เทศน์บนศาลา

ใจเป็นสนามรบ

๓๑ ธ.ค. ๒๕๕๖

 

ใจเป็นสนามรบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะธรรมะอันนี้เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาแสดงธัมมจักฯ ขึ้นมา พระอัญญาโกณฑัญญะได้สัจธรรมอันนี้ ได้อาวุธที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายื่นให้ ในธัมมจักฯ มีมรรคมีผล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายื่นอาวุธให้ พอยื่นอาวุธให้ พระอัญญาโกณฑัญญะเวลาฟังธรรม มีดวงตาเห็นธรรม พอมีดวงตาเห็นธรรม สัจธรรมๆ สัจธรรมมันมีรสมีชาติ สัจธรรมมันมีความหนักมีความหน่วง มันมีเหตุมีผลของมัน ถ้ามีเหตุมีผล เห็นไหม เวลาฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ไง

ถ้าเราฟังธรรมของเรา เราฟังธรรมแล้ว เราตั้งใจของเรา ตั้งใจของเรา ตั้งสติไว้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ออกมา สัจธรรมอันนั้นมันจะกระเทือนหัวใจของเรา ถ้ามันสะเทือนหัวใจนะ คนที่อำนาจวาสนา ขนพองสยองเกล้า ถ้าขนพองสยองเกล้า นั่นธรรมมันทิ่มเข้าไปกลางหัวใจนั้น ถ้าทิ่มเข้าไปกลางหัวใจนั้น เพราะกิเลสมันอยู่ที่นั่น ถ้ากิเลสอยู่ที่นั่น เรามีแต่ถนอมรักษากัน ด้วยมารยาทสังคม ทำสิ่งใดก็เกรงอกเกรงใจ ความเกรงอกเกรงใจเป็นมารยาทสังคมนะ แต่เวลามาเกรงกิเลสไง

ในสัจธรรม สัจธรรมมันต้องฟาดต้องฟันสิ่งที่มันเป็นสิ่งสะสมในใจของเรา ถ้ามันฟาดฟันสิ่งที่มันสะสมในใจของเรา เราจะทำอย่างไรล่ะ เราทำไม่ถูก ทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ถูก ทำไม่ได้นะ เวลาฟังธรรมๆ ฟังเพื่อเหตุนี้ไง ฟังธรรมเพื่อเตือนสติของเรา

สัจธรรมอันนี้ สัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมานี้มันไม่ได้มาง่ายๆ หรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องสร้างอำนาจวาสนาบารมีมาเหมือนกัน ขนาดสร้างอำนาจวาสนาบารมีมาตรัสรู้เองโดยชอบๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะตรัสรู้เองโดยชอบ

พวกเราสาวก-สาวกะ ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังมาเพื่ออะไร? ได้ยินได้ฟังมาเพื่อเป็นอาวุธ เป็นสัจธรรม แล้วพยายามหยิบจับให้ได้ ถ้ามันหยิบจับได้ มันจะเป็นอาวุธของเรา ถ้ามันหยิบจับไม่ได้ มันตกไม้ตกมือไป เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านยื่นให้ ยื่นให้กับมือเรา แต่เรารับไม่ได้ ถ้ารับไม่ได้ เห็นไหม

ดูสิ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเผยแผ่ธรรมๆ เวลาพระจุนทะไปเห็นลัทธิศาสนาต่างๆ เวลาศาสดาเขาตายไป มันมีความขัดแย้งกัน ก็มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำไมเป็นแบบนั้น ทำไมครูบาอาจารย์ของเราเพิ่งตายไป ทำไมลูกศิษย์มีความขัดแย้งอย่างนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามันขาดวินัย

พระจุนทะนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บัญญัติวินัย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าไม่ได้ ยังบัญญัติไม่ได้ เพราะมันไม่มีเหตุมีผล พอไม่มีเหตุมีผล ต้องมีการกระทำผิดขึ้นมาถึงจะบัญญัติวินัยขึ้นมา

พระสุทิน เป็นลูกชายคนเดียว ออกบวช พอลูกชายออกบวช ทางบ้านเขามีภรรยา เขามีภรรยาแล้ว เขาไม่มีลูก มีลูกชายคนเดียวออกบวช เวลาพ่อแม่มา มาอ้อนวอน มาขอร้อง อยากได้ผู้สืบสกุล พระสุทินบวชในพระพุทธศาสนา แต่ยังไม่มีธรรมวินัย ก็มีเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์ไปๆ ภรรยาก็ตั้งท้องขึ้นมาด้วย พอตั้งท้องขึ้นมา เวลาลูกเกิดขึ้นมาชื่อนายพืช สุดท้ายแล้วได้มาบวชเหมือนกัน ได้สิ้นกิเลสไปทั้งหมด แต่พระสุทินพอทำไปแล้วเสียใจ เศร้าใจ เศร้าหมอง พอเศร้าหมองนะ พระถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ ทำไมบวชแล้วมันไม่รื่นเริง ทำไมมันเศร้าหมองอย่างนี้ล่ะ

ก็พูดสัตย์ พูดความจริง พอพูดความจริง พระได้ยินขึ้นมา พระก็ติเตียน ติเตียนว่าทำอย่างนี้ทำไม่ถูก เป็นโมฆบุรุษ เป็นนักบวชแล้วทำอย่างนี้ไม่ได้ ทำไม่ถูกต้อง

แต่เวลาทำไป ทำไปด้วยความอ้อนวอนของพ่อของแม่

นี่เวลาพูดถึงทางโลกไง เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่เวลาเป็นสุภาพบุรุษใช่ไหม นักบวชขึ้นมา มันทำผิดไปแล้วมันก็เสียใจ พอเสียใจขึ้นมามันก็เศร้าหมอง เศร้าหมองก็พูดบอกพระไป พระก็รายงานต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยบัญญัติวินัยไง ถ้าภิกษุร่วมเมถุนต้องอาบัติปาราชิก ทำอย่างนี้ไม่ถูก ติเตียน ติเตียนพระสุทิน แต่พระสุทินไม่เป็น ไม่เป็นเพราะอะไร เพราะวินัยยังไม่ได้บัญญัติขึ้นมา

เพราะพระสุทินเป็นต้นบัญญัติของวินัยขึ้นมา เพราะมีเหตุขึ้นมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บัญญัติวินัย แต่ธรรม แสดงธรรมตั้งแต่แสดงธัมมจักฯ กับปัญจวัคคีย์ เห็นไหม เวลาแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ พอปัญจวัคคีย์มีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์อนัตตลักขณสูตรเป็นพระอรหันต์มาหมดเลย ถ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยบุคคล มันรู้เองโดยเจตนา รู้เองโดยหัวใจ มันรู้เอง รู้เลยว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีการกระทำ

ฉะนั้น ขณะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมขึ้นมามันมีแต่พระอริยบุคคล มีแต่พระที่สำเร็จ พระที่มีคุณธรรมทั้งนั้น มันก็ไม่มีปัญหาขึ้นมา แต่เวลามีภิกษุบวชมากขึ้น เพราะว่าทุกคนเห็นทางพ้นจากทุกข์ อยากจะออกจากทุกข์ อยากประพฤติปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็บวชเข้ามา แต่บวชมาถ้าปฏิบัติไม่ได้มันก็ยังมีปัญหาอยู่ พอมันมีปัญหา มีความผิดขึ้นมาก็บัญญัติวินัยขึ้นมา

ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เป็นแนวทางของเรา ถ้าแนวทางของเรา สิ่งที่เราศึกษา สาวก-สาวกะได้ยินอย่างนี้ ได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังคือเป็นสมบัติของเรา ปฏิบัติให้เป็นความจริงของเรา ถ้าปฏิบัติเป็นความจริงของเรา เห็นไหม ฟังธรรมๆ ฟังธรรมให้มีสัจธรรม ให้มันมีความกระเทือนหัวใจ ถ้ามีความกระเทือนหัวใจ เรามีโอกาส

แต่ถ้าฟังธรรม ถ้าฟังทางโลก เราฟังทางโลกนะ ฟังคำขับร้องรำ เราฟังต่างๆ ฟังแล้วมีความสุข ฟังแล้วมีความพอใจไปกับเขา เวลามาฟังธรรมมันอึดอัดขัดข้องไปหมดไปเลย นี่ถ้าพูดถึงวุฒิภาวะของใจ ถ้าพูดวุฒิภาวะของใจมันยังไม่สามารถหงายภาชนะขึ้นมาได้ จะรับฟังสิ่งใดมันไม่ดูดดื่ม

แต่ถ้าเรามีความทุกข์ เรามีความสะเทือนใจ เห็นไหม นางปฏาจาราเป็นลูกเศรษฐีนะ แต่เวลาเขาหนีตามคนใช้ไป เวลาได้ไปคลอดลูกในป่าคนแรก จะกลับมาเยี่ยมพ่อ สามีก็มาตามกลับ มาครั้งที่สอง ได้คลอดลูกครั้งที่สอง สามีก็ตามกลับ แต่ตามมาคราวนี้ ถึงเวลาจะไปหาพ่อให้ได้ มาถึงฝนตก สามีก็ไปหาฟืนมาเพื่อจะมาทำความอบอุ่น ไปโดนงูกัดตายซะ ตัวเองก็รอ นอนตากฝนนะ กกลูกไว้สองคน เอาหลังให้ฝนตกใส่ตัวเองหนาวสั่นทั้งคืน เช้าออกไปหา เห็นสามีตาย โดนงูกัดตาย เสียใจไหม? เสียใจ กลับไปเยี่ยมพ่อ อย่างไรก็ต้องไปเยี่ยมพ่อ

เวลาข้ามฝั่งไป น้ำป่ามันไหลมา เอาลูกคนโตไว้ฝั่งนี้ ลุยน้ำข้ามป่าไปก่อน เอาลูกคนเล็กไปไว้ฝั่งนู้น แล้วจะกลับมารับลูกคนโต พอเดินมาถึงกลางน้ำ เห็นนกเหยี่ยวมันจะลงมาฉกลูก ก็เอามือไล่ไป ไอ้ลูกก็คิดว่าแม่เรียก ก็ลงมา ไอ้นกเหยี่ยวก็ฉกเอาลูกไป มีความสะเทือนใจตั้งแต่สามีเสียชีวิต มีความสะเทือนใจตั้งแต่ลูกคนโตก็ตาย เพราะพอแม่กวักไล่นกก็นึกว่าเรียกตัวเอง ก็เดินลงมากลางน้ำ น้ำพัดไป ไอ้ลูกคนเล็กก็โดนนกคาบไป นี่เสียใจ จะไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ เยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่คืนนั้นฝนตกแรง ฟ้าผ่า ไฟไหม้บ้านพ่อบ้านแม่หมดเลย หมดทุกๆ อย่าง จนขาดสติ คนขาดสติเวลาทุกข์มันทุกข์ขนาดนั้น

ฟังธรรมๆ ทุกข์ขนาดนั้น เป็นจนขาดสตินะ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่ วิ่งเข้าไป ผ่านไป “ปฏาจาราเธอเป็นอะไร” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนสติ พอเตือน สติ สติกลับมา ขอบวชๆ เทศนาว่าการจนเป็นพระอรหันต์หมด

สิ่งที่จะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา สิ่งที่ว่าจะฟังธรรมๆ ถ้ามันไม่มีสิ่งใดเลย ฟังขับกล่อมร้องรำ ฟังแล้วมันชื่นใจ แต่จะฟังธรรมๆ ฟังธรรมแล้วมันไม่สะเทือนใจ แต่เวลาคนทุกข์คนยาก คนไม่มีทางออกไปฟังธรรมมันสะเทือนหัวใจมากนะ ถ้ามันสะเทือนหัวใจ มันได้สติมา ได้สติสิ่งนี้มา มันจะมีโอกาสไง โอกาสที่เราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะประพฤติปฏิบัติตามความจริงของเรานะ

ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติความจริงของเรา “ใจเป็นสนามรบ” เราต้องหาหัวใจของเราให้เจอ ถ้าเราไม่เจอหัวใจของเรา เราจะหาสนามรบของเราไม่เจอ

แต่นี้เวลาเราเป็นปัญญาชนใช่ไหม เราจะศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาประวัติของครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเราไปศึกษาธรรมๆ ศึกษานั้นมันเป็นที่ค้นคว้า การค้นคว้า “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” ในการปริยัติ การศึกษามันเป็นความดีทั้งนั้นน่ะ แต่ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ มันไม่ใช่สนามรบ

ทฤษฎี หนังสือ ตำรับตำรา พระไตรปิฎกไม่ใช่สนามรบ เป็นสนามค้นคว้า

เราค้นคว้ามา ค้นคว้ามาเพื่อมีแนวทาง เป็นสนามค้นคว้า ไม่ใช่สนามรบ เราค้นคว้ามาทำไม ค้นคว้ามาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ ปริยัติต้องปฏิบัติ การศึกษาเล่าเรียนมา ทางวิชาการ เราต้องศึกษาของเรา ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา แต่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษามาก็ค้นคว้ามาเพื่อความรู้ของเรา แต่ความเป็นจริงมันยังไม่เกิดขึ้น เพราะใจเป็นสนามรบ หาใจของตัวเองไม่เจอ ถ้าใครหาใจของตัวเองไม่เจอ การปฏิบัตินั้นยังไม่เป็นการปฏิบัติจริง

ถ้าเป็นในการปฏิบัติจริง การค้นคว้ามา ค้นคว้ามาเพื่อเป็นแนวทาง แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราบอกเราค้นคว้ามาเป็นความรู้ของเรา แล้วถ้ามันปฏิบัติไป ปฏิบัติลุ่มๆ ดอนๆ ไป ก็ว่าสิ่งนั้นเป็นการปฏิบัติ แล้วก็พยายามจะเคลมเอาสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านว่าไว้ว่าเป็นสมบัติของเราๆ...มันเป็นสมบัติของเราไปไม่ได้หรอก มันเป็นสมบัติของเราไปไม่ได้เพราะมันไม่ใช่ประสบการณ์จริงของเรา มันไม่ใช่ความรู้จริงของเรา มันเป็นความรู้จริงในคัมภีร์ ในพระไตรปิฎก ก็เป็นความรู้จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาตรัสรู้ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์นั้น ตรัสรู้ในหัวใจอันนั้น แล้วหัวใจอันนั้นบอกวิธีการ บอกวิธีการในการประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าผลของมันล่ะ เห็นไหม เถียงกันทุกวัน “นิพพานเป็นอย่างไรๆ”

นิพพานเป็นอย่างไร นิพพานก็เป็นในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง นิพพานก็เป็นใจของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ นิพพานก็เป็นธรรมของครูบาอาจารย์ของเราไง แล้วของเราล่ะ เราไปศึกษามา ถ้าเราไม่รู้ เห็นไหม มันเป็นสนามค้นคว้า มันไม่ใช่สนามรบ

ถ้าเป็นสนามรบ เราต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันยังทำความสงบของใจเข้ามาไม่เป็น แม้แต่ทำความสงบของใจเข้ามายังทำไม่เป็น แล้วมันจะไปหาสนามรบจากไหน ดูสิ เวลาทางโลกเขานะ เขาเรียกว่า “สงครามการค้า สงครามทางเศรษฐกิจ” สงครามทางเศรษฐกิจเขายังต้องหาสนามการค้าของเขาเลย ถ้าสนามการค้าของเขา เขาต้องทำตลาดของเขา เพราะเขาจะเอาสินค้าเข้าตลาดของเขา เขาต้องทำวิจัยของเขา เวลาถ้าเขาไม่ทำธุรกิจต่อเนื่องไป เขาก็ถอดสินค้าของเขาออกจากตลาดนั้น นี่มันยังต้องมีสถานที่ ยังต้องมีตลาด ยังต้องมีสังคมที่เราจะเข้าไปทำธุรกิจการค้าของเขา

แล้วเวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม “โลกเจริญๆ” คำว่า “โลกเจริญ” คือมันเจริญทางวิชาการ ทางวิชาการ ทางการศึกษามันเจริญ โลกมันต้องเจริญ คนเรา ปัญญาจะทำให้เราแก้ไขวิกฤติในชีวิต ปัญญาจะแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่เราเผชิญได้ ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราแก้ไขสิ่งนั้นได้ มันก็แก้ไขชีวิตนี้ให้พ้นจากวิกฤตินั้นไปเท่านั้น ฉะนั้น สิ่งที่เราศึกษามาๆ มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นทางโลก เป็นวิชาชีพ ถ้าเป็นวิชาชีพขึ้นมาต่างๆ เวลาเขาทำกันนะ เพราะเรามีปัญญาใช่ไหม เวลาเราอ้างอิง เราก็อ้างอิงอย่างนั้น

เพราะถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราต้องหาใจที่เป็นสนามรบของเรา ฉะนั้น ถ้าเวลาคนที่เขามีครูบาอาจารย์ที่แท้จริง ท่านจะบอกเลย บอกให้เราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจเราสงบเข้ามานะ ใครใจสงบเข้ามามันจะเห็นสนามรบของตัว สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานมันจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริงต่อเมื่อเราทำความจริงของเราขึ้นมา

แต่ถ้าเรายังหาความสงบของใจเราไม่เจอ เรายังหาสถานที่ ยังหาปฏิสนธิจิตของเราไม่เจอ เห็นไหม สิ่งต่างๆ ที่ทำขึ้นมันเป็นเรื่องของมนุษย์ เรื่องโลกทัศน์ ในเมื่อมีกายกับใจ ความรู้สึกนึกคิดของมันมีอยู่แล้ว ถ้ามันมีอยู่แล้ว ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปิดหูปิดตา เวลามันปิดหูปิดตาขึ้นมา ศึกษาขึ้นมาแล้ว นี่ด้วยกิเลส ด้วยตัณหาความทะยานอยาก จินตมยปัญญาพยายามพิจารณาให้มันเป็นแบบนั้น ถึงบอกว่า ในการปฏิบัติไม่ต้องทำอย่างนั้น เราใช้ปัญญาของเรา ถ้าใช้ปัญญาของเราปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาแล้ว แล้วเทียบเคียง มันถูกตรงไปกับพุทธพจน์ๆ เทียบเคียงแล้วมันไปตรงกับประวัติของครูบาอาจารย์ของเรา

ถ้าประวัติครูบาอาจารย์ของท่านเขียนของท่าน มันมีเกร็ด มีเกร็ดในประวัติของครูบาอาจารย์เรานะ ครูบาอาจารย์ที่เราศึกษาเราค้นคว้านั้นมันเป็นประโยชน์มาก เป็นประโยชน์มากๆ เลย เป็นประโยชน์มากๆ เพราะอะไร เพราะท่านได้ค้นคว้าของท่าน ท่านได้ประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านได้ทำความเป็นจริงของท่าน แล้วท่านมีประสบการณ์ตามความเป็นจริงของท่าน แล้วท่านจารึกไว้ให้มันเป็นทางวิชาการ ให้เราค้นคว้า

แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติไป เวลาเราปฏิบัติไป ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันไม่มีสิ่งใดตอบสนองให้เป็นผลของเรา เราก็พยายามเอาสิ่งที่ครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัตินั้นมาเป็นแนวทาง มาเป็นสิ่งที่ให้ใจเราชุ่มชื้นขึ้นมา ให้มันมีโอกาสที่ปฏิบัติตามแนวทางของครูบาอาจารย์ของเรา นี่มันเอามาหล่อเลี้ยงใจเราได้ ถ้ามันเอามาหล่อเลี้ยงใจเราได้ เราศึกษา มันมีเกร็ด มันมีความจริงในนั้น ถ้าเป็นประวัติครูบาอาจารย์ ศึกษามา มันเป็นสนามค้นคว้า มันไม่ใช่เป็นสนามรบ มันไม่ใช่เป็นความจริงของเราหรอก

แล้วเวลาเขาทำธุรกิจการค้ากัน เขาต้องมีวิจัยของเขา ถ้าบอกว่าเขาวิจัย เขาต้องบริหารจัดการของเขา ผู้ที่มันจะเฉไฉ จะเล่ห์กล ด้วยเล่ห์กลนะ ความว่าเป็นเล่ห์กลของเขา เขาคิดว่าเป็นประโยชน์กับเขา แต่ความจริงนี้เป็นเรื่องของกิเลส กิเลสมันพลิกแพลง กิเลสมันปิดตา กิเลสมันบังเงา แต่ผู้ที่ปฏิบัติก็ไปเข้าใจเอาเองไง บอกว่า “เราไม่ต้องทำอย่างนั้นก็ได้ สิ่งที่เขาทำกัน ทำไมเราต้องไปลงทุนลงแรงอย่างนั้น ทำไมเราต้องทำให้ตัวเองทุกข์ยากนัก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกปฏิบัติแล้วต้องมีความสุข ไม่ใช่มีความทุกข์อย่างนั้น”

มันก็พยายามบิดเบือน พยายามจะทำว่าตัวเองมีความเข้าใจมีความรู้อย่างนั้น แล้วก็บอกทำอย่างนี้ก็ถูกต้อง แล้วก็อ้าง อ้างสนามค้นคว้าไง อ้างสิ่งที่ตำรับตำราของครูบาอาจารย์เราเทศน์ให้เราค้นคว้า ไม่ใช่ความจริงอย่างไร ก็อ้างอิงอย่างนั้น แล้วพออ้างอิงอย่างนั้น วุฒิภาวะของสังคมที่ไม่มีปัญญา ไม่มีความรับรู้ได้ก็เชื่อ “เออ! ถ้าทำอย่างนี้ก็ได้ ใช้ปัญญาไปเลย รู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ต้องพุทโธ ไม่ต้องมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำทำไม สมาธิทำไปทำไม”

สมาธิทำไปก็เพื่อใจเป็นสนามรบ ถ้าเราจะรบกับกิเลสของเรา ถ้าเราไม่มีสนามรบ เราไม่ได้เผชิญกับความจริงของเรา มันจะไปแก้กิเลสกันตรงไหน ดูสิ คนมีการศึกษามากมายขนาดไหน ถ้าเขาไม่มีหน้าที่การงานของเขา เขาไม่มีงานทำของเขา เขาจะเลี้ยงชีพของเขาได้อย่างไร เขาศึกษามา จบมามีความรู้มากมายขนาดไหน แต่เขาไม่มีงานทำ เขาจะเอาอะไรมาเป็นประโยชน์ในการเลี้ยงชีพของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราศึกษา เราค้นคว้ามามากมายขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราหาใจที่เป็นสนามรบของเราไม่เจอ มันไม่มีผลงานตามความเป็นจริงขึ้นมา ถ้าไม่มีผลงานตามความเป็นจริงขึ้นมา แต่เขาก็บอกว่าทำไมต้องทำแบบนั้น ทำไมพวกเราต้องมาทุกข์มายากกัน ทำไมต้องทรมานตน ทำไมต้องมาทำให้ตัวเองเดือนร้อน

มันไปเดือนร้อนที่ไหน มันเป็นเรื่องกิเลสเดือนร้อน ไม่ใช่เราเดือนร้อน เพราะเรามีศรัทธา มีความเชื่อ เราเชื่อในรัตนตรัย เราเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อในครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมาแล้ว แล้วจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งนะ จากใจของท่าน ท่านปฏิบัติของท่านตามความเป็นจริงของท่าน ท่านทำของท่านได้ แล้วท่านยื่นให้เรา ยื่นให้เรา ท่านยื่นให้เรามันก็เหมือนพ่อแม่เลย พ่อแม่สอนลูกให้ทำหน้าที่การงาน ไอ้ลูกก็บอกว่าพ่อแม่ไม่รักๆ ถ้าพ่อแม่รักก็เอาเงินให้อย่างเดียวก็พอ เอาเงินมา เงินไม่มี เลี้ยงดูจนแก่จนเฒ่า พ่อแม่ไม่ต้องตาย จะดูแลเราไปจนเราตายก่อน มันเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าครูบาอาจารย์ท่านยื่นให้ๆ ยื่นให้มาให้เราทดลอง ให้เราค้นคว้า ให้เราปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริง ถ้ามันปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริง เราจะรู้จริง ในเมื่อเราจะชำระล้างกิเลส นี่ใจเป็นสนามรบนะ มันเศร้าใจไง มันน่าเศร้าใจว่าแม้แต่ทำความสงบของใจยังทำไม่เป็น ถ้าความสงบของใจยังทำไม่เป็น เรื่องภาวนาไม่ต้องมาพูดกันเลย ไม่ต้องพูดกัน

แต่เขาพูดกันเต็มบ้านเต็มเมือง บอกว่า “ภาวนาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลย อย่างนี้เป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา” มีความภูมิใจ มีความปลื้มใจกันมากเลย

แต่จริงๆ แล้วเขาก็รู้ตัวว่ากิเลสเต็มหัวใจ ไม่ได้ทำสิ่งใดให้เป็นความจริงขึ้นมาเลย ถ้าจะทำความจริงขึ้นมา มันต้องคนมีอำนาจวาสนา อย่างขี้ทุกข์ขี้ยากพวกเรานี่แหละ อย่างขี้ทุกข์ขี้ยากของพวกเราเพราะอะไร เพราะเรามีแบบอย่าง มีครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่าง เห็นไหม ในวงกรรมฐาน เราหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านค้นคว้าของท่านมา ท่านทำของท่านมาตามความเป็นจริง คนที่ทำมาตามความเป็นจริง แล้วเห็นพวกเราเหลาะแหละ เห็นพวกเราทำไม่จริง เขารับไม่ได้หรอก นี่คนที่ทำความเป็นจริงมานะ

ดูสิ พ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จมาก็อยากให้ลูกเดินตามรอยของพ่อแม่นั่นแหละ แล้วถ้าไอ้แม่ปูบอก “ลูกให้เดินตรงๆ นะ” แล้วแม่มันเดินไปทางไหนล่ะ แม่มันเดินตรงไหม...ตาบอดคลำช้าง มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันคลำช้าง ไม่คลำช้างเปล่านะ ยังบอกว่าช้างของตัวถูกต้องด้วยนะ ถูกต้องเพราะอะไร เพราะเขาบอกว่า “ไม่ต้องทำ มันทุกข์มันยาก ทำแบบเขานั่นล่ะ ทำแบบเขา ถ้าเขาไปลงทุนลงแรงกัน เราแค่บริหารจัดการก็ได้”

เขาใช้คำพูดนะ เขาพยายามจะพูด พูดชักนำให้ผู้ที่ด้อยวุฒิภาวะเชื่อถือตาม แล้วก็เปรียบเทียบเหมือนการตลาด เปรียบเทียบเหมือนกับผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นก็ต้องได้รับปันผลเหมือนกัน ทำไมจะต้องไปทำแบบนั้น ไอ้นี่มันเป็นเรื่องของทางโลก ที่เขาบริหารจัดการ เขาระดมทุนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน มันเป็นเรื่องทางโลก แต่เขาคดโกงกัน เขาแย่งชิงกัน เขาหลอกลวงกันก็มหาศาล ที่เขาทำกัน เขาหลอกลวงกัน หลอกลวงกัน คดโกงกัน ยึดบริษัทไปเลยก็เยอะแยะไป มันจะประสบความสำเร็จอย่างที่คิดตลอดไปหรือ

แต่ถ้าเราทำของเราล่ะ เราทำความจริงของเรา เราต้องทำจริงของเรา นี่พูดถึงทำจริงนะ สิ่งนี้เป็นเรื่องสมมุติ สมมุติบัญญัติ มันเป็นเรื่องสมมุติขึ้นมา ดูสิ กฎหมาย เวลากฎหมายเขาเขียน พอมันล้าสมัยเขาก็ไปเขียนร่างกฎหมายใหม่ มันเป็นอย่างนั้นตลอดไป มันควบคุมไม่ได้หรอก มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แต่สัจจะ อริยสัจจะ คงที่แน่นอน คงที่แน่นอน เราจะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ จิตของเราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันเวียนว่ายตายเกิดมาตลอด พอเกิดมาในชาติปัจจุบันนี้ พอเราเติบโตขึ้นมา เราก็ว่าเรามีปัญญา เราก็มีทิฏฐิมานะว่าเรามีความรู้คนหนึ่ง นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นไปโดยวัย เขาบอกวัยรุ่นๆ วัยมันกำลังแรง มันคิดของมันอย่างนั้นน่ะ แต่ประสบการณ์ชีวิตจะสอนมันเอง พอมันโตขึ้น มีหน้าที่การงานหรือเปล่า จะพาชีวิตนี้ไปอย่างไร จะมีครอบครัวไหม ถ้ามีครอบครัวแล้วจะพาครอบครัวประสบความสำเร็จหรือเปล่า พอโตขึ้นมามันจะรู้เลยว่า ถ้าผ่านวัยมาแล้ว เราจะเสียดายเลยว่าตอนที่เราถึงเวลาทำไมเราไม่ขวนขวาย เราไม่ทำของเรา เห็นไหม

จะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ จิตเวียนว่ายตายเกิดของมันอยู่อย่างนี้ สัจธรรมมันเป็นแบบนี้ แล้วถ้าเราปฏิบัติของเราโดยเล่ห์กลของกิเลสของเรา แล้วเราคบสังคมที่เขาฉ้อฉลกัน แล้วเขาไปปลื้มอกปลื้มใจนะ ทุกคนจะปลื้มใจว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ สอนสิ้นสุดแห่งทุกข์ แล้วก็ก้มๆ เงยๆ แล้วก็ค้นคว้ากัน ทำกันอยู่อย่างนั้นไง

ใจเป็นสนามรบนะ ถ้าใจเป็นสนามรบ เราต้องหาสนามรบของเราให้เจอ ถ้าเราหาสนามรบของเราเจอ เรากำหนดพุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ในการกำหนดคำบริกรรมเพื่อความสงบระงับเข้ามา ในการใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้เป็นเครื่องอยู่ของใจ ใจของเรา ใจมันขี้ทุกข์ขี้ยาก เวลาเวียนว่ายตายเกิดมา แบกหามมาแต่เวรแต่กรรม

ถ้าแบกหามแต่เวรแต่กรรม เกิดมา เห็นไหม มันอยู่ที่จริตนิสัยของคน คนนะ วิตกจริต โมหจริต โทสจริต ความเป็นจริตของใคร ถ้ามีสิ่งใดกระทบตรงกับจริตของตัว มันเจ็บแสบทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันเจ็บแสบ มันไม่มีที่พึ่งที่อาศัย ถ้าเรามีคำบริกรรมของเราล่ะ มีคำบริกรรมของเรา ให้จิตมันเข้มแข็งขึ้นมา ให้จิตมันแข็งแรงขึ้นมา จิตอย่าให้มันอ่อนแอเกินไปนัก

จิตที่อ่อนแอ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าจิตมันอ่อนแอ มันเกาะเกี่ยวเขาไปเรื่อยล่ะ มันเกาะรูป รส กลิ่น เสียง ไปตลอดเวลา แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เรามีสติปัญญา คำบริกรรม หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ อบรมจิตใจของเรา ถ้าอบรมจิตใจของเรา ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันรู้เท่าทัน ถ้ามันรู้เท่าทัน มันก็ไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งที่ว่า รูป รส กลิ่น เสียง ที่จะพาให้หัวใจของเราล้มลุกคลุกคลานไป ถ้ามันไม่พาหัวใจให้เราล้มลุกคลุกคลานไป เราพยายามใช้คำบริกรรมของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา ถ้ามันสงบเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา

เราปฏิบัติกัน ไม่ต้องคิดมาก คนเราปฏิบัตินะ เวลาจะปฏิบัติ พอเราพูดถึงว่า ถึงที่สุดแห่งทุกข์จะนิพพาน มันบอก “จะเอาขนาดนั้นเชียวหรือ เราจะเอาขนาดนั้นเชียวหรือ” มันแบกรับไม่ไหว ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัตินะ ปฏิบัติเพื่อให้เราไม่ให้ทุกข์กับสิ่งที่มันแบกหามในใจ เอาตรงนี้ก่อน ถ้าเราปฏิบัติ เราพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันมีสติปัญญา มันปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา สิ่งที่ปล่อยวางเข้ามานะ ใจเป็นสนามรบ แค่สนามรบ แค่สนาม มันรักษาสิ่งที่เป็นสนามไว้ไม่ได้นะ เพราะอะไร เพราะจิตสงบแล้วเดี๋ยวมันก็คลายตัวออกมา

ถ้ามันสงบเข้าไป เวลาสงบ เวลาใช้คำบริกรรม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาจะสงบระงับบ้าง แสนทุกข์แสนยากนัก เวลามันฟุ้งซ่าน เวลามันแบกหามอารมณ์ ทำไมมันไปได้ง่ายๆ ทำไมมันไปได้ตลอดเวลา...ไอ้นั่นมันเป็นทางที่มันเคยเดินไง มันเป็นทางความเคยชินของใจ ใจมันเสวยอารมณ์อยู่อย่างนี้ ใจมันแสวงหาผลประโยชน์ของมันอยู่อย่างนี้ กิเลสตัณหาความทะยานอยาก เอาใจของเราหาผลประโยชน์ของมัน หาผลประโยชน์ให้เราลุ่มหลงไง ให้เราลุ่มหลงในรูป รส กลิ่น เสียง ให้เราลุ่มหลงในสังคมโลกนี้ไง มันจะได้ขี่คอเราตลอดไปไง นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยากอาศัยในจิตใจของมนุษย์ จิตใจของสัตว์โลกเป็นที่อยู่ แล้วมันก็ขับถ่าย ขับถ่ายสิ่งที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงไว้ในหัวใจนี้ แล้วก็ให้เราทุกข์ยากอยู่อย่างนี้

หน้าที่การงานของเรา เราก็มีหน้าที่การงานของเรา พระก็มีหน้าที่การงานเหมือนกัน นักปฏิบัติก็มีหน้าที่การงานทั้งนั้น เพราะเราต้องดำรงชีวิตนี้ไว้ ดำรงชีวิตไว้ทำไม? ดำรงชีวิตนี้ไว้ประพฤติปฏิบัติไง ถ้าดำรงชีวิตไว้ประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติตรงนี้ไง ถ้ามีสติปัญญา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา มันมีความร่มเย็นแล้ว ถ้ามันปล่อยได้ คนเราไม่เคยรู้เห็นสิ่งใดเลย มันก็มีความสงสัยเป็นธรรมดา คำว่า “สมาธิ” สมาธิเป็นอย่างไร คำว่า “ใจ” ใจเป็นอย่างไร

แต่ถ้าเราศึกษา ตำรับตำราเป็นสนามค้นคว้า เราค้นคว้ามาแล้วนะ เราชื่นใจไหม เราค้นคว้ามาแล้วเราก็มีปัญญาใช่ไหม เราค้นคว้ามาแล้วเราก็มีทางไปใช่ไหม แล้วมีทางไป มีทาง แต่เรายังทำไม่ได้ นี่ไง ใจเป็นสนามรบ เรายังหาสนามรบของเราไม่เจอ ถ้าเราหาสนามรบของเราเจอนะ เราเจอขุมทรัพย์

คนเราถ้ามีความผิดพลาด มีความลุ่มหลง แต่ตัวเองยังไม่เข้าใจตัวเอง ตัวเองก็ว่าตัวเองถูกอยู่ตลอดเวลา แล้วใครมาบอกถึงความผิดพลาดของเรา เราจะไม่พอใจเขามากเลย แต่ถ้าวันไหนเรารู้ว่าเราผิด นี่เขาชี้ขุมทรัพย์ให้เรา เขาชี้ขุมทรัพย์ให้เรา เขาชี้ขุมทรัพย์ว่าเรามีความผิดพลาด ถ้าเราทำให้มันถูกต้องขึ้นมา ชีวิตเราจะรุ่งเรืองมากไปกว่านี้ นี่พอเรารู้ขึ้นมา นี่ไง เพราะเราเอง เขาชี้ขุมทรัพย์ให้เรา เรายังไม่รู้ตัวเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ใครเป็นคนชี้ล่ะ สติปัญญาของเราชี้ขึ้นมาไง ถ้าสติปัญญาของเราชี้เข้ามาที่ใจของเรา ใจนี้เป็นสนามรบ ถ้าเราเจอสนามรบของเราล่ะ เราเจอสนามรบของเรา จิตสงบเข้ามานะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แล้วรักษาไว้ พยายามรักษา ถ้าจิตสงบแล้ว มันมีความสุขความระงับของมัน เราเห็นเอง

สิ่งที่มันแบกรับภาระ เราก็ทุกข์ยากมาก เวลาถ้ามันปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา เราเป็นคนทำเอง เห็นไหม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เราเป็นคนทำเอง เราเป็นคนรักษาเอง แล้วพยายามรักษาสิ่งนี้ไว้ พอรักษาสิ่งนี้ไว้นะ จิตสงบแล้วให้ฝึกหัดใช้ปัญญา

เวลาเราใช้ปัญญาเริ่มต้น โดยทางโลกที่เขาคิดกันว่า ตำรับตำราเป็นที่ค้นค้า เป็นที่วิจัยเพื่อปัญญาของเรา เวลาจิตของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ เราจะหาสนามรบ แต่คนที่อ่อนด้อย การใช้ปัญญา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เขาบอกว่า “นั่นพระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งปัญญา ก็ใช้ปัญญาแล้วไง ก็ตรึกในธรรม ก็ตรึกในธรรม”

จินตมยปัญญานะ เวลามันเกิดสิ่งใดขึ้นมามันจะเวิ้งว้างไปหมดเลย เวิ้งว้าง บอกว่า “มันว่างไปหมดเลย ทุกอย่างว่าง”...แล้วใครเป็นเจ้าของความว่าง ความที่มันเป็นภาระรุงรัง ใครเป็นคนไปแบกรับว่ามันเป็นภาระรุงรัง เวลามันปล่อยภาระรุงรังมาแล้ว ใครเป็นคนปล่อยเข้ามา

แต่โดยความไม่เข้าใจ โดยที่ว่าตำรับตำราเป็นสถานที่ค้นคว้า ค้นคว้ามาด้วยจินตนาการ พอจินตนาการขึ้นมามันก็คิดว่าเป็นแบบนั้น เป็นแบบนั้น แล้วเป็นจริงหรือเปล่า ถ้ามันเป็นจริง ถ้ามันทำสมาธิเป็น เวลาจิตมันสงบ มันก็รู้ว่าสงบ แล้วพอจิตมันเสื่อมก็รู้ว่าเสื่อม พอเสื่อมแล้วเราพยายามบริกรรมพุทโธเข้ามา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา มันก็สงบระงับเข้ามาเหมือนเดิม ถ้ามันสงบระงับเข้ามา อ๋อ! มันสงบเพราะคำบริกรรม มันสงบเพราะเรามีสติ ถ้ามีสติแล้ว ต่อไปนี้ ต่อไปนี้มันจะฟุ้งซ่านอย่างไร มันจะมีสิ่งใดบีบคั้นหัวใจเราขนาดไหน เราก็จะอยู่กับคำบริกรรมอย่างนี้ ไอ้สิ่งเครื่องล่อ ไอ้สิ่งที่อารมณ์ความความรู้สึกที่เป็นเครื่องล่อไปว่าสิ่งนั้นมีปัญญา สิ่งนั้นเราจะรู้สิ่งต่างๆ มันล่อไป ไม่ไปกับมัน

แต่เริ่มต้นถ้าเรายังไม่มีประสบการณ์นะ “เอ! ถ้ามันสงบ มันสงบมาอย่างนี้ สงบต่อเนื่องไปมันจะเห็นภาพแบบนั้น ถ้าภาพแบบนั้นมันจะเป็นวิปัสสนาหรือเปล่า” นี่เรามีความอยากรู้อยากเห็นไปกับมันไง ถ้ามีความอยากรู้อยากเห็นไปกับมัน นี่ตัณหาความทะยานอยาก เป็นสมุทัย เวลาทำความสงบของใจขึ้นมา สมุทัยมันก็บวกเข้ามาตลอด

ถ้าเรามีสติปัญญา เราค้นคว้าด้วยประสบการณ์ขึ้นมา มันจะรู้มันจะเห็น ถ้าจะรู้จะเห็น นี่ประสบการณ์แล้ว สิ่งที่มันเป็นเครื่องล่อ เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันจะมาล่อ เรามีสติปัญญา เราไม่ไปกับมัน เราเอาพุทธานุสติ เอาปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเรายืนอยู่ในข้อเท็จจริงของเรา สิ่งนั้นมันจะมาชักลากเราไปไม่ได้เลย ถ้ามันชักลากเราไปไม่ได้ ใจที่เป็นสนามรบเรามันจะมั่นคง จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตที่ตั้งมั่น

คนไม่มีอำนาจวาสนา พอจิตตั้งมั่น จิตมันปล่อยความว่างเข้ามา “นี่นิพพาน”

สมาธิ ทำความสงบของใจ ใจมีความสุข สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันจะมีความสุขของมัน ความสุขอย่างนี้ สุขเพราะมันปล่อยภาระรุงรังมาเท่านั้นเอง มันยังไม่เป็นวิปัสสนา

ถ้ามันจะทำวิปัสสนา จิตสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ออกฝึกหัดใช้ปัญญาในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้ามันออกไป นี่ไง ใจเป็นสนามรบ ใครรบกับใคร สิ่งที่รบกัน ภาวนามยปัญญามันจะรบกับกิเลส การขุดคุ้ยหากิเลสนี้เป็นงานชนิดหนึ่งนะ แล้วเราไม่เคยเจอสิ่งใดเลย

สิ่งที่เป็นคัมภีร์ สิ่งที่เป็นตำรับตำรา มันเป็นสนามค้นคว้า พอค้นคว้ามา เราก็เทียบเคียง เราก็จินตนาการไป เห็นไหม “ไม่ต้องทำอย่างเขา แค่มีความรู้อย่างนี้มันก็เป็นความรู้ของเราแล้ว ถ้ามีความเห็นอย่างนี้มันก็เป็นธรรมแล้ว” ก็คิดจินตนาการกันไป มันไม่มีสิ่งใดเป็นความจริงเลย ไม่มีความจริง

ความจริงในธรรมนะ ความคิดเป็นความจริงไหม ใครว่าความคิดไม่มีอยู่ ความคิดก็มีอยู่ แต่เวลาความคิดที่เกิดขึ้นเป็นโลกียปัญญา ความคิดนี้เกิดจากกิเลส เกิดจากอวิชชาที่มันเป็นสัญญา มันไปจำไง ไปจำ ไปศึกษา ไปค้นคว้ามา นี่สนามค้นคว้า ไปค้นคว้าตำรับตำรามา แล้วเอาความค้นคว้ามาเป็นสมบัติของเรา มันเป็นสมบัติของเราตามความเป็นจริงไม่ได้ มันเป็นสนามค้นคว้าให้เราค้นคว้ามาเพื่อประพฤติปฏิบัติให้เกิดความจริงขึ้นมา

ถ้ามันจะเกิดความจริงขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติ มันก็ต้องปฏิบัติตามข้อเท็จจริงของเรา ถ้าปฏิบัติตามข้อเท็จจริงของเรา ถ้ามีคำบริกรรม หรือมีปัญญาอบรม ถ้ามันสงบเข้ามาๆ สงบเข้ามา ใครเป็นคนรู้ล่ะ มีสติมีปัญญา เรารู้ของเรา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันรู้ มันเห็น มันเด่นชัดของมัน มันรู้เห็นเด่นชัดเลย จะไม่บอกว่า ว่างๆ ว่างๆ...เงียบกริบเลย

แต่ถ้าบอกว่าว่างๆ ใครเป็นความว่าง ใครเป็นคนรู้ว่าว่าง จิตมันมีอยู่ ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นเรา เรามีชีวิตอยู่ เรามีความรู้สึกอยู่ เรามีความรู้สึกอยู่ ธาตุรู้มันมี สิ่งที่ถูกรู้คืออารมณ์ บอกว่าว่างๆ ว่างๆ นั้นเป็นอารมณ์ความรู้สึกว่าว่าง เราไปศึกษาตำรับตำรามา เราก็สร้างความว่างขึ้นมา กดทับไว้ กดไว้ ไม่ให้สิ่งใดเกิดขึ้นมันก็ว่างของมัน ว่างอะไร นั่นเป็นอารมณ์ เพราะจิตรู้ว่าว่าง แต่ตัวที่มันรู้ มันรู้อย่างไร

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้คำบริกรรม พอมันปล่อยวางขึ้นมา อืม! อืม! สมาธิก็เป็นสมาธิ สมาธินะ ใจเป็นสนามรบ แล้วสนามรบจะรบกับใคร เอาอะไรไปรบ แต่ถ้าใจเราเป็นสนามรบนะ ใจมันเป็นสนามรบ มันวางเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา เราต้องรื้อค้นไง เห็นไหม เวลาคนทำความสงบของใจ ใจมันสงบได้ สงบโดยที่ขาดสติ ขาดสติที่จะควบคุม เพื่อจะรำพึงไปหากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม เขาก็ทำของเขาไม่ได้ เห็นไหม ใจสงบแล้วทำไมมันไม่เป็นปัญญาขึ้นมาล่ะ ใจสงบแล้ว มีศีล มีสมาธิ ทำไมไม่เกิดปัญญา

ปัญญาอย่างที่เขาค้นคว้ากันมานั้น นั่นมันเป็นสัญญา นั่นมันเป็นความจำ มันไม่เป็นความจริง มันฟื้นฟูได้ เมื่อไหร่ก็ได้ เผลอเมื่อไหร่เดี๋ยวเราก็เปิดตำราก็ได้ หนังสือเล่มไหนเราก็เปิดได้ พอเปิดขึ้นมาแล้ว ขณะที่เปิดตำรากับความรู้ความเป็นจริงในใจที่เวลาปฏิบัติมันต่างกันอย่างไร ทำไมมันมีความต่างกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาจะขุดคุ้ยหามัน ขุดคุ้ยหากิเลสนะ ถ้าเกิดกิเลส ระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กัน สงครามจะเกิดขึ้น สงครามจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราค้นคว้าหาจำเลยได้ หากิเลสได้ หาผู้ที่ครอบงำหัวใจเราได้ แล้วผู้ที่ครอบงำหัวใจเรา มันครอบงำอย่างไร มันทำอย่างไรมันถึงครอบงำหัวใจของเรา นี่ไง สังโยชน์ เครื่องร้อยรัด ความร้อยรัดมันเป็นความพอใจ

สักกายทิฏฐิ ทุกคนมีทิฏฐิความเห็นผิดกันทั้งนั้น จะศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดไหนก็แล้วแต่ ว่ากายไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา สรรพสิ่งก็ไม่ใช่เรา...ไม่ใช่เรา มันไม่ใช่อย่างไรล่ะ ทำไมมันถึงไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่เรา เห็นไหม ดูสิ ๆ ดูทางโลกเขา เวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วยไป อวัยวะของเขาที่เสียหาย เขาไปเปลี่ยนเลย เขาตัดทิ้งเลย ตัดทิ้งไปแล้ว แล้วเป็นอย่างไรต่อ ตัดทิ้งแล้วมันก็หายจากโรคจากภัยนั้น แต่จิตใจล่ะ จิตใจเป็นอะไรขึ้นมา? ไม่เห็นเป็นอะไรขึ้นมาเลย

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าไม่ใช่เราๆ...อะไรไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรามันต้องมีเหตุมีผลสิ คำว่า “ไม่ใช่เรา” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้จริง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เพราะสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ๒๐ อย่าง เพราะความเห็นผิดอย่างนี้ เราถึงได้ทุกข์ได้ยากกัน แล้วพอเราไปศึกษา สนามค้นคว้า ค้นคว้ามาแล้วบอกว่ามันไม่ใช่เรา สรรพสิ่ง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ อันนั้นมันเป็นสนามค้นคว้า แต่สนามความเป็นจริงล่ะ สิ่งที่สนามรบล่ะ อะไรเป็นสนามรบล่ะ แล้วอะไรรบกับอะไรล่ะ

ถ้ามันไปเห็นจริงนะ เห็นกายขึ้นมามันก็ขนพองสยองเกล้า เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริงแล้วจับให้ได้ ถ้าจับให้ได้ สงครามระหว่างธาตุขันธ์เกิดขึ้น ระหว่างธรรมกับกิเลสมันจะมีสติปัญญาแยกแยะกัน ถ้าแยกแยะกันนะ นี่งานเกิดขึ้น ภาวนามยปัญญาไง ที่ว่าศานาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญา เห็นไหม ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันเป็นธรรมจักร นี่ธรรมจักร

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ จักรนี้ได้เคลื่อนแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ยื่นอาวุธให้กับปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ ๕ คน ฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ด้วยกัน พระอัญญาโกณฑัญญะองค์เดียวเท่านั้นที่ได้มีดวงตาเห็นธรรม นี่ไง อำนาจวาสนาของคน ปัญญาของคน จิตใจของคน เห็นไหม

ฟังอยู่ด้วยกัน ๕ คน ปัญจวัคคีย์เป็นนักบวช ๕ คน แต่เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศน์ซ้ำ ซ้ำจนปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบันทั้งหมด แล้วแสดงอนัตตลักขณสูตรขึ้นมาเป็นพระอรหันต์หมดเลย สิ่งนี้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่แก้ไขหัวใจไง

นี่ไง สนามค้นคว้า เราค้นคว้ามามันไม่มีความจริงขึ้นมา แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายื่นให้ๆ นี่ภาคปฏิบัติ มันเป็นความจริงขึ้นมา นี่เหมือนกัน เราจะทำหัวใจของเรา เราจะหาสนามรบของเรา นี่ไง ถ้าจิตสงบเข้ามานั้นคือสนามรบนะ ถ้าใครทำความสงบของใจเข้ามาไม่ได้ เห็นไหม สงบเข้ามาคือตัวจิต มันปล่อยอะไรเข้ามา? มันปล่อยขันธ์ ๕ เข้ามา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูปคืออารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกมันปล่อยวางเข้ามา พอปล่อยวางเข้ามา มันเป็นธาตุรู้ สมาธิคือธาตุรู้ ธาตุรู้ สิ่งที่ถูกรู้คือขันธ์ ๕ ที่มากระทบ กระทบแล้วก็เป็นอารมณ์ขึ้นมา พอมันปล่อยเข้ามาๆๆ แต่ถ้าไม่ทำให้เกิดสงครามระหว่างกิเลสกับธรรมมันก็ไม่เป็นวิปัสสนา ถ้าจะเป็นวิปัสสนา เราจับอย่างไร แล้วแยกแยะอย่างไร

พิจารณาแยกแยะไป เห็นไหม ถ้ามันพิจารณาแยกแยะไป โดยการค้นคว้า เราก็แยกแยะไป เราก็เข้าใจว่าการแปรสภาพนี่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าความเป็นจริงนะ มันมีกำลังของจิต จิตถ้าสงบเข้ามาแล้วนะ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ จิตสงบเข้ามา เวลาน้อมไปเห็นกาย มันจับกายของมันได้นะ พอจับกายของมันได้ ใช้ปัญญา ปัญญาคือเทียบเคียงว่า ร่างกาย โดยกำลังของสมาธินะ ให้มันแปรสภาพของมันไป ถ้ามันแปรสภาพมันคือไตรลักษณ์ ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์ ของที่เราถืออยู่ แล้วมันเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่างที่เราถือ จิตใจที่มันพิจารณาของมันไป เวลามันเปลี่ยนแปรสภาพของมันเป็นไตรลักษณ์ คือมันแปรสภาพ มันจะเน่า มันจะเฟะ มันจะพุพองไปอย่างไร มันเป็นเพราะอะไร มันเป็นเพราะกำลังของจิต มันเป็นเพราะมัคโค ทางอันเอก ทางอันเอก เห็นไหม ใจเป็นสนามรบ มันเกิดขึ้นบนหัวใจ มันเกิดขึ้นบนภวาสวะ เกิดขึ้นจากภพ เกิดขึ้นจากจิต มันเป็นอยู่ระหว่างท่ามกลางของหัวใจนั้น

ถ้าเป็นท่ามกลางของหัวใจนั้น ถ้าหัวใจมันรู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริง นี่ปัญญาที่เกิดจากจิต มันไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากสมอง ปัญญาที่เกิดการเทียบเคียง ปัญญาที่เราศึกษาค้นคว้ามาเป็นปัญญาที่เกิดจากสมอง สมองไปจำมาต่างๆ แล้วเราก็จินตนาการสร้างภาพอย่างนั้นไป นี่สนามค้นคว้า สนามค้นคว้าคือตำรับตำรา สนามรบตามความเป็นจริงมันเกิดจากใจ มันเป็นสมบัติของใคร? สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานไป “อานนท์ เวลาเรานิพพานไป เราไม่ได้เอาสมบัติของใครไปเลยนะ เราเอาแต่สมบัติของเราไปเอง”

คือในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ใจนั้นเป็นธรรมธาตุ ธรรมธาตุอันนั้น นี่ธาตุที่เป็นธรรม นิพพานไปพร้อมกับสมบัติอันนั้น แล้วสิ่งนั้น ความรู้จริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้เป็นทฤษฎี เป็นธรรมและวินัย เป็นร่องเป็นรอยให้เราค้นคว้า ให้เราศึกษา เราค้นคว้าศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม การค้นคว้าไม่มีความผิด แต่การค้นคว้าโดยปัญญาที่อ่อนด้อย ไปค้นคว้ามาแล้วจินตนาการสร้างภาพขึ้นมาว่าเป็นความจริงอย่างนั้นๆ มันถึงไม่มีน้ำใจไง

นักรบ นักรบจะเข้าใจนักรบนะ นักรบเข้าใจนักรบด้วยกัน นักปฏิบัติมันจะเข้าใจในการปฏิบัติเหมือนกัน แต่ถ้าเราค้นคว้ามา เรารบ เราไม่เคยเข้าสนามรบ เพราะมันไม่มีสนามให้รบไง ถ้าเราค้นสนามรบเราไม่เจอ เราจะไปรบกับใคร ในเมื่อไม่มีการรบ มันไม่มีธรรมจักร มันไม่มีอาวุธ เห็นไหม ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายื่นธรรมจักร ยื่นอาวุธให้กับพระอัญญาโกณฑัญญะ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตามองเห็นธรรมขึ้นมา มันมีความจริงขึ้นมา นี่เราค้นคว้ามาเกือบเป็นเกือบตาย ค้นคว้ามาเป็นสมบัติของเรา ค้นคว้ามาเป็นสัญญา ค้นคว้ามาเป็นความจำ แต่ความจริงมันไม่เกิดขึ้นมา มันเลยไม่เข้าใจนักรบ ไม่เข้าใจน้ำใจของนักรบด้วยกันไง นักรบไม่เข้าใจถึงวิธีการของการรบไง

ดูสิ ดูทหารที่ทั้งชีวิตเลย เขาไม่เคยออกรบเลย เขาฝึกฝนมาขนาดไหน เขาไม่ได้เข้าสงครามเลย เขาก็ไม่รู้ว่า ในสงคราม ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เพราะในสงครามเวลารบมันต้องรักษาชีวิต ต้องเอาชนะ ต้องเพื่อผลประโยชน์ของกองทัพ ของการรบของเรา จะกลยุทธวิธี จะกลไก มันต้องเต็มที่ของมันทั้งนั้นน่ะ ทุกอย่าง วิกฤติเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราสงบแล้ว มันมีสนามรบของมันแล้ว ถ้ามันมีสนามรบแล้ว ต้องให้เห็นด้วย เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงนะ ถ้าไม่ตามความเป็นจริง จิตสงบแล้วเทียบเคียงเอา เทียบเคียงเอา พอสมาธิมันอ่อนตัวลง สมาธิเวลาใช้ไปแล้ว สมาธิกำลังมันไม่เต็มที่ของมัน สิ่งที่รู้ที่เห็นมันเป็นสัญญาแล้ว ถ้าเป็นสัญญาต้องรีบวางสิ่งนี้ วางไว้เลย กลับมาทำสนามรบเราให้มั่นคง ทำสนามรบเพื่อเป็นชัยภูมิ เพื่อเราจะเข้าไปใช้ปัญญาแยกแยะให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

สนามรบของเรารกรุงรัง กิเลสมันหัวเราะเยาะ กิเลสมันบอกว่า สนามรบมันสามารถที่จะเข้าไปหลบไปซ่อน มันจะวางกลศึกให้เราเข้าไปแพ้มันตลอดเวลา นี่เพราะสมาธิเราอ่อน ถ้าสมาธิเราอ่อนปั๊บ เราต้องย้อนปล่อยวางแล้วกลับมาทำความสงบของใจให้มากขึ้น ถ้าใจมันสงบมากขึ้นแล้ว เรามีกำลังแล้ว มันสดชื่นขึ้นมาแล้ว เราค่อยกลับไปจับ แยกแยะของมันต่อเนื่องกันไป นี่การรบมันลึกลับซับซ้อน

แต่ถ้านักการทหารที่ไม่เคยออกรบ เขาก็ศึกษาตำรับตำรามาหมดล่ะ ทางทฤษฏีเข้าใจได้หมดเลย ยุทธวิธีรู้ไปทุกเรื่อง แต่ขณะเข้ารบ ในสนามรบที่มันมีวิกฤติ สนามรบที่มันมีเหตุการณ์ที่มันนอกตำรา เหตุการณ์ที่มันจะเกิดขึ้นมา ที่เราคาดไม่ถึง เราคิดไม่ได้อีกมหาศาลเลย

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาเราเข้าไปพิจารณา พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ถ้ากำลังเราดีนะ ในเมื่อเราเข้าสู่สงคราม ยุทธวิธีของเราพร้อม กำลังเราพร้อม อาวุธเราพร้อม ทุกอย่างพร้อมหมดเลย ข้าศึกมันจะเผชิญหน้ากับเราไหม มันแพ้ทุกอย่างเลย นี่ไง ถ้าสติเราดี สมาธิเราดี กำลังเราดี เราใช้ปัญญาไป กิเลสมันถอยร่นหมดล่ะ มันหลบมันหลีก ถ้าเราไม่มีสติปัญญานะ เราไม่แยกแยะของเรานะ ถ้าเราว่าเราชนะ เราประมาท เรานอนใจ เดี๋ยวกิเลสมันกลับมาตีแตกหมด

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราการต่อสู้กันมาในการวิปัสสนา มันจะมีเหตุการณ์อย่างนั้นของมันขึ้นมา แล้วเหตุการณ์แต่ละบุคคล เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์แตกต่างกัน มันอยู่ที่กาลเวลา อยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่กำลังของเรา แล้วถ้าเราขยันหมั่นเพียรของเรา เราทำของเรา ถ้ามันยึดพื้นที่ได้ มันชนะ ทำลายข้าศึกได้ เห็นไหม เวลาต่อสู้กัน ระหว่างกิเลสกับธรรม ถ้ากำลังมันพอนะ มรรคมันเต็มที่ขึ้นมา มันปล่อยหมด นี่มันปล่อยหมดแล้ว ปล่อยแล้วยอมแพ้ไหม ปล่อยแล้วถึงที่สุดไหม เวลาปล่อยแล้ว ตทังคปหาน ปล่อยแล้วอย่าชะล่าใจ ปล่อยแล้วมันก็เป็นความสุข

เวลาจิตเราฟุ้งซ่าน จิตเรามีความทุกข์ความยากมีความทุกข์มาก เวลาเรามีสติปัญญาขึ้นมา มันปล่อยวางขึ้นมา เป็นสัมมาสมาธิ มีความสุขมาก เวลาเป็นสมาธิแล้ว เรามีอำนาจวาสนา เราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความจริง เราจับ เราค้นคว้าหากิเลสได้ เวลาหากิเลสได้ กิเลสกับธรรมมันจะมีการประหัตประหารกันด้วยปัญญา แยกแยะด้วยปัญญา ที่กำลังมันพร้อม มันเป็นไตรลักษณ์ พิจารณาแล้วเป็นไตรลักษณ์ มันปล่อยๆ นี่คือตทังคปหาน ความปล่อยอย่างนี้มันก็มีความสุขเพิ่มขึ้น ความสุขมากขึ้น

คนไม่เคยรบ คิดแต่ว่าทางทฤษฏีค้นคว้ามาแล้วว่าเราทำได้ๆ มันก็เป็นความคิดอันหนึ่ง เวลาเราเผชิญหน้ากับข้าศึก แล้วเราได้ทำลายข้าศึก มันก็เป็นประสบการณ์อีกขั้นหนึ่ง ปัญญาที่มันได้ใช้เวลาพิจารณาของมันไปแล้ว เวลามันปล่อยวางๆ ตทังคปหาน แต่มันยังไม่ได้รบเด็ดขาด ยังไม่แพ้ชนะเด็ดขาด ถ้าประมาทนะ ถ้าทำไม่ได้ เห็นไหม นี่ไง นักรบ มันจะเข้าใจนักรบด้วยกัน นักรบมันจะมีน้ำใจกับนักรบด้วยกัน

นี่ก็เหมือนกัน นักปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา มันรู้มันเห็นของมันอย่างนี้นะ ถ้ารู้เห็นตามความเป็นจริง เห็นไหม เวลาเพราะประมาทเลินเล่อ มันเสื่อมลงไป เจริญแล้วเสื่อม ในการปฏิบัติถ้าเราไม่มีคุณธรรม เราไม่มีสมาธิ เราไม่มีปัญญาเลย เราไม่เคยเจริญเลย เราเอาอะไรไปเสื่อม อย่าว่าแต่เจริญแล้วเสื่อมเลย มันไม่เคยมีเคยเป็น มันจะเอาอะไรมาเสื่อม ถ้าไม่มีอะไรไปเสื่อม ก็เรื่องโลกๆ ไง เรื่องโลกคือโลกโลกียปัญญาไง เรื่องสามัญสำนึกนี่ไง ถ้ามันเป็นเรื่องสามัญสำนึก มันจะเสื่อมที่ไหน เสื่อมที่เขาเปิด เดี๋ยวก็ค้นคว้า สนามค้นคว้าก็เปิดตำรา ก็จบ นี่มันค้นคว้าได้ มันเป็นเรื่องโลกๆ

แต่ถ้าเป็นความจริงล่ะ สมาธิมันตั้งอยู่บนอะไร มีสติมีปัญญาขนาดไหน เราถึงทำใจเราให้สงบได้ แล้วเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว พอเวลามันเสื่อมหมดไปแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไปขึ้นไป ถ้าสมาธิมันทำต่อไปขึ้นไป มันมีเหตุมีผลของมันขึ้นมา สมาธิมันกลับมาเอง นี่เวลามันเสื่อม เสื่อมเพราะอะไร เสื่อมเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแก่กล้าขึ้นมา

เวลาเรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรามีสติปัญญาที่ชัดเจน เรามีสติปัญญา เรามีความหมั่นเพียรของเรา นี่กิเลสมันทนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ กิเลสมันทนสัจธรรมไม่ได้ กิเลสมันก็เป็นนามธรรม มันก็เกิดบนหัวใจดวงเรานี่แหละ เวลามันพอใจของมัน มันมีกำลังของมัน มันก็เหยียบย่ำหัวใจของเราเต็มที่เลย

แต่เพราะเรามีศรัทธามีความเชื่อในพระพุทธศาสนา เรามีศรัทธาความเชื่อในครูบาอาจารย์ของเรา เราพยายามตั้งสติของเรา แล้วเราใช้ปัญญาของเราต่อสู้กับมัน แล้วต่อสู้กับมันด้วยสัจธรรม กิเลสมันกลัวสัจธรรมอันนี้ กลัวความเพียรของเรา ถ้ามันกลัวสัจธรรม มันก็ถอยร่นไปๆ มันก็เป็นสมาธิขึ้นมาได้

เวลาเราเข้าไปอัปปนาสมาธิ มันหลบ มันนอนนิ่งเลย ตะกอนน้ำอยู่ก้นแก้วเลย มันไม่โผล่มาเลย แล้วเราใช้วิปัสสนา เราใช้ปัญญาของเราค้นคว้ามา ตะกอนอยู่ไหน ถ้ามันเห็นตะกอนขึ้นมา ตะกอนถ้ามันเขย่า น้ำก็ขุ่นขึ้นมา แต่เราแยกแยะมัน เราจะเอาตะกอนนั้นออกเลย เราพิจารณาของเรา ได้เต็มที่เลย เห็นไหม ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แยกแยะๆ เข้าไปจนถึงที่สุด แยกแยะนะ ถ้าพิจารณากาย มันจะเป็นไตรลักษณ์ มันก็ปล่อย มันเป็นไตรลักษณ์มันก็ปล่อย ปล่อยก็มีความสุข พอปล่อยแล้ว พอจิตสงบแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับความสุขนั้น อยู่กับความสุขนั้นให้จิตมันได้พัก พอจิตมันได้พัก เวลามันคลายตัวออกมาก็จับอีก จับมันอีก จับอีกแล้วพิจารณาขึ้นมา

“อ้าว! จับได้อย่างไร ก็พิจารณาแล้วมันปล่อยไปแล้ว มันไม่มี” เห็นไหม ด้วยความประมาท ด้วยความเลินเล่อ นักรบไม่เข้าใจนักรบด้วยกัน คนไม่เคยรบไม่เข้าใจนักรบ ถ้าคนที่เป็นนักรบ นักรบที่แท้จริง เขาต้องชนะข้าศึกนั้น ข้าศึกนั้นเขาชนะอย่างไร ถ้าเขาไม่มีเหตุมีผล เขาจะเอาอะไรมาชนะ นี่ไง ขณะจิตที่มันยังไม่สมุจเฉทปหาน เอาอะไรมาเป็นความจริง ความจริงมันไม่เกิดขึ้น ความจริงมันไม่มี

ถ้าความจริงไม่เกิดขึ้น ไม่มี เห็นไหม ดูสิ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ถ้าความจริงมันไม่สมุจเฉทปหาน ความจริงไม่เป็นอกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาๆ นี่ท่องบ่นกันเป็นนกแก้วนกขุนทองไง พระพุทธเจ้าสอนอนัตตา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมมะเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาคือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือระหว่างที่สงครามมันกำลังต่อสู้กันอยู่

ในเมื่อสงครามต่อสู้กันอยู่ ขณะที่เป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ถ้าโสดาปัตติมรรคมันไม่สมุจเฉทปหาน มันเป็นผลไปไม่ได้ เพราะถ้ามันเป็นผล มันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมคือไม่เสื่อม อกุปปธรรมคือไม่มีการแปรสภาพ อกุปปธรรมคือมันคงที่ของมัน แต่คงที่แบบโสดาบัน มันจะแปรสภาพของมันขึ้นเป็นสกิทาคามี แปรสภาพขึ้นไปเป็นอนาคามี แปรสภาพหมายความว่ามีมรรคมีผล มีสงคราม มีการกระทำความเป็นจริงขึ้นมา มันจะพัฒนาใจของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป จนถึงที่สุดนะ ถ้ามันอรหัตตมรรค ทำลายสิ้นไปแล้ว เป็นอรหัตตผลแล้ว นั่นอกุปปธรรมแท้ๆ แท้ๆ มัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของมันไง

ฉะนั้น ระหว่างที่มีการต่อสู้ขึ้นไป นี่นักรบถึงเข้าใจน้ำใจนักรบ ถ้าไม่ใช่นักรบมันไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจแล้วตะแบง พอตะแบงขึ้นไป ตะแบงนะ ถ้าเป็นกลุ่มชน เป็นกรรมฐานมีครูบาอาจารย์ เขาเปรียบเทียบ เทียบเคียงกันได้ ถ้าเทียบเคียงกันได้มันก็อยู่ที่เราไง อยู่ที่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ว่าเราจะเอาความจริงของเราไหม ถ้าเอาความจริงของเราขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมาให้เป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม นักรบ มันมีผลงานของมัน ถ้ามีผลงานของมัน เป็นความจริงของใจดวงนั้น

ฉะนั้น ถ้ามันปล่อยแล้ว เวลาคลายตัวออกมาให้จับอีก จับแล้วพิจารณาซ้ำเข้าไป ถ้าเป็นไตรลักษณ์ มันปล่อย ปล่อยแล้วปล่อยเล่าๆ เพราะแก่นของกิเลส กิเลสนะ มันอยู่ในใจของเรา มันพาเราเวียนว่ายตายเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย มันครองใจเรามาไม่รู้ว่ายาวนานขนาดไหน แล้วในชาติปัจจุบันนี้ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วมีความมั่นคง มีความจริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นความจริงในใจเราขึ้นมา

ถ้าเป็นความจริงที่ใจขึ้นมา เวลาพิจารณาของเราไปแล้ว แยกแยะไปแล้ว เวลามันปล่อย มันเหมือนกับ เรานะ ถ้าเราทุกข์เรายากมา ใครให้ความช่วยเหลือเจือจานเรา เราก็พอใจแค่นั้น แต่ถ้าเราไม่ขวนขวายต่อเนื่องขึ้นไปล่ะ นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่มันทุกข์มันยากมา เวลาทำความสงบของใจเข้ามา แล้วออกค้นคว้า ออกหากาย หาเวทนา หาจิตตามความเป็นจริง มันพิจารณาของมัน มันปล่อย มันปล่อยวาง นี่ไง มันปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วต่อเนื่องล่ะ ปล่อยวางแล้วเราจะพัฒนาของมันขึ้นไปอย่างไรล่ะ ถ้าปล่อยวางพิจารณาของมันขึ้นไป เพราะอย่างนี้ไงเราถึงได้บอกว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ก็เห็นอนัตตา เป็นอนัตตาจริงๆ มันเป็นอนัตตาระหว่างที่มันเป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม ไตรลักษณญาณ ถ้ามันเป็นไตรลักษณญาณ แต่ผลความเป็นจริงล่ะ

พิจารณาซ้ำๆ ถ้าเวลามันขาดนะ สังโยชน์มันขาด สังโยชน์มันคืออะไร? สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เห็นไหม สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิด เห็นผิดในอะไร? เห็นความผิดในกาย สักกายทิฏฐิ เรื่องกาย ทิฏฐิความเห็นผิด จิตใต้สำนึกมันยึดของมันทั้งนั้นน่ะ นี่ด้วยความเป็นจริงของมัน เวลาพิจารณาไปแล้ว เวลามันขาด วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสจะมีไหม มันจะเกิดความสงสัยขึ้นไหม เพราะมันเห็นจริงแล้วมันเกิดความสงสัยไหม มันไม่มีความสงสัยแล้ว แล้วมันจะลูบคลำอีกไหม ถ้าไม่ลูบคลำ เวลามันขาดไป อะไรมันขาด ถ้ามันขาดออกไปแล้ว นี่ไง เป็นอกุปปธรรมแล้ว ระหว่างกุปปธรรม อกุปปธรรม นักรบเขาจะรู้ความเป็นจริงของเขา ถ้าคนไม่เคยรบ มันไม่เห็นระหว่างที่มันแปรสภาพกับระหว่างที่มันเป็นความเป็นจริง ระหว่างขณะจิตที่มันเป็นจริงขึ้นมามันเป็นอย่างไร

ถ้าเป็นจริงขึ้นมาแล้ว สิ่งที่การกระทำมันเพิ่มขึ้นๆ ถ้าจิตมันขาด สิ่งนี้มันจะเป็นเครื่องยืนยันกับใจของเรา ใจของเรานะ เราค้นคว้ามา สนามค้นคว้า เราได้ทำของเรามา ถ้าสนามค้นคว้า เราค้นคว้ามามากมายแล้ว ค้นคว้ามาก็เป็นปัญญาของเราใช่ไหม อันนี้เราก็ยังสงสัยอยู่ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เราค้นคว้า เห็นไหม ใจเป็นสนามรบ ทำความสงบของใจเข้ามา ความสงบนั่นล่ะ สมาธินั่นล่ะ นั่นล่ะคือสนามรบ

ถ้าสมาธิเป็นสนามรบ เป็นสนามแล้ว ใจเป็นสนามรบ ถ้ามันเป็นสนามรบ แล้วรบเป็นหรือเปล่า แล้วออกรบไหม แล้วเต็มใจรบไหม ว่าจะออก แต่ไม่ออกสักที เห็นไหม ติดสมาธิ แต่ถ้ามันเป็นสมาธิแล้วถ้ามันออกรบ รบกับอะไร ถ้าไม่ค้นคว้าหากิเลส ไม่ค้นหากิเลสที่มันฝังอยู่ในใจ เอาอะไรไปรบกับมัน

ถ้ามันจะค้นคว้าหากิเลส กิเลสมันเป็นนามธรรม มันอาศัยอะไรล่ะ? มันก็อาศัยกาย เวทนา จิต ธรรมนี้เป็นที่อยู่อาศัย เราจับสิ่งนี้ เราพิจารณาของมัน แยกแยะของมันไปตามความเป็นจริง เวลามันขาด สังโยชน์มันขาดไป ถ้าขาดไป สิ่งนี้จะเป็นผลงาน สิ่งนี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรามีศรัทธามีความเชื่อ เราศึกษาของเรามา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่มันขาด มันเกิดนะ ใจเป็นสนามรบ เกิดจากใจของเรา แล้วเวลามันขาดไป ใครเป็นคนรู้? ใจเป็นคนรู้ ถ้าใจเป็นคนรู้ นี่คือผลงาน นี่คือสิ่งที่เราทำมา แล้วมันจะทำต่อเนื่องขึ้นไปอย่างไร เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เรารู้จริงไง

ถ้ามันรู้จริง เห็นไหม ถ้าเราค้นคว้าอยู่ เราศึกษาของเรามา มันทำสิ่งใดขึ้นไปมันทำไม่เป็น แต่พอมันทำไปจริง มันทำเป็น นี่เขาเรียกว่า “ภาวนาเป็น” พอภาวนาเป็น มันจะภาวนาต่อเนื่องไปไง สิ่งนี้เพราะว่า ผิด ก็ผิดมาตลอด เวลามันถูกขึ้นมา ถูกขึ้นมากลางหัวใจของเรา ถ้าถูกขึ้นมากลางหัวใจของเรานะ มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๔ คู่ คู่ที่ ๑ มันเกิดขึ้นมา แล้วคู่ที่ ๒ ล่ะ คู่ที่ ๒ มันก็ทำความสงบของใจให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้นมากับเรามันเป็นเครื่องยืนยันในใจเราแล้ว ถ้าพอมันสงบแล้วเราออกค้นหาต่อเนื่องไป เห็นไหม กายนอก กายใน กายในกาย สิ่งที่เป็นกายนะ ถ้าเป็นเวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา ถ้าเป็นจิตล่ะ จิตนอก จิตใน จิตในจิต นี่มันพิจารณาไปได้

สิ่งที่เป็นศัพท์ของพระกรรมฐาน ผู้ที่เขาค้นคว้าในตำรา เขาบอกว่าสิ่งนี้มันเป็นโวหาร เพราะคนรู้จริงเขารู้จริงของเขา แต่ถ้าเราไม่รู้เห็นไง เราจะค้นคว้าเอาในตำรา พอคนที่เขารู้จริงขึ้นมา เขายื่นดาบให้ เขายื่นอาวุธให้...ไม่รู้ ไม่เข้าใจ แล้วมันเป็นอย่างไร ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ตัวเอง กิเลสมันครอบงำหัวใจ มันก็ไม่เข้าใจ

แต่นักรบรู้น้ำใจนักรบด้วยกัน พอพูด รู้เลย มันเป็นจริงหรือเปล่า ถ้ามันเป็นจริง พอเราเป็นของเรา เราทำความสงบของใจให้มากขึ้น แล้วยกขึ้นสู่กาย ยกขึ้นสู่เวทนา ยกขึ้นสู่จิต ยกขึ้นสู่ธรรม ถ้ามันเป็นได้จริงนะ จับแล้วจับให้ได้ ถ้าจับให้ได้ ทำไมต้องจับอีก มันค้นคว้าของมันให้มันเป็นความจริง เพราะกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดสุด กิเลสที่ละเอียดเข้าไปมันก็มีเล่ห์กลของมันมากขึ้น มันหลบมันหลีก เพราะกิเลสมันกลัวธรรม กิเลสมันกลัวมรรค กลัวดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันชอบไง

ถ้าไม่ชอบ ไม่ชอบมันก็ค้นคว้าเอาแต่ข้างนอก ไม่ชอบ กิเลสมันหัวเราะเยาะ ปัญญาก็อยู่ชายขอบ ปัญญาก็อยู่ข้างนอก ปัญญาก็ไม่เข้ามาสู่หัวใจ เพราะมันเป็นสัญญา สัญญาเป็นขันธ์ แต่ถ้ามันเข้าไปสู่จิต มันเป็นปัญญาภายใน ปัญญาที่เกิดจากจิต เพราะปัญญาที่เกิดจากจิต ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับกาย จับเวทนา จับจิตได้ตามความเป็นจริง มันก็ใช้ปัญญานั้นฟาดฟันกับจิตนั้นต่อเนื่องไป ถ้ามันฟาดฟันกับจิตต่อเนื่องไป สงครามเกิดอีกแล้ว

ในเมื่อใจเป็นสนามรบ แล้วมันต้องรบด้วย มันต้องมีสัจธรรม นี่รบด้วยอะไรล่ะ? ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันรบด้วยปัญญา ที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถ้ามันจับได้ปัญญามันก็เกิด ถ้าเราไม่มีศัตรูที่จะรบด้วย เราจะรบกับใคร เราจะเอาปืนไปยิงใคร ยิงอากาศเหรอ อาวุธเราก็ต้องยิงข้าศึกสิ แล้วข้าศึกมันอยู่ไหน อะไรมันเป็นข้าศึก ถ้ามันไม่ใช่ข้าศึก มันจะไปรบกับใคร

ถ้ามันเจอข้าศึก ถ้ามันแยกแยะ มันจับได้ มันก็จับกาย แล้วกายสักกายทิฏฐิ กับกายภายในมันแตกต่างกันอย่างไร

สักกายทิฏฐิ มันพิจารณากาย มันทำลายจนแปรสภาพ ทำลายจนไม่มีสิ่งใด เป็นผุยผง ไม่มีสิ่งใดเหลือไว้เลย จนว่างเปล่าหมด ว่างเปล่าด้วยมรรค ว่างเปล่า นี่มันผ่านมา อกุปปธรรม แล้วเวลาไปจับ มันเกิดขึ้นมา มันเป็นกายคนละชั้นตอนไง มันเป็นกิเลสที่ละเอียดกว่า มันก็มีภาพของมัน มันก็มีความเป็นจริงของมัน ถ้ามันจับได้ มันแยกแยะได้ด้วยกำลังของสมาธิ ด้วยกำลังของปัญญา แยกแยะเข้าไปนะ ด้วยมรรค มันก็ล้มลุกคลุกคลานอีก เพราะอะไร เพราะกิเลสที่มันละเอียดกว่ามันก็มีเล่ห์กลที่ละเอียดกว่าแน่นอน

ขณะที่ว่าเริ่มต้นภาวนาด้วยการค้นคว้ามา ด้วยการจินตนาการมา ก็ล้มลุกคลุกคลานมา กว่าจิตจะสงบได้ จิตสงบแล้วรักษาไว้ เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญจนมีกำลังขึ้นมา จนจิตเป็นสนามรบ เห็นสนามรบขึ้นมา ก็เห็นกาย เห็นจิตตามความเป็นจริง ก็มีระหว่างกิเลสกับธรรมมันได้ประหัตประหารกัน มันเป็นมรรคขึ้นมา มันเป็นมัคโค เป็นทางอันเอก ทางที่ก้าวเดินของมัน จิตมันก็ก้าวเดินผ่านมรรคนี้มา จิตที่ก้าวเดินผ่านมรรคนี้มา เพราะมันสมุจเฉทปหานไปแล้ว สิ่งนั้นมันอกุปปธรรม มันไม่ดิ้น ไม่เกิดขึ้นมาอีกแล้ว

พอเราจิตสงบเข้ามาแล้ว เราไปจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมอีกขั้นตอนหนึ่ง มันเป็นบุคคลคู่ที่ ๒ แล้วคู่ที่ ๒ กิเลสมันอยู่ที่นั่น ถ้ามันจับต้องสิ่งนี้ได้ มันก็จับขึ้นมาแยกแยะพิจารณาของมันต่อเนื่องกันไป งานที่เคยทำแล้ว มันก็ทำได้เต็มไม้เต็มมือ มันไม่มีเกิดความสงสัย งานที่เราไม่เคยทำ เพราะเราทำของเรา เราทำงานของเรา แต่เราไม่รู้ว่าทำงานจบอย่างใด แล้วอย่างไรมันถึงจะจบล่ะ ทำงานแล้วก็พลั้งเผลอขึ้นมา ปล่อยให้มันเสื่อม เสื่อมแล้วก็พยายามค้นคว้าของมันขึ้นมา ต่อสู้กับมัน จนถึงที่สุดเวลามันขาดไปแล้ว สิ่งนี้เป็นการยืนยัน ถ้ามันตทังคปหาน มันเป็นแบบนี้ ถ้าสมุจเฉทปหาน มันเป็นแบบนี้

ฉะนั้น พอจิตมันสงบเข้ามาแล้ว แล้วมันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ตามความเป็นจริงขึ้นมา เราก็พิจารณาแยกแยะของมันต่อเนื่องกันไป ถ้ามันปล่อยขึ้นมา ปล่อยก็ไม่ไว้ใจ ปล่อยก็แยกแยะต่อเนื่องกันไป แยกแยะซ้ำแยกแยะซากขึ้นมา เวลาแยกแยะซ้ำแยกแยะซากขึ้นมา นักภาวนาเขาถึงต้องการเวลาไง นักภาวนาเขาถึงต้องการอยู่ในที่สงบไง นักภาวนาเขาถึงหลีกเร้น หลีกเร้นเพราะใจ ความรู้สึก กิเลสกับธรรมมันกระทบกันตลอดเวลา มันต่อสู้กันตลอดเวลา มันต่อสู้กันระหว่างกิเลสกับธรรม มันประหัตประหารกันกลางหัวใจของเราอยู่นี่ แล้วใครมันจะรู้กับเราล่ะ

“ก็พระกับพระด้วยกัน นักปฏิบัติกับนักปฏิบัติด้วยกัน ทำไมไม่คลุกคลีกัน ทำไมไม่โอภาปราศรัยกัน เอ! ทำไมถือตัวถือตนเกินไปนัก ทำไมไม่มีน้ำใจต่อกันเลย”

เขากำลังประหัตประหารกัน นี่ธรรมในใจเขาเกิดขึ้น เขาก็พิจารณาของเขา แต่คนที่ไม่เข้าใจ เห็นไหม

ไม่ใช่นักรบไม่เข้าใจเรื่องนักรบ ไม่ใช่นักปฏิบัติจะไม่เข้าใจหัวใจของนักปฏิบัติ

ถ้านักปฏิบัติของเขา เวลาเข้าหมู่ เขาก็เป็นเรื่องปกติ นี่ก็สมบูรณ์อยู่แล้ว เวลาเขาหลีกเร้นไป เพราะเขาต้องการเวลาของเขา จักรของเขาหมุน จักรของเขาเคลื่อนไปแล้ว เขาจะมีปัญญาของเขา เขาจะแยกแยะของเขา

พิจารณาซ้ำพิจารณาซากเข้าไป เวลามันขาดนะ โลกนี้ราบหมดเลย กามราคะ-ปฏิฆะอ่อนลง เห็นไหม บุคคลคู่ที่ ๒ แล้วจะเจริญต่อเนื่องขึ้นไป มันจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา ถ้ามันไม่เป็นมหาสติ-มหาปัญญา มันจะเข้าไปเจออสุภะไม่ได้ ถ้าไม่มีมหาสติ-มหาปัญญา มันจะเข้าไปจับกามราคะไม่ได้ ถ้าจะเข้าไปจับกามะราคะ มันเป็นมหาสติ-มหาปัญญา นี่ไง ถ้ามันเป็นมหาสติ-มหาปัญญา

ทีนี้ถ้าจับต้องได้แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา “ใจเป็นสนามรบ” เวลารบจะรบกับแม่ทัพ เรารบมา จากไพร่พลของเขา รุกเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนจะเข้าไปสู่แม่ทัพ ถ้าเข้าไปสู่แม่ทัพ มันต้องมีมหาสติ-มหาปัญญา เพราะแม่ทัพเขาเป็นคนควบคุมกองทัพของเขา เขามีอำนาจ เขามีสติปัญญา เขาถึงได้เป็นแม่ทัพ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเข้าไปสู่กามราคะ กามราคะที่ว่าเราจะไปบีบบี้กับมัน บีบบี้สีไฟกับกามราคะ กามราคะนะ สัตว์โลก ในวัฏจักร กามคุณ ๕ จิตที่มันหมุนเวียนกันอยู่นี่ก็เพราะเหตุนี้ แล้วถ้าจิตที่มันหมุนเวียน มันเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี่เพราะมันมีอะไรฝังใจมันอยู่ แล้วเราจะไม่เกิดไม่ตาย เราจะถอดถอนพิษไข้ เราจะถอดถอนสิ่งที่มันปักอยู่กลางหัวใจ

ถ้าเป็นมหาสติ-มหาปัญญา ถ้ามันจับของมัน เราจะเห็นปัญญาที่หลวงตาท่านบอกว่าเป็นน้ำป่าๆ ที่มันจะรุนแรงมากๆ เพราะมันรุนแรงมาก เพราะมันเป็นมหาสติ-มหาปัญญา มันใกล้ชิดกับจิตมาก มันไม่ส่งออกไปไกล มันอยู่ใกล้ชิดกันแล้วมันพัวพันกันอยู่ตลอดเวลา มันจะพิจารณาแยกแยะของมัน

แล้วคิดดูสิ สิ่งที่เป็นแม่ทัพ พอพิจารณาแยกแยะเข้าไป เห็นไหม ความพิจารณาจากข้างต้น มันพิจารณาเห็นชัดเจนของมัน มันเป็นขันธ์ ขันธ์คือว่ามันเป็นความคิด ขันธ์เป็นความคิด มันเป็นขันธ์ ที่ว่าปัญญาเกิดจากจิตมันเป็นขันธ์

แล้วขันธ์มันไม่ใช่จิต แล้วเกิดมาได้อย่างไร

ขันธ์อันนี้มันมีสมาธิรองรับ มันเกิดจากจิต ถ้าจิตมันรองรับขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นปัญญาอย่างหยาบ แล้วปัญญาอย่างละเอียดเข้าไป แล้วพอเป็นมหาสติ-มหาปัญญา ปัญญามันยิ่งละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป พิจารณาเข้าไป มันจะเข้าสู่ใจแล้ว เพราะเวลามันขาด เห็นสมุจเฉทปหานมันขาดอย่างนี้ สังโยชน์ขาดไป เวลาพิจารณาไป เวลากามราคะ-ปฏิฆะมันขาดไป มันอ่อนโยนไปหมด จิตใจนี้อ่อนโยนไปหมด จิตใจนี้มันราบเรียบไปหมด

แล้วเวลาถ้าทำความสงบมากขึ้น เวลามันเป็นมหาสติ-มหาปัญญา มันไปจับกามราคะได้ นี่ปฏิฆะ-กามราคะที่มันจับของมัน มันพิจารณาไป มันยิ่งละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป นี่ปัญญาเกิดจากจิตๆ เพราะจิตเป็นสมาธิ จิตเพราะมันเป็นสนามรบ จิตเพราะว่ามันมีสติปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา พอจับแล้วพิจารณามันละเอียดเข้าไป แต่เราก็คิดถึงประสบการณ์ ตั้งแต่คู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ มันเป็นอย่างนี้ๆ มันก็เลยให้กิเลสมันหลอก เลยให้กิเลสมันหลอกล่อ หลอกล่อเราก็ล้มลุกคลุกคลาน

เวลาใช้ปัญญา มหาสติ-มหาปัญญา ปัญญาที่รุนแรงมาก รุนแรงมากเพราะมันท่วมท้น มันท่วมท้นเข้ามาในหัวใจ ปัญญามันเกิดจนเราก็งง ใครปฏิบัติไปถึงตรงนี้งงมาก ถ้างงขนาดไหน มันมีครูมีอาจารย์ไง ถ้ามีครูมีอาจารย์ เห็นไหม “จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง” ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว นักปฏิบัติจะเข้าใจน้ำใจของนักปฏิบัติ นักปฏิบัติเขาต้องการทำอย่างไร แต่ถ้าเราไม่เคยมีประสบการณ์ว่าการปฏิบัติเป็นแบบนี้เลย “ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมต้องมาทำทุกข์ยากขนาดนั้น”

แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาทั้งวันทั้งคืน ทำกันต่อเนื่องเป็นปีเป็นเดือน ทำอยู่อย่างนั้น เพราะอะไร เพราะมันได้เสีย มันได้เสีย เวลาจิตมันปล่อยนะ ดูสิ เวลาเราพักผ่อน เราพอใจของเรา เรามีความสุขของเรา เวลาจิตมันปล่อยแต่ละครั้ง มันปลื้มใจ มันมหัศจรรย์ เวลาจิตมันเบาๆ เราเคลื่อนไหวไป เหมือนกับเราไม่ได้เดิน มันจะลอยไปตลอดเลย ลอยด้วยอำนาจของหัวใจนะ เราก็อยู่อย่างนั้นล่ะ ถ้ามันทำของมัน นี่ธรรมจากภายใน ถ้ามันพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ มันละเอียดเข้ามาๆ แล้วละเอียดเข้ามา เราจะให้มันปล่อย มันไม่ปล่อยหรอก

ละเอียดเข้ามา จนมันกลืนเข้าไปสู่ดวงจิตนั้น แล้วมันทำลายที่นั่น ทำลายที่นั่น ปฏิฆะ-กามราคะ มันทำลายข้อมูลที่มันฝังอยู่ที่ใจ ทำลายหมด ทำลาย เวิ้งว้างหมด ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้ มันก็นอนจมอยู่นั่น ถ้ามันจับต่อเนื่องไปๆ มันพิจารณาละเอียดเข้าไป สิ่งที่เศษที่เหลือ พิจารณาซ้ำๆๆ มันคายออกหมด เวิ้งว้างหมด เวิ้งว้าง เห็นไหม

สิ่งที่ว่ามือเราจับสิ่งของ มันต้องมีมือและสิ่งที่ให้เราจับ มือหนึ่งจับมือหนึ่ง มันก็มี ๒ มือจับด้วยกัน จิตมันมีขันธ์มันก็กระทบของมัน แล้วมันมีมือเดียว มันจับสิ่งใดไม่ได้เลย ทำอย่างใด จิตเวลามันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตที่มันรู้ว่าเป็นจิตได้ เพราะมันมีเครื่องกระทบ มันมีเครื่องบอกใช่ไหม มันมีสีมีสันขึ้นมา ถึงว่าจิตเป็นอย่างนั้นๆ เวลาจิตมันปล่อยหมดแล้ว มันเป็นตัวมันเอง มันผ่องใส แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ

นี่ไม่มีครูบาอาจารย์บอก มันทำได้ยาก แล้วเวลาถ้ามีครูบาอาจารย์บอก เราก็จะเทียบว่าเหมือนกันๆ เราทำมาแล้ว เห็นไหม นักปฏิบัติไม่เข้าใจนักปฏิบัติ นักปฏิบัติไม่ใช่นักปฏิบัติ ปฏิบัติไม่เป็น ไม่เข้าใจถึงหัวใจนักปฏิบัติ นักรบไม่เคยออกสงคราม ไม่เข้าใจหัวใจของนักรบ มันจะผ่องใสขนาดไหน มันก็มีอรหัตตมรรค มีความเป็นไป เป็นความเป็นจริงที่ทำได้ ถ้ามีความเป็นจริงที่ทำได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เพราะจิตเดิมแท้เป็นอวิชชา เพราะสิ่งที่ผ่องใสนั่นแหละ นั่นแหละตัวเกิด นี่ปฏิสนธิจิต เพราะอะไร เพราะมันไปเกิดบนพรหมไง ถ้าไม่มีสติปัญญาอัตโนมัติ ไม่มีญาณหยั่งรู้เข้าไป จับตัวนี้ไม่ได้ ถ้ามันมีญาณหยั่งรู้มันถึงเข้าไปจับตัวนี้ได้ จับสิ่งที่ปฏิสนธิจิต จิตเพียวๆ จิตใสๆ เพราะมันจับของมันได้ จับของมันได้ นี่เป็นปัญญาญาณ ปัญญาญาณเข้าไป มันกลืนกินเข้าไป กลืนกินเข้าไปจนจิตเป็นมัธยัสถ์

ถ้ามันทำลายลง พอมันทำลายลง บุคคลคู่ที่ ๔ ถ้ามันทำลายลงจบสิ้น สิ่งที่เป็นสมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติคือภาษา สิ่งที่จับต้องได้ ที่สื่อสารได้ สิ่งนี้มันจบสิ้น ทำลายภวาสวะ ทำลายภพ จบสิ้นไป มารหาไม่เจอ เวลามารนะ อวิชชามันอาศัยจิตของเราเวียนว่ายตายเกิด มันมีภวาสวะ มีภพ มารนี้มันถึงได้อาศัยสิ่งนี้เป็นที่อยู่อาศัย

เราวิปัสสนามา เราใช้ระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กันมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แยกแยะขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน เพราะสังโยชน์ ๑๐ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สิ่งต่างๆ มันทำลายเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จนถึงความผ่องใส ถึงตัวตนที่เป็นจริง ธาตุรู้ สิ่งที่ถูกรู้ไม่มี ธาตุรู้ แล้วเวลาเข้าไปถึงตัวธาตุรู้ แล้วทำลายตัวธาตุรู้ พอทำลายตัวธาตุรู้นะ ทำลายปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิจิตหมดแล้ว มารมันจะอยู่ที่ไหนล่ะ มารมันจะไปอยู่ที่ไหน มันจะแสดงตัวที่ไหน มันไม่มีสิ่งใดให้ใครแสดงตัว ไม่มีสิ่งใด

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา อีก ๔๕ ปี สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพาน นั่นน่ะ อนุปาทิเสสนิพพาน จบสิ้น ฉะนั้น ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ภาราหเว ปญฺจกฺขนฺธา เป็นภาระๆ แต่ปุถุชนของเรา ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ เป็นมาร ขันธมาร เพราะมันขัดแย้งกับความรู้สึกเรา เราก็ทุกข์

แต่ถ้าผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว สิ่งนี้เป็นภาระหน้าที่ เพราะชีวิตนี้มันมีสิ่งนี้เป็นเครื่องอาศัย แล้วชีวิตนี้มันมีกิเลสพามาเกิด แล้วเรามีความเชื่อมีความศรัทธาในพุทธศาสนา แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันสำรอกคายออก คายกิเลส ทำลายอวิชชา ทำลายภวาสวะ ทำลายภพทั้งหมด แต่ขันธ์ก็ยังอยู่ไง ขันธ์ก็ยังอยู่ สิ่งที่ยังอยู่ สิ่งนี้เป็นภาระ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีธาตุขันธ์ อนุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว จบ ไม่มีสิ่งใดอีก ไม่มีสิ่งใดให้ตามหา

นักรบเข้าใจเรื่องของนักรบ นักปฏิบัติจะเข้าใจเรื่องของปฏิบัติ แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ เอาสนามค้นคว้า เอาตำรับตำรานั้น เอาประวัติครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ปฏิบัติของท่านตามความเป็นจริง แล้วจารึกไว้เป็นเกร็ด เป็นสิ่งบอกทาง แต่เราไม่เข้าใจ เราก็ค้นคว้าเอาทางวิชาการ เอามาตัดสินไง ฉะนั้น ถึงไม่ใช่นักรบจริง

ถ้านักรบจริงเขาจะรู้ของเขาตามความเป็นจริง นักปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติรู้จริงเห็นจริง มันอันเดียวกันทั้งนั้นล่ะ อันเดียวกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาวางธรรมวินัยไว้ให้ ผู้ใดปฏิบัติไป ถ้าตามเป็นจริง ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าใช่ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทำให้ใครเป็นอย่างนั้น แต่เพราะเขาประพฤติปฏิบัติตามความจริงของเขา ถ้าถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกว่าใช่ แต่ถ้ามันไม่ใช่ก็บอกว่าไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องทำต่อเนื่องไป ถ้ามีอำนาจวาสนา ถ้าไม่ใช่แล้วน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ใช่แล้วเลิกไปก็จบ ฉะนั้น เราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา

ใจเป็นสนามรบ เราหาหัวใจของเราให้เจอก่อน คือทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ หาสนามรบ หาหน้าที่การงานของเรา แล้วเราทำประพฤติปฏิบัติขึ้นไป วิปัสสนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เห็นไหม เกิดสงคราม สงครามระหว่างธาตุกับขันธ์ ระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้ประหัตประหารกัน ถ้ามันทำได้จริงเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัตินั้น เอวัง

ร้า