ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สัพเพ สัตตา

๒๓ พ.ค. ๒๕๕๖

 

สัพเพ สัตตา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว วันนี้โยมมาฟังธรรมเนาะ ทำไมต้องฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นกษัตริย์ เกิดเป็นกษัตริย์จะได้ครองราชย์อยู่แล้ว จะได้ครองราชย์อยู่แล้วมันก็ต้องมีความสุขทางโลก แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมามาก ไปเที่ยวสวนนะเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ถ้าเราเป็นกษัตริย์เราก็ปกครองประชาชน แต่เราก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหมือนเขา มันต้องมีฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสละสิทธิการขึ้นครองราชย์ แล้วออกไปหาโมกขธรรม นี่ธรรม ไปหาโมกขธรรม แสวงหาขนาดไหนก็ไม่ได้ใน ๖ ปีนั้น เพราะยังไม่มีใครสอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามรื้อค้นๆ ของท่านเอง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีรัตนะ ๒ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระธรรม

นี้เวลาไปเทศน์ธัมมจักฯ เทศน์ธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรนี่ปรารถนา คำว่าปรารถนาหมายถึงว่าถ้าเราปรารถนาตำแหน่งหน้าที่ หมายถึงพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรปรารถนาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ทีนี้พอปรารถนาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาเขาต้องสร้างบุญญาธิการของเขามา เขาสร้างบุญของเขามามาก สะสมบุญของเขามามาก เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างสมบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย สร้างสมบุญญาธิการมา

สร้างสมบุญญาธิการคืออะไร? คือพันธุกรรมของจิต จิตมันได้เปลี่ยน ได้ดัดแปลง ได้บำรุงรักษามาตลอด พอบำรุงรักษามาตลอด ไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายมันยังคิดถึงฝ่ายตรงข้ามได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีศาสดา ของเรานี่เผาศพทุกวันเลย ไปเผาศพ เขาทำอุบายให้เราดูนะเรายังไม่มีสติคิดได้เลย เห็นไหม นี่พันธุกรรมของคนไม่เหมือนกัน พันธุกรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันสะท้อนกลับมา แล้วเวลาเสียสละสิทธิการได้ขึ้นครองกษัตริย์

นี่ออกมาแสวงหา ๖ ปี ก็ยังแสวงหาทุกข์ยากกับเจ้าลัทธิต่างๆ ผู้ที่สั่งสอนอยู่ ยังหาไม่เจอ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เอง นี่ตรัสรู้เอง ตรัสรู้ธรรม สัจธรรม หัวใจของสัจธรรมคืออริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่หัวใจของอริยสัจ หัวใจของธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มาเทศน์ธัมมจักฯ เห็นไหม พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลื้มใจมาก “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” คือมีผู้เป็นพยานรู้นั้น

นี้สัจธรรมอันนี้ เห็นไหม นี่ที่ฟังธรรมๆ สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหา แสวงหาความจริง ความจริงอันนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ไม่ตายจริงๆ มันอยู่กับจิตดวงนี้ จิตดวงนี้ไม่เคยตายนะ พลังงาน พลังงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด นี่พลังงานอันนี้ถ้าเอามาใช้พลังงานทางโลกนี่สุดยอดเลย พลังงานทางโลกมันมีที่สิ้นสุด มันใช้แล้วมันหมดไป สันตติไง พลังงานของจิต ธาตุรู้ ธาตุที่รู้มันสันตติ สันตติมันเกิดตลอดเวลา เกิดตลอดเวลา

เวลาเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม นี่พลังงานนี้ไปเกิด พอไปเกิดแล้วมันก็สถานะของภพชาตินั้น พอหมดอายุขัยก็เวียนไปอีกๆ ไง นี่เวียนไปก็เวียนตายเวียนเกิด ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นเอาไว้พิสูจน์กัน ถ้าไปถามไอน์สไตน์ ไปถามพวกนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องเถียงกันมันไม่จบหรอก เราเถียงกันในหัวใจเราดีกว่า เราพิสูจน์ในใจของเราดีกว่า ถ้าใจเราพิสูจน์สิ่งนี้ได้ เพราะสิ่งที่มันเวียนตายเวียนเกิดมันไม่ตายไง มันไม่มีที่สิ้นสุด

พอไม่มีสิ้นสุดนะ พอมาประพฤติปฏิบัติธรรมๆ พอมันสิ้นสุดแห่งทุกข์ เห็นไหม สิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีสิ้นสุดโดยการหมุนเวียนนะ หมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด แล้วพอมันหยุดของมัน มันจบของมัน มันไม่หมุนเวียน นี่ธรรมอันนี้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะนี้มีอยู่แล้ว ถ้ามีอยู่แล้ว เราก็ต้องมีอยู่แล้วสิ เรามีแต่พุทธะ พุทธะคือพลังงานอันนี้มีอยู่แล้วแต่มันโดนปกคลุมไปด้วยพญามาร มันก็เวียนตายเวียนเกิดไป แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา ธรรมอันนี้มันสำคัญ สำคัญที่ว่ามันปลดเปลื้องเราได้ มันปลดเปลื้องเราได้

ที่เรามาฟังธรรมๆ สิ่งที่เรามีอยู่ แต่ดวงตาในใจของเรามืดบอด เราถึงแสวงหาสิ่งนี้ไม่เจอ ถ้าแสวงหาสิ่งนี้ไม่เจอ เรามาฟังธรรมๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพุทธศาสนา ในลัทธิศาสนาอื่นก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ของเขานะ ในลัทธิศาสนาอื่นๆ เขาก็พยายามสอนคนให้เป็นคนดี ถ้าเป็นคนดี เป็นคนดีมันก็เป็นเรื่องของสังคม เป็นมรรยาทของสังคม เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของโลก แต่ในพุทธศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ดีนอก ดีนอกคือเรื่องของสังคม สังคมความเป็นอยู่ของเรา ถ้ามีจิตใจเป็นธรรมเราจะอยู่กันด้วยความสงบ ความระงับ อยู่ด้วยความเป็นสุข สังคมร่มเย็นเป็นสุขพวกเราก็มีความสุข มีความสงบไปด้วย นี่สอนอยู่ด้วยเรื่องของสังคม

ทีนี้สังคมมันก็เวียนตายเวียนเกิดไง สังคมไม่สิ้นสุดไง คนนี้ตายไป คนนี้เกิดใหม่ คนนี้ก็หมุนเวียนกันไป แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเข้ามา นี้สังคมของโลกเราก็ทำกันแล้วนะ เราก็เป็นคนดีๆ แล้วนะ เวลาเขาถามนะ ทุกคนเป็นคนดีแล้วต้องไปวัดทำไม? นี่อยู่บ้านเลี้ยงดูพ่อแม่ เป็นคนดี สุดยอดดีเลย แล้วทำไมต้องไปวัดล่ะ? ไปทำไม? ไปวัดก็ไปวัดใจของตัวไง ไปวัดนะ นี่คำถามว่า

ถาม : วัดคืออะไร? วัตถุคืออะไร?

ตอบ : วัดคืออะไร? เราไปวัดเราก็ต้องมีช่อฟ้า มีใบระกา มีสิ่งต่างๆ เดี๋ยวนี้โรงแรมที่เชียงใหม่เขาสร้างสวยกว่าอีก เขาสร้างดีกว่าด้วย นี่เวลาวัดนะ วัดอย่างนั้นมันเป็นวัดของสังคมประเพณี แต่เวลาในพุทธศาสนา วัดคือข้อวัตรปฏิบัติ วัดคือวัดใจ คนดี คนชั่ว นี่สิ่งต่างๆ มาวัดใจของเรา ไปวัดไปวัดตรงนั้น

เวลาไปวัดนะ นี่เรามาอยู่วัดอยู่วากัน เห็นไหม ใครที่ต้องการความสงบระงับ ใครที่พยายามแสวงหาความสงบในใจของตัว นี่ความสงบแลกมาด้วยอะไร? แลกมาด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ความสงบนี้ไม่ใช่แลกมาจากการอยู่เฉยๆ แล้วเกิดขึ้น ไม่มี ของที่มีอยู่แล้วไม่มี แต่เวลาสิ่งที่หัวใจที่มันไม่เคยตายมันมี มันมีแต่มันโดนครอบงำ แล้วเวลาเราจะทำให้มันผ่องแผ้ว ให้มันเกิดความจริงขึ้นมาเราก็มี โดยสัญชาตญาณเราไปทำให้มันเหม่อซะ เผอเรอซะ แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ

ไม่ใช่ ไม่ใช่ เพราะว่าในพุทธศาสนาสอนเรื่องสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ สติมันมีตั้งหลายชั้น แล้วแค่ทำความสงบของใจ จิตมันสงบเข้ามาก็เป็นเรื่องหนึ่ง แล้วมันเกิดปัญญาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วเวลามันเกิดมรรคญาณก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โอ๋ย มันลึกลับซับซ้อนไปมาก นี่ที่มาฟังธรรมๆ กันเพราะเหตุนี้ไง ฟังธรรมกันว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดคือชีวิตของเรานะ สิ่งที่มีค่าที่สุดในโลกนี้คือความรู้สึกเรา หัวใจนี่มีค่าที่สุด ไม่มีอะไรเป็นนิพพานได้ ไม่มี ไม่มีสถานะใดเป็นนิพพานได้ เป็นที่รับผลบุญของกรรมได้

หัวใจของคน ไอ้พลังงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะทำสิ่งใดมันย่อยสลายลงไปสู่ที่นั่น เจตนาของคน เจตนามันเกิดบนอะไร? ถ้าไม่มีความรู้สึกจะมีเจตนาไหม? เจตนา นี่มีภวาสวะ มีสถานที่ มีที่ตั้งของมัน มีเจตนา มีความปรารถนา เจตนาทำผิดมันก็ผิด เจตนาทำถูกมันก็ถูก ทำสิ่งใดผลลัพธ์มันตกลงที่นี่หมดไง ตกลงสู่จิตนี่ไง

นี่พันธุกรรมๆ ได้ตัดแต่งกันอย่างนี้ไง ใครทำคุณงามความดีตัดแต่งให้หัวใจดีขึ้นๆ ใครทำความผิดพลาดมันก็ตัดแต่งให้หัวใจเลวลงๆ นี่ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ ฟังธรรมเพื่อให้จิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ ถ้าฟังธรรมเตือนหัวใจของเรา พุทธศาสนาสอนที่นี่ สอนเข้ามาสู่ใจของตัว มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา นี่ใจเป็นที่เกิด สรรพสิ่งในใจเป็นประโยชน์ที่สุด นี่ให้ดูแลใจของตัว

ฉะนั้น เราเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ เพราะถ้าใครไม่ได้ทำบุญนะ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก ท่านเปรียบเหมือนเต่าตาบอดอยู่กลางทะเล แล้วภพชาติเหมือนห่วงห่วงหนึ่ง เราอยู่ในทะเลเต่ามันจะโผล่ขึ้นมาหายใจขึ้นมาบนผิวน้ำ ถ้ามันโผล่ขึ้นมาสู่ในบ่วงนั้น นี่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะการเกิด การตายของจิตมันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด มหาศาลมาก นี้เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นมันเป็นความเชื่อ แต่ความจริงกับความเชื่อมันคนละอันกัน

ความจริงก็คือความจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วเราว่าเราเป็นคนดีๆ เราก็ดีทุกอย่างเลย มันดีแบบของกิเลสไง ดีของสิ่งที่เรามีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเราก็บอกสิ่งนี้เราเป็นคนดีๆ อยู่แล้ว มันเข้าข้างตัวเองตลอดเวลา แต่พอถึงที่สุดนะชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด นี้ภาษาบาลีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเอาภาษาไทยเลย ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ถึงที่สุดแล้วชีวิตนี้มันพลัดพรากหมด ดีแค่ไหนมันก็ทิ้งไป พอทิ้งไปแล้วสิ่งที่มันติดตามใจไปมันจะมีอะไรล่ะ? มีก็คุณงามความดีของเรา กับมีสิ่งที่เราทำบาปติดตัวเรามา สิ่งนี้มันจะไปกับเรา

ถ้าสิ่งนี้ไปกับเรา เห็นไหม ถ้าฟังธรรมๆ ฟังเพื่อเตือนสติ เตือนสติอยู่ที่นี่ ถ้าฟังธรรมนะ ฟังธรรมเพื่อระลึกรู้ ฟังธรรม เขาบอกว่าการให้ผลประโยชน์ ให้ธรรมชนะซึ่งการให้ทั้งปวง ให้ธรรมคือให้วิชาการ ให้ธรรมคือให้ความรู้ ให้ธรรมคือให้หูตาสว่าง ให้ธรรมให้จิตใจเรามีสติสัมปชัญญะ ถ้าคนมีสติสัมปชัญญะนะ อุปสรรคอะไรก็แล้วแต่ มันจะใหญ่โตขนาดไหนนะ ยิ่งเท่าช้างเลย มันเหลือเท่าตัวมดเท่านั้นแหละ เหลือแค่มด เพราะอะไร? เพราะมีสติปัญญา

ปัญหาเขามีไว้ให้แก้ไข คนเกิดมาก็มีปัญหาทั้งนั้นแหละ ใครเกิดมาก็มีปัญหา หายใจอยู่ เป็นหวัดขึ้นมาก็หายใจไม่ได้แล้ว ปัญหามันมีทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะนะ ไอ้ปัญหาใหญ่ๆ เหลือแค่นี้ แต่ถ้าใจมันอ่อนแอ ไม่ใช่ปัญหาเลยนะ เป็นปัญหา ไม่ใช่ปัญหาเลย อยู่ด้วยกันก็คนนู้นเสียงดัง คนนี้ไม่พอใจ คนนั้นไม่พอใจ ไม่ใช่ปัญหาเลย มันทำให้เป็นปัญหาขึ้นมานะ แต่ถ้ามีสตินะ ปัญหาจะใหญ่ขนาดไหน

ปัญหาใครเกิดมามันก็มีทั้งนั้นแหละ แล้วเกิดมาปัญหาเราก็แก้ไขของเราไป แล้วแก้ไขกันไปด้วยสตินะ นี่ถ้ามันยังแก้ไม่ได้วางไว้ก่อน เวลาเด็กๆ จะเรียนหนังสือ เห็นไหม บอกว่าดูหนังสือ ดูอย่างไรดูแล้วก็จำไม่ได้ บอกให้วางไว้ก่อน แล้วกำหนดพุทโธ พุทโธ อู๋ย ดูขนาดนี้ยังไม่รู้เลย แล้ววางไว้พุทโธแล้วเมื่อไหร่มันจะรู้ พุทโธมันจะมีอะไร?

เอ็งวางก่อนสิ แล้วตั้งพุทโธไว้ พอวางแล้วเราก็มาพุทโธ พุทโธ สติมันก็ปล่อยวาง สติมันก็ทำให้ความเครียดต่างๆ มันปล่อยวางหมด กลับไปอ่านนะ กลับไปอ่านหนังสือ มันเข้าใจ มันอ่านแล้วไปเลย อ่านทั้งเล่มเลย อ่านแล้วว่าอย่างไร? งงๆ ไม่รู้อะไรเลย อ่านให้จบ แต่จำอะไรไม่ได้เลย วางมันไว้ซะ แล้วพุทโธก่อน เด็กๆ นะเราสอนทำอย่างนี้หลายคน แล้วกลับมาบอกได้ผลหมด ได้ผลหมายความว่า หนึ่งไม่มีความตึงเครียดกับชีวิต ไม่มีสิ่งใดครอบงำตัวเรา เรากลับมาดูนะแล้วเข้าใจหมด

นี่ก็เหมือนกัน งานของเราก็มหาศาลแล้วยังต้องมาพุทโธอีกหรือ? คำว่าพุทโธนี่นะมันทำให้เราปล่อยวาง ปล่อยวางสิ่งที่ตึงเครียดในใจของเรา แล้วพอปล่อยวางแล้ว มันมีสติปั๊บ ไอ้ปัญหาใหญ่ๆ ต่างๆ อืม เมื่อกี้ทำไมไม่มองอย่างนี้ก็ไม่รู้เนาะ เมื่อกี้มองแล้ว อู๋ย ทำอะไรไม่ได้เลยเนาะ พอมีสติขึ้นมา ฮู้ เรื่องเล็กๆ นี่ฟังธรรมเพื่อฝึกฝนใจอย่างนี้ นี่ที่ไปวัดไปวาเขาไปตรงนี้กัน พอไปตรงนี้กันปั๊บมันจะมีค่ามาก

ในหลวงพูดนะ เวลาเศรษฐกิจไม่ดี พวกหมอดูนี่รวยมาก เพราะใครก็ไปปรึกษาหมอดู ใครก็ไปปรึกษาหมอดู เวลาเศรษฐกิจไม่ดีหมอดูนี่รวยมากเลย แล้วพวกเราก็ไปหานั่น แต่ในทางยุโรปนะ เวลาเศรษฐกิจไม่ดีเขาต้องหาจิตแพทย์ เขาต้องเสียสตางค์ แต่ทางตะวันออกเราไปวัดไปวาไม่เสียสตางค์ พระนี่ช่วยได้ แต่เรามองข้ามกันไป ถ้ามองข้ามกันไป เราถึงฟังธรรมๆ กันด้วยเหตุนี้ ฉะนั้น ฟังธรรมแล้วเดี๋ยวจะมาตอบในปัญหานี้นะ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอบปัญหาแล้ว ข้อแรกเลยนะ

ถาม : อย่างไรเรียกว่าปฏิบัติธรรม จำเป็นไหมต้องเข้าวัดเพื่อปฏิบัติธรรม วัดใช้ทุกสิ่งทุกอย่างของธรรมหรือไม่? อธิบายศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อกิจวัตรประจำวัน และใช้ในการทำงาน อย่างไรเรียกว่าปฏิบัติธรรม

ตอบ : หลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่า ท่านไปกรุงเทพฯ ไง แล้วเห็นพวกเรานั่งรถเมล์ ท่านบอกเวลานั่งรถเมล์ เวลาเราไปทำงานนะ อย่างใดเรียกว่าปฏิบัติธรรม ท่านบอกว่าหายใจเข้าให้คิด พุท หายใจออกให้คิด โธ นั้นคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคืออานาปานสติ การกำหนดฝึกสติของเรา เวลาเราเดินไปทำงาน นั่งรถไปทำงาน ขับรถไปทำงาน ถ้ามีสตินะหายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ นั้นคือการปฏิบัติธรรม เพราะ เพราะเวลาเราหายใจ โดยธรรมชาติการหายใจเพื่อออกซิเจน การหายใจเพื่อออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงสมอง หล่อเลี้ยงร่างกายเพื่อฟอกโลหิต นี่ถ้าใครขาดออกซิเจนจะตาย

ฉะนั้น เราก็คิดว่าการที่เราหายใจ เป็นการหายใจเพื่อดำรงชีวิต แต่ในการปฏิบัติธรรมนะ อานาปานสติ ถ้าลมหายใจอยู่กับเรา เรามีสติกำหนดลมหายใจ นั้นคือการปฏิบัติธรรมด้วยการอานาปานสติ หลวงปู่ฝั้นท่านพูดนะ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่ฝั้นเป็นพระอรหันต์ แล้วคนไปถามปัญหานี้เยอะมาก แล้วบอกว่าทำอย่างไรจะปฏิบัติธรรม ทำอย่างไรปฏิบัติธรรม?

ท่านบอกเลยประชาชนทั่วไปหายใจทิ้งเปล่าๆ คือหายใจเอาออกซิเจนไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เพราะมันไม่มีการฝึกสติ เพราะการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อให้จิตใจผ่องแผ้ว ให้จิตใจมีสติสัมปชัญญะ ให้มีสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นจากการฝึกหัด สติที่มีอยู่กับเราเขาเรียกว่าสติพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์มีสติก็เป็นมนุษย์สมประกอบ ถ้ามนุษย์ขาดสติก็เป็นมนุษย์อยู่โรงพยาบาลศรีธัญญา

นี่สติทำให้เราเปลี่ยนแปลงจากมนุษย์ที่ขาดสติ ที่เขาจับส่งโรงพยาบาลกัน เพราะสติอ่อน สติใช้ไม่ได้ มนุษย์ถ้ามีสติขึ้นมาก็เป็นมนุษย์สมประกอบ แต่ถ้าเราฝึกให้มากขึ้น เห็นไหม จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ฉะนั้น หลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่าหายใจทิ้งเปล่าๆ คือว่าท่านเสียดายแทนมนุษย์ไง หลวงปู่ฝั้นท่านเสียดายแทนมนุษย์ที่มนุษย์มีลมหายใจ แล้วมนุษย์ไม่กำหนดลมหายใจนั้น ถ้ามนุษย์กำหนดลมหายใจนั้น ใครเป็นคนกำหนดลมหายใจ ถ้าไม่ใช่สติ ไม่ใช่จิต

สติเกิดจากจิต ถ้าสติเกิดจากจิต จิตนี้มันมีสติ แล้วมันเข้ามากำหนดลมหายใจ นี่กำหนดลมหายใจ จิตมันได้ฝึกหัด จิตมันได้ฝึกหัดมันก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่เราหายใจเฉยๆ นี่หายใจกันโดยวิทยาศาสตร์ โดยโลกไง หายใจทิ้งเปล่าๆ พระอรหันต์เขาเสียใจ เสียดายแทนพวกเรานะ พระอรหันต์เขาเสียดายแทนมนุษย์ที่มนุษย์มีลมหายใจ แล้วไม่ฝึกหัดใช้สติ ถ้าฝึกหัดใช้สติ มีสติหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วพยายามทำไว้

โยมกลับไปทุกคนนะให้ทำ พอทำแล้วไม่ต้องไปรายงานใคร รายงานกับจิตตัวเองนั่นแหละ ดูความเป็นไปของตัวเอง ดูความเป็นไปของจิตตัวเองว่ามันพัฒนาขึ้นมากน้อยแค่ไหน ให้ดูใจของตัวเองนั่นแหละ ผลมันเกิดตรงนั้น ฉะนั้น ถ้าผลมันเกิดตรงนั้นนะ ทำอย่างไรจึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรม พอการปฏิบัติธรรมเราก็คิดถึงไอ้นั่นเป็นรูปแบบ อันนั้นมันเป็นกระแสสังคม ตอนนี้การปฏิบัติกำลังขึ้นหม้อ เดี๋ยวนี้สำนักปฏิบัติที่โดยคฤหัสถ์เขาสอนกันเยอะไปหมดเลย มันก็เหมือนหมอดูกำลังจะรวยไง เศรษฐกิจไม่ดีหมอดูกำลังจะรวย

คนตื่นการปฏิบัติธรรม สำนักปฏิบัติธรรมกำลังจะรวย แต่วัดกำลังจะจน เพราะเขาบอกว่าไปวัดลำบากมาก ไปวัดนี่แหม ต้องไปเคารพพระ พระผู้มีศีล ไปก็ระวังตัว อู๋ย ลำบากไปหมดเลย ไปสำนักปฏิบัติธรรมดีกว่า เหมือนไปสปา เขาบริการหมดเลย สบายๆ ก็กิเลสมันหลอกไง กิเลสมันหลอกว่าได้ไปปฏิบัติธรรมไง แต่มันไปนอนตีแปลงกันไง มันปฏิบัติอะไรล่ะ? มันก็เหมือนลมหายใจทิ้งเปล่าๆ นี่ไง

ถ้าฝึกหัดใช้สติ หลวงปู่ฝั้นท่านสอนมา สมัยหลวงปู่ฝั้นท่านลงมากรุงเทพฯ ใหม่ๆ นะมันร่ำลือมาก พุทโธผ่องใส พุทโธสว่างไสว โอ้โฮ หลวงปู่ฝั้นนี่ เพราะท่านมีบารมีธรรมสูงมาก ท่านพูดง่ายๆ ให้พวกเราเด็กอ่อน เด็กอ่อนให้ฝึกหัด ถ้าฝึกหัดตั้งสติไง ฝึกหัดใช้สติ ทีนี้ฝึกหัดใช้สตินะ เวลาพูดทางวิชาการก็ต้องอธิบายไปหมดเลยนะ อู้ฮู ต้องทาน ต้องศีล ต้องภาวนานะ ก็ต้องชักกันบ่อยๆ เลย ต้องเสียสละทานตั้งแต่เกิดเลยนะ เกิดมาเป็นคน เกิดมาแล้วทำดี โอ๋ย ปฏิบัติธรรมต้องอธิบายนะ ๕ ทวีปค่อยปฏิบัติ เอาง่ายๆ เลย ลมหายใจเข้านึก พุท ลมหายใจออกนึก โธ

ถาม : อย่างไรเรียกว่าปฏิบัติธรรม

ตอบ : ปฏิบัติธรรมคือการฝึกหัดใช้สติ ฝึกหัดใช้กรรมฐาน ๔๐ ห้อง แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาต่อหน้าไป ถ้าใครปฏิบัติได้ มีครูบาอาจารย์ท่านจะแนะนำต่อไป

ถาม : จำเป็นต้องเข้าวัดเพื่อปฏิบัติธรรมไหม?

ตอบ : เราจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลไหม? คนเจ็บไข้ได้ป่วยจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลไหม? คนเจ็บไข้ได้ป่วยโดยปกติเป็นไข้หวัด ไข้ไอไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่เวลาคนที่ว่ามีโรคภัยไข้เจ็บ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนหัวใจ ต้องบายพาส บายพาสทำที่บ้านได้ไหม? บายพาสไม่ต้องไปโรงพยาบาลได้ไหม? จะทำกันในครัว เดี๋ยวจะเปิดครัวทำบายพาสฉัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องไปโรงพยาบาล

ถาม : จำเป็นต้องไปวัดไหม?

ตอบ : ถ้าวัดที่ดี (เดี๋ยวจะไปเรื่อยๆ นะ) วัดที่ดีหมายถึงวัดที่มีครู มีอาจารย์ การเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง สมณะมี ๔ ประเภท สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ การได้เห็นสมณะเป็นมงคลกับชีวิตอย่างยิ่ง แล้วสมณะอยู่ที่ไหน? สมณะอยู่ที่ไหน? ถ้าเราไปเห็นสมณะ เห็นสิ่งที่เป็นมงคลมันเป็นประโยชน์กับชีวิตไหม?

ฉะนั้น ถามว่า

ถาม : จำเป็นต้องไปวัดไหม?

ตอบ : ไปวัดหมายความว่าไปเพิ่มพูน ไปเพิ่มบุญกุศลของตัว แล้วถ้าเราปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติ หลวงตาท่านปฏิบัติ ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านเรียนมาก่อน ท่านจบมหามา เรียนมาเพื่อปฏิบัติแล้วจะไม่ได้หลง เวลาท่านทำความสงบของใจขึ้นมา พอใจมันสงบ มันพิจารณาเข้าไปแล้ว เวลาท่านเข้าใจว่า เข้าใจผิดไง ท่านเข้าใจว่านี้เป็นนิพพาน พอเข้าใจว่านิพพาน หลวงปู่มั่นท่านก็พยายามดูแลรักษา นี่ท่านต้องรอจังหวะ รอเวลานะ ถามว่า

“มหา จิตดีไหม?”

“ดีครับ”

เวลาอยู่ได้สักหลายๆ เดือน ถามว่า “มหา จิตดีไหม?”

“ดีครับ”

นี่ต้องไปวัดไหม? ดีครับๆ จนถึงที่สุดท่านเห็นว่าความเข้าใจผิดมันถลำลึกไปมากพอแล้ว แล้วนี่ดูแลรักษากันมาขนาดนี้ พอถึงเวลาปั๊บท่านว่ามหาจิตดีไหม? ดีครับ มันจิตดีบ้าอะไรนั่นน่ะ? ดีอย่างนั้นมันดีอย่างไรล่ะ? อ้าว ก็มันว่างหมดเลย มันสุขสบาย มันว่างอย่างไร? นี่มันเป็นสมาธิ สมาธิเป็นอย่างไร? อ้าว ก็นี่ไงสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้ามันไม่มีสมุทัย สัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัย

คนเรานี่ถ้ามันไม่รู้จริง มันติดขัดมันตอบไม่ได้หรอก เวลาเหตุผลของหลวงปู่มั่นทิ่มเข้ามาๆ งงนะ งง งงก็ยังเถียงนะ เถียงเพราะอะไร? เถียงเพราะเราปฏิบัติมาเรามีภูมิรู้ใช่ไหม? คนทำงานมา ใครไม่รู้ว่าได้ทำงานมาบ้าง คนทำงานมา ทุกคนก็ทำมาทั้งนั้นแหละ แต่เราเข้าใจว่าเราถูก เราเข้าใจว่าเราถูก แล้วเราเข้าใจถูกเราก็เอาทางวิชาการมารองรับ เพราะเรียนมาเป็นมหา มหามันก็เอาวิชาการมารองรับ กิเลสอยู่ในใจมันก็เอาวิชาการของพระพุทธเจ้ามารองรับความผิดของตัว

หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ใส่เลย “ความสุขอย่างนี้มันสุขแค่เศษเนื้อติดฟัน”

ไอ้เราเศษเนื้อติดฟันเราก็ว่า แหม นิพพานมันสุข มันอร่อยมากเลย ท่านบอกอาหารเต็มคำอร่อยกว่านี้เยอะ แต่เราไม่เคยกิน นี่ใส่กัน คำว่าจำเป็นต้องไปวัดไหม? เวลาจำเป็น เห็นไหม ปฏิบัติธรรมอย่างไรถึงว่าปฏิบัติธรรม ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้ ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้ แต่ทำแล้วเราจะล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้น เราจะเชื่อมั่นความเห็นของเราอยู่อย่างนั้น หรือเราจะไปวัดไปวาหาครูบาอาจารย์ของเราแล้วตรวจสอบของเรา

เวลาไปหาครูบาอาจารย์นะ นี่เวลาโยมปฏิบัติมากับฟังเราเทศน์ ถ้าโยมปฏิบัติมาอย่างหนึ่ง เราเทศน์อย่างหนึ่ง มันชนกันในใจเราแล้วล่ะ ในใจมันขบกันแล้ว เฮ้ย เราปฏิบัติมาอย่างนี้ หลวงพ่อพูดผิด หลวงพ่อพูดผิด อย่างนี้มันก็เป็นประโยชน์แล้ว ถ้าไม่มาฟังหลวงพ่อพูดนะ เราก็ปฏิบัติอยู่ที่บ้านนะ โอ๋ย สุดยอด สุดยอด สุดยอดเลย เวลาหลวงพ่อพูด เอ๊ะ ทำไมหลวงพ่อพูดไม่ตรงกับเราวะ? หลวงพ่อพูดมามันขัดแย้งกับเรานี่หว่า นี่มันได้ตรวจสอบ ไปวัดได้ประโยชน์อย่างนี้ นี่ฟังธรรมๆ

ฉะนั้น จะบอกว่าถ้าไปวัดสัพเพเหระไม่จำเป็นต้องไปหรอก (หัวเราะ) วัดสัพเพเหระไม่จำเป็นต้องไป ไปแล้วมันบาดตา ถ้าวัดสัพเพเหระนะ ไปแล้วนะอยู่บ้านดีกว่า แต่บอกถ้าอยู่บ้านดีๆ เราดีจริงแล้วหรือ? เราดีจริงหรือเปล่า? ครูบาอาจารย์ท่านมีจริงของท่านอยู่ ถ้าครูบาอาจารย์มีจริงอยู่เราต้องแสวงหา ถ้าเราจะเอาความดีของเรา เราต้องแสวงหาเพื่อตรวจสอบความดีของเรา ตรวจสอบว่าความดีของเรามันดีจริงหรือเปล่า? มันถูกต้องหรือเปล่า? อันนี้เป็นประโยชน์

ถาม : ต้องไปวัดไหม? วัดใช้ทุกอย่างเป็นธรรมหรือไม่คะ?

ตอบ : คำว่าเป็นธรรมนะ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ใจของคนถ้ามันสุดยอดนะ ใจของคนถ้าเป็นใจที่ดี หมายถึงว่าเป็นสมณะที่ถูกต้องแล้ว กำขี้อยู่มันก็เป็นธรรม ถ้าใจของคนเรา ใจของเรา ถ้าใจของคนเราที่ชั่วช้า ใจของเราชั่วช้าลามก เป็นคนที่ใช้ไม่ได้ แม้แต่กำเพชรอยู่เพชรนั้นก็ไม่ดี แม้แต่กำเพชรอยู่ ถือเพชรอยู่ เราเป็นโจร เราเป็นขโมยไปปล้นมา เราปล้นเพชรเขามา เพชรนั้นจะดีไหม? เราปล้นเขามา เราลักเขามา แต่ถ้าเราเป็นคนดี สุดแสนดี เรากำขี้ ขี้นั้นก็เอาไปเป็นปุ๋ยได้

ถาม : วัดใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมหรือไม่? วัดใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมหรือไม่?

ตอบ : วัดมันก็ประกอบขึ้นมาด้วยธาตุ ๔ วัดก็ประกอบขึ้นมาด้วยวัสดุก่อสร้าง บ้านของเรา เราก็สร้างขึ้นมาจากวัสดุก่อสร้างเหมือนกัน มันต่างกันตรงไหน? มันต่างกันตรงไหน? แต่ต่างกันที่ว่าวัดนี่เจตนาไง เวลาโยมมาถวาย เห็นไหม ถวายสิ่งนี้เพื่อสร้างกุฏิวิหารเพื่อให้เป็นอาราม เป็นที่พักของผู้ทรงศีล มันเจตนาสะอาดบริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้นว่าของนี้เป็นของสงฆ์ เป็นของสาธารณะ เป็นของๆ วัด นี่เป็นของๆ วัด แต่ด้วยค่าของมันมันก็เป็นวัตถุเหมือนกัน

ฉะนั้น ว่าเป็นธรรมหรือไม่? เป็นธรรมหรือไม่มันก็เหมือนมรรค มรรคมีมิจฉาแล้วก็สัมมา ถ้าทำถูกต้องดีงามมันก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความถูกต้องดีงาม ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นความเห็นผิด วัดก็คือวัดไง เราจะบอกว่าวัดมันก็เป็นแค่ชื่อ แต่การที่ว่า

ถาม : วัดใช้ทุกสิ่งทุกอย่างชอบธรรมหรือไม่?

ตอบ : ถ้าเป็นธรรมมันก็ชอบธรรม ถ้าไม่เป็นธรรมมันก็ไม่ชอบธรรม นี่วัดใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม มันก็ต้องเป็นธรรมตั้งแต่การกระทำที่ถูกต้องดีงาม มันก็เป็นธรรม ถ้าวัดใช้ทุกสิ่งทุกอย่างทำให้มันผิด ทำให้มันผิดไปมันจะเป็นธรรมได้ไหม? มันก็ไม่เป็นธรรม มันอยู่ที่เราทำต่างหากว่าเป็นหรือไม่เป็น

ถาม : อธิบายถึงศีล สมาธิ ปัญญาที่เป็นกิจวัตรประจำวันในการใช้ปฏิบัติงาน

ตอบ : ในการใช้ปฏิบัติงานนะ เวลาทำงานเราทำงานอยู่กับงาน งานนี่บางทีเราเขียนหนังสือ เราคำนวณมันต้องใช้คำนวณ ไม่ต้องพุทโธหรอก อยู่กับงานนี่แหละ แต่เวลาเราปล่อยวางแล้ว ถ้าจิตเราไม่ให้เร่ร่อนเรากำหนดพุทโธซะ เวลาจิตนะ อย่างเช่นทำงานทุกคนจะคิดนะ โอ๋ย ทำงานมันก็เครียดเต็มที่แล้วจะมาพุทโธอะไรอีก? เพราะมันเครียดน่ะสิ พอเราเครียด พอมันเปลี่ยน นี่เราหิวกระหายอยู่ พอเราดื่มน้ำเย็นขึ้นไปมันก็มีความสุขเป็นธรรมดา เราทำงานมาตึงเครียดมาก ถ้าเราได้พักผ่อน ได้ดื่มน้ำเย็น ได้ใช้ผ้าเย็นเช็ดมันก็จะชุ่มชื่นขึ้น ทำงานตึงเครียดหมดเลย

พุทโธนั่นแหละสำคัญจริงๆ นะ เพราะพุทโธเป็นพุทธานุสติ พุทโธเป็นศาสดาของเรา เราเอาจิตไปเกาะไว้กับพระพุทธเจ้ามันไม่ดีตรงไหนล่ะ? แล้วเราปล่อยให้มันเร่ร่อนไป นี่มันก็เครียดมาเต็มที่แล้วก็ปล่อยมันไหลไปเลย คนเราหิวกระหายมาแล้วก็ไม่ต้องกินอะไร นอนไปเถอะ เดี๋ยวตื่นขึ้นมาจะอิ่มเอง มันไม่มีนะ เวลาเราจะปฏิบัติธรรมไง ใช้ชีวิตประจำวัน เขาว่าธรรมะในชีวิตประจำวัน ธรรมะในชีวิตประจำวัน

ธรรมะมันสูงกว่าชีวิตประจำวันเรานะ ทีนี้ชีวิตประจำวันเราก็ใช้ชีวิตประจำวัน แต่เราก็อยากได้ธรรม ถ้าอยากได้ธรรมนะ ใหม่ๆ เริ่มต้นเราก็มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก กำหนดพุทโธไว้ ขนาดเราทำสมาธินะ เวลามันเสื่อมขึ้นไปยังต้องกลับมาตรงนี้เลย ใครทำสมาธินะ เวลาเสื่อมไปแล้วก็ต้องใช้สติกลับมาพุทโธ ใช้สติกลับมาอานาปานสติ สติกลับมาที่คำบริกรรม เพราะคำบริกรรมนั้นทำให้เกิดสมาธิ พอเกิดสมาธิแล้วเราก็พอใจตรงนั้น แล้วเราไม่บริกรรมต่อไป

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราทิ้งเหตุนั้นปั๊บมันก็เสื่อมไป พอเสื่อม ทำงานมามันก็ทุกข์ก็ยากอยู่ มันก็ตึงเครียด พอตึงเครียดเรากลับมาที่พุทโธ พุทโธ เพราะพุทโธนี่มันเหตุไง เหตุรักษาใจไว้จะไม่ให้มันทุกข์มันยากไง เหตุที่รักษาใจไว้ไม่ให้มันตึงเครียดไง แต่เราบอกว่าก็มันตึงเครียดอยู่นั่น พุทโธมันตึงเครียดเข้าไปใหญ่เลย ไม่ใช่ พุทโธมันจะตึงเครียดตรงไหน? แต่พอมันทุกข์ มันยากมา กิเลสมันอ้างไง ทำงานมาก็ลำบากจะตายอยู่แล้ว พอปล่อยแล้วต้องมาพุทโธอีก อู๋ย ยุ่งเข้าไป ๒ เท่าเลย ทำไปเถอะ ลองพุทโธไปก่อน แล้วเดี๋ยวจะติดใจ เดี๋ยวจะติดใจนะ

ฉะนั้น ว่าชีวิตประจำวันไง ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา กิจวัตรประจำวัน กิจวัตรประจำวันเราก็ทำของเราไป เราทำของเราไปด้วยการมีสติ เรามีสติแล้วมันจะใช้ของมันได้ แล้วมันจะเป็นประโยชน์ของมัน นี่ชีวิตประจำวันนะ

ปัญหามันเยอะ กลัวไม่ทัน เยอะมาก

ถาม : ข้อ ๑. จีวรของพระที่ลาสิกขาบทแล้ว (ลูกชาย) โยมแม่ซักจีวรแล้วถวายให้พระภิกษุที่วัดที่พระลูกชายบวช การที่ผู้หญิงซักจีวรทำได้หรือไม่คะ

ตอบ : ได้ ถ้ามันอยู่ที่วัดนะ ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เข้มงวดท่านไม่ให้เข้ามายุ่งเลย พระเรานี่อายุ ๒๐ ถึงบวช ถ้าอายุ ๒๐ บวชแล้ว พระนะมันต้องมีคุณสมบัติทำสิ่งนี้ได้ แต่ทีนี้พอพระนี้สึกไป จีวรนี้พระสึกไป พระลูกสึกไป โยมแม่ซักให้ แล้วก็ไปคืนที่วัด ถ้าโยมแม่ซักให้ สิ่งที่แม่กับลูกมันจะมีความผูกพันกันเยอะมาก ภิกษุนะ ภิกษุองค์ใดก็แล้วแต่ บวชมาภิกษุนั้น แม่มีลูกคนเดียว แม่นั้นตกทุกข์ได้ยาก ภิกษุนั้นจับต้องแม่ได้ ภิกษุนั้นเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวแม่ได้ ภิกษุนั้นดูแลแม่ได้ พระพุทธเจ้าอนุญาต

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเป็นแม่ เป็นลูกใช่ไหม? เราซักให้ลูก เราซักให้ลูกอันนี้ถือว่าจะทำได้หรือไม่คะ? ได้ ได้ แต่ทีนี้พูดโดยหลักการ แล้วลูกทำไมไม่ซักเองล่ะ? (หัวเราะ) เออ แล้วเขาถามมาว่าแม่ซักให้ลูกได้ไหม? อ้าว มันก็ได้ แต่ถามกลับว่าทำไมลูกมันไม่ซักเอง แล้วแม่ไปซักทำไมล่ะ? อ้าว ก็แม่รักลูก แม่ก็อยากได้บุญจากลูก อ้าว แล้วลูกทำไมไม่ซักเองล่ะ? อ้าว ก็อยากให้ลูกเป็นคนดี ก็ลูกก็ซักเอง ลูกอายุ ๒๐ บวชเป็นพระ สึกจากพระไปมันก็ต้องทำงานได้ ไอ้นี่ก็รักลูกเกินไป แหม รักจนไปบวชพระกลับมายังซักจีวรให้อีกนะ

นี้พูดโดยหลักว่าซักได้หรือไม่ได้ ได้ แต่โดยสังคมแล้ว ขนาดพระแล้ว พระนี่ เห็นไหม หลวงตาท่านเอามากกว่านี้เยอะนะ พระต้องเข้มแข็ง พระต้ององอาจกล้าหาญ พระต้องมีศีล พระต้องรักษาตัวเองได้ พระต้องคุมตัวเองได้เพราะพระจะสอนเขา พระต้องดำรงชีวิตให้เป็นแบบอย่างให้เขาได้เห็น ไอ้นี่พระนะ โยมๆ ซักให้ที เอ้ย เขาจะมาพึ่งพระ ไม่ใช่พระพึ่งโยม ไอ้นี่โยมมา โยมๆ วัดนี้ขาดไปทุกอย่างเลย บ้าหรือ? ขาดอะไร? ก็ขาดความเพียรของเอ็งนั่นแหละ เข้มแข็งแล้วปฏิบัติซะ เข้มแข็งแล้วปฏิบัติไป ถ้าปฏิบัติขึ้นมาเดี๋ยวจะรู้อะไรเป็นอะไร

นั่นล่ะศาสนธรรมอยู่ที่นั่น ไม่ใช่มาพะเน้าพะนอกันอยู่อย่างนั้น ศาสนาอ่อนแอไปหมด ล้มลุกคลุกคลาน ยืนขึ้นมาไม่ได้ ถ้ายืนขึ้นมาได้ อันนี้เขาเป็นแม่เป็นลูกกัน เอาแค่นี้เถอะ เดี๋ยวหนัก ได้ไหม? ได้ แต่ถ้าลูกซักเองก็ไม่มีคำถามใช่ไหม? ถ้าลูกเขาซักเองทุกอย่างมันก็จบใช่ไหม? ไอ้นี่ไปซักให้เขาแล้วเขามาถาม ทีนี้จะผิดไหม? มันก็ไม่ผิดหรอก แต่โลกเขามองกันไง โลกเขามองกันว่าสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานนท์เวลาร้องไห้นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้คร่ำครวญนะ

“ดวงตาของโลกดับแล้ว ดวงตาของโลกกำลังจะดับแล้ว ดวงตาของโลก”

พระพุทธเจ้าอยู่ชี้นำสัตว์โลกทั้งหมดเลย แล้วนี่บวชเป็นพระมา เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสทำอะไรก็ไม่เป็น จะต้องให้โยมมาพะเน้าพะนอ มาดูมาแลอยู่ ไอ้นี่มันศาสนาทารก มันศาสนาทารกแล้ว ขอโทษคนถามนะ เดี๋ยวจะหาว่าหลวงพ่อใส่ใหญ่ ด้วยความเข้มแข็งของสังคม

ถาม : ๒. ใส่บาตรแต่ไม่ได้กรวดน้ำอุทิศ แต่นำน้ำใจตอนพระให้พรอุทิศให้นั้น ผู้นั้นจะได้บุญอุทิศหรือไม่? หรือต้องไปกรวดน้ำอุทิศให้คะ?

ตอบ : ให้ตอนน้ำใจนี่แหละ จริงๆ แล้วการอุทิศมันเป็นศาสนพิธี ศาสนพิธี เวลาคนมาวัดเขาก็สอน สอนว่าผู้มาวัดนะให้ทำบุญกุศลแล้วอุทิศส่วนกุศลกันเพื่อเปรต เพื่อญาติโกโหติกา เพื่อเจ้ากรรมนายเวรของเรา

นี่ฝึกให้เราทำไง นี่ฝึกให้ทำ มันมีนะ สมัยพุทธกาลก็เยอะที่ว่าคนทุกข์คนยาก ญาติตายไปแล้วก็มานิมิตให้พระพุทธเจ้าให้ได้บอกอย่างนี้ แล้วเวลาจะบอกไป ไปบอกกับคนมันเข้าใจได้ยาก ทีนี้พระพุทธเจ้าเลยวางไว้ไง ให้อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรไปซะ ทีนี้พอเราจะอุทิศ คนเขามาวัด คนเข้ามาวัดใหม่ๆ ไปวัดก็ไม่รู้จะวัดอย่างไร? เขามาวัดแล้ววัดนี้ก็ต้องเป็นศาสนวัตถุ นี่วัดนี้ไม่มีใครกล้านะ ใหม่ๆ เขาบอกว่าสวนของคน เขานึกว่าเป็นสวนของชาวบ้านไง เขาไม่ว่าที่นี่เป็นวัดหรอก วัดก็คือข้อวัตรปฏิบัติไง

ฉะนั้น สิ่งที่จะเข้ามายังเข้ามาไม่ได้ พอเข้ามาแล้วเขาต้องสอน ค่อยๆ สอน สอนให้อุทิศส่วนกุศลนะ พวกเรายังโลเลอยู่ใช่ไหม? เขาบอกให้กรวดน้ำนะ กรวดน้ำนี่ศาสนพิธี พิธีกรรมของเขาเวลาให้พรเสร็จก็ต้องกรวดน้ำ ถ้ากรวดน้ำถึงเป็นการอุทิศส่วนกุศล ถ้าไม่ได้กรวดน้ำไม่ได้อุทิศส่วนกุศล อันนี้เป็นแบบฝึกหัด แต่ความจริงแล้วสิ่งที่อุทิศส่วนกุศล เวลากรวดน้ำเขาทำอย่างไร? เขาให้จ้องที่น้ำนั้น เพื่อให้จิตใจนี้เข้มแข็ง จิตใจนี้เป็นหนึ่ง พอเพ่งที่น้ำนั้นแล้วอุทิศส่วนกุศลนะ เพราะมันอุทิศด้วยน้ำใจ

ฉะนั้น ถ้าเป็นกรรมฐานเราไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลยแต่มี มีอะไร? มีคือมีน้ำใจ น้ำใจนั้นถ้าเวลาให้พร เราอุทิศส่วนกุศล เพราะส่วนกุศล เพราะทำบุญกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านให้พร ให้พรมา ให้พรมาเราก็อุทิศส่วนกุศลด้วยน้ำใจ นี่บุญชัดๆ เลย บุญชัดๆ เลย จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ความรู้สึกนะ ความรู้สึกหนึ่งไปสู่ความรู้สึกหนึ่ง เรามองตากันสิ เรามองตากันว่าคนๆ นี้มีน้ำใจดีกับเรา คนๆ นี้มีอะไรดีกับเรา อันนี้เป็นความปรารถนาของใจ

การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล นั่นก็เพื่อให้ใจอุทิศส่วนกุศล ไม่ใช่ให้น้ำอุทิศส่วนกุศล ให้ใจอุทิศ ให้ใจอุทิศ แต่คนที่ฝึกหัดทำไม่เป็นเขาถึงให้ใช้น้ำนั้นเป็นตัวสื่อ เป็นตัวนำ แต่ถ้าเราเป็นกรรมฐานเขาไม่ใช้กันหรอก เขาใช้ตัวจริงเป็นตัวนำ เขาใช้หัวใจนี้เป็นตัวนำ อุทิศอยู่ที่น้ำใจเลย อุทิศเลย อุทิศด้วยหัวใจ ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อุทิศด้วยน้ำ เออ เพราะเรายังไม่แน่ใจๆ ต้องเอาน้ำมาเป็นตัวสื่อ ฉะนั้น อุทิศนี่แหละตัวจริง

ถาม : ตอนเช้ากรวดน้ำเปล่าๆ โดยอธิษฐานชื่อตัวเอา แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับโดยบอกชื่อและสกุล ผลบุญจะถึงผู้ล่วงลับหรือไม่คะ

ตอบ : ผลบุญถึงตรงที่เราทำบุญกุศลแล้ว ทำบุญกุศลผลบุญถึงแล้ว กรณีนี้อยู่ในสุตตันตปิฎกเยอะมาก อยู่ในสุตตันตปิฎกนะ เวลาคนไปทำบุญแล้ว อุทิศส่วนกุศลแล้ว ถึงเวลากลางคืนญาติพี่น้องบางคนก็มาเข้าฝันว่านี่อุทิศส่วนกุศลไปแล้วคนนั้นได้รับๆ ฉันไม่ได้รับๆ ไปฟ้องพระพุทธเจ้าก็มี ไปฟ้องเทวดาก็มี ในสุตตันตปิฎกมีเยอะมาก ฉะนั้น เวลาอุทิศส่วนกุศลเราก็อุทิศส่วนกุศลนั้น

ฉะนั้น เวลาสวดมาแล้วเป็นการอุทิศส่วนกุศล สัพเพ สัตตา สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย กันลืมไง กันลืมไม่ได้อุทิศนะ สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายๆ อุทิศเลย ฉะนั้น เวลาอุทิศไปแล้วมันเข้านะ กรณีศาสนามันกรณีมายืดยาว ดูศาสนาที่ว่าเป็นมหายาน ที่เขาไหว้เจ้ากัน แบบว่าไหว้นี้เป็นไหว้ญาติของเรา อันนี้ไหว้ผีไร้ญาติ ไหว้ต่างๆ

นี่ก็เหมือนกัน สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ญาติ ไม่ญาติทั้งหมดเลย แล้วเวลาหมดเลยก็ต่างคนต่างมารับส่วนบุญส่วนกุศล นี้ส่วนบุญกุศล ความรู้สึกของคนไม่มีวันที่สิ้นสุด ของเราจะมากหรือจะน้อยแต่น้ำใจมันมหาศาล ใครหยิบเท่าไรมันก็ไม่หมดหรอก แต่ทีนี้เวลาสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนเลว นี้สังคมของพวกสัมภเวสี พวกสัพเพ สัตตาเขามาเขาก็แย่งชิงกัน แต่แย่งชิงกัน คนมีกำลังก็ได้ คนไม่มีกำลังก็ได้ แต่ถ้าอยู่ดีๆ เดี๋ยวเราก็ได้ เราก็ทำของเราได้ ถ้าเราทำของเราได้นะ พอไม่ได้เขาก็มาเข้านี่..

อยู่ในสุตตันตปิฎก ในนิทานของพระพุทธเจ้ามีเยอะมาก มาร้องเรียนว่าไม่ได้บุญอย่างนั้น ไม่ได้บุญอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่าให้ อุทฺทิสฺส เจาะจง เจาะจงก็ระบุชื่อ ระบุชื่อว่าของนี้ให้คนๆ นี้ เฉพาะคนๆ นี้ คนๆ นี้ได้รับ ไปรษณีย์ส่งไปเลย เฉพาะคนๆ นี้ ไม่ใช่สัพเพ สัตตา ห้ามแย่ง ห้ามแย่ง ของคนๆ นี้ เราถึงได้ระบุชื่อกันไง เราก็ระบุชื่อว่านี่ญาติเราชื่อนั้นๆ พอญาติเราชื่อนั้นเสร็จแล้วเราก็ สัพเพ สัตตา ซ้อนเข้าไป พอซ้อนเข้าไป เพราะของนี่มันเป็นนามธรรม ธรรมของพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเทียน เทียนนี่เราไปจุดให้กับใครก็แล้วแต่ จุดร้อยเล่ม พันเล่มเทียนเราก็ยังอยู่ มันก็จะจุดได้ต่อไป

นี่ก็เหมือนกัน เราอุทิศมากเท่าไร มันก็ยิ่งได้มากขึ้น บางคนมีเทียนแล้วไม่จุดให้ใครเลย เดี๋ยวเขาแย่งไฟจากฉันไป เดี๋ยวไฟฉันจะน้อยลง ฉันจะไม่ให้ใครเลย ไม่อุทิศให้ใครเลย ก็ได้แค่เล่มเดียว แต่อุทิศไปๆๆ เทียนเราก็ยังมีเทียนไป นี่ให้อุทิศส่วนกุศลไปเยอะๆ เขาบอกว่าของเรามีนิดเดียวจะอุทิศได้อย่างไร? เหมือนเทียน จุดแล้วจุดเล่าๆ ไม่มีวันหมด ความรู้สึกของเรา เราทำบุญไปแล้วเรารู้สึกเราอุทิศได้ตลอดเวลาไง อุทิศไปเลย ข้อนี้มันเป็นสิ่งที่โต้เถียงกันเยอะ แล้วพอโต้เถียงปั๊บ ศาสนาพุทธนี่นะมันจะไม่มีขัดแย้งกัน มันจะกว้างขวางมาก แต่ครูบาอาจารย์องค์ใดก็แล้วแต่มีหัวสมองนิดหนึ่งก็บอกว่าต้องทำอย่างนั้นๆ ศาสนาก็มีแค่นี้แหละ มีแค่นี้แหละ ศาสนาของพระพุทธเจ้ากว้างขวางมากนะ

นี่ก็เหมือนกัน เราอุทิศไปเลย สัพเพ สัตตาเลย แล้วอุทิศเจาะจงด้วย อุทิศอะไรก็ได้ทำไปเถอะ ไม่มีการขัดแย้งกัน แต่ไม่ใช่นะ ฉันว่าอย่างนี้ อาจารย์องค์นั้นว่าอย่างนั้น อาจารย์องค์นู้นว่าอย่างนั้น เปิดพระไตรปิฎก เปิดพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกว่าอย่างไร เพราะพระไตรปิฎกท่านสอนนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเฉพาะกลุ่มชนนี้ๆๆ มันหลากหลาย คนปัญญามากก็สอนละเอียดลึกซึ้ง คนปัญญาน้อยก็สอนเล็กน้อย

ท่านสอนไว้เยอะมาก ในพระไตรปิฎกท่านสอนกว้างขวางมาก แต่ไอ้ครูบาอาจารย์ที่มีสมองนิดหนึ่งมันก็เอาเฉพาะตรงนั้น เอาเฉพาะตรงที่มันพอใจ แล้วมันก็ไปขยายความ แล้วไอ้ที่เหลือเยอะแยะนั่นไม่ใช่หรือ? ไอ้เฉพาะที่พระพุทธเจ้าพูดถูกใจ อันนี้พระพุทธเจ้าบอก ถ้าอันไหนไม่ถูกใจไม่ใช่ๆ แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปไง นี่พูดถึงว่าการอุทิศนะ อุทิศเพื่อสัพเพ สัตตาด้วย การระบุชื่อมันก็เป็นเจาะจง ฉะนั้น เจาะจงก็เจาะจงที่เราระบุชื่อได้ แต่ย่าของย่า ย่าของปู่ ปู่ของปู่นี่เรารู้ชื่อไหม? ไม่มีใครรู้หรอก เกิดไม่ทัน ฉะนั้น สัพเพ สัตตามันได้กว้างขวางนะ แล้วถ้าเราระบุได้เราก็ระบุไป

ถาม : เมื่อเจ้ากรรมนายเวรได้อโหสิกรรมให้แล้ว ผู้สร้างกรรมยังต้องรับผลของกรรมนั้นอยู่อีกหรือไม่?

ตอบ : เจ้ากรรมนายเวรที่ได้อโหสิกรรมแล้ว ถ้าเจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมต่อเราแล้ว อันนี้ก็หมดเวรหมดกรรมกันไป

ถาม : ผู้สร้างกรรมนั้นจะได้รับผลกรรมหรือไม่?

ตอบ : กรรมก็คือกรรม เช่นพระนี่ทำอาบัติ พระทำสิ่งใด พรากของเขียวเป็นอาบัติก็ปลงอาบัติ พอปลงอาบัติแล้วมันก็หมดสิ่งที่เป็นอาบัตินั้นไป แต่กรรมนั้นมีอยู่ไหม? กรรมนั้นมีอยู่ไหม? มี

นี่ก็เหมือนกัน เจ้ากรรมนายเวร สิ่งที่อโหสิกรรมแล้วจบกันไป แต่กรรมเรามีนะ กรรมของเรามี ก็กรรมที่เราทำพันธุกรรมของเรานี่ไง เราตัดแต่งหัวใจของเรานี่ไง เราทำให้เราแช่มชื่นนี่ไง เขาอโหสิกรรมให้เราแล้ว แต่หัวใจเรายังโลเลอยู่ หัวใจเรายังหวั่นไหวอยู่ เรามีกรรมอยู่ไหม? มี ถ้ามีกรรมอยู่เรารักษาใจของเรา มันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก มีภวาสวะ มีสถานที่รับรู้ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ถ้ามีสิ้นสุดนะ มันถึงเป็นวิธีการ ในพระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นวิธีการทั้งนั้น วิธีการให้เราสิ้นสุดแห่งทุกข์

ฉะนั้น ตอนนี้พระที่มีปัญหา คือเอาวิธีการมาเถียงกัน วิธีการของใครถูก วิธีการของใครผิด มันแค่วิธีการ แต่ผลของมัน นี่นิพพานเป็นอย่างไร? ใครอธิบายนิพพานมา พระพุทธเจ้าบอกวิธีการไปเรื่อยๆ พอจบแล้วจบวิมุตติ วิมุตติออกจากสมมุติบัญญัติไปหมดเลย นั้นวิมุตติไปแล้ว นั่นเป็นวิธีการ นี่ก็เหมือนกัน นี่ถ้าเจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้เราแล้ว

กรณีนี้นะเราทำของเรานะ เราจะบอกว่าตอนนี้ในสังคมมันเรื่องนี้เยอะมาก เรื่องเจ้ากรรมนายเวร เรื่องแก้กรรม เรื่องต่างๆ อย่าไปเชื่อ อย่าไปเชื่อ เราให้เชื่อพระพุทธเจ้า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราพยายามทำความดีของเรา สิ่งใดที่มันผิดไปแล้วนะ ธรรมของพระพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งใดทำแล้วเสียใจร้องไห้ สิ่งนั้นไม่ดีเลย แต่เวลาเราทำนี่เราขาดสติ เราทำนี่เราทำด้วยอารมณ์ของเรา พอทำไปแล้ว กระทบกระเทือนใครแล้วก็นั่งเสียใจ

พอนั่งเสียใจแล้วก็อยากจะไปขออโหสิกรรมต่อเขา เขาก็อโหสิกรรมให้เรามา ให้เรามาเสร็จแล้วเดี๋ยวเราก็ไปทำคนอื่นอีกแล้ว เพราะเรารักษาใจเราไม่ได้ เขาอโหสิกรรมมากับเราแล้ว เราก็พยายามดูแลใจเรา ไม่ทำกับใครอีกแล้วนะ แม้แต่ตัวเองก็ไม่ทำ เราจะทำคุณงามความดีของเรา พยายามสร้างคุณงามความดีของเรา ความดีนะ สุจริต ความเป็นสุจริต ความดีนี่คุ้มครองเรา เราทำแต่คุณงามความดี ความดีจะคุ้มครองเรา คนจะเถียงทันทีเลย คุ้มครองอะไรหลวงพ่อ นี่ทำดีทุกคนเลย ทุกข์น่าดูเลย

คนเรามันมีกรรมเก่ากรรมใหม่นะ เรานั่งกันอยู่นี่ทำไมรูปร่างหน้าตาเราไม่เหมือนกัน แม้แต่เกิดจากพ่อแม่คนเดียวกัน พ่อแม่มีลูก ๒ คน ๓ คน ลูกเกิดมาก็ไม่เหมือนกัน ทำไมเกิดจากพ่อแม่เดียวกันไม่เหมือนกัน นี่มันก็เกิดจากกรรมของเราไง กรรมเก่า กรรมใหม่ไง นี้พอกรรมเก่า เราหน้าตาไม่เหมือนกันแต่ทำไมพ่อแม่เดียวกัน เพราะกรรมมันให้ผลมาอย่างนั้น

ถ้ากรรมให้ผลมาอย่างนั้น กรรมเก่ากรรมใหม่ของคน กรรมเก่าที่มันเป็นกรรมเก่านะ ทำสิ่งใดก็ขาดตกบกพร่องไปตลอดเลย พอมันหมดนะมันก็ไปของมันดี ถ้ามันหมดนะ มันไม่หมดเราก็ทำดีของเรา เราทำของเรามาเองอย่างนี้ เวลาเราทำเราพอใจที่จะทำ แต่เวลาอย่างนี้เราจะมาเรียกร้องว่าทำไมไม่เสมอกัน ทำไมไม่เสมอกัน ไม่เสมอกันก็เอาวางไว้นั่นก่อน เราพิสูจน์ของเรา ถ้าพิสูจน์ได้มันก็จบนะ ถ้ามันจบมันก็เป็นประโยชน์กับเรานะ

นี่พูดถึงเรื่องเจ้ากรรมนายเวร เจ้ากรรมนายเวรนะในพุทธศาสนาสอนก็เชื่ออยู่ แต่ แต่เชื่อแบบพุทธศาสนา ไม่ได้เชื่อแบบทางโลกๆ ทางโลกๆ เป็นทรงเจ้าเข้าผีนั่นก็บ้าบอไปหมด แล้วคนชอบเชื่อนะ เพราะ เพราะมันสบาย ไปถึงก็เอาน้ำลายเป่าที ฟู่ หาย กลับบ้านได้ ชอบอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าทำดีนะไม่ชอบ ถ้าใครเป่าหัวให้ทีหนึ่งนะ แหม ไปที่นั่นแหละไปถึงก็ขึ้นครูเสร็จ เป่าหัวเสร็จกลับบ้าน ทำอะไรต่อได้สบายเลย แล้วพอมีปัญหาไปอีกแล้ว เป่าหัวอีกทีหนึ่ง หลวงตาบอกว่าพระงูเห่า เห่าพ่นฝ่อๆ อยู่นั่นแหละมันไม่ใช่ความจริง

ถาม : อยากให้หลวงพ่ออธิบายความหมายของคำว่า “กัลยาณมิตร” เนื่องจากช่วงนี้พุทธศาสนิกชนใช้กันเหลือเฟือเกิน

ตอบ : กัลยาณมิตรนะ นี่ใครบวชพระ คนที่ยังไม่ได้บวชพระเขาเรียกว่าคนดิบ ถ้าบวชพระมา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในไตรมาสหนึ่ง ๓ เดือน สึกออกไปแล้วเขาเรียกว่าเป็นคนสุก เป็นบัณฑิต บัณฑิตได้ศึกษาธรรม

ฉะนั้น ในนวโกวาทไง คนเทียมมิตร มิตรแท้ มิตรเทียม กัลยาณมิตร คนเทียมมิตรนะ มิตรเทียมคือมิตรที่ปอกลอก มิตรเทียมคือคนเข้ามาคบกับเราใช่ไหม เอาเราไปอ้างอิงหาผลประโยชน์นั่นคือมิตรเทียม แล้วเขาไม่ดูแลเรา เขาพยายามหาผลประโยชน์กับเรา มิตรแท้ มิตรแท้คือมิตรตายแทนกัน แม้แต่ลับหลังเรา เรามีความผิดพลาด ใครติฉินนินทาเรา เขาจะแก้ให้ เขาจะต่อสู้ให้ เขาพยายามจะเคลียร์ให้ว่าสิ่งนั้นเอ็งเข้าใจผิด นั่นคือมิตรแท้

นี่มิตรแท้ มิตรเทียม คนเทียมมิตร มันอยู่ในนวโกวาท พระพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้ว พระพุทธเจ้าสุดยอดๆๆ สุดยอดจริงๆ นะ เพราะเราไปอ่าน เราทึ่งพระพุทธเจ้าในเรื่องของศีลของภิกษุณี ศีลของภิกษุณีนี่นะมันมีปาราชิก ๑๓ ใช่ไหม สังฆาทิเสสเยอะมาก ของภิกษุณีนะ นี่ทำไมพระพุทธเจ้าเข้าใจอารมณ์ของผู้หญิงได้ขนาดนั้น สังฆาทิเสสของผู้หญิงนะ ภิกษุณีกับภิกษุณีทะเลาะกัน แล้วภิกษุณีไม่เอามาบอกเป็นสังฆาทิเสส ไม่ให้เก็บเรื่องไว้ไง นี่ทำไมพระพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องความรู้สึกของผู้หญิง เราอ่านวินัยเรื่องภิกษุณี อู๋ย สุดยอดมาก สุดยอด คิดไม่ถึง คิดไม่ได้ ใครคิดไม่ได้ พระพุทธเจ้ารู้ แล้วบัญญัติห้ามไว้เลย นั่นล่ะถึงว่าความสุดยอด นี้ความสุดยอดมันก็ย้อนกลับมากัลยาณมิตร กัลยาณมิตรพระพุทธเจ้าวางไว้หมดแล้ว

ฉะนั้น

ถาม : ให้หลวงพ่ออธิบายคำว่ากัลยาณมิตร

ตอบ : มิตรแท้ มิตรดี ถ้ามิตรแท้นะ ธรรมดาในสังคมโลกเราฟังเรื่องทหาร ทหารเขาใช้คำว่า “เพื่อน” ถ้าใครเป็นเพื่อนนะ เขาบอกคำว่าเพื่อนเขาไม่พูดกับใครง่ายๆ ไม่ใช่เพื่อนเราๆ ถ้าเขาว่าเพื่อนเรานะเขาตายแทนกัน ทหาร คำว่าเพื่อนของเขา ถ้าเพื่อนนะเขาตายแทนกันได้เลย แต่เขาไม่ใช้คำว่าเพื่อนกับใครง่ายๆ นะ เขาหาของเขา นี่มิตรไง คำว่ามิตร กัลยาณมิตร ถ้ามิตรแท้ มิตรแท้นะ มิตรแท้มันจะรักกันจริง รักกัน ห่วงหาถึงกัน ลับหลัง ต่อหน้าดูแลกัน รักษากัน นั้นมิตรแท้ แต่ในสมัยโลกนี้มันมีแต่มิตรเทียม มิตรเทียม ฉะนั้น คำว่ามิตรเทียมนะเราก็ต้องรักษาใจเรา มิตรเทียมไง

ฉะนั้น

ถาม : เนื่องจากว่าพุทธศาสนิกชนใช้ผิดๆ ถูกๆ

ตอบ : มันอยู่ในนวโกวาท นี่เป็นบัณฑิตเลี้ยงดูพ่อแม่อย่างไร ทำอย่างไร นี่กัลยาณมิตร พอกัลยาณมิตรปั๊บมันก็อยู่ในอเสวนา อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ไม่คบคนพาล ให้คบบัณฑิต ทีนี้เวลาบัณฑิตมันก็มีพาลนอก พาลใน เวลาพาลนอกก็คนพาลมารังแกเรา คนพาลมาทำอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นนาย นายก็ความคิด คิดดี คิดชั่ว คิดดีก็เป็นบัณฑิต คิดชั่วก็เป็นพาล มิตรนอก มิตรใน

นี่เวลากรรมฐาน เวลาครูบาอาจารย์สอนท่านสอนอย่างนี้เลย สอนจากบุคคลภายนอก แล้วสอนจากความรู้สึกภายใน แล้วมันจะย้อนกลับเข้ามา แล้วย้อนกลับมา มันจะรู้มันจะเห็นของมัน มันจะเป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงมันก็เป็นความถูกต้อง อันนี้มิตรแท้ มิตรเทียมนะ

ถาม : เรียนถามหลวงพ่อว่าถ้าญาติโยมกล่าวคำถวายสังฆทานอาหารให้พระแล้ว แต่พระไม่ได้ทำการอุปโลกน์สังฆทานด้วยการสวดยัคเฆ อาหารที่เหลือจากพระที่ฉันแล้ว ถ้าโยมนำไปบริโภคจะเกิดโทษหรือไม่? ถ้าเกิดโทษมีวิธีแก้อย่างใด?

ตอบ : กรณีนี้มันกรณีแบบทางการทำงานของโลก การเซ็นสัญญาไง ถ้าคนไม่เซ็นสัญญาต่อกัน สัญญานั้นไม่สมบูรณ์ สัญญานั้นบังคับใช้ไม่ได้ การทำบุญก็เหมือนกัน การทำบุญ ถ้าเราไปทำบุญนะ ถวายพระมันก็เป็นทำบุญระหว่างโยมนั้นกับพระ แต่ถวายสังฆทาน ถวายสังฆทานก็ทำสัญญาไง เขียนสัญญาขึ้นมา พอเขียนสัญญาขึ้นมา นี่เป็นสังฆทานนะกล่าวถวายสังฆทาน พระก็สาธุ มันก็เป็นสังฆทาน พอเป็นสังฆทานมันก็สมบูรณ์ตามสัญญานั้น ตามสัญญานั้นแล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ถ้าสัญญานั้นก็ต้องยัคเฆ

ยัคเฆหมายถึงว่าของๆ นั้นเป็นของๆ สงฆ์ พอทำสัญญาก็เป็นของๆ สงฆ์ พอของสงฆ์ก็ต้องยัคเฆ ยัคเฆหมายถึงว่าให้แจกตั้งแต่พระเถระ ให้ถึงพระปกติ ให้ถึงสามเณร ให้ถึงคฤหัสถ์ ฉะนั้น พอทำสัญญาเสร็จแล้วไม่อุปโลกน์ ทำสัญญาเสร็จแล้วฉีกสัญญาทิ้งเลย กินเลย ฉันเลย มันก็เป็นโทษ ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านถึง ดูสิเวลาไปถวายสังฆทาน ถวายผ้าป่าท่านให้สีลวันตัสสะ ไม่ให้สังฆัสสะ ถ้าสังฆัสสะมันก็เป็นของๆ สงฆ์ ถ้าสีลวันตัสสะมันก็เป็นของผู้ทรงศีล เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ทุกๆ ฝ่ายไง แต่พวกเราก็ไม่ได้อีก ศึกษามาก นักปราชญ์รู้มากบอกว่ามันไม่ได้บุญ มันจะได้บุญต้องเป็นของสงฆ์ ต้องสังฆัสสะ อ้าว ถ้ามันจะได้บุญมันต้องถวายทาน ถ้าไม่ถวายทานเดี๋ยวไม่ได้บุญอีก

อันนี้เป็นศาสนพิธี พิธีกรรมทั้งนั้นแหละ เวลาบอกว่าได้บุญ อย่างที่ว่านั่นก็จริงของเขาตามพิธีกรรม แต่ถ้าเป็นเนื้อนาบุญ ถ้าเนื้อนาบุญเรามั่นใจของเรา เราถวายมันไม่ได้บุญอย่างไร? เจตนาสำคัญที่สุด ถ้าเจตนาสำคัญที่สุด อันนั้นมันก็จบแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ทำมันก็ตามนี้จริงๆ เพราะเขาเรียกว่าวินัยตามกฎหมายไง วินัยคือกฎหมาย ถ้าวินัยบัญญัติไว้อย่างนั้น แล้วบัญญัติไว้อย่างนั้น ถ้าถวายสังฆัสสะแล้ว ถ้าพระเราไม่ยัคเฆ ไม่ยัคเฆคือไม่อุปโลกน์ แล้วฉันเป็นอย่างไร? ก็ฉันของสงฆ์

ภิกษุน้อมลาภสงฆ์สู่ตนเป็นอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ แล้วโยมน้อมลาภสงฆ์มาสู่โยมล่ะ? นี่มันเป็นที่หัวหน้า ถ้าหัวหน้าฉลาดจะไม่เป็นโทษเป็นภัยกับใครเลย ถ้าหัวหน้าไม่มีวุฒิภาวะมันก็มีสิ่งที่สะสมไปกับเรา ว่าไปทำบุญๆ เสร็จแล้วก็ได้สิ่งนี้มา สิ่งนี้เราก็ต้องฝึกกัน ถ้าในสังคมเรา เราก็ต้องทำกันนะ มันให้ผลตามนี้แหละ ให้ผลตามที่ถามมา

ถาม : เรียนถามหลวงพ่อว่าถ้าญาติโยมกล่าวคำถวายสังฆทานอาหารให้พระแล้ว แต่พระไม่ได้ทำการอุปโลกน์สังฆทานด้วยการสวดยัคเฆ อาหารที่เหลือจากพระที่ฉันแล้ว ญาติโยมนำไปบริโภคจะเกิดโทษหรือไม่? ถ้าเกิดโทษมีวิธีการแก้อย่างใด?

ตอบ : วิธีแก้ ตอนนี้ถ้าเรื่องมันผ่านไปแล้วเราก็ไปทำผาติกรรม สิ่งใดที่เราจำได้ที่ไหนเราก็บอกว่าขอทำผาติกรรมกับของที่เราได้เอาไปแล้ว ผาติกรรมก็เหมือนกับทางโลกธุรกิจ ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ผาติกรรมก็คือการแลกเปลี่ยน ในเมื่อสิ่งนี้มันย่อยสลายไปแล้ว มันไม่มีวัตถุสิ่งนั้นจะมาคืนแล้ว เราก็แลกเปลี่ยนด้วยทรัพย์ เอาด้วยทรัพย์ไปที่นั่นแหละ ไปที่วัดนั้นแหละบอกเขาว่าขอทำผาติกรรม บอกเขาเลย

ศีล ๕ ศีล ๕ นะ ของที่วางอยู่ หยิบของที่เจ้าของไม่ได้ให้เคลื่อนจากที่ นี่ศีล ๕ ถ้าพระขาดจากพระเลย ถ้าเป็นโยมนี่ขาดศีล ๕

ฉะนั้น ถ้าศีล ๕ ศีล ๕ ของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เราไปเอาของเขา นี่ศีล ๕ คือลักของเขา นี้เพราะถ้าศีล ๕ นะ ถ้าเราขอเขาล่ะ? เราบอกนะ โดยทั่วไปถ้าเราบอกขอนี่นะ เราขอ เราขอ คือว่าถ้าเราคุยกันพูดนะไม่ใช่ลัก ถ้าไม่ใช่ลักขโมยศีล ๕ ไม่ขาด นี่ก็เหมือนกัน คนเราพูดกัน บอกกันมันไม่ผิดเลย มันผิดที่ทิฐิ ถ้าขอเขาซะก็เสียหน้า ถ้าไม่เห็นก็หยิบเอาเลยนี่ดี ถ้าเขาเผลอหยิบ นั่นแหละศีลขาด แต่ถ้าเราขอเขา ของใช้เราขอซะศีล ๕ ไม่ขาด นี่ก็เหมือนกัน สิ่งนี้เราไปผาติกรรมมันก็จบ ทำผาติกรรมซะถ้าจะแก้นะ ทำผาติกรรมแก้ไข เพราะถ้าใครระลึกได้ควรแก้ ควรทำให้มันสบายใจหนึ่ง

สองเกิดไปภพใดชาติหน้า ชีวิตมันจะได้ไม่ต้องมาลุ่มๆ ดอนๆ ไง เราทำอะไรไว้ก็ไม่รู้ เราพูดอย่างนี้เราเองเราก็ไม่รู้หรอก ก่อนบวชไม่รู้อะไรหรอก แล้วพอมาศึกษา มาดูพระไตรปิฎกแล้วปฏิบัติด้วย พอพูดพูดไปลูกศิษย์นี่เยอะมาก ลูกศิษย์เยอะมากนะ เพราะส่วนใหญ่แล้วเรียนโรงเรียนประชาบาล โรงเรียนประชาบาลตั้งอยู่ในวัด เด็กทุกคนเก็บของวัดกิน แล้วเด็กทุกคนก็ร้อน กลับไปทำผาติกรรมเยอะมาก

เด็กเยอะมาก เพราะเราเด็กประชาบาล เกิดเรียนมาจบโรงเรียนวัด แล้วโรงเรียนวัดมันก็มีต้นไม้หลากหลาย เก็บกินมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่มีใครรู้หรอก แต่ถ้าหัวหน้ารู้นะ พระที่วัดท่านรู้ท่านบอกว่าท่านอนุญาต ถ้าเป็นพระที่วัดนั้นนะท่านรู้ว่าเด็กมันไร้เดียงสา เจ้าอาวาสนั้นต้องบอกว่าสงฆ์อนุญาตให้หมดเลย ให้ไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน

สงฆ์ทำได้ เจ้าอาวาสเป็นผู้มีสิทธิ์ในอาวาสนั้น เป็นของๆ สงฆ์นั้น เจ้าอาวาสนั้นบอกว่าอนุญาตเพราะเด็กมันไม่เข้าใจ อนุญาตถ้าของนั้นตก ของนั้นหล่น ของนั้นเป็นอาหารที่เด็กเก็บกิน สงฆ์นั้นอนุญาต อนุญาต เด็กนั้นจะได้ไม่มีเวร ไม่มีกรรมนะ แต่ถ้าไม่ได้ทำอะไรไว้ ตามกฎหมายคนไทยปฏิเสธกฎหมายไทยไม่ได้ ชาวพุทธปฏิเสธธรรมวินัยไม่ได้ ให้ผลตามนั้น แล้วเราแก้ไป สิ่งนี้มันล่วงมาแล้ว เราแก้ของเราไปนะ

ถาม : ธรรมะให้อะไรกับเราบ้างในชีวิตที่อยู่กับโลกปัจจุบัน?

ตอบ : ธรรมะให้อะไรบ้างนะ ธรรมะ สังคมร่มเย็นเป็นสุข ทุกคนปรารถนาสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข สังคมที่มีความขัดแย้ง สังคมที่มีความเห็นแก่ตัว สังคมที่มีแต่ความทุกข์ยากทุกคนไม่ปรารถนา ธรรมะคือสัจธรรม สอนคนให้ทุกๆ คนรู้จักมีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน ธรรมะให้ความร่มเย็นกับสังคม ธรรมะสอนให้มนุษย์อย่าเอารัดเอาเปรียบสัตว์ แม้แต่สัตว์ก็อย่าทำลายสัตว์ เพราะสัตว์มันก็รักชีวิตของมัน

ศีล ๕ ห้ามทำลายทุกๆ อย่าง แต่ถ้าลัทธิศาสนาอื่นเขาบอกว่าสัตว์ที่เป็นอาหารฆ่ามันไม่เป็นบาป แต่คิดดูสิสัตว์มันรักชีวิตของมัน ศาสนานี่ไม่ให้คนเบียดเบียนกัน ไม่ให้คนทำร้ายกัน ให้คนมีแต่ความเมตตาต่อกัน ศาสนาให้อะไรกับเราบ้าง? ศาสนาให้ความร่มเย็นเป็นสุข ศาสนาให้ชีวิตนี้มาอยู่ในสังคมที่ราบรื่นดีงาม นี้มันราบรื่นดีงาม ทำไมสีเสื้อมันทะเลาะกันไม่จบอยู่นี่ สีเสื้อมันทะเลาะกันไม่จบ ก็ทิฐิมานะของพวกมันนั่นล่ะ ทิฐิมานะในหัวใจนั่นล่ะ

ถ้าทิฐิมานะ เห็นไหม เราเอาทิฐิมานะมาให้อภัยต่อกัน เลิกแล้วต่อกัน แต่นี้เขาก็เลิกแล้วต่อกันด้วยปากทุกคน ให้อภัยที่ปากทุกคนเลย ทุกคนให้อภัยหมดเลยที่ปาก แต่พฤติกรรมมันทำอะไรกันอยู่ เวลาให้นี่ให้ที่ปากนะ ปากนี่ให้ทุกคนเลย ถ้าปาก พฤติกรรมมันฟ้อง พฤติกรรมนั่นแหละมันทำ อันนั้นแหละ นี่อันนี้มันถึงให้แต่ความขัดแย้ง นี่กิเลสมันให้แต่โทษ ธรรมะให้แต่ความร่มเย็นเป็นสุขนะ ให้ความร่มเย็นเป็นสุขกับโลก ดูสิผู้ปกครองที่เป็นธรรมสังคมจะร่มเย็นขนาดไหน ผู้ปกครองที่เป็นโลก ผู้ปกครองที่เห็นแก่ตัว เราไม่รู้เรื่องหรอกนะ

เราไปธุดงค์ทางอีสาน แล้วไปเจอพวกชาวลาวเขามาอยู่ในเมืองไทย คุยกับเขา เขาบอกว่าสมัยที่เขาเป็นอาณานิคมในฝั่งลาว ฝรั่งเศสมันเก็บค่าหัวนะ ภาษีที่อยู่อาศัย เก็บหมดนะ นี่พอเป็นเมืองขึ้นเก็บภาษีมนุษย์ทุกคน เก็บภาษีบุคคลเลย ใครอยู่ในประเทศต้องเสียภาษี เขาบอกเลย เลยหนีมาอยู่เมืองไทย มาอยู่เมืองไทยไม่เสียภาษี นี่ร่มเย็นเป็นสุขไหม? ศาสนาให้อะไร? เราไปมองกันไง ไปมองว่าศาสนา ถ้าคนมองนะ มองศาสนาก็มองพระนี่ไง แล้วพระที่ทำตัวเหลวไหลนะ แล้วเวลาศาสนาดีทำไมพระพฤติกรรมเป็นอย่างนั้นกัน ก็ไปโทษศาสนาอีกแล้ว

ไอ้นั่นมันศาสนบุคคล ศาสนบุคคลที่เข้ามาบวชแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่แสวงหา ไม่ทำคุณงามความดีขึ้นมา เราถึงบอกว่าศาสนาไม่ให้อะไรกับใคร ศาสนาเป็นลูกตุ้มสังคม ศาสนานี่เอาเปรียบ คนจนผู้ยิ่งใหญ่คือหลวงตา มีบริขาร ๘ มอบรถให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน หาเงินเข้าคลังหลวง คนทุกข์คนจนที่ไม่มีทางออกหลวงตาช่วยเหลือ หลวงตาท่านพยายามให้หัวใจของคนที่ทุกข์ที่ยากให้มีที่พึ่งอาศัย ศาสนาให้อะไรกับสังคมล่ะ? ศาสนาให้อะไร?

ถาม : ธรรมะได้ให้อะไรกับเราบ้างในชีวิตที่อยู่ในโลกนี้

ตอบ : ในโลกนี้ ศาสนาเป็นที่พึ่งนะ เป็นที่พึ่ง เห็นไหม แก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่สัจธรรมเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนี่คนจะจมน้ำมันจะเกาะอะไรไป เวลาประพฤติปฏิบัติหลวงตาบอกว่าแม้แต่ซากศพมันยังต้องเกาะไปเลย คนเราจะจมน้ำ มีซากศพลอยมา เราจะเกาะซากศพนั้นไหมเพื่อดำรงชีวิตของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ในชีวิตประจำวันของเรา ชีวิตประจำวันมันมีอะไรบ้างที่เป็นแก่นสาร สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยสัจ อริยสัจ เห็นไหม นี่มันจะเข้าไปชำระล้างไอ้ความเห็นผิด ชำระล้างในหัวใจ โอ๋ย มันมีคุณมหาศาลเลย นี่เราเห็นว่าศาสนาเป็นเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ ที่ไหนเขาก็หาได้ แต่ถ้าใจร่มเย็นหาที่ไหน แล้วใจที่มีมรรคญาณนะ ใจที่มีศีล สมาธิ ปัญญา

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ สอนปัญจวัคคีย์ ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบัน ทำไมปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ ยสะเป็นพระอรหันต์ ทุกอย่างเป็นพระอรหันต์ ธรรมะให้อะไร? ธรรมะให้อะไร? ให้ชีวิตใหม่ไง ให้ชีวิตที่พ้นจากทุกข์ไง ให้สัจธรรมที่หัวใจพ้นจากกิเลสไง ให้แล้ว แต่เราทำได้หรือเปล่า? พระพุทธเจ้าวางไว้แล้วเราทำได้หรือเปล่า? ถ้าเราทำของเราไม่ได้ เราถึงว่าศาสนาให้อะไรกับใคร? ให้แล้วแต่เราไม่เห็น

ถาม : ๑. ขณะเกิดกิเลสเช่นความโกรธเกิดขึ้น เรารู้ว่าเราโกรธ แล้วมันจะคิดขึ้นมาได้วูบหนึ่งว่าโกรธแล้วไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อ เช่นหยุดโกรธหรือปล่อยให้โกรธต่อไปดู ส่วนใหญ่จะพ่ายแพ้แล้วก็โกรธต่อ ไม่ทราบว่าทำถูกหรือไม่

๒.ระหว่างที่ภาวนาจะตึงบริเวณปลายจมูกระหว่างคิ้ว ไม่ทราบว่าจะแก้อย่างใด

ตอบ : ขณะที่เกิดกิเลสเช่นความโกรธเกิดขึ้น เราจะรู้ว่าเราโกรธ ขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันมีเชื้อไขอยู่ในหัวใจ แต่มันไม่มีสิ่งใดกระทบมันก็ยังไม่แสดงตัว ความหลงมันมีอยู่แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลงในจิตใจของเรามันมีเชื้อไขอยู่แล้ว แต่พอมีสิ่งใดกระทบ พอมีสิ่งใดกระทบมันก็จะแสดงออก

ฉะนั้น คนถ้าโกรธเขาเรียกโทสจริต ถ้าโทสจริตมีสิ่งใดขัดอกขัดใจมันจะมีความโกรธของมันตลอดเวลา วิธีการแก้ เวลาความโกรธเกิดขึ้น เราจะหยุดความโกรธต่างๆ เขาว่าให้คิด ให้ตามๆ ถ้าคิดตามกับเขา โกรธหนอๆๆ มันก็โกรธหนอๆ กดไว้ แต่สำหรับถ้าเป็นกรรมฐานเรานะ นี่ความโกรธมันมีกับเรานะ ใครถ้าเป็นโทสจริตใช่ไหมให้เราแผ่เมตตาไว้ ให้แผ่เมตตาไว้ สรรพสัตว์ทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นญาติกับเราทั้งสิ้น

เวลาเราโกรธ เราโกรธคนอื่น เราโกรธรุนแรงมากเลย แต่ถ้าเราโกรธกับลูกกับเต้าเราล่ะ? ความโกรธนั้นมันจะรุนแรงขนาดไหน? ถ้าเราโกรธกับพ่อกับแม่ของเราล่ะ? เราโกรธกับญาติของเราล่ะ? สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายเป็นญาติกับเราทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าเป็นญาติกับเรา มนุษย์ก็คือมนุษย์ มันเป็นญาติกันโดยธรรม มนุษย์ก็มีปาก มีท้องเหมือนกัน ถ้าเราใช้เมตตาแผ่อย่างนี้ ไอ้ความโกรธมันจะเริ่มเบาลง คนที่เราจะโกรธ จะต่างๆ ก็พวกเราทั้งนั้น จะโกรธใครล่ะ? จะโกรธใคร?

อ้าว หลวงตาท่านพูดว่าแขนซ้ายจะโกรธแขนขวาไหม? ร่างกายเรา ไอ้แขนนี้มันโกรธแขนนี้ไหม? ทะเลาะกันไหม? ทะเลาะกันๆ มันก็ไม่ทะเลาะกัน เพราะมันเป็นตัวเรา แต่ถ้าเป็นคนอื่นไม่ได้นะ โอ๋ย โกรธน่าดูเลย โกรธน่าดูเลย

ถาม : นี่เวลาโกรธเกิดขึ้น ทำอย่างไรต่อไปให้มันหยุดโกรธ

ตอบ : เวลาโกรธเกิดขึ้นมันเหมือนกับไฟป่ามันลุกแล้ว ไฟป่ามันลุกแล้วนะเขาก็ต้องดับไฟป่า ไอ้นี่เวลาโกรธมันเกิดขึ้นมันรุนแรงแล้ว ฉะนั้น ก่อนที่ไฟป่าจะเกิดขึ้นเรารักษาไม่ให้เกิดไฟป่า คือเราพยายามแผ่เมตตาของเรา เรามีสติกับเรา พอมันจะโกรธใคร? แน่ะๆๆ โกรธอีกแล้ว เขาก็พวกเราทั้งนั้น เราจะโกรธใคร แน่ะๆๆ โกรธอีกแล้ว เขาก็พวกเราทั้งนั้น ดับมันๆ พยายามดับมัน ฝึกหัดอย่างนี้ แล้วเรื่องภาวนานั้นอีกเรื่องหนึ่ง ไอ้เรื่องพุทโธ พุทโธไป เดี๋ยวจิตมันสงบไปแล้วมันจะรู้ของมัน ไอ้นี่พอโกรธเกิดขึ้นไฟป่ามันติดแล้ว จะดับไฟป่า จะดับไฟป่า พุ่งเข้าไปมันก็ไหม้หมดน่ะสิ เราก็ต้องดูแลแบบนี้

ฉะนั้น ถ้ามันดูแลได้มันก็จะดูแลของมันได้ ความโกรธนะ ความโกรธแก้นะพยายามให้มันเบาลงแล้วมีสติควบคุมไป แล้วพยายามภาวนาของเราไป มันจะดับ มันจะหมดสิ้นต่อเมื่อพระอนาคามี เพราะพระอนาคามี กามราคะ ปฏิฆะ ปฏิฆะคือข้อมูลความโกรธ ปฏิฆะพระอนาคามีถึงจะละตรงนี้ได้ พระอนาคามีจะละกามราคะ ปฏิฆะได้ แต่เรายังละไม่ได้เพราะมันมีเชื้อไขอยู่กับเรา แล้วเรานิสัยเป็นแบบนี้

คนขี้โกรธ คนมักโกรธมันจะโกรธบ่อยๆ ถ้าโกรธบ่อยๆ นะ ถ้าเราตามความโกรธไปก็จะเป็นนิสัยคนขี้โกรธ แต่ถ้าเราว่าเราเป็นคนขี้โกรธมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เราก็พยายามฝึกหัดของเรา แผ่เมตตาของเราไว้ ดูแลเราไว้เพื่อกับเรา คือไม่ให้ไฟเผาเราก่อนไง เวลาโกรธขึ้นมามันเผาเราก่อนนะ แล้วมันก็ไปเผาคนอื่น

ฉะนั้น ถ้าเราดูแลก็ดูแลเพื่อเรา ไม่ใช่ละโกรธเพื่อคนอื่นนะ ไม่ใช่เพื่อใครเลย เพื่อหัวใจดวงนี้ เพื่อหัวใจดวงนี้ เราพยายามดูแลเราเพื่อหัวใจดวงนี้ ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อหัวใจดวงนี้ หัวใจเราเองนั่นล่ะ ถ้าเพื่อเรามันทำได้ไง เอ๊ะ ทำทำไม? เราได้อะไร? คนได้อะไร? ทำแล้วเราแพ้เขา ใครมาย่ำยีแล้วเราก็ไม่โกรธ เราแพ้เขา ไม่ใช่ เพื่อใจดวงนี้ เพื่อใจดวงนี้ ไม่สร้างเวรสร้างกรรมต่อไป เราสร้างคุณงามความดี ถ้าคิดอย่างนี้ได้มันทำได้ ถ้าคิดไม่ได้นะจะทำเพื่อใครล่ะ? มันทำไม่ได้หรอก

ถาม : ๒. เวลาภาวนาไปแล้วมันตึงๆ ที่บริเวณจมูกหว่างคิ้ว ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างใด

ตอบ : เวลาสิ่งใดเกิดขึ้นก็วางไว้ เวลามันตึงๆ ที่จมูกเราอยากจะแก้ ตึงๆ ที่หว่างคิ้วอยากจะแก้ แต่ไปคิดเยอะๆ มันเลยแก้ไม่ได้ไง ยิ่งคิดมันก็ยิ่งชัดเจนไง แต่ถ้าเวลากำหนดพุทโธ กำหนดอานาปานสติ กำหนดปัญญาอบรมสมาธิ เราหยุดอยู่ตรงนั้น มันจะเกิดขึ้นนี่วางไว้ วางไว้ไม่รับรู้มันจะจางหายไป การจะจางหายไป มันจะจางหายไปเพราะจิตนี้มันยางเหนียว มันเลยแปะไว้มันแน่น แต่พอเราใช้ปัญญาใคร่ครวญแล้ว ยางเหนียวนั้นมันอ่อนลง

สิ่งที่ว่ามันปวดหว่างคิ้ว ปวดที่ปลายจมูกมันจะหายไป แต่ถ้าเราอยากแก้ไข อยากจะให้มันหายเราก็พยายามเอาสิ่งนั้นมาวิเคราะห์ วิจัย เอาสิ่งนั้นขึ้นมาเป็นประเด็น มันจะปวดอยู่อย่างนั้นแหละ ปวดหว่างคิ้ว ปวดหว่างคิ้ว มันก็ปวดอยู่นั่นแหละ พุทโธไว้ ปัญญาอบรมสมาธิไว้ หว่างคิ้วไม่เกี่ยว หว่างคิ้วไม่รับรู้ ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น หายครับ หาย แต่มันค่อยๆ หายไป ค่อยๆ หายไป แต่ถ้ามันหว่างคิ้ว ปวดหว่างคิ้วมันจะไม่หายไป มันจะชัดเจนขึ้น

เหมือนกับมีบาดแผลแล้วก็เขี่ยอยู่เรื่อย สะกิดอยู่เรื่อย เลือดก็ออกอยู่เรื่อย แต่ถ้ามีแผลไม่สะกิดมัน ทายาไปเดี๋ยวมันหาย ถ้ามันมีความรู้สึก หว่างคิ้วมีความรู้สึกต่างๆ นี่อยู่กับพุทโธ อยู่กับปัญญา อยู่กับเรา เดี๋ยวมันจะหายไป ค่อยๆ จางหายไป ค่อยๆ จางหายไป มันจะหายแบบนี้ ค่อยๆ หายไป หายเด็ดขาด เพราะ เพราะจริงๆ แล้วมันไม่มี จริงๆ แล้วจิตมันไปยึด แล้วถ้าเรามีสติขึ้นมาแล้ว จิตมันปล่อยแล้วก็คือจบ แต่นี้พอยิ่งอยากรู้+อยากเห็น จิตก็ยิ่งยึดมากขึ้นๆ มันก็จะรู้สึกมากขึ้นๆ แล้วมันก็จะปวดอยู่ที่หว่างคิ้วมากขึ้นๆ ตั้งสติไว้แล้วมันจะหายของมันไป

มันจะจบแล้วล่ะ จะจบแล้ว ไม่มีอะไรเนาะ เอวัง