ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เป็นบาปไหม

๑๒ พ.ย. ๒๕๕๔

 

เป็นบาปไหม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๖๙๕. นะ 

ถาม   :   ๖๙๕. เรื่อง “ถือว่าบาปไหมครับ”

หลวงพ่อ   :   เขาถาม “ถือว่าบาปไหมครับ” เขาถือว่าเขาเป็นคนไร้เดียงสาไง 

ถาม   :  กราบเรียนพระอาจารย์สงบ คือผมมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องเงินครับ เรื่องมีอยู่ว่า ปีที่แล้วผมไปบวชที่วัด วันที่บวช หลังจากทำพิธีเสร็จ ญาติโยมก็ทำบุญพระใหม่โดยการนำเงินใส่บาตร หลังจากนั้นทางบ้านก็เก็บเงินไว้ 

พอผมสึกออกมา ทางบ้านก็นำเงินมาให้ประมาณ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ บาท ตอนแรกคิดว่าจะถวายวัดทั้งหมด แต่มาคิดดูอีกที วัดที่ผมบวชเป็นวัดใหญ่ที่ไม่ขัดสน ผมจึงนำเงินนั้นทยอยทำบุญที่ต่างๆ เช่นโรงพยาบาลสงฆ์ สถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้า หยอดตู้ตามวัดต่างๆ ผมไม่แน่ใจว่าทำถูกไหมครับ ผมเข้าใจว่าเงินนั้นเป็นของผม เอาไปทำอะไรก็ได้ หรือว่าเงินนั้นจะต้องให้วัดครับ เพราะญาติโยมทำให้วัด อย่างนี้ต้องใช้หนี้สงฆ์ไหมครับ? 

หลังจากทำบุญต่างๆ แล้ว มันมีใบเสร็จมา ผมก็นำไปลดหย่อนภาษี ก็เลยได้เงินกลับมาอีกรอบ ก็เอาไปทำบุญต่อ คราวนี้ไม่ได้ทำทั้งหมดครับ อย่างนี้ต้องใช้หนี้สงฆ์ไหม?

หลวงพ่อ   :   คำว่าสงฆ์ เห็นไหม เวลาทำสังฆทานเป็นของสงฆ์ ฉะนั้น คำว่าบุคคล คำว่าบุคคลนี่เขาไม่มี ทำเป็นของพระคือของพระ พระก็คือบุคคล เพราะว่ามีคณะอุโบสถ คณะอุโบสถ สังฆอุโบสถคือสงฆ์ ถ้าเราถวายผ้าป่าเป็นของของสงฆ์ ต้องให้สงฆ์เป็นผู้รับ 

ฉะนั้น เวลาถวายผ้าป่า ถ้าสงฆ์นั้นตั้งบุคคลตัวแทนเป็นผู้รับ นี่เป็นของของสงฆ์ สีละวันตัสสะ, สังฆัสสะ เห็นไหม สีละวันตัสสะ เขาพยายามจะบอกศีล ผู้ทรงศีล ฉะนั้น อย่างนี้มันเป็นคำบาลีที่เราแต่งกันขึ้นมา 

ฉะนั้น คำว่า “บาปไหมครับ?”

ถ้าทำผิด บาปหมด ถ้าทำถูก เห็นไหม มันมีถูกกับผิดไง ถ้าทำถูกมันก็ไม่บาป แต่ถ้าทำผิดมันก็บาปแน่นอน เขาถามว่า “บาปไหมครับ?” เราจะบอกว่าอย่างนี้ก่อน บอกว่าเวลาผมบวชพระ เขาทำบุญกับพระใหม่ การทำบุญกับพระใหม่ เห็นไหม โดยสังคมสงฆ์ สงฆ์เข้าใจว่าพระบวชใหม่เป็นที่สะอาดบริสุทธิ์ ทุกคนอยากทำบุญด้วย 

ทีนี้การทำบุญด้วย เวลาถ้าไปในสังคม ดูสิพระปฏิบัติ คือว่าผู้ที่บวชคณะปฏิบัติ นี่พระเขาไม่รับตังค์ ทีนี้เขาไม่รับตังค์ เวลาเขาทำบุญกับพระใหม่ เขาทำบุญผ่านการกสงฆ์ ผ่านไวยาวัจกร เขาให้ไวยาวัจกร อย่างนี้ถูก แต่ถ้าเป็นพระบวชใหม่ บางสังคมพระเขารับกันเอง พระเขาจับกันเอง อย่างนั้นถึงว่าผิด ถ้าผิด เห็นไหม มันอยู่ที่ว่าบาปหรือไม่บาป มันอยู่ที่ถูกหรือผิด 

แต่ถ้าทำบุญโดยพระปฏิบัติ พระที่ธรรมวินัยเขาถือ นี่ทำบุญกับพระใหม่ แต่ก็ทำบุญผ่านไง ทำบุญคือว่าพระไม่รับเงินรับทอง แต่ทำบุญกับใครล่ะ? ทำบุญกับการกสงฆ์ ผู้ที่เป็นไวยาวัจกร ที่ไปกับพระแล้วรับแทน รับไว้ไง รับไว้ ถ้าอย่างนี้มันถูก ถ้าถูกแล้วทำต่อไป เขาบอกว่าไม่มีๆ มันเป็นของสงฆ์หมด พระก็คือพระ คนก็คือคน

อ้าว ในพระไตรปิฎกนะ เทวทัตไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้พระไม่ฉันเนื้อสัตว์ ให้พระอยู่โคนไม้ ห้ามพระรับกิจนิมนต์ ห้ามรับกิจนิมนต์ ห้ามฉันเนื้อสัตว์ ห้ามอยู่กุฏิ ให้อยู่โคนไม้ แล้วอีก ๒ ข้อจำไม่ได้ มี ๕ ข้อ พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตสักข้อ พระพุทธเจ้าบอกว่าเนื้อสัตว์ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์ 

เนื้อสัตว์บริสุทธิ์ได้หรือ? เนื้อสัตว์ก็คือเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์บริสุทธิ์ได้อย่างไร? เนื้อ ๓ อย่าง ๑. ไม่ได้เห็น ๒. ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ๓. ไม่รับรู้ เขาทำกัน ในสังคมปัจจุบันนี้ ดูสิทางโลกเขาประกอบสัมมาอาชีวะกัน เขาประกอบธุรกิจกัน เขาทำธุรกิจของเขา เขาทำธุรกิจแล้วเขาขายให้ใครล่ะ? เขาขายให้สังคมต่างหากล่ะ แล้วสังคมไปซื้อสิ่งนั้นมาถวายพระนี่ พระรู้เรื่องอะไรด้วย? 

ถ้าสังคมไหน เออ ถ้าบอกว่าเป็นเครื่องไทยทาน เครื่องสังฆทาน เขาเจาะจงขายให้พระ เออ นั่นพระมีส่วน แต่นี่มันไม่มีหรอก เนื้อ ๓ อย่างหมายถึงว่าความสะอาดบริสุทธิ์ คือว่าไม่รับรู้ ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องของสังคม สังคมหนึ่ง แล้วเขาไปแสวงหาสิ่งนั้นมาถวายพระ เนื้อ ๓ อย่าง เห็นไหม แต่พระเทวทัตบอกว่าห้ามฉันเนื้อสัตว์ ห้ามฉันเนื้อสัตว์ ไม่ให้ฉัน ไม่ให้ทำอะไรเลย พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต ไม่อนุญาตเพราะบอกว่าไอ้นั่นมันเถรตรงเกินไป 

คำว่าเถรตรงเกินไป นี่เกร็ง ทำสิ่งใดไม่ได้หรอก ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มี ธรรมะของพระพุทธเจ้านะมันมีธรรมและวินัย ธรรมวินัยคือนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ นี่การปกครอง เห็นไหม การปกครองต้องมีกฎ กฎนี่แหละ กฎหมายทำให้สังคมทุกสังคมมั่นคง กฎกติกาอันหนึ่งนะ การที่ว่าสังคมมีการกระทบกระทั่งกัน แล้วมันเป็นสิ่งที่สุดวิสัย บางอย่างมันสุดวิสัยนะ กฎหมายตัดสินไม่ได้ 

นี่กฎหมายมันเขียนไว้เลยนะ ภาษากฎหมายเราไม่รู้ ที่ว่าลูกห้ามฟ้องพ่อแม่ กฎหมายเขียนไว้เลย กฎหมายพุทธนี่นะ นี่สังคมไทย ลูกห้ามฟ้องพ่อ ฟ้องแม่ ในกฎหมายเขียนไว้เลย ห้ามเด็ดขาด ลูกฟ้องพ่อแม่ไม่ได้ เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะว่าสังคมของพุทธใช่ไหม? ที่ว่าพ่อแม่มีบุญคุณ ลูกห้ามฟ้องพ่อแม่ ในสังคมเรียกคดี อุทลุม เราเคยอ่านเจออยู่ ห้ามฟ้อง กฎหมายฟ้องไม่ขึ้น ลูกฟ้องพ่อแม่ไม่ได้ นี่กฎหมายพุทธ เห็นไหม นี้กฎกติกาทำให้สังคมมั่นคง 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเราทำถูก เราทำถูกมาตั้งแต่ต้น ทำถูกตั้งแต่ต้นหมายถึงว่าถ้าพระ เวลาบวชพระใหม่ เขาทำบุญกับพระใหม่ พระใหม่ไม่รับรู้ ไอ้นี่มันน่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร? เพราะเขาบอกว่าบวชใหม่ แล้วเขาทำบุญกับพระใหม่ แต่โดยเขาใส่บาตร อันนี้ประสาเราว่าเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ฉะนั้น พอเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่มีการกระทำ เราจะตัดสินว่าผิดหรือถูก เพราะเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นี่เราไม่เห็น เราไม่รู้ว่าเหตุการณ์นั้นเขาทำกันอย่างใด?

ฉะนั้น เวลาคนที่ทำแล้วเสียใจภายหลังถามมา พอถามมาเราก็ต้องพูดถึงว่าสังคมของพระป่า สังคมของพระป่านะ พระป่ามีทั้งธรรมยุติและมหานิกาย มหานิกายที่เป็นพระปฏิบัติเขาก็ไม่รับตังค์ทั้งนั้นแหละ นี่มหานิกายปฏิบัติก็มี มหานิกายไม่ปฏิบัติก็มี ธรรมยุติปฏิบัติก็มี ไม่ปฏิบัติก็มี แต่ธรรมยุติส่วนใหญ่แล้วไม่รับตังค์ ส่วนใหญ่นะ จะบอกว่าทั้งหมดเลย ธรรมยุตินี่ โดยนโยบายของธรรมยุติไม่รับตังค์ แล้วมันก็ไปตรงกับพระไตรปิฎก 

จะบอกว่าตรงกับพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกบัญญัติไว้ แล้วพระต้องทำอย่างนั้น นี่สังคมอื่นเราไม่พูดถึง เราพูดถึงสังคมปฏิบัติ แล้วสังคมปฏิบัติ สิ่งนี้ เห็นไหม โดยที่ว่าเขาทำบุญกับพระใหม่ แล้วพระใหม่ไม่รับรู้อะไรเลย แล้วเราสึกมาแล้วมีเงินมา เงินนั้นเป็นการทำบุญกับพระใหม่ พระก็คือพระ บุคคลก็คือบุคคล เป็นสิทธิ์ของคนนั้น คนนั้นไปทำสิ่งใด เราจะบอกว่าไม่มีผลในทางลบหรอก 

ไม่มีผลในทางลบเพราะอะไร? เพราะว่าหนึ่งใจเราปรารถนาดีอยู่แล้ว เรามาบวชพระใช่ไหม? เราก็ทำบุญกับพระใหม่ แล้วสังคมเขาบอกพระใหม่ นี่เพิ่งออกมาจากโบสถ์ มันสดๆ ซิงๆ ไม่ได้ทำความผิดอะไรไว้เลย มันบริสุทธิ์ สังคมไทยเขาถือกันอย่างนั้น เวลาพระใหม่ออกจากโบสถ์มานะ แหม ทำบุญกันใหญ่เลย เพิ่งบวชมาใหม่ๆ ยังไม่ทำอะไรผิดเลยไง เขาถือว่ามันสะอาดบริสุทธิ์ นี่คือความเชื่อ 

ทีนี้พอทำบุญกับพระใหม่ใช่ไหม? เขาทำบุญกับพระใหม่ แล้วพระใหม่สึกออกไปไม่รับรู้อะไรเลย แล้วถึงเอาเงินนี้ไปทำบุญต่อ ไปทำบุญต่อคือไปทำโรงพยาบาลสงฆ์ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ไปทำบุญวัดต่างๆ มันก็เป็นเจตนาดีทั้งหมด ทีนี้เจตนามันส่วนเจตนา ความผิดถูกมันเป็นความผิดถูก มันอยู่ที่ที่มา ที่มาว่าของนั้นมันถูกหรือผิด ถ้ามันถูกมันก็ถูกหมด 

ฉะนั้น “สิ่งใดทำขึ้นมาแล้วผิดพลาด สิ่งนั้นไม่ดีเลย” แต่ถ้าสิ่งที่เราทำมาแล้วมันดี มันดีมันก็จบกัน 

ฉะนั้น ทำดีมาแล้ว คนเรานี่ เห็นไหม ดูสิ คนมาก ผู้ปฏิบัติมากที่เคยทำผิดมาก่อน แล้วสำนึกได้ ทำได้มันก็เป็นความดี อริยวินัย ผู้ใดที่ผิดพลาดมาแล้ว ยอมรับความผิดของตัวแล้วแก้ไข นั้นเป็นอริยวินัย เป็นอริยประเพณี ประเพณีที่ดี ฉะนั้น ถ้าเราศึกษาแล้ว เราเข้าใจแล้ว แล้วว่ามันจะเป็นบาปไหม? 

เราพูดฟันธง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าที่มาที่ไปมันเป็นอย่างไร? หมายถึงว่าบวชในสายไหน ถ้าบวชในทางบ้าน ออกมามันก็รับตรงๆ นั่นล่ะ อันนั้นแบบว่ามันผิดตามกฎหมายเลย แต่ถ้าเราบวชไปฝ่ายปฏิบัติ ออกมาแล้วเขาทำบุญกับพระใหม่ แล้วมีผู้รับไปอะไรไป เราไม่รู้เรื่องเลย สึกออกไปแล้วเราถึงไปเห็นว่าเงินอยู่ที่บ้าน มันคนละเรื่องกันนะ ถ้าถูกต้องมามันก็คือถูกต้อง คือว่าสิ่งนี้ก็จะไม่มีผลผิดกับเรา แต่ถ้าเรารับเองอะไรเอง 

มันอยู่ที่ที่มาไง อยู่ที่ที่มาว่ามันถูกหรือผิด แล้วถ้าที่มามันถูก มันก็ถูกตั้งแต่ต้น ถูกตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุดมันก็ถูกหมดใช่ไหม? แล้วถ้าที่มามันผิดตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มต้นผิดมันก็ผิดมาหมด ฉะนั้น เราไม่อยู่ในเหตุการณ์ เราได้เห็นแต่ตัวหนังสือนี้ เราถึงบอกว่าอยู่ที่ที่มา ถ้ามันถูกก็ถูกหมดแหละ บาปไหม? มันอยู่ที่ว่าผิดไหม? ถ้าไม่ผิดมันก็จบไป 

ทีนี้กรณีนี้ หมายถึงว่านี่คือทำไปหมดแล้ว จะบาปหรือไม่บาปจะไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว ฉะนั้น เป็นอดีตไปแล้ว เหมือนกับเราเป็นเด็กๆ เด็กน้อยทุกคนเวลาไปเรียนโรงเรียนประชาบาล ก็เก็บเล็กทุกอย่างในวัดนั่นแหละ เพราะเป็นเด็กไม่เข้าใจไง พอโตขึ้นมาคิดว่าสิ่งนั้นเป็นของๆ สงฆ์ พอของสงฆ์นี่รู้ว่าผิด ก็ไปทำผาติกรรม 

อย่างเช่นเราไปวัดไปวา เห็นไหม เวลาออกจากวัดไป เศษดิน เศษหิน เศษอะไรที่ติดเท้าไป นั่นเขาว่าของสงฆ์หมดแหละ ฉะนั้น ถึงเวลาหน้าสงกรานต์ เขาถึงก่อเจดีย์ทราย ขนดิน ขนทรายเข้าไปคืนวัดไง เข้าไปคืนวัด นี่เขาป้องกันตรงนี้ไง นี่คือประเพณีของชาวพุทธ พอรู้อะไรถูก อะไรผิด นี่ผู้ที่เป็นบรรพบุรุษของเราวางประเพณีไว้เพื่อจะแก้สิ่งที่ผิดให้เป็นถูก สิ่งที่ผิดนะ ผิดโดยที่ว่าผู้ใหญ่เราจะรู้ว่าผิด แต่เด็กน้อยรู้ว่าผิดได้อย่างไร? 

เด็กน้อย เด็กที่ไร้เดียงสา มาวัดก็พ่อแม่พามา เด็กน้อยมันจะรู้ถูก รู้ผิดไปได้ไหม? มันไม่รู้หรอก แต่มันทำก็ผิด ก็ถูกนั่นแหละ แต่พอเด็กน้อยทำไปแล้ว พอโตขึ้นมาก็เสียใจ เสียใจก็แก้ไข ย้อนกลับมากรณีนี้เหมือนกัน กรณีนี้ถ้าเราศึกษา เรารู้แล้วว่ามันถูก มันผิด พอเรารู้ถูก รู้ผิด เราแยกถูก แยกผิดถูกต้อง เราจะเป็นนักปราชญ์ แล้วค่อยปฏิบัติไป สิ่งที่พลาดไปแล้วก็คือพลาดไป ถ้าพลาด แต่ถ้ามันถูกนะ เริ่มต้นถูกไม่พลาด เริ่มต้นมาถูกก็ถูกหมดแหละ 

นี้พูดถึงเริ่มต้นมาถูก มันก็เหมือนที่ว่าเนื้อ ๓ อย่าง แล้วก็มหาปเทส ๔ สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว โลกเจริญรุ่งเรืองมาก โลกที่เจริญรุ่งเรือง มีเทคโนโลยีเจริญขึ้นมา สิ่งนั้นเข้าได้กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ ให้ถือว่าบัญญัติไว้ สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ แล้วโลกเจริญมาก ทุกอย่างเจริญมาก แล้วมันเข้ากับสิ่งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ ถือว่าไม่ได้บัญญัติ นี่มหาปเทส ๔ ไง เพราะพระพุทธเจ้าอนาคตังสญาณ รู้อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น อนาคตจะเป็นอย่างไร? แล้วถ้าพวกเราสะอาดบริสุทธิ์ พวกเราตั้งใจทำคุณงามความดีก็คือความดี 

อันนี้พูดถึงว่า “จะบาปไหมครับ?” 

จะบาปไหมครับ? เขาว่านะ กลัวไง นี้เพราะว่ากลัว นี่พูดไว้เป็นบรรทัดฐาน เพราะว่า ๑. เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ๒. เพราะเริ่มต้นตอนรับ ตอนรับมันไม่รู้ว่ารับมาอย่างไร? ถ้าตอนรับมันถูก มันก็ถูกมาหมด ถ้าตอนรับมาผิด มันก็ผิดมาหมด ถ้าตอนรับมันถูกนะ ก็คือเราไม่ยุ่ง 

ข้อ ๖๙๖. ไม่มี

ข้อ ๖๙๗. เขาถามมา แล้วเขายกเลิก ข้อ ๖๙๗. ถามมาแล้วยกเลิก

ถาม    :    ๖๙๘. เรื่อง “นั่งสมาธิแล้วตกภวังค์บ่อย แก้ไขอย่างไรครับ”

ผมใช้วิธีนั่งภาวนาโดยกำหนดคำบริกรรมพุทโธ ๑ พุทโธ ๒ ไปเรื่อย ไม่นานคำบริกรรมก็หาย พร้อมกับจิตดับไปหมด แต่คิดว่าไม่มีสติต่อเนื่องครับ จึงคิดว่าตกภวังค์ ประมาณ ๒ ชั่วโมงก็ถอนออกมา เป็นอย่างนี้เกือบทุกครั้ง มาอาทิตย์หนึ่งแล้ว ขอพระอาจารย์เมตตาช่วยชี้ทางด้วย

หลวงพ่อ  :  นี่ไงเวลาบอกพุทโธ ๑ พุทโธ ๒ เห็นไหม ไม่นานคำบริกรรมก็หายไป พร้อมกับจิตดับไป 

ถาม   :   แต่คิดว่าไม่มีสติต่อเนื่องครับ จึงคิดว่า 

หลวงพ่อ  :   แต่คิดว่า จึงคิดว่า นี่ยกผลประโยชน์ให้กับจำเลยทั้งหมด แต่คิดว่า หรือว่าจึงคิดว่า นี่มันตกภวังค์แน่นอนอยู่แล้ว เพราะทุกคนส่วนใหญ่แล้วจะเข้าข้างตัวเอง ฉะนั้น เวลามันตกภวังค์ไป คำว่าภวังค์นะ คำว่าภวังค์กับมิจฉาสมาธิ เห็นไหม เวลาเป็นสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิ เวลาเป็นสมาธิไปมันยังเป็นมิจฉาได้ 

คำว่าตกภวังค์ไป ภวังค์กับจิตมันไม่เข้าถึงสมาธิ ถ้าภวังค์กับจิตมันไม่เข้าถึงสมาธิ เวลาคนพุทโธ พุทโธเวลามันลงไป ลงไปแล้วนะ พอช่องทางมันเคยลงไปมันจะลงไปอย่างนั้น ต้องแก้ไข การแก้ไขนะ ดูสิเวลาเราทำงาน ทุกคนเวลาทำงานกลับมาบ้านจะเครียด จะเหนื่อย จะล้ามาก แล้วพอนั่งภาวนาไปมันจะเกิดสภาวะแบบนี้ เพราะสิ่งที่เราทำสมาธิกัน เราสร้างปัญญากัน มันเป็นโลกุตตรปัญญา

ดูสิ ชีวิตประจำวันของเรานี่ทุกข์มาก ทำสิ่งใดก็ทุกข์นะ แม้แต่เจริญรุ่งเรืองขนาดไหน จะมีความร่มเย็นเป็นสุขในทางโลกขนาดไหน จิตใจก็ว้าเหว่ จิตใจก็เศร้าหมองในหัวใจของมันเอง ในหัวใจของมันเอง เห็นไหม เวลาเรามีใครมาปลอบใจ เรามีใครคุยเรื่องธรรมะกันมันก็สดชื่นดื่มด่ำ มันก็เฉพาะพักหนึ่ง นี้เราจะบอกว่าโลกียปัญญา ปัญญามีเท่านี้ 

ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติไป เราตั้งสติ เราทำสมาธิขึ้นไปเพื่อจะมาลึกกว่านั้นไง เขาเรียกว่า “โลกุตตรธรรม โลกุตตรปัญญา” ปัญญาที่พ้นจากกิเลส ปัญญาที่พ้นจากโลก มันต้องมีความละเอียดลึกซึ้งกว่า ทีนี้พอลึกซึ้งกว่ามันคนละมิติไง เราจะบอกว่าคนละมิติเลย มิติความคิดของเรานี่เป็นมิติของโลก คือโลกียปัญญา มิติทางวิทยาศาสตร์ นี่โลกทั้งนั้นแหละ 

ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ต่างๆ มันใช้ทางวิจัยต่างๆ มันเป็นปัญญาโลกหมดเลย ปัญญาโลกเพราะอะไร? ปัญญาโลกเพราะเกิดจากจิต จิตเป็นประธาน จิตเป็นคนคิดขึ้นมา นี่ปัญญาโลก แล้วถ้าปัญญาโลกนะ พอจิตเราทำความสงบ นี่ไงที่เราจะมาตกภวังค์ๆ เพราะจิตมันจะเข้าสู่สัมมาสมาธิ 

ถ้าจิตมันเข้าสู่สมาธินะ ปัญญาที่เราคิดๆ กันอยู่นี่นะ ที่ว่าเป็นศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ต่างๆ ที่การคิดค้นคว้าอยู่นี่มันเป็นปัญญาทางโลกนะ ถ้ามีสมาธินะมันจะปิ๊ง! ปัญญาแค่นี้มันเลยพระอรหันต์อีกนะ มันเลยพระอรหันต์เพราะอะไร? เพราะว่าปัญญาอย่างนี้ ถ้ามีสัมมาสมาธิ สมาธิมันจะเห็นละเอียดกว่า ลึกซึ้งกว่า เหมือนตา ตานี่เชื้อโรคมองไม่เห็นหรอก ถ้าเข้ากล้องนะ เพาะเชื้อนี่ อู้ฮู ยิบยับๆ เห็นไปหมดเลย เพราะเลนส์ เพราะกล้อง

จิต จิตที่มันสงบแล้วนะ จิตสงบถ้ามันมีสติปัญญาของมัน จิตมันมีสัมมาสมาธิ พอมันคิดเรื่องปัญญามันสะเทือนหัวใจไง พอมันเห็นเชื้อโรค มันเห็นถึงกิเลส มันเห็นนี่มันสำรอก มันคาย พอมันคาย มันสำรอกออก นี่ไง ที่พูดนี้เพราะว่าถ้าจะเข้าสมาธิ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่สมาธิ นี่สมาธิเกิดจากจิต แล้วถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ 

มิจฉา เห็นไหม ดูสิเขาทำคุณไสยกัน ที่เขาบอกว่าสมาธิตัวแข็งๆ สมาธิแล้วมันเป็นฌานโลกีย์ นั่นแหละมิจฉาหมดเลย สิ่งที่เป็นมิจฉา สมาธิเหาะเหินเดินฟ้า สมาธิรู้วาระจิต นั่นมิจฉาสมาธิ พระพุทธเจ้าไม่ปรารถนา พระพุทธเจ้าไม่ต้องการ แต่กิเลสมันต้องการ พอคนทำสมาธิว่ากิเลสมันมีอยู่แล้วใช่ไหม? กิเลสมันชักนำไปทั้งนั้นแหละ เพราะสิ่งนี้มันเป็นญาณไง เป็นพลังงาน เป็นกำลัง 

ดูสิคนเรา เวลานักกีฬาฝึกซ้อมขึ้นมา โอ้โฮ ฟิตมากเลยนะ ปึ๋งปั๋งๆ กำลังมันมหาศาลเลย นั่นล่ะความฟิต ความฟิตนะ ถ้ามีทักษะ มีเทคนิค โอ้โฮ นักกีฬาคนนั้นจะเก่งมากเลย แหม ความฟิตนะ ปึ๋งปั๋งๆ เลย แต่วิ่งรอบสนามหาบอลไม่เจอ ทักษะไม่มี นี่ก็เหมือนกัน พอเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว ถ้ามันออกนอกลู่นอกทางนี่เป็นมิจฉาหมดเลย แต่ถ้ามันมีสัมมาสมาธิด้วย แล้วเกิดมีปัญญาขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งนี้มันจะมีคุณค่า พอมันมีคุณค่าปั๊บ พอเรากำหนดพุทโธ ๑ พุทโธ ๒ พุทโธ ๓ แล้วมันจะลงภวังค์ 

ถาม   :    คิดว่าไม่มีสติ จึงคิดว่ามันตกภวังค์

หลวงพ่อ  :    (หัวเราะ) ถ้าคิดว่านี่ถูกแล้ว ถ้าคิดว่ามันตกภวังค์แน่ๆ มันตกไปแล้วแหละ แต่ตัวเองยังหวังสมาธิอยู่ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะเป็นสมาธิ คิดว่ามันจะดีไง ฉะนั้น ถ้ามันคิดว่าขาดสติไปแล้ว คิดว่าตกภวังค์ มันตกจนกลับมาแล้วค่อยมาคิดได้ ถ้ามันคิดได้แล้วเราแก้ 

เราจะบอกว่าแก้นะ ดูสิของที่มันมีคุณค่าขนาดนี้ ฉะนั้น พอเราจะทำกันเราไม่เคยคุ้นชินกับมันไง เราคุ้นชินกับจิตสามัญสำนึกของเรา เราคุ้นชินกับความรู้สึกของเรา เราคุ้นชิน แต่พอมันจะเปลี่ยนอีกมิติหนึ่ง คือจะเข้าไปสู่อีกความรู้สึกหนึ่ง พอเข้าไปอีกความรู้สึกหนึ่ง นี่ด้วยความว่ามันเข้าไปแล้วมันละเอียด เราเข้าไปถูกต้องบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง แล้วถ้าเข้าไปแล้วนี่ชำนาญในวสี คนเข้าแล้วคนรักษาไว้ สมาธิจะมีกับเราตลอดไป

พอคนเข้าแล้ว นี่การเข้าเหมือนเข้าค่ายกลเลย อู๋ย กว่าจะเข้ามาได้นี่ อู้ฮู หลุดมาได้อย่างไรก็ไม่รู้ เวลาออกไปแล้วนะ โอ้โฮ เวลาออกมานี่มันออกมาได้อย่างไรไม่รู้? จำไม่ได้ เข้าไม่ได้ไง นี่ไงสมาธิที่รักษากันไม่ได้ การไม่ชำนาญในวสี เห็นไหม เหมือนเข้าค่ายกลนะ เวลาเข้าสมาธินี่อย่างกับเข้าค่ายกล กว่าจะพ้นค่ายกลออกมาได้ โฮ้ สมาธิ พอมันเสื่อม โอ๋ย ออกจากค่ายกลมา ไปไม่ถูกเลย 

แต่ถ้าชำนาญบ่อยครั้งเข้า ชำนาญบ่อยครั้งเข้า แล้วเข้าออกจนชำนาญเหมือนก้าวข้ามผ่านประตูเลย เหมือนก้าวข้ามนะแต่ไม่ใช่ เหมือนก้าวข้ามผ่านประตูเลย มีความชำนาญ พอมีความชำนาญขึ้นมา เห็นไหม นี่ไอ้สิ่งที่ว่ามันตกภวังค์ โอ๋ย มันเป็นเรื่องที่ทำไมเมื่อก่อนมันตกบ่อยเลย เดี๋ยวนี้เรารู้ทันหมดเลย ทำไมเดี๋ยวนี้ โอ๋ย ห่างไกลเลย ห่างไกลกับความควบคุมของเราเลย เพราะอะไร? เพราะความชำนาญ แต่ถ้ามันยังไม่ชำนาญก็เป็นอย่างนี้แหละ 

เราจะพูดให้ฟังอย่างนี้เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะว่าเวลามันตกภวังค์อะไรนี่ ทุกคนจะเจอปัญหานี้หมดนะ ทุกคนเจอปัญหานี้หมดเลย เพราะอะไร? เพราะทุกคนมาจากโลกียะ ทุกคนมาจากกิเลสหมด ทุกคนเกิดมามีกิเลสในหัวใจทั้งหมดเลย แล้วทุกคนจะพลิกจากกิเลสมาเป็นธรรม นี่มันจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์นะเวลาทำ แต่มันต้องทำทั้งนั้นแหละ 

แต่เวลาถ้าคนชำนาญแล้วนะ ดูสินักกีฬาที่มันชำนาญ มันเห็นเด็กใหม่ๆ ฝึกมันนั่งหัวเราะนะ ทำไม เก้ๆ กังๆ เนาะ แต่เมื่อก่อนกูก็เป็นอย่างนี้ เมื่อก่อนก็เป็นอย่างนี้ แต่เวลากูชำนาญแล้วกูมองคนอื่นนะ โอ้ คนนั้นก็ไม่ถนัด เอ๊ะ คนนี้ก็เล่นไม่ถูก เก่งไปหมดเลยเพราะอะไร? เพราะเราผ่านมาแล้ว แต่ถ้าไม่ผ่านนะมันต้องมาอย่างนั้นแหละ มันต้องมาอย่างนั้น แล้วเราเป็นอย่างนั้นไง เราเป็นผู้ที่ฝึกหัด เราเป็นผู้ที่ฝึกหัด

ฉะนั้น ที่พูดให้ฟังนี่นะ พูดให้ฟังนี้ให้เห็นผลของมันไง ผลจากผู้ฝึกหัดนี้อย่างหนึ่งนะ แต่ถ้าฝึกหัดพอมันได้แล้วมันไปอีกเรื่องหนึ่งนะ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย จิตดวงเดียวนี่แหละ เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกว่า 

“จิตดวงเดียวนี้ เที่ยวเกิด เที่ยวตาย ลึกๆ ลับๆ ไป จิตดวงนี้” 

แล้วจิตดวงนี้ถ้าไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดก็นี่ไง นั่งกันอยู่นี่ไงไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดไง แล้วเราก็จะมาฝึก มาหัดกันไง แล้วมาฝึก มาหัดนี่อู๋ย นิพพานสุขมาก สมาธิสุขมาก แล้วเราปฏิบัติร้อนตายเลย นั่งสมาธิจนก้นพอง แล้วมันสุขที่ไหนวะ? แต่ถ้ามันลงสมาธิแล้วมันสุขจริงๆ เห็นไหม แต่มันแลกมาด้วยความเพียรไง มันแลกมาด้วยความมั่นใจของเราไง มันแลกมากับความจริงจังของเราไง มันมาจากไหน? ธรรมะมันมาจากไหน? ธรรมะมันมาจากความเพียรชอบนี่ไง 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันตกภวังค์ๆ เราจะบอกว่ามันจะเป็นอย่างนี้เกือบทั้งนั้น แต่พอเป็นอย่างนี้เกือบทั้งนั้น ทางปฏิบัติเขาบอกว่า ไม่ได้นะ ตกภวังค์มันผิดนะ ตกภวังค์มันผิด มันก็เหมือนกับเด็ก เห็นไหม ดูสิ โทษนะ ให้เราไปกินอาหารฝรั่งเรากินไม่ถูกหรอก มีดกูก็จับไม่ถูก ให้กูไปกินอาหารฝรั่งกูทำอะไรไม่ถูกเลย แต่ให้กูกินในบาตรสบายมาก กูเทใส่บาตรหมดเลย แล้วกูก็ใส่ปาก 

นี่เปิบใส่ปากได้สบายมากเลย ของคุ้นชินไง แล้วให้กูไปกินอาหารฝรั่งนะกูจับไม่ถูกหรอก จับมีดกูก็จับไม่เป็น กินอะไรก็กินไม่ถูก ของไม่เคยทำ เห็นไหม ถ้าของไม่เคยทำ ทำอะไรไม่ถูก แต่ถ้าของเราคุ้นชิน เราทำของเรานะ นี่การคุ้นชิน ถ้าไม่คุ้นชิน ทำอะไรก็จะไม่ได้ พอคุ้นชินขึ้นมา กิเลสมันคุ้นชินก็ทำให้หลับอีก คุ้นชินก็จะหลับนะ คุ้นชินก็ไม่ได้ ตื่นเต้นเกินไปก็ไม่ได้ ทุกอย่างเกินไปไม่ได้ มันอยู่ที่เราทำนะ 

นี่พูดถึงการตกภวังค์ไง การตกภวังค์ เห็นไหม เราบอกว่าภวังค์เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งไม่ดี แต่มันเป็นการฝึกหัดถูกกับผิด ถ้ามันปฏิบัติไปแล้ว ถ้ามันผิดมันก็รู้ว่าผิด ถ้ามันถูกขึ้นมามันก็จะดีขึ้นมา 

ฉะนั้น วิธีแก้ วิธีแก้ตั้งสติไว้นะ แล้วพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ไอ้คำว่าพุทโธชัดๆ ของเรา เมื่อก่อนคนถามมาเยอะมาก เดี๋ยวนี้หายไปแล้ว เพราะเวลามันสนใจไง พุทโธชัดๆ เพราะอะไรรู้ไหม? คำพูดว่าพุทโธชัดๆ ถ้าไม่มีสติมันชัดไม่ได้ ถ้าพุทโธมันชัดแสดงว่าพุทโธสมบูรณ์ พุทโธสมบูรณ์มันก็ไม่ตกสู่ภวังค์ พุทโธชัดๆ ไว้ ชัดๆ ไว้เลยนะ พอพุทโธชัดๆ ไว้อย่างนั้น แล้วชัดๆ แล้วมันก็หยาบ มันจะละเอียดได้อย่างไรหลวงพ่อ?

เอาน่า ชัดๆ ไว้นะ พอมันกลมกล่อมของมันนะ มันสติพร้อมของมันนะ เวลามันจะลงนะสติมันก็พร้อม ทุกอย่างก็พร้อม พุทโธก็ชัดๆ นะ ชัดๆ จนเอ๊อะ เอ๊อะ เอ๊อะ เป็นอย่างนั้นเลยล่ะ นั่นแหละสมาธิแท้ๆ เลย เพราะมันชัดเจน สติสมบูรณ์ คำบริกรรมสมบูรณ์ พุทธานุสติสมบูรณ์ จิตใจสมบูรณ์ มันจะเข้าสู่สมาธิได้ อ๋อเลย นั่นแหละ 

แล้วพอออกมา สมาธิเป็นอย่างไร? ไม่รู้บอกไม่ถูก แต่ถ้ามันหลับนะ โอ้โฮ หลวงพ่อ เมื่อคืนนั่งสมาธินะ อู๋ย สุดยอดเลย เป็นอย่างไรนะ อู้ฮู มันลงนะ ลงอย่างไร? ลงหลับไปไง ถ้ามันหลับนะมันโม้ได้ทั้งวันเลย แต่ถ้าเข้าสมาธินะพูดไม่ถูกหรอก พูดไม่ถูก แต่รู้ พูดไม่ถูกแต่รู้ เห็นไหม 

คำว่าพูดไม่ถูก เพราะอย่างนั้นมันถึงบอกว่ามันเป็นอีกมิติหนึ่ง พูดไม่ถูกนะ แต่อู้ฮู สุดยอดเลย แต่ถ้าบอก อู้ฮู หลวงพ่อ มันว่างหมดเลยนะ แหม ไอ้นั่นมันหลับมา มันเพิ่งตื่น พอตื่นมานี่มันจะมาอธิบายใหญ่เลยนะ โอ้โฮ มันว่างหมดเลย โอ้โฮ มันสุดยอดเลย ไอ้นั่นเพิ่งตื่น แต่ถ้าเป็นของจริงนะ หลวงพ่อบอกไม่ถูกเลยนะ นั่นแหละถูกต้อง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่มันเป็นอีกมิติหนึ่ง ที่เราจะอธิบายมาเป็นสมมุติแทบไม่ได้เลย ขอให้เข้มแข็ง ขอให้มีกำลังใจ แล้ววิธีแก้นะตั้งสติไว้ แล้วประสาเรา เวลาทำงานทุกคนเหนื่อยยากนะ ทุกคนเหนื่อยยาก ฉะนั้น พอเหนื่อยยากขึ้นมาก็ต้องการฟื้นฟูร่างกาย ฉะนั้น พอมาปฏิบัติ จิตใจนี่มันทำงานมาเพลียแรงอยู่แล้ว แล้วมาฟื้นฟูร่างกาย ร่างกายมันก็อยากจะพัก แล้วพอนั่งสมาธิขึ้นมา นี่ร่างกายมันอยากจะพักเหนื่อยคลายเครียด แต่ก็ต้องมาพุทโธ พุทโธอีกไง 

มันเหมือนกับมันจนตรอก เวลามันจะเป็นไปมันถึงเป็นอย่างนี้ เวลามันแว็บหายไปเลย หายไปเลย เพราะว่าเราล้ามา แต่ถ้าเวลาผู้ปฏิบัติ ดูพระอดอาหาร พระภาวนาทั้งวันล้าไหม? ก็ล้าอยู่ แต่ทำงานหน้าเดียว เห็นไหม ในพระไตรปิฎกบอกว่า “ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ” คับแคบเพราะเราต้องทำหน้าที่การงาน เราต้องรับผิดชอบทั้งบ้าน ทั้งเรือน รับผิดชอบหมดเลย แล้วถึงเวลาเราก็หาเวลา ปลีกเวลามาภาวนา 

แต่พระเรา เห็นไหม เราวางโลกไว้หมดแล้ว เราเสียสละโลกไว้ให้กับสังคมโลก แล้วมาเป็นนักบวช มาเป็นนักปฏิบัติ เป็นผู้บำเพ็ญภาวนา เราทำงานหน้าเดียว นี่ทางของสมณะ ทางกว้างขวาง กว้างขวางเพราะ ๒๔ ชั่วโมง แล้วมันเครียดเหมือนโยมไหมล่ะ? โยมทำงานก็เครียด พระปฏิบัติเราเครียดไหม? ก็เครียด ถ้าเครียดก็ต้องหาสมดุลเหมือนกัน เครียดเพราะปฏิบัติ นี่เครียดถ้าปฏิบัติไม่ได้ แต่ถ้าปฏิบัติมันดีมันก็สมดุลของมัน 

ฉะนั้น ใจก็คือใจ ใจนี้สำคัญนัก เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเกิดนู่น เดี๋ยวเกิดนี้ นี่ถ้าเรารักษามันจะเป็นความดีของเรา นี่พูดถึงการตกภวังค์นะ ค่อยๆ แก้ไป ค่อยๆ แก้ไป ทำของเราไป ถ้าทำของเราไป พอจิตเป็นสมาธินะ อย่างที่ว่าปัญญาที่เกิด เกิดทางโลกที่เขามีปัญญากัน ถ้ามีสมาธินะ แล้วใช้ปัญญาอย่างนั้น เดี๋ยวเถอะมันไปเต็มที่เลย แต่ตอนนี้เพราะจิตของเราอั้นตู้ ปัญญานี่เกิดมากเลยแต่เป็นวิชาชีพ เป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาที่ใช้ประโยชน์ทางโลก ทางการบริหารจัดการ ทางวิชาการ 

แต่นี่วิชาการก็คือวิชาชีพ เพราะอาชีพใดก็วิชาการนั้น เพื่อผลประโยชน์ในการทำหน้าที่การงานของเขา แต่เวลาจิตเราสงบแล้วเราใช้ปัญญาของเรา ปัญญานี้มันเป็นการถอดถอนกิเลส มันเหนือโลก มันจะทิ้งโลกไว้ ทิ้งโลกไว้ ทิ้งโลกที่ไหน? ทิ้งโลกทัศน์ หัวใจนี่มันจะควักสิ่งที่ผูกพันทิ้งไว้ที่นี่ เกิดมาชาตินี้เกิดมาเป็นนายอะไร ชื่ออะไร แล้วถ้ามันชำระสะสางแล้วมันจะทิ้งไว้ที่นี่ แล้วมันจะเอาจิตใจนี้พ้นไป

ฉะนั้น ให้มั่นคง ให้เข้มแข็ง แล้วเราจะได้ประโยชน์กับเรา

ข้อ ๖๙๙. เป็นคำยกเลิกจากข้อ ๖๙๗. นะ

เราจะตอบอันนี้อีกอันหนึ่ง แล้วนั่นไปนะ

ถาม    :    ๗๐๐. เรื่อง “ขออุบายวิธีแก้ผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงครับ”

หลวงพ่อ   :   สงสารนะอันนี้มาไกล อันนี้มาไกลมาก

ถาม  :   กราบนมัสการพระอาจารย์ด้วยศรัทธาและเลื่อมใสครับ กระผมมีเรื่องขอปรึกษา ในการหาอุบายวิธีแก้ปัญหาผู้บังคับบัญชาของผมเอง ที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก ไม่ยอมรับฟังความคิดของผู้ใดใต้บังคับบัญชา ซึ่งประวัติของผู้บังคับบัญชาท่านนี้ท่านเป็นคนเรียนเก่ง จบปริญญาเอกจากอเมริกา ไอคิวสูง เรียนรู้หลักสูตรได้ที่หนึ่งมาโดยตลอด และยังจบนักธรรมชั้นสูงอีกด้วยครับ แต่เวลาท่านโกรธหรืออารมณ์ไม่ดี ท่านจะค่อนข้างอารมณ์โมโหง่าย และมักลงโทษลูกน้องอยู่เสมอ ถึงแม้ลูกน้องจะมีความผิดเล็กน้อย 

ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นว่าแม้ท่านจะเรียนเก่ง ไอคิวดีก็ตาม แต่ท่านยังขาดจิตวิทยาในการปกครองลูกน้องอยู่ ใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ กระผมจึงขออนุเคราะห์จากพระอาจารย์ พอจะมีอุบายวิธีการใดบ้างที่จะช่วยลดมานะทิฐิของหัวหน้ากระผมได้บ้างครับ ซึ่งตอนนี้ผมปฏิบัติการอยู่ที่แอฟริกา อยู่ในองค์การสหประชาชาติ ห่างไกลครูบาอาจารย์ที่พึ่งทางจิต จึงอยากขอกำลังใจจากพระอาจารย์ด้วยครับ

หลวงพ่อ   :   เราจะบอกว่าในเมื่อคนดี ทุกคนแสวงหาคนดี นี่ในคำถามก็บอกว่าท่านจบปริญญาเอกจากอเมริกา เรียนชั้นสูง จบนักธรรมมาด้วยทุกอย่าง แสดงว่าท่านก็เป็นคนดีคนหนึ่ง ฉะนั้น เวลาโดยธรรมชาติของพวกเรา เราก็อยากจะหาหัวหน้าเราที่เป็นคนดี ที่ใจเป็นธรรม คิดว่าทุกคนอยากแสวงหานะ แล้วทุกคนก็จะบ่นว่า นี่หัวหน้าไม่เป็นธรรม หัวหน้าไม่เป็นธรรม เราอยากแสวงหาหัวหน้าเป็นธรรม 

เราจะบอกว่า สิ่งที่เขาเป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าเรามองในแง่ดีของเขาก่อน สิ่งที่ในแง่ดีของเขา นี่แง่ดีของเขาก่อน แง่ดีใช่ไหม? ถ้าเรามองคนในแง่บวก แง่ดี พวกเราจะสบายใจขึ้น แล้วเราจะไม่เครียด มองคนในแง่ดีก่อน แล้วทีนี้พอมองคนในแง่ดีแล้ว สิ่งนั้นเป็นความดีของเขา ทีนี้สิ่งที่ในแง่ที่ว่าท่านอารมณ์รุนแรง ท่านลงโทษ ท่านไม่มีจิตวิทยาในการบริหาร เห็นไหม ทุกคนต้องมีจุดเด่นและจุดด้อย

จุดด้อยของคนมีนะ นี่อย่างเราเป็นหัวหน้า โอ๋ย มีเมตตามากเลย อู้ฮู เป็นคนดีมากเลยนะ จะบอกว่าแต่โง่น่าดูเลยนะ ทำอะไรก็ผิดๆ ถูกๆ ลูกน้องก็คงจะเบื่อน่าดู โอ้ หัวหน้านี่ดี๊ดีนะ มีเมตตาทุกคนเลยนะ แต่เวลาพูดอะไรมานี่ผิดทั้งนั้นเลย ลูกน้องก็คงจะไม่ชอบ แต่ถ้าหัวหน้าเขามีทางวิชาการเขาเก่ง เขาดี อืม เราก็ว่าท่านดีนั่นแหละ เพราะอย่างนั้นเขาถึงเรียนดี คนที่มีศักยภาพมันจะเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ

เราดูอย่างนี้นะ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ คนธาตุไฟเป็นคนมีปัญญา คนธาตุไฟเป็นคนฉลาดนะ แต่เผาเขานะเพราะธาตุไฟ คนธาตุดินนี่นะจะร่มเย็น จะเย็นเป็นเรือเกลือเลย ไปไหนก็ต้องผลักหลังไป พวกนี้พวกธาตุดิน ธาตุดินนะ ธาตุดินไม่ค่อยฉลาด ธาตุน้ำ ธาตุลม นี่คนเราเป็นโดยธาตุ ถ้าคนเป็นโดยธาตุ ธาตุนี้เป็นเรื่องหนึ่งแล้วนะ พอเรื่องที่สองนะ เรื่องที่สองก็เรื่องจริตนิสัยของเขา ฉะนั้น เป็นไปโดยธาตุนี่มันแก้ไข

เดี๋ยวตอบเสร็จแล้ว คนถามจะบอกว่าหลวงพ่อไม่ตอบอะไรเลยนะ หลวงพ่อจะตีตัวออกอีกแล้ว หลวงพ่อจะชิ่งอีกแล้ว ไม่ได้ชิ่ง เราจะบอกว่าถ้าหนึ่งโดยธาตุเขาเป็นอย่างนั้น เรามองคนในแง่บวกไว้ก่อน ถ้ามองคนในแง่บวกนะ หนึ่งเราเป็นองค์กรเดียวกัน เราทำงานร่วมกัน เรามองในแง่บวก แล้วพอมองในแง่บวกเราก็สบายใจแล้ว หนึ่งเราอยู่กับคนดี เราอยู่กับคนดีนี่เราสบายใจแล้ว แต่คนดีมีจุดบกพร่อง 

นั่น ถ้าคนดีมีจุดบกพร่อง เราเป็นลูกน้องจะแก้เจ้านายนี่ยากมาก ฉะนั้น ลูกน้องนี่นะ เราเป็นลูกน้องใช่ไหม? เราต้องมีอุบายไง เรามีอุบาย เราเสนอ เราคอยเสนอไป เสนอแล้วนี่นะ ถ้าเจ้านายเขาเห็นดีด้วยเราก็ปลอดภัย ถ้าเจ้านายเขาไม่ค่อยเห็นดีด้วยนะ แต่เราก็เสนอด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรา ถ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรานะ มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคนด้วย เรามาเจออย่างนี้ เราคิดว่ามันถูกต้อง เราเจอคนที่ดีมันก็ดีอยู่แล้ว 

 

ฉะนั้น ที่บอกว่า ๑. เขาเรียนมาดีด้วย ๒. จบนักธรรมชั้นสูงด้วย จบนักธรรมชั้นสูง เพราะตอนนี้นะ เพราะเรามีคนมาหาเยอะมาก ข้าราชการผู้ใหญ่ตอนนี้ก็ไปเรียนพุทธศาสตร์ ด็อกเตอร์ทั้งนั้นเลย เดี๋ยวนี้ข้าราชการของเมืองไทยนี่นะ จบมหาจุฬาฯ นี่ด็อกเตอร์ทั้งนั้นเลยนะ เรียนนักธรรมชั้นสูงด้วย 

ฉะนั้น ไอ้แผ่นกระดาษนั้นน่ะมันมาช่วยให้นิสัยดีขึ้นไม่ได้ ไอ้เรียนจบมานั่นน่ะ ไอ้ที่มีนักธรรมชั้นสูงๆ ไอ้แผ่นกระดาษนั่นน่ะมันช่วยให้คนดีไม่ได้หรอก เราไปศึกษาธรรมแล้ว คือเราศึกษาแล้ว ทีนี้ศึกษาแล้วนี่ปฏิบัติหรือเปล่า? ถ้าเราปฏิบัติแล้วนะ ถ้าปฏิบัติ ถ้าเป็นธรรม 

ฟังให้ดี เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ หลวงตาบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านเทศน์อยู่ที่วัดเจดีย์หลวง หลวงตาอยู่ที่นั่นด้วย หลวงปู่มั่นเทศน์นะ เทศน์เสียงดังมาก เทศน์นี่อู้ฮู น้ำไหลไฟดับเลย จนชาวบ้านที่เขาเดินผ่านวัดเจดีย์หลวงหาว่าพระทะเลาะกัน นึกว่าพระทะเลาะกัน ไปดูว่าที่ไหนพระทะเลาะกัน ไม่มีหรอก หลวงปู่มั่นท่านอยู่บนธรรมาสน์ท่านเทศน์ 

นี่เราจะบอกว่านะ ถ้าเขามีธรรม เวลาหลวงปู่มั่นท่านมีธรรม ท่านแสดงธรรมของท่านนะเสียงดังฟังชัด เพราะพลังของธรรมมันออกมาจากใจ ถ้ามันออกมาจากใจ คือเราจะบอกว่าเจตนาของผู้ที่มีธรรมเขาอยากสั่งสอนเรา ถ้าเรารับไม่ได้ เรารับไม่ได้คือว่าเราปีนบันไดไม่ถึงไง คือเราต้องปีนบันไดฟังนะ 

ฟังเทศน์นี่ถ้าเป็นธรรมนะ บางทีสังเกตได้ไหม? เวลาโยมฟังเทศน์ทั่วไปโดยอ่านหนังสือ โยมจะฟังแล้วเข้าใจหมดเลยนะ แต่ถ้าคนไม่เคยฟังเทศน์พระป่านะ ไปฟังเทศน์ครั้งแรกงงนะ เอ๊ะ พูดเรื่องอะไร? เอ๊ะ พูดเรื่องอะไร? เพราะมันไม่ได้เตรียมใจไว้ไง แต่ถ้าพอคนที่เคยฟังเทศน์พระป่านะ ไปฟังเทศน์วัดบ้านก็งงแล้วนะ 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเขามีความตรง มีความถูกต้องดีงาม แล้วเขาสั่งอย่างนั้น คือมันออกมาจากหัวใจ ถ้าหัวใจนี่ ถ้าพูดถึงธรรมะชั้นสูงนะ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ได้ นี่มีธรรมะชั้นสูง เวลาพูดนี่อ้างธรรมะ เห็นไหม ตถตา ตถตาอยู่ประจำแหละ ตถตาไปทั้งนั้นแหละ มันเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นเช่นนี้เองเพราะกูได้ไง ถ้ากูได้มันเป็นเช่นนี้เอง แต่ถ้ากูเสียนะ ไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเช่นนี้ ผิด ไม่ใช่เป็นเช่นนี้ แต่ถ้ากูได้นะ มันเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นตถตา คือว่าจะเอาอย่างเดียวไง 

ถ้าจะเอาอย่างเดียว อย่างนี้เป็นธรรมไหม? อย่างนี้ไม่เป็นธรรม ฉะนั้น ไม่เป็นธรรมนะเราวางไว้ ถ้าเขาตัดสินโดยเป็นธรรม มันก็เป็นธรรม ถ้าเขาตัดสินโดยไม่ธรรม เห็นไหม เรียนธรรมะชั้นสูงด้วย เราไปมองกัน นี่ทางโลกเขามอง ถ้าทางธรรมเขาบอกว่าทำไมเราต้องยกมือไหว้คนที่มีฐานะ เห็นคนรวยนี่ยกมือไหว้กันหมดเลย ลับหลังด่านินทากันเต็มที่เลยนะ พอเจอหน้า สวัสดีครับ (หัวเราะ) 

ลับหลังนินทาเขาอยู่แหม่บๆ พอเขาเดินผ่านมา สวัสดีครับ นั่นไง นั่นมันก็ไม่เป็นธรรมแล้ว แต่ถ้าเราเป็นธรรมจริงนะ สิ่งนั้นมันผิดนะ แล้วเวลาเราพูดถึงเขา ถ้าเขามีอำนาจ เรานินทาเขาข้างหลังแล้วเขามานี่ แล้วเขามีความสุขหรือ? ทำไมเรานินทาเขาได้ล่ะ? ทำไมเรารู้ว่าเขาถูก เขาผิดได้? ความลับไม่มีในโลก ใครทำถูก ทำผิด คนนั้นรู้ตัว เพียงแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เขาเป็นไปโดยธาตุ พอธาตุเวลากระทบรุนแรงเขาไหลไป เขาไม่มีสติยับยั้งพอ แต่เขารู้ทีหลังเขาเสียใจ 

ฉะนั้น คนทำสิ่งใดที่ไม่ดีแล้ว เวลาเขานั่งทับความไม่ดีของเขา เขาไม่มีความสุขหรอก เขาอยากแก้ไข เราบอกว่า นี่ผู้บังคับบัญชาของเราเขาก็อยากเป็นคนดีที่สุด อยากเป็นคนดีที่ไม่ให้ใครติเตียนเขาได้เลย แต่เขาก็ทำใจของเขาไม่ได้ เขาก็ทำใจของเขาไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้ฝึกหัดของเขามา เขาฝึกหัดของเขามาไม่พอ เวลาอะไรกระทบแล้วมันก็ไปตามนั้น 

แต่ครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านเทศนาว่าการ ไม่ใช่ท่านฝึกมาไม่พอ ฝึกมาเหลือล้น ฝึกมาเกินด้วย แต่ท่านจะแนะนำสั่งสอนเรา นั่นเป็นคนละกรณีกัน เพราะว่าแสดงธรรมออกมาด้วยสติปัญญา กับที่เวลาอารมณ์มันเกิดขึ้นมาแล้วเราไม่ทันอารมณ์เรา มันคนละเรื่องนะ เห็นไหม นี่ความที่ว่ามันหลุดโลกไปนั่นเรื่องหนึ่ง แต่มีสติพร้อมนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้ามีสติพร้อมเขาแสดงออกมาเพื่อจะแก้ไขคนนั้น เพื่อจะสิ่งนั้น นั้นพูดถึงเรามองด้วยปัญญานะ 

นี่เขาบอกว่า “ขอความอนุเคราะห์จากหลวงพ่อด้วย”

ขอความอนุเคราะห์นะ เราเองเป็นพระบวชใหม่ เราก็เคยเจอสภาพแบบนี้ เวลาเราเป็นพระบวชใหม่เราถึงซึ้งหลวงตานะ หลวงตา หลวงปู่มั่นท่านพูดเป็นสิ่งที่จริงหมด หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาท่านเทศน์สอนพระนี่ 

“เราเป็นผู้น้อยมาก่อนนะ เราเป็นผู้น้อยมาก่อนนะ” 

คือหลวงตาท่านไปอยู่กับสมเด็จนะตอนท่านศึกษา กับไปอยู่กับหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระเด็กๆ นะ พระเด็กๆ หมายถึงว่าเป็นผู้บริหารอยู่ในวัด ท่านก็ได้รับเสียดสีมาพอสมควร ฉะนั้น คนเราเป็นเด็กมาก่อน มันเคยผ่านอย่างนี้มา เห็นไหม เราเคยเป็นผู้น้อยมาก่อน เราเคยเป็นผู้น้อยมาก่อน 

เราก็เหมือนกัน เราบวชใหม่ๆ เราก็เพิ่งบวช ยังไม่มีพรรษาเลย แล้วไปอยู่กับพระ ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติ นี่ถ้าปฏิบัติถูก จะปฏิบัติให้ถูกใจเขามันก็ไปกับกิเลส ปฏิบัติจะถูกใจธรรม จะถูกใจธรรมวินัย ถือธุดงควัตร ถืออะไรนี่ เขาเห็นว่าเด็กน้อยอยากอวดดี เขามองกันอย่างนั้น เห็นเด็กน้อยอยากอวดดี แต่พวกเราปฏิบัติใหม่ ด้วยความใสซื่อไงเราก็อยากจะทำของเรา นี่เป็นผู้น้อยนะ 

ฉะนั้น เวลาเป็นผู้น้อย มันเป็นผู้น้อย ถ้าเขาปฏิบัติมา เขาผ่านสิ่งนี้มา มันเป็นไปตามวัยไง มันเป็นไปตามวัย ถ้ามันขอความอนุเคราะห์แล้วนี่ เราก็สังเกตของเรา ฉะนั้น เราจะบอกว่าถ้าเราเจอหัวหน้าที่ดี อย่างน้อยนี่ หนึ่งเขาเป็นคนดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าท่านเป็นคนโกรธง่าย ท่านเป็นคนค่อนข้างอารมณ์โมโหร้าย นี่ธาตุไฟ ธาตุไฟ 

ฉะนั้น คนเรามันไม่ดีพร้อม ไม่มีจุดด้อยและจุดเด่น ฉะนั้น ถ้าจุดเด่นดี แล้วเราเห็นสมควรด้วย อันนี้โชควาสนาแล้วนะ แต่เราก็อยากให้ได้แบบถูกใจหมดเลย ทุกคนก็อยากได้ถูกใจหมดเลย ถูกใจหมดเลยเราก็ต้องหาของเราเองนะ แล้วอย่างที่จะแก้ไขผู้บังคับบัญชา แก้ไขหัวหน้า เราก็ต้องมีอุบายจะแก้ไขได้ 

อย่างเช่นแก้ไขได้ตอนนี้นะ สสส. เขากำลังรณรงค์อยู่นะ ให้ลูกขอพ่อแม่ไม่กินเหล้า ให้ลูกน้อยมันขอนะ พ่ออย่ากินเหล้า พ่ออย่าดูดบุหรี่ ตอนนี้เขาใช้ลูกน้อยอ้อนพ่อแม่ ขอให้ไม่กินเหล้า ขอให้ไม่ดูดบุหรี่นะ เพราะกินเหล้า ดูดบุหรี่มันเป็นโทษกับร่างกาย เป็นโทษ ทำให้ขาดสติ เป็นสิ่งที่ไม่ดี นี่เขาก็มีอุบาย

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นผู้น้อย ท่านเป็นเจ้านายของเรา แล้วเราก็รักท่านด้วย อยากให้ท่านสมบูรณ์ อยากให้ต่างๆ เราก็ค่อยๆ แก้ไขเอา รักษาใจเราก่อน ถ้าสติเราดี อะไรเราดี บางทีนี่เราแก้ไขได้ คือค่อยๆ บอกนะ มันค่อยๆ บอก

เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะมาไง เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านแสดงออกอะไรนี่ โดยความคิดของเรา เราก็รักอาจารย์เรา บางทีเรานี่เข้าไปรับแทนเลย พอท่านจะทำคนอื่น พอมาเจอหน้าเราหยุดกึกเลย แล้วท่านพูดกับเรา 

“หงบ เอาไม่ทันว่ะ”

ท่านพูดนะ “หงบ เอาไม่ทันว่ะ” เอาไม่ทันแสดงว่าท่านทันแล้วไง พอเอาไม่ทันปั๊บท่านก็ไม่ได้ซัดเราไง ถ้าท่านซัดเรา ผลัวะ! นี่แสดงว่าท่านเอาไม่ทัน ทีนี้ท่านหยุดเลย กึก เออ “หงบ เอาไม่ทันว่ะ” แสดงว่าท่านทันแล้ว เห็นไหม 

เราก็เคยเจอสภาพแบบนี้ หลวงปู่เจี๊ยะนี่แหละ เวลาพวกเณร พวกอะไรทำงานโดนประจำ พอเราเห็นโดนเราจะเอาหน้าเรายื่นเข้าไปเลย ไปถามพวกนั้นได้ เวลามีปัญหา เราเอาตัวนี่ยื่นเข้าไปเลย พอท่านหันมาเจอเรานี่ อึก “เฮ้อ หงบ เอาไม่ทันเว้ย” แล้วก็จบกันไป เรียบร้อยหมด

นี่มันมีนะ มันมีจุดด้อย จุดเด่นของคน จริตนิสัยนี่แบบว่าเราเลือกไม่ได้ ฉะนั้น เราว่าเรามีเจ้านายดี พอมีเจ้านายดี เป็นคนดีนี่เราสาธุแล้วนะ ฉะนั้น สิ่งที่ท่านแสดงออกบ้าง ท่านโมโหง่ายบ้าง ท่านลงโทษลูกน้องรุนแรงบ้าง ท่านก็ปรารถนาดี ท่านปรารถนาดีกับลูกน้องนะ ท่านเป็นผู้รับผิดชอบองค์กรทั้งหมด ท่านดูแลเรา 

ฉะนั้น กรณีนี้ท่านก็รับผิดชอบ ท่านก็โดนผู้ใหญ่บี้มาเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าอย่างนี้แล้ว เราเจอคนดีแล้วเราต้องรู้ว่าคนดี แล้วแก้ไขอย่างไร? แก้ไขโดยธรรม แก้ไขโดยธรรม เนาะ เอวัง