ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ดีที่ทำ

๒๑ ก.ค. ๒๕๕๖

 

ดีที่ทำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ทำไมตอนนั่งสมาธิแล้วปวดหัวทุกทีเลยคะ แต่ตอนที่ไม่นั่งไม่เป็นไร เวลาเดินจงกรมก็รู้สึกเพลีย ไม่มีแรง ต้องแก้อย่างไรคะ

ตอบ : ปัญหานี้กับปัญหาต่อไปข้างหน้ามันจะเหมือนกัน เดี๋ยวจะไปตอบพร้อมกัน มีถามปัญหามาอย่างนี้เหมือนกัน อันเดียวกันเลย เดี๋ยวคอยฟังนะ

ถาม : ที่วัดมีมดแมลงมากมาย ถ้าลูกเผลอปัดยุงจนตาย และเดินจงกรมเผลอไปเหยียบมดตาย จะบาปไหมคะ ต้องทำอย่างไรดีคะ แล้วก่อนจะปฏิบัติธรรมควรจะสวดมนต์บทไหนคะ

ตอบ : ไอ้เรื่องแมลง สัตว์ แมลงมันก็หาที่ปลอดภัยของมัน ฉะนั้น เรามีเจตนา เราพยายามเดินจงกรมของเรา บางทีเดินจงกรมนะ แล้วมดมันเดินข้ามกลางทางจงกรม แล้วจะปัดอย่างไรก็ปัดไม่ได้ เราเดินจงกรมมีสติ ข้ามมันไป

เราเคยเดินจงกรมนะ งูเห่า เดินข้ามงูเห่า งูเห่านี่นะ งูเห่ามันชุม พองูเห่ามันชุม เวลาเราออกไปฉันน้ำร้อนกลับมา มันไปกินคางคก พอมันจะกินคางคก มันรัดคางคก คางคกจะร้องมาก พอร้องมาก เราก็จะมาช่วยคางคก มาตบให้มันปล่อย ให้มันคายออกมา แล้วเราก็ไปฉันน้ำร้อนกลับมา กลับมานะ คางคกกลับไปอยู่ในท้องมันอีกแล้ว มันกลับมากิน เพราะคางคกพอโดนรัดแล้วกระดูกมันหัก มันไปไม่ได้หรอก

ทีนี้พอสัตว์พวกงูเห่ามันเยอะ มันจะกินพวกสัตว์ แล้วถ้ามันมีมาก บางทีมันนอน มันนอนนะ มันกินเสร็จแล้วมันก็มานอน เดินจงกรมนี่เดินข้ามมันเลย พอเดินข้ามไปมันก็ต่างคนต่างอยู่ไง นี่เราเคยทำอย่างนั้นนะ เวลาพูดอย่างนี้ปั๊บมันจะลงในเว็บไซต์ แล้วคนก็จะเขียนที่เราพูดกลับมาถามเราว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือหลวงพ่อ

คนมันไม่เคยทำไง ฉะนั้น เวลาถ้าสัตว์มันคุ้นชินกับเรา มันไม่เป็นโทษ แต่อย่าไปเหยียบมันนะ อย่าไปโดนตัวมัน ถ้าไปโดนตัวมันนะ มันคิดว่าเราไปทำร้ายมัน มันกัดเอานะ เขาถึงบอกว่าสัตว์หน้าขนไว้ใจไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปคุ้นเคยกับสัตว์ ว่าสัตว์มันจะเชื่อง มันจะไม่กัดเรา

อย่าไว้ใจ อย่าไว้ใจ ไว้ใจไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราไปคุ้นชินกับมัน มันก็ไม่ทำร้ายเรา เราก็อยู่ประสาเรา

ฉะนั้น พวกมดพวกต่างๆ ธรรมชาติ พระพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งมีชีวิตทุกดวงใจรักชีวิตของตัวเอง รักชีวิตของตัวเอง กลัวทุกข์ ฉะนั้น เพียงแต่ว่าถ้าวัดมันมีแมลงมาก มันมีมากจริงๆ มีมากจริงๆ เพราะว่าธรรมชาติเดี๋ยวนี้ป่าเขามันน้อย ดูสิ ช้างมันต้องมากินพืชไร่ของชาวสวน เพราะชาวสวนบุกรุกที่ของมันเข้าไป จนช้างมันก็ไม่มีที่หาอยู่หากินของมัน

สัตว์นะ สัตว์มันอยู่ป่าอยู่เขานะ ขณะที่พระเราไปอยู่ที่ห้วยขาแข้ง เสือมันออกมา แม้แต่มันออกมาถึงถนนนะ มันไม่มีที่อยู่ เพราะอะไร เพราะว่าเสือมันต้องอาศัยบริเวณของมัน แล้วพอตัวไหนที่เป็นเจ้าถิ่นมันก็ไม่ให้ตัวอื่นเข้าไปในเขตแดนของมัน มันก็หาเขตแดนใหม่ของมันๆ สัตว์มันจะไม่มีที่อยู่แล้ว ป่าเขามันไม่มีที่อยู่

บอกว่า วัดนี้มีแมลงมาก

มีจริงๆ เพราะว่ามันไม่มีป่ามีเขาให้พวกนี้อยู่แล้วล่ะ มันก็มาอยู่ของมัน แล้วที่ไหน อย่างว่า หลวงตาท่านบอกว่า ที่ไหนเป็นที่ปลอดภัย ที่ไหนเป็นที่ไว้วางใจได้ มันก็จะไปอาศัยที่นั่น แล้วที่วัดมันก็ปลอดภัยกว่าที่บ้านแน่นอน ถ้าปลอดภัยกว่าบ้านแน่นอน มันก็มีของมันใช่ไหม ถ้ามีของมัน เราก็หลบหลีกของเรา หลบหลีกของเรา ถ้ามันเป็นไปได้

แม้แต่พระเรา พระเราอยู่ที่นี่ ยุงมันมาก แมลงมาก เวลาจะนั่งสมาธิ เขาก็อยู่ในกลดเหมือนกัน นี่พระยังต้องหลบหลีกเลย ต้องหลบหลีก ต้องหาทางหลบหลีกของเรา เพราะมันก็มีชีวิต มันก็รักชีวิตของมัน เราก็แสวงหาประโยชน์กับเรา ถ้าเราแสวงหาประโยชน์กับเรานะ เราต้องพยายามหลบหลีกเอง

ฉะนั้น บอกว่า เวลาเผลอไปตบยุงตายนี่บาปไหม เดินจงกรมไปเหยียบมดตายนี่บาปไหม

เราทำชีวิตเขาตกล่วง แน่นอน มีแน่นอน ฉะนั้น ถ้ามีแน่นอน เวลาพระเดินจงกรม พระจะเหยียบมดตายไหม? เหยียบ เพราะมันเผลอ มันเหยียบได้ แล้วเหยียบแล้วเป็นอย่างไร? ก็เป็นอาบัติ เป็นอาบัติทำอย่างไร? ก็ปลงอาบัติ นี่เหมือนกัน พอปลงอาบัติแล้วกรรมมันหายไหมล่ะ กรรมก็คือกรรม ถ้าเราไปเหยียบเขา มันมีนะ มันมีเวลาถ้าจิตใจเขาอาฆาตมาดร้ายต่างๆ มันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเขาปลงได้ มันก็อีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น เขามีจิตวิญญาณ เขามีความรู้สึกทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น บาปไหม? บาป

ทีนี้บาปโดยถ้าเจตนา ดูสิ ถ้าเด็กมันเข้าใจ เจตนาจะไปเล่น จะไปบี้ มันก็ตายนะ แต่ของเรา เราจะทำความเพียรของเรา มันเป็นสถานที่ทำงานของเรา สถานที่ทำงานของเรามันควร สัตว์อื่นไม่ควรเข้ามายุ่งในที่ทำงานของเรา แล้วทำไมมันมาล่ะ

อ้าว! มันก็ว่าที่อยู่ของมัน มันไม่รับรู้หรอก จะเอาเอกสารสิทธิ์ไปบอกว่านี่ที่ของฉัน สัตว์มันไม่ฟังหรอก สัตว์มันไม่รับรู้ด้วย ถ้าสัตว์มันไม่รับรู้ด้วย มันเป็นกรรมของสัตว์ ถ้ากรรมของสัตว์แล้วเราหลบหลีกของเราเองไง

ฉะนั้น บอกว่า เวลาไปเหยียบมดตาย ไปตบยุงตายเป็นบาปไหม

บาปแน่นอน ทีนี้มันก็มีมากมีน้อยไง ถ้าอาฆาตมาดร้าย จงใจ มันก็บาปหนัก ถ้าเราไม่จงใจ เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราจะถือศีลให้บริสุทธิ์ใช่ไหม เราก็ไม่เจตนาทำหรอก แต่เวลามันกัดมันเจ็บ มันลูบไป พอลูบไป พอมันตาย อู๋ย! เสียดาย มันลูบไปแล้ว แล้วยุงตัวมันนิดเดียว เวลามันลูบไปก็ไปโดนมัน อันนี้ไม่ได้เจตนา บาปไหม? บาป ฉะนั้น พอบาปแล้วมันมากหรือน้อย ถ้ามากหรือน้อย เราหลบหลีกเอา เราพยายามหลบหลีกเอา ถ้าเราฝึกสติได้นะ

กรณีนี้เราพูดถึงหลวงปู่ลี วัดอโศการามประจำ ในประวัติของหลวงปู่ลี วัดอโศการามนะ ยุงทะเล ปากอ่าว ยุงทะเลมันมากขนาดไหน เวลามันมาทีหนึ่งมันเป็นลูกภูเขาเลย

หลวงปู่ลี วัดอโศฯ ท่านไปนั่งอยู่ที่ชายทะเล นั่งหลับตาเลยนะ ใช้กรรม ใช้กรรม โอ๋ย! มันกัด มันกัดนะ ใครทนได้ ทน ท่านทนเอานะ หลับตาทนเอานะ พอลืมตามา แถวผ้าจีวรแดงหมดเลย เลือด อย่างเราโดนกัดไปตัวสองตัว เราก็ทนไม่ได้แล้ว แต่นี่เวลากัดนะ ยุงทะเลมันมากัด ท่านนั่งหลับตาเฉยๆ ให้ยุงมันกัด แล้วกัดนี่กัดเต็มไปหมดเลย หลวงปู่ลี วัดอโศการาม ที่วัดอโศฯ นั่นแหละ ท่านทำของท่าน

เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านใช้กรรมของท่าน ท่านไม่ได้ทำด้วยความสนุกหรอก แต่ท่านทำด้วยความอดทนของท่าน ท่านทำด้วยขันติบารมีของท่าน ท่านฝึกบารมีของท่าน ท่านทำเพื่อประโยชน์ของท่าน

แล้วครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าท่านรู้ว่าท่านมีเวรมีกรรมสิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นมาถึงตัวท่าน ท่านจะไม่โอดโอยเลย ท่านจะยอมรับความเป็นจริงอันนั้น แล้วท่านจะซาบซึ้ง คนเรามันจะซาบซึ้งมากนะว่าเราทำกรรมใดไว้ แล้วเวลากรรมนั้นมันตามมาถึงเรา มันซาบซึ้งนะ มันยอมรับความจริง มันไม่หลบหนี มันไม่โอดโอย ถ้าความจริงอย่างนั้น นี่พูดถึงครูบาอาจารย์เราทำมาแล้ว

นี่คำถามไง คำถาม เราโดนยุงกัด เราโดนมดกัด แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านทำแบบนั้น ฉะนั้น บาปไหม

“ก่อนจะปฏิบัติธรรมควรจะสวดมนต์บทไหน”

ก่อนปฏิบัติธรรมนะ เราสวดมนต์ทำวัตร ทำวัตร ขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วจะสวดบทไหนมันก็จะเป็นความชำนาญของเรา ถ้าเรามีความชำนาญของเราแล้ว เราทำของเราได้ มันเป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเราเนาะ

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันอยู่ที่จริตนิสัยของคน บางคนชอบบทนั้น บางคนชอบบทนี้ อย่างบทไหนที่มันสวดแล้วมันซาบซึ้งใจ แล้วบทไหนเวลาสวดแล้วเราคิดตามไง แปล แปลแล้วเราคิดตาม มันเป็นเหตุเป็นผล จิตใจมันจะดีมาก นี่พูดถึงนะ เราทำของเราอย่างนี้

เวลาเราปฏิบัติไปมันมีปัญหาไปหมด แต่เวลาถ้าไปเที่ยวเล่น ไปตากแอร์ที่ห้างสรรพสินค้า ไม่ถามเลย “หลวงพ่อ ไปห้างไหนดี ห้างไหนเวลาไปแล้วมันเย็นกว่ากัน” ไม่ถามเนาะ เวลาไปตากแอร์ไม่ถามเลย เวลามดกัดยุงกัดนี่มันถามเนาะ เห็นไหม เวลาคนคิด คิดไปแบบนั้น ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นไปนะ

ถาม : ข้อ ๑๓๖๑. เรื่อง “กราบนมัสการหลวงพ่อครับ”

ผมนั่งสมาธิตอนกลางคืน ผมมีแต่ความกลัวผีครับ ผมนั่งสมาธิ ผมรู้สึกปวดขามาก พอปวด ผมก็เลิกนั่ง เพราะปวดและกลัวตายมาก พอเลิกนั่งสมาธิ ผมก็เปลี่ยนเป็นนอนครับ พอนอนทำสมาธิก็ปวดอีกครับ แขนชาไปหมด ผมก็เลิกอีกครับ ผมเดินจงกรมครับ ก็ปวดขา ปวดแขนครับ ผมปฏิบัติมาถึงจุดนี้ครับ หลวงพ่อครับ เมตตาชี้แนะด้วย

ตอบ : นี่คำถามนะ อันนี้คำถามเหมือนกันเลย

“หลวงพ่อคะ ทำไมตอนนั่งสมาธิแล้วปวดหัวทุกทีเลยคะ แต่ตอนไม่นั่งไม่เป็น เวลาเดินจงกรมรู้สึกเพลีย ไม่มีแรง ต้องแก้อย่างไรคะ”

นี่เหมือนกันเลย ปัญหานี้มันเหมือนกัน เหมือนกันที่ว่า “นั่งสมาธิไปตอนกลางคืนมันก็กลัวผีครับ นั่งสมาธิไปรู้สึกปวดขาครับ พอปวดขา ผมก็เลิกนั่ง เพราะปวดและกลัวตายมาก เลิกนั่งสมาธิก็เปลี่ยนมาเป็นนอนครับ พอนอนทำสมาธิก็ปวดอีกครับ แขนชาไปหมด ผมก็เลิกอีกครับ ผมเดินจงกรมครับ ก็ปวดขา ปวดแขนไปหมดครับ ผมปฏิบัติมาถึงจุดนี้ครับ จะทำอย่างไรต่อไปข้างหน้า”

เวลาเราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ คนเราจะทำสิ่งใด ทุกคนเวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วอยากจะพ้นจากทุกข์ เวลาเราปรารถนา เราอยากจะปรารถนาพ้นทุกข์กันเลย เวลาปรารถนาพ้นทุกข์ มันต้องมีอำนาจวาสนาบารมี คำว่า “มีอำนาจวาสนาบารมี” ดูคนสิ ชาวพุทธๆ มันพุทธที่ทะเบียนบ้าน พุทธที่ทะเบียนบ้านเฉยๆ พุทธที่ทะเบียนบ้าน เราถือศาสนา เราว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีศาสนาเท่านั้นเอง ถ้ามีศาสนา ศาสนาสอนเรื่องอะไร

จิตใจของคนมันแตกต่างกัน ดูคนทำบุญสิ คนทำบุญ ถ้าจิตใจคนทำบุญนะ ทำบุญของเรานะ เราจะทำสิ่งใดเราก็คิดของเราอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าคนเขาทำของเขาจนเป็นนิสัยของเขา เขาทำได้มาก เขาทำได้ของเขา ทำมากทำน้อยมันเป็นบุญกุศลของคน ฉะนั้น ไม่ใช่ทำมาก แข่งกันด้วยการทำมากแล้วจะได้ผลมากหรอก มันเป็นที่จิตใจ

จิตใจถ้าเจตนามันดี ปฏิคาหกไง ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ สิ่งที่ได้แสวงหามาด้วยความบริสุทธิ์ ให้แล้วมีความสดชื่น แล้วเวลาผู้รับ ปฏิคาหก รับด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ใช้ประโยชน์สิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นบุญกุศลมหาศาล แต่โลกมันก็มีแตกต่างหลากหลายกันไปใช่ไหม นี่พูดถึงวุฒิภาวะใจที่มันจะพัฒนาขึ้นมา

ฉะนั้น คนที่จะมาภาวนามันต้องมีกำลังพอสมควร มีกำลังใจไง คนมีกำลังใจมีขันติธรรมนะ คนที่อ่อนแอกว่าเรา มาเหยียบย่ำทำลายเรา เสียดสีเรา เราทนได้ นั่นล่ะขันติอย่างละเอียด คนที่มีอำนาจวาสนามากกว่าเรา เจ้านายเราข่มขี่เรา เราทนได้ นี่ขันติอย่างหยาบๆ แต่ถ้าคนเสมอกันติเตียนกัน เสียดสีกัน เราทนได้ นี่ขันติอย่างกลาง คนที่ต่ำต้อยกว่าเรา คนที่ต่ำต้อยกว่าเรา เขาเสียดสีเรา เขาติฉินนินทาเรา เราทนได้ๆ นี่ขันติอย่างอุกฤษฏ์ ขันติอย่างอุกฤษฏ์ คือคนที่อ่อนด้อย คนที่ไม่มีอำนาจวาสนาสิ่งใดเลย แล้วพูดจาเสียดสีเรา เราทนได้ นี่ขันติ การฝึกไง ถ้าคนมีขันติ คนมีต่างๆ เวลาจะมาภาวนามันก็มีหลักของมันขึ้นมา คนจะภาวนามันต้องมีกำลัง มันต้องมีศรัทธามีความเชื่อของเรา

แต่ถ้าคนมันอ่อนแอ ดูสิ ดูเด็กของเราบางคนมันเรียกร้องเอาตรงนั้นน่ะ เอาแต่ตามใจตัวของมัน เด็กบางคนมันถามเลย “แม่ แม่เก็บผ้าหรือยัง หนูจะเก็บให้ แม่ล้างจานหรือยัง หนูจะล้างให้ แม่เก็บที่นอนหรือยัง หนูจะเก็บให้” เด็กบางคนมันคิดได้ขนาดนั้นนะ เด็กบางคนนะ “แม่ไม่รัก แม่ไม่รัก” ทำไมคนมันความคิดแตกต่างกันล่ะ

ถ้ามีความคิดแตกต่าง มันก็อยู่ที่หัวใจแล้ว หัวใจของคนมันสร้างอำนาจวาสนามามากแค่ไหน ถ้ามันสร้างอำนาจวาสนามานะ สิ่งที่มันจะเริ่มต้นอย่างนี้ “ผมนั่งสมาธิ พอนั่งก็ปวด นอนก็ปวด ปวดไปหมดเลย”

ปวดก็คือปวด อยู่เฉยๆ มันก็ปวด ทุกข์ ทุกข์คือสิ่งที่ทนไม่ได้ ทุกข์ ทุกข์คืออารมณ์เราที่ทนไม่ได้ พออารมณ์อะไรจะเกิดขึ้นมา เราคุ้นชินกับมัน ทนไม่ได้แล้ว มันต้องเปลี่ยนไปตลอดเวลา พอมันเปลี่ยน กิริยาที่เราเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา สิ่งนี้มันก็เบาบางลงโดยธรรมชาติ ถ้าโดยธรรมชาติมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ

ฉะนั้น เราจะมาปฏิบัติ มันก็อาการอย่างนั้นแหละ อาการอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเรามาตั้งไว้ไง เรามาตั้งสติไว้ แล้วเรากำหนดพุทโธ เรากำหนดสิ่งใด เพื่อไม่เคลื่อนไหว ถ้ากายไม่เคลื่อนไหว กายวิเวก

กายเราเคลื่อนไหวอยู่ เราเปลี่ยนอิริยาบถตลอดเวลา เราจะไม่เห็นเลย ไม่เห็นสิ่งใดที่มันสงบได้เลย เพราะเราเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราจะคงที่ล่ะ กายวิเวก กายไม่เคลื่อนไหว พอกายไม่เคลื่อนไหว มันอึดอัดแล้ว นี่ไง มันไม่เคลื่อนไหว แล้วจิตวิเวกไหมล่ะ? จิตมันไม่วิเวก ถ้าจิตมันวิเวก กำหนดพุทโธๆ พอกำหนดพุทโธไป มันปวด

คำว่า “ปวด” นี่นะ โดยธรรมชาติของมัน คำว่า “ปวด” แต่ถ้าเพลินล่ะ คนเล่นการพนันนะ คนที่เล่นการพนันเขาเพลินในมหรสพสมโภช เขานั่งดูได้ ๓-๔ ชั่วโมง เขาไม่ปวดเลย เพราะจิตเขาไม่รับรู้ แต่นี่เพราะว่าเราตั้งใจไง ปิดประตูตีแมว

เวลาโปฐิละๆ เขาเป็นอาจารย์สอนในทางปริยัติ ลูกศิษย์ ๕๐๐ นะ ในทางวิชาการ ใครถามอย่างไร ตอบได้หมด ไปไหนก็มีลูกศิษย์ลูกหามากเลย ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “โปฐิละใบลานเปล่ามาแล้วหรือ” เวลาลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ว่า “ใบลานเปล่ากลับแล้วหรือ”

ทฤษฎีเขารู้หมด แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกใบลานเปล่าๆ พอใบลานเปล่า โปฐิละก็ชักได้สติ เอ๊ะ! มันต้องมีเหตุผล มีเหตุผล ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น เราเข้าใจทางทฤษฎีหมด แต่เรายังไม่มีทางภาคปฏิบัติ เรายังไม่มีคุณธรรมในหัวใจ ถึงหลีกหนีออกไปปฏิบัติ ไปสำนักพระอรหันต์ทั้งหมดเลย พอไปสำนักพระอรหันต์ทั้งหมดเลย หัวหน้าไปถึงเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสก็พระอรหันต์ก็บอกว่า เราจะสอนท่านได้อย่างไร เราเป็นพระปฏิบัติ เราไม่มีปัญญารอบรู้ทางวิชาการแบบท่าน

ก็ปฏิเสธไป ปฏิเสธไปจนถึงเณรน้อย ตั้งแต่เจ้าอาวาสจนถึงเณรน้อยเป็นพระอรหันต์หมดเลย นี่สำนักปฏิบัติเป็นพระอรหันต์ทั้งวัดเลย ทีนี้สามเณรน้อยก็ไม่กล้า เพราะเณรน้อยจะไปสอนนักปราชญ์ นักปราชญ์ที่ไปไหนมีแต่ครูบาอาจารย์เต็มไปหมดเลย จะไปสอนได้อย่างไร

จนเจ้าอาวาสบอกว่า อ้าว! สามเณร ถ้าเขามีความตั้งใจก็ลองดูสักหน่อย ลองดูสักหน่อยก็เลยลองไง ลองว่าจะเอาสิ่งใดๆ ดูว่าเขาจะลงใจไหม พอลงใจก็เอาแล้ว ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก จอมปลวกนี้มีรูอยู่ ๖ รู มีเหี้ยตัวหนึ่งมันจะออกมาหาเหยื่อตลอดเวลา ให้ปิด ๕ รูนั้น ให้ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือแต่ใจไว้ เหลือรูไว้รูหนึ่งรอดักเหี้ยตัวนั้น เหี้ยตัวนั้นจะออกมาจากรูนั้น แล้วคอยดักนั้น นี่ไง ถ้ารอดัก ถ้าออกมาก็จับเหี้ยตัวนั้น ถ้าจับเหี้ยตัวนั้นได้ มันก็จับกิเลสได้ มันก็จับใจของเราได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เราปล่อยหมด ถ้าเราปล่อยหมด การเคลื่อนไหว กายวิเวกๆ ถ้ากายวิเวก จับสิ่งนี้ไว้ ถ้าเราสังเกต เรากำหนดพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบมันก็ทำได้

แต่นี่เวลานั่งก็ปวด นอนก็ปวด เดินก็ปวด ปวดไปหมดเลย แล้วผมจะทำอย่างไรดี

ไม่ต้องทำอะไร นอนเฉยๆ กินอิ่มๆ แล้วก็อยู่นั่นแหละ มันจะทำอะไรล่ะ ก็มันทำอะไรไม่ได้ มันจะทำสิ่งใดมันก็ต้องเข้มแข็งขึ้นมา นักกีฬาอะไรก็แล้วแต่ เขาต้องฝึกฝนของเขา วิชาชีพสิ่งใดเขาก็ต้องเรียนมาทั้งนั้นแหละ คนเรามันก็ต้องเรียนมา เรียนมามีความรู้ มีองค์ความรู้แล้วถึงจะทำงานได้

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษามา ดูสิ พระบวชมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วเราจะแทงทะลุมันไปได้ไหม ถ้าเราแทงทะลุไปด้วยอะไร ถ้าแทงทะลุไป เราก็เรียนของเรามาแล้ว ถ้าเราทำแล้วมันก็เป็นวิชาชีพของเรา วิชาชีพของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา นี่ก็เหมือนกัน มันตรงกันไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปวดหัว ปัญหานี้ “ตอนที่นั่งสมาธิปวดหัวทุกทีเลย”

ถ้าปวดหัวนะ คำว่า “ปวด” หรือสิ่งต่างๆ คำว่า “ปวดหัว” จิตมันไปเกี่ยวข้องไว้ เรากำหนดพุทโธๆๆ ไว้ ไม่ต้องไปรับรู้มัน ค่อยๆ หายไป ค่อยๆ จางไป

มันเป็นนะ กิเลสนี้มันร้ายนัก คนเราไม่นั่งสมาธิก็ปกติ ทีนี้พอก่อนนั่งสมาธิเรากลืนน้ำลายนะ เรากลืนน้ำลาย แล้วเราก็ระลึกถึงมัน กลืนน้ำลาย พอไปนั่งสมาธินะ พอพุทโธก็กลืนอึ๊ก! พุทโธก็กลืนอึ๊ก! อยู่อย่างนั้นน่ะ จิตนี้ร้ายนัก พอมันสนใจ มันเกาะอะไรปั๊บ มันจะเอาตรงนั้นมาเป็นอุปสรรคทันทีเลย แล้วจะแก้อย่างไรล่ะ

แก้ก็พุทโธชัดๆ พุทโธไว้ พุทโธไว้ แล้วพอกลืนน้ำลายนะ เราก็ค่อยๆ อย่าไปสนใจมัน เดี๋ยวมันหายไปเอง ปวดหัวก็เหมือนกัน กิริยาเอียง กิริยาต่างๆ ร้อยแปด ถ้าไม่ทำอะไรเลย มันก็ไม่สนใจอะไรเลย พอจะทำอะไรปั๊บ มันก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นโทษนะ ไม่ใช่มาเป็นคุณ มาเป็นโทษ มาเป็นโทษว่ากังวลไง มาเป็นความกังวล เป็นการรับรู้ไง

แล้วพอเป็นกังวล อ้าว! เวลาพุทโธทำไมเอ็งไม่กังวลบ้างล่ะ เวลาพุทโธ อยู่กับพุทโธชัดๆ สิ เวลาพุทโธ พุทโธสักแต่ว่า แต่เวลาอะไรเกิดขึ้นมา เพราะอะไร เพราะกิเลสมันไม่ชอบ

พุทโธ พุทธานุสติ พุทแล้วตัด พุทโธๆ พุทแล้วตัด มันไม่มีอารมณ์ให้กิเลสมันได้สืบต่อ แต่กิเลสมันจะทำร้าย ทำลาย ก็มีแต่ว่าให้มันพุทโธไม่ชัด หรือพุทโธแล้วมันเลือนรางไป เพราะมันพุทโธ มันไปสร้างเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นปวดหัว ตัวร้อน เอียง นี่มันสร้างอารมณ์อื่นได้ อารมณ์เพราะอะไร อารมณ์เพราะพุทโธมันต้องสงบระงับ แต่นี่มันไม่ใช่ มันมาต่อรอง แล้วเราก็จะตามมันไป

กิเลส กิเลสนี้เวลาปฏิบัติไป ธรรมะให้ประโยชน์กับเราทั้งนั้นแหละ แต่กิเลส ความลังเลสงสัย ความเคลือบแคลง มันจะฉุดให้เราล้มลุกคลุกคลานตลอดเวลา ฉะนั้น ถ้าเราไปสนใจเรื่องอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ให้สนใจ พระพุทธเจ้าให้สนเรื่องธรรมะ ให้สนเรื่องธรรมะไง

ทีนี้ทำไมมันปวดหัวทุกที

เวลาปวดนะ เราแก้ไขอย่างนี้ ถ้าบอกปวดหัว ยิ่งไปพิจารณาการปวดหัว ปวดหัวจะมากขึ้น แต่ถ้าเขาบอกว่า ถ้าเวลาใช้ปัญญา จิตสงบแล้ว สิ่งใดมันเกิดขึ้น อย่างนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าใช้ปัญญาแยกแยะอีกเรื่องหนึ่ง แยกแยะจนมันปล่อยอุปาทานเข้ามามันก็จบ

ถ้ามันปวดหัวจริงๆ นะ ปวดหัวจริงๆ มันต้องอยู่กับเราตลอดไป เวลาไม่นั่งไม่ปวด เวลานั่งแล้วมันปวด นี้เหมือนกัน จิตอย่างนี้มันมีอาการอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของมัน นี่หญ้าปากคอกเลยนะ นี่เริ่มต้นภาวนายังไม่ทำอะไรเลย ยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ มีแต่อุปสรรคไปหมดเลย

แต่ถ้าคนเขามีอำนาจวาสนานะ จะทำอะไรก็แล้วแต่นะ จิตมันสงบอย่างเดียว จะสวดมนต์ จิตก็สงบ จะระลึกอะไร จิตก็สงบ ทำอะไร ทำอะไรลงสู่สงบหมดเลย แปลก เวลาจิตคนดีๆ นะ แต่เวลามันดื้อ เวลามันเสื่อมนะ หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าจิตของคนดี เวลาทำสิ่งใดเป็นความดีหมด จิตที่มันไม่ดี ทำสิ่งดีๆ มันก็เป็นสิ่งไม่ดีหมด

นี่ก็เหมือนกัน เราทำของเรา เราปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเรา อันนี้พูดถึงเวลาปวดหัวก่อนนั่งสมาธิ เวลาเดินจงกรมรู้สึกว่าไม่มีแรง

ไอ้นี่มันเป็นเรื่องหญ้าปากคอก นี่พูดถึงว่าเวลานั่งมันเป็นไปหมดนะ อันนี้อันหนึ่ง ทีนี้เข้าอันนี้แล้ว

ถาม : ข้อ ๑๓๖๒. เรื่อง “จะไปก็ขัด จะถอยก็ขัด”

ตอบ : นี่เขาเขียนถามมาเยอะมาก หลายหน้าเลย ฉะนั้น สิ่งที่เขียนมามันเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าเรื่องส่วนตัว เราไม่เอามาพูดปะปนกับเรื่องที่เป็นสาธารณะ

สิ่งที่เราพูดธรรมะ ธรรมะเป็นสาธารณะ เพราะเป็นสาธารณะว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากธรรมะนี้ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นคำถาม ที่อารัมภบทมาเป็นเรื่องส่วนตัว ฉะนั้น เรื่องส่วนตัวเรายกไว้ แต่เราจะตอบ ตอบสิ่งที่เป็นประเด็น เป็นข้อที่สงสัย ข้อที่สงสัยที่เราสงสัยนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าต้องให้เจ้าของเขาเข้าใจ เจ้าของคำถามเขาถามมาเองว่า “จะไปก็ขัด จะถอยก็ขัด” แล้วเขาเขียนด้วยว่าให้เอาไม้หน้าสามให้ลงแรงๆ

คือคำถามเขาอยากได้ประโยชน์มาก เขาเขียนมายาวมากเลย แล้วเขียนมาด้วยว่า “หลวงพ่อ ขอไม้หน้าสามนะ” คือขอให้เราตอบแบบเข้มข้น ฉะนั้น ถ้าตอบแบบเข้มข้นเพื่อประโยชน์กับเขา

แต่เราดูถึงคำถามที่อารัมภบทมาแล้วมันเป็นเรื่องส่วนตัว พอเรื่องส่วนตัว เราถึงไม่อยากจะเอาออกไปมาก เพียงแต่ว่าคนถามกับเรานี่รู้กัน เพราะว่าเขาอยากบวชมาก แต่เขามีปัญหาอย่างนี้ เช่น

๑. เป็นหนี้

๒. มีแฟนอยู่ก่อนแล้ว

๓. พ่อแม่ห้ามหนัก

แล้วก็คำถามใหม่ รอบแรก รอบสองถามอีก

คำถามนะ “หากเหตุการณ์ที่กล่าวมาควรจะทำอย่างไร ประเด็นเรื่องแรกจะทำอย่างไร”

เขาถามมาเป็นเรื่องๆ ไง

คำถามที่ ๓ ว่า เขาป่วยเป็นโรค จะบวชได้ไหม

๔. แนวทางออก

๑. ถ้าเป็นหนี้ การว่าเป็นหนี้ เป็นหนี้ห้ามบวช ถ้าพูดถึงการบวชที่เป็นประโยชน์นะ ว่าเป็นหนี้ ถ้าเป็นหนี้ ถ้ามีผู้รับรองให้ อย่างนี้บวชได้ เพราะบอกว่า เป็นหนี้เพราะ ๑. หลังจากเรียนจบได้แบกหนี้ไว้ เพราะกู้ยืมมาเรียน

ถ้ากู้ยืมมาเรียน เพราะมีพระมาบวช พระที่เรียนจบมาบวชหลายองค์มากเลย แต่พ่อแม่เป็นผู้ที่ใช้ให้ หรือว่าให้ใครรับใช้หนี้ให้ได้ นักศึกษาที่จบ กู้เรียนจบแล้วมาบวช ตอนนี้บวชในหมู่พระเรามีเยอะ แล้วสิ่งที่เพราะกู้มาเรียนก็ต้องใช้หนี้ ใช้หนี้ก็มีพ่อแม่รับใช้ให้ มีใครรับใช้ให้ มันก็มีอยู่เหมือนกัน

แต่ถ้าเป็นหนี้โดยส่วนตัวล่ะ หนี้เป็นส่วนตัวนะ ถ้าเราจะบวชนะ เพราะสังคมไทยมีอยู่ สังคมไทยถ้ามีเจ้าหนี้ เราไปบอกเจ้าหนี้ว่าเราจะบวช ขอให้เจ้าหนี้ยกให้ได้ไหม ก็มี เพราะสังคมพุทธ สังคมไทยตั้งแต่สุโขทัยมา ๗๐๐ กว่าปี แล้วตั้งแต่นั้นมา เพราะธรรมวินัยมันมาอย่างนี้ ทีนี้สังคมชาวพุทธเขามีการยกให้ เขามีต่างๆ มันมี เขาทำกันมาได้ แล้วถ้ามันไม่มี อย่างเช่นโจร ดูสิ ในสมัยโบราณของเรามันมีพวกมหาโจรต่างๆ มาบวชพระมีเยอะแยะเลย ทำไมบวชได้

บวชอย่างนั้น หนีภัย หนีภัยจากโลก หนีภัยจากอาญาแผ่นดิน อาศัยผ้าเหลืองคุ้มครองชีวิตก็มี บางคนเขาหนีภัยนะ หนีภัยมาเพื่อมาหลบภัย มาอาศัยศาสนาเป็นที่หลบภัย อย่างนี้ก็มี เพราะสังคมมันเยอะ

บอกว่า ธรรมวินัยชัดเจนๆ แต่ประเพณีที่ทำกันมามันทำมาอย่างไร อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง

คำว่า “๑. เป็นหนี้ทำอย่างไร”

“๒. มีแฟนอยู่ก่อนแล้ว”

ถ้ามีแฟนอยู่ก่อนแล้ว การบวชนะ ๑. ต้องขออนุญาตบิดามารดาถึงบวชได้ ถ้ามีแฟนก็ต้องขออนุญาตแฟนด้วย คนยังไม่มีครอบครัวก็ขอพ่อขอแม่ ถ้าใครมีครอบครัวก็ต้องขอพ่อขอแม่ด้วย แล้วขอภรรยาด้วย ถ้าภรรยาไม่ให้บวชก็บวชไม่ได้เหมือนกัน อ้าว! ต้องขอเขาด้วย คำว่า “เป็นแฟน” ยังไม่ได้แต่งงานกัน ถือวิสาสะ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง นี่กรณีของที่เราถาม

สังคมในดงขมิ้นมันก็มีวัฒนธรรม มันซับซ้อนกันมานาน นี่เราสังคมสงฆ์นะ ถ้าสังคมสงฆ์ มันแบบว่าประเพณีเขาทำมา ธรรมวินัยมันแบบว่าเราพยายาม จะว่าไม่สะอาดบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันบวชได้ ไม่สะอาดบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าบวชแล้วเป็นประโยชน์ เอาประโยชน์ไง แต่ถ้าบอกว่าไม่ได้เลยสักอย่าง มันไม่ได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย

แต่ถ้าเป็นเถรส่องบาตรนะ จะต้องสะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์ก็เป็นผ้าขาว ผ้าขาวพอบวชมาแล้วนะ ผ้าขาวก็เลอะไม่ได้อีก เพราะผ้าขาวทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าผ้ามันสกปรกมา บวชมาแล้วมันมาซักให้มันเป็นผ้าขาวสะอาดขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์

ฉะนั้น ธรรมวินัยชัดเจนตามหลักนิติศาสตร์ ตามกฎหมายต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นทางสังคม เป็นทางโลก รัฐศาสตร์ ความปกครอง การปกครองร่มเย็นเป็นสุข การปกครอง

ถ้าพูดอย่างนี้ เราไม่ใช่ฝ่ายปกครอง เราเป็นพระลูกทุ่ง ถ้าพระลูกทุ่งก็มีความคิดแบบลูกทุ่ง ฉะนั้น ข้อนี้ให้พิจารณากันไป

“๓. พ่อแม่ห้ามหนัก”

พ่อแม่ห้ามหนักเลย ฉะนั้น คำว่า “พ่อแม่ห้ามหนัก” มันเป็นเวรเป็นกรรมของคนแล้ว บางคนพ่อแม่พยายามขอร้องให้ลูกบวช อย่างเช่นบางคนลูกเกเรเกตุง พ่อแม่ขอร้องให้บวชเลย ก็ไม่ยอมบวช บางคนมีโอกาสจะบวช แต่ไม่บวช บางคนไม่มีโอกาสบวช บางคนไม่มี ไม่มีโอกาสบวช อยากบวชมาก ถ้าเราไม่มีโอกาส อยากบวชมาก

อย่างพ่อแม่ใช่ไหม ธรรมชาติของพ่อแม่ เพราะในสมัยพุทธกาล พระรัฐปาล พ่อแม่ก็ไม่ให้บวช ลูกชายคนเดียวด้วย เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีเลย อดอาหารเลย สุดท้ายแล้วเอาเพื่อนมาขอร้อง เอาใครมาขอร้อง สุดท้ายแล้วเพื่อนถามพ่อแม่ว่า “อยากเห็นหน้าลูกไหม ถ้าอยากเห็นหน้าลูกต้องให้บวช ถ้าไม่อยากเห็นหน้าลูกนะ ก็จะได้เห็นหน้ากันครั้งสุดท้าย เพราะจะอดข้าวจนตาย”

พ่อแม่จนตรอก ก็ต้องให้บวช พอบวชมาแล้วนะ ลูกกลับมาเยี่ยมบ้านนะ พ่อแม่ไปขนเงินมาเลยนะ ขนสมบัติทั้งหมดมากองไว้เลย ถามลูกชาย บอกว่า “ทองเป็นกองๆ ลูก แม่จะทำอย่างไรดี แม่จะทำอย่างไรดี”

ลูกชายบอกว่า “แม่ เอาใส่รถนะ แล้วเข็นไปแม่น้ำนะ แล้วดั๊มพ์ทิ้งไปเลย”

เพราะลูกได้ทำแล้วไง แต่พ่อแม่ทำใจได้ไหม พ่อแม่ก็เห็นแบบนั้น นี่พูดถึงในพระไตรปิฎก พระรัฐปาล

ดูพระกัสสปะสิ พ่อแม่ก็ไม่ให้บวช พ่อแม่ไม่ให้บวช ก็แต่งงานเหมือนกัน แต่งงานกับภรรยาก็มีความคิดเหมือนกัน ก็อธิษฐานกันว่าเราจะอยู่กันโดยพรหมจรรย์ รอจนพ่อแม่ตายหมดนะ พ่อแม่ตายหมด ทำศพเสร็จแล้ว ทุกอย่างแล้ว สมบัติทั้งหมด ๒ ตระกูล แจกหมดเลย แล้วออกบวช ออกบวชเมื่ออายุมาก ก็เลยรีบภาวนา ถือธุดงควัตร สุดท้ายเป็นพระอรหันต์ที่เป็นผู้ที่มาทำสังคายนา พระกัสสปะเป็นประธานที่ทำสังคายนา พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ที่เป็นธรรมวินัยของเถรวาทมาในปัจจุบันนี้

มันมีอุปสรรคไปทั้งนั้นแหละ ถ้ามันมีอุปสรรค มองไปในพระไตรปิฎก ไปศึกษาชีวประวัติของครูบาอาจารย์ของเรา เอตทัคคะในสมัยพุทธกาลไม่ราบรื่นหรอก จะบวชได้ก็มี จะไม่ได้บวช อู๋ย! ติดขัดไปหมด มันไม่มีใครเกิดมาแล้ว แหม! ปูด้วยดอกไม้ แหม! มีพรมให้เดิน ไม่มีหรอก มันก็มีอุปสรรคแต่ละคนทั้งนั้นแหละ ทีนี้มีอุปสรรคแล้วเราเข้มแข็งแค่ไหน เราเข้มแข็งแค่ไหน

ถ้าเราบอกว่า เราพ่อแม่ห้ามนัก พ่อแม่ต้องการ เราก็อยู่กับพ่อแม่จนกว่าพ่อแม่จะสิ้นชีวิตไป แล้วมาบวชก็ยังทัน ถ้าเรารักษาใจเราได้

นี่ไม่อย่างนั้นน่ะสิ พอไปอยู่กับพ่อแม่ เดี๋ยวก็อีลู่ถูกังไปหมดเลย พอนึกได้อีกทีหนึ่ง ใกล้เข้าโลงแล้ว นึกได้อีกทีหนึ่ง แหม! เสียใจ จะหมดชีวิตอยู่แล้ว

อันนี้พูดถึงว่าถ้าพ่อแม่ห้ามนะ เราทำดีมันถึงจะได้ดี ทำดีมันก็คือดี เห็นไหม ดีที่ทำ ทำดี ดีที่ทำ เราทำของเราที่ดี ถ้ามันเทียบไปแล้วมันจะเสียใจไปหมด คนนู้นเกิดมาแล้วประสบความสำเร็จ คนนั้นมีอำนาจวาสนา เรานี่ไม่ได้อะไรเลย เราเกิดมามีแต่ทุกข์แต่ยาก

ก็เราทำมาทั้งนั้นน่ะ ทีนี้พอทำมาแล้ว คนเราไม่ใช่ดีที่การเกิด คนเราดีที่การกระทำ เราเกิดมาจะทุกข์จนเข็ญใจ เกิดมาเป็นเศรษฐีกุฎุมพี เกิดมาอย่างไรก็แล้วแต่ เราทำดีหรือทำชั่ว เกิดมาสว่างจะไปไหน เกิดมาเป็นมนุษย์ อิสรภาพทั้งหมด แล้วทำอะไรกัน เกิดมา เกิดมาแล้วทำอะไร

นี่ก็เกิดมา เกิดมาจากพ่อแม่ ก็พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรา พ่อแม่ให้ชีวิตนี้เรามา นี่พ่อแม่ไม่ให้บวช แต่เราอยากบวช เราจะใช้อุบายอย่างไร เราจะรักษาอุดมการณ์ของเราอย่างไร รักษาอุดมการณ์แล้วเราจะเอาตัวเราออกได้อย่างไร

นี่พูดถึงนะ ฉะนั้น ยกเป็น ๑ ๒ ๓ เป็นหัวข้อ แล้วคำถามมาถามลงตรงนี้

คำถามที่ ๑. จากเหตุการณ์ที่กล่าวมา ผมควรจะทำอย่างไรต่อไปจึงจะเหมาะสมที่สุดครับ

จะทำอย่างใด ก็ดำรงชีวิตให้อยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าอยู่กับเรานะ อยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วสัจธรรมอันนั้นสำคัญมาก สัจธรรมคือสัจธรรมความจริง ชีวิตเราก็เป็นความจริง ชีวิตพ่อแม่ก็เป็นความจริง ชีวิตของแฟนก็เป็นความจริง ชีวิตของน้อง ชีวิตของครอบครัวก็เป็นความจริง เขาเป็นความจริงทั้งนั้นแหละ ความจริง เราจะบริหารอย่างไร เราจะบริหารในครอบครัวของเรานี้มันเป็นเรื่องโลก

สิทธิเสรีภาพในใจไม่มีใครรุกก้าวล่วงเข้ามาในใจของเราได้หรอก ในหัวใจของเราไม่มีใครก้าวเข้ามาได้เลย มีแต่เราเอาหัวใจของเราไปให้เขาเหยียบย่ำ แต่ถ้าสิทธิในครอบครัว พ่อแม่ก็คือพ่อแม่ ญาติพี่น้องก็คือญาติพี่น้อง ถ้าแฟนก็คือแฟน เราก็คือเรา แล้วเราจะบริหารอย่างใด ถ้าเราบริหารของเรานะ ไอ้นี่มันไม่บริหารน่ะสิ วันๆ มันเล่นแต่เกม วันๆ เอาชีวิตของเราไปอีลุ่ยฉุยแฉก

ถ้าเราทำของเรานะ เราจะมีพร้อมของเรา ถ้าเรามีพร้อมของเรา เราต้องกลับมาที่เราก่อน เราจะไปติคนอื่นไม่ได้หรอก เราต้องติเรา เราบกพร่องอะไร ชีวิตเราสมบูรณ์แค่ไหน ชีวิตเราได้ทำประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

นี่ชีวิตของเรา เราไม่ทำอะไรเลย เวลาเราไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วจะให้คนอื่นทำ จะเป็นผู้บริหารอย่างเดียว ใครอยากให้บริหาร ชีวิตเขาก็สิทธิของเขาเหมือนกัน ชีวิตของเราก็สิทธิของเรา ถ้าสิทธิของเรา

ทีนี้มันมีกฎไง มีกฎ หมายความว่า ถ้าจะบวช พ่อแม่ต้องอนุญาต แต่ถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้บวช พ่อแม่อยากให้ไปเป็นที่พึ่ง เราก็ดูแลพ่อแม่ไป เพราะพ่อแม่เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พ่อแม่ก็เป็นพระอรหันต์ของเราเหมือนกัน เราทำของเราถึงที่สุดแล้ว เราค่อยหาทางออกของเรา เพราะเราเกิดมาในวงจรอย่างนี้ วัฏฏะของเรามาเจออย่างนี้ แล้วผลของเราเป็นแบบนี้

นี่พูดถึงว่า “เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ ผมควรทำอย่างไรต่อไป”

ถ้าจะรักษาอย่างนี้นะ แต่ถ้าเราคิดว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเราก็ประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์แล้ว เราก็ใช้ชีวิตของเราตามมนุษย์นี่แหละ ตามบริษัท ๔ เป็นฆราวาส แล้วเราปฏิบัติธรรม เราจะดูแลใจของเรา แล้วถ้าโอกาสมันถึงที่สุดนะ ถ้าเราทำคุณงามความดีของเราตลอด ทุกคนเขาเห็นคุณงามความดีของเรา เห็นความตั้งใจของเรา เขาก็ส่งมาเอง มันเป็นไปเอง นี่ข้อที่ ๑.

“๒. คนละประเด็นกับเรื่องแรก ผมเคยได้ยินมาว่าหลวงพ่อเดินจงกรมวันละ ๗-๘ ชั่วโมง หลวงพ่อบอกว่าตอนนั้นยังภาวนาไม่เป็น คำถามคือหลวงพ่อมีหลักใจอย่างใดที่ทำงานอยู่อย่างนั้น”

มีหลักใจก็หมายความว่ามีสัจจะ อยากพ้นทุกข์ ตอนนั้นภาวนาไม่เป็นจริงๆ ตอนบวชใหม่ภาวนาไม่เป็นจริงๆ แต่ด้วยความคิดว่า ในเมื่อโลกเขาทำงานกัน ข้าราชการเขาทำแบบนั้น เราจะพ้นจากทุกข์ อย่างน้อย อย่างน้อยต้องเป็นแบบนั้น ทีนี้ภาวนาไม่เป็นมันก็เป็นแค่สัจจะ เราตั้งสัจจะแล้วทำของเราได้ เพราะตอนนั้นตัวเองก็ภาวนาประสาบวชใหม่ไง พรรษา ๑ พรรษา ๒ ก็ภาวนายังล้มลุกคลุกคลานอยู่ แต่ตอนนั้นเอาจริงเอาจัง เพียงแต่เวลามาพูด ขณะที่ว่าเดินจงกรมขณะนั้น เดินด้วยความภาวนาไม่เป็น

แต่พอมันภาวนาเป็นขึ้นมานะ พอภาวนาเป็น ตอนไปอยู่บ้านตาด มันไม่ใช่ ๘ ชั่วโมง มัน ๒๔ ชั่วโมง ๗ วัน ๗ คืน เพราะมันอดอาหาร อดนอน มันนอนไม่ได้ ๒๔ ชั่วโมง นอนไม่ได้เลย พอจะหลับตา คนเวลาไฟไหม้บ้านแล้วหนีออกจากไฟไหม้บ้าน มันจะหลับมันจะนอนได้ไหม

จิตนะ เวลาปัญญามันหมุน เวลาปัญญามันหมุนนะ เหมือนน้ำป่า ที่หลวงตาบอกว่าน้ำป่าๆ น้ำป่ามันรุนแรงมาก มันกระโจนเข้าใส่อย่างนี้ มันจะเอาอะไรไปนอน กลางคืนนี่นอนไม่ได้เลย นอนไม่ได้เลย ปัญญานี่หมุนติ้วๆ หลวงตาท่านพูด ไปหาหลวงปู่มั่นไง “บอกให้ออกใช้ปัญญาๆ มันใช้ปัญญาจนไม่ได้นอนแล้วนะ มันจะตายแล้ว”

“นั่นแหละไอ้บ้าสังขาร ไอ้บ้าสังขาร”

มันต้องรั้งไว้ รั้งอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย เวลาถ้ามันหมุนแล้ว หลับนอนไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันจะตาย อยากนอนจะตาย แต่นอนไม่ได้ นั่นพูดถึงเวลามันภาวนาเป็น

นี่พูดถึงภาวนาไม่เป็น ๗-๘ ชั่วโมง เราก็งงแล้วเนาะ แล้วถ้า ๒๔ ชั่วโมง ไม่ได้นอนนี่ทำอย่างไร แล้วไม่ได้นอนหลายๆ วัน มันจะทำอย่างใด

ครูบาอาจารย์ท่านผ่านอย่างนี้มาแล้ว เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาของวงกรรมฐาน เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ภาวนาเป็น แต่เราภาวนาไม่เป็น เจอ ๗-๘ ชั่วโมงเข้าไปก็ขาสั่นแล้ว แล้วภาวนาไปๆ มันจะรู้ของมัน

นี่พูดถึงว่า ตอนนั้นภาวนาไม่เป็นจริงๆ มันมีแต่เป้าหมาย มีแต่ความมุ่งมั่น แล้วเอาจริงๆ แล้วทำขึ้นไป สิ่งที่ทำ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เพราะเหตุมันมุ่งมั่น เหตุมันมีความจริง มันมีเป้าหมายของมัน เวลาทำแล้วมันก็เจริญของมันขึ้นไปได้ พอเจริญขึ้นไปได้ เพราะมีครูบาอาจารย์ด้วย ครูบาอาจารย์คอยบอกคอยสอน คอยชี้คอยแนะ ถ้ามันมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ทำผิด มันไม่เจริญหรอก แต่ขณะที่เรามีเหตุมีผลของเราขึ้นมา แต่มันมิจฉาทิฏฐิ มันยังทำไม่เป็น แต่ครูบาอาจารย์เป็นสัมมาทิฏฐิ คอยชี้คอยบอก คอยชี้คอยบอก ตรงนั้นมันทำให้มันผ่านไปได้ พอผ่านไปได้มันก็ผ่านไป ตอนนั้นมันทำด้วยความมั่นคงของเรา แต่เราไม่มีกำลังใจก็ไม่ได้

“๓. ป่วยเป็นวัณโรคปอด แล้วเวลาเป็นโรคติดต่อบวชไม่ได้”

อันนี้ถ้ามันหายมันก็บวชได้ บวชได้ ถ้าจะบวชนะ ถ้าคำถาม พอบอกเป็นวัณโรคปอด บวชไม่ได้ พอบวชไม่ได้ กิเลสบอกเราบวชไม่ได้แล้ว สบาย มันไปเลย เพราะบวชไม่ได้แล้วนี่ บวชไม่ได้ก็ไม่ต้องบวชใช่ไหม ทีนี้สบายเลย

บวชได้ บวชได้ ยังบวชได้ แล้วเดี๋ยวค่อยว่ากันใหม่

“๔. นอกแนวนิดหนึ่ง เสียงอ่านหนังสือหลวงตาเรื่องหลวงปู่มั่น ใช่เสียงหลวงพ่อหรือไม่”

ไม่ใช่ เป็นเสียงของอาจารย์สุดใจ ประวัติหลวงปู่มั่น ปฏิปทาธุดงคกรรมฐานในเสียงธรรมหลวงตานั้นเป็นเสียงของท่านอาจารย์สุดใจ ไม่ใช่เรา เราไม่เกี่ยว ไม่ใช่เราหรอก

ฉะนั้น สิ่งที่ทำก็ทำเพื่อเรานะ ฉะนั้น คำถามถามมาเยอะมาก เวลาคำถามเราอ่านแล้วเราก็เห็นใจ เห็นใจบอกว่า คนเราคิดดีแต่มีอุปสรรค ทีนี้อุปสรรคมันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาของคน ถ้าคนมีความเข้มแข็งนะ อุปสรรคมีทุกคน เราก็มีอุปสรรค ทุกคนก็มีอุปสรรคทั้งนั้นน่ะ เพราะเราเกิดมากับสังคม เกิดมากับโลก แต่พอมีอุปสรรคแล้ว เราจะมีอุดมการณ์ของเรา เราจะรักษาใจของเรา แล้วรักษาชีวิตของเราไปอย่างไร

ถ้าชีวิตทางโลก อยู่กับโลก เราก็ได้ เราก็เป็นชาวพุทธ แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมา บวชใจ กายเราไม่ได้บวช พยายามบวชใจของเรา มันก็ทำได้ แต่ถ้าเรามีความมุ่งมั่น เราอยากออกประพฤติปฏิบัติ

ทีนี้ออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าได้จริง บวชมาอย่างนี้ถ้าบวชพระมาเป็นพระที่ดีนะ พระ สังคมพระจะเจริญงอกงามมากเลย แต่ทีแรกก็มุ่งมั่นทำดี พอบวชมาแล้วมันคุ้นชิน แล้วพอบวชไปแล้วมันยังมาแถไง

เวลาคนตั้งใจบวชนะ ตั้งใจทุกคนแหละ แต่บวชไปแล้วนะ มันไปถึงที่สุดหรือเปล่า ไปถึงเป้าหมายหรือเปล่า ไปแล้วล้มลุกคลุกคลานหรือเปล่า มันน่าเศร้านะ

ในสังคมทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนเลว ถ้าบวชพระมาด้วยความเจตนาที่ดี ตั้งใจที่ดี แล้วพยายามรักษาอุดมการณ์นี้ไป ถ้าปฏิบัติไปก็จะเป็นพระที่ดี แต่ถ้าปฏิบัติไปๆ ล้มลุกคลุกคลาน แล้วตัวเองย้อนกลับมา มันทำให้เสียถึงสังคม ถึงส่วนรวม ฉะนั้น เราตั้งใจของเรา ปฏิบัติของเรา ประโยชน์กับเรา

ไปก็ขัด จะถอยก็ขัด มันก็เลยไปไหนไม่ได้ แต่ถ้าเรามีเจตนาทำดีของเรา เราต้องไปของเราได้ ทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ดีๆ กับชีวิต ชีวิตจะมีมงคล เอวัง

งปู่