เทศน์บนศาลา

ใจทรงมรรคทรงผล

๒๓ ส.ค. ๒๕๔๕

 

ใจทรงมรรคทรงผล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๕
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อากาศส่วนอากาศ เราภาวนาของเรา พยายามภาวนาเอาใจให้ได้

เกิดมาตายทุกคน เกิดมาต้องตายทั้งนั้น เวลาตายไปแล้ว มันไม่สูญสิ้น ตายแล้วไม่ตายไปเลย ตายแล้วมันยังเวียนว่ายตายเกิด แต่ขณะที่ตายไปแล้วมันจะไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ ปัจจุบันนี้ประเสริฐมาก ประเสริฐที่ความเข้าใจของเรา เราเข้าใจเรื่องธรรม แล้วเรามีการแสวงหา เราพยายามหาทางออกของเรา เราจะหาทางออกของเราให้ได้ ออกไปเพื่อพบกับความสุข วิมุตติสุข สุขอันประเสริฐ ไม่กลับมาเวียนตายเวียนเกิดอีก เกิดจากการภาวนา

การภาวนานี้เป็นทางอันเอก เป็นทางที่จะพ้นจากทุกข์ได้ นอกนั้นไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสงสารสัตว์โลกมาก ทรงมีเมตตาธรรมต่อสัตว์โลก อยากให้สัตว์โลกนี้ไปด้วยความสะดวกสบายที่สุด แต่มันไม่มีทางไหนจะเป็นไปได้ นอกจากการประพฤติปฏิบัติ การนั่งภาวนา เรานั่งภาวนาของเรา เราพยายามทำของเรา แล้วให้ประสบความสำเร็จของเรา เราตั้งใจของเรา อันนี้ล่ะประเสริฐที่สุด สมบัติที่มีคุณค่าที่สุด อยู่ตรงนี้

สมบัติในโลกมันเป็นสมบัติของโลกเขา เราไม่เกิดมา โลกนี้ก็มีสมบัติอยู่แล้วมหาศาลเลย เพียงแต่ว่ามันก็เวียนมา เพียงแต่เขาหล่อหลอมขึ้นมาจากแร่ธาตุต่างๆ เช่นเป็นทองคำ เขาขุดเป็นเหมืองแร่ขึ้นมา แล้วเขาก็หล่อขึ้นมา มันเป็นของมีอยู่ในโลกนี้

แต่เวลาหัวใจเราตายไปแล้ว มันไม่อยู่ในโลกนี้ มันเวียนตาย เวียนเกิดในวัฏฏะ ในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ ในกามภพตั้งแต่เทวดาลงมา จิตนี้เคยเกิดมาทั้งหมด จิตนี้เวียนตาย เวียนเกิดโดยกิเลส ใจนี้มีกิเลสอยู่ในหัวใจ เวียนตายเวียนเกิดเป็นธรรมชาติของมัน เราจะมาปราบกิเลสในหัวใจของเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ชี้ทางไว้เท่านั้น เราต่างหากเป็นผู้ที่จะหาหนทางของเรา หาหนทางของใจ ใจของแต่ละดวง หนทางของใจแต่ละดวงอยู่ที่หนทางของความสะดวกสบาย จริตนิสัยของใจที่จะพ้นออกไปจากกิเลส ใจทรงกิเลสไว้ กิเลสอยู่ในหัวใจมันก็เป็นอย่างนี้ แล้วถ้าใจทรงมรรคทรงผล เราพยายามแสวงหามรรค มัคโคทางอันเอก หาทางออกไปให้ได้ แล้วผลจะเกิดโดยธรรมชาติ โดยสัจธรรม

ธรรมนี้เป็นผู้ให้ผล ธรรมนี้โดยมรรคาเครื่องดำเนินจะให้ผลตามความเป็นจริง แต่ถ้ากิเลสจมในหัวใจเราก็เวียนตายเวียนเกิดตามธรรมชาติของมัน เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะอย่างหนึ่ง เวียนตายเวียนเกิดในอารมณ์ของเรา ในอารมณ์โลก อารมณ์ความรู้สึกของเรา เวียนตายเวียนเกิดในสมบัติดั้งเดิม ความคิดเกิดดับอยู่ในหัวใจตลอดเวลา คิดใหม่ คิดเก่า สุมความคิดเข้ามาในหัวใจ เกิดดับเห็นไหม เสวยอารมณ์ก็ภพชาติหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ ปัจจยาการของใจ ใจกับขันธ์กระทบกัน แล้วเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมาในหัวใจ นี่การเกิดตายในอารมณ์ของเราแต่ละวัน วันหนึ่งๆ จิตเสวยอารมณ์ก็ยกขึ้นมา

เวลาจิตไม่เสวยอารมณ์ เรานั่งพักผ่อน เรามีความสบายใจ มีความเย็นใจ มีความสะดวกสบายใจ ใจมันไปไหน? มันไม่เสวยอารมณ์มันปล่อยวางทุกอย่าง มันสบายใจของมัน สบายใจชั่วครั้งชั่วคราว พอยกขึ้นเสวยอารมณ์มันก็กระทบอีก มันก็เกิดในอารมณ์ เกิดในปัจจุบันธรรม แต่เราไม่ทันปัจจุบันธรรมของเรา เราถึงไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้มันเป็นการกระทบกันเกิด เวลาอารมณ์ขึ้นมา เราก็ตามอารมณ์ไป เวลามันปล่อยวาง เราก็ปล่อยวางตามประสาของเรา เราปล่อยวางเพราะจิตมันไม่เสวยอารมณ์

มันปล่อยวางไว้เฉยๆ นั้นก็เป็นธรรมชาติของจิตอันหนึ่ง เวลาเสวยอารมณ์ก็เป็นธรรมชาติของจิตอันหนึ่ง เพราะจิตมันมีกิเลสอยู่ในหัวใจ มันถึงต้องพลิกแพลงตามประสาของกิเลสในหัวใจที่พลิกแพลงพาจิตนั้นเคลื่อนไหวไป ความเคลื่อนไหวไปของจิต เราไม่เคยเข้าใจสิ่งนี้ เราถึงไม่เห็นสมบัติของเรา

สมบัติที่มีคุณค่ามหาศาล คือ หัวใจของสัตว์โลก หัวใจของสัตว์โลกมันเป็นตัวปฏิสนธิวิญญาณ เกิดในวัฏวน ในกามภพ รูปภพ อรูปภพต่างๆ นี้มันเกิดได้ตลอด แล้วมันเกิดมาเป็นเรา เรามีโอกาสอยู่ชั่วอายุขัยของเรา ถ้าอายุขัยของเรายังมีอยู่ เรามีโอกาสของเราที่จะหาทางออกของใจให้ได้ ถ้าเราตายไปแล้ว การเกิดใหม่ สถานะใหม่ มันไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรอก

เราคิดว่าเราตายไปแล้ว เราสร้างสมบุญกุศลไว้ เกิดเป็นเทวดาแล้วจะไปปฏิบัติสะดวกสบายบนเทวดานั้น พอไปสถานะใหม่แล้วมันไม่คิดอย่างนี้หรอก เพราะอะไร? เพราะความคิดของเรา มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดอยู่ตลอดเวลา แต่เดิมเราคิดอย่างไรมา เราเชื่อในศาสนามั่นคงขนาดไหน? เรามีความตั้งใจมั่นคงขนาดไหน? เราเชื่อของเรา มันก็เป็นความเชื่อ แต่ความเชื่อนี้มันพัฒนาเพราะเราทรงมรรค ทรงผล มรรคาเครื่องดำเนินของศาสนาพุทธ

เราทำบุญทำทานกัน แล้วเราฟังธรรมกันอยู่ มันทรงมรรคขึ้นมา เราถึงมีความใส่ใจอยากประพฤติปฏิบัติ มันอยู่ใกล้ธรรม มันอยู่กับธรรม มันถึงวนเวียนไป การคบกับบัณฑิต เราถึงมีความศรัทธา มีความตั้งมั่นในหัวใจ ถ้าเราคบคนพาล คนพาลจะบอกว่า เราอยู่ในโลก เราควรจะหาความสุขในโลกดีกว่า เราจะมาทรมานตนเพื่อทุกข์ยากไปทำไม เราเกิดมาก็แสนทุกข์แสนยากแล้ว ควรหาความสุขใส่ตนให้ชีวิตนี้ นั่นล่ะคนพาล พาลเพราะว่ามันผลาญอายุขัย ผลาญชีวิตของเรา ผลาญเวล่ำเวลาของเราไปโดยที่ว่าเราไม่รู้สึกตัวเลย

วันคืนล่วงไปๆ ชีวิตนี้ตัวเลขที่ได้มาคือ เวลาที่ล่วงเลยไป เราไม่พยายามแสวงหามรรคาในหัวใจขึ้นมา ทรงมรรคให้ได้ โลกนี้เวลากิเลสทรงในหัวใจของสัตว์โลก สัตว์โลกทำไปตามอำนาจของเขา เขาเวียนตายเวียนเกิดในอารมณ์ของเขา เวียนตาย เวียนเกิดในความคิดของเขา ตรึกจนตกผลึกในหัวใจแล้ว มันก็เป็นจริตนิสัย ความคิดของเขา คิดออกไปตามกระแสอารมณ์โลก

เรามีความใฝ่ใจในศาสนา เราใฝ่ใจในธรรม ธรรมบอกว่าให้ดำรงชีวิตชอบ นี้คือมรรคาอันหนึ่ง มรรคาในทางของโลกเขา โลกเขามรรคาในการเลี้ยงชีวิตชอบ ในการประพฤติปฏิบัติชอบ ในการถือศีล การประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นมรรคาของโลกเขา เป็นโลกียะ ส่วนที่เป็นโลกียะมันหมุนเข้ามา

เราพยายามหาความสงบของเราให้ได้ ถ้ามีความสงบของเราขึ้นมา ถึงจะทรงมรรคได้ตามความเป็นจริง มรรคจะเกิดขึ้นมา เราทรงมรรคแล้วจะเป็นผลขึ้นไปในเบื้องหน้า ถ้าเราทำถูกต้อง แต่ถ้าเราทำไม่ถูกต้อง ผลนั้นมันจะไม่เกิด เราจะทรงมรรคขนาดไหน เราว่าเป็นมรรค นี่เป็นความคิดของกิเลส กิเลสมันว่าเป็นมรรค เพราะมันมองไปทางโลก

เลี้ยงชีวิตชอบนี่ก็เป็นมรรคแล้ว เราจะไปทำอะไรให้มันโลภมากหนักไปกว่านี้ แต่เขาไม่รู้ว่าการชำระกิเลส การฆ่ากิเลส ต้องพยายามเพิ่มสัจจะ เพิ่มสติ เพิ่มปัญญาของเราขึ้นไปขนาดไหน ปัญญาของเราเริ่มความคิด เริ่มต้นประพฤติปฏิบัติมันก็เริ่มท้อแท้อ่อนแอ เพราะว่ามันเหมือนกับว่าเราจะไม่มีอำนาจวาสนา เราจะก้าวเดินไปไม่ได้ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะไม่มีโอกาสวาสนาเลย เวลากิเลสมันยุแหย่ในหัวใจ กิเลสมันเสี้ยมสอนในหัวใจ มันเสี้ยมสอนไปอย่างนั้น เสี้ยมสอนให้คนอยู่ในอำนาจของมันตลอด

กิเลสในหัวใจของเราไม่ต้องทรงมันมีโดยธรรมชาติ เพราะการเกิดนี้กิเลสพาเกิด เราเกิดมานี้มีกิเลสโดยธรรมชาติ มีอยู่จริงๆ กิเลสในธรรมชาติ ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่มาเกิด มันไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาโดยลอยๆ มาได้ มันต้องมีกิเลส มีอวิชชา ความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ แล้วความไม่รู้อยู่ในธาตุรู้ได้อย่างไร?

ธาตุรู้นี้เป็นธาตุรู้โดยธรรมชาติของมัน ธาตุรู้ปกคลุมโดยอวิชชาโดยความไม่รู้ของใจ ใจไม่รู้ เจอวันนี้ก็เป็นวันนี้ เมื่อวานนี้เพิ่งผ่านมามันก็ไม่ยอมรับ เราว่าปัจจุบันนี้วันนี้จะมีเฉพาะวันนี้ จะมีเฉพาะเบื้องหน้าเราเท่านั้น อนาคตนี้ก็ฝันเฟื่องไปตลอดเวลา ฝันว่าอยากประสบความสำเร็จจากความคิดของเราตลอดไป นั้นกิเลสเสี้ยมไป กิเลสมีอยู่ในหัวใจอย่างนี้ มันถึงทำให้เรามาเกิดในภพมนุษย์นี้ แต่มันมีอำนาจวาสนาว่าเป็นมนุษย์

ถ้าเราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นไปได้ ในพระไตรปิฎกมีอยู่มากมาย ที่ว่า มนุษย์ตายแล้วมาเกิดเป็นสุนัข โตเทยยพราหมณ์เป็นผู้ที่มีสมบัติมาก เป็นผู้ตระหนี่ถี่เหนียวในสมบัติของตัวเอง พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตอยู่ไม่เคยสนใจ ตายแล้วเกิดไปเป็นสุนัข เวลาเสด็จไปบิณฑบาต สุนัขตัวนี้ก็ตระหนี่หวงอยู่ มาเห่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“โตเทยยพราหมณ์ เธอเกิดเป็นมนุษย์เธอก็ตระหนี่ เธอเกิดเป็นสุนัขเธอก็ตระหนี่”

คนใช้ในบ้านได้ยินก็ไปบอกลูกชาย ลูกชายไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าพูดอย่างนั้นจริงหรือ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้พิสูจน์กันว่า สุนัขนี้เพิ่งเกิดมา ให้กลับไปที่บ้านแล้วเรียกว่าพ่อ เพราะโตเทยยพราหมณ์ เป็นพ่อของเขา ให้ไปเรียกพ่อ ให้เลี้ยงอาหารให้อิ่มหนำสำราญ แล้วขอสมบัติ

เขาทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เมื่อสุนัขตัวนั้นอิ่มหนำสำราญดีแล้ว ไปตะกรุยที่เขาฝังทองคำเอาไว้ ขุดขึ้นมาทองคำเป็นไหๆ เลย

มันสลดสังเวชเป็น ๒ ชั้น ชั้น ๑ สมบัติของเราควรจะเป็นประโยชน์กับเรา เพราะเราตระหนี่ถี่เหนียว เพราะเราผูกพันกับมัน ตายไปแล้วมาเกิดเป็นสุนัขเฝ้าสมบัตินั้น โดยไม่รู้สึกตัวเลย คนเราเกิดมาเป็นสุนัขก็ได้ เป็นอบายภูมิก็ได้ ถ้าเราไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราจะไม่มีโอกาสอย่างนี้เลย เห็นพระก็ได้แต่เห่า เห็นพระกระดิกหาง อยากจะทำบุญกุศลก็ไม่มีโอกาส เขาไม่มีโอกาสเห็นไหม ในเมื่อใจของเขาก็ต้องการความสุข

สัตว์โลกนี้ต้องการความสุขทั้งหมด ทุกสัตว์โลกต้องการความสุข รักนวลสงวนตัว รักชีวิต อยากหาความสุขทั้งนั้นเลย

แต่ของเขามีโอกาสได้เท่านั้น เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้เรามีโอกาสวาสนามาก แล้วชั่วชีวิตของเราจะมีโอกาสมากขนาดไหน? ทำไมเราไม่เร่งรีบความเพียรของเรา ความเพียรของเราจะเอาชนะกิเลสของเราได้ จะชนะกิเลสต้องมีมรรคา

มรรคาเครื่องดำเนิน เริ่มจากอย่างหยาบ เราพยายามทำสะสมขึ้นไป จนเกิดเป็นมรรค ในจินตมยปัญญา ในภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นในหัวใจ มันต้องดัดแปลงตน การจะดัดแปลงตนมันต้องมีกำลังใจ มีความใส่ใจ ใจต้องพยายามเพิ่มกำลังใจของตัวเองขึ้นไป การดัดแปลงตน การนั่งสมาธิ การงานต่างๆ งานแบกหามต่างๆ ถ้าเราจำเป็นต้องทำเราก็พอทำได้ และมันทำได้ง่ายๆ ด้วย ทั้งๆ ที่ต้องออกแรง ออกกำลังมากขนาดนั้น เพราะอะไร? เพราะมันเป็นวัตถุที่แบกหามได้

แต่การบังคับใจมันแสนยาก ใจของเรามันอยู่ในหัวใจของเรา เรานั่งสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย และพยายามกำหนดสติ กำหนดพุทโธๆ พุทโธๆ เพื่อให้มันนิ่งให้มันอยู่กับเรา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

“ใจสงบเท่านั้น ใจนี้พลิกแพลงใจ ใจนี้เป็นเครื่องกำจัดกิเลส”

อำนาจของใจ พลังงานของใจ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากใจนั้นมันเป็นมรรค เป็นภาวนามยปัญญา แต่ปัจจุบันนี้เรายังไม่เกิด เราเกิดมรรคาโดยความเห็นชอบ ในการเลี้ยงชีวิตชอบ เครื่องดำเนินมรรคาของโลกเขา มรรคอย่างหยาบๆ มรรคของโลกเขาเป็นโลกียะ โลกียารมณ์ โลกียมรรค แต่มันก็เป็นประโยชน์ จะบอกว่าไม่เป็นประโยชน์เลยไม่ได้

มันเป็นประโยชน์จากเราก้าวเดิน เราสะสมขึ้นมา เราต้องสะสมขึ้นมาจากเรา เราจะสะสมขึ้นมาจากสิ่งที่เรามีอยู่ ถ้าเราปฏิเสธสิ่งนี้ แล้วเราจะไปหามรรคโดยที่ว่ามาจากอากาศ มาจากมรรคของครูบาอาจารย์ มาจากมรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มาเกิดกับเราเลย มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในเมื่อเรายังไม่ทำของเราขึ้นไปเลย มันถึงต้องก้าวเดินจากโลกียารมณ์นี้ อารมณ์ที่เป็นโลกียะนี้ มันเกิดขึ้นได้ แต่พัฒนาขึ้นไป มันก็เป็นมรรคอย่างหยาบๆ มรรคคือว่าต้องการความดี

กิเลส ตัณหาความทะยานอยาก ความอยากที่อยากจะดัดแปลงตน อยากที่ว่าเราพยายามสร้างสมคุณงามความดี อันนี้เป็นมรรค มรรคอย่างหยาบ มรรคอย่างโลกเขา แต่เราก็สะสมขึ้นมา แต่ถ้าเป็นกิเลสมันฉุดกระชากลากเราไปในสิ่งที่เป็นอบายมุข เป็นผลลบกับหัวใจ ในความที่อยากใหญ่ ในความมักมาก ความต้องการต่างๆ มันฉุดกระชากลากไป ความคิดอย่างนั้น มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องมีการกระทำเกิดขึ้นมา เราควรจะหาความพลิกแพลงของเราเพื่อที่จะได้ ผลประโยชน์จากสิ่งนั้นขึ้นมา กิเลสมันเสี้ยมสอนออกไป เราจะได้สิ่งใดขึ้นมา เราจะได้มาด้วยความชอบธรรม

ถ้าเป็นความชอบธรรมนั้นไม่ใช่กิเลส นั้นเป็นหน้าที่ มรรคาเครื่องดำเนิน ความเพียรชอบ การงานชอบ งานของเรามีอยู่ การประกอบต้องอาชีพมีอยู่แล้ว จนเราเห็นว่าการประกอบอาชีพทางโลก เป็นทางโลก แล้วเราออกมาประพฤติปฏิบัติ ออกมาบวช ออกมาเพื่อเป็นพระ เป็นเณร เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ เพื่อพยายามทำความสงบของใจ เพื่อพยายามสร้างสมมรรคขึ้นมาให้ในหัวใจ ให้มันทรงมรรค

ถ้าจะทรงมรรคได้ ต้องทำความสงบของใจ ถึงจะทรงมรรคได้ มรรคจะเกิดขึ้นมาจากสัมมาสมาธินี้ก่อน ถ้าสัมมาสมาธินี้ไม่เกิดขึ้น มรรคจะมาจากไหน? มรรคก็เป็นโลกียะ มันเป็นความคิด มันเป็นบุญกุศล มันเป็นอามิส โลกนี้มีอยู่เรามีเครื่องดำเนินไปในโลกขนาดไหน เราก็จะเจริญงอกงามไปในโลกเขา อยู่ในโลกเขาก็ชื่นชมกันว่า คนนี้เป็นคนดี แต่ดีกับชั่ว การประพฤติปฏิบัติข้ามพ้นทั้งความดีและความชั่ว ความดีมันก็ติดเห็นไหม

เราทำคุณงามความดี เราตายไปเกิดบนสวรรค์ ถ้าทำคุณงามความดี ใจที่ฝักใฝ่ในคุณงามความดี มันเป็นอาการหัวใจที่เบา เวลาใจนี้ออกจากร่างมันต้องลอยขึ้นสูงแน่นอน ไม่ต่ำหรอก ในเรื่องของความเป็นอกุศล มันเป็นความคิดกดถ่วง มันเป็นความหนักหน่วงของใจ เวลาใจมันดับไปแล้วมันตกไป เพราะความหนักหน่วงของใจมันก็ตกไปเบื้องล่าง นี้เป็นธรรมชาติ เป็นสัจธรรมความจริงโดยใครจะปฏิเสธหรือไม่ปฏิเสธ นั้นเป็นเรื่องของเราปฏิเสธ แต่ความจริงที่มันเกิดขึ้นในหัวใจ มันต้องเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน โดยสัจจะความจริงของเขา

สัจจะความจริงของเขา นั่นคือตัวธรรม ธรรมคือสัจจะ คือความจริงอันคงที่ จนเกิดอริยสัจจะ อริยสัจจะความเป็นจริงจากภายใน จริงแท้จริงแน่นอน จริงตามส่วนสัดที่เราสะสมขึ้นมา ให้มันทรงในหัวใจให้ได้ ถ้าใจทรงมรรคขึ้นมาได้ มรรคาคือเครื่องดำเนิน มันต้องดำเนินต่อไป มรรคาทรงไว้แล้วต้องดำเนิน ถ้าเราดำเนินขึ้นไป เราดำเนินเพื่ออะไร? เพื่อให้มรรคานี้ฟาดฟันกับกิเลส เพื่อฟาดฟันกับสิ่งที่ปิดบังหัวใจ แล้วกดถ่วงหัวใจนี้ไว้ในอำนาจของเขา มันเป็นการทรงกิเลส

เวลาเราทรงมรรค เราคิดดี ความคิดดีอยู่กับเรา เกิดจากใจ แล้วก็อยู่กับใจ เราคิดชั่ว ความคิดชั่วเกิดจากใจ ใจมันคิดชั่ว มันก็เสวยอารมณ์ในทางชั่ว ใจคิดดีมันก็เสวยอารมณ์ในทางดี นั่นล่ะมรรคาเกิดขึ้นจากตรงนี้ มรรคาเกิดขึ้นจากที่เราแยกส่วนออกมา การที่กิเลสมันจะดึงไป มันเป็นเรื่องของกิเลส ใจนี้ไม่เป็นอิสระ เหมือนกับน้ำ ถ้ามันอยู่ในแก้ว น้ำใสๆ เราอาจจะไม่เห็นไม่เข้าใจเลยว่ามันมีน้ำเลยก็ได้ ถ้าเราเติมสีลงไป เราจะเห็นว่าน้ำเป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีอะไรก็แล้วแต่ มันจะเกิดสีขึ้นมา มันก็จะเห็นภาพชัด

นี่ก็เหมือนกันจิตคงที่อยู่เฉยๆ เหมือนน้ำใสๆ น้ำปรกติ แล้วมันเสวยอะไร? มันเสวยสีอะไร? เสวยอกุศลมันก็เป็นกิเลสพาไป ถ้ามันเสวยเป็นมรรค เสวยเป็นความดี มันถึงเป็นโลกียารมณ์ สิ่งที่เป็นโลกีย์ มันเกิดจากเรา เราศึกษาธรรม เราศึกษาด้วยสุตมยปัญญา ศึกษาธรรมเพื่อจะเริ่มต้นปฏิบัติของเรา

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นไป เริ่มต้นจากพยายามหักห้ามใจ หักห้ามความคิดให้เป็นน้ำใสก่อน แต่เดิมน้ำเป็นน้ำสี น้ำสีนั้นหมองไปด้วยสีของเขา สีสกปรก สีขุ่น สีสวยงามก็แล้วแต่ มันก็มีความพอใจ ความดีก็มีความพอใจในความดีนั้น แล้วความดีนั้นก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ความคิดของเราก็เป็นอนิจจัง จรมาเป็นชั่วครั้งชั่วคราว จรมาในความคิดของเรา แล้วก็เกิดดับอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็เป็นอยู่อย่างนี้ นี้คือสัจจะ นี้คือธรรมชาติความจริงอย่างนี้

ถ้าเราใช้ธรรมชาติ ความจริงนี้ขึ้นมา เป็นวิธีการ เป็นวิถีที่เราจะก้าวเดินขึ้นไป ให้เราทรงมรรคขึ้นมาได้ ทรงมรรคอย่างหยาบแล้วทรงมรรคอย่างละเอียด ทรงมรรคอย่างละเอียดได้ ต้องทำความสงบของใจ ถ้าทำความสงบของใจได้ นั้นจะเริ่มต้นจากการทรงมรรค ถ้ายังทรงไม่ได้ ยังหาสิ่งต่างๆ ที่เป็นงานของใจไม่ได้ ถ้าหางานของใจไม่ได้ เราก็ไม่เห็นอาการของใจ ไม่เห็นสิ่งที่เกาะเกี่ยวไป

สิ่งที่เกาะเกี่ยวไป สิ่งที่อาศัยการดำเนินกันไปนั้น มันมีกิเลสอยู่ตรงนั้น กิเลสนี้อาศัยเครื่องธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้เป็นเครื่องหากิน จะผูกโกรธ จะมีอารมณ์เกิดขึ้นมามันต้องกระทบกันแล้วมันถึงเกิดอารมณ์ขึ้นมา สิ่งที่เป็นอารมณ์นี้ ถ้ากิเลสมันผูกมัดขึ้นไป มันจะมีอารมณ์เพิ่มมากขึ้นๆ จนไม่สามารถยับยั้งอารมณ์ของตนเอง จนถึงที่สุดแล้ว ถ้ามันได้ระบายออกไปแล้ว มันก็จะผ่อนคลาย ถ้าไม่ได้ระบายออกไป มันก็อัดอั้นตันใจอยู่อย่างนั้น มันสะสมอย่างนี้ไปๆ เป็นจริต ไปจนเป็นนิสัยออกไปอย่างนั้น เราพยายามให้เห็นสภาวะอย่างนี้ ถ้าเห็นสภาวะตามสัจจะ ตามความเห็นของใจ มันจะแก้ไข มันจะดัดแปลงตนเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จากมรรคหยาบๆ นี้ให้เป็นมรรคละเอียดขึ้นมา

สัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นมาได้ด้วยความตั้งใจของเรา สติสำคัญที่สุด ถ้ามีสติอยู่การทำความเพียรนั้นจะเป็นการทำความเพียรตลอด ถ้าไม่มีสติอยู่ ความเพียรนั้นสักแต่ว่า สติสำคัญมาก สตินี้มันจะเริ่มต้น ความระลึกรู้อยู่ เราระลึกขึ้นมา สติจะเกิดขึ้นมา แล้วเราพุทโธไปตลอด สติ มันก็จะจางไปๆ แล้วมันก็จะหายไป แล้วเราก็ต้องตั้งสติใหม่ ฝึกอย่างนี้

ฝึกโดยธรรมชาติของมัน สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นมาตลอด แล้วเรากำหนด พุทโธเข้าไปๆ จิตมันได้ควบคุมอยู่ จนมันเข้าทาง เข้าทางของความสงบตัวลง เข้าทางของการไม่ออกมาเสวยอารมณ์ต่างๆ มันสงบตัวได้ด้วยสติสัมปชัญญะของเรา ได้ด้วยการบังคับของเรา ด้วยความพยายามของเรา เรามีความพยายาม เรามีความเข้มแข็งของใจ ใจสามารถกำราบใจของตัวเองไว้ในอำนาจของตนเองได้ ตนเป็นที่พึ่งเห็นตนอย่างนี้

ถ้าตนพยายามบังคับตนเข้าไป เป็นที่พึ่งขึ้นมา เพราะเราบังคับเรา บังคับเราให้เราเข้าอยู่ในความสงบ แล้วผลจากการบังคับของเรานี้ เป็นผลจากความสงบของใจ ใจที่ได้รับความสงบมันจะมีความสุข ความสุขของใจ มันจะเวิ้งว้าง มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันอยู่ที่อำนาจวาสนา มันอยู่ที่คนทำได้มากได้น้อย คนทำได้มากมันก็เข้าไปได้ลึกมาก คนทำได้อย่างกลางมันก็เข้าได้อย่างกลาง มันเข้าได้ตลอด บางคนทำตั้งนาน ไม่เคยได้ผลเลย มันไม่ได้ผลเพราะว่าสติของเราไม่พร้อม และความเพียรของเรา มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่สัมมาสมาธิ ไม่ทำความเป็นกลาง

เราหน่วงไปต่างๆ เราเป็นคนขี้สงสัย น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ มันลังเลสงสัยไปตลอด สงสัยแม้แต่การประพฤติปฏิบัติของเรา สงสัยในการทำความเพียรของเรา เรานั่งสมาธิอยู่แล้ว พอจิตมันจะลง มันจะลงได้อย่างไร? มันไม่น่าจะลง ความสงสัยมันกวนใจตลอด มันกวนใจของใจให้ไม่มีความสงบได้ มันกวนใจของเรา ให้เราขึ้นมา ขุ่นมัวตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะเราสงสัยเอง

ถึงต้องมีศรัทธาความเชื่อ เชื่อให้มั่นคง สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้ทำได้จริง มันมีอยู่จริงๆ ความรู้สึกเราก็มีอยู่ มันฟุ้งซ่าน เพราะธรรมชาติของมันฟุ้งซ่านไป ความฟุ้งซ่านมันต้องสงบตัวลงได้ ถ้ามันสงบตัวลงได้ ดูอย่างเช่น เวลาที่เรานั่งเพลิน เวลาเราสบายใจนั่งเพลินๆ ทำไมมันปล่อยวาง มันสบายใจได้ สิ่งนั้นเอามาคิดว่ามันเกิดขึ้นมาในหัวใจเรา

หัวใจเราฟุ้งซ่านได้ มันก็ต้องสงบตัวลงได้ มันเป็นไปได้ เราก็ตั้งสติไปๆ อยู่ที่อินทรีย์ด้วย บ่มอินทรีย์ของเรา สะสมสิ่งนี้มา พยายามทำความสงบของใจ ใจสงบลงได้ พอสงบลงไปๆ แล้วรักษาไว้ รักษาใจให้สงบ มันจะมีความสุขของมัน สงบขึ้นมาแล้ว พอเราออกให้สังเกตการเข้าและการออก ให้จำการที่มันเข้าไปครั้งแรกได้

เวลาจิตสงบขึ้นมา มันสงบขึ้นมาเพราะเหตุใด? เราวางใจอย่างไรถึงสงบ? ตรงนี้สำคัญมาก สำคัญเวลาที่มันเข้าไป ถ้าเราไปเกร็งอยู่ เราไประแวงอยู่ มันจะไม่เข้าหรอก เราจะกำหนดพุทโธ หรือตั้งจิตของเราขึ้นมา หรือ ดูจิตทำอะไรก็แล้วแต่ ดูของเราขึ้นไป แล้วตั้งสติไว้ หน้าที่ของเราคือ หน้าที่รักษาความเพียร รักษาคำบริกรรมเอาไว้ ตั้งสติไว้ รักษาสติไว้

จิตจะสงบ ไม่สงบเป็นหน้าที่ของจิต จิตลงไปเอง แต่เวลาลงไปแล้ว เวลาจิตมันสงบลงไป เรารู้จักปัจจัตตัง รู้จักตามความเป็นจริงของใจ ใจมันสงบขึ้นมาแล้ว มันไม่ต้องมีใครบอก มันก็รู้ว่าสงบ พอสงบขึ้นมา เวลาคลายออกมาก็ผ่อนคลายออกมา แล้วจำตรงนี้ไว้ว่าที่เราทำความสงบแล้วมันความสงบเข้าไปได้อย่างไร? จำตรงนี้ ชำนาญในวสี แล้วเราจะเข้าใจ เราจะควบคุมใจได้ แล้วเราจะเข้าออกได้ง่าย

แต่เดิมจะเข้าจะออกแต่ละที สมาธิจะเข้า จะออกแต่ละที แสนทุกข์แสนยาก แต่เราฝึกฝนเขาบ่อยๆ มันจะสะดวกสบาย การกำหนด พุทโธๆๆ นี้ จนผู้ชำนาญไม่ต้องกำหนดพุทโธ กำหนดรู้เฉยๆ มันจะลง มันจะเข้าไปในความสงบของเราได้ กำหนดสงบมันก็จะสงบ มันจะว่างตลอด กำหนดให้มันว่างมันก็จะว่างทันที นี่ผู้ชำนาญ ชำนาญอย่างนี้

พอตั้งมั่นขึ้นมาถึงออกค้นคว้า ถึงออกแสวงหา นี่กัลยาณปุถุชน มันจะขาดนะ รูป รส กลิ่น เสียง บ่วงของมารขาด เรากำหนดบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันขาดออกไป ขาดออกไปหมายถึงว่ามันปล่อยวาง รูป รส กลิ่น เสียง โดยเข้าใจ มันจะควบคุมใจของตัวเองได้ เพราะเราไม่เข้าใจ เราถึงติดรูป รส กลิ่น เสียง พอเราเข้าใจแล้วว่า รูป รส กลิ่น เสียง มันก็เป็นรูป รส กลิ่น เสียง สิ่งต่างๆ นั้นมันไม่มีอำนาจเหนือเราเลย จะไม่มีอำนาจเหนือเราเลยถ้าเราเข้าใจ

ถ้าเราเข้าใจตามความเป็นจริง รูป รส กลิ่น เสียง เป็นรูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่เรา เพราะสิ่งนี้มันเกิดอยู่โดยธรรมชาติของเขา เราต่างหาก ตัณหาความทะยานอยากต่างหากไปติดเขา ถ้าเราดูใจอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้นมันจะปล่อยวาง จนหลุดออกไป มันจะควบคุมใจได้

คราวนี้พอจิตมันจะคิดเข้าไป มันจะรู้ทัน มันติดบ่วงแล้ว มันก็จะปล่อยจากบ่วงนั้นเข้ามา ควบคุมได้นี้คือ กัลยาณปุถุชน จะทรงมรรคขึ้นมาได้ จะทรงมรรค อริยมรรค อริยภูมิ มรรคของโลกียะเราทรงได้ เราทรงของเราด้วยความล้มลุกคลุกคลานไปตามประสาความคิดของเรา

จะสมความตั้งใจ ไม่สมความตั้งใจ เราจะไม่มีโอกาสได้ตามความปรารถนา เพราะเรายังควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชน ควบคุมจิตของตัวเองได้ เพราะว่าบ่วงของมารมันขาดออกไปจากใจ ใจนี้มันจะตั้งเป็นเอกัคคตารมณ์โดยธรรมชาติของมัน ควบคุมใจได้ จะควบคุมใจแล้วทำความสงบได้ง่าย ชำนาญในวสี นี้คือกัลยาณปุถุชน จะเริ่มทรงมรรค เห็นไหม

ถ้าทรงมรรคต้องพยายามค้นคว้า พยายามดูว่าเวลาจิตมันสงบเข้าไป เวลามันออกมา มันเสวยอารมณ์มันเสวยอะไร? ถ้ามันเสวยอารมณ์ จับสิ่งที่เสวยอารมณ์ จับสิ่งที่มันกระทบขันธ์ มันกระทบสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นการสืบต่อ สิ่งนั้นเป็นหน้าที่การงาน ถ้าหน้าที่การงานเกิดขึ้น มีงานเกิดขึ้นถึงจะเป็นการทรงมรรค ถ้าทรงมรรคอย่างนี้แล้ว มันจะทรงผล ใจนี้เท่านั้นทรงมรรคและทรงผล ใจนี้เท่านั้นเป็นการดัดแปลงใจของตัว

เราจึงต้องมีการประพฤติปฏิบัตินี้เพื่อดัดแปลงใจของเรา เพื่อจะให้ใจนี้เข้าทางในการพ้นออกไปจากความทุกข์ในหัวใจ หัวใจเวลามันทุกข์นี่มันทุกข์ร้อนมากๆ ทุกข์ร้อนแล้วมันไม่รู้จักทางแก้ หันซ้าย หันขวา ก็ไม่รู้จะไปไหน ไม่รู้จะพึ่งพาใคร พึ่งพาใครก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นความทุกข์อยู่ในหัวใจ

ช่วยเหลือกันได้ ช่วยเหลือได้แต่ภายนอก ปลอบประโลมกันแต่ภายนอก หมอก็รักษาได้แต่เรื่องของร่างกายเท่านั้น เรื่องของใจนี้เป็นหน้าที่ของเรา เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นนี้เป็นอำนาจวาสนาของกรรมเห็นไหม กรรมดี กรรมชั่ว บางคนเจ็บไข้ได้ป่วย บางคนไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย อันนี้มันเป็นวาสนา เป็นการสะสมมา เรารักษาใจของเราไม่ให้ไปตื่นเต้นตามนั้น

เวลามันทุกข์ก็ต้องให้มันทุกข์เฉพาะตามความจริงของความทุกข์นั้น ไม่ใช่ทุกข์ด้วยความตัณหาทะยานอยาก ความทุกข์ของการเกิดดับ ของร่างกายในการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น มันเป็นสัจจะความจริง ความต้องการให้หาย ความต้องการให้อยู่ในอำนาจของตัว ความต้องการรักษา ความต้องการ แล้วมันสมความต้องการนั้นไหม?

นี้คือตัณหาความทะยานอยากซ้อนเข้าไป ทุกข์ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเพิ่มเป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้น ทั้งๆ ที่เราจะดับ เราจะแก้ไขความทุกข์ แต่เราทำไมพยายามไปเสริมความทุกข์เข้าไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลย ถึงว่ามันไม่ทรงมรรค มันไม่เข้ากับสัจจะความจริง มันเข้ากับกิเลส กิเลสมันจะคอยเสี้ยมตลอด มันคอยแทรกเข้ามาในวงประพฤติปฏิบัติ จะแทรกทุกวินาทีถ้าเขามีโอกาส

สติสัมปชัญญะถึงต้องสำคัญมาก จะพยายามไม่ให้เขาแทรกเข้ามา ถ้ากำลังเราพอ ถ้ามันแทรกเข้ามาเราจะทันความคิดของเรา ถ้าความคิดของเราทัน สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ มันจะปล่อยวาง มันจะรู้ทัน พอมันรู้ทันมันก็จะปล่อย พอปล่อยมันจะโล่ง จะว่าง ความโล่งความว่าง มันปล่อยเพราะเรารู้ทันความคิดของเรา ย้อนกลับเข้ามา ดูสิ่งที่กระทบ แล้วจับตัวนี้ได้

ถ้าจับขันธ์อันนี้ได้ เห็นกายได้ นั้นเป็นการเริ่มต้นจะทรงมรรค ทรงมรรคแล้ว ต้องแยกแยะ ต้องแก้ไข เรื่องมรรค มรรคอริยสัจจัง มรรคคือการแยกแยะส่วน มรรคคือการไตร่ตรอง มรรคคือปัญญาเกิดขึ้นจากเราเริ่มต้นภาวนามยปัญญา จินตมยปัญญาในการคาดการหมายนี้ส่งผลขึ้นมา จากโลกียมรรค มรรคนี้เป็นโลกีย์มันต้องส่งเสริมขึ้นมา แล้วมันจะเป็นอริยมรรค อริยมรรคนี้มันจะเกิดขึ้นมา เพราะเราเห็นกายกับเห็นจิต

ถ้าเราเห็นกายกับเห็นจิตนี้ อันนี้จะเป็นอริยมรรค อริยมรรคจะเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาเท่านั้นจะฟาดฟันกับกิเลส การจะฟาดฟันกับกิเลสเราต้องพยายามใคร่ครวญ เราต้องแยกแยะ พอแยกแยะขึ้นไปจนถึงจุดหนึ่ง กำลังพอเพราะเราพยายามส่งเสริม เราควบคุมใจของเราตลอดเวลา ใจจะมีพลังงานขึ้นมา มีพลังขึ้นมาก็มีกำลังกำลังตัวนี้เป็นตัวพลังงานเฉยๆ

แต่ตัวที่แยกแยะ ตัวที่ฟาดฟันนั้นคือตัวปัญญา ตัวปัญญามันหมุนเวียนไป เราฝึกฝนเราพยายามทำขนาดไหน มันจะลุ่มๆ ดอนๆ สิ่งที่ลุ่มๆ ดอนๆ นี้เพราะปัญญาเราไม่เคยใช้ เราเคยใช้แต่ปัญญาของโลก ปัญญาเราใคร่ครวญ เราคิดขึ้นมา เราพยายามคิด พยายามใคร่ครวญ เราว่าเป็นปัญญา เราก็ใช้สิ่งนี้ตลอดไป

แต่ในวงของมรรค มันต้องมีความพอดี ความพอดีของสัมมาสมาธิ ความพอดีของปัญญาที่จะก้าวเดินออก ความลุ่มๆ ดอนๆ มันถึงไม่ลงตัว ความไม่ลงตัวนี้มันเกิดปัญญามันจะไม่สมดุลกัน ปัญญาสมดุลมันถึงจะเข้ามากำจัดสิ่งที่เราลังเลสงสัย สิ่งที่ผูกพันใจของเรา ถ้าเราเข้ามาสิ่งที่ผูกพันใจของเราได้ นี่มันจะปล่อยวาง การปล่อยวางนี้คือปัญญาฟาดฟันกับกิเลส แล้วกิเลสมันปล่อยวางออกไป มันปล่อยวางออกไปเป็นขั้นเป็นตอน เพราะมันแก่นของกิเลส มันจับต้องสิ่งนั้นแล้วมันก็เกิดอีก กายกับจิตยังจะเกิด ถ้าเราพิจารณาเข้าไป มันจะเกิดแล้วมันก็จะเห็นซ้ำ ต้องภาวนาซ้ำเข้าไป

ปัญญาต้องหมั่นคราดหมั่นไถ ฟาดฟันกับสิ่งนี้ นี้คือการทรงมรรค สิ่งที่ทรงมรรคนี้ มันหมุนเวียนออกไปในการประพฤติปฏิบัติ ในการใคร่ครวญ แล้วถ้ามันหมุนเวียนออกไป พลังงานมันใช้ออกไปแล้วต้องกลับมาทำความสงบแน่นอน ถ้าใช้พลังงานมากไม่กลับมาทำความสงบ ปัญญาไม่พอ มันจะไม่มีอำนาจแยกแยะสิ่งนี้ได้ มันจะปล่อยวางไม่ได้ แยกไปแล้ว มันจะไม่เป็นไปตามความเห็นของตัว นี้คือปัญญามันไม่คมกล้า

ถ้าปัญญาไม่คมกล้า ต้องพยายามกลับเข้ามาทำความสงบของใจ คือเติมพลังงานเข้าไป ย้อนกลับเข้ามา นั้นคือการทรงมรรค การทรงมรรคนั้นคือการใคร่ครวญ การเดินมรรคทางใจ เดินมรรคในการวิปัสสนา จะเดินมรรคในวิปัสสนานี้ต้องพยายามทำให้เต็มที่ แล้วมันจะทรงผลไปข้างหน้า สิ่งที่เป็นผลจะทรงไว้ในหัวใจ จะเกิดขึ้นได้จากมรรคอริยสัจจังรวมตัวกันสมุจเฉทปหาน จะสมุจเฉทปหานได้เราต้องพยายามใคร่ครวญของเราให้ได้ จับต้องสิ่งนั้นอีก

ถ้าเราไม่สมุจเฉทปหาน เราใช้ปัญญาใคร่ครวญ แล้วเราทรงมรรคอยู่ มรรคมันอยู่กับหัวใจ แล้วถ้าเราไม่สามารถไปทรงผลได้ มรรคนี้จะเสื่อมลงได้ มรรคอริยสัจจังสามารถเสื่อมได้ พอเสื่อมลงมามันก็ทำให้เราต้องพยายามสะสมขึ้นไปใหม่ ถ้าเราสะสมขึ้นไปใหม่ แล้วพยายามทำของเราขึ้นไป ใคร่ครวญกายกับใจ

กายกับใจเป็นเป้าหมาย เป็นที่ดำเนิน เป็นสถานที่ทำงาน ชัยภูมิแห่งการทำงาน กายกับใจนี้เท่านั้นเป็นสถานที่ทำงานของใจ เพราะใจมันติดอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ติดตัวตนในหัวใจ แล้วก็ติดเรื่องของร่างกาย พิจารณากายอย่างนี้ ย้อนกลับมาพิจารณากายได้ ซ้ำอยู่ตรงนี้

หน้าที่ของเราคือการทรงมรรค รักษามรรค แล้วพยายามใคร่ครวญในมรรคอริยสัจจังนี้ ถ้าทรงมรรค มรรคจะดำเนินไปถึงที่สุด ถ้ามรรคดำเนินไปถึงที่สุด มรรคนี้จะรวมตัวสมุจเฉทปหาน ด้วยภาวนามยปัญญา สิ่งที่เป็นภาวนามยปัญญาอยู่ ถ้าไม่ทรงผลมันไม่อกุปปธรรม ถ้าทรงผลจะเป็นอกุปปธรรม

ถ้าใจนั้นทรงผล จิตนี้รวมตัวสมุจเฉทปหาน จนมรรคนี้รวมตัว มรรคอริยสัจจังนี้รวมตัวชั้นหนึ่ง มรรคนี้รวมตัวทำลายสักกายทิฏฐิ ในหัวใจหลุดออกไปจากใจ ใจจะทรงผล ใจจะเวิ้งว้าง ใจจะไม่กลับเข้าไปในกิเลสส่วนนี้ กิเลสส่วนนี้จะไม่สามารถมีอำนาจเหนือหัวใจ ผลนั้นเป็นผลของใจ แล้วจะเข้าใจตามความเป็นจริงว่ากายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย จะเข้าใจความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา หรือกายมันจะพิการไป จะเข้าใจสิ่งนี้ เข้าใจว่ามันจะเป็นสภาวะตามความเป็นจริง ไม่ทำให้ใจนี้หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลสแบบดั้งเดิมขึ้นมา แล้วพยายามจะรักษา ถ้ามองไปโดยกิเลส ทำไมต้องไปรักษาขึ้นมาอีกในเมื่อเข้าใจ แล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง มันก็ต้องไว้ตามความเป็นจริง ต้องรักษา

ผู้ที่ทรงผลแล้วจะเห็นคุณค่าของเรือ เรือลำหนึ่งเคว้งคว้างอยู่ในวัฏฏะ อยู่กลางมหาสมุทรแล้วเราจะพายเข้าฝั่ง นี้ก็เหมือนกัน ในการจะทรงใจ รักษาใจนี้ให้เข้าถึงฝั่งแห่งอมฤตธรรม ถึงฝั่งแห่งความสุขของใจ มันต้องพยายามใช้เรือนั้น เพื่อจะพาใจเข้าฝั่งให้ได้ ถึงจะต้องรักษาร่างกายนี้ไว้เอาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ

การรักษาเพื่อประพฤติปฏิบัติมันไม่ใช่การรักษาด้วยกิเลส การรักษาด้วยกิเลส คือความไม่เข้าใจว่าเราจะรักษาของเราไว้ ด้วยว่ามันต้องเสื่อมสภาพ มันเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังหมด สิ่งใดๆ นี้เป็นสมมุติ ของที่เป็นสมมุติเป็นของชั่วคราว ของชั่วคราวนี้ต้องแตกดับสลายไปตามธรรมดาของมัน สรรพสิ่งในโลกนี้ เป็นสมมุติแล้วต้องดับสลายไปเป็นธรรมชาติของเขา แล้วเราจะไปปรารถนาสิ่งนี้ให้มันเป็นสมบัติของเรา มันเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้ นี่เรื่องของกิเลส

แต่การรักษาเรือ รักษาร่างกายไว้ เพื่อการประพฤติปฏิบัติ เข้าใจอยู่ว่าเป็นสมมุติแต่ขอเวลา ขอให้ได้ประพฤติปฏิบัติ ขอให้เราทำด้วยร่างกายนี้ไม่พิการ เราทำของเราได้ ถ้าเราพิการขึ้นมาการประพฤติปฏิบัติของเรามันจะไม่ก้าวเดินตามอำนาจวาสนา แล้วแต่ใจดวงนั้นจะก้าวเดินได้ ผู้ทรงผลแล้วถึงรักษาร่างกายของเราไว้เพื่อดำเนินการต่อไป

มรรคต่อไป ทรงมรรค ทรงผล มรรคที่ ๑ ผลที่ ๑ เกิดขึ้นกับใจนั้น มรรคที่ ๒ มรรค ๔ ผล ๔ ต้องดำเนินต่อไป จนถึงที่สุดของใจดวงนั้น ถึงจะพาเข้าฝั่งได้ เวลาทรงผลขั้นสุดท้ายแล้ว มันจะทรงผลโดยสมบูรณ์ แต่ทรงผลไว้อย่างนี้ ทรงผลตามความเข้าใจ ผลของใจในสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในเรื่องร่างกาย จะเข้าใจตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริง รู้ตามความเป็นจริง รู้แจ้งในความเป็นจริงว่าสิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นของสมมุติ

แต่เดิมสมมุตินี้ เป็นสมมุติในตำรับตำรา ที่เราอ่านกันมา เราศึกษากันมา แล้วเราก็ว่าเป็นสมมุติ แต่ปัจจุบันนี้มันเข้าใจตามความเป็นจริงว่านี้เป็นสมมุติ เป็นของชั่วคราวเป็นของชั่วคราวเพราะใจมันเห็นตามความเป็นจริงส่วนหนึ่ง ส่วนของกายนี้เข้าใจแล้วปล่อยวางไว้ ทรงผลอย่างนั้นแล้วก้าวพยายามเดิน จะทรงมรรคต่อไป มรรคขั้นต่อไป ต้องพยายามสะสมขึ้นมาใหม่ต้องพยายามทำความสงบของใจให้สูงขึ้นไป แล้วย้อนกลับเข้ามาจับกายกับจิตนี้เหมือนกัน กายกับจิตจะย้อนเข้าไปตลอด ย้อนเข้าไปถึงที่สุดของใจที่มันจะพ้นออกไป

งานของเรา เราพยายามศึกษาในการประพฤติปฏิบัติ เป็นประสบการณ์ตรง ระหว่างเราชนกับหัวใจ หัวใจนี้มีกิเลสอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว จะพยายามปลิ้นปล้อนหลอกลวงใจนี้ให้ผิดพลาดออกไปตลอด ใจนี้ต้องผิดพลาดไปตามอำนาจของกิเลสผลักไสออกมา แล้วก็จะหมุนออกมาข้างนอก เห็นการส่งออกของใจ ใจจะส่งออกไป พยายามจะย้อนกลับเข้ามา ถ้าย้อนกลับเข้ามาสัมมาสมาธิเกิดขึ้นได้คือ ความสงบของใจ

ถ้ามันไม่สงบ มันฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านคืออำนาจของกิเลสที่มันผลักไสออกไป พลังงานมันก็หมุนออกไปข้างนอก นี้ย้อนกลับ ความสงบของใจคือ สัมมาสมาธิ เกิดสัมมาสมาธินี้มันก็จะเกิดมรรคในหัวใจ จะต้องทรงมรรค มรรคคือเครื่องดำเนิน มรรคาเครื่องดำเนินของใจ ใจจะก้าวเดินต่อไปนี้ต้องพยายามสะสม พยายามสร้างของเราขึ้นมา

ใจนี้เป็นผู้ดำเนิน ใจนี้เป็นผู้ก้าวเดิน ก้าวเดินเข้าไปชำระตัวมันเอง แล้วตัวมันเองจะสะอาดขึ้นมาเป็นชั้นๆ เข้าไป สะอาดจนถึงที่สุด ทรงมรรคทรงผลเป็นชั้น เป็นตอนเข้าไป แต่สำคัญตรงทรงมรรค เพราะมรรคคือ หน้าที่ของเรา ผลนี้เป็นผลเกิดขึ้นจากมรรคาเครื่องดำเนินที่ถูกต้อง

ถ้าเราดำเนินที่ไม่ถูกต้อง มันก็เป็นกิเลสผลักไส จะว่าเป็นทรงมรรค แต่กิเลสมันก็เข้าไปเป็นทรงกิเลส กิเลสนี้ไม่ต้องบอกให้ทรง มันเป็นธรรมชาติของมัน มันมีอยู่โดยดั้งเดิมในหัวใจ แล้วมันผลักไส มันปลิ้นปล้อนตลอด มันทำให้เราผิดพลาดในการประพฤติปฏิบัติ ในการประพฤติปฏิบัติที่ผิดอยู่นี้เพราะอำนาจของกิเลส อำนาจของกิเลสในหัวใจของเรา

เราจะว่า ดิน ฟ้า อากาศ สถานที่ไหนจะทำให้เราภาวนาไม่ก้าวเดิน สิ่งนั้นเป็นส่วนประกอบ เป็นสัปปายะ ๔ นี้ถูกต้อง ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ นี้เป็นสัปปายะ ถ้ามันเป็นสัปปายะมันก็คืออำนาจวาสนาที่เราเจอสภาวะแบบนั้น แล้วสภาวะแบบนั้นคงที่ไหม? ทุกที่ป่าเขาลำเนาไพรนี้จะต้องเปลี่ยนสภาพตลอด

ถ้าเกิดเป็นช่วงที่เราเข้าไปพึ่งพาอาศัย ในป่าเขานั้น แล้วมันสมควรต่อการประพฤติปฏิบัติของเรา นั้นคืออำนาจวาสนาของเรา เราได้สัปปายะที่สมควรแก่ใจนั้น มันเป็นเรื่องของโลกที่หมุนเวียนไป มันไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน แต่การประพฤติปฏิบัติของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเราโดยหัวใจ การทรงมรรคนี้ยั่งยืนเพราะมรรคมันจะพยายามหมุนเข้าไปในหัวใจ แล้วพยายามทำลายในหัวใจของเรา มันถึงเกิดจากความเพียรของเรา

สัปปายะนั้นเป็นสิ่งที่แสวงหา เป็นเครื่องดำเนินที่เราปรารถนา นั้นถูกต้อง แต่ถ้ามันไม่ได้ตามสัปปายะนั้น เราก็ต้องพยายามของเรา ไม่ใช่เอาสัปปายะนั้นมาเป็นตัวถ่วงในการประพฤติปฏิบัติว่าเราไม่มีสัปปายะที่สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ เราจะรอสัปปายะที่พร้อมแก่การประพฤติปฏิบัติ เวลามันรอใคร?

ชีวิตนี้ไม่มีการรอใคร หายใจเข้าและหายใจออกนี้ ยังดำรงชีวิตอยู่ หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า นั้นคือการดับขันธ์ของใจ ใจต้องออกจากร่าง ในเมื่อร่างนี้พิการแล้วใจจะอยู่ในร่างกายนี้ไม่ได้ มันต้องหลุดออกไป เพราะมันอาศัยกันโดยธรรมชาติ มันสมควรจะอยู่ด้วยกันได้มันถึงจะอยู่ด้วยกัน ถ้าถึงที่สุดหมดเวลาของเขาแล้ว มันจะเกิดตามธรรมชาติของมัน

ชีวิตนี้ไม่แน่นอน ชีวิตของเราไม่แน่นอน เวลาของเราไม่แน่นอน เราถึงต้องพยายามตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา มันจะย้อนกลับมาว่า เราไม่อ้างสถานที่ ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลา การอ้างนี้กิเลสมันอ้าง บอกว่าเป็นธรรม

สิ่งนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ในพระไตรปิฎก ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา นั้นเป็นธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งนี้สมควร เป็นมัชฌิมา เป็นความพอดีควรที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่มันไม่ได้ตามนั้น กิเลสมันก็อ้าง อ้างธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วว่ามันไม่ตามนั้น อ้างกาล อ้างเวลา เพื่อพลิกแพลง กิเลสอ้างธรรมมาพลิกแพลงให้การปฏิบัติธรรมของเราไม่เกิดผลกับเรา

แต่การปฏิบัติของเราคือเกิดขึ้นมาจากใจ นั้นเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติ มันจะได้ผลหรือไม่ได้ผล มันอยู่ที่หน้าที่ของเขา ถ้ากิเลสมันหนามันก็ผลักไส ไม่ให้ทำได้สะดวก ถ้ากิเลสมันจางลง มันก็เปิดช่องทางให้เรามีกำลังขึ้นมา เราก็ทำของเราขึ้นไป นี้มันเป็นผลงานของเรา ผลงานคือการประพฤติปฏิบัติ แล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลอยู่ที่เราประพฤติปฏิบัติ อยู่ที่ความเพียรชอบ การงานชอบ ความเพียรชอบนี้ชอบจากความวิริยะอุตสาหะ ความวิริยะอุตสาหะของเราก้าวเดินขึ้นไป มันจะย้อนกลับเข้ามาเห็นสิ่งนี้

ถ้ามรรคมันเริ่มหมุนตัว ทรงมรรคก็ต้องทรงเป็นชั้น เป็นตอนขึ้นไป มรรคนี้เวลามันทรงแล้ว เราต้องประพฤติปฏิบัติไปอีก ต้องพยายามใคร่ครวญ จับต้องสิ่งนี้ได้ นั่นคือมรรค ถ้าจับต้องสิ่งนี้ไม่ได้เราจะไปทรงที่ไหน? ชัยภูมินั้นมันไม่สมประกอบ ในการแข่งขัน ในการต่อสู้กันต่างๆ เขาต้องหาชัยภูมิในการต่อสู้กัน

แต่นี้เราจะต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันอยู่ที่ใจ ถ้าจับอาการของใจได้ก็คือใจ จับอาการของกายได้ก็คือกาย นั้นคือสถานที่การต่อสู้กัน เพราะกิเลสมันอาศัยสิ่งนั้นเป็นการแสดงออก ถ้าเราจับสิ่งนั้นเข้าไปได้คือย้อนกลับเข้าไปเห็นหน้ากิเลส ในการเห็นหน้ากิเลสนั้นคือมรรคฟาดฟันกับกิเลส ถ้ามรรคได้ฟาดฟันกับกิเลสนั้นคือการทรงมรรค ทรงมรรคแล้วก้าวเดินมรรคไปตามความเป็นจริง

มรรคนี้สำคัญ หน้าที่ของเราคือการสร้างมรรค สร้างมรรคคือมรรคของใจ แล้วก้าวเดินออกไป ฟาดฟันเข้าไปต่อสู้กับกิเลส ถ้ามรรคนี้เข้มแข็งขึ้นมา กิเลสจะอ่อนตัวลง มรรคจะทำลายกิเลสได้ พิจารณาเข้าไป แยกเข้าไปๆ กายเป็นกาย จิตเป็นจิตแยกออกจากกัน รวมตัวแล้วแยกออกจากกันโดยสัจจะ โดยอริยสัจจะ อริยสัจจะเกิดขึ้นกับใจ

สิ่งนี้จะแยกออกจากกันโดยอริยสัจจะตามความเป็นจริง นั้นเป็นการทรงผล การทรงผลก็จะเวิ้งว้าง จะมีความสุขมาก ในขณะที่อำนาจของสมาธิมีกำลังจะมีความสุขมาก ปล่อยวางนั้นคือการทรงผล แล้วจะทรงผลอย่างนี้ไป นั้นเป็นผลของใจ

ใจนี้เกิดขึ้นมาจากเราทรงมรรคแล้วเราเดินมรรค เราทำลายกิเลส ทำลายความเคยใจ ความเคยใจมันจะหลุดออกไปจากใจ กิเลสที่เคยสัมพันธ์กับใจ ระหว่างความคิด ใจ กับขันธ์ ใจกับร่างกาย สัมผัสสัมพันธ์กัน ยึดมั่นถือมั่นต่อกัน มันทำลายสิ่งนี้ออก สิ่งนี้แยกออกไปด้วยอำนาจของมรรค ด้วยสมุจเฉทปหานทำลายออกไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต แล้วจิตมันก็ทรงผลของมรรคที่ ๒ เห็นไหม

ถ้ามรรคที่ ๒ เกิดขึ้น มันจะไปทรงผลของมัน ผลเกิดขึ้นมาแล้วมันจะมีความสุขของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นต้องพยายามต่อไป พยายามที่จะทรงผล เพราะขณะที่ทรงผลนั้นมีความสุข ความสุขเวลามันถึงที่สุดแล้ว ความต้องการ เราศึกษาธรรมมา เรารู้อยู่ว่ามรรค ๔ ผล ๔ เราต้องประพฤติปฏิบัติต่อไป

งานในการประพฤติปฏิบัติ งานในการก้าวเดิน งานในการสร้างกำลังใจขึ้นมา ใจมันละเอียดอ่อนขึ้นไป ความละเอียดอ่อนของใจ มันจะละเอียดมาก แต่เดิมสมาธิก็เป็นสมาธิ แต่อันนี้มันเป็นสมาธิที่ละเอียดขึ้นไป ละเอียดขึ้นไป ใจมันละเอียดอ่อนสักขนาดไหน กิเลสมันก็ซุกอยู่ในนั้น

เราต้องพยายามทำความสงบของใจขึ้นไปให้มันสูงขึ้น ถึงจะไปเจอกิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างหยาบๆ กว่าเราจะเจอ เราก็ต้องพยายามค้นคว้าอยู่ แต่เราจับต้องสิ่งนี้ได้ เราสาวได้ ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์อันละเอียด เราสามารถสาวได้ แต่ขณะที่จะสาวขึ้นไป ใจมันสามารถทำได้ไหม? ถ้าทำไม่ได้ มรรคนี้ยังไม่ทรงตัว มันจะทรงกิเลส กิเลสอย่างละเอียดทรงไว้ในหัวใจ แล้วทำความเวิ้งว้าง ความสุขอย่างนั้น มันจะผลักไสให้เราติดในความสุขอันนั้น

ความสุข ความเวิ้งว้าง มันปล่อยวางอยู่อย่างนั้น เวลาเราทำความสงบ เราจะประพฤติปฏิบัติ เราว่าเราจะทรงมรรค มันก็เป็นผลของมรรคที่ ๒ มันจะว่างอยู่อย่างนั้น เวลาเป็นความว่าง มันก็เป็นความว่างกับความว่างหมุนกันอยู่อย่างนั้น มันไม่สามารถเจอกิเลสได้ มันต้องพยายามย้อนกลับขึ้นมา ดูใจให้ได้

ถ้าดูใจมันจะเกิดขันธ์อันละเอียด ถ้าจับธาตุขันธ์ได้ มันก็เป็นอสุภะ อันนี้หน้าที่การขุดคุ้ย การทรงมรรคขั้นที่ ๒ มรรคขั้นที่ ๓ พยายามจะส่งต่อเนื่องกัน แล้วเราพยายามขุดคุ้ยหา จับต้องสิ่งนี้ได้ถึงจะเป็นมรรคอริยสัจจังเกิดขึ้น มรรคาในขั้นที่ ๓ จะทรงมรรคต้องจับต้องสิ่งนี้ได้

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ การค้นคว้าขันธ์กับกายนี้มันเป็นการส่งขึ้นมา มรรคส่งขึ้นมา แต่ถ้าจับต้องได้นี้มรรคทรงตัวเลย นี้คือการทรงมรรค ถ้าทรงมรรคขึ้นไป มรรคอันละเอียด ปัญญาอันละเอียด ปัญญาอย่างหยาบๆ ปัญญาอย่างชั้นตอนเดียว มันยังพลิกแพลงให้เราล้มลุกคลุกคลาน

ปัญญาอันละเอียด ปัญญาของกามราคะมันละเอียดอ่อนมาก มันจะทำให้เราหลงใหลไปในอำนาจของมัน เหมือนกับรสชาติ รสชาติอย่างหยาบๆ อย่างเผ็ดร้อน เรากินเข้าไปมันก็ทำให้เราเผ็ดร้อน เรารู้ว่ารสชาติเผ็ดร้อน เราหลบเลี่ยงได้ แต่ถ้ารสชาติหอมหวานขึ้นมา มันอยู่ในหัวใจ กลิ่นที่หอมที่หวานขึ้นมา มันกินแล้วมันก็เพลิดเพลินไปกับกามราคะ เพราะใจกับขันธ์มันใกล้ชิดกัน

สิ่งที่ใกล้ชิดกันมันจะไปด้วยกันง่าย มันถึงว่าเป็นความหอมหวานของใจ ใจจะมีความหอมหวานแล้วจะเคลื่อนออกไปตามอำนาจของเขา เราก็เชื่อมันไป เป็นกามฉันทะ เป็นกามราคะอยู่ในหัวใจ ในหัวใจหมุนออกไปอย่างนั้น ต้องพยายามย้อนกลับ ต้องใช้อำนาจของสัมมาสมาธิอย่างละเอียด

ถ้าทำไม่ได้ เราพยายามจับต้องได้แล้ว วิปัสสนาก้าวเดินไม่ได้ พักสมาธิ แล้วพยายามใคร่ครวญต่อไป ขั้นของการทรงมรรคตรงนี้ต้องทรงไว้อย่างแรง ต้องมีความวิริยะอุตสาหะ เพราะคลื่นของกามราคะมันรุนแรง คลื่นกามราคะที่รุนแรงมันจะซัดใจให้หวั่นไหวตลอด ความหวั่นไหวของใจ แล้วใจจะทำงานขึ้นมา เราจะเอาอะไรทำงานกับความหวั่นไหวของใจ เราต้องพยายามทำให้สิ่งที่หวั่นไหวของใจนี้ให้ทรงที่ ถ้าทรงที่ได้ ภาพนั้นไม่ไหวเราก็วิปัสสนาได้

ถ้าใจมันหวั่นไหวมาก มันก็หมุนเวียนไป มันจะหวั่นไหวในหัวใจ ครืนๆ อยู่อย่างนั้น หมุนออกไปตามอำนาจของกิเลส อำนาจของกิเลสนี้รุนแรงมาก ความเคยใจการสะสมของใจ ใจนี้เกิดตาย เกิดตายมาไม่มีต้นไม่มีปลาย ความเกิดและความตายในหัวใจนี้มันสะสมมารุนแรงเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วเราจะทำลาย การทำลายมันถึงเป็นงานที่แสนยาก เหมือนกับสิ่งนี้จะเป็นเรื่องสุดวิสัยของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

แต่มันไม่สุดวิสัย เราสะสมอินทรีย์ขึ้นมาจนถึงกับละสิ่งนี้ได้ มันจะไม่สุดวิสัย มันต้องเป็นไปได้ ทำไมครูบาอาจารย์ถึงสามารถทำได้ ทำไมผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสามารถทำได้ ทำตรงนี้ได้เพราะมีการทรงมรรค ถ้าไม่ทรงมรรค สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้น เราจะมองไม่เห็น สิ่งที่มองไม่เห็นก็เหมือนกับงานเราไม่ก้าวเดิน

มันเป็นการปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีการต่อสู้ มรรค ปัญญาไม่เกิดขึ้นมา มันเหมือนกับน่าเบื่อหน่าย การทำแล้ว ซอยเท้าอยู่กับที่ เป็นความเบื่อหน่ายในการประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าปัญญามันก้าวเดินไป มันจะไม่เป็นความเบื่อหน่ายในการประพฤติปฏิบัตินั้น

ในการประพฤติปฏิบัติ มรรคเห็นไหม ปัญญานี้เราจะเก็บไว้ไม่ได้ เราต้องพยายามแยกแยะออกไปด้วยอำนาจ ด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ ด้วยกำลังของใจ ถ้ากำลังของใจไม่พอ เราพยายามกำหนดใจ การกำหนดใจ การพักใจนี้ก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง เวลาเราทำงานเหนื่อยขึ้นมา การพักเหนื่อยของเรา มันจะปล่อยวางงานนั้นไม่ต้องห่วงงานนั้น

นี้ก็เหมือนกัน ใจมันจะห่วงกับสิ่งนั้น ถึงต้องเป็นการพักมันต้องดึงกลับมา การดึงให้ใจกลับมาพักนั้นมันต้องเป็นสติที่รุนแรง พยายามดึงกลับมาพัก แล้วพอพักขึ้นมาได้จนถึงกับใจนี้มีกำลังขึ้นมาๆ ค่อยกลับไปต่อสู้ใหม่ กลับไปวิปัสสนาใหม่ วิปัสสนาสิ่งนี้แยกแยะออกไปให้ได้ มันไม่ใช่จิต สิ่งที่กระทบกันนี้ เป็นความผูกพัน เป็นความยึดมั่น ถือมั่นระหว่างขันธ์กับจิตอันละเอียด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ละเอียด เพราะสัญญาความผูกพันของใจ ใจสะสมมาโดยสัญชาตญาณ

สัตว์อยู่ในป่า ไม่มีใครฝึกสอนมัน มันก็มีกามราคะโดยธรรมชาติของมัน สัตว์ทุกตัวเกิดขึ้นมาจะมีส่วนนี้ฝังอยู่ในหัวใจโดยสัญชาตญาณของใจนั้น เพราะสิ่งนี้มันสะสมมาจากการเกิดและการตาย การเกิดและการตายแต่ละภพแต่ละชาติ สะสมขึ้นมา แล้วส่งเสริมขึ้นมา เป็นสิ่งที่เรียกว่า อวิชชา เป็นความไม่รู้ของใจ ไม่รู้ว่ามันเป็นโทษ แต่รู้รสชาติของมัน ใจนี้ถึงผูกพันกับรสชาติของอันนี้ รสชาติของอันนี้จะฝังอยู่ในหัวใจ แล้วจะตามสิ่งนี้ไปตลอด มันเป็นสิ่งที่หอมหวานในหัวใจ มันก็เสพในตัวมันเอง

การคาดการหมายของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะคาดจะหมายสิ่งที่เป็นความต้องการของเขา แล้วจินตนาการของเขา เขาก็พอใจของเขาอยู่ในหัวใจดวงนั้น เวลามันคาด มันหมาย สิ่งที่เป็นของใกล้ตัว เราไม่เห็นโทษของมันเลย เห็นโทษแต่สิ่งที่เป็นกามข้างนอก สิ่งที่เป็นกามราคะ แต่ไม่เห็นความเป็นกามฉันทะในหัวใจ สิ่งที่ละเอียดอ่อน มันต้องผูกพันมาจากตรงนั้น ย้อนกลับเข้ามาตลอด ปัญญาจะแยกแยะออกไป

การใช้ปัญญาก้าวเดิน มันจะแยกออกไป มันจะมีความผูกพัน ใจนี้มันจะสร้างสถานการณ์ว่าสิ่งนั้นเราใคร่ครวญแล้ว ใคร่ครวญสิ่งนั้นแล้วปล่อยวางสิ่งนั้นๆ มันหลอกขนาดนั้น หลอกให้เราก้าวเดินตามปัญญาที่ก้าวเดินไป ปัญญาที่อ่อน ปัญญาที่ไม่คมกล้า ปัญญาที่ไม่มีอำนาจในการชนะกิเลสได้ มันจะเป็นปัญญาของกิเลสพาใช้ กิเลสจะพาสิ่งนี้ใช้ออกมาว่าเป็นปัญญา แล้วหลอกลวงจิตว่าสิ่งนี้เป็นปัญญา

การทรงมรรคนั้น ถึงว่ากิเลสมันทรงด้วย ทรงในหัวใจนั้น การทรงมรรคนั้นถึงไม่สมดุล มรรคนั้นไม่สมดุล มรรคนั้นไม่สามัคคี มรรคนั้นไม่สามารถชำระกิเลสได้ การทรงมรรคนั้นต้องฟาดฟันด้วยปัญญา ปัญญานั้นต้องมีสัมมาสมาธิเป็นความสมดุลของใจ การงานชอบ ความเพียรชอบ ความดำริชอบ ความชอบของมันต้องเป็นความชอบธรรม ความชอบธรรมบ่อยครั้งเข้าๆ จนมรรคนี้รวมตัว สามัคคีรวมตัว มันก็จะปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา นั้นคือการฝึกฝนภาวนามยปัญญา

การฝึกฝนภาวนามยปัญญา ฝึกฝนขึ้นมาบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันแยกตัวออก ขันธ์อันละเอียดมันก็แยกตัวออกได้ มันก็ปล่อยวางได้ มันแยกออกมันก็ปล่อยวาง พอปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า เราก็ว่าเราชนะ เรายังไม่ชนะเด็ดขาด การชนะของเราชนะชั่วคราว มันปล่อยวางชั่วคราว มันก็มีความสุข เราจะติดตรงนั้น ติดที่ว่ามันปล่อยวางแล้วมันมีความสุข มันเวิ้งว้าง แต่มันไม่จบโครงการ สังโยชน์มันไม่ขาดออกไป

เราถึงต้องพยายามใช้ปัญญาฟาดฟันรอบใหม่ คือการวิปัสสนากายกับจิตอย่างเก่า แต่วิปัสสนาใหม่ เพราะมันเกิดดับ มันปล่อยวางไป แต่มันไม่ตาย ถ้ามันไม่ตาย มันฟื้นได้ กิเลสมันไม่ตาย ด้วยการออกไปฟาดฟันมรรคอริยสัจจังรวมตัว มันไม่ตายมันจะฟื้นได้ตลอด ปัญญาต้องพยายามฟาดฟันมันตลอด นี่คือการทรงมรรค

การทรงมรรคคือการฟาดฟันด้วยปัญญา ด้วยความพร้อมของใจ ฟาดฟันไปกับกามราคะอันนั้น ฟาดฟันไปกับสิ่งที่มันปล่อยวาง มันจะปล่อยวางขนาดไหน เราก็ซ้ำเข้าไปๆ จนถึงที่สุด มันจะครืนออกไปจากหัวใจถึงที่สุด เพราะมรรคมันรวมตัวบ่อยครั้งเข้า ฟาดฟันกันบ่อยครั้งเข้า ขันธ์อันละเอียดดับออกไปจากใจ ขันธ์อันละเอียดกับใจจะหลุดออกไปจากใจ

ถ้าพิจารณาอสุภะ ความสวย ความงาม ใจมันติดอยู่ที่ความสวย ความงาม ความพอใจของใจ พิจารณาอสุภะเข้าไปความสกปรก ความโสมม เรื่องของร่างกาย เรื่องของกาม ไม่มีสิ่งใดสะอาด สิ่งใดสวยงามหรอก มันเป็นความจอมปลอม มันเป็นสิ่งที่สมมุติทั้งนั้น วิปัสสนาเข้าไปถึงที่สุดแล้วมันจะหลุดออกไป ครืนเหมือนกัน ครืนออกไป ใจมันจะหลุดออกไป อย่างนี้ถึงจะเป็นการทรงผล

ทรงผลแล้วผลของมรรคขั้นที่ ๓ นี้มหัศจรรย์ ลึกลับมาก เพราะมันมีเศษส่วน เศษส่วนของขันธ์ ของกามราคะ ของพรหม มันมีพรหม ๕ ชั้น เศษส่วนของพรหม ๕ ชั้น ต้องฝึกฝนเข้าไปอีก ฝึกฝนคือ พิจารณาซ้ำเข้าไป กามราคะนี้มันเป็นการเสพสมของใจ แต่จินตนาการนั้นเป็นการคาดหมายของใจ

การคาดหมายเป็นเงา เราทำลายตัวตนออกไปแล้ว แต่เงาแต่เศษส่วนที่เหลือนี้ มันต้องการฝึกซ้อมใจ ใจนี้จะฝึกซ้อมสิ่งนี้บ่อยครั้งเข้าๆ จนมันละเอียดอ่อนเข้าไปๆ จนจับต้องไม่ได้ จนเวิ้งว้าง จนว่างหมด จนจับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย มันไม่มีสิ่งใดๆ เลย มันถึงเป็นการคายกิเลสออกไปจากจิตดวงนั้นจนหมดสิ้นของกามราคะ แต่ตัวเองเป็นตัวของความรู้อยู่ ว่างขนาดไหนมันก็มีธาตุรู้อยู่ที่นั่น

มรรคขั้นที่ ๓ กับมรรคขั้นที่ ๔ มรรคขั้นที่ ๔ นี้เป็นมรรคที่สมบูรณ์แบบ การทรงมรรคขั้นที่ ๔ ต้องพยายามใคร่ครวญสิ่งนี้ มันจะว่างขนาดไหนมันมีสิ่งที่รู้ว่ามันเป็นความว่าง อะไรเป็นความว่าง? ความว่างเกิดจากสิ่งใด? ถ้าเป็นเรื่องของสิ่งที่เป็นผลแล้ว มันจะว่างโดยธรรมชาติของมัน ไม่ใช่ว่างโดยมีความรู้อยู่ อันนี้มีธาตุรู้อยู่ ธาตุรู้ที่รู้ความว่างนั้น ธาตุรู้คือความรู้สึก ธาตุรู้นี้รู้สึกเฉยๆ นะ ไม่ใช่รู้ความรู้ต่างๆ

รู้ว่าเป็นความว่าง ว่างตลอด แต่มีความรู้ว่าว่างอยู่ มรรคต้องจับตรงนี้ได้ ถ้าจับตรงนี้ได้ การทรงมรรคอันประเสริฐ การทรงมรรคขั้นที่ ๔ นี้ การทรงมรรค การใคร่ครวญอยู่ ถ้าใคร่ครวญถึงที่สุดถูกต้องตามอาสวักขยญาณ อาสวะขัยอยู่ที่หัวใจ สิ่งที่เป็นภวาสวะ สิ่งที่เป็นอาสวะอยู่ที่ตรงนั้น ย้อนกลับไปตรงนั้น ทำลายตรงนั้นหมด นั่นทรงผล มรรค ๔ ผล ๔ ผลของการที่มันปล่อยวางหมด

การซอยเท้าอยู่ การก้าวเดิน ก้าวเท้าไปมีความรู้สึกอยู่ ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เราเก็บเท้าทั้ง ๒ ข้าง ไม่ก้าวเดินอีกเลยนั้นคือการทรงผลอันประเสริฐ คือไม่มีมรรค ๔ ผล ๔ แต่ต้องเป็นนิพพาน ๑ ที่ไม่เป็นผลอันนั้น ทรงมรรคทรงผล ไปถึงที่สุดแล้ว มันจะเป็นผลโดยสมบูรณ์ที่เราปล่อยวางจากมรรคที่เราสร้างสมขึ้นมา

มรรคสร้างสมขึ้นมาจากใจ ในการประพฤติปฏิบัติที่ทุกข์ๆ ร้อนๆ ทุกข์ร้อนนี่แหละ ทุกข์ร้อนเพราะกิเลสมันขับไส เราก็ทุกข์ร้อน ทุกข์ยากแสนยาก การเกิด การตาย นี้เป็นเรื่องน่าสลดสังเวชมาก เพราะมันตายเกิดโดยที่เราไม่สามารถตกแต่งได้ เราไม่มีสิทธิเรียกร้องได้เลย เราถึงต้องสร้างบุญกุศลกัน เราสร้างบุญกุศลขึ้นมาเพื่อจะให้เกิดดีเท่านั้น เพื่อจะให้สิ่งที่เป็นคุณงามความดีนั้นแนบไปกับใจ

ใจมีคุณงามความดี ใจสร้างคุณงามความดีแล้ว ใจนี้จะเบาเหมือนปุยนุ่น เวลามันหลุดออกจากร่างไปแล้วให้มันลอยขึ้นสูงไป เราสามารถสร้างคุณงามความดี แต่เราไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นตามความปรารถนาของเรา เป็นไปไม่ได้เลย เราสร้างคุณงามความดีไว้ขนาดไหน ขณะที่เราออกจากร่าง เรายังคิดถึงอกุศลอยู่ มันจะเสวยสิ่งนั้นก่อน จิตนี้เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์สุดๆ ไม่มีใครสามารถคาดหมายได้เลย

แต่ผู้ทรงผลของใจดวงนั้น เห็นอาการเกิดของใจที่มันเกิดมันตายไปตามสภาวะที่ว่า ถ้ามันมีขันธ์อยู่ ขันธ์กับจิตมันต่อเนื่องกันอยู่ การต่อเนื่องกันอยู่นี้คือการกระทบกัน การกระทบกันคือการเกิดดับของใจ ใจมันเกิดดับขณะนั้น นี่คือการเกิดแบบกามภพ การเกิดแบบหยาบๆ การเกิดในพรหมไม่มีขันธ์กระทบ เป็นขันธ์ ๑ จิตที่มันว่างหมดเลย มันไม่มีขันธ์เลย มันเป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่เป็นหนึ่งเดียว ถ้าดับเดี๋ยวนั้นมันก็ไปเกิดเป็นพรหม เห็นขนาดนั้น แล้วดับสิ่งที่เป็นธาตุรู้ที่ต้องไปเกิดเป็นพรหมนี้ ดับทั้งหมด

การเกิด การดับ และการตายในหัวใจทั้งหมด มรรค ๔ ผล ๔ หัวใจที่ทรงมรรค ทรงผล ถ้าทรงผลอันนี้เป็นทรงผลของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะเข้าใจ จะเห็นคุณประโยชน์ เพราะมันสะอาด มันบริสุทธิ์ ผลของการทรงไว้ ใจดวงนั้นทรงไว้ แต่ทรงไว้ในโลกนี้ยังมีชีวิตอยู่ เป็นภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี้เป็นภาระ เรื่องของร่างกาย เรื่องของการขับไส

เราชำระร่างกายให้สะอาดขนาดไหน ร่างกายนี้ก็มีขี้หู ขี้ตา ขี้ต่างๆ ในร่างกายนี้ก็ยังมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน นี่คือภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี้เป็นภาระ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน มันต้องทำงานตามธรรมชาติของมัน แต่หัวใจที่ไม่ทรงมรรค ทรงผล มันไม่เป็นอย่างนั้น มันมัดรวมตัวกันหมด สิ่งนั้นเป็นเรา ความทะยานอยากของใจ ใจทะยานอยากแล้ว ความต้องการ ความพลิกแพลง ความตัณหา ความขับเคลื่อนของใจ วิภวตัณหาความไม่พอใจ ผลักไสทุกๆ อย่างที่เราไม่พอใจ

สิ่งที่เราไม่พอใจ เราผลักไส มันผลักไสไปทางไหน? นี้คือการคิด การคิดด้วยตัณหาความทะยานอยาก จะเกิดทุกข์กับเรามหาศาลเพราะเราขับไสสิ่งนั้น ขับไสไปไหน? ในเมื่ออำนาจของกรรม กรรมนี้มีอำนาจเหนือที่สุด

ในศาสนาเราสอนเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำ เราเคยกระทำสิ่งนั้นมา มันเป็นจริตนิสัย เป็นอำนาจวาสนา เป็นกรรมของสัตว์โลก กรรมของสัตว์โลกต้องเจอสภาวะแบบนั้น แล้วเราขับไส เราพยายามผลักไสด้วยวิภวตัณหา มันจะเป็นไปไม่ได้ตามอำนาจในการผลักไสนั้น มันเป็นความทุกข์ ๒ ชั้น เพราะมันเป็นสภาวะอย่างนั้น สภาวะของกรรมที่เกิดขึ้นมานี้เราต้องเจอโดยธรรมชาติของมัน

สิ่งที่เจอนี้คือสภาวะของกรรมที่เราสร้างสมมา แล้วเราผลักไส มันจะเป็นไปได้ไหม? ที่เราผลักไส แล้วเราหลงโลก คนหลงโลก คนมองโลกในแง่ของเขา เขาก็ว่าโลกนี้เป็นสิ่งน่ารื่นรมย์ น่าอยู่ น่าอาศัย เขาก็ผูกพันกับสิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้นก็หลอกลวงตลอดไป ไม่สมกับความเป็นจริง ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เข้าใจเรื่องของโลก แต่ก็อยู่ในโลกของเขา ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไปตามอำนาจของกรรม

พระโมคคัลลานะ เป็นพระอรหันต์แต่โดนโจรทุบร่างกายนี้แหลกหมดเลย เพราะกรรมเก่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี้ ธาตุนี้โดนทำลาย แต่หัวใจของพระโมคคัลลานะปล่อยให้เขาทุบจนตาย พอเขาไปแล้ว ด้วยอำนาจของใจดวงนั้น รวมร่างกายนั้นแล้วออกไปลาพระพุทธเจ้าจะไปนิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ให้สมควรแก่เธอเถิด สมควรแก่เวลาของเธอเถิด”

ท่านแสดงพระธรรมเทศนาให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง แล้วกลับไปที่เก่า มาคลายฤทธิ์ออก ร่างกายนั้นก็แหลกอย่างเก่า มันมหัศจรรย์ตรงนั้น ตรงที่หัวใจมันไม่เป็นไป หัวใจนี้พ้นออกจาก ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์และธาตุนี้ไม่สามารถทำลายหัวใจดวงนั้นได้ หัวใจดวงนั้นบริสุทธิ์แล้ว เข้าใจตามความเป็นจริง เข้าใจเรื่องของโลกแล้วรับรู้โลกไว้ ถึงว่าปล่อยใจ ไม่กระทบกระเทือนใจ

ขันธ์นี้ไม่สามารถกระเทือนใจได้ แต่ต้องอาศัยกัน อาศัยเรื่องของขันธ์ อาศัยเรื่องของโลก ใจผู้ที่ทรงผล ถึงจะทรงผลอย่างนั้น ทรงผลตามความเป็นจริง เข้าใจสภาวะของวัฏวน ไม่ใช่ว่ากามภพอย่างเดียว เข้าใจถึง รูปภพ อรูปภพ เข้าใจหมด เห็นตามความเป็นจริงแล้ว

สิ่งนี้เป็นวัฏฏะที่กว้างขวางขนาดไหน แล้วหัวใจนั้นมันไม่มีสิ่งใดกระทบเลย ไม่มีภวาสวะ ไม่มีอาสวะอยู่ในหัวใจแม้แต่อณูเดียว แล้วสิ่งใดมันจะกระทบกระเทือน มันถึงเวิ้งว้าง มันถึงกว้างขวางจนครอบโลกธาตุ ครอบทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามอิสรเสรีภาพ ถึงเป็นอิสรเสรีภาพของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นประเสริฐ การทรงผล ทรงผลด้วยวิมุตติสุข มันมีความสุขขนาดนั้น

ความสุขของใจดวงนั้น ที่ไม่ต้องการสิ่งใดๆ ในโลกนี้ สิ่งใดๆในโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วเป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งใดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ถึงไม่ปรารถนา แต่ผู้ที่ไม่ทรงมรรคทรงผล มันจะปรารถนาหาที่พึ่ง หาทุกอย่าง แต่ในขณะที่เราประพฤติปฏิบัตินี้ การแสวงหามันก็ถูกในฐานะทรงมรรค ถ้าเราทรงมรรค แล้วเราไม่แสวงหา เราจะทรงมรรคไม่ได้ นี้พูดถึงผู้ทรงผลมันถึงจะเป็นผล

ถ้าผู้ทรงมรรคแล้วต้องก้าวเดิน ในการก้าวเดินนี้เป็นมรรค ผู้ทรงมรรค ทรงมรรคทุกชั้นทุกตอนเข้าไป จนถึงเป็นผลกับใจขึ้นมา ใจนั้นถึงทรงมรรคทรงผล โดยสัจจะความจริง เราถึงต้องพยายามสร้างสมใจของเราขึ้นมา สร้างสมใจ ใจที่มันล้มลุกคลุกคลานอยู่นี้ ใจที่มันยังก้าวเดินอยู่นี้ สร้างสมขึ้นไปจนถึงเป้าหมายของเรา แล้วจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น เอวัง