เทศน์บนศาลา

โลกกรรม

๘ ส.ค. ๒๕๔๕

 

โลกกรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๕
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม... กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วเกิดมาในโลกนี้ มีแต่ทุกข์แต่ร้อน โลกของกรรม โลกกับกรรมนะ กรรมมีมาในโลก สิ่งที่อยู่ในโลกนี้คือเรื่องของการกระทำทั้งหมดเลย เรื่องของการกระทำ เรื่องของการแสวงหา เรื่องของกรรม กรรมคือการกระทำ แล้วกรรมก็ให้ผลในกรรมดีและกรรมชั่ว

กรรมดีให้ผลเกิดในสิ่งที่ดี กรรมดีให้ผลเกิดเป็นความสุข เกิดเป็นความพอใจ นี่สิ่งที่เป็นกรรมดี.. กรรมชั่วทำให้เกิดสิ่งที่เป็นความทุกข์ สิ่งที่เกิดเป็นความเศร้าหมองของใจ แล้วก็สะสมกันเป็นกรรม แล้วกรรมก็จำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน

กรรมนี้มีประจำอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก สัตว์โลกมีกรรมอยู่เป็นธรรมชาติของหัวใจที่มีการพลิกแพลง การคิดมโนกรรม มโนกรรมคือความเห็นของใจ ความคิดของใจ ใจแสวงหา ความคิดต่างๆ นั้นเป็นมโนกรรม แล้วหาทางออก แล้วแสวงหา แล้วรู้จักโลกของมัน โลกกรรม

เราแสวงหาทางออกจากโลกของกรรมได้อย่างไร ยารักษาโรค ในโลกนี้มียารักษาโรคต่างๆ ไป แต่โรคของกรรมไม่มีอะไรรักษาได้ นอกจากธรรมโอสถ ธรรมโอสถหาได้จากที่ไหน หาได้จากในศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธเกิดขึ้นมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหาสิ่งนี้มาก่อน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ก็ไม่มีธรรมอยู่ ไม่มียาอยู่ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะสร้างสมบารมีมา แสวงหาสิ่งนี้มาเพื่อกำจัดโรคนี้ออกไปจากหัวใจ จากกรรม ใช้กรรมแก้กรรม ใช้กรรมดีความดี สะสมคุณงามความดีไปแล้วจะชำระสิ่งนั้นไป ปลดเปลื้องออกไปเรื่อยๆ กรรมดีเห็นไหม แต่กรรมดีอันนี้สำคัญมาก

กรรมดีมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด อย่างความหยาบๆ เด็กเล่นขายของอยู่มันก็สนุกสนานของมัน มันก็ว่ามันทำคุณงามความดีของมัน หัวใจก็เหมือนกัน หัวใจเป็นเด็กเตาะแตะอยู่ ก็ทำความดีคุณงามความดีประสาหัวใจที่คิดว่าเป็นคุณงามความดี แล้วเป็นคุณงามความดีของใคร? คุณงามความดีของความหยาบๆ นั้น เป็นคุณงามความดีของของโลกที่เขาเป็นไป ความคิดของเรา แสวงหาสัมมาอาชีวะการดำรงชีวิตอยู่ เรื่องของโลกทั้งหมดเลย นี่กรรมดีของเรา นี่ธรรมอย่างหยาบ

แล้วถ้าอย่างกลาง เห็นไหม ถือศีล พยายามประพฤติปฏิบัติกัน แล้วมันถึงเป็นอย่างไร มันได้ผลไหม ภาวนาเห็นไหม ต้องมีภาวนาเข้าไป เรื่องของใจ กรรมออกมาจากความมโนกรรม สิ่งที่ขับเคลื่อนออกมาจากใจทั้งหมด ใจขับเคลื่อนออกไปแล้วเป็นความรู้สึก เป็นการกระทำทั้งหมดเลย

กรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากใจเป็นสำคัญที่สุด ใจดวงนี้สำคัญมาก มันมีความคิดหลอกกินอยู่ในหัวใจ มันอิสระเพราะความคิดนี้ไม่มีใครรู้เท่ารู้ทัน ความคิดของเราสะสมในหัวใจ แล้วเราก็คิดตามประสาของมัน กรรมอันนี้คิดออกไป คิดออกมาแล้วก็มีการกระทำออกไป การสั่งสมออกไป นั่นล่ะธรรมจะเข้าไปชำระตรงนี้

ความเป็นธรรมขึ้นมาในหัวใจของเรา จะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม อยู่ที่ว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนถึงที่สุดของการกระทำ ถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ก่อนจะสิ้นทุกข์ต้องเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

ในโลก โลกกับกรรมอยู่ด้วยกัน โลกกับกรรมต้องเป็นสภาวะอย่างนั้นหมดเลย สภาวะของเขา สภาวะเป็นไปตามประสาโลกเขา แล้วมันก็บังตาออกมาว่าให้สิ่งนั้นไม่เชื่อ ความไม่เชื่อ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ประเสริฐที่สุด เป็นศาสนาที่ว่า สอนให้ถึงสิ้นกิเลสได้ ทำให้คนนี้พ้นไปจากกิเลส

แต่คนเราศึกษาศาสนาพุทธ ยึดถือศาสนาพุทธ แล้วทำตามพระพุทธศาสนาไหม ถ้าทำตามพุทธศาสนาแล้วจะมีความร่มเย็นเป็นสุข โลกจะไม่ร้อนอย่างนี้ แต่โลกนี้ร้อน ร้อนเพราะว่ามีการเอากิเลสออกมาเทียบเคียงกัน เอากิเลสออกมาประหัตประหารกัน เอากิเลสออกมาบีบบี้สีไฟใส่กัน เพราะความเห็นแก่ตัว ความคิดของเรามันเป็นความคิดอย่างนั้น ความคิดของโลกเป็นอย่างนั้น

ถ้าศาสนาพุทธสอนถึงความประเสริฐ แล้วคนที่ใฝ่ใจ คนที่ประพฤติปฏิบัติมันมีส่วนน้อย ส่วนน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าถึงหลักธรรมก็เป็นส่วนน้อย ส่วนน้อยลงไปเรื่อยๆ ส่วนน้อยเพราะอะไร เพราะว่าอินทรีย์ไม่แก่กล้า ความเห็นของใจไม่มั่นคง ใจนี้ไม่มั่นคง ไม่ทำความสงบของใจ ใจตั้งมั่นไม่ได้ อินทรีย์ไม่แก่กล้า บารมีธรรมไม่ประสบความสำเร็จของใจ ใจไม่มีความสำเร็จ มันต้องมีความบากบั่น ต้องมีความมานะอดทน

ความมานะอดทนของเรา พยายามแสวงหาของเรา พยายามทำตบะธรรมของเรา นั่นล่ะความเพียรเห็นไหม ความเพียรเป็นตบะธรรม ตบะธรรมเผาผลาญกิเลส ตบะธรรมเผากิเลส ให้กิเลสมันมอดไหม้ไปจากหัวใจ อันนั้นเป็นการภาวนา

การภาวนานี้เป็นงานแสนยาก งานต่างๆ ในโลกนี้มีทุกอย่างที่ทำกันอยู่ เขาว่างานของใคร ใครก็ว่าคนนั้นทำงานแล้วแสนเหนื่อยแสนยาก งานของเขา เขาคิดอย่างนั้น นั้นเป็นงานของโลกเขา งานใช้พลังงาน ใช้สมอง ใช้ความคิดขนาดไหน มันก็เป็นเรื่องงานของโลก ทุกคนทำแทนกันได้ แล้วจะมีผู้อัจฉริยะต่างๆ ที่เขาจะรู้เรื่อง มีความที่เขาสะสมมา เขาจะมาทำตามอย่างนี้ แล้วจะประสบความสำเร็จ แล้วก็ยกย่องกัน สรรเสริญกันอยู่อย่างนั้น แล้วก็มีเป้าหมายอย่างนั้น เป้าหมายทางโลกไง

แต่ทางธรรมนี้ มันไม่เป็นอย่างนั้น ความสงบของใจ ใจนี้สงบ ใจนี้ปลดเปลื้องกิเลสออกไปจากใจ แล้วมันอยู่ในหัวใจ เป็นปัจจัตตัง เรื่องของสมมุติโลกนี้เป็นเครื่องหมาย เป็นปูนหมายป้ายทาง เพื่อจะสื่อความหมายกัน การสื่อความหมายเพื่อจะบอกกล่าวกัน มันเป็นเรื่องของสมมุติ แต่เรื่องของธรรมเห็นไหม ธรรมนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก

ในวัฏวนนี้กว้างแสนกว้างขนาดไหน ในหัวใจถ้ามีกิเลสปกปิดอยู่แล้ว จะต้องมีภพ ภพในหัวใจ ภวาสวะในหัวใจนั้นจะต้องหมุนเวียนตาย เวียนเกิดใน ๓ โลกธาตุนี้ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ใน ๓ โลกธาตุนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของใจ

แต่ถ้าผู้ชำระกิเลสแล้ว ใจนี้เคยผ่านใน ๓ โลกธาตุมา กว้างขวางจนเวิ้งว้างใน ๓ โลกธาตุ กว้างขวางมาก กว้างขวางจนบอกว่าใน ๓ โลกธาตุนี้บรรจุอยู่ในหัวใจนั้น หัวใจนี้จะเข้าใจเรื่อง ๓ โลกธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เข้าใจสิ่งนี้ไปทั้งหมด เข้าใจความเห็น รู้แจ้งไปทั้งหมด มันกว้างขวางจนขนาดที่ว่ามันพ้นออกไป นั่นมันเป็นวิมุตติ

ความเป็นวิมุตติในหัวใจนั้น หัวใจนั้นเป็นวิมุตติ มันเป็นธรรมที่ว่า สื่อความหมายกันไม่ได้ มันถึงต้องสื่อความหมาย ปูนหมายป้ายทางไว้เป็นสมมุติ เป็นสมมุติเพื่อเราจะสื่อกัน พอออกจากสมมุติมามันก็เป็นการคาดการหมาย การจินตนาการของเรา เราฟังธรรม เราถึงตะครุบเงาอย่างนั้นไง เราตะครุบเงาเพราะเราตะครุบเอาตีความหมายว่าจะให้เข้าใจของเรา เราจะเข้าใจสิ่งนั้น มันเป็นการยืมมา

ปัญญามันถึงมีอย่างหยาบ มีอย่างกลาง มีอย่างละเอียด เหมือนกัน อย่างหยาบๆ คือความศรัทธาในศาสนา นี้อย่างหยาบๆ อย่างกลางก็มีการดัดแปลงฝึกฝนตนขึ้นมา มันมีกะใจขึ้นมาดัดแปลงตนฝึกฝนตนขึ้นมาให้เข้าถึงธรรมได้ แล้วปัญญาอันที่จะเกิดขึ้นมาจากการภาวนา อันนั้นสำคัญที่สุด สำคัญที่สุดเพราะว่ามันจะเกิดการชำระกิเลส การปลดเปลื้องกิเลส

กรรม เห็นไหม สิ่งที่ทำนี้มันทำจากเรื่องความเชื่อ ความข้างนอก แล้วกายก็ต้องทำ นั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่นี่ร่างกายทำทั้งนั้นเลย แต่เพื่ออะไร เพื่อให้หัวใจสงบ เพื่อให้หัวใจร่มเย็น ถ้าหัวใจร่มเย็น เกิดจากการกระทำของเรา เรากระทำเห็นไหม เวลามันคิด มันคิดออกไปข้างนอก ฟุ้งซ่านออกไปข้างนอก ยึดความต่างๆ ไปข้างนอกทั้งหมดเลย นี้คือกรรม นี้คือการกระทำของใจ

แล้วโลกก็ร้อน โลกเป็นโลก โลกคือหมู่สัตว์ เราเป็นสัตว์โลกตัวหนึ่ง โลกคือเรา สัตว์โลกนี้มีทั้งหมด ความมุ่งหมายต่างๆ ในโลกนี้มี เพราะมีเรา เรารับรู้สิ่งต่างๆ แล้วเราก็รู้ออกไป โลกกรรม อยู่คลุกเคล้ากัน แต่ถ้าทำคุณงามความดี กรรมดีก็พยายามจะปลดเปลื้อง ปลดเปลื้องกรรมชั่วออกไปเรื่อยๆ ปลดเปลื้องกรรมชั่วจนกรรมเสมอกัน

กรรมเสมอกันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา สิ่งที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทามันจะทำลายกัน สิ่งที่ทำลายกันในหัวใจอันนั้นเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติแล้วมันทำลายออกไป ทำลายกิเลสออกไปจากใจ เกิดจากความเพียรของเรา นั่นล่ะ การประพฤติปฏิบัติอย่างกลาง การเดินจงกรม การนั่งสมาธิภาวนา แล้วปัญญาอย่างละเอียดที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นอย่างนี้

ปัญญาอย่างละเอียดมันจะเกิดขึ้นมาจากผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ใฝ่ใจ ผู้ที่วางใจไว้ถูกต้อง สมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรมคือมัชฌิมาปฏิปทาตามความเป็นจริงของเขา เราก็มีการคาดการหมาย การคาดการหมายนี้คือกรรมอันหนึ่ง คือกิเลส คือกรรมฝ่ายลบในหัวใจของเรา มันคาดมันหมายไปเพราะสิ่งนี้มันปกปิดสัตว์โลกมาตลอด

สัตว์โลกเวียนตายเวียนเกิด ตกอยู่ในวังวนของโลก เพราะความเห็นของเราทั้งนั้น ความเห็นผิดของเรา สิ่งนี้คือความเห็นของเรา คือความเห็นผิด ความเห็นผิดนั้นเป็นกิเลสปกปิดใจ เราถึงต้องพยายามมาขัดเกลากัน เรามาขัดเกลากิเลสกันเพื่อจะเข้าให้ถึงหลักธรรม ทั้งๆ ที่เราเกิดมามีวาสนามาก เราเกิดมาพบพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง

หลวงปู่มั่นเป็นผู้บุกเบิกออกมาองค์แรก หลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่ทุกข์ยากมาก เพราะไม่มีครูบาอาจารย์ มีคู่ปรึกษาคือเจ้าคุณอุบาลีนั้นเป็นฝ่ายปริยัติที่เป็นคู่ปรึกษามา แล้วก็พยายามชักลากกันไป นั้นเป็นผู้บุกเบิก แล้วอย่างพวกเรา เราตามหลังมา มีผู้บุกเบิกให้เราแล้ว มีธรรม

อย่างหลวงปู่มั่นก็ยังมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลำบากกว่านั้น เพราะว่าไม่มีสิ่งใดเลย ไปศึกษากับคนตาบอด คนที่ไม่เข้าใจ เขาสอนก็สอนประสาตาบอดไป แล้วประสาตาบอดมันจะชักไปทางไหน ทำความสงบของใจ พอใจมันสงบขึ้นมาแล้ว อันนั้นจะเป็นผลแล้ว “เธอรู้เสมอเรา เธออยู่เป็นครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์ตลอดไปได้” ทำความสงบของใจเห็นไหม

พระเทวทัต ใจนี้สงบขนาดว่าทำฌานโลกีย์ได้ เหาะไปแสดงอิทธิฤทธิ์ให้พระเจ้าอชาตศัตรูเห็น สิ่งนั้นเป็นอะไร เป็นฌานโลกีย์ สิ่งที่เป็นฌานโลกีย์เราก็ตื่นเต้นสิ่งนี้กัน ถ้าเราตื่นเต้นกับความเป็นฌานโลกีย์ เต้นเต้นกับเรื่องการส่งออก ใจมันส่งออกรับรู้สิ่งต่างๆ พอใจนี้สงบขึ้นมาจะรับรู้นะ แปลกประหลาดมหัศจรรย์มาก

ใจของเรา เราไม่เคยฝึกฝนออกมา เราก็ไม่เข้าใจว่าใจเราของมีคุณค่าประโยชน์มหาศาลขนาดไหน แต่ถ้าเราทำใจของเราสงบขึ้นมา เรามีอำนาจวาสนา เราจะรับรู้เห็นสิ่งต่างๆ มันจะแปลกประหลาดจนเราไม่กล้าพูดกับใคร

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วเห็นสิ่งที่เราเข้าไปเห็น จะไม่กล้าพูดกับใคร เพราะพูดไปแล้วเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เขาจะไม่เชื่อเรา แล้วเขาจะว่าเราเป็นคนที่สติเสียไปอีก นั้นล่ะ มันลึกลับขนาดนั้น แล้วมันเป็นไปในหัวใจ สิ่งที่ลึกลับนี้เราตื่นเต้นไปกับเขา นี้คือเรื่องของการส่งออก การส่งออกเห็นไหม โลกของกรรม กรรมนี้มาทับถมซ้อนเข้าไป

สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติเพื่อจะเป็นคุณงามความดี เพื่อเป็นการขัดเกลา สิ่งนี้เป็นการยึดมั่นถือมั่น สิ่งนี้เป็นการรู้เห็น สิ่งที่รู้เห็นมันก็สำคัญตนว่าตัวเองรู้ ตัวเองฉลาด ตัวเองดีกว่าเขา ตัวเองรับรู้สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ไม่มีใครรู้เหมือนเรา.. เราจะรู้วาระจิต รู้สิ่งต่างๆ รู้อำนาจ รู้ว่าเขาคิดอย่างไร... สิ่งนี้มันเป็นอภิญญา เรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์นี้มันเป็นเรื่องอภิญญา

สิ่งที่เป็นอภิญญานี้แก้กิเลสไม่ได้ แต่สิ่งที่เป็นอภิญญานี้จะเป็นเครื่องมือการดักใจ ในการสั่งสอนสัตว์โลก จะเป็นประโยชน์มาก แต่มันไม่เป็นประโยชน์กับเรา เพราะเราต้องการจำกัดโลกของกรรม กรรมที่จำแนกให้สัตว์เกิดต่างๆ กัน ในเมื่อเรามีกรรมในหัวใจ เรามีกิเลส กรรมฝ่ายชั่ว กรรมฝ่ายมืดมิด กรรมฝ่ายที่ไม่เข้าใจ มันไม่เข้าใจตัวเอง เราถึงเป็นคนออกแสวงหา

เราแสวงหาเพื่อแสวงหาทางออกของใจ เราเป็นคนมีอำนาจวาสนา จนขนาดที่ว่าได้ออกประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ออกประพฤติปฏิบัติ ออกบวชเป็นพระภิกษุ องค์อุปัชฌาย์ทุกองค์ต้องบอกว่า เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ บอกกรรมฐาน ๕ ไว้ก่อน แล้วให้เรารื้อค้นในกรรมฐาน ๕ นั่นล่ะงานของเรา งานอย่างเอก งานอย่างประเสริฐ ถ้างานอย่างนี้คือแก้กรรมได้

แต่พอเราได้ต้นขั้วของการประพฤติปฏิบัติ แต่เรากลับไม่เข้าใจกัน ออกมาแล้วต้องไปศึกษานักธรรม ศึกษาวิชาการ ศึกษาต่างๆ เพื่อให้รู้ ถ้าเราไม่รู้เรากลัวจะประพฤติปฏิบัติผิด กลัวจนเราเดินไม่ถูก กลัวจะไม่มีแผนที่ ต้องหาแผนที่ก่อน ถ้ามีแผนที่แล้วจะดำเนินต่อไป นั่นก็คิดออกไปอย่างนั้น แล้วก็พยายามออกไปกัน แล้วย้อนกลับขึ้นมาจะมีโอกาสย้อนกลับขึ้นมาไหม

ในเมื่อวันเวลานะ วัน เดือน เวลาผ่านไป ผ่านไป จิตใจของคนมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กิเลสของใจนี้มันพลิกแพลงให้ใจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่ใจเปลี่ยนแปลงมันก็จะออกไปทางอื่น ถ้ามันศรัทธาขนาดไหน เราศรัทธาแล้วมีความเชื่อ เราต้องทำเลย

สิ่งที่ทำ เราประพฤติปฏิบัติ เรากำหนดพุทโธ พุทโธ ลมหายใจเข้าออก กำหนดลมหายใจเข้าออก มันเป็นบุญกุศล มันเป็นการประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติถูกต้อง ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ใจมันต้องให้ผลในความสงบของใจ ใจจะให้ผลในคุณงามความดีของเราขึ้นมา ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง แล้วบอกว่า.. ถ้าไม่ศึกษาเราจะปฏิบัติได้หรือ?

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้จากใครมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีธรรมะอยู่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ไปศึกษามาจากใคร ก็มีการชักให้ไปในทางที่ผิดหมดเลย แต่พอปฏิบัติถึงทางที่ถูกขึ้นมาแล้ว ถึงได้วางธรรมให้เราไว้ก้าวเดินตาม ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงในหัวใจนั้น หัวใจนั้นพ้นไปจากกิเลส แก้โรคของกรรมได้หมด ไม่มีกรรม เป็นแค่กริยาเฉยๆ

ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีการกระทำอีกแล้ว แล้วสั่งสอนสัตว์โลกมา ๔๕ ปีนั้นเป็นการกระทำอะไร นั้นคือกริยาของธรรม มีกริยา มีการเคลื่อนไหวเฉยๆ แต่ไม่มีการยึดมั่น ถือมั่นของใจ จะไม่มีผลของกรรมในหัวใจ นี่แก้กรรมแก้อย่างนี้ แก้อวิชชา แก้ความยึดมั่น ถือมั่นของใจ จนใจนั้นพ้นออกไปจากกิเลส ใจนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่อง แล้ววางธรรมไว้ให้เราก้าวเดินตาม

เราจะมีอำนาจวาสนาขนาดไหนที่เราจะก้าวเดินตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะเข้าถึงใจของเราเองนะ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้เบิกบานคือหัวใจ คือผู้รู้ธาตุรู้ในหัวใจของเรา ถ้ารู้อยู่ในหัวใจของเราแท้ๆ อยู่ในท่ามกลางทรวงอกของเรา แล้วเราหาอะไรกัน ทำไมเราหาเรื่องของในร่างกายเรา ทำไมหาไม่เจอ

ความรู้สึกในกายของเรา ความรู้สึกที่มันรู้สึกอยู่นี้ มันอยู่กับเราแท้ๆ เลย แต่เราต้องอาศัยคำบริกรรมเข้ามา ตะล่อมจากข้างนอกเข้ามาเพราะอะไร เพราะหัวใจมันเกาะเกี่ยวไปทั่วแดนโลกธาตุ ๓ โลกธาตุไปได้หมด คิดถึงนรกสวรรค์ คิดวิตกวิจารณ์ไปเรื่อย มันเป็นไปตามประสาของมันที่มันคิดออกไป เพราะถ้าเรื่องของธรรม มีความลังเลสงสัย ถ้าเรื่องของความคิดที่ประพฤติปฏิบัติตามหัวใจของมัน ความคิดความพอใจของเขา เขาจะไปตามที่เชื่อสิ่งนั้น เดินตามสิ่งนั้นไป แต่ถ้าเรื่องของธรรมจะคิดร้อยแปด ความคิดร้อยแปด นี่คือออกไปข้างนอก

เราถึงต้องกระตุกกลับมา ดึงใจกลับมาด้วยคำบริกรรม ดึงใจกลับมาด้วยการนั่งสมาธิภาวนา ทำใจกลับมาให้ได้ เพื่อจะให้เห็นตน สิ่งที่เห็นตนคือการเห็นความสงบของใจ ใจสงบเข้ามาจะเป็นเอกัคคตารมณ์ จากสงบเล็กน้อยเข้ามา สงบเป็นอุปจารสมาธิเข้าไป ถึงอุปจารสมาธิที่ออกรู้ เราวางไว้ก่อน เราไม่อยากรู้

ความรู้ต่างๆ ทำให้เราส่งออก ความรู้ต่างๆ ทำให้เราเนิ่นช้า ความรู้ต่างๆ ทำให้เราเหนื่อย เราใช้พลังงานไปแล้วพลังงานนี้ก็หมดไป.. หมดไป.. แล้วเราก็สร้างพลังงานขึ้นมา แล้วก็ส่งออกไปรับรู้ อุปจารสมาธิ ในวงของอุปจาระ ในวงรอบของจิต มันรู้ได้ตลอด มันรู้ออกไปข้างนอก

เราทำความสงบเข้าไปให้ลึกเข้าไปอีก เป็นอัปปนาสมาธิ ย้อนกลับเข้ามา กดไว้ กดใจไว้ไม่ให้ออกรู้ ออกรู้ไม่เป็นประโยชน์ เพราะมันไม่ได้ออกรู้เรื่องสติปัฏฐาน ๔ มันออกรู้เรื่องตามความเห็นของมัน ออกรู้สิ่งต่างๆ ออกรู้เพื่อใช้พลังงาน ออกรู้เหมือนกับเราจับจ่ายใช้สอยให้เราสิ้นเปลืองทรัพย์สินไป เราเก็บสะสมทรัพย์สินของเราไว้ เราจะเพิ่มพูนทรัพย์สินของเราขึ้นมา

เราทำความสงบของใจ เรายับยั้งใจไว้ได้ ถอนใจกลับมา เราจะเพิ่มพูนความสงบของใจเข้ามา ความสงบของใจมันจะลึกซึ้งเข้าไป ไม่ต้องการรับรู้สิ่งนั้น ให้มันปล่อยวางสิ่งนั้นให้ได้ ดัดแปลงจากนิสัยของตัว นิสัยของใจ

ใจมันเป็นอย่างนั้น มันออกรู้ มันจะออกรู้โดยธรรมชาติของมัน ตามประสาของมัน แล้วรู้ออกไปแล้ว พลังงานเราพยายามสร้างสมมาขนาดไหน แล้วออกรู้แล้วก็ตื่นเต้นไปกับเขา หมดเลยนะ เพราะความรู้ความตื่นเต้นขนพองสยองเกล้านั้นมันถอนออกหมดเลย นั้นคืออารมณ์ปกติ นั้นคืออารมณ์ธรรมดา

อารมณ์จากที่เราถอนจากสมาธิมา มันถอนโดยธรรมชาติของมัน แต่เราไม่รู้ตัว แล้วเราก็เริ่มต้นกำหนดคำบริกรรมใหม่ เราก็ทำความสงบของใจเข้าไปใหม่ แล้วก็ไปรับรู้สิ่งต่างๆ อีก แล้วมันก็ตื่นเต้นดีใจกับสิ่งที่เรารู้ คาดหมายกับสิ่งนั้นไป แล้วมันก็ถอนออกมาอีก มันทำอยู่อย่างนั้นแล้วมันได้ผลประโยชน์อะไรขึ้นมา

สิ่งที่รู้นี้มันเป็นสิ่งที่รู้ในอริยสัจไหม? “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” ละด้วยอริยสัจคือมรรคอริยสัจจังที่หมุนไป มรรคอริยสัจจังอันนี้ทำให้เกิดนิโรธความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งรู้ในอริยสัจต่างหาก นี้คือผลงานของเรา ผลงานของเราคือต้องการทำความรู้แจ้งของใจ ถ้าใจรู้แจ้งมันแก้ไขกรรมเป็นเปลาะๆ เข้าไปนะ

กรรมหยาบ กรรมอย่างกลาง กรรมอย่างละเอียด แล้วกรรมอย่างละเอียดสุดในหัวใจเรา มันละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไปเราจะแก้ไขกรรม โลกกับกรรม กรรมคือการประพฤติปฏิบัติ การกระทำของโลกมันเป็นเรื่องโลกอยู่แล้ว แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องอาศัยโลก อาศัยกรรมการกระทำความดีนี้เข้ามาลบล้างกัน สิ่งที่ลบล้างกรรมไม่ดี กรรมไม่ดีเห็นไหม กรรมเป็นกลาง อยู่ที่การทำดีทำชั่ว มันจะบวกเข้าไป นั้นเป็นผลของใจ

ใจได้รับผลอย่างนั้นเข้ามา นี่ครูสอนใจ การประพฤติปฏิบัติของเรา ฝึกฝนใจของเราขึ้นมา ใจของเรามันไม่เคยประพฤติปฏิบัติ หรือประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ละเอียดรอบคอบขึ้นมา ความประพฤติปฏิบัตินี้มันจะสอน ถ้าผิดแล้วเป็นครู ฝังอยู่ในหัวใจว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผิดพลาดไป สิ่งที่ผิดพลาดไปเราควรจะทำอีกไหม ถ้าเราไม่ควรทำ เราควรจะวางสติอย่างไร วางสติ วางสัมปชัญญะอย่างไร วางสติแล้วพยายามกำหนดเข้าไป ให้มันสงบเข้าไป สงบเข้าไป ไม่ต้องการสิ่งใดก็ได้ ให้สงบลึกเข้าไป

พอมันออกมา เราค่อยยกขึ้น เราค่อยสังเกตรู้ ต้องสอดรู้จิตของเรา สอดรู้เห็นไหม สอดเข้าไปในความรู้ของเรา ดูว่าความรู้ของเรามันมีแง่มุมใด แง่มุมใดของความรู้มันยึดสิ่งใด มันเกาะเกี่ยวสิ่งใด มันหยุดจริตนิสัย การตรวจสอบจริตนิสัย ตรวจสอบอย่างนี้ ตรวจสอบใจของตัวเอง ดูแง่มุมของใจว่ามันเกาะเกี่ยวสิ่งใด ถ้ามันเกาะเกี่ยวสิ่งใดเราจับสิ่งนั้นได้ นั่นมันจะเป็นงานของใจ สิ่งนี้ต่างหากเป็นระหว่างการกระทบกัน ระหว่างจิต ระหว่างความรู้ ถ้ารู้เฉยๆ กระทบกับขันธ์ กระทบกับความรู้สึกของใจ ใจนี้กระทบกันนะ ถึงเป็นความรู้สึกขึ้นมา ไม่มีสิ่งใดลอยขึ้นมา

ในศาสนาพุทธบอกเลยว่า โลกนี้เกิดขึ้นมาจากกรรม โลกกับกรรมเท่านั้น กรรมข้างนอกคือการต่อสู้ พยายามต่อสู้กันเพื่อเอาชนะคะคานกัน นั่นเรื่องของโลกต้องแข่งขัน การต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาชนะกัน เพื่อเอาผลประโยชน์ของตัวเอง นั้นกรรมอย่างหยาบๆ ที่โลกเขาเดือดร้อนกันอยู่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในธรรม “โลกนี้เดือดร้อน ในสโมสรสันนิบาตก็มีความทุกข์ใจ ทุกดวงใจว้าเหว่ ในสโมสรสันนิบาตแม้แต่การรื่นเริง ในการเลี้ยงสังสรรค์กันอยู่เขาก็มีความว้าเหว่ในหัวใจ แต่เขาก็ต้องใส่หน้ากากเข้าหากันอยู่อย่างนั้น ในเรื่องของโลกเขา ทุกดวงใจรู้อยู่ แต่ไม่มีใครยอมรับสภาพตามความเป็นจริง”

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ที่เรามานั่งภาวนากันนี้ ยอมรับความเป็นจริง ยอมเข้าใจว่าเราเป็นโรค เหมือนหมอวินิจฉัยโรค รู้จักโรคแล้วแก้ไขเรื่องของโรคนั้น นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรื่องของใจมันต้องกลับมาทำความสงบของใจ ต้องมาแก้ไขด้วยธรรมโอสถเท่านั้น ถ้าเราเข้าใจธรรมตามธรรมโอสถ เราย้อนกลับเข้ามา นี่คือวาสนา วาสนาว่า ศาสนามีอยู่ ธรรมโอสถมีอยู่ คนจะใช้หรือไม่ใช้

ยากองอยู่ท่วมฟ้าเลย ถ้าเราไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา เราไม่รักษา เราไม่เอายานั้นมาใช้ประโยชน์ เราก็จะไม่ได้ประโยชน์จากยานั้น ธรรมะมีอยู่ในตู้พระไตรปิฎกนะ ใส่ตู้พระไตรปิฎกไว้เต็มวัดเต็มวา เต็มไปหมดทั่วประเทศไทย แล้วไม่มีใครเอาธรรมโอสถนั้นมาใช้เป็นประโยชน์กับตัวเอง มันก็ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเองขึ้นมา นั้นคืออำนาจวาสนาของเขา

แต่ของเรา เราใช้ธรรมโอสถ จะทำใจของเรา เราถึงมีความมุ่งหมายในการประพฤติปฏิบัติ เราถึงมุ่งหมายออกประพฤติปฏิบัติ ออกบวช ออกพยายามทำเนกขัมมบารมี เพื่อใจของเรา เพื่อให้ใจดวงนี้พบกับความสุขตามความเป็นจริง ไม่ใช่พบกับความสุขด้วยความอามิส โลกนี้เป็นอามิสสินจ้าง สิ่งใดจะมีความสุขขึ้นมา ต้องแสวงหาขึ้นมา พอใจของตัวก็เกิดความสุขขึ้นมา ตามความพอใจอันนั้น ก็เป็นของชั่วคราว แล้วก็แสวงหาสิ่งใหม่ๆ ต่อไป เพราะใจนี้ไม่เคยอิ่ม

“โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ” พร่องอยู่เพราะใจของสัตว์โลก ใจของสัตว์โลกมีการพร่องอยู่โดยธรรมชาติของมัน ไม่เคยอิ่มเต็มในอารมณ์ ไม่เคยอิ่มเต็มในความรู้ต่างๆ อยากรู้อยากแสวงหาความรู้ต่างๆ ของมันเข้ามา เพื่อจะให้บำรุงบำเรอมัน ก็ไม่มีความพอใจ ไม่มีความเป็นไปได้ เว้นไว้แต่การประพฤติปฏิบัติดัดแปลงตน พยายามฝึกฝนตน อันนี้ต่างหากถึงเป็นประโยชน์กับเรา

ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เราก็มีความคิด มีความจงใจ มีความตั้งใจจริง แล้วเราประพฤติปฏิบัติ นี่เป็นอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาย้อนกับมาตรงนี้ โลกร้อนถ้าเราออกไปมันก็ร้อนตามเขา ถ้าเราหาที่ร่มเย็น เราก็จะได้ความร่มเย็น เราหาธรรมโอสถของเรา เราพยายามตามหาธรรมโอสถ

ธรรมโอสถในภาคปฏิบัติ มันเกิดขึ้นมาจากน้ำใจ น้ำในหัวใจมันมีจากไหน นี่ก็เหมือนกัน ความร่มเย็นของใจ มันจะเกิดขึ้นเองโดยความสงบของใจ ถ้าใจสงบ อย่างเราอาบน้ำมันก็เย็นที่ร่างกาย เราอาบน้ำ เราชำระร่างกาย เราทำความสะอาดของร่างกาย มันมีความร่มเย็นของร่างกาย แต่ใจสกปรกไม่เคยมีใครอาบน้ำมันเลย ไม่เคยมี น้ำของใจไม่เคยเกิด

สัมมาสมาธิ ความสงบของใจ เห็นไหม น้ำใจนี้เกิดขึ้น มันจะปลดเปลื้องอารมณ์ต่างๆ ปลดเปลื้องความหนักหน่วงของใจ ปลดเปลื้องออกหมดเลย มันจะเวิ้งว้าง มันจะมีความรู้สึก อุปจารสมาธิรู้สึกต่างๆ เวิ้งว้างแล้วยังรู้สิ่งต่างๆ อีก ความรู้สึกในความเย็น ความรู้สึกในความพอใจ มันมีความชุ่มชื่นในหัวใจ ใจต้องชุ่มชื่น ควรแก่การงาน ใจว้าเหว่ ใจทุกข์ร้อนจะไปทำงานได้อย่างไร

ใจนี้เป็นโลก โลกล้วนๆ เลย คิดแต่เรื่องโลก กรรมของโลกเขา คิดอย่างหยาบๆ แล้วก็คิดจินตนาการว่าฉันเป็นนักปฏิบัตินะ ฉันประพฤติปฏิบัติ ฉันพึงทำคุณงามความดี นั้นก็เป็นความคิดของโลกเขาเห็นไหม เพราะมันไม่สงบใจเข้ามาก่อน ถ้าใจสงบลงตัวนั้น แล้วเราค่อยๆ พิจารณาของเรา ค่อยๆ สอดรู้ความเห็นของตัว จับความเห็นของตัวให้ได้ จับอารมณ์ขันธ์ที่เกิดขึ้น กระทบขึ้นมา

สิ่งที่กระทบนั้นมันเป็นสิ่งที่ว่าใจกับขันธ์กระทบกัน กองสัญญา กองวิญญาณ กองเวทนา กองรูป กองสังขาร สังขารคือการปรุงการแต่ง การปรุงการแต่งคือการคิดออกไป การปรุงการแต่งจะได้เชื้อมาจากไหน ได้เชื้อมาจากสัญญา ข้อมูลเดิมในหัวใจที่เป็นสัญญานั้น มันจะแวบขึ้นมาก่อน แล้ววิญญาณรับรู้ วิญญาณรับรู้นั้น สังขารมันคิด คือว่าดีหรือชั่ว พอใจหรือไม่พอใจ สิ่งที่พอใจก็ปรุงยึด สิ่งที่ไม่พอใจก็พยายามผลักไส พยายามปรุงแล้วผลักไส มันก็เป็นไปไม่ได้เห็นไหม

นี่แขกจรมาในหัวใจ มันกระทบกันอยู่อย่างนั้น มันไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ ความคิดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นลอยๆ ฉะนั้นผู้ที่มีปรมัตถ์จิต รู้วาระของจิต จิตสงบเข้าไป มันเห็นการกระทบ มันรู้ได้อย่างนี้ รู้ได้ด้วยการกำหนดเข้าไปดูในหัวใจ มันกระทบสิ่งใด มันคิดสิ่งใด มันจะตามสิ่งนั้นไป นั้นมันเกิดขึ้นในหัวใจ มันมีเห็นไหม มันถึงว่าเป็นธาตุรู้ไง ความสักแต่ว่ารู้นี้เป็นธาตุรู้ แล้วขันธ์เป็นกองนี้กระทบกัน กระทบกันแล้วเกิดขึ้นเป็นอารมณ์ไป แล้วอารมณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นธาตุ มันไม่มีรสชาติของมัน มันมีกิเลสซ่อนอยู่ กิเลสในหัวใจเห็นไหม

โลกของกรรม มันมีกิเลส กรรมตัวใหญ่คือกิเลสที่อยู่ในหัวใจของเรา กิเลสอยู่ในหัวใจของเรา ถึงทำให้เราลังเลสงสัย ทำให้เราไขว้เขวไปทุกๆ อย่าง จะทำคุณงามความดี ตั้งสัจจะ ซื่อสัตย์กับตนเอง ตั้งสัจจะ เป็นผู้ที่มีสัจธรรม สัจจะ ตั้งแล้วเราพยายามรักษาสัจจะของเรา แล้วสิ่งที่ว่ามันจะท้อถอย ลองตั้งสัจจะดูสิ ใครก็ได้ตั้งสัจจะอยากทำคุณงามความดี แล้วมันจะท้อถอย มันจะไม่อยากทำ มันจะมีสิ่งรบกวนความคิดเราตลอดเลย เห็นไหม นั่นล่ะคือกิเลส

สิ่งที่เป็นกิเลสคือการลบล้างคุณงามความดีของใจ มันจะลบล้างคุณงามความดีของใจ แต่ถ้าใจคิดตามความต้องการของเขา เขาจะให้ค่า ให้เราวิ่งตามไปกับเขาเลย วิ่งตามไปกับความคิดอันนั้นเลย แล้วก็คิดกันไป เพราะสิ่งนั้นมันเป็นความเคยใจ กิเลสคือความเคยใจ คือการเกิดและการตายสะสมในหัวใจเรานี่แหละ

กิเลสคือความที่สะสมในใจ ใจเกิดตายมากี่ภพกี่ชาติ หมุนเวียนตามสภาวะนี้เกิดมา แล้วมันสะสมมาจนเป็นจริตนิสัย เป็นจริตนิสัยเห็นไหม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องประพฤติตามจริตนิสัย ตามความเห็นของตัว ราคะจริต โทสะจริต โทสะจริตต้องใช้เมตตา ราคะจริตนี้ต้องใช้พยายามเพ่งอสุภะอสุภัง ดูความเป็นอสุภะ ความไม่สวย ความเปื่อยเน่า ความสกปรกโสมมสิ่งต่างๆ นั้น ลบล้างกับความคิดอันนี้ มันจะชนกับความรู้สึกของตัว มันจะสะเทือนถึงขั้วหัวใจ ถ้ามันสะเทือนถึงขั้วหัวใจ มันก็ไปสะเทือนกิเลส เห็นไหม เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา เราต้องการชำระกรรมอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

เป็นชั้นเป็นตอนถ้ามีปัญญา ถ้าปัญญาแก้ไขได้จะเป็นชั้นเป็นตอน ถ้าปัญญาแก้ไขไม่ได้มันเป็นโลกียะ เป็นกรรมของโลกเขา กรรมของโลกมันก็หมุนอยู่ในกรรมของโลกเห็นไหม โลกเป็นอย่างไรกรรมกระทำอย่างนั้น ทำเพื่อเกิดใหม่เพื่อสะสมใหม่ เพราะมันไม่ได้ชำระกิเลส สิ่งที่ไม่ได้ชำระกิเลสมันก็ต้องเกิดตายในโลก มันก็เป็นกรรมประจำโลก

โลกมันเป็นหมู่สัตว์อย่างนี้ กรรมอย่างนี้ก็มีมาตั้งแต่เรายังไม่เกิด เราเกิดมาก็มีอย่างนี้ เราตายไปมันก็มีอยู่อย่างนี้ แล้วทำไมเราไม่ย้อนกลับมาถึงชีวิตของเราล่ะ โอกาสของเราคือชีวิตที่มีอยู่นี้เท่านั้นนะ ตายแล้วก็แล้วกัน ตายแล้วก็จบ พระพุทธเจ้าไม่สอนคนตาย พระพุทธเจ้าสอนคนเป็นนะ สอนคนเป็น คนที่มีโอกาส คนเป็นมีความรู้สึก มีความดัดแปลงตน คนเป็นมีความพยายามดัดแปลงตน ความเข้าใจของใจได้ ความสื่อความหมายเห็นไหม

คนตายไปแล้วมันเกิดสถานะใหม่ พอตายไปแล้วออกไปนี่สัมภเวสี หรือว่าเสวยภพชาติต่างๆ ก็เสวยภพชาติไป เสวยไปแล้วมันก็เกิดสถานะใหม่ ความรู้สึกใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ เป็นคนๆ ใหม่ไป แต่คือจิตอันเก่า จิตอันเก่าอันนี้ไม่มีใครเคยเห็น ถึงบอกว่าเกิดแล้วก็คือเรา ตายแล้วก็ศูนย์ ตายแล้วก็ไม่มี ถ้าตายแล้วมันไม่มี แล้วมันเกิดมาจากไหน แล้วมันจะหมุนเวียนต่อไป นี้มาจากไหน

ถ้าเกิดแล้วมีชาติเดียว มันก็ต้องบอกว่า เกิดมาในพ่อแม่เดียวกัน พ่อแม่ก็อยากให้ลูกเหมือนกันหมด มันก็ควรจะเหมือนกันสิ ทำไมลูกจากพ่อแม่เหมือนเดียวกันทำไมไม่เหมือนกัน ความคิด จริตนิสัย สิ่งแวดล้อม พ่อกับแม่ก็คนเดียวกัน แต่เวลาอบรมสั่งสอนมันก็อมรบสั่งสอนจากคนเดียวกัน แต่ทำไมลูกถึงไปเป็นจริตนิสัยต่างๆ ไป เพราะจิตดวงที่ไปเกิดอันนั้นต่างหาก จิตดวงที่มาเกิดของเขาสะสมอำนาจวาสนาของเขามาอย่างนั้น

อำนาจวาสนาของเขาเกิดมาอย่างนั้น เขาก็ได้รับกรรมของเขาเห็นไหม กรรมของเขาคือทำให้ความเห็นของเขา เป็นจริตนิสัยของเขาเป็นแบบนั้น แล้วจะแก้หรือไม่แก้ ถ้าแก้ก็ต้องเริ่มทำความสงบของใจ ต้องทำความสงบของใจเท่านั้น ถ้าทำความสงบของใจไม่ได้ มันเป็นโลกียารมณ์ สิ่งที่เป็นโลกียารมณ์นี้ เป็นเรื่องของโลก จะรู้เรื่องพิสดาร เรื่องสวรรค์ เรื่องพญายม เรื่องนาค เรื่องภพต่างๆ จะรู้ขนาดไหน รู้ไปเถิด รู้เพื่อความรู้ รู้เพื่อสะสม รู้ในวัฏฏะ รู้ในวัฏวน รู้ใน ๓ โลกธาตุ ความรู้อย่างนี้มันเป็นประโยชน์กับใคร มันประโยชน์ในหัวใจสัตว์ไหม

ความรู้ในการชำระกิเลสต่างหาก ถ้ากิเลสชำระออกไปจากหัวใจ การชำระกิเลสออกไปอันนั้นชำระด้วยอะไร ด้วยภาวนามยปัญญา ความรู้อย่างนี้เราเกิดขึ้นมา เราก็สะสมของเราไว้ มันเป็นที่จริตนิสัยอย่างที่ว่าเราเกิดมามีอำนาจวาสนา จริตนิสัยของเราดี เราก็สร้างสมของเราได้ ถ้าจริตนิสัยของเราไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ บ้างคนก็ไม่มี เห็นไหม

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ บางคนเห็นต่างๆ รับรู้ต่างๆ เห็นนรก สวรรค์ เห็นไปหมด เห็นแล้วก็สำคัญตน นั่นล่ะ..สิ่งที่ว่าเป็นจริตนิสัย เป็นจิตที่สร้างสมมา ควรจะเป็นประโยชน์กับจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นสะสมอย่างนั้นมา แล้วไม่ตามสิ่งนั้นไป พยายามทำความสงบของใจ แล้วชำระกรรม

กรรมคือความเห็นผิดในเรื่องของกิเลสที่มันขับไส ถ้าจบอันนี้ไปแล้ว มันจะเป็นประโยชน์ สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์เห็นไหม อย่างเช่นเรื่องอภิญญา สิ่งที่เป็นอภิญญานี้เป็นเครื่องมือใช้สอย ในการดักใจคน มันเป็นเครื่องมือ ถ้าคนมีเครื่องมือ การสั่งสอน การรับรู้สิ่งต่างๆ ของโลก มันก็ง่ายขึ้นเห็นไหม ถ้าคนไม่มีเครื่องมือก็จิตสุกขวิปัสสโก จิตสงบแล้ว ก็สงบไปเฉยๆ

ความสงบของใจ ถ้าใจสงบเข้ามา ขอให้ชำระกิเลสได้ ถ้าชำระกิเลสได้ ถึงจะเป็นประโยชน์ ถ้าชำระกิเลสไม่ได้ มันก็เป็นโลกกรรม กรรมของโลก โลกอยู่อย่างนั้น กรรมก็อยู่อย่างนั้น แล้วก็สะสมไป เพียงแต่เป็นกรรมดี เราได้ประพฤติปฏิบัติ เราได้สร้างสมคุณงามความดีนี้เป็นกรรมดี กรรมดีก็ให้ผลเป็นสิ่งที่ดี มันก็เวียนไปเกิดบนสวรรค์ จิตนี้สงบก็เกิดเป็นพรหมเห็นไหม

เวลาทำความสงบ พวกฌาน พวกสมาบัติ ทำให้จิตนี้เกิดบนพรหม แล้วหมดอายุไขของสวรรค์ อายุไขของพรหม ก็วนกลับมาเกิดอีก วนกลับมาเกิดหรือวนกลับไปต่ำกว่านั้น ที่เราเคยใช้คุณงามความดีแล้ว สิ่งที่เป็นบาปอกุศลในหัวใจมันก็ทำให้เกิดสภาวะแบบนั้น สิ่งนี้หรือ..มันเป็นสิ่งที่ชำระกิเลส มันเป็นโลกกรรม

สิ่งที่เป็นโลกกรรมมันก็เวียนอยู่อย่างนั้น มันต้องชำระด้วยภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นมาในศาสนาพุทธนี้เท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมจากภาวนามยปัญญา ตรัสรู้ธรรมด้วยมรรคอริยสัจจังเห็นไหม ในปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่กำหนดปฏิจจสมุปบาท

“บุพเพนิวาสานุสสติญาณ” หมุนไปตามกระแสของใจ ไม่ใช่.. สิ่งนี้ไม่ใช่ มันไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นไปในเรื่องของโลกนี้ ในเรื่องของโลกกรรม ในเรื่องของจิตที่มันเกิดตาย เกิดตายมา นี่เป็นบุพเพนิวาสานุสสติญาณ หมุนไปตามกระแสของอดีตมา แล้วดึงใจกลับมา

“จตูปปาตญาณ” กำหนดรู้ สัตว์ตายแล้วเกิดที่ไหน สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้นไหม รู้หรือไม่รู้ มันก็มีอยู่อย่างนั้น เห็นไหม

“อาสวักขยญาณ” การชำระกิเลส อาสวะในหัวใจหลุดออกไปจากใจ แล้วอาสวะเกิดจากตรงไหน อาสวะเกิดจากใจ มันกระทบกับธาตุขันธ์ สิ่งที่กิเลสมันผูกพันให้เราคิด สิ่งที่คิดนี้กิเลสมันพาคิด มันมีความพอใจ เราต้องจับต้องสิ่งนี้แล้ววิปัสสนาสิ่งนี้ วิปัสสนาอารมณ์ความรู้สึก

อารมณ์ความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มันเกิดขึ้นมาแล้วให้ผลกับใจ ผลนี้ ดีใจ เสียใจ อยู่ตลอดเวลา ดีใจขึ้นมา สิ่งที่ถูกใจมันก็ดีใจ สิ่งที่ไม่ถูกใจ มันก็เสียใจ ความเสียใจ ดีใจนี้มันก็เป็นความฟูของใจอยู่อย่างนั้นตลอดไป อยู่อย่างนั้นเห็นไหม ถ้าเราไม่ชำระกิเลส แต่ถ้าเราจะชำระกิเลส เราก็ต้องแยกแยะสิ่งนี้ เอาสิ่งนี้มาเป็นสมุฏฐาน เป็นที่ตั้งของการงาน กรรมฐานเห็นไหม สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ฐานของการงาน งานในการวิปัสสนาเกิดขึ้นจากตรงนี้ ความรู้ต่างๆ นั้นเกิดขึ้นมา มันเป็นความรู้ตามจริตนิสัย ตามอำนาจวาสนาบารมี

อำนาจวาสนาบารมีของแต่ละบุคคลเกิดตาย เกิดตาย ขึ้นมา สะสมมาเป็นแบบนั้น เราไม่ต้องไปคาดหมาย มันวัดกันไม่ได้ แข่งอำนาจวาสนากันไม่ได้ แข่งบุญแข่งกรรมกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างสะสมมา ระยะเวลายาวไกล สั้นไกล ต่างกัน การเกิดมา ภพชาติยาว ภพชาติสั้น การตัดรอนภพชาติ การพยายามทำคุณงามความดีของเรา มันไม่เหมือนกัน ถึงแข่งกันไม่ได้

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เราต้องแข่ง แข่งกับกิเลสที่มายื้อแย่งในหัวใจของเรา ความรู้สึกของเรามันยื้อแย่งไปใช้ของมันหมด เราต้องพยายามดึงตรงนี้กลับมา ใช้ตรงนี้ดึงกลับมา ดึงกลับมาตรงที่ว่า เวลามันกระทบ วิปัสสนาไม่ไปตามมันเห็นไหม จิตสงบขึ้นมา สงบเข้ามาจนจับต้องสิ่งนี้ได้ แล้วแยกแยะ สิ่งใดเกิดก่อน ต้องจับสิ่งนั้นให้ได้ ย้อนกลับมานะ อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แล้วเสียใจภายหลัง นั่นล่ะ..มันสะสมตรงนี้

สะสมให้เรามีความมานะ มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ สิ่งนี้มันมานะไง มานะในการจะก้าวเดินตามความคิดของตัวให้ทัน เราไม่ทันความคิด ความคิดคิดออกไปแล้ว เราตามไปไม่ทัน เราเป็นผู้แพ้ ในการประพฤติปฏิบัติรอบนี้เราแพ้ รอบต่อไปเราต้องเอาชนะให้ได้ ความจะเอาชนะในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องพยายามตามความคิดของเราให้ทัน ทันเข้าไปบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า จับต้องได้ จนถึงจุดยอด มันเกิดจากอะไร

จับแล้วแยกแยะ แยกแยะความคิด มันจะเห็นนะ ความคิดนี้มันเกิดขึ้นมา ถ้าเราไม่แยกแยะ เราก็ไม่เห็นกิเลสมันสอดอย่างไร กิเลสมันยึดมั่นถือมั่นความเห็นของใจนี้ได้อย่างไร อารมณ์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ความพอใจนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วเป็นเครื่องดำเนินไป เหมือนมืดกับสว่างนี้ มันมีอยู่ในธรรมชาติของมัน เราก็เลยไม่สนใจกับมัน ว่ามืดกับแจ้งนี้เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นมา มืดกับสว่างเป็นของคู่กันโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

แต่เวลามันทุกข์ยากขึ้นมาล่ะ ใจเราเกิดมา เรามีความทุกข์ ต้องหมุนไป วันคืนล่วงไป มืดกับสว่าง ต้องหาอยู่หากิน ต้องพยายามประพฤติปฏิบัติตัวเพื่อเข้ากับเขา อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อใจมันมีอยู่ มันเกิดขึ้นมามันสัมผัส มันกระทบขึ้นมา มันกระทบกันแล้ว มันเป็นธรรมชาติของมันจริงอยู่ แต่กิเลสล่ะ สิ่งที่กิเลสมันยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นอยู่ล่ะ มันยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นอยู่เพราะอะไร เพราะมันเข้าใจว่าเป็นของของมัน ตัวตนเราเกิดเกิดตรงนี้ไง

สิ่งที่จะเป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นตรงนี้ เพราะมีเราถึงมีเขา สิ่งต่างๆ มีเพราะมีเรา เพราะเราเกิดขึ้นมาแล้ว มันถึงรับรู้สิ่งต่างๆ ความรู้ก็อยากจะรับรู้สิ่งต่างๆ อยากรู้เรื่องของโลก อยากรู้เรื่องต่างๆ อยากรู้ไปหมด ความอยากอันนี้มันทำให้การประพฤติปฏิบัติเสียไปเห็นไหม ถึงบอกว่า “สมุทัยซ้อนสมุทัย” สมุทัยคือความตัณหาทะยานอยาก โดยธรรมชาติของสัตว์โลกมีอยู่แล้ว โดยธรรมชาติของมัน

เราถึงต้องทำความสงบของใจ ถ้าเราทำความสงบของใจมา เพื่อยับยั้งสิ่งนี้ไง ยับยั้งตัณหาความทะยานอยากที่มันจะออกไปรู้ พอมันออกไปรู้ โดยธรรมชาติมันก็เป็นกลาง เป็นกลางโดยที่ว่า มันไม่เป็นไปตามกระแสของโลกที่ดึงดูด โลกียารมณ์ ความคิดของโลก ความคิดต่างๆ นี่ โลกกรรม มันเป็นกระแสดึงดูด กระแสดึงดูดความคิดของเราตลอดเวลา สิ่งที่เป็นความคิดของเราตลอดเวลา มันมีเราเข้าไปเจือปนในสิ่งนั้น ทำความสงบเข้ามาให้เป็นกลาง

สิ่งที่เป็นกลาง กลางในสัมมาสมาธิ มันไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทาในการชำระกิเลส กลางในสัมมาสมาธิ เป็นส่วนที่เราหาอุปกรณ์เข้ามาเพื่อจะชำระใจ สิ่งที่ชำระใจ นี่ธรรมโอสถเกิดอย่างนี้ ธรรมโอสถเห็นไหม มีอยู่แล้ว ตำรายาคือพระไตรปิฎก แต่ตัวยาเราต้องประกอบขึ้นมาเอง เราต้องประกอบสัมมาสมาธิขึ้นมา ประกอบการงานชอบขึ้นมา ความเพียรชอบขึ้นมา ให้เป็นมรรคอริยสัจจังขึ้นมาจากในหัวใจ

ยามีอยู่ทั่วโลก มีอยู่กองเท่าฟ้า แต่นั้นเป็นยาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาวางไว้ แต่ยาของเรายังไม่เกิดขึ้นมา ยาของเราจะเกิดขึ้นมา เราต้องพยายามแสวงหาขึ้นมา ธรรมโอสถจะเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาอย่างนี้ เกิดขึ้นมาจากเราแสวงหา เราทำความสงบของใจเข้ามาเป็นกลาง พอเป็นกลางขึ้นมา เราพยายามแยกแยะสิ่งนี้ แยกแยะสิ่งที่กระทบ เพราะเราจะจับต้องสิ่งนี้ได้ การจับต้องสิ่งนี้ได้เห็นไหม พิจารณาการกระทบของใจ ตามความคิดถ้ามันทัน พอมันทันมันก็จับได้ ฝึกฝนจนชำนาญ พอจับได้นี้เป็นขั้นของปัญญา ขั้นของปัญญามันต้องมีการฝึกฝนเห็นไหม

สัมมาสมาธิเรากำหนดเฉยๆ ขึ้นมา มันจะเป็นสมาธิล้วนๆ เข้ามา จะสงบเข้ามา นั้นใช้สัมมาสมาธิ คือการบริกรรม คำบริกรรมนั้นทำความสงบของใจ แต่ขั้นของปัญญาไม่เป็นอย่างนั้น ขั้นของปัญญาต้องใช้ความคิด ต้องใช้ปัญญาแยกแยะออกไป มีสัมมาสมาธินี้เป็นพื้นฐาน สิ่งที่มีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน มันจะเกิดเป็นโลกุตตระ โลกุตตระคือความคิด ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นความคิดโดยที่ว่าเราส่งเสริมขึ้นไป เป็นความคิดเพราะมีสัมมาสมาธิเข้ามายังยั้ง ยับยั้งสิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยากโดยสัญชาตญาณ

ความตัณหาทะยานอยากโดยสัญชาตญาณนั้นเบาตัวลง มันก็เป็นกลาง มันจะใช้ปัญญาใคร่ครวญสิ่งนี้โดยเป็นธรรม เป็นธรรมคือมัชฌิมาปฏิปทา นี่ปัญญาจะเกิดอย่างนี้ เกิดจากการใคร่ครวญศึกษา เราค้นคว้าในอารมณ์ของเรา ค้นคว้าในขันธ์ ๕ ของเรา ในความรู้สึกนั้น ค้นคว้าสิ่งนี้ แยกแยะสิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้ทำให้เกิดอารมณ์ สิ่งนี้ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ถือตัวตนของเรา แล้วก็หมุนออกไป นั่นล่ะ..ทำลายกันตรงนี้

ปัญญาเกิดอย่างนี้แล้วใคร่ครวญตลอดไป ใคร่ครวญตลอดไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าหลายครั้งเข้า จะเกิดความสุข ความพอใจขึ้นมา นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณากาย กายกับจิต สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณากายก็จับต้องสิ่งนี้เหมือนกัน แล้วแยกแยะอย่างนี้เหมือนกัน จับต้องขึ้นมาเห็นไหม จับต้องจนจิตสงบเข้าไป จนเป็นอัปปนาสมาธิยิ่งดี เพราะจิตสงบขนาดไหน ออกมาเห็นกาย ถ้าจับภาพกายได้ กายจะใส กายจะตั้งมั่น เหมือนจอทีวี ถ้าจอทีวีเครื่องไม่เสีย ภาพมันจะคงที่เห็นไหม ถ้าทีวีจอเสีย ภาพมันจะเคลื่อนมันจะไหว

จิตถ้าไม่สงบ จับภาพนั้นแล้วไม่อยู่ นั้นวิปัสสนาไม่ได้เรื่อง ถ้าจับภาพนั้นอยู่เพราะจิตมันสงบเห็นไหม ถ้าไม่สงบเราต้องกลับมาทำความสงบของใจ พอทำความสงบของใจแล้วกลับมาจับภาพนั้นให้ได้ พอจับภาพแล้วขยายภาพนั้นคือปฏิภาคะ

สิ่งที่ปฏิภาคะ คือการแยกส่วน แยกแยะส่วนต่างๆ ของสภาวะของสิ่งที่เห็น สิ่งที่เห็นนี้มันเป็นปฏิภาคะ คือการแยกออกไป การแยกการขยายส่วนนั้น มันเป็นอนิจจัง มันเล็กใหญ่ มันเป็นสิ่งที่ว่าขยายเล็กขยายใหญ่ เกิดให้เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ทำลายตัวเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งอนิจจัง สิ่งนี้ไม่เป็นสิ่งที่คงที่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา ถ้าสิ่งนี้เป็นของเรา เราต้องสงวนรักษามันได้ เราต้องแก้ไขมันได้ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ของๆ เรา เป็นไปโดยสัจธรรม

โดยความเป็นจริงนี้ ร่างกายนี้ยืมเขามา ยืมเขามาชั่วชีวิตหนึ่งเท่านั้น แล้วมันต้องแปรสภาพไป เราตายไปแล้ว ศพนี้ก็ต้องเผาไฟทิ้ง ต้องเอาไปฝังไว้จนมันแปรสภาพกลับเป็นธรรมชาติเดิมของมัน อันนั้นเป็นการตายของสัตว์โลก แต่ในการชำระกิเลสนั้น กิเลสมันตายคาหัวใจ เกิดขึ้นในหัวใจแล้วเห็นสภาวะตามความเป็นจริงในหัวใจ แล้วมันสลัดทิ้งออกไปจากใจ ที่ว่าตายก่อนตาย มันตายอย่างนี้ไง

ตายก่อนตาย เพราะเรารู้สภาวะความเป็นจริง ตายก่อนตาย สิ่งที่กิเลสมันตายไป แล้วหัวใจมันตายไหม หัวใจมันไม่ตาย หัวใจมันรู้แจ้ง รู้แจ้งตามความเป็นจริง มันปล่อยวางตามความเป็นจริง ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง “กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์” แยกออกจากกัน สักกายทิฏฐิ ๒๐ หายไปออกไปจากใจ ความว่าเป็นเราเป็นเขาในตัวตนไม่มีเห็นไหม

สิ่งที่ไม่มีในตัวตน ในเรา ในเขานั้น มันขาดโดยธรรมชาติของมัน ขาดโดยสัจธรรมนะ ธรรมชาติคือสัจธรรมตามความจริง ไม่ใช่ธรรมชาติลอยๆ มานะ ธรรมชาติลอยๆ มานั้นเป็นไปไม่ได้ ถึงบอกว่ามันปล่อยวาง มันปล่อยวางนั้นเป็นอำนาจของสมาธิ สมาธิมันมีกำลังขึ้นมา มันจะปล่อยวางสิ่งนั้น การปล่อยวางสิ่งนั้นมันเป็นการปล่อยวางโดยอำนาจของสมาธิ มันปล่อยวางโดยไม่มีเหตุไม่มีผล

สิ่งที่ไม่มีเหตุไม่มีผลนั้นใช้ไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ว่ามันไม่ถึงจุดหมายปลายทาง โครงการต่างๆ มันไม่จบสิ้นกระบวนการของโครงการนั้น มันปิดโครงการไม่ได้ โครงการนั้นจบไม่ได้ ถ้าโครงการนั้นจบไม่ได้ ความรู้แจ้ง มันจะรู้แจ้งได้อย่างไร ความรู้แจ้งนั้นมันต้องปิดโครงการนั้นทั้งหมด รู้ตามโครงการทั้งหมด แล้วปิดโครงการ ผลกำไร ขาดทุน ในโครงการนั้นจะเข้ามาในหัวใจของเรานี้ว่า อ๋อ..โครงการนี้เราได้กำไรขึ้นมา ด้วยการตัดมานะทิฐิในตัวตนของเราออกไปจากใจ ตัดขาดออกไปจากใจ ออกไปโดยธรรมชาติของมันเลย

แต่ความรู้โดยธรรมชาติ มันเป็นโดยธรรมชาติของเขา อันนี้มันเป็นภาวนามยปัญญาเห็นไหม ตามความเป็นจริงนี้ธรรมเหนือกิเลส มันมีอำนาจเหนือกิเลส มันถึงชำระกิเลสออกไปจากใจได้ แต่รู้แจ้งตามธรรมชาติ มันไม่มีเหตุไม่มีผล รู้อย่างนั้นมันปล่อยวาง ปล่อยวาง ความปล่อยวางบ่อยนั้น มันถึงต้องทำบ่อยครั้งเข้า

การจะสำเร็จถึงจบสิ้นโครงการ ก็คือการเข้าไปกำจัดแล้วแยกแยะบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า คือเราไม่หยุดอยู่ตรงกลาง ไม่หยุดอยู่ตรงปลาย จะเป็นต้น เป็นกลาง หรือเป็นปลาย ไม่สน หน้าที่ของเราคือหน้าที่แยกแยะในการประพฤติปฏิบัติ ในการใช้ปัญญาแยกแยะสิ่งต่างๆ เห็นไหม แยกแยะว่าขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ อารมณ์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่อารมณ์ มันเกิดดับในหัวใจ แล้วมันหมุนไปโดยธรรมชาติของมัน ไม่มีใครรู้ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรม สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ลึกลับซับซ้อนมาก

แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แล้ววางธรรมไว้ เป็นธรรมโอสถ เราตามธรรมโอสถมา เราสร้างสมขึ้นมา เราสะสมของเราขึ้นมา มันถึงเป็นประโยชน์ของเรา เป็นปัญญาของเรา แล้วปัญญาของเราชำระกิเลสออกไปจากใจ พ้นออกไปจากใจ เหมือนกัน พิจารณากายก็เหมือนกัน พิจารณากายเพราะกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย มันจะปล่อยวางตรงนี้ ปล่อยวางแล้วจะเหมือนกัน

การก้าวเดินมา การก้าวเดินเข้าไปหาเป้าหมายที่หนึ่ง ทางไปมีหลายทาง มันเป็นจริต เป็นนิสัย ถ้าตรงจริต ตรงนิสัย ปฏิบัติง่าย ปฏิบัติแล้วสะดวก แล้วเข้าถึงทำลายกิเลสได้โดยตรง แต่ถ้าไม่ตรงจริตนิสัยมันก็ต้องมีความผิดพลาด มีการพยายามสาวหาต้นเหตุ สาวอยู่นั่นแหละ ผิดถูก ผิดถูก อยู่อย่างนั้น มันไม่ก้าวเดินไง นี่มันถึงว่า กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ สิ่งใดก็ได้ กาย เวทนา จิต ธรรม มันอยู่ที่ไหน อยู่ในหัวใจเรา ร่างกายเรานี้ หัวใจกับร่างกายนี้ วิปัสสนา

ต้นไม้เกิดขึ้นมาจากพื้นดิน ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เกิดจากดินทั้งหมด เกิดจากแผ่นดิน แผ่นดินนี้เป็นที่อยู่ของต้นไม้ สิ่งก่อสร้างต่างๆ นี้ก็เหมือนกัน ความรู้แจ้งเกิดขึ้นมาจากการค้นคว้ากายกับใจเท่านั้น เพราะใจนี้มันอยู่ในร่างกายนี้ แล้วมันสะสมสิ่งนี้ มันอยู่ในร่างกายแล้วมันเข้าใจผิด หลงผิดไป หลงผิดไปเพราะเป็นกรรมของโลก กรรมของโลกเขาเห็นไหม นี้..กรรมของธรรม ใช้กรรมเหมือนกัน การกระทำคือกรรมดี ภาวนามยปัญญานี้คือกรรมการกระทำของเราทั้งหมดเลย แล้วมันชำระออกไป ชำระสิ่งความเห็นผิดของเราออกไป

ความเห็นผิดในร่างกายว่า “ร่างกายเป็นเรา เราเป็นร่างกาย สิ่งต่างๆ เป็นเรา” ตัวตนเกิดตรงนี้ ทำลายตรงนี้เข้าไปแล้ว ตัวตนอย่างหยาบ ตัวตนเริ่มต้นเป้าหมายแรก โดนทำลายออกไป เราพยายามยกขึ้นก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินต่อไปในความเห็นของเรา ในความเห็นนั้น ความเห็นมีไหม มี ความรู้มีไหม มี ความรู้สึกอันนั้น สาวตรงนั้น สาวตรงความรู้สึกอันนั้นเข้าไป

ความรู้สึกของเราอยู่ที่ไหน พยายามสาวตรงนั้น สาวด้วยอะไร ด้วยสัมมาสมาธิ ด้วยความสงบของใจ ใจพยายามทำความสงบให้มันสูงขึ้นไป เพราะมรรคหยาบ มรรคละเอียดเห็นไหม บันไดขั้นที่ ๑ บันไดขั้นที่ ๒ บันไดขั้นที่ ๓ มันสูงขึ้นเรื่อยๆ การทรงตัวของเราก็ต้องพยายามตั้งตัวให้ตรง เพื่อทรงตัวอยู่ในบันไดที่สูงขึ้น จิตก็เหมือนกัน จิตในเมื่อมันสูงขึ้น ๑ ๒ พอขึ้น ๒ ขึ้นไป การทรงตัวของมันก็ต้องมีสัมมาสมาธิที่ละเอียดอ่อนขึ้นไป เพราะมันไม่ใช่ภาวะของขั้นที่ ๑ มันเป็นภาวะของขั้นที่ ๒ ที่เราจะก้าวเดินต่อไป

เราจะก้าวเดินถึงขั้นที่ ๒ เราต้องทำความสงบของใจเข้ามา แล้วสาวในสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น งานในการประพฤติปฏิบัตินี้คือสติปัฏฐาน ๔ นอกจากอย่างอื่นแล้ว เป็นข้างนอกไป ความเห็นต่างๆ จะเห็นขนาดไหนนั้น มันเป็นเรื่องของจิตส่งออก จิตรับรู้ จิตส่งออกไปขนาดไหน มันทำให้ใจนี้มีมานะทิฐิในความเห็นของมัน เพราะกิเลสในหัวใจนั้นมันเสี้ยมสอน

กิเลสในหัวใจของเรามันข่มขี่ใจของเรา มันย่ำยีใจของเราอยู่ทั้งดวงใจแล้ว มันยังไม่พอใจ มันต้องการให้ใจนี้ย่ำยีสัตว์โลกอีกเห็นไหม “ฉันมีอำนาจ ฉันมีความรู้ ฉันใหญ่กว่า ฉันรู้เรื่องต่างๆ ฉันรู้เรื่องแปลกประหลาด” เห็นไหมนั่นน่ะกิเลสมันหลอกอย่างนี้ แล้วก็ออกไป นี่ส่งออกอย่างนี้ไง มันจะส่งออกไป เพราะใจมันลึกลับขึ้นไป มันสูงขึ้นความเห็นของสมาธิ ความเห็นของจิตมันสูงขึ้นไป

สิ่งที่สูงขึ้นไป มันก็ต้องรับรู้สิ่งต่างๆ สูงขึ้นไป เราต้องพยายาม ต้องใช้สติยับยั้งไว้ ถ้ามีสติยับยั้งไว้ มันจะส่งออกไป พยายามดึงไว้ น้อมจิตเห็นไหม เวลาเราน้อมจิตไป รำพึงของจิต จิตที่มีสัมมาสมาธินี้มันเกิดปัญญาได้เพราะอะไร เพราะเราน้อมจิตได้ เราควบคุมจิตได้ สัมมาสมาธิเป็นอย่างนี้

สัมมาสมาธิคือมีความรู้ในหัวใจ แล้วมันยับยั้งใจ แล้วมันรำพึงได้ ความคิดอันอ่อนๆ ในหัวใจ ธรรมดาถ้าบอกว่า “จิตสงบแล้วความคิดจะดับ” อันนั้นเป็นอัปปนาสมาธิ อันนั้นเป็นการรวมใหญ่ พอใจรวมใหญ่เข้าไปแล้ว มันจะตัด ดับหมด สิ่งที่ดับหมดเห็นไหม ถึงบอกว่าอัปปนาสมาธินี้วิปัสสนาไม่ได้ ต้องถอนออกมาอุปจารสมาธิ ถอนออกมา แล้วถึงจับต้องสิ่งใดๆ แล้ววิปัสสนาสิ่งนั้น เพราะอะไร เพราะมันรำพึงในหัวใจ

ปัญญามันเกิดตรงนี้ ปัญญาถ้าไม่มีสัมมาสมาธิขึ้นมา มันก็ไม่เป็นมรรค สิ่งที่จะเป็นมรรค มรรคอริยสัจจัง มรรค ๘ คือมรรค ๔ ผล ๔ มรรคนี้มันต้องมีสัมมาสมาธิ ต้องมีสัมมาสติ ต้องมีสัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาทุกอย่าง การเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาอาชีโวในหัวใจ มันจะพอดีของมัน มันต้องถอนออกมา มันถึงเกิดขึ้นในหัวใจของเราได้ มันถึงยับยั้งใจได้ มันถึงดัดแปลงใจได้ มันถึงดึงตนไว้ไม่ให้ฟุ้งซ่านออกไป หรือรับรู้สิ่งต่างๆ ที่มันจะเผ่นออกไปข้างนอก

สิ่งต่างๆ นั้นมันดัดแปลง มันกระทบกระเทือนใจแล้ว ใจมันจะออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ เพราะมันเป็นจริตนิสัย ถ้านิสัยเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น นิสัยถ้ารู้เรื่องภายนอกตลอดเวลา มันจะออกรู้แต่เรื่องสิ่งข้างนอก มันไม่อยากทำงานข้างใน ต้องบังคับมัน บังคับด้วยสติ บังคับด้วยความเห็นของเรา เราจะบังคับตัวเราเข้ามา บังคับความเห็น บังคับหัวใจ บังคับกลับมา ย้อนกลับมาวิปัสสนาภายในหัวใจ

ในสติปัฏฐาน ๔ “กายนอก กายใน กายในกาย” กายมีหลายชั้นหลายตอนนัก ไม่ใช่ว่าเราพิจารณากายแล้ว “ฉันทำมาแล้ว เรื่องของกายจบกระบวนการแล้ว ฉันต้องทำสิ่งอื่นต่อไป..” มันยังมีกายอีก “กายในกาย” กายที่มันละเอียดอ่อนเข้ามา อย่างกายของเรานี้เราจับต้องกายของเรา มันก็เป็นกายของเราเห็นไหม เรานึกถึงกายของเราสิ เราก็นึกเหมือนกันเห็นไหม..

“กายใน” ความรู้สึก ความนึกคิดว่าเป็นกายของเรา นั่นล่ะ ก็จับเข้าไป เพราะจิตมันรับรู้ จิตรับรู้จิตก็ยึดมั่น จิตยึดมั่นจิตก็เป็นทุกข์ จิตที่เป็นทุกข์ เราจะแก้ไขสิ่งนั้น สิ่งที่เป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะมันยึดสิ่งของปลอม สิ่งนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเป็นของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นอาศัยแค่ชีวิตหนึ่งเท่านั้น เมื่อถึงชีวิตแล้วต้องทิ้งร่างกายนี้ไปหมดทุกๆ คน

ทุกๆ คนที่เกิดมาแล้วต้องตายหมดในจักรวาลนี้ ไม่มีสิ่งใดๆ ที่จะคงที่เลย เป็นไปไม่ได้ เว้นไว้แต่นิพพานเท่านั้นที่จะคงที่ คงที่พร้อมกับจิตที่มันมีอยู่นี่ จิตนี้คงที่ เกิดตายตลอดเวลา แล้วจะหมุนเวียนในวัฏวน เวียนในวัฏวน เวียนในภพ ในนรก ในอินทร์ ในพรหม จะเวียนไปตลอด จิตดวงนี้จะเวียนไปตลอด แต่มันได้สถานะใหม่ขึ้นมา มันก็ว่าเป็นคนใหม่ มันไม่เข้าใจอดีต อนาคต ของมัน เพราะมันไม่ได้ทำวิปัสสนาเข้าไปเลาะถึงข้อมูลเดิมของจิตไง

ถ้าจิตมันเข้าไปเลาะข้อมูลเดิมของจิตแล้ว มันจะเข้าใจเลยว่า จิตดวงนี้มันมา แล้วน่าสลดสังเวช ทุกๆ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เข้าถึงจุดแล้วจะสลดสังเวชตัวเอง “ทำไมมันโง่เง่าขนาดนี้ ทำไมเราหลงใหลได้ปลื้มไปกับโลกเขา ทำไมเราหลงใหลไปกับวัฏวน” จิตนี้หมุนไปกับวัฏฏะอยู่ตลอดไป หมุนไปอย่างนี้ นี่มันถึงหมุนไป หมุนไปเพราะกิเลสพาหมุน แต่นี้ธรรมะพาหมุนกลับ

สัมมาสมาธิ สัมมากัมมันโต มรรคอริยสัจจัง งานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ เลี้ยงจิตดวงนี้ชอบ จิตดวงนี้ต้องเลี้ยงด้วยมรรคอริยสัจจัง มรรคอริยสัจจังหมุนเวียนเข้ามา เกิดมาจากจิต เพราะจิตเป็นผู้สร้าง จิตเป็นผู้สร้างอาการอย่างนี้เกิดขึ้นมาจากในหัวใจ อาการอย่างนี้เกิดขึ้นมาเป็นมรรคอริยสัจจัง หมุนในหัวใจ แล้วมรรคมันจะหมุนรวมตัวออกไป ชำระสมุจเฉทปหาน ขาด! ใจกับกายจะแยกออกจากกัน กายในก็ต้องขาดออกไปโดยธรรมชาติของมัน ขาดออกไปเลยด้วยอำนาจของภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญาเกิดจากการดำริของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นประเสริฐขึ้นมา จากกรรมของโลกเป็นกรรมของธรรม กรรมของโลกจะเดือดร้อน วุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ร้อน มีแต่การเผาลนใจ กรรมของธรรมจะทำให้ธรรมนั้นชุ่มเย็นในหัวใจ หัวใจจะมีความชุ่มเย็น หัวใจมันจะพ้นออกไปจากความหลงผิดในความอุปาทานของใจ มันจะมีความสุข จะมีความเวิ้งว้างขนาดไหนก็แล้วแต่ ต้องตามตลอดไป ตามเข้าไป กายในกาย กายของจิต ยังมีกายของจิต ยังมีกายลึกซึ้งเข้าไปอีกเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ยังมีขันธ์อันหยาบ ขันธ์อันละเอียด ขันธ์ของจิต ขันธ์อยู่ภายในใจ ถ้าขันธ์ภายในใจมันยังมีอารมณ์ความรู้สึก ความสุขเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ ธรรมะของในหัวใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเป็นพื้นฐานรองรับความสุขอันนี้โดยพื้นฐาน มีความสุขมาก ขณะที่ประพฤติปฏิบัติถึงจุดนั้น

แล้วพอเริ่มต้นก้าวเดินออกไป จะมีความทุกข์ ความทุกข์เพราะกิเลสอันละเอียดนั้นมันพยายามต่อต้าน ความทุกข์อันที่ว่าต้องต่อต้านนั้น นั่นล่ะความเพียรของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทุกขั้นตอนขึ้นไป มันถึงเป็นการเอาชีวิตเข้าแลกไง ไม่ได้ได้มาโดยง่ายๆ หรอก สิ่งที่ว่าประพฤติปฏิบัติ กิเลสนี้เป็นแก่นของกิเลส มันอยู่ในหัวใจ แล้วมันย่ำยีใจดวงนี้มาตลอด แล้วมันจะปล่อยให้ใจดวงนี้เป็นอิสระออกไปโดยอำนาจของมัน พญามารที่ไหนมันจะยอม

พญามารไม่เคยปล่อยให้สัตว์โลกนี้ หมุนเวียนไปอยู่โดยอิสรเสรีภาพ ไม่มี สัตว์โลกใน ๓ โลกธาตุนี้ เป็นขี้ข้าของพญามารทั้งหมด เว้นไว้แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงจุดพ้นออกไปจากอำนาจของเขา เห็นไหม พ้นจากอำนาจของเขา เขาก็พยายามจะแสวงหา พยายามผลักไส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พญามารพยามยามดลใจ พยายามอาราธนาให้นิพพานเถิด.. นิพพานเถิด... องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วสอนนะ ไม่อยากสอนโลก แต่เพราะพรหมนิมนต์ แล้วความเห็นของตัว แล้วพญามารจะนิมนต์ให้นิพพาน “ถ้าศาสนาของเรา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงต่างๆ ของลัทธิต่างๆ ได้ เมื่อนั้นเราจะไม่นิพพาน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมจนมีสาวก มีอัครสาวกต่างๆ จนแน่นหนา สุดท้ายแล้วพญามารก็พยายามจะมานิมนต์ตลอดเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในบั้นปลายเห็นไหม “อานนท์เราบอกเธอไว้แล้วไม่ใช่หรือถึง ๑๖ ครั้ง ให้อาราธนาไว้ ถ้าอาราธนาไว้ เราจะนิ่ง ๒ หน หนที่ ๓ เราจะรับอาราธนาของเธอ” คือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปก็ได้

แต่เพราะพญามารดลใจเห็นไหม ดลใจทั้งพระอานนท์ไม่ให้พระอานนท์เข้าใจเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่พระอานนท์เป็นพหูสูต ไม่เข้าใจอุบายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บอก สุดท้ายแล้วพอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน มารก็นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “มารเอยเธออย่าเดือดร้อนไปเลย ตั้งแต่นี้ต่อไปอีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน เพราะบัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถ...”สามารถคือมีความรู้ในหัวใจ สามารถคือมีความเห็นของใจ ใจนี้มั่นคง ใจนี้เป็นธรรม แล้วสามารถกล่าวคำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ

ลัทธิต่างๆ จะจาบจ้วงธรรมอันละเอียดในหัวใจเห็นไหม ธรรมคือหัวใจที่เป็นธรรม หัวใจที่เป็นธรรมจะเข้าใจเรื่องของกิเลส กิเลสมันจะมาไม้ไหน ใจมันจะเข้าใจหมด นั่นล่ะพญามารอย่างนั้น แล้วมันจะปล่อยให้เราพ้นออกไปจากอำนาจของมัน เป็นไปไม่ได้ ถึงว่าทุกข์อันละเอียด ทุกข์อย่างข้างบนนี่มันเป็นทุกข์ที่ว่า เราต้องต่อสู้ เราจะพ้นจากกิเลส พ้นจากกรรมทั้งหมด

กรรมของโลกเป็นกรรมโลก อันนี้มันเป็นกรรมของธรรม เริ่มเป็นกรรมของธรรมที่เราพยายามสร้างสมขึ้นมาแล้ว เราต้องพยายามทำความสงบของใจ แล้วพยายามจับต้องสิ่งนี้ให้ได้ จับต้องกายของกายในให้ได้ ถ้าจับต้องกายในได้ มันจะเป็น อสุภะ อสุภัง ถ้าจับต้องจิตได้ มันจะเป็นจิต มันจะเป็นขันธ์อันละเอียดในหัวใจ

ขันธ์อันละเอียด ขันธ์กับจิตที่มันละเอียดอยู่นี้ มันสะสมไว้แล้วมันหลอกลวงกันอยู่ในหัวใจ มันถึงเป็นกามราคะ มันถึงเป็นความชุ่มของกาม กามกับใจเห็นไหม ใจมันหลง หลงในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันหลอกลวง ขันธ์ ๕ ว่า สิ่งใดทุกๆ อย่าง มันเป็นความสวย ความงาม สิ่งใดมันเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์ น่าบันเทิง น่าสนใจในหัวใจอย่างนั้น นั่นล่ะ ขันธ์มันหลอกใจอย่างนั้น

อสุภะก็คือความสกปรกโสมมของมัน เพราะลอกหนังออกจากร่างกายแล้ว ร่างกายนั้นมีแต่เลือดแดงๆ มันเป็นไปไม่ได้ ที่สิ่งนั้นมันจะเป็นสิ่งที่ให้ใจนั้นหลงใหลไปกับมัน แต่มันเป็นสุภะ สุภะคือความสวยงามก็ได้ อสุภะเป็นความไม่สวยงามก็ได้ อยู่ที่ใจเราตั้ง เราตั้งใจของเราแล้ววิปัสสนาไปอย่างไรมันก็จะเป็นผลอย่างนั้น

แต่ความทุกข์อันละเอียด กิเลสอันละเอียดที่มันอยู่ในหัวใจ มันจะสร้างสถานการณ์ สร้างความเห็นต่างๆ ให้เราเข้าใจผิด ให้เห็นผิดเห็นไหม ความเห็นผิด ความเพ้อ ความหลุดพ้นออกไป ความหลุดไม้หลุดมือ เริ่มต้นจากการก้าวเดินเข้าไปต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันจะหลอกให้ย้อนกลับ ย้อนกลับว่าสิ่งนี้เป็นผล สิ่งนี้เป็นความพอใจ สิ่งนั้นเป็นความสำเร็จ สิ่งนี้เป็นการกระทำ มันสร้างเป้าลวง แล้วเราก็พยายามวิปัสสนาเป้าลวง มันเพราะอะไร เพราะความสงบของใจไม่พอ สมถกรรมฐานไม่พอ ย้อนกลับมาสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานจะเกิดจากความสงบของใจ ใจสงบเข้าย้อนกลับเข้ามาในหัวใจ พยายามจับสิ่งนี้ แล้วพลิกแพลง

ถ้ามันพลิกแพลงไปมันจะเป็นงาน งานจากข้างนอก ถ้าเราเริ่มต้นวิปัสสนา มันจะวิปัสสนายาก ปัญญามันจะไม่ก้าวเดิน มันจะอยู่ในความสงบของใจ ใจมีความสงบ รับรู้สิ่งต่างๆ รับรู้เรื่องนิมิต เรื่องความเห็น มันว่ามันเป็นปัญญา อันนั้นเป็นปัญญาที่หลงผิด แล้วเราพยายามก้าวเดินจนถูกต้อง พยายามพลิกแพลงใจ ย้อนกลับมา ดึงไว้ก่อน ดึงไว้กับใจ ไม่ให้มันออก พอไม่ให้มันออก พลังงานก็จะสะสมขึ้นมา จนเกิดพลังงานสะสมขึ้นมา แล้วเราวิปัสสนา หัดวิปัสสนา จนมันเข้าใจแล้ว ปัญญามันถึงเกิด

แต่วิปัสสนาในอสุภะ อสุภังนั้น ปัญญามันกระชากไปนะ มันกระชากหมุนเวียนออกไป จนเราพยายามคิดว่าการประพฤติปฏิบัติต้องใช้ปัญญา ปัญญาเท่านั้นชำระกิเลส ปัญญาเท่านั้นฟาดฟันกิเลสมา ที่กิเลสมันขาดออกไปจากใจนี้ เพราะอำนาจของปัญญาทั้งนั้น ฉะนั้นเราต้องใช้ปัญญาให้มาก แต่เราไม่ใช่ปัญญา ปัญญามันก็หมุนออกไป ต้องพยายามกำหนดสัมมาสมาธิ ต้องทำความสงบของใจ ต้องการพลังงาน

ในเมื่องานสูงขึ้น ที่สูงขึ้นไป การทรงตัวของจิตมันก็ต้องสูงขึ้น การทรงตัวของจิตสูงขึ้น มันต้องใช้สติ มหาสติ มหาปัญญา เกิดตรงนี้ มหาสติ มหาปัญญาพยายามใคร่ครวญ ย้อนกลับเข้ามา ทำความสงบของใจ ให้ใจสงบให้ได้ ตรงนี้ใจจะไป “อุทธัจจะ กุกกุจจะ” นี้คือความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจะ ในสังโยชน์เบื้องบน มันเป็นการเพลินในงาน มันเป็นการวิ่งเข้าใส่งานอย่างเดียว จิตนี้ปล่อยปุ๊บ มันจะวิ่งเข้าหางาน ถ้าไม่วิ่งเข้าหางาน มันก็โดนหลอกชักให้เข้าไปหางาน มันโดนหลอกเห็นไหม

พอหลอกเข้าไปในงาน มรรคไม่สามัคคีเห็นไหม เพราะอะไร เพราะสัมมาสมาธิไม่พอ ถ้าสัมมาสมาธิไม่พอ เลี้ยงชีวิตผิด ความเป็นมัชฌิมาปฏิปทาไม่เกิด ความพอดีของมันไม่เกิด ความพอดีไม่เกิดมันก็หมุนไปทางปัญญามาก เพราะกิเลสมันตีกลับ กิเลสจากข้างล่าง กิเลสมันจุดไม่ติด ไฟมันจุดไม่ติด แต่นี้พอไฟจุดติดแล้ว มันเผา เผาทั้งความเห็นของตัว เผาทั้งสมบัติของเรา เผาบ้านเผาเรือนหมดเลย เผาบ้านเผาเรือนจนเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นมาไม่ได้ มันอยู่อย่างนี้เพราะอะไร เพราะพญามารต้องการความคงตัวของมันอยู่ไว้ หลอกให้เราหมุนเวียนผิดพลาดออกไป นี่คือการวิปัสสนาผิดพลาด

ต้องพยายามดึงกลับมาที่สัมมาสมาธิให้ได้ ดึงกลับมาสร้างความสงบของใจให้ได้ พยายามทำความสงบของใจ พอมันสงบแล้วค่อยออกไปวิปัสสนาใหม่ ถ้าออกไปวิปัสสนาใหม่ มันจะเป็นงานใหม่ขึ้นมา เพราะเราสดชื่น เพราะเราควรแก่การงาน เพราะเรามีพลังแล้วเราจะออกไปทำงานได้ เราไม่ใช่คนอ่อนแอ คนที่ก้าวเดินก็แทบไม่ไหว แล้วจะไปแบกสิ่งที่มีน้ำหนัก เป็นไปไม่ได้

ย้อนกลับเข้ามา พยายามทำความสงบของใจ นั้นต้องรั้งกัน สิ่งที่รั้งไว้เห็นไหม อุทธัจจะ ความเพลิน ความหมุนเข้าไปในงาน นั่นล่ะเป็นสังโยชน์ตัวหนึ่ง มันออกมาจากกิเลสนั่นล่ะ กิเลสพยายามทำให้เราผิดพลาดไป ย้อนกลับเข้ามาทำความสงบของใจ บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งทุกอย่าง ทุกอย่างจะบ่อยครั้ง เพราะเริ่มต้นจากไม่เป็น มันเป็นจากส่วนล่าง นั้นเป็นส่วนล่าง จากส่วนบนมันไม่เป็น เพราะเราทำงานในที่สูง ทำงานในพื้นดินอย่างหนึ่ง ทำงานในที่สูงอย่างหนึ่ง ทำงานในที่สูงมันต้องทรงตัวอีกอย่างหนึ่ง การทำงานในที่สูง ทรงตัวแล้วพยายามสร้างสมบ่อยๆ พยายามฝึกหัดอยู่อย่างนั้น ใช้ปัญญาหมุนออกไป จนถึงที่สุดแล้ว ในเมื่อภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น

ธรรมโอสถเกิดขึ้นมาจากเรา พยายามผสมยาของเราเอง เราหายา หาสัมมาสมาธิ เลี้ยงชีวิตคือเลี้ยงด้วยยาธรรม เลี้ยงด้วยธรรมะชอบ จนหัวใจนี้เข้าใจตามความเป็นจริง หัวใจมันฉลาดขึ้นมา หัวใจมันโง่มันถึงได้ติดพันกับขันธ์อยู่ภายใน พอหัวใจฉลาดขึ้นมา เพราะอำนาจของปัญญา มันปล่อยขาด สิ่งที่ขาดเวิ้งว้าง โลกของกรรมอยู่ตรงนี้ โลกของกรรมกับโลกของธรรม

ถ้าจิตมันพลิกอีกทีหนึ่ง มันจะเป็นผลประโยชน์ขึ้นมา มันต้องพยายามค้นคว้าสิ่งนี้ให้ได้ ถ้าค้นคว้าจิต พบจิตเห็นไหม ถ้าไม่ค้นคว้าจิต มันก็จะนอนจมอยู่ตรงนั้น เพราะมันเป็นกรรมอันละเอียด สิ่งที่เป็นกรรมอันละเอียด สิ่งที่เหมือนกับแทบจะสุดวิสัย เหมือนกับสุดวิสัยของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัตินี้เหมือนกับจะสุดวิสัย เหมือนจะทำไม่ได้

แต่ทำไมครูบาอาจารย์ทำได้ล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนสาวกไว้มากมายมหาศาล รื้อสัตว์ขนสัตว์ออกไปมากมายมหาศาล แล้วเราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง สัตว์โลกคือเรา เราเป็นสัตว์ตัวหนึ่งในวัฏวน แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเรา ทำไมมันจะเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปได้เพราะเราสร้างสมขึ้นมา เราสร้างสมของเราขึ้นมา เพราะความเชื่อของเรานี้เป็นตัวลากเข้ามา ความเชื่อความศรัทธานั่นล่ะ นี้ก็เหมือนกันพยายามสะสม สิ่งที่เป็นไปได้มันจะเป็นไปได้ เพราะจิตตัวนี้

พูดถึงนะ มันไม่มีเหย้าเรือน ขันธ์นี้เปรียบเหมือนเรือนของใจ ใจนี้อาศัยขันธ์นี้ออกหาเหยื่อตลอดไป แล้วทำลายขันธ์อันละเอียดหลุดออกไปจากใจ มันถึงไม่มีเรือนเห็นไหม มันไม่มีเรือน มันก็เป็นโลกว่าง โลกที่ว่าง เขาบอกว่าโลกนี้เป็นความว่าง เป็นอย่างนี้ โลกนี้ว่างหมดเลย มันไม่เกี่ยวกับโลกเขา มันอยู่ของมันโดยอิสระ แล้วมันเป็นธรรมไหม นั่นล่ะ ถ้ามันเป็นธรรม แล้วใครรู้ว่าว่าง สิ่งที่รู้ว่าว่างมันก็ยังมีตัวตนอยู่ไหม นั่นล่ะอัตตาและอนัตตาอยู่ตรงนั้น พยายามทำตรงนั้น แล้วยกขึ้นวิปัสสนาซ้ำเข้าไปตรงนั้น วิปัสสนาเป็นญาณเห็นไหม อาสวักขยญาณเกิดตรงนี้

อาสวักขยญาณจะเกิด เกิดการชำระกิเลส ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วจับต้องได้ สร้างสมขึ้นมาจนมันเป็นของมัน มันต่างกัน ต่างกันจากการพิจารณาขันธ์ มันจะเป็นขันธ์กับจิตกระทบกันรุนแรง มีการต่อสู้ เพราะเป็นข้าศึก แต่ตัวนี้มันไม่มี มันเป็นสิ่งที่ว่าตัวมันเองจะเผาผลาญตัวมันเอง เหมือนกับก้อนถ่าน ถ่านที่มันลุกไหม้ขึ้นมาในตัวมันเอง ถ่านดำๆ นั่นล่ะ เวลามันติดไฟขึ้นมา มันก็เผาตัวมันเอง

แต่ถ้าฟืน มันมีไฟ มันมีอะไร มันก็ออกไปเหมือนกัน นี้เหมือนกัน พอมันเผาตัวมันเอง อาสวักขยญาณจะเป็นแบบนั้น ทำลายตัวเอง ทำลายจิต พ้นออกไป จิตนี้พ้นออกจากกิเลส พ้นออกจากโลกกรรม โลกในวัฏสงสาร ใน ๓ โลกธาตุ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ก็พ้นออกไป กรรมก็ไม่มี กรรมนี้เป็นเรื่องของโลกทั้งหมด เรื่องของธรรมเป็นกิริยาเท่านั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้กิริยานี้สอนโลกมา ๔๕ ปี ครูบาอาจารย์ ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีธรรมอยู่ในหัวใจ ก็เป็นกิริยาธรรมโดยสมบูรณ์ ถ้าเราปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติแล้วไม่เข้าใจ ผู้ที่ปฏิบัติเฉยๆ แล้ว เข้าใจว่าตัวเองได้ธรรม เป็นความเข้าใจนั้นมันก็เป็นกรรมล้วนๆ ไม่มีกิริยาหรอก เป็นกรรม เป็นการยึดมั่นถือมั่นของใจ แต่เพราะตัวเองไม่รู้

สักวันหนึ่งต้องรู้ รู้เพราะอะไร เพราะทุกข์มันอยู่ในหัวใจ มันต้องแสดงตัวเด็ดขาด ในหัวใจของเรามันมีกิเลสอยู่ มันต้องแสดงตัว ถ้าแสดงตัววันไหน เราก็รู้ตัววันนั้น ถ้ารู้ตัววันนั้น ก็คือเราพลาดมาตลอดเห็นไหม เราต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ในปัจจุบันนี้เรามาถูกทางแล้ว เราเจอครูบาอาจารย์ เราพยายามเพิ่มเติมของเรา นับหนึ่งจากเดี๋ยวนี้ขึ้นไปให้ได้ แล้วมันจะพ้นจากกิเลสไปทั้งหมด เอวัง