ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไม่รู้อธิบาย

๒๑ เม.ย. ๒๕๕๖

 

ไม่รู้อธิบาย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๓๐๓. เนาะ

ถาม : ๑๓๐๓. เรื่อง “อยากฟังความคิดเห็นจากหลวงพ่อครับ”

วันนี้ผมดูรายการทีวีรายการหนึ่ง เขาลองให้ประพฤติปฏิบัติแบบเซน เขาบอกว่าความคิดไม่ใช่ความจริง เขาเลยไม่พูด แต่แสดงอาการออกต่างๆ

๑. อาการต่างๆ นี่ถือเป็นสมมุติเหมือนคำพูดหรือเปล่า เพราะมันก็เป็นรูปแบบที่เราพยายามสร้างขึ้นมา นี่คือแบบเซน

๒. ผมอยากทราบว่ามีความคิดอะไรที่เป็นความจริงไหมครับ

๓. มีอีกประโยคหนึ่งครับ อยากให้หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังคือ “หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง” มันเป็นความจริงไหมครับ

ตอบ : นี่พูดถึงว่าแนวทางปฏิบัติ เห็นไหม เวลาแนวทางปฏิบัติ เมื่อก่อนถ้าคนไม่กล้าประพฤติปฏิบัติ เพราะคนปฏิบัติแล้วกลัวจะบ้า สมัยโบราณเราปู่ ย่า ตา ยายจะบอกว่าห้ามนั่งสมาธินะ ห้ามปฏิบัติธรรมนะ ถ้าปฏิบัติธรรมต้องมีครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์จะเป็นบ้า แต่ถ้าเราจะเป็นบ้าเพราะความวิตกวิจารของสังคมเขาคิดกันแบบนั้น

ฉะนั้น เราเป็นปุถุชนนะ เราเป็นฆราวาส เราเป็นมนุษย์ เราเห็นการประพฤติปฏิบัติธรรม หรือเห็นคนที่มีฌานโลกีย์ มีคุณวิเศษ เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม เราเห็นมีเกจิอาจารย์ ดูสิผู้ที่เขามีวิชาอาคม คำว่าวิชาอาคมนั้นมันเป็นฌานโลกีย์ ฉะนั้น พอวิชาอาคม เขาไปเรียนวิชาอาคมใดมาปั๊บแล้วเขาใช้วิชาอาคมนั้นเพื่อเป็นวิชาชีพของเขา เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของเขา เขาได้ทำลายนะ อย่างเช่นทำคุณไสย ทำให้ครอบครัวเขามีปัญหา สิ่งนี้เป็นเวรเป็นกรรม ทีนี้ของมันก็กลับเข้าตัวเขา

พอของเข้าตัวเขาเราก็เห็นว่า เออ เห็นไหม คนปฏิบัติธรรมแล้วเป็นบ้า คนปฏิบัติธรรมแล้วมันไม่ถูกต้อง เราก็คิดกันแบบนั้นไง อันนั้นเราคิดว่าอันนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ความจริงมันไม่ใช่ ความจริงเขาปฏิบัติเขาเป็นฌานโลกีย์ เขาทำคุณไสยกัน แต่ถ้าปฏิบัติธรรมเราก็ไม่มีใครสั่งสอนทำปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดได้ พอถึงที่สุดได้ ทางผู้ใหญ่สมัยโบราณถึงบอกว่าอย่านั่งสมาธินะ อย่าปฏิบัตินะ ปฏิบัติแล้วเดี๋ยวจะบ้า

ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์เราท่านปฏิบัติ ท่านปฏิบัติด้วยข้อเท็จจริงในในของท่าน เวลาท่านปฏิบัติท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์ของท่าน แล้วท่านวาง วางไว้ เห็นไหม ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ ขนสัตว์ก็วางธรรมและวินัยนี้ไว้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านแล้วท่านทำอย่างใด? ท่านทำความสงบของใจของท่านก่อน ถ้าใจมันสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าคนจิตที่มันสงบขึ้นมาแล้วมันมีสติ

คนมีสติ คนมีมหาสติ ความผิดพลาดหรือความบกพร่องของเรา เราจะรู้ได้ แต่ถ้าคนขาดสติ เห็นไหม พอทุกอย่างเป็นเรา เราทำอะไรเราว่าเป็นเราเลย เราจับทุกอย่างว่านี่เราทำอย่างนั้น เรามีความเห็นอย่างนั้น เรารู้ของเราอย่างนั้นมันเชื่อมั่นตัวเอง พอเชื่อมั่นตัวเองมันเป็นมิจฉาทิฏฐิมันก็ไหลไปตามกิเลส เวลาไหลตามกิเลส นี่มันไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ นี่ว่าห้ามปฏิบัตินะ ปฏิบัติแล้วเดี๋ยวจะบ้า เราก็เลยลังเลกันไปหมดเลย

นี่ในใจเรามันมีอวิชชาอยู่แล้ว พอเวลาจะปฏิบัติก็ละล้าละลังอีกนะ นี่จะทำอะไรก็ทำด้วยความไม่มั่นคง แล้วพอทำด้วยความไม่มั่นคงกิเลสมันก็หลอกอยู่แล้ว กิเลสนะ กิเลสมันเป็นพญามารอยู่ในใจ มันอาศัยใจเราเป็นที่พึ่งอาศัย มันก็หลอกเราอยู่แล้ว แล้วเราก็ยังระแวงอีก นี่ปฏิบัติแล้วจะเป็นนะ แล้วบอกต้องมีครูบาอาจารย์นะ แล้วถ้าไปเจอครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นยิ่งยุ่งใหญ่เลย

ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็น เพราะครูบาอาจารย์นะมันก็บ้ากิเลสอยู่แล้วแหละ เพราะในใจของครูบาอาจารย์ ในใจของใครก็แล้วแต่ที่ยังไม่สิ้นกิเลส มันมีกิเลสอยู่แล้วแหละ กิเลสมันพาบ้า เพราะกิเลสมันพาเป็นสมุทัย มันพาออกไปความเห็นนั้น ถ้าเราไปเจออาจารย์อย่างนั้นนะมันก็ดึงให้เราออกนอกลู่นอกทาง แต่ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ที่ดี แล้วถ้าครูบาอาจารย์ที่ดี พวกเราจะมองแปลกๆ เลย ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นธรรมนะท่านจะบอกว่าทำอย่างนั้นจะได้อย่างนั้น โอ๋ย ชื่นชมกันใหญ่เลย แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ดีนะ ทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจ

เราไปดูนักกีฬาสิ ไปดูโค้ชดีๆ ไปดูครูบาอาจารย์ที่ดีๆ นะ เขาจะบอกให้นักกีฬาต้องมีความฟิต ต้องมีความฝึกหัด เบสิกต้องดีก่อน ถ้าครูบาอาจารย์ที่ดีท่านจะบอกว่าทำความสงบของใจ เริ่มต้นขึ้นมาเราก็ต้องมาเบสิกกันก่อน ทำให้ทุกคนมั่นคง ให้ทุกคนแข็งแรงก่อน เราเห็นครูบาอาจารย์ที่ดีนะ เอ๊ะ ทำไมท่านไม่สอนให้นิพพานเลยเนาะ ทำไมท่านไม่สอนให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ไปเลยเนาะ ทำไมท่านไม่สอนให้ปฏิบัติไปเลย ทำไมต้องมาทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจ

ครูบาอาจารย์ที่ดีท่านจะทำความสงบของใจ ให้ใจมันมั่นคงขึ้นมา พอมั่นคงขึ้นมานะ ดูสินักกีฬาแต่ละชนิดเขาจะดูความสามารถว่าควรจะเล่นตำแหน่งไหน ควรจะเล่นอะไร นี่ถ้าเขามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน จิตก็เหมือนกัน ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นจริงนะ จิตสงบแล้วมันจะวัดวุฒิภาวะแล้ว จิตสงบแล้ว บางคนกว่าจะสงบเข้ามาเห็นนิมิต บางคนสงบเฉยๆ แล้วก็จะน้อยใจ นี่หนูมีแต่สงบๆ ไม่เคยเห็นอะไรเลย ไอ้พวกนั้นสงบแล้วจะเห็นนู่น เห็นนี่ มันก็คนละแบบไง ความสามารถของจิตมันไม่เหมือนกัน เหมือนนักกีฬา ตำแหน่งการเล่นในทีมมันมีตั้งหลายตำแหน่ง แล้วคนที่ชำนาญตำแหน่งไหนก็ควรเล่นตำแหน่งนั้น ถ้าเล่นตำแหน่งนั้นเป็นทีมขึ้นมามันก็ได้เหรียญทองเหมือนกันทั้งนั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริง ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน อย่าเพิ่งด่วนใจร้อน อย่าเพิ่งว่า แหม จะได้เหรียญทองๆ นักกีฬาเราสะสมประสบการณ์ของเรา เราทำของเราให้มั่นคงขึ้นมา ประเดี๋ยวพอเรามีความชำนาญแล้วนะ เรามั่นคงแล้ว พอเข้าไปเจอเหตุการณ์เราจะแก้เกมนั้น เราจะต่อสู้กับกิเลสของเราเอง เราจะเท่าทันกิเลสของเราเอง มันจะเป็นประโยชน์กับเราตอนนั้น แต่ตอนนี้มันมีพรสวรรค์ มันฟลุคได้หนหนึ่ง โอ้โฮ จะเอาเหรียญทอง จะเอาเหรียญทอง เดี๋ยวก็จบไง

นี้เราจะบอกว่าถ้าครูบาอาจารย์ที่ดี ท่านจะวางพื้นฐานให้ผู้ที่ปฏิบัตินั้นมั่นคงแข็งแรง แล้วปฏิบัติไปข้างหน้าแล้วมันจะก้าวเดินไปโดยมั่นคงแข็งแรง ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่ดี หรือครูบาอาจารย์ที่ว่าท่านยังไม่เป็นนะ ครูบาอาจารย์ท่านก็คาดเดาเอา ไอ้เราก็ฟลุคไง ครูบาอาจารย์ก็คาดเดา ไอ้เราก็ฟลุคมาได้ ปฏิบัติไปแล้ว แหม จะไปเลยนะ ไปโลดเลย แล้วก็ไปล้มนอนอยู่ข้างหน้า ปฏิบัติแล้วก็ไม่เห็นได้อะไรเลย ปฏิบัติมาขนาดนี้แล้วก็มีแต่ความทุกข์ยาก นี่พูดถึงว่าความเห็นของสังคมไง ฉะนั้น พอพื้นฐาน นี่สังคมของกรรมฐาน สังคมของกรรมฐานมันจะมีพื้นฐานทำให้มั่นคง แล้วปฏิบัติไปแล้ว

ฉะนั้น ในการปฏิบัตินะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่จะเอาใครไปได้บ้างล่ะ? เห็นไหม พอตรัสรู้ธรรมขึ้นมาทอดธุระเลย จะสอนใครได้อย่างไร เพราะมันละเอียดลึกซึ้งนัก สุดท้ายแล้วนะท่านก็กำหนด กำหนดว่าผู้ที่พอจะรู้ได้มี จะสอนใครก่อน นี่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว นี่มันยังมีความลึกลับมหัศจรรย์ขนาดนั้น แล้วจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ท่านปรารถนาจะมาช่วยเหลือใครบ้างล่ะ?

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเราก็เหมือนกัน นี่เวลาท่านปฏิบัติของท่านมา ท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์ เห็นไหม ท่านวางข้อวัตรไว้ให้เราขยันหมั่นเพียร ฉะนั้น ขยันหมั่นเพียรเราก็ต้องทำของเราไป แล้วปฏิบัติขึ้นมา ดูสิใครบ้างที่มันจะรู้ได้ รู้ได้หมายความว่าพอจะมีอำนาจวาสนาถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นพระอรหันต์ว่าอย่างนั้นเถอะ

ฉะนั้น เวลาอย่างนั้นปั๊บท่านเอาตามความเป็นจริงใช่ไหม ก็เหมือนเรา นักกีฬาของเราเราต้องเล่นได้จริง นักกีฬาสมัครเล่นก่อน สมัครเล่น พอถ้าเป็นนักกีฬาอาชีพเขาต้องฝึกของเขา กำหนดเวลาแล้ว นักกีฬาอาชีพนะ อย่างน้อยต้อง ๘ ชั่วโมง วันต่อวัน ซ้อมทั้งวัน ๘ ชั่วโมงทั้งนั้นแหละ นักกีฬาอาชีพ อาชีพเขาคือซ้อมกีฬา ซ้อมอยู่อย่างนั้นแหละ นี่นักกีฬาอาชีพ ถ้าอาชีพต้องอย่างนั้น นี้เราปฏิบัติครูบาอาจารย์ท่านก็วางไว้อย่างนั้น นี่พูดถึงแนวทางในการปฏิบัติในกรรมฐานนะ

นี่ย้อนกลับมาที่ว่า

ถาม : ผมดูรายการทีวีรายการหนึ่งเขาลองไปประพฤติปฏิบัติแบบเซน

ตอบ : คำว่าแบบเซนไง แบบเซนเขาว่าทางลัด แบบเซนเป็นทางลัด ไอ้กิเลสของเรามันอยากลัดอยู่แล้วล่ะ ไอ้กิเลสของเรามันอยากจะหยิบฉวยเอามรรคผลเอาง่ายๆ อยู่แล้วแหละ ใครปฏิบัติขึ้นมาแล้วก็คิดว่าปฏิบัติแล้วได้ง่าย ปฏิบัติแล้วจะประสบความสำเร็จ ทุกคนคิดอย่างนั้นหมดแหละ ฉะนั้น พอคิดอย่างนั้นหมด เวลามาปฏิบัติกรรมฐาน ปฏิบัติแบบพระป่า เห็นไหม อย่างที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านจะวางรากฐานให้ วางรากฐานให้เสร็จแล้วเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติของเราไป

ถ้าคนที่อำนาจวาสนาพอประมาณก็ปฏิบัติไว้เพื่อเป็นอำนาจวาสนาต่อเนื่องไป คือสร้างสมบุญไปนั่นแหละ แต่ถ้าคนปฏิบัติไปแล้ว ถ้ามันเป็นจริงครูบาอาจารย์ก็จะคอยชี้แนะให้ความเป็นจริง อย่างที่ว่ามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วมันจะเป็นบ้า แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันก็ล้มลุกคลุกคลาน มันก็ต้องฝึกฝน มันก็เหมือนนักกีฬาอาชีพ คนที่ประสบความสำเร็จ ดูสิในสังคมใดก็แล้วแต่จะมีนักกีฬาอาชีพประสบความสำเร็จเท่าไร ในเอเชียเราก็มี ที่ว่าไปเป็นนักกีฬาอาชีพขนาดที่ว่ามีชื่อเสียงทางโลกมันมีกี่คนล่ะ? เอเชียทั้งเอเชียเลยมีกี่คน

นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติจะถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์มันจะมีกี่คน ทีนี้มีกี่คน ปฏิบัติไปแล้ว ขณะที่ใครปฏิบัติได้จริงก็ตามความจริงอันนั้น ฉะนั้น กิเลสมันมีในใจอยู่แล้วใช่ไหม? มันก็อยากจะได้ผลง่ายๆ ไง เราก็ไปอ้างกัน นี่อ้างเซนๆ อ้างเซนนะ เซนนี่ประชากรของเซน เมืองจีนพันกว่าล้าน ในญี่ปุ่น ในเกาหลี ประชากรของเขาชาวพุทธเป็นพันๆ ล้านนะ ของเรานี่ ๖๐ ล้าน ๖๐ ล้านปฏิบัติแบบกรรมฐาน ในเมืองไทยเราหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นยังมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นพระอรหันต์หลาย ๑๐ องค์ ๖๐ กว่าล้านเราหารออกมาว่าพระอรหันต์ในเมืองไทยมีเท่าไร นี่ปฏิบัติแบบพระป่า

นี้ปฏิบัติแบบเซน ในเมืองจีน ในเมืองจีน ๑,๓๐๐ ล้าน ในญี่ปุ่น ๒๐๐ กว่าล้าน ถึงไหม? ในญี่ปุ่น ในเกาหลี พวกนี้เซนหมดเลย แล้วจริงๆ มีเท่าไรล่ะ? จริงๆ มีเท่าไร จะบอกว่าไม่มีเลยเราก็เชื่ออยู่นะ เราเชื่ออยู่ว่ามี เราเชื่ออยู่เพราะอย่างเว่ยหล่างนี่เราเชื่อ อย่างสังฆราช อย่างเซนเราเชื่อมา เชื่อนี่เขาทำความจริงของเขา ถ้าความจริงของเขา ถ้าความเป็นจริงของเขา เขาจริง เขาปฏิบัติจริงนะ

เราบอกทางลัดแล้วปฏิบัติได้ง่าย ปฏิบัติไปศึกษาประวัติของผู้ที่ปฏิบัติจริง อย่างเว่ยหล่าง ฮวงโป สังฆราชตั้งแต่องค์ที่ ๑ ถึง ๖ ของเขา สังฆราชเขาส่งต่อกัน เหมือนกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านคุยธรรมะกัน แล้วหลวงปู่มั่นท่านคุยธรรมะกับหลวงปู่แหวน คุยธรระกับหลวงปู่ขาว เห็นไหม เวลาหลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง หลวงปู่มั่นพูดกับพระ บอกว่าถ้าผมตายไปแล้วนะให้พึ่งหลวงปู่ขาวนะ เพราะเราได้คุยธรรมะกับหลวงปู่ขาวแล้ว

นี่ได้คุยธรรมะแล้ว ได้คุยธรรมะคือว่าได้ตรวจสอบแล้ว สังฆราชองค์ที่ ๑ ถึงองค์ที่ ๖ เขาต้องส่งต่อกันมา เขาต้องตรวจสอบกันก่อน ตรวจสอบถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วเขาถึงมอบจีวร มอบบริขารให้ เพราะว่าให้เป็นสังฆราช ถ้าสังฆราชของสมัยโบราณเป็นอย่างนั้น แต่มาถึงเว่ยหล่างเขาเห็นว่าทุกคนแย่งชิงกันแต่ตำแหน่ง ท่านก็เลยแบบไม่มอบให้ใคร ก็จบที่นั่น

ฉะนั้น เว่ยหล่างเขาเป็น นี่เราจะบอกว่าคนที่เขาเป็นจริงเขาปฏิบัติของเขาทั้งชีวิต ไอ้ที่ว่าลัดสั้นๆ เซนปฏิบัติง่ายๆ จริงๆ แล้วมันง่ายหรือเปล่า? เขาทำจริงๆ เขาทำยิ่งกว่าเราอีก แต่มันเป็นโวหาร เป็นคำสอนไง อย่างพวกเรานิพพาน พระนิพพานไว้สูงส่งแล้วกราบไหว้ พวกเราไม่กล้าถึงพระนิพพานเพราะมันสูงส่ง มันไกลเกินไป แต่ในมหายานเขาบอกว่านิพพาน พุทโธอยู่ในสรรพสิ่ง พุทธะอยู่ในทุกสิ่ง เขามีของเขาตลอดไง

คือว่าเขาเป็นคำพูดว่าเรามีโอกาส เราทำได้ว่าอย่างนั้นเถอะ ไม่ใช่ว่ามันสูงส่งจนเราทำไม่ได้ แต่ถ้าเวลาปฏิบัติจริงๆ เขาปฏิบัติเต็มที่ แต่ตอนนี้ตอนที่เราไปศึกษากันนี่มันศึกษาแบบตำรา แบบทฤษฎี แบบปริยัติ ศึกษาคือศึกษาความเป็นอยู่ของเขา แล้วก็พยายามทำตัวเองทำให้เราเหมือนกับเขา แล้วมันจะได้ไหม? มันก็เป็นสัญญาสิ มันก็เป็นสมุทัยทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น

ถาม : เวลาเขาปฏิบัติเขาถึงว่าเขาปฏิบัติแบบเซน ความคิดไม่ใช่ความจริง เขาเลยไม่พูด แต่แสดงออกทางอาการ

ตอบ : ความคิดไม่ใช่ความจริง มันมีที่ไหนล่ะ? ความจริงนะมันจริงในสมมุติกับจริงในบัญญัติ กับจริงในวิมุตติ ความจริงโดยสมมุติ อย่างชีวิตเรานี่เป็นจริงไหม? ในปรมัตถ์ เห็นไหม ชีวิตของเรา ชีวิตนี้มันเป็นสมมุติ มันไม่จริง แล้วไม่จริงจริงๆ หรือ? ไม่จริงอย่าร้องไห้สิ ไม่จริงอย่าทุกข์สิ มันจริง จริงตามสมมุติ จริงตามอายุขัยไง

ทีนี้อายุขัยมันมีการเกิดและการตาย เวลาการเกิด การตายนี่เวียนตายในวัฏฏะ แต่เวลาถ้าเราปฏิบัติธรรมถึงที่สุดแห่งทุกข์มันเป็นวิมุตติ วิมุตติคือมันไม่มีการเกิดและการตาย มันคงที่ของมันไง คงที่แบบนิพพาน ไม่ใช่คงที่แบบอัตตา ถ้าอย่างนั้นมันถึงจะพ้นจากการเกิดและการตาย นั้นเขาว่าสิ่งที่เป็นวิมุตตินั้นเป็นความจริง แต่ชีวิตจริงเรานี่เป็นจริงไหม? ชีวิตเรา นี่ชีวิตเราเป็นเรื่องจริงๆ นะ แต่ไม่จริงตามปรมัตถ์ ปรมัตถ์หมายถึงว่ามันเวียนตายเวียนเกิด คือมันเป็นอนิจจัง มันมีการเกิดและการตาย

ถ้าจริงมันต้องไม่ตายสิ จริงก็อยู่กับเรา เวลาเขาพูดธรรมะ พูดถึงนิพพานไง จริงต้องไม่ตายสิ จริงต้องไม่แก่สิ จริงต้องไม่เฒ่าสิ ทีนี้มันต้องแก่ ต้องชราภาพ อย่างนี้มันคือไม่จริง แต่ถ้าไม่จริง จริงในตามสมมุติไง ฉะนั้น เขาบอกว่าความคิดไม่ใช่ความจริง มันก็จริงระดับหนึ่ง จริงในระดับสมมุติ ถ้าจริงในระดับสมมุติ เพราะระดับสมมุติ เห็นไหม นี่วิธีการ ธรรมและวินัยเป็นสมมุติ เป็นสมมุติบัญญัติ

นี่ธรรมและวินัยเป็นสมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติ แต่ถ้าพูดถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าอันนั้นมันเป็นปาปมุต คือมันพ้นจากธรรมและวินัย ธรรมวินัยนี้เป็นปาปมุตไปแล้ว ไม่มีอาบัติ นี่ไม่มีอาบัติ ถ้ามีชีวิตอยู่ไม่มีอาบัติ ไม่มีอาบัติเพราะอะไร? เพราะเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นล่ะจริงอยู่แล้ว จริงในใจนั้น เป็นพระอรหันต์แล้ว จริงแล้ว แต่ยังมีร่างกายอยู่

ฉะนั้น มีร่างกายอยู่ เวลาทำความผิดขึ้นมา เขาบอกว่าอย่างนี้เป็นอาบัติ เป็นอาบัติ พระพุทธเจ้าบอกมันเป็นปาปมุต ไม่มีอาบัติ มันพ้นจากสมมุติไปแล้ว ใจนั้นมันพ้นจากสมมุติไปแล้ว แต่ยังเป็นพระอรหันต์อยู่ ยังมีชีวิตอยู่ เห็นไหม เพราะเป็นพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่ ยังเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน เพราะยังมีสิ่งที่เหลืออยู่ ส่วนที่เหลืออยู่ นี่เราบอกว่าความคิดไม่ใช่ความจริง เออ อันนี้มันเป็นที่เขาพูด หรือคนเขียนคิดเอาเนาะ ว่าความคิดไม่ใช่ความจริง เขาเลยไม่พูด เลยแสดงอาการ

มันมีไง มันมีในกรรมฐานเรานี่แหละ มีผู้ที่ปฏิบัติแล้วก็ถือไม่พูด ถือไม่พูดแล้วถือสมุดไว้เล่มหนึ่ง แล้วปากกาด้ามหนึ่ง ขอน้ำ ไม่พูดนะ ขอน้ำ ให้อ่านไง แล้วเอาน้ำมาถวาย อ้าว ขอข้าว อยากเข้าส้วม นี่ไม่พูดไง ไม่พูดแล้วจะสื่ออย่างไร? คนที่เขาไม่พูดนะเขาจะถือสมุดไว้เล่มหนึ่ง แล้วก็มีปากกาด้ามหนึ่ง เวลาเจอโยมก็ อ้าว โยมพูด โยมจะไปไหน? โยมก็ตอบมา ตอบเสร็จแล้ว ถ้าจะไปกุฏิก็ต้องเดินไปทางซ้าย

หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกคนถือไม่พูดมันพูดมากกว่าคนพูดอีก ถ้าคนพูดก็พูดไปเลยใช่ไหม เราอยากพูด อยากสื่อความหมายก็สื่อไปเลย แต่เวลาเราไม่พูดเราบอกเราถือไม่พูดนะถือสัจจะไม่พูด แล้วพอสัจจะไม่พูด แล้วเราคิดเรื่องอะไรล่ะ? จะพูดต้องพูดผ่านตัวอักษร ต้องพูดผ่านตัวอักษร แล้วคิดอยู่ตลอดเวลา นี่มันเป็นความเข้าใจ ความเข้าใจว่าถ้าเราถือสัจจะไม่พูดแล้วมันจะเป็นคุณงามความดี

ทีนี้คำว่าไม่พูด เวลากรรมฐานเรานะ เวลาครูบาอาจารย์ พระนี่เวลาจะล้างบาตรชอบคุยกัน บางวัดเขาจะบังคับเลยนะ ก่อนที่พระจะไปล้างบาตรให้อมน้ำไว้คนละคำ ให้อมน้ำไว้แล้วให้ไปล้างบาตร คือห้ามคุยกันไง ให้อมน้ำไว้ มันเป็นอุบาย มันเป็นอุบายที่เราจะฝึกลูกศิษย์เราอย่างไร ตั้งกติกาว่าถ้าใครจะไปล้างจานต้องอมน้ำคนละคำ ตอนจะล้างจานให้อมน้ำไว้ มันจะได้ไม่คุยกันไง ต่อไปนี้ใครจะไปล้างจานต้องอมน้ำนะ ต้องเอาน้ำใส่ปากคำหนึ่ง แล้วก็อมไว้ แล้วก็ไปล้างจาน ล้างจานเสร็จออกมาค่อยบ้วนทิ้ง ถ้าล้างจานยังไม่เสร็จห้ามบ้วน ไม่อย่างนั้นล้างจานไปคุยกันเดี๋ยวจานก็ตกแตก มันมีปัญหาไปหมดแหละ

นี่มันเป็นอุบาย ทีนี้อุบายอย่างนี้มันก็เป็นอุบายการฝึกหัด อุบายการฝึกหัดจะว่ามันผิดทั้งหมดก็ไม่ได้ แต่ถ้าอุบายการฝึกหัดอยู่อย่างนั้น จะให้ถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์มันเป็นไปได้อย่างไร? มันก็เป็นไปไม่ได้ แม่ร่องสอน แม่ฮ่องสอนเขาบอกเมื่อก่อนมันเป็นร่องเขา เขาเรียกว่าแม่ร่องสอน เขาจะจับช้างมา ช้างนี่มันจะฝึกหัดเขาจะพาเข้าไปในร่องที่บังคับนั้น ร่องนี้เป็นที่บังคับฝึกหัดช้าง แม่ร่องสอน เอาเข้าร่อง เข้าเหลือบนั้นเพื่อบังคับให้ช้างอยู่ในคำสั่ง แม่ฮ่องสอน มันเพี้ยนมาจากแม่ร่องสอนเป็นแม่ฮ่องสอน

สัตว์ เขาจะมาฝึกหัดเพื่อจะสื่อความหมาย ฝึกหัดเพื่อจะใช้มัน สัตว์เขายังมาฝึกใช้งานได้ นี้การฝึกหัดใจ นี่วิธีการ วิธีการแต่ละการปฏิบัติมันก็มีการแตกต่างหลากหลาย ทีนี้มีแตกต่างหลากหลายมันก็ดูที่ครูบาอาจารย์ท่านรู้จริงไหม? ถ้ารู้จริงแล้วอธิบายนะ ผู้รู้อธิบายมันจะเป็นความจริงของมัน แต่ความจริงอันนั้นเราไปศึกษามา อย่างเช่น เช่นพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเป็นธรรมของพระพุทธเจ้านะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไว้ พระอุบาลีกับพระอานนท์เป็นคนจำไว้ แล้วสังคายนาจดจารึกไว้มา นี่เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเลย แล้วเรามาศึกษา

นี่ธรรมของพระพุทธเจ้ามันเป็นความจริงไหม? ความจริงแน่นอน แต่ความจริงแน่นอน เวลาคนที่ไปศึกษา เวลาพระบวชไปแล้ว ไปศึกษาแล้วทำไมพระสึกไปเยอะแยะเลยล่ะ? ทำไมพระบวชไปแล้ว ไปศึกษาแล้วทำไมสึกไปล่ะ? ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชัดเจนมากเลย นี้คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ศึกษาแล้วมันไม่ซาบซึ้งเข้าถึงใจ มันแก้กิเลสไม่ได้ มันเป็นปริยัติต้องปฏิบัติขึ้นมา ถ้าปฏิบัติขึ้นมามันถึงจะปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันเป็นความจริงขึ้นมา

นี่เวลาคำสอน เวลาคำสอนของครูบาอาจารย์มันถูกต้อง ไม่ถูกต้อง เวลาเราไปศึกษาแล้วๆ เราเข้าใจมากน้อยแค่ไหน? ถ้าเราเข้าใจมากน้อยแค่ไหนเราก็มา ถ้าอย่างนี้ ว่าความคิดไม่ใช่ความจริง เขาเลยไม่พูด เขาใช้แสดงกิริยาเอา แล้วก็คำถามไง

ถาม : อาการต่างๆ ที่แสดงออกมาเป็นสมมุติไหม?

ตอบ : มันก็เป็นสมมุติ อาการต่างๆ ที่เขาแสดงออกมา เห็นไหม ในเซน ในเซนเราก็ศึกษามา พอเราศึกษา เวลาอาจารย์กับลูกศิษย์เขาเจอกันนะ เขาถามว่านิพพานคืออะไร? ลูกศิษย์เขาจะยืนขึ้นนะแล้วเม้มปาก เม้มปากเสร็จแล้วนั่งลง อาจารย์เขาบอกนั่นล่ะใช่ แต่สมมุติเรานะ ถ้าถามเราว่านิพพานคืออะไร? อ้าว อาจารย์นั่งฟังได้เลย จะคุย ๕ วันให้ฟังเลย มันจะอธิบายนิพพานไปเต็มที่เลย เพราะอธิบายออกมานะ นี่ไงที่หลวงตาบอกว่ามันเสวยอารมณ์ ความคิด

หลวงตาพูดอย่างนี้นะ บอกว่าความคิดมันเหมือนขอนไม้ จิตนี่เวลาพูดถึงธรรมธาตุที่เป็นธรรมแล้วมันจะอยู่อิสระของมัน ฉะนั้น เวลาจะคิด เวลาจะพูดมันต้องเสวย ท่านบอกว่าถ้ามีสติแล้วมันเหมือนกับเรานี่ไปแบกขอนไม้เลย ไปแบกขอนไม้คือคำพูด นึกจะคิด นึกจะพูดมันหนักหน่วงขนาดนั้น ถ้ามันหนักหน่วงขนาดนั้น ถ้าอยู่ในธรรมธาตุนี่นิพพาน มันเป็นวิมุตติ มันเป็นสุขแท้ของมัน ถ้าเวลาจะสื่อความหมายกับโลกมันต้องเสวยอารมณ์ มันเสวยอารมณ์คือว่ามันต้องเสวยขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เพราะเป็นสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งมันต้องเสวยออกมา

พอเสวยแล้ว เขาถามว่าหลวงพ่อจะไปไหน? อ้าว จะตอบเขาแล้ว หลวงพ่อจะไปไหน? แล้วจะไปไหนล่ะ? ก็ต้องเสวย เสวยแล้วถึงจะพูดออกมาเป็นวจีกรรม มโนกรม วจีกรรม พอเสวยก็เป็นมโนกรรม มโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ มโน นิพฺพินฺทติ แม้แต่มโนยังน่าเบื่อหน่าย ผลจากการสัมผัส ผลจากการสัมผัสมโนนั้นก็น่าเบื่อหน่าย ผลที่เกิดจากสัมผัสนั้นก็น่าเบื่อหน่าย นิพฺพินฺทติ มันทิ้งมาหมดแล้วไง มันทิ้งหมดแล้วมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้น ถึงไม่พูดไง เวลาถ้าจริงกับจริงเขาจะรู้กัน แต่ถ้าบอกว่านิพพานคืออะไร? มันลุกขึ้นเม้มปากแล้วนั่งลงนะ เอ้ย มึงไม่เป็น มึงไม่รู้ ถ้ามึงรู้มึงต้องพูดสิ มึงรู้มึงต้องอธิบายสิ คนไม่เป็นเถียงกันตาย แต่พออาจารย์เขาถามว่านิพพานคืออะไร? ลูกศิษย์เขาลุกขึ้นยืนนะ แล้วก็เม้มปาก แล้วก็นั่งลง อาจารย์เขาตบมือ แปะๆๆ ถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่มีวุฒิภาวะ เราไม่มีองค์ความรู้เอ็งกล้าทำอย่างนั้นไหม? ถ้านิพพานคืออะไรเอ็งต้องลุกขึ้นยืนนะ แล้วอธิบายไป ๕ วัน แล้วต้องเอามาวิเคราะห์กันว่าที่พูด ๕ วันนั้นมีคำไหนถูก คำไหนผิด ถ้าคำไหนถูกให้ ๕ คะแนน คำไหนผิดติดลบ แล้วก็มากำหนดแล้วเอ็งได้เกรดอะไร โอ๋ย ตกอีกต่างหาก

นี่ถ้าเป็นเซน ผลตกผลึกเขาเป็นแบบนั้น เซนนี่เป็นปัญญาวิมุตติ เป็นปัญญาวิมุตติเขาใช้ปัญญามาก ถ้าใช้ปัญญามาก อาการที่เขาพูดนี่จริงหรือไม่จริง นี่คำถามนะ เขาบอกว่าความคิดไม่ใช่ความจริง เขาเลยใช้อาการแสดงออก แล้วเขาก็ถามว่าอาการแสดงออกนี้มันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง นี่ผู้ถามนะ อาการที่แสดงออกมันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แล้วเขาว่าจะพ้นได้อย่างไรล่ะ? นี้เพราะอะไรล่ะ? เพราะผู้ถามยังมีกิเลสในใจ พอผู้ถามมีกิเลสในใจมันก็คิดแบบโลก แบบโลกคือของคู่ มีสุขกับทุกข์ มืดคู่กับสว่าง มันไม่คิดเป็นหนึ่ง

ถ้าคิดเป็นหนึ่งนะ คิดเป็นหนึ่งคิดไม่ได้ คิดเป็นหนึ่งเพราะอะไร? เพราะเรามีความสงสัย เราคิดอะไรก็แล้วแต่มันมีตรงข้าม โยมคิดสิ ลองคิดสิ ถ้าจิตใจเรามั่นคงเราคิดได้เลย คืนนี้เราจะไปนั่งกลางป่าช้า เราจะไม่กลัวผีเลย นี่คิดนะ พอไปจริงๆ เข้า อืม ไม่กลัวจริงหรือ? เพราะตอนที่มันคิดได้ พอมันคิดได้มันมั่นคง คืนนี้จะไปเที่ยวป่าช้านะ เราจะมั่นคงมาก จะไม่กลัวอะไรเลยนะ ตอนที่จิตใจมันดีมันก็คิดได้อย่างนี้ แต่พอใกล้ๆ เวลานะ เอ๊ะ เรากล้าจริงหรือ? เอ๊ะ ผีมันเป็นตัวอย่างไร? มันมีตรงข้าม

แต่ในเมื่อจิตใจเรา เขาเรียกว่าเวลามันเจริญมันคิดดี เวลามันคิดดีมันจะคิดดีไปหมดเลย แต่เวลาคิดแล้วเดี๋ยวความคิดที่มันรวนเรมันจะตามมา พอตามมานี่ตรงข้ามหมด ทีนี้การตรงข้ามหมดหมายถึงว่าสิ่งที่ว่าเขาพูดมันเป็นความจริงไหม? กิริยาเป็นความจริงไหม? นี้เราคิดแบบเรา ทีนี้คิดแบบเรา นี่คิดแบบเรา คิดแบบคนมีกิเลส แต่คิดแบบคนที่ว่าเขาทำเป็นแล้วผลมันเป็นอย่างนั้น ผลมันเป็นอย่างที่เขาพูดได้ อ้าว ความคิดไม่ใช่ความจริง

ถ้าครูบาอาจารย์ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เรานะมันเป็นความจริงอย่างหยาบ ความจริงอย่างกลาง ความจริงอย่างละเอียด อย่างเช่นสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ สติเรามันยังมีวุฒิภาวะแตกต่าง เวลาปัญญานะ ปัญญา มหาปัญญา อย่างปัญญา ปัญญาเรารู้ทันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ มหาปัญญา โอ้โฮ มันรู้เท่าทันความคิดเลย ความคิดจะเกิดรู้เท่าทันหมด แล้วมหาปัญญา มหาปัญญามันรุนแรง มันเป็นน้ำป่า ตอนนี้กิเลสเกิดไม่ได้เลย

กิเลสเกิดไม่ได้แต่กิเลสมันก็ไม่ตาย กิเลสเกิดไม่ได้กิเลสมันก็อยู่ในใจ แต่มหาปัญญามันจะละเอียดขนาดไหนถึงเข้าไปชำระล้างกิเลส มันยังมีอีก แม้แต่เกิดมหาปัญญา มหาปัญญาก็มหาคอมพิวเตอร์ไง คอมพิวเตอร์แบบว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เราก็คิดได้ส่วนหนึ่งใช่ไหม? ไอ้ซุปเปอร์มันคิดได้ดีกว่า ความคิดอย่างนั้นมันก็เป็นแค่ความคิด ปัญญาก็คือปัญญา แต่ปัญญาอย่างไรที่ชำระล้างกิเลส นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี้พูดถึงว่าถ้าเป็นกิริยานะ

ถาม : ๒. อยากทราบว่ามีความคิดอะไรที่เป็นความจริงบ้าง มีความคิดอะไรที่เป็นความจริงไหมครับ

ตอบ : ความจริงคือสัจจะ ความจริงนะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นไหม ถ้าเป็นสัจจะ อริยสัจจะ อริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ อริยสัจ สัจจะ มรรค ดำริชอบเป็นความจริงไหม? ฉะนั้น เวลากิเลส กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก กิเลสคือกิเลส นี่กิเลสคือสมุทัย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคมันก็มี ความคิดอะไรที่เป็นความจริง ความจริงนี่ความคิดของเรา ความคิดของเรามันเป็นความคิดอยู่ในสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันอยู่ในอนิจจัง ความคิดเรานี่เกิดดับ จะคิดดีขนาดไหน นักกฎหมายนะ เวลากฎหมายใหม่ออกมาก็ต้องศึกษาตลอด แล้วคอยทบทวนตลอด เพราะเวลากฎหมาย เวลาว่าความมันต้องรื้อค้นอยู่ตลอดเวลา นี่ถ้ากฎหมายนะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราศึกษา ความคิดที่มันเป็นความจริงขึ้นมา ความคิดที่เป็นประโยชน์ ความคิดที่เป็นประโยชน์ ประโยชน์คือความคิดที่เป็นมรรค เป็นมรรคมันเป็นความจริง พวกนี้มันเป็นสมมุติบัญญัติทั้งหมด เวลาถึงที่สุดเวลาชำระล้างแล้วมันปล่อยไป นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ฉะนั้น ว่า

ถาม : มีความคิดอะไรบ้างที่เป็นความจริง

ตอบ : ความจริงก็เป็นมรรค อริยสัจ สัจจะความจริงนั่นเป็นความจริง แต่ความจริงอย่างนี้มันยังไม่เกิดขึ้นกับเรา เวลาเกิดขึ้นกับเรามันเกิดขึ้นจากสัญญา เกิดขึ้นจากว่าเรารื้อค้น อย่างเช่นวิชาคำนวณเราคำนวณได้หมดเลย แล้วคำนวณเรื่องอะไรล่ะ? เราคำนวณอะไร? เราจะคำนวณเรื่องสิ่งใดให้เป็นประโยชน์

นี่ก็เหมือนกัน เวลาความคิดความจริงมันเกิดขึ้น แต่เราคำนวณกับอะไรล่ะ? ถ้าเราเจอกิเลส เราเจอกิเลสของเรานะ เราเจอตัณหาความทะยานอยาก เราเจอสิ่งที่ฝังใจ เราใช้อริยสัจจะนี้เข้าไปพิจารณา อันนั้นมันก็เป็นมรรค แต่ถ้าเรานี่เราคำนวณได้ แต่เราคำนวณกับอะไร? เราไม่เห็นกิเลสของเราไง เราไม่เห็นกิเลสของเรา เราพิจารณาของเราไม่ได้ มันไม่เป็นประโยชน์กับเรา อันนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์กับเรา นี่ผู้ไม่รู้อธิบายยิ่งงงใหญ่เลย ถ้าผู้รู้อธิบายมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าผู้รู้อธิบาย ถ้าผู้ไม่รู้อธิบาย

นี่พูดถึงเซนไง เซน เซนในการปฏิบัติ เขาปฏิบัติเข้มแข็งกว่าผู้ที่ว่าลัดสั้นนะ ลัดสั้นนั่นคือว่าอ้างของเขามาใช้เฉยๆ อ้างของเขา เหมือนพวกเรา เหมือนนักเรียนนอก เวลาไปมาประเทศนั้นก็เจริญ ประเทศไทยไม่เจริญเลย ประเทศอื่นเจริญหมดเลย คือไปเก็บ เขาบอกว่าความดีของเขาไม่เก็บมา แต่ไปเก็บสิ่งที่ว่าความไม่ดีเก็บมา คนไปเรียนมาๆ ก็เอาสิ่งนี้มาในเมืองไทยแล้วใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าสิ่งที่ว่าเราเรียนอะไรมาก็แล้วแต่ แต่รากฐานวัฒนธรรมของเราเป็นอย่างนี้ ถ้ารากฐานวัฒนธรรมเราเป็นแบบนี้ เราต้องพัฒนาจากรากฐานแล้วทำของเราขึ้นมา

ถ้าใครเรียนมาแล้วใช้ประโยชน์นะ เอามาปรับใช้กับสิ่งที่ว่าเป็นรากฐานสังคม เออ ไอ้คนนั้นน่ะเป็น แต่คนเรียนมาแล้วทื่อมาเลยนะ มาถึงก็มาดูถูกนะ โอ้โฮ สังคมไทยสังคมแบบล้าหลัง สังคมไม่พัฒนา สังคมไม่พัฒนา เมื่อก่อนเขาอยู่กันสุขสบาย อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขเนาะ พอพัฒนาขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวนี้อยู่แต่ความทุกข์ทั้งนั้นเลย นี่มันพัฒนา พัฒนาให้ใจมันเร่าร้อนไง แต่ถ้าพัฒนามาแล้ว พัฒนาจากรากฐานของสังคมของเรามันจะใช้ประโยชน์ได้ นี่พูดถึงว่าเวลาใครไปศึกษามา ไปดูงานมา แล้วจะมาใช้ประโยชน์กับสังคมไทย

ถาม : ๓. มีอีกประโยคหนึ่งอยากให้หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังเรื่อง “หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง” มันเป็นความจริงอย่างไร?

ตอบ : หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง ไอ้กรณีนี้มันอยู่ในพระไตรปิฎก กรณีหนึ่งพระสารีบุตรถามนักบวชนอกศาสนา เขาโต้แย้งปัญหากันไง นี่โต้แย้งปัญหากัน เวลาเขาถามปัญหา พระสารีบุตรตอบได้หมดเลย ทีนี้เวลาพระสารีบุตรถามเขาบ้าง “หนึ่งคืออะไร?” เขาตอบไม่ได้

พอตอบไม่ได้ พอตอบอะไรมาพระสารีบุตรจะบอกอยู่ตรงข้ามที่มันมีของคู่ เขาตอบพระสารีบุตรไม่ได้ แล้วพระสารีบุตรถามว่า “หนึ่งเดียวคืออะไร?” สุดท้ายแล้วพระสารีบุตร ถ้าเขาอยากรู้ไหม? เขาอยากรู้เพราะเขาตอบไม่ได้ เขาอยากรู้พระสารีบุตรก็สอนกรรมฐาน สอนพุทโธ สอนกรรมฐานให้เขาปฏิบัติ พอปฏิบัติไปแล้ว เขารู้จริงขึ้นมาแล้วเขาไม่ถามเลย หนึ่งคืออะไร?

ฉะนั้น ถ้าหนึ่งคืออะไร เราจะบอกว่าที่มาที่ไปของนิกาย ของความเชื่อในพุทธศาสนามาจากพระไตรปิฎกทั้งหมด เพียงแต่ว่ามาจากพระไตรปิฎกแล้ว เวลาแตกแขนงออกไปเขาจะเอาสิ่งใดเป็นประเด็น เป็นหลักไง ฉะนั้น เวลามหายานพูดถึงพระเจ้าพิมพิสาร พูดถึงอชาตศัตรูมันก็อันเดียวกันทั้งนั้นแหละ เขารู้หมดเลย แต่ แต่ก็ตีความไปในมุมมองของเขา

ในมุมมองของมหายาน มุมมองของมหายานจะรื้อสัตว์ ขนสัตว์ คือว่าเขาอ้างตัวว่าเขาเป็นญาณใหญ่ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ พอรื้อสัตว์ขนสัตว์เขาจะพยายามสร้างบุญบารมี สร้างบุญบารมีแบบพระโพธิสัตว์ ฉะนั้น เวลาตีความเขาจะตีความแบบว่าเป็นการเสียสละทานไปทั้งหมด ทีนี้การเสียสละทานไปทั้งหมด ทีนี้เสียสละทานทั้งหมดมันก็เป็นความเห็นของเขา

ฉะนั้น มันมาจากพระไตรปิฎก เขาตีความมาจากพระไตรปิฎก อย่างเช่นพระกัสสปะ เห็นไหม เวลาฝ่ายมหายานเขาถือว่าอัครสาวกเบื้องซ้ายเป็นพระกัสสปะ เถรวาทเราถือว่าอัครสาวกเบื้องซ้ายเป็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แต่งตั้งเอง แต่ในมหายานเขาบอกว่าอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวาคือพระกัสสปะ พระอานนท์ เขาว่าอย่างนั้น

เพราะในพระไตรปิฎกมันมี มีที่ว่าเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนาว่าการไง พระนั่งอยู่เลย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ชูดอกไม้ขึ้นมากำหนึ่ง แล้วบอกว่านี่พระรู้ไหม พระสารีบุตรก็นั่งอยู่นั่น พระกัสสปะก็นั่งอยู่นั่น ในพระไตรปิฎกไง แล้วพระกัสสปะยิ้มขึ้นมา ยิ้มขึ้นมาแสดงว่าพระกัสสปะเข้าใจ พอพระกัสสปะเข้าใจ นี่เทศน์ลัดสั้น เขาถือ มหายานเขาถือตรงนี้ถือว่าลัดสั้น คือว่าชูดอกไม้ขึ้นมากำหนึ่ง พระกัสสปะเข้าใจ แล้วพระกัสสปะเป็นเอตทัคคะในทางธุดงควัตร

ทีนี้เขาถือว่าพระกัสสปะกับพระอานนท์เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวา แต่เวลาเถรวาทถือพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา นี่เวลามันแตกแขนงมา แตกแขนงมา นี่ความเชื่อ นี้ความเชื่อ ความเชื่อเข้าไปในสังคมใด อย่างเช่นพุทธเข้ามาในสุวรรณภูมิ สุวรรณภูมิแต่เดิมถือผี ถือผี ไสยศาสตร์กับพุทธว่าเป็นพุทธทางสุวรรณภูมินี้ นี่เวลาพุทธเข้าไปในเมืองจีนนะมันแตกแขนงออกไปเป็นนิกายๆ ไป พอนิกายมันอยู่ที่พื้นฐาน

นี้จะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่ว่า “หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง” หนึ่งคือทั้งหมดมุมมองของใครล่ะ? หนึ่งคือทั้งหมด แบบว่ามหายานเขาคิดอย่างนั้น หนึ่งคือทั้งหมดเขาก็บอกว่าหนึ่ง ถ้าหนึ่งสิ้นสุดแห่งทุกข์ไหม? แต่ถ้าหนึ่งอย่างที่ว่า หนึ่งยังมีภวาสวะ หนึ่งยังมีภพล่ะ? แต่ถ้าพูดถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปแล้ว เวลาเขาอธิบายเป็นนิพพาน นิพพานมาจากไหน? เขาว่าหนึ่งเป็นทั้งหมด ทั้งหมดเป็นหนึ่ง อันนี้ถ้าพูดถึงถ้าเราบอกว่าหนึ่งคือทั้งหมด แล้วให้เด็กๆ สองคนมันคุยกันว่าหนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง แล้วเด็กสองคนมันจะตีความว่าอย่างไร? แล้วถ้าผู้ใหญ่พูดจะตีความว่าอย่างไร?

เราจะบอกว่าวุฒิภาวะของเด็กมันก็มีความเห็นไปอย่างหนึ่ง หนึ่งคือทั้งหมด เด็กมันก็อ้างอิงตามภูมิของมันว่าหนึ่งมันคืออะไร แต่มันก็อ้างอิงตามเชาวน์ปัญญาของเด็ก แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ล่ะ? ถ้าหนึ่งเป็นทั้งหมดนะ ถ้าเราบอกว่าหนึ่งเป็นทั้งหมด ทั้งหมดเป็นหนึ่ง แล้วถ้าสมาธิเป็นหนึ่งไหม? สมาธิก็เป็นหนึ่ง ถ้าสมาธิเป็นหนึ่งขึ้นมา สมาธิ เห็นไหม เอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นหนึ่งเป็นนิพพานไหม? มันก็ไม่เป็นนิพพานอีกแหละ

ทีนี้คำว่าเป็นหนึ่ง เขาเขียนมาว่าหนึ่งเป็นทั้งหมด เวลาพระสารีบุตรท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นพระอรหันต์ปั๊บ แล้วท่านไปโต้วาทีกับเป็นภิกษุณี เราจำชื่อไม่ได้ ภิกษุณีนี้มีปัญญามาก ไปที่ไหนนะจะโต้วาที โต้ปัญญาทุกคนจะแพ้หมดเลย แล้วภิกษุณีนี่ก็อู้ฮู ตอนนั้นเขาเป็นนักบวชนอกศาสนา เขาสร้างบุญมามาก เขาไปไหนเขาจะปักป้ายเลย เพราะสมัยพุทธกาลเขาจะถือนักปราชญ์ เขาจะคุยธรรมะกัน คุยปัญหากัน ถ้าใครชนะ นางภิกษุณีไปไหนชนะหมดเลย

ทีนี้ไปถึงพระสารีบุตร ไปถึงพระสารีบุตร เขาปักหลักไว้ว่าใครอยากถามปัญหาให้ล้มป้ายนี้ พระสารีบุตรไปถึงเอาตีนเขี่ยทิ้งเลย เอาตีนเขี่ยทิ้งเลย พอเขี่ยทิ้งเสร็จ เขาไปไหนเขาปักป้ายไว้ ไม่มีใครกล้าแตะเลย เพราะเวลาถ้าใครเขี่ยป้ายเขา หรือล้มป้ายเขาแสดงว่าคนนั้นต้องมีภูมิ อายน่ะ ถ้าใครล้มป้ายเขานะคนๆ นั้นไม่รู้จะเอาหน้าไว้ไหนเลย คือต้องอายมากเพราะว่าเขาจะมีปฏิภาณ เขาเก่งมาก ฉะนั้น พอเขาไปปักป้ายที่ไหนก็ไม่มีใครสู้ หนีหมดนะ

วันนั้นเขาไปปักป้ายไว้ นี้อยู่ในธรรมบท อยู่ในพระไตรปิฎก พอเขาปักป้ายไว้แล้วเขาก็ไปบิณฑบาตของเขา เขาเป็นนักบวชนอกศาสนา ฉะนั้น พอพระสารีบุตรมา พระสารีบุตรเอาตีนเขี่ยทิ้งเลย พอเอาตีนเขี่ยทิ้งเสร็จแล้วเขากลับจากบิณฑบาตมา โอ้โฮ ใครกล้ามาล้ม ใครกล้ามาล้ม เด็กๆ มันบอกว่า นู่นๆ พระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นคนล้ม ตามไปถึงพระสารีบุตรว่า

“ท่านล้มป้ายของดิฉันจริงหรือ?”

พระสารีบุตรบอกว่า “ใช่”

“โอ๋ย ท่านจะถามปัญหากันหรือ?”

“น้องหญิง มีอะไรพูดมาเลย”

โอ๋ย เขาก็ถามปัญหาพระสารีบุตรใหญ่เลย พระสารีบุตรแก้เขาได้ทุกคำ พูดอะไรมาพระสารีบุตรพูดได้หมด พอพระสารีบุตรถามกลับ

“หนึ่งไม่มีสองคืออะไร?”

คำแรกคำเดียวไปไม่เป็น ไปไม่ได้เลย เขาก็ตอบมา พอตอบมา ปัญหาอะไรก็แล้วแต่พระสารีบุตรจะพูดตรงข้ามให้เห็นไง เพราะมันมีคู่ มันมีคู่หมด จนเขาไปไม่เป็นเหมือนกัน ทีนี้พระสารีบุตรรู้ไง รู้ว่าเขามีอำนาจวาสนา นี่เหมือนกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่จะรื้อสัตว์ ขนสัตว์ จะสอนคน จะพูดถึงเหตุผลจนเขาอยากรู้ อย่างเช่นพระพุทธเจ้าสอนพระอะไรที่เคาะกะโหลก เอากะโหลกมาเคาะ เขาเก่งมาก เคาะนี่รู้เลยว่าเกิดที่ไหน แล้วมีหัวกะโหลกพระอรหันต์ด้วย เคาะเท่าไรก็ไม่รู้

“เธออยากรู้ไหม? อยากไหม? ถ้าอยากรู้ให้พุทโธ”

ก็มาฝึกหัดกรรมฐานเป็นพระอรหันต์ พอเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ถาม นี่นางภิกษุณีนี้ก็เหมือนกัน

“เธออยากรู้ไหม? อยากรู้พุทโธสิ”

แล้วพุทโธ นี่องค์ความรู้ของครูบาอาจารย์เรา องค์ความรู้ครูบาอาจารย์ เหมือนหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เธอทำสิ ทำเสร็จแล้วเมื่อไหร่ฉันจะบอก คือมีความรู้จริงจะคอยบอก คอยชี้ แล้วถ้าเราไม่มีความรู้จริง เขาปฏิบัติมาเราจะเอาอะไรบอกเขา

นี่พระสารีบุตรว่า “เธออยากรู้ไหม? อยากรู้ปฏิบัติมา ที่ว่าหนึ่งไม่มีสอง”

พอหนึ่งไม่มีสอง สมาธิมันก็เป็นหนึ่งเหมือนกัน พอหนึ่งไม่มีสองปั๊บ แล้วปัญญาออกอย่างไร? นี่ธาตุรู้ ผู้รู้ ตัวจะทำลายภวาสวะ ทำลายตัวรู้ทำอย่างไร? นี่จี้เข้าไปๆ พอเขาทำเสร็จปั๊บจบ พอเขาทำจบแล้วไม่ถามพระสารีบุตรเลย พอไม่ถามพระสารีบุตรก็มาเอหิภิกขุมาบวชกับพระพุทธเจ้า เป็นนางภิกษุณี เราจำชื่อไม่ได้นะ มีฤทธิ์มาก มีฤทธิ์มากองค์นี้

นี่จากหนึ่งไม่มีสอง นี้หนึ่งไม่มีสองเราจะบอกว่าใครเป็นคนอธิบาย ถ้าผู้รู้อธิบายมันจะเป็นความจริงทั้งหมด ถ้าผู้ไม่รู้อธิบาย ถ้าผู้ไม่รู้อธิบายก็อธิบายเรื่องสมาธิ สมาธิเป็นหนึ่งไง พลังจิตๆ พลังจิตคืออะไร? พลังจิตก็เหมือนถ่านหิน ถ่านหินใช้แล้วก็หมด อ้าว พลังงานทุกอย่างใช้แล้วหมด พลังจิตใช้แล้วก็หมด พลังจิตคืออะไร? พลังจิตมาจากไหน? อะไรเป็นพื้นฐานต่อไป?

นี่สัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิแล้วออกใช้ปัญญา เพราะสัมมาสมาธิ ฤๅษีชีไพรเขามีอยู่แล้ว เขาทำได้อยู่แล้ว ยิ่งฌานสมาบัตินะ สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๖ เขาทำได้หมด แล้วพวกนี้จะมีฤทธิ์มาก จะรู้อะไรของเขาแปลกๆ นั้นฌานโลกีย์ไม่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเลย ผู้ที่ปฏิบัติจะไม่ตื่นเต้นเรื่องอย่างนี้เลย ถ้าตื่นเต้นเรื่องอย่างนี้มันจะชำระล้างกิเลสได้อย่างไร? มันจะเข้ามาทำลายความสงสัยในใจได้อย่างไร? ถ้ามันทำลายความสงสัยในใจหมดแล้ว ไอ้เรื่องอย่างนี้มันเรื่องออกไปจากใจทั้งนั้น ถ้าเรื่องออกไปจากใจมันจะไปตื่นเต้นอะไร ถ้าทำตามความเป็นจริงได้มันก็จบไง

ฉะนั้น หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง อันนี้เราพยายามพูดอยู่นี้เราไม่ต้องการให้ใครจับ แล้วไปวัดค่าในแง่ของโลกกับแง่ของธรรม หนึ่งไม่มีสองในแง่ของโลก เพราะโดยสมมุติ โดยความจินตนาการก็ไปตีความ เดี๋ยวจะตีความระหว่างเมื่อวานที่พูดถึงว่าเขาเอาความเห็น เอาความรู้การศึกษามาตีกรอบพุทธศาสนา

นี่ก็เหมือนกัน จะไปเอาความเห็นของโลกมาตีกรอบพระพุทธศาสนา แล้วเวลาอธิบายไปแล้ว ไอ้ที่วุฒิภาวะแค่นั้น คำว่ามันจะเป็นการดึงฟ้าต่ำ มันจะเป็นการทำให้พุทธศาสนา เรื่องธรรมะเป็นเรื่องโลก เรื่องโลกคือเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องที่เราใช้จินตนาการตีความ เราไม่ต้องการให้ศาสนานี้มัวหมองไปกับเรื่องโลกๆ ฉะนั้น ถ้าเรื่องธรรมมันสูงกว่านี้เยอะ ถ้ามันสูงกว่านี้เยอะ ถ้าสูง สูงมันคืออะไร? สูงคือมันเป็นสันทิฏฐิโก คือมันเป็นปัจจัตตัง เป็นอกาลิโก เป็นความจริงที่จะพิสูจน์ได้ ถ้าทุกคนพิสูจน์ได้แล้ว เรื่องนี้มันรู้จริงไง

ฉะนั้น เวลาคำถามนี่ถามมาจากการดูทีวี ดูทีวีเขาก็หลอกทีหนึ่งแล้ว เพราะรายการทีวี การสร้างรายการ ผู้อยู่เบื้องหลังรายการ ทำรายการทีวีเขาต้องเขียนพล็อตเรื่องแล้ว ไอ้นี่มันมาจากรายการทีวี รายการจากโลก แล้วเราไปตอบทีวี (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าใครบ้า คนถามบ้าหรือคนตอบบ้า สุดท้ายแล้วมันก็บ้าเหมือนกันเนาะ เอวัง