ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แง่ธรรม

๒๒ ธ.ค. ๒๕๕๕

 

แง่ธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๒๒๐. เรื่อง “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส”

ตอบ : ข้อนี้เขาเขียนมายกเลิกเหมือนกัน เขียนมาตอนหลังว่าเขาเข้าใจแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่เขาเข้าใจแล้วนะ กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส เขาถามมา นี้เขาถามมา เขาถามมาในแง่ของปฏิบัติ เพราะเขายกเลิก ยกเลิกว่าเขาเข้าใจเพราะเขาพิจารณาของเขา เดี๋ยวปัญหาอันนั้นจะอยู่ข้างหน้า แต่นี้เขาเขียนมามันเป็นแง่มุม เราจะพูดให้ฟัง เพราะอันนี้คนคิด คนฟังแล้วมันไม่เข้าใจหรอก

ถาม : เคยฟังธรรมะของหลวงพ่อ เกี่ยวกับกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส จะฟังอีกแต่หาไม่เจอ ฝุ่นที่เกาะหมายถึงกิเลสหรือไม่? กระจกไม่มีหรือจิตไม่มี? แล้วฝุ่น (กิเลส) มันจะเกาะอะไร?

ถาม : นี่เขาถามมาอย่างนี้ แต่สุดท้ายแล้วเขามีคำถามข้างหน้าบอกว่าเข้าใจแล้ว กรณีนี้เขายกเลิก แต่ทีนี้เขายกเลิกเพราะตอนถามเขาสงสัย ตอนนั้นเราจะอธิบายว่าเขาสงสัยอย่างไรเขาก็ไม่เข้าใจหรอก คนจะเข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้เลย นี่มันเป็นเรื่องของธรรมะกับเรื่องของโลก

มันเป็นเรื่องของโลกนะ มนุษย์นี่เกิดมาเป็นโลก เกิดมาเป็นโลก เพราะเกิดมานี่ เห็นไหม เกิดมามีกายกับใจ เกิดมาอยู่กับโลก เกิดมาโดยความเข้าใจของโลก มันเป็นกามภพ รูปภพ อรูปภพ สถานะของมนุษย์คือโลก คืออยู่กับโลก เพราะเกิดตามเวรตามกรรมเป็นมนุษย์ แต่เวลามนุษย์มาปฏิบัติธรรม เวลาเกิดธรรมะขึ้นมามันจะเข้าใจธรรมะ ถ้าเข้าใจธรรมะ เวลาแสดงออกของผู้ที่มีธรรมมันจะมีแง่มุมไง ธรรมาธิษฐาน แง่มุมของธรรม

ฉะนั้น พอมีแง่มุมของธรรม ต้องมีแง่ มีมุม ถ้ามีแง่ มีมุม เห็นไหม เหมือนนายช่างใหญ่ นายช่างใหญ่นะ เขาจะทำสิ่งใดเขาจะมีความชำนาญ เขาจะทำสิ่งใดด้วยความชำนาญของเขา นายช่างฝึกหัด หรือผู้ที่ฝึกหัดงานเลย คนฝึกหัดเลยทำอะไรจะล้มลุกคลุกคลาน เพราะเขายังทำอะไรไม่เป็น แต่นายช่างที่ฝึกหัดเป็นแล้วเขาก็ทำของเขา แต่เขาไม่มีความชำนาญเหมือนนายช่างใหญ่ นายช่างใหญ่เขาผ่านงานมาจนเขามีความชำนาญการมาก เขาจะทำสิ่งใด ทุกอย่างพอเขานึกจะทำอะไรปั๊บเขาจะเห็นภาพหมด มันอยู่ในหัวเขาหมดเลย เขาทำสิ่งใดเขาจะคล่องแคล่วของเขา

ในการประพฤติปฏิบัติของเราเป็นโลก เหมือนกรรมกรฝึกหัดทำงาน กรรมกรฝึกหัดทำงาน นายช่างเขาจ้ำจี้จ้ำไชๆ ไอ้คนทำงานเบื่อหน่ายมากเลย ก็เราคิดว่าเราทำได้เหมือนกัน เราก็ทำได้ ทำไมต้องควบคุมกันขนาดนั้น? เห็นไหม นายช่างเขาฝึกหัดกรรมกรเขาต้องคอยดูแลของเขา นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติธรรมของท่านมาแล้ว ท่านมีคุณธรรมในหัวใจของท่าน ท่านมีความชำนาญของท่าน ท่านจะรู้เลยว่าทำสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก แล้วการจับเครื่องมือ การจับ การใช้ ถ้าเราจับตำแหน่งไม่ดี งานออกมาท่านจะรู้เลยว่ามันจะไม่ได้สัดส่วนของมัน นี่ครูบาอาจารย์ท่านถึงได้บอกแบบนั้น

ฉะนั้น กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใสมันเป็นผู้ที่มีคุณธรรม คนนี้มีคุณธรรมนะ เพราะเรื่องนี้มันอยู่ในฮุยเหน็ง ปัญหาของเว่ยหล่าง เว่ยหล่างเขาเป็นประวัติเว่ยหล่าง แต่ทีนี้สังฆราชคือผู้ที่เป็นหัวหน้าในผ่ายมหายาน เขาจะหาผู้สืบต่อตำแหน่ง เขาจะหาผู้สืบต่อตำแหน่งนะ นี่เขารู้อยู่แล้วว่าใครเป็นใคร เพราะสังฆราช นายช่างใหญ่ที่ชำนาญงานเขารู้ว่าลูกน้องเขา หรือผู้ที่เขาฝึกหัดมา ใครจะมีความชำนาญอย่างใด ใครทำงานได้มากน้อยขนาดไหน แต่จะตั้งใครให้เป็นหัวหน้างาน ลูกน้อง ผู้ที่ทำงานทุกคนว่าตัวเองมีความสามารถทั้งนั้น

ฉะนั้น สังฆราชถึงบอกว่าให้ลูกน้องแสดงวุฒิภาวะ คือแสดงคุณธรรม แสดงว่าใครมีความรู้มากแค่ไหนให้แสดงออกมา พอให้แสดงออกมาเพื่อจะได้มอบตำแหน่งนี้ให้ พอมอบตำแหน่งนี้ให้นะ นี่ลูกศิษย์ที่เขาเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดสังฆราช จำชื่อไม่ได้แล้ว ชื่อชินเชาหรือชื่ออะไร นี่จำชื่อไม่แม่น จำชื่อไม่ได้

ในเมื่อเขาเป็นลูกศิษย์ที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้มีบารมีในสำนักนั้น ลูกศิษย์ลูกหาก็คะยั้นคะยอให้แสดงๆ แต่คนที่มีคุณธรรมเขาจะมีความละอาย เขาจะมีความนอบน้อม มีความถ่อมตน เขาก็ไม่อยากทำ ลูกน้องก็คะยั้นคะยอว่าเขียนเลยๆ เขียนโศลกๆ เขียนโศลกคือแสดงคุณธรรม เขาก็เขียนเลยนะ เขียนที่กระดานดำ “กายนี้เป็นโพธิ” เป็นภาษาจีนนะ นี่เขาแปลแล้ว (หัวเราะ) นี่เขาแปลแล้ว

“กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส จิตที่เป็นกระจกใส หมั่นเช็ดกระจกทุกวันๆ หมั่นเช็ดกระจกบ่อยๆ ฝุ่นมันจะเกาะอะไร?”

พอเขาเขียนเสร็จ ลูกศิษย์ลูกหาที่คะยั้นคะยอให้ลูกศิษย์ผู้ใหญ่นี้แสดงคุณธรรมออกมา แง่ของธรรมออกมา เขาก็เคารพกราบไหว้บอก แหม มันซาบซึ้ง มันซาบซึ้ง เขาตั้งโต๊ะหมู่บูชาเลย ตั้งโต๊ะแล้วปักธูปปักเทียน กราบโศลกนี้กันใหญ่ว่า นี่เป็นธรรมของผู้มีคุณธรรมสูงส่งมาก

“กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส แล้วหมั่นเช็ดกระจกบ่อยๆ หมั่นเช็ดกระจกบ่อยๆ ฝุ่นก็จะจับกระจกนั้นไม่ได้” เห็นไหม เขาบอกว่าเขามีคุณธรรม

ฉะนั้น เว่ยหล่าง ฮุยเหน็งเขาก็ปฏิบัติในสำนักนั้น แต่เขาเป็นคนหุงข้าว เขาต้องผ่าฟืน ผ่าฟืน หุงข้าวให้พระในสำนักนั้นได้ฉัน ฉะนั้น เขาก็หาบฟืนมาๆ เขาเป็นคนหุงข้าวในสำนักนั้น เขาอ่านหนังสือไม่ออก พออ่านหนังสือไม่ออกก็บอกว่านั่นเขามีอะไรกันน่ะ? พระก็บอกว่า

“อู้ฮู ท่านยังไม่รู้อีกหรือ? นี่ชินเชาเขาได้เขียนโศลกแล้ว โศลกของเขา อู้ฮู มหัศจรรย์มาก ลูกศิษย์ลูกหาได้กราบไหว้บูชากันทั้งวัดเลย”

“แล้วเขาเขียนว่าอย่างไรล่ะ? อ่านให้ผมฟังสิผมอ่านหนังสือไม่ออก”

เขาเขียนว่า “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดกระจกทุกวันๆ ฝุ่นนั้นไม่สามารถเกาะกระจกนั้นได้”

ทีนี้ฮุยเหน็งเขาไม่รู้เรื่อง เพราะเขาอ่านหนังสือไม่ออก เขาไม่รู้หรอกว่าสังฆราชนี้ทำอะไรด้วย แต่ทีนี้เพียงแต่ว่าสังฆราชรู้อยู่แล้ว ต้องการให้คนแสดงออกไง แต่ฮุยเหน็งเขาไม่รู้ ด้วยความไม่รู้ ด้วยความซื่อนะ ด้วยความซื่อใช่ไหม? อย่างนั้นก็ให้คนแสดงออก แล้วไอ้คนหุงข้าว ไอ้อยู่ในก้นครัวมันจะไปรู้อะไรใช่ไหม? แต่ฮุยเหน็งด้วยความซื่อไง

“ของผมก็มีๆ เขียนให้ผมด้วยได้ไหม ผมเขียนหนังสือไม่เป็น”

“แล้วของท่านคืออะไรล่ะ?”

เขาก็ขึ้นเขียนบ้างนะ “กายก็ไม่มี กระจกก็ไม่มี ไม่มีสิ่งใดเลย แล้วฝุ่นจะเกาะอะไร?”

เออ กายก็ไม่มีนะ กระจกก็ไม่มี แล้วฝุ่นจะเกาะอะไรล่ะ? พอเขียนเสร็จนะลูกศิษย์อึ้งเลย ไอ้คนที่เขาเคารพบูชา ไอ้โศลกอันที่ว่าสุดยอดๆ กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดกระจกทุกวันๆ ฝุ่นมันจะไม่เกาะกระจก เขาคิดกันว่าเป็นพระอรหันต์นะ เขาก็กราบไหว้บูชากันใหญ่ ฮุยเหน็งเขาไม่รู้หนังสือนะ พอไม่รู้หนังสือ ด้วยความซื่อของเขาไง

“เขาทำอะไรกันน่ะ?”

“เขาเขียนโศลกเพื่อแสดงคุณธรรมกัน”

“แล้วเขาเขียนว่าอย่างไรล่ะ?” อ่านหนังสือก็ไม่ออก “เขาเขียนว่าอย่างไรล่ะ?”

เขาเขียนว่า “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดกระจกทุกวันๆ ฝุ่นมันไม่เกาะ”

ด้วยมีคุณธรรมในใจมันรู้

“ผมเขียนหนังสือไม่ได้นะ เขียนให้ผมหน่อยๆ”

เขาก็เขียนให้นะ

“กายก็ไม่มี จิตก็ไม่มี แล้วฝุ่นจะเกาะอะไร?”

โอ๋ย พวกพระเล็ก พระที่เขาพออ่านออก เขาเข้าใจได้ เขาทึ่ง เขาทึ่งมากเลย เขาก็จะย้ายโต๊ะหมู่บูชามาบูชาอันนี้ มาบูชาที่กายก็ไม่มี กระจกก็ไม่มี แต่สังฆราชท่านเป็นผู้ใหญ่ท่านรู้ ท่านออกมานะ ท่านบอกว่านี่ของใคร? ก็บอกว่ากายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดฝุ่นทุกวันๆ นี้เป็นของชินเชา แล้วไอ้กายก็ไม่มี จิตก็ไม่มีนี่ของใคร? ของฮุยเหน็งเขา ของคนหุงข้าว เอารองเท้าเช็ดออก เอารองเท้าเช็ดกายก็ไม่มี กระจกก็ไม่มี เช็ดออกหมดเลย พอเช็ดออกเสร็จแล้วนะก็จบกันไป ฮุยเหน็งก็หาบฟืนไปหุงข้าว สังฆราชไปหาฮุยเหน็ง เอาไม้เท้าเคาะที่ครกตำข้าว ๓ ที ป๊อก ป๊อก ป๊อก ก็นัดแล้วก็กลับ นี่เซนเขาปฏิบัติกันอย่างนี้

ฮุยเหน็งนี่รู้ เขาอ่านหนังสือไม่ออก เขาเขียนหนังสือไม่ได้ แต่เขามีคุณธรรมในใจของเขา เคาะ ๓ ที ป๊อก ป๊อก ป๊อก กายก็ไม่มี กระจกก็ไม่มี ฝุ่นจะเกาะอะไร? คืนนั้นตี ๓ ฮุยเหน็งได้เข้าไปหาสังฆราช เพราะสังฆราชเคาะ ๓ ที ตี ๓ ให้เข้าไปหาสังฆราช สังฆราชนั้นสอนฮุยเหน็งต่อเนื่อง เสร็จแล้วก็ให้ฮุยเหน็งเอาบาตร จีวร เครื่องอัฐบริขาร การแสดงว่าเป็นสังฆราชองค์ที่ ๖ ที่จะส่งต่อให้ฮุยเหน็งไป เพราะท่านประกาศจะให้คนแสดงคุณธรรมออกมา ถ้าใครมีคุณธรรมจริง เขาจะให้ตำแหน่งเป็นสังฆราช เป็นผู้นำ

ฮุยเหน็งเอาบาตร จีวรนั้นหนีไป ให้เสร็จแล้วบอกให้หนีไป ให้ออกจากสำนักนี้ไป หนีไปให้ไกลๆ พอหนีไปไกลๆ ชินเชานะ ในเมื่อกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส สกิทาคามีนะ เวลาฮุยเหน็งหนีไป ลูกศิษย์ของเขาไม่พอใจ ส่งคนตามล้าง ตามผลาญ ตามทำลาย ตามไปนะ ฮุยเหน็งหนีไป หนีไปเห็นโทษของมันไง นี่พระอรหันต์นะ พอเห็นโทษของตำแหน่ง เห็นโทษของตำแหน่งโลก ฮุยเหน็งเลยเป็นสังฆราชองค์ที่ ๖ องค์สุดท้าย แล้วไม่มอบตำแหน่งให้ใคร ให้เป็นคุณธรรมในหัวใจของผู้นั้นเอง นี่มันมีแง่ธรรมไง

ทีนี้การปฏิบัติ นี่คนเอาปัญหานี้ไปถามหลวงตา บอกว่า

“มหายานที่เป็นเขาใช้ปัญญาอย่างนี้คืออะไร?”

หลวงตาท่านบอกว่า “เป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันปัญญาออกหน้า”

ความเป็นปัญญาวิมุตติ นี่ปัญหานี้ไปฟังเทศน์หลวงตาซ้ำๆ จะมีเทศน์ของหลวงตาอยู่ในเทป ถามปัญหาเรื่องปัญญาวิมุตติ เรื่องมหายาน หลวงตาท่านบอกท่านเข้าใจ ท่านรู้ของท่าน นี่คนที่มีคุณธรรม ฉะนั้น กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส นี่กายกับจิตแยกออกจากกัน อย่างนี้มันเป็นแง่ธรรม ถ้าแง่ธรรม คนทำความเป็นจริงมันมีของมัน แล้วมีอย่างใดล่ะ?

ฮุยเหน็ง นี่ถ้าใครเป็นจีน ไม่รู้จักฮุยเหน็งไม่ใช่คนจีน คนจีนในประเทศจีนทั้งหมดเขาเคารพบูชาของเขา เพราะเขามีคุณธรรมตามความเป็นจริงของเขา เพราะอะไร? เพราะเขามีคุณธรรม มีธรรมในใจ มันถึงเป็นธรรมขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติของเขา

ฉะนั้น สิ่งนี้สิ่งที่ว่าเราปฏิบัติกันไป นี่มันเป็นแง่ธรรม มันเป็นคุณธรรม สิ่งที่เราจะเอามาวิจัย เอามาเป็นธรรม เป็นประเด็นที่ให้จิตใจของเราสูงขึ้นด้วยการวิเคราะห์ วิจัย พยายามพัฒนาใจของเราขึ้นไป อันนี้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าบอกว่าเราเข้าใจๆ ไม่เข้าใจ เพราะปัญหากายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หลวงปู่มั่นท่านก็พูด ไปดูในมุตโตทัยสิ ในมุตโตทัย เวลาโลกนี้ราบหมด นั่นล่ะกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส

กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส ในมุตโตทัยก็มี ในมุตโตทัยนั่นน่ะ แต่การแสดงคุณธรรมของครูบาอาจารย์ของเราที่มีคุณธรรมจริง คนพูดออกมาท่านรู้ของท่านแล้ว แล้วรู้แล้ว เวลาท่านแสดงธรรมมา แสดงธรรมมาเป็นเหตุให้พวกเราขวนขวาย ให้พวกเราประพฤติปฏิบัติ ให้พวกเราฝึกหัด ให้พวกเรามีคุณธรรมขึ้นมา แต่ถ้าเราไปจำแง่มุมของธรรมนั้นมา เห็นไหม ในปัจจุบันนี้เราซื้อรถเบนซ์กัน ทุกคนซื้อรถเบนซ์ได้หมด ใครก็ซื้อได้ เบนซ์รุ่นไหนก็ซื้อได้ แต่เบนซ์นี่ใครเป็นคนผลิตมา ใครเป็นคนผลิตรถเบนซ์นี้มา?

รถเบนซ์นี้เป็นของบริษัทนะ บริษัทรถเบนซ์เขาผลิตออกมาขายใช่ไหม? เราเป็นผู้ไปซื้อรถเบนซ์นั้นมา เหมือนเขาบอกว่าในปัจจุบันนี้ประเทศด้อยพัฒนา นี่เจริญมากๆ เจริญด้วยการซื้อเทคโนโลยี ไม่ได้เจริญด้วยปัจจัย ด้วยการพัฒนา ด้วยพัฒนาขึ้นมาจากความสามารถของตน ซื้อเทคโนโลยีเขามา แล้วก็มาใช้ พอเสร็จแล้วก็ซ่อมไม่เป็น ดูแลไม่เป็น ทำสิ่งใดไม่เป็นเลย

นี่เราปฏิบัติกัน เราเอาสิ่งนั้น เราจะไปซื้อรถเบนซ์มา ซื้อเทคโนโลยีเขามา แล้วเราใช้เป็นไหม? ถ้าเราใช้ไม่เป็น มันก็ไม่เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราใช้เป็น การใช้เป็นเราก็ฝึกหัดพัฒนาของเราขึ้นมา ถ้าพัฒนาขึ้นมา มันก็จะมีคุณธรรมขึ้นมา ถ้ามีคุณธรรมขึ้นมา รถเบนซ์ สมรรถนะของรถเบนซ์มันดีขนาดไหน แล้วของเรา เราพัฒนาขึ้นมา เราจะพัฒนาให้ได้ระดับนั้น หรือสูงกว่านั้นก็ได้ เราทำได้ดีกว่านั้น ดีกว่ารถเบนซ์อีก

ถ้าเรามีความสามารถ เราพัฒนาของเราขึ้นมา เราจะหาวัสดุที่ดีกว่า หาเทคโนโลยีที่ดีกว่า สิ่งใดที่ทำที่ประหยัดน้ำมันกว่า ใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าเราทำได้หมดแหละ ถ้าทำได้หมดอย่างนี้ นี่แง่มุมธรรมนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้าแง่มุมธรรมเราไปจำมา ซื้อรถเบนซ์มา เวลามันเสียก็ซ่อมไม่เป็น เวลาเสียก็ต้องสั่งอะไหล่มาจากเมืองนอก ถึงเวลาแล้วก็ต้องส่งรถไปซ่อมเมืองนอกเลย นั้นมันเป็นเรื่องของวัตถุ เห็นไหม แต่ถ้าเรื่องของธรรมนะ เรื่องของคุณงามความดี แง่ธรรมนี่ครูบาอาจารย์ท่านรู้ของท่าน

ฉะนั้น กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใสในมุตโตทัยก็มี เวลาพิจารณาไปแล้วโลกนี้ราบหมด นั่นแหละคืออะไร? เวลาหลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่านที่ถ้ำสาริกา เห็นไหม นี่ราบหมด รวมหมด นิ่งหมด โลกนี้ราบหมด สิ่งที่ว่างหมดมันเป็นอะไร? มันมีของมันแต่มีเหตุมีผล กรณีนี้ถ้ามันเป็นแง่ธรรมนะมันเป็นประโยชน์ แล้วคนเป็นก็คือคนเป็น ถ้าคนไม่เป็นล่ะ? อย่างกรณีนี้นี่แง่ธรรม แต่ทีนี้เวลาของหลวงปู่ดูลย์ล่ะ? ของหลวงปู่ดูลย์นั้นเป็นอริยสัจนะ

“จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย”

จิตนี่ส่งออก ความรู้สึกนึกคิดมันส่งออกทั้งหมดเลยเป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์ เห็นไหม จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของการส่งออกเป็นทุกข์ นี่เวลามันเป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์ ทุกข์กับสมุทัย นี่จิตเห็นจิตเป็นมรรค จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของการที่จิตเห็นจิตเป็นนิโรธ เป็นนิโรธ ชัดๆ

นี่ถ้าคนมันมีธรรม แง่ธรรม แง่มุมของธรรมมันมี แต่ถ้าคนไม่เป็นนะมันออกนอกลู่นอกทางไปเลย ถ้านอกลู่นอกทางนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอะไร? เพราะเราไปจำมาไง ซื้อเทคโนโลยีมา แล้วเราก็จะมาผลิตวัตถุสิ่งของของเราขึ้นมาเอง แล้วผลิตมันก็ผลิตไป พอเครื่องมันยังใช้ได้มันก็ใช้ได้อยู่ นี่จำของครูบาอาจารย์มาก็พูดได้อยู่ พูดได้คำสองคำ แต่พอมันเริ่มชำรุด เริ่มชำรุด เริ่มต้องซ่อมแซมไม่เป็นแล้ว

นี่เวลาเราจำมาเราก็พูดตามนั้น แต่พอพูดไปๆ เป็นสัญญาไง ความจำไง ความจำมันเริ่มบกพร่อง เริ่มต่างๆ มันจะมีอุปสรรคแล้ว พอมีอุปสรรคมันก็เป็นการแสดงออกของตัว ถ้าแสดงออกของตัวมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าเป็นแง่ธรรมนะ แง่ของธรรม นี่ครูบาอาจารย์ที่มีธรรม เวลาพูดออกมามันจะรู้ตามความเป็นจริงเลย แต่ถ้ามันไม่มี นี่เราจำมา หรือเราเอาสิ่งนั้นมาเป็นประเด็น ถ้าทำไปมันจะเสียหาย

ฉะนั้น กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใสมันเป็นการที่ว่าสังฆราชของมหายานเขา เขาให้ลูกศิษย์ของเขาแสดงวุฒิภาวะของเขาออกมา เวลาเขาแสดงของเขาออกมา กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดกระจกทุกวันๆ คนที่ภาวนาไม่เป็นมันก็ทึ่ง แต่คนที่ภาวนาสูงกว่า อย่างฮุยเหน็งนะเขาบอกว่า “กายก็ไม่มี กระจกก็ไม่มี แล้วฝุ่นมันจะเกาะอะไร?” มันก็ยังไม่ใช่ เห็นไหม แต่ก็เหนือกว่า แต่เวลาไปถึงที่สุด นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาโมฆราช

“กายก็ไม่มี จิตก็ไม่มี ว่างหมด เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง”

โมฆราช เธอมองโลกนี้เป็นความว่าง เห็นไหม กายก็ไม่มี จิตก็ไม่มี อะไรก็ไม่มีทั้งนั้น ว่างหมดเลย

“เธอจงกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิที่รู้ว่าว่าง”

เวลาสังฆราชเขาให้ฮุยเหน็งเข้าไปพบ เห็นไหม เคาะ ๓ ทีให้เข้าไปหา แล้วเข้าไปหา นี่สอนจนถึงที่สุดไป ฉะนั้น กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใสมันเป็นแง่ธรรมนะ ฉะนั้น เขาถาม นี่เวลาคำถาม ใครถามมาถามว่าสิ่งนี้เป็นอย่างไร? กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส เคยได้ยินได้ฟังมา แล้วอยากได้ฟังอีก อยากฟังอีก หาไม่เจอ ให้หลวงพ่อตอบด้วย หลวงพ่อก็ตอบ เวลาตอบเข้าใจว่าคนที่ขนาดว่าจะมีคุณธรรมถึงเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีมันจะหาที่ไหน?

ฉะนั้น มันจะแสดงสิ่งที่เป็นธรรมให้กับโลกเข้าใจมันเป็นไปไม่ได้ แต่เอามาแสดง เอามาคุยกัน เอามาเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้เห็น ให้เห็นความจริง ให้เห็นความจริง แล้วคนที่จะเข้าไปสู่ความจริง มันจะเป็นความจริงเหมือนกัน ความจริงมันเป็นแบบนี้ แต่คนที่เข้าสู่ความจริงไม่ได้มันก็เข้าไม่ได้หรอก เข้าไม่ได้ก็เอาสิ่งนี้มาเป็นธรรมที่เหนือกว่า แล้วดึงใจของเราขึ้นไป มันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัติ

คนที่ประพฤติปฏิบัตินะ อย่าละโมบ อย่าโลภว่าสิ่งนั้นเป็นสมบัติของเรา อย่าโลภ อย่าละโมบ เพราะธรรมให้เสียสละ ให้รื้อค้น ให้มีการกระทำ แล้วเราจะรู้จริง ถ้าเราไปโลภ ไปละโมบ ไปอยากได้ ไปยึดครองธรรมของคนอื่น เราจะไม่ได้อะไรเลย เราจะได้แต่ความผิดหวัง เราจะได้สิ่งที่ไม่ใช่สมบัติของเรา เราเห็นสิ่งนั้นมา เราได้ยินได้ฟังมา

อย่างปริยัติเราศึกษามา ศึกษามาเพื่อจะค้นคว้าไง ศึกษามาเพื่อปฏิบัติให้เป็นตามความเป็นจริงของเราไง เราไม่ได้ศึกษามาว่าเป็นสมบัติของเรา มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎกเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะยึดว่าเป็นของเราเป็นไปไม่ได้ เราจะไปยึดสมบัติของคนอื่นมาเป็นของเรามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราฝึกหัด เราประพฤติปฏิบัติ เราฝึกฝน เราทำของเราขึ้นมา นั่นล่ะสมบัติของเรา

สมบัติของเราอยู่ที่ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ การกระทำของเรา นั้นจะเป็นสมบัติของเรา ถ้าสมบัติเกิดขึ้นมา เห็นไหม มันจะเป็นธรรมของเรา ถ้าธรรมของเรา เราจะแสดงธรรมเมื่อไหร่ก็ได้ เราจะแสดงออกเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะมันเป็นธรรมของบุคคลคนนั้น เราฝึกหัดขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันนี้ นี่กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส

ถาม : ข้อ ๑๒๒๑. เรื่อง “ขอความเมตตาหลวงพ่อพิจารณาเวทนากายครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ครั้งล่าสุดหลวงพ่อได้เมตตาชี้แนะตอบคำถามให้ว่าผมพิจารณาจิต แล้วจิตหลงคิด ซึ่งมันก็เป็นจริงอย่างที่หลวงพ่อบอกจริงๆ ในขณะที่ผมส่งคำถามมาในครั้งนั้น ครั้งก่อนผมมีคำถามอยู่ในจิตนิดๆ เหมือนกันว่าสิ่งที่จิตไปรู้มันจริงไหม? เป็นเพราะมันต่างกับจิตเห็น และพิจารณากายในนิมิต เพราะนั่นเห็นจริงๆ เข้าใจจริงๆ ไม่ต้องมี และเรียบเรียงเหตุผล หรือเหตุการณ์ใดๆ ก็รู้ประจักษ์ที่จิตในขณะนั้นเอง

ผมต้องการแก้การฟั่นเฝือ การพิจารณาจิตโดยจะปรับมาใช้กำปั้นทุบดิน กล่าวคือจะพิจารณากาย เวทนา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่มีปัญหาคือ ผมแทบจะไม่ต้องพิจารณาเวทนาในขณะภาวนาเลย เพราะในสภาวะของผม ถ้าจิตสงบแล้วเกิดเวทนาขึ้น ภาพกายมันจะปรากฏขึ้นมาด้วยเสมอ เช่นนั่งภาวนาอยู่ แล้วเกิดเวทนาที่เข่าหรือที่ขา ภาพกายตรงนั้นจะปรากฏขึ้นมา แล้วมันก็แปรสภาพให้เห็น เช่นตั้งแต่มีเลือดสดๆ จนเหี่ยวแห้งและหายไป เวทนาก็จะหายไปด้วย จิตรวมลึกแบบตทังคปหาน แต่ไม่มีกายไม่มีเวทนาเหลือในความรู้สึกเลย

แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าเป็นอะไร เกิดเวทนาแต่กายภาพไม่ขึ้นมาด้วย ผมเองไม่สามารถนั่งให้ครบเวลาได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถให้เวทนาให้หายไปหรอกครับ แต่ผมไม่ถนัดในการพิจารณาเวทนาเลย ขอเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑. เมื่อเกิดเวทนาที่ขา มีลักษณะหนาๆ จนทนไม่ไหว ผมก็เข้ากรรมฐานห้องที่ถนัด เช่นเพ่งภาพพระ หรือเพ่งกระดูกหน้าอก หน้าผาก เวทนาก็หายไป พอจิตคลายออกมาก็มาเจอเวทนาอีก

๑/๑. ถ้าเวทนามันหนาอยู่ ผมจะเข้ากรรมฐานไปอีกหรือ?

๑/๒. ถ้าจิตคายออกมาแล้ว พบว่าเวทนามันเบาลงแล้วโดยไม่ได้เปลี่ยนท่านั่งใดเลย ผมจะพิจารณาเวทนานั้นไป บางทีเวทนามันก็หายไปเลย บางทีเวทนามันก็หนาขึ้น มันเป็นเรื่องของมัน เรียนถามหลวงพ่อว่าผมควรเข้าไปพักกรรมฐานถูกต้องไหมครับ หรือว่าต้องเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย หรือว่าต้องทำอย่างไรครับ

ตอบ : การเกิดเวทนานะ ถ้าการพิจารณา การพิจารณาไปแล้ว เวลามีความชำนาญ พิจารณาไปแล้วเวลามันขึ้นมาเห็นมันเห็นของมัน อันนี้มันโดยอำนาจวาสนาบารมี ถ้าจิตมันพิจารณาไป พอจิตมันมีเวทนาปั๊บกายจะเกิดขึ้นมาเลย แต่ถ้าเราจับเวทนาปั๊บกายมันก็ไม่เกิด กายมันไม่เกิด เพราะเวลาเกิดเวทนา กายมันจะเกิดขึ้นมาเลย เพราะ เพราะเวลาจิตสงบแล้ว ความรู้เห็น ความรู้ในกายมันก็มีเวทนานะ

ถ้าเราไม่รับรู้ เราไม่รับรู้ เห็นไหม อย่างรูป รูปก็คือรูป เวทนาก็คือเวทนา ในรูปก็มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ เพราะรูปอะไร? รูปสีสันต่างๆ การว่าสีสันต่างๆ ความรับรู้นั้นคือเวทนานะ ความรับรู้นั้นคือเวทนา สัญญาคือข้อมูล สังขารคือความปรุงแต่ง นี่คือสายที่จิตมันส่งออก แต่เวลาเราพิจารณาเข้าไปเราจะทวนกระแสกลับ ถ้าทวนกระแสกลับ เราจะจับเลยว่าพิจารณากาย กายเป็นอย่างไรมันก็แปรสภาพของมัน แต่ถ้ามันเป็นเวทนาล่ะ? มันเป็นเวทนา ถ้าจับเวทนา กายมันไม่มี ไม่มีเพราะมันจับเวทนาเป็นเป้าไง ถ้ามันจับเวทนาเป็นเป้ากายมันก็ไม่เกิด ถ้ากายไม่เกิดจับเวทนาได้

ถ้าจับเวทนาได้ ถ้าจิตมันสงบพอ มันจับเวทนาได้มันก็มีกำลังพิจารณา แต่ถ้าจิตมันสงบไม่พอ เวทนาเป็นเรามันก็เจ็บ เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา ถ้าเวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา คือจิตเราสงบไม่พอ

๑. จิตสงบไม่พอ

๒. ความถนัดของบุคคล

บุคคลนี่อย่างเช่นเราพิจารณากาย พิจารณากายไปแล้ว เราคิดว่าจะต้องพิจารณากายโดยตลอด แต่พิจารณาไปแล้วมันจืด มันชืด การพิจารณาไปแล้ว คือตทังคปหาน คือมันปล่อยวางของมันได้ แต่มันไม่ตรง ไม่ตรง เหมือนเรารักษาโรค ถ้าเรารักษาโรคไม่ตรงกับอาการของโรค โรคนั้นมันก็ไม่หาย เพราะเรารักษาโรคไม่ตรงกับอาการของโรคนั้น แต่นี้เราเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคนั้น เรารักษาโรคนั้นไป คือพิจารณากายซ้ำๆๆๆ ไป พอพิจารณาซ้ำๆ ไปมันไม่ตรงกับโรค พอไม่ตรงกับโรคมันจืด พิจารณาไปแล้วนะมันจืด มันไม่เอา มันไม่รับรู้ พิจารณาไปแล้วเซ็ง เซ็ง

ถ้ามันเซ็ง คำว่าเซ็งนะ พอพิจารณาไปแล้ว นี่เวลาหลวงปู่มั่นนะท่านพิจารณากายของท่าน พอท่านพิจารณากายไปแล้ว ท่านบอกว่าพิจารณาไปแล้วมันเหมือนกับไปถึงทางตัน ไปถึงแค่นั้นแหละ พิจารณามันก็ปล่อยนะ หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่าน ท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตาท่านเอามาให้พวกลูกศิษย์ฟัง เราก็จำของเรามา เราจำหลวงตามาอีกทีหนึ่ง ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นพิจารณาเข้าไป พิจารณาเข้าไปก่อน ไปถึงทางตัน บางทีพิจารณากายไป พิจารณาไปมันเหมือนทางขาด พอพิจารณาไปมันก็หลุด หลุดปั๊บหายไปเลย เอ๊ะ ทำไมเป็นแบบนี้? ทำไมเป็นแบบนี้?

ฉะนั้น เวลาท่านมาพิจารณาของท่านว่าทำไมเป็นแบบนั้น ท่านถึงมาลา มาลาความเป็นโพธิสัตว์ของท่าน พอลาความเป็นโพธิสัตว์ของท่านนะ ท่านพิจารณาไปไม่ทางตันแล้ว พอพิจารณาไปมันทะลุทะลวงไปเลย มันทะลุทะลวงไปเลย เวลาพิจารณาไป เวลาถนนมันจะตัด พอจิตพิจารณาแล้วมันวูบหาย มันไปของมันเรื่อยๆ แล้วพอท่านออกจากการพิจารณานั้นมา อืม อย่างนี้ถูก แต่ก่อนหน้านั้นมันเป็นทางตัน เป็นทางตัด เป็นทางที่ไปไม่ได้ คนที่ภาวนาไปแล้วมันไปไม่ได้ ภาวนาไปแล้วมันอั้นตู้ ภาวนาไปแล้วมันไม่ไป เราเบื่อไหม? เบื่อมากๆ ภาวนาเกือบตายเลย เราก็เบื่อ แล้วเบื่อทำอย่างไรล่ะ?

เบื่อก็ต้องนี่ไง หลวงปู่มั่นท่านยังหาทางของท่าน เห็นไหม พิจารณากายไปแล้วมันไปไม่ตลอดรอดฝั่ง พิจารณากายไปแล้วมันเหมือนกับทางขาด ออกมาแล้วก็เหมือนเดิม ออกจากการภาวนามาแล้วนะมันก็ปกติ อืม มันก็เหมือนปุถุชนเรา แต่ถ้าพิจารณาไปแล้วมันมีรสมีชาติ เวลาพิจารณาไปมันปล่อย พิจารณาไปมันปล่อย พอมันปล่อยของมัน มันปล่อยเพราะอะไรล่ะ? มันปล่อยแล้ว มันปล่อยที่มันสลัดไปแล้ว ตัวมันเป็นอิสระมันจะมีความสุขขนาดไหน? มันรับรู้ของมันนะ แล้วพิจารณาซ้ำ

ฉะนั้น การพิจารณากายเราก็พิจารณากายของเรา ถ้าเราพิจารณากาย พิจารณาแล้วเราวาง ถ้าคราวต่อไปเราพิจารณาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาต่างๆ ก็ได้ เขาให้พิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม จิต เห็นไหม พิจารณากายก็สิ่งที่เราเห็น กายที่เราเห็นโดยนิมิตเขาเรียกว่าเจโตวิมุตติ กายที่แบบหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย พิจารณากายโดยใช้ปัญญาเทียบเคียง นั้นคือปัญญาวิมุตติ

พิจารณากายมันยังแตกแขนงออกไปอีกนะ แตกเป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติมันเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด นี่มันแตกแขนงแยกย่อยไปอีกมหาศาลเลย การพิจารณาอย่างเดียวนี่ การพิจารณาเวทนามันก็จับมาแล้วพิจารณาเข้าไป มันก็แตกแยกย่อยของมันไป มันเป็นเจโต ปัญญา มันแตกแยกย่อยกันไป พิจารณาจิต จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง จิตรื่นเริง พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ธรรมยิ่งกว้างขวางใหญ่

ธรรมนี่สรรพสิ่งถ้าจิตเป็นสมาธิ จิตจับสติปัฏฐาน ๔ ได้เป็นธรรมหมด ธรรมารมณ์ ถ้าเราเป็นเรา เราไม่ใช่ธรรมารมณ์ เราเป็นสัญญาอารมณ์ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว อารมณ์นี่เป็นธรรม แต่ถ้าจิตไม่สงบ อารมณ์เป็นโทษ อารมณ์มีอำนาจเหยียบหัวเรา อารมณ์มันชักให้เราทุกข์ เรายาก อารมณ์มันจะดึงเราไปเลย แต่ถ้าจิตมันสงบ จิตมันเอาอารมณ์มาเป็นธรรม เพราะอะไร? เพราะจิตมันเป็นธรรม จิตเป็นธรรม อารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ เป็นธรรม เป็นธรรมเพราะอะไร? เป็นธรรมเพราะจิตมันสงบ เป็นธรรมเพราะจิตมันไม่มีกิเลสมาครอบงำมัน จิตนี้มันพิจารณาของมัน

ฉะนั้น การพิจารณากายมันพิจารณาไปแตกแขนงแยกย่อยไปมหาศาลเลย เพราะหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่บัว เห็นไหม พิจารณากายหมดเลย พิจารณากายทั้งนั้น เป็นพระอรหันต์โดยการพิจารณากายทั้งนั้นเลย สติปัฏฐาน ๔ แต่เวลาท่านธมฺมสากจฺฉา ท่านนั่งคุยกันโดยการประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่ขาวนี่ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า

“หมู่คณะให้จำหลวงปู่ขาวไว้นะ เพราะหลวงปู่ขาวได้คุยธรรมะกับเราแล้ว”

นี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านจับหลวงปู่ขาวไว้เลย เวลาท่านไปจำพรรษากับหลวงปู่ขาว นี่หลวงปู่ขาวจะพูดอย่างไร จะว่าอย่างไร หลวงปู่เจี๊ยะตามหมดเลย หลวงปู่ขาวจะถามหลวงปู่เจี๊ยะประจำ

“เจี๊ยะ พิจารณากายอยู่บ่? พิจารณากายหลายบ่?”

หลวงปู่เจี๊ยะว่า “ข้าน้อยพิจารณาอยู่ครับ ข้าน้อยพิจารณาอยู่ครับ”

หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้เราฟังทุกวัน เวลาหลวงปู่ขาวท่านจะย้ำตลอดเลย

“เจี๊ยะ เจี๊ยะพิจารณากายอยู่บ่? พิจารณากายอยู่บ่?”

หลวงปู่ขาวว่า “พิจารณาหลาย พิจารณาหลาย”

นี่ย้ำแล้วย้ำเล่า ย้ำแล้วย้ำเล่า ย้ำแล้วใช่ไหม? ขนาดว่าหลวงปู่ขาวกับหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็พิจารณากายมาด้วยกัน หลวงปู่ตื้อท่านพิจารณากายเหมือนกัน แต่เวลาพูดถึงแง่มุม พูดถึงอำนาจวาสนาบารมีของคน นี่พิจารณากายในแง่มุมใด ถ้าพิจารณากายในแง่มุมแบบเทคโนโลยี แบบโลกนะมันก็เป็นแบบการคำนวณ มันก็ต้องสูตรตายตัว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณากายต้องเป็นอย่างนี้ๆ ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ มันเกี่ยวกับอาหารไง มันเกี่ยว เหมือนรสชาติ เหมือนอาหาร คราวนี้ทำไมอร่อย กินซ้ำๆๆ ทำไมมันจืดล่ะ? ของที่มีค่ามากๆ กินทุกวันสิมันก็เหมือนกับของธรรมดา แต่ถ้านานๆ มันกินที โอ้โฮ มันสุดยอดเลยนะ จิตมันพิจารณาของมัน มันต้องมีการพลิกแพลงของมัน เราจะทำแบบ เขาเรียกว่าเถรส่องบาตร เราจะบอกซื่อบื้อมันจะเกินไป เถรส่องบาตรซ้ำๆๆ กิเลสมันรู้ตัวแล้วไง กิเลสมันรู้แล้วมันจัดสำรับไว้ให้เลยนะ ทำอย่างนี้นะ ทำอย่างนี้นะ แล้วก็ปล่อย กิเลสมันก็ชอบใจ มันต้องพลิกแพลงนะ พลิกแพลงของเรา

นี่พูดถึงการพิจารณากาย พิจารณากายของครูบาอาจารย์เราท่านก็พิจารณากายเหมือนกัน แต่ท่านก็ทำของท่านมาเยอะ ฉะนั้นว่า เราพิจารณากายแล้ว เวลาเวทนามันเกิด ทำไมกายมันไม่ตามมาด้วย? ถ้าเวทนามันเกิด รถเมล์นี้มันจอดป้ายเวทนา มันไม่ไปจอดป้ายกาย ถ้ารถเมล์มันจอดป้ายเวทนา เวทนามันชัดแล้ว แต่ถ้ารถเมล์มันวิ่งมาที่ป้ายเวทนา แล้วมันเลยไปที่ป้ายกายมันก็มีเวทนาด้วย มีกายด้วย ถ้ารถเมล์มันวิ่งมาที่ป้ายเวทนา มันไม่ต่อไปป้ายกาย มันก็ไม่เห็นกาย ถ้ารถเมล์มันวิ่งไปป้ายกาย มันไม่ไปเวทนา มันก็ไม่เห็นเวทนา แต่ แต่รถเมล์มันวิ่งไปมาได้ นี่กาย เวทนา จิต ธรรมมันไปได้ มันไปของมันได้ สติเราพร้อม สติเราสมบูรณ์เราจะรู้ เราจะเห็นของเรา

ฉะนั้น ถ้ามันมีเวทนาแล้ว กายจะต้องเกิดขึ้นมาทุกที แต่คราวนี้มีเวทนาทำไมกายมันไม่เกิดขึ้นมา เห็นไหม นี่รถเมล์คือจิต จิตรับรู้สิ่งใด? จิตรับรู้ที่เวทนา จิตรับรู้ที่กาย จิตรับรู้ที่จิต จิตรับรู้ที่ธรรม จิตรับรู้ที่จิตได้อย่างใด? ในเมื่อมันเป็นจิต แล้วจิตรับรู้จิตได้อย่างใด? ในเมื่อจิตสงบมา ถ้าจิตมันไม่เห็นจิตมันก็ไม่ใช่มรรค จิตเห็นจิต ดูสิหลวงปู่ดูลย์บอกว่า

“จิตส่งออกเป็นสมุทัย ผลของส่งออกเป็นทุกข์”

จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ จิตเห็นจิตเป็นมรรค แล้วถ้ากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าจิตไม่เห็นจิตมันจะเอามรรคมาจากไหน? แล้วจิตเห็นจิตมันเป็นอย่างใด? คนเป็นเขารู้ (หัวเราะ) แต่คนเป็นเขาไม่พูดหมด พูดหมดเดี๋ยวคนเอาไปหากินต่อ คนเป็นเขารู้ แต่คนไม่เป็น เห็นไหม แง่มุมของธรรมเอามาเป็นประโยชน์สิ่งใด?

ฉะนั้น สิ่งที่จิตเหมือนรถ จิตมันจอดป้ายใด? กาย เวทนา จิต ธรรม จิตมันจอดอยู่ป้ายใด สิ่งใดสิ่งหนึ่งในปัจจุบัน อย่าไปรวบยอดมา นี่เราพิจารณาของเราไป แล้วเราทำของเราไป สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ เราต้องปฏิบัติอย่างนั้น

ถาม : ๑. เมื่อเวทนาเกิดที่ขา มีลักษณะหนาๆ จนทนไม่ไหว ผมก็เข้ามาที่กรรมฐานห้องที่ถนัดเพื่อเพ่งกระดูกหน้าอก หน้าผาก เวทนาก็หายไป

ตอบ : มันหายไป เพราะถ้าจิตมันออกไปรู้เวทนา ถ้าจิตสงบนะ จิตออกรู้เวทนา จิตจะจับเวทนาได้ ถ้าจิตไม่สงบ เวทนาเป็นเราเจ็บมาก ถ้าเวทนาเป็นเรานะ มันเป็นสมมุติอยู่ อู้ฮู สรรพสิ่งก็เป็นเรา อารมณ์ความรู้สึกเป็นเรา ความเครียดก็เป็นเรา ความทุกข์ก็เป็นเรา ความวิตกกังวลก็เป็นเรา ความที่อยากได้ธรรมะก็เป็นเรา อู๋ย เป็นเราไปหมดเลย เลยไม่ได้อะไรเลย เพราะแบกเราไว้เต็มที่

แต่พุทโธ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันปล่อยหมดเลย จิตมันปล่อยหมดเลย โล่งโถงไปหมดเลย ไม่มีสรรพสิ่งเป็นเราเลย นี่สัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิถ้ามันจับเวทนาได้ เห็นไหม นี่เวทนามามันก็จับเวทนาได้ นี่จิตใช้วิปัสสนาในเวทนา ถ้าวิปัสสนาในเวทนามันแยกแยะได้ มันจับได้ เวทนามันเป็นอะไร? เวทนาเป็นนามธรรม เวทนาสิ่งที่เกิดขึ้นมันพิจารณาของมัน ถ้ามันพิจารณาได้มันก็เป็นได้ แต่ แต่ถ้าเวทนามันเป็นลักษณะหนาๆ มันหนาๆ มันหน่วงอยู่ มันหน่วงอยู่นี่เวทนาเป็นเรา นี่เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา แต่ถ้าเรากำหนดของเรา นี่มันปล่อยหมด ปล่อยหมดแล้วถ้าเวทนามันเกิดขึ้น

กรณีเช่นนี้กรณีหลวงตาที่นั่งตลอดรุ่ง พอจิตมันสงบไปแล้ว นี่เวลามันคายตัวออกมาท่านก็จับเวทนา พิจารณาเวทนาจนมันปล่อยวาง เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จิตก็รวมลง นี่อีก ๒-๓ ชั่วโมงก็คายออกมาก็จับเวทนา เห็นไหม หลานเวทนา ลูกเวทนา พ่อเวทนา นี่พิจารณาเวทนามันก็ปล่อยลงอีก ปล่อยลงไปมันก็ลงๆๆ สู่สัมมาสมาธิ มันปล่อยหมดมันก็เป็นธรรม เป็นธรรมนี่พอมันคายออกมาเจอพ่อเวทนา เวทนาก็สู้กันอีก สู้กันอีก สู้กันเต็มที่

พิจารณาจนท่านบอกว่ากายนี่เหมือนกับท่อนฟืน เหมือนกับเขาเอาท่อนฟืนเผาที่กายนี้ กายนี้เจ็บปวดไปหมด พิจารณาซ้ำนี่พ่อของมัน พอพิจารณาจนถึงที่สุด ด้วยปัญญาญาณ ด้วยมรรคญาณ พิจารณาแล้วมันฟาดฟันกันจนมันชำระเวทนา มันปล่อยเวทนาลงอีก พอมันคายออกมา ๙ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงมันออกมามันเจอปู่เวทนา พอปู่เวทนามันเต็มที่เลย

นี่ถ้าต่อสู้อย่างนี้มันต่อสู้ได้เพราะอะไร? มันต่อสู้ได้เพราะจิตมันมีหลัก จิตมันมีสัมมาสมาธิ จิตมันต่อสู้ได้ แล้วมีสัจจะ พอต่อสู้ได้ ถึงที่สุดเวลาท่านพิจารณาเวทนาจนเวทนาขาดนะ เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เห็นไหม เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา ขาดโดยสังโยชน์ขาดมันไม่ยึดแล้ว

ทีนี้มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ? นี่มันต่อสู้ เวทนามายิ้มใส่กับเวทนาได้เลย ถ้าเป็นแบบนั้น แต่นี้ที่เขาบอกเวทนามันหนักๆ หนาๆ นี่มันหนักๆ หนาๆ เราไม่ต้องไปสู้กับมันแล้ว เรากลับมาที่พุทโธ หรือกลับมาปัญญาอบรมสมาธิ กลับมาสิ่งใดที่เราทำความสงบของใจไว้ก่อน นี่คือนักหลบ

คนที่ปฏิบัติใหม่นะ เวลาเจอเวทนาเราบอกว่าเวทนาเราจะปฏิบัติแบบสติปัฏฐาน ๔ เจอกาย เจอเวทนา เจอจิต เจอธรรม เราจะพิจารณามัน พอเจอเวทนา เวทนามันโหมเข้าใส่นะล้มเลยล่ะ แล้วเข็ดเลยนะ วันหลังไม่กล้า เวทนามารีบลุกหนีเลย กลัวเวทนา เพราะอะไรล่ะ? เพราะเข็ดขยาดกับมัน แต่ถ้าเวทนามาเราไม่สู้กับมัน เราหลบก่อน เราหลบนะ กลับมาพุทโธ พุทโธ

ถ้าพุทโธ เห็นไหม จิตอยู่กับพุทโธ รถนี้มันจอดที่ป้ายพุทโธ รถนี้มันจะไม่ไหลไปอยู่ป้ายเวทนา รถนี้อยู่ป้ายพุทโธ แต่ถ้ารถมันอยู่ที่พุทโธ แต่ไม่ใส่เบรกมือมันไว้ มันจะไหลไปที่ป้ายเวทนา พุทโธ พุทโธแล้วก็เจ็บ พุทโธ พุทโธแล้วก็ปวด พุทโธ พุทโธแล้วก็ทุกข์ เพราะเราไม่ยกเบรกมือไว้

ฉะนั้น การภาวนาถ้าเป็นแล้วมันจะรู้ของมัน แต่ แต่ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ มันไหลไปทั่ว รถจอดไว้ไหนมันก็ไหลไปชนรถคนอื่น รถจอดไว้นะไม่ดูแล เดี๋ยวมันก็ไหลไปชนคนนู้น ไหลไปชนคนนี้ จิตมันไหลไปไง จิตมันก็ไหลไปตรงนู้น จิตมันก็ไหลไปตรงนี้ จิตมันก็ทุกข์ไปหมดเลย นี้คือการปฏิบัติใหม่ ถ้าการปฏิบัติใหม่จะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา พิจารณาของเราไป มันจะปล่อยเข้ามาได้

ฉะนั้น มันหนักๆ หนาๆ นะ พอเรากำหนดไปที่หน้าผาก ไปที่นี่เวทนาก็หาย มันหายเพราะเวทนาเป็นนามธรรม จิตมันไปยึดเอง จิตปล่อยมันก็จบแล้ว ฉะนั้น ถ้าเราพิจารณากายก็พิจารณากาย พิจารณาเวทนาก็พิจารณาเวทนา พิจารณาสิ่งใดก็ได้ ไม่ใช่ยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่ว่าเราเคยพิจารณาอย่างนี้มันจะต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไปก็ไม่ใช่ นี่เพราะอะไร? เพราะมันมีหยาบ มีละเอียด เวลามันละเอียดเข้ามาเราสู้มันไม่ทันหรอก

ฉะนั้น เราจะพิจารณาอย่างใดเราก็พิจารณาของเรา นี่พูดถึงข้อ ๑.

ถาม : ๑/๑. เวลาถ้าเวทนายังหนาอยู่ ผมจะเข้ากรรมฐานอีกดีหรือไม่?

ตอบ : ถ้าเรากำลังไม่พอต้องเข้า เข้าไปพักเพื่อเอากำลังมาสู้กับมัน นี่ถ้าเราสู้กับเวทนาไม่ได้ ถ้าเวทนารู้สึกว่ามันอึดอัดเราเข้ามาทำความสงบของใจก่อน แล้วถ้าจิตสงบแล้ว แล้วต้องออกไปพิจารณา ถ้าไม่พิจารณาเขาเรียกว่านักหลบ ไม่ใช่นักรบ นักหลบไม่เคยชนะข้าศึก การรบทัพจับศึก นักหลบไม่เคยชนะ นักรบต่างหากถึงชนะ แต่ แต่ถ้ารบอย่างเดียวโดยที่ไม่มีการฟื้นฟูกำลังเลย นักรบที่ไหนก็ไม่มีทางชนะตลอดไป ไม่มีกองทัพไหนรบไม่เคยแพ้ ชนะทุกครั้ง กองทัพมันก็มีชนะ มีแพ้ แล้วถ้ากองทัพรู้จักกลศึก รู้จักการหลบหลีก การรบ การถอย นี่กองทัพนั้นจะชนะ

ฉะนั้น ถ้าเวทนามันหนาอยู่ ถ้าเราสู้ไม่ได้เราก็กลับมากรรมฐาน แต่ถ้ากลับมากรรมฐานจนจิตมีกำลังแล้วต้องออกไปสู้ ออกไปกำจัดข้าศึกให้หมด ออกไปกำจัดสังโยชน์ ออกไปกำจัดกิเลสตัณหาความทะยานอยากของใจเรา อันนั้นถึงจะเป็นวิปัสสนา อันนั้นถึงจะเป็นชาวพุทธ อันนั้นถึงจะเป็นนักรบ

ถาม : ๑/๒. ถ้าจิตคายออกมาแล้วพบว่าเวทนามันเบาลง โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนท่านั่งเลย ผมจะพิจารณาเวทนานั้นไป บางทีเวทนานั้นก็หายไปแล้ว

ตอบ : นี่มันเป็นข้อเท็จจริงเลย ถ้าจิตมันเข้าสงบแล้วมันก็หาย ถ้าจิตมันเข้ามาสู่สงบมันหายไปแล้ว มันไม่อยู่หรอก ออกมาแล้วเราค่อย ออกมา จิตมันออกมาค่อยไปดูว่าเวทนาหน้าไหนวะ? หลวงตาท่านบอกว่าเวทนาหน้าไหนมันจะหลอกเราได้วะ? แต่นี้เวทนามันหลบอยู่ยังไม่เห็นหน้ามันไง เวทนาหน้าไหนจะหลอกเราได้วะ? เพราะมันได้สมุจเฉทปหานขาดไปแล้ว แต่ถ้าเวทนามันแอบอยู่ในป่า แล้วเราเข้าไปพัก ออกมานี่เดินให้ดีนะ เดินให้ดีเดี๋ยวมันขัดขาล้มเลยล่ะ

ถ้ามันหายไปแล้วเราพิจารณามัน เราต้องจับมันได้ ถ้ามันจับได้ แล้วจับมันได้ ถ้าออกมาเห็นกายก็กายเลย เห็นเวทนาก็เวทนา เห็นจิตก็จิต เห็นธรรมก็ธรรม อยู่ที่จริตนิสัย พระพุทธเจ้าเปิดกว้างมาก เพราะพระพุทธเจ้ารู้จักจริตนิสัยของสัตว์โลก จริตนิสัยสัตว์โลกมันไม่เหมือนกัน ในสัตว์ดวงเดียว นี่สัตว์โลกใจดวงเดียวมันยังพลิกแพลงได้ร้อยแปดพันเก้า แล้วนี่ใจของสัตว์โลกทั่วโลกธาตุมันมากมายขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้เพื่อสัตว์โลก ฉะนั้น เราต้องเปิดกว้างเพื่อจะซักฟอกใจเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

ฉะนั้น ในการต่อสู้มันต้องมีวิธีการ ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้า ในการออก ชำนาญในการประพฤติปฏิบัติ ชำนาญถึงที่สุด ถ้าพิจารณาไปจนมันสมุจเฉทจบ ฉะนั้น สิ่งที่เราพูด เห็นไหม เขาบอกว่า

ถาม : ต้องเผชิญหน้ามันร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม?

ตอบ : ต้องเผชิญหน้าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ เห็นไหม หลวงพ่อทำไมไม่บอกร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จบ ต้องมีแต่ด้วยไง ถ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดไปมันก็หัวชนภูเขา ต้องพิจารณาร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม? ก็ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่ แต่ถ้าสู้ไม่ไหว สู้แล้วมันมีแต่ผลเสีย กลับมาทำความสงบของใจ

กองทัพที่ออกไปรบแล้วไม่ต้องส่งเสบียงเลย อาหารไปหาเอาข้างหน้า นี่เวลารถเสียก็ซ่อมกันเอาเอง รถถังกระสุนหมดก็สร้างโรงงานทำกระสุนที่นั่นนะ ไม่ต้องส่งมา มันไม่มีหรอก กองทัพออกไปนะ ฝ่ายพลาฯ เขาต้องส่งกระสุน ส่งเสบียง ต้องส่งตลอด น้ำมันต้องไปตลอด ไม่อย่างนั้นกองทัพไปไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะเผชิญหน้านี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ แต่ฝ่ายพลาฯ ต้องส่งมานะ ฝ่ายพลาฯ ถ้าฝ่ายพลาฯ ไม่มาเลยนะกระสุนก็หมด น้ำมันก็หมด รถติดหล่มด้วยไปไม่รอด ฉะนั้น การว่าต้องเผชิญหน้าร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม? ต้อง แต่ต้องพักทำความสงบของใจ ส่งเสบียงกรัง ต้องมีกระสุน ต้องมีน้ำมัน ต้องมีอาหาร ต้องมีเสนาธิการคอยชี้นำ ต้องมีทุกอย่างพร้อม แล้วเรารบของเราร้อยเปอร์เซ็นต์

ต้องเผชิญหน้าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเผชิญร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่มีการส่งกำลังบำรุงเลย กองทัพมันไปได้อย่างใด? มันเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องเผชิญหน้าร้อยเปอร์เซ็นต์ เอวัง