เทศน์บนศาลา

เกิดโลก เกิดธรรม

๒ พ.ย. ๒๕๔๗

 

เกิดโลก เกิดธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ เราจะฟังธรรมนะ ฟังธรรมไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้ชีวิตเรามีคุณค่า ชีวิตถ้ามีคุณค่า ถ้าเรารู้จักคุณค่า ไม่ใช่ไก่ได้พลอย ไก่นะมันได้พลอยเม็ดหนึ่ง มันเห็นพลอย มันไม่มีคุณค่ากับมันใช่ไหม มันต้องการได้ข้าวสารเพราะข้าวสารมันได้กินอิ่มท้องมัน แต่มนุษย์เรารู้จักว่าพลอยเม็ดหนึ่งมีคุณค่ามากกว่าข้าวสารมหาศาลเลยเพราะมันมีคุณค่ามาก นี่ไก่มันไม่เข้าใจของมัน มันเห็นสภาวะมันแบบนั้น ปัญญาของมันมีแค่นั้นไง

แต่มนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้ที่มีปัญญา มนุษย์ถึงเข้าใจว่าอะไรเป็นคุณค่ากับชีวิตไง นี่ชีวิตเกิดขึ้นมาอย่าให้มันตายเปล่า เกิดขึ้นมาแล้ว เห็นไหม เวลาเกิดขึ้นมา การเกิดเป็นมนุษย์ เกิดโลกเกิดยากมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกคนจะเกิดได้ต้องมีบุญญาธิการนะ ต้องมีศีล ๕ มนุษย์สมบัติไง ถ้าไม่มีมนุษย์สมบัติเราจะเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ได้หรอก จิตมีอยู่ จิตเดี๋ยวก็ต้องเกิดต้องตายไป แต่จิตจะต้องเกิดต้องตายไปตามสถานะของกรรม กรรมขับไสให้จิตดวงนี้หมุนเวียนไปในวัฏฏะนะ มันจะหมุนไปตามอำนาจของกรรมขับไสไป กรรมดี ศีล ๕ กรรมดีไง คุณสมบัติของมนุษย์ นี่เราถึงได้เกิดเป็นมนุษย์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็เกิดเป็นมนุษย์ เวลาเกิดมานี่แม่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องตายไป ตายไปเพราะอะไรล่ะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดหนึ่งเดียวไง ในครรภ์ของมารดานี้เกิดได้แต่เจ้าชายสิทธัตถะเท่านั้นจะไม่มีใครมาเกิดซ้ำ แม่ถึงต้องตายไป เวลาแม่ตายไปอาศัยใครล่ะ? อาศัยน้าไง อาศัยพระนางโคตมี อาศัยเลี้ยงดูกันมานะ แม่ตายไปแต่ก็อาศัยน้าเป็นผู้เลี้ยงดู ชีวิตนี้ให้น้านี้เลี้ยงมาไง

การเลี้ยงมาคือการเลี้ยงของโลก เกิดในโลก นี่น้าเลี้ยงมา เวลาเลี้ยงชีวิตมา เวลาออกบวช เห็นไหม เวลานางมหาปชาบดีโคตมีออกบวช กว่าจะได้บวช บวชเพราะมีคุณนะ เพราะเลี้ยงมาตั้งแต่โลก เกิดโลก เลี้ยงกันมา แต่เวลาจะบวช ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยอมให้บวช เพราะมันเป็นเรื่องของโลก เห็นไหม ถ้าเป็นเรื่องของโลก เป็นความเกรงใจกัน เป็นการเกื้อกูลกัน เป็นเรื่องของโลกทั้งหมดเลย ถึงต้องมีกติกาก่อน จะให้เกิดในธรรมให้ได้ไง

เวลาเกิดในธรรม ต้องมีครุธรรม ๘ ก่อน นี่ยอมรับครุธรรมอันนี้ไหม ภิกษุณีตั้งแต่บวชกี่พรรษาก็แล้วแต่จะต้องเคารพฟังภิกษุแม้แต่บวชวันเดียว ต้องกราบต้องไหว้ภิกษุแม้แต่บวชวันนั้นเห็นไหม เพื่อจะไม่ให้ความที่ว่าเลี้ยงดูกันมา ถ้าเลี้ยงดูกันมาแล้วมีบุญคุณต่อกัน นี่กิเลสมันจะแทรกเข้าไปตรงนั้นไง ถ้ากิเลสแทรกเข้าไปตรงนั้น การบวชนั้นมันจะบวชแล้วเพื่อจะให้เกิดในธรรม มันจะเกิดได้ไหมล่ะ มันก็จะมีกิเลสมีตัณหา

กิเลสมันจะเจริญงอกงามในหัวใจนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางธรรมไว้ก่อนไง วางธรรมครุธรรม ๘ ยอมรับไหม? ยอมรับ เวลายอมรับแล้วประพฤติปฏิบัติไป เวลาประพฤติปฏิบัติไปจนได้ธรรม จนเห็นธรรมนะ พระโคตมีบอกไว้ในพระไตรปิฎกนะว่าร่างกายนี้ พระโคตมีนี้เป็นมารดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ธรรมในหัวใจของพระโคตรมีนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมารดาของธรรม เห็นไหม ธรรมที่เกิดในใจของพระนางโคตมีนี้เกิดขึ้นมาจากการอบรม การบำรุงรักษาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

เกิดในโลกก็แสนยาก ต้องอาศัยกรรม กรรมดีทำให้เราเกิดขึ้นมา เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา เพราะกึ่งกลางพระพุทธศาสนา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในพระวินัยว่าศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองอีกหนหนึ่ง จะเจริญรุ่งเรืองนะ เวลาเจริญรุ่งเรืองในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เจริญมากเพราะเป็นสหชาติ คนเกิดมาพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้มีบุญกุศลนะ เห็นสมณะไง เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นพระอัครสาวกต่างๆ เวลาออกประกาศธรรมจะมีหมู่บริษัท หมู่ภิกษุสงฆ์ต่างห้าร้อย พันนึง มันมีเห็นสภาวะแบบนั้น มันทำให้คนอยากไง ทำให้คนตื่นเต้นในสิ่งที่ว่าประสบการณ์อันนั้น สิ่งที่ประสบการณ์อันนั้น คนจะมีศรัทธาจะมีความเชื่อ นั้นเกิดพร้อมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมจะเจริญรุ่งเรืองมาก

แต่ในเมื่อเราเกิดมาปัจจุบันนี้เราพบธรรมวินัย ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้วไง ถ้าเราเกิดมาพบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราจะเชื่อไหม เรามองไปในโลกนะ สิ่งที่เขาถือศาสนากัน เขาถือเพื่อสิ่งใดล่ะ? เขาก็ถือกันไปเพราะเขาไม่มีที่พึ่งไง เขาว้าเหว่ เขาไม่มีที่พึ่ง เขาก็ต้องนับถือศาสนา เห็นไหม

เวลาวิทยาศาสตร์นี้เจริญมาก คนที่ว่าเดี๋ยวนี้เป็นปัญญาชน ว่าวิทยาศาสตร์เจริญนี่ ชีวิตนี้มีความสะดวกมีความสบาย สะดวกสบายขนาดไหนแต่หัวใจว้าเหว่นะ หัวใจมีความเศร้าหมอง หัวใจมันมีความลังเลสงสัยในตัวมันเอง สิ่งนี้มันเผาลนใจอยู่ตลอดว่าความสะดวก ความดำรงชีวิตนี้มันเป็นเรื่องของโลกเขา สิ่งที่เป็นเรื่องของโลกเขา โลกมันหมุนเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย เรื่องของโลกเป็นอจินไตย มันหมุนไปตามสภาวะของมัน มันจะทำลายกันเอง ทำลายตัวมันเองนะ โลกนี้จะหมุนไป เห็นไหม ถึงจุดหนึ่งแล้วโลกนี่มันจะทำลายของมัน แล้วมันจะเจริญอีกหนหนึ่ง แล้วพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ข้างหน้า “เป็นอจินไตย” คือมันแปรสภาพของมัน ไม่มีกฎตายตัวว่ามันจะอยู่สภาวะแบบไหนแล้วแต่ความเป็นไปของสภาวะความกดถ่วง สภาวะของธรรมชาติที่มันหมุนเวียนไปนี้เป็นอจินไตยนะ

แต่ในหัวใจของเราล่ะ มันหมุนไปนี่มันก็เกิดตายๆ มันจะเป็นอจินไตยทีเดียวถ้าเราไม่มีความเชื่อ ไม่มีความศรัทธา อจินไตยคือมันไม่มีต้นไม่มีปลายไง มันไม่มีสิ่งที่ขอบเขตที่เราจะวิเคราะห์วิจัยได้ นั้นคืออจินไตย เห็นไหม

ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาเปรียบเทียบกับชีวิตนี้ เราจะรู้ไหมว่าชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาทำไม ทำไมถึงต้องเกิด เวลาเราทุกข์เรายากเราไม่ต้องปรารถนาในความเกิดนี้อีกเลย เราอยากจะมีความสุขของเรา แต่ความสุขของโลกนี้เป็นเรื่องของสมมุติ เห็นไหม

โลก ฟังคำว่า “โลก” สิ มันเป็นเรื่องของสมมุติไง สมมุติขึ้นมาว่าเป็นโลก เวลาจักรวาลอื่นเขาก็มีโลกของเขาเหมือนกัน ในวัฏฏะต่างๆ ในภพชาติต่างๆ เขาก็มีโลกของเขาเหมือนกัน แต่โลกของเขาเป็นสภาวะของเขาอย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่ว่ากรรมพาขับไสไปทั้งนั้นเลย สิ่งที่เราเกิดมาในโลกปัจจุบันนี้ ถ้าเราตื่นไปกับโลกเขา ชีวิตจะไม่มีคุณค่าสิ่งใดเลย เกิดมาภพชาติหนึ่งๆ นะ พระโพธิสัตว์เกิดมาแต่ละชาติเพื่อมาสร้างบุญญาธิการ เขายังสร้างคุณประโยชน์ของเขา สร้างคุณประโยชน์ของเขาเพื่อจะสร้างสมบารมี เพื่อจะเอาไปรื้อสัตว์ขนสัตว์

แต่เราเกิดมานี่ สาวก-สาวกะ สาวกะถ้าได้ยินได้ฟัง สิ่งที่กระทบกระเทือนใจ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะเทือนใจเราไหม ถ้าสะเทือนใจ เห็นไหม ชีวิตนี้มันมีคุณค่าตรงนี้ไง ถ้าชีวิตมีคุณค่าขึ้นมา มีคุณค่านะ ถ้ามีคุณค่าเพราะมันมีศรัทธา มีความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อนี้เป็นอริยทรัพย์มหาศาลเลย เพราะมันจะหันกลับเข้ามาค้นหาตัวมันเองไง

ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้ ความสุข ความทุกข์ในหัวใจเกิดมาแล้วมันขับไสอยู่ในหัวใจนี่ เราจะไปแสวงหาที่ไหน แต่เรื่องของโลกเขามีความอำนวยความสะดวก เขาว่าสิ่งใดที่เราแสวงหา ได้เสพสิ่งที่มันพอใจสิ่งใดแล้วมันจะเป็นความสุข แล้วมันจะเป็นความสุขจริงหรือเปล่าล่ะ? มันเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นสมุทัย สมุทัยคือแรงงานขับเคลื่อนของกิเลสตัณหา

กิเลสตัณหามันขับเคลื่อนไป เห็นไหม เวลาโลกเขามันต้องมีความทะเยอทะยานมันถึงจะประกอบธุรกิจ ประกอบสิ่งงานของเขาประสบความสำเร็จ นั้นเป็นเรื่องของโลกเขา แต่ความทะเยอทะยานของเรา กิเลสตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยมันขับไสตลอด สิ่งที่มันขับไสให้ใจนี้มันขับเคลื่อนไปนี่มันจะเป็นความสุขไปได้ไหม ถ้ามันเป็นความสุขทำไมมันถึงเป็นสมุทัย

มันไม่เป็นความจริงไง สมุทัยตัวนี้ละได้ ถ้ามันละได้นี่จะย้อนกลับมาอย่างไร ถ้าชำระหัวใจขึ้นมาตรงนี้ ศรัทธาความเชื่อมันจะเข้ามาหาตัวนี้ได้ ถ้าเรามีศรัทธา มีความเชื่อ เกิดในโลกนะ โลก การเกิดนี้มันน่าเบื่อหน่าย เพราะมันไม่มีต้นไม่มีปลาย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติไม่มีครูไม่มีอาจารย์นะ เกิดในโลก โลกเกิดมาแล้วเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็มีความทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร เพราะต้องพลัดพรากออกจากราชวังเพื่อจะไปค้นคว้าหาสิ่งนี้ไง เวลาเกิดมาในราชวังก็อยู่สภาวะแบบกษัตริย์ จะดำรงชีวิตก็ดำรงชีวิตแบบกษัตริย์มันมีความสุขพอสมควร

แต่ในเมื่อใจสร้างสมมาอย่างนั้น นี่สภาวธรรมมันบีบคั้นเข้ามาไง บีบคั้นเข้ามาคือจังหวะและโอกาส ชีวิตของคนเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าชีวิตของคนมันถึงจุดหนึ่ง ถ้าเราสร้างสมบุญญาธิการมา นี่ความเป็นไปไง โอกาสของคนเกิดตรงนั้นๆ ไง นี่โอกาสมันสะเทือนใจไปหมดนะ

สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ว่าเขาเห็นว่าเป็นโลกเขาเป็นความสุข เขาอยู่ในการเล่นฟ้อนรำต่างๆ เวลาดูเขานี่มันก็หลับไป ตื่นมาเห็นสภาวะแบบนั้นน่ะ สภาวะคนเขานอนหลับ คนถ้ามีปัญญานะ มันเป็นสภาวะแบบคนที่นอนหลับแล้วน้ำลายไหลออกมาจากปาก เห็นไหม นี่มันเหมือนซากศพไง เหมือนซากศพ คนนอนหลับเหมือนคนตาย แล้วถ้าเราตื่นขึ้นมาแล้วเห็นคนนอนหลับอยู่เหมือนคนตาย นี่เหมือนกับเราอยู่บ้านอยู่เรือนเรา เราตื่นมาตอนดึกดื่น เราคิดสิ มันเงียบสงัด มันวิเวก มันว้าเหว่ แล้วคนก็นอนเหมือนซากศพ แล้วเราตื่นขึ้นมานี่เหมือนคนตื่นคนหนึ่ง มันสะเทือนใจไหม ถ้ามันสะเทือนใจเริ่มคิด เห็นไหม เริ่มคิดเริ่มหาทางออกไง

ถ้ามีเกิดมีตายต่อไป เราใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อไปมันก็จะเกิดจะตายไปกับโลกนี้ นี่เห็นไหมเจ้าชายสิทธัตถะมีความคิดอย่างนั้นแล้วออกแสวงหา ๖ ปี นี่ออกประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ ไม่มีธรรมวินัยไง ยังค้นคว้า พยายามค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองเพราะสร้างสมบุญญาธิการมาขนาดนั้น

แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้าแล้ววางเอาไว้แล้วไง สิ่งที่ค้นคว้าแล้ววางเอาไว้แล้วนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมใต้โคนต้นโพธิ์ เวลาพระยสะฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ๖๑ องค์ เห็นไหม ธรรมวินัยข้อเดียวก็ไม่มีนะ ไม่มีหรอกวินัย ข้อเดียวก็ไม่มี อาบัติก็ไม่มี ไม่มีสิ่งใดเลย เพราะยังไม่ได้บัญญัติเลย

สิ่งที่ไม่ได้บัญญัติ เพราะว่าวินัยยังไม่ได้บัญญัติ ธรรมคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เทศนาว่าการเอง มันสะเทือนเข้าไปในหัวใจเพราะสร้างสม ที่ว่านี่เกิดสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สหชาติ” สร้างสมอย่างนี้ขึ้นมานี่พร้อมมาเสมอ เพราะสร้างสมบุญญาธิการมา เหมือนกับสิ่งที่มันรอกาลรอเวลา เหมือนเป็นคนไข้ถ้ามียารักษามันจะหายจากไข้ นี่ก็หายจากไข้ พอหายจากไข้ขึ้นมา นั่นล่ะเกิดในธรรม ถ้าเกิดในธรรม ถ้าอย่างนั้นมันจะเป็นประโยชน์ใช่ไหม เป็นประโยชน์กับใจดวงนั้นไง ถ้าเกิดในธรรม ธรรมไม่มีกิเลสขับไสนะ

แต่เรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ เห็นไหม ถึงได้ออกบวชนะ ผู้ที่ออกบวช บวชเป็นพระ เป็นสงฆ์นี้ก็เกิดในโลกเหมือนกัน เพราะเป็นสมมุติสงฆ์

ดูสิ ดูพระกัสสปะนะเกิดมาในครอบครัว พ่อแม่อยากให้มีครอบครัวมาก ด้วยความเกรงใจพ่อแม่นะ ยอมมีครอบครัวไง แล้วสัญญากับภรรยาของตัวว่า เรานี่อยากจะออกบวช สิ่งที่จะออกบวช อยากออกบวช เห็นไหม พ่อแม่อยากให้มีครอบครัวก็มีครอบครัว แต่รอจนกว่าพ่อแม่จะถึงคราวสิ้นอายุขัย แล้วสัญญากันว่าจะออกบวช

นี่ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนะ จนอุปัฏฐากพ่ออุปัฏฐากแม่ จนถึงที่สุดนะ พ่อแม่ตายไปถึงได้แจกสมบัตินั้น จนหมดสมบัตินั้นแล้วก็แยกกันออกบวช แล้วพระกัสสปะก็ออกบวช ออกบวชไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาดักทางเลย นี่เอาพระกัสสปะมาบวชในศาสนา เพราะบวชเมื่อมีอายุมากแล้ว นี่สมมุติ เกิดในโลกก็ยังเกิดสภาวะแบบนั้น

ดูพระรัฐบาลสิ พระรัฐบาลมีศรัทธามาก อยากออกบวชมาก แต่พ่อแม่ไม่ให้ไง พ่อแม่ไม่ให้ขนาดไหน พยายามเจรจาขนาดไหนพ่อแม่ก็ไม่ให้ ถึงสุดท้ายอดอาหารประท้วงนะ จนพ่อแม่...มีลูกคนเดียวจะคิดอย่างไร ถึงต้องไปหาเพื่อน ให้เพื่อนมาพยายามเจรจาด้วย เจรจาขนาดไหนก็ไม่ยอม จนเพื่อนไปพูดกับแม่นะว่า อยากจะเห็นหน้าลูกไหม ถ้าอยากจะเห็นหน้าลูกต้องปล่อยให้ลูกบวชไปก่อน เพราะบวชเป็นพระเราก็ยังเห็นหน้ากันอยู่ ถ้าไม่อยากเห็นหน้ากันนะ ไม่ยอม ลูกจะอดอาหารถึงกับตายไป เราจะไม่ได้อะไรเลย พ่อแม่ถึงยอมนะ ยอมให้พระรัฐบาลออกบวช สิ่งที่ออกบวช เราจะได้สถานะของสงฆ์มา ในสถานะของพระมา พระบวชเป็นประเพณี พระนี่บวชตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ญัตติจตุตถกรรมถึงเป็นพระสงฆ์ขึ้นมา

เราเกิดเป็นมนุษย์นี้ก็แสนยาก เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นคนนี่กรรมพาเกิด เห็นไหม ในทางวิทยาศาสตร์เดี๋ยวนี้เขาพิสูจน์ได้ สเปิร์มของพ่อกว่ามันจะวิ่งเข้าไปในไข่ เวลาวิ่งเข้าไปในไข่ต้องเจาะไข่นั้นเข้าไป ถึงจะเป็นชีวิตขึ้นมา นี้ชีวิตทางวิทยาศาสตร์นะ

แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหัศจรรย์กว่านั้นมหาศาลเลย บอกการเกิด ๔ ประเภท การเกิดในวัฏฏะนี้เกิด ๔ อย่าง ๑. เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดในโอปปาติกะ การเกิดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีดวงตาสว่าง มีดวงตาเห็นวัฏฏะไปทั้งหมดว่า จิตปฏิสนธิเข้ามาในไข่นั้นต่างหาก ต้องมี ๓ ส่วนผสมกัน คือสเปิร์มของพ่อ ไข่ของแม่ แล้วก็ต้องมีจิตปฏิสนธิ

ตัวจิตปฏิสนธินี่แหละถึงเป็นตัวสำคัญไง นี่ที่ตัวเกิดตัวตาย จิตปฏิสนธิคือจริตนิสัยของใจดวงนั้น เกิดขึ้นมาในครรภ์ของมารดา ถ้ามีกรรมก็ยังแท้งได้ในครรภ์ของมารดา ต้องดำรงชีวิตอยู่ในนั้นถึง ๙ เดือน ถึงได้คลอดออกมา นี่การเกิดของมนุษย์ ชีวิตหนึ่งเป็นสภาวะแบบนั้น ภพชาติหนึ่งเป็นสภาวะแบบนั้น

เราเกิดมาแล้วดำรงชีวิตอยู่ในโลก มีการศึกษา มีการเล่าเรียนของเรา แล้วแต่จังหวะนิสัยของผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อ ถ้ามีศรัทธา มีความเชื่อ เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว ธรรม ๒๑,๐๐๐ นี่เราจะออกบวช ถ้าออกบวชเป็นพระสงฆ์ เป็นผู้ที่ต่อสู้กับกิเลส เราจะต้องเกิดในธรรมไง ถ้าเราจะเกิดในธรรมได้ เวลาออกบวชแล้วมันบวชเฉพาะร่างกายไง บวชโดยสมมุติ เราเป็นสงฆ์โดยสมมุติ เราเป็นนักรบ

เราอยู่ในโลก คนที่อยู่ในโลกเป็นคฤหัสถ์ สิ่งที่เราเป็นคฤหัสถ์เขาต้องอยู่ในกติกาของสังคม เขาต้องอยู่ในกฎหมายของโลก เวลาผู้ที่ออกบวชนี้ ในศาสนาพุทธของเรานี้ ผู้ที่ออกบวชในศาสนา กฎหมายยกเว้นมหาศาลเลย ให้พระอยู่โดยสมบูรณ์ของพระ ถ้าพระอยู่โดยสมบูรณ์ของพระ พระนี้บวชขึ้นมาแล้วกฎหมายยกเว้นเรื่องของทางโลกเขา ให้ผู้ที่ออกบวชแล้วนี้เป็นนักรบไง

เราได้สถานะนี้มา ถ้าสถานะนี้มา ถึงว่าถ้าเกิดในสถานะของพระสงฆ์ พระสงฆ์โดยสมมุติ เราเกิดโดยสมมุติแล้ว ถ้าเราศึกษาเล่าเรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสตัณหาในใจของเรามันก็เรียนตามของเรานะ ถ้ากิเลสมันเจริญงอกงาม การศึกษาแล้วมันยึดว่าเป็นสมบัติของเรา

เราศึกษาในทางโลกก็เหมือนกัน เราจบปริญญาตรี จบกฎหมาย จบสิ่งต่างๆ เราก็ว่าเรามีความรู้ขนาดนั้น ความรู้อย่างนี้ กฎหมายตอนนี้พอเริ่มล้าสมัยเขาก็ต้องยกเลิกไป ความรู้ของเราถึงที่สุดแล้วความรู้เราไม่ทันโลกนะ ต้องศึกษาตลอดชีวิต เห็นไหม เราจะต้องศึกษากฎหมายตลอดชีวิตถ้าเราเป็นนักกฎหมาย เพราะกฎหมายจะออกใหม่มาตลอดเวลา

สิ่งนี้ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะได้ขั้นได้ตอนของเราว่าเราจบขั้นนั้นๆ เห็นไหม ถ้าจบมาเป็นประโยชน์ เพราะสิ่งที่เป็นประโยชน์ กฎหมายมันเป็นการดำรงไว้เพื่อความสงบเรียบร้อยของโลกเขา สิ่งนี้เป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม แต่ถ้าเกิดว่าคนที่เอาสิ่งนั้นมาเป็นวิชาชีพ สิ่งนั้นเอามาทุจริต มันก็เท่ากับว่าโกง เข้าไปหาผลประโยชน์ในสังคมนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากให้มีการศึกษาเล่าเรียน มันก็ยึดของมันใช่ไหม ยึดของมันแล้วมันก็จินตนาการของมันขึ้นไป พอจินตนาการของมัน นี่กิเลสมันงอกงาม งอกงามอย่างนั้นไง งอกงามว่าเรารู้สิ่งนั้นๆ

ในการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าเราออกประพฤติปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ากิเลสมันงอกงาม มันก็ทำให้ปฏิบัตินี้ล้มลุกคลุกคลานเหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติไป มันเอาสิ่งนี้เข้ามา ถึงต้องวางไง ให้มันเกิดตามความเป็นจริงของการประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าเกิดตามความเป็นจริงของการประพฤติปฏิบัตินั้น สิ่งนั้นจะเป็นความจริงของหัวใจไง

สิ่งที่หัวใจมันมีกิเลสตัณหา มันเจริญงอกงามมาตลอดเวลาของมันอยู่แล้ว เพราะมันปกคลุมใจดวงนี้โดยธรรมชาติของมัน สิ่งที่มันปกคลุมใจดวงนี้โดยธรรมชาติของมัน การแสดงออกมานี้ต้องมีสิ่งที่มันเจือจานมาตลอดเวลา สิ่งที่ความคิดของเรานี่กิเลสมันพาใช้ทั้งหมด เพราะกิเลสตัวตนของเรามันพาใช้

สิ่งใดจะทำเพื่อเป็นคุณงามความดี มันสะเทือนหัวใจทั้งนั้นล่ะ เพราะกิเลสมันไม่ต้องการสิ่งนั้น ถ้าทำเป็นคุณงามความดีนะ คุณงามความดีคือมันเป็นผู้ที่เสียสละ ทุกคนมนุษย์มีศักดิ์ศรี มนุษย์มีความเป็นไป จะทำอะไรขอให้สะดวกสบาย ขอให้มีความคิดของเรา เห็นไหม แล้วจริตนิสัยของเรานี่มันก็ต้องการตามแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางไว้อย่างนี้ไง

การเดินตามไปตามข้อวัตรปฏิปทาเครื่องดำเนินนั้นคือการขัดขืน การขัดขืนคือการขัดเกลากิเลส สิ่งที่กิเลส สิ่งนี้เป็นของเล็กน้อย สิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่เป็นของเล็กน้อยนี่ เวลาเขื่อนที่มันจะพังขึ้นมานี่มันก็เกิดจากตามด เกิดจากสิ่งเล็กน้อยทั้งนั้นน่ะ ผงเข้าตามนุษย์นะ ท่อนซุง สิ่งที่เป็นของใหญ่เข้าตามนุษย์ไม่ได้หรอก ผงเล็กๆ น้อยๆ นี่ ดูอย่างเชื้อโรคสิ เรามีเชื้อโรค เวลาเข้าไปถึงร่างกาย มันเข้าไปเพาะเชื้อในร่างกายของเรา ทำให้เราถึงกับเสียชีวิตได้นะ

นี้ก็เหมือนกัน ถ้ากิเลสมันอ้างอิงของมันขึ้นมานี่ ข้อวัตรปฏิบัตินี้เป็นของเล็กน้อย สิ่งใดๆ ที่เป็นการขัดใจ ว่าเป็นของเล็กน้อย สิ่งใดที่เป็นกิเลสตัณหา มันพอใจ สิ่งนี้เป็นคุณงามความดี นี่สิ่งนี้กิเลสมันงอกงามอย่างนี้ไง งอกงามมันไม่เป็นตามความเป็นจริง

ถ้ามันเป็นตามความเป็นจริงนะ จะดีหรือชั่ว สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าขัดเกลากิเลส เห็นไหม เราต้องวางกติกาดำเนินไปตามข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งที่ข้อวัตรปฏิบัตินี้จะดัดแปลงใจดวงนี้ ถ้าดัดแปลงใจดวงนี้ให้มีความอ่อนตัวลง ไม่ให้มันแข็งกระด้างไง สิ่งที่แข็งกระด้าง ดูเวลาเขาจะปั้นหม้อปั้นไห เวลาเขาจะปั้นนะ ดินของเขา เขาต้องมานวดให้มันเข้าที่กัน ถึงจะปั้นหม้อปั้นไหขึ้นมา ไม่มีสิ่งที่ว่าเป็นรอยร้าว ไม่มีสิ่งที่รูรั่ว

นี้ก็เหมือนกันใจมันแข็งกระด้าง แล้วมันว่าประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้มันประพฤติปฏิบัติไป เวลาเป็นสมาธิ เห็นไหม ถ้าเป็นฌาน สิ่งที่เป็นฌาน สมาธิส่งออก สิ่งที่ส่งออก พลังงานมันส่งออก สัมมาสมาธิเกิดอย่างไรล่ะ ถ้าเป็นสัมมาสมาธินี่ควรแก่การงาน ควรแก่การงานคือว่ามันควบคุมตัวมันเองได้ไง สิ่งที่ควรแก่การงานจะเกิดในธรรม ถ้าจะเกิดในธรรมต้องศรัทธาความเชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเข้ามาตรงนี้

เวลาปริยัติว่ากันว่า ดำริชอบ ปัญญาสำคัญมาก ปัญญาต้องมีความดำริชอบ การประพฤติปฏิบัติต้องมีปัญญาก่อน ต้องศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้มีความเข้าใจก่อน...นี่เวลาคิดกิเลสมันซ่อน มันบังเงาไงว่าต้องศึกษา ต้องเล่าเรียน ต้องยึดให้หมด แล้วเอาสิ่งนั้นกางออก แล้วต้องทำให้ได้อย่างนั้น เห็นไหม มันยึดให้เราหลงทางตลอด เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ สิ่งนี้วางไว้เป็นกลางไง เป็นกลางหมายถึงวางไว้แล้วแต่จริตนิสัย

เพราะเวลาทำสมถะ สมถะ กรรมฐาน ๔๐ ห้องให้แล้วแต่คนถนัดนะ อานาปานสติ ผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่มีวาสนาทำลมหายใจเข้าออก อานาปานสตินี่ก็ทำได้ แต่ถ้าผู้ไม่มีวาสนาทำแล้วมันไม่สมประโยชน์ของเขา คือมันไม่ลงตัว มันไม่มีความตั้งมั่น จิตมันสงบไม่ได้ ถ้าจิตมันสงบไม่ได้มันก็ทำให้มีความตึงเครียด ให้มีอาการต่างๆ ของการประพฤติปฏิบัติ

หญ้าปากคอกนะ เริ่มต้นแต่ประพฤติปฏิบัติเราก็ลังเลสงสัย เวลาเราใช้ปัญญา เราคิดของเรานี่ทำไมเราจะคิดของเรา เราหาทางของเรา คิดปัญหาไปร้อยแปด วิตกกังวลไปทุกเรื่อง ถ้าวิตกกังวลไปทุกเรื่อง ปล่อยทุกอย่างไม่ต้องไปคิดมัน ให้ใช้ความสงบแค่กำหนดสติแล้วกำหนดพุทโธเท่านั้น สิ่งที่กำหนดพุทโธเท่านั้น สิ่งที่มันคิดออกไปนี่มันเป็นความระแวง มันเป็นนิวรณธรรม

ถ้านิวรณธรรมเกิดขึ้น การประพฤติปฏิบัติของเรามันจะเป็นความสงบไปไม่ได้เลย เพราะพลังงานมันขับไส เหมือนกับสิ่งที่ว่าเราติดไฟอยู่ เราเอาน้ำสาดเข้าไปมันจะเกิดเสียงดัง มันจะเกิดการทำปฏิกิริยากัน แล้วมันดับได้ไหมถ้าน้ำเราไม่พอ

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อความสงสัยของเรามันก็เหมือนน้ำ มันทำให้ปิดกั้นความเป็นสงบได้นะ แต่ถ้าเราติดไฟของเรา รักษาไฟของเรา ไฟมันเป็นพลังงานอันหนึ่ง มันเป็นพลังงานความร้อนอันหนึ่ง นี่พลังงาน สัมมาสมาธิก็เหมือนกัน ในเมื่อเราไม่มีน้ำสาดเข้าไปให้มันเกิดปฏิกิริยาต่อกัน เราไม่มีความลังเลสงสัย ไม่มีสิ่งต่างๆ ที่จะเข้าไปให้ไฟของเรามันลุกโชติช่วง หรือไฟของเราโดนน้ำเข้าไปให้มันมอดไหม้ สิ่งที่มอดไหม้มันไปขัดตรงนี้ไง นี่นิวรณธรรม มันขัดกัน มันไม่เป็นไปทางเดียวกัน

แต่เรากำหนดพุทโธๆ แล้วเราวางกิเลสไว้ ไม่ให้มันเจริญงอกงาม ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัตินั้น แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันก็เจริญงอกงามไปถึงที่สุดแล้ว มันสร้างภาพได้ สัญญาอารมณ์ สิ่งที่สร้างภาพความว่างขนาดไหน ความสุขขนาดไหน ความสุขอย่างนี้มันเป็นความสุขอย่างแปลกประหลาดนะ มันมหัศจรรย์กับความเป็นไปของใจเพราะอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่าความสุขเกิดจากภายในไง

สิ่งที่อามิส สิ่งที่ความสุขเกิดจากอามิส เราต้องการสิ่งใด เราอยากปรารถนาสิ่งใด เราวางเป้าหมายไว้สิ่งใด แล้วเราทำสิ่งนั้นสมกับเป้าหมายนั้นมันจะมีความสุข มันจะมีความพอใจว่าเรามีความสุข แล้วเราก็ต้องตั้งเป้าหมายต่อไปๆ เพื่อจะให้ใจมันมีความสุขมากขึ้นๆ มันเป็นอามิส

เราเหนื่อยอ่อน เราต้องทุกข์มาก แต่เพราะเราพอใจ เพราะว่าเราคิดว่าสิ่งนี้เป็นงานของเรา เราพอใจเราถึงทำไป แต่ถ้าไม่ใช่งานของเรา หรือสิ่งที่เราไม่พอใจเราจะขับไสตลอดไป แต่เวลาจิตสงบนี้มันไม่เป็นสภาวะแบบนั้น มันไม่มีอามิสเข้ามาเคลือบแคลง เรากำหนดพุทโธๆ มันจะสงบได้โดยสัมมาสมาธิ แต่ถ้ากิเลสมันงอกงามขึ้นมา มันก็ทำความสงบของมันขึ้นมา มันทำความสงบของมันเหมือนกัน มันก็ไปสงบ ถ้าไม่มีสติมันเป็นมิจฉาสมาธินะ ว่างขนาดไหนก็เป็นมิจฉา

สิ่งที่มิจฉาคือว่ามันไม่เป็น มันไม่ควรแก่การงาน มันไม่อ่อนควรแก่การงานแล้วยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ แล้วมันจะไปเกิดในธรรมที่ไหนล่ะ? มันไปเกิดในท่ามกลางกิเลสที่มันไปอ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ถ้าอ้างธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้แล้วไง

สิ่งที่วางธรรมไว้แล้ว เห็นไหม หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศนาว่าการนะ ท่านจะไม่เทศนาว่าการถึงผลของการปล่อยวางขนาดไหน ท่านจะเทศน์ถึงสิ่งที่ว่ามันเป็นเหตุทั้งหมด สร้างเหตุไง เราจะต้องสร้างเหตุ แต่ในปัจจุบันนี้ในกึ่งพุทธกาล ครูบาอาจารย์ผ่านมานี้ เปิดสิ่งนี้ออกมาไง เปิดสิ่งนี้ออกมาแล้วเราก็ไปยึดมั่น ยึดว่าสิ่งนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ยึดว่าธรรมของครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมา เราเชื่อมั่นธรรมของครูบาอาจารย์ ๑ แล้วเราสร้างสมขึ้นมามันก็เหมือนกัน เห็นไหม มันเหมือนกัน เพราะสิ่งนี้ อาการของใจ ใจนี้มหัศจรรย์มาก มันจะสร้างภาพขนาดไหน มันสร้างของมันขึ้นมาได้ นี่กิเลสงอกงามในการประพฤติปฏิบัติ

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงมันจะต้องมีเหตุมีผลของการประพฤติปฏิบัตินั้น เหตุไง นี่สาวไปหาเหตุ เวลาพระอัสสชิสอนพระสารีบุตร เห็นไหม “ธรรมทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกมาแต่เหตุ ต้องให้สาวกลับไปที่เหตุนั้น ดับที่เหตุนั้น แล้วมันจะเป็นผลของมันโดยธรรมชาติไง” เวลาสาวไปที่เหตุ แล้วเหตุมันอยู่ที่ไหน แต่นี่มันไม่มีเหตุ มันสร้างภาพขึ้นมา เวลาธรรมมันเกิดนี้คือสภาวธรรม

สิ่งที่สภาวธรรม เวลาเราทุกข์ยากขนาดไหนมันต้องเคลื่อนไปโดยธรรมชาติของมัน พระอาทิตย์ขึ้นต้องตกโดยสัจจะของเขา พระอาทิตย์ขึ้นต้องตกเด็ดขาด ฝนตกขนาดไหน จะรุนแรงขนาดไหนมันต้องหยุดโดยธรรมชาติของมัน ใจที่ขุ่นมัวขนาดไหน ใจที่ทุกข์ร้อนขนาดไหน ถึงที่สุดแล้วมันต้องหยุดของมันโดยธรรมชาติของมัน หยุดนะ

เราทุกข์แสนทุกข์ เรามีสติไปตลอด แต่เวลามันปล่อยวางขึ้นมา เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความว่างๆ สิ่งที่เป็นสภาวธรรม เพราะมันไม่ใช่มรรคไง มันไม่ใช่มรรคเพราะมันไม่มีเหตุมีผล ถ้ามันมีเหตุมีผล เหตุของมันเราต้องสร้างขึ้นมา เรานะ จิตดวงนี้เกิดตายขึ้นมา ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไม่รู้เลยว่าจิตนี้เกิดมาอย่างไร

ชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไร? ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อโลกไง เพื่อโลกนะ เรามองมาสิว่าในปัจจุบันนี้ศาสนาพุทธของเราเจริญรุ่งเรืองมาขนาดนี้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราสิ้นชีวิตไป เผาศพแล้วเป็นพระธาตุทั้งหมดเลย สิ่งนี้เป็นการยืนยันว่าท่านรู้จริงของท่าน ท่านถึงวางสัจจะความจริงให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นผู้ก้าวเดินตามมา มาตามระหว่างใจไง เปิดช่องทางให้ใจนี้ก้าวเดินต่อไป

แต่ในคนที่เขาไม่เชื่อในโลกนี้ เขาหมกมุ่นอยู่กับความเป็นอยู่ของเขานะ เขาหมกมุ่นกับชีวิตของเขามาก ทั้งๆ ที่หัวใจเขาก็ทุกข์ หัวใจเขาก็ว้าเหว่ เพราะเขาเกิดในประเทศไม่สมควรไง เกิดในประเทศสมควรนี้จะมีธรรมและวินัยวางไว้ให้เราก้าวเดิน ถ้ามีธรรมและวินัยให้เราก้าวเดินนี้เป็นอาหารของใจ เห็นไหม ถ้าเป็นอาหารของใจแล้วใจมีศรัทธามีความเชื่อแล้วออกประพฤติปฏิบัติตามสัจจะความจริงอันนั้น ไม่ให้กิเลสมันเข้ามาบีบบี้สีไฟในการประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าบีบบี้สีไฟในการประพฤติปฏิบัตินั้น การประพฤติปฏิบัติมันจะให้กิเลสออกหน้าตลอดไป

ถ้ากิเลสออกหน้าตลอดไป มันจะไม่สมกับตามความเป็นจริง เราจะไม่เห็นสภาวะความเป็นจริงของใจที่มันสัมผัสกับธรรมโดยข้อเท็จจริงไง แต่สภาวธรรมที่มันเป็นไปเพราะมันเกิดดับ สิ่งที่เกิดดับนี้มันเกิดดับสภาวธรรม เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ธรรมมันเกิด ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าใจเรื่องอย่างนี้มากว่าธรรมมันเกิดนะ เวลามีความลังเลสงสัยในหัวใจ เวลามีแง่มุมในหัวใจ เวลานั่งทำสมาธิไป ทำความสงบไป สิ่งนี้มันจะตอบปัญหา มันจะแก้ปัญหาสิ่งนี้ได้ พอแก้ปัญหาสิ่งนี้ได้ สิ่งที่เป็นภาระรุงรังในหัวใจคือปัญหาที่รกในหัวใจแล้วมันแก้ได้นี่ เราจะไม่พอใจได้อย่างไร เราจะพอใจมากแล้วเราก็จะเข้าใจว่าสภาวะนี้เป็นธรรมถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้คอยเตือนนะ

ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้คอยเตือน สิ่งนี้เป็นสภาวธรรม แล้วมันตกอยู่ในใต้กฎของอนิจจัง สิ่งนี้ที่มันว่างมาก มันปล่อย สิ่งที่เป็นภาระของใจมันปล่อยไปหมดแล้ว เพราะมีเชื้อคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ในหัวใจนั้น เดี๋ยวมันจะมีแง่มุมที่มันจะสงสัยใหม่ขึ้นมาตลอดไป มันจะมีความลังเลสงสัยของมันตลอด เพราะมันมีกิเลสอยู่ในหัวใจ สิ่งนี้มันจะสร้างความลังเลและความสงสัย

ดูสิ เวลาพระบวชในสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสึกไปก็มี ประพฤติปฏิบัติไป มีอยู่กลุ่มหนึ่งเวลาจิตสงบขึ้นมาเห็นอสุภะ นี่จ้างให้เขาเชือดคอตัวเอง ในการประพฤติปฏิบัติมันมีการผิดพลาดไปขนาดนั้น แม้แต่อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สิกขาลาเพศออกไป เห็นไหม เวลาใจมันถดถอย ใจมันเสื่อม มันเสื่อมอย่างนั้นไง สิ่งที่เสื่อมอย่างนั้น อำนาจวาสนามีอย่างนั้น

แต่ถ้าเราอยู่กับครูบาอาจารย์ของเรา เราจะต้องสร้างกำลังใจของเราขึ้นมา “กิเลส” ในเมื่อหัวใจมันมีกิเลส ความลังเลสงสัย ความตั้งแง่มุมของมันขึ้นมาเพื่อจะให้มันคิดตามกิเลส มันจะตั้งอย่างนั้นตลอดไป เราก็ต้องใช้ปัญญาคือใช้ธรรม ปัญญาคือธรรม ปัญญาธรรม สมาธิธรรม

สมาธินี้ก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ให้เราก้าวเดิน ปัญญาที่ว่าเราสร้างขึ้นมาเพื่อให้แก้ไข แก้สิ่งที่เราลังเลสงสัย แก้ไขสิ่งที่ว่าเราไม่มีกำลังใจไง “คนอย่างเราหรือจะประพฤติปฏิบัติ คนอย่างเราหรือจะมีอำนาจวาสนาว่ามีอริยภูมิในหัวใจ” นี่มันคิดของมันไปตลอดนะ มันเหมือนกับสิ่งที่เป็นสุดเอื้อมไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มันเหมือนสุดเอื้อม มันหมดกาลหมดเวลาแล้ว...มันจะไปสุดเอื้อมไปที่ไหน ในเมื่อเรามีหัวใจอยู่ ในเมื่อเรามีภาชนะรองรับสิ่งต่างๆ ฝนตกลงมาจากฟากฟ้า เรามีโอ่งมีไหที่รองรับน้ำฝนอยู่ มันจะต้องตกใส่โอ่งใส่ไหที่เรารองรับน้ำฝนนั้นแน่นอน

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว ธรรมมีอยู่โดยดั้งเดิม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นี้มีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมมีอยู่แล้วไง แต่เหตุที่จะเอาภาชนะเข้าไปรับน้ำนี้

ภาชนะคือหัวใจ ถ้าวิธีการที่จะไปรับน้ำนี่คือมรรคญาณ สิ่งที่มรรคญาณที่มันจะสร้างเกิดขึ้นมา เราสร้างได้ ถ้าเราสร้างของเราขึ้นมา เห็นไหม เราทำไมจะเป็นไปไม่ได้ มนุษย์อย่างเรา พระสงฆ์อย่างเรา สมมุติสงฆ์นี้เกิดในโลกนี้ สมมุติสงฆ์นี้เป็นโลก แต่ถ้าเกิดในธรรมนี่มันจะมีสภาวะที่รับรู้อย่างนี้ไง มันไม่ใช่การที่เราจะไปท่องจำหรือจะไปยึดมั่นถือมั่นสมบัติของครูบาอาจารย์มาเป็นของเรา สมบัติของครูบาอาจารย์เป็นของครูบาอาจารย์

เวลาครูบาอาจารย์แสดงธรรมขึ้นมานี่มันสะเทือนใจเราไหม ถ้ามันสะเทือนใจ สิ่งนี้ไปสะกิดใจไง สะกิดใจคือสะกิดกิเลส ถ้ามันสะกิดกิเลสของเรา มันสะเทือนถึงกิเลสของเรา เหมือนกับเราเป็นเด็กน้อยเอื้อมมือไปหยิบสิ่งที่เป็นของร้อน เอื้อมมือไปหยิบสิ่งของที่ว่าเป็นโทษแล้วครูบาอาจารย์คอยผลักมือเราออก คอยตบมือเราออก นี่เหมือนกัน จิตมันเกาะเกี่ยวไปตลอด มันจะยึดมั่นถือมั่นไปตลอด สิ่งที่มันยึดมั่นสิ่งใดก็แล้วแต่ สิ่งนั้นจะเป็นโทษกับมันตลอดไปเลย

เพราะกิเลสมันพายึด สิ่งที่มันพายึดเพราะมันเป็นความหิวโหยของใจใช่ไหม ใจนี่หิวโหย สิ่งที่หิวโหย อาหารของมันคือวิญญาณ คือความคิด สิ่งที่เป็นความคิดมานี่มันก็กินสิ่งนั้นตลอดไป นี่มันยึด มันจับไง มันจับตลอดไป แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ ตบมือออกๆ ตอบมือออกมาเพื่อจะให้มันปล่อยสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยของมันไง

ถ้ามันปล่อยเป็นพิษเป็นภัยขึ้นมา พอมันสงบขึ้นมานี่มันสงบขึ้นมา จากขณิกะ จากอุปจาระ จากอัปปนาสมาธิ มันจะลึกซึ้งเข้าไปขนาดไหน มันอยู่ที่อำนาจวาสนา ๑ อยู่ที่ความตั้งใจของเรา ๑ อยู่ที่ความเพียรนะ ความเพียรความตั้งใจของเรา ถ้าเรามีสติ เรามีความตั้งใจของเราตลอดไป นี่เหตุมันมี ผลมันต้องเป็นไป เป็นไปไม่ได้เลยที่เรากำหนดพุทโธๆ เพราะว่ามีสติแล้วจิตสงบไม่ได้นี่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ที่มันไม่เป็นไปอย่างนี้เพราะสมุทัย กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแทรกเข้าไปไง กำหนดมาตั้งนานแล้ว ประพฤติปฏิบัติมาก็ขนาดนี้แล้วทำไมไม่เห็นความสงบสักทีหนึ่ง นี่ตัณหาซ้อนตัณหาไง

เราสาดน้ำเข้าไปในกองไฟ สาดเข้าไปตลอด แต่กองไฟโดนน้ำมากๆ มันจะดับใช่ไหม แต่นี่พลังงานของใจ ตัวพลังงานคือตัวธาตุรู้ สาดนิวรณธรรมเข้าไป สาดขนาดไหนมันก็ไม่ดับ มันดับไม่ได้เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่าพลังงานที่มีชีวิตคือสิ่งที่ว่ามันเผาไหม้ตัวมันเองตลอดเวลา แล้วเราสาดสิ่งที่เป็นนิวรณธรรมเข้าไปมันก็ยิ่งเกิดปฏิกิริยาตลอดไป

นี่ทำไมเราทำมาขนาดนี้ เราก็ปฏิบัติมาเหมือนกับหมู่คณะ หมู่คณะทำไมเขาปฏิบัติแล้วเขาได้ผลของเขา ทำไมเราไม่ได้...นี่ตัณหาความทะยานอยากมันจะเกิดสภาวะของมันแบบนั้น สิ่งที่เป็นแบบนั้นแล้วมันจะเป็นสมาธิมันเป็นไปไม่ได้เลย เราจะต้องตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธตลอดไป ตั้งสติให้ดีๆ แล้วกำหนดพุทโธๆ หน้าที่ของเราทำอยู่เท่านี้ เหมือนกับตักน้ำใส่ตุ่มมันไม่เต็มเป็นไปไม่ได้ เราตักน้ำใส่ตุ่มทุกวัน จะเต็มไม่เต็มไม่สำคัญ ระยะทางจะหาบน้ำมา จะไกลหรือใกล้มันอยู่ที่อำนาจวาสนาคน ถ้าน้ำเราอยู่ไกลเราต้องเดินไกลหน่อย แล้วกว่ามันจะเต็มตุ่มขึ้นมาก็ช้าหน่อย แต่ถ้าน้ำเราอยู่ใกล้ เราตักน้ำขึ้นมาแล้วเราใส่ตุ่ม ตุ่มของเราจะเต็มได้เร็วกว่าเขา

สิ่งนี้ก็เหมือนกัน มันอยู่ที่อำนาจวาสนา นี่อำนาจวาสนาตรงนี้ถึงบอกว่า เราจะบอกว่าเราจะทำบุญทำกุศล เราทำดีมากับทุกคน ทำไมเราไม่ได้ดี...สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เราสร้างสมมา สิ่งที่สร้างสมมานี่บุญกุศล บาปอกุศลมันอยู่ตรงนี้ ถ้ามีบุญกุศล มันทำแล้วมันประสบความสำเร็จ นี้คือบุญของเรา บารมีแก่กล้า ขิปปาภิญญา ประพฤติปฏิบัติทีเดียวรู้ไป อย่างพระยสะฟังธรรม ๒ หนเป็นพระอรหันต์เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ปี สมบุกสมบันอยู่มหาศาลเลยอยู่ ๖ ปีนะ ประพฤติปฏิบัติมา แต่ทำไมพระยสะฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ ครั้งเท่านั้นเป็นพระอรหันต์เลย พาหิยะฟังธรรมหนเดียวเป็นพระอรหันต์เลย สิ่งที่สร้างสมอย่างนี้เป็นสาวกะ

สิ่งที่เป็นสาวกะ เพราะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้เป็นพระอรหันต์ เพราะฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเขาจะฟังธรรมจากใคร แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ฟังธรรมจากใคร เป็นผู้ที่รื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาเอง แล้วอำนาจวาสนา ตั้งเอตทัคคะ ๘๐ ทางไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้ง ต้องแสดงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารอบรู้ไปทั้งหมด เพียงแต่ไม่พยากรณ์ไง สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ สิ่งที่พยากรณ์คือพูดออกมาเป็นหลักฐาน เป็นธรรมวินัยที่วางอยู่นี้ พอจะเป็นเครื่องแนวทางที่จะให้เราประพฤติปฏิบัติไปได้ ถ้าให้เราประพฤติปฏิบัติไปได้ นี่ตรงนี้มันจะเข้ามาชำระย้อนกลับมาที่ใจของเรา

ถ้าย้อนกลับมาที่ใจของเรา กิเลสมันเกิดดับที่นี่ ทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่นี่ ภาชนะมันอยู่ที่นี่ ถ้าเราเปิดภาชนะของเรา เราหงายภาชนะของเราขึ้นมา ถ้าเรามีศรัทธา มีความเชื่อ เราหงายภาชนะขึ้นมา เราจะมีโอกาส มีโอกาส เห็นไหม เราจะมีโอกาสเดินจงกรม เราจะนั่งสมาธิภาวนา เพราะเราเชื่อมั่นแล้วเราทำของเรา ถ้าเราไม่เชื่อมั่น เรามีความน้อยเนื้อต่ำใจ การเดินนั้นก็สักแต่ว่า การประพฤติปฏิบัติการนั่งสมาธิก็สักแต่ว่า รอแต่เวลาว่านั่งนี่จะได้กี่ชั่วโมงกี่นาที เราไม่ได้นั่งเอานาฬิกานะ เรานั่งเอาความสงบ

ในเมื่อเวลาเรานั่งได้กี่ชั่วโมง ถ้ามันมีความสงบ อันนั้นก็เป็นคุณประโยชน์ของเรา ถ้ามันนั่งได้เวลาน้อยแต่มันสงบ นั้นก็เป็นคุณประโยชน์ของเรา คุณประโยชน์ของเราแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เหมือนกันถึงต้องหา ต้องแสวงหา ต้องมีความหมั่นเพียร มีความใคร่ครวญในการประพฤติปฏิบัติของเรา ว่าเราประพฤติปฏิบัติมาอย่างนี้ มันมีผลของเราไหม ถ้าไม่มีผล เราต้องหาอุบายวิธีการ อุบายที่เปลี่ยนแปลงวิธีการว่าเราจะเข้าไปหาใจของเราอย่างไร เราจะชำระกิเลสของเราได้อย่างไร ในเมื่อภาชนะมีอยู่ทุกๆ คน ในเมื่อทุกคนมีหัวใจ เราเป็นคนที่มีชีวิต มีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่

คนที่มีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนี้จะมีโอกาสทุกคน เพราะมันยังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกแล้วก็ไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ ด้วย ถ้าในการประพฤติปฏิบัติกำหนดพุทโธตลอดไป ถ้าเราอยู่ของเราคนเดียวนี่เรากำหนดของเราได้ เราตั้งสติของเราตลอดไป สิ่งที่การตั้งสตินี่เวลาไปเข้าทางจงกรมนั่งสมาธิมันก็ง่ายขึ้น ถ้าเราปล่อย คิดไปตามแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก คิดจินตนาการของเราไปเลย จะปฏิบัติเมื่อเราเข้าป่า จะทำสมาธิต่อเมื่อถึงเวลาเราเข้าทางจงกรม คิดตลอดไปนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ขนาดนี้เราจะทำ...จินตนาการขนาดไหนมันก็เป็นจินตนาการออกไปนั่นน่ะ ภาชนะนั้นโดนภาชนะสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปกคลุมอยู่แล้ว นั่นน่ะมันคิด นี่กิเลสพาคิด คิดอย่างนี้ไง ทั้งๆ ที่เป็นธรรมนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ แต่ว่ากิเลสมันพาคิดมันก็ไปยึดไง มันไม่เป็นความจริงของเรา แต่ถ้าเรากำหนดตั้งสติแล้วดูลมหายใจของเราตลอดไป หรือพุทโธตลอดไปนี่คือธรรมของเรานะ ถ้ามันปล่อย มันจะว่าง มันจะมีความสุขทันทีเลย ว่างมีสติพร้อมเป็นอย่างนี้ นี่เป็นความจริง ความจริงคือมันปล่อย มันว่าง ถ้ามันว่างอย่างนั้น

สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยมันสงบตัวลง มันจะว่างได้มันต้องปล่อยรูป รส กลิ่น เสียง ปล่อยความรู้สึกเข้ามา ถ้ามันปล่อยความรู้สึกเข้ามา เห็นไหม เห็นสภาวะแบบนี้แล้วเราตั้งสติไว้ พอเราตั้งสติไว้นี่สมาธิธรรม สมาธิธรรมเกิดขึ้นมานี่เกิดขึ้นมาจากใจ เราก็ต้องย้อนไปที่เหตุ เราทำใจนี่สภาวะแบบใด เราทำใจอย่างไร ย้อนไปที่เหตุ รักษาที่เหตุนั้น หน้าที่ของเรารักษาที่เหตุตลอดแล้วผลมันจะเกิดเอง

ถ้าไปหวังที่ผลนั้นกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันหลอกลวงแล้ว นี่กิเลสมันจะเจริญงอกงาม ปฏิบัติทุกข์แสนทุกข์ เดินจงกรมจนเท้าเปื่อย จนเลือดออกขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแทรกเข้าไปนะ เราจะไม่ได้ผลอย่างนั้น ทุกข์ ทุกข์มาก จนเข็ดขยาดกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากอย่างนี้ แล้วสติมันทันนะ เวลามันปฏิบัติขึ้นไป ทำไปโดยสติพร้อมแล้วให้มันเป็นไปตามสภาวะของมัน หน้าที่ของเราคือรักษาเหตุนี้ตลอดไป แล้วมันก็สงบเข้ามาๆ ต้องรักษาอย่างนี้ไง พอสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้า เห็นไหม ต้องสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้าๆ จนจิตตั้งมั่นนะ

ถ้าจิตสงบเข้ามาเล็กน้อยแล้วมันไม่มีงานทำ เราจะออกไปพิจารณาโดยปัญญาบ้างก็ได้ ถ้าบ้างอย่างนั้นมันจะสงบเข้ามาลึกเข้ามาๆ แล้วพยายามใคร่ครวญอยู่อย่างนี้ ถ้าเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจจะข้อเท็จจริงนะ เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยข้อเท็จจริงนี้มันจะสะเทือนหัวใจมาก ถ้าสะเทือนหัวใจมาก นั่นน่ะเราเห็นช่องทางในการเกิดในธรรม

ถ้าเกิดในธรรม ธรรมเกิดกับเรา เห็นไหม ธรรมที่เราศึกษา ธรรมที่เราค้นคว้ามานี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด มันเป็นสัญญา เป็นความจำ เป็นข้อมูลที่เราศึกษามาเป็นภาคปริยัติ ต้องวางไว้

ในการประพฤติปฏิบัติถ้าเราเอาภาคปริยัติมากางนี่มันจะเป็นสัญญาอารมณ์ มันสร้างภาพสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะไม่เป็นตามความเป็นจริง เราปล่อยทั้งหมด เวลาทำเหมือนกับคนไม่รู้อะไรเลย แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติไป เวลามันรู้จริงขึ้นมา อันนั้นจะฝังใจมาก อันนั้นจะเป็นข้อมูลของใจดวงนั้น

ถ้าจิตของเราเคยสงบขึ้นมาแล้วทำไม่ได้อีก สิ่งนี้จะฝังใจตลอดไป แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ เข้ามารักษาใจให้สงบเข้ามาอีก สิ่งนี้จะสงบบ่อยครั้งเข้าๆ จนเป็นสมาธิ เป็นตั้งมั่น แล้วถ้ามีอำนาจวาสนา น้อมไปที่กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นสภาวะแบบนั้น นี่มันมีเหตุมีผลอย่างนี้ไง มันวิปัสสนาโดยเห็นกาย ถ้าเป็นพิจารณากาย ให้กำลังพอ พิจารณาให้เป็นสภาวะของมัน ให้เป็นไตรลักษณะ ให้มันแปรสภาพของมันไป มันจะแปรสภาพของมันโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมนะ โดยธรรมอันนี้คือพลังงานอันนี้มีไง เวลาน้อมไปตรึกไปน้อมไป เวลาใช้ปัญญาคือความคิดในสมาธินั้น สมาธินี้มันคิดได้ คิดได้โดยการรำพึงนั้น รำพึงให้กายเป็นสภาวะของมันไป มันจะแปรสภาพของมันไป

ถ้ามันแปรสภาพของมันไป เห็นไหม การเห็นจากตาใจมันเห็นสภาวะแบบนั้น มันจะสลดสังเวช มันจะปล่อยวางๆ สิ่งนี้ปล่อยวาง นี่เหตุอย่างนี้ ซ้ำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เหตุนะต้องซ้ำ ถ้าไม่เป็นกิเลสมันแทรกเข้ามา เห็นไหม เราเห็นกาย เราพิจารณากายแล้วมันเป็นสภาวะแบบนั้นก็จะเอาให้ได้นะ กายต้องเป็นแบบนั้น เมื่อวานทำได้อย่างนั้น กายมันจะแปรสภาพ วันนี้ต้องให้ได้แบบเมื่อวานนั้น นี่สัญญาอย่างนี้ปฏิบัติจนตายไม่ได้หรอก แล้วถ้ามันทำได้อย่างนั้นมันพิจารณาไปมันก็ไม่ไปสภาวะแบบนั้น นี่คือกำลังไม่พอไง

กำลังของเด็กแบกหามของที่หนัก มันแบกหามไม่ไหว สิ่งที่เด็กแบกหามไม่ไหว แต่มันมีจริตนิสัยเพราะมีใจรัก มีใจรักมันถึงพยายามจะให้สภาวะแบบนั้น ให้มันเป็นไปสภาวะแบบนั้น นี่ทำอย่างนี้มันก็มีความผิดพลาดเพราะความเหนื่อยของมัน มีใจรักขนาดไหน แต่ถ้าไม่เป็นความจริง มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุลของมรรค ถ้ามันมีความสมดุลของมรรค มันไม่ใช่ว่าใจรัก ไม่ใช่ว่าต้องการให้เป็นไป สิ่งที่มันเป็นไปขนาดไหนมันต้องเป็นไปตามจริง ใจรักของเรา เราต้องกลับมาที่เหตุ รักษาเหตุนั้น ต้องกลับมาที่พุทโธนั้น กลับมาที่พุทโธเพื่อจะให้จิตนี้มันมีพลังงานของมันขึ้นมา มีพลังงานขึ้นมาแล้วน้อมไปเพราะมีความมีใจรัก ๑ เพราะมีอำนาจวาสนา ๑ กายนี้มันถึงจะคงที่กับเราตลอดไป

คงที่หมายถึงว่ามันยกขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งที่ยกได้ ฝึกฝนจนขนาดนี้นะ เวลาอ่านธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพิจารณากายแล้ว เราปล่อยกายแล้วก็มีความพอใจไง แล้วบอกว่าให้พิจารณาบ่อยครั้งเข้าจนมีความคงที่ จนถึงกับอ้ำอึ้งนะว่ามันต้องทำให้คงที่ ต้องทำให้อย่างนี้ตลอดไปเชียวหรือ ถ้าไม่ทำให้คงที่เห็นสภาวะกายแบบนี้ วิปัสสนาไปอย่างนี้ มันจะไปชำระกิเลสได้อย่างไรล่ะ

มันชำระกิเลสไม่ได้หรอก ความปล่อยหนหนึ่งก็เหมือนเรากินข้าวหนหนึ่ง เกิดมาชาตินี้กินข้าวหนเดียวได้ไหม คนเกิดมาชาติหนึ่งกินข้าววันหนึ่ง ๓ มื้อ ๔ มื้อ ไม่รู้กินทั้งปีทั้งชาติกี่มื้อกี่สิบมื้อ การดำรงชีวิตไง

นี้ก็เหมือนกัน การดำรงมรรค การให้ปัญญามันก้าวเดินออกไปนี่มันต้องวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้เห็นสภาวะของจิตนี้ ให้เห็นสภาวะของกายนี้ขึ้นมาตั้งอยู่แล้ววิปัสสนาไป มันจะปล่อยวางไปขนาดไหนก็แล้วแต่ นี้คือการให้อาหารของใจไง ให้ปัญญาใจของเรามันเติบโตขึ้นมาไง

เพราะใจของเรามันมีความหลงของมัน มีอุปาทานของมัน มันอุปาทานยึดของมันว่าเราเกิดมากับครรภ์ของมารดา ร่างกายนี้เป็นของเราล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะเราเกิดมากับเรา เป็นของเราทั้งหมดเลย มันเกิดมาในโลก มันเป็นสภาวะแบบนี้ โลกเกิดมามีร่างกาย เป็นมนุษย์นี้มีร่างกาย เป็นสัตว์ก็มีร่างกาย เว้นไว้แต่เป็นเปรตเป็นผีนั้นไม่มีร่างกาย สิ่งที่มีนี่มันเป็นสถานะภพหนึ่ง มันเป็นโลก โลกก็เป็นวัฏฏะ มันเป็นสมมุติชั่วคราวไง อย่างมากก็ร้อยปีก็ต้องตายไป

สิ่งที่ตายไปแล้วเป็นของเรา มันเป็นของเรานี่เราต้องไม่ให้มันแก่ ไม่ต้องให้มันเจ็บ เห็นไหม เราต้องบังคับบัญชามันได้ ของของเราเก็บที่ไหนก็ได้ สมบัติของเรา เราจะเอาไปไว้ที่ไหนก็ได้แล้วร่างกายของเราล่ะ? นี่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราเข้าโรงพยาบาล เราจะเหนี่ยวรั้งสิ่งนี้ไว้ได้ไหม สิ่งที่ว่ามันเป็นเนื้อร้ายเราก็ต้องตัดออก เห็นไหม ทำไมเราตัดทิ้งล่ะ มันเป็นของเรา เราก็เอาไว้สิ เราต้องถนอมรักษามันไว้สิ ทำไมเราไปตัดมันทิ้ง

ตัดมันทิ้งเพราะมันจะทำให้ร่างกายนี้ถึงกับวิกลวิการได้ ๑ ทำให้เราถึงกับเสียชีวิตได้ ๑ ถ้าเสียชีวิต ใครก็รักชีวิต เวลากิเลสมันรัก มันรักชีวิตมัน มันรักโอกาสของมัน มันต้องการว่ามันมีอำนาจเหนือโลกหมด มันเก่งอยู่คนเดียว เห็นไหม นี้คือกิเลสไง แต่ถ้าเวลาเราเห็นสภาวะกายที่เราวิปัสสนาอย่างนั้น สิ่งนี้มันเป็นคนละกรณีกัน สิ่งนี้เป็นสภาวธรรมนะ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอริยสัจในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สิ่งที่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี้มันเป็นหลักการ หลักการให้กับจริตนิสัยของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ในกายก็ได้ ในเวทนาก็ได้ ในจิตก็ได้ ในธรรมก็ได้ สิ่งที่ว่าก็ได้เพราะอยู่ที่อำนาจวาสนา

ดูอย่างการศึกษาของโลก เห็นไหม แล้วแต่วิชาชีพของผู้ที่ต้องดำรงวิชาชีพใด วิชาชีพหนึ่งกับวิชาชีพต่างกัน เขาก็เรียนมาเหมือนกัน แต่ความเห็นของเขาต่างกัน นี่มุมมองต่างกัน ในเมื่อมุมมองวิชาชีพของเขาอย่างนั้น เขาทำงานอย่างนั้น เขาจะคล่องตัวของเขา เขาจะเข้าใจของเขาเพราะเขามีพื้นฐาน เขาศึกษามาอย่างนั้น ใจก็เหมือนกันในเมื่อสร้างสมมานี่มันมีจริตนิสัยของมันสะสมมา ชอบ เกลียด ต่างๆ เหมือนกัน

ถ้ามันชอบสิ่งใด ตรงกับจริต ตรงกับนิสัย การวิปัสสนานั้นจะง่ายไง ถึงต้องเป็นหลักโดยกาย เวทนา จิต ธรรม แล้ววิปัสสนาไปมันจะปล่อยตรงไหน มันจะปล่อยอย่างไรก็แล้วแต่ เราสร้างเหตุของเราไปตลอดไป สร้างเหตุคือวิปัสสนาไปบ่อยครั้งเข้าจนมันเห็นเป็นความคล่องตัวนะ กำหนดเมื่อไหร่ก็ได้ วิปัสสนาอย่างไรมันจะแปรสภาพขนาดไหน มันจะปล่อยวางขนาดไหน มีความสุขขนาดไหนก็เข้าใจ สิ่งที่เข้าใจ เห็นไหม ถ้ามันเผลอกิเลสงอกงามนะ มันจะเผลออย่างนั้นแล้วว่านี้เป็นธรรม แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนี้

เรียกร้องต้องการธรรมจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าประพฤติปฏิบัติแล้ว มันปล่อยวางแล้ว ทำไมเราไม่เข้าใจตามความเป็นจริง ทำไมธรรมจากหัวใจเรามันไม่มี...สิ่งนี้มันเป็นการประพฤติปฏิบัติ เป็นสิ่งที่มันยังตกอยู่ใต้กฎของอนิจจังไง สิ่งที่ใต้กฎของอนิจจังมันไม่ถึงที่สุดของการเป็นไปของการประพฤติปฏิบัตินั้น สิ่งนี้มันยังแปรสภาพได้อยู่ สิ่งที่แปรสภาพได้อยู่ แล้วเราจะไปเรียกร้องเอาโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไป ฝึกฝนอย่างนี้ไป สร้างสมขึ้นมาแล้วมีสติ สติเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เวลามันเสื่อมนะ ถ้ามันอยู่ใต้กฎของอนิจจัง มันจะเสื่อมของมัน ถ้าจิตเสื่อมแล้วเราประพฤติปฏิบัตินี่มันไม่ได้อย่างนี้ มันจะมีความทุกข์ความร้อนมาก เหมือนกับเราเคยมีความสุข เราเคยมีบ้านมีเรือน เห็นไหม แล้วบ้านเรือนเราโดนพายุพัดพังทลายไป เราจะต้องสร้างบ้านใหม่ เราต้องสร้างขึ้นใหม่อย่างนี้ขึ้นมา เวลาจิตเสื่อมเป็นอย่างนั้นจริงๆ เหมือนกับพังทลายไปหมดเลย สิ่งที่เคยมีนี้หมดเกลี้ยง แล้วเราก็ต้องสร้างสมขึ้นมา

สิ่งนี้ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่ถึงจุดเป้าหมายของมัน มันจะเป็นสภาวะแบบนี้คือมันเสื่อม พอมันเสื่อมขึ้นมา เราก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เห็นไหม สิ่งนี้มันจะเข็ด สิ่งที่เข็ดมันจะฝึกใจอย่างนี้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะมีประสบการณ์อย่างนี้ ถ้ามีประสบการณ์อย่างนี้ ถึงไง ถึงว่า จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา ถึงเห็นใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมาก

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเวลาขึ้นมานี่เหมือนกับเราพยายามสร้างสมอย่างนี้ขึ้นมา มีคุณค่ามากแล้วก็เข้าใจ นี่กิเลสมันบิดเบือนว่าสิ่งนี้เป็นธรรมเข้าใจว่าเป็นธรรมก็ชะล่าใจไง พอชะล่าใจนี่รักษาสิ่งนี้ไว้ พอมันก็เสื่อมไป รักษาไว้ก็ยังเสื่อมนะ เพราะอะไร เพราะกิเลสเวลามันสงบตัวลง มันยุบยอบตัวลง เวลามันแสดงตัวออกมานี่มันแสดงตัว ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ เพื่อจะให้แรงของมันขับเคลื่อนมันมากกว่านั้น ทั้งๆ ที่เราประพฤติปฏิบัตินี่แหละ มันจะเสื่อมได้สภาวะแบบนั้น

เราถึงจะต้อง...สิ่งนี้เข็ดขยาดแล้วเราต้องวิปัสสนาให้สิ่งนี้คงที่ คงที่คือว่าทำได้คล่องตัวตลอดเวลา วิปัสสนาขนาดไหน กายมันจะแปรสภาพไป วิปัสสนาจิต วิปัสสนาเวทนา สู้แล้วสู้เล่า ปล่อย ทำแล้วทำเล่า ถึงที่สุดเห็นไหม นี่เกิดในธรรมมันเกิดโดยที่ว่าจิตนี้ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต แยกออกจากกันโดยสัจจะตามความจริงของมัน นี่กายกับจิตแยกออกจากกัน ทุกข์แยกออกไป สิ่งที่แยกออกนี่ไปตามความเป็นจริงของเขา แต่ถ้าเป็นสัญญาอารมณ์มันก็แยกเหมือนกัน

คำว่า “แยก” เวลามันแยกแล้ว มันปล่อยแล้ว...ไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไร เพราะเรากำหนดพุทโธๆ ถ้าคนมีอำนาจวาสนานะ จิตสงบขึ้นมานี่มันปล่อยกายได้หมดเลย มันปล่อยกายนะ กายกับจิตแยกออกจากกันโดยกำลังของสมาธิ กำลังของสมาธิสามารถแยกกายกับจิตได้โดยสัจจะความจริงของสมาธิไง นี่ถ้าเราเห็นสภาวะปล่อยวางขนาดนั้นมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางอย่างนี้มันปล่อยวางแบบที่ว่าไม่มีเหตุไม่มีผลคือสังโยชน์ไม่ขาด มันไม่มีที่ว่ากิเลสตัณหาความทะยานอยากตายไปจากใจ อุปาทาน มันถอนอุปาทานได้อย่างไร สิ่งที่ถอนสิ่งนี้ออกมามันจะมีการถอนอุปาทานมันว่างเฉยๆ ว่างโดยกำลังของสมาธิ

ถึงบอกว่า สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ สมาธินี้แก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ มันไม่เข้าไปถึงภาชนะนั้น มันไม่ได้หงายภาชนะนั้น มันไม่ได้รับธรรม คือฝนที่ตกมาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝนจากธรรมวินัยนี้ตกอยู่ตลอดเวลา แล้วไม่ได้หงายภาชนะนั้นขึ้นมา ถ้าไม่ได้หงายภาชนะขึ้นมา ธรรมอันนี้มันไม่เกิดขึ้นมา มันจะเข้าไปในนั้นไม่ได้ เห็นไหม

นี่เหมือนกัน ในเมื่อมันเป็นกำลังของสมาธิไง กำลังของสมาธิมันไม่มีความเพียรชอบ งานชอบ มันไม่สมควร มรรคมันไม่เคลื่อนตัว มรรคไม่เคลื่อนตัวมันจะหงายภาชนะได้อย่างไรล่ะ ถ้ามรรคมันเคลื่อนตัว มันหงายภาชนะขึ้นมา ถ้ามันรองรับน้ำฝนนั้นคือสภาวะที่เราพิจารณาปล่อยวางแล้วปล่อยวางเล่า

สิ่งที่ปล่อยวางบ่อยครั้งเข้าๆ มันก็เหมือนกับน้ำฝน ฝนตกอยู่ในภาชนะนั้นจนเต็มภาชนะนั้น สิ่งที่เต็มจนล้นจากภาชนะนั้น เห็นไหม ใจล้นอย่างนั้นนี่กิเลสตัณหามันตายไปจากนั้นไง ความที่ขาดออกไป ความลังเลสงสัย สิ่งที่เราเติมตลอดไป โอ่งของเรารั่วเราเติมน้ำขนาดไหนมันก็รั่วออก ก็เห็นว่าน้ำมันรั่วออก มันไม่เคยเต็มสักที ไม่เห็นสภาวะน้ำเต็มจากปากโอ่งนี้ไม่เคยเห็นเลย

แต่นี้เราปิดรอยรั่วไว้ทั้งหมด แล้วน้ำมีมากขึ้นมาจนมันถึงปากโอ่ง จนมันล้นออกมา นี่สภาวะที่น้ำล้นอย่างนี้ เราเห็นสภาวะแบบนั้นตามความเป็นจริง นี่มันถึงที่สุดมันมีเหตุมีผลของมัน วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยของจิตนั้นไม่มีเลย สีลัพพตปรามาส ความที่เราจะลูบคลำ เราจะเกิดความไม่แน่ใจของเรา เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่สักกายทิฐิ กายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายโดยธรรมชาติของมัน สิ่งนี้เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีอยู่แล้ว แต่เราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไม่ถึง ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าถึงสัจจะความจริงอันนี้ อันนี้มันจะประกาศขึ้นมาจากกลางหัวใจดวงนั้นไง ถ้ามันประกาศขึ้นมาจากกลางหัวใจดวงนั้น นี่เกิดธรรมไง

เกิดโลกอย่างหนึ่ง เกิดโลกนี้ กว่าจะได้สถานะของพระสงฆ์มานะ ดูสิ ดูอย่างครูบาอาจารย์ของเรา ดูอย่างในสมัยพุทธกาล กว่าจะได้สถานะของพระสงฆ์นี้มา เพราะมันขัดแย้งกับทางโลกมาก เพราะทางโลกในครอบครัวใหญ่ ในการสถานะทางสังคม กิเลสตัณหาแค่การยึดมั่นถือมั่นในสถานะของโลกเขายึดมั่นถือมั่นของเขามหาศาลเลย

แต่ถ้าเราสละสิ่งนี้ขึ้นมานี่ทางโลกบอกเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า เป็นผู้ที่ไม่มีคุณค่าเพราะไม่เป็นสุภาพบุรุษ ไม่อยู่กับสังคม ไม่ใช่นักรบไง แต่เขาไม่เคยเข้าใจเลยว่าการรบกับกิเลสนี้เป็นงานอย่างประเสริฐ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์ยังสละสถานะของกษัตริย์นั้น กษัตริย์นั้น การปกครองบ้านปกครองเมืองนี้ต้องปกครองด้วยปัญญา ต้องการปกครองประชาชนทั้งหมด เห็นไหม ทิ้งทั้งหมดเลย ทีนี้สิ่งที่ปกครองเขามันใช้กฎหมาย ใช้สิ่งที่มีอำนาจปกครองเขานี่ใช้กฎหมายใช้กติกาลงโทษเขาก็ได้

แต่ขณะกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจที่มันเกิดขึ้นมา เราจะเอาอะไรสิ่งใดไปลงโทษมันล่ะ เพราะมันเป็นเราทั้งหมดเลย มันหลอกลวงเรา มันทำลายเราให้ล้มลุกคลุกคลานทั้งหมดเลย การรบกับกิเลส การปกครองกิเลส การดันกิเลสนี้ให้ออกไปจากใจ เกิดในธรรมนี้ยากมาก เพราะในการโต้แย้งกับสังคมเพื่อจะอยู่ในสถานะนี้ก็ยากแล้ว ๑ การที่จะสร้างสมขึ้นมาเพื่อจะทำลายกิเลส ตัดทอนกิเลสไม่ให้มันมีกำลังของมันขึ้นมาอีก ๑ แล้วในการประพฤติปฏิบัติขึ้นไปนี่กิเลสมันงอกงามขึ้นมา มันก็พลิกแพลงขึ้นมาให้เราล้มลุกคลุกคลาน

การล้มลุกคลุกคลานคือการทำให้เราถลอกปอกเปิกนะ ถลอกนะเวลาเราล้มไปขึ้นมา เวลาเราไปล้มจนเราถลอกขึ้นมา เราก็ใส่ยา การใส่ยา การรักษา เราก็เข้าใจว่านี่มรรคๆ มรรคตลอดไปมันแค่ใส่ยา มันไม่ใช่ผ่าตัด มันไม่มีการชำระล้างกิเลสอันนั้นไง เวลาเราผ่าตัดทำไมเราต้องเข้าห้องผ่าตัดล่ะ เพราะห้องผ่าตัดเขามีการฆ่าเชื้อใช่ไหม

เวลาเราล้มลุกคลุกคลาน เห็นไหม ที่ไหนเราก็ทายาแดงได้ ยาแดงมันทาที่ไหนก็ได้ เห็นไหม เพราะสิ่งนี้เป็นแผลเปลือกๆ ไง เวลาเราล้มลุกคลุกคลานเป็นอย่างนั้นนะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เวลาประสบการณ์ของจิตมันจะเป็นสภาวะแบบนั้น ถึงมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายใน การประพฤติปฏิบัติทั้งชีวิตนะ

ครูบาอาจารย์เราอยู่ในป่า ประสบการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ว่าสิ่งที่เจอสัตว์ร้าย สิ่งที่เป็นวิตกกังวล เรามีอยู่ในป่า เราเกิดว่า สิ่งที่วิตกกังวลจากผีจากสางมันจะหลอกไหม สิ่งต่างๆ นี่สิ่งนี้มันเป็นการกล่อมใจนะ มันเป็นการให้หัวใจ เวลามันว้าเหว่ มันทุกข์ร้อนของมัน มันจะเกิดการบีบคั้นใจนะ ถ้ามันเกิดการบีบคั้นใจนี่เป็นความทุกข์ สิ่งที่เป็นความทุกข์ เวลากิเลสมันแสดงตัวอย่างนั้น มันก็เอาสิ่งนั้นมาหลอกใจ ใจก็ทุกข์สภาวะแบบนั้น

เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันมีความสุขของมันนะ มันอาจหาญ มันรื่นเริงสถานที่นั้น ที่นี่ในป่านี้ ในเขาลูกนี้ ทำให้เรามีความสุข มันจะฝังใจๆ ไปตลอดเลย สิ่งที่ฝังใจ เราจะก้าวเดินอย่างนี้ เราจะรบกับกิเลสไง

เราได้สถานะของโลกคือสมมุติสงฆ์ ถ้าเราเกิดในธรรม เราจะได้สถานะของธรรม เห็นไหม เกิดในธรรมนะ ถ้าไม่ถึงที่สุด ทำให้กายกับจิตแยกออกจากกันโดยสัจจะความจริงของมัน นี่สิ่งนี้มันประกาศกลางหัวใจ สิ่งนี้มันดำรงในหัวใจ ธรรมนี้เกิดจากหัวใจ จะมีความสุขนะ ความสุขอันนี้มันจะมีความสุขมาก จะเดินไปไหนเหมือนกับลอยไปตลอดอยู่พักหนึ่ง พักหนึ่งเพราะอะไรล่ะ เพราะสิ่งนี้มันเสวยไง

พอเสวยความสุขอย่างนี้ พอมันคลายตัวออกมา เห็นไหม กิเลสอย่างละเอียด สิ่งที่กิเลสอย่างละเอียดในหัวใจมันก็มีสภาวะของมัน มันก็บีบคั้น บีบคั้นอะไร? บีบคั้นเพราะอยากได้ อยากได้นะ เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “มรรค ๔ ผล ๔”

เวลามรรคหยาบ มรรคละเอียด ต่างกันอย่างนี้ไง เวลาประพฤติปฏิบัติมันถึงลึกเข้าไปในหัวใจเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปในหัวใจ เวลามรรคที่ละเอียดเข้าไปนี่เวลาปัญญา เวลาขั้นตอนมันถึงมีกายนอกกายใน สิ่งที่ว่าเวทนานอก เวทนาใน คนไม่เข้าใจมันก็ไม่ยอมเข้าใจสิ่งนี้ ถ้าไม่ยอมเข้าใจสิ่งนี้ก็ว่าสิ่งนี้เป็นการอวดอุตริ สิ่งนี้เป็นการที่ว่าเป็นแผลงออกมา เป็นความคิดออกมา เป็นเอกลักษณ์ของพระป่า

พระป่าเขาสื่อกัน ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ นี่บัญญัติ บัญญัติคือสมมุติอันหนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ให้ชาวพุทธนี่สื่อกัน สื่อเรื่องธรรมะโดยบัญญัติ เห็นไหม บัญญัตินี่สื่อกันเข้าใจเป็นบาลี

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไปนี่ประสบการณ์ของจิตดวงนี้ จะเป็นบาลี หรือเป็นสมมุติ หรือภาษาใดก็แล้วแต่ มันจะเข้าใจทันทีเลย เพราะธรรม ธรรมในหัวใจนั้นถ้าไม่เจอสภาวะแบบนั้นจะเอาอะไรมาพูดล่ะ สิ่งที่จะพูดออกมาพูดจากประสบการณ์ของใจดวงนั้นไง ถ้าใจดวงนั้นมันเคยเข้าลึกถึงขนาดนั้น มันเข้าไปเห็นสภาวะแบบนั้น แล้วถ้ามันชำระกิเลสได้มันจะบอกถึงขั้นตอนของมัน คือขณะที่พลิก แต่ถ้ามันเข้าถึงธรรมไม่ได้ มันจะเข้าใจถึงขณะจิตนั้นไม่ได้ สิ่งที่เข้าขณะจิตไม่ได้มันจะอธิบายตรงนี้ไม่ถูกหรอก สิ่งที่อธิบายไม่ถูก

ถ้าอธิบายถูกมันไม่ได้เกิด มันเข้าไปเพียงแต่เลียบๆ เคียงๆ ไง ถ้าเลียบๆ เคียงๆ นี้มันก็อยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่อำนาจวาสนาของคน ถ้ามันมีอำนาจวาสนา เราก็ต้องพยายามนะ เรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เราออกประพฤติปฏิบัติขนาดนี้แล้ว วาสนาของเราต้องมีสิ เราต้องเชื่อมั่นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ศรัทธา คำว่า “ศรัทธา” เพราะเราเชื่อขนาดนี้แล้วเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้วว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี นี่ถ้าไม่ถึงธรรมเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราทำอย่างนั้นนะ ถ้าเราทำของเรา เราพยายามทำของเราให้อยู่ในกรอบ อยู่ในกติกาตลอดไป ๗ ปีนี่เราไม่สามารถทำได้หรือ

ทำไมสมัยพุทธกาล ฤๅษีชีไพรเขาอยู่ในป่าทั้งชีวิต เขาทำไมอยู่ได้ล่ะ ทั้งๆ ที่ว่าเขาไม่มีโอกาสจะถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ เพราะมันไม่มีธรรมไง ทั้งชีวิตเขา เขาเป็นฤๅษีชีไพรกันอยู่ในป่า เขายังทำของเขาได้เลย แล้วเรานี่มีโอกาสไง โอกาสที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ๗ เดือน ๗ ปีนี่ ถ้าเราทำขนาดนี้ไม่ได้ เราจะเกิดจะตาย เอาความทุกข์อย่างนี้มาเทียบกันสิ ความทุกข์ในเกิดในตายในวัฏฏะแล้วต้องไปเกิดในครรภ์ของมารดาอีก ๙ เดือน จะต้องไปอยู่สภาวะแบบนั้น แล้วยังต้องเกิดมาแล้วต้องร้องไห้ น้ำตาเก็บไว้ไม่เท่ากับแม่น้ำทะเลนี้ เรายังไม่ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้อีกหรือ

เราเกิดมา เรานั่งอยู่บนกองกระดูก คือดิน ดินคือกองกระดูก เกิดมานี่ เกิดตายๆ นี่ย้อนกลับไปถึงว่า บุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตดวงหนึ่งดวงเดียวนี่แหละ เกิดตายๆ สิ่งที่เกิดตายในร่างกายของเรานี่เผาแล้วเผาเล่า เป็นธาตุดินอยู่นี่ เราเกิดมานั่งอยู่บนกองกระดูกของเรา เราอาบน้ำตาของเรา เราทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตนี้ สิ่งที่เราเกิดตายๆ มาทั้งนั้นเลยแล้วสิ่งนี้มันจะต้องเป็นไปอีก เราไม่เข็ดขยาดหรือ แล้วเรื่อง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ทำไมเราจะทำไม่ได้ ทำไมเราใช้ชีวิตของเราเป็นร้อยวัน ร้อยปีทำไมเราทำได้ล่ะ

ชีวิตของเราเป็นสภาวะแบบนั้น ทุกข์ก็พอทนกันไป ทุกข์เพื่อจะทุกข์ตลอดไป สิ่งนี้เบื่อ น่ารำคาญ ไม่ต้องการ แต่ก็ต้องใช้ไป เพราะเกิดมามีชีวิตไง เกิดมาเป็นสถานะแบบนั้นไง ก็ดำรงชีวิตกันไป

แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเราทุกข์กว่านั้น ทุกข์กว่านั้นเพราะอะไร เพราะเราต้องบีบคั้น บีบคั้นให้กิเลสมันไม่แสดงตัวออกมา ต้องมีศีล ต้องมีสติ ต้องมีสิ่งต่างๆ เห็นไหม ต้องอดนอนผ่อนอาหาร นี่ ๗ วัน ๗ เดือนขนาดไหน เดินจงกรมจนไม่ไหว จนคลานไปก็เอา นี่เพื่ออะไรล่ะ? ก็เพื่อจะต้องการลบล้างสิ่งนี้ไง ลบล้างสิ่งที่มันมีอยู่ในหัวใจ กิเลสอันละเอียดในหัวใจ มรรคอันละเอียดมันจะเกิดตรงนี้ ถ้ามีกำลังใจอย่างนี้ เราปลุกเร้าใจของเราได้อย่างนี้ สิ่งนี้มันจะทำให้เรามีกำลังใจ

ถ้ามีกำลังใจ เห็นไหม เราจะเกิดในธรรมเป็นชั้นๆ ตอนๆ ขึ้นไป ถ้าเราเกิดขึ้นมา วิปัสสนาไป สติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วแต่จริตนิสัย จริตนิสัยหมายถึงว่าบางทีพิจารณากายแล้วมันจะมาพิจารณาเวทนา หรือไปพิจารณาธรรมก็แล้วแต่ ถ้าพิจารณากายแล้ว ถ้ายกขึ้นไปข้างบนมันเห็นกายอีกก็พิจารณากายซ้ำไป ถ้าพิจารณาจิต เห็นจิตก็ซ้ำกันไป สิ่งนี้มันจะเป็นซ้ำกันไปถ้ามันอยู่ที่นิสัยอย่างนี้เกิดขึ้นมา ต้องหมั่นแยกแยะนะ

การฝึกฝนของเรา การประพฤติปฏิบัติของเรา การปล่อยของเราเหมือนกับกินข้าว กินข้าวอิ่มแล้วมื้อหน้าก็กินอีกๆ นี่ก็เหมือนกัน มันปล่อยขนาดไหนก็แล้วแต่เราต้องตั้งสติไว้ ตั้งสติจับ กาย เวทนา จิต ธรรม วิปัสสนาไปบ่อยครั้งเข้าแยกแล้วแยกเล่าอยู่อย่างนั้น หน้าที่ของเราคือต้องใช้พลังงาน ใช้มรรคนี้เคลื่อนไป ธรรมจักรนี้หมุนตลอด สิ่งที่ปัญญามันหมุนไปตลอด มันจะฟาดฟันกับกิเลสตลอดไป ถ้ามันได้หมุนวงรอบหนึ่งก็เหมือนกับเรารีไซเคิลน้ำ เห็นไหม มันจะสะอาดมาหนหนึ่ง เราก็เอาน้ำตักขึ้นมาใช้รอบหนึ่งมันก็สกปรกอีก แล้วก็ใช้อีก เอาน้ำนี้มาทำให้มันสะอาดอีก

นี้ก็เหมือนกัน เวลามรรคมันวิปัสสนาไป มันเคลื่อนไป มันทำลายจิตนี้ให้สะอาดขึ้นมารอบหนึ่ง แต่กิเลสมันก็แสดงตัวออกมา มันก็คายพิษของมันออกมา แล้วก็วิปัสสนาไปอีก น้อมไป วิปัสสนาไป มันก็ทำลายสารพิษของกิเลสนั้น มันก็จางไปๆ เห็นไหม เวลาปัญญามันเคลื่อน มันเคลื่อนอย่างนี้ไง

เหตุผลของปัญญาที่มันเคลื่อน เพราะมันต้องพยายามทำวิปัสสนาไปเพื่อให้มันเห็นความเป็นจริงของมัน ให้เห็นสารพิษของใจดวงนี้ที่กิเลสมันคายพิษออกมาจากในหัวใจ มันทำ คายออกมาขนาดนี้ มันทำแล้วทำเล่าถึงที่สุดแล้วนะ หน้าที่ของเรามีเท่านี้ตลอดไป ถึงที่สุดมันเป็นไปของมัน

อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน บางคนพิจารณาน้อย มันพิจารณาไม่กี่ครั้งมันก็เห็นได้ บางคนพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า แล้วขั้นตอนมันก็ไม่เหมือนกัน เวลามันพิจารณาไปมันปล่อย มันขาดขนาดไหน มันขาดครืน! ออกไป ยกขึ้นไปเป็นกามราคะ มันก็วิปัสสนาอย่างนี้ นี่ความหลอกของมันจะต่างกันตลอดไป ความหลอกของกามราคะมันยิ่งลึกลับมหัศจรรย์อยู่ตลอดไป

ความหลอกของอวิชชามันจะหลอกขนาดไหน นี่ปัญญาละเอียด ละเอียดสุดมันถึงลึกลับมหัศจรรย์ไง ถึงมหาสติ-มหาปัญญา ถึงเป็นปัญญาอัตโนมัติขนาดไหน นี่มันถึงซึ้งใจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

มรรคที่จะละเอียดขึ้นมานี่ละเอียดขึ้นมาขนาดไหน ถ้ามรรคมันหยาบมันก็แก้กิเลสหยาบๆ มันก็ทำลายกิเลสอย่างหยาบๆ แล้วถ้าไม่มีมรรคเลยล่ะ เราไม่ได้สร้างมรรคของเราขึ้นมาสักมรรคหนึ่งเลย เราใช้แต่สัญญาจำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาทั้งหมดล่ะ แล้วเราไปจำธรรมของครูบาอาจารย์ที่ท่านเทศนาว่าการไว้ ท่านเทศนาว่าการไว้เพื่อให้เป็นอาวุธ ให้ไปชำระกิเลส ไม่ใช่เทศนาว่าการไว้ให้เป็นอาวุธ ให้กิเลสเอามาเชือดคอเรา

ถ้ามันเอามาเชือดคอเรา มันก็ไปสวมเอาธรรมของครูบาอาจารย์มาเป็นของเราไง สภาวะแบบนี้ต้องเป็นแบบ...ต้องเป็นเหมือนกันได้อย่างไร มันไม่ได้เป็นเหมือนกันหรอก มันเป็นสถานะที่เกิดขึ้นมาจากหัวใจ เพียงแต่ว่าเป็นเชื้อเป็นไข เป็นเชื้อไข เป็นจุดประเด็นให้เกิดปัญญาขึ้นมา

สิ่งที่เวลาสะเทือนใจขึ้นมานี่มันแทงใจของเราขึ้นมา เราเอาสิ่งนั้นมาเป็นประเด็นขึ้นมา แล้วจะย้อนกลับขึ้นมาตั้งประเด็นขึ้นมา แล้วเบนให้เป็นปัญญาของเราขึ้นมา ถ้าเป็นปัญญาของเราขึ้นมา มันก็ตักน้ำใส่ภาชนะของเรา ถ้าเราไปตักน้ำใส่ภาชนะของคนอื่นแล้วเมื่อไหร่มันจะเต็มล่ะ

มันเต็มเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราตักใส่ภาชนะไปก็กลัวจะผิดพลาดไง กลัวจะผิดพลาดจากพระไตรปิฎกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลัวจะผิดพลาดจากครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนไว้ ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนไว้ท่านวางไว้เป็นหลักเกณฑ์ แล้ววิธีการ เห็นไหม เหมือนการทำครัวนี่ เวลาตำราเขามีไว้อย่างหนึ่ง แต่ความชำนาญของเรา เราจะมีความชำนาญของเรา เราจะจับอะไรใส่ ทำครัวต้องเอาอันนี้ใส่ก่อน เอาอันนั้นใส่ก่อน แต่ถ้าเป็นของเรา เราจะเอาอะไรใส่ก่อนก็ได้ ใส่หน้า ใส่หลัง เราพลิกแพลงของเราได้ทั้งนั้นล่ะ

แต่ถ้ามันสมควรอย่างนั้นคือมันต้องมีมรรคสมบูรณ์ไง มันต้องมีมรรค ๘ โดยสมบูรณ์ ถ้าไม่มีมรรค ๘ โดยสมบูรณ์มันจะสมุจเฉทปหานไม่ได้ มันจะมรรคสามัคคีไม่เป็น มันเป็นไปไม่ได้เพราะสิ่งนั้นมันไม่สมดุลกัน แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไรล่ะ แต่ถ้ามันไม่สมดุล ในการกระทำของเรามันก็เอียง มันเอียงคือมันปล่อย มันปล่อยแต่มันไม่ขาดนี่ขนาดไหน สิ่งที่ไม่ขาดมันต้องมีนะ “เชื้อ” สิ่งที่เป็นเชื้อ ค้นหาไม่เจอขนาดไหน อาการไข้ก็มีอยู่ เพราะมันมีเชื้อโรคอยู่ แต่ถ้ามีอาการไข้อยู่ เราหาโรคนั้นไม่เจอ เราเพาะโรคนั้นไม่เป็น เราหาสิ่งนั้นไม่เจอ เราก็คืออำนาจวาสนาของเรา

แต่ถ้าขณะที่ว่าเราดูแล เราระวังอยู่ตลอดไป อาการไข้มันก็ต้องยืนยันกับเราแล้วว่านั่นคือมีเชื้ออยู่ใช่ไหม อาการทุกข์ อาการอาลัยอาวรณ์ อาการสั่นไหวของใจไง สิ่งที่สั่นไหวของใจ ใจที่มันกระเพื่อม สิ่งนี้มันมีเชื้อไข้อยู่ ถ้ามีเชื้อไข้อยู่ ทำไมเราหาไม่ได้ ทำไมเราหาไม่เห็น

เราก็ตั้งสติของเราขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราตั้งสติขึ้นมา เราย้อนกลับตลอดไป ย้อนกลับเข้าไปต้องเห็นเชื้อมันจนได้ล่ะ เพราะมันมี ของที่มีอยู่เราค้นคว้าอย่างไรต้องเจอ จะพลั้งเผลอหาสิ่งไม่เจอขนาดไหน คือสติเราไม่สมบูรณ์ สิ่งนั้นก็แล้วไป แล้วเราก็หาของเราเรื่อยไป เพราะอาการไข้มันมี มันหนาวสั่นอยู่นี่ มันจะสะเทือนอยู่ในหัวใจอยู่นี่ แล้วมันไม่มีได้อย่างไร สิ่งที่ไม่มีก็คือเราหามันไม่เจอ ก็ค้นคว้าไป นี่ปัญญามันแยกแยะอย่างนี้ ใคร่ครวญอย่างนี้ มันจะทำให้เรามีสติ ทำให้เรามีการประพฤติปฏิบัติ ทำให้เรามีมรรค สิ่งที่มีมรรคมันจะเกิดอย่างนี้

แล้วถ้าจับได้ขึ้นมาเมื่อไหร่ จับอาการของมัน จับอาการความรู้สึกของมัน สักแต่ว่ารู้ขนาดไหน ปล่อยวางเข้ามาทั้งหมด โลกนี้ว่าง อะไรก็ว่างหมดเลย ถ้ายังมีคำว่า “ว่างๆ” อยู่เมื่อไหร่ นั่นล่ะคือตัวมัน นั่นล่ะคือตัวอวิชชา นั่นคือตัวเชื้อของมัน ถ้าจับเชื้อตัวนี้ได้ ว่างขนาดไหน มึงนั่นล่ะ ตัวว่างนี้ตัวสำคัญ ว่างอย่างไร ทำไมถึงว่าง เหตุใดถึงว่าง ว่างแล้วทำไมมันเฉา ว่างแล้วทำไมมันเป็นไป เห็นไหม นี่ถ้ามันใคร่ครวญ ปัญญาเกิดอย่างนี้ ใคร่ครวญเข้าไปอย่างนี้ ถึงที่สุดต้องพลิกคว่ำ พลิกคว่ำอย่างนี้ทั้งหมดเลย

เวลาพระนางโคตมีนะ เวลาท่านศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ผู้มีธรรมไง เวลาจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ยอมไปเหนือลมนะ ท่านจะไปใต้ลม ท่านบอกว่าร่างกายนี้สกปรก ร่างกายนี่มันมีเหงื่อมีไคล มีกลิ่นคาวของมนุษย์ ไม่ต้องการให้กลิ่นร่างกายนี้ไปกระทบกับจมูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคารพขนาดนั้นนะ เวลาจะเข้าไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอยู่ห่างๆ บอกว่าสิ่งนี้มันเป็นความสกปรก มันเป็นของสกปรก ไม่ยอมต้องการให้ไปกระทบกระเทือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เพราะเคารพในธรรมไง ถ้าเคารพในธรรม เคารพถึงขนาดนั้น

แต่ถ้ามีกิเลสนะ มันจะไม่เคารพ มันจะยึดของมัน มันจะบัญชาการของมัน มันจะต้องการของมัน เห็นไหม นี่ถึงบอก อย่าให้กิเลสมันงอกงามในใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ให้มันเกิดในธรรมให้ได้ เกิดโลกก็เป็นความทุกข์อันหนึ่งนะ เกิดธรรมมันเป็นเป็นความทุกข์มากกว่า แต่เกิดอย่างนี้ ทำลายอย่างนี้ แล้วมันจะต้องไม่เกิดไม่ตายอีก

แต่ถ้าเกิดในโลกแล้วก็พอใจในสิ่งที่ว่าพอใจการกระทำอย่างนั้น มันจะต้องเกิดต้องตายตลอดไป เกิดโลกก็ต้องมีคุณสมบัติถึงจะเกิด เกิดธรรม เพราะเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เพราะเรามีหัวใจ เพราะเรามีความเพียร เพราะเรามีศรัทธาความเชื่อ เพราะเราทั้งหมดเลย เพราะเราเป็นคนสร้างเอง แล้วเราก็สร้างผลประโยชน์ขึ้นมาเอง แล้วเราก็ทำลายเชื้อไขของอวิชชาทั้งหมดในหัวใจ เกิดในธรรมโดยสมบูรณ์ เอวัง