ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หัวอกพ่อแม่

๑๖ ธ.ค. ๒๕๕๕

 

หัวอกพ่อแม่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๑๘. เนาะ

ถาม : ๑๒๑๘. เรื่อง “ทำไมคนทำชั่วแต่ได้ดี”

ทำไมพ่อแม่รู้ว่าลูกคนไหนทำชั่ว แต่ก็ยังรักและปกป้อง แม้ลูกคนนั้นจะทั้งด่าและโกงพ่อแม่ แต่ลูกที่ทำดีกลับบอกแค่ “เธอเป็นคนดีที่สุดในลูกทั้งหมด และไว้ใจเธอที่สุด” แต่ทำไมลูกที่ทำดีกลับไม่ได้ดี

ตอบ : ฟังให้มันชัดๆ เนาะ กรณีนี้มันเป็นกรณีที่เกิดขึ้นธรรมดา

ถาม : ทำไมพ่อแม่รู้ว่าลูกคนไหนทำชั่วแต่ยังรักและปกป้อง แม้ลูกคนนั้นจะทั้งด่า ทั้งโกงพ่อแม่ แต่ลูกที่ทำดีกลับบอกแค่ “เธอเป็นคนดีที่สุดในลูกทั้งหมด และไว้ใจเธอที่สุด” แต่ทำไมลูกที่ทำดีกลับไม่ได้ดี

ตอบ : กรณีนี้มันเป็นกรณีปัจจุบัน กรณีที่เราเกิดขึ้นมาในสังคมนี้ เราเกิดมาในครอบครัวนี้เราก็เห็นของเรา เช่นเราเกิดมา เพราะลูกๆ หลายคนพ่อแม่ก็ปรารถนาดีกับลูกทุกๆ คน แต่น้ำใจของพ่อแม่นะ น้ำใจของพ่อแม่ ลูกคนที่ดีคือเขาเอาตัวรอดได้ พ่อแม่คนนั้นก็วางใจได้ไง ถ้าลูกคนไหนสามารถทำหน้าที่การงานได้ พ่อแม่ก็สบายใจ ลูกคนนี้ก็ไม่ค่อยได้ใส่ใจ แต่ถ้าลูกคนไหนขาดตกบกพร่อง แล้วอย่างเช่นว่านี่ลูกคนไหนชั่ว เพราะพี่น้องจะรู้ จะเห็นกันเองว่าลูกคนไหนทำความไม่ดี แล้วทำให้พ่อแม่เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ทำไมพ่อแม่ยังรัก ทำไมพ่อแม่ปกป้อง

พ่อแม่ต้องปกป้องเป็นธรรมดา ธรรมดาเพราะอะไร? ธรรมดาเพราะปรารถนาจะให้ลูกคนนี้เป็นคนดีไง ธรรมดาของพ่อแม่ พ่อแม่รู้เหมือนครูสอนนักเรียน ในห้องครูจะรู้เลยว่าเด็กคนไหนเรียนดี เด็กคนไหนเรียนไม่ดี แล้วเด็กคนไหนเรียนไม่ดี พอปล่อยเรียน ครูจะบอกว่าเธอยังไม่ต้องกลับ (หัวเราะ) ต้องติวก่อน เห็นไหม ทำไมครูไปสนใจคนนั้นล่ะ? ครูสนใจคนนั้นเพราะคนนั้นไม่ทันเพื่อน คนๆ นั้นเรียนไม่ทันเพื่อน คนๆ นั้นต้องติว ต้องฝึกคนนั้นให้ทันเพื่อน

นี่ก็เหมือนกัน ในพ่อแม่ของเรา ลูกคนไหนพ่อแม่เลี้ยงมากับมือ พ่อแม่เลี้ยงมาแต่อ้อน แต่ออก ทำไมพ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกคนไหนเป็นแบบใด พ่อแม่รู้ทั้งนั้น ทีนี้ลูกคนที่ดีมันก็ต้องหวังตรงนั้น หวังให้พ่อแม่ปกป้อง ทำไมพ่อแม่ไปปกป้องลูกคนที่ไม่ดีล่ะ? คนที่ไม่ดีเพราะอะไร? เพราะเราเห็นกันเองว่าคนนี้ดีหรือไม่ดี

แต่คนนี้ดีหรือไม่ดีนี่นะ กรณีนี้พ่อแม่ก็ไม่อยากให้เป็นแบบนี้หรอก พ่อแม่นะลูกทุกคนก็อยากให้ลูกทุกคนเป็นคนดีทั้งนั้นแหละ แต่ลูกที่เขาสร้างเวร สร้างกรรมมาดี ความปรารถนาจิตใต้สำนึกเขาดี เขาดีโดยใจของเขา ถ้าลูกคนไหนเขาสร้างเวร สร้างกรรมของเขามา สร้างเวร สร้างกรรมนะ มันไม่ใช่สร้างเวร สร้างกรรมเฉพาะตัวเขา มันสร้างเวร สร้างกรรมมาจากพ่อ จากแม่ด้วย พ่อแม่กับลูกได้สร้างเวร สร้างกรรมมาชาติใดชาติหนึ่ง

อย่างเช่นปัจจุบันนี้ เห็นไหม เวลาปรารถนานะ บางคนถามปัญหามา หลวงพ่อ ถ้าตายแล้วไม่ให้เกิดมาพบกับคนนี้อีกเลยได้ไหม? ถ้าเรารักคนไหนนะ หลวงพ่อ ขอให้เกิดพบกันทุกชาติๆ ได้ไหม? แล้วมันได้ไหมล่ะ? มันไม่ได้เพราะอะไรรู้ไหม? มันไม่ได้เพราะว่ามันมีครอบครัวหนึ่ง ครอบครัวนี้นะเขามีสามีที่ดีมากๆ เลย แล้วสามีดีมาก แล้วภรรยาก็บอกว่า โอ้โฮ เรานี่เป็นคนที่โชคดีมาก ได้สามีสุดยอดมากเลย คิดว่าเราจะอุปัฏฐากสามีให้ดีที่สุด

คิดอย่างนี้นะ บังเอิญจริงๆ นะ คิดอย่างนี้ ตกเย็นวันนั้นสามีออกจากห้องน้ำล้มฟาดลง เส้นเลือดในสมองแตกตายเดี๋ยวนั้น คิดดูสิ นี่เขาเขียนมาเอง เขาเขียนมารำพันว่าจิตใจคิดถึงว่า โอ้โฮ รักสามีมาก สามีเป็นคนดีมาก ก็คิดว่าเราโชคดีมาก เกิดมาชาตินี้โชคดีมากๆ เลย ได้สามีที่ดีมากๆ เลย แล้วตั้งใจว่าต่อไปเราจะดูแลสามีเรา อุปัฏฐากสามีเราให้ดีที่สุดเลย เย็นวันนั้นสามีออกจากห้องน้ำ สะดุดห้องน้ำล้มลง เส้นเลือดในสมองแตกตายในปัจจุบันทันด่วนเลย

โอ๋ย ช็อกเลยนะ ช็อกเลย เสียใจ นี่มันเสียใจสุดๆ เลย คิดว่าจะฆ่าตัวตายตามสามีไป ไปไหนก็แล้วแต่เพื่อนจะดึงไว้ ไปไหนก็แล้วแต่ทุกคนต้องคุมไว้เลย เพราะว่าเวลาสติแตก คิดอย่างเดียวว่าจะต้องฆ่าตัวตายตามสามีไป สุดท้ายแล้วไปไหนๆ ไปไม่รอดแล้วเขาก็พาไปหาหลวงตา พอไปหาหลวงตา เขารายงานให้ท่านทราบ บอกว่านี่เขาจะคิดฆ่าตัวตายตามสามีไป หลวงตาบอกได้ฆ่าเลย ได้ฆ่าเลย แต่พวกเราห้ามหมดนะ หลวงตาบอกว่าได้ฆ่าเลย พอบอกว่าได้ฆ่าเลยนะ แต่มีข้อแม้ มีข้อแม้ว่าถ้าจะฆ่าตัวตายต้องให้ลูก ๒ คนมันฆ่าตัวตายก่อน พอลูก ๒ คนฆ่าตัวตายเสร็จแล้วเราถึงจะฆ่าตัวตายตามพ่อไป

เขาบอกว่าไม่ได้หรอก นี่ภรรยาคนนั้นบอกว่าไม่ได้หรอก เดี๋ยวไม่มีใครสืบสกุล หลวงตาท่านก็แหย่กลับเลย แล้วถ้าไม่มีใครสืบสกุล ถ้าแม่มันตายแล้วมันจะอยู่กับใครล่ะ? ช็อกเลยนะได้คิดเลย ได้สติขึ้นมาเลย พอได้สติขึ้นมานะก็หันไปหาเพื่อน โอ๋ย เพื่อนไม่รัก เพื่อนไม่ยับยั้งเลย เพื่อนไม่รัก คนนี่คิดได้อย่างหนึ่ง คิดไม่ได้อย่างหนึ่ง แล้วหลวงตาท่านก็เทศน์ตรงนี้ไง

หลวงตาท่านเทศน์ว่าคนเรานี่นะ เวลาตายไปจิตนี้ออกจากร่างไป มันก็เหมือนเราเอาเข็มทิ้งลงไปในทะเล เข็มเล่มหนึ่งลงไปในทะเล แล้วเราจะตามไปหาเข็มเล่มนั้น เราจะตามหาเข็มเล่มนั้นเจอไหม? เพราะเข็มมันเล่มเล็กๆ ใช่ไหมมันตกไปในทะเล เราไปดำน้ำหาเข็มเล่มนั้น สามีตายไปแล้ว แล้วเราจะตายตาม

นี่ท่านเปรียบเทียบเรื่องกรรมไง ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาชาตินี้ เวลาตายไปเราจะเจอกันไหม? ถ้าเราเจอกันนะอันนี้เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องระหว่างพ่อ แม่ ลูกมันต้องมีเวร มีกรรมต่อกัน ถ้ามีเวร มีกรรมต่อกันนะ เราเป็นคนดีใช่ไหม? นี่ผู้ถามเราเป็นลูกที่ดี ถ้าเราเป็นลูกที่ดีกับพ่อแม่เรา เราได้สร้างกรรมดีกันมา พอได้สร้างกรรมดีกันมานะ เวลาพ่อแม่มีเรา เราเป็นเด็กดีใช่ไหม? เราเป็นลูกที่ดีใช่ไหม? พ่อแม่ก็มีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขนะ เพราะพ่อแม่ปลื้มใจในตัวเราไง

แต่ถ้าพี่น้องเราที่ว่าเป็นคนชั่ว แต่ทำไมพ่อแม่ยังรัก พ่อแม่ยังปกป้อง เพราะพ่อแม่ก็มีลูกเหมือนกัน แล้วลูกนั้นเขามีเวร มีกรรมต่อกัน พอมีเวร มีกรรมต่อกัน ลูกนั้นเขาเป็นคนชั่ว เขาทั้งด่า ทั้งว่า ทั้งโกงพ่อแม่ พ่อแม่เจ็บช้ำไหม? พ่อแม่เจ็บช้ำไหม? เจ็บ นี่ความเจ็บช้ำนั่นแหละคือกรรม กรรมที่ทำมามันเจ็บช้ำน้ำใจไง มันเจ็บปวดไง ความเจ็บปวด แต่ลูกของเราไง ถ้าลูกของเรานี่เราจะทำอย่างไรได้? ก็ลูกของเรา เราก็ต้องปกป้องลูกเราเป็นธรรมดา ด้วยสายเลือด ความปกป้อง แต่ปกป้องเท่ากับปกป้องคนผิดสิ นี่เขาเขียนมา

ถาม : ทำไมคนทำชั่วถึงได้ดี?

ตอบ : โยมคิดว่าได้ดีหรือ? โยมคิดว่าได้ดีใช่ไหม? โยมเห็นว่าพ่อแม่ปกป้องลูกคนชั่ว คนนั้นจะได้ดีใช่ไหม? ไม่ได้ ลูกก็รู้อยู่นะ คนทำผิด ทำถูก นี่เวลาคนทำผิด ไปถามสิทำไมถึงทำอย่างนั้นล่ะ? มันเป็นอารมณ์ชั่ววูบ มันคุมตัวเองไม่ได้ แล้วทำแล้วเสียใจไหม? เสียใจ เสียใจ แล้วเสียใจทำไมไม่ควบคุมตัวเองล่ะ? มันคุมตัวเองไม่ได้ มันคุมตัวเองไม่ได้ เห็นไหม คนทำชั่วเขาก็รู้ตัวนะ แต่เวลาอารมณ์รุนแรง อะไรที่เกิดขึ้นที่เขาทำเขาควบคุมตัวเขาไม่ได้ แล้วพ่อแม่ก็พยายามจะดูแลตรงนี้

เราจะบอกว่าพ่อแม่ก็เจ็บปวด ลูกก็เจ็บปวด แต่มันเป็นเพราะเวร เพราะกรรมมันเป็นอย่างนั้น ทำให้ลูกหูตามืดบอดทำอย่างนั้นไป ลูกเองทำอย่างนั้นผิดไหม? ผิด รู้ว่าไม่ดีใช่ไหม? ใช่ แล้วทำไมไม่ควบคุมตัวเองล่ะ? ควบคุมตัวเองไม่ได้ เขาก็รู้อยู่ แต่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ เห็นไหม แล้วทำอย่างไรล่ะ? เราก็พยายามแก้ไขกัน เราทำคุณงามความดีของเรา

นี่สิ่งนี้มันเป็นกรรมเก่า เวลากรรมเก่า กรรมใหม่ใช่ไหม? ถ้าเป็นทางโลก นี้พูดไว้ไม่ให้ไปแก้กรรมนะ นี่มันเป็นหนี้กรรม หนี้เวร หนี้กรรมกันมา แต่สำหรับเรา เราเป็นคนดี นี่เราเป็นคนดีของพ่อแม่ ถ้าเราเป็นคนดีของพ่อแม่ ถึงอย่างไรพ่อแม่ก็เจ็บช้ำน้ำใจกับลูกคนนั้น เราก็เป็นลูกของพ่อแม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นลูกของพ่อแม่เหมือนกันนะ เราทำคุณงามความดีเพื่อเราด้วย เพื่อพ่อแม่ของเราด้วย เวลาพ่อแม่เจ็บช้ำน้ำใจ พ่อแม่ก็ยังมีลูกหลายคนนะ แต่ถ้าพ่อแม่มีลูกคนเดียวแล้วเป็นอย่างนั้นนะพ่อแม่เสียใจมากเลย พ่อแม่เสียใจมาก

ฉะนั้น สิ่งที่เราเข้าใจผิดไง เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ไปปกป้องลูกคนนั้น แล้วเราเป็นคนดี พ่อแม่ก็บอกว่า “เธอเป็นคนดีที่สุดเลย แล้วไว้ใจเธอด้วย” ก็ไว้ใจจริงๆ ไว้ใจจริงๆ แต่ไว้ใจแล้วก็ห่วงคนนั้น ห่วงคนนั้น รู้สึกกับคนนั้น เพราะอาลัยอาวรณ์กับคนนั้น นี่เวรกรรม กรณีนี้นะ ถ้าเวรกรรม เราดูอย่างกรณีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทัตมาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดนะ เทวทัตมาเกิดเป็นลูกผู้น้องหรือผู้พี่ไม่รู้ เป็นลูกผู้น้อง

นี่พระเจ้าสุทโธทนะ กับสุปปพุทธะเป็นพี่เป็นน้องกัน เทวทัตเวลาเกิดเป็นชูชก ชาติหนึ่งเกิดเป็นชูชก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นพระเวสสันดร นี่เวลาเกิด เกิดคู่กันมาตลอด เกิดมาคู่กันตลอด ทั้งส่งเสริมกัน ทั้งขัดแย้งกันมาตลอด เวลามาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เทวทัตก็มาเกิดเป็นลูกผู้น้อง นี่ก็โตมาในราชวังเหมือนกัน เวลาออกบวชไปแล้ว เพราะอะไร? เพราะเทวทัตเวลาบวชมาแล้ว ในศาสนาเทวทัตสร้างปัญหาในศาสนานี้พอสมควร ทีนี้พอสมควร เราชาวพุทธก็บอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอนาคตังสญาณ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เทวทัตบวช?

คนถามปัญหานี้มาก คนถามปัญหาว่าทำไมพระพุทธเจ้ารู้อนาคตังสญาณ รู้ว่าคนนี้บวชเข้ามาแล้วจะทำลายศาสนา จะทำศาสนาให้ปั่นป่วน ให้บวชทำไม ทำไมไม่กันไว้เลยล่ะ? ทำไมไม่กันไว้ไม่ให้เทวทัตบวช ศาสนาเราจะได้ราบเรียบ ศาสนาเราจะได้ไม่มีปัญหา แต่ในทางปริยัติเขาแก้กันว่า แก้ว่าพูดถึงถ้าไม่ให้เทวทัตบวช เทวทัตก็จะสร้างปัญหาอยู่ข้างนอกรุนแรงกว่า แล้วเวรกรรมของเขาจะได้กับเขามากไปกว่านี้

ฉะนั้น เวลาให้บวชเข้ามาในพุทธศาสนา ให้พุทธศาสนาได้กล่อมเกลา ได้อยู่ใกล้ชิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ราชกุมารทั้ง ๖ พระนันทะ พระเทวทัตต่างๆ บวชมาด้วยกัน พอบวชมาด้วยกัน เห็นไหม พระนันทะ พระอานนท์เป็นพระอรหันต์หมดเลย แต่พระเทวทัตไม่ได้ คำว่าไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่เขาสร้างเวร สร้างกรรมมาแบบนั้น สร้างเวร สร้างกรรมา แต่พระพุทธเจ้า นี่เวลาเทวทัตขออะไรพระพุทธเจ้าก็ย้ำไว้ เราไม่อนุญาต เราไม่ให้ เราไม่อนุญาต ไม่ให้

นี่เทวทัตผูกโกรธมาก แต่ถึงเทวทัตเวลาเสื่อมลาภ เทวทัตถึงเวลาใกล้สิ้นชีวิต เทวทัตสำนึกได้ พอสำนึกได้จะมาขอขมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเทวทัตจะไม่ได้เห็นหน้าเราหรอก เทวทัตจะไม่ได้เห็นหน้าเราหรอก แต่พระที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ก็รายงานมาตลอดว่าเทวทัตมาถึงนั่นแล้ว มาถึงนั่นแล้ว

พระก็กลัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าเทวทัตจะไม่ได้เห็นหน้าเรา แต่เทวทัตก็จะมาขอขมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระที่อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คิดว่าเดี๋ยวพระพุทธเจ้าหน้าแตกไง บอกว่ามาไม่ได้ๆ จะมาถึงอยู่แล้ว พระพุทธเจ้ายังบอกไม่เห็นหน้าเราหรอก ก็เดินมาจะถึงอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าบอกไม่เห็นหน้าเราหรอก

มาถึงหน้าวัดนะ จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะชำระร่างกายให้สะอาดก่อน สำนึกผิดนะจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อน เวลาวางแคร่ วางเสลี่ยงลง เพราะป่วยมากแล้ว พอป่วยมากก็วางเสลี่ยงลง พอวางเสลี่ยงลง เทวทัตจะก้าวลงไปเพื่อชำระล้างร่างกาย พอก้าวลงเสลี่ยง ธรณีสูบทันทีเลย สูบลงไปเลยไง

นี่ก็ไม่ได้เห็นจริงๆ นั่นแหละ เทวทัตก็ไม่ได้เห็นหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งสุดท้ายจริงๆ พอธรณีสูบลงไปแล้ว สูบไปถึงแค่คอ พอแค่คอ นี่เพราะไม่ได้เห็นแล้ว เทวทัตบอกว่าสำนึกผิด ถวายกรามที่มันยังอยู่บนดิน ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วธรณีก็สูบไปเลย สูบไปก็ไปลงนรกอเวจี เพราะได้ทำลาย ทำลาย นี่ทำร้ายพระพุทธเจ้าห้อเลือด พยายามส่งคนมาฆ่า ส่งคนมาทำลายพระพุทธเจ้าตลอด นี่กรรมเก่า

ทีนี้กรรมใหม่ กรรมใหม่พระพุทธเจ้าก็พยายามดูแล พยายามรักษาให้เทวทัตได้สำนึก แล้วเทวทัตก็ยังได้สำนึกจริงๆ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พยากรณ์ต่อไปว่า นี่ถ้าเทวทัตเขาใช้หนี้ ใช้เวร ใช้กรรมของเขาที่มหานรกอเวจีแล้ว ขึ้นมา นี่เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ พระเทวทัตจะได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะตอนที่พระพุทธเจ้าสร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ พระเทวทัตก็คู่กันมา เขาก็ทำของเขามาเหมือนกัน แต่ทำด้วยจิตใจที่เป็นลบไง ทำด้วยจิตใจลบ แต่เขาก็ทำของเขาเหมือนกัน

ฉะนั้น เทวทัตจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต นี้พูดถึงเวร ถึงกรรมใช่ไหม? นี่เอาสิ่งนี้มาเทียบเคียงว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเวียนตายเวียนเกิดมันก็มีเวร มีกรรมมาทุกๆ คน เราเกิดมาในชาติปัจจุบันนี้ เราเกิดมาในครอบครัวของเรา ทีนี้เกิดมาในครอบครัวของเรา เราเห็นสภาวะแบบนี้ นี่แสดงว่าจิตใจเราดี ดีตรงไหน? ดีที่ว่าเรารู้ผิด รู้ถูก ถ้าเป็นคนจิตใจที่อ่อนแอนะ ถ้าเห็นพี่น้องเขาทำอย่างนี้ เห็นไหม เราก็จะทำอย่างนี้บ้าง โอ๋ย พ่อแม่ปวดหัวตายเลยนะ

ถึงอย่างไรก็แล้วแต่พ่อแม่ก็บอก เออ มีลูกที่ดีๆ บ้าง เธอเป็นคนดีที่สุดในโลกเลย อย่างนี้พ่อแม่ก็ยังปลื้มใจมาก แต่ถ้าจิตใจเราอ่อนแอนะ เราเห็นเขาทำอย่างนั้น เราก็ทำอย่างนั้นบ้าง โอ๋ย พ่อแม่ หัวอกพ่อแม่นะ หัวอกพ่อแม่เจ็บช้ำมาก เพราะหัวอกพ่อแม่ คิดดูหัวอกพระพุทธเจ้าสิ หัวอกพระพุทธเจ้ากับพระในสมัยพุทธกาล พระลูกศิษย์พระพุทธเจ้ามหาศาลเลย นี่หัวอกของครูบาอาจารย์ ที่ลูกศิษย์ลูกหาจะต้องดูแล ถ้าเราคิดได้อย่างนี้นะ คิดได้อย่างนี้ เราคิดได้ขนาดนี้ก็นับว่าเป็นคนดี คนดีที่ว่าเรารู้ถูก รู้ผิด แล้วเราอย่าไปซ้ำเติมไง เรากลับน่าจะเห็นใจพ่อแม่ แต่เวลากิเลสมันคิดไง คิดน้อยใจว่าพ่อแม่ไปรักลูกคนที่ทำไม่ดี แล้วลูกคนที่ทำดีๆ พ่อแม่ไม่พูดถึงเลย

รัก เรากล้าพูดทุกคำพูดนะ ว่าพ่อแม่ไม่รักลูกไม่มี แล้วพ่อแม่จะบอกว่ารักลูกไม่เสมอกันเราก็ไม่เชื่อ เราไม่เชื่อหรอก เพราะพ่อแม่เบ่งเรามาทุกคน เราทุกคนพ่อแม่เบ่งมาทั้งนั้นแหละ แต่เวลาเราเกิดมาแล้วเรามีความสามารถ มีเชาวน์ปัญญาแค่ไหน เราฉลาดมาก ฉลาดน้อยแค่ไหนพ่อแม่รู้ พ่อแม่เลี้ยงมาแล้วรู้เลยว่าลูกคนนี้ออกไปแล้วจะไม่มีใครหลอกลูกคนนี้ได้ สบายใจมากนะ ลูกคนนี้ไปไหนมีแต่คนหลอก แล้วเสียรู้เขามาตลอด พ่อแม่เป็นทุกข์มากเลย เอ๊ะ ลูกเราจะอยู่อย่างไร? ลูกเราจะอยู่อย่างไร? นี่พ่อแม่ทุกข์มากเลย

กรณีเช่นนี้ ลูกที่เป็นลูก ต่อไปข้างหน้าเขาก็มีลูก มีหลานเหมือนกัน กงกรรมกงเกวียนนะ ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นขึ้นมา เรารู้ เราเห็นแล้วเราอย่าทำ เราอย่าทำนี่ดีที่สุด แต่ถ้าคนน้อยเนื้อต่ำใจมันจะทำ พอทำเสร็จแล้วนะ เวลาตัวเองไปมีลูกข้างหน้า คิดอย่างนี้เหมือนกัน เหมือนกัน ถึงเวลาแล้วเหมือนกันหมด ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“สิ่งใดทำไปแล้วระลึกได้ภายหลังเสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

ในปัจจุบันนี้เรามีสติสัมปชัญญะขนาดนี้ เรารู้ถูก รู้ผิดแล้ว เราจะตั้งใจของเรา พ่อแม่เสียใจกับลูกคนนั้นพอสมควรแล้วล่ะ เราอย่าไปพูด อย่าไปกระเทือนให้พ่อแม่เสียใจไปมากกว่านี้อีกเลย พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรานะ พ่อแม่มีบุญกับเรามากขนาดนี้ใช่ไหม? ฉะนั้น พ่อแม่เสียใจกับพี่ กับน้องเราพอสมควรแล้วล่ะ เราอย่าไปพูดให้พ่อแม่เสียใจไปมากกว่านี้ เราพยายามทำตัวเรา ทำตัวเราให้ดี เรารักษาตัวเรา

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าใครชำระกิเลส มันเป็นปัจจัตตัง เป็นความดีความชั่วเฉพาะตัว เวลาเกิดมาในสังคมมันจะเกี่ยวเนื่องกันไปหมด เวลาถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นความดี ความชั่วเฉพาะตัว ถ้าดี ดีเฉพาะตัว ชั่ว ชั่วก็เฉพาะตัว แต่เวลาเราอยู่กับสังคม เราอยู่กับในตระกูล เวลาดีไปนี่ชาติตระกูลมันเกี่ยวเนื่องกันไป เราดูแลรักษาตรงนี้

เรากลับเห็นใจนะ เรากลับเห็นใจพ่อแม่ ทีนี้คำว่าเห็นใจพ่อแม่ ทีนี้พ่อแม่ทำอย่างไรมา มีเวร มีกรรมมา อันนั้นกรรมเป็นอจินไตย อจินไตย ๔ พุทธวิสัย โลก ฌาน กรรม กรรมนี่เป็นอจินไตย มันซับซ้อนกันมามาก ฉะนั้น เห็นใจนี่เห็นใจมาก เห็นใจในชาติปัจจุบันนี้ แต่นี้คือวิบากกรรม วิบากคือผลที่มันแสดง เป็นผลลัพธ์ที่เราต้องได้รับ ถ้าได้รับแล้วเรามีสติปัญญา แล้วเราจะไม่น้อยเนื้อต่ำใจเป็นแบบนี้

นี่เวลาเราพูดกับลูกศิษย์ประจำ เห็นไหม ว่าเราภูมิใจมาก ภูมิใจว่าเราทำสิ่งใด สิ่งที่กระทบกับเรานี่เรายิ้มรับตลอด เพราะอะไร? เพราะเราทำมาเอง เวลาใครจะมาติฉินนินทาเรา ก็เพราะเราพูดเอง เราพูดออกไปมันสะท้อนกลับมาเอง ไม่เดือดร้อน เราจะโดนอะไรเราไม่สนใจเลยนะ เพราะอะไร? เพราะทำเองหมดเลย เพราะเราทำเอง เราเป็นคนทำเอง กรรมคือการกระทำ เราได้ทำกรรมแล้ว เราจะปฏิเสธผลมันได้อย่างไร? เราได้ทำแล้ว

ฉะนั้น สิ่งนี้เราทำ ทีนี้เราเห็นผล เล็งเห็นผลว่าทำแล้ว แสดงธรรมไป หรือเทศนาว่าการไปเพื่อประโยชน์กับโลก ถ้าใครเขาได้ประโยชน์ คนนั้นเขาก็ได้ประโยชน์ของเขาไป แต่ถ้าใครเขาเสียประโยชน์ เขาก็ต้องมีผลตอบสนองกลับมา อันนั้น เห็นไหม กรรมคือการกระทำ ฉะนั้น สิ่งใดเกิดขึ้นมาเรายิ้มรับได้หมดนะ เพราะเราทำเอง เราทำเอง เราทำทั้งนั้น ฉะนั้น เราทำเองแล้วนี่จบเลย อันนี้พูดถึงกรรมดี กรรมชั่วนะ

ถาม : ข้อ ๑๒๑๙. เรื่อง “ความคิดดับ” (อันนี้เป็นการภาวนา)

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง กราบขอเรียนถามหลวงพ่อว่า เวลานั่งสมาธิแล้ว มันสงบลงแล้วมันว่างอยู่ แต่บางขณะก็เห็นจิตมันคิด มันปรุง เช่นเห็นความโลภเกิด เห็นความคิด กิเลสต่างๆ มันเกิด พอมันเกิดจิตมันก็ไปดับ ความคิดมันหายไป มันเหมือนคนเปิดไฟ จิตก็จะปิดทันที ความคิดอะไรมันปรุงขึ้นมาจิตก็ดับ ไม่เอากับความคิดการปรุงนั้นๆ อย่างนี้ถูกไหมครับ?

ตอบ : นี่เวลาเราพูดนะ เราพูดโดยทั่วไป อย่างนี้ถูกไหม? ถ้าเป็นสมถะ หรือทำความสงบของใจ อย่างนี้ จะว่าถูกก็ไม่ถูกทั้งหมดนะ ถ้าพูดอย่างนี้ การปฏิบัติอย่างนี้เราบอกว่าไม่ถูก ไม่ถูกเลย แต่ไม่ถูกเลยมันมีส่วน มันมีส่วนว่าเวลาเราทำสมถะใช่ไหม? เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เราก็บังคับไม่ให้คิดเหมือนกัน บังคับความคิดมาอยู่ที่พุทโธ พุทโธ เพื่อให้คำบริกรรม ให้จิตมันไปคิดพุทโธ พุทโธ เพราะความคิดพุทโธมันคิดแล้วร่มเย็น เพราะเราระลึกถึงพุทธานุสติ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันจะสงบมา

เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้สติไล่ความคิดไป พอความคิดมันดับ มันดับแล้วมันเหลือไง มันไม่ใช่เปิดไฟปิดไฟ เปิดไฟปิดไฟ นี่คำว่าปิดมันก็ดับทันที มันเป็นเรื่องความคิด มันไม่ใช่เรื่องที่จิต มันเป็นเรื่องส่งออกไง ส่งออกมาที่ความคิด แต่เราไม่เห็นจิตของเรา แต่เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธก็เป็นความคิด แต่พุทโธละเอียดๆ เข้าไป มันละเอียดเข้าไปสู่จิตไง คือว่าเป็นสมาธินี่นะมันจะละเอียดเข้าไปๆ

เหมือนกับน้ำที่มันน้ำขุ่น ตะกอนมันใสลงๆ มันนอนไปเราเห็นหมดนะ เรารู้หมด จนน้ำใสเราก็รู้ว่าน้ำใสใช่ไหม? แต่ถ้ามันปิด เกิดดับๆ มันไม่มีน้ำ มันไม่มีตะกอนไง เพราะการที่จิตเกิดดับมันตัดกัน เราบอกว่าเวลาคนมิติมันเกี่ยวเนื่องกันไม่ได้ เหมือนสายไฟเขามีสวิตซ์ของเขา พอมันปิดไฟขึ้นมา ไฟมันก็ดับ แต่นี้จิตมันไม่เป็นแบบนั้น จิตถ้ามันดับมันก็ดับอยู่ข้างนอก พอดับอยู่ข้างนอกข้างในก็เป็นภวังค์ มันขาดไปเลยใช่ไหม? สมมุติว่าความคิด ความคิดหายไป แล้วเราก็ไม่มีจุดหมายเลย เราก็เคว้งคว้างเลย แล้วก็บอก แล้วว่าเป็นอย่างไร? ก็ว่างๆ ว่างๆ

นี่เพราะพูดอย่างนี้มันถึงเป็นมิจฉาสมาธิไง แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันละเอียดเข้ามาเราก็รู้ เราระลึกถึงปานกลางเราก็รู้ จากหยาบเราก็รู้ ปานกลางก็รู้ ละเอียดก็รู้ พอละเอียดถึงเป็นตัวจิตมันนึกไม่ได้แล้ว มันนึกไม่ได้จริงๆ นะ มันนึกไม่ได้ แล้วใครเป็นคนนึกไม่ได้ล่ะ? ก็จิตมันเป็นคนนึกไม่ได้ จิตมันเป็นพลังงานมันไม่ใช่ความคิด มันนึกไม่ได้ก็เอ๊อะ เอ๊อะ เอ๊อะ นี่ไงสิ่งนี้ถึงเป็นสัมมา ถ้าสัมมาสมาธิมันเป็นแบบนี้ แล้วถ้าเป็นวิปัสสนาแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง วิปัสสนานี่จิตที่สงบแล้วออกรู้ไป

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าความคิด นี่เวลาจิตมันสงบมา ความคิดที่เกิดขึ้น ความปรุง ความแต่งที่ว่าความโลภ เห็นไหม ไปเห็นความคิด เห็นความคิด อันนี้พอเห็นความคิด ถ้าพูดถึงมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิเราเห็นความคิดใช่ไหม? แล้วความคิดดับ ดับอย่างไรล่ะ? มันต้องมีสติพร้อม ถ้าเห็นความคิด ความคิดมันดับ ความคิดมันดับแล้วมันเหลืออะไรล่ะ? นี่ถ้าคนเป็นนะมันจะเหลืออะไรล่ะ? เราทำงานเสร็จ ใครเป็นคนทำงานเสร็จล่ะ? เราทำงานเสร็จ เอกสารเสร็จเราก็เก็บเข้าแฟ้ม แล้วเราก็กลับบ้าน ก็มีเราไง ทีนี้ทำงานเสร็จ งานมันทำเองได้ แฟ้มมันทำเองได้ แฟ้มมันก็จะเดินเข้าไปเก็บในตัวมันเองได้ แล้วคนทำมันอยู่ไหนล่ะ? คนทำมันไม่มี

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ความคิดมันเกิดขึ้น ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ สติเราทันมัน พอทันมัน เวลามันดับ อืม แปลกมาก มหัศจรรย์มาก แล้วเดี๋ยวก็คิดอีก เดี๋ยวสติมันก็ตามทัน พอพิจารณาไปมันก็ปล่อยอีก เออ มหัศจรรย์มาก พอมหัศจรรย์บ่อยครั้งเข้า ไอ้ที่ว่ามหัศจรรย์มากมันจะยาวขึ้น คือสมาธิมันจะมากขึ้น ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น พอชัดเจนขึ้นมันทรงตัวมัน พอทรงตัวมัน เวลามันออกเสวยอารมณ์ คือออกคิดนี่เราจับได้

จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นความคิด จิตจับความคิด ถ้าจิตจับความคิด กาย เวทนา จิต ธรรม กาย เวทนา จิต ธรรม ตรงนี้เป็นวิปัสสนา วิปัสสนามันก็ชัดเจนของมัน ทำของมัน นี่เขาบอกว่าการคิดอย่างนี้มันถูกต้องไหม? เพราะถ้าผู้ถามนะถามมาอย่างนี้ เพราะเวลาศึกษาทางปริยัติ ศึกษาทางปริยัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้ตัวทั่วพร้อมมันดับ พอมันดับแล้วทำอย่างไรต่อไป? สิ่งที่มันดับนะ สิ่งที่มันดับใครเป็นคนดับ? แล้วดับอย่างใด? ใครเป็นผู้ดับ? ผู้ดับแล้ว ผู้ที่เหลือ เหลือคือใคร?

นี่ถ้าจะเริ่มปฏิบัติ ปฏิบัติมันจะมีแบบนี้ไง มีแบบว่ามีผู้กระทำ มีผู้กระทำ มีผู้รับรู้ มีผู้เสียหาย มีผู้ปลดเปลื้อง แล้วมีผู้ที่สะอาด ถ้าบอกว่าผู้สะอาด อย่างนี้มันก็เป็นอัตตาสิ อย่างนี้จิตมันก็อยู่ของมันสิ อยู่ไม่อยู่เดี๋ยวจะรู้ รู้เพราะอะไร? รู้เพราะถ้าเป็นอนาคามีนะ บ้านว่าง เรือนว่างแต่มีคนอยู่ เห็นไหม เรือนว่างแต่มีคนอยู่ คนอยู่นั่นคือจิตไง ถ้าเรือนว่างยังมีคนอยู่ยังไม่จบ ถ้าเรือนว่างแล้ว ไอ้คนที่อยู่ในเรือนนั้นต้องออกมาด้วย แล้วไอ้คนที่อยู่ทำลายผู้รู้นั้นด้วย อันนั้นจบสิ้นกระบวนการนั้น นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น เวลาเราคิด เพราะถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมเขาบอกว่าเขาจะเห็นความโลภเกิดขึ้น ความโลภดับไป ความโลภนี้เป็นชื่อนะ นาย ก. เป็นผู้ฉ้อโกง รู้จักว่านาย ก. เป็นผู้ฉ้อโกง แล้วนาย ก. อยู่ไหนล่ะ? จับตัวนาย ก. ได้ไหม? จับนาย ก. ผู้ฉ้อโกง เป็นผู้ร้ายมาชดใช้ผู้เสียหายได้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน เห็นความโลภเกิดขึ้น จริงหรือ? แล้วความโลภอยู่ไหนล่ะ? แล้วจะละความโลภอย่างไรล่ะ? แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติแบบที่รู้ตัวทั่วพร้อมก็เป็นอย่างนี้แหละ เห็นความโลภเกิดขึ้น ความโลภดับไป เห็นเกิดดับๆ นู่นก็เกิดดับ นี่ก็เกิดดับ กรณีเกิดดับ เมื่อก่อนที่ว่าดูจิตเกิดดับ เราก็บอกว่าถ้าดูจิตเกิดดับอย่างนี้มันก็เหมือนเสาไฟฟ้าสิ ดูสิเสาไฟฟ้าเดี๋ยวนี้เขาตั้งโปรแกรมไว้ เห็นไหม พอแสงไม่มีมันก็ติดเอง พอสว่างมันก็ดับ ถ้าเกิดดับอย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์

ฉะนั้น ถ้ามันบอกเห็นความโลภเกิดดับ อ๋อ ความโลภเกิดดับ อันนี้มันก็อันใกล้เคียงกันนั่นแหละ คำว่าใกล้เคียงกัน นั้นจะบอกว่าเห็นความโลภเกิดดับ ถ้าเราบอกว่าใช่ นี่แสดงว่าภาวนาเป็นแล้ว เห็นความโลภเกิดขึ้นมา ความโลภดับไป กิเลสมันดับไป กิเลสดับไปแสดงว่ากิเลสไม่มี กิเลสไม่มีก็แสดงว่าปฏิบัติแล้วได้ผล มันก็ไม่ใช่ใช่ไหม? มันก็ไม่ใช่ ทีนี้เพียงแต่พวกเรามีสามัญสำนึก มีความรู้สึกนึกคิด พอเรามีสำนึก มีความรู้สึกนึกคิดปั๊บ เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป เราก็เป็นจินตมยปัญญา เราก็สร้าง เราบอกว่านี่หนังสารคดี คนที่เขาทำหนังสารคดีให้เราดูเขาต้องศึกษาก่อนว่าเขาจะทำสารคดีเรื่องอะไร เขาต้องเขียนสคริปต์ของเขา เขาพยายามสร้างของเขามาเพื่อเป็นหนังสารคดี

เราไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เราศึกษาทางวิชาการมา แล้วเราก็มาสร้างสารคดีในใจของเราไง นี่เห็นความโลภ ถ้าความรู้สึกอย่างนี้เป็นความโลภ แล้วถ้าสุขใจมันก็ดับ พอดับไปแล้วมันก็ไม่มีความโลภ นี่เป็นหนังสารคดี เพราะพยายามทำตามข้อมูลที่เราศึกษามากับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาเราไปประพฤติปฏิบัติมันไม่ได้สร้างหนังสารคดี เราจะต้องศึกษาวิจัยหัวใจของเรา เราต้องศึกษาวิจัยกิเลสของเรา

ถ้าเราจะศึกษาวิจัยกิเลสของเรา ใครเป็นผู้ศึกษา ใครเป็นผู้วิจัย ถ้าใครเป็นผู้ศึกษา ใครเป็นผู้วิจัย เราถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอพุทโธ พุทโธ พอใจมันสงบ ใจมันสงบแล้ว ใจมันออกค้นคว้า ใจมันออกพิจารณา ใจ ตัวใจตัวนั้นแหละมันเป็นผู้ค้นคว้าวิปัสสนาของมันเอง ตัวใจนั่นแหละเป็นผู้วิจัย วิจัยเรื่องความลุ่มหลงในใจของตัวเอง พอใจมันลุ่มหลงขึ้นมา มันพิจารณาของมัน มันจะเห็นสักกายทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิคือความเห็นผิดเรื่องของกาย นี่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม พอพิจารณาของมัน พอพิจารณามันแยกแยะของมันไป พิจารณาไปแล้วมันก็ปล่อย ตทังคปหาน คำว่าปล่อย ปล่อยคือเราทำวิจัยของเราใช่ไหม? เราวิจัยเรื่องสิ่งใด เราวิจัยเรื่องกระดูก เราวิจัยเรื่องกระดูกนะ กระดูกเทียม เราจะวิจัยเรื่องอะไรล่ะ? อย่างคอมพิวเตอร์เขาทำวิจัยต่างๆ เขาก็ต้องค้นคว้าของเขาใช่ไหม? ต่อยอดของเขาใช่ไหม? แล้วก็ต้องทดสอบใช่ไหมว่าใช้ได้จริงหรือเปล่า คุณภาพดีหรือเปล่า มีการลงทุนได้ไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราพิจารณาของเรา ถ้าจิตมันสงบแล้ว เราพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม นี่สิ่งที่มันพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ที่สักกายทิฏฐิความเห็นผิด เวลาพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันมีเหตุมีผลของมัน เราทำวิจัยของเราประสบความสำเร็จมันก็จะปล่อย มันจะปล่อย นี่ตทังคปหาน ปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ ถ้ามันสมุจเฉทปหานล่ะ?

นี่มันสมุจเฉทปหานมันถึงเข้าไปเห็นกาย เห็นกายอันละเอียด นั่นเป็นอุปาทาน แล้วถ้าไปเห็นกาย เห็นกายอันละเอียดลึกซึ้งเข้าไปอีกนะ อันนั้นมันเป็นอสุภะ ความเป็นอสุภะ นั่นแหละตรงนั้นแหละมันถึงจะเห็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโกรธ เห็นไหม กามราคะ ปฏิฆะมันอยู่ตรงนั้นไง แต่นี้พูดถึงเราเห็นความโลภเกิดขึ้น ความโลภดับไป มันเป็นหนังสารคดีทั้งหมด

ฉะนั้น ความคิดเกิดดับมันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ ความคิดเกิดดับ สิ่งต่างๆ ความคิดเกิดดับ จิตใจ นี่อย่างที่ว่าจิตใจนี้มหัศจรรย์นัก เวลาคิดร้ายนะ เขาคิดร้ายนะเขาคิดซับ คิดซ้อน วางแผนจนเราตามไม่ทันเลย คนที่ดีนะก็คิดแต่เรื่องดีๆ ดีจนแปลกประหลาดมหัศจรรย์เลย แล้วบางคนนะเดี๋ยวคิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้ ในหัวใจตัวเองมันก็มหัศจรรย์หมดเลย แล้วเวลาเรามาปฏิบัติ นี่มันก็คิดของมันได้ขนาดนี้ แล้วจิตถ้ามันสงบมันยิ่งคิดได้ยิ่งกว่านี้อีก

ฉะนั้น เห็นว่าความโลภเกิดขึ้น ความโลภดับไป นี่มันเป็นความรู้สึกนึกคิดนะ แต่ถ้ามันเป็นการปฏิบัติ การปฏิบัติมันเหมือนเราจะทำงาน ถ้าเราไม่มีการศึกษา ไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้เขาจะรับสมัครงานไหม? พอรับสมัครงานไปแล้ว เราทำงานเพราะเรามีองค์ความรู้ เราทำงานยังไม่ชำนาญ แต่เรามีองค์ความรู้อยู่ แต่เราฝึกหัดปฏิบัติของเราไป ถ้าเราปฏิบัติไป เรามีความรู้อยู่แล้ว พอทำ เออ ความรู้เป็นอย่างนี้เอง ยิ่งทำยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่ๆ ชัดเจนเข้าไปใหญ่ พอทำขึ้นไปอย่างนี้มันจะเป็นความจริงขึ้นมา

นี่ภาคปฏิบัติ ถ้ามันปฏิบัติจนเป็นความจริงมา นี่ถ้ามันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกมันจะรู้จริงไง แต่ที่ถามมา เห็นไหม เห็นความโลภเกิดดับ นี่ความคิดดับ แล้วมีความคิดปรุงแต่ง เวลาเกิดดับมันปิดเปิดทันที ความคิดหายไป ความเห็นของเขาเป็นความเห็นของเขานะ เราจะบอกว่าสิ่งที่ทำนี่เราเพิ่งฝึกหัดของเรานะ ถ้าเวลาฝึกหัดของเราแล้ว เราปฏิบัติขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะทดสอบการปฏิบัติ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาครูบาอาจารย์ออกจากป่ามาท่านถามกัน จิตสงบอย่างไร?

เริ่มต้นเขาจะถามดูก่อน เขาจะเช็คกันดูก่อนเลยว่าทำความสงบของใจได้หรือเปล่า ถ้าทำความสงบของใจไม่ได้ เวลาพูดออกมามันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งหมด แต่ถ้าใครทำความสงบของใจเป็น จิตเป็นสัมมาสมาธิได้ ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิได้ ออกค้นคว้าหานาย ก. ผู้ทำความผิดได้ไหม? นาย ก. เป็นผู้ปล้น คือกิเลสเป็นคนทำชั่วร้ายในหัวใจของทุกๆ คน หานาย ก. คือหากิเลสเจอไหม? ถ้าหากิเลสเจอคือเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงไหม? ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นแหละหาผู้เสียหายได้ ถ้าผู้เสียหายเรามาพิจารณาได้ไหม?

ถ้าพิจารณาไป นี่เขาถามกันอย่างนี้ ถ้าเขาถามอย่างนี้มันก็เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ไอ้นี่จิตเกิดดับ เห็นความโลภ ความโลภดับ อืม เราจะบอกสังคมเขาเป็นกันอย่างนั้น สังคมมักง่าย สังคมทำกันโดยความมักง่าย แล้วพอความมักง่ายแล้วก็บอกว่าศาสนาพุทธนี้เจริญ แล้วเป็นชาวพุทธแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติง่าย รู้ง่าย สมัยพุทธกาลก็มี เราก็ทำได้อย่างนั้น เราก็เห็นเศรษฐีร่ำรวยในโลกนี้เยอะแยะไปหมด เราก็อยากร่ำ อยากรวย เราคิดเอาเองนี่รวยไม่ได้หรอก เราจะอยากร่ำ อยากรวยนะมันต้อง

นี่เราไปเสียภาษีปีเท่าไหร่? มีผู้เสียภาษีไหม? เสียภาษีนี่ทำธุรกิจการค้าอะไรมา? ได้เงิน ได้ทองมามันได้มาด้วยความบริสุทธิ์ไหม? เป็นการฟอกเงินหรือเปล่า? มันก็ต้องเช็คกันอย่างนั้นเลยนะ ถ้าอย่างนั้นแล้ว บุคคลคนนี้ไม่มีหมายเลขเสียภาษี แต่บุคคลคนนี้เป็นเศรษฐีโลก ไปอยู่ไหนไม่มีใครยอมรับหรอก เออ เขาเป็นชนชาติใด? เสียภาษีที่ไหน? มีรายรับ รายจ่ายปีละเท่าไหร่?

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติกันมาอย่างไร? ฉะนั้น ถ้ามันบอกว่าความโลภเกิดขึ้น ความโลภดับไป เห็นกิเลสเกิดขึ้น เพราะคำถามนะ เห็นไหม เขาบอกว่า

ถาม : เวลากิเลสมันเกิดขึ้น มันเกิดจากจิตมันก็ดับ ความคิดก็หายไป เหมือนคนเปิดไฟ ปิดไฟ ดับทันที ความคิดปรุงแต่งจิตก็ดับไป

ตอบ : เออ ถ้าพูดถึงนะ พูดถึงพระที่ไม่มีพื้นฐานเลย พอบอกว่าความโลภดับ กิเลสดับ อืม มันก็คงว่าดับ แต่ผู้ที่เคยทำ เขาทำมาเขาไม่เชื่อหรอก มันเป็นไปไม่ได้ นี้เป็นไปไม่ได้ คำถามที่ว่าแล้วอย่างนี้ถูกไหม? ทีนี้อย่างนี้ถูกไหม เราถึงได้พูดตั้งแต่เริ่มต้นไง ว่าผู้ที่ฝึกหัดใหม่มันก็เป็นแบบนี้ทุกคน ผู้ที่ฝึกหัดใหม่นะจับพลัดจับผลู ผิดๆ ถูกๆ หญ้าปากคอก หญ้าปากคอกนะ นี่เราจะกินอันไหน เราจะดูแลอย่างไร มันไม่มีหลัก ไม่มีเกณฑ์

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ถึงบอกให้วางให้หมดเลย แล้วกำหนดพุทโธก่อน กำหนดพุทโธก่อน ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะเหมือนเราเป็นคนที่บรรลุนิติภาวะ เราจะทำสิ่งใด เรามีสิทธิเสรีภาพทำได้ทุกอย่างเลย ถ้าจิตมันสงบแล้วนะมันรู้มันเห็นของมันตามความเป็นจริงนะมันไม่ถามมาอย่างนี้ นี่แบบว่าเหมือนกับเด็กอ่อน เด็กน้อย ทำอะไรก็ไม่เป็น แล้วจะบอกว่าความโลภเกิดขึ้น เด็กน้อยมันก็บอกว่ามันไม่โลภ มันไม่โกรธ มันร้องไห้ มันตีโพยตีพายกับพ่อแม่ หนูไม่โลภเลย หนูไม่รู้อะไรเลย หนูเก่งหมดเลย แล้วพ่อแม่เชื่อไหม? มันร้องไห้ตีโพยตีพายจะเอาแต่ตามใจตัวมัน มันบอกมันไม่โลภ

นี่ก็เหมือนกัน เขียนมานี่เห็นความโลภเกิดแล้วก็ดับหมด อืม เราก็ฟังไว้นะ เพียงแต่ว่าถามมานี่ถามมาว่าอย่างนี้ถูกไหม? แล้วเราก็ปฏิบัติของเราไปเนาะ ความคิดเกิดดับ อ่านให้ชัดๆ อีกทีหนึ่งเนาะ

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า เวลานั่งสมาธิพอมันสงบลงแล้วมันว่างอยู่ แต่บางขณะก็เห็นจิตมันคิดปรุงแต่ง เช่นเห็นความโลภเกิด เห็นความคิด กิเลสต่างๆ มันเกิด พอมันเกิดจิตมันก็ดับไป ความคิดก็หายไป เหมือนคนเปิดไฟ จิตก็ปิดทันที ความคิดอะไรปรุงแต่งขึ้น จิตก็ดับ ไม่เอาความคิด ความปรุงนั้นๆ อย่างนี้ถูกต้องไหม?

ตอบ : ตอบหมดแล้วเนาะ เอวัง