เทศน์บนศาลา

ใจสะอาด

๘ ธ.ค. ๒๕๔๗

 

ใจสะอาด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๗
ณ อ.ลี้ จ.ลำพูน

 

ปฏิเสธสิ่งนั้นมันทั้งหมดเลยเพราะสิ่งนั้น เวลาศึกษาไปแล้วมันเป็นของชั่วคราวไง สิ่งที่เป็นอนิจจัง โลกนี้เป็นอนิจจัง ธรรมะในความเป็นจริงนี้ก็เป็นอนิจจัง น้ำขึ้นน้ำลงก็เป็นอนิจจัง ความเป็นไปของโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด แล้วธรรมที่เป็นอนิจจังมันก็เข้ากับเรื่องของความเป็นความสกปรกของใจไง ใจนี้มีความสกปรกของใจ ถ้าธรรมสิ่งนั้นเข้ามาในที่ใจสกปรก ใจสกปรกมันอ้างอิงว่าเป็นธรรมไง ถ้ามันอ้างอิงว่าเป็นธรรมสิ่งนั้น เจ้าชายสิทธัตถะถึงปฏิเสธสิ่งนั้นมาตลอด สิ่งที่เป็นธรรมของโลกเขา เป็นสภาวธรรมของโลกเขา

ไปดูนะ ปัญจวัคคีย์ เวลาประพฤติปฏิบัติ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ เวลาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี ใจนี้สะอาดนะ แต่ในเมื่อใจนี้สะอาดเพราะอะไร เพราะทำสมาธิอยู่ ประพฤติปฏิบัติธรรมไปกับเจ้าชายสิทธัตถะเหมือนกัน เพียงแต่ว่าจะประพฤติปฏิบัติไปในตามสิ่งที่ธรรมยังไม่มีอยู่ เพราะมีความเข้าใจ สิ่งที่มีความเข้าใจก็ประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อใจของปัญจวัคคีย์มีความสะอาด มีความบริสุทธิ์ เพราะในเมื่อทำความสงบได้

แต่เวลาเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาประพฤติปฏิบัติ ทำทุกรกิริยามาตลอด แล้วหันไปฉันอาหาร หันมาฉันอาหาร ปัญจวัคคีย์เห็นว่าสิ่งนี้เป็นความมักมาก สิ่งนี้เป็นความมักมาก ย้อนกลับมาหาสิ่งที่เป็นเรื่องของอาหาร ไม่ทำทุกรกิริยา นี่จะเป็นธรรมไปไม่ได้ ในเมื่อใจที่สะอาดบริสุทธิ์ของปัญจวัคคีย์เห็นสภาวะแบบนั้น ยังไม่ยอมรับไง ไม่ยอมรับการกระทำของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น จึงพากันปฏิเสธแล้วทิ้งเจ้าชายสิทธัตถะไว้ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่คนเดียว เจ้าชายสิทธัตถะถึงออกมาฉัน ข้าวของนางสุชาดา พอกินข้าวของนางสุชาดาแล้ว นี่ย้อนกลับเข้ามา เพราะทำให้ร่างกายนี้มีความเข้มแข็งขึ้นมา เพราะอดอาหารมานี่ทรมานร่างกายมาตลอด

สิ่งที่การทรมานร่างกายมานี้เพราะความเห็น ความเห็นของโลก คนเราทำขยันหมั่นเพียร ทำมาหากิน คนไหนขยันหมั่นเพียร เราก็ว่าคนนั้นเป็นคนดี ความขยันหมั่นเพียรของทางโลกเขา ในเมื่อทางโลกเขา ความขยันหมั่นเพียร การกระทำของเขามันก็มีความถูก มีความไม่ถูกอยู่ในการกระทำนั้น

ในการทำทุกรกิริยา ในเมื่อเห็นว่าเราต้องทำสภาวะแบบนั้น โลกเห็นว่าทำความเพียร การทำทุกรกิริยานี้เป็นการทรมานกิเลส สิ่งที่ทรมานกิเลสนั้นคือความเข้าใจ เพราะยังไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามประพฤติปฏิบัติ หันกลับมาเพื่อทำให้ร่างกายนี้เข้มแข็งขึ้นมาแล้วย้อนกลับเข้ามา

ใจจะสะอาดขนาดไหน ในเมื่อมันอยู่ใต้ของอวิชชา มันอยู่ใต้ความเห็นของเรา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” เพราะเราดำริ มารก็แทรกมาอย่างนั้น ในเมื่อเรามีความสะอาด มีความบริสุทธิ์ มันก็เป็นความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา เป็นคนดีนะ คนดีคนชั่วอยู่ที่ความคิดอันนี้ แล้วพญามารอันนี้มันอาศัยสิ่งนี้เป็นการแสดงออก

ถ้าเราทำความสะอาด จิตเราสะอาดขนาดไหนมันก็สะอาดเข้ามา ในเมื่อมันปล่อยจากความเห็นของโลกเข้ามาเท่านั้น ในเมื่อไม่สามารถชำระกิเลสอย่างนี้ได้ สิ่งที่เวลาดำริออกไป มารก็อาศัยสิ่งนั้นออกไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาชำระกิเลสตรงนี้ออกหมด ถ้าชำระกิเลสตรงนี้ออกหมด นี่ธรรมเกิดตรงนี้ไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงประเสริฐมาก ถึงว่าธรรมชำระกิเลสได้

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว “จะสอนใครได้” เพราะมันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ ทั้งๆ ที่ว่าตั้งใจจะมาสอนโลกนะ เวลาปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ นั้นคือเป้าหมาย เป้าหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เมตตาตนก่อน คือต้องทำตัวเองให้พ้นจากกิเลสก่อน ถ้าทำให้พ้นจากกิเลส มันมีวิชาการ เพราะการประพฤติปฏิบัติ ประสบการณ์ไง นี่ปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วปฏิเวธ ถ้าไม่มีการปฏิบัติ ปฏิเวธมันเกิดมาจากไหน

ขนาดเจ้าชายสิทธัตถะมีปัญญาขนาดนั้นนะ ศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา จนศาสดา เจ้าลัทธิต่างๆ พยากรณ์ทั้งนั้นว่า “ความรู้เท่าเรา เสมอเรา” แต่ก็ไม่ฟังเขา เพราะมันเป็นสิ่งที่หัวใจไม่ได้สัมผัสกับความเป็นจริง หัวใจนั้นไม่ได้สัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเป็นจริงอันนั้น นี่ความสะอาดบริสุทธิ์ของใจ ๑ สะอาดบริสุทธิ์จากการทำสัมมาสมาธิไง ถ้าจิตทำสัมมาสมาธิได้ มันเป็นการปล่อยวางสิ่งต่างๆ เป็นภาระรุงรังเข้ามา ถ้าปล่อยสิ่งต่างๆ เป็นความภาระรุงรังเข้ามา ความคิดของเรามันไม่เกิดพญามารเข้าแทรก ถ้าไม่เกิดพญามารเข้าแทรก อันนี้ถึงทำให้จิตนี้พ้นออกไปจากกิเลส อาสวักขยญาณเกิดตรงนี้ เกิดตรงทำใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์นี้เป็นส่วนหนึ่ง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วจะไปสอนปัญจวัคคีย์นะ ปัญจวัคคีย์เมื่อทำใจสะอาดบริสุทธิ์ได้ คือทำสมาธิได้ ควบคุมได้ เห็นเจ้าชายสิทธัตถะหันกลับไปฉันอาหาร นี่เป็นผู้มักมาก เจ้าชายสิทธัตถะจะไปสอนปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์นัดกันนะ ปฏิเสธว่า

“นั่นคนมักมากมาแล้ว คนมักมาก คนที่ไม่ทำ...ถอนทุกรกิริยาแล้วไปมุ่งหาแต่เรื่องความสุขไง เรื่องของอาหาร เรื่องของการอยู่สุขอยู่สบายทางโลก สิ่งนั้นเรานัดกันว่าจะไม่ยอมรับนะ เวลาเราทิ้งมาแล้วนี่ไม่มีคน ไม่มีใครดูแล ไม่มีใครอุปัฏฐาก นี่กลับจะมาหาเรา ให้เราอุปัฏฐากอีก คนอย่างนี้หรือน่าอุปัฏฐาก”

นัดกันว่าจะไม่ยอมรับไม่อุปัฏฐากแต่เพราะความเคยชิน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถึง เห็นไหม รับกันโดยอัตโนมัติ รับบริขารต่างๆ แล้วก็ชี้นะ สิ่งที่ว่าจะนั่ง จะทำต่างๆ นั้น แล้วแต่ความพอใจของเจ้าชายสิทธัตถะ นี่มีความแข็งกระด้าง

ใจสะอาด หมายถึงว่า ทำความสงบของใจได้ แต่ในเมื่อมีกิเลสอยู่มันก็ต่อต้านอย่างนั้น จนเจ้าชายสิทธัตถะบอกว่าให้น้อมมาฟังธรรม ให้น้อมมาทำปฏิสันถารแล้วจะเทศน์ จะสอนว่าการไงเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แล้วเสวยวิมุตติสุข มีความสุขมาก แล้วคิดจะแทนคุณ

แทนคุณเพราะเราประพฤติปฏิบัติมาเพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วสิ่งนี้เป็นความลึกลับมหัศจรรย์มาก เราจะสอนใครก่อนไง สอนผู้ที่มีคุณ คืออาฬารดาบสก่อน อาฬารดาบสก็เพิ่งตายไปแล้ว จะสอนอาจารย์ของตน คนหนึ่งตายไปแล้วเมื่อ ๗ วันที่แล้ว คนหนึ่งเพิ่งตายเดี๋ยวนี้เอง นี่อำนาจวาสนาตรงนี้สำคัญมากนะ สำคัญที่ว่าเวลาตายไปแล้ว ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปสอนใครได้ล่ะ ถ้าเรามีอำนาจวาสนาอยู่ เรายังสามารถแก้ไขสิ่งนี้ได้อยู่ เรายังมีจิตอยู่ มีความรู้สึกอยู่ อันนี้เราสามารถจะแก้ไขได้

จะสอนอาฬารดาบสก็ตายเสียแล้ว แล้วจะสอนใครดีล่ะ หันมาสอนปัญจวัคคีย์ไง ถึงได้เสวยวิมุตติสุขแล้วออกจากเสวยวิมุตติสุขแล้ว จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ จะสอนใครได้ ไม่คิดจะสอนใครเลย จนพรหมมานิมนต์ ๑ จนถึงว่า สิ่งที่ว่าเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ มันเป็นการวัดกันไง ให้เห็นสภาวธรรมมันลึกลับมหัศจรรย์

สิ่งที่จะเอาสิ่งที่เป็นความลึกลับมหัศจรรย์ เป็นทฤษฎีที่ไม่มีโลกนี้ เขาไม่สามารถพิสูจน์ของเขาได้ ทางวิทยาศาสตร์นะ สิ่งใดที่พิสูจน์ได้เป็นทฤษฎีนี่ทุกคนทำแล้ว พิสูจน์แล้วจะออกมาคุณค่าอย่างนั้นเป็นทางวิทยาศาสตร์ แต่วิทยาศาสตร์แล้วทำกี่เปอร์เซ็นต์เขาถึงยอมรับว่าสิ่งนั้นประพฤติปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างนั้น นั่นวิทยาศาสตร์ยอมรับนะ

แต่อันนี้มันเป็นความเห็นของใจ มันเป็นความเห็นของใจเพราะถ้ามันซื่อสัตย์ มันสุจริตกับใจของตัวเอง ใจของตัวเอง ในเมื่อมีความต้องการ มีความแสวงหา มีการขัดขวาง มีการอาลัยอาวรณ์ในหัวใจ สิ่งนั้นมันเป็นกิเลสทั้งนั้นแหละ เข้าสมาบัติขนาดไหน อาฬารดาบสสอนมาแล้ว เวลาออกมาจากนั้นมันก็มีความรู้สึกของมัน มันก็เป็นความเห็นของใจอันนั้นล่ะ มันมีกิเลสอยู่ มันคือมีไง สิ่งใดที่มีอยู่ในตัวตน อันนั้นคือมี แล้วเวลามันผ่านพ้นอันนี้เข้าไปล่ะ แล้วจะเอาไปบอกใครล่ะ

เพราะเวลาพูดกัน เวลาคนที่วุฒิภาวะของใจมันหยาบ เวลามันปล่อยวางเข้ามา มันก็ว่าว่าง ตอนนี้ใครก็ว่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ปล่อยวาง พวกเราก็ปล่อยวางกันแล้ว นี่ปล่อยให้มันว่างๆ มันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางแบบนี้ ปล่อยวางแบบพญามาร เวลาพญามารเอาเรื่องของกิเลสมา เอาเรื่องของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังหน้า นี่ปล่อยวางอย่างนี้ ปล่อยวางอย่างนี้ ความปล่อยวางของเขา

แต่การปล่อยวางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันปล่อยวาง มันชำระล้างไง มันปล่อยวางแบบรู้แจ้ง มันรู้แจ้งเหมือนนักวิชาการ เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ทั้งหมด เราพิสูจน์สิ่งต่างๆ ทั้งหมด เราเข้าใจแล้ว เราปล่อยวางไว้ เราไม่ติดพันมัน แต่ทางวิทยาศาสตร์เขาปล่อย เขาพิสูจน์สิ่งใดได้ เขาก็ต้องจดลิขสิทธิ์ของเขา เขาว่าสิ่งนั้นเป็นสมบัติของเขา สิ่งนั้นเป็นสมบัติของเขา เพราะเขาเป็นคนรู้ไง

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้พวกเรารู้ไง รู้ขึ้นมาเพื่อเป็นพยานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าสิ่งนั้นมีจริงในโลก นี่มันเป็นสิ่งที่ประสบมาจากใจอันนี้ ถึงว่าจะไปสอนใครได้ สิ่งนี้เป็นการยืนยันว่า “ธรรมเหนือโลก ธรรมกับโลกไม่ใช่อันเดียวกัน”

แต่ความคิดของเราเป็นความคิดทางโลก ความคิดทางโลกคือความคิดมาจากตัวตนของเรา โลกนะ โลกคือหมู่สัตว์ สัตว์เกิดจากโลก วัฏฏะ สิ่งที่ข้องอยู่ โลกคือเรา โลกคือสัตว์ โลกคือความคิดของเรา ความคิดของเราเป็นจักรวาลจักรวาลหนึ่ง เพราะมันเกิดจากฐานความคิด ฐีติจิตคือความคิดของเรา ความเห็นของเราเกิดจากเราทั้งหมดแล้วเราคิดใคร่ครวญออกไป สิ่งนี้ซับซ้อนมาอยู่กับหัวใจของเรา จักรวาลอันนี้มันเป็นเรื่องของโลก มันวนออกไปทางโลก แล้วเราคิดออกมาจากตัวตนของเรา มันคิดจากความเห็นของเรา มันเป็นโลกียะทั้งหมด

สิ่งที่เป็นโลกียะ แล้วปล่อยวางอย่างนี้มันเป็นความว่างชั่วคราว ถ้าความว่างอย่างนี้มันเกิดดับ สิ่งที่เกิดดับความคิดมันชำระไปที่ไหน? มันไม่ได้ชำระไป ถึงว่า สิ่งนั้นเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ แต่สิ่งที่เป็นความคิดโลก โลกนี้มันสื่อกันได้ เรื่องตรรกะ เรื่องปรัชญา มันสื่อกันได้ สิ่งที่พูดถึงตรรกะ ปรัชญา สิ่งที่ศึกษา ปรัชญา เราเรียนทางปรัชญามา เราจะเข้าใจเรื่องปรัชญา แล้วจะเอาปรัชญามาเทียบเคียงกัน เห็นไหม ใครตีความ ใครทำได้ลึกซึ้งกว่ากัน มันจะมีความสุข มันจะมีความเข้าใจในปรัชญาอันนั้นมาก

สิ่งนี้ชำระกิเลสไหมล่ะ สิ่งที่เป็นปรัชญามันเข้าใจแล้วมันก็ลึกซึ้ง มันสะเทือนหัวใจมาก สิ่งที่สะเทือนหัวใจมาก เราก็ต้องเกิดต้องตายกับสภาวะสิ่งนี้ไปนะ นี่คือปัญญาของโลก สิ่งที่ว่าเป็นโลกกับเป็นธรรม มันต่างกันตรงนี้ไง

“แล้วธรรมะอันนี้จะสอนใครได้ จะสอนใครได้”

ถึงจะสอนอาฬารดาบสก็ตายไปแล้ว เพราะสิ่งนี้เขาทำความสงบของใจเข้ามา เขามีฐานนะ เขามีฐาน เขามีความรู้สึก มีความรู้สึกอันนี้มันเป็นฐาน ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาปัญญาอย่างนี้ป้อนเข้าไป ป้อนเข้าไปที่ฐานนั้น ป้อนเข้าไปที่ความรู้สึกนั้น ความรู้สึกนั้นมันจะจับสิ่งนี้ได้ แล้วมันจะใคร่ครวญเข้ามา จับเป็นวิปัสสนาภายในเข้ามา เขาจะมีปัญญาของเขาขึ้นมา อันนั้นจะเป็นพยานยืนยันกันว่าสภาวะของใจมันเป็นแบบนี้ไง แล้วปัจจัตตังขณะที่ปัญญามันใคร่ครวญเข้าไป มันจะเป็นแบบนี้ มันจะเข้าใจไง

แต่สิ่งที่อาฬารดาบสก็ตายไปแล้ว สิ่งนี้ไม่ได้สอนเพราะอาฬารดาบสเป็นอาจารย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน เป็นอาจารย์ในทางความสงบนะ เป็นอาจารย์เจ้าชายสิทธัตถะ แต่ไม่สามารถเป็นอาจารย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เพราะปัญญา วิมุตตินี้ สิ่งนี้ไม่มีเกิด ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ สิ่งนี้ไม่มี

ธรรมะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก สิ่งนี้มีอยู่แล้ว สิ่งนี้เป็นของมีอยู่เดิม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมต่างหาก พระปัจเจกพุทธเจ้าก็จะมาตรัสรู้ธรรมต่างหาก

แต่ถามว่ากับสาวกผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าไม่มีธรรมอันนี้ หมดสิทธิ์ ถึงว่ามันเป็นอำนาจวาสนาของเราว่า เราได้มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราประพฤติปฏิบัติมาด้วยความสะอาดของใจนะ แล้วเราจะเข้าถึงธรรมอันนี้ไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะไปสอนอาฬารดาบสก่อน ในเมื่อสอน...อาฬารดาบสตายไปแล้วถึงย้อนกลับมาปัญจวัคคีย์ เพราะปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากกันมา ๖ ปี สิ่งนี้คือเขาใคร่ครวญของเขามาตลอด สิ่งที่ใคร่ครวญมาตลอดคือว่าเขามีอุปกรณ์ เขามีอุปกรณ์ต่างๆ หมายถึงว่า มันมีความสงบของใจ มีพื้นฐานของใจ พื้นฐานของใจแบบอาฬารดาบสที่ว่าเข้าถึงสมาธิได้ไง เข้าถึงสมาบัติได้แล้ว ถ้าเราจี้เข้าไปที่ตรงนั้น เหมือนกับสิ่งที่ว่าเขาพร้อมที่จะออก เขาพร้อมทุกอย่าง อุปกรณ์เขาพร้อม สิ่งต่างๆ เขาพร้อม แต่เขาไม่สามารถทำสิ่งใดประกอบขึ้นมาให้มันประสบความสำเร็จได้ เพราะปัญญาอันนี้มันยังไม่เกิดไง

เวลาย้อนกลับมาถึงปัญจวัคคีย์นะ “เธอเคยได้ยินได้ฟังไหมว่าเราเป็นพระอรหันต์” เพราะตอนอยู่กับพระปัญจวัคคีย์จะไม่เคยพูดถึงคำนี้เลย เพราะเป็นผู้ที่มีจิตใจสะอาดมาก สิ่งใดไม่รู้จะบอกว่าไม่รู้ สิ่งใดรู้จะบอกว่ารู้ สิ่งใดพิสูจน์แล้วว่าใช่ก็บอกว่าใช่ สิ่งใดพิสูจน์ว่ายังไม่ใช่ก็ยังไม่ใช่

“เธอเคยได้ยินได้ฟังไหมว่าเราเป็นพระอรหันต์ เธอเคยได้ยินไหม...”

ปัญจวัคคีย์ “จริง เจ้าชายสิทธัตถะตอนอยู่ด้วยกันไม่เคยพูดอย่างนี้เลย” พูดคราวนี้มันแปลกไง มันแปลกจากการพูดเดิมๆ ที่เคยพูดกันมา เคยอยู่ด้วยกันมา เพราะว่าสิ่งนั้นถึงน้อมลงฟัง

“จงฟังธรรม จะเทศน์ธัมมจักฯ ให้ปัญจวัคคีย์ฟัง”

“เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนไม่ควรเสพ”

“อัตตกิลมถานุโยค” ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติทรมานแต่ร่างกายมา ทรมานร่างกายเพราะความเห็นของโลกมันมีวัตถุ มีความจับต้องได้ เรามีความทุกข์เพราะมีเรา จนในปัจจุบันนี้ ในทฤษฎีต่างๆ เขาบอกเลย โลกนี้มีเพราะมีเรา ถึงจะต้องทำลายเราเสียก่อน โลกนี้มีเพราะมีเรา ทุกข์มีเพราะมีเรา

มีในลัทธิการฆ่าตัวตาย ตอนนี้เขาคิดกันอย่างนั้นนะ เขาคิดว่าการฆ่าตัวตายคือทำลายชีวิตนี้แล้วมันจะจบสิ้นกันไง โลกนี้มีเพราะมีเรา เพราะมีเรา เราถึงปฏิบัติ นี่เพราะมีเรา เพราะมีความเป็นไป แล้วไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ถึงต้องทรมานตนกันไปเป็นอัตตกิลมถานุโยค

“กามสุขัลลิกานุโยค” ในสมัยพุทธกาล มีลัทธิหนึ่ง เกิดมาแล้วอยู่แต่ความสุข รักษาแต่กามสุขัลลิกานุโยค รักษาแต่เรื่องของกามคุณ นี่อยู่อย่างนี้ไป ๕๐๐ ชาติ แล้วจะสิ้นกัน นี่มีอยู่แล้ว เสวยสุข เสพกันแต่เรื่องความสุข อยู่แต่...ปรนเปรอกันแต่เรื่องความสุข แล้ว ๕๐๐ ชาติ จะตายไป เห็นไหม สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้

มันเป็นไปไม่ได้เพราะว่าเรื่องคุณค่าขนาดไหน เราจะปรนเปรอขนาดไหน เรื่องหัวใจมันถมไม่มีวันเต็ม เราต้องการสิ่งใด เราอยากหาสิ่งใด เราปรารถนาสิ่งใด เราต้องการสิ่งนั้น แสวงหาสิ่งนั้นมามันมีความสุขชั่วคราว สุขแบบนี้สุขแบบอนิจจัง เวลามันอิ่มเปรมเต็มที่มันก็ว่ามันเบื่อหน่าย แต่เดี๋ยวมันก็ต้องการอีก สิ่งที่ต้องการอีก ฉะนั้น เรื่องของโลกเป็นสภาวะแบบนั้น

เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนนี้ไม่ควรเสพ

“มัชฌิมาปฏิปทา” ความเป็นกลางระหว่างกายกับใจ ในเมื่อคนเกิดมามันมีกรรมนะ กรรมจะทำให้คนเกิด ใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เวลาสภาวะเกิด เกิดอย่างไร เกิดในอารมณ์อะไร เวลาเกิด ปฏิสนธิเกิดในครรภ์ของมารดา ถ้าเรามีกรรมมหาศาล เราจะเกิดเป็นสัตว์โลก เกิดเป็นเปรต เป็นผี เป็นนรกอเวจี เกิดเป็นสภาวะแบบนั้นนะ แต่ถ้าเรามีบุญกุศล เราจะเกิดเป็นมนุษย์ เราจะเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม

แม้แต่เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มันยังใช้เวลาของวัฏฏะนั้นแล้วถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ เราปัจจุบัน เราจะได้ประพฤติปฏิบัติ ทำไมสัตว์โลกมันเกิดสภาวะแบบนั้นล่ะ นี่ขนาดใจที่ใสๆ ใจที่เป็นปฏิสนธิจิตที่จะไปเกิดมันยังมีสภาวะกรรม การกดถ่วงของกิเลส การกดถ่วง มนุษย์สมบัติ ศีล ๕ ไง เราต้องมีศีลสะอาดพอสมควร เราต้องรักษามนุษย์สมบัติ

เวลาครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติไป เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ ทำไมเกิดเป็นมนุษย์บ่อยๆ ล่ะ ทำไมไม่เกิดพลัดพรากไปในอเวจี ไม่พลัดพรากไปเกิดในวัฏฏะที่กาลเวลามันฉุดกระชากใจดวงนี้ให้มันหมดการเกิดพบพระพุทธศาสนาล่ะ นี้เพราะความเคยชินไง

การประพฤติปฏิบัติ การฝึกหัดนะ เรา การประพฤติปฏิบัติ เรากำหนดพุทโธ เราทำสมาธิก็แล้วแต่ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็แล้วแต่ ใช้ปัญญาใคร่ครวญนี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราฝึกใจตลอด เราถือศีล เราถือศีลอุโบสถ เราถือศีล เราประพฤติปฏิบัติ นี่การฝึกฝนอย่างนี้ นี่มนุษย์สมบัติจะเกิดตรงนี้ไง เพราะเราประพฤติปฏิบัติบูชา แล้วเราฝึกฝนใจของเรา อยู่ที่การฝึกฝน

เกิดเป็นมนุษย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประพฤติปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลาเจ้าชายสิทธัตถะย้อนไปตั้งแต่บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนกลับไป สร้างสมบารมีมา มันเข้ามาถึงที่สุด จะเข้ามาถึงสภาวะแบบนี้ สภาวะใจแบบนี้ นี่ย้อนกลับมาให้มันสะอาดบริสุทธิ์มาไง

สิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์นี่มัชฌิมาปฏิปทาของใคร? มัชฌิมาปฏิปทาของผู้ที่สร้างสมบุญญาธิการของเขามา ทำคุณงามดีนะ โลกนี่ทำคุณงามความดีกัน เขาทำคุณงามความดี เขาว่าเป็นความดีของเขา นั่นคือความดีของเขานะ ความดีอย่างนี้เป็นความดีหน้าฉาก แต่ความดีหน้าฉากแล้วถ้า กิเลสล่ะ กิเลสมันอยากได้ดีตลอดไป มันไม่ต้องการเสียสถานะในคุณงามความดีของเขา ติดดีไง

คนติดดี เวลาบุญกุศลน่ะต้องประกาศ ต้องประกาศให้โลกเขารู้ ต้องทำ ถ้ามีสิ่งนี้มา อยากทำ อยากเป็นไป เห็นไหม แต่เวลาเรื่องของความผิดพลาดของเราล่ะ เราจะปิดนะ เวลาเราปิด เราไม่ต้องการให้ใครรู้เลยว่าเราทำบาปอกุศล เราทำสิ่งผิดพลาดสิ่งใด เราจะปิดของเราไว้ สิ่งที่ปิดของเราไว้ ทำไมไม่เอาออกมาเปิดเผยล่ะ? ไม่ต้องการสิ่งนั้น เห็นไหม นี่ความสะอาด ความบริสุทธิ์ของโลกเขา

สิ่งที่โลกเขาคือสิ่งที่พิสูจน์ได้ทางโลกเขา แต่ความสะอาดบริสุทธิ์ของเราล่ะ เราหลอกเราได้ไหม ถ้าเราหลอกเราไม่ได้ เราหลอกตัวเองไม่ได้ มันถึงต้องมีศีล เราประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ ในเมื่อจิตใจมันแกว่งไกว มันต้องการของมันไป มันฉุดกระชากความคิดของเราไป สิ่งที่ฉุดกระชากความคิดของเราไปแบบนี้มันเป็นมโนกรรม สิ่งที่เป็นมโนกรรมนี้มันไม่เป็นอาบัติ มันไม่เป็นความผิดพลาด มันเป็นสุดวิสัยที่การควบคุม นี่โลกเขาสะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์อย่างนั้น

แต่ของเรา ถ้าเราสะอาดบริสุทธิ์ของเรา เราต้องทำใจดวงนี้ให้สะอาดบริสุทธิ์ เหมือนกับปัญจวัคคีย์นี้ “เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนไม่ควรเสพ” สิ่งที่ความเข้าใจผิดของปัญจวัคคีย์ ต้องการนะ ต้องการให้ทรมานตน ต้องการให้มุมานะเข้าไปให้เห็นสภาวะแบบนั้น

ดูนะ ดูอย่างอัญญาโกณฑัญญะสิ เวลาพยากรณ์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “นี่จะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน” พราหมณ์เขาพยากรณ์เป็น ๒ ทางนะ “ถ้าออกประพฤติปฏิบัติจะได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าครองอยู่ทางสมบัติจะได้เป็นพระจักรพรรดิ” แต่อัญญาโกณฑัญญะฟันธงเลย “ต้องเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน” แล้วก็รอเวลานะ รอเวลาจนกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะออกบวช รอเวลาออกบวชแล้วได้ข่าวแล้วตามไป ตามไปอุปัฏฐากอยู่อีก ๖ ปี

รอเวลามาเพราะอะไร เพราะรอเวลามา สิ่งนี้จะเกิดขึ้นมา มัชฌิมาปฏิปทาอันนี้ไง

สิ่งที่ธรรมยังไม่เกิด คนที่มีจิตใจสะอาด มีจิตใจบริสุทธิ์ จะรอสิ่งนี้ รอสิ่งนี้เพื่อชี้เข้ามา ชี้เข้ามาชำระ เหมือนโลกปัจจุบันนี้ ที่โรคที่ว่าไม่มียารักษา เราอยากให้วิทยาศาสตร์พิสูจน์ ให้ค้นคว้าหายาตัวนี้ได้ ถ้าค้นคว้าหาตัวยาตัวนี้ได้นี่จะรักษาโรคเรา

จนทางยุโรปเขา เวลาคนที่มีฐานะตายไปให้เอาฝังร่างนี้ไว้ก่อน นักวิทยาศาสตร์เขาเจริญขึ้นมาอาจจะรักษาโรคนี้ได้ คิดกันขนาดนั้นนะ กิเลสน่ะ คิดกันว่าเราตายไปแล้ว ถ้าวิทยาศาสตร์มันพิสูจน์สิ่งนี้ได้มันจะเอากลับมารักษาเราได้ ให้เราฟื้นขึ้นมาได้อีกนะ นี่ฟื้นขึ้นมา ความคิดของเขาไง จนคิดว่า จิตจะเกิดอย่างไร จะคิดแต่ว่าจะควบคุมการเกิด จะควบคุมธรรมชาติ

ควบคุมกลับไปไม่ได้หรอก สิ่งที่สภาวะแบบใดมันจะพิสูจน์ไป จะควบคุมขนาดไหน จะทำพิสูจน์ขนาดไหน นั้นเป็นความคิดของโลก นี่ความสะอาดของเขาคือทางวิทยาศาสตร์ไง ต้องการโลกนี้ให้เจริญ ต้องการโลกนี้ให้สืบต่อไป รักษาสงวนโลกนี้ไว้ นั่นความคิดของเขา

แต่ขณะที่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะออกประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดอันนี้ออกมา นี่ย้อนกลับไปที่ว่าอัญญาโกณฑัญญะได้ฟัง “เทฺวเม ภิกฺขเว” จนย้อนกลับมา “ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ” ญาณอันนี้เกิด นี่มรรคเกิดสภาวะแบบนี้ไง ถ้าใจมันเกิดญาณ เกิดปัญญา สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้เกิดมรรค ๘ “อุทปาทิ” ความสะอาด ความบริสุทธิ์ของมัน วิชชาเกิด ปัญญาเกิด นี่กิจจญาณ กตญาณ

กิจจะ คือทำกิจของใจนี้ ถ้าทำกิจอย่างนี้ ไม่ทำกิจอย่างนี้ ญาณอันนี้เกิดขึ้นมามันจะเกิดจากกิจอย่างนี้ไหม ถ้ามันไม่เกิดกิจอย่างนี้ มันชำระกิเลสอย่างไร เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ญาณที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศออกไป อัญญาโกณฑัญญะฟังสภาวะแบบนั้น นี่กิจจญาณ กตญาณ

เพราะจิตดวงนี้มันมีไง กิจความรู้สึกของอัญญาโกณฑัญญะมี กิจของปัญจวัคคีย์มี เวลาฟังธรรมขึ้นมา ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะเห็นความเกิดขึ้นและดับไปโดยธรรมดานะ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา” สิ่งใดคือความธรรมดา ธรรมดาของพระอัญญาโกณฑัญญะ พระอัญญาโกณฑัญญะฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม สุดท้ายจบ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

เกิดอกุปปธรรมกับใจของพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก แล้วพระอัสสชิล่ะ ทำไมฟังธรรมอันเดียวกัน ทำไมยังไม่เข้าใจล่ะ นี่ฟังธรรมอันเดียวกันนะ ยาประเภทเดียวกันนะ เวลาวางยาออกไปจากปัญจวัคคีย์ ทำไมเห็นธรรมอยู่พระอัญญาโกณฑัญญะองค์เดียว แล้ว ๔ องค์นั้นยังไม่เห็น นี่ความต่างกันของจิต ความต่างกันของความสะอาดบริสุทธิ์ของใจดวงนั้นไง

ถ้าใจสะอาด ใจบริสุทธิ์ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยาที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นยาที่จะเข้าไปชำระกิเลสดวงนั้นไง ชำระกิเลสคือพระอัญญาโกณฑัญญะเห็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม เห็นธรรมส่วนหนึ่ง แล้วเห็นธรรมส่วนหนึ่งถึงวางไว้ก่อน แล้วเทศนาว่าการไปจนเอาพระอัสสชิ พระมหานาม จนเป็นพระโสดาบันหมด นี่ถึงอนัตตลักขณสูตรต่อไป แล้วต่อไป นี่ยาอย่างละเอียดเข้าไปชำระกิเลส นี่คือปัญจวัคคีย์นะ

แต่ทำไมเวลาเทศน์สอน ยสะ สอน ๒ ทีติดเลย สอนพาหิยะ พาหิยะที่ว่าเป็นชีเปลือยเข้ามา เข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้ที่มีคนเคารพนับถือนะ เข้าใจว่าตัวเองมีธรรม แล้วทำเรือแตก แล้วเข้าไปถึงฝั่ง นี่เป็นชีเปลือยขึ้นไป เขาเห็นว่าขึ้นมาจากทะเล ชาวบ้านเขาเคารพศรัทธานะ เขาว่านี่เป็นพระอรหันต์ๆ ก็เข้าใจไปตามเขานะ

จนเทวดาที่เคยมีบุญกุศลมาด้วยกันเตือนว่า “ท่านไม่ใช่พระอรหันต์นะ ท่านยังมีกิเลสทั้งตัวนะ ในปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนะ ให้ไปฟังธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

สลด! ความสะอาดของใจ มีคนเตือนแล้วสลด เพราะทีแรกเข้าใจว่าอย่างนั้น แล้วเข้าใจว่าโลกเขายอมรับ เราอยู่ในสถานะนั้น สถานะนี้ โลกเขาก็ยอมรับอยู่แล้ว ทำไมเราต้องไปทุกข์ไปยาก จน...อยู่ในพระไตรปิฎกนะ จนหมู่คณะที่เคยปฏิบัติด้วยกันแล้วสำเร็จไปข้างหน้า แล้วไม่สำเร็จเกิดตายขึ้นมา

พอสะเทือนใจ ไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟังธรรม พระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ นี่ขอฟังธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “นี่ออกบิณฑบาตอยู่ ต้องขอเวลาก่อน”

พาหิยะบอกว่า “คนเราเกิดมานี่มันจะลมหายใจเข้าเท่านั้น ขอฟังเดี๋ยวนี้”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสธรรมทีเดียวเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย แล้วไม่มีบริขารบวชไง ไปออกหาบริขารจนควายขวิดตาย นี่เพราะสิ่งนี้ในพระไตรปิฎก เราถึงจับประมวลกันมา ว่าถ้าผู้ที่มีคุณธรรม ผู้ที่เข้าถึงมรรคผลนิพพาน แล้วถ้าไม่ได้บวชจะตายภายใน ๗ วัน

สิ่งนี้มันเป็นความคาดหมาย เป็นความคิดของเรา แต่เพราะกรรม กรรมของพาหิยะเขา เขาสร้างของเขามาอย่างนั้น แล้วทำไมพระสารีบุตร ทำไมพระโมคคัลลานะ เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ทำไมเป็นกำลังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ นี่เป็นกำลังนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เป็นกำลังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่วางธรรมไว้

เวลาฝ่ายปัญญา พระสารีบุตรนี้เป็นผู้มีปัญญามาก สิ่งใดที่ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เข้าใจนี่จะไปถามพระสารีบุตร พระสารีบุตรจะอธิบายให้ฟัง พระสารีบุตรเทศนาว่าการก่อน แล้วพระฟังแล้วไม่เข้าใจ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเราเทศน์ เราก็จะเทศน์อย่างนี้เหมือนกัน ถ้าเราสอน จะสอนอย่างนี้เหมือนกัน” นี่ปัญญาที่เท่าทันกัน เท่าทันนะ เท่าทันขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่าทันพระสารีบุตร แต่พระสารีบุตรจะเท่าทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปไม่ได้เลย

เพราะเป็นอจินไตย ๔ เห็นไหม “พุทธวิสัย” พุทธวิสัยนี่กว้างขวางมาก แต่กว้างขวางมาก จะขยายความออกมาก็ขยายความออกมา ความจำเป็นอันนั้นมีไหม แต่พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญามาก พระโมคคัลลานะเป็นผู้ที่มีฤทธิ์มาก สอน เป็นกำลังของศาสนาขึ้นมา

ใจที่สะอาด ใจที่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ในวุฒิภาวะของโลก สะอาด วุฒิภาวะของพระอัญญาโกณฑัญญะที่เริ่มมีดวงตาเห็นธรรม อนัตตลักขณสูตร “ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร...ทุกข์หรือไม่ทุกข์ จริงหรือไม่จริง?”

“ทุกข์พระเจ้าข้า ทุกข์พระเจ้าข้า” เห็นไหม ปล่อยวางมาหมด เพราะจับหลักได้แล้วไง

ในเมื่อมียา ยาที่ว่าเข้ามารักษา เราเคยกินยาอย่างนั้น เราเคยเอายาอย่างนั้น เราสามารถสร้างยาอย่างนั้นขึ้นมา สร้างนะ ต้องสร้างขึ้นมาทำเอง โลกเขา เวลาเขาหากัน อุปกรณ์เขาสั่งได้ เขาต้องการได้ เพราะโลกมันมีเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ในสภาวะของใจนะ สติก็เป็นของเรา เวลาเราสุขเราทุกข์ มันเป็นความเห็นของเรา ถ้าสติเราไม่สมบูรณ์ การควบคุม เห็นไหม พระโสดาบันสติไม่สมบูรณ์เหรอ? ไม่สมบูรณ์ พระโสดาบันสติสมบูรณ์ในขั้นของพระโสดาบัน กิเลสอันละเอียดไง

ใจใสสะอาด ถ้ามันยังมีขันธ์ มีความรับรู้ต่างๆ สิ่งนี้ยังหยาบนะ ความเห็นหยาบๆ เวลาเราคิดถึงทางโลก ทางวิทยาศาสตร์ ที่ว่า ปรัชญาการต่างๆ ทางโลกเขาว่ามีความคิดมาก เขารู้มากกว่า เขาจับประเด็นได้ เขาจะรู้เรื่องของความคิด รู้เรื่องของต่างๆ นี่ความรู้ของเขา เขารู้ของเขา เขารู้เกิดดับสภาวะแบบนั้น สิ่งนี้เป็นเรื่องของโลกทั้งนั้น

ถ้าพระโสดาบันเห็นสภาวะแบบนั้นไง ต้องเห็นเรื่องสักกายทิฏฐิ “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕” เห็นสภาวะแบบนี้ตามความเป็นจริง แล้วปล่อยสภาวะแบบนี้ตามความเป็นจริง ถ้าปล่อยสภาวะแบบนี้ตามความเป็นจริง มันขาดไปโดยสมุจเฉทปหาน

ถ้าโดยสมุจเฉทปหาน สังโยชน์มันขาด สิ่งที่สังโยชน์มันขาด นี่สิ่งที่ขาดไปคือขันธ์ ๕ อย่างหยาบ แล้วขันธ์ ๕ อย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดมันก็ซ้อนไปอย่างละเอียด เห็นไหม ซ้อนไปอย่างละเอียดเพราะอะไร เพราะมันยังยึดมั่นในความเห็นจากภายใน อุปาทาน อุปาทานจากภายนอก อุปาทานจากภายใน ความยึดของมันจากภายใน เพราะทุกข์อย่างละเอียดมันก็มี ถ้าเราทำความสงบเข้ามา เราจะจับต้องอย่างนี้ได้

ขิปปาภิญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่บุพเพนิวาสานุสติญาณ ปฏิเสธ ไม่ใช่ เพราะอะไร เพราะมันออกไปรับรู้ มันก็ไม่ชำระสิ่งใด จุตูปปาตญาณ ออกไปรับรู้สัตว์เกิด ตายแล้วเกิดๆ จิตดวงไหนเห็นว่าตายแล้วเกิด สภาวะตายแล้วเกิด นี่ตายเกิดๆ จุตูปปาตญาณ จิตดวงนี้จะไปเกิดสภาวะแบบไหน พยากรณ์ได้หมดนะ แม้แต่พยากรณ์ว่าพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ต่อไป แล้วยังมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก ๑๐ องค์มาเกิดต่อไปๆ

แล้วถ้าเราปรารถนาพุทธภูมิ เราเห็นสภาวะแบบนั้น เราสร้างสภาวะของเรา พุทธภูมิคือการทำคุณงามความดีตลอดนะ ผู้ที่อย่างหยาบๆ มันก็มีความหลงพลาดไป ความหลงพลาดไปเพราะพุทธภูมิ เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาเกิดมาสถานะนี้แล้วเราทำความสงบของใจ เพราะพุทธภูมิ จิตยังใฝ่กับธรรม แต่เวลาจิต ถ้าสมาธิดีมันจะเข้าใจสิ่งนี้ เข้าใจคือมันควบคุมใจได้ สิ่งที่พยากรณ์ออกไปก็จะพาเขาทำถูกต้องไง ถูกต้องดีงาม

แต่ถ้าจิตมันหยาบ มันคลายตัวออกมา นี่มันผิดพลาดได้ พุทธภูมิก็ยังมีผิดพลาดได้ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์นะ ถึงพยากรณ์แล้วก็ยังสุขยังทุกข์ต่อไปสภาวะแบบนั้น นี้ความสะอาดของใจอย่างนั้นไง

แต่ถ้ามันย้อนกลับเข้ามาถึงภายในล่ะ ขณะภายใน ถ้าจิตพุทธภูมิมันจะติดสภาวะแบบนั้น มันจะเข้าวิปัสสนาไม่ได้ จะทำความสงบของใจ จะเข้าสมาบัติ จะทำสิ่งนี้ มันมีฤทธิ์มีเดช สิ่งนี้เป็นไปได้

แต่ถ้าจะเข้ามาถึงโสดาปัตติมรรค แล้วเข้าไปถึงชำระกิเลส เป็นโสดาปัตติผล นี่ความทุกข์อันนี้เป็นความทุกข์อย่างหยาบๆ แล้วมันทำลาย มันขาดออกไปจากใจ ความทุกข์อย่างหยาบขาดออกไป ความทุกข์อย่างละเอียด อุปาทานอย่างละเอียดมันมี สิ่งที่มี ถ้ามีความค้นคว้าเข้าไป นี้เป็นเวไนยสัตว์ เวไนยสัตว์คือพยายามค้นคว้า พยายามดั้นด้นของเราขึ้นไป

ในเมื่อเรามียาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดมาพบยาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ยาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ปริยัติ สิ่งที่วางไว้หมดเลย ถ้าเราซื่อสัตย์ ใจเราสะอาด เราศึกษาแล้ว สิ่งนี้ความเป็นไป นี่ปริยัติเราศึกษาแล้ว เรารู้ เรารู้ถ้าจิตใจเรามันสะอาดไม่พอ เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติ มันจะเอาสิ่งนี้เข้ามาเป็นประโยชน์กับมัน

“สิ่งสภาวะแบบนั้นๆ ความสงบเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาจะเกิดอย่างนี้”...นี่มันเป็นสัญญาอารมณ์ แล้วจิตนี้มันเป็นความมหัศจรรย์ เพราะมันเป็นนามธรรม มันจะสร้างภาพขนาดไหน เวลาเราอยู่ของเรา เราจะจินตนาการเรื่องความเห็นของเราจะขนาดไหนมันเป็นไปได้

ทีนี้จินตนาการโดยความหยาบๆ นะ ถ้าจิตมันมีสมาธิขึ้นมา มันเรื่องเห็นนิมิตต่างๆ มันยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่ แล้วถ้ามันทำความสงบเข้ามา มันสร้างสภาวะแบบนั้น นี่สิ่งนี้มันไม่สะอาดพอ ไม่สะอาดพอเพราะมีตัวตน มีตัวตนคือมีฐานความคิด เพราะมีเรา สิ่งที่มีเรา ถ้ามีเราเข้าไปร่วม มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่มัชฌิมาปฏิปทาคือว่ามันไม่สมดุลของมัน สิ่งที่ไม่สมดุลของมัน จะรวมขนาดไหน จะปล่อยวางขนาดไหน มีตัวตนคือมี ๑ ไง เอ เอก หนึ่ง สิ่งที่เอกเป็นเรา เป็นตัวตนนี่มันชำระกิเลสไม่ได้

เพราะธรรมจักรมันหมุนไป ธรรมจักรหมุน ธรรมจักรหมุนคือปัญญามันหมุน ถ้าปัญญาของธรรมจักรหมุน ธรรมจักรเคลื่อนออกไป ถ้าธรรมจักรเคลื่อนออกไป นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญาในการใคร่ครวญ ในการภาวนามันจะมีความเป็นไปของมัน มันเป็นธรรมชาติของมัน นี่ธรรมอย่างนี้มีอยู่แล้ว ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาค้นคว้าเจอไง

แต่ถ้าเป็นความเห็นของเรานี่มันจะมีตัวจน มีเอก มีสิ่งที่ขัดขวาง สิ่งที่ขัดขวาง จะดีเด่น จะสมควร จะละเอียดอ่อนขนาดไหนมันก็เข้ามาปล่อยวาง เข้ามาความเห็นของมันไป แต่มันไม่สามารถชำระกิเลส เพราะมันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาเพราะมันไม่สมดุลกับธรรมอันนั้นไง ถ้าไม่สมดุลกับธรรมอันนั้น สิ่งนี้มันจะติดขัดกับความเห็นของใจตลอดไป นี่มันถึงไปเข้ากับปริยัติไง

ถ้าปริยัติ เรามีข้อมูล ข้อมูลของเรา เราถึงยึดความข้อมูลของเรา ถ้ายึดความข้อมูลของเรา แล้วจิตมันเป็นนามธรรมอยู่แล้ว มันเป็นสภาวะแบบนั้นไป มันถึงว่าเข้าใจเป็นมรรค ถ้ามันเข้าใจเป็นมรรค มันชำระกิเลสไหมล่ะ? มันไม่ชำระกิเลส มันถึงไม่เป็นความเป็นจริง เราศึกษาปริยัติ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางยาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องศึกษา ถ้าเราศึกษา เราต้องศึกษาแล้วเราวางไว้นะ วางไว้ แล้วต้องมาปฏิบัติให้เป็นความจริงของมันไง

เหมือนกับทางวิทยาศาสตร์ ทางโลก ทางโลกที่เขาศึกษาเล่าเรียนกัน วิทยานิพนธ์เขาจ้างทำได้นะ ปัจจุบันนี้ จะวิทยานิพนธ์อย่างไรจะจ้างทำได้ จะที่ปรึกษาแล้วจ้างทำวิทยานิพนธ์ ศึกษา ทำขึ้นมาอย่างนี้ แล้วจบเป็นทีมงานเลยนะ อาจารย์ที่ปรึกษา แล้วอาจารย์ที่ปรึกษาก็เป็นอาจารย์ที่เป็นคนตรวจวิทยานิพนธ์อย่างนั้น นี่สิ่งนี้มันได้มาด้วยความไม่บริสุทธิ์ จะจบการศึกษามาขนาดไหน สิ่งที่เราทำขึ้นมาเรารู้นะ เราเป็นคนไม่สะอาด เราเป็นคนไม่บริสุทธิ์ เราไม่ค้นคว้าของเราขึ้นมาโดยตามความเป็นจริง

ปริยัติ ถ้าเรารู้ข้อมูลมาจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะเป็นการที่ว่าเราเองต่างหากทำให้เราหมดโอกาส เราเองต่างหากทำให้เราเสียเวล่ำเวลาออกไป ถ้าเราซื่อสัตย์ เราทำให้จิตใจสะอาดพอให้มันเป็นมัชฌิมาของขั้นตอนของมัน ขอให้สะอาดเป็นขั้นตอน

พระปัญจวัคคีย์ เวลาสะอาดขนาดนั้น มันก็ยังไปกล่าวติเตียนเจ้าชายสิทธัตถะตอนที่ออกไปฉันอาหารของนางสุชาดา นี่ความเป็นไปอย่างนั้นมันมีเพราะมันมีกิเลส แต่ถ้าเราทำความสะอาดของเราขนาดขั้นตอนไหน เราก็ว่าสะอาด ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษา แล้ววางไว้ มันอยู่ที่อำนาจวาสนา

เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านบอก ปริยัติเหรอ เราก็เรียนมาแล้ว เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่อุปัชฌาย์บอกแล้ว แล้วถ้าเราตีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แตก ปริยัติเราเรียนอย่างนี้แล้ว เราเข้าถึง แต่มันเป็นผู้ที่ว่าผู้ที่มีศรัทธา ผู้ที่มีพื้นฐาน ผู้ที่มีวุฒิภาวะในการสร้างสมบารมีมา

ถ้าผู้ที่สร้างสมบารมีมานะ ครูบาอาจารย์จะเทศน์ขนาดไหนจะว่าการขนาดไหน มันจะน้อมเข้ามาถึงใจนะ แล้วมันจะสะเทือนใจมาก ถ้าเราเกิดมาแล้ววุฒิภาวะของเรา บุญกุศลอันนี้มันไม่เข้าใจ มันศึกษา มันฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดไหนมันก็สงสัย มันก็ต้องค้นคว้า ถ้าค้นคว้ากันอย่างนี้ก็ต้องค้นคว้า มันอยู่ที่จิตดวงนั้นมันมีความคิดเห็น มันมีความจงใจอย่างไร

แต่ถ้าจิตดวงนั้นมีอำนาจวาสนานะ เจ้าชายสิทธัตถะ เวลาค้นคว้าขึ้นมาเห็นสภาวะ แค่ไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เทวทูตมาทำให้ดู เห็นไหม ทำไมสิ่งนี้สะเทือนใจเจ้าชายสิทธัตถะมหาศาลเลย เราเห็นจนชินตานะ จนในปัจจุบันนี้เขาทำกันเป็นพิธีกรรม วนรอบเมรุ ๓ รอบ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เพื่อจะเตือนใจสัตว์โลกไง เวลาฝังศพ บ่วงบุตร บ่วงภรรยา บ่วงอย่างนี้บ่วงหลวมๆ อย่างนี้ แต่เราไม่สามารถจะพ้นจากบ่วงนี้ไปได้

แต่เวลาเจ้าชายสิทธัตถะไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ท่านยังสะเทือนใจท่านมากนะ “อย่างนี้ก็มีเหรอ โลกเขาเป็นอย่างนี้เหรอ เราก็ต้องเป็นอย่างนี้เหรอ ถ้าเป็นอย่างนี้ เราต้องแสวงหาสิ่งที่ตรงข้าม” นี่สะเทือนใจแล้วออก ออกแสวงหาไง นี่ผู้ที่มีบุญญาธิการ มันเป็นขึ้นมาเป็นขั้นตอนของเขา

แต่ของเรา ถ้าเราสงสัย เราค้นคว้าก็ต้องค้นคว้า เพราะจิตของเราเป็นสภาวะแบบนั้น ค้นคว้าสิ่งนี้แล้ว ค้นคว้าแล้ววางไว้ แล้วเราออกปฏิบัติ

ปริยัติ ในขั้นของปริยัติ ต้องเรียน เรียนปริยัติ แล้วเวลาปฏิบัติต้องวาง ถ้าเราไม่วางปริยัติ เราจะปฏิบัติพร้อมกับความเห็นของเรา ถ้าพร้อมกับความเห็นของเรา มันเป็นสัญญาอารมณ์ สัญญาอารมณ์นี่ละเอียดมาก เวลาเราว่าคนอื่นเป็นสัญญาอารมณ์ ของเราจะไม่เป็นสัญญาอารมณ์เพราะอะไร เพราะกิเลสของเราไง

เวลาคนอื่นผงเข้าตา เราจะสามารถเขี่ยผงในตาของเขาออกได้ เพราะเราเห็นเขา แต่ผงเข้าตาเรา เราจะเขี่ยออกได้ยากมาก แล้วเราจะให้ใครเขี่ยได้ล่ะ ถ้าเราให้ผู้ที่จะเขี่ยให้เรา เราก็ไม่ไว้ใจเขาอีก มือเขาสกปรก เขาจะเอาเชื้อโรคมาใส่ในตาเรา เขาทำมาแล้วจะทำให้ตาเราพิการ จะไม่ไว้ใจใครทั้งสิ

ถ้าจิตมันเป็นสภาวะแบบนั้นเราก็ต้องค้นคว้า เราค้นคว้า เราต้องลืมตาในน้ำ วิธีการจะเอาผงออกจากตานี่มันจะทำอย่างไร เขาจะลืมตาในน้ำ เขาจะเอาตาล่างตาบน เอาผงนี้ออกจากตา เพราะจิตเรา เรามีความรู้ เรามีความเห็นอย่างนี้ เราจะไม่ไว้ใจใครเลย เราจะไม่ฟังใครเลย

แต่ผู้ที่มีวุฒิภาวะของเขา ครูบาอาจารย์จะพูดขนาดไหน เห็นไหม พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญามาก ผู้ที่มีปัญญาจะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นเลย เวลาจะสอนตรงๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสั่งสอน มันก็ต้องจับแล้วใคร่ครวญ พระโมคคัลลานะ ๗ วัน เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย พระสารีบุตร พอพระพุทธเจ้าสอนนี่ต้องคิดก่อน

แล้วเวลาหลานมาต่อว่าที่เขาคิชฌกูฏ ว่าไม่พอใจสิ่งต่างๆ ไม่พอใจสิ่งต่างๆ เลย ไม่พอใจที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาพระสารีบุตรมาบวช เอาตระกูลของพระสารีบุตรมาบวช เพราะท่านเป็นหลานของพระสารีบุตร ไม่พอใจมาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งใดๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกที่เธอไม่พอใจเขาด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอมันก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

พระสารีบุตรถวายงานพัดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการหลานพระสารีบุตรนะ ไม่ได้เทศนาว่าการพระสารีบุตรเลย แต่พระสารีบุตรถวายการพัดอยู่ นี่จับประเด็น จับความ ผู้ที่มีปัญญามากต้องเป็นอย่างนี้ ต้องหาเอง ต้องค้นคว้าเอง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าการก็ต้องจับแล้วคิดอีก

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการหลานพระสารีบุตร ไม่ได้เทศน์สอนพระสารีบุตรไง มันถึงว่า ไม่ได้ว่าเรา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนหลาน ไม่ได้เป็นของพระสารีบุตร มันก็จับมั๊บ แล้วจิตมันพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าข้อนี้ไง ทำให้พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย

สิ่งที่สะท้อนขึ้นมา ถ้าจิตเราเป็นแบบนี้ เราสงสัยอย่างนี้ เราค้นคว้าอย่างนี้ เราก็ต้องค้นคว้า แต่ขณะปฏิบัติ ปฏิบัติต้องเป็นปฏิบัติ สิ่งที่เป็นปฏิบัติต้องให้เกิดเป็นปัจจัตตัง สิ่งที่เป็นปัจจัตตังคือจิตมันสัมผัส กิเลสมันบีบคั้นใจ เวลามันบีบคั้นนะเจ็บปวดมาก เจ็บปวดสุดๆ เลย เวลาอาลัยอาวรณ์ เราปล่อยขันธ์มาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ ไปถึงที่สุดนะ

โมฆราช องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “ข้าพเจ้าพิจารณาหมดแล้ว ว่างหมด ปล่อยวางหมดเลย ปล่อยวางหมด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “โมฆราช เธอปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามาหมดแล้วนะ เธอต้องปล่อยอัตตานุทิฏฐิ ทิฏฐิเธอไปรู้ว่าว่าง”

ในอวกาศ ในสิ่งต่างๆ มันรู้ตัวมันเองไหม นิพพานอยู่ในภูเขาเลากา อยู่ในก้อนเมฆ อยู่ในเมฆหมอก อยู่ในท้องฟ้าไหน? ไม่อยู่ในท้องฟ้าไหนเลย อยู่ในหัวใจของสัตว์โลกไง ถ้าหัวใจของสัตว์โลกมีความทุกข์ มีความอาลัยอาวรณ์ นี่ปล่อยเข้ามาหมดเลย ว่างหมดเลย แต่มันรู้ว่าว่าง มันไปรู้เขาทั้งหมดเลย แต่มันไม่รู้ตัวมันเอง ให้กลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ให้กลับมาถอนความรู้สึกของใจไง กลับมาที่หัวใจดวงนี้

ว่างหมด สิ่งใดๆ ก็ว่าง โลกนี้ว่างหมดเลย โลกเขาว่างมันเกี่ยวอะไรกับใจของเธอล่ะ โลกก็ว่างของเขา แต่เธอไปแบกโลกหมด แบกความว่าง ก็รู้ว่าตัวเองว่าง รู้ว่าตัวเองมีความสุข ว่าตัวเองไง ติดดี ติดในความเห็น ติดเข้ามา

ความสะอาดของใจ มันปล่อยวางมาขนาดนั้น มันยังเข้าไปติดในตัวมันเองเลย นี่พอย้อนกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิอันนี้ พระโมฆราชเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย

สิ่งที่เป็นธรรมอันละเอียด มันก็เป็นธรรมอันละเอียดนะ สิ่งที่เป็นธรรมอันหยาบมันก็เป็นหยาบนะ วุฒิภาวะของใจ วุฒิภาวะของโลก อนุบาลก็ให้เป็นอนุบาลไปก่อน อนุบาล เห็นไหม ต้องใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญของเราขึ้นมา จะต้องหานะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยว่า จิตของเราอยู่ท่ามกลางพายุฝน อยู่ท่ามกลางความเร่าร้อนของแดด แดดพายุฝนจะเผาสิ่งต่างๆ ทั่วโลก ใจเราก็เหมือนกัน โดนวัฏฏะ โดนธรรมชาตินี้เผาตลอดเวลานะ มันจะมีความสุขความทุกข์ไปตามสภาวะของมันอยู่ตลอดไป

แต่ถ้าเมื่อใด ใครหาความตั้งมั่นของใจได้ นั่นน่ะ จะมีเรือนที่พักไง นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ถ้าใครทำความสงบของใจได้ จะมีเรือนพัก จะมีที่หลบแดดหลบฝน

ในการประพฤติปฏิบัติของเราปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน นักกีฬาต้องหาสนามของเขาฝึกซ้อมขึ้นมา เพื่อหาเทคนิค หาประสบการณ์ความชำนาญของเขา แล้วเขาจะลงไปแข่งขันกับในสนามจริงของเขา นักกีฬาทุกประเภทต้องมีสนามซ้อม แล้วก็มีสนามจริง คือขณะที่เข้าลงแข่งขันกีฬา การทำงานของผู้บริหารก็เหมือนกัน ต้องมีออฟฟิศ ต้องมีสถานที่ควบคุมงานทั้งหมด แล้วเราจะสั่งนโยบายออกไป

นี่เหมือนกัน ถ้าใครหาจิตได้ ใครหาถิ่นฐานของใจได้ นั้นคือเขาหาออฟฟิศของเขา เขาสามารถบริหารงานของเขา เขาสามารถสร้างเสริมปัญญาธรรมจักรของเขา ถ้าเขาทำธรรมจักรของเขาเกิดขึ้นมา ปัญญาของเขาเกิดขึ้นมา เขาจะชำระกิเลสของเขา นี่เห็นไหม หาออฟฟิศ หาถิ่นที่อยู่ของใจ หาความสงบของใจ

ปัญญาทางโลก ปัญญาทางปรัชญา เวลานักวิชาการในปัจจุบันนี้ เวลาครูบาอาจารย์สอนปรัชญาขึ้นมา เขาจะมีความพอใจมาก สิ่งนี้เป็นสมมุติทั้งหมดนะ ความคิดของโลกนี่เป็นสมมุติทั้งหมด ความเกิดดับของโลกนี่เป็นสมมุติทั้งหมด

ความเสื่อมสลายไป ความสืบพันธุ์ของโลก โลกนี่มี ๔-๕ ร้อยล้านปีมาแล้ว เป็นพันๆ ล้านปีมาแล้ว ความสูญพันธุ์ครั้งแรกของโลก เห็นไหม สูญพันธุ์สัตว์น้ำก่อน สัตว์เมื่อก่อน สัตว์น้ำฉลาดกว่าสัตว์บกนี้มากนักนะ สัตว์น้ำมันฉลาดกว่าสัตว์บก เห็นไหม ถ้าสมัยก่อน ถ้าเป็นนักบินอวกาศเขามา เขาจะต้องไปสื่อสัมพันธ์กับปลาวาฬก่อนนะ ปลาโลมาเขาไม่สื่อสัมพันธ์กับคนหรอก

แต่ในเมื่อคน ในสิ่งที่ว่าสัตว์บกมันพัฒนาของมันขึ้นมา ความสูญพันธุ์แต่ละครั้งแต่ละกาลมา จนตั้งแต่สูญพันธุ์ครั้งสุดท้าย เห็นไหม ไดโนเสาร์ขึ้นมา สัตว์ ความสูญพันธุ์ของโลกเป็นสภาวะแบบนั้นตลอดไป สิ่งที่ความสูญพันธุ์ของมัน เพราะโลกมันแปรปรวนมาตลอด โลกมันมันใคร่ครวญมาตลอด

ปรัชญาเป็นสภาวะของโลกมันก็เป็นสภาวะแบบนั้น มันฆ่ากิเลสตรงไหน มันทำลายความยึดมั่นถือมั่นของใจตรงไหน ความยึดมั่นถือมั่นของใจ ตัวตนของมัน มันสงวนรักษามัน มันไม่ยอมให้ทำลายมันหรอก มันเป็นไปไม่ได้ ความคิดขนาดไหนออกไป มันจะเป็นปัญญาส่งออกทั้งหมด แล้วปัญญาส่งออก

วิทยาศาสตร์เจริญขนาดไหน ถึงทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์กัน ว่าในสิ่งที่ว่ายานอวกาศต่างๆ เข้ามา เขาเจอสภาวะแบบนี้มาตลอดแล้วเขาห่วงความเป็นไปของโลกไง ความเป็นไปของโลก ทางวิทยาศาสตร์ที่มันเจริญ สิ่งใดเจริญก็แล้วแต่ มันมีคุณและมีโทษในตัวมันทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นประโยชน์ล้วนๆ จะมีคุณและมีโทษ วิทยาศาสตร์เจริญขนาดไหน มันจะอำนวยความสะดวกในปัจจัย ๔ แต่สิ่งที่อำนวยความสะดวก ปัจจัย ๔ มันก็ต้องทำลายโลกไปพร้อมกัน เพราะมันก็ใช้ทรัพยากรต่างๆ เหมือนกัน นี่ทางวิชาการเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วจะใคร่ครวญอย่างไร

เพียงแต่ว่ามันมีความสูงความต่ำ มีความอำนาจระหว่างอำนาจของการปกครองของเขา เขาถึงใช้ทรัพยากร ดูดกลืนทรัพยากร นี่คนโง่ คนฉลาด ถ้าคนโง่ คนฉลาด เป็นสภาวะแบบนั้น แล้วปรัชญาในความคิดอย่างนั้น มันเป็นการโง่กับตัวเองไง มันดูดทรัพยากรจากสภาวธรรมที่เราจะเข้าถึง สภาวธรรมที่เราจะใช้ปัญญา ภาวนามยปัญญาของเราได้ เราจะสร้างธรรมของเราก็ได้

มันใช้ มันเป็นปัญญาโลก มันก็ดูดทรัพยากรอันนั้น มันก็ดูดโอกาสที่เราจะเข้าถึงธรรมออกมาอยู่กับกระแสโลก นี่โลกกับธรรมไง ปัญญาที่ว่าเป็นปัญญาโลก คือโลกียปัญญา กับภาวนามยปัญญา มันต่างกันตรงนี้ไง

ถ้าเราทำความสะอาดบริสุทธิ์ของโลก ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมเข้ามา แล้วเราหาใจของเราให้ได้ หาออฟฟิศของเราให้ได้ สิ่งนี้มันจะย้อนกลับเข้ามา แล้วมันย้อนกลับเข้ามามันก็จะจากปัญญาโลก โลกทั้งหมด การประพฤติปฏิบัติเกิดจากโลกทั้งหมด เพราะเราเกิดมาเป็นโลกไง เราเกิดมา สถานะที่เราเกิดมา เกิดจากครรภ์ของมารดา มาบวชนี่ก็สมมุติสงฆ์นะ ปัญญาที่เกิดก็ปัญญาสภาวะแบบนั้น แต่เราต้องสะอาด เราต้องบริสุทธิ์ เราต้องพัฒนา พัฒนาใจของเราเข้าไป มันจะส่งเสริมขึ้นไป

เวลามรรคเกิด เกิดตรงไหน เวลามรรคเกิด เกิดจากความเห็นของมัน เกิดจากความเป็นไปของใจที่มันส่งเสริมขึ้นมา มรรคมันไม่เกิดมาลอยๆ นะ สิ่งใดที่ลอยมาจากโลก สิ่งใดลอยมาโดยที่ไม่มีเหตุมีผล ไม่มี ไม่มีสิ่งใดเลยที่มาแบบไม่มีเหตุ พระพุทธเจ้าถึงสอนกลับไปหาเหตุไง

“ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ”

เหตุเกิดจากที่ไหน? เหตุเกิดจากความศรัทธาของเรา

ศรัทธาเกิดมาจากไหน? ศรัทธาเกิดมาจากหัวใจที่มันสร้างสมบุญญาธิการมา

ถ้ามันไม่สร้างสมบุญญาธิการมา มันจะศรัทธามาบวชไหม

ชีวิตของโลกเขา เขาว่าความสุขของเขา ความสุขของโลกนี้มันโดนกิเลสหลอกนะ นี่เสวย สัมผัส ทำสิ่งใดๆ ก็ได้ของโลกเขา มันว่าเป็นความสุขไง แต่มันชั่วคราว ชั่วคราวตลอดเลย แล้วเราใช้ชีวิต เราวางโลกไว้ ประกาศตนว่าบวชเป็นสมณะ สมณะอย่างน้อยมีศีลขึ้นไป วางเรื่องของโลกไว้ทั้งหมดเลย แล้วเรามาใช้ชีวิตอย่างนี้ ใช้ชีวิตแบบนักรบ

รบกับใครล่ะ? รบกับกิเลส รบกับความเห็นของตัวจากภายในไง แล้วอาวุธอยู่ไหนล่ะ? ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่คืออาวุธ “ธรรมาวุธ สติสัมปชัญญะ” สิ่งนี้เป็นอาวุธ สิ่งที่เป็นอาวุธเกิดขึ้นมา เกิดมาจากไหน

เราถึงค้นคว้า สิ่งนี้เป็นโอกาส สิ่งนี้เป็นวาสนา ถ้าใจเรามีโอกาส มีวาสนาขึ้นมา เราจะย้อนกลับเข้ามาอย่างนี้ตลอด แล้วธรรมจักรมันจะเกิด วิปัสสนามันจะเกิด วิปัสสนาจะเกิดมันจะเป็นภาวนามยปัญญา นี่ธรรมมันเกิดอย่างนี้ จักรของธรรมมันจะเกิดอย่างนี้ เกิดขึ้นมาจากโลกนี่แหละ เราไม่ใช่น้อยเนื้อต่ำใจว่าเราจะเอาปัญญาธรรม เราจะเอาปัญญาภาวนามยปัญญา แล้วจะไปเอาที่ไหน เราจะค้นคว้าอย่างไร แล้วมันจะน้อยเนื้อต่ำใจนะ เรานี่ไม่มีอำนาจ ไม่มีวาสนา

ไม่มีวาสนาอย่างไร ในเมื่อเรามีหัวใจ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ไปสอนอาฬารดาบสล่ะ อาฬารดาบสเขาตายไปแล้ว แล้วเรายังมีชีวิตอยู่ อย่างน้อยๆ เราก็เป็นปัญจวัคคีย์ตั้งแต่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ไปสอน ยังเป็นเหมือนเราอยู่ ในปัจจุบันนี้เราก็รักษาโอกาสของเราอยู่ เรายังเป็นนักรบอยู่ ถ้าเรารักษาอย่างนี้ เราพัฒนาขึ้นมาอย่างนี้ มันมีโอกาสเป็นไปได้

ต้นไม้เกิดขึ้นมาแล้ว มันต้องเจริญงอกงามขึ้นไป ถ้าดิน ถ้าน้ำ อาหารมันสมบูรณ์ นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราปลูกใจของเราขึ้นมา ถ้าใจเราจะปลูก เราจะให้มันงอกงามขึ้นมา มันจะเป็นไปไม่ได้อย่างไร ในเมื่อมันมีเมล็ดพันธุ์ มันมีความรู้สึก มันมีหัวใจที่ทุกข์ร้อนอยู่ที่นี่ไง แล้วถ้าทุกข์ร้อน เพราะถ้ามันกระเสือกกระสนจะออกไปทางโลก มันก็จะไปเอาแต่พิษแต่ภัย มันก็ทับถม

ถ้าเราต่อสู้ เราต่อสู้มัน เราปฏิเสธมันด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังสิ ด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไม่ใช่ด้วยธรรมของเราเลย เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งนี้ท่านรู้เรื่องของภาวะของกิเลสในใจของท่านเองแล้ว ทำไมจะไม่รู้ว่าภาวะกิเลสในหัวใจของเราเป็นอย่างไร ในเมื่อภาวะของใจของกิเลสเป็นอย่างนั้นแล้ว ท่านถึงวางศีล สมาธิ ภาวนา ให้เราไง ถ้าเรามีศีล เราก็บังคับตน นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมของเรา ด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่บังคับตน บังคับตนแล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมา

แล้วถ้ามันเกิดขึ้นมาเป็นปัจจัตตัง คือจิตสงบขึ้นมา เราก็รู้ความรู้สึกของเรา เราเห็นความรู้สึกของเรา เราเข้าใจความรู้สึกของเรา นี่ธรรมของเรา ธรรมอย่างนี้ สัมมาสมาธิ ๑ ในมรรค ๘ ไม่ใช่มรรคทั้งหมด เวลาสงบขึ้นมา เพราะว่าวางหมด ปล่อยหมด มันปลดขึ้นมาแล้วมันยึดไว้ทำไม ยึดไว้มันก็เป็นอัตตานุทิฏฐิ มรรคก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด ถ้ามันให้พิจารณาออกไป ปัญญามันก็เกิด ถ้าปัญญาอย่างนี้มีสัมมาสมาธิเข้ามารองรับอย่างนี้นะ สภาวะมรรคมันจะเกิดอย่างนี้ไง

เราฝึกหัดฝึกทำ ลองผิดลองถูก นี่ประสบการณ์ของใจ ใจดวงไหนที่ถูกมาหมด ไม่มี มันมีผิดมีถูกในใจดวงนี้มาตลอด แล้วเราทำขึ้นมาอย่างนี้ มันถึงเกิดมาจากโลกนี้แหละ ภาวนามยปัญญาก็เกิดจากโลกียปัญญานี่แหละ สิ่งที่โลกียะขึ้นมาเพราะมีตัวตนกับเรา มันเป็นโลกทั้งหมด คิดอย่างนี้ขึ้นมา วนอย่างนี้เข้ามาให้มันพัฒนาขึ้นไป ถ้าพัฒนาขึ้นไป เห็นไหม มันเกิดทั้งหมด เพียงแต่เราต้องมีความเข้มแข็ง เราต้องมีความอดทน

ในพระไตรปิฎกทุกข้อนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติที่ไม่ได้ผล เพราะการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ คือว่าไม่เสมอต้นเสมอปลายไง ถ้าเรามีความเสมอต้นเสมอปลาย เราต้องมีความเข้มแข็งของใจ ถ้าใจเรามีความเข้มแข็งนะ เรามีกติกากับเรา นี่นอนกี่ชั่วโมง ทำกี่ชั่วโมง ปฏิบัติกี่ชั่วโมง เราปฏิบัติของเรา เราสร้างเหตุไง

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเหตุมันไม่มี มันจะมาจากไหน ถ้าเราสร้างแต่เหตุ เราไม่ปรารถนาผลของมันเลย เราสร้างแต่เหตุ แต่เหตุมันต้องเข้ามาในสัมมาไง เข้ามาในความถูกต้องไง พัฒนาจากโลกียะให้มันพัฒนาขึ้นไป แล้วมันจะติดขึ้นไป นี่ตรวจสอบจิตของเรานี่แหละ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันปล่อยวางสิ่งใดไป มันปล่อยวางแล้วมันมีปัญญาอะไรขึ้นมา มันขึ้นมา อารมณ์มันเป็นสภาวะแบบใด

เราทั้งนั้นนะ เราเท่านั้นที่จะบังคับใจของเราเข้ามา ครูบาอาจารย์ชี้นำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้นำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถทำใจใครให้บริสุทธิ์ได้เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้นำเท่านั้น แล้วเราเดินตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้เข้าไป ถ้าเราเดินเข้าไป ท่านชี้แล้วเราเดิน เดินขึ้นไป แล้วถ้ามันผิดมันถูก

ผิดถูกเพราะมันมีกิเลส เรามันมีกิเลส มันก็ต้องมีผิดมีถูกเป็นธรรมดา ในเมื่อมีความมีผิดมีถูกเป็นธรรมดา เราก็ลองผิดลองถูกไปอย่างนี้ไง สิ่งที่ผิด เราก็ต้องเอามาเป็นครูเราไง ถามตัวเอง “เอ็งทำอย่างนี้กี่ปีแล้ว เอ็งทำอย่างนี้มาเท่าไหร่แล้ว แล้วเอ็งได้อะไรขึ้นมา ทำไมเอ็งไม่ลองวิธีการอย่างนี้บ้างล่ะ ทำไมเอ็งไม่ทำอย่างนี้บ้างล่ะ วิธีทำอย่างนี้ แล้วมันขัดพระไตรปิฎกไหมล่ะ พระไตรปิฎกห้ามสิ่งนี้เหรอ ไม่ได้ห้ามเลย กรรมฐาน ๔๐ ห้อง”

เวลาข่ายของปัญญามันเกิดขึ้นมา นี่สอนพระสารีบุตรอย่างหนึ่ง สอนพระโมคัลลานะอย่างหนึ่ง สอนพระอานนท์อย่างหนึ่ง สอนแต่ละองค์อย่างหนึ่งๆ เพราะมันจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน เหมือนปัญญาเราเกิดขึ้นมานี่ให้มันเป็นปัจจุบันกับเราเถิด ให้มันฆ่ากิเลสของเราเถิด

ถ้ามันย้อนกลับมา ไม่ต้องยึดนะว่าครูบาอาจารย์องค์นั้นท่านว่าอย่างนี้ เราต้องทำให้เป็นแบบนั้น...ไม่เป็น เพราะมันเป็นจริต เป็นนิสัยของท่าน เพียงแต่เวลาท่านเทศนาว่าการมา มันก็เอาประสบการณ์ของท่านนี่แหละออกมาชี้นำ แล้วท่านรู้จริงนะ เหตุไง เหตุของท่านเป็นแบบนี้ แต่ธรรมของท่านจะเสมอกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสมอกันหมด ในเมื่อธรรมมันถึงที่สุดแล้วมันเสมอกัน แต่เหตุไม่เหมือนกัน เพียงแต่เหตุอันนั้นท่านชำนาญอย่างนั้น ท่านเทศนาว่าการอย่างนั้น แล้วเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าผลของเราเป็นแบบนั้น เหตุอันนี้มันจะต่างกันได้ไง

“เหตุที่มันต่างกันได้ แต่ผลไม่เคยต่าง”

ถ้าบอกว่า ผลฉันเป็นอย่างนี้ โดยเหตุผลอย่างนั้น ถ้าผลเสมอกัน ถึงขณะจิตที่มันพัฒนา ขณะจิตที่มันพลิก มันจะมีเหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกัน เพราะมันพัฒนาเหมือนกัน จะไม่มีการโต้เถียงกัน โต้เถียงกันสิ่งที่เป็นผลไม่ได้ แต่โต้เถียงกันสิ่งที่เป็นเหตุได้ ถ้าโต้เถียงสิ่งที่เป็นเหตุ แต่ในเมื่อผลมันเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องยอมรับ สิ่งที่ยอมรับ สิ่งนั้นเป็นความจริงไง

แต่ถ้ามันเหตุก็ผิด ผลก็ผิดนะ ผลผิดนะ ใจดวงนั้นยึดผลว่าสิ่งนี้เป็นผล ผลนี้คือผลของเรา เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นผลของเรา ทำไมมันเป็นอนิจจังล่ะ เป็นผลของเรา ทำไมมันอาลัยอาวรณ์ล่ะ ทำไมมันเศร้าหมองล่ะ ทำไมมันไม่ทำลายสิ่งที่เป็นโลกทั้งหมดล่ะ

เป็นโลกนะ การเกิดและการตายนี่เรื่องของโลก เวลาเราเกิดขึ้นมา โลกเวลาเกิดขึ้นมานี่ดีอกดีใจ นี่สิ่งนี้เกิดแล้ว ตายแล้วเศร้าเสียใจ แต่ถ้ามันชำระกิเลสนะ เวลาอวิชชานะ เวลาพญามารมันตายนะ เกิดตายนี่หลอกกันนะ สิ่งที่เกิดตายนี่หลอกกัน เพราะอะไร เพราะจิตดวงนี้มีพลังขับเคลื่อนอันนี้ มันต้องเกิดตายไปธรรมชาติของกรรมไง

แต่พอมันชำระสิ่งที่เป็นพญามารที่มันพ้นออกไปจากกิเลส การเกิดและการตายนี้หลอกนะ ธรรมนี้ไม่หลอก จิตดวงนี้ไม่มีตาย ไม่มีเกิด มันอยู่สภาวะของมันอย่างนั้น แล้วเวลาเกิดตายนี่มันเป็นสิ่งที่หลอก สิ่งที่หลอกนี่เรื่องของสภาวะแบบนั้น แล้วถ้าจิตมันเข้าเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะไปกลัวสิ่งใดล่ะ ในเมื่อมันไม่กลัวตายเลย ตายไม่มี เกิดก็ไม่มีอีกแล้ว แล้วใจดวงนี้มันจะอาจหาญขนาดไหน ใจดวงนี้มันถึงวิมุตติสุขเหมือนกันไง

มันถึงต้องละตั้งแต่อย่างหยาบๆ นะ พิจารณากายก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมก็ได้ พิจารณาสิ่งใดให้มันเป็นมรรคขึ้นมาเถิด ให้มันเป็นสภาวะเข้ามาเถิด แล้วมันจะชำระเข้ามาจากภายนอก จากภายนอกนะ จากภายนอกเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก รูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร พวงดอกไม้แห่งมารมันจะไปบูชามารไง แล้วจิตนี้ก็ไปติดในรูป รส กลิ่น เสียง สร้างสิ่งสภาวะแบบนี้ขึ้นมา แล้วก็ไปติดพันมัน มันไม่เคยทำร้ายใครนะ จิตดวงนี้มันโง่เง่าเต่าตุ่น มันไปติดในบ่วงของมาร

แล้วถ้าปัญญาสิ่งนี้มันใคร่ครวญ บ่วงของมารปล่อยเข้ามา มันจะปล่อยบ่วงของมารเข้ามา จนเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วมันจะยกขึ้นวิปัสสนาจากภายใน มันไม่ใช่บ่วงของมาร มันไม่ใช่พิจารณารูป รส กลิ่น เสียงที่เป็นบ่วง เป็นสิ่งที่ล่อใจออกไปยึดมั่นไง มันปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา นี่มันจะปล่อยเข้ามาที่ออฟฟิศ มันจะปล่อยเข้ามาที่สนามฝึกซ้อมไง ถ้ามีการฝึกซ้อม นี่มรรคมันจะเกิดตรงนี้ไง

ถ้ามรรคมันเกิด มันภาวนาขึ้นไป แล้วชำระขึ้นมา ขันธ์อย่างหยาบขาดไป เป็นโสดาบัน ขันธ์อย่างละเอียดขาดไป เป็นสกิทา ขันธ์ของใจอย่างละเอียดสุดขาดนะ นี่ใจมันสะอาดบริสุทธิ์ มันสะอาดมาอย่างนี้ ถ้ามีใจมันสะอาดมาจากรากฐาน แต่ถ้าใจจากข้างบน มันมีความดึงดูดของมัน

กามราคะ กามราคะนะ ความพอใจนี่กามราคะ ความพอใจ ความอุ่นใจ ความนอนใจ นี่กามราคะทั้งหมดเลย เพราะเป็นกามฉันไง ความพอใจของมัน แต่ถ้ามันทำลายตัวนี้หมด ขันธ์อันละเอียดสุดหมดออกไป นี่ใจมันก็พัฒนาสะอาดเข้าไป นี่ว่างหมดเลย โมฆราช ว่างหมดเลย ทุกอย่างว่างหมดเลย...ติด ติดในมาร ติดในปฏิสนธิจิต ติดในวิญญาณอันละเอียด

วิญญาณความรับรู้ วิญญาณกระทบ หูกระทบเสียง โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ วิญญาณหยาบๆ วิญญาณความรู้สึกนี่วิญญาณหยาบมาก เพราะมันเป็นวิญญาณในสถานะของมนุษย์ มนุษย์มีสภาวะแบบนั้นถึงรับรู้สิ่งนี้ไง นี่วิญญาณหยาบๆ แล้วมันพิจารณาเข้าไปมันปล่อยเข้ามา มันเป็นจากภายใน เป็นความรู้สึกจากภายใน คือกิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ออกหาเหยื่อ แล้วเราก็ชำระมันเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป ขันธ์อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดมันเข้าไป มันปล่อยขาดเป็นชั้นๆ เข้าไปเลย ถึงจนตัดกามราคะขาดนะ พอตัดกามราคะขาดออกไป นี่ตอของจิต ตอของมันot

ในอาทิตตฯ รูปสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโน ต้องเบื่อหน่ายมโน ต้องมีจิต มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ ความสัมผัสใจก็เบื่อหน่าย ใจก็เบื่อหน่าย ความสัมผัสก็เบื่อหน่าย ผลเกิดจากความสัมผัสก็เบื่อหน่าย เบื่อหน่ายสิ่งนั้น เห็นไหม เข้าไป นี่ตอของจิตอยู่ไหน วุฒิภาวะที่มันพัฒนาไปจนสะอาดบริสุทธิ์นี่มันสะอาดไปทั้งหมด มันปล่อยทุกอย่างเข้ามา ปล่อยกิเลสอย่างหยาบเข้ามาหมดเลย

แล้วมันสะอาดของมันด้วยวิธีใดล่ะ มันสะอาดของมันต้องมันสะอาดแล้วมันถึงย้อนกลับไปจับไง ถ้ามันไม่สะอาด เห็นไหม ใจจับใจ เรามีเครื่องมือไปจับสิ่งวัตถุต่างๆ มีหมดเลย แล้วพอเครื่องมือไปจับทำลายวัตถุทั้งหมด แล้วเครื่องมือนี้อยู่ที่ไหน เครื่องมือนั้นคืออะไร

นี่ก็เหมือนกัน ใจที่มันเกิดสภาวะที่สะอาด มันทำลายกิเลสหยาบๆ เข้ามา มันปล่อยเข้ามา แล้วตัวมันล่ะ นี่เจ้าวัฏจักร จักรพรรดิ จักรพรรดิที่ไปควบคุมจิตดวงนี้ให้เกิดให้ตาย จักรพรรดิของจักรวาลนะ เห็นไหม ความเห็นที่เกิดนี่สัตตะ สัตว์ที่ผู้ข้อง จักรวาลคือตัวนี้ไง แล้วเข้ามาถึงตัวนี้ ก่อนจะเข้าถึงตัวนี้ได้ มันต้องปล่อยเข้ามาจากหยาบๆ เข้ามาก่อน มันต้องปอกเปลือกก่อน

มะพร้าว ถ้าเราไม่สามารถปอกเปลือกมะพร้าวได้ เราไม่สามารถทำลายมะพร้าวได้ เราจะไม่ได้เนื้อมะพร้าว ถ้าเราไม่สามารถทำลายสิ่งที่เป็นหยาบๆ อย่างกายสักกายทิฏฐิ อย่างอุปาทาน อย่างกามราคะ ถ้าเราไม่สามารถทำลายเปลือกมะพร้าว ไม่ทำลายกะลามะพร้าว เราไม่สามารถเข้าไปเห็นเนื้อมะพร้าวได้เด็ดขาดเลย ถ้าเราทำลายสิ่งนี้เข้ามา นี่ตอของจิตถ้ามันทำลายเข้ามา

การทำลายก็มหัศจรรย์ มหัศจรรย์เพราะปัญญา ภาวนามยปัญญามันจะเกิดอย่างนี้ แล้วมันทำลายเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา จนถึงตัวมัน แล้วตัวมันจะจับตัวมันได้อย่างไร มหัศจรรย์มาก ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “จะสอนใครได้ จะสอนใครได้” เพราะมันเกิดความมหัศจรรย์อย่างนี้ไง

แล้วมันย้อนกลับเข้ามาก็ความสะอาดของมัน ถ้ามันเป็นความสะอาดมันก็เป็นสัมมาไง ถ้ามันเป็นความสกปรก มันเป็นความเห็นแก่ตัว มันเป็นมิจฉา มันจะเข้าถึงตัวมันเองไม่ได้เลย มันจะปฏิเสธความเห็นว่านี่นิพพาน นี่กูยอด กูยอด อวิชชานี่มันยอด ยอดที่สุดเลย แต่ถ้ามีความสะอาดขึ้นมา เออ! ถ้ายอด ทำไมเศร้าหมองล่ะ ถ้ายอด ทำไมผ่องใสล่ะ สิ่งที่ผ่องใส สิ่งที่ว่างทั้งหมด อวิชชาทั้งนั้นล่ะ นี่คือพญามาร สิ่งนี้ครอบคลุมวัฏฏะทั้งนั้นล่ะ

แล้วพอย้อนกลับเข้าไปอย่างนี้ ถ้ามันมีความสะอาด มีความสุข มีสัมมา มันจะย้อนกลับ ถ้าย้อนกลับ มันจะไปจับตอของจิตนี้ได้ไง นี่อาสวักขยญาณ คว่ำฐานของจิต นี่ฐีติจิต ภวาสวะ ภพของใจ ฐานของความคิด ความคิดต่างๆ สิ่งที่ทั่วโลกจักรวาลเกิดจากตรงนี้ไง สิ่งที่เป็นการก่อสร้างวัตถุต่างๆ นี้เกิดจากมนุษย์เป็นผู้ค้นคว้า มนุษย์เป็นผู้คิด แล้วมนุษย์เป็นคนทำเขา เป็นคนคิด แล้วความคิดนี่มันเกิดมาจากไหน? มันก็เกิดมาจากภวาสวะ จากภพอันนี้ จากตาของจิตนี่ไง แล้วไปคว่ำตรงนี้หมด

พอมันสะอาดขึ้นมา จิตนี้ไม่มีภพ จิตนี้ไม่มีความเป็นไป จิตนี้ไม่มีสิ่งต่างๆ ใดๆ ทั้งสิ้น ทำลายทั้งหมดเลย แต่มันมี นิพพานมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่นี้เกิดขึ้นมาจากใจดวงนี้นะ สิ่งนี้เกิดขึ้นมา ถ้ามีความสะอาด จะเข้าไปถึงตรงนี้ได้

ถ้าไม่มีความสะอาด มีความทุจริต มันจะเข้าไปถึงนี้ไม่ได้ แล้วก็ลุ่มๆ ดอนๆ ลูบๆ คลำๆ ไกลไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ถ้ามีกิเลส มีตัณหา ก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น ทั้งๆ ที่เราเป็นพระนะ ทั้งๆ ที่เราเป็นนักรบนี่แหละ เราเกิดมาเพื่อจะรบกับกิเลส เราปฏิบัติมาเพื่อจะชำระกิเลส แต่ให้กิเลสมันไสออก

ทรัพยากรที่จะเข้าไปถึงธรรม ก็ดูดออกมาเป็นทรัพยากรของโลกซะ แล้วก็ใช้กันไป แล้วเราจะไปไหนกัน แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ อำนาจวาสนาขนาดไหน เราก็เพิ่มผลทรัพยากรของเราให้มันมั่นคงขึ้นมา แล้วเราจะส่งต่อเข้าไป มรรคหยาบ มรรคละเอียด ละเอียดสุด ถึงที่สุด เอวัง