ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ของของสงฆ์

๑๗ ก.พ. ๒๕๕๓

 

ของของสงฆ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเกิดจากกรรมหมดล่ะ เพราะว่าพอกรรมเราสร้างมา มันมีในพระไตรปิฎก มันมี ๒ คนตายายเขาสร้างบุญกันมา เขาเป็นนายพรานล่าสัตว์นี่แหละ แล้วก็เป็นเศรษฐีเป็นนายพรานล่าสัตว์ ทำบุญด้วยกันมา พอมาเกิดอีกชาติหนึ่ง ผู้ชายไปเกิดอยู่ในป่า ผู้หญิงมาเกิดเป็นลูกมหาเศรษฐี มีปราสาท ๗ ชั้น ทีนี้บนยอด ๗ ชั้นก็อยู่ข้างบน อันนี้ผู้หญิง เป็นลูกเศรษฐีนะ ไปเห็นนายพรานเขาล่าสัตว์ สมัยโบราณนะ เขาก็เอาของมาขายในเมืองไง เห็นแล้วก็เฉยๆ นะ ไม่ได้พูดกัน ไม่ได้อะไรทั้งสิ้นนะ แต่ถึงเวลาไปนะ ไปดักรอพบเขาข้างหน้าเลย ขอไปด้วย คือหนีออกจากบ้านตามผู้ชายไป

ตามผู้ชายไปเพราะอะไร พอสุดท้ายแล้วมันก็ไปทุกข์ไปยากกันไง สุดท้ายแล้วกลับไปพบพระพุทธเจ้านะ สำเร็จหมดเลย สำเร็จทั้งคู่เลย แต่สำเร็จทั้งคู่แล้วทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ เขาถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมเป็นอย่างนั้น การเป็นอย่างนั้น เพราะที่มานี่ไง การเกิดนะ การเกิดมันต้องมีเวรมีกรรมต่อกัน ถ้าไม่มีเวรมีกรรมต่อกันนะแล้วทำไม เราจะพูดนะ พูดแบบเป็นวิทยาศาสตร์เลย ๒ คนสามีภรรยาถ้ามีเพศสัมพันธ์กันก็ต้องมีลูกใช่ไหม เพราะจิตมันไปเกิดอยู่ในไข่ แล้วพอมีเพศสัมพันธ์ แต่คนเป็นหมันทำไมมันไม่มีล่ะ ก็เขามีเพศสัมพันธ์ทำไมเขาไม่มีลูกล่ะ ทำไมจิตมันไม่มาเกิดล่ะ

เพราะในปัจจุบันนี้ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ ถ้าเราเป็นหมันหรือเรามีลูกยาก คือว่าเราก็ต้องทุกข์ไป แต่เดี๋ยวนี้นะหมอมันทำได้แล้ว มันทำกิ๊ฟให้มึงนะ นี่ไง กรรมมันซ้อนมาอีกชั้นหนึ่ง

คณะโยม : กรรมพัฒนาขึ้น

คณะโยม : ใช่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนมันจะมีหรือไม่มี มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ ตอนนี้พอวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา มันซ้อนมาอีกชั้นหนึ่งแล้ว

คณะโยม : แต่ก็มีบางคู่ที่ทำแล้วก็ยังไม่ได้

หลวงพ่อ : ไม่ได้ เราจะพูดตรงนี้ไง เพราะว่าการทำกิ๊ฟนะ ขนาดหมอที่ว่าเก่งๆ แล้ว ยังทำกิ๊ฟได้ไม่ถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ทำได้ร้อยทั้งร้อยนะ แล้วบางคนทำแล้วทำอีกก็ไม่ได้แล้วอย่างไอ้โคลนนิ่งยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะโคลนนิ่งไม่ใช่ว่ากูทำ ๑๐๐ ครั้งจะเกิด ๑๐๐ ครั้งจะเป็นชีวิต ๑๐๐ ครั้ง ไม่มีทาง เพราะตรงนี้ไง ตรงที่มีปฏิสนธิจิตนี่ไง ไอ้ตัวจิตนั้นมันมาเกิดเป็นคนไม่ได้หรอก

คณะโยม : ไอ้พวกที่เป็นหมันนี่ ก็ไม่มีกรรมพันธุต่อกัน

หลวงพ่อ : มี ไม่มีที่ไม่ต่อกันหรอก เพราะอะไรรู้ไหม ไม่มีในชาตินี้นะ แต่ชาติที่แล้วและชาติต่อไปล่ะ

คณะโยม : อ๋อ ยังตามมาไม่ทัน

หลวงพ่อ : ใช่ เพราะว่าอะไร เพราะเรายังไม่จบ เพราะจิตนี้มันต้องเกิดต้องตายอีกใช่ไหม พอชาตินี้มันเป็นอย่างนี้ แล้วชาติต่อไปล่ะ

คณะโยม : แต่ก็เป็นการสร้างกรรมน้อยลง

หลวงพ่อ : คำว่าอย่างนี้ก็ไม่ถูก ไอ้การเกิดมีลูกมันกรณีหนึ่งนะ คนที่ไม่มีลูก ถ้าเป็นคนดีก็ดีสุดยอดเลย คนที่ไม่มีลูกถ้าเป็นคนเลวก็เลวสุดยอดเลย กรรมมันอยู่ที่ความดีความเลวในใจอันนั้น มันไม่ใช่อยู่ที่การมีลูกหรือไม่มีลูก ทีนี้การมีลูกมันก็เป็นการมีทุกข์เพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นห่วงเป็นอาลัยอาวรณ์ใช่ไหม แต่ถ้าไม่มีลูกก็ทุกข์อีกอันหนึ่ง ทุกข์ว่าเขามีกันแล้วกูไม่มี โอ้โฮ โทษนะ แล้วยิ่งเป็นตระกูลของคนจีน ถ้าเราไม่มีจะทำยังไง

คณะโยม : แล้วอย่างคนจีนที่เขาไม่มีคู่ เขาก็จะคิดว่าแก่ตัวแล้วจะทำยังไง

หลวงพ่อ : แก่ตัวจะไปทำยังไง พูดถึงคนแก่ตัวแล้ว ถ้าเราประกอบอาชีพของเรานะ แล้วเรามีตังค์นะสบายมากเลย มีตังค์อย่างเดียวนี่แหละจะทำอะไรก็ได้ ถ้าไม่มีตังค์เลยนะอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นคนมีบุญกุศลคนเขาก็ดูแลได้นะ อย่างเช่นเราเห็นเราเมตตาไหม บางทีเราเห็นแล้วเราถูกใจนะ พอถูกใจเราอยากจะดูแลคนนี้

แต่บางคนนะคนแก่ที่เขาอยากอยู่คนเดียวก็มี คนแก่มีหลายประเภทนะ เพราะเรานั่งอยู่ตรงนี้เหมือนกับ เรารับฟังปัญหามาเยอะ คนแก่บางคนเท่านั้นน่ะ ส่วนใหญ่แล้วเหงา ส่วนใหญ่แล้วคุยกับคนแก่ก็คุยแต่เรื่องประวัติศาสตร์ คนแก่ชอบคุยเรื่องอดีต อันนี้คนแก่คนคุย แต่ถ้าคนแก่เขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา เขาก็อยากอยู่ภาวนาของเขา เขาก็อยากอยู่สงบเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะยังไงก็แล้วแต่ทุกคนยังมีกิเลส

พอมีกิเลส มีความรู้สึก กิเลสตัวที่ละเอียดอ่อนที่สุดคือตัวอาลัยอาวรณ์ กลัวพลัดพราก ไอ้ตัวอาลัยอาวรณ์เฉยๆ นะ แต่พอออกมาเป็นโทสะแล้ว เป็นโมหะแล้ว แต่อาลัยอาวรณ์นี่มันเป็นตัวของมันเอง ใช่ คราวนี้เรามีพร้อมทุกอย่างแล้ว เราไม่มีโทสะ เราไม่มีโมหะ เรามีเงินทอง เรามีคนดูแล เรามีทุกอย่างพร้อมหมดเลยนะ ทุกข์ไหม? ทุกข์ ไม่มีทางหรอก ทุกอย่างเพียบพร้อมหมดเลยนะ แต่ใจเรานะ เราคุมใจเราไม่ได้ ใจเรานะ ถ้ายิ่งมีทุกอย่างพร้อมนะ กูต้องไปแล้ว กูต้องจากพลัดพรากแล้ว เป็นห่วงคนนู้นคนนี้ เรามีลูกศิษย์เยอะนะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะ ไปแล้ว

คณะโยม : ยิ่งรวยยิ่งกลัวตาย

หลวงพ่อ : ใช่ พอเริ่มเจ็บไข้ได้ป่วยนะ ห่วงเขา เป็นห่วงคนนู้นเป็นห่วงคนนี้เป็นห่วงไปหมดเลย จะถามหาคนนั้นไปหมดล่ะ แต่พอมันใกล้ตัวเข้ามา เริ่มไม่ถามแล้ว

คณะโยม : เริ่มห่วงตัวเอง

หลวงพ่อ : ใช่ เพราะจิตนะพอมันกระชับเข้ามานะ มันจะเริ่มห่วงตัวเอง แต่ถ้าอย่างพวกเรานี่ อย่างเช่น เราเป็นคนปกติร่างกายเราสมบูรณ์ เราจะคิดไปร้อยแปดเลย แต่พอเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะคิดถึงตัวเราแล้ว ถ้าจิตมันยังเคลื่อนไหวได้นะ มันจะห่วงคนโน้นคนนี้ไปหมด เพราะตัวมันเองมันสบายอยู่ไง แต่พอตัวมันเอง เหมือนเราถ้าไม่มีแผล ไม่มีอะไร ไม่รู้สึกตัว ยังไม่เจ็บหรอก แต่พอมีแผลนี่กูเจ็บแล้ว จิตก็เหมือนกัน พอถึงใกล้ที่สุดเข้ามาแล้ว ไม่ถามถึงใครแล้ว ถามถึงตัวเองแล้ว

คณะโยม : แล้วอย่างคนป่วยที่เขาทรมาน จิตเขาไปอยู่กับการ.. เวลาจะตายจิตเขาก็ไปอยู่กับตรงนั้น

หลวงพ่อ : ใช่ ฮึ.. ถ้ามันทรมานนี่นะ ถ้าคนมีสติปัญญานะ แล้วถ้าเห็นโทษของมัน เราจะคุมใจเราได้ พอคุมใจเราได้ขึ้นมา มันจะเบื่อหน่ายกับชีวิตนะ ถ้าเกิดแบบนี้มันก็เป็นบุญกุศลนะ มันต้องดูว่าไอ้การทรมานนี่มันเป็นสภาพแวดล้อม คือว่า เราเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะการดำรงชีพของเรานี่แหละ ถ้าเราดำรงชีวิตดี เรารักษาร่างกายเราดี ความเจ็บไข้ได้ป่วยจะน้อยลง ถ้าคนใช้ชีวิตแบบสำมะเลเทเมา ตัวเองจะเจ็บไข้ด้วยป่วยมาก นี่พูดถึงการเจ็บไข้ได้ป่วยนะ

ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วถ้ามันมีสติสัมปชัญญะ มันจะนึกถึงตรงนี้ไง เพราะพอนึกถึงตรงนี้ทุกคนมีค่าเท่ากัน ทุกคนเกิดมามีร่างกายและจิตใจเหมือนกัน แต่การใช้ชีวิตของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน อันนี้โรคนะ พระพุทธเจ้าบอกโรค ๓ ชนิด ชนิดหนึ่งคือมันเสื่อมสภาพโดยธรรมดา ทุกคนเกิดมามีโรคประจำตัวคือ โรคชรา ไม่เป็นไรเลยนะ ตายเพราะโรคชรา โรคชรานี่เป็นโรคธรรมชาติเลย มันมีอยู่ กับโรคกรรม และโรคอุปาทาน

ในการเป็นโรคของคนมีอยู่ ๓ อย่าง โรคกรรมนี่นะคือว่า มันเป็นกรรม เป็นการกระทำมา อย่างเช่นหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบนี่นะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ลูกศิษย์นี่รักมากนะ เวลาท่านเจ็บไข้ได้ป่วย เอายาคลายเส้น ยาอะไร จะให้ท่านฉัน ท่านไม่ยอมฉัน ท่านบอกท่านไม่ฉัน มันเป็นกรรมของท่าน ทีนี้ลูกศิษย์ก็รักนะ ก็เอายายัดเข้าไปในกล้วยเพื่อให้ท่านฉัน แล้วท่านฉันนะ ท่านไปขบโดนยานะบ้วนทิ้งเลย แล้วท่านบอกว่าไม่หายหรอกเป็นโรคกรรม กรรมเพราะอะไร นี่ไงโรคกรรม

ท่านบอกว่าตอนท่านเด็กๆ นี่ท่านพูดเองนะ ตอนท่านเด็กๆ สมัยอยู่อีสาน ก็หากุ้งหอยปูปลา ทีนี้พอได้ปูมา ปูมันจะเดินหนีไง ก็หักขามัน เพื่อไม่ให้มันหนี

คณะโยม : ให้ผลเร็วภายในชาติเดียว

หลวงพ่อ : ให้ผลเร็วหรือให้ผลช้ามันอยู่ที่ว่า เพราะถ้าให้ผลเร็วแสดงว่าท่าน เพราะหลวงปู่ชอบนี่เผามาเป็นพระธาตุแล้ว หลวงปู่ชอบเป็นพระอรหันต์แล้ว นี่พระอรหันต์เห็นไหม พระอรหันต์ถ้าไม่มาตรงนี้ก็จบกันแล้ว คือโอกาสก็ใช่ ชีวิตเรา บางอย่างมันมาไวมาช้า ถ้าไม่มาช้ามันก็ไปอีก แต่ทีนี้ถ้าพูดถึงกรรมพวกนี้เขาจะเห็นว่ามาร พญามารมันรู้นะ

คณะโยม : ผมไม่ค่อยกล้าถามละเอียด เพราะว่าตอนสมัยเด็กๆ ผมเป็นคนที่ชอบตีหนู ตีหนูอาจารย์ ตีแล้วต้องตีหัว ยิงหนังสติ๊ก เด็กบ้านนอก ยิงหนังสติ๊กก็ยิงหัว เพราะธรรมชาติของหนูนี่ถ้ายิงโดนตัวมันก็ไม่ตาย ทีนี้ตอนนี้ผม...

หลวงพ่อ : คิดได้แล้ว

คณะโยม : ผมเลิกทำปาณาติบาต ถือศีล ๕ มาหลายปีแล้วครับอาจารย์ ทีนี้ปัจจุบันมันชอบเป็นโรคปวดหัว ผมก็เคยคิดเหมือนกัน แต่ว่าก็ไม่ได้ไปเปรียบเทียบถึงขนาดครูบาอาจารย์

หลวงพ่อ : อันนี้เรายกไว้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นอดีตมาแล้ว อันนี้ยกไว้ แต่ทีนี้พอเราทำบุญก็ต้องอุทิศให้มัน อุทิศให้เขาให้หมดเลย มันมีอยู่ในกฎแห่งกรรมนะ มันมีหนูนี่แหละ มันโดนเผาตายไป แล้วมันอาฆาตแค้นมาก มันก็ไปรอที่ยมบาล รออยู่นั่น ทีนี้พอเจ้าของนาตายไป เจ้าของนาเป็นคนมีศีลมีธรรมมาก ทำแต่บุญนะ พอถึงเวลาตายไปแล้วเขาลงต่ำไม่ได้ไง เขาต้องไปสวรรค์อย่างเดียว แล้วยมบาลเขายังตัดสินอยู่ ไอ้หนูนั่นมันไปประท้วงนะ มันไม่ยอมมันบอกว่ามันตายเพราะไอ้คนนี้ ชาวนาพอถึงเวลาเขาก็เผานา

คณะโยม : ถึงหน้าเขา

หลวงพ่อ : ทีนี้เขาบอกว่า ทำไมถึงไม่ยอมล่ะ เขาบอกว่าเขาตายเพราะคนๆ นี้ แล้วตายเพราะเหตุใดล่ะ ตายเพราะเผานา แล้วเผานาทำยังไงล่ะ ทีนี้คนๆ นี้เขาเป็นคนดีไง เขาพูดอย่างนี้ ก่อนที่เขาจะเผานานะ คนนี้เป็นคนมีธรรมนะ แค่นี้ไง แค่นี้มันพ้นกรรมได้นะ

ก่อนจะเผานาเอาไม้เคาะ “ไปนะ ไปนะ จะเผานา จะทำนานะ ไปนะ ไปนะ” แล้วก็เผา ถ้าไอ้หนูมันดีมันก็ไป ไอ้หนูมันเกเรมันถือสิทธิ์ของมัน มันก็อยู่นั่นมันก็ตายไป พอตายไปมันก็แค้นใช่ไหม พอมันแค้นมันก็ไปรอที่นั่น นี่ในกฎแห่งกรรมนะ เป็นเรื่องของเขานะ เขาระลึกอดีตชาติได้ เขาเอาขึ้นมาพูดไง ทีนี้พอถึงเวลา ถ้าไอ้หนูนี่แค้นนัก ทีนี้ยมบาลเขาก็ต้องตัดสิน ถ้าเอ็งแค้นนัก เอ็งจะเอาคืนใช่ไหม เอาคืนก็ได้ ไปเอากองฟางมา เขาก็เอากองฟางมาตั้งไว้ แล้วก็เอาวิญญาณของเจ้าของนาไปยืนบนนั้น แล้วก็ให้หนูเอาไม้เคาะ ไปนะ ไปนะ ไอ้เจ้าของนาก็ลงจากกองฟางนั้น แล้วให้หนูมันจุด ก็หายกันไป เพราะว่าเจ้าของนาเขาทำอย่างนั้น

นี่ไง นี่พูดถึงว่าเราอุทิศส่วนกุศล เพราะตอนนั้นเราทำ เราเข้าใจอะไรไม่ได้ เรื่องของกิเลสนี่นะ เวลาทำอะไรเราเข้าใจของเราไม่ได้นะ

คณะโยม : แล้วอย่างพวกแม่ค้าปลาที่เขายึดเป็นอาชีพ ถ้าทำบุญอุทิศส่วนกุศลแล้วจะได้ถึงไหม

หลวงพ่อ : มันคนละกรณีกัน แม่ค้าปลานี่นะ เวลาเขาทำของเขา มันเป็นหน้าที่ของเขา เขาทุบของเขา มันเป็นกรรมอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ทีนี้เรารู้ว่าเราทำกรรมมาเยอะ เราก็อยากจะผ่อนเห็นไหม เราก็ทำบุญของเราอุทิศส่วนกุศลกัน มันเป็นคนละส่วนกัน คนละส่วนกับตรงนี้

ตรงที่สมมุติว่าเราจะเป็นแม่ค้าขายปลา เราก็คิดก่อนว่าเราจะขายปลาไหม หรือเราจะทำอาชีพอื่นไหม มันมีสิทธิที่จะเลือกตรงนี้ไง แต่ถ้าเราจะเลือกขายปลา นี่ฟังนะ ถ้าเราเลือกขายปลามันเป็นความจำเป็นของเรา เวลาเราจะทำ เราก็แผ่เมตตา เราไม่ได้ทำด้วยความตั้งใจ

คณะโยม : ไม่ได้โกรธแค้น

หลวงพ่อ : ใช่ แต่ถ้าเราเป็นแม่ค้าปลา อันนี้โอ้โฮเราจะได้ตัง เราพอใจ เราตีไปด้วยความพอใจ กรรมก็ต่างกันแล้ว เพราะตีไปด้วยความจงใจตั้งใจ ไอ้ความตั้งใจ เจตนานี่สำคัญมากนะ แต่อันนี้เราก็ต้องทำเหมือนกัน แต่ทำด้วยความจำเป็น ใจเราไม่อยากทำ ทีนี้พอไม่อยากทำมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่ไงเราถึงบอกมันเป็นเรื่องของกรรมไง

บางคนบอกว่าทำด้วยความไม่รู้มันก็ต้องไม่มีกรรมสิ ไอ้ทำด้วยความไม่รู้ เราไม่รู้เรื่องบุญกุศลไง เราก็ตั้งใจ เจตนา จงใจ พอจงใจอันนี้มันผูกมัดนะ บางคนบอกว่าที่ทำไปนี่ไม่รู้เลย เราเคยพูดอยู่ทีหนึ่ง บอกว่ามันมีอยู่ในพระไตรปิฎก อีกามันกินพริกในวัด แล้วมันก็ไปขี้ไว้ในป่า มันกินเม็ดพริกไงอยู่ในท้องนก นกมันก็ไปขี้ไว้ในป่า แล้วพวกพรานมันไม่รู้มันก็ไปกินพริกต้นนั้น ไปกินของของสงฆ์

เขาบอกว่าเขาไม่รู้ว่ามันเป็นของของสงฆ์ได้ยังไง เอ็งจะรู้หรือไม่รู้ เอ็งปฏิเสธไม่ได้นะ เพราะมันอยู่ในป่า เราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นของสงฆ์หรือไม่เป็นของสงฆ์ แต่เพราะเราไม่รู้ใช่ไหม เราก็ทำได้เต็มที่เลย เด็กๆ มันถึงบอกว่า ศาสนาพุทธนี่ลำเอียงมากเลย เพราะเขาไม่รู้แล้วให้โทษเขาได้ยังไง ก็เขาไม่รู้ แต่เราบอกว่า ของของสงฆ์นี้มันเป็นเวรเป็นกรรมนะ มันต้องมีที่มาที่ไป ด้วยเวรกรรมของอีกามันไปกินแล้วมันขี้ทิ้งไว้ แล้วก็เป็นเวรกรรมของนายพรานนั่นทำไมไปเจอพริกต้นนี้ล่ะ ทำไมไม่เจอพริกต้นอื่นล่ะ

เราบอกว่า อันนี้ของๆ สงฆ์ ถวายให้สงฆ์ ถ้าสงฆ์นะสงฆ์บอกว่า ของนี้อุปโลกน์ เพราะของของสงฆ์มันเป็นของส่วนกลาง ของนี้เป็นของของสงฆ์ใช่ไหม เราทำให้มันเป็นของที่ควรแจกกันได้ พอบอกเป็นของของสงฆ์แล้วใช้อะไรไม่ได้เลย พอของของสงฆ์มาก็แช่แข็งไปเลย ใช้อะไรไม่ได้เลย

ของของสงฆ์มาแล้วก็เป็นของของสงฆ์ แต่ของสงฆ์นี่เป็นของส่วนกลาง ถ้าเราไปใช้ประโยชน์ในสงฆ์ อย่างให้แต่พระเถระใช่ไหม หัวหน้าแบ่งกัน เอาผ้าไปนี้เจือจานกัน ใครขาดแคลนให้มาเอา เราทำของของสงฆ์ให้เป็นของควรแก่การใช้งาน การแจกกัน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมนั้นได้

คณะโยม : ก็คือการตั้งกฎเกณฑ์

หลวงพ่อ : เขาเรียกอุปโลกน์ ใช่ อย่างเช่นกฐิน เห็นไหม เป็นของของสงฆ์ สังฆทานนี่เป็นของของสงฆ์ ถ้าถวายสังฆทานเป็นของของสงฆ์ แล้วของของสงฆ์ถ้าบุคคลเอาไปใช้ เป็นเปรต พอเป็นของสงฆ์ปั๊บเราก็อุปโลกน์ เห็นไหม ของของสงฆ์นี้เป็นของของสงฆ์ ให้แจกกันในหมู่สงฆ์

ฉะนั้น ของของสงฆ์หรือไม่ของของสงฆ์ มันเป็นวินัยกรรม มันเป็นเหมือนกฎหมาย ถ้าทำให้ถูกต้องมันจะถูกไปหมดเลย ฉะนั้นถ้ามันเป็นของของสงฆ์ ไม่ใช่ว่าของของสงฆ์แล้วมันจะศักดิ์สิทธิ์จนทำอะไรไม่ได้เลย ของของสงฆ์ถ้าเราเอาไปใช้ผิดทาง เพราะเอาของส่วนสาธารณะไปเป็นของส่วนบุคคล ถ้าเอาของสาธารณมาใช้กับชุมชนนั้นมันก็ถูกต้อง

ฉะนั้น ที่ว่าเจตนาหรือไม่เจตนา อันนั้นมันอยู่ที่น้ำใจไง หนึ่งอยู่ที่น้ำใจ อยู่ที่การเลือก แต่ถ้าถามว่ามีกรรมไหม มีกรรมทุกอย่างเลย ตีด้วยเจตนาก็มีกรรม ตีด้วยไม่เจตนาก็มีกรรม มีกรรมทั้งนั้นล่ะ แต่มากหรือน้อยไง กรรมมันไม่เท่ากัน

คณะโยม : มันก็ลบล้างกันไม่ได้อยู่แล้ว

หลวงพ่อ : ไม่ได้ แต่ทำบุญกุศลนี่มันก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะเราทำอย่างนี้มา เพราะมันเป็นทางเลือกไง อย่างเช่น ชีวิตของเรามันจำเป็นต้องมาตรงนี้ ถ้าเรามีวุฒิภาวะ อย่างเช่นพระเราเห็นไหม ทำไมเรานั่งตลอดรุ่ง ทำไมเราต้องต่อสู้กับตัวเราเองล่ะ ทั้งๆ ที่สิทธิของเรานะ เราไม่ทำก็ได้ เวลาเราถือธุดงควัตรขึ้นมานี่ เราไม่นอนตลอด ๓ เดือน ๔ เดือน ก็เราเป็นคนตั้งกติกาของเราเองนะ

แล้วที่หลวงตาท่านบอกว่าวัดป่าบ้านตาด หรือวัดสายของท่านนี่จะให้ถือธุดงค์ ท่านบอกว่า ตอนท่านอยู่ที่หนองผือ พระถือธุดงค์กันเยอะมากเลย แล้วสมัยก่อนมันอยู่บ้านนอกคอกนามันก็ไม่ค่อยมีอะไรได้ดังใจหรอก พอไปแล้วมันก็อ่อนแอ ก็คือยกเลิกกันหมดไง ท่านถึงได้ทำเป็นตัวอย่างเห็นไหม ท่านบอกว่าถ้าไม่ทำมันก็จะมีแต่ในตำรา แล้วพวกเราก็ทำกันไม่เป็น

ทีนี้พอทำกันไปเป็นอย่างนี้ปั๊บ เราก็ตั้งกฎกติกากับตัวเรา ในธุดงค์ ๑๓ มันมีไม่นอนด้วยไง ทีนี้พอไม่นอน เราก็ตั้งสัจจะว่ากูจะไม่นอนนะ แล้วกูก็ต้องไม่นอน แล้วพอตั้งสัจจะว่ากูไม่นอนนะ อืม ขอหน่อยนึง มันก็ขาดไปแล้ว สัจจะมันขาดหมด ฉะนั้นไอ้ที่พูดกันนี่นะ กรรมมันเป็นอจินไตย เราจะพูดให้กรรมเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ อย่างเช่นเรานั่งกันอยู่ที่นี่ แล้วเราทำสิ่งใดอันเดียวด้วยกัน แต่กรรมไม่เท่ากันนะ

เราบอกเวลามาทำบุญนี่นะ คนไหนมาทำบุญ มาทำบุญกับพระองค์นั้น มาด้วยกัน แต่บุญก็ได้ไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันเพราะอะไร เพราะคนๆ หนึ่งมาด้วยศรัทธา มาด้วยความเชื่อ อีกคนๆ หนึ่งนะ เขาไปงัดมาจากที่นอน แหม กูห่วงที่นอน กูไม่อยากไปเล้ย แต่กูก็ต้องมา เห็นไหม แล้วพอไปก็ทำสักแต่ว่า หัวใจนี่ เจตนานี่ มันมากน้อยแค่ไหนไง

หลวงตาบอกว่า ประตูเปิดกว้าง อากาศเข้าได้มาก ถ้าประตูเปิดแคบ อากาศเข้าได้น้อย เจตนาเราจงใจตั้งใจมากน้อยแค่ไหน ไม่เท่ากันหรอก

เพราะกรณีอย่างนี้ไง ที่บอกว่า พระสารีบุตรออกจากสมาบัติเห็นไหม แล้วทุคคตเข็ญใจ อาชีพของเขาคือรับจ้างไถนา พอออกจากสมาบัติมา ทางนี้ก็แบบว่า โอ้โฮ รออาหารจากภรรยามาส่ง สุดท้ายพอภรรยามาช้ามาก โกรธมากนะ แต่พอมาพร้อมกับพระสารีบุตร เห็นแล้วมันอิ่มใจ มันถวายหมดเลย พอไถออกมา ดินเป็นทองคำหมดเลย แล้วคนอื่นจะไปทำอย่างนั้นได้ไหม นี่ก็บอกว่าพระออกจากสมาบัติแล้ว ทำบุญแล้วจะได้สมความปรารถนาเลย แต่เพราะตอนนั้นทุคคตเข็ญใจเขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ไง อย่างพวกเราไปทำนะ เราเชื่อว่าไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร เพราะ โห ออกจากสมาบัตินะ กูจะเอาอย่างงั้นนะ จะได้อย่างนั้นนะ มันก็ได้บุญอยู่ แต่ผลสัมฤทธิ์มันไม่บริสุทธิ์อย่างนั้นหรอก

คณะโยม : แล้วสมัยนี้ยังมีอยู่ไหม

หลวงพ่อ : มี

คณะโยม : แล้วมันจะเข้าลักษณะแบบว่า รู้มากหรือเปล่าครับ

พลวงพ่อ : ใช่ รู้มาก จะยากนาน

คณะโยม : ดวงจิตนี่ถ้าจะไม่มาจุติอีก ก็คือต้องนิพพานอย่างเดียว

พลวงพ่อ : ใช่

คณะโยม : แล้วดวงจิตนี่มีเกิดใหม่ไหมครับ

พลวงพ่อ : ดวงจิตไหน

คณะโยม : ดวงจิต.. มีการเกิดใหม่ของดวงจิตไหมครับ

พลวงพ่อ : ถ้าบอกว่ามีการเกิดใหม่ของดวงจิตไหม ดวงจิตเฉพาะดวงนั้นนะ ดวงจิตนี้มาไม่มีต้นไม่มีปลาย ถ้ามีต้นมีปลายพระพุทธเจ้าจะบอกไว้ก่อนเลยว่า ดวงจิตนี้เกิดจากตรงไหน แล้วไปดับกันที่ไหน มันดับไม่ได้เพราะมัน…

คณะโยม : ไม่ๆ หมายถึงว่ามันจะมีการเกิดใหม่ไหม

พลวงพ่อ : ไม่มี!

คณะโยม : แล้วทำไมประชากรถึงได้มากขึ้น

พลวงพ่อ : ไอ้ประชากรนี่ยังน้อยเกินไป เมื่อก่อนสมัยเราเด็กๆ นะ เมืองไทยนี่ ๑๖ ล้านคน เพราะเราเรียนหนังสือทีแรก เขาให้ท่องจำเลย เมืองไทยนี่ประชากร ๑๖ ล้านคน ตอนนี้ ๖๐ สิบกว่าล้านมาจากไหน ไอ้ดวงจิตอย่างนี้นะ ดวงจิตที่จะมาเกิดอีกมหาศาลเลย แล้วมาไม่ได้ แต่เราไม่เห็นกันเองไง เพราะครูอาจารย์บอก ในปรมาณูหนึ่ง ในนิวเคลียสหนึ่ง มีจิตอยู่ตั้งกี่ดวง เอ้าว่าไป

คณะโยม : ในความรู้สึกคือว่า ทุกวันนี้มนุษย์ที่เกิดมาส่วนใหญ่ จะสร้างกรรมมากกว่าสร้างบุญ

พลวงพ่อ : สร้างกรรมทั้งนั้นล่ะ ถ้าย้อนกลับมาว่า ดูสัตว์น้ำสิ มนุษย์เห็นไหม อย่างเมื่อกี้ที่เขาพูด ทำไมพระไปเกิดเป็นเล็นได้ พระไปเกิดเป็นเล็นเพราะว่าไปผูกพันกับจีวรใช่ไหม มนุษย์ก็เกิดเป็นสัตว์ได้ สัตว์ก็เกิดเป็นมนุษย์ได้

สุนัขนะ พระปัจเจกพุทธเจ้ามีคนนิมนต์ไปฉัน นิมนต์ฉัน ๓ เดือน แล้วพอรับรู้กันแล้ว ก็ให้สุนัขของที่บ้านเป็นคนนิมนต์มา ถึงเวลาแล้วมันก็ไปเห่าๆ แล้วก็ดึงมาเลย พระปัจเจกนี่รักหมานะ ก็เดินทำเป็นว่าหลบหลีก พอไปผิดทางนี่มันไม่ยอม มันจะดึงจีวรกลับมา ไม่ใช่ ทางนี้ ทางนี้ มันเป็นความผูกพัน รักมาก

มันเป็นธรรมเนียมของพระปฏิบัตินะ พอออกพรรษาก็ต้องธุดงค์ พระปัจเจกถึงเวลาจะต้องธุดงค์แล้ว ไอ้สุนัขตัวนั้นมันรักมาก พอมันรักมาก มันอาลัยอาวรณ์ มันหอนจนมันขาดใจตาย ไปเกิดเป็นท้าวโฆสักกะ คำว่าโฆษก คือเป็นเทวดาที่เสียงเพราะที่สุดไง ท้าวโฆสักกะ เราก็ทับศัพท์ เพราะเราชาวพุทธใช่ไหม ไอ้คนเป็นโฆษกนั้นน่ะหมา จากหมามาเป็นโฆษกไง เขาเป็นหมาแล้วเขาไปเกิดเป็นเทวดา

เราจะบอกว่า จิตมันเวียนตายเวียนเกิดตลอด ฉะนั้นจะบอกว่ามนุษย์เกิดขึ้นมานี่นะ ดูปลวกสิ ดูมดสิ ดูเล็นดูไรสิ แล้วถ้าหนึ่งตัวจะมาเกิดเป็นคน เอ็งว่าโลกนี้จะมีที่อยู่ไหม แต่ในเล็นในไรหรืออะไรก็แล้วแต่ หนึ่งจิต จิตของเล็นของไร เขาหมดวาระแล้วเขาก็ไปเกิดใหม่ จิตหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นจิตนี้พอนิพพานคือมันจบแล้ว จิตนี้จะกลับมาเกิดอีกไม่ได้เลย แล้วจิตใหม่ไม่มี

คณะโยม : แล้วถ้าเป็นอย่างพวกสัตว์เดรัจฉานที่ตายไปแล้ว จะมาเกิดเป็นมนุษย์

หลวงพ่อ : ได้

คณะโยม : จะเกิดเพราะว่ากรรมเก่า คือไม่ได้เกิดเพราะว่าการสร้างในชีวิตที่เป็นเดรัจฉาน

หลวงพ่อ : ชีวิตที่เป็นเดรัจฉานนะ หมาดีๆ นี่นะ มีหมาดีๆ เยอะมากเลยที่ช่วยชีวิตคน อันนั้นเขาทำบุญมากกว่าเราอีก เราจะบอกว่าสัตว์เดรัจฉานมันทำดีทำชั่วได้ ทุกคนทำดีทำชั่วได้ แต่คนที่จะไปนิพพานได้มีแต่มนุษย์กับเทวดาเท่านั้นไง เดรัจฉานนี่สมองของมันคิดไม่ได้ถึงระดับนั้นไง เดรัจฉานบรรลุมรรคผลไม่ได้ แต่เดรัจฉานทำดีทำชั่วได้

คณะโยม : ทำกรรมดี ก็มาเกิดเป็นมนุษย์ได้

หลวงพ่อ : ได้

พูดถึงว่าถ้าสัตว์เดรัจฉานสร้างอะไรไม่ได้เลยนี่นะ เพราะเวลาเขาไปเกิด อย่างพวกเปรตพวกผี พวกเทวดา อินทร์ พรหม เขาเห็นพวกเราเขาอิจฉานะ ดูอย่างพระอินทร์สิ ที่ว่ามาใส่บาตรพระกัสสปะ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว พวกเทวดาชั้นพรหมอะไรต่างๆ ประสาเรา โยมออกมาปิกนิกกันนะ เรามีอาหารมาเต็มเลยนะ แล้วเราก็นั่งกินกันสุขสบายใช่ไหม เขาไปเกิดเป็นเทวดาเขาก็อิ่มทิพย์ของเขาตลอดเวลา เขาจะเพลินไหม แล้วพอพวกเทวดา อินทร์พรหมเขาจะฟังเทศน์พระพุทธเจ้า พอฟังเทศน์พระพุทธเจ้าแล้วสำเร็จเป็นแสนๆ เลยนะ

แต่พวกนี้ต้องสร้างบุญมาก เพราะส่วนใหญ่พอมันไปอยู่ในทิพย์สมบัติแล้วมันจะเพลิน แล้วพอถึงทิพย์สมบัติมันเริ่มหมดอายุไข การหมดอายุไขของเขา คือทิพย์สมบัติมันจะเริ่มหดตัวเอง แสงสว่างมันจะเริ่มหดตัวลงมา เขาหมดอายุไขเขาก็ต้องมาเกิดอีก การหมดอายุไขคือจิตนั้นหมดวาระนั้น คือจิตไม่มีเว้นวรรคไง จากเทวดาอินทร์ พรหม มันขาดปุ๊ปก็เกิดทันที แต่จะเกิดเป็นอะไร มาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นต่างๆ หรือเกิดในนรกอเวจีไปเลย เพราะอะไร เพราะเราตีตั๋วหมดเวลาแล้ว ความดีมีแค่นี้แล้วจะเหลืออะไรล่ะ ก็เหลือความชั่วน่ะสิ ก็ ผัวะ! ลงโน่นเลย

ฉะนั้นเวลามันหมดวาระ จิตหนึ่ง จิตหนึ่งของสุนัข จิตหนึ่งของอะไรต่างๆ ถ้าเป็นสุนัขขณะนั้น ฟังคำนี้สิ เวลาพระพุทธเจ้าท่านบอกนะ ท่านบอกอดีตชาติของท่าน‘เคยเป็น’ เห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่เราเป็นนะ ถ้าเราเป็น อันนี้ผิดเพราะอะไร เพราะปัจจุบันนี้เป็นพระพุทธเจ้า เราคืออยู่ที่พระพุทธเจ้าแล้ว จิตมันอยู่ที่พระพุทธเจ้าแล้ว แต่จิตนี้มันเคยเป็นมาไง ‘เคยเป็นมา’ พระไตรปิฎกเวลาอ่านนะต้องจับประเด็น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า เราเคยเป็นพระเวสสันดร เราเคยเป็นมา คือเราผ่านมาแล้วไง อย่างเช่นเมื่อวานโยมเป็นเมื่อวานนี้ วันนี้โยมเป็นโยมนะ เมื่อวานไม่ใช่วันนี้นะ ถ้าบอกว่าเรายังเป็นเมื่อวานอยู่นะ ต้องย้อนกลับไปอยู่เมื่อวานนี้ ย้อนกลับไปไม่ได้หรอก เพราะกูอยู่นี่

จิตหนึ่ง ฉะนั้นพอจิตนี้ดับแล้ว นี่คือนิพพาน แล้วไม่ใช่ดับแล้วหมดนะ ยังมีอยู่

คณะโยม : การเวียนว่ายตายเกิด

หลวงพ่อ : ใช่ มันคงที่ของมันไง นิพพานไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่ว่านิพพานแล้วมันหายไปเลย ไม่ใช่! มันก็ยังอยู่ พระพุทธเจ้ายังอยู่

คณะโยม : เพียงแต่ไม่มีกรรมอะไรจะมาเกิดในชาติภพอีกแล้ว

หลวงพ่อ : ใช่ ครูบาอาจารย์เราที่ยังอยู่ แล้วหายไปไหนล่ะ โอ๋ย ประสาเรานะ เวลาคุยกับพวกโยมนี่ต้องคำนวณว่าโยมคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง ต้องพิสูจน์ได้นะ วิทยาศาสตร์นี่กูดูถูกฉิบหายเลย แต่กูก็ต้องอธิบายวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่คุยวิทยาศาสตร์คุยกันไม่รู้เรื่อง ต้องคุยผ่านวิทยาศาสตร์ แต่วิทยาศาสตร์มันเป็นทฤษฎีที่เราตรวจสอบ เราเข้าใจได้ แต่ธรรมะลึกซึ้งกว่านั้นเยอะเลย เยอะเลย

ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงหรอกว่า ถ้าพวกเรานิพพานกันหมดแล้วจะไม่มีวิญญาณมาเกิด ไม่ต้องห่วง ยังอยู่อีกเยอะนัก เอาแค่เดรัจฉานนะ เอาแค่สัตว์นี่เราก็ไม่มีวันที่สิ้นสุดแล้ว แล้วจิตที่มันยังไม่มันเกิด มันเกิดอยู่ในคนละภพไง เราอยู่กันเป็นคนละมิติ ๑๐๐ ร้อยปีของเราเท่ากับ ๑ วันของเทวดา แมลงวัน ๗ วันนี่มันว่ามันนานมากนะ ๗ วันของแมลงวัน มันก็เหมือนอายุไขของเรานี่แหละ ตั้งแต่เป็นเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ เราว่าเราอายุยืนนะ ตั้ง ๑๐๐ ปีนะ เทวดาเขามองว่าไม่ถึงวันนึงของเขานะ

แต่ทีนี้พอคำว่าไม่ถึงวันของเขา วาระตรงนี้ มิติเห็นไหม ความสั้นยาวของวัฏจักร แล้วเราไปอยู่ตรงไหนไง ไอ้อย่างที่คนเกิดมากเกิดน้อย เขาเรียกสภาคกรรม กรรมส่วนรวมเห็นไหม อย่างเช่น ลดค่าเงินบาท เราไม่รู้เรื่องเลยนะมึง เงินในกระเป๋ากูหายไปเกลี้ยงเลย แล้วเป็นกันทีเดียวทั้งประเทศเลย กรรมร่วมกันเห็นไหม ด้วยการตัดสินใจของผู้นำคนสองคน แต่สภาวะความเสื่อมค่าของทรัพย์สินของประเทศชาติลดลงทันที เราไม่ได้ทำผิดอะไรเลยนะ ทำไมอยู่ดีๆ เงินในกระเป๋าเราหายไปตั้งเยอะ นี่กรรมของใคร ทำไมเราต้องมารับภาระอันนี้ด้วย เงินอยู่ดีๆ ในกระเป๋าหายไปที ๓๐ บาท แล้วเวลามันมาเกิดร่วม

ทีนี้คำว่าเกิดร่วม ถ้าเราตั้งสติดีๆ นะ เราพูดกับลูกศิษย์บ่อยมากเลย ว่าเราภูมิใจมากที่เราเกิดมาพบครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เวลาปฏิบัติไปแล้วนี่โอ้โหย อะไรก็ไม่รู้เรื่องไปหมดเลย แล้วไม่รู้เรื่องเลยนะ ไอ้เราก็ดันรู้อย่างนี้อีก แล้วเรารู้เองมันก็ต้องใช่นะสิ คือว่า สภาวะข้อเท็จจริงมันก็มืดดำไปหมดเลย แล้วความรู้ของเราที่เกิดขึ้นมาก็ยังโดนตัวเองหลอกอีก ไปหาท่านวันนั้น ท่านอัดเอานี้งงไปหมดเลย จริงๆ พอขึ้นไปนะ แหมก็มั่นใจนะคราวนี้ เพราะมันโดนบ่อยๆ เข้าใช่ไหม ก่อนขึ้นไปก็ต้องชัดเจนไง คราวนี้ขึ้นไปก็คือว่าชัวร์มากๆ แล้วนะ พอขึ้นไปโดนสัก ๒ ที งงแล้วเว้ย หาทางออกไม่เจอแล้ว เอ๊ ก็มันถูกอยู่น้า ก็มันถูกอยู่น้า

พอลงไปเดินจงกรมนะ ซักพักหนึ่ง แล้วตั้งสติดีๆ แล้วทบทวนที่ท่านบอกกับที่เราว่านะ เออว่ะ จริงของท่านอีกแล้ว คือเราก็พลาดทุกที มันพลาดอย่างนี้นะ แล้วพลาดอย่างนี้จริงๆ เรานี่โดนบ่อย พอขึ้นไปโดนสักหมัดสองหมัดนั่นน่ะ มันเหมือนเมาหมัด แม่งชักงงแล้วเว้ย หาทางออกไม่เจอ ขนาดเตรียมตัวก่อนขึ้นไปนะ เพราะรู้ๆ อยู่แล้วว่าท่านไม่ธรรมดา ก่อนขึ้นนะ พยายามทบทวนตลอด ทบทวนความเห็น ทบทวนปัญญา ทบทวนคำเถียงเอาไว้เลยนะ มาอย่างนี้กูจะเถียงอย่างนี้ มาอย่างนี้กูจะโต้อย่างนี้ โอ๋ย กูเตรียมพร้อมขึ้นไปเลยนะ พอขึ้นไปนะกลิ้งลงมาอีกแล้ว (หัวเราะ)

แล้วสภาวะแบบนี้ แล้วถ้าเราไม่เจอครูบาอาจารย์ที่ท่านเคลียร์ให้เราได้ เราจะคิดถึงหลวงตานะ ตอนหลวงปู่มั่นท่านนิพพาน ท่านนั่งอยู่ปลายเท้า ร้องไห้นะ ตอนที่มีคนอยู่ก็ไม่ทำ ท่านบอกหลวงปู่มั่นก็นอนอยู่นี่ใช่ไหม แล้วก็ท่านอาจารย์จูมครูบาอาจารย์รุ่นผู้ใหญ่ก็นั่งวงใน แล้วท่านก็อยู่วงนอก ท่านก็เอาคอเสียบเข้าไป เพราะท่านพรรษายังน้อย ๑๖ น่ะ พอสรุปว่าหลวงปู่มั่นเสียแล้ว ทุกคนก็กลับที่พักกัน ต่างคนต่างไปแล้ว ท่านถึงอยู่คนเดียว มานั่งอยู่ที่ปลายเท้านะ นั่งร้องไห้อยู่คนเดียว

เพราะคนเราจะรู้ถึงทิฏฐิของเราเอง ไอ้จิตดวงนี้มันไม่ยอมเชื่อใครหรอก มันอยู่กับใครมา ครูบาอาจารย์พระอรหันต์ก็รู้ๆ กันอยู่ตั้งหลายองค์ แต่เวลาคุยกันแล้วกลับคุยกันเป็นคติเฉยๆ แต่ความรับฟังมันก็ไม่เหมือนกับอาจารย์ของเรา แล้วบัดนี้อาจารย์ของเราท่านนิพพานไปแล้ว แล้วเราก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เราก็ยังใช้อย่างนี้อยู่ แล้วเราจะไปถามใคร นั่งทอดอาลัยนะ นั่งร้องไห้อยู่คนเดียว

เพราะอะไร เพราะมันได้ปะทะกันมาไง เหมือนครูมวยกับนักมวยที่ได้โค้ชกันมาตลอด มันรู้ทางกันนะ แล้วไปเจอคนอื่น โค้ชแบบมวยสมัครเล่น ไอ้ห่ามันจะมาโค้ชกูไม่ได้หรอก มันไม่ฟังหรอก พูดถึงว่าถ้าจิตของเราเป็นระดับนี้นะ จิตของเรามันจะรู้เราเองว่าเราจะยอมรับใครไม่ยอมรับใคร แล้วพอไม่ยอมรับใคร แล้วใครมันจะมาสอนเราได้ แล้วจิตอย่างนี้มันจะไปหาใคร คนที่จะมาสอนเรา โธ่ อย่างเรานี่นะ เราก็ว่าเรายัดอะไรทุกอย่างของเราดีหมดแล้วนะ ไปถึงอาจารย์เรานะ เขาบอก โอ้โฮ ไอ้ของมึงนี่มันไร้สาระเลย

เราก็ว่าเราแจ๋วแล้วนะ แล้วว่าไร้สาระได้ยังไง ดูสิๆ เราเองเราก็มั่นใจเราเต็มที่แล้ว ไปถึงแล้วใช้ไม่ได้เลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ แล้วเรามาเจอครูบาอาจารย์อย่างนี้ เราว่าเราแย็บนี่แจ๋วมากเลย แล้วไปแย็บให้คนดูนะ โอ้โฮ สุดยอดเลย ให้ ๒ โป้งเลย แต่ไปหาอาจารย์บอกว่า ขี้หมาเลย มันกลับกันหมดเลยล่ะ กลับกันเพราะอะไร กลับกันเพราะท่านทำของท่านมา ท่านรู้จริงของท่านว่าไอ้กิริยาอย่างนี้มันเป็นกิริยาพื้นๆ กิริยาของสังคมทั่วไปที่เขาใช้กัน ไอ้กิเลสมันลึกซึ้งกว่านี้ มันละเอียดอ่อนกว่านี้ เอ็งคิดกิริยาอย่างนี้ขึ้นมานี่มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เลย

แล้วถ้าคนไม่เคยเจอสภาวะแบบนั้น มันเห็นอย่างนี้มันก็ว่าสุดยอด เพราะสังคมเขายอมรับกันหมดแล้ว ใครๆ ก็ว่าใช้ได้หมดล่ะ แต่อีกสังคมหนึ่งเขาเห็นอย่างนี้แล้ว อย่างนี้มันใช้ไม่ได้ แล้วสังคมอย่างนั้นมันมีกี่คน เพราะใช้ไม่ได้ แล้วได้ประโยชน์อะไรล่ะ ก็กูอยู่สังคม สังคมเขาบอกว่าใช้ได้ กูเก่ง มันก็ไม่ยอมไป มันติดอยู่ตรงนี้ มันจะไปได้ยังไง

ถึงว่าเราเกิดมาพบครูบาอาจารย์นะ แล้วเราจะพูดอย่างนี้ด้วย ถ้ามันหมดช่วงนี้ไปนะหมดรุ่นนี้ไป คือหมดคนรู้จริงไปแล้วนะ มันไม่มีอะไรคัดค้านแล้ว พอไม่มีใครคัดค้านปั๊บไอ้คนที่สังคมยอมรับนั่นล่ะ คือของจริงแล้ว แต่ตอนนี้ยังมีครูบาอาจารย์ที่ท่านถึงจริงของท่านอยู่ ท่านเห็นว่าอะไรผิดอะไรถูก ถึงยังพูดให้เราฟังได้ไง แล้วถ้าคนรุ่นนี้ตายไปหมดนะ ต่อไปนะ มันก็ไอ้เด็กเล่นขายของคุยกันนั่นน่ะ แล้วมันว่าของมันจริง ของมันจริง นี่ไง มันจะหมดไปเรื่อยๆ ไง

แต่ถ้าคนเขารู้จริงขึ้นมา เขาแยกได้ไง อะไรจริง อะไรไม่จริง แล้วถ้าคนที่แยกได้ล่วงไปแล้ว มันจะเหลืออะไรตอนนี้ ก็เหลือไอ้เฒ่าทารกคุยกันไง ถ้าเราคิดอย่างนี้ปั๊บ มันทำให้เราอย่างน้อยเราก็ภูมิใจ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เพราะเราก็รู้นิสัยเราว่า มันต้องมีเหตุผลนะ จะไปอยู่กับใครก็แล้วแต่ เวลาเขาพูดผิดพลาดให้เราเห็นหนสองหน เราก็ชักลังเลใจแล้วนะ เวลาสอนเราครั้งที่ ๑ ก็ผิด ครั้งที่ ๒ ก็ผิด เหมือนไปหาหมอ หมอรักษาเราผิดทุกที มึงเชื่อหมอได้ไหม

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราไปหาอาจารย์ อาจารย์บอกผิดๆ มา แล้วกูจะเชื่ออาจารย์กูได้ยังไงวะ พอเริ่มลังเลนะ ไม่มีสิทธิ์แล้ว แก้เราไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเราไปหาอาจารย์ อาจารย์ต้อง ผัวะ! ผัวะ! ผัวะ! ตลอดเลย แล้วง่ายด้วยนะพูดคำเดียว กรรมฐานนี่พูดคำเดียว ใช่หรือไม่ใช่ ทำอย่างนี้ได้ไหม ไม่ได้! ส่วนใหญ่ไม่ยืดเยื้อนะ แต่ทีนี้พอมันเยิ่นเย้อ เรารู้อยู่ เราอยู่กับหลวงตามา ขึ้นไปท่านจะพูดไม่กี่คำ เวลาพระขึ้นไปถามปัญหานี่ท่านพูดไม่กี่คำ แล้วพอพูดเสร็จ ท่านเรียกประชุมบนศาลาเลย แล้วขึ้นเทศน์บนศาลา

พอขึ้นไปถาม ท่านจะตอบปัญหาเฉพาะบุคคล พอตอบปัญหาเฉพาะบุคคล อะไรที่เป็นประเด็น มันจะเป็นประโยชน์กับพระส่วนใหญ่ ทีนี้พอขึ้นเทศน์ ตอนนี้รายละเอียดแล้ว การเทศน์ครั้งหนึ่งก็เหมือนกับเครื่องบินจะขึ้น ก่อนเครื่องบินจะขึ้น ต้องทำตัวยังไง แท็กซี่ยังไง แล้วขึ้นยังไง นำขึ้นยังไง มันก็เหมือนกับการเริ่มต้นตั้งแต่ทำความสงบของใจ แล้วเข้าโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันก็เหินขึ้นเลย เหินถึงที่สุดเลย

ทีนี้พอเหินถึงที่สุด ไอ้คนที่จะถามปัญหา มันมีปัญหาอยู่แล้วใช่ไหม แล้วท่านบอกเฉพาะหัวข้อมา พออาจารย์อธิบายปั๊บมึงต้องจับเอาเอง การจับเอาเองนี่มันเหมือนกับการฝึกงาน หลวงตาท่านพูดนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ท่านจะบอกว่าพระกรรมฐานส่วนใหญ่ไม่เทศน์เรื่องศีล เพราะเรื่องศีลมันคือเรื่องกฎหมาย ทุกคนก็รู้กันอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นพระบ้านนะ มันจะพรรณนาตั้งแต่ทำทานนะ ต้องเสียสละนะ พูดอีก ๕ ปีนะ แม่ง กว่าจะพูดถึงสมาธิ แล้วพูดสมาธิสองคำแม่งเลิกละ เพราะว่าถ้าพูดไปเดี๋ยวกูผิดไง

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เรานะ เริ่มต้นตั้งแต่พื้นฐานเลย ตั้งแต่สมาธิขึ้นเลย ทีนี้พอขึ้นเลยมันก็อยู่ที่ระดับแล้ว เพราะคนภาวนามันมีทั่วไปหมด มันมีหลายระดับ ไอ้คนพื้นๆ มันมาฟังนี่มันก็ โอ้โฮสุดยอดแล้ว แต่เรารู้อยู่แล้วใช่ไหม ถ้าเราได้สมาธินะ เวลาคนพูดถึงสมาธิเราจะเข้าใจเรื่องสมาธิเลย พอสมาธิแล้ว สมาธิก็แค่นั้น แล้วทำยังไงต่อไป โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล... แล้วมันอยู่ที่คน ถ้าคนที่ทำมาแล้ว เวลาอาจารย์บอกมันจะเห็นช่องทางหมดเลย เพราะเราผ่านมาแล้วใช่ไหม คนพูดเรื่องเดียวกัน คนมาจากชลบุรีด้วยกัน บอกมาด้วยกันทางรถ แล้วจะเถียงกันได้ยังไง ก็นั่งรถมาด้วยกัน

เหมือนกัน คำว่าเหมือนกัน แล้วฟังด้วยวิหารธรรม คือฟังด้วยความรื่นเริงแต่ไม่สงสัย แต่เส้นทางอื่นกูสงสัยนะ เพราะกูไม่เคยเดิน พอถึงเส้นทางที่เราเคยผ่านปั๊บ ผ่าน เราก็นั่งของเรา พอไปถึงสี่แยกสุดเส้นทางมาแล้ว อันนี้เราไม่รู้แล้ว แต่หลวงมั่นท่านยังพูดของท่านไป นี่เราต้องจับประเด็นแล้ว พยายามจับประเด็นให้ได้ แล้วหาทางออกให้ได้ นี่ไงหลวงตาบอกว่า เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์นะ นิพพานนี่เหมือนหยิบเอาได้เลย ท่านจะบอกไว้เลยนะ นี่ ๑ ๒ ๓ ๔ นะ เอ้า เอื้อมมือหยิบเอามาเลย แต่พอเทศน์จบก็มิดเลย

แล้วต่อไปมันจะน้อยลงๆ เพราะคนมันเข้าไม่ถึง เข้าไม่ได้ แล้วตอนนี้อย่างย้อนกลับไปเรื่องจิต จิตไม่ต้องห่วงมันจะมีมาอย่างนี้ตลอด อย่างเช่นเรานี่ โยมว่าโยมเกิดเป็นมนุษย์ชาตินี้ชาติเดียวเหรอ แล้วที่ชาติแล้วๆ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นอะไรบ้าง เราถึงบอกว่าจิตเรานี่นะ พวกโยมจินตนาการเรื่องสวรรค์ได้ เรื่องพรหมได้ เรื่องนรกอเวจีจินตนาการได้หมดเลย เพราะอะไร เพราะจิตนี้เคยไป แต่จิตของเราจินตนาการโสดาบัน สกิทาคา อนาคา จินตนาการไม่ได้เลย จินตนาการนะ

ในตำราพระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วใช่ไหม ใครๆ ก็บอก ว่างๆ โสดาบัน ว่างๆ สกิทาคา ว่างๆ อนาคา ว่างๆ พระอรหันต์ ว่างๆ ในโอ่งกูเทน้ำหมดมันก็ว่าง ในโอ่งกูไม่มีอะไรมันก็ว่างนะโว้ย อย่างนั้นโอ่งกูก็เป็นพระอรหันต์นะสิ อ้าว ในโอ่งไม่มีอะไรเลย ว่างรึเปล่า

ว่าง ว่างยังไงวะ มันว่างแค่ไหน มึงบอกกูมาสิ ว่าง ว่างยังไง ในโอ่งมึงมีอะไรอยู่ แล้วมึงเอาอะไรออกจากโอ่ง ในโอ่งมันถึงว่าง ในใจเรามีอะไรอยู่ ในใจเรานี่มีอะไรอยู่ แล้วมึงได้เอาอะไรออกไป มึงไม่ได้เอาอะไรออกไปสักนิดนึงเลย

โทษนะ โอ่งมึงยังไม่รู้จักเลยว่าโอ่งมึงอยู่ไหน เพราะมึงยังหาใจมึงไม่เจอเลย แล้วมึงเอาของออกได้ยังไง ทีนี้คำว่าว่างๆ นี่มันจินตนาการไง เห็นพระพุทธเจ้าพูด กูก็พูดตามกันไป โดยสามัญสำนึกเขาก็เชื่อกันแล้ว ว่างๆ กูยังว่าเลยไอ้เสือกูก็เห่าได้ ว่างๆ ว่างๆ หมากูเห่า ว่างๆ ว่างๆ อยู่

แต่อย่างพวกกรรมฐานเราไม่ฟังนะ กรรมฐานเรานะ มันว่างยังไง ยิ่งพวกนี้ถ้าคุยกันเขาถึงไม่กล้าเข้าหาครูบาอาจารย์หรอก บอกมันว่าง ว่างยังไง มันว่างที่ไหน อะไรมันว่าง ถ้าภาวนาไม่เป็นมันตอบไม่ได้ ภาวนาไม่เป็นนะ เวลาพูดก็พูดธรรมะพระพุทธเจ้าไง อย่างพวกปริยัติที่เขาพูดกันเห็นไหม ถ้าไม่ยึดไม่ถือมันก็ไม่มีกิเลส บอกจริงรึเปล่าวะ ความคิดพวกมึงนี่นะแช่แข็งให้หมดเลย แช่แข็งความคิดไว้ อย่าให้มีอะไรเลย เอ็งว่าแก้กิเลสได้รึเปล่า ก็ไม่ยึดไง ก็เอ็งไม่ยึดแล้ว กิเลสก็ไม่มี

มันพูดไปเรื่อยเปื่อย แล้วก็บอกว่ากูพูดพุทธพจน์ พูดธรรมะ พูดธรรมะเหมือนกันเขาพูด มันไม่จริง แยกความคิดทั้งหมดเลย ส่วนใหญ่มันแยกออกไปแล้ว จิตมันก็แยกออกไป แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหนล่ะ กิเลสไม่ได้อยู่ที่ธรรมะพระพุทธเจ้านะมึง กิเลสอยู่ที่ใจมึง แล้วถ้าเอ็งไม่คิดอะไรแล้ว เอ็งพ้นกิเลสหรือยัง งั้นเอ็งนอนหลับก็ไม่มีกิเลสแล้ว

คณะโยม : ผมนอนหลับยังฝันเลย (หัวเราะ)

หลวงพ่อ : เวลาเขาพูดก็พูดกันไง เวลาพูดกันก็ โอ้โหย พักนี้มันมีหนังสือมาหลายเล่ม เดี๋ยวเราค่อยๆ เคลียร์ออก ค่อยๆ เคลียร์ทีหลัง ตอนนี้มันไปเอาปริยัติกับปฏิบัติมาคู่กันไง ปริยัติคือทฤษฎี ปฏิบัติคือการปฏิบัติจริง แล้วตอนนี้เราปฏิบัติกันโดยยึดทฤษฎีไว้ เพราะกลัวจะผิดก็ยึดทฤษฎีไว้ ยึดพระพุทธเจ้าไว้ ก็ว่าพุทธพจน์ๆ แล้วเวลาเราบอกไง หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า ธรรมะพระพุทธเจ้าเทิดทูนไว้บนหัวเลยนะ แต่การปฏิบัติต้องวางไว้ก่อน

เราจะเปรียบเทียบนะ มันเหมือนกับว่า ดูสิตอนนี้นะ เขาฝึกวิชาชีพเห็นไหม เขาไปฝึกอาชีพกันเต็มไปหมดเลย คึกคักเลยนะ แต่เราประกอบอาชีพ ไปฝึกวิชาชีพเห็นไหม เขาจะสอนการทำธุรกิจ เห็นไหมตอนนี้ มีการทำน้ำเต้าหู้ เขาสอนเยอะแยะเลยนะ ไปทำกันใหญ่เลย แต่เราขายจริง มันไม่เหมือนอย่างนั้นนะ ปริยัตินี่คือฝึก ฝึกกันใหญ่เลย แล้วจริงหรือเปล่า แต่ถ้ามีจริงนะ มึงต้องทำแป้งของมึงเอง มึงต้องไปหาที่ขายของมึงเอง มึงทำเองแล้วค้าขายเอง แล้วมึงมีกำไรขึ้นมา อันนั้นจะเป็นความจริงของมึง

แต่ไปฝึกวิชาชีพ ก็ฝึกไปเถอะ อาจารย์ให้เต็มสิบเลย กลับมาได้ตั้งสิบ มาที่บ้านกินไม่ได้ แต่ถ้าเวลาเราไปค้าขายเราได้ตังค์นะ นี่เอ็งจะเอาแต่วิชาชีพๆ จะไปฝึกวิชาชีพตลอด มึงฝึกไปเถอะ ฝึกจนตาย เล่นขายของ มันไม่ได้ขายจริงๆ

คณะโยม : ท่านอาจารย์ กากับพริกนะครับ ที่มันกินของสงฆ์ อย่างต้นไม้ที่อยู่ในวัดนี่คือของสงฆ์ แล้วถ้ามันออกลูกมา อีกาไปกินแล้วไปขี้ แล้วนายพรานไปเจอมันก็เป็นกรรมเหมือนกัน

หลวงพ่อ : เป็นกรรม อันนี้เพียงแต่ว่า เห็นไหมอย่างเช่น ของเราเด็กๆ นี่นะ ถ้าพูดถึงพ่อแม่เขาศึกษาเรื่องนี้ใช่ไหม เด็กจะเก็บหินนะ เด็กๆ มาที่นี่เยอะนะมีตะก้งตะกร้า มันไปเก็บหินคนละเม็ดสองเม็ดเอากลับบ้านมัน พ่อแม่ต้องบอก เฮ้ยไปขอก่อน ไปขอก่อน อย่างเช่นของนี่เขาจะขอก่อน สำหรับเรานี่เราให้อยู่แล้วไง พูดถึงของของสงฆ์นี่นะ ถ้าโยมหยิบไป โยมน้อมลาภเอาของของสงฆ์มาสู่ตน แต่ถ้าโยมขอนะ ไปบอกสงฆ์ไง อย่างของนี้ของของสงฆ์ เขาเรียกครุภัณฑ์ ลหุภัณฑ์ คือของแจกได้ ของแจกไม่ได้ไง

ของทั่วไปอย่างเช่นอาหารนี่เขาแจกได้อยู่แล้ว ของอย่างนี้ก็แจกได้ ถ้าของแจกได้พระอนุญาตปั๊บจบเลย ไปขอพระ ถ้าพระให้แล้วนะ พระเป็นคนให้ สงฆ์ให้ ของของสงฆ์แล้วสงฆ์ให้เรา แต่กิริยาแห่งการขโมย อทินนาทาน เจ้าของเขาไม่ได้ให้ หยิบเอาเองนี่คือการขโมย ศีล ๕ อทินนาทานเห็นไหม หยิบฉวยเอาโดยกิริยาแห่งการขโมย คือเจ้าของยังไม่ได้อนุญาต แต่ถ้าเจ้าของอนุญาตปั๊บไม่มีการขโมยเลย ฉะนั้นถ้าของของสงฆ์ เราขอพระ พระให้แล้ว ก็สงฆ์ให้มันจะมีกรรมไหม แต่ทีนี้พวกเรานะมันหน้าบาง ส่วนใหญ่แล้วไม่กล้าขอ อาย หยิบเอาเลย

คณะโยม : จะองค์ไหนก็ได้ แต่ให้ขอ

หลวงพ่อ : ใช่ ต้องขอพระ

คณะโยม : อย่างทำผาติกรรมนี่...

หลวงพ่อ : ใช่ ต้องทำผาติกรรม ถ้าเคยทำไว้แล้ว ตอนนั้นที่เราทำแล้วคือเราไม่เข้าใจ เราหยิบไปก่อน พอเรารู้แล้วค่อยมาทำผาติกรรม ไอ้ผาติกรรมคือพยายามแก้ตรงนั้นไง

คณะโยม : เป็นการชำระหนี้สงฆ์แล้ว ที่ผมสงสัยก็คืออย่างนกนี่ ถ้ามันมากินผลไม้ในวัดแล้วมันบินไปขี้ไว้ในป่า แล้วเกิดเป็นต้นไม้แล้วมีคนไปเจอ เท่ากับว่าเป็นกรรมระหว่างคนกับนก

หลวงพ่อ : กรรมเก่า มันต่อมายาว

คณะโยม : เหมือนกับว่า นกเป็นตัวนำสื่อกรรมมาให้กับนายพราน

หลวงพ่อ : ใช่ เราจะพูดอย่างนั้น นก ของของสงฆ์ กับเรา มีกรรมร่วมกัน มีกรรมร่วมกัน เพราะนกดูสิ เอ็งสังเกตได้ไหมอย่างเช่น เด็กวัดมันก็มีการเอาอาหารไปแจก กรรมนี่เขาเรียก สภาคกรรม กรรมร่วม เราจะพูดอย่างนี้นะ ย้อนกลับมาอีกหน่อยหนึ่ง ย้อนกลับมาที่หลวงตา ที่วัดท่านนะจะปลูกอะไรไว้เต็มเลย ปลูกหว้าปลูกอะไร แล้วปลูกทำไม ปลูกไว้ให้นก ที่บ้านตาดนะ ปลูกขนุน ปลูกอะไรไว้เต็มไปหมดเลยแล้วห้ามเก็บ เอาไว้ให้กระรอกกิน

ขนาดว่าบางที ท่านรู้นะ วัดของลูกศิษย์ท่านมีหมูป่าเยอะ ท่านไปซื้อมัน ซื้ออะไรไปให้หมูกิน ไอ้อย่างนี้เขาให้สัตว์กินตั้งแต่ทีแรกแล้ว เขาให้แล้ว พอให้แล้ว ถึงสัตว์มันไปกิน แล้วมันไปขี้ มันก็ไม่เป็นของสงฆ์หรอก แต่กรณีอย่างนั้น พออีกาตัวนั้นมันไปกินของสงฆ์ คือว่าพระเขาไม่เข้าใจตรงนี้ หรือว่าเขาไม่ทำอย่างนี้ใช่ไหม แต่ถ้าทำอย่างนี้มันก็จบไง หลวงตาท่านตั้งใจตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า ของในวัดท่านปลูกไว้ให้สัตว์กิน ‘ให้’ จบยัง?

คณะโยม : จบครับ แล้วถ้าลักษณะอย่างนี้ เจ้าของที่ก็รับกรรมโดยปริยาย เช่นว่าไปซื้อที่แปลงหนึ่ง แล้วพอดีตรงนั้นมีต้นพริก ต้นมะขงมะเขือ ก็ไม่รู้ว่านกมันไปกินแล้วขี้ทิ้งไว้รึเปล่า

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้ ถ้าเราซื้อที่แล้ว เราจะปรับที่เรา ก็ต้องปรับที่เราล่ะ กรรม ไม่กรรม นี่มันก็สุดวิสัยล่ะ

คณะโยม : มันก็ต้องกรรมร่วมกันมา

หลวงพ่อ : กรรมร่วมกันมา ใช่

คณะโยม : เพราะว่าเราก็ไม่รู้ว่าเราซื้อที่แปลงนี้ไว้ มีมะเขือขึ้น มีต้นพริกขึ้น ก็ถือว่าเป็นที่ของเรา เราก็เด็ดเอาไปกิน ไปทำอะไรได้

หลวงพ่อ : ไอ้นี่มันสิทธิของเราไง ทางโลกไง แต่เราจะรู้ของเราหรือไม่รู้ ก็อีกเรื่องหนึ่ง

คณะโยม : ถ้างั้นพอนกมาขี้ทิ้งไว้ เราก็เก็บกรรมโดยอัตโนมัติไปเลย

หลวงพ่อ : อัตโนมัติ เพราะประสาเรา มันเรื่องของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะเราจะไปเจอตอนไหน ถ้าเราคิดอย่างนี้นะ

คณะโยม : กรรม ละเอียดยิบเลย

หลวงพ่อ : เอ้า คิดอย่างนี้นะ เครื่องบินตก ประชาชนที่มาขึ้นเครื่องบินนี่มาจากทั่วโลกเลย แล้วมันทำกรรมอะไรขึ้นมา ถึงต้องไปขึ้นเครื่องบิน แล้วต้องไปตกตุ้บพร้อมกันหมดเลย เราว่ามันก็แปลกด้วยนะ บางคนซื้อตั๋วแล้วมาไม่ทันหรอก ผู้โดยสารทั้งลำเลยนะ เขามาทันเขาก็ขึ้นไป ไอ้นี่ก็ซื้อตั๋วเหมือนกัน แต่มาไม่ทัน พอเครื่องบินนี้ออกไป ไปตกตุ้บเลย ไอ้นี่ทำไมมันรอดล่ะ

คณะโยม : อย่างนี้ในผู้โดยสารทั้งหมด สมมุติว่าตายไป ๑๒๐ คน ใน ๑๒๐ คนจะถึงอายุทุกคนรึเปล่า

หลวงพ่อ : ถ้าโดยอุบัติเหตุนี่นะ ไม่ถึงอายุสักคนนึงเลย

คณะโยม : งั้นก็เป็นสัมภเวสีโดยปริยาย เพราะว่าร่างจิตเข้าไม่ได้

หลวงพ่อ : ใช่ เพราะว่าถ้าถึงอายุนะส่วนใหญ่จะนอนตาย สังเกตได้คนที่หมดอายุไข เตี่ยเราก็เหมือนกันนะ เตี่ยเราแข็งแรง คนเขาก็แปลกใจ ปกตินี่แหละ เช้าขึ้นมาบอกว่าเตี่ยตาย อันนี้ถ้าเป็นทางการแพทย์เขาบอกว่าหัวใจวาย คนนอนตายอย่างนี้นี่หมดอายุไข

คณะโยม : อ้าว แล้วอย่างอุบัติเหตุนี่ก็ถือว่าเป็นสัมภเวสีหมดเลย ไม่ถึงอายุไข

หลวงพ่อ : ไม่ถึงอายุไข

คณะโยม : อ้าว ที่ว่าหมอดูบอก ระวังนะ ชะตาขาดแล้วนะ อย่าไปเลย แล้วก็ไปตายอย่างนี้ล่ะฮะ

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้ ถ้าเปรียบเทียบนะ เทียนนะ ถ้าเราจุดหมดเล่ม มันจะไหม้หมดเล่มนี่หมดอายุไข เทียนถ้าเราดับเองก็ดี ลมพัดดับก็ดี ทีนี้พอดับไปปั๊บก็เป็นสัมภเวสี อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า เวลาของเรากับเวลาของเขามันต่างกันมาก ฉะนั้นสังเกตว่า ถ้าเทียนมันไหม้ตัวมันเองอยู่นี่นะ มันจะไหม้ไปเรื่อยๆ ใช่ไหม ถ้าเทียนนั้นโดนไฟดับแล้ว คิดดูว่าเมื่อไหร่มันจะย่อยสลายหมด พอตาย พั้บ กาลเวลามันต่างกันเห็นไหม

หลวงตาท่านพูดว่า หลวงปู่มั่นเล่าให้ฟัง ว่าหลวงปู่มั่นธุดงค์ไปไหนก็แล้วแต่ เวลาภาวนาไปแล้วมันจะมีจิตวิญญาณมาหาท่าน แล้วก็บอกว่า ท่านชื่อนั้นๆๆ พ่อแม่ญาติพี่น้องชื่อนั้นๆๆ ให้ช่วยไปบอกญาติพี่น้อง ให้ทำบุญให้บ้าง ทุกข์มากเหลือเกิน หลวงปู่มั่นเวลาท่านออกมาแล้ว ท่านก็จะมาเผดียงไอ้คนแถวนั้น ว่าตระกูลนั้นตระกูลนี้ยังอยู่หรือเปล่า บางทีก็ไปเจอตระกูลที่ยังมีอยู่ ก็บอกให้ทำบุญกุศล ต้องใช้อุบายนะ ถ้าบอกตรงๆ นี่ เพราะหลวงปู่มั่นมีประสบการณ์ ไอ้ที่ว่ารู้วาระจิตแล้วมาโม้ๆ กูดูถูก ไอ้พวกนี้โง่

หลวงปู่มั่นท่านมีประสบการณ์นะ ไปบอกเขาตรงๆ ก็บอกเขาไม่ได้ บอกเขาไปนี่นะ ถ้าคนที่มันเลื่อมใสเขาก็จะเชื่อฟังเรา แต่คนที่ไม่เลื่อมใส เขาจะว่าพระองค์นี้จะมาล้วงกระเป๋าเรา คือเอาเรื่องญาติพี่น้องของเรามาบอกเรา เพื่อจะให้เราทำบุญเห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านต้องใช้อุบายนะ ว่ามีญาติพี่น้องไหม มีอะไรไหม การทำบุญมันจะเป็นกุศลนะ ทำให้คนตายมันจะดีขึ้นได้ ต้องพูดใช้อุบายหลอกให้เขาได้ทำ นี่ท่านพูดนะ

ทีนี้พอดีนั่งไปก็ไปเจอจิตวิญญาณ เขาบอกว่าผมชื่อนี้ๆ ญาติตระกูลผมชื่อนี้ๆ พอออกมาแล้วก็จะมาถามไอ้คนแถวนั้น โอ้ย คนๆ นั้นตายไปตั้งแต่สมัยโน้นแหนะ เห็นไหม นี่ล่ะจิตวิญญาณ เขาเองก็ยังว่าญาติเขายังอยู่นะ

คณะโยม : ก็คือเขายังไม่ได้ไปจุติในภพไหน

หลวงพ่อ : ยัง เขาเองเขาก็ยังว่าญาติเขายังอยู่ เพราะเวลาของเขา เขาทุกข์อยู่ เขาก็อยู่กับทุกข์ของเขานั่นล่ะ แต่ไอ้ญาติพี่น้องมันตายไปกี่รุ่นๆ จนหมดไปแล้วนะ ไอ้นั่นยังคิดถึงอยู่นะ หลวงปู่มั่นท่านเล่าให้หลวงตาฟัง มันมีอยู่ในประวัติหลวงปู่มั่นด้วย นี่ท่านเขียนไว้เหมือนกัน

คณะโยม : แล้วอย่างสัมภเวสีที่ตายโดยหมดอายุไขนี่ ปัจจุบันยังไม่ไปวิบากกรรมหรือวิบากกรรมแล้ว

หลวงพ่อ : ได้วิบากแล้ว สัมภเวสีก็ไปวิบากของสัมภเวสี นี่ไง จิตไม่มีเว้นวรรคไง สัมภเวสีไม่ใช่เว้นวรรคนะ สัมภเวสีนี่ก็เป็นภพหนึ่ง แต่เป็นภพของสัมภเวสีไง

คณะโยม : พวกที่ยังไม่ไปอุบัติที่ไหนก็ต้องวิบากกรรมตรงนั้น

หลวงพ่อ : ใช่

คณะโยม : ไปถึงก็ต้องไปตก ไปเป็นขั้นเป็นตอนอยู่ข้างล่าง

หลวงพ่อ : เป็นขั้นเป็นตอนอยู่ข้างล่างนั้นมันก็ไปตามกรรมใช่ไหม ก็เป็นวาระ แต่ตอนนี้มันก็เป็นระหว่าง ก็เป็นภพหนึ่งเหมือนกัน ระหว่างรอกรรมของตัวเอง

คณะโยม : อื้ม ก็ต้องวิบากกรรม

หลวงพ่อ : ใช่

คณะโยม : อย่างนั้นก็โดนสองเด้งนะสิ

หลวงพ่อ : ใช่ ใครจะไปตัดสินล่ะ ก็กรรมของตัวเอง

คณะโยม : อาจารย์ แล้วเวลาเขาไหว้มาอย่างนี้ เตี่ยเขาได้กินไหม เห็นเขาบอกว่ากินหมี่ได้

หลวงพ่อ : หมี่จืดเลยล่ะสิ (หัวเราะ)

คณะโยม : แต่ที่อาจารย์เทศน์มันเป็นวิญญาณแล้วจะมากินได้ยังไง

หลวงพ่อ : พูดถึงอย่างนี้ กรณีอย่างนี้เขาเรียกว่าความเชื่อ เราจะไม่พูดให้มันขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นความเชื่ออย่างนั้นมันเป็นความเชื่อใช่ไหม ที่หลวงตาท่านพูดไง ว่าพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ศาสนาของผู้สิ้นกิเลส เวลาพูดถึงวัฏฏะ มันพูดครบทุกวงจรใช่ไหม แต่ประเพณีวัฒนธรรมของคนจีนเรา เราก็คนจีนนะเว้ย

อันนี้พอคนจีนเรานี่ อย่างขงจื๊อนี่เป็นพระอรหันต์รึเปล่า ไม่เป็นใช่ไหม แต่เขาก็พยายามจะทำอะไรให้ดีที่สุดของเขา คือว่าคนที่เขาคิดได้ขนาดนี้เห็นไหม เราพูดบ่อยใช่ไหม อย่างเช่นถ้าเราคนจีนนะ ถ้าเราภาวนาของเรานะ เราเห็นอดีตชาตินะ เราเห็นเง็กเซียนฮ่องเต้นะ เวลาคนไทยเขาเห็นนะ เขาเห็นพระอินทร์ พระอินทร์กับเง็กเซียนฮ่องเต้นี่เห็นไหม มันเป็นสมมุติต่างกัน สมมุติของคนจีนเขาเรียกเง็กเซียนฮ่องเต้ สมมุติของคนไทยเขาเรียกพระอินทร์

พอเห็นพระอินทร์ก็เห็นแต่งตัวเป็นพระอินทร์เลย แต่งตัวใส่ชฎาเลย พอเห็นเง็กเซียนฮ่องเต้ก็แต่งตัวเหมือนงิ้วเลย อ้าว แล้วทำไมมันแตกต่างล่ะ นี่เห็นจริงนะ ขนาดเห็นจริงยังแตกต่างเลย เพราะสมมุติมันแตกต่าง ฉะนั้นพอมาเห็นอย่างนี้ พอบอกว่าฮ่อเฮียตี๋ เพราะผีไม่มีญาติมันมีจริงๆ แล้วเขาก็ทุกข์จริงๆ

ทีนี้การเซ่นไหว้ของเขาคือเขาเซ่นผี การทำบุญของเรานี่นะ เราทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร เราก็อุทิศอย่างนี้นะ มันมีอยู่คนหนึ่ง เราอยู่ที่โพธาราม มันเป็นสาทรขนมจ้าง คนโพธารามเขาเล่าเอง ตัวเขาเองมาเล่าให้ฟังเองนะ เขาบอกว่าสารทขนมจ้างเขาคนจีน เช้าๆ ขึ้นมานะ เขาก็ทำขนมจ้างจะไปไหว้ศาลกวนอูที่โพธาราม ตอนเช้าเขาก็ใส่บาตรไป ๒ รูป เห็นพระมา ๒ องค์ก็ใส่บาตรไป ๒ ลูก ขนมจ้างองค์ละลูกไง แล้วก็เยอะแยะเลยเอาไปไหว้เจ้าพ่อกวนอู

เข้าที่เจ้าพ่อกวนอูเดี๋ยวนั้นเลยนะ เข้าเดี๋ยวนั้นเลยนะ ไอ้ที่ว่าได้กินน่ะคือได้กิน ๒ ใบเมื่อเช้านะ ไอ้ ๒ ใบนั้นได้กิน ไอ้นี่ไม่ได้กินหรอก ไอ้ ๒ ใบเมื่อเช้านี่ล่ะ

เราทำบุญนี่นะ เราทำบุญนี่คือเราให้ไป เราให้ไปเลย แต่ไปไหว้เจ้านะ ตั้งไว้นะ สมมุตินะ แล้วกูเอากลับ เอ็งว่าอะไรจะได้ดีกว่ากัน

คณะโยม : แต่ถ้าไหว้แล้วไม่เอากลับล่ะครับ

หลวงพ่อ : ไม่เอากลับมันก็เซ่นผีอยู่ดี เอ็งเห็นเขาเซ่นผีไหม เราถึงได้พูดเห็นไหม เราพูดเรื่องมายาคติ เห็นไหม ว่าหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ครูบาอาจารย์เราเป็นกองทัพธรรมนะตั้งแต่อุบลไล่มาเรื่อย จนเอามาที่ขอนแก่น มาถึงกองทัพธรรมปัก เมื่อก่อนเขาถือ พวกผีถือผีน่าสงสารนะ อย่างเราหาเงินมานะ เราจะกินอาหารก็ต้องแบ่งเขาครึ่งหนึ่ง ได้ไก่มาก็ต้องแบ่งครึ่งหนึ่งมาให้เซ่นผีเห็นไหม

แล้วเขาบอกอย่างนี้ เซ่นผี เซ่นผี แล้วกองทัพธรรมพยายามจะพูดให้เข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำบุญกุศล บุญก็ได้มากกว่า ทุกอย่างก็ได้มากกว่า แล้วเข้าถึงได้มากกว่า แล้วเราก็เป็นอิสระด้วย เราไม่ต้องไปเซ่นบูชา นี่พูดถึงการทำบุญนะ แต่ทีนี้การถือผี เห็นไหม ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บเราก็ โอ้โฮ การถือผีมันเข้าถึงพระรัตนตรัยไหม ทีนี้การเซ่นไหว้เอ็งว่าเป็นการเซ่นผีไหม เราจะบอกเลย โทษนะ เจ้าก็คือผี ผีก็คือเจ้า เจ้าเป็นจิตวิญญาณไหม ผีเป็นจิตวิญญาณไหม ผีดีๆ เรียกว่าเจ้า จิตวิญญาณชั่วเรียกว่าผี เข้าเจ้าเข้าทรงก็เข้าผีทั้งนั้นล่ะ จริงไหม !

แต่ทีนี้ถ้าพูดอย่างนี้ไป มันก็นะ ความเชื่อเราไม่พูดให้กระทบกระเทือนกัน แต่จะพูดกันโดยข้อเท็จจริงใช่ไหม แล้วใครจะเคารพบูชาของเขา เราต้องคิดอย่างนี้ ความเชื่อมันเป็นประเพณีวัฒนธรรม เป็นจารีตประเพณี เราไม่ดูถูกดูแคลนจารีตประเพณีของใคร ด้วยความเคารพบูชาของเขาเราก็สาธุ จริงไหม เขาเป็นคนดี เขาอยากทำความดีของเขา เขามีความกตัญญูกตเวที เขาระลึกถึงญาติตระกูลของเขา มันก็เป็นความดีงามของเขาใช่ไหม แต่ของเรา เราก็คิดถึงญาติตระกูลของเราใช่ไหม แต่เราพยายามทำอุทิศส่วนกุศลของเราด้วยพระพุทธศาสนาใช่ไหม

คณะโยม : เข้าใจแล้วค่ะ

หลวงพ่อ : เออ! ไม่ดูถูกดูแคลนใครทั้งสิ้น มันอยู่ที่สมอง อยู่ที่ความเชื่อ

คณะโยม : แล้วภพภูมิที่เราอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ได้ล่ะครับ เช่นพ่อเราที่เสียไปแล้ว

หลวงพ่อ : ได้หมด คำว่าได้หมดต้องดูนี่ก่อน ‘ได้หมด’ เห็นไหม พระเจ้าตากบอกเลย คิดถึงพ่อ พ่ออยู่กับเจ้า ถ้าเราคิดถึงพ่อ เราทำบุญให้พ่อ ถ้าพ่อสมควรรับได้ก็รับได้ แต่ถ้าพ่ออยู่ที่สูงกว่านะ เราถึงพูดบ่อยเลยนะ ถ้าเขาไปเป็นเทวดาอินทร์พรหมนะ อาหารของเขาจะเป็นทิพย์หมดเลย แล้วเอ็งไปเอาโค้กให้เขากิน อ้าว ก็โค้กกูกินไม่ได้ กูจะกินทิพย์ แล้วเขาจะเอาโค้กไหม เขาเอาทิพย์ดีกว่าใช่ไหม

แต่เราด้วยน้ำใจ อ้าว ก็ที่นี่โค้กเขาถือว่าเป็นของมีคุณค่า ก็ถวายโค้กแล้วกัน เราก็ทำบุญของเราไง เราบอกว่าการอุทิศส่วนกุศลเราอุทิศเท่าไหร่เราได้เท่านั้นไง จะถึงหรือไม่ถึง เพราะอุทิศมันมี ๒ อย่าง อุทิศให้ผู้รับ แต่เราทำเองด้วย ถ้าเราบอกว่าอุทิศไม่ได้อย่างนี้ เราอุทิศเราเปิดมากที่สุด อุทิศได้ คนเป็นก็ได้ คนตายได้ก็ได้ เพราะอะไรรู้ไหม มันเหมือนกับเราคิดแต่ความดี เราแผ่เมตตา เราเอาความดีให้ผู้อื่น อย่างเช่นเรามองหน้ากัน ถ้าจิตใจเป็นเมตตา จิตใจเป็นเพื่อนกันนะ มองแล้วมันอบอุ่น แต่ถ้าตาเขียวๆ นี่แม่งจะล่อกูแน่ๆ เลย จะล่อกูอย่างเดียว มันไม่สุขไม่อุ่นใจเลย

การอุทิศส่วนกุศล เราคิดแต่ความดีถึงกัน มันของดีทั้งนั้นนะ อันนี้ในพระไตรปิฎกพูดอย่างนั้นจริงๆ ถ้าพระพุทธเจ้าพูดอะไรต้องชัดเจน ปรทัตตูปชีวีเปรต เปรตที่ได้รับส่วนบุญอย่างนี้ได้ ถ้าเขารับไม่ได้ก็เพราะว่าอย่างเช่น ถ้าต่ำเกินไป ประสาเราว่า เขาอยู่ในข้อจำกัด คือในกรงขังออกมาไม่ได้ มันคนละมิติไง อันนั้นก็ไม่ได้ แต่อย่างเทวดาที่สูงกว่า ประสาเรา โอ้โฮ ของทิพย์มันดีกว่าเราเยอะ ไอ้เซ่นอย่างนี้ โอ้ย กูไม่เอาหรอก

คณะโยม : ของที่เราทำบุญไม่ไปแปลงสภาพหรือครับพออุทิศให้เขา เพราะอย่างนี้มันเป็นทิพย์

หลวงพ่อ : เป็นทิพย์ในใจมึงนี่ เป็นทิพย์ คือ แปรสภาพที่เจตนาของตัวเอง บุญต่างหากแปลสภาพ ของไม่แปรสภาพ คำว่าของ นี่ไงหลวงตาบอกประจำ เวลาของที่เราทำไปแล้ว มันก็อยู่ที่นี่ ใจของคนต่างหาก ศาลาโรงธรรมต่างๆ มันไม่ไปสวรรค์หรอก ใจของคนทำต่างหากที่ไปสวรรค์ ไอ้นี่มันเป็นเครื่องแสดงออกของการกระทำไง

มันแปรที่เจตนาเรา อย่างเช่น ตะกี้ที่เอ็งทำบุญมา แล้วเอ็งคิดถึงแม่เอ็งสิ โทรจิตไง แม่เอ็งรับรู้มีจิตไหม มีความรู้สึกไหม มี แล้วเอ็งมีความรู้สึกไหม มี ไอ้ตรงนี้มันถึงกัน มันแปรที่ใจไม่ได้แปรที่ของนี่ แต่ถ้ามึงไม่มีไอ้ของนี่ มึงไม่สละไอ้นี่มา มึงจะคิดอะไร บอกแม่เอาบุญนะ แล้วบุญอะไร บุญหนูก็ไม่รู้ แม่เอาบุญไปเนาะ แต่บุญอะไรกูก็ไม่รู้ เขาบอกว่าบุญก็บุญ มันไม่มีเหตุไง แต่ถ้าสละนะ แม่หนูทำแล้วนะ หนูทำบุญกับพระไปแล้วเห็นไหม บุญอันนี้แม่เอาไปเลยนะ มันแปลที่นี่ จิตถึงจิตเว่ย

คณะโยม : ใจอย่างเดียว

หลวงพ่อ : ใช่ ใจอย่างเดียว

คณะโยม : นั่งภาวนาทุกวันแล้วเราแผ่เมตตา

หลวงพ่อ : ดีกว่าเพื่อน

คณะโยม : ช่วยเรื่องเจ้ากรรมนายเวรเราได้มากไหม

หลวงพ่อ : มากที่สุด

คณะโยม : แผ่เมตตานี่ก็คือ สัพเพ ธรรมดาเหรอคะ

หลวงพ่อ : สัพเพคือตัวหนังสือ แผ่เมตตาคือคิดสิ แต่ทีนี้เราคิดไม่เป็นใช่ไหม พอคิดเรื่องอะไรไม่เป็นเราก็ต้อง สัพเพ สัตตา จริงๆ แล้วสัพเพสัตตามึงยังไม่รู้ว่าคืออะไรเลยนะ

คณะโยม : แต่ถ้าเป็นคำพูดก็ดีกว่า

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) พระกรรมฐานเขาทำตรงนี้ คิดเลย “อุทิศะ” เจาะจง แม่ชื่อ นาง ก ข ค ง คิดชื่อนี้ๆ นี่สัมภเวสีเราเป็นฮ่อเฮียตี๋ด้วยกันทั้งหมดเลย เวลาเขาเอาโค้กมาตั้งแล้วอุทิศ ทำบุญนี่ล่ะ ใครวิ่งหยิบโค้กกระป่องนี้ได้ก่อน คนนั้นได้ แต่ถ้าบอกไว้เลย อุทิศให้กับ นาย ก นาย ข นาย ง อันนี้ให้นาย ก เราเป็นฮ่อเฮียตี๋ด้วยกันเลย กูชื่อ ก เอ็งอด กูเอาคนเดียว

อุทิศเจาะจงให้คนนั้นๆ อุทิศให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรา แล้วอันนี้พอวางปั๊บนะ พอหยิบไปแล้วมันก็มีอันใหม่วางอยู่ ถ้าเราหยิบของเราไปแล้วใช่ไหม อุทิศให้พ่อแม่ปู่ยาตายายก็ได้ทุกคนเลย สุดท้ายแล้วก็อุทิศให้กับสรรพสัตว์ อุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวร เพระว่าไอ้โค้กนี่มีกระป๋องเดียว แต่ถ้าเป็นทิพย์นะ เป็นความรู้สึกเอ็งนะ มันจะเป็นโค้ก โค้ก โค้ก โค้ก คือว่ามันเป็นนามธรรมไง

ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย เวลาอุทิศส่วนกุศลเหมือนเทียนเล่มหนึ่ง ถ้าเราไปต่อให้เทียนเล่มนี้ เทียนเราก็ยังอยู่จริงไหม คือโค้กกูยังอยู่ไง กูให้โค้กมึง โค้กกูก็ยังอยู่ เพราะมันเป็นนามธรรม ฉะนั้นมันถึงอุทิศได้ตลอด แต่ทีนี้คนมันบอกว่า เฮ้ยกูอุทิศไปก็หมดแล้ว โค้กมีกระป๋องเดียว แล้วคนอื่นจะเอาอะไรล่ะ

คณะโยม : มันไม่ใช่สิ่งของ

หลวงพ่อ : ใช่! ถ้าเราเจาะจง เราเคยเห็นนะ บางทีพอพ่อแม่ไม่รู้ ก็แบบว่าอุทิศส่วนกุศลไป พอถึงก็มาเข้าฝันเลย แม่หนูเอาไม่ทัน แล้วเขาก็มาถามไง เราก็ต้องเจาะจง ถ้าเจาะจงนะ คนนั้นได้สิทธิก่อน แล้วก็จะต่อๆๆ ไป

คณะโยม : อย่างนี้หนูก็บอกว่าแค่ญาติ ญาติทั้งหลาย อย่างนี้เราก็ยังไม่ได้เฉพาะเจาะจง คือเร็ว แต่ถ้าบอกชื่อหมดมันก็... อูย

หลวงพ่อ : ถ้าเรารู้ก็พูดได้ใช่ไหม เอาพ่อแม่ปู่ย่าตายายใช่ไหม แล้วก็คนอื่นๆ ต่อๆไปมันก็จะได้อย่างนั้น ทีนี้สัพเพสัตตา นี่เขาเขียนไว้ให้เราท่องไง สัพเพสัตตาก็คือสัตว์ทั้งหลายนั่นแหละ แล้วก็อุปัชฌาย์อาจารย์เห็นไหม เขาก็ไล่มาทีละคนนี่ก็เจาะจงเหมือนกัน ทีนี้เพราะว่าธรรมดาถ้าไม่อธิบายอย่างเรานี่พวกเราก็ไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจปั๊บ โอ้โฮ เรื่องมากอีกแล้ว ไอ้พวกเราก็ชอบว่า อะไรก็เรื่องมาก อยากสบายไง

คณะโยม : คำว่าใบในไม้กำมือเดียว หมายความว่าอะไร

หลวงพ่อ : หมายความว่า ที่พระพุทธเจ้าสอนในพระไตรปิฎกก็คือ ใบไม้กำมือเดียวเองแต่สัจจะธรรมความจริงเหมือนใบไม้ในป่า คือความรู้ของพระพุทธเจ้ายังไปอีกมหาศาลเลย แต่ที่สอนมันเป็นหลักเฉยๆ ไง ก็อย่างที่ว่าให้อุทิศส่วนกุศล ก็บอกไว้แค่นี้ แต่ความจริงแล้วมันจะมีปลีกย่อยออกไป ไม่ได้อธิบายไง กำไม้ในมือคือหลัก ที่พระพุทธเจ้าพูดคือ เหมือนกฎหมาย เขียนโดยมาตราตรงตัวเลย แต่พอถึงเวลากฎหมายลูก กฎหมายอะไรยังอีกมหาศาลเลย

ฉะนั้นครูบาอาจารย์เราที่ปฏิบัติไปแล้ว ท่านจะมีความรู้ความเห็นของท่านแตกแขนงออกไป แต่แตกออกไปขนาดไหนก็แล้วแต่นะ เวลาพูดแล้วนะไม่เคลื่อนจากหลักนี้หรอก ใบไม้ในกำมือ กับใบไม้ในป่า คือความจริงที่พระพุทธเจ้าสอน แต่ความจริงที่มันมากกว่านี้ยังมีอยู่ แต่ถ้าพูดออกไปมากเกินไป กลัวพวกเราจะฟั่นเฟือนแล้วจำไม่ได้ไง เยอะกว่านั้นอีก

คณะโยม : เอาแค่กำมือเดียวก็ยังปวดหัว

หลวงพ่อ : นั่น

คณะโยม : ผมขอถามอาจารย์เรื่องภาวนาบ้างครับ อาจารย์ครับ ภาวนานี่ถ้าหลับ เมื่อก่อนนี้ไม่เป็นครับ

หลวงพ่อ : เดี๋ยวๆ ถ้ากลับไปนะ เราจะพูดไว้ก่อน ถ้ากลับไปลองไปดูในเว็บไซต์ เรื่องปัญหาพื้นฐาน แก้ภวังค์ก็เยอะเมื่อสองสามวันมานี้ เพราะเขาถามมาหลายปัญหา ปัญหาคือนั่งแล้วตัวสั่น นั่งแล้วมันวูบลง แล้วเราก็ตอบไป พวกนี้ปัญหาพื้นฐาน แล้วที่ว่าเมื่อก่อนไม่เป็นแต่เดี๋ยวนี้ทำไมมันเป็น จิตของเรานี่มันเหมือนนักมวย นักมวยเวลาเราฟิตดีนะ ต่อยดีมากเลย เวลามือตกนะ ตกน่าดูเลย

คณะโยม : มันหลับเลยนะครับอาจารย์ แล้วหลับบางทีเป็นชั่วโมงครับ หลับไปเลย คือความรู้สึกมันไม่มี รู้ว่าตัวเองหลับแน่นอน

หลวงพ่อ : ใช่ ไอ้นี่ลงภวังค์แล้ว อันนี้ไม่ใช่หลับ ถ้าลงภวังค์นี่แก้ง่ายกว่าหลับ หลับนี่แก้ง่ายๆ นะ หลับใช่ไหม ตื่นก็หาย แต่ลงภวังค์นี่มันไม่รู้ตัว

คณะโยม : แล้วคำว่า ใบไม้ คนธรรมดาควรจะรู้ขนาดไหน

หลวงพ่อ : คนธรรมดานะ แค่ศีล ๕ แค่ทำความดีไปเรื่อยๆ นี่แหละ เอาแค่เรารู้นี่แหละ ถ้าเราจะบอกว่าอันไหนเป็นใบไม้ อันไหนไม่เป็นใบไม้นะ เราปวดหัวตายเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นพุทธวิสัย อจินไตย ๔ ไม่ควรคิดเลยเรื่องความรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นอจินไตย คำว่าอจินไตย คือคาดหมาย คาดคะเนไม่ได้เลย คือมันมหาศาลที่เราคาดไม่ได้ มีอยู่ ๔ อย่าง แล้วพระพุทธเจ้าบอกไม่ต้องไปคาดหมายนะ ถ้าคาดหมายนะ มึงหัวแตก

๑.พุทธวิสัย คือความรู้ของพระพุทธเจ้า ที่ว่ากำใบไม้ในมือหรือใบไม้ในป่านี่แหละคือพุทธวิสัย

๒.กรรม ที่เราคุยเรื่องกรรมๆ นี่ล่ะ เรื่องกรรมนี่นะ ถ้าพูดให้ตายตัวนะมันไม่จบ เพราะอะไรรู้ไหม พระพุทธเจ้าบอกว่าอดีตชาติมันไม่มีต้นไม่มีปลายเลยล่ะ แล้วเอ็งจะพูดถึงชาติไหนวะ พระอรหันต์บางคนย้อนได้แสนชาติ บางคนย้อนได้ ๕ ชาติ ๑๐ ชาติ

ในธรรมบทเห็นไหม แม่ชีกับพระ พระก็ไปอยู่กับแม่ชี แล้วแม่ชีเขาดูแล ปฏิบัติปั๊บมันพ้นเป็นพระอรหันต์เลย คิดถึงคุณเขานะ ระลึกถึงคุณเขามากก็อยากจะรู้ว่าชาติที่แล้วเป็นอะไรกัน พอย้อนไปในอดีตชาตินะโดนแม่ชีนั้นฆ่า เสียใจมากนะ ๙๙ ชาติ ทีนี้แม่ชีเขารู้ ไม่ใช่แม่ชี เป็นภิกษุณี ภิกษุณีเขารู้ เขาบอกว่าให้กำหนดดูชาติที่ ๑๐๐ สิ พอกลับไปดูชาติที่ ๑๐๐ นะ พระองค์นั้นฆ่าแม่ชีองค์นั้น มันผลัดกันมาในอดีตชาติ นี่ ๑๐๐ ชาติเห็นไหม พอถึง ๙๙ ชาติ ก็นึกว่าจบไง แม่ชีบอกขออีกชาติเดียว รออีกชาติเดียว แค่อีกชาติเดียวนี่เรื่องพลิกเลย นี่เห็นไหมมันเรื่องกรรม เรื่องกรรมนี่เป็นอจินไตย

เรื่องฌาน เรื่องว่างๆ น่ะ ฌานก็เป็นอจินไตย แล้วก็เรื่องโลก ๔ เรื่องนี้มันละเอียดอ่อนมากจนเราจินตนาการไม่ได้หรอก ฉะนั้นย้อนกลับมาที่คำว่า ใบไม้ในมือ ใบไม้ในป่า มันเป็นเรื่องอจินไตย มันเป็นเรื่องความสามารถของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่ากำไม้ในมือ นี่เป็นอจินไตย ก็ปัญญาของพระพุทธเจ้าใช่ไหม ไอ้พวกเราขนาดใบไม้ในมือ พระไตรปิฎกแม่งยังเถียงกันปากเปียกปากแฉะ ไอ้ในกำมือนี่ยังเถียงกันตายห่าเลย แล้วจะเอาในป่ามาอีกหรอ แม่งฉิบหาย โลกแตก แล้วเราจะไปรู้ได้ยังไง ขนาด ๙ ประโยคเขายังเถียงกันอยู่นั่น

ฉะนั้นอันนี้นะประสาเรานะ คำนี้มันเป็นคำพูดของครูบาอาจารย์ของเรา บางทีเพื่อขยายความ เวลาท่านขยายความเรื่องอะไรที่ลึกลับมหัศจรรย์ ท่านจะพูดมา แบบว่าให้เราฟังกันไว้บ้างไง แต่ไอ้คนที่ไม่รู้ มันก็พยายามจะเอาไอ้นี่ไปอ้างไง อ้างในมุมกลับว่าใบไม้ในป่า คือสิ่งที่เขาพูดแบบฉ้อฉล เขาก็บอกว่าอันนี้เป็นธรรมะ ธรรมะที่ไม่อยู่ในใบไม้ในกำมือนี้ไง คือกำไม้ในมือหรือใบไม้ในป่า มีคนอ้างเป็น ๒ แนวทาง แนวทางหนึ่งคนรู้จริงเขาอ้างเพื่อให้มันมีความน่าเชื่อถือ ไอ้พวกสิบแปดมงกุฎมันก็อ้างว่า ใบไม้ในป่าคือ นอกจากกฎทฤษฎีไง มันเป็นดาบสองคม คมหนึ่งถ้าคนชั่วอ้างนะ มันอ้างเพื่อฉ้อฉล เล่ห์กล แต่ถ้าครูบาอาจารย์เราอ้าง อ้างเพื่อความมั่นคง เพราะท่านรู้เห็นแล้วพยายามอ้างให้เรามั่นคงกันไง จบไหม ไอ้ถ้าอย่างนี้มันไม่ใช่หลับ มันตกภวังค์

คณะโยม : ถ้าเมื่อก่อนนี้นะครับอาจารย์ บางครั้งเวลาเรานั่งสมาธิ ประสบการณ์ที่เรานั่งมา เราทราบว่าพอตัวรู้มันอยู่ดีๆ ถ้าจิตมันรวม มันก็จะอิ่ม แต่ว่าตัวรู้นี่มันอยู่ คือรู้สึกตัวตลอด แต่ก็มีความรู้สึกว่ามันสบาย แต่ว่าตอนหลังๆ พอนั่งสมาธิไป พอจิตมันเริ่ม ปึ๊บๆ มันหลับเลย

หลวงพ่อ : มันเป็นอย่างนี้แล้ว เวลาจิตมันเจริญแล้วเสื่อม ดีแล้วไม่ดี มันเป็นของคู่กันมาตลอด ทีนี้เพียงแต่ว่าเรารักษาได้ขนาดไหน แล้วถึงจุดหนึ่งแล้ว คนเราจะมีประสบการณ์อย่างนี้ คือดีหรือไม่ดี ถ้าดีมันไม่ค่อยจำหรอก ไม่ดีนี่มันจำมาก พอมันเสื่อมหรือมันตกภวังค์อย่างนี้ แผ่นเสียงตกร่องมันเป็นอย่างนี้ พอมันลงแล้วมันจะสะสมไปเรื่อยๆ ทีแรกก็ลง ๕ นาที ๑๐ นาที ไอ้เรื่องภวังค์นี่ ต่อไปเป็นชั่วโมง แล้วต่อไปเป็นหลายๆ ชั่วโมงเลยนะ แล้วถ้าเราไม่รู้เรานึกว่านี่เป็นสมาธิ นี่เป็นความดี เราเคยเป็น

คณะโยม : อันนี้ผมทราบเพราะว่ามันไม่รู้สึกตัว

หลวงพ่อ : ถ้าอย่างนั้นปั๊บเราก็ต้องแก้ อย่างเราแก้นี่เราผ่อนอาหาร หรือว่าเราใช้ตรึกในธรรม มันต้องแก้ให้ได้ พุทโธๆๆ ไปเถอะ เราตั้งใจเลยนะ พุทโธโดยไม่เอาสมาธิ พุทโธๆๆๆๆ ไม่เอาสมาธิ แล้วถ้ามันลง ต้องต่อหน้า ต้องเห็นกันชัดๆ

คณะโยม : ก็ตอนหลังๆ ผมนั่งแทบทุกวัน แล้วมันก็จะเจออย่างนี้แทบทุกวัน

หลวงพ่อ : เดินจงกรม!

คณะโยม : หลังๆ ก็เลยนั่ง แต่ว่าไม่ยอมให้มันลงไปรวมแล้ว เพราะรวมแล้วเดี๋ยวมันไปอีกแล้ว แล้วไปไม่รู้ตัว แล้วไปเลย

หลวงพ่อ : ใช่ แล้วไม่ให้มันรวมด้วย แล้วพุทโธชัดๆ ด้วย ถ้ามันจะเป็นจริงๆ นะ พุทโธๆๆ อย่างนี้มันลงต่อหน้าเลย เวลาเป็นสมาธิ สมาธิต่อหน้าชัดๆ นี่อย่างนี้จริงเว่ย ถ้ามันว่างอย่างนี้สิ มันลงสมาธิอย่างนี้ที่เรารู้สิ ไม่ใช่ว่าพุทโธๆๆๆ แว้บไปเลย ต้องแก้

คณะโยม : บางทีก็พยายามเอาความรู้สึกไปตั้งไว้บนหัว ลง เดี๋ยวก็ไปอีก

หลวงพ่อ : ค่อยๆ แก้ เพราะการแก้มันต้องมีอุบายไง เราต้องแก้ตัวเราเอง เหมือนนิสัยใจคอ เราต้องฝึกเราเอาเอง อะไรก็ต้องฝืน

คณะโยม : ก็คนที่บ้านบอก เอ๊ะ ทำไมเดี๋ยวนี้นั่งสมาธินาน ก็บอกเขาตรงๆ ครับ มันหลับ แล้วมันหลับไปเลยจริงๆ ด้วย หลับไม่รู้สึกเลยแล้วนานมากด้วย หลังตรงเป๊ะ

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)