอง หยิบทองเอง เป็นนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์

ฉะนั้นเวลาภิกษุดำรงชีวิตใช่ไหม เวลาเขาจะมาถวายปัจจัยเครื่องอาศัย นี่ปัจจัยถวายสงฆ์ แล้วก็ถวายเป็นของสงฆ์เป็นกองกลาง แล้วต้องการสิ่งใด ก็ให้พระคุณเจ้าเรียกเอา บอกเอา กับผู้ที่เขาจะบริหารจัดการให้ นี่เขาก็จัดการให้ มีพระที่ไหนไปซื้อ

แต่ทีนี้เพียงแต่ว่าพอสุดท้ายแล้ว.. ขอโทษนะ นี่เราเห็นว่าทางผู้ปกครองเขาอนุโลม อนุโลมให้หยิบกันได้อย่างนั้น พอหยิบกันได้อย่างนั้น การไปซื้อเทปผี ซีดีเถื่อน ถ้าส่วนใหญ่ไปซื้อก็เป็นแบบว่าเขาต้องการใช้ หรือเขาต้องการเป็นการศึกษา นี่พูดประสาเรานะ เขาต้องมีการศึกษา เขาต้องไปซื้อเทปอะไรนี่ ฉะนั้นถ้าเขาไปซื้อจะเป็นปาราชิกไหม? เพราะถ้าเขาหยิบเงินหยิบทอง มันก็เป็นนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ พอเขาไปซื้อของนี่มันจะเป็นปาราชิกไหม?

เราบอกไม่เป็น ไม่เป็นปาราชิกหรอก ไปซื้อเทปผี ซีดีละเมิดลิขสิทธิ์นี่ไม่เป็นปาราชิกเพราะอะไร คำว่าปาราชิกนะ.. ภิกษุ ข้ามด่านขนอนกับบุรุษอีกคนหนึ่ง ที่เขาต้องการขนของหนีภาษีเข้าสู่อีกที่หนึ่ง เพราะภาษีเขาเก็บระหว่างใช่ไหม ระหว่างรัฐฯ ฉะนั้นบุรุษถ้าจะขนของหนีภาษี แล้วเขานิมนต์พระ หรือพระร่วมไปกับเขาในกระบวนการนั้น ในกองเกวียนนั้นมีของหนีภาษีแล้วข้ามด่านขนอน ถ้าเกวียนนั้นข้ามพ้นด่านขนอนนั้น นี่พอพ้นปั๊บภิกษุเป็นปาราชิก เพราะถือว่าสิทธิเงินระหว่างข้ามนั้น มันระหว่างแดน เห็นไหม

นี่สมมุติว่ารัฐนี้เก็บภาษีระดับนี้ อีกรัฐนี้เก็บภาษีต่ำกว่าหรือสูงกว่า พอมันข้ามพ้นนี่มันได้ประโยชน์ตรงนั้นไง พอภิกษุทำข้ามด่านขนอน การขนของหนีภาษี ร่วมมือกับเขา รับรู้กับเขา เป็นปาราชิก ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเทปผี ซีดีเถื่อนมันเข้ามาอยู่ในร้านค้า แล้วพระไปซื้อนี่มันข้ามด่านขนอนเข้ามาอยู่บนแผง แล้วคนเข้าไปซื้อบนแผง มันเป็นปาราชิกไหม? มันได้ร่วมมือกับเขาไหม?

เราว่ามันไม่ครบองค์ประกอบ มันไม่เป็นปาราชิกหรอก เพราะเหมือนกับว่าของนี้มันเข้ามาวางขายใช่ไหม มันวางขายแล้วเราไปซื้อเป็นปาราชิกไหม? ไม่เป็น.. แล้วเป็นอาบัติไหม? เป็น!

เราว่ามันเศร้าหมอง มันผิด เราบอกว่าผิด แต่ถ้าบอกถึงว่าเป็นปาราชิกนี่มันไม่ครบองค์ประกอบ คือกฎหมายองค์ประกอบมันไม่สมบูรณ์ว่าเป็นปาราชิก แต่สิ่งที่เขาละเมิดลิขสิทธิ์กัน เขาหนีภาษีกัน แล้วเราไปซื้อนี่สมควรไหม? ไม่สมควรเด็ดขาด มันไม่สมควรเพราะอะไร เพราะว่าทางโลกเขายังรู้กันเลยว่ามันผิดหรือมันถูกใช่ไหม แล้วทางพระไปทำ แต่บอกว่าเป็นปาราชิกไหมเนี่ย พออย่างนี้เป็นปาราชิก แต่สิ่งที่ว่าข้ามด่านขนอน ข้ามหนีภาษี แบบว่าเราร่วมมือหรือพระลักลอบขนมา นั่นล่ะปาราชิก

ปาราชิกคือเอาเข้ามา ระหว่างข้ามเข้ามา อย่างนั้นถึงเป็น คือพระขนของหนีภาษีเอง นั่นล่ะปาราชิก แต่พระซื้อของหนีภาษี เขาหนีเข้ามา เขาทำของเขา เขาเป็นองค์กรของเขา เขาทำของเขาจบกระบวนการแล้ว แล้วพระไปซื้อนี่มันเป็นปาราชิกไหม เราไม่ได้ทำกับเขา แต่เราไปซื้อของนั้นมาใช้นี่เป็นปาราชิกไหม แต่พระสมควรทำไหม เราว่าไม่สมควร เราไม่เห็นด้วยนะ เราไม่เห็นด้วยไม่ว่าวัตถุหรือไม่วัตถุ แต่บอกว่าเป็นปาราชิกนี่ เราบอกว่ามันก็ไม่ถึงกับเป็นปาราชิก

ผู้ซื้อนะ ผู้ซื้อของนะ แต่ถ้าผู้ขน ผู้ค้า เป็นปาราชิก! เป็นปาราชิก แต่ผู้ไปซื้อของบั้นปลายมาใช้ของนั้น นั่นไม่ถึงกับปาราชิก แล้วมันเป็นอาบัติอะไรล่ะ มันเป็นอาบัติอะไร?

นี่พูดถึงความสะอาด นี่เราพูดตั้งแต่เริ่มต้นก่อน เริ่มต้นว่าไม่มีพระไปซื้อ พระไปซื้อไม่มีหรอก เพราะพระที่ปฏิบัตินี่ เขาหวังมรรค หวังผล หวังหลุดพ้น หวังมรรค ผล นิพพาน เขาไม่มาห่วงเรื่องอย่างนี้หรอก เพียงแต่ว่า อย่างเช่นทีวีหลวงตาเราท่านเป็นผู้ที่พ้นจากทุกข์แล้ว ท่านต้องการเผยแผ่ของท่าน

นี่เวลาเราทำ เราทำอย่างนั้น แต่ผู้ที่ปฏิบัติอยู่นี่หวังจะพ้นจากทุกข์ทั้งนั้น ถ้าหวังจะพ้นจากทุกข์ เรื่องนี้เป็นเรื่องแบบรองๆ ทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครสนใจเรื่องอย่างนี้หรอก ผู้ที่ไปสนใจเรื่องอย่างนี้ จะหาความสุขจากเทปผี ซีดีเถื่อนนี่หรือ? บวชมาเพื่อจะมาหาความสุขกับพวกนี้หรือ?

เขาบวชมาเขาต้องการความสงบใช่ไหม เขาต้องการสมาธิ ต้องการปัญญา ต้องการสิ่งที่ชำระกิเลส เขาไม่มาสนใจเรื่องอย่างนี้หรอก เว้นไว้อย่างที่ว่าไปเห็นที่เขาไปซื้อกัน เขาซื้อมานี่เขาใช้ประโยชน์ เขาทำมาเพื่อการศึกษาของเขาไหม เขาทำอะไรของเขาไหม อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เป็นโลกวัชชะ โลกเขาติเตียน แต่จะผิดศีลข้อไหนล่ะ?

ผิดศีลข้อไหนมันอยู่ที่เจตนา อยู่ที่การกระทำ แต่ถ้าพูดถึงว่าผิดศีลนี่ เริ่มต้นพระไม่มีเงิน ไม่มีทองอยู่แล้ว ไปซื้ออะไร พระไม่มีเงินไปซื้อ แต่สิ่งที่ไปซื้อมันก็ผิดตั้งแต่เริ่มต้น หยิบเงินหยิบทองมันก็ผิดมาแล้ว แต่ถ้าพูดถึงมีผู้ถือเงินไป แล้วจะไปซื้อไปดู นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันหลายเรื่องนะ

นี่พูดถึง เห็นไหม บอกว่าตอบเรื่องปาราชิกไป นี้ปาราชิกมาเป็นแถวเลย อะไรก็จะปาราชิก อะไรก็จะปาราชิก แล้วพระทำความดี ครูบาอาจารย์อยู่ในป่า ภาวนานี่ กูไม่เห็นมึงบอกว่าพระดีบ้างวะ พระครูบาอาจารย์เราทำแต่ความดี ทำดี พระเราทำก็เยอะ พระทำดีก็ต้องว่าทำดีบ้างสิ แต่สิ่งที่เราเห็นกันนั้นเพราะมันอ่อนด้อยทางปัญญา ปัญญาอ่อนด้อยมาแล้วมันก็คิดกันไปนะ

อันนั้นพูดถึงข้อ ๔๔๕. เรื่อง “ปาราชิก” จบเนาะ ยังมีข้างหน้าอีกหลายปาราชิกเลย (หัวเราะ)

ถาม : ๔๔๖. เรื่อง “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า”

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ หนูนั่งสมาธิบริกรรมพุทโธ พุทโธ ทุกวันอยู่นะคะ แต่ใน ๔-๕ เดือนนี้มีความรู้สึกอยากมีคู่ อยากแต่งงาน รบกวนจิตใจเหลือเกินค่ะ ขอความเมตตาหลวงพ่อด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : นี่หัวข้อคำถามมันบอกชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่เวลาคนเรามันถลำไปในความรู้สึกนึกคิดแล้ว มันไม่มีอะไรยั้งคิด เหมือนผงเข้าตา เวลาผงเข้าตา ต้องให้คนอื่นเขี่ยให้นะ ไม่รู้จะเขี่ยอย่างไร เพราะนี่คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า เราก็รู้อยู่แล้ว หัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่า “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” คนในเขายังอยากออกเลย แล้วเราเป็นคนนอกเราจะเข้าไปทำไม เราก็เป็นคนนอก เห็นไหม คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

ฉะนั้นมันมารบกวนหัวใจ นี่มันต้องมีสตินะ กรณีอย่างนี้มันต้องตั้งสติ ตั้งสติแล้วเราก็ใช้ปัญญา พระพุทธเจ้าบอกว่า “ชีวิตการครองเรือน เหมือนกับวิดทะเลทั้งทะเลเอาปลาตัวเดียว” มันทุกข์ขนาดนั้นเลย นี่เหมือนกับวิดทะเลทั้งทะเลเลยเพื่อเอาปลาตัวเดียว เรายังจะเอาอย่างนั้นอีกหรือ? ความสุขในการครองเรือนก็มีแค่ได้ปลาตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง แต่วิดน้ำทั้งปีเลย วิดน้ำทะเล วิดแล้ววิดอีก วิดแล้ววิดอีก เพราะน้ำมันจะเข้า กับเรามานั่งภาวนาพุทโธเนี่ย

พูดถึงว่าเหงาไหม ว้าเหว่ไหม? แน่นอน ความอาลัยอาวรณ์นี่เป็นกิเลสตัวสุดท้าย ตัดกามราคะ ตัดทุกอย่างหมดแล้ว เวลาอยู่นะมันยังเศร้า ยังเฉา ยังหงอยนะ กิเลสตัวสุดท้ายคือตัวอาลัยอาวรณ์ ตัวเศร้า ตัวเหงา แต่ถ้ามันละตรงนี้ได้นะพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่ กิเลสตัวสุดท้ายที่ละเอียดที่สุดคือไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ยาก ไม่ใช่โลภ ไม่ใช่โกรธ ไม่ใช่หลง แต่ตัวเศร้าๆ เศร้าๆ นั่นล่ะ ตัวนี้คือตัวจิต ตัวจิตที่มันไม่มีสิ่งใดเลย

ฉะนั้นถ้าเรามีสตินะ เรายับยั้งสิ่งนี้ได้ ชีวิตมีคู่นี่ความสุขแค่ปลาตัวเดียว ในพระไตรปิฎกสอนไว้เยอะมากเรื่องนี้ ฉะนั้นเพียงแต่ว่าถ้าจิตใจมันคิดใช่ไหม เราก็พุทโธมาตั้งหลายเดือนแล้ว แต่พอมันมีความอยากรู้อยากเห็น อันนั้นเราก็ต้องหาทางแก้ไขของเรา ตั้งสตินะ แล้วใช้ปัญญาเราทบทวน ถ้าทบทวนมันเห็นถูกเห็นผิดแล้วมันจะวาง มันจะวางเสร็จแล้วเดี๋ยวก็คิดอีก มันคิดอีกเพราะอะไร เพราะมันมีอวิชชา

คนเรานี่มีอวิชชาอยู่ในหัวใจ คนเรามีอวิชชานี่นะ พอสติปัญญาทันมันนะ มันก็สงบตัวลง พอสติปัญญาเราอ่อนด้อยมันก็ฟูขึ้นมา กิเลสเดี๋ยวก็ฟู เดี๋ยวก็แฟบ เดี๋ยวก็ดับอยู่ในใจ ความคิด ความอยาก มันก็มีเป็นครั้งเป็นคราว

ฉะนั้นเราต้องตั้งสติ ตั้งปัญญาไล่ต้อนมัน พอสติปัญญามันทันมันก็สงบตัวลง เดี๋ยวมันก็คิดอีก เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิต ฉะนั้นเราจะต้องมีสติ เรามีกำลังใจของเรา มีสติแล้วเราใคร่ครวญของเรา จะต้องต่อสู้กันไปตลอดชีวิตแหละ ถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ยังต้องต่อสู้ไปตลอดชีวิต แต่ถ้าแต่งแล้วก็หายสงสัย เออ.. คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า พอแต่งแล้วนะก็อยากจะออกแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้เข้านี่มันไม่มีอะไรจะออก ฉะนั้นต้องมีปัญญาสู้ไปถึงที่สุดนะ

นี่มาอีกแล้ว ข้อ ๔๔๗. เรื่อง “หลงใจตัวเอง” นี่เขาถามมาไง

ถาม : กราบขอบพระคุณในธรรมที่หลวงพ่อได้เมตตาตอบคำถามเดิม เนื่องจากผมเป็นห่วงเด็กในหมู่บ้าน (เขาพูดถึงพระในบ้านเขา แล้วมีพระที่ทำอย่างนั้น) ห่วงเด็กในหมู่บ้านที่สามารถบวชเป็นภิกษุสืบทอดพระศาสนาได้ แต่เกรงกรรมเก่าจะตัดรอน ทำให้ในหมู่บ้านมีวัดนี้วัดเดียว

หลวงพ่อ : เขาก็สงสาร เขาถึงถามเรื่องนั้นมา แต่เขาบอกว่าจบแล้ว เพราะตอนนี้ อบต. อบจ. ในนั้นเขารู้กันแล้ว เขาเริ่มตรวจสอบ.. อันนั้นอีกอันหนึ่งนะ ทีนี้ไปถึงคำถามเขาแล้ว อันนี้พูดถึงว่าเหตุเพราะเขาเขียนมาเอง เขาเขียนคำถามนี้มาเอง นี่เขาขอบคุณมา ไอ้เราก็ตอบไปด้วยที่ว่า มันสะเทือนกันไง

นี่คำถามเขานะ..

ถาม : ๑. เคยพิจารณาตัดแขนตัดขาด้วยความนึก เมื่อจิตสงบคือตัดแขนที่ขาดออกจากตัว ส่วนที่แยกออกจากตัวแล้วไม่เจ็บ จะเจ็บก็ส่วนที่เป็นแผลธรรม มันเตือนตัวว่าเป็นตัวมัน และยึดว่าเป็นตัวตนอยู่ แต่ความจริงแล้ว แขนที่ขาดออกไปมันไม่เคยยึดเรา หรือบอกว่าเป็นของเรา จิตใจเราต่างหากที่ไปยึดมัน จนนึกตัดคอให้ขาดก็ลอยเด่นขึ้นมา แม้จะมีความอาวรณ์ในร่างกายที่อยู่ในส่วนที่ยังเหลืออยู่ แล้วมันก็ยังคิดว่าอย่างนี้ถูกแล้ว แล้วก็จมกับความรู้สึกอย่างนี้ตลอดมา แล้วก็เที่ยวมองติเตียนคนอื่นว่าทำไมเขาไม่ทำแบบเรา จนถึงวันหนึ่งจิตมันพลิก

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงเวลาเขาตัดจิตออกไป เห็นไหม พอเวลาเขาตัดร่างกายออกไป ตัดร่างกายออกไป มันลอยเด่นขึ้นมา จิตมันเด่นขึ้นมา อาการแบบนี้มันรับรู้ได้ แต่นี้สิ่งที่รับรู้ได้มันต้องพิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไปไง แต่พอเรามีอาการใดอาการหนึ่ง พวกเรานักปฏิบัติ ส่วนใหญ่ก็คิดว่าซื้อบ้านหลังหนึ่ง พอเสร็จแล้วก็เป็นบ้านหลังนั้น

แต่ในการปฏิบัตินะ บ้านนี้มันเหมือนกับโคนต้นไม้ เราอยู่โคนต้นไม้ เห็นไหม ฤดูกาลต่างๆ มันก็พัดมาทั้งนั้นแหละ ความรู้สึกของเรา นี่คำว่าบ้านหลังหนึ่ง คือมันสำเร็จรูปเป็นบ้านหลังหนึ่ง แต่ถ้าเป็นนามธรรม เหมือนโคนต้นไม้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราตัดร่างกายของเรา เห็นไหม เห็นภาพนี้ลอยเด่น ตัดกายออกไป ตัดคอออกไป จิตนี้เด่นมากเลย นี่เราคิดว่าเรารู้แล้วไง แต่ความจริงมันเป็นประสบการณ์ครั้งเดียว แล้วมันก็เป็นอนิจจังไปแล้ว มันเป็นอดีต อนาคตไปแล้ว เราก็ต้องทำซ้ำๆๆ ไง แต่เพราะไม่ทำซ้ำใช่ไหม พอเราเคยทำได้หนหนึ่งใช่ไหม เราก็ว่าเราเป็นคนดี นี่เราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วทำไมคนอื่นไม่ทำเหมือนเรา ไม่ทำเหมือนเรา

นี่พูดถึงคำถามข้อที่ ๑. ทีนี้ข้อที่ ๒. เขาบอกเขาเอาเรื่องนี้ไปถามคนอื่นใช่ไหม จนครูบาอาจารย์เขาติเตียนว่าเขาต้องกลับมารักษาใจของเขา

ถาม : ๒. เมื่อนำมาปฏิบัติจริงๆ ในใจกลับถามตัวเองว่า “มึงจะนอนตายอย่างกับผู้รู้นี่หรือ?” ทั้งที่มั่นใจว่าถูกแล้ว ทำไมมันยังเป็นอย่างนี้ครับ เพราะที่ดูรู้นี้มันเห็นกาย เห็นจิตชัดเจน อะไรเข้ามาทางอายตนะก็รู้เห็น ออกจากอายตนะก็รู้เห็น แล้วทำไมจิตมันถึงหลอกเอาโดยที่ผมไม่รู้ครับ ผมล้มลุกคลุกคลานมามาก เพราะมัวแต่มองคนอื่นไม่มองตัวเอง คิดว่าตัวเองดี จึงอยากแก้คนอื่น เพราะมาแก้ตัวเองมันทำให้ผลุบๆ โผล่ๆ พิกล

เมื่อก่อนก็เสียใจว่าเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่น เดี๋ยวนี้ก็เสียใจว่าหลวงตาท่านนิพพานไปแล้ว แต่จริงๆ แล้วก็เสียใจที่สุดที่ไม่เคยดูแลต้นเรื่องของตัวเอง ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ก็อยากทำให้ชีวิตนี้ดีที่สุด กราบหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงว่าเขาปฏิบัติ คนปฏิบัติแล้วก็เห็น นี่คนที่ถามว่าปาราชิกมานี่แหละ (หัวเราะ) โฮ้.. ห่วงเขาไปหมดทั่วโลก ทั่วบ้านทั่วเมืองเลย แต่ตัวเองจะทำอย่างไร?

ฉะนั้น การปฏิบัติ เวลามันเกิดสิ่งใดขึ้น เวลามันดีนี่มันดีแล้ว แต่พอดีแล้วนี่นะ ถ้าเราไม่รักษาต่อเนื่อง หรือไม่ทำต่อไป เหมือนต้นไม้นี่ ต้นไม้นะถ้าเราไม่รดน้ำ ไม่ดูแลมัน มันตายนะ แต่นี่มันไม่ตาย ไม่ตายคืออะไร คือสัญญา คือจำได้ ก็จำได้อย่างนั้นแหละ แล้วเวลามันต่อเนื่องกัน ต้นไม้นี่เวลาเราไม่ดูแลมันนะ มันตายไปแล้ว จะกลับมาฟื้นมันนะ ต้นไม้ที่ตายแล้ว รดน้ำให้มันฟื้นขึ้นมาได้ไหม?

เวลาปฏิบัติก็ต้องไปปลูกต้นใหม่ ก็ปลูกต้นเล็กๆ แล้วก็ทำขึ้นมาอีก แล้วกว่าจะมาทำถึงที่ว่านี่ตัดคอ เห็นไหม กายมันหลุดออกไปนี่มันจะเป็นอย่างไร เวลามันตัดอย่างนี้ จิตมันดีมันทำได้ พอทำได้แล้วก็ต้องทำซ้ำ ทำซ้ำ ทำซ้ำไปเพื่อพัฒนา

ต้นไม้นี่ เวลามันโตขึ้นมาเราก็ดูแลมัน รดน้ำ พรวนดิน เพื่อให้มันเจริญงอกงามขึ้นไป จนให้ถึงที่สุดเลยมันออกดอกออกผล คือออกโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผลขึ้นมา นั่นล่ะคือจบ แต่ถ้ามันยังไม่ออกผล พอลืมรดน้ำต้นไม้นี่เดี๋ยวมันตาย พอมันตายแล้วก็ต้องฟื้นต้นใหม่ ปลูกต้นใหม่อยู่อย่างนั้นแหละ

ฉะนั้น เราต้องขยันหมั่นเพียร มาทำใจของเรา มาดูแลใจของเรา คนอื่นเราก็สงสาร เราก็ยังช่วยเหลือเจือจานเขา แต่! แต่เวลาถ้าเขามืดบอดนะ เราพูดอย่างไรไปเขาก็ไม่ฟัง แต่ถ้าเขาต้องการนะ เราพูดที่ไหนเขาก็ฟัง หลวงตาท่านพูดประจำ เวลาท่านสอนพระนะ บอกว่า

“จำคำพูดของผมไว้นะ ถ้าปฏิบัติไป ถ้ามาถึงธรรมนี่จะมากราบศพ”

คำว่ามากราบศพ คือถ้าเขารู้จริงขึ้นมา เขาสะเทือนใจเขามาก แต่ถ้าเขาไม่รู้จริงขึ้นมา เขาหาว่าเราด่าเขา จับผิดเขา แต่พอรู้ขึ้นมานะกราบแล้วกราบเล่า ดูหลวงตานะที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เวลาท่านคว่ำโลกธาตุ ท่านลุกขึ้นกราบ ลุกขึ้นกราบ ลุกขึ้นกราบ..

กราบใครนี่? กราบระลึกคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้น และวางรากฐานศาสนาไว้ พอเรามารู้เข้านี่ กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า มันซึ้งใจไง มันซึ้งใจมาก

ฉะนั้น คนถ้าเขาอยากได้ อยากดี เขาอยากเป็นจริงนะ เขาแสวงหา แล้วมันจะเป็นอย่างที่สมความปรารถนา แต่ถ้าคนที่เขาไม่เอาจริง หรือเอาจริงไม่ได้อย่างเรา เราต้องฉุดกระชาก นี่เหนื่อยมาก ฉะนั้นให้กลับมาดูตัว เพื่อประโยชน์กับตัวเนาะ เอวัง