ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คาดหวัง

๒๕ ธ.ค. ๒๕๕๔

 

คาดหวัง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๔๗. เขาถามว่า

ถาม : เรื่องของธรรมชาติ ว่าธรรมชาติเกิดภัยพิบัติมาก เกิดจากภัยพิบัติจากสิ่งทำลายล้างโลก เพราะชาวโลกสร้างบาป หากกรรมเยอะจนไม่เห็นธรรม ผมเห็นด้วยนะครับ ผมคิดมานานแล้ว มีทางเดียวคือล้างโลกเสียใหม่แล้วเริ่มต้นใหม่ ผู้คนจะได้เชื่อฟัง ในปัจจุบันนี้ ในวงการปฏิบัติก็มีความเห็นแตกต่างกัน

หลวงพ่อ : นี่เขาถามนะ อารัมภบทมา แล้วถามข้อที่ ๑.

ถาม : ๑. มนุษย์ไม่เห็นธรรม มนุษย์พิพากษาให้มนุษย์สงบสุขไม่ได้ เพราะมนุษย์สร้างกรรมไว้เยอะ มีทางเดียวคือธรรมชาติจะเอาคืน จิตวิญญาณของมนุษย์กับธรรมชาติเป็นปฏิสัมพันธ์กันใช่ไหม? ด้วยความเคารพ

หลวงพ่อ : เออ นี้พูดถึงคำถามเนาะ ถ้ามีอะไรดูค่อยหากัน ค่อยว่ากัน คือเขาหวังว่าถ้ามีการกระทำขึ้นมา มีการล้างโลกแล้วเกิดมนุษย์ขึ้นใหม่ เขาคิดว่ามนุษย์จะเป็นมนุษย์ที่ดีไง นี่คือความหวังของเขา ความคาดหวังของเขาเพราะเราเห็นแล้วมันเบื่อหน่ายใช่ไหม? ดูสังคมสิ สังคมมีปัญหามาก แล้วเกิดภัยพิบัติขึ้นมา นี่เขาสะใจว่าถ้ามันได้ล้างไปแล้วมนุษย์จะเป็นคนใหม่ขึ้นมา

ไม่ใช่หรอก ล้างไปแล้วเกิดมาก็มนุษย์อย่างเดิมนี่แหละ มนุษย์ก็คือมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์เกิดจากกรรม การกระทำของคนมันไม่เหมือนกัน การชะล้างวัตถุ อย่างเช่นเวลาเราเดือดร้อนขึ้นมา เห็นไหม เรามีความทุกข์ขึ้นมา เราเข้าไปอาบน้ำชำระล้างร่างกาย ความสกปรกเรื่องของร่างกายออกหมดไป แต่หัวใจมันล้างไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ล้างโลกๆ มันล้างโลก เห็นไหม ดูสิเวลาเขาเกิดสงครามการล้างเผ่าพันธุ์ เขาจะฆ่าให้สะอาด เขาจะฆ่าทำลายล้างเพื่อความสะอาดมันเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้หรอก ยิ่งฆ่านะยิ่งเกิดการอาฆาตมาดร้าย ยิ่งฆ่ายิ่งเกิดการแตกแยก นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่าถ้าเกิดภัยธรรมชาติ มนุษย์พิพากษามนุษย์ไม่ได้ ฉะนั้น มนุษย์ต้องให้ภัยธรรมชาติพิพากษา ทำลายให้หมดเลย แล้วคนเกิดมาจะได้เป็นคนที่เชื่อฟังในศีลธรรม

นี่มันเป็นความคาดหวัง เป็นความคาดหวังของเราว่าถ้าเกิดการชำระล้างแล้วเกิดใหม่คนเรามันจะดีขึ้นมา นี่เพราะเราเห็นว่ามันเป็นความทุกข์ไง เห็นว่าภัยธรรมชาติ เห็นโทษของมันว่าอย่างนั้นเถอะ พอเห็นโทษของมัน ดูนะดูภัยธรรมชาติในปัจจุบัน อุทกภัยนี่จิตอาสาเยอะนะ คนเข้าไปช่วยเหลือเจือจานก็เยอะ แต่คนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ก็เยอะ เห็นไหม คนที่เข้ามาหาผลประโยชน์ก็เยอะ นี่แล้วจิตใจมันเหมือนกันไหมล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกว่าให้มันล้างโลกไปเลย แล้วคนเกิดใหม่มาเห็นภัยแล้วมันจะเป็นคนดีขึ้นมา คนเห็นภัยขึ้นมา เห็นภัยเพื่อใจเป็นธรรมก็มี แต่เห็นภัยถ้าใจไม่เป็นธรรมล่ะ? คำว่าเป็นธรรมๆ มันต้องฝึกฝนขึ้นมา มันต้องมีจิตใจ มีการกระทำขึ้นมา แล้วมันไม่เป็นวาระของกรรมด้วย วาระของกรรมคือเวลามันบีบคั้นขึ้นมาไง

เวลาคนเป็นคนดีนะ เวลาถึงคราวจำเป็นขึ้นมาเขาต้องเอาตัวรอดของเขา แต่ถ้าคนมีหลักของใจนะ ถึงจะวิกฤติขนาดไหนเขาไม่ทำความผิด เขาไม่ทำนอกลู่นอกทาง เขาจะเข้มแข็งของเขาแล้วก็ผ่านไปได้ เหมือนที่ว่าพระโพธิสัตว์ๆ เห็นไหม เขาเกิดเป็นกระรอก อยู่ชายทะเลลมมันพัดรุนแรงไง พอพัดรุนแรงจนรังกระรอกตกไปในทะเล นี่พระโพธิสัตว์เป็นกระรอกนะ เอาหางไปจุ่มน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด เอาหางไปจุ่มน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด ขึ้นมาสะบัด สะบัดจนเทวดาทนไม่ไหว เทวดาแปลงกายมาเป็นมนุษย์ถามว่า

“กระรอกทำอะไร?”

“ลมมันพัด รังกระรอก ลูกกระรอกตกไปในทะเล อยากจะเอาลูกคืน”

“อยากจะเอาลูกคืนแล้วเอาหางจุ่มน้ำขึ้นมาสะบัด คิดว่าน้ำมันจะแห้งไหม?”

“จะแห้ง ไม่แห้งไม่รู้ แต่ด้วยความผูกพันจะเอาให้ได้”

นี่เอาหางนะไปจุ่มน้ำขึ้นมาแล้วสะบัด เอาหางไปจุ่มน้ำขึ้นมาสะบัด สะบัดให้น้ำแห้งไงเพื่อจะเอาลูกคืนมา นี่มันเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถึงคราววิกฤติไง ถึงคราววิกฤติถ้าคนมีหลักเขาทำของเขา นี่กระรอกนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ชาติหนึ่ง จนเทวดาต้องไปเอาลูกคืนมาให้ ถ้าคนมีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม ถึงจะวิกฤติขนาดไหนเขาก็ไม่ทำความผิด แต่ถ้าพูดถึงคนไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันมีความจำเป็นขึ้นมามันไหลไปตามนั้นไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม เวลาเรานั่งไปมันเกิดเวทนาขึ้นมา ความทุกข์เกิดขึ้นมา ความบีบคั้นมันเกิดขึ้นมา นี่เรามีหลักเกณฑ์ของเราไหม? ถ้ามีหลักเกณฑ์ขึ้นมา เรามีปัญญาของเรา เราแยกแยะของเรา ถ้าจิตเป็นสมาธินะมันสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ถ้าผ่านวิกฤติไปได้มันปล่อยวางหมดด้วยปัญญาของเรา อย่างนี้จะเห็นผล ถ้าเห็นผลแล้ว คนๆ นี้จะเป็นคนดี เป็นคนดีไง ถ้าคนดีเป็นคนมีศีลธรรม แต่ถ้าเป็นธรรมชาติมันเป็นเรื่องของธาตุ เรื่องของธาตุ เรื่องของวัตถุจากภายนอก

นี่วัตถุภายนอก ดูสิภูเขาทั้งลูกเลยเขาระเบิด เขาทำลายออกหมดเลยเป็นที่ราบ เขาปรับพื้นที่ เขาสร้างบ้านเรือนของเขา เขาทำของเขา นี่เขาก็ทำได้ นี้ภัยพิบัติก็ส่วนภัยพิบัติ นี้ความเห็นว่าถ้ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ธรรมชาติ เห็นไหม ถ้าใจเป็นธรรม ธรรมชาติคือสสาร คือวัตถุ แต่เวลาเรามีความเห็นของเรานะ คือเราคาดหวังอยากให้เป็นสิ่งที่ดี ให้เป็นธรรม เราคาดหวังความดีๆ ทั้งนั้นแหละ แต่เป็นความคาดหวังไม่ใช่ความจริง

ถ้าความจริง เห็นไหม “ผู้ใดปฏิบัติธรรมด้วยความด้นเดาแก่ธรรม ไม่สมควรแก่ธรรม” ไม่ใช่ธรรม มันต้องมีความจริงของมันมันถึงเป็นธรรมขึ้นมา ฉะนั้น เวลาปฏิบัติขึ้นมา สิ่งนี้เขาไม่รู้ตัว เกิดภัยพิบัติ การล้างโลกเขาไม่รู้ตัวนะ ถึงรู้ตัวเกิดสงคราม ดูสิเวลาหนีภัยสงครามกัน เขาหนีเอาชีวิตรอดเขายิ่งบีบคั้น ยิ่งตายไปด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจ

ฉะนั้น สิ่งนี้มันสร้างให้มนุษย์เป็นคนดีไม่ได้ คือภัยธรรมชาติจะมาชำระล้างบาป จะล้างหมดเลยแล้วเกิดเป็นคนดี คนจะเป็นคนดีขึ้นมานี่มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่เป็น ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง แต่เวลามันถึงคราวคนจะดี จะชั่วอยู่ที่การฝึก อยู่ที่การกระทำ อยู่ที่เรื่องของหัวใจ อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ นี่ดูสิกว่าเราจะมีศรัทธาความเชื่อของเรา เราพยายามพัฒนาของเราขึ้นมา นี่สิ่งนี้เป็นความจริง แต่ถ้าเป็นเรื่องของวัตถุนะไม่เป็นความจริง

เราช่วยเหลือเจือจานกันนะ เวลาคนทุกข์ คนยาก เห็นไหม เราไปให้สิ่งของเขา เขาซาบซึ้งนะ เขาซาบซึ้งถึงความเป็นห่วงของเรา เขาซาบซึ้งมาก แต่ความซาบซึ้งก็คือความซาบซึ้ง แล้วนี่เวลาชีวิตเขาล่ะ? เขาทำของเขาขึ้นมาล่ะ? นั่นเป็นชีวิตของเขา ถ้าเขาทำของเขานั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่เราคาดหวังไง ด้วยความคาดหวัง คาดหวังว่าเราอยากให้สังคมดี อยากให้โลกนี้ดี อยากให้เขาอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

นี่แล้วเราคาดหวังอย่างนี้ ถ้าพูดถึงเผด็จการ อำนาจเผด็จการเขาก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน คิดว่าอยากให้คนเป็นคนดี แล้วทำลายล้างเขาหมดเลย ทำลายให้คนอื่นเป็นคนดี โดยการบังคับให้เป็นคนดีนี่เป็นไปไม่ได้ การบังคับให้คนเป็นคนดีเป็นไปไม่ได้ แต่เราทำดีให้เขาดู เราทำดีให้เขาดู เห็นไหม นี่ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นะก็ช้อนไปหมดเลยสิ นี่มนุษย์ทั้งนั้น เอามนุษย์สำเร็จไปหมดเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว จนทอดธุระ จนต้องให้พรหมมานิมนต์

แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณด้วย เวลาเล็งญาณ เวลาจะไปเอาใคร คนๆ นั้นมีอำนาจวาสนา แล้วชีวิตเขาสั้นก็ต้องไปเอาคนๆ นั้นก่อน เพราะเดี๋ยวเขาจะหมดโอกาส นี่เอาเป็นคนๆ ไปนะ จิตใจเขาต้องมีวาสนา พูดแล้วเข้าใจกันได้ คนที่มีวาสนานะ พูดแล้วเขาพอรับรู้ได้ ถ้าคนไม่มีวาสนา พูดไปเถอะเขาไม่รับรู้กับเราหรอก พูดไปไหนมาสามวาสองศอก เข้าใจกันไม่ได้หรอก แต่ถ้าคนเข้าใจได้ เห็นไหม นี่เขาต้องมีอำนาจวาสนาของเขา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเล็งญาณ แล้วไปเอาทีละคนๆ นะ แล้วนี่เราก็คาดหมายว่าสังคมให้เป็นคนดี แล้วเราจะล้างหมดเลย ธรรมชาติกวาดไปหมดเลย แล้วคนมันจะได้สำนึกผิด นี่เราคิดของเราเองแต่มันไม่เป็นแบบนั้น ถ้ามันจะเป็นสิ่งที่ดีก็นี่ที่เราทำกัน เห็นไหม ฝึกสอนเขาให้เขาสำนึก ความสำนึกของเขา ความดัดแปลงของเขา นั่นแหละเขาจะเป็นคนดี ถ้าสังคมดีเราก็ร่มเย็นเป็นสุขไปด้วย ถ้าสังคมมีความขัดแย้งเราก็ทุกข์ไปด้วย สะเทือนเราไปหมดแหละ แล้วเราจะทำสังคมให้ดีขึ้นมาได้อย่างไร? แต่ถ้ายิ่งไปกวาดล้างอย่างนี้เป็นไปไม่ได้หรอก

เขาว่าธรรมชาติจะกวาดไปหมดเลย ให้คนเกิดขึ้นมาใหม่ ไอ้นี่มันเป็นถึงคราวเวร คราวกรรมมันเกิดนะ ถ้าคราวเวร คราวกรรมมันเกิดขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมาเป็นอย่างนี้แหละ เพราะคำถามเขาถามว่า

ถาม : มนุษย์ไม่เห็นธรรม มนุษย์พิพากษาให้มนุษย์สงบสุขไม่ได้ เพราะมนุษย์สร้างกรรมไว้เยอะ มีทางเดียวคือธรรมชาติเอาคืน จิตวิญญาณของมนุษย์กับธรรมชาติเป็นปฏิสัมพันธ์กันใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์มันปฏิสัมพันธ์กันอยู่ เพราะเราต้องอาศัยอยู่ เพราะเราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง การเกิดของมนุษย์ ความเป็นอยู่ของมนุษย์ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง นี้ธรรมชาติโดยสภาวะแวดล้อม เห็นไหม ถ้าเรารักษาสภาวะแวดล้อม เราไม่ทำลาย มนุษย์ก็เกิดมีความสุขขึ้นมา ทีนี้เวลาคนที่ทำลายเป็นคนที่ไหนล่ะ? เวลาชุมชนใดที่เขารักษาสภาวะแวดล้อมของเขา ส่วนใหญ่แล้วคนจากนอกชุมชนเข้าไปเอาผลประโยชน์จากชุมชนนั้นล่ะ? นี่แล้วมันจะแก้ไขอย่างใด?

นี่พูดถึงว่าสภาวะแวดล้อมมันเป็นไปนะ อันนี้มันเป็นภาพกว้าง เห็นไหม สภาคกรรม กรรมร่วม กรรมของคนส่วนใหญ่ แล้วกรรมของเราล่ะ? ถ้าสภาคกรรม กรรมร่วมกัน นี่ภิกษุทำอาบัติด้วยกัน ปลงอาบัติไม่ตก ต้องไปปลงอาบัติกับคนที่ไม่ได้ทำด้วย เพราะทำร่วมกัน แล้วมาปลงอาบัติมันก็เหมือนกับรู้กัน ภิกษุที่จะปลงอาบัติ ถ้าทำกรรมด้วยกันมามันจะปลงอาบัติไม่ตก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงกรรมร่วมกันมา สภาวกรรม เรื่องของธรรมชาติ เขาถามมา ที่เราพูดนี่เราพูดเพื่อความเห็นไง ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ ความเห็นว่าถ้าธรรมชาติมันจะกวาดล้าง แล้วคนจะเกิดมาเป็นคนดี ทุกอย่างจะเป็นคนดี ถ้าคิดอย่างนี้มันก็คิดเหมือนลัทธิความเชื่อทางอื่นไง ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง เพราะเป็นผู้สร้างกวาดล้างไปหมดเลย แล้วเราสร้างขึ้นมาให้มันดี แต่ถ้าเป็นศาสนาพุทธไม่เป็นอย่างนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำอย่างใดต้องได้อย่างนั้น

ฉะนั้น คนเราทำบาป ทำกรรมมาไม่เหมือนกัน ทีนี้ทำบาป ทำกรรมมาไม่เหมือนกัน เวลาเกิดภัยพิบัติทำไมมันเสมอหน้ากันไปหมดเลยล่ะ? ความเสมอหน้าไปหมดมันก็มีความทุกข์ ความร้อนมากน้อยแตกต่างกันนะ ถ้าคนที่มีจุดยืน คนที่เขามีหลักธรรมในหัวใจเขาพอรับสิ่งนี้ได้ คำว่าพอรับได้ พอรับได้เพราะมันเป็นภัยธรรมชาติ

มันเป็นธรรมชาติหนึ่ง มันเป็นสภาคกรรมที่ร่วมกันมา แล้วภัยธรรมชาติ เห็นไหม แต่ถ้าคนที่รับไม่ได้มันจะทุกข์ร้อน เจ็บร้อนจนทำร้ายชีวิตตัวเองก็ยังมี นี่สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา ที่ว่าใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วมันเป็นกรรมของคน เป็นสภาคกรรม สภาคะส่วนรวม แต่ถ้าเป็นกรรมส่วนตัวล่ะ? มันซ้อนกันอยู่ เห็นไหม ถ้ามันซ้อนกันอยู่มันก็เป็นกรรมร่วมกัน

ฉะนั้น ถ้าเราคิดอย่างนั้นเราต้องย้อนกลับมา ถ้าเรื่องของสังคมเราก็ต้องดูแลรักษา ต้องรับผิดชอบนั่นล่ะจริง แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล มันเป็นเรื่องของเรา เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าป่าไปองค์เดียว แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่สั่งสอนตั้งแต่สามโลกธาตุ สั่งสอนได้หมด รู้ได้หมด ทีนี้สั่งสอนนี่สั่งสอนใคร? ถ้าสั่งสอนคนที่อยากรู้ คนที่ประพฤติปฏิบัติ คนที่มีอำนาจวาสนา คนที่ทำแล้วได้ผล แต่คนที่ไม่ได้ผลท่านก็บอกให้ระดับของทาน ให้ระดับของสร้างบารมีไป

ระดับของการสร้างบารมี เห็นไหม ถ้าสร้างบารมีไป อย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นี่เป็นพระโพธิสัตว์มา ก็สร้างสมบุญญาธิการมาเหมือนกัน ฉะนั้น คนที่พูดแล้วเข้าใจไม่ได้ท่านก็ให้สร้างสมบารมี ให้ระดับของทานนี่เข้าใจได้ พอให้ประพฤติปฏิบัตินี่เข้าใจไม่ได้ แล้วพอประพฤติปฏิบัติไปมันแฉลบด้วย จิตใจมันแฉลบออกๆ

ฉะนั้น เวลาบอกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลๆ ถ้ามันเป็นไปได้มันเป็นจริงอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ แล้วคิดดูสิว่าใครจะมีหลักเกณฑ์อย่างนี้ทำเข้ามาได้ ฉะนั้น ถ้ามันกวาดล้างแล้วมันเป็นไปหมดมันก็เสียหายกันไปหมด ถ้าคิดอย่างนั้นมันเป็นเผด็จการ แต่ถ้าเป็นธรรมเขาต้องทำของเขา เขาต้องรู้ของเขา โดยความเป็นจริงของเขา ถ้าเขารู้ของเขา เป็นความจริงของเขามันก็เป็นความจริงขึ้นมา นี่มันเป็นเรื่องโลกกับธรรม ถ้าเรื่องโลกเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ ถ้าเราคาดหมายเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นความจริงมันจะเป็นแบบนี้ นี่คือว่าคาดหวังเอาเฉยๆ

นี้ข้อ ๗๔๗. ถ้าพูดถึงเป็นประเด็นมันก็ไม่เป็นประเด็นหรอก แต่เราอยากพูดไง เราอยากพูดว่าถ้าเราคิดกันอย่างนั้น เราทำกันอย่างนั้น มันเป็นเรื่องของสสาร เรื่องของวัตถุ มันไม่ใช่เรื่องของจิตใจ เรื่องของจิตใจมันรู้สุข รู้ทุกข์ มันเฉา มันเหงา มันหงอย เวลามันคึกคะนอง มันออกไปจนเลยไม่มีเหตุ ไม่มีผลของมัน แต่ถ้าเป็นความจริงมันจะเป็นเหตุเป็นผลของมัน มันเป็นคนละเรื่องกัน นี่มันไม่ใช่เรื่องของสสาร เรื่องของวัตถุ มันเรื่องของชีวิต เรื่องความเป็นไป

ฉะนั้น มันถึงเป็นเรื่องของธรรมนะ อันนั้นพูดให้เข้าใจเท่านั้นเอง เพราะเป็นเรื่องความคาดหวัง ทุกคนคาดหวัง แล้วคาดหวังมันก็เป็นเรื่องของโลกๆ ไป

ทีนี้ข้อ ๗๔๘. เนาะ

ถาม : ๗๔๘. เรื่อง “ทำอย่างไรจะยกเป็นวิปัสสนา”

นมัสการหลวงพ่อครับ กระผมภาวนาแบบรู้ลมหายใจเป็นหลัก และหัดรู้ทันความคิดที่ผุดขึ้น พอรู้ทัน ความคิดก็จะดับไปไม่ปรุงต่อ ทำไปเรื่อยๆ จนเวลามันผุดขึ้นมาแว็บเดียวก็รู้ทัน แล้วดับลงเร็วขึ้น เวลานั่งภาวนา ความคิดเกิดขึ้นก็รู้ทันจนดับไปอย่างรวดเร็วมาก คำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นวิปัสสนา หรือจะต้องหยิบเอาความคิดที่มันผุดขึ้นมาพิจารณา สาวถึงสาเหตุของการเกิดของมัน พิจารณาถึงโทษของมัน เห็นสังขารที่มันปรุงขึ้นมาครับ ขอรบกวนหลวงพ่ออธิบายขั้นตอนของการภาวนาแบบดูจิต แบบกระจ่างตั้งแต่ต้นถึงที่สุดด้วยครับ

หลวงพ่อ : อันนี้นะ เวลาพูดถึงเราจะบอกว่านี่ “โลกกับธรรม” อีกแหละ โลกกับธรรมนะ คำว่าโลก ความคิดของเราเป็นเรื่องโลกๆ แล้วมันอยู่ที่วุฒิภาวะ คนเข้มแข็ง คนอ่อนแอ ถ้าคนเข้มแข็งนะ มันจะรู้เท่า รู้ทันตามความเป็นจริง แต่ถ้าคนอ่อนแอนะ นี่มันอารมณ์ความรู้สึก เงาไม่ใช่จิต ความคิดไม่ใช่จิต ทีนี้พอความคิด ความคิดมันเกิดดับ เราไล่ความคิดไปมันเกิดดับ พอมันเกิดดับแล้วเราก็ว่ามันทันๆ ความคิดมันเกิดดับแต่มันไม่เข้าถึงจิตไง

เราจะบอกว่าถึงเป็นสมาธิมันยังไม่เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธินะจะไม่สับสนแบบนี้ นี่มันสับสนไง สับสนว่า “ ๑. กระผมภาวนาแบบดูลมหายใจ” ถ้าดูลมหายใจ ลมหายใจมันจะชัดเจน อานาปานสติเรากำหนดลมหายใจ ลมหายใจจะชัดเจนกับเรา เราจะอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจจะสั้น จะยาว จะละเอียด จะหยาบเราจะรู้ทันลมหายใจ

พอรู้ทันลมหายใจโดยจิตชัดเจนนะ แต่พอเรากำหนดลมหายใจ อานาปานสติเรากำหนดลมหายใจมันแล่บออก มันคิดไปเรื่องนู้น เรื่องนี้ มันทิ้งลมหายใจมาแล้วไง นี่อานาปานสติงานมันไม่ต่อเนื่องแล้ว พอมันอย่างนั้นเข้าเขาถามว่า

ถาม : ผมภาวนาดูลมหายใจเป็นหลัก และรู้ทันความรู้สึกนึกคิดที่ผุดขึ้น

หลวงพ่อ : ความรู้ทันความคิด นี่ลมหายใจกับความคิด ความคิดมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิแล้ว นี่ความคิดคือมันออกรู้ ฉะนั้น พอความคิดมันปรุงขึ้นมาจนมันผุดก็รู้ อ้าว ภาวนาอานาปานสติทำไมความคิดผุดล่ะ? ถ้าความคิดมันรู้ ไอ้นี่มันรู้กับลมหายใจมันแตกต่างกันไหมล่ะ? มันแตกต่างกันแล้ว

ถ้าอานาปานสติคือกำหนดลมหายใจ ลมหายใจแล้วเกาะลมหายใจ จิตมันละเอียด มันหยาบมันจะรู้ของมัน จิตมันจะละเอียด มันหยาบ สิ่งที่รู้คือลมหายใจมันหยาบ ละเอียด นี่ถ้ามันละเอียดเข้าไป มันจะใสเลยนะ ใสเลย ลมหายใจ เห็นลมหายใจชัดๆ เลย แล้วถ้ามันละเอียดเข้าไปๆ จนมันไม่รับรู้ลมหายใจเลย มันปล่อยลมหายใจแต่ตัวเองรู้ชัดนะ นี่อานาปานสติมันละเอียดเข้าไปจะลึกซึ้งกว่านี้เยอะ

ฉะนั้น พออานาปานสติปั๊บ มันจะไม่มีความรู้สึกนึกคิดออกไปเรื่องความรู้สึกนึกคิดที่มันปรุงไง ถ้ามันปรุงมันทิ้งลมมาแล้ว เราจะบอกว่า เขาบอกว่า

ถาม : ทำอย่างไรถึงจะยกขึ้นวิปัสสนา

หลวงพ่อ : ถ้าจะยกขึ้นวิปัสสนา ทำอย่างไรเราจะสั่งของ ซื้อของ ทำอย่างไรเราจะซื้อของ เราจะซื้อของเราก็ต้องมีสตางค์ไง ถ้าเรามีสตางค์เราก็ซื้อของได้ เราไม่มีสตางค์เราจะไปซื้อของได้อย่างไร?

ถ้าจะวิปัสสนามันก็ต้องมีจิตสงบก่อน นี่จิตใจที่มันสงบ จิตใจที่มันเป็นสมถะ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ถ้าไม่มีสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานมันจะเกิดที่ไหนล่ะ? นี่เราเป็น นาย ก. นาย ก. จะซื้อรถ จะซื้อบ้าน จะซื้ออะไร นี่นาย ก. เอาเงินไปจ่ายแล้วโอนกรรมสิทธิ์เป็นของนาย ก. นาย ก. ต้องมีนาย ก. นาย ก. จะเป็นเจ้าของบ้าน นาย ก. จะเป็นเจ้าของรถ นาย ก. จะเป็นเจ้าของอะไร?

นาย ก. เป็นเจ้าของ นี่สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ไม่มีสมถกรรมฐาน ไม่มีนาย ก. รถใคร? บ้านใคร? สมบัติใคร? อ้าว รถใครล่ะ? รถเถื่อนหรือ? รถไม่มีเจ้าของ มาจอดอยู่ที่สาธารณะ รถของใคร นี่รถของใคร? แล้วบ้านนี่บ้านของใคร? บ้านนี้มันขวางทางน้ำอยู่ เขาจะทำให้น้ำไหลนี่บ้านของใคร?

สมถกรรมฐานคือตัวตนเรานั่นล่ะ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เห็นไหม นี่ถ้ามีเจ้าของใช่ไหม? เราซื้อรถ เราเป็นเจ้าของรถ เราซื้อบ้าน เราเป็นเจ้าของบ้าน เราซื้อเครื่องยนต์กลไก ของสิ่งนั้นเราจะเป็นเจ้าของ ฉะนั้น ถ้าจะยกขึ้นวิปัสสนามันต้องมีผู้กระทำไง ถ้ามีจิต จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยความเป็นจริง ถ้ามีจิต จิตเห็นกาย เห็นเวทนา โดยความเป็นจริง นั่นจะเป็นวิปัสสนา

ทีนี้ในการทำสมถะ เห็นไหม ดูสิการพิจารณากายๆ เป็นสมถะ นี่เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่องกรรมฐาน ๕ ท่องกรรมฐาน การท่องก็เหมือนกับกำหนดพุทโธ นี่พิจารณากาย พิจารณากายเราก็นึกกาย มรณานุสติระลึกถึงความตาย พิจารณากายๆ ก็พิจารณาธาตุ พิจารณาธาตุมันสงบขึ้นมามันก็เป็นสมถะทั้งนั้นแหละ ถ้าจิตมันยังไม่เป็นความสงบอยู่มันไม่เป็นสมถะ แต่ถ้าจิตมันเป็นสมถะแล้ว จิตมันมีจิตแล้ว มีผู้เป็นสมาธิแล้ว ออกไปพิจารณากายเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาขึ้นมาเพราะสมถะนั้นคือตัวตนไง สมถะคือฐีติจิต คือเจ้าของลิขสิทธิ์ เจ้าของผู้ที่ได้ผลมา

ถ้าได้ผลมา ฉะนั้น ถ้ามันจิตสงบ ทีนี้แล้วถ้ามันจิตไม่สงบ เมื่อไหร่จะได้วิปัสสนา? ถ้าวิปัสสนานะ ถ้าจิตมันไม่สงบเราใช้ปัญญา นี่เราใช้ปัญญาได้ ปัญญาในขั้นของสมถะไง ปัญญาของการขั้นสมถะ อย่างเช่นอานาปานสติกำหนดลมหายใจชัดๆ มันอยู่กับลม ละเอียดมาก ละเอียดน้อย ขณิกสมาธิมันก็เห็นลมอยู่ แต่มันยังรู้ลมชัดเจนอยู่ แต่จิตก็สงบเล็กน้อยเป็นขณิกสมาธิ ถ้าอุปจาระจิตสงบมากขึ้นๆ นี่เห็นลมชัดเจนขึ้น เกาะลมชัดเจนขึ้น

พอนี่เป็นอุปจาระ ถ้ามันออกรู้ พอพิจารณาอานาปานสติจนจิตมันสงบ พอมันพักแล้วมันคลายตัวออกมา เพราะมันไม่กำหนดลมแล้ว พอมันไม่กำหนดลมแล้วเรามาใช้พิจารณา เห็นไหม พิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณาต่างๆ มันใช้ปัญญาของมัน นี่ก็เป็นสมถะ คือพิจารณาขึ้นมาเพื่อให้การทำสมถะสะดวกขึ้น แต่ถ้าพอมันคลายตัวออกมา เรากำหนดลมชัดขึ้นไป เราไม่ออกมาใช้ความคิด มันก็จากอุปจารสมาธิจะเป็นอัปปนานี่ชัดขึ้น ลมดีขึ้น ละเอียดขึ้น จนความรู้สึกเด่นชัดมาก มันวางลมหมดนะ มันวางลมหมด เพราะจิตออกรู้ลม จิตเกาะลมไว้

อานาปานสติ เห็นไหม พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ นี่จิตออกเกาะไว้ ทีนี้อานาปานสติคือจิตมันเกาะลมไว้ พอมันละเอียด มันตั้งตัวมันได้มันปล่อยทุกอย่างเข้ามาเป็นตัวของมัน นี่มันปล่อยลมหมด ปล่อยลมสักแต่ว่า ปล่อยลม ปล่อยกาย ปล่อยทุกอย่างหมดเลย ปล่อยมาเป็นตัวมันเด่นชัดเลย อัปปนาสมาธิ

นี่อัปปนาสมาธิสักแต่ว่าชัดเจนมาก นี่แล้วเวลามันคลายตัวออกมา เห็นไหม คลายตัวออกมา ถ้าไม่คลายตัวออกมาคิดไม่ได้ คิดไม่ได้ ถ้ามันคลายตัวออกมา สิ่งนี้พอมันเห็นตามความเป็นจริงมันจะเป็นวิปัสสนา สิ่งนี้เป็นวิปัสสนา นี่ถ้าเราพิจารณาเริ่มต้นจากขณิกะ จากอุปจาระมันยังเป็นสมถะได้ เพราะจิตมันไม่สงบแนบแน่น อย่างเช่นเราจะซื้อรถ มีเงินอยู่ ๕ บาทซื้อไม่ได้ เราจะซื้อรถเรามีเงินเท่าไร?

นี่ไงถ้าจิตมันสงบ เห็นไหม มันสงบ มันมีหลักฐานขึ้นมา มันออกใช้ปัญญามันจะเป็นวิปัสสนา เพราะมันมีหลักฐานมั่นคง แต่ถ้าจิตมันสงบเล็กน้อย มีเงิน ๕ บาท ไปดูรถ มึงจะซื้อรถ มีเงิน ๕ บาทจะซื้อรถ นี่จิตมันไม่มั่นคง ไปซื้อรถก็จองไว้ก่อน แล้วกลับมาหาสตางค์ กลับมาทำความสงบ กลับมาพุทโธ กลับมาใช้อัปปนาสมาธิให้มันมั่นคงขึ้นมา พอมั่นคงขึ้นมา จนเรามีเงินพอจะดาวน์หรือจะซื้อสด ถ้าจะดาวน์ เงินเท่าไรจะดาวน์ เงินถ้าจะซื้อสดเท่าไร? ถ้าเงินมันพอขึ้นมามันก็ใช้ได้

นี่เขาถามว่า

ถาม : แล้วอย่างไรถึงเป็นวิปัสสนา

หลวงพ่อ : นี่ไงวิปัสสนา ถ้าจิตมันสงบแล้วมันวิปัสสนามันจะรู้ของมัน มันจะเป็นตามความเป็นจริงของมัน ฉะนั้น มันจะไม่สับสนไง ถ้าเราสับสนใช่ไหม? นี่เราบอกว่า

ถาม : กระผมกำหนดรู้ลมหายใจ ภาวนาแบบรู้ลมหายใจ อานาปานสติ แล้วหัดดูความรู้สึกนึกคิดไปด้วย

หลวงพ่อ : เฮ้อ ค่อยๆ ค่อยๆ ทำไป เพราะเริ่มต้นหลวงตาท่านบอกว่า

“การภาวนาที่ยากที่สุดคือเริ่มต้นกับขั้นสุดท้าย”

ขั้นเริ่มแรกนี่ยากมาก แล้วขั้นสุดท้าย ขั้นเริ่มแรกมันจะยากมาก ยากมากเพราะอะไร? เพราะคนทำงานไม่เป็น เหมือนคนหัดทำงาน ได้ตำแหน่งใหม่แล้วทำงานใหม่ ต้องฝึกงาน ฝึกงานทำงานให้ได้ พอทำงานได้แล้ว เราทำงานได้แล้วเราไปได้แล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นมันจะสับสนอย่างนี้ เพราะเราทำไม่ได้ ทำไม่ได้ แล้วจับผิด จับถูกไปหมด สิ่งใดที่จะเอามาเป็นประโยชน์นี่จับผิด จับถูกนะ มีดเขาเอาไว้ทำประโยชน์ มันก็เอามีดมาบาดมือตัวเอง เอามีดมาบาดตัวเอง มาทำตัวเองมีแต่บาดแผลไปหมดเลย แล้วก็งงนะ เอ๊ะ ภาวนาต้องเป็นสุขสิ ทำไมเลือดโชกเลย เลือดโชกมันทำไม่ถูกน่ะสิ

เราค่อยๆ ทำ เลือดโชกก็ไม่เป็นไร นี่เราวางไว้แล้วเรารักษาแผลเรา แล้วเราทำของเราไปใหม่ ฝึกหัดของเราไป เห็นไหม นี่เขาบอกว่า

ถาม : คำถาม จะทำอย่างไรถึงเป็นวิปัสสนา หรือจะต้องหยิบเอาความคิดที่มันผุดขึ้นขึ้นมาพิจารณา สาวถึงสาเหตุของมัน พิจารณาเห็นถึงโทษของมัน เห็นถึงสังขารที่มันปรุงขึ้นมา ขอรบกวนหลวงพ่อตอบภาวนาแบบดูจิตแบบกระจ่าง

หลวงพ่อ : แบบดูจิตไม่พูดถึงเขาแล้วแหละ เพราะแบบดูจิต พอพูดปั๊บมันก็เหมือนเราชี้โพรงให้กระรอกทุกอย่าง กระรอกมันก็จะหลบหลีกไปตลอด หลวงปู่ดูลย์ท่านบอก

“จิตส่งออก นี่ความคิดทั้งหมด จิตส่งออกทั้งหมดเป็นทุกข์ จิตที่มีความรู้สึกนึกคิด ความคิดทั้งหมดคือจิตส่งออก”

“จิตส่งออก เห็นไหม เป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์ ดูจิตๆ จนจิตเห็นอาการของจิตเป็นมรรค” นี่ดูจิตนะจนจิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิตเป็นมรรค เห็นไหม เป็นมรรค ผลของเห็นความเป็นมรรคเป็นนิโรธ นี่ไงดูจิตๆ ดูจิตจนมันสงบ ดูจิตสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิต คือจิตเห็นขันธ์ ๕ จิตก็เหมือน เราทำสมถะ สมถะคือว่า ประสาเราพอถึงสมถะแล้วนี่มันก็ออกวิปัสสนา

ดูจิตๆ ต้องการให้สมถะ คือบังคับ เหมือนกับเราบังคับพุทโธ พุทโธให้มันหยุดนิ่งให้ได้ ถ้าหยุดนิ่งได้แล้วมันจะเห็นความคิด เพราะความคิดเป็นขันธ์ ๕ เห็นไหม ดูจิตจนเห็นอาการของจิต ถ้าเห็นอาการของจิตแล้วพิจารณา นั่นมันเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรค จิตเห็นอาการของจิตเป็นมรรค เป็นมรรคแล้วพิจารณาไปจนมันเป็นนิโรธ

นี่โดยที่หลวงปู่ดูลย์ท่านคนภาวนาเป็นท่านบอกหลัก แต่ถ้าภาวนาไม่เป็น เราชี้โพรงให้กระรอกไง มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นนะ แล้วกิเลสมันแฉลบอยู่แล้ว กิเลสมันอยากออกอยู่แล้ว กิเลสมันอยากได้มรรค ได้ผล มันตะครุบเงาอยู่แล้ว ไม่มีเงามันก็ตะครุบอยู่แล้ว แล้วเราไปชี้เงาให้มัน บอกว่านี่นะ นี่โพรงนะ นี่โพรงนะ ในนี้มีอาหารนะ ในนี้มีเหยื่อนะ กิเลสมันก็ชอบน่ะสิ

หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นต้นตำรับดูจิตเลย แล้วท่านพูดพร่ำเพรื่อชี้โพรงให้กระรอกออกไปไหม? หลวงปู่ดูลย์ท่านไม่ชี้โพรงให้กระรอกเลย เพียงแต่ท่านมีแต่พยายามจะปกป้อง ท่านจะพยายามทำให้ผู้ปฏิบัติให้ถึงหลักเกณฑ์ ให้เป็นความจริง แต่พอคนที่ไม่เป็น เพราะเราไม่รู้จริงใช่ไหม? เราก็ได้แต่ลูบๆ คลำๆ พอลูบๆ คลำๆ ก็ชี้โพรงให้กระรอก ไอ้กระรอกก็เลยยิ้มแย้มแจ่มใส โอ๋ย คึกคะนอง ฝูงกระรอกโอ้โฮ ดีใจมาก ดูจิตๆ จนจิตยิ้มกันไปหมดเลย

ฉะนั้น เขาบอกว่าให้พูดถึงการดูจิตแบบกระจ่างตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะชี้โพรงให้กระรอกอีกกลุ่มหนึ่งใช่ไหม? ไอ้กระรอกที่ยังไม่ติดเหยื่อ มันจะรอกินเหยื่ออีกรอบหนึ่งใช่ไหม? ไม่ต้อง นี่สิ่งที่ว่าดูจิตๆ มันก็คือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิหลวงตาสอนไว้อย่างไร? ปัญญาอบรมสมาธิ ดูจิตนี่คือปัญญาอบรมสมาธิ อบรมสมาธิ ดูจิตนี่ จิตเห็นอาการของจิตเป็นมรรค สิ่งที่เกิดจากจิตที่เห็นอาการของจิตเป็นนิโรธเป็นอย่างไร? นี้พูดถึงการดูจิตนะ

ฉะนั้น เพราะถ้ามันพูดแล้วมันชี้โพรงให้กระรอก มันไม่ถูก นี่เวลาหลวงปู่มั่น เวลาครูบาอาจารย์เราเทศน์ เห็นไหม ท่านเทศนาว่าการ บางอย่างที่มันเป็นขั้นตอน เป็นขั้นตอนที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง จิตมันจะได้ประโยชน์ ท่านบอกว่าสิ่งนี้ไม่พูด ข้ามไป ข้ามเลย เพราะว่าสิ่งนี้พูดไปแล้วมันเป็นดาบสองคม นี่จิตที่มันไม่เป็นธรรมมันจะจำสิ่งนี้เป็นสัญญา พอจำเป็นสัญญา เห็นไหม นี่ดูสิในปัจจุบันนี้ ในท้องตลาด ยาที่ได้รับการรับรองจาก อย. นี่ท้องตลาดเขาใช้กัน แล้วยาที่มันทำยาปลอม ไม่ได้รับ อย. เยอะแยะไปหมดเลย แล้วถูกด้วย ท้องตลาดนี่เกลื่อนไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน พูดถึงถ้าพูดไปนี่ยาที่ได้มีคุณภาพ แล้วไอ้คนที่มันฟังไปมันก็ไปหายาในท้องตลาด มันไปหายาตามความพอใจของมัน มันจะเป็นประโยชน์ไหม? นี่ไงหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์นะท่านรู้ไง คนที่เคยต่อสู้กับกิเลสมา จะรู้ว่ากิเลสมันร้ายกาจแค่ไหน? กิเลสมันจะแฉลบอย่างไร?

ฉะนั้น ท่านจะให้แต่คุณประโยชน์กับผู้ฟัง ท่านไม่ให้โทษกับผู้ฟัง แต่กิเลสมันก็เป็นโทษ มันก็ไปล้วง ไปหยิบเอามาจนได้ ขนาดครูบาอาจารย์ท่านจะป้องกันไว้นะ ป้องกันไม่ให้เป็นโทษกับผู้ฟัง แต่ผู้ฟังมันก็เป็นโทษ เป็นโทษวันยังค่ำ ฉะนั้น ถ้ากิเลสมันเป็นแบบนี้ แล้วเรายังไปชี้โพรงให้กระรอกอีกมันก็ไปหมดเลย แล้วมันก็เลยกลายเป็นศาสนาเลื่อนลอย ศาสนาไม่มีเหตุมีผล ศาสนามักง่าย ศาสนาจะเอาแต่ได้ แต่ไม่มีเหตุมีผลไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “ทำอย่างไรถึงยกวิปัสสนา?”

เริ่มต้นจะพิจารณาอะไรก็แล้วแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าจิตเราไม่สงบมันเป็นสมถะหมด เป็นสมถะ ใครจะบอกว่าใช้ปัญญาเป็นวิปัสสนาๆ ไม่มีหรอก มันเป็นวิปัสสนามาได้อย่างไร? วิปัสสนา วิปัสสนาญาณนี่นะมันเริ่มถอดถอน แล้วถอดถอนอะไรล่ะ? คนจะดำนา คนจะปักกล้าดำนาเขาต้องมีกล้า มีนา ไม่มีกล้าดำนาอะไร? ไถนาไม่เสร็จเลย ไม่มีกล้าเอาอะไรไปดำ แล้วดำมันจะมีต้นข้าวขึ้นมาได้อย่างไร? มันไม่มีหรอก สมถะคือเตรียมที่นา เตรียมความพร้อมไว้หมด นี่วิปัสสนามีกล้า มีนา แล้วดำนา แล้วต้นข้าวมันออกรวง ออกผลของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันจะเป็นวิปัสสนาจิตมันต้องสงบ ถ้าจิตมันไม่สงบ มันใช้ปัญญาไปก็ปัญญาเพื่อความสงบ ถ้าพอจิตมันสงบใช่ไหม? สงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนี่แหละ แต่ แต่เพราะจิตสงบ จิตสงบนะ เด็ก ให้เงินเด็กไป เด็กใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เด็ก ถ้าไม่มีสติปัญญา เงินนั้นจะให้โทษกับเด็กนั้น เด็กนั้นจะมีอันตรายกับเงินนั้นมาก แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ใช้เงินจะเป็นประโยชน์หมด แล้วเงินนั้นผู้ใหญ่รู้จักเก็บ รู้จักรักษา เงินนั้นจะไม่ทำลายผู้ใหญ่นั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจเรามันยังเป็นเด็กน้อย มันไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย เห็นไหม ถึงบอกกระรอกๆ ชี้โพรงให้มันด้วยมันจะเสียหายกันไปหมดเลย แต่ถ้ามันเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา จิตสงบ จิตมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา สมถกรรมฐาน จิตมีสมถกรรมฐานเป็นพื้นฐาน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ที่ตั้งของจิตดวงนั้น ที่ตั้งของบุคคลคนนั้น บุคคลคนนั้นมีหลักมีเกณฑ์ บุคคลคนนั้นใช้วิปัสสนาญาณนั้นเกิดขึ้นมา บุคคลคนนั้นจะได้เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จนถึงเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

นี่มันทำได้จริง แต่ แต่ต้องมีวุฒิภาวะ มีความเข้มแข็ง มีหลักมีเกณฑ์ของเรา แล้วเราจะไม่เสียไป ฉะนั้น เขาบอกว่า

ถาม : ขอให้หลวงพ่อช่วยอธิบายการดูจิตให้กระจ่างตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย

หลวงพ่อ : เฮ้อ เหนื่อย ไม่เอา เพียงแต่นี่บอกว่าจะยกวิปัสสนาอย่างไร? วิปัสสนานะ วิปัสสนาก็เริ่มต้นเอาอย่างนี้แหละ ภาวนาไป ถ้าภาวนาได้มันก็ได้ ถ้าภาวนาไม่ได้ เราก็ฝึกหัดภาวนาของเราเพื่อให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันจะได้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เราก็อยากภาวนากัน เราอยากได้คุณธรรม เวลาโลกเขาหาเงินหาทองนะ เราชาวพุทธ หาเงินหาทองมาก็ใช้อยู่เพื่อดำรงชีวิต แต่เราอยากหาธรรมด้วยไง อยากหาธรรม

นี่พระต้องมีศีล มีธรรมเป็นสมบัติ โลกเขามีเงินมีทองเป็นสมบัติ นี่เราจะมีศีล มีธรรมในหัวใจเราเป็นสมบัติเนาะ เพราะเป็นพระถามมาด้วยเนาะ เอวัง