เทศน์พระ

ก้าวไม่ผิด

๑๖ ก.ค. ๒๕๕๘

 

ก้าวไม่ผิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะ เวลาเราบวชเราเรียนแล้ว เรามีครูมีอาจารย์ เห็นไหม เรามีผู้นำ เราต้องมีผู้นำมีครูมีอาจารย์ มีอาวุโส ภันเต เราอย่าทิฏฐิมานะว่าเรารู้ สิ่งที่รู้ๆ มานั้นมันรู้โดยกิเลสทั้งนั้น ฉะนั้นเรามีครูมีอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเรามันรู้ได้ไง ธรรมะนี่อยู่ด้วยกันมันจะรู้ว่าคนนี้มีธรรมหรือไม่มีธรรม

ศีลอยู่ด้วยกัน เห็นไหม อยู่ด้วยกันมันเห็นหมด นี้ความเห็นอยู่ด้วยกันมันเห็นหมด เห็นไหม เราอยู่วงใน เวลาหลวงตาท่านพูดบ่อย “วงกรรมฐานเป็นวงใน” ถ้ากรรมฐานไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์มันจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง วง เห็นไหม วงกรรมฐาน วงของธรรมยุต วงของพระสงฆ์ไทย วงของสงฆ์ของโลก มันเป็นวงเป็นชั้นเป็นตอนออกไป เป็นชั้นเป็นตอนออกไปนี่วงกรรมฐานของเรา วงกรรมฐานของเรา เรามีครูมีอาจารย์ไง ถ้ามีครูมีอาจารย์เราคุ้นเคย เราชิดเชื้อ เราสนิทชิดเชื้อ เห็นไหม พ่อแม่ครูจารย์ พ่อแม่ครูจารย์

ดูทางโลกเขาสิ เวลาเขาไม่มีจะอยู่จะกิน เห็นไหม เขาไปตกเขียว เขาไปกู้นอกระบบ มันขูดรีด เวลาไม่มีจะใช้เขา เขาทำร้ายร่างกายเลยล่ะ แต่ทำไมพ่อแม่ครูจารย์ พ่อแม่ครูจารย์หาให้อยู่หาให้กิน ปัจจัยเครื่องอาศัยมันมีพออาศัย เราอาศัยได้ทั้งนั้น ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากไม่ท่วมหัว เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันท่วมหัว เห็นไหม อยู่บนหัวคน ทำสิ่งใดก็จะให้เขาเชื่อถือศรัทธา ทำไมต้องให้เขาเชื่อถือศรัทธา ทำไมเราศรัทธาตัวเราเองไม่ได้ ทำไมเราไม่มีจุดยืนของเรา

ถ้าเรามีจุดยืนของเรานะ มันจะอดมันจะอิ่มขนาดไหน ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำเป็นแบบอย่าง ท่านเป็นแบบอย่าง อย่างนี้มันไม่สมใจกิเลส กิเลสมันจะมักมาก กิเลสมันจะมีแต่ความเชิดชู กิเลสมันมีแต่ความหลอกลวง กิเลสทั้งนั้น นั้นมันเรื่องของกิเลสนะ ฉะนั้นเราวงกรรมฐานไง วงกรรมฐาน เห็นไหม

เราเกิดเป็นมนุษย์ทุกคนก็มีศักยภาพ ดูทางโลกเขา เวลาเขาขาดแคลนเขาทำอย่างไรกัน เวลาขาดแคลน เวลาข้าวยากหมากแพง ตำรวจเขาต้องรักษากฎหมายให้เข้มงวดเลย เพราะมันจะฉกชิงวิ่งราวกันไง เวลาคนมันขาดแคลนขึ้นมาแล้วนี่ คนที่สิ้นคิดมันทำอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ แต่คนที่เขาไม่สิ้นคิดของเขา มันจะขาดแคลนมันก็ขาดแคลนด้วยกันทั้งนั้น

ความว่าขาดแคลนของเขา ขาดแคลนเพราะว่าตัณหาความทะยานอยาก เขาวิตกกังวล แต่ของเรามันขาดแคลนอะไรล่ะ เวลาข้าวยากหมากแพง เห็นไหม ในเมื่อประชาชนเขาไม่มีจะอยู่จะกินแล้วสมณะชีพราหมณ์จะอยู่กันอย่างไร ถ้าได้สิ่งใดมาเขายังอยู่กินกันได้ ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ เราเป็นผู้นำเขาใช่ไหม เวลาเขาอดอยากนะ เรากินน้อยกว่าเขา เราใช้ปัจจัยเครื่องอาศัยน้อยกว่าเขา ถ้าเราน้อยกว่าเขา มันเป็นที่อบอุ่นหัวใจไง ทำไมเขาเป็นฆราวาส เขาเป็นคฤหัสถ์ เราเป็นนักบวช เราเป็นพระ เราเป็นพระเป็นผู้ประเสริฐๆ ตรงไหน เห็นไหม ถ้าประเสริฐของเรา เรามีครูมีอาจารย์เป็นที่พึ่งนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพราหมณ์นิมนต์ไว้แล้วลืมใส่บาตร เห็นไหม ข้าวยากหมากแพงเหมือนกัน เวลาเขาได้สิ่งใดมา เห็นไหม ภิกษุทำให้อาหารสุกเองไม่ได้ พระอานนท์ได้ข้าวกล้องมา ใช้หินบดบดให้เป็นแป้ง เอาน้ำพรมๆ ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเป็นเรานะ โอ๊ย! นี่ดูถูกฉันเหรอ ฉันเป็นถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เอาอาหารอย่างนี้มาถวายได้อย่างไร มันก็ต้องเอาอาหารเลอเลิศมาสิ ท่านไม่ได้พูดอะไรเลยล่ะ ท่านทำเป็นตัวอย่างล่ะ คิดดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่มีสิ่งใดเป็นเรื่องทิฏฐิมานะใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องเชิดชูใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องของวัฏฏะ เป็นเรื่องของผลเวลามันเป็นไป

ถ้าเรามีสติมีปัญญา เรามีสติปัญญา เห็นไหม เรามีครูมีอาจารย์เป็นตัวอย่าง เรายึดที่ครูบาอาจารย์ของเรา อย่าไปยึดสิ่งภายนอก ไอ้นั่นมันเรื่องโลก มารยาสาไถย เรื่องหลอกลวงทั้งนั้นล่ะ ยศถาบรรดาศักดิ์ โลกธรรม ๘ โมฆบุรุษตายเพราะลาภ เพราะว่าเป็นโมฆบุรุษ เพราะว่าขาดสติ มันถึงได้ไปคลุกคลีกับเรื่องอย่างนั้น ถ้าเรื่องอย่างนั้น นั่นมันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น เป็นช่องกิเลสมันออก โมฆบุรุษตายเพราะลาภ โมฆบุรุษบุรุษที่ไม่มีค่า

เราบวชเราเรียนมาเราจะทำอย่างนั้นไหม ถ้าเราบวชเราเรียนมา เห็นไหม ดูสิ สุณาตุเม ภันเต สังโฆ สงฆ์ยกเข้ามาหมู่นี่ เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส มันมีค่าขนาดไหน ดูสิ ทางโลกเขาเขาตกทุกข์ได้ยาก เห็นไหม ดูสิ เวลาพวกผู้หญิง เขาบอกเขาไม่ได้บวชได้เรียน เขามีความทุกข์ความยาก เขาไม่ได้บวชได้เรียนเหมือนเรา เขาอยากจะบวชจะเรียนอย่างเรา

เราบวชเราเรียนมานี่ สงฆ์ยกเข้าหมู่นี่ด้วยธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันมีค่าแค่ไหน สิ่งที่มีค่ามันอยู่ตรงนี้ไง มันมีค่าเพราะศักยภาพของเรานี่ไง มันมีค่าเพราะสติปัญญาของเรานี่ไง ถ้ามันมีค่าแล้วเราจะไปตื่นเต้นอะไรกับเรื่องภายนอก เรื่องโลกเขาทำ โลกเขาทำ เขามีการประชาสัมพันธ์ เขามีการเชิดชูกัน เขาสร้างภาพกัน เราต้องทำอย่างนั้นเหรอ เราไม่ต้องทำอย่างนั้น

ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น เห็นไหม ดูสิ เวลาเราจะปฏิบัติของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ก้าวแรกก็ให้มันถูกต้องดีงาม อย่าก้าวผิด ถ้าก้าวผิดไปแล้วมัน ผิดพลาดไปตลอด

ดูเด็กสิ เด็กถ้ามันคบเพื่อนผิด เห็นไหม เพื่อนมันชวนกันไปเสพยาเสพติด มันชวนกันไปสำมะเลเทเมา แล้วมันจะมีอะไรนั่นล่ะ เริ่มต้นมันเป็นอย่างนั้น เห็นไหม ถ้าพ่อแม่รู้เท่านะ ก็เอามาฟื้นฟู เวลาเอาเด็กมาเอาเข้าไปฟื้นฟู เอาเด็กมาพยายามจะไปทำให้ห่างกับยาเสพติดนั้น แล้วเด็กมันเสพยาเสพติดแล้วจิตใจมันอ่อนแอมันจะฟื้นฟูไหวไหม สิ่งใดเวลาฟื้นฟูมา ไปควบคุมอยู่ มันก็ทำได้ เวลาปล่อยมาแล้วอยู่ด้วยตัวเองมันทนได้ไหม มันก็ไปหาอีกล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เราก้าวแรก ก้าวอย่าให้มันผิดพลาด จะทำสิ่งใดให้มันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่ไงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ อยู่โคนไม้ อยู่เรือนว่าง เอาความจริงขึ้นมาสิ นี่คุณธรรมขึ้นมา เวลาเกิดศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา มันมีสัจธรรม มันมีความจริงขึ้นมา มันมีความสุข ความสงบ ความระงับ เทวดา อินทร์ พรหม มาขอฟังเทศน์ เทวดา อินทร์ พรหม ทำไมไม่ไปหาไอ้พวกเศรษฐีมหาเศรษฐีนั้นล่ะ ข้าวของเงินทองเขาเยอะแยะ เขาทำอะไรเพื่อประโยชน์กับเขา นี่เทวดา อินทร์ พรหม ไม่เห็นไปเลย

ทำไมเทวดา อินทร์ พรหม ไปหาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นอยู่ในป่าล่ะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมีอะไร ก็มีบริขาร ๘ ไง มีบาตรนี่ ไปบิณฑบาตกับชาวป่าชาวเขาผู้ทุกข์ผู้ยาก มันจะได้อะไรวิเศษวิโสมา อะไรมันจะวิเศษวิโสไป คนป่าคนเขาเขามีอะไร เขาก็มีข้าว ข้าวไร่เขาปลูกของเขาเอง แล้วก็มีผักหญ้าตามท้องนาใส่บาตรมา นั่นอาหารของผู้ทรงธรรม

นี่ไง สิ่งที่เป็นประโยชน์ ก้าวแรกมันไม่ผิดไง ถ้าก้าวแรกมันถูกต้องดีงาม มันจะมีความภูมิใจ บวชมาเป็นพระก็ภูมิใจความเป็นพระเรานี่ ภูมิใจมาก ศากยบุตรพุทธชิโนรส เห็นไหม เราบวชมาเป็นสมมติสงฆ์ แล้วเราพยายามจะทำของเราให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้ามันทำความเป็นจริงขึ้นมา ก้าวแรกให้มันถูกต้องดีงาม เราเดินด้วยความถูกต้องดีงาม เห็นไหม ไม่ลื่นล้มไปทางโลกเขา เวลาก้าวผิดพลาดไปเขาล้ม หกล้มไป เจ็บไข้ได้ป่วยของเขาไป เวลาเขาก้าวผิดเพราะอะไรล่ะ ถึงเวลาเขาก้าวไป จะเป็นเลนเป็นตม จะก้าวไปสิ่งที่เป็นความลื่น สิ่งที่มันทำให้เขาล้มได้ ถ้าเขามีสติมันก็ก้าวเหมือนกันนั่นแหละ แต่ถ้าเขามีสติ เขายับยั้งเขาตั้งสติของเขาไว้ เขาระมัดระวังของเขา มันก็ไม่เกิดการล้มลุกคลุกคลาน เห็นไหม เพราะอะไร เพราะเขามีสตินะ ก้าวแรกให้มันถูกต้องดีงาม ถ้าถูกต้องดีงามแล้วก้าวต่อไปก็พยุงตัวให้ดี แล้วเดินไปให้ได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราก้าวเดินของเรา ในการภาวนาของเรา ก้าวแรกของเราๆ จะฝึกหัดภาวนา เราทำถูกต้องดีงามหรือเปล่า ถ้าเราถูกต้องดีงามหรือเปล่า ให้มันทำให้ถูกไว้ ดูสิ เวลาพ่อแม่ที่เขามีสติปัญญาเขาจะเลี้ยงลูกเขา เขาจะวางพื้นฐานให้ลูกเขาเข้มแข็ง ทั้งการศึกษา เห็นไหม ส่งไปศึกษาในสำนักที่ดีๆ แล้วก็ฝึกหัดมารยาทสังคม สอนนะ ลูกนะ ควรทำอย่างนี้นะ นี่ควรทำอย่างนี้นะ เพราะเด็กมันไร้เดียงสา มันยังซึมซับ มันยังฟังเราอยู่ ถ้ามันโตขึ้นมาแล้วนี่เราต้องพูดน้อยหน่อย อย่าพูดมากเกินไป รับฟังให้ดีๆ แล้วประคองไปให้ดี เห็นไหม ลูกเราโตขึ้นมามันจะแข็งแรงขึ้นไป นี่เป็นบุคลากรสังคมที่ดี ไม่เป็นภาระสังคม พ่อแม่ที่ฉลาดเขายังสอนลูกเขาได้ขนาดนั้น

แล้วเราๆ โตมาอายุเกิน ๒๐ นะ ๒๐ ปีถึงบวชพระได้ เราบวชมาแล้วสติปัญญาของเรา เราต้องรักษาตัวเรา นี่ไง บวชมาแล้วก็เป็นลูกกำพร้า พ่อแม่เป็นฆราวาส เรานี่เป็นพระ เป็นพระขึ้นมาใครจะดูแล ก็ธรรมวินัยนี่ไง “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งที่เราแสดงไว้ดีแล้ว ธรรมวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ”

ธรรมวินัยมีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เป็นธรรมวินัยคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็อยู่กับตรงนี้ไง แล้วมีครูมีอาจารย์ เห็นไหม วงกรรมฐานๆ พ่อแม่ครูจารย์เขาไม่ทอดทิ้งหรอก เขาไม่ทอดทิ้ง เขาไม่ขว้างทิ้งไม่ดูแลพวกเราหรอก

นี่หมู่สงฆ์ๆ เห็นไหม ดูสิ วงกรรมฐานนี่สังคมเขายกย่องมาก ว่าวงกรรมฐานเขาจะถึงกัน วงกรรมฐานเขาจะรักกัน วงกรรมฐานเขาจะดูแลกัน ดูแลกันนะ เพราะคิดถึงกัน มันเกี่ยวพันกันไป เว้นไว้แต่มันเป็นพวกไอ้ไผ่แตกกอ มันไปทำลายไง ขุยไผ่ ขุยไผ่มันทำลายต้นไผ่ ถ้ามันเป็นขุยไผ่ใครจะไปดูแลมัน ก็ขุยไผ่มันทำลายหมู่คณะ ทำลายกอไผ่นั้น มันเป็นขุยไผ่ ไผ่มันหมดอายุมันก็เป็นขุยไผ่

นี่ก็เหมือนกัน บวชมาเป็นพระเป็นเจ้าว่าไม่มีใครดูแล มันเป็นขุยไผ่ ใครจะดูแลมัน เข้ามามันก็ทำให้กอไผ่นั้นตายทั้งกอ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีงามใครเขาจะไม่ดูแล เขาดูแลอยู่แล้ว สิ่งที่ดูแล เห็นไหม ดูแลเพราะอะไร เพราะไอ้นั่นมันกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งใด เห็นไหม สิ่งใดที่มันเกิดขึ้นมาถ้ามันเป็นคุณงามความดี ความดีใครก็อยากได้ ทุกคนปรารถนาความดี ทุกคนอยากได้ความดีทั้งนั้น ทุกคนไม่อยากได้ความเลวทราม ทุกคนไม่อยากได้บาปอกุศล ทุกคนไม่ต้องการอยากได้

แต่มันทำอยู่อย่างนั้น มันทำอยู่อย่างนั้นแล้วมันจะได้อะไร ถ้ามันทำอยู่อย่างนั้น เห็นไหม ทำไมมันไม่สละไม่วางของมันล่ะ ทำไมมันไม่ฝึกหัดของมันล่ะ ทิฏฐิมานะๆ มันเป็นมาจากใจทั้งนั้น ก้าวแรกอย่าก้าวผิด ถ้าก้าวผิดไปแล้วมันล้มลุกคลุกคลานไป ต้นคดปลายตรงมันเอามาจากไหน เริ่มต้นมันมีแต่จินตนาการ มีแต่คาดหมาย บวชมาแล้วก็อยากมีมรรคมีผล แล้วเวลาทำขึ้นมา มรรคผลขึ้นมามันมีแต่ความจำ มรรคผล คิดสิ ไปก็อบปี้ไปลอกเลียนแบบมา

เราฟัง เราฟังธรรมธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังของครูบาอาจารย์ เราฟัง ฟังแล้วมันสะเทือนใจ คำว่าสะเทือนใจ พอสะเทือนใจมันอยากลงทางจงกรม มันอยากจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนามันมีแต่ความทุกข์ความยาก มันมีแต่ความคอตก มันท้อแท้ มันสู้ไม่ไหว แต่เวลาฟังธรรมครูบาอาจารย์เท่านั้นล่ะ มันปลุกมันปลอบขึ้นมา หัวใจมันชื่นบาน จิตใจมันเต็มใจ จิตใจมันอยากจะเผชิญกับความจริง จิตใจมันอยากได้

อยากได้ เห็นไหม ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าฟังเทศน์หลวงปู่มั่น นิพพานเหมือนหยิบจับเอาได้เลย มันอยู่ใกล้ๆ มันหยิบจับได้เลย แต่พอหลวงปู่มั่นท่านเทศน์จบนะ ฟ้าปิดหมด นิพพานอยู่ไหนไม่รู้ เพราะอะไร เพราะว่าท่านพูดจากความเป็นจริงในใจของท่าน เพราะในใจของท่านล้มลุกคลุกคลานมาก่อน ไปอ่านประวัติหลวงปู่มั่นสิ บวชใหม่ๆ ท่านก็มีโรคประจำตัวของท่าน ท่านมีโรคปวดท้องโรคถ่ายท้องของท่าน ท่านโรคกระเพาะ จะทำอะไรมันมีแต่ความเจ็บไข้ได้ป่วยมาตัดทอนทั้งนั้น แล้วคิดดูสิไปธุดงค์ต่างๆ เห็นไหม หาครูหาอาจารย์ก็หาไม่ได้

แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาจิตมันสงบไปแล้ว พิจารณากายไปแล้ว ออกมาแล้วมันก็ไม่เห็นมีผลมีอะไรขึ้นมาเลย มันไม่มีผล มันรู้ได้ไง คนมีอำนาจวาสนาบารมีมันไม่หลงตัวเองไง ทำไมมันเป็นอย่างนี้ พิจารณากายๆ อย่างที่ตำรับตำราว่าอย่างนั้น ออกมาแล้วมันก็เหมือนปกติ หาความบกพร่องของตัว พยายามจะหาความบกพร่องของตัว

สุดท้ายมันก็ลงใจว่าเพราะได้ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ไว้ ถึงได้ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วลา ลาอันนั้น ลาความปรารถนาอันนั้น แล้วพยายามทำความเป็นจริงขึ้นมา พอจิตสงบแล้วพิจารณากายเหมือนเดิมนั้นมันเกิดปัญญา มันเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้น เพราะพระโพธิสัตว์ได้แต่ฌานโลกีย์ พิจารณากายๆ ก็เพื่อความสงบเท่านั้น เพราะอะไร เพราะสิ่งที่อำนาจวาสนาที่สร้างมามากนั้นถ้าเข้าสู่อริยสัจเข้าสู่สัจจะความจริง มันจะได้มรรคได้ผล ถ้าได้มรรคได้ผลความเป็นพระโพธิสัตว์มันก็จบไง

ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์มันต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะต่อเนื่องไป จนกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดพยากรณ์ ถ้าพยากรณ์แล้วหมดสิทธิ์ กลับไม่ได้ แต่ถ้ามันยังไม่พยากรณ์มันยังกลับได้ เห็นไหม พอมันกลับได้ ด้วยสร้างกุศลบุญญาธิการมาอย่างนั้นมันถึงเกิดปัญญา เกิดสติปัญญาว่านี่มันเป็นเพราะเหตุใด พิจารณากายเหมือนกัน พิจารณาแยกแยะเหมือนกัน แต่ทำไมมันออกมาแล้ว ออกมาคือว่าเวลาออกจากการภาวนามา “ทำไมมันเป็นแบบนี้ พิจารณาแล้วก็เท่านี้ พิจารณาแล้วก็อยู่เท่าเดิมนี่ พิจารณาแล้วมันไม่มีสิ่งใดยืนยันว่าเป็นสัจจะ ยืนยันว่าเป็นคุณธรรมเลย มันเป็นเพราะอะไร มันเป็นเพราะอะไร”

เห็นไหม นี่ไงดูสติปัญญาของคนสิ สติปัญญาของคนที่ได้สร้างบุญญาธิการมา มันไม่หลงใหลได้ปลื้มไปกับไอ้โลกธรรม ๘ ไอ้การชื่นชม ไอ้การที่สร้างภาพ ไอ้การที่อยากให้คนเขาเชื่อถือศรัทธา ไอ้ตัวเองยังล้มลุกคลุกคลาน ไอ้ตัวเองยังทุกข์อยู่นี่ พิจารณากายไปแล้ว พิจารณาเวลาออกมาแล้วทำไมมันเป็นทุกข์ยากอยู่อย่างนี้ล่ะ

นี่ไง สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แล้วเวลาวิปัสสนาไป มันพิจารณาไปแล้วมันปล่อยมันวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ตทังคปหานมันต้องดื่มด่ำสิ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของธรรม รสของธรรม แล้วทำไมจิตใจมันเป็นแบบนี้ จิตใจเป็นแบบนี้ นี่ไง เพราะมันมีเหตุนี้ขึ้นมามันถึงหาเหตุหาผลไง มันเป็นเพราะอะไร ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องมีเหตุมีผลสิ มันต้องมีที่มาที่ไป เราถึงไปแก้ที่นั่นได้

เห็นไหม ก้าวแรกไม่ผิด ก้าวแรกได้ถูกต้องดีงามทั้งหมด ดูสิ หลวงปู่มั่น ในประวัติหลวงปู่มั่นท่านแสวงหาครูบาอาจารย์ท่านไปทั่วหมดล่ะ ไปทั่วหมด ไปแล้วใครสอนไม่ได้ๆ เพราะคำสอนของเขามันไม่มีเหตุมีผล มันเลื่อนลอย มันไม่มีเหตุมีผลพอที่เราจะลงใจเชื่อได้ คำว่า ลงใจเชื่อได้ คนมันต้องมีเหตุมีผลสิ เหตุผลทางวิทยาศาสตร์เหตุผลทางโลกมันยังต้องถูกต้องตามทฤษฎี ถูกต้องตามข้อเท็จจริงนั้น เขาถึงเชื่อถือกัน เขาถึงศรัทธากัน มันต้องเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้

แล้วเวลาเป็นทางธรรม เห็นไหม มันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันเป็นรู้จำเพาะตนๆ แต่มันยิ่งกว่าพิสูจน์ได้อีกเพราะทางวิทยาศาสตร์มันมี ๙๙.๙๙ มันไม่มี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรอก แต่ธรรมะนี่ร้อยเด็ดขาด ถ้าไม่ร้อยมันชำระล้างกิเลสไม่ได้ มีสิ่งใดจุดอันใดแล้วแต่กิเลสมันหลบทั้งนั้นล่ะ เห็นไหม เวลาตอของจิตๆ พิจารณาเข้าไปแล้วมันปล่อยวางเข้ามาๆ มันหลบอยู่ที่นั่น แล้วก็ว่างไปหมดล่ะ หาไม่เจอๆ อยู่ตอของมัน คร่อมตอไว้อย่างนั้น พอเราคายตัวออกมาไอ้ตอนั้นมันจะขยายตัวออกมา กิเลสนั้นมันจะขยายตัวออกมา เวลามันหลบซ่อนมันหลบซ่อนอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาท่านรู้ของท่าน

ถ้าก้าวไม่ผิด มันก็จะดำเนินก้าวเดินต่อไป ถ้าก้าวผิด ก้าวผิดก็ล้มลุกคลุกคลานไง ประพฤติปฏิบัติกันนี่แล้วก็มาเรียกร้องเอาคุณธรรมอยู่นี่ไง ปฏิบัติกันแล้วนี่ก็ปฏิบัติมาแล้วๆ ปฏิบัติก็คือการปฏิบัติไง สิ่งที่ปฏิบัติคือปัจจัตตัง เรากระทำเรารู้ของเราอยู่ แต่มันถูกต้องดีงามหรือเปล่า ถ้ามันถูกต้องดีงามก็สมดุล สมดุลก็มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทามันเกิดขึ้นจากที่ไหน มันเกิดขึ้นจากมรรค เกิดขึ้นจากการกระทำ แต่คนที่มีสติปัญญามีเชาวน์ปัญญามากก็แยกแยะพิจารณา แล้วทดสอบตรวจสอบ ต้องทดสอบตรวจสอบของเราไปเรื่อย ทำของเราไปเรื่อย มันเจริญพัฒนาของมันไปเรื่อย เห็นไหม นี่วุฒิภาวะของใจมันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

ต้องทำอย่างนี้ ถ้าเราจะไปที่อื่นจะไปทางไหน ถ้าทางที่มันลัดมันสั้น ทางที่มันดีนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ ปรารถนามาเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนามา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เพราะปรารถนามาคือฝึกฝนมา พันธุกรรมของจิตเข้มแข็งมาก แก่กล้ามาก ถ้ามันมีทางที่ง่าย ถ้ามีทางนี่ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ คำว่ารื้อสัตว์ขนสัตว์ คือมันสงสารนะ เพราะอะไร

เพราะการเวียนว่ายตายเกิดใช่ไหม จิตใจของเราถ้าเป็นจิตใจที่ดีงาม เราดูสิ เราดูมนุษย์ที่มันทุกข์มันยาก เป็นคนดี เขาเป็นคนดี เขาเป็นคนมีคุณธรรม แต่เขาทุกข์เขายาก เราสงสารเขาไหม เราเห็นใจเขาไหม มีคนที่มีบุญคุณกับเราเขาทุกข์เขายาก เราเห็นใจเขาไหม เราเห็นใจเขามาก แล้วเราอยากจะให้เขาพ้นทุกข์ทั้งนั้น

นี่คิดดูความรู้สึกเรายังเป็นอย่างนี้ได้ เห็นไหม แล้วเวลาใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันยิ่งกว่าเรา ขนาดเป็นพระโพธิสัตว์ เห็นไหม เสียสละชีวิต เสียสละทุกอย่างเพื่อหมู่คณะ เวลาเป็นหัวหน้าสัตว์ เห็นไหม เสียสละ สละความตายเพื่อให้หมู่คณะรอด เวลาจะมีสิ่งใดท่านเสียสละชีวิตของท่านเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความสุขของสังคม เพื่อความสุขของมวลสัตว์ที่ท่านว่าเกิดเสวยชาตินั้น พระโพธิสัตว์ทุ่มเทมาขนาดนั้น

แล้วเวลามาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เมตตาสัตว์ไหม อยากรื้อสัตว์ขนสัตว์ อยากให้เป็นคุณงามความดี อยากจะกอบโกยไปเอาให้หมด แต่เวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วมันทอดอาลัย ไม่ได้ทอดธุระ ทอดอาลัยเลย โอ้โฮ! แล้วมันจะสอนกันได้อย่างไร ทอดอาลัยเลยนะ

สุดท้ายแล้วฟื้นฟูขึ้นมาจะมาสั่งสอน เวลาสั่งสอนไปเทศน์ธัมมจักฯ ปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบัน ปลื้มใจมาก ปลื้มใจมาก

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

คำว่า ปลื้มใจมาก คือเปล่งอุทาน คำว่าเปล่งอุทาน คนเรา เห็นไหม เวลาเราทำสิ่งใดประสบความสำเร็จมันอุทานเลย “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” มีพยานเป็นคนที่สอง เห็นไหม พระอัญญาโกณฑัญญะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วสิ่งนี้มันประเสริฐเลอเลิศ แล้วเวลาเทศนาว่าการได้พระอัญญาโกณฑัญญะมามันก็มีความสุขใจ เปล่งอุทาน อุทานออกมาเลย

ทั้งๆ ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา สร้างสมบุญญาธิการมาขนาดนี้ พันธุกรรมของจิต อยากปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้ามันมีทางลัด ทางที่เราทำสิ่งใดแล้วสมความปรารถนาท่านบอกหมดแล้ว ใครมันจะมีปัญญาเลอเลิศไปกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยๆ นี่วางธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา แล้วเราจะเป็นลูกกำพร้าไหม เราจะเป็นลูกไม่มีพ่อมีแม่เหรอ จะไม่มีพ่อมีแม่เพราะกิเลสมันสวมคอ กิเลสมันสวมเขา มันเรียกร้องไง เรียกร้องว่าบวชมาแล้วจะต้องมีคนมาโอบอุ้มบูชา

ถ้าโอบอุ้มบูชา ดูสิ ทางประเพณีเขาอุ้มพระพุทธรูปดำน้ำ อุ้มอย่างนั้นใช่ไหม ต้องอุ้มพระพุทธรูปไว้อย่างนั้นเหรอ กิเลสมันคิดอย่างนั้น กิเลสมันคิดว่าต้องให้คนมาโอบอุ้มบูชามาเชิดชู เชิดชูมันก็ทำให้เราเสียเวลาการภาวนา เขามาคลุกคลีทำให้การประพฤติปฏิบัติล่าช้า มันมีแต่การวิเวก กายวิเวก จิตวิเวก เราพิจารณาของเรา ปฏิบัติของเรา ตามความจริงของเรา

ถ้าเป็นความจริงของเรา เห็นไหม เรามุมานะของเราอย่างนี้ ถ้ามุมานะของเราอย่างนี้ นี่ไงสัตว์อาชาไนย สัตว์อาชาไนยมันเลือกของมัน มันแสวงหาของมัน นี่เราๆ เป็นมนุษย์เหมือนกัน เรามาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระกรรมฐานเสียด้วย ไปไหนห่มผ้าสีคล้ำๆ โอ้โฮ! มันน่าเชื่อถือศรัทธา แล้วเราศรัทธาตัวเราได้ไหม เรามีความจริงใจในใจเรามากน้อยขนาดไหน ถ้าเรามีความจริงใจในธรรมและวินัย ถ้าจริงใจในธรรมวินัย เรื่องโลกไม่มีค่าเลย โลกก็เป็นโลกอยู่อย่างนั้น ปัจจัยเครื่องอาศัยมันพอแรง มันมีอะไรมีค่ามากกว่านั้นถ้าจิตใจเราดีงาม

โลกธรรม ๘ ไม่มีค่าแล้วนี่ชีวิตมีความสุขมาก แล้วมันไม่เป็นขี้ข้าใครเลย มันไม่ติดไม่ข้องกับอะไรเลย เราอยู่ของเรา ถ้าเราอยู่ของเรา เห็นไหม นี่ก้าวแรกก้าวให้มันถูก ถ้าก้าวแรกมันถูกแล้วเราก้าวไม่ผิดไป บวชมาเป็นพระมีศีล ๒๒๗ หลวงตาท่านพูดประจำ หัวโล้นๆ ไปยอมจำนนกับไอ้หัวดำๆ ไอ้หัวดำๆ ทั้งนั้น ไอ้หัวโล้นๆ ไปยอมจำนนมัน บวชเป็นพระนี่ประทุษร้ายสกุล สกุลของกรรมฐาน สกุลของพระ ไอ้หัวโล้นๆ ไปยอมจำนนกับเขาได้ยังไง

แต่มันก็ไม่ใช่ให้เกิดทิฏฐิมานะว่าไม่ยอมรับกันว่ามันเป็นบริษัท ๔ คำว่า บริษัท ๔ นักรบ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในเมื่อภิกษุเป็นนักรบแล้วมันรบกับใคร กองทัพเขารบ เขารบมีข้าศึกนะ ไอ้ของเราจะรบก็รบกับกิเลส กิเลสมันคืออะไรล่ะ กิเลสตัวมันเป็นอย่างไร กิเลสมันอยู่ที่ไหน ไอ้นั่นมันกิเลสของวัฏฏะเขา กิเลสของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันไม่ใช่กิเลสของเรา กิเลสของเรามันอยู่ในใจนี่ กิเลสของเราก็ทำให้จิตดวงนี้เวียนว่ายตายเกิด ถ้าเวียนว่ายตายเกิดมันก็ต้องค้นเข้ามาที่จิตของเรานี่ ถ้าค้นเข้ามาที่จิตของเรานี่ ถ้าค้นหาจิตของเราเจอ เห็นไหม นี่สัมมาสมาธิ

ถ้าสัมมาสมาธิเกิดขึ้นมันเชื่อมั่นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหาศาลเลย แต่นี้มันหาไม่เจอ พอหาไม่เจอมันก็ไพล่ไปเอาข้างนอกทั้งนั้น ถ้ามันหาเจอ เห็นไหม ดูสิ ในพระไตรปิฎก ศึกษามาอ่านมา เราก็ค้นคว้ามาเหมือนกัน ถ้าค้นคว้ามาแล้วพระไตรปิฎกชี้ไปที่ไหน พระไตรปิฎกไม่ได้ชี้ไปเลยว่าให้ทำโน่นทำนี่ ไม่มี พระไตรปิฎกชี้เข้ามาที่จิตทั้งนั้น พระไตรปิฎกชี้เข้ามาที่ใจของตัวทั้งนั้น ใจของตัวนี่ศากยบุตรพุทธชิโนรสมันเป็นที่นี่ ถ้ามันเป็นที่นี่ มันชี้เข้ามาที่นี่ แล้วงานชี้เข้ามาที่นี่แล้วทำไมไม่ทำ ทำไมไม่ค้นหา

การว่าค้นหา เห็นไหม ดูสิ คนเกิดมามนุษย์เป็นสัตว์สังคม สังคมเขาก็ต้องมีสังคมของเขาใช่ไหม เราเกิดมาเป็นพระ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาได้มาบวชพระ บวชพระก็สมมติสงฆ์ สังคมเหมือนกันสังคมของสงฆ์ ถ้าสังคมของสงฆ์นะ ในเมื่อมันเกิดสังคมขึ้นมามันก็มีข้อวัตรปฏิบัติ เพราะธรรมวินัยไง ของของสงฆ์ ของของบุคคล ของที่ใช้ร่วมกัน กับของของส่วนตน เห็นไหม สิ่งที่ใช้ด้วยกัน ใช้ด้วยกันก็มีกติกา คำว่ามีกติกามันก็มีข้อวัตรปฏิบัติ มันก็มีธรรมวินัย

ธรรมวินัยเราก็ศึกษาไว้ เราศึกษาเรารู้ไว้เพราะอะไร เพราะเห็นไหม ภิกษุพ้นจากนิสสัยต้อง ๕ พรรษาขึ้น ต้องเป็นภิกษุที่ฉลาด ถ้าไม่ฉลาด ๑๐๐ พรรษาก็ไม่พ้นนิสสัย คำว่า นิสสัย นิสสัยคือพระพี่เลี้ยง นิสสัยคือผู้ดูแล นิสสัยคือครูบาอาจารย์ที่รักษา เพราะถ้าเราไม่พ้นนิสสัย เราดูแลตัวเราเองไม่ได้ ถ้าเราดูแลตัวเราเองไม่ได้เพราะเราไม่รู้ธรรมวินัย เราเข้าหมู่สงฆ์ไง เห็นไหม ที่กรรมฐานๆ เขารักกันอย่างนี้ ถ้ามีความคิดมีความเชื่อถือแตกต่างกัน มันมีความรังเกียจ พอมีความรังเกียจ ภิกษุถือศีลต่างกันเป็นนานาสังวาส นานาสังวาสคือการถือต่างกัน ความเห็นต่างกัน ถ้าความเห็นความถือต่างกันมันรังเกียจกัน พอรังเกียจกันมันก็แบ่งแยก แบ่งแยกก็เป็นกลุ่มเป็นก้อน นี่ไง

แต่เวลาหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านสั่งสอนมา เวลาบอกให้พระที่มีพรรษาไม่ต้องขึ้นมา ให้พระน้อยๆ มันขึ้นมา มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวใจมันไป ข้อวัตรคือการประพฤติปฏิบัติให้เป็นอันเดียวกัน ให้เป็นอันเดียวกัน ให้มาจากที่หล่อที่หลอมอันเดียวกัน ถ้ามาจากที่หล่อหลอมเดียวกันมีความเห็นคล้ายกัน มีความเห็นลงกัน เห็นไหม มันคิดถึงกัน คนเคยอยู่พรรษาด้วยกัน คนที่จากกันไป เวลาคิดถึงมันก็คิดถึงกัน

ความคิดถึง เห็นไหม ดูสิ ความคิดถึงคิดถึงอะไรล่ะ ก็คิดถึงการจำพรรษาร่วมกัน ในสามเดือนอยู่กินกันอย่างไร ทำอย่างไร มันผูกพันกัน แต่เวลาคิดถึง ๓ เดือนที่มันมีแต่ความขัดแย้งกัน ๓ เดือนที่มีแต่การผลักไสกัน มันไม่คิดถึงกันหรอก มันหันหลังชนกัน มันหันหลังให้กัน มันไม่คิดถึงกัน ถ้ามันคิดถึงกันมันคิดถึงเพราะว่าใน ๓ เดือนเราอยู่กันอย่างไร เราเป็นอย่างไร แล้วเรามาจากไหน เราลงใจหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ลงใจครูบาอาจารย์ของเรา ท่านวางข้อปฏิบัติกันไว้ เห็นไหม เราทำตามกันมา นี่ไง สิ่งที่มันคิดถึงกัน มันเห็นใจกัน มันคิดถึงกัน

นี่ไง เราก้าวไม่ผิดไง ก้าวแรกก้าวให้ถูก อย่าก้าวผิด ก้าวผิดไปแล้วมันเป็นนิสัย นานไปๆ เห็นไหม ย้ำคิดย้ำทำ เธออย่าย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำจะเป็นความคิดของเธอ ย้ำคิดย้ำทำมันจะเป็นจริตนิสัยของเธอ มันจะเป็นความเห็นของเธอ มันจะตอกย้ำไป เป็นจริตเป็นนิสัยไป

แต่เราจะเอาความจริง เราจะเอาความจริงนะ เราก้าวให้ถูกต้องดีงาม ก้าวให้ถูกต้องดีงามก็ก้าวขึ้นมา ก้าวขึ้นมาเพื่อหัวใจ เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้เข้ามาที่ใจ ใจนี้เป็นนามธรรม แล้วค้นหายาก การค้นหายากถึงต้องมีสติ ต้องมีคำบริกรรม ต้องมีปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิเพราะปัญญาอันนั้นมันอบรมบ่มเพาะจิตใจของเรา แล้วมันจะเข้าไปค้นคว้าหาใจของเรา ถ้ามันหาใจของเรา ใจเราสงบระงับด้วยสติด้วยปัญญา มันชัดเจน

ถ้ามันชัดเจนสิ่งที่เป็นนามธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามชี้ๆ เข้ามา เห็นไหม เพราะอะไร เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติ เห็นคนเกิด คนแก่ คนตาย ในสวนนั่น มันต้องมีตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ในพุทธศาสนาก็การเกิดและการตาย เกิดมาแล้วเกิดมามีอำนาจวาสนา เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพุทธศาสนา มีอำนาจวาสนาแล้วมีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สร้างบุญกุศลมามหาศาลเลยล่ะ แต่มันไม่ศึกษา ไม่ค้นคว้า ไม่มีการกระทำ มันแปลกนะ

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูดไง คนที่จะนับถือพุทธศาสนาต้องเป็นคนที่มีอำนาจวาสนาต้องเป็นคนที่มีบุญ ต้องมีบุญมีกุศลถึงได้มีโอกาสมานับถือศาสนาพุทธ แล้วชาวพุทธที่ได้ออกบวช ออกบวชเป็นพระเป็นนักรบ แล้วบวชแล้วบวชมาในวงกรรมฐาน เป็นนักรบรบกับกิเลส มันยิ่งมีบุญมากขึ้นไปใหญ่เลย เพราะอะไร เพราะมันมีความเชื่อไง มีศรัทธามีความเชื่อที่จะเข้ามาค้นคว้าสิ่งที่เป็นนามธรรม เขาหากันแก้วแหวนเงินทอง เขาหาชื่อเสียงกิตติศัพท์กิตติคุณของเขา เขาหามาคิดว่าเป็นสมบัติของเขา เวลาเขาต้องตายไป เขาต้องพลัดพรากไปนะ เวลาใช้สอยไปมันก็พลัดพรากจากเรา เวลาเราตายไปแล้วมันพลัดพรากไปจากเขา

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด วัตถุสิ่งใดที่หามาแล้วมันก็ต้องพลัดพรากกันไปเป็นธรรมดา แม้แต่ของที่ว่าเป็นของเราๆ ไม่มีสิ่งใดเป็นของเราเลย แต่ความสุขความทุกข์ในใจมันเป็นของเรา ความสุขความทุกข์ในใจ ความสุขความทุกข์นี่มันเกิด นี่พันธุกรรมของจิตมันเป็นของเรา แต่ตัวจิตจริงๆ ปฏิสนธิจิตมันไม่มีใครเคยเห็น ถ้ามีใครเคยเห็น อิทัปปัจจยตาที่เขาว่าปัจจยาการ ปฏิจจสมุปบาท ถ้าคนไปรู้ไปเห็นเข้ามันจะมหัศจรรย์มากเลย แต่ศึกษาทางวิชาการรู้เห็นไปหมด คุยกันนี่ปากเปียกปากแฉะ แต่มันไม่มีความจริงเลย เพราะอะไร

คำว่า ไม่เป็นความจริงเพราะทำสมาธิยังไม่เป็น เพราะถ้าทำสมาธิเป็นนี่จิตดิบๆ เลยล่ะ สมาธิ สัมมาสมาธิเริ่มต้นที่ยังไม่ทำอะไรเลย แล้วมันโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นั่นล่ะ มันจะไปเห็นปัจจยาการ มันจะไปล้มไปทำลายกัน ภวาสวะตัวภพนั่นล่ะ

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” ปัจจยาการจะไปเกิดที่นั่น อิทัปปัจจยตาจะไปเกิดที่นั่น เพราะว่าถ้ามันเป็นจิตดิบๆ สัมมาสมาธิถ้ามันเห็นมันก็เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้าเห็นมันเป็นขันธ์ ๕ มันก็เป็นกอง มันเป็นสัญญา นี่สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง กับตัวจิต เห็นไหม ความคิดกับจิต มันเป็นก้อนเป็นกอง กอง ๕ กอง ภูเขา ๕ ลูก ใหญ่โตมาก นี่เวลาเป็นนามธรรม แต่ไปรู้ไปเห็นเข้ามันเป็นความจริงอย่างนั้น

ถ้าก้าวถูกนะ มันจะไปรู้ไปเห็นไปจัดการเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล จากสติเป็นมหาสติ จากปัญญาเป็นมหาปัญญา แล้วเป็นปัญญาญาณที่เข้าไปอิทัปปัจจยตาที่ว่า เวลาพูดปากเปียกปากแฉะ แต่ไม่เคยเห็นตามความเป็นจริงแม้แต่กระพี้ลิ้น นี่ไงถ้ามันก้าวผิดไง ก้าวผิดมันจินตนาการ มันรู้ไปหมด ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอามาเรียงลำดับได้หมดเลย อธิบายเป็นชั้นเป็นตอนหมดเลย เขาจบ ๙ ประโยคเขาก็เรียนกันอย่างนี้ เขาเรียนได้แล้วเขาแต่งได้ด้วย เขาจะแต่งได้นะ บาลีเขียนได้แต่งได้ทำได้หมดล่ะ แล้วรู้อะไรล่ะ แล้วได้อะไรล่ะ

นี่ไง ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ ศาสดาสอนไว้ว่าอย่างไร ปริยัติแล้วต้องปฏิบัติ ปริยัติแล้วปฏิเวธะมันไม่มี ปริยัติต้องปฏิบัติ คำว่า ปฏิบัติๆ ปฏิบัติเพื่อสัจจะเพื่อความจริง ถ้าปฏิบัติเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เวลามันรู้จริงนั่นล่ะปฏิเวธะ ปฏิเวธะเป็นความจริงนั้นไง ถ้าไม่มีการปฏิบัติมันจะมีความรู้จริงโดยจิตดวงนั้นมาจากไหน แล้วใครเป็นเจ้าของธรรมะนั้น ใครเป็นเจ้าของ เวลาเกิดมา เราเกิดมานี่ทุกคนทางโลกสิทธิของเรา เขามีทะเบียน เขามีทุกอย่างว่าเป็นสิทธิ์ของเขา เวลาเขาตายไปมันเป็นสิทธิ์ของใคร

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตของเราสิ่งที่เราศึกษา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิทธิ์ของใคร เวลาทำสมาธิขึ้นมาเวลาจิตสงบเป็นของใคร เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา จิตที่มันกระทำจิตที่มันค้นคว้าขึ้นมามันเป็นของใคร แล้วพิจารณาซ้ำพิจารณาซากเป็นตทังคปหาน ปล่อยวางขึ้นมามีความสุขขนาดไหนเป็นของใคร

เวลามันขาด เวลาสังโยชน์มันขาดนะ ใครเป็นคนรู้ว่าขาด แล้วมันขาดจากจิตดวงไหน ไอ้ของเรานี่จะไปรู้จิตตัวเองยังไม่เคยเห็น รู้สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ที่ทำงานยังไม่รู้จัก มันจะมีผลงานมาจากไหนล่ะ มันไปดูงานๆ ดูงานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง พระไตรปิฎกของครูบาอาจารย์มันเป็นของครูบาอาจารย์ เราก็ไปดูงานๆๆ แต่ทำงานไม่เป็น

เวลาทำงานเป็นขึ้นมามันเป็นที่ในหัวใจขึ้นมา ถ้ามันเป็นสมาธิจิตเราก็เป็น ถ้าจิตมันยกขึ้นสู่วิปัสสนาก็จิตเป็นคนทำ เวลาจิตวิปัสสนาแล้วเวลามันขาด สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิทิฏฐิในกายนี้ เริ่มต้นทุกคนต้องทิฏฐิในกายนี้ กายนี้เป็นเรานี่ แล้วคนที่เกิดมานี่มีอะไรที่ไม่เป็นเราบ้าง เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ พ่อแม่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเอากายนี้คืน

เวลาอยู่ในครรภ์นั่น นั่นล่ะอยู่ในร่างกายของพ่อแม่ พอแม่คลอดออกมาแล้วพ่อแม่จะเอาคืนอย่างไร พ่อแม่จะเอาคืนนี่เอากายนี้คืนมาได้อย่างไร พ่อแม่ก็เอากายนี้คืนไปไม่ได้ เจ้าของคนที่เกิดมามีจิตนี้มีร่างกายกับใจนี้พิจารณาไปแล้ว มันว่าเป็นของมันๆ เวลาพิจารณาไป ถ้ามันเป็นความจริงพิจารณาไปแล้วสักกายทิฏฐิความเห็นผิด ทิฏฐิที่ผิด แล้วมันวิปัสสนาไปจิตใจมันรู้เห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา มันสำรอก มันคาย ทิฏฐิที่ผิดๆ มันขาดๆ อย่างไร เวลามันขาดออกไปแล้วมันขาดอย่างไร

เวลาทิฏฐิมันขาดไปแล้ว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ความสงสัยมันจะมีได้อย่างไรในเมื่อมันขาดจากหัวใจของเราเอง เราจะสงสัยได้อย่างไร มันจะสงสัยต่อเมื่อตทังคปหานมันขาดไม่จริงไง เวลาตทังคะฯ มันปล่อย พิจารณาไปแล้วมันปล่อย โอ๊ย! มันมหัศจรรย์มาก มันปล่อยๆ นี่ไง มันไม่ขาด มันไม่ขาดมันก็ยังสงสัยไง นี่มันยังสีลัพพตปรามาสยังลูบยังคลำกันอยู่นั่นไง เพราะอะไร เพราะมันยังไม่เป็นความจริง

พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาด สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันต้องเป็นกังวานกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเวลาล้มลุกคลุกคลาน เวลาก้าวเดินไปด้วยความผิดพลาด ด้วยอวิชชากิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำหัวใจ ปฏิบัติไปรู้เห็นไปหมด เข้าใจไปหมด ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะมันเป็นจินตนาการ มันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งนั้น

แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ มันเป็นจริงเพราะอะไร เป็นจริงนี่สัจธรรม สัจธรรมนะ เวลาพิจารณาไปแล้วถ้ามันประสบความสำเร็จ เวลามันปล่อยวางนี่สัจธรรมมันเกิด สัจจะแต่มันยังไม่สมดุลของมัน ไม่สมดุลของมัน เห็นไหม มันก็อยู่ของมันอยู่อย่างนั้นเพราะมันยังมีสายใย แต่พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาดสังโยชน์ขาดนะ สังโยชน์ ๑๐ เวลาพระอรหันต์สังโยชน์ ๑๐ ขาดออกไปจากใจ ทำลายอวิชชา เวลาว่าเป็นกิเลสๆ กิเลสมันเป็นอย่างไร กิเลสมันเป็นอย่างไร ตัวมันเป็นอย่างไร ตัวมันกลมๆ หรือแบนๆ กิเลสนี่ แล้วมันรู้เห็นอย่างไร ถ้าไม่รู้ไม่เห็นมันจะฆ่าได้อย่างไร

ดูทางการแพทย์สิ ทางการแพทย์เราเจ็บไข้ได้ป่วย เขาวินิจฉัยไม่ได้ว่าเราเป็นโรคอะไร เขางงนะ เป็นโรคไปหาหมอ หมอส่งต่อ ส่งต่อ ส่งต่อ วินิจฉัยไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร แล้วจะรักษากันอย่างไร รักษาตามอาการ ประคองไว้ เอาอย่างนั้นเหรอ แต่ถ้าเราไปหาหมอ หมอวินิจฉัยเลยน่ะ เป็นโรคอะไร เป็นโรคอะไร แล้วรักษาตามนั้น รักษาตามนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวลาพิจารณาไปแล้ว เวลามันสมุจเฉทปหานมันรู้ของมัน มันจบกระบวนการของมัน มันต้องจบของมัน กิเลสมันตัวกลมๆ หรือแบนๆ กิเลสมันเป็นอย่างไร ลูกของมัน หลานของมัน ปู่ย่าตายายของมันเป็นอย่างไร ครูบาอาจารย์ท่านรู้ท่านเห็นนะ เวลาชำระล้างกิเลสทำลายไปแล้ว แล้วมันสมอ้าง เวลาหลานมันก็บอกพ่อมันปู่มัน พยายามจะให้ราคาทั้งนั้น ถ้าคนที่ปฏิบัติใหม่เป็นอย่างนั้นทั้งนั้น ขนาดเป็นความจริงนะ เพราะความจริงแล้วมันต้องพัฒนาของมันขึ้นไป เพราะอะไร เพราะมรรค ๔ ผล ๔

มรรค ๔ ผล ๔ นะ เวลาโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค เวลาสติ มหาสติ เวลาสติๆ เนี่ย เวลาล้มลุกคลุกคลานสตินี่ คนที่มีสติๆ นี่ แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติมหาสติมันเป็นอย่างไร คนมันจะรู้ คนเคยมีสติ แล้วคนเคยมีมหาสติ แล้วคนเคยมีสติอัตโนมัตินี่มันเป็นอัตโนมัติเลย สติมันพร้อมตลอดเลยเนี่ยมันเป็นอย่างไร

แต่ครูบาอาจารย์เราทำมาแล้ว ครูบาอาจารย์เราทำมาแล้ว เห็นไหม ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เพราะมีสติเป็นอัตโนมัติอย่างนั้น หลวงตาท่านอยู่กับใครไม่ได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ เวลามันละเอียดรอบคอบอย่างนั้นอยู่กับใครไม่ได้เลย เพราะมันละล้าละลังไปหมด มันเข้ามาก้าวก่ายความรู้ความเห็นเรา ความรู้เรา ความเห็นมันพยายามเผชิญกับอวิชชา เผชิญกับอิทัปปัจจยตา เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้ถึงมี เพราะมีสิ่งนั้นสิ่งนั้นถึงมี เพราะมันมีของมันมันถึงมี มันมี มันมีอวิชชา มันมีความไม่รู้มันถึงมี มันกำลังไล่ต้อนกันอยู่ มันกำลังต่อสู้กันในหัวใจ มันมีเวลาที่จะไปยุ่งกับใครไหม เวลาของเราๆ สงวนเวลาไว้เพื่อจะเผชิญกับมันตลอด เห็นไหม

เวลาทำข้อวัตรสติมันก็พร้อม ข้อวัตรทำไปแต่ข้างในของมันก็หมุนของมัน สู้กับมันตลอดเวลา เวลาเสร็จข้อวัตรแล้วเข้าทางจงกรมนั่งสมาธิ มา มาเลย ได้เวลาแล้ว แต่คนเรามันมีวาระเห็นไหม มันมีวาระเพราะอะไร เพราะเรามีกายกับใจ เพราะร่างกายนี้มันต้องอาศัยปัจจัย ๔

ฉะนั้น ปัจจัย ๔ บิณฑบาตเป็นวัตร เวลาทำข้อวัตรปฏิบัติมันก็ต้องมีเวลาของมัน ถ้าเวลาของมัน เราทำของเราด้วยมีสติปัญญา เราไม่คุยกัน เราไม่เล่นกัน เราไม่ทำให้ใครเนิ่นช้า เราเปิดโอกาสเปิดทางให้กัน ในวงกรรมฐานเขารู้ เหมือนโรงพยาบาล คนไข้หนัก คนไข้เบา คนไข้นอก คนไข้ใน หมอเขาจะรู้ว่าคนไข้อย่างนี้ควรจะดูแลอย่างไร ถ้าคนไข้หนัก ICU คนไข้หนักอยู่ในห้อง อย่าไปยุ่ง ติดเชื้อ เขาจะมีห้องปลอดเชื้อเลยสำหรับคนไข้หนัก

คนที่ปฏิบัติ เห็นไหม กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียดที่มันกำลังต่อสู้กัน ครูบาอาจารย์ท่านจะกันให้ ท่านจะดูแลให้ เห็นไหม นี่วงกรรมฐาน

ก้าวให้มันถูกต้องดีงาม มันจะดีงามขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าก้าวขึ้นโดยความไม่ถูกต้องดีงาม หัวใจนี้มีอวิชชา หัวใจนี้กิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำมันอยู่ เห็นไหม แล้วเราไม่ลงใจใครเลยเหรอ เราไม่มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งเลยใช่ไหม

ถ้าเรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เห็นไหม คำว่า ลงใจ ลงใจจิตมันมีนะ เหมือนเรา คน เห็นไหม ถ้ามีพ่อแม่อยู่นี่เขาจะปลื้มใจ เขายังมีพ่อมีแม่เขาอยู่ เขายังได้อุ่นใจ เวลาพ่อแม่เขาจากไปแล้วนะ เขาคิดถึงพ่อแม่เขาแต่พ่อแม่เขาก็จากไปแล้ว มันว้าเหว่เห็นไหม ถ้ามีพ่อแม่อยู่มันมีความคิดอย่างหนึ่ง เวลาพ่อแม่ตายไปแล้วมีความคิดอีกอย่างหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเราถ้ามันลงใจใคร จิตใจนี้มันมีที่พึ่งที่อาศัยไง มันไม่ว้าเหว่ อย่างไรก็แล้วแต่มันมีครูบาอาจารย์คอยดูแล อย่างไรก็แล้วแต่คนเจ็บคนป่วยไปโรงพยาบาลยังมีหมอรักษา หมอยังรักษาเราอยู่ เจ็บไข้ได้ป่วยเข้าโรงพยาบาล เห็นไหม มันมีประกันสังคม มีประกันตน เข้าโรงพยาบาลดูแลรักษามันก็อบอุ่น ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยจะไปไหน เจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีใครดูแลมันก็ว้าเหว่

ถ้าจิตใจมันลง เห็นไหม ลง อย่างน้อยก็ต้องลงธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครแสดงธรรมก็แล้วแต่ในกึ่งพุทธกาลนี้เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้นไว้แล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพุทธศาสนามีบุญกุศลมาก ไม่มีอำนาจวาสนาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ไม่มีอำนาจวาสนาไม่ได้มาบวช ไม่มีอำนาจวาสนาไม่มีสติปัญญาอยากจะภาวนา เพราะการภาวนานี้เป็นนามธรรม ไม่มีใครรู้ใครเห็นว่าเราภาวนาเป็นหรือไม่เป็น แต่ถ้าคนมันโกหกมดเท็จ มันโกหกเขาไปได้ทั่ว

แต่ถ้ามันเป็นปัจจัตตัง เป็นความจริงของเรา เราจะย้อนกลับมาที่ตัวเรา มันมีคุณค่าที่นี่ มันมีคุณค่าที่ความรู้สึก มันมีคุณค่าที่หัวใจ แล้วมีคุณค่าอย่างมากถ้ามีธรรม อัตตัตถสมบัติ ธรรมของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเป็นนามธรรมแล้วจะมีคุณค่ามากถ้ามันมีคุณธรรม มีวิหารธรรม มีที่อยู่อาศัย อบอุ่น ไม่ว้าเหว่ แล้วไม่ไปข้างหน้าและไม่ถอยไปข้างหลัง มันมีจุดยืนของมัน มันเป็นความปรารถนาของชาวพุทธ เอวัง