เทศน์บนศาลา

วงปฏิบัติ

๓ ต.ค. ๒๕๔๖

 

วงปฏิบัติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอ้า ฟังธรรม ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม กว่าจะแสวงหาธรรม กว่าจะได้ธรรมมา ๖ ปี ประพฤติปฏิบัติมา ความยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหนทำมาทุกอย่าง ทำมาเพื่อจะให้รู้แจ้ง ถ้ารู้แจ้งในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แล้วปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์

เวลาไปสอนปัญจวัคคีย์ บอกปัญจวัคคีย์เลย เคยอยู่ด้วยกันมา ๖ ปี เคยพูดคำนี้ไหม นี่เวลาไปศึกษา ไปศึกษากับอาฬารดาบส ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เวลาปฏิบัติไปแล้ว ถ้าไม่สิ้นกิเลสก็ไม่ปฏิญาณตนว่าสิ้นกิเลส แต่ต้องค้นคว้าด้วยตัวเอง นี่สยมภูตรัสรู้ด้วยตนเอง เพราะธรรมะนี้เป็นของมหัศจรรย์มาก ผู้ที่จะเข้าถึงนี้เป็นสิ่งที่ว่า ค้นคว้าไม่สามารถจะเข้าได้ เพราะมันละเอียดมาก มันลึกซึ้งไง

ความลึกซึ้งอยู่ในหัวใจของเรา ความกว้างขวาง ใจของเราคิดไปหมด ๓ โลกธาตุนี้คิดไปหมด จินตนาการเรื่องของสวรรค์ก็ได้ นรกก็ได้ จินตนาการได้ไปหมด นี่สิ่งนี้กว้างขวางมาก ไม่ใช่กว้างขวางในจักรวาลนี้นะ กว้างขวางในมิติ ใน ๓ โลกธาตุ ใจมันกว้างขวางขนาดนั้น แล้วไม่มีขอบเขต ใจดวงนี้เคยไปเกิดไปตายมาหมด สิ่งนี้มันจะหมายไปได้หมด นี่กว้างแสนกว้าง ลึกแสนลึก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งใจ ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างสมบุญญาธิการมามหาศาล ถึงค้นคว้าสิ่งนี้ได้ ต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาค้นคว้าธรรมเท่านั้น นี่วงปฏิบัติไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมาก่อน ประพฤติปฏิบัติมาจนรู้แจ้งเห็นจริงในหัวใจ แล้วถึงได้วางธรรมไว้ วางธรรมไว้ให้เราก้าวเดิน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะแสดงก็แล้วแต่ จะไม่พ้นจากพุทธวิสัย วิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้กว้างขวางมาก ครอบคลุมไปหมด ผู้ที่แสดงมันก็ได้แค่ปลีกย่อยเท่านั้นเอง ได้ส่วนหนึ่ง ได้ปลีกย่อย ได้แต่จริตนิสัยของผู้ที่จะแสดงเท่านั้น นี่วงปฏิบัติ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติแล้วเห็นไหม ถึงได้สอนพระกัสสปะ พระกัสสปะเป็นผู้ที่ออกบวช แล้วประพฤติปฏิบัติจนสิ้นกิเลสเหมือนกัน พระกัสสปะสิ้นกิเลสแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระกัสสปะว่า พระกัสสปะถือธุดงควัตรอยู่เพื่อเหตุใด? นี่สิ้นกิเลสแล้วไม่ต้องชำระกิเลสใดๆ เลย กิเลสในหัวใจไม่มี ถือธุดงควัตรไปเพื่ออะไร

พระกัสสปะบอกกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือไว้ไม่ได้ชำระกิเลส เพราะกิเลสไม่มี กิเลสสิ้นไปจากใจ แต่ถือธุดงควัตรนี้เป็นคติ เป็นตัวอย่าง ให้อนุชนรุ่นหลังได้ประพฤติปฏิบัติตาม นี่แนวทางประพฤติปฏิบัติ สร้างสมมา วางแนวทางมา พระกัสสปะเป็นพระถือธุดงควัตรที่อุกฤษฏ์มาก ได้รับการเอตทัคคะการถือธุดงควัตร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงกับขอแลกสังฆาฏินะ สังฆาฏิเย็บ สังฆาฏิปะแล้วปะเล่า ปะเพราะเก็บไง ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไม่รับคฤหบดีจีวร สิ่งที่เขาถวายเป็นผ้านี้ไม่รับ ใช้บังสุกุลไง เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อให้กิเลสนี้มันมีสิ่งที่ต่อต้านมัน ไม่ให้ปรนเปรอกิเลสไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งเสริมนะ ส่งเสริมในการประพฤติปฏิบัติ เวลาพระโสณะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปจำวัดอยู่ในวิหารกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระโสณะมาจากชนบทประเทศ

พระกัจจายนะไปเผยแผ่ธรรม เผยแผ่ธรรมรอจะบวชพระโสณะ พระโสณะมีศรัทธามาก อยากประพฤติอยากบวช รอจนให้พระครบ ๑๐ องค์ มันรอได้ช้ามาก ต้อง ๓ ปีหรือ ๕ ปีถึงจะได้บวช บวชแล้วพระโสณะประพฤติปฏิบัติ จนมีดวงตาเห็นธรรม แล้วอยากไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก เพราะในการประพฤติปฏิบัติ มันรู้แจ้งเห็นจริงเข้ามาในหัวใจ มันมหัศจรรย์

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นผู้ที่ค้นคว้ามา อยากกราบ อยากไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอพระกัจจายนะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระกัจจายนะฝากไปให้ขอ ให้ชนบทประเทศ พระ ๕ องค์ขอให้บวชได้ แล้วขอรองเท้า ๒ ชั้นมาใส่ รองเท้าชั้นเดียวมันใส่ไม่ไหว เพราะว่าอยู่บนเขา หินมันแหลม ขอให้ใส่รองเท้าหลายๆ ชั้นได้ นี่ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ได้พักอยู่ในวิหารหลังเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้พวกเราประพฤติปฏิบัติไง นี่วงปฏิบัติ ถ้าปฏิบัตินะ ในสมัยพุทธกาลเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปลีกวิเวก อยู่ในวิหาร อยู่ในที่สงัด จะตั้งกติกาว่าห้ามพระเข้ามา ห้ามพระเข้าหา เว้นไว้แต่ผู้ที่ปฏิบัติ เว้นไว้แต่ผู้ที่อยู่ป่า

สมัยนั้น เวลาพระที่ศึกษานะ เรียนปริยัติ สมัยก่อนมันไม่มีตำรา สมัยก่อนต้องเรียนปากต่อปาก เวลาจะศึกษากันต้องปากต่อปาก นี่ปริยัติในสมัยพุทธกาลก็มี ปฏิบัติในสมัยพุทธกาลก็มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดโอกาสให้ฝ่ายปฏิบัติได้เข้าหา ถ้าผู้ที่เป็นปริยัติจะเข้าหา ห้าม!

ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามแล้วนี่ ใครเข้าหาจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามสิ่งใด สิ่งนั้นจะเป็นวินัยไปทั้งหมด เว้นไว้ให้ผู้อยู่ป่า ผู้อยู่ป่านี่เข้าหาได้ตลอด สิ่งที่เข้าหาได้ตลอดเวลาติดขัดไง ติดขัดในการประพฤติปฏิบัติจะเข้าหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแก้ไขให้ได้ตลอด

ผู้ที่อยู่สมัยนั้น ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนจะมีสันถัต หล่อสันถัต ถ้าเป็นการคาดหมายก็เหมือนกับพรม มีพรมอยู่ประจำตัว พระป่าไม่มี พระป่าถือบริขาร ๘ อยู่ในป่า สิ่งนั้นไม่มี พอเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดโอกาสให้พระป่าได้เข้าหาได้ตลอดเวลา แต่พระปริยติไม่ให้เข้าหา นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการวิเวกไง

ผู้ที่ต้องการโอกาสอย่างนั้น ทิ้งสันถัตเกลื่อนไปหมดเลย ในพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนั้น ทิ้งสันถัตคือว่าของที่ใช้ประจำตัว ไปไหนก็แบกไปด้วย เพราะต้องการความสะดวก ต้องการความสบาย การศึกษาเล่าเรียน ก็ศึกษาเล่าเรียนด้วยความเห็นของตัว นี่การศึกษาเล่าเรียน ศึกษาสภาวะแบบนั้น

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้ผู้ประพฤติปฏิบัติ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเพราะ การประพฤติปฏิบัติ เพราะการค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “ปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะ รู้ตามไป.. รู้ตามไป..” เพราะมีพื้นฐานของสมาธิอยู่แล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามค้นคว้าอยู่ ๖ ปี พยายามค้นคว้าอยู่ นั่นล่ะตั้งฐานของตัวเอง แต่ยังไม่มีปัญญาไง ปัญญาในการชำระกิเลสไม่เกิดขึ้น ยังไม่มีใครเกิดขึ้น ปัญจวัคคีย์ก็อุปัฏฐากอยู่ก็มีสมาธิอยู่ พร้อมอยู่ตลอดเวลา แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงธรรมขึ้นมา “ธรรมจักร” พระอัญญาโกณฑัญญะรู้เข้ามา

สิ่งที่พระอัญญาโกณฑัญญะรู้เข้ามา นี่เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก แล้วปัญจวัคคีย์ก็รู้ตามไป มาสอนพระยสะก็รู้ตามไป สงฆ์ ๖๐ องค์ รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๖๑ องค์ พ้นจากบ่วงของมาร พ้นจากบ่วงที่เป็นของโลก และบ่วงที่เป็นทิพย์ พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นของใจ ให้ออกเผยแผ่ธรรม ให้ไปคนละทางอย่าซ้ำทางกัน เพื่อให้โลกได้พึ่งพาอาศัย สิ่งที่พึ่งพาอาศัยคือพึ่งพาอาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในหัวใจนั้น พึ่งพาอาศัยธรรมของพระปัญจวัคคีย์ พระยสะ

สิ่งที่รู้ขึ้นมาในหัวใจนั้น เป็นธรรมที่สะอาดไง เป็นธรรมที่ว่ารู้ขึ้นมาจากหัวใจ เป็นธรรมเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาก่อน แล้วเผยแผ่มา สิ่งนี้เป็นธรรมในหัวใจ สภาวธรรมคืออย่างนี้ไง

แต่ในการศึกษา ในการเล่าเรียนนั้น มันเป็นศึกษาธรรมเพื่อเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน สิ่งที่เป็นแผนที่ดำเนินนี้ เราจะเอาขึ้นมาเป็นหลักเกณฑ์ของเราไม่ได้ ในการศึกษาธรรม ในการศึกษาพระไตรปิฎก เวลาเราศึกษา เวลาเราอ่านตำราเข้าไป เราจะซาบซึ้ง สิ่งที่ซาบซึ้งเพราะอะไร เพราะมันสะเทือนหัวใจ สิ่งนี้ในพระไตรปิฎกก็มีอยู่แล้ว เราไม่ได้อ่านมันก็มีอยู่นั้น แต่พออ่านขึ้นมา เพราะมันตรงกับจริต ตรงกับนิสัย ตรงกับความข้องใจของเรา

ถ้าใจเราข้องสิ่งนี้ เราอ่านสิ่งนี้เข้าไป มันจะมีความเข้าใจ มันจะรู้ขึ้นมา มันเหมือนกับว่ามันรู้มันมีความสบายใจ ความสบายใจเห็นไหม สิ่งนี้เป็นความสบายใจ มันเป็นเรื่องของสภาวธรรมที่เข้าถึงใจ มันเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา แล้วก็เกิดภาวนามยปัญญา

สิ่งที่เกิดภาวนามยปัญญานี้ต้องเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ ในวงของประพฤติปฏิบัติเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมมา มันเนิ่นนานมาสองพันกว่าปี มันก็เริ่มเรียวแหลมไปๆ มีแต่คนจำพระไตรปิฎกไว้ได้ มีพระไตรปิฎกไว้ เราพิมพ์ไว้เป็นครู เป็นธรรมและศาสดาของเรา

สิ่งที่เป็นศาสดาของเรา เราก็ต้องค้นคว้า เราก็ต้องศึกษาของเรา นี่เราเกิดมามีอำนาจวาสนา เพราะหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ค้นคว้ามาทั้งชีวิตนะ เริ่มต้นออกประพฤติปฏิบัติ เพราะกึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง เจริญรุ่งเรืองในธรรมวินัย สิ่งที่ธรรมวินัยมีอยู่แต่ธรรมในหัวใจของผู้ที่รู้จริงมันไม่มีไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดโอกาสให้พระที่ปฏิบัติเข้าหาได้ตลอดเวลา ผู้ที่ปฏิบัติจะเข้าหา เพราะเวลาหัวใจมันลังเลสงสัย มันจะสงสัยไปทุกอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นจากใจ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการคิด ความคิดของเรามันมีกิเลสอยู่ กิเลสในหัวใจมันคาดมันหมายสิ่งต่างๆ ไป ความลังเลสงสัยเราจะมีสิ่งนั้น แล้วความลังเลสงสัย มันผลัดเขวให้เราออก

กิเลส กิเลสคือความเคยใจ สิ่งใดที่สะดวก สิ่งใดที่สบาย สิ่งใดที่เป็นความคิดที่แผลงๆ แผลงออกจากธรรมไง เรื่องแผลงๆ ของโลก เรื่องความรู้ของโลก สิ่งนี้มันพอใจ มันพอใจคิดและมันพอใจอยู่ในหัวใจของมัน มันเกิดขึ้นมาตลอด แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป มันไม่มีคนคอยแก้ไข มันก็เป็นเรื่องความกังวลใจ ถ้าเข้าหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะชี้นำตลอดไป จะคอยบอกทางผิด ทางถูก สิ่งนั้นมันเป็นทางผิด ทางถูกเห็นไหม นี่กึ่งพุทธกาล สิ่งนี้มันไม่มีไง

หลวงปู่เสาร์ เวลาออกประพฤติปฏิบัติ ต้องค้นคว้าด้วยตนเอง ตำรามีอยู่ เวลาอ่านตำราขึ้นไป มันก็มีความคาดความหมายในหัวใจของเราไปด้วย ในหัวใจไง สุดท้ายแล้วหลวงปู่มั่นออกบวช หลวงปู่มั่นก็ค้นคว้าสิ่งนี้ นี่เป็นอาจารย์เป็นศิษย์กัน ค้นคว้าร่วมกันมา เป็นถึงกับค่อนชีวิต ถึงกับว่าหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์บอกว่าไปตรัสรู้ธรรมที่เชียงใหม่ ถึงละจากหมู่ออกไปเชียงใหม่ ไปค้นคว้าสิ่งนี้ขึ้นมา มันถึงเป็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงไง

ถ้าธรรมสภาวะตามความเป็นจริง เห็นไหมในมุตโตทัย เวลาหลวงปู่มั่นบอกไว้ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มันก็ต้องเป็นอันเดียวกัน พระอรหันต์มีหนึ่งเดียว หนึ่งคือว่าจะเจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติ มรรคะก็ต้องสามัคคีเหมือนกัน ต้องสมุจเฉทปหานเหมือนกัน

สิ่งที่สมุจเฉทปหานคือมันต้องทำลายกิเลสออกไปจากใจ เหมือนกันทั้งหมด แต่ในการเดิน ในการเดินทางในเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติเราต้องทำความสงบของใจ ใจของเราต้องอาศัยความสงบของใจเป็นพื้นฐาน แล้วอาศัยใจดวงนี้ยกขึ้นวิปัสสนา ปัญญาวิมุตติอาศัยเรื่องของปัญญา สิ่งที่เกิดขึ้นจากปัญญา ปัญญาใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ไป ใคร่ครวญไป

หลวงปู่มั่นบอกกับสมเด็จฯ ที่ว่าชอบคิดไง ชอบคิดมาก ถามหลวงปู่มั่นว่า

“ท่านชอบคิดมาก จะให้ประพฤติปฏิบัติอย่างไร?”

หลวงปู่มั่นบอก “สมเด็จให้คิดมากๆ คิดเข้าไปเลย คิดมากๆ แต่ต้องมีสติไปพร้อม”

นี่จะเป็นปัญญาวิมุตติหรือเจโตวิมุตติ เวลามันก้าวเดินออกไปแล้ว ผู้ที่มีธรรมในหัวใจ สภาวธรรมเกิดขึ้นตามความเป็นจริง จะเข้าใจสิ่งนี้ไปตลอด

แต่ผู้ที่ว่า เรามีกิเลสอยู่ในหัวใจ เรามืดบอดอยู่ ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์นี่ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ เราก็ต้องใช้ปัญญาของเรา เราจะใช้ปัญญาของเรา เราจะคิดจินตนาการไปขนาดไหน นั้นก็คือโลกียะ มันเป็นโลกียะ มันจะเป็นปัญญาวิมุตติไปไหน ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ มันต้องทำความสงบของใจ จะเป็นปัญญาใคร่ครวญขนาดไหน มันก็ต้องเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่เป็นโลกียะนี้มันเป็นสิ่งที่ว่า เหมือนกับเราอ่านพระไตรปิฎก

ผู้ที่อ่านพระไตรปิฎก ธรรมและวินัยมีอยู่แล้ว สิ่งที่มีอยู่แล้วเราศึกษาเราอ่านเข้าไป เรามีความซึ้งใจมาก เราจะมีความสุขมาก นี่มันเป็นโลกียะไง เพราะเรามีกิเลสอยู่ในหัวใจ สิ่งที่เราศึกษาเราเข้าใจ ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน เราใคร่ครวญของเราด้วยปัญญาของเรา ปัญญาเราคิด เราตรึกในธรรม ธรรมข้อไหนก็ได้ เรายกขึ้นมาตรึก เราใช้ปัญญา เราใคร่ครวญไป

สิ่งที่เราใคร่ครวญไป มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่เป็นปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิเพื่ออะไร เพื่อให้เกิดมรรค สัมมาสมาธินี้เป็น ๑ ในมรรค ๘ เจโตวิมุตติก็ต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ เห็นไหม ผู้ที่กำหนดพุทโธ สัทธาจริต เริ่มต้นจากเราประพฤติปฏิบัติ เรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เราจะกำหนดพุทโธ พุทโธของเราตลอดไป

คำบริกรรมนี้สำคัญมาก ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราจะเริ่มใช้ปัญญา เราจะมีสติ สตินี้จะต้องก้าวเดินไปกับธรรมตลอด ถ้ามีสติในการใช้ปัญญาออกไปนี้ มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเราขาดสติเราคิดของเราไป นั่นเป็นปัญญาของกิเลส เป็นเรื่องความเห็นของโลก เป็นความเห็นของใจ ใจจะคิดออกไปอย่างนั้น เพราะขาดสติ

คำบริกรรมก็เหมือนกัน ถ้าขาดสติ คำบริกรรมนี้จะไม่มี เวลาการประพฤติปฏิบัติ ในวงปฏิบัติจะบอกว่า เวลากำหนดพุทโธ พุทโธ หลวงปู่มั่นกำหนดพุทโธ พุทโธ สิ่งที่กำหนดพุทโธมันจะเป็นสิ่งที่ว่าไม่เกิดปัญญา เป็นสิ่งที่ว่าเป็นคนโง่ ปฏิบัติแบบคนโง่มันจะไม่รู้สิ่งใดเลย แต่หลวงปู่มั่นบอก “ให้โง่เถิด เราให้เป็นคนโง่ ขออย่างเดียวขอให้ใจมันสงบได้ ถ้ามันโง่จริงนะ”

ถ้าเราเป็นคนโง่ เราไม่ต้องการสิ่งใดเลย เพราะเราต้องการสัมมาสมาธิ เรายังไม่ถึงขอบเขตของปัญญาที่มันจะก้าวเดินไป เราก็ต้องใช้พื้นฐานคำบริกรรมขึ้นมา เพื่อให้ใจมันสงบได้ จะโง่หรือไม่โง่ขอให้ผลมันเกิดขึ้นมา ให้เกิดสมาธิได้ นั้นถึงต้องใช้คำบริกรรม พร้อมกับสติไป ถ้ามีสติ คำบริกรรมไป คำบริกรรมตลอดไป พุทโธ พุทโธ จิตมันสงบได้โดยธรรมชาติของมัน

แต่ความไม่เข้าใจ สิ่งที่ไม่เข้าใจว่ามันไม่ใช่เป็นปัญญา มันต้องใช้ปัญญา จะใช้ปัญญาขนาดไหน ในการที่ว่านามรูป สิ่งที่เกิดขึ้น ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญไป เป็นวิปัสสนา สิ่งที่วิปัสสนาเกิดขึ้นนี้ เราใช้ปัญญาไป อันนี้เป็นวิปัสสนา มันไม่ได้ใช้คำบริกรรมอย่างเดียว ใช้กำหนดพุทโธอย่างเดียว พุทโธจะไม่เกิดปัญญา สิ่งนั้นเป็นความว่าของเขา

เวลาหลวงปู่มั่นบอกว่า “ให้อดนอน ให้ผ่อนอาหาร” เราอดนอน เราผ่อนอาหาร เพื่อเราจะให้กิเลสมันเบาตัวลง สิ่งที่เป็นกิเลสถ้ามันเข้มแข็งอยู่ในหัวใจเรา มันจะมีกำลังมาก มันจะมีอำนาจเหนือเรา แล้วมันจะทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราไม่สม ไม่สมกับว่าเราลงทุน ลงแรงไป ผลของมันจะไม่ได้สมตามความเป็นจริง เราถึงต้องพยายามอดนอน ผ่อนอาหาร

การอดนอน ผ่อนอาหาร เขาก็ว่าเป็นการสีลัพพตปรามาส เป็นการลูบคลำ สิ่งที่เป็นการลูบคลำ เป็นความไม่รู้จริง แต่ถ้าการใช้ปัญญาความกระทบรับรู้สิ่งต่างๆ อันนั้นเป็นปัญญาของเขา ปัญญาอันนั้นต่างหากมันเป็นการลูบคลำ มันจะมีการลูบคลำ มันเป็นสีลัพพตปรามาส เป็นความไม่เข้าใจ เป็นการลูบ การคลำไปตลอด ลูบคลำไปตั้งแต่เริ่มต้น ลูบคลำไปตั้งแต่ความเข้าใจ เวลามันเข้าถึงความรู้สึก ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้เป็นสภาวธรรม มันปล่อยวางสิ่งนี้ ยกกายขึ้นมาพิจารณา กายนี้กายนอก

คำว่ากายนอก กายของเรา หรือกายของคนอื่น เจ็บไข้ได้ป่วย เราพิจารณาไป “สิ่งนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป” มันต้องแปรสภาพของมันตลอดไป มันเป็นอนิจจังทั้งหมด นี่จินตนาการไป คาดหมายไป ความคาดหมายนี่ลูบคลำ ลูบคลำจากเริ่มต้น ลูบคลำจากท่ามกลาง ลูบคลำจนถึงที่สุด แล้วก็ลูบคลำตลอดไป จะเป็นสีลัพพตปรามาสตลอดไปเลย เพราะปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาเราใช้ออกไป โดยที่ว่ามันไม่ย้อนทวนกระแสกลับเข้ามา

ถ้ามันจะย้อนทวนกระแสกลับเข้ามา สีลัพพตปรามาสมันจะสิ้นสุดได้ การสิ้นสุด ของสีลัพพตปรามาสมันเกิดจากเราวิปัสสนา ถ้าเกิดจากวิปัสสนา มันต้องเกิดจากฐานของใจ ถ้าใจมีฐานเห็นไหม นี่วงปฏิบัติ สิ่งใดที่มันเป็นการต่อสู้กับกิเลส สิ่งนั้นเราต้องเข้มแข็ง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติอยู่ ๖ ปี สิ่งที่ว่าเป็นอุกฤษฏ์ขนาดไหน ทุกข์ยากขนาดไหน ไม่มีใครทำเกินเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้ท่านทำของท่านมาแล้ว ท่านพิจารณาของท่านมาตลอด แล้วเราขนาดอดนอน ผ่อนอาหาร เพื่อจะให้กิเลสมันสะเทือนตัวมันเอง ขนาดนี้เราว่าอันนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการลูบคลำ เราไม่ใช่ลูบคลำ เรามีครูมีอาจารย์

ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า เราต้องพยายามทำให้กิเลสมันอ่อนตัวลง ให้เกิดความสงบของใจ ถ้าใจนี้มันสงบตัวลงมาได้ เราจะเริ่มต้นยกขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้ ถึงมันจะเป็นลูบคลำ มันก็ต้องลูบคลำไปก่อน ถึงคำบริกรรมมันจะไม่มีปัญญา เราไม่ต้องการปัญญา เวลาที่เราไม่ต้องการปัญญา เราต้องการพลังงาน เราต้องการกำลัง เราต้องการความสงบของใจ ทำไมมันเกิดความสงบของใจขึ้นมาไม่ได้ล่ะ

ถ้าความสงบของใจเกิดขึ้นมาไม่ได้ ความคิดของเราไป มันก็เป็นโลกียะไปทั้งหมด มันไม่เป็นโลกุตระ สิ่งที่โลกุตระ ธรรมเหนือโลก ธรรมจะพ้นจากกิเลส ธรรมที่เราใช้ในการวิปัสสนาของเรา เพื่อจะให้พ้นจากกิเลส มันเป็นโลกุตระ สิ่งที่เป็นโลกุตระมันจะไม่เกิดตัวตนของเรา สิ่งที่เกิดตัวตนของเราเพราะเราไม่มีสัมมาสมาธิ สิ่งที่ไม่มีสัมมาสมาธิ ความเห็นของเรา เราจะคิดของเราเข้าไป มันจะเป็นโลกไปหมดเลย สิ่งที่เป็นโลก เป็นการคาดการหมาย นี่สีลัพพตปรามาส

เวลามันจะปล่อยวาง เราวิปัสสนา เรายกขึ้นเห็นพิจารณากาย กายนอกพิจารณาไป แล้วมันเข้าใจนะ เห็นว่าเป็นอนิจจัง ความรู้เป็นอนิจจัง มันเป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังมันเป็นทุกข์ เราก็ปล่อย.. นี่มันเป็นลูบคลำไป มันก็ลูบคลำของมันไปสภาวะแบบนั้น มันไม่รู้ตามความเป็นจริงหรอก เพราะมันไม่สมุจเฉทปหาน มันสมุจเฉทปหานไม่ได้เพราะจิต มรรคไม่สมควรกับมันไง “ความดำริชอบ การงานชอบ ความเพียรชอบ”

สิ่งที่เป็นความเพียรชอบ ถ้ามันจะเป็นสีลัพพตปรามาส มันจะเป็นความโง่ เราพอใจโง่ไง สิ่งที่ว่าเราจะโง่ขึ้นมา นี่วงปฏิบัติต้องการสิ่งนี้ ถ้าสิ่งนี้แล้ว ถ้ามันเกิดพื้นฐานขึ้นมา เรายกขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนาได้ เราจะมีปัญญาของเรา แล้วถ้าปัญญามันเกิดจากเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เราเห็นเขาว่าโลกเป็นปัญญาอย่างนั้น เขาจะไม่เคยเห็นปัญญาอย่างนี้เลย สิ่งนี้จะเกิดขึ้นมาจากการที่เราประพฤติปฏิบัติ นี่วงปฏิบัติมันต้องมีอย่างนี้ไง

วงปฏิบัติมันมีต่างๆ กันออกไป เราคิด เราอยากสะดวก อยากสบาย เราอยากจะคาดหมาย เราอยากจะเทียบเคียง การเทียบเคียง เราเทียบเคียงของเราได้ เทียบเคียงมาเป็นคติ เป็นตัวอย่าง แต่ความรู้สึกของเราสิ มันสะเทือนความรู้สึกของเราไหม? มันชำระกิเลสของเราไหม?

สิ่งที่ชำระกิเลสของเรา คือกิเลสที่มันผูกมัดใจเรา เราสามารถทำลายมันได้ไหม? ถ้าเราจะทำลายมันได้ สิ่งนี้มันเป็นจริต เป็นนิสัยของเรา นี่สิ่งที่มันเป็นสิ่งภายนอก ในวงปฏิบัตินี้ มันมีวิธีการมากมายมหาศาลเลย สิ่งที่มากมายมหาศาลในขั้นของปัญญานะ ไม่มีขอบเขตนะ เวลาปัญญามันจะออกรู้สิ่งต่างๆ มันออกรู้ไปตามประสามัน ดูเรากำหนดคำบริกรรมพุทโธ พุทโธ เห็นไหม นี่เขาว่าโง่ ที่มันจะโง่ เพราะมันไม่ใช้ปัญญาของมัน แต่เวลามันสงบตัวเข้ามา มันจะเวิ้งว้าง มันจะมหัศจรรย์

ความมหัศจรรย์ของมันเห็นไหม เวลาผู้ที่มีอำนาจวาสนา มันสามารถรู้วาระจิตของคนอื่นได้เลย ปีติเวลามันเกิดขึ้นนะ มันจะเห็นดวงจิตของเรา ๑ เห็นดวงจิตของคนอื่น ๑ เห็นความคิดของคนอื่น ๑ สิ่งนี้ทำให้เกาะเกี่ยวไป ไหนว่าเป็นความโง่ คนโง่ทำไมมันเห็นสภาวะแบบนั้นขึ้นมาได้ล่ะ เพราะมันพอใจโง่ สิ่งที่พอใจโง่ โง่ขึ้นมาเพื่อจะฉลาด

ถ้ามันฉลาดขึ้นมา มันเป็นความฉลาดที่ว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นความฉลาดจริงของธรรม ไม่ใช้ว่ากิเลสมันสอนให้ฉลาด กิเลสมันเสี้ยมให้ฉลาดว่า เรานี้เป็นผู้ที่ฉลาด เราเป็นผู้ที่มีปัญญา พอมีปัญญา เราก็ใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ ใคร่ครวญสภาวธรรม ใคร่ครวญธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ตรัสรู้ธรรมแล้ววางธรรมไว้ ขอบเขตเราจะมีความคิดขนาดไหน มันจะไม่พ้นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปได้หรอก เพราะว่าพุทธวิสัยครอบไปทั้งหมด สาวก สาวกะ ผู้ได้ยินได้ฟัง เกิดมาแล้วมีความจงใจ มีศรัทธา มีความเชื่อ มีการประพฤติปฏิบัติ อันนี้มีวาสนาในการประพฤติปฏิบัติ

ในการประพฤติปฏิบัติถ้าเข้าหลักเกณฑ์ มันก็จะเข้าทาง ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์ การประพฤติปฏิบัติมันก็ปฏิบัติไปโดยที่มันจะไม่สมผลของมัน เพราะมันไม่เข้าทางมัชฌิมาปฏิปทา มันไม่เข้าทางมรรค สุภัททะ คนที่มีปัญญามาก เขาใคร่ครวญของเขาขนาดไหนเห็นไหม เขาเป็นนักปราชญ์ เขาไม่เชื่อใครเลย สุดท้ายแล้วเขาก็เอาตัวของเขาไม่รอด

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ถ้าเราไม่ไปถาม เราจะไม่มีโอกาสแล้ว เพราะถือตัวถือตนมาก ว่าเราเป็นผู้ที่มีปัญญามาก ปัญญาของกิเลสนะ เวลากิเลสมันอยู่กับเรา เวลาเราศึกษาอะไรไป ว่าเรารู้หมดเลย เรารู้ไง เรามีข้อมูล เรารู้สิ่งต่างๆ แต่สิ่งที่เรารู้ขึ้นมานี่ เราใช้ประโยชน์อะไรกับเราได้ มันไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย เ

วลาเราทำความสงบของใจ เราต้องการพื้นฐาน เพราะเราต้องการพลังงาน เราต้องการความสงบเพื่อเป็นพื้นฐาน เพราะเวลาจิตมันสงบขึ้นมา เรากำหนดพุทโธ พุทโธ เวลาสงบขึ้นมา มันจะรู้ เย็นมาก.. มีความสุขมาก.. ถ้าเวลาสัมมาสมาธิ ทำไมคนติดได้ ติดสิ่งนี้ได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องการสิ่งนี้ ต้องการกำลังของใจ แล้วเอากำลังของใจไปทำเรื่องต่างๆ ไปทำเรื่องของโลกเขา ไปทำเรื่องปลุกเสกต่างๆ เรื่องของให้มันเป็นของขลังขึ้นมา นี่ใช้กำลังจิตทั้งหมดเลย แล้วเวลาจิตอย่างนี้ จะทำให้มันสงบอย่างนี้ตลอดไปได้ไหม

ถ้าเราจะทำของขลัง มันต้องทำให้ใจของเราขลังก่อนไง ถ้าใจของเราจะขลังได้ เราต้องขังทุกข์ให้ได้ก่อน เอาทุกข์มาขังไว้ แล้ววิปัสสนามัน สิ่งที่มันเป็นขลังได้ไหม ถ้าใจเราขลังได้ มันจะขลังในตัวมันเองไง เราจะรู้เราเอง รู้ว่าเรามีความสุขหรือเรามีความทุกข์ เรามีความแก้ไขอย่างไร เวลาปัญญามันเห็นสภาวะตามความเป็นจริงนะ มันจะเห็นว่า เรานี่ใคร่ครวญขนาดไหน เราจะแยกแยะสิ่งใด นี่แยกแยะไง เห็นสภาวะจากข้างใน

ถ้าพิจารณาโดยเป็นธรรม คือไม่เห็นภาพ สิ่งนี้ทำได้หมด พิจารณากายโดยไม่เห็นกายก็ได้ พิจารณาโดยเห็นกายก็ได้ ถ้าพิจารณาโดยเห็นกายนะ นี่จิตสงบขึ้นมา พิจารณายกขึ้นมาให้เห็นกาย หรือว่ารำพึงขึ้นมาก่อน ถ้ามันเกิดขึ้นมา มันจะเห็นเป็นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง จะเป็นสิ่งใดก็ได้ในอวัยวะนี้ แล้วดู ดูด้วยพลังงาน

ถ้าเราดูด้วยพลังงาน มันจะแปรสภาพของมันไป สิ่งนั้นเป็นปัญญา แต่ถ้าเราพิจารณากายด้วยปัญญา มันเป็นธรรมารมณ์ เป็นธรรมเป็นความรู้สึกของใจ เราคิดถึงเรื่องกายเห็นไหม เราใช้ปัญญาใคร่ครวญไป เราจะไม่เห็นภาพกาย สิ่งที่ไม่เห็นภาพกายก็ได้ ถ้าเราพิจารณาไป กำลังของเรามีนะ เวลามันใช้ปัญญาของมันไป มันจะเข้าใจสิ่งนี้ แล้วมันจะปล่อยวาง.. ปล่อยวางเข้ามา

มันปล่อยวางคือมันเข้าใจ พิจารณาไป สิ่งนี้มันเป็นที่พึ่งไม่ได้ สิ่งนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งนี้เป็นมายาทั้งหมด สิ่งที่เป็นมายาเราเกาะสิ่งนี้ไม่ได้ นี่เวลาใจเราเกิดขึ้นมา เราอาศัย เกิดขึ้นมา ปฏิสนธิขึ้นมา มันก็ยึดสิ่งนั้น เพราะสภาวะกรรมมันให้ผลแล้ว ให้ผลเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นสภาวะต่างๆ สิ่งนี้ยึดทั้งหมด

ทุกชีวิตต้องการความสุข ทุกชีวิตต้องการความสะดวกสบาย ทุกชีวิตต้องการสิ่งที่ว่า กิเลสมันปรุงแต่ง กิเลสมันต้องการไง ตัณหา ความทะยานอยากของมนุษย์ก็อย่างหนึ่ง ของสัตว์ ของเทวดา ของอินทร์ ของพรหมมันก็ไปอย่างหนึ่ง กิเลสมีด้วยกันทุกๆดวงใจ

กิเลสมีทุกข์ดวงใจ มันปรารถนาสิ่งใด มันก็ต้องการหาสิ่งนั้น สิ่งนั้นมันยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้น เพราะอะไร เพราะมันออกจากตัวตนนี้ไง ออกจากหัวใจนี้ หัวใจนี้เกิดเป็นมนุษย์ มันก็มีร่างกาย เพราะมันติดสภาวะแบบนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า ให้ย้อนกลับมาดูที่นี่ไง ให้ย้อนกลับเข้ามาดูที่ฐานที่มันออกไปคิดไง

เวลาเราได้ทรัพย์สมบัติขึ้นมา เราเอามาเก็บ เก็บมาเป็นสมบัติของเรา เก็บไว้ที่ไหน? ที่ปลอดภัยที่สุด ความคิดของเราก็เหมือนกัน ความต้องการของเราก็เหมือนกัน มันเกิดมาจากใจ ใจมันมีอยู่ สภาวะใจเกิดขึ้นมา กิเลสมันมีอยู่ มันก็ปรุงแต่งสภาวะแบบนั้นออกไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ

พอยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ มันก็เป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความยึดมั่น เป็นความติดข้องไปกับกระแสโลก เราถึงต้องใช้คำบริกรรม เราถึงต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราถึงต้องทำสิ่งนี้เข้ามา ถ้าสิ่งนี้ย้อนกลับเข้ามาได้ นี่วิปัสสนามันจะเกิดตรงนี้ วิปัสสนาจะเกิดขึ้นมาเพราะมีสัมมาสมาธิมาแยกออก แยกให้เราเป็นโลกุตระ

ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ความคิด คิดขนาดไหน มันเป็นโลกียะ สิ่งที่เป็นโลกียะ คิดขนาดไหน มันแก้กิเลสไม่ได้ สิ่งที่แก้กิเลสไม่ได้ มันจะเป็นประโยชน์ก็แค่เป็นปัญญาอบรมสมาธิเท่านั้น แต่คนไม่เข้าใจ คิดว่าสิ่งที่ว่ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันปล่อยวางแล้ว มันปล่อยวางมันก็มีความสุขแล้ว ความสุขเพราะเราไม่เคยเจอ สุขโดยวิมุตติสุข เราไม่เคยจะเจอสภาวะแบบนั้น

เวลามันปล่อยวางมีความสงบ เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นความสุข เป็นความสุขสิ เพราะอะไร เพราะจิตมันกระทบ จิตมันรับรู้ สิ่งนี้มันเป็นในวงของสมมุติ มันเป็นอยู่ในวงของสมมุติทั้งหมดเลย เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิ สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมที่เกิดขึ้น มันเป็นสภาวธรรมจริงๆ แต่มันก็อยู่ในกฎของอนัตตาเห็นไหม “เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป”

สิ่งที่ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป” มันเป็นสมมุติไหม? มันเป็นสมมุติ แล้วจิตรู้ไหม? รู้ แล้วก็รู้โดยกิเลส ยึดพยายามจะให้ความสุขนั้นอยู่กับเรา แล้วมันจะไม่อยู่กับเราหรอก มันจะต้องแปรสภาพของมันไป เราถึงต้องพยายามฝึกฝนไง นี่ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็ต้องพลิกใช้เหตุขึ้นมา มันจะเสื่อมไปขนาดไหน ปล่อยมันไป ไม่ต้องไปอาลัยอาวรณ์กับสิ่งที่เป็นอดีต

ถ้าเราอาลัยอาวรณ์กับสิ่งที่เป็นอดีต เราจะมีความทุกข์มาก เพราะเราไม่สามารถแก้อดีต-อนาคตได้ เราทำได้เฉพาะปัจจุบันนี้ ถ้าสิ่งนั้นมันเสื่อมไป มันเกิดขึ้นมาเพราะเราใช้ปัญญาใคร่ครวญกับสภาวธรรม สิ่งที่เป็นสภาวธรรมแล้วมันปล่อยวางเข้ามา เราใช้สภาวะนั้นพิจารณาขึ้นมา นี่ความสงบมันกลับมาเอง ถ้ามีเหตุในการใคร่ครวญอยู่ ความสงบมันจะกลับมาเอง ถ้ามีคำบริกรรมอยู่ เราจะใช้คำบริกรรมตลอดไป ด้วยสติอยู่ตลอดไป สิ่งนั้นมันจะกลับมา

สิ่งที่กลับมา “มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป” โดยสภาวธรรมแบบนั้น นี่เราติดสิ่งนี้ได้ คิดว่าสิ่งนี้เป็นผลไง ถึงว่ามันเป็นโลกียะ สิ่งที่เป็นโลกียะ เพราะใจของเราอ่านพระไตรปิฎก ใจของเราฟังธรรมขึ้นมา แล้วคาดหมาย ยกใจนี้เทียบเคียงไป มันถึงว่าเป็นการลูบคลำ สิ่งที่มันจะไม่ลูบคลำ มันต้องวิปัสสนาสิ่งนี้ แล้วมันปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางมาขนาดไหน เราต้องหมั่นคราดหมั่นไถ ถ้าหมั่นคราดหมั่นไถจนดินนี้ควรแก่การปัก การดำ

ถ้าควรการปัก การดำ หมั่นคราดหมั่นไถ จนวัชพืชมันจะไม่มีเลย สิ่งที่ไม่มี เพราะเราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญมาตลอด นี่สิ่งที่หมั่นคราดหมั่นไถ ในกาย ในจิต วิปัสสนาเข้าไป เวลาถึงที่สุดของมัน สิ้นสุดของโครงการ มันจะรวมตัวไง

มรรคสามัคคี ความสามัคคีของจิต จิตที่สามัคคี มันสมุจเฉทปหานเห็นไหม เวลามันปหาน ปหานลงไปที่จิต จิตพิจารณากายอยู่ก็แล้วแต่ หรือการพิจารณาจิตโดยขันธ์ ๕ ก็แล้วแต่ มันสมุจเฉทปหาน มันจะขาดออกไปเห็นไหม “ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ กายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย” นี่ความขาดออกไปจากใจ เห็นสภาวะตามความเป็นจริง

เห็นสิ่งนี้ขาดออกไปตามเป็นจริง มันจะเกิดสีลัพพตปรามาสไหม? มันจะเป็นการลูบ การคลำไหม? มันจะเกิดความลังเลสงสัยไหม? มันจะไม่เกิดความลังเลสงสัยเลย เพราะมันเป็นอริยภูมิ เพราะมันเห็นธรรมตามสภาวะตามความเป็นจริง

สิ่งที่เกิดขึ้นจากสภาวะอันนี้เพราะ เกิดขึ้นจากการที่เราใคร่ครวญของเรา เราใช้ปัญญาของเราก้าวเดินออกไป หมุนเวียนออกไปตลอดไป เราไม่เอาปัญญาเข้ามาสะสมไว้เป็นปัญญาของเรา ปัญญาของเราต้องชำระกิเลสตลอด มันจะหมุนออกไปชำระกิเลส ฟาดฟันกับกิเลส ฟาดฟันกับความเคยใจ สิ่งที่ใจมันเคย มันยึดเรา ยึดร่างกายนี้เป็นของเรา ยึดอารมณ์ความรู้สึกนี้เป็นของเรา

สิ่งนี้เป็นของเราแล้ว เราก็จะไม่ได้ประโยชน์ไปกับมัน เพราะสิ่งที่เป็นเรา มันเกิดตาย เกิดตาย ความเกิดตายของจิตนี้ มันเกิดตายไม่มีที่สิ้นสุด เกิดมาชาติไหนก็ยึดชาตินั้น เกิดมาสถานะไหนยึดสถานะนั้น

สัตว์ทุกตัวมันก็ต้องการความสุขของมัน สัตว์ทุกตัวมันก็รักสุขเกลียดทุกข์ทุกตัว มันต้องการความสุขของมัน มันไม่ต้องการความทุกข์ สิ่งนี้มันยึดมั่นถือมั่นมาตลอด แล้วมันก็จะลูบคลำกันไปตลอด ถ้าเราไม่สมุจเฉทปหาน

สิ่งที่สมุจเฉทปหาน นี่มันเกิดขึ้นมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นใคร่ครวญกายกับจิต เป็นสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดก็ได้ จับสิ่งนี้ขึ้นมา แล้ววิปัสสนาไป อยู่ในวงปฏิบัติของเรา อยู่ในวงของครูบาอาจารย์ที่ใคร่ครวญมา มันจะไม่พลาดไปหรอก เพราะหลวงปู่มั่นใคร่ครวญสิ่งนี้มา หลวงปู่มั่นพยายามค้นคว้ามา นี่ทั้งชีวิตนะ

เราประพฤติปฏิบัติของเรามา เราก็พยายามทำของเราขึ้นมา มีลมหายใจเข้าและมีลมหายใจออกอยู่นี้ ยังมีโอกาส สิ่งที่มีโอกาสของเรา เราจะต้องค้นคว้างานของเรา งานอันเอกอันนี้ งานของโลก งานในการแสวงหาสิ่งที่เป็นปัจจัย ๔ นี้มันมีอยู่แล้วไง

โลก.. คฤหัสถ์ก็หาของเรา หาสิ่งนั้นมาเพื่อดำรงชีวิต ถ้าเราไม่ตื่นเต้นไปกับมัน เราจะไม่มีความทุกข์ไปกับมัน สิ่งที่เป็นหน้าที่การงาน เราแสวงหาเป็นหน้าที่การงานของเรามาเพื่อปัจจัย ๔ แล้วมีโอกาสเข้ามาเราก็ประพฤติปฏิบัติ

ผู้ที่ออกบวชประพฤติปฏิบัติ เรามีโอกาสของเราอยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง เวลาของเราจะมีคุณค่าตลอด ถ้าเราพยายามประพฤติปฏิบัติ เราเดินจงกรมของเรา เราภาวนาของเราตลอด สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

สิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะลมหายใจเข้าและลมหายใจออก มันจะขาดเมื่อไหร่ ถ้ามันขาดขึ้นมา โอกาสของเราก็จะไม่มี ถ้าเราไม่ขาดขึ้นมา ครูบาอาจารย์นะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าไม่ถึงที่สุด สงวนรักษาชีวิตนี้มาก ต้องการชีวิตนี้ เพราะมันเห็นการเกิดและการตายไง สมุจเฉทปหานกิเลสออกไปชั้นหนึ่ง มันเห็นสภาวะตามความเป็นจริงเลย นี่สภาวธรรม จะไม่ลังเลสงสัย จะไม่ถือมงคลตื่นข่าว จะให้ผิดพลาดไปจากรัตนตรัย เป็นไปไม่ได้

ใจนี้เข้าถึง เป็นอจลศรัทธา ไม่คลอนแคลนในศาสนา เพราะใจนี้เป็นพระ สิ่งที่เป็นพระขึ้นมาแล้ว มันต้องการแสวงหา ให้พ้นออกไปจากทุกข์ได้ สิ่งที่พ้นออกไปจากทุกข์ไง กิเลสอันละเอียด สิ่งที่เป็นความละเอียดอยู่นี่ มันมีฝังอยู่ในหัวใจ มันรู้ๆ อยู่ ถ้าเราพิจารณาเข้าไป เราจับต้องขึ้นมา จับต้องกายขึ้นมา แล้วเรายกขึ้นวิปัสสนาได้

สิ่งที่วิปัสสนาได้ ปัญญามันจะใคร่ครวญเข้าไป เราจะไม่เอาสิ่งที่เป็นสัญญา คือการคาด การหมาย การที่ว่าเราเคยประพฤติปฏิบัติมา สิ่งนี้มาเทียบเคียง เราจะไม่เอาสิ่งนี้มาเป็นว่า “จะต้องเป็นแบบนั้น” ต้องให้มันเป็นปัจจุบันไปในปัจจุบันนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาไง จับต้องกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้ ในสภาวะที่เห็นตามความเป็นจริง แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญไปด้วยสัมมาสมาธิ

ถ้ามีสัมมาสมาธิ มันไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค สิ่งที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค คือทำให้ตนไม่มีผลงานขึ้นมา แล้วทำให้ตนเหนื่อยเปล่า สิ่งนี้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ผลเกิดขึ้นมาจากการที่ว่ามันปล่อยออกไป มันเห็นอย่างนั้น ความเข้มแข็งของใจจะมีมหาศาล จะทำได้นะ จะทำสิ่งที่ว่ามันเกิดขึ้นมา สิ่งที่เราต่อสู้กิเลสที่มันพลิกแพลง

กิเลสมันจะพลิกแพลงให้การปฏิบัติเราล้มลุกคลุกคลาน การประพฤติปฏิบัติว่า “ไว้ตรงนี้ก่อน ไว้เมื่อนั้นค่อยทำ สิ่งที่ว่าเราออกไปแสวงหา เราค่อยออกธุดงค์ เราค่อยไปทำตอนนั้น” นี่มันเคลื่อนไง เป็นอดีต-อนาคต สิ่งนั้นไม่เป็นความจำเป็น ความจำเป็นของเราคือมีหัวใจ มีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก อานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก

ผู้ที่กำหนดอานาปานสตินี้ จิตนี้มันจะมีความแปลกประหลาด มหัศจรรย์ ผู้ที่กำหนดพุทโธ ความชำนาญของใจ กำหนดพุทโธ แล้วทำความพื้นฐานของใจ ใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้ามา นี่ปัญญามันจะใคร่ครวญเข้ามา ถึงที่สุดแล้ว มันจะต้องมารวมตัว รวมตัวกัน โดยเข้าประตูเดียวกัน สิ่งที่เข้าประตูไง เราออกจากบ้านไป ไปไหนก็แล้วแต่ เราไปได้ทั่วเลย เวลาเราเข้าบ้านเรา เราต้องเข้าที่ประตูนั้น ใจก็เหมือนกัน ถ้ามันจะสมุจเฉทปหาน มันต้องเข้าประตูนั้น มันต้องสมุจเฉทปหานเข้ามาที่ใจ เพราะใจนี้เป็นผู้ที่ไปติดเขา

สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะนี่ จะเป็นเรื่องธาตุเหมือนกัน ร่างกายจะสุข จะทุกข์เขาไม่รู้เรื่องของเขาหรอก มันเป็นสภาวธรรมของมัน เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เพราะเรายึด เราไม่อยากให้เจ็บไข้ได้ป่วย เราพยายามประคองตัวของเราเห็นไหม เรารักษาตัวเรา ว่าเราจะมีความเข็มแข็ง เราจะมีความสุขของเราตลอดไป แล้วถึงที่สุด เวลาถึงส่วนหนึ่ง มันก็เสื่อมสภาพของมันไป มันมีความเจ็บป่วยโดยธรรมชาติของมัน นี่เพราะใจไปรับรู้ ใจไปยึดมั่นถือมั่นกับมัน ใจถึงได้เศร้าหมอง ใจถึงได้หดหู่

สิ่งที่ใจหดหู่ ใจเศร้าหมอง มันเป็นความทุกข์ไหม? ถ้ามันเป็นความทุกข์ เราต้องใช้พิจารณา ให้ย้อนกลับเข้ามา ให้เป็นสัมมาสมาธิ ให้เห็นสภาวะนั้น มันจะปล่อยวางเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มันมีกำลังเกิดขึ้น การปล่อยวาง การวิปัสสนาปล่อยวางนี้ ปัญญามันได้เดินตัวออกไปแล้ว สิ่งที่ปัญญาเดินตัวออกไป มันจะเห็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะปล่อยวางเข้ามา.. ปล่อยวางเข้ามา.. นี่มันเป็นโลกุตระ

สิ่งที่เป็นโลกุตระ เพราะมันมีพื้นฐาน เพราะเราทำของเราเป็น เรามีความชำนาญ เราเป็นงานขึ้นมาแล้ว งานเริ่มต้น การทุกข์การยากนี่เริ่มต้นจากอันแรกนี้ยากมาก ยากเพราะว่าเราจะลองผิดลองถูกไปตลอด สิ่งที่ลองผิดลองถูก ตกไปอัตตกิลมถานุโยค ถ้าเราติดในความสงบ มันก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค นี่สิ่งนี้ไง “ทเวเม ภิกขเว ทางสองทางนี้เธอไม่ควรเดิน” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตั้งแต่เทศน์กัณฑ์แรกเลย นี่ธรรมจักรเลย

“ทเวเม ภิกขเว ทางสองที่ไม่ควรเดิน” จะต้องเดินมัชฌิมาปฏิปทา แต่เพราะจิตมันไม่เคย มันก็สภาวะแบบนั้น เพราะมันไม่เป็น แต่เมื่อเราพิจารณาของเรา จนมันสมุจเฉทปหาน ไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำ ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีความลังเลสงสัยในธรรม นี่สักกายทิฏฐิ ความเห็นจริง มันก็เห็นตามสภาวะของมันอยู่แล้ว นี่สิ่งนี้มันมีโดยพื้นฐาน การใช้ปัญญาของเรามันถึงจะเป็นโลกุตระ

สิ่งที่เป็นโลกุตระ มันพิจารณาสิ่งนี้ แล้วมันจะเข้าใจ เห็นสภาวะตามเป็นจริงมันก็ปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มันจะก้าวเดินของมันไป นี่กิเลสอันละเอียดมันก็หลบซ่อนของมัน มันก็พยายามต่อสู้ พยายามหาแง่มุมของมัน สิ่งที่แง่มุมของกิเลสเราก็ต้องไม่เชื่อ ต้องไม่เชื่อกิเลส ไม่เชื่อความเห็นของเรา เราต้องพยายามเร่งความเพียรของเรา เรามีความเพียรไง

ถ้าเรามีความเพียร นั้นเป็นงาน หน้าที่ของเราเร่งความเพียร ความเพียรชอบ นี่กิเลสยอมรับ มีความเพียรเท่านั้นจะชำระกิเลสได้ ถ้ามีความเพียรขึ้นมา สมาธิมันก็เกิดพลังงานขึ้นมา ปัญญามันก็ใคร่ครวญออกไป มันจะกี่รอบ กี่ชั้นกี่เชิงก็หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือใช้ปัญญาของเรา เหมือนกับทานอาหารเห็นไหม เรากินข้าว เรากินคำเดียวอิ่มไหม? เรากินแล้วกินอีกมันถึงอิ่ม นี้ก็เหมือนกัน ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติของเราเข้าไป นี่จะต้องประพฤติปฏิบัติ จนถึงที่สุดแล้วมันจะชำระของมันไป

สิ่งที่มันชำระของมันไป มันจางไป.. จางไป.. สิ่งที่จางไป “ขิปปาภิญญา” เวลาประพฤติปฏิบัติทีเดียวทะลุไปเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวถึงที่สุดเลย นั้นคือผู้ที่เป็นขิปปาภิญญา เขาสร้างสมบารมีของเขา สาวก สาวกะ เวไนยสัตว์ ผู้ที่มีอำนาจวาสนาในการถู การไถ ในการใคร่ครวญไป สิ่งที่เราใคร่ครวญไป คือปัญญาเราจะก้าวเดินตลอดไป

ถ้าปัญญาเราก้าวเดินตลอดไป นั้นเป็นงานของเรา สติสำคัญมาก ถ้ามีสติอยู่ สตินี้จะทำให้งานนี้ชอบ ถ้าสติไม่อยู่ นี่มันเผลอไง สิ่งที่เผลอไปมันจะเป็นสัมมาได้อย่างไร สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่ความเป็นสัมมาทั้งหมด มันถึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วมันก็จะสมุจเฉทปหาน มันจะทำให้กายกับจิตนี้ปล่อยวางออกจากกัน จิตนี้ปล่อยวางออกจากกัน โดยธรรมชาติเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิตนี้เวิ้งว้างออกไป โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง

สิ่งที่ราบเป็นหน้ากลองเพราะอะไร เพราะมรรคอริยสัจจังนี้ทำลายทั้งหมด ว่างหมดเลยนะ นี่ความสุขอย่างนี้ไง เวลาเราติดในสมาธิเราก็ยังว่าติดในสมาธิได้ เวลาความสุขอย่างนี้มันต่างกันไหม? นี่มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นความสุขของใจ ใจดวงนั้นจะมีความสุขสภาวะแบบนี้ นี่สุขมาก ความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เวลาเราทุกข์เราก็ทุกข์ประสาโลก เวลาเป็นอามิสเห็นไหม สุขของโลกเขาเป็นอามิส สิ่งที่ว่าเราแสวงหามา ถ้าเราพอใจสิ่งใด สิ่งนั้นจะเป็นความสุข นี่เราพอใจนะ

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราพอใจนั้นเป็นกิเลส สิ่งที่เป็นกิเลสเพราะกิเลสมันอยู่กับใจ ใจนี้มันพอใจนี้ มันจะทำให้เราติด เราไม่ก้าวเดินไป หน้าที่ของเราเร่งแต่ความเพียร เราทำความเพียรของเราไป จะค่ำมืดดึกดื่นขนาดไหน ๒๔ ชั่วโมงของเรา หน้าที่ของเราคือทำความเพียรของเราตลอดไป หน้าที่ของเราเห็นไหม จนถึงที่สุดมันเป็นไปตามแต่เวลามรรคมันรวมตัว สิ่งที่มารวมตัว มันต้องเป็นกำลังของเขา ไม่ใช่ความชอบ ไม่ใช่การคาดการหมาย มันเป็นธรรมจักร มันเป็นจักร มันเป็นปัญญาญาณ

สิ่งที่เป็นปัญญา เกิดขึ้นจากสภาวธรรม สิ่งที่เป็นสภาวธรรมที่เราแสวงหาขึ้นมา มันสมุจเฉทปหาน มันเลยว่างไง มันเลยว่างไปพร้อมกับกิเลสหลุดออกไปจากใจ สิ่งที่กิเลสหลุดออกไปจากใจ อย่างกลางหลุดออกไป กิเลสอย่างละเอียดล่ะ สิ่งที่กิเลสอย่างละเอียดมันก็ทำให้เราติดในสมาธิอย่างนั้น สมาธินี่มีความสุขมาก มีความสุข สิ่งที่เป็นความสุขไง นี่ติดในสมาธิที่ละเอียด

สิ่งที่ละเอียดมา มันปล่อยวางกิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันก็ไปติดตรงนี้ได้ เพราะสิ่งที่กิเลสนี้มันหลอกได้ มันหลอกใจเรา เพราะกิเลสเป็นเรา นี่วงของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเห็น จะต้องหาครู หาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ผ่านสิ่งนี้มา ถ้าครูบาอาจารย์เห็นว่าสมควรแล้ว จะต้องใช้กลอุบายให้เราออกทำงานต่อไป ถ้าเราออกทำงานต่อไป เราจะก้าวเดินขึ้นไป เราจะก้าวเดินขึ้นไปสิ่งที่ว่าเหนือกว่า

สิ่งที่เหนือกว่า ครูบาอาจารย์ต้องมีปัญญาเหนือกว่าเรา ถึงสามารถแก้ความผิดของเราได้ ความเสมอกัน พูดออกมา มันไม่ซึ้งใจหรอก เวลาเราพูดขึ้นมาเห็นไหม เวลาปล่อยวางขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา กิเลสสิ่งที่ละเอียด มันพูดขึ้นมามันจะรู้ว่าเป็นชั้นไหน ชั้นไหน ถ้าชั้นของในหัวใจนี้ มันจะย่นเข้ามาไง ย่นเข้ามาจากภายใน เวลาประพฤติปฏิบัติ พูดจะรู้ทันที รู้ว่าเราติดขั้นไหน ครูบาอาจารย์จะชี้นำออก

ถ้าชี้นำออกเราต้องพยายามออกไง สิ่งที่ออกไปก็เป็นงาน งานในการแสวงหา เราจะแสวงหาสิ่งที่เราจะชำระกิเลส กิเลสมันเป็นนามธรรม มันอยู่กับหัวใจเรา แล้วมันก็หลบอยู่ในหัวใจเรานะ อาศัยหัวใจเราเป็นที่อยู่อาศัย แล้วไม่เคยปราณีเลย จะทำลายตลอด จะให้หัวใจเรามีแต่ความทุกข์ความยาก

ความทุกข์ความยากถ้าเราไปค้นคว้าสิ่งนี้เจอ แต่ถ้าเราไปค้นคว้าสิ่งนี้ไม่เจอ เขาจะไม่เห็นความทุกข์ความยาก เขาจะให้เห็นว่า เรานี่มีความสุข เรานี่ถึงที่สุดของการประพฤติปฏิบัติ แล้วเราก็จะติดตรงนี้ไป สิ่งที่ติดเห็นไหมกิเลสมันก็ยังมีโอกาสอยู่ในหัวใจของเราตลอดไป ถ้าเราออกไป ถึงว่าวงของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงสำคัญมากไง สำคัญว่า “ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง” เวลาสนทนาธรรมกัน ผู้ที่ว่าในวงของสมาธิ พูดถึงมันก็เป็นวงของสมาธิ ในวงของปัญญาขั้นแรก มันก็จะพูดถึงในวงของปัญญาขั้นแรก

ปัญญาขั้นแรกรวมตัวหรือไม่รวมตัว ถ้าปัญญาขั้นแรกรวมตัวขึ้นมา มันจะสมุจเฉทปหานชำระกิเลสออกไป นี่มันจะรู้สึกว่าวงต่อไป เป็นวงของปัญญาที่ว่าให้กายกับจิตแยกออกจากกัน ถ้าผ่านกายกับจิตแยกออกจากกัน มันจะยกขึ้น สิ่งนี้มันยกขึ้นมา นี่ธรรมสากัจฉา ในการประพฤติปฏิบัติ ในวงปฏิบัติ จะสนทนาธรรม

สิ่งที่สนทนาธรรม มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เราเกิดมา เราถึงมีอำนาจวาสนา มีอำนาจวาสนาเพราะว่ามันมีอยู่แล้ว ธรรมะนี้มีอยู่แล้ว แล้วกว่าจะปฏิบัติมันก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ทำไมเราไม่ขวนขวาย ถ้าเราขวนขวาย ความทุกข์ความยาก การประพฤติปฏิบัติของเราที่ว่ามันไม่สมเหตุสมผล เพราะอะไร เพราะกิเลสของเราเท่านั้น

กิเลสของเราทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน กิเลสของเราทำให้เราไม่ก้าวเดิน เราจะยอมจำนนกับกิเลสโดยอยู่เฉยๆ อย่างนี้หรือ ถ้าเราไม่เข้าเลย เราไม่ก้าวเดินต่อไป ดูสิ ในวงการธุรกิจ ถ้าเราไม่มีสินค้าที่เราคิดรูปแบบออกมา เราอยู่กับที่เท่ากับเราถอยหลัง นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ก้าวเดิน เราไม่แสวงหา เราอยู่กับที่ มันจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าเราก้าวเดินออกไป มันจะออกแสวงหาสิ่งนี้ไง เราถึงอยู่กับที่ไม่ได้ เราถึงต้องพยายามของเราตลอดไป

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว นี่พุทธกิจ ๕ ท่านยังทำงานของท่านตลอดไป ผู้ที่สิ้นกิเลส ท่านยังต้องภาวนาของท่าน อย่างของเรา เราจะชำระกิเลสของเรา กิเลสอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราติดสภาวะแบบนี้ เราไม่เข้าใจ ทำไมเราไม่ออกแสวงหา ถ้าเราออกแสวงหา เราจะแสวงหาสิ่งใด เราจะต้องสังเกต เราต้องทำใจของเราให้สงบ

ถ้าใจของเราสงบ ถ้ามันพิจารณากาย มันจะเห็นสภาวะกาย ถ้าไม่พิจารณากาย มันจะไม่มีสิ่งใด ใจนี้จะว่างมากเลย มันจับต้องสิ่งใดไม่ได้ มันก็พิจารณาสิ่งใดไม่ได้ จนพยายามทำความสงบ แล้วออกดูไง ดูความกระทบของใจ ใจมันกระทบกับความรู้สึก สิ่งที่มีความรู้สึก กิเลสมันยังมีอยู่ในหัวใจ มันจับต้องได้ทั้งนั้น ถ้ามันจับต้องสิ่งนี้ได้ นี่กามราคะ

สิ่งที่เป็นกามราคะคือความพอใจ ใจมันพอใจในตัวมันเอง มันมีความรู้สึกในตัวมันเอง สิ่งที่เป็นเห็นไหม “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่กิเลส” สัญญา รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่กิเลสหรอก มันไม่ใช่กิเลส มันเป็นสภาวะเป็นธาตุขันธ์ที่มันมีอยู่ในมนุษย์ อยู่ในจิตนั้น สิ่งนี้มีอยู่ไง

แต่เพราะเรามีกิเลส กิเลสของเราเลยทำให้สิ่งนี้ยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นในตัวมันไง ทีนี้เราย้อนกลับเข้าไป เราก็จับสิ่งนี้ได้ กิเลสอาศัยสิ่งนี้ออกไปยึดมั่น กิเลสอาศัยสิ่งนี้สร้างสมขึ้นมา มันพอใจสิ่งใด มันก็อุ่นกินในหัวใจของมัน มันอุ่นกินอารมณ์ความคิดของมันในหัวใจ มันสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาแล้วก็อุ่นกิน มันอุ่นกินขึ้นมา มันก็อุ่นกินสิ่งที่ว่ามันขัดยอก มันเป็นความทุกข์ มันเสียดแทงใจ

ถ้ามันเสียดแทงใจ มันก็สะเทือนใจ เราสะเทือนใจของเรา มันเป็นความทุกข์ไหม? มันเป็นความทุกข์เพราะเราจับ แล้วเราเห็นสภาวะ มันถึงเห็นภาพขึ้นมา สิ่งที่เห็นภาพนี่เป็นการต่อสู้กัน ถ้าเราต่อสู้ มันเป็นเรื่องของกาม สิ่งที่เป็นเรื่องของกาม กามฉันทะความพอใจ สิ่งที่พอใจมันถึงอยู่ด้วยกันได้ไง ขันธ์กับจิตอันละเอียดมันถึงอยู่ด้วยกัน นี่ถ้าพิจารณากายมันเป็นอสุภะ

สิ่งที่เป็นอสุภะเรายกขึ้นมา เราจับขึ้นมาเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะถ้ากำลังเราพอ มันจะแปรสภาวะของมัน มันจะแปรสภาวะที่ว่ามันจะเปื่อยไปเน่าขนาดไหน เราก็ดูมัน ดูมันคือการฝึกซ้อม ถ้าเราฝึกซ้อมเห็นไหม เราต้องฝึกซ้อมมาตลอด ฝึกซ้อมกับสิ่งนี้ ฝึกซ้อมจนมีความชำนาญ ถ้ามันชำนาญขึ้นมา มันจะแปรสภาวะให้เราเห็นตลอดไป แล้วมันจะย้อนกลับเข้ามาถึงใจ ถ้ามันถึงใจ มันสะเทือนหัวใจมาก พิจารณาจิตก็เหมือนกัน

ถ้าพิจารณาจิต สภาวะตามความเป็นจริงมันเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้น ถ้ามันสะเทือนถึงหัวใจ ใจนี้มันสะเทือน สิ่งที่สะเทือนหัวใจนั้นมันเป็นอะไร มันเป็นขันธ์ ขันธ์มันยึดกับใจ นี่มันมีสภาวะแบบนั้น แล้วมันแยกกันไม่ออก ต้องวิปัสสนา ต้องเทียบเคียง ต้องใช้ปัญญา ปัญญามันจะเกิดขนาดไหนนะ ปัญญาเทียบเคียงไปเลยว่า วัตถุสิ่งใดมันเคลื่อนตัวไปได้อย่างไร? มันมีพลังงานมาจากไหน เราก็เทียบถึงความรู้สึกของเรา เทียบออกไป

ถ้าเทียบถึงปัญญามันจะย้อนกลับ สิ่งที่ย้อนกลับ มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางแต่ละชั้นแต่ละตอน ปล่อยวางคือว่า ถ้ามันปล่อยวาง กิเลสมันเริ่มสะเทือนตัว ถ้ากิเลสมันเข้มแข็ง การที่มันปล่อยวางชั่วครั้งชั่วคราว มันก็จะฟื้นตัวได้

สิ่งที่มันฟื้นตัวขึ้นมา แล้วกำลังเราจะไม่พอ การวิปัสสนา การประพฤติปฏิบัติ เวลามันเสื่อม เวลาปัญญามันไม่พอแล้วมันเสื่อม มันมีความท้อถอย มีความเหนื่อยนะ มีความท้อถอยเพราะงานของใจ เราใช้ใจของเราทำงานตลอดไป แล้วมันมีการใช้พลังงานมาก พอมันเสื่อมเราก็ต้องกลับมาพุทโธ สร้างพลังงานของเราขึ้นมา

มันจะท้อถอยขนาดไหน เราก็ฝื้นขึ้นมาใหม่ เพราะเรามีเป้าหมาย เป้าหมายของเราคือพ้นจากทุกข์ เป้าหมายของเราคือกิเลสต้องตายไปจากใจทั้งหมด ถ้ากิเลสมันตายไปจากใจ เราจะมีความสุขมาก ถ้าเรามีความสุขแล้วเราจะไม่ต้องเกิดตาย เกิดตายอีก ถ้ากิเลสมันไม่ตาย เราจะต้องไปเกิดอีกเห็นไหม นี่เกิดอีก จนกว่าเราจะทำลายกามราคะสิ่งนี้ออกไปจากใจ

ถ้ากามราคะออกไปจากใจด้วยปัญญาญาณ มันจะมหัศจรรย์มาก สิ่งที่มหัศจรรย์มันจะทำลายตัวมันเอง สะเทือนใจถึงที่ใจ แล้วตัวใจเห็นไหม ใจตัวนี้คือกาม กามนี้เพราะมันพอใจตัวมันเอง พอมันทำลายกัน มันสะเทือนหัวใจมาก มันปล่อยสิ่งนี้ขาดออกไป พอสิ่งนี้ขาดออกไป ด้วยความรู้ของจิต สิ่งที่ความรู้ของจิต ฝึกซ้อมสิ่งนี้เข้าไป ถ้าเราฝึกซ้อมสิ่งนี้เราว่าเป็นงาน

สิ่งที่เป็นงาน มันติดพันไปตลอด เพราะเราไม่เข้าใจ มรรค ๔ ผล ๔ ในการฝึกซ้อมนี้มันก็คือการทำงานของเราแล้ว เราจะเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นผลของมัน พอเห็นว่าสิ่งนี้เป็นผล ฝึกซ้อมเข้าไปๆ มันจะปล่อยวาง.. ปล่อยวางเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอน มันละเอียดเข้าไป.. ละเอียดเข้าไป.. จนว่างหมดเลย จนจับต้องสิ่งใดไม่ได้ สิ่งที่จับต้องสิ่งใดไม่ได้ นี่ในวงปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์สนทนาธรรมกัน มันจะสนทนาธรรมกันอย่างนี้

ถ้ามันว่างเข้ามา ใครจะเป็นผู้ว่าว่าง สิ่งที่รู้ว่าว่าง ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่ามันยังมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในหัวใจ ถ้ามันซ่อนอยู่ในหัวใจ ครูบาอาจารย์จะชี้ให้ย้อนกลับเข้าไปจับต้องสิ่งนี้ให้ได้ ถ้าจับต้องสิ่งนี้ได้ หมั่นสังเกต หมั่นสอดรู้

สิ่งที่สอดรู้ ย้อนกลับเข้ามา จับตัวตอของจิตได้ มันจะสะเทือนเลือนลั่นนะ จะสะเทือนใจมาก นี่เวลาใจจับใจ เวลาใจกับขันธ์กระทบกระเทือนกัน จับกันแล้ววิปัสสนาเกิดขึ้นมา มันเป็นธรรมในหัวใจ สิ่งที่เป็นธรรมในหัวใจ เราจะต้องฝึกฝน ต้องพลิกแพลงขึ้นมา มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เวลาเราก้าวเดินขึ้นไป เราจะเทียบเคียงไม่ถูก เพราะว่าสิ่งที่ละเอียดกว่ามันยังปิดบังเราอยู่

อวิชชา ปัจจยา สังขารา คือตัวจิตที่มันยังไม่รู้แจ้ง มันไม่รู้ตัวมันเอง มันปิดเราไว้ เราปล่อยวางเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอน เรารู้การปล่อยวางเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอน เราพูดตรงนั้นนะถูก แต่เราจะเรียงลำดับไม่ชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนเพราะตัวความจริงทั้งหมด เราจะไม่รู้ในวงรอบ ถ้าเราไม่รู้เข้าใจทั้งหมดในวงรอบ เราจะทำอะไรไม่ได้หรอก

เราถึงต้องย้อนกลับเข้าไปจับตรงนี้ แล้วย้อนกลับเข้าไปไง ย้อนกลับเข้าไปตัวอวิชชา ตัวจิตที่มันจับต้องสิ่งต่างๆ มันก็ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามาทั้งหมด มันก็รู้ตัวมันเอง แล้วมันก็หลบซ่อนอยู่ในหัวใจ มันก็หลบซ่อนตัวมันเอง ปิดบังตัวมันเองอยู่กับเรา สิ่งที่อยู่กับเราว่าสิ่งนี้เป็นธรรม.. สิ่งนี้เป็นธรรม..

สิ่งที่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมทำไมมันลังเลสงสัย? ถ้าเป็นธรรมทำไมมันสีลัพพตปรามาส? ทำไมมันลูบคลำตัวมันเอง?

ถ้ามันลูบตัวมันเอง เพราะมันไม่รู้สิ่งนี้ มันก็จะลูบคลำตัวมันเอง นี่สีลัพพตปรามาส ตั้งแต่เริ่มต้นขึ้นมา สีลัพพตปรามาสของ นี่ใช้ปัญญาของเขา มันจะเป็นสีลัพพตปรามาสตลอดไป แต่ถ้าเราใช้สภาวธรรมของเราที่เกิดขึ้นมา มันจะเป็นสีลัพพตปรามาสขึ้นมา มันก็ต้องเข้าไปทำลายสีลัพพตปรามาส คือความลังเลสงสัยตัวนั้น นี่มันจะย้อนจับตอของจิตได้ แล้วค่อยใช้ปัญญาใคร่ครวญโดยความละเอียด

สิ่งที่ละเอียด ปัญญาญาณละเอียดมาก ละเอียดเข้าไป ซึมเข้าไปถึงเนื้อ จะทำลายตัวนี้ได้ สิ่งนี้ทำลายได้ ถึงเข้าใจสภาวะครบวงจร เริ่มต้นขึ้นมาเลย ตั้งแต่ปล่อยวางเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอน จะเห็นสภาวธรรมทั้งหมด แล้วเข้าใจตามความเป็นจริง จากอวิชชา ปัจจยา สังขารา กลายเป็นวิชชา กลายเป็นสภาวธรรม

วิชชาคือความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งสิ่งนั้น ถึงปล่อยวางกิเลสออกไปจากใจทั้งหมด กิเลสนี้จะหลุดออกไปจากใจ ในวงปฏิบัติถ้าเราปฏิบัติด้วยธรรม ถึงจะเป็นสีลัพพตปรามาส ที่ว่ากลัวมันจะตกเป็นอัตตกิลมถานุโยค กิเลสมันหลอกมาตั้งแต่ต้น แล้วเราจะเข้าไม่ถึงตามความเป็นจริง ถ้าเราเห็นว่าเป็นสีลัพพตปรามาส กลัวจะเป็นลูบคลำ ต้องใช้ปัญญา

ปัญญาของเราจะเป็นปัญญาการสั่งสม ถ้าปัญญาสั่งสม มันจะทำให้เรารู้สภาวธรรม แล้วเราจะแบกหามไว้ สิ่งที่แบกหามไว้มันจะหนักมาก เพราะเราแบกกิเลสไว้ เราก็หนักอยู่แล้ว แล้วเรารู้สภาวธรรม เรารู้แล้วเราก็ต้องแบกรับ ต้องสะสมไว้ สิ่งที่เรารู้ กลัวเราจะไม่รู้ แต่ผู้ที่รู้ธรรมตามความเป็นจริง นี่เวลาศึกษาปริยัติ อุปัชฌาย์บอก “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” แล้วเราประพฤติปฏิบัติ แค่นี้! แค่เราใคร่ครวญ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ กายกับจิต

เพราะสิ่งที่ใคร่ครวญคือ จิตไปพิจารณาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เพราะจิตมันไปพิจารณา นี่กายกับจิตวิปัสสนาสิ่งนี้เข้ามา แล้วมันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา จนรู้สภาวะตามความเป็นจริง สภาวธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย มันจะรู้แจ้งหมดเลย สิ่งที่รู้แจ้ง รู้แจ้งเรื่องอริยสัจ รู้แจ้งเรื่องทุกข์ รู้เรื่องแจ้งนิโรธะ ความดับทุกข์ รู้แจ้งมรรคอริยสัจจัง ที่มันหมุนตัวออกไป

สิ่งที่เป็นหัวใจของศาสนาคืออริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจ รู้แจ้งขึ้นมาในหัวใจดวงนั้น ทำไมหัวใจดวงนั้นจะลังเลสงสัยล่ะ? ดวงใจดวงนั้นจะไม่มีความลังเลสงสัย จะรู้แจ้งเรื่องอริยสัจทั้งหมดเลย รู้แจ้งแล้ววางไว้ตามความเป็นจริง รู้แจ้งแล้วไม่แบกไว้ แต่ถ้ารู้แล้วแบกไว้ อันนั้นรู้โดยสีลัพพตปรามาส

สีลัพพตปรามาสคือแบกความรู้ของเขา เขาแบกของเขา แบกความรู้ว่าเขาไปรู้ความรู้จริง แล้วเขาจะต้องแบกหามตลอดไป นั้นเป็นสภาวะกิเลส

จะเป็นเจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติ ถ้าปัญญาวิมุตติ ก็ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญใช้มันเป็นสมาธิเข้ามา ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญของเราเข้ามาให้มีความสงบ ใช้ปัญญาใคร่ครวญในกายก็ได้ ในเวทนาก็ได้ ในจิตก็ได้ ในสภาวธรรมก็ได้ นี่เป็นปัญญาวิมุตติ ใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ใช้ปัญญาเพราะจริตนิสัยมีปัญญา ต้องใช้ปัญญาเป็นตัวนำ

ตัวนำแล้วจะเริ่มเดินมรรค สิ่งที่เดินมรรคคือเดินอริยสัจ สิ่งที่เดินอริยสัจขึ้นมา รวมตัวขึ้นมา มีงานขึ้นมา เพราะอริยสัจคือการฝึกฝนไง มรรคก็จะเกิดขึ้นได้ มันต้องลงไปที่งาน งานคืออะไร? งานคือการพิจารณากายกับจิต ถ้าการพิจารณากายกับจิต มรรคกำลังฝึกฝนกัน มรรคกำลังเป็นพลังงานต่อสู้กัน มรรคกำลังสัมปยุตกัน

สิ่งที่สัมปยุตกันนั้นคือการงาน สิ่งที่เป็นการงานจะเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันจะเห็นสภาวะที่ว่า มรรคมันรวมตัว แล้วภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้น นี่ปัญญาวิมุตติ ความเป็นปัญญาวิมุตติมันจะใคร่ครวญ สิ่งที่ใคร่ครวญแล้วมันจะใคร่ครวญเห็นสภาวะแล้วมันปล่อยวาง.. ปล่อยวาง.. จนถึงที่สุดมันก็สมุจเฉท มันก็รวมตัว

เจโตวิมุตติ กำหนดสมาธิเข้าไป กำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไป นี่ให้จิตนี้สงบเข้ามา.. สงบเข้ามา.. แล้วตั้งกายขึ้นมา ถ้าพิจารณากายโดยเห็นสภาวะกาย กายนี้จะแปรสภาพ เห็นสภาวะเคลื่อน จะขึ้นอืด ขึ้นพอง จะเห็นสภาวะที่ว่าเน่า จะเป็นอสุภะขนาดไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่ใจเห็นนั้นคือปัญญา ปัญญาที่มันเห็นนั้นคือปัญญา คือความรู้แจ้ง ใจมันรู้เห็นสภาวะอย่างนั้น มันก็สะเทือนหัวใจ นี้คือปัญญา

ปัญญาที่เกิดสภาวะแบบนั้น กับปัญญาที่ว่าปัญญาวิมุตติ ปัญญาการใคร่ครวญ มันคนละฝ่ายกัน คนละส่วนกัน แต่ถึงที่สุดแล้ว มันจะรวมตัวเหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกัน ปัญญาถ้าใช้พิจารณากาย เจโตวิมุตติ ปัญญามันวิภาคะ มันขยายส่วน มันแยกส่วน เวลามันทำลาย มันหาย ทำลายแล้วมันจะว้างหมด หายหมด

สิ่งที่หายหมด ว่างหมด ไม่มีสิ่งใดหมด นี่เราใจมันไปเกาะอะไร ใจมันไม่มีที่เกาะ ใจมันไม่มีสภาวะสิ่งที่เห็น มันว่างหมด นั่นปัญญามันเห็นว่าสิ่งนั้นมันเป็นความหลอก สิ่งนั้นเป็นมายา สิ่งนั้นเป็นความไม่จริง ปัญญาอย่างนี้มันก็เกิด สิ่งที่ปัญญาเกิด นี่เจโตวิมุตติ สิ่งที่เจโตวิมุตติ พิจารณากายเป็นชั้นเข้าไป.. เป็นชั้นเข้าไป.. เริ่มรวมตัวเข้าไป จนเป็นอสุภะ จนถึงที่สุด

จนถึงที่สุดเห็นสภาวะจิตเป็นกาย สิ่งที่เป็นกายอันละเอียดของกายตัวนั้น นี่สิ่งที่เป็นกายอันละเอียดนั้น มันจะพลิกคว่ำสิ่งนั้น ถ้าพลิกคว่ำจิตตัวอวิชชาได้ นี่เจโตวิมุตติ ถ้าปัญญาวิมุตติก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันใช้ปัญญาใคร่ครวญ แล้วแยกแยะเห็นไหม ปัญญาจะเป็นตัวนำ นำแยกออกไป.. แยกออกไป.. จะปัญญาวิมุตติ จะเจโตวิมุตติ สุดท้ายแล้วเข้าประตูเหมือนกัน เข้าประตูของจิต ต้องทำลายกันที่หัวใจ เพราะหัวใจตัวอวิชชาอยู่ที่ใจ

สิ่งที่อวิชชาอยู่ที่ใจนี้ มันจะปิดบังเป็นชั้นเป็นตอน ปล่อยวางนะ ตั้งแต่ขั้นแรกมา มันก็บังขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ มันจะบังสิ่งต่างๆ เข้ามา บังแล้วก็ต่อต้าน บังแล้วก็ขับไส บังแล้วก็ทำให้เราคลาดเคลื่อนไป สิ่งที่เราคลาดเคลื่อนไป มันก็ล้มลุกคลุกคลานไง นี่ในวงของปฏิบัติ เวลามันทุกข์ยาก สิ่งที่ทุกข์ยากเราต้องรื่นเริงอาจหาญ เพราะเราเป็นบุคคลคนๆ หนึ่งที่เราต่อสู้กับกิเลส เราเป็นบุคคลหนึ่งที่เราพยายามต่อสู้ เราค้นคว้าของเรา มันเป็นงานอันเอกไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมนะ เป็นพระโพธิสัตว์ นี่สร้างสมมาขนาดไหน สุดท้ายแล้วก็ต้องมาประพฤติปฏิบัติ มาค้นคว้าออกสิ่งนี้ เราไม่ได้สร้างสมบุญญาธิการมาขนาดนั้น แต่เราก็ได้สร้างบุญมา เราถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วเราเกิดมาพบพุทธศาสนา แล้วเรายังได้ออกบวช ออกบวชเป็นนักรบไง ประกาศตนว่าเป็นพระตั้งแต่เราบวช

ถ้าเราบวช เราบวชโดยญัตติจตุตถกรรม เป็นสงฆ์โดยสมมุติ อุปัชฌาย์สอนแล้ว “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” นี่ปริยัติสอนมาเต็มๆ เลย สิ่งนี้เป็นปริยัติ สิ่งนี้ในวงปฏิบัติเอาสิ่งนี้เป็นตัวตั้ง ถ้าสิ่งนี้เป็นตัวตั้ง แล้วเราแทงสิ่งนี้ให้ทะลุเข้าไป เราไม่ต้องกังวล ว่าเราจะต้องไปศึกษาตามตำราขึ้นมา เราถึงจะเดินถูกทางไง

เรากลัวแต่เราเดินไม่ถูกทาง เรากลัวแต่เราจะเดินผิดพลาดไป ถ้าเราผิดพลาดไปเราจะเสียเวลา สิ่งที่เราศึกษา เราใคร่ครวญ มันเป็นแผนที่ เป็นเครื่องดำเนินเหมือนกัน ศึกษามาขนาดไหน ก็ไม่พ้นเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไม่พ้นจากอริยสัจ

สิ่งที่เป็นอริยสัจ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” อริยสัจเกิดจากภายใน แล้วหัวใจมันมีประสบการณ์นะ ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ในทางโลกเขาเหมือนกัน จบจากการศึกษามาก็ต้องฝึกงาน ต้องให้ทำงานเป็น การศึกษานั้นเป็นการศึกษาในวิชาชีพ แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ในการประกอบสัมมาอาชีวะ เรายังต้องไปฝึกงาน ต้องทำงานให้เป็น นี่ในภาคปฏิบัติ ในวงของเราปฏิบัติ เราปฏิบัติเลย

ในวงของพระ ผู้ที่จดจำธรรมวินัยมา นั้นก็เป็นสิ่งที่ว่า เขาก็มีคุณกับศาสนา เพราะว่าอะไร เพราะศาสนาเรามีแก่น มีเปลือก มีกระพี้ มันถึงจะทรงศาสนามาได้ตลอด สิ่งที่ว่าอำนาจวาสนาของใคร จะทำตรงไหน ถ้าเขาทำตรงนั้น เขาไม่คิดปฏิบัติขึ้นมา การท่องจำนี้แสนยาก การพยายามศึกษา การรักษาศาสนาไว้เป็นเรื่องยาก นั้นเขาก็ว่าของเขา แต่ถ้าการรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมในหัวใจรู้ขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เป็นศาสดาของเทวดา เป็นอาจารย์ของเทวดา เป็นอาจารย์ของมนุษย์ สอนหมดตั้งแต่กษัตริย์ลงมา สอนได้หมดเลย นี้เหมือนกัน ถ้าธรรมในหัวใจ ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเกิดขึ้นมาจากนี้ ธรรมในหัวใจเกิดขึ้นมา จะสอนตัวเองก่อน นี่สอนตัวเองก่อน แล้วให้ตัวเองมีความสุขก่อน ถ้ากิเลสดับออกไปจากใจ ขาดออกไปจากใจ ใจดวงนี้จะมีความสุขมาก กิเลสนั้นจะไม่ฟื้นอีก

ถ้ากิเลสมันไม่ขาด มันสลบ มันจะฟื้นได้.. ฟื้นได้.. สิ่งที่มันฟื้นได้ มันก็ล้มลุกคลุกคลาน จนกว่าเราชำระขาดหมดเห็นไหม จะไม่ลูบคลำหรอก จะไม่มีความลังเลสงสัย กิเลสมันจะเกิดอีกไม่ได้เลย ความทุกข์จะเกิดจากใจดวงนั้นไม่ได้

สิ่งที่เกิดจากใจดวงนั้นไม่ได้เพราะ ใจดวงนั้นจะเข้าถึงไม่ได้ แต่เรื่องของธาตุขันธ์มันก็เป็นธรรมชาติของมัน สิ่งที่เป็นธาตุขันธ์นี้ มันเป็นธรรมชาติที่ต้องแปรสภาพโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เพราะเราเอามาประพฤติปฏิบัติ เราเอามาค้นคว้า ค้นคว้าในกายของเรา ในใจของเรา เราเอาสิ่งนี้มาทำ สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด เห็นไหม มันเป็นเรื่องที่ลึก ที่กว้าง ขนาดที่ว่าโลกนี้ไม่สนใจกัน

ในเรื่องของชาวพุทธ ชาวพุทธมีมากขนาดไหน ชาวพุทธที่ประพฤติปฏิบัติจะมีมากขนาดไหน เราเทียบเคียงเข้ามา แล้วถ้าเราสนใจของเรา เราค้นคว้าสิ่งนี้ขึ้นมา เราเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสนะ ถ้าคนหนึ่งที่มีโอกาส เวลาทางโลกเขาทำไมไม่ให้โอกาสกัน ถ้าให้โอกาสเข้าจะมีโอกาสทำงานของเขาได้ประสบผลของเขา อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ให้โอกาสเรา ไม่มีใครให้ได้เลย ถ้าใจไม่เปิด

ถ้าใจเปิด โอกาสเราก็เปิด ถ้าใจเราไม่เปิด เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อโอกาสมาจากไหน? โอกาสเราก็ไม่มีไง แต่ถ้าเราเชื่อขึ้นมา เราก็มีโอกาส ถ้าเรามีโอกาสขึ้นมา เราจะทำของเราขึ้นมา นี่ในวงปฏิบัติ ถึงเวลาสนทนาธรรมกัน ก็สนทนาธรรมเรื่องการประพฤติปฏิบัติ ในการเดินจงกรม ในการทำความเพียรกัน มันต้องอาศัยกันนะ

อยู่กับครูบาอาจารย์เรื่องการกระทบกระเทือนกัน มันจะมีมาก เวลาจิตคนสงบขึ้นมา มันรักษายากมาก เวลาจะผ่านกัน ถ้าจะเข้าไปหากัน ต้องขอโอกาสก่อน ต้องกระแอมกระไอให้รู้สึกตัวก่อน แล้วจะเข้าไปหากัน เพื่อจะสนทนาธรรมกัน แต่ถ้าจะไม่เข้าไปหากันจะพยายามทำให้สงัด นี่ความสงัด ความสงบของสัปปายะเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา ทุกคนต้องการ

แล้วในการกระทบกระเทือนกัน ถ้าไม่จำเป็น เราไม่ควรจะกระทบกระเทือนกัน เราจะไม่พูดจาให้กระทบกระเทือนใจคนอื่น เพราะว่าทุกคนต้องการสิ่งที่จะส่งเสริม ไม่ใช่ต้องการการทำลาย นี่ในวงปฏิบัติ ถึงเป็นสัปปายะ ๔ ไง

ครูบาอาจารย์สำคัญที่สุด เราเกิดมากึ่งกลางพุทธศาสนาเราเกิดพบมาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เป็นผู้ค้นคว้ามา ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ อาหารเป็นสัปปายะ เราก็แสวงหาเอา ถ้ามันมากเกินไป เราก็ลดทอนของเราเอง สถานที่เป็นสัปปายะ เราก็แสวงหา ถ้ามีโอกาส ถ้าไม่มีโอกาสเราก็พยายามพลิกแพลงของเราเอง นี่หมู่คณะสัปปายะ

สิ่งที่เป็นสัปปายะ วงปฏิบัติเราต้องการสิ่งนี้ ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นมากับเราได้ เราจะเริ่มมีพื้นฐาน แล้วเราจะปฏิบัติของเราถึงที่สุดได้ เอวัง