เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ มี.ค. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ฟังธรรมเพื่อหัวใจของเราเนาะ ทุกคนปรารถนาความดี ทุกคนอยากได้ของดี ทุกคนอยากเป็นคนดี ความดีของเรา เราตั้งปรารถนาว่าเป็นความดี ถ้าความดีนะ ความดีที่ไหนใครก็ชอบ สิ่งที่เป็นคุณงามความดี คุณงามความดีเราต้องทำอย่างไร ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา เราทำคุณงามความดีตามสถานะ สถานะของเด็ก สถานะของคนทำงาน วัยทำงาน สถานะของผู้ใหญ่ ความดีมันมีแตกต่างหลากหลาย เห็นไหม นี่ความดี

แตกต่างหลากหลายหมายความว่า จริตนิสัยของคน ความเห็นของคน สังคมแตกต่าง การทำคุณงามความดี ทำความดีสมฐานะ สมสถานที่ ถ้าทำดีไม่สมฐานะ ไม่สมสถานที่ เห็นไหม ความดีเราคิดแต่ความดีของเรา อย่างนี้เป็นวิทยาศาสตร์ คำว่า “เป็นวิทยาศาสตร์” คือมันคงที่ตายตัว ถ้าคงที่ตายตัว ความดีของเรา ความดีอย่างนี้เราจะไปสอนเด็กไม่ได้ เด็กต้องให้มันมีความสะดวกของเขา ให้เด็กมันพัฒนาการของมันขึ้นมา ถ้าเด็กมันพัฒนาสมวัยขึ้นมา พอโตขึ้นมาจะเป็นคนดีแน่นอน แต่เด็กถ้าไม่สมวัยของมัน เราไปกดขี่ เราไปบีบคั้นเขา ถ้าบีบคั้นเขาขึ้นมา เขาก็มีปมด้อยของเขา นี่ความดีของเด็ก

วัยทำงานๆ คนที่ไม่มีประสบการณ์ เราต้องให้โอกาสเขา ถ้าให้โอกาสเขา เขาทำของเขา เขามีประสบการณ์ของเขา เขารู้ถูกรู้ผิดของเขา เขาคัดแยกของเขา นี่ความถูกความผิดเขาแยกของเขาเอง วัยทำงานผ่านการทำงานมา ทำงานประสบความสำเร็จมา ชีวิตบั้นปลายของเรา เราจะร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเราทำงานของเราลุ่มๆ ดอนๆ มา ชีวิตบั้นปลายของเรา เราต้องทำงานไปตลอดชีวิต เห็นไหม นี่งานภายนอก

ถ้างานภายใน ความดีๆ ความดีของเรา ถ้าจะเอาความดีของเรา ความดีของเรา เราอยู่โคนไม้ของเรา ความดีของเราคือเอาหัวใจไว้ในอำนาจของเรา ถ้าเราเอาใจไว้ในอำนาจของเรานะ ความดีอย่างนี้ประเสริฐที่สุด ประเสริฐที่สุดเพราะเหตุใด เพราะโอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาที่โคนต้นโพธิ์นั้น เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ขึ้นมา เทวดา อินทร์ พรหมส่งข่าวเป็นชั้นๆ ขึ้นไป เพราะอะไร เพราะว่าคนทุกข์คนยาก คนเจ็บไข้ได้ป่วยมันไม่มียารักษา ธรรมโอสถมันไม่มี พอไม่มี ฤๅษีชีไพรเขาประพฤติปฏิบัติของเขามาตั้งแต่ต้น เขาพยายามขวนขวายของเขา เขาปฏิบัติของเขา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาบอกว่าเป็นศาสดาๆ เป็นพระอรหันต์ไง เป็นพระอรหันต์ก็ความดีของเขา นี่วุฒิภาวะของเขา เห็นไหม ความดีของเขา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ดูธรรมที่ไหน เวลาไปเทศนาปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหาร ทำทุกรกิริยามหาศาลเลย ก็อุปัฏฐากเพื่อรอ รอธรรมโอสถๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรมานตน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรมานกิเลส ว่าร่างกายนี้เป็นกิเลส ความรู้สึกเราเป็นกิเลส แต่กิเลสมันอยู่ที่ใจ

ทำสิ่งใดก็แล้วแต่มันไปตัน มันไปไม่รอด มันไปไม่รอด ทำถึงที่สุดแล้วมันไม่มีเหตุมีผล คิดหาเหตุหาผลขึ้นมา มาฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์ทิ้งไปเลย ทิ้งไปเพราะเหตุใด ทิ้งไปเพราะทำทุกรกิริยาขนาดนี้ มานะบากบั่นขนาดนี้ยังทำไม่ได้ แล้วกลับมามักมาก กลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา

สิ่งที่เป็นความเห็นของเขา ความดีของเขาๆ ความดีของโลกที่เขาเห็นได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันอาหารของนางสุชาดาขึ้นมา ฟื้นฟูร่างกายขึ้นมาๆ ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า กิเลสไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย กิเลสไม่ได้อยู่ที่ความคิด อานาปานสติ สงบความคิดนั้นเข้ามา สงบความคิดเข้ามา เวลาจิตสงบมันเป็นกลางขึ้นมา เป็นกลางหมายถึงมันเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นถูกต้องขึ้นมา เพราะไม่มีสิ่งใดมาครอบงำ

เวลาย้อนกลับไป ดูสิ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ทำลายอวิชชาในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ตรงนี้ที่เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเปล่า กามสุขัลลิกานุโยค ความลุ่มหลงในโลก ความลุ่มหลงในความสุขของโลก ความลุ่มหลงในความดีงาม เราลุ่มหลงอย่างนั้น แล้วมัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไร

มัชฌิมาก็ทางสายกลางระหว่างความดีกับความชั่ว แล้วอยู่ตรงกลางนั่นน่ะ...กลางอย่างนั้นใช้ไม่ได้ กลางของใคร กลางมันอยู่ที่จริตนิสัย เห็นไหม ดูสิ ความพอดี ความพอดีของเด็ก ความพอดีของวัยทำงาน ความพอดีของคนที่ผ่านโลกมาแล้ว นี่ความพอดีๆ มัชฌิมาปฏิปทาคือความพอดี แล้วพอดีตอนไหนล่ะ เวลาคนปฏิบัติ มัชฌิมาปฏิปทา ทำอย่างไรจะให้มัชฌิมาปฏิปทา

ถ้าเรามีทิฏฐิ เรามีอัตตา กิเลสมันก็แฝงอยู่ตรงนั้นแล้ว เราจะเอาความพอดีๆ พอดีของใครล่ะ เราต้องทำความพอดี ความพอดีของสัจธรรม สัจธรรมมันเป็นอริยสัจ ความดีของมัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์ควรกำหนด เราไปกำหนดที่ทุกข์ กำหนดที่ความเป็นไป กำหนดที่ความขัดอกขัดใจ กำหนดสิ่งที่เราไม่ต้องการ นี่การกำหนด

แต่เราไม่ต้องการ เราผลักไส ไม่เอาๆๆ เพราะสิ่งนี้ทุกข์ควรกำหนด ไปละ ละที่สมุทัยไง ตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากเป็นกิเลส แล้วถ้ารูปอันวิจิตรไม่เป็นกิเลส แล้วเราติดรูป เราติดในสิ่งที่เราต้องการปรารถนา นี่ความดีเหมือนกัน ความดีของขั้นสมถะ ความดีของการแสวงหา การแสวงหาเริ่มต้นเราต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันไม่สงบเข้ามามันติดอย่างนี้ มันติดความดีของมันอย่างนี้ นี่ว่าเป็นความดีๆ ความดีอย่างนี้มันก็ต้องทำ เห็นไหม ความดีอย่างนี้มันก็ต้องทำ หมายความว่า เราเริ่มต้น ความดีโดยศีลธรรมจริยธรรม เวลามีศีลธรรมจริยธรรม เรามีจิตใจเมตตาต่อกัน เรามีน้ำใจต่อกัน นี่ความดี ศีลธรรมจริยธรรม ประเพณีวัฒนธรรม นี่ก็เป็นความดี

ถ้าความดีของโลกๆ เขา เวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราก็ไม่เชื่อ “เขียนเสือให้วัวกลัว นรกสวรรค์ไม่มี พวกนี้เขียนเสือให้วัวกลัว” แล้วไปเขียนภาพเสือให้วัว วัวมันกลัวไหมล่ะ? มันไม่กลัวหรอก เพราะมันเป็นภาพ มันไม่ได้กลิ่น มันไม่มีภัยมา มันไม่กลัวหรอก วัวมันไม่กลัวเสือที่เขาเขียนให้เป็นภาพเสือ แต่วัวมันกลัวเสือจริงๆ พอเสือมา กลิ่นของเสือมันมา มันได้กลิ่นของมันเข่าอ่อนเลยนะ เพราะมันจะล่า นักล่ามันจะเอามาเป็นอาหาร

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ศีลธรรมจริยธรรม เราทำคุณงามความดีมหาศาลแล้ว แล้วพอทำไปแล้วมันไม่มีสิ่งใดตอบสนองขึ้นมา นรกสวรรค์ไม่มี เขียนเสือให้วัวกลัว ไม่เชื่อๆ ไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะมันไม่ถึงจุดของมัน มันทำไม่ถึงสัจจะความจริงไง ถ้าสัจจะความจริง มันเห็นเสือ มันกลัวนะ เพราะอะไร เพราะมันเห็นภัยในวัฏฏะไง

จิตนี้มันเวียนว่ายตายเกิด เวลาเกิดขึ้นมาเกิดมาเป็นเรา เราเกิดมาเป็นเราโดยที่เป็นอริยทรัพย์ เพราะเป็นมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์มีปัญญา ปัญญาแสวงหาๆ แสวงหาปัจจัยเครื่องอาศัย เครื่องอาศัย อาศัยดำรงชีวิตไง วิชาชีพ อาชีพที่ดำรงชีพ เราเกิดมาต้องมีอาชีพ ต้องมีสิ่งที่ดำรงชีวิตไว้ ดำรงชีวิตไว้ทำไม

เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เราเสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เราต้องดูแลรักษาร่างกายของเรา เราเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เราสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม สัจธรรมเป็นความจริงไง เราสละชีวิต สละชีวิตอย่างไร เห็นไหม คนที่เขาสละชีวิต ดูสิ เขาประสบอุบัติเหตุ เขาสละชีวิตไปเขาได้อะไรขึ้นมา นั่นอุบัติเหตุของเขา เขาเสียชีวิตของเขาไปโดยไม่มีสติปัญญาของเขา

แต่ถ้าเราเสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมๆ เวลากิเลสมันครอบงำ มันอยู่ฟากตายๆ มันจะหลอกล่อเลย “ปฏิบัติมาก็เต็มที่แล้วนะ ปฏิบัติไปอย่างนี้เดี๋ยวจะตายแล้วนะ”

“ปฏิบัติ อ้าว! ตาย อะไรตายก่อน”

คนตายนะ คนที่ประสบอุบัติเหตุเขาตายเพราะเขาประมาท เขาขาดสติ เขาทำพลาดของเขา เขาถึงเสียชีวิตของเขาไป แต่ของเรา เรามีสติปัญญาพร้อม จิตเราสงบขึ้นมา เราพิจารณาของเราขึ้นมา ต่อสู้กับพญามาร พญามารมันก็ล่อลวง พญามารมันก็ใช้เล่ห์กลของมัน “ปฏิบัติไปแล้วร่างกายจะพิการ ปฏิบัติแล้วจะสิ้นชีวิตแล้ว ปฏิบัติไปมันจะเป็นจะตายแล้ว”

“อะไรตายก่อน” เพราะอะไร เพราะเรามีสติปัญญาพร้อม เราไม่ใช่คนประมาท คนประมาทที่เขาประสบอุบัติเพราะเขาประมาทเลินเล่อของเขา เขาถึงกับเสียชีวิตของเขา นี่เราสติปัญญาพร้อม มันเอาการตาย เอาการที่ต้องทำลายมาข่มขู่ เห็นไหม เรามีสติปัญญาต่อสู้กับมัน อะไรตายมันตายก่อน กระดูกตายไหม เนื้อตายไหม หนังตายไหม ร่างกายนี้มันตายได้ไหม? มันตายไม่ได้ เพราะมันเป็นธาตุ ๔ แล้วอะไรมันตายล่ะ อะไรตาย? ก็จิตไง จิตถ้ามันละจากร่างนี้ไป มันพ้นจากภพชาตินี้ไป มันละร่างกาย จิตออกจากร่างนี้ไป จิตวิญญาณนี้มันก็ไปเสวยภพของมันต่อเนื่องกันไป แล้วอะไรมันตายล่ะ อะไรมันตาย มันไม่มีอะไรตาย เห็นไหม มันเปลี่ยนที่คุมขัง มันเปลี่ยนสถานะของเราเท่านั้น แล้วมันเปลี่ยนไป มันเปลี่ยนไปเพราะเหตุใดล่ะ

ถ้ามีสติปัญญา มันทันของมันนะ นี่ฟากตายๆ สละชีวิต สละชีวิตอย่างนี้มันก็ได้สิ่งนี้มา ได้อะไรมา? ได้ปัญญามา ได้การรู้แจ้งมา ถ้าได้การรู้แจ้งมา เรารู้แจ้งเพราะอะไร เพราะกิเลสมันครอบงำไม่ได้ กิเลสมันครอบงำไม่ได้เพราะอะไร เพราะมีสติปัญญา

เราสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม แล้วถ้าเราไม่มีสติปัญญาจะไปรักษาที่ไหนล่ะ ไปรักษาที่ไหน รักษาตู้พระไตรปิฎกใช่ไหม รักษาไว้ให้ปลวกมันกินใช่ไหม ตู้พระไตรปิฎก หนังสือปลวกมันก็กิน ศีลธรรมจริยธรรมมันก็เป็นคนสร้างขึ้นมา มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม เป็นวิธีการ เป็นการชักนำเข้ามาให้เราศึกษาค้นคว้า ให้เรามีความสนใจ ถ้าเราศึกษาค้นคว้า ศึกษาค้นคว้าที่ไหนล่ะ? ศึกษาค้นคว้าก็ศึกษาค้นคว้าที่เรา มีสติ มีสติยับยั้งความรู้สึกนึกคิด ถ้าความรู้สึกนึกคิดคิดสิ่งใดที่ไม่ดี เบรกมันไว้ ถ้าสิ่งใดต้องเหยียบคันเร่ง เหยียบคันเร่ง

คุณงามความดีของเรา เราขวนขวายๆ เพราะอะไร ชีวิตนี้สั้นนัก ชีวิตนี้เหมือนพยับแดด เวลามันมีความร้อนขึ้นมามันก็มีพยับแดด เดี๋ยวพออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปมันก็หมดแล้ว ชีวิตนี้ เห็นไหม ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เวลาจิตมันออกจากร่างๆ จิตนี้ออกจากร่างแน่นอน จิตนี้ไม่เคยตาย ถ้าจิตนี้ไม่เคยตาย

จิตที่มันตายนะ อย่างธาตุ เราบริหารจัดการมันได้ เรื่องแร่ธาตุต่างๆ เราแปรสภาพมันได้ แล้วธาตุรู้ เวลาความทุกข์ เวลาสิ่งที่มันยึดเหนี่ยวไว้ในใจ สิ่งที่มันเป็นปม ทำไมเราบริหารมันไม่ได้ล่ะ เห็นไหม ที่มันไม่เคยตาย ไม่เคยตายเพราะแบบนี้ไง มันไม่เคยตายเพราะสิ่งที่ว่าของเป็นทิพย์ๆ เราเสียสละ ทำคุณงามความดี สิ่งที่เป็นทิพย์ เป็นทิพย์เพราะอะไร เสียสละทานใครเป็นคนทำ? มีเจตนาใช่ไหม มันทำแล้วมันฝังที่ใจ ใครทำสิ่งใด สิ่งนั้นต้องฝังไปที่ใจกับเรา ฝังที่ใจมันก็ไปกับใจไง เห็นไหม ถ้าเราบริหารจัดการมันได้ ถ้าเราแปรสภาพมันได้ ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่ทุกข์เราจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นสุข ทุกข์จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นความดี ทุกข์เราสลัดทิ้งมันไป แล้วทำไมมันทิ้งไม่ได้ล่ะ มันทิ้งไม่ได้ เห็นไหม มันทิ้งไม่ได้เพราะจิตนี้ไม่เคยตาย มันฝังไป

จิตนี้ถ้ามันตายนะ ถ้ามันขาดช่วงนะ พระโพธิสัตว์ การสร้างบุญญาธิการมาเป็น ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นพันธุกรรมของจิต จิตนี้ พันธุกรรมนี้ได้ตัดแต่ง ได้แยกแยะ ได้คัดแยก จนพระโพธิสัตว์ทำคุณงามความดี แต่ละภพชาติเกิดมานะ ถ้าเรามองในแง่ของวิทยาศาสตร์ ในแง่ของโลกนะ น่าทุกข์ยากมาก เกิดมาเป็นเตมีย์ใบ้ ขันติบารมี มาสร้างบารมี กษัตริย์เขาไม่เชื่อ ไม่เชื่อนะ เขาตัดจมูก เขาจะให้พูดออกมา เพราะว่าเป็นใบ้ เป็นใบ้บ้า นี่เตมีย์ใบ้ คิดดูสิ เกิดมาให้เขาทำลาย เกิดมาให้เขากลั่นแกล้ง นี่พูดทางวิทยาศาสตร์นะ คิดถึงทางโลกนะ

แต่ ๑๐ ชาติ ทศชาติ ชาติที่สร้างขันติบารมี ทานบารมี ปัญญาบารมี สร้างขึ้นมา ทานบารมี เป็นพระเวสสันดร สร้างสิ่งนั้นมาทำไม นี่พันธุกรรมของมัน จิตมันได้ตัดแต่งขนาดนั้น จิตมันได้บำรุงรักษาขนาดนั้น เวลามาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นไหม ขนาดเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วก็ยังมีกิเลสอยู่ เพราะอะไร เพราะมีนางพิมพา ยังมีสามเณรราหุล แล้วเวลาออกไปแล้ว เพราะอำนาจวาสนาบารมีอย่างนั้นถึงมีการเข้ามากระทำ นี่ไง ความดี ทุกคนปรารถนาความดี แต่ความดีของใครล่ะ

ความดีอย่างนี้ความดีของวัฏฏะ คือความดีสร้างสมคุณงามความดี อย่างเช่นเราทำคุณงามความดี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีต้องให้ความดีแน่นอน ช้าหรือเร็ว เพราะว่ากรรมเป็นอจินไตย การกระทำมันมีกรรมเก่ากรรมใหม่ เห็นไหม เราไปทำกับในสังคม ในสถานะที่ไม่ถูกต้อง ความดีอันนั้นมันไม่สมบูรณ์ ความดีอันนั้นมันไม่ถูกกาลเทศะ แล้วความดีที่ทำให้ถูกกาลเทศะทำอย่างไรล่ะ เราก็ต้องมีปัญญา มันสมดุลไหม มันพอดีของมันไหม

แล้วเวลาเราปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน เราย้อนกลับมาความดีของเรา เราทำของเราได้ นั่งขัดสมาธิ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ดูแลหัวใจ ความดีอันนี้ประเสริฐที่สุด ประเสริฐที่สุดเพราะอะไร ประเสริฐที่สุดเพราะว่ามันเป็นอริยทรัพย์ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ เธอบอกบริษัท ๔ ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด”

การปฏิบัติบูชานั้นมันจะสร้างศีล ศีลคือความปกติของใจ

สร้างสมาธิคือความตั้งมั่น แล้วมันจะสร้างปัญญาไง

ทุกคนเกิดมาอยากเป็นคนฉลาด อยากเป็นคนมีปัญญามาก อยากเป็นคนมีปัญญากว้างขวาง เห็นไหม การจะมีปัญญาหรือไม่มีปัญญาตรงนี้ มีปัญญาเพราะอะไร เพราะเราลุยไฟไง เวลานั่งสมาธิไปแล้ว ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงขึ้นไปแล้วมันจะเกิดเวทนาขึ้นมา มันจะเกิดสิ่งเร้าในใจของเราขึ้นมา มันจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมา “ทำความดีทำไมไม่เป็นความดีล่ะ นั่งสมาธิภาวนาก็เป็นพระอรหันต์ไปสิ นั่งสมาธิภาวนาไปแล้วทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้ล่ะ”

เพราะนั่งสมาธิภาวนาไปมันเป็นตบะธรรม มันแผดเผากิเลส แผดเผาอวิชชา แผดเผาพญามารที่อยู่กลางหัวใจนี้ มันก็มีความต่อต้าน มันก็มีกำลังของมัน แล้วเราจะมีปัญญา นี่ปัญญาเอาชนะตนเองไง ถ้าปัญญาเอาชนะตนเองได้นะ เราชนะเราได้ เราชนะคนทั้งโลก

ทุกดวงใจเป็นแบบนี้ ทุกดวงใจว้าเหว่ ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ แล้วดวงใจนี้มันได้แก้ไขดวงใจนี้ ดวงใจนี้ได้ปลดเปลื้องในดวงใจนี้แล้ว ทุกๆ ดวงใจก็เป็นแบบนี้ เห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มาฟังเทศน์ตรงนี้แหละ มาฟังเทศน์ว่าจะแก้ไขอย่างไร จะปลดเปลื้องหัวใจให้เป็นอิสระได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้เป็นอิสระ นี่อริยทรัพย์ สัจจะความจริงอันนี้ไง นี่เวลาฟังเทศน์ฟังเทศน์ตรงนี้ไง

ฉะนั้น เราฟังเทศน์ ฟังเทศน์ขึ้นมา เรื่องระดับของทาน เขาเสียสละเป็นประเพณีวัฒนธรรม คุณงามความดี ความดีใครก็ปรารถนา เขาว่า “ทำดีแล้วไม่ได้ดี” ทำดีเป็นพื้นฐาน แล้วเราทำดีแล้วเรามีทาน มีศีลคือความปกติของใจ ถ้ามีพื้นฐาน มีจิตตั้งมั่น มีปัญญาขึ้นมา มันไม่เอาแล้ว ไอ้ที่เขาหาบหามกันนี่มันปล่อยแล้ว ไอ้ความดีโลกๆ อย่างนี้มันเป็นสมบัติสาธารณะ ความดีของใคร ใครก็สร้างได้ ความดีส่วนบุคคลของเรา ความดีในหัวใจของเรา ปัญญาที่มันเกิดขึ้น ความดีอันนี้มันจะข้ามพ้นวัฏฏะ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายเป็นวิมุตติสุขอยู่กลางหัวใจของเราตลอดไป เอวัง