ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นิมิตภาวนา

๒๘ ก.ค. ๒๕๕๖

 

นิมิตภาวนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๓๖๖. เรื่อง “นั่งสมาธิ นิมิตที่ทำให้ใจกำหนัด และนิมิตที่สงบระงับความกำหนัดนั้น นิมิตที่ทำให้ใจกำหนัด นิมิตที่ทำให้ใจสงบระงับ”

(นี่ปัญหาเขาถามนะ)

กราบนมัสการ กราบเรียนถามว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งผมนั่งสมาธิแล้วปรากฏภาพนิมิตแปลกประหลาด เห็นชายหญิงสมสู่กัน ทั้งๆ ที่ในสมาธิเรามีความสงบแล้ว แต่รู้สึกว่าจิตใจมันฟู มันพอใจในภาพลักษณะที่ปรากฏในนิมิตนั้น สักพักภาพนิมิตนั้นก็เปลี่ยนแปลง เห็นมันเป็นร่างศพเน่าๆ สมสู่กัน จากที่มันพอใจ ความรู้สึกมันหดลง ความรู้สึกมันค่อยๆ ขยับหดตัวลงจนรู้สึกว่ามันสงบ มันสงบอยู่อย่างนั้น แต่มันไม่เบื่อหน่าย ความรู้สึกในความสงบนั้นแน่นเข้าไปอีก มันแน่นหนากว่าเดิม แล้วภาพศพสมสู่กันก็หายไป

สักพักก็เกิดนิมิตเห็นพระผิวคล้ำๆ เหมือนแขกอินเดียอวบๆ ไม่สูง ไม่ต่ำ ท่านเดินเข้ามาหา ข้างๆ มีผู้หญิงสวยมาก ในนิมิตนั้นท่านชี้ให้เรามอง พอเรามองตามมือท่าน เหมือนมันทะลุหนังเลย เห็นเนื้อ เห็นกระดูก ท่านก็หัวเราะพูดว่า “มองผู้หญิง อย่ามองเลยหนัง”

แต่แปลก พอเราเห็นเนื้อ เห็นกระดูก พอภาพกลับมาที่ผู้หญิงสวย ผมกลับมองเห็นเขาเป็นธรรมดา ความรู้สึกคือมันธรรมดาไป ผมเลยขอเรียนถามดังนี้

๑. การที่เราเห็นภาพนิมิตชายหญิงสมสู่กันแล้วเกิดความยินดี เป็นบาปไหม

๒. เพราะเหตุใดนิมิตถึงเปลี่ยนแปลงไปเอง

๓. เมื่อนิมิตปรากฏ ผมวางคำภาวนา เมื่อนิมิตหาย ผมนึกภาวนา ทำภาวนาต่อไป เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่

ตอบ : นี่คำถาม เห็นไหม เห็นนิมิตเลย พอเห็นนิมิตขึ้นไป เราก็แปลกใจ เราจะเอาที่อารัมภบทก่อน อารัมภบทมันมีแง่มุมเยอะมาก แง่มุมเยอะมากว่า “ผมนั่งสมาธิไป เกิดนิมิตที่แปลกประหลาด เห็นชายหญิงสมสู่กัน”

เราบอกเห็นชายหญิงสมสู่กันมันเป็นนิมิตที่ประหลาด มันเป็นนิมิตที่ประหลาด บางคนเห็นนิมิต จะเห็นผิวหนัง เห็นกระดูก เห็นตับไตไส้พุง เห็นภาพ เห็นคนเดินมา เห็นร้อยแปด นิมิตก็คือนิมิต

ถ้านิมิตคือนิมิต ทีนี้มันก็อยู่ที่จริตนิสัยของคน ถ้าเป็นนิมิตภาวนานะ มันเป็นนิมิตที่ดี นิมิตที่ดีคือเรามีสติปัญญาที่เห็น แต่ภาพนิมิต ถ้าคนเสพยาบ้า พอเสพยาบ้าแล้วจิตมันหลอน มันก็เห็นของมันเหมือนกัน ถ้ามันเห็น ดูสิ ตอนนี้ที่ว่าจิตหลอนๆ เขาจะฆ่าคน เขาระแวงนะ ระแวงว่าคนนั้นจะมาฆ่าเขา คนนี้จะมาฆ่าเขา นั่นเขาเห็นอะไรน่ะ นั่นเขาก็เห็นเหมือนกัน แต่ว่าจะเป็นนิมิตไหม? ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะเขาไม่มีสติ เขาไม่มีสตินะ เขาไม่มีสติเพราะว่าเขาหลอนภาพ จิตเขาหลอน พอจิตเขาหลอน เขาเห็นอะไรเขามีแต่ความตกใจ คำว่า “ตกใจ” ความตกใจ ความเสียหาย ถ้าอย่างนั้นมันผิดพลาด มันเป็นมิจฉา

แต่ถ้าเป็นสัมมา ถ้าจิตเราสงบ พอจิตเราสงบนะ ถ้าเราเห็นนิมิต ถ้าเห็นนิมิต เห็นเป็นหญิงกับชายสมสู่กัน ถ้าสมสู่กันแล้วมันก็แปลก มันแปลก ทั้งๆ ที่ว่าสมสู่กัน จิตมันก็ฟู เพราะอะไร เพราะกำลังสมาธิเรายังไม่เข้มแข็ง มันก็มีความรับรู้ไป เห็นหญิงชายเขาสมสู่กัน จิตใจมันก็ฟูขึ้นมารับรู้ มันรับรู้อารมณ์นั้น เพราะมันเป็นสัญชาตญาณของจิต สัญชาตญาณของจิต เรื่องกามมันฝังอยู่ในสัญชาตญาณอยู่แล้ว พออย่างนั้นปั๊บ มันก็มีรับรู้ รับรู้ไป จิตมันก็ฟู ถ้าจิตมันฟู จิตฟูส่วนจิตฟูสิ

เขาบอกว่ามันประหลาดไง นิมิตมันประหลาด ถ้านิมิตโดยทั่วไป คำว่า “นิมิต” นะ ถ้าเป็นนิมิตภาวนา เขาถามว่านิมิตภาวนามันเปลี่ยนแปลงได้ๆ

เปลี่ยนแปลงได้เพราะจิตมันดีขึ้น สมาธิมันแข็งขึ้น สมาธิมีกำลังมากขึ้น สิ่งที่นิมิตที่อีลุ่ยฉุยแฉก นิมิตที่มันจะออกนอกลู่นอกทาง มันก็จะเข้ามาสู่ทาง นิมิตมันมีทั้งนั้นแหละ สมมุติว่ามีนิมิตใช่ไหม แล้วเราเห็นภาพ เช่น เห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม เห็นแล้วเราก็อยากรู้ว่าอะไร เราไปถามใครก็ไม่รู้หรอก ทุกคนเห็นนิมิตแล้วจะไปถามครูบาอาจารย์ “ที่ผมเห็นคืออะไรครับ ที่ผมเห็นคืออะไรครับ”

ถ้าเราเห็นนิมิตปั๊บ เราถามกลับมาที่จิตเราเลย คือกลับมาถามที่จิตเลยว่าที่เห็นนั้นคืออะไร ถ้าเราเห็นจริง เหมือนกับเราเห็นภาพสิ่งใดก็แล้วแต่ เราขยี้ตาเลย พอขยี้ตา ถ้าภาพมันชัดเจนมันจะเห็นอย่างนั้น ถ้าเราขยี้ตา ถ้าเป็นภาพลวงตา ไม่มี จบแล้ว

ถ้านิมิต นิมิตนะ มันอยู่ที่กำลังจิตของคนมันเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ดูสิ ดูเด็ก เด็กมันช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรอก เด็กมันช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีพี่เลี้ยง ต้องมีพ่อแม่ดูแลมัน อย่างพวกเราต้องมีพี่เลี้ยงไหม มาเองก็ได้ กลับเองก็ได้ จิตถ้ามีกำลังแล้วมันเหมือนกับเรามีกำลัง เราจะไปเองก็ได้ กลับเองก็ได้ แต่ถ้าจิตมันเห็นใหม่ๆ เห็นเริ่มต้นใหม่ๆ มันเหมือนเด็กอ่อน เด็กอ่อน เด็กมันต้องมีพี่เลี้ยงมัน พี่เลี้ยงมันคืออะไร? พี่เลี้ยงมันคือสติไง พี่เลี้ยงคือมีสติควบคุมให้ดีขึ้นมา เห็นสิ่งใดแล้ว เด็กอ่อนยังไม่เข้าใจสิ่งใด ถามเลย ถามพี่เลี้ยง สติถามมาที่จิต สิ่งนั้นมันจะจบเลย ถ้าจบเลย

แต่ถ้ามันเป็นจริงของมัน เป็นจริงของมัน ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนา เขาจะไปรู้ไปเห็นอะไรต่างๆ เขารู้เห็นโดยธรรมชาติเลย แล้วเขารู้ของเขาได้ อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่นิมิตเข้ามาเพื่อสู่การเป็นนิมิตภาวนา

ถ้านิมิตภาวนานะ จะเกิดนิมิตสิ่งใด เราพิจารณาเลย พอพิจารณา ถ้าพิจารณามันจะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราไม่มีสติ สติเราไม่มี ปัญญาเราไม่พอ เราพิจารณาของเราเอง มันเปลี่ยนแปลงเอง

“จากจิตที่เห็นผู้หญิงกับผู้ชายสมสู่กัน สักพักหนึ่ง นิมิตมันเปลี่ยนแปลง เห็นเป็นภาพเป็นร่างศพเน่าๆ สมสู่กัน ความพอใจมันก็เริ่มหดหู่ เริ่มหดลง มันค่อยๆ เริ่มขยับตัวหดลง”

ความรู้สึกจากที่เห็นหญิงชายเขาสมสู่กัน พอจิตมันมีกำลัง พอจิตมีกำลัง เห็นเป็นซากศพสมสู่กันแล้ว จากที่เป็นหญิงชายสมสู่กัน หญิงชายสมสู่กันนั่นเป็นเรื่องหนึ่งนะ เพราะภาพมันเป็นสมมุติที่ว่าเป็นหญิงชาย เราแบ่งแยกได้เป็นหญิงชาย แต่ซากศพมันสมสู่กันล่ะ แล้วซากศพที่เน่าๆ ซากศพที่เน่าๆ สมสู่กัน จิตใจมันก็เริ่มสำรอกเริ่มคายไง นิมิตภาวนามันเป็นแบบนี้

นี่ไง ที่บอกมันเป็นไตรลักษณ์ๆ มันเป็นเพราะเหตุใด

เราเห็นนิมิตเป็นอุคคหนิมิต ถ้าเราพิจารณาไป มันเป็นวิภาคะ มันแยกส่วนขยายส่วน ถ้ามีกำลัง จิตมันจะเป็นไป ถ้าไม่มีกำลัง จิตไม่เป็น จิตไม่เป็น ถ้านิมิตอยู่อย่างไร นิมิตไม่ใช่ละเอียดเข้ามานะ มันจะดึงให้หยาบออกไปด้วย ดึงให้หยาบออกไปมันก็ออกมาเป็นเรื่องปกติเลย เป็นเรื่องสามัญสำนึกเลย

ฉะนั้น ถ้าจิตมันดี จิตที่มีสติ มันไม่เป็นมิจฉา ถ้าเป็นมิจฉามันจะส่งออก ถ้าเป็นสัมมา สัมมา เราตั้งสติไว้ ถ้ากำหนดพุทโธหรืออานาปานสติ ถ้าจิตมันสงบแล้วถ้ามันเห็นนะ ถ้าเห็น เรามีสติไว้ มีสติไว้ ถ้ามันเห็น เราก็ดูสิ่งนั้น ถ้ากำลังมันมี มันเปลี่ยน จากหญิงชายสมสู่กันกลายเป็นซากศพเน่าๆ สมสู่กัน นี่ไง พอมันเปลี่ยนแปลง ถ้าจิตมีกำลังมันจะเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงได้ มันเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปจนจะเข้าสู่ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือการย่อยสลาย จากหญิงชายเป็นซากศพ จากซากศพมันจะย่อยสลาย มันจะเน่าเปื่อยไป

ทีนี้เน่าเปื่อยไป ธรรมดาคนที่เห็นนิมิตเขาก็เห็นแต่หญิงหรือชาย หรือเห็นเป็นอสุภะ เห็นเป็นก้อนเนื้อ เห็นเป็นต่างๆ แต่นี้มันไปเห็นเป็นหญิงชายสมสู่กัน มันก็เป็นดีเอ็นเอทางจิตไง นี่วาสนา จิตของใครมีอำนาจวาสนาทำมาอย่างใด แต่นี้มันเห็นหญิงชายสมสู่กัน พอเห็นหญิงชายสมสู่กัน พิจารณาต่อเนื่องเข้าไปกลายเป็นซากศพสมสู่กัน พอซากศพสมสู่กัน มันเห็นแล้วมันหดตัวเข้ามา มันสงบลง แต่มันไม่เบื่อหน่าย ความรู้สึกนั้นสงบลงและแน่นเข้ามา มันแน่นมากกว่าเดิมแล้วเห็นภาพซากศพที่สมสู่กันหายไป

คนเรามันทำสิ่งใดก็แล้วแต่ มันไม่จบสิ้นกระบวนการของมัน แต่เราก็ทำงานเป็น งานของเรา เราทำได้แล้ว แต่งานของเรายังไม่จบ ถ้างานของเราไม่จบ พอมันวางงานอย่างนี้ปั๊บ มันต้องกลับไป กลับไปพุทโธ กลับไปอานาปานสติ กลับไปปัญญาอบรมสมาธิ เพราะสมาธิใช้หมดแล้ว เงินเดือนเดือนนี้เราผ่อนรถ ผ่อนบ้านหมดเลย ไม่มีเงินใช้ แล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้ล่ะ เอาเงินที่ไหนใช้ นี่พิจารณาไปแล้วมันก็จบแล้ว เงินเดือนเดือนนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถหมดแล้ว ต้องไปกู้นอกระบบมาใช้ นั่นพูดถึงกู้นอกระบบนะ นี่พูดถึงทางโลก

แต่ถ้าจิตล่ะ ไปกู้ยืมจากใคร? ไม่มี ถ้ามันใช้จ่ายหมดแล้ว ถ้าภาวนาอย่างนี้ ถ้าคนภาวนาไม่มีครูบาอาจารย์นะ “ก็จิตเราสงบแล้ว เราเห็นนิมิตแล้ว เราพิจารณาแล้ว เห็นซากศพแล้ว แล้วมันก็หายไปแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรต่อ”

ก็กลับมาที่พุทโธไง กลับมาที่ทำความสงบของใจไง ให้ใจมันสงบมากขึ้นแล้วน้อมไป น้อมไปอย่างนี้

พิจารณาไปแล้วกระบวนการ คำถามมันชัดเจนมาก ชัดเจนว่า จากเห็นหญิงชายสมสู่กันคือมันนิมิตหยาบๆ แล้วจิตใจมีกำลังขึ้นมา มันเปลี่ยนแปลง จากอุคคหนิมิตเป็นวิภาคะ จากหญิงชายแปรสภาพ แปรสภาพเป็นซากศพ เป็นซากศพต้องมีสติมีปัญญาเข้าไป มันจะแปรสภาพให้ย่อยสลายให้ดูเลย ให้มันเปื่อยเน่า ให้มันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย แต่นี้มันน่าเบื่อหน่าย แต่นี้มันไม่เบื่อหน่าย ตรงที่มันไม่เบื่อหน่าย

ถ้ามันเบื่อหน่าย กระบวนการมันสิ้นสุดไปมันจะเบื่อหน่าย มันเบื่อหน่ายเพราะอะไร ใครอยากไปหยิบฉวยเอาไอ้พวกซากศพ ไอ้ของเน่า ของที่มันน่าขยะแขยง ใครจะเอามือไปจับ ใครอยากได้ของเน่าของเสีย ใครอยากได้ ไม่มีใครอยากได้หรอก

แต่ถ้าจิตใจมันต่อเนื่องไป มันจะต่อเนื่องไป มันจะเบื่อหน่าย มันจะเบื่อหน่าย มันจะปล่อยวาง ถ้าปล่อยวาง แต่นี้กระบวนการมันตัดไง คือกำลังเรามีเท่านี้ พอกำลังเรามีเท่านี้ มันไม่เบื่อหน่าย แล้วมันแว็บหายไป หายไปนะ นี่เป็นนิมิตขั้นหนึ่งนะ นี่เป็นการภาวนารอบหนึ่ง

รอบต่อไปนะ “สักพักหนึ่งก็เกิดนิมิตเห็นพระผิวคล้ำๆ เหมือนแขกอินเดียอวบๆ ไม่สูง ไม่ต่ำ ท่านเดินเข้ามาหา ข้างๆ มีผู้หญิงที่สวยมาก ในนิมิตนั้นท่านชี้ให้เรามองไป พอเรามองไปที่มือท่าน เหมือนมันทะลุหนังเลย เห็นเนื้อ เห็นกระดูก”

นิมิตมันเห็นแล้ว เห็นไหม เพราะระหว่างพระ พระนี่เป็นสมณะ พระนี่เป็นสมณะ มันเหมือนธรรมะ ผู้หญิงนั้นเหมือนกิเลส ผู้หญิงนั้นใช่ไหม โทษนะ หญิงก็ติดชาย ชายก็ติดหญิงเป็นเรื่องธรรมดา พอหญิงเห็นชายที่พอใจ หญิงก็ต้องมีอารมณ์ไปตามนั้น ชายเห็นหญิงที่พอใจ ก็ต้องไปตามอารมณ์นั้น นี่ตัวแทนที่ให้เห็นการภาวนา

แต่พระ พระที่มา แล้วมีผู้หญิงมาข้างๆ แล้วพระชี้ให้มอง ชี้ให้มองผู้หญิงนั้น ผู้หญิงนั้นสวยมาก ผู้หญิงนั้นสวยมาก เขาบอกว่าผู้หญิงนั้นสวยมาก แต่พอมองไปแล้วทำไมมันทะลุหนังเข้าไปล่ะ มันทะลุหนังเข้าไปเลย ถ้ามันทะลุหนังนะ ทะลุหนังก็เห็นเนื้อแดงๆ ไง เห็นเนื้อแดงๆ เห็นกระดูกเลย แสดงว่าจิตมันพอมีกำลัง มองไปมันจะเห็นอย่างนั้น

แล้วสักพักหนึ่งท่านก็หัวเราะพูดว่าให้มองที่หนังสิ อย่ามองที่มันทะลุเข้าไป แต่มันก็ทะลุเข้าไปแล้ว จิตมันทะลุเข้าไป พอมองมันทะลุเข้าไปเลย พอทะลุเข้าไปนะ ถ้าคนภาวนาเป็นจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ได้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านภาวนาของท่านนะ ถ้าจิตสงบ หลวงตาท่านบอกเห็นหมดเลย นั่งกันอยู่อย่างนี้ เลือดแดงๆ หมดเลย

มองไป ถ้ามองไปนะ มองไปเราเห็นผิวหนัง เห็นเป็นมนุษย์ใช่ไหม แต่ถ้าสมาธิดีๆ เห็นตับไตไส้พุงมันทะลุเข้าไปเลย มันทะลุได้ มีคนทำได้เยอะมาก แต่ต้องทำได้จริงนะ อย่าโกหก อย่าจำคำพูดของครูบาอาจารย์มาแล้วเคลมว่าเป็นของตัว ถ้าเคลมว่าเป็นของตัว มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงมันจะเข้าใจได้

เขาบอกพระเขาหัวเราะ พระเขาหัวเราะแล้วพูดว่าอย่ามองเลยหนังเข้าไปสิ แต่แปลก พอเราเห็นใช่ไหม พอมีสติขึ้นมา พอมีสติเห็นเนื้อ เห็นกระดูก พอเห็นภาพที่เป็นผู้หญิงสวย ผมกลับมองเห็นเขาเป็นเรื่องธรรมดา

นี่ถ้ามีสติปัญญา มันเรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดา มันสมมุติทั้งนั้นน่ะ มันสมมุติ มันแค่ผิวหนัง จากลอกผิวหนังออกแล้ว เนื้อก็คือเนื้อเหมือนกัน กระดูกก็คือกระดูกเหมือนกัน ไม่มีสิ่งใดแตกต่างกันเลย แต่เวลามีผิวหนัง แล้วสมมุติเป็นหญิงเป็นชาย

ฉะนั้น พอมองเห็น เขาบอกเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

จิตใจอย่างนี้ใช้ได้ จิตใจใช้ได้ จิตใจ เพราะถ้าภาวนาแล้วมันจะมีคุณธรรมอย่างนี้ ถ้ามันมองไปแล้วมันก็เป็นเรื่องสมมุติบัญญัติไง มันเป็นเรื่องสมมุติบัญญัติที่มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้น

อย่างเช่นเราพิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็ธาตุ ๔ ของเรานี่แหละ แล้วใครเข้าไปยึดล่ะ ใครเข้าไปยึด ถ้าใครเข้าไปยึด จิตถ้ามันมีกิเลสอยู่ มันก็เข้าไปยึด แต่ถ้าเราพิจารณาของเราแล้ว ถ้ามันมีปัญญาขึ้นมาแล้ว จิตมันรู้เท่าแล้วมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวาง ก็มันเป็นเรื่องจริงของมัน นี่ความจริงมันเป็นแบบนั้น แต่เพราะตัณหาความทะยานอยาก กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่งไปเองต่างหาก มันมองเลยไปกว่านั้นไง

ฉะนั้น พอมันไม่มองเลยไปกว่านั้น พระยิ้มๆ แล้วบอกว่าให้ดูที่หนังสิ อย่าให้มันทะลุเข้าไป

คำว่า “ทะลุเข้าไป” ถ้าจิตมีกำลัง จิตมีกำลัง มันแก่กล้า มันจะทะลุเข้าไป ถ้าทะลุเข้าไป มันทะลุนะ ถ้าทะลุเข้าไป มันมองเห็น ถ้าทะลุเข้าไปแล้วถ้ามีสติปัญญายับยั้งไว้แค่นั้น แล้วมองให้เป็นไตรลักษณ์ก็ยังได้ แต่ถ้าไม่มีสติปัญญา พอทะลุเข้าไปแล้ว ทะลุก็ทะลุเข้าไป มันเห็นอย่างนั้นน่ะ ถ้าเห็นอย่างนั้น มันไม่ลงสู่มัชฌิมาปฏิปทา

ถ้ามัชฌิมาปฏิปทา หมายถึงว่า มองเห็น มันจับของมัน แล้วขยายให้มันเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเป็นไตรลักษณ์ พอเป็นไตรลักษณ์ขึ้นมามันก็ย่อยสลายหมดต่อหน้า มันไม่มีสิ่งใดต่อหน้า มันรวมหมด มันปล่อยแล้ววางหมด ถ้าปล่อยแล้ววางหมด มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้ถ้ามันเป็นจริงนะ ถ้ามันเป็นจริงแล้ว หมายถึงว่า ปฏิบัติได้จริง

ฉะนั้น พอจิตมันมีสติปัญญา เพราะพระเขาบอกว่าให้มองที่หนังสิ เราก็มีสติกลับมาดู มองที่หนัง พอมองที่หนังมันมองด้วยสติมองด้วยปัญญา พอมองด้วยสติมองด้วยปัญญา ผมก็เลยเห็นเป็นของธรรมดา ธรรมดา แต่มันก็ยังไม่ปล่อย

แต่ถ้าทีแรกเรามองไป เพราะเรากำหนดพุทโธๆ มา เห็นหญิงชายสมสู่กันเป็นรอบหนึ่ง แล้วพิจารณาต่อเนื่องกันไป เห็นหญิงกับชายนั้นแปรสภาพเป็นศพของเน่าของเปื่อย ถ้าเราพิจารณาต่อไป เห็นเป็นพระเดินเข้ามา พระเป็นตัวแทนของธรรม สิ่งที่เป็นผู้หญิงเป็นตัวแทนของกิเลสที่มันจะล่อหัวใจของเราไป แล้วพระนั้นก็ยังเตือน ธรรมะเตือนให้มองที่ผิวหนัง ให้มองที่ผิวหนัง แล้วมองที่ผิวหนังมันก็ฝึกสติเรา ทำให้สติเรา ทำให้สมาธิเรามีกำลัง พอสติ สมาธิเรามี เราก็ไม่มองทะลุ ทะลุคือมันอัตตกิลมถานุโยค คือไปอีกส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามองเป็นของสวยของงาม มันก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค มันก็ไม่มัชฌิมาปฏิปทา

แต่ถ้ามัชฌิมาปฏิปทา พอมองไปนะ เห็นเป็นธรรมดา แต่มันก็ยังไม่รวม มันยังไม่รวม มันยังไม่ปล่อย ไม่ปล่อย มันไม่เป็นอิสระ เราพิจารณาซ้ำของเราไป การทำอย่างนี้พิจารณาซ้ำ

เราจะบอกว่า สิ่งที่ภาวนามันเห็นชัดๆ เวลานิมิตมันเกิด นิมิตมันก็เกิด ฉะนั้น คนที่ภาวนาไม่เป็นบอกว่า “ติดนิมิตๆๆ พุทโธเป็นสมถะแล้วติดนิมิต”

ก็นิมิตมันไปเห็นกาย เห็นภาพของกาย ถ้าเห็นกายก็เป็นสติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ เวลาเราปฏิบัติกันเราบอกว่า “ปฏิบัติในแนวสติปัฏฐาน ๔ ในแนวสติปัฏฐาน ๔” แล้วพอในแนวสติปัฏฐาน ๔ ไปเห็นตามความเป็นจริง บอกผิดได้อย่างไร ถ้าเห็นจริงๆ ถ้าเห็นกายจริงมันก็เห็นตามสติปัฏฐาน ๔ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริงมันก็คือนิมิตนั่นแหละ แต่นิมิตที่มันเป็นธรรม

แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรม ดูสิ อย่างคนที่เสพยาบ้าๆ จนจิตหลอน จิตหลอน เขาก็เห็นของเขา คำว่า “จิตหลอน” กับผู้ที่ปฏิบัติเห็นนิมิต เราเอามาเทียบเคียงกันได้ไหม เราเอามาว่าเป็นเหมือนกันได้ไหม? ไม่ได้เลย อีกอันหนึ่งมันเป็นเรื่องโลกๆ ทำให้เสียหาย ไอ้นั่นต้องส่งโรงพยาบาล ต้องฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติ อีกอันหนึ่งเขาพิจารณาของเขา พิจารณาธรรมของเขา เขาจะพ้นจากโลกไป นี่โลกกับธรรมมันแตกต่างกัน แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาชี้แจง มันจะไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ได้เลย

ถ้ามันเข้าใจเรื่องอย่างนี้ได้ มันใกล้ชิดกัน ใกล้ชิดกันอันหนึ่งไปทางผิดไปเลย อันหนึ่งไปทางถูกหมดเลย ถ้าเป็นทางถูก เป็นทางถูก นิมิตภาวนาเป็นแบบนี้ มันพัฒนาขึ้นมา มันดีขึ้นมา

จากถ้าไปเห็น พอไปเห็นครั้งแรกมันก็บอกว่าอันนี้เป็นโลกๆ อันนี้มันเป็นเรื่องของโลก เรื่องของกาม แล้วเราไปเห็นอย่างนี้ได้อย่างไร เราเป็นคนสกปรกไหม เราเป็นคนจิตใจชั่วร้ายไหม มันแปลกไง แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้นแหละ มันเป็นที่จริตของคน โทสจริต โมหจริต โลภจริต จริตนิสัยของคนมันเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น ถ้าเห็นก็คือเห็น ฉะนั้น ถ้าเห็นอย่างนั้นปั๊บ มันก็เป็นคำถามไง

คำถาม “๑. การที่เห็นภาพนิมิตชายหญิงสมสู่กัน แล้วเกิดความยินดีเป็นบาปไหม”

ถ้าพูดอย่างนี้เป็นบาปไหม

เป็นบุญ เป็นบุญ ถ้าเป็นบาปนะ ในปัจจุบันนี้ ดูสิ เวลาตำรวจไปจับพระ ไปจับพระโดยทั่วไป พระเสพยาบ้า พระดูหนังเอ็กซ์ พระดูวีดีโอหนังโป๊ นั่นล่ะบาป ดูวีดีโอหนังโป๊ หนังเอ็กซ์นั่นล่ะ อันนั้นมันดูด้วยตาเนื้อ มันดูด้วยเรื่องกามราคะ มันดูไปแล้วมันเกิดอารมณ์ มันเกิดความรู้สึก นั่นล่ะบาป นั่นล่ะบาป ถ้าดูหนังเอ็กซ์นั่นล่ะบาป

แต่ในการภาวนา “เห็นภาพนิมิตชายหญิงสมสู่กัน เกิดความยินดีเป็นบาปไหม”

เป็นบุญ เป็นบุญ เป็นบุญเพราะมันเห็นขึ้นมาจากธรรม เห็นขึ้นมาจากการปฏิบัติ มันไม่ได้เอาเงินไปซื้อวีดีโอหนังโป๊แล้วมานั่งดูกัน ถ้าไปซื้อวีดีโอหนังโป๊มานั่งดู นั่นล่ะบาป บาปเพราะอะไร บาปเพราะนั่นเป็นเรื่องของกามราคะ นั่นเป็นเรื่องของโลก

แต่นี่มันเป็นเรื่องของการปฏิบัติ ถ้าเรื่องของการปฏิบัติ มันปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจะเห็นสัจธรรมในแง่มุมใด ถ้าเห็นสัจธรรมในแง่มุมของเราเห็นจริง อันนี้คือบุญ บุญคืออะไร? บุญคือเรากำหนดจิตจนสงบเป็นสัมมาสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิขึ้นมา จิตมันเห็นนิมิต พอจิตมันเห็นนิมิต เห็นนิมิตเป็นชายหญิงสมสู่กัน เห็นชายหญิงสมสู่กัน เขาสมสู่กันให้เราดู จิตมันเห็น เขาจะสอนจิต

สอนจิตว่า เขาสมสู่กัน สมสู่กันแบบนี้ สามัญสำนึกของโลกเขาสมสู่กัน แล้วถ้ามึงมีสติมีปัญญา การสมสู่กันมันให้แต่โทษ การครองเรือนมันให้แต่โทษ เรื่องของกามราคะ กามคุณ ๕ มันเป็นเรื่องของโลกเขา ถ้าถือพรหมจรรย์ มันเป็นเรื่องของความทุกข์ความยาก แล้วพอสมสู่กัน สติมันมีกำลังขึ้นมา จากสมสู่กันกลายเป็นซากศพ ซากศพสมสู่กัน อันนี้มันเป็นการยืนยัน เป็นการยืนยันว่าการปฏิบัติมันมีการปฏิบัติจริง มันมีการรู้จริง ถ้ามีการปฏิบัติ การรู้จริงอย่างนี้ มันเป็นเรื่องถูกต้อง

ทีนี้เรื่องถูกต้อง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ

“การเห็นหญิงชายสมสู่กันเป็นบาปไหม”

ถ้าไปพูดข้างนอก “โอ้โฮ! พระองค์นี้บวชมาแล้วทำไมจิตใจหยาบช้าขนาดนี้ พระองค์นี้บวชมาแล้วทำไมเลวทรามได้ขนาดนี้” แต่ไม่รู้หรอกว่านั่นล่ะเขาเข้าสู่อริยสัจ เขากำลังจะเข้าสู่สัจจะความจริง ถ้าการเข้าสู่สัจจะความจริง นี่มันมีครูบาอาจารย์อย่างนี้ไง ถ้าครูบาอาจารย์อย่างนี้

เวลาเราปฏิบัติกัน ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเราผิดพลาดขึ้นไปแล้วเราทำสิ่งใดไม่ได้ หลวงตานะ ท่านออกปฏิบัติครั้งแรก แล้วท่านสู้กับกิเลสไม่ได้ สู้กับกิเลสไม่ได้ คิดสิ่งใด กิเลสมันฟาดงวงฟาดงาจนท่านนั่งน้ำตาตกเลย “ทำไมกิเลสมันเอาเราขนาดนี้ ทำไมกิเลสมันเอาเราขนาดนี้”

แล้วท่านก็ด่า คำว่า “ด่า” คืออาฆาตมันนะ “มึงเอากูขนาดนี้นะ” ด่าเลยล่ะ “แล้วคราวหน้ากูจะเอามึงบ้าง”

แล้วท่านก็พยายามไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็พยายามให้กำลังใจท่าน ท่านก็พยายามอดนอนผ่อนอาหาร สู้กับมัน ฟัดกับมันจนกว่ามันจะมีกำลังขึ้นมา ครูบาอาจารย์ของเราผ่านเรื่องอย่างนี้มาทั้งนั้นแหละ ถ้าผ่านเรื่องอย่างนี้มันจะเป็นการที่ครูบาอาจารย์เราคุยกับครูบาอาจารย์ของเรา ท่านจะพูดเรื่องนี้ในวงกรรมฐาน ต้องให้เป็นจริงนะ ถ้ามันไม่เป็นจริง ไม่เป็นจริงนะ

อยู่กับหลวงปู่จวน หลวงปู่จวนนะ เวลาท่านปฏิบัติของท่าน ถ้าท่านจะสู้กับกามราคะของท่าน ท่านไปเอากระดูกช้าง เอากระดูกช้างมาผูกแขวนคอไว้ แล้วท่านฉันหมากไง ท่านคายน้ำหมากออกมา มันก็เหมือนเลือด มีคนไปเห็นนะ อยู่ในประวัติหลวงปู่จวน ไปอ่านได้ มีคนเขาไปเห็น เขาก็ไปฟ้องหลวงปู่ขาว เพราะหลวงปู่มั่นฝากหลวงปู่จวนไว้กับหลวงปู่ขาว

หลวงปู่จวนท่านจะลงไปเที่ยวภูเก็ตกับหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ขาวบอกไม่ได้ ไม่ได้ จะเอาหลวงปู่จวนไปด้วย สุดท้ายแล้วหลวงปู่จวนท่านเป็นพระ ท่านอยากออกวิเวก ท่านอยากไป เพราะหมู่คณะจะไปภูเก็ตกัน จนสุดท้ายหลวงปู่ขาวบอกไม่ได้หรอก หลวงปู่มั่นฝากท่านไว้กับผม หลวงปู่จวนยังต้องไปอยู่กับหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวท่านดูแลหลวงปู่จวนมา ฉะนั้น หลวงปู่ขาวเป็นคนสอนมา สอนหลวงปู่จวนให้ท่านพิจารณาของท่าน

ฉะนั้น คนไปเห็นเข้าไม่รู้ ก็นึกว่าหลวงปู่จวนเป็นพระเสียสติ ไปฟ้องหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวท่านนั่งหัวเราะเลยนะ เพราะท่านสอนไปเอง ท่านสอนของท่านเอง ท่านสอนไปเอง

ฉะนั้น เวลาเราทำอะไรผิดพลาด เราจะติตัวเราเอง เราจะด่า คำว่า “ด่า” คือว่าโต้ตอบกับกิเลสที่มันรุนแรง

ถ้าทางโลกบอก อู้ฮู! ทำไมจิตใจ จะบอกลามกก็จะว่าไปอีกแหละ คิดกันอย่างนั้นไง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ กรณีอย่างนี้ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ มันจะเป็นจริงขึ้นมา ถ้าเป็นจริงขึ้นมา ของอย่างนี้มันเกลือจิ้มเกลือ ในเมื่อกามราคะ ในเมื่อสิ่งสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ดึงดูดหัวใจของสัตว์โลก แล้วเราจะพ้นจากโลก จะพ้นไปจากมัน เราก็ต้องพิจารณาถึงแก่น ถึงแก่นของมัน ถ้าถึงแก่นของมันนะ ถึงแก่นของมันต้องถึงแก่นในหัวใจนะ ถ้าถึงแก่นในหัวใจ มันจะเป็นบุญ ให้รู้ให้เห็นตามความเป็นจริงเถอะ

แล้วพอรู้เห็นตามความเป็นจริง จิตใจมันผ่อนคลายไหม เวลามันปล่อยไปแล้ว จิตใจมันว่างไหม พอปล่อยแล้วมันมีความสุขไหม? มันมีความสุขของมัน ถ้ามีความสุข มันมีความเข้าใจของมัน เราก็ซ้ำเข้าไปสิ เพราะสิ่งนี้มันทำให้เรามีอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้

รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ถ้ารสของธรรมชนะรสทั้งปวง เอาสิ่งนี้มาเป็นตัวตั้ง ตัวตั้งแล้วเราปฏิบัติของเราต่อเนื่องไป ถ้าต่อเนื่องไปมันก็เป็นบุญไง นี่เป็นบุญ ไม่เป็นบาปหรอก

เป็นบาปคือว่าที่เขาเอาเงินไปซื้อวีดีโอมาดูกันนั่นล่ะเป็นบาป เพราะมันไม่มีอยู่จริงในหัวใจ หัวใจมันไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ มันถึงเดินไปแล้วก็เอามือควักเงินไปซื้อมาดู ขณะเอาเงินไปซื้อมันขาดสติจนเลวแล้ว

แต่นี้เวลาเราปฏิบัติ มันเกิดขึ้นโดยสัจจะ ไม่มีใครไปเหนี่ยวรั้งมันมา ไม่มีใครต้องการให้มันขึ้นมาเป็นแบบนี้ ไม่มีใครตั้งใจได้ว่าเราปฏิบัติไปแล้วเราจะเห็นกายในลักษณะไหน เหมือนคนปฏิบัติทั่วไป “หลวงพ่อ จะปฏิบัติ แต่ไม่อยากเห็นกาย เพราะกลัวผี” อ้าว! คิดไปนู่นเหมือนกัน

เขาเห็นกายคือเห็นอริยสัจ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมคือสติปัฏฐาน ๔ เห็นผีคือเห็นจิตวิญญาณ คนก็เข้าใจไม่ได้อีก บอกเห็นกายคือการเห็นผี...ไม่ใช่ เห็นผีคือเห็นจิตวิญญาณ เห็นผีที่มาหลอกมาหลอน เห็นผีที่มาขอส่วนบุญกุศล นั่นคือผี นั่นคือจิตวิญญาณ

แต่ถ้าเห็นกาย เพราะจิตมันสงบ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นเครื่องอาศัย เป็นที่ให้กิเลสมันออกไปทำความชั่ว ฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม คือเส้นทางของกิเลส กิเลสออกไปทางขันธ์ ๕ ออกไปทางธาตุ ๔ เราก็ย้อนมันกลับ ถ้าย้อนกลับ พอย้อนกลับ เราพิจารณาสิ่งนี้ ถ้ามันย่อยสลายหมด กิเลสมันไม่มีทางไป

ถนนหนทาง เวลาเขาเดินทาง เขาเดินทางถนนใช่ไหม เราขุดถนนนั้นออก มันจะมาทางไหน กิเลสมันจะมาได้อย่างไร นี่ไง ถ้าเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นล่ะการเห็นของเรามันเห็นโดยสัจจะโดยที่เราไม่ได้คาดหมาย

การคาดหมายก็เป็นสัญญาแล้ว การคาดหมายเป็นสัญญา การเห็นกาย เราคิดว่าต้องเห็นกาย ครูบาอาจารย์เห็นเป็นกะโหลกศีรษะ เห็นเป็นอวัยวะต่างๆ เห็นเป็นโครงร่างกายเลย แล้วมันเน่ามันเปื่อย เห็นต่อหน้า นั่นเขาเห็นจริงๆ เห็นนะ กายนอก กายใน กายในกาย มันเป็นชั้นๆ ชั้นหนึ่งเป็นโสดาบัน ชั้นหนึ่งเป็นสกิทาคามี ชั้นหนึ่งเป็นอนาคามี ชั้นหนึ่งเป็นพระอรหันต์ เห็นอย่างไร มันเห็นเป็นชั้นๆ ขึ้นมานะ นี่การปฏิบัตินะ

เพราะเราพูดนี้ เพราะคำว่าเขาวิตกกังวลไงว่าเขาเห็นนี่มันเป็นบาป

โอ้โฮ! มันเป็นบุญต่างหากล่ะ เห็นแล้วมันเป็นบาปได้อย่างไร ถ้าเห็นเป็นบาปนะ ถ้าไปถามพระองค์ใด พระบอกการเห็นนี้เป็นบาปนะ โอ้โฮ! เราทำลายอริยทรัพย์ของเราเองเลยล่ะ เราทำลายสิ่งที่อริยสัจที่เกิดจากใจนะ แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์องค์ไหนบอกอันนี้เป็นบาปนะ แล้วเราทิ้งอันนี้ไปเลย โอ้โฮ! เสียดายโอกาสมาก ถ้าคนไม่เป็นนะ จะบอกเลยว่าเห็นหญิงกับชายสมสู่กันนั้นมันเป็นเรื่องกามราคะ มันเป็นเรื่องทุจริต มันจะเป็นความจริงขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้าเห็นโดยสัจจะ เห็นโดยอริยสัจ ถูก แต่ถ้าเห็นโดยการไปซื้อหนังโป๊มาดูนั่นล่ะผิด อันนั้นน่ะเลวทราม

ฉะนั้น “๒. เพราะเหตุใดนิมิตมันถึงเปลี่ยนแปลงไปเอง”

นี่ไง “เพราะเหตุใดนิมิตมันถึงเปลี่ยนแปลงไปเอง” ถ้านิมิตมันไม่เปลี่ยนแปลงไปเอง มันก็ไม่เป็นไตรลักษณ์น่ะสิ ถ้านิมิตมันไม่เปลี่ยนแปลง มันก็ไม่มีปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ถ้ามันไม่เปลี่ยนแปลง มันก็ไม่พัฒนาน่ะสิ เพราะการเปลี่ยนแปลงนี่แหละ พอมันเปลี่ยนแปลง สำรอก มันคายออกๆ นี่ไง มันต้องเปลี่ยนแปลง

นิมิต ถ้านิมิต อย่างป้ายโฆษณาสินค้า ป้ายก็คือนิมิต เพราะเราไปเห็น ป้ายก็คือป้าย มันไม่เปลี่ยนแปลงหรอก เขียนป้ายอะไรไว้มันก็อยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่เปลี่ยนแปลงหรอก เพราะอะไร เพราะมันไม่มีชีวิต นี่ไง อย่างนั้นมันถึงไม่ใช่อริยสัจไง ที่เขาไปเอาหนังมาดูกัน หนังก็คือหนัง ฉายกี่รอบๆ ก็เป็นอย่างนั้นแหละ มันไม่เปลี่ยนแปลงหรอก มันจะเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงอารมณ์ชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นแหละ

แต่ถ้าเป็นความจริง นี่ไง ไตรลักษณ์ ไตรลักษณะ รู้จักไหม ก็มันเปลี่ยนแปลงมันถึงได้ถูกไง ที่เขาปฏิบัติกันอยู่นี่เขาก็เปลี่ยนแปลง เขาเปลี่ยนแปลงจากนิมิต ที่บอกเห็นนิมิตๆ...เออ! จับนิมิตไว้แล้วพิจารณาไป มันจะละเอียดขึ้น

คำว่า “หยาบ ละเอียด” มันเปลี่ยนแปลง คำว่า “หยาบ ละเอียด” เพราะมันเปลี่ยนแปลง เราถึงพูดอยู่นี่ไง ถ้ามันไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ตอบหรอก ถ้ามันไม่เปลี่ยนแปลง เลิกแล้ว แต่นี่เพราะมันเปลี่ยนแปลงไง เพราะมันเปลี่ยนแปลง มันวิวัฒนาการไง

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ใจนี้เหมือนหน่อแห่งพุทธะ มันก็เหมือนต้นไม้ ต้นไม้พอปลูกขึ้นมา มันเจริญเติบโตขึ้นมา ธรรมมันขยายแผ่กิ่งก้านออกไป มันเจริญงอกงามขึ้นมา มันโตขึ้นมา นี่ไง ถึงที่สุดแล้วพอมันทำลายต้นไม้ทั้งหมดมันก็เป็นพระอรหันต์ไปเลย

นี่ก็เหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงคือความถูกต้อง ทีนี้พอเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงคือไตรลักษณ์ เปลี่ยนแปลงคือทำให้เราเห็น ทีนี้พอพูดอย่างนี้ปั๊บ พอเปลี่ยนแปลง ทีนี้จะสร้างภาพเปลี่ยนแปลงแล้ว

เปลี่ยนแปลงมันต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยบางครั้งก็เร็ว บางครั้งก็ช้า บางครั้งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะกำลังมันไม่พอ ถ้ากำลังไม่พอนะ ภาพนั้นมันจะอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วภาพนั้นไม่นิ่ง ภาพนั้นจะไหว ภาพนั้นมันจะดื้อ แต่ถ้าดื้อปั๊บ ต้องทิ้งเลย ทิ้งภาพนั้น กลับมาที่พุทโธ

พอมีกำลัง ย้อนกลับไปใหม่ พอกลับไปจับภาพสิ่งนั้น ภาพนั้นจะเป็นไตรลักษณ์ คือมันเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นเป็นก้อนเนื้อ ให้ก้อนเนื้อมันย่อยสลายลง ให้มันเน่าให้มันเปื่อย ให้มันผุพังไป พอมันผุพังไป ก้อนเนื้อที่รู้ที่เห็นมันผุพังไป มันไม่มีสิ่งใดเลย แล้วเราไปยึดอะไรล่ะ มันผงะๆๆ พิจารณากาย มันผงะเลยนะ มันผงะ มันปล่อย พอมันปล่อยแล้วมันก็สำรอก สำรอก มันยังไม่จบ ถ้ามันจบ มันจะรู้ของมัน ถ้าสมุจเฉทฯ เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย

จะบอกว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ไม่มีกำมือในเรา” จะบอกว่าไม่ใช่เคล็ดลับ มันก็เป็นเคล็ดลับของผู้รู้ ผู้รู้กับไม่รู้มันมีเคล็ดลับ คนที่ไม่รู้มีเคล็ดลับ แต่คนรู้แล้วไม่มีเคล็ดลับเลย มันอันเดียว มันสัจจะอันนั้นน่ะ ถ้ารู้แล้วรู้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่รู้ เพราะความไม่รู้ มันเลยมีเคล็ดลับไว้ เพราะมันไม่รู้อันนั้น

แต่ถ้ารู้ ไม่มีเคล็ดลับ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีเคล็ดลับ ไม่มีสิ่งใดลับลวงพราง ไม่มี ชัดเจนหมดเลย แต่ที่มันลับลวงพรางเพราะกิเลส เพราะความไม่รู้ของเรา เราถึงลับลวงพราง เราถึงไม่รู้ แต่ถ้ารู้แล้ว ไม่มีเคล็ดลับ

ฉะนั้น ไม่มีเคล็ดลับ มันถึงตรงนี้ ตรงที่มันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงขนาดไหน ถ้าไม่บอกถึงที่สุด ไม่บอกถึงขณะจิตที่มันเปลี่ยนจากโสดาปัตติมรรคเป็นโสดาปัตติผล ถ้าไม่มีขณะจิตที่มันเปลี่ยนแปลง

เวลามันเปลี่ยนแปลงนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ประจำ แล้วมันเด็ดขาด ดั่งแขนขาด เวลากิเลสขาดเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ดั่งแขนขาด ตัดแขนขาดเลย ตัดกิเลสขาดเลย ขาดออกไปเลย นั่นล่ะความจริง ถ้ามันสมุจเฉทปหานมันจะเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าตทังคปหาน มันเปลี่ยนแปลงแล้วปล่อย อันนี้มันเปลี่ยนแปลงแต่ไม่ปล่อย บอกมันดับไปเอง มันหายไปเองต่างๆ ถ้ามันเปลี่ยนแปลงมันจะเป็นแบบนั้น ถ้ามันเป็นแบบนั้นมันจะเป็นความจริงขึ้นมา

“เพราะเหตุใดนิมิตมันถึงเปลี่ยนแปลง”

ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะกำลังไม่พอ ไม่เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นวัตถุ ไม่ใช่นามธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนามธรรม จิตนี้เป็นนามธรรม กิเลสนี้ก็เป็นนามธรรม แต่เป็นนามธรรม ทำไมมันแก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้วสิ่งนั้นยิ่งชัดเจน จะบอกว่าเป็นรูปธรรมเลยก็ได้ แล้วถึงที่สุดแล้วมันชัดเจนของมันมาก ถ้าชัดเจน เพราะเปลี่ยนแปลงถึงถูก

ถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วจะให้เปลี่ยนแปลง พอบอกเปลี่ยนแปลงถูก จะให้เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงโดยกิเลสสร้างภาพ ผิด

เปลี่ยนแปลงโดยสัจธรรม เปลี่ยนแปลงโดยกำลังของสมาธิ กำลังของปัญญาที่มันพิจารณาของมัน แล้วมันเปลี่ยนแปลงเป็นไตรลักษณะ เป็นไปอย่างนั้นชัดเจน อันนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นถูก แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงโดยเราพยายามเปลี่ยนแปลง โดยเราพยายามจะสร้างภาพขึ้นมา ผิด

ทีนี้การปฏิบัติไปมันจะมีผิดมีถูกไป มีครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้ไง ที่บอกครูบาอาจารย์สำคัญๆ สำคัญเพราะเหตุนี้ ถ้าครูบาอาจารย์สำคัญเพราะเหตุนี้ คนจะปฏิบัตินะ ส่วนใหญ่ถ้ามีปัญหา เขาจะเข้าไปฝากเนื้อฝากตัวกับครูบาอาจารย์ที่ไว้วางใจ

ครูบาอาจารย์ที่ไม่ไว้วางใจนะ เวลาเราทำสมาธิได้ ไปถามท่าน ท่านก็บอกว่าไม่ใช่ เวลาเราพิจารณาเป็นนะ เราไปถามท่าน ท่านก็บอกว่าเราหลงทาง ถ้าเราหลงทาง ทำไมเรารู้เราเห็นของเราล่ะ

สัจธรรมมันมีอันเดียวกันนั่นน่ะ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะ พอเราปฏิบัติแล้วเราไปถามท่าน ถ้าท่านตอบมานะ ตอบมามันตรงกับความรู้ความเห็นของเรา แล้วสิ่งใดที่เราไม่รู้ไม่เห็น ท่านชักนำเรา เออ! นั่นอาจารย์เราจริง

แต่ถ้าเรารู้เราเห็นของเรา เราประสบของเรามา ท่านบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ ท่านปัดมือเราทิ้งหมดเลย แล้วบอกว่าไม่มีไม่เป็น แล้วเรามีเราเป็น มันเป็นอย่างไร

นี่ไง หลวงตาท่านพูดบ่อย ถ้าไปถามธรรมะ คุยธรรมะกับใคร แล้วเขาพูดมาโดยที่ไร้เหตุไร้ผล ท่านจะบอกเลย “จิตอย่างนี้หรือจะมาสอนเรา ความรู้อย่างนี้หรือจะมาสอนเรา” ท่านรู้เลย ถ้าเราภาวนาเป็นนะ แล้วไปคุยกับใคร แล้วเขาคุยธรรมะไม่ตรงกับเราหรือแตกต่างกับเรา มันวัดใจกันได้เลย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านิมิตมันเปลี่ยนแปลงๆ มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร แล้วมันไม่เปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าคนจริงมันอธิบายได้หมด ถ้าคนไม่จริงนะ มันเป็นเรื่องวัตถุ แล้วเดี๋ยวยิ่งยุ่งไปใหญ่เลย ฉะนั้น กันเอาไว้ก่อนไง เพราะตอนนี้กรรมฐานแถมันเยอะ ถ้ามันแถแล้วเดี๋ยวมันยุ่ง

“๓. เมื่อเห็นนิมิตปรากฏ ผมวางคำภาวนา เมื่อนิมิตหาย ผมถึงทำภาวนาต่อไป เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่”

เรากำหนดภาวนาไปก่อนนะ พุทโธไปก่อน ถ้าเห็นนิมิต ถ้าไม่มีกำลัง เราไม่ออกไปสู่นิมิตก็ได้ ถ้าเราพุทโธชัดๆ นะ พุทโธชัดๆ จิตอยู่กับพุทโธ มันไม่เห็นอะไรหรอก คนเรากลัวผิด เวลาเห็นนิมิตแล้วก็กลัวนิมิต จะกลัวสิ่งใดก็แล้วแต่ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านสั่งไว้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธจะไม่เสียหาย ถ้าเราไปรู้เห็นสิ่งใดแล้วตกใจ ไม่ต้องกลัว ระลึกพุทโธชัดๆ กอดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ กอดพุทโธไว้ ถ้ากอดพุทโธไว้ จิตมันกลับมาพุทโธหมดแล้ว มันจะไม่รับรู้อะไรเลย

สิ่งที่ว่าพุทโธๆ จิตมีกำลังมันก็ออกไปรู้ไปเห็น ถ้าเราพุทโธปั๊บ มันก็กลับมาสู่ผู้รู้ สู่ผู้รู้ สู่พุทโธ จะไม่เสีย จะไปรู้ไปเห็นอะไร ถ้าตกใจนะ ระลึกพุทโธไว้ชัดๆ แล้วภาพนั้นจะหายไป

แต่ส่วนใหญ่ พอคนเราไปรู้ไปเห็นสิ่งใดแล้วตกใจ พอตกใจก็สงสัย สงสัยก็อยากรู้ อยากรู้ก็ตกใจ ตกใจก็อยากรู้ มันไปเลย ยิ่งตกใจ ยิ่งค้นคว้า ยิ่งอยากจะให้มันแก้ไข ไปเลย

ถ้ารู้ถ้าเห็นสิ่งใด กลับมาที่พุทโธ อย่าตามไปทั้งสิ้น ไม่ทิ้งผู้รู้ ไม่ทิ้งพุทโธ ไม่เสียหาย

ฉะนั้น ถ้ามันพุทโธๆ ถ้ามันเกิดนิมิต แล้วนิมิตนั้นเราพิจารณาแล้ว พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า มันเป็นไปไม่ได้ คือพิจารณาแล้วมันไม่จบ มันไม่จบ เรารู้แล้วว่ากำลังเราไม่พอ เราไม่ต้องไปที่นิมิตนั้น เราอยู่ที่คำภาวนาให้ชัดๆ ชัดๆ ขึ้น ชัดๆ ขึ้น สมาธิมันจะเข้มแข็งขึ้น สมาธิมันจะมีกำลังมากขึ้น ถ้าสมาธิมีกำลังมากขึ้น ถ้าเราปล่อยปั๊บ ถ้ามันเป็นจริตนิสัยของเรา มันจะเกิดนิมิตนั้น มันจะจับนิมิตนั้น

ถ้าจิตมันมีกำลังขึ้นมา มันเห็นนิมิตนั้นไม่ได้ มันก็รำพึงนิมิตนั้นขึ้นมา รำพึงคือคิด คิดถึงนิมิตอันนั้น ถ้าจิตมีกำลังแล้วมันก็ดึงเอานิมิตนั้นขึ้นมา ขึ้นมามันก็พิจารณาของมันไป

ถ้าพิจารณาของมันไป กำลังมันพอแล้ว พิจารณาไปแล้วมันก็จะเป็นไตรลักษณ์ คือมันจะแปรสภาพ ไอ้ที่มันเปลี่ยนแปลงๆ นั่นล่ะมันเปลี่ยนแปลง มันถูก เปลี่ยนแปลงจากเนื้อสดๆ มันกลายเป็นเนื้อเน่าเนื้อเสีย กลายเป็นเนื้อที่มันพุพอง พอพุพองแล้วมันทำลายไป

หลวงตาท่านพิจารณาของท่านนะ พิจารณาน้ำเป็นน้ำ ดินเป็นดิน ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ กระดูกมันแข็งอยู่ ท่านก็นึกถึงดินเลยนะ จิตท่านสงบ ท่านนึกถึงแผ่นดิน แผ่นดินกลบ พับ! แผ่นดินมันก็ราบเป็นหน้ากลองไปเลย ไม่มีเลย เห็นไหม พอมันพิจารณาไปแล้วมันจะเหลือไง

แม่ชีแก้ว หลวงตาบอกว่าอย่าส่งออกๆ นะ แล้วพิจารณาร่างกายนี้ พอพิจารณาร่างกายนี้ หลวงตามาฟันๆๆ มันย่อยสลายหมดเลย เหลือหัวใจไว้เต้นตุบๆ ตุบๆ หัวใจมันไม่ไป หัวใจเต้นตุบๆ ตุบๆ อยู่นั่นน่ะ ทีนี้หัวใจเต้นตุบๆ ท่านเห็นนิมิตของท่าน มันเห็นของท่านนะ แล้วหลวงปู่มั่นท่านมาสอน หลวงปู่มั่นท่านก็มาเขี่ย หัวใจนี้ทำอะไรไม่ได้ เพราะถ้าหัวใจนี้มันตาย เดี๋ยวชีวิตมันจะไม่มี หัวใจเต้นตุบๆ ตุบๆ อยู่ นั่นมันย่อยสลายหมดเลย นี่เวลาคนภาวนาเป็นเขาเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาถ้ากำลังมันพอ กำลังมันพอ จับนิมิตได้ เราจับนิมิตได้ จับอะไรก็ได้ให้เป็นธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ของเรา แล้วพิจารณามันไป ถ้ากำลังมันพอนะ มันจะแปรสภาพของมันไป แล้วมันเหลืออะไร ถ้ากำลังไม่พอมันจะเหลือสิ่งนั้น แล้วถ้ามีปัญญาขึ้นมา หลวงตาท่านพิจารณาหมดเลย ท่านบอกเหลือแต่กองกระดูกอยู่ พอกองกระดูก แล้วท่านระลึกถึงดิน ดินกลบ พับ! กลบ พับ! ก็ปล่อย ผลัวะ! ปล่อย ผลัวะ! มันก็ผ่าน คนเราปฏิบัติมันมีวาสนาของคนไง

ฉะนั้น คำว่าถ้าเห็นนิมิตปรากฏขึ้นมา เขาถามว่า จะปฏิบัติอย่างไรต่อไป ปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้อง

ถ้าปฏิบัติอย่างไรต่อไป นิมิตที่รู้ที่เห็นมา นั่นน่ะคือการฝึกฝนใจ คือใจปฏิบัติมา มันรู้มันเห็นของมันมาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามาถูกต้องแล้วแหละ ทีนี้คำว่า “ถูกต้อง” มันก็ต้อง คนเราการศึกษามันก็ผ่านอนุบาลมา ประถมมา มัธยมมา ก็ผ่านอุดมศึกษามา แล้วก็เรียนเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันฝึกหัดภาวนา มันก็ผ่านเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา การปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติใหม่เป็นอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติไม่รู้ คือว่ายังไม่รู้เหตุรู้ผล มันก็ดั้นด้นของมันไปได้นะ แต่ไปบอกว่าถ้าทำอย่างนั้นๆ ปั๊บ มันรู้แล้วนะ พอรู้แล้วปฏิบัติยากแล้วล่ะ เพราะมันจะเอามรรคเอาผล พอเอามรรคเอาผล กิเลสมันก็เอาสิ่งนั้นมาทำลายการปฏิบัติของเราเหมือนกัน

กิเลสร้ายนัก ถ้าไม่รู้อะไรเลย ปฏิบัติไปมันก็เป็นตามข้อเท็จจริง เป็นวิทยาศาสตร์เลย แต่พอไปรู้แล้วนะ อ๋อ! ไอ้นี่ดี ไอ้นี่ไม่ดีนะ มันก็จะคัดแต่เรื่องที่ดีๆ อะไรๆ ก็จะให้ดีหมดเลย แล้วมันก็จะไม่มีอะไรดีเลย เพราะเป็นสัญญาทั้งหมด พออยากได้ดีๆ ก็เลยกลายเป็นของปลอมหมดเลย แต่ถ้าไม่รู้อะไรเลยนี่มันเป็นจริง

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า “นิมิตมันปรากฏขึ้น แล้วผมก็ภาวนาไป ผมวางคำภาวนา เมื่อนิมิตหาย ผมถึงภาวนาต่อเนื่องไป”

ถ้านิมิตหาย อย่างนี้มันตามเวรตามกรรมไง อย่างนี้ตามอำนาจวาสนา ถ้าตามเวรตามกรรม ถ้าเป็นขิปปาภิญญานะ สำเร็จไปแล้ว ขิปปาภิญญาคือสร้างอำนาจวาสนาไว้มาก สร้างบุญไว้มาก มันจะเข้าสู่อริยสัจเลย แต่เราไม่ได้สร้างอำนาจวาสนาไว้มาก เวไนยสัตว์คือคนชั้นกลาง คนชั้นกลางต้องหาอยู่หากิน ต้องปากกัดตีนถีบ เราไม่ใช่คนชั้นสูงและไม่ใช่คนชั้นต่ำ

คนชั้นต่ำคือคนรากหญ้า คนรากหญ้าเขาไม่สนใจเรื่องการภาวนา เพราะเขาสนใจแต่เรื่องปากเรื่องท้อง คนชั้นสูงเขาก็เพลิดเพลินในอำนาจวาสนาของเขา ไอ้เราคนชั้นกลางนะ ปากกัดตีนถีบ ปากกัดตีนถีบ เราก็ต้องหาอยู่หากิน หาดำรงชีวิต การประพฤติปฏิบัติของเรา เวไนยสัตว์คือคนชั้นกลาง คือสามารถปฏิบัติได้ พอสามารถปฏิบัติได้ ปฏิบัติไปแล้วมันก็ล้มลุกคลุกคลาน ถ้าล้มลุกคลุกคลาน เราก็ยังทำได้ ชนชั้นกลางเขาอยู่ในสังคมเพื่อความสงบร่มเย็นของเรา ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน

ฉะนั้น ถ้ามันปรากฏนิมิตขึ้นมา แต่กำลังไม่พอ มันก็เป็นอย่างนี้ คือมันก็มีวงจรของมัน แต่ถ้าเราต้องการความเจริญก้าวหน้า พอนิมิตเกิดขึ้น เราไม่ส่งออกไปกับนิมิต เรากำหนดพุทโธไว้ กำหนดคำภาวนาไว้ มั่นคงไว้ ถ้ามีกำลังแล้วเราก็ไปที่นิมิตนั้น ใช้ปัญญาพิจารณามันไป อย่างเช่นที่พระท่านชี้ให้ดู กำลังเราดี มองไปทะลุหนัง แต่ถ้าพอเรามีสติดึงไว้ มันจะถึงแค่หนัง ถ้าถึงแค่หนังแล้วเราพิจารณาของเราให้มันแปรสภาพให้เราดู ถ้าแปรสภาพให้เราดู มันจะสำรอกมันจะคายของมันออก ถ้าคายออก ถ้ามันทำได้รอบหนึ่งมันก็ปล่อยวางตทังคปหาน แล้วพอจิตสงบแล้วก็กลับไปที่นิมิตอีก ถ้านิมิตไม่ได้ก็กลับไปที่เวทนา กลับไปที่จิต กลับไปที่ธรรม สติปัฏฐาน ๔ เหมือนกันหมด อันใดอันหนึ่ง ฉะนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนี้ ถ้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนี้ ถ้าปฏิบัติไปมันจะปฏิบัติเป็นความถูกต้องไง

ที่คำถามทั้งหมดมานี่มันถูกต้องแล้ว เพียงแต่ว่าเราสะเปะสะปะคือเราไม่รู้ เราจับต้นชนปลายไม่ถูก เราถึงปฏิบัติแล้วไม่เจริญก้าวหน้า แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ถ้าได้ยินอย่างนี้นะ ครูบาอาจารย์ท่านจะเปิดทางให้เลย เปิดทางให้เลย หลวงตาท่านใช้คำนี้ คำว่า “โค” คือวัวควายมันอยู่ในคอก มันโดนคอกล้อมไว้ ถ้าตัวใด โคควายตัวใดมันอยู่ที่ปากประตู เวลาคนเปิดประตู ตัวนั้นจะออกก่อน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติ คนปฏิบัติถ้ามันมีช่องทางอย่างนี้ จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นการเปื่อยเน่า เห็นต่างๆ นี่โคปากคอก ถ้ามีครูบาอาจารย์เปิดประตูให้ ผลัวะ! ออกเลย ถ้าออกเลย มันก็ออกไปความถูกต้อง

ฉะนั้น ไม่มีครูบาอาจารย์หนึ่ง แล้วเราก็ยังสงสัย ถ้านิมิตเกิดขึ้น “พอปรากฏนิมิต ผมก็วางคำภาวนา”

เพราะตามมีตามเกิดไง พอเกิดนิมิตขึ้นมา เราก็วางคำภาวนา พอนิมิตหายไป เราก็กลับมาภาวนาต่อ ฉะนั้น มันก็อยู่ที่ทำไปโดยเวรโดยกรรม แต่ถ้าเราทำไปแล้วมันไม่สมุจเฉทฯ มันไม่สิ้นสุด เราก็กลับมากำหนดพุทโธ พุทโธชัดๆ อยู่ที่คำภาวนา ยังไม่ไปที่นิมิต พอกำลังมันพอแล้วมันถึงปล่อยไปที่นิมิต ถ้าปล่อยไปที่นิมิต มันพิจารณาแล้วมันจะปล่อย นั่นคือกำลังพอ ถ้ากำลังไม่พอนะ มันไม่หายไป นี่ไง ว่าซากศพก็หายไป ทุกอย่างก็หายไป นี่มันเป็นตามเวรตามกรรมหมดเลย ตามเวรตามกรรมไง ถ้าตามเวรตามกรรม มันมีสมุทัยเข้ามา คือกิเลสมันอยู่กับเราอยู่แล้ว กิเลสอยู่กับเราอยู่แล้ว กิเลสมันก็ไม่ให้เรารอดพ้นไปจากมันหรอก

แต่ถ้าเรามีมรรค มีมรรคคือมีสัจธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราทำเข้มแข็งขึ้น ทำดีขึ้น เราทำด้วยสติปัญญาของเรา เราทำด้วยสติปัญญาของเรา เราไม่ไปทำตามกิเลส แล้วเราพิจารณาให้เป็นข้อเท็จจริง เป็นเนื้อเป็นหนังของเรา แล้วมันจะเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา มันก็จะเห็นผลไง

ฉะนั้น คำว่า “จะปฏิบัติอย่างไรต่อไป เวลานิมิตปรากฏ ผมวางคำภาวนา”

มันตามเวรตามกรรม วางภาวนามันก็ไปแล้ว แล้วพอนิมิตหาย พอใช้จ่ายหมดแล้ว พอเงินหมดก็จะมาหาเงิน เงินก็กลับมาที่สมาธิ พอกลับมาที่สมาธินะ กลับมาที่สมาธิมันก็เห็นอีก มันก็ละล้าละลังไง ฉะนั้น เราต้องสะสมเงินให้พอเลย ซื้อขาด ไม่ผ่อน ซื้อขาดเลย ซื้อเงินสด ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องมีเงินพอ มีเงินพอ เราต้องมีสมาธิ มีกำลังเข้มแข็ง กำลังเข้มแข็งแล้วกลับไปพิจารณา ถ้ามันขาดก็จบ จบเลยนะ ถ้าจบเลยนะ เดี๋ยวจะถามมาเองถ้าจบ ถ้ามันไม่จบมันก็ละล้าละลังอย่างนี้ นี่พูดถึงว่าการนั่งสมาธิ

“สมาธิ นิมิตที่ทำให้เกิดกำหนัด และนิมิตที่ทำให้ละความกำหนัด”

ฉะนั้น นิมิตนี้เราบอกว่าเป็นนิมิตภาวนา เป็นนิมิตที่เราภาวนาเกิดขึ้น ไม่ใช่นิมิตเกิดที่เขาว่าติดนิมิตต่างๆ ถ้าติดนิมิต มันไม่แปรสภาพแบบนี้

ที่เขียนว่า ทำไมนิมิตมันเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนแปลงเพราะมีสติมีปัญญา มันถึงเปลี่ยนแปลง เพราะมันเปลี่ยนแปลงมันถึงเป็นไตรลักษณ์ เพราะมันเป็นไตรลักษณ์ มันถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันก็เข้าสู่มรรคไง ถ้าเข้าสู่มรรคมันก็ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เอวัง