เทศน์พระ

หลอกตน

๒๓ ก.ย. ๒๕๕๗

 

หลอกตน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถ้าไม่หลอกตนมันจะเป็นประโยชน์กับเรา เราเกิดมาเป็นคนตั้งใจนะ ตั้งใจคือตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้เพื่อรักษาหัวใจของเรา ถ้ารักษาหัวใจของเรานะ เวลาฟังธรรมๆ ถ้าฟังธรรมนะ จิตใจที่เป็นธรรม จิตใจที่แสวงหา เราแสวงหาสิ่งนี้ สิ่งที่เป็นสัจจะที่เป็นคุณธรรม มันจะมีเนื้อหาสาระแล้วเข้ามาสะเทือนใจเรา แต่ถ้ามันไม่ลงใจ เวลาฟังธรรมๆ นี่มันเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะว่าจิตใจของเรามันเป็นกิเลส จิตใจของเรามันไม่พอใจ ไม่พอใจสิ่งใดที่มากระทบ มันเห็นว่าเป็นพิษเป็นภัยทั้งนั้นล่ะ มันเป็นยาพิษ เคลือบไปด้วยยาพิษ มันมีแต่ความกระทุ้งเข้าเสียดแทงหัวใจ

แต่ถ้าเป็นธรรมๆ นะ มันชุ่มชื่น เวลาฟังธรรมๆ ตั้งสติไว้ เสียงธรรมนั้นมันจะเข้ามาชโลมหัวใจของเรา ถ้าเสียงธรรมนั้นมันชโลมหัวใจของเรา เห็นไหม เพราะเราแสวงหาสิ่งนี้ เราค้นคว้าขึ้นมาเองไม่ได้ เหมือนกับเราเป็นชาวไร่ชาวนา เวลาหน้าแล้งภัยแล้งมันอดอยากปากแห้ง อดอยากขาดแคลน เห็นไหม นี่มันกระหายน้ำ ถ้าได้ดื่มน้ำซักขันซักจอกหนึ่ง มันจะมีความสุข มันจะคิดถึงคุณเขามาก เวลาเราแห้งแล้ง เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจของเรา ถ้ามันเป็นธรรมๆ จิตของเรามันเหี่ยวแห้ง จิตใจเรามันแห้งแล้ง แห้งแล้งเพราะอะไร? แห้งแล้งเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันขึงพืดหัวใจนี้ไว้อยู่ใต้อำนาจของมันไง

แล้วฟังธรรมๆ ฟังธรรมอันนั้น เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์นะ เหมือนฟ้าร้องฝนตก เห็นไหม เหมือนฟ้าร้องฝนตก ถ้าฟ้ามันร้องฝนมันไม่มีเม็ดฝนขึ้นมา ดูสิ เวลาแห้งแล้งขึ้นมา เวลาเมฆมันตั้งหมอกตั้งเค้ามา โอ้โฮ เราดีใจมากเลยว่าฝนมันจะตก เราจะได้น้ำเพื่อความชุ่มชื่น ดินจะพ้นจากความแห้งแล้ง นี่มีแต่ฟ้าร้องมันไม่มีฝนตกนะ ไม่มีฝนซักเม็ดหนึ่ง เห็นไหม

เวลาเสียงดังมีแต่การคุยโม้กันนะ มันไม่มีสัจธรรมออกมาจากหัวใจนั้นเลย แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะเทศนาว่าการ เห็นไหม นี่ฟ้าร้องฟ้าผ่าแล้วมันชุ่มชื่น ฝนมันตกทั่วฟ้า ฝนมันตกไปโดยเสมอภาค แต่จิตของคน เห็นไหม จิตใจของคนนี่ตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้เพื่อรักษาใจของเรา เพื่อฟังธรรมๆ สัจธรรมนี่มันออกมา สัจธรรมเป็นความจริง จะพิสูจน์เมื่อไหร่ก็ได้

เวลาหลวงตาท่านเทศนาว่าการนะ เวลาท่านพูดกับพระ “จำคำพูดของผมไว้นะ” เวลาพูดถึงเกร็ด เวลาพูดถึงวิธีการ “จำคำพูดของผมไว้นะ แล้วปฏิบัติไป ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เวลาผมตายไปแล้วจะมากราบศพ” จะมากราบศพนะ กราบถึงการที่ท่านเคยพูดไว้ ท่านเคยสั่งสอนไว้ ท่านเคยบอกไว้ เราก็ได้ยินได้ฟังมา แต่มันคัดค้าน แต่มันไม่สนใจไง

แต่ถ้าเราปฏิบัติไป เวลาปฏิบัติไปถึงจุดๆ หนึ่ง เห็นไหม มันจะต้องเป็นสัจจะอันเดียวกันไง ถ้าเป็นธรรมๆ มันเป็นแบบนั้น เวลาปฏิบัติไปนี่จำคำพูดของผมไว้นะ ถ้าผมตายไปแล้วนี่ ปฏิบัติมาแล้วนี่จะมากราบศพนะ จะมากราบศพ จะกราบศพเพราะมันซาบซึ้ง เพราะว่าหลวงตาท่านเคยเป็นไง ท่านเคยเป็นของท่าน เวลาท่านปฏิบัติไปของท่าน ท่านก็มีความรู้ในใจของท่าน แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านเตือน เห็นไหม ไอ้พวกนี้มันจะเป็นหมาแทะกระดูกนะ เวลามาปฏิบัติธรรมนี่มันเอาสัจจะความจริงนั้น ไม่ใช่หมามาเฝ้ากองกระดูก มาแทะกระดูกกัน เห็นไหม แทะกระดูกกันก็พระธาตุของหลวงปู่เสาร์ไง

นี่ที่นี้ผู้ที่มีคุณธรรมในใจ เห็นไหม แล้วจิตใจมันอหังการไง เราจะไม่เป็นหมา เราจะไม่แทะกระดูก เราจะไม่เอาสิ่งใดเลย เราจะเอาความจริงของเรา เวลาหลวงปู่มั่นท่านนิพพานไป เวลาเขาเผาศพกันแล้วนี่เขาแจกพระธาตุกัน ไม่เอา กลัวเป็นหมาแทะกระดูก กลัวเป็นหมาแทะกระดูกนะ นี่คำว่ากลัว เห็นไหม ทิฏฐิไง ความรู้คือความเห็น คือเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึก เป็นความคิด เพราะว่ากลัวว่าเราจะเป็นหมาแทะกระดูก กลัวเราจะมีความผิดพลาด

เวลาเขาแจกพระธาตุกัน ไม่เอา เพราะถือว่าถ้าเอาแล้วจะเป็นหมาแทะกระดูก นั่นคือความเห็นความคิดว่าถ้าทำอย่างนั้น เพราะเขาติเตียนกันในโลกกระแสสังคม กระแสเขาติเตียนกัน เขาติเตียนคนเห็นแก่ตัว เขาติเตียนคนที่เอาพระธาตุของหลวงปู่เสาร์นี่ไปบด ไปผสมเครื่องราง ทำเครื่องรางของขลังเพื่อจะหาเงินหาทอง คนมันทำชั่ว คนมันเห็นแก่ตัว คนมันเห็นแก่ลาภสักการะ คนมันเห็นแก่เงินแก่ทอง มันทำสิ่งนั้นไป มันเป็นการกระทำ มันไม่ใช่ทิฏฐิมานะ ไม่ใช่ความเห็น ไม่ใช่ทิฏฐิของคน ไม่ใช่ความเห็นผิดว่าเวลารับพระธาตุไปแล้วจะเป็นแบบนั้น เพราะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น เห็นไหม เวลาเขาแจกพระธาตุกันไม่ยอมรับ

เวลาท่านไปปฏิบัติของท่าน หลวงปู่มั่นเสียไปแล้ว จิตมันสว่างไสว เพราะหลวงปู่มั่นอยู่ ท่านพิจารณาอสุภะอย่างเต็มที่ ขึ้นไปถามหลวงปู่มั่นตลอดเวลา หลวงปู่มั่นท่านก็แก้ไขมาตลอด เห็นไหม ถึงที่สุดแล้วจิตมันสว่างไสว จิตมันผ่องใส มันชำระล้าง มันสำรอกด้วยปัญญาเห็นอสุภะๆ ข้ามพ้นไป มันผ่องใส จิตมันมหัศจรรย์ มันมองไปนี่ทะลุภูเขาเลากาไปหมด นี้ธรรมะมาเตือน ธรรมะมาเตือน เห็นไหม

“ความผ่องใสเกิดจากจุดและต่อม ความผ่องใสมันต้องมีที่เกิด มันจะผ่องใสมาจากไหน”

นี่ขนาดธรรมะมาเตือนก็ยังงง ยังหาทางไปไม่ได้ สุดท้ายพอพิจารณาด้วยปัญญาของตัว ด้วยพยายามค้นคว้าเพราะหลวงปู่มั่นท่านเสียไปแล้ว ไม่มีคนจะสั่งจะสอน ไม่มีคนจะปรึกษา ไปถามใครเวลาใครพูดก็ฟังแล้วมันก็ไม่ลงใจ เวลาท่านมาปฏิบัติของท่านเอง นี่ย้อนกลับมาๆ มาทำลายจุดและต่อมนั้น พอทำลายจุดและต่อมนั้นเสร็จแล้ว เห็นไหม นี่ต้องไปขอขมาลาโทษนะ ความคิด ความรู้สึกนึกคิด นี่โลกธรรม ๘ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา คนทำดีเขายกย่องสรรเสริญ คนทำผิด คนที่เห็นผิด เขาก็ติฉินนินทา

คำว่าสรรเสริญนินทานี่โลกธรรม ๘ แต่ผู้ที่รู้จริง ผู้ที่เป็นธรรม มันไม่อยู่ในโลกธรรม ๘ มันไม่ตกอยู่ในการสรรเสริญและไม่ตกอยู่ในการนินทา เขาสรรเสริญนินทานี่มันเป็นการสรรเสริญนินทาของความเห็นของคน มันไม่ใช่เป็นความจริงในใจของผู้ที่เห็นความจริง ฉะนั้น เวลาไปเห็นความจริงแล้ว เห็นไหม เราเคารพบูชาของเราด้วยหัวใจของเรา มันจะเป็นหมาไปที่ไหน เราไม่ใช่เอาพระธาตุของท่านไปหาผลประโยชน์ เราไม่เอาพระธาตุของท่านไปอ้างอิงไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง มันจะเป็นหมาไปได้ยังไง มันไม่เป็นหมาหรอกเพราะว่าเราเป็นลูกศิษย์มีอาจารย์ เรามีความเคารพบูชา ความเคารพบูชาเราจะเคารพนบนอบ เราจะบูชาของเรา เราไม่ใช่เอาไปหาผลประโยชน์ เราถึงไม่เป็นหมาไง

เวลาประพฤติปฏิบัติไป มันผ่านไปแล้ว เห็นไหม ไปกราบขอขมาลาโทษจากความเห็นผิดของใจดวงนี้ ใจดวงนี้ครูบาอาจารย์ท่านชี้ท่านบอกขึ้นมา ท่านเผดียงมาเพราะคนมันทำอย่างนั้น พระเขาทำกันอย่างนั้น พระเขาเอาพระธาตุของหลวงปู่เสาร์ไปทำไปหาผลประโยชน์กัน นี่มันมีพระไปทำ ท่านพูดเตือนว่าพระพวกนั้นทำ มันทำผิด แล้วเราเองนะ ท่านเอามาเป็นบุคลาธิษฐานเป็นแบบอย่าง เป็นแบบอย่างให้เราเห็นโทษการทำผิดอย่างนั้น

แต่ถ้าเราเอาพระธาตุของหลวงปู่มั่น เราเอาพระธาตุของครูบาอาจารย์เรา เราคารพบูชาของเรา เราเอามาเคารพบูชาเพื่อความอบอุ่น เพื่อความอบอุ่นเพื่อจิตใจของเรามีที่พึ่งที่อาศัย มันจะเป็นหมาไปไหนล่ะ ต้องไปที่พระธาตุนั้น ไปกราบขอขมาลาโทษ ไปขอขมาลาโทษแล้วนี่ก็ไปขอพระธาตุจากมหาทองสุก มหาทองสุกเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ไปขอจากมหาทองสุกแล้วมาเก็บไว้ ทั้งๆ ที่เกิดทิฏฐิมานะไม่เอา เห็นไหม

นี่พูดถึงว่า ถ้าเรามีความเห็นของเรา ความเห็นของเรา เห็นไหม ถ้าจิตใจเรายังไม่สะอาดบริสุทธิ์ จิตใจเราไม่เป็นจริง ขนาดที่หลวงปู่มั่นท่านพูดไว้ ท่านพูดไว้เพื่อประโยชน์ แต่เวลาเราฟังกันมา เราเอาไปเป็นโทษ เราเอาไปเป็นโทษกับตัวเอง เห็นไหม ทั้งๆ ที่ภาวนาขึ้นมานะ เราภาวนาขึ้นมามีหลักมีเกณฑ์นี่แหละ แต่เราเอาสิ่งนั้นมาเป็นโทษกับเรา เพราะอะไร ?

เพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ ไม่รอบคอบของใจไง เวลาเสร็จแล้วนี่ต้องขอขมาลาโทษ เพราะท่านเป็นของท่านมา ท่านถึงบอกไง เวลาท่านเทศนาว่าการ “จำคำพูดของผมไว้นะ ถ้าใครปฏิบัติมา ถ้าเป็นความจริงแล้วมันจะมากราบศพ กราบศพ” แต่ถ้ามันยังไม่เป็นความจริง มันไม่รู้จริง มันไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับเพราะอะไร เพราะมันยังมีอวิชชา มันก็เป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าเป็นเรื่องธรรมดา เห็นไหม เรามีครูบาอาจารย์ส่งต่อมาเป็นรุ่นต่อรุ่น ศาสนทายาทในครูบาอาจารย์เรานี่องค์ใดท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านมีความเห็นอย่างใด ท่านมีความผิดพลาดอย่างใด นี่อยู่ในประวัติของครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเราศึกษาแล้วนี่เอาสิ่งนั้นมาเป็นคติธรรม มาเป็นแบบอย่าง แล้วเราก็เทียบเคียงมาสิ ในการประพฤติปฏิบัติของเรานี่ ธรรมดา เห็นไหม เวลาเราเป็นภิกษุ เราบวชเข้ามา เราบวชเข้ามาเราก็อยากประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกันนี่เราค้นคว้าสิ

ประวัติของครูบาอาจารย์ของเรามีหลากหลายมาก แล้วประวัติของครูบาอาจารย์เรามา คำว่าพระอรหันต์ๆ พระอรหันต์ต้องสร้างบุญญาธิการมาขนาดไหน ในพระไตรปิฎกว่าแสนกัป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พระอรหันต์นี่ต้องแสนกัป อำนาจวาสนาบารมีถึงจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เวลาท่านสร้างอำนาจวาสนาบารมีมาขนาดนั้น ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันต้องมีคติธรรม ถ้าเป็นความจริงนะ เป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมจริงๆ

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นธรรมจริงๆ เห็นไหม พวกกาฝาก มันเข้าไปอยู่กับครูบาอาจารย์แล้วอ้างอิง คนนั้นก็เป็นพระที่หลวงปู่มั่นยกย่องสรรเสริญ องค์นั้นก็เป็นหลวงปู่มั่นเชิดชูบูชา องค์นั้นก็เป็นหลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่เห็นคุณธรรม นี่ไปอาศัยเป็นกาฝากแล้วก็ออกมาอ้างอิงไง

แต่หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน หลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบ หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านไม่เคยโฆษณาว่าท่านเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นเลย ครูบาอาจารย์เหล่านี้ไม่เคยโฆษณา ไม่เคยเอาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์เลย แต่เวลาท่านพูดของท่าน เพราะท่านเคารพบูชาของท่าน ดูสิ เหมือนกับลูกคิดถึงพ่อ ลูกคิดถึงพ่อ เห็นไหม พ่อเลี้ยงดูมาขนาดนี้ พ่อแม่ดูแลมาขนาดนี้ มันทำไมไม่คิดถึงพ่อแม่ของมัน ถ้าคิดถึงพ่อแม่นี่เราพูดถึงคุณงามความดีของพ่อแม่ของเรา แต่เราไม่ได้เอามาโฆษณาหากิน เราไม่ใช่เอามาโฆษณาเพื่อความลาภสักการะ เพื่อคนให้นับหน้าถือตา ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านพูดแบบเชิงยกย่องสรรเสริญ มันเป็นการแบบว่าคนกตัญญูกตเวทีรู้คุณคน คำว่ารู้บุญคุณคน ท่านพูดโดยเนื้อผ้า เราเกิดมาจากไหน ดูสิ เราเป็นพระใช่ไหม เราบวชที่ไหนเราบอกไม่ได้ใช่ไหม อุปัชฌาย์เราชื่ออะไร เราบอกไม่ได้หรือ เราเคยอยู่กับครูบาอาจารย์ เราพูดไม่ได้ใช่ไหม เราพูดได้ทั้งนั้น แต่เราไม่ได้เอามาโฆษณาหากิน เราไม่ได้โฆษณาเพื่อให้คนนับหน้าถือตา ไม่ใช่ ! ไอ้คนนับหน้าถือตานั้นเรื่องกิเลสทั้งนั้น

ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นจริง ท่านเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น ทำไมเราระลึกถึงไม่ได้ ทำไมเราพูดถึงไม่ได้ แต่เราพูดถึงเราพูดด้วยความยกย่องสรรเสริญ เราพูดด้วยความยกย่อง เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นนะ ท่านจะบอกเลย เราเป็นหนูตัวหนึ่งๆ เราเป็นสิ่งที่เป็นปลายอ้อปลายแขนนะ ท่านไม่เคยว่าท่านมีความสำคัญอะไรเลย คนที่เป็นธรรมเป็นอย่างนั้น เป็นธรรมมันเป็นธรรมจริงๆ เป็นธรรมโดยเนื้อหาสาระ

นี่พูดถึงครูบาอาจารย์ท่านทำเป็นตัวอย่าง ถ้าเป็นตัวอย่างแล้วนี่เราเอาอันนี้เป็นแบบอย่าง เป็นแบบอย่างเราก็ย้อนกลับมาดูใจเราสิ เห็นไหม ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าไม่หลงตน ถ้ามันหลงตนมันก็ว่าตนมีความสำคัญไปหมด แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัตินะ ความสำคัญ เห็นไหม ความสำคัญถ้ามันเป็นกิเลสอย่างละเอียดนะ มานะ ๙ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ มันยังมีทิฏฐิมานะ มันมีมานะถือตัวถือตนของมันอยู่ แต่นี่พูดถึงผู้ที่ปฏิบัติไปแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติขึ้นไปเลยล่ะ มันไม่ใช่เกิดมานะ ๙ มันเป็นทิฏฐิเลย เป็นมิจฉาเลย ถ้าเป็นมิจฉาเพราะความเห็นผิดไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนไปทางหนึ่ง แต่ตัวเองก็มีตีความไปทางหนึ่ง

สัตว์ป่า สัตว์ป่ามันต่างกับสัตว์บ้านนะ สัตว์บ้าน เห็นไหม ดูสิ หมาเขาเอามาเลี้ยงไว้ มันเอามาเลี้ยงไว้ความเป็นสัตว์ป่ามันน้อยลง พวกสัตว์ทุกชนิดในป่ามันก็มี ถ้าในป่ามันมีนะ มันจะหาอยู่หากินของมันด้วยความระวังภัยเต็มที่ อย่างสัตว์กินหญ้า ชีวิตมันเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อ มันจะกินอาหารแต่ละมื้อแต่ละคราว มันต้องระวังตัวมันเต็มที่เลย เผลอเป็นเสียชีวิต อิ่มหนึ่งต้องแลกมาด้วยชีวิตแล้วกันล่ะ ถ้าผิดพลาดมีความประมาทชีวิตนี้มันต้องเสียไปด้วยการหาอาหาร นี่สัตว์กินหญ้า สัตว์กินเนื้อถ้าเวลามันไม่มีหญ้าให้สัตว์กินพืชมันได้กินนะ มันไม่มีอาหารล่า มันก็อดอยากมันก็ทุกข์ยากของมัน เพราะมันกินพืชไม่เป็น มันต้องกินเนื้อ มันต้องล่าเนื้อ นี่สัตว์นักล่า

ฉะนั้น เวลาสัตว์มันหาอยู่หากิน มันต้องเอาชีวิตของมันเป็นเดิมพันเลย ฉะนั้น มันต้องมีสติมีปัญญาของมัน เห็นไหม เวลาอาหารมันจะหาแต่ละมื้อแต่ละคราวมันแลกมาด้วยชีวิต ไอ้สัตว์นักล่าก็ล่าชีวิตของเขา เวลามันล่าชีวิตของเขาเพื่อดำรงชีวิตของมัน เห็นไหม แล้วมันก็ต้องมีนิสัยมีความตื่นตัวเพื่อรักษาชีวิตทั้งนั้น นี่พูดถึงสัตว์นะ สัตว์แต่ละชนิดมันก็ต้องมีการรักษาชีวิตของมัน เพื่อความดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน

เราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นพระ เราบวชมานี่เราก็อยากจะพ้นจากทุกข์ อยากจะพ้นจากทุกข์ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เทศนาว่าการฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เวลาเทศนาว่าการให้พวกคฤหัสถ์เขา ฆราวาสธรรม อนุปุพพิกถา ให้เขาทำทาน ให้จิตใจเขาเป็นสาธารณะ ถ้าจิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจเขามีคุณธรรมขึ้นมาแล้ว เขาอยากจะออกประพฤติพรหมจรรย์ เขาอยากจะบวช จะบวชก็มาบวชแบบพวกเรา เราบวชมาแล้ว เราเห็นภัยในวัฏฏะสงสารเราก็มาบวชเป็นพระ บวชพระเป็นนักรบ รบกับอะไร รบกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ถ้ารบกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม ดูสิ ถ้าบวชมาแล้วนี่เขาบอกมีการศึกษา เราก็มีการศึกษา ศึกษาก็เรียนมาภาคปริยัติก็ต้องไปสำนักเรียน สำนักเรียนเรียนเสร็จแล้ว จบแล้ว ทำไม จบแล้วก็ยังสงสัย สงสัยอยากปฏิบัติ ปฏิบัติก็ต้องมาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติ เห็นไหม เรามาบวชแล้ว เราเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เรามาบวชมาแล้ว กรรมฐานกำลังรุ่งเรือง เราบวชมาแล้วเราก็อยากปฏิบัติเลย ถ้าอยากปฏิบัติครูบาอาจารย์เราก็จะพาออกปฏิบัติ มันจะมีข้อวัตรปฏิบัติไง

ข้อวัตรปฏิบัตินี่จริตนิสัยของคน เห็นไหม สัตว์ป่า สัตว์ป่าเวลามันอยู่ในป่า อาหารของมันนี่มันต้องดำรงชีวิตของมัน มันต้องดูแลของมัน มันต้องไม่ต้องประมาท เห็นไหม มันจะหาอาหารแต่ละมื้อหนึ่ง มันต้องแลกมาด้วยชีวิตเลย ไอ้สัตว์นักล่า ถ้ามันไม่มีสัตว์ สัตว์กินพืชให้นักล่า มันก็หิวกระหายทั้งชีวิตของมันเหมือนกัน มันต้องมีสติมีปัญญา มันต้องเพื่อดำรงชีวิตของมันทั้งนั้น

ฉะนั้น เราบวชเป็นพระ บวชเป็นพระนี่ เราบวชเป็นพระ เห็นไหม ถ้าบวชมาแล้วถ้าศึกษาก็เป็นพระนักปริยัติ ก็พระบ้าน พระบ้านก็มีการศึกษา การศึกษาก็ศึกษาจากตำรับตำรามันก็ไม่สาหัสสากรรจ์ขนาดในภาคปฏิบัติ พอในภาคปฏิบัติขึ้นมา เพราะภาคปฏิบัตินี่กิเลสมันกัดกร่อนหัวใจไง ปฏิบัติขึ้นมามันก็ทุกข์มันก็ยากไง เวลาปฏิบัติแล้วนี่มันก็อยากพ้นจากทุกข์ แล้วมันก็จินตนาการของมันไปไง เวลาเขาศึกษาภาคปริยัติ มันมีตำรับตำรา เห็นไหม มีพระไตรปิฎก มันต้องศึกษาค้นคว้ามาจากพระไตรปิฎก

เวลามันคิดนอกจากพระไตรปิฎก มันมีครูมีอาจารย์คอยให้คะแนน เห็นไหม สอบเท่าไหร่ก็ไม่ผ่านๆ เพราะเขาต้องตรวจสอบกันด้วยบาลี ตรวจสอบกันด้วยพระไตรปิฎก เวลาเราเป็นภาคปฏิบัติ เห็นไหม วิปัสสนาคันถธุระ วิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระเวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่านขึ้นมา ท่านก็วางข้อวัตร หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็วางข้อวัตรของท่านใช่ไหม ถ้าวางข้อวัตรของท่านไว้ วางข้อวัตรไว้นี่ให้เราประพฤติปฏิบัติ

แล้วข้อวัตร เห็นไหม ดูสิ เวลาฝ่ายปฏิบัติ ที่เขาเป็นพวกอภิธรรม เขาบอกว่าต้องส่งอารมณ์ๆ เช้าก็ส่งอารมณ์ เย็นก็ส่งอารมณ์ กลางวันก็ส่งอารมณ์ กลางคืนก็ส่งอารมณ์ อารมณ์อะไรมันส่งตลอด เห็นไหม นั่นปฏิบัติโดยทางวิชาการ วิชาการมันก็ต้องจิตเป็นอย่างนั้น พูดถึงมรรคผลก็พูดกันไม่ได้ไง

แต่หลวงปู่มั่นไม่ต้อง หลวงปู่ฝั้นขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ พอขึ้นไปอยู่ที่เชียงใหม่ เห็นป่าเห็นเขามันน่ารื่นเริงอยากจะออกไปวิเวก หลวงปู่มั่นท่านกำหนดจิตดูเลย “จะไปไหน ที่ไหนมันไม่ดีกว่าที่นี่หรอก” ป่าเขามันก็แค่ป่าเขา ป่าเขาก็คือธรรมชาติ แต่ครูบาอาจารย์สำคัญกว่า ครูบาอาจารย์ท่านคอยตะล่อม คอยชี้นำ คอยขีดบริเวณให้ ไม่ให้จิตมันส่งออกๆ เพราะคนที่มีอำนาจวาสนาบารมีนี่ จิตมันออกไปนี่มันสงบแล้วมันจะไปเดินจงกรมบนอากาศ มันสงบแล้วนี่มันจะไปเที่ยวสวรรค์ มันไปหมดนะ ถ้าจิตคนที่มันมีอำนาจวาสนา หลวงปู่มั่นท่านไม่ให้ไป

“จะไปไหน ที่นี่ดีที่สุด จะวิเวกที่ไหนมันจะมีดีกว่าวิเวกในใจ”

นี่กำหนดดูตลอด หลวงปู่ฝั้นท่านกำหนดจิตขนาดไหน หลวงปู่มั่นท่านคอยกำหนดจิตตามตลอด จนวันหนึ่งหลวงปู่ฝั้นท่านพิจารณาของท่าน พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากายของท่านพิจารณาของท่านไป พอพิจารณาของท่านไป พิจารณาของท่านจิตมันอยากออกไปเที่ยวอยากจะไปดูนี่ พอจิตมันสงบเข้ามา มันก็พิจารณาย้อนกลับเข้ามาดูที่กาย เวลาพิจารณาซ้ำซาก พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลามันขาด เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านกำหนดจิตดูตลอด

เวลาหลวงปู่ฝั้น จิตท่านพิจารณากายกับจิตมันแยกออกจากกันมันขาด โลกนี้ราบหมดเลย เพราะราบหมดเลย เห็นไหม แต่จิตเวลาพิจารณาไป จิตมันพิจารณาของมันไป มันก็มีงานของมันไปใช่ไหม คนเรานะมีงานของตัวเอง มันก็พยายามรักษางานของตัวอยู่ตลอดเวลา พยายามทำงานของตัวเพราะงานมันล้นมือไง เพราะพิจารณาไปพอมันขาด นี่งานมันสำเร็จ งานมันว่างหมด จิตมันเวิ้งว้าง กำหนดจิตไปดูหลวงปู่มั่น กำหนดจิตไปทีไรหลวงปู่มั่นท่านจ้องอยู่แล้ว เสียววูบ ! วูบ ! เลย กำหนดจิตไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านจ้องอยู่แล้ว ย้อนกลับเลย

แต่เดิมมาที่วิปัสสนาอยู่นี่ ก็ทำอยู่ แล้วทำไมไม่รู้ว่าใครดูแลอยู่ล่ะ ไม่รู้อยู่ว่าใครควบคุมอยู่ล่ะ หลวงปู่มั่นท่านกำหนดจิตดูตลอดเวลา เวลาพอจิตมันทำงานอยู่ คนเรามันทำงานอยู่ ลูกศิษย์ เด็ก ทำงานก็ทำงานของมัน ผู้ใหญ่เขาก็คุมของเขาอยู่ พอทำงานเสร็จแล้ว การงานเสร็จแล้วมันก็รื่นเริง มันก็ผ่องแผ้ว มันก็ย้อนดูได้ มันไปได้เพราะมีนิสัย พอย้อนไปทีไร หลวงปู่มั่นท่านดูอยู่แล้วๆ เช้าขึ้นมาพอเสร็จแล้วเช้าออกมาไปทำข้อวัตรไปรับบาตร ธรรมดาไปรับบาตรหลวงปู่มั่นท่านก็ให้ทำข้อวัตรโดยธรรมชาติ ท่านก็ให้ทำไป วันนั้นหลวงปู่มั่นท่านมายืนอยู่ตรงปากประตูเลย

“เป็นไง! จะไปเที่ยวไหน เห็นไหม บอกวิเวกในใจนี่มันสำคัญที่สุด” แต่เรานะ พระป่าเราก็อาศัยป่านี่เป็นที่วิเวกๆ วิเวกก็กลับมาที่นี่ไง

นี่มันต้องส่งอารมณ์เช้า ส่งอารมณ์กลางวัน ส่งอารมณ์เย็นไหม เขาไม่ต้องส่งกันอย่างนั้นหรอก นี่ภาคปริยัติเขาเอาอารมณ์มาคุยกันไง เวลาไปนั่งพิจารณาแล้วอารมณ์เป็นยังไงก็มาบอกวันนี้เป็นอย่างนี้ วันนี้เป็นอย่างนั้นไง ก็เอาอารมณ์มันมาส่งกัน

แต่เวลาภาคกรรมฐานเขาเอาอริยสัจ เอาสัจจะ เอามรรคญาณ เอาความเป็นจริง เอาความเป็นจริงในหัวใจ แล้วคนที่ไม่มีภาวนามยปัญญามันไม่รู้จักหรอก มันไม่รู้จัก มันไม่รู้หรอกว่าเป็นยังไง เห็นไหม ถ้าเป็นความจริงมันเป็นแบบนี้ไง เป็นความจริงนี่มันรู้เห็นชัดเจน แต่เวลาเรามันหลอกตน หลอกตน ถ้ามันไม่หลอกตนเราก็ทำตามครูบาอาจารย์สั่งสอน ถ้าครูบาอาจารย์สั่งสอนมันต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน

สัจจะมีหนึ่งเดียว เวลาทำจริงแล้วมันต้องเข้าไปสู่สัจจะอันนั้น ถ้าสัจจะอันนั้นแล้วมันจะไปไหน อริยสัจมันมีหนึ่งเดียวเท่านั้น จะวิปัสสนามาทางไหนก็แล้วแต่ เวลาลงแล้วมันเหมือนกัน พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม มันลงอันเดียวกัน พิจารณาธรรมๆ ธรรมารมณ์สัจจะความจริง อารมณ์ความรู้สึกเวลาพิจารณาไป เวลามันขาด โสดาบันก็คือโสดาบัน สกิทาคาก็คือสกิทาคา อนาคาก็คืออนาคา พระอรหันต์ก็คือพระอรหันต์ เหมือนกัน มันจะต่างกันตรงไหน ถ้าเป็นความจริงมันเป็นแบบนี้

แต่ถ้าหลงตน เห็นไหม หลงตนแล้วคิดของเราขึ้นมาเอง สัตว์ป่านะ สัตว์ป่ามันต้องไม่ประมาทเลินเล่อ มันต้องตื่นตัวตื่นภัยตลอดเวลา เวลามันหนี หนีนักล่า มันต้องหนีให้พ้น หนีให้พ้นแล้วมันก็ดำรงชีวิตของมันไป แต่ไก่ป่าเวลามันจวนตัว มันจวนตัวนี่มันคิดมันไม่มีทางออก เวลามันจะหนีนักล่า มันเอาหัวเข้าไปซุกในใบไม้นะ แล้วมันบอกว่ามันหนีพ้น

ความหลงตนไง มันคิดของมันเอง มันเอาหัวมันซุกเข้าไปในใบไม้ แล้วมันก็บอกว่าไม่มีใครเห็นเรา แล้วตัวมันนะโต้งๆ อย่างนั้น เขาตะปบเมื่อไหร่มันก็เสร็จ นี่ก็หลงตนไง มันไม่หนีให้พ้นจากภัยไง ถ้าเป็นสัตว์ป่านี่มันรักษาดำรงชีวิตของมัน มันต้องหนีให้พ้นจากภัย นี่ถ้ามันเอาหัวซุกใบไม้อย่างนั้น มันเสร็จอยู่แล้ว ความหลงตนไง ความหลงตนก็ตัวเองคิดว่าเอาหัวซุกเข้าไปในใบไม้ ไม่มีใครเห็นเราล่ะ เพราะเราไม่เห็นใคร คนอื่นเขาต้องไม่เห็นเรา เป็นอย่างนั้นไหม เราไม่เห็นกิเลส กิเลสก็ไม่เห็นเราเหรอ

เราไม่เห็นกิเลสหรอก แต่กิเลสมันหัวเราะเยาะ กิเลสมันอยู่บนหัวใจนั่น นี่ความหลงตน หลงตนคือไม่มีที่มาที่ไป ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้ามันไม่สมควรแก่ธรรมมันก็เป็นการด้นเดา มันเป็นการสร้างภาพ มันเป็นการนึกเอาเอง ถ้าเป็นการนึกเอาเอง ใครเป็นคนนึกล่ะ ก็มีเราไง มีเราก็มีตัวตนไง มีตัวตนก็มีมานะไง มีมานะก็มีมิจฉาทิฏฐิไง มีมิจฉาทิฏฐิก็หลงผิดไง หลงผิดก็คิดตามตัวเองไปไง แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านทำ ก็ว่าจะเป็นเหมือนกันไง นี่ความหลอกตน เห็นไหม พอหลอกตน หลอกตนก็หลอกตัวเอง หลอกตัวเองสิ แต่ตัวเองไม่เข้าใจว่าตัวเองหลอกตัวเอง

แต่ครูบาอาจารย์ท่านเข้าใจนะ ถ้าเราไม่หลอกตน เราต้องทำตามความเป็นจริง ข้อวัตรก็คือข้อวัตร นี่มีสติก็ต้องมีสติ ถ้ามีสติ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรามีศีล ศีลคือความปกติของใจ เราไม่โกหกตัวเอง ศีล เห็นไหม ศีลนี่สำคัญที่สุดคือการโกหกตัวเอง นี่ตั้งสัจจะแล้วไม่ทำตามนั้น เราอยากปฏิบัติ เราอยากจะพ้นทุกข์ บวชมาใหม่ๆ ทุกคนอยากได้สมาธิ อยากได้มรรคได้ผล แล้วทำไมไม่ทำให้ได้ หลอกตัวเองทั้งนั้น หลอกตัวเอง ตัวเองตั้งโจทย์ไว้ยังไง ตั้งเป้าไว้ยังไง แล้วเป้าที่ตั้งไว้แล้วทำไมไม่เดินเข้าไปสู่เป้านั้น

เริ่มต้นบวชมาคิดว่าอยากได้อะไร ตอนบวช บวชคิดว่าเรามีเป้าหมายอะไร ถ้าเรามีเป้าหมายอะไร เราต้องเข้าสู่เป้าหมายนั้น แล้วถ้าเข้าสู่เป้าหมายนั้นต้องเข้าสู่เป้าหมายด้วยสัจจะความจริง เห็นไหม ไม่ใช่หลอกตนแบบไก่ป่า เอาหัวซุกเข้าไปนะในใบไม้ แล้วก็บอกว่าไม่เห็นเราๆ นี่ไงจับจด ทำอะไรจับจดมักง่าย แล้วก็บอกว่านี่นิพพาน นิพพาน รู้ตัวทั่วพร้อม กำหนดได้หมด เข้าใจธรรมะหมดเลย

หลอกตน เวลาหลอกตนนะ กิเลสมันหยาบ พอมันหลอกตน เราก็ยังเชื่อว่าเราเป็นแบบนั้น เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ ถ้าเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราเป็นอย่างงั้นจริงเป็นเพราะความสำคัญตน ความเห็นของเราเอง

แต่ถ้าเป็นความจริง มันสำรอก มันคายนะ มันเห็นถึงการกระทำว่าการกระทำนี้มันการกระทำ ดูสิ สติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา ดูสิ เวลาสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แล้วอัปปนาสมาธิ เวลาทำอัปปนาสมาธิ เวลาจิตมันรวมจิตมันพักมันผ่อนขึ้นมามันทำยังไง เวลาเราวิปัสสนาไป เวลามันปล่อยมันวางขึ้นมา มันแตกต่างกันยังไง มันจะรู้นะ แล้วสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน แตกต่างกันยังไง

สมถกรรมฐานคือทำความสงบระงับเข้ามา ความสงบระงับเข้ามาคือว่ากิเลสมันสงบตัวลง กิเลสไม่แสดงตนมันก็สงบระงับเข้ามา มันก็มีความสุขพอสมควร เวลาเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา เวลาชำระล้างกิเลส เวลาสมุจเฉทปหานมา เวลากิเลสขาดมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้ามันปัจจัตตัง มันสันทิฏฐิโก มันจะรู้มันจะเห็นของมันตามความเป็นจริง ถ้าเป็นตามความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว มันจะรู้เท่าทันกิเลสเลย

ถ้ารู้เท่าทันกิเลส เห็นไหม หลานกิเลส ลูกกิเลส พ่อกิเลส ปู่กิเลส กิเลสแต่ละตัวมันแตกต่างกันยังไง สิ่งที่หยาบๆ เห็นไหม สิ่งที่เป็นการผิวเผินที่ว่าเป็นหลานกิเลส หลานกิเลสคือว่าสักกายทิฏฐิความเห็นผิด เริ่มต้นตั้งแต่ไม่รู้อะไรเลย ครอบครัวของมัน เวลาทางสังคม เห็นไหม เวลาเด็กมันไปเที่ยวเล่นกัน เวลามีปัญหากันมันไปเรียกพี่มันมาช่วย พี่มันมาช่วยไม่ทันมันก็เรียกพ่อมันมาช่วย พ่อมันมาช่วย พ่อมันมาแพ้มันก็บอกให้ปู่มันมาช่วย เพราะปู่มันนี่มีคอนเนคชั่น มันรู้จักสังคมเยอะ มันมาช่วย เห็นไหม

นี้ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปนี่เราไปเจอแค่ผิวเผิน แค่หลานของมัน มันยังไม่เรียกพ่อ เรียกปู่ มันยังไม่เรียกพี่เรียกน้องมันมาช่วยมันเลยนะ ถ้ามันเรียกพี่น้องมาช่วย มึงจะทำอะไร จะวิปัสสนายังไง ฉะนั้น เวลาเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบแล้วนี่เราจะเจอหลานของมัน คือกิเลสอย่างหยาบๆ กิเลสผิวเผินมาก เห็นไหม ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส เวลาปุถุชนคนหนา เราพิจารณาของเรา เราแยกแยะของเรา เวลามันรู้เท่าไปแล้วนี่มันจะเป็นกัลยาณปุถุชน

เวลามาเป็นกัลยาณปุถุชนแล้ว มันทำความสงบๆ ได้สะดวกขึ้น มันมีหนทางที่ทำความสงบของใจให้ได้ ถ้าทำความสงบของใจให้ได้ ถ้าจิตมันสงบแล้ว เราจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตของเราตามความเป็นจริงได้อย่างไร เวลาเราเห็นจริงขึ้นมา เห็นจริงมันเห็นแตกต่างกับปริยัติ เห็นแตกต่างกับความเห็นในการค้นคว้ามาจากพระไตรปิฎก มันมีความเห็นแตกต่างมาจากภาคทฤษฎีล้านเปอร์เซ็นต์

ถ้ามันมีความเห็นแตกต่าง มันแตกต่างยังไง ถ้ามันแตกต่างแล้วนี่เราจะเดินกันไป ความเห็นแตกต่าง เห็นไหม ดูสิ เวลาหลอกตน เวลาหลอกตน เห็นไหม เพราะเราเคยเอาหัวซุกใบไม้แล้วเราปลอดภัยมา ต่อไปนี้ใครมา ไปเจอใคร เจอเสือ เจอสาง เจออะไรก็เอาหัวซุกเข้าใบไม้เลย คิดว่าตัวเองจะปลอดภัย มันเคยปลอดภัยมาแต่มันจะไม่ปลอดภัยทุกเที่ยวไปหรอก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบแล้ว เวลามันจะพิจารณากาย พอไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ ไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง มันก็แปลกใจ เอ้อ มันจะเป็นแบบนี้ แต่มันไม่ใช่เพราะเราเคยจินตนาการมาในพระไตรปิฎกแล้วมันราบรื่น โอ๊ย อันนั้นถูกต้อง

อันนี้ไม่ใช่ ! เวลาจะเข้าสู่วิปัสสนา เวลาจะเข้าสู่ปัญญารู้แจ้ง มันยังบอกอันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะมันมีกำลัง มันมีมรรค มันมีความเห็นที่มันจะก้าวเดิน พอเราไปเห็นเข้า เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น พอไปเห็นเข้า หรือจิตมันเริ่มเป็นเข้า กลับหวั่นไหว กลับกลัวความเจริญก้าวหน้า กลับกลัวความว่ามรรคมันจะงอกงาม กลับบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ กลับมาสู่ความจินตนาการ กลับมาสู่ความเป็นจริงในพระไตรปิฎก ไปจินตนาการเอา ไปก๊อบปี้ไปทำของเทียมเลียนแบบให้มันเหมือน มันง่ายกว่า มันสะดวกกว่า นี่ว่าอันนั้นเป็นความจริง เห็นไหม

หลอกตน ! หลอกตน ! ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ นี่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตามความเป็นจริง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านเป็นความจริง ท่านวางหลักการตามความเป็นจริงเอาไว้แล้ว

แต่ในภาคปัจจุบันนี้ เวลาในภาคการปฏิบัติเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติของท่าน ดูสิที่ว่าจะมาเป็นหมาแทะกระดูกไหม หมาแทะกระดูก อันนั้นเป็นคำสั่งสอน เป็นคำเผดียงของหลวงปู่มั่นที่จะให้หมู่สงฆ์ของเรามันมีคุณธรรมในใจให้เคารพบูชา แม้แต่หลวงปู่เสาร์ท่านนิพพานไปแล้วก็ต้องเคารพบูชา ไม่ใช่หลวงปู่เสาร์ท่านนิพพานไปแล้วเอาพระธาตุของท่านมาทำมาหากิน ท่านเผดียงสำหรับพระที่มีความเห็นที่เป็นธุรกิจ มีความเห็นที่เห็นแต่ลาภสักการะ

แต่จิตใจที่มีธรรม มีธรรมขึ้นมา เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันยังเกิดทิฏฐิ มันเกิดความเห็นว่าเราไม่เป็นอย่างนั้นๆ เราไม่เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้าจิตใจเราเป็นธรรม เราไม่เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้าเราไม่เป็นอย่างนั้น เราจะเอาพระธาตุของครูบาอาจารย์ไว้ มันจะเสียหายตรงไหนล่ะ มันจะเสียหายตรงไหน ก็เราไม่ได้เอามาทำธุรกิจนะ ก็เราเคารพบูชาของเราล่ะ ถ้าจิตใจเราเป็นธรรมเราเอาได้

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจเราเป็นธรรม เราไม่หลอกตน สิ่งที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านวางเป็นธรรมวินัยนี้ไว้ ท่านวางไว้สำหรับให้คนที่รู้จริงแล้ว มันจะเป็นความจริงขึ้นไป แต่ถ้าเป็นการรู้จำ มันเป็นการหลอกตน พยายามจะเอาสมบัติของคนอื่นมาเป็นของเรา มันก็แสดงกิริยาอย่างนั้น มีความเห็นอย่างนั้นๆ ความเห็นของตน เห็นไหม เอาหัวซุกใบไม้เลย ไม่ยอมรับอะไรเลย นี่อริยสัจเป็นแบบนี้ นี่เอาหัวซุกใบไม้ไปเลยตัวมันโผล่มา

แม้แต่หมาป่ามันมาเจอมันก็งับแล้ว ไก่ทั้งตัวมันมองไม่เห็นเหรอ แล้วสัตว์ป่านี่อย่าว่าแต่มันเห็นเลย กลิ่นมันมาแล้ว หมาป่านี่ สัตว์ป่านี่ กลิ่นนี่ มันได้กลิ่นมาเป็นกิโลแล้ว ซุกหัวอย่างนั้นไม่รอดหรอก ตายอย่างเดียว

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าหลงตน ถ้ามันไม่เป็นสัจจะเป็นอริยสัจจะความจริงขึ้นมาในใจ มันจะเป็นความจริงมาจากไหน ถ้ามันไม่เป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม มันก็หลอกตนไง หลอกตน ดูสัตว์ เวลามันหลอกสิ สัตว์ป่า สัตว์บ้าน มันก็มีระวังภัยแตกต่างกัน พระป่า พระบ้าน ตีความในพระไตรปิฎกไม่ใช่ตีความเข้าข้างตัวเอง ตีความเข้าเนื้อหาสัจธรรม ตีความหมายถึงว่าจิตใจเข้าสู่ธรรม เข้าไปสัมผัสกับธรรม ถ้าการศึกษานี่มันก็สัมผัสด้วยบาลีไวยากรณ์ มันด้วยการแปลอักษร

แต่ถ้ามันเป็นความสัจจะความจริง สมาธิมันก็เป็นขึ้นมาในใจ ถ้าปัญญาขึ้นมามันก็เป็นมรรคญาณขึ้นมาในใจ ถ้ามันสมุจเฉทปหานขึ้นมา มันก็มีคุณธรรม อกุปปธรรมในใจ มันเป็นใจขึ้นมา แล้วผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ทำจริงมันก็ได้จริงนะ แล้วความจริงอันนั้นมันก็เป็นความจริง ถ้าความจริงอันนี้ เห็นไหม นี่ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา นี่สัจจะมันอยู่ที่นี่ เราเอาที่นี่นะ

สิ่งที่เราบวชมาเป็นพระ บวชมาเป็นพระ เราออกจากบ้านจากเรือนมา เราไม่มีบ้านมีเรือนแล้ว สิ่งที่ยังเป็นสายเลือด เห็นไหม พระเรานี่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ห้ามขอ เรามีสายเลือดเพราะเรามีพ่อมีแม่ เรามีพี่มีน้องนี่ ๗ ชั่วโคตร ๗ ชั่วโคตร วินัยนี่ให้ขอได้ ให้ขอให้บอกกล่าวได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ๗ ชั่วโคตร ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ขอสิ่งใดมาเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ตัวพระขอเป็นปาจิตตีย์ เห็นไหม วินัยให้ไว้อย่างนั้น ฉะนั้น เราออกจากบ้านจากเรือนมาแล้ว มันเป็นเรื่องของน้ำใจ ถ้าญาติพี่น้องยังคิดถึงเราอยู่ ยังมาเยี่ยมเยือนเราอยู่แสดงว่าเขาก็มีน้ำใจต่อเรา เขาจะให้ขอสิ่งใด เราก็จะขอ

แต่ถ้าเราออกมาแล้ว เราบวชมาแล้ว เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราบวชมาแล้วเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอยู่ในสังฆะ อยู่ในกลุ่มสงฆ์ สงฆ์ต้องดูแลกัน ถ้าสงฆ์ดูแลกัน เห็นไหม สิ่งใดขาดตกบกพร่อง สงฆ์ต้องดูแลกัน เราจะไม่ต้องจำเป็นจะต้องพูดขอจากญาติก็ได้ หาเอาจากหมู่สงฆ์ แล้วผู้ที่เป็นหัวหน้าท่านคุ้มครองดูแลเราอยู่ แค่ปัจจัยเครื่องอาศัยปัจจัย ๔ ยังคุ้มครองดูแลเราไม่ได้จะไปคุ้มครองดูแลหัวใจของเราได้ยังไง

หัวใจของเรานี่กิเลสอวิชชามันครอบงำอยู่ กิเลสอวิชชาพญามารนี่มันจะเป็นชักนำไปยังไงก็ได้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะ ท่านดูแลเราตั้งแต่ปัจจัย ๔ แล้วยังดูแลหัวใจของเราไม่ให้มารมันแย่งชิงไป ไม่ให้มารมันข่มขี่ข่มเหงหัวใจนี้ แล้วเรานี่เราจะมาประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณาห้ามขอ แต่ถ้าเป็นญาติปวารณาเราก็ขอเอาตามความจำเป็น แต่ถ้าเป็นญาติเป็น ๗ ชั่วโคตร ของเรา เขาไม่ส่งเสริม เขาไม่พอใจเรา เราก็มีหมู่สงฆ์ เราก็มีครูบาอาจารย์ เราดูแลกันได้ ถ้าดูแลกันได้ที่นี่ เห็นไหม นี่เวลาดูแลกันได้ ขาดเหลือ ขาดตกบกพร่อง บอกกันได้ แล้วของส่วนกลางมันก็มีอยู่แล้ว ที่ว่าจะเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยที่ขาดแคลนมันไม่มี

มันจะมีตอนนี้ก็มีแต่ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของเรา ถ้าถึงมีความเพียรมีความวิริยะมีความอุตสาหะของเรา เราจะหาความจริงหาสัจธรรมขึ้นมาในใจของเรา อย่าให้กิเลสมันหลอก นี่เวลากิเลสมันหลอก หลอกตนแล้ว เราก็สร้างกระบวนการในใจของเราขึ้นมา เหมือนไก่เอาหัวไปซุกใบไม้ไว้ แล้วว่านี่ไม่มีใครรู้ใครเห็นเราหมด ปลอดภัย ไม่มีใครมาค้นคว้าเราได้ มาตรวจสอบเราได้หมาป่าไฮยีนามันหัวเราะเลยล่ะ ไฮยีนามันได้กลิ่น ๒๐ กิโล ลองไปซุกอย่างนั้นไม่เหลือ กินหมด เราก็ไปคิดเอาเอง หลอกตนไง

เอาความจริง เราปฏิบัติเพื่อเอาความจริง อย่าให้ชีวิตนี้สูญเปล่า เห็นไหม จะออกพรรษาแล้วนะ ปักษ์หน้าจะปวารณา ปวารณาแล้ว เห็นไหม นี่ออกพรรษา ออกพรรษามันเคลื่อนย้ายได้ ถ้าเคลื่อนย้ายได้ ถ้ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง มีสิ่งใด มี กลุ่มสงฆ์นี้มี เพียงแต่ว่าเราไม่ส่งเสริม ไม่ส่งเสริมให้อหังการ ไม่ส่งเสริมให้คนเหยียบคน ไม่ส่งเสริมให้พระเหยียบหัวพระ เราเป็นพระด้วยกัน เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน เราจะต้องเสมอภาคกัน มีน้ำใจต่อกัน ถ้าวิสาสะ เราสนิทคุ้นเคยกันก็วิสาสะ ถ้าไม่วิสาสะหยิบฉวยเอาไม่ได้ พระเราต้องดูแลกัน ถ้าพระเราไม่ดูแล

ครูบาอาจารย์ เห็นไหม ตั้งแต่หลวงปู่มั่น ตั้งแต่หลวงตาท่านดูแลนะ ดูแลพระ ดูแลธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ แต่ด่ากิเลส ด่ากิเลส ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ กิเลสมันเอาตรงนั้นมาอ้าง เวลาท่านฟาดฟันนะ หลวงตาท่านบอกเลย ไม่ได้ด่าพระ ไม่ได้ด่าคน ด่ากิเลสของพระ ด่ากิเลสของคน กิเลสของพระ กิเลสของคนมันอาศัยนี่ว่ามันขาดแคลน บกพร่อง แสวงหา ต้องการ เห็นไหม ด่ากิเลสนั่น แต่ถ้าเป็นการขาดเหลือขาดตกบกพร่อง เราดูแลกันด้วยประโยชน์กับของสงฆ์นะ

ปฏิบัติแล้วนี่อย่างน้อยให้มีความสงบของใจ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขในใจบ้าง ถ้าใจร่มเย็นเป็นสุขแล้ว เราปฏิบัติไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เราละโลกเราวางโลกแล้ว เราบวชแล้ว เราจะเอาความจริงของเรา หาความจริงให้เจอ ไม่ใช่บวชแล้วย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่เจริญงอกงามขึ้นมา เจริญงอกงามขึ้นมาเพื่อความมั่นคงในใจของเรา แล้วจะเป็นความมั่นคงของศาสนา เอวัง