ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เหมารวม

๑๓ ต.ค. ๒๕๕๖

 

เหมารวม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๔๓๒. เนาะ

ถาม : ข้อ ๑๔๓๒. เรื่อง "ได้สติคืน"

กราบนมัสการพระอาจารย์ เนื่องจากได้ฟังคำตอบจากคำถามเรื่อง "ใคร่รู้ไตรลักษณ์" ต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ได้กรุณากระแทกจนจิตคลายตัวจากการตั้งคำถาม กระผมมิได้คิดจะลบหลู่พระป่า แต่กลับชื่นชมในความเสียสละ กระผมอยากบวชเพื่อปฏิบัติ แต่ติดปัญหาเรื่องครอบครัว ยังต้องอยู่ทางโลกโดยหน้าที่ของสามีและพ่อ ซึ่งไม่อาจทิ้งภาระที่ตัวเองก่อขึ้นมาได้ จึงเกิดความกังวลขึ้นในจิต อยากจะให้จิตนี้หลุดออกจากการเวียนว่ายตายเกิด แต่ก็ยังห่วงครอบครัว จึงอยากจะให้ความห่วงนี้เป็นไตรลักษณ์ ให้ความกังวลนี้หมดไปจากจิต จนลืมผู้รู้คือพุทโธ ต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่กระแทกจนได้สติ ไม่เคยท้อกับการปฏิบัติ เพราะได้ตั้งมั่นยึดแนวทางของครูบาอาจารย์สายวัดป่าเป็นที่พึ่ง ไม่มีใครที่จะสามารถทำจิตให้หลุดพ้นได้นอกจากการปฏิบัติตามคำสอนของครูบาอาจารย์

ตอบ : นี่คำถามเหมือนกับไม่ได้ถาม ครั้งที่แล้วเขาถามมาเรื่องใคร่รู้ไตรลักษณ์ ทีนี้คำว่าใคร่รู้ไตรลักษณ์ โดยการปฏิบัติของโลกในปัจจุบันนี้ ในการปฏิบัติมันมีหลายแนวทางมาก ฉะนั้น บอกว่าอยากรู้ไตรลักษณ์ อยากรู้มรรครู้ผล แล้วการปฏิบัติไปลูบๆ คลำๆ แล้วก็ได้มรรค ได้ผลกันไป ฉะนั้น บอกว่าใคร่รู้ไตรลักษณ์ ทีนี้ใคร่รู้ไตรลักษณ์ คำว่าอยากรู้ อยากรู้อยากเห็น อยากรู้อยากเห็นเรามีพื้นฐานอย่างไรถึงจะรู้จะเห็นได้ ถ้าเรามีพื้นมีฐาน การจะรู้จะเห็นมันต้องมีพื้นฐานก่อน

ถ้ามีพื้นฐาน เห็นไหม นี่เวลาคนที่อ้างอิงก็อ้างอิงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ก็ไม่ได้สอนเรื่องการทำสมาธิเลย ทำไมต้องทำสมาธิด้วย เวลาปัญจวัคคีย์ เวลาไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ก็เทศน์ธัมมจักฯ เลย และพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมไปเลย ทำไมไม่สอนทำสมาธิล่ะ? แต่เขาไม่ได้คิดหรอก เขาไม่ได้คิดเพราะว่าคนที่ภาวนาเป็น อย่างหลวงตาท่านพูดบ่อยว่าปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี คนภาวนาอยู่ ๖ ปี คนทำภาวนามา ๖ ปี แล้วคนมีอำนาจวาสนา ไม่ใช่คนไม่มีอำนาจวาสนา

พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพราหมณ์พยากรณ์ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด ว่านี่จะเป็นศาสดาอย่างเดียว จะเป็นศาสดาอย่างเดียว เขาเป็นพราหมณ์ เขาเป็นนักบวชมาก่อน แล้วเขาได้ประพฤติปฏิบัติมา อุปัฏฐากมา ๖ ปีเขาทำความสงบของเขามาก่อน ถ้าเขาทำความสงบของเขามาก่อน เทศน์ธัมมจักฯ เขาถึงมีดวงตาเห็นธรรม แต่อย่างพวกเรา อย่างพวกเราที่เราอยากใคร่รู้ๆ ถ้ารู้ในเรื่องศาสนา รู้เรื่องศาสนา เรื่องชาวพุทธมีวัฒนธรรมประเพณีอันนี้ก็เป็นวาสนาของคนเหมือนกัน

วาสนาของคนนะ คนที่ไม่มีหลักศาสนาในใจ มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมีศีลธรรม ถ้าไม่มีศีลธรรมในใจ มนุษย์มันก็เหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง ถ้าเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง เรามีอำนาจวาสนา เรามีศาสนาประจำหัวใจ นี่เราเป็นสัตว์ประเสริฐแล้ว แล้วเป็นสัตว์ประเสริฐแล้ว ถ้าเราใคร่รู้เรื่องไตรลักษณ์มันก็ต้องพูดกันถึงหลักการความเป็นจริง เพราะเราเป็นพระผู้ทรงศีล ความมีศีลมีสัตย์ ถ้าพูดคำสัตย์ คำสัตย์ก็ต้องเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง ถ้าใคร่รู้รู้ด้วยอะไรล่ะ? ที่พูดอย่างนั้นเขาขอบคุณมา เพราะขอบคุณว่านี่กระแทกจนได้สติคืนมา ได้สติคืนมาเพราะเราไปฟังการโฆษณาชวนเชื่อ

นี่การชวนเชื่อนะ การปฏิบัตินั้นลัดสั้น การปฏิบัตินั้นง่ายดาย การปฏิบัตินั้นมันมีคุณธรรม การปฏิบัตินั้น ไร้สาระ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ากาลามสูตรอย่าให้เชื่อ อย่าเชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ของเรา อาจารย์ที่สอนอยู่นี่อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องเอามาประพฤติปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมาก่อน นี่เชื่อสัจธรรมความจริงในใจของเรา ฉะนั้น สิ่งที่คำถามถามมาเพราะว่า เพราะในปัจจุบันนี้ในสังคมมันหลากหลายมาก แล้วใครทำมาจับพลัดจับผลู คนนั้นก็จะมีคุณธรรม คนนี้ก็มีคุณธรรม

หลวงตาท่านพูดนะ เวลาเทศน์บางกัณฑ์ของท่านฟังแล้วเศร้ามาก ท่านสลดใจ อู๋ย มันดูถูกศาสนา มันเหยียบย่ำ มันทำลายศาสนากันได้ขนาดนั้น นี่เป็นพระแท้ๆ เป็นผู้ปฏิบัติแท้ๆ ทำลายศาสนากันได้ลงคอ โอ๋ย เวลาท่านพูดนะมันสะเทือนใจมาก แล้วเวลาเราจะปฏิบัติกัน ใคร่รู้ๆ แล้วก็จับพลัดจับผลูกันว่าจะให้รู้ให้เห็นไปตามนั้น มันจะเป็นไปตามนั้นจริงไหมล่ะ? มันไม่เป็นไปตามนั้นจริงเพราะมันไม่มีผู้รู้จริง ไม่รู้จริง นี่พูดสิ่งใดก็ทำตามกันไป ทำตามๆ กันไป แล้วทำตามๆ กันไปมันก็เป็นอุปาทานหมู่ อุปาทานหมู่ก็เป็นแบบนั้น

ฉะนั้น บอกว่าใคร่รู้ไตรลักษณ์ พอใคร่รู้ไตรลักษณ์เราถึงบอกว่าจะรู้ในระดับของสิ่งใดล่ะ? ถ้ารู้ในระดับของการศึกษา การศึกษานะทางวิชาการใครก็รู้ได้ แล้วถ้าในการจะรู้ไตรลักษณ์ตามความหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็ต้องมีความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้ามีความสงบของใจเข้ามาก่อน เพราะอะไร? เพราะหลวงตาท่านพูดบ่อยมาก สมุทัย สมุทัยมันบวกเข้ามา เห็นไหม มันมีสมุทัยเจือปนมาตลอด ในการปฏิบัติของเรามันมีสมุทัย ในการปฏิบัติ สังโยชน์ ๓ นี่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันมีวิจิกิจฉามาทั้งนั้นแหละ

คนเราลองปฏิบัติ ใครบ้างไม่มีวิจิกิจฉา ใครไม่มีความสงสัย ใครไม่มีตะกอนในใจมันไม่มี ถ้ามันมีตะกอนในใจ สิ่งนั้นมันบวกมาตลอด ทีนี้การกระทำของเรา เราจะแจ่มแจ้งขนาดไหนมันมีวิจิกิจฉาปนมาแน่นอน สมุทัยมันเจือมาแน่นอน เพราะมันอนุสัย มันนอนเนื่องมากับใจ น้ำนี่ น้ำก๊อก เราเปิดน้ำ พอน้ำมันมามันก็ต้องเอาสิ่งที่เจือปนกับน้ำนั้นมา ความคิด ความรู้สึกนึกคิดของเราที่ออกมา อนุสัยมันนอนเนื่องมากับจิตตลอด มันมีของมันออกมา ถ้ามันมีของมันออกมา เราไปพิจารณาสิ่งใด ไอ้วิจิกิจฉา ไอ้ความลังเลสงสัย ไอ้สิ่งนี้มาเจือมาทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น เวลาพิจารณาไปแล้วมันจะสะอาดบริสุทธิ์อยู่ไหมล่ะ? ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามาเราก็กรองน้ำใช่ไหม? ดูสิเวลาปัจจุบันนี้น้ำที่เป็นพิษเราไม่ยอมใช้กันหรอก ถ้าการประปาภูมิภาคที่ใดน้ำของเขาขุ่น น้ำของเขามีสารพิษ ร้องเรียนทั้งนั้นแหละ บอกว่าน้ำนี้มันมีสารเจือปน มันใช้ไม่ได้ มันใช้ไม่ได้ เขาร้องเรียนเพราะอะไร? เพราะเขารู้ เขาเห็นของเขา เขาเห็นโทษของมัน แต่เวลาเราวิปัสสนากัน เราปฏิบัติกัน ความเห็นแก่ตัว สมุทัยในใจของเรา มันบวกกับความรู้สึกนึกคิดของเรามามีใครร้องเรียนบ้างล่ะ? มีแต่กิเลสมันอ้างอิงว่าใช่ ใช่ ใช่ แล้วเวลาถามมา เวลาถามมา เพราะที่เราพูดเพราะเราสังเวชไง เราสังเวช

ฉะนั้น ถ้าคนถามเขาว่าได้สติคืนมา เขาขอบคุณมา อย่างนี้เราก็สาธุ สาธุว่าบัณฑิตด้วยกัน บัณฑิตนะ บัณฑิตชี้ความขาดตกบกพร่อง ชี้จุดบกพร่อง แล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ นี่บัณฑิต ถ้าเป็นคนพาลนะ ทั้งๆ ที่ชี้ความดีนี่แหละ เขาก็เป็นพาล เขาก็หาว่าเป็นการลำเอียง หาว่าพวกเขา พวกเรา มันไม่มีพวกหรอก หลวงปู่มั่นบอกว่านิกายมันก็แค่ชื่อ ไก่มันยังมีชื่อเลย กลุ่มใครกลุ่มมันก็แค่ชื่อ แค่ชื่อ แค่มุมมอง แค่ความเห็น ถ้าใครมันมีทิฐิ มันมีมุมมอง มีความเห็น ถ้ามันเปลี่ยนแปลงนั่นก็เป็นกุศลของเขา นี่ไงมันก็แค่ชื่อ แค่ชื่อ แค่กลุ่ม แค่ก้อน กลุ่มก้อนของใคร เราจะเอากลุ่ม เอาก้อนอะไรแล้วมาแบ่งแยกกันมันมีประโยชน์อะไร? แต่ถ้าความจริงล่ะ? สัจจะความจริงที่มันจะเป็นความจริงขึ้นมาล่ะ?

ฉะนั้น ธรรมะมันต้องแยกแยะไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ผู้ที่ไม่มีศรัทธา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม เห็นไหม ถ้าเป็นฆราวาสอนุปุพพิกถา นี่สอนเรื่องการเสียสละ เรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของเนกขัมมะ พอจิตใจควรแก่การงาน เนกขัมมะออกจากชุมชน ออกจากการคลุกคลี ถ้าออกมาได้จิตใจมีหลักมีเกณฑ์แล้วถึงจะเทศน์อริยสัจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เทศน์อริยสัจ อริยสัจๆ ไม่มีหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศน์อริยสัจต่อเมื่อจิตใจคนควรแก่การงาน

จิตใจของคนที่มันควร จิตใจคนที่มันอ่อนน้อม จิตใจคนที่ควร คนที่ไม่แข็งกระด้าง ถ้าจิตใจคนแข็งกระด้างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนเรื่องสวรรค์ เรื่องคุณงามความดีแล้วได้มรรค ได้ผลอย่างไร แล้วถ้าทำคุณงามความดีแล้วผลมันจะตอบแทนมาอย่างไร จิตใจเห็นคุณค่าแล้วมันควรแก่การงาน ควรแก่การงาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเทศน์อริยสัจ อริยสัจคืออะไร? ทุกข์คือสัจจะ ทุกข์คือความจริง แล้วความจริงเป็นอย่างไร? แก้ไขเข้าไปอย่างไร? นี่ก็เหมือนกัน อยากรู้ไตรลักษณ์ ใคร่รู้ไตรลักษณ์ ถ้าไตรลักษณ์เป็นอย่างนั้นมันเป็นของใคร ในเมื่อทางวิชาการใครๆ ก็อธิบายได้ แล้วผู้ที่ปฏิบัติจริงเขาจะรู้ของเขา

ฉะนั้น สิ่งที่พูดออกไป พูดออกไปเตือนสติสังคม ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ถามถ้ามันจะรุนแรงบ้างมันก็อย่างว่านี่ การประพฤติปฏิบัติหลวงตาท่านพูดประจำ ในการปฏิบัติมันมีหนักมีเบา เวลาสิ่งใดที่หนักควรหนัก สิ่งใดเบาควรเบา อย่างจิตใจที่มันแข็งกระด้าง จิตใจที่มันไม่ลงเราต้องหนักแน่นกับมัน เราก็ต้องมีสัจจะ มีขันติ มีความเป็นจริงสู้กับกิเลสของเรา ถ้าจิตใจเรามันนุ่มนวล จิตใจเรามันเป็นสมาธิเราจะไปหนักทำไม?

ดูหลวงตาสิ หลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่ง นั่งตลอดรุ่ง ขึ้นไปหลวงปู่มั่นชมน่าดูเลย ชมจนแบบว่า อู้ฮู ท่านก็พองเลย แต่เวลาถึงที่สุด คนเขาฝึกม้า ม้าที่มันพยศก็ต้องให้มันอดอาหาร ถ้าม้าที่มันพยศมันอ่อนลงเขาก็ให้กินพอประมาณ ถ้าม้าไหนที่มันอยู่ในคำสั่ง ม้าไหนที่มันเชื่องแล้วเขาก็เลี้ยงมันเป็นปกติ นี่ไงเตือนไง นี่เวลาจิตใจมันดีงามขึ้นมาแล้วเขาก็ไม่ต้องรุนแรงกับมันหรอก แต่ถ้ามันจะเริ่มเบาเป็นปุยนุ่นไปกับการปฏิบัติมันก็ไม่มีหรอก การปฏิบัติมีหนักมีเบา เวลาหนักควรหนัก เวลาจิตใจที่มันแข็งกระด้าง จิตใจที่มันดื้อก็ต้องรุนแรงกับมัน แต่ถ้าจิตใจมันควบคุมดูแลได้ง่าย ต้องไปรุนแรงกับมันทำไม? ไปรุนแรงกับมัน คนที่มันจะนุ่มนวล มันจะเข้าสู่ธรรม ไปรุนแรงกับมัน มันก็เลยไม่เข้าอีก

นี่ไงการปฏิบัติมันมีอย่างนี้ เวลาหนักควรหนัก เวลาเบาควรเบา เวลาเบานี่ควรเบา แล้วการใช้ที่ความเหมาะสมสำคัญมากเลย เวลามันควรหนักก็ไปเบา เวลาควรเบาแล้วไปหนัก ควรเบามันจะเข้าด้ายเข้าเข็มก็ไปหนักกับมัน มันก็เลยไม่เข้าด้ายเข้าเข็มอีก เวลาหนักควรหนัก เวลาเบาควรเบา แล้วคนทำมันจะรู้ ถ้ามันรู้อย่างนั้นแล้วมันก็เป็นการปฏิบัติ ภาคปฏิบัติเขาเป็นกันอย่างนี้ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นจริงมันก็เป็นจริงแบบนั้น

ฉะนั้น ที่ว่านี่เราอยากรู้ใช่ไหม? เราอยากรู้ อยากรู้ความอยากให้มันออกหน้าไป ความอยาก ถ้าความอยาก อยากเพื่อความดีเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคแล้วเราก็ปฏิบัติของเราไป ทีนี้เขาบอกว่าเขาอยากออกบวช เขามีครอบครัว อย่างนี้เป็นสุภาพบุรุษ สุภาพบุรุษสร้างสิ่งใดมาต้องรับผิดชอบ เราสร้างครอบครัวมาเอง ถ้าเราสร้างครอบครัวมาเองเราก็รับผิดชอบของเรา ถ้ารับผิดชอบของเรา เราก็รอวันเวลา ถ้ามีเวลาเมื่อไหร่ที่เราสามารถให้เขายืนด้วยตัวเขาเองได้ เราจะปฏิบัติตอนนั้นเราก็ทำได้ ตอนนี้เราเป็นคนสร้างขึ้นมา เราเป็นสุภาพบุรุษ เราทำสิ่งใดมาเราต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบแล้วดูแลไป

พระกัสสปะพ่อแม่อยากให้แต่งงาน ทั้งๆ ที่อยากบวชใจจะขาด ลูกชายคนเดียว นี่เวลาอำนาจวาสนา เวลาเขา มีครอบครัวหนึ่ง เห็นไหม ลูกสาวก็เหมือนกัน เวลาแต่งงานกันมาเราอยู่พรหมจรรย์ด้วยกัน แต่งแต่ในนาม รอจนพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตทั้งหมดนะ แล้วแจกข้าวของทั้งหมด ข้าวของเงินทองแจกหมดเลย แล้วต่างคนต่างออก ออกไปคนละทาง ภรรยาไปบวชภิกษุณี พระกัสสปะมาบวชเป็นพระ มาบวชเมื่อผู้เฒ่าอายุมากแล้ว ก็ขอกรรมฐานองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แล้วพระอรหันต์ไม่ใช่ธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

กัสสปะเอย เธอก็อายุปานเรา ๘๐ เหมือนกัน ทำไมถือธุดงควัตร

นี่สังฆาปะถึง ๗ ชั้น ขอแลก ขอแลกเลย "เธอทำอย่างนั้นทำไม?"

อ้าว พระอรหันต์ทำทำไม? พระอรหันต์ไม่ได้ทำเพื่ออยากดังหรอก พระอรหันต์ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์กับตัวเองหรอก พระกัสสปะบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก

ข้าพเจ้าทำไว้เพื่อเป็นคติแบบอย่างให้กับอนุชนรุ่นหลัง

อนุชนรุ่นหลังได้ถือคติแบบอย่างแบบพระกัสสปะ นี่เวลานิพพานไปแล้ว เห็นไหม

อานนท์ นิพพานไป ๓ เดือน เขาจะมีทำสังคายนา เธอจะได้เป็นพระอรหันต์วันนั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพาน เขาจะจุดไฟเผาเรือนร่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวดาไม่ให้ติดถ้าพระกัสสปะยังไม่มา พระกัสสปะมาไม่ต้องบอกติดเลย แล้วพระกัสสปะเป็นหัวหน้าเป็นผู้ทำสังคายนา นี่ไงคนเรามันเป็นสุภาพบุรุษรับผิดชอบมาตลอดเลย ถึงเวลาบวชมาแล้ว บวชเมื่อแก่ แต่บวชเมื่อแก่แล้วเป็นเอตทัคคะทางธุดงควัตร เป็นหัวหน้าผู้ที่พาพระทั้งหมดทำสังคายนา พระกัสสปะ นี่ถ้าเราเป็นสุภาพบุรุษเรารับผิดชอบ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีครอบครัวใช่ไหมเราก็ดูแลของเราไป ทีนี้พอมันเป็นห่วงไง นี่เขาบอกว่าอยากจะให้มันหายห่วง อยากให้มันเป็นไตรลักษณ์ คืออยากให้ความกังวลนั้นเป็นไตรลักษณ์ อยากให้ความกังวลนั้นมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ยิ่งกังวลมันก็ยิ่งไปคุ้ยแผล นี่ยิ่งเขี่ยมัน แผลมันยิ่งขยายใหญ่โต นี่ก็เหมือนกัน กลับมาพุทโธถูกต้องแล้ว คนเรานะถึงกาล ถึงเวลามันเป็นไป นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ขออย่างเดียวขอให้รักษาเจตนาอันนี้ไว้ ขอให้รักษาเจตนาที่ว่าอยากพ้นทุกข์ อยากพ้นทุกข์ อยากปฏิบัติรักษาเจตนานี้ไว้ โอกาสที่มันจะทำมันมี มันต้องแยกแยะไง ไม่เหมารวมไง

ทีนี้พอเราเหมารวมไปหมด เวลาอยู่กับโลกก็อยากจะปฏิบัติธรรม พอบวชมาเป็นพระขึ้นมาก็บอกว่าพระบวชมา ๓-๔ แสนองค์ทำไมไม่ธุดงค์กัน เวลาบวชมาเป็นพระ พระเต็มเลย ปฏิบัติเอาจริงเอาจังเลย เวลาเขาเป็นโยมเขาก็อยากจะบวช ไอ้บวชมาแล้วจะเอาจริงขนาดไหน ถ้าเอาจริงเอาจังมันต้องแยกแยะไง ไม่เหมารวมไง ถ้าเหมารวมมันมีที่ว่าอยากรู้ไตรลักษณ์ อยากจะเห็นตามความเป็นจริง แล้วพอจิตของเรา จิตของเรามันกังวลก็อยากให้จิตกังวลนี้เป็นไตรลักษณ์ คือไม่ให้มีตกค้างอยู่ในหัวใจ เราไปคาดไปหมาย เห็นไหม เราไปคาดไปหมายเราบังคับธรรม ให้คะแนนธรรม ตัดคะแนนธรรมไม่ได้ แต่เวลาเราปฏิบัติจริงขึ้นมาเราไปรู้จริงตามจริงมันเป็นปัจจุบัน เป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง แล้วเห็นแล้วคาดไม่ถึง

ไอ้คนที่คาด ที่หมายสิ่งใดไว้ในหัวใจนะ เวลาปฏิบัติไปแล้วไม่ได้สิ่งที่เราคาดหรอก ถ้าสิ่งที่เราคาดก็คือสัญญา สิ่งที่เราคาดมันก็เป็นอดีต อนาคตทั้งนั้นแหละ เวลาปฏิบัติจริงๆ แล้วมันเหนือการคาดหมาย ทั้งๆ ที่เราศึกษามาขนาดนี้มันเหนือการคาดหมาย ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาอย่างนั้น มันจะเป็นความจริง นี่ความกังวลถ้ามันหมดไปจากใจของเรา เราพยายามทำของเรา ถ้าทำได้มันก็เป็นสัจจะ เป็นความจริง ไม่เหมารวมธรรมะไง ในเมื่อสมควร เราเป็นสุภาพบุรุษ เราก็รับผิดชอบเรารับผิดชอบไป แล้วตั้งเจตนาอันนี้ไว้ ตั้งเจตนาอันนี้ไว้ หลวงปู่ฝั้นเวลาท่านมาเทศน์ที่กรุงเทพฯ คนถามว่าควรปฏิบัติอย่างไร ท่านบอกว่าให้พุทโธตลอดเวลา นั่งรถเมล์ เวลานั่งบนรถเมล์เราก็พุทโธได้ คนเรามีลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเรานึกของเราได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีเจตนาของเรา แล้วเรารักษาเจตนาของเรา สิ่งที่ว่าพระไตรลักษณ์ ไตรลักษะญาณ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้เป็นอริยสัจ นี้เป็นความจริง แล้วเวลามันสมุจเฉทปหาน นี่ไตรลักษณ์ที่มันเป็นไตรลักษณ์มันเป็นความจริง อันนั้นให้มันไปรู้จริง อันนี้เราคาด เราหมายไปนะ การคาด การหมายนี่ความรู้ของโลก สังคม วุฒิภาวะของใจ ใจคนที่มันรับผิดชอบมากมันก็ยึดมั่นถือมั่นของมันมาก คนที่ไม่รับผิดชอบสิ่งใดเลยก็ผลักภาระให้คนอื่นหมดเลย ตัวเองอยู่ขวางเขาไปทั่ว ไม่ยอมรับสิ่งใดเลย นี่เอาแต่ลอยตัวอยู่ตลอดเวลา นั้นก็เป็นลักษณะหนึ่ง

ไอ้คนที่รับผิดชอบมากมันก็แบกรับภาระ แบกหามไปจนเป็นทุกข์เป็นยากไปหมด แต่ถ้าเรามีสติ มีปัญญานะ เราดูแลใจเรา เราดูแลใจของเรา แล้วสังคมไหนเขาปฏิบัติอย่างไรมันก็เรื่องของเขา เราดูแลใจของเรา แล้วเราปฏิบัติของเรา อะไรเป็นความจริง ไม่เป็นความจริง ถ้าความจริง เห็นไหม ผู้ที่มีจุดยืน ผู้ที่เป็นสุภาพบุรุษมันฟังเหตุฟังผลไง นี่ถ้าเป็นนักปราชญ์ด้วยกันคุยกันง่าย แต่ถ้าเป็นพาลนะมันเอาสีข้างเข้าถู มันไม่ฟังเหตุฟังผล เอาสีข้างเข้าถู อะไรก็อ้างแต่ความถูกต้องของตัวเองอย่างเดียว อย่างนั้นเรายกไว้ เราไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เราเอาความจริงของเราดีกว่า ถ้าความจริงอย่างนี้มันก็จบ

นี่พูดถึงว่าเขาว่าขอบคุณมาเนาะ ขอบคุณว่าหลวงพ่อช่วยให้เตือนสติกลับมา ไม่อย่างนั้นมันก็ไปอยู่ที่นั่นหมด ถ้าเราเตือนสติกลับมาแล้วเราทำความจริงของเรา เราได้เนื้อหาสาระ เราได้เนื้อแท้ เราได้ความจริงเรา เราไม่เหมารวม การเหมารวม กำคลุกเคล้าไปหมดเลย แยกถูกแยกผิดไม่ได้ แล้วทำให้เรามืดมนไปตลอด แต่ถ้าเราแยกถูกแยกผิด กาลเวลา สิ่งใดที่เราทำแล้วเรารับผิดชอบของเรา เราทำของเราได้ พระในสมัยพุทธกาลนะ อยู่ในป่า เวลาเสือมันกิน ตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นไป ตั้งแต่หัวเข่า ก็ยังวิปัสสนายังไม่ถึง เวลาเคี้ยวเข้าไป กินเข้าไปถึงเอว สำเร็จเป็นพระอรหันต์ท่ามกลางปากเสือ เวลาจำเป็นอย่างนั้นเขามีปัญญาของเขา เขารักษาของเขาได้

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อชีวิตเราจำเป็นอย่างนี้เราก็รับผิดชอบของเราไป ตั้งเจตนาอันนี้ไว้นี่สำคัญมาก เวลาตอนนี้มีเจตนาอยากออกบวชมาก เวลาเราก็ดูแลไป พอส่งเสียเขาไปหมดแล้วนะ เฮ้อ เหนื่อยพอแรงแล้ว เป็นผู้เฒ่าแล้ว ไม่บวชดีกว่า นี่ไงตั้งเจตนาไว้ตั้งแต่ตอนนั้น เพราะตอนนี้ส่งเสียถึงขึ้นฝั่งหมดแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไร? ชีวิตเราจะทำอย่างไร? เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ให้เป็นกิจจะลักษณะ เป็นวรรค เป็นตอน แล้วชีวิตเราจะได้ไม่ต้องให้กิเลสมันชักนำไปขนาดนั้น

ถาม : ข้อ ๑๔๓๓. เรื่อง "โปรแกรมของจิต"

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูเคยมาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกอาการของหนูเกิดจากโปรแกรมของจิตที่รู้สึกว่ามีอะไรเกาะหลังค่ะ หนูกินยาอยู่ หยุดยารู้สึกจะมีอะไรมาเกาะที่หลัง รู้สึกว่าอาการรู้สึกนี้เกาะหลังแล้วมันเกิดจากจิตของหนูเอง จึงมักจะไปรู้ตรงตำแหน่งนั้น ห้ามจิตไม่ได้ บางครั้งเป็นเสื้อผ้าที่กดทับหลัง พอจริตไปจับมันก็มีน้ำหนักขึ้นมา หนูไม่อยากพึ่งยาค่ะ

ตอบ : นี่พูดถึงการพึ่งยานะ จิตของเรา ถ้าจิตของเราเป็นปกติ ความเป็นอยู่ของเราเป็นปกติ ทีนี้เป็นปกติมันก็อยู่ที่สมาธิสั้น สมาธิยาว อยู่ที่คนวิตกกังวลมากหรือน้อย นี่มันเป็นจริตนิสัย เวลาทางโลกเจ็บไข้ได้ป่วยเขาไปหาหมอเพื่อรักษา แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ในเมื่อในหัวใจเรามันมีกิเลส กิเลสคือสิ่งที่เป็นโรค เป็นภัย ถ้าเราจะรักษา เรารักษาด้วยธรรมะ

ถ้าเรารักษาด้วยธรรมะ เห็นไหม จิตใจเราต้องการธรรม ธรรมโอสถเพื่อรักษาหัวใจ ถ้าผู้ปฏิบัติโดยความเป็นจริง แต่จิตใจของเรานะ จิตใจของคนที่มันผิดปกติ นี่ผิดปกติปั๊บหนูต้องกินยา ถ้าหนูกินยา เพราะกินยาขึ้นมาแสดงว่าจิตใจของเรา เราไม่สามารถมีสติสัมปชัญญะจะบริหารจัดการจิตใจของเราได้ เราถึงต้องอาศัยยาเพื่อบรรเทา ยาในทางการรักษาจิตมันกดทับประสาท กดทับประสาทเพื่อจะไม่ให้ไหลตามไปด้วยจิตที่มันขาดตกบกพร่อง ฉะนั้น มันกดทับประสาทเพื่อจะให้เราฟื้นฟูขึ้นมา ถ้าเรากำหนดพุทโธ หรือเราพยายามฝึกหัดตั้งสติของเรา ถ้าเราตั้งสติของเราจนจิตของเรากลับมาเป็นปกติ ยานี่เราผ่อนได้ เราให้จำนวนมันน้อยลง

ฉะนั้น ในทางการแพทย์ ในจิตแพทย์เขาจะบอกว่าต้องกินยาต่อเนื่อง กินยาต่อเนื่องแล้วห้ามภาวนาพุทโธเด็ดขาด เพราะเขาถึงว่าสิ่งที่จิตที่เป็น เป็นเพราะการไปภาวนาแล้วหลง ไปภาวนาแล้วมีความตกใจ มีต่างๆ มันถึงเกิดเป็นจิตที่บกพร่องนี้ เขาถึงห้ามเด็ดขาด ทีนี้การห้ามเด็ดขาด ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นความเห็นของจิตแพทย์ แต่ถ้าความเห็นของพระนะ พระที่นักปฏิบัติ พระที่เป็นจริง ถ้าจิตถ้ามันรุนแรง จิตที่มีความรุนแรง ถ้ามีสติปัญญามันสามารถทำให้หายก็ได้ แต่ถ้ามันรุนแรงเราสามารถทำให้กลับมาเป็นปกติได้ไหม? ถ้ากลับมาเป็นปกติไม่ได้มันก็ต้องมียาควบคุมไป

ไอ้นี่มันก็เป็น เราไม่อยากจะใช้คำว่ากรรม พอใช้คำว่ากรรม ทางโลกเขาพยายามจะโจมตีว่าถ้ามีสิ่งใดยกให้กรรมเลย ถ้ามีสิ่งใดที่แก้ไขไม่ได้ยกให้กรรมเลย แต่ถ้ามีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ ของฉัน ฉันเป็นคนบริหารจัดการ ฉันเป็นคนดี แต่ถ้าบริหารจัดการไม่ได้เป็นกรรม ยกให้กรรม ผลักไปที่กรรมเลย นี่เขาก็บอกว่าพระเอาแต่ได้ พระไม่เอาแต่ได้หรอก เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

สัจธรรมๆ มันเป็นความจริง มันเป็นความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ไปเพิ่ม ไปลดคุณงามความดีของใคร ความดี ความชั่วของใคร จิตดวงนั้นเป็นคนทำมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ไปเพิ่มให้ใจของใครดีขึ้นมา หรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทำให้จิตใจของใครเลวทรามไป ตกต่ำลงไป แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมให้เราพิจารณาแยกแยะ แยกแยะว่าอะไรผิด อะไรถูก แล้วเราพยายามทำของเราเพื่อรักษาใจของเรา ใจของเรามันก็เป็นคุณงามความดีในใจของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ารัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้น ธรรมมันเป็นอย่างนั้น ธรรมมันเป็นอย่างนั้น แล้วเวลาเราเวียนว่ายตายเกิดในโลก เราเวียนว่ายตายเกิดมา ถ้ามันเป็นจิตของเรามันขาดตกบกพร่องมา โดยทางโลก โดยความบีบคั้นของโลก ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ในความบีบคั้นในเรื่องของครอบครัว ความบีบคั้น ความบีบคั้นมาจนจิตมันผิดปกติ แล้วเวลามาภาวนา มาภาวนาเราก็มีปัญหาขึ้นมา แต่ถ้าเราฝึกหัดสตินะ เพราะเขาพูดเองว่าหนูไม่อยากพึ่งยาค่ะ

ถ้าไม่อยากพึ่งยานะเราก็ต้องควบคุมตัวเราให้ได้ แล้วเวลาไปหาหมอ หมอให้ยามาขนาดไหน เราก็กินยาตามนั้นแหละ กินยาตามนั้น แต่ถ้าเราพิจารณาว่าเราสามารถดูแลเราได้ เราสามารถดูแลเราได้ เราผ่อนได้ เราเบาได้ แต่ถ้ามันมีอาการขึ้นมาเราต้อง ในปัจจุบันนี้เพราะมันมีข่าวสารมาก พวกที่ติดยาๆ แล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ ไปทำลายพ่อแม่ ไปทำลายคนข้างเคียง ตอนนี้ในโลก ในสังคมมันมีปัญหานี้มาก แล้วเวลาหาแพะไม่ได้นะโยนให้ภาวนาแล้วล่ะ หาผู้รับผิดชอบตรงนี้ไม่ได้ นี่เพราะภาวนา แล้วก่อนที่ภาวนาเขาทำสิ่งใดมาล่ะ? อันนี้อันหนึ่งนะ อันนี้พูดถึงปัญหาสังคม ถ้าปัญหาสังคมเราถึงไม่ มันเป็นเรื่องกรรม จะไม่ยกให้กรรมก็ไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องของกรรม แต่กรรมดี เราจะทำกรรมดีกัน เราจะสร้างคุณงามความดีกัน ฉะนั้น ถ้าหนูไม่อยากพึ่งยา ในปัจจุบันถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้ เราควบคุมตัวเองไม่ได้ เพราะขณะที่เราหลุดไป แล้วพอเรามีสติฟื้นมา ถ้าเรามีสติฟื้นมาเราจะเสียใจไหม? ถ้าเราเสียใจแสดงว่า ถ้าเราเป็นสุภาพบุรุษอีกเราจะรักษาตัวเราเอง ถ้ามันฟื้นสติมา สิ่งนี้เราควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วถ้าเราจะเป็นคนดีขึ้นมาเราต้องใช้ยา อาศัยยาช่วย อาศัยยาช่วย แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งใดที่มันหลุดหายไปเลย เวลามันรับผิดชอบไม่ได้เลยมันไม่มี สติเราพร้อมหมด นี่เราฟื้นตรงนี้ ถ้าสติกลับมาตรงนี้ได้ เอาให้กลับมาเป็นปกติก่อน ถ้ากลับมาเป็นปกติ ยาเราก็เบาลงได้

ถ้าเบาลงได้ นี่เห็นไหม เขาพูดเอง ถ้าพูดถึงความรู้สึกเขากำหนด ถ้าเขารู้สึกว่าอาการที่รู้สึกนี้มีอาการก่อนหลังเกิดจากจิตหนูเอง เกิดจากจิตหนูเอง เกิดจากความรู้สึกที่เราไปรับรู้เอง แต่ห้ามไม่ได้ แต่ห้ามจิตไม่ได้ แต่ห้ามจิตไม่ได้ ถ้าห้ามจิตไม่ได้เรามีสติ แล้วเราพยายามฝืนมันๆ แล้วฝืนมันได้มันก็กลับมาเป็นปกติได้ นี่พูดถึงว่าโปรแกรมจิตหนึ่งนะ มีถามมาซ้ำสองเลย

ถาม : ข้อ ๑๔๓๔ เรื่อง "โปรแกรมของจิตตอนสองค่ะ"

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูเคยได้ฝึกวิธีเอาใจไปไว้ที่มือขณะที่หยิบจับสิ่งของค่ะ เวลาเดินก็เอาใจไว้ที่เท้า ขณะนั่งสมาธิหลับตาเห็นแสงสว่างในความมืด เอาใจไปไว้ที่แสงสว่างนั้น ปัจจุบันหนูมาภาวนาพุทโธค่ะ แต่ยังเคยชินกับใจที่ไปตามมือและเท้าค่ะ และมักไปรู้ที่หลัง ทำให้รู้สึกเหมือนมีอะไรมาเกาะแล้วรู้สึกปวดบางครั้ง ปัจจุบันหนูพยายามดึงใจมาอยู่ที่หัวใจค่ะ หรือไม่ให้ใจไปรู้แบบนั้น อาการเหมือนกับมีอะไรมาเกาะหลัง อาการปวดหลังก็หายค่ะ

สิ่งที่เป็นอาการๆ จิตมันวิตกกังวล จิตที่มันผิดปกติไปมันเป็นไปได้ สิ่งที่มันเป็นไปได้ ถ้ามันเป็นไปแล้ว เห็นไหม เวลาเขาบอกว่าเคยไปฝึก ฝึกอย่างไรมาก็แล้วแต่ สิ่งนั้นเวลาพูดถึงการฝึกฝนนะ ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บคิดถึงพระองคุลิมาล พระองคุลิมาลไปศึกษากับอาจารย์ของตัวนะ เป็นเด็กที่ไบร์ทมาก เป็นเด็กที่ศึกษาวิชาการได้เร็วมาก จนลูกศิษย์ทั้งหมดในสำนักนั้นอิจฉา พออิจฉาขึ้นมาก็ไปยุไปแหย่กับอาจารย์ว่ามันจะชิงความเป็นใหญ่ มันจะชิง อาจารย์ก็หนักแน่นไม่เชื่อ แต่สุดท้ายลูกศิษย์ก็รวมหัวกันไง

นี่พระองคุลิมาล เขาจะเป็นชู้กับภรรยานะ เออ เริ่มคลอนแคลน เริ่มคลอนแคลน พอเริ่มคลอนแคลนก็คิดแล้ว เริ่มมีความคลอนแคลน เริ่มคิด ถึงวางแผนไง วางแผนจะทำลายพระองคุลิมาล จะให้วิชา ให้วิชาสำคัญมาก แต่ต้องแลกด้วยนิ้วมือพันนิ้ว จะให้ไปฆ่าคนพันคน ก็ด้วยความคิดว่าถ้าไปฆ่าคนถึงพันคนฆ่าไม่ครบหรอก จะต้องมีหน่วยราชการต้องมาจัดการแน่นอน คือเขาหวังฆ่าโดยอุบายของเขาไง พูดถึงว่าถ้าอาจารย์ไม่ซื่อ อาจารย์ไม่สะอาดบริสุทธิ์อย่างนี้ ลูกศิษย์มีปัญหานะ ลูกศิษย์เป็นคนดี ลูกศิษย์อยากได้วิชาการ ลูกศิษย์อยากได้ความรู้ แต่อาจารย์ตัวเองไม่มั่นใจในตัวของตัวเอง อาจารย์ตัวเองหวั่นไหว ไปสอนคนเสียหาย

นี่ก็เหมือนกัน ที่ว่าหนูเคยไปภาวนามาค่ะ หนูเคยทำอย่างนั้นมาค่ะ ถ้าไปภาวนามา การภาวนามา ถ้าเราเป็นชาวพุทธนะ กรรมฐาน ๔๐ ห้องมันเป็นความจริงอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาไปสอนภาวนา ภาวนาก็ว่ากันไปร้อยแปดพันเก้า สุดท้ายแล้วมันก็มีอาการกดทับ พออาการกดทับขึ้นมา แล้วทำอย่างไรล่ะ? ในปัจจุบันนี้กลับมาพุทโธ ถ้ากลับมาพุทโธ พุทโธคือพุทธะ

เวลาเราบอกพุทโธ หลวงปู่มั่นท่านสอนพุทโธ เพราะพุทโธนี่พุทธานุสติ เพราะมันอยู่ในพระไตรปิฎก กรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มันเป็นพุทธภาษิต มันเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สอนเอง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นศาสดาเอง เป็นพุทธะเอง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนพุทธานุสติเอง เราก็ทำตาม พุทโธ พุทโธ

ฉะนั้น เวลาเราสอนเราก็สอนนี้โดยหลัก ทีนี้จริตนิสัยของคนมันมากมายใช่ไหม? พอเราสอนพุทโธขึ้นมา เวลาเขาปฏิบัติแนวทางอื่นเขาบอกว่าพุทโธมันเป็นสมถะ พุทโธนี่มันไม่เกิดปัญญา ก็ว่ากันไป จนผู้ปฏิบัติรังเกียจพุทโธ ไม่อยากทำพุทโธเพราะพุทโธมันไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ต้องการ อยากจะวิปัสสนา อยากจะมีปัญญา นี่มันมีมุมมองอย่างนี้ขึ้นมา

ฉะนั้น เวลาจะบอกว่าพุทโธก็กลัวเขาจะรังเกียจ แต่ถ้าเป็นพุทโธ คำว่าพุทโธ พุทโธมันเป็นพุทธภาษิต มันเป็นพุทธภาษิตกรรมฐาน ๔๐ ห้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะบอกว่ามันมีแต่คุณ มันมีแต่คุณมันไม่มีโทษ มันมีแต่คุณ ถ้ามันมีแต่คุณมันไม่แฉลบไปนอกเรื่องนอกราว มันไม่ทำให้เสียหาย เพียงแต่พวกเราทำพุทโธกันไม่ได้ พอเราพุทโธไม่ได้ จิตมันสงบไม่ได้เราก็จะหาทางออกมาเป็นทางผ่อนคลาย

ฉะนั้น ถ้าบอกว่าพุทโธ พุทโธ ถ้าผู้ที่ปฏิบัติแนวทางอื่นเขาก็บอกว่ามันเป็นสมถะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถ้ามันสมถะนี่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน มันเป็นพุทธภาษิต มันไม่ได้สอนอย่างไรล่ะ? แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนาว่าการ เห็นไหม อนุปุพพิกถาให้คนมีระดับของทานก่อน จิตใจควรแก่การงานแล้วถึงจะอริยสัจ

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจควรแก่การงานก็จิตใจที่มันเข้าสัมมาสมาธิ จิตใจที่อ่อนนิ่ม จิตใจที่ควรแก่การงาน พุทโธ พุทโธทำให้จิตใจของเราควรแก่การงาน ควรที่จะทำสิ่งใด พอควรแล้วถ้าจิตที่มันสงบระงับ จิตใจที่เป็นสัมมาสมาธิแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา นั่นล่ะปัญญาในพุทธศาสนา มันมีของมันไปนะ เขาไม่เหมาเข่ง ไม่เหมารวม มันมีที่มาที่ไป เด็กก็ควรเป็นเด็ก เด็ก เห็นไหม พัฒนาการขึ้นมาจนเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ทำให้สมควรแก่เป็นผู้ใหญ่ เราเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็สมควรเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นผู้ที่นับหน้าถือตาของสังคม มันเป็นวาระ

จิตใจก็เหมือนกัน มันพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ไม่ใช่ว่าถึงเวลาแล้วตั้งแต่เด็กอนุบาลจนผู้เฒ่า กินด้วยกัน คลุกคลีด้วยกัน อาหารเด็กอ่อนมันก็อย่างหนึ่ง อาหารของคนไปทำงานก็อย่างหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่เขากินพอประทังชีวิตเท่านั้นแหละ เพราะว่ามันกินเข้าไปแล้วมันก็สะสมในร่างกาย อาหารที่เขากินเรื่องของร่างกาย ตามวัยมันยังกินแตกต่างกันเลย แล้วจิตใจที่จะภาวนามันก็เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมันจะมีระดับของมันขึ้นมา

ฉะนั้น ที่ว่าเคยไปภาวนามาแล้ว ถ้ามันเอามาไว้ที่มือ ไว้ที่เท้า วางไว้หมดเลย เพราะผลของมันทำให้โปรแกรมจิตหนึ่ง โปรแกรมจิตสองอยู่นี่ไง ถ้ามันเป็นความจริงนะเราทำเพื่อคุณงามความดี เราปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส เราปฏิบัติเพื่อคุณงามความดี เราไม่ได้ปฏิบัติมาให้เราเจ็บไข้ได้ป่วย ป่วยทางจิตไง เราไม่ใช่ปฏิบัติมาเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย เรานี่มีกิเลสคือไข้โรคของกิเลส เราจะชำระล้างมันให้กลับมาแข็งแรง ให้จิตใจกลับมาเป็นอิสระ เราทำเพื่อคุณงามความดี เราทำเพื่อสัจธรรม ทำเพื่อหัวใจพ้นจากกิเลส แต่เราไม่ได้ไปทำขึ้นมาเพื่อให้มันเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อให้มันมีแต่ความวิตกกังวลอย่างนั้น ไม่ใช่

ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติกัน คนที่ปฏิบัติมันวิตกกังวลก็วิตกกังวลกลัวจะไม่ได้ วิตกกังวลแล้วมันเครียดต่างๆ อันนี้มันเป็นเรื่องของกิเลสมันบีบคั้นทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น เรากลับมาที่นี่ ถ้ามันเป็นไปได้นะ นี่โปรแกรมจิตสองไง

ถาม : ปัจจุบันนี้หนูพยายามดึงใจมาอยู่ที่หัวใจค่ะ

ตอบ : ดึงมาอยู่ที่พุทโธ อยู่ที่หัวใจเราไม่มีที่ตั้งไง เวลารูปฌาน อรูปฌาน รูปฌาน เห็นไหม พุทโธ ธัมโม สังโฆนี่รูปฌาน อรูปฌาน อรูปฌานคือความว่าง ว่างอย่างไรเราก็ต้องมีสติปัญญาของเรา รูปฌาน อรูปฌาน เพราะสิ่งที่ว่าจิตของเรามันเป็นนามธรรมอยู่แล้ว ถ้าเรามีจุดยืน เรามีที่เกาะ เรามีที่เกาะเกี่ยว จิตใจมันจะทำให้มันตั้งมั่นได้ ถ้าจิตใจไม่มีที่เกาะมันก็เร่ร่อน

ฉะนั้น ถ้าดึงมาอยู่ที่หัวใจ พุทโธก็ได้ อานาปานสติก็ได้ กำหนดสิ่งใดกำหนดไว้ให้มันเกาะไว้ที่นั่น แล้วรักษาไว้อย่างนี้ ความเจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งที่มันกดทับต่างๆ ถ้าจิตใจมันไปรับรู้มันก็ไปแบกหาม ถ้าเราดึงกลับมาสู่พุทธานุสติ สู่รูปฌาน อรูปฌาน มันปล่อยวางตรงนี้มา ให้มันตั้งมั่นขึ้นมา ตั้งขึ้นมาจนจิตมันกลับมาเป็นปกติ จิตมันมีกำลังของมัน สิ่งที่เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็จะบรรเทา บรรเทาเบาบางลง แผลเป็นนะ นี่ในปัจจุบันนี้เขาทำศัลยกรรมแผลเป็นก็หาย แผลใจนะมันฝังใจ ค่อยๆ ชำระล้าง ค่อยๆ ทำไป เบาบางไปๆ หายได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเดี๋ยวนี้เมื่อก่อนเขากินยาสมุนไพรมันช้า เดี๋ยวนี้แผนปัจจุบันเขากินยาแผนปัจจุบันมันจะหายเร็ว

นี่ก็เหมือนกัน ทำแล้วจะให้มันได้ดั่งใจ ได้ดั่งใจ มันก็ไม่ได้ดั่งใจ พอไม่ได้ดั่งใจขึ้นมามันช้าๆ ค่อยๆ ทำไปให้จิตใจของเรากลับมาฟื้นฟู ให้มันกลับมาเป็นปกติ นี่กลับมาทำที่นี่หาย หายได้ คนเราป่วยได้ก็หายได้ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายมีตรงข้าม ทำจนไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายแล้วรู้ที่ไหน? รู้ที่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยนี่รู้กับเรา เวลาเราทำของเรา เรากลับมาอยู่ที่ใจของเรา เรากลับมาที่พุทโธก็ได้ ทีนี้หมอ มันมีคำถามก่อนหน้านี้ไง เขาไปหาหมอเหมือนกัน แล้วหมอสั่งห้ามเลยห้ามพุทโธเด็ดขาด ห้ามภาวนาเด็ดขาด โอ๋ย อันนั้นก็ยกให้หมอเนาะ แต่เราก็หาอุบายทำของเราไป เวลาเราหิว เราหิวเรากระหายเราต้องหาอาหารกินเองนะ หมอมันสั่งอยู่ที่บ้าน สั่งอยู่ที่คลินิกมัน มันไม่ได้มาดูแลเราหรอก

นี่ก็เหมือนกัน หมอสั่งห้ามพุทโธนะ หมอสั่งห้ามภาวนานะ แต่ถ้าเราหิว เรากระหาย เราจะมีอาหารอะไรเลี้ยงหัวใจเรา จิตใจของเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะทำอย่างไรให้จิตใจของเรากลับมาเป็นปกติ ถ้าจิตใจเราเป็นปกติ หมอก็คือหมอ หมอก็เป็นปุถุชน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นศาสดา เป็นแก้วสารพัดนึก นึกดีหรือนึกชั่วล่ะ? นึกดีเราก็ทำคุณงามความดีของเรา นึกชั่ว นึกชั่วกิเลสมันก็เหยียบย่ำไง กิเลสก็เหยียบย่ำทำลายหัวใจให้ตกต่ำไง นี่เรานึกเอง เราทำเอง เราทำลายให้จิตใจของเราตกต่ำเลย นึกดี นึกดีเราทำจิตใจของเราให้ดี ปฏิบัติจิตใจให้เราดี ถ้าจิตใจของเราดี นี่แก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งนี้เป็นที่พึ่ง

ฉะนั้น ถ้าหนูไม่อยากจะพึ่งยาค่ะ หนูพยายามจะดึงใจกลับมาอยู่ที่หัวใจของหนูค่ะ เราให้กำลังใจ เราให้กำลังใจ เราให้กำลังใจแบ่งแยกตั้งสติ ตั้งคำบริกรรม เราแบ่งแยก เราไม่เหมารวม ถ้าเราเหมารวมเราแก้สิ่งใดไม่ได้เลย เราแยกแยะเป็นขั้นเป็นตอน สิ่งใดถ้ามันกระทบรุนแรงเราก็กินยา แต่ถ้ามันพอควบคุมดูแลได้เราก็ผ่อนผัน แล้วเรารักษาดูใจของเรา ถ้ามันกลับมาเป็นปกติได้ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี กลับมาเป็นปกติได้ กลับมาเป็นจิตใจที่สมบูรณ์ของเรา จิตใจที่สมบูรณ์ของเรา นี่การเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์อันนี้ รักษาทรัพย์อันนี้ เพื่อแสวงหาคุณงามความดีของเรา เพื่อชีวิตของเรา เอวัง