ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สอุปาทิเสสนิพพาน

๒๑ ก.พ. ๒๕๕๓

 

สอุปาทิเสสนิพพาน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้ต้องปีนบันไดหน่อย ตอบปัญหานะ เขาถามมาในเว็บไซด์ เขาไปเถียงกันเอง พอเถียงกันแล้วก็มาลงที่เรา อยากถามปัญหา

ถาม : ๑. ในเว็บไซต์เขานะ คนหนึ่งว่า สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานของเสขบุคคล

๒. อีกคนหนึ่งว่าสอุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานของพระอรหันต์

ตกลงข้อที่ถูกต้องคือข้อไหนครับ ขอความกระจ่างด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณมาก

หลวงพ่อ : มันเป็นการเถียงกันนะ พูดประสาเรานะ สอุปาทิเสสนิพพาน กับอนุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานของพระอรหันต์ทั้งหมด ไม่ใช่เป็นนิพพานของ เสขบุคคล มันมีเสขบุคคล กับอเสขบุคคล กับปุถุชน

ปุถุชนคือคนหนาด้วยกิเลส เสขบุคคลคือเป็นพระอริยบุคคลแต่ละชั้นแต่ละตอน อเสขบุคคลคือพระอรหันต์ที่ไม่ต้องสอนแล้ว คือไม่ต้องปฏิบัติแล้ว เมื่อก่อนนะ เอหิภิกขุ เวลาที่พระพุทธเจ้าบวช เวลาคนที่สำเร็จแล้วจะมาขอบวชเป็นภิกษุ

“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด”

แต่ถ้ายังเป็นเสขบุคคล คือเป็นพระโสดาบันจนถึงเป็นพระอนาคา จะมาขอบวช

“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เพื่อปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์”

นี่ไง อเสขบุคคลคือพระอรหันต์

เสขบุคคลคือพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอนาคา

ฉะนั้นเสขบุคคล อเสขบุคคล มันเป็นผู้ปฏิบัติเหมือนกับบุคคล ๘ จำพวก ในสังฆคุณที่เราสวดกัน บุคคล ๘ จำพวก ตั้งแต่บุคคลที่ ๑ คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๘ จำพวก คือจิตใจมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นี่คือเสขบุคคล

ฉะนั้นจะบอกว่าสอุปาทิเสสนิพพานเป็นนิพพานของเสขบุคคลนี่ไม่ใช่ เสขบุคคลมันจะมีนิพพานได้อย่างไร แต่เวลาในธรรมในวินัยมันต้องแยกกัน ในข้อเท็จจริงกับในธรรม

ในธรรมหมายถึงว่า อย่างเช่น เราจะสอนเด็ก เราจะพัฒนาเด็ก เด็กมันต้องมีการพัฒนาการของมันไปเรื่อยๆ อย่างเช่น เราเป็นพระโสดาบัน พอเราเป็นพระโสดาบันเขาเรียกว่าพาดสู่กระแสนิพพานไง ถ้าใครเป็นพระโสดาบันปั๊บ ได้ถึงโสดาบันนี่ เขาเรียกพาดสู่กระแสนิพพาน

คือปฏิบัติไปแล้ว พวกนี้จะถึงที่สุดแห่งทุกข์คือพระนิพพาน พาดกระแส ไม่ใช่สอุปาทิเสสนิพพาน สอุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ พระอรหันต์มีชีวิตอยู่กับพระอรหันต์ที่ตายแล้วไง สอุปาทิเสสนิพพาน กับอนุปาทิเสสนิพพาน อย่างเช่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า เวลาเป็นพระอรหันต์ไปเทศน์กับปัญจวัคคีย์

“เมื่อก่อนเราไม่เป็นพระอรหันต์เราก็ไม่ได้บอกว่าเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้เราเป็นพระอรหันต์แล้วเธอจงเงี่ยหูลงฟัง”

เดี๋ยวนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นพระอรหันต์เพราะเหตุใด เป็นพระอรหันต์เพราะท่านมีกิจญาณ สัจญาณในธรรมจักรที่เทศน์ออกมานี้ เป็นพระอรหันต์เพราะมีการกระทำมาถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์

สอุปาทิเสสนิพพานคือเป็นพระอรหันต์แต่ยังมีชีวิตอยู่ สะคือเศษส่วน ภารา หเว ปัญจักขันธา ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ความคิดของพระอรหันต์ไง บางคนจะบอกว่าเป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีความคิด พระอรหันต์มีความคิดนะ แต่ความคิดของพระอรหันต์นี่เป็นความคิดที่สะอาดบริสุทธิ์ พระอรหันต์ก็มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เหมือนกัน สอุปาทิเสสนิพพาน คือธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ที่เป็นเศษ เศษเหลือทิ้ง อย่างเช่น หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นล่ะคือสอุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่

สะคือเศษเหลือทิ้ง คือธาตุหรือร่างกายนี่ไง ร่างกายกับความคิดนี่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต ตัวจิตนั้นคือตัวที่ว่าสิ้นกิเลสไป พอตัวจิตสิ้นกิเลสไป นี่สอุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ สะคือเศษส่วน คือเรื่องของธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ภาราหเว ปัญจักขันธา ขันธ์นี้เป็นภาระอย่างยิ่ง เวลามันสลัดขันธ์ทิ้ง เศษทิ้งคือเศษมนุษย์นี้ เศษชีวิต ชีวิตของเรานี่ จนปัจจุบันนี่คือเศษของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะที่มันต้องขับเคลื่อนไป แต่หัวใจมันหลุดพ้นไปตั้งแต่เป็นพระอรหันต์แล้ว สอุปาทิเสสนิพพานถึงเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น แต่เป็นพระอรหันต์ที่มีชีวิต

แต่อนุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่ทิ้งธาตุขันธ์ไปเป็นพระอรหันต์

ฉะนั้น ไอ้กรณีอย่างนี้ กรณีที่ว่าบุคคลๆหนึ่งบอกว่าสอุปาทิเสสนิพพานเป็นนิพพานของเสขบุคคล ก็ความคิดอย่างนี้มันเป็นทางวิชาการนะ แต่เราไม่ปิดกั้น เพราะเวลาเขาพูดกัน เห็นไหม นิพพานของคนมีกิเลส เขายังพูดกันได้เลยนะ เวลาทำความสงบของใจ สงบเย็นนี่เป็นนิพพานของคนที่มีกิเลส

คำว่านิพพานนี่ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง สมมุติคือว่าพระพุทธเจ้าตั้งไว้เป็นนิพพาน แล้วเราก็เอาคำว่านิพพานนี่คือเป็นสิ่งที่ปรารถนา เราทำอะไรนี่ก็ว่านี่คือนิพพานไง นิพพานของคนมีกิเลส พูดชัดๆ ว่านิพพานของคนที่มีกิเลสคือสงบเย็น ถ้าจิตใจสงบเย็นนั้นคือนิพพานของคนที่มีกิเลส

แต่มันไม่ใช่นิพพานตามความเป็นจริง นิพพานตามความเป็นจริงคือการสิ้นกิเลส ฉะนั้นนี่ก็เป็นธรรม เวลาธรรมเขาพูดกัน อย่างนี้คือนิพพานของคนที่มีกิเลส ขนาดคนที่มีกิเลสเขายังบรรลุนิพพานได้เลย

ฉะนั้น เขาถึงบอกว่าเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน นี้เป็นนิพพานของเสขบุคคล นี้เป็นโวหาร เป็นการชักจูง เป็นการบอกไง การบอก การชักจูงให้คนพยายามเข้าสู่เป้าหมาย แต่เป็นโวหาร ไม่ใช่ความจริง ถ้าเป็นความจริงแล้วไม่มี เป็นอย่างนั้นไม่ได้

แต่ทีนี้มันมีเสขะกับอเสขะ อเสขะคือคนที่ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องประพฤติปฏิบัติแล้ว ส่วนคำว่าการประพฤติปฏิบัติ การบำเพ็ญตบะธรรมนี่เป็นการต่อสู้กับกิเลสใช่ไหม แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า อย่างหลวงปู่มั่นท่านเดินจงกรมจนสิ้นชีวิตเลย มันเป็นการปฏิบัติหรือเปล่า อันนั้นไม่ใช่การปฏิบัตินะ เรามองกันแต่กิริยาจากภายนอก การปฏิบัติหมายถึงว่า การตั้งใจ การพยายามของเรา การปฏิบัติคือการชำระกิเลส การฆ่ากิเลสนั้นคือการปฏิบัติธรรม

แต่เวลาพระที่สอุปาทิเสสนิพพาน หรือพระอรหันต์ ท่านก็ทำความเพียรของท่านอยู่ แต่ทำความเพียรอย่างนั้น จะว่าเป็นปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรม มันเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่

อย่างเช่น เด็กๆนี่ต้องกินอาหารนะ ต้องมีปัจจัย ๔ จึงจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ พอเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ต้องกินข้าวเลยนะ อยู่เฉยๆห้ามกินข้าวเลย เป็นพลาสติกเลย ไม่ต้องกินอีกแล้ว มันก็ไม่ใช่ เราก็ต้องมีอาหารกินดำรงชีวิตจนสิ้นชีวิตใช่ไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรามีกิเลสอยู่นี่ เราต่อสู้กับกิเลสนะ เราพยามต่อสู้ เราพยายามจะชำระล้างกิเลส อันนี้มันเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะมันมีสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มันมีกิจญาณ มันมีการกระทำของจิตไปเรื่อยๆ นี่การกระทำของจิต การชำระให้สะอาดบริสุทธิ์

แต่เป็นพระอรหันต์นี่มันมีกิจญาณไหม ไม่มี เพราะมันเป็นกิริยาเฉยๆ มันเป็นกิริยาคือการเคลื่อนไหวเฉยๆ แต่จิตนั้นมันไม่มีกิเลสตัณหาทะยานอยาก มันถึงไม่ใช่การปฏิบัติธรรม มันเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่เฉยๆ อย่างเช่น เรานั่งเห็นไหม ทุกคนนี้เวลานั่งนานๆ เวลาลุกจะเป็นเหน็บเป็นชาทั้งนั้น ทุกคนจะเจ็บไข้ได้ป่วยเวลานั่งนาน

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาพระอรหันต์ท่านมีร่างกายของท่านอยู่ เห็นไหม ร่างกายนี่มันก็เป็นอย่างนั้น มันก็มีเหน็บมีชา ร่างกายมันต้องบริหารไง การบริหารร่างกายอันนั้น นี่คือวิหารธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของท่าน แต่ของเรานี่มีร่างกายนะ เป็นเหน็บเป็นชา เวลานั่งแล้วเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บปวดหมดล่ะ แล้วพอเจ็บปวดไปแล้วนะ จิตใจมันก็ไม่ยอมนะ จิตใจมันจะไม่อยากให้เจ็บ

นี่ไง มันมีกิเลสตัวนี้ไง ตัวที่ความอยาก ความตัณหาทะยานอยาก ต้องการให้เป็นไปตามความปรารถนาของตัว แต่ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของตัวหรอก เพราะมันมีกิเลสตัณหาทะยานอยาก มันไม่มีเหตุไม่มีผล แต่ร่างกายมันเป็นธรรมชาติของมัน ในเมื่อมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในนั้นแล้วนี่ เราต้องชำระล้างมัน

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์มันไม่มี มันไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นวิหารธรรม มันเป็นการบริหารจัดการเพื่อความอยู่เป็นสุขเท่านั้นเอง เพื่ออยู่เป็นสุขเพราะมันเข้าใจ มันไม่มีตัณหาทะยานอยาก มันเป็นอย่างไรก็รู้เท่ามันหมดแล้ว ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็รู้เท่าหมดแล้ว ไม่ใช่ร่างกายจะเป็นธรรมดานะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า เห็นไหม เวลาพระอานนท์เสียใจมาก เวลาพระพระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร โลกธาตุหวั่นไหวหมดเลย พระอานนท์ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าไง

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา แม้ตถาคตก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา” นี่ต้องดับไปเป็นธรรมดาเห็นไหม

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ ในที่นั้นๆตั้ง ๑๖ ครั้ง ถ้าเธอนิมนต์เราแล้วนี่ เราจะปฏิเสธเธอถึง ๒ หน หนที่ ๓ เราจะรับอาราธนาของเธอ ถ้าเรารับอาราธนาของเธอนี่ เราจะอยู่อีกกัปหนึ่ง ๑๒๐ ปี ตอนนี้คือ ๘๐ ใช่ไหม อยู่อีกเป็น ๑๒๐ ปี”

นี่ไง เราบอกว่า ในเมื่อพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วทำไมอยากจะอยู่ถึงอีกกัปหนึ่งล่ะ ไม่ใช่อยากอยู่ เห็นไหม ถ้าพระอานนท์นิมนต์เราถึง ๒ หน เราจะปฏิเสธเธอ ๒ หน หนที่ ๓ เราจะรับอาราธนาของเธอ

นี่ไง เราจะบอกว่า ในเมื่อ พระพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ตอนอายุ ๘๐ แต่ถ้าพระอานนท์นิมนต์ แล้วถ้าพระพระพุทธเจ้ารับนิมนต์ของพระอานนท์ ทำไมมันอยู่ต่อไปได้ล่ะ ทำไมอยู่ต่อจาก ๘๐ ปีไป ๑๒๐ ปีได้ นี่เพราะอะไร เพราะตัณหาความทะยานอยากไม่มี ทุกอย่างไม่มี แต่ถ้าจิตใจบริหารร่างกายแล้วนี้ ร่างกายมันจะอยู่ได้ เหมือนเรานี่ ร่างกายปกติ ทุกอย่างปกติเราก็อยู่สุขสบายใช่ไหม

แต่ถ้าร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าเราก็เบื่อหน่าย เราก็อยากจะละทิ้ง เราอยากจะไปเอาของใหม่ อยากจะตายไป แต่พระพระพุทธเจ้าไม่มีอย่างนั้น ถ้าไม่มีอย่างนั้น เราจะบอกว่า คำว่าอุปาทาน คำว่าตัณหาความทะยานอยากนี่ มันมีตัวเร้าของมัน มันมีกิเลสตัณหาทะยานอยาก แต่ถ้าไม่มีล่ะ ไม่มีตัณหาความทะยานอยาก จะอยู่หรือไม่อยู่มันต่างกันตรงไหน

ถ้าอยู่มันก็เป็นประโยชน์กับสังคมโลกจาก ๘๐ ปี เพิ่มอีก ๔๐ ปี ๘๐ เป็น ๑๒๐ คือหนึ่งกัป เพิ่มอีก ๔๐ ปี พระพระพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมอยู่แล้ว ๔๕ ปี ถ้ารับอาราธนาของพระอานนท์ จะอยู่ ๑๒๐ ปี ก็เป็นเท่ากับทีนี้ ๘๕ ปี อยู่อีก ๔๐ ปี นี่พระพระพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์เอง อยู่ในพระไตรปิฎก ที่นี้พระพระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น ถ้าทำได้แล้วอยู่ได้ ถ้าอยู่ได้เพราะจิตใจมันดี วิหารธรรมที่รักษาอยู่นี้ ธาตุขันธ์เป็นธาตุขันธ์นะ

ดูสิ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วเราเปลี่ยนแปลงของเรา เราเปลี่ยนอวัยวะเปลี่ยนอะไรต่างๆ เห็นไหม เรายังเปลี่ยนได้ พอเปลี่ยนได้นี่ หมอเขาทำของเขาได้ อันนี้มันเป็นเรื่องของร่างกายที่ว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ แล้วถ้าจิตใจที่ไม่มีตัณหาความทะยานอยาก มันไม่เข้าไปตัวบวก เครียด หรือว่าทำให้สิ่งนั้นวิตกกังวล จนให้บาดแผล ให้ต่างๆมันลุกลามไปอีกด้วย ถ้าจิตใจมันดีมันรักษาของมัน

เราจะบอกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน เพราะจิตมันพ้นไปแล้ว สิ่งที่อยู่สิ่งที่มันเป็นไป มันเป็นไปตามธรรมชาติ คำว่าธรรมชาติคือมันเป็นของมันอย่างนั้น แต่จิตใจไม่เร่าร้อน อยู่ก็ได้ไปก็ได้ ครูบาอาจารย์ท่านพูดนะว่าตายหรืออยู่มีค่าเท่ากัน พอจิตมันพ้นจากสิ่งที่กดถ่วงแล้วอยู่ก็เท่านั้น ไม่อยู่ก็เท่านั้นมีค่าเท่ากัน เพียงแต่อยู่แล้วเป็นประโยชน์หรือไม่เท่านั้นเอง

ถ้าเป็นประโยชน์นะ ดูสิ เวลาพระอัญญาโกณทัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลกเวลาสำเร็จแล้วนะ สอนหลาน พระปุณณมันตานีบุตรองค์เดียวเท่านั้นเอง แล้วอยู่ในป่าตลอด นี่พระอรหันต์เห็นไหม สร้างพระองค์เดียว แต่ครูบาอาจารย์อย่างพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะสิ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา เผยแผ่ธรรมมาขนาดไหน นี่พูดถึงเวลาทำประโยชน์

ฉะนั้น สิ่งที่คิดกันว่า สิ่งที่พูดกันว่าอะไรถูกต้อง ถ้าเอาถูกต้องตามความเป็นจริง สอุปาทิเสสนิพพาน กับอนุปาทิเสสนิพพานนี้ เป็นของพระอรหันต์ทั้งหมด เสขบุคคลไม่ใช่ เพราะคำว่าเสขบุคคลมันก็ตรงตัวอยู่แล้ว

เสขบุคคลคือบุคคลที่ยังต้องศึกษาอยู่ พระอนาคายังต้องศึกษาให้เป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นเสขบุคคลนี้นิพพานไม่มี เพียงแต่คำในพระไตรปิฎกมีอยู่ คำว่าถ้าเป็นพระโสดาบัน ถ้าเข้าสู่กระแสของพระนิพพาน เข้าสู่กระแสเพราะอะไร

เข้าสู่กระแสมันเป็นธรรม เช่น เวลาพระโสดาบัน ถ้าปุถุชนมันจะเวียนตายเวียนเกิดไม่มีต้นไม่มีปลายตามแต่กระแสของกรรม มันไม่ได้พาดสู่กระแสนิพพาน เพราะมันไม่เข้าถึงหลักของนิพพานใช่ไหม แต่มันเวียนตายเวียนเกิด มันก็หมุนไปตามธรรมชาติ มันไม่เข้ากระแส มันเหมือนวงจรอีกวงจรหนึ่ง

แต่ถ้าเราเข้าสู่กระแสของนิพพาน มันก็เป็นวงจรที่เกิดและตายในวัฏฏะนี่ล่ะ แต่เห็นไหม อย่างพระโสดาบันอย่างมากอีก ๗ ชาติ นี่ไง มันพาดเข้าสู่กระแสไง คือมันมีแรงดึงดูดเข้าสู่นิพพาน แต่ยังไม่ใช่สู่นิพพาน แม้แต่พระอนาคายังไม่เห็นนิพพานเลย แต่มันจะรู้ได้อย่างไรว่านิพพานเป็นอย่างไร ไม่รู้หรอก

แม้แต่พระอนาคา ถ้าพระอนาคารู้ ถ้ารู้เป็นนิพพานของพระอนาคา พระอนาคาก็ต้องไม่ติดในพระอนาคา แต่พระอนาคายังติดในพระอนาคา เพราะพระอนาคาเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นอนาคานั้นเป็นนิพพาน พอเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือนิพพานนั้นเห็นไหม นี่คืออะไร นี่คือหลง หลงคืออะไร หลงคือตัณหาความทะยานอยาก ในเมื่อหลงไปแล้วมันจะเป็นนิพพานไปได้อย่างไร มันจะเป็นนิพพานไม่ได้

คำว่าเสขบุคคลไม่มีนิพพานหรอก นิพพานคือพระอรหันต์อย่างเดียว นิพพานคือสิ้นสุดแห่งทุกข์อย่างเดียว เสขบุคคลไม่มีนิพพาน คำว่าพาดกระแสนี่เพียงแต่มีเป้าหมายไปสู่เป้าหมายนั้น เป็นเป้าหมายเท่านั้น ฉะนั้นความถูกต้องไม่มี เสขบุคคลไม่มีนิพพาน แต่มีโสดาบัน มีสกิทา มีอนาคา แล้วโสดาบัน สกิทาคา อยู่ขั้นไหนเท่านั้นเอง นี่คือ เสขบุคคลที่ยังต้องศึกษาอยู่ แต่เจ้าตัวเขาไม่เข้าใจว่าเขาต้องศึกษาสิ ถ้าเจ้าตัวต้องเข้าใจว่าเขาต้องศึกษาเขาจะไม่ติด

พระโสดาบัน พระสกิทา พระอนาคา จะติดในวุฒิภาวะ ติดในความรู้ของตัว ถ้าติดในความรู้ของตัว มันเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นผลแล้ว จะเทียบเคียง พอเทียบเคียงมันก็สร้างภาพใช่ไหม เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านสิ้นกิเลสแล้วท่านจะอธิบายของท่าน ว่านิพพานเป็นอย่างนั้นๆ ตัวเองจะเทียบเคียงเข้าไป ให้คะแนน ให้สถานะตัวเองสูงกว่าความเป็นจริง พอสูงกว่าความเป็นจริงก็เทียบสถานะนั้น แต่ไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงมันก็ไม่มีความสงสัย มันก็ไม่หลง ไม่ติดในตัวมันเอง ถ้าหลงติดในตัวมันเอง นี่เสขบุคคล ผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ มันมีเสขบุคคล กับอเสขบุคคล พอมี เสขบุคคลกับอเสขบุคคลปั๊บ มันก็ไปเข้ากับสอุปาทิเสสนิพพาน กับ อนุปาทิเสสนิพพาน ก็เอามาเทียบกัน มันคนละส่วนกัน มันคนละศัพท์กัน มันคนละเป้าหมายกัน มันอธิบายถึงลักษณะแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน เพียงแต่ถ้ามันเป็นเวลาเทศน์ เวลาเป็นธรรมนี่นะ มันเป็นการยกตัวอย่าง

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์นะ ท่านยกตัวอย่างว่าควรทำอย่างนั้น แล้วเป้าหมายเป็นอย่างนั้น ให้เรานี้หาทางออก อย่างเช่น สวะ เห็นไหม เวลาไปติดที่ไหนปั๊บ มันจะติดตรงนั้น ถ้ามีแรงน้ำดันไป หลุดออกไป มันจะออกไปสู่ทะเลได้

จิตของเราในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน พอมันมีความเห็นอย่างไร มันติดแล้ว ติดในความเห็นของตัวเอง เพราะว่าความเห็นของตัวเองนี่เป็นสัจธรรม พอมันติดขึ้นมานี่ ไม่มีสิ่งใดจะพัดสิ่งนั้นออกไปได้ สวะนะ แม้แต่น้ำแรงขึ้น หรือเราเอาไม้เขี่ยมันออกไปได้นะ เราช่วยมัน มีอะไรดึงมันออกไป มันจะออกไปเลยทันที

แต่ถ้าความคิดของเราที่มันติดนะ มันไม่มีใครที่สามารถจะเอามันออกได้เลย ครูบาอาจารย์ยิ่งบอกขนาดไหนนะ เพราะติดมันเป็นตัณหาความทะยานอยาก เพราะธาตุรู้มันมีชีวิตของมัน มันมีความผูกพันของมัน พอมันมีความผูกพันของมัน เพราะมันติดของมัน มีทิฏฐิของมันๆยิ่งยึดมั่น ยิ่งใครบอกนะ มันยิ่งยึดให้มั่นขึ้นไป แต่เวลาคนจะแก้ไขนะ มันต้องแก้ไขด้วยการบอกให้เขาสำนึกตน ให้เขารู้ตน

อย่างเช่น รอเวลาให้เขามีความเอะใจ มีความแปลกใจในสิ่งที่เขาทำอยู่ ว่ามันเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง แล้วมีครูบาอาจารย์มาคอยบอกอีกทีหนึ่ง ถ้ามันมีเหตุผลเพียงพอนะ มันต้องมีอำนาจวาสนา มีโอกาส ถ้ามันไม่มีอำนาจวาสนาโอกาสนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า รื้อสัตว์ขนสัตว์ไปหมดแล้ว

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ พวกเราคนที่ฟังธรรมของพระพระพุทธเจ้า มันจะเป็นจริงหนอ มันมีความเป็นไปได้อย่างไรหนอ มันมีความขัดแย้งในใจไง แล้วยังยึดมั่นถือมั่นว่ามรรคผลไม่มีด้วย หมดแล้ว กึ่งพุทธกาลแล้ว กาลเวลาอย่างนี้มรรคผลนิพพานไม่มีแล้ว มันไม่เชื่อด้วยนะ มันหาเหตุผลตรงข้ามด้วย แล้วมันยึดมั่นถือมั่นของมันด้วย

คำว่าหลง มันว่าติดของมันโดยความเห็นผิด ติดโดยตัณหาความทะยานอยาก ติดแล้วยึดมั่นถือมั่น แล้วอ้างเหตุผลว่าจะเป็นความจริง มีเหตุผลประจำ ดูสิ มันเป็น วุฒิภาวะ ดูอย่างพวกเราเวลาประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ความรู้ความเห็นของเรามันเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์มากนะ

ถ้าเราไม่ศรัทธา เราก็มองว่าเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องครึ เป็นเรื่องล้าสมัย พอเราศรัทธาขึ้นมา เราก็จะแสวงหาเพื่อจะเป็นประโยชน์ของเรา เราทำบุญทำทานทำกุศลของเราเพื่อประโยชน์ของเราเห็นไหม เราว่าสิ่งนี้มันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากแล้ว แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป มันเป็นขั้นเป็นตอน มันติดไปหมดนะ มองดูสภาวะมันก็เข้าใจ มันติดไปหมด แล้วยิ่งไปทำสมาธิได้ พอทำสมาธิได้เกิดปัญญารอบสองรอบนะ มันจะติดไปหมดล่ะ พอมันติดไปแล้วมันก็ยึดของมัน

แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านไปแล้ว ที่ท่านเดินก้าวไป ไอ้นี่มันแค่เริ่มต้นนะ หญ้าปากคอก ยังไม่ทำสิ่งใดเลยมันก็ติดแล้ว แล้วเวลาพัฒนาแล้วมันก็ติดๆๆๆๆไปตลอดสายเลย ตลอดเส้นทางเลย เวลาปฏิบัติมันต้องมีการทดสอบ เราต้องทดสอบตัวเราเอง ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไปเรื่องอย่างนี้มันจะเข้าใจ

แต่ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัตินะอันนี้มันจะเป็นทางวิชาการ เถียงมันพูดได้หมดล่ะ โวหารมันพลิกได้ ลิ้นของคนมันพลิกไปพลิกมาตลอดเวลา แล้วเวลาพลิกมันพลิกไฉน ลิ้นมันเป็นวัตถุนะ มันเป็นสสารอันหนึ่ง แต่มันจะพลิกต่อเมื่อมีความคิดไง มีความคิด มีความเห็น มันจะไปพลิกลิ้นของเราให้ตามใจเรา

ฉะนั้นเวลาเราศึกษาเข้าไป ความรู้ความเห็นมันเปลี่ยนไง ไอ้ที่โวหารเดี๋ยวมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คนเรานะความรู้มากรู้น้อย ยิ่งรู้มากขนาดไหน ยิ่งกว้างขวางขนาดไหน มันจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความคิดเราเอง มันจะเปลี่ยนแปลงความเห็นของเราเอง

ฉะนั้นคำว่าโวหารนี้ มันน่าเห็นใจนะ ว่าโลกเป็นอย่างนี้ไง ดูสิ มันมีมนุษย์เกิดมาตลอดเวลา มีคนศึกษาเข้ามาตลอดเวลา แล้วพอศึกษาเข้ามา พื้นเพของความเป็นไปก็แตกต่างกัน แม้แต่คำว่าภาษา ดูภาษาไทยสิ ภาษาเขียนนี้ มันเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลา นะ แล้วภาษาพูดก็เหมือนกัน ฉะนั้นเวลาภาษามันแตกต่างกันมันแตกต่างกันโดยกาลเวลา

ฉะนั้นเวลาคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา ในการศึกษาของเขา พื้นเพของเขา เห็นไหม ในสังคมของเขา เขามองว่ามุมมองของสังคม กาลเวลามันบังไว้ ฉะนั้นยิ่งคนรุ่นใหม่ ยิ่งมีการศึกษามาก ยิ่งคิดว่านี่ศาสนาแห่งปัญญา และเข้าใจว่าตัวเองมีปัญญา แต่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ไม่ได้เอะใจ ไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าบอกไว้ชัดเจนมาก

พระพระพุทธเจ้าบอกไว้เลยนะว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปคือพระศรีอริยเมตไตรย จะตรัสรู้ข้างหน้า ฉะนั้นเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมา นี่ อนาคตังสญาณของพระพระพุทธเจ้ารู้ไว้หมดแล้ว พระพุทธเจ้าถึงวางกรอบไว้หมดแล้ว สุตตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญา ๓ นี่ ปัญญาเกิดจากการศึกษา ปัญญาเกิดจากจินตนาการ พร้อมกับมีสมาธิหนุนด้วย

ปัญญาเกิดจากภาวนามยปัญญา พระพุทธเจ้าวางไว้หมดแล้ว แต่เราไม่ได้เฉลียวใจกันเอง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ได้เฉลียวใจ คิดว่าปัญญาก็คือปัญญาไง เรามีความคิด มีความรู้สึก มีความเก่งมาก แล้วยิ่งสังคมยอมรับด้วยนะ ยิ่งมีสถานะด้วย ยิ่งว่า โอ้โฮ คนนี้มีศักยภาพ โอ๊ย ปัญญามากเลย นั่นกิเลสทั้งหมดเลย

พอกิเลสทั้งหมดนะ มีศักยภาพใช่ไหม ไปอยู่ที่ไหนช้างสารชนกัน หญ้าแพรกแหลกลาญ คนมีศักยภาพ คนมีทิฐิมานะ คนมีคนนับหน้าถือตา คนมีคนเชื่อถือ จะพูดอะไรสังคมจะยอมรับ สังคมจะเชื่อถือ แล้วช้างสารชนกัน หญ้าแพรกแหลกหมดเลย

หญ้าแพรกก็คือคนเข้ามาศึกษาไง พอคนเข้ามาศึกษาก็เชื่อถือตามกันไป ถ้ามันเชื่อถือตามกันไป มันมีเหตุผลอะไรรองรับ มันมีอะไรเป็นความจริง เพราะไม่มีเหตุผลความจริง เพราะคำพูดอย่างนี้ สอุปาทิเสสนิพพานกับอนุปาทิเสสนิพพาน ปัญหาอย่างนี้นะมันไม่ต้องมาพูดกับปุถุชนหรอก ไม่ต้องมาพูดกับสังคมเลย เพราะสังคมไม่มีทางรู้ได้ สังคมนะถามหน่อยศีล ๕ มึงมีรึเปล่า ถามสิว่าปาณาติปาตา อทินนาทานา มึงฉ้อโกงกัน มึงรักกันรึเปล่า ถามแค่นี้ก็พอสังคมไทย ไม่ต้องสอุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพานหรอก แค่ศีล ๕ นี่ได้ทำกันไหม แค่ศีล ๕ เราเข้าใจศีล ๕ กันหรือยัง ดัดจริต! สอุปาทิเสสนิพพานเชียว แค่ศีล ๕ นะ พูดถึงสังคมไทย

ปัญหาอย่างนี้ วันนี้พูดเพราะว่าเขาจะพูดกันต่อๆไป มันไม่จบไง แล้วเวลาพูดมันเป็นโวหาร โวหารก็ว่ากันไป แล้วยิ่งปัญญามากๆนี่ โอ้โฮ เสขบุคคล อเสขบุคคลเขาก็บอกอยู่แล้ว สอุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพาน คนเวลาเข้าใจ เข้าใจได้หมด ถ้าคนทำได้จริงนะ ไม่ใช่ทำแค่ความเข้าใจ ความจริงมันมีของมันอยู่ แล้วนั้นพูดถึงสถานะของแต่ละชั้นแต่ละตอนขึ้นไป

ฉะนั้นปัญหานี้ เป็นปัญหาทางวิชาการของเขา กรรมฐานเราไม่เอาเรื่องนี้มาคุยให้เสียเวลาหรอก กรรมฐานเรานี่นะ เวลาการคลุกคลี ครูบาอาจารย์ยังไม่ให้คลุกคลีกันเลย มันเป็นติรฉานวิชา ติรัจฉานวิชา คือวิชาทำให้เนิ่นช้า

แม้แต่ธรรมะพระพุทธเจ้าเอ็งเอามาเถียงกันปากเปียกปากแฉะ เอ็งได้ทำสมาธิไหม เอ็งได้ตั้งสติไหม เอ็งได้กำหนดพุทโธบ้างรึยัง ถ้าเอ็งได้กำหนดพุทโธ เอ็งตั้งสติ อันนั้นมันเป็นประโยชน์กว่านิพพานไม่นิพพานหรอก นิพพานนั้นเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป้าหมายของเรา ถึงที่สุดของเรา เราพ้นแห่งทุกข์ เราก็ต้องการตรงนั้น แต่เอาตรงนั้นมานั่งวิพากษ์วิจารณ์กัน โดยที่ตัวเองนั่งวิชาการ ปากเปียกปากแฉะ น้ำลายแตกฟองเลย หน้าดำคร่ำเครียด แล้วมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

ถามกลับเลย ศีล ๕ เอ็งมีครบรึยัง ถ้าศีล ๕ เอ็งมีครบอยู่แล้ว เอ็งเป็นคนดีขึ้นมาแล้ว เอ็งทำขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวเอ็งจะรู้เองว่าสอุปาทิเสสนิพพานหรือ ไม่สอุปาทิเสสนิพพานเดี๋ยวจะรู้ขึ้นมา ถ้ารู้ขึ้นมาแล้ว อันนั้นย้อนกลับมาแล้วมันไม่ต้องมาเถียงกันน้ำลายแตกฟอง

มันเป็นเรื่องเหมือนกับเรานี่นะ เมื่อก่อน โบราณใช่ไหม เราเห็นกระต่ายในพระจันทร์ พอพระจันทร์ข้างขึ้นนะ โอ้โฮ เราว่าพระจันทร์นี่มีกระต่ายเนอะ จินตนาการน่าดูเลยเนอะ จะไปเอากระต่าย จะไปจับกระต่าย เห็นกระต่ายวิ่งกันในป่า เออ กระต่าย แต่เรามองไปบนพระจันทร์ โอ้โฮ กระต่ายตัวนั้น อูย มันสวยมาก เราก็คิดว่ากระต่ายตัวนั้นเหมือนกระต่ายในป่าเรา อาร์มสตองมันไปเหยียบแล้วมีกระต่ายไหม บนดวงจันทร์มีกระต่ายไหม

นี่ก็เหมือนกัน สอุปาทิเสสนิพพานกับอนุปาทิเสสนิพพาน มันก็เหมือนกับเราเห็นดวงจันทร์นั่นล่ะ ทีนี้คำว่าเห็นกระต่ายในดวงจันทร์มันไม่มี แต่ สอุปาทิเสสนิพพานมันมีจริงๆนะ มรรคผลนิพพานมีจริงๆ ทำได้จริงๆ ฉะนั้นคำว่าทำได้จริงๆ มันอยู่ที่กลางหัวอกเรา อยู่ที่ทำได้จริงของเรา สิ่งที่ทำได้จริง เราพิสูจน์ได้ด้วยตัวเราเอง

ดวงจันทร์นะ ต้องนาซ่า ต้องมีทุนมีรอนของเขา วิทยาศาสตร์ของเขา มันต้องสร้างยานอวกาศของเขา เขาต้องพิสูจน์ นั่นยานอวกาศของเขาสร้างด้วยวัตถุ สร้างด้วยวิทยาศาสตร์ แต่ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ทุกคนมีโอกาสสร้างได้ มรรคญาณทุกคนมีโอกาสทำได้

สิ่งใดที่เป็นความรู้สึก เป็นความคิด พลังงานของจิต จิตที่มีพลังงานอันนี้ มันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด พลังงาน ดูสิ ตอนนี้เรามีคอมพิวเตอร์ เวลาแบตหมดเราต้องไปชาร์จกันตลอดเวลา คอมพิวเตอร์เราต้องมีแบต เราต้องต่างๆ เราต้องหามันมา สมาธิมันเกิดจากเรา เราชาร์จเองได้ เราสร้างพลังงานเองได้ พลังงานที่ไม่ต้องไปให้โรงงานที่ไหนมันสร้าง

เวลาจิตมันปฏิสนธิจิตขึ้นมาในร่างกาย มันสร้างพลังงานได้ทั้งนั้นเลย แล้วปัญญาที่มันเกิดจากจิต สิ่งนี้เราพิสูจน์ ดวงจันทร์ที่ในหัวอกเรา กระต่ายตัวนี้มีจริงหรือไม่มีจริง กระต่ายบนดวงจันทร์ที่เห็นว่ามันใสสะอาด สว่าง แบบว่าวิจิตรพิสดารอย่างนั้น เวลาจิตมันสงบเข้ามา มันจะรู้มันจะเห็นของมัน

ถ้ามันรู้มันเห็นของมัน มันเป็นปัจจัตตัง ความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นมาจากเรา เราจะต้องอาศัยใครมาการันตีไหม แหม นี่บอกว่า ต้องพระพุทธเจ้าเป็นคนการันตี ต้องพระพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นคนพยากรณ์ ถ้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์นะ กึ่งพุทธกาลพระพุทธเจ้าที่ไหนจะมาพยากรณ์ พระพุทธเจ้าก็นิพพานไปแล้ว

แต่ถ้าว่าพระพุทธเจ้าพยากรณ์ๆ มันก็ต้องย้อนกลับมาดูในประวัติหลวงปู่มั่นนะ ว่าเวลาพระพุทธเจ้ามาอนุโมทนาด้วย อย่างนี้ก็บอกว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วไม่มี เวลาพูดเป็นวิทยาศาสตร์นะ เราพูดกันด้วยวัตถุ มันก็เถียงกันไม่มีวันจบหรอก แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่าน ท่านสงสัยสิ่งใดในเรื่องวินัย ในเรื่องว่าพระควรทำอย่างไร ในพระไตรปิฎกก็บอกไว้หมดแล้ว

ดูสิ ไม้จิ้มฟันไม่ให้เกิน ๔ นิ้ว ดูสิ ผ้าอาบน้ำฝนต่าง ๆ ผ้านี่สีต่างๆ นี่ไง ในพระไตรปิฎกเขาบอกไว้หมดแล้วทำอย่างไร แต่เวลาไม่เข้าใจ หลวงปู่มั่นท่านทำกิจของท่าน แล้วย้อนของท่าน ท่านดูของท่าน เราไปอ่านประวัติหลวงปู่มั่นกัน ก็เถียงกันปากเปียกปากแฉะนะ พระป่าจะสอนให้โง่หรือสอนให้ฉลาด ถ้าสอนให้ฉลาด นิพพานมันไม่มีแล้ว แล้วพระพุทธเจ้ามาอนุโมทนาอะไรกับหลวงปู่มั่น

นี่ เวลาความจริงของเรา ไอ้นี่มันเป็นวงกรรมฐาน เหมือนทางวิชาการ หรือกองทัพที่ออกรบ กองทัพเขามีความลับในราชการของเขา คนที่จะกุมความลับคือพวกแม่ทัพ พวกนายกอง เขาจะรู้ความลับของเขา กลศึกของเขา เขารู้ของเขา เขาใช้ประโยชน์ของเขา ไอ้พวกทหารเดินเท้า ทหารต่างๆ เขาไม่ให้มารู้ของเขาหรอก เพราะอย่างนี้เขาใช้เพื่อการรบเท่านั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในวงปฏิบัติของเรา ในครูบาอาจารย์ของเรา ในวงในของเรา คำว่าวงใน หลวงตาใช้คำว่าครอบครัวกรรมฐาน ครอบครัวกรรมฐานเห็นไหม พ่อแม่ครูอาจารย์ เราเคารพบูชา เราดูแลของเรากัน สรงน้ำแล้วเราไปนวดเส้นกัน

นวดเส้นคือ คลายความเมื่อยความขบของครูบาอาจารย์ ด้วยความคุ้นเคย เวลาเราถามท่าน ท่านจะเล่าให้ฟัง ยิ่งถ้าเราปฏิบัติของเราได้นะ เวลาเราเข้าไปคุ้นเคยขนาดนั้นใช่ไหม เหมือนลูกกับพ่อแม่เลย เวลาลูกไปทำอะไรสำเร็จมา จะเอามาแล้ว แม่หนูซื้อนี้มาฝาก พ่อหนูซื้อนี้มาฝาก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาเราไปจับเส้นครูบาอาจารย์แล้ว โอ้โฮ เมื่อคืนภาวนาเป็นอย่างนั้น นี่ก็เหมือนกับทำความประสบสำเร็จสิ่งใด ก็ซื้อของมาฝากพ่อแม่

นี่ก็เหมือนกัน เอาความประสบความสำเร็จของตัว เอาจิตของตัวที่รู้ที่เห็นไปรายงานผลกับพ่อแม่ พ่อแม่ บอก อืม ดีๆๆๆ มันเป็นอย่างนั้นแล้วต้องทำอย่างนั้นต่อไป ถ้าอย่างนี้ ก็ทำอย่างนี้ ต่อไป นี่ ครอบครัวกรรมฐานเขาเป็นอย่างนี้ เขาถึงซึ้งบุญคุณนะ

หลวงตาท่านพูดประจำ ถ้าปฏิบัติไม่มีครูไม่มีอาจารย์ อย่างน้อยเสียเวลา เราลองผิดลองถูก ลองแล้วลองเล่า ยิ่งลองผิดลองถูกแล้วนะ เราก็เกิดลังเลสงสัย ไอ้เราก็ไม่แน่ใจตัวเราเอง เห็นๆอยู่นี้ ของสัมผัสอยู่นี้ จริงไม่จริง เข้าใจไม่เข้าใจ จะถามใคร เขาก็หาว่าบ้า ไปพูดกับใคร อ้าปากกับใครไม่ได้เลย สังคมเขาว่า โอ๊ย คนนี้เป็นคนบ้า กลัวเขาว่าติเตียนอีก กลัวเขาเอ็ด ก็ต้องเก็บไว้ในใจอยู่คนเดียว อย่างน้อยก็เสียเวลา อย่างมากนะ ลองไปลองมานะ

ดูสิ ดูโน้ตบุ๊คสิ เวลาแบตมันอ่อน มันรวนหมดเลย เวลาดูจิตสิ จิต สมาธิมันไม่มั่นคงขึ้นมา ปัญญามันรวนแล้ว พอปัญญามันรวนขึ้นมานะ อื่ม มันน่าจะเป็นอย่างนั้น อื่อ ออกนอกทางแล้ว อย่างน้อยเสียเวลา อย่างมากมันจะหลงแล้ว แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ เฮ้ย แบตมึงนะ เปลี่ยนสิ แบตมึงอ่อนแล้วนะ ต้องเปลี่ยน

นี่ก็เหมือนกัน จิต สมาธิมันไม่พอแล้ว ถ้าสมาธิมันไม่พอ มันต้องกำหนด พุทโธ ให้สมาธิมันมั่นคงขึ้น ของเราแบตอ่อนแล้วนะ ดูโทรศัพท์สิ พอไฟหมดแล้วโทรศัพท์ไม่ได้ล่ะ ทำไม่ได้แล้ว สมาธิเวลามันอ่อนไป เราไม่รู้ พอเราไม่รู้ ใหม่ๆคนใช้เครื่องยนต์กลไกไม่เป็น ใช้ไม่ถูกหรอก

นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติของเรานะ แต่มีครูบาอาจารย์คอยแนะ คอยใช้ คอยคอยบอก นี่เพราะมีการคอยแนะคอยบอก ถ้าเราไม่รู้จริง เราไม่มีโทรศัพท์นะ หรือไม่มีโน้ตบุ๊ค เขาบอกให้เปลี่ยนถ่าน เปลี่ยนที่ไหนล่ะ ถ่านเป็นอย่างไร

นี่เหมือนกัน ถ้าเด็กมันภาวนาไม่เป็น ถ้าลูกศิษย์ลูกหา ลูกเรามันทำงานไม่เป็น พ่อแม่บอกขนาดไหน ลูกก็เข้าใจไม่ได้หรอก ลูกมันต้องทำเป็น พอมันทำเป็น มันทำขึ้นมาแล้วพ่อแม่มันบอก มันจะเข้ากันพอดีเลย พอเข้ากันพอดี นี่ไง มันเป็นการยืนยันกัน ปัจจัตตังๆ ความจริงมีอันเดียว มันจะเป็นการยืนยันกันๆๆ พอยืนยันขึ้นไป มันก็ยิ่งเคารพบูชาเลย

ถ้าเคารพบูชาขึ้นมา นี่ ครอบครัวกรรมฐาน พอครอบครัวกรรมฐานมันพัฒนาขึ้นมาแล้ว นี่เวลาครอบครัว เวลาครูบาอาจารย์ไม่ให้ติดบุคคล ให้ติดธรรมะๆ อันนั้นทำไปด้วยความด้นเดา ทำได้แต่คาดหมายคาดการณ์ไป จะหลงไปทางไหนก็แล้วแต่ แล้วเวลาพูดธรรมะ ทำไมจะพูดไม่ได้ นี่พระไตรปิฎก ใช่ พูดได้ทุกคน แต่พูดในสถานะของใคร

ถ้าพูดในแวดวงกรรมฐานเรา ในวงครูบาอาจารย์เราที่เป็นจริงนะ ที่ไม่เป็นจริงนะ มันยิ่งชักพากันไป ยิ่งเตลิดเปิดเปิงเลยล่ะ ฉะนั้นคำว่าสอุปาทิเสสนิพพานกับ อนุปาทิเสสนิพพาน มันเป็นเรื่อง ถ้าพูดถึงในเรื่องความเคารพธรรม หลวงปู่มั่นท่านเคารพธรรมมาก สิ่งที่เคารพธรรม สิ่งที่เป็นธรรม ท่านจะเชิดชูไว้ เราจะไม่เคยเอามาพูดเล่นพูดหัวกันเลยนะ

ถ้าพูดเล่นเขาเรียกไม่เคารพ ความเคารพนี่นะ เรามองไปแล้วเป็นประเพณี เห็นไหม เป็นจารีต เป็นประเพณี พอเห็นคำว่าเป็นจารีต เป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรม เราก็ดูถูกดูแคลนกัน ฉะนั้นเราไม่ดูถูกดูแคลนกัน เราเคารพในหัวใจ เคารพในหัวใจแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติ ทำไมเราไม่ทำตามประเพณีล่ะ ทำไมพระป่าปฏิเสธประเพณี เพราะคำว่าประเพณี การทำทานต่างๆ มันทำให้คนติด ทำให้เสียเวลา

แต่คำว่าจารีตเราเคารพกัน เราเคารพธรรม เคารพในหัวใจ เคารพเห็นไหม สูงสุดสู่สามัญ สามัญคือไม่มีสิ่งใดๆเลย สามัญสำนึก มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เคารพบูชากันด้วยความสูงสุด จารีตประเพณีเราเคารพกันสูงสุด แต่เคารพด้วยนามธรรม เคารพด้วยความเคารพบูชา แต่ไม่ทำ

แต่ถ้าไปทำ มันไปทำโดยวัตถุ พอทำขึ้นมาแล้วมันยิ่งเหยียบย่ำหัวใจนะ พอเหยียบย่ำในหัวใจ ทีนี้เอาสิ จัดงานหาเงินหาทองกัน นี่ไง จารีตประเพณีไง เอาประเพณีมาเป็นสินค้าไง เอาศาสนามาเป็นสินค้าเห็นไหม นั่นนะเคารพมาก เคารพเอาแบงค์ไง เคารพเอาตังค์ไง แต่กรรมฐานเราเคารพบูชา ไม่ใช่ว่าพระป่าไม่เคารพ พระป่านี้ไม่มีรู้อะไรเลย

รู้ ! รู้แล้วเชิดชูไว้บนหัว เชิดชูไว้ด้วยความเคารพบูชา ธรรมและวินัยนี่เคารพบูชา ถ้าไม่เคารพบูชา เราเองเราจะรักษาใจเราไว้ได้อย่างไร นี่การเคารพบูชาอย่างนี้ เพราะเคารพเรื่องธรรม เคารพทุกๆอย่างเลย ไม่เอามาพูดเล่นพูดหัว

แต่ยกเว้นไว้แต่ครูบาอาจารย์ท่านเตือนเราไง เวลาเตือนเพื่อให้เรามีสติ มันต้องมีลูกล่อลูกชน กิเลสเรานี่นะมันลืมตัว เหมือนกับเราจะทดสอบไง เราทดสอบไอ้พวกจารชนไง เราจะพูดเพื่อเอาข้อมูล เราจะมีลูกล่อลูกชน

กิเลสก็เหมือนกัน เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านจะชักเรามา ชักเรามา แล้วจะหักกลับมานะ เวลาเราบอกว่าเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เป็นอย่างนี้ใช่ไหม ถ้าเป็นอย่างนี้มันจะแย้งกับอีกสิ่งหนึ่ง เราล้มเลยเห็นไหม

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ มันจะมีข้อเท็จจริงของมัน มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง แล้วมันจะเข้าไปสู่จุดเป้าหมาย สู่ที่ความถูกต้องอันนั้น ถ้าเข้าไปสู่ความถูกต้องอันนั้น นี่การเคารพธรรม แล้วมันจะได้ธรรมจริง ไม่ใช่การเคารพธรรมด้วยปาก แล้วหาผลประโยชน์จากธรรม เอาธรรมะบังหน้า เป็นสินค้า แล้วหาผลประโยชน์กับมัน

ครูบาอาจารย์ของเรานะ ไม่เอาธรรมะมาบังหน้า ไม่เอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาบังหน้า เวลาถามถึงการประพฤติปฏิบัติ ข้าพเจ้าเพิ่งบวชใหม่ ยิ่งมาอยู่กับอาจารย์ได้ปีสองปี ยังไม่เข้าใจสิ่งใดเลย เห็นไหม เวลาคนที่มีคุณธรรมในหัวใจ เขาจะอ่อนน้อมถ่อมตนของเขา แล้วสิ่งที่เป็นความรู้จริงๆจากภายในจะเก็บไว้ข้างใน

แต่เวลากับครูบาอาจารย์ อย่างที่ครอบครัวกรรมฐาน คำว่าครอบครัวกรรมฐานเวลามีสิ่งใดเราต้องตีแผ่เลย ในหัวใจของเราเหมือนเปิดตู้เซฟเลย เปิดในคลังมหาสมบัติของเรา ในคลังมหาสมบัติเรามันมีทองจริงอยู่ หรือมีตะกั่วอยู่ ถ้าในคลังมหาสมบัติเรามีแต่ทองชุบ เราเข้าใจเป็นทองเก็บไว้นะ มันจะไม่มีค่าเลย

ฉะนั้นเวลา ธมฺมฺสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาสนทนาธรรมกัน มันจะเปิดคลังมหาสมบัติออกมาเลย ว่าในคลังมหาสมบัติของเรา มันจะมีทองคำจริงหรือไม่ มันมีเพชรนิลจินดาจริงหรือเปล่า พิสูจน์ตรวจสอบกันเลย ถ้าพิสูจน์กันแล้ว โดยการพิสูจน์ตรวจสอบกันด้วยการธมฺมฺสากจฺฉา อันนั้นผิด อันนั้นถูก นี่ทองจริง ทองเก๊ เขาพิสูจน์กันได้ ในช่างทองนี่ เห็นทองจะรู้เลยว่าทองจริงหรือทองปลอม

ฉะนั้นในการพิสูจน์ของครูบาอาจารย์ท่านจะพิสูจน์กันอย่างนั้น การพิสูจน์กันอย่างนั้น นั่นล่ะการตรวจสอบกันในวงกรรมฐาน ในครอบครัวกรรมฐาน ฉะนั้นถ้ารู้จริงแล้วนะ คนที่เป็นจริง เรามีทองคำนี่ เราไม่ต้องบอกว่าเรามีทองคำเลย เหมือนเช่นเรามีสมบัติอยู่แล้ว เราไม่ต้องบอกว่าเรามีสมบัติเลย แต่คนที่เขารู้ว่าเรามีสมบัติ เขาอยากได้สมบัติอันนั้นเอง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจเป็นธรรมขึ้นมา มันเป็นการร่ำลือในวงกรรมฐานนะ ในวงกรรมฐานลึกๆนี่ รู้กันว่าใครเป็นใคร ในวงการวิชาชีพทุกวิชาชีพเขาจะรู้กันว่าใครเป็นใคร เพราะผลงานนั้นมันจะฟ้องขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้นธรรมะอย่างนี้ เวลาจะพูดนี่ ไม่อยากจะพูดนะ บางอย่างตอบปัญหามาเยอะมาก แล้วเราจะตอบไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ แล้วต่อไปปัญหามันจะซ้อนๆกันมา ปัญหามันจะซ้ำกันมา เพราะว่าคนปฏิบัติมันเยอะมาก แล้วที่เราพูดไป มีอยู่อันหนึ่งออกไป ปัญหาพื้นฐาน คือใครปฏิบัติมันจะเจอแบบนี้ ปัญหามันจะเจอเหมือนกันหมด แล้วใครมาก็ถาม ตอบทุกคนมันไม่ไหว อันนั้นถึงตอบไปเป็นปัญหาพื้นฐาน

อันนี้ก็เหมือนกัน สอุปาทิเสสนิพพานกับนิพพาน มันจะมีปัญหาอันเดียวกับว่าจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส แล้วจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เถียงกันไงว่าจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี่คือนิพพานๆ เถียงกันนี่ อันนี้ก็เหมือนกันสอุปาทิเสสนิพพานกับอนุปาเสสนิพพาน นี่จะเถียงกัน

วันนี้ถึงแบบว่า ขอร่วมวงด้วยคนหนึ่ง พูดไว้เป็นหลักฐานเท่านั้นเอง ฉะนั้นประสาเรา มันเหมือนกับกบเลือกนาย รอแต่เลือกนาย นกกระสาให้กินกบหมดเลยไง นี่ก็สอุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพาน เถียงกันไปอย่างนั้น กิเลสเอาไปกินหมดเลย มันเป็นเรื่องที่สูงเกินไปกว่าที่ปุถุชนจะมาเถียงกันหรอก ไม่มีทางรู้ได้ ไม่มีทางหรอก

ยิ่งเด็กวานซืนเถียงกัน เด็กๆถามกันในเว็บไซด์นี่ มันยิ่งเด็กๆ เด็กๆนะ ทำบุญยังทำไม่เป็นเลย อย่าว่าแต่ภาวนา เคยไปวัดไหม เคยเห็นพระหรือเปล่า เคยตักบาตรไหม สอุปาทิเสสนิพพานเลยนะ เวลาทำบุญยังทำไม่เป็น นับประสาอะไรกับศีล สมาธิ ปัญญา

แล้วศีล สมาธิ ปัญญามันต้องมีพื้นฐาน ต้องทำของมันขึ้นมา มันถึงจะเป็นข้อเท็จจริง เป็นชาวพุทธ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์กับชาวพุทธนะ นี่พูดอย่างนี้ ถ้าไม่พูดไว้ ถ้าคนไปถาม ไปบอกหลวงตา ไปบอกครูบาอาจารย์นะ เขาจะบอกว่า ไอ้หงบมันบ้าแล้ว วันก็นิพพานสองวันก็นิพพาน แล้วโลกนี้มันจะไปนิพพานอะไรกับเอ็ง ฮ้า! แต่นี่พูดไว้เป็นทางวิชาการ

ฉะนั้นปัญหาอย่างนี้เขาไม่พูดกันหรอก ปัญหาเขาพูดกันแต่ว่า เราทำอะไรกันเป็น ทำอะไรกันได้ แล้วพัฒนาขึ้นมา ไม่ใช่เอาเป้าหมาย เอานิพพานมาตีแผ่กัน เอามาคุยอวดกัน มาข่มขี่กัน คุยแอ็กไง ว่ากูรู้ไง คุยอวดว่ากูรู้ มันไม่มีประโยชน์หรอก เอาความจริงขึ้นมาพูดกัน

นี่เราพูดออกตัวไว้ ไม่อย่างนั้นก็จะหาว่าอะไรๆเราก็จะอวดอยู่คนเดียวไง เพราะว่าชาวโลกว่าแล้วนะ คนอื่นผิดหมดเลย ถูกอยู่คนเดียว เขาก็ด่ากันอยู่วันยังค่ำ แล้วปัญหามันก็เกิดอีก ก็ต้องพูด

ถูกผิดนะ คำพูดมันเป็นนาย มันจะย้อนกลับไปทำลายคนพูด ถ้าพูดไม่ถูก ไอ้คำพูดนั่นนะมันออกไปแล้วมันเป็นหลักฐานหมดล่ะ แล้วมันจะย้อนกลับไปทำลายคนพูด ถ้าคนพูดนั้นพูดไม่รู้จริง หรือคำพูดนั้นพูดออกมาจากการด้นเดา แต่นี้มันเห็น มันออกมาเป็นอย่างนี้ก็พูดไปอย่างนั้น เพื่อจะให้เป็นหลักฐานไว้ แล้วต่อไปจะไม่พูดบ่อยๆ เนาะ เอวัง