ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมโอสถ

๓๑ มี.ค. ๒๕๕๖

 

ธรรมโอสถ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๙๔. เนาะ

ถาม : ข้อ ๑๒๙๔. เรื่อง “เรียนถามเรื่องการพิจารณาความเจ็บป่วยเป็นกรรมฐานครับ”

นมัสการหลวงพ่อ ผมไม่ได้ส่งคำถามมานานมาก พอดีกำลังจะบวชอีกไม่กี่วัน นึกคำถามขึ้นมาได้ อยากจะให้หลวงพ่อเทศน์อธิบายเพิ่มเติม ขออารัมภบทสักหน่อยนะครับ พอดีช่วงก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว ผมได้ยินเสียงบางเสียงที่ไม่ใช่เสียงคน จากสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งบอกผมว่าอาทีนวสัญญา จากนั้นผมก็นำมาค้นจากพระไตรปิฎก แล้วก็เจอคำว่าอาทีนวสัญญาในอาพาธสูตรดังนี้ครับ

“ดูกรอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่ากายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก โดยเฉพาะอาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้คือโรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง

อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดจากฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดจากการบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดจากความเพียรเกินกำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ด้วยประการนี้ ดูกรอานนท์ ที่เรียกว่าอาทีนวสัญญา”

หลังจากช่วงนั้น ชีวิตผมได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ได้เรียนเรื่องการรักษาคนแบบแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนไทย ตราบจนทุกวันนี้จึงได้เห็นคนป่วยมามาก แต่ก็ไม่เคยเจอว่าในประเทศไทยมีครูบาอาจารย์ท่านไหนจะสอนเรื่องนี้เป็นกิจจะลักษณะแม้แต่ท่านเดียว ไม่เคยเจอในหนังสือธรรมะอื่นๆ เลย จะมีคำนี้ก็เห็นแต่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา แต่ผมก็มั่นใจนะครับจากที่ได้ฟังหลวงพ่อมาก่อนหน้านี้เป็นร้อยๆ กัณฑ์ว่าหลวงพ่อสามารถอธิบายให้เป็นธรรมได้ ขอแยกคำถามเป็นข้อๆ ดังนี้

๑. ถ้าเราจะนึกถึงอาการป่วยใดๆ ของตนเองเป็นการพิจารณาในจิต ทำอย่างไรจึงจะวางใจเป็นกลางได้ ไม่ทุรนทุรายกับอาการป่วยของตนเองนั้นครับ อย่างเช่นกรณีปวดหลังมากๆ เวลานั่งสมาธิ

๒. ถ้านึกถึงคนป่วยและโรคต่างๆ ที่ประสบมาก่อนหน้านี้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ใจเป็นกลางได้โดยไม่เศร้าสลดครับ เพราะเวลานึกทีไรมันห่อเหี่ยวใจครับ

๓. ถ้าบริกรรมสลับจนอารมณ์สงบ กับพิจารณาอาการป่วยหรือคนป่วย ควรเน้นหนักทำส่วนไหนมากนะครับ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามคือว่าตอนนี้ผมกำลังจะบวช คำถามเขานะ ผมฟังเทศน์หลวงพ่อมามาก ตอนนี้ผมกำลังจะบวชเลยคิดขึ้นมาได้ว่า คิดขึ้นมาได้เพราะป่วยไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าผมกำลังจะบวช เวลาเราศึกษาเขาบอกว่าเขาเคยฟังเทศน์มาเยอะ แล้วเขาไปภาวนาที่หนึ่งแล้วมันเกิดได้ยินเสียงมาว่าอาทีนวสัญญา ก็รื้อค้นๆ ไปเจอในพระไตรปิฎก คำว่าเจอในพระไตรปิฎก พอเจอในพระไตรปิฎกมันเป็นหัวข้อ ถ้าหัวข้อแล้วมันเป็นพระสูตรใช่ไหมเราก็ไปอ่านมา อ่านมาเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระสูตรหรือในพระวินัยทั้งหมดมันจะมีที่มาที่ไป ที่มาหมายความว่าดูสิทเวเม ภิกขเว เห็นไหม นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศน์ธัมมจักฯ จะเทศน์อะไรก็แล้วแต่ จะเทศน์ถึงว่ามีเหตุการณ์อย่างไรบอกพระอานนท์ไง

นี่ก็เหมือนกัน นี่ต้องมีคนมาถาม หรือมีเหตุการณ์อย่างใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะแสดงธรรม ถ้าแสดงธรรมมานี่พูดถึงความเป็นโลก ความเป็นโลกนี่เวลาแสดงธรรมขึ้นมาแล้วบอกว่าไม่มีครูบาอาจารย์องค์ไหนพูดอย่างนี้เลย ไม่มีครูบาอาจารย์องค์ไหนพูดอย่างนี้เลย เวลาเทศน์ เวลาเทศน์ของครูบาอาจารย์ท่านพูดถึงโลก อย่างเช่นหลวงปู่สิมกระดูก ๓๐๐ ท่อน กระดูก ๓๐๐ ท่อนหลวงปู่สิมท่านก็มีความถนัดของท่าน

อย่างเช่นหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นพุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใส เพราะหลวงปู่ฝั้นท่านชำนาญเรื่องนี้มาก หลวงปู่ฝั้นท่านชำนาญเรื่องกำหนดพุทโธนะ แล้วจิตท่านจะสว่างมาก ครอบโลกธาตุ แล้วท่านจะรู้อะไรไปหมดหลวงปู่ฝั้นน่ะ นี่มันอยู่ที่จริตนิสัยของคน ถ้าจริตนิสัยของคนชำนาญในทางไหน ฉะนั้น ที่ว่าไม่มีครูบาอาจารย์พูดอย่างนี้สักคน มี แต่ใจเรามันฟังแล้วมันผ่านไง เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา มันฟังผ่านไปเฉยๆ แต่ถ้าเราไปเจอครูบาอาจารย์องค์ไหนที่พูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าเราสะเทือนใจนะมันจะจำแม่นเลย

ในกรณีอย่างนี้ ถ้าโดยพื้นฐานไปก็ทำกันไป เราได้ข่าวมาเราไม่เห็นกับตานะ อย่างเช่นหลวงปู่ผาง หลวงปู่ผางที่ขอนแก่นท่านไม่ฉันเนื้อสัตว์นะ จนท่านนิพพานไปแล้วก็ยังไม่มีใครรู้ว่าไม่ฉันเนื้อสัตว์ เวลาคนใส่บาตรไปท่านจะเขี่ยของท่านไว้ ท่านทำอย่างไรโดยนิสัยของท่านท่านก็ไม่บอกใคร ท่านทำของท่าน เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำท่านทำไม่แสดงออก ท่านทำของท่านเป็นเรื่องส่วนตัว ทีนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เราเองนี่คลื่นวิทยุส่งมา คลื่นรับเรามีไหม? เราจับต้องได้ไหม? ถ้าเราคลื่นรับได้ เราจับต้องได้ เราก็รู้ได้ ถ้าเรารู้ได้มันก็เป็นประโยชน์กับเราได้ แต่อันนี้พอเราได้ยินเสียง ได้ยินเสียงเป็นอาทีนวสัญญา แล้วเราไปรื้อค้นของเรามันก็เป็นความเห็นของเรา

ฉะนั้น เราจะพูดคำว่า

ถาม : ไม่เคยเห็นครูบาอาจารย์ท่านพูดเรื่องอย่างนี้เลย มีแต่ในพระไตรปิฎก

ตอบ : ครูบาอาจารย์ท่านจะพูดต่อเมื่อ ต่อเมื่อที่ว่ามันเป็นประโยชน์กับคนฟังคนนั้น แต่คนฟังคนนั้นท่านเจ็บไข้ได้ป่วยมาอย่างไร ท่านก็จะเทศน์ให้กำลังใจ เทศน์บอก แล้วอย่างเช่นเวลาท่านช่วยเหลือกัน ท่านเจือจานกันมันก็มี ฉะนั้น มันมีอย่างนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เรื่องอาพาธ เรื่องต่างๆ ฉะนั้น เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยใช่ไหม? ชีวิตเราพอเราได้ยินอย่างนั้นปั๊บเราก็ไปศึกษา พอศึกษามานี่ประสบการณ์แล้ว ไปเรียนเรื่องแพทย์ทางเลือก แล้วเราได้ไปเห็นอย่างนั้นมันก็เป็นสลดใจ

ความสลดใจ มันก็เหมือนกับเวลาคำสอนของพระพุทธเจ้าบอกว่าให้ไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้ามันก็เหมือนที่เราเห็นนี่แหละ เราเห็นคนเจ็บ คนป่วยเราก็สะเทือนใจ นี่เราก็สลดสังเวช นี่สลดสังเวชขึ้นมามันก็ไม่คิดออกไปเรื่องโลกๆ มันคิดแต่เรื่องของคน เรื่องของคน เรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องของคนนี่เรื่องอาพาธ เรื่องต่างๆ นี่มันเห็นแล้วคนก็มีเท่านี้ มันไม่คิดเห่อเหิมไปทางอื่น นี่ขนาดเราพิจารณาการเจ็บไข้ได้ป่วยนะ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พิจารณาซากศพ เวลาคนป่วย ป่วยจนตาย ตายแล้วก็เหลือแต่ซากศพ

นี่ดูซากศพคนก็มีเท่านี้ คนก็มีเท่านี้ มันจะมีคุณงามความดีเท่านั้นแหละอยู่กับนี่แหละ คนมีเท่านี้ ให้มันสะเทือนใจ นี่มรณานุสติ ถ้าเป็นมรณานุสติ คิดถึงความตายๆ เป็นมรณานุสติ แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยนะ เวลาครูบาอาจารย์ นี่ธรรมโอสถๆ ถ้าธรรมโอสถนะท่านพิจารณาของท่าน ท่านดูแลของท่าน ดูแลร่างกายของท่าน ถ้าดูแลร่างกายของท่าน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ธรรมโอสถมันรักษาให้หายได้ ถ้ารักษาหายได้มันจะเข้ามาที่คำถามไง คำถามข้อที่ ๑

ถาม : ๑. ถ้าเราจะนึกถึงอาการป่วยใดๆ ของตนเอง เป็นการพิจารณาในจิต จะทำอย่างไรถึงจะวางจิตเป็นกลางได้ ไม่ทุรนทุรายกับอาการป่วยของตนเองนั้น

ตอบ : อย่างเช่นกรณีปวดหลังมากๆ ในกรณีปวด นี่ถ้าคนครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้ว เวทนาคือเวทนา นี่เวทนาไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา แต่ถ้าเวทนาเป็นเรามันปวดมาก ไอ้ที่ปวดๆ เพราะเวทนาเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นเรา ถ้าเป็นเรานะ เพราะเราเองเจ็บไข้ได้ป่วย

ฉะนั้น ความเจ็บไข้ได้ป่วยมันเป็นเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย จิตใจมันไม่เกี่ยวเลย จิตใจ นี่จิตใจมันไม่ได้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยนั้นเลย แต่จิตใจถ้ามันไม่มีสติปัญญามันไปแบกหามความเจ็บป่วยนั้น มันเจ็บป่วยยิ่งกว่าร่างกายอีก ร่างกายนี้เป็นธาตุรู้เฉยๆ ความเจ็บไข้ได้ป่วย จิตนี้ไปรับรู้เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วมันก็ไปแบกหาม แบกหามแล้วมันก็มีตัณหาใช่ไหม อยากหาย อยากไม่เจ็บ อยากให้เวทนามันหายไป

นี่ความอยากตรงนั้นมันไปกระตุ้นให้มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์เข้าไปอีก ความเจ็บมันก็มีของมันอยู่แล้ว เวทนาเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง จิตมันรับรู้ของมัน อย่างธรรมชาติ เห็นไหม อย่างเวลาเรานั่งอยู่ เรานั่งขัดสมาธิ เลือดลมมันเดินไม่สะดวก มันเกิดอาการเหน็บชา มันเกิดต่างๆ นี่โดยทางการแพทย์เขาพิสูจน์ได้ เวลาจิตถ้ามันสงบนะ พิจารณาพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิถ้าจิตมันปล่อยเวทนามา แล้วเวทนามันหายไปไหนล่ะ? แล้วจิตมันรับรู้ได้อย่างไรล่ะ?

เพราะว่าร่างกาย สภาวะร่างกาย ร่างกายเป็นรวงรังของโลก จิตใจถ้ามันมีกิเลสมันก็ยิ่งเป็นรวงรังของโลกมากขึ้นไปใหญ่ แต่จิตใจที่มันมีรวงรังของโลกแล้วมันไปแบกร่างกายที่มีรวงรังของโลก มันก็เจ็บไข้ได้ป่วยกันไปใหญ่เลย พอเจ็บไข้ได้ป่วยกันใหญ่เลยเราก็ศึกษาธรรมพระพุทธเจ้าใช่ไหม? นี่อาทีนวสัญญา แล้วเราก็ไปรื้อค้นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ไปดูแลคนเจ็บ คนป่วยเราก็สังเวช

นี่สังเวช ศึกษาทางโลกเป็นอย่างนี้ ศึกษาทางโลกเป็นอย่างนี้ แต่นี่จะมาปฏิบัติเอาความจริงของใจไง เอาความจริงของใจเพราะว่าถ้าเราจะนึกถึงอาการป่วยใดๆ ของตนเองเพื่อพิจารณาจิต ทำอย่างไรมันจะวางใจไว้เป็นกลาง นี่เพราะเราคิดว่าวางใจไว้เป็นกลาง ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันปล่อยเข้ามานะ ไอ้นั่นมันหายหมดแหละ นี่ถ้าหายหมดนะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาครูบาอาจารย์บางองค์ท่านเจ็บไข้ได้ป่วยของท่านเลย

อย่างเช่นหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นท่านมีโรคประจำตัวของท่าน ท่านมีโรคประจำตัวเรื่องท้องของท่าน ท่านมีโรคประจำตัวตลอด สุดท้ายแล้วท่านพิจารณาของท่านนะ ท่านสละตายเลย นั่งจนจิตมันรวมหมด อาการที่โรคประจำตัวนั้นหายเลย หายของท่านได้ ธรรมโอสถ แต่ แต่คนจะทำอย่างนี้ได้จิตใจต้องเข้มแข็ง จิตใจต้องมีหลัก ถ้าจิตใจที่มีหลัก เวลาพิจารณาไปมันต่อสู้ของมันไป แต่พวกเรานี่เราหวังจะหายไง เราหวังจะหาย แต่เรามีกิเลสนำหน้า แล้วเวลาปฏิบัติไป แล้วเมื่อไหร่มันจะวางใจเป็นกลาง

มันจะวางใจเป็นกลาง วางใจเป็นกลางนี่มันเป็นคำถามนะนี่ วางใจเป็นกลาง เพราะเราคิดว่าวางใจเป็นกลางมันไม่ไปข้างใดข้างหนึ่ง คือเจ็บกับปวด ไม่ไปข้างใดข้างหนึ่ง วางใจเป็นกลางก็คิดว่าจะหาย นี่เราคิดของเราเองไง แล้วเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือ ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปมันปล่อยนะ ถ้ามันปล่อย ปล่อยถ้ามันหายมันปล่อยวางนั้นเลย ถ้าคนที่เป็นโรคเรื้อรังนะ เวลาพิจารณาไป พิจารณานะ พิจารณาถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย เวลามันปล่อยนะธรรมโอสถหายจากโรคนั้นเลย หายเลย ถ้าหายเลย แต่ต้องคนที่จิตใจเข้มแข็ง คนที่จิตใจที่เป็นสัมมาสมาธิที่มีธรรมโอสถตามความเป็นจริง แต่ถ้าจิตใจคนที่อ่อนแอมันปล่อยชั่วคราว มันปล่อยอาการปวดในปัจจุบันเท่านั้น แล้วเวลาออกจากสมาธิมาก็ปวดเหมือนเดิม แล้วไม่หายด้วย ไม่หายด้วย

เวลาไม่หายก็มี หายก็มี มันอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีธรรมของจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นเวลามันปล่อยนะ อาการเจ็บปวดปัจจุบันหายหมดเลย นี่วางใจเป็นกลางหรือเปล่า? มันหาย ใจนี่เด่นชัดมากเลย แล้วโรคภัยไข้เจ็บนั้นก็หายไปด้วย ไม่เป็นอีกเลย ครูบาอาจารย์ที่มีโรคประจำตัวนะ มีโรคประจำตัว จนโรคประจำตัวนั้นขาดกันไป จนสิ้นกันไป จะไม่มีมาอีก อย่างเช่นปวดหัวเรื้อรัง ปวดท้องเรื้อรัง นี่มีไข้เป็นเรื้อรัง ความเรื้อรัง ถ้าพิจารณาถึงที่สุดแล้วขาดเลย จบกันไปเลย โรคนั้นหายหมด นี่ธรรมโอสถ ถ้าธรรมโอสถมันเป็น ในวงกรรมฐานเขาจะรู้ว่าใครทำได้บ้าง ใครทำไม่ได้บ้าง อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดบ่อย

“ถ้าคนไม่เคยรวมใหญ่ คนไม่เคยภาวนา จิตมันไม่รวมลง จะไม่รู้อาการแบบนั้น”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บ แต่จิตใจของเราพิจารณาของเราไม่เป็นอย่างนั้น เราจะไม่รู้อาการแบบนั้น แต่ถ้าอาการแบบนั้นปั๊บ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ทำได้ท่านรู้อาการแบบนั้น แล้วท่านอธิบายแบบนั้นได้ นี่หลวงตาท่านพูดบ่อย

“ถ้าจิตใจใครเข้มแข็ง ถ้าพิจารณาธรรมโอสถนะพิจารณาได้ แต่ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งไปหาหมอเถิด ไปหาหมอเถิด อย่าปล่อยไว้เรื้อรังจนเวลาไปหาหมอแล้วโรคภัยไข้เจ็บมันรุนแรงแล้ว”

นี่มันต้องมีคนที่จิตใจเข้มแข็งพอแล้วสละตาย ถ้าสละตายไปแล้วนะ เพราะคำว่าสละตาย ก่อนนั่งเราสละตายแล้ว พอเราสละตายแล้วมันจะมีอะไรอีกไหม? ถ้าคนเรานี่เราทิ้งชีวิตเราตั้งแต่ก่อนนั่งแล้ว จะเจ็บ จะปวด จะอย่างไรเชิญตามสบายเลย คือสละตายแล้ว พอสละแล้วมันจะไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น นี่สละตายสู้กับมัน พอจบแล้วนะหาย แต่ส่วนใหญ่มันสละตายแต่เขียนพินัยกรรมไง เขียนแต่ ต.เต่า สระอา ย.ยักษ์เขียนปะไว้ นี่สละตายตัวหนังสือไง แต่จิตกูไม่ยอม พอเจ็บหน่อยมันวิ่งหนีแล้ว มันสละตายแต่ตัวหนังสือ มันไม่สละตายจริง ถ้าไม่สละตายจริงมันไม่เป็นความจริงหรอก ถ้าไม่เป็นความจริง นี่ถ้าสละตายมันจบนะ

ฉะนั้น จะบอกว่า

ถาม : ถ้าเราจะนึกถึงอาการปวดใดๆ ของตนเองเป็นการพิจารณาในจิต นี่พิจารณาในจิต เห็นไหม ทำอย่างไรจึงจะวางใจให้เป็นกลาง ไม่ทุรนทุรายกับอาการปวดนั้น

ตอบ : อย่างเช่นการปวดหลังมันทุรนทุรายเพราะเมื่อเราอยากหายปวด หรือเวลาปวดแล้วเราเอาจิตไว้ เราฟังเทศน์อยู่ ๒ วันนี้ มีอยู่พระองค์หนึ่งเทศน์บอกว่าเอาจิตไปไว้ที่ตรงนั้นๆ โอ้โฮ เราฟังแล้วเศร้ามากเลย นี่ไงถ้ามันทุรนทุราย เอาจิตไว้มันยิ่งทุรนทุรายใหญ่ มันมีทุรนทุราย มันมีอาการอย่างไรก็แล้วแต่ วางซะกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่สติ

อย่างเช่นคำว่าพุทโธชัดๆ ของเรานี่แหละ ถ้าพุทโธชัดๆ ของเรานะคือจิตมันเป็นเอกเทศ มันชัดๆ ในตัวมันเอง มันจะไม่ไปหยิบฉวยสิ่งใดให้เป็นสิ่งที่ทุรนทุราย ทุรนทุรายเพราะเราไปหยิบฉวยสิ่งนั้นโดยที่เราขาดสติ เราไม่รู้ตัวเรา แล้วเราไปทุรนทุราย การทุรนทุรายเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา แล้วจะให้มันหายจากเราเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราโยนความทุรนทุรายนั้นทิ้งโดยตั้งแต่ต้น เราเอาจิตเราไว้กับพุทโธ เอาจิตเราไว้กับผู้รู้ ถ้าเอาจิตไว้กับผู้รู้ อาการทุรนทุรายจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะจิตมันอยู่กับผู้รู้ จิตมันอยู่กับพุทโธ

อาการทุรนทุรายเพราะเราไปรับรู้มัน มันถึงทุรนทุราย แต่ถ้าเราทิ้งตั้งแต่ต้นแล้วอยู่กับพุทโธชัดๆ แต่คนพุทโธชัดๆ ไม่ได้ มันอยู่ไม่ได้ เพราะอยู่กับผู้รู้ ผู้รู้นี่มันออกไปรู้อาการทุรนทุราย ผู้รู้นี้มันออกไปรับรู้อาการปวด ผู้รู้นี้ขาดสติมันถึงหยิบฉวยทุกอย่างที่มันคิดว่าเป็นที่พึ่ง หยิบฉวยเป็นที่พึ่ง ปวดๆ ทั้งที่มันจะทิ้งอาการปวด แต่มันก็ไปเกาะที่อาการปวด มันถึงมีความรู้สึกว่าปวด แต่ถ้ามันอยู่กับพุทโธ พุทโธชัดๆ มันไม่ไปรับรู้อาการปวด

อาการปวดมันเกิดขึ้น แต่มันไม่ออกรู้อาการนั้น มันรู้ตัวที่ผู้รู้นั้น อาการนั้นมันกระตุ้น มันอยากให้จิตไม่รับรู้ ถ้าจิตมันขาดสติ จิตไม่มีกำลังมันก็ออกไปจับด้วยอาการเผลอ พอจะไปจับอาการนั้นเผลอนะมันก็เกิดอาการทุรนทุราย อาการปวด อาการต่างๆ แล้วมันเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ เพราะสัญชาตญาณของจิตมันชอบรสชาติอย่างนั้น ทั้งๆ ที่รังเกียจ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องการ แต่มันก็ไปหยิบ ไปฉวย แล้วก็บอกว่ามันทำไมทุรนทุราย มันทำไมปวด ปวดเพราะมันโง่ จิตมันโง่มันถึงไปจับ แต่ถ้ามีสตินะพุทโธ พุทโธชัดๆ ปัญญาอบรมสมาธิชัดๆ แล้วมันเกิดอาการปวด

ปวดมันก็คือปวดไม่เกี่ยว เรากำลังพิจารณาให้มันรู้แจ้งอย่างนั้นโดยการใช้ปัญญา ปัญญามันจะแยกแยะ มันจะฟาดฟัน อาการทุรนทุรายจะจบไป ถ้าสิ่งนี้จบไป นี่ที่ว่ารวมลง ไม่ใช่วางใจเป็นกลาง คำว่าวางใจเป็นกลาง การว่าวางคือมันมีอยู่ เห็นไหม คำถามนี่

ถาม : ทำอย่างไรถึงจะวางใจได้

ตอบ : วางที่ไหนล่ะ? วางไว้ที่ปวดมันก็ปวด วางไว้ที่ตรงกลางมันก็วางไว้ตรงกลาง เดี๋ยวมันก็จะไปเจ็บไปปวด ไปวางไว้ที่ว่าง เดี๋ยววางไว้มันก็ออกไปอีก เพราะคำว่าวางคือถือตัวตนอยู่ แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ ใจมันพิจารณาของมันไป เวลามันปล่อยของมันไป มันปล่อยหมด มันว่างหมด มันทิ้งหมด แล้วมันเป็นตัวของมันเองโดยธรรมชาติของมัน แล้วมันเป็นการวางไหมล่ะ? มันรู้จริงของมัน ทีนี้คำว่าวาง มันวางหมายความว่ามันวางโดยข้อเท็จจริงของมัน คือเอามาเป็นสมมุติบัญญัติ เอามาสื่อความหมายกัน แต่ความจริงเป็นแบบใดล่ะ? แต่บอกว่าเราทำอย่างไรถึงจะวางได้ มันก็ไปติดกันที่วิธีการไง

ทฤษฎี ทุกคนไปติดที่ทฤษฎี แล้วใช้ทฤษฎีนี้เป็นผล นี่วางใจอย่างนั้น ทำอย่างนั้นๆ นั้นเป็นทฤษฎี เห็นไหม เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าพวกเราได้เรือ ได้รถกันมาคนละลำ เรือลำหนึ่ง เราจะขึ้นจากเรือเราก็ต้องเข้าฝั่ง แล้วขึ้นจากเรือมา นี่จะไปที่ไหนก็แล้วแต่เราอาศัยรถของเราไป แล้วเราก็ลงจากรถนั้นไปถึงสถานที่นั้น รถกับเรือนั้นน่ะ นี่วางใจ วาง มันยังมีกิริยา มันมีต่างๆ อยู่ วางใจ ขับรถมาจะจอดที่ไหนก็วนอยู่นั่นล่ะ เราจะขึ้น ขึ้นไม่ได้สักที วนอยู่นั่นแหละ แล้วมันอย่างไร?

มันก็ทุรนทุรายอยู่นั่นไง ก็ทุรนทุรายกับรถนั่นไง ก็ไม่มีที่จอด ยังหงุดหงิดอยู่นี่ หาที่จอดรถไม่ได้ นี่หงุดหงิดอยู่นั่นแหละ แล้วจะวางอย่างไรล่ะ? ก็วางในรถนั่นแหละ วางไม่พ้นหรอก แต่ถ้าเราทำของเรา รถจอดแล้วเราขึ้นมามันทิ้งหมด ทิ้งอาการ ทิ้งวิธีการ เราถึงไม่ไปเถียงกันที่นั่น นี่เวลาคนปฏิบัติเขาจะรู้อย่างนี้ นี่พูดถึงข้อที่ ๑

ถาม : ๑. เราจะนึกถึงหรืออาการปวดใดๆ ของตนเองเป็นการพิจารณาจิต ทำอย่างไรจึงจะวางใจเป็นกลางได้ ไม่ทุรนทุรายกับอาการปวดของตนเองนั้น อย่างเช่นกรณีปวดหลังมากๆ

ตอบ : อันนี้อธิบายแล้วข้อที่ ๑

ถาม : ๒. ถ้านึกถึงคนป่วย และโรคต่างๆ ที่เคยประสบมาก่อนหน้านี้ ทำอย่างไรจึงจะวางใจเป็นกลางได้โดยไม่เศร้าสลดครับ

ตอบ : เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บปวดมันอาการเวทนากาย เวทนาจิต เวทนากายก็ทุรนทุราย เวทนาจิต จิตก็แบกหามทุรนทุรายด้วย เวทนาจิตไม่ต้องทุรนทุรายอะไรเลย นั่งเฉยๆ มันก็ซีเรียส มันก็เครียด อู้ฮู นั่งเฉยๆ ไม่มีใครมาว่าอะไรเลยนะ จิตมันก็รับไม่ได้ นั่นล่ะเวทนาจิต

ฉะนั้น ย้อนกลับมาข้อที่ ๒

ถาม : นึกถึงคนป่วยและโรคต่างๆ ที่ประสบมาก่อนหน้านี้ จะวางใจอย่างใด

ตอบ : จะวางใจอย่างใด เพราะจิตมันมีสัญญา สัญญามันสร้างภาพขึ้นมา วางใจอย่างไรล่ะ? ถ้าวางใจนะ วางใจมันก็สติ ถ้าวางใจนะเราก็กำหนดพุทโธของเรา กำหนดพุทโธของเรา นี่พิจารณาของเรา ปัญญาอบรมสมาธิของเรา พิจารณาของเรา ถ้าพิจารณา พิจารณาเรื่องอะไรล่ะ? เรื่องที่แล้วๆ มันก็ผ่านมาแล้ว เรื่องคนเจ็บไข้ได้ป่วยก็เวรกรรมของเขา

นี่หมอที่ดีๆ นะเขามีเมตตาของเขา เขารักษาคนไข้ เขาอยากให้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยหายให้หมดเลย แต่เวลารักษาไปแล้ว คนไข้ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ทำตามหมอบอก ไม่กินของแสลง ไม่ปฏิบัติตนให้เข้ากับโรคภัยไข้เจ็บนั้น คนไข้ที่เชื่อฟังหมอ แล้วหมอมีเจตนาที่ดี เขารักษากันนะมันก็หาย หมอที่มีเจตนาที่ดี ไปสอนคนไข้ คนไข้ที่จิตใจเขาอ่อนแอ พูดอย่างใดเขาก็ฟังไม่ได้ บอกให้ทำอย่างใดเขาก็ทำไม่ได้

นี่หมอก็มีความปรารถนาอยากให้คนไข้นั้นหายเป็นปกติเหมือนกัน แต่คนไข้เขาไม่สามารถมีความเข้มแข็งจะช่วยเหลือตัวเขาเองได้เลย เขาทำเอาแต่ใจของเขา เขาอยากหายแต่เขากินของแสลงตลอด เขาทำอะไรเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วยของเขาตลอด อย่างนั้นมันก็รักษาหายได้ยาก นี่หมอคนหนึ่ง เวลารักษาคนไข้ คนไข้ที่ดี คนไข้ที่ดีก็รักษาง่าย คนไข้ที่ไม่ยอมช่วยเหลือตัวเองเลย คนไข้ที่เอาแต่ใจตัวเอง คนไข้นั้นก็รักษาได้ยาก คนไข้บางคนปานกลาง เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง

นี่ก็เหมือนกัน นี่ว่าเราเห็นคนป่วยไง เห็นคนป่วยแล้วประสบการณ์ที่เห็นมามันทำให้จิตใจสลดสังเวช แล้วเราจะวางใจเป็นกลางอย่างใด ถ้าเราวางใจเป็นกลาง นี่ให้ดูใจของเรา ถ้าใจของเรามันไปยึดเขา มันไปยึด ไปแบกหามเขามันก็สลดสังเวช เราอยากให้เขาหายไหม? เราอยากให้เขาเจ็บไข้ได้ป่วยไหม? ไม่มีใครอยากให้เขาเจ็บไข้ได้ป่วยเลย แต่เวรกรรมของใคร ใครทำของเขามา เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น ถ้าของเขาอย่างนั้น เขาตั้งใจรักษาของเขา เขาพยายามจะออกจากโรคนั้น เขาก็ต้องดูแลรักษาตัวของเขา ถ้าจิตใจเขาเจ็บไข้ได้ป่วย จิตใจเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เขามีแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ คิดแต่ทำร้ายตัวเองอยู่ ถ้าเขาได้สติขึ้นมาเขาหายของเขา

นี่มันไม่มีใครแบกโลกได้ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา จะสอนใครได้อย่างไรหนอ? จะสอนใครได้อย่างไรหนอ? จนตัวเองคิดได้หนึ่ง แล้วเวลาพรหมมานิมนต์หนึ่ง แล้วนี่เวลารื้อสัตว์ขนสัตว์ ก็รื้อสัตว์ขนสัตว์แต่ผู้ที่มีอำนาจวาสนาเท่านั้น พระโมคคัลลานะต่อว่าพระพุทธเจ้าบ่อย ทำไมไปเอาคนนั้น ทำไมไม่เอาคนนี้ ไปเอาคนนั้น พระพุทธเจ้าบอกเอ็งไปเอาดูสิ ลองไปเอาดู พระโมคคัลลานะก็ไปเอาดู ไม่ได้หรอก ไม่ได้ ไม่ฟังหรอก ถ้าเขาไม่ฟัง เดินเฉียดพระพุทธเจ้าอยู่เขายังไม่ฟังพระพุทธเจ้า เทวทัตขนาดอยู่กับพระพุทธเจ้าแท้ๆ ยังไม่ฟังพระพุทธเจ้าเลย นี่เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากของเขา

นี่ก็เหมือนกัน แม้แต่พระพุทธเจ้ายังไม่แบกโลกเลย แล้วนี่เขาว่าผมกำลังจะบวช ยังไม่ได้บวชเป็นพระด้วย แล้วจะไม่ให้เศร้าสลดเลย ไม่ใช่พระอรหันต์นี่จิตใจจะได้เบิกบานตลอดเวลา เราไม่ใช่พระอรหันต์ เราเป็นคนมีกิเลส มันมีของมัน แต่เราใช้ปัญญาไง เราใช้ปัญญา ข้อที่ ๑ นั้นเรื่องอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย ข้อที่ ๒ มันเป็นเรื่องอาการเจ็บป่วยของจิต นี่ถ้าจิตมันมีกิเลส มันเจ็บป่วยอยู่นี่มันก็มีโรค มันก็สะเทือน นี่ธรรมโอสถๆ รักษาได้ทั้งร่างกาย รักษาได้ทั้งจิตใจ นี่ธรรมโอสถนะ เพราะจิตใจเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราถึงมีกิเลสในใจอยู่ เราถึงต้องทุกข์ยากกันอยู่นี่ ถ้าเรารักษาหาย รักษาหายมันหายหมดเลย กิเลสคือโรคภัยไข้เจ็บมันจะเบาลงๆ นี่ถ้ารักษาได้เราก็ดูแลเรา

นี่พูดถึงรักษานะ นี่ยังไม่ทันบวชเลยมันยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วถ้าบวชเข้าไปนะเราต้องมีสติปัญญาของเรา นี่มีโรคภัยไข้เจ็บ เราปวดหลังของเรา ดูแลร่างกายเราให้แข็งแรง ดูแลร่างกายของเราพอสมประมาณ แล้วรักษาใจของตัว ถ้ารักษาใจของตัวนะ ถ้ารักษาใจของตัว ถ้าจิตใจเรา ถ้าเราทำของตัวเราได้ คนอื่นเขาเห็นว่าเรานี่เป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วยมา แล้วเราหายได้อย่างไร เขาก็อยากหายเหมือนกับเรา เราก็ทำของเราตามความจริงของเรา

ถาม : ๓. การบริกรรมสลับจนอารมณ์สงบ กับพิจารณาอาการเจ็บป่วย หรือคนป่วย ควรเน้นหนักทำส่วนใดมากกว่ากันครับ

ตอบ : การบริกรรมสลับจนอารมณ์สงบ นี่ถ้ามันบริกรรมก็บริกรรม ถ้าสลับมันก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะเขาบอกว่าเขาฟังเทศน์เรามาเยอะแล้ว นี่เวลาเทศน์จะเน้นย้ำตรงนี้ เน้นย้ำตรงที่ว่าเราต้องมีสติ พอมีสติแล้วถ้าคำบริกรรมเราบริกรรมไป จนกว่าเราทำบริกรรมแล้วมันไม่พัฒนา มันไม่เจริญขึ้นมา นี่ถ้ามันไม่ยอมรับฟังเหตุผลเราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเวลาหลวงตาท่านสอน ท่านสอนบอกว่าเวลาภาวนา เห็นไหม ไม่ใช่ภาวนาแบบคนโง่แบบหมาตาย เดินจงกรมแบบหมาตายเลยล่ะ

หมามันตายคือมันนอนแล้ว หมาตายคือมันไม่มีชีวิต มันไม่กระดุกกระดิก นี่เดินจงกรมก็สักแต่ว่าเดิน เดินตาเถ่ออยู่อย่างนั้นแหละ เวลานั่งสมาธิก็นั่งสมาธิ เอาใจไว้ไหนก็ไม่รู้ ฉะนั้น เวลานั่งสมาธิ เดินจงกรมมันต้องมีอุบาย คำว่าใช้คำบริกรรมสลับใช้อารมณ์ ถ้าเรามีอุบาย เห็นไหม มันตึงเครียด มันภาวนาแล้วไม่ได้ เราวางเลยถ้ามันอยากคิดนะ พิจารณาอารมณ์ อารมณ์อะไรมันเกิดขึ้น มีสติตามไป มันก็เป็นธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์พิจารณาไปปัญญาอบรมสมาธิ นี่ถ้าไม่อย่างนั้นมันตึงเครียดแล้วมันเป็นไปไม่ได้ มันไม่เจริญก้าวหน้า

พอพิจารณาปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ ถ้ามันหยุด มันหยุดทำอย่างไรต่อ? ทำอย่างไรต่อเราก็กำหนดพุทโธต่อเนื่องกันไป พุทโธต่อเนื่องกันไป หัดใช้ให้เป็น ถ้าหัดใช้ให้เป็นมันก็เหมือนรถ คันเร่งกับเบรกมันก็มีตลอดไป รถจะออกตัวเราต้องเหยียบคันเร่ง แต่ถ้ามีอุปสรรคข้างหน้าเราต้องเหยียบเบรก จะเข้าโค้ง จะจอดมันต้องมีเบรกคอยประคองให้จอดอยู่เข้าที่ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติปัญญา มีคำบริกรรม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรารักษาใจเรา พัฒนาใจของเราขึ้นไป ฝึกหัดใช้ตรงนี้ให้มันเป็น ถ้าภาวนาเป็นขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์

แล้วภาวนา ตรงนี้สำคัญมากเลย สำคัญมากเลยพื้นฐานเบสิกนี่แหละสำคัญที่สุด เพราะเบสิกมันไม่มี ถ้าคนทำพื้นฐานไม่ได้ ถ้าเราทำความสงบของใจเราไม่ได้เราจะทำอะไรกัน มันไม่มีพื้นฐานเลย เอาพื้นฐานมาจากไหนกัน เวลามานี่ก็ปล่อยวาง วางใจให้เป็นกลาง มันเป็นกลางมีความอยากภาวนาไม่ได้ ไม่มีความอยากเลยก็หุ่นยนต์ไง หุ่นยนต์มันไม่มีชีวิตไง ทำงานดีกว่ามนุษย์อีก นี่คนมันมีชีวิต คนมันมีจิต จิตนี่ธาตุรู้ ธรรมชาติที่รู้มันมีอวิชชา มันไม่รู้จักตัวมันเอง ปรารถนาอยากจะพ้นทุกข์ ปรารถนาอยากให้คนทำแต่คุณงามความดี ทำไปแล้วล้มลุกคลุกคลานตลอดเลย แล้วจะทำอย่างไรต่อไป?

นี่ถ้าเป็นทางโลกนะ คนที่ขาดสติ คนที่ไม่มีครูบาอาจารย์นะ บอกเออ นี่ไงปฏิบัติธรรมแล้วสบายๆ สบายในโลกนี้ไง สบายในวัฏฏะนี่ มันปฏิบัติอยู่ในวัฏฏะนี่ มันไม่พ้นไปไหนหรอก ถ้ามันจะพ้นไปมันต้องทำความสงบของใจ คือให้กิเลสมันไม่ทันปัญญาของเรา แต่ถ้ากิเลส สมุทัยมันมาพร้อมกับสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง นี่สมุทัยมันเจือปัญญา เจือมาตลอดเลย แล้วก็บอกว่าปฏิบัติแล้วดีๆ ดีสิ ดีเพราะกิเลสมันสบายใจได้ เออ ไอ้คนๆ นี้ปฏิบัติแล้วมันอยู่ในโอวาทของเรา ถ้าปฏิบัติอยู่ในโอวาทมันไม่ไปไหนหรอก มันก็ปฏิบัติอยู่ในโอวาทนี่แหละ มันไม่พ้นจากน้ำมือเราไปหรอก มันก็สบายใจ พอสบายใจก็เลยไม่คิดเลย เออ สบาย สบาย

ปฏิบัติแล้วสบายนะ กรรมฐานนี่ปฏิบัติแล้วขี้ทุกข์ โอ๋ย จะอยู่ป่า อยู่เขา เนสัชชิกเอย อดอาหาร โอ้โฮ พวกนี้ขี้ทุกข์ ปฏิบัติแบบทุกข์นิยม เขาว่า สัจจะนิยม ความจริงมันเป็นแบบนี้ ถ้าความจริงเป็นแบบนี้นะเราทำตามความเป็นจริงของเรา ถ้าความเป็นจริงของเรา เริ่มต้นบริกรรมกับปัญญาอบรมสมาธิ คันเร่งกับเบรกเราใช้ไปพร้อมกัน แล้วเบสิกพื้นฐาน เพราะการปฏิบัติยากที่สุดคือตรงนี้

การปฏิบัติเริ่มต้น ถ้าเรายังเข้าทางไม่ถูก เห็นไหม เวลาเขาแข่งม้านะเขาเอาม้าเข้าซอง สนามม้าเขาแข่งม้า เอาม้าเข้าซอง พอเขาเปิดซองม้ามันจะวิ่งพรวดเลย นี่เขาแข่งม้ากัน แล้วม้าเราอยู่ในป่ามันเข้าซองไม่ได้ มันไม่มีซองให้เข้า แล้วจะไปแข่งกับใครล่ะ? มันก็วิ่งอยู่ในป่านั่นล่ะ แหม สบาย อิสระ วิ่งอยู่ในป่าเนาะ อู๋ย ม้าเหรียญทองเลย โอ๋ย แข่งมาชนะทุกสนาม แต่มันไม่เคยเข้าซอง มันไม่รู้วิธีแข่งเป็นแบบใด นี่เบสิก การกระทำของเรา ถ้าจิตเราไม่สงบเราไม่ได้เข้าซองนั้น

จุดสตาร์ทนะ จุดสตาร์ทคือสติปัฏฐาน ๔ แล้วก็บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ดูสิกาย เวทนา จิต ธรรม ปฏิบัติแบบสติปัฏฐาน ๔ มันก็ม้าในป่านั่นล่ะ มันวิ่งอยู่ในป่านั่นล่ะ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มันควบอยู่ในป่านะ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ แต่มันไม่เคยเข้าซอง พอไม่เคยเข้าซองมันไม่มีโอกาสได้แข่งหรอก มันไม่ได้ถ้วยดาร์บี้หรอก ไม่มี เวลาเขาแข่งม้าประจำปีของเขา กว่าจะได้แข่งนะมันต้องแข่งสนามภูธร แข่งสนามต่างๆ มา จนกว่าจะมีโอกาสได้เข้าทำเนียบ เข้าทำเนียบถึงมีโอกาสได้แข่งนัดสำคัญ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตเราสงบ นี่เบสิกๆ สำคัญ เราจะได้เข้าซองไหม? เข้าซองต้นปากซอยไง เขตเริ่มต้นจุดสตาร์ท จุดสตาร์ทของอริยสัจ นี่ไงถ้าใครไม่เห็นตรงนี้เข้าตรงนี้ไม่ได้ ถ้าเข้าตรงนี้ไม่ได้ วิธีการที่เขาทำอยู่นี่ม้าในป่า มันวิ่งของมันอยู่ในป่านั่นล่ะ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ อยู่ในป่านั่นล่ะไม่เคยเข้าซอง ถ้าเข้าซอง เบสิกๆ ที่บอก เพราะเขาบอกว่าตรงนี้สำคัญ แล้วพวกโยมจะถามว่ามันสำคัญอย่างใด? อะไรสำคัญ? สำคัญอย่างไรถึงเรียกว่าสำคัญ ก็สำคัญนี่ไง คำว่าเบสิก พื้นฐาน ถ้าทำความสงบของใจได้ ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันเห็นตามความเป็นจริงมันจะได้เข้าซอง ถ้าเข้าซองได้มันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

นี่ถ้ามันเข้าซองได้ มันเห็นได้ นี่ต้นทาง จุดสตาร์ทจากที่นี่ ถ้าจุดสตาร์ทจากที่นี่ มันจะสตาร์ทออกจากฐีติจิตของเรา ฐีติจิตคือปุถุชน คือการสภาวะ สถานะของมนุษย์ สถานะของมนุษย์ที่เกิดมาพบพุทธศาสนา นี่เราเป็นปุถุชน แล้วกัลยาณปุถุชนถ้าจิตมันสงบ ถ้าจิตมันสงบได้มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมมันก็โสดาปัตติมรรค นี่เข้าซอง ถ้ามันโสดาปัตติมรรค ถ้ามันพิจารณาของมัน มันแข่งขันของมัน มันสตาร์ทของมันออกไปได้ มันก็จะเป็นประโยชน์กับมัน ถ้าเป็นประโยชน์กับมัน นี่ที่ว่าสำคัญๆ สำคัญตรงนี้ สำคัญตรงจุดเริ่มต้น ถ้าเริ่มต้นมันพัฒนาของมันได้ พื้นฐานที่มันทำของมันได้ มันยากมันยากตรงนี้

นี่นักปฏิบัติที่มันล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ตรงนี้ แล้วล้มลุกคลุกคลาน เวลามันสงบ เพราะมีคนมาถามมาก เมื่อก่อนเวลาเขาบอกใช้ปัญญาไปกว้างขวางแล้วแหละ แล้วมาหาเราเราให้ทำ เขาก็ร้อง ฮือๆ พอจิตเขาพิจารณาของเขา ที่เขาเห็นของเขาตามความจริงของเขา แล้วมันก็แค่นั้นแหละ มันก็วนอยู่อย่างนั้นแหละ เบสิก เบสิกมันก็วนอยู่อย่างนั้นแหละ

การฝึกหัด ดูสินักกีฬา จังหวะจะโคลนวางเท้า วางกิริยาให้ถูกต้อง เขาทำไปทำมามันก็วนอยู่นั่นแหละ พอจิตเขาเข้าที่ พอมาหาเรานะ ก็บอกเขาตั้งนานแล้วไง เขาร้องโอ้โฮ โอ้โฮ เลยนะ เพราะอะไร? เพราะโดยพื้นฐาน โดยพื้นฐานเราว่าเราใช้ปัญญาๆ ปัญญาของเรา เราใช้ปัญญาของเรา ตรรกะมันละเอียด มันพิจารณาไปเราก็อู้ฮู ซาบซึ้งๆๆ ไป แล้วพอบอกว่าก็นี่ปัญญาแล้วไง ปัญญาแล้วไง นี่โลกียปัญญา นี่เบสิกทั้งนั้นเลย แล้วเบสิกนี่มันเบสิกที่ว่ามันเห็นแก่ตัวไง

ในการเล่นกีฬา นักกีฬานะ ถ้านักกีฬาเห็นแก่ตัว ฟุตบอล ถ้าคนไหนเห็นแก่ตัวเขาคัดออกจากทีม เพราะมันหวงลูกบอล มันไม่จ่ายให้คนได้เล่น ทีมนั้นจะไปไม่ได้ นักกีฬาที่เห็นแก่ตัวเล่นเป็นทีมไม่ได้ นักกีฬาที่จะเล่นเป็นทีมเขาต้องมีจิตใจที่เปิดกว้าง ตรงไหนที่เป็นประโยชน์เขาจะรีบส่งบอลให้นักกีฬาต่อไปเล่นได้คะแนน เล่นเชิงรุกได้ประโยชน์มากกว่า แต่ถ้านักกีฬาเห็นแก่ตัวนะมันได้บอลมันจะหวงบอล มันจะเลี้ยงของมันอยู่นั่นล่ะ จนเสียเปรียบ เสียทุกอย่างเลย นี่นักกีฬาเห็นแก่ตัวเขาคัดออกจากทีม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะมาภาวนา นั่นก็ของเรา นี่ก็ของเรา เราก็ใช้ปัญญาของเรา เราก็รู้ของเรา ถ้าเห็นแก่ตัวอย่างนี้เขาไม่ให้เข้าทีม มรรคไม่ให้เข้ามาใกล้เลย มรรคมันจะดันออกไปไกลๆ มันจะยันไว้เลยมรรค อย่าเข้ามา ไอ้คนนี้มันเป็นจิตใจที่เห็นแก่ตัว จะเข้ามรรคไม่ได้ ไม่มีทาง แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตสงบเข้ามาเราไม่เห็นแก่ตัว มีสิ่งใดเราเสียสละหมด เราเปิดกว้างหมด เปิดกว้างหมด มันจะเข้าทีมไหนเขาก็ต้องการนักกีฬาแบบนี้ นักกีฬาที่เห็นแก่ทีม นักกีฬาที่เห็นแก่ส่วนรวม นักกีฬาที่เห็นแก่สาธารณะ เขาแสวงหานักกีฬาอย่างนี้ เขาหาช้างเผือกอย่างนี้

ถ้าได้อย่างนี้มา มรรคนี่ มรรคก็ต้องการคนอย่างนี้ มรรคก็ต้องการจิตใจที่เปิดกว้างอย่างนี้ ถ้าจิตใจเปิดกว้างอย่างนี้ขึ้นมา พอพิจารณาไป นี่เบสิกมันดี เบสิกดี ม้าก็ได้เข้าซอง เปิดซองให้เข้าเลย ม้าอย่างนี้ม้านิสัยดีเข้าซองเลย พอเปิดซองมันก็วิ่งออกเพราะม้ามันพร้อมมาหมดแล้ว ไอ้ตัวอื่นยังเถียงกันไม่จบเลย ม้าตัวนี้มันเข้าเส้นชัยไปแล้ว นี่มันพัฒนาของมันแบบนี้

นี่ไงพูดถึงว่าการบริกรรมถ้าจิตมันสงบอารมณ์อย่างไร พิจารณาการเจ็บป่วยของคนอย่างใด ไอ้นี่พิจารณาการเจ็บป่วย เจ็บป่วยร่างกายกับเจ็บป่วยจิตใจ ถ้าพิจารณาเจ็บป่วยจิตใจ จิตใจมันมีกิเลสมันก็เจ็บป่วย ถ้าพิจารณาร่างกาย ร่างกายมันธรรมโอสถ ถ้าพิจารณาจิต พิจารณาถึงกิเลสในหัวใจ อันนั้นจะเป็นอริยสัจ นี่ธรรมโอสถคือการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยนะ อริยมรรครักษากิเลสในใจของคนนะ ไม่ใช่ว่ารักษาความเจ็บป่วยแล้วมันจะหายจากกิเลสไป ไม่ใช่ หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ไม่ใช่หายจากกิเลสหรอก

เวลาจะหายจากกิเลสต้องเป็นอริยสัจ อริยสัจมันจะเข้ามาชำระล้างกิเลส แต่การพิจารณาเจ็บไข้ได้ป่วย การพิจารณามันเป็นการพิจารณาธาตุขันธ์ พิจารณาธาตุขันธ์ด้วยธรรมโอสถ มันรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น ประวัติหลวงปู่มั่นที่อยู่ถ้ำสาริกาท่านก็เป็นโรคท้องร่วง ท่านพิจารณาโรคท้องร่วงของท่านด้วย แล้วท่านพิจารณาเป็นอริยสัจด้วย ท่านพิจารณาท้องร่วง พิจารณาอริยสัจด้วย พิจารณาท้องร่วงมา พอท้องร่วงแล้ว โรคท้องร่วงมันหาย ท่านพิจารณาเป็นอริยสัจไป มันปล่อยกิเลสไปพร้อมกัน ถ้าพร้อมกันมันอีกชั้นหนึ่ง

นี่อำนาจวาสนาของคนมันแตกต่างกันไป ฉะนั้น พิจารณาโรคภัยไข้เจ็บ พิจารณาธรรมโอสถอย่างนั้น หมอมันผ่าตัดมันรักษาคนไข้หมดเลย พระอรหันต์เต็มประเทศไทยเลย นั่นก็เป็นรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แต่ถ้ารักษาอาการกิเลสในใจนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่มันเป็นธรรมโอสถ กับอริยสัจ สัจจะความจริงในการปฏิบัติมันเป็นคนละแนวทางกัน ฉะนั้น คำว่าธรรมโอสถมันรักษา ถ้าจิตใจเราพัฒนาขึ้นๆ มันจะดีขึ้นนะ

นี่ข้อที่ ๓

ถาม : ๓. การบริกรรมสลับจนอารมณ์สงบเพื่อพิจารณาอาการป่วยหรือคนป่วย ควรเน้นหนักส่วนไหนมากกว่ากันครับ

ตอบ : เราจะพูดอย่างนี้นะ นี่เขาว่า

ถาม : ผมเคยส่งคำถามมามาก พอดีกำลังจะบวชไม่กี่วันนี้ อยากให้หลวงพ่อเทศน์ ผมฟังเทศน์หลวงพ่อมาเยอะมาก

ตอบ : เขาว่านะ ถ้าฟังเทศน์ของหลวงพ่อมาเยอะมาก สิ่งนี้พอพูดอย่างนี้มันพอเข้าใจได้ แต่ถ้าไม่ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อมาเลยนะ ก็ผมถามหลวงพ่อดีๆ ทำไมหลวงพ่อต้องมีอารมณ์ขนาดนี้ ทำไมหลวงพ่อโกรธขนาดนี้เลย ถ้ามันไม่โกรธ ธรรมมันก็ไม่ออกไง นี่คือสัจธรรม นี่เวลาคนคิดเขาคิดกันอย่างนั้น ก็ผมถามหลวงพ่อดีๆ ทำไมหลวงพ่อใส่ใหญ่เลย (หัวเราะ) อ้าว ก็ถามดีๆ ก็ตอบดีๆ นี่ไง ตอบดีๆ มันถึงจะเป็นธรรมะ

เวลาที่เขาไม่เข้าใจว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ท่านเสียงดังฟังชัด เขาบอกโอ้โฮ ทำไมเทศน์ออกมาจากอารมณ์ขนาดนั้น เขาไม่รู้เลยว่าธรรมะที่มันสะอาดบริสุทธิ์ ที่เวลามันพุ่งเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแบบใด ฉะนั้น ในสังคมใครสังคมเขา สังคมของผู้ที่มายาคติมันก็เป็นแบบนั้น สังคมของนักปฏิบัติ สังคมของผู้ที่ต้องการความจริงเขาต้องการความสะอาด ต้องการความบริสุทธิ์ ต้องการความจริง ความจริงคือความจริง ความจริงเข้ากับความจริง เอวัง