ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นิมิตเห็นปู่มั่น

๗ เม.ย. ๒๕๕๖

 

นิมิตเห็นปู่มั่น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๙๗. เนาะ

ถาม : ๑๒๙๗. เรื่อง “นิมิตว่าได้คุยกับหลวงปู่มั่น”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมได้พบเจอนิมิตหนึ่งที่แปลก คือเห็นหลวงปู่มั่น ลักษณะที่เห็นเหมือนในรูปถ่าย อาการ กิริยาที่เห็นคือท่านดูเหมือนเป็นคนแก่ที่ดูไม่แก่ คือแก่แต่ผิวพรรณดูดี กิริยาดูสงบ นุ่งห่มจีวรสีน้ำตาลเข้มๆ เหมือนเปลือกไม้ ท่านคุยกับผม แต่แปลกตรงที่ว่าเมื่อออกจากสมาธิผมจำไม่ได้ว่าพูดเรื่องอะไรกัน จำได้แต่กิริยาคำพูดของท่าน และความเกรงกลัวของผม ผมจำได้ว่าคือท่านพูดด้วยเนื้อความที่เรียบง่าย แต่ความเรียบง่ายของท่าน ผมฟังแล้วมันเกิดความรู้สึกว่าเราต้องฟังสิ่งที่ท่านพูด

ผมไม่อยากจะใช้คำๆ นี้เลยครับ เหมือนเราอยู่กับเสือ คือเรารู้ว่าความสงบของท่านเรากลัว กลัวในที่นี้คือความรู้สึกที่ต้องรับฟัง คำพูดของผมอาจจะแย้งกัน เสียดายจำไม่ได้จริงๆ ว่าท่านพูดอะไร ทั้งๆ ที่เราตั้งใจฟัง จึงอยากเรียนถามว่า สมัยที่องค์หลวงปู่มั่นท่านมีชีวิต เวลาที่ท่านพูดโดยปกติดูน่าเกรงขามไหม? แล้วเหตุใดเมื่อออกจากสมาธิทำไมผมถึงจำเนื้อความคำพูดท่านไม่ได้ ทั้งๆ ที่ว่าผมมีความตั้งใจฟัง และคำถามอีกข้อพระอรหันต์เจ้าท่านไม่สูญใช่ไหม? คือต่อให้ท่านมรณภาพไปท่านก็ไม่สูญใช่ไหม? เพราะผมปฏิบัติพอนั่งสมาธิพอเป็น ผมเชื่อในหัวจิตหัวใจว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ท่านไม่สูญ ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ (นี่คำถามนะ)

ตอบ : ฉะนั้น คำถามเริ่มต้นตั้งแต่ว่านั่งสมาธิไปเขาเกิดความสงสัย เกิดความสงสัยว่าเวลาเขานั่งสมาธิไปแล้วเกิดนิมิตไปเห็นหลวงปู่มั่น พอนิมิตไปเห็นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านมาสอนในนิมิตนั้น แต่ออกจากสมาธิมา ทำไมจำคำสอนนั้นไม่ได้

นี่สิ่งที่ว่าเวลาเราไปเห็นนะ คนที่เขาไปรู้ไปเห็น คนทำสมาธิ คนทำสมาธิทุกคนอยากมีความสงบ อยากได้รับความสงบ อยากได้ความสุขของใจ แต่แล้วความสงบ เวลามันสงบไปแล้วบางคนสงบไปเฉยๆ ก็มี บางคนสงบไปแล้ว ไปรู้ไปเห็นเรื่องต่างๆ บางคนไปรู้ไปเห็นแล้วรู้แจ้งแทงตลอด คือรู้แล้ว เข้าใจสิ่งต่างๆ แต่เวลาเราไปรู้ ไปเห็น เห็นนิมิตใช่ไหม? นิมิตบางคนอ่อน จิตใจที่อ่อนแอ จิตใจที่อ่อนแอ พอรู้พอเห็นเข้าไป แต่กำลังมันไม่พอ มันรู้สิ่งใดไม่ได้

ฉะนั้น เวลาใครรู้ ใครเห็นสิ่งใดแล้วจะไปถามครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาเป็นนะท่านจะบอกว่าให้เราตั้งสติไว้ แล้วถ้าเราสงสัยในนิมิตนะ ถ้าเรานั่งนี่เราสงสัย เราเห็นสิ่งใดๆ แล้วสงสัยในนิมิต ฉะนั้น เราก็มาถามครูบาอาจารย์ใช่ไหม? ถ้าเรานั่งสมาธิไปให้ตั้งสติไว้ ถ้าเราเห็นนิมิตสิ่งใด ถ้าเราสงสัยเราตั้งสติถามเลย เราตั้งสติเหมือนกับเรามีปัญญาถามตอบในใจ ถ้าเรามีปัญญานะ เราตั้งสติแล้วถามว่าสิ่งที่เห็นนี้เป็นอย่างไร?

ถ้าเราถามมันเหมือนเด็กถามพ่อแม่ ถ้าเด็กถามพ่อแม่นะ ถามว่านี่อะไร? แม่นี่อะไร? พ่อแม่จะตอบลูกว่านี่คืออะไร นี่คืออะไร คือฝึกให้ลูกฉลาดขึ้น แต่ถ้าเด็กมันไม่ถามนะ มันรู้ของมัน มันก็จินตนาการของมันใช่ไหม? จิตก็เหมือนกัน เวลาถ้าเราไปรู้ ไปเห็นนิมิตต่างๆ ถ้าเราไม่รู้ เราเห็นแต่เราตีความนั้นไม่ได้ เราก็จะมาถามครูบาอาจารย์ว่านั้นคืออะไร? นั้นคืออะไร? นี่เราเห็นเองนะเราต้องไปถามคนอื่น แต่ถ้าคนมีสตินะ เวลาเขาเห็นของเขา เขาจะถามของเขา เขาจะเข้าใจของเขา แล้วคนที่ถ้ากำลังของจิตดี จิตที่มีหลักฐาน เวลาเขาไปรู้ไปเห็นมันโต้ตอบได้

อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาท่านเข้าสมาธิของท่านนะ แล้วเวลาเทวดามาฟังเทศน์ ถ้าเทวดามาฟังเทศน์ท่านสื่อกับเทวดาอย่างไร? นี่เทวดามาฟัง ส่วนใหญ่เทวดามาจะมีพระอินทร์คุมมา แล้วอย่างพรหมก็มีหัวหน้าพรหมคุมมา แล้วพวกนี้เขาจะเคารพบูชา เขาจะเคารพกัน เขาจะให้เกรียติกัน เขาจะไม่ถามคนนู้นพูดที คนนี้พูดทีเขาไม่อย่างนั้น เขาจะบอกต่อให้หัวหน้าถามให้ ถ้าหัวหน้าถามให้ หัวหน้าเวลาถามนี่ภาษาใจ ภาษาใจไม่ใช่ภาษาเสียง ไม่ใช่ภาษาปาก นี่เวลาตั้งใจ ตั้งใจถามมาเลย ถามอย่างนี้รับรู้แล้วว่าท่านพูดสิ่งใด แล้วตอบไป

นี่เราบอกว่านิมิตมันมีหลายระดับ นิมิตถ้าเข้าไปเห็นนิมิต เพราะว่าถ้าบอกว่านิมิตได้คุยกับหลวงปู่มั่น แล้วเวลาถามครูบาอาจารย์มา แล้วครูบาอาจารย์ก็ตอบเป็นตุเป็นตะไปเลย แล้วไอ้คนที่เห็นนิมิต นิมิตจริงหรือนิมิตไม่จริงล่ะ? ไอ้คนตอบก็ตอบเป็นตุเป็นตะนะจริงหรือไม่จริง เพราะ เพราะในภาคปฏิบัติมันมีหลายฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าต้องใช้ปัญญาไปเลย ถ้ากำหนดพุทโธ หรือทำความสงบของใจเข้ามามันจะติดนิมิต จะติดนิมิต

ถ้าติดนิมิต นี่คนที่ไม่เคยภาวนานะ เวลาจับสิ่งใด กระบวนการ วิถีแห่งจิต จิตที่มีกระบวนการของมัน เวลาเกิดสมถะ เวลาเกิดวิปัสสนาเราจะไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา มันรู้แต่เป็นตรรกะ เป็นปรัชญาที่เขารู้กันได้ คือสัญชาตญาณของจิต คือจินตนาการกันไป เวลาเขาศึกษามา การศึกษามาคือศึกษามาโดยภาวะของโลกียปัญญา ถ้าโลกียปัญญา ศึกษามาโดยโลกียปัญญาแล้วก็แบ่งแยกกันไปเองว่าอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนั้นต้องเป็นอย่างนั้น แต่ แต่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านขึ้นมา ท่านศึกษามากับต่างๆ ท่านเที่ยวค้นคว้าไปทั่วนะหลวงปู่มั่นนี่

แล้วสุดท้ายแล้วท่านก็มาปฏิบัติของท่าน พอปฏิบัติของท่าน ท่านจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ท่านจะไปรู้ไปเห็นของท่านเอง แล้วไปรู้ไปเห็นของท่านเองนั่นคือภาคปฏิบัติของท่าน แล้วภาคปฏิบัติของท่าน ท่านก็มาตรวจสอบกับเจ้าคุณอุบาลี เพราะเจ้าคุณอุบาลีท่านเป็นนักปราชญ์อยู่ในกรุงเทพฯ เรื่องทฤษฎีท่านจะชัดเจนมาก นี่ทั้งๆ ที่ตัวเองไปเห็นนั่นล่ะ แต่เห็นแล้วก็รู้ตามความเป็นจริงของตัว แต่ก็ยังมาตรวจสอบๆ เพราะอะไร? เพราะต้องให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เพราะท่านจะเป็นท่านอาจารย์ใหญ่ คือจะมาวางรากฐาน

นี่ดูสิพูดถึงว่าเวลาปฏิบัติ เวลาที่เราศึกษาโลกียปัญญา คือปริยัติเราศึกษามาแล้วเราก็ใช้ปัญญาของเราแบ่งแยกเลยไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น ไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น เราแยกเป็นกองๆ เป็นหมวดๆ ไว้ต่างหากไป แต่เวลาภาคปฏิบัติ นี่แต่ละกอง แต่ละหมวดก็แล้วแต่มันเป็นพระไตรปิฎกที่เกี่ยวเนื่องกันไป เวลาเกี่ยวเนื่องกันไป ผู้ที่ปฏิบัติเขาต้องมีหลักฐาน ต้องมีการกระทำ ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดอย่างไร? ทำขึ้นมาอย่างไร?

ถ้าจริตนิสัยของคน เวลาเกิดนิมิตขึ้นมานิมิตก็คือนิมิต นิมิต ดูสิ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ศีล สมาธิ ปัญญามันก็เหมือนนิมิต เราว่าเหมือนนิมิตเพราะว่ามันเกิดขึ้น สติเราก็ต้องตั้งขึ้นใช่ไหม? สมาธิก็เกิดกับเรา แล้วเวลาสมาธิเสื่อมก็เสื่อมจากเราไป เวลาปัญญาเกิดขึ้นมา เราก็ชัดเจนขึ้นมา เวลาปัญญามันเลอะเลือนไปมันก็เลอะเลือนไปจากเราเหมือนกัน นี่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันก็เหมือนนิมิตนี่แหละมันมีอยู่ของมัน มีอยู่ของมันถ้าเรามีเหตุมีปัจจัยสิ่งนี้ก็เกิดขึ้น มันมีเหตุมีปัจจัย มันมีที่มาที่ไป ถ้ามีที่มาที่ไป เราสร้างเหตุที่มาที่ไป มันก็เกี่ยวเนื่องกันไป

ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วถ้าปัญญามันเกิดขึ้น ปัญญาจากจินตนาการ จากที่เราฝึกหัดของเรามันก็จะเป็นปัญญาที่แท้จริงขึ้นไป ถ้าแท้จริงขึ้นไป นี้มันก็อยู่ที่ ถ้ากระบวนการมันเกี่ยวเนื่องกันไปมันก็เป็นมรรค ถ้าเป็นมรรค ถ้าเป็นปฏิบัติเขาไม่แยกเป็นหมวด เป็นหมู่ไง นี่เวลาปฏิบัติไปมันเกี่ยวเนื่องไป อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง มันเกี่ยวเนื่องกันไป มันเกี่ยวเนื่องกันไป การปฏิบัติมันก็เกี่ยวเนื่องกันไป ถ้ามันเกี่ยวเนื่องกันไป ถ้าผู้ปฏิบัติเป็น เห็นไหม เขาจะให้ลูกศิษย์ลูกหาวางพื้นฐานมา

นี่นักกีฬาทุกชนิดที่จะเล่นกีฬาเขาต้องฝึกหัด เขาต้องให้ร่างกายเขาแข็งแรงสมบูรณ์ ถ้าร่างกายเขาแข็งแรง เขาสมบูรณ์ของเขา จะเล่นกีฬาสิ่งใด พื้นฐานต้องมาจากตรงนั้น กีฬาทุกชนิด การทำภาวนาทุกชนิดจิตใจต้องเข้มแข็ง จิตใจต้องมีหลักเกณฑ์ก่อน ถ้าจิตใจมีหลักเกณฑ์ก่อนก็ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจทำความสงบเข้ามา นี่ทำสมาธิเข้ามา ทำสมาธิขึ้นมาก็เกิดนิมิต เกิดที่เห็นนี่ ทีนี้พอเกิดนิมิตขึ้นมา นิมิตที่ว่าเห็นหลวงปู่มั่น นี่ได้พบหลวงปู่มั่นในสมาธิ แล้วหลวงปู่มั่นได้คุยกับเรา

การได้เห็นนั่นน่ะ การได้เห็นหลวงปู่มั่น เพราะเขาว่า

ถาม : เห็นหลวงปู่มั่นในสมาธิมันเป็นสิ่งที่ว่ากิริยา กิริยาสงบ ดูผิวพรรณดีมาก ผ้านุ่งห่มสีน้ำตาล ผ้าเปลือกไม้ แล้วท่านคุยกับผม

ตอบ : การว่าท่านคุยกับผม เวลาคนปฏิบัติไปว่าหลวงปู่มั่นมาแก้ในนิมิต หลวงปู่มั่นมาแก้ในนิมิตมันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของคนอันหนึ่ง

๒. เวลามันเกิดนิมิตขึ้นมา เห็นไหม ถ้าเป็นนิมิตขึ้นมา ถ้าเวลาธรรมมันเกิดๆ มันจะเกิดเป็นรูปภาพ มันจะเกิดเป็นสิ่งที่ว่าเราเกี่ยวพัน เราเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับผู้ใดมา นี่สร้างเวรสร้างกรรม เห็นไหม ดูอย่างนาคิตะ พระนาคิตะที่อยู่ในป่า นี่พระนาคิตะอยู่ในป่า เดินจงกรมอยู่ในป่า เห็นคนเขาไปเที่ยวเล่นกัน เอ๊ะ เราเป็นคนที่ขี้ทุกข์ขี้ยาก เราเจอคนมีวาสนา คนอื่นมีวาสนากว่าเรา เทวดามายับยั้งกลางอากาศเลย

“คนที่เขาไปเที่ยวเล่นกันเขาก็อยู่ในสังคมโลก เขาก็เวียนตายเวียนเกิดกันบนโลก ท่านต่างหาก ท่านต่างหาก ท่านเป็นผู้วิเศษเพราะท่านถือพรหมจรรย์ ท่านไม่ไปกับโลก ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ท่านต่างหากที่จะพ้นจากโลก”

นี่พระนาคิตะก็ได้สติปัญญามา พระนาคิตะพิจารณา คืนนั้นพระนาคิตะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย แล้วครูบาอาจารย์ท่านพูด เห็นไหม บอกว่าเทวดาองค์นั้นกับพระนาคิตะต้องเป็นสายบุญสายกรรมกันมา เทวดานั้นถึงมาเตือนพระนาคิตะ นี่สมัยพุทธกาลนะ แล้วพอมาสมัยปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์เราอยู่ในป่าในเขา เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมากมาย ถ้าเกิดขึ้นมากมายมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นความเห็นของเราไง

ปัจจัตตังคือเฉพาะเรา เฉพาะคนๆ นั้น ถ้าเฉพาะคนๆ นั้น สิ่งที่เราเห็นขึ้นมาเราจะเอามาเป็นประโยชน์กับเรา เราไม่ใช่เอาไว้ไปโอ้อวดว่าหลวงปู่มั่นสอนฉันอย่างนั้น หลวงปู่มั่นท่านเป็นสมบัติสาธารณะ คือทุกคนก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นได้ ลูกศิษย์ทุกคนที่เป็นชาวพุทธ เรารู้ว่าครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านเป็นพระที่ประเสริฐ ท่านเป็นพระที่ดี เราก็อยากจะถวายตัวเราเป็นลูกศิษย์ท่าน หวังพึ่งบุญกุศลของท่าน หวังพึ่งมรรคผลของท่าน

ฉะนั้น ถ้าเป็นหลวงปู่มั่นมาสอนในนิมิต นี่ทุกคนก็มีสิทธิ์ได้ทั้งนั้นแหละ ทีนี้ถ้าเรารู้ เราเห็นของเราก็เพื่อประโยชน์กับเรา แต่ถ้าผู้ที่เขาไม่เชื่อเขาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ นิมิตมันเป็นสิ่งที่ผิด นิมิตมันไม่มีประโยชน์อะไร กินข้าวอย่าให้มีรสชาตินะ อาหารทุกชนิดต้องให้เป็นรสจืดๆ เหมือนกันหมด เพราะอาหารทุกชนิด แกงเผ็ดจะมีรสเผ็ด แกงจืดจะมีรสจืด ต้มผัก ต้มแกงอย่างไร ถ้าใช้เครื่องแกง ใช้วัตถุที่ทำอาหารสิ่งใดมันก็ออกรสชาติอย่างนั้น จิตของคนที่มันสร้างบุญกุศลมาแตกต่างกัน นี้การจะเกิดนิมิตหรือไม่เกิดนิมิตมันอยู่ที่รสชาติของอาหารชนิดนั้นๆ

นี่ก็เหมือนกัน จิตของใครถ้าสร้างสมบุญญาธิการมา ถ้ามันรู้มันห็นมันก็เป็นจิตของดวงนั้น แต่ถ้าพูดถึงคนจีนนะ คนจีนเขาจะกินอาหารรสจืดๆ เพราะว่าเขารักษาสุขภาพของเขา อาหารรสเผ็ด รสที่รสเค็มเขาจะไม่ให้กิน กินแล้วมันไม่เป็นประโยชน์กับร่างกาย ถ้าคนที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คนที่ทำความสงบของใจ ส่วนใหญ่แล้วถ้ามันไม่เห็นสมาธิ มันไม่เห็นนิมิต ถ้าเป็นสมาธิแล้วจิตสงบแล้วไม่เห็นนิมิต ส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น ประชากรส่วนใหญ่ของคนจีนเขาจะกินอาหารรสจืดๆ

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรา ถ้าเราสร้างบุญกุศลของเรามาแบบนั้น ถ้ามันไม่เห็นนิมิต ไม่เห็นนิมิตก็ไม่มีนิมิต ถ้าไม่มีนิมิต จิตสงบก็คือจิตสงบ จิตสงบถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมามันก็รู้ของมันได้ตามความเป็นจริงของมัน ถ้าตามความเป็นจริงของมัน มันก็เป็นประโยชน์ของมัน นี่พูดถึงว่านิมิตได้คุยกับหลวงปู่มั่นไง เพราะถ้าไม่พูดอย่างนี้เขาจะบอกว่าโอ้โฮ พอถามปัญหามา พอตอบเป็นตุเป็นตะเลยนะ แหม นิมิตหลวงปู่มั่นก็ นิมิตหลวงปู่มั่น มีคนรู้คนเห็นเยอะนะ ทีนี้พอเห็นมันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาหนึ่ง เป็นธรรมเกิดก็ได้

ถ้าเป็นธรรมเกิดนี่ธรรมะมาเตือนเรา แต่เป็นนิมิตหลวงปู่มั่นให้เราเคารพบูชา แล้วนี่เป็นหลวงปู่มั่น ที่หลวงปู่มั่นมาด้วยอำนาจวาสนา อย่างเช่นหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวท่านเล่าให้หลวงตาฟัง ว่าท่านทำสิ่งใดถ้าขาดตกบกพร่องนะ คืนนั้นนั่งสมาธิหลวงปู่มั่นจะมาบอกเลยว่าอะไรควรไม่ควร แล้วเวลาหลวงตาท่านก็ได้ของท่าน ท่านไปอยู่ที่น้ำตกพลิ้ว บิณฑบาตให้พระอื่นไปไกล ท่านอยู่บริเวณนั้นน่ะ หลวงปู่มั่นมาคืนนั้นเลย บอกว่าเอาเปรียบหมู่คณะ ให้คนอื่นไปไกล ตัวเองอยู่ใกล้ๆ

หลวงตาท่านได้นิมิตหลวงปู่มั่นมาเตือนๆ ตลอด นี่มาเตือนเพราะอะไร? มาเตือนเพราะหลวงตาท่านเคารพบูชาหลวงปู่มั่นมาก หลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์ของท่าน เพราะท่านเคารพบูชา แล้วถ้าทำสิ่งใดขาดตกบกพร่อง นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านดูแลเรา ท่านจะมาเตือนเรา ถ้าเตือนเรา นี่อย่างนี้มาเตือนจริง แต่ถ้าธรรมมันเกิดล่ะ? ธรรมมันเกิดคือสัจธรรมมันเกิด จิตเราสงบเข้ามาแล้วเราเห็นนิมิต ถ้าเห็นนิมิต เห็นเป็นภาพหลวงปู่มั่นนี่ธรรมมันเกิด แล้วหลวงปู่มั่น ถ้าเรามีบุญกุศลมันเกี่ยวพันกันก็มี แต่ถ้าเราเห็นนิมิตอย่างอื่นล่ะ? แล้วถ้านิมิตที่เป็นอุปาทานล่ะ?

สิ่งที่นิมิตที่เป็นอุปาทาน คือคนทั่วๆ ไปเห็นนิมิต เห็นเป็นสวรรค์สะเหวิน เห็นเป็นต่างๆ อย่างนั้นถูกต้องไหม? ถ้าคนเขามีอำนาจวาสนา เขาเห็นของเขาอย่างนั้นจริงๆ มันอยู่ที่กำลังของจิต มันอยู่ที่ว่าจิตมันได้นิมิตมาแล้วเอามาทำประโยชน์อะไร เวลาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เวลาเห็นกาย ถ้าเจโตวิมุตติจะเห็นกายเป็นภาพ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติเห็นกายโดยเปรียบเทียบ จิตมันจับได้ จิตมันรับรู้ได้ จิตเห็นอาการของจิต มันจับพิจารณาได้ นี่มันแตกแขนงกันไปไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า จะบอกว่านิมิตได้คุยกับหลวงปู่มั่น ถ้าเราทำได้จริง มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นประโยชน์กับเรา คนอื่นเขาจะไม่ได้ประโยชน์กับเราเลย นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกเพราะจิตดวงนั้น จิตดวงใดที่ไปรับรู้ จิตดวงใดที่ไปเห็น แล้วจิตดวงนั้นเอามาเป็นประโยชน์กับเรา อันนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงการเห็นนิมิต

คำถามนะ พอเห็นนิมิตแล้วคำถามว่า

ถาม : เรียนถามว่าสมัยที่องค์หลวงปู่มั่นท่านมีชีวิตอยู่ เวลาที่ท่านพูดโดยปกติ หน้าดูเกรงขาม และเหตุใดเมื่อออกจากสมาธิ ทำไมผมจึงจำเนื้อความคำพูดท่านไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผมมีความตั้งใจฟัง มันเป็นสองประเด็น ประเด็นหนึ่งสมัยที่องค์หลวงปู่มั่นท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านพูดอย่างใดเราเกิดไม่ทัน เราไม่เคยเห็นหลวงปู่มั่นพูดอย่างใด ไม่เคยเห็นโดยกายเนื้อไม่เคยเห็น แต่ถ้าพูดถึงว่าสิ่งที่ว่าเวลาท่านพูดกับเรามันน่าเกรงขาม ออกจากสมาธิแล้วทำไมถึงจำเนื้อความไม่ได้ ก็เป็นเพราะจิตของเรามันมีกำลังมากน้อยขนาดไหน

ถ้ากำลังมาก เพราะว่าครูบาอาจารย์หลายองค์มากเวลามีความเห็นผิด คือภาวนาไปแล้วมันมีปัญญาขององค์นั้นที่ปฏิบัติขึ้นมา แล้วหลวงปู่มั่นท่านมาแนะนำ อันนั้นถูก อันนั้นผิด นั่นล่ะคือเขาสนทนา คือว่าสนทนากัน คือว่ามีถามตอบกันในนิมิตนั้นเลย อันนั้นเพราะว่าเขามีกำลัง กำลังของเขา นี่กำลังเขาพอ แต่ของเราถ้าเราเห็น เราเห็นขณะนั้น แค่เห็นนะ เพราะเห็นมันมีความสุข มีความสงบ มีความปลื้มใจ อันนี้นี่บุญแล้ว แล้วเวลาสนทนากันเราไม่ได้เราก็เป็นคติเตือนใจเรา เราไม่ได้จากการที่หลวงปู่มั่นเทศน์ให้ฟัง แต่เราก็จะมาได้ว่าเราปฏิบัติไปหลวงปู่มั่นมาอนุโมทนา เราเห็นในการปฏิบัตินั้น ในการปฏิบัติของเรามันต้องมีเหตุมีผลมันถึงเป็นอย่างนั้น นี่เอาตรงนี้มาเป็นประเด็น เอาตรงนี้มาตั้งพิจารณาของเราว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติต่อไป

คือขณะที่มาสนทนา มาพูด นั่นคือเทศน์ให้ฟัง นั่นล่ะคือมาบอกทางถูกทางผิดเรา แล้วเราจับได้หรือไม่ได้ เหมือนกับเราไปฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เทศน์มาจนจบกัณฑ์แล้ว เรายังไม่รู้ว่าอาจารย์สอนอะไรเรา เราจับประเด็นไม่ได้ แต่ถ้าเรามีความสงสัยขึ้นมา พออาจารย์เริ่มเทศน์เราได้ประเด็นแล้ว เออ อันนั้นผิด อันนี้ถูกต้อง เราจะขยันหมั่นเพียรของเรา นี่ถ้าเราจับประเด็นนี้ได้มันก็ได้ นี่พูดถึงว่ากำลังของจิตมีมากหรือมีน้อย เราจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

ถาม : อีกคำถามหนึ่งพระอรหันต์ท่านไม่สูญใช่ไหม? คือต่อให้ท่านมรณภาพไปท่านก็ไม่สูญใช่ไหม? เพราะผมปฏิบัติพอนั่งสมาธิเป็น จึงเชื่อในหัวจิตหัวใจว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ท่านไม่สูญ ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ

ตอบ : ผมเชื่ออย่างนั้น นี่พูดถึงคนถามเขาเชื่อนะ แต่ในภาคปฏิบัติ เวลาหลวงตาท่านอยากประพฤติปฏิบัติมาก ฉะนั้น เวลาท่านศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เวลาจะออกปฏิบัติท่านเป็นมหานะ ท่านยังบอกว่ามันก็เชื่อในใจนี่แหละ เชื่อว่ามรรคผลมี แต่มันก็ลังเลสงสัย มันอย่างไรก็ลังเลสงสัย นี่เพราะเรามีกิเลสไง ถ้ายังมีกิเลสอยู่บอกว่าเราหายสงสัย เราเข้าใจ เชื่อมั่นเต็มที่ มันเป็นไปไม่ได้หรอก อย่างน้อยๆ ก็ ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ในใจมันมีตะกอนในใจ เอ๊ะ จริงหรือเปล่า? จริงหรือเปล่า? เวลาไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านยืนยัน พอยืนยันก็มีความมั่นใจ

อันนี้ก็เหมือนกัน นี่ว่าพระอรหันต์ที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว มรณภาพไปแล้วไม่สูญใช่ไหม? ไม่สูญเพราะอะไร? นี่เราเห็นนิมิตหลวงปู่มั่น แล้วนิมิตเห็นหลวงปู่มั่น ถ้าเป็นธรรมเกิดนะ เป็นธรรมมันเกิดคือสัจธรรมจะมาสั่งสอนเรา แต่เห็นภาพเป็นหลวงปู่มั่นก็อันหนึ่ง หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ขาว หลวงตาท่านได้เห็นหลวงปู่มั่น นั่นก็อีกอันหนึ่ง มันอยู่ที่จิตใจของเรามันสะอาดบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน พอจิตใจเราสะอาดบริสุทธิ์ถึงเต็มที่แล้ว เพราะจิตใจสะอาดบริสุทธิ์แบบหลวงปู่ขาวกับหลวงตา ท่านเป็นพระอรหันต์เสียเอง

ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์เสียเองท่านจะสงสัยไหมว่าพระอรหันต์ที่ท่านมรณภาพไปแล้วมีหรือไม่มี เพราะตัวในใจท่านเป็นเอง ถ้าตัวในใจท่านเป็นเองท่านจะรู้ของท่านหมดเลย แต่ในความสงสัยของเรานะเราเชื่อว่ามี เราเชื่อว่ามี คำว่ามีมันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่ในวงของพระอรหันต์ มันไม่เป็นปัญหากับโลก แต่นี้มันเป็นปัญหากับเราเพราะว่าพระอรหันต์ก็มี ไอ้พวกเราก็กิเลสเต็มหัว ไอ้พวกกิเลสเต็มหัว ความรับรู้กับพระอรหันต์มันก็แตกต่างกันใช่ไหม? พระอรหันต์ท่านก็รับรู้ของท่านอย่างนั้น ไอ้เราก็รับรู้อย่างนี้ แล้วจะคุยอย่างไรกันล่ะ? เราจะทำอย่างไรให้มันเข้าใจได้ พอทำเข้าใจได้พระพุทธเจ้าเลยบัญญัติเป็นธรรมวินัย

นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระอรหันต์ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์จะไม่กลับมาเกิดอีก นี้คำว่ากลับมาเกิดอีกมันก็บอกว่าไม่เกิดอีกแสดงว่าไม่มี อ้าว แสดงว่าไม่มี ไม่มีก็ไม่มีในความเห็นของปุถุชน ของผู้ที่ศึกษา ผู้ที่ยังไม่เข้าใจ แต่คนที่เข้าใจเขาไม่กลับมาเกิดอีก แต่เขาก็มีนิพพานของเขา เขาก็อยู่วิมุตติสุขอันนั้น ถือว่ามีไหม? อ้าว มันก็มี อ้าว ถ้ามี มีในความหมายของพวกเรา มีก็ต้องมีมาเกิดสิ มีก็ต้องมีตัวตน มีก็ต้องจับต้องได้สิ ก็ถือว่าไม่มี อ้าว ไม่มีพระอรหันต์ก็ต้องตาย มรณภาพไปแล้วก็ไม่มีเลยสิ ก็มี (หัวเราะ)

อ้าว ก็มี มีแบบวิมุตติไง มีแบบไม่เกิด อ้าว มีแล้วไม่เกิดอย่างไร? มีแล้วไม่เกิดอย่างไร? มี แต่ไม่เกิด เพราะมีแบบวิมุตติ ฉะนั้น มีแบบวิมุตติ มีในวงของพระอรหันต์ที่ไม่สงสัยที่รู้กัน แต่พอเราศึกษา พวกปัญญาชนมันมีปัญญาเยอะ มันก็จะมาวิจัยกันว่ามีหรือไม่มี อ้าว ถ้ามี มีอย่างไร? มีก็ต้องเวียนตายเวียนเกิด ในเมื่อมี อ้าว ถ้าไม่มี อ้าว ไม่มี นิพพานก็ไม่มี อ้าว นิพพานก็ไม่มี นิพพานไปแล้วไม่มี อ้าว นิพพานไปแล้วไม่มี แล้วจิตมันไม่เคยตาย มันไปอยู่ไหนล่ะ? อ้าว จิตไม่เคยตาย อ้าว ถ้าจิตมี จิตมีก็มีภพ อ้าว พระอรหันต์มีจิตหรือเปล่า? พระอรหันต์มีธรรมธาตุ มีธรรมธาตุในใจของท่าน

ฉะนั้น เขาถามว่า

ถาม : แล้วเวลาพระอรหันต์ท่านไม่สูญใช่ไหม? คือต่อให้ท่านมรณภาพไปแล้วท่านก็ไม่สูญใช่ไหม? เพราะผมปฏิบัติ ผมพอนั่งสมาธิเป็น ผมเชื่อมั่นในหัวจิตหัวใจว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ท่านไม่สูญ ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ

ตอบ : ถ้าเชื่ออย่างนั้นจริงๆ มันก็เป็นความเชื่อของเรา เป็นความตั้งใจจริงของเรา แล้วเราปฏิบัติของเรา ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์เราจะเข้าใจหมด ถ้าไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เรายังมีอวิชชาอยู่ในใจมันก็มีความสงสัยบ้างเป็นธรรมดา แล้วถ้ามีความสงสัยบ้างเป็นธรรมดา เรามีครูบาอาจารย์นะ มีครูบาอาจารย์ เพราะนี่เขาบอกว่าผมก็พอนั่งสมาธิเป็น แสดงว่ามีอาจารย์ดี ถ้ามีอาจารย์ดีเรายึดอาจารย์ของเราไว้ แล้วเราปฏิบัติของเรา ให้เราปฏิบัติเราเป็น ถ้าปฏิบัติเราเป็นมันก็จะไม่สงสัยในเรื่องนี้

ทั้งๆ ที่นิมิตได้คุยกับหลวงปู่มั่น ตัวเองได้ปฏิบัติ ตัวเองได้ทำ ตัวเองได้ผลมา นี่มีความเชื่อมั่นในตัวเองมาก ฉะนั้น เพียงแต่ว่าเราเข้าใจว่าเพราะมันมีเว็บไซต์เรา เขาเลยต้องเขียนมาถามหน่อยหนึ่งเพื่อหาพยานหลักฐาน นี่พูดถึงเขาปฏิบัตินะ ฉะนั้น ปฏิบัติไป เขาปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างนั้น ฉะนั้น มาอันนี้

ถาม : ขอโอกาสหลวงพ่อสอนการทำสมาธิเพื่อวิปัสสนา และสอนเรื่องศีล ๕ ที่ถูกต้องด้วยค่ะ

ตอบ : สอนเรื่องศีล ๕ ก่อน ศีล ๕ ถ้าศีล ๕ โดยที่ว่าในวงกรรมฐานเขาจะอาศัยหลักของหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นบอกศีล ๕ คือหัว ๑ แขน ๒ เท้า ๒ เป็นศีล ๕ ศีล ๕ หมายถึงว่ามันมีตัวตน นี่หลวงปู่ฝั้นท่านยกชัดเจนมากนะว่าศีล ๕ ก็คือสมบัติของมนุษย์ไง ศีล ๕ ก็ศีรษะ ๑ แขน ๒ เท้า ๒ ขา ๒ เห็นไหม แขน ๒ ขา ๒ ศีรษะ ๑ ศีล ๕ ๕ ก็คือศีล ๕

ฉะนั้น นี่ศีล ๕ ของกรรมฐาน นี้ศีล ๕ เราพูดภาษาเรานะ นี่ยกสาธุหลวงปู่ฝั้นไว้ก่อน ถ้าพูดถึงว่าศีรษะก็คือดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุ ๔ แขนก็ดิน น้ำ ลม ไฟ เท้า ๒ ข้างก็ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็มันธาตุ ๔ อ้าว ดิน น้ำ ลม ไฟเป็นศีลได้ไหม? มันก็ไม่ได้ อ้าว มันต้องหัวใจเป็นศีล ๕ ฉะนั้น เพียงแต่ว่าท่านพูดอย่างนี้ด้วยปฏิภาณของหลวงปู่ฝั้นสุดยอด ศีรษะ ๑ แขน ๒ ขา ๒ เป็นศีล ๕ คือศีล ๕ เป็นสมบัติของมนุษย์ ถ้าศีล ๕ เป็นสมบัติของมนุษย์ นี่ศีล ๕ ของเรา เห็นไหม นี่ปานาติปาตา ไม่ลักของเขา ไม่โกหกเขา ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่ดื่มสุรา นี่ว่าเป็นศีล ๕

นี้ศีล ๕ คือข้อบังคับ ๕ แล้วใครเป็นคนไปทำล่ะ? ก็มนุษย์เป็นคนไปทำ ถ้ามนุษย์เป็นคนไปทำ ถ้ามนุษย์เป็นปกติ คือศีล ๕ คือศีรษะ ๑ แขน ๒ เท้า ๒ ก็ศีล ๕ นี่ศีล ๕ โดยความถูกต้อง ไม่ต้องกังวลไง ถ้าโดยความถูกต้องศีล ๕ มันอยู่กับเรา แล้วศีล ๕ ไปอยู่กับเรา เป็นประเพณีละ เราไปวัดก็ไปขอศีล ๕ กัน ขอศีล ๕ กัน แล้วขอมาจากไหนล่ะ? เห็นไหม ศีล ๕ เกิดมาจากท้องแม่ ศีล ๕ เกิดมาจากท้องแม่ แล้วพระจะไปให้ใครล่ะ? ศีรษะ ๑ แขน ๒ เท้า ๒ เอาไปให้ใคร มันไม่มีใครให้ แต่ในพิธีกรรมก็อาราธนาศีล ถ้าอาราธนาศีลนั่นคืออาราธนาศีล

ศีลมันมาได้ ๓ ทาง คืออาราธนาเอา วิรัติเอา นี่พระป่าเขาวิรัติเอา อาราธนาคือขอใช่ไหม? แต่ถ้าเราวิรัติเอาคือเราตั้งใจ เราตั้งใจว่าเราจะถือศีล ๕ เราจะถือศีล ศีล ๘ ศีล ๑๐ เราวิรัติเอาเลย เกิดขึ้น แล้วอีกศีลหนึ่งคืออธิศีล ศีลคือศีลแท้ๆ ศีลที่มันอยู่ในใจของเรา ศีลนี่จะเข้าถึงศีลได้ ๓ ทาง ทีนี้พอเรื่องสังคมของเราในการปฏิบัติ ในศาสนาพุทธมันมายาวนาน มันก็สะเปะสะปะก็เลยเป็นกฎของเถรสมาคม เป็นศาสนพิธีว่าเวลาพิธีของชาวพุทธเริ่มต้นด้วยการขอศีล เริ่มต้นพิธีกรรมของศาสนาเริ่มต้นด้วยการขอศีล ถ้าขอศีลเสร็จแล้วพิธีกรรมยังต่อเนื่องกันไป

ฉะนั้น สิ่งนี้มันเหมือนกับสมัยพุทธกาล เวลาพุทธกาลนะ เวลาไปฉันข้าวบ้านใครเขาบอกให้พร คำว่าให้พรคือการเทศน์ ทีนี้พอเทศน์ขึ้นไปบางองค์ก็เทศน์ได้ บางองค์ก็เทศน์สะเปะสะปะ พอเทศน์สะเปะสะปะเขาก็เลยให้พรเป็นยถา คือเขียนขึ้นมาแล้วให้ท่องอย่างนี้ แล้วให้พูดเหมือนกับเพื่อจะจรรโลงศาสนาให้ดูแล้วมันแบบว่าเจริญหูเจริญตา

นี่ก็เหมือนกัน การสอนเรื่องศีล ๕ ศีล ๕ ถ้าสอนทางปริยัตินะก็ต้องไปเอาปานาติปาตามาแล้ว ถ้าไม่ฆ่าสัตว์ ทำตามวินัยนะ การฆ่าสัตว์คือต้องมีเจตนา พอฆ่าสัตว์ต้องมีสัตว์ พอเริ่มฆ่าสัตว์แล้วเราตั้งใจฆ่าศีลยังไม่ขาด พอเดินไปแล้ว ก้าวไประหว่างจะฆ่า เวลาฆ่าแล้ว เวลาเราฆ่าจนสัตว์นั้นตายลง นี่ศีลครบองค์ประกอบถึงขาดศีล ๕ ถึงขาดศีลเรื่องปานาติปาตา นี้ทางวิชาการ

ฉะนั้น ถามว่า

ถาม : สอนเรื่องศีล ๕ ให้ถูกต้องค่ะ

ตอบ : ถ้าทางวิชาการ เราถือศีลนั้นเราเอาวิชาการมาเป็นตัวตั้ง แล้วพวกเราก็จะระแวงกันไปหมดเลย อันนู้นก็จะผิด อันนี้ก็จะผิด หลวงตาท่านบอกว่าศีลนะมันมีเศร้าหมอง ถ้าโดยปกติแล้วมันสะอาดบริสุทธิ์โดยธรรมชาติของมัน พอเราเริ่มวิตกกังวลมันจะมีเศร้าหมอง มันจะมีด่างพร้อย มันจะทะลุ แล้วมันก็ขาด คือว่าเศร้าหมองมันมีเศร้าหมอง มีด่างพร้อย ด่างพร้อยคือเราทำครึ่งๆ กลางๆ เห็นไหม ทะลุนี่เกือบๆ แล้วแหละ คือถ้ามันขาดนะคือว่าเราทำถึงสิ้นสุดมันก็ขาด นั่นคือว่าศีลขาด พอศีลขาดแล้วทำอย่างไรต่อ? ศีลขาดแล้วก็อาราธนาใหม่ ศีลขาดแล้วก็ขอใหม่

พระเวลาถ้าศีลที่เป็นศีลที่ปลงอาบัติได้ก็ปลงอาบัติ ถ้าศีลที่ปลงอาบัติไม่ได้ก็ขาดจากพระไปเลย นี่พูดถึงศีล ๕ พูดถึงทำศีล ๕ ให้ถูกต้องนะ ถูกต้องพอพูดอย่างนี้ว่าหลวงพ่อพูดให้ถูกต้องหรือยัง? หลวงพ่อยิ่งพูดพวกหนูยิ่งงง จะให้หลวงพ่อพูดศีล ๕ ให้ถูกต้อง พอพูดไปพูดมาก็เลยจับต้นชนปลายไม่ถูกเลย เราจะบอกว่าถ้าศีล ๕ ศีลของลูกศิษย์กรรมฐานเขาบอกว่าที่ไหนมีเสียงมหรสพสมโภชจะไม่ไป พระกรรมฐานเขาฝึกหัดมา ศีล ๕ เขาจะรู้ของเขา นี่พูดถึงว่าศีลของกรรมฐาน

ใหม่ๆ เราไปอยู่กับหลวงตา หลวงตายังให้ศีลอยู่บ้าง แต่ช่วงท้ายๆ ไม่ให้เลย ท่านไม่เคยให้ศีลอีกเลย แม้แต่กฐินก็ไม่ให้ศีล ท่านบอกว่ามันเป็นการลูบคลำกัน เป็นการลูบคลำกัน เป็นการอ่อนแอ ยิ่งทำไปยิ่งอ่อนแอ นี่พูดถึงว่าถ้าจริงจังเราฝึกให้พวกเราเข้าใจ พอเราเข้าใจแล้ว อย่างที่หลวงปู่ฝั้นท่านพูด เห็นไหม ศีรษะ ๑ แขน ๒ เท้า ๒ ศีล ๕ สมบูรณ์ สมบูรณ์แล้ว ขณะที่เมื่อกี้เราขึ้นมาบนศาลาเราทำอะไรผิดพลาดมานั้น อันนั้นคืออดีตไปแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้เราจะวิรัติเอาเดี๋ยวนี้ โยมนั่งเดี๋ยวนี้ นึกเอาเดี๋ยวนี้ ศีล ๕ สมบูรณ์เปี๊ยะ แต่ที่ทำมาเมื่อวานไม่เกี่ยว นั้นเป็นอดีตไปแล้ว

ถ้าตอนนี้ตั้งใจเดี๋ยวนี้ ศีล ๕ ครบสมบูรณ์เลย เดี๋ยวนี้วิรัติเอา นึกเลยศีล ๕ แล้วตอนนั่งอยู่นี่ทำอะไรผิดบ้าง? ไม่มี ปัจจุบันนี้ศีล ๕ สมบูรณ์ไง นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วนึกเอาเดี๋ยวนี้ สมบูรณ์เปี๊ยะเลย สมบูรณ์ แต่ถ้าทางวิชาการนะ สมบูรณ์อะไร? ยังไม่มะยัง ภันเตเลย ยังไม่ได้ขอ ยังไม่ได้มา ศีลยังอยู่ที่พระ พระยังไม่ได้ยื่นให้ เราไม่มีศีลหรือ? อันนี้มันเป็นศาสนพิธี นี่พูดถึงว่าศีลนะ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ปั๊บเราจะไม่ดูถูกดูแคลนใคร

ในสังคมเขามะยัง ภันเต อันนั้นก็คือความเห็นของเขา นี่คือวัฒนธรรมของเรา ไอ้ของเรา เราเป็นชาวพุทธที่เข้มแข็งแล้วเราก็วิรัติเอาในใจเราเลย เราก็ไม่ขัดแย้งเขา เราก็ไม่ว่าคนที่มะยัง ภันเตจะผิดนะ นั่นคือเขาทำตามพิธีกรรมของเขา ไอ้เราถ้าเราเข้มแข็งแล้ว ในหัวใจเราเข้มแข็งแล้ว เราวิรัติเอาเราก็สมบูรณ์ของเรา แล้วคนที่เขามีศีลในใจที่เป็นอธิศีล อธิศีลหมายความว่าจิตเขาสะอาดบริสุทธิ์ อันนั้นน่ะศีลโดยปกติเลย อันนั้นศีลแท้ๆ เลย ฉะนั้น ศีล ๕ เป็นแบบนี้ เราไม่ต้องไปกังวล

ฉะนั้น ถามว่า

ถาม : สอนวิธีทำสมาธิเพื่อวิปัสสนา

ตอบ : สมาธิเพื่อวิปัสสนา ถ้าสมาธิ ถ้ามันวิปัสสนาไม่ได้ การทำสมาธิมันทำไม่ได้ หรือเราทำแล้วลุ่มๆ ดอนๆ มันไม่ใช่สมาธิผิด หรือวิปัสสนาผิด สิ่งที่ผิดคือกิเลส สิ่งที่ผิดคือความวิตกกังวลในใจของเรา สมาธินี่เป็นชื่อ สมาธิ แต่ผลของจิตสงบนั้น ตัวที่เวลาจิตสงบ ผลของมันนั้นคือตัวสมาธิ แต่ชื่อว่าสมาธิ วิปัสสนา วิปัสสนาคือสิ่งที่ศีล สมาธิแล้วมันใช้ปัญญาขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญาที่ว่าใช้ปัญญาที่มันพิจารณาของมันไป อันนี้จะเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนามันเกิดจากศีล สมาธิแล้วเกิดวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาไป พอกิเลสมันสงบตัวลงมันถึงวิปัสสนาไป ศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้ามันวิปัสสนาไป นี่ทำสมาธิเพื่อวิปัสสนา แต่ถ้ามันทำสมาธิเวลามันมีสมุทัย คือมีกิเลสมันเข้ามาแทรกแซง สมาธินี้ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ถ้าเกิดทำศีล ศีลก็ไม่ปกติ ถ้าศีลปกติ สมาธิมันก็เกิดแล้วถ้าธรรมเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะสมุทัยมันสงบตัว เวลาใช้ปัญญาไป มันวิปัสสนามันก็จะเป็นวิปัสสนาไป พอวิปัสสนาไป พอกิเลสมันกระทบกระเทือนปั๊บมันต่อต้าน พอต่อต้านสมุทัยมันก็เกิดขึ้น พอเกิดขึ้นวิปัสสนานั้นก็ล้มเหลว วิปัสสนานั้นก็ไปไม่ได้ นี่วิปัสสนามันก็เสื่อมไป เห็นไหม มันถอยออกมามันก็น่าเบื่อหน่าย ปฏิบัติไปก็น่าเบื่อหน่าย ปฏิบัติไปก็ไม่มีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรา คืออวิชชาในใจของเรามันพลิกแพลงเท่านั้นเอง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าสอนสมาธิทำวิปัสสนา สิ่งที่สอน โดยหลักการที่สอนมาโดยครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่แล้วมันก็มีหลักมาโดยเป็นขั้นตอนที่ทำตามนั้น แต่ที่มันไม่ได้ๆ กันอยู่นี้เพราะอะไร? เพราะกิเลสในใจพวกเรานี่แหละ เพราะไอ้ความวิตกกังวล ตัณหาซ้อนตัณหา ตัณหาคือ นี่แหม เกิดมาก็อยากได้มรรค ได้ผลเนาะ พอปฏิบัติขึ้นไป เราเป็นนักปฏิบัตินะ ปฏิบัติแล้วต้องได้สมาธิเนาะ มันซ้อนเข้ามาไง คือเราคาดหมายผลไง

เวลาปฏิบัติ โดยจิตใต้สำนึกทุกคนก็อยากได้อยากดีอยู่แล้ว แต่พอมาปฏิบัติมันก็ ถ้าทำอย่างนั้นโดยสมบูรณ์แล้วต้องได้เหมือนกับนักบริหาร พอบริหารแล้วต้องได้ผลตามที่เราทำวิจัยของเราไว้ เราทำตามเหตุผลของเราต้องได้อย่างนั้น นี้นั่งสมาธิ ๕ นาที ๑๐ นาทีต้องได้อย่างนั้น ๒๐ นาทีแล้วผลต้องเป็นแบบนั้น ไอ้นั่นมันเป็นไมล์รถ รถเวลาเหยียบเครื่องขึ้นไป วิ่งตามนั้นมันก็ได้ เวลาเคลื่อนไมล์ขึ้นแล้ว ๑๐, ๒๐, ๓๐ นั้นพอรถมันเคลื่อนไมล์มันก็ขึ้น แต่นั่งอยู่นี่มันเหยียบเท่าไหร่รถมันก็ไม่วิ่ง เหยียบเท่าไหร่สมาธิก็ไม่ขึ้น ไม่ขึ้นเพราะอะไร? เพราะมันมีกิเลสไง

เราจะบอกว่าสอนการทำสมาธิเพื่อวิปัสสนา คำสอนส่วนคำสอน แต่เวลาทำขึ้นไปแล้วมันก็มีกิเลสของเรา กิเลสของเราคือความวิตกกังวล ความต่างๆ แล้ววิตกกังวลทำอย่างไรล่ะ? ถือศีลก็ถือศีลแล้ว พอไม่ถือศีลก็สบายๆ นะ พอถือศีลขึ้นมาเกร็งหมดเลย พอยิ่งทำสมาธิ ถ้าไม่นั่งสมาธินะ นั่งครึ่งวัน ค่อนวันนี่สบาย พอนั่งสมาธิ ๕ นาทีมันก็อึดอัดแล้ว มันเป็นเพราะอะไรล่ะ? นี่มันเป็นเพราะกิเลสของเรา ถ้ากิเลสของเราแล้วเราต้องวางตรงนี้ วางตรงนี้แล้วเราทำนะ

เวลาทำเขาบอกไม่คาดหมาย ไม่คาดหมายมรรค ผล แล้วปฏิบัติของเรา ทั้งๆ ที่เราอยากได้นี่แหละ แต่ถ้าเราคาดหมายนะมันกดดันตัวเองไง มันเหมือนกดดันตัวเอง ทั้งๆ ที่กิเลสมันเป็นนามธรรมในใจเรา มันครอบงำเราอยู่แล้ว แต่เวลาปฏิบัติมันก็กดดันเราอีก นี่จะไปข้างหน้าก็ไปไม่ได้ จะถอยหลังหรือก็ถอยหลังไม่ได้ นี่มันจะไปก็ไม่ไป มันก็เลยครึ่งๆ กลางๆ ตัดใจ เราปฏิบัติเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติก็เท่ากับปฏิบัติบูชาใจของเรา เราทำโดยปล่อยวางให้หมด ตั้งสติไว้

คำว่าปล่อยวางให้หมด ตั้งสติทำไม ปล่อยวางความคาดความหมายทั้งหมดแล้วตั้งสติของเราไว้ ถ้าจิตของเรา เราปล่อยวางไว้สมดุลของมัน แล้วกำหนดบริกรรมของเรามันจะลงสู่ความสงบแน่นอน เพราะเหตุผลมันเป็นแบบนั้น

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

เวลาพระอัสสชิสอนพระสารีบุตร เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนบอกว่าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไประงับที่เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ทุกข์สุขนั้นมาแต่เหตุ ดีชั่วก็มาแต่เหตุ มาที่การกระทำ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ไประงับที่เหตุนั้น เหตุมันคืออะไรล่ะ? เหตุมันคือเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง สิ่งที่ปฏิบัติๆ เราปฏิบัติเพราะมีเหตุใช่ไหม? อยากได้ อยากดี อยากเป็นเราก็อยากปฏิบัติ เราอยากปฏิบัติไป

นี่เหตุคือปฏิบัติเพื่อหวังผล แล้วหวังผล นี่ผลมันก็เกี่ยวเนื่อง ต่อเนื่องกันออกไป แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทวนกระแสกลับมา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สมาธิก็มาแต่เหตุ ปัญญาก็มาแต่เหตุ เราก็ต้องสร้างเหตุที่ดี แล้วเหตุในใจของเรา เหตุที่ไม่ดีเราก็มีปัญญาเข้าไปต่อสู้กับมัน แก้ไขมัน ถ้าแก้ไขดัดแปลงของเรา ถ้ามันสมควร สมดุลของมันไปมันก็เป็นมรรค เป็นผล เป็นสิ่งที่ปฏิบัติมาแล้วเขาเห็นผลมา เขาเห็นผลของเขา เพราะเขาปฏิบัติของเขา อันนี้บอกว่าเราก็อยากปฏิบัติดีนั่นแหละ

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า

ถาม : สอนการทำสมาธิเพื่อวิปัสสนา

ตอบ : สอนการทำสมาธิก็ตั้งสติแล้วกำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ นี่ผู้ปฏิบัติใหม่ พอจิตใจมันเริ่มมีหลักมีเกณฑ์ เริ่มมีหลักมีเกณฑ์หมายความว่ามันเริ่มสงบระงับ แล้วมันก้าวหน้าต่อไปไม่ได้ก็ให้วางสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กำหนดลมหายใจเฉยๆ เรียกว่าอานาปานสติ บริกรรมคือท่องพุทโธเร็วๆ ท่องพุทโธชัดๆ นั้นคือพุทธานุสติ วางสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้วมันจะก้าวเนื่องกันต่อไป เพราะว่ากำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธมันเกี่ยวเนื่องกัน แบบว่ามันหน่วงกัน มันหน่วงกันแล้วเราก็แบบว่าตั้งสติแล้วพยายามระวัง สุดท้ายแล้วสติมันใช้แล้วมันฟั่นเฝือน มันก็วูบลงสู่ภวังค์ นั่งหลับ ตั้งใจทำสมาธิมันก็เลยกลายเป็นนั่งหลับ

ฉะนั้น ถ้านั่งหลับ ตื่นขึ้นมา อื้อฮือ นั่งสมาธิตั้ง ๕ ชั่วโมง สุดยอดเลย มันเพิ่งตื่นนอน ตื่นนอนเพราะมันหลับไป นี่พุทโธพร้อมลมหายใจเข้าออก เริ่มต้นเพราะมันต้อง นี่มันเป็นรูปธรรมที่มันจับต้องได้ หายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ แต่พอจิตใจมันดีขึ้นให้ทิ้งอันใดอันหนึ่ง ทิ้งลมหายใจไปก็ได้ หรือทิ้งพุทโธไปก็ได้ เอาอันเดียวเพราะมันเป็นการจับชัดเจนเข้า แล้วเกี่ยวเนื่องไปมันก็จะละเอียดเข้าไปๆ ถ้าละเอียดเข้าไปปั๊บมันจะมีความสุข เราปัจจัตตังรู้ได้ด้วยตัวเอง แล้วถ้าวิปัสสนาก็ออกมาแล้วหัดฝึกมาเทียบเคียง ถ้าจิตลงสมาธิแล้วจะมาพิจารณาอะไร รู้สึกว่ามันจะปลอดโปร่ง แล้วปัญญามันจะก้าวเดินดีมาก มันจะเป็นประโยชน์กับเรา นั้นคือการว่า “สอนการทำสมาธิเพื่อวิปัสสนา” เอวัง